ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป1

ขอเจริญพร ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

ในการพูดเรื่อง "ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป" วันนี้ อาตมภาพรู้สึกว่าเวลารัดตัวมากหน่อย เพราะฉะนั้นก็ขอพุ่งเข้าสู่เนื้อหาทันที การที่เราพูดกันถึงความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไปนี้ ก็เริ่มต้นจากการที่เรามีการแบ่งประเภท หรือจัดหมวดหมู่วิชาเป็นพวกๆ ซึ่งถ้าจะพูดอย่างคร่าวๆ ก็คงแบ่งได้เป็นสองพวก คือ วิชาพื้นฐานทั่วไป ที่ตั้งเป็นหัวข้อปาฐกถานี้อย่างหนึ่ง และวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะด้าน หรือวิชาประเภทชำนาญพิเศษอีกพวกหนึ่ง

จุดหมายปลายทาง

การที่จะพูดถึงความมุ่งหมายของวิชาประเภทใดหรือหมวดใดก็ตาม ก็ควรจะได้มีภาพรวมไว้ก่อน คือ มองโดยความสัมพันธ์กันทั้งหมด ทีนี้ ภาพรวมของความมุ่งหมายทั้งหมดของการศึกษาเป็นอย่างไร จะมองเห็นได้ ก็โดยมาพิจารณากระบวนการของการศึกษาทั้งหมด ในเรื่องนี้ ถ้าจะพูดกันง่าย ๆ เราก็มีรูปสำเร็จอยู่แล้ว ความมุ่งหมายของการศึกษาทั้งหมดไม่ว่าวิชาอะไรก็ตาม ไปรวมกันอยู่ที่ว่าเราจะสร้างอะไร หรือจะผลิตอะไร ปัจจุบันนี้เราเรียกผู้สำเร็จการศึกษาของเราว่า เป็น "บัณฑิต" ก็เลยมีคำตอบอยู่ในตัวว่าความมุ่งหมายของการศึกษาของเรา หรือการให้เรียนวิชาการต่างๆ นั้น ก็เพื่อทำคนให้เป็นบัณฑิต หรือผลิตบัณฑิต การศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษานี้ ทุกสาขาจะมีความมุ่งหมายร่วมกันเสมอเป็นอันเดียวคือ การสร้างบัณฑิต แต่นอกเหนือจากความเป็นบัณฑิตแล้ว การศึกษาของเราก็ยังแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ มากมาย เป็นสาขาการแพทย์บ้าง เศรษฐศาสตร์บ้าง รัฐศาสตร์บ้าง อะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็นวิชาชีพ หรือวิชาเฉพาะ เพราะเราต้องการให้ผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้นมีความสามารถเป็นพิเศษเฉพาะแต่ละด้านๆ ซึ่งจะทำให้สามารถไปดำเนินชีวิตที่ดีงาม สามารถทำประโยชน์ สร้างสรรค์พัฒนาสังคม หรือบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมได้ ความมุ่งหมายอันนี้ถ้าจะพูดให้เป็นรูปธรรมก็เหมือนว่าเป็น การสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้แก่บัณฑิต ที่จะไปใช้ทำงาน

เป็นอันว่ามีสองความมุ่งหมาย ความมุ่งหมายแรกคือ ทำคนให้เป็นบัณฑิตขึ้นมาเป็นหลัก แล้วนอกเหนือจากนั้นก็ให้บัณฑิตมีอุปกรณ์ มีเครื่องมือที่จะไปทำประโยชน์ทำงานได้ผล ทีนี้ความเป็นบัณฑิตก็ดี อุปกรณ์และเครื่องมือของบัณฑิตก็ดี ทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัยกันและเสริมกัน เราสร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือได้ แต่ถ้าเราไม่ได้ทำคนให้เป็นบัณฑิต ก็อาจจะเกิดโทษอย่างร้ายแรงเหมือนกับที่มีคำเก่าๆ พูดไว้ว่า "ยื่นดาบให้แก่โจร" ฉะนั้น จึงต้องสร้างบัณฑิตเป็นพื้นฐานไว้ อย่างไรก็ตาม ถ้าสร้างแต่บัณฑิต ไม่ให้อุปกรณ์ ไม่ให้เครื่องมือ บัณฑิตนั้นก็ไม่สามารถทำประโยชน์ได้เท่าที่สมควร เพราะไปจำกัดตัวเองอยู่ในขอบเขตที่คับแคบ เพราะฉะนั้น จึงต้องสร้างทั้งบัณฑิต แล้วก็สร้างอุปกรณ์หรือเครื่องมือให้บัณฑิตด้วย

เมื่อมองโดยสัมพันธ์กับวิชาการที่แบ่งเป็น ๒ หมวด ดังที่กล่าวมานี้ ก็จะมองเห็นชัดว่า เรามีวิชาพื้นฐานทั่วไปไว้สำหรับสร้างบัณฑิต แล้วก็มีวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะต่างๆ ที่เป็นความชำนาญพิเศษไว้สำหรับสร้างอุปกรณ์ หรือเครื่องมือให้บัณฑิตไปใช้ทำประโยชน์หรือทำงานได้ผล ก็แปลว่า ๒ อย่างนี้ต้องมาเสริมกันให้สมบูรณ์ นี้เป็นภาพรวมที่กว้าง อย่างนี้ก็เรียกว่าได้จุดหมายแล้ว ความมุ่งหมายระดับนี้จัดว่าเป็นความมุ่งหมายช่วงยาว หรือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด หรือเป็นจุดหมายปลายทางของการศึกษา

จุดหมายระหว่างทาง

ทีนี้ เมื่อมองสั้นเข้ามาอีก ดูช่วงสั้น แคบเข้ามา ก็จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชาพื้นฐาน กับวิชาชีพและวิชาเฉพาะด้านทั้งหลายในอีกระดับหนึ่งว่า สองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เรามักจะเข้าใจความหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไปว่า เป็นวิชาพื้นฐานสำหรับการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไป ซึ่งอันนี้ก็คงไม่ผิด แต่อาจจะมีปัญหาว่า เราเข้าใจกันอย่างไรในความหมายของความเป็นพื้นฐานสำหรับไปศึกษาต่อในวิชาอื่นๆ ขอพูดให้แคบเข้ามาว่า เป็นวิชาพื้นฐานสำหรับไปศึกษาในวิชาเฉพาะวิชาชีพต่างๆ ซึ่งมีความหมายไม่ใช่เพียงว่าเป็นวิชาเบื้องต้น สำหรับไปศึกษาต่อในวิชาอื่นที่สูงขึ้นไป แต่คำว่าเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับไปเรียนวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลายนั้น มีความหมายพิเศษออกไปว่า เป็นวิชาที่ทำให้บุคคลมีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้อง ในการที่จะเรียนวิชาการอื่นๆ ให้ได้ผลดีตามวัตถุประสงค์ของมัน และไม่เฉพาะว่าให้พร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการเรียนวิชาอื่นๆ เท่านั้น แต่มีท่าทีและความพร้อม ที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อประสบการณ์อะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาในการดำรงอยู่หรือในชีวิตของตนด้วย ยกตัวอย่างเช่นว่า วิชาพื้นฐานนั้นต้องทำให้บุคคลมีฉันทะที่จะเล่าเรียนศึกษาอย่างจริงจัง มีแรงจูงใจที่ถูกต้องในการเรียนว่าเรียนไปเพื่ออะไร ว่าเรียนไปเพื่อจะใช้วิชาการนั้นๆ ทำประโยชน์ให้แก่สังคมเพื่อรู้จักดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เอาไปใช้แก้ปัญหาอย่างได้ผลดี และทำให้มีความสามารถในการที่จะเรียน เช่น เรียนเป็น รู้จักคิด รู้จักค้นคว้า เอามาใช้ในการพัฒนาศักยภาพของตนได้ ดังนี้เป็นต้น วิชาอย่างนี้แหละเรียกว่าเป็นวิชาพื้นฐานในการที่จะเรียนต่อไปในวิชาอาชีพอื่นๆ ความหมายของการเป็นพื้นฐานนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับเรียนต่อในวิชาอื่นที่สูงขึ้นไป แต่มันทำให้พร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการที่จะเรียนจะใช้วิชาทั้งหลายทีเดียว

รวมความว่า เรามองความมุ่งหมายของวิชาการต่างๆ เป็นสองระดับคือ ในระดับสุดยอดหรือช่วงยาว วิชาพื้นฐานทั่วไป มุ่งเพื่อสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาอื่นๆ ที่เป็นวิชาเฉพาะและวิชาชีพทั้งหลาย มุ่งเพื่อสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต ส่วนในกระบวนการเรียนการสอนระหว่างนั้นก็มีความมุ่งหมายช่วงสั้น คือ วิชาพื้นฐานทั่วไป เป็นวิชาที่จะทำให้คนมีความพร้อม และมีท่าทีที่ถูกต้องในการที่จะศึกษาเล่าเรียน พูดง่ายๆ ก็คือ ในช่วงสั้นวิชาพื้นฐานทั่วไปเป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นนักศึกษา หรือความเป็นนักเรียนที่ดี ตอนนี้เรากำลังขมวดแคบเข้ามาแล้ว พูดถึงเฉพาะวิชาพื้นฐานทั่วไป ซึ่งในช่วงยาวมุ่งเพื่อสร้างบัณฑิต และในช่วงสั้นระหว่างนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างนักศึกษาและนักเรียนที่ดี

ธรรมชาติของมนุษย์

มีปัญหาต่อไปว่า บัณฑิตคือคนอย่างไร นักศึกษาและนักเรียนที่ดีคือคนอย่างไร คำตอบในเรื่องนี้จะช่วยให้กระจายรายละเอียดของความมุ่งหมายออกไปได้ อย่างไรก็ตาม ประการแรกสุด การที่จะวางความมุ่งหมายต่างๆ ของการศึกษาให้ถูกต้องได้นั้น ความมุ่งหมายที่จะกำหนดวางกันขึ้น จะต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ และสอดคล้องกับจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ด้วย ถ้าเราวางความมุ่งหมายต่างๆ ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ไม่สอดคล้องกับจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์แล้ว ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา ทำไมจึงเกิดปัญหา ก็เพราะว่า ถ้าจุดมุ่งหมายหรือความมุ่งหมายที่เราวางนั้น ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ มันก็ขัดแย้งกับธรรมชาติ เมื่อขัดแย้งกับธรรมชาติ มันก็ไม่สมจริง และเมื่อขัดแย้งกับจุดหมายสูงสุด มันก็ทำให้จุดหมายนี้ตัน เดินต่อไปไม่ได้ตลอด และเป็นความมุ่งหมาย ที่ไม่เกื้อกูลต่อการที่จะเดินหน้าไปหาจุดหมายสูงสุดของมนุษย์ เพราะฉะนั้น จุดหมายต่างๆ ในระหว่างจะต้องเป็นทางเดิน และเป็นจุดผ่านที่จะช่วยให้เราก้าวต่อไปสู่จุดหมายสูงสุดด้วย ยิ่งกว่านั้น ถ้าความมุ่งหมายที่เราวางนี้ ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ และขัดกับจุดมุ่งหมายสูงสุดแล้ว ความมุ่งหมายที่เราวางนี้เองก็อาจจะกลายเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ กล่าวคือ พร้อมกับความขัดแย้งต่อธรรมชาติของมนุษย์ และขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายสูงสุดนั้น มันก็จะเป็นตัวก่อปัญหาขึ้นมาโดยทำให้เราเขวออกไปนอกทาง หรือทำให้เกิดความวุ่นวายอะไรต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ด้วย เรียกว่าต้องมองการศึกษาให้เห็นทะลุตลอดกระบวนการไปเลย แล้วเราก็จะวางความมุ่งหมายในระดับกลางๆ หรือในระดับระหว่างได้ทุกระดับทีเดียว เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ก็เลยต้องพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ และจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์นั้นก่อนว่าคืออะไร

จะขอพูดตามแนวของธรรมว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร หลักพระพุทธศาสนานั้นถ้าพูดในเวลาสั้นๆ จะพูดให้ง่ายก็ได้ เมื่อว่าอย่างรวบรัด ธรรมชาติของมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ท่านบอกว่า คนเราเกิดมายังมีความไม่รู้ มีความไม่ประสีประสา ไม่เดียงสาต่างๆ ซึ่งเรียกว่า อวิชชา เมื่อคนเราเกิดมายังมีความไม่รู้ แต่มาอยู่ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมต้องเกี่ยวข้องมากมาย ในการที่มนุษย์จะอยู่รอดได้ต่อไป มนุษย์จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น และจะต้องปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง การที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็ต้องอาศัยความรู้ ถ้าเราไม่มีความรู้ เราก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร คือ ปฏิบัติต่อมันไม่ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็เกิดความขัดข้อง ติดขัด บีบคั้นต่างๆ ความบีบคั้นขัดข้องต่างๆ นี้ ทางพระศาสนาเรียกว่า ทุกข์ หรือคำศัพท์ทั่วไป เรียกว่า ปัญหา จึงเป็นอันว่า ชีวิตที่มีอวิชชาก็จะต้องประสบความทุกข์ ประสบปัญหา เป็นชีวิตที่มีทุกข์

ตอนนี้ ในเมื่อเรายังไม่มีความรู้ แต่เราก็จะต้องดำเนินชีวิตให้รอดอยู่ในโลก เราจะทำอย่างไร ด้วยความไม่รู้นี้ เราก็จึงทะยานดิ้นรนให้พ้นไปจากสิ่งบีบคั้นขัดข้องต่างๆ นั้น โดยเอาความอยากเป็นตัวนำ เมื่อไม่มีความรู้เป็นตัวนำให้ทำการ เราก็เอาความอยากของเราเป็นตัวนำ ความอยากนี้เรียกว่า ตัณหา เป็นอันว่า เราก็ทะยานดิ้นรนไปตามอำนาจของตัณหา จะทำอะไรก็เอาความอยากเข้าว่า เมื่อเอาความอยากเข้าว่า ไม่เป็นไปด้วยความรู้ ก็แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ โดยมากจะกลับทำให้เกิดปัญหาซ้อนขึ้นมา เมื่อจะแก้ปัญหาแก้ทุกข์ แต่กลายเป็นสร้างทุกข์ สร้างปัญหาเพิ่มขึ้น หรือทำปัญหาให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็เลยยุ่ง ยิ่งติดขัดผูกรัดตัวนุงนัง เพราะฉะนั้น จะต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่

ทำอย่างไรชีวิตจึงจะดำเนินไปด้วยดี แก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็ต้องย้อนกลับไปมองว่า การที่ติดขัดก็เพราะเราไม่มีความรู้ วิธีแก้ก็คือจะต้องสร้างความรู้ขึ้น จะต้องมีความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา หรือทำลายอวิชชา สร้าง วิชชา ขึ้นมา ถ้ามีความรู้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องแล้วก็จะทำให้เราปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง เมื่อปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ก็แก้ปัญหาได้ เมื่อแก้ปัญหาได้ก็คือทำให้ทุกข์ดับได้ ความรู้ความเข้าใจนี้ก็คือการรู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น รู้เหตุ รู้ปัจจัย รู้กฎเกณฑ์ของมัน แล้วก็แก้ปัญหาตามความรู้นั้น คือแก้ตามเหตุตามปัจจัยของมัน เป็นอันว่า จะต้องสร้างปัญญาที่เรียกว่าวิชชาขึ้นมา ถ้าสร้างปัญญาขึ้นมา ก็แก้ปัญหาได้ สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดี ไม่มีทุกข์ แต่จะสร้างปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร ในการสร้างปัญญานี้ ไม่ใช่ว่าความรู้จะเกิดขึ้นมาเองง่ายๆ ลอยๆ คนจะต้องเรียนรู้ และจะต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่มีความหมายโยงไปถึงอะไรอีกหลายอย่าง เช่นจะต้องรู้จักแสวงหาข้อมูล จะต้องมีความสามารถในการคิด จะต้องรู้จักมีความอดทน มีความขยัน มีความคิดแยบคาย และมีสภาพจิตใจที่เกื้อกูลต่อการที่จะคิด พร้อมที่จะแสวงหาและทำให้เกิดปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของการที่จะต้องสร้างคุณสมบัติของตัวให้พร้อมขึ้นมา ปฏิบัติการในการสร้างสรรค์คุณสมบัติเพื่อความเกิดขึ้น และเจริญงอกงามแห่งปัญญานี้ เรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนาตน มนุษย์จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนขึ้นมา จึงจะมีความรู้และแก้ปัญหาได้ดี

ถึงตอนนี้ก็มีปัญหาแทรกเข้ามาว่า มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนให้พร้อมที่จะมีปัญญา ตลอดจนมีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาตอบว่าได้และได้จนถึงสูงสุดทีเดียว ท่านบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่า มีศักยภาพ ก็เป็นอันว่ามนุษย์นี้มีศักยภาพในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เราเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพ สามารถพัฒนาตนให้สูงสุด จนกระทั่งมีปัญญารู้แจ้งความจริง สามารถแก้ปัญหาหลุดพ้นจากทุกข์ได้

จุดหมายสูงสุดของชีวิต

พอถึงจุดนี้ เราก็พูดถึงจุดหมายสูงสุดได้จุดหมายสูงสุดนี้จะเห็นได้โดยมองย้อนต้นกลับไปว่า มนุษย์พัฒนาศักยภาพจนถึงที่สุดให้เกิดปัญญารู้ความจริง เมื่อเกิดปัญญารู้ความจริงแล้วก็แก้ปัญหาดับทุกข์ได้ เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์หรือที่เรียกกันว่าความสุข ก็เป็นอันว่า ถ้ามีปัญญา มีความรู้แล้ว ก็มีภาวะไร้ปัญหาไร้ทุกข์หรือความสุข ได้สองข้อแล้ว ข้อที่หนึ่งคือมีปัญญา มีความรู้ รู้ความจริง และข้อที่สองคือมีความสุข หรือภาวะไร้ทุกข์ เพราะแก้ปัญหาได้ มีคำถามแทรกเข้ามาอีกว่า การแก้ปัญหาได้คืออะไร การแก้ปัญหาได้ก็คือ การปฏิบัติต่อชีวิตอย่างถูกต้อง ปฏิบัติต่อสังคม ต่อธรรมชาติแวดล้อม ต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง เรียกง่ายๆ ว่าดำเนินชีวิตถูกต้อง การดำเนินชีวิตที่ดีที่ถูกต้อง ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ต่อธรรมชาติ ต่อมนุษย์ด้วยกัน ต่อสังคมได้ถูกต้องนี้ เรียกว่าอะไร ก็เรียกกันง่ายๆ ว่า ความดีงาม ซึ่งแยกเป็นจริยธรรมและคุณธรรม จริยธรรมคืออะไร จริยธรรมนั้นความหมายง่ายๆ ก็คือ การดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อสังคม ต่อธรรมชาติแวดล้อมอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดภาวะไร้ปัญหาหรือแก้ปัญหาได้ อันนี้เรียกว่า จริยธรรม ทีนี้ซ้อนลึกลงไปกว่าจริยธรรม อยู่เบื้องหลังจริยธรรมนั้นคืออะไร ก็คือ คุณธรรม คุณธรรมคืออะไร คุณธรรม ก็คือคุณภาพหรือคุณสมบัติภายในจิตใจ ที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิต และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนั่นเอง สองอย่างนี้สัมพันธ์กัน คุณธรรมกับจริยธรรมเรียกว่าความดีงาม ตกลงว่ามีองค์ประกอบสามอย่าง ซึ่งในที่สุดก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องอยู่ด้วยกัน ถ้าสามอย่างนี้มารวมกัน บรรจบประสานได้เมื่อไร นั่นคือเราได้บัณฑิตขึ้นมา คือ

๑. มีปัญญา รู้ความจริง รู้สัจจธรรม

๒. รู้สัจจธรรมแล้ว ก็ดำเนินชีวิตถูกต้อง ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ต่อสังคม ต่อธรรมชาติแวดล้อมถูกต้อง ก็แก้ปัญหาได้สำเร็จ นี่เรียกว่า ความดีงาม ได้แก่ จริยธรรมพร้อมทั้งคุณธรรมที่อยู่ภายใน

๓. ปฏิบัติถูกต้องแล้วแก้ปัญหาได้ ก็เกิดภาวะไร้ปัญหา ภาวะไร้ทุกข์ คือความสุข

อย่างไรก็ตาม การที่แยกความดีงามออกเป็นจริยธรรมกับคุณธรรมนั้น เป็นการอนุโลมตามความนิยมในภาษาไทยและในวงการการศึกษาของไทย ที่มักพูดถึงคุณธรรมและจริยธรรมแยกเป็นสองอย่างโดยจับให้เข้าคู่กัน แต่ในทางพุทธธรรมไม่จำเป็นต้องพูดแยกอย่างนั้น เพราะจริยธรรมมีความหมายครอบคลุมทั้งหลักปฏิบัติ และคุณสมบัติของชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่ดีงามก็ย่อมรวมทั้งความดีงามภายในจิตใจ และความดีงามในการแสดงออกภายนอก ดังนั้น จึงใช้เพียง จริยธรรม คำเดียว ครอบคลุมความหมายที่ต้องการทั้งหมด

จริยธรรมนั้น เป็นสิ่งที่เนื่องกันกับสัจจธรรมและสืบต่อจากสัจจธรรมโดยตรง กล่าวคือ เมื่อรู้สัจจธรรมของธรรมชาติแล้ว จึงปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องกับสัจจธรรมนั้น และการปฏิบัตินั้นจึงได้ผลดี การปฏิบัติที่ถูกต้องสอดคล้องกับสัจจธรรมและได้ผลดีนั้นเรียกว่า จริยธรรม สัจจธรรมเป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่วนจริยธรรมเป็นวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ตัวการที่เชื่อมสัจจธรรมกับจริยธรรม ก็คือ ปัญญา ได้แก่ความรู้ในสัจจธรรมนั่นเอง ซึ่งทำให้รู้ที่จะปฏิบัติได้ถูกต้อง จนทำให้แก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้

เป็นอันว่ามีองค์อยู่ ๓ ประการ คือ การรู้ความจริง ความดีงาม และความสุข หรือจะเรียกว่า ปัญญา หรือความรู้สัจจธรรม ๑ จริยธรรม ๑ ภาวะไร้ทุกข์ ๑ การบรรจบขององค์ประกอบสามอย่างนี้เรียกว่าจุดหมายสูงสุด เป็นสุดท้ายปลายทางของการสร้างสรรค์พัฒนามนุษย์ที่เป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ

เป็นอันว่าได้พูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ พร้อมทั้งจุดหมายสูงสุดของชีวิตไปแล้ว แต่ภายในกระบวนการที่จะเข้าถึงจุดหมายสูงสุดนี้ มีตัวหลักซ้อนอยู่ ๓ อย่าง คือตัวมนุษย์เองเป็นหลักอันหนึ่ง เป็นตัวที่จะก้าวออกไปในการแก้ปัญหา และมนุษย์นี้มีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย คือสังคมและธรรมชาติแวดล้อม รวมแล้วจึงมีองค์ประกอบสามอย่าง คือ ตัวมนุษย์ สังคม และ ธรรมชาติแวดล้อม องค์ประกอบสามอย่างนี้ ถ้าเราปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็ทำให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดดังที่กล่าวมา

เมื่อเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และจุดหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์แล้ว ก็มาแจกแจงรายละเอียดความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป ในเมื่อวิชาพื้นฐานทั่วไปนี้เป็นวิชาที่จะสร้างบัณฑิต และสร้างคนที่มีความพร้อมในการที่จะศึกษาเล่าเรียน และพัฒนาตนเองให้เป็นบัณฑิต (คือ นักเรียน หรือ นักศึกษา) วิชาพื้นฐานการศึกษานี้จึงเรียกได้ว่า เป็นวิชาที่เป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษา คำว่าวิชาพื้นฐานนี้บางทีก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเข้าใจไปว่าเป็นวิชาเบื้องต้นหรือเป็นส่วนเริ่มแรกของวิชาอื่นๆ ที่สูงขึ้นไป แต่ที่จริงมันก็คือวิชาที่เป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษานั่นเอง ขอทวนอีกทีว่า เมื่อมองความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไปโดยสัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนามนุษย์ ตลอดจนจุดหมายสูงสุดของมนุษย์ตามธรรมชาตินั้นแล้ว เราก็มีความมุ่งหมายเป็นสองระดับ คือ

๑. ความมุ่งหมายช่วงสั้น ได้แก่ความพร้อมและท่าทีที่ถูกต้อง ต่อการที่จะเล่าเรียนศึกษาวิชาการอื่นๆ รวมทั้งวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลาย ตลอดจนต่อประสบการณ์และสถานการณ์ทุกอย่างในการดำเนินชีวิต พูดอย่างง่ายๆ ความมุ่งหมายช่วงสั้นนี้ ก็คือ เพื่อสร้างความเป็นนักศึกษาและนักเรียนที่ดี

๒. ความมุ่งหมายช่วงยาว ได้แก่การเข้าถึงความบรรจบประสานเป็นอันเดียวกันของความรู้ ความดีงาม และความสุข หรือปัญญา จริยธรรม และภาวะไร้ทุกข์ พูดสั้นๆ ว่า เพื่อสร้างความเป็นบัณฑิต

จุดหมายเพื่อความเป็นนักศึกษา

ต่อไปนี้ ก็มาช่วยกันแจกแจงความมุ่งหมายในสองช่วงนั้น ข้อแรกคือช่วงสั้น ความมุ่งหมายในช่วงสั้นที่จะให้เป็นนักศึกษาที่ดี ก็ดึงออกมาจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่กล่าวเมื่อกี้ ซึ่งจะทำให้มองเห็นความมุ่งหมายที่เป็นข้อย่อยๆ ต่างๆ หลายข้อ และทุกข้อนั้นจะโยงสัมพันธ์กันหมด เพราะภายในธรรมชาติของมนุษย์นั้น ทุกอย่างมีความสัมพันธ์โยงกัน เป็นข้อเตือนใจว่า การที่จะคิดอะไรออกมา จะต้องมองเห็นว่ามันเชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้ไหม สำหรับในกรณีนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าทุกข้อสัมพันธ์กันอย่างไร

ข้อที่หนึ่ง คือ จะต้องให้มีความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้จนถึงภาวะสูงสุด และเราจะต้องเชื่อศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวของเรา

ข้อที่สอง คือให้มีจิตสำนึกในการศึกษา หมายความว่า มีความสำนึกอยู่เสมอในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เมื่อเราเชื่อว่าเรามีศักยภาพ และเห็นว่าเราจะต้องพัฒนาตนขึ้นไป เพื่อจะได้เป็นผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ เราก็จะต้องมีจิตสำนึกอยู่เสมอในการที่จะศึกษา สำนึกอยู่เสมอในการที่จะพัฒนาตน เรียกว่ามีจิตสำนึกในการศึกษา การมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือในการที่จะพัฒนาตนอยู่เสมอนี้ จะพ่วงเอาคุณสมบัติอย่างอื่นมาด้วย โดยเฉพาะความอ่อนน้อมถ่อมตน และความพร้อมที่จะรับฟังผู้อื่น ตอนแรกเมื่อเราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ก็อาจจะทำให้เราคิดผิด ไขว้เขวไป แล้วผยองลำพองตน แต่พอสำนึกตัวว่าจะต้องพัฒนาตน ก็จะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนขึ้นมาแทนที่

ข้อที่สาม คือ จะต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้องในทางการศึกษา คือความใฝ่ปรารถนาที่เรียกว่า ฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะ ได้แก่ ความใฝ่สัจจะ ใฝ่ความจริง และใฝ่ความถูกต้องดีงาม เรียกสั้นๆ ว่า ความใฝ่รู้ และ ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่ความจริง ก็คือใฝ่รู้ความจริง เรียกว่า ใฝ่รู้ และใฝ่ความดีงาม ก็คือ ใฝ่ที่จะทำสิ่งดีงามให้เกิดเป็นเกิดมีขึ้น เรียกว่า ใฝ่สร้างสรรค์ พูดได้เป็นสองสำนวน คือ ใฝ่สัจจะหรือใฝ่ความจริง และใฝ่ความดีงาม กับใฝ่รู้ และใฝ่สร้างสรรค์หรือใฝ่ทำ เราจะต้องสร้างคนให้มีความใฝ่รู้ หรืออยากรู้ แล้วก็อยากสร้างสรรค์

ข้อที่สี่ คือ จะต้องให้มีท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ทั้งหลาย เพราะการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ในแง่หนึ่งก็คือการรู้จักสัมพันธ์กับโลก กับสภาพแวดล้อม หรือประสบการณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบตนนั้นเอง เราจะต้องมีท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ต่างๆ ถ้าไม่มีท่าทีที่ถูกต้องแล้วการพัฒนาตนก็จะไม่เริ่ม ท่าทีที่ถูกต้องต่อประสบการณ์ทั้งหลายนั้นคืออะไร ก็คือท่าทีที่มองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ เมื่อพบประสบการณ์ต่างๆ สถานการณ์ต่างๆ ให้มองเป็นการเรียนรู้ หรือการที่จะได้ข้อมูลหรือสาระมาใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตน เรียกง่ายๆ ว่า สำเหนียก หรือรู้จักสำเหนียก ท่าทีนี้ตรงกันข้ามกับการมองอะไรๆ ด้วยท่าทีของการชอบหรือชัง คือ ตามปกติ คนที่ยังไม่มีการศึกษาจะมองอะไรด้วยท่าทีของการที่จะชอบหรือไม่ชอบ แต่พอมีการศึกษาขึ้นมา หรือฝึกให้มีการศึกษา ก็จะเปลี่ยนเป็นท่าทีของการมองโดยเห็นเป็นการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเดินเข้าสู่แนวทางของการศึกษา

ข้อที่ห้า คือ สร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับสังคมและธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่จะทำให้เกิดความเกื้อกูลต่อการเรียนรู้ หรือความเป็นอยู่อย่างไร้ปัญหา เป็นธรรมดาว่า คนเราจะต้องมีความสัมพันธ์กับสังคมและธรรมชาติแวดล้อม เพราะเป็นองค์ประกอบอีกสองอย่างในการที่มนุษย์จะดำรงอยู่ ซึ่งปัจจุบันนี้รวมไปถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เช่นเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเราจะต้องมีความสัมพันธ์กับมันอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะก็คือจะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามหรือสังคมที่พึงปรารถนา ซึ่งมีลักษณะหนึ่งที่สำคัญ คือเป็นสังคมที่มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาตนของมนุษย์ทุกคน โดยที่แต่ละคนมีส่วนร่วมช่วยกันสร้างมันขึ้นมา แล้วมันก็ส่งผลย้อนกลับมาต่อมนุษย์ทุกคน ที่จะช่วยเกื้อให้เขาสามารถพัฒนาตนขึ้นไปได้

ข้อที่ห้านี้อาจแบ่งซอยออกไปเป็น ๒ ข้อ คือ เป็นความสัมพันธ์เชิงรับเอา ได้แก่รู้จักคบหาเกี่ยวข้อง ถือเอาประโยชน์จากคนและสิ่งเหล่านั้น หรือทำให้คุณค่าที่มีอยู่ในคนหรือสิ่งเหล่านั้นบังเกิดเป็นประโยชน์แก่ตน อย่างหนึ่ง และเป็นความสัมพันธ์เชิงเอื้ออำนวยให้ ได้แก่ ช่วยเหลือเกื้อกูลทำตนให้เป็นประโยชน์แก่คนและสิ่งเหล่านั้น อย่างน้อยไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย ไม่ก่อโทษแก่คนและสิ่งเหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง ถ้าแบ่งซอยอย่างนี้ ก็เพิ่มข้อเป็นข้อที่ห้า รู้จักคบหาเกี่ยวข้อง ถือเอาประโยชน์จากบุคคลและสิ่งแวดล้อม และข้อที่หก มีความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนก่อโทษแก่สังคมและสภาพแวดล้อม

ข้อที่เจ็ด คือ ให้มีความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา อย่างที่เรียกว่าคิดเป็น การคิดเป็นนี้เป็นรากฐานของการที่จะทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น ข้อนี้ทางพระเรียกว่า โยนิโสมนสิการ

เป็นอันว่ามีหกข้อ หรือแบ่งละเอียดเป็นเจ็ดข้อด้วยกัน ทั้งหกหรือเจ็ดข้อนี้ดึงมาจากความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในกระบวนการของการศึกษาจนเข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ว่ามาเมื่อกี้ และทุกข้อนั้นโยงสัมพันธ์กันหมด หลักเจ็ดข้อหรือความมุ่งหมายเจ็ดประการนี้ ถ้าเราสร้างให้มีในนักศึกษาได้ ก็เรียกว่าเป็นนักศึกษาที่แท้จริง เป็นนักศึกษาหรือนักเรียนที่ดี นักศึกษาหรือนักเรียนที่ดีซึ่งมีคุณสมบัติอย่างนี้ ก็จะปฏิบัติต่อวิชาเฉพาะและวิชาชีพอย่างได้ผลดี ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้ว เขาก็จะได้นำวิชาเหล่านั้นไปใช้อย่างถูกต้อง แม้แต่ในเวลาเรียน เขาก็จะตั้งท่าทีและวางจิตใจอย่างถูกต้อง โดยมีความพร้อมที่จะเรียน นอกจากวิชาการที่เล่าเรียนแล้ว เขาก็จะมีท่าทีปฏิบัติถูกต้อง ต่อประสบการณ์และสถานการณ์ทุกอย่างที่เข้ามา โดยมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นสิ่งที่จะเรียนรู้ เป็นส่วนของการศึกษาหรือพัฒนาของเขาไปหมด

บุพภาคของการศึกษา

ทีนี้ ลองหันมาดูหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ หลักหกหรือเจ็ดข้อนี้ ถ้ามองดูตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เอาคัมภีร์มาตรวจสอบ ก็จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงองค์ธรรมหรือข้อธรรม ที่เกื้อกูลต่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องไว้ ๗ ประการ เป็นจุดตั้งต้น และเป็นตัวประกอบที่เกื้อหนุนต่อการศึกษา เรียกว่า เป็นบุพนิมิตแห่งอริยมรรค หรือเป็นต้นทางนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องและเป็นบุพภาคของการศึกษา หลัก ๗ ประการนี้ความจริงก็ตรงกับหลัก ๖ หรือ ๗ ข้อที่พูดมาแล้วนั่นเอง แต่ในหลักธรรมกลุ่มนี้ แยกข้อที่ ๕ ข้างบนออกเป็น ๒ ข้อ ต่างหากกันชัดเจน จึงรวมเป็น ๗ ข้อแน่นอน และเรียงลำดับต่างออกไปดังต่อไปนี้

๑. กัลยาณมิตตตา ความมีกัลยาณมิตร หรือ ความรู้จักเลือกหากัลยาณมิตร มีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี โดยเฉพาะส่วนที่พึงเน้นย้ำให้มาก ก็คือการรู้จักหาและรู้จักใช้แหล่งความรู้ บุคคลใดหรืออะไรที่จะเป็นแหล่งความรู้ จะช่วยกระตุ้นเร้าส่งเสริมให้ก้าวหน้าในการศึกษาหรือพัฒนาตน ก็รู้จักหารู้จักใช้ รู้จักเข้าไปเกี่ยวข้องพบปะรับเอาประโยชน์ ทำให้เป็นแหล่งและสภาพแวดล้อมที่ช่วยในการพัฒนาตน เช่น รู้จักอ่าน รู้จักรับฟัง รู้จักเลือกอ่าน เลือกรับฟัง เช่น ฟังวิทยุเป็น ดูทีวีเป็น ฟังและดูให้ได้ความรู้ ได้ความคิดที่เป็นประโยชน์ ได้สาระที่จะมาเสริมคุณภาพชีวิต ทำให้สื่อมวลชนเป็นสื่อสารสมชื่อ ไม่ใช่กลายเป็นสื่อไร้สาร เดี๋ยวนี้เป็นปัญหามากว่า เด็กของเรานั้นดูทีวีเป็นไหม ดูแล้วได้ประโยชน์หรือได้โทษ ฟังวิทยุเป็นไหม สดับข่าวสารเป็นไหม อ่านหนังสือพิมพ์เป็นไหม ตลอดจนอ่านหนังสือตำรับตำราเป็นไหม ผู้เรียนทุกคน ควรรู้จักหารู้จักใช้กัลยาณมิตร หรือแหล่งความรู้ให้ถูกต้อง แต่ก็เป็นหน้าที่ของสังคม โดยเฉพาะผู้บริหารผู้ปกครองทุกระดับ เริ่มแต่พ่อแม่และครูอาจารย์ที่จะทำตัวเป็นกัลยาณมิตร และจัดสรรหากัลยาณมิตรให้แก่สมาชิกในสังคมของตนด้วย อันนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญเริ่มแรกทีเดียว เรียกว่า กัลยาณมิตตตา

๒. สีลสัมปทา การทำศีลให้ถึงพร้อม หรือการสร้างสรรค์ความมีวินัยในการดำเนินชีวิต และความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม ศีลคืออะไร ศีลก็คือการดำเนินชีวิตที่เรียบร้อยราบรื่น กลมกลืนและเกื้อกูลในสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี และมีระเบียบในการดำเนินชีวิต โดยมีการแสดงออกทางกาย วาจา และการประกอบอาชีพที่สุจริตปราศจากเวรภัย ประกอบด้วยวินัย ยอมรับระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์กติกาของสังคมที่วางไว้โดยชอบ อย่างน้อยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายและความขัดแย้ง ไม่รุกรานทำลายสภาพแวดล้อม สีลสัมปทานี้ เป็นส่วนเริ่มแรกในกระบวนการศึกษาพัฒนาตน ทำให้รู้จักจัดระเบียบในการเป็นอยู่ หรือดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบ และเป็นสมาชิกหรือส่วนร่วมที่ดีของสังคม ร่วมเสริมสร้างสภาพแวดล้อมและสภาพชีวิตที่เอื้อหรือเกื้อกูลต่อการพัฒนาต่อไปหรือยิ่งๆ ขึ้นไป

หลัก ๒ ข้อแรก คือ กัลยาณมิตตตา และ สีลสัมปทานี้ ตรงกับข้อห้าที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับสังคมและสภาพแวดล้อม แต่ในที่นี้แยกซอยออกเป็น ๒ ข้อ เพื่อให้เห็นลักษณะของความสัมพันธ์ที่แบ่งได้เป็นสองด้าน ในข้อแรกคือ กัลยาณมิตตตา ความสัมพันธ์กับผู้อื่นและกับสังคมเป็นไปในลักษณะของการเป็นผู้รับ คือรับเอามา หรือได้ประโยชน์แก่ตนเอง แต่ในข้อที่สองคือสีลสัมปทา ความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะของการให้ หรือกระทำต่อสังคม โดยมีพฤติกรรมที่เอื้อหรือเกื้อกูล อย่างน้อยไม่เบียดเบียนหรือทำลาย

๓. ฉันทสัมปทา การทำฉันทะให้ถึงพร้อม ก็คือ การสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องในการศึกษา การมีความใฝ่สัจจะ ใฝ่ความดีงาม หรือใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์อย่างที่ว่ามาข้างต้นแล้ว

๔. อัตตสัมปทา อัตตะ แปลว่าตน อัตตสัมปทา ก็คือ การทำตนให้ถึงพร้อม ขยายความออกไปว่า การทำศักยภาพของตนให้เข้าถึงความสมบูรณ์ คนที่ศึกษาเล่าเรียนนั้น จะต้องคอยทำศักยภาพของตนให้คลี่คลาย เผยตัวผลิตผลออกมาพรั่งพร้อม ข้อนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า self-fulfilment หรืออีกศัพท์หนึ่งที่ใช้ในวงการศึกษามากคือ self-actualization ซึ่งก็คืออันเดียวกัน เราแปล self-actualization โดยเที่ยวไปหาบัญญัติศัพท์ใหม่ แต่ที่จริงมีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก เรียกว่า อัตตสัมปทา คือการทำตนให้ถึงพร้อม หรือ การทำศักยภาพของตนให้ถึงพร้อมบริบูรณ์

๕. ทิฏฐิสัมปทา การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม ทิฏฐิ คืออะไร ทิฏฐิก็คือ ความเชื่อ ทัศนคติ หรือที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่า เจตคติ ค่านิยมต่างๆ ตลอดจนท่าทีและทัศนะในการมองโลกและชีวิต การมีทิฏฐิสัมปทา ก็คือ การมีชีวทัศน์ โลกทัศน์ที่กว้างขวาง ไม่เหลวไหล ไม่งมงาย มีเหตุผล ไม่ถือตามความพอใจ ไม่พอใจหรือความชอบชังส่วนตัว แต่มีทัศนะ มีความคิดที่มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย มองสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์ อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งก็หมายถึงการมีแนวความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ที่เกื้อกูลต่อการฝึกฝนพัฒนาตนของเรานั่นเอง ปัจจุบันนี้ เราพูดกันว่า อยากให้คนมีทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็อยู่ในทิฏฐิสัมปทานี่เอง รวมความก็คือ มีทัศนคติ มีความคิดที่มองโลก มองชีวิต มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย และตามความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน คนที่มีทิฏฐิดี จะมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย และมองโดยให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสิ่งทั้งหลาย ถ้ามีทัศนคติอย่างนี้ ความคิดความเห็นก็กว้าง และเป็นพื้นฐานในการที่จะคิดพิจารณาอะไรอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งนำไปสู่การศึกษา พัฒนาตน เพราะมองเห็นว่า ความเจริญงอกงามจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างเหตุปัจจัย ที่จะทำให้เจริญงอกงาม จึงทำให้ใช้ปัญญาวิเคราะห์สืบสาวหาเหตุปัจจัย เพื่อทำการแก้ไขปรับปรุงต่อไป

ทัศนคติแบบมองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยนี้ ครอบคลุมถึงการมองสิ่งทั้งหลายด้วยท่าทีของการเรียนรู้ หรือท่าทีของการมองประสบการณ์ทั้งหลายโดยเห็นเป็นการเรียนรู้ด้วย โดยมีจุดเริ่มต้นที่การไม่มองสิ่งทั้งหลาย หรือรับรู้ประสบการณ์ด้วยท่าทีของการรับกระทบตัวตน เป็นความพอใจ-ไม่พอใจ หรือชอบ-ชัง เมื่อมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้ ก็นำไปสู่การสืบค้นตามแนวทางของเหตุปัจจัย เมื่อจะมองหาเหตุปัจจัย ก็ต้องมีท่าทีแห่งการเรียนรู้ อาจกล่าวได้ว่า ทัศนคติแห่งการมองตามเหตุปัจจัย ย่อมพ่วงเอาท่าทีแห่งการมองแบบการเรียนรู้ติดมาด้วย เพราะเมื่อมองตามเหตุปัจจัย ก็ต้องมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้

๖. อัปปมาทสัมปทา การทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาทก็คือ ความกระตือรือร้น ความเอาจริงเอาจัง ความเร่งขวนขวาย ไม่นอนใจ ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย ซึ่งเกิดจากจิตสำนึกเกี่ยวกับกาลเวลา หรือลึกลงไปอีกคือจิตสำนึกเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะกระตุ้นเร้าให้เร่งขวนขวายปฏิบัติการตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ผู้มีจิตสำนึกอย่างนี้จะไวต่อการรับรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลง ไวต่อการรับรู้เกี่ยวกับเหตุแห่งความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ ตื่นตัวเท่าทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ คอยระมัดระวังเหตุแห่งความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ เมื่อมีเหตุแห่งความเสื่อมก็รีบคิดหาทางป้องกันกำจัดเสีย มีปัญหาต้องคิด ก็รีบพิจารณาหาทางแก้ไข เห็นอะไรที่จะเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ ก็พยายามขวนขวายกระตือรือร้นสร้างสรรค์หมั่นกระทำ เฉพาะอย่างยิ่งคือ กระตือรือร้นในการพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้าสู่จุดหมายที่ดีงาม อัปปมาทสัมปทานี้เมื่อมองที่ตัวบุคคล ก็คือ ความมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือในการที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลานั่นเอง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้มีการฝึกฝนพัฒนาตน แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้

๗. โยนิโสมนสิการสัมปทา การทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม คือการรู้จักคิด หรือคิดเป็น อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

หลัก ๗ ประการนี้ตรงกันกับสาระ ๗ ข้อที่ดึงเอามาจากกระบวนการของการศึกษาตามธรรมชาติที่ว่ามาก่อนแล้ว แต่เรียงลำดับข้อไม่ตรงกัน เพราะแบบก่อนนั้นดึงเอามาจากกระบวนการธรรมชาติ โดยจับแยกออกมาทีละข้อๆ ตามที่เห็นในกระบวนการ แต่หลักที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้นี้ คงจะวางตามลำดับในเชิงปฏิบัติว่าควรจะดำเนินไปอย่างไร ขอให้ลองไปเทียบกันดูว่า ๗ ข้อแรกกับ ๗ ข้อหลังนี้ ตรงกันอย่างไร เป็นอันว่า เมื่อบุคคลมีคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นนักศึกษาที่ดี เป็นนักเรียนที่ดี เป็นผู้พร้อมที่จะเรียนรู้ และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการเล่าเรียนศึกษาวิชาการต่างๆ พร้อมที่จะศึกษาพัฒนาตน และดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดี นี้คือจุดหมายหรือความมุ่งหมายในช่วงสั้น

หลัก ๗ ประการตามที่ได้บรรยายข้างต้นอย่างยืดยาวนั้น เมื่อพูดให้สั้นเอาแต่ใจความก็คือ คุณสมบัติหรือองค์คุณ ๗ ประการของนักเรียนนักศึกษา ที่การศึกษาจะต้องเอื้ออำนวยและสร้างขึ้นให้สำเร็จ ซึ่งมีดังนี้

๑. ได้กัลยาณมิตร คือ มีพ่อแม่ ครูอาจารย์ เพื่อน หนังสือ สื่อมวลชน และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดีงามเกื้อกูลต่อการพัฒนา ข้อนี้สำคัญเป็นพิเศษในวัยเริ่มแรกของชีวิต และเมื่อเข้าสู่สังคมใหม่ จึงยกขึ้นเป็นข้อแรก ต่อจากระยะแรกนั้นแล้วเน้นการรู้จักเลือกเข้าพบ คบหาสืบค้นแหล่งธรรมแหล่งปัญญา เรียกสั้นๆ ว่า กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร)

๒. ชีวิตมีวินัย คือ รู้จักจัดระเบียบและมีวินัยในการดำเนินชีวิต รักษาระเบียบวินัยของสังคมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้มีความเกื้อกูลไม่เบียดเบียนกัน เพื่อความมีสภาพชีวิต ที่เหมาะสมเอื้อต่อการที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป เรียกว่า สีลสัมปทา (การทำศีลให้ถึงพร้อม)

๓. ใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ คือ ต้องการเข้าถึงความจริง และทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดมีขึ้น รักสัจจะ รักงาน อันเป็นแรงจูงใจที่จะทำให้ก้าวหน้าต่อไปในการพัฒนา เรียกว่า ฉันทสัมปทา (การทำฉันทะให้ถึงพร้อม)

๔. เชื่อมั่นในศักยภาพของตน คือ มั่นใจในตนเอง ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นไปให้สมบูรณ์ได้ หรือเชื่อในความเป็นมนุษย์ของตนซึ่งเป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาให้ประเสริฐเลิศได้ และเพียรพยายามในการศึกษาพัฒนาตนยิ่งขึ้นไปให้เต็มที่สมบูรณ์ เรียกว่า อัตตสัมปทา (การทำตนให้ถึงพร้อม)

๕. มีค่านิยมและทัศนคติแนวเหตุผล คือ มีความเชื่อถือทัศนคติ และค่านิยมที่ดีงาม เอื้อต่อการพัฒนา โดยเฉพาะ การมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัย รับรู้ประสบการณ์ทั้งหลายด้วยท่าทีของการเรียนรู้ เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา (การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม)

๖. มีสติกระตือรือร้นทุกเวลา คือ มีจิตสำนึกต่อกาลเวลา ตื่นตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ไวและเท่าทันต่อเหตุแห่งความเสื่อมและเหตุแห่งความเจริญ กระตือรือร้นในการป้องกันแก้ไขเหตุแห่งความเสื่อม และสร้างสรรค์เหตุแห่งความเจริญ มีจิตสำนึกในการศึกษาพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า อัปปมาทสัมปทา (การทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม)

๗. พึ่งพาตนได้ด้วยความรู้คิด คือ รู้จักคิด รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาให้ได้ความจริง และคุณค่าหรือประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย สามารถคิดแยกแยะ และสืบค้นหาองค์ประกอบและเหตุปัจจัยเป็นต้น ของเรื่องราวเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ คิดเป็น และคิดเองเป็น อันเป็นองค์คุณสำคัญยิ่งในการที่จะพึ่งตนเองได้ และมีความจำเป็นมากขึ้น ตามอัตราส่วนของการขาดแคลนกัลยาณมิตรและการมีปาปมิตรในสังคม ข้อนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ (การพิจาณาโดยแยบคาย)

โดยเฉพาะข้อ ๑ และข้อ ๗ ซึ่งเป็นข้อคุมหัวคุมท้าย ได้รับการเน้นย้ำและกล่าวถึงเป็นพิเศษ ในกระบวนการศึกษาพัฒนาบุคคล ในฐานะเป็นปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ และเป็นตัวนำให้องค์คุณข้ออื่นๆ เกิดพ่วงตามมาได้ง่าย นอกจากนั้น องค์ ๒ ข้อนั้น ยังเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ที่เป็นคู่ดุลและคู่เสริมกันด้วย เช่น กัลยาณมิตร เมื่อทำหน้าที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้บุคคลเกิดโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการทำให้ไม่ต้องพึ่งอาศัยกัลยาณมิตรอยู่เรื่อยไปอย่างพึ่งตนเองไม่ได้ และทำให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากความมีกัลยาณมิตร ดังนี้เป็นต้น

จุดหมายเพื่อความเป็นบัณฑิต

เมื่อพูดถึงความมุ่งหมายช่วงสั้นแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอพูดถึงความมุ่งหมายช่วงยาว หรือความมุ่งหมายชนิดปลายทาง ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุด ได้แก่ ความสัมฤทธิ์ผลของการพัฒนา ซึ่งเป็นการสร้างบัณฑิตที่แท้จริง ความมุ่งหมายสูงสุดในขั้นปลายของกระบวนการที่ว่าเป็นการสร้างบัณฑิตนี้ ได้บอกแล้วข้างต้นว่าเกิดจากการบรรจบประสานกันขององค์ทั้งสาม องค์ทั้งสามคืออะไร ขอทวนอีกครั้งหนึ่ง องค์ทั้งสามนั้น คือ

  1. เข้าถึงความจริงด้วยความรู้ที่เรียกว่า ปัญญา หมายถึง รู้สภาวะ รู้กฎเกณฑ์ รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย หรือรู้สัจจธรรมนั่นเอง นี้เป็นองค์ที่หนึ่ง คือมีปัญญาเป็นพื้นฐานเบื้องแรก
  2. เมื่อรู้แล้วก็ดำเนินชีวิตตามปัญญาที่รู้นั้น ซึ่งจะเป็นการดำเนินชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย คือปฏิบัติต่อสังคม ต่อธรรมชาติแวดล้อม ต่อสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา รวมทั้งต่อชีวิตของตนเองอย่างถูกต้อง ทำให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างไร้ปัญหา หรือแก้ปัญหาได้ ข้อนี้เรียกสั้นๆ ว่า ความดีงาม ได้แก่ จริยธรรม
  3. เมื่อดำเนินชีวิตถูกต้อง ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้องแล้ว ก็เข้าถึงภาวะไร้ปัญหาไร้ทุกข์ที่เรียกว่า ความสุข เป็นจุดหมายประการที่สาม

องค์สามอย่างนี้จะต้องมาบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมันมาบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ภายในตัวบุคคล ก็เรียกว่าเป็นความสัมฤทธิ์ผลของการศึกษา แล้วเราก็เรียกบุคคลนั้นว่าเป็น บัณฑิต สร้างบัณฑิตได้สำเร็จ

จุดหมายสูงสุดสามประการ หรือองค์ทั้งสามเท่าที่อธิบายมานี้ยังเป็นการพูดอย่างกว้างๆ เกินไป เช่น บอกว่า ปัญญา คือ รู้ความจริง รู้ความเป็นไปของเหตุปัจจัย รู้ความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักแก้ปัญหา รู้จักสร้างสรรค์ รู้จักจัดทำดำเนินการให้สำเร็จ ถึงจะบอกความหมายของปัญญาอย่างนี้ ก็ยังกว้างอยู่ ทำอย่างไรจะลงไปสู่รายละเอียดได้มากกว่านี้ ก็ต้องพิจารณาแยกแยะปัญญานั้นในภาวะที่มันทำหน้าที่เฉพาะด้านๆ ปัญญาที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านๆ นั้น ก็มีชื่อเฉพาะต่างๆ กันมากมาย ในที่นี้ อาตมาอยากจะเสนอไว้สักอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างปัญญาที่ควรสร้างขึ้นในการศึกษา

สำหรับวงการการศึกษาเล่าเรียนนั้น ปัญญาอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือปัญญาที่เรียกว่า ปฏิสัมภิทา แปลว่า ปัญญาแตกฉาน ปัญญาแตกฉานนี้มีคุณค่ามาก เพราะมันจะสร้างเสริมความสามารถ และประสิทธิภาพในการที่จะไปทำงานช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ไม่ใช่เป็นปัญญาที่แก้ไขปัญหาให้ตนเองได้อย่างเดียว ปฏิสัมภิทานี้ มี ๔ ข้อ คือ อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติหรือภาษา และปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณหรือความคิดทันการ

ข้อที่หนึ่งกับที่สอง คือ อัตถปฏิสัมภิทา กับ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถกับปัญญาแตกฉานในธรรมนี้ เป็นเรื่องที่อิงกันอยู่ อาศัยซึ่งกันและกัน จะต้องเข้าใจความหมายของอรรถกับธรรมก่อน อรรถและธรรม คืออะไร ธรรม คือสิ่งที่เป็นหลักเดิม ได้แก่ ตัวเหตุ ตัวกฎเกณฑ์ ตัวหลักการ ตัว concept หรือ ตัวประเด็น ตลอดจนถ้อยคำอะไรต่างๆ ส่วน อรรถ นั้น ก็คือสิ่งที่ขยายออกไปจากตัวธรรมนั่นเอง เช่น ถ้าธรรมเป็นเหตุ อรรถก็คือผล ผลคือสิ่งที่สืบเนื่องมาจากเหตุ อรรถจึงเป็นผล ถ้าธรรมเป็นกฎเกณฑ์ ความเป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้นก็เรียกว่าอรรถ ได้แก่เรื่องราวต่างๆ และปรากฏการณ์ที่เป็นผล ถ้าธรรมเป็นหลักการ อรรถของมันก็คือความมุ่งหมาย ได้แก่ความมุ่งหมายของหลักการนั้นเอง ถ้าธรรมเป็น concept ความหมายของมันก็เป็นอรรถ ถ้าธรรมเป็นตัวประเด็น เนื้อความคำอธิบายที่ขยายออกไปก็เป็นอรรถ ถ้าธรรมเป็นถ้อยคำ ความหมายหรือเนื้อความของถ้อยคำนั้นก็เป็นอรรถ สองอย่างนี้เป็นคู่กัน ถ้าเราฟังคนสักคนหนึ่งพูด เขาพูดมากมาย เราจับประเด็นได้ไหม ถ้าจับประเด็นได้ นี่คือ อาการของธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในตัวธรรม ถ้าเขาพูดคำอะไรมาสักคำ เราเข้าใจความหมายขยายความได้ นั่นคืออาการของอัตถปฏิสัมภิทา ถ้าเขาพูดมาย่อๆ เป็นประเด็น เราสามารถคิดอธิบายขยายความออกไปได้ นั่นคืออาการของอัตถปฏิสัมภิทา ปฏิสัมภิทาสองอย่างนั้นคู่กันอยู่อย่างนี้

โลกปัจจุบันนี้เป็นโลกแห่งยุคข่าวสารข้อมูล มีข่าวสารข้อมูลมากมาย คนที่ไม่มีปฏิสัมภิทาอยู่ในโลกนี้ จะเกิดโทษมาก ข้อมูลจะเป็นพิษ ถ้าเป็นสื่อมวลชน ก็รายงานข่าวไม่ตรงประเด็น หรือจับความหมายเรื่องราวที่ไปสัมภาษณ์เขามาไม่ได้ ว่าผิดไปไม่ตรงเรื่อง จับประเด็นไม่ถูก หรือจับประเด็นได้แต่อธิบายไม่เป็น ขยายความไม่ถูก หรือแม้แต่คนทั่วไปที่อยู่ด้วยกันในสังคมนี้ เวลาเขาพูดอะไรมา เขาบรรยายอะไรมา จับประเด็นไม่ถูกต้อง นี้ไม่มีธัมมปฏิสัมภิทา หรือว่าตัวรู้เรื่องอยู่ มีความเข้าใจในตัวหลัก แต่เอาไปคิดขยายความไม่ออก อธิบายไม่ได้ ก็ไม่มีอัตถปฏิสัมภิทา เรื่องราวความเป็นไปในสังคมนี้ มีข่าวคราวเหตุการณ์เกิดขึ้น อะไรเป็นตัวประเด็น อะไรเป็นตัวปัญหา ต้องจับให้ได้ในโลกยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ถ้าไม่มีปฏิสัมภิทานี้แล้ว จะยุ่งยากมาก ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะเกิดโทษต่อมนุษย์ แต่ถ้ามีปฏิสัมภิทานี้ ข้อมูลเหล่านั้นจะกลับเป็นคุณ เป็นประโยชน์ ช่วยในการแก้ปัญหา ทำให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้น จะต้องมีธัมมปฏิสัมภิทา คือ ความแตกฉาน เข้าใจในตัวเหตุ ในหลักการ ในกฎเกณฑ์ ในตัว concept ในตัวประเด็น แล้วก็มีอัตถปฏิสัมภิทา ที่จะเข้าใจปรากฎการณ์ที่เป็นผล ความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ ความหมายของสิ่งทั้งหลาย ความมุ่งหมายของหลักการต่างๆ ตลอดจนสามารถคิดอธิบายขยายความอะไรต่างๆ ออกไป

ข้อที่สาม นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ หรือภาษา คือความสามารถในการใช้ภาษา สื่อความหมายถ่ายทอดแสดงอรรถแสดงธรรมที่ว่ามาเมื่อกี้ บางคนรู้อรรถรู้ธรรมแต่ใช้ภาษาไม่เป็น ไม่สามารถบรรยายสื่อสารกับคนอื่น พูดให้เขาเข้าใจไม่ได้ มีความต้องการอย่างไร พูดไม่ชัดแจ้ง ไม่ตรงเรื่อง ทำให้เขาเข้าใจความต้องการของตนไม่ได้ เรียกว่าขาดนิรุตติปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทานี้ ก็มีความจำเป็นมากในวงการศึกษา โดยเฉพาะในยุคของความเจริญแห่งข่าวสารข้อมูลนี้ ถ้าใช้ภาษาเป็นก็จะถ่ายทอดความคิดเห็นทัศนะ ความต้องการของเราให้เขาเข้าใจได้ ทำให้เขามองเห็นชัดเจน ตลอดจนสามารถพูดจา เขียนบรรยายโน้มน้าวใจคนให้เห็นตาม รู้สึกตาม เช่น ทำให้ซาบซึ้งอ่อนโยน ผ่องใส เบิกบาน เป็นต้น ปฏิสัมภิทานี้จึงมีความสำคัญยิ่งในการที่จะให้การศึกษาแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นครู

ข้อที่สี่ ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในความคิดทันการ หรือปัญญาในเชิงปฏิบัติการ คือการที่สามารถเอาความรู้ที่ตนมีอยู่แล้วต่างเรื่องต่างแง่ต่างด้านมาเชื่อมโยงกัน ปรุงแต่งสร้างเป็นความรู้ใหม่ เป็นความคิดใหม่ที่ใช้แก้ปัญหา ใช้ปฏิบัติการทำงานสร้างสรรค์อะไรต่างๆ ให้สำเร็จได้ ฉับไวทันการ ถ้าเรามีความรู้อยู่ แต่เอาออกมาใช้ไม่ได้ เอามาทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะฉะนั้น จะต้องมีปฏิภาณปฏิสัมภิทา เป็นปัญญาเชิงปฏิบัติการที่ใช้ทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จ แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วย

ทั้งหมดนี้รวมเป็นปฏิสัมภิทา ๔ ประการ ซึ่งท่านกล่าวว่ามีในพระอรหันต์ที่เป็นชั้นยอดทั่วไป อย่างที่กล่าวว่าบรรลุอรหัตต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ปฏิสัมภิทานี้เป็นปัญญาหมวดหนึ่ง คือเป็นชื่อของปัญญาที่ทำหน้าที่เฉพาะด้านเฉพาะทาง นำมาพูดไว้ในที่นี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การที่จะสร้างปัญญาขึ้นนั้น ควรจะเป็นปัญญาอย่างไร นี้เป็นปัญญาหมวดหนึ่งที่ขอเสนอ

จุดหมายระดับต่างๆ ของชีวิต

อนึ่ง จุดหมายของจริยธรรม ท่านก็เรียกว่า อรรถ เหมือนกัน เพราะอรรถแปลว่า ความมุ่งหมาย หรือความหมาย หรือจุดหมาย หรือจุดประสงค์นั่นเอง การดำเนินชีวิตที่ดีงาม คือจริยธรรม ก็วัดด้วยความสำเร็จในการบรรลุอรรถ อรรถนี้แบ่งได้เป็น ๓ ประการ คือ

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์ หรือความมุ่งหมาย หรือจุดประสงค์ที่เป็นปัจจุบัน หรือจุดมุ่งหมายที่มองเห็นได้ เช่น การมีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตัวได้ มีฐานะ มีเกียรติ มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมในสังคม มีครอบครัวที่ดีงาม อะไรต่างๆ ทำนองนี้ นับว่าเป็นจุดหมายของชีวิตในขั้นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปธรรม มองเห็นได้ง่าย หรือเห็นๆ กันอยู่ ถ้าพูดตามภาษาปัจจุบันก็เรียกว่า การพึ่งตนเองได้ในทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนแม้แต่ในทางการเมือง ทิฏฐธัมมิกัตถะนี้เป็นเป้าหมายเบื้องต้น ซึ่งจริยธรรมจะต้องทำให้สัมฤทธิ์

๒. สัมปรายิกัตถะ แปลว่า ประโยชน์ที่เหนือขึ้นไป ประโยชน์ที่เลยออกไป หรือลึกซึ้งกว่านั้น ประโยชน์ที่ล้ำเลยออกไป นี้ก็คือการมีความมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตของตนเองว่า เรามีความประพฤติดีงาม เรามีความดีงาม เราได้ทำสิ่งที่ดีงาม ได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ มีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลายที่จะดำเนินชีวิตให้ถูกต้องได้ สัมปรายิกัตถะนี้เป็นเรื่องของชีวิตด้านใน ซึ่งเมื่อมีแล้ว นอกจากทำให้เกิดสุขภายในแล้วก็เป็นหลักประกันชีวิตในโลกหน้า คนที่มีคุณธรรมเข้าถึงจุดหมายนี้แล้ว ก็มั่นใจตนเองได้ ไม่ต้องกลัวปรโลก ไม่ต้องกลัวโลกหน้า เรียกว่า มีความมั่นใจในคุณค่าแห่งชีวิตของตน

๓. ปรมัตถะ ประโยชน์สูงสุด คือ ความมีจิตใจที่เป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย จนผ่านพ้นความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานได้ ไร้ทุกข์ ซึ่งเป็นที่บรรจบครั้งสุดท้ายของปัญญา จริยธรรม และความสุข

อรรถ ๓ ประการนี้ใช้เป็นเครื่องมือวัดความสัมฤทธิ์ผลของการศึกษา แบ่งออกไปได้เป็น ๒ แนว เรียกว่า แนวราบ กับแนวตั้ง ที่พูดมาเมื่อกี้นี้เป็นแนวตั้ง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ ปรมัตถะ สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ ส่วนในแนวราบก็แบ่งเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็คือประโยชน์ทั้งสามข้อในแนวตั้งที่ว่ามาแล้วนั่นเอง ซึ่งจะต้องพยายามทำให้เกิดขึ้น ทั้งแก่ตนเอง แก่ผู้อื่น และแก่สังคมร่วมกัน เรียกว่า อัตตัตถะ ประโยชน์ตน ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น และอุภยัตถะ ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย อันนี้ก็เป็นเครื่องวัดความสัมฤทธิ์ผลของการศึกษา

อาตมาคิดว่าได้พูดมาก็เลยเวลาแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็คิดว่าจะต้องสรุป เป็นอันว่า ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไปนี้ เมื่อว่าในระยะยาว จุดหมายสูงสุดก็คือ การสร้างบัณฑิต คือ มนุษย์ที่มีการบรรจบประสานกัน ขององค์ทั้งสามแห่งการมีชีวิตที่ดีงาม คือ มีปัญญารู้ความจริง มีการดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่าความดีงาม หรือคุณธรรมและจริยธรรม และการแก้ปัญหาได้สำเร็จ เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ หรือมีความสุขนั่นเอง สามอย่างนี้เป็นจุดหมายสูงสุด แต่ในระหว่างนั้น ก็มีจุดหมายในท่ามกลาง คือการเป็นนักศึกษาที่ดี เป็นนักเรียนที่ดี ที่มีองค์ประกอบ ๗ ประการ ดังที่ได้กล่าวมา ซึ่งทำให้เป็นผู้พร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการศึกษาเล่าเรียน และในการที่จะพัฒนาตนต่อไป เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วก็เป็นอันว่าเรากำลังสร้างนักเรียน นักศึกษาที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างบัณฑิตต่อไป

การที่จะสอนวิชาพื้นฐานทั่วไปให้ได้ผลอย่างนี้ ก็ดูจะไม่ค่อยง่ายนัก เพราะเป็นเนื้อตัวแท้ๆ ของการศึกษา ในที่นี้ จะขอสรุปโดยหันเข้ามาหาผู้สอน ขอสรุปง่ายๆ ว่า การสอนวิชาพื้นฐานให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์นี้ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย อาจพูดเชิงเปรียบเทียบว่า จะสอนวิชาเฉพาะหรือวิชาชีพ ให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์ ขอย้ำอีกทีว่า จะสอนวิชาเฉพาะและวิชาชีพให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะวิชาชีพและวิชาเฉพาะเป็นการสร้างเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเก่งในทางนั้นๆ จะมาสอน แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์ เพราะเป็นการสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สร้างความเป็นนักศึกษาที่ดี และสร้างความเป็นบัณฑิตที่แท้

ขอสรุปด้วยคำพูดที่กล่าวมาเมื่อกี้ และขอตั้งจิตตั้งใจเป็นกัลยาณฉันทะ อาราธนาคุณพระอภิบาลทุกท่าน ที่ได้มาร่วมกัน ด้วยกุศลเจตนาในการประชุมปฏิบัติการนี้ ขอจงได้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ในการที่จะดำเนินงานให้สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่วงการการศึกษา และประโยชน์สุขของสังคมสืบไปตลอดกาลนาน

คำอนุโมทนา

"ความมุ่งหมายของวิชาพื้นฐานทั่วไป" นี้ เป็นปาฐกถาที่แสดง ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๑

บัดนี้ ทางโครงการพัฒนาวิชาชีพอุดมศึกษา ภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกุศลฉันทะแสดงความประสงค์จะจัดพิมพ์ปาฐกถาเรื่องที่กล่าวนั้นเผยแพร่ เพื่อให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป อาตมภาพยินดีอนุญาตด้วยความเต็มใจ และได้ตรวจแก้ปรับปรุงบทปาฐกถาที่คัดลอกจากแถบบันทึกเสียง ให้มีถ้อยคำสำนวนเรียบร้อยกลมกลืนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแทรกเสริมข้อความบางตอน เพื่อให้มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขออนุโมทนาต่อโครงการพัฒนาวิชาชีพอุดมศึกษา ภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้มีฉันทะและวิริยะจัดพิมพ์ปาฐกถาธรรมเรื่องนี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการสู่สังคม ขอความมุ่งหวังอันชอบธรรมของทุกท่านผู้มีส่วนร่วมในการนี้ จงอำนวยผลส่งเสริมให้สัมมาทัศนะเจริญแพร่หลาย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสืบไป ตลอดกาลนาน

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๑๔ เมษายน ๒๕๓๒

1 ปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๑
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.