คณบดีคณะอักษรศาสตร์: นมัสการพระเดชพระคุณพระเทพเวที คณะอักษรศาสตร์รู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พระเดชพระคุณพระเทพเวที อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาศาสตร์ ได้มีเมตตานุเคราะห์รับอาราธนามาแสดงปาฐกถาธรรมในวันนี้ พระเดชพระคุณพระเทพเวที เป็นพระเถระที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ผู้ได้นำความเข้าใจในแก่นแท้ของภาษา และเทคโนโลยีทางภาษาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ในการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่พุทธศาสนิกชน คณะอักษรศาสตร์จึงได้กราบอาราธนาพระเดชพระคุณมาแสดงปาฐกถาเรื่อง “สัจจธรรมกับจริยธรรม” บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว จึงใคร่ขออาราธนา พระเดชพระคุณ ได้โปรดแสดงปาฐกถาธรรมเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับคณาจารย์และท่านผู้มีเกียรติสืบไป
ขอเจริญพร ท่านคณบดีคณะอักษรศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ นิสิต และท่านผู้สนใจทั้งหลาย
วันนี้ อาตมภาพได้ตั้งหัวข้อให้แก่ตัวเอง ว่าจะพูดเรื่อง “สัจจธรรมกับจริยธรรม” เมื่อตั้งเสร็จไปแล้ว ก็มารู้สึกตัวว่าเป็นเรื่องที่พูดยาก จึงขอออกตัวว่า ได้ตั้งชื่อเรื่องนี้ไปในตอนนั้น ก็เพราะว่ากำลังมีงานเร่งมาก ไม่รู้จะตั้งหัวข้อว่าอย่างไรดี ก็ตั้งไปก่อน ตั้งเสร็จแล้วจึงมาคิดทีหลังว่าจะพูดอย่างไร หัวข้อเรื่องนี้ความจริงก็เป็นเรื่องใหญ่ สัจจธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ จริยธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ จึงคล้ายๆ กับว่ามีเรื่องใหญ่ ๒ เรื่อง แล้วยังเอา ๒ เรื่องใหญ่นั้นที่ต่างก็หนักด้วยกันมาบรรจบประสานกันอีก ในแง่หนึ่ง จึงมีความรู้สึกว่า เพราะเหตุที่เป็นเรื่องหนัก ก็ยากแก่การที่จะพูด และผู้ฟังก็อาจจะเบื่อได้ง่าย นอกจากนั้น ในแง่ของผู้พูด ก็จะพูดในแง่ของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นผู้ที่เรียนมาในด้านนี้ จึงเหมือนกับมาพูดในแง่เดียว คือในแง่ของพระพุทธศาสนาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริง ไม่ว่าจะพูดในแง่ไหนก็ตาม มันก็จะครอบคลุมไปหมด เพราะว่าความจริงนั้นเป็นสากล หรือสากลนั้นอยู่ที่ความจริง ถ้าเป็นจริงเมื่อไรก็เป็นสากลเมื่อนั้น คือเป็นเรื่องที่ไม่แคบ ฉะนั้น แม้ว่าจะพูดในแง่ของพระพุทธศาสนา แต่ถ้าสิ่งที่พูดเป็นความจริงแล้ว ก็ย่อมเป็นสากลอยู่ในตัวเอง คือเป็นของที่ใช้ได้ทั่วไปทั้งหมด
เวลาเราพูดถึงสัจจธรรมก็ดี จริยธรรมก็ดีนั้น โดยทั่วไปเรามักจะมองแบบแยกกัน คือ เวลาพูดถึงสัจจธรรม ก็พูดเรื่อง สัจจธรรมไป ถกเถียงอภิปรายกันว่าความจริงเป็นอย่างไรๆ เวลาพูดถึงจริยธรรมก็พูดเรื่องจริยธรรมไปว่า จริยธรรมเป็นอย่างนี้ๆ ทำให้ดูเหมือนกับว่า ๒ อย่างนี้เป็นคนละด้านคนละทาง แต่ถ้ามองในแง่ของพระพุทธศาสนาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่เนื่องอยู่ด้วยกัน โยงเข้าหากันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จึงมีข้อพิจารณาว่า มันมีจุดรวมและจุดแยกอย่างไร นี่คือเรื่องที่เราจะพูดกันต่อไป
ตอนต้นนี้ควรเริ่มด้วยสัจจธรรมก่อน ประการแรก จะพูดถึงความหมายง่ายๆ ว่า พุทธศาสนามองสัจจธรรมอย่างไร สัจจธรรม แปลง่ายๆ ว่า ความจริง ความแท้ ภาวะที่เป็นอย่างนั้น หรือภาวะที่เป็นของมันอย่างนั้น นี้เรียกว่าสัจจธรรม ความจริง จะมีคำว่าธรรมต่อท้ายหรือไม่ก็ตาม ก็มีความหมายเหมือนกัน คำว่าธรรมในที่นี้เหมือนกับเติมเข้าไปเป็นสร้อยคำให้น่าฟังยิ่งขึ้น ตัวแท้ก็คือ ความจริง และภาวะที่เป็นอย่างนั้น ซึ่งในหลักการของพระพุทธศาสนาก็หมายถึงธรรมชาติ และความเป็นไปของธรรมชาติที่เราเรียกว่าธรรมดา หรือกฎของธรรมชาติ จะเห็นได้ว่า พุทธศาสนานั้นมองสัจจธรรมในฐานะที่เป็นความจริงซึ่งมีอยู่ตามธรรมดา อย่างที่เราเรียกว่ากฎธรรมชาติ โดยนัยนี้ สัจจธรรมนั้นก็แยกได้เป็นธรรมชาติกับกฎของธรรมชาติ หรือพูดให้สั้นเข้าอีกว่า ธรรมดากับธรรมชาติ ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดจากพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงหลักความจริงต่างๆ ว่า ไม่ว่าตถาคตทั้งหลาย (คือ พระพุทธเจ้า) จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็มีหลักที่ตายตัวเป็นธรรมนิยาม คือ ความเป็นไปที่แน่นอนของธรรมดาหรือกฎธรรมชาติว่าดังนี้ๆ ขอยกตัวอย่างแห่งหนึ่งว่า
“ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็มีหลักยืนตัว เป็นธรรมนิยามว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงคงทนอยู่ไม่ได้ ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”
อีกแห่งหนึ่ง ตรัสอย่างอื่นแต่ข้อความเริ่มต้นแบบเดียวกันว่า
“ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ก็คงเป็นหลักยืนตัว เป็นธรรมนิยามว่า เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนั้นจึงมี เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้นก็ไม่มีด้วย เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนั้นก็เกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนั้นก็ดับ ฯลฯ”
ที่ยกมา ๒ อย่างนี้ กฎข้อแรก คือหลักไตรลักษณ์ กฎที่สอง คือ หลักปฏิจจสมุปบาท พุทธพจน์นี้แสดงถึงทัศนะหรือท่าทีการมองสัจจธรรมของพระพุทธศาสนา ที่ถือว่า สัจจธรรมคือความจริงนั้น เป็นภาวะที่เป็นของมันอย่างนั้น โดยไม่ขึ้นกับตัวผู้สอนผู้บอกผู้กล่าว หรือใครทั้งสิ้น ไม่มีผู้สร้างสรรค์ ปรุงแต่ง บันดาล พระศาสดามีฐานะเป็นเพียงผู้ค้นพบและนำมาประกาศเผยแพร่ ซึ่งในพระสูตรข้างต้นนี้เองก็มีข้อความต่อไปว่า “ตถาคตได้ตรัสรู้ ได้ค้นพบแล้ว จึงบอกกล่าว แสดง ประกาศ เปิดเผย จำแนกแจกแจง ทำให้เข้าใจง่าย” นี่คือฐานะของศาสดา นี่คือความจริงในทัศนะหรือท่าทีการมองของพุทธศาสนา
ลักษณะที่เด่นอย่างหนึ่งของความจริง หรือสัจจธรรมในพระพุทธศาสนาก็คือ มีสิ่งที่เรียกว่า สภาวธรรม สภาวธรรมนี้ แปลว่า สิ่งที่มีภาวะของมันเอง ถ้าแปลอย่างง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่มีอยู่นั่นเอง สิ่งที่มีเรียกว่าสภาวธรรม การมีสภาวธรรมเป็นลักษณะเด่น ในแง่ที่ทำให้ตัดเรื่องการสร้างโลก ตัดเรื่องเทพยิ่งใหญ่ผู้สร้างสรรค์บันดาลสรรพสิ่ง ออกไปได้เลย อย่างไรก็ดี พึงสังเกตว่า ความมีอยู่ของสภาวธรรมนั้นไม่ใช่มีในฐานะที่เป็นตัวเป็นตน แต่มีอยู่โดยเป็นภาวะ ซึ่งไม่มีใครจะอาจยึดเป็นเราเป็นของเราได้ หรือมีอยู่โดยความสัมพันธ์และเป็นเหตุปัจจัยกับสิ่งอื่น ไม่ได้ดำรงอยู่โดยตัวของมันเอง สภาวธรรมทั่วไปนั้นจะพูดถึงโดยลำพังตัวมันเองไม่ได้ ต้องพูดพร้อมไปกับกฎที่เกี่ยวข้องกับมัน หรือความเป็นไปของมัน กล่าวคือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และความอิงอาศัยกันกับสิ่งอื่นๆ เพราะฉะนั้น สัจจธรรมจึงได้แก่สภาวธรรมพร้อมด้วยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน ในเวลาที่สัจจธรรมมาสัมพันธ์กับมนุษย์ เราจึงแยกมองได้เป็น ๒ ด้าน คือตัวสัจจธรรมที่เป็นสภาวธรรมกับกฎเกณฑ์ของมัน
สัจจธรรมหรือความจริงนั้น ปรากฏแก่มนุษย์ได้อย่างไร มันปรากฏแก่มนุษย์ได้ด้วยความรู้ ความรู้นี้เรียกว่า ปัญญา ปัญญาเป็นตัวที่ทำให้มนุษย์สัมพันธ์กับสัจจธรรม และเข้าถึงสัจจธรรม ในเวลาที่เข้าถึงสัจจธรรมเราอาจใช้คำว่าปฏิเวธ ซึ่งแปลว่าการแทงตลอด การแทงตลอดก็คือมีปัญญารู้แจ้งนั่นเอง ลักษณะของการเข้าถึงสัจจธรรม ก็คือการเข้าถึงด้วยปัญญาหรือความรู้ ดังนั้น ตัวเชื่อมโยงมนุษย์กับสัจจธรรมก็คือ ตัวความรู้หรือปัญญา นี้เป็นด้านหนึ่ง
ลำดับต่อไปก็คือ เมื่อมนุษย์รู้สัจจธรรมหรือรู้ความจริง คือรู้ตัวสภาวธรรม พร้อมทั้งความเป็นไปของมัน อันได้แก่กฎเกณฑ์ที่ว่ามันเป็นไปได้โดยอาศัยเหตุปัจจัย และมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันแล้ว ถ้าเราจะใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง แก่การดำเนินชีวิตของเรา ก็คือ เราจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ หรือทำโดยประการที่ว่า กฎของธรรมชาตินั้นจะดำเนินไปในทางที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา การดำเนินชีวิตแบบนี้หรือการปฏิบัติแบบนี้มีชื่อเรียกว่า จริยธรรม นี่คือตอนที่สัจจธรรมมาเชื่อมโยงกับจริยธรรม ดังนั้น จริยธรรมก็คือการที่เราทำให้สัจจธรรมเกื้อกูลแก่ชีวิตมนุษย์ จะเกื้อกูลได้อย่างไร ก็โดยที่เรารู้กฎเกณฑ์ของมัน แล้วปฏิบัติโดยใช้ความรู้นั้นทำให้มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมันในทางที่จะเกิดผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา อันนี้ก็คือจริยธรรม ดังนั้น จริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่อิงอาศัยสัจจธรรม การอิงอาศัยนั้น ถ้าประมวลจากที่พูดมาก็จะแบ่งเป็น ๓ ข้อคือ
๑. เราจะต้องทำหรือปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์หรือหลักการของสัจจธรรมนั้น
๒. การที่เราจะทำ หรือปฏิบัติโดยสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของสัจจธรรม ให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของเราได้นั้น เราจะต้องมีความรู้ในสัจจธรรมคือในกฎเกณฑ์ และในเหตุปัจจัยที่จะทำให้เป็นไปอย่างนั้น แล้วเราจึงจะสามารถทำให้มันเกิดผลที่เราต้องการ
๓. การปฏิบัติของมนุษย์ที่ได้ผลตามต้องการนั้น ก็เพราะว่ามันเป็นไปตามกระบวนการของสัจจธรรมนั่นเอง กล่าวคือ การที่ผลที่เราต้องการเกิดขึ้น ก็เพราะว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และเราทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของเหตุปัจจัยนั้น ผลก็เลยเกิดขึ้นแก่เราตามที่ต้องการ
ยกตัวอย่างเช่น จะปลูกพืชสักอย่างหนึ่ง ก็ต้องรู้องค์ประกอบ และเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกระบวนการเจริญเติบโตของพืชนั้น ซึ่งจะทำให้พืชงอกขึ้นอยู่รอด และเจริญงอกงาม เช่น ต้องมีเมล็ดพืชที่สมบูรณ์ ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น ที่ถูกกัน ยิ่งรู้ธรรมชาติของมันมาก เช่นว่า เมล็ดพืชอย่างไรพันธุ์ดี ดินอย่างไรเหมาะกัน ปุ๋ยอะไรที่ต้นไม้เช่นนั้นต้องการ อุณหภูมิแค่ไหนพอเหมาะ จะต้องปลูกในฤดูไหน ช่วงไหน ในระยะเวลาเท่าใด ความเปลี่ยนแปลงของพืชจะเป็นอย่างใด เช่น มีช่อ มีดอก ออกผล นานเท่าไรเก็บได้ ฯลฯ ตลอดจนปัจจัยฝ่ายลบ เช่น แมลงชนิดไหนเป็นอันตราย ยิ่งรู้ชัดเจนละเอียดเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะปลูกให้ได้ดีเพียงนั้น แต่นอกจากรู้แล้ว จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องพอเหมาะพอดีด้วย ถึงฤดูจะปลูก ก็ต้องปลูก จะต้องพรวนดิน ก็ต้องทำ ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำเรื่องใด ก็ต้องรอได้ในเรื่องนั้น พอถึงตอนนี้ องค์ประกอบทางจิตใจก็เข้ามาเกี่ยว ต้องขยัน มีความเพียรพยายาม ต้องอดทน ต้องบังคับใจตนเองได้ ตลอดจนรู้จักพิจารณาตัดสินใจ และละเอียดลงไปอีก ในทุกขั้นทุกตอน ก็จะมีเหตุการณ์ปลีกย่อย และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น ในทางที่ถูกใจบ้าง ไม่เป็นอย่างใจบ้าง ถ้าควบคุมตนเองและวางใจไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเกิดความหงุดหงิดขัดเคืองกลุ้มใจกังวล แล้วอาจจะทำอะไรพลาดพลั้งด้วยความหุนหันพลันแล่น ไม่เอื้อต่อความเป็นไปด้วยดี ของปัจจัยต่างๆ ที่จะให้พืชได้ผลดี ทำอย่างไรจะทำงานดำเนินอาชีพไปด้วยจิตใจที่ผ่องใสเบิกบาน มีความสุขกับการทำงาน หรือมองกว้างออกไป จะทำอย่างไรให้การปลูกพืชนี้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตนเอง เป็นเครื่องอาศัยในการรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว ทำอย่างไรจะให้งานปลูกพืชของตนเกื้อกูลแก่เพื่อนมนุษย์และสังคม เป็นส่วนช่วยให้องค์ประกอบส่วนอื่นๆ ในธรรมชาติและในสังคมประสานกลมกลืนกัน บังเกิดผลดีไปทั่วทุกด้าน ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของจริยธรรมทั้งสิ้น ซึ่งสัมพันธ์กันไปตลอดทุกเวลากับการรู้ความจริง และการปฏิบัติให้ถูกต้องพอดี ที่จะให้กระบวนการของธรรมชาติดำเนินไป ตามกฎเกณฑ์ของมันในทางที่จะเกิดผลดีแก่ชีวิตของมนุษย์
รวมความว่า จริยธรรมไม่แยกจากสัจจธรรม เพราะเหตุว่า จริยธรรมเนื่องอยู่กับสัจจธรรม โดยอาศัยสัจจธรรมเป็นฐาน ในทางพุทธศาสนาถือว่าจริยธรรมก็เป็นสัจจธรรมด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเป็นการปฏิบัติที่กลายเป็นความจริงตามธรรมชาติได้ โดยที่ว่ามนุษย์นำตัวเข้าไปเป็นปัจจัยหรือเป็นตัวแปรอย่างหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ และผลักดันให้ปัจจัยทั้งหลายเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แต่ก็เกิดผลตามที่เราต้องการ เพราะทำด้วยความรู้ว่าเมื่อทำอย่างนั้นแล้วก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลขึ้นอย่างนั้น และกระบวนการปฏิบัตินั้นก็กลายเป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น จริยธรรมเองจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสัจจธรรม เป็นอันว่า มีสัจจธรรมที่เป็นเรื่องของสภาวธรรม ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติของมันเองอย่างหนึ่ง กับจริยธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติของมนุษย์โดยอาศัยความรู้ในกฎธรรมชาติแล้ว ปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎของธรรมดานั้น ในทางที่จะเกิดผลดีงามแก่ตนอย่างหนึ่ง นี่ก็คือ สัจจธรรมนั่นเองเป็นแหล่งที่มาของจริยธรรม จริยธรรมต้องเป็นไปตามสัจจธรรม ถ้าจริยธรรมไม่เป็นไปตามสัจจธรรม จริยธรรมนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะจะไม่มีผลดีงามที่เป็นจริง ถ้าจริยธรรมเป็นไปตามสัจจธรรม ก็เรียกว่าเป็นจริยธรรมสากล รวมความในตอนนี้ก็คือ จริยธรรมเป็นส่วนหนึ่งของสัจจธรรม คือมันต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสัจจธรรม และมีผลขึ้นตามกฎเกณฑ์นั้น
เมื่อได้พูดโยงจากสัจจธรรมมาหาจริยธรรมแล้ว ต่อไปนี้ก็จะพูดถึงตัวจริยธรรม ขอแยกแยะความหมายของคำว่าจริยธรรมก่อน โดยมาดูในทางศัพท์ว่าจริยธรรมมีความหมายอย่างไร จริยธรรมเป็นศัพท์หนึ่งที่เรามักจะมีปัญหากันว่าจะให้ความหมายอย่างไร เช่น อาจจะให้ความหมายว่า เป็นหลักของความประพฤติ เพราะเราแปล จริย ว่าความประพฤติ และแปล ธรรม ว่าหลัก จึงแปลรวมว่าหลักความประพฤติ ทีนี้ปัญหาเกิดขึ้นในแง่ภาษาว่า คำว่าความประพฤตินั้นในภาษาไทย มีความหมายคับแคบ ต่างจากในภาษาบาลีเดิม ซึ่งความประพฤติแปลว่าความเป็นไป หมายถึงความเป็นไปของชีวิต แต่เวลาเรามองความหมายของความประพฤติในภาษาไทยปัจจุบันนี้ จะได้ความรู้สึกแคบลงมาเป็นการแสดงออก การปฏิบัติตัวในสังคม ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ในการสัมพันธ์กับผู้อื่น
ทีนี้กลับไปดูความหมายเดิมของคำว่า จริยะ ว่าคืออะไร จริยะนี้มาจากภาษาบาลี รากศัพท์คือ จรฺ ธาตุ + ณิย ปัจจัย ไม่ต้องสนใจปัจจัย ดูแต่รากศัพท์ หรือธาตุ คือ จรฺ หรือ จร แปลว่า เที่ยวไป หรือเดินทาง ณิย เป็นเพียงตัวที่ทำให้เป็นนามศัพท์ จริยจึงแปลว่า การเที่ยวไป การดำเนินไป หรือการเดินทางนั่นเอง นอกจากนี้ ท่านมักให้คำไวพจน์ของ คำว่า จระ ไว้หลายตัว ได้แก่ คำว่า วิหระ แปลว่า อยู่ อิริยะ แปลว่าเป็นไป เช่น ในคำว่า อิริยาบถ ซึ่งหมายถึง ความเป็นไป หรือการเคลื่อนไหวของอวัยวะในร่างกาย วัตตะ แปลว่าเป็นไป ปาละ แปลว่าครอง ได้แก่ครองชีวิต ยปะ แปลว่า เป็นไป ยาปะ แปลว่าให้เป็นไป คือยังชีวิตให้เป็นไป ถ้าเรามาเทียบดูกับความหมายของคำว่า จระ ในทางรูปธรรม ซึ่งหมายถึงเดินทาง หรือท่องเที่ยว เมื่อนำมาใช้กับ ชีวิตในทางนามธรรม ก็หมายถึง เดินทางชีวิต คือ ดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้น จริยะในความหมายที่แท้ ก็คือการดำเนินชีวิตนั่นเอง และจริยธรรมก็แปลได้ว่า หลักการดำเนินชีวิต
ได้พูดมาแล้วว่า จริยธรรมเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติหรือสัจจธรรม การปฏิบัติในกรณีนี้ก็คือการดำเนินชีวิต แต่เราจะต้องมาดูว่า ในการปฏิบัติอย่างนี้หรือในการดำเนินชีวิตอย่างนี้นั้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง คือจะต้องมีคำถามว่า ที่ว่าปฏิบัติสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติหรือสัจจธรรมนั้นปฏิบัติต่ออะไร ถึงตอนนี้ เราก็จะเห็นสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของชีวิต ซึ่งจำแนกได้ดังนี้ คือ
๑. ชีวิตของมนุษย์เอง
๒. สังคม
๓. ธรรมชาติแวดล้อม
และอาจจะเพิ่ม ๔ ขึ้นมา คือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งอาจจะรวมเข้าในข้อแรก คือ เป็นสิ่งที่พ่วงมากับและงอกออกมาจากตัวมนุษย์เอง ทีนี้ ในการที่จะปฏิบัติให้สอดคล้องกับสัจจธรรมหรือกฎของธรรมชาตินั้น เราก็ต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง คือ ปฏิบัติต่อชีวิตของตนเอง ต่อสังคม และต่อธรรมชาติแวดล้อมให้ถูกต้อง ดังนั้น ความหมายของจริยธรรมจึงพูดได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้องต่อสังคมและธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งรวมถึงสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น นี่คือจริยธรรม
ตอนนี้ คงจะมองเห็นว่าความหมายของจริยธรรมได้ขยายกว้างออกไป แต่ความหมายที่แท้จริงของจริยธรรมก็ควรจะเป็นอย่างนี้ จะยกตัวอย่างที่ว่าจริยธรรมเป็นการปฏิบัติโดยสอดคล้องกับธรรมชาติโดยอาศัยความรู้ในกฎของธรรมชาติ เช่น กฎธรรมชาติที่ยกขึ้นมาให้เห็นตอนต้น คือ ไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นี้เป็นกฎธรรมดา ที่ได้บอกข้างต้นแล้วว่ามีอยู่ตามปกติของมัน มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง โดยไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหรือใครๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อกฎธรรมดามีอยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เมื่อเรามีความรู้ในกฎนี้แล้ว อย่างน้อยในประการที่หนึ่งว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เราก็นำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตของเรา ตอนนี้ก็จะเกิดเป็นจริยธรรมขึ้น เบื้องแรกที่สุดที่เราอาจจะนำความรู้นี้มาใช้เพื่อดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ก็คือ
ประการแรก เราก็ได้คติว่า สิ่งทั้งหลาย ไม่เที่ยง ไม่คงทน ไม่ยั่งยืน สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์เรานี้ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน อาจจะแตกสลายไปเมื่อใดก็ได้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรจะดำเนินชีวิต ด้วยความไม่ประมาท สิ่งทั้งหลายที่ควรทำ ความดีที่ควรทำ กิจที่ควรทำ เราจะต้องเร่งทำ เพราะไม่รู้ว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อใด ความเสื่อมอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องไม่ประมาทในเหตุของความเสื่อม โดยระวังป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อม และไม่ประมาทในเหตุของความเจริญ โดยเร่งสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความเจริญนั้นขึ้น เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ความรู้ในสัจจธรรมนั้นก็ทำให้เกิดจริยธรรมคือความไม่ประมาท
ประการที่สอง หลักอนิจจังหรือความไม่เที่ยงนั้นสอนต่อไป ทำให้เรารู้ว่า การที่สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเลื่อนลอย แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว เราก็นำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ตลอดจนการปฏิบัติต่อสังคมและธรรมชาติแวดล้อม คือ ทำงาน ปฏิบัติหน้าที่ และทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรู้เหตุปัจจัย ทำตามเหตุปัจจัย เมื่อต้องการผลอย่างไรก็ต้องศึกษาว่าเหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เกิดผลอย่างนั้น แล้วทำเหตุปัจจัยนั้นๆ ขึ้น
ที่เหนือขึ้นไปกว่านั้นอีกก็คือ เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความแตกสลายและเกิดขึ้นใหม่ ตามเหตุปัจจัยนั้น ไม่ขึ้นกับความปรารถนาของเรา เราจะเอาความปรารถนาที่เรียกว่าตัณหา และความยึดมั่นถือมั่นที่เรียกว่า อุปาทาน ของเราไปใช้เป็นตัวสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์ เพราะเราเอาความอยากและความยึดถือของเราไปบังคับสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ตัวสัมพันธ์ที่ถูกต้องของเรากับสิ่งเหล่านั้นคืออะไร ก็คือการรู้เข้าใจและทำตามเหตุปัจจัย พอเราเกิดความรู้นี้ขึ้น จิตของเราที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ถอนออกมาได้ ก็แยกจิตเป็นอิสระ จิตใจของเราก็เป็นอิสระออกมา มีความปลอดโปร่งโล่งเบา ต่อจากนั้นเราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยใช้ความรู้ในเหตุปัจจัยนั้นมากระทำ ก็เกิดการพ้นทุกข์ขึ้น จิตใจเป็นอิสระ ไม่ทุกข์เพราะความปรวนแปรไม่เที่ยงแท้ของสิ่งทั้งหลาย พร้อมทั้งปฏิบัติอย่างได้ผลคือทำผลสำเร็จให้เกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัยด้วย นี้คือการนำความรู้ในสัจจธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเรียกว่าเป็นจริยธรรม
อีกกฎหนึ่งคือ ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทกล่าวถึงความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งไม่ดำรงอยู่เสร็จสิ้นในตัวของมันเอง แต่ขึ้นอยู่หรืออิงอาศัยกันกับสิ่งอื่นๆ จากความรู้นี้ก็ทำให้เราพัฒนาวิธีคิดที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ขึ้นมาใช้ปฏิบัติต่อโลกและชีวิต โยนิโสมนสิการ คือวิธีคิดโดยแยบคาย เช่นเมื่อมองสิ่งต่างๆ ก็ให้มองด้วยวิธีพิจารณาแยกแยะดูว่า สิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ เกิดจากองค์ประกอบอะไรมารวมกัน หรือมาประชุมกันบ้าง มองหาความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สืบสาวให้ได้ว่ามันสัมพันธ์เชื่อมโยง ตกทอด สืบเนื่องกันมาอย่างไร เมื่อเรานำความรู้ในปฏิจจสมุปบาทมาใช้ในการคิดพิจารณา ก็เกิดปฏิบัติการทางจริยธรรมที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ นี่ก็เป็นจุดที่สัจจธรรมกับจริยธรรมมาเชื่อมโยงกัน
จะขอยกตัวอย่างในทางรูปธรรม เมื่อเรารู้เหตุปัจจัยในด้านวัตถุหรือมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แล้วเรานำเอาความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ ก็สามารถทำให้เกิดผลดีตามที่เราต้องการ ตัวอย่างที่ยกง่ายๆ บ่อยๆ ก็คือ เรื่องไฟ เมื่อไฟไหม้ขึ้นมา เราก็ต้องการจะดับไฟ แต่ทำอย่างไรเราจึงจะดับไฟได้ เราก็ต้องมีความรู้เรื่องไฟ รู้เหตุปัจจัยของไฟว่า ไฟเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะดับไปได้อย่างไร ถ้าเรามีความรู้น้อย เราก็ดับไฟได้ผลน้อย ถ้าเรามีความรู้เข้าใจมากเกี่ยวกับเรื่องไฟ เกี่ยวกับเหตุปัจจัยของไฟ เกี่ยวกับการเกิดและการดับของมัน เราก็สามารถทำการดับไฟให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถพัฒนาวิธีดับได้ เช่น เรารู้ปัจจัยของการลุกไหม้ของไฟว่าได้แก่ อุณหภูมิที่สูง เชื้อไฟ และออกซิเจน เราก็รู้ว่าไฟจะดับเมื่อมีอุณหภูมิลดต่ำ ไฟอาจจะดับได้โดยทำให้ขาดเชื้อ ถ้าไม่มีเชื้อไฟก็ดับ หรือไฟอาจจะดับได้โดยทำให้ขาดออกซิเจน ออกซิเจนเป็นตัวที่ไม่ติดไฟ แต่ช่วยให้ไฟติด ถ้าไม่มีออกซิเจน แม้จะมีเชื้อ มีอุณหภูมิสูง มันก็ไม่ติดเหมือนกัน ความรู้นี้เราได้จากธรรมชาติ เป็นความรู้ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งทำให้เรามีทางเลือกถึงสามด้านว่า ถ้าเราทำปัจจัยตัวไหนก็ได้ให้เกิดขึ้น คือ ทำให้อุณหภูมิลดต่ำก็ดี ทำให้ขาดเชื้อก็ดี หรือทำให้ขาดออกซิเจนก็ดี ไฟก็จะดับ อันนี้ก็คือความรู้ตามกระบวนการของธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเราจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราก็ต้องทำตามนั้น คือ พยายามทำให้อุณหภูมิต่ำ ทำให้ขาดออกซิเจน หรือทำให้ขาดเชื้อ
ยิ่งกว่านั้น เมื่อมนุษย์มีความรู้อย่างนี้แล้ว มนุษย์ยังสามารถทำการต่อไปได้อีก คือพัฒนาวิธีปฏิบัติ ว่าทำอย่างไร จะให้กระบวนการของธรรมชาตินั้น เป็นไปในทางที่จะเกิดผลตามที่เราต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เช่นในการทำให้อุณหภูมิลดต่ำ ถ้าเราจะเอาน้ำมาสาดมารดมันให้ได้มากและทันการ เราก็พัฒนาให้มีรถสำหรับใส่น้ำโดยเฉพาะ ซึ่งเคลื่อนที่ไปได้เร็วตามที่ต้องการ และให้มีท่อมีสายต่อต่างๆ ที่จะทำการได้สะดวก หรือถ้าจะให้ขาดออกซิเจน เราก็อาจจะทำสารเคมีขึ้นมา แล้วเราก็ฉีดเข้าไป ถ้าไฟเกิดจากน้ำมัน เราก็ไม่ใช้น้ำ ถ้าไม่มีอะไรอื่นก็ใช้ทราย อย่างนี้เป็นต้น วิธีการทั้งหมดนี้ทำให้เราปฏิบัติได้ผลดีตามที่ต้องการ เป็นผลดีแก่ชีวิตมนุษย์ หรือสนองความต้องการของมนุษย์ได้สำเร็จ แต่ทั้งหมดนั้นก็มีหลักการเดียวกัน คือต้องทำตามกระบวนการของธรรมชาติ ต้องเอาความรู้ในธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ตัวอย่างอื่นๆ เช่นจะทำฝนเทียมก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องมีความรู้ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติว่า ฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร เมฆจะรวมตัวกันอย่างไร มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง เช่น อุณหภูมิ ฝุ่นละออง ไอน้ำ และอะไรต่างๆ แล้วก็เอาองค์ประกอบเหล่านี้เข้ามาใช้และทำให้เกิดฝนตามต้องการ นี้ก็เป็นการพัฒนาวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ในการใช้ความรู้เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติ
ในด้านชีวิตจิตใจของมนุษย์ก็เช่นกัน เมื่อเรารู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แล้วนำมาใช้ปฏิบัติและพัฒนาวิธีการขึ้นมา ก็กลายเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เรียกว่าเป็นการขยายขอบเขตของจริยธรรมออกไป เช่น กระบวนการธรรมชาติในการดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาชีวิตมนุษย์ ปรากฏอยู่ในหลักพระพุทธศาสนา คือหลักที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งตอนแรกก็แสดง กระบวนการของเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น คือบอกว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้มีนามรูป ฯลฯ ต่อจากนั้นก็แสดงกระบวนการของการดับเหตุของทุกข์ ให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาก็ต้องดับที่เหตุของมัน ว่าเมื่อขจัดอวิชชาได้ ทำให้อวิชชาดับไป สังขารก็ดับไป หรือว่า เมื่ออวิชชาไม่เกิดขึ้น สังขารก็ไม่เกิดขึ้น ฯลฯ ตามลำดับอย่างนี้ นี่คือกระบวนการของธรรมชาติล้วนๆ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราก็บอกได้ว่าเราจะต้องกำจัดอวิชชา ตอนนี้เรารู้จุดแล้วว่าเราต้องทำอะไร แต่ก็เป็นความรู้ขั้นหลักการ ซึ่งเป็นความจริงของธรรมชาติเท่านั้น ปัญหายังมีต่อไปว่า ในทางปฏิบัติ การที่เราจะดับอวิชชานั้น เราจะทำได้อย่างไร จากจุดนี้ก็จึงเกิดมีการพัฒนาวิธีการในทางปฏิบัติขึ้นมา ผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้านี้เป็นผู้ที่ดับอวิชชาได้สำเร็จ เมื่อดับอวิชชาได้แล้ว พระองค์จึงมาสอนให้คนอื่นปฏิบัติตามให้ได้ผลด้วย แต่ในการที่จะให้เขาดับอวิชชา ก็ต้องสอนวิธีปฏิบัติ อาจจะต้องขยายวิธีปฏิบัตินั้นออกไป อย่างที่เราเรียกว่าให้มีเทคนิค หรือกลวิธีต่างๆ มากมาย รายละเอียดวิธีปฏิบัติและเทคนิค หรือกลวิธีเหล่านั้น ก็มาจัดเป็นรายการปลีกย่อยของจริยธรรมนั่นเอง ดังนั้น จริยธรรมนี้ในแง่หนึ่งจึงหมายถึงวิธีปฏิบัติที่มนุษย์ได้พัฒนาขึ้นมาใช้ ในการที่จะทำให้เป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ เพื่อให้เกิดผลขึ้นตามความต้องการของตนเอง
ในแง่ของการแก้ปัญหามนุษย์หรือการดับทุกข์นี้ เมื่อเรารู้กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติแล้ว และต้องการช่วยให้คนจำนวนมากที่มีภูมิธรรมภูมิปัญญาต่างๆ กันสามารถดับทุกข์แก้ปัญหาได้ตามกระบวนการนั้น ก็จึงได้พัฒนาวิธีปฏิบัติพร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ขึ้น ก็จึงได้หลักจริยธรรมขึ้นมาที่เรียกว่า มรรค จึงพูดง่ายๆ ว่า มรรคเกิดขึ้นจากการรู้ปฏิจจสมุปบาทแล้วพัฒนาวิธีปฏิบัติขึ้นมา เพื่อจะทำให้ได้ผลตามนั้น วิธีปฏิบัติทั้งหมดนั้น ว่าโดยสาระแท้ๆ จึงไม่มีอะไรมาก คือเป็นวิธีปฏิบัติที่มีความมุ่งหมายเพียงเพื่อทำให้เกิดผลตามกระบวนการของธรรมชาติ ในการดับทุกข์ให้ถึงต้นตอที่ว่าดับอวิชชานั่นเอง แต่วิธีการที่จะเข้าถึงการดับอวิชชานั้นอาจจะมีขั้นตอน และเทคนิคต่างๆ มากมาย และรายละเอียดในการปฏิบัตินั้น ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแก่บุคคลกับสภาพแวดล้อมเป็นต้น จึงทำให้รายละเอียดวิธีในการปฏิบัติยักเยื้องออกไปมากมาย เพราะฉะนั้น ภายในมรรคนี้ ท่านจึงได้พัฒนาระบบจริยธรรมขึ้นมา ซึ่งมีรายละเอียดแยกย่อยออกไปต่างๆ ดังที่ได้มีหัวข้อจริยธรรมจำนวนมาก จนจำกันแทบไม่ไหว แต่รวมความแล้ว มรรคก็คือตัวจริยธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักไว้ หรือได้พัฒนาขึ้นมาจากความรู้ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาท มรรคนี้เป็นระบบใหญ่ ที่สามารถขยายแยกย่อยออกไปได้กว้างขวางตามต้องการ
ขอหันกลับไปพิจารณาความหมายของคำว่า “มรรค” นั้นเอง มรรค แปลว่าทาง ซึ่งหมายถึงทางเดินของชีวิตไปสู่การดับทุกข์หรือการแก้ปัญหา ก่อนหน้านี้ เราได้พูดกัน ถึงคำว่า “จริยะ” จริยะก็แปลว่าการเดินทาง จึงเข้ากันกับคำว่ามรรค ซึ่งแปลว่า ทางที่เดิน หรือทางเดินนั่นเอง นอกจากนั้น หลักจริยธรรมที่ใช้คำว่ามรรค ยังมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ปฏิปทา เช่นในคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งแปลว่าทางสายกลาง มัชฌิมา แปลว่ากลาง ปฏิปทา ก็แปลว่าทางเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำว่ามรรคก็ดี ปฏิปทาก็ดี ก็แปลว่าทาง คู่กับคำว่ามรรคและปฏิปทา ก็คือคำว่าปฏิบัติ ปฏิบัติ แปลว่าเดินทาง ก็มาตรงกับจริยะ ที่แปลว่าการเดินทางเหมือนกัน เราใช้คำว่าปฏิบัติกันจนลืมความหมายเดิม ปฏิบัติเราแปลว่า ลงมือทำ แต่ขอให้ดูภาษาบาลีเดิม ปฏิบัติมีความหมายอะไรบ้าง ความหมายอย่างหนึ่งของการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมแท้เดิมก็คือ ความหมายว่าเดินทาง เช่นในคำว่า มคฺคํ ปฏิปชฺชติ แปลว่า เดินทาง ซึ่งแสดงว่า คำว่ามรรคคือทาง กับคำว่าปฏิบัติคือเดินหรือดำเนิน เป็นคำที่มาคู่กันอยู่แล้วแต่เดิมในความเป็นอยู่ของมนุษย์ ต่อมาจึงได้ใช้กันในความหมายว่า ลงมือทำ
เป็นอันว่า เรื่องจริยธรรมนี้ พระพุทธศาสนามองในแง่ที่เป็นทาง ทางนี้ก็คือวิธีการที่จะทำให้เกิดผลตามที่เราต้องการ และวิธีการนั้นก็พัฒนาขึ้นจากความรู้ความเข้าใจในตัวสัจจธรรม จึงต้องตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจในตัวสัจจธรรม ถ้าไม่มีความรู้สัจจธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว จริยธรรมก็ไม่จริงไม่แท้และจะไม่ได้ผลจริง เพราะเมื่อเราปฏิบัติโดยไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสัจจธรรมแล้ว กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยก็จะไม่ดำเนินไปในทางที่จะให้เกิดผลที่เราต้องการได้ นี้คือจุดของความสัมพันธ์ระหว่างสัจจธรรมกับจริยธรรม
เป็นอันว่า มรรคนี้ เป็นจริยะ และเป็นปฏิปทา แต่เราอาจจะต้องการความกระชับยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่า จริยะคือการดำเนินชีวิตก็ดี ปฏิปทาคือการปฏิบัติหรือเดินทางนั้นก็ดี ยังไม่มีคำจำกัดลงไปให้เห็นว่าเป็นการเดินทาง หรือดำเนินชีวิตที่ถูกหรือที่ผิด ท่านจึงเพิ่มคำเข้ามาเสริมให้ชัด คำว่ามรรคก็มีคำเพิ่มเข้ามา ให้เห็นว่าทางที่ถูกต้องต้องมีองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่าทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ เป็นภาษาบาลีว่า อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค เมื่อเป็นมรรคอันประเสริฐมีองค์แปดประการแล้ว ก็เป็นจริยะที่ถูกต้อง ที่ประเสริฐ ซึ่งเรียกว่า พรหมจริยะ ฉะนั้น จริยธรรมในพระพุทธศาสนาจึงมีคำว่าพรหมเสริมเข้ามาจำกัดความเป็น พรหมจริยะ และเป็นปฏิปทา คือทางเดินที่ถูกต้อง โดยมีคำว่าสัมมาเติมเข้ามาเป็น สัมมาปฏิปทา
สรุปว่า ทางปฏิบัติหรือวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่เรียกว่า พรหมจริยะ บ้าง สัมมาปฏิปทา บ้าง มรรคมีองค์ ๘ บ้างนี้เอง คือจริยธรรมที่ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติที่เรียกว่าสัจจธรรม ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า อยเมว โข ภิกฺขุ อริโย อฏฺฐฺงฺคิโก มคฺโค พฺรหฺมจริยํ แปลว่า มรรคา หรือ มรรค มีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐนี้แหละ เป็นพรหมจริยะ คือจริยธรรมอันประเสริฐ หรือจริยธรรมที่ถูกต้องจริงแท้ เป็นอันว่า เราได้จริยธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นพุทธพจน์เลยทีเดียวว่า ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งถ้าจะเรียกให้เต็มก็ต้องว่าเป็นระบบจริยธรรมหรือประมวลจริยธรรม
สัมมาปฏิปทาก็เช่นเดียวกัน ก็มีพุทธพจน์ยืนยันเป็นหลักฐานว่าตรงกับมรรค ดังพระบาลีในสังยุตตนิกายมหาวารวรรคนั่นแหละอีกแห่งหนึ่งว่า กตมา จ ภิกฺขเว สมฺมาปฏิปทา...แปลว่า สัมมาปฏิปทาหรือทางปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นเป็นไฉน แล้วก็มีพุทธพจน์ขยายความต่อไปว่า ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ไปจนกระทั่งถึงสัมมาสมาธิ ก็คือมรรคมีองค์แปดประการนั่นเอง นี้ชื่อว่าเป็นสัมมาปฏิปทา
บัดนี้ เราได้โยงจากจริยธรรมทั่วไปมาถึงจริยธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว โดยได้แสดงให้เห็นว่าตัวจริยธรรมอยู่ที่ไหน เมื่อเราจับจริยธรรมในพระพุทธศาสนาได้ว่าคืออันนี้ และมีความหมายอย่างนี้แค่นี้ แล้วก็จะขอพักเรื่องจริยธรรมไว้ก่อน
ตอนนี้จะขอย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่อีกที คือกลับไปหาสัจจธรรมอีกครั้งหนึ่ง เท่าที่ได้พูดมาก็ได้โยงให้เห็นแล้วว่า สัจจธรรมครอบคลุมถึงจริยธรรมด้วย และจริยธรรมก็เนื่องอยู่ในสัจจธรรม ต้องอาศัยสัจจธรรมเป็นฐาน สัจจธรรมเท่าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในการแก้ปัญหานั้น พระพุทธศาสนาแยกออกเป็น ๔ หัวข้อ ซึ่งเรารู้จักกันดี คือที่เรียกว่าอริยสัจจ์ แปลว่า สัจจะอันประเสริฐ หมายถึง สัจจธรรมที่มีคุณค่าแก่ มนุษย์อย่างแท้จริง สัจจธรรมอันประเสริฐหรือเลิศค่านี้เกี่ยวข้องกับการดับทุกข์หรือการแก้ปัญหาของมนุษย์ มี ๔ ข้อ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๑. ทุกข์ ได้แก่ ตัวปัญหา สิ่งที่บีบคั้นขัดข้อง ขัดขวางการที่ชีวิตจะดำรงอยู่ด้วยดีและเจริญงอกงาม ทำให้ไม่มีอิสรภาพ
๒. สมุทัย ได้แก่ สาเหตุของทุกข์ รวมทั้งกระบวนการที่ก่อให้เกิดทุกข์หรือก่อให้เกิดปัญหา
๓. นิโรธ หมายถึง ความดับทุกข์ หรือปลอดปัญหา ซึ่งรวมตั้งแต่หลักการและกระบวนการดับทุกข์ แก้ปัญหาที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไปจนถึงภาวะไร้ทุกข์เป็นอิสระที่เป็นจุดหมายของชีวิต
๔. มรรค ที่ได้พูดมาแล้วว่าเป็นระบบจริยธรรม คือ ทางดำเนินชีวิตเพื่อเข้าถึงความดับทุกข์
จะเห็นว่า ๓ ข้อแรกเป็นสภาวธรรมที่เป็นของมันอย่างนั้นเอง ส่วนข้อที่ ๔ เป็นตัวจริยธรรม หรือภาคปฏิบัติ เราจึงเห็นระบบแห่งสัจจธรรมและจริยธรรมของพระพุทธศาสนา มาครบหมดทีนี่
จากหัวข้อนี้ จะขยายไปสู่ความหมายที่กว้างขึ้น คือเราจะมองสัจจธรรมและจริยธรรมให้กว้างออกไป เริ่มแต่ทุกข์ คือตัวปัญหา เมื่อเราศึกษาเรื่องทุกข์ คำว่าทุกข์ไม่ได้จำกัดเพียงสิ่งที่เราเรียกว่าทุกข์เท่านั้น ขอให้นึกถึงแพทย์ โรคเป็นปัญหาของแพทย์ ในเวลารักษาโรค แพทย์จะต้องรู้อะไรบ้าง แพทย์จะรู้เฉพาะตัวโรคเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องรู้จักสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรค คือร่างกายของมนุษย์ด้วย เพราะโรคเกิดขึ้นที่ร่างกายของมนุษย์ การรักษาโรคก็รักษาที่ร่างกายของมนุษย์ และร่างกายของมนุษย์นั่นเองที่แปรปรวนบกพร่อง อ่อนแอ ทำให้เกิดโรคขึ้นมา ดังนั้น ตัวโรคและร่างกายมนุษย์อันเป็นที่ตั้งของโรคจึงไม่ได้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น เราจึงต้องศึกษามันทั้งหมด เพื่อที่จะรักษาโรค ต้องรู้ทั้งเรื่องของโรค ทั้งเรื่องของร่างกายมนุษย์ ตลอดจนระบบของชีวิตทั้งหมด ในทำนองเดียวกัน การศึกษาเรื่องทุกข์ ก็ขยายออกไป เพราะว่า เมื่อต้องการดับทุกข์ อะไรก็ตามซึ่งเป็นที่ตั้งของทุกข์ กล่าวคือ ชีวิตนี้ทั้งหมดตลอดจนสิ่งทั้งหลายที่ชีวิตนี้เกี่ยวข้อง เราต้องเรียนรู้ทั้งหมด ดังนั้น ในเรื่องทุกข์ ความหมายจึงขยายออกไปครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ต้องรู้จักตามความเป็นจริง แม้อริยสัจข้อที่ ๒-๓-๔ ก็มีความหมายขยายกว้างออกไปเช่นเดียวกัน จากหลักการนี้ อริยสัจ ๔ จึงโยงไปหาทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเอาอริยสัจ ๔ เป็นแม่บทในการจำแนก ทำให้มองเห็นสัจจธรรม ๔ ด้าน ซึ่งเรียกชื่อใหม่อีกชุดหนึ่ง มี ๔ อย่างเหมือนกับอริยสัจ ๔ คือ
จำพวกที่ ๑ จากทุกข์ ซึ่งรวมถึงสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของทุกข์ สิ่งที่เกี่ยวข้องในทางที่จะให้เกิดทุกข์ได้ ที่มนุษย์จะต้องรู้ในการที่จะดับทุกข์ ก็ขยายไปเป็น ปริญไญยธรรม แปลว่า สิ่งที่มนุษย์จะต้องปริญญา คือ ต้องกำหนดรู้ รู้จักตามที่มันเป็น ได้แก่จำพวกที่เกี่ยวหรือเนื่องกับปัญหา เป็นหรืออาจจะเป็นปัญหา
จำพวกที่ ๒ จากสมุทัย คือเหตุของทุกข์ ก็ขยายออกไปเป็นตัวแม่แบบใหม่ที่เข้าชุดกัน ได้แก่ สิ่งที่เรียกว่า ปหาตัพพธรรม แปลว่า ธรรมซึ่งต้องกำจัดเสีย หรือสิ่งที่ต้องกำจัด คือจำพวกเหตุที่ให้เกิดทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา
จำพวกที่ ๓ จากนิโรธ ก็ขยายออกไปเป็นสิ่งที่เรียกว่า สัจฉิกาตัพพธรรม แปลว่า สิ่งที่จะต้องเข้าถึง สิ่งที่จะต้องทำให้แจ้ง จะต้องบรรลุ เช่น ความเป็นอิสระของจิตใจ สันติ และความสุข ฯลฯ
จำพวกที่ ๔ จากมรรค ก็โยงไปหาแม่แบบที่เรียกว่า ภาเวตัพพธรรม แปลว่า ธรรมที่จะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้น หรือ ธรรมที่จะต้องปฏิบัติทั้งหมดทุกอย่าง
เป็นอันว่า เราก็ได้แม่แบบขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง สำหรับใช้ในการเรียนรู้หรือเข้าถึงสัจจธรรมและจริยธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์รู้จักก็รวมอยู่ในแม่แบบนี้ทั้งหมด นี้เป็นการสรุปเรื่องสัจจธรรม และจริยธรรม ที่มาจัดรวมเข้าเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียว
จากนี้ขอโยงกลับเข้ามาสู่เรื่องที่พูดไว้เมื่อกี้นี้ เป็นอันว่า สัจจธรรมเป็นเรื่องของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของแท้ของจริง ที่มันเป็นของมันอย่างนั้น จริยธรรมเป็นการเกี่ยวข้องกับสัจจธรรมในทางที่จะทำให้เกิดผลดีแก่มนุษย์ จะเห็นว่า ไม่ว่าเราจะพิจารณาเรื่องอะไรก็ตาม จะมีเรื่องของสัจจธรรมและจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องหมด วิชาการต่างๆ ที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาทุกอย่างก็เป็นเรื่องของสัจจธรรมกับจริยธรรม ส่วนใดที่เป็นตัวเนื้อหา เป็นตัวความจริงของมัน อันนั้นก็เป็นสัจจธรรม ส่วนใดที่เป็นการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์อยู่ได้ด้วยดี อันนั้นก็เป็นจริยธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อมองไปที่วิทยาศาสตร์ เราก็จะเห็นตัวแท้ของมัน ถ้าเป็นตัวแท้ตัวจริง ที่เป็นจริง มันก็เป็นสัจจธรรม แต่ปัญหามีอยู่ว่า มันเป็นสัจจธรรมที่ครบถ้วนกระบวนความแล้วหรือไม่ คือ ถ้ารู้เพียงบางส่วน ก็ไม่ใช่สัจจธรรมที่แท้จริง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัจจธรรม เราจะต้องรู้เพิ่มขึ้นเพื่อจะได้เข้าถึงสัจจธรรมที่แท้จริง
ในวิชาการอย่างเศรษฐศาสตร์ ตัวแท้จริงของมัน ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องก็เป็นตัวสัจจธรรม แต่เราจะต้องวินิจฉัยว่า ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่นั้นเป็นความรู้ที่แท้ถูกต้องตามกระบวนการธรรมชาติหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องตามกระบวนการธรรมชาติ เศรษฐศาสตร์นั้นก็ไม่สมบูรณ์ เพราะจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของมนุษย์ได้จริง ถ้ามันจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ มันจะต้องถูกต้องตามกระบวนการของธรรมชาติโดยสมบูรณ์ และเมื่อเศรษฐศาสตร์ถูกต้องตามกระบวนการธรรมชาติ ถูกต้องตามสัจจธรรมแล้ว เราเอามาใช้ปฏิบัติในทางจริยธรรม จริยธรรมนั้นก็จะเกิดผลโดยสมบูรณ์ คือปฏิบัติแล้วได้ผล แต่ถ้าเศรษฐศาสตร์นั้นไม่สมบูรณ์ในแง่ของสัจจธรรม เมื่อนำมาปฏิบัติก็จะได้ผลไม่สมบูรณ์
อีกตัวอย่างหนึ่ง ในการเล่าเรียนเรื่องจิตใจของมนุษย์ เช่น วิชาจิตวิทยา ตอนแรกก็ต้องรู้ตัวสัจจธรรมก่อน คือรู้จักกระบวนการของธรรมชาติ เริ่มต้นแต่กระบวนการทำงานของจิต ถ้าจิตวิทยาทราบเรื่องนี้ครบถ้วน ก็แสดงว่าได้ตัวสัจจธรรม เมื่อได้ตัวสัจจธรรมมาแล้ว การนำมาใช้ปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ชีวิตมนุษย์ ก็มีทางได้ผลจริง แต่ถ้าจิตวิทยารู้กระบวนการของธรรมชาติไม่ครบถ้วน รู้สัจจธรรมไม่สมบูรณ์ จริยธรรมคือการนำมาปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลสมบูรณ์ด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงมีปัญหาของสัจจธรรมและจริยธรรมอยู่ตลอดเวลา และเพราะเหตุที่เราพยายามนำความรู้มาใช้ปฏิบัติเพื่อให้ออกผลดีแก่มนุษย์โดยทางจริยธรรมนั่นเอง เราจึงต้องพยายามเข้าถึงสัจจธรรม สัจจธรรมมีประโยชน์แก่มนุษย์ ก็เพราะมีคุณค่าทางจริยธรรม
เมื่อสรุปในแง่ของสิ่งทั้งหลาย ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นวิชาการต่างๆ สัจจธรรม คือ ตัวแท้ตัวจริงของวิชาการหรือกิจกรรมนั้น จริยธรรม คือ การนำเอาหลักเกณฑ์ต่างๆ ของสัจจธรรมมาใช้ปฏิบัติให้สอดคล้องตามกระบวนการธรรมชาติของมันเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตมนุษย์ พอมาถึงขั้นนี้แล้วเราจะมองเห็นองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงสัจจธรรมกับจริธรรม อะไรเป็นตัวเชื่อมโยงสัจจธรรมกับจริยธรรม ได้พูดแล้วว่า สัจจธรรมคือตัวความจริงนั้นปรากฏแก่มนุษย์ด้วยอะไร สัจจธรรมปรากฏแก่มนุษย์ด้วยความรู้ ซึ่งเรียกว่า ปัญญา ปัญญาเป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงสัจจธรรม หรือ ความจริง ถ้าไม่มีปัญญาหรือความรู้ เราก็ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ ฉะนั้น ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสัจจธรรมได้แก่ปัญญา เราได้พูดถึงความหมายของจริยธรรมว่า จริยธรรมคือการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสัจจธรรมในทางที่จะเกิดผลดีแก่ชีวิตมนุษย์ แต่เราจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสัจจธรรมได้อย่างไร เราจะปฏิบัติได้เราต้องรู้เสียก่อนว่าสัจจธรรมเป็นอย่างไร ว่ากฎเกณฑ์ของมันเป็นอย่างไร ฉะนั้น จริยธรรมจึงต้องอาศัยความรู้หรือปัญญา ปัญญาเป็นตัวเชื่อมระหว่างสัจจธรรมกับจริยธรรม ยิ่งรู้สัจจธรรมเท่าใด การปฏิบัติจริยธรรมก็ยิ่งถูกต้องขึ้นเท่านั้น และได้ผลดียิ่งขึ้น และยิ่งปฏิบัติจริยธรรมได้ผลมากขึ้นเท่าใด เราก็จะรู้เห็นสัจจธรรมยิ่งขึ้นเท่านั้น
ในทางตรงข้าม ถ้าเรารู้สัจจธรรมไม่ทั่วถึง ไม่สมบูรณ์พอ จริยธรรม คือการนำมาใช้ประโยชน์ก็จะเกิดผลไม่สมบูรณ์ บางทีก็กลายเป็นผลร้ายเพราะการที่รู้ไม่ทั่วถึง เช่น เรารู้จักไฟ รู้จักวิธีทำไฟ เช่นเอาหินมาตีกัน ตลอดจนพัฒนามาจนถึงใช้ไม้ขีดจุด รู้วิธีจุดไฟแล้ว และรู้ประโยชน์ว่า ไฟเกิดขึ้นมาแล้วจะให้แสงสว่างและความอบอุ่น แต่เรารู้แค่นี้ รู้ไม่ทั่วถึงว่า อะไรเป็นเชื้อแก่มันบ้าง และจะเกิดโทษอย่างไร ถ้าลุกลามไป เราก็จุดไฟขึ้นมาโดยมุ่งหวังว่าจะให้ความอบอุ่นและแสงสว่าง โดยมีความรู้จำกัดแค่ขอบเขตหนึ่ง ไม่รู้ว่าน้ำมันเบนซินและแก๊สเป็นต้น เป็นเชื้อเพลิงร้ายแรง ก็ไปอยู่ใกล้มัน เสร็จแล้วพอจุดไฟขึ้นมา เกิดระเบิดตูมตาม ไฟนั้นลุกลามไปไหม้บ้านเรือน ก็เกิดโทษแก่เรา นี้เป็นเพราะเรารู้สัจจธรรมไม่ทั่วถึง การปฏิบัติจริยธรรมจึงได้ผลไม่สมบูรณ์ หรือพลาดไปเกิดผลร้ายอย่างอื่น เป็นอันว่า การที่จะให้สัจจธรรมเกิดผลเป็นจริยธรรมที่สมบูรณ์ ความรู้ในสัจจธรรมต้องสมบูรณ์ด้วย เป็นเรื่องที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ปัญญานี้แหละเป็นตัวเชื่อมสัจจธรรมกับจริยธรรม
ย้อนกลับไปที่พูดไว้เมื่อกี้นี้ว่า ยิ่งรู้สัจจธรรมก็ยิ่งปฏิบัติจริยธรรมได้ถูกต้อง และในทางตรงข้าม ยิ่งปฏิบัติจริยธรรมถูกต้องก็ยิ่งรู้เห็นสัจจธรรมมากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่า ตัวความรู้พัฒนาขึ้นตามการปฏิบัติจริยธรรมด้วย เช่น มีความใฝ่รู้ ชอบค้นคว้าทดลอง มองอะไรๆ ด้วยท่าทีของการเรียนรู้ มีความเพียรพยายาม มีความขยันอดทน มีความรอบคอบในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ และมีระเบียบในการคิดเป็นต้น นี้เป็นตัวจริยธรรม ยิ่งปฏิบัติจริยธรรมได้ดีเท่าไร เราก็ยิ่งรู้เห็นเข้าใจสัจจธรรมยิ่งขึ้นเท่านั้น และในขั้นสุดท้ายเมื่อจริยธรรมสมบูรณ์ ก็เข้าถึงสัจจธรรม เข้าถึงความหมดทุกข์ แก้ปัญหาได้สำเร็จ และเมื่อเข้าถึงสัจจธรรมสมบูรณ์ ก็มีจริยธรรมที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นจริยธรรมที่เป็นเองตามธรรมดา โดยไม่ต้องฝึกไม่ต้องฝืน เป็นความประสานกลมกลืน และความบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสัจจธรรมกับจริยธรรม
รวมความว่า ปัญญาเป็นตัวนำในฝ่ายจริยธรรม ในการเข้าถึงสัจจธรรม แต่มีปัญหาว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบก็คือจะต้องมีกระบวนการพัฒนาปัญญา และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการพัฒนาปัญญา พระพุทธศาสนาก็วางหลักเกณฑ์ลงไปอีก โดยจัดเป็นระบบการฝึกฝนพัฒนาที่เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งมีศีล และสมาธิเป็นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ปัญญา เป็นตัวหนุนให้ปัญญาแก่กล้าแจ่มชัดจนเข้าถึงสัจจธรรม ศีลเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ชีวิตมีระเบียบและสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ในแนวทางที่เกื้อกูลแก่การใช้ปัญญา และพร้อมกันนั้นก็ช่วยในการเสริมสร้างสภาพจิตที่ดี เช่น ความแน่วแน่มั่นคงของจิตใจ ความสงบ ความปลอดโปร่งผ่องใสของใจที่เรียกว่าสมาธิ ซึ่งทำให้การใช้ปัญญาได้ผล เพราะฉะนั้น ศีล และสมาธิ จึงเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนาปัญญา เพื่อช่วยให้ปัญญาแก่กล้าสมบูรณ์ เพื่อให้รู้สัจจธรรมสมบูรณ์ เมื่อรู้สัจจธรรมสมบูรณ์แล้ว จริยธรรมก็สมบูรณ์ เรียกว่ามรรคพรั่งพร้อมถึงที่ ก็ทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดับทุกข์ แก้ปัญหาหมดไป ปัญญาที่เจริญก้าวหน้าจนพาจริยธรรมไปบรรจบเข้าถึงสัจจธรรมนี้ เรามีชื่อเฉพาะให้หลายอย่าง เช่นเรียกว่า โพธิ หรือ โพธิญาณ ซึ่งเกิดเป็นปฏิเวธ คือแทงตลอดทะลุโล่งเข้าถึงสัจจธรรมนั้น ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของจริยธรรม ในการพัฒนาให้เกิดโพธิญาณ ที่บรรจบเข้าถึงสัจจธรรม
ต่อไปนี้ ขอขึ้นเรื่องใหม่ เมื่อพูดถึงสัจจธรรมกับจริยธรรมที่มาสัมพันธ์กันนั้น บางทีเรายังหลงและสับสนกันอยู่ จึงมีเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไปอีก กล่าวคือ มนุษย์เรามีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติที่ต้องทำมากมายหลายอย่าง หลักเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกอย่างนั้นเป็นจริยธรรมทั้งหมดหรือไม่ ข้อนี้ตอบว่า ไม่ใช่ ระเบียบแบบแผนข้อปฏิบัติของมนุษย์ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ดีนี้ มีสิ่งที่นอกเหนือออกไปจากจริยธรรม ซึ่งไม่ปรากฏในธรรมชาติ และไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นมา เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดวางเอาเอง สิ่งนี้ก็คือกฎเกณฑ์ทางสังคม ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าวินัย หรือจะเรียกว่าบัญญัติต่างๆ ทางสังคม สิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมานี้ ถ้าเราเอาคำว่าธรรมไปเติมท้ายเหมือนเอาธรรมไปเติมท้ายสัจจ เป็นสัจจธรรม ธรรมไปเติมท้ายจริย เป็นจริยธรรม คำว่าบัญญัติ ถ้าเราเอาธรรมไปเติมท้าย ก็เป็นบัญญัติธรรม จึงมีธรรมประการที่ ๓ ขึ้นมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า บัญญัติธรรม
บัญญัติธรรมนี้ เป็นการแต่งตั้งสมมติของมนุษย์ทั้งเพ มนุษย์อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ กัน อยู่ในกาลสมัยต่างๆ กัน ก็บัญญัติสิ่งที่จะพึงประพฤติปฏิบัติขึ้นสำหรับกลุ่มของตน แล้วบอกว่าสิ่งนี้ดีสิ่งนี้ชั่วไม่เหมือนกัน ในสังคมหนึ่งบัญญัติสิ่งนี้ว่าดี อีกสังคมหนึ่งอีกยุคสมัยหนึ่ง ถือว่าไม่ดี สิ่งที่ถือว่าไม่ดีในสังคมหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่อีกสังคมหนึ่งอีกสมัยหนึ่งกลับมาถือว่าดี ข้อบัญญัติของมนุษย์นี้จะต้องระวังไม่ให้ไปปนกับจริยธรรม แม้แต่ปัจจุบันนี้ ในเมืองไทย เวลาขับรถต้องชิดซ้าย แต่ไปอเมริกาต้องชิดขวา ถ้าเราขับรถในเมืองไทย เขาวางกฎระเบียบจราจรไว้ว่าให้ชิดซ้าย ถ้าเราไปขับชิดขวา คนก็ต้องติเตียนด่าว่าเรา บางทีไปเห็นในถนน บางท่านกล่าวผรุสวาทเลยทีเดียวว่าคนนั้นทำไม่ดี แต่ในอเมริกา เขาขับชิดขวา ถ้าเราเกิดไปขับชิดซ้ายขึ้นมา ก็กลายเป็นทำไม่ดีไป
กฎเกณฑ์เหล่านี้มีความดีความชั่วในตัวของมันหรือไม่ การขับชิดซ้ายก็ไม่เป็นความดีในตัวของมันเอง การขับชิดขวาก็ไม่เป็นความดีในตัวของมันเอง แต่เป็นเพียงบัญญัติของสังคม อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะต้องเชื่อมโยงกันได้ บัญญัติธรรมจะต้องเชื่อมโยงกับจริยธรรมได้ เพราะบัญญัติธรรมนี้โดยทั่วไปแล้วมนุษย์หรือสังคมกำหนดวางขึ้นมา ก็เพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีงาม หรือเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดีของมนุษย์นั่นเอง คือเพื่อสนองจุดมุ่งหมายในทางที่เป็นคุณค่าหรือเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ตัวจริยธรรมอยู่ตรงไหน ตอนแรกก็อยู่ในเจตนาที่วางกฎเกณฑ์นั้นขึ้นมา คือเจตนาที่วางกฎเกณฑ์เพื่อผลที่ดีงาม ต่อมาเจตนาก็มาอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ เมื่อเรารู้ว่าอันนี้เป็นกฎเกณฑ์ของสังคม อันนี้เป็นบัญญัติว่าไม่ให้ละเมิด เมื่อฝ่าฝืนแล้วจะเกิดผลเสีย ถ้าเราทั้งที่รู้อยู่แต่ก็ละเมิด ในการละเมิดนั้นเรารู้อยู่แก่ใจ เจตนาที่ละเมิดนั้นเป็นปฏิบัติการทางจริยธรรมและมีผลทางจริยธรรม ทั้งๆ ที่ตัวกฎเกณฑ์นั้นเป็นสมมติ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ของจริง แต่มีความจริงเกิดขึ้นในการปฏิบัติต่อมา เพราะฉะนั้น เมื่อมีกฎเกณฑ์อันหนึ่งของสังคมเกิดขึ้นแล้ว มนุษย์ยอมรับ และใจของบุคคลนั้นยอมรับและรู้อยู่ เมื่อเขาละเมิดก็จะมีผลทางจริยธรรมขึ้นมา นี้คือจุดที่บัญญัติธรรมมาบรรจบกับจริยธรรม เมื่อกี้เราพูดถึงการที่สัจจธรรมมาบรรจบกับจริยธรรม คราวนี้ จริยธรรมก็มาบรรจบกับบัญญัติธรรม เป็นอันโยงกันครบวงจร
ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าบัญญัติธรรมก็มีความหมายสำคัญเหมือนกัน ดังเช่นในวินัยของพระสงฆ์ก็มีข้อปฏิบัติต่างๆ ซึ่งในตอนที่ยังไม่บัญญัติ ก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีความดีความชั่ว แต่เมื่อบัญญัติลงไปแล้ว ผู้ที่อยู่ในสังคมนั้นหรืออยู่ในสงฆ์ รู้อยู่แล้วกระทำการละเมิด การละเมิดนั้นก็เป็นสัจจธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน และมีความหมายในทางจริยธรรมเกิดขึ้น จากจุดนี้จริยธรรมก็เริ่มทำงาน และมีผลต่อจิตใจ และชีวิตของคน ดังที่เรียกว่าเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของจริยธรรม ครอบคลุมเรื่องพฤติกรรม บุคลิกภาพ และวิถีชีวิตของมนุษย์
เป็นอันว่า บัญญัติธรรมนี้เข้ามาสัมพันธ์กับมนุษย์โดยมีความรู้เป็นฐาน มีเจตนาเป็นองค์ประกอบหลักในการที่จะประพฤติปฏิบัติ และมีความซื่อสัตย์เป็นต้นที่จะมาเป็นตัวช่วยหนุนทำให้การปฏิบัติตามบัญญัติของสังคมเป็นไปได้ ถ้ามนุษย์จะไม่ปฏิบัติตามบัญญัติธรรม ก็ต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจที่โยงไปถึงสัจจธรรมและจริยธรรมว่า อันนี้ไม่เกิดผลดีตามที่มนุษย์ต้องการ หรือทำให้เกิดผลเสียหาย แล้วหาทางแก้ไขด้วยสติปัญญาที่มุ่งต่อผลดีตามแนวทางของจริยธรรม และด้วยความรู้ ที่จะทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งสัจจธรรม
เมื่อได้โยงสัจจธรรมกับจริยธรรมเข้าหากันจนถึงบัญญัติธรรมแล้ว ก็จะมองเห็นวิถีแห่งชีวิตและวิถีแห่งสังคมของมนุษย์ ตลอดจนธรรมชาติแวดล้อม โยงถึงกันหมด และเมื่อมองเข้าไปในส่วนรายละเอียด ก็จะมีแม้แต่จริยธรรมในการปฏิบัติต่อสัจจธรรม ดังได้กล่าวแล้วว่า การปฏิบัติในทางจริยธรรมนั้น อาศัยความรู้หรือปัญญาที่รู้สัจจธรรม แต่ในระหว่างที่เรารู้สัจจธรรมยังไม่เพียงพอ การปฏิบัติจริยธรรมของเราก็ต้องให้เป็นไปเพื่อเข้าถึงสัจจธรรม คือทำให้ปัญญาที่รู้สัจจธรรมนั้นเพิ่มขึ้นด้วย ในการนี้เราจึงต้องมีวิธีปฏิบัติต่อสัจจธรรม พระพุทธศาสนาได้วางหลักในการปฏิบัติต่อสัจจธรรมขึ้นไว้ ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นจริยธรรมต่อสัจจธรรม จริยธรรมต่อสัจจธรรมเป็นอย่างไร วิธีปฏิบัติต่อสัจจธรรมอย่างหนึ่งท่านเรียกว่าสัจจานุรักษ์ สัจจานุรักษ์ แปลว่า การอนุรักษ์สัจจะ หรือการรักษาสัจจะ หรือการคุ้มครองสัจจะ
สัจจานุรักษ์นั้นทำอย่างไร? เมื่อคนทั้งหลายต้องการเข้าถึงความจริง เราจึงต้องมีการพัฒนาปัญญา และในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้น ก็จะมีการสนทนา การอภิปรายถกเถียง การแสดงทัศนะต่อกัน และการเสนอความเห็นต่างๆ ที่จะนำไปสู่ปัญญา กิจกรรมต่างๆ ในการช่วยกันแสวงปัญญานั้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น มนุษย์จะต้องมีท่าทีปฏิบัติต่อสัจจธรรมที่ตนพยายามจะเข้าถึงนั้นให้ถูกต้อง ท่าทีที่ถูกต้องนี้เรียกว่า สัจจานุรักษ์ พระพุทธศาสนาแนะนำว่า เมื่อเรามีความเชื่อ มีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลาแสดงออกต่อผู้อื่น จะพูดอย่างไร จะแสดงอย่างไร ท่าทีประการที่หนึ่งคือ ไม่กล่าวว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งสิ้น (อิทเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ) คือ จะต้องมีความใจกว้าง ไม่ผูกขาดสัจจธรรม ด้วยความเชื่อหรือความคิดเห็นของตน ดังนั้น ในประการที่สอง จึงมีท่าทีปฏิบัติในการพูดเช่นว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่าดังนี้ๆ ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่าดังนี้ๆ การที่พูดว่าข้าพเจ้ามีความเชื่อว่าดังนี้ๆ หรือมีความเห็นว่าดังนี้ๆ นั้น เป็นการบอกว่าตนเองมีความเข้าใจหรือความเชื่อเท่านี้ก่อน เป็นการจำกัดขอบเขตไว้ว่า สิ่งที่พูดนั้นเป็นเพียงความเชื่อหรือความคิดเห็นของตน ซึ่งจะตรงกับสัจจธรรมหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่เป็นการเอื้อมไปตัดสินสัจจธรรม ไม่ได้เป็นการไปผูกขาดสัจจธรรม แต่ถ้าเราบอกว่าความจริงต้องเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการก้าวไปเอาความเชื่อของเราเป็นตัวสัจจธรรม ถ้าเอาความเห็นหรือความเชื่อของตนไปเป็นตัวตัดสินความจริงเมื่อไร ก็พลาด กลายเป็นการผูกขาดสัจจธรรมไป เพราะฉะนั้น ท่าทีที่ถูกต้องต่อสัจจธรรมคือไม่ผูกขาดสัจจธรรม คือการไม่ยึดถือว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งสิ้น การที่แสดง พูดโดยจำกัดขอบเขตความเชื่อหรือความคิดเห็นของตัวว่า ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ นี่เป็นสัจจานุรักษ์ส่วนหนึ่ง
ต่อไป คือข้อพิจารณาในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ที่มีความเชื่อต่างๆ กัน มีท่านอาจารย์บางท่านเสนอความเห็นว่า ในศาสนาต่างๆ นี้ น่าจะมีการประนีประนอมกันเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี วิธีประนีประนอมกันนั้น ก็คืออาจจะมาตกลงหรือยอมรับถือกันเป็นมติว่า ศาสดาของศาสนาทั้งหลายนั้น แต่ละท่านก็คงเข้าถึงสัจจธรรมเช่นเดียวกัน แต่เมื่อท่านเข้าถึงสัจจธรรมแล้ว ท่านไปแสดงสัจจธรรม เปิดเผย สั่งสอนแก่คน คนละหมู่ คนละพวก มีพื้นเพภูมิหลังวัฒนธรรมต่างกัน คำสอนก็เลยต่างกันไป เหมือนคนหลายคนขึ้นภูเขา ทุกคนไปถึงยอดเขาเหมือนกัน เมื่อถึงยอดแล้ว ก็มองเห็นสิ่งทั้งหลายบนยอดเขาเหมือนกัน แต่เมื่อเขามองลงมาข้างล่าง ท่านหนึ่งหันมองไปทางด้านใต้ สิ่งทั้งหลายที่อยู่ทางด้านใต้เป็นอย่างหนึ่ง การแสดงสัจจธรรมให้เข้ากับสภาพด้านใต้ก็ต้องพูดอย่างหนึ่ง อีกท่านหนึ่งขึ้นไปอยู่บนยอดเขาเหมือนกัน แต่มองไปทางทิศตะวันตก ก็เห็นสภาพพื้นภูมิประเทศไปอีกอย่างหนึ่ง การแสดงภาพความจริงที่ปรากฏแก่คนที่อยู่ด้านนั้น ก็ต้องพูดไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจ หรือยอมรับ หรือถือว่า ท่านศาสดาทั้งหลายเหล่านั้นได้เข้าถึงสัจจธรรมเหมือนกัน แต่ได้มาแสดงสัจจธรรมนั้นแตกต่างกันไป ตามพื้นเพภูมิหลังวัฒนธรรมของชนหมู่ต่างๆ เราก็น่าจะประนีประนอมกันได้เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี โดยมาตกลงกันว่า พระศาสดาทุกท่านนั้นเข้าถึงสัจจธรรมเหมือนกัน และสิ่งที่ทุกท่านประกาศนั้นที่จริงก็คือสัจจธรรมอันเดียวกัน
ทัศนะหรือข้อเสนอที่กล่าวมานี้ ก็เป็นเรื่องที่แสดงถึงเจตนาที่ดี คือต้องการความมีสันติสุขของมนุษย์ แต่ในการอยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขของมนุษย์นั้น ก็ต้องระวังว่าอย่าไปแทรกแซงสัจจธรรม อย่าไปแทรกแซงกฎธรรมชาติ ถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็ว่า อย่าไปปิดกั้นหรือบังตากันเองจากสัจจธรรมเลย ความเข้าใจสับสนที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เราจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้เสียก่อน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นอย่างหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจจธรรม หรือตัวธรรมชาติก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน
ในความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้น เราต้องการความอยู่ร่วมกันด้วยดี มนุษย์มีความต้องการต่างๆ ที่สามารถปรับเข้าหากันได้ สามารถยอมความกันได้ สามารถตกลงประนีประนอมกันได้ หลักในการปฏิบัติต่อกันระหว่างมนุษย์ในความสัมพันธ์ที่ดีงามก็คือเมตตา ได้แก่ความปรารถนาดีต่อกัน ซึ่งแสดงออกทางศีล ความประพฤติดี ไม่ล่วงละเมิด ไม่เบียดเบียนกัน เป็นต้น ตลอดจนการช่วยเหลือสงเคราะห์ต่างๆ พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่า หลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นคือเมตตา
แต่ในการปฏิบัติต่อสัจจธรรม เราเอาหลักการอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์นี้มาใช้ได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ได้ เพราะสัจจธรรมย่อมเป็นไปของมันอย่างนั้น และเป็นของมันเองอย่างนั้น มันไม่ยอมประนีประนอมกับมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจจธรรมนั้นได้บอกแล้วว่า ได้แก่ ปัญญาคือความรู้ มนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องรู้สัจจธรรม จะต้องเข้าถึงด้วยความรู้ มนุษย์ไม่สามารถประนีประนอมกับสัจจธรรมว่าข้าพเจ้าต้องการอย่างนี้ ท่านจงเป็นอย่างนี้นะ เป็นไปไม่ได้ สัจจธรรมย่อมไม่ยอมประนีประนอมด้วย เมื่อสัจจธรรมไม่ยอมประนีประนอมด้วย ก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์จะต้องสร้างปัญญาขึ้นมาให้รู้มัน เป็นอันว่า หลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัจจธรรมนั้นคือปัญญา มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงสัจจธรรมเอง
ฉะนั้น การที่มนุษย์ ๒ กลุ่ม ๒ พวก หรือหลายกลุ่มหลายพวก ต่างก็นำเอาสิ่งที่ตัวถือว่าเป็นสัจจธรรมมาตกลง ประนีประนอมกัน ทำท่าทีเหมือนเป็นเจ้าของสัจจธรรมนั้น มาเจ้ากี้เจ้าการกำหนดสัจจธรรมกัน ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มนุษย์สองพวกหรือหลายพวกจะเอาเรื่องของสัจจธรรมมาเจรจาตกลงกันเอง สัจจธรรมย่อมไม่รับรู้ด้วย จะเป็นได้ก็เพียงการมาตกลงกันวาดภาพสัจจธรรมขึ้นมาใหม่กันเองตามที่เห็นชอบร่วมกัน เหมือนคนสองคนมาตกลงกันวาดรูปพระจันทร์เป็นสามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยม ซึ่งนอกจากจะไม่มีผลกระทบต่อพระจันทร์ตัวจริงแล้ว ยังอาจจะกลายเป็นภาพที่ยกขึ้นมาบังตาไม่ให้เห็นพระจันทร์ตัวจริงเสียด้วยซ้ำไป ความจริง เราไม่สามารถรู้ได้ว่า ศาสดาทุกท่านนั้นได้ขึ้นถึงยอดเขาทุกท่านหรือเปล่า หรือขึ้นเขาไปได้สูงเท่ากันหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น เรายังไม่สามารถจะรู้ แล้วเราจะเป็นผู้วินิจฉัยได้อย่างไร อันนี้เป็นจุดที่ต้องระวังว่า จะกลายเป็นการนำเอาสัจจธรรมมาประนีประนอมกับมนุษย์ไป ซึ่งสัจจธรรมนั้นย่อมไม่ประนีประนอมด้วย มันย่อมเป็นไปของมันอย่างนั้นตามธรรมดาของมันอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม จะต้องแยกระหว่างการเสนอความเห็น กับการตกลงกันยึดถือ ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเสนอความเห็นว่า พระศาสดาทุกท่านอาจจะเข้าถึงสัจจธรรมอย่างเดียวกันทั้งหมด แต่แสดงสัจจธรรมนั้นแตกต่างกันไปตามกาลเทศะ เหมือนคนทุกคนที่ขึ้นถึงยอดเขาเหมือนกัน แต่กล่าวถึงลักษณะและสภาพของยอดเขาโดยสัมพันธ์กับภูมิประเทศแถบที่ต่างคนต่างขึ้นมาแตกต่างกันไป การเสนอความเห็นของเขานั้นย่อมเป็นการชอบธรรม เป็นสิทธิที่จะทำได้ เพราะความจริงอาจเป็นเช่นนั้นก็ได้ แต่ก็ทำได้เพียงเท่านั้น จะมาชวนคนอื่นให้ตกลงยึดถือกันอย่างนั้นไม่ได้ การเสนอความเห็นทำให้มีการค้นคว้าหาความจริงหรือพิสูจน์ให้เห็นความจริงต่อไป แต่การตกลงยึดถือทำให้คนหยุดไม่แสวงหาหรือพิสูจน์ความจริงอีกต่อไป
เพราะฉะนั้น ท่าทีที่ถูกต้อง ก็คือ มนุษย์จะต้องแยกให้ถูก แม้ว่าเราควรจะต้องอยู่ร่วมกันด้วยดี แต่เราก็ต้องการเข้าถึงสัจจธรรมด้วย ดังนั้นเราจะต้องเปิดทางไว้ ไม่เอาการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีมาอ้างให้เป็นเหตุปิดบังขวางกั้นปัญญาของมนุษย์ ถ้าเรามาตกลงยุติกันเสียอย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าเราได้ปิดบังปัญญาของมนุษย์ทั้งหลายต่อไปข้างหน้าที่จะค้นคว้าให้เข้าถึงสัจจธรรม ในการเข้าถึงสัจจธรรมนั้น ทางจะต้องเปิดไว้ให้ปัญญาเป็นอิสระอยู่เสมอ แต่ปัญญาจะเป็นอิสระได้อย่างไร ในขณะที่เราต้องการให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ดีโดยไม่มีความขัดแย้ง อันนี้แหละคือการพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด ทำอย่างไรจะให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดีได้ด้วย โดยที่ว่าต่างก็ถือว่าตนกำลังอยู่ในระหว่างการค้นหาสัจจธรรม และมีความเชื่อถือหรือความคิดเห็นแตกต่างจากกันและกัน แม้จะมีทัศนะหรือความคิดเห็นต่างกัน ก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็จะได้ทั้ง ๒ ด้าน คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็ดีด้วย ความสัมพันธ์กับสัจจธรรมก็ดำรงอยู่ด้วยดีด้วย ไม่มีการปิดกั้นปัญญาของมนุษย์
การที่จะปฏิบัติให้ได้ผลเช่นนี้ ก็จะต้องใช้หลักการซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้ใช้มาแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้บอกว่าคนจะต้องถือว่า ทุกลัทธิศาสนาหรือทุกศาสดาเข้าถึงสัจจธรรมอย่างเดียวกัน ใครจะเชื่อถืออย่างไร ก็มีสิทธิ์ ปัญญาของทุกคนเป็นอิสระ แต่ให้ทุกคนรับฟังธรรมของกันและกัน และในการรับฟังธรรมของกันและกันนี้ ก็มีพื้นฐานแห่งความรัก ความปรารถนาดีต่อกันและกัน ซึ่งอาจจะรวมถึงความปรารถนาดีที่จะให้คนอื่นๆ ได้เข้าถึงสัจจธรรมอย่างที่ตนเข้าใจด้วย ดังนั้น ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ตนเข้าใจเป็นสัจจธรรม ก็สามารถเพียรพยายามที่จะแสดงแก่ผู้อื่นด้วยเหตุด้วยผล และด้วยความปรารถนาดีออกไป แต่ก็ไม่ไปบังคับเขา นี้เป็นท่าทีปฏิบัติที่ถูกต้อง
เป็นอันว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เราต้องปฏิบัติต่อกันโดยมีเมตตา แล้วก็มีศีล เป็นต้น ส่วนในการปฏิบัติต่อสัจจธรรมก็ต้องดำเนินไปด้วยปัญญา เปิดปัญญาให้เป็นอิสระอยู่ ไม่ไปปิดกั้นผูกขาดปัญญา นี้เป็นวิธีปฏิบัติในการที่จะเกี่ยวข้องกับสัจจธรรม ซึ่งเป็นจริยธรรมต่อสัจจธรรมอีกอย่างหนึ่ง มนุษย์ที่ปฏิบัติตามหลักการนี้ จะแสวงหาความจริงด้วยการใช้ปัญญาอย่างเต็มที่ แต่ก็จะแสดงออกต่อกันด้วยเมตตา ถึงจะถกเถียงกันมากมายเท่าไรก็ได้ เพื่อให้ได้ความจริง แต่ก็ทำด้วยหวังดีต่อกันและมีศีลที่จะไม่ทำร้ายเบียดเบียนหรือบังคับกัน ทำให้ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งการได้ปัญญาที่จะเข้าถึงสัจจธรรม และการอยู่ร่วมกันด้วยดี พร้อมกันนั้น ก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนให้มีความสมบูรณ์ในทางจริยธรรม และในการที่จะเข้าถึงสัจจธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
นอกจากนี้ ในการที่เราจะประนีประนอมกันระหว่างมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องสัจจธรรม สิ่งที่ต้องระวังมากอย่างหนึ่งนอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่ไปปิดกั้นสัจจธรรมหรือปิดกั้นปัญญา ที่จะเข้าถึงสัจจธรรม ก็ขอย้ำสิ่งที่ได้พูดถึงแล้วครั้งหนึ่ง คือ เราไม่ควรจะไปวินิจฉัยพระศาสดา การที่จะพูดตัดสินว่าพระศาสดาทั้งหลายเข้าถึงความจริงเดียวกันหรือไม่นั้น เราต้องรู้เท่าหรือรู้เหนือกว่าพระศาสดาเหล่านั้นทั้งหมด จึงจะวินิจฉัยได้ เวลานี้เรายังแสดงตนว่าเป็นผู้แสวงหาสัจจธรรม จะไปวินิจฉัยพระศาสดาได้อย่างไร นี้ก็เป็นข้อพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง และในการปฏิบัติที่ไม่วินิจฉัยพระศาสดา และไม่เอาสัจจธรรมมาประนีประนอมกันเองนี้ ก็จะไม่เป็นการเข้าไปแทรกแซงหรือปกคลุมความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ แต่จะเป็นการปล่อยธรรมชาติหรือสัจจธรรมไว้ตามสภาพของมัน ซึ่งมันจะปรากฏแก่มนุษย์ผู้เข้าถึงเอง
ประการต่อไป ตัวอย่างหนึ่งในการที่มนุษย์พยายามที่จะรักษาสัจจธรรม และพยายามที่จะช่วยให้มนุษย์อื่นๆ เข้าถึงสัจจธรรมกันอยู่ได้เรื่อยๆ ก็คือการรักษาคำสอนของศาสนา โดยที่เรามีความเชื่อว่า พระศาสดาผู้ตั้งศาสนานั้นเข้าถึงสัจจธรรมแล้ว อย่างในพระพุทธศาสนาก็คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เราถือว่าท่านเข้าถึงสัจจธรรมแล้ว แล้วก็นำเอาสัจจธรรมที่ท่านเข้าถึงหรือรู้นั้นมาประกาศมาสั่งสอน ดังนั้น สิ่งที่ท่านนำมาประกาศมาสั่งสอนหรือคำสอนของท่าน ก็คือสิ่งที่ชี้บ่งไปหาสัจจธรรม เมื่อเราจะให้คนทั้งหลายในรุ่นต่อๆ ไปได้รู้ว่าสัจจธรรมที่พระพุทธเจ้าได้เข้าถึงนั้นเป็นอย่างไร เราก็เอาคำสอนของพระองค์ คือ พระพุทธพจน์ไปบอก ไปกล่าว ไปให้เขาอ่าน ไปเสนอให้เขาดู หน้าที่ของเราก็คือ ต้องพยายามรักษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศได้ตรัส ได้สั่งสอนไว้ให้ซื่อสัตย์ที่สุด ว่าพระองค์ได้สอนอะไรไว้อย่างไร เพราะฉะนั้น คำสั่งสอนของพระองค์ที่สืบต่อถ่ายทอดมาถึงเรามีเท่าไร หาหลักฐานมาได้เท่าไร ก็นำมาแสดงเท่านั้น และพยายามรักษาให้คงอยู่ต่อไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และตรงตามเดิมที่สุด การกระทำอย่างนี้เราเรียกว่า สังคายนา สังคายนา คือการรวบรวม ประมวลคำสอนของพระศาสดาไว้อย่างซื่อสัตย์ที่สุด ให้บริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่รู้หรือสืบทราบได้ว่า เป็นคำตรัสคำสอนของพระองค์แท้ๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านมา ก็อาจจะมีคำสอนข้างนอกเข้าไปปะปน หรือมีผู้สอดแทรกเอาการตีความที่ผิดๆ ใส่เข้าไป ก็จึงต้องมีการประชุมซักซ้อมชำระสะสางกัน แต่มาตอนหลังๆ นี้ มีเค้าว่าบางท่านเริ่มจะเข้าใจเรื่องนี้ผิด โดยเห็นไปว่า สังคายนานี้ หมายความว่า คำสอนในพระไตรปิฎก คงจะมีส่วนที่คลาดเคลื่อนผิดพลาดไปบ้าง เราจะต้องมาช่วยกันแก้ไขปรับปรุงคำสอนในพระไตรปิฎกเสียใหม่ อะไรทำนองนี้ นี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ในการสังคายนานั้น เราจะต้องพยายามตรวจสอบรักษาคำสอนเท่าที่พบเท่าที่หาหลักฐานได้ ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ให้ดีที่สุด ถ้าเราไปวินิจฉัยแล้ว ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและตัดคำสอนบางอย่างทิ้งไป ถ้าทำกันอย่างนี้ สิ่งที่บรรจุเข้าไปในพระไตรปิฎกจะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่จะกลายเป็นคำสอนของคณะบุคคลที่สังคายนาไป เราจะกลายเป็นผู้วินิจฉัยพระพุทธเจ้าไป และคำสอนของพระพุทธเจ้าแต่เดิมก็จะสูญหายไป ถ้าเข้าใจการสังคายนาเป็นการตัดเติม และเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ต่อไปนานเข้าหลายครั้งเข้า ในพระไตรปิฎกก็จะไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นของหลายหัวหลายมือที่ทำสังคายนากันมา และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า กลุ่มคนที่สังคายนานั้นจะกลายเป็นผู้ผูกขาดการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า และผูกขาดการวินิจฉัยด้วย เพราะอะไร เพราะว่าคนที่จะเกิดต่อมาภายหลังที่จะมาศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์นี้ยังจะมีอีกมากมาย วิธีการที่ซื่อสัตย์ก็คือว่า คำสอนเท่าที่มีอยู่ตกทอดมาถึงเราเท่าไร ก็พยายามรักษาไว้ให้ดีที่สุด เมื่อเราหยิบยื่นส่งต่อไปให้เขา เขาก็จะได้เห็นสิ่งนั้นเท่าที่เป็นมาอย่างนั้น หรือรักษากันมาได้เท่านั้น และเขาก็จะมีสิทธิที่จะพิจารณา ซึ่งเขาอาจจะมองเห็น และตีความต่างจากเราก็ได้ แต่ถ้าเราไปตีความเสียแล้วยุติเอาตามคำวินิจฉัยของเรา และทำการตัด เติม เปลี่ยนแปลงลงไป ตัวสิ่งเดิมที่มาถึงเราก็เลยไม่ไปถึงเขา แต่สิ่งที่ไปถึงเขาก็คือสิ่งที่เราตีความใส่ให้ใหม่ แล้วเราก็เป็นผู้ผูกขาดการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นผู้ผูกขาดการวินิจฉัยไป
ฉะนั้น ในการสังคายนานั้น หลักการจึงอยู่ที่การพยายามที่จะนำสิ่งนั้น เท่าที่สืบมา ให้สืบต่อไปอย่างบริสุทธิ์ ให้ได้หลักฐานที่เป็นตัวคำพูดของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด ไม่ไปแทรกแซงและไม่ไปวินิจฉัย ไม่ไปปิดกั้นปัญญาของผู้ที่จะเกิดมาภายหลัง แต่การตีความและวินิจฉัยก็มีวิธีการที่จะทำได้ คือ เมื่อเราเห็นเรื่องราวหรือข้อความส่วนใดในคัมภีร์ มีลักษณะที่ไม่น่าจะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราสงสัยว่าส่วนนี้เป็นไปได้ไหม ถ้าระแวงว่าอาจจะถูกดัดแปลงหรือเติมเข้ามา เราก็ทำบันทึก ทำหมายเหตุ ทำเชิงอรรถไว้ว่า ความเห็นของเราเป็นอย่างนี้ และในส่วนที่ตีความเราก็มีสิทธิที่จะพูดว่า มันน่าจะเป็นอย่างนี้โดยเหตุผลอย่างนี้ๆ คนต่อไปภายหน้ามาอ่าน เขาก็จะได้ความตามเป็นจริงว่า อ้อ ของที่ได้รับส่งทอดกันมาถึงเราเป็นอย่างนี้ ทัศนะของกลุ่มคนที่สังคายนาครั้งนั้นๆ ว่าไว้อย่างนี้ ซึ่งเขาอาจจะมีความเห็นต่างไป เขาก็มีสิทธิจะพูดได้อีก และเขาก็จะได้รับประโยชน์จากการตีความของเราด้วย อันนี้ก็เป็นวิธีที่ซื่อสัตย์ในการที่จะปฏิบัติต่อคำสอนในพระพุทธศาสนา ไม่เช่นนั้น ไม่นานเลย คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เหลือไปถึงคนรุ่นหลัง จะไม่อาจรู้ว่าเป็นคำสอนของใคร เพราะโดยการสังคายนาที่ไม่เข้าใจหลักการที่แท้จริง ของเดิมก็หมดไป ของใหม่ก็เข้ามาอยู่แทน เหลืออยู่แต่ชื่อหรือเปลือก ถ้าทำอย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นการกล่าวตู่ คือตู่คำสอนของพระพุทธเจ้าไป ปัจจุบันนี้ ยังมีผู้เข้าใจความหมายของการสังคายนาผิดพลาดไป ก็เลยนำมาพูดด้วยเป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมในการที่มนุษย์จะปฏิบัติต่อสัจจธรรม แต่นี่ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติต่อสัจจธรรมโดยตรง แต่เป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่รักษาไว้ซึ่งสัจจธรรม โดยเฉพาะในแนวทางของความเชื่อถือ หรือศาสนานั้นๆ โดยเฉพาะ นี้เป็นการพูดในประเด็นปลีกย่อยเกี่ยวกับเรื่องสัจจธรรม
จริยธรรมต่อสัจจธรรม หรือจริยธรรมต่อสิ่งที่รักษาไว้ซึ่งสัจจธรรม และต่อสิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นสัจจธรรมอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่าทีการแสดงออกเมื่อมีผู้อื่นมาติหรือชมหลักการหรือคำสอนที่เรานับถือว่าเป็นสัจจธรรม วิธีปฏิบัติในเรื่องนี้จะเห็นได้ใน พุทธดำรัสสอนพระภิกษุในการปฏิบัติตัว เมื่อมีผู้กล่าวติเตียนหรือยกย่องพระรัตนตรัย ดังความในพรหมชาลสูตร (ที.สี.๙/๑/๓) ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพวกอื่น กล่าวติเตียนเรา ติเตียนพระธรรม หรือติเตียนพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่พึงทำความอาฆาต โทมนัส แค้นใจในคนเหล่านั้น . . . ถ้าเธอทั้งหลายขุ่นเคือง น้อยใจ ในคนเหล่านั้น อันตรายก็จะมีแก่เธอทั้งหลายนี่แหละ . . . ถ้าเธอทั้งหลายขุ่นเคือง หรือน้อยใจในคนเหล่านั้น เธอทั้งหลายจะรู้ได้หรือว่า คนเหล่านั้นพูด (ถูกต้อง) ดีแล้ว หรือพูดไม่ดี (ไม่ถูกต้อง) . . . ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายก็พึงแก้ให้เห็นว่าไม่จริง ว่านั้นไม่จริงเพราะเหตุดังนี้ นั้นไม่แท้เพราะเหตุดังนี้ ข้อนี้ไม่มีในหมู่พวกเรา ข้อนั้นไม่เป็นจริงในหมู่พวกเรา
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพวกอื่น กล่าวชมเรา กล่าวชมพระธรรม กล่าวชมพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรทำความเพลิดเพลิน ดีใจ เหิมใจในคำชมนั้น . . . ถ้าเธอทั้งหลายเพลิดเพลิน ดีใจ เหิมใจ ในคำชมนั้น อันตรายก็จะมีแก่เธอทั้งหลายนั่นแหละ . . . ในคำที่เขากล่าวชมนั้น คำที่จริง เธอทั้งหลายก็ควรยอมรับ ให้เห็นตามเป็นจริงว่า ข้อนั้นจริงเพราะเหตุดังนี้ ข้อนั้นแท้เพราะเหตุดังนี้ ข้อนี้มีอยู่ในหมู่พวกเรา ข้อนี้เป็นจริงในหมู่พวกเรา”
อนึ่ง มีหลักการว่า ชาวพุทธในบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ควรจะศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนพัฒนาตนให้เป็นผู้มีความสามารถที่จะประกาศชี้แจงแสดงอธิบายหลักคำสอนให้ได้ผล เมื่อมีวาทะนอกรีตนอกรอย หรือคำสอนนอกพระธรรมวินัย ก็สามารถกำราบระงับได้ด้วยดี (เช่น ที.ม.๑๐/๑๐๒/๑๓๒) โดยเฉพาะเมื่อมีการกล่าวตู่ จ้วงจาบพระธรรมวินัย หรือมีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัย ก็เป็นหน้าที่โดยธรรมของชาวพุทธทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งท่านที่เป็นผู้นำ ซึ่งมีพระอรหันต์เป็นแบบอย่าง ที่จะต้องกระตือรือร้นออกมาชี้แจงแสดงคำสอนที่ถูกต้องและดำเนินการแก้ไข ไม่นิ่งเฉยดูดาย ดังกรณีที่พระมหากัสสปเถระปรารภคำพูดของพระสุภัททะ ที่จะเป็นอันตรายต่อพระธรรมวินัย แล้วชักชวนพระอรหันต์ทั้งหลายทำสังคายนาขึ้น ถ้าพระสงฆ์และชาวพุทธชั้นนำไม่เอาใจใส่ ป้องกันแก้ไขปัญหา และเหตุแห่งความเสื่อมของพระศาสนา พระธรรมวินัยก็จะไม่อาจเจริญมั่นคง หรือหลงเหลือมาจนปัจจุบันนี้
ทีนี้ ขอพูดย้อนกลับมาหาตัวสัจจธรรมและจริยธรรมเอง อีกครั้งหนึ่ง ดังได้บอกเมื่อกี้แล้วว่า โดยสาระที่แท้แล้ว สัจจธรรมกับจริยธรรมนั้นเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ออกมาจากแหล่งเดียวกัน จริยธรรมอิงอาศัยสัจจธรรม เป็นการนำเอา (ความรู้ใน) สัจจธรรมมาใช้ในทางที่จะเกิดคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ ในขั้นสุดท้าย จริยธรรมนั้นก็จะไปบรรจบกับสัจจธรรมอีกครั้งหนึ่ง ถ้าจริยธรรมบรรจบกับสัจจธรรมเมื่อไร ก็จะเกิดความสมบูรณ์ขึ้นเป็นจริยธรรมที่สมบูรณ์ ในขณะแห่งการรู้แจ้งสัจจธรรมอย่างสมบูรณ์ และก็เป็นความสมบูรณ์แห่งชีวิตของมนุษย์เองด้วย ซึ่งเราเรียกว่า เป็นการบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อมนุษย์เข้าถึงสัจจธรรมนั้น มนุษย์ก็รู้สัจจธรรม คือ มีปัญญาที่รู้ความจริง รู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติตามความเป็นจริง เมื่อรู้สัจจธรรม ก็ปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์ คือปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น ซึ่งเรียกว่าเป็นจริยธรรมดังได้กล่าวมาแล้ว ทีนี้ เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว เราก็แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ดับทุกข์ได้ มนุษย์ก็เข้าถึงจุดหมายที่เรียกว่าภาวะไร้ทุกข์หรือมีความสุขสมบูรณ์ ความสุขที่แท้จริงก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้จริยธรรมกับสัจจธรรมก็มาบรรจบกัน ณ จุดหมายที่มนุษย์ต้องการ ถ้าเราจะเรียกว่าความสุข มันก็เป็นความสุข ถ้าจะเรียกว่าอิสรภาพ มันก็เป็นอิสรภาพหรือวิมุตติ ถ้าจะเรียกว่าเป็นความสงบ มันก็เป็นสันติ ถ้าจะเรียกว่าเป็นความบริสุทธิ์ มันก็เป็นวิสุทธิ์ เป็นต้น คือจะเรียกว่าอะไรก็ได้หลายอย่าง แต่มันเป็นจุดบรรจบสูงสุดของชีวิตมนุษย์หรือคุณค่าที่มนุษย์จะพึงเข้าถึงได้
เป็นอันว่า สัจจธรรมกับจริยธรรมนั้นมาบรรจบกันครั้งสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง ตรงที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต ชีวิตที่สมบูรณ์ก็จึงเป็นที่บรรจบร่วมกันขององค์ประกอบสามอย่างนี้ คือ ปัญญาที่รู้สัจจธรรม แล้วก็จริยธรรมที่เป็นการปฏิบัติตามสัจจธรรมนั้นโดยถูกต้องสมบูรณ์ แล้วก็ความสุขหรือภาวะไร้ทุกข์ที่แก้ปัญหาได้ เนื่องจากการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ขอให้สังเกตว่า หลักการนี้ต่างจากมติของจริยศาสตร์ตะวันตก ในจริยศาสตร์ตะวันตก มีความเห็นเกี่ยวกับสิ่งดีงามสูงสุดหรือภาวะสมบูรณ์ ที่เรียกว่า the highest good นั้น แยกเป็น ๓ พวก และแต่ละพวกก็ยึดถือคนละอย่าง พวกหนึ่งว่า สิ่งดีงามสูงสุด คือความสุข อีกพวกหนึ่งว่าคุณธรรมหรือหน้าที่ อีกพวกหนึ่งว่าการพัฒนาเต็มบริบูรณ์แห่งศักยภาพ แต่ในพระพุทธศาสนา ท่านชี้ให้เห็นว่า ทั้งสามอย่างนี้ ในที่สุดก็ต้องมีพร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้ามันยังไม่มาบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแท้จริง เวลานั้นตราบนั้นเราถือว่า การรู้สัจจธรรมยังไม่สมบูรณ์ การปฏิบัติตามจริยธรรมยังไม่สมบูรณ์ และชีวิตของมนุษย์ก็ยังไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อไรมาบรรจบเป็นหนึ่ง สัจจธรรมปรากฏแก่ปัญญาโดยสมบูรณ์ จริยธรรมประพฤติถูกต้องตามกฎธรรมชาติ หรือตามสัจจธรรมโดยสมบูรณ์ ก็เกิดชีวิตที่สมบูรณ์ คือ ภาวะไร้ทุกข์เป็นความสุขที่เป็นจุดหมายของชีวิต และนี่ก็คือ จุดบรรจบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของความสมบูรณ์ ๓ ประการที่เนื่องอยู่ด้วยกัน คือ สัจจธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึง สัจจธรรมซึ่งสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว มาปรากฏแก่ปัญญาของมนุษย์ที่รู้แจ้งธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ จริยธรรมที่สมบูรณ์ คือ ความดีงามในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสังคมและธรรมชาติอย่างถูกต้อง ซึ่งมนุษย์พัฒนาขึ้นมาในการพยายามเข้าถึงสัจจธรรม และเกิดมีพรั่งพร้อมกลายเป็นการดำเนิน และปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์ขึ้นมา เมื่อมนุษย์เข้าถึงสัจจธรรมนั้น และชีวิตที่สมบูรณ์ ได้แก่ การที่มนุษย์ผู้มีปัญญารู้แจ้งความจริงโดยสมบูรณ์ และมีความดีงามในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องกับสัจจธรรมแล้วนั้น เข้าถึงภาวะไร้ปัญหาปลอดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ รวมสามอย่างเป็น ปัญญาที่สมบูรณ์ ความดีงามที่สมบูรณ์ และ อิสรภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลแห่งการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างสมบูรณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้น บุคคลที่ถือว่าสูงสุดในอุดมคติของพระพุทธศาสนา จึงมีคุณสมบัติสามประการนี้ ดังที่เราจะเห็นว่า พระพุทธเจ้ามีพระคุณสามประการ คือ
๑. ปัญญาคุณ ปัญญาที่รู้สัจจธรรม รู้ความจริงที่เป็นธรรมดา เมื่อรู้ความจริงสมบูรณ์แล้ว ก็มี
๒. กรุณาคุณ มีความดีงาม ทั้งคุณธรรมและจริยธรรมสมบูรณ์ จนกระทั่งตนเองไม่มีปัญหา คุณธรรมและจริยธรรมนั้นจึงแสดงออกไปภายนอก มีแต่ไปช่วยแก้ปัญหาให้แก่คนอื่น เรียกว่ากรุณา
๓. วิสุทธิคุณ ซึ่งท่านมักเรียกว่าวิมุตติ ได้แก่ ความเป็นอิสระของจิตใจ ความหลุดพ้น ความบริสุทธิ์ ปลอดพ้นสิ่งขุ่นมัวเศร้าหมอง เป็นความสุขสมบูรณ์ หรือภาวะไร้ทุกข์นั่นเอง
นี่คือคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ ซึ่งทำให้มนุษย์เป็นบุคคลในอุดมคติ โดยเป็นที่บรรจบรวมของสัจจธรรมและจริยธรรม โดยปรากฏผลแก่มนุษย์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์
อาตมาได้พูดมาในเรื่องของสัจจธรรมกับจริยธรรม เป็นข้อใหญ่บ้าง ข้อย่อยบ้าง มีเนื้อหาต่างๆ ไม่ได้บรรจบประสานต่อเนื่องกันโดยสมบูรณ์ เป็นแต่เพียงว่า บางอย่างก็พูดให้เห็นหลักการทั่วไป บางส่วนก็เอาประเด็นปลีกย่อยมาพูด เพื่อให้เห็นแง่ต่างๆ ที่ควรพิจารณา
บัดนี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอถือเอาเรื่องสัจจธรรมกับจริยธรรมนี้แหละมาเป็นคำอวยพรแก่ที่ประชุมนี้ ขออาราธนา คุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พรแก่ทุกท่าน ขอจงได้พัฒนาให้เกิดความเจริญของจริยธรรมอันมีปัญญาเป็นตัวนำ เพื่อเข้าถึงสัจจธรรม แล้วก็ทำให้เกิดความสัมฤทธิ์ในจุดหมายแห่งชีวิตของมนุษย์ ที่เรียกว่าเป็นความสุข เป็นภาวะไร้ทุกข์ ความเป็นอิสรภาพโดยสมบูรณ์ โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ