คนไทยเรานี่ ชอบสอนกัน เตือนกัน บอกกันว่า ให้พึ่งตน ให้พึ่งตัวเอง แล้วบอกว่านี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหลักพระพุทธศาสนา ก็ถูกต้องอยู่บ้าง แล้วก็ดีด้วย เป็นการบอกให้คนเพียรพยายาม ให้รู้จักที่จะไม่งอมืองอเท้า ให้ทำอะไรๆ โดยรู้จักขยันหมั่นเพียร ไม่มัวรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น อันนี้ก็ดีในแง่หนึ่ง แต่ว่าถูกครึ่งเดียว
ทำไมจึงว่าถูกครึ่งเดียว เพราะมันไม่ใช่หลักพระพุทธศาสนาเต็มที่ ถ้าพูดว่าเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา ก็เป็นคำสอนแค่ครึ่งหนึ่ง ยังไม่ครบ
การสั่งสอนบอกให้คนพึ่งตัวเองนั้น จะเห็นได้ว่าบางครั้งมันก็ใช้ไม่ได้ แล้วก็กลายเป็นข้ออ้างสำหรับไม่ช่วยคนอื่น ใครมาขอความช่วยเหลือ ก็บอกว่า เออ.. แกก็พึ่งตัวเองสิ พระท่านสอนไว้ เมื่อพูดอย่างนี้ ก็เลยไม่ต้องช่วยกัน นี่ก็อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง ในบางเรื่องบางเหตุการณ์ เอาง่ายๆ เช่น เราไปเห็นคนตกน้ำ ก็บอกว่า “เธอก็ช่วยตัวเองซิ พระท่านสอนให้พึ่งตน” เขาจะพึ่งตนได้อย่างไรล่ะ ในเมื่อเขาว่ายน้ำไม่เป็น พอเราบอกให้เขาพึ่งตน เขาก็ตายน่ะสิ
เพราะอย่างนี้แหละ การบอกให้พึ่งตัวจึงใช้ไม่ได้ทั่ว อย่างที่บอกแล้วว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแค่ครึ่งเดียว เราเอามาสอนกันครึ่งๆ กลางๆ
ถึงตรงนี้ ก็ต้องถามว่า หลักธรรมที่แท้เป็นอย่างไร?
ที่เราบอกกันสอนกันว่าให้พึ่งตัวเอง อะไรๆ อย่างนี้ เรามักอ้างหลักที่ว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
แปลว่า: ตนเป็นที่พึ่งของตน
ดูให้ดีนะ ในหลัก “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ว่าตนเป็นที่พึ่งของตนนี้ ท่านสอนให้เราทำอะไร ที่ว่าท่านบอกให้พึ่งตัวเองนั้น ดูซิ มันอยู่ตรงไหน ที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี้ ท่านบอกตรงไหนว่าให้พึ่งตน ท่านไม่ได้บอกให้ทำอะไรสักหน่อย แต่ท่านบอกความจริงให้ใช่ไหม คือท่านสอนท่านแสดงหลักความจริงตรงไปตรงมาว่า ตัวเองนี่แหละ เป็นที่พึ่งของตน ความจริงเป็นอย่างนี้
แล้วที่ท่านสอน ก็ไม่จบแค่นั้น ต่อจาก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ยังมีต่อไปอีก เดี๋ยวจะบอกว่าอะไร
ว่ากันที่ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” นี่ก่อน แปลกันอีกที ท่านว่า “แท้จริงแล้ว ตนเป็นที่พึ่งของตน” นี่คือท่านเตือนเราให้นึกถึงความจริงว่า ที่พึ่งที่แท้คือตัวเอง นึกไว้ จำไว้ให้ชัดนะว่า ตัวเองของแต่ละคน ของทุกคนนี่แหละ เป็นที่พึ่งที่แท้จริงของตน
แล้วท่านยังบอกความจริงต่อไปอีกว่า
โก หิ นาโถ ปโร สิยา
แปลว่า: คนอื่น ใครเล่าจะเป็นที่พึ่ง (แท้จริง) ได้
ขอให้นึกดู เราบอกว่าคนโน้นคนนี้ช่วยเหลือเรา แม้แต่ลูกบอกให้คุณพ่อคุณแม่ช่วย คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้แค่ไหน ที่ว่าคนโน้นคนนี้ช่วยเหลือเรานั้น เขาช่วยอย่างไร
เอาง่ายๆ เราบอกว่า ให้คนนั้นช่วยสอนหนังสือ เขาก็มาบอกอะไรต่ออะไรให้ แต่ถ้าเราไม่คิด เราไม่ใช้สมองของเรา เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจ เราก็ไม่ได้ปัญญา เขามาสอนให้ เขามาช่วยเต็มที่ แต่ในที่สุด จะทำได้จริง จะได้เป็นของตัว เราก็ต้องพึ่งตัวเอง เราก็ต้องทำให้ได้เอง นี่คือ ที่แท้นั้น ตอนที่จะได้ปัญญา ก็อยู่ที่ตัวเองนี่แหละ ต้องรับฟัง ต้องคิดพิจารณา เป็นต้น บางคน เขามาสอนมาบอกอะไรๆ ก็ไม่ฟัง ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจ ใจไม่เอา แล้วจะไปได้ปัญญาจากที่ไหน
แม้แต่อย่างง่ายที่สุด เขาป้อนข้าวให้ เขาช่วยเต็มที่แล้ว ขนาดจะกินอาหาร ก็ไม่ต้องเอามือใช้งาน ไม่ต้องเอามือจับช้อนไปตักข้าวมาใส่ปาก แต่เสร็จแล้ว เขาเอาช้อนตักอาหารมาจะใส่ปากให้ ตัวเองไม่ยอมอ้าปากรับ เขาเอาข้าวใส่ปากให้แล้ว ไม่ยอมเคี้ยว ไม่ยอมกลืน ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดก็ต้องพึ่งตัวเอง แม้แต่กลืนไปแล้วไม่ย่อย ร่างกายไม่ทำงาน จะเป็นอย่างไร นี่แหละ ในที่สุดก็ต้องพึ่งตัวเอง นี่คือ คนอื่นมาเป็นตัวประกอบ มาช่วยเสริม มาสนับสนุนได้ แต่ในที่สุด ที่พึ่งที่แท้ก็อยู่ที่ตนเองนี่แหละ
ทีนี้ก็ถามว่า ในเมื่อแท้จริงนั้น ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นเป็นที่พึ่งจริงแท้ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร
หันมาดูคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะเห็นว่าพระองค์ไม่ได้สอนแค่นั้น เมื่อกี้นี้ ได้บอกแล้วว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นเป็นที่พึ่งที่แท้ไม่ได้นั้น พระองค์ตรัสหลักความจริง ทรงบอกความจริงว่ามันเป็นอย่างนั้น ยังไม่ได้ตรัสสอนว่าจะให้เราทำอะไร
แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสแค่นั้น ยังไม่จบแค่นี้ พระองค์ตรัสต่อไปอีกว่าเราควรจะทำอะไร เราจะต้องทำอย่างไร อันนั้นคือคำตรัสสอนท่อนต่อไป เท่ากับเป็นคำสรุปปิดท้าย เรียกได้ว่าเป็นจุดย้ำ เป็นคำสอนที่เป็นใจความสำคัญ
ลองทายซิว่า อันนี้จะสรุปปิดท้ายเป็นคำสอนว่าอย่างไร?
“ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นเป็นที่พึ่งแท้จริงไม่ได้” เพราะฉะนั้น…...
พวกเราหลายคนคงสรุปว่า (เพราะฉะนั้น จึงต้อง) “พึ่งตน”
คำสรุปปิดท้ายนี้ ฟังดูเข้าที แต่ไม่ตรงกับของพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตรัสปิดท้ายว่าอย่างไร?
พระพุทธเจ้าตรัสว่า (เพราะฉะนั้น จึงต้อง) “มีตนที่ได้ฝึกอย่างดี ซึ่งจะเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยม”2
รวมความก็คือ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นเป็นที่พึ่งจริงแท้ไม่ได้ จึงต้อง “ฝึกตัว” ให้มีตนที่พึ่งได้ดีจริงๆ
ที่เราสอนกันว่าให้พึ่งตนนั้น ก็คือคำสรุปของพวกเราอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ซึ่งก็ดีมีประโยชน์ แต่ใช้ได้ครึ่งเดียว และก็ไม่ใช่หลักจริงแท้อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้
อย่างที่ว่าแล้ว คำสรุปของพวกเราที่สอนกันว่า ให้พึ่งตัวเองๆ นั้น ยังบกพร่อง เหมือนอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า เราไปเห็นคนตกน้ำ เขาว่ายน้ำไม่เป็น เขาพึ่งตัวเองไม่ได้ พูดอย่างพระว่า “เขามีตนที่พึ่งไม่ได้” แล้วเราบอกให้เขาพึ่งตนเอง “พึ่งตัวเองๆ” เขาจะพึ่งตนเองได้อย่างไร ในเมื่อเขามีตนที่พึ่งไม่ได้ คือเขาว่ายน้ำไม่เป็น เมื่อเราไม่ช่วย เขาก็ตายเท่านั้นเอง สำหรับรายอย่างนี้ ก็เลยกลายเป็นว่า ให้เขาพึ่งตนเอง เขาก็เลยต้องตายเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า คนนั้นๆ มีตนเองที่พึ่งได้ไหม เขาจะต้องมีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้ เขาจึงจะพึ่งตนเองได้ คนตกน้ำ ถ้าเขาว่ายน้ำไม่เป็น ก็คือเขามีตนที่พึ่งไม่ได้ หรือพูดยาวๆ ว่า เขามีตนซึ่งเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่สามารถพึ่งตนเองได้
แล้วจะทำอย่างไร อ๋อ.. คนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าเขาตกน้ำ เขาก็มีตนที่พึ่งไม่ได้ เขาจึงพึ่งตนเองไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร เราก็ให้เขาฝึกว่ายน้ำ ให้เขาว่ายน้ำเป็นไว้ให้พร้อมสิ แล้วทีนี้ ถ้าเขาตกน้ำ เขาก็มีตนที่พึ่งได้ เพราะเขาว่ายน้ำเป็น เขาก็ปลอดภัยไปได้สวัสดี ตรงนี้แหละคือเริ่มเข้าหลักพระพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าเริ่มที่จุดสำคัญตรงนี้
ทวนความกันหน่อย เราบอกคนให้เขาพึ่งตนเอง แต่เขาพึ่งตนไม่ได้ เพราะเขามีตนที่พึ่งไม่ได้ หรือพูดให้เต็มว่ามีตนซึ่งเป็นที่พึ่งไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร ตอบว่า ก็ให้เขาทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ แล้วทำอย่างไร เขาจะทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้ ก็ตอบว่า ให้เขาทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ด้วยการฝึกตน นี่คือ “ฝึกตน” ให้คนมีตนที่พึ่งได้
ได้พูดมายืดยาว ทวนอีกทีว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นเป็นที่พึ่งแท้จริงไม่ได้ จึงต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ ด้วยการฝึกตน นี่คือต้องฝึกตนให้ดี จะได้มีตนที่พึ่งได้อย่างดี
ตรงนี้คือมาถึงหลัก “ฝึกตน” ที่เป็นธรรมหลักใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนโดยสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์
ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร? ทางธรรมถือว่าคนหรือมนุษย์นี้ เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ท่านเรียกว่า “ทมฺม” (‘ท’ ไม่ใช่ ‘ธ’) คนเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และก็ฝึกได้ด้วย
ดูในพุทธคุณ มีบทหนึ่งว่า “ปุริสทมฺมสารถิ” นี่คือ ในการที่พระพุทธเจ้ามาสอนเรานั้น พระองค์ทรงมีพระคุณสำคัญอย่างหนึ่ง คือพระองค์ทรงเป็นเหมือนสารถีที่ฝึกมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แล้วก็ฝึกได้ ตรงนี้แหละเป็นจุดสำคัญ ก็คือมาเริ่มตรงนี้ เมื่อคนเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ แล้วก็ฝึกตัวเองได้ด้วย เราก็ฝึกคนให้เขาฝึกตนเอง จะพูดให้สมสมัยหน่อยก็ว่าให้เขาพัฒนาตัวเอง
มนุษย์ทำไมจึงเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เพราะมนุษย์นั้นด้อยในด้านสัญชาตญาณ มนุษย์อาศัยสัญชาตญาณอย่างเดียว อยู่ไม่รอด แพ้สัตว์อื่นทั่วๆ ไป ที่เกิดขึ้นมาแล้ว แทบไม่ต้องฝึกอะไร ก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ คืออยู่ด้วยความรู้ที่มีมาเองตั้งแต่เกิด ดูง่ายๆ ก็อย่างลูกเป็ด แม่เป็ดไข่แล้วฟักมาถึงเช้าวันนั้น เจ้าลูกเป็ดออกจากไข่ พอสาย แม่เป็ดเดินๆ วิ่งๆ ลงไปในน้ำ ปรากฏว่าเจ้าลูกเป็ดที่ออกจากไข่ใหม่ๆ นั้น วิ่งตามแม่เป็ดลงไปในน้ำ แล้วก็ว่ายน้ำตามไปหากินกับแม่ ไม่ต้องฝึกไม่ต้องหัด ก็เดินได้ วิ่งได้ ว่ายน้ำได้เลย
หันมาดูคน เกิดมาแล้ว แค่จะเดิน ก็ต้องหัด และก็ไม่ใช่ง่ายๆ กว่าจะเดินได้ ต้องหัดเดินกันหลายเดือน จะพูดก็ต้องหัด จะว่ายน้ำก็ต้องฝึกกันนาน จะทำอะไรจะรู้เข้าใจอะไร ก็ต้องฝึกต้องหัดต้องเรียนทั้งนั้น ทำไม่ได้อย่างพวกลิงพวกค่าง อย่างลิงนั้น พอเจอผลไม้ มันก็รู้เลยว่าอันไหนกินได้ อันไหนกินไม่ได้ แต่คนนี่ไปเข้าป่า ถ้าไม่มีคนอื่นที่มีความรู้มาก่อนไปด้วย จะกินอะไรก็ไม่ได้ ดีไม่ดีไปกินผลไม้ที่ไม่รู้ว่าเป็นพิษ ก็ตายไปเลย คนก็เลยต้องรอดูลิง ถ้าลิงไม่สอน ก็ไม่รู้จะกินอะไร เป็นอันว่ามนุษย์นี้ต้องฝึกต้องหัดต้องเรียนรู้ทั้งนั้น
อย่างเมื่อคราวเกิดสึนามิ (Tsunami, ๒๖ ธ.ค. ๒๕๔๗, คนตาย ๒๕๐,๐๐๐ คน) ที่มาถึงฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย เช่นที่พังงา และภูเก็ต อยู่ๆ น้ำก็ลดฮวบลงไป ปรากฏว่าจำพวกสัตว์อย่างสุนัขนี่ ทำไมมันรู้จักหนีได้ล่ะ มันเกิดมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ พอเกิดภัยนี้ขึ้นมา มันพากันขึ้นไปบนภูเขา แล้วพวกมันก็รอดไปได้ แต่ฝ่ายคนจำนวนมากมาย แม้จะเล่าเรียนกันมานักหนา มีการศึกษาอย่างดี ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจภัยอย่างนี้เลย พอเห็นน้ำลดลงไป ก็อยากจะดู จึงตามน้ำลงไป แล้วเป็นอย่างไร น้ำมาพรวดเดียว หนีไม่ทัน ก็เลยปรากฏว่าคนมากมายต้องเสียชีวิตกันไป นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเจนว่า มนุษย์เรานี้มิใช่อยู่ได้แค่ด้วยสัญชาตญาณ ความรู้คู่กำเนิดนั้นช่วยเราได้น้อย คนเราจะต้องเรียน ต้องฝึก ต้องหัด ให้มีปัญญาที่จะรู้จักเป็นอยู่ และรู้จักทำอะไรๆ ได้
ก็เป็นอันเทียบกันเห็นได้ว่า สัตว์อื่นทั่วๆ ไปนั้นมีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด โดยมีตา หู จมูก เป็นต้น ที่ฉับไวเฉียบคมเป็นเครื่องช่วย มันไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ต้องฝึกไม่ต้องหัด ก็มีชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ และเก่งกาจไปตามเผ่าพันธุ์ของมัน แต่มนุษย์นี้ ด้อยด้านสัญชาตญาณ ต้องอยู่ด้วยความรู้ที่เกิดจากการเรียนการหัดการฝึกการศึกษา ที่เรียกว่าปัญญา
อย่างไรก็ดี ถึงจะด้อยด้านความรู้ที่ติดตัวมาแต่เกิดคือสัญชาตญาณอย่างที่ว่า แต่ความรู้ที่ฝึกที่หัดที่เรียนให้เกิดเป็นปัญญาพัฒนาขึ้นมานี้ ถ้ามนุษย์ไม่มัวเพลินขี้เกียจอยู่ แต่พยายามเรียนหาความรู้ศึกษาฝึกหัดยิ่งขึ้นไปๆ ปัญญาความรู้ที่ฝึกศึกษาขึ้นมานี้ ก็จะทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้นไป เป็นผู้ที่เก่งกาจเป็นเลิศประเสริฐ เป็นเจ้าใหญ่ เป็นอิสระอยู่เหนือกว่าบรรดาสัตว์ทั้งปวง
อย่างดิรัจฉานบางจำพวก นอกจากเก่งกาจด้วยสัญชาตญาณแล้ว ยังเป็นสัตว์ที่พอจะฝึกได้ด้วย เช่นอย่าง ช้าง ม้า วัว ลิง สุนัข เรียกว่าเป็นสัตว์ชั้นเลิศ แต่มันก็ฝึกตัวมันเองแทบไม่ได้ ต้องให้คนฝึกให้ และกลายเป็นว่าคนฝึกมันเอาไว้ใช้งานของคน เช่นเป็นช้างลากซุง เป็นพาหนะ หรือไว้เล่นละครสัตว์ สุนัขที่ตา หู จมูก ไวดีนัก คนก็ฝึกมันไว้ใช้งาน เป็นนักสำรวจ นักตรวจ นักพิสูจน์ ตลอดจนเป็นผู้กู้ชีพของคน สัญชาตญาณที่ยอดเยี่ยมของสัตว์ ก็จึงมาอยู่ในอาณัติรับใช้ปัญญาของคน
หันมาดูการฝึกการหัดของคนกันอีกหน่อย อย่างที่ว่าแล้ว คนนี้จะมีชีวิตของตัวเองอยู่ไปได้ เริ่มต้นก็ต้องเดิน แต่แค่จะเดิน ก็ต้องหัดเดิน แล้วต่อไปพูด ก็ต้องหัดพูด ว่ากันเหนื่อย แต่ข้อดีอยู่ที่ว่าแล้ว คือมนุษย์นี้ หัดได้ ฝึกได้ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดยังไม่ได้ ก็ฝึกให้พูดได้ และไม่แค่นั้น มนุษย์นี้ยังฝึกยังหัดให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก
เมื่อรู้จักธรรมชาติของมนุษย์แล้ว เราก็ใช้ประโยชน์มันให้เต็มที่ คือไม่ใช่เอาแค่พูดได้ แต่ฝึกต่อไปอีก ฝึกให้มันดียิ่งขึ้น เราไม่เอาแค่พูดได้ แต่ฝึกต่อไปให้พูดเป็น ให้พูดเก่ง ให้พูดได้คมคาย พูดให้สละสลวย พูดให้หลักแหลม พูดให้ไพเราะ พูดให้น่าฟัง พูดแล้วคนอยากฟัง อยากจะเชื่อ เป็นต้น ก็หัดไปฝึกไป ยิ่งได้ยิ่งเป็นประโยชน์
เพราะฉะนั้น คนเรานี้จะดีจะเลิศจะเยี่ยมยอดได้ด้วยการฝึก นี่แหละจุดสำคัญที่พระสอน อยู่ที่นี่
ที่พูดทั้งหมดนี้ ก็มาเข้าหลักให้พึ่งตน โดยมีตนที่พึ่งได้ ถ้าใฝ่เรียนใฝ่ศึกษา เป็นนักฝึกนักหัดไม่หยุดยั้งอย่างที่ว่าแล้ว ก็จะมีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้อย่างดี เหมือนในคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ที่ว่า
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
แปลว่า: มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้แสนยาก
เพราะฉะนั้น เราควรต้องชวนกันมาถือหลักนี้ คือหลักการฝึกตน ไม่ใช่มัวแต่บอกว่าให้พึ่งตน แต่ควรถามว่าทำอย่างไรคนจึงจะพึ่งตนได้ คือทำอย่างไรคนจึงจะมีตนที่พึ่งได้ ทำอย่างไรเราจะมีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้ แล้วก็จะได้คำตอบว่า ก็ฝึกตนขึ้นไปสิ อย่ามัวจมอยู่กับสัญชาตญาณที่คนเรานี้แพ้แม้แต่สัตว์เล็กสัตว์น้อย
เอาละ ถ้าจะพูดว่าพึ่งตน ก็ต้องไปให้ถึงฝึกตน จะให้ตัวเป็นอะไร ก็ฝึกตนนี่แหละขึ้นไป
คนนี้อยู่ที่ฝึกทั้งนั้น เริ่มแรกก็ฝึกให้ทำได้ แล้วต่อไปก็ฝึกให้ทำเป็น แล้วก็ฝึกให้ทำเก่งให้ได้ผลอย่างดี เช่นที่บอกเมื่อกี้ว่าฝึกให้พูดนั้น ไม่ใช่แค่ให้พูดได้ ต้องให้พูดเป็น ให้พูดได้เก่ง ให้พูดได้ดี พูดแล้วคนอยากฟังอยากเชื่อ พูดให้คนรักคนสามัคคีกัน พูดนำคนให้มารวมกันทำงานสร้างสรรค์
นั่นฝึกแสดงออกมาข้างนอก ที่จริงต้องฝึกตั้งแต่ข้างใน ฝึกความคิดให้คิดเป็น คิดให้ได้ปัญญา ไม่ใช่มีแต่ความคิดเห็น แล้วก็คิดไปตามความรู้สึก แต่ให้รู้จักคิดด้วยความรู้ ใฝ่หาความรู้ แล้วเอาความรู้ที่จริงแท้มาเป็นฐานของความคิด คิดบนฐานของความรู้นั้น คิดอย่างมีเหตุผล คิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา ไม่ใช่คิดแต่ก่อปัญหา คนที่ฝึกตนอยู่เสมอ ก็จะพัฒนาอย่างยิ่ง ฝึกชีวิตทั่วไปหมดทุกด้าน ตั้งแต่ฝึกการเป็นอยู่ ฝึกความประพฤติ ฝึกในเรื่องของจิตใจ จนถึงข้อสำคัญอย่าให้ขาด คือฝึกในทางปัญญาอย่างที่ได้ว่าไปแล้ว
คำว่า “ฝึก” ก็คือศึกษา การศึกษาต้องเน้นที่การฝึก ไม่ใช่เอาแค่หาความรู้ มีอะไรๆ ก็ไปฟังเขา แล้วเขาบอกอะไร ก็ได้รู้ ไม่ใช่แค่นั้น ศึกษาต้องฝึกให้รู้เข้าใจ ให้ทำได้ ให้ทำเป็น ฉะนั้น ศึกษาจึงไม่ใช่อยู่แค่ว่ารู้เท่านั้น ต้องทำได้ด้วย คนเรียนรู้และเรียนทำ จึงจะเป็นศึกษา คือ เรียนให้รู้เข้าใจ เรียนให้ทำได้ทำเป็น นั่นเรียกว่าศึกษา แค่รู้เข้าใจเป็นขั้นหนึ่งเท่านั้น ต้องฝึกคิด ฝึกพูด ฝึกทำด้วย คำว่าฝึกจึงเป็นการศึกษา
การฝึกคือศึกษาเป็นจุดเน้นของพระพุทธศาสนา ฝึกจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ อย่างในพุทธภาษิตที่ว่า
ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ
แปลว่า: ในหมู่มนุษย์นี้ คนที่ฝึกแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ
คนที่ฝึกแล้วนี่แหละ จะเป็นคนที่ประเสริฐสุด การที่มาเรียนพระพุทธศาสนา มาปฏิบัติธรรม จนกระทั่งได้บรรลุธรรม ก็คือเรื่องการฝึก เป็นเรื่องของการศึกษาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นตรงนี้ คือตรงที่ว่าจะต้องฝึกกันเรื่อยไป ยิ่งขึ้นไปๆ ซึ่งก็จะมาเข้าหลักที่ว่า เมื่อฝึกตัวแล้ว ก็จะทำให้ตนเป็นที่พึ่งได้
ถึงตรงนี้ การพึ่งตน กับการฝึกตน เป็นเหตุเป็นผลต่อทอดกันมาโดยตลอดแล้ว ตามลำดับความในคาถาของเรื่องนี้ที่ว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” - ตนนี่แหละเป็นที่พึ่งของตน “โก หิ นาโถ ปโร สิยา” - คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแท้จริงได้ “อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ” - มีตนที่ฝึกดีแล้ว คือมีตนที่ฝึกให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้แล้วนี่แหละ คือได้ที่พึ่งยอดเยี่ยมอย่างที่จะหาที่ไหนไม่ได้
จะพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้ จะมีตนที่พึ่งได้ ก็ต้องฝึกตน พอฝึกตนดี ก็พึ่งตนได้ เป็นอันว่าสำเร็จ
หลักพึ่งตนที่แท้นั้น เป็นข้อความแค่สั้นๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จับเอาคำสำคัญมาว่า “อตฺตสรณา...ธมฺมสรณา”3 แปลเอาความว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง...จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง
อ้าว.. ว่ามีตนเป็นที่พึ่ง แล้วทำไมว่ามีธรรมเป็นที่พึ่งอีกล่ะ จะให้ทำอย่างไรแน่ ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสสองคำ?
อตฺตสรณา – มีตนเป็นที่พึ่ง แล้วก็ ธมฺมสรณา - มีธรรมเป็นที่พึ่ง นี่คืออันเดียวกัน
“มีตนเป็นที่พึ่ง” นี่คือที่พูดกันไปแล้วว่า ที่พึ่งอยู่ที่ตัวเอง จึงต้องฝึกตัวให้ตนเป็นที่พึ่งได้ แล้วก็มีตนที่พึ่งได้
ทีนี้ ที่ว่ามีตนที่พึ่งได้นั้น เป็นอย่างไร? ก็คือ “มีธรรมเป็นที่พึ่ง” ธรรมเป็นที่พึ่งอย่างไร พึ่งธรรมอย่างไร? อ้าว.. ก็ไม่ประมาท ความไม่ประมาทเป็นธรรมใช่ไหม? ใช่! เป็นธรรมสำคัญทีเดียวแหละ เออ.. แล้วใครไม่ประมาท ก็ตัวเองนี่แหละไม่ประมาท
“มีธรรมเป็นที่พึ่ง” เอาซิ.. เพียรพยายาม ขยันอดทน มีสติ มีสมาธิ ใช้ปัญญา รู้จักคิดพิจารณาแก้ปัญหา อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่ว่าไปนี่ ก็คือธรรมทั้งนั้นเลยใช่ไหม?
เพียรพยายามก็คือธรรม ขันติก็ธรรม สติ สมาธิ ปัญญา ก็ธรรมทั้งนั้น แล้วความเพียรพยายาม สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่ใคร? ใครเพียรพยายาม ใครใช้ขันติ...สติ...สมาธิ...ปัญญา ก็ตัวเองนี่แหละใช่ไหม เพราะฉะนั้น ที่เราบอกว่าพึ่งตน ที่จริงก็คือพึ่งธรรมใช่ไหม
บอกว่า “พึ่งตน” แต่ถ้าตนไม่มีธรรม เช่นสติ และปัญญา จะพึ่งตนได้อย่างไร ฉะนั้น จึงต้องฝึกตนให้มีธรรม ต้องฝึกให้ธรรมพัฒนาขึ้นมาในตน แล้วก็จะพึ่งตนได้ โดยพึ่งธรรมที่มีในตนนั้น
เรื่องมันก็คือว่า ธรรมนั้นอยู่ที่ตัวเอง พอเราพึ่งธรรมปั๊บ ก็คือพึ่งตน พอบอกว่าพึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม พึ่งความไม่ประมาท พึ่งสติ พึ่งสมาธิ พึ่งปัญญา ใครไม่ประมาท ก็ตัวเองใช่ไหม ใครเพียรพยายาม ใครมีสติ ใครมีสมาธิ ใครมีปัญญา ก็ตัวเองทั้งนั้น พึ่งธรรม ก็พึ่งความเพียรพยายาม พึ่งสติ พึ่งสมาธิ พึ่งปัญญา ก็พึ่งตัวเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พึ่งตน กับพึ่งธรรม จึงหมายความอันเดียวกัน ใครพึ่งธรรม ก็คือพึ่งตน ใครไม่พึ่งธรรม คนนั้นก็ไม่พึ่งตน เออ! ใช่นะ.. ใครขี้เกียจ ใครไม่ขยันหมั่นเพียร คนนั้นก็ไม่พึ่งตน
เอาละ นี่คือท่านย้ำเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้ ที่ว่าพึ่งตนนั้น ก็คือพึ่งธรรม คือพึ่งคุณสมบัติที่มีในตัวเอง ก็พึ่งตัวเองในการเพียรพยายาม พึ่งตัวเองในการขยันอดทน ในการใช้สติ พึ่งตัวเองที่ต้องทำจิตใจให้เป็นสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย ไม่กระวนกระวาย ไม่กระสับกระส่าย ไม่เครียด พึ่งตัวเองที่จะใช้ปัญญา
นี่แหละนะ ในที่สุดก็มาอยู่ที่นี่ อันนี้คือหลักพระพุทธศาสนาที่แท้ เพราะฉะนั้นในที่สุดแล้ว พึ่งตน ก็คือพึ่งธรรม
ทีนี้ เมื่อพึ่งตน คือพึ่งธรรม โดยมีตนเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นที่พึ่ง ก็จึงต้องบอกว่า ที่เราต้องฝึกตนนั้น ก็คือฝึกให้ตนมีธรรมที่จะพึ่งได้ดีขึ้นมากขึ้น คือต้องฝึกตนให้ธรรมทั้งหลาย เช่น ความเพียรพยายาม ความเข้มแข็งอดทน เมตตากรุณา ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติ สมาธิ ปัญญา พัฒนาขึ้นมาในตัวเรานั้น มากขึ้นๆ ยิ่งขึ้นๆ แล้วเราก็จะพึ่งตนได้ดีขึ้นๆ
เมื่อทำได้อย่างที่ว่านี้ ก็จะไปบรรจบกับหลักที่ได้บอกไว้แล้วข้างต้นว่า เราก็จะมีตนที่ฝึกดีแล้ว ซึ่งเป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยม
“พึ่งตน คือพึ่งธรรม” ที่พูดเมื่อกี้นั้น เราไปสอนคนทั่วไป ถ้าพูดเรียงความไม่ชัด จัดลำดับไม่ดี เขาไม่เข้าใจหรอก แต่อย่างน้อยให้เขาเข้าใจอันเมื่อกี้ที่ว่า “จะพึ่งตน ก็ต้องมีตนที่พึ่งได้”
ไปเจอหนูน้อยก็ถามว่า “นี่หนู เธอมีตนที่พึ่งได้หรือยัง?” ที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกโตขึ้นมานี้ ก็เป็นเวลาที่ลูกจะเตรียมตัวฝึกไว้หัดไว้เพื่อว่าต่อไปลูกจะเลี้ยงตัวเองได้ แล้วเขาจะพึ่งตนเองได้ ใช่ไหม? ในที่สุดพ่อแม่ก็ไป ท่านไม่อยู่ด้วยหรอก แล้วตัวเอง เธอมีตนที่พึ่งได้หรือยัง
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ด้วย คุณพ่อคุณแม่อุตส่าห์มาช่วยในการฝึกในการหัดอะไรต่างๆ เป็นโอกาสให้เธอฝึกตนเตรียมตัวไว้ แต่ตัวเธอเองไม่ใช้โอกาสที่จะฝึกตนให้ตัวเองเป็นที่พึ่งได้นี่ พอคุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่ด้วย คุณพ่อคุณแม่ไปไหนแล้ว เป็นอย่างไร ก็ทำอะไรไม่เป็น รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ มีตนที่พึ่งไม่ได้ ก็แย่เลย
เพราะฉะนั้น เรามีพ่อแม่ มีครูอาจารย์ มีคนที่มาเหมือนเป็นที่พึ่งให้นี้ ที่จริงก็คือมาช่วยเป็นโอกาสให้เราได้ฝึกตนเตรียมไว้ เพื่อให้เราพึ่งตนเองได้ต่อไปนั่นเอง หมายความว่า ตัวเราเองนี่แหละ ต้องฝึกตนให้พร้อมที่จะมีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้ แล้วจะได้พึ่งตนเองได้ต่อไป เพราะฉะนั้น จะต้องมาเน้นกันตรงนี้
ว่าถึงในระดับประเทศชาติ ก็มาเน้นกันที่ประเทศไทยนี่ ไม่ต้องไปบอกว่าให้พึ่งตนๆ ไม่ต้องไปมัวเน้นกันที่ว่าให้พึ่งตน อย่างที่บอกเมื่อกี้ ถ้าเขามีตนที่พึ่งไม่ได้แล้ว จะให้เขาพึ่งตนได้อย่างไร
ขอให้ถามเมืองไทยว่า คนมีตนที่พึ่งไม่ได้ มีมากแค่ไหน หรือไม่ก็ถามว่า คนมีตนที่พึ่งได้ มีมากน้อยแค่ไหน ดูซิเมืองไทยนี่ ปัญหาของประเทศชาติ คือปัญหาที่ว่า มีคนซึ่งมีตนที่พึ่งไม่ได้เยอะ ใช่ไหม ถ้าใช่อย่างนี้ ก็คือลำบาก
เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไร? คนในสังคมต้องช่วยกันหาทางที่จะทำให้คนรู้จักฝึกตัว พัฒนาตน ถ้าพูดในระดับประเทศ ก็คือ จะต้องพัฒนาคุณภาพของคน ด้วยการศึกษา ที่ไม่ใช่แค่หาความรู้ แต่ให้รู้จักเรียนรู้เรียนทำ ให้มีสำนึกในการที่จะฝึกตน ดังที่ว่าแล้ว
การศึกษานั้นมีความหมายแท้อยู่ที่ฝึก การฝึกนี้ก็อยู่ในหลักฝึกตนที่ว่าแล้ว เราต้องทำให้ประเทศชาติมีประชาชนที่มีคุณภาพ เป็นคนมีตนที่พึ่งได้ ให้เขาเป็นคนที่อยู่กับหลักการฝึกตน ฝึกกันเรื่อยไป ให้การศึกษาเป็นชีวิตของเขา
พูดกันมาตั้งแต่ต้นว่าคนเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก จะมีชีวิตเป็นอยู่ได้ จะทำอะไรได้ จะทำอะไรเป็น จะให้เก่ง จะให้ดี จะให้เลิศอย่างไร ก็ต้องหัดต้องฝึกเอา ไม่ว่าการรับรู้ ทักษะ ศีล ภาวะจิต จนถึงปัญญา ต้องฝึกทั้งนั้น ทำกันไปอย่างนี้ตลอดชีวิต บอกแล้วว่าการฝึกคือการศึกษา เพราะฉะนั้น คนจึงต้องศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาจึงต้องเป็นชีวิตของคน
การฝึก การศึกษา ก็คือรู้จักเรียนรู้ เรียนทำ ทั้งเรียนรู้ ให้รู้เข้าใจ และเรียนทำ ให้ทำได้ทำเป็น พอทำได้แล้ว ก็ทำให้เป็น แล้วก็ทำให้ดียิ่งขึ้น ทำให้มีคุณภาพสูงขึ้น เมื่อจับทำงานนี้แล้ว คราวนี้ทำได้ ต่อไปก็ทำให้ดีทำให้ประณีตยิ่งขึ้น ฝึกกันเรื่อยไป การฝึกต้องเป็นชีวิตของมนุษย์ เพราะธรรมชาติของมนุษย์คืออย่างนั้น อย่างที่บอกแล้วว่ามนุษย์เป็น “ทัมมะ” เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เป็นสัตว์ที่ ต้องฝึก ตอนที่ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ตรงนี้รู้สึกว่าลำบาก แต่พอบอกว่าฝึกได้ ตอนนี้ดีนี่ เมื่อฝึกได้ ก็ฝึกให้วิเศษไปเลย
ก็มาเข้าหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสนี่แหละ ที่ว่าคนที่ฝึกแล้วประเสริฐ ตรัสไว้หลายพุทธภาษิต อย่างง่ายๆ ก็คือที่บอกไปแล้วเมื่อกี้ว่า “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” - ในหมู่มนุษย์นั้น คนที่ฝึกแล้ว เป็นผู้ที่ประเสริฐสุด
คนที่ฝึกแล้ว ศึกษาแล้ว ก็จะเก่ง จะดี มีคุณภาพ ทำให้สังคมเจริญ พัฒนา รุ่งเรือง งอกงาม มีความสุข มีสันติ มีอะไรๆ ทุกอย่างที่ดี พูดในแง่ที่เป็นประเทศชาติ ก็มีพลเมืองที่มีคุณภาพสูง
พอได้อย่างนี้แล้ว ทุกอย่างก็จะดีไปตาม มนุษย์ดีแล้ว อะไรต่ออะไรๆ ก็ดีไปด้วย ตลอดไปจนถึงธรรมชาติ ที่มนุษย์ไม่ฝึกตัว ไม่มีคุณภาพ ทำให้ธรรมชาติเสื่อมลงไปๆ มนุษย์มีคุณภาพดีขึ้น ก็รู้จักใช้ รู้จักปฏิบัติต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมก็จะพลอยดีขึ้น
ตกลงว่า ก็มาสรุปที่นี่แหละ คือ ที่ว่าให้พึ่งตนนั้น ก็ต้องถามว่าเขามีตนที่พึ่งได้ หรือมีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้หรือยัง เขาเป็นอะไร ทำงานอะไร มีอาชีพอะไร เขาทำงานทำอาชีพได้สำเร็จผล มีคุณภาพดี มีความภูมิใจมั่นใจในงานในการอาชีพที่ทำไหม แล้วก็โยงมาที่หลักการฝึกตน หรือการศึกษาเป็นชีวิต ตลอดชีวิตนี่แหละ ให้ฝึกฝนให้ทำเป็นและทำให้ดียิ่งขึ้น ให้เก่ง ให้ชำนาญ ให้เชี่ยวชาญ ให้ดีมีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นไปอย่างมั่นใจ ให้เป็นมนุษย์ที่เป็นผู้ประเสริฐสมชื่อ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ย้ำไว้ด้วย ที่เราพูดกันมาว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐนั้น ที่จริงยังไม่ประเสริฐหรอก เราต้องแถมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามนุษย์ที่ฝึกแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ ถ้าพูดอย่างนี้ จึงจะได้ความ
ก็บอกกันให้สบายใจว่า การฝึกตน การศึกษา การเรียนรู้ การฝึกการหัดอะไรต่ออะไรนี้ เป็นเรื่องของชีวิตของเรานี้เอง ตามธรรมดาของธรรมชาติ เมื่อเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ ก็ฝึกก็ศึกษากันเรื่อยไปตลอดชีวิตนั้น ไม่ต้องไปคิดว่ามันจะจบเมื่อไร ฝึกศึกษาไปจนเป็นพระอรหันต์เมื่อไร มันก็จบไปเอง ตามหลักที่ว่าพระอรหันต์เป็นอเสขะ ผู้ไม่ต้องศึกษา คือจบการศึกษา ผู้ที่จะเป็นพระอรหันต์ ก็คือเป็นนักฝึกตัวเอง ฝึกเรื่อยไปตลอดเวลา จนจบการศึกษา ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องฝึกอีก นั่นคือธรรมดาของชีวิต
ทีนี้ เราทั้งหลายก็มาฝึกตนกันให้เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเจออะไร ก็ฝึกได้เลย ตั้งแต่ฝึกตา ฝึกให้มองดูเป็น ให้ดูให้เห็นแล้ว ถามตัวเองว่า ได้ความรู้ไหม ใจยังดีอยู่ไหม หรือดูแล้วเห็นแล้ว ติดอยู่แค่ชอบใจไม่ชอบใจ ดีใจเสียใจ ไม่ได้รู้ไม่ได้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไร
ไม่เฉพาะตา ถึงแม้หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ก็ฝึกการรับรู้ได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะหูนั้นสำคัญนัก เป็นช่องทางเข้ามาของข่าวสารข้อมูลมากมาย คู่กับตา คนมากมายใช้ตาดู หูฟังแล้ว ก็ติดอยู่แค่รู้สึก ถูกใจไม่ถูกใจ ได้แค่ยินดียินร้าย ใจเสียดุล เอียงมาชอบ เอียงไปชัง อยู่กับความรู้สึกติดค้าง ไปกับความสุขความทุกข์ที่แฝงโมหะ ถูกมันปั่น ตกอยู่ใต้อำนาจของมัน เสียหลัก ทำให้ไม่เกิดปัญญา ตั้งแต่ไม่รู้เท่าทัน แล้วก็เสียท่า เป็นต้นไป
พอรู้จักฝึกตัวเอง ตาเห็นนั่นนี่ที่ไม่น่าชอบใจ ก็ไม่มัวปรุงแต่งไปตามความรู้สึก แต่ไปทางเรียนรู้ เอ้อ.. อันนี้ยังไม่ดี ยังไม่เรียบร้อย เราทำได้ เราก็ไปแก้สิ ตรงนี้ควรจะทำให้สะอาดเรียบร้อย ก็ไปกวาดไปถู เรื่องนี้ต้องแก้ไข ก็ชวนกันแก้ปัญหา รวมทั้งไปปรึกษาคนมีหน้าที่ที่จะมาทำให้ดี
หูได้ยินได้ฟัง ก็ทำนองเดียวกัน ไม่ค้างคาอยู่แค่กับความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ ถูกหูไม่ถูกหู แต่เรียนรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง คืออะไร เป็นอะไร เมื่อฝึกไปๆ เรื่องที่ฟังแล้วไม่ถูกหู ไม่ชอบใจ พอเปลี่ยนจากความรู้สึกเป็นเรียนรู้ได้แล้ว ต่อไป ไม่ว่าอะไรที่ได้ฟังได้เห็น ที่รู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ กลายเป็นรู้เข้าใจ แล้วชอบที่จะรู้ไปหมด นี่คือได้ฝึกตัวเอง เปลี่ยนจากความรู้สึก ไปเป็นเรื่องของความรู้
ถ้าเราดูแล้วอยู่แค่ความรู้สึก ชอบใจ ไม่ชอบใจ ถูกใจ ขัดใจ สบายใจ ไม่สบายใจ เราก็ยุ่งอยู่กับสุขกับทุกข์ ที่ถูกอารมณ์ข้างนอกมันบังคับ เรียกว่าเรารับรู้อย่างเป็นผู้ถูกกระทำ อยู่ใต้อำนาจของมัน ถูกมันปั่น ถูกมันทำเอา
ทีนี้ เราพลิกกลับมาให้เป็นการรับรู้อย่างที่เราเป็นผู้กระทำ พอรับรู้อะไร แทนที่จะตกเป็นทาสของความรู้สึกที่อารมณ์นั้นมันปั่นมันพาไป เราก็เรียนรู้มัน เราก็กลับเป็นเจ้าเป็นนายของการรับรู้ เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการรับรู้นั้น
ทีนี้ เมื่อเราเป็นฝ่ายกระทำ เราดู-รู้ ฟัง-รู้ พอเห็นสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจ เราไม่ติดอยู่แค่กับความรู้สึกนั้นแล้ว เราไปที่ความรู้ เช่นรู้ว่าอันนี้มันดี อันนี้ไม่ดี ถ้ามันไม่ดี ควรที่จะแก้ไข ถ้าเรามีโอกาส ก็ไปแก้ไข ไปจัดให้มันดี แต่ถ้ายังทำไม่ได้ เราก็ได้เรียนรู้ของที่ไม่ดี ว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างนั้นเพราะเหตุปัจจัยอะไร ได้เรียนรู้เข้าใจเหตุปัจจัย ก็มาเข้าหลักพระพุทธศาสนาอีก เลยได้ศึกษากันใหญ่
ถึงนี่ก็เป็นขั้นสืบลึกแล้ว คือรู้เหตุผล รู้เหตุปัจจัย รู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย รู้จักความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยเหล่านั้น คราวนี้ก็ได้เรียนรู้กันใหญ่ มองเห็นว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าทำไม่ได้ ก็เรียนรู้ไว้ก่อนว่ามันเป็นเพราะเหตุอะไร จะแก้ไขเหตุปัจจัยอย่างไร พอไปในทางของการศึกษาอย่างนี้ ปัญญาก็พัฒนาไม่รู้จักจบ
วันนี้พูดมาเยอะแล้ว เอาเป็นอันว่า นี่แหละที่ว่าพึ่งตนนั้น หลักที่แท้ก็คือ ให้ทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ หรือให้มีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้ ถามตัวเองว่า เรามีตนที่พึ่งได้ หรือว่าเรามีตนซึ่งเป็นที่พึ่งได้หรือยัง ถ้ายัง ก็ฝึกตัวเองได้เลย ฝึกแล้วจะดีใจ เมื่อรู้เข้าใจความหมายแล้ว ก็จะมีความสุขจากการฝึกตนนั้น
คนที่ใฝ่ฝึกตัว มีสำนึกในการฝึกตน เป็นนักฝึกตนนั้น ถ้าจะต้องทำอะไรที่ยาก ก็ไม่กลัว เพราะยิ่งยาก ก็ยิ่งได้ฝึกตนมาก จริงไหม? อะไรยาก เราก็ได้ฝึกตัวมาก อะไรง่าย เราก็แทบไม่ได้ฝึกตัวเลย เพราะฉะนั้น นักฝึกตัวจึงไม่กลัวความยาก เพราะยิ่งยาก ยิ่งได้มาก จำไว้เป็นคติเลยก็ได้
คนที่ใจไม่เป็นนักฝึกนั้น ชอบง่ายๆ ก็เลยไม่ได้อะไร ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฝึกตน เวลาก็ผ่านไปเปล่า แถมใจไม่ดีด้วย
แต่พอมาเข้าหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าสอนให้ฝึกตน พอเจออะไร ก็นึกเลยว่าอันนี้มันจะให้เราได้ฝึกตัวแล้ว เอาเลย ถ้ามันยาก เราก็ได้ฝึกตนมาก ยิ่งยาก ก็ยิ่งได้ฝึกมาก ยิ่งฝึกมาก เราก็ยิ่งชำนาญจัดเจนมาก เพราะฉะนั้น นักฝึกตนจึงมีคติว่า “ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก” แล้วพอเจองานยากสมใจตามคตินั้น ก็ชอบใจ กลายเป็นว่า ยิ่งได้ทำงานยาก ก็ยิ่งมีความสุขมาก ก็สบายไปเลย
นี่แหละก็จึงมาลงท้ายเข้าในหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” - ในหมู่มนุษย์นั้น คนที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด เป็นอันว่าจบตรงนี้เลย