ขออำนวยพรแด่ท่านอาจารย์รัฐมนตรีผู้เป็นประธานที่ประชุม ท่านอาจารย์ผู้เป็นประธานในการสัมมนา ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ทุกท่าน
ก่อนอื่นอาตมภาพต้องขอออกตัวเสียก่อนว่า การพูดครั้งนี้เป็นการมาพูดในท่ามกลางท่านอาจารย์ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอย่างมากแล้ว ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครูอาจารย์ ซึ่งควรแก่การเคารพนับถือ อาตมภาพขอโอกาสที่จะแสดงธรรมกถาเป็นการบรรยายหลักทั่วๆ ไปของพุทธศาสตร์และขออนุโมทนาแด่ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ได้ให้โอกาสแก่อาตมภาพ ซึ่งการกระทำอย่างนี้ เป็นการปฏิบัติตามประเพณีของพุทธศาสนิกชน คือ การที่ชาวพุทธผู้เป็นคฤหัสถ์นั้น เชิดชูบูชาธรรมด้วยการให้เกียรติแก่พระภิกษุสงฆ์ ตามหลักที่ว่าแม้ว่าคฤหัสถ์จะเป็นพระอริยบุคคล ก็ยังกราบไหว้แสดงความเคารพแก่พระภิกษุแม้ที่เป็นปุถุชน ซึ่งการปฏิบัติตามธรรมเนียมอย่างนี้ เป็นข้อที่ควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับหัวข้อที่จะบรรยายนี้ อาตมภาพมีความเห็นว่า เป็นเรื่องราวที่มีรายละเอียดกว้างขวางมาก และเวลาสำหรับบรรยายถ้าเทียบกับเรื่องแล้วก็รู้สึกว่าน้อย อย่างไรก็ตามสำหรับที่ประชุมของท่านผู้รู้แล้ว เรื่องทั่วๆ ไปที่เป็นพื้นๆ ก็ไม่สู้มีความสำคัญที่จะต้องนำมากล่าวมากมาย เพราะฉะนั้น จึงจะข้ามส่วนที่เป็นเรื่องพื้นๆ ทั่วไปเสีย จับเอาเฉพาะจุดที่ควรจะเน้นบางประการ และสิ่งที่เป็นข้อสังเกต เพราะฉะนั้น อาตมภาพจะพูดตามหลักนี้ คือ กล่าวถึงเฉพาะสิ่งสำคัญ หรือสิ่งที่เห็นว่าเราควรจะได้ยกขึ้นมาเน้นย้ำกัน และเป็นข้อสังเกตไว้
ลักษณะทั่วๆ ไปของพระพุทธศาสนาหรือโดยเฉพาะจำกัดให้แคบเข้ามาว่า ‘พุทธศาสตร์’ เพื่อให้เป็นเรื่องทางหลักวิชาการมากสักหน่อยนั้น น่าจะมองโดยเริ่มต้นที่ชื่อเรียกพระพุทธศาสนานั้นเอง เป็นที่ทราบกันในหมู่ผู้รู้ว่า คำว่า ‘พระพุทธศาสนา’ นี้เป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนาในระยะหลังๆ เรียกได้ว่าไม่ใช่ชื่อเดิมของพระพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกนิยมใช้คำว่าพุทธศาสนาเฉพาะในคาถา และตามปกติมีความหมายว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น1 ทีนี้ ชื่อเดิมของพระพุทธศาสนาคืออะไร ชื่อที่เราใช้เรียกพระพุทธศาสนามีมาแต่ดั้งเดิมนั้น ที่สำคัญก็คงมีอยู่สัก ๒-๓ ชื่อ ถ้าหากว่าเราได้มาศึกษาชื่อเหล่านั้น บางทีเราอาจจะได้แง่คิด และก็เห็นลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนา
ชื่อแรกที่ควรจะยกมากล่าวก็คือคำว่า ‘ธรรมวินัย’ ธรรมวินัยนี้เรียกว่าเป็นชื่อดั้งเดิมชื่อหนึ่งของพระพุทธศาสนา และมีความสำคัญมากจนกระทั่งว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานก็ได้ตรัสว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา ซึ่งบอกแจ้งให้ทราบว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว หรือตามพุทธดำรัสว่า ในเวลาที่เราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย นี้เป็นเครื่องแสดงถึงความสำคัญของชื่อเรียกพระพุทธศาสนาคือ ชื่อว่าธรรมวินัยนี้ ถึงขั้นเป็นองค์ศาสดาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย และในระหว่างที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจนั้น เราก็เรียกพุทธศาสนาว่า ‘ธรรมวินัย’ เป็นคำที่ใช้เรียกกันเรื่อยมา และคำว่าธรรมวินัยนี้ จะปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่ง ชื่อเรียกนี้แสดงลักษณะที่สำคัญให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๒ อย่าง คือ ธรรมกับวินัย ถ้าหากว่าเรามองพระพุทธศาสนาแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ธรรมอย่างเดียวหรือวินัยอย่างเดียว ก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นการมองที่ไม่ครบหรือว่าจับตัวพุทธศาสนาได้ไม่ครบถ้วน เป็นภาพพระพุทธศาสนาที่ไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม คำว่าธรรมวินัยนี้ ในสมัยปัจจุบันเราก็พูดถึงเหมือนกัน แต่เมื่อพูดถึงนั้นเรามักรู้สึกว่าเป็นเรื่องของพระ แม้แต่คำที่ใช้เดิมในพุทธกาลเองหรือในพระไตรปิฎก ก็มักจะพูดในเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์ เช่นว่า ออกบวชในธรรมวินัย บรรพชาในธรรมวินัย ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าธรรมวินัยที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น มีในลักษณะที่เป็นเรื่องของผู้บวชแล้ว
ธรรมนั้นเป็นคำสอน เป็นหลักการทั่วไปที่เห็นได้ง่ายว่าเป็นกลางๆ จะเป็นพระหรือเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ย่อมจะต้องได้เรียนรู้ สามารถจะได้รับฟังเหมือนกัน ส่วนวินัยนั้นที่จะวางไว้เต็มรูปบริบูรณ์ก็คือวินัยของพระสงฆ์ เพราะว่าคณะสงฆ์เป็นชุมชนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งขึ้นเอง เมื่อได้ทรงตั้งขึ้นเอง ก็ทรงวางระเบียบแบบแผนไว้ให้ครบถ้วน สำหรับการที่จะดำรงชุมชนหรือสงฆ์นั้นไว้
สำหรับวินัยฝ่ายฆราวาสนั้น เรามองไม่ค่อยเห็น แต่ทั้งนี้มิใช่ว่าไม่มี เมื่อกล่าวถึงพระอริยบุคคล เช่น พูดถึงพระโสดาบัน ท่านกล่าวถึงคุณสมบัติว่ามีความรู้ เข้าใจ หรือเข้าถึงธรรมวินัยเหมือนกัน เช่น อย่างในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสถึงอุบาสิกาผู้เป็นคหปตานี ชื่อว่า ‘กุลมาดา’ ก็กล่าวถึงท่านผู้นี้ ว่ามีคุณสมบัติ ธมฺมวินเย โอคาธปฺปตฺตา เป็นผู้ได้ที่หยั่งในธรรมวินัยแล้ว นี่เป็นลักษณะของอริยบุคคล และในสิงคาลกสูตร อรรถกถาก็กล่าวว่า สิงคาลกสูตรนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นคิหิวินัย คือเป็นวินัยของคฤหัสถ์ หรืออย่างในมงคลสูตร ก็จะมีมงคลบทหนึ่งบอกว่า วินโย จ สุสิกฺขิโต วินัยที่ได้ศึกษาเป็นอย่างดีแล้ว อรรถกถาก็จะอธิบายว่า วินัยมี ๒ อย่าง อาคาริยวินัย วินัยสำหรับชาวบ้าน อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับอนาคาริก คือผู้ที่บวชแล้ว หรือพระสงฆ์
สำหรับวินัยฝ่ายฆราวาส หรือผู้ครองเรือนนั้น ท่านบอกว่า ได้แก่ การงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ หรืออย่างที่มีบ่อยมากในพระไตรปิฎกก็คำว่า อริยสฺส วินเย ในอริยวินัยหรือในวินัยของอริยชน คำวินัยเป็นอันว่ามีกล่าวถึงอยู่เสมอ และก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ด้วย แต่เรามักจะมองไปที่พระ วินัยของคฤหัสถ์นั้น กล่าวได้ว่าไม่ได้มองเห็นชัดเจนออกมาว่าคืออย่างไร มีอะไรบ้างที่แน่นอน มีแต่ข้อเสนอของพระอรรถกถาจารย์ที่ท่านให้เอาสิงคาลกสูตร โดยบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้มุ่งให้เป็นคิหิวินัย หรือในอรรถกถามงคลสูตรที่ว่า งดเว้นจากอกุศลกรรมบถ เป็นอาคาริยวินัยอะไรอย่างนี้ แม้แต่วินัยของพระเองเราก็มักจะมองกันแคบๆ เมื่อพูดถึงวินัยมักจะมองในรูปของระเบียบความประพฤติส่วนตัวของพระสงฆ์ พระสงฆ์ประพฤติเคร่งครัดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเรามองดูให้ดีแล้ว ที่จริงวินัยของพระสงฆ์มีความหมายกว้างมาก วินัยที่เราพูดกันส่วนมากนั้น มักจะได้แก่วินัยที่มีอยู่ในปาฏิโมกข์ ที่โดยมากเป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัวของพระ
แต่ยังมีวินัยอีกส่วนหนึ่ง ที่ท่านเรียกว่า นอกปาฏิโมกข์และมีอยู่มากมาย เป็นเรื่องที่กำหนดระบบแบบแผนกิจการต่างๆ ในชุมชนที่เรียกว่าสงฆ์ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ว่าเมื่อบวชเข้ามาแล้วจะต้องให้การศึกษาอบรมอย่างไรบ้าง เรื่องปัจจัย ๔ จะมีระเบียบการจัดสรรแบ่งปันอย่างไร ผู้ที่รับผิดชอบในกิจการของพระสงฆ์มีวิธีการแต่งตั้งกันอย่างไร กิจการส่วนรวมของพระสงฆ์มีวิธีดำเนินการอย่างไร เมื่อมีคดีเกิดขึ้นมีเรื่องราวเกิดขึ้น มีโจทก์มีจำเลยในสงฆ์ คือพระภิกษุนี่แหละ จะต้องดำเนินคดีอย่างไร จะต้องลงโทษกันอย่างไร ความสัมพันธ์กับชาวบ้านจะต้องทำอย่างไร เรื่องราวที่อาจจะเกิดกับชาวบ้านจะดำเนินการอย่างไร ดังนี้เป็นต้น วินัยกำหนดไว้ทั้งนั้น
ถ้ามองอย่างนี้ อาตมภาพว่าจะต้องจับให้ได้ ถึงสาระสำคัญของวินัยว่าได้แก่อะไร จุดสำคัญที่ควรจะมองในแง่ที่เป็นหลักการสำคัญของวินัย คือ
หลักการสำคัญข้อที่ ๑ ความหมายของวินัยนั้นมิใช่เฉพาะระเบียบความประพฤติส่วนตัวเท่านั้น แต่อาจจะพูดสั้นๆ ว่า ได้แก่ ระเบียบชีวิต และระบบสังคมทั้งหมด หรือการจัดสรรสภาพแวดล้อม เรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ และกิจการทุกอย่างของชุมชน ถ้าขยายกว้างออกไปก็ได้แก่สังคมทั้งหมด อันนี้เป็นเรื่องของวินัย
ขอข้ามไปถึงหลักการสำคัญข้อที่ ๒ คือ เจตนารมณ์ อาจจะเรียกว่าสารัตถะก็ได้ เจตนารมณ์ของวินัยอย่างหนึ่งที่ท่านย้ำไว้มากในพระไตรปิฎก ก็คือ เรื่องความเคารพในสงฆ์ การถือสงฆ์เป็นใหญ่ การถือกิจการของสงฆ์หรือส่วนรวมเป็นเรื่องสำคัญ การรับผิดชอบต่อกิจการเหล่านั้น การเอาใจใส่ในประโยชน์สุขของส่วนรวม
จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ พระพุทธเจ้าเคยบัญญัติว่า ให้พระสงฆ์มาประชุมกันอย่างน้อยทุกกึ่งเดือน การประชุมนั้นเรียกว่าอุโบสถ เพื่อซักซ้อมทบทวนเรื่องวินัย และมีบัญญัติต่อมาเกี่ยวกับเรื่องสังฆกรรมต่างๆ
เมื่อทรงบัญญัติเรื่องการประชุมนี้ครั้งแรก มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่าพระมหากัปปินเถระ ท่านได้มาคิดพิจารณาว่า เอ! พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้มีการประชุม และการประชุมที่เป็นประจำ ก็คือการที่จะมาซักซ้อมตรวจสอบความประพฤติ เราเป็นพระอรหันต์ บริสุทธิ์อยู่แล้ว เราควรจะไปประชุมหรือไม่
พระพุทธเจ้าเสด็จไปหาพระมหากัปปินเถระถึงที่ท่านอยู่เลย แล้วได้ตรัสว่า ถ้าเธอผู้เป็นพราหมณ์ (ในที่นี้ หมายถึงผู้บริสุทธิ์) ถ้าเธอผู้บริสุทธิ์ไม่ไปร่วมประชุมแล้ว คนอื่นใครเล่าจะเอาใจใส่ที่จะไปประชุม ฉะนั้น จะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญ พระอรหันต์จะต้องเป็นผู้นำในเรื่องที่จะเอาใจใส่ในกิจของสงฆ์นี้ ท่านก็บอกว่าจะต้องไป ท่านผู้บริสุทธิ์นี้แหละจะต้องไปอุโบสถ จะต้องไปร่วมสังฆกรรม
การถือสงฆ์เป็นใหญ่นี้ ได้เป็นประเพณีในพุทธศาสนาสืบมาแม้แต่พระอรหันต์ที่จะเข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งไปเสวยความสุขสงบอยู่ลำพังตลอดเวลา ๗ วัน โดยไม่ต้องฉัน ไม่ต้องทำกิจกรรมอะไร จะมีบุพพกิจอย่างหนึ่งว่า ต้องคำนึงถึงการเรียกหาของสงฆ์ คือ ก่อนที่จะเข้านิโรธสมาบัติ จะต้องคำนึงกำหนดใจไว้ว่า ถ้าหากสงฆ์เรียกหา มีกิจการของส่วนรวมขึ้น จะต้องออกได้ทันที ท่านถือว่า ครุกา สงฺฆสฺส อาณา อำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่นัก หรือหนักมาก และในประเพณีพุทธศาสนาสืบมา ก็มีเรื่องราวเช่นนี้ปรากฏให้เห็นเสมอ บันทึกไว้เป็นประวัติก็มี อย่างน้อยก็ ๒ ครั้ง คือ การลงโทษพระอรหันต์ เรียกว่า ‘ทัณฑกรรม’ คือ พระอรหันต์บางองค์ บางคราวท่านหลบไปอยู่ในป่าเขาเสีย เวลาเกิดเรื่องของส่วนรวมแล้วไม่ได้มาร่วม
อย่างเรื่องในมิลินทปัญหาตอนเริ่มต้น ก็จะพบว่า ตอนนั้นพระเจ้ามิลินท์ทรงมีความเก่งกล้าในการโต้ปัญหามาก โต้วาทะ ทำให้นักปราชญ์ในทางศาสนาทั้งหลายมีความหวั่นกลัวและก็แพ้พระเจ้ามิลินท์กันไปเป็นอันมาก พระเจ้ามิลินท์ตอนนั้นเป็นคนนอกศาสนา เมื่อจะมาโต้วาทะในเรื่องศาสนา ก็กระเทือนมาถึงพระพุทธศาสนาด้วย พระสงฆ์ก็ไม่สบายใจ และก็ได้มาประชุมกันเพื่อเฟ้นหาบุคคล ที่มีความสามารถจะไปโต้วาทะกับพระเจ้ามิลินท์ได้ ในการประชุมพิจารณานั้นก็ปรากฏว่า พระอรหันต์บางองค์ไม่ได้มาร่วม ที่ประชุมจึงพิจารณาลงโทษพระอรหันต์นั้น ซึ่งไปอยู่ในป่า ไปเข้าฌาน ไปเข้าสมาบัติเสีย การลงโทษของท่านก็คือมอบหมายงานให้ทำ ซึ่งต้องทำไปจนเสร็จ นี้ตัวอย่างหนึ่ง หรือในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็เช่นเดียวกัน พระอุปคุตตเถระ ตอนนั้นท่านก็ไปเข้าฌานสมาบัติอยู่เช่นเดียวกัน ที่ประชุมสงฆ์ก็ลงโทษมอบหมายงานแก่ท่าน
ในบรรดาวัตถุประสงค์ต่างๆ หลายข้อของวินัยนั้น วัตถุประสงค์ที่มาก่อนเป็นข้อต้นๆ ก็คือ เพื่อความเรียบร้อยดีงาม และเพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ส่วนรวม อันนี้เป็นสาระ เป็นหลักการ เป็นหัวใจสำคัญ เป็นเจตนารมณ์ของพระวินัย ซึ่งถือว่าให้สงฆ์เป็นใหญ่ ต้องมีความเคารพสงฆ์ อันนี้อาตมภาพจะขอผ่านไปก่อน
หลักการสำคัญข้อที่ ๓ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัย ในเมื่อธรรมกับวินัยเป็นองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา เราอาจจะพูดได้ว่า ธรรมะเป็นส่วนเนื้อหา หรือเป็นหลักการที่เป็นแกนกลาง ส่วนวินัยเป็นภาคปฏิบัติ เป็นวิธีการที่จะมาจัดทำ ลงมือปฏิบัติ ให้ได้ผลตามหลักการ หรือเนื้อหานั้น หรือเอาตัวเนื้อหาคือธรรมนั้น ออกมาจัดเป็นเรื่องในทางปฏิบัติ ให้มันเกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้น ในแง่ของธรรมะนั้น เราต้องการจะฝึกคนให้มีคุณภาพ และคนที่มีคุณภาพนั้นก็มาประกอบกันเข้าเป็นสังคมที่ดี มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่ดี แต่วินัยเป็นการจัดสภาพชีวิต สภาพความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม จัดชุมชน จัดสังคม จัดระบบ ให้เกื้อกูลแก่การที่จะฝึกคนให้มีคุณภาพเช่นนั้น และเพื่ออำนวยโอกาสให้คนที่มีคุณภาพดีเช่นนั้น สามารถก้าวหน้าต่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงยิ่งขึ้นในทางธรรม
ฉะนั้น ธรรมกับวินัยนี้เป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยแก่กันและกัน เราอาจจะกล่าวว่า วินัยเป็นเครื่องมือของธรรม ที่จะเอาหลักการของธรรมนั้นมาจัดสรรให้เกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้น และเป็นที่แสดงออกของธรรม คือ ธรรมที่สอนกันนี้ก็อาจจะพูดไปปาวๆ แต่จะออกมาสู่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตก็จะออกมาในรูปที่เราเรียกว่าเป็นวินัยนี้ด้วย วินัยเบิกช่อง คือ เมื่อจัดขึ้นมาแล้วก็เป็นสิ่งที่ช่วยเบิกช่องให้คนเดินไปสู่จุดหมายที่ธรรมวางไว้ด้วย
นี่คือสิ่งที่เราอาจจะเรียกว่าเป็นหลักการของวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่อาตมภาพเห็นว่าน่าจะยกขึ้นมาเน้น ส่วนในแง่ของหัวข้อหรือองค์ประกอบของหลักการเช่นนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว สิ่งที่จะพึงทำในเรื่องวินัยในกรณีนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องมาศึกษารายละเอียด เพราะอันนั้นเป็นวินัยที่จัดออกมาเป็นรูปแบบแล้วสำหรับชุมชนหนึ่ง สิ่งที่จะพึงทำก็คือการศึกษาให้เข้าใจหลักการหรือสารัตถะหรือเจตนารมณ์ของวินัยนี้ แล้วจัดสรรในทางปฏิบัติให้บังเกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นตามหลักการนั้น
อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่า แม้แต่เมื่อพูดถึงวินัยของพระ เราก็จะนึกถึงระเบียบความประพฤติส่วนตัวของท่านว่า เคร่งครัดอย่างนั้นอย่างนี้ จริงอยู่ อย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะต้องจัดให้เกิดให้เป็นขึ้น แต่เมื่อจัดได้อย่างนั้นแล้วก็ควรจะก้าวต่อไปสู่ขั้นที่ ๒ ที่เป็นหลักการของวินัย คือ การถือกิจการของส่วนรวมเป็นสำคัญ ถือประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นใหญ่ อะไรทำนองนี้ ซึ่งเรื่องสังฆกรรมต่างๆ ก็เป็นที่แสดงออกของเจตนารมณ์นี้ แต่เราจะเห็นว่า แม้แต่ในหมู่สงฆ์เอง เรื่องสังฆกรรม หรือกิจการส่วนรวมก็ได้เลือนมาอยู่ในรูปของพิธีกรรมแทบทั้งหมด จนกระทั่งเรามองไม่เห็นสาระของมัน คือการที่เอาสงฆ์เป็นใหญ่ การประชุมที่มาพิจารณาเรื่องราว เช่นอย่างการอุปสมบทเป็นต้น ก็เหลืออยู่ในรูปของพิธีกรรมเท่านั้น
ในที่นี้ ไม่ต้องการจะพูดเรื่องของฝ่ายพระสงฆ์ แต่จะเน้นว่าในแง่ของสังคมใหญ่คือของคฤหัสถ์ น่าจะมีการกำหนดกันได้หรือไม่ ว่าเราจะเอาอย่างไร ระเบียบแบบแผน ระเบียบชีวิตของชาวพุทธ สังคมพุทธ ระบบต่างๆ ในสังคมพุทธนี้ ควรจะเป็นอย่างไร การที่จะกำหนดได้ก็ต้องอาศัยความเข้าใจในธรรมะนั่นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ศึกษาตัวธรรมะนั่นแหละ แล้วก็เอาธรรมะนั้นมาใช้ เอาความเข้าใจในธรรมะนั้นมากำหนดว่าธรรมะต้องการอะไร จะให้ชาวพุทธแต่ละคนเป็นอย่างไร ให้สังคมพุทธเป็นอย่างไร เอาหลักการและเจตนารมณ์นั้นมาจัดวางเป็นระบบของสังคม ระเบียบการดำเนินชีวิตขึ้น เป็นอันว่าเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการปกครอง การวางรูปองค์กร สถาบันอะไรต่างๆ ในรูปแบบที่เป็นไปตามคำสอนในพุทธศาสนา ก็อยู่ในหลักการที่เราเรียกว่าวินัยนี้
อาตมภาพคิดว่า การจัดในแนวนี้คงจะได้เคยมีมาแล้ว การดำเนินงานของพระเจ้าอโศกมหาราช อาจถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ได้เคยนำธรรมะมาจัดออกเป็นรูปของวินัย คือ ระเบียบแบบแผนของสังคม ของการปกครอง ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า แบบแผนการปกครองของพระองค์นั้นก็ได้ถือตามหลักธรรม แม้แต่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ก็ยังมีตำแหน่งทางธรรม เช่น พวกธรรมมหาอำมาตย์เป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับธรรม อย่างนี้เป็นต้น
การที่เรามองข้ามเรื่องวินัย ทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาที่มาจากภายนอก บางทีก็มีทัศนคติต่อพระพุทธศาสนาในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น พวกฝรั่งบางคนที่บอกว่า พระพุทธศาสนาเป็นแต่เพียงจริยธรรมทางจิตใจ หรือเป็นจริยธรรมส่วนบุคคล เป็นศาสนาของการปลีกหนี หลบลี้ไปจากสังคม อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอันนี้เราก็อาจจะว่า ฝรั่งนั่นเองได้ศึกษาหลักการของพระพุทธศาสนาไม่ทั่วถึง มองข้ามเรื่องวินัยไปเสีย และไม่ใช่แต่ฝรั่งคนนอกเท่านั้น ชาวพุทธเองไม่น้อยก็มองอย่างนั้น เรื่องนี้ขอให้มองดูตัวอย่างง่ายๆ เช่น มองดูความรู้สึกภายในใจของเราที่มีต่อพระอรหันต์ หรืออย่างที่เราพูดสมัยนี้ว่าภาพพจน์ ภาพพจน์ต่อพระอรหันต์ ถ้าหากว่ามองในแง่ของธรรม หลายคนอาจจะมีความรู้สึกโน้มเอียงไปในทางที่คิดว่า พระอรหันต์เป็นบุคคลที่เฉยๆ ไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราว ปลีกตัวไปอยู่ต่างหากจากสังคม อะไรทำนองนี้ อาจจะมีท่านผู้ศึกษาธรรมแล้วมองพระอรหันต์เป็นอย่างนี้ไปก็ได้
แต่ถ้ามองจากแง่ของวินัย เราจะเห็นอีกด้านหนึ่งว่า อ้อ! พระอรหันต์ก็คือผู้นำ ผู้เป็นตัวอย่างในการที่จะรับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม มีเรื่องราวที่จะกระทบอะไรส่วนรวมเกิดขึ้น จะต้องเอาใจใส่ถือเป็นเรื่องสำคัญ กิจกรรมในพุทธศาสนาที่เป็นประวัติศาสตร์มาจนปัจจุบันนี้ เช่น เรื่องการสังคยนานี้ พระอรหันต์เป็นผู้นำทั้งนั้น เมื่อมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นกระทบกระเทือน หรือทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลง พระอรหันต์ก็เป็นผู้นำในการที่จะริเริ่มจัดทำเรื่องเหล่านั้น ขวนขวายในการที่จะดำเนินกิจการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของพระศาสนา หรือแก้ไขกำจัดสิ่งที่ผิดพลาด แม้ในทางธรรมเองที่จริงหลักการเหล่านี้ก็มีอยู่
อย่างในอปริหานิยธรรมบอกว่า จะต้องมีการประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันสม่ำเสมอ พร้อมเพรียงกันลุกขึ้นแก้ไข จัดการป้องกันกำจัดสิ่งเสียหายทั้งหลาย แล้วก็ให้ขมีขมันในเรื่องราวของส่วนรวม อะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่หลักการในทางธรรมเหล่านี้ บางทีเราก็มองข้ามไปเสีย เพราะมันจะมาออกผลที่แท้ในรูปของสิ่งที่เรียกว่าวินัยนี้ ฉะนั้น องค์ประกอบสำคัญทั้งสองที่มารวมเป็นชื่อของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าธรรมวินัยนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงลักษณะทั่วไปของพระศาสนาอย่างหนึ่ง อาตมภาพเห็นว่าวินัยนี้แหละ คือ ส่วนของพระพุทธศาสนาที่จะขยายออกมาเชื่อมกับสังคมศาสตร์สมัยใหม่ได้ หรือจะเรียกสังคมศาสตร์ว่าเป็นวินัยศาสตร์ ก็พอจะได้เหมือนกัน
สรุปสาระตอนนี้ พุทธศาสนาถือว่าสำคัญ ทั้งบุคคลและระบบ ทั้งปัจเจกชน และสังคม ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก และจิตใจภายใน ต้องประกอบกันเสริมกัน อาตมภาพคิดว่าได้เสียเวลาไปมากพอสมควรแล้วกับชื่อเรียกพระพุทธศาสนาอย่างที่หนึ่งคือเรื่องธรรมวินัยนี้ ก็ขอก้าวไปสู่ชื่อเรียกที่สอง
ชื่อเรียกที่สองของพระพุทธศาสนา คือ คำว่า พรหมจรรย์ เมื่อได้ยินคำว่า ‘พรหมจรรย์’ ก็อาจจะเกิดความรู้สึกแปลกใจ เพราะความหมายของคำว่าพรหมจรรย์ ในสมัยนี้มักจะมองกันแคบเสียแล้ว ถ้าจะป้องกันความรู้สึกอย่างนั้น ก็อาจจะเรียกตามบาลีเสียเลยว่า พฺรหฺมจริย และเรียกเป็นไทยว่า พรหมจริย แปลว่า จริยะที่เป็นพรหม หรือ จริยะอันประเสริฐ
ที่อาตมาพูดถึงชื่อเรียกพระพุทธศาสนาชื่อแรกว่า ‘ธรรมวินัย’ นั้น อาจจะถือว่าเป็นการมองพระพุทธศาสนาที่ตัวพระพุทธศาสนาเองล้วนๆ ว่า มีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ ธรรมกับวินัย ส่วนชื่อที่สอง คือ ‘พรหมจรรย์’ นี้ เป็นการมองพระพุทธศาสนาที่ความสัมพันธ์กับคน หรือการที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา
พรหมจรรย์ที่บอกว่าเป็นชื่อเรียกมาแต่ดั้งเดิมของพระพุทธศาสนานั้น ขอให้มองดูตั้งแต่คำตรัสเมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกออกประกาศศาสนา ที่เราได้ยินกันอยู่เสมอว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ เป็นต้น ใจความว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวมนุษย์ทั้งหลาย จงแสดงธรรม จงประกาศพรหมจรรย์
จุดที่ไม่ควรมองข้ามไปเสีย คือ ประกาศพรหมจรรย์ ประกาศพรหมจริยะ หรือประกาศจริยะอันประเสริฐ นี้เป็นดำรัสในตอนเริ่มต้นประกาศพระศาสนา
ครั้นต่อมาถึงตอนท้ายจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสอีกว่า เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบใดที่พรหมจรรย์หรือพรหมจริยะนี้ยังไม่ อิทฺธํ ผีตํ เป็นต้น คือ ยังไม่แพร่หลายเป็นปึกแผ่นมั่นคง แล้วก็มีคำบรรยายต่อไปว่า ที่ว่าแพร่หลายมั่นคงเป็นปึกแผ่นนั้นอย่างไร หมายความว่า ถ้าบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่มีความรู้เข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ยังไม่สามารถที่จะแสดงหลักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง เมื่อใครมากล่าวจ้วงจาบก็ไม่สามารถแก้ไขกล่าวชี้แจงให้ถูกต้อง และประกาศให้เป็นที่รู้เข้าใจกันด้วยดี ถ้าหากว่าบริษัท ๔ ไม่ว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งก็ตาม ยังไม่สามารถทำกิจนี้แล้ว พระองค์ก็จะยังไม่ปรินิพพาน
ยิ่งกว่านั้น ยังทรงไขความต่อไปอีกว่า ในบริษัท ๔ นั้น ภิกษุ ภิกษุณี ก็มีทั้งที่เป็นเถระ เป็นมัชฌิมะ เป็นนวกะ คือ จะเป็นผู้ใหญ่ เป็นปานกลาง เป็นผู้ใหม่ก็ตาม ก็จะต้องมีความรู้ความสามารถทั่วทั้งหมด ทางฝ่ายอุบาสก อุบาสิกา ก็แบ่งอีก คือ อุบาสกและอุบาสิกาที่เป็นพรหมจารี กับอุบาสกอุบาสิกาที่อยู่ครองเรือน แม้แต่อุบาสกอุบาสิกาที่อยู่ครองเรือน ก็จะต้องมีความสามารถนี้ด้วย จึงจะได้ชื่อว่าพรหมจรรย์นี้มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ท่านให้ถือว่าอันนี้เป็นหลักการสำหรับกำหนดว่า พระพุทธเจ้าพอจะปรินิพพานได้หรือยัง ที่ว่านี้แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับพรหมจรรย์ (และการศึกษา) เป็นอันมาก นอกจากนี้ในระหว่างเวลาที่ประกาศพระศาสนาจนถึงปรินิพพาน ก็ยังมีพุทธพจน์กระจายอยู่ในที่ต่างๆ ตรัสถึงความสำคัญของพรหมจรรย์อีกมาก
การใช้คำว่าพรหมจรรย์ เป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนานี้ ถ้าว่าให้ถูกแล้ว ก็เป็นชื่อเรียกในทางปฏิบัติหรือดำเนินชีวิต จริยะก็คือ การดำเนินชีวิต หรือการครองชีวิตนั่นเอง พรหม แปลว่า ประเสริฐ หมายความว่า ถ้าระบบการครองชีวิตที่ประเสิรฐนี้ยังไม่เป็นปึกแผ่นแพร่หลายมั่นคงแล้ว พระพุทธศาสนาก็ยังไม่ชื่อว่าตั้งมั่น พระพุทธเจ้าก็จะยังไม่ปรินิพพาน
แม้แต่ในคราวที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำให้ทำสังคายนาตามความในปาสาทิกสูตรก็ดี เมื่อพระสารีบุตรกล่าวถึงการสังคายนาดังความในสังคีติสูตรก็ดี ก็ปรารภว่าที่ควรทำสังคยนานั้น ก็เพื่อให้พรหมจรรย์หรือพรหมจริยะนี้ ยังยืนมั่นคง จริฏฐฺิติกํ ดำรงอยู่ตลอดกาลยาวนาน เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน ต้องย้ำว่าอย่างนี้เสมอไป ท่านไม่ใช้คำว่าพระพุทธศาสนาเลย เพราะฉะนั้น เราจึงควรศึกษาคำว่า พฺรหฺมจริย นี้ให้ชัดเจนว่าคืออะไรกัน เป็นอันว่าพรหมจรรย์เป็นคำสำคัญ เป็นชื่อเรียกพระพุทธศาสนาในทางปฏิบัติ เป็นระบบการครองชีวิตของชาวพุทธ เป็นสิ่งที่จะต้องให้เกิดมีเป็นจริงเป็นจังขึ้น จึงจะชื่อว่ามีความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา
พระพุทธพจน์ในสังยุตตนิกายตรัสไว้ว่า อยเมว โข ภิกฺขุ อริโย อฏฐฺงฺคิโก มคฺโค พฺรหฺมจริยํ นี้คือการแสดงความหมายของพรหมจรรย์ บอกให้รู้ว่าพรหมจรรย์คืออะไร แปลว่า “ภิกษุมรรค หรือ มรรคามีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐนี้แหละ ชื่อว่า พรหมจรรย์” ตกลงว่า พรหมจรรย์ ซึ่งเป็นระบบการครองชีวิตของชาวพุทธ ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ นี่เอง นี่คือความหมายที่แท้จริงของพรหมจรรย์ หรือ พรหมจริยะ หรือจริยะอันประเสริฐ ชื่อเรียกของพระพุทธศาสนาว่าพรหมจรรย์นี้ ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เน้นภาคปฏิบัติ เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตที่แท้จริง แสดงว่าพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการมาสั่งสอนกันให้เรียนรู้ให้ฟังกันเข้าใจเท่านั้น แต่อยู่ที่ความประพฤติปฏิบัติ การดำเนินชีวิตที่แท้จริง และนี่คือชื่อเรียกพระพุทธศาสนาอันหนึ่ง
เป็นอันว่าว่ามรรคนั่นเองเป็นพรหมจรรย์ หรือพรหมจริยะ คือเป็นระบบการดำเนินชีวิตของชาวพุทธ หรือการครองชีวิตอันประเสริฐ แต่มีปัญหาต่อไปว่า มรรคนั้นมีองค์ประกอบ ๘ ประการ มีสัมมาสมาธิเป็นข้อสุดท้าย เรามักพูดกันถึงความสำคัญของมรรค ซึ่งทุกคนยอมรับว่ามรรคมีความสำคัญ แต่ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่น่าจะมองข้ามไปก็คือว่า ก่อนที่จะเข้าสู่มรรคนั้น เราจะเดินเข้าสู่มรรคได้อย่างไร ถ้าคนยังไม่ได้เริ่มต้น เราจะพาเข้าสู่การเริ่มต้น ให้เขารู้จักมรรค และให้มาเดินตามมรรคได้อย่างไร อันนี้น่าจะถือเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นเรื่องในทางปฏิบัติมากกว่า ถ้าเรามองข้ามปัญหานี้ เราจะมองข้ามหลักการของพระพุทธศาสนาไปส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรามาสนใจถามปัญหาที่ว่าเมื่อกี้ เราจะมองเห็นหลักการของพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง หลักการที่ว่านี้ก็คือเรื่องปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐินั้นเป็นหัวข้อแรกในมรรค ท่านบอกว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบแล้ว สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบก็จะมีขึ้น แล้วจะมีสัมมาวาจา พูดชอบ สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ เป็นต้น แต่ทีนี้ตัวสัมมาทิฏฐิเองเล่าจะเริ่มต้นอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้อีกว่า ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิมี ๒ ประการ คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ
ปรโตโฆสะ แปลว่าเสียงจากอื่น เสียงจากอื่นคืออะไร เสียงจากอื่นก็คือเสียงจากคนอื่น เสียงที่มาจากที่อื่น ความรู้ที่มาจากแหล่งอื่น คนอื่น ถ้าจะใช้ภาษาสมัยปัจจุบันก็ว่า จากสภาพแวดล้อมทางสังคม สภาพแวดล้อมทางสังคมมี ๒ ส่วน คือ ปรโตโฆสะที่ดีและที่ไม่ดี ปรโตโฆสะที่ไม่ดีท่านบอกว่านำไปสู่มิจฉาทิฏฐิ ปรโตโฆสะที่ดีนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ คือความเข้าใจคิดเห็นเชื่อถือถูกต้อง ปรโตโฆสะนี้เป็นปัจจัยที่หนึ่ง
ปัจจัยที่ ๒ คือ โยนิโสมนสิการ เราแปลกันมาตามประเพณีว่า การทำในใจโดยแยบคาย ซึ่งต้องไปพิจารณาความหมายกันอีก อาตมภาพเลยลองเสนอคำแปลไปว่า ความรู้จักคิด คิดเป็น คิดถูกวิธี นี้เรียกว่า ‘โยนิโสมนสิการ’
สัมมาทิฏฐิจะเกิดได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบ ๒ ประการนี้และท่านเน้นมากเหลือเกิน มีพุทธพจน์ที่เน้นเรื่อง ๒ อย่างนี้มากมายหลายแห่ง เช่นตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สำหรับภิกษุผู้ยังศึกษาอยู่ เราไม่พิจารณาเห็นองค์ประกอบภายนอกอย่างใดที่จะเป็นสิ่งสำคัญเท่าปรโตโฆสะ ซึ่งปรโตโฆสะที่ดีก็ได้แก่ ความมีกัลยาณมิตร และสำหรับองค์ประกอบภายใน เราไม่พิจารณาเห็นองค์ประกอบใดสำคัญเท่าโยนิโสมนสิการเลย”
เป็นอันว่ามีองค์ประกอบ ๒ อย่าง ที่จะทำให้เกิดสัมมาทิฏฐินำไปสู่มรรค คือ องค์ประกอบภายนอก ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดี และองค์ประกอบภายใน คือ โยนิโสมนสิการ ยังมีพุทธพจน์ทำนองนี้อีกมาก เช่น ตรัสว่า โยนิโสมนสิการก็ดี ปรโตโฆสะที่ดี คือ ความมีกัลยาณมิตรก็ดี (กัลยาณมิตรเป็นตัวอย่างเด่นชัดของปรโตโฆสะที่ดี ในส่วนที่เป็นบุคคล) นี้เป็นรุ่งอรุณของมรรคมีองค์ ๘ ประการ เมื่ออาทิตย์จะอุทัยขึ้นนั้น มีแสงอรุณนำมาก่อนฉันใด การที่มรรคจะเกิดขึ้น ก็มีแสงอรุณ คือ ความมีกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง เป็นสิ่งที่นำมาก่อนฉันนั้น
สำหรับกัลยาณมิตร หรือปรโตโฆสะที่ดีนั้น จะพบคำสอนได้ในเรื่อง ‘การคบมิตร’ ซึ่งมีมากมายในพระพุทธศาสนา มีในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทั่วไป เป็นเรื่องที่มองเห็นกันอยู่แล้ว มีทั้งสำหรับชาวบ้าน สำหรับภิกษุ ที่ทั้งเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในขั้นต้น และในขั้นสูง เป็นเรื่องสำคัญที่หาคำสอนได้ง่าย ส่วนโยนิโสมนสิการก็ตรัสไว้มิใช่น้อย อาตมภาพคิดว่าในพระไตรปิฏกนั้นคงมีไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ แห่ง แต่ทีนี้ บางทีเรามองข้ามไป อย่างในพระไตรปิฎกแปล บางทีแม้จะอ่านเราก็ไม่ได้สังเกต เพราะท่านแปลออกมาเสียว่า การทำในใจโดยแยบคาย อะไรอย่างนี้ ก็ทำให้มองข้ามๆ กันไป
สิ่งสำคัญก็คือ ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องในทางปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ช่วยกันได้ ส่วนสัมมาทิฏฐินั้นเกิดอยู่ในตัวคน เมื่อเขามีความเห็นถูกต้อง เขาก็ดำเนินตามมรรคไป แต่ก่อนที่เขาจะมีสัมมาทิฏฐิเราจะทำอย่างไร นี้เป็นเรื่องที่มนุษย์จะช่วยกันได้
การที่จะจัดกิจกรรมในทางสังคม การที่จะให้การศึกษาอะไรต่างๆ นี้มันอยู่ที่จุดนี้ คือ เรื่องปรโตโฆสะที่ดี กับโยนิโสมนสิการ เช่นว่า เราจะสร้างปรโตโฆสะที่ดี ให้สังคมนี้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีกัลยาณมิตรขึ้นได้อย่างไร กัลยาณมิตรนี้ควรจะมีคุณภาพ คุณสมบัติอย่างไร เริ่มตั้งแต่คุณครูเป็นต้นไป โยนิโสมนสิการที่ว่ารู้จักคิด คิดเป็น คิดแยบคาย อะไรนี้ คือ ความคิดแบบไหน มีวิธีการทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไรเป็นต้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ซึ่งอาตมภาพเห็นว่าอันนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องในวิชาการศึกษามาก และการที่เราบอกว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญานั้น มันก็เริ่มมาตั้งแต่จุดนี้ คือ เพราะสอนเรื่องโยนิโสมนสิการนี้เอง สำหรับจุดนี้อาตมภาพก็จะขอผ่านไปก่อน
อีกชื่อหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่ใช้เรียกในสมัยก่อน คือ คำว่า สัตถุศาสน์ อันนี้เป็นเรื่องของการแสดงตัวคำสอนแท้ๆ ซึ่งจะไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะเวลาจำกัด ขอผ่านไปก่อน ขอพูดถึงหัวข้อที่ ๔
ลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็คือ การสอนแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ในปัจจุบัน ข้อนี้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ท่านเน้นมาก ท่านที่ได้อ่านพระสูตรมากๆ คงจะจำพุทธพจน์เกี่ยวกับเรื่องคนถูกยิงด้วยลูกศรได้ คือ มีพุทธพจน์ทำนองอุปมาว่า บุคคลผู้หนึ่งถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ เมื่อญาติไปตามแพทย์ เพื่อจะมาถอนลูกศร บุรุษที่ถูกลูกศรอาบยาพิษนี้ก็ไม่ยอมให้แพทย์ถอนลูกศร บอกว่าข้าพเจ้าจะต้องขอทราบเสียก่อนว่า ลูกศรอาบยาพิษที่ยิงข้าพเจ้านี้ทำด้วยอะไร เริ่มต้นตั้งแต่ว่า หัวลูกศรทำด้วยวัตถุชนิดไหน หางลูกศรทำด้วยวัตถุชนิดใด ทำด้วยขนนกประเภทใด ตัวลูกธนูนี้ทำด้วยไม้ชนิดใด ยาพิษที่ใช้อาบลูกศรเป็นยางไม้ประเภทไหน แล้วก็คนที่ยิงข้าพเจ้านี้มันเป็นใคร เป็นคนในวรรณะกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ หรือศูทร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ขอทราบสิ่งเหล่านี้ก่อนแล้วจึงจะยอมให้ถอนลูกศร
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าทำอย่างนี้ คนที่ถูกลูกศรอาบยาพิษนั้น จะต้องตายก่อนที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด อันนี้ฉันใด การที่จะตอบคำถามต่างๆ ที่สนองความอยากรู้ของมนุษย์นี้ โดยเฉพาะที่ท่านเรียกว่า อัพยากตปัญหา ว่าโลกนี้เที่ยง โลกนี้ไม่เที่ยง โลกนี้มีที่สุด ไม่มีที่สุด เป็นต้น คำถามประเภทนี้ถ้ามนุษย์จะมาหาคำตอบให้ได้เสียก่อนโดยไม่ยอมปฏิบัติ ไม่ดำเนินชีวิตของตนให้ถูกต้อง มนุษย์จะต้องตายเสียก่อนโดยไม่ได้ประโยชน์จากชีวิตเลย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คำถามประเภทนั้นหรือเรื่องประเภทนั้น พระองค์ไม่ตอบ และไม่ทรงสอน สิ่งที่พระองค์สอนคืออะไร ก็คือ อริยสัจ ๔ เพราะอะไร ก็เพราะว่ามันเป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หรือระบบการครองชีวิตที่ประเสริฐ คือ มันใช้ได้ นำมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ได้
พุทธพจน์ทำนองนี้มีในที่อื่นๆ อีก เช่น ตรัสถึงว่า วาจาอะไรที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็จะตรัสตอบว่า พระองค์ตรัสสิ่งที่เป็นความจริง ซึ่งมีประโยชน์ นำมาใช้ได้ โดยทรงรู้จักเวลาที่จะตรัสหรืออย่างพระพุทธพจน์เกี่ยวกับใบไม้สีเสียด หรือใบไม้ประดู่ลายที่ว่า ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่าไม้นั้น ทรงเอาพระหัตถ์กำใบไม้ขึ้นมากำหนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือของเรานี้กับใบไม้ในป่าอย่างไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายก็ย่อมตอบว่า ใบไม้ในป่ามีมากมาย ใบไม้ในกำพระหัตถ์ของพระองค์นั้นน้อยนิดเดียว
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าข้อนี้ฉันใด สิ่งที่เราสอนแก่เธอทั้งหลายก็ฉันนั้น สิ่งที่เราสอนแก่เธอนั้นเป็นเหมือนใบไม้ในกำมือนี้ซึ่งมีนิดหน่อย ส่วนสิ่งที่รู้แต่ไม่ได้สอนนั้น เหมือนใบไม้ในป่า ทำไมจึงไม่สอน เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ ส่วนสิ่งที่สอนก็เพราะมันเป็นไปเพื่อประโยชน์ มันใช้ดับทุกข์ได้
ที่กล่าวมานี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ เมื่อจะพิจารณาคำสอนต่างๆ จะต้องดูว่า ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับการที่จะถอนลูกศรออกเสีย คือใช้แก้ปัญหาของชีวิตที่เกิดขึ้นนี้ได้ นี่คือสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นเราต้องแบ่งว่า ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับคนไข้ ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับหมอ ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับผู้สอนหมออีกทีหนึ่ง ถ้าอย่างนี้เราก็อาจจะแยกได้ว่า ถ้าเราเป็นอาจารย์แพทย์ ก็คงจะไม่ต้องถึงกับไปบีบคั้นบังคับ กำหนดเอากับคนทั้งหลายอื่น หรือคนไข้ทั้งหลายว่า ท่านจะต้องมาเรียนรู้ให้ได้อย่างข้าพเจ้าที่เป็นอาจารย์แพทย์เสียก่อน แล้วจึงจะแก้โรคได้ ซึ่งไม่จำเป็น ความรู้ที่พอจะใช้แก้โรคมันจะมีส่วนหนึ่ง
ถ้าแบ่งได้อย่างนี้แล้ว ปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจในหลักการทางพระศาสนานี้ ก็อาจจะพอจัดแบ่งออกได้เป็นแง่ๆ ขั้นๆ ขณะนี้อาตมภาพรู้สึกว่าเป็นปัญหากันอยู่ในเรื่องที่ว่า จะต้องรู้แค่ไหนจึงจะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาได้ หรือจะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาได้
เมื่อพูดแล้วว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ความจริงที่เป็นประโยชน์ ใช้แก้ทุกข์ได้ นำไปสู่จุดหมาย ก็ควรจะพูดถึงประโยชน์และจุดหมายด้วย ลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนาประการหนึ่ง ก็คือเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต หรือหลักการและวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดหมาย ทีนี้ จุดหมายในทางพระพุทธศาสนาเราก็เรียนกันมาว่ามี ๓ ประการ เรียกว่า อัตถะ อัตถะ ๓ ประการ นี้ ถ้าจะแบ่งตามระดับก็คงจะได้เป็น ๓ อย่าง คือ
๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ เรียกกันว่า ประโยชน์ปัจจุบัน
๒. สัมปรายิกัตถะ แปลกันว่า ประโยชน์เบื้องหน้า
๓. ปรมัตถ์ หรือ ปรมัตถะ คือ ประโยชน์อย่างสูงสุด
ทิฏฐธัมมิกัตถะ ก็คือ ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์อย่างที่เห็นๆ เพราะทิฏฐธัมมะแปลว่า เรื่องที่เห็นๆ กันอยู่ เรื่องที่มองเห็นได้ในแง่กาละ ก็คือปัจจุบัน หรือถ้าพูดในแง่ของเรื่องราวก็คือเรื่องทั่วๆ ไป เรื่องการดำเนินชีวิต การเป็นอยู่ที่ปรากฏ เรื่องทางวัตถุที่เห็นกันได้ สภาพภายนอก เช่น การมีปัจจัย ๔ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย มีฐานะ มีลาภ มีเกียรติ มียศ มีสรรเสริญ เรื่องชีวิตคู่ครอง ความมีมิตรไมตรี อะไรต่างๆ ในชีวิตปัจจุบันนี้ ในชีวิตที่มองเห็นๆ กันอยู่ นี้เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธศาสนาก็สอน ว่าเป็นจุดหมายประการหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือการปฏิบัติตามธรรมในพระพุทธศาสนา
สัมปรายิกัตถะ ก็คือ ประโยชน์ที่เลยออกไปหรือต่อออกไป สัมปราย แปลว่า เลยออกไป ก็หมายถึงเบื้องหน้า เลยออกไปไกลๆ ก็คือ ภพหน้า ชาติหน้า จะไปเกิดที่ดีๆ ไม่ไปเกิดที่ชั่วๆ นี่เป็นประโยชน์หรือเป็นจุดหมายขั้นสัมปรายะ หรือถ้าไม่มองไกลมากอย่างนั้น ก็ได้แก่สิ่งที่เป็นหลักประกันชีวิตในเบื้องหน้าหมายถึงสิ่งที่ลึกเข้าไปทางจิตใจ คือ พ้นจากเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การมีฐานะ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ชั้นภายนอกแล้วก็มาถึงเรื่องจิตใจ เรื่องคุณธรรมต่างๆ การที่จะมีจิตใจที่สุขสบาย ซึ่งท่านบอกว่าต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีศรัทธา มีความประพฤติซึ่งทำให้มั่นใจตนเอง มีศีล มีจาคะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีสุตะ มีความรู้ได้เล่าเรียนศึกษาและมีปัญญา มีความเข้าใจรู้จักสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง อะไรพวกนี้ นี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเข้าไปในจิตใจ ซึ่งเมื่อมีแล้วก็เป็นเครื่องรับประกันชีวิตในเบื้องหน้าได้ทีเดียวว่า คติชีวิตจะเป็นไปในทางที่ดี นี้ก็เป็นจุดหมายประการหนึ่งในทางพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทางเสวยมากจนกระทั่งอ้วนอึดอัด พระพุทธเจ้าก็ทรงตักเตือน พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับได้ทูลพระพุทธเจ้าว่าพระองค์นี้ทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ ไม่เฉพาะเรื่องสัมปรายิกัตถะเท่านั้น ทรงอนุเคราะห์แม้แต่ในเรื่องทิฏฐธัมมิกัตถะด้วย
ส่วนปรมัตถะ ก็คือประโยชน์สูงสุด ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คือเรื่องนิพพาน หรือความมีใจเป็นอิสระ ความมีจิตหลุดพ้น มีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานอยู่ได้ตลอดเวลา เพราะปราศจากกิเลส
จุดหมายนี้แบ่งเป็น ๓ อย่าง หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น ๓ ระดับ ซึ่งอยู่ในวงหรือขอบเขตของพระพุทธศาสนา เป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ได้ระมัดระวังว่าเราจะสอนหรือแสดงหลักการของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องจำกัดเอาอย่างเดียว เมื่อใครพูดถึงเรื่องระดับอื่น ประโยชน์ระดับอื่นแล้ว ไม่ยอมรับเลย บอกว่าอันนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา มิใช่อย่างนั้น พระพุทธศาสนาครอบคลุมได้ทั้ง ๓ ระดับอย่างนี้ อนึ่ง ถ้าหากจะไม่แบ่งในแง่ระดับ จะแบ่งในแง่ประโยชน์ หรือจุดหมายที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นด้านๆ ท่านก็แบ่งไว้อีก บอกว่าประโยชน์มี ๓ อย่าง หรืออัตถะ ๓ อย่าง คือ
๑. อัตตัตถะ ประโยชน์ตน
๒. ปรัตถะ ประโยชน์ผู้อื่น
๓. อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย หรือ ประโยชน์ร่วมกัน
คำสอนประเภทนี้ก็มีเน้นอยู่มากมายในพระไตรปิฎก เช่น เน้นเรื่องการไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็แน่ละ แถมไม่เบียดเบียนตนอีกด้วย พระพุทธศาสนาย้ำ ซึ่งอันนี้เป็นลักษณะที่แปลก บางทีเราไม่ได้สังเกต ท่านให้มองตัวเราไม่ใช่ในแง่ตัวตน แต่มองเป็นชีวิตหนึ่งเหมือนกับชีวิตทั้งหลาย ชีวิตคนอื่นเราไม่เบียดเบียนฉันใด ตัวเราในฐานะที่เป็นชีวิตหนึ่งซึ่งใกล้ชิดที่สุด ต้องรับผิดชอบก่อน เราก็ไม่ควรเบียดเบียนเหมือนกัน แม้แต่การจำกัดความ ความเป็นพาลเป็นบัณฑิต อะไรนี้ ท่านก็ให้มองดูที่การเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ต่อจากนั้นก็ขยายออกไปในระดับปรัตถะอย่างกว้าง
เช่น สำหรับพระภิกษุสงฆ์ สำหรับผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คำว่า ‘ปรัตถะ’ นี้ก็จะขยายออกมาในรูปที่ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย เพื่อประโยชน์แก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน ซึ่งคติเรื่องประโยชน์สุขแก่พหูชนนี้มากมายเหลือเกินในพระไตรปิฎก เช่นว่า พรหมจรรย์หรือพรหมจริยะนี้มีอยู่ยั่งยืนเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน พระพุทธเจ้าส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาก็เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน การกระทำเพื่อประโชน์สุขของพหูชนนี้ก็คือ เรื่องปรัตถะในระดับสำหรับผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับสังคม หรือประโยชน์ที่กว้างไกลออกไป นี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจุดหมาย
ต่อจากนี้ไปในเวลาที่จำกัด อาตมภาพคิดว่าลักษณะอื่นๆ ก็คงจะได้แต่เพียงยกขึ้นมาเป็นหัวข้อเท่านั้น
ลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาก็คือ พระพุทธศาสนานี้ ตัวหลักแท้ๆ พูดตามภาษาสมัยใหม่ ก็คือ เรื่องของธรรมชาติ หรือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เริ่มตั้งแต่หลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจะตรัสให้เห็นสาระอันนี้ เช่น เรื่องไตรลักษณ์ก็จะตรัสว่า ตถาคตคือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม มันก็เป็นตัวหลักตัวกฎธรรมดาอยู่แล้วว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
หรือแม้ปฏิจจสมุปบาทก็เช่นเดียวกัน ก็ตรัสว่าตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงก็ดำรงอยู่ของมันอย่างนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ นี้ เป็นการแสดงหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา คือแสดงความจริงที่มีอยู่เองตามธรรมดาของธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย ฐานะของพระศาสดาก็คือเป็นผู้ค้นพบความจริงนั้นแล้วอาศัยปัญญาความสามารถ นำมาอธิบายสั่งสอนแจกแจงให้เข้าใจได้ง่าย
ในเมื่อตัวแท้ของพุทธศาสนาคือ ตัวความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาตามกฎธรรมชาติแล้ว เพราะฉะนั้น การที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็คือ การนำความรู้ในกฎธรรมชาตินั่นเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การปฏิบัติหรือระบบอะไรต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนาก็คือ การนำความรู้ในกฎธรรมชาตินี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในเมื่อความรู้ในกฎธรรมชาติหรือการรู้ความจริงนี้ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นธรรมสำคัญในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา ปญฺญุตฺตรา ธรรมทั้งปวงมีปัญญาเป็นเยี่ยม เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นหลักธรรมสำคัญตั้งแต่ต้น พระพุทธศาสนาจึงสอนคนเริ่มตั้งแต่ให้มีโยนิโสมนสิการ แม้แต่องค์ประกอบสำคัญ ๒ ประการ คือ ปรโตโฆสะที่ดีกับโยนิโสมนสิการ ปรโตโฆสะนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อมาชักนำให้คนมีโยนิโสมนสิการ ให้เขารู้จักคิด คิดเป็น เพราะคนบางคนนั้นคิดไม่ค่อยเป็น ต้องมีกัลยาณมิตรมาช่วย เมื่อเขามีโยนิโสมนสิการแล้ว เขาก็เกิดสัมมาทิฏฐิ ก็ก้าวหน้าไปในมรรคได้
เพราะฉะนั้น เริ่มต้นก็ต้องปลุกเร้านำเข้าสู่ปัญญา แล้วปัญญาก็เป็นองค์ธรรมสำคัญเรื่อยไปในทางพระพุทธศาสนา แต่ในเมื่อเราไปอาศัยปรโตโฆสะหรือกัลยาณมิตร ก็จึงมีหลักขึ้นมาอีกอันหนึ่งคือศรัทธา ปรโตโฆสะนี้เป็นตัวทำให้เกิดศรัทธา เมื่อมีศรัทธาแล้ว ปรโตโฆสะจะอาศัยศรัทธานั้น สร้างโยนิโสมนสิการทำให้คนเกิดสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น แม้แต่ถ้าเราจะมีศรัทธาเราก็บอกว่านี่เพราะอะไร ก็เพื่อเชื่อมตัวปรโตโฆสะหรือกัลยาณมิตรเข้ากับโยนิโสมนสิการ เพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิต่อไป แล้วศรัทธาก็เป็นเพื่อปัญญานั้นอีก นี้ก็เป็นลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ขอผ่านไปก่อน
มีชื่อเรียกซึ่งเป็นการแสดงลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า คำสอนของพระองค์หรือหลักการของพระองค์นี้ รวมทั้งตัวพระองค์เองด้วย เป็นกรรมวาทะ เป็นกิริยวาทะ และ เป็นวิริยวาทะ ที่ว่าเป็นกรรมวาทะนั้นมีหลายแห่ง เรียกภาษาสมัยใหม่ก็เป็นกรรมวาท เป็นกิริยวาทและวิริยวาท
กรรมวาท แปลว่า เป็นผู้กล่าวสอนเรื่องกรรม คือ ถือการกระทำเป็นสำคัญ
กิริยวาท คือถือว่า การกระทำมีผล และสิ่งทั้งหลายสำเร็จด้วยการกระทำ
วิริยวาท ก็คือ กล่าวสรรเสริญความเพียร เป็นศาสนาแห่งความเพียร
คำว่า ‘วาทะ’ แปลว่า หลักการก็ได้ เพราะถ้าจะขยายกว้างออกก็คือ ศาสนานั่นเอง จึงว่าศาสนาแห่งความเพียร ฉะนั้น เรื่องที่ว่าคำสอนอย่างไรจะถูกหลักศาสนาหรือไม่ มีวิธีวินิจฉัยแบบหนึ่งก็ดูว่า เรื่องนี้เป็นกรรมวาท กิริยวาท วิริยวาทหรือไม่ และอันนี้ก็จะไปปรากฏในหลักตัดสินพระธรรมวินัย ๗-๘ ประการ อะไรต่างๆ ซึ่งจะมีวิริยะนี้เป็นองค์ประกอบข้อหนึ่ง อันนี้อาตมภาพก็จะขอผ่านไปก่อน
มีอีกอย่างหนึ่ง ในภาคปฏิบัติที่สำคัญก็คือ เราในหมู่ชาวพุทธนี้มักจะกลัวเรื่องความอยาก แล้วก็มีความรู้สึกว่าถ้าพูดถึงความอยากแล้ว ชาวพุทธจะต้องปฏิเสธ จะต้องพยายามเลี่ยงเว้น พวกชาวพุทธเป็นคนไม่มีความอยาก ปฏิบัติเพื่อละความอยาก อยากอะไรไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถ้าหากว่าระวังระแวงเกินไป อาจจะทำให้เสียแก่พระพุทธศาสนาได้เหมือนกัน เพราะว่าความอยากนี้เราไปหมายถึงตัณหา เราบอกว่าพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาที่สอนให้ละตัณหา เพราะฉะนั้น จะอยากอะไรไม่ได้ ทีนี้ ก็มีฝ่ายตรงข้ามเขาก็บอกว่า โอ...พระพุทธศาสนาสอนให้คนไม่อยาก เมื่อไม่อยากก็เลยไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องผลิตสร้างสรรค์ ทำให้ขัดถ่วงการพัฒนา เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการแยกแยะให้เห็นว่า ความอยากในพระพุทธศาสนานี้ มันเป็นสิ่งที่ถูกประณามแท้จริงหรือไม่ ขอเข้าสู่หลักเลย ท่านบอกว่า ปตฺถนา แปลว่า ความอยากหรือความปรารถนา ปตฺถนา นั้นมี ๒ อย่าง
๑. ตัณหาปัตถนา ปรารถนาหรืออยากด้วยตัณหา
๒. ฉันทปัตถนา ปรารถนาหรืออยากด้วยฉันทะ
ตัณหาปัตถนา อยากด้วยตัณหานั้นเป็นอกุศล ฉันทปัตถนา อยากหรือปรารถนาด้วยฉันทะเป็นกุศล ฉันทะนี้เป็นองค์ธรรมสำคัญ เช่น ในอิทธิบาทเป็นข้อแรกทีเดียว ก็เป็นอันว่าที่จริงฉันทะนี้ ซึ่งเราจะแปลอย่างไรก็ตาม อาจจะพยายามเลี่ยงหน่อย ไม่อยากใช้คำว่าอยาก แปลเป็นอย่างอื่นก็ตาม แต่ก็ต้องให้รู้ว่าสาระของมันมีอยู่ว่า ในทางพระพุทธศาสนานี้ ความปรารถนา หรือความต้องการอย่างหนึ่ง ท่านสอนและสนับสนุนให้มี คือ ความต้องการที่เรียกว่า ฉันทะ
ที่จริงฉันทะนี้ก็เป็นไวพจน์ของตัณหาได้เหมือนกัน ฉันทะมีหลายอย่างอีกแหละ มีกัตตุกัมยตาฉันทะ ฉันทะคือความอยากที่ต้องการจะทำ มีตัณหาฉันทะหรืออกุศลฉันทะ คือความอยากที่เป็นตัณหา และมีกุศลฉันทะหรือกุศลธรรมฉันทะ ความอยากหรือความต้องการตัวธรรม หรือต้องการสิ่งที่เป็นกุศล ในแง่ของฉันทะที่เป็นกุศล จะมีพุทธพจน์แม้แต่ว่าฉันทะในนิพพานคืออยากนิพพานก็มี แต่ต้องแยกให้ถูกระหว่างอยากนิพพานด้วยตัณหากับอยากนิพพานด้วยฉันทะ
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ต้องการเพียงแสดงหลักการให้เห็นว่า มีความอยากประเภทหนึ่งที่พระพุทธศาสนาสนับสนุน และเป็นตัวสำคัญในการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตตามหลักการของธรรม ฉะนั้น เราควรจะต้องแยกแยะให้ถูกก่อน เมื่อแยกถูกแล้ว จะสนับสนุนคนให้อยากด้วยซ้ำไป ฉะนั้น ชาวพุทธไม่ควรจะมากลัวนักกับคำว่า อยาก แต่ต้องเข้าใจคำว่าอยากนี้ให้ถูกต้อง และแยกให้ถูกและสอนให้ชัดว่า อันไหนควรอยาก อันไหนไม่ควรอยาก ควรอยากในแง่ไหน และก็สนับสนุนความอยากที่ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงความอยากที่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะเอาแต่ไปกดกำหราบละความอยาก เราอาจจะไม่สำเร็จผลและเกิดโทษก็ได้ นี้ก็เป็นข้อที่ควรจะเน้นอันหนึ่ง
ต่อไปก็เรื่องโลกียธรรม และโลกุตตรธรรม อันนี้ในระยะนี้ รู้สึกว่ามีความสับสนปนเปอยู่บ้าง คือว่าในความรู้สึกสามัญ ความหมายของคำว่า โลกียธรรม โลกุตตรธรรม นี้ อาจจะได้ต่างออกไปแล้วจากความหมายของโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม ที่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา บางทีเราพูดสับสนเกินไปถึงกับว่า เรื่องของชาวโลกเป็นโลกียธรรม เรื่องของพระหรือเรื่องของผู้ออกบวชเป็นโลกุตตรธรรม เป็นเรื่องของคนที่หลีกลี้ออกจากสังคมไปอยู่ป่าอยู่เขา อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่สับสนปนเป แม้จะไม่ผิดโดยสิ้นเชิงแต่ก็ไม่ถูก
ทีนี้ เอาตามหลักการท่านบอกว่า โลกียธรรม คือ ธรรมที่เนื่องด้วยโลก ที่เกี่ยวข้องกับโลก และโลกุตตรธรรม ธรรมเหนือโลก โลกุตตรธรรมท่านก็พูดเอาอย่างจำกัดตัวเลยว่า ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน มีรวมทั้งหมด ๙ อย่าง แต่ในคัมภีร์บางแห่งขยายไปถึง ๓๗ ประการ เป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เรียกว่า เป็นโลกุตตรธรรม แต่จะมาบรรยายในเนื้อหากันก็คงจะใช้เวลามากไป
สาระสำคัญก็คือ โลกุตตรธรรมนี้คือหลักการปฏิบัติหรือภาวะที่เข้าถึง ที่ทำให้บุคคลมีชีวิตจิตใจที่เป็นอิสระ หลุดพ้น ลอยเหนือกระแสโลก ทีนี้ บุคคลที่เป็นอย่างนี้โดยปกติได้แก่พระอริยบุคคล ซึ่งถึงวิมุตติบ้างแล้ว ถึงแม้จะไม่สิ้นเชิงก็ถึงบ้าง เช่น เป็นพระโสดาบัน เป็นต้น พระโสดาบันนั้นก็เป็นพระอริยบุคคลซึ่งจำนวนมากเป็นคฤหัสถ์ ยังอยู่ครองเรือน มีบุตรมีสามีภรรยา ท่านเหล่านี้ก็ถึงโลกุตตรธรรมแล้ว
ส่วนอีกด้านหนึ่ง โลกียธรรม เนื่องด้วยโลก ยังมีการติดอยู่ เช่น อยู่ในโลกก็ติดในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ออกบวชแล้ว บางทีไปบำเพ็ญธรรมในป่า ไปได้ฌานสมาบัติ ก็ติดในฌานสมาบัติ เพลินในความสุขจากฌานสมาบัติ ก็เป็นโลกียะเป็นเรื่องเนื่องด้วยโลก บางคนก็ไปพูดถึงฌานสมาบัติ นึกว่าเป็นเรื่องโลกุตตระ ซึ่งที่จริงไม่ถูกต้อง ความจริงแล้ว ฌานสมาบัติตามปกติก็เป็นโลกียธรรมทั้งสิ้น จะเป็นโลกุตตรธรรมก็ต่อเมื่อไปเป็นฌานสมาบัติของท่านผู้ที่หลุดพ้นแล้ว แม้จะเป็นพระโสดาบันอยู่บ้าน จะได้ฌานสมาบัติหรือไม่ ก็เป็นโลกุตตระ ถ้าได้ฌานสมาบัติด้วย ฌานสมาบัตินั้นก็กลายเป็นโลกุตตระไป
ฉะนั้น เรื่องโลกียะโลกุตตระนี้ จะมองแต่เพียงความเป็นอยู่ทั่วๆ ไปย่อมไม่ถูกต้อง จะต้องมองถึงภาวะจิตใจที่หลุดพ้น เป็นอันว่า ไม่พึงแบ่งแยกที่สภาพความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ต้องเข้าถึงชีวิตจิตใจ ถ้าเขาอยู่ในโลก แม้อยู่ครองเรือน แต่ชีวิตจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้น เช่น เป็นพระโสดาบัน เป็นต้น เขาก็บรรลุโลกุตตรธรรมแล้ว
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่า เราบัญญัติโลกุตตรธรรมว่าเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกับที่พราหมณ์บัญญัติว่า ในวรรณะ ๔ นั้น วรรณะกษัตริย์มีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว วรรณะพราหมณ์มีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว วรรณะแพศย์ วรรณะศูทรมีอันนี้เป็นสมบัติประจำตัว พราหมณ์เขาบัญญัติไว้อย่างนั้น เช่น บอกว่า สำหรับวรรณะศูทรนั้นให้เคียวกับไม้คานเป็นสมบัติประจำตัวอะไรทำนองนี้ แต่พระพุทธเจ้าว่า เราบัญญัติโลกุตตรธรรมให้เป็นสมบัติของทุกคน ให้มนุษย์ทุกคนมีโลกุตตรธรรม
เพราะฉะนั้น จะอยู่ที่ไหน อยู่ในโลก ในบ้านก็ตาม ออกบวชก็ตาม ก็ควรพยายามแสวงหาและเข้าถึงโลกุตตรธรรม พยายามให้ชีวิตนี้ จิตใจนี้เป็นอิสระให้ได้ มิฉะนั้น แม้จะออกบวชแล้ว ไปได้ฌานสมาบัติ ไปติดเพลินในฌานสมาบัติเสีย ก็อยู่ในโลกียธรรมนั่นเอง เพราะฌานสมาบัติเป็นโลกียธรรม หาใช่เป็นโลกุตตรธรรมไม่ ถ้าเป็นของปุถุชน ที่นี้ ก็ขอข้ามไปก่อน
หลักทั่วไปของพระพุทธศาสนานั้น ท่านถือว่า อริยสัจเป็นหลักใหญ่หลักกลางครอบคลุมได้หมด เรารู้กันอยู่แล้วว่า อริยสัจ มีความสำคัญ แต่เมื่อพูดถึงอริยสัจ ก็คงจะต้องไม่มองข้ามกิจในอริยสัจไปด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงอริยสัจ พระองค์จะตรัสกิจในอริยสัจด้วย แล้วก็ตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรถึงการที่ว่า เพราะพระองค์ได้ทำกิจในอริยสัจเสร็จสิ้นถูกต้องบริบูรณ์ จึงปฏิญาณพระองค์ได้ว่าตรัสรู้ ที่นี้กิจในอริยสัจก็มี ๔ ประการ
๑. ทุกข์ นั้น กิจของมัน คือ ปริญญา คือ ทำความเข้าใจ ทำความรู้จัก กำหนดให้ได้ ทุกข์จะแปลว่าปัญหาก็ได้ ปัญหานั้นจะต้องทำปริญญาคือกำหนดรู้ รู้จักมันตามความเป็นจริง ตามสภาวะ เหมือนตรวจโรคให้รู้ว่าเป็นอะไรก่อน
๒. สมุทัย กิจในสมุทัยก็คือ ปหานะ กำจัดหรือละเสีย หมายความว่าจะต้องสืบสาวให้ได้ว่ามันคืออะไร แล้วละมันเสีย เหมือนค้นหาเชื้อหรือตัวเหตุที่ทำให้เป็นโรค เพื่อจะกำจัดแก้ไข
๓. นิโรธ คือจุดหมาย กิจในจุดหมายก็คือ สัจฉิกิริยา การกระทำให้ประจักษ์แจ้งหรือการบรรลุ ก็จะต้องกำหนดให้ได้ว่า เป้าหมายของเราคืออะไร เราต้องการอะไร มันเป็นไปได้จริงหรือไม่ พึงประสงค์หรือไม่ แล้วก็พยายามเข้าถึง เหมือนคาดหมายผลการรักษาว่าจะหวังได้แค่ไหน
๔. สุดท้ายก็ มรรค กิจในมรรคก็คือ ภาวนา การทำให้เกิดให้มีหรือลงมือปฏิบัติ ได้แก่ วิธีการ และรายละเอียดในการกระทำ จะต้องลงมือกระทำ เหมือนวางยา วางรายละเอียดในวิธีรักษาให้ได้ผลตามที่คาด
ฉะนั้น เรื่องอริยสัจนี้จะต้องมาพร้อมด้วยกิจในอริยสัจ ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็จะผ่านพ้นการที่จะถูกกล่าวหาด้วย มีผู้กล่าวหา เช่นว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้าย อะไรต่างๆ เป็นต้น พระพุทธศาสนาสอนทุกข์เพื่อปริญญา เพื่อรู้จักมันตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ใช่ให้มานั่งทอดถอนว่า โอ...โลกนี้มันทุกข์ไม่สบายเลยหนอ แล้วใจก็เศร้าหดหู่อยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์เพื่อปริญญา รู้จักกำหนดหมายให้เข้าใจมันตามความเป็นจริง ตามสภาวะ เพื่อเราจะได้ดำเนินสู่ขั้นต่อไป คือ สืบสาวหาเหตุเพื่อจะละมันเสีย แล้วกำหนดเป้าหมาย รู้จักจุดหมาย แล้วก็ลงมือปฏิบัติตามมรรค สิ่งที่เราต้องทำก็คือมรรค ท่านสอนให้เรียนรู้ปัญหา เพื่อให้แก้ปัญหาได้ รู้จักทุกข์เพื่อให้หายทุกข์
นี้เป็นเรื่องที่อาตมภาพยกขึ้นมาเป็นข้อสังเกต เป็นจุดที่พึงเน้น พึงย้ำ ก็ถึงเวลาที่คงจะเรียกได้ว่าพอสมควร เกรงว่าเรื่องเหล่านี้จะกินเวลามาก ก็เลยพยายามพูดให้สั้น อาตมภาพรู้สึกว่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปในเรื่องเวลาบ้างด้วย จึงเหลือเวลาสำหรับการพูดคุยอภิปรายกันมาก ก็คิดว่าดีเหมือนกัน ถ้าหากว่าจะได้นำเอาเรื่องราวที่พึงกล่าวหรือพึงพิจารณานำมาถกเถียง ช่วยกันให้ความคิดเห็น สำหรับส่วนที่อาตมภาพพูดแล้วนี้ ก็อาจจะมีปัญหาหรือมีข้อที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ อาจจะมีบางส่วนที่ยังไม่ได้พูดถึง ที่จะพูดแต่ตกหล่นไป ก็อาจจะนำมาพิจารณาในที่นี้ด้วย.
______________________________________________
หมายเหตุ : แสดงในการสัมมนา “หลักวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์” จัดโดยคณะอนุกรรมการฯเสนอหลักวิชาการตามแนวพุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ ศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ๒๔ มกราคม ๒๕๒๔ ตีพิมพ์ครั้งแรกในพุทธจักร ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๑๐,๑๑,๑๒ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่สองในหนังสือ “ลักษณะสังคมพุทธ” สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดพิมพ์ พ.ศ.๒๕๒๗