(ชีวิตบ้านที่สมบูรณ์)
คนที่จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการครองเรือน เป็นคฤหัสถ์หรือชาวบ้านที่ดี น่าเคารพนับถือเป็นแบบฉบับ ควรถือเป็นตัวอย่าง จะต้องวัดด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
ก. มีความสุขสี่ประการ คือ ความสุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี หรือความสุขที่ชาวบ้านควรพยายามให้เกิดขึ้นแก่ตนอยู่เสมอ เรียกสั้นๆ ว่า สุขของคฤหัสถ์ ๔ คือ
๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มและอุ่นใจว่า ตนมีโภคทรัพย์ ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยทางชอบธรรม
๒. โภคสุข สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้นเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง และบำเพ็ญคุณประโยชน์
๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร
๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุขมีค่ามากที่สุด
(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๒/๙๑)
ข. เป็นชาวบ้านแบบฉบับ คนครองเรือน แยกได้เป็นหลายประเภท จัดเป็นขั้นๆ ได้ตั้งแต่ร้ายไปถึงดี และที่ดีก็มีหลายระดับ คฤหัสถ์ที่ดี น่าเคารพนับถือแท้จริง คือประเภทที่ ๑๐ ในชาวบ้าน ๑๐ ประเภทต่อไปนี้
กลุ่มที่ ๑ หาทรัพย์โดยทางไม่ชอบธรรม
๑. ได้ทรัพย์มาแล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้น ทำความดี (เสียทั้ง ๓ ส่วน)
๒. ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย ๒ ส่วน ดี ๑ ส่วน)
๓. ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุขด้วย เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดีด้วย (เสีย ๑ ดี ๒ ส่วน)
กลุ่มที่ ๒ หาชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง
๔. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๑ (เสีย ๓ ดี ๑)
๕. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๒ (เสีย ๒ ดี ๒)
๖. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๓ (เสีย ๑ ดี ๓)
กลุ่มที่ ๓ หาโดยชอบธรรม
๗. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๑ (เสีย ๒ ดี ๑)
๘. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๒ (เสีย ๑ ดี ๒)
๙. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๓ แต่ยังติด ยังมัวเมา หมกมุ่น กินใช้ทรัพย์สมบัติ โดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะทำตนให้เป็นอิสระเป็นนายเหนือโภคทรัพย์ได้ (เสีย ๑ ดี ๓)
พวกพิเศษ ผู้ที่แสวงหาชอบธรรม และใช้อย่างมีสติสัมปชัญญะ มีจิตใจเป็นอิสระ มีลักษณะดังนี้
๑๐. แสวงหาทรัพย์โดยทางชอบธรรม; ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข; เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี; ไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์สมบัติ โดยรู้เท่าทัน เห็นคุณโทษ ทางดีทางเสียของมัน มีปัญญา ทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์
ประเภทที่ ๑๐ นี้ พระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐสูงสุด ควรชมทั้ง ๔ สถาน คือ เป็นคฤหัสถ์แบบฉบับที่น่าเคารพนับถือ
(องฺ.ทสก. ๒๔/๙๑/๑๘๘)
ค. กำกับชีวิตด้วยธรรมสี่ คือ ปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตของคฤหัสถ์ ที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม ๔ ประการ ดังนี้
๑. สัจจะ ความจริง คือ ดำรงมั่นในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง จะทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้
๒. ทมะ ฝึกตน คือ บังคับควบคุมตนเองได้ รู้จักปรับตัว และแก้ไขปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าดีงามยิ่งขึ้นอยู่เสมอ
๓. ขันติ อดทน คือ มุ่งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมายไม่ท้อถอย
๔. จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์ สละโลภละทิฏฐิมานะได้ ร่วมงานกับคนอื่นได้ ไม่ใจแคบเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ใจตน
(ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๑/๓๖๑)
ง. รับผิดชอบชีวิตที่เกี่ยวข้อง คือ มีความสัมพันธ์อันดีงามอบอุ่นเป็นสุขภายในครอบครัว ตลอดถึงในหมู่ญาติมิตร ผู้ร่วมงานและคนที่พึ่งพาอาศัยอยู่ในปกครองทั้งหมด โดยทำหน้าที่ มิใช่เพียงนำประโยชน์ทางวัตถุมาให้เขาอย่างเดียว แต่นำประโยชน์สุขทางจิตใจมาให้ด้วย โดยประพฤติตนเป็นตัวอย่าง ช่วยชักจูงให้คนในครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้นด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า อารยวัฒิ ทั้ง ๕ ดังต่อไปนี้
๑. งอกงามด้วยศรัทธา คือให้มีความเชื่อความมั่นใจในพระรัตนตรัย และในการที่จะทำความดี มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ
๒. งอกงามด้วยศีล คือ ให้มีความประพฤติดีงาม สุจริต รู้จักเลี้ยงชีวิต มีวินัย และมีกิริยามารยาทอันงาม
๓. งอกงามด้วยสุตะ คือ ให้มีความรู้จากการเล่าเรียน สดับฟัง โดยแนะนำหรือขวนขวายให้ศึกษาหาความรู้ที่จะฟื้นฟูปรับปรุงชีวิตจิตใจ
๔. งอกงามด้วยจาคะ คือ ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อกัน และพอใจทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์
๕. งอกงามด้วยปัญญา คือ ให้มีความรู้คิด เข้าใจเหตุผลและความจริงตามสภาวะ มีวิจารณญาณ
(องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๐/๔๗)
จ. ครองตนเป็นพลเมืองที่ดี นำชีวิตและครอบครัวของตนไปสู่ความเจริญ สงบสุข และเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์สังคม โดยประพฤติดังนี้
๑. น สาธารณทารัสสะ ไม่คบชู้สู่หามัวหมกมุ่นในทางเพศ
๒. น ภุญเช สาธุเมกะโก ไม่ใจแคบเสพสิ่งเลิศรสผู้เดียว
๓. น เสเว โลกายติกัง ไม่พร่าเวลาถกถ้อยที่เลื่อนลอยไร้สาระ
๔. สีลวา ประพฤติดี มีวินัย ตั้งอยู่ในศีล ๕
๕. วัตตสัมปันโน ปฏิบัติกิจหน้าที่สม่ำเสมอโดยสมบูรณ์
๖. อัปปมัตโต ไม่ประมาท กระตือรือร้นทุกเวลา
๗. วิจักขโณ มีวิจารณญาณ ทำการโดยใช้ปัญญา
๘. นิวาตวุตติ อัตถัทโธ สุภาพ ไม่ดื้อกระด้าง ยินดีรับฟังผู้อื่น
๙. สุรโต เสงี่ยมงาม รักความประณีตสะอาดเรียบร้อย
๑๐. สขิโล มุทุ พูดจาน่าฟัง ทั้งใจกายก็อ่อนโยน ไม่หยาบคาย
๑๑. สังคเหตา จ มิตตานัง มีน้ำใจเอื้อสงเคราะห์ต่อมิตรสหาย
๑๒. สังวิภาคี เผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือคนทั่วไป
๑๓. วิธานวา รู้จักจัดการงานให้เรียบร้อยและได้ผลดี
๑๔. ตัปเปยยะ บำรุงพระสงฆ์ทรงความรู้ ผู้ทรงศีลทรงธรรม
๑๕. ธัมมกาโม ใคร่ธรรม รักความสุจริต
๑๖. สุตาธโร อ่านมากฟังมาก รู้วิชาของตนเชี่ยวชาญ
๑๗. ปริปุจฉโก ชอบสอบถามค้นคว้า ใฝ่หาความรู้ยิ่งขึ้นไป
(ขุ.ชา. ๒๘/๙๔๙/๓๓๒)