ทันโลก ถึงธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ทันโลก ถึงธรรม
(เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)

ทางศิริราชนิมนต์ให้เขียนเรื่องตามหัวข้อที่ตั้งไว้ข้างบนนั้น เริ่มต้นด้วย “เหลียวหลัง” ซึ่งก็คือให้เล่าเรื่องเก่าในอดีต แต่อาตมาเวลานี้มีความจำเลือนรางอย่างยิ่ง เหตุการณ์ต่างๆ มากมายส่วนใหญ่ได้หายหมดไปจากความทรงจำ นึกได้ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย เห็นเป็นภาพเหตุการณ์บางอย่างชั่วครู่ชั่วขณะผ่านๆ ไป เช่นว่า นานมาแล้ว ใกล้ พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น มีข่าวว่า ที่ศิริราช มีการจัดฝึกสมาธิ ศาสตราจารย์ นพ. โรจน์ สุวรรณสุทธิ ทดลองวัดคลื่นสมองของคนที่นั่งสมาธิ นึกได้แค่นั้น และในภาพหนึ่ง มองเห็นตนเองกำลังเดินเข้าไปข้างหน้าที่ประชุมฟังการบรรยายธรรม ของชุมนุมพุทธธรรมศิริราช และอาจารย์หมอประเวศ วะสี พูดนำแก่ที่ประชุมนั้น

พูดถึงท่านผู้ใหญ่สำคัญมาก ที่เป็นผู้เสนอจัดตั้ง ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช) คือ ศาสตราจารย์ นพ. อวย เกตุสิงห์ อาตมาจำนามของท่านได้แม่น ท่านประจำอยู่ในบรรยากาศของศิริราชในยุคสมัยนั้น แต่อาตมาระลึกเหตุการณ์อะไรๆ เกี่ยวกับตัวท่านไม่ได้ นอกจากเรื่องกว้างๆ ที่รางเลือน เช่น นามของท่านที่ผูกพันกับการแพทย์แผนไทย

อย่างไรก็ดี หลังจากเขียนเรื่องนี้จบไปแล้ว วันหนึ่ง พระครูสังฆวิจารณ์ที่อยู่ใกล้ๆ ได้ค้นหาพบในหนังสือเล่มหนึ่งบอกแหล่งข้อมูลว่า สารศิริราช ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๑๓ หน้า ๖๑๓ – ๖๖๘ ลงพิมพ์คำอภิปราย เรื่อง “ธรรมกับการศึกษาแพทยศาสตร์” ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่ง ศาสตราจารย์ นพ. อวย เกตุสิงห์ เป็นผู้นำการอภิปราย และมีอาตมาเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมอภิปราย

แล้วอีกไม่ช้าก็มีคำบอกแจ้งมาแต่ไกล จากคุณหมอกาญจนา เกษสอาด ว่าท่านเองได้เป็นผู้ไปนิมนต์อาตมาให้มาแสดงพระธรรมเทศนา ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นพ. อวย เกตุสิงห์

แต่ในเมื่อตัวอาตมาเองจำเรื่องราวได้ไม่ชัดเจน ไม่ปะติดปะต่อ ถ้าพูดบรรยายยืดยาวไป ก็คงได้ความไม่ชัด และเรื่องราวก็จะผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้ จึงไม่ขอพูดอะไรมากมายให้ยาวความ

อย่างไรก็ตาม ที่พอจะพูดได้บ้างก็คือ เมื่อมองกว้างออกไป ชุมนุมพุทธธรรมศิริราชนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้ พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่คนเก่าๆ ชาวบ้านเรียกว่าเป็น “กึ่งพุทธกาล” โดยถือกันว่าเป็นเวลาที่พระพุทธศาสนาจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ จนถึงความสูญสิ้นไปในปีที่ครบ ๕๐๐๐

การที่บูรพาจารย์ของศิริราช คือบรรดาอาจารย์แพทย์เก่าก่อนในยุคนั้น ตั้งชุมนุมพุทธธรรมศิริราชขึ้นมาได้ในเวลานั้น แสดงถึงความเป็นผู้นำทางความคิด ที่มิได้ปล่อยตัวไปตามสภาพเสื่อมถอยอ่อนแอของสังคมรอบตัว แต่มีความไม่ประมาท เข้มแข็งจริงจัง พร้อมด้วยความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา ต่อสังคมประเทศชาติ เฉพาะอย่างยิ่งต่อนักศึกษา คนหนุ่มสาว และบรรดาประชาชน

สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด

มองดูสังคมไทยในเวลาที่เรียกว่าใกล้กึ่งพุทธกาลนั้น ได้เห็นความแตกต่างห่างไกลกันอย่างชัดเจน ระหว่างเมืองกรุง กับบ้านนอก (คือนอกกรุงเทพฯ)

คนทั้งสังคมไทยฝันใฝ่ปรารถนาอยากได้อยากมีความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูทางวัตถุอย่างเมืองฝรั่ง ที่คนไทยเรียกว่าเป็นอารยประเทศ แต่เมืองกรุงเป็นถิ่นเดียวที่คนไทยเข้าถึงความเจริญอย่างนั้น

ส่วนคนบ้านนอก ซึ่งยากจะไปที่ไหนๆ แค่ถนนลูกรังก็หาได้ยาก ได้แค่ตื่นหูตื่นใจไปกับความเจริญของเมืองกรุง และใฝ่ฝันที่จะได้ไปเดินงกๆ เงิ่นๆ แหงนดูแสงสีที่ระยิบระยับแพรวพราวในเมืองสวรรค์ พอได้ไปจริง ก็จับแขนต่อๆ กันเดินเป็นแถวข้ามถนน เป็นอย่างคำเก่าที่ยังพอจำกันได้ว่า “บ้านนอกเข้ากรุง”

กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาใกล้เข้ามาสู่ พ.ศ.๒๕๐๐ นั้น เป็นเมืองของคนสมัยใหม่ ซึ่งหันหลังให้วัด เมินให้วัฒนธรรมประเพณีเดิม ว่าของไทยอะไรๆ ก็ล้าหลัง ไม่ทันสมัย พระพุทธศาสนานี้คร่ำครึ คำว่า สมาธิ วิปัสสนา กรรมฐาน ฯลฯ อย่าไปพูด เขาจะดูถูก หรือหัวเราะเยาะเอาว่าจะไปนั่งเทียนหรือไง... พระเณรในเมืองกรุงนี้ไปเดินบิณฑบาต ยากจะได้อาหาร บางทีไปบิณฑบาตกลับมาบาตรเปล่า ไม่ได้อะไรเลย พระเณรรู้กันว่าที่บ้านนั้น ถนนนั้น มีโยมผู้เฒ่าหรือคนเก่าคนแก่ที่มีศรัทธาตักบาตรเป็นประจำทุกวัน ก็เป็นที่หวังว่าจะพอได้ภัตบ้าง คงจะไม่ถึงกับกลับวัดบาตรเปล่า

ส่วนในชนบททั่วไป ซึ่งเป็นบ้านนอก ชาวบ้านยังใกล้ชิดสนิทวัด อยู่กับวัฒนธรรมประเพณีที่สืบกันมา ยังเคารพเชื่อฟังหลวงพ่อหลวงปู่ยังห่วงใยดูแลหลวงตา แต่ลึกลงไปในใจ ชาวบ้านส่วนใหญ่หรือแทบทั้งนั้น ต่างก็หมายมองพุ่งสายตาออกไปข้างนอก ใฝ่ใจเรียกหารอจะรับเอาความเจริญที่จะเข้ามาจากเมืองจากกรุง ไม่มั่นจิตไม่สนิทใจกับวัด กับวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีที่สืบกันมาของตัว ไม่มีความภูมิใจในถิ่นในชุมชนของตน ตัวอยู่ใน-ใจออกห่าง พร้อมที่จะผละหรือสลัดออกไป เพื่อรับเอาความเจริญอย่างใหม่ โดยหวังจะได้มีความสนุกสุขสะดวกสบายเหมือนอย่างคนสมัยใหม่ในเมืองกรุงนั้น

เวลานั้น บนถนนสายสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ บางทีมีคนชาวประเทศตะวันตก หรือฝรั่ง เดินผ่านมา-ผ่านไปบ้าง ฝรั่งเหล่านั้น ซึ่งคนไทยมองอย่างนับถือว่าเป็นอารยชน ล้วนแต่งตัวภูมิฐาน ดูเด่นเป็นสง่า ใส่เสื้อนอกที่เรียกกันว่าชุดสากลทั้งนั้น ไม่มีคนไหนใส่แค่เสื้อยืดเสื้อกล้ามหรือเปิดหลังเปิดไหล่

ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา
พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่

หันไปดูเมืองฝรั่ง ที่ว่าเป็นอารยประเทศ เวลานั้น เป็นยุคสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใหม่ๆ อเมริกาเป็นประเทศผู้ชนะสงครามที่เสียหายน้อยที่สุด ไม่บอบช้ำ ได้รุ่งเรืองเฟื่องฟูโดดเด่นขึ้นมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด เป็นสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม ผู้คนมีชีวิตแบบวัตถุนิยม มุ่งหน้าแข่งขันหาเงินทองหวังความสุขจากการเสพบริโภค จนได้ชื่อว่าเป็นสังคมบริโภค หรือสังคมนักบริโภค (Consumer Society)

แต่ในสังคมที่ผู้คนต่างก็ตัวใครตัวมัน มุ่งหน้าแก่งแย่งแข่งขันเอาชนะกันอย่างสุดกำลัง โดยมีชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการหาความสุขจากการเสพบริโภคนั้น เวลาผ่านไปไม่นาน คนเหล่านั้นมากมายกลับรู้สึกตัวว่าไม่มีความสุข จิตใจว้าวุ่นร้อนรนกระวนกระวาย เครียด อ้างว้าง โดดเดี่ยว เหงา แปลกแยกจากผู้คนด้วยกัน แปลกแยกจากงานการที่ทำ แล้วก็แปลกแยกกับชีวิตของตัวเอง

เวลาผ่านมาไม่นานนัก พวกคนรุ่นใหม่ ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะที่เกิดหลังสิ้นสงครามโลกนั้น เติบโตขึ้นมาเป็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว มองเห็นตัวเองถูกกดถูกอัดบีบคั้นอยู่ในวิถีชีวิตและสภาพสังคมที่เป็นอย่างนี้ ก็ไม่พอใจ เบื่อหน่าย อยากมีชีวิตที่โล่งเบา เป็นอิสระ แล้วก็เริ่มมีปฏิกิริยา

ตอนนี้นี่เองก็มาถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เรียกว่าเป็นปีกึ่งพุทธกาล เหตุการณ์ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญซึ่งเกี่ยวโยงมาถึง และกระทบพระพุทธศาสนา แทนที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทย กลับไปเกิดขึ้นที่อเมริกา ที่ว่าเจริญร่ำรวยที่สุดในโลก มีขบวนการของคนรุ่นใหม่ ซึ่งสลัดทิ้งวัฒนธรรมอเมริกัน ปฏิเสธสังคมกระแสหลัก ที่เป็นบริโภคนิยม ปรากฏตัวเด่นดังชัดขึ้นมาในปี 1957 คือ พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น เรียกว่าคนรุ่นบี๊ต – Beat Generation คนหนุ่มพวกนี้มิใช่เป็นกลุ่มใหญ่โต และไม่ได้ออกมาปฏิบัติการโวยวายอะไร เขาแสดงออกทางความคิด เป็นงานวรรณกรรม เป็นกวีนิพนธ์ คนหัวหน้าหรือผู้นำ (Jack Kerouac) เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแบบเซน (Zen) ของญี่ปุ่น ถือหลักความเป็นอิสระเสรี และชีวิตที่ไม่ต้องมีเงินทอง

Jack Kerouac นำคณะออกเดินทาง โดยไม่มีเงินทองติดตัวเลย เร่ร่อนผจญภัยไปตลอดดินแดนประเทศอเมริกาจนถึงเม็กซิโก บอกว่าแสวงหาโมกษะ (freedom) และโพธิ (enlightenment) โดยม่วนยาเสพติด สุรา นารี ดนตรี พร้อมไปด้วย เขาเขียนเล่าการจาริกนี้เป็นหนังสือ (ชื่อว่า On the Road) ออกมาในปีกึ่งพุทธกาล ๒๕๐๐/1957 ซึ่งได้เป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียง และทำให้ Beat Generation ปรากฏตัวโดดเด่นขึ้นมาอย่างที่ว่าแล้ว และในปีต่อมา เขาก็เขียนหนังสือเล่มใหม่ เรื่อง The Dharma Bums (คนติดธรรม) ว่าด้วยการแสวงธรรมในพระพุทธศาสนา และการบรรลุธรรมด้วยการปฏิบัติพุทธแบบเซน โดยเอาเพื่อนในกลุ่ม ชื่อ Gary Snyder เป็นตัวละคร

Gary Snyder นี้ ได้ไปเรียนพุทธศาสนาแบบเซน อยู่ในวัดญี่ปุ่นที่เกียวโต ถึง ๘ ปี (1956 – 1964, บ้างว่า ๑๒ ปี ถึง 1968) เป็นกวีที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ เขาชื่นชมชีวิตชุมชนอย่างสังฆะ รักความสงบในธรรมชาติ ชวนให้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ทำลายธรรมชาติ และให้เห็นคุณค่าของ meditation (การเจริญสมาธิ) ต่อมา เมื่อถึงยุคของพวก hippies กวี Snyder นี้ ก็ได้เป็น hippie guru คือเป็นครู (“คุรุ” ที่คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น “กูรู”) ของพวกฮิปปี้ด้วย เช่นเดียวกับกวี Allen Ginsberg ชาว Beat (beatnik) อีกคนหนึ่ง ซึ่งก็ได้ศึกษารู้พระพุทธศาสนามาก

อย่างที่ว่าแล้ว พวก Beat Generation เป็นกลุ่มคนที่ไม่มากมายใหญ่โต และไม่ได้ออกมาแสดงบทบาทโวยวายให้คนตื่นเต้นกันในสังคม ได้แต่เป็นเจ้าความคิด ที่แสดงออกมาทางหนังสือ แรงกระทบต่อสังคมและวิถีชีวิตอเมริกัน จึงยังไม่ทำให้กระเทือนหวั่นไหวมาก แต่มีความสำคัญในแง่ที่อาจจะเรียกว่าเป็นผู้จุดประกาย

ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน

ระหว่างนั้น ปฏิกิริยาของคนรุ่นใหม่ ในการปฏิเสธสังคมอเมริกัน สลัดทิ้งวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม ก็แพร่หลายขยายตัว มีการแสดงออกชัดเจนมากขึ้น เวลาผ่านไป ๑๐ ปี หลังเกิด Beat Generation พอถึงปี 1967 (พ.ศ. ๒๕๑๐) พวกฮิปปี้ (hippies) ซึ่งเริ่มขึ้นที่ซานฟรานซิสโกราว พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้ขยายตัวเป็นขบวนการคนขาวชั้นกลางรุ่นหนุ่มสาว (อายุ ๑๕-๒๕ ปี) เป็นปรากฏการณ์ใหญ่อื้ออึงเซ็งแซ่ในสังคม

ในเดือนสิงหาคม 1967 นั้น นิตยสาร/นสพ. เด่นๆ หลายฉบับ เช่น Time, Newsweek, Life, Look, the New York Times พากันออกฉบับพิเศษหรือพิมพ์รายงานพิเศษเรื่อง “ฮิปปี้” (hippie)

ขบวนการฮิปปี้นี้ จัดกันว่าเป็นวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture, จะเรียกว่าวัฒนธรรมทวนกระแส หรือต้านกระแส ก็เหมือนจะอ่อนไป หรือจะแปลว่าปฏิวัฒนธรรม ก็ตามแต่) เป็นปฏิกิริยาต่อต้านสังคมอเมริกันที่คนรุ่นพ่อแม่มีวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม ซึ่งวุ่นวายอยู่กับการหาเงินทองและการแข่งขัน

พวกฮิปปี้ปฏิเสธระเบียบแบบแผนของสังคม ต่อต้านอำนาจและความรุนแรง ละทิ้งวิถีชีวิตของบรรพบุรุษอเมริกัน สร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ของพวกตนที่เป็นอยู่ง่ายๆ รักเพื่อนมนุษย์ รักธรรมชาติ อยู่กับปัจจุบัน สนใจเรื่องลึกซึ้งทางจิต เรื่องสมาธิ โดยเฉพาะศาสนาตะวันออก เช่น โยคะ และเซน บ้างก็ไปทางโหราศาสตร์หรือไสยศาสตร์ แต่ไปสุดโต่งจนกลายเป็นไม่ทำงานการอาชีพตามปกติ ตั้งชุมชน (communes) ที่อยู่กันอย่างปล่อยตัวทางเพศ เสพติดกัญชาและสารร้ายแรง ในปี 1974/๒๕๑๗ ในเมืองมีราว ๒,๐๐๐ คอมมูน ในชนบท ๑,๐๐๐ คอมมูน มีลักษณะเด่นที่เป็นจุดสังเกตของคนทั่วไปว่า ฮิปปี้มีผมยาว-รองเท้ายาง-เสื้อผ้ายู่ยี่ (คนไทยมักพูดว่า ผมยาว-รองเท้ายาง-กางเกงยีนส์)

พวกฮิปปี้นี้ ด้านหนึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อการทำสงครามเวียดนาม เคยเป็นพวกกับซ้ายใหม่ (New Left) แต่หันเหออกจากการเมือง จากการเข้าประจัญและรุนแรง มาเป็นสลัดออกและยิ้มให้แก่โลก ให้ถือหลักอหิงสาและเมตตา มีคติว่า “Make love, not war.” ส่วนฮิปปี้ที่เอาเรื่องกับการเมือง ออกโรงต่อต้านสงคราม เรียกชื่อแยกไปเป็นยิปปี้ (yippie) เมื่อเวลาผ่านไปๆ ขบวนการฮิปปี้ ซึ่งไม่มีฐานการจัดตั้งที่มั่นคง ต้องผจญกับปัญหาต่างๆ ในการที่จะดำรงอยู่ ปัจจัยสี่ก็เข้าขั้นจะแร้นแค้นลำเค็ญ ก็อ่อนแรงอ่อนกำลังแล้วก็เลือนรางจางไป ในเวลาใกล้ๆ กับการจบสงครามเวียดนาม (สงครามราว ๒๑ ปี = ๒๔๙๗-๒๕๑๘/1954-75)

แต่กระแสปฏิกิริยาทางสังคมยังไม่จบ ดังที่ว่าแล้ว ปฏิกิริยาละทิ้งวิถีชีวิตและสังคมอเมริกันนี้ ด้านหนึ่งมากับความสนใจเลื่อมใสในหลักความคิดคำสอนที่ฝรั่งเรียกว่าศาสนาตะวันออก อย่างที่พวก Beat มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแบบเซน แต่ในยุคฮิปปี้และต่อๆ มานี้ ศาสนาตะวันออกที่เข้าสู่อเมริกามาแรงจากอินเดีย คือฮินดูสายหรือสำนักต่างๆ ซึ่ง “คุรุ” (Guru = ครู, คนไทยอ่านว่า “กูรู”) ตัวเจ้าสำนักเองนำจากอินเดีย เอาไปตั้งในอเมริกา

สำนักที่เด่นดังมากอยู่นาน ได้แก่ขบวนการหริกฤษณะ (Hare Krishna, อ่านตามเสียงสวดเป็น หเร กฤษณะ สรรเสริญพระกฤษณะ คือพระนารายณ์) ซึ่งตัวสวามี จากอินเดีย ไปตั้งสำนักขึ้นที่นิวยอร์ก ในปี 1965 ในระยะเวลาใกล้ๆ กันกับที่พวกฮิปปี้เกิดขึ้น และก็ได้พวกฮิปปี้นั่นเองเป็นศิษย์รุ่นแรก

หนุ่มสาวอเมริกันลูกศิษย์หริกฤษณะปรากฏตัวเด่นเห็นกันชัด โดยแต่งตัวอย่างนักบวชฮินดูในอินเดีย ทาหน้าทาตาเขียนสี ผู้ชายโกนหัวไว้หางเปีย รวมกันเป็นกลุ่มๆ ไปยืนตามถนนหนทางหน้าสถานที่สำคัญ หรือที่คนไปชุมนุมกันมาก ผู้หญิงตีฉิ่ง ผู้ชายตีกลอง เต้นลอยหน้าลอยตาสวดสรรเสริญพระนารายณ์ว่า “หเร รามาๆๆๆ”

หลัง พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีองค์กรต่อต้านลัทธิอุตริ (anticult organizations) เกิดขึ้น พวกหริกฤษณะถูกเพ่งเล็งเป็นเป้าตั้งแต่ต้น และนับแต่ปี ๒๕๒๐ ก็ถูกกล่าวหามาเรื่อยๆ ว่าทำความผิดฐานล้างสมอง (brainwashing) แต่จนถึงราว พ.ศ. ๒๕๓๕ ในอเมริกาก็ยังมีสำนักหริกฤษณะอยู่ราว ๕๐ แห่ง

สำนักใหญ่สำคัญของคุรุ/Guru ฮินดู จากอินเดีย ที่มีชื่อเสียงใหญ่โต ยังมีอื่นๆ อีก เช่น ท่านศรี รัชนีศ์ (Shree Rajneesh) เข้ามาอเมริกา ในปี 1981 (พ.ศ. ๒๕๒๔) สอนลัทธิฮินดูพิเศษ มีการฝึกสมาธิแบบพลวัต (dynamic meditation) การบรรลุโมกษะหลุดพ้นได้ด้วยความรักเสรี (free love) เวลาผ่านไปปีเดียว ก็มั่งคั่งร่ำรวยมหาศาล ได้ตั้งเมืองใหม่ชื่อ รัชนีศปุระ ขึ้นในรัฐ Oregon แต่อยู่ได้แค่ ๔ ปี ก็ถูกขับไล่ออกจากอเมริกาด้วยโทษฐานฉ้อฉลเกี่ยวกับการเข้าเมือง

สำนักโด่งดังที่ยืนยงอยู่ยาวนาน คือสำนักฝึกสมาธิของมหาฤาษีมเหษโยคี ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า TM (Transcendental Meditation) ซึ่งดาราวงดนตรี the Beatles ได้เข้าไปเป็นศิษย์ มีตัวเลขบอกว่า ถึงราว พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผู้ที่ได้เข้าฝึกสมาธิในสำนักนี้แล้ว ประมาณ ๖ ล้านคน

ทางด้านพระพุทธศาสนา โดยทั่วไปไม่ค่อยมีเรื่องราวปรากฏ แม้จะมีอาจารย์บางท่านตั้งสำนักเล็กๆ ขึ้นมาสอนสมาธิ สอนวิปัสสนา ก็เงียบๆ ไม่ถึงขั้นที่ตำรับตำราของฝรั่งบันทึกไว้ แต่มีสำนักหนึ่งที่ใหญ่มาก เป็นพุทธศาสนาแบบวัชรยานจากทิเบต โดยพระทิเบตท่านหนึ่ง (Chögyam Rinpoche Trungpa) หนีภัยจีนที่ยกทัพมายึดครองทิเบต ไปอยู่ในอังกฤษ เรียนจบที่มหาวิทยาลัย Oxford แล้ว ในปี 1970/๒๕๑๓ ได้ไปตั้งสำนักสอนฝึกสมาธิ (meditation) ในอเมริกา การสอนสมาธิได้ผล งานขยายใหญ่โตรวดเร็ว ได้ตั้งองค์กรใหญ่ชื่อ Shambhala International ขึ้นมาเป็นหลัก ซึ่งมาถึงปัจจุบันมีศูนย์งานอยู่ในอเมริกาและยุโรปมากกว่า ๑๐๐ แห่ง และได้ตั้งสถาบันนาโรปะ (Naropa Institute) ขึ้นที่รัฐ Colorado ปัจจุบันเจริญขึ้นเป็น Naropa University

ขบวนการใหญ่อีกพวกหนึ่งที่ควรพูดถึงไว้หน่อย เพื่อให้เห็นสภาพสังคมตะวันตกในยุคที่คนเกิดมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดจิตใจครั้งสำคัญ ได้แก่ขบวนการ New Age (ยุคใหม่) พวกนี้เหมือนย้อนกลับไปฟื้นความเชื่อเก่าๆ ขึ้นมา มีโยคะ การเจริญสมาธิ (meditation) ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ การเข้าทรง การบำบัดโรคด้วยวิธีการทางจิต การรักษาสุขภาพแบบองค์รวม การนวด การฝังเข็ม การเล่นแร่แปรธาตุ เรื่องเวทมนตร์ เรื่องชีวิตต่างดาว กังฟู เป็นต้น พวกนี้ขึ้นมากในช่วงปี ๒๕๒๐ เศษ มีคนอเมริกันบอกตัวว่าเป็นชนชาวนิวเอจนี้ ๓ – ๖ ล้านคน มีการทำนายว่าพระศรีอารย์ (Maitreya) จะมาโปรดในปี 1982/๒๕๒๕ แต่ไม่ปรากฏให้เห็นจริง ขบวนการนี้หมดกำลังไปก่อนถึงปี ๒๕๔๐ แต่คนที่มีความคิดความเชื่อหรือสนใจในแนวนี้ยังมีอยู่ทั่วไปในอเมริกา

ทีนี้ มองดูขบวนการที่เด่นดัง ซึ่งเป็นต้นกระแสปฏิกิริยานี้ พวกฮิปปี้นั้นเบื่อหน่ายไม่พอใจสังคมของพ่อแม่ จึงสลัดทิ้งแยกตัวออกไป หันหลังให้สังคมเก่านั้น ไปแสวงหาทางดำเนินชีวิตตามแบบของตัวเองอยู่ต่างหาก

คนพวกนี้ได้แต่หนีออกไป ไม่ได้พยายามแก้ไขสังคมที่ตนว่าไม่ดีนั้น ส่วนพวกยิปปี้แยกตัวออกไปโดยไม่ยอมปล่อย แต่หันหน้าเข้ามาประจัญ ร่วมเรียกร้องสิทธิของคนดำ ฯลฯ ต่อต้านสงครามเวียดนาม เวลาผ่านไปๆ พวกฮิปปี้และยิปปี้ก็อ่อนกำลังจางลง

แล้วกระแสสังคมก็แกว่งกลับไปสุดทางตรงข้าม พอเข้าทศวรรษ 1980s (ช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๒๐) ก็ถึงยุคของพวกยัปปี้ (yuppie) คือคนหนุ่มสาวชาวเมืองรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง มีอาชีพการงานดี ที่ชอบชีวิตโอ่อ่า มุ่งแต่หาเงินทอง ชอบวางโต อวดตัวเด่นโก้ในสังคม ใช้ของหรูหราราคาแพง อวดโก้หรูกันจนรถยนต์บางยี่ห้อได้ชื่อว่าเป็น 'yuppie' car

แต่พวกยิปปี้ก็ไม่ยอมลงให้ ถึงกับมีการจัดโต้วาทีกันเป็นชุด ในเรื่อง “Yippie Versus Yuppie” (ยิปปี้ ยัน ยัปปี้) แต่จะอย่างไรก็ตาม ในที่สุด ยุคของฮิปปี้และยิปปี้ก็จบไป สังคมแห่งการแข่งขันและบริโภคนิยมของอเมริกัน ก็นำโลกต่อมา

เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้

ผ่านทศวรรษ 1970s มาแล้ว พลังของวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture) ก็เบาบางจางลง วัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ยืนตัวเป็นกระแสหลัก ก็นำสังคมอเมริกันก้าวต่อมา และไม่นำเฉพาะอเมริกาเท่านั้น แต่พาแทบทั้งโลกตามไปด้วย โดยที่ชาวประเทศล้าหลัง ด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนาทั้งหลาย พากันตื่นหูตื่นตารอที่จะตามจะรับความเจริญของประเทศที่เรียกว่าพัฒนาอย่างสูงแล้วนั้น ถ้าอเมริกาที่เจริญพ่วงหลังเอาความเสื่อมหรือปัญหาอะไรติดหรือซ่อนมา พวกที่ตามหลังเอาอย่าง ซึ่งวินัยไม่พอ ตั้งจิตผิดท่า ปัญญาไม่ทัน ก็ได้รับความเจริญที่ฉาบหน้า แต่เอาปัญหาเข้ามาซ้ำเติมตัวเองด้วย แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานกันไป แต่รวมแล้วทั้งพวกที่นำและพวกที่ตาม ก็เหมือนกับร่วมกันบ่อนทำลายโลกที่อาศัยของตัว

เป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติธรรมที่จะแก้ปัญหาของโลก แก้ทุกข์ของมนุษย์ จะต้องรู้ทันสภาพปัญหาหรือสภาวะแห่งทุกข์อันนี้

อย่างที่ว่าแล้ว อเมริกาเจริญรุ่งเรืองมีเศรษฐกิจฟู่ฟ่าขึ้นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เฉพาะอย่างยิ่งหลังสิ้นสงครามนั้นในปี 1945/๒๔๘๘

ควรเล่าความย้อนหลังไว้หน่อยว่า เมื่อ ๑๐ ปี (1929/๒๔๗๒) ก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น อเมริกาได้วูบเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำฮวบใหญ่ (Great Depression) ซึ่งแผ่ขยายไปยังประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญทั่วโลก

คราวนั้น ผู้คนแร้นแค้น เศรษฐีกลายเป็นยาจก คนฆ่าตัวตายมาก ปีที่ตกต่ำที่สุดคือ 1933 คน ๑๒ - ๑๕ ล้านคนไม่มีงานทำ (ประชากรอเมริกันเวลานั้นราว ๑๒๒ ล้านคน) ธนาคารที่มีทั้งหมด ๒๕,๐๐๐ ล้มไป ๑๑,๐๐๐ แห่ง

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นในปี 1939/๒๔๘๒ เวลานั้น อเมริกายังห่างไกลมากจากสงคราม และเศรษฐกิจของอเมริกาได้ฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีเลย กำลังแรงงานที่ว่างงานลดจาก ๒๕% เป็น ๑๕% แต่พอเริ่มสงครามแล้ว ประเทศที่ทำศึกในยุโรปก็พากันสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากมายจากอเมริกา โรงงานผลิตกันไม่ได้หยุด หมดปัญหาคนว่างงาน แล้วต่อมากลายเป็นขาดแคลนแรงงาน คนดำที่ถูกเหยียดหยามกีดกั้น พากันกดดันเรียกร้องขอให้ได้เข้าทำงาน จนรัฐบาลต้องออกคำสั่งห้ามกีดกั้น แล้วไม่นานก็มีคนดำร่วมทำงานเกือบ ๒ ล้านคน พอยุโรปทำสงครามกันไปได้ ๒ ปีเศษ อเมริกาก็รวยพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็มาถึงเวลาที่อเมริกาเพิ่งเข้าร่วมทำสงครามใหม่ๆ

อเมริกาเข้าร่วมทำสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นตอนท้ายปี 1941/๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล คือเมื่อสงครามผ่านเวลามาแล้วราว ๒ ปี ๓ เดือน และจะอยู่ในภาวะสงครามไป ๓ ปี ๘ เดือน จนจบลงเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ ๑๔ ส.ค.1945/๒๔๘๘

ทหารอเมริกันไปรบในดินแดนห่างไกลนอกอเมริกา ประเทศอเมริกาจึงไม่บอบช้ำเสียหายอะไรเลย

เมื่อผู้ชายเป็นทหารไปรบ พวกผู้หญิงแม่บ้านก็ไปเข้าประจำโรงงาน ในยามเร่งร้อนของสงครามนี้ ผลิตเครื่องบินได้ เดือนละ ๔,๕๐๐ เครื่อง รถถังเดือนละ ๔,๐๐๐ คัน เรือรบที่ยามสงบต่อเสร็จใน ๑ ปี ลดเวลาลงมาเสร็จใน ๑๗ วัน ฯลฯ นับเฉพาะปี 1944/๒๔๘๗ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ในการสงครามนั้น ๖๐% ผลิตในอเมริกา

อเมริการบไปจนจบสงคราม เสียทหารตายในสนามรบ ๒๙๒,๑๓๑ คน ซึ่งนับว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับทหารนานาชาติที่ตายในสมรภูมิทั้งสิ้นประมาณ ๑๙ ล้านคน (ทหารสหภาพโซเวียตตาย ๑๑ ล้านคน มากกว่าทหารฝ่ายสัมพันธมิตรชาติอื่นทั้งหมดรวมกัน) และถ้านับคนอเมริกันทั้งหมดที่ตายในสงครามใหญ่นี้ ทั้งทหารและพลเรือน ก็ได้จำนวนราว ๔๐๗,๓๑๖ ซึ่งก็นับว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับคนทั้งหมดที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ราว ๔๐ – ๕๐ ล้านคน

สงครามจบลงโดยอเมริกาเป็นทั้งผู้ชนะ และเป็นเจ้าหนี้ บ้านเมืองก็ไม่เสียหาย แต่กลับร่ำรวยรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ ต่างจากประเทศคู่สงครามทั้งหลาย แม้แต่ที่เป็นฝ่ายผู้ชนะ ซึ่งบ้านเมืองพินาศย่อยยับ แถมเป็นลูกหนี้ ต้องพึ่งอเมริกา เว้นแต่สหภาพโซเวียต ที่แม้จะบอบช้ำอย่างยิ่ง แต่มีดินแดนกว้างใหญ่เหลือเฟือ (ใหญ่กว่าอเมริกา ๒ เท่าครึ่ง คือ โซเวียต 22.4 ล้าน ตร.กม., สหรัฐ 9.37 ล้าน ตร.กม.) ถึงจะเสียไปมาก ก็ไม่ยุบเท่าไร

สหภาพโซเวียตนั้น ได้ผงาดขึ้นมาเป็นคู่ปรปักษ์แข่งอำนาจกับอเมริกา ในโลกที่แยกเป็น ๒ ค่าย คือ โลกเสรี (free world) มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายคอมมิวนิสต์ (communist bloc) มีสหภาพโซเวียต เป็นหัวหน้า เกิดเป็นสงครามเย็น (cold war) ที่ตึงเครียดกันมาราว ๔๐ ปี

แต่พอสงครามเย็นเริ่มต้น ก็ประเดิมด้วยสงครามร้อนที่โหดร้ายรุนแรงขึ้นที่เกาหลี (1950/๒๔๙๓ – 1953/๒๔๙๖) ต่อด้วยสงครามเวียดนามที่ทรหดยืดเยื้อ (1954/๒๔๙๗-1975/๒๕๑๘) แล้วก็มีเรื่องความขัดแย้งและสงครามใหญ่น้อยที่นั่นที่นี่ ที่ ๒ มหาอำนาจต้องเข้าไปดูแลเรื่อยมา จนสุดท้ายประธานาธิบดีของสองประเทศนั้นเอง จึงได้ร่วมกันประกาศจบสงครามเย็นเมื่อใกล้จะสิ้นปี 1989/๒๕๓๒ และในเดือนธันวาคม 1991/๒๕๓๔ สหภาพโซเวียตก็ได้แตกสลายหลุดกันออกไป เหลือเป็นประเทศใหญ่คือ สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) เรียกสั้นๆ ว่า รัสเซีย (มีเนื้อที่ 17 ล้าน ตร.กม.)

หันกลับไปดูอเมริกา อย่างที่ว่าแล้ว ระหว่างสงครามโลก ที่ทหารอเมริกัน ๑๖ ล้านคนไปรบในแดนไกลนั้น ที่อเมริกาเอง บ้านเมืองดี ผู้คนอยู่กันเป็นปกติสุข ได้แต่เฝ้ารอดูรอฟังเครียดกังวลไปกับสถานการณ์สงครามที่ไกลตัวนั้น โรงงานทั้งหลายก็เร่งระดมผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งออกไป คนอเมริกันทั้งหลายมีรายได้ดี แต่ไม่มีอะไรจะซื้อหา ก็ได้แต่เก็บเงินสะสมไว้

ครั้นถึงปี 1945/๒๔๘๘ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบสิ้นแล้ว ผู้คนที่เก็บสะสมเงินทองกันไว้ ก็พร้อมที่จะจับจ่ายซื้อหาปัจจัยสี่ โรงงานที่ผลิตอาวุธ ก็เปลี่ยนมาผลิตของกินของใช้

เหล่าจีไอ ทหารผ่านศึกอเมริกัน เสร็จการรบในแดนไกล เดินทางกลับมาตุภูมิ รัฐบาลก็ออกกฎหมายต้อนรับ ให้พวกเขาได้สิทธิพิเศษบางอย่างที่จะมีความมั่นคงด้านการเงิน และให้ทุนอุดหนุนการศึกษา เวลานั้น จำนวนผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากเป็นสถิติสูงสุดถึง ๒ ล้านคน

คนมากมายเพิ่มประดังกันขึ้นมา เงินทองก็พร้อมจะจ่าย แล้วก็เกิดมีการสร้างหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมากมายแถบชานเมือง ทีวี (โทรทัศน์) ที่คิดประดิษฐ์กันมาและถูกสงครามโลกชะลอไว้ ก็สะพรั่งขึ้นมา เทคโนโลยีที่เร่งรัดพัฒนากันขึ้นในการทำสงคราม ก็หันมาใช้ในทางสันติที่จะช่วยให้ผู้คนเป็นอยู่ทำอะไรๆ ได้สะดวกสบาย ตลาดมีของกินเครื่องใช้ให้ความสะดวกสบายวางขายสารพัด การตลาดและธุรกิจโฆษณาคึกคัก คนมีบ้านจัดสรรน่าอยู่ที่ชานเมือง มีรถยนต์ใช้ มีโทรทัศน์ดู พร้อมด้วยเครื่องกินของใช้บริบูรณ์ บ้านเมืองรุ่งเรืองเฟื่องฟู ผู้คนอยู่ดีมีความสุขสำราญ อย่างที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็นมาก่อนเลย เว้นแต่คนนิโกร (ต่อมาตั้งแต่ปี 1968/๒๕๑๑ เปลี่ยนเรียกให้รู้สึกดีขึ้นว่า Black/คนดำ) ที่ยากจะเข้าถึงความเจริญนี้

ในยามบ้านเมืองดี ผู้คนสุขสำราญกันทั่วนั้น ครอบครัวทั้งหลายก็เข้าสู่ยุคพิเศษด้วย คือมีเด็กเกิดมากมายเป็นพิเศษ ดังที่ได้ทำสถิติสำคัญไว้ว่า ในช่วงปี 1946/๒๔๘๙ – 1964/๒๕๐๗ มีเด็กเกิดขึ้นมาเพิ่มประชากร ๗๗ ล้านคน และเรียกคนรุ่นนี้ว่า baby boom generation เด็กเหล่านี้เองที่เติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ได้มีความคิดจิตใจแปลกแยกจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หันออกไปดำเนินชีวิตทำการต่างๆ ที่เรียกว่าเป็น counterculture เช่นอย่างฮิปปี้/hippies ที่ได้เล่าข้างต้น

บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา
ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

อเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รุ่งเรืองเฟื่องฟูยิ่งนักดังว่าแล้ว เวลาผ่านมาราว ๑ ทศวรรษ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ดแต่งหนังสือขึ้นมาเอาสภาพสังคมอเมริกันที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมนั้นตั้งเป็นชื่อหนังสือว่า The Affluent Society (John Kenneth Galbraith, 1958) เขาวิจารณ์บริโภคนิยมที่มากับความมั่งคั่งพรั่งพร้อมของอเมริกานั้น เขาบอกว่า แทนที่จะเอาแต่โฆษณาให้คนเกิดความต้องการแบบไม่รู้จักพอขึ้นมาแล้วจะได้ผลิตสินค้าขึ้นมาขายมากๆ เพื่อสนองความต้องการเทียมนั้น ควรเอาเงินไปใช้สร้างสาธารณประโยชน์กันดีกว่า นี่ก็เป็นเสียงธรรมที่เตือนสติขึ้นมาในกระแสบริโภคนิยมของอเมริกา (Galbraith ได้เป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของประธานาธิบดี John F. Kennedy)

เศรษฐกิจที่มั่งคั่งนั้น มากับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ในช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความจำเป็นเร่งด่วนในการสู้รบ ทำให้ต้องระดมกำลังเต็มอัตราเต็มเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี เมื่อสิ้นสงคราม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลนั้น ก็เอามาสร้างความเจริญรุ่งเรือง ความสะดวกสบาย และความมั่งคั่งพรั่งพร้อม ใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโต

แต่ในกระบวนการสร้างความเจริญมั่งคั่งสะดวกสบายนั้น เทคโนโลยีก็เป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์รุกรานทำลายธรรมชาติ พร้อมกับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคน ทำให้คนมีชีวิตที่พึ่งพาขึ้นต่อเทคโนโลยี แล้วคนก็แปลกแยกจากธรรมชาติ ตลอดจนแปลกแยกจากคนเองด้วยกัน

มนุษยชนถิ่นพัฒนานั้นลำพองตัวว่ามีความเจริญก้าวไกล ได้ล่วงรู้ความลับของธรรมชาติ สามารถเอาธรรมชาติมาจัดการผันแปรกำจัดดัดแปลงให้เป็นไปต่างๆ ที่จะรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ได้ตามใจปรารถนา แต่ที่จริงมนุษย์ไม่รู้ความจริงทั่วตลอดเพียงพอ เวลาผ่านไปไม่นานนัก ก็เริ่มเจอเรื่องราวเหตุการณ์อันเป็นผลร้าย ที่ทำให้ตื่นตระหนกกลัวภัยซึ่งคาดไม่ถึง

เรื่องหนึ่งที่เด่นดังขึ้นมาในระยะต้นๆ ปรากฏในปี 1962/๒๕๐๕ เมื่อนักชีววิทยาชื่อ Rachel Carson เขียนหนังสือออกมาชื่อว่า The Silent Spring แปลง่ายๆ ว่า “วสันต์ที่วังเวง” (วสันต์ คือฤดูใบไม้ผลิ ไม่ใช่ฤดูฝน-วัสสานะ)

The Silent Spring บอกเล่าให้ผู้คนมองเห็นสภาพความสูญเสียย่อยยับของระบบนิเวศ ทั้งประดาสัตว์และพืชพันธุ์ อันจะคืบเคลื่อนมาถึงตัวมนุษย์เอง เนื่องมาจากการผลิตยาฆ่าแมลง เฉพาะอย่างยิ่ง ดีดีที/DDT ขึ้นมาใช้กันอย่างย่ามใจ เสียงนี้ปลุกคนให้สะท้านใจตื่นกลัวภัย เริ่มจะหงอกันขึ้นมา

ราเชล คาร์สัน เขียนเตือนว่าพฤติกรรมหยิ่งผยองลำพองตนของมนุษย์ที่คิดว่าตนพิชิตธรรมชาติได้และจะจัดการธรรมชาติให้เป็นไปตามชอบใจของตัวนั้น ก็คือกระบวนปฏิบัติการในการทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ของตัวมนุษย์เอง1

จากนั้น ผลเสียผลร้ายจากการบริโภคกินเสพฟุ่มเฟือยไม่รู้จักประมาณของมนุษย์ และจากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ก็ทยอยโผล่ออกมา ทั้งขยะล้นเหลือ น้ำเสีย ดินเสีย หมอกควัน อากาศเป็นพิษ โลกร้อนมากขึ้น ผู้คนเจอแต่เรื่องที่ทำให้ตื่นกลัว ต้องลุกขึ้นมารวมกำลังกัน เช่นเดินขบวนเรียกร้องให้แก้ไขป้องกันภัย ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ ให้พิทักษ์รักษาแผ่นดิน แล้วก็ได้เกิดมี Earth Day วันแม่พระปฐพี หรือวันพิทักษ์โลก (๒๒ เมษายน) ขึ้นในปี 1970/๒๕๑๓ และถึงปลายปีนั้น รัฐสภาสหรัฐก็ได้ให้กำเนิดองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA = Environmental Protection Agency) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหญ่ที่สุด โดยภายใน ๕ ปี มีงบประมาณวันละ ๒ ล้านเหรียญสหรัฐ

ถึงปี 1978/๒๕๒๑ คนอเมริกันก็ต้องตื่นตระหนกครั้งใหญ่ เมื่อมีข่าวน่ากลัวว่า ที่คลอง Love Canal ใกล้น้ำตกไนแอการา ชุมชนชาวหมู่บ้านประสบภัยจากน้ำเสียปนสารเคมีที่เป็นพิษ อยู่ๆ น้ำเน่าน้ำเสียก็ปุดๆ โผล่ขึ้นมาที่สนามหญ้าหน้าบ้าน บางบ้าน น้ำเสียเป็นพิษซึมเข้าไปในชั้นใต้ดินของบ้าน มีกลิ่นแปลกๆ เด็กๆ เป็นโรคผิวหนังที่ไม่รู้จัก แม่แท้งลูกบ้าง ลูกเกิดมาไม่สมประกอบบ้าง คนเป็นโรคปวดหัวบ้าง เป็นโรคตับ ก็มี จึงโวยวายกันขึ้นมา

แล้วก็ค้นหาสาเหตุกันจนได้พบว่า ที่นั่นเมื่อ ๓๐ ปีก่อนโน้น เป็นที่ทิ้งน้ำเสีย และฝังสารเคมีที่เป็นพิษกว่า ๘๐ ชนิด ทิ้งและฝังกันอยู่ ๕ ปี ทับถมกันเกือบ ๒๒,๐๐๐ ตันแล้วก็กลบที่ไว้นานจนทางการอนุญาตให้สร้างเป็นที่คนอยู่อาศัยได้ จึงมีการสร้างหมู่บ้านนั้นขึ้น เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา ทางการจึงประกาศให้เป็นที่คนอยู่อาศัยไม่ได้ คนต้องอพยพทิ้งบ้านไปราว ๑,๓๐๐ คน แล้วอาคารบ้านเรือนที่นั่นก็ถูกรื้อถอนทำลายทั้งหมด

เหตุการณ์ร้ายแรงนี้นอกจากทำให้ประชาชนตื่นกลัวกันใหญ่แล้ว ก็ทำให้ทางการต้องลุกขึ้นมาสำรวจตรวจดู แล้ว EPA ที่ว่าเมื่อกี้นั้น ก็ได้ตัวเลขประมาณว่า เฉพาะในนิวยอร์กยังมีที่เป็นขุมภัยร้ายอย่างนี้อีก ๓๐ แห่ง และทั่วประเทศอเมริกามีมากกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง โดยประมาณว่าจะต้องใช้เงินทำงานชำระล้างทั้งหมด สี่หมื่นสี่พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปัญหาใหญ่ที่ยืดเยื้อมานาน ๓๐ – ๔๐ ปี ก็คือเรื่องขยะล้นบ้านล้นเมือง ทำให้ต้องไปหาที่ทิ้งไกลๆ นอกประเทศ ดังที่เป็นข่าวขึ้นมาว่า เรือเดินสมุทรอเมริกันบรรทุกขยะไปทิ้งทะเล หาที่ทิ้งไม่ได้ แล้วจบลงด้วยพฤติกรรมแปลกๆ บ้างก็ไปตกลงให้เงินแก่ผู้ปกครองหมู่เกาะบางแห่งที่ยอมให้ใช้เป็นที่ทิ้งขยะ บ้างออกเรือเร่ร่อนหายไปเป็นปีๆ จึงกลับมาโดยไม่รู้ว่าเอาขยะไปทิ้งได้ที่ไหน บางประเทศที่ยากจนอย่างในแอฟริกาก็ยอมตกลงรับเป็นที่ทิ้งขยะ จนขยะถูกเรียกว่าเป็นสินค้าส่งออก (waste export)

แล้วก็มีกรณีที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ๆ ในทะเล เช่น นานๆ ก็จะมีข่าวเรือบรรทุกน้ำมันอับปาง อย่างกรณีเรือ Exxon Valdez ไปชนหินโสโครกแล้วอับปางที่อะแลสกา (Alaska) เมื่อปี 1989/๒๕๓๒ น้ำมันไหลแผ่ขยายไปในทะเล ๒๕๘,๐๐๐ บาร์เรล ทำให้น้ำเสีย และทำลายชีวิตสัตว์ทะเลไปมากมาย นั่นก็เป็นกรณีเด่นดังใหญ่ยิ่งในยุคนั้นแล้ว แต่เวลาผ่านไปใกล้เข้ามา ก็มีเหตุการณ์ที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นอีก อย่างเมื่อปี 2010/๒๕๕๓ ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกเกิดระเบิดในน้ำลึกทำให้น้ำมันรั่วไหลไปในทะเลถึง ๔.๙ ล้านบาร์เรล

ธรรมชาติที่ถูกทำลายเสื่อมเสียหาย ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษภัยมากขึ้นๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ได้พัฒนาเจริญไกล จนสมัชชาใหญ่สหประชาชาติต้องตั้งคณะกรรมาธิการอิสระขึ้นมาศึกษาพิจารณา

เวลาผ่านไป ๔ ปี ผลออกมาเป็นรายงานฉบับสำคัญในปี 1987/๒๕๓๐ ซึ่งเอาไปพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า Our Common Future (อนาคตร่วมกันของเรา) หลังปกตีตัวแดงว่า “This is the most important document of the decade on the future of the world.” (นี้คือเอกสารสำคัญที่สุดแห่งทศวรรษ ว่าด้วยอนาคตของโลก) ทำให้ sustainable development เกิดเป็นคำสำคัญที่ใช้กันอย่างจริงจัง เป็นอันให้รู้ว่า การพัฒนาที่ทำกันมาในอารยธรรมปัจจุบันของโลกนี้ เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่
รับรองโดยองค์การอนามัยโลก

สภาพปัจจุบันของโลกมนุษย์ในยุคบริโภคนิยมนี้ ก็คือ คนพากันตกลงไปจมอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) กันทั่วไปในโลก

คนในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ร่ำรวย กินอยู่ฟุ่มเฟือย หรูหราฟู่ฟ่า ก็เสียสุขภาพ เป็นโรค เพราะกินเกินพอ (overnutrition/ภาวะโภชนาการเกิน) ส่วนคนในประเทศยากจน ด้อยพัฒนา ก็เสียสุขภาพ เป็นโรค เพราะกินไม่พอบ้าง ไม่มีจะกินบ้าง ขาดอาหาร (undernutrition/ภาวะพร่องโภชนาการ) พวกที่ร่ำรวยก็ไปช่วยเฉลี่ยเจือจานพวกที่ยากไร้ไม่ได้จริงจัง เพราะตัวเองต้องเที่ยวหาทรัพยากรที่กินใช้ไม่รู้จักพอ (อเมริกามีประชากร ๕ เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่บริโภคทรัพยากรของโลก ๔๐ เปอร์เซ็นต์) ต้องวุ่นวายกับการไปหาที่ทิ้งขยะของเสีย มากกว่าจะมีเวลาคิดเอาของดีไปแบ่งปันให้ในที่คนไม่มีจะกิน

บริโภคนิยมนี้ เรียกอย่างคำพระที่ใช้กันมาแสนนานว่า ความไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ก่อปัญหาทุกด้าน ตั้งแต่ผลาญทรัพยากร ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ทั้งขยะ น้ำเสีย สารพิษ ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากเบียดเบียนธรรมชาติแล้ว ก็ทำให้คนเบียดเบียนกันเอง แก่งแย่งแข่งขันข่มเหงเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม ส่งผลย้อนกลับเข้ามาที่ตัวคน เข้าไปถึงในจิตใจ ทำให้เครียด กังวล ร้อนรน เบื่อหน่าย แล้วก็บั่นทอนสุขภาพร่างกาย ทำให้เป็นโรคได้หลายอย่างมากมาย แล้วปัญหาด้านต่างๆ ทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นปัจจัยต่อกันย้อนไปย้อนมาซ้ำเติมเสริมกันนุงนัง

เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า ในโลกยุคบริโภคนิยมนี้ ทั้งคนร่ำรวยมั่งมี และคนยากไร้ไม่มี ต่างก็ประสบภาวะทุพโภชนาการ (malnutrition) ไปด้วยกัน สำหรับคนยากจนขาดแคลนแล้วเป็นโรคขาดอาหาร พร่องโภชนาการ เป็น undernutrition นั้น ก็เป็นธรรมดา แต่คนร่ำรวยมีกินเหลือเฟือ ก็ทุพโภชนาการด้วย อันนี้เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกใหม่ เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย โดยเฉพาะอเมริกา เป็นปัญหาที่แก้ยาก ภาวะทุพโภชนาการของคนในประเทศร่ำรวยนั้น คือด้านโภชนาการเกิน เป็น overnutrition ที่สำคัญ ได้แก่ความอ้วน/obesity ซึ่งเวลานี้จัดเป็นโรคที่สำคัญโดดเด่น

ในอเมริกานั้น นานแล้วคนเป็นโรคอ้วนมากขึ้นๆ ถึงขั้นน่าเป็นห่วง แล้วก็จับตาดูกันมา ปรากฏว่า ในต้นทศวรรษ 1980s (๒๕๒๓-๒๕๓๒) คนอเมริกันในช่วงอายุ ๒๐ – ๗๔ ปี เป็นโรคอ้วน ๑๕%

โรคอ้วนนี้น่ากลัว เป็นตัวการเพิ่มความเสี่ยงต่อมรณกรรมก่อนวาระ เปิดทางแก่โรคหัวใจวาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอุดตัน โรคถุงน้ำดี โรคข้ออักเสบ จนถึงมะเร็ง ถึงประเทศจะเจริญมาก การแพทย์นำหน้า ก็ยากจะแก้ไข แถมว่ามักเป็นปมให้ขุ่นมัวอยู่ในใจ และในการอยู่ร่วมสังคม เช่นเป็นเป้าสายตาในเชิงผิดปกติ กลัวถูกล้อ เป็นต้น เป็นปัญหาซับซ้อนโยงใยทั้งทางกาย ทางจิตใจ และทางสังคม

บ้านเมืองยิ่งเจริญ คนเป็นโรคอ้วนยิ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ไม่แต่ผู้ใหญ่ แต่เด็กๆ ทั้งหลายก็อ้วนกันเกร่อ

เข้าปี 2000/๒๕๔๓ เตรียมขึ้นสหัสวรรษใหม่ องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่า คนเกินกว่า ๓๐๐ ล้านคนในโลกนี้ เป็นโรคอ้วน แล้วก็จัดให้โรคอ้วน เป็นโรคระบาดทั่วโลก แล้วถึงปี 2008/๒๕๕๑ ตัวเลขก็พุ่งสูงเร็วไวว่า คนวัยผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ ๒๐ ปีขึ้นไป มีน้ำหนักเกินปกติ ๑,๔๐๐ ล้านคน และเป็นโรคอ้วน ๕๐๐ ล้านคน

เฉพาะในอเมริกาที่ว่าต้นทศวรรษ 1980s คนเป็นโรคอ้วน ๑๕% นั้น ผ่านขึ้นสหัสวรรษใหม่มาถึงปี 2007/๒๕๕๐ คนอ้วนเพิ่มจำนวนเกินเท่าตัวเป็น ๓๔% แล้วจากนั้น ผ่านมาแค่ ๑๐ ปี (2017/๒๕๖๐ – 2018/๒๕๖๑) จำนวนคนอ้วนก็เพิ่มขึ้นเป็น ๔๒.๔%

พวกเด็กๆ ก็ไม่เบา พอถึงปี 2005/๒๕๔๘ สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน/American Academy of Pediatrics ก็ให้ชื่อโรคอ้วนว่าเป็นโรคระบาดกุมารเวชแห่งสหัสวรรษใหม่ (the pediatric epidemic of the new millennium) พอถึงปี 2010/๒๕๕๓ ปรากฏว่า เด็กอเมริกันทุก ๑ ใน ๓ คน น้ำหนักเกิน หรือไม่ก็เป็นโรคอ้วน สถิติเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๓ เท่าของปี 1980/๒๕๒๓

อย่างที่ว่าแล้ว โรคอ้วนเป็นปมปัญหาซับซ้อนทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางสังคม สัมพันธ์กับปัจจัยด้านวิถีชีวิตในสังคม รวมทั้งการงานอาชีพ คนนั้น ทั้งที่ไม่อยากอ้วน และก็รู้อยู่ว่ากินของอย่างนั้นมากๆ พร่ำเพรื่อ ไม่ดีเลย จะทำให้อ้วน แต่ก็อดไม่ได้ อย่างที่ว่ากินเข้าไปๆ เป็นทางระบายความอัดอั้น แก้เครียด แก้ความเบื่อหน่าย2

ในอเมริกานั้น ได้ยินมาหลายสิบปีแล้ว พวกพ่อค้ามีบริการเอาตู้หยอดตังค์ (vending machine, เริ่มแรก หยอดเหรียญ ต่อมาสอดธนบัตรก็ได้ แถมทอนเงินให้ได้ด้วย) ไปตั้งให้ถึงในสำนักงาน หรือห้องทำงาน เป็นน้ำอัดลมอย่างโค๊ก หรือเป็ปซี่บ้าง ของว่าง ของเคี้ยวกรอบบ้าง

คนทำงานนั่งทำงานไป เดี๋ยวก็หยอดเหรียญๆ เอาไปกินไปดื่มได้สะดวกง่ายๆ เรื่อยๆ ทำงานไป กินไป บางทีเรียกว่ากินแก้เซ็ง อย่างนี้ไม่ช้านัก ก็อ้วนได้ไม่ยากเลย และก็ได้ยินว่าบางแห่ง พบปัญหาโรคอ้วน จึงได้มีการพิจารณาจะห้ามเอาตู้หยอดเหรียญไปตั้งในที่ทำงานอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องนานมากแล้ว จำได้ไม่ชัดเจน

เอาเรื่องตัวอย่างที่ชัดหน่อยตามตำราบอกไว้ ในอเมริกานั้น เมื่อปี 2004/๒๕๔๗ โรงเรียนจะแก้ปัญหาเด็กอ้วน จึงพิจารณากันว่าจะห้ามอาหารที่ทำให้เสียสุขภาพ อย่างเช่นน้ำอัดลม ลูกกวาด มันทอดกรอบ ไม่ให้ขายในโรงเรียน คราวนั้นก็เกิดข้อขัดแย้งที่สำคัญ คือ ที่คิดจะห้ามไม่ให้ขายน้ำอัดลมในโรงเรียนนั้น เป็นการขัดกับทางเขตการศึกษาอำเภอที่ได้ทำสัญญาอนุญาตให้พ่อค้าเอาน้ำอัดลมเข้ามาขายในโรงเรียนได้ โดยแบ่งผลกำไรให้แก่เขตการศึกษาอำเภอนั้น ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่โรงเรียนก็จึงมักไม่เต็มใจที่จะห้ามขายน้ำอัดลมในโรงเรียน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าห้ามไม่ให้เอาตู้หยอดตังค์มาตั้งขายน้ำอัดลมในโรงเรียนแล้ว รร.มัธยม ๔ แห่ง ในรัฐ Alabama/แอละแบมา ซึ่งได้เงินจากการขายน้ำอัดลมมาปีละ ๑๙๐,๐๐๐ ดอลลาร์ ก็จะอด จะไม่ได้เงินจำนวนนั้นอีก

เรื่องนี้นำมาเล่าไว้ให้เห็นตัวอย่างว่า นอกจาก fast food หรือ junk food แล้ว คนที่นั่นรู้กันดีเรื่องที่ตู้หยอดเหรียญกินสะดวกดื่มคล่อง เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่พาโรคอ้วนมา พร้อมทั้งให้เห็นปมปัญหาของระบบผลประโยชน์ที่ซ้อนเข้ามาซ้ำปัญหาของบริโภคนิยม

บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น
แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า

ลงท้าย คนอ้วน และโรคอ้วน ก็เหมือนจะเป็นผลรวมปลายทางที่สะท้อนปัญหาของบริโภคนิยม อย่างที่คนจะพูดได้ว่า ก็บริโภคกันนักจนอ้วนกันไปเกือบครึ่งเมืองอย่างนี้ จะไม่ให้ขยะล้นประเทศได้อย่างไร แม้ในเรื่องดินเสีย น้ำเสีย อากาศเสีย ฟ้ามัวด้วยฝุ่นควันพิษ เป็นต้น ก็ทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ต้นทางในการผลิต ถึงปลายทางตอนบริโภค คนทำร้ายธรรมชาติ แล้วสิ่งแวดล้อมที่เสียหายตีกลับมาเป็นพิษเป็นภัยแก่คนทำให้มนุษย์อยู่อาศัยในโลกนี้ได้ยากขึ้นๆ และตัวคนเองเจอทุกข์เจอภัย ก็เดือดร้อน เสียสุขภาพ เกิดโรคอ้วนขึ้นมา เลยไปถึงปัญหาจากไขมัน โรคหัวใจ มะเร็ง ฯลฯ เข้าทำนองว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว

ต้นตอของปัญหาอยู่ในตัวคน ปัญหาเกิดจากคน คนสร้างปัญหา แล้วลงท้าย ปัญหาก็มาลงที่คน คนต้องผจญปัญหา และมันก็เป็นปัญหาจากการหาความสุขของคน คือคนพวกที่ถือบริโภคนิยมนั้น เหมือนกับมีคติว่า เสพให้มากที่สุด จะได้มีความสุขมากที่สุด แล้วจากการกินเสพมากเกินไป ตัวคนเองก็เกิดโรคเสื่อมเสียสุขภาพ ข้างนอกก็ผลาญทรัพยากร ก่อขยะ ของเสีย ทำลายธรรมชาติทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษภัยอย่างที่ว่าไปแล้ว

ทีนี้ ตัวคนที่ก่อปัญหานั้น ก็เป็นปมปัญหาซับซ้อนอยู่ในตัวเขาเอง ตั้งแต่บอกว่าหาความสุข ก็เหมือนกับฟ้องว่าตัวเองไม่ค่อยมีความสุข จึงมองหาเที่ยวหาความสุขจากข้างนอก คือจากการเสพอามิส ซึ่งเป็นความสุขที่พึ่งพา ขึ้นต่อสิ่งเสพข้างนอกนั้นๆ แล้วก็ได้แค่สมใจผ่านไปทีหนึ่งคราวหนึ่ง ไม่เป็นความสุขที่ยั่งยืนประจำอยู่ในตัวเอง

แล้วปมหาความสุขนี้ ก็โยงไปที่ชีวิตด้านการอยู่ร่วมสังคม ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ในสังคมที่พัฒนาแล้ว เจริญทางวัตถุมาก ที่อยู่กันแบบปัจเจกตัวใครตัวมัน ไม่ค่อยจะอบอุ่นด้วยไมตรีสงเคราะห์ แถมมีวิถีชีวิตที่ดำเนินไปในสังคมที่เป็นระบบแข่งขันแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ก็เจอความกดดัน เบียดแซง มีความเครียด ความกังวล ร้อนรน กระวนกระวาย ไปถึงปฏิกิริยาเบื่อหน่าย หดหู่ ผิดหวัง ซึมเศร้า เหงาหงอย

ในวิถีชีวิตที่ดำเนินไปนั้น ส่วนสำคัญก็คือ การทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือการทำงานในอาชีพ ซึ่งใช้เวลา เรี่ยวแรง พลังงานส่วนใหญ่ของชีวิต ปัญหาว่าชีวิตมีความสุขความทุกข์หรือไม่แค่ไหน จึงต้องดูที่นี่ให้จริงจังด้วย

อย่างเรื่องที่เล่าว่า คนทำงานด้วยความเบื่อหน่ายแปลกแยก ใจไม่สบายเลย มองแต่ว่าเมื่อไรจะหมดเวลาสักที มีตู้หยอดตังค์อยู่ใกล้ๆ เดี๋ยวๆ ก็ไปกดเอาน้ำหวานบ้าง ข้าวโพดคั่วบ้าง มันทอดกรอบ หรืออะไรที่ชอบมาดื่มมาเคี้ยว นี่คือระบายความอัดอั้นเบื่อหน่ายออกไป แต่ได้โรคอ้วนมา คนบริโภคมากไม่ใช่สนองความต้องการของชีวิตที่จะมีสุขภาพ แต่เกินความต้องการจนกลายเป็นการเบียดเบียนชีวิต

ตำราใหญ่ชุดหนึ่งบรรยายความในหัวเรื่องโรคเนื่องด้วยอาชีพ หรืออาชีวิกาพาธ (occupational disease) พูดถึงโรคต่างๆ และภาวะเสื่อมเสียสุขภาพ ที่คนทำงานเสี่ยงที่จะประสบในอาชีพนั้นๆ เฉพาะอย่างยิ่งในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น จากสารเคมี จากแก๊ส จากโลหะเช่นปรอท จากฝุ่นผงเช่นถ่านหิน จากอุณหภูมิ จากเสียง จากความสั่นสะเทือน ฯลฯ ไปลงท้ายที่โรคจากปัญหาจิตใจ

เขาบอกว่าสภาพจิตตัวร้ายที่เจอกันเป็นสามัญทั่วไปมี ๒ อย่าง คือ ความเบื่อหน่าย (boredom) กับความเครียด (mental stress) ซึ่งอาจเกิดจากความไม่พอใจไม่สมใจในงาน ทำงานซ้ำซาก งานหนักเกินไป ทำให้ไม่ตั้งใจทำงาน ผลงานด้อยต่ำ ทำงานผิดพลาด อาจเกิดอุบัติเหตุ และตัวคนก็ไม่มีความสุข เสื่อมเสียสุขภาพ ทั้งจิตและกาย ทำให้งุ่นง่านหงุดหงิด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และเกิดโรคต่างๆ ไปจนถึงโรคหัวใจ ลงท้ายบอกวิธีแก้ไขว่า ออกกำลังบริหารร่างกายตามสมควร เจริญสมาธิ (meditation) พักผ่อนหย่อนใจ และบำบัดรักษา (“occupational disease.” Encyclopædia Britannica, 2014.)

มองกว้างออกไปในโลกเวลานี้ พูดได้ว่าการทำงานอาชีพมี ๒ ระบบใหญ่ คือระบบบังคับ กับระบบเงื่อนไข หรือระบบจำเป็น กับระบบจำใจ หรือระบบฝืนใจ กับระบบจำใจ

ระบบบังคับหรือระบบจำเป็น ก็คือทำตามอำนาจที่ควบคุมสั่งการ ส่วนระบบเงื่อนไข คือระบบเสรีที่จำใจทำงานซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้ค่าตอบแทนอันเป็นเหมือนรางวัลที่ตัณหาอยากได้ ทั้ง ๒ ระบบนี้ทำให้เกิดปัญหาแก่ชีวิตจิตใจอย่างที่ได้ว่าแล้ว

ระบบที่ ๓ ซึ่งเป็นทางสายกลาง คือระบบตรงความพอใจ หรือระบบเต็มใจ คือทำงานที่มองเห็นคุณค่าประโยชน์แล้วอยากทำให้สำเร็จอย่างดีที่สุด โดยมีทุนที่อุ่นใจมั่นใจว่าจะได้เป็นประกันการครองชีวิตที่ดี เรียกให้สั้นว่า ระบบฉันทะ

สังคมในประเทศที่เรียกว่าพัฒนาแล้วในบัดนี้ ซึ่งได้พัฒนาอย่างสูงนำหน้าทางวัตถุไปไกล ได้ชื่อว่ามั่งคั่งพรั่งพร้อม กลับประสบปัญหามากมายร้ายแรง ทั้งปัญหาชีวิตครบร่างกายและจิตใจ ปัญหาสังคม ปัญหาธรรมชาติตลอดถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยมีอาการปรากฏแก่คน ซึ่งเป็นผู้เสวยผลของการพัฒนานั้น กลายเป็นวิปริตผิดแปลกไป กายเป็นโรคอ้วนโยงต่อไปสู่โรคอื่นๆ ใจเครียดเบื่อหน่ายกันแพร่หลาย เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นๆ ถึงขั้นฆ่าตัวตายกันมาก

บริโภคนิยมเหมือนจะเป็นลักษณะสำคัญของอารยธรรมปัจจุบัน แล้วก็เป็นตัวฟ้องบอกอาการป่วยของอารยธรรมนั้น

ฮิปปี้เงียบหาย
กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา

ท่ามกลางสังคมบริโภคนิยมนี้ ถึงแม้ขบวนการฮิปปี้และขบวนการสืบเนื่องทั้งหลายจะได้สลายหายไปแล้วบ้าง จืดจางเลือนรางไปบ้าง ก็ไม่ได้หายหรือจางไปเปล่า แต่ได้เป็นอิทธิพลทำให้สังคมอเมริกันมีความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เช่น ผ่อนคลาย ปล่อยสบายๆ เบาความเครียดเคร่งครัดในการถือแบบแผน ตั้งแต่แต่งตัวก็ง่ายๆ ขึ้น คนหันมาสนใจธรรมชาติเอาใจใส่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สนใจในเรื่องจิตใจมากขึ้น

โดยเฉพาะที่ได้เป็นการปฏิบัติของชีวิต ก็คือการเจริญสมาธิ หรือฝึกสมาธิ (meditation) ดังที่ J. G. Melton ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาศาสนาอเมริกัน เขียนไว้ในสารานุกรมฉบับใหญ่ที่รู้จักกันดีว่า (เวลานี้) เกินกว่า ๑ ใน ๕ ของคนวัยผู้ใหญ่ในประเทศตะวันตก ได้ปฏิบัติการเจริญสมาธิแบบใดแบบหนึ่ง (“New Age movement.” Encyclopædia Britannica, 2014.)

นอกจากนั้น การศึกษา การสื่อสารทางความคิดความเชื่อต่างๆ ที่มีสถาบันซึ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ เช่นอย่าง Naropa เป็นฐานเป็นที่รองรับขับเคลื่อน เวลานานผ่านไป จะเป็นกระแสใหม่ที่กลายเป็นส่วนประกอบร่วมอยู่ด้วยบ้าง กลมกลืนเข้าไปบ้าง ในวิถีชีวิตและสังคมอเมริกัน ความเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นไปเองในระยะยาว

ที่เมืองไทยนี้ ในเวลาไม่นาน อิทธิพลนำกระแสจากอเมริกาที่ว่านั้น ก็มาถึง ที่ปรากฏให้เห็นง่ายๆ ก็คือ หลังจากฮิปปี้โด่งดังในอเมริกาแล้ว คนไทยก็ได้เห็นฝรั่งที่เดินตามถนนในกรุงเทพฯ จำนวนมากแต่งตัวกันอย่างง่ายๆ ผมเผ้า เสื้อ กางเกง รองเท้า ว่ากันค่อนข้างตามสบาย ไม่ต้องถือแบบแผน บางทีเสื้อก็ไม่ใส่ ต่อมา ได้เกิดมีขบวนการนักศึกษา ที่คนหนุ่มไทยเองไม่น้อยแต่งตัวอย่างที่พูดกันว่า ผมยาว-รองเท้ายาง-กางเกงยีนส์ นั่นก็ด้านหนึ่ง

ทีนี้ ลึกลงไปถึงจิตใจ กระแสนิยมสมาธิ ก็เด่นขึ้นมาด้วย เมื่อกี้ได้เล่าไปแล้วว่า ที่กรุงเทพฯ ตอนกึ่งพุทธกาล คนไทยหัวเราะเยาะ ใครพูดถึงกรรมฐาน สมาธิ วิปัสสนา จะถูกมองว่าคร่ำครึ พูดเรื่องเหลวไหล แต่เมื่อเกิดวัฒนธรรมสวนกระแสขึ้นในอเมริกาแล้ว ต่อมาไม่นาน ในเมืองไทยนี้ คำว่าสมาธิก็กลายเป็นคำที่มีเกียรติ มีคุณค่าสำคัญ สามารถชูตัวคนที่พูด กระแสตื่นหรือนิยมสมาธิ ก็แพร่ไปในเมืองไทยด้วย

ควรเข้าใจให้ชัดว่า meditation ไม่ใช่สมาธิ แต่เป็นการปฏิบัติ เป็นการฝึกให้เกิดมีสมาธิ หรือให้เข้าถึงสมาธิ อย่างคำพระที่ว่า “เจริญสมาธิ” คือ สมาธิเป็นภาวะจิต ที่สำเร็จได้ถึงได้ด้วย meditation

แต่อย่างที่ว่าแล้ว สำนักศาสนาตะวันออกใหญ่ๆ เด่นดัง ที่เข้าไปตั้งในอเมริกานั้น ส่วนมากไปจากอินเดีย เป็นของฮินดู ดังนั้น สมาธิที่ฝรั่งรู้จักเข้าใจ จึงมักเป็นสมาธิตามความหมายของฮินดู ซึ่งไม่ใช่หลักพระพุทธศาสนา เช่นฝรั่งมักเข้าใจความหมายของสมาธินั้นว่า เป็นการเข้าถึงภาวะที่จิตดื่มด่ำดูดกลืนเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมัน หรือเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า หรือภาวะจิตที่สูงสุดถึงจุดหมาย

แต่ในพระพุทธศาสนา สมาธิคือภาวะที่จิตมั่นแน่ว อยู่กับสิ่งที่รับรู้อันหนึ่งอันเดียวได้ ซึ่งเป็นภาวะที่จิตนั้นพร้อมที่จะใช้เป็นฐานในการทำงานของปัญญา สมาธิอยู่ที่จิต ตัวที่จะพาไปให้ถึงจุดหมาย คือปัญญา

จะพูดเรื่องที่เมืองไทยนี้ เลยกลายเป็นว่าได้พูดเรื่องเมืองฝรั่งที่อเมริกามายืดยาว แต่คิดว่าไม่เป็นการใช้เวลาให้เสียเปล่า เพราะเป็นเรื่องที่ควรรู้เข้าใจชัดไว้ให้พอแก่การ

ไม่ว่าจะมองแง่ไหน ถ้าถือว่าเมืองอเมริกาเป็นที่พัฒนานำหน้า ก็ต้องรู้หน้าทันหลังของเขา ถ้าสังคมไทยรอรับคอยตามกระแสจากที่นั่น ก็ต้องมิใช่แค่ถูกพัดพาไหลไปตามกระแส แต่ต้องสามารถจัดการปรับแปรผันกระแสนั้นได้ ยิ่งกว่านั้น พูดได้ว่า ในเวลาที่ผ่านมานาน สังคมไทยได้พยายามแสดงตัวให้เห็นว่าเป็นอย่างเขา ทั้งที่สภาพของตัวมิใช่เป็นอย่างที่พยายามแสดง แถมตัวก็ไม่รู้ไม่เข้าใจมองไม่เห็นสภาพที่ไม่เป็นอย่างนั้นด้วย

กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน

ย้อนหลังไปดูเมืองไทยในช่วงใกล้ พ.ศ.๒๕๐๐ ที่ว่าคนสมัยใหม่หันหลังให้วัด มองว่าพระเทศน์มีแต่นิทาน นรกสวรรค์ ทำบุญนิดหน่อยได้อานิสงส์ไปเกิดในสวรรค์มีนางฟ้าเป็นบริวารเป็นโกฏิๆ และเรื่องอะไรๆ ที่เหลวไหลไม่มีเหตุผล เห็นพระพุทธศาสนาว่าคร่ำครึนั้น ก็มีสำนักหนึ่งที่เหมือนกับเป็นกระแสใหม่เด่นขึ้นมา ซึ่งได้สอนธรรมอย่างเป็นเหตุเป็นผล คือสวนโมกข์ ที่ไชยา โดยพุทธทาสภิกขุ ซึ่งทันกับคนสมัยใหม่ชั้นนำ ที่เรียกว่าปัญญาชน แต่สังคมใหญ่ก็ยังไกลจากกระแสนี้

เมื่อในตะวันตก อย่างในอเมริกา เกิดกระแสนิยมปฏิบัติ meditation กันขึ้นแล้วไม่นาน ที่เมืองไทยนี้ คนในเมืองในกรุง ซึ่งมีวิถีชีวิตระบบสังคมอยู่ในแนวทางตามอย่างตะวันตก และเข้าถึงกระแสความนิยมอย่างตะวันตกนั้น ก็ตื่นตัวฟื้นความสนใจสมาธิขึ้นมา และคนในเมืองไทยนี้ ที่สนใจหรือปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว ก็มีคุณค่าปรากฏตัวขึ้น

แต่ย้อนกลับไปดูกระแสนิยมสมาธิ-การปฏิบัติธรรม ในเมืองอเมริกา กับในเมืองไทย ที่เกี่ยวโยงกัน

เวลานั้น อเมริกาเจริญรุ่งเรืองมาก เฟื่องฟูด้วยประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ (ประโยชน์ขั้นตาเห็น เช่น เงินทอง เกียรติยศ ความรุ่งเรืองทางวัตถุ) มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม เป็นสังคมบริโภคนิยม ผู้คนมีวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม พากันหาความสุขจากการเสพบริโภค แต่ความมั่งคั่งพรั่งพร้อมและความสุขจากการเสพบริโภคนั้น มาพร้อมกับการแข่งขันแย่งชิงกันกับคนอื่น และบีบคั้นกดดันตัวเอง ทำให้จิตใจคับเครียดกังวลวุ่นวายไม่มีความสุข คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายทนไม่ได้ พากันสลัดทิ้งวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบคับเครียดนั้น ออกจากสังคม ไปหาความโล่งเบาเป็นอิสระ และก็ได้การปฏิบัติเจริญสมาธิเป็นทางออกที่สดใสของชีวิตจิตใจอย่างหนึ่ง ซึ่งนิยมกันขึ้นมา

แต่การกระทำการปฏิบัติในการสร้างในการใช้ประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ในวิถีชีวิตและระบบสังคม ซึ่งเป็นตัวปัญหาบีบคั้นที่ทำให้พวกเขาสลัดหนีออกมานั้น คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ไปแก้ไข และการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิที่พวกเขาเข้าไปรับเข้าไปร่วมกระทำนั้น โดยทั่วไปก็มุ่งเพื่อให้เป็นทางแก้ปัญหาชีวิตจิตใจที่เขามีติดตัวมา ให้มีความสุขขึ้นมาได้ มิใช่มุ่งให้เต็มตามหลักการในลัทธิของเจ้าสำนักนั้น

ทีนี้ หันมาดูเมืองไทย ดังได้ว่าแล้ว คนที่เข้าร่วมในกระแสนิยมสมาธิ-ปฏิบัติธรรมนั้น โดยทั่วไปเป็นคนในเมืองในกรุง ซึ่งมีฐานะในขั้นดีจนถึงมั่งมีร่ำรวย คือเจริญหรือพร้อมดีแล้วด้วยประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ และที่ไปปฏิบัตินั้น โดยทั่วไปก็เพื่อให้เป็นทางห่างหายจากปัญหาชีวิตจิตใจ มีความสุขในทางของความสงบผ่อนคลาย มิใช่มุ่งมั่นแน่วไปในการที่จะบรรลุจุดหมายของการปฏิบัติแห่งพุทธธรรม

ที่ว่าอย่างนี้ ดูคล้ายว่าจะเหมือนกันกับกระแสการปฏิบัติในเมืองฝรั่งนั้น แต่ได้แค่คล้ายในข้อหลัง ส่วนข้อแรกมิใช่เหมือนกัน แต่ห่างไกลกัน จะต้องแยกแยะสักนิดให้เห็นชัดขึ้นสักหน่อย

ดังได้พูดแล้วแต่ต้นว่า ขบวนการสวนกระแสวัฒนธรรมอเมริกันทั้งหลาย เช่นฮิปปี้นั้น ได้เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาต่อวิถีชีวิตที่มุ่งหาความสุขจากการเสพบริโภค ของสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม ซึ่งเจริญด้วยประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์อย่างดีแล้ว (ที่จริง ลึกลงไปในสังคมที่เรียกว่ามั่งคั่งนี้ ก็มีปมปัญหาที่หนืดเหนียวยิ่งนัก เช่นการแบ่งแยกเหยียดผิว และความยากจนแร้นแค้นซึ่งแฝงซ่อนอยู่ในสังคมที่มั่งคั่งนั้น อันเป็นข้อที่เมืองไทยได้เปรียบ) แต่เมืองไทยนี้เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ยังยากจน ด้อยประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์

อย่างที่บอกแล้วว่า ตอนที่อเมริกามั่งคั่งนั้น ในเมืองไทย ความเจริญอย่างสมัยใหม่มีแต่ในเมืองในกรุง สังคมไทยส่วนใหญ่เป็นบ้านนอกในชนบท และชาวถิ่นชาวบ้านที่ห่างไกลความเจริญเหล่านั้น ก็ใฝ่ฝันอยากได้ พากันมองออกไปหาและรอรับความเจริญมั่งมีพรั่งพร้อมด้วยประโยชน์ทิฏฐธัมม์นั้น จากเมืองจากกรุง ผละละทิ้งหรือหันห่างออกไปจากวัด จากพระพุทธศาสนา จากวัฒนธรรมประเพณีไทย

กระแสการหันห่างจากวัดนี้ยังเป็นมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่ชาวบ้านในถิ่นมากมายเวลานี้ ขณะที่ในด้านหนึ่ง การแสวงหาสร้างประโยชน์ทิฏฐธัมม์ ทั้งการงานอาชีพ ทรัพย์สินเงินทองของเสพเครื่องใช้ ก็ยังด้อย อีกด้านหนึ่งก็เหินห่างธรรม ไม่มองวัดในถิ่นว่าเป็นวัดของหมู่บ้าน หรือเป็นวัดของตัว คนรุ่นใหม่ก็แปลกแยกจากวัด มากคนไปวัดเฉพาะแต่เมื่อมีงานพิธีเผาศพ และก็ไม่เคารพพิธีนั้น รับศีลก็ไม่ใส่ใจ เสร็จพิธีก็ตั้งวงเหล้าในวัด บ้างก็ถึงกับการพนันด้วย

ทีนี้ ทางด้านชาวเมืองชาวกรุง การเจริญสมาธิได้เฟื่องฟูต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นกระแสนิยมการปฏิบัติธรรม ที่คนในเมืองในกรุงผู้มีฐานะดีจนถึงมั่งคั่งร่ำรวย ปลีกตัวจากธุรกิจการงานและสังคมในเมืองนั้น เดินทางออกไปเข้ากรรมฐาน เจริญสมถะ วิปัสสนา ในสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในชนบท ซึ่งอาจจะจัดเป็น course สำหรับเวลาช่วงสัปดาห์ หรือปักษ์ เป็นต้น

คนมีฐานะดีหรือมั่งมีเดินทางจากเมืองจากกรุง ไปเข้าปฏิบัติในสำนักปฏิบัติธรรมซึ่งอยู่ในชนบท ก็ปฏิบัติกันไป ฝ่ายชาวบ้านในถิ่นมองดูรู้เห็นได้ยินจากในถิ่นไม่ใกล้ไม่ไกลแล้ว บอกว่า อ้อ... ที่ว่าปฏิบัติธรรมๆ คืออย่างนี้เอง มาพบกัน แต่งตัวกันอย่างนี้ เดินกันอย่างนี้ พูดกันอย่างนี้ๆ ทำกิจกรรมอย่างนี้ๆ คือปฏิบัติธรรม ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา พวกเราก็อยู่ของเราไป เราไม่ต้องปฏิบัติธรรม

เรื่องที่พูดมานี้ คือบอกว่า คนเมืองคนกรุงคนมีฐานะหรือผู้มั่งมี จะไปปฏิบัติธรรมเอาประโยชน์ขั้นสัมปราย์ (ประโยชน์ล้ำลึกเลยตาเห็น) หรือจะเอาขั้นปรมัตถ์อะไร ก็ปฏิบัติไป ก็ดีละ เป็นการเอาการปฏิบัติธรรมส่วนยอดมาช่วยฟื้นฟูจิตปัญญาของผู้ที่ตั้งตัวได้ในประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์แล้ว

แต่ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์นั้น คนกลุ่มนี้ก็ควรปฏิบัติธรรมในการใช้ในการปฏิบัติต่อประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์นั้นให้ได้อย่างดีด้วย

ความนิยมสมาธิ การปฏิบัติธรรมในขั้นนั้น เป็นกุศลภาวนา เป็นบุญกิริยาที่ดีมาก แต่การปฏิบัติธรรมมิใช่มีแค่นี้ ควรเป็นการปฏิบัติธรรมที่ครบตามหลัก ตรงตามเรื่อง

แล้วที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ จะต้องให้ชาวถิ่นชาวบ้าน ให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ (ที่ค่อนข้างถูกละเลย) ปฏิบัติธรรมให้ได้ประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์อย่างเพียงพอ เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของสังคมนี้

จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน
ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์

พุทธธรรมนั้นเริ่มจากการรู้ความจริงที่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ แล้วโดยใช้ความรู้นั้น หรือบนฐานของความรู้นั้น จึงปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนของการทำเหตุปัจจัยให้เกิดผลที่จะเป็นคุณประโยชน์แก่คนตลอดจนทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง

นี่คือ เป็นหลักการใหญ่ของพุทธธรรมว่า เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อต้องการผลนี้ จึงต้องทำเหตุปัจจัยนี้

เริ่มด้วยความจริงหลักใหญ่ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา... เพราะขาดความรู้จริงแจ่มแจ้ง ก็คิดพูดทำเสียหายไม่ถูกต้องไม่ได้ผลดี จึงเกิดเป็นประดาปัญหา ที่เรียกคำเดียวว่าทุกข์ขึ้น จึงต้องสร้างความรู้ พัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ทัน แล้วเอาความรู้ธรรมดามาใช้แก้ปัญหาให้ทุกข์ดับหายไป แค่นี้ก็พูดได้ในสำนวนหนึ่งว่าเป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

อย่างที่บางทีพูดกันว่า ทำ meditation เจริญสมาธิ ให้มีความสุข แต่ที่จริงไม่ใช่เจริญสมาธิเพื่อความสุข ความสุขเป็นผลพลอยมาเองในการเจริญสมาธิ (สุขเป็นบาทฐานของสมาธิ) ที่แท้นั้น ฝึกสมาธิเพื่อทำจิตให้พร้อมที่จะใช้งานในการพัฒนาปัญญา อย่างนี้จึงจะถูกต้องตามขั้นตอนในกระบวนการปฏิบัติ ดังนี้เป็นต้น

ในที่นี้ จะพูดถึงกระบวนและระบบธรรมในการปฏิบัติ อย่างพื้นๆ ไว้ พอได้เค้าความเข้าใจ ๒ – ๓ ชุด

เริ่มด้วย หลักมูล ที่เป็น จุดตั้งต้น ๓ อย่าง คือ

  1. มีแดนดินถิ่นอาศัยเป็น รมณีย์
  2. มีใจชื่นชมอยากทำอะไรๆ ให้ดีงามด้วย ฉันทะ
  3. มีพื้นใจชื่นบานแจ่มใสด้วย ปราโมทย์

สามอย่างนี้ พึงมีไว้ใช้เป็นประจำตั้งแต่ต้นไปจนถึงจุดหมาย คือลุถึง วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ สุข เกษม นิพพาน

ข้อ ๑ ถิ่นรมณีย์ ถือตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้เองว่า ก่อนตรัสรู้ จะทรงบำเพ็ญเพียร ได้เสด็จไปทรงหาถิ่นสถานที่เหมาะ

เมื่อเสด็จถึงอุรุเวลา บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ได้ตรัสว่า

รมณีโย วต ภูมิภาโค

“ผืนแผ่นดินถิ่นนี้ รมณีย์จริงหนอ มีไพรสณฑ์ร่มรื่น น่าชื่นบาน ทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใส เย็นชื่นใจ ชายฝั่งท่าน้ำก็ราบเรียบ ทั้งโคจรคาม (แหล่งอาหาร) ก็มีอยู่โดยรอบ เป็นถิ่นสถานอันเหมาะจริงหนอ ที่จะบำเพ็ญเพียร”...

แล้วลงประทับนั่ง ตรัสว่า “อลมิทํ ปธานาย” – “ที่นี่ละ เหมาะที่จะบำเพ็ญเพียร” แล้วประทับบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นั่นจนได้ตรัสรู้

จึงพูดได้ว่า ถิ่นรมณีย์ เป็นที่ตั้งต้นของพระพุทธศาสนา

ถิ่นอุรุเวลาอันรมณีย์นั้น มีโพธิรุกขมูล คือร่มพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ เป็นตัวแทน หรือเป็นสัญลักษณ์ นี่คือ รุกขมูล โคนต้นไม้ ซึ่งท่านหมายถึงบริเวณที่มีร่มเงาต้นไม้ เป็นสื่อนำให้นึกถึงรมณีย์

รุกขมูล” เป็นเสนาสนะ คือที่นั่งที่นอนที่อยู่อาศัยพื้นฐานของพระสงฆ์

เมื่อพระภิกษุจาริกถือธุดงค์เดินไป ก็เรียกว่าไปรุกขมูล

แล้วก็ได้ถือกันมาเป็นหลักเป็นประเพณีว่า

พระสงฆ์จาริกไปๆ พอใกล้เข้าพรรษา ก็จะหาวัดหาที่พักในถิ่นรมณีย์ ที่จะเข้าอยู่จำพรรษา

พระที่ไปปฏิบัติธรรมในป่า ก็เลือกที่เป็นรมณีย์

คนจะสร้างวัด ก็สร้างวัดให้เป็นที่รมณีย์

พระอยู่วัด ก็ดูแลรักษาวัดให้รมณีย์

ชาวบ้านที่ดี ก็มีสมานฉันท์ร่วมแรงร่วมใจกันทำบุญด้วยการทำที่ทำกินถิ่นอาศัยของชุมชนให้รมณีย์

ข้อ ๒ ฉันทะ ความพอใจชื่นชมยินดีอยากทำให้คนสัตว์และสิ่งสรรพ์อยู่ในสภาวะดีงาม เข้าถึงภาวะที่เลิศล้ำเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ เป็น “มูล” คือเป็นที่มา เป็นต้นกำเนิดของธรรมทั้งปวง เช่นแสดงออกเป็น เมตตา กรุณา ตามพุทธพจน์ที่ว่า “ฉนฺทมูลกา...สพฺเพ ธมฺมา” – “ธรรมทั้งปวง มีฉันทะเป็นมูล(องฺ.ทสก.๒๔/๕๘/๑๑๔) ธรรมที่มักตามติดฉันทะมาเป็นแฝด ก็คือ วิริยะ ความเพียรแกล้วกล้ามุ่งหน้าบุกฝ่าไปให้สำเร็จลุถึงจุดหมาย

ข้อ ๓ ปราโมทย์ คือความชื่นบานแจ่มใสใจโปร่งโล่ง เป็นจุดตั้งต้นที่แสดงถึงการเริ่มก้าวไปในทางของการปฏิบัติธรรมที่จะดำเนินไปถึงจุดหมาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทุกคนเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ คือมีปราโมทย์ประจำเป็นพื้นใจ ใครไม่มีปราโมทย์ อย่าว่าจะไปถึงนิพพานเลย แค่สมาธิ ก็ไปไม่ไหว

กระบวนปฏิบัติธรรมให้ถึงสมาธิ คือ

ปราโมทย์ ➔ ปีติ ➔ ปัสสัทธิ (ผ่อนคลาย) ➔ สุข ➔ สมาธิ

ทีนี้ กระบวนใหญ่ของการปฏิบัติที่เดินหน้าไปตลอดจนลุจุดหมาย เรียกว่า ปาโมชชมูลกธรรม คือ ธรรมมีปราโมทย์เป็นมูล ๙ (นว ปามุชฺชมูลกา ธมฺมา, เช่น ขุ.ปฏิ.๓๑/๑๘๒/๑๒๕) คือ

ปราโมทย์ → ปีติ → ปัสสัทธิ → สุข → สมาธิ → ยถาภูตญาณทัศนะ → นิพพิทา → วิราคะ → วิมุตติ

มูล ๓ ข้อนี้อาศัยกันและหนุนกันไปตลอด เช่นว่า

มีฉันทะชื่นชมสภาวะที่ดีงาม พอเจอรมณีย์ ก็ชื่นบานแจ่มใสได้ปราโมทย์ พบเห็นอะไรไม่รมณีย์ ก็มีฉันทะอยากทำให้มันสดใสงดงามขึ้นมาเป็นรมณีย์ แล้วก็ยิ่งมีปราโมทย์ ร่าเริงใจ นำไปสู่ความสุข แล้วก็เป็นอยู่ ปฏิบัติธรรม ทำการทั้งหลายให้ดียิ่งขึ้นไป ด้วยใจที่มีกำลังแห่งฉันทะนั้น

มองดูปัญหาของบริโภคนิยมที่พูดถึงข้างต้น ถ้าใจคนมีปราโมทย์อยู่เป็นประจำ ก็ไม่ต้องอัดอั้นไปด้วยความคิดที่จะหาความสุข เพราะมีปราโมทย์เป็นความพร้อมที่จะมีความสุขอยู่ในตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดหาความสุข มีแต่จะสร้างจะพัฒนาความสุขได้ด้วยการสนองฉันทะของตัวเอง

พอมีฉันทะขึ้นมาแล้ว ทีนี้ก็อยากทำงานปฏิบัติการใส่ใจจริงจังอย่างมีความสุข ทำงานจนลืมกินลืมนอน ไม่มีความเบื่อหน่ายอัดอั้นหรือความเครียดที่จะต้องชดเชยหรือระบายคลายออกไปด้วยการกินเสพเครื่องดื่มของกินเหลือเฟือที่จะพาให้เป็นโรคอ้วนทำร้ายตัวเอง และไม่ระดมทับถมบรรดาขยะของเสียที่จะเป็นภาระเกินกำลังระบบรักษาดุลของธรรมชาติ ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อมให้เสียหาย

แถมความรักรมณีย์ มีฉันทะที่ทำให้ปราโมทย์ ก็เป็นหลักประกันพื้นฐานที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ยอมให้สิ่งแวดล้อมเสียหายเสื่อมไปจากภาวะที่เป็นรมณีย์

มูลทั้ง ๓ นี้ เป็นเรื่องใหญ่ พูดไว้เท่านี้ก่อน สรุปอีกทีว่า

  1. มีถิ่น รมณีย์ ที่ธรรมชาติงามอุดมเหมาะสมที่จะอยู่อาศัยทำกิจกรรมกิจการ
  2. มี ฉันทะ ชื่นชมสภาวะที่ดีงาม อยากทำสิ่งทั้งหลายให้เลิศล้ำสมบูรณ์
  3. มี ปราโมทย์ ชื่นบานแจ่มใสเป็นประจำในพื้นใจ

หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่
ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์

การมีที่อยู่ที่ทำกินถิ่นอาศัยเป็นรมณีย์นี้ ท่านถือมาว่าเป็นเรื่องสำคัญ พระพุทธเจ้าตรัสบ่อย คัมภีร์ทั้งหลายพูดกันแล้วพูดกันอีก ถึงกับถือเป็นหลักว่า

ถิ่นรมณีย์มีคุณสมบัติที่เป็นองค์ประกอบ นับได้ ๔ อย่าง

เริ่มด้วย ฉายูทกสมบัติ คือสมบูรณ์พร้อมด้วยร่มไม้และสายน้ำ หรือมีน้ำอุดม ร่มรื่นด้วยพฤกษา คือมีแหล่งน้ำ และต้นไม้พืชผลนานาพันธุ์ คุณสมบัติข้อแรกนี้เป็นเกณฑ์สำคัญที่ขาดไม่ได้

ข้อต่อไปก็สำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคสมบัติ คือ มีภูมิประเทศ พื้นถิ่นพื้นที่ บริเวณ บรรยากาศ ที่สะอาด เรียบร้อย ไร้ขยะ ไม่สกปรกรกรุงรัง พร้อมด้วยสายลม และแสงแดด ท้องฟ้าสดใสไร้หมอกควัน น่าดู น่าเดิน สบายขา สบายตา ปลอดภัย

ต่อจากนั้นก็มี บุคคลสมบัติ พูดสั้นๆ ว่า เป็นถิ่นคนดี ไม่มีคนร้าย ได้เสวนากัลยาณชน

แล้วลงท้ายด้วย คมนาคมนสมบัติ ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป มีทางไปมาไม่ลำบาก ให้ถึงโดยสวัสดี

รมณีย์” เป็นที่บรรจบ เป็นจุดที่ประสานเสริมกัน ระหว่างสุขภาวะแห่งชีวิตของคน กับธรรมชาติที่คงอยู่ในสภาพดี เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล

เมื่อเป็นรมณีย์ ก็คือคนมีชีวิตอยู่ได้ดี มีใจสดชื่นรื่นรมย์ พร้อมกับที่ธรรมชาติก็ยังสดชื่นสงบอยู่ได้เป็นปกติดี

ถ้าเมื่อใดธรรมชาติเสียหาย เช่นฝุ่นควันมากมาย คนหายใจอึดอัด ใจสดชื่นรื่นรมย์ไม่ไหว ก็ไม่เป็นรมณีย์ นี่คือรมณีย์เป็นเครื่องตรวจสอบ เป็นตัวพิสูจน์ความดำรงอยู่ดีมีสุขภาวะ ทั้งของชีวิตคน และของธรรมชาติที่แวดล้อมให้คนได้อาศัย

พอเจอรมณีย์ คนมีใจสดชื่นรื่นรมย์ การปฏิบัติธรรมก็เริ่มต้นทันที นั่นคือ ใจเกิดมีฉันทะ พอใจ ชื่นชม ยินดี พร้อมด้วยปีติปราโมทย์ คือสดชื่น เบิกบาน แจ่มใส อิ่มใจ ปลื้มใจ เปิดทางให้ก้าวไปเป็นสมาธิได้ง่าย

คนจะมีชีวิตอยู่ได้ดี อยู่กันดี ทำกิจการงานก้าวหน้าไป จะพัฒนาจิตใจ จะพัฒนาปัญญาได้ผลดี ก็ต้องให้เขามีความเป็นอยู่ที่เหมาะที่ดี ท่ามกลางธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ที่เป็นสภาพเกื้อหนุนชีวิตจิตใจ ที่ว่าเป็นรมณีย์ดังได้ว่ามานี้

รมณีย์ จึงเป็นคำที่ท้าทายผู้ปฏิบัติธรรม รวมทั้งบรรดาคนไทย ว่าสามารถพอไหวไหม ที่จะทำให้ได้สภาพรมณีย์ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อเปิดทางสู่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมขั้นต่อไป และยิ่งๆ ขึ้นไป

อย่างไรก็ดี เรื่องมิใช่แค่นี้ รมณีย์เป็นสภาพดีงามเกื้อกูลของสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทั่วทั้งหมด ซึ่งต้องให้มีอยู่ประจำเป็นปกติ แต่เมื่อมีกิจกรรมทำการอะไรที่ดีงามสร้างสรรค์ เป็นงานสำคัญหรือจริงจัง เช่น จะฝึกเจริญสมาธิเป็นช่วงเวลายาวต่อเนื่อง ท่านให้เตรียมสภาพเอื้อให้พร้อมไว้ เรียกว่า สบายทั้ง ๗ (สัปปายะ ๗)

คำว่า “สบาย” นี้ คนไทยใช้กันเป็นคำพูดสามัญติดปากมากที่สุดคำหนึ่ง ที่จริงมาจากคำบาลีว่า “สัปปาย, สัปปายะ” (สปฺปาย) และได้มีความหมายเพี้ยนไป

ในภาษาไทย เราบอกว่าคนสบาย แล้วก็จบ อาจจะนอนหลับไปเลย แต่ในภาษาบาลี เขาพูดว่าสบายแก่คน เช่นว่า เภสัชสบายแก่คนนั้น ก็คือเหมาะกับผู้ป่วยนั้น ถูกโรค เอื้อแก่เขาที่จะช่วยให้หายโรค ไม่ใช่อย่างที่คนไทยอาจจะเข้าใจว่ายานั้นอร่อยกินได้ง่ายสบายไปเลย, คำสอนธรรมที่สบายแก่คนนั้นๆ ก็คือเหมาะกันเอื้อต่อกำลังปัญญาของเขาหรือตรงกับปัญหาที่จะให้เขารู้เข้าใจได้ชัดเจนช่วยให้คิดแก้ปัญหาได้, ที่อยู่ที่พักสบายแก่เขา ก็คือเหมาะเอื้อให้เขาฝึกสมาธิได้ผลดี ดังนี้เป็นต้น

เป็นอันว่า “สบาย” แบบของไทย (ปัจจุบัน) กลายเป็นจุดหมายไปเสีย บอกว่าอากาศวันนี้สบาย อ๋อ... ดีจัง แล้วก็ลงนอนหลับไปเลย (จะว่าสบายคือเอื้อก็ได้ คือ เอื้อแก่ความขี้เกียจ) ต่างจากของพระที่ว่า สบาย คือเอื้อแก่การทำกิจทำการ

รวมความว่า “สบาย” ของบาลี คือ “สัปปายะ” แปลว่า เหมาะกัน หนุน เอื้อ เกื้อกูล เกื้อหนุน อาจจะใช้คำว่า “สภาพเอื้อ” คือเอื้อเกื้อหนุนต่อการกระทำหรือการปฏิบัติที่จะให้ไปถึงจุดหมาย เช่นว่าจะฝึกสมาธิ สัปปายะก็จะช่วยเอื้อเกื้อหนุนให้การฝึกนั้นได้ผลบรรลุจุดหมายได้สมาธิโดยง่ายหรือง่ายขึ้น หรือบอกว่าอากาศวันนี้สบาย จะทำงานหรือทำอะไรๆ ก็เหมาะ ช่วยให้ทำได้ดี สำเร็จผลดีและได้ง่าย การทำกิจหน้าที่การงาน การศึกษา การภาวนาทุกอย่าง ก็ต้องการสัปปายะทั้งนั้น

สัปปายะ คือ สบาย ที่ท่านรวมมาบอกไว้ มี ประการ ในที่นี้ จะเรียงลำดับจากวงกว้างรอบๆ เข้ามาหาตัวคนที่เป็นอยู่หรือผู้ที่จะทำกิจทำการนั้นๆ ดังนี้

๑. อุตุสบาย (อุตุสัปปายะ) คือ มีสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ภาวะของฤดูกาล ที่เอื้อ เช่น ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป ดินน้ำฟ้าอากาศสะอาดสดใส ไม่อึดอัด ช่วยให้กายใจกระปรี้กระเปร่า จิตผ่องใสเบิกบาน พร้อมที่จะปฏิบัติกิจทำหน้าที่การงาน

๒. เสนาสนสบาย (เสนาสนสัปปายะ, อาวาสสัปปายะ ก็ว่า) มีเสนาสนะหรืออาวาส คือที่นั่งที่นอน ที่อยู่อาศัย เช่น กุฏิ หรือ บ้านเรือน ที่มั่นคง ปลอดภัย ใช้งานดี ไม่มีสิ่งรบกวนหรือชวนรำคาญ

๓. โคจรสบาย (โคจรสัปปายะ) คือ ที่โคจร หมายถึงท้องถิ่น ย่าน ละแวก ที่จะพึงแวะเวียนไปเป็นประจำ เพื่อหาของกินของใช้ สำหรับพระคือที่ไปบิณฑบาต หรือสำหรับชาวบ้าน ได้แก่ ย่านร้านค้า ที่จ่ายตลาด แหล่งอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ไปได้สะดวก แต่ไม่ทำให้พลุกพล่านวุ่นวาย

๔. อาหารสบาย (อาหารสัปปายะ, โภชนสัปปายะ ก็ว่า) คือ มีโภชนาหารเพียงพอ มีรสชาติตามสมควร แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ

๕. บุคคลสบาย (ปุคคลสัปปายะ) คือ ไม่มีคนร้ายโจรขโมยที่จะต้องหวาดระแวง มีแต่คนดี คนมีไมตรี คนที่ถูกกัน คนเหมาะใจที่จะได้พูดคุยพึ่งพาอาศัยกัน มีคนที่เป็นกัลยาณมิตร ท่านผู้ทรงธรรมทรงปัญญา หรือเป็นครูอาจารย์ที่จะได้ไปพบปะสนทนาไต่ถามข้อธรรม ไปซักถามปรึกษาหาความรู้แก้ไขประดาข้อสงสัย

๖. ภัสสสบาย (ภัสสสัปปายะ, ธัมมัสสวนสัปปายะ ก็ว่า) คือ มีการสื่อสารพูดจาได้พูดได้ฟังสนทนาสากัจฉากันในเรื่องราวที่นำให้เจริญจิตใจเจริญปัญญา เกื้อหนุนการศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติให้ก้าวหน้า และฟังเรื่องราวข่าวสารที่เป็นประโยชน์

๗. อิริยาบถสบาย (อิริยาปถสัปปายะ) คือ ในการที่จะเป็นอยู่เป็นไป ได้อาศัย ใช้ประโยชน์จากสบายทั้ง ๖ ข้อที่ว่ามานั้น เราต้องดำเนินชีวิตคืบเคลื่อนไปด้วยอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน

เพราะฉะนั้น จึงต้องให้อิริยาบถ ๔ นั้นดำเนินไปด้วยดี คล่องสบาย ไม่ติดขัด โดยรู้จักบริหารอิริยาบถนั้นๆ เช่นว่า ให้สม่ำเสมอ ให้สมดุล เหมาะกับความถนัดของบุคคล และให้เกื้อกูลแก่สุขภาพ แล้วก็ใช้งานให้เหมาะกับปฏิบัติการในการศึกษาเล่าเรียนเจริญภาวนาที่ได้ว่ามา

เป็นอันว่ารวมเป็นสัปปายะ คือ สบาย ๗ ประการ ซึ่งพระได้แนะนำสอนกันเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาแต่โบราณ จะอยู่ที่ไหน ในกุฎี ที่โรงเรียน สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ก็ให้ได้สบาย ทั้ง ๗ ประการนี้

ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย
อาจกลายเป็นเลื่อนลอย

ผู้ที่ได้เล่าเรียนฟังธรรมมาบ้าง พอคุ้นกับศัพท์แสงถ้อยคำ ย่อมได้ยินได้รู้จักคำว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ (ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ก็ใช้) ว่าเป็นหลักสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำอยู่เสมอ

หลักนี้บอกว่า การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องได้ผลจริง ต้องเป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ แล้วธรรมานุธรรมปฏิบัติ คือปฏิบัติอย่างไร โดยทั่วไปแปลกันมาตามสำนวนเก่าว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น คืออย่างไร?

ถ้าจะให้เข้าใจ ก็ค่อยๆ แปลยักเยื้องออกไป เช่นว่า ปฏิบัติธรรมน้อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่, ปฏิบัติธรรมข้อย่อยสอดคล้องกับธรรมข้อใหญ่, ปฏิบัติธรรมข้อย่อยคล้องจองรับกันกับธรรมหลักใหญ่, ปฏิบัติธรรมข้อย่อยสอดสมกลมกลืนเข้ากันกับธรรมหลักใหญ่ อย่างนี้คงพอเห็นเค้า พอจะอธิบายต่อไปให้เข้าใจ

ในที่นี้ ก็แยกคำออกมาได้เป็น ธรรม คือธรรมข้อใหญ่ หรือธรรมที่เป็นหลักใหญ่ กับ อนุธรรม คือธรรมน้อย หรือธรรมข้อย่อย ลงท้ายว่าปฏิบัติ รวมกันมีความหมายว่า ปฏิบัติธรรมข้อย่อยๆ ทั้งหลายให้เป็นทางที่จะนำพาเข้าถึงหรือให้เกิดธรรมใหญ่

ธรรม = ธรรมข้อใหญ่ หรือธรรมที่เป็นหลักใหญ่ หมายถึง โลกุตรธรรม (มรรค-ผล-นิพพาน)

อนุธรรม = ธรรมน้อย หรือธรรมข้อย่อย หมายถึง บุพภาคปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเบื้องต้น)

พูดง่ายๆ ว่า ที่จะปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่จู่ๆ จะปฏิบัติธรรมใหญ่คือโลกุตรธรรมขึ้นมาทันที แต่ต้องปฏิบัติธรรมเล็กๆ น้อยๆ ข้อย่อยๆ ทั้งหลาย ที่เรียกรวมกันว่า บุพภาคปฏิปทา คือข้อปฏิบัติเบื้องต้น หรือข้อปฏิบัติต้นทาง ให้ได้ผลเป็นจริงขึ้นมาก่อนตามลำดับ ซึ่งจะนำหน้าพาไปให้ถึงธรรมข้อใหญ่คือโลกุตรธรรมได้ตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมันเอง

ทีนี้ก็ถามว่า อนุธรรม หรือ บุพภาคปฏิปทา นั้น คือธรรมข้อย่อยอะไรบ้าง? คราวนี้ต้องว่ากันยาว แต่บอกเป็นหลักไว้ก่อนว่า ได้แก่ จรณะ ๑๕ เดี๋ยวจะพูดเล็กน้อย

บุพภาคปฏิปทา นั้น ใช้ในความหมาย ๒ ระดับ ที่พูดข้างบนนั้นเป็นความหมายทั่วไป ซึ่งกว้างที่สุด คือหมายถึงข้อปฏิบัติต้นทางของการปฏิบัติหมดทั้งระบบจบทั้งกระบวน

แต่อีกอย่างหนึ่งคือใช้ในความหมายจำเพาะ โดยยกธรรมที่เป็นผลสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาตั้งแล้วบอกว่า ธรรมต่อไปนี้ เป็นบุพภาคปฏิปทาของธรรมนั้นๆ

ดังตัวอย่าง ยก “อริยผล” ขึ้นมาตั้ง ถามว่าอะไรเป็น บุพภาคปฏิปทาของอริยผล ก็ตอบง่ายหน่อยว่า อริยมรรคเป็นบุพภาคปฏิปทาของอริยผล

ที่ยากขึ้นหน่อยแต่น่ารู้ ถามว่าอะไรเป็นบุพภาคปฏิปทาของ “ฌาน” (ฌานเองเป็นส่วนหนึ่งของบุพภาคปฏิปทาในระบบใหญ่ที่นำสู่โลกุตรธรรมอยู่แล้ว)

ตอบง่ายๆ ก็ว่า บุพภาคปฏิปทา ของ “ฌาน” = ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข และสมาธิ

หรือตอบว่า บุพภาคปฏิปทา ของ “ฌาน” = ละนิวรณ์ ๕ ก็ได้ความเท่ากัน

ทีนี้ ย้อนไปพูดถึงระบบใหญ่ที่ครอบคลุมหมดทั้งโลกุตรธรรมด้วย ที่ว่า บุพภาคปฏิปทา ได้แก่ จรณะ (ธรรมเครื่องดำเนินไปถึงวิชชา) ๑๕ นั้น3 ในที่นี้ไม่ต้องการให้ยืดยาว แต่จะพูดย้ำไว้ ๓ ข้อ (ข้อ ๒-๓-๔)

[ข้อ ๑ คือ สีลสังวร ความสำรวมในศีล พูดง่ายๆ ว่ามีความประพฤติดี ไม่เสียหาย เป็นผู้สุจริต ข้อนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานตามปกติ ขอผ่านไป]

๒. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หมายความว่า รู้จักใช้อินทรีย์ ปกครองอินทรีย์ได้ ใช้อินทรีย์เป็น ใช้ตาหูเป็นต้น รับรู้ ดูฟัง โดยไม่ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้ถูกกระทำ แต่เป็นผู้กระทำ ได้เรียนรู้ รู้ทันโทษ มองเห็นประโยชน์

คนที่ใช้อินทรีย์ไม่เป็น ปกครองอินทรีย์ไม่ได้นั้น เห็นอะไรไม่ถูกหู ไม่ถูกตา รู้สึกไม่ชอบใจ ก็ว่ามันไม่ดี แล้วก็โกรธ คิดขัดเคือง ไม่สบายเดือดร้อนใจตัวเอง เห็นอะไรถูกหูถูกตา ชอบใจ ก็ว่ามันดี อยากได้อยากเอา ใจวุ่นวนอยู่นั่น อย่างนี้เรียกว่า ถูกอารมณ์ ถูกสิ่งที่รับรู้นั้นมันทำเอา ถูกมันครอบงำ ถูกมันปั่นมันจูงมันชักพาลากไป

ส่วนคนที่ปกครองอินทรีย์ได้ ใช้อินทรีย์เป็นนั้น เขาใช้ตาหูเป็นต้น รับรู้ ดู ฟัง ด้วยใจเป็นกลางไม่เสียดุล ไม่ถูกความรู้สึกดีร้ายชอบชังทำให้เอนเอียงไป ไม่ถูกมันปั่นมันจูงให้เป็นไปต่างๆ ไม่อยู่แค่ว่า อะไรถูกหูถูกตา ก็ว่าดี อะไรไม่ถูกหูไม่ถูกตา ก็ว่าไม่ดี แต่มีสติตั้งหลักได้ และใช้ปัญญารู้เข้าใจ ได้เรียนรู้สิ่งนั้นว่าดีร้ายเป็นคุณเป็นโทษอย่างไร จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร และเก็บความรู้นั้นไว้ใช้ประโยชน์ได้ต่อไป เป็นการรับรู้เรียนรู้ที่เป็นด่านหน้าของการศึกษา

๓. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค บริโภคด้วยปัญญา กินเสพพอดีที่จะได้ประโยชน์สมคุณค่าที่แท้ของมัน หลักนี้สำคัญอย่างไรไม่ต้องบรรยาย ตั้งแต่จำเป็นสำหรับสุขภาพร่างกายเป็นต้นไป ว่าตามยุคสมัยก็คือแก้ปัญหาบริโภคนิยม ถือกันมาเป็นหลักเบื้องต้นของการศึกษา อย่างที่ให้พระเณรพิจารณาเข้าใจเหตุผลคุณโทษ แล้วบริโภคให้ได้ประโยชน์

หลายวัด ก่อนจะฉัน ให้พระเณรสวดบทพิจารณาอาหาร เหมือนเป็นการเตือนสติ พร้อมกัน เรียกว่าบท “ปฏิสังขา-โย” ขอยกคำแปลมาให้ดูดังนี้

ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย (คือพิจารณาโดยใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างดีแล้ว คำนึงถึงเหตุผลแล้ว) จึงฉันอาหารบิณฑบาต (โดยรู้ตระหนักว่า ที่ฉันนี้)

- มิใช่เพื่อจะเอาสนุกสนาน มิใช่เพื่อเห็นแก่เอร็ดอร่อยหลงมัวเมา มิใช่เพื่อเอาสวยเอางาม มิใช่เพื่อแต่งเนื้อหนังมังสาอวดโอ้โชว์ร่าง

- แต่ฉัน เพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ ให้ชีวิตดำเนินไป

- เพื่อระงับความหิว หรือการขาดอาหาร อันเป็นภาวะบีบคั้นเบียดเบียนร่างกาย

- เพื่ออนุเคราะห์พรหมจริยะ (เพื่อเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงามอันประเสริฐ เพื่อมีกำลังเล่าเรียนศึกษา เกื้อหนุนการฝึกฝนพัฒนาชีวิต)

โดยการ (รับประทานด้วยพิจารณา) อย่างนี้ เราจะระงับเวทนาเก่า (แก้ความทุกข์ร้อนกระวนกระวายเนื่องจากความหิวได้) กับทั้งจะไม่ให้เกิดเวทนาใหม่ (เช่น ไม่อึดอัด ท้องเสีย เป็นต้น เนื่องจากรับประทานมากเกินไป หรือกินของไม่ดีมีพิษ)

- และเราก็จะมีชีวิตดำเนินไปได้ เราจะสามารถยาตราชีวิตไป

- พร้อมทั้งจะเป็นการบริโภคที่ไม่มีโทษ บริสุทธิ์ ปราศจากข้อเสียหาย

- แล้วก็จะเป็นอยู่ผาสุกด้วย

๔. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรในการทำกิจของผู้ตื่น ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ใช้เวลาให้มากพอในการทำกิจหน้าที่ของตนอย่างมีสติ เช่น เป็นพระภิกษุ ก็ตื่นให้มากพอ และในเวลาส่วนมาก ก็มานั่ง มาจงกรม ปฏิบัติในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากนิวรณ์

ธรรม ๓ ข้อ คือ การรู้จักใช้อินทรีย์ ตา หู ฯลฯ ดูฟังเป็น (อินทรียสังวร) ความรู้จักพอดีในการกินเสพ (โภชเนมัตตัญญุตา) และการเพียรทำกิจของผู้ตื่น (ชาคริยานุโยค) ดังว่านี้ เป็นธรรมชุดหนึ่งของมันเอง เรียกว่า อปัณณกปฏิปทา แปลว่า การดำเนินชีวิตที่ไม่ผิดพลาด หรือการปฏิบัติที่ถูกทางแน่แท้ ควรฝึกกันตั้งแต่เด็ก

นี่เป็นตัวอย่างของธรรม ที่เป็นอนุธรรมอยู่ในบุพภาคปฏิปทา ใครจะเป็นนักปฏิบัติ ควรทำให้ได้ ธรรมจำพวกนี้ บางอย่างก็จำเป็น บางอย่างก็ไม่ถึงกับจำเป็น แต่สมัครใจทำเป็นการปฏิบัติเสริมได้ เช่นอย่างธุดงค์

ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ
จบถึงจุดหมายของชีวิต

การปฏิบัติธรรมที่ครบหลัก ตรงเรื่อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างผู้ไม่ประมาท เป็นบัณฑิต มีพุทธพจน์บอกไว้ว่า (เช่น ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๑/๒๔๑)

อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต
ทิฏฺเ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ ฯ

แปลว่า: ผู้ไม่ประมาท เป็นบัณฑิต ย่อมจับเอาประโยชน์ไว้ได้ครบทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ในทิฏฐธัมม์ (ประโยชน์ในภาวะที่ตาเห็น) และประโยชน์ในสัมปราย์ (ประโยชน์เลยตาเห็น), เพราะลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย จึงเรียกธีรชนว่าเป็น "บัณฑิต"

๑. ประโยชน์ในทิฏฐธัมม์ หรือจุดหมายที่ตาเห็น หมายถึงประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันทันตา หรือประโยชน์ที่เป็นเรื่องตามองเห็น เรียกเต็มคำว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” ได้แก่

ก) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน

ข) มีเงินมีงาน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ

ค) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม

ง) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ

การปฏิบัติธรรม หมายถึงการกระทำดำเนินการที่จะให้ประโยชน์เหล่านี้เกิดมีขึ้น และใช้มันปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง เช่น รักษาสุขภาพ ด้วยการรู้จักประมาณในการเสพบริโภค (โภชเนมัตตัญญุตา) กินพอดี กินด้วยปัญญา รู้จักสร้างสัปปายะ ใช้เวลาเป็น หรือในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ก็ขยันหมั่นเพียร แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ใช้วิธีเลวร้าย ได้มาแล้ว เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ให้อิ่มหนำเป็นสุข และแจกจ่ายแบ่งปัน ใช้ทรัพย์ทำการดีงามบำเพ็ญประโยชน์ มีปัญญารู้จักใช้ทรัพย์ให้ได้สมคุณค่าที่แท้ของมัน ไม่ติด ไม่สยบ ไม่มัวเมา มีใจเป็นอิสระ กินใช้ทรัพย์อย่างรู้เท่าทัน ไม่ให้เกิดโทษมีทุกข์เพราะทรัพย์นั้น

๒. ประโยชน์ในสัมปราย์ หรือจุดหมายเลยตาเห็น หมายถึงประโยชน์เบื้องหน้าคือชีวิตในอนาคต ภพหน้า หรือประโยชน์ที่ล้ำลึกเลยตาเห็น คือประโยชน์ทางจิตใจและทางปัญญา เรียกเต็มคำว่า “สัมปรายิกัตถะ” เช่นว่า

- มี ศรัทธา มีหลักการและจุดหมาย ที่ทำให้อุ่นใจเข้มแข็งโดยมั่นใจด้วยปัญญา

- มี ศีล ที่สามารถภูมิใจในชีวิตที่สะอาดสุจริต

- มี จาคะ ที่ทำให้อิ่มใจในชีวิตมีคุณค่าที่ได้มีน้ำใจเสียสละเป็นผู้ให้และได้ทำประโยชน์

- มี ปัญญา ที่ทำให้แกล้วกล้ามั่นใจในการดำเนินชีวิตที่จะแก้ไขปัญหาจัดภารกิจให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ประโยชน์ขั้นสัมปราย์นี้ ที่เป็นเรื่องในระดับสูง บางทีก็เรียกชื่อแยกออกไปให้สังเกตได้ชัดว่า ปรมัตถะ หรือ ปรมัตถ์4 แปลกันว่าประโยชน์อย่างยิ่ง คือเป็นจุดหมายสูงสุด พูดสั้นๆ ว่า ได้แก่ วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ สุข เกษม นิพพาน การปฏิบัติธรรมในระดับนี้ พูดง่ายๆ ก็ได้แก่ สมถะ วิปัสสนา ซึ่งรวมทั้งการเจริญสมาธิอยู่ในตัว อย่างที่คนสมัยนี้มากมายเรียกการปฏิบัติธรรมด้วยความเข้าใจที่จำกัดอยู่แค่นี้

อัตถะ คือประโยชน์ที่มุ่งหมายนี้ แยกอีกแบบหนึ่งเป็น ๒ เหมือนกัน คือ

๑. อัตตัตถะ ประโยชน์ตน ตั้งแต่ทรัพย์สินเงินทองของตาเห็น ลึกเลยตาเห็นเข้าไปถึงคุณสมบัติในตัว เช่น การศึกษา ความเพียรพยายาม ขยัน อดทน เมตตา กรุณา สติ สมาธิ ปัญญา จนถึงการบรรลุวิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ สุข เกษม นิพพาน

๒. ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น คือ การช่วยเหลือทำให้คนอื่นๆ ได้ มี เข้าถึงประโยชน์ที่ว่าแล้ว เหล่านั้น

(บางครั้งก็ซอยละเอียดเป็น อัตถะ ๓ คือมีข้อ ๓. ว่า อุภยัตถะ ประโยชน์ร่วมกันทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งตนเอง และผู้อื่น เป็นส่วนรวม)

พุทธพจน์ที่ตรัสสอนให้ทำประโยชน์ครบทั้งสองด้านสองฝ่ายที่ว่านี้ พบบ่อยมากในพระไตรปิฎก

อัตถะ ๒ (หรือ ) สองชุดนี้ เป็นหลักใหญ่ของการปฏิบัติธรรมที่ครอบคลุมทั่วทั้งหมด

ทีนี้ ในขั้นต้น ปฏิบัติธรรมให้ได้ประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์อย่างไร?

เริ่มแรก ตั้งตัวให้มั่นอยู่ได้ในวินัย มีความประพฤติสุจริต ที่เรียกว่ามีศีล รวมทั้งละเว้นอบายมุขทั้งหลาย แล้วก็ปฏิบัติหลักธรรมเพื่อสร้าง ประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ ที่รู้จักกันมากหน่อย คือชุดที่ว่าด้วยการทำการงานอาชีพหาเงินให้มีทุนทรัพย์ไว้อย่างดี ซึ่งมี ๔ ข้อ คือ

๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ทำการงานอาชีพด้วยความพากเพียร พร้อมด้วยวิมังสา ใช้ปัญญาเลือกเฟ้นวิธีจัดทำดำเนินการให้สำเร็จอย่างดี

๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ดูแลถนอมทรัพย์ที่หามาได้ให้อยู่ดีปลอดภัย

๓. กัลยาณมิตตตา มีกัลยาณมิตร โดยรู้จักเลือกหาคนดีมีปัญญา ที่จะทรงตัวไว้ด้วยกัน และมาพบปะสนทนาถกถ้อยปรึกษา และศึกษาเยี่ยงอย่างคุณสมบัติที่ดี

๔. สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตแต่พอดี รู้ทันไว้ถึงช่องหดหายและทางเพิ่มขึ้นไปของทุนทรัพย์ เป็นอยู่พอเหมาะ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่ายเป็นสำคัญ

ธรรมที่จะปฏิบัติต่อประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ มีอีกมากมาย เช่น ในด้านสุขภาพ อย่างที่ตรัสเรื่องมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักพอดี แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล และในด้านการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป และการอยู่ร่วมในสังคม ก็มียืดยาวเต็มทั้งสิงคาลกสูตร ที่ถือว่าเป็นวินัยของชาวบ้าน (คิหิวินัย)

ปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน

ธรรมที่พูดมานั้น โดยมากเป็นการทำหน้าที่ทำความดีงามความถูกต้องของตนเอง แต่ต้องไม่ลืมไม่มองข้ามการปฏิบัติธรรมเพื่อประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์นี้ ที่เป็นเรื่องเพื่อส่วนรวม หรือของกลาง ดังเช่นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ที่เราทั้งหลายควรถือเป็นหลักสำคัญ ตามพระคาถาที่ว่า (สํ.ส.๑๕/๑๔๖/๔๖)

อารามโรปา วนโรปา เย ชนา เสตุการกา
ปปญฺจ อุทปานญฺจ เย ททนฺติ อุปสฺสย
เตส ทิวา จ รตฺโต จ สทา ปุญฺ ปวฑฺฒติ
ธมฺมฏฺา สีลสมฺปนฺนา เต ชนา สคฺคคามิโน ฯ

แปลว่า: ชนเหล่าใด ปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน (ทำทางข้ามทางผ่าน รวมทั้งจัดเรือข้ามฟาก) จัดบริการน้ำดื่ม ขุดบึงบ่อสระน้ำ ให้ที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเจริญงอกงาม ทั้งคืนทั้งวัน ทุกเวลา ชนเหล่านั้น ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้เดินทางสวรรค์

การปลูกป่า ปลูกสวน ขุดบึงบ่อสระน้ำ ทำถนนหนทาง สร้างสะพาน สร้างศาลา ให้ที่อยู่ที่พักอาศัย อะไรเหล่านี้ เป็นการบำเพ็ญกิจสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน เป็นการปฏิบัติธรรม เพื่อประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ของคนทั่วไป หรือส่วนรวมร่วมกัน จัดว่าเป็นการทำบุญใหญ่ขั้นพื้นฐาน ท่านจึงถือเป็นงานสำคัญ และสรรเสริญไว้มาก

การทำบุญตามพระคาถานี้ ชาวพุทธตั้งแต่พุทธกาล สืบกันมาตลอดสมัยโบราณ รู้เข้าใจกันดี ตามหลักฐานที่มีมากมายในพระไตรปิฎก และทำกันเรื่อยมาจนกระทั่งในเมืองไทยสมัยก่อน ได้เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมแห่งความมีน้ำใจ

การปลูกสวนปลูกป่า ขุดบ่อน้ำสระน้ำนี้ โยงไปถึงหลักคำสอนสำคัญเรื่อง “รมณีย์

จนมีตำนานที่พระนำมาเทศน์มาสอนประชาชนในเมืองไทยนี้เรื่อยมาตั้งแต่โบราณ คือเรื่องมฆมาณพผู้รักความสะอาดเรียบร้อยงดงาม ริเริ่มชำระจัดสรรทำหมู่บ้านให้รมณีย์ แล้วก็มีหนุ่มๆ ชาวถิ่นมาร่วมสมานฉันท์ ขยายงานบุญทำหมู่บ้านให้รมณีย์

งานบุญที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ทำให้มีบริเวณที่เรียบรื่น มีถนนหนทางที่สะอาดสัญจรได้คล่องสะดวกปลอดภัย มีแหล่งน้ำพร้อมไว้ ถ้าไม่มี ก็ช่วยกันขุดบ่อน้ำสระน้ำขึ้นมา สร้างศาลาที่พักคนเดินทาง หรือที่คนยากไร้จะได้อาศัย ปลูกสวน ปลูกป่า ให้เป็นที่รื่นรมย์ชื่นชมใจ

ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน
คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔

เมื่อกี้ได้บอกว่า พอเจอรมณีย์ การปฏิบัติธรรมก็เริ่มต้นได้ทันที บางคนคงสงสัยว่า เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร

“รมณีย์” เป็นเรื่องของการรับรู้ คือการเห็น ได้ยิน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของการติดต่อสื่อสารกับโลก โดยทางทวาร คือช่องทางรับรู้-เรียนรู้ทั้งหลาย ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย แล้วจึงเข้าไปถึงใจ

คนเราอยู่ในโลกนี้ ก็ดำเนินชีวิตไปด้วยการติดต่อสื่อสารกับโลก ตั้งแต่เกิดมา อย่างที่พูดกันว่าตั้งแต่ “ลืมตาดูโลก” ในเมื่อชีวิตของเราดำเนินไปด้วยกันกับการรับรู้-เรียนรู้ ทางทวารคือ ตา หู มีการดู เห็น ฟัง ได้ยิน เป็นต้นอย่างนี้ เรามีการรับรู้เมื่อใด เราก็จึงปฏิบัติธรรมไปเมื่อนั้นได้เลย ที่ว่าปฏิบัติธรรมนั้น ในที่นี้ก็คือฝึกการรับรู้นั่นเอง ฝึกอย่างไร พูดอย่างง่ายๆ ว่า ฝึกให้การรับรู้ เป็นการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้เป็นอย่างไร ยังต้องว่ากันอีกยาว ในที่นี้ ว่ากันไว้แค่นี้ก่อน ว่าเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังพูดกันอยู่ว่า การรับรู้รมณีย์นี้ เป็นการรับรู้ที่ดี ทำให้เกิดผลดีหลายอย่างดังได้ว่าไปแล้ว

ทีนี้ ตามความหมายในแง่ที่ว่ามานี้ ตัวคนหรือกาย ก็คือเป็นที่รวมหรือชุมนุมของช่องทางรับรู้สื่อสารนั่นเอง พูดง่ายๆ ว่า ตัวคนนี้เป็นชุมทางหรือเป็นที่รวมของการสื่อสารกับโลกทั้ง ๕ ช่องทางนั้น จึงเรียกเป็นคำบาลีว่า “เบญจทวารกาย” เรียกสั้นๆ ว่ากาย

การปฏิบัติธรรม ที่ว่าเป็นการฝึกนั้น ก็คือการศึกษา เรียกเป็นคำบาลีว่าสิกขา การศึกษานั้นทำให้คนพัฒนาคือมีการพัฒนา การพัฒนานี้เรียกเป็นคำศัพท์ธรรมว่า “ภาวนา” ดังนั้น การศึกษาที่ฝึกการรับรู้ของเบญจทวารกาย ก็ทำให้เกิดการพัฒนาของเบญจทวารกายนั้น เรียกว่า เบญจทวารกายภาวนา เรียกให้สั้นว่า กายภาวนา เป็นต้นทางของการพัฒนาชีวิตในด้านอื่นๆ ทั้งหมด

การศึกษา หรือสิกขานั้น มี ๓ ด้าน เรียกว่า ไตรสิกขา พูดง่ายๆ ว่าคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น และทำให้เกิดการพัฒนา ที่เรียกว่า ภาวนา ๔ แดน ตั้งแต่กายภาวนาที่ว่าแล้วนั้น ต่อไปอีก ๓ ภาวนา เรียงลำดับดังนี้

๑. กายภาวนา พัฒนากาย คือ มีเบญจทวารกายที่ได้พัฒนา ให้รู้จักรับรู้เรียนรู้ กินใช้เสพบริโภคพอดีได้เต็มคุณค่า อยู่อย่างสร้างสรรค์เกื้อกูลในโลกของวัตถุและธรรมชาติ

๒. ศีลภาวนา พัฒนาศีล คือ มีพฤติกรรมที่ได้พัฒนา รู้จักสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ อยู่อย่างสร้างสรรค์เกื้อกูลในโลกมนุษย์คือสังคม ที่มีบรรยากาศเอื้อให้จิตใจพัฒนา

๓. จิตตภาวนา พัฒนาจิต คือ มีจิตใจที่เจริญงอกงามในคุณธรรม มีสมาธิ เข้มแข็งมั่นคง และสงบสุขเบิกบานผ่องใส ให้เป็นฐานที่ดีของการพัฒนาปัญญา

๔. ปัญญาภาวนา พัฒนาปัญญา คือ มีปรีชารู้คิดเข้าใจ หยั่งเห็นความจริงของกฎธรรมดาแห่งความเปลี่ยนแปลงและระบบสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ที่จะให้เป็นอยู่อย่างมีสติไม่ประมาท สามารถใช้ปัญญาจัดทำดำเนินการทั้งหลาย แก้ไขปัญหาดับทุกข์ภัยได้สำเร็จ มีสุขเป็นอิสระแท้จริง

จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป
พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว

การปฏิบัติธรรมทั้งหมด ได้แสดงหลักทั่วไป พูดไว้โดยรวบรัด จัดว่าครบทั้งระบบ จบทั้งกระบวน พอสมควรให้พร้อมที่จะปฏิบัติแล้ว เรื่องจบได้แค่นี้ แต่มีปมที่มักทำให้ชักช้าติดขัดอย่างสำคัญอันต้องให้เตือนไว้ คือข้อปฏิบัติมีพร้อมแล้ว แต่คนที่จะปฏิบัติไม่เริ่ม กลายเป็นว่าทางมีอยู่แล้ว แต่ต้องรอคนที่จะเดิน นี่คือปัญหามาอยู่ที่ตัวคนผู้ปฏิบัติ ที่จะทำการปฏิบัติให้เกิดขึ้น

คนเรานี้ ที่อยู่สบายๆ ถ้ามีอะไรควรจะทำ ก็มักเรื่อยเฉื่อย หรือผัดเพี้ยน บางทีก็ถึงกับปล่อยปละละเลย อาการอย่างนี้ เรียกว่า ความประมาท จึงมักต้องรอให้เกิดความจำเป็นเร่งรัด เช่นถูกบังคับ หรือเกิดมีภัย จึงจะขมีขมันกระตือรือร้นขึ้นมา เข้าทำนองที่ว่า พวกมนุษย์ปุถุชนนี้ เมื่อถูกทุกข์บีบคั้น มีภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พากันก้าวไปได้ แต่พอพ้นภัยสุขสบาย ก็หลงละเลิงเฉื่อยชา แล้วก็พากันติดเพลินจมปลัก

เรื่องของมนุษย์ ที่จะต้องมีความไม่ประมาทอยู่กับตัวนี้ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเน้นเป็นประจำ ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง ถึงกับตรัสเป็นปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสสุดท้ายก่อนพุทธปรินิพพานว่า “จงทำการให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท” (... อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ, ที.ม.๑๐/๑๔๓/๑๘๐)

ความไม่ประมาท มีความสำคัญครอบคลุมธรรมทุกอย่างทั่วทั้งหมด อย่างที่เรียกกันมาว่าเหมือนรอยเท้าช้าง

นี้คือ ว่าตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า

ดูกรมหาบพิตร ความไม่ประมาท เป็นธรรมเอกที่ยึดเอาไว้ได้ซึ่งประโยชน์ที่มุ่งหมายทั้งสองอย่าง ทั้งประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ และประโยชน์ขั้นสัมปราย์ เหมือนดังว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดิน ไม่ว่าชนิดใดๆ ทั้งหมด รวมลงได้ในรอยเท้าช้าง ฉะนั้น(สํ.ส.๑๕/๓๗๙/๑๒๖)

พูดกันง่ายๆ ว่า ธรรมทุกอย่าง ที่จะรู้เข้าใจ จะใช้ จะปฏิบัติ รวมทั้งหลักทั้งหลายที่ได้ยกมาอธิบายข้างต้น ถ้าคนประมาทเสียอย่างเดียว ก็มีไว้เปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์ เหมือนนอนหลับอยู่ในตู้เก็บคัมภีร์ ส่วนตัวคนที่ประมาท ก็อยู่ในทางแห่งความตาย ในทางของความเสื่อมสลายหายนะของตัวเขาเอง

คนที่จะมีความไม่ประมาทได้จริงแท้นั้น หาได้ยากอย่างยิ่ง มนุษย์ทั่วๆ ไปก็เป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ เมื่อไม่มีทุกข์ภัยอยู่สบาย ก็เพลิดเพลินเฉื่อยชา มั่วสุมเฮฮากันไป ต้องให้ถูกความจำเป็นบังคับ เมื่อถูกทุกข์บีบคั้น มีภัยคุกคาม ถ้าไม่มัวเกี่ยงแย่งวิวาทวุ่นวายกันเอง ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวายสู้ภัย พาให้เข้มแข็งก้าวหน้าไปได้ เป็นความไม่ประมาทอย่างหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นความไม่ประมาทเทียม คือมิใช่เป็นความไม่ประมาทที่เกิดจากสติปัญญาบอกให้ แต่เป็นการดิ้นรนหนีภัยและต่อสู้ตามคำสั่งบังคับของสัญชาตญาณ โดยมีปัญญาเป็นตัวตามช่วยสนองให้สำเร็จผล

อารยธรรมที่รุ่งเรืองก้าวหน้าอยู่ในเวลานี้ ก็เจริญขึ้นมาด้วยการดิ้นรนต่อสู้ อย่างที่คนสมัยนี้ชอบพูดถึงความสำเร็จทางสังคม เช่นป่าวประกาศด้วยความภูมิใจว่า freedom - เสรีภาพนี้ เขาได้มาด้วย struggle คือการดิ้นรนต่อสู้

ประวัติอารยธรรมเต็มเกลื่อนไปด้วยคำว่า war–สงคราม conquest-การพิชิต conflict-ความขัดแย้ง struggle-การดิ้นรนต่อสู้ competition-การแก่งแย่งแข่งขัน พูดรวมๆ ก็คือการดิ้นรนต่อสู้ อย่างที่นักประวัติศาสตร์พูดสรุปกันไว้ เช่น นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของฝรั่งเศส ชื่อ Jules Michelet บอกว่า “…ประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของการดิ้นรนต่อสู้ที่ไม่รู้จักจบสิ้นนี้5

นักเขียนอเมริกันท่านหนึ่งกล่าววาทะไว้แรงหน่อยว่า “อารยธรรมก็คือหนังแกะ ที่ความป่าเถื่อนเป็นอนารยะแฝงตัวซ่อนอยู่6

ตามที่ว่ามานี้ เห็นได้ว่า ตลอดประวัติศาสตร์ของอารยธรรมปัจจุบัน ที่ยาวนานนักหนานี้ มนุษย์ก็ยังพัฒนาไปได้ไม่ถึงไหน เขาเจริญมาได้ด้วยแรงขับของสัญชาตญาณเป็นตัวนำ อย่างที่ว่า เพราะถูกทุกข์บีบคั้นถูกภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ทำให้เจริญก้าวหน้ามาได้ แต่ถ้าไม่ต้องผจญทุกข์ภัยอยู่สบาย คนก็มักง่ายเฉื่อยชาหาแต่ความเพลิดเพลินไปวันๆ ถ้าไม่จมลงไปในความเสื่อม ก็ไม่ก้าวไปไหน

อย่างในอเมริกา เมื่อบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งพรั่งพร้อมขึ้นมาแล้ว เห็นว่าคนชักจะเฉื่อยชาอ่อนแรงลงไป ก็เน้นย้ำกันให้ขับดันระบบแข่งขันของสังคมให้เครียดเขม็งไว้ คนจะได้โถมกำลังที่จะเอาชนะกัน และจะได้ขับดันความเจริญให้ก้าวต่อไป

เมื่อไม่มัวนิ่งเฉยเฉื่อยชา แต่ดิ้นรนต่อสู้มุ่งหน้าเอาชนะ ก็ต้องหาความรู้ ต้องฝึกต้องศึกษาหาทางทำการให้สำเร็จ ทำให้เจริญก้าวหน้าไม่หยุด แต่เป็นความเจริญที่ไม่เกื้อกูลให้พอแก่สมดุล

ดูอย่างเหล่าชนอเมริกันที่สร้างชาติขึ้นมา นับแต่พวก Pilgrim Fathers ขึ้นฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ในปี 1620/๒๑๖๓ แล้วเข้าสู่ยุค Frontier บุกฝ่าขยายดินแดนมุ่งหน้าไปตะวันตก โดยมีชีวิตที่อยู่ในความประมาทไม่ได้เลย เต็มไปด้วยสงคราม การรบราฆ่าฟัน การแย่งชิงดินแดน การเสี่ยงชีพผจญภัย และการทนสู้เป็นอยู่อย่างยากแค้นลำเค็ญ เป็นเวลายาวนาน ๓๐๐ ปี ชนะฝรั่งเศส ชนะสเปน เปลื้องตัวเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ จนพิชิตอินเดียนแดงเสร็จสิ้น ได้แผ่นดินสุดระยะทาง ๓,๐๐๐ ไมล์ จดฝั่งแปซิฟิก จบยุคในปี 1890/๒๔๓๓

ในการดิ้นรนต่อสู้สู่ความสำเร็จได้ความยิ่งใหญ่นี้ นอกจากความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุแล้ว ชนชาวอเมริกันก็ได้พัฒนาชีวิตจิตใจของตนเอง อย่างที่นักประวัติศาสตร์บอกว่า ชีวิตแห่งการดิ้นรนผจญบุกฝ่าต่อสู้มายาวนาน ๓๐๐ ปี บนแผ่นดินที่อุดมด้วยโอกาสแห่งอเมริกานี้ ได้ทำให้คนชาตินี้ มีนิสัยกร้าน แต่หูตาไวใฝ่สอดรู้ เป็นคนช่างคิดประดิษฐ์ข้าวของ มีความกระตือรือร้นไม่หยุดนิ่ง ขาดความละเมียดละไม แต่มีพลังที่จะทำการใหญ่ให้สำเร็จ ใฝ่เสรี ตัวใครตัวมัน ชอบประชาธิปไตย ใฝ่ทางวัตถุนิยม

แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์อีกพวกหนึ่งมองในทางค่อนข้างตรงข้ามว่า ชนอเมริกันที่สร้างชาติมานี้ มีความกล้าหาญ และความสำเร็จ ที่มาด้วยกันกับการกดขี่ข่มเหงรังแก ความละโมบ และการทำลายธรรมชาติ

เอาละ จะดีจะร้ายอย่างไร ก็รวมความได้ว่า อารยธรรมปัจจุบันนี้ เจริญก้าวหน้ามาด้วยการดิ้นรนต่อสู้รุกรานทำลายทั้งมนุษย์ด้วยกันและธรรมชาติ อย่างที่ว่าแล้ว ใจมนุษย์นั้นมุ่งที่จะกำราบ ปราบ เอาชัยชนะ ขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ ได้เป็นผู้พิชิต มีอำนาจบังคับ เข้าครอบครอง แย่งชิงทรัพยากร เอาเปรียบกันทั้งอย่างชัดๆ และอย่างไม่ให้รู้ตัว มิใช่คิดจะแก้ไขทุกข์ภัย ที่จะทำอะไรให้ดีขึ้นจริงจัง นี่คือมิใช่เป็นเรื่องของความไม่ประมาทที่แท้ แต่เป็นเรื่องของแรงขับดันของสัญชาตญาณพาไป ให้ใช้สติปัญญาเพียงเป็นตัวตามสนอง อารยธรรมที่เป็นมาอย่างนี้ จึงได้เจริญอย่างแฝงเชื้อไฟ และอมปัญหา ทั้งปัญหาชีวิต ปัญหาจิตใจ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างที่ได้ว่าแล้ว เรียกว่าเป็นอารยธรรมที่ไม่ปลอดพ้นการเบียดเบียน

ถ้าความไม่ประมาทมา
ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า

ปัญหาของอารยธรรมเวลานี้ เป็นเรื่องร้ายแรงถึงขั้นที่ว่า โลกนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้ยั่งยืนต่อไปแค่ไหน แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดให้ยาวความในที่นี้ ปัญหาด้านต่างๆ ก็ได้พูดมาอย่างกว้างๆ พอสมควรแล้ว ในที่นี้ ขอเอาข่าวสารปลีกย่อยมาบอกกันให้เห็นภาพของปัญหาเล็กน้อย

โลกเวลานี้เจริญก้าวหน้าไปไกล ถึงขั้นมีความเจริญที่เป็นภัยเป็นอันตรายมากขึ้น อีกทั้งความเจริญนั้นก็ขัดกันในตัวมันเอง เป็นปัญหาที่น่าจะใช้คำพระว่า อุภโตโกฏิกปัญหา แปลว่า ปัญหาสองขั้ว หรือปัญหาที่ติดตันทั้งสองข้าง ไปข้างไหนก็ไม่ได้

ท่านที่อยู่ใกล้ๆ ได้พบข่าวใหม่เรื่องเมืองจีน นำมาให้ดูว่า

ที่เมืองจีน อุตสาหกรรมกำลังเติบโต เมื่อมีโรงงานมากขึ้น ก็ต้องใช้กำลังไฟฟ้ามากขึ้น แต่ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อมลพิษมากขึ้น ทางการจึงต้องปิดโรงไฟฟ้าให้เหลือน้อยลง แต่เมื่อการผลิตไฟฟ้าลดลง โรงงานก็ต้องปิดมากขึ้น แต่เมื่อโรงงานปิดมากขึ้น อุตสาหกรรมก็จะไม่โต

นี่คือปัจจุบัน แต่ปัญหาต่างๆ เป็นมานานแล้ว เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ก็ใช้พลังงานมากขึ้น ต้องหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอ เมื่อราว ๕๐ ปีก่อนนี้ ที่เมืองไทย คนตื่นกันมากว่า ในอเมริกา เขาสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูกันแล้ว (สมัยนั้น คนเรียกว่าโรงไฟฟ้าปรมาณู ลูกระเบิดปรมาณู ยังไม่รู้จักใช้คำว่านิวเคลียร์) เราจะสร้างโรงไฟฟ้าปรมาณูกันไหม ถึงจะลงทุนสร้างราคาแพง แต่จะได้พลังงานมากพอ ทั้งราคาถูก และไม่มีควันพิษ

แต่ถึงปี ๒๕๒๒/1979 มีข่าวใหญ่สะเทือนโลกว่าเกิดอุบัติเหตุในอเมริกา ที่โรงไฟฟ้าปรมาณูบนเกาะ Three Mile Island แม้จะแก้ไขระงับเหตุได้เร็วไว มิได้ก่อภัยพิบัติจากกัมมันตภาพรังสีมากมายกว้างไกลออกไปอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Chernobyl ที่ยูเครน ในสหภาพโซเวียต ซึ่งระเบิด ในปี ๒๕๒๙/1986 แต่ในเมืองไทยก็ดูเหมือนจะเลิกพูดถึงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้แต่ในอเมริกาเอง ซึ่งเวลานั้นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า ๑๐๐ แห่งแล้ว ก็ชะงัก มิได้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก แม้แต่โรงที่สร้างเสร็จแล้ว รออยู่ เท่าที่ทราบ ก็ไม่ให้เปิดเดินเครื่องจนบัดนี้

เรื่องภัยกัมมันตภาพรังสีจากพลังงานนิวเคลียร์นั้น ไม่เฉพาะจากอุบัติเหตุเท่านั้น แม้แต่ในยามใช้งานได้ดีเป็นปกติ ก็ติดปัญหาขยะหรือกากนิวเคลียร์ (nuclear waste) ซึ่งทิ้งที่ไหนไม่ได้ทั้งนั้น แต่จะเก็บรักษาไว้ที่ไหนให้มั่นคงปลอดภัยจริงโดยแน่ใจว่า จะไม่มีอะไรซึมเข้าข้างใน ไม่มีอะไรไชออกข้างนอก ไม่แตกไม่ร้าวเพราะการกระแทกกระเทือนเช่นจากแผ่นดินไหว จนกว่ามันจะเสื่อมหมดกัมมันตภาพรังสีไปเองในเวลาเกินกว่าพันปี

ตัวอย่างปัญหาก็เช่นที่อเมริกานั่นแหละ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสาะหาศึกษาแล้ว ถึงปี ๒๕๒๕/1982 ได้ตกลงว่าจะสร้างที่เก็บขยะนิวเคลียร์ ซึ่งมีปริมาณ 36,290 metric tons ไว้ที่ภูเขา Yucca Mountain ในทะเลทรายเนวาดา แล้วก็ยังศึกษากันต่อมาอีกจนถึงปี 1988 รัฐบาลจึงตกลงว่าเอาที่นั่น แต่ก็ถกเถียงทดลองกันต่อมาอีกจนถึงปี ๒๕๔๕/2002 ประธานาธิบดี George W. Bush จึงตกลงเอาจริงประกาศออกมาว่า ให้สร้างที่เก็บขยะนิวเคลียร์ไว้ที่ภูเขา Yucca Mountain (ใกล้เมือง Las Vegas) แต่ชาวรัฐเนวาดาพากันคัดค้าน

คราวนั้น ตำราใหญ่ (Encyclopædia Britannica) บันทึกไว้ว่า ผู้ว่าการรัฐเนวาดา (Nevada Gov. Kenny C. Guinn) ได้เป็น CEO ระดับรัฐคนแรก ที่ออกมา veto ยับยั้งคำวินิจฉัยของประธานาธิบดี เป็นอันคว่ำคำสั่งของประธานาธิบดีนั้นลงไป แต่รัฐสภาให้ถอนปฏิบัติการของรัฐเนวาดา และให้ฟื้นคำสั่งของประธานาธิบดีกลับขึ้นมา

แม้กระนั้น รัฐเนวาดาก็ไม่ยอมถอย แต่ได้เอาเรื่องขึ้นศาลสหรัฐ สู้ความกับ DOE คือกระทรวงพลังงานของอเมริกานั้นต่อไป (๗ ปีต่อมา ถึงปี 2009 รัฐบาลอเมริกาบอกว่าเลิกคิดเอาภูเขา Yucca เป็นที่เก็บขยะนิวเคลียร์แล้ว)

เรื่องนี้เล่าไว้ให้เห็นปัญหาใหญ่ของความเจริญก้าวหน้า ที่ติดตัน ถึงขั้นเป็นความขัดข้องของประเทศชาติ ทำให้คนในประเทศต้องทะเลาะกันใหญ่โต ไม่ยอมไปด้วยกัน

ไม่ต้องถึงขั้นขยะพิษอย่างกากนิวเคลียร์ที่ว่าไปนั้น เวลานี้ ขยะสามัญจากการเสพบริโภคของมนุษย์ ก็เป็นปัญหาติดตัน เรียกว่าขยะจะล้นโลก ยังไม่เห็นทางแก้ไขให้โล่งไปได้ และในปัญหาใหญ่นั้น ก็ยังมีปัญหาซ้อนย่อยลงไป อย่างขยะพลาสติกที่ไปถึงขั้นทำพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ก็แก้ปัญหาไม่ตก

ฝรั่ง (อเมริกัน) บอกว่า ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ขยะในบ้านเมืองของเขา ใช้วิธีกำจัดด้วยการเผา หรือถ้าอยู่ใกล้ชายฝั่ง ก็เอาใส่เรือไปทิ้งทะเล แต่ต่อมาเข้ายุคตื่นภัยสิ่งแวดล้อมเสื่อมเสียหาย สองวิธีนั้นผิดกฎหมายหมดแล้ว แต่ขยะมีแต่เพิ่มขึ้นๆ ไม่มีที่จะทิ้งจะกำจัดได้ ไม่ว่าบนดิน ในน้ำ หรือเอาไฟเผาไปกับลม จึงต้องใช้วิธีลับล่อหรือไม่ค่อยซื่อ เช่น เอาขยะใส่เรือใหญ่ออกทะเลตะลอนไปในมหาสมุทร ไปหาที่ทิ้งไกลๆ จากบ้านเมืองของตัว

ต่อมาก็ใช้วิธีเอาขยะเป็นสินค้าส่งออก ให้เป็นของนำเข้าแก่ประเทศ เช่นอย่างจีน และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถึงเวลานี้ ประเทศที่รับขยะเข้ามา เริ่มด้วยจีนนั้น ถึงจะได้เงินดีมีกำไร ก็ไม่ยอมสู้ปัญหามลพิษที่ร้ายแรงขึ้นๆ จึงบอกเลิก ไม่ยอมรับขยะนำเข้านี้อีกต่อไป ประเทศอื่นๆ ที่ตามจีน ก็คิดกันหนัก

นี่คือทางแก้ไขปัญหาขยะนั้น ตันไปหมด ไม่ใช่ตันแค่สองขั้วสองข้างเท่านั้น แต่ตันหมดทุกข้างทุกทาง

ตัวอย่างปัญหาใหญ่ๆ ที่ได้ยกมาพูดเหล่านี้ คนที่จะแก้ไขได้ ก็คือคนที่ไม่ประมาท และไม่เฉพาะปัญหาใหญ่ๆ เท่านั้น ไม่ว่าปัญหาอะไร จะเป็นปัญหาชีวิต ปัญหาจิตใจ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาของโลก จะแก้ไขได้ โดยคนที่ไม่ประมาท

ความไม่ประมาท คือ อัปปมาทธรรม ในที่นี้ หมายถึงความไม่ประมาทที่จริงแท้ ไม่ใช่รอต้องให้ถูกทุกข์บีบคั้น ถูกภัยคุกคาม จึงลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย อย่างที่พูดไปแล้ว

เริ่มแรกรู้จักว่า ความประมาท คือ ความขาดสติ ปล่อยปละละเลย เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา ผัดเพี้ยน

ความไม่ประมาทที่แท้ คืออย่างไร?

ในความไม่ประมาทที่แท้นั้น

- มี สติ ใจอยู่กับตัวตั้งหลักได้ตื่นพร้อมทันต่อสถานการณ์

- มี ปัญญา รู้เข้าใจมองเห็นทางเห็นทุกอย่าง ที่จะทำ จะแก้ไข

- มี วิริยะ เพียรพยายามแก้ไขทำทุกอย่างให้ก้าวไปจนสำเร็จ

“สติ” แปลว่า ระลึก นึกได้ ไม่หลงลืม ไม่เผลอไผล ไม่ใจลอย ใจอยู่กับตัว ทำให้ตื่นตัวพร้อมตั้งรับตรวจจับทันต่อสถานการณ์ความเคลื่อนไหวเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย เหมือนนายประตูที่มองดูตรวจจับคนดีร้ายที่ควรจะให้ผ่านเข้า-ออกหรือไม่ หรือเหมือนหัวหน้าป้อม หรือหอสังเกตการณ์ ซึ่งตรวจดูทั่วทันสถานการณ์ ที่จะบอกจะสั่งการเพื่อแก้ไขหรือทำการต่างๆ ให้ถูกให้ทันเรื่อง

ในชีวิตความเป็นอยู่ตามปกติ ที่มีการรับรู้ทางตาหู ดูเห็น ได้ยินได้ฟัง เป็นต้น จนถึงนึกคิดอะไรต่างๆ นั้น คนที่มีสติ เฉพาะอย่างยิ่งโดยมีประเด็นที่ตั้งไว้ เมื่อพบเห็นอะไรเด่นแปลก น่าสังเกต เช่นมีลักษณะหรืออาการดีหรือร้าย มีทีท่าที่จะก่อผลดีผลร้าย หรือเข้าประเด็นที่ตั้งไว้ ก็จะกระทบเหมือนถูกสติสะดุดเข้า แล้วสติก็เหมือนเป็นมือจับเอาเรื่องนั้นขึ้นมาให้ตาคือปัญญาพิจารณา

“ปัญญา” มองสิ่งนั้นเรื่องนั้นในกระแสของความเปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญขึ้น หรือในทางเสื่อมลง ตามกระบวนเหตุปัจจัย ก็รู้เข้าใจหยั่งเห็นผลในทางดีหรือร้ายที่จะเป็นไป และมองเห็นว่าจะแก้ไขหรือจะเสริมกำลังในกระบวนเหตุปัจจัยของมันอย่างไร ตลอดจนมองเห็นการทำเหตุปัจจัยใหม่ๆ ที่จะให้เกิดผลในกระแสของความเปลี่ยนแปลงนั้น ในทางที่ดีที่สุดหรือดียิ่งขึ้นไป

ปัญญารู้เข้าใจมองเห็นอย่างไรแล้ว “วิริยะ” ความเพียรก็ลงแรงทำการขับเคลื่อนงานให้เดินหน้าไปอย่างจริงจังเข้มแข็งแกล้วกล้า พร้อมทั้งธรรมอื่นๆ เช่น ขันติ สมาธิ ที่จะถูกเรียกระดมเข้ามาร่วมเมื่อต้องใช้งาน ตามที่ปัญญาบอกทางนำหน้า โดยมีสติกำกับควบคุมไป จนเป็นผลสำเร็จ ให้ทันกาลและทันการณ์

ตามที่ว่ามานี้ จะเห็นว่า ความไม่ประมาทนี้ แปลยาก ยังไม่พบคำไทยที่จะใช้แทนความไม่ประมาทได้เต็มความหมาย อาจจะแปลให้ใกล้เคียงว่า ตระหนักทำการให้ทันการณ์ ทำการให้ทันการณ์โดยตระหนัก หรือรู้ทันทำการให้ทันการณ์

คำแปลที่พอใช้ได้ แม้จะไม่เต็มความหมาย ก็เช่น ความตื่นตัวเอาใจใส่ ใส่ใจระแวดระวัง กระตือรือร้นขวนขวาย เอาจริงเอาจัง

ที่จริง ความไม่ประมาทเป็นการทำการให้สำเร็จเสร็จพร้อมไว้ ทำให้ไม่เกิดปัญหา ป้องกันปัญหา ไม่ให้เกิดทุกข์ภัย ไม่ต้องรอให้เดือดร้อนแล้วจึงดิ้นรนต่อสู้ให้อยู่รอด อย่างความไม่ประมาทเทียมที่ว่าแล้ว จะเห็นได้ดังเช่นในคาถาต่อไปนี้ (ขุ.ชา.๒๗/๑๖๓๖/๓๒๘)

อนาคตํ ปฏิกยิราถ กิจฺจํ
มา มํ กิจฺจํ กิจฺจกาเล พฺยเธสิ

แปล: ทำกิจสำหรับอนาคตให้พร้อมไว้ก่อน อย่าให้กิจนั้นบีบคั้นตัวเมื่อถึงเวลาต้องทำเฉพาะหน้า

แต่ถ้ากันไม่ทัน ก็แก้ปัญหาได้ ขอให้มีไว้ประจำตัว อย่างที่ว่าแล้ว ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก ต้องใช้ความไม่ประมาททั้งนั้น

อย่างเรื่องปัญหาขยะ เอาแค่ในชีวิตประจำวันของบุคคล ในแต่ละวันๆ นั้น ถ้าคนไหนไม่ประมาท ก็แทบไม่มีขยะที่จะเกิดจากคนนั้นเลย ถ้าแต่ละชุมชน กระตือรือร้นเอาจริงเอาจัง ไม่ประมาท ปัญหาขยะของประเทศชาติ ถ้าไม่หมด ก็จะเบาลงมาก

ชาวบ้านถิ่นหนึ่ง มองเห็นว่าหมู่บ้านของตัวอยู่ในเขตแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำทุกปี นึกขึ้นมาถึงคาถาทำบุญของพระพุทธเจ้าว่า อารามโรปา วนโรปา...ปปญฺจ อุทปานฺจ... เกิดแรงใจขึ้นมาว่าเราจะขุดบ่อน้ำสระน้ำ ให้ชุมชนมีแหล่งน้ำของกลางขึ้นมาให้ได้ ถ้ามีคนอย่างนายมฆะ แค่คนเดียวเท่านั้น ก็เริ่มได้เลย แล้วก็จะมีคนดีมาร่วมสมานฉันท์จนได้ (ถ้าไม่มีที่ดิน จะเอาอย่างโบราณ ก็ทำบ่อกลาง สระกลาง ไว้ในวัด) ขอให้มีความไม่ประมาทที่จะลงมือเถิด ในโลกนี้ยากจะมีอะไรที่เกินกำลังสติปัญญาและความเพียรของมนุษย์ ขอให้มั่นใจเด็ดเดี่ยวในพระคาถาว่า

วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา

แปล: เป็นคน ควรพยายามเรื่อยไป จนกว่าประโยชน์ที่มุ่งหมายจะสำเร็จ

(สํ.ส.๑๕/๘๙๑/๓๓๐)

ประโยชน์ที่มุ่งหมาย ไม่ว่าขั้นทิฏฐธัมม์ หรือสัมปราย์ ตลอดถึงปรมัตถ์ จะสำเร็จได้ คนต้องมีความไม่ประมาททั้งนั้น

เน้นย้ำด้วยคำตรัสที่เป็นปัจฉิมวาจาของพระพุทธเจ้าว่า

อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ

“จงทำการให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท”

เรื่องความไม่ประมาทนี้ รวมไปถึงการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมเพื่ออนาคตด้วย

เมื่อรู้เข้าใจทำได้ตามหลักธรรมที่บอกไว้ข้างต้น ถ้าให้เลือกระหว่างคนรุ่นใหม่ ที่เก่งกว่า กับที่ดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ จะเอาอย่างไหน ก็จะบอกว่า ขอเอาคนรุ่นใหม่ ที่ดีกว่า

ถ้าคนรุ่นใหม่นั้น ดีในธรรม ตั้งแต่มีความไม่ประมาทนี้ไป เราก็จะได้คนรุ่นใหม่นั้น ที่ทั้งดีกว่า และเก่งกว่าคนรุ่นก่อน เพราะความไม่ประมาทจะพาเอาความเก่งกว่าพ่วงมาด้วยอย่างแน่นอน อย่างในคาถาที่ว่า (ขุ.ธ.๒๕/๑๒/๑๘)

อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส ฯ

แปลว่า: คนมีปัญญาชาญฉลาด เมื่อคนทั้งหลายมัวประมาทกันอยู่ ก็ไม่ประมาท เมื่อคนทั้งหลายมัวหลับใหล ก็ตื่นไว้มาก เขาจะทิ้งห่างคนเหล่านั้นไป เหมือนม้าฝีเท้าเร็ว ทิ้งห่างม้าที่อ่อนแอไป ฉะนั้น

คนผู้ใด หมู่ชนไหน นึกขึ้นได้ว่า เรานี้มีชีวิตที่เฉื่อยชา อยู่มาแบบเรื่อยเฉื่อย ปล่อยตัวไหลเพลินไปกับเรื่องวูบวาบฉาบฉวย เวลาผ่านไปๆ ไม่ได้สาระ เลิกเสียที คราวนี้จะหันมาใส่ใจในเรื่องที่ใช้สติปัญญา มีชีวิตอยู่กับการเพียรพยายามทำการอะไรๆ ให้มีผลดีจริงจัง ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะเข้าทางที่ท่านยกย่องว่า

ผู้ใด ก่อนนั้นมัวประมาท แล้วภายหลัง (กลับตัวได้) ไม่ประมาท เขาจะทำโลกนี้ให้สดใสแจ่มจ้า เหมือนจันทร์เพ็ญพ้นออกมาจากเมฆหมอก

(ธรรมบทคาถาที่ ๑๗๒)

เมื่อผู้ใฝ่ศึกษา มีความไม่ประมาท สามารถนำคนจำนวนมากให้ปฏิบัติตามหลักธรรมทั้งหลาย ที่ได้ยกมาให้รู้จักข้างต้นแล้วนั้นได้ดี ก็จะพัฒนาอารยธรรมปัจจุบันนี้ให้เจริญงอกงามขึ้นไปเป็นอารยธรรมที่ปลอดพ้นการเบียดเบียน ซึ่งจะพาให้คนได้มีโลกที่อยู่อาศัยเป็น อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลกํ คือโลกที่เป็นสุขไร้การเบียดเบียน ซึ่งเป็นอุดมคติอย่างหนึ่งของพุทธธรรม

ระบบการปฏิบัติธรรมทั้งหมด ได้พูดให้เห็นโครงรูปเป็นเค้าไว้แล้ว เข้าใจว่าคงเพียงพอที่จะช่วยให้คิดถึงแนวงานอันจะพึงทำ

งานพุทธธรรม สู่การพัฒนา

งานพุทธธรรมจะพัฒนาไปได้อย่างดี เบื้องแรก ผู้อยู่ในวงงานมีความรู้จักเข้าใจธรรมทั้งหลาย ทั้งธรรมภาคสภาวะ และธรรมภาคปฏิบัติ มิใช่ต้องรู้มากมาย แต่รู้พอเป็นพื้นฐาน เฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมที่เป็นหลักใหญ่ครอบคลุม เช่น ภาคสภาวะ – เบญจขันธ์ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท; ภาคปฏิบัติ – หลักอัตถะ คือประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์ และสัมปราย์ หลักการศึกษาแห่งไตรสิกขา หลักการพัฒนา คือ ภาวนา ๔

ทั้งนี้ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า รู้เข้าใจโดยตระหนักอยู่ว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นสภาวะ คือสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติเป็นไปตามธรรมดาของมัน ทั้งหมดนั้น สัมพันธ์เป็นระบบถึงกันเป็นอันเดียว และก็มองเห็นธรรมทั้งหลายที่เป็นการปฏิบัติของคน คือการทำการที่จะให้ความเป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาตินั้น ดำเนินไปตามขั้นตอน เป็นกระบวน ในทางที่จะเกิดมีเกิดเป็นผลที่ดีจริงแก่มนุษย์นั้น โดยที่ธรรมที่เป็นภาคปฏิบัติการทั้งหมดนั้น ก็สัมพันธ์เป็นระบบถึงกันเป็นอันเดียว

ความรู้ธรรมเพียงพอนั้น มิใช่ว่าจะต้องรู้รายละเอียดไปทั่วทั้งหมด แต่รู้เข้าใจให้มองเห็นธรรมเหล่านั้นที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ พอที่จะเห็นขั้นตอนของการปฏิบัติได้เป็นกระบวน

เมื่อมีความรู้เข้าใจธรรมอย่างได้หลักเป็นพื้นฐานแล้ว ด้วยน้ำใจเมตตาการุณย์ และโดยตกลงกัน อาจจะสำรวจตรวจสอบสังคมส่วนรวมว่ามีกระแสหรือทิศทางไปดีและไม่ดี ที่น่าจะแก้ไขหรือส่งเสริมอย่างไร และสังคมส่วนย่อย เช่นภาคเมือง ภาคชนบท ผู้คนก้าวหน้า หรือล้าหลัง อืดเฟ้อในเรื่องไหน ขาดพร่องธรรมอย่างไหนส่วนใด ทั้งนี้ อาจจะทำงานอย่างเป็นการฝึกปฏิบัติธรรม ให้ตนเองก็พัฒนาไปด้วย

ถ้าสามารถทำได้อย่างที่ว่านั้น ต่อจากการสำรวจตรวจสอบ ก็ทำงานในบทบาทเป็นผู้เตือนเพื่อนร่วมสังคม ต่อไปถึงการเสนอแนะ และเมื่อมีความพร้อมดีแล้ว ก็นำเสนอต่างๆ ในการที่จะแก้ปัญหา และพัฒนาคนพัฒนาสังคม โดยสอดคล้องกับผลการสำรวจตรวจสอบที่ประจักษ์แล้วนั้น

อย่างไรก็ตาม ภารกิจที่ได้กล่าวมานั้น ขึ้นต่อความพร้อมและความพอใจ ซึ่งอาจจะเร็วหรืออาจจะช้า ไม่แน่ชัด

แต่เรื่องดีงามที่น่าจะทำได้ดี ก็คือ ในการศึกษาเพื่อผลิตแพทย์ใหม่นี้ อาจจะให้ได้แพทย์ผู้ทำหน้าที่รักษาคน พร้อมกับพัฒนามนุษย์ หรือรักษาร่างกาย พร้อมกับพัฒนาจิตปัญญาไปด้วย

บทบาทของแพทย์ยุคใหม่ ถ้าทำได้อย่างที่ว่านี้ จะสอดคล้องกับและเสริมกันดีแก่สังคมไทย ทั้งในแง่ที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแพทย์อยู่ในฐานะเป็นคนชั้นนำที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจน ความเจ็บไข้ และการขาดความรู้ ได้เป็นอย่างดี และในแง่ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยซึ่งสืบกันมา

ในวัฒนธรรมไทยนั้น ประชาชนนับถือหมอนับถือแพทย์เป็นทุนอยู่แล้ว ว่าเป็นผู้มีคุณงามความดีแห่งเมตตาการุณย์ และคุณหมอเข้าถึงคนทุกชั้นได้อย่างสนิทใจ ควรจะรักษาส่งเสริมวัฒนธรรมดีงามที่ว่านี้ไว้

เมื่อแพทย์ได้ฝึกศึกษาพุทธธรรมพอสมควรแล้ว ในเวลารักษาและฟื้นฟูร่างกายคนไข้ เมื่อเป็นโอกาส จะให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ก็แนะนำสั่งสอนธรรมไปด้วย ที่จะเป็นประโยชน์ขั้นทิฏฐธัมม์บ้าง ขั้นสัมปราย์บ้าง ไปตามเหมาะตามควร ก็จะเสริมความสุข และความเจริญงอกงาม ทั้งของบุคคล และของสังคมไทย ได้อย่างน่าชื่นชม

คำปรารภ

ในชีวิตของอาตมา ที่อยู่กับโรคภัยไข้เจ็บ ได้เข้าๆ ออกๆ นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเรื่อยมานั้น นับเฉพาะในช่วงเวลาใกล้ปัจจุบัน มองย้อนหลังไปตลอดเวลาหลายปีจนถึงบัดนี้ ไม่ว่าครั้งใดที่ได้เข้านอนพักใน รพ. ศิริราช ถ้ามิใช่ในวันนั้นเอง อย่างช้าในวันรุ่งขึ้น ก็ได้พบกับคุณประพัฒน์ เกษสอาดซึ่งเข้ามาเยี่ยม พร้อมกับคุณหมอกาญจนา หรือตามหลังมา

ตลอดเวลาหลายปีที่ว่านั้น คุณประพัฒน์ได้ประสบปัญหาสุขภาพทรุดโทรมลงไปมากแล้ว มีอาการไม่สบายอ่อนแอสืบเนื่องจากโรคหัวใจและปอด และประสบปัญหาในการหายใจอยู่เป็นประจำ แต่ด้วยน้ำใจเกื้อการุณย์ ก็ได้ไปเยี่ยมอาตมาทุกครั้งที่ไปไหว ยังอยู่ในความจำ เป็นภาพติดตา

ย้อนหลังไกลออกไปอีก ตั้งแต่อาตมายังอยู่ในกลางกรุง ที่วัดพระพิเรนทร์ ถิ่นที่คละคลุ้งด้วยฝุ่นควันมลพิษ ได้อาพาธเป็นวัณโรคร้ายแรง ไอเป็นเลือดมากมาย หลังจากหายโรค เนื้อปอดได้เสียไปมากแล้ว ต่อมา ได้ไปอยู่ที่กุฏิท้ายวัด มีหน้าต่างตรงกับปากท่อระบายควันพิษของน้ำยาประสานทองจากร้านทำทองอีก ๑๗ ปี เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๒๘ ระบบการหายใจและพูดจาเสื่อมทรุดมาก ถึงขั้นที่ใครมาหานั่งข้างหน้าห่าง ๒ ศอก ก็ต้องตะเบ็งพูดให้เสียงออกมา และเจ็บหน้าอก ญาติโยมผู้ใหญ่ตกลงกันว่าจะยอมให้อาตมาอยู่ที่นั่นต่อไปไม่ได้

เนื่องจากเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน ต้องให้ทันก่อนเข้าพรรษา ปี ๒๕๒๙ ก่อนจะหาวัดหรือสำนักที่เหมาะจะไปอยู่ประจำได้ ครั้งนั้น โดยการประสานของคุณหมอกาญจนา และคุณประพัฒน์หนุน ก็ได้รับนิมนต์จากคุณบุญเจิด และคุณสายใจ หลิมสุนทร ไปพักที่ศาลากลางสระ อ.ลำลูกกา เป็นสถานพำนักสงฆ์ชั่วคราว

ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๙ เป็นเวลายาวนานที่โยมยุคสร้างวัดได้ช่วยกันสืบเสาะเที่ยวหาถิ่นสัปปายะที่จะนิมนต์พระไปอยู่ประจำ บางแห่งก็นิมนต์พระเดินทางไปดู จนกระทั่งในที่สุด คุณหมอกาญจนา โดยการร่วมพิจารณาในสายตาสถาปนิกของคุณประพัฒน์ และคุณยงยุทธ์ ได้พบถิ่นทุ่งนาชนบทที่เหมาะ ด้านหลังพุทธมณฑล แล้วคุณยงยุทธ์ และคุณชุติมาจึงได้ติดต่อและเป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงแรกที่ใช้เป็นที่สร้างวัด ซึ่งเกิดเป็นวัดญาณเวศกวันใน พ.ศ. ๒๕๓๒ ดังที่ทราบกันแล้ว

วัดญาณเวศกวันเป็นวัดใหม่ มีกุฏิเพียง ๒ หลัง และหลังจากจำพรรษาแรกที่วัดญาณเวศกวัน ในปี ๒๕๓๒ แล้ว ต่อจากนั้น พระสงฆ์ได้ไปจำพรรษา ที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม บนเขาดงยาง ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๗ รวม ๕ พรรษา

พอขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๘ งานก่อสร้างเสนาสนะครั้งใหญ่ของวัดญาณเวศกวัน ก็เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๘ ม.ค. โดยให้เริ่มตอกเสาเข็มกุฏิชุด ซึ่งเป็นเสนาสนะหลักของวัดนี้ ที่คุณประพัฒน์ เกษสอาด ทั้งเป็นผู้ออกแบบ และดูแลการก่อสร้างมาจนเสร็จ

ครั้งนั้น พระครูปลัดฯ (คือท่านเจ้าคุณพระมงคลธีรคุณในบัดนี้) และพระป่าชาวสวิส Āsabho ได้แยกจากหลวงลุงพระครูสังฆรักษ์ฉาย ย้ายขึ้นไปอยู่บนกุฏิชุดที่เสร็จใหม่นั้น เป็นประเดิม ในวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๓๙

ปีต่อมา ๒๕๔๐ พอขึ้นปีใหม่ไปหน่อยหนึ่ง ถึง ๑๒ ม.ค. โยมผู้ใหญ่ทั้งหลายก็มีมติตกลงซื้อที่ดินข้างวัดด้าน ต.ตก ถวายวัดราว ๘ ไร่ เพื่อใช้เป็นที่สร้างโบสถ์ ให้เด่นมีบริเวณเป็นเอกเทศ โดยคุณหมอกาญจนาได้เป็นผู้ชักนำญาติโยมในการซื้อที่ดิน และคุณประพัฒน์ ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของวัด และเป็นสถาปนิกด้านสถาปัตยกรรมไทย นอกจากร่างแบบ sketch design แล้ว ก็ได้ร่วมดูแลแก้ไขงานสร้างโบสถ์ในระยะสุดท้าย โดยมีพระครูปลัดฯ เป็นผู้ชี้แนะ จนได้โบสถ์ออกมางามสง่าหมดจด

ในกระบวนงานสร้างเสนาสนะและอาคารต่างๆ ของวัดนั้น เมื่อคุณประพัฒน์เป็นสถาปนิก ก็มีวิศวกรร่วมงานด้วย วิศวกรที่ทำงานยืนโรงตลอดมาจนถึงบัดนี้ ก็คือ คุณสุรพงศ์ ศิริวิชยกุล ซึ่งทำงานอยู่เงียบๆ ไม่แสดงตัว น้อยคนนักจะได้เห็นได้รู้จัก ควรจะพูดว่า สถาปนิก คือคุณประพัฒน์ เกษสอาด และวิศวกร คือคุณสุรพงศ์ ศิริวิชยกุล สองท่านนี้ นับว่าเป็นคู่บุญในการสร้างวัดญาณเวศกวันมาถึงปัจจุบันนี้

งานสร้างวัดดำเนินมาในบรรยากาศสงบสงัดของวัดที่ยังมีพระสงฆ์เพียงน้อยรูป พระก็อยู่กับศาสนกิจศึกษาเล่าเรียนเผยแผ่ธรรม โดยมีโยมผู้เฒ่าผู้แก่ผู้ใหญ่ผู้น้อยมากหลายศรัทธามาเป็นกำลังพาให้การสร้างวัดก้าวผ่านกาลเวลายาวนานมากกว่า ๓๐ ปี มาถึงความพรั่งพร้อมในสภาพที่อุดมในความเป็นรมณีย์อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

งานก่อสร้างใหญ่น้อยยังมีอีกมากหลาย เช่นอย่างเสาอโศก ที่ตั้งเด่นอยู่ท้ายวัด ซึ่งเมื่อได้ตกลงสร้างขึ้นเป็นจุดบรรจบของที่ดินวัด ๓ แปลง คุณหมอกาญจนาก็รับเรื่อง และคุณประพัฒน์ได้ดำเนินการจนสำเร็จ ดังนี้เป็นต้น แต่ขอเล่าไว้เท่านี้เป็นนิทัศน์

บัดนี้ คุณประพัฒน์ เกษสอาด ได้ล่วงลับจากไปแล้ว แม้จะพูดได้ว่า กระแสความคิดจิตปัญญาของคุณประพัฒน์ ยังซึมซ่านอยู่ในงานสร้างสรรค์ที่ได้ทำไว้ทั่ววัดญาณเวศกวันนี้ แต่เห็นว่าควรจัดพิมพ์หนังสือสื่อธรรมเป็นที่ระลึกให้ปรากฏยืนนานไว้ ซึ่งจะเป็นการได้เล่าความเป็นมาของวัดญาณเวศกวันนี้พร้อมไปด้วย

พอดีได้จังหวะประจวบกันว่า อาตมาได้รับนิมนต์ให้เขียนธรรมบรรยายเรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช เมื่อเขียนเสร็จแล้ว เห็นว่าเหมาะที่จะเป็นอนุสรณ์สื่อธรรมครั้งนี้ โดยคุณหมอกาญจนา เกษสอาด ก็มีฉันทานุวรรตด้วย จึงพิมพ์ธรรมบรรยายเรื่องนั้น ในชื่อใหม่สั้นๆ ว่า ทันโลก ถึงธรรม พร้อมกับขออนุโมทนาคณะกรรมการจัดทำหนังสือ “6 ทศวรรษ ชุมนุมพุทธธรรมศิริราช” ที่ได้พร้อมใจให้โอกาสในวาระนี้ด้วย

งานหนังสือนี้ต้องอาศัยการติดต่อสื่อสารมาก ซึ่งพระครู สังฆวิจารณ์ (พงศธรณ์ เกตุญาโณ) ได้ช่วยทำให้ทั้งหมด และได้รวบรวมภาพถ่ายซึ่งหาได้ยากจากแหล่งต่างๆ กับทั้งได้นำข้อมูลจากหนังสือและข้อเขียนต่างๆ มากทีเดียว มาแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล ช่วยผ่อนเบางานลงไปมากมาย ขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้

ขอให้ธรรมทานอันอุทิศ คุณประพัฒน์ เกษสอาด ไวยาวัจกรวัดญาณเวศกวัน ในวาระนี้ จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้กัลยาณธรรมงอกงามแพร่หลาย เพื่อให้ชีวิตและสังคมอุดมทั้งด้วยอามิสไพบูลย์และธรรมไพบูลย์ นำมาซึ่งความเจริญเพิ่มพูนแห่งประโยชน์สุขของมหาชน อำนวยผลตลอดกาลยั่งยืนนานสืบไป

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต)
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔

1เธอเขียนไว้แห่งหนึ่งว่า: The “control of nature” is a phrase conceived in arrogance, born of the Neanderthal age of biology and the convenience of man. The Silent Spring, ch. 17 (1962). The Columbia Dictionary of Quotations. © 1993 by Columbia University Press.
2อย่างที่หนังสือตำราอเมริกันบอกว่า:
Often obesity results from using food as an inappropriate coping mechanism to deal with emotional stress. (“Obesity.The Year 2003 Grolier Multimedia Encyclopedia.)
The stresses and tensions of modern living also cause some individuals to turn to foods and alcoholic drinks for “relief.” (“Obesity.” Encyclopædia Britannica, 2014.)
3จรณะ ๑๕ คือ สีลสังวร อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค สัทธรรม ๗ (สัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา) ฌาน ๔ (ขุ.จู.๓๐/๕๔๗/๒๗๒)
4ในพุทธพจน์ คือที่พระพุทธเจ้าตรัส ทรงระบุไว้ ๒ อย่าง คือ ๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ และ ๒. สัมปรายิกัตถะ โดยทรงรวมปรมัตถะไว้ใน ๒. แต่ในคัมภีร์ชั้นอธิบาย มีการแยกปรมัตถ์ออกมาจัดเป็น ๓. ปรมัตถะ (เช่น ขุ.ม.๒๙/๒๙๒/๒๐๕)
5ดูข้อความเต็มว่า: “With the world a war began, which will end with the world, and not before: that of man against nature, of the spiritual against the material, of freedom against fate. History is nothing more than the account of this unending struggle.” Jules Michelet (1798–1874), French historian. L'histoire universelle. Encarta® Book of Quotations © & (P) 1999.
6Civilization is the lamb’s skin in which barbarism masquerades.” Thomas Bailey Aldrich (T.B.) (1836-1907), U.S. writer, editor. Ponkapog Papers, “Leaves from a Notebook” (1903). The Columbia Dictionary of Quotations. © 1993 by Columbia University Press.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.