วันอาสาฬหบูชา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วันอาสาฬหบูชา

วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ พ.ศ. ๒๕๒๕ นับทวนอดีตย้อนหลังกลับไป ๒๕๗๐ ปี เป็นวันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงบำเพ็ญพุทธกิจครั้งยิ่งใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชนถือกันว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้พระพุทธศาสนาเผยแพร่สืบทอดมาถึงทุกวันนี้ คือเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ประกาศคำสอนหรือหลักธรรมที่ได้ตรัสรู้เป็นครั้งแรก เรียกเป็นคำศัพท์ว่า ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่กลุ่มนักบวช ๕ รูปที่เรียกว่า เบญจวัคคีย์ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณ ที่มีชื่อในปัจจุบันว่าประเทศอินเดีย

ความสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนี้ อุปมาเหมือนว่า นักปกครองยิ่งใหญ่ผู้เป็นจักรพรรดิหรือราชาธิราช มีพระบัญชาให้ลั่นยุทธเภรี คือตีกลองรบประกาศสงคราม ยังล้อรถศึกให้เริ่มหมุนนำทัพเดินหน้าแผ่ขยายราชอาณาจักรออกไป สำแดงกำลังอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้ปรากฏ ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นธรรมราชาก็ทรงบันลือธรรมเภรี ยังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้พระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงครั้งแรกนั้น จึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือ พระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือดินแดนแห่งธรรม

ชมพูทวีปสมัยโบราณ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้น กำลังตื่นตัว ย่างเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญก้าวหน้า มีความรุ่งเรืองเฟื่องฟูทั้งด้านความคิดและกิจการ ซึ่งแผ่ขยายตัวออกไปทุกๆ ด้าน บ้านเมืองกำลังเติบโต พลเมืองกำลังเพิ่มทวีคับคั่ง รัฐต่างๆ กำลังแผ่อำนาจขยายอาณาเขตช่วงชิงดินแดนของกันและกัน มีการคมนาคมติดต่อค้าขายระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ อย่างกว้างขวาง การศึกษาศิลปวิทยาการก็แพร่หลาย ผู้ที่ประกอบการพาณิชยกรรมและเสี่ยงโชคในการค้าขายประสบความสำเร็จ ก็มั่งคั่งร่ำรวย กลายเป็นเศรษฐีคฤหบดี เป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพล เคียงคู่กับเจ้านายและชนในฝ่ายปกครอง

ชนผู้มั่งคั่งร่ำรวยด้วยอำนาจและทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักจะหันไปใช้ชีวิตในทางฟุ้งเฟ้อแสวงหาแต่ความสุขสำราญ มัวเมาในอำนาจและโภคสมบัติของตน พร้อมทั้งขวนขวายใส่ใจแต่จะแสวงหาอำนาจและเพิ่มพูนโภคสมบัติให้มากยิ่งขึ้นไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ยิ่งกว่านั้นยังพยายามผูกขาดจำกัดอำนาจและความมั่งคั่งไว้ในหมู่พวกตนด้วยหลักเกณฑ์และความเชื่อถือต่างๆ เช่นเรื่องวรรณะ ที่ให้แบ่งชั้นของคนออกไปโดยชาติกำเนิดเป็นต้น มนุษย์กำลังแยกห่างจากกัน ขาดเมตตากรุณาต่อกัน ทอดทิ้งหลงลืม ไม่เหลียวแล ขาดความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น แต่เพราะเป็นระยะที่กำลังเปลี่ยนแปลงในตอนต้นของยุคสมัย สังคมกำลังขยาย มองไปข้างหน้า คนกำลังสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความหวังใหม่ๆ ชนทั้งหลายจึงมักมองแต่โอกาสที่เกี่ยวข้องกับตน ไม่คิดล่วงเลยไปถึงการโค่นล้มหักล้างกันในระหว่างฐานะ

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ในทางจิตใจ และความเชื่อถือ ชมพูทวีปได้ชื่อว่าเป็นดินแดนต้นกำเนิดแห่งศาสนาและลัทธิต่างๆ มาช้านานหลายพันปี ครั้นถึงยุคสมัยแห่งความเจริญเติบโตและความเปลี่ยนแปลงนี้ การคิดค้นแสวงหาหลักความเชื่อถือและคำตอบเพื่อสนองความต้องการทางปัญญาก็ยิ่งแพร่หลายมากขึ้น เกิดมีศาสดาเจ้าลัทธินักคิดนักปรัชญาต่างๆ อุบัติขึ้นมากมาย

นักบวชบางพวกคิดพัฒนาความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในศาสนาของตน ให้ทันต่อความเป็นไปในสังคมและให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนมากยิ่งขึ้น เช่น คิดพัฒนาพิธีบูชายัญขยายให้วิจิตรพิสดาร เพื่อให้เจ้านายและเศรษฐีผู้กำลังแสวงอำนาจและโภคสมบัติได้ประกอบอย่างสมใจ และเพิ่มพูนลาภสักการะแก่ตนผู้ประกอบพิธีอย่างเต็มที่

คนอีกพวกหนึ่งผู้เบื่อหน่ายมองไม่เห็นสาระของชีวิตที่ว่ายเวียนหมกมุ่นอยู่ด้วยอำนาจและโภคสมบัติในโลกก็ออกบวช แสวงหาความรอดพ้นให้แก่ตน ด้วยหวังผลสำเร็จอันวิเศษที่อยู่เหนือกว่าโลกียสุขด้วยการประพฤติปฏิบัติสิ่งที่จะทำตนให้เหินห่างหรือไม่ข้องเกี่ยวตลอดถึงขั้นที่ตรงข้ามกับวิถีชีวิตในโลกนี้ เช่นบำเพ็ญตบะ ประพฤติวัตรทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ

ส่วนอีกบางพวกก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางรอดพ้นให้แก่ตนและผู้อื่นด้วยการคิดค้นทางปรัชญา ครุ่นคิดพิจารณาปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เหลือวิสัยและไม่อาจพิสูจน์ได้ โดยคิดด้วยตนเองบ้าง เร่ร่อนไปสอบถามถกเถียงปัญหากับนักคิดในถิ่นต่างๆ บ้าง เกิดมีทิฏฐิหรือทฤษฎีปรัชญาต่างๆ มากมาย เช่นว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด พระผู้เป็นเจ้ามีหรือไม่มีดังนี้ เป็นต้น ต่างก็สูญเสียสละเวลาแรงกายและแรงความคิดกันไปในเรื่องเหล่านี้เป็นอันมาก

ที่กล่าวมานี้ คือสภาพสังคมและความคิดจิตใจของชมพูทวีปเมื่อใกล้จะถึงพุทธกาล เท่าที่พอจะสืบทราบจากหลักฐานทางตำรับตำรา พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาของพุทธศาสนา ได้เสด็จอุบัติขึ้นท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ได้ทรงดำเนินพระชนมชีพตามแบบอย่างของสภาพเช่นนี้ และในที่สุดก็ได้ทรงละเลิกสภาพเช่นนี้เสีย หันไปทรงดำเนินพระชนมชีพตามแบบที่ได้ทรงคิดวางขึ้นใหม่ พร้อมทั้งทรงประกาศคำสอนชักนำประชาชนให้ละเลิกวิถีชีวิตที่ผิดพลาดเดิมนั้น และให้หันมาดำเนินตามมรรคาที่ได้ทรงประกาศขึ้นใหม่ กล่าวคือ

เบื้องแรก ในฐานะที่ประสูติเป็นโอรสกษัตริย์ พระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพในปฐมวัย ท่ามกลางความสุขสำราญการบำรุงและปรนเปรอ พรั่งพร้อมด้วยอำนาจและโภคสมบัติ ครั้นแล้วก็ทรงเบื่อหน่าย ทรงมองเห็นว่าการดำเนินชีวิตเช่นนั้นขาดแก่นสาร ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น มีแต่จะทำให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมา ทำคุณค่าของชีวิตให้ลดถอยจมต่ำลง ปล่อยกาลเวลาของชีวิตให้ล่วงเลยผ่านพ้นไปอย่างว่างเปล่าปราศจากสาระยิ่งกว่านั้น ยังอาจเกิดโทษเกิดพิษแก่ชีวิตของตนเหมือนสั่งสมสิ่งหมักหมมทับถมดองเอาไว้ และเป็นการเบียดเบียนทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง

เมื่อทรงพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ก็ทรงคิดหาวิธีแก้ไข เริ่มด้วยการทดลองวิธีที่นิยมปฏิบัติกันในสมัยนั้นก่อน จึงได้ทรงละทิ้งราชสมบัติและอิสริยยศ เสด็จออกผนวชทรงเพศนักบวชจาริกไปศึกษาทัศนะของนักคิด นักปรัชญา ศาสดาจารย์ เจ้าลัทธิต่างๆ ที่มีชื่อเสียงแห่งยุคสมัย และทดลองบำเพ็ญข้อปฏิบัติทั้งหลายของสำนักต่างๆ ทั้งที่เรียกว่าโยคะวัตร ตลอดจนตบะคือการบำเพ็ญเพียรทรมานตนแบบต่างๆ รวมเป็นเวลานานถึง ๖ ปี จนแน่พระทัยแล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหานำไปสู่ผลที่ทรงมุ่งหมาย จึงได้ทรงคิดค้นสืบต่อจากนั้นไป ได้ค้นพบมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เมื่อทรงปฏิบัติตามมรรคานี้ก็ได้ค้นพบสัจธรรมที่แก้ปัญหาของมนุษย์ นำคุณค่าที่แท้จริงมาให้แก่ชีวิตได้ อันเรียกว่า อริยสัจจ์ ๔ ประการ จึงทรงตระหนักชัดพระทัยว่าได้บรรลุผลสำเร็จแห่งความเพียรพยายามในการแสวงหาของพระองค์แล้ว

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี เรียกว่าการตรัสรู้ หรือบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ต่อจากนั้น พระองค์ก็ทรงเริ่มงานประกาศพระศาสนา เปิดเผยสิ่งที่ได้ตรัสรู้ให้ผู้อื่นได้ร่วมรู้และร่วมได้รับประโยชน์ ขยายจากการแก้ปัญหาบุคคลไปสู่การแก้ปัญหาของปวงชน

ในการเริ่มต้นงานประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้าทรงดำริหาหนทางที่จะให้ได้ผลดีอย่างรวดเร็ว โดยประเดิมที่บุคคลผู้มีพื้นภูมิเดิมทางปัญญาดีที่จะรู้แจ้งคำสอนได้อย่างว่องไว และสามารถนำไปชี้แจงอธิบายให้คนอื่นเข้าใจต่อไปได้อีกอย่างกว้างขวาง ตำนานเล่าว่า ทรงพิจารณาเห็นดาบสผู้เปรื่องปราชญ์ ๒ ท่าน ที่พระองค์เคยทรงไปศึกษาหลักลัทธิอยู่ด้วยในระหว่างระยะ ๖ ปีแห่งการคิดค้นแสวงหา ว่าเป็นผู้มีความสามารถเหมาะสม แต่ได้ทรงทราบว่าดาบส ๒ ท่านนั้นสิ้นชีวิตเสียแล้ว จึงทรงระลึกถึงนักบวช ๕ ท่าน ที่เคยไปร่วมประพฤติพรตบำเพ็ญตบะและปรนนิบัติพระองค์ในระหว่างเวลา ๖ ปีนั้น ซึ่งมีชื่อเรียกรวมกันว่าเบญจวัคคีย์1 ผู้ได้หนีจากพระองค์ไปเมื่อทรงเลิกบำเพ็ญตบะ และเวลานั้นพำนักอยู่ ณ มฤคทายวัน แห่งตำบลอิสิปตนะ ใกล้เมืองพาราณสี จึงเสด็จจากสถานที่ตรัสรู้ คือตำบลอุรุเวลา ในแคว้นมคธ มุ่งไปพบนักบวช ๕ รูปนั้น และได้ทรงแสดงธรรมสำคัญครั้งแรกที่เรียกว่าเป็นปฐมเทศนา ประกาศธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะหรือเดือน ๘ หลังจากตรัสรู้ได้ ๒ เดือนเต็ม มัชฌิมาปฏิปทา และจตุราริยสัจจ์ (อริยสัจจ์ ๔) ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นนั่นแหละคือสาระสำคัญของปฐมเทศนานี้

เมื่อทราบความเป็นมาของเรื่องที่เป็นต้นกำเนิดของวันอาสาฬหบูชาเช่นนี้แล้ว ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของเรื่องอาสาฬหบูชาต่อไปอีก ตามคำอธิบายในหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. ใจความของปฐมเทศนา

ปฐมเทศนาหรือที่เรียกตามชื่อเฉพาะว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น แสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ2

ก. มัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ หรือทางสายกลาง

ข. อริยสัจจ์ ๔ คือ หลักความจริงของอริยชน ๔ อย่าง หรือ สัจธรรม ๔ ข้อ ซึ่งทำให้ผู้ที่รู้กลายเป็นอารยชน

ก. ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา

ที่เรียกว่าทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา ก็เพราะเป็นทางดำเนินชีวิตหรือข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้อง พอเหมาะพอดีที่จะให้บรรลุผลสำเร็จถึงจุดหมาย มิใช่เป็นการปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง อย่างหนึ่งอย่างใด คือ

๑. การหมกมุ่นมัวเมาอยู่กับความสุขทางกาย ลุ่มหลงในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เพลิดเพลินในการปรนเปรอ ปล่อยใจให้โลดไปตามกระแสกิเลส สยบตัวลงเป็นทาสของโลกและเนื้อหนัง อุทิศชีวิตของตนให้แก่การแสวงหาเชื้อเพลิงมาเติมไฟกิเลส ทุ่มเทพลังงานเพื่อการติดตามกินเหยื่อล่อ เที่ยวไขว่คว้าเก็บเอาสิ่งต่างๆ มากมายมาพอกพูนห่อหุ้มตัวจนหนาหนักและกินที่ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจรวมเข้าเป็นเนื้อตัวแท้จริงของตนได้ และผูกมัดตัวติดกับสิ่งเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่นจนกลายเป็นก่อความทุกข์ให้แก่ตนเอง หมดความปลอดโปร่ง ไม่เป็นอิสระ เป็นภาระท่วมทับสลัดไม่ออก และยังให้โทษแก่ผู้อื่นด้วย โดยทำให้หลงลืมที่จะเหลียวแลกันเสียบ้าง ให้เก็บเอาสิ่งเกินความจำเป็นมาพอกพูนเต็มล้นเสียที่เดียวจนขาดแคลนแก่ที่อื่นบ้าง ให้แย่งชิงเบียดเบียนข่มเหงวิวาทกันเพราะต่างฝ่ายต่างก็จะเอาบ้าง รวมความว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข เรียกเป็นคำศัพท์ว่า กามสุขัลลิกานุโยค

๒. การสร้างความยากลำบากแก่ตน เหนื่อยแรงเสียเปล่า ด้วยการเชื่อถือประพฤติปฏิบัติตัว ดำเนินชีวิตในทางที่ไขว้เขวเฉไปเลี่ยงหลบ หรือข้ามเลยไปเสียจากชีวิตจริง ปฏิบัติไปอย่างมืดบอดตามที่สักแต่ว่ายึดมั่นถือมั่นเอาไว้ ดำเนินไปสู่จุดหมายที่เลื่อนลอย นำมาซึ่งผลที่ไม่ตรงกับจุดหมายและไม่บังเกิดคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิต ทำให้หลงเตลิดหนักยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น

๑) อย่างหยาบที่สุดที่มองเห็นง่ายเป็นรูปธรรม เช่น การบำเพ็ญตบะ ทรมาน บีบคั้นร่างกายด้วยประการต่างๆ มีอาการอดอาหาร ยืนกลางแดด นอนบนหนาม เป็นต้น ด้วยหวังจะให้กิเลสแห้งเหือดหาย และทำให้จิตหลุดพ้นจากพันธนาการของกาย อย่างที่ปฏิบัติกันแพร่หลายในประเทศอินเดียสมัยโบราณและยังมีอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยทรงทดลองปฏิบัติมาแล้วในระยะ ๖ ปี แห่งการคิดค้นแสวงหา เป็นลัทธิที่หลงเตลิดไป เพราะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตอย่างผิดพลาด เป็นการเอียงสุดไปด้านหนึ่ง โดยเข้าใจผิดไปว่า เมื่อกายขาดการบำรุงแล้ว จิตก็ขาดเครื่องบำรุงสำหรับกิเลสไปด้วย จึงสามารถบริสุทธิ์หลุดพ้นอิสระ เป็นความเชื่อถือตรงข้ามกับคนบางพวกที่เห็นเอียงสุดไปอีกด้านหนึ่งว่า เมื่อกายได้รับการบำรุงดีแล้ว จิตพลอยได้รับการบำรุงด้วยก็จะดีไปเอง

สำหรับคนสองพวกนี้ สิ่งที่ดีสำหรับพวกหนึ่ง กลายเป็นชั่วร้ายสำหรับอีกพวกหนึ่ง สิ่งชั่วร้ายสำหรับพวกหนึ่ง กลายเป็นสิ่งดีที่ต้องการสำหรับอีกพวกหนึ่ง ต่างก็ไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริงว่ากายกับจิตเป็นสิ่งสัมพันธ์กันก็จริง แต่ความดีงามและชั่วร้ายที่เกิดจากความสัมพันธ์นั้นก็เป็นสิ่งสัมพันธ์ต้องอาศัยปัจจัยอย่างอื่นประกอบด้วย

จิตใจและชีวิตจะก้าวไปในคุณความดีได้เบื้องต้นต้องอาศัยการที่มีปัจจัยสิ่งบำรุงกายส่วนหนึ่งก่อน แต่ปัจจัยที่บำรุงกายนั้นก็มีขอบเขตของความจำเป็นที่จัดได้ว่าเป็นความพอดีอยู่ในระดับหนึ่ง เมื่อถึงระดับนี้แล้ว วัตถุจะเป็นอุปกรณ์สำหรับชีวิตที่จะก้าวหน้างอกงามสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นคุณก็ได้ หรืออาจทำให้จิตใจตกเป็นทาสของวัตถุ พอกพูนความทุกข์ความชั่วร้ายก็ได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยการชักนำของปัจจัยอย่างอื่นด้วย ทั้งที่เป็นสิ่งแวดล้อมและที่อยู่ภายใน

พวกที่มองความสำคัญเฉพาะแต่ความเพียบพร้อมทางวัตถุเป็นเกณฑ์ตัดสิน ย่อมกลายเป็นพวกเอกันตวาทในฝ่ายวัตถุนิยมทางเศรษฐกิจ พวกที่มองแต่ความสำคัญของจิตโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยที่อุดหนุนกาย ย่อมกลายเป็นพวกเอกันตวาทในฝ่ายจิตนิยม ต่างก็เป็นพวกที่มองโลกและชีวิตสุดทางไปคนละซีก

๒) ในทางนามธรรมซึ่งเป็นขั้นละเอียดลึกซึ้ง คือการขบคิดถกเถียงปัญหาทางอภิปรัชญา พยายามเข้าถึงสิ่งที่เหตุผลหยั่งไม่ถึงด้วยการถกเถียงหาเหตุผล พยายามหาคำตอบให้แก่ปัญหาที่ตนตั้งขึ้นจากความไม่รู้หรือเข้าใจผิด พยายามอธิบายสิ่งที่มองไม่เห็นให้เห็นด้วยคำพูด ใช้เวลาให้สิ้นเปลืองไปด้วยการคาดคะเนและตีวาทะเกี่ยวกับปัญหาที่พิสูจน์ไม่ได้และไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นคุณประโยชน์อะไรแก่ชีวิต ทำให้หลงใหลเพลิดเพลินอยู่กับความคิดที่เลื่อนลอยห่างไกลชีวิตจริง ทำให้ทุกข์ยากลำบากจิต เหนื่อยสมองเหนื่อยความคิดเปล่าๆ ได้แก่ทฤษฎีที่เรียกว่าอันตคาหิกทิฏฐิ หรือปัญหาที่เรียกว่าอัพยากตปัญหา เช่น ปัญหาเกี่ยวกับมูลการณ์ (ต้นกำเนิด) และปริโยสาน (ที่สิ้นสุด) ของโลกเป็นต้น

๓) อย่างตื้นลงที่เป็นเรื่องใกล้เข้ามาในทางปฏิบัติ คือการคอยพึ่งอาศัยอำนาจของสิ่งลึกลับศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นและอยู่พ้นวิสัย โดยหวังการอ้อนวอนหรือความขลังมาช่วยบันดาลให้ได้สำเร็จผลที่ปรารถนา ถ้าเป็นไปอย่างรุนแรง ย่อมทำให้มอบตัวมอบความไว้วางใจแก่สิ่งนั้นโดยสิ้นเชิง ไม่คิดและไม่ลงมือทำการแก้ปัญหาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเอง จัดว่าเป็นความงมงาย ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลเช่นลัทธิบูชาไฟ เป็นต้น อย่างเพลาลงมา ในฐานะที่เป็นปุถุชนผู้อยู่ใต้อำนาจอวิชชา ซึ่งยังระแวงระวังต่อสิ่งที่มองไม่เห็นและยังไม่เข้มแข็งพอ ก็เพียงแค่อาศัยสิ่งลึกลับไว้เสริมกำลังใจ ในการกระทำกิจซึ่งตนลงมือกระทำอยู่แล้ว แต่จะในกรณีใดก็ตาม ก็ยังเป็นการกระทำที่ไม่ดำเนินไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ยังเป็นการแก้ปัญหา อย่างมองไม่เห็นว่าการแก้ดำเนินไปอย่างไร และตนเองเข้าไปจัดการอะไรไม่ได้ จึงจัดเข้าในพวกสร้างความลำบากเสียแรงเปล่า

การดำเนินชีวิตหรือประพฤติในแบบที่ก่อความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนแก่ตนเหนื่อยแรง เหนื่อยสมอง เหนื่อยความคิดเหล่านี้ มีชื่อเรียกเป็นคำศัพท์ว่า อัตตกิลมถานุโยค

ข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนาละเว้นห่างจากความประพฤติปฏิบัติที่เอียงสุดเหล่านี้ จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ หรือทางสายกลาง ผู้ที่งอกงามในพระพุทธศาสนาก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งละเว้นข้อปฏิบัติที่เอียงสุดได้มากขึ้นเท่านั้นโดยลำดับ ถ้าถึงขั้นเป็นบรรพชิตคือบวชในพระธรรมวินัยแล้ว ก็ถือว่าไม่ควรข้องแวะทีเดียว ควรดำเนินแน่วแน่มั่นคงในมัชฌิมาปฏิปทา และมัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นทางแห่งปัญญา ยิ่งเข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทามากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยการใช้ปัญญา และแก้ปัญหาด้วยปฏิบัติการที่อยู่ในวิสัยของตนมากขึ้นเท่านั้น

มัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางดำเนินชีวิตด้วยปัญญา มีปัญญาเป็นฐานเป็นมรรคาที่นำไปสู่จุดหมายได้ และก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตอย่างแท้จริง โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ ทำให้ผู้ดำเนินตามเป็นอริยะหรืออารยะอย่างแท้จริง จึงเรียกเป็นคำศัพท์ว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์

  1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
  2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
  3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
  4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
  5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือประกอบสัมมาชีพ หรืออาชีพที่สุจริต
  6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
  7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
  8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตได้แน่วแน่มั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน

องค์ประกอบ ๘ ประการของมรรคนี้ แต่ละข้อมีรายละเอียดพิสดาร เพราะเป็นประมวลข้อปฏิบัติหรือหลักจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ในที่นี้มิใช่โอกาสที่จะพรรณาความพิสดารในเรื่องนี้ จึงกล่าวถึงแต่เพียงความหมายสั้นๆ ไว้ก่อน ขอย้ำเพียงว่ามรรคานี้ เริ่มต้นด้วยปัญญา และมีปัญญาเป็นรากฐาน องค์ประกอบข้อแรกจึงเป็นเรื่องของปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ

"สัมมาทิฏฐิ" นี้อย่างง่ายๆ หมายถึงความเห็นที่ถูกต้องตามคลองธรรม เช่น เชื่อหลักกรรม เห็นว่าทำดีเกิดผลดี ทำชั่วเกิดผลชั่ว เป็นต้น แต่ในความหมายที่ตรงหลักวิชายิ่งขึ้น ท่านอธิบายว่ารู้ทุกข์ รู้สมุทัย รู้นิโรธ รู้มรรค หรือมองเห็นความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามความสัมพันธ์สืบทอดของเหตุปัจจัยที่เรียกว่า ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เมื่อประสบสิ่งติดขัดเป็นปัญหา พึงกำหนดรู้ตามความเป็นจริงให้เห็นชัดก่อนว่า อะไรเป็นตัวปัญหา ปัญหานั้นมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร (ทุกข์) แล้วศึกษาให้รู้ต่อไปว่า ปัญหานั้นเกิดจากมูลเหตุอะไร มีอะไรเป็นสมุฏฐาน (สมุทัย) แก้ไขได้หรือไม่ ที่จุดใด จุดหมายคืออะไร (นิโรธ) มีวิธีการแก้ไขให้บรรลุถึงจุดหมายได้อย่างไร ตามรายละเอียดลำดับขั้นตอนอย่างไร (มรรค)

พูดอีกนัยหนึ่งว่า วิเคราะห์ปัญหาตามกระบวนการของเหตุปัจจัยว่า ปัญหานั้นมีองค์ประกอบอะไร องค์ประกอบเหล่านั้นสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเหตุปัจจัยแก่กันอย่างไรจึงก่อให้เกิดปัญหาขึ้น เมื่อจะแก้ไขหรือดับปัญหาจะต้องแก้ที่องค์ประกอบหรือจุดไหนให้ต่อเนื่องกันไปอย่างไร (ปฏิจจสมุปบาท)

การประพฤติปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตตามหลักองค์มรรค ๘ ประการ โดยเริ่มด้วยมีความรู้ความเข้าใจเป็นพื้นฐานอย่างนี้ ย่อมเป็นการแก้ปัญหาหรือการทำให้ไม่มีปัญหาอยู่ในตัว เป็นการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือดำเนินชีวิตอย่างไม่มีทุกข์ โดยตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา

ถ้าสังเกต จะเห็นได้ว่า มรรคาสายกลางนี้เป็นเรื่องของการกระทำในชีวิตจริงและอยู่ในวิสัยของมนุษย์ทั้งสิ้น กล่าวคือ องค์มรรคทั้ง ๘ ข้อ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับคนทุกคน และทุกคนปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอ้อนวอน คอยการบันดาล หรือรอใครมาช่วยทำให้ เป็นข้อปฏิบัติที่ทำได้ภายในขอบเขตของชีวิตนี้ วางไว้สำหรับชีวิต เป็นเรื่องของชีวิตโดยตรง เป็นระบบการดำเนินชีวิตที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะมองเห็นความสำคัญทั้งของวัตถุและของจิตใจ ครอบคลุมทั้งด้านกายและด้านจิต เป็นระบบจริยธรรมและระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ เพราะสอนให้ฝึกฝนอบรมระเบียบวินัยทางกาย วาจา และอาชีพ (ศีล) ให้ฝึกฝนระเบียบวินัยทางจิตใจ สร้างความเจริญงอกงามและความเข้มแข็งมั่นคงทางด้านคุณธรรม (สมาธิ) และให้ฝึกฝนอบรมปัญญา สร้างความรู้ความเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง เพื่อมีชีวิตอยู่อย่างผู้ที่รู้เท่าทันโลกและชีวิต รู้จักร่วมมือกับธรรมชาติ เพื่อดำรงอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน ประสานประโยชน์และรักษาอิสรภาพของทั้งสองฝ่าย (ปัญญา)

ทางสายกลางนี้เป็นระบบที่มีขอบเขตจำกัด แต่ยืดหยุ่นอย่างกว้างขวางมาก คืออยู่ในวงจำกัดของความดีงามและแนวทางของ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ผู้ที่ประพฤติดำเนินชีวิตอยู่ในระบบ สามารถดำรงอยู่ ณ ตำแหน่งต่างๆ ที่ห่างกันได้หลายขั้นหลายระดับ แล้วแต่ความพร้อมของตน เช่น ถ้าจะอยู่ครองเรือนก็ได้ แต่พึงประพฤติธรรมให้ถูกหน้าที่ที่จะเป็นคนครองเรือนที่ดี ถ้าเบื่อหน่ายชีวิตเหย้าเรือนหรือต้องการแสวงสุขทางจิตอย่างสูง ก็สามารถออกบวชครองเพศบรรพชิต ถ้าเบื่อหน่ายอีก ก็สามารถสละเพศออกมาเป็นชาวบ้านได้ ถ้ามีคุณสมบัติมีความสามารถ และพอใจจะเป็นนักปกครอง ก็ดำรงตำแหน่งหน้าที่ปกครองได้ แต่ต้องบริหารอำนาจและโภคทรัพย์ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่บริหารประชาชนให้เป็นไปเพื่ออำนาจและโภคทรัพย์ของตน ดังนี้เป็นต้น

ระบบแห่งมรรคประกอบด้วยสภาพการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันมากหลาย แต่ทั้งหมดรวมอยู่กลมกลืนเข้าได้ในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นับเป็นระบบที่มีความเสมอภาค เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมที่จะอยู่ ณ ที่ต่างๆ กัน เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่กัน โดยสวมหน้าที่ที่เหมาะสมกับฐานะนั้น เป็นระบบที่ให้เสรีภาพอย่างสูง เพราะเปิดโอกาสให้แก่การเลือกโดยสมัครใจ แต่มิใช่เลยขอบเขตจนกลายเป็นตามอำเภอใจ เพราะเมื่อสมัครใจเลือกเอาอย่างใดแล้วก็มีความผูกพันที่จะทำให้ถูกให้ชอบต่อภาวะอย่างนั้นด้วย เป็นระบบที่ไม่มีการบีบบังคับ แต่ก็มิใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อยไปตามใจชอบ เพราะเป็นระบบแห่งการฝึกฝน จึงแนะนำกระตุ้นเตือนเร่งเร้าให้ฝึกอบรมแก้ไขปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าขึ้นสู่ความดีงามที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอยู่เสมอ จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายสูงสุดของมรรคา ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทานั้น

ข. อริยสัจจ์ ๔

อริยสัจจ์ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐหรือความจริงของอริยะ หรือสัจธรรมที่รู้แล้วจะทำให้กลายเป็นอริยะหรืออารยชน ๔ ประการ

อริยะ หรืออารยชน คือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ห่างไกลจากอวิชชา เป็นผู้เจริญแล้วอย่างแท้จริง จะเป็นอริยะหรืออารยชนที่แท้จริงได้ ก็ต้องรู้เข้าใจความจริงและดำรงชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับความจริงของชีวิตที่จะทำให้ชีวิตเป็นอิสระหลุดพ้นจากความมืดบอด เป็นไท ไม่ต้องฝากความวางใจไว้กับอำนาจลึกลับพ้นวิสัยอย่างใดๆ อริยสัจจ์ ๔ ประการนั้นคือ

๑) ทุกข์ ได้แก่ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์ในรูปของความบีบคั้น ขัดข้อง ติดขัด อัดอั้นต่างๆ บุคคลจะต้องกำหนดรู้หรือทำความรู้จักมัน ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า มันคืออะไร อยู่ที่ไหน และแค่ไหนเพียงไร กล่าวคือ ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง แม้จะเป็นสิ่งที่นึกว่าน่ากลัวไม่เป็นที่ชอบใจ เริ่มต้นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลายที่รวมเรียกว่าโลกและชีวิตนี้ว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งกันเข้า ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงตัว และหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ไม่มีหยุดนิ่ง สิ่งทั้งหลายก็ตาม ชีวิตนี้ที่เรียกตัวเองว่าฉันว่าเราก็ตาม ไม่มีอำนาจในตัวเองเด็ดขาด ไม่เป็นตัวเองโดยสิ้นเชิงที่จะเรียกร้องสั่งบังคับให้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่าตัวเอง ให้เป็นไปตามปรารถนา

สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ตามเหตุตามปัจจัย ไม่เกี่ยวกับความชอบใจหรือไม่ชอบใจของเรา เมื่อเหตุปัจจัยมาประจวบให้ปรากฏในรูปที่ตรงกับใจปรารถนา เราก็ชอบใจ เมื่อปรากฏในรูปที่ไม่ตรงกับใจปรารถนา เราก็ไม่ชอบใจ

เมื่อยึดถือติดคาอยู่ว่าจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งมั่นหมายลงไป ครั้นสิ่งต่างๆ นั้นหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ตรงกับที่ยึดอยากมั่นหมาย เราก็ถูกบีบคั้นกดกระชากบดขยี้ เป็นภาวะที่เรียกว่าความทุกข์ ซึ่งโดยสาระก็เป็นเพียงความขัดแย้งกระทบฉีกกระชากกัน ระหว่างอาการเปลี่ยนแปลงแปรผ่านไปของสิ่งทั้งหลาย กับเส้นเชือกแห่งความยึดความอยากที่เราสร้างขึ้นเท่านั้นเอง

การที่จะแก้ไขป้องกันปัญหาหรือความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มิใช่ไปนั่งปั่นเส้นเชือกแห่งความยึดความอยากแล้วเอาไปผูกรัดเหนี่ยวรั้งสิ่งทั้งหลายไว้ ซึ่งมีแต่ทำให้เหนื่อยเปล่า ซ้ำจะถูกฉุดกระชากเอาไปบดขยี้ทำให้ทุกข์ทรมานยิ่งขึ้นอีก แต่จะต้องรู้เข้าใจเท่าทันความจริงของสิ่งเหล่านั้น รู้เหตุปัจจัยของภาวะที่เป็นไปอย่างนั้น รู้ว่าอะไรจะเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ แค่ไหนเพียงไร แล้วเข้าไปจัดการกับสิ่งเหล่านั้น ตรงตัวเหตุตัวปัจจัยที่จะให้เป็นไปอย่างนี้หรืออย่างนั้นตามที่รู้ที่เข้าใจแล้วนั่นเอง

๒) สมุทัย ได้แก่เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหาเมื่อรู้เท่าทันความทุกข์เข้าใจปัญหาแล้ว ก็สาวหาสาเหตุของทุกข์ หรือต้นตอของปัญหาต่อไปตามหลักแห่งความสัมพันธ์สืบทอดของเหตุปัจจัย หรือตามหลักใหญ่ที่ว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุและจะดับไปเพราะเหตุดับ วิเคราะห์ให้เห็นชัดว่าอะไรบ้างเป็นปัจจัย ปัจจัยไหนเป็นตัวการสำคัญเจ้าบทบาทใหญ่ ปัจจัยเหล่านั้นสัมพันธ์สืบทอดกันมาอย่างไรจึงปรากฏออกมาเป็นรูปปัญหาอย่างนั้น

เมื่อว่าโดยรวบรัด ตัวการสำคัญแห่งทุกข์ของชีวิต ก็คือตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากที่มนุษย์เอาไปเกี่ยวเกาะคล้องรัดสิ่งทั้งหลายนั้นเอง ปัจจัยตัวการนี้สัมพันธ์สืบทอดกันมากับปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่ง คือ อวิชชา ความไม่รู้ ความไม่มีปัญญาไม่ใช้ปัญญา จึงปรากฏเป็นปัญหาในรูปต่างๆ ที่เรียกรวมๆ กันว่า ทุกข์ ความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัยที่จะต้องรู้ในข้อนี้ มีชื่อเฉพาะว่า ปฏิจจสมุปบาท

๓) นิโรธ ได้แก่ความดับทุกข์ ภาวะที่สิ้นปัญหาหรือภาวะที่ว่างโล่งปลอดโปร่งจากปัญหา เริ่มด้วยชีวิตที่เป็นอิสระ ไม่ถูกฉุดกระชากลากไปด้วยเส้นเชือกแห่งความอยาก มีจิตใจเบิกบาน ผ่องใส สะอาดสงบ ด้วยความเป็นอยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา

๔) มรรค ได้แก่มรรคาอันนำไปสู่ความดับทุกข์ หรือกระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา กล่าวคือ มรรคามีองค์ ๘ ประการ หรือมัชฌิมาปฏิปทาที่กล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง มรรคานี้เป็นระบบจริยธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนา หรือทางดำเนินชีวิตของชาวพุทธ ซึ่งมีปัญญาคือความรู้ความเข้าใจเท่าทันสภาวะของสิ่งทั้งหลาย เป็นพื้นฐานและเป็นแกนนำ ชาวพุทธที่แท้ต้องเจริญก้าวหน้าเติบโตขึ้นเรื่อยไปในวิถีการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ถ้าแต่ก่อนเป็นอยู่ด้วยความเขลางมงายมาก เคยนั่งถือเส้นเชือกแห่งความอยาก คอยคล้องรัดสิ่งต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ต่อไปข้างหน้าจะต้องมีพลังใจเข้มแข็ง ฝึกฝนตนให้ใช้ปัญญามากขึ้น มีความรู้เท่าทันโลกและชีวิตมากขึ้น เรียนรู้วิธีคิดแบบวิเคราะห์เหตุปัจจัยให้มากขึ้น เข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่ตัวเหตุตัวปัจจัยด้วยความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใสเป็นอิสระได้บ่อยครั้งขึ้น อย่างน้อยเมื่อปั่นเส้นเชือกรัดตัวขึ้นแล้ว ก็รู้จักตัดเชือกนั้นในคราวที่ควรจะตัดได้บ้าง

การที่จะดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน มีจิตใจเป็นอิสระสงบสะอาดใสสว่างอยู่เสมอนั้น โดยปกติมิใช่เป็นสิ่งที่ทำได้เร็วพลันทันที เพราะการดำเนินชีวิตแห่งปัญหาเป็นสิ่งที่เราสั่งสมสร้างมาด้วยอาศัยความเคยชินตลอดระยะเวลายาวนาน การที่จะแก้ไขชำระล้างหรือเดินทางใหม่ จึงต้องอาศัยวินัย ความเข้มแข็งมั่นคง และการฝึกหัดอยู่เสมอให้เคยชินขึ้นมาแทน ด้วยเหตุดังนี้ กระบวนการฝึกอบรมในวิถีแห่งมรรคจึงประกอบด้วยหลักการที่เรียกว่าสิกขา ๓ ศีล สมาธิ และปัญญา

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการฝึกหัดนี้ คือความมีสติ ผู้ฝึกตนควรพยายามสร้างสติขึ้นไว้เสมอๆ สติ เป็นตัวยั้งจากทางผิดและชักเข้าสู่ทางถูก เมื่อสติเกิดแล้ว นั่นคือตัดเส้นเชือกที่รัดตัวเสียได้ ปัญญาจะตามมาละลายล้างทางผิดและส่องทางถูก จากนั้นอาศัยสมาธิ คือความแน่วแน่มั่นคงเข้มแข็งของจิตใจ ก็จะใช้วิริยะคือความเพียรเดินรุดหน้าไปในทางถูก หันห่างทางผิดไกลออกไปโดยลำดับ เมื่อทำได้สม่ำเสมอ ผลสำเร็จก็จะตามมา คือความเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ และชีวิตที่เป็นสุขตามอริยมรรคา

ที่กล่าวมานี้ คือการทำความเข้าใจกันอย่างสังเขปเกี่ยวกับมัชฌิมาปฏิปทาและอริยสัจจ์ ๔ ที่เป็นใจความของปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

๒. ผลจากการแสดงปฐมเทศนา

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาจบแล้ว ปรากฏว่า โกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าของเบญจวัคคีย์เข้าใจธรรมที่ทรงแสดงนั้น รู้แจ้ง ความจริง เรียกว่าเกิดดวงตาเห็นธรรม หรือได้ ธรรมจักษุ คือ เข้าใจตามหลักกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ว่าสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหมดนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา ถ้าจัดลำดับในขั้นของอริยบุคคลเรียกว่าเป็นโสดาบัน พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าโกณฑัญญะรู้แจ้งธรรมดังนั้น ก็ทรงเปล่งพระวาจาว่า "อฺาสิ วต โภ โกณฺฑฺโ, อฺาสิ วต โภ โกณฺฑฺโ” แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ คำว่า "อัญญา" ซึ่งแปลว่ารู้นั้น ได้ติดเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านโกณฑัญญะสืบต่อมา เรียกว่า อัญญาโกณฑัญญะ (คัมภีร์บางฉบับเรียก อัญญาตโกณฑัญญะ)

ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งธรรมเช่นนั้นแล้ว ก็ทูลขอบรรพชา และได้บวชเป็นพระภิกษุสาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา

๓. ความหมายของอาสาฬหบูชา

อาสาฬหบูชา ประกอบขึ้นจากคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันเข้าจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ ถ้าจะเรียกให้เต็มต้องว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา = อาสาฬห (เดือน ๘) + บูรณมี (วันเพ็ญ) + บูชา ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน ๘

๔. ความสำคัญของอาสาฬหบูชา

ตามเหตุการณ์และคำสอนที่ได้เล่ามาข้างต้น สรุปความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาได้ดังนี้

  1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
  2. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
  3. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรก คือการที่ท่านโกณฑัญญะ รู้แจ้งธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
  4. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
  5. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวก คือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้นได้บรรลุธรรมและบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

เมื่อเทียบกับวันสำคัญอื่นในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชานี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์) เรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ (คือวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า) เรียกวันมาฆบูชาว่า วันพระธรรม (คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประกาศประมวลหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา)

๕. ประเพณีวันอาสาฬหบูชา

ประเพณีจัดงานวันอาสาฬหบูชา คือ มีพิธีกรรมบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญเฉลิมฉลองวันอาสาฬหบูชานี้ มีอายุยังไม่นาน พึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ กล่าวคือ หลังจากงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้ว คณะสงฆ์ได้พิจารณาเห็นว่า การแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา ทำให้มีการเผยแผ่พระธรรมสืบอายุพระพุทธศาสนามาจนบัดนี้ ควรจัดวันแสดงปฐมเทศนานั้น เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนาด้วย เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นที่มีอยู่แล้ว คือวันวิสาขบูชา (มีมานานอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัย) และวันมาฆบูชา (มีขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔) จึงได้ออกประกาศให้วัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรจัดงานวันอาสาฬหบูชา และเชิญชวนพุทธศาสนิกชนไปร่วมประกอบพิธีบูชา ครั้งนั้นทางราชการก็ได้สนับสนุนมติของคณะสงฆ์ โดยประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางราชการ และเป็นวันหยุดราชการวันหนึ่งสืบมาจนบัดนี้3

พิธีกรรมที่กระทำในวันอาสาฬหบูชา โดยทั่วไปก็อนุวัตรตามที่กระทำในวันบูชาอื่นๆ เช่น ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์

เมื่อวันอาสาฬหบูชาเวียนมาถึง พุทธศาสนิกชนนอกจากทำบุญและประกอบพิธีต่างๆ ตามประเพณีแล้ว ควรได้รับประโยชน์ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชาด้วย กล่าวคือควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตของเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด เราก้าวหน้าไปในมรรคาแห่งวิถีชีวิตของชาวพุทธอยู่ในระดับใดแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าสำรวจตนแล้วเห็นว่า ได้งอกงามก้าวหน้าขึ้นบ้างอย่างน้อยผิดแปลกไปจากเมื่อร่วมพิธีในปีก่อน ข้อนั้นก็จะเป็นนิมิตแห่งชีวิตที่ดีงามของตน และเป็นเครื่องประกาศว่า อาณาจักรธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสถาปนาไว้ ได้แผ่ขยายออกไปสมความมุ่งหมายแห่งปฐมเทศนา

วันเข้าพรรษา

คำว่า พรรษา แปลว่า ฤดูฝน ปีหนึ่งก็ผ่านฤดูฝนครั้งหนึ่ง คนที่อยู่มาเท่านั้นฝนเท่านี้ฝนก็คืออยู่มาเท่านั้นปี ดังนั้น ในที่ทั่วๆ ไป จึงแปลพรรษากันว่า ปี

คำว่า เข้าพรรษา ก็คือ เข้าฤดูฝน คือถึงเวลาที่จะต้องหยุดการเดินทางในฤดูฝน พักอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ โดยไม่ไปแรมคืนที่อื่น เพราะเหตุนี้ จึงมีคำเกิดขึ้นอีกคำหนึ่งคือคำว่า จำพรรษา

คำว่า จำพรรษา ก็คือ อยู่วัดประจำในฤดูฝน หมายความว่า พระสงฆ์จะต้องอยู่ในวัดที่ตนอธิษฐานพรรษาตลอดสามเดือนในฤดูฝน จะไปแรมคืนที่อื่นไม่ได้ นอกจากมีเหตุจำเป็น

คำว่า วันเข้าพรรษา ก็คือ วันที่พระสงฆ์ทำพิธีอธิษฐานพรรษา ซึ่งเป็นวันแรกของการจำพรรษานั่นเอง

“อธิษฐาน” แปลว่า ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไป “อธิษฐานพรรษา” ก็คือ ตั้งใจกำหนดแน่นอนลงไปว่าจะอยู่ประจำ ณ ที่นั้นตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน

กาลที่นิยมว่าเป็นฤดูฝน ที่เรียกในบาลีว่า วสฺสาน นั้น มีกำหนด ๔ เดือน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ การจำพรรษาของพระสงฆ์มีกำหนด ๓ เดือน การจำพรรษานั้น มี ๒ ระยะ ระยะแรกเรียกว่า ปุริมพรรษา แปลว่า พรรษาแรก หรือ พรรษาต้น เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ระยะหลังเรียกว่า ปัจฉิมพรรษา แปลว่าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันเข้าปุริมพรรษา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เป็นวันเข้าปัจฉิมพรรษา

ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือเพิ่มเดือน ๘ เข้ามาอีกเดือนหนึ่ง เป็นแปดสองแปด ในปีนั้นให้ถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง เป็นวันเข้าปุริมพรรษา

การที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตวันเข้าพรรษาไว้ ๒ วัน คือ วันเข้าปุริมพรรษา และวันเข้าปัจฉิมพรรษานั้น ก็เพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวันเข้าปุริมพรรษาไม่ทันด้วยเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถเลื่อนไปเริ่มจำพรรษาในวันเข้าปัจฉิมพรรษา

การจำพรรษา และวันเข้าพรรษา ถึงจะมีเป็นสองอย่างก็จริง แต่ที่ถือเป็นสำคัญและปฏิบัติกันโดยทั่วไปนั้นก็คือ วันเข้าปุริมพรรษา ซึ่งเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และไปครบสามเดือนในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ยังเหลือเวลาอีกหนึ่งเดือนท้ายฤดูฝนสำหรับเตรียมตัวเพื่อเดินทางไปในที่ต่างๆ ต่อไป ฉะนั้นในทางปฏิบัติ เมื่อพูดถึงวันเข้าพรรษา ก็หมายถึงวันเข้าปุริมพรรษานั่นเอง

มูลเหตุที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษา กล่าวความตามบาลีวัสสูปนายิกขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค พระวินัยปิฎก4 ว่าในมัชฌิมประเทศสมัย โบราณคืออินเดียตอนเหนือ เมื่อถึงฤดูฝนพื้นที่ย่อมเป็นโคลนเลนทั่วไป ไม่สะดวกแก่การเดินทาง คราวหนึ่ง มีพระพวกที่เรียกว่าฉัพพัคคีย์ คือเป็นกลุ่มมี ๖ รูปด้วยกัน ไม่รู้จักกาล เที่ยวไปมาทุกฤดูกาล ไม่หยุดพักเลย แม้ในฤดูฝนก็ยังเดินทาง เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัดและสัตว์เล็กๆ ตาย คนทั้งหลายพากันติเตียนว่า ในฤดูฝนแม้พวกเดียรถีย์และปริพาชกเขาก็ยังหยุด ที่สุดจนนกก็ยังรู้จักทำรังบนยอดไม้เพื่อหลบฝน แต่พระสมณศากยบุตรทำไมจึงยังเที่ยวอยู่ทั้งสามฤดู เหยียบย่ำข้าวกล้าและต้นไม้ที่เป็นของเป็นอยู่ และทำสัตว์ให้ตายเป็นอันมาก ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์อยู่ประจำที่ในฤดูฝนในที่แห่งเดียวเป็นเวลา ๓ เดือน เรียกว่า จำพรรษา ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงต้องจำพรรษา และมีวันเข้าพรรษาสืบมาจนบัดนี้

สถานที่ที่พระสงฆ์จำพรรษานั้น พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ จำพรรษาในที่กลางแจ้ง ในโพรงไม้ และในตุ่มหรือในหลุมขุด ซึ่งไม่ใช่เสนาสนะคือไม่ใช่ที่อยู่ที่อาศัย ทรงอนุญาตให้จำพรรษาในกุฏิที่มุงที่บังมีหลังคาและฝารอบขอบชิด อยู่ให้ครบ ๓ เดือน ถ้าอยู่ไม่ครบ ๓ เดือน หลีกไปเสีย พรรษาขาดและต้องอาบัติคือมีโทษ แต่เป็นโทษขนาดเบา เรียกว่าอาบัติทุกกฏ ถ้ามีภัยอันตรายเกิดขึ้น จะอยู่ในที่นั้นไม่ได้ เช่นน้ำท่วม หรือชาวบ้านถิ่นนั้นอพยพไปอยู่ที่อื่น เป็นต้น อนุญาตให้ไปในระหว่างพรรษาได้ ไม่เป็นอาบัติ หรือมีกิจจำเป็นที่จะต้องไปแรมคืนที่อื่น เช่นกิจนิมนต์ กิจเกี่ยวกับพระศาสนา ตลอดจนพระอุปัชฌาย์อาจารย์อาพาธ เป็นต้น อนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะ คือกิจที่ไปทำแล้วกลับมาให้ทันภายใน ๗ วัน พรรษาไม่ขาด

พิธีอธิษฐานพรรษา5 คือ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันโดยนิยมในโรงพระอุโบสถ ทำวัตรสวดมนต์ตามธรรมดา แล้วเปล่งวาจาอธิษฐานพรรษาพร้อมกันว่า อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ (นิยมว่า ๓ หน) แปลว่า ข้าพเจ้าจำพรรษาในอาวาสนี้ตลอดสามเดือน ดังนี้ และยังมีธรรมเนียมอธิษฐานพรรษาเฉพาะรูปๆ ซ้ำอีก ซึ่งบางแห่งยังปฏิบัติอยู่ว่า เมื่อออกจากโรงพระอุโบสถกลับไปถึงที่อยู่คือกุฎี ทำความสะอาดปัดกวาดเรียบร้อย ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้แล้ว กล่าวคำอธิษฐานพรรษาในกุฎีอีกว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ (นิยมว่า ๓ หน) แปลว่า ข้าพเจ้าจำพรรษาในกุฎีนี้ตลอดสามเดือน ดังนี้

เมื่อกล่าวคำอธิษฐานพรรษาเสร็จแล้ว ยังมีพิธีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือพิธีขอขมาโทษ ซึ่งเป็นพิธีที่เนื่องกับวันเข้าพรรษา วิธีปฏิบัติ คือ พระผู้น้อยนำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปหาพระผู้ใหญ่ กล่าวคำขอขมาโทษ แปลเป็นใจความว่า “กระผมขอขมาโทษที่ได้ล่วงเกินทางกาย วาจา ใจ เพราะความประมาท” แล้วพระผู้ใหญ่ก็กล่าวตอบแปลเป็นใจความว่า “ข้าพเจ้ายกโทษให้ แม้ท่านก็พึงยกโทษให้ข้าพเจ้า” พระผู้น้อยก็กล่าวว่า “กระผมขอยกโทษให้” เป็นอันต่างฝ่ายต่างให้อภัยกันในความล่วงเกินที่ได้ทำมาแล้ว นับเป็นวิธีสมานสามัคคีอย่างดียิ่ง

เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย เพราะถือเป็นโอกาสที่จะได้บำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษจากที่ได้บำเพ็ญเป็นประจำตามหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน เริ่มต้นแต่เมื่อใกล้จะถึงเข้าพรรษาต่างก็ช่วยกันซ่อมแซมตกแต่งเสนาสนะเพื่อให้พระสงฆ์ได้อยู่เป็นสุข นำลูกหลานญาติมิตรไปประชุมกันตามวัด ถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร พอถึงวันเข้าพรรษา บางพวกก็อธิษฐานว่า จะรักษาอุโบสถศีล ตลอด ๓ เดือน บางพวกก็อธิษฐานว่า จะฟังเทศน์ทุกวันมิให้ขาดตลอด ๓ เดือน บางพวกปวารณาตนต่อภิกษุสามเณรเฉพาะองค์ หรือทั้งวัด ถวายสิ่งที่ขาดเหลือตลอด ๓ เดือน บางพวกก็อธิษฐานใจ เว้นสิ่งที่ควรเว้น บำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เช่นพวกดื่มเหล้า บางคนก็เว้นดื่มเหล้าตลอดพรรษา โดยตั้งใจเว้นเองก็มี เข้าไปปฏิญาณต่อหน้าพระก็มี บางคนที่ทำบาปหยาบช้าทารุณกรรมต่างๆ ก็ปฏิญาณตนไม่ทำในสิ่งนั้น บางคนก็จัดดอกไม้ธูปเทียนและของใช้ประจำอื่นๆ เช่น สบู่ แปรง ยาสีฟัน สีย้อมผ้า ตลอดจนยารักษาโรค เป็นต้น ไปถวายแก่พระที่ตนเคารพนับถือ หรือที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน นี้เป็นกุศลพิธี คือเป็นพิธีบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ที่พุทธศาสนิกชนจะพึงปฏิบัติในวันเข้าพรรษา

ผ้าอาบน้ำฝนนั้น มีกำหนดตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง โดยคืบพระสุคต6 คำนวณตามอัตราที่นิยมถือกันมาเทียบกับมาตราที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ตัดเศษแล้วได้ ยาว ๒ เมตร กว้าง ๘๓ เซนติเมตร (ถ้าถืออย่างง่าย คิดเท่ากับมาตราที่ใช้ในปัจจุบันเลยทีเดียว จะได้เพียงยาว ๑ เมตรครึ่ง กว้าง ๖๒.๕ เซนติเมตร) ทำยาวหรือกว้างกว่ากำหนดใช้ไม่ได้ ภิกษุผู้ทำหรือให้ทำหรือใช้นุ่งมีความผิด เวลาที่จะถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นมีพุทธบัญญัติไว้ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน ระยะนี้เป็นเวลาที่พระภิกษุจะแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ผู้ประสงค์จะบำเพ็ญกุศลให้ต้องตามพุทธานุญาต จึงหาผ้าอาบน้ำฝนถวายในระยะนี้ แต่ที่ปฏิบัติกันทั่วๆ ไปถวายในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน เพราะวันนั้นเป็นวันธรรมสวนะและเป็นวันอาสาฬหบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนไปประชุมกันที่วัดเป็นปรกติอยู่แล้ว จึงถือโอกาสถวายผ้าอาบน้ำฝนในวันนั้น

1เบญจวัคคีย์ หรือ ปัญจวัคคีย์ แปลกันว่า "พระพวก ๕" คือ พราหมณ์ ๕ ท่าน ที่ออกบวชตามเจ้าชายสิทธัตถะ และคอยดูแลอยู่ใกล้ชิดพระองค์ระหว่างทรงบำเพ็ญเพียร ได้แก่ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอรหันตสาวกรุ่นแรกของพระพุทธเจ้า
2ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มาใน วินย.๔/๑๓ (วินัยปิฎก มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๑๓); สํ.ม.๑๙/๑๖๖๔ (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๑๖๖๔)
3ตามประกาศคณะสงฆ์ เรื่องกำหนดวันสำคัญทางศาสนา ณ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ (โดยมติคณะสังฆมนตรี ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของพระธรรมโกศาจารย์ สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา) และประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๐๑ ณ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๑ อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีให้ถือวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางราชการ และให้ชักธงชาติในวันดังกล่าว
4วินย.๔/๒๐๕-๒๒๒ (วินัยปิฎก มหาวรรค พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๒๐๕-๒๒๒)
5ดูวิธีปฏิบัติตามมติอรรถกถา ที่ วินย.อ. ๓/๑๕๙ (สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ภาค ๓ หน้า ๑๕๙)
6วินย.๒/๗๗๓ (วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎก เล่ม ๒ ข้อ ๗๗๓)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.