คนไทยกับป่า

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คนไทยกับป่า1

วันนี้ ขออนุโมทนา รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์ ภูมิภมร คณะอนุกรรมการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วเอนกประสงค์ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สภาวิจัยแห่งชาติ คุณประภาศรี ธนสุกาญจน์ และเจ้าหน้าที่สภาวิจัยแห่งชาติ ที่ได้มาช่วยปลูกต้นไม้ให้ที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรมแห่งนี้

นอกจากคณะอาจารย์ และคณะอนุกรรมการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วเอนกประสงค์ กำลังสำคัญก็คือท่านอาจารย์และคณะนิสิต คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกปฏิบัติงานภาคฤดูร้อน เรื่องการปลูกสร้างสวนป่า หลายท่านได้มาร่วมในการช่วยกันปลูกต้นไม้ให้วัด ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญ ตามคำสอนที่มีมาในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า (สํ.ส.๑๕/๑๔๖/๔๖)

อารามโรปา วนโรปา เย ชนา เสตุการกา...

เป็นคาถาซึ่งแปลได้ความว่า “ผู้ที่ปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน สร้างโรงน้ำบริการ และขุดบ่อน้ำสำหรับผู้เดินทาง ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญที่เจริญทุกเมื่อ ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน”

ทำไมจึงได้บุญเพิ่มพูนตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้คนอาศัยใช้ประโยชน์ตลอดเวลา อย่างต้นไม้นี้ปลูกไปแล้ว ก็เป็นประโยชน์อยู่เรื่อยไป มิใช่ว่าครั้งเดียวหมด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการทำบุญที่ท่านยกย่องสรรเสริญ

ท่านอาจารย์และนิสิต พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ ที่ได้มาร่วมในกิจกรรมวันนี้ ก็ถือว่า ได้ทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนา นอกจากมาปลูกต้นไม้ให้แล้ว ก็ยังได้เลี้ยงภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ที่พำนักอยู่ ณ ที่นี้ด้วย

ตอน ๑: ไทยอดีตกับป่า

ผู้นำชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่
ปลูกป่าปลูกต้นไม้เพื่อให้ประชาชนอยู่ดี

เรื่องการปลูกต้นไม้ปลูกป่านี้ คิดว่าเป็นคติอย่างหนึ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราช คงจะได้ทรงถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าดังที่ได้ยกมาอ้างข้างต้น กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงเปลี่ยนนโยบายจากสังคามวิชัย (การเอาชนะด้วยสงคราม) มาเป็น ธรรมวิชัย (การเอาชนะด้วยการทำความดีหรือปฏิบัติธรรม) แล้ว พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เป็นการใหญ่ เช่น ปลูกสวนปลูกป่า รวมทั้งปลูกป่าสมุนไพร โดยเฉพาะก็กล่าวระบุไว้ด้วยถึงเรื่องการปลูกต้นไม้ที่เป็นยา แล้วก็สร้างโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสัตว์ ทำถนนหนทางต่างๆ ตลอดจนจารึกศิลาเพื่อให้การศึกษาและสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนเป็นการใหญ่ จนปรากฏว่าในยุคนั้น สังคมอินเดียเจริญด้วยการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่ประชาชน เรื่องนี้ก็คงจะได้คติจากคำสอนของพระพุทธเจ้าอันนี้

กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยหลังที่ใฝ่พระทัยในทางธรรม ก็ยึดถือพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นแบบอย่าง แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ไทย อย่างเช่น พระมหาธรรมราชาลิไท ดูพระจริยาวัตร ก็เห็นว่า คงจะได้แบบอย่างจากพระเจ้าอโศกมหาราช คือพยายามที่จะทำความดีต่างๆ ให้ได้อย่างพระเจ้าอโศกมหาราช

กษัตริย์รุ่นหลังๆ ได้พยายามทำกันอย่างนั้น แล้วก็มักจะมีพระนามที่มีคำว่า "ธรรม" นำหน้า เช่น พระเจ้าลิไท ก็ทรงมีพระนามว่าพระมหาธรรมราชาลิไท ทำนองเดียวกับที่พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงธรรม หันมาทางธรรม หันมาทำความดี ทรงบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ประชาชนแล้ว ก็ได้พระนามว่าธรรมาโศกราช โดยเปลี่ยนจากจัณฑาโศก คือแต่ก่อนนี้เป็นอโศกผู้ดุร้าย เรียกว่า จัณฑาโศก (จัณฑ + อโศก) อโศกผู้ดุร้าย หรืออโศกผู้ดุเดือด เปลี่ยนมาเป็น “ธรรมาโศก” แปลว่า อโศกผู้ทรงธรรม

อันนี้ก็เป็นคติในทางพระพุทธศาสนาที่ถือว่า การทำประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนเป็นบุญเป็นกุศลที่สำคัญ โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันนี้ อันตรายจากปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมเสีย ก็เป็นที่รู้ตระหนักกันอย่างกว้างขวาง เรียกว่าเป็นปัญหาระดับโลก ประเทศไทยเราก็ประสบภัยอันตรายในเรื่องนี้ไม่น้อย

แต่การที่รู้ตระหนักกันมากถึงกับมีความตื่นตกใจนั้น ก็เป็นอาการของปัญหาที่ใหญ่โตกระเทือนไปทั่วโลก คือในระดับโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาตื่นตัวกลัวภัยเหล่านี้ ก็เลยทำให้คนในประเทศไทยเราพลอยหันมาตระหนักถึงภัยเหล่านี้ด้วย

ถ้ามองในแง่ดี ประเทศไทยเราซึ่งเป็นผู้พัฒนาตามอย่างเขาทีหลัง เมื่อเรารู้ตัวก่อน เราก็มีเวลาที่จะใช้บทเรียนของเขาให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคนไทยเราจะได้รับเอาบทเรียนนี้มาใช้ทันการณ์หรือเปล่า คือ ทั้งๆ ที่ว่าประเทศที่เขาพัฒนาไปแล้วซึ่งเดินหน้าไปก่อนเขาประสบปัญหามาก เราได้รู้ได้เห็น ก็น่าจะรู้ตัวแล้วรีบป้องกันยับยั้ง แต่บางทีก็ไม่เป็นอย่างนั้น บางทีเราก็เดินไปตามกระแสเก่า เดินหน้าไปหาอันตรายอย่างนั้นอีก ถ้าหากว่าเราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบทเรียนนั้นได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

สำหรับประเทศไทยของเราเวลานี้ ก็เป็นที่น่ายินดีว่า มีหลายกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว ก็ได้พยายามที่จะสกัดกั้นปัญหา ยับยั้งภัยอันตรายเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะการปลูกป่า การรักษาป่า การอนุรักษ์ป่านี้ เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องช่วยกัน

แต่ถ้าเทียบกับประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ความรู้ตระหนักและเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ยังนับว่าอยู่ในวงค่อนข้างแคบ ยังมีคนไม่มากนักที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ แต่จำนวนที่ไม่มากนี้ ก็หวังว่าคงจะขยายออกไปให้มีคนเอาแบบอย่างกันมากขึ้น

ถ้าเมื่อไรประชาชนเอาด้วย คือมีจิตใจที่จะเอาใจใส่ในเรื่องนี้ เข้ามาช่วยกันอนุรักษ์ป่าเอง และไม่ใช่เฉพาะมีจิตใจที่เอาใจใส่เท่านั้น แต่มีความรู้ความเข้าใจด้วย คือ มีปัญญาและมีกำลังพร้อมที่จะทำด้วย ถ้าประชาชนเอาด้วยอย่างนี้แล้วละก็ปลอดภัย ไม่ต้องมามัวผลักให้เป็นภาระของรัฐบาลและผู้สนใจบางกลุ่มอย่างนักวิชาการเท่านั้น ซึ่งจะหนักมากและคงจะไม่ไหว

ตอนนี้เราจึงต้องพยายามที่จะให้ความรู้สึกนึกคิดจิตสำนึกนี้ขยายไปถึงประชาชน ซึ่งคิดว่าอันนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญ

เสียงกู่เตือนภัยว่า
ป่ากำลังจะหมดไป

เรื่องเกี่ยวกับป่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องธรรมชาติแวดล้อม แต่นับว่าเป็นส่วนสำคัญทีเดียว เป็นปัญหาอย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า ไม่เฉพาะประเทศไทย หรือว่ากันตามเรื่องที่แท้แล้ว ถ้าจะใช้คำว่าไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยก็อาจจะไม่ถูกเสียด้วยซ้ำ เพราะว่าเรานี้เป็นไปตามเขา คือ ประเทศที่พัฒนาเจริญมากแล้วเขาประสบปัญหานี้ก่อน เหมือนอย่างที่พูดตั้งแต่ข้างต้นแล้ว

ในระดับโลก มีการเตือนกันในเรื่องนี้มากมาย สถิติระดับโลกก็มีออกมาอยู่เรื่อยๆ เช่น หนังสือ State of the World (สภาวะของโลก) ซึ่งเป็นที่อ้างอิงกันมาก เล่มล่าสุดปี ๑๙๙๓ บอกว่า ป่าในโลกนี้ถูกทำลายลงไปปีละ ๑๐๕ ล้านไร่

สถิตินี้ก็เป็นตัวเลขที่น่ากลัวอยู่พอสมควร และเนื่องจากการสูญเสียป่าไปนี้มันก็โยงไปสู่ปัญหาอื่น เช่น การขาดแคลนน้ำ เป็นต้น ตลอดจนต้องสูญเสียแผ่นดินที่จะทำการเพาะปลูกไป เขาบอกว่าแผ่นดินที่จะใช้ปลูกพืชลดน้อยลงไป ปีละถึง ๕.๘๓ ล้านไร่ ซึ่งก็ไม่ใช่น้อย

เรื่องนี้ยังเกี่ยวโยงไปหาปัญหาอื่นๆ อีก คือ การที่สัตว์และพืชทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในป่า ต้องพลอยสูญพันธุ์หรือลดน้อยลงไป แล้วก็เกิดความเสียดุลในธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศก็แปรปรวนไป เรื่องอากาศเสียและมลภาวะต่างๆ ก็มีอยู่แล้ว เมื่อป่าหมดไป เขตอุตสาหกรรมก็ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นก็ยังเกิดปัญหาความแห้งแล้ง แผ่นดินกลายเป็นทะเลทรายมากขึ้นๆ

เรื่องอย่างนี้ ความจริงก็มีมานานซ้ำรอยเดิมในประวัติศาสตร์ อารยธรรมในสมัยโบราณที่เคยรุ่งเรืองมาในถิ่นต่างๆ ที่ล่มสลายไป โดยมากก็มาจากเรื่องธรรมชาติแวดล้อมเสียนี่แหละ คือ เมื่อคนไปอยู่กันมากๆ ก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก แล้วก็ระบายของเสียลงไปมาก นานๆ เข้า ผืนแผ่นดินและสภาพแวดล้อมก็เสื่อมโทรมหมด แล้วมนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อมนุษย์อยู่ไม่ได้อารยธรรมก็สูญสลาย เช่น ต้องอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น เป็นต้น

ภัยพิบัติได้เป็นมาอย่างนี้ไม่รู้เท่าไรแล้ว แต่คนเราก็ไม่ค่อยจะได้รู้ตระหนัก ไม่ได้เข้าใจปัญหาเหล่านี้ จนมาถึงยุคปัจจุบันก็กลายเป็นยุคที่มีภัยอันตรายในเรื่องนี้ร้ายแรงที่สุด เพราะว่าอารยธรรมสมัยก่อนมีขอบเขตไม่กว้างขวางทั่วโลกเท่ากับสมัยนี้ แม้ว่ามันจะสูญสลายไป มันก็หมดเป็นหย่อมๆ แต่มาในยุคปัจจุบันนี้อารยธรรมขยายครอบคลุมไปหมดทั่วโลก เพราะฉะนั้น ถ้าสูญสลายไปคราวนี้ ก็เป็นอันว่าหมดโลกหมดแผ่นดินเลย

สำหรับในสายของเรา อันที่จริง ถ้ามองดูแม้แต่ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป ก็อาจจะเห็นร่องรอยของความเสื่อมและความเจริญในอดีต

อารยธรรมอินเดียก็เคยรุ่งเรืองมากในยุคก่อนโน้น มีประวัติเกิดขึ้นมาตั้งหลายพันปีแล้ว เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่บัดนี้อารยธรรมอินเดียก็ล่มสลายไปหมด ประเทศอินเดียก็เป็นประเทศที่เสื่อมโทรมลงไป แผ่นดินแห้งแล้งไม่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนก็มีความยากจนมาก มีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนามากมาย ถ้าเทียบเคียงดูเรื่องราวในพุทธประวัติ ก็จะเห็นได้ชัดเจน

ตามเรื่องที่บรรยายไว้ในพุทธประวัติ จะเห็นว่า ในสมัยโบราณ อินเดียมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร เต็มไปด้วยป่า ดังมีป่าชื่อต่างๆ มากมายเต็มไปหมด พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในป่าแทบทั้งนั้น จากเมืองก็ออกไปป่า และจากป่าก็ทะลุออกไปอีกเมืองหนึ่ง ในระหว่างเมืองระหว่างแคว้นก็เป็นป่า ป่ามีมากมาย และมีแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์

อย่างสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อมาดูในปัจจุบันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป แม่น้ำเนรัญชราที่พระพุทธเจ้าไปประทับใต้ร่มโพธิ์แล้วตรัสรู้ ตอนนั้น ตามประวัติแสดงว่ามีน้ำไหล เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นภูมิสถานที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความสงบร่มเย็น

แต่ในปัจจุบันนี้ บริเวณแม่น้ำเนรัญชราไม่ได้ร่มเย็น ไม่ได้ร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ แต่แห้งแล้งเหลือเกิน ในแม่น้ำนี้ไม่มีน้ำสักหยด แต่ก็ยังเป็นแม่น้ำอยู่ คือเราเห็นชัดว่าเป็นแม่น้ำ เพราะว่ามันมีฝั่ง มีตลิ่ง มีลักษณะเป็นลำน้ำชัดเจน แต่ในลำน้ำนั้น ระหว่างสองฝั่งแทนที่จะเป็นน้ำ กลับเป็นทรายหมด เป็นผืนทรายที่กว้าง อาจจะถึง ๑ กิโลเมตร นั่นคือความกว้างของแม่น้ำ แล้วเดี๋ยวนี้เราสามารถเดินบนแม่น้ำ เราเดินข้ามแม่น้ำได้อย่างสบาย ไม่ต้องมีฤทธิ์อย่างสมัยก่อน

อันนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นสภาพอย่างชัดเจน เราลงจากฝั่งแล้วเดินลงไปเหยียบแม่น้ำเนรัญชรา แล้วก็เดินข้ามไปอย่างสบายๆ แต่ในแม่น้ำนั้นมันร้อนไม่ใช่เย็น ต้องกางร่มด้วย เพราะไม่มีน้ำเลย มีแต่ความแห้งแล้ง ในที่อื่นๆ ก็เหมือนๆ กัน ภูเขาต่างๆ ก็หาต้นไม้ได้ยาก

อันนี้ก็คือความเสื่อม ที่ว่าเจริญในอารยธรรมนั้น ก็เจริญเฉพาะในเรื่องกิจกรรมของมนุษย์ แต่ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม จนกระทั่งในที่สุดมนุษย์เองก็อยู่ไม่ได้

หันมาดูในประเทศไทยของเรานี้ เราก็มีปัญหาธรรมชาติแวดล้อมมาก โดยเฉพาะเรื่องป่า อาตมาได้อ่านหนังสือที่ท่านอาจารย์ ดร.สุรีย์ นำมาถวาย ตอนหนึ่งบอกว่า เมื่อปี ๒๕๒๘ ป่าในประเทศไทยนี้เหลืออยู่ ๒๙% แล้วก็บอกว่าทางองค์การสห-ประชาชาติเขาไม่เห็นด้วย เขาสำรวจแล้ว เขาบอกว่าเหลืออยู่แค่ ๑๖% ในปีเดียวกันนั้น สถิติของรัฐบาลไทยว่าเหลือ ๒๙% แต่สถิติขององค์การสหประชาชาติว่าเหลือแค่ ๑๖% อันนี้ก็ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ แล้ว

เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ห่างกัน ๘ ปี (๒๕๓๖) ป่าเมืองไทยเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ทราบ แต่พูดได้ว่าต้องน้อยกว่า ๒๙% และก็น้อยกว่า ๑๖% ไม่ว่าจะเอาตัวเลขของไทย หรือตัวเลขขององค์การสหประชาชาติก็แล้วแต่ จะต้องน้อยกว่าเก่าแน่นอน

ตามสถิตินี้แสดงว่า ประเทศไทยของเราได้สูญเสียป่าไปมากมายเหลือเกิน ย้อนหลังไปเมื่อปี ๒๕๐๔ ยังมีป่ามากถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี แค่ ๒๔ ปี ป่าหมดไปถึงเกือบครึ่งต่อครึ่ง เรียกว่าหมดไปอย่างรวดเร็ว และการทำลายป่าก็ยังมีอยู่ตลอดเวลาโดยกลุ่มคนต่างๆ เรียกว่ามีการทำลายในหลายระดับ จากหลายกลุ่มชน ซึ่งในที่นี้คงจะไม่มาบรรยายว่าใครบ้างเป็นผู้ทำลายป่า แต่ผลก็คือป่าของเราลดน้อยลงไปเรื่อย

รวมความก็คือว่า ตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คนไทยเรากับป่า ไม่ค่อยจะเกื้อกูลต่อกันเท่าที่ควร ถ้าเราเกื้อกูลต่อป่า ป่าคงจะไม่หมดไปอย่างนี้ อันนี้ก็ทำให้เป็นที่น่าสงสัย หรือทำให้มีคำถามว่า คนไทยเรานี้มีความสัมพันธ์กับป่ากันอย่างไร จึงทำให้ป่าต้องหมดไป ท่านอาจารย์ก็เลยตั้งหัวข้อมาว่า ขอให้อาตมาพูดเรื่อง “คนไทยกับป่า”

คนไทยกับป่า
อยู่กันมาด้วยความสัมพันธ์แบบไหน

เมื่อตั้งหัวข้อ “คนไทยกับป่า” ก็ทำให้รู้สึกว่า เอาคนไทยมาตั้งอยู่ข้างหนึ่ง แล้วก็เอาป่าไปตั้งอีกข้างหนึ่ง เป็นสองฝ่ายมาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

แล้วก็ต้องถามต่อไปว่า คนไทยกับป่าสัมพันธ์กันแบบไหน ถ้าจะเอาแบบง่ายๆ ที่สุด การสัมพันธ์กันก็มี ๒ แบบ คือสัมพันธ์กันอย่างเป็นมิตร กับสัมพันธ์กันอย่างเป็นศัตรู คนไทยเรากับป่านี้เป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกัน อันนี้ก็เป็นคำถามหนึ่ง เป็นคำถามแบบง่ายๆ

ถ้ามีการทำลายกันให้หมดๆ ไป ก็ทำให้ระแวงว่าจะมีความสัมพันธ์แบบเป็นศัตรูกัน

ถ้าเป็นศัตรูกัน ก็จะมีคำถามต่อไปว่า ระหว่างคนไทยกับป่า ใครจะอยู่ ใครจะไป ถ้าดูจากที่ผ่านมา บอกว่าป่าลดน้อยลงเรื่อยๆ และเราก็เห็นชัดว่าคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็แสดงว่าป่าจะไป ใช่หรือไม่ คือ ป่าแพ้คน ถ้าอย่างนั้นคนก็คงจะชนะแล้วซิ เพราะป่าจะไปแล้ว

แต่ลองมองดูกันให้แน่อีกหน่อย จริงหรือที่ว่าป่าจะไป คนจะอยู่ ไม่แน่ ถ้าป่าไปแล้ว สงสัยว่าคนจะไปด้วย เห็นจะต้องไปด้วยกัน เราบอกว่าป่าแพ้คน แล้วป่าก็หมดไป แต่ในที่สุด ภัยอันตรายมันจะกลับมาถึงตัวคนเอง แล้วคนก็จะไปด้วย คนจะอยู่ไม่ได้ คนไม่สามารถจะอยู่ได้โดยปราศจากป่า เพราะฉะนั้น เราพูดได้ว่าจะไปด้วยกัน เพียงแต่ตอนนี้อาจจะรู้สึกว่าคนชนะหน่อย

ไม่ต้องดูอะไรมาก ขนาดป่าเหลืออยู่ประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์นี้ สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของคนไทยแย่ลงขนาดไหน มันก็เป็นเครื่องเตือนแล้วว่า ถ้าป่าหมด คนก็ต้องไปด้วย

เวลานี้ดินฟ้าอากาศรู้สึกว่าแปรปรวน ไม่ค่อยปกติ ความแห้งแล้งก็เกิดขึ้นมา มีการขาดแคลนน้ำมากขึ้น ตัวอย่างเช่น จังหวัดฉะเชิงเทราที่เรานั่งพูดกันอยู่นี้ ปีนี้ก็มีการประกาศข่าวของทางราชการ ได้ยินวิทยุออกมาในช่วงเดือนที่แล้วว่าเริ่มขาดแคลนน้ำ จังหวัดฉะเชิงเทราขาดแคลนน้ำ ไม่น่าจะเป็นไปได้

เหตุการณ์นี้ก็เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งว่า ปัญหาคงจะเกี่ยวโยงกับเรื่องความเสื่อมของป่าด้วยเหมือนกัน แล้วก็รวมอยู่ในเรื่องของสภาพแวดล้อมทั้งหลายนั่นแหละ แต่โดยสรุปก็คือ มันเป็นเครื่องเตือนว่า ถ้าป่าหมดไปแล้ว คนก็ต้องไปด้วย เมื่อคนไม่มีน้ำกิน ไม่มีธรรมชาติแวดล้อมที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติสูญเสียหมดไป คนจะอยู่อย่างไร คนก็ต้องไปด้วย

เพราะฉะนั้น การที่มนุษย์ไปทำลายสภาพแวดล้อม ก็เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม แต่มันไม่จบเท่านั้นหรอก ภัยอันตรายนั้นจะต้องย้อนกลับมาหามนุษย์เองนั่นแหละ

ตามที่กล่าวมานี้ ถ้ามองให้ดีจะเห็นได้ว่า การที่เราทำตัวเป็นศัตรูกับป่านั้น ว่าที่จริง มันเป็นเรื่องของมนุษย์ฝ่ายเดียวที่ไปตั้งตัวเป็นศัตรูกับป่า ป่าเขาไม่ได้มาทำตัวเป็นศัตรูกับมนุษย์หรอก ป่าก็อยู่ของป่าตามธรรมดาของมัน แต่มนุษย์เองไปทำตัวเป็นศัตรูกับป่า เรียกให้ตรงเลยว่าเป็นผู้ไปทำร้ายเขา เบียดเบียนเขา เอาเปรียบเขา เอาป่ามาใช้ทำประโยชน์สนองความต้องการของตัวเอง นึกว่าตัวเองนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากป่า เป็นนายเหนือป่า ฉันจะใช้ป่าอย่างไรก็ได้ ฉันจะเอาประโยชน์ของฉัน สนองความต้องการสนองความอยากของฉัน อันนี้แหละ เรียกว่าเอาเปรียบ

ขณะที่ป่าอยู่เฉยๆ มันก็ถูกทำลาย เป็นฝ่ายรับ ส่วนมนุษย์เป็นฝ่ายรุกไป แต่โดยที่ว่ามนุษย์ทำการอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็เรียกได้ว่าเป็นกรรมที่ไม่ดี ในที่สุด ผลกระทบก็กลับมาตกแก่มนุษย์เอง มนุษย์จึงกำลังได้รับผลกรรมของตัวเองมากขึ้นๆ จนกระทั่งเริ่มเกิดความรู้สึก รู้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่เกิดกับตน ก็เลยหันมาพยายามหาทางแก้ไข

ตกลงว่า ปัญหาที่เกิดแก่ป่า เป็นปัญหาที่เกิดจากคน ป่าไม่ได้เกิดเป็นปัญหาเอง ปัญหาเกิดจากคน แล้วในที่สุดปัญหาก็เกิดแก่คน แสดงว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างปัญหา แล้วก็เป็นผู้ได้รับปัญหาในที่สุด เพราะว่าคนไปเอาจากป่า ทำร้ายป่า เสร็จแล้วคนก็เดือดร้อนเอง เป็นผู้สร้างปัญหาด้วย แล้วก็เป็นผู้รับปัญหาด้วย แล้วก็เลยต้องเป็นการแก้ปัญหาจากคน

ไปๆ มาๆ เป็นเรื่องของคนเองทั้งนั้น คนสร้างปัญหา คนประสบปัญหา แล้วคนก็จะต้องแก้ปัญหาของคน

เพราะฉะนั้น เวลานี้ ที่มนุษย์คิดจะแก้ปัญหาในเรื่องป่านั้น โดยมากเราจะทำโดยไม่ได้เห็นแก่ป่า แต่เราแก้ปัญหาเรื่องป่าเพื่อเห็นแก่คน เราทำเพื่อคน เราไม่ได้ทำเพื่อป่า

จะว่ากันไปแล้ว มนุษย์ก็ยังคงอยู่ในสภาพเห็นแก่ตัวนี่เอง เราไม่ได้เห็นแก่ป่า ใจเราเห็นแก่ตัว เราอยากจะเอาประโยชน์เพื่อมนุษย์ เราเอาจากป่า จนกระทั่งป่ามันจะแย่แล้ว จนมันเกิดภัยอันตรายแก่ตัวเองแล้ว จึงคิดแก้ปัญหา แต่ที่เราจะแก้ปัญหานั้นเราไม่ได้เห็นแก่ป่า เราเห็นแก่ตัวเรา แก้เพื่อเห็นแก่ตัวมนุษย์เอง

ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาด้วยว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาโดยเห็นแก่คน ไม่ได้เห็นแก่ป่าจริงนี้ มันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเพียงพอหรือไม่ แล้วอีกอย่างหนึ่ง มันแสดงสภาพของมนุษย์เราด้วยหรือเปล่าว่า มนุษย์เราอาจจะยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร นี้เป็นข้อพิจารณาอันหนึ่ง ถ้ามีโอกาสจะได้พูดกันต่อไป

แต่ว่าที่จริง ในระยะยาว ธรรมชาติมันมีการปรับตัวของมันเองให้มีดุลยภาพหรือมีสมดุล ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม มันจะต้องปรับตัวของมันให้เข้าอยู่ในสภาพที่มันอยู่ได้ แต่มนุษย์เราต้องการจะคงอยู่ในระบบของดุลยภาพนี้ด้วย เท่ากับว่าเราต้องการให้มนุษย์เรานี้อยู่ร่วมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบดุลยภาพนี้

แต่ทีนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ปรับตัวให้ดี ธรรมชาติมันก็ปรับตัวของมันอยู่ดี และเมื่อธรรมชาติปรับตัวของมันอยู่ได้นั้น มันอาจเป็นธรรมชาติที่ไม่มีคนอยู่ด้วยก็ได้

เราอย่านึกว่าธรรมชาติจะอยู่ไม่ได้ เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลงต้องปรับตัวกันไปมา ในที่สุดธรรมชาติต้องอยู่ได้ เป็นแต่เพียงว่ามันจะเป็นธรรมชาติที่ไม่มีมนุษย์อยู่ด้วยเท่านั้นเอง คือ ไม่ว่าเราจะทำลายป่าหมดไป หรือทำอะไรต่างๆ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติก็จะต้องปรับตัวของมันเองจนกระทั่งมันจะอยู่เป็นธรรมชาตินั่นแหละ เพียงแต่ว่ามันอาจจะเป็นธรรมชาติที่ในนั้นไม่มีมนุษย์

เวลานี้เรามองโดยเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เราแยกตัวเองออกมา แล้วเราก็เรียกธรรมชาติส่วนอื่นนอกจากตัวเราว่า ธรรมชาติแวดล้อม คือเราเอาคนเป็นหลัก แล้วเราก็พูดออกไปว่าธรรมชาติแวดล้อม

แต่ที่จริง ถ้าเรามองจากมุมมองของธรรมชาติ มันอาจจะไม่ได้บอกว่ามันแวดล้อมตัวคน ธรรมชาติก็อยู่ของมันตามธรรมดา เราไปเอาตัวเราเป็นหลัก แล้วเราบอกว่ามันเป็นธรรมชาติแวดล้อม

แต่ความจริงก็คือ ถ้าหากว่าคนทำอะไรไม่ดี คนเองนั่นแหละจะหมด และถึงคนจะหมด ธรรมชาติก็จะยังอยู่ แล้วตอนนั้น ธรรมชาติก็จะไม่ได้แวดล้อมคนอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ก็คงไม่เรียกว่าธรรมชาติแวดล้อม มันก็เป็นธรรมชาติเฉยๆ เป็นธรรมชาติที่อยู่ของมันเองโดยไม่มีคน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปแวดล้อมใคร

เป็นอันว่า เรามองโลกโดยเอาตัวเราเป็นหลัก แล้วเราก็เรียกธรรมชาติส่วนอื่นๆ นอกจากตัวเราว่าสภาพแวดล้อม

แต่ที่จริงนั้น จะต้องมองรวมกัน ไม่ใช่แยกกัน คือมองว่าเป็นระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ หรือระบบของธรรมชาติทั้งหมด ที่มีมนุษย์เป็นส่วนร่วมอันหนึ่ง เราต้องการให้ธรรมชาติทั้งหมดนี้มีมนุษย์อยู่ร่วมต่อไปด้วย เราจึงต้องรักษาระบบที่มีดุลยภาพนี้ไว้ให้เป็นสภาพชนิดที่เรียกว่า มีคนอยู่ร่วมด้วย

ที่จริงนั้น มันเป็นการแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์เอง แล้วมนุษย์ก็เลยต้องหันไปทำดีกับป่า เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

ที่เราพูดกันมานี้ เราพูดเกี่ยวกับคนหรือมนุษย์ทั่วไปด้วย แต่เจาะจงเน้นที่คนไทยเป็นพิเศษ

วัฒนธรรมของคนไทย
เกี่ยวข้องกับป่ามาอย่างไร

อยากจะหันมาพูดถึงพื้นเพของคนไทยว่า การที่คนไทยของเรามีลักษณะพฤติกรรมในระยะที่ผ่านมานี้ในทางที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติถูกทำลายสูญเสียไปนั้น ได้เป็นอย่างนี้กันมาแต่ดั้งเดิมหรืออย่างไร คนไทยเรามีพื้นเพในเรื่องนี้อย่างไร มีวัฒนธรรม มีลักษณะจิตใจเป็นอย่างไร ต้องย้อนไปดูกันนิดหน่อย

ว่าที่จริง คนไทยแต่เดิมนี้มีคติอะไรบางอย่างที่ทำให้เห็นว่า คงจะมีความรู้สึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในทางที่ดีงามอยู่เหมือนกัน ความรู้สึกนี้จะเป็นไปในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน หรือการที่ต่างคนต่างต้องพึ่งพากัน

อย่างคำโบราณที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” อันนี้ก็แสดงถึงความความรู้สึกที่ว่าต้องอาศัยกัน หรืออย่างสุภาษิตเก่าว่า “เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง และหญ้ายังเพราะดินดี” อันนี้ก็เป็นคติที่แสดงถึงความรู้ตระหนักต่อระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันในธรรมชาติ ซึ่งก็คือระบบแห่งดุลยภาพนั่นแหละ

คำโบราณอย่างที่ว่านี้ นับว่าเป็นคติอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีและจิตใจของคนไทยแต่โบราณ ว่ามีความรู้เข้าใจในระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันในธรรมชาติ

นอกจากนี้เรายังได้เห็นพฤติกรรมที่แฝงมากับความเชื่อถือทางศาสนาแบบโบราณ คือ คนไทยเรานี้มีความนับถือเกี่ยวกับเรื่องภูตผีเทวดา และเทวดานั้นก็เกี่ยวกับป่าอย่างสำคัญเหมือนกัน ต้นไม้ในป่าเราถือว่ามีรุกขเทวดาอยู่ประจำ ต้นไม้ใหญ่ๆ เราเรียกว่าต้นไม้เจ้าป่า

คตินี้จะเป็นมาตั้งแต่ไหนเมื่อไรก็ไม่ทราบชัด แต่ในทางพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวถึงความเชื่อเหล่านี้ที่มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นไปได้ว่าเมื่อคำสอนในพระศาสนาเข้ามา ความเชื่อเหล่านี้ก็ติดมาด้วย แต่เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ซึ่งเราจะเห็นได้มากในชาดก มีหลายเรื่องหลายแห่งพูดถึงเรื่องรุกขเทวดา

คนไทยเราก็นับถือรุกขเทวดา เรากลัวเจ้าป่า กลัวรุกขเทวดา ไม่กล้าไปตัดไปทำลายไม้ใหญ่ๆ เพราะกลัวท่านจะลงโทษ

แม้แต่ตอนที่มีการสร้างทางในดงพญาเย็นสมัยก่อน ก็ยังมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ต้นไม้ใหญ่บางต้นแรงมาก มีเจ้าป่าอยู่ ใครไปตัดไปทำลาย ก็เกิดภัยพิบัติมากมาย ต้องมีการเซ่นสรวงบอกกล่าว ความเชื่อเหล่านี้ก็มีกันตลอดมายาวนาน

อย่างปัจจุบันนี้ เวลาจะให้ชาวบ้านยอมรับไม่ตัดต้นไม้ บางท่านก็ใช้วิธีเอาจีวรไปผูกไว้ที่ต้นไม้ต้นนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ

ความเชื่อทางจิตใจนี้มีอิทธิพลมาก คติเหล่านี้เป็นเรื่องทางด้านจิตใจที่ลึกซึ้ง แต่เราไม่ได้เอาคติเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ พอเข้ายุคปัจจุบัน เราก็ทิ้งเสียเลย เราโดดเข้ามาสู่อารยธรรมหรือวัฒนธรรมสมัยใหม่แบบตะวันตก คล้ายกับว่าตัดขาดกันเลย สิ่งเหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้งไป

เลยกลายเป็นว่า ความรู้ข้อมูลและเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องคุณค่าของป่า ในแง่ของคุณค่าทางสภาพแวดล้อม ก็ยังไม่มี ขณะที่ความเชื่อเก่าๆ ก็ถูกทิ้งหายไปแล้ว เราก็เลยสูญเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ความสัมพันธ์ที่ดีก็เลิกร้างห่างหาย เหลือแต่ความเป็นปฏิปักษ์ที่คิดมุ่งจะทำลายกัน

แต่ในสมัยโบราณนั้น ความเชื่อเรื่องดังกล่าวนี้มีอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะความเชื่อเรื่องรุกขเทวดา และในพุทธศาสนาเองก็กล่าวถึงความเชื่อเรื่องราวเก่าๆ เหล่านี้ไว้ ในแง่ที่จะเอามาใช้เป็นประโยชน์ในทางคติธรรมหรือจริยธรรม ให้เห็นคติเกี่ยวกับการพึ่งพาอาศัยกัน

ท่านสอนหลักความสัมพันธ์ในธรรมชาติว่า แม้แต่รุกขเทวดาก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์ป่า รุกขเทวดาที่ว่ามีอิทธิฤทธิ์คนต้องกลัวนั้น ก็ต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์ดิรัจฉาน ต้องให้ความสำคัญแก่สัตว์ในป่าด้วย

จะขอเล่าชาดกให้ฟังเรื่องหนึ่ง เป็นคำสอนในทางพุทธศาสนาที่แสดงถึงคติของการพึ่งพาอาศัยกัน ชาดกเรื่องนี้ว่าด้วย เสือสิงห์กับรุกขเทวดา ว่า

ที่ป่าแห่งหนึ่งมีเสือกับสิงห์อาศัยอยู่ เสือก็คือเสือทั้งหลาย สิงห์ก็คือราชสีห์หรือสิงโต พวกสิงโตและเสือก็จับสัตว์ทั้งหลายกินเป็นอาหาร เมื่อมันจับสัตว์กินเป็นอาหารแล้ว ก็ทิ้งซากไว้ ทำให้เหม็นเน่าคลุ้งไป

กล่าวฝ่ายรุกขเทวดา ๒ ท่านอยู่ในวิมานใกล้กัน วิมานก็คือต้นไม้ใหญ่ๆ รุกขเทวดาท่านหนึ่งก็ปรารภว่า อ้ายเจ้าเสือและสิงห์พวกนี้มันยุ่ง มันทำให้กลิ่นเหม็นไปทั่วป่า เราจะต้องไล่มันออกไปเสีย เราจะไล่โดยวิธีแสดงฤทธิ์บันดาลให้มันเห็นรูปร่างที่น่าสะพรึงกลัว แล้วก็ทำให้มันตกใจหนีไป

ฝ่ายรุกขเทวดาอีกท่านได้ฟังก็บอกว่า ท่านอย่าคิดอย่างนั้น ไม่ถูกต้อง การที่เราอยู่ได้อย่างนี้ วิมานของเราอยู่มาได้ด้วยดีนั้น ก็ได้อาศัยพวกสัตว์เหล่านี้แหละ เพราะว่า เมื่อพวกเสือสิงห์เหล่านี้อยู่ มนุษย์ทั้งหลายก็กลัว ไม่กล้าเข้ามาตัดไม้ในป่าลึก ก็ทำให้ป่าอยู่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปทำมันเลย

แต่รุกขเทวดาท่านแรกไม่เชื่อ ไม่ยอมฟัง ดึงดันจะต้องขับไล่เสือสิงห์ออกไปให้ได้ วันหนึ่งก็เลยไปสำแดงรูปที่น่ากลัว ทำให้พวกเสือสิงห์ตกใจพากันหนีเตลิดออกจากป่านั้นไป

ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายที่เคยเข้ามาหาของในป่า ก็อยู่แค่ชายป่า เข้ามาเก็บหาพืชพรรณต่างๆ เก็บเผือกมัน เก็บหน่อไม้อยู่ชายป่า ไม่กล้าเข้ามาในป่าลึกเพราะกลัวสัตว์ร้าย ครั้นต่อมาถึงตอนนี้ เข้ามาชายป่าอยู่เรื่อยๆ นานๆ เข้า เมื่อไม่มีข่าวเกี่ยวกับเสือสิงห์ ไม่มีวี่แววของพวกสัตว์ร้าย ก็ค่อยๆ เข้าป่าลึกเข้ามาทุกทีๆ ย่ามใจเข้ามาเรื่อยๆ

ในไม่ช้า ชาวบ้านก็เลยเข้ามาในป่าลึก แล้วก็ตัดต้นไม้ไปๆ จนกระทั่งในที่สุดก็มาตัดวิมานที่รุกขเทวดา ๒ ท่านนี้อยู่ด้วย เป็นเหตุให้รุกขเทวดานั้น ไม่มีวิมานอยู่ รุกขเทวดาก็เลยได้คิดว่า เออนี่เราผิดพลาดไปเสียแล้ว

ท่านเล่าชาดกเรื่องนี้ไว้ เพื่อให้มนุษย์ได้คติว่า ในระบบความเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี้ ชีวิตทั้งหลายต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน อย่าว่าแต่สัตว์ดิรัจฉานกับมนุษย์เลย แม้แต่เทวดาก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์ป่าด้วยเหมือนกัน

อันนี้เป็นคติอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ คนไทยได้รับคำสอนเหล่านี้อยู่เสมอๆ จึงคิดว่าคนไทยเรานี้ ในสมัยโบราณ น่าจะมีความรู้สึกในเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่ในสมัยปัจจุบัน คติความเชื่อถือเหล่านี้ค่อยๆ สูญหายไป ก็เลยทำให้คนไทยไม่ได้รับประโยชน์จากคติเหล่านี้ในปัจจุบัน

พุทธศาสนา
มองธรรมชาติอย่างไร

เมื่อกล่าวถึงหลักธรรมในทางพุทธศาสนาเองแท้ๆ เรื่องระบบของการพึ่งพาอาศัยกันนี้ ท่านย้ำมาก แต่นอกจากการพึ่งพาอาศัยกันแล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือความรู้สึกที่ดีงามต่อกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ และมนุษย์ต่อพืชและสัตว์ทั้งหลาย ความรู้สึกที่ดีงามอย่างหนึ่งได้แก่คุณธรรมที่เรียกว่า ความกตัญญู

ความกตัญญูนี้ มิใช่มีเฉพาะต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ท่านให้มีแม้แต่ต่อสัตว์และพืชทั้งหลายด้วย มีคาถาพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งที่ย้ำบ่อยๆ ในพระไตรปิฎก (เช่น ขุ.ชา.๒๗/๑๔๖๙/๒๙๗) สอนให้รู้คุณแม้แต่ของพืช มีใจความแปลเป็นไทยว่า

บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งใบของต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนทราม

อันนี้เป็นคติเก่าแก่ แสดงถึงความรู้สึกที่ดีต่อกัน ให้ระลึกว่า โอ้ ต้นไม้นี้เราได้อาศัยร่มเงาเป็นประโยชน์ ต้นไม้นี้มีค่า มีร่มเงาที่คนอื่นจะได้อาศัยต่อไป เรามาอาศัยร่มเงาของเขาแล้ว ก็เหมือนกับต้นไม้นี้เป็นมิตรของเรา เราก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปแกล้งฟันกิ่งหรือส่วนต่างๆ ของเขาทิ้งเล่น ถ้าทำอย่างนั้น ท่านถือว่าเป็นการประทุษร้ายมิตร

อันนี้เป็นความรู้สึกที่ดีงามต่อพืชพรรณ คือต่อระบบชีวิตด้วยกันแม้แต่พืช เป็นเรื่องของท่าทีในจิตใจ คือก่อนที่จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม พฤติกรรมจะออกมาได้ ก็เกิดจากท่าทีในจิตใจ ถ้าเรามีคุณธรรมเหล่านี้อยู่ในจิตใจ ก็จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งหรือทำให้มีความโน้มเอียงของจิตที่จะเป็นไปในทางที่ดี ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ทำลายกัน

นอกจากความรู้สึกที่เห็นคุณของกันและกัน หรือระลึกในคุณค่าของกันและกันแล้ว ก็คือความรู้สึกที่มองพืชและสัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตาจิต

เมตตา นี้เป็นความรู้สึกที่สำคัญในทางพุทธศาสนา คือ การมองสรรพสัตว์ว่าเป็นเพื่อนร่วมโลก ในพระพุทธศาสนาท่านสอนหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่เราได้ยินกันเป็นประจำคือ อนิจจัง ได้แก่ความไม่เที่ยง ท่านบอกว่า มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงล้วนต้องตกอยู่ในกฎของธรรมชาติ ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเราต้องตกอยู่ในกฎธรรมชาติอันเดียวกัน เราก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขของกันและกัน

เมื่อเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมสุขร่วมทุกข์กันแล้ว เราก็ควรจะมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แทนที่จะมาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

การที่เราตกอยู่ใต้อำนาจของกฎธรรมชาติก็นับว่าแย่อยู่แล้ว ทำไมจะมาเบียดเบียนกันให้แย่หนักลงไปอีก นอกจากพระยามัจจุราชที่คอยจะหาช่องเล่นงานเราอยู่เรื่อยๆ แล้ว ก็ยังมีตัวก่อกวนที่เรียกว่าเป็นมัจจุเสนา คือ กองทัพของพระยามัจจุราช ซึ่งได้แก่ความแก่ ความเจ็บไข้

ทั้งพระยามัจจุราชและเสนาของพระยามัจจุราช ต่างก็ตามตอแย หรือมารบกวนเราเรื่อยๆ อยู่แล้ว เราทุกคนต่างก็มีภัยอันตรายเหล่านี้ร่วมกันอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะมาเบียดเบียนกันอีก ควรจะมาเป็นเพื่อนกันช่วยเหลือกัน อยู่ร่วมกันให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้น จึงให้มองกันเป็นเพื่อนร่วมโลก เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์

คติเรื่อง เมตตาธรรม นี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก พระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์มีเมตตาต่อมนุษย์ด้วยกัน และมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหมด ถ้าเรามีลักษณะหรือท่าทีแห่งเมตตานี้ เราจะไม่ทำร้ายกัน การที่จะใช้หรือการที่จะทำอะไรต่อพืชต่อสัตว์จะเป็นไปด้วยเหตุผล โดยการใช้ปัญญาพิจารณาก่อน ไม่ทำโดยประมาท หรือทำโดยไม่คิดไม่พิจารณาไม่เห็นความหมาย

อีกอย่างหนึ่ง คติในทางพุทธศาสนาสอนให้มองธรรมชาติเป็นสภาพแวดล้อมที่ "งดงามน่ารื่นรมย์” และเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของความสุข

คตินี้จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข หรือมีความสุขในการที่จะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งทีเดียว

อีกอย่างหนึ่ง พร้อมกับการที่ถือว่าธรรมชาติ รวมทั้งสัตว์ และพืชทั้งหลาย เป็นสภาพแวดล้อมและเป็นบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์สวยงาม ทำให้มีความสุขแล้ว ธรรมชาติก็เป็นส่วนประกอบหรือเป็นปัจจัยในการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ด้วย

หลักข้อนี้หมายความว่า พระพุทธศาสนาเอาธรรมชาติแวดล้อมมาใช้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการศึกษาของคน คือในการที่จะพัฒนาคนให้มีจิตใจเจริญงอกงาม เป็นคนที่มีคุณธรรมต่างๆ นั้น ท่านใช้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบในการฝึกด้วย การที่เอาธรรมชาติแวดล้อมมาเป็นองค์ประกอบในการศึกษาของมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

การศึกษา ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปเรียนรู้ว่ามันเป็นอะไร แต่การศึกษาในที่นี้ หมายถึงการฝึกฝนพัฒนาชีวิตจิตใจคน

คนเรานี้ ถ้ามองธรรมชาติอย่างถูกต้อง ก็จะได้เรียนรู้จักและรู้จากธรรมชาติ ธรรมชาติจะช่วยขัดเกลาและสร้างเสริมคุณภาพของจิตใจได้ เริ่มตั้งแต่เป็นเครื่องชักจูงจิตใจให้โน้มไปสู่ความสงบ โน้มไปสู่ความมีเมตตาการุณย์ และความรู้สึกที่ประณีตอ่อนโยน ตลอดจนช่วยให้เกิดสมาธิ และการที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ รู้เท่าทันโลกและชีวิต

ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงใช้ธรรมชาติแวดล้อมของป่าเป็นส่วนประกอบในการฝึกคน เช่น ให้พระที่บวชใหม่เข้าไปอยู่ในป่า ให้ไปได้รับวิเวก จิตใจจะได้โน้มไปสู่ความสงบ และใช้เป็นเครื่องช่วยในการปฏิบัติ เช่น การฝึกสมาธิ

เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงัด ปราศจากเสียงรบกวนและกิจกรรมที่วุ่นวาย ท่านเรียกว่ากายวิเวก คือความสงัดทางด้านกาย

เมื่อบรรยากาศทางด้านร่างกายสงัด โดยเฉพาะเมื่อไปอยู่ในป่า ในร่มไม้หมู่ไม้ที่มีความสงบ มีแต่ธรรมชาติ มีเสียงนกร้อง มีแต่เสียงหรีดหริ่งเรไร ฯลฯ ก็ช่วยชักนำจิตใจให้โน้มไปสู่ความสงบด้วย เมื่อจิตใจรู้สึกสงบ มีความอิ่มใจ สดชื่น โน้มน้อมไปในทางที่ดี ก็จะทำให้เกิด จิตวิเวก คือความสงัดทางจิตตามมา

เมื่อจิตใจสงบสงัด ไม่มีอารมณ์วุ่นวายใจเข้ามารบกวน มีสมาธิ ก็อยู่ในสภาพที่พร้อมจะฝึกฝนพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปอีก คือเอาจิตที่พร้อมดีอย่างนั้นแล้วไปใช้งาน ในการพินิจพิจารณาให้เกิดปัญญา เห็นความจริงของสิ่งทั้งหลาย ทำให้จิตใจเป็นอิสระที่เรียกว่าเป็น อุปธิวิเวก คือทำให้เกิดความสงัดจากกิเลสต่อไปในที่สุด

มองธรรมชาติ
ด้วยความรู้สึกอย่างพุทธะ

เนื่องจาก เรื่องของป่าที่เป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินี้ ท่านเอามาใช้เป็นองค์ประกอบในการศึกษาคือในการพัฒนามนุษย์ด้วย ดังนั้น ในประวัติพุทธศาสนาและตามบันทึกในคัมภีร์ต่างๆ จึงมีเรื่องราวมากมายที่ว่าพระได้เข้าไปปฏิบัติธรรมในป่า หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก็ทรงหาที่ที่สงบสงัดไปประทับอยู่ในป่า และพระองค์ก็บำเพ็ญเพียรในป่า เราจึงมีคำกล่าวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่มากมาย

ต่อไปนี้ จะขออ่านข้อความจากพระไตรปิฎกให้ฟังสักนิดหน่อยว่า ในทางพระพุทธศาสนาท่านมีความรู้สึกต่อป่าอย่างไร และให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า พระสงฆ์ที่ไปอยู่ในป่าท่านใช้ป่าเป็นอุปกรณ์หรือองค์ประกอบในการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างไร เริ่มตั้งแต่ได้ความรู้สึกที่ดี มีการชื่นชมความงามของธรรมชาติ ทำให้จิตใจมีความสุข แล้วท่านก็ใช้เป็นส่วนประกอบในการฝึกอบรมจิตใจให้เข้าสู่สมาธิ

แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก็ทรงออกไปแสวงหาพื้นที่ที่สงบสงัดอย่างนั้น ดังจะเห็นได้ในพุทธประวัติ อาตมาจะอ่านคำบรรยายในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งให้ฟัง คือตอนที่ทรงแสวงหาที่ที่จะบำเพ็ญเพียรเพื่อโพธิญาณ ซึ่งพูดถึงธรรมชาติว่า (เช่น ม.ม.๑๒/๓๑๙/๓๒๒)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้น เมื่อยังเป็นผู้แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางประเสริฐแห่งสันติ อันยอดเยี่ยม เที่ยวจาริกไปในมคธชนบทโดยลำดับ ดำเนินมาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิภาคอันรื่นรมย์ มีไพรสณฑ์น่าชื่นบานใจ มีแม่น้ำไหลใสเย็น มีท่าน้ำงามสะอาดตา น่ารื่นรมย์ ทั้งมีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ

จึงคิดว่า ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์หนอ ไพรสณฑ์ก็น่าชื่นบานใจ แม่น้ำก็ไหลใสเย็น มีท่าน้ำงามสะอาดตาน่ารื่นรมย์ ทั้งมีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ เป็นที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร เราจึงนั่ง ณ ที่นั้น ด้วยคิดว่า ที่นี้ละเหมาะที่จะบำเพ็ญเพียร

ตามพุทธพจน์นี้ จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าเองก็ทรงแสวงหาสถานที่ที่มีธรรมชาติแวดล้อมสวยงามรื่นรมย์ ท่าทีในพระทัยของพระองค์ก็คือทรงเห็นธรรมชาติเป็นสิ่งที่งดงาม มีผลเกื้อกูลต่อความคิดจิตใจ และเป็นเครื่องช่วยในการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้เข้าถึงธรรม อันนี้เป็นแนวโน้มของจิตใจที่จะไม่มีการทำลายป่าเป็นอันขาด

ต่อจากนี้ ลองไปดูความรู้สึกนึกคิดของพระสาวกบ้าง อาตมาจะอ่านให้ฟังสัก ๒-๓ ตัวอย่าง เช่น พระภิกษุองค์หนึ่งไปอยู่ในป่า และได้พูดถึงความรู้สึกของท่าน ท่านชื่อพระวนวัจฉเถระ ได้ภาษิตคาถาไว้อย่างนี้ว่า (ขุ.เถร.๒๖/๑๕๐/๒๖๓)

ภูเขาทั้งหลาย ล้วนแล้วด้วยศิลา สีเขียวทะมึนดังเมฆ ดูรุจิเรกงามดี มีธารวารีเย็นใสสะอาด ดารดาษไปด้วยแมลงค่อมทอง แดนขุนเขา ทำใจเราให้รื่นรมย์

อีกองค์หนึ่ง คือ พระจิตตกะ ได้กล่าวเป็นคาถาไว้ แปลเป็นไทยว่า (ขุ.เถร.๒๖/๑๕๙/๒๖๕)

นกยูงทั้งหลาย มีขนเขียว ขนคองาม หงอนงาม พากันร่ำร้องอยู่ในป่าการวี นกยูงเหล่านั้นระเริงร้องท่ามกลางลมหนาว อันเจือด้วยฝน ปลุกบุคคลผู้เจริญฌานซึ่งหลับอยู่ให้ตื่นจากการพักผ่อน

อีกองค์หนึ่งชื่อพระเอกวิหาริยเถระ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า (ขุ.เถร.๒๖/๓๗๑/๓๔๙)

... เราผู้มุ่งมั่นต่อธรรมที่เป็นจุดหมาย จักเข้าไปลำพังผู้เดียวโดยเร็วพลัน สู่ป่าใหญ่ อันเป็นที่ก่อให้เกิดปีติแก่พระโยคาวจร น่ารื่นรมย์ เป็นที่อยู่ของหมู่ช้างตกมัน เราลำพังผู้เดียวจักโสรจสรงกายในซอกเขาอันเยือกเย็น ในป่าอันยะเยือก ที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง จักจงกรมให้เป็นที่สำราญใจ

... เมื่อลมเย็นพัดมา พากลิ่นดอกไม้หอมฟุ้งไป เรานั่งอยู่บนยอดเขา จักทำลายอวิชชา ณ เงื้อมผาที่ดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีภาคพื้นเยือกเย็นในแดนป่า เราผู้เป็นสุขแล้วด้วยวิมุตติสุข จะรื่นรมย์อยู่ในถ้ำแห่งขุนเขาอย่างแน่นอน

เรานั้นมีความดำริอันเต็มเปี่ยมแล้ว เหมือนดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี

คำกล่าวแบบนี้มีมากมาย ขอยกมาอีกท่านหนึ่ง คือพระมหากัสสปะ ได้กล่าวว่า (ขุ.เถร.๒๖/๓๙๙/๔๒๒)

... ตัวท่านนี้ ได้ไปสู่เรือนคือถ้ำ ที่เงื้อมเขาอันสวยงามดังสรรสร้าง2 เป็นที่เหล่าหมูป่าและกวางพากันมาอาศัย อยู่ในแดนป่าคราวฝนตกใหม่ จักได้รื่นรมย์ใจ

ณ ที่นั้น ฝูงนกยูงมีขนคอเขียว มีหงอนและปีกงาม รำแพนหางมีแวววิจิตรนัก ส่งสำเนียงก้องกังวาลไพเราะจับใจ จักยังท่านผู้บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าให้ร่าเริงได้

คราวฝนตกแล้ว หญ้างอกยาวประมาณ ๔ นิ้ว ดอกไม้บานลานตา ท้องฟ้างามแจ่มใส ไร้เมฆปกคลุม ตัวท่านเป็นดั่งกิ่งคอนขอนไม้ นอนอยู่บนหญ้าระหว่างภูเขานั้น จะรู้สึกอ่อนนุ่มดังสำลี

ทีนี้ลองมาฟังพระองคุลิมาล ที่เคยเป็นโจรใหญ่ แต่ก่อนนี้อยู่ในป่าด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่พอได้ปฏิบัติธรรมแล้วเปลี่ยนมาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนไป โดยมีความรู้สึกต่อป่าใหม่อีกอย่างหนึ่ง ท่านได้กล่าวไว้ว่า (ขุ.เถร.๒๖/๓๙๒/๓๙๐)

... แต่ก่อนนั้น เราอยู่ในป่า อยู่ที่โคนไม้ ภูเขา หรือในถ้ำ ทุกหนแห่ง มีใจเสียวสยองอยู่ตลอดเวลา โอ้ว่าเราผู้อันพระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว ไม่เข้าไปในเงื้อมมือมาร จะยืนจะนอน ก็เป็นสุข มีชีวิตที่เป็นสุข

อีกองค์หนึ่งเป็นกษัตริย์เก่า ครองแคว้นศากยะแล้วออกมาบวช ขอเอามาอ่านเพื่อให้เห็นความรู้สึกของท่านที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านกล่าวไว้ว่า (ขุ.เถร.๒๖/๓๙๑/๓๘๖)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนนั้น ข้าพระองค์จะไปไหนก็ขึ้นคอช้างไป แม้จะนุ่งห่มผ้า ก็นุ่งห่มแต่ผ้าที่ส่งมาจากแคว้นกาสี มีเนื้ออันละเอียด แม้จะบริโภค ก็บริโภคแต่อาหารล้วนเป็นข้าวสาลี พร้อมด้วยเนื้ออันสะอาดมีโอชารส ถึงกระนั้น ความสุขนั้นก็หาได้ทำจิตของข้าพระองค์ให้ยินดีเหมือนความสุขในวิเวก ณ บัดนี้ไม่

ในกาละนี้ ข้าพระองค์ผู้มีนามว่าภัททิยะ โอรสของพระนางกาลิโคธา เป็นภัทรชน ผู้มีความเพียรสม่ำเสมอ ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วยการเที่ยวบิณฑบาต ไม่ถือมั่นสิ่งใดๆ เพ่งพินิจธรรม

... ข้าพระองค์ละทิ้งเครื่องราชูปโภค คือ จานทองคำราคา ๑๐๐ ตำลึง ซึ่งล้วนแล้วด้วยลวดลายอันงดงามวิจิตรด้วยภาพทั้งภายในและภายนอก นับได้ตั้ง ๑๐๐ มาใช้บาตรดินใบนี้ นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่สอง

แต่ก่อนนั้น ข้าพระองค์มีหมู่ทหารถือดาบรักษาบนกำแพงอันสูงที่ล้อมรอบ กับทั้งที่ป้อมและซุ้มประตูพระนคร อย่างแน่นหนา ก็ยังมีความหวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์

บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้ชื่อว่าภัททิยะ โอรสของพระนางกาลิโคธา เป็นภัทรชน ไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ละความขลาดกลัวภัยได้แล้ว มาหยั่งลงสู่ป่า เพ่งพินิจธรรม ข้าพระองค์ตั้งมั่นอยู่ในศีลขันธ์ อบรมสติปัญญา ได้บรรลุถึงความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ

คำพูดของท่านมีใจความว่า แต่ก่อนนี้ เมื่อเป็นกษัตริย์อยู่วัง แสนจะมีความสุข มีเครื่องอุปโภคบริโภคใช้พรั่งพร้อมทุกอย่าง ก็ยังมีความหวาดหวั่นพรั่นใจ ความสุขก็ไม่สมบูรณ์ แต่บัดนี้ได้มาดำเนินชีวิตอย่างสงบเรียบง่าย จิตใจเข้าถึงธรรมแล้ว แม้จะอยู่ป่า ไม่มีอะไรเลย ก็มีความสุข

คำบรรยายความรู้สึกที่มีมาในคัมภีร์อย่างนี้ แสดงถึงชีวิตของพระอรหันต์ ทั้งของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก เป็นคติทางพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่เดิม ในด้านความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ให้เห็นว่าธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ดีงาม เป็นองค์ประกอบของชีวิตที่พึงประสงค์

มนุษย์ไม่ควรคิดต่อธรรมชาติอย่างเป็นปฏิปักษ์ หรือมุ่งจะไปเอาประโยชน์จากธรรมชาติเท่านั้น แต่ควรมีความรู้สึกที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรและมีความสุข แล้วแต่ละฝ่ายก็จะเป็นปัจจัยแห่งความสุขแก่กันและกันได้

ภูมิหลังของคนไทย
ในบรรยายกาศแห่งป่าเขาลำเนาไพร

ในหมู่คนไทยเรานี้ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน และวัฒนธรรมไทยก็มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนามาก เราจึงคุ้นดีกับพุทธประวัติ

ในพุทธประวัตินั้น ก็เต็มไปด้วยเรื่องของต้นไม้ พระพุทธเจ้าเองประสูติก็ใต้ต้นไม้ คือ ใต้ต้นสาละ ซึ่งวันนี้คณะอาจารย์และนิสิตก็มาปลูกต้นสาละกันถึง ๙ ต้น ต้นสาละเป็นต้นไม้ที่สำคัญในพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ แล้วก็ปรินิพพานใต้ต้นสาละ ทั้งประสูติและปรินิพพานใต้ต้นสาละ วันนี้จึงนับว่าเราได้ปลูกต้นไม้ที่สำคัญมากในพุทธประวัติ คือ ต้นไม้ซึ่งเป็นที่เริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งพระชนมชีพของพระพุทธเจ้า

นอกจากนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งก็เป็นต้นไม้อีกนั่นแหละ และการแสดงปฐมเทศนา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในพุทธประวัติ ก็เกิดขึ้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งร่มรื่นด้วยต้นไม้

แม้แต่ยามปกติ ในพระชนมชีพของพระองค์ พระพุทธเจ้าก็เสด็จจาริกไปในท้องถิ่น ตามหัวเมืองต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และในการจาริกนั้น พระองค์ก็ต้องทรงเดินทางผ่านป่าเป็นประจำ แล้วก็ชอบปลีกพระองค์ไปประทับอยู่ป่าเป็นระยะๆ ชีวิตของพระองค์จึงอยู่ในป่ามากทีเดียว

เพราะฉะนั้น ชื่อป่าต่างๆ จึงมีมากในพุทธประวัติ เช่น ป่ามหาวัน ป่าอัญชนวัน ป่าอัมพาฏกวัน ป่ารักขิตวัน เป็นต้น และวัดต่างๆ ก็มีชื่อลงท้ายด้วย “วัน” ซึ่งแปลว่า ป่า เช่น วัดเชตวัน (วัดป่าเจ้าเชต หรือวัดสวนเจ้าเชต) วัดเวฬุวัน (วัดป่าไผ่) วัดปาวาริกัมพวัน วัดอัมพวัน ฯลฯ แสดงว่าวัดเหล่านั้นเป็น “ป่า” ทั้งนั้น

เราจึงถือว่า ป่ามีส่วนสำคัญในพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าเอง และในประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนา

เมื่อเป็นอย่างนี้ คนไทยของเราก็น่าจะได้มีความรู้สึกที่ดีงามต่อป่า เพราะว่าป่านั้นคู่กันมาและพ่วงอยู่กับพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนาที่เราเคารพนับถือ เมื่อเราเคารพพระพุทธเจ้าและนับถือพระพุทธศาสนา เราก็ต้องมีความรู้สึกที่ดีต่อป่าด้วย

แล้วจากการนับถือพระพุทธศาสนานี้ เรื่องของป่าก็เข้ามาในวัฒนธรรมไทยด้วย อย่างเรื่องเวสสันดรชาดก ที่เราเอามาจัดทำเป็นเรื่องมหาชาติ ก็แสดงให้เห็นถึงการที่เรานำเอาชาดกสำคัญมาสร้างประเพณีเทศน์มหาชาติขึ้น

สมัยก่อนมีการเทศน์มหาชาติกันทุกปี คือเป็นเรื่องใหญ่ในประเพณีของไทย ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับป่าอีกนั่นแหละ โดยเฉพาะจะมีกัณฑ์หรือตอนที่ว่าด้วยเรื่องป่าโดยตรงแท้ๆ อยู่ ๒ ตอน คือในเวสสันดรชาดก ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ ตอนนั้น มีสองตอนว่าด้วยการพรรณนาความงามของป่า คือจุลพน (ป่าเล็ก) กับมหาพน (ป่าใหญ่) ทั้งสองกัณฑ์หรือสองตอนนี้ เป็นคำพรรณนาป่าทั้งหมด มีเนื้อหาซึ่งจะทำให้คนมีความรู้สึกที่ดีงามต่อป่า ให้ชื่นชมความงามของธรรมชาติ และมีความสุขกับสิ่งต่างๆ ที่ดีงามในป่านั้น

เมื่อเอาเรื่องมหาชาติมาพูดมาแหล่และได้ฟังกันอยู่เสมอ ความรู้สึกที่ดีงามอันนี้ก็ย่อมต้องฝังลึกลงไปในจิตใจ ก็น่าจะทำให้คนไทยมีความรู้สึกที่กลมกลืนประสานกับธรรมชาติ มีความเป็นมิตร และมีความรู้สึกรื่นรมย์ยินดีในธรรมชาติและในป่า

ในเรื่องเวสสันดรชาดกนี้ ขอถือโอกาสนำคำที่กล่าวบรรยายธรรมชาติมากล่าวไว้สักนิดหนึ่ง

คำพรรณนาป่านั้น ท่านบันทึกไว้มากมายในตอนที่ชูชกเข้าป่า คือ พอชูชกเข้าป่า แกไปเจอนายพราน ก็ขอให้เขาช่วยบอกทางไปหาพระเวสสันดร พรานแกก็ชี้ทางให้ ในการชี้ทางนั้นก็มีการบรรยายธรรมชาติ พรรณนาป่า โดยมีความรู้สึกในทางสุนทรีย์ หรือมีความสุขความชื่นชมในความงามตลอดเวลาในการพูดถึงป่า อย่างตอนหนึ่งพรานได้พรรณนาว่า

ในบริเวณอาศรมนั้น มีหมู่ไม้ต่างๆ พันธุ์ ทั้งไม้มูกมัน โกฐ สะค้าน แคฝอย บุนนาค บุนนาคเขา และไม้ซึก มีดอกบานสะพรั่งหลายหลากสี ราวกะหมู่ดาวพราวพรายอยู่กลางนภา

อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น มีไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะเกลือ กฤษณา รักดำ ต้นไทรใหญ่ ไม้รังไก่ ไม้ประดู่ มีดอกบานสะพรั่ง มีไม้มูกหลวง ไม้สน ไม้กะทุ่ม ไม้ช่อ ไม้ตะแบก นางรัง ล้วนมีดอกบานเป็นพุ่มพวงดังลอมฟาง

ในที่ไม่ไกลจากอาศรมนั้น มีสระโบกขรณีตั้งอยู่ ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ ดาดาษไปด้วยดอกปทุมชาติและอุบล ดุจดังสระโบกขรณีในสวนนันทนวันของทวยเทพก็ปานฉะนั้น

อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น มีฝูงนกดุเหว่าเมารสดอกไม้ ส่งเสียงไพเราะจับใจ ทำป่านั้นให้ดังอึกทึกกึกก้อง เมื่อคราวหมู่ไม้ผลิดอกแย้มบานตามฤดูกาล รสหวานดังน้ำผึ้งเยิ้มหยดจากเกสรดอกไม้ลงมาค้างอยู่ที่บนใบบัว

อนึ่ง ลมจากทิศทักษิณและทิศประจิมรำพายพัดมาที่อาศรมนั้น ทำให้อาศรมสถานดารดาษไปด้วยละอองเกสรปทุมชาติ...

แลในสระโบกขรณีนั้น น้ำใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา เต่าและปูเป็นอันมาก สัญจรไปมาเป็นหมู่ๆ รสหวานปานน้ำผึ้งไหลย้อยออกจากเหง้าบัว รสมันปานนมสดและเนยใสไหลออกมาจากสายบัว

ป่านั้นมีนานากลิ่นสุคนธ์ ที่ลมรำเพยพัดมา หอมฟุ้งตระหลบอบอวล เหมือนดังจะเชิญชวนคนที่มาถึงให้เบิกบาน ด้วยดอกไม้และกิ่งไม้อันมีกลิ่นหอม หมู่แมลงภู่ชื่นชมกลิ่นดอกไม้ พากันบินว่อนวู่บันลือเสียงอยู่โดยรอบ

อนึ่ง ที่ใกล้อาศรมนั้น ฝูงวิหคมากมาย ต่างสีต่างพรรณ บันเทิงอยู่กับคู่ของตนๆ ร่ำร้องขานขันแก่กันและกัน

ตามคำพรรณนานี้จะเห็นว่า ท่านผู้เล่าเรื่องเต็มไปด้วยความรู้สึกสุนทรีย์ มีจินตนาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับความงดงามอยู่โดยตลอด

ดังนั้น คนไทยเราจึงน่าจะได้รับการปลูกฝังความรู้สึกที่ดีอย่างนี้ไว้มากมาย แต่ทำไมจึงกลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้คนไทยมีความรู้สึกที่จะเล่นงานป่า จะทำลายป่ากันอยู่เรื่อยๆ ความรู้สึกที่ดีงามเหล่านี้ได้เลือนลางหายไปพร้อมกับความตื่นเต้นในความเจริญใหม่ๆ จนกระทั่งลืมไปเลยหรืออย่างไร

ภาพป่าอย่างที่ท่านพรรณนาไว้ข้างต้น จะหาพบในเมืองไทยเราเวลานี้ที่ไหนบ้างหรือไม่

จิตใจคนไทยสมัยนี้
ที่น่าเคลือบแคลง

คนไทยปัจจุบันนี้ ดูท่าทีไม่ค่อยเป็นมิตร และไม่ชื่นชมกับธรรมชาติ แต่จะคอยทำลายอยู่เรื่อย

เด็กของเราเดินไปไหน ก็ชอบถือไม้ พอผ่านต้นไม้มีดอกสวยงามก็แกล้งเด็ด บางทีก็เอาไม้ฟาดซ้าย หวดขวา มันจะหักจะอะไรก็ช่างมัน เห็นกระรอกกระแต หรือสัตว์อะไรก็ตามขวางหน้าไม่ได้ มีไม้ขว้าง ก็ขว้าง ถ้ามีหนังสติ๊ก ก็ยิงเตลิดเปิดเปิง สัตว์เล็กสัตว์น้อยทั้งหลายอยู่ไม่ติด เข้าหน้าไม่ได้เลย

จะเห็นว่า ในเมืองไทยนี้ สัตว์ทั้งหลายไม่เข้าหน้าคน ที่เข้าหน้าคนหายาก ไปที่ไหนมีไหมที่กระแตกระรอกจะวิ่งเข้ามาหา แต่พอเราไปประเทศอื่น เช่น ไปอินเดีย หรืออเมริกา สัตว์จะวิ่งเข้ามาหา กระรอกก็เข้ามา มันไม่หนีคน เราไปหา แทนที่มันจะหนี มันกลับเข้ามาใกล้ แล้วก็มายืนสองขา สองขาหลังยันพื้น สองขาหน้าก็ยกขึ้นมาที่ปาก ทำจุ๊บจิ๊บๆ พวกนกยูงหรือนกอะไรต่างๆ ยังมีมาก และเห็นคนก็ไม่หนี

ไม่เหมือนที่เมืองไทย สัตว์ทั้งหลายที่จะเข้าหน้าคนไม่มีเลย หนีหมด แต่ที่เมืองแขกเมืองฝรั่งเขาเหมือนกัน พวกสัตว์ทั้งหลายไม่กลัวคน อย่างเช่นกระรอกที่ว่าแล้วนั้น เห็นบ่อยมาก มีทั่วไปทั้งเมืองแขกและเมืองฝรั่ง เห็นคนก็ไม่หนี และชอบเข้ามาหาด้วย โดยเฉพาะที่เมืองฝรั่ง จะไปที่ไหนก็มีต้นไม้ มีป่า เขายังรักษาไว้ได้ดีพอสมควร

จากที่พูดมาก็กลายเป็นว่า ในเมืองไทยเรานี้ ผู้คนมีลักษณะที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับธรรมชาติ แต่มีลักษณะที่ชอบเบียดเบียนรังแก มีจิตใจโน้มเอียงไปในทางที่จะทำลายหรืออย่างไร อันนี้ก็น่าประหลาดใจ มันเป็นไปได้อย่างไร

นอกจากนั้น ก็ยังมีลักษณะที่เรียกว่า มักง่ายอีกด้วย เวลาเราจะเอาประโยชน์จากธรรมชาติ เราจะไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ธรรมชาติเลย และนึกถึงแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่คำนึงถึงประโยชน์และความเสียหายของส่วนรวมในระยะยาว

เอาละ เราต้องอาศัยธรรมชาติเลี้ยงชีวิต เราก็เอาประโยชน์จากมันบ้าง แต่ทำไมเราจะทำด้วยความรู้สึกที่มีความรักความห่วงใยเอาใจใส่ช่วยระวังรักษา หรือคิดถึงผลข้างหน้าที่กว้างไกลออกไปบ้างไม่ได้หรือ

อย่างที่ป่าทางจังหวัดอุบลราชธานี อาตมาไปวัดป่า ได้ไปรู้ไปเห็นว่า พระท่านต้องกลายเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาป่า ต้องดูแลต้นไม้

ท่านเล่าว่า บางครั้งชาวบ้านจะเอาประโยชน์อะไรนิดเดียวเขาก็โค่นต้นไม้ทั้งต้นเลย ต้นไม้ใหญ่ กว่าจะโตขึ้นมา ต้องใช้เวลา ๔๐-๕๐ ปี หรืออาจจะถึง ๑๐๐ ปี คนจะมาเอารังผึ้งรังเดียว หรือเอาผลของมัน ก็โค่นต้นไม้ทั้งต้น

บางครั้งจะล่าสัตว์ จะยิงสัตว์ จะเอาสัตว์ตัวเดียว ก็เผาป่าทั้งป่า เพื่อจะดักสัตว์ ต้อนสัตว์ ด้วยไฟป่า ไม่ได้คำนึงว่า มันจะไหม้ต่อไปแล้วเกิดความเสียหายมากเท่าไร ทำไมเราจึงทำโดยไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณาอะไร กลายเป็นคนคิดสั้น มักง่าย

พฤติกรรมอย่างนี้ ไม่ได้สอดคล้องกับภูมิหลังทางวัฒนธรรม หรือว่าเราอบรมกันไม่สำเร็จ นับว่าเป็นลักษณะที่ไม่เกื้อกูล เป็นท่าทีที่ไม่เอื้ออำนวยในการที่จะอนุรักษ์ป่า เป็นลักษณะของการมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตร

ธรรมชาติอยู่ที่ไหน พอไปเห็นเข้าก็จะต้องยิง จะต้องขว้าง ต้องฟาด คือ ถ้าเป็นใบไม้ดอกไม้ก็ฟาด เด็ดได้ก็เด็ด ถ้าเป็นกิ่งไม้ หักได้ก็หัก ถ้าเป็นสัตว์ทั้งหลายก็ต้องยิง เป็นต้น ทั้งๆ ที่ว่าไม่ได้เอาเป็นอาหาร ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ยังทำลายเล่นสนุกๆ ก็ทำกันไปอย่างนั้นแหละ และทำไปแบบที่เรียกว่ามักง่าย เอาแต่จะได้ง่ายๆ มันจะเสียเท่าไรก็ช่างมัน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ท่าทีนี้คงจะต้องเปลี่ยนกัน ต้องฝึกต้องให้การศึกษากันมาก ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นคนมองแต่จะเอาประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า เกียจคร้าน ไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม หรือต่อส่วนรวม

แม้แต่มองในแง่มนุษย์ด้วยกันเอง ก็ยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของมนุษย์ด้วยกัน หรือประโยชน์ต่อสังคม ถึงจะไม่มองในแง่เกื้อกูลแก่ธรรมชาติ ถ้ามองในระดับมนุษย์ด้วยกันก็ยังดีว่า เออ เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อประโยชน์ร่วมกันของชุมชนหรือของหมู่ชนของเรานะ ให้คนอื่นเขาได้กินได้ใช้ด้วย และให้มีกินมีใช้กันไปได้นานๆ

เป็นอันว่า ตามที่เป็นอยู่ คนไทยเราไม่ค่อยมองประโยชน์ระยะยาว จึงจะต้องฝึกสอนให้การศึกษากันใหม่ ให้เด็กเป็นคนรู้จักคิดพิจารณา และถ้าหากว่าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็ต้องมีน้ำใจต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย

แต่ถ้าเป็นอย่างที่ว่ามานี้ แม้แต่มนุษย์ด้วยกัน เราก็ยังไม่มีน้ำใจ ไม่ต้องไปนึกถึงการที่จะมีน้ำใจต่อสัตว์ทั้งหลาย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย จึงได้พูดถึงเรื่องของภูมิหลังที่เอามาประกอบการพิจารณา

ที่นำมาพูดนี้ ก็เป็นข้อนำเสนอไว้ให้เอามาช่วยกันคิดเท่านั้น และอาจจะพูดไม่ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุมก็ได้ เอาแค่เป็นข้อสังเกต

ตอน ๒: ไทยปัจจุบันกับป่า

สภาพความสัมพันธ์
ระหว่างคนไทยปัจจุบันกับป่า

ที่ว่ามานี้ เป็นการมองดูความสัมพันธ์โดยทั่วไปของมนุษย์กับธรรมชาติ แต่เป็นการเน้นในด้านที่จะให้เห็นภูมิหลังของคนไทย ตอนนี้ลองมาทบทวนดูท่าทีของคนไทยปัจจุบัน ตามที่ปรากฏอยู่ในการสัมพันธ์กับธรรมชาติ และสืบสาวหาตัวอิทธิพลที่ส่งผลให้เกิดลักษณะท่าทีอย่างนั้น

ว่ากันโดยทั่วๆ ไป ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า หรือมนุษย์กับธรรมชาตินั้น นอกจากมีท่าทีความรู้สึกแบบเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นมิตร ซึ่งเป็นลักษณะความสัมพันธ์กว้างๆ แบบหนึ่งแล้ว ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่สำคัญและส่งผลกว้างไกลมากก็คือ บางทีมนุษย์มีความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครองธรรมชาติ เป็นเจ้าของมัน มันเป็นสมบัติของเรา ซึ่งเราจะจัดการอย่างไรก็ได้

อันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น แต่ในอารยธรรมตะวันตก มันเป็นทิฏฐิ คือความยึดถือ ความเชื่อ เป็นทฤษฎี เป็นหลักคำสอน หรือเป็นบทบัญญัติเลยทีเดียว ดังจะได้พูดต่อไป

อย่างไรก็ดี การยึดถือว่า ธรรมชาติเป็นสมบัติของเรา หรือว่าเราเป็นผู้ครอบครองธรรมชาตินั้น ในแง่ของธรรมแล้ว มันเป็นจริงไม่ได้ เพราะมนุษย์ไม่สามารถไปยึดครองเป็นเจ้าของอะไรได้จริง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราได้แต่สมมติกันเท่านั้นว่าเป็นเจ้าของ แต่โดยสัจจธรรมแล้วเป็นไปไม่ได้

สิ่งทั้งหลายเป็นของธรรมชาติ มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มันไม่ได้เป็นไปตามความอยากของคน เราจะไปบังคับมันไม่ได้ บงการมันไม่ได้ นอกจากทำตามเหตุปัจจัยของมัน แล้วมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น แต่มนุษย์ไม่มองความจริง ก็ไปตั้งความรู้สึกและยึดถือว่าเป็นผู้ครอบครอง เป็นเจ้าของมัน อย่างที่เล่ามาแล้ว

นอกจากนี้ ในด้านความรู้สึกที่ดี ก็มีความรู้สึกชื่นชมความงาม และความรู้สึกสดชื่นรื่นรมย์ที่ทำให้เกิดความสุข ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เอื้อต่อการอนุรักษ์

ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกเคารพยำเกรง อย่างที่คนโบราณยึดถือว่า มีเจ้าป่า หรือมีรุกขเทวดาอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ๆ ความเชื่อหรือยึดถือนี้ ทำให้เกิดความเคารพยำเกรงแล้วก็กลัว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ช่วยเอื้อในการรักษาป่า

แต่ในยุคที่บ้านเมืองเจริญพัฒนาในการศึกษาแบบสมัยใหม่มากขึ้น ความรู้สึกนี้ก็ค่อยๆ หมดไป ต้องเปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกที่ประกอบด้วยเหตุผล

แต่ก็จะต้องมีการเปลี่ยนอย่างดี อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างมีกระบวนการ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า ของเก่าก็ทิ้งไป ของใหม่ก็ไม่ได้ คือ ความรู้สึกแบบเคารพยำเกรงเทวดาก็หมดไป ส่วนความรู้สึกเข้าใจในเหตุผลที่จะต้องอนุรักษ์ก็ไม่มี เป็นความผิดพลาดของการพัฒนา เรียกว่าเสียหลัก พอเสียหลักแล้วก็ไม่ได้เลยทั้ง ๒ อย่าง มีแต่เสียอย่างเดียว

เพราะฉะนั้น ถ้าจะทิ้งอันเก่า ก็จะต้องรู้จักชะลอให้มีการเชื่อมต่อให้ดี ให้รับกันให้ได้ ถ้าอันใหม่ยังไม่ได้ อาจจะต้องใช้อันเก่าให้เป็นประโยชน์ก่อน

ในเมื่อชาวบ้านยังไม่มีจิตสำนึกที่ประกอบด้วยเหตุผลในการที่จะรักษาป่าด้วยความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ เราก็อาจต้องเอาความรู้สึกแบบยำเกรงพวกเทพเจ้าต่างๆ นี้มาช่วย

จนกว่าเมื่อใดชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติมากขึ้น ก็จะโอนมาสู่ความรู้สึกแบบมีเหตุผลมากขึ้น และมีความคิดแบบพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อนั้นแหละเขาจึงจะรักษาธรรมชาติ อนุรักษ์ป่าได้เอง

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีการพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา คือ พัฒนาคนให้มีความซาบซึ้ง มีความเข้าใจ ให้เกิดเป็นจิตสำนึกที่จะเอาใจใส่รับผิดชอบด้วย

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะส่งผลมาเป็นความรู้สึกนึกคิดต่อธรรมชาติของคนไทยสมัยนี้ ก็คือเรื่องที่จะพูดต่อไป ในตอนที่ว่าด้วย รากฐานทางความคิดของอารยธรรมตะวันตก

นอกจากนั้น ยุคหนึ่งที่ผ่านมาใกล้ๆ นี้ ซึ่งยังสืบมาจนถึงปัจจุบัน เป็นยุคที่คนไทยของเรามีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อป่าและต้นไม้ ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลมาถึงยุคนี้ด้วย และก็อาจจะเกี่ยวพันกับรากฐานความคิดจากตะวันตกนั้นด้วย ก็คือยุคที่ประเทศไทยเราเข้าสู่การพัฒนา

มุ่งหน้าพัฒนา
แปลงป่าเป็นปูน

ยุคพัฒนาของประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อใกล้จะถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นช่วงที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น “ทศวรรษแห่งการพัฒนา” (Development Decade) คือปี ค.ศ. ๑๙๖๐-๑๙๗๐ ตอนนั้นประเทศไทยของเราก็เริ่มยุคพัฒนากับเขาด้วย คำว่า “พัฒนา” ก็เริ่มใช้จริงจังอย่างเป็นทางการตอนนั้น

แต่ก่อนนี้เราไม่มีคำว่าพัฒนา ก่อนเข้ายุคพัฒนาในปี ๒๕๐๓ เราไม่ใช้คำว่าพัฒนา เราพูดแต่เพียงว่า สร้างความเจริญ ทำให้เจริญก้าวหน้า หรืออะไรทำนองนั้น ถ้าใช้คำว่าพัฒนา ก็จะใช้ในการอวยพร เช่น ขอให้พัฒนาสถาพร หรือวัฒนาสถาพร ฯลฯ

คำว่า “พัฒนา” ที่ใช้ในความหมายปัจจุบันนี้ เริ่มเมื่อจะก้าวขึ้นปี ๒๕๐๓ และประเทศไทยก็เข้าสู่ยุคของการพัฒนา แล้วก็มีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกิดขึ้น

ก่อนหน้านั้นเรามีแผน แต่ไม่เรียกว่าแผนพัฒนา เราเรียกว่า “แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ” จนกระทั่งถึงปี ๒๕๐๒ จึงออก พ.ร.บ.ตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น แล้วแผนนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ และต่อมาอีกฉบับหนึ่ง (ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔) ก็เติมคำว่า “และสังคม” เข้าไปเป็น “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

แผนแรกก็ไปรับกับแผนเก่า คือ แผนเก่ามีแต่เศรษฐกิจ ไม่มีคำว่าพัฒนา พอเริ่มแผนนี้ ก็เติมคำว่าพัฒนาเข้าไป

ตกลงว่า จาก “แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ” ก็เปลี่ยนเป็น “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แล้วก็มาเป็น “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

ถึงตอนนี้เมืองไทยก็เข้ายุคพัฒนา มีการตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาขึ้น เช่น กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (๒๕๐๖) แต่ต่อมาก็เลิกล้มไป แล้วก็มีสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (๒๕๐๗) มีกรมการพัฒนาชุมชน (๒๕๐๕) มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเกิดขึ้นในยุคนั้นมากมาย เราสร้างถนนหนทางและตึกรามบ้านช่องกันเป็นการใหญ่

จุดที่น่าสังเกตในที่นี้คือ ตอนนั้นได้มีความรู้สึกที่แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางว่า “ป่า” เป็นเครื่องหมายแห่งความล้าหลัง ป่าเป็นเครื่องหมายแห่งความเถื่อน ป่า คู่กับคำว่า เถื่อน คือป่าเถื่อน “เถื่อน” ก็คือ ห่างไกลความเจริญ ไม่พัฒนา เพราะฉะนั้น มีต้นไม้ที่ไหน ก็น่าจะตัดเสีย แล้วก็ปลูกสร้างอาคารคอนกรีตขึ้นมาแทน

ความรู้สึกนี้ได้ระบาดเข้าไปแม้กระทั่งในวัด ตอนนั้นวัดทั้งหลายก็พยายามพัฒนากันใหญ่ ก็เลยตัดต้นไม้กันเป็นการใหญ่ สร้างตึกสมัยใหม่กันเป็นการใหญ่ ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีลักษณะพิเศษอย่างนี้ โดยประมาณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา เรียกได้ว่า ยุคพัฒนาของประเทศไทย

ตัวอย่างเช่น วัดหนึ่ง ที่อยู่ทางฝั่งธนบุรี มีโยมที่เคยอยู่วัดดังกล่าว เล่าให้ฟังว่า วัดนั้นแต่ก่อนมีต้นไม้ในพุทธประวัติหลายอย่างปลูกไว้ ท่านเจ้าอาวาสในยุคพัฒนานั้น ท่านเห็นว่า ป่าเป็นเครื่องหมายของการที่ยังไม่พัฒนา ไม่เจริญ ท่านก็เลยให้ตัดต้นไม้เหล่านั้นหมด

นอกจากป่าแล้ว ยังลามไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่แสดงถึงความเก่าด้วย ก็คือมีคัมภีร์ใบลานเก่าๆ อยู่ในตู้ ท่านก็เอาคัมภีร์เหล่านั้นออกมาเผาหมด เพื่อชำระวัดให้สะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ อะไรๆ ก็ใหม่เอี่ยม

นี่คือยุคพัฒนาของประเทศไทย นี่ก็เพราะการศึกษาไม่เพียงพอ การพัฒนาบ้านเมืองไม่ได้สมดุลในทางการศึกษาด้วย ความรู้ความเข้าใจไม่ดีพอ ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างขาดดุลยภาพ เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจ ก็เกิดปัญหาขึ้นในด้านอื่นๆ ตามติดมา แต่ไม่ต้องพูดถึง

นี่เพียงแต่พูดให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในทางความรู้สึกนึกคิดในยุคนั้น ที่เราถือว่า ป่า เป็นเครื่องหมายของความล้าหลัง การไม่พัฒนา ซึ่งทำให้คนไทยเราตัดไม้ทำลายป่ากันมากมาย เพื่อสร้างความเจริญที่เรียกว่าการพัฒนา โดยที่เบื้องหลังนั้นก็มีความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวด้วย

อย่างนี้ต้องพูดว่า ความเห็นผิดเป็นชอบได้เกิดขึ้นแล้ว อันนี้เป็นปรากฏการณ์จริงๆ สังคมเห็นเป็นอย่างนั้น มีต้นไม้ที่ไหนก็บอกว่า โอ้ นี่ไม่เจริญ แล้วก็ตัดต้นไม้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง นั่นเป็นยุคที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งยังมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบันด้วย

ก็เป็นอันว่า เราตัดต้นไม้เพื่อจะปลูกสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะที่เป็นคอนกรีตขึ้น เพื่อแปลงป่าให้เป็นบ้านเป็นเมือง ที่เรียกว่า มีความเจริญ

ทีนี้ ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง มองลึกลงไปอีก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ครอบคลุม โดยเฉพาะเมื่อความเจริญทั่วโลกไปถึงกันหมด ปัจจุบันนี้ เราจะต้องมองปัญหาในวงกว้างไปถึงระดับโลกด้วย

อารยธรรมของโลกที่มีการพัฒนาแบบนี้นั้น ถือกันว่าฝรั่งหรือตะวันตกเป็นผู้นำ และการคิดพัฒนาแบบนี้ก็มาจากรากฐานความคิดของตะวันตก

ตะวันตกที่เขาพัฒนาอารยธรรมมา และสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญแบบที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้นั้น เขาก็ต้องมีรากฐานทางความคิด คือ ก่อนที่จะออกมาเป็นพฤติกรรมและกิจกรรมภายนอก ก็ต้องมาจากความเชื่อ ความนิยมยึดถือ และความคิดในใจก่อน เรียกสั้นๆ ว่าภูมิธรรม ภูมิปัญญา เป็นรากฐานของการกระทำหรือพฤติกรรมทั้งหมด

การสร้างสรรค์พัฒนาของตะวันตกนี้ ต้องมาจากรากฐานทางความคิด เช่น ศาสนา และปรัชญาของเขา ซึ่งเวลานี้เขาเองได้สืบค้นมาบอกกันเพื่อให้เห็นเหตุปัจจัยชนิดลงลึกถึงสมุฏฐานทางความคิด คือทิฏฐิและความเชื่อ เพื่อจะได้ช่วยกันหาทางแก้ปัญหา และเราก็ควรติดตามให้รู้ทันเขาอย่างเข้าถึงอารยธรรมนั้นด้วย

มนุษย์กับธรรมชาติ
ในแนวคิดเดิมของตะวันตก

ทีนี้เราก็มาดูว่า รากฐานทางความคิดของอารยธรรมตะวันตกที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินี้เป็นอย่างไร

ตอนนี้ฝรั่งเองก็มาถึงจุดที่ต้องหันมาสนใจในเรื่องนี้ คือ ฝรั่งเขาก็ขบคิดกัน แล้วเขาก็สืบค้นว่าอารยธรรมที่เขาได้พัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งมีปัญหา เกิดสภาพแวดล้อมเสียนั้น มันเกิดจากอะไร พฤติกรรมในการสร้างความเจริญแบบนี้ มีเหตุปัจจัยมาจากรากฐานทางความคิดอย่างไร ก็สืบกันไป

เวลานี้ก็พูดกันแทบจะเป็นเสียงเดียวในทางตะวันตกว่า สาเหตุสำคัญอันเป็นต้นตอของปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย ก็คือการที่มนุษย์มองตัวเองแยกต่างหากจากธรรมชาติ

ตอนนี้ฝรั่งจับจุดอันนี้ไว้ แล้วก็ย้ำกันอยู่เสมอ ในหนังสือที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมจะมีการย้ำเตือนกันอยู่เสมอว่า ให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เดี๋ยวนี้หนังสือฝรั่งพูดอย่างนี้เรื่อย ทำไมฝรั่งเขาพูดอย่างนี้ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาฝรั่งไม่เคยมองอย่างนั้น ไม่เคยมองตัวเองเป็นส่วนร่วมอย่างหนึ่งอยู่ในธรรมชาติ

ฝรั่งยอมรับเต็มที่เลยว่า อารยธรรมตะวันตกมาจากรากฐานทางความคิด ที่มองมนุษย์แยกต่างจากธรรมชาติ แล้วไม่ใช่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติเท่านั้น ยังมองในลักษณะที่มนุษย์จะต้องเข้าไปครอบงำ ครอบครอง เป็นนายเหนือธรรมชาติ เป็นผู้พิชิตธรรมชาติ

พิชิตเพื่ออะไร ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะได้ไปจัดสรรธรรมชาติ จัดการปั้นแต่งมาเป็นสิ่งบริโภค เพื่อรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

เมื่อว่าโดยสรุป ความคิดของตะวันตกในเรื่องนี้มี ๓ ขั้นตอน คือ

๑. มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ

๒. มนุษย์ที่แยกต่างหากจากธรรมชาตินั้น จะต้องครอบครอง เป็นนาย เป็นผู้พิชิต เป็นผู้จัดการธรรมชาติ

๓. ที่จัดการธรรมชาตินั้น ก็เพื่อเอาธรรมชาติมาปั้นแต่งเป็นรูปต่างๆ ให้เป็นเครื่องรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

อันนี้เป็นความคิดของตะวันตก ซึ่งตอนนี้ฝรั่งเองได้หันไปสืบค้นออกมาบอกกัน ถึงกับเขียนเป็นบทตอนสำคัญในหนังสือเล่มใหญ่ๆ 3

เขาพูดไว้ชัดเจน เพราะเขาสืบค้นมาโดยตลอด ย้อนหลังไป ตั้งแต่โสเครติส ว่ามีความคิดอย่างนี้ พลาโต อริสโตเติล ก็มีความคิดอย่างนี้ ฟรานซิส เบคอน เดคาร์ตส์ แม้กระทั่ง ซิกมันด์ ฟรอยด์ นักจิตวิทยาคนสำคัญ อิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญาใหญ่ จนกระทั่ง คัมภีร์ไบเบิลก็คิดก็สอนมาอย่างนี้ รายละเอียดขอให้โปรดอ่านเอง

ลองดูวาทะของเดคาร์ตซ์ (Descartes) เพียงท่านเดียวเป็นตัวอย่างไว้ก่อน ท่านผู้นี้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของวิทยาศาสตร์ว่า เพื่อช่วยให้มนุษย์ต่อสู้จน “ผันตัวเองขึ้นเป็นเจ้านายผู้ครอบครองธรรมชาติ”

รวมความว่า ศาสนา ปรัชญา และวิทยาการต่างๆ ของตะวันตก รวมทั้งพวกนักเศรษฐศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ ไม่ว่าทางฝ่ายทุนนิยม หรือสังคมนิยม แทบจะหมดสิ้นในตะวันตก มีความคิดความเชื่ออย่างนี้ทั้งนั้น จนกระทั่งเขาบอกว่า ในที่สุดแล้ว ความคิดของตะวันตก ไม่ว่าฝ่ายทุนนิยมก็ดี ฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ดี ที่มาแยกกันเป็น ๒ ฝ่ายนั้น ที่แท้จริงแล้วก็มีรากฐานทางความคิดอันนี้อย่างเดียวกัน

อารยธรรมตะวันตกตั้งอยู่บนรากฐานทางความคิดอันนี้ทั้งหมด คือ ความคิดที่มนุษย์แยกตัวจากธรรมชาติออกมาตั้งตนเป็นผู้ครอบครองจัดการ

ความสำนึกผิด
ที่ทำให้หันสู่แนวทางใหม่

นี่คือความคิดของตะวันตก ที่ปรากฏออกมาว่าฝรั่งได้มองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างนี้ อันนี้คือตัวการหรือตัวเหตุตัวปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่เขาถือว่าจะต้องแก้ ถือได้ว่าเป็น จุดสำนึกผิดของตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันยอมรับแล้วว่า ในการที่จะแก้ไขปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสียนั้น ในที่สุดจะต้องแก้ให้ถึงระดับความคิดนี้ จะต้องเปลี่ยนปรัชญาใหม่ เปลี่ยนความคิดใหม่ ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะในระดับปฏิบัติการเท่านั้น

ถ้าจะสรุปความเป็นไปในแนวทางการพัฒนาของตะวันตกในปัจจุบัน เขาได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่เกิดจากการมีความสำนึกผิด ๒ ประการ คือ

๑. ความสำนึกผิดในระดับปฏิบัติการ

ระดับปฏิบัติการ คือ การกระทำต่างๆ ทั้งพฤติกรรมและกิจการในกระบวนการพัฒนา ซึ่งเขายอมรับว่า ได้ดำเนินมาผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ มากมายหนักหนา โดยเฉพาะก็คือธรรมชาติแวดล้อมเสีย

๒. ความสำนึกผิดในระดับรากฐานความคิด

ระดับฐานความคิด คือ ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี แนวความคิดทางปรัชญา และบทบัญญัติ หรือหลักคำสอนของศาสนา ที่เป็นต้นแหล่งหรือที่มาของพฤติกรรมและการดำเนินกิจการต่างๆ อย่างที่บอกว่ามีการพัฒนาอย่างนี้ ก็เพราะมีฐานความคิดอย่างนี้

ฝรั่งเคยอวดไว้ เช่นบอกว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่เจริญล้ำหน้าตะวันออกมาได้ ก็เพราะฐานความคิดนี้

ในหัวข้อประวัติวิทยาศาสตร์ ในหนังสือ Encyclopaedia Britannica เขาเขียนอวดไว้เลยได้ใจความว่า แต่ก่อนนี้ ตะวันออกเหนือกว่าตะวันตกในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ด้วยแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ (the conquest of nature) จึงทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกมาได้4

อันนี้ เป็นฐานความคิดในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มาจากคำสั่งสอนทางศาสนาและความคิดทางปรัชญาของตะวันตกเอง การที่วิทยาศาสตร์พัฒนามาแบบนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการถูกครอบงำด้วยอิทธิพลความคิดเก่าที่มาจากสายมนุษยศาสตร์

ในโลกสมัยใหม่นี้ คนนิยมวิทยาศาสตร์มาก ทำให้วิชาการจำพวกมนุษยศาสตร์อับแสงไป แต่ดูไปดูมา ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อยู่เหนือมนุษยศาสตร์หรอก ที่จริงมนุษยศาสตร์นี้แหละมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังวิทยาศาสตร์ เป็นตัวที่หันเหนำทางวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ

ตกลงว่า แนวความคิดที่มองธรรมชาติแยกต่างหากจากมนุษย์ โดยมนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาตินี่แหละ ที่ทำให้วิทยาศาสตร์พัฒนามา แล้วเราก็เอาวิทยาศาสตร์มาเป็นฐานของการสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยี

เทคโนโลยีเป็นอุปกรณ์สำคัญที่มีบทบาทใหญ่ในกระบวนการพัฒนาอารยธรรมปัจจุบัน อันเป็นอารยธรรมที่อาศัยอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินไปด้วยเทคโนโลยี เสร็จแล้วทั้งหมดก็มาจากฐานความคิดอันนี้ทั้งสิ้น

นี่คือการมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขั้นรากฐานของการพัฒนาอารยธรรม

ในที่สุด การที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อม รวมทั้งเรื่องป่านั้น จะต้องหาจุดลงตัวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้เด่นชัดว่าเราจะเอาอย่างไร มนุษย์จะสัมพันธ์กับธรรมชาติในลักษณะไหน มีท่าทีแห่งความรู้สึกต่อกันอย่างไร ต้องลงไปถึงขั้นนี้ จึงจะแก้ปัญหาได้

ทางฝ่ายตะวันตกเอง ตอนนี้ก็กำลังรู้ตัวว่าต้องแก้ปัญหาให้ถึงจุดสำคัญนี้ คือจะต้องมาแก้ปัญหาที่รากฐานของความคิด และเขาก็มาถึงจุดที่ยอมรับว่าจะต้องเปลี่ยนความคิดความเชื่อของเขาที่มีมาแต่ดั้งเดิมเสียใหม่ เขาจึงย้ำอยู่เสมอในหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม

ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะไม่มีเวลาพูดถึงเรื่องรากฐานความคิดของฝรั่ง แต่เพียงสังเกตนิดหน่อยก็จะเห็นว่า เขาชอบย้ำกันอยู่เสมอว่า จะต้องมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ขอให้สังเกตดู หนังสือของฝรั่งตอนนี้จะพูดเรื่องนี้และย้ำบ่อยๆ ซึ่งมันไม่ใช่ความคิดเดิมของเขาเลย เพราะฝรั่งมองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติมาตลอดเวลา แต่ตอนนี้เขามาเน้นอย่างนี้ ก็เพราะเขาสำนึกผิดนั่นเอง

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่จะแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมของยุคปัจจุบัน และมิใช่ส่วนหนึ่งที่เล็กน้อย แต่เป็นส่วนรากฐานที่สำคัญที่สุด

อันนี้เป็นเรื่องที่เพียงตั้งเป็นหัวข้อไว้ก่อน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ แต่เป็นจุดที่จะต้องพิจารณาศึกษานาน เมื่อไม่มีเวลาพอ จึงต้องผ่านไปก่อน

ความสำคัญของป่า
ในความหมายของคน

ทีนี้ เราจะกลับมาพูดถึงเรื่องป่ากันอีก ตอนนี้จะพูดเรื่องความสำคัญของป่า ที่จริงเรื่องนี้ก็พูดไปแล้ว แต่จะมาประมวลดูอีกที

ป่ามีความสำคัญอย่างไร เรื่องนี้มองได้หลายแง่

ถ้าจะพูดอย่างรวบรัด เรามองความสัมพันธ์ของคนกับป่าได้ ๔ แง่ คือ

(๑) ในแง่เศรษฐกิจ

(๒) ในแง่สังคม

(๓) ในแง่ระบบนิเวศ และอีกแง่หนึ่งที่ทั่วไปไม่มองกัน คือ

(๔) ในแง่ชีวิตจิตใจและการพัฒนามนุษย์

แง่ที่คนมองมากที่สุดคือ แง่เศรษฐกิจ คือมองในแง่ที่คิดหาทางว่าจะทำอะไรกับป่า เพื่อจะหารายได้ จะเอาอะไรไปขาย เพื่อเลี้ยงชีวิต เพื่อหาเงิน หรือเพื่อสร้างความร่ำรวย เช่น อย่างดีก็ปลูกป่าเพื่อเอาไม้ไปขาย อย่างร้ายก็ตัดไม้แบบทำลายป่า หรือแม้แต่ชาวบ้านเข้าไปในป่า ส่วนมากก็เข้าไปหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเรื่องของปัจจัยสี่ แล้วก็มองใน แง่สังคม มองใน แง่ระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการมองที่กว้างออกไป

ส่วนแง่ที่ ๔ นั้น เป็นด้านที่มักจะขาดไป แต่จะต้องถือว่าสำคัญมาก ถ้าจะแก้ปัญหานิเวศวิทยาให้ตก จะต้องทำให้ถึงขั้นนี้ด้วย คือจะต้องมองให้มาถึงขั้นที่สี่ ได้แก่ มองในแง่ความสัมพันธ์กับชีวิตจิตใจและการพัฒนาตัวเองของมนุษย์

ในแง่เศรษฐกิจ ถ้าลงไปดูในรายละเอียดสักนิดหนึ่ง ก็จะมองเห็นว่า ป่าเป็นแหล่งทรัพยากรของมนุษย์ โดยเฉพาะเป็นแหล่งของปัจจัยสี่ เช่น ชาวบ้านอาศัยป่าเป็นที่ไปหาอาหาร ทั้งพืชพรรณ เช่น เผือก มัน หน่อไม้ ผลไม้ และสัตว์บก สัตว์ปีก ตลอดจนฟืน ถ่านไฟสำหรับหุงต้ม ไม่ต้องพูดถึงความเป็นแหล่งน้ำต้นน้ำ

ในด้านเครื่องนุ่งห่ม ก็ไปนำเอาพวกพืชมาทอ มาปั่นฝ้าย ฯลฯ ในเรื่องที่อยู่อาศัย ก็ต้องเอาไม้มาสร้างบ้าน เอาแฝกเอาจากมามุงหลังคา และในด้านยารักษาโรค ก็ไปหาสมุนไพรต่างๆ ในป่า

เป็นอันว่า คนโบราณต้องอาศัยป่าทุกอย่าง ปัจจัยสี่ล้วนเอามาจากป่าทั้งนั้น ป่าเป็นแหล่งของปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต

ถ้าชาวบ้านยังมีป่าดีอยู่ เขาจะไม่ต้องอาศัยระบบเศรษฐกิจเงินตราแบบปัจจุบัน ชาวบ้านจะอยู่ได้โดยอาศัยธรรมชาติ

แต่เมื่อไม่มีป่าหรือป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว มนุษย์ก็ต้องมาขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา ต้องหาเงินไปซื้อของมา ต่างจากคนโบราณที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน อยู่กับป่า กินกับป่ามาตลอด ตามคติที่ว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และในป่าก็มีสินทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาติ

นอกจากเป็นแหล่งปัจจัยสี่แล้ว ต่อมา เมื่อเราพัฒนาเศรษฐกิจกันมากขึ้น ป่าก็เป็นแหล่งผลิตผลที่มีรายได้ ตอนนี้เองที่มีคำว่า "รายได้” เข้ามา

การเป็นแหล่งปัจจัยสี่นั้น ไม่จำเป็นต้องมีรายได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเอาไปกินไปใช้บริโภคได้โดยตรง แต่ตอนนี้มันมีเรื่องรายได้เข้ามาแล้ว มีระบบเงินตราเข้ามา นี่คือระบบเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบพัฒนาแล้ว แต่ไม่ชัดว่าพัฒนาไปในทางที่เป็นประโยชน์หรือโทษมากแค่ไหน

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องมองอย่างรอบคอบทั้งสองด้าน ว่ามีโทษและมีประโยชน์แค่ไหน อันนี้เป็นด้านที่หนึ่งที่สำคัญมาก

ในแง่สังคม ป่ามีส่วนสำคัญมากในการกำหนดวิถีชีวิตและลักษณะความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่อยู่ในป่าหรืออาศัยป่านั้น ตลอดจนอารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมดที่ต้องอาศัยป่า ตัวอย่างก็คืออารยธรรมโบราณที่เจริญมาในอดีต ล้วนแต่ต้องอาศัยธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลทั้งนั้น

ดังจะเห็นว่า อารยธรรมที่เจริญขึ้นมาแล้ว ต้องเจริญในที่ๆ อุดมสมบูรณ์ มีน้ำ มีป่า มีสัตว์และพืชพรรณพรั่งพร้อมบริบูรณ์ หรือมองในทางกลับกัน เมื่อป่า ดิน และน้ำที่เป็นสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ก็จะเป็นตัวกำหนดการดิ้นรนปรับตัวของมนุษย์ที่ทำให้อารยธรรมนั้นๆ มีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันไป

อันนี้ก็ไปเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจอีกนั่นแหละ พอสภาพแวดล้อมของธรรมชาติเปลี่ยนไป พอป่าเปลี่ยนไป ดิน น้ำเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องก็เปลี่ยนไปด้วย การทำมาหาเลี้ยงชีพของมนุษย์ก็เปลี่ยนไป เช่น เคยอาศัยทำนา พอสภาพหรือปริมาณที่ดินเปลี่ยนไป ก็ต้องเปลี่ยนไปทำพืชอื่น

ตัวอย่างมีมากมาย เช่น ฝรั่งเขาศึกษาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมบางแห่ง อาจจะเป็นเมโสโปเตเมีย จีน หรืออียิปต์ก็ได้ เขาพบหลักฐานว่า ในยุคนี้มีการปลูกข้าวชนิดนี้ ต่อมาเนื่องจากการบริโภคและการพัฒนาอารยธรรมของคน ดินเสื่อมลง ดินเค็มมากขึ้น ข้าวชนิดนี้ทนไม่ได้สำหรับสภาพดินแบบนี้แล้ว ก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกข้าวหรือพืชชนิดอื่น มีร่องรอยปรากฏให้เห็น และต่อมาปลูกอย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนไปอีก

วิถีชีวิตที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจก็ส่งผลโยงไปทางด้านสังคมด้วย พอพืชที่ใช้เปลี่ยนเป็นชนิดที่ต่างออกไป หรือย้ายไปใช้สารหรือวัสดุอย่างอื่น วิถีชีวิต เช่น การใช้เวลา การแบ่งหน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็เปลี่ยนไปตาม แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด

อย่างในปัจจุบัน เมื่อป่าหดหาย ไม้หายาก คนต้องหาหรือประดิษฐ์วัสดุก่อสร้างอย่างอื่นขึ้นมาใช้ บ้านเรือนร้านค้าอาคารและสภาพบ้านเมืองการเป็นอยู่ก็เปลี่ยนไป แต่ไม่เท่านั้น สภาพดินน้ำลมไฟ หรือดินฟ้าอากาศ ก็ผันแปร ต้นน้ำลำธารเหือดแห้ง น้ำท่วมตูมตาม แต่มีภัยแล้ง ฯลฯ ผู้คนต้องย้ายถิ่นบ้าง เปลี่ยนอาชีพบ้าง ตามมาด้วยภัยพิบัติอื่นๆ ที่แผ่กว้างและยาวไกล ชนิดที่เกินคิดเกินคาด อาจถึงกับเกินกว่าที่คนจะทนอยู่ได้

เพราะฉะนั้น ป่าจึงมีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม ทำให้สังคมเปลี่ยนไป อย่างน้อยที่สุดเฉพาะหน้า ป่าก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวชุมชนไว้ โดยทำให้คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น มีความเป็นอยู่ที่ร่วมกัน อิงอาศัยซึ่งกันและกัน เกิดเป็นกลุ่มเป็นหมู่ได้

จะอนุรักษ์ป่าได้
ต้องขยายความคิดของคน

นอกจากที่ว่ามา ป่าเป็นแหล่งอำนวยให้ความสุขความสดชื่นรื่นรมย์ มนุษย์ปัจจุบันจึงใช้ป่าเป็นที่ท่องเที่ยวด้วย ดังที่เรามีวนอุทยานและสวนพฤกษชาติต่างๆ อันนี้ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากป่าในแง่สังคมส่วนหนึ่ง แสดงว่ามนุษย์สมัยนี้ก็ยังมีความรู้สึกในเรื่องการชื่นชมความงามของธรรมชาติ ให้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดมีความสุข ซึ่งเป็นบทบาททางด้านจิตใจ เป็นบทบาทของป่าในด้านสุนทรีย์

ป่าจึงเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของบ้านเมือง แม้แต่สังคมกรุงหรือเมืองหลวง ก็ต้องสร้างสวนพฤกษชาติไว้

ในเรื่องนี้ ก็อย่างที่บอกแล้วข้างต้น ในทางพระพุทธศาสนา การใช้ประโยชน์แง่นี้จะโยงต่อไปสู่ความสำคัญของป่าในแง่ที่สี่ คือการเอาป่าและธรรมชาติแวดล้อมมาเป็นปัจจัยเสริมในการพัฒนามนุษย์ เป็นเครื่องโน้มจิตเข้ามาสู่วิเวก สู่การบำเพ็ญภาวนา เพื่อการพัฒนาจิตใจและคุณธรรม เริ่มตั้งแต่การทำให้เกิดท่าทีความรู้สึกที่ดี มีความประณีต ความละมุนละไม การมีความรู้สึกอ่อนโยนเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาปัญญาให้รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ จนเข้าถึงสัจจธรรม

แต่ตามที่ปฏิบัติกันอยู่ในโลกของการพัฒนานั้น ไม่ได้มองประโยชน์ทางจิตใจมาถึงขั้นนี้ เขามองแค่จะหาความสุขทางผัสสะจากธรรมชาติของป่าไม้ ตามแนวคิดเอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ หรือเป็นเครื่องบำเรอความสุขของมนุษย์เท่านั้น

ในแง่ระบบนิเวศ ป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันนี้คนในประเทศที่พัฒนาแล้วได้รู้ตระหนักถึงภัยร้ายแรงของการทำลายธรรมชาติให้เสียดุล จึงเน้นกันนักหนาในเรื่องระบบนิเวศและการรักษาดุลยภาพในระบบนิเวศ ในเมื่อเขาพูดกันมากแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพูดอีกในที่นี้ เพียงแต่ยกมาอ้างอิงเพื่อวางเป็นหลักไว้ให้เห็นว่า บทบาทของป่ามีเรื่องนี้อยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การมองในแง่ระบบนิเวศนี้ ว่าที่จริงเป็นการมองความสัมพันธ์ในธรรมชาติข้างนอก ระหว่างสัตว์และพืช กับสิ่งแวดล้อมของมันเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ เพราะตามหลักวิชาเดิมในแนวตะวันตก ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศนั้น ก็มาจากฐานความคิดที่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ ดังนั้นคำว่า นิเวศวิทยา ที่แท้ของตะวันตกเดิม จึงไม่ได้เกี่ยวกับมนุษย์

แต่ก่อนนั้น นิเวศวิทยาของฝรั่งเป็นเรื่องของพืชและสัตว์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ ต่อมาตอนหลังจึงมีนิเวศวิทยาประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ แต่ก็เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในแง่ที่มนุษย์จะไปเอาประโยชน์จากระบบนิเวศของพืชและสัตว์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่มนุษย์จะไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วยดีกับสิ่งมีชีวิตอื่น (พืช และสัตว์) ไม่ใช่อย่างนั้น

นิเวศวิทยาประยุกต์เป็นเรื่องของการที่จะเอานิเวศหรือธรรมชาติแวดล้อมมาใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

จนกระทั่งมาช่วงท้ายนี้จึงมี Human Ecology หรือมนุษยนิเวศวิทยาขึ้นมาเป็นของใหม่ แต่นิเวศวิทยาเดิมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้มองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่มองในแง่หาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่นสัตว์และพืช เพื่อหาประโยชน์จากมัน ไม่ใช่เพื่อจะอยู่ร่วมกับมันด้วยดี อันนี้เป็นแนวคิดของเดิมแบบตะวันตก

ปัจจุบันนี้ การมองในแง่ระบบนิเวศได้โยงเข้ามาหาตัวมนุษย์มาก เอาผลกระทบต่อมนุษย์เป็นจุดเน้น การที่เราต้องรักษาป่า ก็เพราะว่าป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศ แล้วดุลยภาพนี้ก็จะโยงมาถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย เพราะดุลยภาพทำให้สภาพแวดล้อมดำรงอยู่ด้วยดี เมื่อสภาพแวดล้อมอยู่ดี มนุษย์จึงอยู่ได้

อย่างไรก็ดี เรื่องดุลยภาพในระบบนิเวศที่พูดกันทั่วไปนั้นเป็นการมองในด้านกายภาพ หรือทางด้านวัตถุ แต่มีดุลยภาพอีกอย่างหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึง ดุลยภาพอันนี้มีความสำคัญที่จะเป็นรากฐานให้เราสามารถรักษาดุลยภาพในด้านกายภาพไว้ได้ด้วย ดุลยภาพนี้คือดุลยภาพอะไร

ดุลยภาพนี้จะต้องรวมองค์ประกอบทุกอย่างของชีวิตที่ดีงามและความสุขของมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วน จนเราเรียกได้ว่าเป็นดุลยภาพขององค์รวมที่สมบูรณ์

การที่มนุษย์จะอยู่ดีได้ เขาจะต้องมีองค์ประกอบทางจิตใจ เช่นความสุขด้วย ดุลยภาพแห่งองค์รวมของชีวิตที่ดีงาม มีความหมายที่กว้างลึกและครอบคลุมยิ่งกว่าจะเป็นเพียงระบบนิเวศเท่านั้น และดุลยภาพที่สมบูรณ์นี้แหละจะเป็นฐานของการรักษาระบบนิเวศด้วย ดุลยภาพที่ว่านี้เป็นอย่างไร

แนวคิดที่ครอบงำ
อยู่เหนืออารยธรรมยุคปัจจุบัน

เบื้องแรกเรามาดูสภาพชีวิตของมนุษย์ก่อน แล้วจึงค่อยย้อนไปหาหลัก คือ การที่จะสรุปวางหลักนั้นบางครั้งก็พูดยาก จะต้องดูความเป็นอยู่ของมนุษย์ก่อน

มนุษย์โดยทั่วไปในปัจจุบันนี้ ก็ดำเนินชีวิตตามแนวความคิด ซึ่งมาจากหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก คือถือว่ามนุษย์จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำเรอพรั่งพร้อมที่สุด ยิ่งมนุษย์มีวัตถุบำเรอพรั่งพร้อมเท่าไร ก็จะมีความสุขมากเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นความคิดที่เป็นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม

แล้วการพัฒนาอุตสาหกรรมก็ไปโยงกับวิทยาศาสตร์ คือเอาความรู้วิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยี แล้วนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมตั้งอยู่บนฐานของเทคโนโลยี แล้วเทคโนโลยีก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งหมดทั้งระบบทั้งกระบวนนี้ ก็มาจากฐานความคิดที่ว่า มนุษย์จะมีความสุขเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมที่สุด

แล้วอันนี้ก็โยงไปหาความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ เพื่อจะได้เอาธรรมชาติมาจัดการจัดสรรและเอามาผลิตเป็นวัตถุบำเรอให้พรั่งพร้อมที่สุด

จะเห็นว่า ความคิดและพฤติกรรมทั้งหมดมาบรรจบกัน ณ จุดนี้ ความคิดแบบอุตสาหกรรมจึงตีโยงไปเข้ากับฐานความคิดเดิมที่ว่า มนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ จะต้องเป็นเจ้านายเข้าไปครอบครอง จัดการธรรมชาติ เอาธรรมชาติมาจัดสรรรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ คือไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นวัตถุบำรุงบำเรอความสุขของมนุษย์

ความคิด ๒ อย่างนี้มาบรรจบกันในการสร้างสรรค์อารยธรรมของตะวันตกที่นำมาสู่ปัญหาปัจจุบัน

สำหรับความคิด ๒ อย่างนี้ (คือ แนวความคิดความเข้าใจและท่าทีต่อธรรมชาติแบบแยกตัวต่างหากจากธรรมชาติ และจะเป็นผู้พิชิตธรรมชาติ กับ แนวคิดเกี่ยวกับการหาความสุขของมนุษย์แบบที่ว่าจะมีความสุขจริงต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมที่สุด) เมื่อกี้ได้พูดไปแล้วในเรื่องการมองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ ตอนนี้จึงจะมองเฉพาะจุดที่ถือว่า มนุษย์จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม

เมื่อมนุษย์คิดว่า มนุษย์จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม ความคิดนี้ก็จะนำไปสู่พฤติกรรม โดยเป็นตัวกำหนดแนวทางของพฤติกรรมของเขา คือมนุษย์ก็จะพยายามหาวัตถุมาให้พรั่งพร้อมที่สุด

เมื่อมนุษย์สาละวนกับการแสวงหาวัตถุบำรุงบำเรอให้พรั่งพร้อม มนุษย์ก็จะมายุ่งกันอยู่กับกิจกรรมในหมู่มนุษย์เอง การยุ่งกันอยู่ในหมู่มนุษย์นี้ ก็คือการที่ต่างคนต่างก็พยายามหาวัตถุบำรุงบำเรอให้แก่ตัวเองให้มากที่สุด การวุ่นกันนั้นก็จะเป็นไปในลักษณะของการแข่งขันแย่งชิงและเบียดเบียนกัน แล้วก็เกิดปัญหาความเดือดร้อนในหมู่มนุษย์เอง

พร้อมกับการที่มนุษย์มัววุ่นวายยุ่งกันอยู่ในหมู่มนุษย์เองและก่อความทุกข์แก่กันและกันเองนี้ มนุษย์ก็จะห่างเหินจากธรรมชาติ เพราะไม่เห็นว่าธรรมชาติเป็นองค์ประกอบที่เป็นแก่นสารของชีวิตและความสุขของมนุษย์ นึกแค่จะเอาธรรมชาติมาผลิตเป็นวัตถุบริโภค ทำเป็นผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมสำหรับบำรุงบำเรอความสุขให้มีความสะดวกสบาย

ยิ่งกว่านั้น การหาความสุขของมนุษย์แบบนี้ยังส่งผลตีกลับมาทำให้ความสัมพันธ์กับธรรมชาติเป็นไปในทางลบอีก คือ เมื่อมนุษย์ต้องแย่งชิงหาวัตถุบำรุงบำเรอให้พรั่งพร้อมที่สุด แหล่งที่จะได้วัตถุเหล่านี้มาก็ต้องไปเอาจากธรรมชาติ จึงทำให้มนุษย์ต้องไปสัมพันธ์กับธรรมชาติในลักษณะที่ต้องไปเบียดเบียนข่มเหงแย่งชิงเอาจากธรรมชาติอีก

เลยกลายเป็นว่า การที่มนุษย์แย่งชิงกันนั้น เท่ากับเป็นการสมคบกันทำลายธรรมชาติ การแย่งชิงเบียดเบียนซึ่งกันและกันในระหว่างมนุษย์นั้น มีความหมายเท่ากับว่ามนุษย์เหล่านั้นสมคบกันทำลายธรรมชาติ

ตกลงว่า ความสัมพันธ์แบบนี้มีผลเสียหมดตลอดทั้งสายเลย คือมนุษย์แต่ละคนถือว่าตัวเองต้องมีต้องหาวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมให้มากที่สุด ก็มาแย่งกันในหมู่มนุษย์ เสร็จแล้วผลรวมออกมาก็คือต้องไปเอาจากธรรมชาติ มนุษย์ก็ทำลายกันเอง แล้วพร้อมกันนั้นก็ร่วมกันทำลายธรรมชาติไปด้วย

ความสุขแบบนี้ไม่สมดุล ไม่มีดุลยภาพ เป็นความสุขแบบด้านเดียว แล้วก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ซึ่งมองอีกด้านหนึ่งก็คือ การมีความทุกข์ทั้งในสังคม และกับธรรมชาติ

สู่มิติใหม่
แห่งการมองความหมายของชีวิต

ทีนี้ยังมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมองดูได้จากวิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า ถ้าบุคคลเข้าถึงธรรมชาติ เขาจะมีความสุขเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง คือความสุขกับธรรมชาติ ที่เป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมดาที่มีอยู่ เช่น จากการที่ได้ชื่นชมสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาในธรรมชาติ

ความสุขกับธรรมชาตินี้ เป็นความสุขพื้นฐานที่มีได้ง่ายๆ เป็นของธรรมดา หาได้ตลอดเวลา เมื่อเขามีความสุขชนิดนี้เป็นฐานอยู่ ก็เท่ากับมีความสุขเป็นทุนอยู่กับตัวส่วนหนึ่งแล้ว และอีกด้านหนึ่งเขาก็มีตามปกติอย่างที่แสวงหากัน คือความสุขจากวัตถุบำรุงบำเรอความสุข

แต่การที่เขามีความสุขกับธรรมชาติเป็นทุนในตัวอยู่แล้วนี้ ทำให้เขาไม่ต้องทุ่มตัวไปหวังความสุขจากการที่จะต้องหาวัตถุบำรุงบำเรอให้เต็มที่เพียงอย่างเดียว คือ ไม่ต้องมุ่งไปด้านเดียว ที่จะต้องหาวัตถุให้เต็มที่

ต่างกับคนพวกที่ไม่มีความสุขกับธรรมชาติเป็นฐานเป็นทุนอยู่ คนพวกนั้นมีความหวังในความสุขอยู่กับวัตถุบำรุงบำเรอเพียงอย่างเดียว ไม่มีความสุขอย่างอื่นเลย จึงฝากความหวังไว้กับวัตถุภายนอกอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น เขาจะต้องเอาวัตถุให้ได้ และให้มากที่สุดอย่างเดียวเท่านั้น มิฉะนั้นก็จะไม่มีความสุขได้เลย

เมื่อคนมีความสุขกับธรรมชาติแล้ว การที่จะต้องดิ้นรนหาความสุขจากการหาวัตถุมาบำรุงบำเรอให้เต็มที่ ก็จะมีขอบเขตขึ้นมาทันที มันจะลดความรุนแรงลง คือจะเกิดความพอดี เป็นไปอย่างพอดี ไม่เกิดโทษแก่ชีวิตและสังคม และเขาก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดความเสียหายแก่ธรรมชาติ และไม่เกิดความเสียหายตีกลับจากธรรมชาตินั้นด้วย

ความสุขกับธรรมชาติ และความสุขจากธรรมชาตินั้น มิใช่มีเพียงขั้นพื้นฐานที่ว่ามาแล้ว ซึ่งเป็นทุนขั้นต้นที่ทุกคนควรจะมีสำหรับการมีชีวิตที่ดีงามอยู่ในโลกเท่านั้น แต่ในขั้นสูงสุด ความสุขที่แท้จริง ก็เป็นความสุขที่เนื่องด้วยธรรมชาติอีก คือความสุขในความเป็นอิสระที่เกิดจากการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

ความสุขระดับนี้เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับการใช้ธรรมชาติเป็นองค์ประกอบในการพัฒนามนุษย์โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพูดไว้ต่างหาก ในที่นี้จึงเพียงแต่อ้างอิงไว้ให้เห็นหลัก

การมองธรรมชาติในแง่ประโยชน์ทางจิตใจนี้ เป็นวิธีรักษาดุลยภาพขององค์รวมเบ็ดเสร็จที่ครอบคลุมด้านจิตใจด้วย ซึ่งรวมถึงดุลยภาพในแง่ของความสุขด้วย

เป็นอันว่า ความสุขของมนุษย์ไม่ขึ้นอยู่กับวัตถุบำรุงบำเรอ คือ ไม่ขึ้นต่อวัตถุภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่มีอยู่ที่ตัวเองซึ่งหาได้จากธรรมชาติด้วย เมื่อรวมแล้วจึงมีความสุข ๒ แบบ คือ ความสุขที่สร้างขึ้นได้ในตัวเอง ที่มีได้เอง กับความสุขที่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก

มนุษย์ทั้งหลายหาความสุขไป โดยคิดว่าตัวเองนี้เก่งกาจ สามารถหาวัตถุได้มากมายจากการพิชิตธรรมชาติได้แล้วจัดสรรปรุงแต่งเอามาสนองความต้องการของตนได้ตามชอบใจ มีความภูมิใจว่าตัวเรานี้ยิ่งใหญ่

มนุษย์ที่มีฐานความคิดแบบเมื่อกี้ คิดแต่จะพิชิตธรรมชาติ และก็เข้าใจว่าตนพิชิตทุกอย่างได้สำเร็จ เรายิ่งใหญ่ เรามีอิสรภาพ ไม่ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของธรรมชาติแล้ว ฯลฯ มนุษย์ภูมิใจในการมีวัตถุบำรุงบำเรอมากขึ้นนี้ว่าเราเก่งๆ แต่ไม่รู้ว่าในเวลาเดียวกันนั้น ตนเองได้สูญเสียอิสรภาพไปแล้ว

พอเราสร้างหรือหาวัตถุบำรุงบำเรอขึ้นมาได้ เราก็คิดว่า เราจะมีความสุขด้วยสิ่งนั้นๆ แล้วพอมันมีขึ้นมา เราก็รู้สึกว่ามีความสุขจริงๆ เราเก่งในการหาความสุข แต่ไปๆ มาๆ พอคิดดูอีกทีกลายเป็นว่า เราต้องมีมันเราจึงจะมีความสุขได้ ถ้าขาดมันเราอยู่ไม่ได้ เราไม่มีความสุข

กลายเป็นว่า มนุษย์ต้องฝากความสุขไว้กับวัตถุภายนอก ความสุขขึ้นต่อวัตถุภายนอก นี่ก็คือการสูญเสียอิสรภาพนั่นเอง

การที่มนุษย์ไม่สามารถมีความสุขด้วยตัวเอง และต้องคอยเพิ่มปริมาณของวัตถุภายนอกมากขึ้น เพื่อให้ตนเองมีความสุข ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ไม่ได้ ไม่มีความสุข อันนี้ในแง่ของพระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์สูญเสียอิสรภาพ กลายเป็นผู้ขึ้นต่อสิ่งภายนอก

อันนี้เป็นการมองสวนทางกันกับแนวคิดตะวันตก ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นความยิ่งใหญ่หรือความมีอิสรภาพของมนุษย์ที่สามารถไปเอาวัตถุมาบำรุงบำเรอตนให้พรั่งพร้อมได้ แล้วตนก็จะมีความสุขเต็มที่ แต่พุทธศาสนากลับมองว่า การรอความสุขจากวัตถุบำเรอพรั่งพร้อมเต็มที่นั้นคือการสูญเสียอิสรภาพ เพราะมนุษย์อยู่เองมีความสุขไม่ได้ ต้องเอาความสุขไปขึ้นกับสิ่งภายนอก

โดยวิธีนี้ วิทยาศาสตร์จะพัฒนาไปจนกระทั่งว่า เมื่อมนุษย์มีปัญหาในจิตใจของตัวเอง ก็แก้ปัญหาด้วยจิตใจของตัวเองนั้นไม่ได้ แต่มนุษย์ที่คิดว่าตนเองเก่ง พิชิตธรรมชาติได้ กลับเห็นไปว่า ตนเองสามารถสร้างวัตถุมาแก้ปัญหาจิตใจได้

ต่อไปจะต้องมียาแก้ทุกข์ใจและยาบำรุงความสุข ทั้งยาเม็ด และยาฉีด เมื่อต้องการมีความสุขในทางจิตใจอย่างที่เคยเล่ามาแล้ว ก็ไปซื้อยานั้นมาฉีด ซื้อยาโน้นมากิน

เวลานี้เขากำลังค้นกันอยู่ เวลาจิตใจมีความสดชื่นเบิกบาน มีสารอะไรหลั่งออกมาในสมอง ก็บันทึกไว้ เวลาโกรธมีสารอะไรออกมา เวลาหดหู่มีสารอะไรออกมา ก็บันทึกไว้ แล้วก็ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เอาเทคโนโลยีจัดการสังเคราะห์สารนั้นขึ้นมา

ต่อไปมนุษย์ก็จะมีความสุขที่สร้างสรรค์ได้เอง เป็นความสุขที่เนรมิตได้ เวลาต้องการความร่าเริงเบิกบานก็ไปเอาเข็มฉีดยามาแล้วก็ดูดเอาสารนี้ฉีดเข้าไป ก็เกิดมีความสุขชนิดนี้ ต่อมาต้องการความสุขแบบโน้น ก็ไปเอาเข็มฉีดยามาดูดสารโน้นฉีดเข้าไป

นี่คือสิ่งที่มนุษย์บอกว่าเป็นความยิ่งใหญ่ของตน เพราะไม่ว่าจะต้องการความสุขอะไรก็ทำได้ แต่ที่จริงมันเป็นความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงหรือเปล่า มันเป็นความสุขที่ขึ้นอยู่กับเข็มฉีดยา ขึ้นต่อสารภายนอก

ยิ่งกว่านั้น สารเหล่านี้ยังไม่สามารถประสานกลมกลืนเข้าในเนื้อตัวของระบบชีวิตได้จริง จึงอาจเป็นโทษแก่ร่างกายเองด้วย ต่อมากลายเป็นว่าสุขภาพก็อาจจะเสียด้วย ได้ด้านหนึ่ง เสียอีกด้านหนึ่ง ทำให้ระบบชีวิตแปรปรวนไป

สิ่งเหล่านี้เป็นได้แค่เครื่องระงับอาการ หรือสำหรับใช้แก้ปัญหาชั่วคราว ก็ใช้ได้ ก็อย่างแก้ไขโรคด้วยยานั่นแหละ แก้ไขให้ผ่านไป แต่ไม่ควรอยู่ด้วยยา ส่วนที่จะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง จะต้องแก้ที่ตัวมนุษย์เอง และต้องแก้ให้ถึงจิตใจของมนุษย์

มนุษย์ที่มีความสามารถและมีอิสรภาพที่แท้จริงก็คือ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถกำหนดชีวิตจิตใจของตัวเองได้ตามสบาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่จะชื่อว่าเป็นมหาบุรุษ ก็เพราะว่า เมื่อต้องการจะคิดอะไร ก็คิดสิ่งนั้น เมื่อไม่ต้องการจะคิดอะไร ก็ไม่คิดสิ่งนั้น โดยที่พระองค์ไม่ต้องเอายามาฉันหรือฉีดเลย ท่านเรียกว่า เจโตวสี แปลว่า มีอำนาจเหนือจิตของตน

ต้องการมีสมาธิเมื่อไร ก็มีได้เมื่อนั้น ต้องการทำจิตให้สงบเมื่อไร ก็ทำได้ทันที ต้องการทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบาน ก็ทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเอายามาฉีด นี่คือ อิสรภาพที่แท้จริงของมนุษย์ และความสุขที่แท้จริง ก็ตั้งอยู่บนฐานของอิสรภาพที่แท้จริงนี้ด้วย

จะแก้ปัญหาให้สัมฤทธิ์
ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดกันใหม่

ตามนัยคำสอนของพระพุทธศาสนา มนุษย์จะมีอิสรภาพเมื่อเป็นใหญ่ในชีวิตของตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้จริง คือพัฒนาตนเอง พัฒนาจิตใจของตนเอง พัฒนาปัญญา จนกระทั่งทำให้ตัวเองเป็นได้ในสิ่งที่ดีที่สุด สามารถเข้าถึงหรืออยู่ในภาวะที่ดีที่สุดได้ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งจัดการภายนอก

หลักนี้ต่างจากวิถีของความคิดแบบตะวันตกที่เข้าใจว่า ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ คือ การไปเอาชนะธรรมชาติภายนอก และเอาธรรมชาติมาจัดสรรปรุงแต่งเพื่อรับใช้มนุษย์ แต่เสร็จแล้วกลายเป็นว่าตัวเองต้องไปขึ้นกับสิ่งเหล่านั้น ไม่เป็นตัวของตัวเอง อยู่เป็นสุขโดยลำพังตัวเองไม่ได้ อยู่ไม่ได้ถ้าขาดสิ่งเหล่านั้น ซึ่งก็คือได้สูญเสียอิสรภาพไปแล้ว

ทีนี้ พอมนุษย์เข้าถึงธรรมชาติแล้ว มนุษย์ก็มีความสุขด้วยตัวเองได้ ส่วนวัตถุบำรุงบำเรอภายนอก ก็เป็นเครื่องเสริมความสุขระดับรอง เมื่อเรามีความสุขภายในของตัวเองเป็นทุนอยู่ชั้นหนึ่งหรือเป็นหลักประกันอยู่แล้ว ความสุขที่อาศัยวัตถุภายนอกของเราก็อยู่ในขอบเขต เราไม่ถึงกับต้องขึ้นต่อมัน แต่มันจะเป็นเครื่องประกอบที่เสริมเพิ่มพูนความสุข

เมื่อเรามีความสุขส่วนหนึ่งเป็นทุนอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปดิ้นรนอย่างรุนแรงในการหาวัตถุบำเรอจากภายนอกเหล่านั้น จึงทำให้เกิดดุลยภาพในเรื่องของความสุข ซึ่งโยงไปหาความหมายของอิสรภาพด้วย คือ อิสรภาพของมนุษย์ที่แท้จริง ที่เป็นไทแก่ตัวเอง ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอกในการที่จะมีความสุข

เมื่อมีดุลยภาพอย่างนี้ ก็จะมีผลออกมาทางสังคมด้วย คือ จากจุดเริ่มของดุลยภาพที่เกิดขึ้นในชีวิตจิตใจของตัวเอง เมื่อชีวิตจิตใจของตัวเองเป็นอิสระ มีความสุขได้เองโดยลำพัง ไม่ต้องขึ้นต่อการแสวงหาวัตถุบำรุงบำเรอแล้ว มนุษย์ก็จะไม่ต้องเบียดเบียนกันทางสังคม และไม่ต้องไปสมคบกันทำลายธรรมชาติแวดล้อมด้วย

มนุษย์จะมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติในแง่ที่อยู่ร่วมกันได้ เพราะมนุษย์สามารถมีความสุขจากการสัมพันธ์กับธรรมชาติเองโดยตรง ไม่ใช่ต้องรอไปเอาธรรมชาติเป็นทรัพยากรมาผลิตเป็นวัตถุบริโภคก่อน แล้วจึงเอามาบำรุงความสุข แต่มนุษย์มีความสุขกับธรรมชาติโดยตรงได้เลยทันที

พร้อมกันนี้ มนุษย์ก็มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อมอย่างเป็นมิตรและเสมอภาค ไม่ใช่สัมพันธ์แบบข่มเหง เอาเปรียบ

มนุษย์ที่พัฒนาแบบที่กล่าวในตอนก่อนนั้น เป็นการทำตัวให้ห่างเหินจากธรรมชาติ แยกตัวจากธรรมชาติ และเป็นการหาความสุข โดยการไปเอาธรรมชาติมาจัดการปั้นแต่งเป็นผลิตผลอีกทีหนึ่ง เป็นวิถีชีวิตที่เอียงหรือพุ่งสุดไปข้างเดียว เรียกว่าเสียดุล ดุลยภาพที่สำคัญมาก ได้แก่ ดุลยภาพของความสุข และดุลยภาพที่เกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์

เพราะฉะนั้น มนุษย์จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีดุลยภาพในความหมายที่ถูกต้องนี้ด้วย แล้วก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้ เขาจะสามารถเข้าถึงธรรมชาติ และมีความสุขจากธรรมชาติโดยตรง แล้วเขาก็จะอยู่กับเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนธรรมชาติ

นี่คือ ถ้าไม่แก้ใขที่คนให้เขาพัฒนาจนถึงจุดนี้แล้ว จะแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรและธรรมชาติแวดล้อมได้ยาก หรือแก้ไม่สำเร็จเลย เพราะเมื่อฐานความคิดมีอยู่อย่างนั้นแล้ว พฤติกรรมในการแก้ปัญหาก็เป็นไปแบบฝืนใจ

ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ประสานไปด้วยกันกับการพัฒนาตัวคน จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งในตัวมนุษย์เอง คือ การที่มนุษย์จะต้องฝืนใจในการแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อม ตามหลักจริยธรมที่เรียกร้องหรือบีบคั้นให้เขาต้องทำโน่นงดนี่ ซึ่งขอเรียกว่าเป็น จริยธรรมแห่งความฝืนใจ หรือ จริยธรรมแห่งความกลัว

นั่นก็คือ เป็น จริยธรรมแห่งความทุกข์ นั่นเอง

จากการประนีประนอมในระบบขัดแย้ง
สู่ดุลยภาพในระบบเอื้อประสาน

ถ้าไม่สามารถแก้ฐานความคิดที่ว่านั้น มนุษย์ยุคต่อไปนี้จะอยู่กันด้วยจริยธรรมแห่งความกลัว เพราะอะไร เพราะว่ามนุษย์จะไม่สมัครใจหรือไม่เต็มใจทำตามหลักจริยธรรม แต่จำต้องฝืนใจประพฤติตามจริยธรรม เนื่องจากเกรงกลัวภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ตน

ที่ว่านี้หมายความว่า เมื่อมนุษย์เชื่อว่า เขาจะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม แต่เขาจะมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมได้อย่างไร เขาก็ต้องไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาจัดการใช่ไหม เมื่อมนุษย์เอาธรรมชาติมาเป็นทรัพยากร เขาก็ต้องทำลายธรรมชาติ แต่ถ้าเขาไปทำลายธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติแวดล้อมเสีย ภัยอันตรายก็จะเกิดแก่ตัวเขาเอง มนุษย์ก็แย่ ก็ทำลายธรรมชาติไม่ได้ เมื่อทำลายธรรมชาติไม่ได้ ก็ไม่ได้วัตถุบำรุงบำเรอตนเอง ก็ไม่ได้ความสุขสมใจ ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเอง ก็คืออยู่กับความทุกข์

อันนี้เป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า dilemma คือจะเอาทางไหนก็ไปไม่ได้ จะเอาความสุขให้เต็มที่ ก็ต้องทำลายธรรมชาติ แต่จะทำลายธรรมชาติ ตัวเองก็เดือดร้อน ทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ตามใจอยาก มนุษย์ก็ต้องอยู่ด้วยความฝืนใจ

ตกลงว่า มีตัวกีดขวางมากั้นไว้ เหมือนกับบอกว่า เธอต้องหยุดนะ เธอมีความสุขได้แค่นี้ เธอจะเอาความสุขมากกว่านี้อีกไม่ได้นะ เธอจะมีความสุขให้เต็มที่อย่างที่เธอต้องการไม่ได้เป็นอันขาด เพราะถ้าเธอจะมีความสุขให้เต็มอยาก เธอก็ต้องทำลายธรรมชาติ เมื่อเธอทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็ทำลายเธอด้วย ตกลงไปไม่รอด นี่แหละเป็นจุดติดตัน

ตอนนี้จริยธรรมตะวันตกมาติดตันอยู่ตรงนี้ คือเป็นได้แค่จริยธรรมแห่งการฝืนใจตัวเพราะความกลัวภัย ที่ว่าเราจะต้องประพฤติดีมีท่าทีที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ ต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ ต้องมีการบริโภคอย่างยับยั้ง ด้วยความฝืนใจ เพราะกลัวว่าภัยจะมาถึงตัว

ตั้งแต่เข้าสู่ยุคปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ ฝรั่งเน้นย้ำเรื่องจริยธรรมกันยกใหญ่ เขาเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้จะแก้ไม่ได้เลย ถ้าคนไม่มีจริยธรรม แต่ฝรั่งก็มาได้แค่จริยธรรมแห่งความกลัว

จริยธรรมแห่งความกลัวนี้ไม่ดี มันทำให้มนุษย์พัฒนาแบบครึ่งๆ กลางๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงความสมบูรณ์ได้ ขัดขวางความสุข แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง

จริยธรรมที่ดี ต้องเป็นจริยธรรมแห่งปัญญา ที่ทำให้มนุษย์ปฏิบัติการด้วยความรู้เหตุผล และเป็นจริยธรรมแห่งความสุขด้วย

จริยธรรมที่แท้ต้องตั้งอยู่บนฐานแห่งความสุข ที่คนมีความเต็มใจจะทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง คือ มีจิตใจที่จะเป็นอยู่และจะทำอย่างนั้นเอง กลมกลืนประสานสอดคล้องกัน และมีความสุขที่จะทำอย่างนั้น ที่จะประพฤติดีงามอย่างนั้น แล้วจริยธรรมจึงจะมีฐานที่มั่นคง

เพราะฉะนั้น ตอนนี้อารยธรรมมนุษย์จึงมาถึงจุดติดตัน ซึ่งทางตะวันตกยังไม่พบทางออกที่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ตะวันตกได้ยอมรับว่า ต้องเลิกแนวความคิดแยกตัวจากธรรมชาติ ต้องให้คนมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ตะวันตกยังไม่รู้จักแนวคิดที่จะมาแทนความเชื่อถือที่ว่ามนุษย์จะมีความสุขต่อเมื่อมีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อม

เมื่อมาติดอยู่ตรงนี้ การแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อม ก็มีความขัดแย้งในตัวเอง คือขัดแย้งที่ว่า เมื่อจะหาความสุขให้ได้มากๆ ก็ต้องไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาจัดการจัดสรรผลิตให้มีวัตถุบำรุงบำเรอพรั่งพร้อมที่สุด แต่บัดนี้เราจะมีความสุขอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าเราทำอย่างนั้นธรรมชาติแวดล้อมก็เสีย เราจะแย่เอง เมื่อมาเจอจุดตันอย่างนี้ ก็เลยต้องใช้วิธี ประนีประนอม

การประนีประนอมก็คือ การที่ต้องยอมอดใจสละเว้นการที่จะเสพสุขให้สมอยาก โดยต้องยอมยับยั้งไม่เอาเต็มที่จากธรรมชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ธรรมชาติดำรงอยู่และเติบโตได้บ้าง ทั้งนี้ เพราะถ้าธรรมชาติอยู่ไม่ได้ ตนเองก็จะต้องดับสูญด้วย ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งความกลัว หรือ จริยธรรมแบบฝืนใจ หรือจะเรียกว่า จริยธรรมแห่งการประนีประนอม ก็ได้

ปัญหานี้ ถ้าจะแก้ ต้องแก้ด้วยหลักดุลยภาพ พอทำตามหลักดุลยภาพ ก็ทะลุรอดปลอดโปร่ง ผ่านโล่งไปได้เลย

แต่ดุลยภาพที่ว่านี้ ต้องหมายถึง ดุลยภาพขององค์รวมเบ็ดเสร็จ ที่ครอบคลุมชีวิตทั้งหมด รวมทั้งด้านจิตใจ คือต้องมีดุลยภาพทางจิตใจด้วย

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาแค่รักษาดุลยภาพในระบบนิเวศทางด้านกายภาพอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีดุลยภาพในด้านจิตใจ คือต้องให้มีความสุขของมนุษย์ในการสัมพันธ์กับธรรมชาติ ตลอดจนการเข้าถึงอิสรภาพที่แท้จริงในที่สุดด้วย

หลักการนี้แหละ คือความสัมพันธ์ของมนุษย์กับป่า ใน แง่คุณค่าต่อชีวิตจิตใจและการพัฒนามนุษย์

องค์รวมแห่งองค์ร่วมสามประสาน
คือฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งหมดนี้ ก็มาจากเรื่องรากฐานทางความคิดนั่นเอง ปัญหาอยู่ที่การมีฐานแห่งความคิดที่ผิด ซึ่งทางพระเรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ

เมื่อมีมิจฉาทิฏฐิ มนุษย์ก็จะคิดจะตั้งความมุ่งหมายและดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิด แล้วก็จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมกิจกรรมและกิจการนานัปการที่ผิด แล้วก็จะพัฒนาอารยธรรมไปในทางที่ผิด

เมื่อมีการพัฒนาที่ผิด ก็จะเกิดปัญหาแก่ชีวิตของตนเอง ทำให้ไม่ได้รับความสุขที่แท้จริง ชีวิตของตัวเองก็ไม่ได้รับผลที่ต้องการ แล้วก็เกิดปัญหาแก่สังคมต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แล้วก็เกิดปัญหาแก่ธรรมชาติ เพราะจะต้องไปเบียดเบียนเอามาจากธรรมชาติ ไปทำลายธรรมชาติ เป็นปัญหา เกิดผลเสียไปหมด ทั้งชีวิตบุคคล คือตัวมนุษย์เอง ทั้งสังคม และธรรมชาติ

เป็นอันว่า องค์ประกอบทั้งสามส่วนในระบบของชีวิตที่ดีงาม เสียไปหมดเลย

ระบบที่ว่านี้ คือระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ หรือองค์รวมที่มีองค์ร่วม ๓ คือ

๑. ตัวมนุษย์เอง หรือชีวิตที่พร้อมด้วยกายและใจ

๒. สังคม

๓. ธรรมชาติ

การที่จะให้มนุษย์ดำรงอยู่ด้วยดี จะต้องให้องค์ทั้ง ๓ นี้ประสานกลมกลืนกันให้ได้ หรือปรับเข้ากันให้สัมพันธ์ได้สัดส่วนอย่างพอดี

แต่ขณะนี้ ด้วยวิธีพัฒนาแบบที่เป็นมา ที่ทางตะวันตกได้สำนึกผิดแล้วนั้น อารยธรรมมนุษย์ต้องมาอับจน เพราะเป็นการพัฒนาที่ทำให้องค์ทั้ง ๓ นั้นเกิดมีความขัดแย้งกัน ไม่สามารถจะประสานกลมกลืนกันได้

มนุษย์มององค์ทั้งสามนั้นอย่างเป็นปฏิปักษ์กัน ที่จะต้องชิงผลประโยชน์กันหรือเอาเปรียบกัน หรือเป็นเครื่องรับใช้สนองความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มองในลักษณะที่ต่างก็เป็นองค์ประกอบร่วมอยู่ในระบบเดียวกัน ที่ต้องอิงอาศัยส่งผลกระทบต่อกัน

เมื่อมองผิดพลาดขัดแย้งต่อความจริงอย่างนี้ เวลาทำก็เกิดผลเป็นความขัดแย้งที่เสียหายด้วย เช่น เพื่อให้ตัวมนุษย์ได้ ก็จะต้องเสียผลหายแก่ธรรมชาติ หรือต้องเกิดการเบียดเบียน แย่งชิงกันในสังคม และเมื่อธรรมชาติเสีย สังคมมีปัญหา ชีวิตมนุษย์แต่ละคนก็ไม่ได้สุขสมดังใจด้วย แล้วก็พากันแปรปรวนหมดทั้ง ๓ องค์ประกอบ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ได้ผลดี ก็ต้องให้องค์ประกอบทั้ง ๓ นี้มาประสานกลมกลืนกันให้ได้ ให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน หมายความว่า จะต้องทำให้เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะที่กลายเป็นว่า สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ก็ดีแก่สังคมด้วย สิ่งที่ดีแก่สังคมก็ดีแก่มนุษย์แต่ละคน แก่ชีวิต ทั้งกายและใจของเขา และสิ่งที่ดีแก่มนุษย์ก็ให้ดีแก่ธรรมชาติด้วย สิ่งที่ดีต่อธรรมชาติก็ดีแก่สังคมและดีแก่ชีวิตของมนุษย์ด้วย

ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ให้ ๓ ส่วนนี้มาประสานกลมกลืนสอดคล้องกันได้ ในระบบองค์รวมที่มีดุลยภาพ เมื่อนั้นคือความสำเร็จของการพัฒนามนุษย์ สิ่งที่เราเรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนามนุษย์ ก็อยู่ที่นี่

ที่ว่ามานี้แหละ คือหลักพระพุทธศาสนาที่มองความหมายอย่างหนึ่งของการศึกษาว่า เป็นการพัฒนามนุษย์ให้สามารถทำให้ความแตกต่างที่อาจขัดแย้ง กลายเป็นการประสานกลมกลืน หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ไม่ทำความต่างให้แตกกัน แต่ทำให้ความต่างมาเติมกัน

ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นการศึกษาที่ผิด ก็ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง

ขณะนี้มีความแตกต่างและขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างผลประโยชน์ของมนุษย์ กับผลประโยชน์ของธรรมชาติแวดล้อม อะไรที่เป็นผลประโยชน์ของธรรมชาติ ก็เป็นความสูญเสียแก่ผลประโยชน์ของมนุษย์ อันใดเป็นการได้ผลประโยชน์แก่มนุษย์ ก็เป็นการสูญเสียแก่ธรรมชาติ เมื่อจะเอาธรรมชาติไว้ มนุษย์ก็สูญเสีย ถ้าจะให้แก่มนุษย์ ธรรมชาติก็เสีย

นี่คือระบบความแตกต่างแห่งผลประโยชน์ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ๓ ส่วนนี้

เราจะต้องหาทางให้ความแตกต่างนี้กลายเป็นความประสานกลมกลืนอย่างเกื้อกูลกันให้ได้ ซึ่งก็ยากเหมือนกัน ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงให้ถึงรากฐานทางความคิด และไม่พัฒนามนุษย์ในแนวทางที่ว่ามาแล้ว ก็ไม่มีทางสำเร็จ แต่เราก็ไม่มีทางเลี่ยง ถ้าต้องการให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้มนุษย์เข้าถึงความสุข และอิสรภาพที่แท้จริง ก็ต้องพยายามทำให้ได้ตามหลักการที่กล่าวมานี้

ตอนนี้มันมาติดตันอยู่ตรงที่ว่า ยังแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างแห่งผลประโยชน์ระหว่าง ๓ ส่วนนี้ไม่ได้ และเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เรา(หมายถึงว่าตามฝรั่ง)ก็เลยใช้วิธีประนีประนอม เรียกว่าใช้จริยธรรมแห่งความกลัว หรือจริยธรรมแห่งการประนีประนอม

การที่จะเปลี่ยนจริยธรรมแห่งความกลัว มาเป็นจริยธรรมแห่งความสุข หรือเปลี่ยนจริยธรรมแห่งการประนีประนอม มาเป็นจริยธรรมแห่งความเอื้อประสานได้ จะต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเฉพาะป่านี้ อย่างถึงขั้นพื้นฐาน ให้มนุษย์มองเห็นและใช้ประโยชน์จากคุณค่าที่ป่าและธรรมชาติแวดล้อมทั้งหลาย มีต่อชีวิตจิตใจและการพัฒนาตนของมนุษย์

หลักการนี้จะช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อมที่ประสบอยู่ในปัจจุบันได้ มนุษย์จะก้าวหน้าไปในปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาที่จะกล่าวในตอนต่อไปได้จนถึงระดับสูงสุด แล้วเราก็จะหลุดออกจากสภาพปัญหาในปัจจุบัน สู่การแก้ปัญหาและสู่ความหวังที่จะเสวยผลสำเร็จของการแก้ปัญหานั้นได้ในอนาคต

ตอน ๓: ไทยอนาคตกับป่า

หลักการทั่วไป ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

การแก้ปัญหา สัมพันธ์กับการพัฒนาตัวคน

ต่อไปจะพูดถึง การแก้ปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม รวมทั้งเรื่องการแก้ปัญหาการอนุรักษ์ป่าและการทำลายป่าด้วย การแก้ปัญหามีหลายระดับ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในระบบการแก้ปัญหา ซึ่งต้องดูที่ประโยชน์ที่เราต้องการ

การแก้ปัญหาระดับที่หนึ่ง คือ การแก้ปัญหาโดยเอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล เป็นขั้นที่เรายอมรับผลประโยชน์ส่วนตัวของมนุษย์ จึงเป็นการแก้ปัญหาพร้อมไปด้วยกันกับการอำนวยประโยชน์แก่ตัวเองของมนุษย์แต่ละคน เช่น เมื่อจะแก้ปัญหาเรื่องป่า เราก็ต้องหาทางออกให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ด้วย แล้วเขาก็จะได้มาร่วมมือช่วยกันรักษาป่า

เราต้องยอมรับว่า มนุษย์แต่ละคนมีความต้องการพื้นฐาน ซึ่งเราควรจะให้เขาได้รับผลประโยชน์ด้วย แม้ว่าจะเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น ในการที่จะอนุรักษ์ป่า เราจึงต้องหาทางให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์บ้าง เราจะไปให้เขาเสียสละอย่างเดียว ก็เป็นการขัดขืนฝืนกระแสความต้องการเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ เขาจะต้องมีการพัฒนาต่อไป ถ้าเอาแค่ผลประโยชน์ส่วนตัวสนองความต้องการเบื้องต้นเท่านั้นแล้ว ในที่สุดมันก็จะนำไปสู่การเบียดเบียนกันและความเสื่อมสูญแห่งจริยธรรม แล้วในที่สุดทุกคนก็จะต้องเดือดร้อนไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น เราจะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้

ในการแก้ปัญหาระดับที่หนึ่ง โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวของมนุษย์แต่ละคนนั้น เรายอมรับความต้องการของปุถุชนว่า “เมื่อเขาทำ ก็ให้เขาได้ด้วย”

ทำอย่างไรจะให้เขามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยมีส่วนร่วมในการได้รับผลประโยชน์ด้วย ให้เขามองเห็นว่า การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ก็หมายถึงการได้รับผลประโยชน์ด้วย

ตอนแรก มนุษย์จะมองผลประโยชน์ในความหมายหยาบๆ ก่อน แต่ที่จริงประโยชน์ของมนุษย์นั้นมีหลายระดับ ถ้าเขามีปัญญา ถ้าเขาพัฒนาขึ้นไป เขาจะมองเห็นประโยชน์ที่ต่างออกไปด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเรานี้ เมื่อจะบริโภคหรือจะกินอะไร ประโยชน์เบื้องแรกที่เขาต้องการคือรสอร่อย เขาจึงมองหาว่าจะกินอะไรจึงอร่อย เขาอยากได้ของอร่อยมาให้แก่ตัวเองให้มากๆ นี้คือประโยชน์ของเขา คนที่ยังไม่มีการศึกษา ยังไม่มีการพัฒนา ก็จะมุ่งให้ได้ประโยชน์อันนี้ คือได้สนองความต้องการของประสาทสัมผัส อยากให้ตาได้ดูรูปดีๆ สวยๆ งามๆ หูได้ฟังเสียงไพเราะ จมูกได้ดมกลิ่นหอมๆ ลิ้นได้ลิ้มรสที่อร่อย ร่างกายได้สัมผัสสิ่งนุ่มนวล ซาบซ่าน อันนี้เป็นประโยชน์เบื้องต้น

ต่อมา เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น มีสติปัญญามากขึ้น เขาเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่อร่อยไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิต บางทีเป็นโทษด้วย ถ้ากินตามอร่อยแล้วบางทีเป็นโทษแก่ร่างกาย เริ่มตั้งแต่กินมากจนกระทั่งท้องอืดไม่ย่อย หรือว่ากินเข้าไปแล้ว บางอย่างไปมีผลร้ายต่อสุขภาพ ก็กลับไม่ดี ของอร่อยที่ชอบใจไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิต

เขาเริ่มมีสติปัญญามองเห็นว่าเขากินเพื่ออะไร กินเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี แล้วสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทำหน้าที่การงานได้ผล และเป็นอยู่อย่างผาสุก

ถึงตอนนี้ เขาเริ่มมองต่างไปแล้ว เขามองสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาในความหมายที่ต่างจากเดิม คนที่เห็นแก่ตัว เริ่มเห็นแก่ตัวเป็น

แต่ก่อนนี้ เห็นแก่ตัวไม่เป็น คือเห็นแก่ตัวแล้วเป็นโทษแก่ตนเอง จะเอาสิ่งที่ตัวชอบใจ แต่ที่จริงเป็นโทษแก่ตัวเอง ไม่รู้จักคิด ไม่มีปัญญา แต่ต่อมาเขาเริ่มรู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขาจริง อย่างอาหารที่จะกินนี้ อะไรเป็นคุณค่าต่อชีวิตอย่างแท้จริง เขาเริ่มรู้จัก ทีนี้เขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินใหม่

ตอนนี้จะเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิต ถึงแม้จะกินอาหารที่อร่อย ก็รู้จักขอบเขต รู้จักปริมาณ กินในขอบเขตที่พอดี ไม่ให้เป็นโทษแก่ร่างกาย ตอนนี้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว นี้เรียกว่าเห็นแก่ตัวเป็น รู้จักเห็นแก่ตัวได้ดีขึ้น เพราะเริ่มมีปัญญารู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ชีวิตตัวเองจริง ตอนนี้ประโยชน์ไม่ใช่อยู่แค่อร่อยแล้ว แต่ประโยชน์ย้ายไปอยู่ที่คุณค่าของอาหารต่อชีวิตร่างกาย

จากที่พูดมานี้ก็จะเห็นว่า มนุษย์ต้องพัฒนา ถ้าไม่มีปัญญา มนุษย์จะไม่สามารถเข้าใจความจริงนี้ได้ เขาก็อยู่ได้แค่ระดับที่หนึ่ง คือ อะไรที่ฉันชอบใจ อะไรอร่อย ก็คือประโยชน์ของฉัน ต้องเอาอันนั้นให้มากที่สุด แต่พอมีพัฒนาการทางปัญญาขึ้น มีการศึกษาขึ้น เขาก็รู้จักว่า อะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตของตนเอง เขาก็รู้จักที่จะปฏิบัติต่อชีวิตและต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น อย่างได้ผลมากขึ้น

นี้คือการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ที่ต้องอาศัยการพัฒนา เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องสัมพันธ์กับการพัฒนามนุษย์โดยตลอด

ผลจากการศึกษาหรือการพัฒนาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เขาเริ่มมองเห็นว่า ผลประโยชน์ของตัวเขา ต้องสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของคนอื่น ถ้าเราเอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ก็จะต้องมีการเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน

พอเรามองกว้างออกไป เราก็เห็นว่า ผลประโยชน์ของเรานี้เนื่องกันกับผลประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การที่จะรักษาป่านี้ มันเป็นประโยชน์แก่เราด้วย และแก่ชุมชนของเราด้วย เมื่อชุมชนของเราดี อยู่กันได้ดี มีความสงบสุข ตัวเราเองก็มีความสุขด้วย ความเข้าใจของเขากว้างขวางขึ้น เขาพัฒนาขึ้น เมื่อเขาคิดเขามองเขาเข้าใจอย่างนี้ การแก้ปัญหาในระบบผลประโยชน์ก็เปลี่ยนไป และเขาก็พร้อมที่จะก้าวต่อไปสู่การแก้ปัญหาในระดับที่สอง

สรุปว่า ตอนแรกที่เราแก้ปัญหาโดยเอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของคนนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์มี ๓ ระดับ คือ

๑. ระดับประโยชน์ส่วนตัวของคนที่ไม่มีการศึกษาเลย ซึ่งมองแต่ในแง่ของความชอบใจหรือไม่ชอบใจ

๒. ระดับประโยชน์ส่วนตัวของคนที่มีการศึกษาแล้ว ซึ่งมองเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิต

๓. ระดับประโยชน์ส่วนตัวของคนที่มีการศึกษาแล้ว ซึ่งมองเห็นว่า ประโยชน์ของตน เนื่องกันกับประโยชน์ของผู้อื่นหรือของสังคม

คนยิ่งพัฒนา
การแก้ปัญหายิ่งได้ผล

ระดับที่ ๒ คือ การแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สังคม ขั้นนี้จะเริ่มต้นได้ในเมื่อคนมีการศึกษาได้พัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้น แล้วทำให้มองเห็นประโยชน์แก่สังคมของตน

ขอให้สังเกตว่า ที่ว่าสังคมนั้น ก็ยังเป็นสังคมของตนอยู่ หมายความว่า มันเป็นเรื่องของหมู่พวกเรา ชุมชนของเรา ตลอดจนหมู่มนุษย์ของเรา ตอนนี้จะมีจริยธรรมตัวหนึ่งเกิดขึ้น คือ ความรู้สึกรับผิดชอบ

พอมีความรู้สึกรับผิดชอบเกิดขึ้น การแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สังคมก็สำเร็จได้ ปฏิบัติการในขั้นนี้ก็จะได้ผล คนจะมีความเข้าใจและมีจิตสำนึกขึ้นมาว่า ที่เราต้องรักษาป่านี้ ก็เพื่อประโยชน์ของสังคมของเรา ที่เรามีส่วนร่วมเป็นส่วนประกอบ หรือเป็นสมาชิกผู้หนึ่ง เราจะต้องช่วยกันรักษาป่านี้ไว้ เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

นี่คือการที่เรามีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงก้าวจากการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล มาสู่การแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของสังคม เริ่มแต่ของชุมชนเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาแบบนี้ จะต้องมีการผสมผสาน คือมีการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวรวมอยู่ด้วย โดยวิธีที่ค่อยๆ ขยายกว้างออกไป

ต่อไป เมื่อมนุษย์มองกว้างขึ้น จนถึงขั้นที่มองเห็นความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ เข้าใจถึงระบบการพึ่งพาอาศัยกัน และผลกระทบที่มีต่อกันในระบบนิเวศ มนุษย์ก็จะขยายความคิดเรื่องผลประโยชน์ออกไป จนถึงขั้นที่เป็น การแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สัตวโลกทั้งหมด คือแก่สรรพชีวิตเลยทีเดียว

ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ก็เพราะเขาขยายความเข้าใจกว้างขวางออกไป มนุษย์มีการพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น มองเห็นอะไรต่ออะไรลึกซึ้งและละเอียดลออขึ้น รู้จักคิดและมองเห็นว่า ชีวิตทุกชีวิตมีความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตอนนี้ก็แก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สรรพชีวิต หรือเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์

นี่เป็นการขยายขอบเขตกว้างออกไป คือ ไม่ใช่เฉพาะเพื่อสังคมของตัวเองเท่านั้น แต่มองเห็นพืชพรรณและสัตว์ทั้งหลาย ที่จะต้องได้รับประโยชน์ด้วย และเราก็มีเหตุผลในการที่คิดอย่างนั้น

ต่อจากนั้นอีกขั้นหนึ่ง ก็คือขั้นที่พูดเมื่อกี้ ได้แก่ การแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่ระบบชีวิตที่ดีงาม ที่มีดุลยภาพแห่งความสุขของมนุษย์ ที่ได้พูดไปในตอนสุดท้าย ที่ว่า เมื่อมนุษย์เข้าใจว่าอะไรเป็นความสุขที่แท้จริงของตนเอง อะไรเป็นอิสรภาพที่แท้จริงแล้ว เขาก็ปรับจิตใจของเขาและปรับพฤติกรรมใหม่ แนวความคิดก็เปลี่ยนไป และพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป

ตกลงว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีแก้ปัญหาตามระบบผลประโยชน์ทั้งนั้น แต่เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของมนุษย์ เงื่อนไขสำคัญก็คือ การพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการศึกษา

การศึกษาก็เพื่อพัฒนาคนให้มีปัญญาที่จะรู้เข้าใจแยกได้ตั้งแต่ระดับความหมายของผลประโยชน์ ซึ่งทำให้เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ว่า ประโยชน์อะไรอยู่ที่ไหน

ประโยชน์เบื้องต้นที่สุดก็คือ ผลประโยชน์ที่มาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กายของตัวเอง แล้วต่อมาก็เป็นประโยชน์แก่ชีวิตที่แท้จริงของเขา ทั้งสองอย่างนี้ยังเป็นส่วนตัว แล้วก็ขยายออกไปเป็นประโยชน์ของชุมชนของสังคม ต่อมาก็เป็นประโยชน์ของระบบชีวิตทั้งหมด ที่มีทั้งมนุษย์ สัตว์ พืช รวมอยู่ด้วยกัน

แล้วก็มาถึงประโยชน์ของระบบชีวิตที่ดีงามที่เป็นนามธรรมเป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นขั้นของความสุขที่มีอิสรภาพที่แท้จริง

นี้คือการแก้ปัญหาในระบบผลประโยชน์ ซึ่งมนุษย์จะทำอะไรก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวมนุษย์นั้นเอง แต่เป็นประโยชน์ที่ประณีตขึ้นไป ที่มนุษย์จะต้องเข้าใจเป็นลำดับขั้น

ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาตัวเอง เขาก็ไม่สามารถก้าวหน้าไปในการเข้าถึงประโยชน์เหล่านี้ และการแก้ปัญหาก็จะทำได้ยาก เพราะเป็นการฝืนใจ

การแก้ปัญหาที่ดีจะสำเร็จได้ เมื่อมนุษย์ไม่มีความฝืนใจ และความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์นี้จะทำให้เขาไม่ต้องฝืนใจ แต่ในทางตรงข้ามจะทำให้เขาพอใจ ชื่นชมยินดี และมีความสุขในการที่จะทำการแก้ปัญหา

เป็นอันว่า ถ้าความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ไม่สอดคล้องตามแนวการพัฒนานี้ การแก้ปัญหาก็จะไปขัดกับผลประโยชน์ และก็จะต้องเกิดการฝืนใจขึ้นมา เป็นการแก้ปัญหาในลักษณะของความขัดแย้ง ที่จบลงด้วยการประนีประนอม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบครึ่งๆ กลางๆ

แต่ในทางตรงข้าม เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองขึ้นไปให้มีปัญญารู้เข้าใจความหมายของผลประโยชน์ที่กว้างขวางออกไปตามลำดับจนครอบคลุมที่สุด การแก้ปัญหาก็จะประสานสอดคล้องกันไปกับกระบวนการพัฒนามนุษย์ เป็นการแก้ปัญหาที่ควบคู่กันไปกับการพัฒนามนุษย์ หรือการแก้ปัญหาที่มีลักษณะของความประสานกลมกลืน ที่ให้ผลจบรอบสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ “การแก้ปัญหาก็ได้ผล และตัวคนก็เป็นสุข”

ตกลงว่า นี้เป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหา

ปฏิบัติการในการแก้ปัญหา

ต่อไปนี้ก็คงจะมาถึงข้อเกือบสุดท้ายแล้ว ได้แก่ตัวจริงของการแก้ปัญหา หรือปฏิบัติการในการแก้ปัญหานั่นเอง

การแก้ปัญหานั้น จะต้องเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน และพร้อมกันนั้น ก็ต้องมีองค์ประกอบในการแก้ปัญหาที่มาประสานกันเป็นระบบบูรณาการ

ระบบบูรณาการก็คือ มีองค์ประกอบร่วมหลายอย่างที่ต้องมาประสานสอดคล้องกลมกลืนเข้าด้วยกัน เมื่อปัจจัยต่างๆ พรั่งพร้อมถึงที่ ก็แก้ปัญหาได้ แต่ถ้าแก้อย่างหนึ่งอย่างเดียว หรือแก้แบบแยกส่วน ก็ไม่สำเร็จ

ทีนี้จะพูดกันในหลักใหญ่ๆ การแก้ปัญหาในระบบบูรณาการ หรือจะเรียกว่าระบบองค์รวมก็ได้นี้ มี ๓ ระดับด้วยกัน คือ

๑. ระดับพฤติกรรม

๒. ระดับจิตใจ

๓. ระดับปัญญา

การแก้ปัญหาระดับพฤติกรรม: ด้วยกติกาของสังคม

๑. ระดับพฤติกรรม การแก้ปัญหาในระดับพฤติกรรม คือ ทำอย่างไรจะให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่ไม่ทำลายป่า แต่ให้มีพฤติกรรมที่อนุรักษ์ป่า หรือมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการอยู่ด้วยดีของป่า

เครื่องมือขั้นพื้นฐานที่สุดที่จะจัดวางไว้เป็นหลักประกันเบื้องต้น ก็คือ กฎเกณฑ์ หรือระเบียบ ข้อบังคับในสังคม เรียกง่ายๆ ว่า กติกาของสังคม อันนี้จำเป็นต้องมี แม้ว่าจะต้องระลึกตระหนักไว้ตลอดเวลาว่า กติกาอย่างเดียวจะให้ผลสำเร็จไปหมดไม่ได้

แต่ในสังคม มนุษย์ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบประเภทนี้ คือ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เช่น กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งจะต้องตกลงกำหนดกันว่าจะเอาอย่างไร สังคมจะเอาอย่างไร

แต่กฎเกณฑ์หรือกฎหมายนี้ มีจุดอ่อนที่เป็นปัญหาหลายอย่าง คือ

ก) ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนา ไม่มีปัญญา ขาดความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ ก็กลายเป็นเครื่องบีบคั้นบังคับกัน ทำให้ต้องมีการลงโทษ และทำให้เกิดการฝืนใจปฏิบัติ เนื่องจากความกลัวภัย กลัวโทษ เสียผลทางจิตใจ

ข) เมื่อเป็นเรื่องบีบบังคับฝืนใจ มนุษย์ก็จะหาทางหลีกเลี่ยง และนอกจากพวกที่หลบเลี่ยงได้แล้ว ก็ยังจะมีการทุจริตในระบบของการใช้กฎหมายอีกด้วย มนุษย์อาจจะสมคบกัน หรือทำอะไรด้วยประการต่างๆ ที่เป็นการทุจริต ทำให้กฎหมายไม่ได้ผล

อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในหมู่มนุษย์ ที่ว่าสังคมต้องมีกติกา

นอกจากนี้ กฎหมายยังจะมีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ กฎหมายเป็นของรัฐ เป็นของส่วนรวม เป็นข้อกำหนดความต้องการของส่วนรวมทั้งประเทศ แต่เมื่อสภาพท้องถิ่นไม่เหมือนกันก็จะทำให้เกิดผลในทางลบได้ เพราะในท้องถิ่นก็จะมีกฎหมายอีกประเภทหนึ่ง คือกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นมาโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร ได้แก่ วัฒนธรรมประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของกฎระเบียบเหมือนกัน

วัฒนธรรมประเพณีก็คือ กฎระเบียบข้อบังคับที่มีมาโดยไม่ได้วางเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นข้อกำหนดให้มนุษย์ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นต้องอยู่ในกรอบที่ว่าจะประพฤติตัวอย่างไร จะมีพฤติกรรมอย่างไร ตลอดจนมีวิธีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่งเป็นผลจากประสบการณ์ในการเป็นอยู่ของคนในที่นั้นเอง เพราะฉะนั้น โดยปกติมันจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและได้ผลกว่า

บางครั้ง กฎหมายของรัฐ ซึ่งออกจากส่วนกลางจะไปขัดกับวัฒนธรรมประเพณี ก็เลยเกิดปัญหา

ที่จริง ทางฝ่ายกฎหมายของรัฐนั้นแพ้วัฒนธรรมประเพณี เพราะคนที่วางกฎเกณฑ์จากศูนย์กลางนั้น ไม่รู้ความเป็นจริง ไม่รู้จักสภาพที่แท้ของท้องถิ่น แต่วัฒนธรรมประเพณีนั้น เกิดจากประสบการณ์ของคนที่เขาอยู่กันมาอย่างนั้น เขาสร้างขึ้นมาจากความเป็นอยู่ และจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ของเขาเอง ที่เขาจะต้องอยู่กันให้ดี

นอกจากนั้น กฎหมายของประเทศที่เป็นของกลาง ต้องทำในวงกว้างแบบเหมาคลุม จึงไม่อาจทำให้เหมาะกับท้องถิ่นต่างๆ ที่ไม่เหมือนกันได้ทั่วทั้งหมด

ถ้าจะให้ดี จึงควรจะต้องใช้วิธีประสานกลมกลืนกัน โดยให้กฎหมายเอื้อโอกาสแก่วัฒนธรรมประเพณีบ้าง ให้กฎหมายคลุมในส่วนที่ต้องปรับสม่ำเสมอกันทั่วประเทศ แล้วใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมประเพณีในฐานะเป็นตัวเสริมสำทับบ้าง

อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมประเพณี ก็มิใช่ว่าจะดีเสมอไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ก็อาจจะขัดแย้ง ไม่ประสานกลมกลืน และไม่เอื้อประโยชน์เท่าที่ควร จึงต้องมีการปรับ และต้องรู้จักใช้อย่างฉลาด แต่รวมแล้วก็เป็นเรื่องของกฎระเบียบ ข้อบังคับ กติกาของสังคมซึ่งต้องมี อันนี้เป็นประการที่หนึ่ง

ในสังคมที่พัฒนาดีแล้ว ที่คนก็พัฒนาแล้ว และกฎหมายก็วางไว้ดีตามหลักการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ กฎหมายนั้นจะมีความหมายเป็นกติกาจริงๆ คือเป็นเพียงข้อตกลงสำหรับคนในสังคมจะหมายรู้ร่วมกัน ว่าในการอยู่ร่วมกันและเพื่อประโยชน์สุขร่วมกันนั้น เราจะอยู่กันอย่างไร และจะทำอะไรกันอย่างไร

นี่ก็เหมือนการอยู่ในครอบครัว ที่มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะกินจะนอน จะทำอะไรที่ไหนเวลาไหน หรือเหมือนกฎจราจรที่มีไว้เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ที่จะเดินทางได้สะดวกที่สุดในสถานการณ์ที่ต่างคนต่างก็จะต้องเดินทางกันทั้งนั้น

สำหรับคนที่พัฒนาแล้ว กฎหมายจึงไม่ใช่สิ่งบีบบังคับ แต่เป็นข้อหมายรู้ร่วมกัน

การแก้ปัญหาระดับพฤติกรรม:
ด้วยการสร้างความเคยชินที่ดี

อย่างไรก็ดี ในสังคมที่มีคนมากมายอยู่ในระดับการพัฒนาต่างๆ กัน การแก้ปัญหาในด้านพฤติกรรมแค่นี้ยังไม่พอ ได้บอกแล้วว่า กฎหมายและระเบียบข้อบังคับทั้งหลาย ยังมีข้อบกพร่องอย่างที่ว่า เมื่อคนมองเป็นเครื่องบีบบังคับ ก็จะมีการฝืนใจ เนื่องจากขัดแย้งต่อผลประโยชน์ ความสะดวกสบาย และความเคยชินส่วนตัว ทำให้มีการหลีกเลี่ยง และมีการสมคบกันทุจริตได้

วิธีแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเป็นปฏิบัติการในระดับพฤติกรรมเหมือนกัน

ส่วนดีอย่างหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมประเพณีได้ผลดีกว่ากฎหมายของรัฐก็คือ การสร้างความเคยชิน

วัฒนธรรมประเพณีเป็นพฤติกรรมเคยชินอย่างหนึ่ง ที่เป็นส่วนหลักของสังคม คือเป็นสิ่งที่สังคมถ่ายทอดทำตามกันมาจนลงตัว ถึงขนาดที่ปฏิบัติไปตามโดยไม่รู้ตัว

นอกจากพฤติกรรมเคยชินของสังคมแล้ว พฤติกรรมเคยชินของแต่ละบุคคลก็เป็นตัวกำหนดสำคัญในการดำเนินชีวิตของเขา

การที่คนจำนวนมากมีพฤติกรรมบางอย่างที่พึงปรารถนา ก็เพราะมีพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งมาจากพฤติกรรมเคยชินของสังคม คือวัฒนธรรมประเพณีก็มี มาจากพฤติกรรมเคยชินส่วนบุคคลก็มี

อย่างเช่น เมื่อเราพูดถึงสังคมตะวันตกว่า คนมีนิสัยชอบศึกษาค้นคว้า ชอบอ่านหนังสือ ตลอดจนเข้าคิวเรียงแถว อันนี้ก็เป็นพฤติกรรมเคยชินที่ถ่ายทอดกันมาจากพ่อแม่ถึงลูก จากคนรุ่นเก่าถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งทำตามกันมาโดยไม่รู้ตัว เป็นเรื่องที่เคยชินลงตัวไปอย่างนั้นแล้ว

คนเรานี้เกิดมาแล้ว ก็ต้องมีการเคลื่อนไหว เมื่อมีการเคลื่อนไหวอย่างไรแล้ว ก็มักจะเคลื่อนไหวซ้ำอย่างเดียวกันนั้นอีกในสถานการณ์ที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน เมื่อเคลื่อนไหวอย่างนั้นๆ ซ้ำๆ ก็กลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน และพฤติกรรมเคยชินของเขานั้นก็จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง คือไม่ดีก็เสีย และถ้าพฤติกรรมเคยชินเกิดขึ้นแล้ว ก็แก้ไขยาก

ฉะนั้น เราจะต้องหาทางทำให้เกิดพฤติกรรมเคยชินที่ดีขึ้นมา ก่อนที่พฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีจะชิงตัดหน้าเกิดขึ้นเสียก่อน

โดยเฉพาะในการให้การศึกษาแก่มนุษย์ จุดนี้สำคัญมาก อย่างเช่น ในครอบครัว การศึกษาส่วนใหญ่ในตอนแรกก็เป็นการสร้างพฤติกรรมเคยชินนั่นเอง คือทำให้เด็กมีพฤติกรรมเคยชินที่ดีเสียก่อน เป็นการตัดหน้า ไม่ปล่อยเรื่อยเปื่อย หรือไม่เปิดโอกาสให้พฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีเข้ามาได้ แต่ถ้าเผลอปล่อยให้เด็กมีพฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีเกิดขึ้นแล้ว ก็แก้ไขยาก

โดยเฉพาะก็พ่อแม่นี่แหละสำคัญยิ่งนัก เด็กจะติดความเคยชินจากการพูดตามทำตามรู้สึกตามพ่อแม่เป็นทุนประเดิม ถ้าพ่อแม่ขาดสติ ไม่ระมัดระวัง ลูกก็จะได้ความเคยชินที่ไม่ดีทั้งทางพฤติกรรมและทางความคิดความรู้สึกทัศนคติจากพ่อแม่เองบ้าง จากสิ่งแวดล้อมอื่นที่มีอิทธิพลแรง เช่นทีวี บ้าง พ่อแม่จึงต้องตระหนักเรื่องนี้ไว้ให้ดี และมีสติที่จะนำลูกไปในวิถีที่ถูกต้อง

ต้องย้ำว่า มนุษย์ส่วนใหญ่นี้ เมื่อมีพฤติกรรมเคยชินลงร่องแล้วจะแก้ไขยาก มนุษย์ส่วนใหญ่จะอยู่ด้วยพฤติกรรมเคยชิน เคยทำอะไรอย่างไร ก็จะทำอย่างนั้น เคยชอบหรือไม่ชอบอะไร อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้น แล้วความเคยชินทั้งทางพฤติกรรมและทางความคิดจิตใจ ก็จะเป็นตัวการสำคัญที่นำกำหนดวิถีชีวิตหรือโชคชะตาของเขา และก็อันนี้แหละที่คำพระเรียกว่า “วาสนา”

มีมนุษย์ส่วนน้อยที่พัฒนาตัวได้ดี ที่จะสามารถปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมความคิดท่าทีของจิตใจที่เคยชินได้ และมนุษย์พวกนี้แหละที่จัดว่าเป็นมนุษย์ขั้นที่ดีมาก คือเป็นนักพัฒนาตน มีการศึกษาที่ดี และจะมีวาสนาที่ดี

วิธีการส่วนสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับประเมินศักยภาพของคนในการที่จะพัฒนาต่อไปว่าจะดำเนินไปได้ดีแค่ไหน ก็ดูที่การแก้พฤติกรรมเคยชิน คนที่ไม่ติดในพฤติกรรมเคยชิน หรือพร้อมที่จะแก้พฤติกรรมเคยชินที่ไม่ดีได้ง่าย จะเป็นผู้สามารถพัฒนาปรับปรุงชีวิตให้เจริญงอกงาม และดำเนินกิจการต่างๆ ได้สำเร็จด้วยดี แต่คนอย่างนี้มีน้อย มนุษย์ส่วนใหญ่จะติดอยู่ในพฤติกรรมเคยชิน

ฉะนั้น จึงถือเป็นหลักการสำคัญว่า จะต้องสร้างพฤติกรรมเคยชินที่เอื้อต่อการบำรุงรักษาธรรมชาติ

ในสังคมบางสังคม พฤติกรรมเคยชินจะเป็นอย่างนั้นเอง เนื่องจากถ่ายทอดกันมาเป็นวัฒนธรรมประเพณี แล้วก็ทำตามกันไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ต้องพยายาม เมื่อพฤติกรรมเคยชินอย่างนั้นเป็นพฤติกรรมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์ และเป็นพฤติกรรมที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของธรรมชาติ ก็จึงเป็นการรักษาธรรมชาติไปในตัว

ในสังคมไทย ดูเหมือนว่าเราจะมีพฤติกรรมเคยชินที่ไม่เกื้อกูลต่อธรรมชาติแวดล้อม เช่น เด็กของเรานี้ พอเห็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ที่อ่อนแอกว่าตัวที่ไหน ก็จะวิ่งไล่ จะต้องเอาไม้ตี ไม้ขว้าง หรือยิงมัน นี่ถือว่าเป็นพฤติกรรมเคยชินในทางที่ไม่ดี

เมื่อปล่อยต่อไปก็เคยตัว เป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ถ่ายทอดไปยังรุ่นเด็กต่อไป กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคม แต่เป็นวัฒนธรรมในทางเสื่อมเสีย

เพราะฉะนั้น เรื่องพฤติกรรมเคยชินนี้จึงเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาในระดับพฤติกรรม ซึ่งจะต้องเน้นสำหรับเด็ก เราจะต้องพยายามวางแนวทางการศึกษาในขั้นต้น คือ การสร้างพฤติกรรมเคยชินที่ดีที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ป่า รักษาธรรมชาติแวดล้อม อันนี้เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องช่วยกัน

แม้แต่การบริโภค ก็จะเป็นไปในรูปของพฤติกรรมเคยชิน พฤติกรรมเคยชินเป็นอย่างไร ก็จะกินกันอย่างนั้น แล้วก็จะมีผลให้เป็นการกินที่ฟุ่มเฟือย หรือการกินที่ประหยัด เป็นต้น ของสังคมนั้นอย่างไม่รู้ตัว

ขอยกตัวอย่าง เช่น ในสังคมเกาหลี ซึ่งอาตมาเคยไป และได้ฉันอาหารของเกาหลี เขาเอาบาตรของเกาหลีมาให้ใช้ บาตรของเขานั้น เป็นบาตรชุดที่ซ้อนกันหลายขนาด และทั้งหมดนั้นซ้อนอยู่ในบาตรใบใหญ่ใบเดียว รวมทั้งหมดมี ๔-๕ ใบซ้อนกันอยู่ เล็กลงไปตามลำดับ

พอนั่งจะฉัน ก็ดึงเอาแต่ละใบนี้ออกมาวางต่างหากกัน แล้วก็ตักอาหารใส่ และต้องฉันให้หมด ไม่ให้มีเหลือ เพราะจะต้องเก็บบาตรทุกใบนั้นซ้อนกันอย่างเก่า เพราะฉะนั้น จะต้องฉันให้เกลี้ยง และจะต้องเทน้ำล้างลงในบาตรทุกใบ แล้วดื่มด้วย ดื่มหมดแล้วบาตรก็สะอาด แล้วก็นำมาซ้อนกัน เสร็จแล้วก็ถือเอาไปเก็บไว้ อันนี้ก็เป็นพฤติกรรมเคยชิน สังคมของเขาอยู่กันมาอย่างนั้น เราจะเห็นว่าพฤติกรรมเคยชินแบบนี้เอื้อต่อการประหยัด

ทีนี้เราก็ลองมาตรวจสอบตัวเองดูซิว่า พฤติกรรมเคยชินของคนไทย เป็นพฤติกรรมที่เอื้อต่อการประหยัดและส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไม่ พฤติกรรมไหนดี ที่ควรจะรักษา พฤติกรรมไหนไม่ดี ที่ควรจะแก้ไข เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของพฤติกรรมเคยชินทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่

สรุปว่า การแก้ปัญหาระดับที่หนึ่งคือ การแก้ปัญหาระดับพฤติกรรม ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. การออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กติกาของสังคม

๒. การสร้างพฤติกรรมเคยชิน

สองอย่างนี้จะต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะแก้ปัญหา แต่แค่นี้ยังไม่พอ การแก้ปัญหาในระดับพฤติกรรมเท่านั้นไม่พอ จะต้องก้าวไปสู่ขั้นที่สอง คือ ระดับจิตใจด้วย

การแก้ปัญหาระดับจิตใจ:
สร้างคุณธรรมและความสุข

๒. ระดับจิตใจ องค์ประกอบของการแก้ปัญหาในระดับจิตใจนี้มีมากมาย เช่น จิตสำนึกรับผิดชอบ ความเมตตากรุณา ท่าทีของจิตใจที่ชื่นชมความงามของธรรมชาติ ความรู้สึกเป็นสุขในการอยู่กับธรรมชาติ เป็นต้น คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น

คุณสมบัติที่ว่านั้น บางทีเป็นความเคยชินของจิตใจ ที่ส่งอิทธิพลหล่อหลอมจากพ่อถึงลูก และจากแม่ถึงลูกได้ เรานำเด็กเข้าไปเที่ยวในสวน ในอุทยานแห่งชาติที่สวยงาม ให้เขาสนุกสนานเพลิดเพลินมีความสุข เขาก็จะมีความประทับใจ ฝังใจ แล้วมีความรู้สึกที่ดีต่อธรรมชาติ มีความรักความพอใจชอบที่จะอยู่ในบรรยากาศอย่างนั้น

เมื่อใดพฤติกรรมที่ดี มีรากฐานทางจิตใจด้วย พฤติกรรมนั้นจะแน่น ถ้าเขาไม่มีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมนั้นจะไม่ยั่งยืน ถ้าเมื่อไรเขามีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมนั้นจะมั่นคงยั่งยืนคงอยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องให้พฤติกรรมกับจิตใจประสานกัน

ทำอย่างไรจึงจะให้เขามีความสุขในการที่จะมีพฤติกรรมอย่างนั้น ถ้าพฤติกรรมนี้เกื้อกูลต่อธรรมชาติ เป็นพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เราอยากให้เขามีพฤติกรรมอย่างนั้นสืบต่อไป เราก็ต้องพยายามให้เขามีความสุขในการที่จะมีพฤติกรรมอย่างนั้นด้วย

ในเรื่องนี้ การสร้างท่าทีความรู้สึก พร้อมทั้งบรรยากาศแวดล้อม เช่น ความรู้สึกของพ่อแม่ ครู อาจารย์ ที่แสดงออกต่อสภาพแวดล้อม เป็นการสร้างบรรยากาศในการนำเด็กเข้าสู่ธรรมชาติ บรรยากาศนี้มีอิทธิพลมากในการสร้างความรู้สึกแก่เด็ก

โดยเฉพาะในครั้งแรก พอเขาเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติแวดล้อมครั้งแรก ถ้าผู้ที่นำเข้าไป โดยเฉพาะผู้ใหญ่ จะเป็นพ่อแม่ หรือครูอาจารย์ก็ตาม ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจที่ดี ก็จะทำให้เขามีความสุข ต่อจากนั้น ความรู้สึกที่ดีนั้นก็จะติดอยู่ และพฤติกรรมที่ดีต่อธรรมชาติก็จะตามมา อันนี้สำคัญมาก

เพราะฉะนั้น พฤติกรรมจึงต้องให้สัมพันธ์กับจิตใจ ให้ลงถึงจิตใจ ด้วยการสร้างท่าทีของจิตใจ พร้อมทั้งความรู้สึกที่ดีงาม ที่มีความชื่นชมธรรมชาติเข้ามาให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะก็คือความสุข ถ้าคนมีความสุขควบคู่ประสานกันไปกับพฤติกรรม พฤติกรรมนั้นก็จะอยู่มั่นคง

ตกลงว่า ในระดับจิตใจนี้ เราอาจจะมุ่งไปที่คุณธรรมสำคัญคือ เมตตากรุณา ความรู้สึกพอใจและเป็นสุข และจิตสำนึกรับผิดชอบ ทั้ง ๓ ตัวนี้ถ้าได้มา ก็เป็นส่วนที่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะการรักษาป่ามาก

อย่างไรก็ดี เพียงแค่ระดับจิตใจยังไม่พอ ต้องได้อีกระดับหนึ่งคือ ระดับปัญญา

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
เมื่อมองเห็นคุณค่า ก็แก้ปัญหาด้วยความพอใจ

๓. ระดับปัญญา การแก้ปัญหาในระดับปัญญาเริ่มตั้งแต่การมองเห็นเหตุผล หรือมองเห็นประโยชน์ในการที่จะมีพฤติกรรมอย่างนั้น

เราอาจจะอธิบายให้เขาเห็นว่า การกระทำอย่างนั้นดีอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างไร การมีพฤติกรรมนั้นๆ มีเหตุผลอย่างนี้ๆ

เมื่อเด็กเข้าใจเหตุผล มองเห็นคุณค่าของพฤติกรรมนั้นๆ แล้ว ก็จะยิ่งสำทับให้เขามีความพอใจและมีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้นมากขึ้น เพราะการเห็นคุณค่านั้น เป็นปัจจัยที่เสริมความพอใจและความสุข

เมื่อเด็กเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ เขาก็จะมีความพอใจที่จะทำยิ่งขึ้น และความพอใจก็ทำให้เขามีความสุข

เพราะฉะนั้น ในภาคจิตใจ ความพอใจและความสุข ในการที่จะทำอย่างนั้น ก็อาศัยภาคปัญญา คือการสร้างความเข้าใจเข้ามาช่วยเสริมอีก แล้วก็ส่งผลไปยังภาคพฤติกรรมให้ได้ผลจริงจังยั่งยืนยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาทั้ง ๓ ระดับ หรือ ๓ ภาค จึงสัมพันธ์อิงอาศัยกัน

เพราะฉะนั้น ในการที่จะให้เด็กมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เมื่อเด็กพร้อม เราจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจเสริมเข้าไปเรื่อยๆ ให้เขาเห็นเหตุผลในการกระทำของเขา เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ในการกระทำ แล้วการเห็นคุณค่าของพฤติกรรม หรือประโยชน์ของพฤติกรรม และเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องทำอย่างนี้ ก็จะย้ำพฤติกรรมที่เขาพอใจให้ประทับแน่น

การมองเห็นเหตุผลที่ชัดเจน จะเป็นหลักประกันให้เขาถูกชักจูงไปอย่างอื่นไม่ได้ เป็นการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ถ้าเป็นพฤติกรรมเคยชินอย่างเดียว แม้จะมีความสุขทางจิตใจมาช่วย แต่ถ้าไม่มีปัญญากำกับ ก็ยังไม่แน่น ไม่มั่นคงโดยสมบูรณ์ เขาอาจจะถูกชักจูงให้เขวได้ แต่พอมีปัญญามองเห็นเหตุผลเห็นคุณค่าแล้ว เห็นด้วย มีความชัดเจนด้วยปัญญาของตนเอง พฤติกรรมก็แน่นถึงที่สุด ใครจะชักจูงออกไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องพัฒนาคนให้ครบทั้ง ๓ ระดับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไม่จบแค่นี้ ในระดับปัญญา การพัฒนายังมีความเจริญแยกซอยออกไปอีกมาก เมื่อกี้นี้เห็นเหตุผลของพฤติกรรม โดยมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น มองเห็นคุณค่าของธรรมชาติแวดล้อม เห็นคุณค่าของต้นไม้ เห็นคุณค่าของป่า ซึ่งเกิดจากปัญญา ด้วยการสอนให้เกิดความเข้าใจ

แต่คุณค่าที่ว่านี้เรามักจะมองในความหมายของคน ซึ่งหมายถึงคนที่เห็นแก่ตัว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มองในความหมายที่สนองความเห็นแก่ตัวของคนก่อน คือในตอนแรกนั้น เรามุ่งที่จะเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย โดยเราไม่ได้นึกถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น

ทีนี้ พอเราจะมองหาคุณค่า คุณค่าแง่ที่หนึ่งที่เรามองเห็น ก็จึงเป็นคุณค่าในแง่ที่เราจะเอาประโยชน์จากมัน โดยมากคนจะมองคุณค่าในแง่นี้ว่า เออ! เราจะเอาอะไรจากมันได้บ้าง เราจะเอามันมาทำอะไรได้บ้าง นี่คือคุณค่าในความหมายของคนหมู่มาก

คุณค่าอย่างนี้ยังอยู่ในระบบความคิดแบบเห็นแก่ตัวที่จะไปเอาผลประโยชน์ คือมนุษย์มองแต่เพียงว่าจะได้ จะเอา จากสิ่งทั้งหลาย พอมองคุณค่าปั๊บ ก็นึกถึงแต่คุณค่าที่สนองความต้องการของตัวเอง ว่าเราจะเอาประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง

นี้เป็นการมองความหมายของคุณค่าในระบบความคิดที่แพร่หลายมาก แต่การมองอย่างนี้ไม่ถูก คุณค่าในความหมายอย่างนี้ยังไม่ปลอดภัย คุณค่าที่แท้ไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่แค่นี้

คุณค่าที่ถูกต้องแท้จริง เป็นคุณค่าที่ออกมาจากตัวของสิ่งนั้นเอง แต่คุณค่าที่แท้จริงนี้ก็เกิดจากการมองย้อนพลิกกลับนั่นเอง คือคุณค่าที่ว่าเราจะเอาประโยชน์จากมันนี่แหละ ถ้ามองอีกทีแบบพลิกกลับด้านกัน ก็จะเห็นเป็นคุณค่าอีกแบบหนึ่ง

ตรงนี้หมายความว่า ทีแรกเรามองว่า เราจะได้อะไรจากมัน เราจะเอามันมาทำอะไร แต่ทีนี้ถ้ามองกลับอีกทีหนึ่ง ความหมายจะกลายเป็นว่า สิ่งนั้นให้อะไรแก่เรา เมื่อกี้นี้เรามองจะเอา คราวนี้เรามองว่า มันให้อะไรแก่เรา

พอเรามองว่า มันให้อะไรแก่เรา ก็เริ่มจะเป็นคุณค่าที่แท้จริงของมันแล้ว คราวนี้เราจะมองเห็นว่ามันมีคุณค่าต่อชีวิตของเรา มันเป็นประโยชน์ มันเอื้ออำนวยต่อชีวิตของเรา เป็นความดีของมัน ตรงนี้แหละคือคำว่า “คุณ” ที่โบราณเรียกว่า “มันมีคุณ” ที่เราควรจะ “กตัญญู”

ตามความหมายนี้ พืชพรรณ ต้นไม้ ป่า มีคุณแก่มนุษย์ มันมีคุณ มันมีความดี มันเอื้อ มันให้อะไรแก่เรา เราจึงมีความสำนึกคุณ คือรู้เข้าใจคุณค่าของมัน

คุณค่าในแง่นี้ ไม่ใช่เป็นเพียงว่า คุณค่าที่ว่าเราจะเอามันมาทำอะไร หรือจะเอาอะไรจากมันได้บ้าง ไม่ใช่มองในแง่ของตัวเรา หรือการสนองความต้องการของเรา โดยเอาตัวเราเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นการมองออกไปที่สิ่งนั้นๆ ว่า มันให้อะไรแก่เรา มันมีอุปการะต่อชีวิตของเราอย่างไร มันเป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตของเราอย่างไร

คุณค่าในความหมายนี้นี่แหละสำคัญ พอเรามองเห็นคุณค่าในความหมายนี้ว่า มันมีคุณต่อชีวิตของเรา เราจะเริ่มมีความรู้สึกรักมัน และจะมีความรู้สึกที่ดีตอบแทน คือความรู้สึกที่เริ่มคิดว่าจะให้แก่มันบ้าง

ตรงนี้แหละจะเป็นจุดเริ่มที่นำไปสู่พฤติกรรมอนุรักษ์ที่มั่นคง เป็นท่าทีที่เป็นประโยชน์มาก คือมีความระลึกว่า มันให้อะไรแก่เรา แล้วเราก็เริ่มรู้สึกที่อยากจะให้แก่มันบ้าง หรือจะทำอะไรเพื่อมันบ้าง มันเกื้อกูลต่อเรา เราก็คิดเกื้อกูลต่อมัน

แล้วก็จะนำไปสู่ความรู้สึกตามมาอีกอย่างหนึ่งที่ดีมาก คือ พอเรารู้สึกรักมัน อยากจะเกื้อกูลให้แก่มันบ้าง เราจะมีความรู้สึก "เป็นสุข" ในการที่จะทำอย่างนั้นด้วย ความสุขก็เกิดขึ้นในลักษณะใหม่ หรือมีความสุขอย่างใหม่เกิดขึ้น

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
จากจริยธรรมแห่งความกลัว สู่จริยธรรมแห่งความสุข

แต่ก่อนนี้เรามีความสุขแบบเดียว คือ ความสุขด้วยการเอาจากธรรมชาติ หรือได้จากธรรมชาติ เมื่อจัดการเอาธรรมชาติมาสนองความต้องการของเราได้ เราก็มีความสุข ซึ่งเป็นความสุขแบบคับแคบ

แต่ตอนนี้จะมีความสุขอย่างใหม่ คือ เมื่อเรามีความรู้สึกที่ดีต่อธรรมชาติแล้ว มีความรู้สึกเห็นคุณของธรรมชาติ รักธรรมชาติ อยากจะทำอะไรให้แก่ธรรมชาติบ้างแล้ว เราก็จะมีความสุขในการที่จะให้ หรือทำให้แก่ธรรมชาติ

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่า ความรู้สึกที่รักธรรมชาติ อยากจะเกื้อกูลต่อธรรมชาติ อยากจะให้แก่ธรรมชาตินั้น ก็คือความอยากจะให้ธรรมชาติมีความสุข หรือให้ธรรมชาติอยู่ในภาวะที่ดีที่งามที่มีความสมบูรณ์ ทีนี้ พอเราทำได้อย่างนั้น ก็สมใจเรา เราก็มีความสุข

เหมือนกับในการปฏิบัติต่อคนด้วยกัน ตอนแรกเราอยากจะได้จากเขาอย่างเดียว ต้องเอาจากเขา เมื่อได้จากเขามาแล้ว เราก็จะมีความสุข แต่ถ้าจะต้องให้แก่เขา เราก็เสีย พอรู้สึกว่าเราเสีย เราก็เสียดาย ฝืนใจ เราก็เป็นทุกข์

มนุษย์เรานี้ ตอนแรกเมื่อยังไม่พัฒนา ก็จะต้องมีความสุขจากการได้การเอา เมื่อได้มาฉันก็มีความสุข แต่ถ้าจะต้องให้เขาบ้างก็ฝืนใจ ต้องเสีย การให้ก็กลายเป็นความทุกข์

แต่ถ้าเราเกิดมีความรักขึ้นเมื่อไร ท่าทีนี้ก็เปลี่ยนไป พอรักเขา เราก็อยากให้เขามีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากเห็นเขามีความสุข ถ้าเราทำอะไรให้เขามีความสุขได้ เราก็จะมีความสุข การให้แก่เขา เป็นพฤติกรรมสำคัญที่จะทำให้เขามีความสุข เพราะฉะนั้น เราจึงให้แก่เขา แล้วเราก็มีความสุข

เหมือนอย่างพ่อแม่รักลูก พอพ่อแม่ให้แก่ลูก พ่อแม่ก็มีความสุข แต่ถ้าไม่รักกัน การให้ก็เป็นการฝืนใจ กลายเป็นความสูญเสีย และทำให้เกิดความทุกข์

เป็นอันว่า ถ้าไม่รัก การให้ก็เป็นความเสีย และเป็นความทุกข์ แต่ถ้ารัก การให้ก็กลายเป็นความสมใจปรารถนา และเป็นความสุข

พูดง่ายๆ ว่า “ความรักทำให้การให้ เปลี่ยนจากความเสียมาเป็นความสุข” และเมื่อการเอาหรือการได้ เปลี่ยนมาเป็นการให้ ความสุขของฝ่ายหนึ่งที่ก่อความทุกข์แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็กลายเป็นการสร้างความสุขแก่ทั้งสองฝ่าย อันนี้เป็นหลักธรรมดาตามธรรมชาตินี่เอง

เพราะฉะนั้น ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถูกต้อง จะต้องให้มนุษย์กระทำด้วยความสุข ให้มีพฤติกรรมที่เกื้อกูลต่อกัน ด้วยลักษณะจิตใจที่ดี มีความรู้สึกที่ดี คือมีความสุข

เมื่อพัฒนาคนได้ถูกต้องอย่างนี้แล้ว มนุษย์ให้แก่กัน ก็มีความสุขได้ เพราะรักกัน มีเมตตาต่อกัน มีไมตรีต่อกัน

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรามีความรู้สึกมองเห็นคุณของธรรมชาติ มองเห็นคุณของสิ่งทั้งหลาย เราก็อยากจะเห็นสิ่งเหล่านั้นอยู่ในสภาพที่ดี แล้วเราก็มีความรู้สึกที่ดี อยากจะเกื้อกูล อยากจะช่วยเหลือเกื้อหนุน อยากจะให้แก่มัน และเราก็มีความสุขในการที่จะทำอย่างนั้น

อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยมากในระดับที่ว่า ปัญญาย้อนกลับมาช่วยพฤติกรรม โดยเกิดจากปัญญาเห็นคุณก่อน ปัญญาเห็นคุณแล้วก็ช่วยให้จิตใจมีความสุขความพอใจ ในการที่จะทำพฤติกรรมที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ และทำให้พฤติกรรมนั้นยั่งยืนมั่นคงยิ่งขึ้น โดยมีฐานทั้งทางจิตและปัญญา เกิดความประสานสอดคล้องไปด้วยกันหมดทั้ง ๓ ระดับ ครบทั้งระบบ

ตกลงว่า เรามีการพัฒนาจากการมองหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง มาสู่การมองเห็นคุณค่าของผู้อื่น แล้วความหมายของคุณค่าก็พัฒนามาเป็นคุณ ในแง่ที่ว่ามีความเกื้อกูลต่อกัน มีอุปการะต่อกัน เกื้อหนุนต่อกัน แล้วก็นำไปสู่คุณธรรมที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ คือ เกิดความรัก แล้วก็อยากจะให้ อยากจะเกื้อกูลกัน แล้วก็มีความสุขที่เกิดจากการให้ หรือการเกื้อกูลกันนั้น

ตามหลักการแห่งการพัฒนามนุษย์นี้ ก็จะได้สิ่งที่เป็นจริยธรรมแห่งความสุข ไม่ใช่เป็นจริยธรรมแห่งความกลัว ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งโมหะ ที่มนุษย์กลัวภัยอันตราย แล้วจึงยอมประพฤติดีไปทีหนึ่ง ถ้าไม่มีภัยอันตรายมาถึงตัว ก็ไม่ยอมทำความดี

ที่ต้องทำดี ก็เพราะกลัวจะถูกลงโทษบ้าง กลัวอันตรายต่างๆ จะเกิดขึ้นแก่ตนบ้าง กลัวจะไม่ได้ผลประโยชน์ที่ปรารถนาบ้าง เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แล้วก็ไม่รู้ตัวกันด้วยว่า อันนี้เป็น จริยธรรมที่มีปัญหา

เมื่อเราเห็นคุณค่าของสิ่งใดแล้ว เราก็เห็นโทษของการทำลายสิ่งนั้นไปพร้อมกันด้วย แต่เราก็ต้องชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจน อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติในระดับปัญญาเหมือนกัน คือ การมองเห็นโทษของการทำลายธรรมชาติ โดยเฉพาะการทำลายป่า

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
มองเห็นระบบปัจจัยสัมพันธ์แห่งสรรพสิ่ง

ต่อจากนี้เป็นขั้นลึกเข้าไปอีก ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับสิ่งที่ได้พูดมาแล้ว คือการมีปัญญาที่มองเห็นความจำเป็นในการรักษาดุลยภาพในระบบของการอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของสิ่งทั้งหลาย

ตอนนี้ก็เข้ามาสู่ระบบความคิดที่ว่า เรามองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติ คือระบบของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายว่า สิ่งทั้งหลายทุกอย่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีผลกระทบต่อกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งก็จะมีผลกระทบต่อส่วนอื่นด้วย อันนี้เรียกสั้นๆ ว่าเป็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือระบบปัจจัยสัมพันธ์

เมื่อเราสอนเรื่องความสัมพันธ์อิงอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็คือการให้ปัญญาขั้นเข้าใจกฎธรรมชาติ ที่จำเป็นยิ่งสำหรับยุคปัจจุบันนี้

มนุษย์จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนี้ ซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ที่สิ่งทั้งหมด รวมทั้งมนุษย์ ต่างก็เป็นส่วนประกอบรวมอยู่ในระบบความสัมพันธ์อันเดียวกัน ที่จะต้องส่งผลกระทบต่อกัน

ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะเป็นเครื่องบอกเหตุผลว่า ทำไมเราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อจะรักษาระบบความสัมพันธ์นี้ให้อยู่ในดุลยภาพ การที่เราพูดถึงระบบดุลยภาพแห่งนิเวศ และอะไรอื่นทำนองนั้น ก็เป็นเรื่องในขั้นนี้ทั้งนั้น

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
บริโภคด้วยปัญญา ให้เกิดความพอดี

เรื่องของปัญญา ยังรวมถึงความเข้าใจในเรื่องปลีกย่อยอีกมากมาย แต่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องย้ำเน้นไว้ ก็คือ เรื่องความเข้าใจคุณค่าที่แท้ของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งที่จริงก็พูดมาแล้ว แต่เป็นส่วนสำคัญมากในการรักษาธรรมชาติแวดล้อม กล่าวคือ พฤติกรรมสำคัญของมนุษย์ที่ก่อปัญหาแก่ธรรมชาติอย่างมาก ก็คือ การบริโภค

เมื่อมนุษย์จะบริโภค คือเมื่อจะสนองความต้องการในการบริโภค เขาก็ต้องผลิต เมื่อเขาต้องผลิต เขาก็ต้องไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เมื่อบริโภคมาก ก็ผลิตมาก เมื่อผลิตมาก ก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก

เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ คำว่า การผลิต จึงมีความหมายเป็นการทำลายด้วย

ในยุคนี้ คนเริ่มมองเห็นความหมายใหม่ว่า การผลิตมีความหมายเป็นการทำลายด้วย แต่ก่อนนี้ไม่คิดกันว่า การผลิตคือการทำลาย แต่เดี๋ยวนี้ยอมรับว่า การผลิตคือการทำลายในรูปใดรูปหนึ่ง

เมื่อเราเอาทรัพยากรธรรมชาติมาทำการผลิตในทางอุตสาหกรรม ก็คือเราต้องทำลายธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าเราจะอนุรักษ์ธรรมชาติ เราก็ต้องพยายามให้การผลิตของเรานี้ทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด หรือไม่ทำลายเลย

แต่การผลิตนั้น ก็เพื่อสนองการบริโภค เพราะฉะนั้น พฤติกรรมของมนุษย์ที่สำคัญคือ “การบริโภค”

ถ้าเราแก้พฤติกรรมในการบริโภคของมนุษย์ได้ ก็จะแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมไปได้มากมาย และตอนนี้แหละที่ปัญญามีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง

เบื้องแรก ขอให้พิจารณาความหมาย ความมุ่งหมาย และเหตุผลของการบริโภค

คนจำนวนมาก ไม่เคยคิดไม่เคยถามตัวเองเลยว่า การบริโภคของมนุษย์เพื่ออะไร แต่เขาจะมีความรู้สึกที่เป็นการมองความหมายและคุณค่าของการบริโภค ว่าเป็นการกระทำเพื่อจะได้บำรุงบำเรอความสุขของตัวเอง ซึ่งก็เข้าสู่ระบบความคิดของยุคอุตสาหกรรมเมื่อกี้ที่บอกว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่ต้องหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตนเองให้มากที่สุด ซึ่งก็คือต้องบริโภคให้มากที่สุด

พฤติกรรมการบริโภคอย่างนี้ก็คือ การบริโภคชนิดที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการเห็นแก่ตัวไม่เป็น มุ่งแต่จะสนองความพอใจในระดับพื้นฐานที่ไม่ใช้ปัญญา เช่น กินเพื่อเห็นแก่อร่อยอย่างเดียว หรือเพื่อเห็นแก่ความโก้ หรูหรา กินเพื่ออวดฐานะ แสดงความฟุ่มเฟือย อะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมบริโภคที่ทำให้เกิดการสูญเปล่ามากมาย ไม่ดีทั้งแก่ชีวิต ทั้งแก่สังคม และแก่ธรรมชาติแวดล้อม เสียหมดตลอดกระบวนการ

ทีนี้ พอมนุษย์ใช้ปัญญาในการบริโภค คือบริโภคด้วยปัญญา เขาก็จะถามตัวเอง และจะพิจารณาหาความหมายและคุณค่าอย่างจริงจังว่า “บริโภคเพื่ออะไร”

แล้วเขาก็จะตอบได้เองว่า บริโภคเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต ที่จะหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีสุขภาพดี สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จะได้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม มีกำลังที่จะศึกษาเล่าเรียน ทำหน้าที่การงานได้ ทำประโยชน์สุขได้ และเป็นอยู่ผาสุก

เมื่อมองเห็นความหมายและความมุ่งหมายอย่างนี้ ก็จะมีมาตรฐานในการวัดความพอดีในการบริโภคว่า กินแค่ไหนจึงจะพอดีกับความต้องการของชีวิต และเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง แล้วเขาก็จะกินอย่างพอดี พฤติกรรมในการบริโภคก็จะเปลี่ยนไป

ตอนนี้ก็จะมีการบริโภคชนิดที่เรียกว่า รู้จักประมาณ ขึ้นมา คือรู้จักพอดีในการบริโภค หรือบริโภคอย่างพอดี ทำให้การบริโภคมีขอบเขต และเป็นประโยชน์ที่แท้จริง เพราะเป็นการบริโภคที่เป็นประโยชน์แก่ตัวชีวิตเอง ไม่ใช่ว่า ตัวคนแซบ แต่ชีวิตแทบสิ้น

นี่ก็คือเป็นการ บริโภคด้วยปัญญา ที่ทำให้ชีวิตเข้าถึงประโยชน์ ทั้งได้คุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิตด้วย และทำให้ลดการเบียดเบียนกันในสังคม ไม่ต้องแย่งชิงกันมากด้วย แล้วก็ทำลายธรรมชาติแวดล้อมน้อยลงด้วย คือ ได้ผลดีครบหมดเลยทั้ง ๓ ด้าน

ดังนั้น เพียงแค่มนุษย์ปรับความเข้าใจในการบริโภคให้ถูกต้อง แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคให้สนองปัญญา ที่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ผลดีก็เกิดขึ้นแก่การอนุรักษ์ธรรมชาติทันที และผลดีนั้นก็สอดคล้องกันหมดทั้งกระบวนการ

ฉะนั้น การบริโภคด้วยปัญญานี้ จึงเป็นการฝึกเบื้องต้นในพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า “โภชเนมัตตัญญุตา” (ความรู้จักประมาณในการบริโภค) ซึ่งหมายถึงการบริโภคด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความหมายและคุณค่าของการบริโภค ว่าเราบริโภคเพื่ออะไร

เพราะฉะนั้น สำหรับพระที่เข้ามาบวชใหม่ จึงมีคำสอนเบื้องต้นอย่างหนึ่งว่าให้ ปฏิสังขาโย คือจะต้องพิจารณาก่อนบริโภคว่า เราบริโภคเพื่ออะไร ไม่ใช่บริโภคเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อจะสนุกสนาน มัวเมา หรือเพียงเพื่อจะอวดโก้แสดงฐานะอะไรกัน ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ากินแบบนั้นก็มีแต่ผลเสียหมดทุกด้าน จึงต้องมองความหมายของการบริโภคให้ถูกต้อง

พอบริโภคด้วยปัญญา ก็ปรับพฤติกรรมในการบริโภค ทำให้บริโภคอย่างรู้จักประมาณ รู้จักพอดี แล้วก็เกิดคุณทั้ง ๓ สถาน มีผลดีทั้งระบบ

อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือความพอดีที่เป็นทางสายกลาง

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
พอคนมีความสุขอย่างอิสระ ป่าก็ได้รับการอนุรักษ์เต็มที่

ผลดีที่สืบเนื่องต่อไป คือ การที่ได้ปฏิบัติอย่างนี้ ก็จะโยงเข้าไปสู่การเข้าถึงชีวิตดีงามแท้ที่เป็นอิสระ เพราะว่า เมื่อเราบริโภคด้วยปัญญา เรามองเห็นคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตจากการบริโภคนั้น เราก็ได้ความพึงพอใจในการบริโภคอย่างนั้น

ตรงข้ามกับคนที่ไม่ใช้ปัญญาในการบริโภค เมื่อเขาไม่มองดูที่คุณค่าต่อชีวิตที่แท้จริงต่อชีวิต เพราะมัวมุ่งแต่จะหาความสุขจากความเอร็ดอร่อย เขาก็ไม่มีความพอใจและไม่มีความสุขในการบริโภคเพื่อคุณค่าที่แท้อย่างนั้น เขาจะมีความสุขต่อเมื่อได้กินอร่อยอย่างเดียว

ส่วนคนที่บริโภคด้วยปัญญา จะกินเพื่อเอาคุณค่าที่แท้ พอเขามองเห็นว่ากินอะไรแค่ไหนจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตแล้ว เขาก็มีความพอใจในการบริโภคสิ่งนั้นแค่นั้น เพราะเมื่อเขากินเพื่อเอาคุณค่าแท้แก่ชีวิต เขาก็สมปรารถนาที่จะได้ประโยชน์แก่ชีวิต และเขาก็มีความสุขในการบริโภคอย่างนั้นด้วย

อันนี้ก็เป็นพัฒนาการของชีวิตอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งทำให้เขารู้จักชีวิตดีงามที่เป็นอิสระมากขึ้น เขาเริ่มมีความสุขโดยไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุบำรุงบำเรอมากนัก และรู้ด้วยว่ามันมีโทษอย่างไรในการกินแบบบำรุงบำเรอให้เต็มที่นั้น เขามองเห็นว่า เมื่อบริโภคไม่เป็น แม้แต่กินอาหารก็ยังเป็นโทษเลย การบริโภคสิ่งอื่นๆ อย่างขาดปัญญาและท่าทีที่ถูกต้อง จะมีโทษอีกเท่าไหน

ด้วยปัญญาและความสุขอย่างนี้ ชีวิตก็เป็นอิสระดีขึ้น

มนุษย์ที่รู้จักกินรู้จักบริโภคให้พอดี นอกจากมีความสุขแบบเป็นอิสระมากขึ้นแล้ว ก็ไม่ต้องทุ่มเทเวลา แรงงาน และความคิดไปให้กับการสาละวนหาสิ่งบำเรอผัสสะประสาท จึงสามารถนำเอาเวลา แรงงาน และความคิด ที่จะใช้ในการหาวัตถุบำรุงบำเรอลิ้นเป็นต้นนั้น ไปใช้ทำสิ่งอื่นที่ดีเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป เช่น การพัฒนาจิตใจ พัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคม เป็นต้น

ด้วยการพัฒนาคนอย่างที่ว่ามานี้ การอนุรักษ์ธรรมชาติก็ได้ผลขึ้นมาเองทันที โดยไม่ต้องตั้งใจอนุรักษ์เลย เพราะว่า ชีวิตมนุษย์เป็นอิสระมากขึ้น มีความสุขโดยไม่ต้องขึ้นกับวัตถุบำรุงบำเรอที่จะต้องคอยเอาจากธรรมชาติ แต่มีความสุขแบบที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากจิตใจของตัวเองที่เป็นมิตรสนิทสนมกับธรรมชาติ ตลอดจนเข้าถึงความจริงแห่งธรรมชาติของโลกและชีวิตด้วยปัญญาที่สว่างแจ้ง

เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ความพอใจและความสุขอย่างใหม่ก็เกิดขึ้นทันที มนุษย์ก็เป็นอิสระมากขึ้น ธรรมชาติก็ปลอดภัยมากขึ้น มีโอกาสอยู่ดีมากขึ้น ชีวิตก็ได้ประโยชน์จากตุณค่าแท้ที่มันต้องการ สังคมก็ไม่ต้องเบียดเบียนแย่งชิงกันมาก ธรรมชาติก็ค่อยรอดจากการถูกผลาญ ประสานไปด้วยกันทั้งหมด

นี่แหละคือหนทางแห่งดุลยภาพที่เกื้อกูลต่อทุกฝ่าย เช่นว่า เมื่อกินพอดีด้วยพฤติกรรมที่เกิดจากปัญญา ชีวิตก็ดีด้วย สังคมก็ดีด้วย ธรรมชาติแวดล้อมก็ดีด้วยหมด

เป็นอันว่า ในระบบการพัฒนาที่จะให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมีความประสานกลมกลืนนั้น เบื้องต้น คนจะต้องมีท่าทีที่เกิดจากรากฐานทางความคิดใหม่ที่ถูกต้อง คือ การมองมนุษย์เป็นส่วนร่วมอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย มองสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์กันหมด มีอะไรเกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อกัน ที่เรียกสั้นๆ ว่า อิทัปปัจจยตา

จากนั้น แนวความคิดที่นำไปสู่ความเกื้อกูลต่อกันและกันก็จะเกิดขึ้น คือ ทำให้มองเห็นประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่ไปประสานกับประโยชน์ของฝ่ายอื่น ในลักษณะที่ว่า สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ หรือสิ่งที่ดีแก่ชีวิต ก็ดีแก่สังคมด้วย และดีแก่ธรรมชาติด้วย สิ่งที่ดีแก่ธรรมชาติ ก็ดีแก่สังคมมนุษย์ และดีแก่ชีวิตมนุษย์ด้วย ถ้าถึงขั้นนี้ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา

ที่พูดมานี้ คือ แนวทางการแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเป็นขั้นๆ ๓ ระดับ คือ ระดับพฤติกรรม ระดับจิตใจ และระดับปัญญา โดยที่ทั้ง ๓ ระดับนั้นจะต้องประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันด้วย เพราะมันอาศัยซึ่งกันและกัน

ขอย้ำตั้งแต่ระดับเริ่มต้นว่า เมื่อมีพฤติกรรมเคยชินอย่างใด คนก็มักจะติดในพฤติกรรมนั้น จะไม่อยากหรือไม่รู้ตัวที่จะแก้พฤติกรรมนั้น เขาจะทำพฤติกรรมนั้นไปโดยไม่รู้ตัว หรือมีความยึดมั่นในพฤติกรรมของตนว่าดีแล้ว และมีความโน้มเอียงที่จะปกป้องพฤติกรรมนั้น

เมื่อใครคนใดคนหนึ่งมีพฤติกรรมเคยชินแล้ว คนอื่นลองมาจะแก้ซิ จะเกิดปัญหาทีเดียว

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้คนมีพฤติกรรมที่ดี ที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ถ้าเป็นไปได้ เราต้องรีบให้เขาเคยชินกับพฤติกรรมที่ดีนั้นตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือตั้งแต่เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องราว กิจกรรม หรือกรณีนั้นๆ แล้วพฤติกรรมที่ต้องการก็จะลงตัวและอยู่ตัว

ยิ่งถ้าเขาได้ความสุขจากพฤติกรรมแบบนั้น พฤติกรรมของเขาก็ยิ่งยั่งยืน และถ้าเขาเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ เห็นเหตุผลในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น พฤติกรรมที่พึงประสงค์ก็ยิ่งหนักแน่นมั่นคง

เพราะฉะนั้น ทั้งพฤติกรรม ทั้งจิตใจ และทั้งปัญญา จะต้องประสานเสริมกันตลอดทุกขั้น

เมื่อใดคนมีปัญญารู้แจ้งชัดในระบบความสัมพันธ์แห่งดุลยภาพของชีวิตของมนุษย์ ของสังคม และของธรรมชาติ อย่างชัดเจนทั่วตลอดแล้ว ก็จะทำให้พฤติกรรมและจิตใจประสานสอดคล้องกันไปด้วย เพราะว่าเมื่อปัญญาคนเห็นอย่างไรแล้ว จิตใจก็จะปรับไปตาม พฤติกรรมที่มีจิตใจนั้นเป็นฐาน ก็จะเป็นของแท้จากในตัวของเขาเอง

ถ้าปัญญาเห็นชัดเจนทั่วตลอดจริงๆ จิตใจก็จะปรับตามถึงขั้นที่มีความพอใจและเป็นสุขในแนวทางที่ปัญญาชี้บอก เมื่อจิตใจพอใจและเป็นสุขอย่างนั้นแล้ว พฤติกรรมก็จะอยู่ตัวและยั่งยืนต่อไป

เพราะฉะนั้น การพัฒนามนุษย์จึงต้องประสานกันทั้ง ๓ ระดับ ทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา อย่างที่ได้กล่าวมา

อันนี้เป็นการแก้ปัญหาที่พูดในขั้นหลักการ ซึ่งคิดว่าการดำเนินการในระดับปฏิบัติการ ก็จะต้องตั้งอยู่บนฐานของหลักการนี้

คิดว่าได้พูดมาก็ยาวนานแล้ว และนิสิตที่มา ก็ได้ช่วยกันขุดดิน ปลูกต้นไม้กัน ก็เหนื่อยกันมากพอสมควร แล้วยังต้องมานั่งทนฟังอีก ดังนั้นก็ควรจะพูดให้มาถึงจุดสุดท้ายเสียที

คติธรรมส่งท้าย

สุดท้ายนี้ จะขอฝากคตินิดหน่อย ในพระพุทธศาสนานี่ พระพุทธเจ้าตรัสพุทธภาษิตไว้บทหนึ่งว่า “จงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้” ผู้ฟังคงสงสัยว่า เอ! จะตัดป่า แต่ไม่ให้ตัดต้นไม้ จะทำอย่างไร

ใครไขปริศนาธรรมนี้ได้บ้าง เป็นคาถาอยู่ในธรรมบท คติธรรมนี้ก็เป็นแง่คิดอย่างหนึ่งที่จะนำมาช่วยเสริมการแก้ปัญหาในการอนุรักษ์ธรรมชาติได้

ปัญหาการทำลายป่านี้ ก็คือคนไปตัดต้นไม้ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าตัดต้นไม้ ให้ตัดป่า

ทีนี้ ป่าคืออะไร ในภาษาไทยก็ดี ภาษาบาลีก็ดี อย่างที่เคยพูดมาแล้ว คำว่า “ป่า” นั้นคู่กับคำว่า “เถื่อน” มักจะพ่วงมากับความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น อย่าเอากฎหมายป่านะ หรือว่า อย่าทำกันอย่างป่าเถื่อนนะ ในคำพูดเหล่านี้ คำว่า “ป่า” พ่วงเอาความรู้สึกอย่างไรมาด้วย ลองวิเคราะห์ดู จะเห็นว่า

๑. “ป่า” ให้ความรู้สึกว่า น่ากลัว โหดร้าย ทารุณ ไม่มีกฎเกณฑ์ เช่น กฎหมายป่า ก็หมายความว่าจัดการกันด้วยกำลัง ไม่ต้องเอาหลักเอาเกณฑ์อะไร แล้วแต่ว่าใครจะมีกำลังเหนือกว่ากัน คนที่มีกำลังเหนือกว่า ก็เบียดเบียนข่มเหงคนอื่นเอา เป็นเรื่องการข่มเหงแย่งชิงทำร้ายกันโดยไม่มีกฎเกณฑ์กติกา

๒. “ป่า” ให้ความรู้สึกว่า รกรุงรัง ไม่มีระเบียบ เช่นในคำว่า รกเป็นป่าเลย ป่าชัฏ ไม่เป็นระเบียบ ไม่สะอาด

๓. “ป่า” ให้ความรู้สึกว่า ล้าหลัง ห่างไกล ไม่เจริญ

๔. “ป่า” ให้ความรู้สึกว่า โง่เขลา เบาความ ไม่ค่อยมีปัญญา

ความรู้สึกเหล่านี้พ่วงมากับคำว่า “ป่า” ป่าอย่างนี้ก็อยู่ในใจของคนนี้แหละ คือภาวะจิตใจที่ไม่พัฒนา ป่าที่อยู่ในใจคนนี่แหละ ที่เป็นตัวเหตุให้เกิดการทำร้าย และทำลายป่าข้างนอก โดยการไปตัดต้นไม้

เพราะฉะนั้น ที่ท่านบอกว่าให้ตัดป่าเสียนั้น ก็คือให้ชำระล้างป่าที่อยู่ในใจคน คือตัดความเห็นแก่ตัว ตัดความคิดที่ว่าใครมีกำลังมากกว่าก็เอา ข่มเหงคนอื่น แล้วก็ทารุณโหดร้าย ไม่ทำตามกฎเกณฑ์กติกา ได้แก่ กิเลส ที่สกปรกรกรุงรังอยู่ในใจ เช่น โลภ โกรธ หลง ความโง่เขลา รู้ไม่เท่าทัน ล้าหลัง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่มันอยู่ในใจมนุษย์ ตัดคือกำจัดมันเสีย ไม่ต้องไปตัดต้นไม้

ถ้าเราแก้ป่า คือสภาพไม่พัฒนาในใจคนนี้ได้แล้ว ก็จะแก้พฤติกรรมของคนในการไปตัดไม้ทำลายป่าได้ ฉะนั้น รวมความก็คือต้องพัฒนามนุษย์นั่นเอง ท่านจึงบอกว่าตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้

ส่วนการปลูกป่า ที่อาตมาได้ยกพุทธภาษิตมาอ้างตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผู้ปลูกสวน ปลูกป่า ทำสาธารณประโยชน์นี้ ได้บุญทั้งคืนทั้งวันตลอดเวลา อันนี้หมายถึงการปลูกป่า ในความหมายที่อยู่ในระบบนิเวศที่แท้จริง ที่จะทำให้รักษาดุลยภาพในธรรมชาติได้ ซึ่งเป็นการปลูกป่าที่เป็นป่าจริงๆ ภายนอก คือช่วยกันปลูกต้นไม้ อันนี้เป็นคำกล่าวในเชิงรูปธรรม ไม่เหมือนอันแรกที่ว่าตัดป่าในใจคน

เพราะฉะนั้นก็สรุปได้ว่า คนสมัยปัจจุบันนี้มีปัญหามากที่ว่า ยังมีป่าอยู่ในใจ ที่จะต้องตัดทิ้งเสียด้วยการพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่พัฒนาบ้านเมืองด้วยการตัดต้นไม้

เมื่อกำจัดสภาพป่าในใจให้หมดไป ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่อยู่ในกฎเกณฑ์กติกา มีระเบียบ มีคุณธรรม มีเมตตากรุณา มีความรับผิดชอบ มีปัญญารู้จักคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย และมีความสุขความพอใจในคุณค่าที่ประณีตแล้ว มนุษย์จะได้ช่วยกันรักษาป่าที่แท้ไว้ โดยที่การตัดต้นไม้ ก็จะได้เพลาลงไป ไม่ให้ถึงขั้นที่จะเกิดความเสียหาย ไม่ให้เป็นภัยอันตรายต่อระบบนิเวศ แต่อันนี้ก็เป็นเพียงแง่คิดไว้

ทีนี้ การที่เราจะวินิจฉัยว่า การอนุรักษ์ป่าและการปลูกไม้อย่างไรจะดีที่สุดนี้ เราตกลงไว้ว่า จะคำนึงถึงประโยชน์เป็นชั้นๆ โดยยอมรับผลประโยชน์ส่วนตัวของคนไว้ด้วย ถือว่าเป็นประโยชน์ระดับที่หนึ่ง ในระบบการประสานประโยชน์ เรายอมรับว่า บางทีประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล ก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อส่วนรวมด้วย

แต่ถ้าเอาแค่ประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลอย่างเดียว ก็ไปไม่รอดแน่ๆ จะต้องทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น มีความหมายขยายออกไป เป็นผลประโยชน์ของชุมชน ของสังคม แล้วก็เป็นประโยชน์ของระบบนิเวศ ตลอดจนระบบชีวิตที่ดีงามที่ครอบคลุมทั้งรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมด เป็นชั้นๆ ไปตามลำดับ

ถ้าเมื่อไรเราขยายประโยชน์ให้มีความหมายคลุมหมดได้ นั่นก็คือความสมดุล

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ให้พร้อมในระบบความสัมพันธ์อิงอาศัยกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งปวง

แม้แต่พฤติกรรมเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว ถ้าส่งผลเกื้อกูลต่อส่วนรวม เราก็ยอมรับได้ โดยถือว่าเป็นอุบายอันหนึ่ง เพื่อให้ประโยชน์ส่วนบุคคลโยงไปสู่ประโยชน์ส่วนอื่นที่กว้างออกไป เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหา อย่างน้อยก็ในเบื้องต้น เป็นการทำให้เขามีส่วนร่วม ซึ่งนอกจากจะให้เขามีส่วนร่วมในการทำ หรือในการสร้างสรรค์แล้ว บางทีเราก็ต้องให้เขามีส่วนร่วมในการได้ผลประโยชน์ด้วย

แต่อย่าหยุดเท่านั้น ข้อสำคัญคือ มนุษย์ต้องมีการพัฒนา ถ้าเราไปติดอยู่ในระดับเดียวก็จบ ไปไม่รอด จะต้องพัฒนาขยายไปตามลำดับ แต่เราจะต้องรู้เท่าทันความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ทุกระดับ ตั้งแต่เขายังไม่ได้พัฒนาเลย ซึ่งเขามีความต้องการในระดับนั้นๆ ที่ยังต้องสนองอยู่

เมื่อรู้เข้าใจความจริงอย่างนี้ เราก็ขยายความสัมพันธ์ในระบบประโยชน์นี้ให้กว้างออกไป จนกระทั่งสมบูรณ์เป็นองค์รวมที่มีดุลยภาพที่แท้จริง และอันนี้ก็คือ การแก้ปัญหาแบบที่ทุกอย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ถ้าแก้ปัญหาถึงระดับนี้ ก็จะแก้ปัญหาของประเทศได้ และแก้ปัญหาระดับโลกก็ได้ด้วย และในการแก้ปัญหานี้ มนุษย์ก็มีความสุขในการแก้ปัญหาด้วย แล้วคนกับป่าก็จะอยู่กันอย่างเป็นมิตร มีความสนิทสนมอยู่ร่วมกันด้วยดี

ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ที่ท่านอาจารย์และนิสิตทุกท่านได้มีน้ำใจเกื้อกูลด้วยกุศลจิต ได้มาที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรมนี้ และได้บำเพ็ญประโยชน์ ช่วยกันปลูกต้นไม้ ด้วยความมุ่งหมายให้เป็นป่า เป็นส่วนเสริมเพิ่มป่าที่มีอยู่นี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขอให้กุศลเจตนานี้อำนวยอานิสงส์ที่ดีงาม ให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข ประสบความก้าวหน้างอกงามและความสำเร็จในชีวิตการงาน เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวมให้พรั่งพร้อม โดยทั่วกัน

1ธรรมกถา ของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แก่คณะข้าราชการและนิสิต มี ดร.สุรีย์ ภูมิภมร เป็นผู้นำ ในคราวทำบุญปลูกป่าที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม เขาสำโรงดงยาง ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๓๖
2ปกเฏว (ปกเตว ก็ว่า) อรรถกถาของที่นี่เองแปลว่า "อย่างปกติ" แต่คำนี้โดยทั่วไปแปลว่า ทำ หรือสร้าง อรรถกถา-ฎีกาบางแห่งแปลว่า "ปฏิยตฺต, อภิสงฺขต" ในที่นี้ ถือตามนัยนี้ จึงแปลว่า จัดสรร แต่งสรร หรือสรรสร้าง
3หนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนเรื่องนี้ไว้มาก คือ
Clive Ponting, A Green History of the World (New York: St. Martin's Press, 1991), pp. 141-160
4"... through science and technology, man could bend nature to his wishes. This is essentially the modern view of science, and it should be emphasized that it occurs only in Western civilization. It is probably this attitude that permitted the West to surpass the East, after centuries of inferiority, in the exploitation of the physical world."
"science, history of," Encyclopaedia Britannica. Chicago: Encyclopaedia Britannica, 1998.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.