อินเดียแดนเทวดา และการปฏิบัติธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

อินเดียแดนเทวดา1

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

เรื่องประเทศอินเดียนี้ แม้ว่าอาตมาภาพจะไปเป็นครั้งแรก จะถือว่ารู้จักน้อยก็จริงในแง่ของการได้พบ แต่ในแง่ของการสดับตรับฟังแล้วละก็ได้ยินมานาน เห็นมีท่านที่รู้จักเป็นพระบ้างเป็นคฤหัสถ์บ้าง โดยเฉพาะพระที่ท่านไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ในประเทศอินเดีย นานๆ กลับมาแล้วท่านก็เล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ได้ยินเรื่องประเทศอินเดียมาไม่น้อยเหมือนกัน โดยมากจะเป็นเสียงพูดในทางที่ไม่ค่อยดี เช่นเมื่อพูดถึงดินแดนประเทศอินเดียก็พูดถึงความแห้งแล้ง ความยากจน ความสกปรก ความไม่สะดวกสบายต่างๆ อาหารที่รับประทานได้ยาก ไม่ถูกปากคนไทย ถ้าพูดถึงผู้คน ก็ว่า คนอินเดียนั้น นอกจากจะยากจนแล้ว ยังขี้เหนียว ใจแคบ อะไรต่างๆ ก็พูดถึงว่าแห้งแล้งทั้งน้ำใจ อันนี้ก็เป็นเสียงที่ได้ยินมาก่อน ก็เลยเป็นอันว่า ได้ยินในทางไม่ค่อยดีเกี่ยวกับประเทศอินเดียไว้มากทีเดียว บางท่านที่เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่นับถือ ได้ยินว่าอาตมภาพไปอินเดีย ท่านบอกว่าอินเดียไม่ใช่เป็นประเทศสำหรับไปพักผ่อน ถ้าหากจะไปดูไปศึกษาก็ได้ เป็นประโยชน์ ตัวท่านเองเคยไปอินเดียมาแล้ว บอกว่าเป็นการเดินทางที่ลำบากยากแค้นที่สุดในชีวิต ไม่มีความปรารถนาจะไปอีก นอกจากว่าเพื่อการศึกษา อันนี้เป็นเรื่องที่ได้ยินเกี่ยวกับประเทศอินเดียมาก่อน

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องราวที่ตัวไปเห็นว่าเป็นอย่างไร อยากจะขอแทรกสักนิดหนึ่ง ที่พูดเมื่อกี้ว่าเดินทางไปนี้ ก็ได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน สังเวชนียสถานก็เป็นที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา แปลกันว่า สถานเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช ถ้าเป็นชาวพุทธไปก็ต้องมุ่งไปที่สังเวชนียสถาน ซึ่งมีอยู่ ๔ แห่ง คือ สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ สถานที่พระองค์ตรัสรู้ สถานที่พระองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา และสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

ข้อที่อยากจะพูดแทรกในที่นี้ก็คือความหมายของคำว่าสังเวช รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง คำว่าสังเวชในภาษาไทย มักจะมองกันในแง่ของความสลดหดหู่ใจ หรือไม่ก็ห่อเหี่ยวไปเลย ซึ่งความหมายเดิมในบาลีไม่ใช่อย่างนั้น สังเวชนี้แปลว่ากระตุ้นเตือนหรือเร้าใจ เร้าใจให้อยากทำความดี ให้ไม่ประมาท ความหมายของคำหลายคำในภาษาบาลี อาตมภาพว่า เดี๋ยวนี้มันตรงกันข้ามกับความหมายในภาษาไทย ต้องแก้ไขกันใหม่ เช่นอย่างในพระพุทธพจน์ที่ตรัสถึงเรื่อง สังเวชนียสถาน ๔ นั้น ในพระไตรปิฎก ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสังเวชนียสถาน ๔ โดยใช้คำควบว่าเป็นทัศนียสถานด้วย ทสฺสนียานิ สงฺเวชนียานิ ฐานานิ สถานที่อันเป็นทัศนียะ ๔ ทีนี้เราเอาเฉพาะคำหลัง ก็เหลืออยู่แต่สังเวชนีย พระพุทธเจ้าตรัสโดยปรารภถึงว่า สมัยก่อนเมื่อพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ พระภิกษุทั้งหลายเดินทางมาจากที่ไกลๆ มุ่งจะมาได้พบเห็นสนทนาปราศรัยกับพระภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นที่เจริญใจ (มโนภาวนีย) เพราะว่าเมื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็มีสาวกผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ทรงคุณธรรมต่างๆ อยู่ด้วยมากมาย แต่เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ล่วงลับไปแล้ว ก็จะไม่ได้โอกาสเช่นนั้น ก็เลยให้มาสถานที่ทั้ง ๔ นี้ เมื่อมาดูแล้ว เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกได้หลายอย่าง อาจจะรู้สึกในแง่หนึ่ง ปลง เห็นไตรลักษณ์ โดยเฉพาะความไม่เที่ยงว่าพระพุทธเจ้า พระวรกายของพระองค์ก็ตกอยู่ในอำนาจของคติธรรมดาต้องแตกสลายเสื่อมโทรมไป หรือจะมองในแง่ว่า เกิดความรู้สึกปิติยินดีก็ให้เห็นว่า โอ... นี่สถานที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงว่าพระพุทธเจ้าของเรามีอยู่จริง พระองค์ได้เคยมาประทับในสถานที่นี้ เรามาถึงสถานที่พระองค์เคยประทับ เคยทรงใช้สอย เคยทรงเสด็จมา เราก็เกิดความอิ่มเอิบใจ ปลาบปลื้มปีติยินดีขึ้นมา แล้วก็มีกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติดีงาม ไม่ว่าจะนึกในแง่ไหนก็ตาม ถ้าทำให้เกิดความไม่ประมาท คิดขวนขวาย จะทำความดีงามแล้ว ความรู้สึกเร้าใจเตือนใจอย่างนั้น ท่านเรียกว่า ความสังเวช ถ้าหากว่าเราประสบเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายแล้ว มีความรู้สึกที่ไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำความดีงามนั้น เรียกว่าเกิดความสังเวช ถ้าหากว่าเกิดความสลดหดหู่ใจจะเป็นคุณธรรมได้อย่างไร มันไม่เป็นกุศลแล้ว สลดหดหู่เป็นกิเลส เรียกว่า นิวรณ์ เป็นถีนมิทธะ ไม่ดีแน่ๆ เพราะฉะนั้น อาตมภาพเลยพูดแทรกขึ้นมา เรื่องความหมายของคำว่าสังเวช ขอผ่านไป

เมื่อเดินทางไป สังเกตดูในหมู่ท่านที่อยู่ในคณะเดินทางเอง สิ่งที่สะดุดความรู้สึกก็เป็นเรื่องของความแห้งแล้ง ทั้งบนฟ้าและทั้งใบหน้าคน หมายความว่า บนผืนแผ่นดินนั้นก็หาน้ำได้ยาก แห้งแล้ง ต้นไม้เขียวๆ ก็ไม่ค่อยจะมี ดูหน้าตาคนที่ผ่านไปตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ ก็แห้งไปหมด นี่... เป็นสิ่งที่กระทบความรู้สึกในเบื้องต้น มีขอทานมากมายเต็มไปหมด ในแม่น้ำแทนที่จะมีน้ำก็มีแต่ทราย เช่น แม่น้ำเนรัญชรา ที่พระพุทธเจ้าไปประทับและได้ตรัสรู้อยู่บนริมฝั่งแม่น้ำนี้ บัดนี้ก็ไม่มีน้ำสักหยดเดียว มีแต่ทรายเต็มไปหมด บนภูเขาก็ไม่มีต้นไม้ หาต้นไม้ได้ยาก มีแต่หินแต่ทราย มีแต่ดินสีแดงอะไรพวกนี้ อาตมภาพผ่านไปในสถานที่เหล่านี้ จิตใจก็หวนนึกมาถึงเมืองไทยอยู่เสมอ มานึกถึงว่า เอ... ประเทศไทยของเรานี้กำลังเดินไปสู่ภาวะ จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เช่น มีการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น ต่อไปเมืองไทยเราจะแห้งแล้งอย่างนั้น น้ำจะเหลือแต่ทราย ภูเขาจะเหลือแต่ดินแดงหรือเปล่า มีความรู้สึกเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา นี่ก็เป็นความรู้สึกที่ได้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึก เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องพูดถึงเหตุผล ห้ามไม่ได้ ยังไม่ใช่เรื่องถูกเรื่องผิด บอกแต่ว่าไปเห็นแล้วรู้สึกอย่างนั้น ไม่ว่าใครที่ไปในคณะก็รู้สึกคล้ายๆ กันอย่างนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องความรู้สึกอย่างเดียวนี้ไม่พอ เราจะต้องพูดกันถึงเนื้อหาสาระเหตุผลต่อไป

อาตมภาพอยากพูดสรุปโดยรวบรัด เพราะเวลาเรามีน้อย ถึงภาวะของประเทศอินเดียตามหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า “อินเดียในระหว่างและหลังพุทธกาล” ถ้าพูดโดยย่อแล้วก็มี ๒ ฝ่าย คือ สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมกับสิ่งที่เหมือนเดิม

เอาสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมก่อน สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม โดยสภาพธรรมชาติ ก็คล้ายกับที่ได้กล่าวมาเมื่อกี้ คือเรื่องต้นไม้แม่น้ำธรรมชาติแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเรามองย้อนไปในสมัยพุทธกาล โดยศึกษาจากคัมภีร์วรรณคดีพุทธศาสนาที่กล่าวถึง ก็เข้าใจว่าจะต้องมีความอุดมสมบูรณ์ ถึงแม้จะไม่อุดมสมบูรณ์มากนัก แต่ก็ต้องดีกว่าสมัยนี้ เช่น อย่างกล่าวถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติก็เป็นป่า คือ ป่าลุมพินี ดงไม้สาละ บัดนี้มันไม่เป็นป่าแล้ว มันเป็นที่โล่ง อย่างแม่น้ำเนรัญชรา ที่พระพุทธเจ้าไปประทับทำความเพียรจนตรัสรู้นั้น ก็มีคำบรรยายไว้ในพระไตรปิฎก กล่าวถึงธรรมชาติที่สวยงาม ต้นไม้ที่ร่มรื่นเขียวขจี มีท่าน้ำ มีแม่น้ำกระจ่างใสแจ๋ว เป็นที่รื่นรมย์ใจ พระพุทธเจ้าเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ก็ไปลอยถาดที่แม่น้ำเนรัญชรา แต่บัดนี้ แม่น้ำเนรัญชราก็มีแต่ทราย พระพุทธเจ้าจะไปลอยถาดได้อย่างไร เฉพาะเดือน ๖ ไม่มีน้ำจะให้ลอยถาดได้แน่นอน

พูดถึงสภาพผู้คนที่มองเห็นโดยทั่วไปก็คือสภาพความยากจนและเรื่องการศึกษา มีคนไม่รู้หนังสือมากมาย ถ้าเรามองกลับไปดูสภาพในสมัยพุทธกาล และพระพุทธเจ้าทรงตั้งคณะสงฆ์ ต่อมาก็มีภิกษุสงฆ์ มีภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ก็มีผู้ทรงความรู้ ภิกษุณีสงฆ์ก็มีพระเถรีที่ทรงปัญญาเป็นอัครสาวิกา เป็นนักแสดงธรรมที่เก่งกาจ แม้แต่สาวิกาฝ่ายอุบาสิกา เป็นคฤหัสถ์ก็มีที่เป็นเอตทัคคะในทางพหูสูต เป็นผู้คงแก่เรียน แสดงว่า ในสมัยพุทธกาล อย่างน้อยพระพุทธศาสนาก็ทำให้คนทั่วไปรวมทั้งสตรีได้รับการศึกษาขึ้นมาเป็นอันมาก ครั้นมาถึงสมัยพระเจ้าอโศกที่เป็นกษัตริย์นับถือพระพุทธศาลนา ฝรั่งเขียนหนังสือสันนิษฐานว่า สมัยนั้นมีการรู้หนังสือเป็นเปอร์เซ็นต์สูงเหลือเกิน แต่มาในสมัยปัจจุบัน อินเดียเสื่อมลงในด้านการศึกษา มีการศึกษาน้อย โดยเฉพาะก่อนที่จะปรับปรุงประเทศแล้ว ก็ยังไม่ก้าวหน้าไปมากมายนัก เพราะฉะนั้นในแง่นี้ก็ถือว่าเป็นความไม่เหมือนเดิม

ต่อไปด้านที่เหมือนเดิม ที่ว่าเหมือนเดิมก็คือ มีมาแต่ก่อนพุทธกาลอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็มีอย่างนั้นว่าถึงในแง่เหมือนเดิมนี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดีหรอก เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าพยายามแก้ไข แต่มันก็ไม่หมดสิ้นไป เหลืออยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เช่น การบำเพ็ญตบะ ทราบว่าที่อินเดียนั้น คนก็ยังบำเพ็ญทุกรกิริยา มีความเชื่อเหล่านี้กันมาก นักบวชในลัทธิต่างๆ ก็ยังบำเพ็ญตบะกัน ยืนขาเดียวเหนี่ยวกิ่งไม้ นอนบนหนาม อดอาหาร ถอนผมทีละเส้นจนหมดศีรษะ ยืนกลางแดด อะไรต่างๆ เพื่อบรรลุโมกษะ ยังทำกันอยู่ โยคีในประเทศอินเดียก็ยังถือกันมาเป็นพันๆ ปี ไม่ได้ต่างออกไป

ถัดไปก็เรื่อง วรรณะ วรรณะเป็นเครื่องแบ่งคนออกเป็นชนชั้น มีกษัตริย์ มีพราหมณ์ มีแพศย์ มีศูทร เกิดมาอย่างไรก็ต้องอยู่ในสภาวะในฐานะนั้นๆ ตลอดชาติ พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาก็พยายามแก้ไข ให้ถือว่าคนเรานี้ จะสูงจะต่ำ มิใช่เพราะชาติกำเนิด แต่เป็นเพราะการกระทำ ความประพฤติ มีการตั้งคณะสงฆ์ ไม่ว่าใครจะมาจากวรรณะไหน เมื่อมาบวชแล้ว ก็จะเป็นสมณศากยบุตรเสมอกัน พยายามแก้ไขมา แต่ศาสนาเดิมเขาก็พยายามดำรงรักษาระบบนั้นไว้ จนกระทั่งต่อมาภายหลังพระพุทธศาสนาก็เสื่อม ระบบวรรณะก็กลับยิ่งเข้มงวดกว่าเก่า กลับรุนแรงยิ่งขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้ แม้ว่าในทางกฎหมาย รัฐบาลอินเดียจะให้ถือว่าไม่มีชนชั้นวรรณะ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังถือชั้นวรรณะอยู่ตามเดิมนั่นเอง เวลากี่พันปีมาแล้วอินเดียก็ยังคงอยู่อย่างเดิมในเรื่องวรรณะ

อีกอย่างหนึ่งคือการบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า อินเดียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเทวดา มีเทพเจ้ามากมาย มี พระพรหม พระประชาบดี ต่อมามีพระศิวะ พระนารายณ์เป็นเทพใหญ่ แตกแยกกันเป็นนิกายต่างๆ พวกหนึ่งนับถือพระศิวะ ก็เป็นนิกายไศวะ ก็นับถือว่าพระศิวะยิ่งใหญ่ที่สุด อีกพวกหนึ่งนับถือพระวิษณุ ถือว่าพระนารายณ์ยิ่งใหญ่กว่า ก็เป็นนิกายไวษณพหรือไวษณวะ เป็นต้น แล้วก็มีเทวดาต่างๆ เล็กน้อยลงไปมากมาย มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เยอะแยะ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีการบวงสรวงอ้อนวอนเทวดากันทั่วไปนี่ก็เหมือนเดิม

ทีนี้สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมชัดๆ ก็คือพุทธศาสนาเองนั่นแหละ เคยอยู่ในประเทศอินเดียเจริญรุ่งเรือง บัดนี้ก็สูญสิ้นไปจากประเทศอินเดียเสียแล้ว นี่แสดงว่าไม่เหมือนแน่ๆ แต่มีนักปราชญ์กล่าวว่า ถึงแม้พุทธศาสนาจะสูญสิ้นไปจากอินเดียแล้วก็ตาม (เดี๋ยวนี้อาจจะเริ่มกลับไปบ้างนิดๆ หน่อยๆ ) แต่อิทธิพลของพุทธศาสนา สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ก็หาได้สิ้นสูญไปไม่ กลับมีอิทธิพลต่อศาสนาในท้องถิ่นเดิมอย่างศาสนาฮินดู ก็ต้องปรับปรุงตัว ต้องรับเอาคำสอนใน พระพุทธศาสนาเข้าไปที่เห็นชัดๆ ก็ได้แก่หลักอหิงสา ศาสนาพราหมณ์ที่มาเป็นศาสนาฮินดูนั้น เดิมเป็นศาสนาแห่งการบูชายัญฆ่าสัตว์ ตลอดจนกระทั่งฆ่าคนบูชายัญ ทีนี้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาสั่งสอนเรื่องความเมตตากรุณา ความช่วยเหลือกัน การงดเว้นจากการเบียดเบียน คำสอนเหล่านี้ก็ทำให้ศาสนาพราหมณ์ต้องปรับปรุงตัวเอง กระทั่งภายหลังศาสนา ฮินดูกลายเป็นศาสนาแห่งการไม่กินเนื้อสัตว์ไป คนแขกโดยทั่วไปชาวฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์ อาจจะเป็นด้วยว่าต้องการแข่งกับพุทธศาสนา ให้เห็นว่าฉันถืออหิงสายิ่งกว่าในพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป

นี่ก็เป็นเรื่องต่างๆ ที่นำมากล่าว แต่ภาพหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาก็คือความรู้สึกที่ว่าอินเดียเป็นตู้โชว์อดีต คือใครไปประเทศอินเดียก็มุ่งจะไปดูภาพความเจริญซึ่งเป็นอารยธรรมในอดีต เมื่อ ๒๐๐๐-๓๐๐๐ ปี ๑๐๐๐ กว่าปี ๕๐๐-๑๐๐ ปีมาแล้ว คนที่ต้องการไปอินเดีย เพื่อดูภาพปัจจุบันนี้หายาก หมายความว่า ถ้าไม่มีซากของอดีตที่แสดงว่าอินเดียเคยเจริญรุ่งเรืองมีอารยธรรม คนก็ไม่รู้จะไปประเทศอินเดียทำไม เพราะฉะนั้นในแง่นี้ก็เลยเรียกว่าเป็นตู้โชว์ของอดีต

อยากจะพูดถึงเรื่องที่ควรเน้นสักนิดหน่อย ในเวลาอันจำกัดต้องยกประเด็นอันน่าจะพูดขึ้นมาพูดเป็นเรื่องๆ ทีนี้ในบรรดาเรื่องที่ผ่านมา ที่ว่าเหมือนและไม่เหมือนอะไรต่างๆ ในครั้งพุทธกาลกับครั้งปัจจุบันนั้น ก็มีเรื่องที่เด่นในความรู้สึกของอาตมภาพเมื่อเดินทางไปประเทศอินเดีย ๒ เรื่องหรือ ๒ สิ่ง แต่ ๒ เรื่องนี้ อาจจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ เพราะบางที ๓ อย่างแต่เป็นเรื่องเดียวกันก็มี ในที่นี้ก็มี ๒ อย่างที่เด่นในความรู้สึก

อันหนึ่งก็คือ ความแห้งแล้ง

สองก็คือ เรื่องเทวดา

ไปในอินเดีย ภาพสองอย่างนี้มีมากทำให้เด่นในความรู้สึก

เรื่องความแห้งแล้งกับเทวดานั้น เป็น ๒ อย่างก็จริง แต่อาจสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ ถ้าเอามาบรรจบกัน ลองพูดดู ก็อาจจะบอกว่า ในประเทศอินเดียนั้นบนแผ่นดินก็เต็มไปด้วยความแห้งแล้งยากไร้ บนผืนฟ้าก็เต็มไปด้วยเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ เมื่อเอามาบรรจบกันอย่างนี้แล้วจะได้ความคิดว่าอย่างไร

ข้อที่หนึ่ง บางท่านก็อาจจะคิดว่าประเทศอินเดียก็มีเทวดายิ่งใหญ่ ทรงฤทธิ์อำนาจมาก มีทั้งพระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ ทำไมจึงปล่อยประเทศอินเดียให้โทรม ทำไมไม่ช่วยแก้ไขให้เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ เพราะเทพที่นั่นล้วนใหญ่โตเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง คนอินเดียก็บวงสรวงบูชานับถือท่านเหลือเกินด้วย ทำไมท่านปล่อยประเทศอินเดียให้มันแห้งแล้ง ยากไร้อย่างนั้น นี่ก็เป็นแง่ที่หนึ่งที่อาจจะคิดขึ้นมาแง่นี้ขอผ่านไปก่อน

ขอแทรกตรงนี้หน่อย เช่นอย่าง พระพรหมนั้น เวลานี้ในเมืองก็นับถือเซ่นสรวงบูชาท่านมาก คนบางคนที่รู้เห็นพฤติกรรมของท่านดี อาจจะตัดพ้อท่านขึ้นมาก็ได้ว่า ท่านรับเครื่องเซ่นสังเวยในอินเดียมานาน จนเวลานี้อินเดียแห้งแล้งหมด จนไม่มีอะไรเซ่นไหว้อีกแล้ว และทั้งๆ ที่เขาก็ยังนับถือบูชาท่านอยู่ท่านก็ละทิ้งเขาเสีย มารับเครื่องเซ่นสรวงบูชาต่อที่เมืองไทย ปล่อยให้อินเดียซูบโทรมผจญชะตากรรมไปตามลำพัง ต่อไปภายหน้า พอเครื่องเซ่นสรวงบูชาที่เมืองไทยร่อยหรอ แผ่นดินไทยไปหาเครื่องเซ่น ณ ที่ใหม่ในดินแดนอื่น เช่นที่ท่านได้ทำมาแล้วกับอินเดีย

แง่ที่สอง อาจจะมีความสัมพันธ์เป็นวงจรแบบปฏิจจสมุปบาท คือว่า คนมีความหวังพึ่งเทวดามากก็สวดอ้อนวอน รอความช่วยเหลือ ไม่ทำการทำงาน ไม่เพียรพยายามด้วยตนเอง เมื่อไม่เพียรพยายามด้วยตนเองก็ยิ่งยากจนข้นแค้นลง ยิ่งยากจนข้นแค้นลง ไม่มีใครช่วยเหลือได้ ก็ยิ่งหวังพึ่งเทวดามากขึ้น หวังพึ่งเทวดามากขึ้นไม่ทำอะไร มันก็ยิ่งยากจน เพราะฉะนั้นมันก็สนับสนุนซึ่งกันและกันให้ยิ่งหนักลงๆ กลายเป็นวงจรปฏิจจสมุปบาทไป

ก็เลยนึกว่า คนอินเดียปลอบใจตัวด้วยเทวดา แล้วก็มานึกถึงเมืองไทยว่าเหมือนคนไทยปลอบใจตัวด้วยสุราและการพนัน นี่เป็นข้อคิดอีกอันหนึ่ง คือเป็นลักษณะของการปลอบใจตัว อยู่ด้วยความหวัง ที่ทำให้ไม่เพียรพยายามขวนขวายที่จะแก้ไขปรับปรุงทำการงาน เฝ้าแต่รอคอยผลที่จะลอยมา อันนี้ก็จะเป็นทางแห่งความเสื่อม จะเป็นการปลอบใจตัวด้วยเทวดา หรือจะปลอบใจด้วยสุราและการพนัน ก็จะมีผลออกมาคล้าย ๆ กัน

ทีนี้เมื่อมาถึงเมืองไทยเรานี้ มันจะหนักขึ้นไปอีก เดี๋ยวจะเพิ่มการปลอบใจตัวด้วยเทวดาเข้ามาอีกหนึ่ง ก็เป็นสาม คือ ปลอบใจตัวทั้งด้วยเทวดา ทั้งด้วยสุราและการพนัน ถ้าอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าจะพัฒนาประเทศกันได้อย่างไร นี่ก็เป็นข้อคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา

อย่างเรื่องเทวดาของอินเดีย ท่านมีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มากมายเหลือเกิน เทพเจ้า ๒ องค์ อาจจะมารบกันยกกองทัพมามีพลนิกายเป็นแสน เป็นล้าน เป็นโกฏิ ยกทัพมาแล้วก็แสดงฤทธิ์กัน เทพองค์ ก. อาจจะดลบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้เทพองค์ ข. ตกจากสวรรค์ ลงไปใต้บาดาล เทพองค์ ข. นั้นตกจากสวรรค์ ลงไปใต้บาดาล เทพองค์ ข. นั้นตกไปใต้บาดาลแล้วก็แสดงฤทธิ์ บันดาลให้ตัวใหญ่โตขึ้นมา สูงจากบาดาลขึ้นมาถึงสวรรค์ตัวใหญ่มาก ก็จับเทพองค์ ก. ก็เอาพระขรรค์ขว้างไปถูกเทพองค์ ข. เสียงดังเปรี้ยงปร้าง พระเศียรขาดอะไรทำนองนั้น ก็เป็นเรื่องสนุกสนาน อัศจรรย์ คึกคักดี คนที่นับถือฟังเรื่องเหล่านี้ ก็ทำให้ลืมความทุกข์ยากไปได้ชั่วคราว สนุกสนานตื่นเต้น ก็เลยมีความหวังกับเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ นี่ก็เป็นเรื่องของเทวดาที่มีมาในคติของฮินดู

ในพุทธศาสนาเราๆ ก็กล่าวถึงเรื่องเทวดาเหมือนกัน อาตมภาพว่าในสมัยปัจจุบันนี้ การเกี่ยวข้องกับเทวดาชักจะมากขึ้น เราน่าจะมาพูดถึงทัศนคติท่าทีของพุทธศาสนาต่อเทวดาให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะว่า มันต่างจากความนับถือของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูอย่างไร มิฉะนั้นแล้วชาวพุทธจะไขว้เขว ซึ่งการแยกการปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก

อาตมภาพอยากจะยกพุทธพจน์ข้อหนึ่งขึ้นมาอ้างไว้ก่อน เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติท่านเล่าว่า พระองค์ได้ประกาศเปล่งอาสภิวาจา หรือวาจาอันอาจหาญว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส แปลว่า เราเป็นบุคคลผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก บางท่านว่าพระพุทธเจ้าทำไมประกาศพระองค์ยิ่งใหญ่อย่างนี้นะ ที่จริง อาตมภาพมองว่า นี่คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ คำต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าประกาศในอาสภิวาจานั้น แต่ก่อนโน้นเป็นคำที่ศาสนาพราหมณ์เขาใช้แสดงความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งนั้น หมายความว่า ก่อนพุทธกาลนั้น คนทั้งหลายยอมตนต่อเทพเจ้าไปหมด มีแต่เทพเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้บันดาลทุกอย่าง มนุษย์ได้แต่พากันบูชายัญ บวงสรวงอ้อนวอนด้วยประการต่างๆ ฝากชะตากรรมไว้กับการดลบันดาลของเทพเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นพระองค์ก็ประกาศอิสรภาพว่ามนุษย์นี่แหละสามารถจะฝึกตนให้ประเสริฐ เป็นพระพุทธเจ้าที่เลิศยิ่งกว่าเทพทั้งหลายทั้งหมด เทวดา มาร พรหม ต้องบูชาพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น นี่เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ แต่เราได้คติอันนี้หรือเปล่า นี่ก็เป็นข้อที่น่าพิจารณา

หลักการในพระพุทธศาสนานั้น ให้เปลี่ยนจากการหวังพึ่งเทวดามาเชื่อกรรม เชื่อกรรมก็คือเชื่อการกระทำ หมายความว่า เราต้องการผลก็ต้องกระทำเหตุ เราเชื่อการกระทำไหม มั่นใจในการทำความดีไหม หรือจะเชื่อหวังการอ้อนวอน นี้เป็นเรื่องสำคัญ นี่เป็นจุดตัดสินว่าเป็นพุทธ หรือเป็นพราหมณ์

พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเทวดา อันนี้เป็นข้อที่พิจารณาอันหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อเทวดา แต่ท่านมีหลักการปฏิบัติชัดเจนในเรื่องเทวดา คือให้อยู่ร่วมกันกับเทวดาด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ ฐานเพื่อนร่วมโลกเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จะเหมือนญาติ หรือเหมือนมิตรร่วมโลกก็แล้วแต่ แล้วท่านก็สอนตัวอย่างไว้มากมายให้ชาวพุทธปฏิบัติให้ถูกต้องในเรื่องเทวดา แต่บางทีเราก็ไม่ได้สังเกตว่าท่านสอนไว้อย่างไร อาตมภาพจะเล่าเรื่องที่ท่านสอนไว้สัก ๓ เรื่อง แล้วจะสรุปเป็นข้อปฏิบัติของชาวพุทธต่อเทวดาได้

เรื่องที่ ๑ คือ เรื่องมหาชนกชาดก หรือมหาชนาในทศชาติ มหาชนกแสดงวิริยบารมีคือความเพียรพยายาม ท่านเล่าว่า มหาชนกได้เดินทางไปในเรือเดินสมุทร แล้วเรือแตก เมื่อเรือแตกกลางทะเลนั้นคนจำนวนมาก บางพวกก็ได้แต่ทุกข์ใจ ระส่ำระสายร้องไห้เศร้าโศก บางพวกก็แสดงความท้อแท้หมดอาลัยตายอยากในชีวิต บางพวกก็อ้อนวอนเทพเจ้าที่ตนนับถือขอให้มาช่วย แต่มหาชนกโพธิสัตว์ หากระทำเช่นนั้นไม่ ท่านใช้ปัญญาของมนุษย์พิจารณาว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเช่นนี้ เราจะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วท่านก็หาทางออก ในที่สุดท่านก็ได้ท่อนไม้ท่อนใหญ่มาอันหนึ่ง พอเรือแตกไม่นานคนอื่นก็ตายหมด แต่มหาชนกก็อาศัยท่อนไม้นั้นเกาะลอยไปในทะเล เพียรพยายามว่ายไปเรื่อย ไม่รู้จักสิ้นสุด จนกระทั่ง นางมณีเมขลาเทพธิดาประจำมหาสมุทรได้มองเห็น และตามดูพฤติกรรมของท้าวมหาชนกนี้ ว่าทำไมจึงเพียรพยายามอยู่ได้อย่างนั้น แล้วก็เลยมาแกล้งทดสอบดู นางเทพธิดาถามว่า ใครนั่นนะ มาเพียรพยายามว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง ถ้าขืนพยายามอย่างนี้ต่อไปไม่เห็นจุดหมายก็คงตายเปล่า มหาชนกโพธิสัตว์ก็ตอบว่า เราจะตายก็ไม่เป็นไร ถ้าเราได้เพียรพยายามทำหน้าที่ของคนแล้ว ถึงตายก็ตายไปอย่างไม่เป็นหนี้ใคร ถ้าได้ทำกิจหรือหน้าที่ของลูกผู้ชายแล้ว จะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องเดือดร้อนใจ ท่านว่าอย่างนี้ แล้วก็โต้ตอบกันไปมา ในที่สุดนางมณีเมขลาก็เลยช่วยพาขึ้นฝั่งไป นี่เป็นเรื่องที่ ๑ เดี๋ยวจะสรุปว่าท่านสอนอะไรบ้าง

เรื่องที่ ๒ มีกษัตริย์ ๒ เมือง คือ กษัตริย์ฝ่าย ก. กับฝ่าย ข. ยกทัพมาตั้งเตรียมพร้อมที่จะรบกัน ตอนนั้นก็มีเสียงเล่าลือกันว่า มีพระฤาษีท่านหนึ่ง ตั้งอาศรมอยู่ริมแม่น้ำคงคา พระฤาษีนี้ติดต่อกับพระอินทร์ได้แล้วก็ถามพระอินทร์ว่า เหตุการณ์ภายหน้าจะเป็นอย่างไร ในเมื่อชื่อเสียงเล่าลืออย่างนี้ กษัตริย์ทั้ง ๒ ฝ่ายก็อยากจะรู้ว่าใครจะแพ้ ก็เลยหาโอกาสลอบไปถามพระฤาษี ปรากฏว่าไปถามคนละครั้ง มหากษัตริย์ฝ่าย ก. ก็ไปถาม พระฤาษีก็นัดให้มาวันนั้น ฉันจะพบกับพระอินทร์ก่อน แล้วค่อยมาเอาคำตอบ พอมารับคำตอบท่านก็บอกว่า กษัตริย์ ก. ชนะพระอินทร์บอกแล้ว ต่อมากษัตริย์ ข. ถามบ้าง พระฤๅษีก็บอกว่าท่านน่ะจะแพ้ พระอินทร์บอก อย่างนั้น ทีนี้กษัตริย์ฝ่าย ก. ได้รับคำทำนายว่าจะชนะ มาบอกเสนาข้าทหารก็เลยสนุกสนานเพลินเลี้ยงดูกันใหญ่ หมู่ทหารเมามายหลับไหลกันเต็มที่ ฝ่ายกษัตริย์ ข. ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ แต่เป็นกษัตริย์ที่ไม่ยอมย่อท้อ ก็เลยยิ่งระวังตัวใหญ่เตรียมการมากยิ่งขึ้น เพียงพยายามกระทำการด้วยความรอบคอบ วางแผนอย่างดี ผลที่สุดเมื่อรบกันจริงก็ปรากฏว่า กษัตริย์ฝ่าย ข. ชนะกษัตริย์ฝ่าย ก. กษัตริย์ฝ่าย ก. ก็เสียใจโกรธเคืองพระฤาษีมาก ว่าฤาษีหลอกต้ม เมื่อหนีทัพไปวิ่งม้าผ่านอาศรมพระฤาษี ก็ร้องตะโกนว่าพระฤาษีโกหก ฝ่ายพระฤาษีก็น้อยใจว่า พระอินทร์ทำไมมาหลอกเรานะ ทำให้เราเสียชื่อในหมู่มนุษย์ รอเวลาพระอินทร์ลงมาก็เลยต่อว่าพระอินทร์ พระอินทร์ก็ให้คติออกมาบอกว่า “ความเพียรพยายามของมนุษย์นั้น แม้แต่เทวดาก็เกียดกันไม่ได้” นี่เป็นคติในทางพุทธศาสนาในเรื่องเทวดาอย่างหนึ่ง

เรื่อง ๓ มีครอบครัวหนึ่งที่นับถือพระพุทธศาสนา พระภิกษุที่ตระกูลนี้บำรุงอยู่เป็นประจำนั้น ท่านไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า เทวดาที่อยู่ในบริเวณนั้นก็มีความอึดอัดใจเพราะมีผู้ทรงศีล ทรงคุณธรรมมาอาศัยอยู่ ตนอยู่จะทำอะไรก็ไม่ค่อยสะดวก ก็เลยอยากจะแกล้งหาทางไล่ให้พระภิกษุองค์นี้หนีไปเสีย แต่ต้องทำให้ท่านเสียศีลก่อนจึงจะไล่ได้ ก็ใช้วิธีไปบีบคั้นเอาทางครอบครัวที่บำรุง โดยไปสิงในร่างของลูกชายของตระกูลนั้น ทำให้คอบิด แล้วก็บอกแก่อุบาสกพ่อบ้านว่า ท่านจะต้องให้พระภิกษุรูปนั้น ทำอย่างนั้น ซึ่งเป็นการทำให้เสียศีล แล้วฉันจึงจะออก อุบาสกเป็นผู้มั่นคงในธรรมะก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม ลูกฉันจะตายก็ยอมละ แต่ฉันจะไม่ยอม ประพฤติละเมิดธรรมเป็นอันขาด ผลที่สุดด้วยอานุภาพของคุณธรรม ความมั่นในธรรมของอุบาสกนั้น เทวดาก็เป็นฝ่ายแพ้ไป

หรืออย่างเรื่อง อนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เป็นเศรษฐีใหญ่ในสมัยพุทธกาลและเป็นอุบาสกใหญ่ในพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน อันนั้นเทวดาที่อยู่ในเขตบ้านของท่านก็มาชวนให้เลิกทำบุญทำทานอะไร เศรษฐีก็ไม่ยอมและขับไล่เทวดาออกจากบ้าน เทวดาเดือดร้อนต้องไปหาทางคืนดี เอาอกเอาใจท่านเศรษฐีต่างๆ ท่านจึงยอมให้กลับเข้าไปอยู่ในบ้าน

อันนี้ก็เป็นคติในพระพุทธศาสนา จะสรุปท่าทีของพระพุทธศาสนาที่มีต่อเทวดาก็มีดังนี้

ประการที่ ๑ ท่านให้เราอยู่ร่วมกับเทวดาอย่างมิตร อย่างผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขในโลก ให้แผ่เมตตามีไมตรีจิตต่อกัน ไม่เบียดเบียนกัน ให้เกียรติต่อกัน เคารพนับถือเหมือนอย่างญาติมิตรหรือผู้ใหญ่ผู้น้อย แต่ไม่ให้ไปหวังพึ่งอ้อนวอนกันอยู่ มนุษย์ต้องเพียรพยายามทำกิจของตนไป เราต้องเพียรทำกิจหน้าที่ของเราให้เต็มที่ ไม่ต้องรอการอ้อนวอน หรือหวังพึ่งเทวดา ถ้าเทวดามีคุณธรรมเป็นเทวดาดี เขาเห็นควรช่วยเขาก็จะมาช่วยเอง นั่นก็เป็นเรื่องความดีของเขา ถ้าเทวดาไม่ดี ไม่มีคุณธรรม ไม่มีเทวดาดีมาช่วยก็ให้มันรู้ไป ก็เหมือนอย่างกรณีมหาชนก ท่านทำความเพียรของท่านไป ไม่ต้องคำนึงถึงเทวดาหรืออะไรทั้งนั้น เห็นโดยเหตุผลว่าถูกต้องควรทำแน่นอนก็ทำไป นางมณีเมขลาเป็นเทวดายังมีคุณธรรมอยู่อดรนทนไม่ได้ก็ต้องมาช่วย อันนั้นเป็นเรื่องของเทวดาเอง เมื่อเขามีคุณธรรมเขาก็มาช่วย ไม่มีคุณธรรมไม่มาช่วยก็แล้วไป

ประการที่ ๒ ที่บอกไว้ชัดในเรื่องที่ ๒ คือความเพียรพยายามของมนุษย์นั้น แม้แต่เทวดาก็เกียดกันไม่ได้ อาตมภาพไปมองภาพอินเดียแล้วก็นึกถึงชาวยิว เป็นเรื่องความคิดคำนึง อาจจริงหรือไม่จริงก็เล่าให้ฟังกัน คนยิวนั้นหวังพึ่งการกระทำของมนุษย์ แต่คนอินเดียหวังพึ่งการกระทำของเทวดา รอคอยการช่วยเหลือของเทวดา คนยิวหวังพึ่งการกระทำของมนุษย์อย่างไร คือหวังพึ่งตัวเอง ได้ทราบจากคนที่ไปเมืองยิวมาว่า คนเมืองยิวเขาฝึกกันมาอย่างดี ทุกคนทำได้ทุกอย่างดี ทุกคนทำได้ทุกอย่างจะเป็นผู้หญิงผู้ชายก็ตาม ถ้าลงเรือก็ขับเรือได้ ถ้าขึ้นรถก็ขับรถได้ ขึ้นเครื่องบินขับเครื่องบินได้ มีกรณีต้องมีช่างซ่อมอะไร ทำได้ทุกอย่าง หมายความว่าคนเดียวทำได้ เหมือนกับคนชาติอื่น ๑๐ คน เพราะฉะนั้นรบกับคนชาติอื่นมีกำลังมากกว่า ๑๐ เท่า ๒๐ เท่า เขาก็เอาชนะได้ ที่จริงยิวก็นับถือเทวดาเหมือนกัน แต่เทวดาคือ พระยะโฮวา ท่านให้แผ่นดินแห่งสัญญาไว้ในกาลภายหน้าอีกนาน ทีนี้จะมาช่วยในอีกกี่พันปี กี่หมื่นปีก็ไม่รู้ตอนนี้เธอต้องช่วยตัวเองไปก่อน เพราะฉะนั้นพวกยิวก็ต้องช่วยตัวเอง ก็เลยทำกันเต็มที่ ใช้ความเพียรของมนุษย์อย่างสุดกำลัง ไม่รอความหวังจากเทวดา จุดสำคัญก็คือมนุษย์ต้องเพียรพยายามด้วยตนเอง หวังพึ่งการกระทำของตน พุทธศาสนาสอนไว้แล้วให้เชื่อการกระทำ ไม่ใช่ไปหวังพึ่งอ้อนวอนพระเจ้าอยู่

ประการที่ ๓ เรื่องการปฏิบัติต่อเทวดา ก็คือ ในบรรดาเทวดาทั้งหลายนั้น อาจจะมีเทวดาที่ไม่มีคุณธรรม เทวดามิจฉาทิฐิ เป็นต้น พวกนี้อาจจะมาล่อหลอกมนุษย์ให้มนุษย์ประพฤติผิดธรรม หรือว่ามาช่วยเหลือมนุษย์เพียงหวังเครื่องเซ่นสังเวยเป็นต้น ถ้าหากเป็นเช่นนั้น ชาวพุทธก็จะไม่ยอม ต้องถือว่าธรรมเป็นสำคัญ ยึดเอาหลักการไว้ ไม่ยอมแม้แต่เทวดา ถ้าหากเขาประพฤติผิดธรรม นี้ก็เป็นคติของพระพุทธศาสนาในเรื่องเทวดา ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธความมีอยู่ แต่ว่าสอนให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

อาตมภาพอยากพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ความจริงบทบาทของเทวดานั้นก็คล้ายกับบทบาทของผู้ใหญ่ ในสังคมนั้นก็มีผู้ใหญ่และผู้น้อย ในแง่หนึ่งผู้ใหญ่ก็เปรียบเหมือนเทวดาแต่แบ่งออกไปก็มี ผู้ใหญ่แบบเทวดาฮินดูกับผู้ใหญ่แบบเทวดาพุทธ ถ้าเป็นผู้ใหญ่แบบเทวดาฮินดู ก็เป็นผู้ใหญ่แบบที่มองหาเครื่องเซ่น อาจจะไม่ต้องเป็นเครื่องเซ่นสินบนอะไร อย่างอ่อนๆ ก็อาจจะเป็นการเอาอกเอาใจการพะเน้าพะนอ แค่นี้ก็ถือว่าเป็นเทวดารอเครื่องเช่น เรียกว่า เทวดาแบบฮินดู

ทีนี้เทวดาแบบพุทธเป็นอย่างไร เทวดาแบบพุทธนั้น ก็คอยดูแลสอดส่องว่า มีใครทำความดีบ้าง ใครทำความดีก็เข้าไปโอบอุ้มสนับสนุน ไม่ต้องรีรอให้เขามาพะเน้าพะนอเอาใจ เหมือนอย่างเรื่องมหาชนกก็เป็นตัวอย่างที่ได้สอนแล้วว่า บทบาทของผู้ใหญ่ในทางพุทธเป็นอย่างไรเทวดาที่ดีต้องคอยสอดส่องมนุษย์ที่ทำความดี แล้วไปช่วยเหลือเขาเอง ไม่ใช่รอให้มนุษย์ไปอ้อนวอนหรือเซ่นสรวงสังเวยเอาอกเอาใจ

เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราถือเทวดาตามคติฮินดู ต่อไปผู้ใหญ่ของเราก็จะเป็นแบบเทวดาฮินดู คือเป็นผู้ใหญ่ที่รอการเอาใจ แต่ถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา เราก็จะมีผู้ใหญ่ในสังคมประเภทที่คอยสอดส่องการกระทำความดีของผู้น้อย แล้วไปช่วยโอบอุ้มสนับสนุน นี่ก็เป็นคติที่เป็นประโยชน์

ความจริงเรื่องนี้ก็เป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท มันย้อนกลับไป แล้วก็ย้อนกลับมาถ้าหากว่ามนุษย์นั้นคอยจะหวังพึ่งเทวดา เซ่นสรวงบูชา ต่อมาเราก็จะมีเทวดา เซ่นสรวงบูชา ต่อมาเราก็จะมีเทวดาชนิดที่ชอบเครื่องเซ่น หรือเทวดาที่ชอบเครื่องเช่นก็จะมาอยู่ใกล้มนุษย์ เทวดาดีๆ ที่จะช่วยเหลือผู้มีคุณธรรม ก็อาจจะหนีหายไปหรือเข้ามาไม่ถึง มันเป็นวงจรกลับไปกลับมาอย่างนี้ ทีนี้เมื่อเทวดามาคอยรอเครื่องเช่นแล้วจึงจะช่วย ก็ยิ่งทำให้มนุษย์ยิ่งเซ่นสรวงมากขึ้น แล้วมนุษย์ก็บ่นกันหาว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี คนไม่ทำดีก็ได้ดี วิปริตไปหมด ฉะนั้นจึงต้องหาทางที่จะแหวกวงล้อม ทำลายวงจรปฏิจจสมุปบาทแบบนี้ออกไปเสีย ในสังคมเดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน เมื่อผู้ใหญ่รอการเอาอกเอาใจ ก็จะมีผู้น้อยประเภทไม่ชอบทำการทำงานก็อยากมาคอยเอาใจใส่ผู้ใหญ่ ผู้น้อยชอบเอาใจผู้ใหญ่ต่อมาเราก็จะได้แต่ผู้ใหญ่ที่คอยรอการเอาอกเอาใจของผู้น้อย มันกลับไปกลับมา ทีนี้จะแก้จุดไหนมันก็แก้ได้ทั้งสิ้น มันก็ทำให้วงจรนี้ขาดไป

ทั้งหมดนี้ก็เป็นคติต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเทวดา แต่โดยสรุปก็ถือว่า อาตมภาพได้ไปอินเดียมา ซึ่งอินเดียนี้ก็เป็นดินแดนแห่งแสนโกฏิเทวดา ก่อนพุทธกาลนั้นเทวดายิ่งใหญ่มาก ก็เป็นเจ้านายมนุษย์ ครั้นมาถึงพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทำให้เทวดาลงมาเป็นมิตรของมนุษย์ มาอยู่ร่วมกันฉันมิตร ครั้นภายหลังพุทธกาลต่อมาอีกไม่นาน เทวดาก็เริ่มขยายจำนวนมีมากมายขึ้น แล้วก็มีความยิ่งใหญ่มาก จนกระทั่งในที่สุดแม้พระพุทธเจ้าเองก็ได้กลายเป็นนารายณ์อวตารปางหนึ่ง ไป เมื่อพระพุทธเจ้ากลายเป็นเพียงอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ ผลที่สุดศาสนาพราหมณ์หรือเทวดาก็เลยเบียดพระพุทธศาสนาตกจากประเทศอินเดียไป อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ต้องมาดูว่า ประเทศไทยเราขณะนี้กำลังเดินทางไปในวิถีเดียวกับอินเดียหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น พุทธศาสนาก็อาจถูกเทวดาเบียดตกไปจากแผ่นดินไทยเช่นเดียวกัน

นี่เป็นคติที่อาตมภาพว่า เอาเรื่องเดียวก็พอในการที่ได้ไปอินเดีย ขอให้มาช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจะให้เราปฏิบัติกันให้ถูกต้องในเรื่องเทวดานี้เป็นต้น ซึ่งมีความหมายรวมมาถึงการปฏิบัติต่อกัน ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยในสังคมด้วย เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วมนุษย์ก็จะอยู่ดี และเราก็จะช่วยให้เทวดาเป็นผู้รักษาคุณธรรมของเทวดาไว้ได้ด้วย เมื่อได้พูดมาตรงนี้ก็เป็นเวลาพอสมควร

ในที่สุดนี้อาตมภาพขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรแด่ท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่านในที่ประชุมนี้ ขอจงเป็นผู้งอกงามด้วยคุณธรรม และเจริญด้วยประโยชน์สุขจากการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วกันทุกท่านเทอญ.

การปฏิบัติธรรม2

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ขอเจริญพร ท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทั้งหลาย

ในสมัยปัจจุบันนี้เราได้เห็นกันว่า ประชาชนหันมาสนใจในทางพระศาสนากันมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะแต่คนแก่คนเฒ่าหรือผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็กๆ คนหนุ่มคนสาวก็ปรากฏว่าได้มาสนใจศึกษาปฏิบัติทางธรรมกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่า คนจำนวนมากเหล่านี้ได้สนใจในด้านการปฏิบัติ หรือมักจะเรียกกันว่าการปฏิบัติธรรม ก็เลยทำให้นึกว่า เราควรจะมาพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมกันบ้างว่ามีความหมายแค่ ไหนเพียงไร

ว่าตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว การปฏิบัตินั้นก็เป็นหลักหนึ่งในหลักใหญ่ ๓ ประการของพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่าสัทธรรม ๓ อย่าง สัทธรรมก็คือธรรมที่แท้ หรือธรรมที่เป็นตัวหลักสำคัญ ๓ ประการคือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัตินั้น ได้แก่การเล่าเรียนศึกษา โดยเฉพาะ การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและหนังสืออธิบายต่างๆ อย่างที่ ๒ ปฏิบัติก็คือ การลงมือทำ เอาความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนนั้นมาใช้การ และประการที่ ๓ ปฏิเวธ ก็คือ การได้รับผลจากการปฏิบัตินั้น

ใน ๓ ประการนี้จะเห็นว่า ปฏิบัติเป็นตัวกลาง อยู่ในระหว่างปริยัติกับปฏิเวธ เป็นตัวที่ทำให้ปริยัติหรือการศึกษาเล่าเรียนมีความหมายเป็นจริงเป็นจังขึ้น แล้วก็ส่งผลไปถึงปฏิเวธ หรือการได้รับผล จึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ปฏิบัตินี้นอกจากเป็นส่วนที่อยู่กลาง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลจริงจัง แล้วก็ปรากฏว่า เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยมาก ไม่เหมือนอย่าง ๒ คำต้นกับคำสุดท้าย กล่าวคือ คำว่าปริยัติกับปฏิเวธนั้น หลายคนไม่สู้คุ้นหูและไม่ค่อยเข้าใจความหมาย แต่คำว่าปฏิบัติ เรานำมาใช้ในภาษาไทยเป็นคำสามัญธรรมดา ใช้จนกระทั่งในชีวิตประจำวัน เรียกว่า ปฏิบัติทั้งนั้น ไม่ว่าในเรื่องอะไร แต่ในวันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม ว่าปฏิบัติธรรมมีความหมายแค่ไหนเพียงไร ขอย้อนกล่าวอีกนิดหนึ่งว่า การปฏิบัติที่ว่าเป็นตัวสำคัญ ทำให้ปริยัติมีความหมายเป็นจริงเป็นจังและส่งผลไปยังปฏิเวธให้เกิดผลขึ้นนั้น ว่าที่จริงแล้วการปฏิบัติจะให้เกิดผลจริงจังได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย และที่จะปฏิบัติได้ถูกต้องก็เพราะว่ามีความรู้ถูกต้อง คือได้เล่าเรียนมา เหมือนอย่างเรามานั่งฟังกันในวันนี้ ก็อยู่ในปริยัติเหมือนกัน การที่ท่านมาฟังนี้ก็เพื่อจะได้รู้แนวทางที่จะนำไปใช้ นำไปทำหรือลงมือปฏิบัติ ความรู้ที่ได้เล่าเรียน หรือได้รับฟังเช่นนี้ก็จัดเข้าในปริยัติ ถ้าท่านเห็นว่าท่านมาฟังในวันนี้มีความสำคัญ ท่านก็จะเข้าใจความหมายของปริยัติว่า มีความสำคัญแค่ไหนเพียงไร

ปริยัตินั้นเปรียบอย่างหนึ่งก็เหมือนกับว่า เราจะเดินทาง เราจะต้องรู้ที่ทางที่เราจะไปเสียก่อนว่าเราจะไปไหน ที่นั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นสถานที่ที่มีการเดินทางซับซ้อน เราอาจจะต้องเรียนรู้ให้ละเอียดลงไปถึงรายการในระหว่างทางว่า เดินทางไปถึงไหน จะพบอะไรบ้างให้เป็นที่หมายที่สังเกต อาจจะต้องมีแผนที่ที่บอกทางจะต้องมีเข็มทิศ ปริยัตินั้นก็เปรียบเหมือนแผนที่ เปรียบเหมือนเข็มทิศ ตลอดจนกระทั่งความรู้ในภูมิศาสตร์ที่จะทำให้เราเดินทางไปด้วยความถูกต้อง ถ้าเรามีแผนที่ มีเข็มทิศ มีความรู้ในภูมิศาสตร์เกี่ยวกับท้องถิ่นที่จะไปอย่างถูกต้องแล้ว เราก็สามารถเดินทางด้วยความมั่นใจ และเราก็จะเดินทางไปถึงจุดหมาย การเดินทางนั้นแหละคือตัวการปฏิบัติ และการถึงจุดหมาย ก็คือผลที่ได้รับเรียกว่าปฏิเวธ

ทีนี้ เรามาพิจารณาถึงความหมายของการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้น ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ คำว่าปฏิบัติ กับคำว่าธรรม ธรรมนั้นมีความหมายกว้างขวางมาก ในที่นี้จะแสดงความหมายเพียงสั้นๆ เอากันแค่ ๒ ความหมาย ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะพูดต่อไป ธรรมแปลอย่างหนึ่งว่าความจริง และอีกอย่างหนึ่งแปลว่าความถูกต้องดีงามหรือความดีความงาม รวมพูดพร้อมๆ กันไปว่า ความจริง ความถูกต้องดีงาม หรือ ความดีความงาม นี้เรียกว่าธรรม ส่วนอีกคำหนึ่งก็คือปฏิบัติ ปฏิบัตินั้นมาจากภาษาบาลี แปลกันง่ายๆ ว่า เดินทาง หรือ ดำเนิน ในภาษาบาลี คำว่าทางท่านเรียกมรรค และเดินทางเรียกว่าปฏิบัติ ทำตามหลักไวยากรณ์รูปกิริยาเป็น ปฏิปชฺชติ เช่นในประโยคว่า มคฺคํ ปฏิปชฺชติ แปลว่าเดินทาง เพราะฉะนั้น คำว่าปฏิบัติที่เราแปลกันว่าลงมือทำนั้นนะ ถ้าแปลกันตามศัพท์แท้ๆ แล้วก็เป็นเรื่องการเดินทาง เดินทางนั้นโดยทั่วไปก็หมายถึง ทางในภายนอก ทางที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นวัตถุ เช่น ถนนชนิดต่างๆ ทางเกวียน ทางรถยนต์ อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องนำไปสู่จุดมุ่งหมาย เราอาศัยรถยนต์ อาศัยแม้แต่การเดินเท้า หรือทางบนอากาศ คือ ทางเครื่องบิน เหล่านี้เรียกว่า ทางทั้งนั้น แต่เป็นทางภายนอก ทีนี้ทางอีกอย่างหนึ่งก็คือทางชีวิตของเรา ชีวิตของเราก็มีทางเหมือนกัน คือทางดำเนินชีวิต เรามักจะเรียกกันว่าวิถีชีวิต การดำรงอยู่ของเรานั้น บางที่เราเรียกว่าการดำเนินชีวิต

การดำเนินชีวิตก็เหมือนกับการเดินทางภายนอกที่ว่าจะต้องเดินให้ถูกต้อง ถ้าเดินไม่ถูกต้องก็คือเดินทางผิดพลาด ก็ไปไม่ถึงจุดหมาย และอาจจะประสบอันตรายด้วยก็ได้ การเดินทางที่ถูกต้องนี้ ก็มาประสานกับคำว่าธรรม เพราะเมื่อกี้เราแปลคำว่าธรรมว่า ความจริงความถูกต้องดีงาม เดินทางถูกต้องก็คือเดินทางตามธรรม คำว่าปฏิบัติก็มาบรรจบกับคำว่าธรรม เป็นปฏิบัติธรรม ได้แก่เดินตามธรรมนั้น การเดินตามธรรมหรือดำเนินวิถีชีวิตตามธรรมก็คือ การนำเอาธรรมหรือสิ่งที่ถูกต้องดีงามมาใช้ในการดำเนินชีวิตของเรา หรือว่าเอาชีวิตของเราเข้าไปเดินในธรรม ถ้าเราเอาชีวิตของเราไปดำเนินในธรรม ในความถูกต้องดีงามแล้ว อันนั้นก็คือการปฏิบัติธรรม ตัวอย่างมีมากมายในการที่เราจะปฏิบัติธรรม โดยที่ว่าเอาชีวิตของเราเข้าไปดำเนินอยู่ในธรรมหรือความถูกต้องดีงามนั้น เช่น เราจะทำการงานอะไรสักอย่างหนึ่งเราก็ทำให้ถูกต้อง ทำงานด้วยความขยัน ซื่อสัตย์สุจริต อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม

เป็นพ่อแม่ เลี้ยงลูกด้วยเมตตา มีความรัก เอาใจใส่ ดูแลแนะนำสอนให้เป็นคนดี มีความใกล้ชิด ให้ความอบอุ่น เป็นต้น นี้ก็เป็นการทำหน้าที่ของพ่อแม่ เมื่อทำหน้าที่ถูกต้อง เราก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะเราเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต หรือว่าเอาชีวิตเข้าไปเดินอยู่ในธรรม เป็นลูกก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ ประพฤติตัวดี ช่วยเหลือการงานของพ่อแม่ เช่น ช่วยดูแลความสะอาดในบ้าน รักพี่รักน้องสามัคคีกัน อันนั้นก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมในฐานะที่เป็นลูก

เป็นครูบาอาจารย์ก็ทำหน้าที่ของครูที่ดี ตั้งใจแนะนำสั่งสอนนักเรียน ตั้งใจศึกษาค้นคว้าความรู้เอามาสอนให้นักเรียนรู้จริง ทำได้จริง แล้วก็เอาใจใส่ในการอบรมให้เขาเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไป การปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องของครูนี้ก็คือ การปฏิบัติธรรม เป็นนักเรียนก็เช่นเดียวกัน ถ้าขยันหมั่นเพียรตั้งใจศึกษาเล่าเรียนตามที่ครูสั่งสอน ตลอดจนรู้จักใช้ความคิดที่มีเหตุมีผลเป็นต้น นี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เด็กๆ เล่นกัน ถ้าเล่นด้วยความมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ไม่รังแกกัน ไม่เอาเปรียบกัน ก็เป็นการปฏิบัติธรรม หรือว่าผู้ใหญ่มาเล่นกีฬา เล่นด้วยมุ่งส่งเสริมให้เกิดน้ำใจกว้างขวาง มีความสามัคคีกัน มีความยุติธรรม ไม่โกงกัน เป็นต้น อย่างนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม หรือว่าขับรถไปบนท้องถนน ขับด้วยความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะ รักษากฎจราจรและขับด้วยความสุภาพ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

ที่สุดแม้กระทั่งการรับประทานอาหารอย่างในทางธรรม ท่านสอนผู้บวชเป็นพระว่า ก่อนที่จะฉันอาหารให้พิจารณาว่า ที่เราฉันอาหารนี้ฉันเพื่ออะไร เราฉันไม่ใช่เพื่อจะมุ่งที่ความเอร็ดอร่อยเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อจะโก้เก๋ ไม่ใช่เพื่อจะอวดใครว่าเรามีอาหารดีๆ รับประทานหรือแข่งฐานะกับใคร แต่ฉันอาหารเพื่อจะบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี ร่างกายเป็นอยู่อย่างผาสุก จะได้มีกำลังในการปฏิบัติบำเพ็ญกิจหน้าที่ของตนเอง ถ้าเป็นพระก็จะได้บำเพ็ญสมณธรรม ทำหน้าที่ของพระได้ จะรักษาศีลปฏิบัติตามหลักพระวินัย หรือจะไปบำเพ็ญกัมมัฏฐานอะไรต่างๆ ก็มีกำลังที่จะปฏิบัติได้ การฉันอาหารก็เกื้อกูลแก่การทำหน้าที่ของตนเองและการดำรงชีวิตอยู่อย่างผาสุก การปฏิบัติถูกต้องต่ออาหาร การกินอาหารตามหลักที่เป็นความมุ่งหมายที่แท้จริงอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม

แม้ในทางจิตใจ เราปลูกฝังเมตตาความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เมื่อเจอใครก็ตั้งความปรารถนาดีต่อผู้นั้น มีไมตรีตั้งใจจะให้เขาเป็นสุข คบกับเขาด้วยจิตใจที่เป็นเพื่อนเป็นมิตร อย่างนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมก็มีความหมายกว้างขวางมาก กล่าวคือ กิจกรรมทุกอย่างในชีวิตของเรานี้เอง ถ้าทำถูกต้องดีงามแล้วก็เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น แต่ขอให้สังเกตว่า ปัจจุบันนี้ มีการนำเอาคำว่า ปฏิบัติธรรมมาใช้ในความหมายที่ค่อนข้างจะแคบ เวลาพูดกันว่าจะไปปฏิบัติธรรมนี้ หลายท่านจะนึกไปถึงการปลีกตัวออกจากบ้านจากเรือน เข้าป่า ไปอยู่ในวัดที่สงบไปบำเพ็ญเพียรทางจิตใจที่เรียกว่าไปทำกัมมัฏฐาน เป็นต้น ต้องปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ในที่ไกลๆ เงียบๆ สงบ สงัด ไม่เกี่ยวข้องกับใคร อย่างนี้จึงจะเรียกกันว่า การปฏิบัติธรรม เราน่าจะต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ความหมายอย่างที่อาตมาพูดมาข้างต้นที่ว่า ทำอะไรต่ออะไรให้ถูกต้องในชีวิตประจำวันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอยู่แล้วกับความหมายที่ว่าต้องเข้าป่า ปลีกตัวออกจากสังคมไปอยู่ในที่สงบสงัดจึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมนี้ ความหมายอันไหนมันผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร หรือว่ามันมาสัมพันธ์กันอย่างไร

ขอให้ความหมายอย่างรวบรัดว่า การที่ปลีกตัวออกไป เช่นไปอยู่ในป่า หรือในวัดที่สงบ แล้วก็ไปบำเพ็ญกัมมัฏฐาน ทำจิตตภาวนา เป็นต้น อะไรอย่างนั้นที่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ก็ถูกต้อง แต่เป็นการพูดอย่างสั้นๆ โดยที่ว่าพูดอย่างรู้กัน คือถ้าจะพูดให้เต็มก็ควรจะพูดว่า จะไปปฏิบัติธรรมเฉพาะด้าน เฉพาะระดับอย่างเข้มข้น ทีนี้เราจะพูดอย่างนั้นมันก็จะยาวไป ก็เลยพูดสั้นๆ ว่าปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเข้าใจกันให้ถูกต้องแล้วจะต้องเข้าใจว่าคำพูดเต็มจะคล้ายๆ กับที่ว่ามาเมื่อกี้นี้ คือ ไปรับการอบรมหรือเข้าฝึกปฏิบัติธรรมเฉพาะด้าน เฉพาะระดับแบบเข้มข้น ที่ว่าเฉพาะด้านเฉพาะระดับก็คือว่า อาจจะเป็นการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน หรืออาจจะไปปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็ทำอย่างเข้มข้น หมายความว่า จะเอาจริงเอาจังในเรื่องนั้นเป็นกรณีพิเศษ การปฏิบัติอย่างนี้เราก็เรียกสั้นๆ อย่างรู้กันว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แต่หมายถึง การปฏิบัติธรรมเป็นกรณีพิเศษ

การปฏิบัติธรรมแบบกรณีพิเศษอย่างนี้ ก็มีประโยชน์มากเหมือนกัน

อย่างที่ ๑ โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่ในสังคม มีภารกิจกังวลอะไรต่างๆ มากมาย มีความสับสนวุ่นวาย มีความยุ่งเหยิงในหน้าที่ธุรกิจการงาน จิตใจก็อาจจะไม่ปลอดโปร่ง ถ้าหากว่าได้ปลีกตัวออกจากสังคมที่วุ่นวายนั้น ไปอยู่ในที่ที่สงบสงัดเช่นในป่าหรือในวัดที่มีบรรยากาศอันเหมาะสม บรรยากาศที่สงบร่มรื่นนั้นก็ช่วยได้ เพราะเพียงเข้าไปถึงจิตใจก็จะสบาย สงบ ถ้าหากว่าไปบำเพ็ญกัมมัฏฐาน หรือบำเพ็ญจิตตภาวนา จิตใจที่ได้รับบรรยากาศเช่นนั้นก็จะมีความพร้อมมากขึ้นที่จะปฏิบัติให้ได้พอดี เพราะฉะนั้นท่านจึงสนับสนุนให้มีการปฏิบัติธรรมในแบบนี้ อย่างน้อยก็เป็นการพักผ่อนจิตใจ ท่านผู้ที่อยู่ในสังคมยุ่งกับภารกิจการงานต่างๆ ถ้าหากว่าได้ปลีกตัวออกไปในเวลาชั่วคราวอย่างนี้สักระยะหนึ่ง สัก ๑๐ วัน ๑๕ วัน หรือแม้กระทั่ง ๗ วัน ๓ วัน จิตใจได้พักผ่อนคลายความเครียด คลายความวิตกกังวล ก็สบายขึ้น จะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติขึ้นด้วย แล้วก็มีพลังเข้มแข็งพร้อมที่จะเข้ามาทำกิจหน้าที่การงานในชีวิตประจำวันต่อไป นี้ก็เป็นประโยชน์อย่างที่ ๒ ซึ่งหมายความว่า ในแง่นี้การปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นในกรณีพิเศษ ก็มาเป็นเครื่องสนับสนุนการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

เราจะมองเห็นว่าการปฏิบัติธรรม ๒ ด้านนี้ สนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่จะต้องระลึกไว้เสมอว่า การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันเราก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่เรามีการปฏิบัติธรรมที่เข้มข้นเป็นกรณีพิเศษนี้ขึ้นมาสนับสนุนอีกชั้นหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นประโยชน์ในด้านที่ ๒ ของการปฏิบัติธรรม แบบระดับเข้มข้นอย่างที่ได้กล่าวมานั้นก็คือ เป็นตัวสนับสนุนการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

ความสัมพันธ์ที่น่าสังเกตระหว่างการปฏิบัติธรรมทั้งสองแบบนี้ก็คือ ท่านที่ไปปฏิบัติธรรมแบบกรณีพิเศษเข้มข้นนั้น ควรจะได้รับผลปฏิบัตินั้นมาสนับสนุนการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้ เพราะฉะนั้น ผลการปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เราจะพิสูจน์ได้ก็คือ เมื่อไปปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น ไปอยู่ในป่าในวัดที่สงบมาแล้ว ออกมาอยู่ในชีวิตประจำวัน การดำเนินชีวิตประจำวันดีขึ้นหรือไม่ ถ้าหากว่าหลังจากปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นมาแล้ว ออกมาจากป่า จากวัดแล้ว กลับมาทำหน้าที่การงานตามปรกติ กลับมาประกอบอาชีพ กลับมาอยู่บ้านเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือไปอยู่ในโรงเรียนเป็นครู อาจารย์ หรือไปเป็นนักเรียนอีก สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีขึ้น ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่ง ผ่องใสยิ่งขึ้น แล้วก็เรียนได้ดียิ่งขึ้น ทำงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความขยันอดทนมากขึ้น มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งผู้ที่บังคับบัญชา หรือผู้ที่แวดล้อมเกี่ยวข้องทุกด้านทุกฝ่ายได้ดีขึ้น ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าการปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นนั้นได้ผล แต่ถ้าหากว่าท่านผู้นั้นไปปฏิบัติธรรม อุตส่าห์ปลีกตัวไปอยู่ในป่า ไปอยู่ในวัดแล้ว พอกลับมาแล้วกลับมาดำเนินชีวิตไม่ได้ดี ทำงานไม่ได้ผลดี ก็แสดงว่าคงจะมีความบกพร่องในการปฏิบัติที่ทำให้การปฏิบัติธรรม ๒ ด้านนี้ ไม่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น นี้เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเราจะต้องทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ทุกเวลาทุกนาที ในกิจกรรมทุกอย่าง ในเมื่อเราจะไปปฏิบัติธรรมเป็นกรณีพิเศษแบบเข้มข้น โดยปลีกเวลาออกไปแล้ว ก็ควรจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้การปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี้ดีขึ้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า เราได้สละเวลาเป็นพิเศษ อุตส่าห์ตั้งใจไปฝึกปฏิบัติเอาจริงเอาจังแล้ว ทำไมผลการปฏิบัติไม่ออกมาสู่ชีวิตที่แท้จริง นี้ก็เป็นข้อที่จะต้องพิจารณา

ทีนี้ก็ควรจะพูดถึงคำว่าธรรมบ้าง เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงการปฏิบัติ ทีนี้ก็จะพูดถึงธรรมที่จะปฏิบัติ ธรรมที่นำมาปฏิบัตินี้ ถ้าว่าตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้วก็คือ คำว่ามรรคนั่นเอง และมรรคก็เป็นธรรมในภาคปฏิบัติทั้งหมด มรรคนั้นมีตั้ง ๘ ข้อ เราเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการ แต่ถ้าจะสรุปให้สั้นๆ ท่านบอกว่าย่อได้เป็น ๓ หมวด เรียกว่า ศีล สมาธิ และปัญญา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ก็ปฏิบัติธรรมกันอยู่ในหลัก ๓ ประการนี้แหละ คือเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา แต่ก็ควรจะเข้าใจขอบเขตความหมายของคำเหล่านี้

ศีล คืออะไร ศีลก็คือ หลักความประพฤติในทางกาย วาจา อย่างที่เราพูดกันรู้จักกันมาก ก็เช่นศีล ๕ เป็นต้น ศีล ๕ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต งดเว้นจากการลักทรัพย์ งดเว้นจากการประพฤติผิดในทางเพศ งดเว้นจากการพูดปด และงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยของเมา นี้เป็นหลักศีลเบื้องต้นสำหรับประชาชนทั่วๆ ไป ซึ่งถ้าว่าโดยสาระสำคัญแล้ว ก็คือเรื่องของการไม่เบียดเบียนกัน อยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม สี่ข้อแรกนั้นก็เห็นชัดว่าเป็นการเบียดเบียน เป็นการล่วงละเมิดต่อผู้อื่น แต่ข้อสุดท้ายข้อสุรา เป็นเรื่องของการเบียดเบียนตัวเอง คือการทำลายสติสัมปชัญญะของตัวเอง สติสัมปชัญญะนั้น เป็นสิ่งที่คุ้มครองตัวเรา ให้เราสามารถที่จะดำรงรักษาศีลข้ออื่นๆ อยู่ได้ ในเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ เราก็สามารถรักษาศีลข้ออื่นได้ เท่ากับว่า ศีลข้อที่ ๕ นี้เป็นตัวช่วยคุ้มครองศีลข้ออื่นไปด้วย นี้เป็นหลักเบื้องต้น

หลักของศีลก็คือการไม่เบียดเบียนกันดังที่กล่าวมา รวมทั้งการประกอบสัมมาชีพ แต่บางครั้งศีลนั้นมีความหมายถึงการฝึกหัดกาย วาจา ที่เป็นพื้นฐานของการฝึกอบรมทางจิตใจที่สูงขึ้นไปด้วย อย่างเช่นเรามารักษาอุโบสถกันในวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หรือในวันกลางเดือนสิ้นเดือน ตลอดกระทั่งวันกึ่งของระหว่างกลางเดือนสิ้นเดือนนั้น อุโบสถก็คือ ศีล ๘ ที่รักษาจำเพาะในวันเหล่านั้น ศีล ๘ นั้นมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมจากศีล ๕ ก็ทำให้เคร่งครัดเข้มงวดยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย การปฏิบัติในเรื่องศีล ๘ หรืออุโบสถศีลนั้น ก็มุ่งเพื่อจะใช้ความเพียรพยายามความเข้มแข็งของจิตใจมาควบคุมตนเองในด้านกาย วาจา การควบคุมกาย วาจา นี้ ต้องอาศัยความเข้มแข็งก็เป็นการฝึกอบรมจิตใจของตัวเองด้วย เรียกว่าเป็นพื้นฐานในการที่จะปฏิบัติในด้านสมาธิต่อไป อันนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างศีลกับสมาธิ นอกจากความสัมพันธ์ในแง่ที่ต้องใช้ความเข้มแข็งของจิต ในการควบคุมกาย วาจาแล้ว ความสัมพันธ์อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่รักษาศีลประพฤติดีทางกาย วาจาแล้ว จิตใจจะสงบ และเพราะอาศัยการที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้มีเรื่องมีราวทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดนั้น ก็ทำให้ไม่ต้องระแวงภัยจากภายนอก การที่ไม่ต้องระแวงภัยจากภายนอก การที่มีความรู้สึกว่า ได้ประพฤติสิ่งที่ดีงามถูกต้องก็ดี ก็ทำให้เกิดความปีติ มีความเอิบอิ่มใจ การมีปีติเอิบอิ่มใจก็ทำให้เกิดความสุข ความสุขนี้ก็นำมาซึ่งความสงบ และนำไปสู่ความเป็นสมาธิของจิตได้ง่าย ฉะนั้น ศีลจึงมีความสัมพันธ์กับสมาธิ

เมื่อปฏิบัติรักษาศีลแล้ว ก็จะต้องก้าวหน้าต่อไปสู่ขั้นสมาธิด้วย หรือว่าบำเพ็ญไปพร้อมๆ กัน โดยอาศัยศีลนั้นเป็นพื้นฐานที่มั่นคง สมาธินั้นหมายถึงความตั้งมั่นของจิต แต่ในความหมายที่กว้าง ท่านจัดเอาธรรมเข้าเป็นหมวดๆ ธรรมในหมวดสมาธินั้น ไม่เฉพาะตัวสมาธิเองเท่านั้น แต่หมายถึงเรื่องของการฝึกอบรมจิตทั้งหมดทีเดียว เริ่มตั้งแต่ต้องมีความเพียรพยายาม มีกำลังใจเข้มแข็ง ความมุ่งมั่นเข้มแข็งของจิตใจนั้นคือตัวการฝึกอบรมจิตในเบื้องต้น นอกจากนั้นแล้วก็จะต้องฝึกในเรื่องสติ ความระลึกได้ ความมีสำนึกในการกระทำต่างๆ ทำการโดยความไม่ประมาทมีความรอบคอบ สตินั้นต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และยังนำมาใช้ในการปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น ที่เรียกว่าทำกัมมัฏฐานต่างๆ โดยใช้กำกับหรือกำหนดตั้งต้นแต่ความคิดความรู้สึกของตัวเองและการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เราเรียกว่า ใช้ในสติปัฏฐาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการบำเพ็ญในด้านสมาธิทั้งสิ้น เฉพาะตัวสมาธิเองแท้ๆ ก็คือภาวะจิตที่ตั้งมั่นสงบแน่วแน่ แน่วดิ่งลงไปในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าจะใช้ถ้อยคำอย่างสมัยใหม่แล้ว เราอาจจะพูดว่า การฝึกอบรมจิตที่กล่าวมาหรือเรื่องของสมาธิทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่สภาวะที่เป็นประโยชน์ ๓ ด้านด้วยกัน

ประการที่ ๑ คือสิ่งที่เรียกว่า สมรรถภาพของจิต ความเข้มแข็งของจิต ความอดทน ความแน่วแน่ ความเพียรพยายาม เป็นต้น รวมทั้งภาวะจิตซึ่งพร้อมที่จะใช้ความคิดอย่างได้ผลดี

ประการที่ ๒ คือ คุณภาพของจิต ได้แก่ ความดีงามที่มีในใจ คุณธรรมต่างๆ มีความเมตตา ความกรุณา ความกตัญญูรู้คุณ ความอ่อนโยนอะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณธรรมซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีคุณภาพของจิตใจ

ประการสุดท้ายก็คือ ในการฝึกอบรมจิตนั้น เราก็ได้ความสงบของจิต และในความสงบก็มีความสุข ความเบิกบาน ความผ่องใส ความสดชื่นต่างๆ เหล่านี้รวมอยู่ในคำว่า สุขภาพจิต

ถ้าพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ การฝึกอบรมทางด้านสมาธิ หรือทางด้านฝึกอบรมจิตใจนั้นก็มีคุณค่า ๓ ประการนี้ คือ ทำให้เกิดสมรรถภาพจิต คุณภาพจิต และสุขภาพจิต นี้ก็คือการอธิบายความหมายของสมาธิ อย่างที่จะเข้าใจกันได้ง่ายๆ การทำให้จิตมีสมรรถภาพก็ดี มีคุณภาพก็ดี และมีสุขภาพก็ดี นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตประจำวันของเราซึ่งจะส่งผลออกมาภายนอกในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้การปฏิบัติกิจหน้าที่ต่างๆ ได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย และก็เป็นผลดีแก่ชีวิตของตัวเอง ที่ว่ามีความสุขเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวมา

ในประการสุดท้าย หมวดที่ ๓ ก็คือเรื่องปัญญา ปัญญาก็คือความรู้ ความเข้าใจ เมื่อพูดถึงความรู้ความเข้าใจนั้น คนทั่วไปก็นึกถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ได้แก่ความรู้ในเรื่องวิชาการ ในเรื่องหนังสือที่ไปเรียนมาจากครู ตลอดจนความรู้ในการประกอบอาชีพการงาน หรือเรียกว่าศิลปวิทยาต่างๆ แต่ความรู้เหล่านี้เป็นปัญญาในระดับหนึ่งเท่านั้น ความรู้นี้จะต้องพัฒนาต่อไปอีก นอกจากรู้แล้วก็ต้องคิดให้เป็นด้วย คนที่รู้อย่างเดียวแต่คิดไม่เป็นนั้น บางทีความรู้ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ จึงไม่เรียกว่าเป็นคนมีปัญญาที่แท้จริง ความรู้ที่เราได้เล่าเรียนฟังมาจากผู้อื่นนั้น ยังไม่ใช่เป็นของตัวเรา ทางพระนั้น ถ้าจะใช้ศัพท์ให้ถูกต้อง ท่านยังไม่เรียกว่าปัญญา แต่เรียกว่า สุตะ สุตะแปลว่าสิ่งที่ได้สดับมา สิ่งที่ได้ฟังมาจากผู้อื่น เราฟังมาจากผู้อื่นก็เป็นความรู้ของเขา เราก็ว่าตามเขาไปเท่านั้นเอง มันจะเป็นความรู้ของเรา ก็ต่อเมื่อเราได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างแท้จริงแล้ว สามารถเอามาคิด เอามาประยุกต์ เอามาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หรือในการที่จะทำชีวิตของเราให้ก้าวหน้าให้เจริญยิ่งขึ้นไป

ความรู้ที่จะทำให้เจริญก้าวหน้าในชีวิตนั้น ก็ได้แก่ความรู้ที่เข้าใจและใช้เป็นคิดเป็น เอามาใช้ภายนอกในการประกอบอาชีพการงานนั้นก็อย่างหนึ่ง แต่ความรู้ที่จะเอามาใช้ในการพัฒนาชีวิตของเรานั้น ไม่ใช่เฉพาะภายนอกที่จะให้เจริญก้าวหน้าในลาภยศสุขสรรเสริญเท่านั้น แต่เรายังมีการพัฒนาอีกด้านหนึ่งคือชีวิตด้านใน ชีวิตด้านในของเราก็คือ ความมีจิตใจที่ดีงาม เป็นอิสระ มีความสุข เป็นต้น ซึ่งก็ต้องอาศัยการพัฒนาด้วยเช่นกัน ความรู้ที่จะเอามาพัฒนาชีวิตด้านนี้ก็คือ ความรู้ที่เรามักจะเรียกกันว่าเป็นความรู้ทางธรรม แต่อันที่จริงความรู้ทางธรรมก็คือ ความรู้สิ่งธรรมดาธรรมชาตินี้แหละ ความเข้าใจในสิ่งรอบตัวเราอย่างถูกต้องตามเป็นจริง รู้เหตุ รู้ผล รู้ความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า อะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเหตุ มีผล เป็นมาอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร อย่างที่ทางพระท่านเรียกว่า รู้ทุกข์ รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ว่า ทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร รู้จักความดับทุกข์ แล้วก็รู้ว่าจักหาทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ หรือใช้ภาษาปัจจุบันว่า รู้จักปัญหา รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหานั้น รู้จักการแก้ไขปัญหา และรู้จักกลวิธีเทคนิคการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาสำเร็จได้ ซึ่งเมื่อรู้เข้าใจบริบูรณ์แล้ว ก็รู้เท่ากันต่อสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ที่ท่านเรียกว่า รู้ไตรลักษณ์ เข้าใจความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งหลาย รู้จักทุกข์ รู้ความที่สิ่งทั้งหลายคงทนอยู่อย่างเดิมตลอดไปไม่ได้ จนกระทั่งเข้าใจถึงอนัตตา รู้สภาวะที่สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถอนความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีจิตใจเป็นอิสระ อันนี้ก็เป็นความรู้ในระดับต่างๆ ปัญญาที่เข้าใจโลกและชีวิตอย่างรู้เท่าทัน ถึงขั้นนี้ สามารถนำแก้ปัญหาชีวิตได้โดยตลอด ถึงขั้นที่ว่าพ้นจากทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง มีจิตใจเป็นอิสระอย่างสูงสุด มีความสุขอย่างแท้จริง อันนี้ก็คือ ธรรมปฏิบัติในขั้นปัญญาที่กล่าวโดยสังเขป

รวมความว่า การปฏิบัติในเรื่องธรรมนั้น ก็ปฏิบัติในขอบเขตของศีลสมาธิและปัญญา ใครจะปฏิบัติอยู่ในระดับไหนก็ตามก็เรียกว่า เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น จะต้องเข้าใจความหมายของการปฏิบัติธรรมให้ครบถ้วนรอบด้าน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้.

1หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน ๓๒ ปีสารภีสัมพันธ์ ของสมาคมศิษย์เก่าวชิรพยาบาล พ.ศ. ๒๕๒๙
2 หมายเหตุ : บรรยายพิเศษในรายการแผ่นดินธรรม ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๕ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เวลา ๑๘.๓๐ - ๑๙.๓๐ น.
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.