ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอและวินัยไม่มีเสรีภาพก็หายไป

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอ1

นำเรื่อง

ในวันอาสาฬหบูชาซึ่งต่อเนื่องกับวันเข้าพรรษา โยมญาติมิตรผู้มาร่วมกันทำบุญ ได้ทำกุศลทั้งทางกาย วาจา ใจ

ใจนั้น นอกจากศรัทธา ก็มีน้ำใจเกื้อกูลต่อพระพุทธศาสนา และต่อพระสงฆ์ พร้อมทั้งมีความปรารถนาดีต่อญาติมิตรด้วยกันเอง จึงชวนกันมา

อย่างในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็มากับลูกๆ ชวนกันมาทำบุญ เป็นความสุขในครอบครัว เมื่อได้ทำบุญทำกุศลอย่างนี้แล้ว จิตใจเราก็เบิกบานผ่องใส ได้ความสุขที่ลึกซึ้งติดอยู่ในใจไปนาน

บางทีคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้หรอกว่า เด็กๆ มาทำบุญ เมื่อเขามารู้มาเห็น และมีความสุข จะเป็นภาพที่ติดฝังใจไปจนโต สิ่งเหล่านี้แม้จะมองไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่มีความหมายลึกซึ้งมาก แล้วก็สัมพันธ์กับวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ใจก็ดีมาแล้ว บรรยากาศก็ได้ด้วย หน้าตาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจก็ชื่นบาน ในครอบครัวที่ชวนกันมาทำบุญอย่างนี้ จึงมีความสุขที่ลึกซึ้งและยั่งยืน

ทำบุญวันเดียว ได้สองอย่าง

วันนี้ได้ทำบุญอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า ๒ อย่างเลย คือ งานบุญสองวันมารวมกัน วันเดียวได้สอง คือ ทั้งบุญวันเข้าพรรษา และบุญวันอาสาฬหบูชา

วันเข้าพรรษาคือพรุ่งนี้ แต่พิธีเราทำก่อน คือถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน แต่จะไม่ขยายความ เพราะหลายท่านมาถวายกันทุกปีๆ

ต่อไปก็คือส่วนของวันอาสาฬหบูชา ที่เราจะมีพิธีเวียนเทียน เรื่องวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญในด้านบูชา เราก็รู้กันอยู่ จำกันได้ว่า คือ วันบูชาพระรัตนตรัยเนื่องด้วยเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแสดงปฐมเทศนา

ปฐมเทศนานั้น คือพระธรรมเทศนาครั้งแรก เรียกว่าเริ่มประกาศธรรม และประดิษฐานพระพุทธศาสนา ใช้ภาษาง่ายๆ ก็คือ ตั้งพระพุทธศาสนานั่นเอง วันอาสาฬหบูชาจึงถือว่าเป็นวันสำคัญมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายไป

หลายท่านจำได้ว่า วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่เกิดมีพระสงฆ์ เป็นวันที่ครบพระรัตนตรัย โดยมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นบุคคลแรกในอริยสงฆ์

ถึงวันอาสาฬหบูชา ควรได้อะไร

ถ้าเราได้แค่นี้ ก็เป็นเรื่องของการจำได้ แต่จำได้อย่างเดียวนั้นไม่ดีพอ นอกจากจำได้แล้ว ก็ควรจะเข้าใจความหมายด้วย

นอกจากจำได้ และเข้าใจดีแล้ว ก็ต้องคิดว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร หรือนำไปปฏิบัติอย่างไรอีก จึงจะสมบูรณ์

อย่างเรื่องวันอาสาฬหบูชานี้ ก็ควรรู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้ว่าอย่างไร เราเข้าใจไหม และจะเอาไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร ต้องให้ได้ ๓ ขั้น คือ

  1. จำได้
  2. เข้าใจดี
  3. มองเห็นวิธีที่จะนำไปใช้ หรือมองเห็นทางปฏิบัติ

ถ้าได้ครบ ๓ ขั้นนี้ จึงจะถือว่าสมบูรณ์ ถ้าอยู่แค่ความจำอย่างเดียว ก็ไม่ไปไหน เมื่อไรๆ ก็รู้ว่าวันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก เกิดพระอริยสงฆ์ แล้วก็จบ วนอยู่นั่น

เพราะฉะนั้น ต้องเอาไปใช้ให้ได้ แต่ก่อนจะเอาไปใช้ ก็ต้องเข้าใจให้ดี

สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

เรื่องวันอาสาฬหบูชานี้ ในแง่เหตุการณ์ต่างๆ ที่จำกันได้ ถ้าจะมาอธิบายกันทุกครั้ง ก็ซ้ำๆ และยืดยาว เพราะฉะนั้น ในแต่ละปีเราก็จับเอาเพียงบางจุดมาย้ำ มาเตือน มาขยายความกัน

ในวันอาสาฬหบูชา ที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกหรือปฐมเทศนา เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ก็คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรที่เป็นการหมุนวงล้อธรรม หรือตั้งอาณาจักรธรรม

พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ หลายคนจำได้ด้วยว่า มีสาระสำคัญ คือ

๑. พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่อง ทางสายกลาง ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ให้เว้นจากสุดโต่งสองอย่าง คือ อัตตกิลมถานุโยค กับ กามสุขัลลิกานุโยค นักเรียนหลายคนจำได้แม่น แต่เข้าใจแค่ไหนก็อีกเรื่อง

๒. เมื่อแสดงทางสายกลางจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดง อริยสัจ ๔

ที่จริง สาระสำคัญที่ว่า ทางสายกลาง กับ อริยสัจ ๔ นั้น ทั้งสองอย่างก็เรื่องเดียวกัน

ทางสายกลางนั้น ก็เป็นเพียงว่า พระพุทธเจ้าตรัสขึ้นมาเพื่อจะนำเข้าสู่อริยสัจ ในอริยสัจเองนั้น ก็มีมัชฌิมาปฏิปทารวมอยู่แล้ว คือ ทางมีองค์ ๘ ประการ ในข้อ “มรรค” หรืออริยสัจข้อที่ ๔ นั่นเอง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะฉะนั้น ก็คือเรื่องเดียวกัน เพราะมัชฌิมาปฏิปทาก็รวมอยู่ในอริยสัจ

เป็นกลางแท้ อยู่ที่เอาความถูกต้อง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องทางสายกลางนี่แหละ เป็นจุดปรารภ เพราะว่าในสมัยพุทธกาลนั้น คนเอียงสุดโต่งกันนัก ไม่ว่าจะดำเนินชีวิต จะถือศาสนา จะปฏิบัติอะไร ก็ไปสุดโต่ง พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่ามันผิด จะต้องเดินทางใหม่ให้ถูก จึงได้ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา

ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทานี้ เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเข้าใจถูกต้อง แล้วเดินไปตามทางสายกลาง ก็จะบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา

เอาทางสายกลาง มาวางความเป็นกลางให้ถูก

เวลานี้คนพูดเรื่องความเป็นกลางกันเยอะ เอามาพูดกันว่า เป็นกลางๆ พูดกันไปกันมา แต่ไม่รู้ว่าเป็นกลางคืออย่างไร

ทางสายกลาง เป็นเรื่องใหญ่ เป็นวิถีชีวิตทั้งหมด เป็นการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

ส่วน ความเป็นกลาง นั้น เป็นการปฏิบัติปลีกย่อย บางทีก็เป็นการวางตัวในแต่ละกรณี

ในที่นี้ เราไม่พูดถึงความเป็นกลางทางการเมือง ดังเช่นการสงครามระหว่างประเทศ เป็นกลางของเขาก็คือ ไม่เข้าข้างไหน และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย อย่างที่ว่า เป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว

ความเป็นกลางทางการเมืองอย่างที่ว่านั้น ลึกลงไปก็เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ ความเป็นกลางแบบนี้จึงอาจจะมีความหมายและการปฏิบัติที่ซ่อนเร้น คืออย่างที่ว่ามองที่ผลประโยชน์ของพวกตัว หรือของประเทศของตนเป็นหลัก

ถ้าเป็นกลาง คือไม่เข้าข้างโดยไม่ยุ่งเกี่ยวแบบนี้ เราไปพบคนร้ายรังแกเด็ก หรือเห็นโจรปล้นชาวบ้าน เราก็บอกว่า ฉันเป็นกลาง ไม่เข้าข้างไหน ไม่ใช่เรื่องของข้า ฉันไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย แล้วก็ปล่อยให้เขารังแกและปล้นกันไป เป็นกลางอย่างนี้คงไม่ดีแน่

ฉะนั้น ความเป็นกลางที่แท้ หรือความเป็นกลางที่ดี จึงต้องมีหลัก ก็คือทำตามคติของทางสายกลางนั่นแหละ

เราจึงมาดูกันซิว่า ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ทางสายกลางเป็นอย่างไร

ระวัง! เป็นกลางไม่เป็น จะกลายเป็นคนไม่มีหลัก

ขอย้ำก่อนว่า เป็นกลาง หรือทางสายกลางนี้ ไม่ใช่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างสองฝ่าย ถ้าอยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝ่าย ก็จะกลายเป็นว่า ทางสายกลาง หรือกึ่งกลางนี่ ขยับไปขยับมา เพราะว่าคนแต่ละฝ่ายเขาเอียงไม่เท่ากัน

เคยยกตัวอย่างบ่อยๆ คนหนึ่งกินเหล้ามาก คนหนึ่งกินเหล้าน้อย เราเป็นกลาง เราก็กินกึ่งกลางระหว่างสองคนนั้น ถ้าคนแรกกินสิบแก้ว คนที่สองกินสี่แก้ว เราเป็นคนกลาง จะกินเท่าไร คิดเอาเอง และถ้าสองคนนั้น กินเพิ่มขึ้น หรือลดลง เราก็ต้องเพิ่มต้องลดตาม

เป็นกลางอย่างนี้ ไม่ถูก พอพวกสุดโต่งขยับไปขยับมา ก็ต้องขยับเรื่อย ถ้าเป็นแบบนี้ คนเป็นกลางนี่แย่ที่สุด กลายเป็นคนไม่มีหลัก

คนที่สุดโต่งเขายังมีหลักเป็นตัวเขาเอง แต่คนเป็นกลางแบบนี้ต้องรอดูว่าเขาจะเอาอย่างไร แล้วตัวเองก็ขยับไป ต้องเป็นนักคำนวณ และคอยจ้องดู ถ้าอย่างนี้ไม่ถูกแล้ว

ทางสายกลาง คือทางที่ตรงไปตามความถูกต้อง

ถ้าจะเป็นกลาง ก็ต้องมีหลัก พระพุทธเจ้าตรัสหลักไว้แล้ว ความจริง มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางนี่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกชื่อหนึ่งว่า “สัมมาปฏิปทา”

เมื่อกี้บอกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ปฏิปทาที่เป็นมัชฌิมา คือเป็นกลาง ทีนี้บอกอีกว่า สัมมาปฏิปทา ปฏิปทาที่เป็นสัมมา หรือข้อปฏิบัติชอบ คือถูกต้อง

เอาละ... คราวนี้มีหลักที่จะกำหนดแล้ว คือต้อง “ถูกต้อง” แต่ว่าถูกต้องอย่างไร

มีคำขยายอีกว่า สัมมาปฏิปทา ได้แก่ “ธัมมานุธัมมปฏิปทา” แปลว่า ปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับธรรม

พอถึงตรงนี้ก็ชัดแล้ว ทางสายกลาง ก็คือทางที่ตรงตามธรรม ทางที่ดำเนินไปตามธรรม ถ้าเราเป็นกลาง เราก็อยู่กับธรรม ธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นอย่างไร เราเอาอย่างนั้น

ตอนนี้แหละ ถ้าเราเป็นกลาง เราไม่ขยับไปไหนแล้ว พวกสุดโต่งนั้นแหละต้องขยับตามเรา

เป็นกลาง คืออยู่กับความถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นกลาง ก็ต้องเป็นกลางให้ถูก คือ ไม่ไปถือตามข้างไหน ไม่ใช่แค่ไม่เข้าข้างไหน แต่ถึงขั้นไม่เข้าใครออกใคร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นกลาง คือ ไม่เอียง ไม่ติด ไม่ตกไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ตกไปข้างซ้าย ไม่ตกไปข้างขวา พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ไม่เอียงข้าง ไม่ตกเป็นฝ่าย แต่อยู่กับธรรม อยู่กับความถูกต้อง อยู่กับสัมมา ตั้งแต่มีปัญญาที่รู้เข้าใจว่าอะไรถูกต้อง

เมื่อเราอยู่กับธรรม ใครปฏิบัติถูกตามธรรม ก็เข้ากับเราได้เอง เราก็เป็นหลักได้เลย

เป็นกลางมีจุดเดียว ไม่กลาง ก็เอียงข้างทั้งหมด

หากจะเป็นหลักให้แก่สังคม คนที่เป็นกลางจะต้องหาธรรมให้ได้ว่า ธรรมอยู่ตรงไหน และยึดธรรมนั้น เอาธรรมเป็นหลัก

อย่างนี้ละก็ เป็นกลางที่แท้จริง เป็นกลางที่ไม่เข้าใครออกใคร และเป็นกลางตลอดกาลด้วย เพราะว่ามันคงอยู่อย่างนั้น ใครไม่อยู่กับธรรม คนนั้นก็เอียงข้างหมด จริงหรือไม่จริงก็ให้คิดดู

ความจริง ความถูกต้อง มีจุดเดียว ดังนั้น คนที่ไม่อยู่กับความจริง ไม่อยู่กับความถูกต้อง ก็เอียงหมด เขวไปข้างโน้นบ้าง ไปข้างนี้บ้าง เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่า ความเป็นกลางที่ถูกต้อง คือมีหลักการที่ดีที่สุด ซึ่งยืนยงคงที่ตลอดกาลเลย

จึงขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความเป็นกลาง หรือทางสายกลางที่แท้จริงนั้น ก็คือ การที่อยู่กับธรรม อยู่กับความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนั่นเอง

มีปัญญารู้ความถูกต้อง จึงเดินทางสายกลางได้

ทีนี้ การที่จะอยู่กับธรรม อยู่กับความจริง ความถูกต้อง ความดีงามได้นี้ เราก็จะต้องมีคุณสมบัติอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปัญญา ที่รู้เข้าใจ

ถ้าไม่มีปัญญา ก็ไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ธรรมเป็นอย่างไร อย่างนี้ก็อยู่กับทางสายกลางไม่ได้

เพราะฉะนั้น คนที่จะอยู่กับทางสายกลาง จึงต้องมีปัญญา นี้เป็นหลักพื้นฐาน

ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอ

เมื่อเรารู้ว่าธรรมคืออะไร ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้อันพึงมุ่งหมายเป็นอย่างไรแล้ว เราก็ตั้งหลักได้ คือมีหลักที่จะตั้งตัว หรือรู้ว่าจะตั้งตัวอยู่ที่ไหน และจะตั้งต้นไปอย่างไร

ถ้าไม่เข้มแข็ง ก็ยืนอยู่ในทางสายกลางไม่ไหว

แต่คนที่จะตั้งหลัก หรืออยู่กับหลักได้ จะไปในทางของตัวได้ ก็ต้องมีกำลัง ต้องเป็นคนเข้มแข็ง ถ้าเป็นคนอ่อนแอ ก็ยึดหลักไม่อยู่ เดินไปในทางที่ถูกไม่ได้ พอกระแสไหลมา ก็ถูกพัดพาไปเสีย ยิ่งในปัจจุบันนี้กระแสมันไหลแรงเหลือเกิน

เวลานี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าธรรมคืออะไร ความถูกต้องดีงามคืออะไร แต่หลายคนตั้งหลักไม่ได้เลย ไม่สามารถยืนอยู่กับหลักได้ เพราะโดนกระแสโลภ กระแสลาภ กระแสอะไรต่ออะไรพัดพาไป

เมื่อยึดธรรมไว้ไม่ได้ อยู่กับหลักไม่ไหว ก็เกิดอาการเบี่ยงเบนต่างๆ จึงเกิดปัญหาการเบียดเบียนแย่งชิงกันและกัน การทุจริต เรื่องอาชญากรรมทางกาม ความไม่ปกติทางเพศ เรื่องของความรุนแรงต่างๆ แม้แต่การรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย ก็ยังมีเรื่องความรุนแรงแฝงซ่อน ที่ดังระเบิดออกมาข้างนอก

ความรุนแรง เกิดจากความอ่อนแอ

ความรุนแรงต่างๆ เหล่านี้ เกิดมาจากอะไร ตอบง่ายๆ ได้เลยว่า เกิดจากความอ่อนแอ

ความรุนแรงเกิดจากความอ่อนแอ เชื่อไหม? ลองไปคิดดู

อ่อนแออย่างไร? ก็เขายึดหลักไว้ไม่ได้ จับหลักเอาไว้ไม่อยู่ ตั้งหลักไม่ติด กระแสอะไรมา ก็ไหลไปด้วย

อย่างน้อยก็กระแสความชอบใจ-ไม่ชอบใจของตัวเอง แค่เกิดชอบใจ-ไม่ชอบใจขึ้นมา ก็ไปแล้ว ยืนหลักไม่อยู่ เหตุผลก็ไม่เอา คือไม่เอาหลัก ไม่เอาความถูกต้อง เอาแต่ที่ชอบใจ อย่างที่เรียกว่า เอาแต่ใจตัว

ทั้งที่เล่าเรียนเลยชั้น ม. ๖ ไปแล้ว อยู่มหาวิทยาลัยแล้ว พอจะรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว รู้หลักความถูกต้องชอบธรรมพอสมควร แต่ยืนหลักไม่อยู่ เพราะไม่มีกำลังที่จะตั้งมั่นอยู่ในธรรม หรือที่จะยืนหยัดอยู่ในความดีงามถูกต้อง

นี่แสดงว่า ปัจจุบันนี้ สังคมเจอปัญหาหนักเพราะคนอ่อนแอกันมาก หรือเพราะความอ่อนแอแพร่ระบาดไปทั่ว

อ่อนแอ ก็คือขาดกำลัง คนขาดกำลังอะไร?

กำลังมี ๒ อย่าง คือ กำลังนอก กับกำลังใน ปัจจุบันนี้ คนขาดทั้งกำลังนอกและกำลังใน หรือว่ากำลังเหล่านี้ได้ลดถอยลงมากจนถึงขั้นน่าเป็นห่วง

ถ้าอ่อนแอ ก็จะถูกกระแสพัดพา

เราจะต้องมาทำความเข้าใจ และสร้างกำลังขึ้นมาให้ได้ ถ้าเด็กและเยาวชนของเราเป็นคนเข้มแข็ง มีกำลังดีแล้ว ตัวเขาเองก็จะยืนตั้งหลักได้มั่น และสามารถเดินหน้าก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง ที่เรียกว่าทางสายกลางนี่แหละ แล้วจะพาสังคมตั้งแต่ครอบครัวของตน ตลอดจนประเทศชาติให้ร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองได้

แต่ถ้าเด็กและเยาวชนของเราอ่อนแอ ไม่มีกำลัง ก็จะถูกกระแสที่ท่วมท้นเข้ามา พัดพาไหลลอยไป

โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ในขณะที่คนของเราเองอ่อนแอไม่มีกำลังที่จะตั้งหลักได้นี้ กำลังข้างนอกที่มาซัดพัดพาดึงออกไป ก็เพิ่มมากขึ้นๆ คือกระแสต่างๆ เช่น กระแสโลกาภิวัตน์ กระแส IT กระแสความรุนแรง กระแสบริโภคนิยม กระแสรวยลัด กระแสลาภลอย กระแสคอยโชค หรือกระแสคอยผลเบื้องบนบันดาล ฯลฯ

กระแสเหล่านี้ไหลแรงมาก เมื่อกำลังฝ่ายธรรมของตัว คือความเข้มแข็งที่จะยืนอยู่ได้ในความดีงามถูกต้อง ทั้งกำลังภายใน และกำลังภายนอก อ่อนแอ หรือไม่มีเลย ก็อยู่ไม่ไหว เลยไหลไปหมด

เด็กไทย เผชิญสภาพยุคสมัยที่ท้าทายความเข้มแข็ง

ในขณะที่กำลังฝ่ายนอกที่เป็นกระแสรุนแรงมาคอยพัดพาดึงเราออกไปนี้ เราก็เหมือนกับถูกท้าทาย จึงต้องการกำลังความเข้มแข็งมากเป็นพิเศษ เราจะต้องเข้มแข็ง สู้ให้ได้

จะต้องย้ำกันว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่กระแสจากข้างนอกมีกำลังรุนแรงมาก เด็กไทยสมัยนี้ ถ้าจะเป็นผู้สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมของตน จะต้องเก่ง ต้องมีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ สามารถสู้กับกระแสเหล่านั้น ต้องพร้อมที่จะทวนกระแสได้

ถ้าเปรียบเป็นปลา ก็กำลังฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ต้องเป็นปลาที่แข็งแรงจริงๆ จึงจะว่ายทวนกระแสได้ ถ้าอ่อนแอ ก็ว่ายไม่ไหว หรือเหมือนปลาตาย ที่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป

ทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแส

ต้องย้ำด้วยว่า เราทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแสนะ ตรงนี้ต้องระวังว่า ทวนกระแส ไม่ใช่ต้านกระแส

ถ้าต้านกระแส เราก็แย่ มีแต่พัง จึงต้องสอนวิธีปฏิบัติไว้

ขอบอกว่า ทวนกระแสนะ ไม่ต้องไปต้านกระแส เพราะว่า ถ้าทวนกระแส เราก็ไปของเรา โดยเป็นตัวของตัวเอง ฝ่าทะลุกระแสไป

แต่ถ้าต้านกระแส ก็คือเราเอากำลังไปมัวต่อต้าน ไปสู้ ไปทานกำลังของเขา นอกจากเสียเวลาแล้ว ในเมื่อกระแสนั้นมันใหญ่โตและกำลังไหลเชี่ยวรุนแรง เราก็จะทานไม่ไหว แถมจะถูกมันกระแทกกระทั้นซัดพัดผันจนสะบั้นแหลกลาญไป เลยไม่ได้ประโยชน์อะไร

ถ้าใช้วิธีทวนกระแส เมื่อเราเข้มแข็งจริงๆ พอเราทวนกระแสก้าวไปได้ เราจะกลายเป็นผู้นำไปเลย เพราะว่า เมื่อเราทวนกระแสขึ้นไป พอเขาเห็นว่ามันทวนไปได้ คนที่เขาเห็นว่าเราทวนไปได้ และทางที่ไปนั้นถูกต้อง เขาก็อยากจะตาม เราก็เป็นผู้นำ

ปัจจุบันนี้เป็นยุคที่ต้องการเด็กและเยาวชนที่มีความเข้มแข็งมาก โดยมีกำลัง ทั้งกำลังนอก และกำลังใน

ทวนกระแสไหว ถ้าได้พลัง ๕

ทีนี้ กำลังอะไรที่จะมาช่วยเราในท่ามกลางกระแสที่ไหลรุนแรงในปัจจุบันนี้ เมื่อกี้บอกไว้บ้างแล้ว ก็มาว่ากันต่อ

กำลังที่ ๑ คือ กำลังปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ความรู้เหตุรู้ผล คนที่เล่าเรียนมาพอสมควรแล้ว อย่างน้อยก็พอรู้ว่า อะไรจะเป็นทางไปสู่ความเจริญงอกงามของชีวิตของเรา

พร้อมนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็รักเรา และมีชีวิตอิงอยู่กับเรา ก็ต้องให้ครอบครัวของเราเจริญงอกงามไปด้วยกัน สังคมประเทศชาติก็ต้องการเราเพื่อไปช่วยเป็นสมาชิกในการสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติต่อไป เราก็ต้องเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติด้วย และประเทศชาติของเรายังอยู่ในโลกอย่างมีปัญหา เราจะต้องช่วยกันพัฒนาอารยธรรมของโลกด้วย

ถ้าเด็กมีปัญญารู้จักคิดอย่างนี้ ก็จะเริ่มตั้งตัวขึ้นมามองดู แล้วก็เริ่มมองเห็นทิศเห็นทาง และเริ่มมีกำลังเข้มแข็งขึ้นมา

คราวนี้ กระแสอะไรจะมาพัดพาเราออกไปนอกลู่นอกทาง หรือผิดทาง ไม่เอาแล้ว เราไม่ยอม เราอยู่กับธรรม เราตั้งหลัก สู้เลย นี้คือกำลังปัญญา

จิตใจที่เข้มแข็งนั้น ทั้งแน่วแน่มั่นคง และตื่นตัวทันการ

กำลังที่ ๒ คือ กำลังสมาธิ มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหว อะไรจะมากระทบกระแทก ก็ไม่วอกแวก ไม่หวั่นไหว มั่นอยู่กับสิ่งที่เรารู้ว่าถูกต้อง จิตใจของเราอยู่กับสิ่งที่เป็นงานเป็นหน้าที่ เช่น อยู่กับการศึกษาเล่าเรียนของเรา นี่เรียกว่า มีสมาธิ

เมื่อใจเราแน่วอยู่ได้ ไม่เฉไปไหน ไม่ว่ากระแสอะไรก็พัดพาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิ

กำลังที่ ๓ คือ กำลังสติ มีความตื่นตัว ทันต่อสถานการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นมา ไม่เผลอ ไม่พลาด ไม่ลอยผ่านไป มองดูปั๊บและจับส่งให้ปัญญามองออกแล้ว พร้อมที่จะรับมือทันที อย่างที่เรียกว่าสำรวจตรวจตรา

สตินี่เปรียบเหมือนนายประตู คือ นายประตูนั้นต้องดูว่า คนไหนร้าย คนไหนดี ควรจะให้ผ่านไปหรือไม่ ถ้าดูน่าสงสัย หรือยังไม่รู้ชัดแจ้ง ก็จับตรวจอย่างละเอียด

สติจะตามจะจับจะกำหนดจะตรวจดูเหตุการณ์ ความเป็นไป หรือไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้น รวมทั้งกระแสทั้งหลายที่เข้ามา อย่างพวก IT ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สิ่งเสพบริโภค ลาภลอยอะไรนี่ สติก็จับหรือกำหนดเอาไว้(ให้ปัญญา)ตรวจวิเคราะห์ดูว่า คืออะไร เป็นอย่างไร ดีหรือร้าย มีคุณมีโทษอย่างไร ควรหรือไม่ จะเอาอย่างไร

ยกตัวอย่างว่า ใครมาชวนเราให้ไปไหนทำอะไรเอาอะไร เราก็ตรวจตราวิเคราะห์ดูเสียก่อนว่า อันนี้ถูกต้องไหม ชอบธรรมไหม ดีงามหรือไม่ จะเป็นเหตุของความเจริญหรือเป็นเหตุของความเสื่อมแก่ชีวิตก็ตาม แก่สังคมประเทศชาติก็ตาม ถ้าไม่ถูกต้อง ไม่ดี จะทำให้เสื่อม เราไม่เอา แต่ถ้าถูกต้อง ดี ทำให้เจริญ จึงเอา อย่างนี้เป็นต้น

สติเป็นตัวตรวจตราจับความเคลื่อนไหวเป็นไป ทำให้ตื่นตัวทันต่อสถานการณ์ ทำให้พร้อมที่จะปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นได้อย่างถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องร้าย หรือจะพลาดละก็ ยั้งทันที ถ้าเป็นเรื่องดี ก็ไม่ปล่อยให้พลาดเสียโอกาสไป อันนี้เป็นเรื่องของพลังสติ

วีรชนแท้ คือสู้ไม่ถอย เพื่อเอาชนะงานสร้างสรรค์

กำลังที่ ๔ คือ กำลังความเพียร (วิริยะ) ความเพียรนั้นมาจากรากศัพท์ว่า “วีระ” จึงหมายถึงความแกล้วกล้าเข้มแข็ง ใจสู้ จะเอาชนะภารกิจ จะทำให้สำเร็จให้ได้

ความเพียรเป็นตัวแสดงออกของความไม่อ่อนแอ และกำลังทั้งหลายก็ออกมาทำงานกันที่ความเพียรนี่แหละ

เจอเรื่องต้องทำที่ดีงาม เช่น การเล่าเรียนศึกษา เมื่อรู้ว่ามันถูกต้อง เป็นสิ่งที่ดีแน่แล้ว ถึงจะยาก เราก็สู้ เราไม่ถอย

ไม่ใช่ว่า พอเจอการเล่าเรียนว่ามันยาก ก็ถอย เรื่องเสพบริโภค เรื่องเกม เรื่องสนุกสนานบันเทิง อันนี้มันง่าย เอาอันนี้ดีกว่า อย่างนี้ก็คือแพ้แล้ว นี่คืออ่อนแอแล้ว

เป็นอันว่า ต้องเข้มแข็ง อะไรที่ดี เราสู้ เรียกว่าใจสู้ เดินหน้าเลย จะเอาชนะให้ได้ ไม่ว่าจะยากอย่างไร ก็ต้องทำให้สำเร็จ อย่างนี้เรียกว่ามีกำลังความเพียร

สังคมที่ถอยล่า กลับเดินหน้าได้ ถ้ามีกำลังนอกมาเสริม

กำลังที่ ๕ คือ กำลังศรัทธา ข้อนี้เป็นตัวเชื่อมกำลังภายใน กับกำลังภายนอก

ถ้าไม่มีกำลัง ๔ ตัวข้างต้น คือ กำลังความเพียร ความเข้มแข็งที่จะเอาชนะการงานการศึกษาเล่าเรียนของตน ก็ไม่มี กำลังสติ ที่จะตื่นตัวทันต่อสถานการณ์เพื่อยับยั้งเหนี่ยวรั้งหรือกระตุ้นเตือนตัวเอง ก็ไม่มี กำลังสมาธิ ความเข้มแข็งของจิตใจที่จะอยู่กับสิ่งที่ทำให้แน่วแน่เด็ดเดี่ยวลงไป ก็ไม่มี กำลังปัญญา ความรู้เข้าใจ ก็ไม่ค่อยมี แล้ว จะทำอย่างไร

ตอนนี้แหละจะต้องเชื่อมกับกำลังนอก คือเอาหลักนอกตัวมาช่วยสร้างกำลังภายใน

กำลังนอกเชื่อมต่อเข้ามาปลุกกำลังในข้อที่ ๕ คือกำลังศรัทธา ขึ้นมา ด้วยการที่เรามีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลก็ได้ ได้แก่บุคคลที่เป็นแบบอย่าง ผู้ประพฤติดีงาม มีคุณความดี บำเพ็ญประโยชน์ ได้สร้างสรรค์ประเทศชาติ และเป็นที่เคารพรักนับถือ

กำลังศรัทธาในพลังแผ่นดิน

อย่างญาติโยมทั้งหลายมาวันนี้ เห็นใส่เสื้อสีเหลือง ไม่ถึงกับหมด แต่ก็มากทีเดียว

ที่ใส่เสื้อเหลือง ก็เพราะระลึกถึงในหลวง ที่ระลึกถึงในหลวง ก็เพราะซาบซึ้งในพระคุณความดีของพระองค์

เราซาบซึ้งในพระคุณความดีของพระองค์ มีความเลื่อมใส มีความภูมิใจ มองพระองค์เป็นหลัก อยากเชื่อฟัง อยากทำตาม ยึดเอาเป็นแบบอย่าง และมีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม อันนี้แหละเรียกว่า ศรัทธา

ผู้ที่มีหลักยึดเหนี่ยวใจ ด้วยศรัทธาในบุคคลที่เราเลื่อมใส ภูมิใจเชื่อถือ จะทำให้มีกำลังใจที่จะเหนี่ยวรั้งตัวเองไว้ได้ ไม่ยอมไหลไปตามกระแสความรุนแรง หรือกระแสอะไรก็ตามที่ไม่ดีไม่งาม พร้อมกันนั้นก็พยายามทำสิ่งที่ดีงามตามแบบอย่างให้ได้

แม้แต่งานสร้างสรรค์ที่แสนยาก ถ้ามีศรัทธาแรงกล้า ก็จะมีกำลังและเพียรพยายามทำให้สำเร็จให้ได้

มีเสาหลักหลากหลาย จึงค้ำสังคมให้ก้าวไปได้มั่นคง

แต่สังคมต้องมีหลักหลายหลักมาช่วยส่งต่อกัน ไม่ใช่มีแต่เสาหลักใหญ่อย่างเดียว ต้องมีเสารองเสาเล็กเรียงรายถัดกันไป

บางคนมีกำลังมาก ก็เอื้อมไปยึดถึงเสาหลักใหญ่ได้ และมีกำลังสู้กับกระแสต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาไหว

บางคนยึดเกาะหลักไว้ แต่พอกระแสลมกระแสน้ำมาแรง ทนไม่ไหว มือที่ยึดเกาะไว้ก็หลุด แล้วก็ถูกพัดพาไหลไปตามกระแส

บางคนเกาะไม่ถึง หรือแม้แต่ใจก็ไปไม่ถึงหลักใหญ่นั้นเลย ก็เคว้งคว้างอยู่ ถ้าไม่มีหลักอะไรใกล้ตัว ก็รอแต่จะถูกพัดพาไหลไปอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีทั้งหลักใหญ่หลักย่อมหลักย่อยต่างขนาดกันไปตามลำดับ เรียงรายรับช่วงต่อทอดกันไปในสังคม

เวลานี้ที่สังคมเป็นปัญหา ก็เพราะเสาหลักไม่ค่อยมี ถึงจะมีเสาหลักใหญ่ แต่ก็ไปกันไม่ค่อยถึง หรือไม่มีกำลังที่จะยึดจะเกาะให้มั่น ข้อสำคัญคือไม่มีเสาหลักย่อมๆ เล็กๆ ไว้เสริม พอถูกกระแสซัดพลัดจากเสาหลักใหญ่ ไม่มีเสาเล็กเสาน้อยมาช่วยที่จะยึดได้ ก็ไปเลย เพราะฉะนั้น สังคมจะต้องมีเสาเล็กเสาน้อยมาช่วยเสริม

เพราะเสาหลักต้นทางหักหาย สังคมไทยจึงเสี่ยงภัยเต็มที่

เสาหลักที่ควรเป็นที่ยึดเหนี่ยวในสังคมมีมากมาย ลองดูในสังคมของเรานี้ว่ามีอะไรบ้าง

๑. พ่อแม่ เป็นเสาหลักสำคัญ เรามีความซาบซึ้งในพระคุณของพ่อแม่ เมื่อระลึกถึงท่าน ก็มองเห็นคุณค่าที่เกิดจากพระคุณความดีของท่าน ไม่ใช่สักแต่เรียกว่า คุณพ่อ-คุณแม่ เฉยๆ โดยไม่เห็นคุณค่า

“คุณพ่อ-คุณแม่” ต้องหมายถึงคุณค่าของคุณพ่อ-คุณแม่ ที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งพระคุณความดีของคุณพ่อ-คุณแม่นั้น

ทีนี้ พอระลึกถึงคุณพ่อ-คุณแม่ ความซาบซึ้งในพระคุณของท่านก็แผ่ซ่านขึ้นมาในใจด้วยทันที เท่านี้แหละ กำลังศรัทธาก็มาเลย ได้เครื่องยึดเหนี่ยวใจแล้ว

พอจะไปทำอะไรที่ไม่ดี นึกขึ้นมาว่า ไม่ได้นะ เพื่อเห็นแก่คุณแม่ อันนี้ต้องงด

ในทางตรงข้าม พอมีความดีอะไรที่จะพึงทำ นึกขึ้นมาว่า ช้าไม่ได้นะ เพื่อเห็นแก่คุณแม่ อันนี้ ถึงจะยาก ก็ต้องทำ

เช่นเดียวกัน เพื่อเห็นแก่คุณพ่อ อันนี้ไม่เอา เพื่อเห็นแก่คุณพ่อ อันนี้ต้องทำ

นี่แหละคือเสาหลักแห่งศรัทธา เสาแรก ที่เป็นหลักต้นทาง

แต่น่าหวั่นใจว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน หลักนี้ทำท่าง่อนแง่น อ่อนแอ ตัวยึดคือศรัทธา ก็อ่อนกำลัง

เมื่อขาดกำลังศรัทธาที่จุดต้นทางนี้แล้ว เด็กไทยก็เคว้งคว้าง รอแต่จะเป็นเหยื่อของประดากระแสร้ายตั้งแต่ที่บ้านในครอบครัว

ถ้าเสาหลักรายทางยังหาได้ ความปลอดภัยก็ยังพอมี

๒. ครู ต่อไป ในสังคมไทยสืบมา เรามีคุณครู พระคุณของครูก็เช่นเดียวกัน นึกถึงคุณครูก็สะกดอยู่เหมือนกัน พอนึกขึ้นมาว่าคุณครูสอนไว้อย่างนี้ ก็ยั้งก็หยุดได้ ไม่ยอมไปตามกระแสนั้น ไปแต่ในทางดี

๓. อุปัชฌาย์อาจารย์ นอกจากคุณครูแล้ว ก็มีคุณวัด ไม่เฉพาะพระศาสนาที่เป็นนามธรรมเท่านั้น เรามีพระสงฆ์เริ่มตั้งแต่อุปัชฌาย์อาจารย์

คนสมัยก่อน พอนึกถึงอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็เตือนใจให้ระลึกถึงคำสอน ให้เว้นจากความชั่ว และเกิดกำลังใจที่จะทำความดี อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจตัวเองให้หยุดให้ละความชั่ว

๔. วัฒนธรรม นอกจากวัดวาอารามก็มีอีก “วัฒน์” หนึ่ง คือ วัฒนธรรม ซึ่งเป็นเครื่องนำใจนำสังคมที่สำคัญ คนที่ยินดีภูมิใจในวัฒนธรรมของตน ก็มีหลักยึดเหนี่ยวให้มีกำลังที่จะป้องกันตัวจากทางที่เสียหาย และก้าวไปในทางที่ดีงามสร้างสรรค์ได้

เพราะหลักสี่โคลงเคลง สังคมไทยจึงวังเวงน่ากลัว

ที่น่ากลัวก็คือ ในปัจจุบัน กำลังนอกเหล่านี้ที่จะมาช่วยโยงกับกำลังภายใน พากันอ่อนแรง ป้อแป้ไปหมด

กำลังพระคุณพ่อแม่ก็อ่อนเพลีย กำลังพระคุณครูก็อ่อนเปลี้ย กำลังของวัดก็อ่อนแอ กำลังวัฒนธรรมก็อ่อนถอย

เมื่อเช้าได้ยินวิทยุบอก เขาทำโพลสำรวจเด็ก ออกผลมาว่า เด็กเดี๋ยวนี้ไม่อยากไปวัด เพราะพระสงฆ์ประพฤติไม่ดีมาก อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่ากำลังวัดอ่อนลงไป

แต่เรื่องไม่ควรอยู่แค่นั้น เราต้องทำใจและใช้ปัญญาให้ถูก ต้องมองหลายแง่หลายด้าน และหลายชั้นหลายเชิง เช่น

๑. เวลานี้ เราได้ยินได้อ่านข่าวร้ายมากมาย เดี๋ยวข่าวพ่อแม่โหดร้าย เดี๋ยวข่าวครูอาจารย์ประพฤติเสียหาย เดี๋ยวข่าวพระไม่ดี เดี๋ยวข่าวคนเฉไฉจากวัฒนธรรม แล้วเราก็มักมองอยู่แค่เป้าของข่าว เช่นในกรณีนี้ ก็ว่าพระไม่ดีๆ แทนที่จะมองสาวเหตุปัจจัยโยงองค์ประกอบในระบบความสัมพันธ์ไปให้เข้าใจทั่วทั้งสังคม

๒. ความจริง เราทั้งหมดอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าพระว่าโยมก็ต้องทั้งเผชิญและผจญกระแสเดียวกัน ไม่ว่ากระแสอะไรมา ก็ต้องเจอด้วยกันทั้งนั้น

ที่ว่านี้หมายความว่า เรายอมรับความจริงว่า เอาละ... พระนั้นๆ ไม่ดี เสื่อมเสีย แต่เราอย่าติดอยู่แค่ชั้นเดียว เราต้องมองอีกขั้นหนึ่งว่า ที่จริง ในสังคมนี้เราร่วมชะตากรรมเดียวกัน ที่มีกระแสร้ายเข้ามามากมาย กระแสร้ายเหล่านั้นมันกระทบกระแทกทุกส่วนของสังคมรวมทั้งพระด้วย

พระหลายองค์ตกเป็นเหยื่อของกระแสร้ายนั้น เราต้องมองว่าพระเหล่านั้นก็คือเหยื่อ ก็เป็นคนอ่อนแอ ไม่มีกำลังเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพระทั้งหลายจะมีกำลังไปหมด

ในสังคมที่มีสภาพอย่างนี้ เราย่อมได้พระส่วนมากในความหมายที่เป็นผลผลิตของสังคม และพระที่เป็นผลผลิตของสังคมย่อมเป็นคนอ่อนแอเหมือนกับคนส่วนอื่นในสังคม

เพราะฉะนั้น เราเองจึงต้องมีกำลังเข้มแข้ง เราจะมัวไปมองว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี แล้วเราก็หมดแรงไปด้วย ใช้ไม่ได้ พระศาสนา เป็นของส่วนรวมของทุกคน ไม่ใช่ของพระองค์นั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของเราทุกคน เราจะต้องรักษาพระศาสนาของเรา การไปวัดเป็นเรื่องของเรา พระองค์นั้นเป็นคนไม่ดี ก็ขับออกจากวัดไป

ถึงเวลา เร่งพยุงเสาหลักขึ้นมาเร็วไว

ตกลงว่า ถ้าสังคมไทยมีเสาหลักที่เป็นกำลังนอกเหล่านี้อยู่พร้อม ก็จะอยู่ได้

ทีนี้ สังคมไทยมีปัญหาเรื่องขาดกำลัง และมีความอ่อนแอ เด็กและเยาวชนของเรา ตลอดขึ้นไปถึงผู้ใหญ่ด้วย อ่อนแอ ขาดกำลังภายในอยู่แล้ว กำลังภายนอกก็ไม่ค่อยมีอีก จึงกลายเป็นสังคมที่โลเลๆ โคลงเคลงๆ พอกระแสอะไรมาแรง ก็ถูกพัดพาไหลไป

เมื่อรู้ตระหนักอย่างนี้แล้ว ต้องรีบตั้งตัวขึ้นมา อย่ามัวยอมแก่ความอ่อนแอนั้น ต้องพยายามพัฒนากำลังสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาให้ได้

อย่างน้อยที่เห็นชัด ก็คือกำลังภายนอก ต้องสร้างต้องฟื้นขึ้นโดยด่วน

ท่านผู้อยู่ในวงการการศึกษานี่แน่นอน ต้องรับผิดชอบเป็นพิเศษ ตัวคุณครูเองเป็นผู้ที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาเป็นกำลังหลักของสังคม เป็นกำลังที่สร้างสรรค์อนาคต ทั้งในบัดนี้และเบื้องหน้าตลอดทุกยุคสมัย

ตัวครูต้องพัฒนากำลังให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นหลักที่เด็กจะได้ยึดเหนี่ยวเป็นกำลังนอก ที่จะช่วยให้เขาเกิดมีกำลังในขึ้นมา เริ่มตั้งแต่ศรัทธาที่เป็นกำลังในตัวของเขา

ถ้าสร้างความเข้มแข็งที่โรงเรียนขึ้นมาได้ ก็จะมีกำลังย้อนกลับไปช่วยสร้างความเข้มแข็งในบ้านในครอบครัวขึ้นด้วย

จะแก้ปัญหาได้จริง ต้องฟื้นเสาหลักต้นทาง ที่ในครอบครัว

กำลังที่ใหญ่ที่สุด ก็คือกำลังคุณพ่อคุณแม่ หรือกำลังครอบครัว ถ้าสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวไม่ได้ สังคมไทยยากที่จะฟื้น

ครอบครัวเวลานี้แย่มากแล้ว เมื่อสองวันที่ผ่านมา มีข่าวว่า เด็กเล็กๆ แกหวังดีต่อคุณพ่อ ไม่อยากให้คุณพ่อกินเหล้า เพราะคุณพ่อกินเหล้าแล้วมีปัญหาอะไรต่ออะไรเยอะแยะ เด็กก็พลอยเป็นทุกข์ ครอบครัวก็ไม่มีความสุข

ด้วยความรักพ่อ รักครอบครัว และความไม่ประสีประสาตามวัย ก็เลยซ่อนกระเป๋าสตางค์ของคุณพ่อเพื่อจะได้ไม่ไปซื้อเหล้ากิน

พ่อรู้ว่าลูกเอากระเป๋าสตางค์ไปซ่อน ก็โกรธมาก แทนที่จะใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาว่า ลูกเขานึกถึงเรา ลูกรักเรา เขามีความปรารถนาดี อย่างน้อยก็ไม่ประสีประสา เราทำอย่างนี้ไม่ดี ทำให้ลูกเดือดร้อน ครอบครัวก็เดือดร้อน ควรละเลิกเสีย

แทนที่จะเข้าใจเห็นใจลูก และเกิดความซาบซึ้งในความดีของลูกแล้วคิดกลับตัว ไม่เป็นอย่างนั้น กลับโกรธลูกเต็มที่เลย ขออภัยในหนังสือพิมพ์เขาใช้คำว่า “กระทืบ” ลูก อย่างนี้ก็หมดกัน เสียหลักยึดเหนี่ยว ศรัทธาก็อยู่ยาก ลูกมีศรัทธาอยู่แล้ว แต่พ่อแม่ทำให้เขาเสียศรัทธานั้น หรือครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน

นี่เป็นเรื่องของเสาหลักในสังคม ซึ่งเป็นกำลังทางสังคมหรือกำลังภายนอก ที่จะช่วยปลุกช่วยหนุน ไปประสานกับกำลังภายในของเด็ก ที่จะทำให้เขาเป็นคนเข้มแข็งขึ้นมา

การที่เด็กก่อปัญหาต่างๆ มีความรุนแรงทางเพศ มีความรุนแรงในการใช้กำลังร่างกายทุบตีกัน อะไรต่ออะไรต่างๆ นั้น ก็มาจากความอ่อนแอ ที่ไม่มีทั้งกำลังภายนอก และกำลังภายใน

ความผิวเผิน-อ่อนแอ-ตื่นกระแส ต้องแก้ให้หมด

เพราะฉะนั้น สังคมจะต้องรีบสร้างรีบฟื้นเสาหลักที่เป็นขุมกำลังเหล่านี้ขึ้นมาให้ได้ จะเป็นการจับได้ถูกจุด แล้วเราก็จะมีความหวังที่แท้ เราจะมัวไปหวังรออำนาจดลบันดาลจากข้างนอกไม่ได้ อันนั้นเป็นความหวังที่เลื่อนลอย

เวลานี้ สังคมไทยควรตรวจสอบตัวเอง ว่าพวกเรานี้มักขาดความเข้มแข็งอดทน ทั้งไม่ทนทาน และไม่ทนรอการเผล็ดผลของงาน (แต่ชอบรอลาภลอยคอยผลดลบันดาล) เด็กไทยมักใจเสาะ เปราะบาง

นอกจากอ่อนแอแล้ว ก็ผิวเผิน เป็นคนตื้น จึงตื่น(เต้น)ง่าย และจึงได้แค่ไหลไปตามกระแส

อย่างที่ว่า กระแสโลกาภิวัตน์ กระแสบริโภคนิยม หรือกระแสอะไรจะไหลมาอย่างไร คนไทยก็ได้แต่คอยตื่นตาคอยมองจะตาม เพื่อจะไปเข้ากระแสนั้นๆ ให้ทัน ว่าเรานี้ทันสมัย เรานี้เป็นคนที่นำหน้า ล้ำหน้า อะไรก็แล้วแต่ เห็นเป็นโก้ไป ไม่มีกำลังอะไรที่เป็นทุนของตัว แสดงออกมาก็เป็นแค่เครื่องหมายของความอ่อนแอเท่านั้นเอง

คนที่ไหลไปตามกระแสนั้น พูดได้เต็มปากว่าเป็นคนอ่อนแอ เราอย่าเป็นคนอ่อนแอเลย จงเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง จงยกเสาหลักขึ้นมาตั้ง จงฟื้นกำลังขึ้นมา ตั้งต้นและตั้งตัวให้ได้

ใช้ปัญญากันเถิด ไตร่ตรองให้รู้ชัดว่า อะไรคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม อะไรเป็นทางแห่งความเจริญ ความมั่นคง และความสุขที่แท้จริง เริ่มแต่ในครอบครัวของเรา แล้วยึดไว้เป็นหลักให้ได้

คุณพ่อ-คุณแม่ กับลูก ถ้ายึดกันไว้ ครอบครัวก็ตั้งหลักได้ จะเข้มแข็ง และมีความร่มเย็นเป็นสุข ส่งผลสะท้อนออกไปถึงสังคมประเทศชาติ

เพราะอ่อนแอ จึงรุนแรง ถ้าเข้มแข็ง ก็ร่มเย็น

เพราะฉะนั้น วันนี้จึงขอฝากไว้ว่า ทางสายกลางนี้มีความหมายโยงมาถึงชีวิตของทุกคน และมาถึงครอบครัว ขยายไปถึงโรงเรียน ตลอดจนสังคมประเทศชาติทั้งหมด

เราจะต้องมาช่วยกันสร้างสรรค์กำลัง ทั้งกำลังนอกและกำลังในขึ้นมาให้ได้

การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเวไนยนิกรในที่ต่างๆ ทรงจาริกด้วยพระบาทเปล่า ทำงานทั้งวันทั้งคืน แทบไม่ได้พักเลย ไม่ทรงเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย พระองค์ทรงทำทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

ทำไมพระองค์ทำได้ ก็เพราะพระองค์เข้มแข็ง ทรงมีกำลังภายในพร้อมบริบูรณ์ จึงทรงสร้างแต่ความสุขสันต์ร่มเย็น

สำหรับคนทั่วไป ซึ่งยังไม่มีกำลังภายในเพียงพอ ก็ยังต้องอาศัยกำลังภายนอกมาช่วย ทั้งในแง่ที่มาช่วยตรึงกันไว้ และเป็นเครื่องช่วยหนุนให้แต่ละคนสร้างกำลังภายในของตนขึ้นมา

ถ้าคนอ่อนแอ ไม่มีกำลังภายในที่จะยึดตัวไว้กับธรรม และไม่มีกำลังภายนอกที่จะยั้งตัวไว้ไม่ให้ออกจากธรรม ใจเขาอ่อนแอ เอนไหวไปตามความชอบใจ ไม่ชอบใจ ปัญญาก็อ่อนแอ เมื่อเขามีกายที่แข็งแรง ก็เลยใช้กำลังกายนั้นไปทำความรุนแรงภายนอก

เพราะฉะนั้น กำลังกายที่อยู่กับคนที่ขาดกำลังภายใน จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เด็กที่ใจอ่อนแอ แต่มีร่างกายแข็งแรง ก็เอากำลังกายที่ตัวมี ไปทำร้ายคนอื่น ไปเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดปัญหาทั้งแก่ชีวิตและสังคม

พอเด็กไปก่อความรุนแรงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ย่อมเดือดร้อนเป็นรายแรก ต่อไปคนอื่นก็เดือดร้อน แล้วก็เดือดร้อนไปถึงสังคมทั้งหมด

ถ้าคนเข้มแข็งขึ้นมา โดยมีกำลังธรรม กำลังปัญญา เขาก็จะสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ ยิ่งมีกำลังเข้มแข็งมาก ก็ช่วยคนอื่นได้มาก ถ้าเข้มแข็งถึงขั้นเป็นมหาบุรุษ ก็คือมีกำลังโอบอุ้มได้หมดทั้งสังคม

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมาช่วยกัน มาเดินกันไปในทางสายกลางที่ถูกต้อง สังคมนี้จะได้ดีงามร่มเย็นเป็นสุข

เอาธรรมะมาสร้างกำลัง ให้เกิดความเข้มแข็ง

วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันแห่งทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางที่ถูกต้อง เป็นการปฏิบัติที่อยู่กับธรรม ดำเนินไปตามธรรม การที่เราทั้งหลายมาเป็นพุทธศาสนิกชน ก็ด้วยมุ่งไปที่ธรรมนั่นเอง

พระธรรมนี้ เป็นข้อที่ ๒ ในพระรัตนตรัย เป็นข้อที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง กลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ แล้วก็ทำให้เกิดสังฆะ แล้วสังฆะก็ช่วยกันนำเอาพระธรรมนี้สืบต่อกันมาถึงเรา และเป็นกัลยาณมิตรที่จะช่วยพาเราเดินไปกับท่านให้เข้าถึงธรรมด้วย

ขอให้ศึกษาพระประวัติให้ตลอดเถิด จะเห็นชัดว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลที่เข้มแข็งที่สุด ทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยกำลังทั้งหลาย ดังมีพระนามหนึ่งว่าพระ “ทศพล” (มีกำลัง ๑๐ ประการ) จึงสามารถตรัสรู้ และนำธรรมะมาสอนเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชาวโลกทั้งหมด

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจะต้องเอาธรรมนี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้ คือเอาธรรมนี้มาทำให้ชีวิตของเรา ครอบครัวของเรา สังคม ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ตลอดจนโลกของเรา ให้เจริญงอกงาม ร่มเย็น เป็นสุขให้ได้

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกำลังของเราที่ว่าไปแล้ว ซึ่งหมายถึงกำลังทั้ง ๒ อย่าง คือ กำลังภายใน และกำลังภายนอก

ในภาวะปัจจุบัน เราต้องเน้นกำลังนอก ซึ่งมีทั้งกำลังคุณพ่อคุณแม่ กำลังครูอาจารย์ กำลังวัดของพระสงฆ์ตั้งแต่อุปัชฌาย์อาจารย์ กำลังวัฒนธรรมที่เราสืบต่อรักษากันมา ซึ่งจะต้องพัฒนาให้งอกงามเหมาะกาลยิ่งขึ้นไป ตลอดขึ้นไปถึงกำลังแผ่นดินประเทศชาติที่มีองค์พระประมุขทรงเป็นหลักให้

จะต้องก้าวหน้า พัฒนากำลังต่อไป

หลักยึดเหนี่ยวทั้งหลายนี่แหละเป็นขุมกำลัง เริ่มด้วยในระดับประเทศชาติก็ต้องมีหลัก ถ้าขาดหลักเสีย ประชาชนก็ง่อนแง่นคลอนแคลน ขาดความมั่นใจ ความผาสุกร่มเย็นก็จะหายไป

แต่เมื่อองค์พระประมุขทรงธรรมเป็นธรรมิกราช ประชาชนก็มีความภาคภูมิใจ มีความมั่นใจ มีศรัทธา จิตใจก็มีความมั่นคง และพลอยพาให้มีความมั่นคงภายนอกด้วย

ทั้งนี้ ดังที่กล่าวแล้ว จะต้องมีหลักย่อมหลักย่อยหลักเล็กหลักน้อยกระจายไว้ให้เกาะให้ยึดได้ถนัดตามกำลัง และเหมาะจังหวะด้วย

เสาหลักที่เป็นแหล่งกำลังภายนอกเหล่านี้ เป็นตัวต่อเข้าไปหากำลังภายใน โดยก่อศรัทธาขึ้นมา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเชื่อมโยงกำลังนอกเข้ามาหนุนกำลังใน เช่น ส่งต่อไปยังความเพียรพยายามให้มีใจสู้ ไม่ย่อท้อ ไม่หวั่นไหว ไม่ยอมแพ้แก่อุปสรรคและสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย และให้เพียรก้าวหน้าในการสร้างสรรค์และทำความดี

พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้ใช้กำลังสติ ที่ทันเหตุการณ์ มาตรวจตราให้รอบคอบ อะไรที่เสียหาย หรือเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม ก็จะได้ละเสีย หรือเหนี่ยวรั้งตนเองไว้ อะไรที่ดีงาม หรือเป็นเหตุปัจจัยแห่งความสุขความเจริญ ก็จะได้เข้าหาหรือเอามาจัดสรรดำเนินการ

เมื่อสติทำงานแล้ว พอตั้งใจเอาจริง ก็หนุนให้มีกำลังสมาธิ จิตใจก็จะแน่วแน่มั่นอยู่กับสิ่งดีงามหรืองานของเรา และสตินั้นก็ดึงปัญญาที่เป็นกำลังอันยิ่งใหญ่มาทำงาน เพื่อดำเนินการจัดการให้สำเร็จถึงจุดหมาย

วันนี้ ขอยกเอาเรื่องกำลังมาพูดกัน เพื่อให้ญาติโยมอยู่กับธรรม และเข้ามาที่ทางสายกลาง แล้วดำเนินไปในวิถีของพระพุทธเจ้าอย่างเข้มแข็ง เพื่อที่จะบรรลุผล คือความร่มเย็นเป็นสุข เรียกว่าประโยชน์สุข ทั้งแก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคมประเทศชาติ สืบต่อไป

ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทั้งหลาย ที่ได้มีกำลังมาในวันนี้ อย่างน้อยก็มีกำลังศรัทธา ซึ่งทำให้เรามีกำลังใจ แน่นอนว่า ถ้าไม่มีศรัทธา ญาติโยมก็ไม่มีแรงที่จะมาในวันนี้

ศรัทธานั้นเห็นง่าย ทำให้ญาติโยมมีแรงมาทำบุญทำกุศลกัน แต่เราจะต้องสร้างกำลังต่างๆ ให้พร้อม ให้ครบ ๕ อย่าง ที่ท่านเรียกว่า พละ ๕ ไม่ใช่มีแค่ศรัทธาอย่างเดียว

เราจะต้องก้าวหน้าต่อไป ไม่ใช่หยุดอยู่ ไม่ใช่ว่าปีไหนๆ ก็บอกว่าได้มาทำบุญ แล้วก็อยู่แค่นั้น แต่ควรก้าวไปในบุญ คือทำบุญให้เจริญเพิ่มพูนขึ้น โดยก้าวต่อจากศรัทธา ไปในวิริยะ-ความเพียร ในสติ ในสมาธิ และในปัญญา ให้ได้ แล้วก็จะได้ประสบผลสำเร็จที่ดีงามและประโยชน์สุขทุกประการ ดังที่กล่าวมา

เมื่อวินัยไม่มี เสรีภาพก็หายไป2

ทักทาย

วันนี้ กาลเวลาได้เวียนมาครบรอบปีอีกครั้งหนึ่ง บรรจบถึงวันมาฆบูชา เรารู้สึกกันอยู่เสมอว่า วันเวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน

ความจริง ปีนี้เป็นปีที่ช้าด้วยซ้ำไป เพราะมีเดือนแปดสองหน วันมาฆบูชาซึ่งตามปกติจะมาถึงในวันเพ็ญกลางเดือนสาม ปีนี้ก็เลื่อนมาเป็นกลางเดือนสี่ ช้าไปตั้งหนึ่งเดือน แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเร็วอยู่นั่นเอง รวมความว่าครบหนึ่งปีแล้ว

หนึ่งปีนี้ก็มีความหมายสำคัญ และวันนี้ก็มีความหมายดีที่เป็นบุญเป็นกุศล เพราะเป็นวันที่เราได้มากระทำพิธีบูชาพระรัตนตรัย ทำจิตใจของเราให้ดีงามสดใส เพียงว่าเราตื่นขึ้นมาวันนี้ นึกถึงวันมาฆบูชาคิดว่าจะไปวัด ก็ใจดีแล้ว ใจมีบุญกุศลด้วยศรัทธา เป็นต้น

หลายท่านเริ่มวันด้วยการตักบาตร นี่ก็คือเริ่มวันด้วยการทำบุญ โดยมีจิตใจดีงาม ซึ่งเป็นนิมิตแห่งความเจริญงอกงามและความสุขต่อไป ดังที่เราถือเป็นประเพณีมาแต่ไหนแต่ไรว่า ให้เริ่มต้นวันด้วยบุญกุศลคือความดี

ถึงวันนี้ที่เป็นวันพิเศษ เราก็เริ่มต้นด้วยการทำบุญตักบาตร ถ้าแม้ไม่มีโอกาสที่จะทำ เราก็เริ่มต้นด้วยการทำจิตของเราให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เท่านี้ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว

ต่อจากนั้น หลายท่านก็ไปวัด ไปที่โน่นที่นี่ หรือแม้อยู่ที่บ้าน ก็อาจตั้งใจว่าวันนี้จะสวดมนต์รักษาศีล ก็เป็นเรื่องที่ดีงามทั้งสิ้น

หลายท่านเดินทางไปไกลๆ พอถึงวันสำคัญอย่างนี้ แทนที่จะไปเที่ยวสนุกสนาน เราก็ไปในเรื่องบุญกุศล ไปเยี่ยมวัดโน้นวัดนี้ ก็ดีทั้งนั้น เรียกว่าญาติโยมมีวิธีการต่างๆ ในการที่จะทำให้วันนี้มีความหมาย

แต่ในที่สุดต้องให้ประสานกัน คือให้ทุกส่วนของชีวิตและสังคม เป็นเรื่องของความดีงามเป็นบุญเป็นกุศล ประสานกันทั้งเรื่องพระศาสนา เรื่องธรรมะ แล้วก็วัฒนธรรมประเพณี ให้ได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะให้แต่ละคนถือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นจุดบรรจบประสานของความดีงาม

เริ่มที่ชีวิตของเรา ให้กายกับใจประสานกันเป็นบุญเป็นกุศล เมื่ออาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดหมดจดแล้ว ก็ทำข้างในคือจิตใจให้สะอาดผ่องใสด้วย

จากนั้นมาบรรจบกับด้านสังคม เราก็มีใจปรารถนาดีต่อกัน มาร่วมกันในพิธีที่เป็นบุญเป็นกุศล พอมาพบพระ ก็เป็นสิริมงคล ตามหลักที่ว่า “สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” การได้มาเยี่ยมเยียนพบเห็นพระ เป็นอุดมมงคล

อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรจะขาด ก็คือให้ประสานกับธรรมชาติ ได้พบเห็นสิ่งแวดล้อมที่เรียบร้อยรื่นรมย์ ซึ่งนำใจให้สงบเยือกเย็นและสดชื่นเบิกบาน

ถ้าได้อย่างนี้ก็นับว่าครบบริบูรณ์ แต่คนยุคปัจจุบันไม่ค่อยได้ครบถ้วนอย่างนี้ เพราะชีวิตแตกกระจัดกระจายไปคนละหลายๆ ด้าน กายไปทางหนึ่ง ใจไปทางหนึ่ง ใจก็ไม่ค่อยอยู่กับตัว การงานที่กังวลก็มาลากจูงหรือคอยกวนใจ แล้วก็ต้องยุ่งกับเรื่องทางสังคม บางทีก็วุ่นวายกับการแข่งขันแย่งชิง ทำให้ประสานหรือสมานกันไม่ได้ แล้วก็ห่างจากธรรมชาติอีก

พอถึงวันบุญอย่างนี้ เราก็ทำให้มีความหมาย อย่างน้อยก็ให้เกิดการบรรจบประสานกันขึ้นมาบ้าง ญาติโยมมากันนี้ จิตใจก็ดีมาแล้ว กายก็มาชุมนุมกันเป็นกายสามัคคี มาร่วมทำบุญด้วยกัน แล้วก็มาพบกับธรรมชาติที่ดีที่งามพอสมควร เป็นอันว่า ด้านสังคมก็ดี ด้านธรรมชาติก็ดี ด้านกายใจเราก็ดี นี่แหละดีครบหมด แล้วก็ให้ได้ปัญญาด้วย ปัญญานั้นจะเป็นตัวที่ช่วยให้เราเจริญพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป

นี่ก็เป็นความหวังที่ว่าเราจะพยายามทำให้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่นวันมาฆบูชานี้ เป็นวันที่มีความหมาย

ทวนกันทุกปี

ทีนี้ มาถึงเรื่องวันมาฆบูชา ตามปกติเราจะต้องพูดกันถึงความหมายและเหตุการณ์เกี่ยวข้อง ที่ปรารภในการทำมาฆบูชา คือการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ นี้

เคยพูดในปีก่อนๆ แล้วว่า พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญกันมาเป็นประจำ เราไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำกันอยู่ทุกปี อาจจะทบทวนในจุดสำคัญ เพียงเล็กน้อย เช่นว่า วันมาฆบูชา ก็คือวันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ ปีนี้ก็ไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดว่าองค์ ๔ มีอะไรบ้าง

หัวข้ออย่างนี้ แต่ละท่านก็ทบทวนเองในใจ เด็กๆ ถ้ายังนึกไม่ออก กลับไปถึงบ้าน ก็ถามคุณพ่อคุณแม่ และคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเตรียมตัวไว้ ต้องตอบลูกให้ได้ด้วย

จาตุรงคสันนิบาตนั้น ไม่ใช่ตัวเป้าหมาย เป็นเพียงว่าพระพุทธเจ้าทรงปรารภจาตุรงคสันนิบาตแล้ว จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ เพราะฉะนั้น เป้าหมายของจาตุรงคสันนิบาต จึงอยู่ที่โอวาทปาติโมกข์

เราอย่าไปติดอยู่แค่จาตุรงคสันนิบาต ถ้าไม่มีโอวาทปาติโมกข์ จาตุรงคสันนิบาตก็จะหายไปเลย จะไม่ปรากฏขึ้นมาเป็นเหตุการณ์ใหญ่ หรือจะทำให้มีมาฆบูชา เพราะฉะนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่โอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์นั้น แปลว่า โอวาทหรือพระดำรัสสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน ถ้าจะพูดกันด้วยภาษาง่ายๆ สั้นๆ ก็บอกว่าเป็น “คำสอนแม่บท”

คำสอนแม่บทนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระอรหันต์ล้วน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีรายละเอียดมาก คือรู้กัน เพราะพระอรหันต์ย่อมมีความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว การที่ตรัสออกมา ก็เป็นเพียงซักซ้อมนัดหมายให้มีจุดที่จะกำหนดร่วมกัน เวลาไปทำงาน

วันนี้ แม้จะไม่พูดถึงรายละเอียด แต่ก็จำเป็นต้องทบทวนตัวหลักของโอวาทปาติโมกข์นั้น ซึ่งมีแค่สามคาถากึ่ง คือ สามคาถา กับครึ่งคาถา

วิธีทวนก็คือ ว่าเป็นภาษาบาลีเลย ถ้าว่าซ้ำกันทุกปีๆ แล้วปีนี้อธิบายข้อนั้น ปีนั้นอธิบายข้อโน้น ต่อไปก็ชัดเจนหมดทุกข้อ พอยกหัวข้อขึ้นมาพูด ก็กระจ่างใจไปเลย

วันนี้จะขอกล่าวคำบาลีที่เป็นคาถา ทุกท่านต้องยอมให้เวลากับคาถาภาษาบาลีนี้ เริ่มด้วย

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทฺนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ

นี้คาถาที่หนึ่ง ได้แล้วหนึ่งคาถา

ต่อไปคาถาที่สอง

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

ต่อไปท่อนที่สาม ซึ่งมีคาถากึ่ง หรือคาถาครึ่ง

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

จบเท่านี้ ไม่มาก

คนไทยเรานี้ ที่จริงชอบคาถากันอยู่แล้ว นี่เจอคาถา ก็น่าจะเอาไปท่องกัน แต่นั่นแหละ ญาติโยมมักจะชอบแต่คาถาขลังๆ คาถาที่เป็นสาระมีความหมายอย่างนี้ ไม่ค่อยท่อง

แล้วคาถาที่ว่าขลังที่ชอบท่องกันนั้น โดยมากแปลไม่รู้เรื่อง เพราะตอนที่จะท่อง ก็ไม่รู้เรื่อง พอท่องต่อกันมา ก็เลยเพี้ยนหมด ไม่รู้ว่าอักขระตัวไหนกลายเป็นอะไร ได้แค่ชอบของที่เชื่อ แต่ของจริงที่ขลังแท้ กลับไม่เอา

คาถาอย่างโอวาทปาติโมกข์นี่แหละที่ขลังจริง ขลังที่สุดเลย เป็นคาถาของพระพุทธเจ้าแท้ๆ แล้วก็มีความหมายลึกซึ้ง ครอบคลุมหมด เอาไปใช้ได้ผลจริง เห็นชัดเลย อันนี้สิควรจะท่องกัน

เอาละ คนไทยถึงจะท่องคาถาขลังอะไรก็ตาม ก็ขอให้ท่องคาถาอย่างนี้ไว้เป็นหลักบ้าง แล้วนำมาสวดกัน ตามวัดพอถึงวันมาฆบูชานี้ ก็ต้องสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ในเวลาทำวัตรด้วย

ในโอวาทปาติโมกข์สามคาถากึ่งนี้ วันนี้เป็นอันว่าจะไม่อธิบายทั้งหมด ถึงจะอธิบายก็คงไม่ไหว เวลาไม่พอแน่ เพราะแต่ละข้อเป็นเรื่องใหญ่ วันนี้เอาแค่ตั้งข้อสังเกต

ตบะทำไมมาอยู่ที่ขันติ

มีข้อน่าสังเกตในบางคาถา หรือในบางบท บางส่วน บางตอน ของโอวาทปาติโมกข์ ลองดูกันหน่อย

เริ่มด้วยคาถาที่หนึ่ง ขึ้นต้นว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา” แปลว่า ขันติ คือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง หรือว่า ตบะอย่างยอดเยี่ยมก็คือขันติ นี่คือธรรมที่มาเป็นข้อแรกสุด

หลายท่านมองไม่เห็นว่า ขันติ ความอดทนนี่จะเป็นตบะได้อย่างไร ก็ขออธิบายให้ข้อสังเกตไว้

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ก็เพราะว่า ในสมัยนั้น พวกนักบวชชอบบำเพ็ญตบะ การบำเพ็ญตบะก็คือทรมานร่างกาย และการที่จะทรมานร่างกาย ก็ต้องใช้ความเพียรพยายาม

เขามีความเพียรพยายาม แต่แทนที่จะเอาไปใช้กับการทำงานหรือการสร้างสรรค์อะไร ก็เอามาใช้กับร่างกายตัวเอง แถมพยายามคิดหาทางบีบคั้นทรมานมันให้เต็มที่ เรียกว่าใช้กำลังความเพียรทั้งทางกายทางใจและทางปัญญามาห้ำหั่นตัวเอง

พวกนักบวชที่บำเพ็ญตบะ ก็ไปนอนบนหนามบ้าง ไปนั่งนอนยืนแช่ตัวกลางแม่น้ำในฤดูหนาวบ้าง ไปยืนกลางแดดในฤดูร้อนตอนร้อนที่สุดตลอดทั้งวันบ้าง เอาขางอเข้าคาบกิ่งไม้ห้อยหัวลงมาทั้งคืนทั้งวันเหมือนค้างคาวบ้าง ตลอดจนกลั้นลมหายใจ อดอาหาร อย่างนี้เรียกว่าบำเพ็ญตบะ

พวกนักบวชนั้นมุ่งมั่นทำอย่างนี้โดยนึกว่าจะเป็นทางที่ทำให้เขาบรรลุโมกษะ คือความหลุดพ้น

เขาถือว่า ร่างกายคนเรานี้มันกระหายอยาก คอยยั่วยุและปลุกเร้ากิเลส ทำให้เราเสื่อมทรามตกต่ำ พาให้จิตใจมัวเมาหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เลวร้าย ก็เลยจะต้องทรมานมันเพื่อให้จิตเป็นอิสระพ้นไปจากเรื่องของกิเลสที่วุ่นวาย จะได้พัฒนาสูงขึ้นไป ดังนั้น เขาจึงบำเพ็ญตบะกันยกใหญ่

พระพุทธเจ้าก็มาทรงสอนเปลี่ยนใหม่ว่า พุทธศาสนาไม่ถือว่าการทรมานร่างกายนั้นเป็นตบะ

แทนที่จะเอาเรี่ยวแรงกำลังความเข้มแข็งอดทนเพียรพยายามนั้นมาใช้ทรมานร่างกายตัวเอง เราก็เอาไปใช้ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาชีวิตของตัวเองไปเลย แล้วเรี่ยวแรงกำลังความเข้มแข็งก็จะเกิดผลดีขึ้นมา นี่แหละคือ ขันติ

ความเข้มแข็งนี้ปรากฏออกมาในรูปของความทนทานหรือความอดทน ถ้าเป็นวัตถุเราเรียกว่าทนทาน ถ้าเป็นจิตใจก็เรียกว่าอดทน ได้แก่ความเข้มแข็งอดทนที่จะบุกฝ่าไปให้ถึงความสำเร็จ นี่ก็คือมาทบทวนความหมายในเรื่องขันติ

ขันติ นี้มี ๓ ด้าน ๒ อาการ

เอา ๓ ด้านก่อน ได้ยินกันบ่อยๆ แล้ว อะไรบ้าง

๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ คนที่ทำงานทำการต่างๆ นี่ ต้องมีความลำบาก ต้องเจอความยาก ต้องพบกับภาระต่างๆ อาจจะต้องเดินทางไกลบ้าง เจองานที่ต้องใช้สมองอย่างหนัก หรือต้องใช้เวลายาวนานบ้าง ต้องเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำอะไรต่างๆ

ถ้าเป็นคนที่ไม่มีความอดทน ไม่มีความเข้มแข็ง ก็จะท้อถอย อาจจะเลิกล้มเสียในระหว่าง หรือทำไม่สำเร็จ อย่างน้อยก็ฝืนใจทำด้วยความทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีขันติ

ขันติ คือความเข้มแข็งอดทน จะทำให้สู้ไหว สามารถเอาชนะความยากลำบากตรากตรำ และนำไปให้ถึงความสำเร็จได้ นี่คือด้านที่หนึ่ง อดทนต่อความลำบากตรากตรำ

๒. อดทนต่อทุกขเวทนา คือทนต่อความเจ็บปวดไม่สบาย เช่น เจ็บไข้ หรือแม้แต่เมื่อยล้า อันเป็นธรรมดาของคนที่ต้องค้างอยู่ในบางอิริยาบถนานๆ อย่างญาติโยมที่นั่งกันอยู่นี่ ก็อาจจะเมื่อยได้

ในเมื่อเรามีสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และมันไม่เหลือวิสัย แม้แต่เจ็บไข้และบำบัดรักษากันอยู่ ถ้าเราไม่มีความอดทน มัวแต่โวยวาย ก็ยิ่งทำให้ยุ่งยาก บางทีเรื่องเล็กก็เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่จะสำเร็จได้ ก็เลยล้มไปเสียกลางคัน หรือไม่ก็ยืดเยื้อ

เพราะฉะนั้น แทนที่จะโวยวาย ก็ทำไปตามเหตุตามผล ควรทนได้ก็ทน มีทุกขเวทนาบ้างก็ต้องยอมรับ

อย่างในครอบครัวนี่ ถ้ามีความเจ็บไข้ แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ใช่ไปประมาทปล่อยปละละเลย ต้องเอาใจใส่บำบัดรักษา แต่พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีความอดทน มิฉะนั้นอาจจะกลายเป็นการทำให้เรื่องบานปลาย อย่างคนที่เอาแต่โวยวายๆ แล้วแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้ผลดี

จึงต้องมีความอดทนต่อทุกขเวทนาบ้าง แล้วก็แก้ไขปัญหากันด้วยปัญญา ให้ตรงเหตุตรงปัจจัย ก็จะช่วยให้สำเร็จผลด้วยดี

๓. อดทนต่อสิ่งกระทบใจ ถ้อยคำของคนอื่นที่พูดไม่ตรงใจเรา หรืออาการกิริยาของเขาที่ไม่ถูกใจเรา ก็ทำให้กระทบกระทั่งกัน แม้แต่ในครอบครัว ก็ต้องมีความอดทน อดทนต่อประดาอารมณ์ดีร้ายที่มาในรูปแบบต่างๆ

พูดง่ายๆ ว่า เมื่อเจอเรื่องราวหรือสิ่งที่กระทบกระทั่งใจเข้า อย่าเพิ่งวู่วาม ตั้งสติชะลอไว้ ให้เวลาแก่ความคิด แล้วเอาปัญญามาค่อยๆ คิด และใช้วิธีของเหตุผล ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จากัน ก็จะทำให้แก้ปัญหาไปได้ ถ้าวู่วามไป ก็ยิ่งวุ่นวายใหญ่

ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องระดับชาติ ระดับโลกเลยทีเดียว ที่คนมักทนรอฟังกันไม่ได้ เช่น คนที่ถือต่างลัทธิ ต่างศาสนา พูดจาอะไรกระทบกันไม่ได้ จะต้องเกิดเรื่องเกิดราวทะเลาะกันจนถึงกับทำสงครามเลยทีเดียว

การที่สังคมเล็ก สังคมโลก วุ่นวายกันเวลานี้ เหตุใหญ่อย่างหนึ่งก็เพราะขาดความอดทน แล้วดูซิเวลานี้ เมื่อขาดขันติธรรม ปัญหาใหญ่ขนาดไหน

เพราะฉะนั้น ในระดับโลกต้องมีการย้ำเรื่องนี้กันให้มาก เฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและลัทธินิยมอุดมการณ์ต่างๆ ต้องให้มีขันติธรรม ฝรั่งก็พูดกันนัก เรียกว่า Tolerance แล้วก็พยายามกันมาหลายร้อยปีไม่รู้กี่ศตวรรษ ก็ยังยุ่งอยู่นั่นเอง คนพัฒนา Tolerance ไม่ขึ้น มีแต่สงครามที่ยิ่งพัฒนา สันติภาพยิ่งห่างออกไป

มองให้ไกลจะเห็นว่า เรื่องขันติธรรมความอดทนในข้อ ๑ ของโอวาทปาติโมกข์นี้ มีความหมายกว้างขวางมาก กินวงมาถึงการแก้ปัญหาของโลกปัจจุบัน ในการที่จะให้มีสันติภาพ ต้องรู้ว่าโลกที่มันวุ่นวาย ก็เพราะขาดขันติธรรมนี้ด้วย

รวมแล้วก็มี ๓ อย่างนี้

  1. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ
  2. อดทนต่อทุกขเวทนา
  3. อดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ

ขันติให้ครบ

ต่อไป อาการของความอดทนมี ๒ แบบ

๑) อดทนแบบตั้งรับ

๒) อดทนในการบุกฝ่า

อย่ามองแง่เดียว ต้องมองให้ครบ

๑) อดทนแบบตั้งรับ การตั้งรับก็เป็นความอดทนที่สำคัญ และโดยมากคนก็จะคิดถึงความอดทนโดยมองในแง่นี้ คือคอยตั้งรับ เขาทำอะไรมา ก็ตั้งรับ อดทนไปๆ อย่างนี้ก็ต้องระวัง ต้องตั้งรับด้วยปัญญาอย่างมีเหตุมีผล ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นความกดดัน แล้วจะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก

ความอดทนในแง่ตั้งรับนี้ ต้องทำใจได้ คือทำใจด้วยปัญญารู้เข้าใจที่ทำให้ใจพร้อมรับ อย่างพระสารีบุตร ที่ท่านมีขันติธรรม ทั้งที่หรือสมกับที่เป็นผู้บริหารสังฆะรองจากองค์พระพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะมีเรื่องราวอะไรกระทบกระทั่ง คนโน้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ พระสารีบุตรก็รับได้

พระสารีบุตรท่านเป็นเหมือนอย่างผืนแผ่นดิน ก็แล้วผืนแผ่นดินเป็นอย่างไรล่ะ คือ ใครจะเอาของดีหรือของเสียเทลงมา เอาอะไรรดใส่ ไม่ว่าจะสกปรกแค่ไหน หรือจะเอาของดีแค่ไหนมาฝังไว้ เช่น ทรัพย์สมบัติ หรือเพชรนิลจินดา อย่างสมัยก่อนที่เขาไปขุดหลุมฝังขุมทรัพย์ไว้ใต้ดิน ของดีก็ฝังไว้ในดิน ของเสียก็เทลงไปในดิน ผืนปฐพีนี้รับได้หมด ไม่ร้องไม่บ่นอะไรทั้งนั้น

คนที่จะอดทน เมื่อถึงคราวตั้งรับ ก็ต้องทำใจให้เหมือนผืนแผ่นดินอย่างนี้ ไม่ว่าเรื่องดีหรือเรื่องร้ายมา ต้องรับได้หมด ก็จะผ่านพ้นปัญหาไปได้ อย่างคุณพ่อคุณแม่ บางทีก็ต้องเป็นเหมือนผืนแผ่นดินนี่แหละ คือรับได้หมดทั้งนั้น

๒) อดทนแบบบุกฝ่า หมายความว่า การงานที่จะทำ หรือสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์อันดีงาม เราจะต้องก้าวไปทำ หรือทำให้ก้าวไปจนกว่าจะสำเร็จ ถึงจะมีอุปสรรคยากลำบาก ก็ต้องฝ่าฟันไป อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ เป็นคาถาว่า

อหํ นาโคว สงฺคาเม จาปาโต ปติตํ สรํ…

บอกว่า “เรานี้เหมือนช้างศึกเข้าสงคราม ซึ่งทนต่อลูกศรที่พรั่งพรูมา”

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบพระองค์เหมือนช้างศึก คือ พระองค์เสด็จไปประกาศพระศาสนา หรือไปโปรดสัตว์ ทรงเดินทางไปเทศนาสั่งสอน คนก็ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง บางทีขัดใจเขาบ้าง ขัดลาภขัดยศเขาบ้าง เขาก็ด่าว่าหรือแกล้งใส่ร้ายต่างๆ ตลอดจนหาทางทำร้าย พระพุทธเจ้าก็ทรงมีความอดทน

พระองค์เหมือนช้างศึก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายชัดเจน คือจะไปให้ถึงชัยชนะ แต่ในระหว่างนี้ เมื่อมีสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่ง คือ อาวุธ แหลน หลาว ลูกธนู ที่เข้ามาทุกอย่างจากทุกทิศ ช้างศึกก็ต้องอดทน รับได้หมด และฝ่าไปให้ถึงจุดหมาย

เราก็เหมือนกัน ถ้ามีวัตถุประสงค์ที่ดีงามแล้ว แน่ใจแล้ว เราก็ทำ และเดินหน้าไป เมื่อเจอสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่ง ก็ไม่มัวเก็บเอามาเป็นอารมณ์ เมื่อไม่มัวติดข้องอยู่กับเรื่องจุกจิก เราก็จะมุ่งแน่วไปข้างหน้า และผ่านไปด้วยดี

แต่ถ้ามัวเก็บเอาเรื่องขลุกขลิกนอกทางมาเป็นอารมณ์กระทบตัว เราก็จะมัววุ่นวายพันพัวอยู่กับเรื่องเหลวไหล แทนที่ใจจะอยู่กับสิ่งดีงามที่จะทำและแล่นโล่งไปให้ถึงจุดหมาย ก็มัวพะว้าพะวังวุ่นอยู่กับเรื่องแทรกแซงจุกจิกเหลวไหล เลยทำให้ล่าช้า หรือเสียงาน

คนที่มีใจเป็นสมาธิ ตั้งมั่นแน่วแน่ จะมุ่งไปที่จุดหมาย เขาไม่ถือสาอารมณ์เหล่านี้ ก็เลยทนได้โดยไม่ทุกข์ เรื่องก็ผ่านไปๆ นี่ก็เป็นลักษณะของขันติความอดทนที่สำคัญด้านหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจึงต้องอดทนให้ถูกทาง ถ้าจะทำสิ่งที่ดีงาม เมื่อมั่นใจแล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีท้อถอยเลย พระองค์ประทับนั่งที่ใต้ร่มโพธิ์ ตอนนี้แน่พระทัยแล้ว ก็ตรัสในพระทัยว่า ถ้าไม่บรรลุโพธิญาณ แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดไปเหลือแต่กระดูก ก็จะไม่ลุกขึ้นมา

คนสมัยนี้ ถ้าเอาอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อจะทำงานที่ดีงามสำคัญ มองเห็นเหตุเห็นผลแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จ

ให้ถึงขั้นที่ว่า ถึงจะต้องคลาน ก็สู้ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า มีความอดทนที่เป็นตบะ

นี้คือเรื่องขันติ ซึ่งขอนำมาพูดเป็นข้อสังเกต และเป็นการทบทวนไปด้วย

จะเห็นว่า แม้แต่เพียงขันติข้อเดียวนี้ ก็เป็นเรื่องใหญ่มากแล้ว พระพุทธเจ้านำมาตรัสเป็นข้อที่ ๑ เพื่อสอนให้รู้จักใช้ความเข้มแข็งมุ่งมั่นเพียรพยายามให้ถูกทาง

แทนที่จะไปทรมานร่างกาย หรือทำอะไรต่ออะไรที่ไม่เป็นเรื่อง ก็นำกำลังมาใช้ในการทำสิ่งที่ดีงาม ให้สำเร็จผลจนถึงจุดหมาย

การบำเพ็ญตบะ ก็คือการเผาผลาญกิเลส แต่พวกนักบวชสมัยโน้น เขาเผากิเลสด้วยการทรมานร่างกาย

ทีนี้ ขันติ คือความเข้มแข็งอดทนที่ดั้นด้นไปด้วยพลังความเพียรนี้ ก็เผาผลาญกิเลสเช่นความเกียจคร้านเฉื่อยชา เผาผลาญความอยากได้อยากบำรุงบำเรอหมกมุ่นมัวเมาตามใจตัวเอง แล้วก็เผาผลาญอุปสรรคให้เหือดหาย แม้แต่เหล็ก ก็หลอมละลายเอามาปั้นได้ สามารถผ่านพ้นก้าวไป จนถึงความสำเร็จ นี้คือขันติ ที่เป็นตบะ

คนยุคนี้ขี้แย?

ตรงนี้ อยากตั้งข้อสังเกตสักหน่อยเกี่ยวกับเรื่องของยุคสมัย คือ มีเสียงบ่นว่าคนสมัยนี้ไม่ค่อยมีความอดทน โดยเฉพาะได้ยินครูอาจารย์ ปรารภเรื่องเด็กๆ สมัยนี้ว่าไม่ค่อยเข้มแข็ง ขาดความอดทน

ที่จริง คนไทยไม่ค่อยอดทนมานานแล้ว สมัยก่อนก็ไม่ค่อยอดทนอยู่แล้ว ตอนนี้ ครูอาจารย์ที่ไม่ค่อยอดทน ก็มาบ่นว่าลูกศิษย์ไม่อดทน คือไม่อดทนหนักเข้าไปอีก แสดงว่าเด็กสมัยนี้ไม่อดทนเป็นทวีคูณ

เด็กต้องรับฟังไว้ ผู้ใหญ่เขาว่าเราแล้ว เด็กก็ต้องมาพิจารณาตัวเองว่า เราจะทำอย่างไรดี

ก็ต้องตั้งใจว่า เราจะต้องอดทนมีขันติมากขึ้นไป ให้ยิ่งกว่าคนรุ่นก่อนเราอีก ผู้ใหญ่รุ่นพ่อแม่ ท่านอดทนได้พอสมควร ท่านสร้างฐานไว้ให้แล้ว เราต้องเดินหน้าต่อจากฐานนั้นไป

คนที่ทำมาก่อนอย่างครูอาจารย์นี่ ทำไว้เท่าไร ก็เป็นผลที่ลูกศิษย์จะได้เก็บเกี่ยว เรียกว่าทำไว้ให้แก่ลูกศิษย์ เท่ากับว่าลูกศิษย์ได้ลัดข้ามมาทีเดียวเลย

ครูอาจารย์ค้นมาๆ ปฏิบัติการมาๆ กว่าจะได้วิชาแค่นี้ บางทีค้นและทำเป็นปีหรือเป็นสิบปี แล้วเอามาย่อยมากลั่นกรองให้ลูกศิษย์ แค่เดือนเดียวหรือครึ่งเดือน ลูกศิษย์ก็ได้แทบหมดแล้ว

แม้ว่าเรื่องประสบการณ์และความซับซ้อนลึกซึ้งยังมีมากกว่านั้น แต่พูดรวมๆ ได้ว่าอย่างนั้น

บางทีผลงานที่ตัวทุ่มเทมาทั้งชีวิตกว่าจะได้ อาจารย์เอามาให้ ลูกศิษย์ก็ได้ไปในชั่วประเดี๋ยวเดียว เท่ากับว่าลูกศิษย์ลัดข้ามไปแล้ว ลูกศิษย์ก็ก้าวต่อจากครูอาจารย์ไปเลย

จึงเป็นธรรมดาที่ลูกศิษย์จะต้องก้าวหน้ากว่าครูอาจารย์ไปอีกมาก เพราะลูกศิษย์เดินต่อจากฐานที่ครูอาจารย์สร้างมาให้ ถ้าพูดหยาบๆ ก็เหมือนกับขึ้นไปยืนบนหัวของอาจารย์ แล้วทำไมลูกศิษย์จะมาอยู่แค่ครูอาจารย์

ถ้าคนรุ่นใหม่ทำไม่ได้อย่างคนรุ่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ก็แย่ แสดงว่าเสื่อมมาก เด็กสมัยนี้ต้องคิดให้ถูกว่า คนรุ่นเรานี้ต้องเจริญพัฒนามากกว่า เช่น ปัญญาจะต้องงอกงามขึ้นกว่าคนรุ่นพ่อแม่อีกมาก

พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ว่าอะไรหรอก ลูกหลานลูกศิษย์จะเจริญงอกงามมากกว่า ก็ไม่เป็นไร เพราะมันก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติที่มันควรจะต้องเป็นอย่างนั้น

ทีนี้ ถ้าครูอาจารย์ค้นมาให้ตั้งขนาดนี้แล้ว เราลัดได้มาแล้ว แต่เราก็อยู่เท่าเดิม บางทีไม่ได้เท่าเดิม ไม่ได้เท่าครูอาจารย์เสียด้วย อย่างนี้ก็ไม่ไหวแล้ว แสดงว่าถอยหลัง จะต้องพิจารณาตัวกันแล้ว

นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องคิดกันให้ดี การขาดความเข้มแข็งอดทนเป็นสาเหตุสำคัญ ใช่หรือไม่

คนที่จะอดทนได้ ก็ต้องมีความเข้มแข็งอยู่ภายใน จึงทนสู้ ทนรับได้ ทนบุกฝ่าได้ ทนได้หมด และเมื่อเดินหน้าไป ความเข้มแข็งอดทนก็จะมาสัมพันธ์กับธรรมแง่อื่นๆ ที่อยู่ในโอวาทปาติโมกข์ด้วย

เสรีภาพชอบอ้าง แต่วินัยไม่เอา

ถ้าดูกันไป จะเห็นว่า ในโอวาทปาติโมกข์นี้ พอถึงคาถาท่อนที่ ๓ จะมีพระดำรัสในเรื่องคุณสมบัติของตัวพระเองที่จะไปทำงานพระศาสนา เมื่อหลักนี้อยู่ในปาติโมกข์ ก็อยากจะพูดในเรื่องวินัย

วินัย เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก และในยุคนี้เราก็เจอปัญหาในเรื่องวินัยนี้อีก การตั้งข้อสังเกตวันนี้เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับสภาพปัจจุบันหลายอย่าง

เมื่อกี้นี้ได้พูดไว้ คนสมัยนี้ถูกต่อว่าว่าไม่ค่อยอดทน ไม่ค่อยเข้มแข็ง ก็ต้องพิจารณาตัว และถ้าเป็นจริง ก็ต้องปรับปรุงตน

ทีนี้มาในแง่วินัย ก็บ่นกันว่า คนสมัยนี้ไม่ค่อยมีวินัย ที่จริงคนไทยก็เป็นอย่างนั้นมาแต่ไหนแต่ไร เคยได้ยินมา ๒๐-๓๐ ปีแล้วว่า คนไทยไม่มีวินัยจนกระทั่งปัจจุบัน คนสมัยนี้ยิ่งแย่ลงไปอีก

บอกว่าคน ๒๐ ปีก่อนไม่มีวินัย แล้วคนที่ไม่มีวินัยเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน ยังมาบ่นว่าคนสมัยนี้ ก็อาจจะแสดงว่าคนสมัยนี้เสื่อมลงไปอีก วินัยแย่ที่สุดเลย แล้วจะทำอย่างไร เพื่อให้คนมีวินัย

พอพูดถึงวินัย ก็ไปโยงกับอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องเสรีภาพ คนสมัยนี้นิยมเสรีภาพมาก ไม่ว่าอะไรก็อ้างว่าต้องมีเสรีภาพ และเอาเสรีภาพไปโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เดี๋ยวก็อ้างสิทธิๆ เรื่องสิทธิเสรีภาพก็เลยเป็นเรื่องโดดเด่น

เสรีภาพ บางทีก็มาขัดกับวินัย เพราะวินัยเหมือนกับมาจำกัด ควบคุมเรา ทำให้ทำอะไรไม่ได้ตามใจชอบ

แต่ก็ต้องคิดกันให้ชัดว่า เสรีภาพกับวินัยขัดกันจริงหรือ คำถามนี้จะตอบได้ ก็ต้องชัดด้วยว่า วินัยคืออะไร และเสรีภาพคืออะไร

ถ้าว่าเสรีภาพคือฉันทำได้ตามชอบใจ มันก็ต้องขัดกับวินัยแน่ ถ้ามีเสรีภาพแล้วจะเอาตามใจตนเองว่า ฉันจะทำอย่างไร ก็ต้องทำได้ เสรีภาพอย่างนี้ก็ทำให้มีวินัยไม่ได้ เรื่องนี้ต้องศึกษากันให้ดี

ปัญหาดูจะเริ่มตั้งแต่ว่า คนสมัยนี้มักจะมองเอาง่ายๆ แค่นี้ว่า เสรีภาพ คือ ฉันอยากได้อะไร ฉันต้องได้ ฉันอยากทำอะไร ฉันต้องทำได้ แล้ววินัยก็คือสิ่งที่มาจำกัดกั้น ขัดขวางฉัน มาตีกรอบฉัน ไม่ให้ทำ หรือให้ทำอะไรไม่ได้ตามชอบใจ

ถ้ามองอย่างนี้ ก็ไปไม่ไหว เสรีภาพกับวินัยก็ต้องขัดกันตลอดไป พอเริ่มต้นก็ใช้เสรีภาพแบบว่าเอาง่ายๆ ตามใจฉัน จะให้ความหมายของเสรีภาพ ก็ไม่ต้องคิดพิจารณา ไม่ต้องศึกษาอะไร

ความจริง เสรีภาพกับวินัยเป็นเรื่องที่ประสานเสริมกัน ทั้งสองอย่างเป็นหลักการที่มีขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน มันประสานกันแท้ๆ ทำไมจึงว่าอย่างนั้น

จะเห็นได้ง่ายๆ เสรีภาพเป็นเรื่องของการมีโอกาสและใช้โอกาส เมื่อว่าโดยตรงก็คือ การที่จะใช้โอกาสได้โดยไม่ถูกจำกัดขัดขวาง

ถ้าเราไม่มีเสรีภาพ เราก็ใช้โอกาสไม่ได้ และโอกาสก็หายไปจากเรา เราจะทำอะไร ก็ทำไม่ได้ ถูกห้ามถูกปิดกั้นไปหมด จะพูดก็พูดไม่ได้ จะเขียนก็เขียนไม่ได้ จะทำโน่นทำนี่ ก็ติดขัดไปหมด

เป็นอันว่า เสรีภาพเป็นการใช้โอกาสได้ แต่เราก็ต้องมีโอกาสที่จะให้เสรีภาพใช้ด้วย ถ้าโอกาสไม่มี หรือไม่มีโอกาส ที่จะให้เสรีภาพใช้ เสรีภาพก็พลอยหมดไปด้วย

วินัยไม่มา เสรีภาพไม่มี

ทีนี้ หันมาดูวินัยบ้าง วินัยคืออะไร?

วินัยมีขึ้นเพื่อจัดสรรโอกาส และในความหมายหนึ่ง วินัย ก็คือการจัดสรรโอกาส หรือจัดให้มีโอกาส

ที่ว่านี้จริงหรือไม่ ลองคิดดูให้ดี

อย่ามองแค่ว่าวินัยเป็นเครื่องควบคุมจำกัด เดี๋ยวจะบอกว่าวินัยจำกัดเสรีภาพ แต่ดูกันให้ถึงความหมายที่แท้

โดยพื้นฐานนั้น เขาตั้งวินัยขึ้นเพราะต้องการจัดให้มีโอกาส ให้เรามีโอกาส ถ้าไม่มีวินัย เราก็จะไม่มีโอกาส

ดูตัวอย่างตรงหน้านี้แหละ ญาติโยมนั่งกันอยู่นี่ ขณะนี้ ก็คือฟังอาตมาพูด ทีนี้ ถ้าทำตามเสรีภาพแบบที่ว่าใครอยากจะพูดก็พูด ใครอยากจะเดินก็เดิน ฯลฯ เอาละซิ ในที่ประชุมนี้ คนนั้นก็พูด คนนี้ก็พูด เสียงโน้นมา เสียงนั้นมา ว่ากันวุ่น เสียงเซ็งแซ่ไปหมด ที่ว่าจะฟังอาตมาพูด ก็ฟังไม่รู้เรื่อง

นี่เรียกว่าขาดวินัยใช่ไหม เสรีภาพก็ใช้โอกาสไม่ได้ กลายเป็นสูญเสียโอกาส หรือทุกคนก็หมดโอกาสไปด้วยกัน และเสรีภาพก็ไร้โอกาสที่จะเอาไปใช้ นี่ก็คือหมดเสรีภาพไปด้วยกันนั่นเอง

เขาจัดวินัยเพื่อให้คนมีโอกาสทำกิจกรรมอะไรๆ ได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ อยากจะพูดอยากจะฟังอะไร ก็พูดก็ฟังได้ นี่ก็คือโอกาส ซึ่งเสรีภาพจะได้มาใช้

เราจัดงานขึ้น เพื่อจะให้โยมได้ฟังธรรม พอมีวินัย โอกาสที่จะฟังก็มีจริง และโยมก็ใช้โอกาสนั้นได้ โยมก็ได้ฟังธรรมใช่ไหม

แต่ถ้าไม่เอาวินัย บอกว่าให้เสรีภาพ ใครอยากจะทำอะไร ก็ทำไปตามชอบใจของตัว ฉันอยากจะพูดอะไร อยากจะเดินไปไหน ก็พูดก็ลุกขึ้นมาเดินกันเอะอะพล่านไป

เลยกลายเป็นว่า คนมีเสรีภาพนี้เป็นตัวก่อกวน ทำให้เสียโอกาส แล้วก็ทำให้ทั้งคนอื่นและตัวเองหมดเสรีภาพไปด้วยกัน

มองกว้างออกไปตามท้องถนน เราให้คนมีวินัยมีกฎหมายมีศีลนี่ ก็ทำให้คนไม่ทำอะไรตามชอบใจ เราอยากจะลักขโมยแย่งชิงของใคร เราก็ไม่ไปแย่งชิง เราโกรธใคร ก็ไม่ไปทำร้าย

ทีนี้ เมื่อตามท้องถนนและในสถานที่ต่างๆ ไม่มีคนไปเที่ยวรุกรานทำตามชอบใจ ไม่มีใครไปแย่งชิงของเขา คนมีวินัยแล้ว สถานที่สาธารณะเหล่านั้นก็ปลอดภัย โอกาสก็เกิดขึ้น และคนก็เอาเสรีภาพมาใช้โอกาสนั้นได้ คนมีกิจมีธุระก็ไปได้คล่องกายคล่องใจ

นี่แหละ ที่เขามีกฎหมายเป็นวินัยขึ้นมา ก็เพื่อจัดสรรให้เกิดโอกาสแก่มนุษย์ พอมีวินัยปั๊บ ก็เกิดโอกาสทันทีเลย ถ้ายิ่งคนมีวินัยกันดี ไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่มีการทำร้ายใครเลย ปลอดภัยเต็มที่ ไม่ต้องหวาดระแวงเลย จะไปทำกิจธุระที่ไหนก็ไปได้ แม้แต่กลางคืนดึกๆ ก็ไปได้ เท่ากับมีหลักประกันเสรีภาพอย่างดีเลยทีเดียว

แต่ถ้าไม่มีวินัย จะเป็นอย่างไร ก็แน่นอนว่าจะยุ่งวุ่นวายไปหมด จะไปไหน ก็หวาดระแวง ไม่กล้าไป ถนนโน้นก็ไปไม่ได้ ถนนนี้ก็ไปไม่ได้ หรือว่าจะไปได้เฉพาะเวลานั้นเวลานี้เท่านั้น ก็เป็นอันว่าติดขัดไปหมด

ความไม่มีวินัยทำให้เสียโอกาส และเป็นตัวปิดกั้นเสรีภาพ

วินัยมีไว้เพื่อจัดสรรโอกาส วินัยมีขึ้นเพื่อให้เกิดโอกาสทั้งนั้น แล้วเสรีภาพก็จะได้มาใช้โอกาสที่เกิดจากวินัยนั้น แต่เป็นปัญหาที่ว่าคนไม่เข้าใจ คนมองวินัยผิด ต้องตระหนักว่า ถ้าไม่มีวินัยแล้วโอกาสจะเสียไปหมดทุกอย่างทุกประการ

แม้แต่คุณหมอจะผ่าตัด ก็ต้องจัดระเบียบ คือให้มีวินัยว่า พยาบาลยืนเข้าที่ตรงไหน มีกี่คน คนไหนทำหน้าที่อะไร และลำดับหน้าที่กันให้ถูก เครื่องมือก็จัดวางตามลำดับไว้เป็นระเบียบ เครื่องมือไหนต้องส่งก่อนส่งหลัง ก็ว่าไปตามลำดับที่ชัดเจน ถ้าขืนผิดวินัย แค่ผิดลำดับสับสนวุ่นวาย บางทีคนไข้ตายเลย

นี่แหละ วินัยจึงจัดสรรให้เกิดโอกาสในการที่จะทำงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเพราะฉะนั้น สังคมที่ดี จึงต้องมีวินัย

แม้แต่อย่างง่ายๆ ในการจราจร ลองไม่มีวินัย คือคนไม่รักษากฎจราจรซิ บอกว่าฉันมีเสรีภาพ ฉันจะขับไปตามใจฉัน รถคันนั้นอยากจะไป ก็ไป รถคันนี้อยากจะไป ก็ไป ในที่สุด ติดอยู่นั่นทุกคน ไปไม่ได้เลยสักคัน เอ นี่… ทุกคนบอกว่ามีเสรีภาพ และใช้เสรีภาพกันเต็มที่ แต่ขาดวินัย เลยหมดเสรีภาพไปด้วยกันหมดทุกคน

แต่พอมีวินัย ก็จัดกันให้เรียบร้อยเป็นแถวเป็นแนวและมีลำดับ โอกาสที่จะไป ก็เกิดขึ้นอย่างดี แล้วทุกคนก็มีเสรีภาพตามกติกา ซึ่งทำให้ขับรถไปได้อย่างดี นี่คือมีวินัย แล้วก็ใช้เสรีภาพกันได้ทุกคน

อย่างในบ้านของญาติโยม จะตั้งโต๊ะ ตั้งเก้าอี้ ก็ต้องมีวินัย ตรงนี้ทางเดินนะ อย่าเอาโต๊ะมาตั้งขวาง อย่าเอาของมาเกะกะ แต่ถ้าเอากระโถนมาวางขวางทางไปประตู เดินไปเตะกระโถนซะนี่ แล้วถ้าล้มลง ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทำให้ติดขัดไปหมด

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวินัยในบ้าน รู้จักจัดข้าวของให้เรียบร้อย อะไรควรจะอยู่ที่ไหน ก็จัดเข้าที่ไป ก็โล่งเลย ทำให้เกิดโอกาส แล้วเสรีภาพก็คล่องสบายเลย พอจะเดิน ก็เดินตามช่อง จากประตูหน้าบ้านถึงท้ายครัว ก็พรวดเดียวถึงเลย เพราะไม่มีอะไรติดขัด

นี่คือวินัยมาให้เสรีภาพ

เพราะฉะนั้น จึงขอให้เข้าใจความหมายของวินัยที่ถูกต้องว่า วินัยนั้น เป็นการจัดสรรให้เกิดโอกาส แล้วมันก็มาบรรจบกับเสรีภาพ ที่ว่าเสรีภาพก็มาใช้โอกาสได้สบาย

เป็นอันว่า วินัย กับ เสรีภาพ สองตัวนี้มีไว้ เพื่อให้เกิดโอกาส และจะได้ใช้โอกาสได้คล่องสบาย

เสรีภาพที่สร้างสรรค์ ของสังคมประชาธิปไตย

ทีนี้ เสรีภาพนั้น ถ้าจัดถ้าใช้ไม่เป็น ก็ทำให้เสียโอกาส

เสรีภาพที่ผิด คือที่เข้าใจผิดและใช้ผิด กลับมาทำลายโอกาส อย่างน้อยคนก็วุ่นวายทะเลาะเบาะแว้งกัน แล้วก็ทำให้คนอื่นเสียโอกาส ตัวเองจะเอาโอกาสไปใช้ทำโน่นทำนี่ตามชอบใจ เลยยิ่งเกิดความวุ่นวายทำลายโอกาสหนักเข้าไปอีก

เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ จะต้องมองให้ชัดให้ตลอด ไม่ใช่เอาแค่ว่า มีเสรีภาพ คือจะได้กินได้เสพได้บริโภคตามชอบใจ หรือจะทำอะไรตามใจชอบ

แต่คนมักจะคิดแค่นี้ คิดแค่เรื่องเสพเรื่องบริโภค ไม่ได้มองว่าชีวิตสังคมมนุษย์เรานี้ มีอยู่เพื่อวัตถุประสงค์ที่สูงขึ้นไปกว่านั้น

มนุษย์มิใช่มีชีวิตและสังคมไว้แค่เพื่อกินเสพบริโภค แต่เราต้องอาศัยสิ่งที่กินเสพบริโภคเหล่านี้เป็นฐานที่จะก้าวขึ้นไปสู่การมีชีวิตและสังคมที่ดีงามมีความสุข (แล้วชีวิตและสังคมที่ดีงามมีความสุข ก็เป็นหลักประกันให้เรามีสิ่งกินเสพบริโภค)

การที่เราต้องมีวินัยมีเสรีภาพ ก็เพื่อวัตถุประสงค์อย่างนั้น

ตัวอย่างเช่น การที่เรามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี่ เราก็นึกว่า คือเรามีโอกาสแล้ว เราคิดอย่างไร เราเห็นอย่างไร เราจะได้พูดไปตามที่เราอยากจะพูด แต่ที่จริงมันไม่ใช่แค่นั้นหรอก

เสรีภาพนี่ เพื่ออะไร เรามีเสรีภาพเพื่ออะไร เสรีภาพเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยใช่ไหม?

แล้วประชาธิปไตย มีไว้เพื่ออะไร ก็เพื่อให้สังคมของเราอยู่ดีมีสันติสุข เป็นที่ซึ่งผู้คนมีชีวิตที่ดีเจริญงอกงาม มีการพัฒนาได้อย่างดี

ทีนี้ สังคมจะดีได้อย่างไร สังคมจะดีได้ ก็ต้องมีคนหรือมีสมาชิกที่ดีมาประกอบกันขึ้น หรือมาช่วยกันสร้างขึ้น

ตามปกติ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพของตน มีสติปัญญาความสามารถของตัวๆ และควรมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวนั้นยิ่งขึ้นไปด้วย

ดังนั้น ถ้าจะให้สังคมดี เราก็ต้องเอาสติปัญญาความรู้ความสามารถของแต่ละคนมาใช้ประโยชน์ในการสร้างสังคมนั้น คือต้องให้คนมีโอกาสและสามารถใช้โอกาสที่จะแสดงหรือเสนอสติปัญญาความสามารถของเขาออกมา พร้อมทั้งให้มีโอกาสพัฒนาสติปัญญาความสามารถของเขานั้นให้มากขึ้น

นี่ก็คือ เหตุผลที่ต้องให้มีเสรีภาพ

ถ้าคนไม่มีเสรีภาพ ถ้าไปปิดกั้นโอกาสหรือปิดกั้นไม่ให้เขาใช้โอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นเสียแล้ว สติปัญญาความสามารถที่เขามีอยู่ ก็ไม่ออกมาเป็นประโยชน์ที่จะช่วยจะร่วมสร้างสรรค์สังคม ทั้งที่เขามีสติปัญญาดี แต่พูดไม่ออก พูดไม่ได้ ก็เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้

พอมีเสรีภาพ เขาใช้โอกาสแสดงความรู้ความคิดเห็นได้ ความดีงามสติปัญญาความรู้ความสามารถของเขา ก็ออกมาเป็นประโยชน์แก่สังคม ออกมาเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย

ก็เลยกลายเป็นว่า เสรีภาพนั้นเป็นช่องทางที่จะเอาสิ่งที่ดีในแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่เอาแค่คิดว่า ฉันมีโอกาสแล้วนะ ฉันจะใช้โอกาสนี้แสดงความคิดเห็นของตัวตามใจฉัน ฉันนึกอะไรได้รู้สึกอย่างไรอยากพูดอะไร ก็แสดงไป โดยไม่ได้คำนึงว่าจะจริงจะดีจะเป็นประโยชน์หรือไม่ หรือจะร้ายจะเป็นการทำลาย ก็ช่างมัน

เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจเหตุผลและมีใจเอื้อ รู้จักมองสองชั้น จะคิดต่อไปว่า เออ... โอกาสของเรา ก็หมายถึงโอกาสของสังคมด้วย

การที่เรามีโอกาสแสดงความคิดเห็นนั้น ที่แท้แล้วก็หมายความว่า สังคมประชาธิปไตยนี้ จะได้มีโอกาสเอาความดีงามความรู้ความสามารถสติปัญญาของเรานี่ ไปเป็นส่วนร่วมใช้ประโยชน์ได้

เป็นอันว่า ต้องมองให้ถูกทาง มองไกลสักหน่อย ให้ถึงจุดหมายของประชาธิปไตยว่า มันอยู่ที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดี แล้วเราก็พยายามเอาสติปัญญาของแต่ละคนไปใช้ประโยชน์ให้ได้

พอนึกอย่างนี้แล้ว ก็จะแสดงความคิดเห็นด้วยความรับผิดชอบ ว่าเราจะไม่ทำให้คนเข้าใจผิด จะพูดให้ตรงตามข้อมูลข้อเท็จจริง ให้คนเข้าใจถูกต้องชัดเจน ไม่ใช่ว่าตัวเองชอบใจจะคิดอย่างไร จะรู้สึกอย่างไร จะนึกสนุกอะไร จะแกล้งใคร ก็แสดงเรื่อยเปื่อยไป

ต้องคิดว่า อ๋อ... ที่แท้นั้น หลักประชาธิปไตยต้องการให้สังคมส่วนรวมได้ประโยชน์จากเรา ให้ทุกคนรวมทั้งตัวเราได้ประโยชน์ จนถึงกับตรากฎหมายขึ้นเป็นวินัย เพื่อจัดให้มีโอกาสที่จะแสดงความรู้ความคิดเห็นไว้ และเปิดให้เรามีเสรีภาพ ที่จะใช้โอกาสนั้นได้

เรามีความรู้ความคิดเห็นอย่างนี้ เมื่อเราพูดออกไปอย่างนี้ๆ จะช่วยให้คนทั่วไปได้ความรู้ มีสติปัญญา เอาไปช่วยกันสร้างสรรค์สังคมได้ดีไหม เออ... ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องพยายามศึกษาให้ดีเสียก่อน หาข้อมูลความรู้ให้มันชัดเจน แล้วจึงจะมาแสดงมาพูด

อย่างนี้จึงจะเป็นการใช้เสรีภาพอย่างมีวัตถุประสงค์ที่ถูกต้อง เป็นการสร้างสรรค์ แล้วมันก็ประสานกับวินัยด้วย นี่แหละ เมื่อทำอย่างนี้ วินัยกับเสรีภาพก็ประสานกัน ในการทำให้เกิดโอกาสและใช้โอกาส แล้วก็จะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม

แต่ถ้ามองเสรีภาพในความหมายชั้นเดียวว่า ข้าจะพูดจะทำได้ตามชอบใจแล้ว จบแค่นั้น เราก็จบ ประชาธิปไตยก็จบ และสังคมก็จะจบ คือจบจอดมอดม้วยด้วยกันหมด

เสรีภาพแบบที่ว่า ข้าจะกิน จะเอา จะเสพ จะบริโภคอย่างไร ก็ให้ได้อย่างที่ข้าต้องการ นี่ก็ไม่ไปไหน คนที่แสดงอย่างนี้ ก็คือไม่มีความรู้ความคิดอะไร มีแต่ความรู้สึก

สังคมที่คนมีแต่ความรู้สึกอย่างเดียว ก็คือไร้ปัญญา ย่อมไปไม่รอด แค่คุณภาพชีวิตของตัวคนที่ใช้เสรีภาพนั้นเอง ก็เสื่อมแล้ว จึงต้องเอาปัญญามาพิจารณาความรู้สึกของตัวด้วย

มองกว้าง-คิดไกล เรื่องวินัย-เสรีภาพ

เป็นอันว่า เมื่อมองให้ดีแล้ว วินัยนั้น ถ้าจัดให้ถูก รู้จักตั้งให้ดีแล้ว จะเป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจะพัฒนาขึ้นมาเป็นของแท้ของจริง

เมื่อสังคมประชาธิปไตยต้องการให้มีโอกาสในการสร้างสรรค์อะไรด้านใด วินัยก็จัดการให้เกิดโอกาสอย่างนั้นขึ้นมา แล้วมอบให้เสรีภาพเอาไปใช้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างนั้น จึงทำให้ชีวิตและสังคมมีทางเจริญงอกงามสมความปรารถนา

อย่างคนที่มีวินัยในตัวเอง เขาก็เหมือนกับตั้งกติกาขึ้นมาจัดสรรชีวิตของเขา ตั้งแต่จัดเวลาในการดำเนินชีวิตประจำวัน จัดระเบียบทุกอย่างของเขา เสร็จแล้วก็เป็นโอกาสซิ เพราะเขาทำอะไรได้เยอะ คนที่จัดสรรเวลาเป็นนี่ วันหนึ่งๆ ใช้เวลาได้ประโยชน์มากมาย

ส่วนอีกคนหนึ่งไม่มีวินัย วันหนึ่งๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่าว่าแต่วันหนึ่งเลย ปีหนึ่งก็ยังไม่ได้เรื่อง

เพราะฉะนั้น วินัยจึงมีประโยชน์มาก จำไว้เลยว่า วินัยเป็นตัวจัดสรรให้เกิดโอกาส อย่าไปคิดว่าวินัยเป็นตัวจำกัดปิดกั้น

แต่ถ้าวินัยเป็นตัวปิดกั้นขึ้นมาจริง ก็เป็นเพราะคนไม่พัฒนา หรือเป็นเพราะว่ามีวินัยที่ผิด พอรู้เข้าใจจัดตั้งและใช้วินัยถูก ก็เกิดโอกาส แล้วมาประสานกับเสรีภาพ สังคมก็เจริญงอกงามไปลิ่วเลย

เวลานี้ คนมักจะคิดอะไรชั้นเดียว มองแค่ตัวจะได้ จะเอา จะเสพ จะบริโภค ถ้าอย่างนี้ ชีวิต-สังคม-ประชาธิปไตย ก็มีแต่จม ไม่ไปไหน

เพราะฉะนั้น จะต้องใช้สติปัญญามาคิดทบทวนกันใหม่ วันนี้จึงมาพูดเรื่องนี้

ขอย้ำว่า สังคมนี้กำลังจะไปกันใหญ่ มองตื้นๆ ชั้นเดียว ด้านเดียว จะเอาแต่สิทธิเสรีภาพ หลวงลุงอ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง ทุกวันก็ได้ยินแต่เรื่องอ้างสิทธิเสรีภาพกันแบบนี้ ไม่พูดกันในทางที่สร้างสรรค์ วินัยที่ยอมรับกันว่าคนไทยแย่อยู่แล้ว ก็ยิ่งทรุด

แล้วมาถึงเด็กสมัยนี้ ก็ใช้เสรีภาพกันแบบจะเอาตามชอบใจตัว กลายเป็นว่า ด้านหนึ่งก็มั่วสุมหมกมุ่น อีกด้านหนึ่งก็ขัดแย้งแก่งแย่งตีกันยิงกันฟันแทง บ้านเมืองยุ่งอยู่กับอบายมุขและอาชญากรรม

คุณภาพคนมีแต่เสื่อมด้อย สภาพการศึกษาพร่อง ก็ฟ้อง ภาวะสังคมขาดวินัย ก็ซ้ำ

เมื่อใดคนรู้ตัวตระหนักขึ้นมาว่า จะต้องพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ก็จะเห็นคุณค่าของวินัยว่า มันสร้างโอกาสที่จะทำการพัฒนานั้น แล้วก็จะมีทางพัฒนาวินัย

ที่จริง เด็กเดี๋ยวนี้ ที่ดีอยู่เงียบๆ ก็เยอะ แต่บางทีผู้ใหญ่ก็มองผิด คือ เด็กหลายคนต้องการสร้างสรรค์ และเขาก็อยากมีวินัย

แต่แล้วผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ ก็ไปพูดปิดกั้นเสียว่าจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของเด็ก

ก็รู้กันอยู่แล้วว่า เด็กจำพวกที่ไปมั่วสุมตีรันฟันแทงทำร้ายกันมีเยอะ ทีนี้ ในหมู่เด็กเงียบที่อยากมีวินัยอยากพัฒนาชีวิตและสังคมนั้น เด็กหลายคนก็เป็นคนอ่อนหรือใจอ่อน พอเพื่อนมาบอกมาชวน ก็มักจะกลัวหรือเกรงใจเพื่อน บางทีก็หวาดกังวล แกก็อยากจะมีข้อวินัยเอาไว้อ้างบ้าง ถ้ามีกฎกติกา เด็กพวกนี้ก็จะได้เกราะไว้ช่วยกันตัว

สมัยก่อนโน้น สังคมมีพ่อแม่เป็นหลัก เวลาไปไหน ถ้าเพื่อนจะชวนไปไม่ดี เด็กก็อ้างว่าไม่ได้นะ เดี๋ยวแม่ดุ นี่ก็ได้ข้ออ้างแล้ว

คือ เด็กนั้นเกรงใจเด็กด้วยกัน ถ้าไม่มีข้ออ้างหรือที่อ้างอิง แกก็ต้องยอมตามเพื่อน

ลองเทียบกันดู ก็เห็นๆ ว่า เด็กสมัยก่อน เมื่อตัวเองไม่แข็งพอ ก็มีที่อ้างอิงที่จะออกเสียงพูดขึ้นมาได้ว่า คุณพ่อจะดุเอา คุณแม่จะดุเอา ถ้าแรงนักก็ว่าจะด่าเอาจะตีเอา ก็เป็นตัวยับยั้งได้ แล้วก็เป็นหลักที่ตัวจะยึดไว้ ไม่ต้องตามเขาไป

แต่เด็กสมัยนี้ คุณพ่อคุณแม่เป็นที่อ้างอิงได้ไหม อ้างคุณพ่อคุณแม่ไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้วใช่ไหม แล้วเด็กจะอ้างอิงอะไร ก็เคว้งคว้าง ต้องยอมไปตามพวกตามหมู่ หรือตามเด็กที่แข็งกว่า กลายเป็น สังคมไร้หลัก เหลือแต่ตอ

แล้วยุคนี้จะทำอย่างไร นี่แหละจึงว่า ถึงจะไม่มีคนที่เป็นหลัก แต่ถ้ามีกฎกติกามาช่วยเป็นวินัยให้ เด็กดีที่เงียบ ก็จะได้มีหลักที่ยึดไว้อ้างอิง

อย่าไปนึกว่า เด็กทุกคนต้องการทำตามใจตัว เด็กหลายคนต้องการจะมีกติกา พอมีให้แล้ว เขาจะได้เอาไปอ้างกับเพื่อน

เพื่อนจะมาชวนไปทางเสีย เขาก็บอกว่า เดี๋ยวๆ กฎกติกาข้อนี้มีอยู่ว่าอย่างนี้นะ จะเป็นกติกาในบ้าน ในครอบครัว ในโรงเรียนอะไรก็แล้วแต่ เราต้องให้เด็กรู้จักเอาไปอ้าง เด็กก็กลายเป็นพวกเดียวกับวินัยหรือกฎกติกานั้นไป

ขอย้ำไว้ อย่าไปนึกว่าเด็กมองกฎกติกาไม่ดีว่ามากดบังคับเขา แล้วไม่ชอบกฎกติกาไปหมด เด็กที่ชอบ มีอยู่ และต้องการเอาไปใช้ นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณา และต้องคิดหลายแง่หลายชั้น

อย่างที่ตั้งข้อสังเกตไว้แล้วว่า คนเดี๋ยวนี้มักมองอะไรแง่เดียว และมองแคบอยู่แค่ความรู้สึก กับเรื่องจะกินเสพบริโภค

พูดถึงเสรีภาพ ก็จะกินเสพบริโภค แสดงความรู้สึกได้อย่างใจชอบ พูดถึงวินัยก็เป็นการปิดกั้นไม่ให้กินเสพบริโภคได้ตามชอบใจ มองไปอย่างนี้ ก็เลยไม่ได้หลักในการที่จะพัฒนาชีวิตและสังคม

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาคนให้รู้จักศึกษาว่า ในสังคมนั้น หลักการต่างๆ เช่นเสรีภาพนี้ เขามีไว้เพื่อการพัฒนาชีวิตและสังคมให้ดีงามสูงขึ้นไปอีก ไม่ใช่ติดจมอยู่แค่เสพบริโภคเท่านั้น เราอย่ามองแค่นี้

พระพุทธศาสนาบอกว่า สิ่งเสพบริโภคและเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องวัตถุทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของปัจจัย แปลว่าเป็นเครื่องเกื้อหนุน เป็นเงื่อนไข เป็นที่อาศัย ไม่ใช่เป็นจุดหมาย เราอย่าจบแค่นี้

อย่าคิดว่า เราไปเรียน ไปทำงาน ทำอะไรๆ เพื่อจะได้มีเงินทองทรัพย์สมบัติ แล้วก็กินเสพบริโภค คือจบ แต่ปัจจัย ๔ เรื่องวัตถุ เรื่องเศรษฐกิจนี้ เรามีไว้ให้พร้อมให้เพียงพอแล้ว มันจะเป็นฐาน เป็นปัจจัยเกื้อหนุน ให้เราก้าวขึ้นไปสู่ความดีงามที่สูงขึ้นไป

สังคมจะเจริญก้าวหน้าได้ ต้องมีเศรษฐกิจดี แต่ไม่ใช่จบแค่นั้น ไม่ใช่จบที่ว่ามีเศรษฐกิจดีแล้ว จึงพอ แต่ต้องมีเศรษฐกิจดี ให้พอที่จะใช้เป็นฐาน ในการที่จะสร้างสรรค์ความเจริญงอกงามทางจิตใจ ทางปัญญา ทางวัฒนธรรมอะไรต่างๆ ต่อไป

ต้องอย่างนี้ สังคมจึงจะดี มีอารยธรรมได้

ถ้าจบที่กินเสพบริโภค มันก็ไม่ไปไหน ก็อยู่แค่ลุ่มหลงมัวเมา แล้วก็แย่งชิงกัน ทะเลาะวิวาทเข่นฆ่ากัน วนเวียนอยู่แค่นั้น แล้วก็เสื่อม

คนไทย ที่ทางสองแพร่งแห่งการพัฒนา

วันนี้ คือวันมาฆบูชา เป็นวันที่มีความหมายสำคัญ อย่างน้อยก็มาเตือนใจเรา ให้นำเอาหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้มาพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยมองไปโยงกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตและสังคม และไม่ใช่มองแง่เดียวชั้นเดียว แต่มองให้ทั่วตลอดรอบด้าน

วันนี้ ก็เป็นอันว่า ได้พูดเรื่องสำคัญ ๒ อย่าง คือ หนึ่ง เรื่องขันติ ความเข้มแข็งอดทน แล้วก็เอาความเข้มแข็งนั้นมาใช้ในข้อที่ สอง เรื่องวินัย ที่จะเป็นเครื่องจัดสรรให้เกิดโอกาส โดยมีเสรีภาพที่จะใช้โอกาสนั้น ให้เป็นช่องทางที่จะนำเอาศักยภาพ แห่งความดีงาม ความรู้ สติปัญญา ความสามารถ ของตนๆ ออกมาใช้ในทางที่ดีงามสร้างสรรค์ ให้เป็นผลดีทั้งแก่ชีวิตและสังคมที่จะพัฒนาต่อไป

สังคมไทยนี้ก็มีความสามารถอยู่ แต่ทำไมไม่เดินหน้า เตาะแตะอยู่แค่นี้ ก็มัวยินดีในความด้อยพัฒนา ที่เขาเรียกให้เพลินว่ากำลังพัฒนา

ทำไมไม่คิดสักทีว่า เออ… เรานี้ก็มีความสามารถที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่แค่ด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา

ตอนนี้ทางรัฐบาล ท่านนายกฯ ก็บอกว่า อีกไม่กี่ปีประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่จะเป็นอย่างนั้นได้ ประชาชนพลเมืองต้องเป็นคนมีคุณภาพ ซึ่งมีความสามารถในการที่จะพัฒนา

ไม่ใช่ว่าแค่ผู้นำพูดไว้แล้วมันจะเป็นจริงได้ ประชาชนนี่แหละเป็นตัวตัดสินการพัฒนา ถ้าประชาชนไร้คุณภาพ ไม่มีความสามารถในการพัฒนา ก็เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้

แล้วก็อย่าดีใจแค่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะต้องมองไกลไปเป็นประเทศผู้นำในการที่จะแก้ปัญหาของโลกนี้เลย คือเป็นผู้นำในการพัฒนาที่ถูกต้อง เพราะเวลานี้ก็ยอมรับกันแล้วว่าโลกปัจจุบันได้พัฒนามาหลงทางผิดพลาด

ประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นประเทศตะวันตก หรือตะวันออก ไม่ว่าอเมริกาหรือใคร จนถึงญี่ปุ่น เดี๋ยวนี้ก็พูดกันนักหนาว่ามีการพัฒนาที่ผิด แล้วประเทศไทยนี้ ถ้ามัวพัฒนาอยู่ ก็คือตามประเทศที่พัฒนาผิดไปแล้วใช่ไหม

เมื่อตามประเทศที่พัฒนาผิด พอตัวเองไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ก็ไปเป็นประเทศที่ได้พัฒนาผิดไปกับเขาด้วย

ถ้าจะทำให้ถูก เมื่อเขาพัฒนากันมาผิด เราก็ต้องปรับแก้การพัฒนาเสียใหม่

ฉะนั้น จึงต้องมุ่งไปให้สูงกว่านั้น ในเมื่อเวลานี้เขาพัฒนามาแล้ว แต่พัฒนาผิด เราก็จะต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่พัฒนาถูก แล้วมานำประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ให้พัฒนาไปในทางที่ถูกต้องต่อไป เพื่อให้เกิดความดีงามและสันติสุข หรือสันติภาพอะไรของโลก อย่างที่ต้องการ แล้วก็ทำกันไม่ได้สักที

ทั้งหมดนี้ ถ้าชาวพุทธนำโอวาทปาติโมกข์มาเป็นหลักนำ ก็จะบรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย

วันนี้เป็นวันดี ญาติโยมก็มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล ด้วยศรัทธาและเมตตาไมตรี มาทำความดีร่วมกัน แต่ละคนใจดี แล้วก็มาใจดีต่อกัน เป็นความสามัคคีในกุศล ก็ขอให้ดีอย่างนี้เรื่อยไป คือมีความรัก มีเมตตา มีความสามัคคี ตั้งแต่ในครอบครัว เริ่มด้วยจุดสำคัญที่สุด คือคุณพ่อคุณแม่ กับลูก เป็นต้นไป

ขอแทรกอีกนิดหนึ่ง เวลานี้ คุณพ่อคุณแม่ มีคู่แข่งมาก คู่แข่งในสังคมที่จะแย่งชิงดึงพาเอาลูกไปนั้น มาทางข่าวสาร ตั้งแต่ทางทีวีและสื่อต่างๆ มากมายสารพัด พ่อแม่จะเอาลูกไว้ได้ ต้องสู้กับเจ้าพวกคู่แข่งที่เข้ามา

แต่อย่ามัวไปสู้เลย ไม่ไหวแน่ มีแต่แพ้

แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องยึดใจลูกไว้ให้ได้ ถ้ายึดใจลูก ให้ลูกมีใจอยู่กับเราแล้ว ทีนี้ก็มาต่อต้าน และมาต้อนรับมันด้วยกัน

ตรงนี้ พ่อแม่ต้องทำให้ได้ ต้องยึดใจลูกให้ได้ ให้ใจลูกมาอยู่กับเรา แล้วก็ร่วมมือกับลูก ในการรับมือกับศึกที่มาจากข้างนอก

ข้าศึกศัตรูเวลานี้มากเหลือเกิน คนในครอบครัวต้องร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งพ่อแม่ร่วมมือกับลูก และลูกร่วมมือกับพ่อแม่ จึงจะรับมือไหว

แต่ถ้าพ่อแม่ไปมัวสู้กับศัตรูคู่แข่งที่เข้ามาละก็ หมดแรงแน่ และก็จะเสียลูกไปให้เขาด้วย

เอาละ ขอฝากไว้ ส่วนวิธีการที่ว่าทำอย่างไรจะยึดใจลูกไว้ได้ ก็ค่อยว่ากันใหม่ วันนี้พอไว้ก่อน

ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน ที่มาทำบุญ ในวันสำคัญมาฆบูชาวันนี้

ขอให้ทุกท่าน เมื่อมีจิตใจดีงามผ่องใส และมีเมตตาไมตรีต่อกันแล้ว ก็จงมีใจเผื่อแผ่กุศลต่อส่วนรวม ต่อสังคมประเทศชาติ ที่จะช่วยกันทำให้ความดีงามที่เราเริ่มต้นในวัด ขยายกระจายออกไป ให้เกิดความเจริญงอกงาม มีชีวิตดี ครอบครัวดี สังคมดี และโลกนี้ดีตลอดทั่วกัน

1ธรรมกถาวันอาสาฬหบูชา พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตฺโต) แสดงที่วัดญาณเวศกวัน ๑๐ ก.ค. ๒๕๔๙
2ธรรมกถา ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตฺโต) ในวันมาฆบูชา พ.ศ. ๒๕๔๗
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.