สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วย
สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน

ความคิดเห็น และเหตุผลต่อไปนี้ ประมวล

  • จากคำถามคำตอบ ต่อท้ายการบรรยายเรื่อง ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข ที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๗ บ้าง
  • จากคำบรรยายในโครงการอบรมบัณฑิตอาสาสมัครสายประชาบาล ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๗ บ้าง
  • เขียนเพิ่มเติมบ้าง

ทั้งนี้ ได้จัดทำไว้เพื่อขยายความบางตอน ในคำบรรยายที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล นำมาพิมพ์แยกไว้ต่างหากในที่นี้ เพราะแต่ละบันทึกมีเนื้อหาจบบริบูรณ์ในตัว

บันทึกที่ ๑
ปัญหาเกี่ยวกับ
คุณค่าของสถาบันสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน
(พิจารณาในแง่การศึกษา)

เสียงว่า พระสงฆ์เอาเปรียบสังคม

ปัจจุบัน มีผู้วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์กันมาก คำวิจารณ์จำนวนมากเป็นไปในรูปการติเตียนและโจมตี มีไม่น้อยที่กล่าวทำนองว่า พระสงฆ์เอาเปรียบสังคม ที่ถึงกับว่าควรทำลายสถาบันพระพุทธศาสนาลงเสียทั้งหมดก็มี

จึงเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันไว้บ้าง เพื่อช่วยให้ปฏิบัติการต่างๆ มีพื้นฐานทางสติปัญญามากขึ้น รู้จักแก้ปัญหากันด้วยความเข้าใจปัญหามากขึ้น และถ้าหากจะช่วยให้เกิดนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่แสวงปัญญา พยายามศึกษาค้นคว้าให้ถึงตัวแท้ตัวจริงของสิ่งทั้งหลายอย่างจริงจัง ไม่วินิจฉัยสิ่งต่างๆ เพียงด้วยภาพที่มองเห็นแค่พื้นผิว อีกด้วย ก็จะเป็นกุศลยิ่งขึ้น

เมื่อมองอย่างที่เห็นๆ กัน หรือเรียกได้ว่ามองอย่างผิวเผิน จะได้ภาพที่ชวนให้พูดว่า มีความเสื่อมโทรมหลายอย่างในสถาบันสงฆ์ พระสงฆ์ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ซ้ำร้ายบางทียังทำการและมีพฤติการณ์ที่เป็นโทษแก่สังคม ชักนำประชาชนไปในทางไขว้เขวอีกด้วย

คำตำหนิเหล่านี้มีส่วนที่จะต้องยอมรับอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าเป็นคนใฝ่แสวงปัญญา เป็นนักศึกษาแท้จริง มองให้ลึกซึ้งลงไปอีก จะเห็นว่า ทั้งที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมากเช่นนี้ สถาบันสงฆ์ก็ยังมีคุณค่าต่อสังคมอย่างมากมาย

ในที่นี้จะชี้เสนอสักข้อหนึ่ง คือในแง่การศึกษา ซึ่งคุณค่าด้านนี้เพียงอย่างเดียว ก็คุ้มกับการที่จะธำรงรักษาสถาบันสงฆ์เอาไว้ ทั้งที่ยังมีความเสื่อมโทรมอยู่เช่นนั้น

อนึ่ง นอกจากเห็นคุณค่าของสถาบันสงฆ์ที่แฝงซ่อนอยู่ในส่วนลึกแล้ว ยังจะช่วยให้มองเห็นปัญหาและสาเหตุของปัญหาของสังคมอย่างอื่นๆ ที่ซ้อนกันอยู่อีกด้วย จะลองชี้เสนอตามลำดับดังนี้

๑. บทบาทในด้านการศึกษาที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นเพียงการสืบต่อประเพณีในสังคมไทยเดิมเท่านั้น มิใช่การริเริ่มขึ้นใหม่ หรือการกระทำด้วยความตระหนักในคุณค่าแต่อย่างใด ประโยชน์ที่สังคมได้รับจึงเป็นเพียงผลได้จากการปล่อยปละละเลยและการสักว่าทำ

ถ้าจะเข้าใจ ก็ต้องหันกลับไปพิจารณาบทบาทด้านนี้ของคณะสงฆ์ในสังคมไทยเดิมสักเล็กน้อย

ในสังคมไทยแบบเดิม เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยเฉพาะในด้านการศึกษา

ชุมชนหนึ่งๆ มีลักษณะการปฏิบัติภารกิจที่ครบจบสิ้นในตัว วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน และเป็นสมบัติของทุกคนในชุมชน จึงทำหน้าที่ให้การศึกษาตลอดชีวิตแก่สมาชิกทุกคนของชุมชนนั้น อยู่ชุมชนไหน ก็ไปเรียน ไปปรึกษาไต่ถามฟังธรรมที่วัดของชุมชนนั้น

โดยเฉพาะการศึกษาที่เป็นแบบแผนสักหน่อย ก็คือการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนของชุมชนนั้น ทุกรุ่น ทุกฐานะ ทุกประเภท ทั้งที่มั่งมีและยากจน ซึ่งหมุนเวียนเข้าไปรับการศึกษาในรูปของศิษย์วัดบ้าง ชั้นสูงขึ้นไปเป็นสามเณรบ้าง เป็นพระภิกษุบ้าง ถึงโอกาสอันควรแก่ตนหรือตามบุญบารมีของตนแล้ว (เรียกอย่างสมัยใหม่ว่า สำเร็จการศึกษาระดับต่างๆ ตามควรแก่อัตภาพ ตามกำลังความสามารถของตนแล้ว) ก็ออกมาประกอบกิจหน้าที่ต่างๆ อยู่ในชุมชนนั้นต่อไป

รวมทั้งส่วนน้อยที่บวชอยู่ต่อไปจนกลายเป็นผู้รับผิดชอบในการให้การศึกษาแก่อนุชนรุ่นต่อๆ มาของชุมชนนั้นด้วย

การศึกษาระบบวัดที่ถูกเขาทิ้ง ทำอะไรอยู่ในสังคมไทย

ลักษณะบางอย่างของการศึกษาในระบบสังคมไทยเดิม หรือระบบวัดนี้ ที่ควรสังเกต คือ

(๑) ให้ความเสมอภาคแห่งโอกาสในทางการศึกษามากพอสมควร

(๒) ผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว โดยทั่วไปจะอยู่รับใช้สนองความต้องการของชุมชนนั้นเอง

(๓) ผู้อยู่ในวัด ครองเพศเป็นพระภิกษุสามเณรนั้น แยกโดยกิจกรรมทางการศึกษา เป็น ๒ ประเภท คือ ผู้สอน กับผู้เรียน หรือผู้ให้การศึกษา กับผู้รับการศึกษา

ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ก็คือผู้เรียน หรือผู้รับการศึกษา พระภิกษุสามเณรที่เป็นผู้เรียน จะต้องถูกมองในแง่ที่เป็น สมาชิกของชุมชนผู้เข้ามาเป็นภาระของสถาบันสงฆ์ เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์ เพื่อเอาประโยชน์ไปให้แก่ชุมชน ไม่ใช่มองในแง่ของผู้ที่ทำบทบาทของสถาบันสงฆ์ต่อชุมชน และสภาพเช่นนี้ ในสมัยปัจจุบัน ก็ยังคงอยู่อย่างเดิม

ความเข้าใจข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องย้ำไว้ เมื่อมองเข้ามาในวัด นึกถึงภาพของภิกษุสามเณร จะต้องนึกแยกอย่างนี้1

ถ้าจะเทียบ ก็คล้ายกับมองเข้าไปในโรงเรียน สมาชิกของโรงเรียนมี ๒ ประเภท ส่วนน้อยเป็นครู และส่วนใหญ่เป็น นักเรียน

นักเรียน คือสมาชิกของชุมชนที่เข้ามารับบริการจากโรงเรียน ชุมชนจะเรียกร้องบริการจากนักเรียนในนามของ โรงเรียนไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว นักเรียนคือคนของชุมชนเองที่ไปรับบริการจากโรงเรียน

ข้อแตกต่างระหว่างวัดกับโรงเรียน หรือพระภิกษุสามเณร กับครูและนักเรียน ในแง่นี้ มีเพียงว่า บทบาทในฐานะผู้สอนกับผู้เรียน ของพระภิกษุสามเณร ซับซ้อนกว่าของครูกับนักเรียน

ซับซ้อนกว่าอย่างไร คือ ภายในวัด บทบาทของผู้สอนกับผู้เรียน มีโอกาสอยู่ในตัวบุคคลผู้เดียวได้มาก บุคคลผู้เดียวอาจเป็นทั้งผู้เรียน (ในชั้นสูงขึ้นไป) และเป็นผู้สอน (ในชั้นต่ำลงมา) เป็นทำนองระบบพี่สอนน้อง

เมื่อการศึกษาของไทยถูกยกออกไปจากวัด

๒. เมื่อประเทศไทยรับอารยธรรมตะวันตก และได้เริ่มจัดการศึกษาตามระบบใหม่อย่างตะวันตกแล้ว แม้ระยะแรกจะเป็นงานร่วมกันระหว่างรัฐกับสถาบันสงฆ์ แต่ต่อมาไม่นาน รัฐก็เข้ารับผิดชอบจัดการศึกษาของสังคมไทยเองโดยสิ้นเชิง บทบาทในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในรูปที่เป็นระบบถูกยกออกไปจากวัด และแยกขาดจากวัด

พระสงฆ์ซึ่งประสบปัญหาในการปรับตัวเพื่อให้พร้อมที่จะเป็นผู้ให้การศึกษาในระบบใหม่ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกอยู่แล้ว เมื่อไม่ต้องเป็นภาระที่จะต้องจัดทำ ไม่ช้าไม่นานก็หมดความสนใจในทางการศึกษา และหมดประสิทธิภาพในทางการศึกษาไปด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนลดน้อยลง วิถีหรือช่องทางของความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป หรือเปลี่ยนจุดสนใจ พร้อมกับความคลาดเคลื่อนในด้านบทบาท ตลอดจนความผันแปรของภาพและฐานะของพระสงฆ์ในสายตาของประชาชน

สังคมทันสมัย การศึกษาเจริญแบบใหม่ เกิดอะไรที่วิปลาส

ยิ่งสังคมทันสมัยขึ้น การศึกษา(เรียกกันว่า)เจริญขึ้น ความวิปลาสคลาดเคลื่อนก็ยิ่งชัดเจนขึ้น

ในฝ่ายรัฐ เมื่อแยกเอาการศึกษามาจัดทำโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็มุ่งที่จะอำนวยการศึกษาให้ทั่วถึงทุกท้องถิ่นใกล้ไกล และพยายามเข้าถึงจุดหมายในการให้ความเสมอภาคแห่งโอกาสในการได้รับการศึกษาแก่ประชาชนทั้งปวง ตามหลักการข้อสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาช้านาน ผลได้ปรากฏดังนี้

ก. รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาแม้เพียงขั้นมูลฐานระดับประถมศึกษา หรือแม้เพียงอ่านออกเขียนได้ให้ทั่วถึงทุกท้องถิ่น โดยเฉพาะในถิ่นกันดารห่างไกลและชายแดน จึงเป็นอันตัดประชาชนถิ่นนั้นๆ จากระบบการศึกษา และตัดโอกาสในการที่จะได้รับการศึกษาโดยสิ้นเชิง

ข. ในถิ่นที่สามารถจัดการศึกษาในขั้นต้นๆ ได้ เช่น ประถมศึกษา เป็นต้น การศึกษาระดับนั้นๆ ก็กลายเป็นทางไต่ไปสู่การศึกษาชั้นสูงขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ในเมืองและในกรุงตามลำดับ แม้ว่าเด็กทุกคนในถิ่นนั้นจะมีโอกาสเรียนจบการศึกษาขั้นต้นเหมือนกัน แต่ผลต่อไป มีดังนี้

(๑) เด็กที่พ่อแม่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้น จึงจะมีโอกาสส่งไปเรียนต่อชั้นสูงขึ้นไปในเมืองและในกรุง

(๒) เด็กที่พ่อแม่ยากจน แม้จะมีสมองดี จบประถม ๔ แล้ว ก็ต้องกลับไปทำไร่ไถนากับพ่อแม่ต่อไป เว้นแต่สมองดีจริงๆ และมีระบบช่วยผ่อนเบาเช่นให้ทุนการศึกษาเป็นต้น จึงช่วยได้บ้าง (แต่น้อยอย่างยิ่ง) ส่วนที่ไปทำไร่ไถนา บางทีไม่นานก็ลืมหนังสือหมด

(๓) เด็กที่ได้เข้าไปเรียนต่อในเมืองและในกรุง เมื่อออกมาแล้ว ก็ออกจากชุมชนนั้นไปเลย มุ่งหน้าไปรับราชการหรือประกอบอาชีพชั้นสูงในเมืองหลวง ไม่กลับมาเหลียวแลรับผิดชอบชุมชนของตนอีก หรือแม้ถ้ามีเหตุให้ต้องกลับมาทำงานในถิ่นนั้นอีก ก็มักเข้ากับท้องถิ่นนั้นไม่ได้ดี เพราะการศึกษาในระหว่างนั้นได้ทำให้เขากลายเป็นคนในสังคมอื่นไปแล้ว

การศึกษาขึ้นไประดับสูง คนยิ่งเสียความเสมอภาค

ค. การศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย เป็นที่มุ่งหมายของทุกคนที่แสวงความก้าวหน้าในการศึกษาและในชีวิต เพราะหมายถึงฐานะทางเศรษฐกิจและทางสังคมทุกประการ แต่เมื่อโอกาสในการได้รับการศึกษาเปิดกว้างแก่ผู้มีฐานะเศรษฐกิจดี และผู้อยู่ในเมืองหรือในกรุง และปิดหรือแคบสำหรับผู้ยากจนและอยู่ในถิ่นห่างไกล จำนวนผู้มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน จึงปรากฏเป็นสถิติที่ขัดตรงข้ามกับสถิติประชากรของประเทศ

ที่ว่านี้คือ ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในชนบท และเป็นชาวไร่ชาวนาประมาณร้อยละ ๗๕-๘๐ แต่สถิตินิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีลูกชาวไร่ชาวนาอยู่ไม่เกินร้อยละ ๖ นิสิตนักศึกษาส่วนมากกลับเป็นคนในเมืองและอยู่ในตระกูลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี

โอกาสในการศึกษา ย่อมหมายถึงโอกาสแห่งฐานะในสังคมด้วย เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้ คนมีฐานะเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว มีฐานะทางสังคมดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ก็จะยิ่งกลายเป็นผู้ผูกขาดการศึกษาขั้นสูง และกุมฐานะทางสังคมมากยิ่งขึ้น คนชนบทยากจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ก็จะยิ่งหมดโอกาสลงไปโดยลำดับ และการลงทุนของรัฐทางด้านการศึกษา ก็กลายเป็นการลงทุนเพื่อคนที่มีโอกาสเหนือกว่าและได้เปรียบอยู่แล้ว

ผลเสียที่เกิดจากผลที่ปรากฏเหล่านั้น นอกจากในด้านที่เป็นเรื่องของคณะสงฆ์โดยตรงแล้ว ยังมีดังนี้

(๑) ในท้องถิ่นกันดารห่างไกล ที่รัฐยังให้การศึกษาไม่ถึง เมื่อรัฐแยกเอาการศึกษามาจัดทำเองสิ้นเชิงแล้ว การศึกษาในระบบเก่า ทั้งไม่ได้รับการเอาใจใส่ด้วย ทั้งไม่รู้สึกว่าเป็นการศึกษาด้วย ก็เลยพลอยเสื่อมลงไปด้วย หรืออย่างน้อยก็ไม่อำนวยประโยชน์ที่ควรจะได้ เป็นการเสียสองชั้น

(๒) การศึกษากลายเป็นเครื่องมือแยกคนออกจากชุมชน โดยทำให้คนมีโอกาสดีกว่า ถูกแยกหรือแยกตัวออกมาจากชุมชนนั้นๆ กลายเป็นสิ่งที่ไม่สนองความต้องการของสังคม ทั้งในแง่ผลผลิต คือคน (พอจะมีความสามารถ ก็ออกจากชุมชนไปเสีย) และในแง่เนื้อหา (เช่น ถึงกลับมาอยู่ชุมชนนั้น ก็มักเข้ากับถิ่นไม่ค่อยได้)

การศึกษาในชุมชนนั้น ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชนเอง ไม่ได้ผลิตคนมีความสามารถเอาไว้ช่วยปรับปรุงชุมชน

เมื่อคนข้างในที่พอจะช่วยปรับปรุงชุมชนได้ ออกไปหมด ชุมชนนั้นก็อยู่ในสภาพที่ถูกทอดทิ้ง ให้ดิ้นรนต่อสู้ไปตามลำพัง และจะกลับยิ่งอ่อนเปลี้ยลง เพราะทรัพยากรคนถูกขุดเอาไปใช้ที่อื่นหมด

ประชาธิปไตยมา คนจนยิ่งด้อยโอกาสในการศึกษา

(๓) การศึกษากลายเป็นเครื่องมือแบ่งแยกชนชั้นของคนให้ห่างกันยิ่งขึ้น กลายเป็นว่า ตั้งแต่เรามีระบบประชาธิปไตยมา คนจนยิ่งมีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยลงโดยลำดับ และทำให้คนมีฐานะดี ได้รับการศึกษามากขึ้น

ระบบประชาธิปไตยเท่าที่เป็นมา เลยดูเหมือนว่าจะทำให้คนแบ่งแยกชนชั้นมากขึ้น ทำให้คนมั่งมีห่างคนจนมากยิ่งขึ้น ช่องว่างห่างไกลกันมากขึ้น ทั้งที่ในสังคมเดิม จะเป็นสังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือศักดินาก็ตาม คนยังมีโอกาสได้รับการศึกษาเท่าเทียมกันมากกว่า

ที่กล่าวมานี้ มิใช่หมายความว่าระบบการศึกษาอย่างเดียวที่ทำให้เกิดผลเสียเหล่านี้ แต่ระบบทางสังคมอย่างอื่นๆ ก็มีส่วนด้วย แต่ในที่นี้จะพูดปัญหาเกี่ยวกับสถาบันสงฆ์ จึงขอข้ามเรื่องนั้นไปก่อน

๓. ในฝ่ายสถาบันสงฆ์ เมื่อรัฐแยกเอาการศึกษาสำหรับประชาชนไปจัดดำเนินการเองฝ่ายเดียวแล้ว การศึกษาในวัดและสำหรับพระสงฆ์ ก็ถูกปล่อยขาดไปให้เป็นเรื่องของสถาบันสงฆ์จัดดำเนินการโดยลำพัง ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ และไม่จัดเข้าเป็นส่วนใดในโครงการหรือแผนการศึกษาใดๆ ของรัฐ เป็นเพียงการสืบต่อสิ่งที่มีมาตามประเพณี

ในเมื่อเป็นเพียงการสืบต่อประเพณี ก็ย่อมกลายเป็นสิ่งเลื่อนลอย และอ่อนกำลังลงโดยลำดับ เพราะเป็นการคงอยู่ที่เดิมในเมื่อสังคมได้เคลื่อนจากไปแล้ว ไม่สัมพันธ์กับสภาพชีวิตจริงในสังคมขณะนั้น ไม่มีพลังจูงความสนใจ และไม่อยู่ในวงความสนใจของคนส่วนใหญ่อีกต่อไป

แต่ทั้งที่มีความหมายน้อยสำหรับสังคมส่วนใหญ่เช่นนี้ อาศัยบทบาทตามประเพณีที่ยังคงอยู่ และสืบต่อไว้อย่างเป็นไปเอง สถาบันสงฆ์ก็ยังมีคุณค่าอย่างสำคัญต่อสังคมปัจจุบัน โดยมีข้อควรสังเกต ดังนี้

(๑) ในสังคมเดิม คนทุกระดับฐานะและความสามารถ เข้ามาสู่สถาบันสงฆ์คือวัดในชุมชนนั้นๆ ผู้มีความสามารถดี ก็กลายเป็นผู้นำช่วยชุมชนนั้นได้

แต่ในระบบสังคมใหม่ คนมีโอกาสดี มีความสามารถดี แยกตัวจากชุมชนนั้นไปเสีย เหลือแต่ผู้ด้อยฐานะเข้ามา ถึงแม้บางคนจะมีความสามารถ แต่ก็เข้ามาสู่ระบบที่รัฐไม่ใส่ใจเสียแล้ว สถาบันสงฆ์ของชุมชนนั้นจึงไม่มีสภาพดีไป กว่าตัวชุมชนนั้นเองเท่าใด

ในกรณีนี้ ย่อมไม่อาจหวังให้สถาบันสงฆ์ช่วยเหลืออะไรสังคมได้มาก แต่ควรกล่าวว่าถูกทอดทิ้งให้เผชิญชะตากรรมร่วมอยู่กับชุมชนนั้นเองมากกว่า

ผู้ที่ควรจะช่วยชุมชนนั้นได้ คือผู้มีโอกาสมีความสามารถดีกว่า นอกจากไม่เข้าสู่สถาบันสงฆ์แล้ว ยังออกจากชุมชนนั้นไป และไม่กลับเข้ามาเสียอีก

คนที่ได้รับการศึกษาดีทั้งหลาย ทั้งที่ออกมาจากชุมชนนั้นเอง และที่อยู่ในสังคมโดยทั่วไปต่างหาก ที่ควรถูกกล่าวหาว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคมของตน และควรเข้าไปช่วยชุมชนนั้นให้มองเห็นทางปรับปรุงตัว

ทั้งนี้ อาจเริ่มด้วยการไปช่วยให้สถาบันสงฆ์เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อช่วยแนะนำแก่ชุมชนนั้นต่อไป ก็ได้

(๒) เมื่อคนมีโอกาสเหนือกว่า แยกตัวออกจากชุมชน ไปศึกษาหาความก้าวหน้าในเมืองและในกรุงแล้ว คนที่ไม่มีโอกาส เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ยากจน ก็ถูกทอดทิ้งอยู่ในชุมชนนั้น กลับไปทำไร่ไถนา อย่างดีอาศัยประเพณีเก่าที่สืบต่อกันมาเองนั้น ก็ไปวัด หรือเด็กในท้องถิ่น ห่างไกลกันดาร ไม่ได้เล่าเรียนเลย ก็เหมือนกัน ก็อาจจะไปวัด พอให้ได้มีโอกาสศึกษาบ้างเล็กๆ น้อยๆ พอเห็นทางก้าวหน้าหรือเปลี่ยนแปลงในชีวิตบ้าง

ลูกคนมี ออกจากวัดและชุมชนนั้นไป ลูกคนจน ก็เข้าวัด วัดยังเป็นช่องทางมองเห็นความหวังได้บ้าง และเด็ก ยากจนที่เข้าวัดนั้น บางทีก็ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะวัดมีการติดต่อถึงกัน พระในเมืองในกรุงก็ชาวชนบทเหมือนกัน เมื่อหัวดีพอจะเรียนได้ สมภารวัดบ้านนอกก็อาจฝากเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ มีทางเจริญก้าวหน้าในชีวิต และใช้สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป

สภาพสถาบันสงฆ์ บอกสภาพชนบทไทย
สถาบันสงฆ์ช่วยชาวชนบทและคนยากจน ให้มีโอกาสในการศึกษา

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแง่นี้ ได้ทำให้สถาบันสงฆ์ปัจจุบันมีสภาพอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ซึ่งแปลกไปจากสมัยก่อน

วัดในสมัยก่อน มีลูกเจ้านาย ขุนนาง เศรษฐี ลูกคนสามัญ อยู่รวมกันมาก จะสำรวจได้ง่ายๆ จากชื่อสมภารวัดต่างๆ เมื่อไม่นานมานี้

แต่เดี๋ยวนี้ ลูกเจ้านาย ลูกขุนนาง ลูกคหบดี เกือบไม่มีแล้ว มีก็บวช ๓ เดือนเป็นอย่างมาก เหลือใคร ก็เหลือแต่ลูกชาวไร่ชาวนาในชนบท ดูง่ายๆ ลองไปสำรวจวัดทุกวัดในกรุงเทพฯ

ปัจจุบันนี้ ใครไม่รู้จักสถาบันสงฆ์ ก็ไม่รู้จักชนบทไทย ถ้านับพระที่บวชนานเกินกว่าพรรษาขึ้นไป จะเป็นพระจากชนบท ๙๐% แล้วเป็นลูกชาวไร่ชาวนาทั้งนั้น ในด้านการศึกษาก็เหมือนกัน จะเป็นนักธรรมตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไป (ชั้นตรีมีพระนวกะบวช ๓ เดือนปนมาก) ก็ตาม บาลีก็ตาม ตลอดจนมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ตาม ๙๐ กว่าเปอร์เซนต์เป็นพระชาวชนบทและเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนา2 ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับสถิติการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง หรือของคฤหัสถ์

นี่หมายความว่า การศึกษาของพระ ทั้งที่ถูกปล่อยปละละเลย เหลือมาตามประเพณีนี้เอง ก็ได้ช่วยกู้หรือค้ำจุนสังคมไว้ ด้วยการทำหน้าที่สำคัญเกินกว่าที่จะคาดคิดกัน คือการช่วยแก้ปัญหาสำคัญที่ระบบการศึกษาของรัฐเท่าที่ผ่านมาได้สร้างขึ้นไว้แก่สังคมไทย ด้วยการอำนวยโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่ชาวนาและชาวชนบทที่ยากจน ช่วยให้มีความเสมอภาคแห่งโอกาสในการได้รับการศึกษา ในขณะที่ระบบการศึกษาของบ้านเมืองดูเหมือนจะ กำลังทำลายความเสมอภาคนี้ลงทุกวันๆ แม้โดยไม่เจตนา

ถ้าไม่มีวัด ชาวชนบทและคนยากจนมากมายเท่าใด จะไม่มีโอกาสได้เล่าเรียน วัดในกรุงเทพฯ นอกจากให้โอกาสในการศึกษาแก่ชาวชนบทในเพศพระภิกษุสามเณรแล้ว ยังเป็นที่พักพิงของเด็กชนบทให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนศึกษากันอีกไม่น้อย

พระเณรเรียนที่มหาจุฬาฯ มาจากชนบทร้อยละ ๙๙
นิสิต นศ. ในมหาวิทยาลัยคฤหัสถ์ มาจากชนบทไม่ถึงร้อยละ ๙

ถ้าสำรวจสถิตินิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ว่าเป็นลูกชาวนาไม่ถึง ๖ เปอร์เซนต์นั้น3 ในจำนวนนี้คงจะเป็นผู้ที่วัดช่วยให้โอกาสอยู่หลายส่วนทีเดียว นอกจากให้โอกาสโดยตรงแล้ว ศิษย์วัดเหล่านี้ สำเร็จการศึกษาไปแล้ว มีฐานะทางสังคมดีขึ้นมา ยังช่วยญาติพี่น้องต่างจังหวัดเข้ามาเล่าเรียนต่อๆ ไปอีก ตระกูลผู้มีฐานะดีในกรุงปัจจุบันไม่น้อยได้สืบมาในรูปนี้

ถ้าวัดไม่ได้ทำบทบาทนี้ไว้ การศึกษาจะถูกจำกัดอยู่ในวงคนกรุงและผู้มีฐานะเศรษฐกิจดีมากกว่านี้อีกเท่าใด การผูกขาดของฝ่ายหนึ่ง และความไร้ที่หวังของอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมหมายถึงการแตกแยกของสังคมด้วยอย่างแน่นอน

๔. เมื่อรัฐแยกเอาการศึกษาออกไปดำเนินการเองฝ่ายเดียวต่างหาก ตัดขาดจากสถาบันสงฆ์แล้ว ในเวลาที่พูดว่าดำเนินการศึกษาของรัฐก็ดี ให้การศึกษาแก่ประชาชนก็ดี เหมือนว่าจะมีความรู้สึกกันพระสงฆ์ออกไว้ต่างหาก หรือยกเว้นสถาบันสงฆ์เสมอไป

เมื่อรัฐปล่อยการศึกษาของพระสงฆ์ให้เป็นไปตามลำพัง ไม่รับผิดชอบด้วยแล้ว ก็เท่ากับตัดพระภิกษุสามเณรจำนวน ๓ แสนรูป ออกจากระบบการศึกษาของรัฐไปด้วย ทำนองยกขึ้นเป็นพลเมืองพิเศษ แล้วรัฐก็ตั้งใจทุ่มเททุนและกำลังงานให้แก่ระบบการศึกษาที่เรียกว่าเป็นของรัฐไปฝ่ายเดียว

คนมี เข้าเรียนเป็นนิสิต นศ. ในมหาวิทยาลัย รัฐให้ปีละ ๘๐๐ ล้าน
คนจนบ้านนอก เข้าเรียนเป็นพระเณรในวัด รัฐให้ปีละ ๒ ล้าน

แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ได้รับการศึกษาตามระบบของรัฐ โดยเฉพาะในระดับสูงๆ ก็คือ ผู้มีโอกาสเหนือกว่า และได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว การลงทุนของรัฐจึงเป็นการระดมความช่วยเหลือให้แก่ผู้ได้เปรียบ ให้ได้เปรียบยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะที่จะเห็นง่ายๆ คือระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาทั้งหมด ๗๒,๕๐๑ คน รัฐลงทุนให้การศึกษาด้วยงบประมาณ (พ.ศ. ๒๕๑๖) เป็นเงิน ๘๖๑,๙๐๗,๙๐๐.๐๐ บาท โดยเฉลี่ย รัฐใช้เงินผลิตบัณฑิตชั้นปริญญาตรีหัวละประมาณ ๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท4

หันมาดูการศึกษาฝ่ายสถาบันสงฆ์บ้าง ปัจจุบันสถาบันสงฆ์มีพระภิกษุสามเณรประมาณ ๓ แสนรูป ได้กล่าวแล้วว่าจะต้องมองภาพพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ ในฐานะประชาชนที่เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์

ถ้าแยกจำนวน ๓ แสนนี้ออกดู จะเห็นชัดขึ้น ใน ๓ แสนรูปนั้น คิดคร่าวๆ เป็นพระนวกะบวชตามประเพณี ๓ เดือนในพรรษาประมาณ ๑ แสนรูป จัดเป็นผู้เข้าไปรับบริการจากสถาบันสงฆ์ทั้งหมด จากนั้นเป็นสามเณร ๑ แสนรูป

แน่นอนว่า สามเณร ๑ แสนรูปนั้น ทั้งโดยวัยและภาวะ ต้องเป็นนักเรียน เป็นผู้ไปรับประโยชน์ ใช้บริการของสถาบันสงฆ์บ้าง เป็นผู้เตรียมตัวทำบทบาทต่อสังคมบ้าง เราจะไปหวังให้สามเณรเหล่านี้ทำบทบาทอะไรในฐานะบทบาทของพระสงฆ์ต่อชุมชน ย่อมไม่ได้

พระที่ทำหน้าที่ต่อสามเณร ๑ แสนรูป และต่อพระนวกะ ๑ แสนรูปนี้ ก็คือให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำบริการสังคมอยู่แล้ว เป็นภาระหนักพอสมควร

ยังเหลืออีก ๑ แสนรูป เป็นพระหนุ่มๆ วัยเรียนอายุสัก ๒๑-๒๘ ปี กำลังเล่าเรียนอยู่อีกมากมาย อีกส่วนหนึ่งเป็นพระทำงาน เป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะผู้ปกครองบ้าง เป็นครูบ้าง บางส่วนที่ไม่ได้ทำงานบวชอาศัยวัด ก็มีบ้าง หรือที่เป็นคนแก่ไปไม่ไหว มาบวชเฝ้าวัดอยู่ ก็มี

โดยเฉพาะลักษณะพิเศษของสถาบันสงฆ์ ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ปัจจุบันนี้ มีอัตราส่วนไม่สมดุลกันระหว่างพระผู้สอนกับพระผู้เรียน คือพระผู้เรียนหรือรับการฝึกมีอัตราส่วนสูงเกินกว่าพระผู้สอนและพระทำงานอย่างมากมาย

มองดูเหตุผลเพียงแค่นี้ก็จะเห็นว่า เพียงพระสงฆ์ที่จะทำบทบาทในนามของสถาบันสงฆ์ จะให้บริการแก่ประชาชนที่มารับบริการในรูปของพระภิกษุสามเณรอย่างเดียว ก็หนักมากอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การที่อัตราส่วนระหว่างผู้สอนและผู้เรียนไม่สมดุลกันนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างอื่นๆ เกี่ยวกับความประพฤติของพระภิกษุสามเณรเป็นต้นอีกด้วย ซึ่งจะต้องถือว่า ประชาชนที่เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์ เข้ามาสร้างปัญหาให้แก่สถาบันสงฆ์ ในขณะที่สถาบันสงฆ์เองอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ย เพราะขาดแคลนกำลังบุคคลและมีระบบการศึกษาที่ถูกปล่อยปละละเลย เป็นต้น

นอกจากนั้น ควรสังเกตด้วยว่า จำนวนประชาชนที่บวชเข้ามารับบริการ เป็นสามเณรบ้าง เป็นภิกษุบ้าง กับจำนวนที่รับบริการแล้ว (บางทียังไม่ได้ทำอะไรให้สถาบันสงฆ์เลย) ลาสิกขาออกไปทำงานให้แก่รัฐนั้น มีการหมุนเวียนปีละจำนวนมากมาย

การศึกษาของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดนี้ ในเมื่อรัฐไม่ถือเป็นการศึกษาของรัฐแล้ว ก็หาทางช่วยเหลือในแง่อื่น โดยถือว่าเป็นบริการสังคมอย่างหนึ่ง ในหมวดสาธารณูปการ แล้วส่งงบประมาณมาอุดหนุน

สำหรับสถาบันสงฆ์ที่มีพระภิกษุสามเณร ๓ แสนรูป เป็นนักเรียนอยู่สักสองแสนรูปนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ รัฐให้งบประมาณราว ๑ ล้าน ๕ แสนบาท มาเมื่อ ๔-๕ ปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็นปีละราว ๒ ล้าน ๕ แสนบาท สำนักเรียนส่วนมากได้รับงบประมาณช่วยปีละ ๑๐๐ ถึง ๒๐๐ บาท สำนักชั้นพิเศษในกรุงฯ ได้รับปีละ ๕๐๐ บาท มีที่ได้เกิน ๕๐๐ บาทอยู่ ๒๐ แห่ง สูงสุดก็ ๑,๔๕๐ บาท (มีแห่งเดียว)

ไปเรียนในระบบของรัฐ ๕ แสนคน รัฐให้ ๑,๕๐๐ ล้านบาท
มาเรียนในระบบของวัด ๒.๕ แสนรูป รัฐให้ไม่ถึง ๒ ล้านบาท

เมื่อมองในแง่สังคมตามสภาพปัจจุบัน ข้อเท็จจริงและเหตุผลต่างๆ เท่าที่กล่าวมา และที่จะกล่าวต่อไป จะให้แง่คิดหลายอย่าง เช่น

(๑) ในเมื่อการศึกษาของสถาบันสงฆ์เป็นการศึกษาที่อำนวยแก่ชาวชนบทผู้ยากจน แต่รัฐให้งบประมาณเพียงเล็กน้อย ส่วนการศึกษาในระบบของรัฐเอง ซึ่งผู้รับการศึกษาส่วนมากมีโอกาสและฐานะดีอยู่แล้ว แต่รัฐใช้งบประมาณจำนวนมากมาย (พ.ศ. ๒๕๑๒ งบประมาณการศึกษาทั้งหมด ยกเว้นประถมศึกษา มีนักเรียนนิสิตนักศึกษา ๔๗๗,๒๕๙ คน งบประมาณ ๑,๕๖๔.๓๐ ล้านบาท)5 ก็กลายเป็นว่า รัฐใช้เงินภาษีอากรของประเทศส่วนใหญ่มาบำรุงเอาใจคนจำนวนน้อยที่ได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว และทอดทิ้งการศึกษาสำหรับชาวนาในชนบทซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่

เงินที่รัฐลงทุนเพื่อผลิตนักศึกษาให้สำเร็จปริญญาตรี ประมาณ ๕๐ คน ยังมากกว่าเงินที่รัฐลงทุนเพื่อการศึกษาของพลเมืองที่เป็นพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศจำนวน ๒-๓ แสนรูปด้วยซ้ำไป

(๒) ด้วยงบประมาณหรือเงินลงทุนเพียงปีละ ๑ ล้าน ๕ แสนบาท จนถึง ๒ ล้าน ๕ แสนบาท สำหรับพลเมืองในฐานะพระภิกษุสามเณร ๒-๓ แสนรูป เช่นนี้ จะคาดคั้นสถาบันสงฆ์ให้ทำงานได้มากมายเพียงใด และจะให้การศึกษาของพระสงฆ์มีประสิทธิภาพแค่ใด

ยิ่งถ้ายอมรับกันว่า ขณะนี้สถาบันสงฆ์อยู่ในสภาพที่กำลังเสื่อมโทรมด้วยแล้ว ทำหน้าที่ได้แค่นี้ ช่วยได้แค่นี้ ก็ยังดี

การให้การศึกษาเท่าที่เป็นไปได้ตามบุญตามกรรม อาจจะขาดประสิทธิภาพไปบ้าง แต่ถ้าไม่มีสถาบันนี้ช่วยอยู่ ชาวนาชนบทและคนยากจนจะไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้นมาได้จากที่ไหนเลย

(๓) การศึกษาของพระสงฆ์ที่มีเงินลงทุนเล็กน้อย แต่ยังดำเนินอยู่ได้เช่นนี้ นอกจากเป็นเพราะทำไม่ให้เป็นล่ำเป็นสันเกินไป จะได้ไม่สิ้นเปลืองมากแล้ว ก็เป็นเพราะได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนเป็นสำคัญ

การบำรุงของประชาชนนี้มาในรูปของการถวายปัจจัยสี่แก่พระภิกษุสามเณรผู้เรียนและผู้สอนเป็นส่วนบุคคล ตามความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์บ้าง มาในรูปการบำรุงกิจการต่างๆ เช่น ทุนมูลนิธิ การบริจาคสร้างโรงเรียน เป็นต้นบ้าง กล่าวได้ว่าเป็นผลได้จากค่านิยมในการทำบุญ ซึ่งเป็นวิธีเฉลี่ยรายได้โดยสมัครใจอย่างหนึ่ง

ส่วนในฝ่ายการศึกษาของรัฐ ทุนดำเนินการก็มาจากประชาชนเช่นเดียวกัน แต่เป็นไปในรูปของภาษีอากรที่รัฐเป็นผู้จัดสรร

นิสิตนักศึกษาและนักเรียน จึงได้รับเงินหรือความช่วยเหลือจากประชาชนโดยทางอ้อม ซึ่งมักไม่รู้ตัวว่าตนได้ใช้จ่ายเงินของรัฐโดยทางภาษีอากรเป็นจำนวนมากมาย และในบรรดาผู้เรียนทุกประเภทนั้น แน่นอนว่านิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้ได้รับเงินจากประชาชนมาใช้ประโยชน์มากที่สุด

ในเมื่อข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นผู้มาจากตระกูลมีฐานะดีในเมือง จึงกลายเป็นว่า ผู้ที่มีเปรียบทางสังคมอยู่แล้ว มีโอกาสเหนือกว่าอยู่แล้ว กลับได้เปรียบมากขึ้น และได้โอกาสมากขึ้น

พระหรือใคร เอาเปรียบสังคม

ในเมื่อข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นผู้มาจากตระกูลมีฐานะดีในเมือง จึงกลายเป็นว่า ผู้ที่มีเปรียบทางสังคมอยู่แล้ว มีโอกาสเหนือกว่าอยู่แล้ว กลับได้เปรียบมากขึ้น และได้โอกาสมากขึ้น

อีกอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่นั้น นิสิตนักศึกษาก็เป็นเพียงผู้รับบริการจากสังคม โดยที่ตามปกติไม่ได้เป็นผู้ทำบริการตอบแทนแก่สังคมเลย

ในกรณีที่เสียงตำหนิติเตียนสถาบันสงฆ์ว่าไม่ได้ทำอะไร เอาเปรียบสังคม ตลอดจนว่าควรจะทำลายสถาบันสงฆ์ลงเหล่านี้ มักเป็นเสียงจากหมู่นักศึกษา (บางกลุ่มบางหมู่) เมื่อความรู้สึกขัดแย้งเกิดขึ้น ก็จะเป็นการหมิ่นแหม่ที่นักศึกษาเอง จะเป็นผู้ถูกติเตียนว่า นักศึกษาเองนั่นแหละ เป็นผู้เอาเปรียบสังคมมากที่สุด

นอกจากเอาเปรียบแล้ว ช่องทางที่ชาวนายากจนผู้เสียเปรียบมีอยู่ พออาศัยได้บ้าง ก็ยังจะหาทางไปปิดเสียอีก

(๔) เมื่อมองในแง่หลักความรับผิดชอบในการศึกษา การที่ชุมชนแต่ละถิ่นรับผิดชอบการศึกษาในถิ่นของตนเอง หรือการที่ประชาชนรับผิดชอบการศึกษาโดยตรงนั้นเสียอีก กลับจะเป็นวิธีการที่ดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่การศึกษาของพระสงฆ์ ได้รับทุนอุปถัมภ์ส่วนใหญ่จากประชาชน และได้รับความอุดหนุน (ด้านทุน) จากรัฐเพียงเล็กน้อยอย่างที่เป็นอยู่นี้ ว่าโดยหลักการในระยะยาว จึงน่าจะถูกต้องและเป็นวิธีที่ดีอยู่แล้ว

แต่ที่จะให้หลักการเช่นนี้มีผลดีสมหมายขึ้นได้นั้น จะต้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงด้านอื่นๆ ขึ้นด้วย เช่น เรื่องค่านิยมในการทำบุญ เป็นต้น

ในเรื่องค่านิยมเกี่ยวกับการทำบุญนั้น จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันสังคมไม่ได้รับคุณประโยชน์จากค่านิยมนี้เท่าที่ควร เพราะค่านิยมเรื่องบุญได้คลาดเคลื่อนไปมากแล้ว ด้วยสาเหตุคือการขาดความเข้าใจ และเพราะค่านิยมทางวัตถุของสังคมเอง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่การศึกษาของพระสงฆ์จากค่านิยมในการทำบุญนี้ จึงยังมีเพียงส่วนน้อยที่ได้มาเพื่อการศึกษาโดยตรง ส่วนมากเป็นการได้มาโดยอ้อม

ดังนั้น ในระยะเวลาเฉพาะหน้า เมื่อความตระหนักในคุณค่าอันเป็นบุญของการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ยังมีน้อยอยู่อย่างในปัจจุบันนี้ รัฐจึงควรหันกลับมาเอาใจใส่ รับผิดชอบการศึกษาสำหรับพระสงฆ์ หรือการศึกษาสำหรับพลเมือง ๓ แสนนี้ ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

(๕) นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐในการพัฒนาประเทศตามระบอบประชาธิปไตย คือ การส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม โดยการกระจายบริการสังคมของรัฐ ให้ทั่วถึง และเป็นธรรมยิ่งขึ้น

การส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษา ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของนโยบายนี้ ดังจะเห็นได้จากถ้อยแถลงในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สาม พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๙ และเอกสารของส่วนราชการอื่นๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ6

แต่เท่าที่สังเกตดู ยังไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า รัฐหรือวงการการศึกษาทั่วไปได้คำนึงถึงหรือแม้แต่มองเห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนชาวนาชาวชนบทประมาณ ๒ แสนคน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาของรัฐ เข้าไปรับการศึกษาอยู่ในสถาบันสงฆ์ในรูปของภิกษุหนุ่มและสามเณร และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ (ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๙๕) หลังจากศึกษาอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็กลับเข้ามาสู่ระบบสังคมคฤหัสถ์ของรัฐตามเดิม

นอกจากนั้น รัฐและวงการศึกษาอาจจะไม่มองเห็นเลยว่า การศึกษาที่ภิกษุหนุ่มและสามเณรได้รับในสถาบันสงฆ์ มีความสัมพันธ์กับสภาพการศึกษาของรัฐอย่างไร

การแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคในการศึกษาของรัฐ

หากจะให้นโยบายส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม และส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษาสัมฤทธิ์ผลด้วยดีแล้ว จำเป็นที่รัฐและวงการการศึกษา จะต้องหันมาคำนึงถึงสถาบันสงฆ์และพลเมืองในวัยการศึกษาจำนวน ๒ แสนนี้ด้วย

อย่างน้อยก็เป็นการรับรู้สภาพความจริงที่เป็นอยู่ เพื่อจะได้พิจารณารับเอาพลเมือง ๒ แสนนั้นกลับมาให้การศึกษาเองตามข้อตกลงเดิม (คือ ข้อตกลงที่ให้คณะสงฆ์เลิกจัดการศึกษา และรัฐรับเอาการศึกษามาจัดดำเนินการเอง ซึ่งสภาพความเป็นจริงยังไม่เป็นไปตามข้อตกลงนั้น เพราะส่วนใหญ่รัฐได้รับเอาเฉพาะพลเมืองที่มีฐานะดีในเมืองและในกรุงเท่านั้นไปให้การศึกษา ส่วนพลเมืองยากจนด้อยโอกาสในชนบท รัฐยังคงปล่อยให้ออกไปรับการศึกษาในสถาบันสงฆ์ ซึ่งบัดนี้อยู่นอกระบบ นอกความรับผิดชอบของรัฐแล้ว) หรือเพื่อจะได้พิจารณาหาทางสนับสนุนให้กิจการที่สถาบันสงฆ์ได้ดำเนินอยู่แล้ว กลายเป็นส่วนเสริมกำลังของรัฐ ในการแก้ปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ต่อไป อย่างใดอย่างหนึ่ง

อนึ่ง มีข้อควรคำนึงว่า การแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคในการศึกษาด้วยวิธีการให้ทุนในระบบลงทุนของรัฐ ที่กำลังคิดจะทำกับวิธีการเฉลี่ยทุนอุปถัมภ์ในระบบทุ่นทุนของสถาบันสงฆ์ ซึ่งทำอยู่แล้ว วิธีการสองอย่างนี้จะมีทางปรับปรุงนำมาใช้ให้เกื้อกูลกันหรือประสานประโยชน์กันได้อย่างไรหรือไม่

อีกทั้งชวนให้คิดต่อไปอีกว่า ถ้ารัฐจะส่งเสริมลูกเกษตรกรด้วยวิธีการให้ทุนเช่นนี้ รัฐจะต้องลงทุนมากมายสักเท่าใด จึงจะได้ปริมาณคนที่เรียกได้ว่าพอสมควร

จำนวนพระลดลงไปทันตา ถ้ารัฐจัดการศึกษาแก่ประชาทั่วถึง

ลองคิดดูเล่นๆ (ยังไม่แนะให้ทำ แต่ถ้าทำกันจริงๆ ก็ได้ผลจริงตามนี้) ถ้าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ เอานิสิตนักศึกษาในสาขาวิชาฝ่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ทั้งหมดมาบวชเรียนในเพศภิกษุสามเณร อาจารย์ก็ให้บวชสอนด้วย จะทุ่นงบประมาณของรัฐในด้านนี้ลงไปอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

แล้วเอางบประมาณที่ประหยัดได้นี้ ไปให้ทุนลูกเกษตรกรเรียนหนังสือตามแผนที่วางไว้ โดยให้บวชเรียนเช่นเดียวกัน ก็จะได้จำนวนคนเป็นเท่าตัว นอกจากนั้น การทำบุญตักบาตรก็จะมีชีวิตชีวายิ่งขึ้นในหมู่ประชาชน

๕. สำหรับผู้ที่คิดจะทำลายสถาบันสงฆ์ลงนั้น มีวิธีเสนอให้ทำได้ง่ายๆ คือ ให้รัฐจัดการศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงทุกถิ่นแล้ว จำนวนพระภิกษุสามเณรจะลดลงทันตา

จังหวัดใด การศึกษาของรัฐไม่มา เณรยังมีมากมาย
จังหวัดใด การศึกษาของรัฐแพร่หลาย เณรก็หายไปแทบหมด

สภาพเช่นนี้มีปรากฏอยู่แล้วในท้องถิ่นที่การศึกษาแพร่หลาย (โดยเฉพาะในส่วนกลาง) สถิติคนบวชโดยเฉพาะสถิติสามเณรจะลดต่ำมาก จนกระทั่งในถิ่นเจริญอย่างในตลาดหรือตัวเมือง จะหาสามเณรถิ่นนั้นเองมาเรียนหนังสือได้ยาก มีแต่มาจากถิ่นอื่นๆ

ตรงข้าม สถิติสามเณรจะสูงอย่างยิ่งในจังหวัดห่างไกลที่บริการการศึกษาของรัฐไปไม่ถึง และให้สังเกตเถิดว่า ในจังหวัดเช่นนั้น สถิติสามเณรจะสูงกว่า หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับสถิติพระภิกษุ แปลกจากจังหวัดส่วนกลางที่สถิติพระภิกษุสูงกว่าสถิติสามเณรเป็นอันมาก7

ข้อนี้หมายความว่า ประชาชนในถิ่นนั้นๆ ยังได้อาศัยประเพณีไทยเดิมที่รักษาสืบต่อกันมาในสถาบันสงฆ์นี้ เป็นช่องทางเดียวที่จะได้มีโอกาสรับการศึกษาหาความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เมื่อรู้คุณค่าแล้ว แทนที่จะคิดทำลาย น่าจะหาวิธีทำให้เป็นประโยชน์มากที่สุดจะดีกว่า อย่างน้อยก็ควรยอมรับและเผชิญหน้ากับภาวะที่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยวิธีเลี่ยงหนีหรือปิดตาว่าไม่เอา ทั้งที่ปิดตาแล้วก็ไม่ช่วยให้สิ่งนั้นพ้นไปได้

ถ้าไม่พอใจจริงๆ จะให้เป็นบทบาทชั่วคราวไปก่อนก็ได้ โดยเฉพาะในเมื่อมีเหตุผลว่า

ประการที่หนึ่ง รัฐต้องยอมรับแล้วว่า รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและให้ความเสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษาด้วยระบบที่รัฐมีอยู่แล้วได้

ประการที่สอง มีข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า การจัดการศึกษาของสถาบันสงฆ์ใช้เงินลงทุนน้อย และประชาชนมีส่วนรับผิดชอบร่วมด้วยมาก ซึ่งถ้าปรับปรุงค่านิยมของสังคมให้ดีแล้ว จะเป็นประโยชน์มากดังกล่าวแล้วในข้อ ๔. (๔) เป็นแต่จะต้องช่วยกันปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งเกิดจากการปล่อยปละละเลยของผู้ควรเกี่ยวข้องรับผิดชอบให้เรียบร้อยเสร็จสิ้นไป ทำให้บรรลุความมุ่งหมายของศาสนศึกษาที่แท้จริง

นี่ก็คือ ให้ผู้รับการศึกษารู้จักคุณค่าของศาสนา ทั้งสถาบันศาสนา และศาสนธรรม มีความสำนึกและประพฤติปฏิบัติตนสมกับเป็นผู้ดำรงคุณค่าของสถาบันและศาสนธรรม สามารถรับผิดชอบชีวิตของตนได้ ไม่ให้เป็นปัญหาภาระแก่สังคม นำศาสนธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ท่ามกลางสังคมที่เป็นอยู่ได้

มิใช่เป็นเพียงผู้เก็บสมุดจดรายชื่อตัวยาไว้ด้วยความเหนียมอาย เพราะไม่เคยเห็นตัวยาจริง ไม่รู้วิธีใช้วิธีปรุง ไม่รู้จักโรคที่จะรักษา และผู้คนไม่เห็นคุณค่า หรือเป็นผู้ไม่มีอะไรที่จะเป็นหลักของตนเองเสียเลย นอกจากคอยมองดูคนข้างนอกเขาเก็บอะไรกัน ก็โลดแล่นตามไปเก็บกับเขาบ้าง ซึ่งเป็นภาวะเอียงสุดทั้งสองอย่าง

สำนึกทางสังคม พึงมากับการคิดร่วมแก้ไข มิใช่มุ่งไปเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้ง
รับผิดชอบต่อสังคม มิใช่แค่จะแก้ไข แต่ทั้งที่ได้ร่วมให้เกิดปัญหา

๖. ช่วงเวลานี้ เป็นระยะที่มีความตื่นตัวในเรื่องสำนึกทางสังคมในการที่จะรับผิดชอบต่อสังคมกันมาก โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา เสียงกระตุ้นจากปัญญาชนในเรื่องนี้มีอยู่เรื่อยๆ

มีการเพ่งมองกันว่า สถาบันนั้นนี้ กลุ่มชนนั้นนี้ ที่ควรมีบทบาทรับผิดชอบสังคมอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ทำ หรือทำก็ทำไปในทางไขว้เขว ทำให้เสียหายหรือกลายเป็นเอาเปรียบสังคมไป

ดูเหมือนว่า เวลาเรานึกถึงปัญหา เรามักนึกในแง่เป็นคนละพวกคนละฝ่าย นึกว่านั่นเป็นอีกพวกหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่ง มีความไม่ดีอย่างนั้นๆ เราจะต้องจัดการทำลายเสีย แทนที่จะนึกว่านั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกัน ที่เราจะต้องรับผิดชอบด้วย จุดต้นตอสาเหตุของความไม่ดีมันอยู่ที่ไหน บทบาทหน้าที่อะไรจะทำให้มันดี ถ้าทำให้ถูกต้องอย่างนี้ๆ มันจะมีส่วนช่วยเกื้อกูลเป็นประโยชน์อย่างไร

เมื่อเป็นกันอย่างที่ว่านั้น ความคิดแก้ไขปรับปรุงจึงมักกลายไปเป็นอันเดียวกับความคิดทำลาย และความเป็นปฏิปักษ์ขัดแย้งกัน แทนที่จะเป็นการเข้าร่วมมือช่วยเหลือกัน

น่าวิเคราะห์ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมคืออะไรแน่ การรับผิดชอบต่อสังคม ย่อมรวมถึงความตระหนักในภาวะที่ตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น และการที่ตนมีส่วนรับผิดชอบในปัญหาทั้งหลายของสังคมนั้นด้วย

การรับผิดชอบต่อปัญหานั้น ไม่ได้หมายเพียงการรับผิดชอบในการที่จะเป็นผู้แก้ปัญหาเท่านั้น

การมองความรับผิดชอบเพียงในแง่ของการเป็นผู้แก้ปัญหานั้น เป็นการพรางตนเองอย่างสำคัญ เป็นการแยกตัวออกไปต่างหาก และยกตัวเป็นผู้กล้าหาญจากภายนอกที่จะมาแก้ปัญหาให้แก่ผู้อื่นในสังคม

ความจริง การรับผิดชอบ หมายถึงความสำนึกถึงการที่ตนมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดปัญหานั้นด้วย ไม่โดยตรง ก็โดยอ้อม ในปัญหาทุกๆ อย่าง และในทุกๆ ส่วนของสังคม

การมองความรับผิดชอบไปในรูปของการที่ตนจะต้องช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้อื่นในสังคมนั้น เป็นการมองที่ผิวเผินด้านเดียว นำไปสู่ความตื่นเต้นลำพองตน และไม่ให้ผลยั่งยืนระยะยาว เป็นการแยกตัวออกจากความรับผิดชอบ หรือไม่รับผิดชอบมากกว่า

การรับผิดชอบที่แท้จริง ต้องเริ่มมาตั้งแต่ความตระหนักในการที่ตนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดปัญหาแต่ละอย่างๆ ของสังคมด้วย

ความรับผิดชอบแบบนี้นำไปสู่การสำรวจตนเอง และการ ค้นคว้าศึกษาเหตุปัจจัยของปัญหาอย่างจริงจัง ตลอดจนการแก้ไขที่ เริ่มต้นตั้งแต่การควบคุมพฤติกรรมของตนไม่ให้เป็นโอกาสแก่ปัญหา นั้น เป็นต้นไป

ตัวอย่างการมองความรับผิดชอบที่ว่านั้น ก็คือเรื่องนักศึกษากับสถาบันสงฆ์นี้เอง

นักศึกษาผู้มองในแง่การเป็นผู้แก้ปัญหาอย่างเดียว ย่อมนึกไปในแง่ว่าสถาบันสงฆ์ทำความผิด ควรจะทำลายเสีย หรือตนควรไปจัดการแก้ไข

แต่ถ้ามองในแง่มีส่วนร่วมสร้างปัญหาด้วย จะเห็นว่า การที่ตนแยกตัวออกมาจากชุมชนก็ดี หรือการที่ตนดำรงอยู่ในภาวะนักศึกษาอย่างที่เป็นอยู่นี้ก็ดี ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้สถาบันสงฆ์ต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นปัญหาเช่นนี้

เมื่อสำนึกได้ถึงขั้นนี้ จึงจะนำไปสู่การเข้าใจปัญหาและการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

เรื่องของนักศึกษานี้ จึงให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาในอีกแง่หนึ่งว่า เป็นการน่ายินดีที่นักศึกษาและปัญญาชนทั้งหลาย ที่ในยุคหนึ่งเคยแยกตัวออกมาจากชุมชน หรือเคยเสวยโอกาสที่เหนือกว่า เป็นผู้ได้เปรียบในสังคม กลับมามีสำนึกทางสังคมจะหันกลับไปช่วยชุมชนหรือสังคมของตน เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา

แต่จะต้องมองความรับผิดชอบให้ถูกต้อง และศึกษาให้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงด้วย มิฉะนั้น การแก้ปัญหาอาจกลายเป็นการสร้างปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

สถาบันสงฆ์ แม้จะว่าเสื่อมโทรม ก็ยังทรงคุณค่าต่อสังคมมากมาย
ถ้ายังเห็นว่าไม่ควรทำลาย ก็ช่วยกันส่งเสริมให้ดีเถิด

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าผู้เขียนบันทึกนี้พอใจกับสภาพสถาบันสงฆ์ หรือการศึกษาของสถาบันสงฆ์เท่าที่กำลังเป็นอยู่นี้เลย ตรงข้าม ยังห่างไกลนักจากสิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นอุดมคติ ยังมีสิ่งที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก

ที่พูดมานี้เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ สภาพที่เป็นอยู่ ที่จะต้องรู้ต้องเข้าใจเพื่อให้ผู้คิดจะรับผิดชอบสังคม ได้มีฐานความคิดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะให้รู้จักแยกปัญหากับสิ่งที่มีปัญหาออกจากกัน จะได้ไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีทำลายสิ่งที่มีปัญหา และหากเป็นไปได้ อาจทำสิ่งที่มีปัญหา ให้กลับเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ขึ้นมาก็ได้

นอกจากนี้ ก็มิใช่เป็นการให้ท้ายพระสงฆ์แต่อย่างใด เป็นแต่ชี้ให้เห็นว่า เท่าที่เป็นอยู่ และเที่ยวหาทางเรียนอะไรๆ นั้น กล่าวโดยส่วนเปรียบเทียบแล้ว ก็ไม่ได้เอาเปรียบสังคมแต่อย่างใด และสถาบันสงฆ์ แม้อยู่ในสภาพที่ว่าเสื่อมโทรม ก็มิได้ไร้คุณค่าอันสำคัญแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สำหรับพระสงฆ์ การที่ได้ชื่อว่าไม่เอาเปรียบสังคมอย่างเดียว หาเพียงพอให้เป็นพระสงฆ์ที่ดี ควรแก่อัญชลีของชาวบ้านไม่ อย่างน้อยจะต้องคำนึงไว้ด้วยถึงพุทธภาษิตที่ว่า

เสยฺโย อโยคุโฬ ภุตฺโต ตตฺโต อคฺคิสิขูปโม
ยญฺเจ ภุญฺเชยฺย ทุสฺสีโล รฏฺฐปิณฺฑํ อสญฺญโต

กินก้อนเหล็กเผาไฟ ที่ลุกไหม้เป็นเปลว
ดีกว่าเป็นผู้ทุศีลไร้สังวร บริโภคอาหารของราษฎร

ความข้อนี้ แม้นักศึกษาทั้งหลายที่ได้ใช้บริการอันเป็นผลเกิดมีจากภาษีอากรของประชาชน ก็จะต้องตระหนักไว้และสังวรด้วยเช่นกัน เพราะอันที่จริงแล้ว นิสิตนักศึกษา รวมถึงนักเรียนทั้งหลาย ก็มิใช่ใคร นอกจากผู้ที่ควรจะได้เป็นภิกษุหนุ่ม สามเณร และศิษย์วัดในความรับผิดชอบของประชาชนอยู่แล้ว แต่หากเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงได้แปรรูปมาอยู่ในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในความรับผิดชอบของรัฐ

รัฐแยกเอาผู้มีโอกาสดีกว่ามาให้การศึกษาเอง ทิ้งผู้ด้อยโอกาสให้วังเวงต้องไปอยู่วัด

มีข้อสังเกตเพียงว่า ปัจจุบัน รัฐแยกเอาผู้มีโอกาสดีกว่ามาให้การศึกษาเองแล้ว แต่ยังปล่อยผู้ด้อยโอกาสให้อยู่ในความดูแลของสถาบันสงฆ์ต่อมาตามเดิม ทั้งที่สถาบันสงฆ์ได้ถูกยกออกไปไว้นอกระบบการศึกษาของรัฐแล้ว

สถาบันสงฆ์ตกต่ำลงไป ปัญหามากมายเกิดขึ้นในพระสงฆ์
มิใช่คนไทยในสังคมนี้หรือที่ได้ร่วมกันสร้างไว้ และควรจะตื่นขึ้นมาร่วมใจรับผิดชอบ

ฐานะที่ตกต่ำลงของสถาบันสงฆ์ก็ดี ปัญหาทั้งหลายที่เกิดแก่สถาบันสงฆ์ และที่เกิดจากสถาบันสงฆ์ก็ดี โดยส่วนใหญ่ มิใช่สิ่งที่สืบเนื่องมาจากภาวการณ์นี้ดอกหรือ และมิใช่สิ่งที่ทุกคนในสังคมได้ร่วมกันสร้างขึ้น และควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบโดยตลอดดอกหรือ

อย่างไรก็ตาม การมีคุณค่าอย่างหนึ่ง อาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งก็ได้ คุณค่าของสถาบันสงฆ์ในแง่ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นทางมาของปัญหาอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งเป็นปัญหายิ่งใหญ่ถึงขั้นความเป็นความตายของพระพุทธศาสนาทีเดียว

แต่ถ้าจะพูดต่อไป ก็เป็นการพ้นขอบเขตของเรื่องที่ตั้งไว้ จึงยุติไว้เพียงนี้8

บันทึกที่ ๑: ว่าด้วย การวิเคราะห์ปัญหา (เพิ่มเติม)
และลู่ทางแก้ไขปัญหาการศึกษาของสถาบันสงฆ์

 

จากความเท่าที่กล่าวมาในบันทึกที่ ๑ นี้ จะเห็นว่า คุณค่าของสถาบันสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น เมื่อมองในแง่ของสิ่งที่สังคมขาดแคลน ก็เป็นคุณค่าที่มากมายและสำคัญยิ่ง แต่ถ้ามองในแง่ของภาวะที่ควรจะเป็น ก็เป็นคุณค่าที่มีไม่มากเท่าที่ควร ทั้งนี้ เพราะเป็นคุณค่าที่เกิดจากสภาพซึ่งมีปัญหาอยู่ในตัว

เมื่อได้กล่าวถึงปัญหาไว้แล้ว ก็เห็นว่าควรวิเคราะห์ปัญหานั้นให้ชัดเจนขึ้นอีกสักเล็กน้อย และชี้แนะลู่ทางในการแก้ปัญหาไว้ด้วย ตามที่นึกเห็น และเท่าที่เข้ากับปัญหาเฉพาะหน้าโดยตรง

ปัญหาเกิดจากความไม่รู้ และการไม่ยอมรับรู้

ต้นตอของปัญหาที่กล่าวมานั้นมีอยู่อย่างเดียว คือ การที่รัฐและคณะสงฆ์ ตลอดถึงสังคมส่วนรวม ไม่รับรู้สภาพความจริงที่เป็นอยู่ จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่อาจทำได้สำเร็จ

ดูเหมือนว่าทุกคนและทุกฝ่ายจะสร้างมโนภาพเตรียมไว้สำหรับนำมาอ้างแก่กัน (รวมทั้งอ้างกับตนเองด้วย) ว่าพระภิกษุสามเณรทุกรูป คือผู้สละโลกแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคม เข้าถึงความสงบแล้วโดยสมบูรณ์ พอเข้าโบสถ์บวชเสร็จออกมา ก็บริบูรณ์เหมือนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

ในเวลาเดียวกัน เมื่อมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับสังคม ก็จะเพ่งมองด้วยมโนภาพที่ว่า สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันที่แยกขาดออกไปต่างหากจากส่วนอื่นๆ ของสังคม ประกอบด้วยบุคคลที่ล้วนสละโลกแล้ว มีคุณสมบัติสมบูรณ์ พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสถาบันของตน สถาบันนี้ได้ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่สังคมส่วนใหญ่ คือสังคมคฤหัสถ์บ้าง

บางครั้ง ความนึกคิดตามมโนภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ขัดแย้งกันเอง ทำให้เสียงที่ติเตียนพระสงฆ์ กับเสียงที่เรียกร้องบริการจากสถาบันสงฆ์ ไม่สอดคล้องกัน

แต่จะเพ่งมองด้วยมโนภาพอย่างไหนก็ตาม ย่อมรวมความได้ว่า คนเหล่านี้มองแต่สิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็น โดยไม่ยอมศึกษาเหตุผลว่า ถ้าจะให้เป็นอย่างนั้น สภาพของสถาบันสงฆ์จะต้องเป็นอย่างไร สภาพความจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร อำนวยโอกาสที่จะให้เป็นอย่างที่ต้องการนั้นได้หรือไม่ เราได้ทำอะไรที่เป็นการวางพื้นฐานเพื่อให้สถาบันสงฆ์เป็นอย่างนั้นบ้างแล้วหรือไม่

ถ้าจะใช้คำรุนแรง ก็ต้องว่า แทบทุกคนและทุกฝ่ายมองปัญหาด้วยอาการหลอกลวง และเข้าเกี่ยวข้องกับปัญหาด้วยอาการเห็นแก่ได้

พอจะแน่ใจได้ว่า มโนภาพที่กล่าวนี้ มีขึ้นเด่นชัด ในระยะที่รัฐรับเอาระบบการศึกษามาจัดดำเนินการเอง และคณะสงฆ์ตกลงเลิกให้การศึกษาสำหรับพลเมืองแล้ว

เมื่อไม่รับรู้สภาพความจริง และสร้างมโนภาพสำหรับนำมาอ้างแก่กันอย่างนี้ ทางฝ่ายคณะสงฆ์ ซึ่งแต่เดิมเคยทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษาทั้งในสังคมไทยเดิม และในสังคมไทยยุคเริ่มรับอารยธรรมตะวันตก ก็ได้หันมาจำกัดขอบเขตแห่งความมุ่งหมาย และแนวความคิดในการจัดการศึกษาของตนให้แคบเข้า โดยมีความรู้สึกและแสดงอาการประดุจมีสภาพความจริงอยู่ว่า พระภิกษุสามเณรทุกรูปเข้ามาบวชด้วยความตั้งใจสละโลกแล้ว และมุ่งอุทิศตนต่อพระศาสนาโดยสิ้นเชิง และถือว่าผู้บวชยอมรับข้อกำหนดที่จะให้ทำหน้าที่อยู่สืบศาสนา ไม่สึกหาลาเพศอย่างแน่นอน

คณะสงฆ์หันเข้าหานโยบายการศึกษาที่จะผูกมัดพระเณรไว้

เมื่อรู้สึกอย่างนี้ และต้องการแสดงอาการให้เห็นว่ารู้สึกอย่างนั้น ทางฝ่ายคณะสงฆ์จึงหันเข้าบีบรัดระบบการศึกษาของตนเอง

จะเห็นได้ว่า ในตอนเริ่มปรับปรุงการศึกษาใหม่ๆ ซึ่งรัฐกับคณะสงฆ์ยังไม่แยกจากกันในการให้การศึกษานั้น หลักสูตรและเนื้อหาวิชาปริยัติธรรม มีจุดมุ่งและแนวการจัดทำอยู่ที่ว่าจะนำเอาหลักธรรมวินัยออกมาเปิดเผย ทำให้เป็นที่รู้ที่เข้าใจเข้าถึงกันได้กว้างขวางลึกซึ้ง และง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่เข้ามาศึกษาในเวลานั้น แต่ต่อมาภายหลังแนวความคิดกลับกลายเป็นมุ่งที่จะผูกมัดผู้ศึกษาให้ยึดมั่นอยู่กับเนื้อหาวิชาในหลักสูตรและในตำราให้มากที่สุด ด้วยกลัวว่าผู้ศึกษาจะห่างเหินออกไปจากหลักศาสนา

(แนวความคิดเดิม จับอยู่ที่หลักสูตรและเนื้อหาวิชาว่า จะทำหลักสูตรและเนื้อหาวิชาอย่างไรให้ผู้เรียนรู้เข้าใจและได้ประโยชน์ที่สุด แนวความคิดตอนหลัง จับอยู่กับผู้เรียนว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนผูกตนอยู่กับหลักสูตรที่มีอยู่แล้วนั้นได้มากที่สุด)

ทั้งสองอย่างนี้ ดูเผินๆ สภาพที่มองเห็นก็คล้ายกัน คือ หลักสูตรเนื้อหาวิชาหลังจากเริ่มปรับปรุงตอนแรกแล้ว มีอยู่อย่างไรก็มีอยู่อย่างนั้น คงอยู่อย่างเดิม แต่ผลที่ปรากฎแก่การศึกษาก็คือ การเปิดเผยความรู้และสร้างเสริมความเข้าใจไม่ก้าวหน้าเพิ่มขึ้น พร้อมนั้นเนื้อหาวิชาที่ให้เรียนก็ห่างไกลจากความสัมพันธ์กับสภาพชีวิตที่แท้จริงของสังคมออกไปทุกทีๆ

จากหลักสูตรที่เป็นกลาง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจธรรมวินัยก็แฝงความรู้สึกเข้าไปว่า หลักสูตรสำหรับผู้ไม่สึก จากนั้นก็สำทับเข้าไปอีกว่า เป็นหลักสูตรสำหรับทำให้ไม่สึก หรือหลักสูตรกันสึก9

เมื่อถือเหมือนว่าผู้บวชทุกคนไม่สึก และคำนึงอยู่แต่จะจัดเนื้อหาวิชาสำหรับผู้ไม่สึก จนกลายเป็นวิชาสำหรับป้องกันสึก (ความจริงเป็นระบบกีดกันหรือปิดกั้นหนทางไม่ให้สึกมากกว่า) อย่างนี้แล้ว ก็ลืมนึกถึงสภาพความจริงเกี่ยวกับประเพณีการบวช แล้วก็ปล่อยทิ้งให้เป็นไปตามเดิม ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการ

ผู้บวชนั้น เข้ามาบวชตั้งแต่เป็นเด็ก มีความเข้าใจร่วมกับพ่อแม่ของตนในชนบทว่าบวชเพื่อได้รับการศึกษา ไม่ตระหนักชัดในความมุ่งหมายขั้นสูงของการบวช เคยเข้าใจมาอย่างไร ก็เข้าใจไปอย่างนั้น

(ดูเหมือนจะปล่อยปละละเลยยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะเดิมผู้ให้บวชยังตระหนักอยู่บ้างว่าบวชแล้วจะต้องให้เรียน แต่ตอนหลังนี้ จุดหมายมีแต่ส่วนที่เป็นอุดมคติไกลตัว จุดหมายใกล้ตัวที่เป็นทางปฏิบัติไม่มี เลยกลายเป็นเลื่อนลอยมากขึ้น จนถึงขั้นสักว่าบวช เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้มีเจตนาเข้ามาบวชแอบแฝงหาความสุขสบายโดยตรงมากขึ้น)

สภาพการดำรงเพศของผู้บวชก็คงเดิม คือร้อยละ ๙๕ จะลาสิกขาเวียนกลับเข้าสู่สังคมคฤหัสถ์ตามเดิม

การไม่รับรู้สภาพความจริงของคณะสงฆ์ (ถึงจะมีท่านที่รับรู้บ้าง ก็น้อย และท่านที่รับรู้นั้น ก็มักไม่ค่อยแน่ใจตนเอง หรือมักแสดงอาการที่ขัดๆ เหมือนกับอำพรางการรับรู้นั้น) ทำให้เกิดสภาพขัดขืน และการไม่เข้าไปจัดการแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาให้เสร็จสิ้นไป คือทำการเหมือนว่าพระเณรทุกรูปไม่สึก ทั้งที่ส่วนใหญ่ (ความจริงคือแทบทั้งหมด) จะต้องสึกอย่างแน่นอน

ทางฝ่ายรัฐ ซึ่งได้สร้างมโนภาพร่วมกันมากับคณะสงฆ์ เมื่อรับเอาการศึกษาสำหรับพลเมืองมาดำเนินการทั้งหมด และไม่สามารถจัดบริการการศึกษาได้ทั่วถึง ตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ จนกระทั่งระบบการศึกษาของตนได้กลายเป็นบริการสำหรับผู้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและทางภูมิศาสตร์ไปเสียดังที่กล่าวแล้ว ก็ได้หาทางแก้ปัญหา พยายามขยายบริการการศึกษาแก่คนยากจนชาวชนบทให้มากขึ้น แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ผลที่น่าพอใจ

รัฐไทย สังคมไทย มองปัญหาของคนไทย
โดยปิดตาออกไปจากสถาบันสงฆ์

ตลอดเวลาที่แก้ปัญหาอยู่นี้ มโนภาพที่ทางฝ่ายรัฐสร้างไว้ต่อสถาบันสงฆ์ ได้กลายเป็นเครื่องพรางตาตนเองและสกัดกั้นไว้ไม่ให้สืบค้นหรือแม้แต่มองปัญหาเข้ามาถึงข้างในสถาบันสงฆ์

รัฐรู้แต่เพียงว่า เด็กจบประถมสี่แล้ว ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเด็กชาวชนบท ได้หลุดหายออกไปจากระบบการศึกษา รัฐนึกได้เพียงว่า เด็กเหล่านั้น คงจะกลับไปทำไร่ไถนาอยู่กับพ่อแม่ทั้งหมด หารู้ตัวไม่ว่า เด็กจำนวนประมาณแสนคนที่ยังมีจิตใจใฝ่ในการศึกษา หรือที่พ่อแม่มีสำนึกในทางการศึกษาอยู่บ้าง ได้เข้ามาสู่สถาบันสงฆ์เพื่อความมุ่งหมายนั้น

ความไม่รู้ไม่ตระหนักเช่นนี้ เป็นเหตุให้รัฐไม่ติดตามเอาใจใส่ต่อการศึกษาและการดำเนินชีวิตของเยาวชนในวัยเรียนเหล่านี้อีกต่อไป และไม่มีความคิดเชื่อมโยงที่จะหาทางประสานประโยชน์จากช่องทางนี้ด้วย

รัฐมองไม่ถึงสถาบันสงฆ์จึงไม่รู้จักสังคมไทย
แล้วก็แบ่งแยกคนไทยเสร็จไปในตัว 

ส่วนทางด้านสังคมส่วนใหญ่ การไม่รับรู้สภาพความจริงและสร้างมโนภาพไว้เช่นนั้น ก็นำไปสู่ทัศนคติที่เพ่งมองและตั้งข้อรังเกียจต่อภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนแล้วลาสิกขาออกมา ในแง่ต่างๆ เช่นว่า เอาเปรียบสังคม แย่งอาชีพชาวบ้าน เป็นต้น10

ชาวบ้านนอก กับปัญญาชนไทย
ใครกันแน่ที่หลงงมงาย

แต่ความจริง ถ้ามองกว้างออกไปให้ทั่วถึง จะทราบว่าทัศนคติเช่นนี้ หาได้เป็นทัศนคติร่วมกันของสังคมทั้งหมดไม่ ในกรณีนี้ จะต้องแบ่งสังคมออกเป็นคน ๒ พวก

พวกหนึ่งคือ ผู้มีทัศนคติอย่างที่กล่าวแล้ว ได้แก่คนในสังคมเมืองหรือสังคมกรุง โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษาหรือปัญญาชน ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตที่ได้แยกออกไปจากสถาบันสงฆ์และระบบวัฒนธรรมเดิมของตนแล้วอย่างห่างไกล จนไม่อาจเข้าใจสภาพความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เข้าใจแม้แต่พื้นเพของภิกษุสามเณรจำนวนมากมายที่ออกจากสังคมส่วนอื่นเข้ามาอยู่ท่ามกลางพวกตน

อีกพวกหนึ่งคือ ชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวชนบท ซึ่งมีทัศนคติตรงข้าม นอกจากไม่ถือเป็นความเสียหายในการบวชเล่าเรียนมีความรู้แล้วสึก ยังกลับยกย่องให้เกียรติบุคคลเช่นนั้นอีกด้วย

หากจะถือว่าชาวบ้านนอกมีความรู้สึกหรือทัศนคติอย่างนี้เพราะความไม่รู้ ขาดการศึกษา และหลงงมงายแล้ว จะต้องถือว่า ทัศนคติของปัญญาชนในกรณีนี้เกิดจากความไม่รู้ ขาดการศึกษา และหลงงมงายยิ่งกว่าชาวบ้านเสียอีก เพราะถึงอย่างไร แม้ชาวบ้านจะไม่ตระหนักในเหตุผลที่เป็นอยู่อย่างชัดเจน แต่ความรู้สึกของเขาก็เป็นสิ่งที่สืบเนื่องต่อมาจากความรู้ความเข้าใจเดิมเกี่ยวกับสถาบันสงฆ์ที่เคยทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษา และเขายังมีความเข้าใจ ในตัวพระเณรนั้นมากกว่าปัญญาชน

ส่วนทัศนคติของปัญญาชน เกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาพสังคมเดิมของตน อย่างที่เรียกได้ว่าโดยสิ้นเชิงทีเดียว

ทัศนคติเช่นนี้มีโทษ ไม่แต่เพียงเป็นเครื่องกีดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการกับปัญหาสังคมอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นผลเสียแก่บุคคลที่บวชเรียนอีกด้วย คือทำให้ผู้ที่บวชเรียนแล้วลาสิกขา ซึ่งได้รับผลจากระบบสถาบันสงฆ์นี้ไป โดยไม่เข้าใจชัดในความหมายและคุณค่าแห่งการกระทำของตนและสถาบันของตน เกิดปมด้อย เป็นผลเสียแก่ความประพฤติไปก็มี

รัฐกับคณะสงฆ์จะงุบงิบกันเอาอย่างไร
ชาวนาชาวบ้านนอกก็พาลูกไปฝากวัดตามเดิมของเขา

เหตุที่เกิดความเคลื่อนคลาดไขว้เขวขึ้น ทำให้มีสภาพความจริงที่ขัดกับการรับรู้และขัดกับมโนภาพที่สร้างขึ้นมาไว้อ้างกันเช่นนั้น ก็เพราะเมื่อรัฐตกลงรับเอาการศึกษาสำหรับพลเมืองไปจัดเอง และคณะสงฆ์ตกลงเลิกจัดการศึกษาดังที่กล่าวแล้วนั้น การตกลงนั้นเป็นเพียงการกระทำของรัฐกับคณะสงฆ์ และรู้ร่วมกันเฉพาะในระหว่างสองฝ่ายเท่านั้น สังคมทั้งหมดไม่ได้ร่วมรับรู้ด้วย

ชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านส่วนใหญ่ในชนบท ไม่ล่วงรู้ด้วยเลย ชาวบ้านจึงยังคงถือและทำต่อมาตามเดิม คล้ายๆ กับจะให้ชาวบ้านบอกว่า รัฐกับคณะสงฆ์เขางุบงิบกันทำ เขาจะงุบงิบทำกันอย่างไรก็แล้วแต่ ฉันไม่รู้ด้วย ฉันจะทำของฉันไปตามเดิม เมื่อลูกของฉันไม่มีที่เรียน หรือจบประถมสี่แล้ว ไม่มีเงินส่งไปเรียนต่อในเมืองหรือในกรุง ฉันก็เอามันไปฝากวัดตามเดิม

เมื่อเช่นนี้ สภาพความจริงจึงเป็นอยู่อย่างหนึ่ง มโนภาพที่สร้างขึ้นมาอ้างกันตามข้อตกลง ก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง ขัดกัน และเมื่อไม่เป็นไปตามต้องการ วิธีแก้อย่างง่ายของรัฐและคณะสงฆ์ ซึ่งสำเร็จได้โดยไม่ต้องทำ ก็คือไม่รับรู้เสียเลย ทำไปตามที่ฉันต้องการก็แล้วกัน

ฝ่ายพวกสังคมเมือง ตลอดถึงปัญญาชน ตนเองเกิดมาในสภาพแวดล้อมอีกอย่างหนึ่ง ห่างไกลจากสังคมเดิม ซึ่งเป็นสังคมส่วนใหญ่ในประเทศของตนในปัจจุบัน ไม่รู้ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงนั้น ก็เอาแต่สังคมแคบๆ ของตนเป็นเครื่องวัด พลอยรับเอามโนภาพอำพรางนั้นมาถือตามไปด้วย เลยพลอยร่วมวงติเตียนพระสงฆ์ และกีดกันชาวบ้านชนบทไปด้วยโดยไม่รู้ตัว

ช่วยกันให้ปัญญาชนรู้จักสังคมไทย

เมื่อเรื่องมาถึงขั้นปัญญาชน ก็นับว่ามาถึงจุดอันตราย จะมีผลแรงทั้งทางดีและร้าย เฉพาะในกรณีของทัศนคติเช่นนี้ นับว่าเป็นฝ่ายร้าย เพราะเป็นเรื่องของความขาดการศึกษา

ชาวบ้านขาดการศึกษา ยังไม่สู้กระไร เพราะคนไม่ค่อยเชื่อถือถ้อยคำอยู่แล้ว แต่ถ้าปัญญาชนขาดการศึกษา อาจก่อหายนะได้เต็มที่ เพราะคนเข้าใจว่าปัญญาชนมีการศึกษา มีความคิดอันกลั่นกรองแล้ว เข้าถึงความจริง มักเชื่อถือตาม

ด้วยเหตุนี้ ถ้ายอมรับกันว่าปัญญาชนของเรายังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคมและสถาบันต่างๆ ในสังคมของตนเอง และถ้ายอมรับว่าความรู้ความเข้าใจสังคมของตนเองนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาสังคมของเรา ก็ถึงเวลาสมควรที่ชาวบ้านจะได้ช่วยกันให้การศึกษาแก่ปัญญาชน และปัญญาชนควรน้อมตนลงยอมรับความรู้จากชาวบ้านบ้าง เพื่อเราจะได้ปัญญาชนผู้ควรแก่ความไว้วางใจที่จะให้แก้ไขปรับปรุงสังคมของเรานี้ต่อไป

แม้ในกรณีที่จะทำลายสถาบันสงฆ์ อย่างที่บางกลุ่มต้องการ การทำลายสิ่งที่ตนรู้เข้าใจชัดเจนแล้วอย่างเดียวเท่านั้น จึงจะเป็นการเหมาะสมกับภาวะของปัญญาชน ที่จะไม่ให้ต้องเสียใจภายหลัง และไม่เป็นที่ให้ตนเองติเตียนตนเอง หรือผู้อื่นติเตียนได้ต่อไป

จากความไม่ยอมรู้ คณะสงฆ์กับพระเณรไปคนละทาง คุมกันไม่ได้
เกิดปัญหาหลากหลาย จุดหมายเพื่อพระศาสนาก็เสีย

การพรางตาตนเองของคณะสงฆ์ ของรัฐ และของสังคม ด้วยการไม่รับรู้ความจริงและการสร้างมโนภาพขึ้นไว้อ้างนั้น เป็นที่มาของปัญหาสังคมที่กว้างไกล ชนิดไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ นำไปสู่การกระทำที่ผิวเผิน เช่น การด่าว่าโจมตีกัน การเรียกร้องอย่างรุนแรง และการแก้ปัญหาแบบขอไปที

ตัวอย่างปัญหาที่ได้เกิดขึ้นแล้วในกรณีนี้ ก็คือ เมื่อคณะสงฆ์จัดวางและดำเนินการศึกษาเพื่อสนองความต้องการที่สอดคล้องกับมโนภาพของตนท่ามกลางสภาพเก่า โดยไม่ได้จัดการแก้ไขระบบประเพณีที่นำมาสู่สภาพเก่านั้น ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น ภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการศึกษาที่คณะสงฆ์จัดให้ จึงดิ้นรนหาช่องทางศึกษาเล่าเรียนเพื่อสนองความต้องการของตนเอง

ในกรณีนี้ ถ้าคณะสงฆ์สามารถควบคุมไม่ให้พระเณรไปเล่าเรียนสิ่งที่คณะสงฆ์ไม่ต้องการได้จริง ก็แล้วไป (ความจริงเมื่อสภาพพื้นฐานขัดกันอย่างนี้ จะคุมอย่างไรก็ไม่มีทางให้เรียบร้อยเป็นผลดีได้) แต่ปรากฏว่าควบคุมไม่ได้ ผลเสียจึงเกิดขึ้นหลายประการ เช่น

๑. ระบบการศึกษาที่คณะสงฆ์ต้องการและจัดไว้ ก็ไม่ได้ผลดีตามความมุ่งหมาย เพราะผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ตกอยู่ในสภาพสักว่าเรียน หรือจำใจเรียนเพราะถูกบังคับ

๒. ระบบการศึกษาอื่นที่คณะสงฆ์ไม่ต้องการ แต่พระเณรต้องการ และคณะสงฆ์สกัดกั้นไม่ได้นั้น ก็คงอยู่เป็นหนามยอกตัวเรื่อยไป และตัดโอกาสของคณะสงฆ์เองในการที่จะนำเอาระบบการศึกษาอย่างนั้นมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์สนองความมุ่งหมายที่ตนต้องการ

๓. เป็นผลเสียทางการปกครอง คุมยาก คุมไม่ได้ ระส่ำระสายไปหมด

๔. เมื่อเสียการปกครอง พระเณรประพฤติเสียหาย ถูกสังคมเพ่งเล็ง ผลก็สะท้อนกลับมาเป็นอันตรายแก่สถาบันสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมานานัปการ เช่น ระบบการศึกษาใหญ่น้อยต่างแบบต่างประเภทได้เกิดขึ้นในสถาบันสงฆ์มากมายระเกะระกะ โดยไม่ต่อเนื่องประสานกลมกลืนกันเลย บางระบบเป็นที่เชิดชูต้องการของผู้บริหาร แต่ผู้รับไม่ต้องการ บางระบบผู้รับต้องการ แต่ผู้บริหารไม่ต้องการ บางระบบคณะสงฆ์ยอมรับ บางระบบมีอยู่ทั้งที่คณะสงฆ์ไม่ยอมรับ บางระบบยอมรับครึ่งๆ กลางๆ นำมาซึ่งความสับสนวุ่นวายใจ และเสียความมั่นคงทางจิตแก่ผู้เข้าสู่สถาบันสงฆ์เป็นอย่างมาก

ยิ่งกว่านั้น ต่อไปข้างหน้าในระยะยาว ถ้าหากผู้ที่คณะสงฆ์รับเข้ามาแล้ว ถูกบีบคั้นให้ไปเรียนนอกระบบที่คณะสงฆ์ต้องการ มีพื้นความรู้ธรรมวินัยน้อย แต่มีความรู้สำหรับเป็นสื่อถ่ายทอดแก่คนปัจจุบันได้มาก พากันแสดงคำสอนนอกธรรมนอกวินัย ส่วนผู้เรียนในระบบของคณะสงฆ์ ซึ่งคณะสงฆ์ภูมิใจว่ามีความรู้ธรรมวินัยลึกซึ้ง แต่ไม่สามารถพูดกับใครเข้าใจ ได้แต่นั่งนอนสืบต่อพระศาสนานิ่งๆ อยู่ในกุฎี หรือออกไปเป็นนักการรับใช้ในอาณัติของปัญญาชนรุ่นใหม่

เมื่อศาสนธรรมถูกแสดงคลาดเคลื่อนออกไปแล้ว คณะสงฆ์ก็คงภูมิใจว่าได้รักษาระบบการศึกษาดั้งเดิมไว้เรียบร้อยเป็นอันดี ด้วยความกตัญญูกตเวทีเป็นที่ยิ่ง ได้ทำหน้าที่ผลิตศาสนทายาทอย่างได้ผล สามารถปัดความรับผิดชอบในการทำลายศาสนาออกไปจากตนได้ และเสวยผลทั้งนั้นด้วยความชื่นชม

สิ่งที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่มักมองข้ามกันไปก็คือ ระบบการศึกษาสุดสงวนของคณะสงฆ์ที่ได้พยายามรักษาไว้อย่างมั่นคงที่สุด โดยถือ (ตามความเข้าใจของคณะสงฆ์เอง) ว่าเป็นระบบที่สนองความต้องการทางศาสนา เป็นเครื่องสืบต่ออายุพระศาสนาอย่างแท้จริง11 เป็นระบบที่สมบูรณ์ ประดุจว่าผู้รับการศึกษาไปแล้วจะไม่สึกนั้น เมื่อดำเนินไปก็ไม่สามารถล้มล้างสภาพความจริงที่มีอยู่ได้ ความจริงที่ปรากฏก็คงอยู่อย่างเดิมว่า ผู้เรียนส่วนมากสึก ผลเสียจึงเกิดขึ้นอีกหลายประการ โดยเฉพาะความสูญเปล่าในแง่ต่างๆ เช่น

๑. ความสูญเปล่าแก่พระศาสนา

- ด้วยเหตุที่ผู้เรียนส่วนมากสึก (อย่างที่กล่าวแล้วว่าราวร้อยละ ๙๕) ความรู้ที่พระเณรส่วนมากได้เรียนไว้ จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการสืบต่ออายุพระศาสนา ตามความมุ่งหมายแต่อย่างใด เป็นความสูญเปล่าแก่พระศาสนาอย่างแทบจะสิ้นเชิง

- แต่ความสูญเปล่าในแง่นี้ มีส่วนชดเชยขึ้นมาได้ ในกรณีที่ผู้จะสึกจำนวนไม่น้อย ทำงานให้แก่สถาบันสงฆ์อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะออกไปทำงานในสังคมคฤหัสถ์ และในกรณีที่ถ้าหากผู้ที่สึกไปแล้วอยู่ในฐานะ และมีโอกาสประกอบกิจการงานที่ได้ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลสะท้อนกลับมาช่วยสืบต่ออายุพระศาสนาได้ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ในสภาพปัจจุบัน ผลที่หวังในแง่หลังนั้น แทบจะไม่มีเลย เพราะผู้ลาสิกขาไปแล้วส่วนใหญ่ไม่มีฐานะที่เหมาะสมในสังคม ไม่มีโอกาสใช้ความรู้ทางศาสนาของตนให้เป็นประโยชน์ (เช่นรู้บาลีมากมาย ได้ไปเป็นบุรุษไปรษณีย์ ใช้ความรู้ที่เรียนมาแค่อ่านซองจดหมาย) ความรู้ที่ได้เล่าเรียนไปจึงหายไปกับตัว ไม่ได้ย้อนกลับมาเกื้อกูลหรือช่วยรักษาตัวศาสนาและสถาบันสงฆ์เลย เป็นความสูญเปล่าแทบจะสิ้นเชิง

(ข้ออ้างเพียงว่า ความรู้นั้นก็ยังช่วยให้ผู้สึกไปแล้วเป็นคนดีมีศีลธรรม ถ้ามองในแง่ที่สัมพันธ์กับปัญหานี้แล้ว เป็นข้อแก้ตัวที่อ่อนที่สุด ความจริงกลับเป็นข้อ สนับสนุนเหตุผลในแง่ความสูญเปล่านี้อีกด้วยซ้ำ เพราะการปล่อยให้คนดีมีศีลธรรมไปตกต่ำอยู่ ก็คือการสูญเสียประโยชน์ที่สังคมและศาสนาจะพึงได้อย่างมากมาย ถ้าหากคนมีศีลธรรมนั้นอยู่ในฐานะที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น)

สถาบันสงฆ์ก็ไม่ได้ สังคมไทยก็อด

- แม้ในกรณีที่ไม่สึก หรือยังไม่สึก ก็ยังมีความสูญเปล่ามาก ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์แก่พระศาสนาอย่างคุ้มควร เพราะมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่จะใช้ความรู้นั้น

ประการแรก ในแง่การใช้ประโยชน์ภายในสถาบันสงฆ์เอง ผู้เรียนไปแล้วจำนวนมากต้องเก็บตัวอยู่เฉยๆ ไม่มีโอกาสใช้ความรู้นั้นเลย หรือไม่ก็ใช้เวลาให้หมดไปด้วยกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้นั้น อีกจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสใช้โดยการถ่ายทอดความรู้ออกสอนพระเณรรุ่นต่อจากตน ก็หาผู้เรียนยากเข้าโดยลำดับ เพราะต้องถ่ายทอดอยู่ในระบบที่หมดแรงจูงใจเสียแล้ว และแม้ผู้ที่เรียนจำนวนมาก ก็เรียนเพียงพอให้เป็นทางผ่าน ไม่สู้มีความใฝ่รู้อย่างแท้จริง

ประการที่สอง ในแง่การใช้ประโยชน์เพื่อสังคมภายนอก ขอบเขตที่จะใช้ก็จำกัดอยู่กับสังคมแบบเดิม ซึ่งกำลังแคบเข้าทุกที และหมดไปโดยลำดับ ส่วนในสังคมแบบใหม่ แทบไม่มีโอกาสใช้เลย เพราะไม่มีความรู้อื่นเป็นสื่อหรือเป็นสะพานสำหรับถ่ายทอดด้วย และเพราะเขาไม่ยอมรับคุณค่าด้วย

ในกรณีนี้ ในที่สุดความหมายของการบวชเรียนสืบต่อศาสนาก็คงเหลืออยู่เพียงแค่ว่า เรียนไปแล้ว ไม่ต้องใช้ อยู่เฉยๆ ก็ได้ (ดูเหมือนว่าขณะนี้ก็เข้าใจอย่างนี้กันแล้วไม่น้อย)

ถ้าเข้าใจถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันลงตัวเรียบร้อย คือ เข้ากันได้ดีกับความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งที่มีรออยู่แล้ว ได้แก่ การสร้างคัมภีร์สืบต่ออายุพระศาสนา โดยเก็บไว้เฉยๆ ในตู้ ไม่ต้องมีคนรู้ ไม่ต้องมีคนใช้ เป็นอันได้สองตู้ เป็นตู้ไม้ กับตู้คน ตั้งไว้รอให้เขามาเก็บเอาไปจัดการ

๒. ความสูญเปล่าแก่รัฐ และสังคม

- ความสูญเปล่าแก่สังคมที่เป็นไปเองในตัว จากความสูญเปล่าแก่พระศาสนาตามที่กล่าวแล้วก็ดี จากความสูญเปล่าแก่ตัวบุคคลที่จะกล่าวต่อไปก็ดี จะไม่พูดถึงในที่นี้อีก นอกจากที่มีแง่อันควรกล่าวถึงเพิ่มเติม

ความสูญเปล่าแก่สังคมอย่างสำคัญที่ควรพูดถึงในที่นี้ คือ การที่สถาบันสงฆ์มีคุณค่าในการช่วยให้ความเสมอภาคในการศึกษา แต่คุณค่านี้ไม่เป็นไปเท่าที่ควร เพราะมูลเหตุคือ การไม่รับรู้ และการทำการที่ขัดต่อสภาพความจริงดังที่กล่าวแล้ว

ลูกชาวนาชาวชนบทที่เข้ามาเรียนในสถาบันสงฆ์ปัจจุบัน แม้จะศึกษาเล่าเรียนด้วยตั้งใจจริง มีสติปัญญาดี สูญเสียเวลาในการศึกษาไปยาวนาน และสำเร็จการศึกษาขั้นที่จัดว่าสูงในระบบของสถาบันสงฆ์ แต่เมื่อถึงเวลาระยะใดระยะหนึ่ง ที่อยู่ครองเพศต่อไปไม่ได้ ลาสิกขาออกไป มักต้องตกไปอยู่ในฐานะที่ด้อย และไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ เช่น เป็นบุรุษไปรษณีย์ ใช้ความรู้แค่อ่านซองจดหมาย ก็นับว่าเป็นความสูญเปล่าอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อนำมาสัมพันธ์กับความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็จะยิ่งเห็นความสูญเปล่าและสิ้นเปลืองเพิ่มขึ้นอีกอย่างมากมาย

ปัจจุบัน วงการศึกษาบางส่วนของรัฐ เห็นความต้องการของรัฐ ในด้านความรู้ภาษาบาลีและศาสนา และเห็นความสำคัญของวิชานี้ จึงจัดหลักสูตรวิชานี้ขึ้น ให้มีการศึกษาในขั้นสูง เพื่อผลิตผู้รู้ภาษาบาลีและวิชาศาสนา

ในเวลาเดียวกัน ผู้มีความรู้ภาษาบาลีและศาสนาขั้นต่างๆ จำนวนมากมาย ที่ออกไปจากสถาบันสงฆ์ ไปตกอยู่ในสภาพที่ปล่อยความรู้ภาษาบาลีและศาสนาสูญเปล่าไป ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย

อย่าว่าแต่จะได้ใช้ความรู้ภาษาบาลีนั้นทำการอะไรเลย แม้แต่เพียงจะใช้เป็นพื้นฐานในการมาเทียบเคียงขอเข้าไป แสวงความรู้เพิ่มเติมในระบบที่จัดขึ้นใหม่นั้น ก็ไม่มีระดับที่จะวัดได้ เป็นอันต้องถือว่า ไม่มีพื้นความรู้ที่จะเข้าศึกษา

สภาพนี้ ถ้ามองจากสังคมอื่นเข้ามา ก็เป็นสิ่งแปลกประหลาดอัศจรรย์จนน่าขันอย่างหนึ่ง

คนมีความรู้ภาษาบาลี รู้ศาสนา ในสังคมไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่มากมาย เป็นคนไม่มีประโยชน์ ใช้การอะไรไม่ได้ เหมือนของที่ผลิตขึ้นมาผิดขนาด ผลิตขึ้นมาแล้ว อะไรดีหมด ก็ใช้ไม่ได้ หรือเหมือนผลิตขวดขึ้นมาแล้วจำนวนมาก แต่เป็นขวดที่ปิดตัน ลืมทำปาก ต้องทิ้งเสียไปทั้งหมด รัฐต้องการผู้รู้ภาษาบาลี รู้วิชาศาสนา ต้องลงทุนมากมายผลิตเอาใหม่

ซ้ำร้ายในกรณีนี้ ของที่มีอยู่แล้วแต่ใช้ไม่ได้ ก็ยังไม่ได้ทิ้ง คงปล่อยให้เกะกะอยู่อย่างนั้น ยิ่งกว่านั้น ยังปล่อยให้ผลิต ระบายออกมาอีกเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งๆ ที่ใช้การไม่ได้ และรู้อยู่แล้วว่าจะไม่เอาไปใช้

๓. ความสูญเปล่าแก่ตัวบุคคล

- บุคคลจำนวนมากมาย ซึ่งไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาด้วย และถึงอย่างไรก็จะต้องเวียนกลับไปอยู่ในสังคมคฤหัสถ์ตามเดิมอยู่ดี ถูกปล่อยให้เข้ามาอยู่ในสถาบันสงฆ์ และถูกปล่อยให้เสียเวลายาวนานศึกษาสิ่งที่เมื่อเขากลับไปอยู่ในสังคมคฤหัสถ์แล้ว จะไม่ช่วยชีวิตเขาให้มีฐานะและโอกาส อันคุ้มกันกับเวลาและแรงงานที่เขาได้สูญเสียไป ในเมื่อเทียบเคียงกับคนพวกอื่นในสังคม ที่ได้ใช้เวลาและแรงงานหมดไปในอัตราเดียวกัน

- นอกจากเวลาที่นับว่าสูญเสียไปในเมื่อเทียบกับระบบภายนอกแล้ว ภายในระบบของสถาบันสงฆ์เอง ยังมีระบบถ่วงเวลาหรือทำให้สิ้นเปลืองเวลาซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่งด้วยเป็นซ้ำสอง กล่าวคือ การแบ่งชั้นเรียนโดยสัมพันธ์กับการวัดผลในระบบการศึกษาของสถาบันสงฆ์ อยู่ในสภาพที่ทำให้ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นระบบที่ยาก คือ สอบได้ยากอย่างยิ่ง จำนวนผู้สอบได้มีเพียงร้อยละประมาณ ๕-๓๕ ของจำนวนผู้เข้าสอบ ผู้เรียนส่วนมากจะต้องตกซ้ำอยู่ในชั้นหนึ่งๆ เป็นเวลา ๑ ปีบ้าง ๒ ปีบ้าง เกินกว่านั้นบ้าง ที่ผ่านไปหนึ่งชั้นต่อหนึ่งปีนั้น หาได้ยากนัก

ในเมื่อสภาพความจริงเป็นอยู่เช่นนี้ แทนที่จะยอมรับ แล้วขยายจำนวนชั้นเรียนออกไป ให้ชั้นหนึ่งๆ พอดีกับเนื้อหาวิชาที่จะเรียนได้ในปีหนึ่งๆ อันจะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้เรียนโดยเฉลี่ยจะเรียนได้สะดวกขึ้น ไม่หนักเกินไป สามารถสอบได้และก้าวหน้าไปในการศึกษาตามลำดับปี แทนที่จะทำอย่างนั้น ก็กลับยึดมั่นรักษาระบบไว้ให้แน่นอนตายตัว อย่างที่จะเปลี่ยนมิได้

สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดผลเสียหลายประการ เช่น ผู้ที่ตกซ้ำซากในชั้นเดิม เกิดความเบื่อหน่าย ไม่ใส่ใจวิชาที่เรียนในชั้นที่ซ้ำนั้นอีก และชั้นที่สูงขึ้นไป ตนก็ยังไม่ถึงโอกาสที่จะเรียน เป็นอันเสียทั้งสองด้าน ในระหว่างนี้ ก็กลายเป็นการปล่อยเวลาให้ว่างเปล่าไป ครั้นชินเข้า ก็มักจะติดเป็นนิสัย ทำให้กลายเป็นคนเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้นไปอีก แล้วก็วนกลับมาทำให้ตกซ้ำอีก

ที่ร้ายกว่านั้น เมื่อมีเวลาว่างเข้าเช่นนี้ และไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็เลยเป็นช่องทางให้หันเข้าหาความประพฤติที่เสียหาย หรือไม่เหมาะสมเพิ่มเข้าอีก

นอกจากนี้ยังทำให้เสียประโยชน์ในช่วงท้ายอีกด้วย คือ แทนที่จะเร่งให้ผู้ศึกษาได้เล่าเรียนให้เสร็จๆ ไปเสีย ผู้ที่อยู่สืบศาสนาได้ ก็จะได้หันไปทำงานทำการหรือตั้งหน้าปฏิบัติธรรมจริงจังต่อไป หรือผู้ใดที่สมควรสึก ก็จะได้สึกๆ ไปเสีย ก็กลับมาสร้างเครื่องกักกั้นไว้ ทำให้พะวักพะวน จะไปทางไหนก็ไม่ไป ทำอะไรก็เอาเป็นแน่นอนจริงจังไม่ได้ เป็นผลเสียทั้งแก่ประโยชน์ที่ศาสนาจะพึงได้ และการดำเนินชีวิตของบุคคล

(ในกรณีนี้ ประโยชน์ที่ได้จากการถ่วงเวลาให้พระเณรบวชอยู่ไปได้นานขึ้น เป็นประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มเสีย เสียแล้ว เพราะประโยชน์อย่างนั้นมีอยู่ในสมัยที่พระส่วนใหญ่พอได้เรียนมีความรู้ขึ้นบ้าง ก็เป็นทั้งผู้เรียน ทั้งผู้ทำงานควบกันไป แต่ในสภาพปัจจุบัน ขอบเขตงานที่พระเปรียญนักธรรมจะมีโอกาสทำ ได้แคบเข้า จนแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว ผู้ที่จะทำงาน เช่นสอนไปด้วยระหว่างเรียน เหมือนอย่างแต่ก่อน ก็เหลืออยู่แต่ในบ้านนอก ซึ่งการศึกษาบาลีก็เสื่อมลงโดยลำดับอยู่แล้ว ส่วนในกรุงมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่กลายเป็นเพียงผู้อยู่ว่างๆ เปล่าๆ หรือหาเรียนอะไรอย่างอื่นไปเสีย คณะสงฆ์และแต่ละวัดไม่มีงานให้ทำ ทั้งนี้เพราะคณะสงฆ์และวัดเอง ก็กำลังกลายเป็นผู้ว่างงานอยู่แล้ว จะหางานที่ไหนมาให้สมาชิกของตนได้)

โดยความรับผิดชอบ เมื่อติเตียนพระเณร
ก็อย่าลืมติเตียนตนเองด้วย

มีข้อคิดบางอย่างที่ควรแทรกไว้ที่นี่

อย่างที่หนึ่งคือ การตำหนิติเตียนว่าพระเณรสมัยปัจจุบันไม่เอาใจใส่เล่าเรียนธรรมวินัย ซึ่งเป็นเสียงที่หนาหูขึ้นขณะนี้ และก็ตรงกับข้อเท็จจริงด้วย ข้อคิดก็คือการตำหนิติเตียนนั้นควรทำบ้าง เพื่อให้พระเณรในฐานะบุคคลได้ตระหนักในความรับผิดชอบส่วนตัว

แต่ในเวลาเดียวกัน อย่าลืมให้ความเป็นธรรมแก่พระเณรเหล่านั้นด้วย แม้จะติเตียน ก็ควรทำด้วยความเข้าใจ พึงกำหนดเหตุปัจจัยอย่างที่กล่าวมาแล้วไว้ในใจ เผื่อแผ่ความรับผิดชอบไปให้ทั่วถึง และถ้าผู้ติเตียนเป็นคนไทย โดยเฉพาะเป็นพุทธศาสนิก ก็อย่าลืมสำรวจและติเตียนตนเองด้วย

เรื่องพระสึก จะกันจะแก้หรือไม่ อย่างไร?

อีกอย่างหนึ่ง คือทัศนคติของรัฐ ของคณะสงฆ์ ของสังคมส่วนที่คลาดเคลื่อน และของปัญญาชนบางส่วน เกี่ยวกับการสึกของพระ และวิธีที่จะไม่ให้พระสึก สถาบันและกลุ่มชนเหล่านี้ มักมีความรู้สึกกันอยู่ทั่วๆ ไปในแง่ที่กลัวว่าพระเณรได้เล่าเรียนวิชาความรู้อื่นเพิ่มนอกเหนือจากธรรมวินัยแล้ว จะพากันสึกเสียหมด และรู้สึกต่อไปอีกว่า ไม่ควรให้พระเณรเรียนวิชาการต่างๆ นอกจากธรรมวินัย (“ธรรมวินัย” ในความเข้าใจของท่านเหล่านี้ น่าจะเรียกว่าตำราวัด หรืออะไรทำนองนั้น) ตลอดถึงว่าไม่ควรรับรองระดับความรู้ให้ เพื่อจะได้เป็นการป้องกันไม่ให้พระสึก

ทัศนคติเช่นนี้ ถ้าตั้งใจเป็นอุเบกขา แล้วใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาจากพื้นฐานความเข้าใจในสภาพความเป็นจริง จะเห็นว่าเป็นทัศนคติที่ผิวเผินเลื่อนลอย ขาดฐานแห่งความคิดที่มั่นคง จนถึงกับเป็นทัศนคติที่แปลกประหลาดเหลือเชื่อ

ฐานแห่งความคิดที่ควรใช้พิจารณาทัศนคติเหล่านั้น มีตัวอย่าง ดังนี้

๑. ทัศนคติเหล่านี้ ขาดฐานคือความเข้าใจสภาพความจริง หรือเกิดจากการไม่รับรู้สภาพความจริงโดยตรง ทั้งสภาพการบวชและสภาพการสึก คือไม่ตระหนักถึงความจริงที่ว่า พระเณรส่วนใหญ่ คือลูกชาวบ้านซึ่งเข้ามาบวชด้วยความมุ่งหมายทางการศึกษา โดยถือว่าสถาบันสงฆ์เป็นสถาบันการศึกษา ไม่ได้ตั้งจุดหมายสูงสุดในพระศาสนามาแต่ต้น และเมื่อบวชแล้ว ส่วนใหญ่ก็ได้สึกอยู่แล้ว และจะต้องสึกอย่างนี้ต่อไปอีก อย่างแน่นอน

ในเมื่อสภาพการบวชยังเป็นอยู่เช่นนี้ เจ้าของทัศนคติเหล่านี้ เพ่งมองแค่ผู้ที่เรียนวิชาการอย่างระบบปัจจุบันอย่างเดียว จึงเห็นการสึกของผู้เรียนในระบบนี้ ไม่ได้มองผู้เรียนในระบบเดิม ซึ่งก็สึกเช่นเดียวกัน และถ้ามองก็มักมองในชั้นเรียนที่สูงขึ้นไป ลืมมองในชั้นที่ต่ำลงมา และที่ไม่ได้เรียน ซึ่งสึกกันอยู่อย่างมากมายไม่เว้นเวลาในหน้าแล้ง

๒. ความคิดที่จะป้องกันการสึกและหาวิธีป้องกันสึกนั้น เกิดจากความปรารถนาดีว่าจะช่วยดำรงและสืบต่อพระศาสนา แต่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าความคิดนั้นสมด้วยเหตุผลหรือไม่ และจะให้เกิดผลสำเร็จตามต้องการได้หรือไม่

- การจะไม่ให้สึก เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางสำเร็จ ในเมื่อสภาพการบวชยังเป็นอยู่เช่นนี้ ถ้าต้องการไม่ให้สึกอย่างจริงจัง ต้องแก้ที่ประเพณีการบวช

- การกันไม่ให้สึก เป็นผลร้ายมากกว่าดี เพราะผู้ที่อยากจะสึก หรือควรจะสึก แล้วไม่ได้สึก ใจไม่อยู่ในเพศและภาวะของตน จะดิ้นรนทำความเสื่อมเสียแก่ตน แก่สถาบัน และแก่สังคมอย่างมากมาย

- การกันสึกด้วยวิธีบีบคั้นไม่ให้การศึกษา หรือศึกษาแล้วปิดทางให้เอาไปใช้ไม่ได้ เป็นวิธีการที่เลวร้ายที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะเป็นการทำลายทั้งบุคคล ทั้งพระศาสนา และสังคม ทำให้พระศาสนามากด้วยคนขาดคุณสมบัติ ไม่มีความสามารถ ทำให้คนจำนวนมากอยู่ในพระศาสนาด้วยความจำใจ เพราะไม่มีทางไป ประพฤติผิดเพศภาวะเพราะอยู่แต่ตัว ใจไม่อยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กำลังเริ่มแสดงผล และจะนำความเสื่อมโทรมมาสู่พระศาสนาอย่างร้ายแรง

นอกจากนั้น ยังทำให้ขาดประโยชน์แก่รัฐและสังคม เพราะคนที่เข้ามา เสียเวลาศึกษาอยู่ยาวนาน กลับออกไปแล้ว ไม่สามารถทำงานเป็นประโยชน์ได้เท่าที่ควร

- การกันสึกหรือป้องกันสึก ไม่ควรให้มีความหมายเป็นการกีดกั้นบีบคั้นหรือปิดหนทางอย่างที่ชอบคิดกัน แต่ควรให้หมายถึงการช่วยกันหาวิธีชักจูงกล่อมเกลาให้พระเณรมีจิตศรัทธาแนบแน่นในพระศาสนา ปรารถนาจะดำรงเพศต่อไปด้วยความพอใจ

ถ้าหันมาคิดมาทำกันอย่างนี้ จะดีกว่ามัวมากลัวและกันกันอยู่ เช่น ในด้านการศึกษา ก็จะได้หาทางทำหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่ฝึกอบรมจิตใจให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เป็นต้น

- ปัญหาปัจจุบัน น่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องพระสึก แต่เป็นเรื่องพระไม่สึกมากกว่า ควรหันมาสนใจในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ผู้ที่ควรสึก ได้สึกไปเสีย อย่างนี้จะดีกว่า ระบบคัด(เลือก)คนเข้า เราก็ไม่มีอยู่แล้ว ระบบคัดคนไว้ ก็กำลังจะสูญเสียไป แล้วยังจะไม่มีระบบคัด(ไล่)คนออกอีก จะยิ่งเกิดความเสียหายซ้ำหนัก

ควรหันมาใส่ใจเรื่องวิธีระบายคนออก หรือจะให้ดียิ่งกว่านั้น ก็ให้ถึงขั้นวิธีคัดคนไว้และระบายคนออก อย่างนี้จะได้ผลดีเป็นชิ้นเป็นอัน ดีกว่าจะมัวกลัวสึกและกันสึกกันอยู่

วิชาการอะไร ที่พระควรเรียนหรือไม่

๓. ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาการที่พระควรเรียน ไม่ควรเรียน วิชาการสมัยใหม่ วิชาการทางพระศาสนา วิชาปริยัติธรรม ตลอดจนดิรัจฉานวิชา โดยทั่วไปยังเป็นความเข้าใจที่พร่ามัว ว่าตามๆ กันไปอย่างนั้นเอง พอจะคั้นหาความแน่นอน ก็มักไม่มีหลักเกณฑ์

เท่าที่พิจารณาดูโดยทั่วไป ความเข้าใจที่นำมาพูดกันส่วนมาก เป็นเรื่องของความติดในรูปแบบ มากกว่าจะเข้าถึง สาระที่แท้จริง

รู้จักดิรัจฉานวิชา รู้ความเจริญของศาสนศึกษา

ตัวอย่างสำหรับคนที่มีความเข้าใจอย่างนี้ เช่น ประวัติศาสตร์ที่มาในคัมภีร์ ทีปวงส์ จามเทวีวงส์ ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น ก็จัดเข้าในปริยัติธรรมได้ แต่ประวัติศาสตร์ประเทศลังกา ประวัติศาสตร์ประเทศพม่า ที่เป็นตำราฝรั่ง แม้จะบันทึกความเป็นมาของพระพุทธศาสนาไว้มากมาย ก็ต้องเป็นดิรัจฉานวิชา

การคำนวณที่มาในคัมภีร์สังขยาปกาสกฎีกา และวชิรสารัตถสังคหะ เป็นปริยัติธรรมได้ แต่ตำราคณิตศาสตร์ปัจจุบัน ก็จำใจเข้าพวกดิรัจฉานวิชา

ประพันธศาสตร์ในคัมภีร์สุโพธาลังการ เป็นปริยัติธรรมได้ แต่ตำราฉันทลักษณ์ภาษาต่างประเทศปัจจุบัน ต้องเป็นดิรัจฉานวิชา

พจนานุกรมภาษาบาลี ซึ่งประมวลศัพท์ทุกประเภทแม้ในโลกวิสัย เป็นปริยัติธรรมได้ แต่พจนานุกรมภาษาต่างประเทศปัจจุบัน ซึ่งมีศัพท์เกี่ยวกับหลักศาสนธรรมและสถาบันศาสนามากมาย ก็เป็นเพียงติรัจฉานวิชา

ลิลิตตะเลงพ่ายที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงนิพนธ์ไว้ พอจะเข้าพวกผลงานในพระศาสนาได้ แต่วรรณคดีสุภาษิตของชาติอื่น ก็คงเป็นแค่ดิรัจฉานวิชา

ถ้าเอาทีปวงส์และสุโพธาลังการเป็นต้นไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ โดยไม่ให้รู้ตัว คัมภีร์ทั้งสองนั้นก็คงกลายเป็นดิรัจฉานวิชาไป

การทำลายความติดในรูปแบบ เป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง แต่ถ้าจะทำอะไรให้จริงจัง ก็ควรพยายามคิดกันให้จริงจัง จะได้เข้าถึงสาระกันบ้าง

การติดในรูปแบบเกี่ยวกับวิชาการนี้ เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการรับแบบอย่างตะวันตกนั่นเอง เพราะการปรับตัวไม่พร้อม จึงทำให้เกิดการถือแบ่งแยกขึ้น

ตามความเข้าใจแบบนี้ วิชาการอะไรที่นำมาแสดงออกมีรูปลักษณ์เข้าแนวของตะวันตก หรือตามแบบอย่างที่มีภายหลังติดต่อรับอารยธรรมตะวันตกแล้ว ก็เป็นอันถูกจัดเข้าเป็นวิชาการสมัยใหม่ และเป็นดิรัจฉานวิชาไปหมด

ในที่นี้จะยังไม่วิจารณ์เรื่องนี้ยืดยาว แต่ควรสังเกตความหมายคำว่า “ดิรัจฉานวิชา” ที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์บ้าง

ตามที่ท่านแสดงไว้ ดิรัจฉานวิชา หมายถึง วิชาภายนอกที่ไร้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอธิบายว่า หมายถึงวิชาสำหรับทำการเบียดเบียนเข่นฆ่าผู้อื่น เช่น ศิลปการช้าง ม้า รถ ธนู อาวุธด้าม วิชาอาถรรพณ์ วิชาสะกด การทำยาสั่ง และตัวอย่างในทีฆนิกาย (รวมวิชาหากิน) ได้แก่ วิชาหมอ และหมอดู การทำนายทายทัก ทำพิธีไสยศาสตร์ต่างๆ12

- ความจริง วิชาการที่พระเณรควรเรียนก็มี ไม่ควรเรียนก็มี ทั้งนี้เหมือนกัน ทั้งวิชาที่เรียกว่าเก่า และวิชาที่เรียกว่าใหม่ (วิชาใหม่ก็อันเดียวกันและเจริญสืบต่อจากวิชาเก่านั้นเอง และมักจะอยู่ในรูปที่บริสุทธิ์กว่าด้วยซ้ำ)

วิชาใหม่ที่ไม่ควรเรียนก็หลายอย่าง แต่การวินิจฉัยว่าควรเรียนหรือไม่ ไม่ควรตั้งอยู่บนฐานความคิดว่าเพราะจะเป็นเหตุให้พระสึก แต่ควรเป็นไปโดยเหตุผลที่เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ การประพฤติปฏิบัติและประโยชน์ทางพระศาสนาโดยตรง เช่นว่า วิชาการนั้น เรียนแล้วจะช่วยเสริมความเข้าใจธรรมให้ง่ายและเร็วขึ้นหรือไม่ เรื่องนั้นเรียนรู้แล้ว ทำให้ซาบซึ้งในศาสนคุณมากขึ้นหรือไม่ วิชานี้พระเรียนแล้ว ช่วยในการบำเพ็ญศาสนกิจให้ได้ผลดีขึ้นหรือไม่ วิชานี้มีประโยชน์ แต่เมื่อเรียนจะเหมาะสมกับสมณภาวะหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น

ศาสนศึกษาในประเทศไทยได้เสื่อมโทรมลงมาตลอดเวลา ๕๐๐ ปี แม้จะมีการพยายามฟื้นฟูขึ้นเป็นคราวๆ เท่าที่มีหลักฐาน ก็ไม่ปรากฏว่าได้เจริญขึ้นสู่ระดับที่มีแต่ก่อนนั้นอีกเลย

คราวสุดท้ายที่มีการพยายามฟื้นฟู คือเมื่อประมาณ ๗๐ ปีมาแล้ว แต่หลังจากนั้นก็กลับเสื่อมทรุดลงไปอีก

คัมภีร์พุทธศาสนาที่พระเถระรุ่นเก่ารจนาไว้เมื่อก่อน ๕๐๐ ปีโน้น มีทั้งที่เป็นคำสอนในพระศาสนาโดยตรง และที่แสดงวิชาการอันเสริมสุตะไม่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อย่างเช่น คัมภีร์โลกทีปสารของพระเมธังกร จักรวาฬทีปนี ของพระสิริมังคลาจารย์ ปัญจคตินิทาน ตลอดถึง เตภูมิกถา ก็คือ ตำราดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และสังคมวิทยานั่นเอง

บางท่าน อย่างพระอัตถทัสสีเถระไปไกลถึงกับรวบรวมตำรายา เรียกว่าเภสัชชมัญชุสา พระเถระในอาณาจักรศรีเกษตร ได้รับอาราธนาจากพระมหากษัตริย์ให้รจนาธรรมศาสตร์ คือตำรากฎหมายให้หลวงด้วยซ้ำ

เมื่อพระสงฆ์ใฝ่ใจในศาสนศึกษากันมากจนล้นไปถึงวิชาอื่นๆ ที่เป็นบริวารด้วยเช่นนี้ พระสงฆ์ก็เป็นผู้ทรงภูมิปัญญา อยู่ภายในกรอบความประพฤติที่ดีงามด้วย วิทยาการต่างๆ ก็เจริญด้วย และสามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคง เป็นรากฐานให้ผู้เกิดมารุ่นหลังเสวยผลบุญเก่าอยู่ได้ในปัจจุบัน

ครั้นมาถึงสมัยของพระสงฆ์รุ่นหลังอย่างในปัจจุบันนี้ ไม่เคยรู้จักความเจริญของศาสนศึกษาในปางก่อน ไม่เคยเห็นคัมภีร์ที่รจนาในครั้งก่อนนั้น ที่สุดแม้ชื่อคัมภีร์ก็ไม่เคยได้ยิน จึงคิดเอาแคบๆ ตามที่ตนรู้สึกว่า วิชาการอย่างที่ตนไม่รู้ไม่เห็น เป็นดิรัจฉานวิชา เท่ากับว่าได้จ้วงจาบกล่าวหาพระคัมภีร์ที่พระโบราณาจารย์เหล่านั้นรจนาไว้ว่าเป็นดิรัจฉานวิชาไปด้วย แล้วปิดทางเจริญแห่งวิชาการเสียทั้งหมด

ครั้นพวกที่เกิดตามภายหลังต่อมาอีก เกิดความสงสัยขัดแย้งขึ้น จึงแบ่งแยกกันเป็นรุ่นเก่ารุ่นใหม่ โดยที่แท้ สองพวกนี้ ก็ร่วมสมัยเดียวกันอันแสนสั้น มิใช่มีผู้เก่าอะไรจริงเลย

อนึ่ง ว่าถึงความเจริญแห่งวิทยาการทั้งหลาย ระหว่างไทยกับประเทศตะวันตก เมื่อ ๕oo ปีมาแล้ว หาได้ห่างกันไม่ และฝ่ายไทยมีช่องทางน่าจะไปดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะคติศาสนาไม่ขัดขวางความคิดเห็นที่แปลกออกไป แต่เพราะมาเสื่อมทรุดเสียในระหว่าง ด้วยมัวเพลิดเพลินกับกิจกรรมสนุกสนาน และไม่ถูกบีบคั้นให้ขวนขวายเร่งรัดตัว ทั้งถูกปิดทางด้วยความติดรูปแบบในทางวิชาการซ้ำเข้าอีก จึงสิ้นทางไป

ว่าที่จริง การวินิจฉัยวิชาใดว่าพระเณรควรเรียนหรือไม่นั้น ควรพิจารณาเนื้อหา ท่วงทีการแสดง ประโยชน์ที่นำมาใช้ และวิธีการแสดงเป็นสำคัญ เมื่อมิใช่เป็นดิรัจฉานวิชาตามความหมายที่กล่าวข้างต้นแล้ว อยู่ในวิสัยและเป็นไปตามแนวทางของสมณะ ย่อมเกื้อกูลแก่พระศาสนาได้

พระโบราณาจารย์ท่านน่าจะได้คำนึงโดยเหตุผลว่า วิชาการใดก็ตาม ที่เป็นแต่หลักความรู้บริสุทธิ์ล้วนๆ อันจะช่วยให้เจริญปัญญาในการเข้าใจสภาวะของโลกและชีวิต เป็นอุปกรณ์สำหรับพระสงฆ์ที่จะอธิบายหรือใช้เป็นสื่อถ่ายทอดคำสอนแก่ประชาชน เพื่อให้หมู่มนุษย์มีศีลธรรมดีขึ้น ประสบประโยชน์สุขมากขึ้น โดยวิถีทางแห่งคุณธรรมและโดยอาการถ่ายทอดที่มีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐาน วิชาการนั้น ท่านพึงเล่าเรียนสั่งสอน และไม่เว้นที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์

แต่เพราะภายหลังมาปิดทางการศึกษาวิชาการเหล่านี้กัน มิใช่หรือ วงการศึกษาและสั่งสอนพระพุทธศาสนาจึงพลอยจำกัดตัวแคบลงไปด้วย เพราะระแวงระวังวิชาที่เข้าใจเอาเองว่าเป็นดิรัจฉานวิชาเหล่านี้ มิใช่หรือ ดิรัจฉานวิชาตัวจริงจึงงอกงามสะพรั่งขึ้นมาแทนที่

และยิ่งกว่านั้น เพราะปิดกั้นการศึกษาสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นดิรัจฉานวิชาเหล่านี้ มิใช่หรือ พระเณรจำนวนมากจึงถูกผลักดันและชักล่อให้เบี่ยงเบนหันเหไปหมกมุ่นในสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าดิรัจฉานวิชาด้วยซ้ำ

จริงอยู่ เมื่อพระเณรเรียนวิชาความรู้ต่างๆ เหล่านี้ จะมีปัญหาบางอย่างเกิดตามมาได้ ซึ่งชวนให้เข้าใจว่าเป็นความเสียหายเกิดจากการเล่าเรียนอย่างนั้น แต่ที่เข้าใจเช่นนั้น ก็เพราะเป็นการมองอย่างผิวเผินเคลือบคลุม ขาดการแยกแยะวิเคราะห์ปัญหา

ความจริงแล้ว ปัญหานั้นย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยอื่นที่พ่วงอยู่ ซึ่งจะต้องกำหนดรู้ แยกออก และแก้ให้ตรงเรื่องกัน

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานั้น

บางสมัย พระสงฆ์ก็ขลุกขลุ่ยอยู่กับตำราและคัมภีร์ จนลืมหน้าที่สามัญและความสัมพันธ์กับประชาชน กลายเป็นนักทฤษฎีตีวาทะอย่างพวกเจ้าลัทธิปรัชญาไป

บางสมัย ก็ใกล้ชิดกับประชาชนเกินขอบเขต จนกลายเป็นคลุกคลี เหินห่างหน้าที่ในการศึกษาปฏิบัติ ชักพาประชาชนบ้าง ถูกประชาชนชักจูงบ้าง ให้ไขว้เขวหย่อนยานกันไป จนเลยออกนอกลู่ทาง ทำให้จุดอ่อนและช่องโหว่แห่งความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นแก่พระศาสนา

แต่สมัยใด พระสงฆ์ทำหน้าที่ในทางการศึกษาปฏิบัติ และหน้าที่ในด้านความสัมพันธ์กับประชาชน ได้สัดส่วนพอดี พระศาสนาก็เจริญมั่นคง ทั้งในแง่ของตัวพระศาสนาเอง และในแง่ของประโยชน์สุขของประชาชน

พระพุทธศาสนายุคหลังในประเทศไทยนี้ ดูจะเข้าสู่สภาพที่ขาดสมดุลมาเป็นเวลานานพอสมควร ถ้าเห็นกันว่าถึงเวลาที่ควรดึงเข้าที่แล้ว ก็น่าจะยังไม่ถึงกับไปไกลเกินดึง

ทัศนคติกลัวพระเรียนแล้วสึกนี้ มีในหมู่ท่านผู้มีความหวังดีต่อพระศาสนาและสถาบันสงฆ์เป็นอย่างมากด้วย จึงควรจะเตือนกันว่า ความหวังดีเป็นสิ่งที่ดี แต่การแสดงความหวังดี ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดผลดีเสมอไป

การแสดงความหวังดีที่ผิวเผิน ทำโดยคิดเอาเองง่ายๆ แสดงออกมาง่ายๆ ตามที่สักว่า “รู้สึก” ไม่ได้ศึกษาให้ “รู้” เข้าใจความจริงโดยรอบคอบ และไม่สืบสาวหาข้อเท็จจริงและเหตุปัจจัยต่างๆ ให้ชัดเจน จนมองเห็นลู่ทางประสานรูปสำเร็จที่พร้อมจะเอามาปฏิบัติให้เกิดผลจริงจังขึ้นมาได้ อาจมีค่าเป็นการทำลายไม่น้อยกว่าการกระทำของผู้มุ่งร้าย หรืออาจยิ่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะเมื่อคนเขาเห็นว่าหวังดีแล้ว ก็ไม่สะดุดใจ พลอยตกหลุมเห็นคล้อยตามไปได้ง่าย

ความจริง ท่านที่ร่ำร้องแสดงความปรารถนาดี ไม่อยากให้พระเณรเรียนหนังสือ และไม่อยากให้มีขั้นความรู้ เพราะกลัวจะสึกนั้น ถ้าท่านเหล่านี้จะเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามชาวบ้านนอกและชาวนาเอาลูกมาบวชเณร แม้จะเป็นการกระทำที่ข่มเหงกันและดูน่าขำ ก็ยังสมเหตุสมผลกว่าการแสดงความปรารถนาดีอย่างผิวเผินเช่นนี้

รัฐ สถาบันสงฆ์ พระเณร และสังคมไทย
ควรให้ความรู้ พาออกมาอยู่กันในความสว่าง

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ควรกำหนดไว้ในที่นี้ คือ ความแตกต่างแห่งประวัติการศึกษา ระหว่างสังคมตะวันตก กับสังคมไทย

ในสังคมตะวันตก การศึกษาที่เจริญมาแบบสมัยใหม่ เกิดจากความขัดแย้งแข่งขัน ระหว่างผู้นำฝ่ายคฤหัสถ์ กับฝ่ายศาสนจักร

กล่าวคือ ผู้นำฝ่ายคฤหัสถ์ทั้งหลาย ไม่พอใจสภาพการศึกษาที่อยู่ในกำมือของศาสนจักรมาเป็นเวลานาน จึงพยายามดิ้นรนให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบ้าง ริเริ่มจัดขึ้นมาเองใหม่บ้าง

ฝ่ายศาสนจักรเห็นเช่นนั้น ก็พยายามรักษาความยิ่งใหญ่ในทางการศึกษาของตนไว้โดยเร่งรัดแก้ไขปรับปรุงจัดการศึกษาของตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ต่างฝ่ายต่างพยายามดำเนินการศึกษาของตนให้ก้าวหน้า สภาพการศึกษาของเขาจึงสืบต่อมา ทั้งฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายศาสนจักร ปรากฏผลอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

แต่ในสังคมไทยนั้น ตรงข้าม เมื่อการศึกษาระบบเดิมสะดุดหยุดลง การศึกษาระบบใหม่ของสังคมไทยเริ่มต้นด้วยการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ ช่วยกันจัดดำเนินการศึกษา

ครั้นดำเนินต่อมาได้เล็กน้อย ก็ถึงจุดต่อเนื่องแห่งทางเดินของการศึกษาสมัยปัจจุบัน มีการตกลงกันใหม่ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ โดยรัฐตกลงว่าจะรับเอาการศึกษาสำหรับพลเมืองมาจัดดำเนินการเองทั้งหมด13 ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็ยินยอมด้วยความเห็นชอบและแสดงอาการวางมือจากการศึกษาสำหรับพลเมืองทั้งหมด พร้อมนั้นก็พยายามสร้างแนวความคิดและทัศนคติของตนให้สอดคล้องกับการกระทำนั้นด้วย

การศึกษาของสังคมไทยที่ดำเนินต่อมาถึงปัจจุบัน จึงเริ่มต้นด้วยการตกลงยินยอมกัน ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ ให้ฝ่ายหนึ่งหยุด ฝ่ายหนึ่งทำ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พฤติการณ์ร่วมกันของรัฐกับคณะสงฆ์ครั้งนั้น จะต้องเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การศึกษาปัจจุบันทั้งของฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายพระศาสนามีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ขอย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิม การที่พระเณรดิ้นรนออกไปเรียนนอกระบบของคณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ควบคุมไม่ได้นั้น นอกจากเป็นการตัดโอกาสของคณะสงฆ์เองที่จะใช้ระบบนั้นเป็นช่องทางให้การศึกษาสนองความมุ่งหมายของตนเองแล้ว ก็เป็นการตัดโอกาสในการดูแลควบคุมความประพฤติไปด้วย พระเณรที่เล่าเรียนนอกระบบสงฆ์จึงมีโอกาสประพฤติเสียหายได้ง่าย กลายเป็นเหยื่อคำวิจารณ์ติเตียนของสังคมที่ขาดความรู้ความเข้าใจ

เมื่อความประพฤติเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ คณะสงฆ์ (ตลอดถึงรัฐและสังคม) ก็ยิ่งรังเกียจพระเณรที่หาทางเรียนอย่างนั้นมากขึ้นอีก นำไปสู่การพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือหาทางกีดกันการเล่าเรียนนอกระบบ และพยายามบีบคั้นบังคับให้เรียนในระบบที่คณะสงฆ์ต้องการให้มากขึ้น

แต่เมื่อควบคุมไม่ได้ผลจริง พระเณรก็ยิ่งดิ้นรนมากขึ้น นำไปสู่ผลเสียหายเพิ่มพูนยิ่งขึ้น คำติเตียนของสังคมที่มากขึ้น และห่างจากการแก้ปัญหาออกไปทุกที

ในเวลาเดียวกัน ผลร้ายอีกอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น คือความรู้สึกขัดแย้ง จนถึงเป็นปฏิปักษ์ ระหว่างพระผู้น้อย กับพระผู้ใหญ่

โดยเฉพาะ ทำให้พระผู้น้อยเพ่งเล็ง ขาดความวางใจ และมีความรู้สึกรุนแรงต่อพระผู้ใหญ่ที่บริหารการคณะสงฆ์ นำไปสู่การตำหนิติเตียนและการกล่าวร้ายโจมตี

พระผู้ใหญ่ก็ว่า พระผู้น้อยไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย (ลืมคิดว่าการสนใจในธรรมวินัยของพระผู้น้อย เป็นความรับผิดชอบของตนอยู่ส่วนหนึ่งด้วย เพราะพระเณรเหล่านั้น ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป แต่เขาส่งมาให้ตนฝึก ซึ่งรวมถึงฝึกให้สนใจในธรรมวินัยด้วย) พระผู้น้อยก็ว่า พระผู้ใหญ่ล้าหลัง บีบคั้นกลั่นแกล้งตน ต่างก็ไปหาจุดตรงข้ามตั้งป้อมหันหน้าเข้าหากัน ซึ่งไม่เป็นทางของการแก้ปัญหาอย่างใดเลย เป็นการขาดพื้นฐาน คือความรู้ความเข้าใจที่เข้าถึงสภาพความเป็นจริงด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ทั้งสองฝ่ายรู้แต่ความต้องการของตน (จะต่างกันก็เพียงความต้องการของฝ่ายไหนจะเป็นไปเพื่อตนเองและส่วนรวมกว้างแคบกว่ากัน) ล้วนไม่ยอมปรับใจเข้าหากันและวิเคราะห์เหตุผลให้เข้าถึงความจริง ผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจผู้น้อย ผู้น้อยก็ไม่เห็นใจผู้ใหญ่

แง่ที่จะต้องเข้าใจผู้น้อย ได้กล่าวมาแล้วยืดยาว ส่วนแง่ที่จะต้องเห็นใจผู้ใหญ่ก็คือ ท่านไม่ตระหนักถึงสภาพความเป็นจริง จะให้ท่านจัดการแก้ไขได้อย่างไร ถึงจะโจมตีอย่างไร ก็ไม่ช่วยให้ท่านเข้าใจความจริงนั้นได้ ยิ่งโจมตีไป ก็มีแต่จะทำให้ท่านเข้าใจผิด (ถูกก็มี) มากยิ่งขึ้นว่า ฝ่ายผู้น้อยทำเช่นนั้น เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จะทำให้ห่างจากการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น

และถ้าจะว่าทำไมท่านไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็คงจะต้องเห็นใจอีกว่า ท่านมีพื้นฐานการศึกษาอบรมมาในระบบที่จะให้เป็นอย่างนั้น การที่จะแหวกออกจากระบบที่เคยชิน และหุ้มห่อตนมานั้น เป็นของยากยิ่งนัก ท่านผู้ใดทำได้ ก็ต้องนับให้ว่าเป็นกรณีพิเศษ

ถึงท่านที่แหวกออกมาได้เช่นนี้ ก็ติดขัดอีก เพราะได้เพียงตระหนัก แต่ไม่รู้ที่จะจัดเองได้ หรือแม้เห็นทางจัด ก็ยังติดขัดเรื่องกำลังคนอีก เพราะสถาบันสงฆ์ได้ถูกปล่อยทิ้งและสูบเอากำลังออกไปใช้ฝ่ายเดียว ไม่มีเติมเข้ามาเป็นเวลานานจนอ่อนเปลี้ยไปหมด นับเป็นปัญหาที่หมักหมมทับถมจนยากที่จะทำโดยลำพัง

จุดเริ่มต้นที่สำคัญขณะนี้ก็คือ การสร้างพื้นฐานแห่งความรู้ความเข้าใจขึ้นมา และภารกิจนี้เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำ ไม่เฉพาะภายในวงของสถาบันสงฆ์เท่านั้น แต่ต้องสร้างให้แก่สังคมทั้งหมดด้วย

- ทั้งนี้ เพราะเหตุผลว่า สังคมมีส่วนรับผิดชอบต่อสถาบันสงฆ์ด้วย ประการหนึ่ง

- เพราะสังคมกำลังเริ่มเพ่งมองสถาบันสงฆ์ในทางที่ไม่น่าพอใจ และด้วยความเข้าใจผิด สถาบันสงฆ์ยังไม่ทันรู้ตัวที่จะปรับตน สังคมหรือกลุ่มชนที่มีอำนาจในสังคม อาจเข้าจัดการกับคณะสงฆ์อย่างผิดพลาดเสียก่อนก็ได้ ประการหนึ่ง

- และประการสุดท้าย ในกรณีที่สถาบันสงฆ์ไม่ยอมที่จะทำความเข้าใจและยอมรับสภาพปัญหาของตน เมื่อสังคมภายนอกไม่ยอมรั้งรออีกต่อไป โดยเฉพาะอาจมีกลุ่มอิทธิพลที่อยากทำการนี้อยู่แล้ว ได้โอกาสหรืออดรนทนไม่ไหว จะเข้ากระตุ้นหรือเร่งเร้าสถาบันสงฆ์ให้จัดการแก้ปัญหา หรือเข้าแก้ปัญหาเสียเอง สังคมหรือกลุ่มชนนั้น ก็จะได้ทำการนั้นโดยมีความรู้ความเข้าใจเป็นพื้นฐาน

พระเอาเปรียบสังคมนั้นหายาก เจอมากแต่พระ ๒ พวก
คือ ชาวนาชาวบ้านนอกที่เสียเปรียบจึงส่งลูกมาบวชเรียน
กับชาวบ้านที่เอาเปรียบพระเณรโดยบวชเข้ามาเอาศาสนาหากิน

อนึ่ง ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเอาเปรียบสังคมอีกเล็กน้อย

ความจริง พระเณรที่เป็นลูกชาวนาชนบทห่างไกลนั้น ถ้าเรียนอะไรจริงจังสักอย่างแล้ว ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้เอาเปรียบสังคมได้ เพราะอะไร? ขอให้ดู

พอเริ่มต้น พระเณรเหล่านั้นก็สละผลประโยชน์ส่วนที่ตนพึงได้รับ (ว่าให้ตรงคือถูกตัดออก) จากภาษีอากร เข้ามารับทุนเล่าเรียนจากประชาชนโดยตรง

ต่อมา เมื่อเล่าเรียนได้ความรู้จากสถาบันสงฆ์ไปบ้างแล้ว ยังไม่ทันได้ทำงานให้แก่สถาบันสงฆ์ ก็ออกไปทำงานสร้างผลิตผลให้แก่รัฐ

กลายเป็นว่า คณะสงฆ์ลงทุนผลิตคนให้รัฐ โดยรัฐไม่ต้องลงทุน หรือสถาบันสงฆ์มีค่าเท่ากับเป็นโรงเรียนที่ขาดทั้งทุนทั้งครู แต่ก็ได้ทำหน้าที่ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาให้แก่รัฐเรื่อยมา ตามมีตามได้ ทั้งที่รัฐแทบไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย

ในกรณีของพระเณรที่เล่าเรียนเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผู้เอาเปรียบสังคม หรือถ้าเอาเปรียบ ก็ย่อมน้อยกว่านักเรียนนักศึกษาโดยทั่วไป

ข้อที่จะเอาเปรียบได้นั้นมีแต่ว่า เมื่อเรียนอยู่นั้น ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติดีให้สมกับภาวะ และไม่ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ให้ถูกต้อง ก็กลายเป็นชาวบ้านที่เข้ามาเอาเปรียบศาสนา หาใช่เป็นพระเณรที่เอาเปรียบสังคมไม่

แต่ถ้าพระเณรเหล่านั้นศึกษาเล่าเรียนและประพฤติปฏิบัติดี พอรักษาตัวได้ ไม่ให้เป็นที่น่ารังเกียจ และไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถกล่าวหาว่าเป็นผู้เอาเปรียบใครๆ ได้เลย

ถ้าจะใช้คำว่าเรียกร้องกันแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า สังคมเรียกร้องบริการจากสถาบันศาสนา โดยผ่านบุคคลที่อยู่ในสถาบันนั้น ในอัตราส่วนที่แตกต่างกันตามระดับฐานะหน้าที่ของแต่ละบุคคลในสถาบัน

สำหรับพระหนุ่มและสามเณรในวัยเรียนนั้น ถ้าทำได้เพียงเป็นผู้ประพฤติอยู่ในกรอบวินัย ทำตนให้เป็นภาพแห่งความร่มเย็นปลอดภัย ทำให้เกิดความรู้สึกชื่นบานผ่องใส เป็นสิริมงคลและความงดงามแก่ผู้ได้เห็น อย่างที่รู้สึกสืบกันมาตามประเพณีในสังคมไทย ถ้าทำได้เพียงเท่านี้ ก็นับว่าเป็นบริการที่เพียงพอเท่าที่สถาบันสงฆ์จะพึงเรียกร้องจากพระเณรเหล่านั้น เพื่อให้ช่วยสถาบันสงฆ์ในการที่สถาบันจะทำหน้าที่ของตนต่อสังคมอย่างถูกต้อง

สำหรับสังคมไทยที่เข้าใจตนเองดีนั้น การที่เยาวชนยอมนำตัวเข้ามารับการฝึกอบรมอยู่ภายในกรอบพระวินัย ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับพุทธศาสนิก ที่จะแสดงความยอมรับให้เป็นตัวแทนแห่งคุณธรรมด้วยการกราบไหว้ อย่างเท่าเทียมกับที่พึ่งกระทำแก่ท่านผู้ทรงคุณธรรมอย่างสูง โดยไม่มีการแบ่งแยก

ทั้งนี้ เพราะพุทธศาสนิกกระทำการกราบไหว้ มิใช่ด้วยความยึดถือในตัวตน หรือด้วยความเห็นแก่ตัว มิใช่ไหว้ด้วยตัณหา คืออยากได้ผลประโยชน์ จึงไหว้ มิใช่ไหว้ด้วยมานะ คือถือตัวตนวัดฐานะศักดิ์ศรีสูงต่ำ จึงไหว้ มิใช่ไหว้ด้วยทิฐิ คือสักว่ายึดถือตามๆ กันมาว่าเป็นหลักปฏิบัติอย่างนั้นๆ โดยไม่รู้ ไม่เข้าใจความหมาย และความมุ่งหมาย จึงไหว้ แต่ไหว้ด้วยเห็นแก่ธรรม คือเพื่อธำรงและเชิดชูคุณธรรมความดีงามของสังคม

อย่างไรก็ดี มีข้อที่น่าเสียดายในขณะนี้ก็คือ ระบบของสถาบันสงฆ์ที่กำลังถูกปล่อยปละละเลยอยู่เช่นนี้ กำลังกลายเป็นเครื่องเปิดโอกาสให้คนในสังคมเมืองเข้ามาแอบแฝง ด้วยเจตนามุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวจริงๆ ซึ่งคนเหล่านี้นั้นแหละ ที่จะเป็นผู้เอาเปรียบทั้งศาสนา และสังคม ครบสองอย่างทีเดียว

พึงสังเกตด้วยว่า ความจริงสถาบันสงฆ์เปิดรับคนจากทุกระดับสังคมเสมอภาคกัน ทุกคนมีสิทธิและมีโอกาสสมัครเข้ามาเท่าเทียมกัน

แต่ในสมัยปัจจุบัน คนมีฐานะดีและมีโอกาสเหนือกว่าโดยทางภูมิศาสตร์เป็นต้น มีช่องทางอื่นที่ได้เปรียบมากกว่า และเห็นว่าสถาบันสงฆ์เป็นช่องทางที่เสียเปรียบ จึงไม่เข้ามาสู่สถาบันนี้เหมือนอย่างสมัยก่อน

ครั้นคนไร้ฐานะและด้อยโอกาสบางคนที่เข้ามาใช้ช่องทางของสถาบันสงฆ์ สามารถเล็ดลอดขึ้นมาถึงระดับการศึกษาเดียวกับคนมีฐานะและมีโอกาสเหนือกว่านั้นบ้าง คนพวกแรกที่ได้เปรียบนั้น ลืมความเดิมที่กล่าวมาแล้ว จึงตำหนิเอาคนพวกหลังที่เล็ดลอดขึ้นมาได้ว่าเป็นคนเอาเปรียบสังคม ทำให้เสียงที่กล่าวหาคนเสียเปรียบว่าได้เปรียบ เป็นเสียงที่มาจากคนได้เปรียบนั่นเอง

นอกจากนั้น นักศึกษาภายนอกที่เคยเกี่ยวข้อง มองเห็นสภาพการบวชเรียนของพระเณรในระบบของสถาบันสงฆ์ปัจจุบัน เมื่อเห็นลูกชาวบ้านนอกเข้ามาบวชเณรเรียนหนังสือ มักมีความรู้สึกโน้มไปทางดูถูกหรือยิ้มเยาะด้วยซ้ำไปว่า เณรลูกชาวบ้านเหล่านั้นโง่เขลาไม่มีทางไป ไม่รู้จักหนทางก้าวหน้า เข้าไปเรียนในระบบที่อับเฉา ชีวิตจะตกต่ำ ไม่มีทางสู้เขาได้

ทั้งที่มองเห็นอยู่ว่าพระเณรลูกชาวบ้านนอกเสียเปรียบอย่างนี้ ขัดอารมณ์เขาขึ้นมา พระเณรลูกชาวบ้านนอกก็กลับถูกมองเป็นผู้เอาเปรียบไปได้

ทางแก้อีกอย่างหนึ่งจึงได้แก่การจัดสภาพสถาบันสงฆ์เสียใหม่ ให้อยู่ในภาวะเอื้ออำนวยที่จะทำให้ผู้มีฐานะดีและมีโอกาสเหนือกว่า ยินดีที่จะเข้ามาใช้บริการของสถาบันนี้ร่วมกับคนที่ไร้ฐานะและด้อยโอกาส เป็นการช่วยให้เกิดความเสมอภาคและความเข้าใจดีต่อกัน เมื่อนั้นเสียงตำหนิกันว่าเอาเปรียบก็จะหมดไปด้วย สถาบันสงฆ์ก็จะทำหน้าที่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น คือช่วยเหลือคนทุกระดับได้จริง

นอกจากนั้น การที่รัฐจะต้องมาพิจารณาแก้ปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษา ด้วยการลงทุนให้ทุนการศึกษาและบริการสงเคราะห์ต่างๆ ก็จะพลอยผ่อนเบาลงไปด้วย เพราะระบบของสถาบันสงฆ์ตามรูปที่แท้นั้น มีบริการเหล่านี้พร้อมในตัวโดยไม่ต้องให้รู้ตัว เป็นระบบที่ให้ทุน โดยไม่ต้องบอกว่าให้ทุน สงเคราะห์ โดยไม่ต้องบอกว่าสงเคราะห์ และถ้าทำได้สมบูรณ์ตามรูปแบบที่วางไว้ ก็เป็นระบบที่ช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ต้องบอกว่าช่วย เพราะได้อยู่กับประชาชนอยู่แล้วตลอดเวลา

เรื่องที่เป็นปัญหาเท่าที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ควรจะต้องรีบจัดการแก้ไข จะแก้ได้ก็ต้องเริ่มด้วยการกล้าเผชิญความจริง

หลักใหญ่ของพระพุทธศาสนาบอกอยู่แล้วว่า จะกำจัดทุกข์ได้ ต้องกำหนดรู้ทุกข์ก่อน คือต้องกล้าเผชิญหน้ามองดูทุกข์ตามสภาพที่มันเป็นจริง แล้วสืบค้นหาต้นตอให้พบจึงกำจัดได้

คณะสงฆ์ รัฐ สังคมไทย แก้ไขปัญหาให้ถูกทาง
และเอาประโยชน์จากสถาบันสงฆ์ให้สมคุณค่า

ปัญหาที่กล่าวมา เป็นทุกข์ของสังคมที่สำคัญพอสมควร คณะสงฆ์ก็ดี รัฐก็ดี ตลอดถึงสังคมทั้งหมดก็ดี จะต้องรับรู้สภาพของปัญหาตามที่เป็นจริง แล้ววิเคราะห์ปัญหานั้นจนเห็นต้นตอ ตกลงให้แน่ว่าจะเอาอย่างไร แล้วกำหนดวิธีการกับการกระทำให้สอดคล้องกัน

เมื่อกล่าวรวบรัดในเรื่องนี้ สำหรับรัฐกับคณะสงฆ์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบใกล้ชิดที่สุด มีทางเลือกอยู่ ๒ อย่าง ซึ่งจะต้องตัดสินใจกำหนดเอาอย่างใดอย่างหนึ่งให้แน่นอน แล้วกระทำการให้สอดคล้องกับทางเลือกที่ต้องการนั้น พร้อมทั้งจัดการปรับสภาพความเป็นจริงให้ลงกันด้วย ทางเลือก ๒ อย่างนั้น คือ

๑. ให้สถาบันสงฆ์ เป็นแหล่งปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญกิจของผู้เบื่อหน่ายฆราวาสมาก่อนแล้ว ตั้งใจสละโลกเด็ดขาด อุทิศชีวิตต่อพระศาสนา มุ่งหน้าสู่โลกุตตรธรรมอย่างเดียวล้วน

ในกรณีที่กำหนดทางเลือกเช่นนี้ จะต้องให้สังคมไทยทั่วทั้งหมดได้รับรู้ยินยอมร่วมกัน แล้วระงับประเพณีบวชเรียนเสีย มิให้มีลูกชาวบ้านเข้ามาบวชเพื่อประสงค์การศึกษาอีกต่อไป

ในเวลาเดียวกัน รัฐจะต้องจัดการศึกษาให้ทั่วถึง รั้งเอาเด็กลูกชาวนาชาวชนบท ซึ่งตนแทบจะยังไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลยนั้น อย่างน้อยจำนวนสองแสนคน ที่จะเข้าไปอยู่ในสถาบันสงฆ์ ให้กลับเข้ามารับการศึกษาในระบบของตนให้หมด

๒. ให้สถาบันสงฆ์ เป็นสถาบันการศึกษาด้วย เป็นแหล่งสำหรับผู้สละฆราวาสโดยสิ้นเชิงแล้วด้วย ทำหน้าที่ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน คือ ยอมรับเอาบทบาทของสถาบันสงฆ์ในสังคมไทยเดิมมาปรับใช้ โดยถือระบบฝึกคัด (ฝึกไปคัดเลือกไป) หรือระบบกลั่นน้ำมัน คือ ทุกส่วนที่เข้ามา ได้รับการดัดแปลงกลั่นกรองให้มีคุณค่าขึ้นเป็นประเภทๆ และนำไปใช้ประโยชน์ได้ในระดับต่างๆ กัน

หมายความว่า ในสายกว้าง รับเอาเด็กและเยาวชนทั่วไปเข้ามาบวช แล้วให้การศึกษาอบรม ให้มีความรู้ความเข้าใจธรรมวินัยเพิ่มขึ้นไปโดยลำดับ ควบคู่ไปกับความรู้ที่จะให้ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกด้วยดี คือ จุดหมายสูงสุดมุ่งฝึกให้อยู่ในศาสนา แต่ในเวลาเดียวกันยอมรับความจริงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ด้วย จึงให้การศึกษาที่สนองทั้งความต้องการของบุคคล ความต้องการของสังคม และความมุ่งหมายจำเพาะของสถาบันไปพร้อมกัน

ในจำนวนผู้เข้ามาบวชทั้งหมด ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละไม่ต่ำกว่า ๙๕ จะกลับคืนไปสู่สังคมคฤหัสถ์ตามเดิมในระยะต่างๆ กัน

ในจำนวนนี้ จะมีผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนเพียงแค่พอมีความรู้ประดับตน มีศีลธรรมดีขึ้น ยังไม่ได้ทำงานให้แก่สถาบันสงฆ์เลย ก็ออกไปทำงานให้แก่สังคมคฤหัสถ์บ้าง ผู้ที่ใช้ความรู้นั้นทำงานให้สถาบันสงฆ์บ้างแล้วจึงออกไปบ้าง และจะมีส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่สุด ที่มีอุปนิสัยพร้อมจะอยู่ในสถาบันต่อไปโดยตลอด เท่ากับเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกขั้นสุดท้ายแล้ว

ส่วนน้อยที่สุดนี้ กับส่วนที่เรียนแล้วอยู่ทำงานให้ระยะเวลาหนึ่งสั้นบ้างยาวบ้าง รวมเข้าด้วยกัน เป็นส่วนที่ดำรงสืบต่ออายุศาสนา และส่วนน้อยที่สุดที่เหลืออยู่นี้ จะได้กำลังสมทบจากผู้ที่เบื่อหน่ายฆราวาสแล้วจึงเข้ามาบวชอีกจำนวนหนึ่ง รวมเป็นองค์ประกอบของสถาบันสงฆ์ที่สมบูรณ์สำหรับทางเลือกที่สอง

ความจริง ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สถาบันสงฆ์ก็อยู่ในทางเลือกที่ ๒ อยู่แล้ว แต่เพราะไม่รับรู้สภาพที่เป็นจริงนั้น จึงทำให้พฤติการณ์ขัดกับความเป็นจริง สิ่งที่มีอยู่ ก็ไม่ถูกจัดทำให้มีประสิทธิภาพ ความมุ่งหมายบางอย่างที่ควรจะมี ก็ขาดไป ความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ก็ไม่ได้ผลจริง และเกิดความเคลื่อนคลาดไขว้เขวต่างๆ มากมาย

แม้แต่กำลังที่ได้รับสมทบเข้ามาจากผู้ที่เบื่อหน่ายฆราวาสวิสัยแล้ว ก็มักไม่เป็นกำลังจริงอย่างนั้น กลับกลายเป็นส่วนที่เสแสร้ง แอบแฝงเข้ามาด้วยความมุ่งหมายซ่อนเร้นเสียจำนวนมาก กลายเป็นตัวการก่อปัญหาทอนกำลังของสถาบันสงฆ์ลงไปอีก และนับได้ว่าเป็นส่วนที่เอาเปรียบทั้งศาสนาและสังคมอย่างแท้จริง

ในทางเลือก ๒ อย่างนี้ จะต้องตัดสินเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งให้แน่ชัดลงไป และปฏิบัติการต่างๆ ให้สอดคล้องกัน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็เห็นจะหมดทางกู้ ถ้าจะเร่งให้หายนะเร็วเข้า ก็โจมตีซ้ำเข้าไป

ถ้าไม่ต้องการอย่างนั้น ก็เลิกโจมตีติเตียนต่างๆ เสียดีกว่า เพราะเพียงสภาพที่เป็นอยู่ซึ่งทิ้งไว้เช่นนี้ ก็เป็นปัญหามากอยู่แล้ว การโจมตีติเตียนโดยไม่ทำและไม่เข้าใจ มีแต่จะทำให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน และเลวทรามยิ่งขึ้น

น่าสมเพชที่บางครั้งท่านที่เข้ามาในประเภทเบื่อหน่ายฆราวาสแล้ว ก็พลอยร่วมวงติเตียนโพนทะนากับเขาด้วย กลายเป็นผู้สร้างความผิดพลาดไว้เป็นมลทินแก่ตน และร่วมทำลายโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปด้วย

สำหรับคณะสงฆ์และรัฐ ถ้ายังคงปล่อยปละละทิ้งสภาพปัญหาให้เป็นไปอยู่ตามเดิมอย่างนี้ ในระยะยาว ภิกษุหนุ่มและสามเณรจำนวนสองแสนนั้น แทนที่จะเป็นสิ่งสร้างเสริมคุณค่า ก็จะกลับเป็นเหตุสะสมปัญหา นำความล้มละลายมาสู่สถาบันสงฆ์เอง พร้อมทั้งก่อปัญหาสังคมแก่รัฐด้วย หรือถ้าไม่ล้มละลายเอง ก็จะเป็นการสร้างสถานการณ์บีบบังคับให้สังคมภายนอกต้องเข้ามาจัดการทำลายล้างสถาบันสงฆ์เสีย

แม้แต่คุณค่าในแง่ช่วยให้ความเป็นธรรมในสังคม ที่มีความสำคัญอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะรัฐบกพร่อง ไม่มีสถาบันอื่นใดมาช่วยแก้ไข

แต่ในกาลภายหน้า สังคมย่อมเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก เมื่อถึงเวลาหนึ่ง การณ์อาจกลับกลายเป็นว่า ผู้ด้อยโอกาสที่เข้ามาสู่สถาบันสงฆ์นั้น ถูกปล่อยปละละเลย ได้รับบริการไม่คุ้มกับเวลาที่สูญเสียไป กลายเป็นว่าสถาบันสงฆ์เก็บพลเมืองของรัฐจำนวนมากมายมากกไว้ ทำให้สูญเสียเวลาและกำลังงานของรัฐไปไม่คุ้มกับได้

หรือไม่ก็ในทางตรงข้าม สมมติว่าบริการการศึกษาของรัฐขยายออกไปทั่วถึง จำนวนผู้ที่เข้ามาบวชก็จะค่อยๆ ลดลงไปจนหมด เหมือนอย่างที่เป็นอยู่แล้วในถิ่นทั้งหลายที่เจริญแล้ว ทำให้สถาบันยุบตัวลงไปเอง หรือไม่ก็จะกลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของผู้ที่แอบแฝงเข้ามาเพื่อหาความสุขสบายไปจริงๆ

ปัจจุบันก็เห็นกันอยู่ชัดๆแล้วว่า คุณค่าของสถาบันสงฆ์ในด้านช่วยให้ความเสมอภาคทางการศึกษานี้ เหลืออยู่เพียงในขั้นช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสวงการศึกษาที่ด้อยโอกาส ให้มีทางผ่านสำหรับเข้ามาดิ้นรนแสวงหาการศึกษาเอาเองตามแต่จะหาได้ โดยคณะสงฆ์เองแทบไม่ได้เอาใจใส่จัดและควบคุมดูแลเลย

แม้คุณความดีที่ว่า สถาบันสงฆ์ช่วยให้เยาวชนในเพศสามเณรจำนวนแสนกว่ารูปพ้นไปจากปัญหาเยาวชนที่ร้ายแรงได้โดยสิ้นเชิง เหลือเพียงความเสื่อมเสียเล็กน้อยที่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงเฉพาะสำหรับผู้ดำรงเพศสามเณรนั้น ก็เป็นคุณค่าที่แทบจะมิได้อาศัยระบบการศึกษาของคณะสงฆ์เลย หากแต่เป็นเพียงการอาศัยกรอบวินัยและระบบชีวิตในเพศอย่างเดียวเท่านั้นช่วยไว้ หรืออย่างดีก็ด้วยระบบการฝึกอบรมของวัดแต่ละแห่งๆ นั้นเอง

(เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ว่า ใครก็ตามที่เข้ามาบวช เพศภิกษุสามเณร ก็ย่อมช่วยให้เขาพ้นจากการทำชั่วที่ร้ายแรงบางอย่างได้ทันทีโดยอัตโนมัติ ประเพณีไทยที่ให้เด็กอยู่วัดบวชเณรเรียนหนังสือ คงต้องเป็นมาโดยความตระหนักในคุณค่าทางจริยธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน เยาวชนผู้เข้าศึกษาอยู่ในระบบเช่นนี้ ย่อมถูกตัดออกจากปัญหาในการยกพวกตีกัน และปาระเบิดขวดเป็นต้น และเพราะเหตุนี้ ประชาชนทั่วไปตลอดถึงคนแก่เฒ่าจึงไหว้เด็กได้ ทั้งที่เด็กเหล่านั้นยังต้องอาศัยพวกเขาช่วยกันเลี้ยงดู หาอาหารให้รับเป็นทาน)

แต่ในกาลภายหน้า เมื่อยังคงปล่อยไว้อย่างนี้เรื่อยไปอีก ก็ไม่แน่นักว่าแม้แต่ปัญหาเยาวชนที่ร้ายแรงนั้นจะไม่คืบคลานเข้ามาถึงภายในวัดเอง ทั้งนี้ดูเหมือนว่าเค้าของเรื่องนี้ก็ได้เริ่มตั้งขึ้นบ้างแล้ว

สำหรับพระภิกษุสามเณรทั่วไป ข้อเขียนนี้มุ่งหมายให้เกิดความมั่นใจในคุณค่าของสถาบันของตนว่า สถาบันสงฆ์เท่าที่เห็นกันว่าเสื่อมโทรมอย่างนี้ ก็ยังมีคุณค่าแก่สังคมอย่างมากมาย ไม่น้อยกว่าสถาบันอื่นใดทั้งสิ้น

ถึงแม้ในแง่ที่เสื่อมโทรม ความเสื่อมเสียที่มีอยู่ ก็ยังมิได้มากยิ่งไปกว่าสถาบันอื่นใดเช่นกัน

แม้แต่สถาบันของปัญญาชนทั้งหลายที่ติเตียนสถาบันสงฆ์ นั้นเอง สถาบันนั้นสร้างปัญหาใดแก่สังคม สถาบันสงฆ์นี่เองเป็น สถาบันเดียวที่กำลังช่วยผ่อนเบาปัญหานั้น

อย่างไรก็ดี ที่กล่าวเช่นนี้ มิใช่จะให้มีความประมาท เป็นแต่ต้องการให้ตระหนักในความรับผิดชอบที่มีต่อสถาบันของตน จะได้พยายามปฏิบัติตนในทางที่จะกำจัดข้อเสื่อมเสียให้หมดไป รักษาคุณค่าแห่งสถาบันของตนไว้ และส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ให้ถึงขั้นที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้เพราะสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการประพฤติเสื่อมเสีย และไม่พยายามรักษาความดีงามของตน เท่าที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นจากภิกษุสามเณรจำนวนไม่น้อยขณะนี้ ในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนก็คือ การไม่รู้และไม่มั่นใจในคุณค่าของสถาบันของตน ตลอดจนคุณค่าของตนเอง มองเห็นตนเองและสถาบันของตนต่ำต้อยด้อยคุณค่า คล้อยไปตามคำกล่าวหาที่มีผู้ยกขึ้นมาติเตียนเป็นคราวๆ ทำให้เกิดปมด้อย โน้มใจให้ลดตัวลดระดับความประพฤติปฏิบัติของตัว และลดคุณค่าของตัวลงไปตามความรู้สึกด้อยนั้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำคัญอย่างหนึ่งที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องยอมรับ

หากไม่แก้ไขสร้างความเข้าใจ และแนวทางออกในการแก้ไขปรับปรุง สภาพนี้ก็จะทรุดลงไปเรื่อยๆ และนำไปสู่ความเสื่อมทราม หรือถึงกับหายนะของสถาบันสงฆ์ได้ทางหนึ่ง

(ลองวางใจเป็นกลางแล้ว นึกสำรวจดูว่า อาการเช่นที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นความจริงที่มีอยู่หรือไม่ คือการที่พระภิกษุรู้สึกภูมิใจและเห็นเป็นความดีเด่นอย่างหนึ่งในการที่ได้รับความสนับสนุนจากนักศึกษาและปัญญาชน ให้ไปร่วมในกิจกรรมบางอย่างของเขา แทนที่จะรู้สึกว่าเป็นโอกาสหรือเป็นภาระตามหน้าที่ที่จะต้องไปสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เขาในฐานะผู้สอน หากอาการเช่นนี้เป็นความจริงที่มีอยู่ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ส่อถึงสภาพที่กล่าวมาแล้ว และเป็นสัญญาณอันตรายที่แจ้งให้ทราบว่า สถาบันสงฆ์ได้คลาดเคลื่อนออกไปจากฐานะที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ตน ลงไปสู่ภาวะเคว้งคว้างเลื่อนลอยแล้ว และไม่รู้ตัวว่ากำลังปลอบใจตนเองด้วยการยึดเอารูปแบบที่พอใจซึ่งสืบต่อมาจากอดีตว่าเป็นฐานะของตน; แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงส่วนประกอบอีกส่วนหนึ่งของสังคมซึ่งซ้อนอยู่เบื้องหลังส่วนที่เป็นรูปแบบนั้น และเป็นส่วนที่จะก้าวออกมาเป็นส่วนหน้าของสังคมต่อไป สถาบันสงฆ์ก็อาจจะได้ตระหนักว่า ตนยังไม่มีฐานะที่มั่นใจในสังคมที่จะมาถึงข้างหน้า และทุนที่จะดำรงฐานะของตนไว้ ก็แทบจะยังไม่ได้เตรียมทำไว้เลย)

อนึ่ง ปัจจุบัน รัฐได้เริ่มแสดงอาการเอื้อมมือกลับเข้ามาขอรับความร่วมมือในทางการศึกษาจากคณะสงฆ์ใหม่อีก

ในสภาพเช่นนี้ รัฐจะต้องเตรียมจิตใจไว้ให้พร้อมที่จะมองเห็นความอิดโรยและความไม่พร้อมต่างๆ ของคณะสงฆ์ด้วยความเห็นใจและเข้าใจ จะต้องไม่ท้อแท้หรืออิดหนาระอาใจแล้วเลิกราไปเสียก่อน เพราะคณะสงฆ์ได้ถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้งมาเสียนาน ก็ต้องอดทนเอาหน่อย

นึกเสียว่า เป็นผลกรรมเก่าที่ได้ร่วมกันทำไว้ จะได้ตั้งหน้าระดมความเพียรพยายามขึ้นมาชดเชยให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ

พร้อมกับการมีคุณค่าอันสำคัญ สถาบันสงฆ์ปัจจุบันก็มีปัญหาและก่อให้เกิดปัญหามากมายหลายอย่าง ที่ยกมาพูดข้างต้นเป็นเฉพาะบางส่วนที่เห็นว่าสำคัญอย่างยิ่งเท่านั้น และเท่าที่กล่าวมาก็หวังว่าคงพอจะเป็นส่วนช่วยประกอบความคิด ให้มองเห็นสภาพปัญหา จุดที่ควรแก้ไขหรือส่งเสริม และลู่ทางปฏิบัติได้บ้างพอสมควร

ปัญหายังมีอยู่อีกมาก และคุณค่าก็ยังมีอยู่อีกมากเช่นเดียวกัน แต่จะพูดต่อไปก็จะยาวขึ้นทุกทีจนหาที่จบยาก จึงเห็นควรยุติเพียงนี้ก่อน

บันทึกที่ ๒
ปัญหาเกี่ยวกับ

ความเสื่อมโทรมของสถาบันสงฆ์

มีผู้ถามปัญหาเกี่ยวกับการปรับปรุงสถาบันสงฆ์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยสับสนยุ่งเหยิงและด้อยพัฒนา ก็เพราะทุกกลุ่มไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง และหน้าที่ต่อสังคมส่วนรวม สถาบันสงฆ์ปัจจุบันได้เสื่อมโทรมลง โดยยกตัวอย่างเช่น มีพระหมอดู เป็นต้น ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด จะแก้ไขอย่างไร

ปัญหานี้เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันสงฆ์ ผู้ถามปัญหาคงนึกถึงสภาพปัจจุบัน และมองเห็นว่าพระสงฆ์ทำบทบาทอะไรที่แปลกๆ และไม่ค่อยดี

ตอนแรกจึงจะต้องตกลงกันก่อนว่า ตามหลักแล้ว บทบาทของพระสงฆ์คืออะไร หรือพระสงฆ์ควรทำบทบาทอะไร

ได้กล่าวแต่แรกแล้วว่า บทบาทตามหน้าที่ของพระสงฆ์ ก็คือ ธรรมทาน แปลว่า การให้ธรรม

การให้ธรรมนั้นมีความหมายกว้างมาก เพราะคำว่า “ธรรม” หรือ “ธัมม” ในภาษาบาลี เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด แต่ถ้าแยกประเภทใหญ่ๆ ก็มี ๒ อย่างคือ ความจริง กับ ความดีงาม เป็นเรื่องของปัญญา อย่างหนึ่ง คุณธรรม (คุณภาพของจิตใจ) อย่างหนึ่ง

การให้ธรรม จึงหมายถึง การให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้หลักความจริง และหลักแห่งคุณความดี หรือให้หลักการที่จะให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรมและได้ประสบสิ่งที่ดีงาม คือ ทำให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง ตั้งต้นแต่ความรู้ขั้นสูงสุด เข้าใจในชีวิตนี้ว่าคืออะไร สภาวะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร ลงมาจนถึงความเข้าใจทั่วๆ ไปเกี่ยวกับจริยธรรมในการดำรงชีวิต เป็นแง่ของสัจธรรมอย่างหนึ่ง จริยธรรมอย่างหนึ่ง

รวมความคือ ช่วยประชาชนในทางปัญญา และในทางคุณธรรม อันนี้เป็นบทบาทหลัก

อะไรก็ตามที่เข้าอยู่ในแนวนี้ จะเป็นการอบรมสั่งสอน เป็นที่ปรึกษา แนะนำอะไรต่างๆ ก็เรียกว่าไปกันได้ ถ้าออกไปจากแนวนี้ ก็นับว่าเป็นการคลาดเคลื่อน

ปัจจุบันมีการพูดกันมากว่า พระสงฆ์ทำบทบาทอย่างนั้นอย่างนี้ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม ตลอดจนเป็นโทษเป็นภัยแก่สังคม เรามักทำได้แค่ยกขึ้นมาติเตียน พูดได้แค่นั้น เสร็จแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น

ถ้าหากเราไม่สามารถก้าวไปถึงขั้นชี้บอกได้ว่า ทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น เราจะแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็ได้แต่ทำอย่างที่ทำกันมากในปัจจุบัน คือ โจมตีกัน นับเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบันที่จะต้องโจมตีกัน

สภาพอะไรที่ไม่น่าพอใจ ไม่น่าชื่นชม มีอยู่มากมาย เรารู้ว่ามันไม่ดี เราไม่พอใจ เราก็โจมตี ได้แค่นั้น ก็เป็นอันจบ หมายความว่า แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้

ยิ่งเมื่อมีการตื่นตัวกันขึ้น ก็ดูจะยิ่งโจมตีกันมาก การตื่นตัวนั้นไม่ใช่ไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ดี แต่การตื่นตัวที่ไม่นำไปสู่การกระทำที่ลึกซึ้งกว่านั้น อาจนำไปสู่ผลเสียก็ได้

เกี่ยวกับสถาบันสงฆ์นั้น ความจริงเดี๋ยวนี้ประชาชนมีความสงสัยอยู่ไม่น้อย แต่บางทีไม่กล้าพูด ยิ่งต่อหน้าพระ ยิ่งไม่กล้าพูด ไปพูดลับหลังพระเสีย อะไรทำนองนี้ ถ้าหากจะแก้ปัญหากันจริงๆ ก็ต้องเผชิญหน้า ยกมาพูดกัน

ปัญหาสังคมต่างๆ ที่ยกมาพูดและโจมตีกันนั้น เป็นเหมือนอาการของโรค คือ สังคมป่วยเป็นโรค มีอาการเกิดขึ้นให้มองเห็น เราก็ยกเอาอาการนั้นขึ้นมาพูดกัน โจมตีกัน พูดหรือโจมตีนั้นไม่ยากเลย แต่ถ้าทำแค่นั้น แก้ปัญหาไม่ได้ เป็นการกระทำที่ผิวเผิน

จะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องวิเคราะห์ลงไปให้เห็นสมุฏฐาน ว่าอาการอย่างนั้นเกิดจากโรคอะไร มีอะไรเป็นสมุฏฐาน เช่นตัวอย่างที่ยกขึ้นมาถามนั้นว่า พระเป็นหมอดู จะต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมท่านต้องเป็นหมอดู อาจจะตอบอย่างง่ายที่สุด ตอบไปก่อน ถูกไม่ถูกไม่ทราบว่า เพราะท่านอยากได้ลาภสักการะ

วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ทำไมอยากได้ลาภสักการะ ได้ความว่า เพราะลาภสักการะนี้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของท่าน วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ยังมีเหตุอะไรที่ลึกซึ้งกว่านี้หรือไม่ ตอบว่ามี มีอย่างไร พระต้องมีความสัมพันธ์ทางสังคม

ลักษณะชีวิตของพระนั้น มีบทบัญญัติทางธรรมวินัย กำหนดไว้ว่า ต้องมีความผูกพันกับสังคม คือตามหลักว่าพระต้องพึ่งอามิสทาน ได้แก่ปัจจัย ๔ จากคฤหัสถ์ แล้วตอบแทนด้วยธรรมทาน

ทีนี้มีปัญหาว่า พระมีความสามารถที่จะตอบแทนด้วยธรรมทานหรือไม่ ถึงไม่สามารถ ท่านก็ยังต้องมีความสัมพันธ์กับประชาชน ทั้งเพื่ออามิสทานด้วย ทั้งเพื่อรักษาระบบแห่งความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนด้วย

การที่จะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ได้นั้น ข้อสำคัญ ต้องมีน้ำใจเมตตาช่วยประชาชนในรูปใดรูปหนึ่ง ถ้าจะช่วยในแง่ธรรมทานตามหน้าที่ที่แท้จริง ช่วยได้ไหม น่าสงสัยเสียแล้ว ถ้าไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษาดีพอ ไม่รู้ธรรมลึกจริง ไม่เข้าใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคน ก็ช่วยไม่ได้ แต่ก็ต้องช่วยในรูปใดรูปหนึ่ง

เขามาปรึกษา มาระบายทุกข์ พระไม่รู้ว่าจะแนะนำ หรือแก้ปัญหาให้เขาอย่างไร สภาพสังคมก็ไม่เข้าใจ ธรรมะก็ไม่เข้าใจ จะเอาธรรมข้อไหนออกมาใช้และอธิบายให้สัมพันธ์กับชีวิตของเขาในสภาพสังคมปัจจุบันอย่างไร ก็ไม่เข้าใจ วิธีอะไรดีที่สุด ก็ต้องปลอบ ปลอบโยนแล้วยังไม่พอ ก็หาทางช่วยให้มากขึ้น ให้สบายใจมากขึ้น

ดูหมอให้ ก็เป็นทางหนึ่ง ที่ช่วยปลอบประโลมทางจิตใจ ช่วยให้เขามีความหวัง เป็นการอนุเคราะห์ไปทางหนึ่ง แต่ทีนี้ ดูไปๆ ได้ลาภผล ชักติดใจ เลยกลายเป็นหลงลาภสักการะไป อย่างนี้เป็นต้น

รวมความแล้ว ตำแหน่งของปัญหามันอยู่ลึกซึ้งลงไปถึงว่า เป็นเพราะพระไม่สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของท่านได้ ทำไมท่านจึงทำไม่ได้ เพราะอะไร ก็เพราะเราให้การศึกษาท่านไม่พอ การให้การศึกษาแก่พระ เป็นความรับผิดชอบของสังคมด้วยหรือไม่ สังคมได้เอาใจใส่ในเรื่องนี้แล้วหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น เป็นปัญหาที่พันถึงกันไปหมด

จะแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะต้องมองย้อนลึกลงไปถึงการศึกษาของพระด้วย เสร็จแล้วลองสำรวจสภาพการศึกษาของพระดู แล้วก็จะรู้เห็นเข้าใจได้พอสมควร เรียกว่าเข้าใจปัญหาดีขึ้น

การที่พระพุทธศาสนาบัญญัติให้ชีวิตพระต้องขึ้นกับประชาชน ไม่ให้ปลูกผักขุดเผือกมันฉันเองนั้น ก็เพื่อประโยชน์ระยะยาว ทำให้พระต้องผูกพันอยู่กับสังคม ต้องคอยคิดสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชนในรูปใดรูปหนึ่ง แต่เมื่อการตอบแทนหรือการสงเคราะห์ไม่เป็นไปตามหลักที่ตั้งไว้ มันก็ต้องไขว้เขวไป

พูดง่ายๆ ว่า เมื่อท่านไม่สามารถให้ธรรมทาน แต่ท่านยังต้องอนุเคราะห์ประชาชน ท่านก็ทำออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง

แม้แต่คำโจมตีที่ว่า ทำไมพระสร้างโบสถ์กันนัก ไม่เป็นประโยชน์ เสียเศรษฐกิจ เราไม่ได้วิเคราะห์ต่อไปเลยว่า ทำไมท่านจึงทำเช่นนั้น และจะแก้ได้อย่างไร ท่านไม่รู้แน่ว่าในสภาพสังคมปัจจุบัน ท่านควรทำอะไร จึงจะเป็นบทบาทที่เหมาะที่ควรเป็นประโยชน์แท้จริง แต่มีค่านิยมอันหนึ่งที่ยึดถือมาแต่โบราณว่า สร้างถาวรวัตถุให้วัดเป็นบุญเป็นกุศล อันนี้ท่านรู้ บทบาทอื่นไม่รู้จะทำอะไร เช่นการศึกษาสำหรับลูกหลานชาวบ้านเป็นต้น ก็ไม่ใช่งานของพระมานานแล้ว (ถึงเดี๋ยวนี้จะให้ทำ ส่วนมากก็ไม่รู้จะทำได้อย่าไร) เมื่อเป็นอย่างนี้ มันก็ออกมาในรูปนี้ จะอยู่เฉยๆ ทำไม

ไม่ใช่ท่านไม่ดี แต่ท่านไม่รู้จะทำอะไรดี เราจะต้องช่วยกันหาทางออก ให้ท่านสามารถทำบทบาทที่เป็นประโยชน์ได้ เช่นชี้แนะช่องทางให้ท่านเข้าใจสภาพของสังคมปัจจุบัน และแนวทางที่ท่านจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือได้สมกับภาวะและฐานะของท่าน อาจจะเป็นการจัดการศึกษาช่วยลูกหลานชาวบ้านก็ได้ ทั้งนี้สถาบันอื่นของสังคมจะต้องยอมรับด้วย เช่นรัฐต้องยินยอม เป็นต้น

แล้วทีนี้ มองไปอีกด้านหนึ่ง ที่ท่านสร้างโรงเรียนประชาบาลในชนบทกันเท่าไรๆ ทำไมเราไม่มองและยกขึ้นมาพูดบ้าง

ผู้ที่ได้แต่ด่าว่าโจมตีเขานี้ เท่ากับทำความผิดและสร้างความไม่เป็นธรรมถึง ๒ ทาง คือ ด้านที่ท่านทำดีทำเหมาะสมอยู่แล้ว ทำไมไม่ยกขึ้นมาสนับสนุนแสดงความยอมรับ และในแง่ที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ในเมื่อตนอยู่ในสังคมส่วนที่เจริญกว่า มีหูตากว้างกว่า รู้เข้าใจอะไรๆ ดีกว่า ตนจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่เขาก่อน จึงจะมีสิทธิด่าว่าติเตียนเขาได้

การด่าว่าโจมตีผู้ที่มีพื้นฐานด้อยกว่าตน โดยยังไม่แนะนำให้ความรู้ความเข้าใจแก่เขาก่อนนั้น ย่อมเป็นการกระทำโดยไม่ชอบธรรม หรืออาจถึงกับเป็นการเอาแต่ได้ เรียกร้องแต่จะให้ผู้อื่นทำ โดยที่ตนเองมิได้ทำอะไรที่เป็นการเสริมสร้างเลย นอกจากเรียกร้องกันเสียจนในที่สุดการเรียกร้องนั้นกลายเป็นตัวปัญหาขึ้นมา และกลายเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญก้าวหน้าเสียเอง

ปัจจุบันนี้ แม้จะมีการตื่นตัวทางสังคม แต่อาการที่แสดงออกก็ยังบอกถึงลักษณะที่ขาดความรับผิดชอบอยู่นั่นเอง คือมีแต่การเรียกร้องจากผู้อื่นว่าทำไมทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ลืมมองดูความรับผิดชอบของตนที่เป็นเหตุปัจจัยในเรื่องนั้นด้วย

เรื่องของสถาบันสงฆ์นี้ ก็กล่าวได้ว่าถูกสังคมทอดทิ้ง สังคมไม่รับผิดชอบ สังคมได้แต่เรียกร้องจากท่านจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมเองยังมีลักษณะและอาการอย่างนี้ ยังสับสนขาดความรับผิดชอบเช่นนี้ ผู้ใดที่ตั้งตัวเป็นผู้แก้ปัญหาสังคม หรือว่าตนมีสำนึกทางสังคม ผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบ จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน

ส่วนพระสงฆ์เองนั้น แน่นอนว่าย่อมมีความรับผิดชอบใกล้ชิดที่สุด เพราะเป็นเรื่องของตนเอง มิใช่เรื่องที่จะรอให้ผู้อื่นมารับผิดชอบก่อน และจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่สำรวจตนเองไปทีเดียวว่า อะไรเป็นหน้าที่รับผิดชอบของตน มีพุทธภาษิตเตือนอยู่แล้วว่า

ยญฺหิ กิจจํ ตทปวิธํ อกิจฺจํ ปน กยิรติ
อุนฺนฬานํ ปมตฺตานํ เตสํ วฑฺฒนฺติ อาสวา

สิ่งใดเป็นหน้าที่ กลับทอดทิ้งเสีย ไพล่ไปทำสิ่งที่มิใช่หน้าที่
คนเหล่านั้นมัวชูตัวพองประมาทอยู่ อาสวะของเขาก็พอกพูนยิ่งขึ้น

บันทึกที่ ๓
ปัญหาเกี่ยวกับ

ค่านิยมคลาดเคลื่อน

ความคลาดเคลื่อนของค่านิยมนั้น เกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือไม่รู้เท่าทัน ซึ่งมองได้ ๒ ด้าน คือ ไม่รู้จักตัวเอง และไม่รู้จักสภาพแวดล้อมตัว

อธิบายอย่างง่ายว่า ความเชื่อถือ หรือความประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ยึดถือสืบต่อกันมาในกลุ่มชน หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง เมื่อลงตัวเป็นประเพณีแล้ว ก็จะมีรูปแบบขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถึงขั้นนี้ ผู้ที่ยึดถือหรือประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น มักกระทำตามๆ กันมาโดยไม่เข้าใจความหมายแห่งการกระทำของตนชัดเจน คือรู้สึกเหมือนว่าจะเข้าใจหรือรู้อยู่ แต่เลือนรางพร่ามัว ไม่สามารถหยิบยกขึ้นมาแสดงให้เห็นชัดเจน ช่วงนี้ก็เป็นตอนหนึ่งที่ความคลาดเคลื่อนจะเกิดขึ้นได้

แต่ตราบใดที่สภาพแวดล้อมที่เป็นตัวสัมพันธ์และกำหนดความหมายของความเชื่อถือ หรือความประพฤติปฏิบัตินั้นยังคงอยู่ ความคลาดเคลื่อน ก็ยังอยู่ในขอบเขต พอมีพื้นฐานเป็นแนวกำหนดได้ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป และผู้ยึดถือปฏิบัติ ไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้น การก็กลายเป็นว่า มีการยึดถือปฏิบัติอย่างนั้น ทั้งที่สิ่งที่จะเชื่อมโยงให้ความหมายแก่การกระทำนั้น ได้ขาดลอยไปแล้ว

ดังตัวอย่าง การยึดถือค่านิยมเกี่ยวกับบุญในการสร้างสิ่งก่อสร้างในวัด ทั้งที่วัดไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนและไม่ได้ทำบทบาทสำคัญ เช่นการให้การศึกษาเป็นต้นเหมือนอย่างเดิมแล้ว

เมื่อยึดถืออยู่อย่างเดิม ทั้งที่สิ่งที่ให้ความหมายได้ขาดหายไปแล้ว และไม่สามารถปรับตัว เพราะไม่เข้าใจสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องหาเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดงความหมายแห่งการกระทำของตน และธรรมดาของคนก็จะต้องหาเหตุผลเข้าข้างการกระทำของตน ยิ่งความหมายนั้นห่างจากสภาพความจริงหรือเหตุผลสามัญเท่าใด ก็จะต้องทำให้วิจิตรพิสดารมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เป็นหลักฐานมั่นคง

โดยนัยนี้ เมื่อไม่เข้าใจตนเองชัดเจน ไม่เข้าใจสภาพแวดล้อมชัดเจน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เมื่อไม่สามารถปรับตัว ก็ต้องยึดหลักไว้อย่างเดิม เมื่อความหมายเดิมขาดไป ก็ต้องยึดความหมายใหม่หรือความหมายรองที่เหลืออยู่ให้มั่นคง เมื่อการกระทำไม่สัมพันธ์กับความหมายเดิม ก็ย่อมคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ จนในที่สุด แทบจะสืบค้นหาความหมายเดิมไม่พบ อย่างเรื่องการทอดกฐินเป็นต้น

ฉะนั้น ภาพที่ปรากฏในปัจจุบันของความเชื่อถือหรือความประพฤติอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นค่านิยมเดิม แต่ไม่ใช่ในความหมายเดิม ผู้ที่มาจากภายนอก หรือผู้ที่เป็นสมัยใหม่ ผลีผลามจับรวบ ไม่รู้จักแยก ย่อมได้ความเข้าใจที่ผิด เข้าไม่ถึงความจริง แทนที่จะเป็นผู้แก้ปัญหาสังคม เลยกลายเป็นผู้เพิ่มปัญหาสังคม ถ้าจะเป็นนักศึกษาที่แท้ ก็ต้องวิเคราะห์ให้ลึกลงถึงที่มาที่ไปทั้งหมด

ในสังคมไทยเท่าที่ผ่านความเปลี่ยนแปลงมาถึงบัดนี้นั้น ไม่ได้มีความคลาดเคลื่อนแต่ในเรื่องค่านิยมเท่านั้น แม้พฤติกรรมสังคมโดยทั่วไปก็คลาดเคลื่อนด้วย ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า การปรับตัวครึ่งๆ กลางๆ และอาการที่เรียกว่า ของใหม่ก็ไม่รู้จักเอา ของเก่าก็ไม่รู้จักใช้ กลายเป็นผลเสียหายแก่สังคมเองอย่างมาก

ยกตัวอย่าง เช่น ในสังคมไทยเดิม ถึงลูกหลานมีครอบครัวแล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็ยังคงอยู่ร่วมกับลูกหลานในบ้านเดียวกัน ช่วยดูแลเลี้ยงหลานเหลน แต่พอถึงวันพระ ๗-๘ วันครั้งหนึ่ง ผู้เฒ่าเหล่านี้ก็ไปอยู่วัดเสียครั้งหนึ่ง อยู่กับลูกหลานห่างวัยกันบางทีชักจะกลุ้มรำคาญกันบ้าง ไม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ทั้งสองฝ่าย เปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง ผู้เฒ่าชราก็ได้ความเงียบสงบ ห่างความกระจองอแง ได้พบปะสังสรรค์กันในหมู่คนวัยเดียวกันบ้าง หรือมีเรื่องราวอะไรอัดอั้นในใจ ก็ไประบายกับพระบ้าง ค้างคืนที่วัด รุ่งขึ้นก็กลับไปเริ่มต้นสัปดาห์ที่บ้านกันใหม่ หมุนเวียนเรื่อยๆ ไป

ปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนไป ปู่ย่าตายายยังอยู่บ้านเดียวกับลูกหลาน แต่สภาพวัดและความสัมพันธ์กับวัดเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ค่อยได้ไปวัด ไปค้างวัดอย่างเดิม ไม่มีการเปลี่ยนบรรยากาศ จำเจๆ บางทีเลยเป็นเหตุสะสมปัญหาทางจิตใจขึ้นมา ทั้งฝ่ายคนแก่และคนเด็ก

อีกตัวอย่างหนึ่ง วัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน รวมถึงบทบาทในการสงเคราะห์ด้วย คนไม่มีทางไป ก็ได้ไปอาศัยวัดเอาชีวิตรอด พอสังคมเจริญอย่างใหม่ การสงเคราะห์กลายเป็นกิจการใหญ่ มีการจัดขึ้นเป็นองค์การ เป็นทางการขึ้นมา แต่ความเคยชินในการปฏิบัติสืบต่อมาตามประเพณียังมีอยู่ บทบาทของวัดในด้านนี้ก็ยังคงมีอยู่ คนหมดทางไปก็ยังไปวัด แต่กลายเป็นเรื่องเรื่อยเปื่อยไม่ได้รับความใส่ใจสนใจ กลายเป็นเรื่องลักลั่นในสังคม เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาอีกหลายอย่าง เช่น สร้างนิสัยเสียแก่สังคม ทำให้มีนิสัยปล่อยปละละเลย เกี่ยงกันรอกัน จะทำอะไรก็ไม่ทำให้จริงจัง เป็นต้น

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ข้อที่ร้ายยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ นอกจากเกิดความคลาดเคลื่อนแล้ว ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีความ คลาดเคลื่อนเกิดขึ้น จุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงยากที่จะมี

ในสภาพของการปรับตัวครึ่งๆ กลางๆ ส่วนที่ใหม่ก็ไม่แท้ ส่วนที่เก่าก็ไม่จริงนี้ จึงน่ากลัวว่า สังคมไทยปัจจุบันจะเป็นสังคมที่เสื่อมทรามที่สุด คือ ลักษณะที่ดีของสังคมเดิม ก็สูญเสียไปแล้ว รักษาไว้ได้แต่ส่วนที่เป็นซาก สาระใหม่ที่ต้องการรับเข้ามาจากภายนอก ก็ยังรับไม่ได้ หยิบฉวยมาแต่รูปแบบหรือเปลือกนอก สภาพที่เป็นอยู่จะเป็นเช่นนี้หรือไม่?

ยกพุทธภาษิตมาสำทับว่า

อสาเร สารมติโน สาเร จาสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา

สิ่งที่ไม่เป็นสาระ เข้าใจว่าเป็นสาระ สิ่งที่เป็นสาระ กลับมองเห็นไม่เป็นสาระ
คนอย่างนั้น ย่อมเข้าไม่ถึงสาระ วนเวียนอยู่แค่แนวความคิดที่ผิดๆ

บันทึกที่ ๔
ปัญหาเพราะ

ระบบศักดินา หรือ เข้าไม่ถึงสังคมไทย

ปัญหาเรื่องนี้ ยกขึ้นพิจารณา เพราะปัจจุบันมักมีการตำหนิติเตียนเกี่ยวกับความประพฤติของข้าราชการว่า ไม่เข้าถึงประชาชน เพราะติดในระบบศักดินา หรือระบบเจ้าขุนมูลนาย ที่สืบต่อมาจากสังคมไทยเดิม

ในที่นี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ตัวจริงอันเดิมของระบบศักดินาหาได้เป็นสาเหตุตรงของปัญหานี้ไม่ ระบบศักดินาเดิมนั้น เป็นแต่เพียงส่วนเอื้ออำนวยหรือสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการเครื่องมือสำหรับแยกฐานะของตนออกจากราษฎรต่างหาก และความต้องการนี้ มีสาเหตุมาจากการไม่สามารถเข้าถึงประชาชน เพราะไม่เข้าใจประชาชนแท้จริง และไม่สามารถทำให้ประชาชนไว้วางใจในตนเองได้สนิท เรียกง่ายๆ ว่า ขาดความเป็นผู้นำที่แท้จริง

นี่คือ ในกรณีของสังคมปัจจุบันนี้ มิใช่ระบบศักดินาเป็นเหตุให้เข้าไม่ถึงราษฎร แต่กลายเป็นว่า เพราะไม่สามารถเข้าถึงราษฎร จึงยังต้องรักษาระบบศักดินาไว้ ต่างหาก การมัวแต่โทษระบบศักดินาอยู่ จะเป็นการจับจุดของปัญหาผิด และจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะตัวปัญหาที่แท้มันอยู่ที่การเข้าถึงกันด้วยความเข้าใจและไว้วางใจกันต่างหาก

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะมีการศึกษาที่สามารถสร้างบุคคลให้เข้าใจชุมชน เข้าใจประชาชน ทำตนให้ประชาชนมีศรัทธาได้ ไปเป็นข้าราชการ เป็นต้น

ฐานะของข้าราชการนั้น อยู่ในขั้นเป็นผู้นำของชุมชน เมื่อไม่สามารถสร้างความเป็นผู้นำแบบกัลยาณมิตรขึ้นแก่ตนได้ ก็ต้องหาทางรักษาฐานะศักดิ์ศรีของตนไว้ ด้วยความเป็นผู้นำแบบเจ้านาย คือการให้เขายอมรับอำนาจ และการแสดงออกที่ให้เห็นว่าสูงกว่า เหนือกว่า ถ้าแก้ปัญหาถูกจุดแล้ว ระบบศักดินาซึ่งตระหนักกันอยู่แล้วว่าต้องการจะเลิก ก็หมดไปเอง

แต่ถ้าแก้ไม่ถูกจุด ระบบศักดินาก็ไม่หมด ถึงจะโค่นล้มภาพที่ยึดกันไว้ว่าเป็นระบบศักดินาลงไป ก็คงจะต้องมีระบบศักดินาแบบใหม่ หรือระบบการแบ่งแยกฐานะในรูปใดรูปหนึ่งต่อไป

อย่างน้อยประชาชนก็ยังคงรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้เป็นคนจากสังคมอื่นเข้ามา เมื่อไม่ใช่เจ้านาย ก็เป็นผู้เจริญแล้ว กับผู้ล้าหลัง ในสภาพเช่นนั้น จะทำได้อย่างดี ก็เพียงทำใจแข็ง ตั้งใจแน่วแน่ว่า จะไม่ยอมนำเอาระบบศักดินามาใช้เสริมฐานะของตน สู้ทนยอมลำบาก ปรับตัวเองทั้งที่ไม่พร้อม

แต่การปรับตัวอย่างนี้ หาใช่การปรับตัวที่แท้จริงไม่ เพราะเมื่อไม่ได้ทำด้วยความรู้ความเข้าใจเข้ากันได้เองจริงๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ก็เป็นได้เพียงการฝืนใจตนเอง หรือการถูกกดดันจากภายนอก ทำให้เกิดปัญหาใหม่ซ้อนเข้ามา กลายเป็นการเสแสร้งหรือมิฉะนั้นก็เกิดปมด้อย ไม่ได้ผลดีตามความมุ่งหมาย

การโฆษณากล่าวคติสั่งสอนข้าราชการแบบข่มลงว่า เป็นผู้รับใช้ประชาชน ก็จัดเข้าในวิธีการแบบนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ต้องระวัง ถ้าไม่ทำให้สบายใจกับความหมายของคำ ก็จะเป็นวิธีที่ฝืนความรู้สึก และบางทีแฝงด้วยความรู้สึกแก้แค้น ยากที่จะให้ได้ผลดีทางจิตใจ และในทางปฏิบัติ

ทางที่ถูกควรจะศึกษาความหมายของคำว่า “รับใช้” และความรู้สึกต่อความหมายของคำนี้ให้ดีเสียก่อน ไม่ใช่จะต้องลอกเลียนศัพท์คล้ายจากภาษาอื่นมาใช้เสมอไป เพราะความหมายกับความรู้สึก บางทีก็ร่วมกันไปไม่ได้

ไหนๆ จะปรับปรุงสังคมใหม่กันแล้ว ก็ไม่ต้องมากลับทาสเป็นนาย กลับนายเป็นทาสหรอก มาเป็นกัลยาณมิตรช่วยเหลือกัน จะได้ผลดีกว่า ทั้งในทางจิตใจ และในทางปฏิบัติ

การโทษระบบศักดินานั้น จะพลอยทำให้เห็นไปว่า นักวิชาการสมัยใหม่ที่ว่าเต็มไปด้วยสำนึกในความรับผิดชอบทางสังคม ก็ยังชอบปัดความรับผิดชอบอยู่นั่นเอง

ความจริงนั้น ระบบศักดินาเป็นสิ่งที่ตกลงกันว่าเลิกแล้วด้วยซ้ำไป แต่มีปัญหาว่าทำไมจึงเลิกไม่ได้ เลิกไม่ได้เพราะยังไม่สามารถสร้างความเป็นผู้นำแบบที่ต้องการขึ้นมาแทนที่ ตัวแท้ของปัญหาจึงอยู่ที่การสร้างความเป็นผู้นำที่แท้จริง (ที่เรียกกันว่า แบบประชาธิปไตย) ซึ่งยังขาดอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

ผู้นำที่ดีแบบที่ต้องการ ก็คือ ผู้ที่คนเขาอยากตาม หรือพร้อมที่จะตาม พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เขายินดีที่จะให้มานำเขาไป

ความอยากตามหรือพร้อมที่จะตาม จะเกิดขึ้นได้ นอกจากอาศัยคุณสมบัติต่างๆ ของผู้ที่จะมานำแล้ว พื้นฐานที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ความรู้สึกไว้วางใจว่าเป็นมิตรกับเขา คือเป็นพวกเดียวกับเขา และมีใจจะร่วมจะช่วยกันกับเขา

ความรู้สึกนี้มีรากฐานสำคัญ ๒ อย่าง คือ ความรู้ กับ เจตนา ความรู้ คือ ร่วมรู้ร่วมเข้าใจอะไรๆ กับเขาเท่าที่จำเป็น เริ่มแต่เข้าใจชีวิต ความรู้สึกนึกคิดจิตใจ ตลอดจนปัญหาของเขา เจตนา คือ มีความตั้งใจจริง จริงใจ ให้เขาเห็นได้ว่าทำงานโดยมีความประสงค์ดี ปรารถนาดี ต้องการให้เขาประสบผลดี

เมื่อหันไปดูสภาพสังคมของชุมนุมชนชนบทส่วนที่อยู่กึ่งกลาง คือที่กำลังเริ่มเจริญ มีการศึกษาประมาณสักชั้นมัธยมตอนต้น ก็จะเริ่มมองเห็นต้นตอของปัญหาทันที

ระบบการศึกษา และระบบทางสังคมอย่างอื่นๆ ในปัจจุบันของเรา มิได้แยกคนออกจากชุมชนเฉพาะในด้านการดำเนินชีวิตที่พยายามไต่ไปหาความก้าวหน้ามีฐานะสูงในเมืองและในกรุง อย่างที่กล่าวในบันทึกที่ ๑ อย่างเดียวเท่านั้น แต่แยกออกไปหมดทั้งชีวิตทีเดียว

พอเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนแล้ว เด็กจะเริ่มรู้เรื่องไกลตัว ที่ทั้งตัวเขาเองและพ่อแม่พี่น้องรู้สึกว่าเป็นของสูงของวิเศษเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ยังอยู่ในชุมชนนั้น แต่ชีวิตของเขาจะห่างชุมชนนั้นออกไป หรือเขาจะห่างจากชีวิตของชุมชนนั้นออกไปทุกที เขาเป็นผู้มีการศึกษาสมัยใหม่ เป็นคนรู้จักความเจริญ เป็นคนวิเศษออกไปต่างจากชาวบ้าน ตัวเขาก็รู้สึกอย่างนั้น ชาวบ้านก็รู้สึกอย่างนั้น

เวลามีกิจกรรมตามประเพณีท้องถิ่นของชาวบ้าน เขาไม่ร่วมด้วย แทนที่จะยิ่งเรียนสูงแล้ว สามารถมาจัดมาร่วมกิจกรรมนั้นๆ ให้แข็งขันยิ่งขึ้น บางทีกลับรู้สึกอายที่จะมาร่วมหรือทำกิจกรรมนั้น กลัวจะทำให้เป็นคนล้าสมัย

ความอายบางทีเป็นเพราะปมด้อยด้านหนึ่ง คือตนเรียนสูงแล้ว แต่ห่างชีวิตถิ่นออกไป วางตัวไม่ถูกในกิจกรรมของถิ่น จึงไปเสริมปมเด่นในแง่เป็นผู้เจริญ มีการศึกษาสูง ทำให้เข้ากันไม่ได้ยิ่งขึ้น

เด็กนี้ หรือบุคคลนี้ ทั้งที่ตัวยังอยู่ในถิ่นนั้น ในชุมชนนั้น ก็ได้เริ่มเป็นบุคคลในสังคมอื่น ทั้งในความรู้สึกของตนเองและความรู้สึกของชาวบ้าน มีข้อดีที่ชวนให้เขารักษาฐานะนี้ไว้ด้วยซ้ำ คือ สังคมอื่นที่เขาสังกัดนั้น เป็นสังคมที่เจริญแล้ว ดีกว่าของชาวบ้านที่อยู่รอบตัว

เมื่อเขาเรียนสูงขึ้นไป กลับมาสู่ถิ่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง (ไม่ต้องพูดถึงคนที่อยู่ในสังคมเมืองมาแต่ต้นแล้วถูกส่งมาทำงาน) ในฐานะผู้ได้รับการศึกษาแล้ว จะมาช่วยชุมชน จะเป็นข้าราชการ หรือเป็นอะไรก็ตามที ความเคอะๆ เขินๆ ความผิดหูผิดตา ความตื่นๆ ความรำคาญกัน ก็เป็นอันจะต้องมีขึ้น

สำหรับชาวบ้าน ย่อมรู้สึกต่อเขาในทางที่ดี คือรู้สึกในทางยกย่องเชิดชูว่า เป็นผู้มีวิชาความรู้ เป็นคนเจริญกว่าสูงกว่าพวกชาวบ้าน แต่ความรู้สึกว่าสูงหรือเทียบกันนี้ พ่วงมากับความต่างโดยประเภท คือสูงหรือดีกว่าในสิ่งที่ต่างไปจากชาวบ้าน หรือในเรื่องที่ต่างหากจากชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่มาจากสังคมอื่น หรือระบบอื่นที่เจริญกว่า มีความรู้อย่างอื่นที่ชาวบ้านไม่มี สามารถสนองความต้องการบางอย่างที่ยังขาดอยู่ของชาวบ้าน ช่วยชาวบ้านให้ได้รับผลิตผลของความเจริญแบบใหม่ที่ยังไม่มีได้

เมื่อวิเคราะห์ออกไปจึงปรากฏว่า ความเชื่อถือหรือความนิยมนับถือของชาวบ้านที่มีต่อเขา เป็นความเชื่อถือในสิ่งที่เขามีต่างจากชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านยังไม่มี หรือมีไม่เท่าเขาเท่านั้น หาได้เกี่ยวเข้าไปถึงเรื่องที่เป็นเนื้อตัวชีวิตของชาวบ้านไม่

นอกจากนั้น ความรู้สึกที่ว่าเป็นผู้เจริญมาจากสังคมอื่น ก็เป็นฉากกั้นไม่ให้เข้าถึงกันสนิทอีกด้วย ในกรณีนี้ ถึงชาวบ้านจะมองเห็นเจตนาดีของเขา ความเป็นมิตรที่จะร่วมเดินทางก็ยังมีไม่พอ เป็นได้เพียงสื่อที่จะช่วยให้เขาได้สิ่งบางอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งยังไม่มีในหมู่พวกเขาเท่านั้น นี่เป็นขั้นตอนหนึ่งของปัญหา คือการเริ่มต้นด้วยความเป็นคนที่ต่างสังคมกัน

ขั้นตอนที่สอง ซึ่งจะกล่าวต่อไป ก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในการพัฒนานั้น ไม่เพียงแต่จะต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนได้พบความเจริญประสบสิ่งที่ดีงามเท่านั้น แต่ต้องการช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นออกมาจากสิ่งที่ไม่ดี จูงเขาออกมาจากค่านิยม ความเชื่อถือ ความประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาด ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติที่จะสร้างสรรค์ความเจริญได้อย่างดีอีกด้วย

ปัญหาในขั้นตอนนี้ เป็นขั้นเข้าถึงเนื้อตัวชีวิตของชาวบ้านทีเดียว ในกรณีนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อถือ ค่านิยม ความประพฤติปฏิบัติของเขาเองที่เขายึดถืออยู่ ซึ่งเขาถือว่าเขามีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี แต่นักวิชาการหรือปัญญาชน เป็นต้น ซึ่งมาจากภายนอก เห็นว่าสิ่งที่ชาวบ้านยึดถือเหล่านั้น ไม่ดี มีโทษ เป็นผลเสีย ต้องการให้เลิกยึดถือเสีย จุดบรรจบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประการแรก นักวิชาการ หรือปัญญาชน จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่ชาวบ้านเชื่อถือประพฤติปฏิบัตินั้นละเอียดชัดเจนยิ่งกว่าชาวบ้าน ถึงขนาดที่สามารถบอกได้ว่ามันผิดพลาดอย่างไร มีผลดีผลเสียอย่างไร

ประการที่สอง จะต้องสามารถชักจูงชาวบ้านให้เห็นตาม จนเชื่อ คือยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามผู้ชักจูง

ตามปกติ ถ้าได้ประการแรกแล้ว ประการหลังก็ตามมาไม่ยาก แต่เมื่อนำหลักการนี้มาตรวจสอบกับสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ดูเหมือนจะไม่ได้ความสบายใจเลย

เริ่มต้น ยกตัวอย่างเรื่องค่านิยมต่างๆ มีค่านิยมของชาวบ้านไทยหลายเรื่องที่นักวิชาการว่าไม่ดี ทำให้เกิดผลเสีย ขัดถ่วงการพัฒนา เช่น ค่านิยมเรื่องกรรม ค่านิยมเกี่ยวกับบุญ เป็นต้น

กล่าวได้ว่า นักวิชาการเหล่านั้น มีความรู้เกี่ยวกับค่านิยมเหล่านั้น ทั้งสามารถอธิบายให้เห็นชัดเจนว่าเกิดโทษ มีผลเสีย ขัดขวางความเจริญมากมายอย่างไร แต่ความรู้นั้นลึกซึ้งแค่ไหน และเพียงพอใช้ประโยชน์หรือไม่ ตอบว่ายังแค่ครึ่งๆ กลางๆ และเสี่ยงภัย เพราะเป็นความรู้ที่เรียนต่อมาจากชาวบ้าน คือรู้ตามที่ชาวบ้านรู้ เข้าใจยึดถืออยู่ พอสำหรับชี้แจงอธิบายสภาพที่เป็นอยู่ แต่ไม่พอที่จะใช้ประโยชน์ในงาน คือการแก้ไขปรับปรุงความเชื่อถือของชาวบ้าน

ขอเทียบให้เห็นง่ายๆ ด้วยเรื่องที่กำลังกล่าวขวัญกันมาก คือ ประชาธิปไตย

หลักการ และเนื้อหาสาระของประชาธิปไตย เป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งอย่างไร นักวิชาการเข้าใจดี

ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ ๔๒ ปีแล้ว และก็ถือกันว่า ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย ชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวกรุง ตลอดจนชาวบ้านนอก ก็รู้เข้าใจกันว่าอย่างนั้น ทุกคนได้รับรู้จากการเผยแพร่โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง และมีภาพของความเป็นประชาธิปไตยไว้จำเพาะตน ตั้งแต่ละเอียดลึกซึ้ง เป็นนามธรรมวิชาการล้วนๆ ไปจนถึงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเดินขบวน การนัดหยุดงาน ตลอดจนภาพเล่มสมุดในพานรัฐธรรมนูญ

สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป ถ้าไปถามความหมายของประชาธิปไตย ก็น่าจะได้เพียงชิ้นส่วนเล็กน้อย และอาจจะผิดพลาดของประชาธิปไตย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยอมรับกันว่าเขาเป็นคนในประเทศประชาธิปไตย

ในกรณีนี้ ย่อมไม่มีปัญญาชนใดที่จะวัดความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตย เพียงด้วยพฤติกรรมหรือคำอธิบายของชาวบ้านทั่วๆ ไปในประเทศที่เพียงแต่ประกาศตนว่า ได้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว จะใช้วินิจฉัยได้ก็เพียงกล่าวว่า เป็นสภาพความเข้าใจประชาธิปไตยของคนในประเทศนั้น และใช้เป็นฐานสำหรับแก้ไขปรับปรุงความเข้าใจต่อไปเท่านั้น

ในแง่ของพระพุทธศาสนา ก็เช่นเดียวกัน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทประกาศคำสอนให้ศึกษา แล้วพิจารณาปฏิบัติ ไม่ใช่ศาสนาประเภทกำหนดข้อบังคับอันจะต้องเชื่อให้ปฏิบัติ หลักธรรมต่างๆ จึงต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจ และการสืบต่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะต้องอาศัยระบบที่มีการตามให้การศึกษาอยู่เสมอ

ในกรณีนี้ ความเข้าใจและการปฏิบัติที่กระจายออกมาถึงระดับชาวบ้าน และที่ชาวบ้านเองนำสืบๆ กันมา โดยไม่มีผู้คอยตรวจสอบซักซ้อมให้ ย่อมมีโอกาสที่จะเหลืออยู่ในรูปที่เลือนราง หรือเป็นเพียงบางแง่บางส่วนของความเข้าใจที่สมบูรณ์ หลายเรื่องก็ถึงขั้นเพี้ยนไปไกลลิบลับ ถ้าศึกษาเพียงให้ทราบสภาพความเข้าใจของชาวบ้านเกี่ยวกับหลักธรรมนั้น ก็เรียนต่อจากชาวบ้านได้ เป็นการเพียงพอ แต่ถ้าจะทำการใดที่ยิ่งไปกว่านั้น หาพอไม่

สภาพที่เป็นอยู่ คือ ความรู้ของนักวิชาการเกี่ยวกับหลักธรรม ความเชื่อถือต่างๆ นั้น เป็นความรู้ที่ว่าไปตามชาวบ้าน หรือเรียนต่อจากชาวบ้านเท่านั้น พูดได้เพียงว่าชาวบ้านเชื่อถือปฏิบัติกันอย่างนี้ แต่ไม่สามารถพูดลึกลงไปถึงขั้นที่แยกได้ว่า พุทธศาสนาสอนว่าอย่างนี้ หลักความเชื่อเดิมแท้ในเรื่องนี้ มีดังนี้ แต่ที่ชาวบ้านได้เชื่อถือกันมาและปฏิบัติกันอยู่ เป็นอย่างนี้

แต่ตามที่ปรากฏ นักวิชาการมักพูดรวบเข้าเป็นอันเดียวกัน ชาวบ้านเชื่อถืออันใด หลักธรรมสอนไว้ ก็อันนั้น นับเป็นความผิดพลาดอย่างสำคัญ

แต่ที่เป็นข้อเสียหายในทางปฏิบัติก็คือ เรื่องกลายเป็นว่า นักวิชาการ ปัญญาชน หรือผู้ได้รับการศึกษาแล้ว มีความรู้ในเรื่องที่ชาวบ้านเชื่อถือประพฤติปฏิบัติ เพียงเท่าที่เรียนรู้รับฟังต่อจากชาวบ้าน ซึ่งหมายความด้วยว่า น้อยลงไปกว่าชาวบ้านเสียอีก ถ้าชาวบ้านรู้ผิดแล้ว ปัญญาชนจะรู้พลาดสักเพียงไหน เมื่อรู้น้อยกว่าเขา จะไปแนะนำแก้ไขเขาได้อย่างไร

จริงอยู่ นักวิชาการและผู้ที่จะเข้าไปแก้ปัญหานั้น อาจจะรู้วิชาการอื่นๆ มากมาย ซึ่งชาวบ้านไม่รู้เลย แต่ความรู้ที่ไม่สัมพันธ์กับปัญหา มิใช่เรื่องที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในกิจนั้น หานับเป็นความรู้ในกรณีนี้ไม่

โดยสรุปคือ ไม่รู้สิ่งที่เป็นปัญหา หรือรู้ตัวปัญหาน้อยกว่าชาวบ้าน จึงว่าเป็นปัญหาจากความไม่รู้ของนักวิชาการหรือปัญญาชน

ในทางที่ควรนั้น ผู้ที่จะเข้าไปแก้ปัญหา แก้ไขปรับปรุงความเชื่อถือปฏิบัติของประชาชน ซึ่งเป็นขั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของเขา จะต้องรู้เข้าใจและทำได้อย่างเขา ร่วมกิจกรรมต่างๆ กับเขาได้ ซึ่งเป็นขั้นรู้เข้าใจชีวิตความรู้สึกนึกคิดจิตใจของเขา ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นมิตรสนิทกับเขาได้จริง และศึกษาให้รู้ลึกซึ้งจริงจังกว่าชาวบ้าน จนรู้ว่าความเชื่อถือ การประพฤติปฏิบัตินั้นมีมาอย่างไร มีการแปรรูปอย่างไร คลาดเคลื่อนผิดพลาดอย่างไร หลักที่ถูกคืออย่างไร

ถ้าสามารถพูดกับเขาได้หมดอย่างที่เขารู้ ทำได้หมดอย่างที่เขาทำ แล้วยังบอกต่อไปได้อีก เลยจากที่เขารู้ รู้ดีกว่าเขาในสิ่งที่เขารู้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของเขา ถึงขั้นนี้จึงจะเป็นขั้นที่เขายอมตาม เพราะเชื่อถือไว้วางใจสนิทแล้ว จะแก้ไขปรับปรุงจูงเขาได้ เขาจะทำตามเอง เรียกว่านำเขาออกมาได้

ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็ได้แค่โจมตีกัน บอกว่า ชาวบ้านถือค่านิยมผิดอย่างนั้นๆ ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้า เหมือนตะโกนด่าว่าเขาจากคนละฝั่งแม่น้ำ จะให้เขากระโดดมาอยู่กับตัวได้อย่างไร แถมเข้าภาษิตว่า

อนฺโธ ยถา โชติมธิฏฺฐเหยฺย

ขาดตาปัญญาเสียแล้ว ก็เหมือนคนตาบอด
เหยียบลงไปได้ แม้กระทั่งไฟที่ส่องทาง

บันทึกที่ ๕
ปัญหาเกี่ยวกับ

การสร้างรากฐานของความเจริญที่แท้

 

เลียนได้ แต่ไม่ได้เรียน

ความเจริญแบบสมัยใหม่ของไทย ถือว่าเริ่มขึ้นเมื่อเริ่มรับอารยธรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๔ และ ๕ สังคมไทยได้นำเอาระบบการต่างๆ ของสังคมตะวันตกมาใช้ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า พยายามทำตามอย่างความเจริญของตะวันตก และพร้อมกับการรับความเจริญอย่างใหม่นั่นเอง ปัญหาใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย เป็นปัญหาที่เกิดจากการปรับตัวไม่ดี หรือการเอาอย่างโดยไม่ได้ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่จะเอา และปรับสิ่งที่จะเอาให้เข้ากับตัว

ปัจจุบันนี้ แม้จะมีการพูดว่าจะไม่ตามฝรั่ง ไม่เอาอย่างฝรั่ง อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตามสภาพที่ปรากฏอยู่ ก็ต้องยอมรับอยู่นั่นเองว่า สังคมไทยยังพยายามทำตามอย่างสิ่งที่เรียกว่าความเจริญในสังคมตะวันตก และปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาเดิม คือไม่สามารถทำตามได้จริงอย่างเขา หรือปรับตัวไม่ถูกต้อง

เราหวังว่า ถึงแม้เราจะเป็นผู้ตามเขา ในด้านความเจริญแบบสมัยใหม่ แต่ในแง่หนึ่ง เราก็ได้เปรียบเขา เพราะเมื่อเห็นเขาเดินล่วงหน้าไป เรามีโอกาสเรียนรู้ความสำเร็จและข้อผิดพลาดของเขา นอกจากจะรับความเจริญแล้ว ยังจะได้บทเรียนจากความผิดพลาดของเขาด้วย เราจึงน่าจะเดินไปได้ดีกว่าเขา เพราะส่วนที่ดีของเขา เราก็รับได้ ส่วนที่เขาพลาด เราก็หลีกพ้น

แต่การที่จะทำอย่างนั้นได้ เราจะต้องเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่จะทำตามเสียก่อน แนวความคิด ระบบ ตลอดจนการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่จะรับเอาเข้ามา จะต้องพยายามให้มั่นใจที่สุดว่าได้รู้เข้าใจถึงแก่นแท้ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์อยู่ด้วยอย่างถ่องแท้

ความรู้ความเข้าใจย่อมเป็นรากฐานของความเจริญที่แท้ เพราะเป็นหลักประกันว่าสิ่งที่นำมาทำตามนั้น เป็นตัวถูกตัวแท้ของมัน มิใช่เป็นเพียงสิ่งที่มีรูปร่างลักษณะอาการภายนอกพ้องกันเท่านั้น การเพียงทำตามหรือรับเอามา หรือมีเหมือนเขา ไม่เป็นเครื่องหมายว่าได้มีความเจริญนั้นขึ้นแล้วแต่อย่างใดเลย เป็นได้เพียงภาพลวงของความเจริญที่ผิวเผินเลื่อนลอย อาการแสดงออกภายนอกที่คล้ายกันอาจมาจากสาระที่ตรงข้ามกันก็ได้

ความนิ่งเฉยของคนไม่รู้ อาจเหมือนความนิ่งเฉยของบัณฑิตก็ได้ จนกว่าจะถึงจังหวะที่ต้องแสดงความรู้หรือความไม่รู้นั้นออกมา การมีรถยนต์ของคนหนึ่ง อาจหมายถึงการมีโอกาสปฏิบัติหน้าที่การงานได้สะดวกขึ้น แต่สำหรับอีกคนหนึ่งอาจหมายถึงการเที่ยวแสวงหาความสุขสำราญได้มากขึ้น การมีเครื่องรับวิทยุ สำหรับคนหนึ่ง หรือคนส่วนมากในพวกหนึ่ง อาจมีคุณค่าในทางช่วยให้รับฟังข่าวสารต่างๆ ได้กว้างขวางรวดเร็วขึ้น แต่สำหรับอีกคนหนึ่ง หรือคนส่วนมากในอีกพวกหนึ่ง อาจมีความหมายเพียงการจะได้มีโอกาสฟังรายการบันเทิงสนุกสนานมากขึ้น สะดวกขึ้น

ตามที่สังเกตดู มีพฤติการณ์หลายอย่างในสังคมไทยที่ชวนให้สงสัยว่า การทำตามอย่างตะวันตก จะเป็นเพียงการรับเอามาแต่รูปแบบภายนอกที่ผิวเผิน เข้าทำนองว่า เลียนได้ แต่ไม่ได้เรียน

อย่าว่าแต่จะเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของเขาเลย แม้เพียงความตระหนักในความสำคัญของการที่จะต้องรู้ต้องเข้าใจเนื้อหาสาระที่แท้จริง ก็ยังไม่มีด้วยซ้ำไป

ถ้ายังอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปแล้ว อย่าว่าแต่จะเดินหน้าไปได้ดีกว่าเขาเลย แม้เพียงจะเดินไปให้ดีเท่าเขาในส่วนที่เขาผ่านไปแล้ว ก็จะทำไม่ได้ มีแต่จะสร้างความวุ่นวายสับสน ความเสื่อมโทรม และปัญหาให้แก่ตนมากยิ่งขึ้น ความจริง บทเรียนแห่งความผิดพลาดเก่าๆ ก็มีมากพออยู่แล้ว ไหนๆ จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงกันใหม่อีก ก็ควรให้รอบคอบจริงสักที หัดสำรวจดูเรี่ยวแรงและการออกแรงของตัวให้ชัดเจนเสียบ้าง อย่ามัวแต่ติเตียนมือและเปลี่ยนเครื่องมืออยู่เลย ถ้าไม่ปรับปรุงการกระทำของตัว ถึงจะเปลี่ยนเครื่องมือแล้วๆ เล่าๆ หรือถึงจะได้เครื่องมือดีมาใหม่ ก็คงไม่สำเร็จ วนเข้ารูปเดิม

ในที่นี้ จะยกตัวอย่างการกระทำสักสองสามอย่างที่ในทัศนะของผู้เขียนบทความนี้ เห็นว่าได้เข้าสู่สภาพหรือน่ากลัวว่ากำลังจะเข้าสู่สภาพของการทำตามอย่างผิวเผิน ไม่เข้าถึงความหมายที่แท้จริงของการกระทำเดิม

ตัวอย่างที่ยกมานี้ นอกจากแสดงถึงการทำตามอย่างผิวเผิน ไม่เข้าถึงความหมายที่แท้จริงแล้ว ยังแสดงถึงการกระทำที่เอียงสุด คือ เปลี่ยนจากการกระทำเดิมที่ผิดพลาด ไปสู่การกระทำอีกอย่างหนึ่ง ในทิศทางตรงข้าม ที่ผิดพลาดเช่นเดียวกัน

กรณีเช่นนี้ เป็นเครื่องเตือนสติให้ระมัดระวังไว้ว่า การกระทำที่ต่างออกไปหรือตรงข้ามกับสิ่งเดิมที่ผิด ไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ถูก อาจเป็นเพียงการกระทำที่ผิดอีกแบบหนึ่งเท่านั้น ไม่พึงถูกหลอกให้เขวไปเพียงเพราะเห็นความแตกต่าง แล้วคลาดจากจุดที่ถูกต้องไปเสีย

ความเฉื่อยชา

๑. ลักษณะอย่างหนึ่ง ที่เห็นกันว่าเป็นบุคลิกของคนไทย และเป็นอุปสรรคขัดขวางถ่วงการพัฒนา ได้แก่ ความเฉื่อยชา การดำเนินชีวิตที่ปล่อยเรื่อยไปตามสบาย ขาดการตั้งเป้าหมาย ทำให้ขาดความกระตือรือร้น

เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้ การที่จะแก้ไข ก็ต้องสร้างแรงเร้าการกระทำให้เกิดความขวนขวายริเริ่มทำการต่างๆ

เมื่อมองดูสังคมตะวันตกก็เห็นว่า คนมีลักษณะบุคลิกที่ตรงข้าม คือเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น การดำเนินชีวิตมีการตั้งเป้าหมาย และการวางแผน เร้าให้ขวนขวายกระทำเพื่อเข้าถึงจุดหมายนั้น จึงจับจุดเอามาว่า ที่ชาวตะวันตกเป็นเช่นนั้น ก็เพราะตัวเร้าคือความอยากได้ ทำให้ตั้งเป้าหมายและกระตือรือร้นทำการงาน เป็นผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้า สรุปเอาว่าจะต้องสร้างแรงเร้าให้คนไทยเกิดความอยากได้ขึ้นมาบ้าง จึงจะแก้ปัญหาสำเร็จ

แต่เมื่อนำมาทำเข้าจริง กลับไม่ได้ผลอย่างนั้น ความอยากได้เกิดขึ้นจริง แต่ความกระตือรือร้นในการกระทำ หรือการลงแรงทำงานสร้างสรรค์ ไม่เกิดขึ้นด้วย กลับกลายเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดการหาทางลัดเพื่อให้ได้ คือ อยากได้ แต่ไม่อยากทำ และเกิดค่านิยมชอบบริโภคมากกว่าชอบผลิต เป็นค่านิยมแบบต้องการสนองตัณหา ทำให้เกิดปัญหาสังคมมากยิ่งขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้เพราะจับจุดผิด ความเฉื่อยชา ปล่อยชีวิตเรื่อยตามสบาย ดูเผินๆ ว่าเป็นลักษณะตรงข้ามกับความอยากได้ และดูเหมือนว่าความอยากได้กับความกระตือรือร้นจะเป็นสิ่งมาด้วยกัน แต่ความจริงเป็นเพียงลักษณะตรงข้ามที่ผิดทั้งคู่ และเอียงสุดไปคนละฝ่ายเท่านั้น

เฉื่อยชา ไม่ใช่ไม่อยากได้

ความเฉื่อยชาไม่จำเป็นต้องเป็นเพราะความไม่อยากได้ และความอยากได้ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดความกระตือรือร้น อาจเกิดความกระตือรือร้น แต่เป็นกระตือรือร้นเพื่อจ้องที่จะได้ ไม่ใช่กระตือรือร้นที่จะทำ ยิ่งถ้าสภาพสังคมอำนวย คือไม่บีบบังคับให้จำต้องทำเพื่อให้ได้ด้วยแล้ว ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้แก่การสนองความอยากได้โดยทางลัด คือ ให้ได้โดยไม่ต้องทำ มากยิ่งขึ้น

จุดที่พลาด คือ ในแง่บุคลิกของคนไทย ที่มีความเฉื่อยชานั้น ขาดความอยากได้ก็มีจริง แต่การขาดความอยากได้นั้น อาจเป็นส่วนดีด้วยซ้ำไป ส่วนที่ขาดไปซึ่งทำให้เกิดผลเสียคือ การขาดความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ต่างหาก ส่วนดีนี้มีอยู่ในบุคลิกของชาวสังคมตะวันตกด้วย และเป็นแกนแห่งความเจริญก้าวหน้าของเขาตลอดมา

ความอยากได้ก็มีอยู่อย่างแรงในบุคลิกของชาวตะวันตกเช่นกัน แต่ในแง่การสร้างความเจริญแล้ว ความอยากได้นี้เป็นเพียงส่วนช่วยเสริมในเมื่อความใฝ่ผลสัมฤทธิ์นั้นมีอยู่แล้ว ทำให้ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์นั้นแรงยิ่งขึ้น ในระยะยาว ความอยากได้นี้เป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาด้วยซ้ำไป ตรงข้าม ถ้าขาดความใฝ่ผลสัมฤทธิ์เป็นแกนเสียแล้ว จะไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ

“ความใฝ่สัมฤทธิ์”

ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ เรียกให้สั้นว่าความใฝ่สัมฤทธิ์ คืออะไร “ความใฝ่สัมฤทธิ์” คือ การอยากเห็นงานที่ทำบังเกิดความสำเร็จ คือ อยากเห็นความสำเร็จของงาน อยากเห็นผลงาน หรืออยากให้งานสำเร็จนั่นเอง ยิ่งสำเร็จอย่างดี อย่างเรียบร้อยเท่าไร ก็ยิ่งดี แต่ไม่เล็ง ไม่รวมไปถึงผลตอบแทน ที่เป็นผลพ่วงมาโดยอ้อม (ตามเงื่อนไข)

ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ที่ดี เน้นที่ ความใฝ่จะสร้างประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม และต้องการเห็นประโยชน์สุขนั้นเป็นผลสำเร็จเกิดขึ้น

ภาวะนี้มีความหมายผูกโยงไปถึงปัญญาด้วย โดยต้องให้ถามว่า อะไรคือประโยชน์สุขของตนและสังคม ประโยชน์สุขนั้นจะเกิดมีขึ้นได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงสักว่าอยากจะได้อย่างเดียว

ความหมายที่แฝงอยู่ เล็งไปถึงการแสวงความรู้ความเข้าใจ หรือตัวปัญญาด้วย เมื่อจะพูดให้เต็มจึงต้องว่า ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีนั้นคือ ความใฝ่แสวงปัญญาที่จะช่วยให้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ตนและสังคมได้สำเร็จ เป็นสิ่งตรงข้ามกับความอยากได้ ซึ่งเป็นการใฝ่สนองตัณหา ที่ต้องการหาความปรนเปรอเฉพาะหน้า

ความใฝ่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีนั้น เป็นการใฝ่สนองทางปัญญา ทำให้เกิดความต้องการที่จะเข้าถึงตัวแท้ตัวจริงของสิ่งทั้งหลาย และความต้องการที่จะทำให้เห็นผลจริงจังตามที่มองเห็นด้วยปัญญา เป็นการสนองความต้องการทางปัญญา โดยอาการที่เรียกว่าความอยากทำ ซึ่งในคำบรรยายข้างต้นเรียกว่า ธรรมฉันทะ ถ้าเรียกให้เต็มก็ว่า กุศลธรรมฉันทะ จะเรียกสั้นเป็น กุศลฉันทะ ก็ได้

แต่ในที่นี้เรียกว่า ธรรมฉันทะ ซึ่งให้ความหมายสั้นๆ ว่า ความใฝ่ที่จะเข้าถึงตัวแท้ตัวจริงของสิ่งทั้งหลาย เท่ากับความใฝ่ปัญญานั่นเอง และเล็งไปถึงความอยากทำ คือ การอยากทำให้เห็นผลจริงจังตามที่เล็งเห็นไว้ด้วยปัญญา เรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ฉันทะ"

ได้กล่าวไว้ว่า ฉันทะ คือ ธรรมฉันทะ หรือกุศลฉันทะ นี้ มีอยู่ในบุคลิกของสังคมตะวันตก และเป็นแกนกลางแห่งการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าตลอดมา

สังคมตะวันตกมีลักษณะได้เปรียบอย่างไร จึงทำให้ฉันทะนี้เกิดขึ้น โดยที่ลักษณะนี้เป็นส่วนที่ด้อยหรือพร่องไปในสังคมของเรา

ธรรมดาธรรมชาติของมนุษย์ เมื่ออยู่สบาย ไม่มีเหตุจำเป็น ไม่มีภัยอันตราย หรือสิ่งกดดันบีบคั้น มักเกิดความเพลิน และปล่อยตัวไปเรื่อยๆ ไม่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง ไม่เร่งขวนขวายตระเตรียมป้องกันหรือพยายามเอาชนะ นานๆ เข้าก็มีลักษณะเป็นความเฉื่อยชาและความเพิกเฉยละเลย เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท

ตรงข้าม ถ้ามีภัยอันตรายหรือสิ่งขัดแย้งกดดันบีบคั้นคอยคุกคามอยู่ในอัตราพอประมาณ ที่ไม่ถึงกับทำให้ยอมเสียก่อน ก็ทำให้เกิดความระมัดระวัง การตระเตรียมตัวสู้ และการแก้ไขปรับปรุงตัวอยู่เรื่อยๆ เป็นอาการที่เรียกว่าความไม่ประมาท แต่เป็นความไม่ประมาทที่เป็นไปตามธรรมชาติ

ในการพัฒนามนุษย์ ถ้าคนสามารถตั้งสติเตือนตนเองสร้างภาวะกระตือรือร้นเตรียมพร้อมและปรับปรุงตัวขึ้นได้ ในยามสุขสบายตามปกติ ก็กลายเป็นคุณธรรม ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษที่มีอยู่เฉพาะในหมู่มนุษย์ และแม้ในหมู่มนุษย์นั้นเอง ก็หาได้ยาก

การคุกคามบีบคั้นที่มีอยู่ต่อเนื่องและทำให้เกิดการระมัดระวังเตรียมตัวปรับตัวอยู่ตลอดเวลาติดต่อกันนานๆ จะทำให้พฤติกรรมไม่ประมาทนั้นกลายเป็นระบบพฤติกรรมของสังคมและรักษาตัวคงทนอยู่ได้ต่อไปอีกนาน ในลักษณะที่เป็นรูปแบบ อนุชนของสังคมนั้นอาศัยการศึกษาโดยอ้อม โดยการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ก็จะพลอยมีระบบพฤติกรรมเช่นนั้นไปด้วย และช่วยสืบทอดระบบนั้นไว้ต่อไปในลักษณะที่เป็นรูปแบบ ทำให้ระบบพฤติกรรมไม่ประมาทนั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมนั้นสืบไปยาวนาน

โดยทั่วไป การคุกคาม ขัดแย้งและบีบคั้น มักเป็นไปในรูปของการแย่งชิงผลประโยชน์ และการครอบงำข่มไว้ในอำนาจ เช่น ประเทศใกล้เคียงที่มีเหตุขัดแย้ง คอยรุกรานรังแกกัน หรือชนชาติที่เข้ามาครอบครอง ตลอดจนภัยธรรมชาติที่ขัดขวางบั่นรอนการดำรงชีวิตที่จะอยู่อย่างมีความสุข ทั้งหมดนี้รวมแล้วก็เป็นการบีบคั้นอยู่แค่ในระดับตัณหา

การกดขี่บีบคั้นทางปัญญา

อารยธรรมตะวันตก นอกจากจะได้ประสบความกดขี่บีบคั้นในระดับตัณหาอย่างกว้างขวางมากมายมาโดยตลอดแล้ว ยังได้ประสบการกดขี่บีบคั้นอีกระดับหนึ่งเป็นส่วนพิเศษ คือ การกดขี่บีบคั้นทางปัญญา

ประวัติอารยธรรมตะวันตกตลอดเวลานับพันปี เต็มไปด้วยการบีบบังคับและข่มเหงในทางความคิด ความเชื่อถือ และการจำกัดเสรีภาพในทางปัญญา โดยเฉพาะตลอดระยะเวลาประมาณ ๑๐ ศตวรรษแห่งสมัยกลางที่ศาสนาคริสต์รุ่งเรือง สามารถใช้อำนาจปิดกั้นการใช้ความคิดและกำจัดผู้คิดเขวจากความเชื่อถือในศาสนาอย่างรุนแรงที่สุด

การจำกัดบีบคั้นและปิดกั้นในทางความคิดนี้ อย่างน้อยเป็นเครื่องเร้าความสนใจให้พุ่งไปหากิจกรรมทางปัญญามากขึ้น และกลายเป็นการให้ความสำคัญแก่สิ่งต้องห้ามนั้นไปด้วย การบีบคั้นอย่างรุนแรงจึงเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมตะวันตกสมัยต่อมารู้จักคุณค่า และบูชาเสรีภาพเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น ในการพยายามชักจูง และปิดล้อมคนไว้ในวงจำกัดของความคิดความเชื่อถือของตน สถาบันศาสนาคริสต์เองก็ต้องหาทางคิดเหตุผลมาอธิบายคำสอนให้น่าเชื่อถือ ให้มีหลักประกันความมั่นคงของคำสอนมากยิ่งขึ้น

ส่วนคนที่ต้องการเสรีภาพในทางความคิด เมื่อถูกปิดกั้นจำกัด ก็ยิ่งดิ้นรนอยากรู้และใฝ่แสวงปัญญามากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการทนสู้และดึงดัน จนถึงยอมสละชีวิต แม้แต่ถูกเผาทั้งเป็น และในขั้นสุดท้ายก็นำไปสู่ความเบื่อหน่ายต่อระบบความคิดที่อยู่ในวงจำกัดนั้นทั้งหมด ก้าวออกไปสู่ช่องทางใหม่ที่เห็นว่าอาจเปิดทางไปสู่ปัญญาสนองความใฝ่รู้ได้

ความใฝ่รู้ และแสวงปัญญา

ระยะเวลายืดยาวหลายศตวรรษแห่งการดิ้นรนทางปัญญานี้ นานพอที่จะสร้างจิตใจซึ่งมีความใฝ่รู้ และมีลักษณะแสวงปัญญาอย่างจริงจัง และนานพอที่จะสร้างระบบพฤติกรรมตลอดจนบุคลิกที่นิยมคุณค่าทางปัญญาให้แก่สังคม ซึ่งต่อมาภายหลัง แม้ว่ายุคแห่งการกดขี่บีบคั้นทางปัญญาจะผ่านไปนานแล้ว ระบบความคิดและพฤติกรรมต่างๆ ก็ยังคงอยู่ยั่งยืนมาเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมคนในสังคมตะวันตกให้ได้รับผลสืบทอดต่อกันมา

ความใฝ่สัมฤทธิ์ ที่มีต้นเค้ามาจากความใฝ่รู้หรือการแสวงปัญญา หรือการใฝ่สนองความต้องการทางปัญญานี้ต่างหาก ที่เป็นแกนกลางแห่งการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าของตะวันตก หาใช่ความใฝ่สนองตัณหาที่ควบอยู่ด้วยไม่

คนไทยที่ว่าเฉื่อยชานั้น มิใช่ว่าจะขาดความอยากได้หรือมีความใฝ่สนองตัณหาน้อย แต่สิ่งที่น่าจะขาดแน่ก็คือ ความใฝ่รู้หรือความใฝ่สนองความต้องการทางปัญญา พูดสั้นๆ ว่า การแสวงปัญญา นี้เอง

การจะก้าวออกจากความเฉื่อยชาด้วยการเร้าความอยากได้ หรือเร้าตัณหาขึ้น จึงเป็นการผิดพลาดซ้ำสอง หรือการก้าวจากความผิดพลาดที่เอียงสุดข้างหนึ่ง ไปสู่ความผิดพลาดที่เอียงสุดอีกด้านหนึ่งเท่านั้น

ขอย้ำว่านั่นเป็นการจับจุดที่พลาด ไม่ได้เนื้อหาสาระที่จะนำมาสร้างสรรค์ความเจริญที่แท้จริง และน่าจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้งานพัฒนาที่ผ่านมาต้องล้มเหลวจนแทบจะเคยชินเป็นธรรมดา

การอธิบายสันโดษแคบเกินไปก็ดี การตำหนิสันโดษว่าขัดถ่วงการพัฒนาก็ดี ก็เกิดจากความผิดพลาดนี้เช่นเดียวกัน

ความใฝ่สนองตัณหา กับความใฝ่สนองปัญญานี้เป็นคนละอย่างห่างกันไกล แม้ว่าสองอย่างนั้นอาจจะมาแซงมาหนุนรุนกัน

บุคคลผู้หนึ่งด้วยความใฝ่สนองตัณหา ต้องการความมั่งคั่ง และอำนาจ อาจมีความเพียรพยายามยกกองทัพไปรบยังดินแดนที่แสนไกล

บุคคลอีกผู้หนึ่ง ต้องการตอบคำถามที่ข้องใจอยู่เพียงข้อเดียว อาจลงทุนเดินทางฝ่าความยากลำบากไปยังดินแดนห่างไกล เพื่อแสวงความรู้แท้จริงที่เป็นคำตอบปัญหานั้น หรืออาจลงทุนดำเนินการค้นคว้าทดลองด้วยความยากลำบากตลอดเวลานานปี เพื่อให้ได้ความรู้ หรือให้ได้เห็นผลจริงในเรื่องนั้น

จริงอยู่ บุคคลที่แสวงความรู้นั้น อาจต้องการได้เงินทองชื่อเสียงด้วย แต่ถ้าไม่มีความใฝ่รู้ใฝ่เห็นความจริงในเรื่องนั้นเป็นแกนอยู่แล้ว เขาคงจะไม่ลงทุนลงแรงด้วยความยากลำบาก เพื่อยุติลงด้วยการได้เงินทองชื่อเสียง สำหรับคนเช่นนี้ ความภูมิใจได้ชื่นชมที่ได้เห็นผลสำเร็จแห่งตัวงานนั้น เป็นจริงจังขึ้นมา เป็นเรื่องยิ่งใหญ่กว่าการได้เงินทองชื่อเสียง

ความใฝ่สนองตัณหาที่เรียกง่ายๆ ว่าความอยากได้ คือ อยากมีสิ่งปรนเปรอตัวตน โดยที่การได้นั้น อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำ คือต้องผ่านการกระทำหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ได้โดยไม่ต้องทำ ย่อมตรงใจมากที่สุด ใจมุ่งที่จะได้ แต่ต้องจำใจฝืนใจทำ

ส่วนความใฝ่สนองปัญญา เรียกง่ายๆว่า อยากรู้และอยากทำ หรือใฝ่รู้และใฝ่ทำ คืออยากเข้าไปถึงความจริงหรือตัวจริงตัวแท้ของสิ่งนั้นๆ และอยากทำการเพื่อให้เห็นสิ่งนั้นๆ มีผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาตามที่รู้ ทั้งการได้รู้ และการได้ทำ เป็นความสมปรารถนาของใจ จึงอยากจะทำ และมีความสุขจากการที่ได้ทำ

ใฝ่รู้ – ใฝ่ทำ

ย้ำอีกทีว่า อยากรู้ความจริง และอยากทำให้เป็นจริง เรียกสั้นๆ ว่า “ฉันทะ” ถ้าจะเอาคำศัพท์เต็มๆ ก็ว่า กุศลธรรมฉันทะ และ กัตตุกัมยตาฉันทะ จะให้สั้นลงหน่อยก็ว่า กุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ

จะเห็นว่า ฉันทะ หรือยอมยาวหน่อยแต่ชี้ชัดลงไปว่า ธรรมฉันทะ นั้น แสดงออก ๒ ด้าน คือ ความรู้ กับ การกระทำ แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปอีก จะเห็นว่าทั้ง ๒ ด้านนั้นรวมลงเป็นอันเดียวกัน คือ ใฝ่ธรรม หมายถึงอยากเข้าถึงธรรม คือตัวแท้ ตัวจริง ความหมายที่แท้ เนื้อหาสาระที่เป็นแก่นแท้ ตลอดจนความดีงามที่เป็นคุณค่าแท้จริงของสิ่งนั้นๆ

การเข้าถึงนั้นย่อมมาใน ๒ ด้านคือ ด้วยความรู้ และการทำ คือแยกเป็น ๒ ด้าน เป็นใฝ่รู้ และใฝ่ทำ รวมแล้วก็คือ ใฝ่ธรรมนั่นเอง

เมื่อนำมาใช้ในทางจริยธรรม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาเพื่อฝึกอบรมบ่มนิสัย และใช้ศัพท์สมัยใหม่ ก็อาจเรียกธรรมฉันทะนี้เป็นค่านิยมอย่างหนึ่ง เป็นค่านิยมแห่งธรรม มีลักษณะเป็นความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ

เมื่อเรียน ก็ต้องการเรียนรู้ความจริง และเพื่อทำให้ได้จริง เมื่อทำงาน ก็ต้องการทำเพื่อผลสำเร็จของตัวงาน ตรงไปตรงมา

หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษา คือ จะต้องสร้างค่านิยมธรรมฉันทะนี้ขึ้นมาให้ได้ หรือถ้าว่าให้ถูก มีการศึกษาที่แท้เมื่อใด ค่านิยมนี้ก็เกิดมีขึ้นเองเมื่อนั้น

การฝึกสอนให้มีธรรมฉันทะนั้น เริ่มได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ตามปกติ พ่อแม่คอยสร้างค่านิยมให้แก่เด็กอยู่แล้ว ในแง่ฉันทะนี้ ก็จะไปในทางของกามฉันทะ (ตัณหา) หรือธรรมฉันทะ อย่างใดอย่างหนึ่ง

เด็กไปไหน เห็นอะไรๆ อยากจะรู้ทั้งนั้น เด็กจะถามด้วยความอยากรู้ว่า นั่นอะไรๆ คือ เด็กประสบความติดขัดบีบคั้นขึ้นมาแล้ว ต้องการความแจ่มแจ้งทางปัญญา ผู้ที่แนะนำเด็กในขณะนั้นก็จะมี ๒ แบบ

ชอบบริโภค ไม่ชอบผลิต

ที่ปรากฏในสังคมไทย จำนวนมากมักจะแนะนำในแง่ปลุกกามฉันทะว่า อันนั้นสวยกว่า อันนี้ดีกว่า น่าเอากว่า เอาอันนี้ดีกว่า เป็นต้น ไม่ค่อยชี้แจงในแง่ความรู้ แต่เขวไปในทางเร้าความอยากได้ ทำให้อยากได้ต่อไปเรื่อย ในระยะยาวก็เป็นการสร้างค่านิยมแห่งความอยากได้ และการชอบบริโภคมากกว่าผลิต ขาดความใฝ่รู้

ที่จริง พื้นของเด็กมีอยู่แล้วที่ต้องการปัญญา แต่การแนะนำอบรมที่ผิด ชักให้เขวเสีย ธรรมฉันทะหดหายไป กามฉันทะเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นการศึกษา ก็เรียกว่าเป็นการศึกษาที่ผิด

ในทางที่ถูกนั้น เมื่อเด็กถามด้วยความอยากรู้ ก็ควรแนะนำในแนวทางส่งเสริมธรรมฉันทะว่า นั่นคือสิ่งนั้น เรียกชื่อว่าอย่างนั้น ใช้เพื่อประโยชน์อย่างนั้น ทำมาจากนั้น เขาใช้มันอย่างนั้นๆ ทำให้เกิดปัญญาความรู้แจ้ง และความรู้สัมพัทธ์ที่ให้อยากรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป

ในการรับประทานอาหาร ควรชี้แจงชักจูงให้สนใจ และคิดเลือกอาหารตามคุณค่าต่อสุขภาพ ยิ่งกว่าจะชักจูงให้เพ่งไปแต่ในแง่ความอร่อย หรือการตกแต่งสวยงาม ในการใช้ปัจจัยสี่อย่างอื่นๆ และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ก็พึงแนะนำในแง่คุณค่าทางการใช้ประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ มากกว่าจะชักจูงให้ติดอยู่กับสภาพที่ผิวเผินฉาบฉวยของสิ่งนั้นๆ

การศึกษาในแง่นี้ สื่อมวลชน โดยเฉพาะกิจการโฆษณา ทำหน้าที่ได้มาก ทั้งในแง่ปลูกธรรมฉันทะ และปลุกกามฉันทะ

ความกล้าแสดงออก กับประชาธิปไตย

๒. ในระยะที่กำลังตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยกันอย่างมากเช่นเวลานี้ รู้สึกกันว่า ความกล้าแสดงออก จะเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของคนในสังคมประชาธิปไตย เพราะเป็นทั้งอาการ และเป็นทั้งเครื่องหมายของการมีเสรีภาพในทางความคิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบประชาธิปไตย และก็รู้สึกกันว่า ความกล้าแสดงออกนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะต้องปลูกฝังแก่เด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาดำรงชีวิตอยู่ และร่วมสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย

บางคราวการแสดงออกต่างๆ ก็ชวนให้เห็นไปว่า เราได้รวบเอาความกล้าแสดงออก กับความเป็นประชาธิปไตย เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือความกล้าแสดงออกนั้นเป็นเนื้อตัวทั้งหมดของประชาธิปไตย หรือทำนองว่าเพียงมีความกล้าแสดงออกแล้ว ก็เป็นอันได้มีประชาธิปไตยขึ้นมาแล้วเสร็จสิ้นบริบูรณ์

ดูเหมือนว่าเราจะยกเอาความกล้าแสดงออกนี้ขึ้นเป็นสูตรสำเร็จของประชาธิปไตย โดยไม่ต้องคำนึงว่า มันมีตำแหน่งอยู่ตรงไหนในระบบสังคมประชาธิปไตย มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ ของประชาธิปไตยอย่างไร อะไรเป็นคุณค่าของมันต่อความเป็นประชาธิปไตย ตลอดจนว่ามันมีขอบเขตความหมาย และความสำคัญต่อประชาธิปไตยแค่ไหนเพียงไร

ความกล้าแสดงออกนั้น ในฐานะที่เป็นอุปกรณ์สำคัญของเสรีภาพในทางความคิด ย่อมมีคุณค่าในแง่ที่เป็นช่องทางนำเอาสติปัญญาความคิดเห็นของสมาชิกแต่ละบุคคลออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม หรือเป็นส่วนประกอบที่มาสมทบช่วยกันกับสติปัญญาของสมาชิกอื่นๆ ในการร่วมกันหาลู่ทางไปสู่การแก้ปัญหาของสังคมนั้น

ในแง่ของตัวบุคคลเอง ความกล้าแสดงออกย่อมเป็นอุปกรณ์ในการแสวงปัญญา เป็นบันไดที่ช่วยให้ก้าวคืบหน้าไปสู่ความจริง ด้วยการเสาะหาและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น มันเป็นเครื่องมือสำหรับแสดงความรับผิดชอบของบุคคลต่อสังคมของตนด้วย และเป็นเครื่องประกันสิทธิของเขาที่จะให้สังคมรับฟังความต้องการของเขาด้วย

แต่การแสดงออกที่จะมีคุณค่าดังต้องการอย่างนี้ได้ ก็ต้องมีรากฐาน รากฐานนั้นคือ ความใฝ่ธรรม ได้แก่ ความต้องการที่จะเข้าถึงความจริงความถูกต้องดีงาม หรือธรรมฉันทะนั่นเอง

ลำพังความกล้าแสดงออก ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะมีรากฐานถูกต้องเสมอไป และความกล้าแสดงออกที่ขาดรากฐานอันถูกต้อง ย่อมเป็นสิ่งไร้คุณค่า หาใช่สิ่งที่ดีไม่ กลับจะเกิดโทษได้ และไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตย หรือการเตรียมสร้างคนสำหรับสังคมประชาธิปไตยเสมอไป อาจเป็นเพียงการกระทำที่เลื่อนลอย หลงผิดหรือเกิดโทษแก่สังคมอย่างร้ายแรงได้ ถ้าผู้ฝึกนั้นขาดความเข้าใจที่เป็นรากฐาน ทึกทักเอาเพียงความกล้าแสดงออกว่าเป็นตัวประชาธิปไตย

ความกล้าแสดงออกที่ขาดรากฐาน ก็คือความผิดพลาดที่เอียงสุดอีกด้านหนึ่ง ตรงข้ามกับความนิ่งงำไม่กล้าขัดแย้ง และว่าตามๆ กัน

ธรรมดาของคนส่วนมาก เมื่อไม่พอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นว่าสิ่งนั้นผิดพลาดไม่ถูกต้องแล้ว พอมองเห็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต่างออกไป หรือตรงข้ามกับสิ่งนั้น ก็มักหลอกตัวเองหรือวินิจฉัยโดยผลีผลามว่า สิ่งใหม่นั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง หรือเป็นสิ่งที่กำลังต้องการ โดยมิได้ตรวจดูเนื้อหาสาระให้ชัดเจนก่อน จึงมักทำความผิดพลาดซ้ำเข้าอีก

ความกล้าแสดงออก และความนิ่งงำว่าตามๆ กัน ถ้าขาดรากฐานแล้ว ก็เป็นการกระทำด้วยโมหะได้ด้วยกันทั้งคู่

จริงอยู่ การชอบสงวนท่าทีสงบเสงี่ยมเกรงใจ ไม่ชอบโต้แย้ง และว่าตามๆ กัน โดยเฉพาะตามผู้ใหญ่นั้น ในระยะยาวจะเป็นค่านิยมที่มีทางเหนี่ยวรั้งความคิด หน่วงการใช้ปัญญา ทำให้เฉื่อยชาในทางความคิดได้มาก และเห็นกันว่า อาการอย่างนี้เป็นบุคลิกลักษณะของคนในสังคมไทยที่ถูกสร้างมาตามระบบสังคมเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่เสียหาย จะต้องแก้ไข และเป็นตัวก่อปฏิกิริยาให้หันไปนิยมความกล้าแสดงออกเพิ่มมากขึ้น

แต่ที่ถูกแล้ว ก่อนจะล้มล้างสิ่งหนึ่งรับสิ่งหนึ่ง ควรวิเคราะห์สิ่งทั้งสองให้ชัดเจนก่อน

ในลักษณะเดิมที่ว่าไม่ดีนั้น มีเค้าส่วนดีแฝงอยู่ด้วย คือ การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น และการเคารพต่อประสบการณ์ แต่เพราะขาดรากฐานคือความใฝ่รู้ จึงทำให้เป็นผู้ไม่รู้จักคิดด้วยตนเอง และความคิดเฉื่อยชา อาศัยปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมประกอบเข้าด้วย ในระยะยาวลักษณะที่เป็นส่วนดี ก็กลับเป็นส่วนเสริมของลักษณะที่ไม่ดีไปเสีย กลายเป็นการว่าตามๆ กัน แล้วแต่ผู้ใหญ่ ไม่กล้าขัดแย้ง ไม่รู้จักคิดเอง

ส่วนความกล้าแสดงออกดูเหมือนเป็นลักษณะตรงข้าม เป็นค่านิยมที่ช่วยกระตุ้นให้ใช้ความคิด เร้าให้ใช้ปัญญา ว่องไวในทางความคิดได้มาก แต่ที่จะให้ได้ผลดีอย่างนั้น จะต้องไม่ใช่เป็นเพียงลำพังตัวความกล้าแสดงออกลอยๆ จะต้องมีรากฐานด้วย คือถ้าเป็นการฝึกเด็ก จะต้องมีธาตุแห่งความใฝ่รู้เป็นพื้นอยู่ในเด็กนั้นอยู่แล้ว หรือผู้ฝึกตระหนักดีอยู่แล้วถึงความมุ่งหมายในการที่จะปลุกและปลูกความใฝ่รู้นี้ขึ้นแก่เด็ก

แสดงออกเพื่อให้เขาเห็นว่ารู้ กับแสดงออกเพื่อหาความรู้

การฝึกแต่เพียงภายนอก โดยขาดสติ ไม่ตระหนักถึงรากฐานที่อยู่ภายใน เป็นการเสี่ยงต่อการสร้างลักษณะร้ายที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมามากกว่า ลักษณะเช่นว่านั้น คือ ความโอ้อวด หยิ่ง ลำพองตน รุกราน ชอบแสดงเด่น ความไม่เอื้อเฟื้อต่อระเบียบวินัย ตลอดจนการแสดงออกเพื่อให้เขาเห็นว่ารู้ มากกว่าจะแสดงออกเพื่อหาความรู้

ลักษณะเหล่านี้มิใช่เครื่องหมายแห่งความใฝ่แสวงปัญญา หรือเป็นนิมิตแห่งความเจริญก้าวหน้าแต่ประการใดเลย

ผู้ใฝ่รู้ใฝ่แสวงปัญญานั้น เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพต่อสิ่งที่จะเพิ่มเติมเสริมปัญญา และเป็นผู้พร้อมจะรับความรู้ มิใช่ผู้พองลมท่วมล้นต้องเที่ยวพ่นเป่าใส่ผู้อื่น โดยไม่มีช่องที่รับเข้า

บุคลิกที่ต้องการนั้น คือลักษณะสองด้านที่เสมือนตรงข้าม แต่ความจริงกับเสริมกัน ได้แก่ความเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ความเคารพต่อประสบการณ์ ความพร้อมที่จะแสดงออกด้วยความ สุภาพ เอื้อเฟื้อ กับความใฝ่รู้แกล้วกล้ามั่นคงในการแสวงปัญญา

ภายในแฝงเอาความคิดค้นแสวงธรรมเข้าไว้ ภายนอกมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้พร้อมที่จะนำภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้ว ออกมาต่อเอาภูมิปัญญาใหม่เข้าไปเพิ่ม

ระหว่างบุคคลผู้มีเพียงความกล้าแสดงออก ทำความอาจหาญให้ปรากฏในที่ชุมนุม กับบุคคลผู้กล้าสู้ทนบุกฝ่าความลำบากตรากตรำ ยอมนอนกลางดินกินกลางทรายแม้นานปีได้ เพียงเพื่อแสวงคำตอบเล็กน้อยมาช่วยเสริมปัญญาของมนุษย์ บุคคลประเภทหลังเป็นผู้ที่สังคมไทยยังขาดแคลนมากกว่า และเป็นบุคคลที่พึงต้องการมากกว่า ในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามต่อไป

ไหนๆ ก็จะสร้างสรรค์สังคมใหม่กันให้ดีที่สุดทั้งที และมีโอกาสเพราะถึงยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ควรจะทำอย่างที่ให้แน่ใจที่สุด

ถ้าเชื่อว่าวิธีการแห่งปัญญาดีที่สุด ก็ควรจะใช้สติปัญญากันให้ถึงที่สุด มิใช่จะผละทิ้งอย่างหนึ่งไปหาอีกอย่างหนึ่ง เพียงเพราะไม่พอใจอย่างหนึ่ง แล้วพอใจอีกอย่างหนึ่งด้วยสักว่าเห็นรูปร่างตรงข้ามหรือต่างออกไป ซึ่งทำให้หนีไม่พ้นจากค่านิยมที่ผิวเผินฉาบฉวย และได้รับผลแห่งความเปลี่ยนแปลงเพียงสลับจากรสชาติของยานอนหลับมาเป็นยาปลุกประสาท หรือซ้ำร้ายเป็นยาพิษไปเสียเลย

ภารกิจของคนไทยที่จะสร้างสรรค์สังคมใหม่ โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือตั้งตัวขึ้นมารับผิดชอบสังคมในขณะนี้นั้น เป็นภารกิจที่หนักยิ่งนัก และเป็นข้อสำคัญที่จะต้องตระหนักถึงความหนักนี้ไว้เป็นอย่างสูง เพื่อมิให้ถือเอาเป็นเพียงการหาทางเล่นสนุกจากเรื่องที่น่าตื่นเต้น

แม้แต่ถ้าจะนำเอาคุณค่าหรือระบบอะไรสักอย่างในสังคมอื่น มาสร้างขึ้นในสังคมไทย สิ่งที่จะต้องทำในสังคมไทยก็ยากและซับซ้อนกว่า การเพียงแต่ทำตามอย่างที่เขาทำอยู่แล้วในสังคมนั้น หาเพียงพอไม่

ตัวอย่างเช่น การฝึกความกล้าแสดงออกเป็นต้น ในสังคมของเขา การฝึกเพียงแค่ภายนอก ก็เป็นการเพียงพอ เพราะสังคมได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการสร้างรากฐานมาจนถึงขั้นเกิดสภาพรูปแบบขึ้นแล้ว การฝึกก็เป็นเพียงการรับถ่ายทอดหรือทำให้คุ้นกับระบบพฤติกรรมของสังคมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งระบบพฤติกรรมของสังคมนั้นจะคอยกำกับวิถีพฤติกรรมของบุคคล ให้อยู่ในแนวของสาระที่เป็นรากฐานเองในตัว

แต่การฝึกจากภายนอกอย่างเดียวในสังคมไทย เป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเขวออกไป ทำให้ได้เพียงรูปแบบที่เทียบคล้าย แต่มีสาระเป็นอย่างอื่น

งานสร้างรากฐานจึงเป็นภารกิจสำคัญเพิ่มพิเศษในสังคมที่กำลังสร้างสรรค์ใหม่ นี่เป็นเพียงตัวอย่างอันหนึ่งเท่านั้นของการที่จะต้องมีสติตระหนักเช่นนี้

ไม่ใช่แล่นจากที่สุดข้างหนึ่ง ไปอีกสุดข้างหนึ่ง

ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง แต่ก็ควรเป็นช่วงเวลาแห่งความห่วงใยด้วย เพราะเมื่อโอกาสเปลี่ยนแปลงมาถึง ก็ยังมองเห็นแต่สิ่งที่ทำให้คลางแคลงใจ อย่างน้อยก็ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า มีอะไรที่ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า สังคมได้ใช้โอกาสนี้อย่างดีแล้วเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่พึ่งประสงค์ สังคมพ้นแล้วหรือไม่จากการที่จะแล่นจากความผิดพลาด ณ สุดทางข้างหนึ่ง ไปสู่ความผิดพลาดอีกสุดทางหนึ่ง

ดูเหมือนว่าสังคมเก่า ก็มีแต่ความหลับใหล ลุ่มหลงมัวเมา ไม่สนใจจะแก้ไขปรับปรุงอะไร แต่เมื่อตื่นขึ้น จะสร้างสังคมใหม่ ก็ดูเหมือนว่าจะมัวแต่ตื่นเต้นกันอยู่ ชอบรุมสนใจกันก็แต่เรื่องที่ถูกยกขึ้นปรุงแต่งสีสันรสชาติให้น่าตื่นเต้น เรื่องอื่นๆ หรือแง่อื่นๆ ของเรื่องเดียวกัน แม้จะมีอีกมากมายและสำคัญกว่า แต่เงียบเฉยจืดชืดก็ถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจคิดไตร่ตรองพิจารณา

แม้เรื่องที่ปรุงแต่งรสชาติวาดลวดลายจนแตกตื่นกันมาดูแล้วนั้น เมื่อการชุมนุมมุงดูผ่านพ้นไป จะมีใครสักกี่คนหรือมีสักคนบ้างหรือไม่ ที่จะใส่ใจศึกษาดูให้ลึกซึ้งลงไปอีกว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างไรกันแน่ มีรายละเอียดปลีกย่อยอะไรยิ่งกว่านั้นอีกบ้าง ส่วนที่ยกขึ้นมาร้องชวนให้รุมดูกันนั้น มีเหตุผลที่มาที่ไปซับซ้อนสัมพันธ์ต่อเนื่องมาอย่างไร

เราพร้อมที่จะผ่านช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้น ไปสู่ระยะเวลาของการเรียนรู้และลงมือทำอย่างจริงจังด้วยความอดทนหรือยัง มีวี่แววแห่งความหวังบ้างหรือไม่ว่า เราได้มีองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นหลักประกันสำหรับสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามขึ้นแล้ว แม้แต่ความเป็นนักศึกษาที่แท้จริง

ถ้าจะยกพุทธภาษิตมาเตือนสติ ก็คงจะได้แก่กึ่งคาถาว่า

โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ      ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ

จึงวิจัยธรรม(สืบค้นความจริง)ให้ตลอดถึงต้นสาย
จึงจะเห็นความหมาย(แง่มุมคลี่ขยาย)แจ้งชัดด้วยปัญญา

ปัญหาเบ็ดเตล็ด
เช่น ความมั่นคงในอุดมคติ

 

ทำอย่างไรจะมั่นอยู่ได้ในอุดมคติ?

ถาม ถ้าทุกคนมุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ แต่ท่านอาจารย์สอนให้มุ่งในงานและความสัมฤทธิ์ของงาน เราจำเป็นต้องอยู่กับคนที่มุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ เราควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะให้จิตใจของเรามั่นคงต่อตัวงานได้เสมอไป?

ตอบ มันอยู่ที่ฐานในใจของเราว่ามีฉันทะ มีความรักงานนั้นหรือไม่ ถ้าเรารักงานนั้นจริงจังแล้ว แม้แต่ความสุขของเราก็จะเกิดจากการทำงาน และการเห็นความสัมฤทธิ์ของงานนั้นเอง

จุดแรกต้องแยกให้ได้ก่อนว่า ตัวเรามีเพียงความยึดมั่นในอุดมคติ หรือมีอุดมคติที่ฝังอยู่ภายใน เป็นเนื้อแท้ของจิตใจ

ความยึดมั่นในอุดมคติ กับการมีอุดมคติอยู่ในใจของตนเองไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอาจทำการด้วยความยึดมั่นในอุดมคติ อาจทำด้วยพลังปลุกอันรุนแรง

อย่างนักศึกษาที่ออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตย โดยการยึดมั่นในอุดมคติ ไม่มีอุดมคติเป็นพื้นฐานอยู่ในใจของตนเอง ความสุขที่จะได้ ก็เป็นเพียงความสุขทางอ้อม คือได้รับความกระตุ้นเร่งเร้าในทางการปลุกใจเป็นต้น เป็นไปได้ชั่วกำลังส่งของแรงปลุกใจนั้น แล้วได้ความสุขตอบแทน เช่นว่าภูมิใจในวีรกรรม ได้รับความชื่นชม รู้สึกมีเกียรติ โก้ เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าทำด้วยความยึดมั่นในอุดมคติ ยึดมั่นโดยไม่ได้เกิดจากรากฐานในจิตใจของตนเอง มันไปได้ไม่ยั่งยืน

ถ้าจะให้ยั่งยืน ก็ต้องเป็นความรู้ความเข้าใจชัดแจ้งและความพอใจอยู่ในจิตใจของตน ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว เรามีความสุขความพอใจอยู่ข้างใน อุดมการณ์ข้างนอกเข้ากับอุดมคติข้างใน ไปได้ตลอด ไม่ใช่ไปด้วยเสียงปลุกรุนรัว พอเขาเลิกเร้า ตัวก็หมดแรง

แล้วที่สำคัญ เรามีความสุขกับความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีความพอใจในการดำรงชีวิตอย่างสามัญที่ไม่มีเครื่องปรนปรือฟุ่มเฟือย เราชอบเราพร้อมที่จะมีชีวิตอย่างนั้นในตัวของเราเองอยู่แล้ว มีความพร้อมเป็นรากฐานอยู่ในใจของเราเองแล้ว ไม่ใช่ไปไม่ใช่อยู่อย่างนั้นได้เพราะแรงปลุก ถ้าอย่างนี้ จึงจะมั่นคง

นักศึกษาที่ไปเผยแพร่ประชาธิปไตย หรือไปทำอะไรกันนี้ ถ้าเขาได้แค่ยึดมั่นในอุดมคติ ไปด้วยเสียงปลุกแรงเร้าแบบนี้ละก็ ต่อไปเขาก็ต้องการเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายฟุ้งเฟ้อ การอยู่อย่างเสียสละก็เป็นความฝืนใจ อุดมคติที่ยึดมั่นไว้ กับรากฐานในใจ มันขัดกัน ก็ไปไม่ตลอด พอไปเป็นข้าราชการ หรือไปทำงานอะไร ก็น่ากลัวอีก

ฉะนั้น ถ้าจะสร้างระยะยาว ต้องเข้าถึงจุดนี้ให้ได้ ถ้ามันอยู่ข้างในเป็นพื้นใจแล้ว ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรเราก็มีความสุขอยู่ในตัว เรามีความพอใจเกิดขึ้นจากตัวงานนั่นเอง มันมั่นคงยั่งยืน ส่วนที่ว่าเมื่ออยู่กับผู้อื่นแล้ว ถ้าใจของเราเป็นอย่างนี้ มีรากฐานอยู่ในตัว ก็จะหาทางปรับตัวได้เอง ดีกว่าคนที่สักแต่ว่ายึดมั่นในอุดมคติ

ไม่นึกถึงคนอื่น คือเห็นแก่ตัวหรือ?

ถาม คนที่มีทางไปอยู่แล้ว เช่น มีอาชีพมีเงินบ้าง (ชนชั้นกลาง) การทำดีหรือนึกถึงคนอื่น คงจะทำได้บ้าง แต่พวกกรรมกร คนยากจน ไม่มีจะกินเลย พวกนี้ก็ต้องไปนึกถึงปากถึงท้องของตัวเองแน่ และจะไปโทษคนพวกนี้ว่าเห็นแก่ตัวจะถูกหรือ และใครจะแก้ไข?

ตอบ อันนี้ต้องแยกว่า ที่พูดไปแล้วนั้น เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เช่นเรื่องการศึกษาเป็นต้น คือการสร้างค่านิยมในทางที่ทำให้คนไม่เริ่มการอันใดเพียงด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน แต่ให้มุ่งไปสู่ความสำเร็จของตัวงาน หรือจุดมุ่งหมายของสิ่งนั้นเอง

การทำสิ่งใด ก็ควรเป็นไปเพื่อจุดหมายโดยตรงของสิ่งนั้น การปลูกหญ้า ก็เพื่อให้หญ้างอกงาม การกวาดถนน ก็เพื่อให้ทางสะอาด ส่วนการได้ผลประโยชน์หรือได้เงิน ไม่ใช่เป็นจุดหมายโดยตรงของงาน แต่เป็นจุดหมายอ้อม เป็นผลพ่วงต่อ หรือผลพลอยตาม โดยมนุษย์สร้างเงื่อนไขขึ้นมา เป็นจุดหมายที่เรายกให้แก่การกระทำนั้นตามที่คนตกลงกัน อีกทีหนึ่ง ไม่ใช่เป็นจุดหมายของการกระทำนั้นเอง

ในระยะยาว เราต้องมุ่งไปที่การแก้ปัญหาแบบนั้น คือให้คนตรงต่องาน โดยมีฉันทะที่ใจรักมุ่งตรงไปยังจุดหมายของตัวงานเองเป็นเป้าแรกก่อน แล้วให้คนตรงต่อคน ก็ว่ากันอีกชั้นหนึ่ง นี่ก็ต้องทำโดยสร้างค่านิยมด้วยการศึกษา เป็นต้น

ทีนี้ ในระยะสั้นเฉพาะหน้า ที่ถามว่าสำหรับกรรมกร คนยากจน จะไปนึกถึงคนอื่นได้อย่างไร ในกรณีนี้ก็ไม่ได้ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่มีอยู่อันหนึ่งเป็นค่านิยมพื้นฐานในตัวคนที่สร้างได้ ไม่ใช่เรื่องว่านึกถึงใครไม่นึกถึงใคร คือ ถึงแม้เป็นกรรมกร ก็นึกถึงความสำเร็จของงานที่ตัวทำ เช่นอย่างเมื่อกี้บอกว่า ถ้าเป็นคนกวาดถนน ใจเขารักอยากเห็นถนนสะอาดราบเรียบ ไม่มีเศษของ ไร้ขยะ ถ้าเป็นพนักงานประปา ก็อยากเห็นน้ำไหลดี เห็นท่อเรียบร้อย ไม่มีที่ไหนผุพัง อะไรอย่างนี้ คนที่ใจนึกอย่างนี้ เรียกว่ามีธรรมฉันทะ ใฝ่ที่จะแก้ไขปัญหา ให้ลุถึงความดีงาม เป็นสิ่งที่สร้างได้ คนสร้างได้ ไม่ใช่สร้างไม่ได้ และคนจำนวนไม่น้อยมีจิตใจอย่างนี้ ฝึกขึ้นมาได้

แต่ทีนี้ไปเป็นกันเสียอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาทำอะไร เอาแต่จะนึกถึงผลประโยชน์ตอบแทนอย่างเดียว การนึกแบบนี้นำไปสู่การที่ว่าอยากจะลัดต่อไป คือ ทีแรก ต้องทำอันนี้ แล้วจะได้อันนั้น ทำงานนี้ จะได้เงินนั้น ก็ยังดีที่งานเป็นสะพานไปสู่เงิน ถึงอย่างไรก็ยังได้งานเพราะต้องการเงิน

แต่ต่อไปล่ะ เขาอาจจะต้องการว่าไม่ต้องทำงาน แต่ให้ได้เงิน หรือพอให้เห็นว่าได้ทำงานแล้ว ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำจริงทำจัง หรือให้ได้เงินมาก โดยทำงานแต่น้อย อะไรทำนองนี้ ก็ต้องหาทางหลบเลี่ยงหรือทำเล่ห์ ให้เห็นว่างานสำเร็จ โดยที่ไม่ได้สำเร็จจริงจัง ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะเขาต้องการเงินก้อนนั้น แต่เขาไม่ได้ต้องการความสำเร็จของงานนั้น จึงไม่นึกว่าตัวงานนั้นจะออกผลอย่างไร เอาพอให้บอกว่างานนั้นมันเสร็จแล้ว ได้เงินแล้ว ก็แล้วกัน นี่คือแย่

สิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ก็คือ เมื่อคนจะทำงานอะไร ก็ให้เขามุ่งไปที่ผลสัมฤทธิ์ของงานนั้น ถึงแม้เป็นกรรมกร ก็ทำได้ คือ ไม่ว่าจะทำงานอะไร ผลที่ต้องการก็อยู่ที่งานนั้นอยู่แล้ว เมื่อทำอาชีพคือทำงานของเขา ก็มุ่งไปที่ตัวงานนั้นเองเป็นจุดหมายให้มันสำเร็จอย่างดีที่สุด

เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็เข้าสู่จุดหมาย ส่วนเรื่องปากเรื่องท้องนั้น แน่นอนอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่พ่วงอยู่ด้วยกัน คนก็ต้องมีปัจจัย ๔ ที่ชีวิตต้องอาศัย ก็จัดสรรให้เหมาะให้ดี แต่คนที่มีค่านิยมอย่างที่ว่าเมื่อกี้นั้นเป็นพื้นฐานแล้ว จะทำงานอะไรก็ได้ ย่อมปูรากฐานที่ดีของสังคมไว้ตลอดเวลา อย่างน้อยก็ปูฐานนั้นไว้ในตัวเอง ส่วนที่ตัวทำก็ไม่เสีย และไม่มีส่วนที่จะไปพอกเพิ่มให้ส่วนรวมต้องทรุดลงไป

ส่วนที่ว่าใครจะแก้ไขนั้น ทุกคนมีส่วนต้องช่วยแก้ไขทั้งนั้น โดยเฉพาะใครสำนึก ใครตระหนัก คนนั้นต้องลงมือทำ เริ่มแต่ตัวผู้ทำงานเองนั้นไป ส่วนผู้อื่นที่รับผิดชอบมากที่สุด คือ ผู้ที่รับหน้าที่มาจากสังคม หรือตั้งตัวเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ทำงานสังคมสงเคราะห์ ถ้าคนที่ทำมีธรรมฉันทะ ก็จะแก้ไขได้ดีที่สุด คือทำงานแก้ปัญหาสังคม เพื่อให้สังคมหมดปัญหาจริงๆ ไม่ใช่เพื่อมุ่งอย่างอื่นที่อ้อมๆ

การให้มีค่านิยม เป็นการส่งเสริมภวตัณหาหรือไม่?

ถาม การให้มีค่านิยม จะมิกลายเป็นส่งเสริมภวตัณหาหรือ?

ตอบ ขณะนี้เราเอาศัพท์สมัยใหม่มาใช้ คำว่า “ค่านิยม” แบบนี้ หมายถึงสิ่งที่เทิดค่าพอใจเชิดชูกันในหมู่ชน สิ่งที่นิยมยึดถือเป็นแนวทางความประพฤติปฏิบัติโดยปกตินิสัย หมายความว่า ลักษณะความคิดจิตใจมันโน้มที่จะเป็นไปหรือถือตามอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว มันตรงกับสังขารมากกว่าเป็นตัณหา หรือเป็นภพ หรือเป็นภวตัณหา

จริงอยู่ เมื่อค่านิยมเป็นสังขาร ก็ย่อมนำไปสู่ภพได้ แต่ข้อนั้นเป็นธรรมดาวิสัยของปุถุชน และปุถุชนก็อาศัยสังขารฝ่ายดีนั่นเองในการปฏิบัติเพื่อพ้นจากภพ

เหมือนอย่างเมื่อกี้บอกว่า เราไปทำอะไรโดยเพียงยึดมั่นในอุดมคติ บอกว่าฉันมีอุดมการณ์นั้น เขาปลุกใจ ก็แล่นไป อย่างนี้มันก็เป็นสังขารที่นำไปสู่ภวตัณหาอย่างชัดเจน อย่างนี้ก็ทุกข์ละ ทุกข์มาแต่ต้น มันไม่ยั่งยืน มันเป็นไปพร้อมด้วยชาติ ชรา มรณะ แตกสลาย เรายึดมั่นในอุดมการณ์ ยึดมั่นด้วยแรงปลุกใจ พอแรงปลุกใจที่สร้างพลังไว้หมดไป มันก็หมดแรง ยิ่งถ้ามีกิเลสอยากได้คำเยินยอสรรเสริญเพิ่มขึ้นมา พอไม่ได้คำชื่นชม ก็ได้ทุกข์

ตรงข้ามจากนี้ ถ้าทำด้วยความรู้ความเข้าใจ คือเรารู้ว่าอะไรควรเป็นอะไร ทำด้วยความรู้ความเข้าใจ ด้วยความใฝ่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม อย่างที่เรียกว่าธรรมฉันทะแล้ว ก็หมายความว่า เป็นเพียงค่านิยมแห่งปัญญา หรือการที่จะทำอะไรด้วยอาศัยปัญญานั่นเอง

สังขารอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของภวตัณหา แต่เป็นไปเพื่อทำลายภวตัณหา ไม่ใช่ค่านิยมที่เราจับคว้าเอามายึดมั่น แต่เป็นเรื่องของการสร้างลักษณะจิตใจที่วินิจฉัยและทำการด้วยปัญญา

ถึงอย่างไรเราก็ต้องสร้างคนให้มีความชื่นชมที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าค่านิยมอยู่ดี ถ้ามันไม่ออกในค่านิยมนี้ ก็เป็นค่านิยมนั้น สำหรับชาวโลกนี้ เราต้องสร้างในแบบใดแบบหนึ่งอยู่แล้ว เราควรต้องให้คนมีค่านิยมไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเลือกค่านิยมแบบไหนเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ในเมื่อถึงอย่างไรเขาก็ต้องมีค่านิยมอยู่แล้ว เราก็ให้เขามีค่านิยมที่ดีเท่านั้นเอง

มันช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้คนมีค่านิยม เป็นสิ่งที่จะต้องสร้าง เพราะฉะนั้น ถ้าจะสร้าง ก็สร้างให้มันดีที่สุด

คิดทำความดีเฉพาะตัว ไม่คิดช่วยสังคม จะถูกต้องไหม?

ถาม การที่เราคิดทำแต่ความดีเฉพาะตัวเราเอง ไม่คิดช่วยสังคมเลย จะถูกต้องหรือไม่?

ตอบ อันนี้อยู่ที่การตีความ และการรู้จักแยกแยะด้วย การที่เราคิดทำแต่ความดีเฉพาะตัวเราเอง คล้ายๆ กับว่าเป็นการเห็นแก่ตัว แต่ทำความดีคือทำอะไร ตามปกติ ถึงจะทำความดีเฉพาะตัวเรา ความดีมันก็ต้องสัมพันธ์กับผู้อื่น อิง โยง หรือส่งผลต่อผู้อื่นด้วย

ความดีบางอย่างที่ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน เช่นว่า เราขยันเล่าเรียนศึกษาเพื่อจะทำให้เกิดประโยชน์ตน

อันนี้ การทำความดีของตัวเอง สำหรับคนหนึ่งหมายความว่า เพื่อเขาจะได้มีความก้าวหน้าในสติปัญญา แล้วจะได้สามารถทำงานทำการอันนั้นๆ ให้ได้อย่างดี แต่สำหรับอีกคนหนึ่งหมายความว่า เพื่อเขาจะได้สามารถหาเงินทองมาได้มากๆ จะได้เป็นใหญ่ หรือร่ำรวย เป็นอยู่กินใช้ได้เต็มที่

นี่ ความดีเฉพาะตัวของ ๒ คนนี้ ก็มีความหมายไม่เหมือนกันแล้ว ความดีเฉพาะตัวของคนหนึ่งอาจเป็นการช่วยสังคมไปในตัว ขณะที่ความดีเฉพาะตัวของอีกคนหนึ่งอาจเป็นการเบียดเบียนรังแกสังคมไปในตัว นี่ก็แยกแยะได้ ไม่ยาก

ตามปกติ ในสังคมนั้น มีระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน ต่างก็อาศัยกันและเกื้อกูลกันอยู่ในตัว ด้วยระบบการงานอาชีพ แล้วยังมีระบบครอบครัว เครือญาติ หมู่มิตรมาหนุนอีกชั้นหนึ่ง บุคคลที่ทำการอาชีพของตนเลี้ยงชีวิตของตัวอยู่โดยสุจริต และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในระบบสังคมนี้ ก็คือทำหน้าที่ต่อสังคม และช่วยเหลือสังคมอยู่แล้วในตัว นี้เป็นข้อที่พึงเข้าใจเป็นพื้นฐานไว้

ในสภาพที่ว่ามานั้น เมื่อมีกรณีเฉพาะรายที่มีคนตกระกำลำบาก เป็นกรณียกเว้น หรือมีเหตุการณ์เหนือคาดหมายที่เป็นภัยพิบัติ จึงมีการที่ต้องช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ สังคมที่เจริญก็จัดระบบการแก้ไขปัญหา และจัดช่องทางที่จะให้คนในสังคมนั้นช่วยคนอื่นหรือช่วยสังคมได้ พร้อมทั้งมีการศึกษาที่พัฒนาคุณธรรมให้คนพร้อมที่จะทำหน้าที่ของตนๆ และเกื้อกูลกันด้วย อย่างนี้สังคมจึงจะอยู่ดีมีความมั่นคงอยู่ในตัว โดยแทบไม่ต้องมาพูดถึงการช่วยสังคมอะไรกันอีก

เป็นอันว่า ในสังคมที่ดี เมื่อระบบสังคมดำเนินไปด้วยดี การที่บุคคลทำหน้าที่ของตนให้ดีนั่นแหละ เป็นการช่วยตัวเอง และช่วยสังคมพร้อมไปในตัว แล้วก็มีการศึกษาที่พัฒนาคนไว้ให้มีจิตใจที่มีคุณธรรมที่ทำให้พร้อมจะช่วยคนอื่นช่วยสังคมได้ตามสถานการณ์

นี่คือ ในยามปกติ ก็มีความเป็นมิตรเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันด้วยน้ำใจไมตรี (เมตตา) มีใครเดือดร้อนตกทุกข์ได้ยาก ก็ช่วยปลดเปลื้องไถ่ถอน (กรุณา) มีผู้ทำดีทำประโยชน์สร้างสรรค์ได้ ก็พลอยชื่นชม ส่งเสริมสนับสนุน (มุทิตา) มีคนทำผิดทำร้ายวิวาทขัดแย้ง ก็วางตัวตรง ไม่เอนเอียงเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติจัดแก้ไขไปตามธรรม(อุเบกขา)

ทั้งนี้ก็ช่วยเหลือแก้ไขด้วยการให้ข้าวของเงินทุนบ้าง (ทาน) ด้วยการปลอบโยนให้กำลังใจให้ความรู้ความเข้าใจแนะนำบอกทางบ้าง (ปิยวาจา) ด้วยเอาแรงกายกำลังสมองเข้าไปช่วยทำให้บ้าง (อัตถจริยา) ด้วยการเข้าถึงตัวร่วมสุขร่วมทุกข์กันในการสร้างสรรค์ และแก้ปัญหาบ้าง (สมานัตตตา) การช่วยกันช่วยสังคมก็เป็นไปสบายๆ เป็นไปในความสัมพันธ์ทางสังคมที่กลมกลืน ไม่ต้องไปคิดให้เป็นเรื่องแยกออกไป เมื่อเรื่องเป็นไปอย่างนี้ ก็คงจะพอแล้ว

ทีนี้ก็พูดแถมหรือเสริมอีกหน่อย ตามที่ว่านี้ เรามองสั้นๆ ว่า เรามุ่งความดีเฉพาะตัว แต่ความจริงแม้แต่เป็นความดีเฉพาะตัว เพียงแต่เราทำความดีของตัวนั้น ก็เป็นประโยชน์แก่สังคมอยู่แล้วในตัว หรืออยู่ในตัวด้วย ตั้งแต่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นต้นไป

แต่นั่นยังน้อยไป เราขยันหมั่นเพียรเอาใจใส่ในการศึกษาค้นคว้าของเรา ความดีนั้นก็มีผลกว้างยาวออกไป เมื่อเราได้ศึกษาค้นคว้าค้นพบสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ก็เป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้นด้วย นี้แง่หนึ่ง

ทีนี้ ลึกลงไป ในขั้นของความคิดความตั้งใจ การทำความดีแม้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง ถ้าเป็นผู้มีปัญญารู้จักหลักธรรมที่เรียกว่า ธรรมของสัตบุรุษ หรือสัปปุริสธรรม ก็มีการพิจารณาให้เป็นไปด้วยความรู้เข้าใจด้วย คือรู้แม้แต่ในการทำความดีนั้นว่า ในสภาพการณ์อย่างนี้ ในการดำรงชีวิตอย่างนี้ เราควรทำความดีแก่เราเองแค่ไหน เราควรเกื้อกูลแก่สังคมแค่ไหน ไม่คำนึงอยู่แค่ว่าตัวเองทำความดี

จริงอยู่ เราทำความดีเฉพาะตัวเรา ก็เป็นประโยชน์แก่สังคมไปด้วย ไม่น้อยก็มาก ไม่ระยะสั้นก็ระยะยาว แต่ในทางที่ควรแล้ว พึ่งให้เป็นไปด้วยความตระหนักรู้และตั้งใจว่าจะให้เป็นความดีที่เกื้อกูลทั้งสองฝ่าย นี่คือเป็นการบำเพ็ญความดีโดยมีปัญญาที่รู้เข้าใจ และตั้งใจทำให้ดี ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น แก่สังคม ทั้งหมดจริงๆ

ทางสายกลางในพุทธศาสนา ถ่วงความเจริญก้าวหน้าหรือไม่?

ถาม ทางสายกลางในพุทธศาสนา จะเป็นการถ่วงหรือขัดขวางความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ หรือไม่ ท่านมีความเห็นอย่างไรในการนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องทางสายกลางมาใช้กับการพัฒนาประเทศ หรือความเจริญของโลก?

ตอบ ที่ถามมาอย่างนี้ คล้ายกับว่าได้ตกลงยอมรับความหมายของทางสายกลางกันแล้วว่าเป็นอย่างนี้ๆ แต่ที่จริงนั้น เรายังไม่ทราบชัดเลยว่าเราเข้าใจตรงกันไหม หรือเราเข้าใจกันดีหรือยัง

ฉะนั้น ก่อนที่จะก้าวไปสู่ตัวปัญหา จะต้องมาพูดกันเสียก่อนว่า ทางสายกลาง คืออะไร?

เห็นหนังสือพิมพ์บางฉบับลงแสดงทัศนะ บางท่านบอกว่า ทางสายกลาง คือมัชฌิมาปฏิปทานั้น เป็นทางนำไปสู่พระนิพพานที่เป็นโลกุตตรธรรม นำมาใช้สำหรับชาวบ้านไม่ได้ นี่จะไปกันใหญ่

อันที่จริง ที่ว่านำไปสู่พระนิพพานนั้นถูก แต่นิพพานในทัศนะของท่านผู้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่คนธรรมดาจะยุ่งเกี่ยวอีกนั่นแหละ กลายเป็นไปอีกทิศหนึ่งเลย กลายเป็นใช้กับคนสามัญไม่ได้

ทางสายกลางคืออะไร ทางสายกลางคือทางที่ถูกต้อง เพราะเมื่อไปเทียบกับทางที่เป็นสุดโต่ง ๒ ทาง คือทางที่มุ่งหาความสุขปรนเปรออย่างเดียว ลุ่มหลงจนเกินไป อย่างหนึ่ง กับทางที่ทรมานตนเองจนเกินไป อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไปเทียบกับ ๒ อย่างนี้ เลยกลายเป็นทางสายกลางไป ที่จริงคือทางที่ถูกต้องนั่นเอง

ทางสายกลางนั้น เนื้อแท้อยู่ที่ไหน ฐานมันอยู่ที่ปัญญา ยอมรับไหมว่าปัญญาเป็นตัวแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้ายอมรับ ตัวนี้นี่แหละคือทางสายกลาง

ทางสายกลางมีสัมมาทิฏฐิ ความรู้เข้าใจเห็นถูกต้องเป็นฐาน สัมมาทิฏฐิคือปัญญา เพราะฉะนั้น ทางสายกลางคือทางที่มีปัญญาเป็นฐาน เดินไปโดยใช้ปัญญา และนำไปสู่ความเจริญแห่งปัญญา เพื่อการสำเร็จผลคือพ้นจากปัญหา อันนี้คือทางสายกลาง เพราะฉะนั้น เรื่องทางสายกลางก็ตอบได้แค่นี้

ถ้าเรายอมรับว่าการแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นจากการมีปัญญา มีความเข้าใจถูกต้อง ก็พยายามสร้างปัญญาให้เพิ่มขึ้น ต้องใช้ปัญญาและสำเร็จการพ้นปัญหาด้วยปัญญา นี้ก็คือทางสายกลางนั่นเอง จำกัดความง่ายๆ อย่างนี้

เมื่อบอกว่าจะนำทางสายกลางมาใช้ในการพัฒนาประเทศ หรือความเจริญของโลก ก็อยู่ที่ว่าเรายอมรับไหมว่า ตัวแก้ปัญหาที่แท้อยู่ที่ปัญญาเป็นฐาน

การใช้ปัญญานั้นมีหลักอย่างไร ก็มีศีลมาประกอบ ศีลคืออะไร? ศีลคือความประพฤติดีทางกาย วาจา และสัมมาชีพ โดยมากเราลืม เวลาเราพูดถึงศีล เรามักตกคำว่าสัมมาชีพไปตัวหนึ่ง ที่จริงศีลนั้นต้องมีสัมมาชีพด้วย และต้องสัมพันธ์กับสมาธิ

สมาธิคืออะไร? สมาธิ คือการมีสติ การมีความเพียรพยายาม และการมีความตั้งใจมั่น สมาธิประกอบด้วยหลักใหญ่ๆ ๓ ประการเป็นสำคัญ จากนี้เราจะไปขยายออกอย่างไรก็แล้วแต่

ทางสายกลางนี้ เป็นเพียงหลักใหญ่ ซึ่งจะต้องนำไปประยุกต์ในกรณีเฉพาะ เป็นกรณีๆ ไป ดังนั้น อาตมภาพเห็นจะไม่ต้องตอบโดยตรงว่าจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศหรือความเจริญทางโลกได้หรือไม่ เพราะตัวของทางสายกลางอยู่ที่ปัญญา ปัญหาอยู่ที่ว่าเรายอมรับการแก้ปัญหาด้วยปัญญาหรือไม่ นี่คงตอบได้เอง

หัวหน้าที่ดีแต่สั่งสอนคนอื่น จะแก้อย่างไร?

ถาม ในสถาบันใดก็ตาม ที่มีหัวหน้าดีแต่แนะนำหรือสั่งสอนอนุชน แต่ในทางปฏิบัติ ท่านผู้นั้นกลับไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เข้าทำนอง “จงทำอย่างฉันพูด แต่อย่าทำอย่างฉันทำ” อย่างนี้จะมีวิธีแก้ไขหรือไม่ อย่างไร และทำไมในสถาบันนั้นจึงมีหัวหน้าอย่างนั้น?

ตอบ ในระยะยาว การแก้ปัญหานี้รวมอยู่ในการศึกษาให้มีการฝึกผู้นำที่ดี และระบบการบริหารงานที่จะให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติข้อนี้ในการแต่งตั้งหัวหน้างานด้วย

อันนี้ ถ้าแก้ปัญหาระยะสั้นก็คือ แก้ที่หัวหน้านั้น อย่าให้เป็นคนดีแต่พูด ต้องทำด้วย ปฏิบัติอย่างนั้นด้วย โดยแก้ที่ตัวบุคคล บางทีเขาเองไม่รู้ตัว ต้องหาคนที่เขายอมรับ ที่จะบอก หรือแนะนำตักเตือน การที่ถามนี้ก็อาจจะเป็นการบอกให้รู้ตัวโดยอ้อม

แต่ในระยะยาวที่ว่า ทำอย่างไรจะให้หัวหน้าที่จะมีต่อๆ ไป ดีอย่างที่ควรต้องการ อันนี้สำคัญกว่า ไม่ใช่ว่าหัวหน้าคนนี้ดีอยู่ แต่คนใหม่ต่อๆ ไป อาจจะไม่ดีอีก ไม่มีหลักประกันหรือแนวทางที่จะให้มั่นใจ

เพราะฉะนั้น ต้องตรวจสอบและแก้ไขที่ระบบและสถาบันนั้นด้วย จึงจะได้ผลระยะยาว ไม่ใช่แก้เฉพาะตัวคนนั้น จะแก้เฉพาะที่ตัวผู้นำไม่พอ ต้องแก้ที่สถาบัน สถาบันนั้นคงจะมีช่องว่างในการสร้างคนในระบบของตัว ที่ทำให้ได้ผู้นำที่มีคุณภาพอย่างนี้

สังคมไทยใน ๕๐ ปีหน้านี้ จะเป็นอย่างไร?

ถาม อยากจะรู้ว่าชีวิตคนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร เนื่องจากกระผมมีอายุมากแล้ว และเข้าใจว่าจะอยู่ไปก็ไม่นาน ถ้าไม่ตายเสียก่อน ก็ไม่พ้นใน ๕ ปี ๑๐ ปีนี้ พระคุณเจ้ามีหูตากว้าง ถ้ารู้ว่าสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็จะได้ให้อนุชนรุ่นหลังของเราเตรียมตัวไว้เสียก่อนที่จะแก้ไข หรือดัดแปลงแก้ไขให้สังคมนั้นมีความสุขความเจริญต่อประเทศชาติ กระผมยังนึกไม่ออกว่า สังคมไทยของเราในระยะ ๕๐ ปีนี้จะเป็นอย่างไร?

ตอบ ขอเจริญพร ในเรื่องของการทำนายสังคมในภายหน้านี้ เป็นเรื่องยากอยู่ การทำนายภายหน้าก็ต้องอาศัยมูลฐานหรือเหตุปัจจัยที่สร้างขึ้นจากปัจจุบัน ว่าเราได้สร้างอะไรขึ้น

ถ้าหากปัจจุบันนี้เราได้หาทางสร้างเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่สภาพที่ดีงาม เราก็ย่อมจะหวังได้ว่ามันจะเป็นไปในรูปที่ดีงาม แต่ถ้าหากเราปล่อย เห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราไม่แก้ปัญหา หรือแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง มันก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นไปในรูปไม่ดีไม่งามแน่ อาจถึงแก่หายนะก็ได้ เพราะฉะนั้น ใน ๕๐ ปีข้างหน้า เราก็ต้องดูจากปัจจุบันว่าเราทำอะไรบ้าง

ในกิจกรรมทุกอย่างของสังคมมนุษย์ที่เราร่วมกันทำนี้ อย่างเมื่อกี้ ถ้าเรายอมรับว่าค่านิยมของสังคมปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นแบบมุ่งสวรรค์ชั้นต่ำ ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยไปอีก ๕๐ ปีข้างหน้า ก็เห็นได้ว่า จะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมต่างๆ มากมาย และก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ถึง ๕๐ ปีข้างหน้าหรือไม่ มันจะต้องมีเหตุอะไรวุ่นวายมากกว่านี้

แต่ทีนี้ ถ้าเราแก้ปัญหาทันในปัจจุบันนี้ โดยมีความตระหนัก หรือมีความเข้าใจในปัญหา ในสาเหตุแล้ว พยายามแก้ไขปรุงแต่งเหตุปัจจัยให้ดี ก็คิดว่าใน ๕๐ ปีข้างหน้า มันอาจจะดีก็ได้

ถ้าหากว่าเราสร้างธรรมฉันทะให้เกิดขึ้นได้ บ้านเมืองไทยในอนาคตอาจเป็นบ้านเมืองที่เจริญ เต็มไปด้วยความมีระเบียบเรียบร้อย มีความสุขก็ได้ เจริญพร เห็นว่าทำนายได้ แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำอะไรในปัจจุบันนี้ แค่นี้เอง

เอาสังคมคอมมูนิสต์เข้ามาในประเทศไทย จะเหมาะดีไหม?

ถาม ผมอยากเรียนถามว่า ถ้าเราจะเอาสังคมคอมมูนิสต์เข้ามาในประเทศไทย จะเหมาะสมเพียงไรกับสังคมปัจจุบัน?

ตอบ อาตมภาพยังไม่รู้จักชัดว่าสังคมคอมมูนิสต์เป็นอย่างไรบ้าง เห็นจะทำนายยาก คือเราไม่รู้จักตัวแท้ของมันว่าสังคมคอมมูนิสต์เป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีปัญหายากลำบากเกิดขึ้นในสภาพที่เราไม่ได้ดำรงอยู่แต่ผู้เดียว และในการที่เราเกี่ยวข้องกับสังคมอื่นนั้น ยังมีเจตนาที่จะนำเอาระบบเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกันอีกด้วย ถ้าอย่างนี้ มันก็ต้องคิดเตรียมเหมือนกันว่า ถ้ามาอย่างนั้น จะเอาอย่างไร

แต่อาตมภาพเชื่อว่า ถ้าเรามีหลักที่ดีแล้ว เราสามารถทำสังคมให้ดี และดำรงสังคมของเราได้

ปัจจุบันนี้ แม้เป็นสังคมพุทธ แต่เรามีจุดอ่อนให้เขาโจมตีได้ ไม่ใช่หรือ เขาจึงมีช่องทาง ถ้าเราพยายามแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้เราเข้าสู่สภาพของเราที่แท้จริง ให้มันถูกต้องจนเรามั่นใจแล้ว เราก็ไม่ต้องกลัวเหมือนกัน มันไม่มีช่องเข้ามา

แต่ปัจจุบันนี้ เราต้องยอมรับจุดอ่อนของเราว่าพร่องจากอุดมการณ์มากเหมือนกันด้วย จึงเป็นช่องให้เขาแทรกเข้ามาได้

เวลาเขาจะแทรกเข้ามา ย่อมเป็นธรรมดาที่เขาจะเผยแพร่อุดมการณ์และอุดมสภาวะที่เขาเองก็อยากเข้าถึง มาให้เรารับรู้ ส่วนสภาพที่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เขาจะเข้าถึงและบกพร่องจากอุดมการณ์และอุดมสภาวะนั้นเพียงใด เราก็ไม่เห็น ถ้าอย่างนี้ ก็มีหวังจะกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ

แต่สำหรับเรา เวลามองเทียบ เรามองดูตัวเราที่สภาพซึ่งเป็นจริงอยู่ในทางปฏิบัติ และมองดูเขาที่สภาพในอุดมการณ์และอุดมสภาวะ เราย่อมเสียเปรียบเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่าคอมมูนิสต์ดีแค่ไหนหรือไม่ ดีแค่ไหน ถ้าเรามั่นใจว่าของเราดีจริง เราก็ไม่กลัว แต่สำหรับปัจจุบันนี้ เราไม่มั่นใจ หรือเรามั่นใจในสิ่งที่เป็นอุดมคติ แต่ในทางปฏิบัติเรายังทำไม่ได้ เรามีจุดอ่อน เราก็ไม่มั่นใจตนเอง จึงอยู่ที่ว่า เราต้องรีบแก้ปัญหาแต่ต้น

ถ้าเราแก้ปัญหาให้เราทำได้อย่างอุดมคติของเราที่วางไว้จนเรามั่นใจแล้ว อาตมภาพเห็นว่าไม่น่ากลัว ถึงเขาจะดีไม่ดี ถ้าเขาดี ก็เข้ากันได้ ถ้าเขาไม่ดี เราจะไม่ยอมรับเอง เราทั้งหมดไม่ยอมรับ แต่ที่เข้ามาได้ เพราะมีช่องให้บางคนไปยอมรับ มันก็ยุ่ง

เหมือนอย่างพุทธศาสนาบอกว่าอยู่ได้ด้วยบริษัท ๔ นี่แหละ บริษัท ๔ นั่นแหละต้องทำให้ถูก คนอื่นมา ก็ไม่สำคัญเท่าไร ถ้าคนอื่นมา ก็หมายความว่า เขาทำบริษัท ๔ นี้ให้เสียไปได้ก่อน ถ้าบริษัท ๔ ไม่เสีย ก็ไม่เป็นไร ต้องมีจุดอ่อนข้างใน เพราะฉะนั้น อยู่ที่ทำตัวเราให้มั่นคง

เอาเป็นว่า เวลานี้อยู่ในขั้นของการแข่งขัน ที่เขาว่า อุดมการณ์ของเขาเลิศ จุดหมายของเขายอดเยี่ยม เขาก็ยังทำไม่ได้อย่างนั้น เมื่อเราเห็นเขาไม่สมจริงชัดอยู่แล้ว ของเราที่เราก็พูดได้ว่าเลิศ ว่าเยี่ยมยอด เราก็ยังไม่ได้ทำ ถึงตอนนี้ ก็มาทำให้ได้ ให้เป็นจริงขึ้นมา คือทำจริงกันเสียที แล้วก็จะได้รู้กัน ไม่ต้องมาถามแบบคาดเดากันอยู่อย่างนี้ เจริญพร อาตมภาพไม่รู้สึกว่าต้องตอบโดยตรง

จะให้สังคมไทยมีอุดมคติ จะทำตามลำดับอย่างไร?

ถาม ถ้าท่านอาจารย์เป็นผู้มีสิทธิทุกอย่างที่จะทำอะไรก็ได้ จะทำให้สังคมไทยมีอุดมคติ จะทำอย่างไรโดยลำดับ?

ตอบ ปัญหานี้ยิ่งใหญ่เหลือเกิน คล้ายๆ กับว่าจะให้เป็นผู้นำ เห็นจะต้องให้มีผู้นำที่ดีด้วยเป็นลำดับแรก

ทีนี้เราต้องตกลงกันก่อน หนึ่งต้องคิดกันให้ตกว่า เราจะเอาอะไรเป็นอุดมคติของสังคมไทย สิ่งแรกที่จะทำนี้ยังไม่ตกลงกันเลย จะไปกำหนดขั้นตอนว่าจะทำอย่างไรบ้างให้สังคมไทยไปสู่อุดมคติ จะขอตอบเท่านี้ก่อน เพราะถ้าไม่รู้อุดมคตินั้นก็วางขั้นตอนไม่ถูกด้วย

แต่ถ้าตกลงเอาตามอุดมคติที่อาตมภาพพูดไปแล้ว ก็เป็นอันยุติได้ว่า เท่าที่บรรยายและตอบคำถามมาทั้งหมดนี้ ก็ได้กำหนดขั้นตอนในการกระทำไว้คร่าวๆ แล้วเช่นเดียวกัน

บุพนิเทศ

หนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน นี้ เกิดจากการพูดการเขียนประกอบคำบรรยายเมื่อปี ๒๕๑๗ ในยุคของ “เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ” (พ.ศ. ๒๕๑๖) ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการขัดแย้งระหว่างกระแสอำนาจเก่า กับการปลุกเร้าตื่นตัวในอุดมการณ์ทางความคิดใหม่ มีการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐกับขบวนการนักศึกษาที่นับเนื่องในปัญญาชน ต่างฝ่ายก็จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคมไทย ตลอดจนสถาปนาสังคมไทยในอุดมคติขึ้นมา

ผู้เขียนหนังสือนี้มองว่าทั้งสองฝ่ายที่กล่าวมานั้น ก็เช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไปในสังคมนี้ ที่ไม่รู้จักสังคมไทย เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจปัญหา ไม่รู้จักสิ่งซึ่งเป็นปัญหาที่ตนจะแก้ไข ก็ย่อมแก้ไม่ได้ แถมจะก่อปัญหาใหม่ขยายปัญหาเก่าซ้ำเข้าไปอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ชินมากับความไม่รู้ ก็จะอยู่กับปัญหาและพัฒนาปัญหาเพิ่มขึ้นต่อไป อีกฝ่ายหนึ่งคิดใหม่ แต่คิดบนฐานของความไม่รู้ เมื่อไม่คิดด้วยความรู้ ก็เสี่ยงที่จะคิดไปตามที่รู้สึก หรือคิดตามความรู้สึก (ภาษาไทยว่าคิดด้วยอารมณ์) เลยกลายเป็นว่า คิดจะแก้ไขกำจัดความชั่วร้าย แต่กลับจะทำลายส่วนดีที่มีอยู่ ซึ่งควรจะใช้แก้ปัญหา แล้วก็จะทำสังคมไทยให้เสียหายหรือย่อยยับวอดวาย

ซ้ำร้าย ของใหญ่โตที่ตั้งค้างอยู่ท่ามกลางหมู่คน ในสังคมของตัว เมื่อไม่รู้จักไม่รู้เข้าใจ ไม่จัดสัมพันธ์เข้าในระบบสังคมให้เข้าที่เข้าทาง ก็ตั้งคาอยู่เป็นเหมือนตอที่เกะกะกีดขวาง นอกจากไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ยังกลายเป็นปัญหาก่อโทษที่ไม่ทันคาดหมาย

แม้กระทั่งบัดนี้ คนไทยก็ยังไม่รู้เข้าใจกันเอง ไม่รู้จักสังคมของตนเอง แถมไม่รู้ตัวว่าไม่รู้ เลยกลายเป็นสังคมครึ่งๆ กลางๆ ที่ชวนขำ เมื่อสังคมไทยอยู่ในสภาพที่ว่านั้น การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาทั้งหลาย ก็จะวกเวียนอยู่ในวังวนของความล้มเหลวเก่าๆ

ด้วยเหตุดังว่านั้น การให้คนไทยรู้เข้าใจสังคมไทยของตนเอง จึงเป็นข้อที่ควรยกขึ้นมาเน้นให้เป็นจุดตั้งต้นและเป็นแกนกลางของการแก้ปัญหาและการพัฒนาสังคมประเทศชาติ

เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เป็นบันทึกประกอบคำบรรยายเรื่อง “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข” ตัวคำบรรยายเองมิได้พิมพ์ลงไว้ในหนังสือนี้ แต่อยู่ในหนังสือเล่มอื่น (จะกล่าวถึงข้างหน้า)

เป็นธรรมดาว่า การบรรยายย่อมมีเวลาจำกัด ตัวคำบรรยายเองเมื่อพิมพ์ในหนังสือมีความยาว ๓๓ หน้า เนื้อความที่มากมายเกินที่จะพูดในเวลาที่จำกัดนั้น จึงต้องนำไปเขียนเป็นบันทึกประกอบคำบรรยาย ดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้ยาว ๑๒๗ หน้า ซึ่งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ดำเนินการพิมพ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ นั้น จัดเป็นเอกสารเผยแพร่รวมอยู่ในหนังสือชุดที่เรียกว่า “เอกสารเผยแพร่ ชุดพระพุทธศาสนาสำหรับประชาชน” โดยให้ชื่อว่า บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วยสถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน

ข้อความในคำบรรยายที่พูดไว้ได้เพียงสั้นๆ อันทำให้ต้องเขียนบันทึกอธิบายประกอบ มีตัวอย่างเช่นว่า

“การจะแก้ปัญหาระยะยาว ก็ต้องเกิดจากความรู้..ในชั้นนักวิชาการปัญญาชนก็ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้ อะไร? ไม่รู้เข้าใจสภาพสังคมของตนเอง...

“นักวิชาการและปัญญาชนเองยังขาดความพร้อมอยู่มาก...สังคมไทยเป็นสังคมที่เราเองยังไม่ค่อยรู้...เป็นปัญหาที่สำคัญมาก คือการที่เกิดจากความไม่รู้...”

(หนังสือเล่มที่มีคำบรรยายนั้น หน้า ๗๔-๗๙, ใช้คำว่า “เรา” คือพูดอยู่กับนักศึกษาและครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัย)

ที่ว่ามานั้น เป็นเรื่องเก่าในระยะใกล้ พ.ศ. ๒๕๑๗ คือ ๔๑ ปี ล่วงแล้ว

บัดนี้ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) แจ้งว่า โดยคำเสนอของท่านผู้รู้เรื่องเก่าท่านหนึ่ง องค์การนิสิต บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เห็นชอบ และมีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน ขึ้นเผยแพร่ใหม่อีก พร้อมทั้งได้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่คัดลอกจากหนังสือเล่มดังกล่าวไปให้แก่ผู้เขียน

ขออนุโมทนา องค์การนิสิตบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่มีกุศลเจตนาจะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะแก่นักศึกษาและนักการเมือง เพื่อให้คนในสังคมไทยเข้าใจบทบาทของพระสงฆ์ และการศึกษาของพระสงฆ์ที่อยู่ร่วมด้วยในสังคมไทย พร้อมทั้งขออนุโมทนาขอบใจ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ (อินศร จินฺตาปญฺโญ) ที่ได้คัดลอกเนื้อความในหนังสือเล่มนั้น จัดทำเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่งไปให้แก่ผู้เขียน

เนื่องจาก สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน นี้เป็นหนังสือรุ่นเก่าเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษก่อนโน้น มีการจัดทำรูปเล่มที่ค่อนข้างอ่านยากสำหรับคนสมัยนี้ ในการตรวจจัดทำเล่มสำหรับการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ผู้เขียนจึงจัดแต่งและเพิ่มเติมในข้อสำคัญ ๒ ประการ คือ

ก) ของเดิม เนื้อความย่อหน้าหนึ่งๆ ยาวมาก ถึงหนึ่งหรือครึ่งหน้า คราวนี้ได้ซอยย่อหน้าให้ถี่ เพื่อให้จับความได้สะดวก

ข) หนังสือเก่าที่เป็นแหล่งข้อมูล ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ซ้ำในปี ๒๕๒๙ ไม่มีสารบัญ คราวนี้ได้ทำสารบัญใส่เข้ามา แต่เป็นสารบัญพิเศษ คือ มิใช่เป็นสารบัญของบทและหัวข้อที่แสดงไว้ในเล่มหนังสือ แต่เป็นสารบัญจับสรุปแง่มุมที่พึงสังเกตหรือที่น่าสนใจ ของเนื้อความส่วนนั้นๆ

นอกจากนั้น ได้ปรับแก้ในส่วนที่ไม่สำคัญเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้ความดีขึ้น

ผู้อ่านคงสงสัยว่า คำบรรยายที่ชื่อว่า “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข” ที่เป็นต้นเรื่องของหนังสือ บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วยสถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน เล่มนี้ อยู่ในหนังสือเล่มไหน

ขอเล่าเรื่องราวให้ทราบชัดเจนขึ้นว่า ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ มูลนิธิ โกมลคีมทอง ได้รวบรวมข้อเขียน บทความ และคำบรรยายต่างๆ ของผู้เขียน จัดประมวลเป็นหมวด แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มๆ เล่มที่เกี่ยวกับสังคม ได้แก่ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย, พุทธศาสนากับสังคมไทย และ ลักษณะสังคมพุทธ ทั้งนี้โดยคุณดุษฎี อังสุเมธางกูร (อดีตกรรมการชุมนุมพุทธฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปัจจุบันคือ พระอธิการ ดุษฎี เมธงฺกุโร) เป็นผู้เริ่มงานประมวลและจัดประเภท

หนังสือชื่อแรกคือ สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย นอกจากมี บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วยสถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็มีคำบรรยาย “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข” ที่เป็นต้นเรื่องของบันทึกเหล่านั้นด้วย

นอกจากนั้น หนังสือเล่มดังกล่าวยังมีบทความ คำบรรยาย คำอภิปราย คำให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์ สภาพของสถาบันสงฆ์ ศาสนจักร ในแง่ของสังคม เรื่องอื่นๆ อีก ๖ เรื่อง รวมเป็นเนื้อหนังสือ ๓๙๔ หน้า

โดยนัยนี้ หนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน เล่มนี้จึงเป็นเพียงส่วนย่อยตอนหนึ่งในหนังสือที่ชื่อคล้ายกันว่า สถาบันสงฆ์ กับ สังคมไทย

เนื่องจากการพิมพ์หนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมปัจจุบัน ครั้งนี้ เป็นเหมือนการย้อนกลับไปพิมพ์ส่วนย่อยตอนหนึ่งของหนังสือ สถาบันสงฆ์ กับ สังคมไทย ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องชี้แจงให้ท่านที่เกี่ยวข้องได้ทราบเรื่องราวให้ชัดเจน และจึงขอถือการพิมพ์ครั้งนี้ เป็นการพิมพ์ครั้งกรณีพิเศษ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจสับสน และเพื่อให้เป็นโอกาสที่จะจัดเรื่องราว และจัดงานพิมพ์เล่มหนังสือ ให้เป็นระบบที่มีองค์ประกอบและลำดับที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

ขออนุโมทนาองค์การนิสิตบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อีกครั้งหนึ่ง ที่มีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติและพระศาสนา และได้ฟื้นการพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นมา หวังว่าบันทึกประกอบทั้งหลายในหนังสือนี้ จักอำนวยประโยชน์เป็นเครื่องส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสังคมไทย ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ อย่างถูกทางสืบต่อไป

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๙ กันยายน ๒๕๕๘

คำปรารภ

(ในการพิมพ์ครั้งแรก)

วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์ต่อประชาชน ก็คือการเผยแพร่พระศาสนา เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมวินัย และศาสนกิจให้แพร่หลายกว้างขวาง การพิมพ์เอกสารเผยแพร่เป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะให้สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้จัดพิมพ์ตำรา แบบเรียน และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาโดยลำดับ

บัดนี้ ได้มีความดำริเพิ่มขึ้นว่า สมควรนำเอาบทความ ปาฐกถาและคำบรรยายต่างๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีความยาวพอประมาณ มีเนื้อหาน่ารู้ ควรแก่ความสนใจของประชาชนทั่วไป มาตีพิมพ์ขึ้นเป็นแผนกหนึ่ง แยกเล่มเป็นแต่ละเรื่อง และจัดเป็นชุดหนึ่ง โดยเฉพาะ ด้วยวิธีนี้หวังว่าการเผยแพร่ความรู้ทางพระพุทธศาสนา จะได้ผลดีตามวัตถุประสงค์ ทำให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ได้ตกลงให้ชื่อหนังสือชุดนี้ว่า “เอกสารเผยแพร่ ชุดพระพุทธศาสนาสำหรับประชาชน”

บันทึกประกอบคำบรรยายว่าด้วยสถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแง่สถาบัน ซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง แต่มีผู้รู้เข้าใจและสนใจศึกษากันน้อยยิ่งกว่านั้น ยังมีผู้เข้าใจผิดพลาดจำนวนมากอีกด้วย บันทึกนี้นอกจากมีความมุ่งหมายเพื่อแก้ความเข้าใจผิด และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันสงฆ์แล้ว ยังเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมปัจจุบันอีกด้วย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรแก่ความสนใจของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป จึงขออนุญาตจาก พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งเป็นผู้เขียน เพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสารเผยแพร่อันดับที่ ๒ ในชุดนี้ และได้รับฉันทานุมัติด้วยดี

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขออนุโมทนาสาธุการในกุศลเจตนาของ พระราชวรมุนี ไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าบันทึกเรื่องนี้จักอำนวยประโยชน์เป็นเครื่องส่งเสริมปัญญาบารมีแก่สาธุชนผู้ใคร่การศึกษาสมตามวัตถุประสงค์

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๗

คำชี้แจง

ความเพลิดเพลินในสิ่งที่สังคมมอบให้ อาจเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ลืมคำนึงถึงวันเวลาว่า ควรจะเตรียมปรับปรุงบทบาทและสถานภาพของตนให้สอดคล้องหรือผสมกลมกลืนกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร จึงจะสามารถรักษาบทบาทและสถานภาพของตนให้ดำรงอยู่กับสังคมได้อย่างทรงคุณค่า ซึ่งใครจะกล่าวติเตียนโดยประการใด ๆ มิได้

ในอดีต สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันที่มีบทบาทสูงเคียงคู่กับสถาบันชาติมาเป็นเวลานาน สถาบันสงฆ์มีพระสงฆ์เป็นแกนนำ ส่วนสถาบันของชาติมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ทั้งสองสถาบันนี้ต่างได้ช่วยกันสร้างสรรค์และจรรโลงสังคมไทยให้สถิตสถาพรสืบมาโดยลำดับ แต่ปัจจุบันนี้ลักษณะของสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมาก งานที่พระสงฆ์เคยทำในสมัยก่อน เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การสาธารณสงเคราะห์ การพิพากษา อรรถคดีต่างๆ เป็นต้น ได้ถูกหน่วยงานของรัฐนำไปดำเนินการเอง ตามรูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งรัฐจักต้องจัดบริการให้แก่ประชาชน จนทำให้บทบาทของพระสงฆ์ที่เคยรับผิดชอบต่องานของสังคมมีลักษณะไม่ปรากฏเด่นชัดเท่าที่ควร พร้อมกันนี้ สถานภาพของพระสงฆ์เองก็พลอยถูกเพ่งมองไปในหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นผลดีต่อพระสงฆ์เท่าไรนัก

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ป.ธ. ๙, พ.ม., พธ.บ. (เกียรตินิยมอันดับ ๑), พธ.ด. เป็นพระเถระรุ่นใหม่ที่สามารถอธิบายให้เห็นได้อย่างเด่นชัดถึงบทบาทที่พระสงฆ์เคยทำมา และสถานภาพอันสูงส่งที่สังคมมอบให้ นอกจากนี้ท่านยังได้อธิบายให้เห็นถึงบทบาทและสถานภาพของพระสงฆ์ในปัจจุบัน ว่ายังทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมในหลายๆ ด้าน ที่คนเป็นจำนวนมากมองไม่เห็น แม้พระสงฆ์เป็นจำนวนไม่น้อยก็พลอยเข้าใจไปว่า ตนเองไม่ค่อยได้ทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมเท่าไรนัก ต่อเมื่อพระราชวรมุนีได้ชี้แจงออกไปจึงทำให้เกิดความเข้าใจและรู้สึกว่า ปัจจุบันนี้พระสงฆ์ยังทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากมายหลายด้าน เป็นแต่เพียงขาดการชี้แจงในแนวทางที่ถูกต้องเท่านั้น จึงทำให้มีคนมองพระสงฆ์ไปในลักษณะต่างๆ นานา

สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน” เป็นผลงานที่พระราชวรมุนีได้เขียนบันทึกประกอบคำบรรยายเรื่อง “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และแนวทางในการแก้ไข” ซึ่งท่านได้รับอาราธนาไปบรรยายที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๗ และเขียนบันทึกประกอบคำบรรยายในโครงการอบรมบัณฑิตอาสาสมัครสายประชาบาล ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๗ รวมทั้งได้เขียนเพิ่มเติมขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งท่านได้อนุมัติให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการรวบรวมพิมพ์เป็นรูปเล่ม เรียกชื่อว่า “เอกสารเผยแพร่ ชุดพระพุทธศาสนาสำหรับประชาชน” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากพระสงฆ์และประชาชนเป็นอย่างดี แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้สนใจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยจึงได้ขออนุมัติจัดพิมพ์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสนองความต้องการของพระสงฆ์และประชาชนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขออนุโมทนาขอบคุณพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ป.ธ. ๙, พ.ม., พธ.บ. (เกียรตินิยมอันดับ ๑), พธ.ด. ที่ได้เมตตาอนุมัติงานเขียนอันทรงคุณค่า ให้มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์เผยแพร่ในครั้งนี้ หวังว่าหนังสือ “สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน” นี้ จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันสงฆ์กับสังคมได้เป็นอย่างดี

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๕

1การมองภาพสถาบันสงฆ์ด้วยท่าทีที่ผิด เกิดจากการนำเอาภาพสถาบันนักบวชของประเทศตะวันตกเข้ามาเป็นแบบวัด ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนอีกหลายอย่าง
2พระนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นบาลีอบรมศึกษาปีที่ ๑ ขึ้นไป ตามสถิติ พ.ศ. ๒๕๑๑ จำนวน ๖๗๘ รูป เกิดในต่างจังหวัด ร้อยละ ๙๙.๗๑; สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๖ จำนวน ๙๗๕ รูป มาจากครอบครัวกสิกร ร้อยละ ๙๑.๖๙

ต่อไปนี้เป็นสถิตินิสิตนักศึกษาฝ่ายพระกับฝ่ายคฤหัสถ์ จำแนกโดยอาชีพของบิดามารดา แม้จะต่างโดย พ.ศ. และประเภทบุคคล แต่ก็พอช่วยให้มองเห็นภาพที่ต้องการได้ (พระนิสิต=พระนิสิตคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาฯ พ.ศ. ๒๕๑๖; นักศึกษา = นักศึกษาที่สอบเข้าได้ในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๑๑)

ค้าขาย รับราชการ เกษตรกรรม ลูกจ้าง อื่นๆ รวม
พระนิสิต ๑๐๑ ๑๐๙
นักศึกษา ๓๑ ๔๙ ๑๐๔

3ตัวเลข ๖ เปอร์เซนต์นั้น หมายถึงผู้มาจากครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมด ในจำนวนนี้ เมื่อแยกออกไปอีก จึงคงจะมีลูกชาวนาเพียงประมาณร้อยละ ๑-๓; จำนวนศิษย์วัดทั่วประเทศ พ.ศ. ๒๕๑๓ มี ๑๑๗,๘๑๕ คน (มากกว่าสถิติสามเณรเล็กน้อย) ในจำนวนนี้เป็นศิษย์วัดในกรุงเทพฯ ๘,๘๕๖ คน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาร้อยละ ๙๙
4ทุนที่ใช้ในการผลิตนี้ต่างกันไปตามสาขาวิชาที่ศึกษา คิดคร่าวๆ ระหว่าง ๑๐,๐๐๐ ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท
5ตัวเลขงบประมาณนี้ ไม่รวมเงินงบประมาณสำหรับงานบริหารการศึกษาอีก ๒๑๕ ล้านบาทเศษ; เทียบการศึกษาสองฝ่ายให้เห็นชัดดังนี้ (สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๒)

จำนวนคน งบประมาณ/ล้านบาท
-นิสิต นักศึกษา และนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไป ๔๗๗,๒๕๙ ๑,๕๖๔.๓๐
-ภิกษุสามเณรเรียนนักธรรม บาลี มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒๓๑,๗๓๐ ๑.๕๘

6 แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สาม พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๑๙ หน้า ๔๔ กล่าวถึงแนวการพัฒนาส่วนรวม ข้อที่ ๔ คือ การส่งเสริมความเป็นธรรมของสังคม ความตอนหนึ่งว่า “โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของความเจริญที่มั่นคงต่อไปในอนาคต จะได้รับการสนับสนุนในอัตราสูง และกำหนดให้รายจ่ายพัฒนาเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี” และในหน้า ๔๔๖ กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาการศึกษาส่วนรวม ข้อที่ ๖ ว่า “ส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษา ด้วยการปรับปรุง และขยายการศึกษาในส่วนภูมิภาค เร่งรัดให้การศึกษาที่เหมาะสมแก่ประชาชนตามท้องถิ่น โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีลักษณะพิเศษ”

อนึ่ง ในรายงานการสอบร่วมเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ของสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ บทนำหน้า ๕ ก็ได้กล่าวไว้ว่า

“๕. เด็กที่มาจากครอบครัวเกษตรกรรม มีเป็นจำนวนน้อยที่สอบเข้าศึกษาต่อได้ แต่เกษตรกรเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ลูกเกษตรกรน่าจะได้รับการส่งเสริมให้ได้มีโอกาสศึกษาสูงขึ้น เช่น จัดให้ทุนการศึกษา เป็นต้น”

7เทียบให้ดูสัก ๑ คู่ (สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๒) เลือกจังหวัดที่จำนวนประชากรใกล้เคียงกัน
จังหวัดกาฬสินธุ์: ประชากร ๕๕๘,๘๖๖ วัด ๕๙๖ พระภิกษุ ๑,๙๗๔ สามเณร ๒,๓๒๖
จังหวัดอยุธยา: ประชากร ๕๔๗,๗๒๘ วัด ๔๗๐ พระภิกษุ ๖,๔๐๕ สามเณร ๗๘o
8ที่มาของสถิติต่างๆ ที่แสดงในบันทึกนี้
๑. รายงานการศาสนา ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๑๒, ๒๕๑๓
๒. สถิติของสำนักงานเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๑, ๒๕๑๖
๓. รายงานการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ของ สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
๔. เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ ๔ ของสำนักงบประมาณ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๒, ๒๕๑๖
9ในกรณีนี้ ถ้าทำได้จริงอย่างนั้น ก็จะเป็นความดีงามอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ ต้องหมายความว่า ทำให้พอใจไม่สึก ไม่ใช่ทำให้ต้องจำใจไม่สึก (เพราะถูกกักไว้ หมดทางไป จึงทนอยู่)
10เมื่อจะเขียนบันทึกเพิ่มเติมนี้ ได้อ่านข้อเขียนสั้นๆ เรื่อง “ดวงแก้วหมอง” ใน น.ส.พ. ประชาธิปไตย ฉบับ ๘ ก.ย. ๑๗ ตำหนิพระเณรที่เรียนหนังสือแล้วลาสิกขา ถึงขนาดว่า เป็นขอทานที่ชาวพุทธต้องกราบไหว้ ข้อเขียนนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจเช่นนี้ในระดับปัญญาชน ซึ่งไม่เข้าใจเลยลงไปจนถึงเหตุผลในการกราบไหว้
11ดูเหมือนจะยึดถืออย่างแน่นหนา ถึงขนาดที่ว่า ระบบนี้เท่านั้นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปริยัติธรรม รวมความเป็นปริยัติธรรมเข้าไว้ในตัวหมดสิ้น จนหาความเป็นปริยัติธรรมอีกไม่ได้ภายนอกระบบนี้
12 ดูวินย.๓/๓๒๓/๑๗๗; วินย.อ.๒/๕๕๓; ที.ส.๙/๑๙-๒๕/๑๑-๑๕
13การเริ่มความร่วมมือกำหนดด้วยพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จะให้มีอาจารย์สอนหนังสือไทย แลสอนเลขทุกๆ พระอาราม ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ การตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ และการตรา พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ใน พ.ศ. ๒๔๔๖; การแยกพระสงฆ์จากการศึกษา กำหนดด้วยการเปลี่ยนกระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ ใน พ.ศ. ๒๔๖๒
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.