ขอเจริญพร ท่านผู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน
อาตมภาพมาในวันนี้โดยมีความรู้สึกติดมาด้วยว่า จะพูดกับที่ประชุมของท่านที่อยู่ในวงการธรรม ซึ่งเป็นผู้ได้ศึกษาปฏิบัติมาแล้ว และหลายท่านก็มีความรู้กว้างขวาง ได้ปฏิบัติไปแล้วไกลพอสมควรทีเดียว
ในเมื่อมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็ทำให้มีความคิดว่า แม้จะพูดเรื่องที่หนักสักหน่อยและในลักษณะที่อาจจะน่าเบื่อบ้าง ก็คงไม่เป็นไร
ในเมื่อคิดอย่างนี้แล้ว ก็เลยตั้งแนวว่าจะพูดหนักไปทางหลักวิชา หรือจะพูดตามเนื้อหาของคัมภีร์ คืออาจจะเป็นการพูดแบบนักตำราสักหน่อย
ความจริงนั้น สาระของธรรมอยู่ที่การนำมาใช้ได้ คือใช้ให้สำเร็จประโยชน์ ดับทุกข์ หมดกิเลส ถ้าว่าในแง่นี้แล้ว เรื่องตำราก็ไม่สู้สำคัญเท่าไร เหมือนกินยาถูก ถึงไม่รู้ตำรายา โรคก็หาย (แต่ยานั้นถ้าไม่มีตำราจะได้มาอย่างไร ก็อีกเรื่องหนึ่ง)
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีความรู้และได้ปฏิบัติธรรมมาแล้วนั้น ความรู้ด้านตำรากลับมาช่วยเสริม คือ มาเป็นแกน หรือเป็นหลักเชื่อมโยงในหมู่ท่านผู้รู้ธรรมและได้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน ให้มีสื่อสำหรับหมายรู้กัน และพูดกันเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ในเมื่อจะพูดตามแนวของตำราหรือคัมภีร์ ก็เกิดมีคำถามขึ้นมาว่าจะพูดเรื่องอะไรดี
ทีนี้ เท่าที่อาตมภาพทราบ ที่ประชุมนี้ ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์หรือสืบเนื่องมาจากโครงการที่เรียกว่า "การพัฒนาตน" จึงมานึกว่า ควรจะพูดเรื่องการพัฒนาตนนี้แหละ เอาเรื่องที่เป็นหลักของโครงการนี้
เป็นอันว่าจะพูดเรื่องการพัฒนาตน ตามหลักวิชา หรือตามเนื้อหาในคัมภีร์
ทีนี้ พอตั้งชื่อเรื่องการพัฒนาตน ซึ่งเป็นชื่อของโครงการ หรือเป็นชื่อของกลุ่มที่มาประชุมนี้ อย่างน้อยก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่า
คำว่า พัฒนาตน นี้ ตรงกับหลักธรรมข้อไหน หรือหัวข้อธรรมว่าอย่างไร
คำว่า พัฒนา นี้ ในวงการของนักตำราทางธรรมหรือนักคัมภีร์ไม่ค่อยคุ้นกัน รู้สึกว่าเป็นศัพท์ค่อนข้างใหม่ ในวงการศึกษาธรรมแต่เดิมมาไม่ได้นิยมใช้คำนี้ และในเมืองไทยโดยทั่วไปในชีวิตประจำวันถอยหลังไปสัก ๓๐-๔๐ ปี ก็ไม่ค่อยได้ยินคำว่าพัฒนา จะได้ยินบ้างแต่คำว่า วัฒนา ซึ่งโดยมากจะใช้ในคำอวยชัยให้พร เช่นว่า ขอให้วัฒนาสถาพร อะไรทำนองนี้
คำว่า “พัฒนา” นี้ อาตมภาพเข้าใจว่ามาได้ยินกันมากขึ้นในสมัยหลังการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๕๐๐ หรือหลังปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ คือหลังจากการปฏิวัติคราวนั้นแล้ว ก็ปรากฏว่าทางบ้านเมืองได้มีนโยบายเร่งรัดการสร้างความเจริญของประเทศชาติ และได้นำเอาคำว่าพัฒนามาใช้กันมาก แม้กระทั่งเป็นชื่อหน่วยราชการใหญ่ๆ เช่น กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ บางหน่วยก็ยังมีอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน เช่น สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กรมการพัฒนาชุมชน อะไรทำนองนี้ ก็เลยนิยมใช้คำว่าพัฒนากันมากขึ้น จนกระทั่งถึงกับเรียกชื่อยุคสมัยต่อแต่นั้นว่าเป็น ยุคพัฒนา
นับแต่นั้นก็ได้พัฒนากันมาจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปีแล้ว ความรู้สึกที่เน้นกันมากในสมัยก่อน ที่ประชาชนมองเห็นชัดก็คือ การสร้างถนนหนทาง ตลอดจนอาคารตึกรามสมัยใหม่ต่างๆ อันนี้เด่นมาก และคำว่าพัฒนานี้ก็ได้เข้าไปแม้กระทั่งในวัด ในวัดก็รู้สึกกันว่าจะต้องพัฒนา
คำว่าพัฒนาในสมัยนั้น พ่วงความรู้สึกผูกพันกับความเจริญแบบใหม่ๆ เช่น อาคารแบบสมัยใหม่เป็นต้น อย่างน้อยถ้าจะพัฒนาก็ต้องมีอาคาร สิ่งก่อสร้าง มีตึกที่สวยงามใหญ่โต แล้วก็มีความรู้สึกต่อไปในทางตรงข้ามว่า ถ้ามีป่ามีต้นไม้ก็ไม่พัฒนา
ฉะนั้น วัดต่างๆ ก็มีการตัดต้นไม้กันเป็นการใหญ่ วัดไหนมีต้นไม้มากก็แสดงว่าวัดนั้นยังไม่ได้มีการพัฒนา ที่ใดพัฒนาที่นั้นต้องพ้นจากความเป็นป่า ต้นไม้เป็นเครื่องหมายของป่า ป่าก็แสดงว่าอาจจะเถื่อน เมื่อเถื่อนก็แสดงว่าล้าหลังไม่พัฒนา ดังนั้นจึงมีการตัดไม้ นิยมสร้างเป็นคอนกรีตกันขึ้นแพร่หลายทั่วไป
ความรู้สึกนี้ได้สืบกันนานพอสมควร จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เอง ก็เริ่มบ่นกันขึ้นมาว่า ประเทศเรานี้พัฒนากันไป พัฒนากันมา ดูเหมือนจะมีปัญหามากขึ้น มีสิ่งชั่วร้ายไม่ดีไม่งามมากมาย เป็นต้นว่าอาชญากรรม ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม ความเสื่อมโทรมทางจิตใจอะไรต่างๆ ก็เลยพูดกันว่า เราเห็นจะพัฒนาวัตถุกันมากเกินไปแล้ว พัฒนาผิดพลาดแล้ว จะต้องหันมาพัฒนาคนกันให้มากๆ ตอนนี้ก็พูดกันเกร่อ มีการเน้นการย้ำว่าจะต้องมาพัฒนาคนให้มาก
คำว่า การพัฒนาคน ในที่นี้ ก็ไม่ใช่ไปเน้นด้านการพัฒนาความสามารถหรือความรู้ในวิชาการวิชาชีพอะไรต่างๆ แต่หมายถึงพัฒนาคุณสมบัติที่อยู่ภายในตัวบุคคล เช่นศีลธรรม หรือพูดลึกลงไปก็คือ พัฒนาจิตใจนั้นเอง เดี๋ยวนี้ก็เลยมาพูดย้ำว่า เราจะต้องพัฒนาจิตใจให้เจริญควบคู่กันไปกับการพัฒนาวัตถุ และในเมื่อยุคหรือช่วงเวลาที่ผ่านไปแล้ว ได้เน้นการพัฒนาวัตถุมาก ช่วงนี้ก็เลยหันมาเน้นการพัฒนาจิตใจมากขึ้น
เมื่อพูดถึง “การพัฒนาจิตใจ” ก็เป็นเรื่องภายในส่วนลึก บุคคลแต่ละคนต้องทำด้วยตนเอง คนอื่นจะไปพัฒนาให้ไม่ได้ แต่ก็ช่วยได้บ้าง เช่น การสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล หรือช่วยแนะนำอะไรต่างๆ ให้ แต่ว่าถึงตัวแท้จริงแล้ว ทุกคนต้องมีการพัฒนาตนเอง ดังนั้นการพัฒนาจิตใจก็จึงเป็นเรื่องของการพัฒนาตน เมื่อพัฒนาตนก็ตรงกันเข้ากับชื่อโครงการนี้ เป็นอันว่าที่เรียกว่าการพัฒนาตนนั้น ก็ตรงกับเรื่องสำคัญ ที่จะต้องใช้ต้องเน้นต้องย้ำกันในยุคสมัยนี้เป็นอย่างดีทีเดียว
ทีนี้ก็ต้องมาดูว่า การพัฒนาตนตรงกับศัพท์ธรรมหรือหลักธรรมข้อไหน
พัฒนา ก็แปลว่าเจริญหรือทำให้เจริญนั่นเอง ทีนี้มาดูทางธรรมก็ปรากฏว่า คำว่า เจริญ เราใช้กันมานานแล้วในวงการธรรม ตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ถ้าปฏิบัติวิปัสสนา เราก็เรียกว่าเจริญวิปัสสนา หรือถ้าไปปฏิบัติในทางเมตตา สร้างเมตตาธรรมให้เกิดขึ้นในใจ เราก็เรียกว่าเจริญเมตตา มาทำอานาปานสติกัมมัฏฐาน กำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ ทำให้จิตเป็นสมาธิสงบ เราก็เรียกว่าเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน หรือเจริญอานาปานสติสมาธิ ตลอดกระทั่งว่า สร้างกุศลให้มากเราก็เรียกว่าเจริญกุศล
คำว่าเจริญจึงเป็นศัพท์ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเราใช้กันมานานแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีไว้โดยสืบต่อมาจากโบราณนั้นเอง
ในเมื่อคำว่า พัฒนา แปลว่า เจริญ เราก็โยงได้ว่าที่จริงเราใช้ พัฒนา กันมานานแล้ว คือ คำว่า เจริญนั่นเอง ซึ่งใช้กับศัพท์ธรรมต่างๆ มากมาย
พอได้ศัพท์นี้แล้วก็ไปดูอีกทีว่า คำว่า เจริญ ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาไทยนั้น ถ้าไปเทียบกับคำบาลีเดิมที่เป็นต้นตอ จะได้แก่หลักธรรมอะไร ก็เห็นได้ง่ายเลยทันที
อย่างคำเมื่อกี้ว่า เจริญวิปัสสนา ทางพระเรียกว่า วิปัสสนาภาวนา เจริญสมถะก็เรียกว่า สมถภาวนา เจริญเมตตาท่านก็เรียกว่า เมตตาภาวนา เจริญอานาปานสติท่านก็เรียกว่า อานาปานสติภาวนา เจริญสมาธิเป็น สมาธิภาวนา เจริญกุศลเป็น กุศลภาวนา ก็ชัดเลยทุกคำ ลงภาวนาหมด
เป็นอันว่าตัวจริงของเจริญ ก็คือศัพท์ว่า “ภาวนา” นี่เอง
คำว่า ภาวนา แปลว่าการเจริญ เป็นอันว่าได้ศัพท์แล้ว ตอนนี้เมื่อจับศัพท์ได้ เรามาดูความหมายกันอีก อาตมภาพลองค้นดู เวลาท่านใช้คำว่าภาวนา หนังสืออรรถกถาจะอธิบาย (เขาเรียกว่าไขความ) ไขความว่า ภาวนาแปลว่าอะไร แทบทุกแห่งแปลภาวนาว่าพัฒนา ก็เลยไปตรงกันเข้าอีก
ยกตัวอย่าง เช่น บาลีในพระไตรปิฎกพูดว่า ภาเวติ ซึ่งเป็นรูปกริยาศัพท์ของภาวนา อรรถกถาก็อธิบายว่า ภาเวติ ได้แก่ วฑฺเฒติ วฑฺเฒติ ก็คือ วัฒนา หรือ พัฒนา ก็เป็นอย่างนี้ หรือ ภาเวตฺวา ก็อธิบายว่าได้แก่ วฑฺเฒตฺวา ซึ่งเป็นอีกรูปหนึ่งของภาวนา ภาวนาเป็นตัวศัพท์ วัฒนา เป็นคำไขความ
ตกลงว่า ที่เราใช้พัฒนาก็ไม่ไปไหน ก็ตรงกับคำว่า วัฒนา ซึ่งเป็นคำอธิบายของคำว่าภาวนานั้นเอง
เป็นอันว่าเดี๋ยวนี้นิยมใช้คำว่า พัฒนา ก็ใช้ได้ไม่ผิด เพราะเป็นอีกรูปหนึ่งของคำว่า ภาวนา นั่นเอง และอาจจะเหมาะกับสมัยปัจจุบัน เพราะว่า เดี๋ยวนี้คำว่า ภาวนา มีความหมายในภาษาไทยที่ออกจะคลาดเคลื่อนและก็แคบไปเสียแล้ว
เวลาพูดถึงคำว่า ภาวนา คนสมัยปัจจุบันไม่ค่อยจะเข้าใจว่าเป็นการพัฒนา หรือทำให้เจริญเสียแล้ว แต่มักจะมองเป็นว่าภาวนาก็คือการสวดมนต์บ่นคาถา หรืออาจจะไปถึงว่าเป็นสวดมนต์ พ่นคาถาไปก็ได้ เพราะฉะนั้น คำว่า ภาวนา ในภาษาไทยจึงมีความหมายแคบ และบางทีคลาดเคลื่อนไม่ค่อยตรงเท่าไรเลย
แท้ที่จริงในบาลี ภาวนา ก็มีความหมายเท่ากับพัฒนา แต่ในภาษาไทยไม่ได้เข้าใจอย่างนั้นเสียแล้ว ฉะนั้นถ้าเราใช้คำว่าพัฒนาก็จะสื่อความหมายได้ง่ายขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันต้องจับโยงไว้ให้ได้ด้วยว่า ตัวแท้ตัวจริงของมันในทางธรรมนั้น พัฒนาก็คือภาวนานั้นเอง
เป็นอันว่า วันนี้อาตมภาพมาโยงศัพท์พัฒนาเข้าไปหาตัวหลักเดิม คือ ภาวนา ได้แล้ว ทีนี้ก็มาพิจารณาความหมายของคำว่า ภาวนา กันต่อไป
ภาวนา ที่เราแปลว่าเจริญนั้น ถ้าแปลออกศัพท์หรือแปลโดยพยัญชนะ ก็แปลว่า ทำให้เกิดให้มีขึ้น หรือทำให้มีให้เป็นขึ้น หมายความว่า อะไรที่ยังไม่มี ก็ทำให้มีขึ้น อะไรที่ยังไม่เป็น ก็ทำให้เป็นขึ้น หรือว่าโดยเฉพาะท่านหมายถึงกุศลธรรม กุศลธรรมอันใดยังไม่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่าภาวนา ความหมายนี้เรียกว่า ความหมายตามตัวอักษร ส่วนความหมายที่แปลออกไปทางเนื้อความจับเอาสาระ ท่านมักแปลกันว่า การฝึกอบรม
ภาวนา แปลว่าการฝึกอบรม นี้เป็นการแปลเอาใจความ และแปลต่อไปได้อีกว่า ทำให้เจริญ ทำให้เพิ่มพูนขึ้น
พออธิบายความหมายของภาวนาว่าเป็นการทำให้เกิดให้มีขึ้น หรือทำให้มีให้เป็นขึ้น ตลอดจนการฝึกอบรม ทำให้เจริญเพิ่มพูนมากมายงอกงามขึ้นมา ก็เลยไปโยงกับศัพท์ธรรมอื่นๆ เข้าด้วยอีก ที่อยู่ในชุดเดียวกัน ซึ่งทางพระเรียกว่า ไวพจน์ คือคำที่มีความหมายอย่างเดียวกัน หรือใช้แทนกันได้ ก็เลยต้องจับศัพท์ที่อยู่ในกลุ่มนี้มาพูดด้วยกันหมด
จะขอจับโยงศัพท์สำคัญเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องการพัฒนาตนด้วยกันทั้งสิ้น
มีศัพท์สำคัญอยู่ ๓ ศัพท์ ซึ่งนักศึกษาธรรมควรจะรู้เป็นอย่างยิ่ง คือ
๑. ภาวนา ที่พูดมาแล้ว
๒. ทมะ ซึ่งมีอยู่ด้วยในหลักธรรมที่เรารู้จักกันมาก คือหลักการครองเรือน ที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม ๔ (ข้อ ๒) อันได้แก่ สัจจะ (ซื่อสัตย์จริงใจ) ทมะ (ฝึกตัวปรับใจ) ขันติ (เข้มแข็งทนได้) จาคะ (รู้สละมีน้ำใจ)
ทมะ แปลว่า การฝึก เป็นข้อสำคัญมาก บางทีเราพูดถึงน้อยไป เดี๋ยวจะพูดถึงว่ามันสำคัญอย่างไร
๓. สิกขา สิกขาเป็นคำภาษาบาลี ถ้าใช้อย่างภาษาสันสกฤต ก็เรียกว่า ศึกษา สิกขา หรือ ศึกษา มีความสำคัญมาก ทางพระพุทธศาสนา มาในคำว่า “ไตรสิกขา” การฝึกอบรมทั้งหมดในทางพระพุทธศาสนา กระบวนการทางปฏิบัติทั้งหมด เรียกว่า ไตรสิกขา
สิกขา แปลว่า การศึกษา การเรียนรู้ การสำเหนียก การฝึกฝนอบรม
ทุกศัพท์มีความหมายว่าเป็นการฝึกทั้งนั้น ภาวนา ก็คือการฝึกอบรม ทมะ ก็แปลว่า การฝึกฝน สิกขา ก็แปลว่า การฝึกฝนเรียนรู้ ก็อยู่ในพวกเดียวกัน แล้วก็มีความหมายอื่นๆ แยกกระจายออกไป ตกลงว่ามีศัพท์สำคัญ ๓ อย่างที่จะต้องรู้ต้องเข้าใจอยู่ในชุดเดียวกัน
พระพุทธศาสนานี้เรียกได้ว่าเป็นศาสนาแห่งการพัฒนาตน หรือจะเรียกว่าเป็นศาสนาแห่งการฝึกตน หรือศาสนาแห่งการศึกษาก็ได้ แต่ถ้าจะให้ตรงกับที่เป็นหัวข้อในที่นี้ ก็เรียกว่าเป็นศาสนาแห่งการพัฒนาตน ที่เรียกอย่างนี้ก็มีเหตุผลรองรับอย่างดี
ประการที่ ๑ หลักธรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นแกนกลาง เป็นทั้งหมดของการปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา คำว่า ภาวนา ก็อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ เราใช้ในเรื่องการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง จะเจริญเมตตาก็เป็นเมตตาภาวนา เจริญกุศล ทำกุศลให้เกิดมีก็เป็นกุศลภาวนา เจริญอานาปานสติก็อานาปานสติภาวนา เป็นเรื่องการพัฒนาตนหรือฝึกฝนตนทั้งนั้น เพื่อให้เกิดมีกุศลธรรมเหล่านั้น คำว่า ภาวนา จึงเป็นการปฏิบัติที่ครอบคลุมทั่วไปทั้งหมด
ทีนี้เรื่องสิกขาก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า ไตรสิกขาครอบคลุมการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
ส่วนทมะนั้นปรากฏว่าท่านใช้มากในรูปที่แสดงคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งจะพูดในเหตุผลข้อที่ ๒
ประการที่ ๒ บุคคลที่สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา หรือผู้ได้บรรลุเป้าหมายในทางพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า บุคคลที่พัฒนาตนแล้ว หรือมีตนอันพัฒนาแล้ว หรือมีตนอันฝึกแล้ว
ถ้าหากไปดูความในภาษาบาลี ไม่เอาศัพท์ภาษาไทย เพราะไปดูพระไตรปิฎกภาษาไทยอาจจะสังเกตไม่ชัด พระไตรปิฎกบาลีมีศัพท์เรียกคนที่บรรลุจุดมุ่งหมายในทางพระพุทธศาสนาว่า เป็นบุคคลที่มีตนอันพัฒนาแล้ว มีตนอันเจริญแล้ว มี ๒ ศัพท์ โดยเอาศัพท์ว่า ภาวนา กับ ทมะ มาใช้
คำที่เอาภาวนามาใช้ ท่านเรียกว่า ภาวิตัตตะ แปลว่า บุคคลผู้มีตนอันพัฒนาแล้ว ภาวิตะเป็นรูปคุณนาม หรืออย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่ากริยาช่อง ๓ ของภาวนา แปลง่ายๆ ว่าผู้ที่ได้ภาวนาแล้ว รวม ภาวิตะ กับ อัตตะ (ตน) เป็น ภาวิตัตตะ แปลว่า ผู้มีตนอันพัฒนาแล้ว ทำให้เจริญแล้ว
พระพุทธเจ้า เวลาคนมาถามปัญหา บางทีเขาทักพระองค์ว่า ท่านภาวิตัตตะ ท่านผู้มีตนอันพัฒนาแล้ว
ส่วนคำว่า ทมะ ก็ใช้อย่างเดียวกัน เป็นรูปกริยาช่อง ๓ ได้แก่ ทันตะ ใช้ในรูปว่า อัตตทันตะ อัตตทันตะ แปลว่า ผู้มีตนอันฝึกฝนแล้ว อัตตะ ตน + ทันตะ ฝึกฝนแล้ว
สองศัพท์คือ ภาวิตัตตะ กับ อัตตทันตะ นี้เป็นคำที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้ามากที่สุด และเรียกพระอรหันต์ด้วย บางแห่งก็ใช้กับพระอริยบุคคลทั่วไปลงมาถึงพระโสดาบันก็พอได้ แต่ตามปกตินิยมใช้กับพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
ในคาถาหนึ่ง ท่านกล่าวว่า มนุสฺสภูตํ สมฺพุทธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ ไปเรื่อยจนถึงคำว่า เทวาปิ นํ นมสฺสนฺติ บอกว่า พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่ทรงเป็นมนุษย์นี้แหละ แต่เป็นผู้ได้ฝึกฝนพัฒนาตนแล้ว เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น แม้แต่เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ นี้เป็นการแสดงถึงความเคารพยกย่องเชิดชูท่านที่ได้พัฒนาตนแล้ว ถือว่าเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด
ในอีกคาถาหนึ่ง พระพุทธศาสนาสรรเสริญคนที่พัฒนาตนแล้วว่า ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกตนแล้วประเสริฐสุด ไม่ใช่ประเสริฐเฉพาะในหมู่มนุษย์เท่านั้น วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏโฐ เทวมานุเส ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์และทวยเทพ เทวดาทั้งหลายแม้แต่พรหมก็เคารพบูชา
เป็นอันว่า หลักในพระพุทธศาสนา เทิดทูนการพัฒนาตนมาก ผู้พัฒนาตนแล้วเป็นสุดยอดของบุคคลที่ได้รับการสรรเสริญในพระพุทธศาสนา การพัฒนาตนเป็นแกนของการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา นี่ก็คือได้เข้ามาสู่จุดที่เป็นเป้าหมายแล้ว
ต่อไป เมื่อได้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ควรพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในเมื่อการพัฒนาตนมีความสำคัญ และบุคคลที่พัฒนาตนแล้วเป็นบุคคลที่บรรลุจุดหมายในทางพระพุทธศาสนา เราจะมีวิธีการพัฒนาตนอย่างไร
ทีนี้ ก่อนจะมีการพัฒนาตนว่าจะทำอย่างไร ก็จะต้องมีความเชื่อพื้นฐานก่อนว่า คนเรานั้นพัฒนาได้ อันนี้เป็นความเชื่อที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา คือเชื่อว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อย่างในพระพุทธคุณถ้าท่านสังเกต สวดไปจะมีคำว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ แปลว่า เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีคนอื่นยิ่งกว่า
ขอให้สังเกตว่า ในคำว่า “ปุริสทมฺม” นั้น ตัว ทมฺม ไม่ใช่ ธมฺม ที่แปลว่า ธรรม ที่เป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม หรือ ธรรม ความดี ความชั่ว เป็น ท. ไม่ใช่ ธ.
ทัมมะ นี้เป็นรูปหนึ่ง เป็นรูปคุณนามของ “ทมะ” ที่กล่าวมาเมื่อกี้ แสดงว่า ทมะ มีความสำคัญ จึงมาปรากฏตัวอยู่ในบทพุทธคุณนี้ด้วย
ทมฺม หมายความว่า คนเรานี้เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนได้ ฝึกฝนได้ตั้งแต่ยังมีสัญชาตญาณป่าเถื่อน ไปจนกระทั่งสูงสุดเป็นพระพุทธเจ้า อย่างในคาถาเมื่อกี้ว่า มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ พระองค์ฝึกอบรมตนแล้ว เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ท่านบรรยายคุณสมบัติต่อไปอีกหลายอย่าง แล้วลงท้ายว่า แม้แต่ทวยเทพทั้งหลายก็นมัสการ นอบน้อมเคารพบูชา
เป็นอันว่า พระพุทธศาสนาสรรเสริญการฝึกฝนตน และถ้าจะเทียบศัพท์ปัจจุบันก็เรียกว่า มนุษย์มีศักยภาพ พุทธศาสนาเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก
แม้แต่ในหลักพระรัตนตรัย ข้อแรกในพระรัตนตรัยก็คือพระพุทธเจ้า ความหมายอย่างหนึ่งของพระรัตนตรัยก็คือ สร้างความมั่นใจให้พุทธศาสนิกชนว่า พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำของเราที่แสดงว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พระองค์ก็เคยเป็นมนุษย์ปุถุชนมาก่อน แต่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีสร้างสมคุณธรรม จนกระทั่งผลที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
ถ้าเราทั้งหลายเชื่อในพระองค์ เชื่อในพระปัญญาที่ตรัสรู้ เราก็จะเชื่อในตนเองด้วยว่าเรานี้ก็มีความสามารถ มีศักยภาพในตัวที่จะฝึกฝนตนเองได้อย่างพระองค์
เราจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเน้นประวัติการฝึกตนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านมีคัมภีร์ชาดกกันมากมาย ๕๕๐ ชาตินั้น จุดมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการฝึกหัดอบรมตนหรือการพัฒนาตนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่เป็นปุถุชน ตั้งแต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน จนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นพุทธศาสนิกชนแล้วต้องมีกำลังใจ อย่าไปท้อว่าเราไม่สามารถพัฒนาตนได้ แม้แต่จะปรารถนาพุทธภูมิเป็นพระพุทธเจ้าก็สามารถเป็นได้ด้วยการบำเพ็ญบารมี หลักพุทธคุณเป็นองค์พระรัตนตรัยข้อที่หนึ่ง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นอันนี้ขึ้นมา
ที่กล่าวมานี้เป็นหลักเป็นฐานเบื้องต้นทีเดียว และพระพุทธศาสนายังสอนหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อีกมากมาย เช่น การจำแนกบุคคลเป็น ๔ ประเภท เป็นดอกบัว ๔ เหล่า เป็นการสอนเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
พระพุทธเจ้าก็จะต้องมีญาณหยั่งรู้ความแตกต่างแห่งบุคคล ท่านเรียกว่า อินทริยปโรปริยัตตญาณ ญาณหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ต้องรู้ว่ามนุษย์ยังอยู่ในระดับการพัฒนาตนต่างกันอย่างไร คนไหนควรจะสร้างความพร้อม ทำอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นไปอย่างไร และทรงมีวิธีการของพระองค์ เพราะทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ยอดเยี่ยม พระองค์จึงทรงหาวิธีมาฝึกให้เขาพร้อม ให้มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับ
หรืออีกข้อหนึ่งใน ทศพลญาณ เป็น นานาธิมุตติกญาณ ญาณหยั่งรู้อธิมุตติ คือความสนใจและแนวโน้มเอียงในบุคคลที่แตกต่างกัน เป็นต้น ซึ่งทำให้พระองค์เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น ในการสั่งสอนให้บรรลุผลสำเร็จ
เป็นอันว่า ในทางพระพุทธศาสนามีความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรืออย่างที่ใช้ศัพท์สมัยปัจจุบันว่า มีศักยภาพอยู่ในตัวที่จะพัฒนาได้ พอมีหลักความเชื่อพื้นฐานอันนี้ โดยมีความสัมพันธ์กับหลักพระรัตนตรัย ก็มาถึงหลักการพัฒนาตนต่อไป
การพัฒนาตน หรือหลักการพัฒนาตนนี้ อาตมภาพขอพูดในขอบเขตของคำศัพท์ธรรม ๓ คำเมื่อกี้ คือคำว่า ภาวนา ทมะ และ สิกขา แต่ตอนนี้จะเปลี่ยนลำดับใหม่ จะเริ่มด้วยคำว่า ทมะ ไปยัง สิกขา แล้วจึงไป ภาวนา
ต้องทำความเข้าใจก่อนอีกอย่างหนึ่งว่า ศัพท์ทั้ง ๓ นี้ ความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน คือเป็นเรื่องการฝึกฝนพัฒนาตนทั้งสิ้น แต่ท่านพูดด้วยศัพท์ต่างกัน หรือเน้นย้ำแง่ด้านแปลกกัน ที่จะให้ความหมายเด่นไปคนละด้านๆ หรือมาเสริมกันให้บริบูรณ์ ทีนี้เราลองมาดูการเน้นการย้ำในการพัฒนาตนนั้นว่าเป็นอย่างไร
หลักที่ ๑ เริ่มด้วยข้อ ทมะ ซึ่งแปลว่าการฝึก อย่างที่กล่าวเมื่อกี้แล้ว ทมะนี้ท่านเลียนศัพท์มาจากการฝึกสัตว์ ขอให้สังเกตเรื่องการฝึกสัตว์ แล้วจะเข้าใจเรื่องทมะด้วย
การฝึกสัตว์นั้นหมายถึงตั้งแต่ตอนแรกที่สัตว์อยู่ในป่าในไพร เถื่อน พยศมาก แล้วเราก็เอามาฝึกๆ จนกระทั่งมันเชื่อง จนกระทั่งใช้งานได้ดี ทำอะไรได้แปลกๆ ที่นึกไม่ถึงว่ามันจะทำได้
ในการฝึกสัตว์นั้นมีลำดับอยู่ ๒ ขั้นตอน
ตอนที่ ๑ กำราบปราบพยศ เรียกว่า ข่ม หรือทำให้หายพยศ ทมะในแง่นี้เรามักแปลว่า การข่มใจ ตรงกับในหลักที่ว่าทำให้หายพยศ หรือกำราบปราบพยศอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือสัตว์ป่า เอามาจากป่าใหม่ๆ เอามาจากดงดิบ จากไพร ตอนแรกก็ทำให้หายพยศ ให้เชื่อง ทำให้พ้นจากอำนาจของสัญชาตญาณป่าเถื่อนนั่นเอง ตอนนี้เป็นขั้นที่ ๑ เป็นกระบวนการฝึกเริ่มแรก ทีนี้พอปราบหายพยศดีแล้ว
ตอนที่ ๒ คือฝึกฝนปรับปรุงให้ทำอะไรๆ ได้ดียิ่งขึ้นไป จนกระทั่งสัตว์มีคุณสมบัติพิเศษมากมายเรียกว่า ทำให้วิเศษ เช่นช้าง เราอาจจะฝึกเอามาใช้งาน เอามาลากซุง และใช้ทำอะไรต่างๆ อย่างพวกละครสัตว์ เอาไปเล่นในทางสนุกสนานรื่นเริงก็ได้ เอาช้างมายืนด้วยขาหลัง ๒ ขา เอา ๒ ขาหน้าจับงวงไหว้ หรือจะเอาขาทั้ง ๔ มารวมกัน ฯลฯ เรื่องนี้ทางญาติโยมรู้ดี
รวมความว่า สัตว์นี้ฝึกแล้วจะทำอะไรได้แปลกๆ ไม่ว่าช้าง ม้า ไม่ว่าสัตว์อะไร แม้แต่ลิงที่ว่าซนนักหนา คนก็ยังนำมาฝึกใช้งานและทำอะไรได้แปลกๆ อันนี้ท่านว่าเป็นเรื่องของการฝึก ฝึกแล้วก็ทำอะไรๆ ได้ดี เป็นอัศจรรย์
ทีนี้สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพียงเดรัจฉานนั้น ฝึกแล้วยังมีคุณสมบัติที่ดี มีประโยชน์มากมาย ถ้าเป็นคนที่ฝึกดีแล้ว จะดีปานใด ท่านเลยกล่าวเป็นคาถาออกมา ถ้าท่านอ่านคัมภีร์พระธรรมบท จะพบคาถาว่า
วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา
กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ
นี่พบอีกแล้ว คำว่า อตฺตทนฺโต ผู้ที่ฝึกตนแล้ว หรือพัฒนาตนแล้ว
ท่านให้คติว่า อัสดร สินธพ อาชาไนย ช้างสามัญ และช้างใหญ่ทั้งหลาย ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐยิ่งกว่านั้น
นี้แหละเรื่องของการฝึกตนที่เรียกว่าทมะ เอาหลักการฝึกสัตว์นั้นเองมาใช้ คนเราก็จะคล้ายๆ อย่างนี้ ถ้าเราจะฝึกตัวเราเอง ก็คือ
๑. รู้จักข่มคุมบังคับใจ ควบคุมตัวได้ ไม่ยอมตามกิเลสที่ทำให้เราพยศ ที่ดึงลงไปสู่ความชั่วร้าย ล่อเร้า เย้ายวน ยั่วยุ อะไรต่างๆ และข่มกำราบปราบพยศ ระงับความเคยชินที่ชั่วร้ายได้
๒. ปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้นไป ฝึกในคุณความดีให้มีปัญญาความสามารถเจริญก้าวหน้างอกงามจนเป็น อตฺตทนฺต
เมื่อพูดถึงหลัก ทมะ แล้ว ก็อยากจะพูดถึงหลักธรรมที่อยู่ในชุดเดียวกัน ซึ่งมี ๓ อย่าง ความจริงก็ถือว่า ทมะ นั้นเองเป็นตัวจริง แต่บางคราวในการสอนธรรมนั้น ท่านต้องการแยกแยะแจกแจง สอนกระจายให้เห็นแง่ด้านขั้นตอนข้อธรรมย่อย เพื่อให้มองเห็นวิธีปฏิบัติได้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น
เรื่องทมะนี้ บางทีก็ซอยให้เห็นลำดับชั้นขั้นตอนเบื้องต้นละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก ก็เลยแจงออกไป ธรรมในกลุ่มนี้ที่ควรนำมาเทียบกันมี ๓ อย่าง คือ
๑) สังวร คำนี้มีใช้ในภาษาไทย เข้าใจว่าได้ยินกันพอสมควร
๒) สัญญมะ หรือ สังยมะ คำนี้ไม่ได้ยินบ่อยนัก แต่ที่จริงใช้มากในทางธรรม ผู้เรียนหลักธรรมน่าจะเอามาศึกษาดู
๓) ทมะ เป็นตัวหลักใหญ่ กระจายลงไปข้างล่างเพื่อจะให้เห็นขั้นตอนยักเยื้องออกไปมากขึ้น ทำให้เห็นวิธีการที่จะเจริญก้าวหน้าในธรรม หรือการดำเนินชีวิตที่ดี ๓ อย่าง สามอย่างนี้มีข้อแตกต่างกันอย่างไร
๑. สังวร แปลตามตัวว่า ระวัง หรือ ปิดกั้น อันนี้เน้นในแง่รับเข้ามา คือคนเรารับสิ่งของภายนอกเข้ามาในตัว รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้เห็น ได้ยินอะไรต่างๆ มีประสบการณ์ เราก็รับเข้ามา
ทีนี้ การรับเข้ามานั้นมันก็มีทั้งทางบวกและทางลบ ทางบวกรับเข้ามาแล้วก็เป็นผลดี เป็นความดีงาม เป็นความเจริญก้าวหน้า ส่วนทางร้ายฝ่ายตรงข้ามก็เป็นเรื่องความเสื่อมเสีย เป็นความชั่วเสียหาย หรือบางครั้งของนั้นเป็นกลางๆ แต่ใจรับไม่ดี วิธีรับหรือตั้งรับไม่ดี รับเข้ามาแล้วแปลความหมายไม่ดี เอามาทำให้เกิดผลเสีย และเกิดอกุศลธรรมขึ้น ตรงข้ามกับอีกคนหนึ่งหรืออีกเวลาหนึ่ง เมื่อรู้จักฝึกตนแล้ว รับเข้ามาแล้วก็ทำให้เกิดผลดีเป็นเรื่องกุศลธรรม
ขอยกตัวอย่าง เช่น มองเห็นคนประสบความทุกข์ นอนเจ็บปวด เดือดร้อนอยู่ พอเรามองเห็นก็เรียกว่าได้รับเข้ามาแล้ว อาจจะเกิดกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมก็ได้ แล้วแต่ใจตั้งรับอย่างไร ท่านเรียกว่ามีมนสิการอย่างไร ทำในใจอย่างไร
ถ้ามีมนสิการดี ทำใจโดยดี โดยแยบคาย รู้จักคิด รู้จักพิจารณา ก็เกิดกุศลธรรม เกิดกรุณาขึ้นมา คิดสงสารอยากจะช่วยเหลือ ปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากความทุกข์ หรืออาจจะเกิดปัญญาพิจารณาความเป็นจริงว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้แหละ ชีวิตและโลก โลกและชีวิตเป็นอย่างนี้ เกิดความเข้าใจสัจธรรมขึ้นมา จนถึงขั้นที่เกิดทั้งปัญญาและกรุณาก็ได้
เหมือนอย่างพระโพธิสัตว์ เจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนเสด็จออกบรรพชา ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ พระองค์เห็นแล้วก็เกิดความสังเวช เบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย และก็พิจารณามองเห็นแนวทางปฏิบัติที่สมควร เพื่อจะแก้ไขความทุกข์ของมนุษย์
แต่ทีนี้อีกคนหนึ่งหรืออีกเวลาหนึ่ง ตั้งใจรับไม่ดี มีอโยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยไม่แยบคาย กลับรู้สึกรังเกียจ ขยะแขยง เกลียดชัง เกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจ กลายเป็นอกุศลธรรมไป
เพราะฉะนั้น เรื่องเดียวกัน ใจตั้งรับดีหรือไม่ดีก็มีผลดีผลเสียต่างกัน
นี่เรื่องการรับรู้ เป็นด่านแรกของเรา ต้องใช้หลักสังวร ซึ่งเป็นเครื่องระวังปิดกั้น โดยปิดกั้นไม่ให้สิ่งร้ายเข้ามา เช่น หลักอินทรียสังวร ซึ่งเป็นหลักธรรมอย่างหนึ่งที่ท่านเน้นมาก กล่าวคือการสังวรอินทรีย์หรือสำรวมอินทรีย์
สังวร แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า สำรวม ที่ว่าสำรวมอินทรีย์ ระมัดระวังปิดกั้น ท่านอธิบายว่า เมื่อรับรู้หรือว่าได้เห็นได้ยินสิ่งต่างๆ ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ระวังไม่ให้อกุศลธรรมเข้าครอบงำจิต ไม่ให้ความยินดียินร้ายเข้ามาครอบงำจิตใจ นี้เป็นเรื่องสังวรระวัง ปิดกั้นไม่ให้สิ่งร้ายเกิดขึ้น ไม่เปิดรับสิ่งไม่ดี แล้วจะได้เปิดช่องให้แก่สิ่งที่ดี
๒. สัญญมะ แปลว่าควบคุมบังคับ หมายถึงการรู้จักควบคุมบังคับตนในการแสดงออก เมื่อกี้รับเข้า คราวนี้แสดงออก ในการแสดงออกของเราต้องมีการบังคับควบคุมให้ดี อย่าให้เกิดผลเสียหายเป็นโทษ โดยเฉพาะท่านเน้นในแง่อย่าให้เบียดเบียนผู้อื่น
พูดสั้นๆ ว่าเราต้องรู้จักควบคุมตนเอง ให้ตั้งอยู่ในศีล ในหลักความดีงาม เริ่มตั้งแต่ไม่ให้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้ก่อโทษผลร้ายต่อสังคม อย่างนี้เรียกว่าสัญญมะ
๓. ทมะ เมื่อมีด่านในการรับดี และมีเครื่องควบคุมตนเองในการแสดงออกดีแล้ว ต่อไปนี้ก็เข้าสู่ขั้นตัวจริง คือ ทมะ ซึ่งแปลว่า ฝึกฝนปรับปรุงตน ทีนี้ก็ทำให้เจริญก้าวหน้าไปในคุณความดีจนถึงที่สุด คุณความดีมีอะไรก็ทำไปและทำจนเต็มที่ ท่านเรียกว่าทำให้ไพบูลย์
เป็นอันว่ามีครบ ๓ อย่าง คือ สังวร สัญญมะ ทมะ มีสังวร สำหรับปิดกั้นในการรับไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามา มีสัญญมะ สำหรับควบคุมตนในการแสดงออก ไม่ให้เบียดเบียน ไม่ให้เกิดผลเสีย แล้วก็มีทมะ ไว้ปรับปรุงตัว ให้เจริญงอกงามในคุณความดียิ่งขึ้นไปจนถึงที่สุด ก็เป็นอันครบกระบวนการปฏิบัติธรรมในแง่หนึ่ง
การที่อาตมภาพแยกหลักธรรมชุดนี้ขึ้นมานั้น ก็ต้องการให้มองเห็นว่า เรื่องการฝึกตัวพัฒนาตนนี้ มีแง่ด้านต่างๆ ที่จะพิจารณาได้หลายอย่าง
อนึ่ง มีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะพูดไว้ด้วย คือว่า ในเมื่อมีการฝึก และมีผู้รับการฝึกแล้ว (การฝึกจะเรียกว่า ทมะ หรือ ทมนะ หรือทมถะ ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของไวยากรณ์ เรียกง่ายๆ ก็ทมะ อย่างที่ว่าเมื่อกี้แล้ว ส่วนผู้รับการฝึกก็คือ ทมฺม ใน ปุริสทมฺม) จากนั้นก็ต้องมีผู้ฝึก เรียกว่า ทมกะ
ทีนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในทางพระศาสนา หรือทางธรรมนั้น ไม่ใช่คนอื่นจะมาฝึกเราได้ ความจริง ที่เรียกว่าผู้ฝึก หมายความว่า มาช่วยให้เราฝึกตนเอง
ผู้ฝึกคือผู้มาช่วยให้เราฝึกตนเอง เช่นอย่างพระพุทธเจ้าทรงเป็น ทมโก แปลว่าผู้ฝึก หรือ ทเมตุ ทเมตา แปลว่าผู้ฝึกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นทเมตา เช่นในข้อความว่า ภควา อทนฺตานํ ทเมตา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ฝึก อทนฺตานํ ซึ่งคนผู้ยังไม่ได้ฝึก
ทีนี้ผู้ฝึกอย่างที่ว่ามาเมื่อกี้มีความหมายว่ามาช่วยให้คนเขาฝึกตนเอง การมาทำหน้าที่ช่วยให้ผู้อื่นฝึกตนเองนั้น ท่านเรียกว่าทำหน้าที่กัลยาณมิตร ฉะนั้นหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกอันหนึ่งจึงได้แก่หลักกัลยาณมิตร
พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์เป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย อย่างพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า สัตว์ทั้งหลายมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา เราตถาคตเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย ทำให้สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา พ้นจากความเกิด ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา พ้นจากความแก่ ผู้มีความตายเป็นธรรมดา พ้นจากความตาย เป็นต้น พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นี้คือทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร
ก็เลยมีหลักในพระพุทธศาสนาว่า ในกระบวนการฝึกนั้นสิ่งสำคัญจะต้องมีกัลยาณมิตรด้วย
ฉะนั้น ในสังคมของชาวพุทธ สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรจะลืมก็คือจะต้องพยายามสร้างสรรค์กัลยาณมิตรให้มีขึ้น เพื่อจะได้ให้สังคมนี้ดี มีศีลธรรม เราจะให้คนเขาพัฒนาตน ฝึกตนขึ้นมาเองนั้น มักจะหวังได้ยาก ถ้ามีกัลยาณมิตรเป็นตัวอย่างและช่วยแนะนำ ก็มีหวังมากขึ้น
ฉะนั้น ในสังคมขณะนี้ ถ้ามีความเสื่อมโทรมมาก ก็ต้องการกัลยาณมิตรมาก เพื่อจะได้ช่วยกันทำให้คนมีโอกาสพัฒนาตน อันนี้เรื่อง ทมะ ก็ขอผ่านไป
หลักที่ ๒ สิกขา ในภาษาไทยเราใช้คำว่า ศึกษา สิกขา ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นเรื่องการฝึกฝน อบรมตน พัฒนาตนเหมือนกัน และเป็นหลักปฏิบัติทั้งหมดในทางพระพุทธศาสนาทีเดียว
สมัยโบราณแปล สิกขา ว่า สำเหนียก คำนี้เป็นคำเก่า ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ยิน ที่จริงเป็นคำที่ดีคำหนึ่ง มีความหมายลึกซึ้ง
สำเหนียก หมายความว่าอย่างไร เท่าที่พอทราบ สำเหนียก หมายความว่ารู้จักจับ รู้จักเลือก เอามาใช้ประโยชน์ เอามาใช้ฝึกฝนปรับปรุงตน หมายความว่า เราไปได้ยินได้ฟังใครพูด เช่นมาฟังปาฐกถา ก็รู้จักสำเหนียก รู้จักจับ รู้จักเลือกสิ่งที่ดีมีสาระ สิ่งเป็นประโยชน์ ที่จะเอามาใช้ในการปรับปรุงตนเอง ใช้ประโยชน์เข้ากับตัวเองได้ แล้วหยิบมาใช้ในการปรับปรุงตนเอง นี้เรียกว่าสำเหนียก
ไม่เฉพาะในการฟังเท่านั้น ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร ถ้ารู้จักสำเหนียก ก็จับเลือกได้ เลือกสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเอง เอามาใช้ประโยชน์ได้ สำเหนียกนี้มีความสำคัญมากทีเดียว เป็นหลักปฏิบัติที่ดี เหมาะกับความหมายของคำว่าศึกษา เพราะฉะนั้น ศึกษา คือ สำเหนียก
ในเมื่อ ศึกษา แปลว่า สำเหนียก แล้ว เราจะเห็นแง่ของการศึกษาเป็น ๒ อย่าง คือ
๑. ตอนที่เราสำเหนียก เราจะเลือกเอามาใช้ประโยชน์ เราต้องรู้ต้องเข้าใจความมุ่งหมายว่าเราต้องการเอาไปใช้ทำอะไรให้เป็นอะไร
๒. เราจะได้อะไร จะเอาอะไรมา ถ้าเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ จะเรียนรู้อะไร
ข้อหนึ่ง คือ เพื่อจะให้เป็นอะไร และข้อสอง คือเพื่อจะให้เป็นอย่างนั้น จะต้องเอาอะไรมาใช้
โดยนัยนี้ เรื่องสำเหนียกหรือศึกษาจึงมีส่วนสำคัญ ๒ ขั้น
๑. ต้องตระหนักชัดมั่นอยู่ในเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมาย
๒. จับเอาสิ่งนั้นๆ ที่จะใช้ประโยชน์มาให้ได้ จับให้ได้ตัวสาระสำคัญ
ฉะนั้น ในเรื่องการศึกษานี้ จึงมีข้อที่สร้างเป็นแนวปฏิบัติได้ ๒ อย่าง ๒ ด้าน หรือ ๒ ขั้นตอน คือ คนที่เป็นผู้ศึกษา เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ฝึกฝนตนเองนี้ ควรมีลักษณะนิสัยหรือจิตสำนึกอยู่ในใจ ๒ ประการเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นอย่างสำคัญ หรือเป็นหลักทีเดียว คือ
๑. ความคิดหรือความรู้สึกของจิตใจที่มุ่งสู่เป้าหมาย
๒. ขอผูกเป็นคำคล้องจองว่า มองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ทั้งหมด
แง่ที่หนึ่ง จิตมุ่งสู่เป้าหมาย จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การมุ่งสู่เป้าหมายนั้นเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ที่ตระหนัก ไม่ใช่เป็นเรื่องของความอยากความปรารถนา เช่นในการปฏิบัติธรรมนี้ท่านบอกว่าอย่าปฏิบัติโดยคิดอยากได้อยากจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ก็ผิด เพราะเวลาเราอยากเราไม่ปฏิบัติ พอเวลาปฏิบัติเราไม่ได้อยาก
เวลาเราอยาก จิตหยุดจากการปฏิบัติมาอยู่กับความอยาก เวลาเราปฏิบัติจิตอยู่กับการปฏิบัติ ไม่ว่างที่จะอยาก อันนี้สำคัญมาก ฉะนั้นท่านก็เลยให้ระวังไว้ว่าอย่าไปอยาก
ที่ว่ามีวัตถุประสงค์มีเป้าหมาย ไม่ใช่ให้อยาก แต่ให้รู้ คือ คนเราจะปฏิบัติต้องรู้เป้าหมาย รู้ตระหนักก่อน รู้อยู่แล้วจึงทำ ในเวลาที่ทำด้วยความรู้ตระหนัก มันก็ไปเอง เช่นในเวลาเดินทาง ถ้าเราไม่รู้จุดหมายเราก็เดินทางไม่ถูก ได้แต่สับสนวุ่นวาย
ทีนี้เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว ถ้าเราอยากในเป้าหมายแต่เราไม่ได้เดิน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้น เมื่อรู้ตระหนักในเป้าหมาย ต่อจากนั้นเราก็ทำ เมื่อทำด้วยความตระหนักรู้ในเป้าหมาย ก็ทำอย่างเดียว เดินดิ่งไปสู่เป้าหมายนั้นจนสำเร็จผล
ฉะนั้น ที่ว่ามุ่งสู่เป้าหมายจึงเป็นเรื่องของความรู้ตระหนัก ไม่ใช่ความอยากความปรารถนา เอาละ เป็นอันว่าข้อที่หนึ่งมุ่งสู่เป้าหมาย
การมุ่งสู่เป้าหมายเป็นลักษณะของการฝึกฝนตนเองที่ดียิ่ง ไม่ต้องพูดถึงการปฏิบัติธรรมสูงส่งอะไร แม้แต่ในชีวิตประจำวัน คนที่จะเจริญก้าวหน้าจะมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ การกระทำที่มุ่งสู่เป้าหมาย เช่น คนขายของ ถ้าขายสินค้าของตนโดยมีใจอยู่กับเป้าหมาย เป้าหมายก็คือขายของได้เงินมา แกจะไม่ใส่ใจ ไม่ถือเป็นอารมณ์กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เข้ามากระทบกระทั่ง
อย่างในสมัยก่อน เราพูดถึงคนจีนที่ขายของ แกขายของไป มีเด็กบ้างผู้ใหญ่บ้างมาล้อเลียนด่าลามปามถึงพ่อถึงแม่ แกก็เฉย หัวเราะได้ ยิ้มได้ตลอดเวลา เพราะใจแกอยู่กับเป้าหมาย คือขายของได้ ก็คนเขามาซื้อของเรา เอาเงินมาให้เรา เราได้เงิน เราขายของได้ก็ใช้ได้ ดีใจแล้ว บรรลุเป้าหมาย แกจึงไม่ถือสาอารมณ์กับเรื่องถ้อยคำนอกเรื่องที่มากระทบกระทั่ง
ฉะนั้น คนที่มีลักษณะฝึกตนหรือพัฒนาตนจะต้องมีลักษณะนี้ด้วย คือมีใจมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อทำได้อย่างนี้มันจะตัดอะไรต่างๆ เรื่องจุกจิกหยุมหยิมกระทบกระเทือนผ่านไปได้สบายๆ รวมแล้วจะมีผลดีหลายอย่าง
อย่างที่หนึ่ง จะมีผลดี คือ ไม่มีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งใจ ใครจะว่าอะไรก็ช่าง มันไม่กระทบมาถึงใจ เมื่อไม่มีอะไรกวนใจก็ตั้งใจทำสิ่งที่ตนปฏิบัติได้เต็มที่ ใจแน่วแน่เป็นสมาธิ เหมือนอย่างคนที่ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ ใจมุ่งสู่เป้าหมาย ใจตระหนักชัดแล้ว แม้จะมีเสียงอะไรต่างๆ เอะอะตึงตัง บางทีไม่ได้ยินไม่รู้ด้วย นี้ก็คือลักษณะที่เป็นสมาธิ เพราะใจแน่วดิ่งลงได้ง่าย มีจุดมุ่งหมายแล้วก็ทำงานไปจนสำเร็จ
ตอนนี้ก็จะเกิดผลดีข้อต่อไปคือ มีนิสัยทำจริง คนที่มีเป้าหมายแน่นอนแล้ว ทำอะไรก็ทำจริง ทำให้สำเร็จ จะเอาใจใส่ และคอยคิดวิเคราะห์พิจารณาหาทางว่าเรื่องนี้จะทำให้สำเร็จได้อย่างไร จะต้องใช้ความคิด ทำให้เป็นคนรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์พินิจพิจารณา และมีความรับผิดชอบเอาใจใส่ขยันหมั่นเพียรไม่อยู่นิ่งเฉย คนพวกนี้เฉยไม่เป็นในเมื่อมีหน้าที่จะต้องทำ
และในเมื่อเป็นคนขยันทำจริงอย่างนี้แล้ว ก็จะมีนิสัยดีตามมาอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นคนที่บังคับตนเองได้ ควบคุมตนเองได้ เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อตั้งใจจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ก็จะเกียจคร้านอยู่นิ่งไม่ได้ ก็ต้องทำก็ต้องบังคับตัวเอง ถึงเวลานั้น ถึงแม้ขี้เกียจไม่อยากทำ ก็จะมีแรงบังคับตัวเองให้ทำ กลายเป็นคนขยันไป เป็นคนเอาชนะตนเองได้ บังคับตนเองได้ ควบคุมตนเองได้
นอกจากนั้นก็จะเป็นคนอดทนรอผลได้ ใจที่มุ่งเป้าหมายรู้ว่าการกระทำนี้จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น รู้ว่าเราได้ทำเหตุไปแล้ว ขั้นนั้นๆ ผลจะมาเมื่อนั้น รู้อย่างนี้แล้วก็รอผลได้
แล้วนิสัยที่เข้าจุดโดยตรงก็คือ จะเป็นคนที่แก้ไขปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าใจที่มุ่งสู่เป้าหมาย คอยคิด คอยพิจารณาเอาใจใส่เรื่องที่ต้องทำนี้ พอเห็นว่าอะไรที่จะต้องทำเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ก็จะต้องปรับปรุงตัวให้เป็นให้ทำได้อย่างนั้น ต้องคอยปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามเหตุผล ก็เลยมีนิสัยแก้ไขปรับปรุงตนเอง เข้าลักษณะเป็นเรื่องของ ทมะ นี้เป็นแง่ที่หนึ่งคือมีจิตมุ่งสู่เป้าหมาย
แง่ที่สอง มองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ การมองอะไรเป็นการเรียนรู้นี้ เป็นลักษณะที่มีผลดี ไม่เฉพาะต่อการฝึกตนเท่านั้น แต่มีผลต่อด้านจิตใจของตนเองด้วย คนที่มองอย่างนี้มีแต่ได้ตลอดเวลา ไม่มีเสีย
การมองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้นี้ มีผลดีคล้ายๆ กับการมุ่งเป้าหมายที่ว่าเมื่อกี้ คนที่มุ่งสู่เป้าหมาย ใครจะทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เข้ากับเป้าหมายของเขาแล้ว เขาไม่เก็บเป็นอารมณ์ และก็ไม่เกิดความทุกข์
ทีนี้เมื่อมองอะไรๆ เป็นการเรียนรู้ เขาก็มองแต่ว่าประสบการณ์ที่พบที่เห็นที่ได้ยินนั้น เขาจะได้อะไรหรือมีอะไรที่เขาจะได้บ้าง เขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง เมื่อเขามองอย่างนี้สิ่งที่มากระทบกระทั่งใจก็ไม่เกิดขึ้น
เมื่อคนอื่นพูดมา พูดดีก็ตาม พูดร้ายก็ตาม คนที่มีนิสัยมองอะไรเป็นการเรียนรู้หมด ก็มองหาแต่ว่า เอ! ในคำพูดของเขาเราจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง อะไรเป็นประโยชน์เอามาใช้เอามาปรับปรุงตัวเองทำให้เกิดความดีงามความเจริญ เขาก็คอยสำเหนียกเลือกจับเอามา ใจแกมุ่งไปที่นั่น
ฉะนั้น คำที่ถือว่ากล่าวร้าย คำหยาบคาย คำไม่สุภาพ เขาจึงไม่สนใจ เห็นว่านอกเรื่อง มันก็เลยไม่กระทบ ก็เลยสบายใจ แถมยังมองหาประโยชน์ได้จากคำกล่าวร้ายหรือคำหยาบคายนั้นด้วย คนพวกนี้จึงมีแต่ได้ตลอดเวลา
อย่าว่าแต่คนที่พูดธรรมดาๆ หรือแนะนำโดยสุภาพเลย แม้แต่ถ้าคนพวกนี้ไปเจอะคนที่รุนแรงกล่าวร้าย พูดด้วยเจตนาไม่ดีอย่างไรๆ คนพวกนี้ก็ไม่รู้สึกกระทบใจ มีแต่สบายตลอดเวลา เพราะมองแต่ว่า เออนะ คราวนี้เราจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น จึงได้ประโยชน์ทุกครั้งทุกกรณี
ฉะนั้น คนพวกนี้จะเป็นอย่างไร คนพวกนี้ก็จะมีลักษณะที่เกิดปีติปราโมทย์อยู่เรื่อยไป
ปีติ คือ ความอิ่มใจ ปราโมทย์ คือ ความแช่มชื่นใจ ความร่าเริงเบิกบานใจ เขาจะอิ่มใจ แช่มชื่นใจตลอดเวลา เพราะไม่ว่าไปพบอะไรแกได้เรื่อย แกบอกว่า เออ คราวนี้เราได้ความรู้นี้ ได้แง่คิดหรือข้อคิดนี้ เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เดี๋ยวเราจะเอามาปรับปรุงตัวเอง แกก็เลยเจริญก้าวหน้าตลอดเวลา คนพวกนี้เขาเรียกว่า ไม่มีทางที่จะไม่เจริญ
แล้วผลดีข้อต่อไปก็ต่อเนื่องมาอีก คือพอมีความรู้สึกว่าได้ ก็เลยมีปีติ มีปราโมทย์ มีความสุข ใจสบาย ก็ทำให้มีสุขภาพจิตดี คนพวกนี้ไม่ถูกกระทบกระทั่ง เพราะไม่มีตัวตนออกรับกระทบ ข้อนี้สำคัญมาก
ทีนี้ พอแกมองอะไรด้วยความสบายใจ มีปีติ แกก็ไม่กระทบกระทั่ง ไม่โกรธไม่เคืองใคร ฉะนั้นจึงเพลิดเพลินด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นในสังคม เพราะว่าเมื่อสบาย ไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งกัน การโกรธเคืองมีน้อย ปัญหาก็น้อย ก็เลยเป็นประโยชน์ทางสังคมไปด้วย
นี้แหละเป็นลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า สำเหนียก นิสัยอย่างนี้เราเรียกว่านิสัยของผู้ใฝ่ศึกษาหรือ “นิสัยนักศึกษา”
ถ้าเราจะสร้างนักศึกษา ก็ควรสร้างให้เขามีนิสัยอย่างนี้ ต้องให้คนที่เรียนอะไรต่างๆ มีนิสัยอย่างนี้ มีนิสัยในการพัฒนาตนหรือนิสัยในการศึกษา เป็นคนใฝ่ศึกษาตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ขอแทรกนิดหนึ่ง คือ ลักษณะ ๒ อย่างนี้ต้องมีให้ครบ ถ้ามีไม่ครบอาจจะมีผลร้ายได้เหมือนกัน
โดยเฉพาะข้อหนึ่งที่ว่ามีใจมุ่งสู่เป้าหมาย ถ้ามีข้อนั้นข้อเดียวอาจจะมีผลเสียได้ ผลเสียอะไร
คนที่มีจิตใจมุ่งสู่เป้าหมาย ใจตัวเองเห็นอย่างไรก็จะทำอันนั้นให้ได้ ดื้อรั้นจะเอาอย่างนั้นให้สำเร็จ ไม่ยอมฟังใคร
ต่อไปประการที่สอง ก็จะเอาแต่ความสำเร็จของตัวเอง ไม่คำนึงถึงใครๆ ใครเป็นอย่างไรก็ช่าง ฉันไม่เอาใจใส่หรอก ฉันจะทำเรื่องของฉันให้สำเร็จบรรลุเป้าหมาย เอาเรื่องของฉันคนเดียว ใครเป็นอย่างไร ฉันไม่เกี่ยว
หรือยิ่งร้ายกว่านั้น อาจจะเกิดโทษในการเบียดเบียนด้วยซ้ำ คือเมื่อต้องการผลสำเร็จของตัวเอง ก็จะทำให้สำเร็จ และเพื่อผลสำเร็จของฉันนั้น ฉันอาจจะทำร้าย หรือทำสิ่งที่เป็นโทษ เกิดความเสียหายแก่คนอื่น หรือจะต้องเบียดเบียนใครก็ทำได้ ขอให้เป้าหมายของฉันสำเร็จก็แล้วกัน
ฉะนั้น การมุ่งสู่เป้าหมายอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีข้อที่สองคุมไว้ด้วย คือการมองอะไรเป็นการเรียนรู้อย่างที่ว่าเมื่อกี้นั้น จะทำให้การดำเนินสู่เป้าหมายของเราเป็นไปในลักษณะที่ตรงข้ามกับการเอาใจตัวเองหรือเอาแต่ตัวเอง
ทั้งนี้เพราะว่า การมองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ ทำให้การมุ่งสู่เป้าหมายเป็นไปพร้อมกับการรับฟังผู้อื่น การแสวงหาความรู้ และเน้นที่การแก้ไขปรับปรุงตนเอง ทำให้มีคุณสมบัติสำคัญเกิดขึ้นอีกสองอย่าง คือ ความเป็นผู้ใคร่ธรรม รักธรรม (ธรรมกามตา หรือธรรมฉันทะ) และความเป็นคนที่พูดกันง่าย (โสวจัสสตา) พร้อมทั้งนิสัยตักเตือนและตรวจสอบตนเอง (พึงอ้างพุทธพจน์ว่า อตฺตนา โจทยตฺตานํ ปฏิมํเสตมตฺตนา) ถ้าอย่างนี้ ก็จะทำให้กระบวนการฝึกฝนพัฒนาตนเกิดความสมบูรณ์ขึ้น
ฉะนั้น ก็เป็นอันเสนอว่า ในหลักเรื่อง ไตรสิกขา นี้ ไม่ใช่จะรู้แต่ตัวไตรสิกขาว่ามีอะไรบ้าง แต่จะต้องรู้ด้วยว่าวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า สิกขา หรือ การสำเหนียก หรือการศึกษานี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะที่เรียกว่า จิตสำนึก หรือ นิสัยศึกษา
นิสัยศึกษานี้ต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ เป็นนิสัยในการพัฒนาตน ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติข้อนี้อยู่ ถึงจะรู้หลักหัวข้อของการศึกษา เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา บางทีมันก็สร้างไม่ขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะสร้างอย่างไร
ถ้าเรายังมีตัวตนอยู่อย่างเต็มที่ ไม่มีสองข้อนั้นมาช่วย เราก็เอากิเลสปุถุชนออกมาเสริมตัวตน ก็ออกรับเรื่อย มีอะไรก็เอาตัวตนออกรับการกระทบเรื่อยไป บางทีตัวตนนั้นมันพองขยายโตใหญ่ออกไป ก็ยิ่งมีโอกาสกระทบมากขึ้น ก็ยิ่งเจ็บปวดมีความทุกข์มาก คนที่ไม่พัฒนาตนก็จะมีตัวตนขยายใหญ่ และยิ่งมีทุกข์มาก
ที่จริง การพัฒนาคือการทำตนให้เบาบาง ไม่ใช่ว่าทำให้ตัวใหญ่ขึ้น หมายความว่า ยึดมั่นพะวงกับตัวตนน้อยลง เพราะการพัฒนาตนหมายถึงการพัฒนาปัญญาด้วย
เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจชีวิต รู้เข้าใจตัวตนแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นก็น้อยลง คือพัฒนาตนแล้วก็บั่นทอนความยึดมั่นในตัวตนลงไป ทำให้มีความทุกข์น้อยลง
เหมือนนักฟันดาบที่รู้เข้าใจเพลงอาวุธอย่างแคล่วคล่องจัดเจน มั่นใจในความสามารถของตน ก็ฟันดาบทำกิจของตนไปโดยไม่มัวหวาดพะวงกับตัวตน ตรงข้ามกับคนไม่รู้วิธีต่อสู้ ซึ่งได้แต่คอยหวาดพะวงปกป้องตัวตน
ถ้าไม่ได้พัฒนาตน ก็มีความยึดมั่นในตัวตนมาก ตัวตนก็ออกรับการกระทบเรื่อยไป ก็มีแต่ทุกข์มาก มากขึ้น พอกพูนขึ้นเสมอ ทีนี้ พอได้ลักษณะนิสัยจิตสำนึกในการพัฒนาตนขึ้นแล้ว ก็จะเข้ามาสู่ขั้นของการศึกษาอย่างที่ทราบกันดีแล้วที่เรียกว่าไตรสิกขา
ไตรสิกขา มี ๓ ข้อ เราเรียกกันเป็นภาษาง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ความจริงในภาษาของทางวิชาการ ทางธรรมแท้ๆ ท่านใช้ศัพท์ว่า
๑. อธิศีลสิกขา
๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา
เรียกเต็มต้องเรียกอย่างนี้ แต่บางทีเราเรียกง่ายๆ ว่า มี ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ซึ่งไม่ถูกหลักวิชา
ถ้าจะเรียกให้สั้น ต้องเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นศัพท์สำหรับเรียกเป็นหมวดธรรม หรือเป็นการแบ่งประเภทเป็นจำพวก แต่ถ้าเรียกเป็นตัวการฝึกฝนเป็นสิกขา ต้องเรียกว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
๑. อธิศีลสิกขา การฝึกฝนในศีลอันยิ่ง หรือฝึกฝนให้มีศีลยิ่งๆ ขึ้นไป
๒. อธิจิตตสิกขา การฝึกฝนในเรื่องจิตที่ยิ่ง หรือฝึกในเรื่องจิตให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๓. อธิปัญญาสิกขา การฝึกฝนในปัญญาอันยิ่ง หรือการฝึกฝนให้มีปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป
ในขั้นนี้จะอธิบายไว้พอเป็นแนว
๑. อธิศีลสิกขา ที่เรียกสั้นๆ ว่า ศีล เป็นเรื่องชั้นนอก ชั้นกาย วาจา ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และกับสิ่งแวดล้อมทั่วไป การไม่เบียดเบียน ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม และปฏิบัติต่อวัตถุอุปกรณ์ทั้งหลายในทางที่ไม่เกิดโทษ
๒. อธิจิตตสิกขา เป็นการฝึกลึกเข้าไป มาสู่ขั้นจิตใจ คือการพัฒนาในเรื่องจิตใจของตนเอง ถ้าจะแจกแจงด้วยภาษาสมัยใหม่ อธิจิตตสิกขา ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพจิตดี สมรรถภาพจิตดี และสุขภาพจิตดี
๑) คุณภาพจิตดี หมายความว่า จิตใจมีคุณธรรม เช่นมีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีศรัทธา มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเคารพ มีความกตัญญู เป็นต้น
๒) สมรรถภาพจิตดี เช่น มีขันติ ความอดทน สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น อธิษฐาน ความเด็ดเดี่ยว วิริยะ ความเพียร สติความระลึกเท่าทัน เป็นต้น เป็นจิตที่เข้มแข็ง มีความสามารถ มีความพร้อมที่จะทำงานได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนี้ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อฝึกให้มีสมาธิแล้ว ก็จะใช้งานได้ดี เป็นบาทฐานของปัญญาต่อไป ใช้งานได้ดี เรียกว่า กัมมนียัง แปลว่า จิตที่ควรแก่การงาน หรือเหมาะแก่งาน
๓) สุขภาพจิตดี จิตที่มีสุขภาพดี ก็สบาย มีปีติ มีปราโมทย์ มีความเอิบอิ่ม แช่มชื่น เบิกบาน ผ่องใส สบายใจ และทำใจให้สบายได้เรื่อยๆ
การฝึกตนในอธิจิตตสิกขา ก็อยู่ในเรื่อง ๓ อย่างนี้ คือมีคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิตที่ดี
๓. อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา ปัญญาก็คือความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือรู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของกิเลส หรืออยู่ดีได้โดยไม่ต้องพึ่งพากิเลส พ้นทุกข์พ้นปัญหา ปัญญาเป็นตัวคุมท้าย ครบกระบวนการฝึก
นี้เป็นการกล่าวโดยย่อ ที่เราปฏิบัติกันในทางพระพุทธศาสนาก็อยู่ในหลักเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ๓ ข้อนี้เท่านั้นเอง
มีเกร็ดที่ควรทราบเพิ่มอีกว่า ตามปกติพระพุทธเจ้ามักจะทรงสอนเรื่องสิกขา ๓ หรือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แก่พระสงฆ์ ไม่พบที่ทรงสอนแก่คฤหัสถ์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ความจริงนั้นสอนเหมือนกัน แต่ท่านมีถ้อยคำใหม่มาใช้เพื่อให้เหมาะกับคฤหัสถ์
จะเห็นว่ามีสิกขาสำหรับคฤหัสถ์ ๓ อย่างเหมือนกัน แต่ใช้ศัพท์ใหม่เรียกว่า ทาน ศีล และภาวนา ได้ยินกันมาแต่โบราณว่า ทาน ศีล และภาวนา รวมเป็นชุดเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๓ หรือ บุญกิริยา ๓ อย่าง แปลว่าการทำบุญ โดยมากใช้กับญาติโยมคฤหัสถ์ ความจริงก็คือ ไตรสิกขานั้นเอง แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่การเน้นย้ำขยายให้หนักแน่นคนละด้าน
ของพระให้สังเกตดู จะเห็นว่าท่านเน้นด้านในมาก คือตัวเองภายในนี้เน้นหนัก ส่วนของคฤหัสถ์เน้นด้านนอก ของพระมีอธิศีลเป็นด้านภายนอกอยู่ข้อเดียว พอถึงข้อที่ ๒-๓ เน้นเรื่องภายใน คือ จิตกับปัญญา แต่ของคฤหัสถ์จะเห็นว่า
๑. ทาน เป็นเรื่องภายนอก การอยู่กับผู้อื่น ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน
๒. ศีล คือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความเกี่ยวข้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี ก็เป็นด้านนอกเหมือนกัน
คฤหัสถ์ท่านเน้นด้านนอก เพราะคฤหัสถ์มีชีวิตเกี่ยวข้องกับภายนอก อยู่ในสังคมวงกว้างทั่วไปของชาวโลกและยังเกี่ยวข้องกับวัตถุมาก ฉะนั้น จึงขยายความขั้นต้นกระจายออกไปมาก เป็นทานกับศีล แต่สำหรับพระเน้นเรื่องนามธรรมด้านใน เน้นเรื่องจิตใจ คฤหัสถ์มีด้านในข้อเดียว คือ
๓. ภาวนา สำหรับคฤหัสถ์ ภาวนาในที่นี้ ก็คือรวมข้อ ๒ กับ ๓ ของพระ ได้แก่ จิตตภาวนาและปัญญาภาวนา ทั้งฝึกอบรมจิตและพัฒนาปัญญาเข้ามาอยู่ในข้อ ๓ เป็นภาวนาตัวเดียว ทั้ง สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ก็อยู่ในภาวนาข้อเดียวหมด
จึงเห็นชัดว่า สำหรับคฤหัสถ์นั้น ท่านเน้นด้านนอกมาก กระจายข้อต้นออกไป เพราะว่าทานกับศีลนั้นในทางหลักวิชาบางแห่งถือว่าเป็นศัพท์แทนกันได้ด้วย ทานก็เป็นศีลอย่างหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของศีล การแบ่งเป็นทานกับศีล ก็เป็นการขยายเรื่องศีลนั้นให้ชัดเจนออกไปอีก เป็นรูปธรรม เน้นวัตถุมากขึ้น เน้นภายนอกมากขึ้น
แม้แต่ด้านในสำหรับคฤหัสถ์คือข้อภาวนา ท่านก็เน้นการเจริญเมตตา ซึ่งก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับผู้อื่น การที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ตนเองก็มีจิตใจสุขสบายและก็อยู่กับผู้อื่นได้ดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย
เป็นอันว่า แม้แต่เรื่องภาวนา ซึ่งเป็นด้านจิตและปัญญา สำหรับคฤหัสถ์ท่านก็ไปเน้นข้อเมตตาที่เกี่ยวข้องกับข้างนอกมาก
บุญกิริยาวัตถุ ๓ ที่เรียกว่า ทาน ศีล ภาวนา นี้ บางแห่งท่านใช้อีกชื่อหนึ่งว่า ทาน สัญญมะ และ ทมะ เป็นไวพจน์กัน
ทานก็ทาน ศีลตรงกับสัญญมะ ที่ว่าเมื่อกี้ คือการควบคุมตนเองในการแสดงออกเพื่อไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนเสียหายต่อสังคม และทมะ ก็ตรงกับคำว่าภาวนาอยู่แล้ว
ตัวแท้จริงตัวหลักใหญ่ก็อยู่ที่ทมะนั้นเอง สองข้อแรกเป็นการขยายหลักเบื้องต้นให้ชัดเจน ซอยละเอียดออกไป
นอกจากเรียกบุญกิริยาวัตถุแล้ว ในคัมภีร์อิติวุตตกะแห่งหนึ่ง ท่านบรรยายเป็นภาษาบาลีว่า ปุญฺญํ สิกฺขติ3 เรียกเป็นศัพท์ ก็คือบุญญสิกขา นั่นเอง ก็สิกขานั้นแหละแต่เป็นสิกขาที่มุ่งคฤหัสถ์ คือเน้นการฝึกในการสร้างเสริมคุณสมบัติที่ดี ที่เรียกว่า “บุญ” ให้เจริญงอกงามขึ้นในชีวิต หรือให้ชีวิตเจริญขึ้นในบุญเรียกว่า บุญญสิกขา มี ๓ ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือ ทาน สัญญมะ ทมะ
นี้เป็นความรู้ด้านหลักวิชา อาจไม่ค่อยพบกัน โดยเฉพาะ สัญญมะ ทมะ แทบจะไม่เคยพูดถึงกันเลย แต่ความจริงชุดนี้ก็ว่าตามหลักวิชาเหมือนกัน เป็นไวพจน์ของทาน ศีล ภาวนา
พูดถึงเรื่องสิกขามาก็พอสมควร คงจะผ่านได้ แต่ก่อนจะไปถึงภาวนาขอแทรกอีกนิดหนึ่ง
สำหรับคำว่า พัฒนา นั้น ในภาษาบาลีมีศัพท์คล้ายกันอยู่คำหนึ่งเรียกว่า วุฒิ หรือ วัฒิ
วุฒิ แปลว่าความเจริญ มีรากศัพท์ (ธาตุ) เดียวกับพัฒนา วุฒิหรือวัฒินี้เป็นหลักธรรมสำหรับเอามาใช้ประกอบในการสร้างความเจริญหรือพัฒนา
ยกตัวอย่าง วุฒิธรรม ที่เป็นหลักธรรมเบื้องต้น ท่านสอนไว้มี ๔ ประการ เรียกเต็มว่า ปัญญาวุฒิธรรม แปลว่าธรรมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา สำหรับช่วยในการพัฒนาตนด้านปัญญา คือ
๑. สัปปุริสูปัสสยะ แปลว่า คบหาสัตบุรุษ คบคนดีมีปัญญา มีคุณธรรม มีความรู้ความเข้าใจในธรรม ซึ่งเป็นหลักความจริงความดีงาม
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนที่แสดงความจริงความดีงามนั้น
๓. โยนิโสมนสิการ ทำในใจโดยแยบคาย รู้จักพิจารณาสิ่งที่ได้เล่าได้เรียน สามารถจับสำเหนียกเอามาด้วยดี โยนิโสมนสิการเป็นตัวแกนของการสร้างปัญญา ที่เรียกว่าสำเหนียกนั่นแหละ คือ รู้จักจับ รู้จักเลือกเอามาใช้ประโยชน์
๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้ถูกหลัก ที่ท่านเรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายความว่า ปฏิบัติธรรมสอดคล้องกันตามระบบความสัมพันธ์ที่ว่า ธรรมข้อนี้เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร และไปสัมพันธ์กับธรรมข้อไหน ปฏิบัติด้วยความตระหนักชัด และปฏิบัติให้ถูกต้องตามแนวตามความมุ่งหมายนั้น
ธรรมชุดนี้เป็นหลักประกอบที่สำคัญ เป็นหลักช่วยในการพัฒนานั่นเอง
นอกจากนั้น ยังมีหลักที่เรียกว่า วัฒิธรรม สำหรับวัดความเจริญของอริยสาวก โดยเฉพาะอุบาสกอุบาสิกา ว่ามีความเจริญในการพัฒนาตนแค่ไหน วัดด้วย วัฒิธรรม ๕ ข้อ คือ
๑. ศรัทธา มีความเชื่อถูกหลัก เชื่อมีเหตุมีผลหรือไม่เพียงไร
๒. ศีล มีความประพฤติดีงาม ถูกต้องตามหลักพระศาสนาแค่ไหน
๓. สุตะ มีความรู้หลักธรรมคำสอนที่จะไปช่วยตนเองและแนะนำผู้อื่นได้พอสมควรไหม
๔. จาคะ มีความเสียสละ มีน้ำใจช่วยเหลือเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นอย่างไร
๕. ปัญญา รู้เข้าใจความจริงต่างๆ รู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต พอทำจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระโปร่งโล่งได้แค่ไหน
การพัฒนาตนนี้ เป็นหลักการแห่งการเจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นเรื่อยไป ผู้ที่ดำเนินตามหลักการพัฒนาตน จะคิดเพียงว่า เราจะรักษาความดีงามที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว หรือพอใจว่าเราได้ทำดีมามากแล้ว พัฒนาตนมาดีแล้ว ไม่ได้ คนที่พอใจอย่างนั้น หรือทรงๆ อยู่แค่นั้น คือ หยุดอยู่ หรือ คงอยู่เท่าเดิม ท่านเรียกว่า เป็นคนประมาท ผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอให้พิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้ เป็นเครื่องเตือนใจ
"ภิกษุทั้งหลาย จะกล่าวไปใยถึงความเสื่อมถอยในกุศลธรรมทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความคงอยู่กับที่ในกุศลธรรมทั้งหลาย เราสรรเสริญแต่ความก้าวหน้าในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่สรรเสริญความคงอยู่กับที่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมถอย
"อย่างไรเป็นความเสื่อมถอยในกุศลธรรมทั้งหลาย...? ภิกษุมีคุณธรรมเท่าใด โดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ ธรรมเหล่านั้นของเธอไม่คงอยู่ ไม่เจริญขึ้น นี้เราเรียกว่าความเสื่อมถอยในกุศลธรรมทั้งหลาย...;
“อย่างไรเป็นความคงอยู่กับที่ในกุศลธรรมทั้งหลาย...? ภิกษุมีคุณธรรมเท่าใด โดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ ธรรมเหล่านั้นของเธอไม่ลด ไม่เพิ่ม...;
“อย่างไรเป็นความก้าวหน้าในกุศลธรรมทั้งหลาย...? ภิกษุมีคุณธรรมเท่าใด โดยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ ธรรมเหล่านั้นของเธอ ไม่หยุดอยู่ ไม่ลดลง..."4
"นันทิยะ! อย่างไร อริยสาวกชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยความประมาท? คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า...เธอสันโดษ (พอใจ) ด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น...เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในธรรม...เธอสันโดษ (พอใจ) ด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในธรรมนั้น...เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในสงฆ์ เธอสันโดษ (พอใจ) ด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในสงฆ์นั้น...เป็นผู้ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า เธอสันโดษ (พอใจ) ด้วยศีลนั้น ไม่เพียรพยายามยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อสงัดในทิวา เร้นในราตรี เมื่อเธอเป็นอยู่ประมาทอย่างนี้...ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ"5
"ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ อย่าได้นอนใจเสีย เพียงด้วยศีลและวัตร หรือด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยการได้สมาธิ หรือด้วยการอยู่ได้ในที่สงัด หรือด้วยการตระหนักว่า เราได้สัมผัสเนกขัมมสุขที่ปุถุชนไม่เคยได้ลิ้ม"6
หลักที่ ๓ คือ ภาวนา ซึ่งเป็นตัวจริงของคำว่าพัฒนา ดังที่ท่านอธิบายภาวนาว่า พัฒนา และปัจจุบันนี้เรานิยมใช้กันว่าพัฒนา ก็กลับไปตรงกับของท่านเข้า นับว่าดีมาก
ได้บอกแล้วว่า ภาวนาเป็นรูปคำนาม รูปคุณนามเป็นกริยาช่อง ๓ ท่านใช้ว่า ภาวิต แปลว่า ผู้ที่เจริญแล้ว +อัตตะ หรือ อัตตา ที่แปลว่าตน ก็เป็นภาวิตัตตะ แปลว่า ผู้มีตนอันเจริญแล้ว คือ มีตนอันพัฒนาแล้ว ซึ่งตามปกติท่านหมายถึงพระอรหันต์ บางแห่งจะเน้นหมายถึงพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ
ในพระไตรปิฎกบางแห่งมีคนมาทูลถามพระพุทธเจ้า เขาเรียกพระองค์ว่า ท่านผู้เป็นภาวิตัตตะ พระสารีบุตรอธิบายภาวิตัตตะไว้ว่า กถํ ภควา ภาวิตตฺโต ที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นภาวิตัตตะ ผู้มีตนพัฒนาแล้วนั้นเป็นอย่างไร แล้วท่านก็ขยายความว่า ภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตฺโต ภาวิตปญฺโญ7 นี่หลักใหญ่มาแล้ว ที่ว่ามีตนอันพัฒนาแล้วก็คือ
๑. มีกายอันพัฒนาแล้ว เรียกว่า ภาวิตกาโย
๒. มีศีลอันพัฒนาแล้ว เรียกว่า ภาวิตสีโล
๓. มีจิตอันพัฒนาแล้ว เรียกว่า ภาวิตจิตฺโต
๔. มีปัญญาอันพัฒนาแล้ว เรียกว่า ภาวิตปญฺโญ
ต่อจากนี้ท่านขยายความออกไปอีก เป็น ภาวิตสติปฏฐาโน ภาวิตสมฺมปฺปธาโน ภาวิตอิทฺธิปาโท ภาวิตอินฺทริโย ภาวิตพโล ภาวิตโพชฺฌงฺโค ภาวิตมคฺโค แปลว่า ได้พัฒนาสติปัฏฐาน พัฒนาสัมมัปปธาน พัฒนาอิทธิบาท พัฒนาอินทรีย์ พัฒนาพละ พัฒนาโพชฌงค์ พัฒนามรรค แล้ว
ท่านบรรยายไว้ยาว ซึ่งก็รวมอยู่ใน ๔ ข้อ คือ ภาวิตกาโย ภาวิตสีโล ภาวิตจิตฺโต ภาวิตปญฺโญ นี้คือคุณสมบัติของท่านผู้พัฒนาตนแล้ว เอามาใช้วัดได้
ถ้ามีการพัฒนาตน เราก็เอาหลักนี้มาใช้วัดดูว่าพัฒนาครบไหม ๔ ด้านนี้ คือ ๑. กาย ๒. ศีล ๓. จิต ๔. ปัญญา
ภาวิตกาย ภาวิตศีล ภาวิตจิต ภาวิตปัญญา เป็นรูปคุณนาม เป็นคุณสมบัติของบุคคล ถ้าจะตั้งเป็นศัพท์นามให้เป็นหัวข้อธรรม ก็เปลี่ยนไปอีกรูปหนึ่งเป็นภาวนา ก็จะได้ศัพท์ดังต่อไปนี้
๑. กายภาวนา การพัฒนากาย
๒. ศีลภาวนา การพัฒนาศีล
๓. จิตตภาวนา การพัฒนาจิต
๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา
ทีนี้ จะต้องอธิบายความหมายอีกหน่อยหนึ่งว่า ที่ว่า พัฒนากาย ศีล จิต ปัญญา นั้นเป็นอย่างไร
๑. กายภาวนา พัฒนากาย อาจจะสงสัยว่าคงจะต้องรับประทานกันใหญ่ ร่างกายจะได้เติบโต หรืออาจจะบริหารร่างกาย ออกกำลังอะไรต่างๆ พัฒนากายให้แข็งแรง อันนี้ก็ไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันต้องมีหลักที่ใหญ่กว่านั้น ไม่อย่างนั้นการพัฒนากายอย่างนี้อาจจะเสียก็ได้ คือจะรับประทานมาก เพียงเพื่อให้ร่างกายใหญ่โต แล้วอาจจะนำร่างกายไปใช้ในทางที่ไม่ดี
การพัฒนากำลังให้แข็งแรงอย่างเดียวไม่พอ ตามหลักการนี้ท่านยังไม่ถือว่าเข้าสู่ธรรม การพัฒนากายในทางธรรมมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น
ท่านไขความว่า พัฒนากายอย่างไร กายนั้นมุ่งเอาที่ทวาร ๕ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอินทรีย์ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นด่านเป็นช่องทางที่จะติดต่อกับโลกภายนอก ถ้าเรียกตามภาษาปัจจุบันก็ว่า ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือเรื่องวัตถุสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไปทางกายภาพ ซึ่งเราสัมพันธ์ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย
การพัฒนากาย ก็คือ พัฒนาความสัมพันธ์ทางทวารเหล่านั้นให้ดี ไม่ให้เกิดเป็นโทษ ดังจะเห็นในหลักอินทรียสังวร
การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วยดี เช่น ตาของเราเห็นสิ่งแวดล้อมภายนอก จะดูอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ไม่เกิดโทษ ทำอย่างไรจะให้เด็กของเราดูโทรทัศน์เป็น ให้เขารู้จักเลือกรับเอาสิ่งที่ดีมาใช้ประโยชน์ ไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษมา รู้จักสัมพันธ์ทางตา รู้จักสัมพันธ์ทางหู เมื่อได้ยินก็เลือกรับสิ่งที่ดี เช่นหาฟังความรู้ที่เป็นประโยชน์ ไม่เอาสิ่งที่ร้าย ตลอดจนพัฒนาการใช้จมูก พัฒนาการใช้ลิ้น ฯลฯ
ลิ้นก็สำคัญ มาเข้าหลักโภชเนมัตตัญญุตา คือ รู้จักประมาณในการบริโภค เช่นพระก็มีหลักปฏิสังขาโย เรียกว่าปัจจเวกขณะ หรือปัจจัยปัจจเวกขณ์ หมายถึงการพิจารณาปัจจัย คือเมื่อจะบริโภคปัจจัย ๔ ก็ให้พิจารณาโดยแยบคาย โดยมีโยนิโสมนสิการ ว่าที่เรารับประทานอาหารนี้ไม่ใช่เพื่อมุ่งเอร็ดอร่อย มิใช่มุ่งจะเอาโก้หรูหราสนุกสนานมัวเมา แต่รับประทานเพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อดำรงอยู่ผาสุก มีสุขภาพดี แข็งแรง แล้วจะได้ทำกิจหน้าที่ของตนด้วยดี
เมื่อรับประทานอาหาร แทนที่จะรับประทานโดยมุ่งความอร่อยหรือความโก้ ก็ไปเน้นที่คุณค่าประโยชน์ที่จะได้ มองดูว่ารับประทานอะไรจึงจะมีคุณค่า ช่วยชีวิตให้มีสุขภาพดี และเกื้อกูลแก่การเป็นอยู่ที่ดี ถ้าเป็นพระก็จะได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม โรคภัยก็จะได้เบียดเบียนน้อย นี้เป็นการพัฒนาในด้านความสัมพันธ์ระหว่างลิ้นกับรส
นอกจากนี้ ก็สัมพันธ์ให้ดีทางด้านกายกับสิ่งสัมผัส (โผฏฐัพพะ) ภายนอก
นี้คือการพัฒนากายในความหมายของธรรมะ พูดง่ายๆ ว่า พัฒนาความสัมพันธ์ของตัวเรากับสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือวัตถุทั้งหลายให้ดี
ข้อนี้ ต้องถือว่าสำคัญ เพราะเป็นหลักเบื้องต้น หลักสังวรอะไรต่างๆ ก็เข้ามาในข้อนี้หมด ฉะนั้น ในปัจจุบันการศึกษาน่าจะเน้นข้อนี้ด้วย ผู้มีการศึกษาจะต้องมีการพัฒนากาย ซึ่งไม่ใช่เพียงว่าร่างกายแข็งแรงเท่านั้น ต้องถามด้วยว่าเขามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมดีไหม หากว่ามีแต่กายแข็งแรง แต่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมไม่ดี เอากายที่แข็งแรงไปทะเลาะวิวาทแสวงหาสิ่งปรนเปรอ จะยิ่งเป็นโทษมาก จะถือว่ามีการศึกษาไม่ได้
๒. ศีลภาวนา คือการพัฒนาศีล ได้แก่การพัฒนาในเรื่องความสัมพันธ์ทางด้านกาย วาจา กับบุคคลอื่นหรือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ข้อก่อนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุหรือทางกายภาพ แต่ข้อนี้เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีงามอย่างที่ว่ามาแล้ว ที่ว่าศีลคือการไม่เบียดเบียน
แม้แต่ศีลข้อมุสาวาทที่สงสัยกันว่า พูดอย่างนั้นอย่างนี้จะเป็นพูดเท็จหรือไม่เท็จอะไรต่างๆ ถ้ารู้สาระของศีลว่า ศีลมุ่งที่ความไม่เบียดเบียนก็จะสบายใจขึ้น
แพทย์รู้สึกว่าจะมีปัญหามาก หลายท่านสงสัยว่า จะพูดกับคนไข้อย่างนี้โกหกผิดศีลข้อมุสาวาทไหม ที่จริงหลักก็มีอยู่ในเรื่องศีลนี้ ในที่บางแห่งท่านบรรยายไว้เลยว่า เว้นมุสาวาทคือเว้นจากการพูดเท็จเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ตน ไม่กล่าววาจาเท็จเพื่อทำลายประโยชน์ของผู้อื่น
การกล่าวเท็จที่เป็นมุสาวาทนั้น สาระสำคัญอยู่ที่มุ่งจะทำลายประโยชน์ของผู้อื่นทำให้เขาเสียหาย ท่านใช้ศัพท์โบราณว่า หักรานประโยชน์ของเขา
ถ้าเป็นการพูดเพื่อให้คลาดจากความเป็นจริง โดยมุ่งหักรานประโยชน์ของเขา เป็นมุสาวาทแท้ แต่ถ้าพูดเท็จอย่างอื่นนอกจากนั้นก็มีโทษเบาบางแล้ว เพราะมันไม่เข้าตัวประเด็นแท้ๆ
ที่พูดมานี้ก็นอกเรื่องแซงออกไปนิดหนึ่ง เป็นอันว่าเรื่องศีลประเด็นอยู่ที่ว่าไม่เบียดเบียนเป็นสาระสำคัญ เมื่อไม่เบียดเบียนแล้วต่อไปก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็มีเรื่องทานเข้ามาด้วย
ด้านนี้เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีซึ่งจะต้องพัฒนาขึ้นมา
๓. จิตตภาวนา คือพัฒนาจิตใจ ด้านจิตใจนี้ได้กล่าวแล้วในอธิจิตตสิกขา คือพัฒนาคุณภาพจิต พัฒนาสมรรถภาพจิต พัฒนาสุขภาพจิต นี้เป็นการใช้ศัพท์แบบสมัยปัจจุบันให้เข้าใจกันง่าย ก็ผ่านไปได้เลย
๔. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา ก็เหมือนกับอธิปัญญาสิกขาที่พูดมาแล้วนั้นเอง คือการรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสภาวะของโลกและชีวิต ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้จนถึงขั้นสูงสุด อย่างที่มีคาถาสรรเสริญพระพุทธเจ้า
เมื่อพัฒนาปัญญาสูงสุด การพัฒนาข้อต้นๆ ก็ได้รับการพัฒนาไปพร้อมบริบูรณ์ด้วย มีคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าแห่งหนึ่งว่า
ยถาปิ อุทเก ชาตํ ปุณฺฑรีกํ ปวฑฺฒติ
น อุปลิปฺปติ โตเยน สุจิคนฺธํ มโนรมํ
ตเถว โลเก สุชาโต พุทฺโธ โลเก วิหรติ
น อุปลิปฺปติ โลเกน โตเยน ปทุมํ ยถา
แปลความว่า เปรียบเหมือนว่า ดอกบัวเกิดในน้ำ เจริญงอกงามขึ้นมาในน้ำ ไม่ติดด้วยน้ำ ซ้ำยังมีกลิ่นหอมน่าชื่นใจ ฉันใด พระพุทธเจ้าทรงบังเกิดดีแล้วในโลก ทรงอยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก เหมือนใบบัวไม่ติดน้ำ ฉันนั้น
นี้คือลักษณะของคนที่พัฒนาตนไปจนถึงมีปัญญาสูงสุด ตรัสรู้แล้ว หมดสิ้นกิเลส เกิดในโลก อยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก เหมือนดอกบัวเกิดในน้ำแต่ไม่ติดน้ำ มีกลิ่นหอมน่าชื่นใจ
ที่ท่านกล่าวมานี้ก็เป็นคาถาสำหรับนำมาดูคุณสมบัติของผู้พัฒนาตน เป็นคติอันหนึ่งซึ่งให้แนวความคิดว่า ในการพัฒนาตนนั้น เราก็อยู่ในโลกนี้แหละ แต่เราไม่ติดโลก ไม่แปดเปื้อนด้วยโลก เหมือนดอกบัวแม้จะอยู่ในน้ำ หรือบางแห่งจะอยู่ในโคลนตม แต่ก็ไม่ติดไม่เปื้อน กลับมีกลิ่นหอมน่าชื่นใจ เอาไปบูชาพระก็ได้ อะไรทำนองนี้ นี้เป็นการพัฒนาตนที่สมบูรณ์แล้ว พระพุทธเจ้าก็มีคุณสมบัติอย่างนี้
เรื่องการพัฒนาตนนี้ ได้พูดมาในแง่มุมต่างๆ ซึ่งว่าไปตามหลักวิชาหรือเนื้อหาในคัมภีร์
ขอสรุปเป็นจุดเน้นว่า พระพุทธศาสนายกย่องผู้ที่พัฒนาตนว่าเป็นบุคคลสูงสุด อย่างที่ได้ยกพุทธภาษิตมาแสดงว่า ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกตนแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด
เมื่อยกย่องผู้ที่พัฒนาตนแล้ว ก็มีจุดเน้นข้อต่อไป คือ พระพุทธศาสนานี้ถือว่า มนุษย์เป็นผู้ที่ฝึกได้ หรือนับถือศักยภาพในตัวมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นได้ เมื่อพัฒนาได้ก็เน้นความสำคัญของการฝึกฝนพัฒนาตน ให้ความสำคัญมากแก่การฝึกฝนพัฒนาตน
ฉะนั้น จึงบอกว่า ความดีหรือความประเสริฐของมนุษย์นี้ อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตนนั้นเอง เพราะมนุษย์นั้น ถ้าไม่ฝึกฝนพัฒนาแล้ว ก็ไม่มีคุณค่าอะไร ถ้าพัฒนาให้ดีแล้วก็ประเสริฐเลิศล้ำ จนกระทั่งแม้แต่เทพพรหมก็เคารพบูชา อาจเป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าไม่ฝึกฝนพัฒนาตน ก็อาจจะเต็มไปด้วยสิ่งชั่วทราม อาจจะเลวร้ายต่ำต้อยด้อยกว่าแม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ได้ ฉะนั้น ในการปฏิบัติทางพุทธศาสนา จึงเน้นความสำคัญของการพัฒนาตนเป็นอย่างมาก
เมื่อพูดมาถึงนี่แล้ว ขอรวบรัดรวมความเป็นการย้ำไว้ว่า จุดหมายของการพัฒนาตนจะถือว่าสำเร็จ โดยมองที่การได้พัฒนาตนครบ ๔ ด้าน
การพัฒนาตนชนิดเต็มรูปแบบทั้ง ๔ ด้าน คือ ภาวนา ๔ นั้น ตามปกติพระพุทธเจ้าตรัสในลักษณะที่เรียกอย่างปัจจุบันว่าเป็นการวัดผล ดังนั้น จึงใช้ในรูปที่เป็นคุณสมบัติของคนที่พัฒนาตนแล้ว โดยเปลี่ยนภาวนาเป็น “ภาวิต”
ดังที่ท่านเรียกคนที่พัฒนาตนแล้ว คือผู้มีตนที่ผ่านภาวนาแล้วว่า ภาวิตัตตะ หรือ ภาวิตัตต์ (ภาวิต+อัตต์)
ภาวิต ก็มี ๔ (เช่นเดียวกับภาวนา ๔) เพราะแยกเป็นด้าน กาย ศีล จิต และปัญญาตามลำดับ คนที่พัฒนาตนแล้ว จึงเป็น ภาวิต ๔ ด้าน คือ
๑. ภาวิตกาย มีกายที่พัฒนาแล้ว คือ ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ปฏิบัติต่อโลกแห่งวัตถุอย่างได้ผลดี โดยเฉพาะด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ดูเป็น ฟังเป็น ให้ได้ปัญญา และคุณค่าที่เป็นประโยชน์
๒. ภาวิตศีล มีศีลที่พัฒนาแล้ว คือ ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างไม่เบียดเบียน แต่อยู่กันด้วยไมตรี เป็นมิตร เกื้อกูลกัน
๓. ภาวิตจิต มีจิตใจที่พัฒนาแล้ว คือ ได้พัฒนาจิตใจให้มีคุณสมบัติที่ดีงาม มีคุณธรรม ความเข้มแข็งมั่นคง และความสุข คือพัฒนาแล้วทั้งด้านคุณภาพจิต สมรรถภาพจิต และสุขภาพจิต
๔. ภาวิตปัญญา มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว คือ ได้พัฒนาปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต เข้าถึงกฎธรรมชาติที่มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น จนทำจิตใจให้เป็นอิสระได้ เบิกบานผ่องใส เป็นอยู่ด้วยปัญญา
คนที่พัฒนาตนได้ผลแท้จริง จะมีคุณสมบัติเป็นภาวิต ๔ ด้านอย่างนี้
ทีนี้ มองดูทางด้านสังคม มีพุทธพจน์ตรัสไว้โดยมีสาระว่า สังคมควรจะเน้นหรือมีค่านิยมในการยกย่องบุคคลที่พัฒนาตน เพราะค่านิยมเป็นเรื่องสำคัญมากในทางสังคม เป็นเครื่องบิดผันนำทางสังคมให้ไปทางดีทางร้าย
ถ้าสังคมมีค่านิยมที่ไม่ดี เช่นในเรื่องนี้ ถ้าเราไม่ช่วยกันยกย่องบูชาผู้พัฒนาตน แต่ไปยกย่องบูชาคนด้วยเหตุอื่นๆ เช่น ความมั่งมีเงินทองหรืออิทธิพลอำนาจ เมื่อสังคมเกิดค่านิยมในทางอย่างนั้น แล้วผลร้ายก็เกิดแก่สังคมนั้นเอง แล้วจะไปโทษใคร เพราะมนุษย์สร้างค่านิยมขึ้นมาเอง ค่านิยมนี้เป็นมโนกรรม แล้วมนุษย์ก็ได้รับผลของมโนกรรมที่เป็นอกุศลของตนเอง
ตรงข้าม ถ้าเราพัฒนาค่านิยมที่ดี ช่วยกันเชิดชูคนที่พัฒนาตน คนที่มีการศึกษาที่ถูกต้อง สังคมก็จะดีงามขึ้น มนุษย์ที่เกิดมาภายหลังก็จะถือตามเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่เชิดชูนิยมกันในสังคม แล้วก็จะพยายามทำตาม
มีคาถาในพระธรรมบทอีกคาถาหนึ่ง ที่น่าจะนำมาใช้ในกรณีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนา และมีคำว่า ภาวิตัตตะ (ผู้มีตนที่พัฒนาแล้ว) อยู่ด้วย ท่านสอนว่า
มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สาเยว ปูชนา เสยฺโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํ
แปลว่า ถึงแม้บุคคลจะไปประกอบพิธีบูชาสม่ำเสมอทุกเดือน ด้วยทรัพย์เดือนละ ๑,๐๐๐ ตลอด ๑๐๐ ปี ก็ไม่ประเสริฐอะไร สู้บูชาคนที่พัฒนาตนแล้วแม้เพียงขณะหนึ่งก็ไม่ได้
นอกจากนั้น ที่บอกให้บูชาคนที่ควรบูชานี้ คำว่า “บูชา” นั้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าเอาไปตั้งไว้บนแท่น หรือให้ท่านนั่งบนอะไรสักแห่ง แล้วก็เอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้หรอก แต่หมายความว่ายกย่อง
อย่างเรื่องในภาษาบาลีว่า มีคนยากจนคนหนึ่ง เป็นคนขยันหมั่นเพียร ตั้งตัวได้ดีมีทรัพย์ พระเจ้าแผ่นดินก็ทรง “บูชาเขาด้วยตำแหน่งเศรษฐี” (สมัยนั้น ตำแหน่งเศรษฐีมีการแต่งตั้ง)
ในข้อความนี้ก็คือให้ยกย่องคนที่พัฒนาตนแล้ว ซึ่งพระศาสนานี้สรรเสริญ จะเป็นแนวทางที่ดีของสังคม และเข้ากับหลักมงคล ๓๘ ประการ ในคาถาที่ ๑ ข้อ ๓ ที่ว่า
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
แปลว่า การบูชาคนที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล เป็นมงคลสูงสุดที่จะนำชีวิตและสังคมให้เจริญก้าวหน้า ฉะนั้นในแง่สังคม เรื่องการพัฒนาตนก็สำคัญ
สุดท้ายก็เข้ามาในตัวเองภายใน เมื่อพัฒนาตนแล้ว พัฒนาไปๆ กายก็พัฒนา ศีลก็พัฒนา จิตก็พัฒนา ปัญญาก็พัฒนาดีแล้ว ก็เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของโลกและชีวิต รู้เข้าใจ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปัญญาพัฒนาแล้วก็เลยรู้ว่าตัวตนนี้ไม่มี
ตกลงพัฒนาตน พัฒนาไปพัฒนามาก็หมดตัวตน เป็นสุดท้ายจบเลย
ความจริง ไม่ใช่ว่าหมดหรอก โดยสมมุติก็ยังมีอยู่ เป็นเรื่องของภาษา
ที่ว่าพัฒนาตนนั้นก็ต้องรู้เท่าทัน เราพูดตามภาษาสำหรับสื่อความหมายกัน เรียกว่าตัวตนโดยสมมุติ
เมื่อพัฒนาปัญญาก็ทำให้รู้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับตัวตนว่ามันเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ว่าหมดตัวตนหรอก แต่รู้ทันว่าตัวตนที่ยึดถือกันนั้น ที่แท้มันไม่มี เมื่อรู้ว่าเป็นอนัตตาแล้วก็หมดความยึดมั่น (คือ เมื่อที่จริงตัวตนมันไม่มีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องหมดตัวตน แต่คนมีความยึดมั่นในตัวตนที่ไม่มี จึงต้องทำให้หมดความยึดมั่นนั้น แล้วปัญหาก็หมดไปเอง)
เมื่อไม่มีความยึดติดถือมั่นในตัวตน ก็ไม่ถูกกระทบกระทั่ง เพราะไม่มีตัวตนที่คอยรับกระทบให้เกิดความทุกข์
แต่ก่อนนี้ คนโน้นว่ามาก็กระทบ ไปทำโน้น ไปมองเห็นรู้อะไรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็กระทบเรื่อย เพราะมีตัวตนที่ยึดไว้ พะวงปกป้องไว้คอยรับกระทบอยู่เรื่อย แต่พอเข้าใจ มีปัญญารู้แจ่มแจ้ง หมดความยึดมั่นนั้น ก็ไม่มีตัวไว้รับกระทบ ก็หมดทุกข์ เรียกว่าพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ก็ถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ต่อแต่นั้น จะทำอะไรจะแก้อะไรก็ตรงไปตรงมาตามเหตุปัจจัย ไม่ทำไปตามกิเลส เป็นอิสระแท้จริง
ถ้าไม่พัฒนาตนก็เป็นไปในทางตรงข้าม คือ ไม่รู้เข้าใจตัวตนว่าเป็นอนัตตา ก็ยิ่งพัฒนาความยึดมั่นในตัวตน ตัวตนมันก็ขยายพอกพูนออกไป พองออกไปพองออกไป อยู่นานวันเข้าตัวตนของเราก็ยิ่งพองขยายใหญ่ พอขยายใหญ่ก็ยิ่งทุกข์มาก เพราะตัวตนแค่นี้ มันรับกระทบแค่นี้มันก็ทุกข์แค่นี้ พอนานๆ เข้ามันขยายออกไป ขยายออกไปอยู่กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็มีตัวตนที่รับกระทบมากขึ้นๆ ก็ทุกข์หนักเข้าทุกที
ถ้าเราอยู่ในโลกไม่เป็น ก็ติดโลก แล้วก็ยึดทุกอย่างในโลก เช่น ของที่เรามี ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เราก็ยึดทุกอย่าง เรายึดอะไร ตัวตนของเราก็ขยายไปอยู่กับมัน สิ่งนั้นก็ผนวกเข้าเป็นตัวตนของเรา
เรามีแก้วใบหนึ่ง แก้วใบนั้นก็เป็นตัวตนของเราด้วย ตัวเราขยายไปอยู่กับแก้ว เรามีบ้านหลังหนึ่ง ตัวตนของเราก็แผ่ขยายไปครอบคลุมบ้าน เรามีอะไร ตัวตนของเราก็ขยายไปผนวกเข้า ตัวตนก็ใหญ่ออกไปๆ จนในที่สุด สิ่งกระทบก็เข้ามากระทบมากมายจนรับไม่ไหวเลย วันหนึ่งไม่รู้กระทบเท่าไร
ยิ่งตัวตนใหญ่ก็ยิ่งมีโอกาสมีขอบเขตมีแดนที่จะรับกระทบมาก ก็เลยทุกข์มาก จะทำอะไรจะแก้ไขอะไรก็ทำด้วยกิเลสที่เห็นแก่ตน ทำไปตามแรงความรู้สึกที่ถูกบีบ ไม่ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัย ก็เลยยิ่งเกิดปัญหามาก
ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาตน เพื่อจะรู้เท่าทัน เข้าใจอนัตตา มองเห็นความไม่มีตัวตน จะได้หมดความยึดมั่นในตัวตน แล้วก็จะหมดความทุกข์ พ้นจากกิเลส มีจิตใจเป็นอิสระ เป็นอันว่าเรื่องการพัฒนาตนก็น่าจะจบเพียงนี้
เรื่องที่กล่าวมาก็เหมือนดังที่พูดไว้ข้างต้น คือเน้นการพูดตามหลักวิชาหรือตามคัมภีร์ตามตำรา ความรู้ในคัมภีร์หรือในตำรานั้นจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อรู้จักเอามาใช้ประโยชน์ เอามาปฏิบัติ ถ้าไม่มีผลในการปฏิบัติแล้วความรู้ในตำราก็ไร้ความหมาย
ข้อนี้ก็มาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกลุ่มหรือโครงการที่ว่า จุดมุ่งหมายในการตั้งโครงการนั้นมุ่งเน้นที่การปฏิบัติ เรามาพัฒนาตนในแง่การปฏิบัติ คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ทำให้ดับทุกข์ได้ ให้จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสมีความสุข มีความร่มเย็นทั้งตัวเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี สังคมนี้ก็จะมีความสุขความเจริญ
ฉะนั้น ถ้าหากว่าได้นำความรู้ทางตำรานี้มาโยงใช้ในทางปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ ก็จะเข้ากับวัตถุประสงค์ของโครงการ และทั้งเป็นการถูกต้องตามธรรมด้วย
ในที่สุดนี้ อาตมภาพขออนุโมทนา อ้างอิงคุณพระรัตนตรัย อำนวยพรแด่ท่านผู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน ขอจงเจริญงอกงามในธรรมปฏิบัติ บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้สำเร็จสมตามมุ่งหมาย มีความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ