นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
น เหว ติฏฺํ นาสีนํ น สยานํ น ปตฺถคุํ
ตสฺมา อิธ ชีวิตเสเส กิจฺจกโร สิยา นโร น จ มชฺเชติ
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักแสดงพระธรรมเทศนา ประดับสติปัญญาของท่านสาธุชนทั้งหลาย เพื่ออุทิศกุศลแก่ท่านผู้ได้ล่วงลับไปแล้ว นับกาลเวลาผ่านโดยลำดับ
อันการบำเพ็ญกุศลเช่นนี้ นับว่าเป็นการอนุวัตรตามประเพณี เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยทั่วไปถือว่าเป็นการประกาศคุณความดีของบุคคลทั้ง ๒ ฝ่าย ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน กล่าวคือท่านผู้ล่วงลับไปแล้วฝ่ายหนึ่ง และท่านที่ยังดำรงชีวิตอยู่และมาเป็นเจ้าภาพอีกฝ่ายหนึ่ง
ในส่วนของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว การประกอบพิธีนี้เป็นการประกาศถึงความดีของท่าน ว่าท่านได้เคยกระทำความดีงาม มีอุปการคุณแก่ท่านที่ดำรงชีวิตอยู่ โดยเฉพาะแก่ท่านผู้เป็นเจ้าภาพนั้น จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงคุณความดีนั้นหรืออุปการคุณนั้น แล้วขวนขวายกระทำกิจต่างๆ อันพึงทำเพื่อระลึกถึงท่าน อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ตามประเพณีนิยมที่ได้สืบกันมาในสังคมและตามหลักของพระศาสนา
ส่วนในฝ่ายของเจ้าภาพที่ได้มาประกอบพิธีนี้ ก็เป็นการประกาศถึงความดีของท่าน ว่าเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรม เมื่อท่านผู้มีอุปการคุณซึ่งได้ทำความดีแก่ตนไว้ ได้ล่วงลับไปแล้ว ก็มิได้นิ่งอยู่เฉย ได้ขวนขวายกระทำกิจที่ควรทำ มีความรำลึกถึงท่าน และพยายามแสดงตอบแทน ในเมื่อไม่สามารถจะกระทำได้ด้วยประการอื่น เพราะท่านผู้มีพระคุณได้ล่วงลับไปแล้ว ก็กระทำโดยวิธีการอุทิศกุศลตามประเพณีนิยมที่ต้องด้วยหลักพระพุทธศาสนา
แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เป็นเพียงการแสดงความสัมพันธ์และความดีต่อกัน ระหว่างเจ้าภาพกับท่านผู้ล่วงลับไปเท่านั้น การที่พุทธศาสนิกชนแต่โบราณมาได้ตั้งหลักให้มีพิธีกรรมเช่นนี้ขึ้น ก็ย่อมมุ่งหมายเพื่อให้เป็นโอกาสที่จะได้กระทำความดีงาม ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นกุศลยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย จุดหมายสำคัญของพิธีนั้นก็อยู่ ณ ที่นี้ คือได้อาศัยโอกาสเช่นนี้ กระทำสิ่งที่ดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตัวเจ้าภาพเอง และเป็นคุณประโยชน์แก่สาธุชนทั้งหลายที่ได้เกี่ยวข้องมาร่วมพิธีด้วย สำหรับท่านที่ได้ล่วงลับไปแล้วนั้น ก็จะได้รับการอุทิศกุศลตามความเชื่อในพุทธศาสนาและประเพณี ให้ท่านได้รับผลแห่งบุญกุศลที่เจ้าภาพได้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์สุขของท่านในภพสืบต่อไป ส่วนทางเจ้าภาพก็ได้ประกอบการบุญการกุศล ได้เป็นโอกาสที่ญาติมิตรผู้หวังดีทั้งหลาย จะได้มาทำบุญทำกุศลร่วมกันงอกงามในคุณความดียิ่งขึ้นไป
ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านให้หาโอกาสทุกอย่างที่จะกระทำสิ่งที่ดีงาม คือเมื่อมีเหตุการณ์อันน่าพึงใจก็ตาม ไม่น่าพึงใจก็ตาม เกิดขึ้น พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้โอกาสนี้ ทำให้เกิดเป็นประโยชน์เป็นกุศลมากยิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับในกรณีนี้ ความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ จัดว่าเป็นส่วน
อนิฏฐารมณ์ เป็นการพลัดพรากจากกัน แต่ว่าวิสัยของพุทธศาสนิกชนแล้ว แม้จะประสบกับสิ่งที่เป็นอารมณ์อันไม่น่าพึงใจ มีเหตุการณ์อันทำให้เกิดความทุกข์ความโศกเศร้า แต่ก็ใช้เหตุการณ์ที่โศกเศร้านี้แหละทำสิ่งที่เป็นกุศลเป็นคุณเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ตนเองก็ได้บำเพ็ญกุศลทำความดีในทานศีลภาวนามากยิ่งขึ้น ได้ช่วยบำเพ็ญประโยชน์บำรุงพระศาสนา จัดพิธีต่างๆ อันเป็นประโยชน์ ที่จะช่วยให้ท่านผู้มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศล ได้รับความเจริญงอกงาม ฝึกฝนอบรมสติปัญญาของตนเอง ดังเช่นที่ได้มีพระธรรมเทศนาเช่นนี้ ก็นับได้ว่าเป็นการนำเอาโอกาสหรือเหตุการณ์นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง
ที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงใจ อันนี้ก็เป็นการกล่าวตามวิสัยของปุถุชนทั้งหลาย คือมนุษย์ปุถุชนนั้น ย่อมวัดสิ่งทั้งหลายไปตามความถูกใจไม่ถูกใจของตนเอง ความตายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจ เราก็ไม่ชอบ ส่วนสิ่งใดที่เราถูกใจ เราก็ชอบ เราก็อยากให้เกิดให้มีขึ้น แต่ถ้ากล่าวตามเหตุผลที่แท้จริงแล้ว เรื่องความตายนี้ท่านก็จัดอยู่ในคติของธรรมดา คือเป็นเรื่องธรรมดาอย่างหนึ่ง มีเกิดก็ต้องมีตาย คือเกิดมาแล้วก็ต้องตาย หรือที่ตายก็เพราะได้เกิดมาแล้ว ความเกิดกับความตายนั้นเป็นของคู่กัน จะเลือกเอาเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ และเป็นไปตามกระบวนการเหตุผลหรือเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีเกิดก็มีดับ หรือว่าสิ่งทั้งหลายมีความเกิดในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงแตกสลายไปในที่สุด แต่กระนั้นก็ตาม ปุถุชนทั้งหลายก็ย่อมปรารถนาในส่วนที่ตนถูกใจ อยากจะเลือกเอาอย่างเดียว คือตามปกติจะชอบพูดถึงความเกิด เมื่อมีความเกิดขึ้นก็มักจะกล่าวถึงหรือยินดีพูดถึงด้วยความชอบใจ มีความลิงโลดตื่นเต้นกันต่างๆ แต่ส่วนความตายนั้นไม่อยากพูดถึงไม่อยากฟัง ตลอดจนว่าแม้แต่นึกถึงก็ไม่อยาก อันนี้ตรงข้ามกับในทางธรรม
ในทางธรรมนั้นท่านกลับชอบพูดถึงความตาย ท่านไม่ชอบพูดถึงความเกิดที่คนทั้งหลายชอบหรือปรารถนา เพราะว่าความตาย ท่านพูดขึ้นมาแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติแก่มนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย ให้ได้ความคิดในธรรมะ แม้ในโอกาสใดท่านจะพูดถึงความเกิดบ้าง ท่านก็จะพูดถึงในแง่ที่สัมพันธ์กับความตาย เป็นเครื่องเตือนสติเช่นเดียวกัน บางครั้งท่านถึงกับพูดว่า ถ้าจะกลัวตายก็ควรจะกลัวเกิด เพราะว่าในเมื่อเกิดขึ้นมาก็ต้องตาย ในเมื่อไม่อยากตายก็ต้องไม่อยากเกิด การที่พูดอย่างนี้ก็เป็นวิธีการของท่าน ในการที่จะให้เป็นอนุสติเตือนใจมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อจะให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลาย เมื่อนึกถึงความเกิดแล้วมีความดีใจ ก็อาจจะเกิดความมัวเมาประมาท แทนที่จะคิดเร่งขวนขวายในการทำกิจหน้าที่ความดีงามต่างๆ ก็อาจจะหันไปเพลิดเพลินสนุกสนาน หาแต่ความสุขความปรนเปรอตนเอง และก็ไม่อยากนึกถึงความตาย เพราะจิตใจสลดหดหู่ และทำให้เกิดความท้อแท้ อันนี้ในทางธรรมถือว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ทางหลักธรรมท่านจึงสอนให้ระลึกถึงความตาย ทั้งนี้เป็นการพูดทวนกระแสจิตของมนุษย์ แต่มุ่งเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์นั่นเอง มุ่งจะให้ยอมรับความจริง และเผชิญหน้าความจริง และแนะวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องคือมิใช่กล่าวเพียงให้ระลึกถึงความตาย แต่ท่านให้ระลึกถึงความตายแล้วแนะวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตายด้วย
มนุษย์ปุถุชนนึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องอย่างไร และในทางพระศาสนาสอนหรือแนะนำให้ปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร มนุษย์ปุถุชนนึกถึงความตายอย่างไม่ถูกต้องคือมีความหวาดหวั่นพรั่นกลัว มีความสลดหดหู่ท้อแท้ หรือจะขยายให้พิสดารต่อไปอีก ก็สัมพันธ์กับบุคคลที่ตายนั้นที่ตนระลึกถึง ถ้าหากระลึกถึงความตายของบุคคลที่ตนเองเกลียดชังหรือไม่พอใจ บุคคลที่เป็นศัตรู มนุษย์ปุถุชนก็จะมีความดีใจ แต่ถ้าหากว่าบุคคลที่ตายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เป็นบุคคลทั่วๆ ไป ก็จะระลึกถึงด้วยความเฉย หรือว่าถ้าจะระลึกถึงตัวความตายนั้น ก็จะมีความหวาดหวั่นพรั่นใจหวาดเสียว หรือมีความสลดหดหู่ท้อแท้ รวมความว่า จิตมนุษย์ปุถุชนไม่สามารถตั้งอยู่ในความดีความงามที่แท้จริงได้ แต่เอนเอียงไปในด้านต่างๆ ถึงแม้ถ้าไม่เกี่ยวกับบุคคลอื่น นึกถึงความตายของตนเอง ก็จะมีความหวาดกลัว ความหดหู่ท้อแท้ ดังได้กล่าวมาแล้ว
ส่วนในทางพระศาสนานั้น ท่านสอนให้ระลึกถึงความตายเพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจตนเอง ว่าความตายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต มันจะต้องเกิดมีขึ้น เป็นเรื่องสืบต่อไปจากความเกิด ในเมื่อมันเป็นเรื่องธรรมดาก็ไม่ต้องไปกลัว แต่มีข้อที่น่าพิจารณาว่า ความตายนั้นซึ่งเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงเมื่อไรไม่แน่ ชีวิตของคนเราอาจจะสั้นหรืออาจจะยาวไม่มีเครื่องกำหนดให้มองเห็นได้ชัดเจน เพราะฉะนั้น จึงควรใช้เป็นเครื่องเร่งเร้าตนเองให้มีความไม่ประมาท กล่าวคือ ชีวิตนี้มีกิจหน้าที่อะไร ก็ควรเร่งรัดจัดทำ ชีวิตของตนจะมีค่าและความดีงามอย่างไร ก็ควรเร่งขวนขวายประกอบกรรมที่จะให้เป็นอย่างนั้น ให้ชีวิตของตนมีคุณค่า ให้อยู่อย่างมีประโยชน์ และตายไปก็มีคุณค่าเหลือทิ้งไว้ เป็นประโยชน์แก่คนอื่นภายหลังด้วย อันนี้เป็นคำสอนทางพระศาสนา สำหรับให้ระลึกถึงความตาย
ส่วนในอีกขั้นหนึ่งซึ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไป ท่านก็สอนให้พิจารณาถึงความตายนั้น ในฐานะเป็นคติธรรมดาดังได้กล่าวแล้ว แต่ความหมายของคติธรรมดา คือให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต ว่ามีการเริ่มต้นและสิ้นสุด เพื่อจิตใจจะได้ไม่ถูกครอบงำบีบคั้น ด้วยความทุกข์จากความพลัดพราก จากการที่นึกถึงความตายของตนเอง เป็นต้น คือรู้เท่าทันความเป็นไปของธรรมดา แล้วก็มีจิตใจสบายดำรงอยู่ในปกติได้เสมอ รำลึกถึงความตายด้วยความไม่หวาดหวั่น และเป็นอยู่ด้วยปัญญา คือกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้และเข้าใจธรรมดานั้น หมายความว่า อยู่ด้วยความรู้เหตุผล อะไรเป็นสิ่งควรทำก็กระทำไป อะไรเป็นสิ่งที่เป็นปัญหา ควรแก้ไข ก็กระทำไปตามเหตุปัจจัย อันนี้ก็เป็นคำสอนขั้นสูงขึ้นไปในทางพระศาสนา
สรุปว่าท่าทีการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเรื่องความตายนี้ แสดงถึงความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของมนุษย์เป็น ๓ ขั้นด้วยกัน คือ
ขั้นที่ ๑ มนุษย์ปุถุชนทั่วไป ท่านว่าเป็นปุถุชนที่ยังมิได้สดับ คือยังไม่มีการศึกษา ก็จะระลึกนึกถึงความตายด้วยความหวาดหวั่นพรั่นกลัว เศร้าหดหู่ท้อแท้ ระย่อท้อถอย
ขั้นที่ ๒ สูงขึ้นไป เป็นอริยสาวกผู้มีการศึกษา ได้สดับแล้ว ก็ระลึกถึงความตายโดยเป็นอนุสติ สำหรับตักเตือนใจไม่ให้ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติ ประกอบหน้าที่ คุณงามความดีให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ มีคุณค่า
ขั้นที่ ๓ คือให้รู้เท่าทันความตาย ซึ่งมีคติเนื่องอยู่ในธรรมดา จะได้มีชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นกลัวต่อความพลัดพรากเป็นต้น มีใจปลอดโปร่งโล่งสบาย และเป็นอยู่ด้วยปัญญาที่กระทำการไปตามเหตุผล ด้วยความรู้เท่าทันเหตุปัจจัย
เรื่องท่าทีปฏิบัติเช่นนี้ มิใช่เฉพาะต่อความตายเท่านั้น แม้ในเรื่องทั่วๆ ไป มนุษย์ก็จะปฏิบัติด้วยท่าที ๓ ประการเหล่านี้ แต่ข้อสังเกตที่น่าจะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ในประการที่ ๒ ซึ่งในที่นี้กล่าวถึงคำสอนในทางพระศาสนา ว่าให้มนุษย์ขวนขวายเร่งกระทำการต่างๆ โดยนำเอาการระลึกถึงความตายนั้นมาเป็นเครื่องเร่งเร้า
มนุษย์ทั่วไป ในการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น ก็อาศัยสิ่งต่างๆ เป็นเครื่องเร่งเร้าตัวเองในการกระทำการต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเครื่องเร่งเร้าของมนุษย์นั้นมิใช่เป็นเรื่องคุณธรรมหรืออนุสติ อย่างเช่นในทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ หรือมีบ้างก็ปนกันไปกับเครื่องเร้าอย่างอื่น
เครื่องเร้าอย่างอื่นที่มีอยู่มาก เป็นไปโดยปกติธรรมดานี้มีอะไร เครื่องเร่งเร้าโดยทั่วไปนั้นก็ได้แก่สิ่งบีบคั้น คือความทุกข์และกิเลสที่อยู่ภายในจิตใจ คือมนุษย์นั้น ที่จะกระทำการต่างๆ มีความพยายามอะไรโดยมากนั้น ต้องมีเครื่องเร่งเร้าขึ้นมา แต่เครื่องเร่งเร้านั้นคือ เครื่องบีบคั้นนั้นเองคือมนุษย์ถูกบีบคั้นก็ดิ้นรนขวนขวายทำการต่างๆ โดยมากไม่สามารถกระทำการต่างๆ เพียงด้วยความรู้ความเข้าใจ ด้วยปัญญารู้เหตุรู้ผลเท่านั้น แต่ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเข้ามาเช่น มีความกลัว หรือมีปัญหาเข้ามาเร่งรัดตน เอง โดยเฉพาะก็คือเรื่องกิเลสภายในจิตใจ กิเลสก็คือความโลภ ความอยากได้ ก็เป็นเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นในใจให้กระทำการต่างๆ หรือเพราะโทสะ ความโกรธ ความชิงชัง ความต้องการทำลาย ความขัดเคือง ความขัดแย้ง อย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นเหตุเร่งเร้าบีบคั้นในใจ ให้กระทำการเพียรพยายามดิ้นรนขวนขวาย และโมหะ แสดงออกมาในรูปของความกลัว ความหวาด ระแวงเป็นต้น ก็เป็นเครื่องบีบคั้น ทำให้ดิ้นรนขวนขวายทำการต่างๆ
อันนี้เป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชนที่เป็นไปโดยมาก แต่ถ้าหากว่าไม่มีกิเลสมาเป็นเครื่องเร่งเร้า ไม่มีเครื่องบีบคั้นมาบีบรัดตนเองแล้ว ปุถุชนก็มักจะตกอยู่ในความนิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ขวนขวายกระทำการต่างๆ การที่อยู่ในความนิ่งเฉย ไม่ประกอบกิจที่ควรทำ ไม่ละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกระทำนี้ คือลักษณะที่ท่านเรียกว่าความประมาท รวมความว่าเพราะอำนาจกิเลส จึงทำให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายทำการต่างๆ แต่ในเมื่อไม่มีกิเลสที่บีบคั้น มนุษย์ก็ตกอยู่ในความประมาท ซึ่งก็คืออยู่ในอำนาจของกิเลสเช่นเดียวกัน แต่กิเลสในที่นี้หมายถึงความติดในความสุข ความเพลิดเพลินที่มีอยู่สบายแล้วก็เลยไม่ดิ้นรนกระทำการที่ควรทำ เพราะฉะนั้นตกลงว่า ถ้าเป็นปุถุชนโดยสมบูรณ์แล้วก็จะอยู่ด้วยกิเลส ทำการขวนขวายต่างๆ ก็ด้วยกิเลส อยู่เฉยก็ด้วยกิเลส ซึ่งมีศัพท์เฉพาะ เรียกว่า ความประมาท นี้เป็นขั้นหนึ่ง
ในทางธรรมะต้องการให้มนุษย์ดิ้นรนขวนขวายด้วยอำนาจคุณธรรม ให้พยายามนำคุณธรรมเข้ามาแทน เข้ามาเป็นเครื่องเร่งเร้ากระตุ้น เช่น เอาความสำนึก เอาศรัทธา ความกรุณาอย่างเช่นการระลึกถึงความตายที่ท่านเรียกว่ามรณานุสติ เป็นต้น มาเป็นเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าใจให้ขวนขวายกระทำการต่างๆ มิใช่กระทำด้วย โลภะ โทสะ โมหะ และแม้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีกิเลสเข้ามาบีบคั้น ก็ให้สามารถขวนขวายกระทำสิ่งที่ดีงาม อันเป็นการกระทำได้ด้วยคุณธรรมของตนเอง คือมีความไม่ประมาทได้เสมอ เพราะฉะนั้นลักษณะที่ต่างกันในการขวนขวายกระทำความเพียรของปุถุชนกับการปฏิบัติตามคำสอนในทางพระศาสนาก็คือ ฝ่ายหนึ่งนั้นดิ้นรนขวนขวายด้วยอำนาจของกิเลส ส่วนในทางธรรม ให้ดิ้นรนขวนขวายเพียรพยายามด้วยอำนาจคุณธรรม นี้เป็นขั้นสอง คืออาศัยการกระตุ้นเตือนเร่งเร้า
สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ก็คือขั้นรู้เท่าทันธรรมดา เรื่องคติเกี่ยวกับการรู้เท่าทันธรรมดานี้ เมื่อนำมาสั่งสอนแก่ปุถุชนก็ก่อปัญหาขึ้นได้อีก คือมนุษย์ปุถุชนนั้น พอจะเห็น พอจะเชื่อ เข้าใจเรื่องความเป็นไปตามธรรมดาได้ พอมองเห็นธรรมดาก็ปรับใจตนเองได้ ใจก็สบาย ที่เคยมีความทุกข์อะไรต่อมิอะไรต่างๆ เช่น ความพลัดพรากจากคนหรือของซึ่งเป็นที่รัก ความประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักปรารถนาแล้วไม่ได้สมหวังต่างๆ ที่เคยทำให้ตนเองมีความทุกข์ เป็นเครื่องบีบคั้นให้ดิ้นรนขวนขวายพยายามนั้น พอได้รับคำสอนทางพระศาสนาให้รู้เท่าทันธรรมดาแล้วก็เลยเชื่อ มองเห็นตามก็เลยปรับใจได้ สบายใจ พอสบายใจก็เรียกว่าทุกข์น้อยลงหรือหมดทุกข์ แต่ปัญหาของปุถุชนก็ตามมาอีก ปุถุชนจะไม่ได้อยู่เพียงนั้น พอปรับใจได้ แล้วสบายใจก็หยุด ไม่ดิ้นรนขวนขวายที่จะกระทำกิจที่ควรทำกลับอยู่นิ่งเฉยเสีย ปัญหาที่แท้จริงก็ไม่ได้แก้ไข ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็มิได้ขวนขวายจะศึกษาให้รู้และเข้าใจ เพื่อจะแก้ไขให้เรียบร้อย ตกลงก็เกิดเป็นโทษได้อีก เพราะฉะนั้น เรื่องของมนุษย์ปุถุชนแล้ว แม้ได้รับคำสอนในทางธรรม ก็เป็นปัญหาเกิดขึ้นได้เหมือนกันถ้าไม่รู้จักคอยฝึกพยายามที่จะดำรงอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ
ในที่นี้ มีข้อที่ควรกล่าวแทรกเข้ามาเป็น ๒ เรื่อง คือเรื่องการปรับและการเฉย
การปรับมี ๒ อย่าง คือ ปรับภายนอก กับ ปรับภายใน
ปรับภายนอก หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดเป็นปัญหาขึ้น วุ่นวายภายนอก แล้วเราจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ให้สงบลงได้ก็เรียกว่า ปรับภายนอก
อีกอย่างหนึ่งคือ ใจของตนเองที่วุ่นวายเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนปรับใจของตนเองได้ด้วยความรู้ความเห็นธรรมดา เรียกว่าการปรับใจหรือการปรับภายใน
มนุษย์ปุถุชนทั่วไปจะมุ่งไปที่การปรับภายนอก อะไรๆ ก็พยายามจะไปแก้ภายนอกให้เข้ากับที่ตนเองต้องการ เสร็จแล้วระหว่างนั้นก็เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนมาก เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามใจตัวเอง ทีนี้ พอได้รับคำสอนทางธรรมก็รู้จักหันเข้ามาปรับภายใน คือปรับใจของตนเองได้ ข้างนอกจะเป็นอย่างไรใจก็พอมีความสุข แต่ว่าถ้าหากไม่รู้จักความพอดีสมดุล ก็เกิดปัญหาได้ทั้งสองอย่าง คือปรับแต่ภายนอกภายในไม่ปรับก็มีความทุกข์มาก ถ้าปรับแต่ภายในใจ พอมีความสุข ส่วนข้างนอกไม่ได้แก้ไขให้เรียบร้อยก็เกิดปัญหาต่อไป เรื่องของปุถุชนก็มักจะวนเวียนอยู่สองประการนี้ นี่คือเรื่องของการปรับ เพราะฉะนั้น จะต้องหาความพอดีในระหว่างการปรับสองอย่าง ถ้ากล่าวโดยทั่วไปก็ต้องปรับทั้งสอง
เรื่องความเฉย ได้กล่าวว่าบุคคลเมื่อปรับใจตนได้ หรือสิ่งต่างๆ เป็นไปโดยเรียบร้อยไม่วุ่นวายก็เฉย ความนิ่งเฉยนี้ในทางพระศาสนากล่าวโดยย่อมีสองอย่าง
อย่างหนึ่งคือ เฉยโดยไม่รู้ เฉยโง่ๆ ท่านเรียกว่าอัญญาณุเบกขา คือเฉยเรื่อยเปื่อย เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว คือไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็นิ่งเฉย หรือว่าเฉยโดยไม่เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นไป ไม่ได้เกิดจากความรู้ความเข้าใจ อันนี้เป็นความเฉยที่เกิดจากโมหะ หาใช่เป็นคุณธรรมไม่ เป็นอุเบกขาชนิดหนึ่ง แต่เป็นอกุศลเรียกว่า อัญญาณุเบกขา
อย่างที่สอง เป็นการเฉยอย่างถูกต้องตามหลักธรรมเป็นโสภณ-เจตสิก คือความเฉยที่เกิดจากความรู้ หมายความว่ารู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ควรจะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ก็เลยเฉยไว้ ไม่ตื่นเต้นโวยวาย รอทำไปตามลำดับจังหวะขั้นตอน อันนี้เป็นความเฉยที่ถูกต้องในทางธรรมะ
ปุถุชนโดยมากมักจะเฉยแบบที่หนึ่ง คือเฉยไม่รู้เรื่อง เฉยด้วยโมหะหรืออัญญาณุเบกขา เฉยด้วยความไม่รู้ก็เกิดโทษ ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจ แยกได้ระหว่างเรื่องการปรับสองอย่าง และการเฉยสองอย่างนี้ ซึ่งทั้งหมดนั้นก็เกี่ยวด้วยความประมาทและความไม่ประมาท กล่าวคือเมื่อปรับภายในได้ แต่ว่าไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป ก็เฉยโดยไม่รู้หรือไม่หาความรู้ ไม่ใช่เฉยที่เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็กลายเป็นความประมาท เรื่องประมาทเช่นนี้ไม่เฉพาะปุถุชนเท่านั้น แม้แต่พระอริยบุคคลท่านก็กล่าวว่ายังประมาทได้ ตราบใดที่ยังเป็นอริยบุคคลเบื้องต้น คือ ไม่บรรลุอรหัตตผล พระโสดาบัน พระสกิทาคามี เหล่านี้ล้วนประมาทได้ทั้งสิ้น มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่ประมาท ท่านใช้คำว่าพระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่สามารถจะประมาท
พระโสดาบันนั้น ท่านแสดงตัวอย่างไว้ว่า เมื่อได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงแล้ว เกิดความพอใจ เคยมีความทุกข์มากมายก็ไม่มีความทุกข์ หรือทุกข์เหลือน้อยเหลือเกินแล้ว มีความสุขสบายเกิดขึ้นมาก ก็มีความพอใจว่าเราได้เพียรพยายามปฏิบัติธรรมมาได้บรรลุผลสำเร็จเพียงนี้ มีคุณธรรมในตนแล้วอย่างนี้ๆ ได้ละกิเลสแล้วอย่างนี้ๆ ได้ประกอบด้วยธรรมวิเศษอย่างนี้ๆ ก็มีความพอใจเป็นเหตุให้หยุดเฉยอยู่สบายๆ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า นี้เป็นผู้ประมาทแล้ว เพราะไม่ขวนขวายเร่งรัดตนเองในการทำความเพียรเพื่อคุณธรรมเบื้องสูงยิ่งขึ้นไป ส่วนพระอรหันต์เป็นผู้ไม่อาจประมาทเพราะอะไร เพราะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาและไม่มีกิเลสที่จะเป็นเหตุให้ประมาท ได้กล่าวแล้วว่าคนที่ประมาทนั้นเพราะยังมีกิเลส คือจะด้วยปรับใจตนเองได้ หรือด้วยเหตุการณ์ทั้งหลายยังไม่บีบคั้นก็ตาม ก็มีกิเลสที่เป็นเหตุให้ติดในความสุข เพลินในความสบาย การที่เพลินติดในความสุขนั่นแหละ เป็นลักษณะของกิเลส คือเกิดจากกิเลส และเป็นตัวที่เรียกว่าความประมาท
ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นอยู่ด้วยปัญญา รู้เท่าทันธรรมดาและกระทำการด้วยความรู้เท่าทันธรรมดานั้น เพราะฉะนั้น ขั้นที่หนึ่ง ในใจของท่านเองก็ปรับได้ มีความสุขในทุกสถานการณ์ ขั้นที่สองในการปฏิบัติดำเนินชีวิตของท่านก็คือปฏิบัติไปด้วยความรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยอะไร อะไรจะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นปัญหาก็ศึกษาหาเหตุปัจจัยและแก้ไขเสีย ก็ทำให้การปรับภายนอกดำเนินไปได้ หรือรู้จนกระทั่งว่า สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปไม่ได้ ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเช่นเดียวกัน นี้ก็เป็นเครื่องวัดความแตกต่างเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ปุถุชนสูงขึ้นมาถึงอริยบุคคลแล้วกระทั่งเป็นพระอรหันต์
ทีนี้ กลับมากล่าวถึงด้านปุถุชนต่อไป สำหรับปุถุชนนั้นเป็นอันว่า ต้องอาศัยสิ่งบีบคั้นเร่งเร้ามาช่วยให้ดิ้นรนขวนขวายกระทำการต่างๆ แต่เพราะเหตุว่าปุถุชนโดยทั่วไปนั้น คอยอาศัยเครื่องเร่งเร้าบีบคั้นที่เป็นอกุศล โดยอาศัยความทุกข์บ้าง โดยอาศัยกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลงบ้าง ในทางพระศาสนาเห็นว่าเป็นโทษ จึงได้แนะนำในทางที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น คือนำเอาคุณธรรมมาเป็นเครื่องเร่งเร้าตนเอง เอาศรัทธามาเป็นเครื่องเร่งเร้าบ้าง เอามรณสติมาเป็นเครื่องเร่งเร้าบ้าง ก็ทำให้มนุษย์อยู่ด้วยความดีงามมากขึ้น กระทำสิ่งที่ดีงาม และกระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อกันมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรจะระลึกไว้ว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใช้วิธีเร่งเร้าบีบคั้นด้วยความทุกข์เป็นต้น แม้ตลอดด้วยคุณธรรมดังที่กล่าวมาเป็นเครื่องมากระตุ้นตนให้ขวนขวายทำการต่างๆ ตราบนั้นโลกมนุษย์ก็ยังไม่มีความปลอดภัย หมายความว่า มนุษย์ยังไม่สามารถเป็นผู้อยู่ด้วยปัญญาบริสุทธิ์อย่างแท้จริง การที่ต้องอาศัยสิ่งเร่งเร้ามาเร่งรัดกระตุ้นตนเองให้กระทำการต่างๆ นั้น ย่อม
(๑) มีโอกาสที่จะเกิดความประมาทอยู่เสมอ หมายความว่าขาดเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าขึ้นมาเมื่อไร ก็จะตกอยู่ในความประมาทอีก
(๒) การประกอบกรรมทำการต่างๆ ของมนุษย์ที่อยู่ด้วยเครื่องกระตุ้นเร่งเร้าเช่นนั้น จะมีความไม่พอดีอยู่เสมอ มากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปบ้าง ไม่พอดีที่จะแก้ปัญหา เพราะทำด้วยแรงแต่ขาดความรู้ หรือทำตามความแรงไม่ทำตามความรู้ เพราะฉะนั้น ก็จะก่อให้เกิดปัญหาแก่ตนเองบ้าง แก่ผู้อื่นบ้าง อยู่เรื่อยไป
ทางพระศาสนาจึงต้องให้มนุษย์ฝึกฝนตนเองให้เจริญงอกงามขึ้นไปในคุณธรรมอยู่เสมอ คือ จะต้องให้พยายามเป็นอยู่ มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นอยู่ด้วยรู้เข้าใจธรรมดา ความรู้เท่าทันธรรมดาแล้วประมาทหรือไม่นี้แหละเป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งว่า บุคคลผู้นั้นได้บรรลุคุณธรรมสูงแค่ไหน กล่าวง่ายๆ ว่า ตราบใดที่แม้จะได้รู้เข้าใจธรรมะ รู้เข้าใจธรรมดาดีแล้ว แต่ยังมีความประมาทอยู่ อันนี้แสดงว่ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง อย่างน้อยก็คือยังไม่ได้บรรลุอรหัตตผล อาจได้เป็นอริยบุคคลก็เป็นในชั้นต้นๆ ย้ำความว่าคนหมดกิเลสแล้ว รู้เท่าทันธรรมดาและทำการด้วยความรู้เท่าทันธรรมดานั้น แต่คนมีกิเลสรู้ตามเห็นตามธรรมดาหรือได้ความรู้เท่าทันธรรมดาแล้ว แต่ทำการด้วยเอาตัวสบายเป็นเกณฑ์ ถ้าตัวสบายแล้ว ก็ไม่ขวนขวายไม่คิดทำ ส่วนคนหมดกิเลสรู้เท่าทันธรรมดา สบายใจแล้ว แต่ถ้าปัญหายังมีก็กระทำ มีอะไรควรทำก็ทำเรื่อยไป
รวมความว่าพระศาสนานั้น สอนมนุษย์ให้ฝึกตนเอง ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเสมอ เจริญจากขั้นต้นให้ผ่านพ้นความเป็นปุถุชนที่มีแต่ความสลดหดหู่ท้อแท้ใจ มาสู่ความเร่งเร้าตนเองให้ขวนขวายทำความดีต่างๆ ด้วยอาศัยคุณธรรมนำมาเป็นอนุสติเครื่องเตือนใจตนเอง และเจริญถึงขั้นสูงสุดก็คือ ให้อยู่ด้วยความรู้เท่าทันธรรมดา และทำการด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดานั้นตามเหตุปัจจัย ซึ่งในวิธีการทั้งหมดนั้น สำหรับมนุษย์ปุถุชน ทางพระศาสนาได้เน้นในประการที่สอง ซึ่งอยู่ในขั้นท่ามกลาง คือ การใช้คุณธรรมมาเป็นเครื่องเร่งเร้า แต่ในกรณีของมรณสตินี้ ทำให้เห็นว่า ท่านใช้ทั้งสองประกอบกันคือ ประการหนึ่งก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณารู้เท่าทันธรรมดาด้วย ที่ว่าให้รู้ว่าความตายเป็นของธรรมดา เป็นของคู่กับความเกิด เกิดแล้วต้องมีดับ เมื่อเข้าใจแล้วก็ทำใจให้สบาย หายจากทุกข์ได้ แต่พร้อมกันนั้นก็ใช้วิธีเร่งเร้าด้วยคุณธรรมด้วยว่า ให้ระลึกไว้ว่าความตายนั้นเป็นของแน่นอน แต่จะมาถึงวันใดไม่แน่นอน
เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ ให้เร่งขวนขวายทำกิจหน้าที่ความดีต่างๆ อันนี้คือหลักที่เราเรียกว่ามรณสติ ซึ่งมรณสติเช่นนี้ ก็มาเข้ากับแนวทางปฏิบัติที่อาตมภาพได้ยกคำสอนในพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นนิกเขปบท คือบทหัวข้อสำหรับอธิบายไว้ ที่ท่านเตือนให้ระลึกถึงความตายของชีวิตและมีความไม่ประมาท ดังพระบาลีว่า
น เหว ติฏฺํ นาสีนํ น สยานํ น ปตฺถคุํ
แปลความว่า “อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลายที่ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ก็หาไม่” หมายความว่ามนุษย์ทั้งหลายนี้อาจจะมีความประมาท ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำอยู่ ปล่อยเวลาผ่านไป แต่ในเวลานั้น ให้เข้าใจเถิดว่าอายุสังขารของเราหาได้ประมาทตามเราไปด้วยไม่ คือ อายุสังขารของเราเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง มีความทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ และมีความเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันเป็นอยู่ตลอดเวลา ก็เปลี่ยนแปลงของมันไปไม่หยุดยั้ง เมื่ออายุสังขารเปลี่ยนแปลงไปตกอยู่ในคติธรรมดาอย่างนี้ตลอดเวลา เราจึงไม่ควรประมาท ไม่ควรนิ่งเฉย ท่านจึงกล่าวต่อไปอีกว่า
ตสฺมา อิธ ชีวิตเสเส
กิจฺจกโร สิยา นโร น จ มชฺเชติ
แปลความว่า เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ คนเราควรกระทำกิจหน้าที่ของตนและไม่พึงประมาท อันนี้คือการที่จะนำเอาความรู้เท่าทันธรรมดานั้น มาใช้ในทางที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์
ทางพระศาสนานั้น กล่าวถึงคติธรรมดาในทำนองเช่นนี้ ไม่เฉพาะความตายเท่านั้น ได้กล่าวแล้วว่า ความตายเป็นของคู่กับความเกิด และพระศาสนานั้นไม่กล่าวถึงความเกิดมากนัก ถ้ากล่าว ก็มักจะกล่าวในทางที่เตือนสติมนุษย์อีกว่า ความเกิดนั้นนำมาหรือนำไปสู่ความตาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความขวนขวายไม่ประมาทเช่นเดียวกัน คือถ้าหากพระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงความเกิดในทำนองเดียวกับที่สนองความต้องการของมนุษย์ ก็จะเป็นเครื่องยั่วยุมนุษย์ให้มีความมัวเมาประมาทยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านไม่พยายามที่จะสนองความต้องการนี้ แต่ท่านกล่าวในทางตรงข้าม เพื่อจะเร่งเร้าให้เป็นไปในกระแสที่ไหลไปสู่คุณธรรม และท่านก็จะให้คติเพิ่มเติมต่อไปอีก อย่างพุทธพจน์ในพระธรรมบทคาถาหนึ่ง ที่กล่าวถึงมนุษย์ที่เกิดมา ก็กล่าวถึงในทำนองที่ว่า ให้ขวนขวายในการบำเพ็ญกุศลกรรมอีก ดังบาลีว่า
ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุเฬ พหู
เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ
แปลความว่า ดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกองนี้ นายช่างที่ฉลาดสามารถนำเอามาร้อยกรองเป็นพวงมาลัยที่สวยงาม มีคุณค่าได้ฉันใด ชีวิตคนเราที่ได้เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ประกอบกุศลกรรมความดีให้มากฉันนั้น
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงความเกิด ก็หมายความว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสในทางที่สนองความต้องการให้เกิดความลิงโลด สนุกสนานดีใจ แต่เตือนใจให้มีความไม่ประมาทเช่นเดียวกัน มองความเกิดก็มองในแง่ไม่ประมาท ใช้ชีวิตนี้ทำกุศลทำความดีให้มากหรือถ้าจะให้มองความตาย ก็มองในแง่ที่จะเร่งเร้าให้ทำความดี ทำประโยชน์เช่นเดียวกัน
วันนี้ คณะท่านเจ้าภาพผู้เป็นญาติมิตรได้มาร่วมการบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ท่านผู้วายชนม์ ด้วยระลึกคุณและมีจิตใจหวังดีปรารถนาประโยชน์ต่อท่าน แต่คุณประโยชน์และพิธีกรรมนั้นก็มิได้จำกัดด้วยคุณค่าเพียงเท่านั้น มีคุณค่าขยายเพิ่มพูนไปแก่ทุกคนที่ได้มาร่วมพิธี ในทางที่เป็นเครื่องเจริญสติ เจริญปัญญาอีกด้วย อันนี้ก็เท่ากับความหมายที่อาตมภาพได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า พุทธศาสนิกชนนั้น เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จะเป็นเหตุการณ์ที่น่าพึงพอใจก็ตาม ไม่น่าพอใจก็ตาม ก็สามารถและพยายามนำเอาโอกาสและเหตุการณ์นั้นมาใช้ในการทำให้เกิดคุณ เกิดประโยชน์ เกิดกุศล มากยิ่งๆ ขึ้นไป
ท่านผู้วายชนม์ได้ล่วงลับไปแล้ว แม้ตามวิสัยของปุถุชน การตายย่อมเป็นธรรมดาที่ไม่น่าปรารถนา เป็นเหตุก่อความทุกข์ ความโศกเศร้าแก่บุคคลผู้เคารพนับถือ ผู้รักใคร่ แต่ในเมื่อเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ได้เป็นไปแล้ว พุทธศาสนิกชนก็นำมาก่อให้เกิดคุณค่า เกิดประโยชน์ด้วยการบำเพ็ญกุศลตามหลักพระศาสนา
ดังปรากฏในที่เฉพาะหน้านี้ ซึ่งคุณประโยชน์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอนุสติและบุญกิริยาต่างๆ หมายความว่า ความตายของผู้ล่วงลับนั้นไม่ได้เป็นความตายที่ผ่านไปเพียงเฉพาะตัวท่าน แต่ยังก่อคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่รู้จักระลึกถึงความตายนั้น ด้วยจิตใจที่ถูก ด้วยท่าทีที่ชอบด้วย คือทำให้เกิดความไม่ประมาทเร่งขวนขวายทำความดีงาม ตลอดจนความรู้เท่าทันธรรมดาที่จะทำให้ระงับหายคลายจากความทุกข์ จากความโศกเศร้านั้น และเกิดคุณค่าด้วยการประกอบบุญกิริยาต่างๆ ที่เป็นเรื่องของทาน ศีล ภาวนา
ที่เป็นเรื่องของทานนั้น ก็ด้วยการให้การบริจาค การทำบุญถวายภัตตาหารพระ เป็นต้น ที่เป็นเรื่องของศีลก็ด้วยความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม ไม่ล่วงละเมิด ไม่ทำความผิดชั่วร้าย อย่างน้อยก็ในระยะเวลาที่ประกอบพิธีนี้ ก็ต้องอยู่ในความประพฤติที่ดีงาม ที่ชอบและเจริญด้วยภาวนา คือการฝึกอบรมจิตใจและปัญญาของตนเอง ทำให้จิตใจมีความสงบ ความเยือกเย็น เป็นจิตภาวนา ฝึกอบรมจิต ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในคติธรรมดา รู้เข้าใจเท่าทันความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันนี้ก็เป็นปัญญาภาวนา หรือการอบรมปัญญา แม้จะเป็นส่วนเบื้องต้น ก็เป็นคุณค่าที่เป็นประโยชน์ อยู่ในแนวทางของพระศาสนา เพราะฉะนั้น อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาต่อคณะท่านเจ้าภาพและสาธุชนทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญกุศลในวันนี้โดยทั่วกัน.
ณ โอกาสนี้ อาตมภาพจะแสดงพระธรรมเทศนาในปุญญกถา เพื่ออนุโมทนากุศลบุญราศีในการที่คณะท่านเจ้าภาพได้บำเพ็ญกุศลทักขิณานุปทาน เพื่ออุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว วันนี้จะได้มีพิธีฌาปนกิจ
คณะท่านเจ้าภาพ อันมีครอบครัวและญาติมิตรที่เคารพนับถือ ได้มาร่วมกันจัดงานทำบุญโดยตลอดมาแต่เบื้องต้น ท่านที่เคารพนับถือทั้งหลายนั้นได้มาร่วมพิธีกัน เป็นการให้กำลังกายบ้าง กำลังใจบ้าง หรือทั้งกำลังกายทั้งกำลังใจบ้าง ทำให้งานบำเพ็ญกุศลทักขิณานุปทานนี้ดำเนินมาด้วยดี
การบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ มองในรูปที่ปรากฏทั่วไป ย่อมเห็นกันว่าเป็นการปฏิบัติตามประเพณีของชาวไทยผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือถือเป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว อันนี้นับเป็นส่วนของประเพณี
แต่ถ้ามองลึกลงไป ประเพณีนี้ยังมีสิ่งที่เป็นรากฐานอันมีความหมายลึกซึ้งในทางนามธรรม กล่าวคือเป็นพิธีเป็นประเพณีที่อิงอยู่กับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นการดำเนินตามหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายไว้ ให้ทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ชาวพุทธเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้น จะปรารภเหตุการณ์นั้น แล้วทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นความดีงาม
ในเรื่องของความตายนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต แต่ลำพังเรื่องการตายอย่างเดียวนั้น ก็เป็นเรื่องของท่านผู้เกิดมาแล้วก็จากไปตามคติธรรมดา และเมื่อจากไปก็เป็นการล่วงลับไม่หวนกลับมาอีก ไม่ว่าเราจะเรียกร้องอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ทำอย่างไรๆ ก็ไม่มีผล แต่พุทธศาสนิกชนนั้น ปรารภความตายอย่างนี้แล้วก็ทำสิ่งที่ดีงามเป็นบุญเป็นกุศล ซึ่งได้ผลเป็นประโยชน์เกิดขึ้น กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง ก็ได้อุทิศกุศลนั้นแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย
ประการที่สอง ผู้ที่เป็นพี่น้องและมิตรสหายเป็นต้น ก็จะได้บำเพ็ญคุณธรรมกล่าวคือกตัญญูกตเวทิตาธรรม แสดงความรำลึกถึง และตอบแทนพระคุณของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นญาติและมิตรสหายของตน
นอกจากนี้ ในส่วนตัวของผู้ที่ทำบุญนั้นเอง ก็เป็นการสร้างความเจริญงอกงามในทางบุญทางกุศล สะสมบุญคือความดีไว้ในชีวิตของตนให้มากขึ้นด้วย
ว่าที่จริงแล้ว การปรารภเหตุการณ์คือความตายแล้วกระทำบุญนั้น มีทางทำได้หลายประการด้วยกัน ในทางพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวถึงบุญไว้ต่างๆ มากมายเหลือเกิน แต่เมื่อสรุปแล้วก็มีสามอย่าง คือ
หนึ่ง ทาน การให้ การบริจาค
สอง ศีล ความประพฤติดี ประพฤติชอบทางกาย วาจา
สาม ภาวนา การฝึกอบรมจิตใจ ความฝึกอบรมเจริญปัญญา
รวมเป็นสามประการ ในการบำเพ็ญกุศล เพื่อรำลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น สามารถที่จะทำบุญให้เกิดขึ้นได้ทั้งสามหมวด สามประเภทเหล่านี้
ในประการที่หนึ่ง คือส่วนที่เป็น ‘ทาน’ นั้น เป็นส่วนเบื้องต้น ที่เห็นได้ง่าย ปรากฏรายรอบทางวัตถุ คือ เมื่อปรารภถึงท่านผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เจ้าภาพก็พากันทำบุญทำกุศล นิมนต์พระสงฆ์มาถวายภัตตาหาร ถวายเครื่องไทยธรรมต่างๆ อันนี้ก็เป็นส่วนเบื้องต้น เป็นพิธีกรรมส่วนสามัญที่กระทำกัน ซึ่งเป็นการอุทิศกุศลแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการเกื้อกูลต่อพระศาสนา ให้กำลังแก่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ แต่ทานนั้นมิใช่หยุดเพียงเท่านี้ ท่านผู้มีความดำริชอบประกอบด้วยปัญญา พิจารณาเห็นเรื่องของชีวิต มาปรารภถึงความตายว่า คติธรรมดาของชีวิตคนก็คือ การเกิด แก่ เจ็บ และก็ตาย อย่างที่กล่าวกันว่าคนทั้งหลายนั้น “มาก็มาแต่ตัว ไปก็ไปได้แต่ตัว”
สิ่งทั้งหลายที่เราเรียกว่าเป็นสมบัติพัสถานซึ่งได้รวบรวมสั่งสมเอาไว้นั้น จะมีมากมายเท่าใด ก็ไม่สามารถติดตามไปได้
เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วก็เป็นเหตุให้สามารถบรรเทาโลภะ คือ ความโลภ ความยึดติด ความอยากได้ในสิ่งทั้งหลายให้น้อยลง
เมื่อบรรเทาความโลภให้น้อยลงพร้อมทั้งมัจฉริยะ คือความตระหนี่ ที่เป็นตัวเนื่องอยู่กับความโลภในทรัพย์สมบัติแล้ว ก็จะทำให้สามารถบำเพ็ญทาน คือ การให้ การบริจาค เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์บ้าง บูชาคุณความดีของบุคคลที่มีคุณความดีบ้าง ทำทรัพย์สมบัตินั้นให้เป็นประโยชน์ จะนำมาใช้สอยเลี้ยงดูบุคคลในความรับผิดชอบก็ได้ บำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ก็ได้ ทรัพย์นั้นก็มีประโยชน์มากขึ้น
ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนของทาน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากการปรารภ ถึงคติชีวิตในส่วนที่เป็นความตาย
ในประการที่สองคือ ‘ศีล’ เราอาจจะปรารภถึงความตายดังที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่า คนเรานั้นเกิดมาก็มาแต่ตัว ไปก็ไปแต่ตัว นอกจากนั้น ก็ยังไม่ละทิ้งอะไรไว้ด้วย จะว่าละทิ้งก็ละทิ้งเพียงร่างกาย ซึ่งร่างกายนั้นก็ไม่คงอยู่ถาวร เพียงไม่กี่วันร่างกายนั้นก็เน่าเปื่อยผุพังไป กลายเป็นอย่างที่เรียกกันว่า ‘ธาตุสี่’ แยกเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ กระจัดกระจายไป กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรเหลือหรออยู่เป็นรูปร่าง เป็นบุคคล อันนี้เป็นสภาพภายนอก เป็นเรื่องทางวัตถุ ทางรูปกาย ไปแต่ตัว มาแต่ตัว แล้วก็ไม่เหลือทิ้งอะไรไว้ แต่ถ้ามองลึกซึ้งลงไปอีก ก็จะเห็นว่าความจริงนั้น ยังมีอะไรที่ทิ้งไว้และก็ยังมีอะไรที่ตามไปอีก
จะมองเห็นได้ตามคำสอนของพระศาสนาว่า มาแต่ตัวไปแต่ตัวนั้น ก็ยังมีสิ่งที่ตามไปได้อย่างหนึ่งและเมื่อมามันก็มาด้วย สิ่งนั้นก็คือ ‘กรรมดีและกรรมชั่ว’ นั่นเอง เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับเรา และเสร็จแล้วมันก็ตามตัวเราไปด้วย ถ้าเป็น ‘กรรมดี’ ก็เป็นบุญเป็นกุศล หรือเป็น ‘บุญกรรม’ ซึ่งจะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายสืบต่อไป
ดังพุทธพจน์ที่ว่า
แปลว่า บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก อันนี้เป็นส่วนที่ติดตามไป
ในฝ่ายละทิ้งก็เช่นเดียวกัน คนที่ละโลกนี้ไปแล้วนั้น ยังละทิ้งสิ่งหนึ่งไว้เบื้องหลัง ก็คือความดีความชั่วที่ได้ทำไว้ สิ่งใดที่ได้ทำไว้แล้วก็ยังจารึกอยู่ บางอย่างก็ออกผลเป็นวัตถุ
เช่นว่า ท่านผู้มีใจบุญใจกุศล ได้สร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ไว้ สิ่งนั้นก็เป็นหลักฐานแสดงความดียั่งยืนอยู่หรือที่เป็นนามธรรม ได้ทำความดีเกื้อกูลอุปการะไว้กับผู้อื่น เริ่มต้นตั้งแต่บุตรหลานเป็นต้นไป ความดีนั้นก็ฝังอยู่จารึกอยู่ในดวงจิตดวงใจของบุตรหลานและท่านที่ได้รับคุณประโยชน์ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทิ้งไว้
รวมความว่า สิ่งที่ติดตามไปก็ดี สิ่งที่ละทิ้งไว้ก็ดี ก็ได้แก่ความดีความชั่ว ผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นหลักดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงคิดว่าควรจะดำรงชีวิตของตนให้อยู่ในแนวทางที่ดีงาม เพื่อว่าเมื่อถึงเวลาจากโลกนี้ไป ก็จะได้มีกรรมดีติดตัวไปและเหลือละทิ้งไว้ซึ่งความดีนั้น อันเป็นประโยชน์แก่คนเบื้องหลังให้คนที่อยู่เบื้องหลังได้จดจำรำลึกถึงในทางที่ดีงาม ยกย่องนับถือเป็นบุคคลที่น่าเคารพบูชากันสืบต่อไป
การที่จะกระทำกรรมดีอย่างนี้ก็คือการดำเนินชีวิตให้อยู่ในคลองธรรม ได้แก่เป็นผู้มีศีล ดำรงอยู่ในศีลทั้งหลาย ตั้งต้นแต่ศีลห้า คือ
งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสังหารชีวิตผู้อื่น ที่เรียกว่า ‘ปาณาติบาต’
งดเว้นจากการล่วงละเมิดในทรัพย์สินผู้อื่น จากการลักขโมยแย่งชิง ที่เรียกว่า ‘อทินนาทาน’
งดเว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ ที่เรียกว่า ‘กาเมสุมิจฉาจาร
งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา คือการกล่าวเท็จ ทำลายประโยชน์ของเขา ที่เรียกว่า ‘มุสาวาท’
และงดเว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมาที่เป็นเหตุให้หลงลืมเสียสติ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ที่เรียกว่า ‘สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานะ’
ดังนี้ เป็นหลักสำคัญในฝ่ายหลีกพ้นความเสื่อม นอกจากนี้ ก็ดำเนินชีวิตในทางเกื้อกูลในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ทำให้สังคมนี้ มีความสงบสุข อย่างนี้ก็เป็นคติอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถปรารภเรื่องความตายแล้ว จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนและของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นด้านที่เรียกว่าศีล คือความประพฤติดีงาม หรือความประพฤติชอบทางกาย ทางวาจา และขั้นต่อไปในการปรารภถึงความตายนั้น ก็จะสามารถทำบุญขั้นสูงขึ้นไปอีกเรียกว่า ‘ภาวนา’
ภาวนา ก็คือการฝึกอบรมจิตใจ และฝึกอบรมปัญญา คือ ทำจิตใจของเรานี้ให้มีความสงบ ปราศจากกิเลสเครื่องมัวหมอง ให้มีความสุข ให้ผ่องใส ตลอดจนกระทั่งให้เจริญด้วยคุณธรรม ความดีงามต่างๆ และเจริญด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย
ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับเรื่องของความตายอันเป็นส่วนภาวนานั้น ก็คือหลักที่เรียกว่า ‘มรณสติ’ แปลว่า สติระลึกถึงความตาย
การระลึกถึงความตายนั้น เป็นวิธีฝึกอบรมจิตใจอย่างหนึ่ง แต่จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ที่ว่าระลึกถึงความตายแล้วจะทำจิตใจของตนให้เจริญงอกงามนั้น จะต้องระลึกโดยถูกต้องด้วย บางคนระลึกถึงความตายแล้วก็ไม่สบายใจ มีความหวาดกลัว จิตใจฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย อย่างนี้เรียกว่าระลึกไม่ถูกหลัก ระลึกแล้วก็เกิดโทษ
การระลึกให้ถูกต้องนั้น ก็คือการระลึกอย่างรู้เข้าใจคติธรรมดา พิจารณาให้เห็นว่า ชีวิตของคนเราทั้งหลายนั้น เกิดมาแล้วดำรงอยู่ ในที่สุดก็ต้องจากไปด้วยความตาย มองเห็นอยู่โดยมีประจักษ์หลักฐานมากมาย อันนี้เป็นธรรมดาของชีวิต เมื่อเป็นธรรมดาของชีวิตแล้วเราก็จะต้องย
นอกจากนั้น ตามคติพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า คนเรานี้ที่เกิดมาได้มาพบปะกันบ้าง ต้องมาพบปะกันบ้างนั้น ต่างคนต่างก็จะต้องแยกย้ายกันไปในที่สุด เรามีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันถึงจะนานหลายปีหลายสิบปี แต่ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว เวลานั้นก็ไม่ยาวนานนัก แต่ในเวลาที่ไม่ยาวนานนี้เอง คนเราเพราะอาศัยอำนาจกิเลส ก็เบียดเบียนแก่งแย่งแข่งขันแย่งชิงกันต่างๆ นานา
ถ้าเรารู้คติธรรมดาของชีวิตอย่างที่กล่าวมาแล้ว ว่าเราอยู่กันไปไม่ช้าไม่นานก็ต้องแยกย้ายกันไปทั้งหมดนี้ เราก็ควรจะอยู่ด้วยความเมตตาปรานี เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน
ท่านว่าในเวลาที่ผู้ใดผู้หนึ่งถึงแก่กรรมจากไป เราควรจะรู้เท่าทันว่าอันนั้นเป็นธรรมดา เมื่อถึงเวลาของท่าน ท่านก็ต้องจากไป และก็ทำใจได้ ไม่มัวเศร้าโศกอยู่ถึงท่านผู้ล่วงลับ แต่ควรหันกลับมาพิจารณานึกถึงคนที่อยู่ร่วมกันนี่แหละ ว่าอย่ามัวไปเศร้าโศกถึงท่านผู้ล่วงลับไปเลย เรามาอยู่ร่วมกันในหมู่ผู้ที่ยังเหลืออยู่นี่แหละ ด้วยความเมตตาปรานีให้มีความสุขเถิด แล้วเมื่อถึงเวลาจากไปจะได้ไม่ต้องเศร้าโศกละห้อยหา จะได้สบายใจว่า เมื่อยามอยู่เราก็อยู่กันด้วยดีแล้ว ไม่ใช่รอแต่ว่าถึงเวลาจากไปก็เศร้าโศกกันที ตอนที่อยู่กลับละเลย ไม่ได้คำนึงพิจารณา
เพราะฉะนั้น ตอนที่อยู่นี่แหละเป็นตอนสำคัญ ท่านจึงว่าอย่ามัวเศร้าโศกถึงผู้ที่จากไปแล้ว ให้มีความเมตตาปรานีเกื้อกูลกันในหมู่ผู้ที่ยังอยู่นี้ นี้ก็เป็นคติอันหนึ่งที่เกิดขึ้นได้จากการพิจารณาหลักที่เรียกว่า ‘มรณสติ’ ดังที่ได้กล่าวมา อันนี้เป็นประโยชน์ในส่วนที่เรียกว่า ‘จิตตภาวนา’ คือ การฝึกอบรมจิตของตน ผู้ที่พิจารณาถึงความตายด้วยความรู้เท่าทันและนำจิตไปได้ถูกทางอย่างนี้ ก็จะทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่านกระวนกระวาย ไม่มีความหวาดกลัว นอกจากนั้น จิตยังจะเจริญก้าวหน้างอกงามในทางคุณธรรมความดี เช่น มีกุศลเจตนาตั้งใจว่า ต่อไปนี้เราจะประพฤติดีงาม จะไม่ประมาท จะมีเมตตาไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์เป็นต้น เป็นคุณเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น
นอกจากนี้แล้ว ถ้าหากว่ามีปัญญา รู้เท่าทันความจริงสูงยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งเห็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความไม่เที่ยงแท้ ความดำรงคงทนอยู่ไม่ได้ และความมิใช่เป็นตัวตน ถ้าเข้าใจถึงขั้นนี้แล้วก็เป็นหลักที่เรียกว่า ‘ไตรลักษณ์’ อาจจะทำให้จิตใจของผู้นั้น มีความหลุดพ้นเป็นอิสระ ปลอดโปร่งผ่องใสได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นจิตที่รู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ถ้ารู้ถึงขั้นนี้แล้ว และรู้ทะลุปรุโปร่งเข้าใจแจ้งในชีวิต ก็จะถึงกับบรรลุความสิ้นอาสวะ เป็นพระอรหันต์ก็ได้
เพราะฉะนั้นการพิจารณาปรารภความตายนั้น จึงสามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้ทุกขั้นตอน ดังที่อาตมภาพกล่าวมา ตั้งต้นแต่การบำเพ็ญทาน อันเป็นเรื่องทางด้านกาย ทางด้านวัตถุ ที่ปรากฏภายนอก ตลอดจนกระทั่งให้เจริญงอกงามในทางจิตปัญญา จนกระทั่งบรรลุอรหัตตผลก็ได้ บรรลุพระนิพพานก็ได้ โดยนัยดังที่อาตมภาพได้แสดงพระธรรมเทศนามา
ณ บัดนี้ คณะท่านเจ้าภาพได้ปรารภมรณกรรมของท่านผู้ล่วงลับ และมีจิตใจประกอบด้วยคุณธรรมต่างๆ ตามฐานะหน้าที่ของตน มีความกตัญญูกตเวทีบ้าง มีญาติธรรมบ้าง สังคหธรรมบ้าง ได้มาร่วมบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลด้วยกัน เมื่อท่านผู้ล่วงลับได้รู้ได้เข้าใจหยั่งเห็นถึงบุญกุศลความดีงามต่างๆ ที่คณะเจ้าภาพได้บำเพ็ญในโอกาสนี้ ท่านก็ย่อมมีจิตยินดีอนุโมทนา
การอนุโมทนาของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุญนั้นสำเร็จผล เมื่อเข้าใจหลักเช่นนี้แล้ว ท่านผู้ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญกุศลนั้น ก็จะต้องทำจิตใจของตนเองให้เป็นบุญเป็นกุศลด้วยเช่นกัน เพราะว่าด้วยจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศลนี่แหละ จะเป็นเครื่องช่วยทำให้ท่านผู้จากไป มีความอนุโมทนาได้ ยิ่งเรามีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลมากเท่าไร ทางฝ่ายผู้ล่วงลับไปก็ยิ่งสามารถปลาบปลื้มอนุโมทนาได้มากขึ้นเพียงนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้ปรารภถึงมรณกรรม คือความตายแล้วบำเพ็ญบุญตามที่อาตมภาพได้กล่าวมา เป็นส่วนทานบ้าง เป็นส่วนศีลความประพฤติดีงามบ้าง เป็นส่วนภาวนาทำจิตใจของตนเองให้สงบ ผ่องใสบ้าง ทั้งหมดนี่แหละยิ่งเป็นบุญเป็นกุศลมากเท่าไรก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ตายผู้ล่วงลับ และแก่ตนเองมากขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ในโอกาสนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ท่านเจ้าภาพตลอดถึงญาติมิตรผู้ที่มีความหวังดีทั้งหลาย จะพึงสำรวมจิตใจให้สงบผ่องใส และรำลึกถึงว่า กิจที่ตนควรจะทำเพื่อท่านผู้ล่วงลับจากไป อันเป็นหน้าที่นั้น ตนได้กระทำแล้ว การรำลึกว่าสิ่งที่ตนควรทำได้ทำแล้ว ก็เป็นเหตุประการหนึ่งที่จะทำให้จิตใจของเราสงบผ่องใส หายความโศกเศร้าไปได้ และในส่วนที่เกี่ยวกับตนเอง เราก็ได้ทำจิตใจของเราให้เป็นจิตใจที่ดีงาม ระลึกถึงแต่สิ่งที่เป็นคุณธรรม ตั้งใจในการที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้นสืบต่อไป
ด้วยบุญด้วยกุศลเหล่านี้ รำลึกด้วยจิตใจที่เป็นหนึ่งเป็นอันเดียวกัน ทุกคนที่มานี้มีจิตใจรวมกันเป็นเอกฉันท์ในการที่จะอุทิศกุศล แด่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อรำลึกเช่นนี้แล้วก็ตั้งใจแผ่จิตอุทิศกุศลให้แก่ท่าน ก็จะสำเร็จเป็นปัตติทานมัยบุญกิริยา และในส่วนของท่านผู้ล่วงลับก็เป็นปัตตานุโมทนามัยสืบต่อไป
ในวาระนี้ อาตมภาพได้แสดงพระธรรมเทศนาใน ปุญญกถา แสดงเรื่อง ‘บุญ’ โดยปรารภเรื่อง ‘คติธรรมดาแห่งชีวิตคือความตาย’ อันจะทำให้เกิดประโยชน์เป็นบุญ ความเจริญงอกงามในความดี ก็พอสมควรแก่เวลา ต่อแต่นี้ไปขอเชิญคณะท่านเจ้าภาพ จงได้ตั้งใจกรวดน้ำอุทิศกุศลส่งไปให้แก่ผู้ตาย ดังพระบาลีอนุโมทนาที่อาตมภาพจะได้กล่าวต่อไป
แสดงพระธรรมเทศนาพอสมควรแก่เวลา ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มี ด้วยประการฉะนี้.
จัดพิธีศพอย่างไร จึงจะได้บุญกุศลทั้งเจ้าภาพและแขก ?
ปัจจุบันนี้ ความคลาดเคลื่อนและเลือนรางต่างๆ ได้เกิดขึ้นในความเข้าใจและการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก ตัวอย่างง่ายๆ คำศัพท์ทางธรรมหลายคำได้กลายความหมายไป ความหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ตรงกับความหมายเดิม เช่น
ทรมาน แต่เดิมหมายถึง ทำให้หายพยศ ทำให้กลับใจจากความชั่วร้าย หันมาในทางดี หรือเปลี่ยนจากเข้าใจผิดมาเป็นเข้าใจถูก เช่นว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรมานชฎิลสามพี่น้อง เสด็จไปทรมานโจรองคุลิมาล เสด็จไปทรมานพรหมมิจฉาทิฏฐิ เป็นต้น แต่ปัจจุบันนี้ เราเข้าใจเป็นว่า ทรมาน หมายถึงทำให้ลำบากหรือได้รับความเจ็บปวดอย่างมากมายรุนแรง
มานะ เดิมหมายถึงความถือตัว ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนึ่งอันจะต้องละ ปัจจุบันเรามักเข้าใจว่าเป็นความเพียรพยายาม และสอนกันให้มีมานะ นี้เป็นตัวอย่างความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความเข้าใจในถ้อยคำ ซึ่งมีหลักฐานในคัมภีร์ให้สืบหาความหมายเดิมแท้ได้ แต่ประเพณีการปฏิบัติต่างๆ หลายอย่าง ไม่มีบันทึกเอกสารไว้ ได้แต่ทำตามๆ กันมาเมื่อคลาดเคลื่อนเลือนรางไป ก็ไม่มีหลักฐานตรวจสอบ ทำให้ชำระสะสางได้ยากว่า เดิมนั้นท่านทำอย่างไร และมีความมุ่งหมายอย่างไรกันแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่จะทำได้ก็คือ เอาหลักใหญ่มาตั้งเป็นเกณฑ์ตรวจสอบ ให้การกระทำแต่ละอย่างเป็นการกระทำที่ทำแล้ว กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม ไม่ใช่สักว่าทำ หรือทำแล้วได้ผลตรงกันข้าม กลายเป็นอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม
ต่อไปนี้ จึงค่อยมาพิจารณาคำถามที่ตั้งขึ้นนั้นต่อไป
พิธีอาบน้ำศพ บางท่านก็ว่า “ขออโหสิกรรม” หรือ “ไปสู่สุคติเถิด” หรือ “มามือเปล่า ไปมือเปล่า” หรือ “ตายแล้วเป็นสุข” ?
พิธีอาบน้ำศพ จะกล่าวคำว่าอย่างไร ขอให้นึกถึงเมื่อครั้งพระพุทธ-เจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คราวนั้นพระอนุรุทธเถระก็อยู่ที่นั่น พระอานน-ทเถระก็อยู่ พระอินทร์ก็อยู่ แต่ละท่านได้กล่าวคำแสดงธรรมสังเวชท่านละคาถา ก็ว่าไม่เหมือนกันเลย เช่นว่า อนิจฺจา วตสงฺขารา ฯลฯ นี้เป็นคติให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องว่าคำอะไรเป็นอย่างเดียวกัน แต่ให้กล่าวคำอะไรก็ตาม ที่เป็นเครื่องเจริญกุศล เป็นความตั้งใจดีของผู้ตาย หรือเป็นคำสอนใจตนเองก็ได้ เพียงแต่อย่าให้เกิดจิตเป็นอกุศล เช่น โทสะ หรือ โมหะ เป็นต้น หรือสักว่าทำเปล่าๆ เลื่อนๆ ลอยๆ คำที่ให้ตัวอย่างมานั่นส่วนมากก็ช่วยในการทำใจได้แทบทั้งนั้น
การสมาทานศีล ขณะรับศีลก็ตบยุงกันเปาะแปะ คุยกันบ้าง เสร็จแล้วก็ดื่มเหล้า เมายา เล่นการพนัน บางคนรับศีลแค่สี่ข้อเว้นศีลข้อที่ห้า ?
การสมาทานศีลมักจะมีพิธี พิธีนั้นเดิมเป็นการตระเตรียม เป็นวิธีการเพื่อช่วยให้การกระทำนั้น เรียบร้อยหนักแน่นจริงจัง เช่น จะสมาทานศีลเอง คือตั้งใจว่า กำหนดใจเอากับตัวเองว่ารักษาศีลก็ได้ แต่มีพิธีก็เพื่อให้เป็นการสำทับกับตัวเองให้หนักแน่นจริงจัง แต่เดี๋ยวนี้ คำว่า ‘พิธี’ กลายความหมายไปในทางตรงข้าม คือ กลายเป็นเรื่องไม่จริงไม่จัง อย่างที่พูดกันว่า ทำพอเป็นพิธี การสมาทานศีล เดี๋ยวนี้ก็มักทำกันอย่างพอเป็นพิธี ซึ่งก็คือ ไม่ได้สมาทานเลยนั่นเอง ตามตัวอย่างที่ท่านเล่ามานั้น ก็คงมีแต่พิธี แต่ไม่ได้มีการสมาทานศีลนั่นเอง เพราะสมาทานศีล ก็คือ เปล่งวาจา (หรือตั้งใจจริงจัง) ให้คำมั่นว่า จะรับเอาข้อปฏิบัตินั้นๆ ไปประพฤติบำเพ็ญ เมื่อไม่ตั้งใจรับก็ไม่มีการสมาทานศีลอย่างที่เล่ามา อาจจะเรียกว่าเป็นซากของการสมาทานศีล เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ก็ลองไปพิจารณาปรับปรุง ชักชวนกันทำให้พิธีกลับกลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมาอีก ก็จะเป็นบุญเป็นกุศล และเป็นคุณแก่พระศาสนาเป็นอันมาก
การสวดพระอภิธรรม สวดกัน ๓-๔ จบ สวดภาษาบาลี ?
การสวดพระอภิธรรม ๓-๔ จบเป็นภาษาบาลีนั้น เกิดขึ้นอย่างไร ก็ยากจะสันนิษฐาน อาจเป็นได้ว่า เวลานั้นคนรู้ธรรมกันมากมายลึกซึ้งและรู้บาลีกันมากด้วย เมื่อมีงานศพจะต้องมานั่งชุมนุมกันนานๆ จะแสดงธรรมอะไรในหมู่ผู้รู้ก็จะจืด เลยเอาอภิธรรมมาสวดเป็นหัวข้อนำ เป็นการซักซ้อมทบทวนด้วยและอาจใช้เป็นบทตั้ง เมื่อพระสวดจบแล้วก็มาอภิปรายสนทนากันในหัวข้อนั้นๆ ต่ออีกก็ได้ แต่สมัยนี้คนไม่ค่อยรู้ธรรมและไม่รู้บาลีแล้ว พระก็ยังสวดไปตามเดิม ผลก็เลยกลายเป็นว่าไม่รู้เรื่อง พระที่สวดก็อาจจะไม่รู้เรื่อง คนฟังก็ไม่รู้เรื่อง ก็เลยทำกันพอเป็นพิธี บางวัดท่านรู้เท่าทัน หวังจะให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ไปร่วมงาน ท่านก็ปรับปรุงเสียใหม่ โดยลดการสวดลง อาจจะเหลือสวดจบเดียว (ยังรักษาพิธีไว้บ้าง) แล้วก็ให้พระมาเทศน์ให้ฟังหรือเทศน์ก่อน แล้วสวดสักจบเดียว อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ระวังให้ดี การเทศน์ก็จะกลายเป็นทำพอเป็นพิธีไปเสียอีก ถ้าที่ใดพระผู้นำดีเก่ง หรือมรรคนายกมีปัญญาสามารถก็ปรับปรุงให้มีสาระขึ้นได้ แต่ก็ได้เป็นเพียงน้อยแห่งและชั่วระยะเวลา เรื่องนี้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่ไปงานศพพอเป็นมารยาท ไม่ได้สนใจธรรมหรือจะหาคติจากพิธีศพ ฝ่ายพระก็คิดเพียงจัดพิธีให้เสร็จๆ ไป นี่ก็เป็นซากการสวดพระอภิธรรมอีกเหมือนกัน
การฟังพระอภิธรรม ก็นั่งฟังพอเป็นพิธี ส่วนมากฟังกันไม่รู้เรื่อง คุยกันเสียแหละมาก ?
ข้อนี้ตอบแล้วในข้อ ๓ ถ้าไม่ต้องการให้เป็นซาก หรือให้เหลือแต่ซาก ก็เร่งกระตือรือร้นแก้ไขปรับปรุงกันเสีย เมื่อปรับปรุงได้ผลดีสักสองสามแห่งแล้ว ก็อาจจะนิยมทำตามกันกว้างขวางออกไป
การแสดงธรรมนิยมมีเทศน์แจงปฐมสังคายนาทุกงาน พระท่านก็สรรเสริญเจ้าภาพ ยกยอคนตายว่าสละทรัพย์บำรุงศาสนาที่ไหนบ้าง ฯลฯ และก็มักบอกอานิสงส์ว่าเทศน์แจงนี้ได้บุญมากมาย เพราะมีตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นการสืบต่อพระศาสนา ?
การแสดงธรรมโดยเฉพาะเทศน์แจงเป็นเทศน์ใหญ่ แต่เดิมอาจจะเป็นโอกาสให้ได้แยกแยะแจกแจงเนื้อหาธรรมออกไปได้กว้างขวาง เพราะเทศน์แจงคือเทศน์เรื่องสังคายนา ย่อมเกี่ยวกับธรรมวินัยทั้งหมดทั้งสิ้น คราวหนึ่งๆ จะจับเอาจุดไหนมาแยกแยะก็ได้ และอาจจะเป็นโอกาสที่จะชำระสะสางความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัติ ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน แก้ไขกันให้ถูกต้อง สมชื่อว่าสังคายนา แต่ปัจจุบันก็เหมือนกับข้อก่อนๆ คือ ทำกันพอเป็นพิธี ก็เลยมีแต่ซากการเทศน์แจงอีกนั่นแหละ เมื่อเหลือแต่ซากก็เลยต้องมาเอาดีกันตรงสรรเสริญผู้ตาย แต่ถ้าเนื้อหาธรรมที่แสดงหนักแน่นดี การพูดถึงผู้ตายและเจ้าภาพก็เป็นเรื่องประกอบไปได้ ไม่เสียหาย โดยนัยนี้ จะจัดหรือไม่จัดก็พึงพิจารณาดูสาระเถิด
การฟังธรรม คนมักเบื่อการฟังเทศน์ ก็ฟังกันพอเป็นพิธีมีไม่กี่คน จะมากเอาตอนทอดผ้าบังสุกุล เจ้าภาพก็ต้อนรับแขกเตรียมจัดชื่อคนที่จะเชิญไปทอดผ้า ถ้ามี ส.ส. ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ตำรวจระดับ สวญ. มาด้วย เจ้าภาพก็มีหน้ามีตา ?
การฟังธรรมก็เข้ากับคำตอบที่ชี้แจงมาแล้วในข้อก่อนๆ เมื่อตัวสาระหมดไป หดหายไป เราก็มาเอาดีกันตรงเกียรติยศชื่อเสียง เรื่องอย่างที่เล่ามาว่าเชิญผู้มีเกียรติมากมายขึ้นทอดผ้านั้น นิยมทำกันมากในชนบทไม่นานนี้เอง ในกรุงไม่ค่อยทำเพราะคนมีเวลาน้อย แต่ในแง่สาระก็ไม่ค่อยได้ด้วยกัน ทั้งในกรุงและนอกกรุง เป็นแต่ว่าในชนบทมีเวลาที่จะให้แก่เรื่องไม่เป็นสาระมากกว่า ก็เลยมีพิธียาวกว่า
ทางแก้นั้นคือ เมื่อดึงความสำคัญในส่วนที่เป็นสาระกลับมาได้ ทำสิ่งที่ควรมีสาระให้กลับมีสาระขึ้นมาได้ เรื่องปลีกย่อยเหล่านี้ก็ค่อยๆ ลดลงไปเอง แต่เรื่องนี้ เหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้แก้ไขยาก คือค่านิยมของสังคมไทยที่พอกพูนขึ้นมาว่า ต้องการเกียรติ หมดเท่าไรไม่ว่า ขอให้ได้ชื่อเสียง
มาติกา นิยมนิมนต์พระมากกว่าอายุคนตาย เพราะถือว่าลูกหลานจะได้อายุยืน ถ้านิมนต์เจ้าคุณ พระครู มาได้มากๆ ก็ถือว่ามีเกียรติ ?
มาติกา เรื่องนี้ก็เหมือนกับข้อก่อนๆ นั่นเอง คือ เหลือแต่ซากมาติกา เมื่อเหลือแต่ซากแล้ว สิ่งที่ไม่เป็นสาระต่างๆ การถือหยุมๆ หยิมๆ ต่างๆ ก็ตามกันขึ้นมาเองเป็นธรรมดา เพราะเมื่อหาสาระจากตัวหลักไม่ได้แล้ว ก็เอาโชคลางเกียรติชื่อเสียงใส่เข้าพอให้รู้สึกว่าได้อะไรบ้าง พออุ่นๆ ภูมิๆ
(มาติกา คือ หัวข้อสิกขาบท แต่ละหมวด เช่น กุสฺลา ธมฺมา อกุสฺลา ธมฺมา อพฺยากตฺตา ธมฺมา ได้แก่ หมวด กุศล อกุศล อัพยากฤต ฯลฯ ซึ่งต้องขยายความต่อไป)
การฟังพระสวดมาติกา แขกก็นั่งพนมมือ ปากก็คุยกันไป เจ้าภาพก็มัวยุ่งเรื่องทอดผ้า จะเอาใครบ้าง ใครก่อนใครหลัง ใครจะเป็นประธานจุดไฟ พระคงจะสวดให้คนตายฟัง เพราะก่อนสวด ต้องไปเคาะโลงบอกทุกที ?
ข้อนี้ก็ตอบเหมือนข้อก่อนๆ
การทอดผ้าบังสุกุล พิธีกรจะประกาศเรียกชื่อผู้มีเกียรติมาทอดชุดละ ๔ คน จนเท่ากับจำนวนพระ ขณะทอดผ้า บางท่านก็ว่า นามรูปํ อนิจฺจํ หรือ มยามริตพฺพํ ?
ข้อนี้ก็ตอบเหมือนกับข้อก่อนๆ ส่วนที่ว่าขณะทอดผ้านั้นพึงถือคติอย่างที่ตอบในข้อ ๑ (คำที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเข้าใจความหมายก็ใช้ได้ ขออย่าเพียงว่าเป็นขลังๆ ไปก็แล้วกัน)
การพิจารณาชักผ้าบังสุกุล พระท่านว่า อนิจฺจา วตสงฺขารา ... เตสํ วูปสโมสุโข วรรคสุดท้ายส่วนมากก็แปลกันว่า ตายแล้วเป็นสุข น่าจะถูกเพราะว่าเกี่ยวกับการตาย แต่ถ้าแปลอย่างนี้ก็ขัดกับ มรณมฺปิ ทุกขํ อีก ?
การพิจารณาชักผ้าบังสุกุล คำที่พระว่าวรรคสุดท้าย ไม่ใช่แปลว่า ตายแล้วเป็นสุข แต่แปลว่า การดับทุกข์ได้เป็นสุข (แปลตามศัพท์ว่า ความสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายเป็นสุข หมายความว่า ต้องเลิกปรุงแต่งทั้งหมด ได้แก่ นิพพาน ไม่ใช่เพียงตายอย่างที่เห็นๆ กัน) สังขารเป็นอนิจจังและสังขารเป็นทุกขัง สงบระงับสังขารก็คือ สงบระงับอนิจจังและทุกขัง จึงเป็นสุข
การกรวดน้ำ บางท่านว่า “อิมินา ปุญฺกมฺเมน” หรือ “ขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ผู้ตาย” หรือ “ไม่ต้องกรวด ทำบุญแล้วถึงเอง” หรือ “ไม่ต้องกรวด ถึงกรวดก็ไม่ถึง” หรือ “ไม่ต้องกรวด เพราะญาติเขาไปเกิดแล้ว” หรือ “ไม่ต้องกรวด ญาติของเขาไม่ได้เป็นเปรต” ?
การกรวดน้ำ เป็นวิธีการตั้งจิตเป็นกุศลต่อผู้ตาย รำลึกถึงด้วยจิตใจที่สงบแน่วแน่เป็นสมาธิ เพราะตลอดพิธีเจ้าภาพไม่ค่อยมีเวลาหยุดนิ่ง โดยเฉพาะไม่ค่อยมีเวลาทำใจสงบ เพราะมัวยุ่งโน่นนี่ กับการเตรียมของและการรับคน จึงควรใช้เวลาน้อยๆ นี้ให้เป็นประโยชน์ อย่ามัวไปยุ่งวุ่นวายว่า จะใช้คำโน้นคำนี้ จะกรวดน้ำ หรือไม่กรวด เดี๋ยวจะเป็นซากการกรวดน้ำอีก จะว่าคำอะไรก็ได้ ที่จะทำให้จิตใจสงบเยือกเย็นแน่วแน่ และแผ่ความตั้งใจดีต่อผู้ตาย พร้อมทั้งคิดถึงคติที่พึงได้จากงานนั้น หน้าที่ของเราคือตั้งใจดีต่อผู้ตาย และทำใจให้เจริญกุศล เขาจะไปเกิดที่ไหนหรือไม่ ไม่เป็นหน้าที่ที่จะมาเถียงกัน
การทอดผ้าบังสุกุล ผู้ที่ทอดเป็นก็ได้บุญ การชักผ้าบังสุกุล พระที่พิจารณาเป็นก็ได้บุญ เจ้าภาพจะได้บุญหรือไม่ ?
การทอดผ้าบังสุกุล และการชักผ้าบังสุกุล ถ้าทำใจเป็นก็ได้บุญทุกคน ถ้าทำไม่เป็นก็ได้แต่ซากทุกคน โดยเฉพาะคนที่ทำด้วยมือตัวเอง ก็เป็นธรรมดาที่จิตจะโน้มไปได้แรง เพราะจะทำอะไรใจก็ย่อมมุ่งไปเรื่องนั้น ก็อาจจะได้ซากใหญ่ หรือได้บุญแรงกว่าคนอื่น เจ้าภาพทำใจให้ถูกกุศลธรรมเจริญ จิตผ่องใสใจเบิกบาน ก็ได้บุญทุกที่ไป
การจุดไฟหรือเวลาวางดอกไม้จันทน์ บางท่านก็ว่า “อรหํ จุตติ” (คนเก่าๆ) หรือ “อยู่เป็นทุกข์ ตายเป็นสุข” หรือ “ไปสู่สุคติเถิด” หรือ “เราก็ตายอย่างนี้ การตายเป็นของธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้” ฯลฯ ?
การจุดไฟหรือเวลาวางดอกไม้จันทน์ ข้อนี้ตอบอย่างข้อ ๑ คำที่เขียนไปนั้น ถ้าเข้าใจความหมาย ว่าด้วยใจที่ตั้งเป็นกุศลตามความหมายนั้น ก็ใช้ได้ทุกคำ แต่คำว่า อรหํ จุติ คงคลาดเคลื่อนไป ไม่มีความหมาย จะกลายเป็นว่าขลังๆ ไป ควรเอาข้อความที่เข้าใจและเป็นคติเพื่อแสดงความตั้งใจดีอย่างที่กล่าวข้างต้น.
(๑๕/๑๗๓)
(๒๖/๓๕๙)
(๒๘/๔๓๙)
(๑๕/๓๐๐)
(๑๕/๒๑๐)
(๑๐/๑๐๘)
(๑๓/๔๕๑)
(๒๗/๓๔๐)
(๒๗/๖๑๑)
(๒๗/๖๑๒)
(๒๗/๖๑๒)
(๒๗/๖๑๓)
(๒๗/๗๒๐)
(๒๗/๑๕๖๘)
(๒๗/๑๕๖๙)
(๒๗/๑๕๗๓)
(๒๕/๓๐)
(๒๕/๓๘๐)
(๒๕/๔๑๓)
(๒๘/๔๓๗)
(๒๘/๔๓๗)
(๒๘/๔๓๙)
(๒๕/๓๘๗)
(๒๘/๑๐๐๐)