การศึกษาทั่วไปเพื่อสร้างบัณฑิต

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต
หรือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต1

ขอเจริญพร ท่านนักการศึกษา ท่านอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน

วันนี้อาตมภาพได้รับนิมนต์ให้มาพูดแก่ที่ประชุม ในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ เรามาพิจารณาเรื่องวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งก่อนนี้เรียกว่าวิชาพื้นฐาน แต่เวลานี้มีการใช้ในมหาวิทยาลัยต่างแห่งในชื่อที่ต่างกันไป สำหรับชื่อนี้เป็นการกำหนดของทบวงมหาวิทยาลัย

พัฒนาคน หรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ขอพูดในประเด็นที่สำคัญว่า วิชาที่จัดให้ศึกษากันอยู่นี้สามารถแบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. วิชาศึกษาทั่วไป

๒. วิชาเฉพาะและวิชาชีพต่างๆ

แต่ก่อนนั้นเราเรียกวิชาศึกษาทั่วไปว่าวิชาพื้นฐาน คล้ายกับว่าก่อนจะไปศึกษาวิชาเฉพาะหรือวิชาชีพทั้งหลาย เราก็ให้ศึกษาวิชาประเภทพื้นฐานก่อน เป็นการเตรียมตัวบุคคลให้พร้อมที่จะไปศึกษาวิชาเฉพาะที่เจาะลึก วิชาชีพทั้งหลายโดยมากจะเป็นประเภทเฉพาะอย่างนั้น และอีกแง่หนึ่งก็เป็นการเตรียมพื้นฐานตัวบุคคลเพื่อให้เป็นคนที่ดี

ถ้าจะพูดให้สั้น เราอาจจะเปรียบเทียบระหว่างวิชา ๒ ฝ่าย คือ วิชาศึกษาทั่วไปนี้ฝ่ายหนึ่ง และวิชาเฉพาะวิชาชีพอีกฝ่ายหนึ่งว่า วิชาศึกษาทั่วไป มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างคน คำว่าสร้างคน ถ้าพูดถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ก็คือสร้างบัณฑิตนั่นเอง หมายความว่า

วิชาศึกษาทั่วไปมีจุดหมายอยู่ที่การสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพ เป็นเหมือนการสร้างเครื่องมือให้บัณฑิต

ทั้งนี้เพราะว่าคนที่จะไปทำงานทำการ ไปดำเนินชีวิตให้ได้ผลดีก็จะต้องมีเครื่องมือ วิชาชีพวิชาเฉพาะต่างๆ เป็นเหมือนเครื่องมือ แต่คนที่จะไปใช้เครื่องมือนั้น เราต้องการให้เขาเป็นบัณฑิต เพื่อว่าเขาจะได้ใช้เครื่องมือนั้นในทางที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เพื่อความดีงาม สร้างสรรค์ชีวิตและสังคม

ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนให้เป็นบัณฑิต แม้ว่าเราจะสร้างเครื่องมือและพัฒนาเครื่องมือนั้นอย่างดีเหลือเกิน มีประสิทธิภาพมาก แต่คนใช้เครื่องมือไม่เป็นบัณฑิต ก็อาจจะนำเครื่องมือนั้นไปใช้ในทางที่เป็นโทษ อย่างที่โบราณกล่าวว่า “ยื่นดาบให้แก่โจร” เพราะฉะนั้น การสร้างคนให้เป็นบัณฑิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเราก็นำคำว่าบัณฑิตมาใช้สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วย จบปริญญาตรีเรียกว่าบัณฑิต จบปริญญาโทเรียกว่ามหาบัณฑิต จบปริญญาเอกเรียกว่าดุษฎีบัณฑิต

ความเป็นบัณฑิตอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่คุณสมบัติในตัวคน และการสร้างคุณสมบัติของตัวคนนี่แหละที่เป็นเป้าหมายของวิชาศึกษาทั่วไป เราเอาคำว่าบัณฑิตมาใช้ แสดงว่าเราให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติในตัวคน ที่จะให้เขาเปลี่ยนแปลงจากคนเปล่าๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือจากคนดิบ ที่ไม่พร้อมจะอยู่จะทำอะไร มาเป็นคนที่มีคุณสมบัติเป็นบัณฑิต

เป้าหมายแท้จริงของวิชาศึกษาทั่วไป คือการสร้างบัณฑิต หรือสร้างคน ให้เป็นบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพทั้งหลายเป็นการสร้างเครื่องมือให้แก่บัณฑิต และบอกวิธีที่จะทำให้เขาสามารถใช้เครื่องมือได้ แต่คนใช้เครื่องมือนั้นจะต้องเป็นคนที่ดี จะได้นำเครื่องมือไปใช้เพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม ไม่ใช่นำเครื่องมือไปเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนด้วยความเห็นแก่ตัว แล้วทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นหรือก่อความเสียหายทำลายสังคม ตลอดจนมนุษยชาติ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

เวลานี้เรามักพูดถึงคำว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งมองได้ว่าเข้ากับสมัยนิยม คือ การพัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติในยุคปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้ยอมรับกันแล้วว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ถูกต้อง เพราะไปเน้นแต่ความมุ่งหมายในทางเศรษฐกิจ มุ่งความเจริญพรั่งพร้อมทางด้านวัตถุมากเกินไป จนเกิดผลร้ายแก่จิตใจและแก่สังคม โดยเฉพาะแก่สิ่งแวดล้อม ปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญและพัฒนาเศรษฐกิจนั้นก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เมื่อเห็นว่าการพัฒนาแบบนั้นผิด ก็เลยหันมาคิดกันใหม่ว่าจะต้องเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนา จนได้เกิดมีแนวคิดที่เรียกว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” หรือ sustainable development ปรากฏขึ้นมาใน พ.ศ. ๒๕๓๐ และใกล้กันนั้นก็มีการประกาศแนวความคิด “การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” หรือ cultural development ดังที่ได้กำหนดให้ พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเหลืออีก ๒ ปีจะจบ

การพัฒนา ๒ ชื่อนี้เป็นแนวความคิดใหม่ในการพัฒนา ซึ่งเปลี่ยนจุดเน้นของการพัฒนาจากเศรษฐกิจไปอยู่ที่จุดอื่น สำหรับ การพัฒนาแบบยั่งยืน ก็หันไปเน้นเรื่องการดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อม ให้ควบคู่กันไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ หมายความว่า ให้เป็นการพัฒนาที่สิ่งแวดล้อมก็อยู่ดีเศรษฐกิจก็ดำเนินไปได้ หรือว่าเศรษฐกิจก็ไปดีธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ ส่วน การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม ก็เน้นที่ตัวคน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระแสความคิดในการพัฒนา

ประเทศไทยเรามีแผนพัฒนาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ ๓๔ ปีมาแล้ว แผนพัฒนาฉบับแรกเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว ต่อมาก็เติม “และสังคม” เข้าไป พอผ่านมาสัก ๔ แผนก็หันมาเน้นจิตใจมากขึ้น แล้วก็เอาเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้าไป ตอนหลังนี้ก็เน้นเรื่องคนมากขึ้นๆ จนกระทั่ง มาวางแผน ๘ ขณะนี้ก็เน้นเรื่องคนมากเป็นพิเศษ

เวลานี้เราพูดกันมากเรื่องการพัฒนาคน แต่พูดถึงการพัฒนาคนในลักษณะที่พูดกันบ่อยว่า พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจนว่า เราจะพัฒนาคนในฐานะอะไร คือ ในฐานะที่เป็นคนหรือเป็นมนุษย์ หรือในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ สองอย่างนี้คงไม่เหมือนกัน

คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เกิดขึ้นเมื่อราวปี ๒๕๐๔ เป็นศัพท์ใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่กระแสการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจกำลังแรง จนกระทั่งเรามองคนเป็นทรัพยากร คือเป็นทรัพย์สิน เป็นทุน เป็นเครื่องมือ หรือเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจตลอดจนสังคมอีกทีหนึ่ง สาระสำคัญคือมองคนเป็นทุนหรือเป็นสิ่งที่จะจัดสรรเอาไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้ก็ใช้กันติดมาหลายปี จนถึงปัจจุบันนี้ เราเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ เราบอกว่าการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้อง แต่ศัพท์คือคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ก็ยังติดอยู่ จนกระทั่งเวลานี้เราชักสับสน ทั้งๆ ที่หันมาเน้นการพัฒนาตัวคน แต่ศัพท์ที่ใช้ก็อยู่ในสายความคิดที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ เราชอบใช้ว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” แสดงว่าเรายังติดในแนวความคิดที่มุ่งเอาคนไปใช้เป็นทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือสักว่าพูดไปโดยไม่คิด หรือไม่ก็ใช้โก้ๆ ไปอย่างนั้นเอง โดยไม่มีความชัดเจนอะไรเลย

ในเรื่องนี้เราจะต้องมีความชัดเจน จะต้องมีการแยกว่าจะพัฒนาคน ในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือเป็นตัวคน หรือจะพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากร สองคำนี้คนละอย่าง แต่ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะเลิกพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากร มนุษย์ในแง่หนึ่งก็เป็นทรัพยากรทางสังคมและทางเศรษฐกิจ เพราะคนมีคุณภาพดีก็เอาไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ผลดี แต่เราคงไม่หยุดแค่นั้น คือในขั้นพื้นฐาน เราต้องพัฒนาคนในฐานะที่เป็นคน เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ความเป็นคนที่สมบูรณ์ หรือมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หมายความว่าคนสามารถมีความสมบูรณ์ในตัวของเขาเอง การพัฒนาคน คือการทำให้เขามีชีวิตที่ดีงดงาม ประณีต มีอิสรภาพ มีความสุข มีความเป็นคนเต็มคนในตัว

การพัฒนาคนในความหมายสองอย่างนี้ น่าจะทำให้เกิดความชัดเจน ถ้าเราแยกอย่างนี้ได้ คือรู้ว่าพัฒนาคนในฐานะที่เป็นการพัฒนามนุษย์ คือ พัฒนาตัวมนุษย์ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข มีอิสรภาพ อย่างหนึ่ง และพัฒนาคนนั้นในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ คือ เป็นทุนที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อีกอย่างหนึ่ง เราก็จะมองเห็นได้ว่า

ก) วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาสำหรับพัฒนามนุษย์ หรือพัฒนาคนในฐานะที่เป็นตัวคน จนกระทั่งให้คนนั้นเป็นบัณฑิต อย่างที่ว่าสักครู่นี้

ข) ส่วนวิชาประเภทวิชาเฉพาะวิชาชีพเน้นการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์

พัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต หรือให้เพิ่มผลผลิต

ไหนๆ พูดถึงทรัพยากรมนุษย์กันแล้ว ก็มาดูคำนี้กันให้ชัดสักหน่อย

เป็นที่ทราบกันดีว่า คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้ เราแปลมาจาก คำภาษาอังกฤษว่า human resources

ได้กล่าวแล้วว่าคำนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๔ ในยุคที่กระแสการพัฒนาที่มุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีกำลังแรง และคำนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ประเทศอุตสาหกรรม)

พจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซฟอร์ด คือ The Oxford English Dictionary ฉบับตรวจชำระครั้งที่ ๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในโลก (๑ ชุด มี ๒๐ เล่ม รวม ๒๑,๔๗๕ หน้า) แสดงประวัติของคำ “human resources” ไว้ในเล่ม ๗ หน้า ๔๗๔ โดยยกหลักฐานมาให้ดูว่า มีคำนี้อยู่ในเอกสารตีพิมพ์ เลขที่ ๗๒๐๕ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

พจนานุกรมใหญ่ฉบับหนึ่งของอเมริกา ชื่อ Random House Webster’s Unabridged Dictionary ว่า คำนี้เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๕-๑๙๗๐ (พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๓)

อีกฉบับหนึ่งไม่ใหญ่นัก แต่นิยมใช้กันมากในหมู่นักศึกษาและนักวิชาการ คือ Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary (ฉบับตรวจชำระครั้งที่ ๑๐) ว่าคำนี้เริ่มใช้กัน ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘)

พจนานุกรมของออกซฟอร์ดที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ให้ความหมายของ human resources (ทรัพยากรมนุษย์) ว่า ได้แก่ “คน (โดยเฉพาะบุคลากร หรือคนงาน) ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินที่สำคัญอย่างหนึ่งของธุรกิจ หรือองค์กรอย่างอื่น ตรงข้ามกับทรัพยากรวัตถุ (material resources) เป็นต้น; กำลังคน (manpower)...” (เล่ม ๗ หน้า ๔๗๓)

คำที่พจนานุกรมต่างๆ มักใช้อธิบายความหมาย หรือบางที่ใช้เป็นไวพจน์ของ human resources ได้แก่ personnel (บุคลากร) manpower (กำลังคน) และ labour force (กำลังแรงงาน)

พจนานุกรมของ Random House ฉบับใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ให้ความหมายว่า “ทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ๑. คน โดยเฉพาะบุคลากรที่จ้างงาน โดยบริษัท สถาบัน หรือกิจการทำนองเดียวกันนั้น ๒. ดู human resources department” และ “human resources department ดู personnel department” และ “personnel department ได้แก่ ส่วนงานในองค์กร ซึ่งทำงานในเรื่องราวที่เกี่ยวกับลูกจ้าง เช่น การจ้าง การฝึกอบรมแรงงานสัมพันธ์ และผลประโยชน์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า human resources department”

เพียงเท่านี้ก็เพียงพอและชัดเจนแล้วว่า คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นเรื่องของการมองคนเป็นทุน เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นปัจจัยที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและทางสังคม เฉพาะอย่างยิ่งที่เด่นชัดมากคือในทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะถือเป็นเพียงปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องพัฒนาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างความเจริญเติบโตหรือขยายตัวทางเศรษฐกิจ เริ่มตั้งแต่การเพิ่มผลผลิต

เมื่อได้ความหมายอย่างนี้แล้ว ก็จะมองเห็นว่าวิชาศึกษาทั่วไปกับวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน (อย่างน้อยในแง่จุดเน้น) คือ วิชาศึกษาทั่วไปทำหน้าที่ทำคนให้เป็นบัณฑิต หรือสร้างบัณฑิต มีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาคน เพื่อให้บุคคลแต่ละคนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ดีงาม ประณีต ประเสริฐ สมกับความเป็นมนุษย์ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคนเต็มคน เป็นชีวิตที่มีอิสรภาพ และมีความสุข

ส่วนวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มีหน้าที่สร้างเครื่องมือและความสามารถ ที่จะใช้เครื่องมือนั้นให้แก่คน (ที่จะเป็นบัณฑิต) โดยพัฒนาคนนั้นในฐานะที่เป็นทรัพยากรของสังคม เพื่อให้เขาเป็นทุน เป็นองค์ประกอบ หรือเป็นปัจจัยที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ในการร่วมสร้าง (หรือที่จะถูกนำไปใช้สร้าง) ความเจริญทางเศรษฐกิจ และความเจริญด้านอื่นๆ ของสังคม

สรุปว่า เราสามารถนำเอาบทบาทและหน้าที่ของวิชาศึกษาทั่วไป กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพ มาเทียบกันได้ดังนี้

วิชาศึกษาทั่วไป → พัฒนาคน = สร้างบัณฑิต → ชีวิตที่ดีงามประเสริฐ

วิชาเฉพาะวิชาชีพ → พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ = สร้างเครื่องมือให้บัณฑิต → เพิ่มผลผลิต

(คำว่า “เพิ่มผลผลิต” ในที่นี้ มิใช่มีความหมายจำกัดตามตัวอักษร แต่ใช้เชิงตัวอย่าง ให้เป็นคำแทนเป้าหมายของการพัฒนาที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจเป็นใหญ่)

ที่เทียบกันอย่างนี้ มิใช่หมายความว่าจะแยกจากกัน หรือจะเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะต้องประสานให้เกื้อหนุนกัน โดยที่ว่าการสร้างบัณฑิตจะต้องเป็นแกน คือ สร้างบัณฑิตผู้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้เครื่องมือนั้นในทางที่เป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ชีวิตและสังคม ที่จะดำรงอยู่ด้วยดี ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์เกื้อกูล

เอาปราชญ์มาสอนให้นำสังคมได้ เอาผู้เชี่ยวชาญมาสอนให้ตามสนองสังคมทัน

ถ้าเรามองการพัฒนาคนเพียงในแง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็แน่นอนว่าจะทำให้เราให้การศึกษาประเภทที่สนองความต้องการของสังคมหรือตามสังคม เช่น สังคมต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือต้องการพัฒนาสังคมในด้านนั้น ต้องการกำลังคนในด้านนี้มาก เราก็จะผลิตคนให้สำเร็จวิชาชีพด้านนั้นๆ มาใช้ คือเราจะผลิตคนมาเป็นกำลังคนสำหรับสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม เราอาจจะมีบัญชีว่า เวลานี้ประเทศชาติต้องการกำลังคนในด้านนี้ ในวิชาการนี้ จำนวนเท่านี้ๆ แล้วก็ผลิตคนออกมาให้สอดคล้องกัน การให้การศึกษาแบบนี้จึงเน้นการสนองความต้องการของ สังคม พูดสั้นๆ ก็เป็นการศึกษาที่ตามสังคม

แต่การที่จะตามสังคมอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง การศึกษาควรทำหน้าที่ได้ดีและมากกว่านั้น คือ การศึกษานั้นแท้จริงแล้วต้องนำสังคม ไม่ใช่คอยตามสังคม หมายความว่า สังคมนี้อาจจะเดินทางผิดพลาดก็ได้ ถ้าเราได้แค่ผลิตคนมาสนองความต้องการของสังคม ให้ได้กำลังคนมาในด้านนั้นๆ ถ้าสังคมเดินทางผิดพลาดการศึกษาก็ผิดพลาดด้วย กำลังคนที่ได้มาเป็นผลของการศึกษาก็ผิดพลาด เหมือนอย่างในระยะที่แล้วมา เราผลิตคนมาในฐานะเป็นทรัพยากร และกระแสการพัฒนาผิดพลาด สังคมก็เลยผิดซ้ำเข้าไป

คนจะต้องมีความดีพิเศษยิ่งกว่านั้น ต้องมีคุณภาพสูงกว่านั้น ต้องมีสติปัญญาความรู้คิดมากกว่านั้น เช่น จะต้องรู้เท่าทันสังคม รู้กระทั่งว่าสังคมเดินทางผิดหรือเดินทางถูก แล้วจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยการพัฒนาตัวคน ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเขาจะต้องเก่งกว่าการที่จะเป็นเพียงทรัพยากร แน่นอนและนี่ก็คือการพัฒนาตัวมนุษย์แท้ๆ ซึ่งวิชาศึกษาทั่วไปน่าจะทำหน้าที่นี้ได้ ในขณะที่วิชาชีพต่างๆ คงทำไม่ได้ เพราะวิชาชีพวิชาเฉพาะเหล่านั้นจะทำได้ก็เพียงสนองความต้องการของสังคม ด้วยการผลิตกำลังคนมาให้

จากการเปรียบเทียบวิชา ๒ ฝ่ายนี้ เราจะเห็นความสำคัญของวิชาการศึกษาทั่วไปได้มาก นี่เป็นแง่คิดบางอย่าง และเรื่องนี้จะเล็งไปถึงตัวผู้สอนด้วย การหาผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไปให้ได้ผลดีจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก

แต่ก่อนเมื่อเราเรียกว่าวิชาพื้นฐาน บางคนอาจจะนึกว่าเป็นวิชาขั้นต้นๆ คำว่า “พื้นฐาน” นั้นมองได้หลายอย่างหลายความหมาย ความหมายหนึ่งก็คือ เป็นขั้นต้นๆ หรือขั้นเตรียมการ ก็เลยชวนให้นึกว่าวิชาอย่างนี้จะเอาครูอาจารย์ที่ยังไม่เก่งมาสอนก็ได้ ที่ไหนได้ วิชาพื้นฐานนี้แหละเป็นการสร้างตัวบัณฑิต เป็นการสร้างคนให้มีคุณภาพขนาดที่จะไปนำสังคมได้ เพราะฉะนั้น วิชาศึกษาทั่วไปนี้จึงเคยพูดไว้ว่าต้องใช้คนที่เป็นปราชญ์ ส่วนวิชาประเภทวิชาเฉพาะวิชาชีพนั้นใช้ผู้เชี่ยวชาญ

“จะสอนวิชาเฉพาะวิชาชีพ ให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ

แต่จะสอนวิชาพื้นฐาน ต้องใช้นักปราชญ์”

วิชาชีพวิชาเฉพาะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ใครก็สอนได้ ขอให้ถนัดในเรื่องของตน แต่ผู้ที่จะมาสอนวิชาศึกษาทั่วไป ต้องสอนให้คนเข้าใจสถานการณ์ของโลก รู้โลกและชีวิต เข้าถึงสัจธรรมความจริง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีคุณโทษดีเสียเป็นต้นอย่างไร สามารถที่จะนำการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็สามารถมีชีวิตที่ดีงาม การที่จะมีชีวิตที่ดีงาม สามารถดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และสร้างสรรค์สังคมได้นั้น คนนั้นต้องมีคุณสมบัติดีจริงๆ และคนที่สอนยิ่งต้องมีคุณสมบัติมากหรือสูงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นจึงใช้คำว่า “ต้องเป็นนักปราชญ์” และด้วยเหตุนั้นวิชาศึกษาทั่วไปนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นี่คือข้อสังเกตทั่วไปที่ขอพูดในเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงก่อนว่าการจัดแบ่งวิชาต่างๆ เหล่านี้ แม้แต่ในวิชาศึกษาทั่วไป ยังมีความสับสนไม่น้อย บางทีก็เกิดความขัดแย้งกัน เป็นการดีที่ทบวงมหาวิทยาลัยปัจจุบันยังให้โอกาส ที่ว่าทางสถาบันแต่ละแห่งมีความเป็นอิสระที่จะจัดเข้ามาตามที่ตนเห็นสมควร ไม่เฉพาะจะต้องเป็นไปตามกำหนดตายตัว นี่ก็เป็นแนวความคิดที่เรียกได้ว่าขยายกว้างขึ้น

แต่ในการที่ขยายกว้างขึ้นนั้นก็กลับกลายเป็นว่าผู้ที่จัดต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น และต้องมีสติปัญญามองเห็นกว้างไกลมากขึ้น มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ที่พูดมานี้หมายความว่า แบบเก่าท่านจัดมาเสร็จโดยวางตายตัวไปเลยว่าอย่างนี้ๆ คงถือว่าผู้ที่วางนั้นคิดว่าตัวเองมองดีที่สุดแล้ว แต่ในการวางตายตัวก็มีจุดอ่อน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกปัจจุบันนี้ที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก และสภาพท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ยืดหยุ่นไว้ก็อาจจะมีข้อบกพร่องและความไม่เหมาะสมบางประการ จึงต้องมีการยืดหยุ่นขึ้นมา แต่เมื่อยืดหยุ่นขึ้นมาก็ต้องการสติปัญญาเพิ่มขึ้น ในการที่จะทำให้ได้ผล เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นว่าการขยายโอกาสในการจัด ก็กลายเป็นว่าทำให้มีความยากมากขึ้น ถ้าทำดีก็ดีไปเลย ถ้าพลาดก็เสียมากเหมือนกัน จึงต้องตระหนักในความสำคัญและตั้งใจทำด้วยความรอบคอบให้ดีที่สุด

อาการฟูยุบในวงวิชาการ

ทีนี้แนวความคิดในเรื่องเหล่านี้ก็มาจากภูมิหลังที่มีความสับสนพร่ามัวพอสมควร เราต้องรับรู้ว่า แนวความคิดในการจัดวิชาต่างๆ โดยแบ่งหมวดวิชาอย่างในปัจจุบันเป็น ๓ คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นี้ เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในตะวันตก และจัดกันเข้ารูปปัจจุบันในมหาวิทยาลัยของอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้เอง คือในศตวรรษนี้แหละไม่ใช่เรื่องยาวไกลอะไร และการจัดแม้แต่ ๓ หมวดนี้ก็ยังหาลงตัวเด็ดขาดไม่

เรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่มีการจัดวิชาการเป็น liberal arts ที่ไทยเราเรียกว่า ศิลปศาสตร์ ซึ่งมีประวัติสืบมาตั้งแต่ยุคสมัยกรีก หมายความว่าเมื่อ ๒๕๐๐ ปีก็มีมาแล้ว และแนวความคิดในการจัดวิชาการศึกษาทั่วไปที่ทบวงมหาวิทยาลัยตั้งความมุ่งหมายไว้ว่า ให้พัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีความเข้าใจธรรมชาติของตัวเอง ของผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถคิดอย่างมีเหตุผล สามารถใช้ภาษาในการติดต่อและสื่อความหมายได้ดี เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีคุณธรรม ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี แนวความคิดนี้ถ้าเราไปดูวัตถุประสงค์ของวิชา liberal arts ในสมัยกรีกก็จะเห็นว่าคล้ายคลึงกัน

ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า ความคิดในเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีความพร่ามัวขัดแย้งตลอดมา และต้องคอยเปลี่ยนแปลงกันอยู่เรื่อยๆ

เดิมความคิดของกรีกที่จัดเป็นวิชา liberal arts นั้น เขาหมายถึงวิชาของเสรีชน คือคนที่ไม่ใช่ข้าทาส

ทั้งนี้เพราะกรีกแบ่งคนเป็น ๒ พวก คือ พวกเสรีชน กับคนที่เป็นทาสวิชา liberal arts เป็นวิชาสำหรับเสรีชน เป็นของคนชั้นสูง เป็นผู้ดี เป็นผู้นำสังคม คู่กับวิชาของข้าทาส คือ servile arts ซึ่งได้แก่วิชาใช้แรงงานหรือฝีมือ สมัยก่อนเขาแบ่งอย่างนั้น

เรื่องนี้ถ้าเรานำมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็เป็นแง่คิดที่น่าพิจารณาวิชาชีพเมื่อเทียบสมัยกรีกก็จะมีความหมายใกล้กับวิชาข้าทาส หรือวิชาประเภทแรงงาน ส่วนวิชาสำหรับเสรีชน คือ liberal arts นั้น สำหรับฝึกฝนพัฒนาคนให้เกิดความดีงามล้ำเลิศทางปัญญาและศีลธรรม เป็นวิชาการที่ยกระดับจิตใจและปัญญา และแคบเข้ามาก็มุ่งสร้างความชำนาญในการใช้ภาษาสื่อสาร รู้จักพูด รู้จักคิดหาเหตุผลได้ดี นี่ก็เกือบเหมือนกับความมุ่งหมายที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้ระบุสำหรับวิชาศึกษาทั่วไป

วิชาประเภท servile arts หรือวิชาข้าทาสนั้น ใช้แรงงานและฝีมือมุ่งผลตอบแทน หรือมุ่งผลประโยชน์ทางวัตถุ ส่วนวิชาของเสรีชน มุ่งพัฒนาสติปัญญาให้เป็นคนที่ดีงาม รู้จักคิด รู้จักรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นวิชาที่เข้ากับ liberal arts ก็คือวิชาศึกษาทั่วไป

เป็นอันว่า liberal arts เป็นศัพท์ที่ยังคงอยู่โดยที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยกรีก ในความหมายว่าเป็นวิชาของเสรีชน คู่กับวิชาข้าทาส เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และประมาณ ๔๐๐ ปีต่อมา จึงมีความชัดเจนขึ้นในเรื่องวิชา liberal arts หรือวิชาเสรีชน ที่เราเรียกเป็นภาษาไทยว่าวิชาศิลปศาสตร์ คือมี การระบุแยกเป็น ๗ วิชา แล้วพอมาถึงสมัยกลางในยุโรป เกือบ ๒.๕๐๐ ปีมาแล้ว ก็มีการจัดเป็น ๒ กลุ่มวิชา คือกลุ่ม ๓ (trivium) กับ กลุ่ม ๔ (quadrivium) ถ้าจบกลุ่ม ๓ ก็ได้ปริญญาตรี ถ้าจบกลุ่ม ๔ ก็ได้ปริญญาโท

เรื่องนี้เป็นมาจนกระทั่งถึงสมัยฟื้นฟูวิชาการ คือ Renaissance จึงขยายแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง liberal arts หรือศิลปศาสตร์ออกไปให้กว้างเป็นวิชาทั่วๆ ไป ที่จะเสริมให้คนมีสติปัญญาความรู้ความสามารถดี ใกล้คำว่า general education ครั้นมาถึงปัจจุบันก็มีความนิยมแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวด คือ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และสังคมศาสตร์

การแบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวดนี้ เกิดขึ้นในยุคที่วิทยาศาสตร์มีอิทธิพล พูดได้เลยว่าการแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวดอย่างนี้ เกิดจากอิทธิพลของวิทยาศาสตร์ เพราะเมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาและเจริญรุ่งเรือง ก็ได้ทำให้เกิดกระแสใหม่ กลายเป็นว่าคนมีความเชื่อถือชื่นชมนิยมวิทยาศาสตร์เป็นอย่างสูง จนกระทั่งถือว่าศตวรรษที่ ๑๙ เป็นยุคที่คนนิยมวิทยาศาสตร์ หรือถึงกับคลั่งวิทยาศาสตร์ (ยุค scientism) นิยมหรือคลั่งวิทยาศาสตร์อย่างไร ตอบว่านิยมหรือคลั่งไคล้ในลักษณะ ๒ ประการ คือ

๑. เอาวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง อะไรที่ไม่เป็นไปตามแนวคิดวิทยาศาสตร์ ก็ถือว่าไม่เป็นความจริง คือผิดหมด ตอนนั้นถือกันขนาดนี้

๒. วิทยาศาสตร์เป็นเป้าหมายแห่งความใฝ่ฝันของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์คิดว่าด้วยวิทยาศาสตร์นี้แหละ จะทำให้มนุษย์บรรลุความสุขสมบูรณ์สามารถพิชิตธรรมชาติได้สำเร็จ แล้วมนุษย์จะมีความพรั่งพร้อมทุกอย่าง

นี้เป็นความคิดหมายและความใฝ่ฝันของมนุษย์ ในยุคศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งก็ได้เป็นมาเรื่อยจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้จึงเริ่มเปลี่ยน เวลานี้คนเชื่อถือและฝากความหวังไว้ในวิทยาศาสตร์น้อยลง โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก

แต่ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะมาถึงยุคเสื่อม ได้เกิดอะไรขึ้น ในยุคนิยมวิทยาศาสตร์นั้น บรรดาวิชาการทั้งหลายต่างก็อยากให้วิชาของตนมีความเป็นวิทยาศาสตร์กับเขาด้วย เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ และวิชาการเมืองการปกครอง หรือรัฐศาสตร์ ก็พยายามเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ จนเกิดมีวิชาสาขาใหม่ขึ้นมา คือวิชาสังคมศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นมาได้ ๒๐๐ ปีนี่เอง หลังจากมีวิทยาศาสตร์แล้ว หมายความว่าวิชาการต่างๆ พากันอยากจะเป็นวิทยาศาสตร์บ้าง เพราะวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง ก็เลยเกิดมีสังคมศาสตร์ขึ้นมา

สังคมศาสตร์ก็มาจากสายมนุษยศาสตร์ ซึ่งเดิมก็อยู่ในพวกศิลปศาสตร์ทั้งหลายนั่นเอง เช่นวิชาการเมืองการปกครอง สมัยเพลโต และอริสโตเติล เมื่อเกือบ ๒๕๐๐ ปีมาแล้วก็มี แต่ไม่เป็นสังคมศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อมาใช้วิธีวิทยาศาสตร์เข้าสัก ๒๐๐ ปีมานี้ ก็จึงมาเข้าหมวดใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ นี่เป็นแนวโน้มที่ทำให้เกิดมีการแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวด เนื่องจากวิชาต่างๆ พยายามไปเป็นวิทยาศาสตร์กันโดยเป็นสังคมศาสตร์ แต่วิชาหลายอย่างใช้วิธีวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็ถูกจัดเป็นมนุษยศาสตร์ วิชามนุษยศาสตร์ซึ่งมาจากวิชาของเดิม เมื่อไม่เข้ามาตรฐานของวิทยาศาสตร์ ก็เลยลดสถานะตกต่ำลงไปมาก คนไม่ค่อยเห็นความสำคัญ นี่เป็นสภาพฟูยุบในวงวิชาการอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวดอย่างนี้แล้ว ก็ยังไม่ยุติลงไป อย่างวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาจิตวิทยาก็ยังหาที่ลงชัดเจนไม่ได้ บางท่านก็จัดเข้าในหมวดสังคมศาสตร์ บางท่านก็จัดเข้าในหมวดมนุษยศาสตร์ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยเมืองไทย เดี๋ยวนี้ก็หาความลงตัวไม่ได้ เช่นจิตวิทยานี้ บางพวกพยายามจัดให้ไปเข้าอยู่ในวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ บางแห่งก็จัดเป็นสังคมศาสตร์ บางแห่งก็จัดอยู่ในมนุษยศาสตร์

ตัววิชาก็มีปัญหา ต้องรู้เท่าทัน

ปัจจุบันนี้ ในหลักสูตรอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา คำว่า วิชาศึกษาทั่วไป (general education) ก็ดี ศิลปศาสตร์ (liberal arts) ก็ดี หมวดวิชา ๓ สาขา คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (the humanities, social sciences and natural sciences) ก็ดี ถือได้ว่ามีความหมายเป็นอันเดียวกัน กล่าวคือ ในการจัดวิชาศึกษาทั่วไปก็คือจัดให้เรียนศิลปศาสตร์ และศิลปศาสตร์นั้นก็ขยายขอบเขตออกไปครอบคลุม หมวดวิชาทั้ง ๓ สาขาที่กล่าวมา

การที่มาจัดเข้ารูปบรรจบกันอย่างนี้ ก็เพิ่งยุติเมื่อกลางคริสตศตวรรษปัจจุบัน คือ คริสตศตวรรษที่ ๒๐ ไม่นานนี้เอง ซึ่งที่จริง วิชาการแต่ละอย่างแต่ละหมวดนั้นได้มีมาก่อนช้านานแล้ว แม้แต่สังคมศาสตร์ที่เป็นน้องสุดท้อง ก็เริ่มเกิดขึ้นมาแล้วประมาณ ๒๐๐ ปี

การที่มาจัดอย่างนี้ เหตุผลสำคัญก็คือ จะฟื้นฟูกู้ฐานะกลับให้ความสำคัญแก่มนุษยศาสตร์ ที่ได้ตกต่ำด้อยค่าด้อยฐานะลงไปนานแล้ว (ดูคำ “HUMANITIES” ใน Encyclopedia Britannica, 1959, vol. 17, p. 878)

ในระยะนี้แหละที่รัฐสภาสหรัฐได้ตรารัฐบัญญัติมูลนิธิศิลปะและมนุษยศาสตร์แห่งชาติ ค.ศ. ๑๙๖๕ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ขึ้น ซึ่งได้ให้กำเนิดแก่ “กองทุนแห่งชาติเพื่อมนุษยศาสตร์” (National Endowment for the Humanities) และถอยหลังไปก่อนนั้น ๓ ทศวรรษ เมื่อมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) ตั้งขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ก็ได้กำหนดวัตถุประสงค์ ข้อ ๔ ว่า “เพื่อพัฒนาทรัพยากรในด้านมนุษยศาสตร์ และศิลปะ”

การพยายามให้ความสำคัญแก่มนุษยศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพียงแต่ให้ลดการเน้นที่เอียงหนักไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไปจนเสียดุล และจัดให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมพอดี พร้อมกันนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ความพยายามนั้นจะต้องประสบความสำเร็จ เพราะการเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแง่ที่หนุนความเจริญทางเศรษฐกิจระบบผลประโยชน์ แม้จะรู้ว่าเป็นโทษ อเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายก็ลดไม่ได้ เพราะตัวติดพันผูกแน่นอยู่กับระบบแข่งขัน ถึงขั้นที่อาจจะทำให้ต้องยอมทำลายโลก เพื่อรักษาชัยชนะของตัวไว้

นอกจากนั้น การพยายามฟื้นฐานะของมนุษยศาสตร์ ก็มิใช่หมายความว่าจะต้องสำเร็จผลด้วยดี โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษนี้ วงวิชาการมนุษยศาสตร์ของสหรัฐได้ประสบปัญหาปั่นป่วนขัดแย้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเฟื่องขึ้นมาของแนวคิด “หลังสมัยใหม่” (postmodernism) และปัญหาอื่นๆ จนกระทั่งอดีตประธานกองทุนแห่งชาติเพื่อมนุษยศาสตร์ (Lynne V. Cheney เป็นประธานระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๖-๑๙๙๒) ถึงกับกล่าวว่า “สามทศวรรษที่รัฐบาลอุดหนุน ไม่ได้ช่วยให้มนุษยศาสตร์ดีขึ้น แต่ตรงข้ามช่วงเวลานี้กลับได้เห็นมนุษยศาสตร์ตกต่ำดิ่งลงไป”2 แต่นั้นก็เป็นเรื่องภายในของอเมริกาที่เกิดจากปัญหาที่เป็นภูมิหลังเฉพาะตัวของเขาเอง

แม้ว่าวิชาการทั้งหลายเหล่านี้จะมีความสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เราก็ควรจะศึกษาหรือเกี่ยวข้องอย่างรู้เท่าทัน โดยมองเห็นทั้งข้อดีและข้อด้อย

ไม่เฉพาะมนุษยศาสตร์เท่านั้น ที่ประสบชะตากรรมฟูยุบ ที่จริงทุกหมวดทั้ง ๓ สาขาต่างก็ประสบภาวะไม่มั่นคงด้วยกันทั้งนั้น แต่ในลักษณะที่แตกต่างกัน

มนุษยศาสตร์ที่มีมาเก่าก่อน และครองความยิ่งใหญ่ตลอดมานั้น เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น ผู้คนหันไปชื่นชมและฝากความหวังไว้กับวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้มนุษยศาสตร์อับแสงด้อยค่าลงไป ยิ่งวิชาบางอย่างไปเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ และแยกตัวออกไปเกิดเป็นกลุ่มใหม่ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์แล้ว มนุษยศาสตร์ก็ยิ่งตกต่ำ มนุษยศาสตร์อับรัศมีในวงวิชาการมาช้านานอย่างที่กล่าวแล้วว่า จนถึงกลางคริสตศตวรรษที่ ๒๐ นี้

ฝ่ายสังคมศาสตร์ ที่เกิดขึ้นมาได้ประมาณ ๒๐๐ ปี เมื่อทำตัวเป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็รุ่งเรืองขึ้นมาเป็นอันมาก วิชาเศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เป็นต้น ได้มีบทบาทสำคัญยิ่งตลอดยุคแห่งการพัฒนาที่ผ่านมา แต่กระนั้นก็มีความภูมิใจได้ไม่เต็มที่ นอกจากความไม่ลงตัวในการจัดเข้าหมวดของบางวิชา ซึ่งก็ยังไม่แน่นอนจนบัดนี้แล้ว ก็ยังมีผู้แคลงใจตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำเอาวิธีวิทยาศาสตร์มาใช้ ว่าเข้ากันได้กับวิชาสังคมศาสตร์จริงหรือไม่ (ดู คำ “social sciences” ใน The New Grolier Multimedia Encyclopedia, 1993) ยิ่งในยุคนี้ เมื่อแนวคิดองค์รวมเฟื่องขึ้นมา สังคมศาสตร์ก็เป็นเป้าของการถูกวิจารณ์ว่ามีความบกพร่อง เนื่องจากอยู่ใต้อิทธิพลแนวคิดแบบแยกส่วน (reductionism)

ส่วนวิทยาศาสตร์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็เฟื่องฟูขึ้นๆ จนเป็นตัวชูแห่งยุคสมัยและโดดเด่นที่สุดในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ โดยได้รับความนิยมเชื่อถือในฐานะเป็นมาตรฐานวัดความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นที่หวังว่าจะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ดังได้กล่าวแล้ว แต่เมื่อมาถึงศตวรรษปัจจุบัน ฐานะของวิทยาศาสตร์ก็กลับสั่นคลอนลง ในเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปแล้ว กลับค้นพบว่าศาสตร์ของตนไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ได้ จนกระทั่งนักฟิสิกส์ชั้นนำบางท่าน ประกาศออกมาเองถึงความจริงนี้ (เช่น เซอร์ เจมส์ จีนส์ / Sir James Jeans กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงขั้นสุดท้ายได้” และเซอร์ อาเธอร์ เอดดิงตัน / Sir Arthur Eddington กล่าวว่า “...แต่นำให้เข้าถึงได้แค่โลกแห่งสัญลักษณ์ที่เป็นเพียงเงาแห่งความจริงเท่านั้น”)

ยิ่งเมื่อความหวังที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เอง ต้องสะดุดชะงักลง ความฝันของมนุษย์ที่ว่าวิทยาศาสตร์จะนำความสุขสมบูรณ์มาให้ก็สลายลงด้วย และวงการวิทยาศาสตร์ก็สูญเสียความภูมิใจและความมั่นใจ พร้อมกับที่ความนิยมเชิดชูวิทยาศาสตร์จากภายนอกก็ลดถอยลง

อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์แม้จะตกต่ำลงไปบ้าง ความสำคัญที่เหลืออยู่ก็ยังมีมหันต์ โดยเฉพาะในฐานะที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของเทคโนโลยี (พร้อมกับที่พลอยถูกติเตียนเพราะโทษภัยของเทคโนโลยีด้วย) และขณะนี้เมื่อวิทยาศาสตร์ขยายขอบเขตแห่งการแสวงหาความรู้ออกมาสู่แดนของนามธรรมด้วย วิทยาศาสตร์ก็มีทีท่าว่าจะตีตื้นฟื้นฐานะสูงขึ้นอีก

แต่กล่าวโดยทั่วไป ยุคสมัยปัจจุบันนี้ เป็นช่วงเวลาที่วงวิชาการสับสน และสูญเสียความภูมิใจและความมั่นใจลงไปอย่างมาก บางคนเรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางปัญญา เป็นจุดเปลี่ยนแปลง จุดหักเลี้ยว หรือหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่วงวิชาการจะต้องปรับตัวปรับความคิดใหม่

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นอีก ทั้งปัญหาเก่าที่สืบเนื่องมาจากเดิม และปัญหาใหม่ เช่น ความขาดสามัคคีในวงวิชาการ อย่างในอเมริกาและอังกฤษปัจจุบัน ปัญญาชนสายมนุษยศาสตร์ กับนักวิชาการชั้นนำฝ่ายวิทยาศาสตร์ก็ไม่ค่อยลงรอยกัน อึดอัดต่อกัน วิจารณ์หรือถึงกับดูถูกดูแคลนกัน และยังมีปัญหาอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นส่วนร่วมซ้ำเติมวิกฤตการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน3

การรู้เรื่องราวและปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อการเป็นอยู่และดำเนินกิจการต่างๆ ด้วยความรู้เท่าทัน เพื่อความไม่ประมาท ไม่หลงตามเรื่อยๆ เปื่อยๆ และจะได้ร่วมแก้ไขปรับปรุงอย่างมีอะไรเป็นของตนเอง ที่จะให้แก่อารยธรรมของมนุษยชาติ

การปรับตัวปรับความคิดใหม่ในวงวิชาการ

ขอย้อนกลับไปพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการที่ว่า คนชักไม่มองวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานวัดความจริง เพราะวิทยาศาสตร์เองก็เข้าไม่ถึงความจริงแท้ เมื่อมองอย่างนี้ มนุษยศาสตร์ก็เริ่มตีตื้นขึ้นมา กลายเป็นว่าวิธีวิทยาศาสตร์ไม่เป็นตัวตัดสินในการเข้าถึงความจริง แต่มีวิธีการอื่นอีกในการเข้าถึงความจริง และเมื่อความหวังจากวิทยาศาสตร์ลดลง คนก็ย่อมเห็นคุณค่าของมนุษยศาสตร์มากขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อมองในแง่หนึ่ง มนุษยศาสตร์นี้กว้างที่สุด ยืดหยุ่นที่สุด เพราะวิชาอะไรที่เข้าแนววิธีวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็เข้าหมวดวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเข้าหมวดสังคมศาสตร์ไม่ได้ เมื่อเข้า ๒ หมวดนั้นไม่ได้ก็ยังอยู่ในมนุษยศาสตร์ เพราะฉะนั้นมนุษยศาสตร์จึงครอบคลุมหมด จะเห็นได้ว่าความจริงอะไรต่างๆ ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำผู้ก้าวหน้า คิดขึ้นมาแต่ยังใช้วิธีวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็เป็นวิชาสายมนุษยศาสตร์ เช่นอย่างความคิดของไอน์สไตน์ ก็มีมากมายที่ก้าวเลยไปกว่าที่วิทยาศาสตร์จะค้นถึงและพิสูจน์ได้ ความคิดของไอน์สไตน์อย่างนั้นที่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็ไปเป็นปรัชญา แต่อาจจะเรียกว่าปรัชญาวิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาธรรมชาติเป็นต้น ในแง่นี้ ปรัชญาก็เลยหน้าวิทยาศาสตร์ไปอีก

ตกลงว่าในที่สุด มนุษยศาสตร์กว้างขวางยืดหยุ่นที่สุด ครอบคลุมหมด กลับกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติกับสังคมศาสตร์แคบ เพราะว่าได้เฉพาะส่วนที่เข้ากับวิธีวิทยาศาสตร์แล้วเท่านั้น

โดยเฉพาะเวลานี้ สิ่งที่วิทยาศาสตร์เคยปฏิเสธกลับย้อนมาเป็นจุดสนใจของวิทยาศาสตร์อีก ขณะที่ในทางตรงกันข้ามวิชาอย่างเช่นวิชาจิตวิทยา เคยพยายามทำตัวเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงขนาดที่ในระยะหนึ่ง จิตวิทยาปฏิเสธไม่ศึกษาแล้ว ไม่เอาแล้วเรื่องจิตใจ เรื่องวิญญาณ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็เลยศึกษาแต่เพียงพฤติกรรม จนกระทั่งบางทีเรียกวิชาจิตวิทยาเป็นวิชาพฤติกรรมศาสตร์อะไรทำนองนี้ แต่เสร็จแล้วมาถึงยุคนี้เจ้าตัววิทยาศาสตร์เอง ในหมู่นักฟิสิกส์ใหม่กลับไปสนใจเรื่องจิตใจ หันไปสนใจเรื่อง mind เรื่อง consciousness อะไรทำนองนี้ ศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มี mind ได้ไหม มี consciousness ได้ไหม เรื่องอย่างนี้กลับกลายเป็นจุดสนใจของวิทยาศาสตร์ นี่แหละเป็นความเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการ

เป็นอันว่า ตอนนี้ในการพัฒนาของวงวิชาการได้มีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ความเชื่อถือและความหวังในคุณค่าของวิทยาศาสตร์ได้เสื่อมหรืออ่อนกำลังลง ฉะนั้นมนุษยศาสตร์นี่แหละควรจะมีความสำคัญมากขึ้น พร้อมนั้น ในเวลาเดียวกัน กระแสการพัฒนาของโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ได้บอกแล้วเมื่อสักครู่นี้ว่า คนได้เห็นพิษภัยของการพัฒนาที่มุ่งเน้นทางด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ในเมื่อเห็นว่าการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจเป็นโทษ การพัฒนาโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญก็พลอยลดความสำคัญลงไปด้วย คนก็หันมาเน้นการพัฒนาที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วก็มาเน้นการพัฒนาคน บทบาทของมนุษยศาสตร์ก็น่าจะเด่นขึ้น

จะเห็นว่าการพัฒนาแนวใหม่ก็สอดคล้องกับความเจริญทางวิชาการเหมือนกัน คนหันมามองว่าจะต้องลดบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลง และเบนจุดเน้นของการพัฒนาจากการพัฒนาเศรษฐกิจมาที่การพัฒนาคน หรืออย่างน้อยก็ให้ประสานสอดคล้องกัน โดยมุ่งให้นำไปสู่การดำรงอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างเกื้อกูลกันขององค์ ๓ อย่างนี้ คือ

๑) ตัวคน หรือชีวิตมนุษย์

๒) สังคม

๓) ธรรมชาติแวดล้อม

คนยุคปัจจุบันและต่อไปนี้จะต้องคิดกันมากว่าทำอย่างไรจะให้องค์ประกอบ ๓ ส่วนนี้อยู่ด้วยกันอย่างดีโดยสอดคล้องประสานกลมกลืน แต่เมื่อแนวความคิดเปลี่ยนไป ปฏิบัติการก็ไปไม่ทัน ไม่สอดคล้อง จึงยังมีความขัดแย้ง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา กระแสความนิยมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังสูงอยู่ ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กระแสความนิยมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลดลงไปนั้น ประเทศที่กำลังพัฒนาก็ยังตื่นเต้นคลั่งไคล้เทคโนโลยี นอกจากนั้นความจำเป็นของประเทศ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม ก็เข้ามาบีบบังคับอีกว่าเราจะต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จะเห็นว่า ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย วิชาประเภทมนุษยศาสตร์ก็ยังอยู่ในฐานะที่ต่ำต้อยด้อยอยู่ ทั้งๆ ที่โดยกระแสของความเจริญทางวิทยาการมันน่าจะเจริญขึ้นมา

ประเทศไทยเรา เวลานี้ต้องเน้นมากในเรื่องการพัฒนาประเทศ (ในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) เพราะเรายังล้าหลังไม่ทันประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้ว เราจึงเน้นให้มีการศึกษาหนักไปทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อหนุนอุตสาหกรรม ทั้งที่พอจะรู้เข้าใจว่าอุตสาหกรรมอย่างที่เป็นอยู่มีพิษภัยอย่างไร และในขณะที่ในกระแสของการพัฒนาใหม่ ควรจะเน้นความสำคัญของมนุษยศาสตร์มากขึ้น แต่ประเทศไทยเรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ มันก็เกิดความไม่สอดคล้อง

ถ้าประเทศไทยมองกว้างมองไกลในแง่ที่คิดจะทำตัวให้เป็นผู้นำในโลก ก็คงยากที่จะสำเร็จ เพราะเรายังเป็นผู้ตามชนิดที่ล้าหลังอยู่ไกล คือยังอยู่ในกระแสการพัฒนาของยุคที่ผ่านไปแล้ว ที่ยังเน้นเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วชั้นนำเขาเข้ายุคที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม (postindustrial age) ไปแล้ว เราแทบไม่มีเวลาคิดถึงการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางวิชาการเพราะต้องมัววุ่นกับการเร่งการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยังห่างเขาไกล

ทำอย่างไรคนไทยเราจะรู้เท่าทันและประสานความคิดให้เกิดความพอดี เพื่อที่ประเทศไทยของเราจะได้มาถึงระดับที่สามารถเป็นผู้นำหรืออย่างน้อยก็อยู่ในระดับที่ทันสากลเขาจริงๆ

เรื่องวิชาศึกษาทั่วไป ถ้าตกลงตามที่ว่ามานี้ก็เป็นอันว่า เราจะสร้างคนและจะสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพก็ให้เป็นเครื่องมือของคนที่เป็นบัณฑิตนั้น

ในการจัดการศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปนี้ คงจะต้องมองว่าเราจะ เอาคนเป็นหลัก ไม่ใช่เอาวิชาเป็นหลัก เอาคุณภาพของคนเป็นเป้าหมาย ไม่ใช่เอาการรู้เนื้อหาวิชาเป็นเป้าหมาย หมายความว่าจุดหมายอยู่ที่ว่าคนอย่างไร ที่เราต้องการจะสร้างขึ้น จะให้เขามีคุณภาพอย่างไร แล้ววิชาอะไรก็ตามที่จะให้ได้คุณสมบัติที่จะสร้างคนได้อย่างนี้ เราก็เอาอย่างนั้น

เท่าที่ผ่านมา บางทีเราไปเน้นที่วิชาการว่าจะจัดวิชาการให้ครบตามนั้น ให้วิชาหมวดนี้เท่านั้นหมวดนั้นเท่านี้กี่ส่วน คราวนี้จะต้องจัดให้ได้ทั้ง ๒ ประการ คือ ให้ได้คุณภาพของคน และให้ได้เกณฑ์ทางวิชาการ ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความพอดี ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายความว่าเมื่อความนิยมในปัจจุบันที่แบ่งวิชาการเป็น ๓ หมวดเป็นอยู่อย่างนี้ เราก็จะต้องให้ได้สัดได้ส่วนในเชิงวิชาการด้วย แต่จะต้องให้สัดส่วนนั้นประสานเข้ากับเป้าหมายที่เน้นคนเป็นหลัก เอาคนเป็นเป้า ตกลงกันว่า การศึกษายกคนเป็นเป้าหมาย เป็นหลัก แล้วในด้านตัววิชาการก็จัดสรรมาจากหมวดมนุษยศาสตร์ หมวดสังคมศาสตร์ หมวดวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์ เอามาจัดให้ลงตัวพอดีที่จะให้คนเป็นอย่างนั้น แต่จะอย่างไรก็ตามต้องเอาคนเป็นหลักไว้ก่อน ไม่ใช่เอาแต่วิชาว่าจะต้องจัดให้ครบหมวดตามนั้นตามนี้

จะพัฒนาคน แต่ความคิดก็ยังพร่าสับสน

จะขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับความพร่าสับสนในทางวิชาการและความคิดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาคนมากด้วย คือในการพัฒนาคนนี้มีองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง ได้แก่ จริยธรรม ระยะนี้ก็มีการประชุม สัมมนาอะไรต่างๆ เพื่อพิจารณาเรื่องจริยธรรมกันมาก และในยุคปัจจุบันนี้ ปัญหาจริยธรรมก็มีทั้งทางสังคมและธรรมชาติแวดล้อม

แต่ก่อนนี้เราถือว่าปัญหาสังคมสำคัญ และปัญหาสังคมก็มาก เราบอกว่ามนุษย์ขาดจริยธรรม เวลานี้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาอีก ก็บอกว่า มนุษย์ขาดจริยธรรมเช่นเดียวกัน การพัฒนาจริยธรรมจึงขยายกว้างออกไป เดี๋ยวนี้ฝรั่งมีคำว่า environmental ethics คือจริยธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เราควรรู้ทันว่าจริยธรรมที่ผ่านมานี้เป็นอย่างไร

แนวความคิดจริยธรรมนี้เป็นแนวความคิดของตะวันตก เพราะคำว่า จริยธรรมเป็นศัพท์บัญญัติในประเทศไทย เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ ๓๐ ปี ก่อนนั้น เมืองไทยไม่มีคำว่า “จริยธรรม” ในเมืองไทยเรากระแสความคิดเรื่องนี้ออกจาก คำว่า ศีลธรรม มาสู่คำว่า จริยธรรม แต่คำว่าจริยธรรมเป็นเพียงศัพท์บัญญัติ เพื่อจะให้ตรงกับคำว่า ethics ของฝรั่ง นี่ก็คือแนวความคิดมาจากเมืองฝรั่ง

แนวความคิดของฝรั่งนั้นมีความแคบและสับสนในเรื่องจริยธรรมตลอดมา และเวลานี้ก็ยังสับสนอยู่ เพราะว่าเดิมนั้นจริยธรรมของฝรั่งมาในระบบศาสนาของตะวันตก ซึ่งเป็นศาสนาที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า จริยธรรมแบบนั้น เรียกว่าจริยธรรมเทวบัญชา คือเป็นคำสั่งหรือพระโองการของพระเจ้า ซึ่งสั่งมาว่าต้องทำอย่างนี้ ต้องไม่ทำอย่างนั้น ถ้าปฏิบัติตามก็ได้รับรางวัลแต่ถ้าฝ่าฝืนละเมิดก็จะถูกลงโทษ

เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมา วิทยาศาสตร์ก็บอกว่า จริยธรรมนั้นไม่เป็นความจริง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จริยธรรมอะไรเป็นเรื่องพระเจ้าสั่งมีที่ไหน จริยธรรมก็มีสถานะตกต่ำลงทันที เพราะเวลานั้นวิทยาศาสตร์กำลังได้รับกระแสความนิยมสูงมาก และถือเป็นมาตรฐานวัดความจริง จริยธรรมไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นความจริง

พอจริยธรรมลดสถานะลงไป คนก็ไม่ค่อยสนใจจริยธรรม แล้ววิทยาศาสตร์ก็ทำให้คนมองจริยธรรมไปอีกแบบหนึ่ง คือให้มองไปว่า ในเมื่อไม่ใช่เป็นบัญชาพระเจ้า ไม่ใช่เป็นเทวโองการ แล้วจริยธรรมเป็นอะไร ในสังคมตะวันตกก็มองจริยธรรมว่าเป็นเพียงบัญญัติของมนุษย์ในสังคมหมายความว่า หมู่มนุษย์มาตกลงกันว่า นี่เป็นหลักความประพฤติที่ดี นี่ควรประพฤติ นั่นไม่ควรประพฤติ ดังจะเห็นได้ว่าสิ่งที่บัญญัติในสังคมนี้ว่าดีสังคมอื่นว่าไม่ดี ที่ว่าดีในสังคมอื่นสังคมนี้กลับว่าไม่ดี เพราะฉะนั้นจริยธรรมจึงเอาแน่ไม่ได้ เป็นเพียงบัญญัติของสังคมมนุษย์ แล้วแต่จะตกลงกันว่าอย่างไร ก็เลยเกิดกระแสของการมองจริยธรรมเป็นเพียงคุณค่า ซึ่งไม่มีความจริงในธรรมชาติ แต่เป็นเพียงค่านิยมอย่างหนึ่งเท่านั้น

ในเมื่อจริยธรรมไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คนที่นิยมวิทยาศาสตร์เขาก็ ไม่เอาใจใส่จริยธรรม ต่อมาเมื่อเรื่องจริยธรรมกลับมีความจำเป็นขึ้นมาเพราะสังคมมีความเสื่อมในเรื่องความประพฤติ ศีลธรรมของมนุษย์ตกต่ำลงไป นักวิชาการก็มาคิดกันในเรื่องจริยธรรมสากลว่า หลักความประพฤติอะไรที่สังคมต่างๆ ทั้งที่โน่นและที่นี่ยอมรับ เช่น สังคมจีนก็ยอมรับ สังคมฝรั่งก็ยอมรับ อังกฤษก็ยอมรับ อเมริกันก็ยอมรับ ควรจะเอาจริยธรรมอย่างนั้น แล้วก็มาเรียกกันว่า จริยธรรมสากล

นี่แหละฝรั่งมีแนวความคิดจะหาจริยธรรมขึ้นมาใหม่ ก็เพราะถือว่าจริยธรรมเป็นเรื่องบัญญัติของสังคมมนุษย์ ดีหรือชั่วก็แล้วแต่จะตกลงกัน ถ้าจะเอาบัญญัติในสังคมใดสังคมหนึ่งก็ไม่แน่นอน จึงต้องหาทางคัดเอาสิ่งที่ยึดกันเป็นกลางๆ เหมือนๆ กันมาใช้ เรียกว่าเป็น จริยธรรมสากล คือสากล จากการที่ว่าที่นี่ก็ยอมรับที่โน่นก็ยอมรับ เมืองไทยเราก็เข้าสู่กระแสความคิดนี้ด้วย นี้ก็เป็นแนวโน้มของเรื่องของจริยธรรม

ทีนี้ต่อมาเวลานี้ โลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มองเห็นความ สำคัญของจริยธรรมมากขึ้นอย่างที่บอกเมื่อครู่นี้ จึงมีการฟื้นฟูจริยธรรมขึ้นมา โดยเฉพาะได้เกิดจริยธรรมสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ พากันเอาวิชาจริยธรรมเข้าไปศึกษา ได้เกิดมีวิชาจริยธรรมต่างๆ อาทิ Business Ethics คือ จริยธรรมธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำพากันนำเข้าไปศึกษา

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัญหาในสังคมตะวันตก เพราะภูมิหลังที่สับสนนั้น จึงวุ่นวายกันไปหมดว่าจะเอาจริยธรรมที่ไหนมาใช้หรือมาศึกษา จริยธรรมศาสนา (ของเขา) ก็เป็นเทวบัญชา หรือจะว่าจริยธรรมเป็นบัญญัติของสังคมมนุษย์ ก็เอาแน่ไม่ได้ว่าของสังคมไหนจะถูกต้อง จะต้องหาจริยธรรมสากล หรือว่าจริยธรรมที่มีอยู่ทั้งหมดอาจจะไม่ถูกต้อง นักคิดในทางการศึกษาอย่างโกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg) และ ซิมมอน (Sidney Simon) ก็มาคิดกันอีกว่าจะเอาจริยธรรมอะไรดี ก็เกิดการชักเย่อยังเถียงกันวุ่นว่าจะเอาจริยธรรมแบบไหน

แม้แต่ในประเด็นปลีกย่อย การฟื้นฟูจริยธรรมก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนที่นับถือศาสนาต่างลัทธินิกาย ซึ่งโยงไปถึงปัญหาการเมืองการปกครอง อย่างประเทศอเมริกาเวลานี้อยากจะฟื้นฟูจริยธรรม บางพวกคิดจะให้เด็กนักเรียนได้สวดมนต์หรือสวดอ้อนวอน ก็เกิดปัญหา ยังเถียงกันว่าการจัดสวดมนต์ในโรงเรียนผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีกรณีขึ้นศาลให้ต้องพิจารณาวินิจฉัยกันมาเรื่อยเป็นระยะ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่จบ

จะเอาจริยธรรมในศาสนาหรือไม่ อีกพวกหนึ่งบอกไม่ได้ ไม่ถูก ต้องเอาจริยธรรมใหม่ จึงมีบทความต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นสภาพความสับสนในทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งก็ยังตกลงกันไม่ได้ แล้วปฏิบัติการจะเป็นไปด้วยดีได้อย่างไร ดังที่ได้มีผู้เขียนบทความเรื่อง “Ethics Without Virtue”4 (จริยธรรมโดยไม่ต้องมีคุณธรรม) ซึ่งมุ่งจะแสดงสภาพของ “Moral Education in America” (ชื่อรองของบทความนั้นเอง) คือ สภาพความสับสนของจริยศึกษาในประเทศที่ถือกันว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาของโลกปัจจุบัน

ไทยเราก็พลอยวุ่นไปด้วย ดังที่กระแสความคิดได้เบนจากศีลธรรมมาเป็นจริยธรรมราวๆ ๓๐ ปีมาแล้ว ทีนี้ในเมืองไทยเวลานี้ เราเองก็เห็นความสำคัญของจริยธรรม จึงมีการจัดประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมกันขึ้นบ่อยๆ

ต่อมาเราเห็นว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของความประพฤติภายนอก เกี่ยวกับการแสดงออกในสังคม และการอยู่ร่วมกัน จริยธรรม (อย่างที่ว่า) นี้ จะดีไม่ได้ ถ้าสภาพจิตใจไม่ดี จึงจะต้องมีจิตใจที่มีคุณธรรมด้วย เพราะฉะนั้นจะพัฒนาจริยธรรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องพัฒนาคุณธรรมด้วย

ฉะนั้นต่อมาตอนหลังๆ นี้ จะเห็นว่าเวลามีการจัดประชุมสัมมนา เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม จะต้องเติมคำว่าคุณธรรมเข้าไปด้วย เป็นการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมและคุณธรรม แม้จะไม่เอาชื่อเข้ามาเป็นหัวข้อแต่เวลาบรรยายก็ต้องพูดถึงคุณธรรม แสดงว่าเราเห็นว่าจริยธรรมนี้เป็นอย่างหนึ่ง และคุณธรรมเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ จริยธรรม เป็นพฤติกรรมภายนอก โดยเฉพาะในการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ส่วนคุณธรรม เป็นสภาพความดีในจิตใจ หรือเป็นคุณสมบัติภายในจิตใจ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเห็นว่าคุณธรรมนี้สำคัญ จะต้องมีในจิตใจเป็นพื้นฐาน ถ้าจิตใจไม่มีคุณธรรมแล้วจริยธรรมก็จะดีไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นฐานและจะไม่มีความมั่นคง แต่หารู้ไม่ว่าความคิดความเข้าใจนี้แสดงว่าเราไม่มีความชัดเจนในเรื่องการพัฒนามนุษย์ เราได้ตกลงไปในหลุมแห่งความคิดแยกส่วนของตะวันตก และพลอยมีความคับแคบสับสนในเชิงจริยธรรมไปกับฝรั่งด้วย จริยธรรมของเราก็เลยพลอยไม่ชัดเจน

เมื่อพูดว่าพัฒนาจริยธรรม เราบอกว่าไม่พอ ต้องพัฒนาคุณธรรมด้วย แต่ถามอีกว่าพัฒนาคุณธรรมพอหรือไม่ ต่อไปก็จะรู้ว่าพัฒนาคุณธรรมก็ยังไม่พอ เพราะว่าจริยธรรมที่จะเกิดขึ้นในคนนั้น ต้องมีปัญญาด้วย คือต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องรู้เหตุรู้ผลว่าทำไมเราจึงต้องมีความประพฤติอย่างนี้ ความประพฤติดีงาม หรือหลักความประพฤติจริยธรรมนี้ มีประโยชน์มีคุณค่าเป็นผลดีต่อชีวิตและสังคมอย่างไร เมื่อรู้เข้าใจเหตุผล รู้คุณค่าแล้ว เราจึงจะมีความเต็มใจที่จะประพฤติปฏิบัติและปฏิบัติได้ถูกต้อง เมื่อเต็มใจจะประพฤติปฏิบัติและปฏิบัติได้ถูกต้อง จริยธรรมจึงจะมีความมั่นคงได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีองค์ประกอบด้านปัญญาด้วย

นอกจากนั้น ถ้าคนมีจิตใจไม่เป็นสุข มีความทุกข์ มีความฝืนใจ จริยธรรมก็ไม่มั่นคง ก็ต้องใส่ความสุขด้วย แล้วทีนี้ เมื่อจริยธรรมก็ไม่พอ เติมคุณธรรมก็ไม่พอ ต้องเติมปัญญาด้วย ต้องให้มีความสุขด้วย ต่อไปคงต้องตั้งชื่อการสัมมนาจริยธรรมใหม่ว่า “การประชุมสัมมนาเรื่องการพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม ความสุข และปัญญา” อะไรทำนองนี้ รวมความก็คือว่าเราไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

เพราะฉะนั้นจะต้องยอมรับว่าเวลานี้เรามีความสับสน แม้ในตะวันตกเอง เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ขณะนี้เขามาถึงจุดที่สับสนมากในทางวิชาการ แม้แต่การแบ่งวิชา เป็น ๓ หมวดที่เราเอามาใช้เป็นแบบนี้ แม้เราจำเป็นต้องใช้เพื่อเข้ากับโลกได้จะเรียกว่าเพื่อความเป็นสากลหรืออย่างไรก็ตาม แต่เราจะต้องรู้ตระหนักด้วยว่าระบบนี้ก็ยังไม่ถึงจุดที่มีความชัดเจนลงตัว และวงวิชาการเองก็มีปัญหาอย่างที่ว่าแล้วข้างต้น

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ความเป็นสากลก็ไม่พอ เวลานี้เราต้องพ้นเลยขึ้นไปเหนือความเป็นสากลด้วยซ้ำ โดยเฉพาะจริยธรรมจะต้องเหนือความเป็นสากลจากการยอมรับตรงกัน ขึ้นไปสู่ความเป็นจริงที่ตรงกับธรรมชาติของมัน นี่เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นว่าการศึกษาของเรานี้ได้มีปัญหาจากความสับสนของพัฒนาการในวงวิชาการ

พัฒนาอย่างไรจะได้คนเต็มคน

อีกอย่างหนึ่ง เราพูดกันว่าจะพัฒนาคนทั้งคน เพราะตอนนี้ความคิดองค์รวมกำลังเด่น แต่การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาแยกส่วน เช่นอย่างจริยธรรมก็เป็นจริยธรรมแยกส่วนอย่างชัดเจน เพราะไปมุ่งพฤติกรรมการแสดงออกภายนอก การอยู่ร่วมสังคม และการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม แต่คนนี้เป็นระบบขององค์ประกอบที่มาประชุมกันเข้า คือเป็นระบบองค์รวมนั่นเอง ก็จึงยังมีความลักลั่นขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดลงไป มิฉะนั้นคำว่า “พัฒนาคนทั้งคน” ก็จะเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ไปตามนิยมเท่านั้นเอง

ในระบบองค์รวมนั้นก็มีองค์ร่วม องค์ร่วมต่างๆ หรือองค์ประกอบต่างๆ นั้นจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างได้สัดส่วนมีดุลยภาพ อย่างที่เรียกว่าบูรณาการ เมื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง เกิดความพอดีขึ้น ก็ทำให้องค์รวมดำรงอยู่และดำเนินไปด้วยดี

การพัฒนาแบบองค์รวมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ได้บอกเมื่อสักครู่นี้ว่าต้องพัฒนาคนทั้งคน ที่ว่าคนทั้งคนนั้นก็ดูว่าคนเรานี้ดำเนินชีวิตอย่างไร การดำเนินชีวิตของเรานั้นเป็นระบบอย่างหนึ่ง ระบบการดำเนินชีวิตนั้นประกอบด้วยด้านต่างๆ ของการดำเนินชีวิต ซึ่งมี ๓ ด้าน และทั้ง ๓ ด้านนั้น จะต้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยมีการพัฒนาที่ประสานเสริมซึ่งกันและกันเป็นบูรณาการ จะแยกส่วนไปพัฒนาอย่างเดียวไม่ได้

คนเรานี้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยระบบการดำเนินชีวิตที่แยกได้เป็น ๓ ด้าน

ด้านที่ ๑ ด้านพฤติกรรม คือ ด้านความสัมพันธ์ที่แสดงออกต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่สิ่งแวดล้อมทางสังคมคือเพื่อนมนุษย์อย่างหนึ่ง และสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เช่น ปัจจัย ๔ สิ่งบริโภค เครื่องใช้ อุปกรณ์เทคโนโลยี และธรรมชาติแวดล้อมทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วยพฤติกรรมทางกายและวาจา พร้อมทั้งอินทรีย์คือตา หู จมูก ลิ้น และกาย นี้เป็นด้านหนึ่งของชีวิตมนุษย์

มองเผินๆ ในชั้นนอก ชีวิตมนุษย์เราก็เป็นอยู่โดยมีพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อมองลึกลงไปอีกด้านหนึ่ง การที่เราจะมีพฤติกรรมอย่างนี้ก็มีสภาพและอาการของจิตใจเป็นอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ฉะนั้น

ด้านที่ ๒ ด้านจิตใจ คือในการมีพฤติกรรมนั้น ถ้าใจเรามีความสุข จิตใจของเราสบาย เราก็มีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ถ้าใจเราชอบ พฤติกรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าใจเราไม่ชอบ พฤติกรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ในการทำพฤติกรรมทุกครั้ง เรามีเจตจำนง มีความจงใจ ตั้งใจ พฤติกรรมนั้นเป็นไปตามความตั้งใจ และแรงจูงใจ โดยโยงไปถึงสภาพจิตใจที่มีคุณธรรมหรือมีสิ่งที่ตรงข้ามกับคุณธรรม คือมีกิเลส มีความชั่วร้าย ซึ่งพฤติกรรมจะเป็นไปโดยสอดคล้องกัน

ขอยกตัวอย่างเช่น เราต้องการให้คนมีพฤติกรรมทางสังคมดีงามที่เรียกว่า จริยธรรม ว่าคนไม่ควรเบียดเบียนกัน ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าสภาพจิตใจมีคุณธรรม มีเมตตากรุณา มีความรักเพื่อนมนุษย์ การไม่เบียดเบียนหรือการช่วยเหลือนั้น ก็ทำได้ง่ายอย่างเป็นไปเอง และทำให้เกิดความสุข เพราะจิตใจพอใจ อีกทั้งพฤติกรรมนั้นก็จะมั่นคงด้วย แต่ในกรณีที่จิตใจโกรธอยากทำร้าย งุ่นง่าน ถ้าจำเป็นจะต้องมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน ต้องเกื้อกูล ใจก็ไม่เอาด้วยต้องฝืนใจ ใจมันก็ทุกข์ เมื่อใจทุกข์ พฤติกรรมก็ไม่มั่นคง อาจจะละเมิดเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนาจิตใจมาเป็นฐานให้สอดคล้องกัน

ด้านที่ ๓ ด้านปัญญา ถ้ามีปัญญา มีความรู้ความเข้าใจ รู้ว่าทำไมเราต้องไม่เบียดเบียนกัน ทำไมเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่เบียดเบียนกัน จะเป็นผลดีต่อชีวิตของเราอย่างไร เป็นผลดีต่อสังคมอย่างไร พอเราเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์และเห็นเหตุผลแล้ว เราก็เกิดความพอใจมากขึ้น ในการที่จะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน และเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียน เราก็เกิดความพอใจ ก็มีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้น ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจเหตุผล คือปัญญา จึงทำให้จิตใจมีความพร้อมและมีความสุขในการที่จะมีพฤติกรรมนั้น

อย่างนี้เรียกว่า เป็นระบบประสานกลมกลืนสามด้านของชีวิต คือ พฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญา ทั้ง ๓ ส่วนนี้สัมพันธ์เป็นปัจจัยต่อกันและดำเนินไปด้วยกัน ในระบบการดำเนินชีวิต ฉะนั้นในการพัฒนาคนทั้ง ๓ ส่วนจึงต้องพัฒนาไปด้วยกัน

เมื่อเรามองดูพฤติกรรมของคนที่แสดงออกมาคล้ายๆ กัน แต่สภาพจิตใจเหมือนกันไหม คนหนึ่งอาจแสดงพฤติกรรมนั้นด้วยจิตใจที่ฝืนทนด้วยความทุกข์ แต่อีกคนหนึ่งทำด้วยความเต็มใจมีความสุข คนหนึ่งไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ก็ทำฝืนๆ ไปอย่างนั้นเอง แต่อีกคนหนึ่งทำด้วยความรู้เข้าใจเหตุผลก็เอาจริงเอาจังทำตรงจุด ฉะนั้นพฤติกรรมเดียวกัน แม้จะเป็นพฤติกรรมทางจริยธรรม แต่มีความหมายในระบบชีวิตไม่เหมือนกัน มีผลและคุณค่าต่างกันไปหมด เราจึงบอกว่าต้องพัฒนาคนทั้งคน

การพัฒนาคนในแดนพฤติกรรม แยกย่อยออกไปเป็นหลายส่วน แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่ออกมาในการประกอบอาชีพหรือในการทำมาหากิน เพราะฉะนั้นการทำมาหาเลี้ยงชีพของมนุษย์จึงเป็นแดนสำคัญที่ระบบชีวิตของมนุษย์จะดำเนินไป ระบบชีวิตทั้งด้านพฤติกรรมด้านจิตใจและด้านปัญญาสามารถใช้การประกอบอาชีพทำมาหากินนี้เป็นที่ฝึกฝนพัฒนาได้ทั้งหมด

• เริ่มตั้งแต่อาชีวะคือการประกอบอาชีพของคนไม่ก่อความเบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนทำลายสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เป็นไปในทางสร้างสรรค์เกื้อกูล

• พร้อมกันนั้น การประกอบอาชีพก็เป็นโอกาสให้เขาพัฒนาตัวเองของเขาด้วย ทั้งพฤติกรรมจิตใจและปัญญา เพราะอาชีพที่ดีจะทำให้คนได้พัฒนาพฤติกรรม เช่นในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ว่า เราจะอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างไรจึงจะอยู่กันได้ดี ทั้งงานก็ได้ผล ตัวเองก็เป็นสุข ชีวิตก็เจริญก้าวหน้า และสังคมก็มีสันติสุขด้วย

• ในด้านจิตใจ เขาก็จะพัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบ พัฒนาความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความมีสติยั้งคิดควบคุมตนเองได้ และความมีสมาธิจิตใจแน่วแน่ในการงาน เป็นต้น

• พร้อมกันนี้เขาก็จะพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ความถนัดจัดเจน จากการที่ประสบปัญหาแล้วพยายามหาทางแก้ไข ตลอดจนการที่จะหาทางบริหารจัดการและสร้างสรรค์ให้สำเร็จ ทำให้พัฒนาปัญญาความรู้ความเข้าใจ ความรู้คิด และความหยั่งรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

เราจะต้องหาทางใช้วิชาชีพเป็นแดนพัฒนามนุษย์ให้ได้ เวลานี้เราสอนวิชาชีพโดยมุ่งเพียงว่าให้เขารู้และมีความเชี่ยวชาญในวิชานั้นเพื่อเอาไปทำมาหากิน แต่เราไม่ตระหนักในเรื่องที่ว่าเราจะอาศัยวิชาชีพเป็นแดนพัฒนาคนได้อย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาจากการพัฒนาคนแบบแยกส่วน เช่น เอาวิชาชีพไปเป็นเรื่องหนึ่ง เอาวิชาจริยธรรมไปเป็นเรื่องหนึ่ง เอาเนื้อหาวิชาอะไรต่างๆ ที่เรียนไปเป็นเรื่องหนึ่ง โดยไม่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ฉะนั้นในการพัฒนามนุษย์ที่บอกว่าจะพัฒนาคนทั้งคนนี้ เราจะต้องนำความคิดแบบองค์รวมที่แท้จริงมาใช้บูรณาการ

แนวคิดของตะวันตกที่ผ่านมานี้ ตะวันตกเองก็ยอมรับว่าเป็นแนวความคิดแบบแยกส่วน ดังที่เขาเรียกยุคที่แล้วมาว่าเป็นยุค reductionism คือเป็นยุคแนวความคิดแบบแยกส่วน ไม่เป็นบูรณาการ เวลานี้แนวความคิดแบบองค์รวม กำลังเป็นที่นิยมกันขึ้นมา แต่ข้อสำคัญก็คือเราจะใช้ได้จริงหรือไม่

ตกลงว่า ขณะนี้เราพูดกันในแง่ของหลักการว่าจะต้องพัฒนาคนทั้งคน

การพัฒนาคนทั้งคน ก็คือ การพัฒนาระบบองค์รวมแห่งการดำเนินชีวิตของคน ให้ทั้ง ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เจริญงอกงามขึ้น อย่างประสานสัมพันธ์สอดคล้องส่งผลเกื้อกูลต่อกันไปด้วยดีทั้งระบบ

นี่แหละคือบูรณาการที่แท้จริงของการพัฒนาคนทั้งคนให้เป็นคนเต็มคน

รู้อย่างไรว่าพัฒนาแล้วเป็นคนเต็มคน

ต่อไป จุดหมายของการพัฒนาให้เป็นคนเต็มคน คือเป็นคนที่สมบูรณ์ คนที่สมบูรณ์มีมาตรฐานวัดอย่างไร คนที่สมบูรณ์เป็นคนเต็มคนแล้ว ในทางการศึกษาก็มีวิธีการวัดที่อาจจะยกมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งคล้ายกับทางพระพุทธศาสนา

ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านให้ดูการพัฒนาของมนุษย์ว่าเป็นไปครบ ๔ ด้านไหม หลักเกณฑ์นี้ใช้วัดแม้แต่พระอรหันต์ ถ้าถามว่าพระอรหันต์คือใคร ก็ตอบว่าพระอรหันต์คือคนที่พัฒนาตนสมบูรณ์ทั้ง ๔ ด้าน คือ

๑) พัฒนากาย (ความสัมพันธ์ทางกาย)

๒) พัฒนาศีล (ความสัมพันธ์ทางสังคม)

๓) พัฒนาจิตใจ (คุณธรรม ความมั่นคง ความสุข)

๔) พัฒนาปัญญา (ความรู้-คิด-เข้าใจ-หยั่งเห็น)

ด้านที่ ๑ พัฒนากาย ไม่ใช่หมายถึงทำให้ร่างกายเจริญใหญ่โต แต่หมายถึง พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่นว่า เขารู้จักใช้ปัจจัย ๔ เป็นไหม กินเป็น บริโภคเป็นไหม กินแล้วได้คุณภาพชีวิตได้สุขภาพดี หรือไม่รู้จักกิน กินไม่เป็น ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่รู้จักพอดีในการกิน กินแล้วได้โทษ ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ เป็นไหม ดูเป็น ฟังเป็นไหม อย่างนี้เป็นต้น อย่างเด็กดูทีวีเป็นไหม ดูแล้วได้ประโยชน์ หรือได้โทษ ดูแล้วได้คุณภาพชีวิต ได้ความรู้ได้สติปัญญาหรือได้ความลุ่มหลง มัวเมา เสียเวลา เสียสุขภาพ เสียการศึกษาเล่าเรียน และได้ตัวอย่างที่ไม่ดี ฟังเป็นไหม ฟังแล้วได้ความรู้ไหม ฯลฯ อะไรต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

ด้านที่ ๒ พัฒนาศีล หมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือกับเพื่อนมนุษย์ว่าอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ได้ดีขึ้นไหม มีพฤติกรรมทั่วไปและการประกอบอาชีพที่ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียน หรือเป็นไปในทางช่วยแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม อะไรอย่างนี้

ด้านที่ ๓ พัฒนาจิตใจ เช่นว่า จิตใจมีคุณธรรมไหม มีเมตตากรุณาไหม มีศรัทธาไหม มีความเคารพ มีความกตัญญูกตเวที มีหิริโอตตัปปะ มีคุณธรรม ต่างๆ ที่จะมาเป็นฐานของพฤติกรรมที่เราเรียกว่าจริยธรรมที่ทำให้เกิดความมั่นคงและความสอดคล้องในระบบชีวิตทางจริยธรรม รวมทั้งการที่ว่าจิตใจมีความสุขหรือมีความทุกข์ มีความขุ่นมัว เศร้าหมอง มีความกระวนกระวาย ถ้าพัฒนาในทางที่ดีก็ต้องมีจิตใจที่เบิกบาน ผ่องใส สงบ มีความสุข ถ้าคนยังไม่มีความสุขแต่ยังมีความทุกข์มาก ก็ถือว่าขาดการพัฒนาเหมือนกัน

ด้านที่ ๔ พัฒนาปัญญา เช่นว่า มีความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริงไหม เข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ มีความรับรู้โดยไม่มีอคติ สามารถพิจารณาวินิจฉัยปัญหาต่างๆ อย่างไม่เอนเอียง สามารถนำความรู้ความคิดมาประยุกต์ในการแก้ปัญหาและในการสร้างสรรค์ต่างๆ รวมทั้งในการบริหารจัดการดำเนินการต่างๆ ตลอดจนทำจิตใจของตนให้เป็นอิสระเหนือการกระทบกระทั่งของสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องวัดออกมา ซึ่งโดยหลักการก็คือ เราจะต้องมีแนวความคิดบางอย่างในการวางมาตรฐานว่าจะพัฒนาคนให้เป็นอย่างไร คนที่ถือว่าสมบูรณ์ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร ทั้งนี้ก็พูดได้แต่เพียงแนวความคิดที่เป็นหลักการ

แม้จะตั้งหลักการใหญ่ๆ ได้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมความเป็นจริงที่อยู่ต่อหน้าว่า เราจัดการศึกษานี้ท่ามกลางยุคสมัยและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

การจัดการศึกษา โดยเฉพาะวิชาศึกษาทั่วไปที่เป็นการพัฒนาตัวคน ที่จะให้เป็นบัณฑิตนี้ จะต้องมีการแยกระดับความมุ่งหมาย โดยต้องมีจุดมุ่งหมาย ๒ ระดับ ทั้งโดยกาละและโดยเทศะ คือ

ก) โดยกาละ

๑. การศึกษาเพื่อยุคสมัย คือการที่จะพัฒนาคนให้สอดคล้องหรือรับมือได้ทันกับสภาพแวดล้อมของยุคสมัยที่เป็นอยู่ ว่าทำอย่างไรจะให้คนมีคุณภาพที่จะไปดำเนินชีวิตที่ดี สามารถทำการสร้างสรรค์ได้ในสภาพสังคมอย่างนี้ มนุษย์เกิดมาในยุคสมัยใดก็ต้องมีสภาพแวดล้อมของยุคสมัยนั้นที่เขาจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี และพร้อมกันนั้น

๒. การศึกษาที่เหนือยุคสมัย อย่างที่ศัพท์พระเรียกว่า อกาลิโก คือ การพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่ไม่ขึ้นต่อกาลสมัย ได้แก่การศึกษาเพื่อส่งเสริมคุณค่าที่มีโดยธรรมชาติของมนุษย์ หมายความว่า วิชาการศึกษาทั่วไปนี้จะสร้างคนให้เป็นอย่างไร เพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ขึ้นต่อกาลสมัยหรือไม่เกี่ยวกับสภาพของยุคสมัย พร้อมกับการที่ว่าเขาก็เป็นคนที่มีประสิทธิภาพสำหรับยุคสมัยนี้ ซึ่งจะทำให้เขาดำเนินชีวิตจนเข้าถึงจุดมุ่งหมายที่สมบูรณ์นั้นได้ด้วย เพราะว่าถ้าเขาไม่สามารถจัดการกับยุคสมัยได้ดี เขาจะเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่พ้นยุคสมัยก็ย่อมไม่ได้ คือไม่สำเร็จด้วยเหมือนกัน

ฉะนั้นต้องให้ได้จุดหมายทั้ง ๒ ระดับนี้ ที่เรียกว่า โดยกาละ

ข) โดยเทศะ

๑. การศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของถิ่น เช่นว่าเราอยู่ในสังคมไทย สังคมไทยก็ไม่เหมือนสังคมอเมริกัน เราจะต้องสร้างคนของเราให้พร้อมที่จะมาอยู่ในสังคมไทยได้ดี และสามารถเป็นส่วนร่วมที่จะพัฒนาสังคมไทยอย่างได้ผลด้วย ไม่ใช่ว่าเรียนมาเรียนไปกลายเป็นคนที่จะไปพัฒนาสังคมอเมริกัน เด็กของเราบางทีเรียนจบแล้วกลายเป็นคนสำหรับไปอยู่ในสังคมอเมริกัน แทนที่จะเตรียมมาอยู่ในสังคมไทย อย่างนี้เรียกว่าผิดเทศะแล้ว เพราะฉะนั้น ในแง่เทศะ การศึกษาทั่วไปจะต้องทำให้คนของเรามาอยู่ในเทศะเฉพาะของตนนี้ได้อย่างดี

๒. การศึกษาที่พ้นจากเทศะเฉพาะเพื่อความเป็นคนของโลก ในแง่หนึ่งคนทุกคนเป็นสมาชิกของโลก ยิ่งโลกยุคนี้ก็แคบเข้ามาด้วย กลายเป็น global village เป็นประดุจหมู่บ้านเดียวกัน หรือเป็นประชาคมเดียวกันเล็กๆ มีอะไรเกิดขึ้นก็ถึงกันหมด ดังที่เราเรียกว่าเป็นโลกาภิวัตน์ มนุษย์ทุกคนเป็นสมาชิกของโลก เป็นผู้มีส่วนร่วมในอารยธรรมของโลก ตลอดจนสิ่งแวดล้อมโลก ถ้าเป็นสมาชิกที่ดีของเทศะไม่ได้ ก็เป็นสมาชิกที่ดีของโลกไม่ได้ด้วย แต่พร้อมกันนั้นถ้าเราลืมความเป็นสมาชิกของโลก เราก็จะเข้ากับสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ไม่ได้ ไม่ทัน และช่วยเทศะของเราไม่ได้จริง

กระแสโลกาภิวัตน์ที่ไทยต้องปรับตัวให้ทัน

สภาพปัจจุบันของโลกเป็นอย่างไร เวลานี้ทั้งโลกคิดแต่จะเอาชนะกัน ลองดูซิ ในเวทีการแข่งขันระดับโลก ญี่ปุ่นก็จะเอาชนะอเมริกา อเมริกาก็จะเอาชนะญี่ปุ่นให้ได้ ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าเวลานี้มีปัญหาร้ายแรงร่วมกัน ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ไม่มีประเทศใดสามารถก้าวข้ามพรมแดนของประเทศ คือ ท้องถิ่นหรือสังคมตนเอง เพราะการห่วงความยิ่งใหญ่และความเป็นผู้นำในเวทีโลก คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะเอาชนะเขาได้ เช่น อเมริกันก็มีวัฒนธรรมใฝ่สำเร็จ ความใฝ่สำเร็จของเขามีความหมายเฉพาะคือ ทำอย่างไรจะชนะการแข่งขันเอาผลประโยชน์มาให้ตนได้มากที่สุด แม้แต่ระบบความคิด reengineering เกิดขึ้นมาก็เพียงเพื่อสนองความมุ่งหมาย อันนี้ ไม่ได้มีอะไรใหม่ ใหม่แต่ในแง่ระบบวิธี แต่เพื่อสนองแนวความคิดอันเก่า คือแนวความคิดที่จะเอาชนะการแข่งขันเพื่อชิงผลประโยชน์

เพราะอะไรจึงเกิด reengineering ก็เพราะในอเมริกาบรรษัทต่างๆ ล้มละลาย ธุรกิจอุตสาหกรรมล้มเหลว แม้การแข่งขันในเวทีโลก ญี่ปุ่นก็ขึ้นมานำในทางเศรษฐกิจ แย่แล้วจะทำอย่างไร เขาก็คิดค้นกระบวนการทำงานขึ้นมาใหม่ บอกว่าวิธีทำงานแบบเดิมที่แบ่งงานกันทำแม้ว่าเคยได้ผลในยุคก่อน แต่ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว ยุคนี้ถ้าจะให้ได้ผล จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ คุณแฮมเมอร์ (Michael Hammer) กับเพื่อน ก็คิด reengineering ขึ้นมา เพื่อที่จะฟื้นฟูพวกบรรษัท และกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมในอเมริกาขึ้นมาให้กลับประสบผลสำเร็จ สามารถเอาชนะในเวทีการแข่งขันทางธุรกิจ นี่แหละเก่งและสำคัญ แต่ก็เท่านั้นเอง คือแค่สนองความคิดในระบบเดิม

ส่วนแนวความคิดที่จะแก้ปัญหาของโลกที่แท้จริง ยังไม่มีใครเดินหน้าไปได้เลย เช่น ความคิดในเรื่อง sustainable development (การพัฒนาที่ยั่งยืน) ก็มีแต่ความคิดและหลักการ แต่ปฏิบัติการไม่คืบหน้า จึงได้แค่เพียงนำเอาระบบ reengineering มาใช้เพื่อสนองแนวความคิดเดิมที่จะเอาชนะในระบบการแข่งขันแบบเก่า ทำอย่างไรจะเอาระบบวิธี reengineering ไปใช้ประโยชน์สนองระบบความคิดใหม่ที่จะแก้ปัญหาของโลก ซึ่งขณะนี้ไม่มี นี่คือปัญหาของมนุษยชาติในปัจจุบัน ที่ว่าไม่พ้นเทศะ

สำหรับสังคมไทยเรา เวลานี้ต้องคิดทั้งสองขั้นว่า ในการอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ทำอย่างไรสังคมไทยเราจะเอาชนะเขาได้ในการแข่งขัน ซึ่งอันนี้เราก็ทิ้งไม่ได้ เพราะเราตกอยู่ในกระแสค่านิยมของโลกปัจจุบัน ที่ว่าเป็นกระแสโลกาภิวัตน์แห่งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นการแข่งขัน “ทำอย่างไรจะชนะการแข่งขัน” ทุกชาติคิดอย่างเดียวกัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ก็จะต้องเอาชนะในการแข่งขัน อย่างน้อยไม่ให้ถูกครอบงำ นี่เป็นขั้นที่ ๑

แต่เอาชนะการแข่งขันอย่างเดียวไม่พอ จะต้องพัฒนาให้เหนือการแข่งขันด้วยคือต้องขึ้นไปเหนือกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้มีแนวโน้มที่จะนำโลกไปสู่หายนะมากกว่า อย่าไปนิยมชมชอบโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้ เพราะโลกาภิวัตน์อยู่ใต้กระแสนี้ทั้งหมด คือกระแสระบบการแข่งขัน กระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาทางวัตถุ ภายใต้ระบบความคิดที่ถือว่าการพิชิตธรรมชาติเป็นความสำเร็จของมนุษย์ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ

มนุษย์พิชิตธรรมชาติเพื่ออะไร เพื่อจะได้เอาธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยอุตสาหกรรม มนุษย์จะได้มีสิ่งบริโภคพรั่งพร้อม แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุขจากการมีสิ่งเสพบริโภคพรั่งพร้อม ความคิดที่ว่า เราจะมีความสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุดนั้น เป็นแนวคิดที่ครองโลกปัจจุบัน รวมเป็นฐานความคิดใหญ่ ๒ อย่าง คือ

๑. การพิชิตธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์เป็นเจ้าใหญ่ มีอิสรภาพโดยเป็นนายใหญ่เหนือธรรมชาติ

๒. มนุษย์จะมีความสุขมากที่สุดจากการเสพมากที่สุด

แนวความคิด ๒ อย่างนี้ ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบัน ว่าที่จริงพวกที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้วก็รู้ตัวแล้วว่า เวลานี้แนวความคิดพิชิตธรรมชาติได้ก่อให้เกิดปัญหาคือธรรมชาติแวดล้อมเสีย เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ไขปัญหานี้ว่าทำอย่างไรมนุษย์จะอยู่ได้ โดยที่ว่าแทนที่จะพิชิตธรรมชาติก็เปลี่ยนเป็นมาอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยดี เรียกว่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติ เป็นการพัฒนาแนวความคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

แต่ก่อนนี้แนวคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันตินั้นสำหรับใช้กับมนุษย์ด้วยกัน แต่เวลานี้เขาเอามาใช้กับธรรมชาติด้วย เมื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติ ก็ต้องมองธรรมชาติอย่างไม่เป็นศัตรู ไม่มองมนุษย์แยกต่างหากออกจากธรรมชาติ แต่ให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เวลานี้ตะวันตกหันมาเน้นความคิดนี้กันมาก ตำราฝรั่งทางด้านเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มักเขียนเน้นว่าต่อไปนี้ต้องให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะอะไร เพราะฝรั่งแต่เดิม ๒ พันกว่าปีแล้ว ได้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และคิดที่จะพิชิตธรรมชาติมาตลอด

อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้ฝรั่งก็เกิดความขัดแย้งกัน คือ ทั้งที่รู้ตัวว่าการที่จะแก้ปัญหาของโลกได้ เราจะต้องเลิกแนวความคิดพิชิตธรรมชาติ เราจะต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ไม่ผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สร้างมลภาวะ ไม่ทำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมโทรม แต่กระแสการแข่งขันในระบบธุรกิจมันไม่อนุญาต เพราะการที่เราจะยิ่งใหญ่ในเวทีแข่งขันทางเศรษฐกิจ เราจะต้องใช้ทรัพยากรมาก จะต้องมีระบบอุตสาหกรรม จะต้องระบายสินค้า แต่อุตสาหกรรมหนัก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก และก่อมลภาวะมาก ก็เอาแค่พ้นตัวก่อน ปัญหาของโลกก็ผลัดไว้ก่อน จึงหาทางขยับขยายโดยตัวเองไม่ทำในประเทศของตนเอง แต่ย้ายอุตสาหกรรมหนักไปยังประเทศที่ด้อยพัฒนา ให้พวกนั้นรับเคราะห์ไป แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อผลิตออกมาและเมื่อบริโภค ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหาร่วมกันของโลกทั้งหมด

นี่เป็นตัวอย่างปัญหาของโลกปัจจุบัน วิชาการศึกษาทั่วไปจะมองแค่ที่จะตามค่านิยมของโลก ในการเอาชนะการแข่งขันในเวทีโลก ในระบบการแข่งขันของระบบธุรกิจอุตสาหกรรมจึงไม่พอ แต่จะต้องมองกว้างเลยต่อไปอีกว่า ทำอย่างไรจะก้าวไปสู่การแก้ปัญหาของโลก เพื่อสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้ของมนุษยชาติให้สำเร็จ ซึ่งเป็นปัญหาที่ตอนนี้ประเทศต่างๆ ก็ติดขัดกันทั้งนั้น

ในการที่จะทำอย่างนี้ได้สำเร็จ คนไทยเรามีความพร้อมแค่ไหน แม้แต่ในระดับที่ ๑ ที่ว่าพร้อมจะเอาชนะในเวทีการแข่งขันหรือไม่ ไม่ต้องถึงระดับโลกหรอก เพียงแค่ในภูมิภาคนี้ คนของเรามีคุณภาพพอที่จะเอาชนะไหมในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน คนที่จะเอาชนะได้จะต้องมีคุณภาพอย่างไร แล้วดูภูมิหลังของเราว่า เรามีความพร้อมแค่ไหน คนของเราขณะนี้มีคุณภาพอย่างไร

ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันแห่งโลกาภิวัตน์ เรามองเน้นไปที่ความเจริญต่างๆ โดยเฉพาะความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ที่ทำให้มีความสะดวกสบาย แต่พอมองมาที่สภาพของจิตใจ ในแง่ที่ว่าชอบสะดวกสบาย ก็ปรากฏว่าแนวโน้มของคนไทยจะเป็นไปในทางที่อ่อนแอลง เป็นคนใจเสาะเปราะบาง ชอบหวังพึ่งปัจจัยภายนอก และถ่ายโอนภาระ ทีนี้สังคมในระบบการแข่งขันนี่ ไม่ว่าในสังคมย่อยของประเทศไทย หรือกว้างออกไปจนกระทั่งถึงเวทีโลกก็ตาม ระบบชีวิตและสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก คนอ่อนแอจะอยู่ไม่ได้ จะทนไม่ไหว ยิ่งถ้าจะเอาชนะเขา ก็ยิ่งต้องมีความเข้มแข็ง จึงเกิดมีกระแสขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาในการพัฒนามนุษย์

จะปรับตัวอย่างไร ไทยจึงจะฟื้นตัวทัน

ที่พูดนี้หมายความว่า สภาพแวดล้อมทางวัตถุปัจจุบันมีความพรั่งพร้อมสะดวกสบาย ชีวิตในยุคนี้ เป็นชีวิตยุคกดปุ่ม ฝรั่งบอกว่าเดี๋ยวนี้ ใช้แต่กล้ามนิ้ว ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ สมัยก่อนเราจะทำอะไรลำบาก ต้องใช้กล้ามเนื้อมาก เวลานี้ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ ใช้แค่กล้ามนิ้ว กดปุ่มเอาก็ได้แล้ว ในสภาพเช่นนี้คนที่เห็นแก่ความสะดวกสบายจะอ่อนแอลง ไม่อยากทำอะไร อยากทำแต่ง่ายๆ พบอะไรก็ไม่อยากทำ ไม่อยากสู้ มีปัญหาอะไรก็ไม่อยากคิดแก้ไข แต่พร้อมกันนั้น ระบบชีวิตและระบบสังคมก็ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้คนจะต้องมีความเข้มแข็งขึ้น เมื่อสภาพแวดล้อมทางวัตถุทำให้คนอ่อนแอลง คนที่เป็นผลิตผลของสังคมนั้นก็จะสู้กับระบบความซับซ้อนในชีวิตและสังคมไม่ได้ พออ่อนแอ สู้ระบบในสังคมของตนเองก็ไม่ไหว ยิ่งออกไปในระบบการแข่งขันของเวทีโลกก็ยิ่งไม่ไหว จะต้องแก้ไขให้คนที่อ่อนแอนั้นเป็นคนที่เข้มแข็งให้ได้

มีสิ่งสำแดงหลายอย่างที่แสดงว่าคนไทยเรามีความอ่อนแอ เราจะต้องพร้อมที่จะพัฒนาคนของเราขึ้นมา เริ่มตั้งแต่สภาพแวดล้อมเดิมในสังคมไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ก็ทำให้คนไทยมีจิตใจโน้มไปในทางเห็นแก่ความสะดวกสบาย ต่อไปประการที่สอง ในยุคที่แล้วมาเมื่อเริ่มติดต่อกับตะวันตก (ที่จริงต้องว่าเมื่อแรกที่ฝรั่งเข้ามา) เราได้รับเทคโนโลยีสำเร็จรูปโดยไม่ต้องผลิต และเป็นเทคโนโลยีสำเร็จรูปประเภทบริโภค ซึ่งก็มาเสริมความสะดวกสบายให้แก่เรา ทำให้คนไทยสะดวกสบายยิ่งขึ้น เลยมีความโน้มเอียงที่จะเห็นแก่ความสะดวกสบาย และอ่อนแอลงไปอีก

สภาพภูมิหลังนี้ต่างจากสังคมตะวันตกที่ว่าธรรมชาติแวดล้อมบีบคั้นกว่าเรา และเทคโนโลยีก็เป็นเทคโนโลยีที่เขาผลิตจากน้ำมือหรือฝีมือของเขา เขาผลิตมันขึ้นมา และพัฒนาเทคโนโลยีมากว่าจะสำเร็จสักอย่างเป็นเวลาร้อยๆ ปี เทคโนโลยีที่กว่าจะผลิตมาสำเร็จอย่างที่เห็นในสภาพปัจจุบันนี้ ที่ได้เห็นว่าเจริญอย่างนี้ ต้องผ่านช่วงของการเพียรพยายามคิดค้นสร้างสรรค์มาเป็นร้อยๆ ปี ฝรั่งต้องผ่านทั้ง วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพราะเขาอาศัยวิทยาศาสตร์มาสร้างเทคโนโลยี และพัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาพร้อมกับการเพาะนิสัยใฝ่รู้ มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล ชอบทดลอง ชอบพิสูจน์ และต้องผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม เพื่อทำการผลิตด้วยอุตสาหะ จนเกิดมี วัฒนธรรมอุตสาหกรรม แห่งความขยันอดทนบากบั่นสู้สิ่งยาก ฝรั่งต้องพัฒนาอุตสาหกรรมมาเป็นร้อยๆ ปี กว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีอย่างนี้ได้ และเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นด้วย

จะเห็นว่าเทคโนโลยีในประเทศตะวันตก ที่พัฒนามาถึงขนาดนี้นั้น มีความหมายว่าได้ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์พัฒนามา ด้วยวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่ทำให้เขาได้นิสัยจิตใจเป็น คนใฝ่รู้และ สู้สิ่งที่ยาก มีความเข้มแข็งขยันหมั่นเพียร เป็น นักคิด และเป็น นักผลิต ซึ่งตอนนี้เพิ่งกำลังมาตกต่ำเสื่อมถอยลง

เวลานี้ฝรั่งเองก็กำลังโอดครวญว่า คนรุ่นใหม่ของเขา ซึ่งเกิดมาท่ามกลางความพรั่งพร้อม ก็เห็นแก่ความสะดวกสบาย เป็นคนหยิบโหย่ง สำรวย แต่นิสัยที่เขาได้มาเป็นร้อยปีนั้นก็ยังคงอยู่พอสมควร

การที่เราเสียเปรียบก็เพราะว่า หนึ่ง ในน้ำมีปลาในนามีข้าว สอง ได้ใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูป โดยตัวเองไม่ต้องผลิต ไม่ผ่านกระบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมมา จึงไม่ได้นิสัยใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก สาม แถมมีวัฒนธรรมน้ำใจที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอีก ไม่เหมือนวัฒนธรรมฝรั่งแบบตัวใครตัวมันที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง ถือกฎเกณฑ์กติกา ซึ่งทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวาย วัฒนธรรมน้ำใจของไทยเราที่พร้อมจะช่วยเหลือกัน เมื่อใช้โดยประมาทก็ทำให้คนจำนวนมากอ่อนแอ คอยหวังพึ่งผู้อื่น ไม่พึ่งตนเอง แล้วมาปัจจุบันนี้ สี่ เรายังหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์อะไรต่างๆ อีก ไม่อยากเผชิญความยากลำบาก ไม่อยากคิดแก้ปัญหา ก็ไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ท่านช่วย เอาเครื่องเซ่นสังเวยไปอ้อนวอนท่านเพื่อให้ท่านช่วยทำแทน ซึ่งขอเรียกว่าระบบถ่ายโอนภาระ คือโอนภาระจากตัวเองไปให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้

คนไทยชอบสะดวกสบาย ไม่ต้องพยายาม ไม่เป็นคนหมั่นเพียร ขาดความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก เป็นคนไม่มีความเข้มแข็ง ต้องระวังให้ดี นี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับสังคมไทย ถ้าจะเอาชนะในเวทีการแข่งขันของโลก เราจะต้องเป็นคนเข้มแข็ง ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก นี้เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของวิชาศึกษาทั่วไปที่จะต้องทำให้ได้

เราจะต้องมีจุดเน้น เช่นว่า สำหรับกาลเทศะของยุคนี้ สังคมไทยเป็นอย่างไร โดยเทศะก็คือสังคมไทยของเราในประชาคมโลก โดยกาละ ก็คือสภาพและสถานการณ์ปัจจุบัน ภูมิหลังของคนไทยเป็นอย่างนี้ เราจะแก้ไขเตรียมคนของเราอย่างไร เราจะให้คนของเราเป็นอย่างไร หรือเราต้องการคนอย่างไร นี่ก็ระดับหนึ่ง

ส่วนในอีกระดับหนึ่ง คือเทศะระดับโลก ความเป็นสากลของปัจจุบันยังใช้ไม่ได้ เพราะเป็นโลกาภิวัตน์ที่มีปัญหา เราจะต้องสร้างมนุษยชาติ และสร้างสรรค์อารยธรรมของโลกใหม่ ให้เป็นอารยธรรมที่ยั่งยืน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราไม่มีเวลาที่จะลงรายละเอียด แม้แต่เรื่องความใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก ก็มีปัญหาโยงมาแม้กระทั่งประชาธิปไตย เวลานี้เราจะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จได้อย่างไร ถ้าคนไทยเรายังมัวแต่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีแนวโน้มด้านจิตใจที่จะไม่พึ่งตนเอง เวลาจะทำอะไร ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาคิดแก้ปัญหา แต่เอาภาระไปโยนให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จิตที่หวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก

ผู้มีอำนาจภายนอกอย่างหนึ่งก็คือ อำนาจเหนือธรรมชาติ และอย่างที่สองคืออำนาจของมนุษย์ที่มีอิทธิพลความยิ่งใหญ่ แต่จิตใจที่หวังพึ่งอำนาจภายนอกทั้งสองอย่างนี้ จะเป็นจิตใจแบบเดียวกัน คือ เวลามีอะไรก็ไม่ต้องคิดไม่ต้องพยายามเอง แต่ให้ผู้มีอำนาจคิดให้ทำให้ แทนที่จะพึ่งตนเองและใช้ปัญญา เมื่อเป็นอย่างนี้การพัฒนาสังคมประชาธิปไตยจะสำเร็จได้อย่างไร

เรื่องที่ว่ามานี้สัมพันธ์กันหมด ถ้าเราพัฒนาคนไม่สำเร็จ ประชาธิปไตยก็ไม่สำเร็จ เวลานี้ในสังคมไทย คนไม่อยากใช้ความคิดของตนเอง ไม่อยากใช้ความเพียรพยายามของตนเอง แต่ไปหวังพึ่งอะไรต่อมิอะไรภายนอก อำนาจเร้นลับบ้าง อำนาจไม่เร้นลับบ้าง อำนาจมนุษย์บ้าง อำนาจเหนือธรรมชาติบ้าง

ในด้านผลที่ต้องการ ก็โยนไปให้อำนาจภายนอกบันดาลให้ ส่วนในด้านเหตุปัจจัย ว่าเป็นเพราะอะไรและเพราะใคร ก็ซัดทอดกัน ซัดกันไปซัดกันมา ซัดจนทรุดไปด้วยกัน เรื่องนี้มีข้อปลีกย่อยที่จะพูดกันในรายละเอียดมากมาย

ขอย้ำว่า ต้องมีแนวความคิด และมีจุดมุ่งหมายทั้ง ๒ ขั้นที่ว่า ทั้งโดยกาละและเหนือกาละ ทั้งโดยเทศะ และเหนือเทศะ ทั้งเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเพื่อความเป็นมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพท่ามกลางสภาพเฉพาะหน้า

นอกจากนั้นเราจะต้องได้ทั้งขั้นที่ ๑ สู้เขาได้ในเวทีการแข่งขันของโลกตามทันโลก ชนะเขาได้ และขั้นที่ ๒ ต้องเหนือการตามโลก เหนือกระแสโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน เหนือการแข่งขัน เพราะว่าโลกปัจจุบันนี้มิใช่เพียงยังเข้าไม่ถึงสันติสุข แต่กลายเป็นโลกในยุคที่เสี่ยงภัยพิบัติมากที่สุด และในการแก้ปัญหานั้น แม้แต่ประเทศที่พัฒนานำสูงสุดแล้วก็ยังติดกันอยู่ ยังคิดไม่ออก ยังหาทางกันอยู่ หรือแม้บางทีเห็นทางบ้างแล้ว ก็ทำไม่ได้ตามที่รู้เห็น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะตามเขาอยู่ ไม่มีทางแก้ปัญหาของโลกและของมนุษยชาติได้ เราจะต้องเหนือขึ้นไป จะต้องมีอะไรที่คิดได้ดีเหนือกว่าที่เขารู้และทำได้ในปัจจุบัน

พัฒนาทั้งให้เป็นคนไทยและให้เป็นคนที่สร้างสรรค์อารยธรรม

ในแง่จุดหมายระยะยาว การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้เป็นคนเต็มคน ผู้มีชีวิตที่สมบูรณ์ ให้เป็นบุคคลที่พัฒนาแล้ว ทั้งด้านพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ (รวมทั้งธรรมชาติ) หรือพฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมคือเพื่อนมนุษย์ทั้งด้านจิตใจ และด้านปัญญา อย่างน้อยให้ได้คุณสมบัติเหล่านี้ในฉบับง่ายที่พูดได้สั้นๆ ว่า ให้เป็นคนที่ เก่ง ดี และ มีความสุข

ขอยกเป็นข้อสรุปว่า จะต้องผลิตคน ให้ได้คุณสมบัติทั้ง ๓ อย่าง คือ หนึ่ง เก่ง สอง ดี สาม มีความสุข ไม่ใช่ว่าจะเน้นเก่งอย่างเดียว เน้นเก่งไม่พอ ต้องดีด้วย แต่ดีก็ยังไม่พอ ต้องมีความสุขด้วย

เวลานี้แม้แต่เก่งเราก็ยังไม่ได้ อย่าไปนึกว่าเราเก่งแล้ว เดิมนั้นเน้นที่เก่ง แต่ต่อมาเราบอกว่าไม่ถูก ต้องมีดีด้วย เสร็จแล้วเราก็เพิ่มจุดเน้นว่าดีด้วยเหมือนกับว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่หันไปดูที่ว่าเก่งนั้น เก่งพอที่จะเอาชนะในเวทีการแข่งขันโลกไหม ตอบได้เลยว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังเก่งไม่พอ และดีก็ต้องเข้ามาเพื่อให้ความเก่งเป็นไปในทางสร้างสรรค์ แล้วเพื่อให้ความเก่งและความดีมั่นคงยั่งยืนก็ต้องมีความสุข เพราะถ้าไม่มีความสุข ความดีไม่มีทางยั่งยืน

ถ้าเด็กสำเร็จการศึกษาไปไม่มีความสุขเป็นคุณสมบัติในตัว ก็จะเป็นนักหาความสุข ก็จะเข้าระบบฝันอเมริกัน (American dream) ฝรั่งอเมริกันพัฒนาประเทศมาเป็นร้อยๆ ปี เขามีฝันอเมริกัน ซึ่งประการหนึ่งก็คือ การแสวงหาความสุข แต่เป็นความสุขที่อยู่ข้างนอก วัฒนธรรมของเขามีแนวความคิดหลักประการเดียว คือถือว่าความสุขอยู่ที่การเสพวัตถุ นึกว่ามีวัตถุพรั่งพร้อมแล้วก็มีความสุขที่สุด อย่างที่ว่าเมื่อสักครู่นี้

ทีนี้เมื่อเป็นนักแสวงหาความสุขก็ต้องกลายเป็นคนขาดความสุข คนที่หาความสุข คือคนที่ขาดความสุข สำเร็จการศึกษาไป ไม่มีความสุขในตัวเอง แต่เป็นผู้มีความสามารถในการหาความสุข ก็โลดแล่นไปในสังคมด้วยความหิวโหยกระหายความสุข เมื่อหิวโหยกระหายความสุข หาความสุขให้กับตนเอง ก็ต้องเบียดเบียนสังคม ก่อความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างความสุขให้เป็นคุณสมบัติในใจของเขา

การศึกษาจะต้องทำหน้าที่นี้ให้ได้ คือ เมื่อเรียนอยู่ก็ต้องมีความสุขเป็นคุณสมบัติในใจ เมื่อเขามีความสุข ถ้าเขาเป็นคนเก่ง เมื่อออกไปในสังคม เขาไม่ต้องเบียดเบียนคนอื่นในการหาความสุข เขาก็สามารถระบายความสุขออกไป คนที่มีความทุกข์ก็ระบายทุกข์ คนที่มีความสุขก็ระบายความสุขให้แก่สังคม และใช้ความเก่งในการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันทั่วสังคม

เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างคนให้มีคุณสมบัติทั้ง ๓ คือ ทั้งเก่ง ดี และมีความสุข

พร้อมกันนั้นในกระบวนการนี้ก็ต้องสร้างคุณสมบัติที่เน้นเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ สำหรับกาละและเทศะที่เป็นอยู่เฉพาะหน้า คือ ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก หรือขยายให้เต็มว่า ใฝ่รู้ (วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์) ใฝ่สร้างสรรค์ (วัฒนธรรมเทคโนโลยี ในความหมายที่แท้) และ บากบั่นสู้สิ่งยาก (วัฒนธรรมอุตสาหกรรม) อย่างน้อยเพื่ออยู่ได้ดีในสภาพโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน และเอาชนะการแข่งขันให้ได้

ทั้งนี้ จะต้องระลึกตลอดเวลาว่า การศึกษาจะต้องให้คนก้าวไปไกลกว่านั้น คือมิใช่เพียงพัฒนาเขาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มผลผลิตเป็นต้นเท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาเขาในฐานะเป็นตัวคน ให้เป็นบัณฑิต ผู้มีชีวิตที่ดีงามเป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต มีจิตโปร่งใส เป็นสุข

ความรู้เท่าทันนั้น รวมทั้งรู้ข้อดีข้อเสีย ส่วนดีส่วนด้อย ของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ที่พูดถึงไปแล้วนั้นด้วย เพื่อก้าวไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงของโลก อันอยู่สูงไกลเกินกว่าที่ระบบการแข่งขันของโลกปัจจุบันจะเอื้อมถึง เพื่อจะสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยืนของมนุษยชาติให้สำเร็จได้ต่อไป

ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของระบบการพัฒนาคน เช่นว่า ทำไมสังคมไทยเราจึงสร้างคนมาได้แบบนี้ ให้มีระบบน้ำใจ ระบบวัฒนธรรมช่วยเหลือเกื้อกูล แล้วระบบนี้มีคุณมีโทษ มีข้อดีและข้อบกพร่องอย่างไร เราผิดหรือ หรือเราเพียงแต่ไม่ครบ บางทีเราคิดว่าเราผิด เรานึกว่าสังคมฝรั่งดี เพราะสังคมฝรั่งตัวใครตัวมัน ทำให้คนเข้มแข็ง ดังนี้เป็นต้น ยังมีอะไรที่ควรจะพูดอีกมาก

ในที่นี้จะเพียงตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเรามองว่าสิ่งหนึ่งดี สิ่งหนึ่งไม่ดี สิ่งหนึ่งถูก สิ่งหนึ่งผิด เราอาจจะพลาด เพราะการมองเพียงสิ่งหนึ่งดีหรือไม่ดียังไม่พอ สิ่งหนึ่งไม่ดี แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะดี ทำอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ ต้องเติมให้เต็ม นี้เป็นจุดสำคัญ โดยมากวิธีคิดของคนออกมา ๒ อย่าง เป็นสุดขั้ว คือ ผิดกับถูก พอสิ่งนี้ผิด ไม่เอาแล้ว พอถือว่าผิด อีกสิ่งหนึ่งต้องถูก คิดว่าสิ่งโน้นถูกสมบูรณ์แล้ว แต่เปล่า สิ่งนั้นถูกก็ไม่จริง สิ่งที่ผิดก็ไม่จริง ว่าโดยสมบูรณ์ไม่เต็มทั้งคู่ ฉะนั้นต้องมีวิธีคิดเพื่อที่จะทำให้เกิดองค์รวมที่สมบูรณ์ ในที่นี้หมดเวลาพูด เพราะฉะนั้นจึงขอฝากไว้เป็นแง่คิดต่อไป

เรื่องวิชาศึกษาทั่วไปเป็นเรื่องสำคัญดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ท่านที่ดำเนินการเกี่ยวกับวิชาการนี้สำคัญมาก มีความรับผิดชอบสูง เพราะอย่างที่ว่าเมื่อสักครู่นี้ว่า คนที่จะสำเร็จวิชาศึกษาทั่วไปนั้นเป็นบัณฑิต คนที่จะสอนบัณฑิตได้ต้องเป็นนักปราชญ์

ขออนุโมทนาทุกท่านที่มาประชุม ขอให้การประชุมนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นกุศล เป็นความดีงาม จงสัมฤทธิ์ผลด้วยดี เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่สังคมและมวลมนุษยชาติ ขอทุกท่านจงประสบจตุรพิธพรชัยโดยทั่วกัน

ศิลปศาสตร์ในฐานะเป็นวิชาพื้นฐาน5

ตอนแรกได้เริ่มบรรยายเกี่ยวกับถ้อยคำเพื่อให้เห็นความเป็นมาของคำว่า “ศิลปศาสตร์” แล้วต่อมาก็ได้ยุติที่คำว่าศิลปศาสตร์อย่างที่ใช้ในความหมายปัจจุบัน คือ ที่ใช้สำหรับเรียกวิชาการอย่างที่กำหนดให้เรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะที่คณะศิลปศาสตร์ คือ เป็นวิชาจำพวก Liberal Arts เป็นอันว่าเราก็หวนกลับมาหาความหมายในปัจจุบันตามแนวคิดที่รับมาจากตะวันตก ซึ่งหมายถึง การศึกษาเล่าเรียนวิชาการที่เป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะเล่าเรียนวิชาชีพหรือวิชาเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม การที่พูดว่าเป็นวิชาพื้นฐานนั้น คำว่า วิชาพื้นฐาน ก็เป็นคำที่น่าสงสัยว่าจะมีความหมายอย่างไร ที่ว่าเป็นพื้นฐานของการศึกษาวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้น เป็นพื้นฐานอย่างไร

มีหลายคนทีเดียวเข้าใจคำว่าพื้นฐานในแง่ที่เป็นวิชาเบื้องต้น ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปเรียนวิชาชั้นสูง คือ วิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ ซึ่งเหมือนกับเป็นวิชาที่สูงขึ้นไป การเข้าใจเช่นนี้ เป็นการมองอย่างง่ายเกินไป

ที่จริง คำว่า วิชาพื้นฐาน มีความหมายอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ เป็นวิชาที่เป็นพื้นฐานรองรับวิชาการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การเล่าเรียนวิชาอื่นๆ มั่นคงเป็นไปได้ถูกทิศถูกทาง โดยมีผลจริงและมีผลดีตามความมุ่งหมาย หมายความว่า ถ้าไม่มีวิชาการเหล่านี้เป็นพื้นฐานแล้ว วิชาการอื่นๆ ที่ศึกษาจะไม่มีความมั่นคง จะไม่ได้ผลดี ไม่ได้ผลจริงตามความมุ่งหมาย ตลอดจนอาจจะพูดว่า วิชาพื้นฐานนั้น เป็นวิชาการซึ่งให้ความหมายที่แท้จริงแก่การเรียนวิชาการอื่นๆ ทีเดียว

ถ้ามองในความหมายแง่ที่ ๒ นี้ การเป็นวิชาพื้นฐานนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าขาดพื้นฐานเสียแล้ว การศึกษาวิชาอื่นๆ ที่เป็นวิชาชีพ และวิชาเฉพาะ ก็เท่ากับขาดรากฐาน ง่อนแง่น คลอนแคลน เลื่อนลอย ไม่มีเครื่องรองรับ แล้วก็จะไม่สัมฤทธิผลตามความมุ่งหมายของมัน

ที่ว่าศิลปศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐาน โดยมีความหมายต่างๆ อย่างน้อย ๒ ประการนี้ ก็ต้องเน้นในความหมายที่ ๒ ซึ่งที่จริงแล้วเรียกได้ว่าเป็น ความหมายที่แท้จริงของมัน และเป็นความหมายที่ทำให้การเป็นพื้นฐานนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ความสำคัญของการเป็นวิชาพื้นฐานนี้มีอย่างไรบ้าง ขอให้มองดูในแง่ต่างๆ ดังต่อไปนี้

แง่ที่ ๑ ศิลปศาสตร์มองโดยความสัมพันธ์กับวิชาชีพ
และวิชาเฉพาะต่างๆ

 

ศิลปศาสตร์มีจุดหมายปลายทางเพื่อสร้างบัณฑิต

ก่อนอื่นขอให้ระลึกไว้ในใจว่า วิชาศิลปศาสตร์มีอะไรบ้าง ลองทบทวนกัน วิชาศิลปศาสตร์ ได้แก่ วิชาวรรณคดี ศาสนา ภาษา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ (อารยธรรม) ศิลปะ (ประณีตศิลป์) สังคมวิทยา การปกครอง (รัฐศาสตร์) เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย (นิติศาสตร์) จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น วิชาเหล่านี้มีจำนวนเกือบจะเท่ากับวิชาศิลปศาสตร์โบราณ ๑๘ ประการ

เบื้องแรกขอให้ดูความแตกต่าง โดยเปรียบเทียบระหว่างวิชาศิลปศาสตร์กับวิชาเฉพาะและวิชาชีพว่า วิชาสองหมวดนี้ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ตามที่เราให้การศึกษากันอยู่ในปัจจุบันนี้ พูดได้ว่าวิชาพื้นฐานเป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต คนจะเป็นบัณฑิตหรือไม่อยู่ที่วิชาศิลปศาสตร์ ถ้าไม่มีศิลปศาสตร์เป็นพื้นฐานแล้ว จะไม่สร้างความเป็นบัณฑิตได้

ถ้าอย่างนั้น วิชาชีพและวิชาเฉพาะอื่นๆ มีไว้สำหรับทำอะไร ในเมื่อวิชาศิลปศาสตร์เป็นวิชาสำหรับสร้างบัณฑิตแล้ว หน้าที่ของวิชาชีพและวิชาเฉพาะอื่นๆ นั้นก็คือ เป็นวิชาสำหรับสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต หมายความว่า เราจะต้องทำคนให้เป็นบัณฑิต แล้วเราก็ให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์แก่บัณฑิตสำหรับเอาไปใช้ทำงานหรือทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของวิชา หรือกิจกรรมนั้นๆ วิชาการสองพวกนี้จึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน วิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นั้นเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับบัณฑิตจะไปใช้ทำงาน

ตอนแรกนั้นเรายังไม่มีบัณฑิต เราจะต้องสร้างคนให้เป็นบัณฑิตขึ้นมาก่อน บัณฑิตนั้นหมายถึงคนมีสติปัญญา มีคุณธรรม และความดีงามอื่นๆ พร้อมอยู่ในตัว กล่าวคือ มีสติปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว มีคุณธรรม มีจริยธรรมที่ได้พัฒนาแล้ว คนที่ได้พัฒนาแล้วเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เรียกว่า เป็นบัณฑิต แม้ถึงคนที่พัฒนาจวนจะสมบูรณ์ หรืออยู่ในระหว่างพัฒนาเพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็อนุโลมเรียกว่าบัณฑิตได้ บัณฑิตนี้มีความเป็นมนุษย์ มีคุณธรรม มีสติปัญญา ที่จะไปดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ที่จะไปทำหน้าที่ของตนเองต่อชีวิตของตน ต่อสังคม และต่อโลก แปลอย่างสั้นว่า บัณฑิตคือ ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา

แต่บัณฑิตนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะไปทำงาน คือ จะต้องใช้วิชาชีพหรือวิชาเฉพาะต่างๆ ที่เรียกว่า วิชาชำนาญพิเศษ เป็นเครื่องมือ จะเห็นว่าวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นี้เป็นเครื่องมือจริงๆ มันไม่ได้ให้อะไรมากมาย ให้แต่ความถนัดจัดเจนเฉพาะด้าน เพราะเป็นอุปกรณ์หรือเป็นเครื่องมือเฉพาะ

ถ้าเราไม่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต เราให้เพียงอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เขาก็อาจใช้อุปกรณ์ไปในทางที่ผิดพลาด หรือเลวร้าย ทำการที่ก่อผลร้าย เป็นโทษแก่สังคมและแก่เพื่อนมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่สามารถสร้างคน ให้เป็นบัณฑิต เราอาจให้การศึกษาไปโดยกลายเป็นอย่างที่คนโบราณกล่าวว่า “ยื่นดาบให้แก่โจร” ซึ่งหมายความว่า วิชาการต่างๆ ที่เป็นวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้น มีอุปมาเสมือนเป็นดาบ หรือจะเป็นอุปกรณ์อื่นก็ได้ ซึ่งเมื่อให้ไปแล้วอาจจะนำไปใช้ในทางที่ดีหรือเลวก็ได้ ดังนั้นในการให้การศึกษาแก่ผู้เข้าเรียนเราจะต้องสร้าง ๒ อย่าง คือ

๑. สร้างความเป็นบัณฑิต

๒. สร้างอุปกรณ์ หรือเครื่องมือให้บัณฑิตไปใช้ทำประโยชน์

วิชาการที่จะสร้างความเป็นบัณฑิตก็คือ วิชาพื้นฐาน ได้แก่วิชา ประเภทศิลปศาสตร์นี้ ขอให้ไปวิเคราะห์ดูเอาเองว่าจริงหรือไม่

ศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐาน เป็นวิชาที่สร้างบัณฑิต โดยพัฒนาคนให้มีความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ส่วนวิชาการอื่นๆ จำพวกวิชาเฉพาะและวิชาชีพเป็นวิชาการที่สร้างเครื่องมือหรือสร้างอุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต เพื่อผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้น จะได้ใช้ความเป็นบัณฑิตของตนทำการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง หรือมีความสามารถ และมีประสิทธิภาพในการที่จะทำงานที่ตนประสงค์ให้ได้ผลดีโดยสมบูรณ์

วิชาศิลปศาสตร์จึงเป็นวิชาที่ทำคนให้เป็นคน ทำให้มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เป็นผู้มีความสามารถ และมีความพร้อมที่จะไปดำเนินชีวิตที่ดี รู้จักใช้วิชาชีพ และวิชาชำนาญเฉพาะด้าน ในทางที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

อนึ่ง วิชาศิลปศาสตร์แต่ละอย่างนั้น นอกจากเป็นวิชาพื้นฐานแล้ว ยังอาจเลือกเอามาศึกษาเป็นวิชาเฉพาะหรือเป็นวิชาชีพได้ด้วย โดยศึกษาให้ชำนาญพิเศษจำเพาะในวิชานั้นๆ ในกรณีที่เลือกแยกออกมาศึกษาเพื่อความชำนาญพิเศษ หรือเพื่อเป็นวิชาชีพอย่างนั้น ก็จัดเข้าในจำพวกวิชาที่เป็นอุปกรณ์สำหรับบัณฑิตจะนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและสร้างสรรค์ทำประโยชน์ด้วยเช่นกัน

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการพูดถึงจุดหมายปลายทางระยะยาวจนถึงจบการศึกษา ซึ่งเมื่อเรียนจบอุดมศึกษาแล้วก็เป็นบัณฑิต ดังที่กล่าวแล้วว่า เป็นบัณฑิตก็ด้วยศิลปศาสตร์ โดยวิชาชีพและวิชาเฉพาะเป็นอุปกรณ์

 

ศิลปศาสตร์มีจุดมุ่งหมายในระหว่างเพื่อสร้างนักศึกษา

อย่างไรก็ตามวิชาศิลปศาสตร์ในฐานะที่เป็นวิชาพื้นฐานนั้น มิใช่จะทำหน้าที่สร้างสรรค์บัณฑิตเมื่อจบการศึกษาตลอดกระบวนการพัฒนาบุคคลแล้วเท่านั้น แม้ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ วิชาศิลปศาสตร์ก็ทำหน้าที่อย่างสำคัญตลอดกระบวนการศึกษานั้นด้วย

ในระหว่างกระบวนการศึกษานั้น ก่อนที่จะจบเป็นบัณฑิตนี้เราเป็นอะไร? เราเป็นนักศึกษา อยู่ในกระบวนการเรียนการสอน หรือกระบวนการพัฒนา ในระหว่างนี้ วิชาการประเภทไหนสร้างความเป็นนักศึกษา? วิชาจำพวกศิลปศาสตร์นี้แหละ เป็นวิชาที่สร้างความเป็นนักศึกษา

ความเป็นนักศึกษาก็คือ ความเป็นบุคคลผู้พร้อมที่จะไปเล่าเรียนวิชาการต่างๆ และมีท่าทีที่ถูกต้องในการเล่าเรียนวิชาการเหล่านั้น เมื่อผู้เรียนมีความเป็นนักศึกษาแล้ว เขาจึงเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนวิชาการทั้งหลาย เช่น วิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลายอย่างถูกต้องและได้ผลดี การเป็นผู้พร้อมที่จะเรียน และมีท่าทีที่ถูกต้องในการเรียนนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และมีความหมายกว้างทีเดียว

ในบรรดาองค์ประกอบต่างๆ ที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นนักศึกษา คือ เป็นผู้พร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการเรียนนั้น สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ก็คือ ความมีแรงจูงใจที่ถูกต้องในการศึกษาเล่าเรียน เป็นธรรมดาว่า คนเราจะ ต้องมีแรงจูงใจก่อนที่จะศึกษาเล่าเรียน แรงจูงใจ ในการศึกษาเล่าเรียนมี ๒ ประเภท คือ

ประเภทที่ ๑ คือ ความอยากได้ผลประโยชน์ และสถานะทางสังคม โดยอาศัยการศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นทางผ่าน หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การมีอาชีพ รายได้ และผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ

ประเภทที่ ๒ คือ ความใฝ่รู้ ความรักวิชาการนั้นๆ อยากจะรู้มีความสนใจใฝ่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อยากรู้ความจริงของวิชาการนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร และอยากทำให้ผลดีเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ของวิชาการนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น คนที่จะเป็นครู เรียนครูเพื่ออะไร ถ้าเรียนด้วยแรงจูงใจ ประเภทที่ ๑ ก็คือ เรียนเพื่อจะได้มีงานทำ มีรายได้ อยากได้ยศได้ตำแหน่ง ส่วนแรงจูงใจประเภทที่ ๒ คือ รักความเป็นครู รักวิชาและรักการทำหน้าที่ของครู อยากจะฝึกอบรมสอนเด็กให้เป็นคนดีมีความรู้ อยากจะรู้วิชาการต่างๆ ที่จะไปสอน และรักที่จะให้ความรู้แก่ผู้อื่น

การที่จะศึกษาเล่าเรียนอย่างถูกต้อง จะต้องมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติ มุ่งไปยังผลโดยตรงของสิ่งที่เราจะทำ แรงจูงใจที่ถูกต้องตรงตามธรรมชาติ สำหรับการศึกษาเล่าเรียนนั้นก็คือ ความใฝ่รู้ ความรักวิชาการนั้นๆ ที่เราจะไปศึกษา

การสอนวิชาพื้นฐานนั้นมีความประสงค์อย่างหนึ่งคือ เพื่อสร้างความเป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน และมีท่าทีที่ถูกต้องต่อการศึกษาเล่าเรียน คือ ทำให้ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา รักวิชาการ นอกจากนี้จะต้องเตรียมให้เขาเป็นคนที่เรียนเป็น จึงจะได้ความรู้จริง การที่จะเรียนเป็นก็ต้องรู้จักคิดเป็นค้นคว้าเป็น คือ ต้องเป็นคนใฝ่รู้ชอบค้นคว้าและต้องรู้วิธีค้นคว้า จึงต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เขาเป็นคนที่เรียกได้ว่า เป็นผู้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียน

วิชาศิลปศาสตร์นั้นเป็นวิชาการสำหรับสร้างคนให้เป็นนักศึกษา คือ ให้เป็นผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องในการที่จะศึกษาเล่าเรียน เมื่อเขามีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องแล้ว เขาก็จะสามารถไปเล่าเรียนวิชาชีพ และวิชาเฉพาะต่างๆ อย่างได้ผลดี และเล่าเรียนได้อย่างถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อเขาจะได้ไปพัฒนาชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ตนเอง และแก่สังคม ให้เกิดประโยชน์สุขที่แท้จริง ตามความมุ่งหมายของวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้นๆ มิใช่เล่าเรียนเพียงเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียวในทางที่เห็นแก่ตัว ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในทางที่ผิดพลาด

รวมความที่เป็นสาระสำคัญในตอนนี้ว่า วิชาศิลปศาสตร์นั้นเป็นวิชาชีพที่ ถ้ามองในแง่จุดหมายระยะยาว ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นบัณฑิต หรือถ้ามองช่วงสั้นในระหว่างกระบวนการ ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างความเป็นนักศึกษา ส่วนวิชาชีพและวิชาเฉพาะต่างๆ นั้น ก็เป็นวิชาสำหรับสร้างอุปกรณ์ให้แก่บัณฑิต และเป็นสิ่งที่นักศึกษาผู้มีความพร้อมและมีท่าทีที่ถูกต้องแล้วนั้นจะมาศึกษาเล่าเรียน

พูดย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐาน

ก) มีจุดหมายในระหว่าง เพื่อสร้างนักศึกษา คือ ผู้มีความพร้อมและ มีท่าทีที่ถูกต้องในการพัฒนาตน และในการเล่าเรียนฝึกฝนวิชาชีพและวิชาเฉพาะทั้งหลาย

ข) มีจุดหมายปลายทาง เพื่อสร้างบัณฑิต คือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาที่จะนำวิชาชีพและวิชาเฉพาะนั้นๆ ไปใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม

 

องค์ประกอบ ๓ ประการของความเป็นบัณฑิต

บัณฑิตหรือมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยการศึกษาตามหลักแห่งวิชาศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานนั้น จะมีคุณสมบัติสำคัญ ๓ ประการดัง ต่อไปนี้

๑. เป็นผู้มีปัญญา รู้สัจธรรม สอดคล้องกับจุดหมายอันดับแรกของ การศึกษา กล่าวคือ การที่เราเล่าเรียนศึกษาสิ่งต่างๆ ก็เพื่อที่จะเข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ

๒. เมื่อรู้สัจธรรมด้วยปัญญาแล้ว ก็ปฏิบัติต่อชีวิตและสังคมได้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญาที่รู้สัจธรรมนั้นมาดำเนินชีวิตของตนเอง และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ให้เกิดผลเกื้อกูลไร้โทษ การดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนี้ เรียกว่าเป็นจริยธรรม พูดง่ายๆ คือ เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามสัจธรรมให้เกิดผลดี ก็เรียกว่าจริยธรรม

๓. เมื่อดำเนินชีวิตและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง คือ ทำตามหลักจริยธรรมแล้ว ก็แก้ปัญหาได้สำเร็จถึงจุดหมาย เป็นบุคคลที่สามารถแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาได้ พ้นทุกข์ พบความสุข และบรรลุอิสรภาพ

เท่าที่กล่าวมา จะเห็นว่าวิชาศิลปศาสตร์ในความหมายที่ถูกต้องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันเป็นวิชาพื้นฐานในฐานะที่รองรับวิชาการอื่นๆ ไว้ให้มีความหมายและมีผลที่แท้จริง ฉะนั้น ในการสอนวิชาศิลปศาสตร์หรือวิชาพื้นฐานนี้ จึงมีคติอย่างหนึ่งซึ่งคู่เคียงกับการสอนวิชาเฉพาะว่า “สอนวิชาชีพวิชาเฉพาะให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะสอนวิชาพื้นฐานต้องใช้นักปราชญ์”

แง่ที่ ๒ ศิลปศาสตร์ มองโดยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ
สิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี

 

องค์ประกอบ ๓ แห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์

การที่มนุษยชาติจะดำรงอยู่ด้วยดีในโลกนี้ได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ด้วยดี ปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้ว ว่าองค์ประกอบเหล่านั้นมีอยู่ ๓ อย่าง คือ

๑. ตัวมนุษย์เอง (ชีวิต)

๒. สังคม (หมู่มนุษย์ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน)

๓. ธรรมชาติแวดล้อม (ระบบนิเวศ)

การที่มนุษย์จะดำรงอยู่ด้วยดีในโลกนี้ได้นั้น องค์ประกอบทั้ง ๓ นี้ จะต้องประสานสัมพันธ์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในลักษณะที่เป็นความกลมกลืนและสมดุล ในทางตรงข้าม ถ้าองค์ประกอบทั้ง ๓ นี้ขัดแย้งกัน ไม่เกื้อกูลกันเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทำลายซึ่งกันและกัน และไม่มีความสมดุล ก็จะเกิดผลร้ายแก่ระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ แล้วก็จะเป็นผลร้ายแก่มนุษย์ทุกคน ทั้งแต่ละบุคคลจนกระทั่งถึงมนุษยชาติทั้งหมด

ปัญหาปัจจุบัน คือ เรากำลังสูญเสียสมดุลในระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบ ๓ ประการนี้ และกำลังวิตกกันว่ามนุษยชาติอาจถึงกับพินาศสูญสิ้นไป ทั้งนี้เหตุปัจจัยก็เนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์นั่นเอง

เรื่องนี้จะมาสัมพันธ์กับศิลปศาสตร์อย่างไร ขอให้พิจารณาต่อไป ก่อนอื่นจะต้องรู้ตระหนักว่า เรากำลังพูดถึงเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกมนุษย์สมัยปัจจุบัน ตามปกตินั้นองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้องค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนั้น กำลังอยู่ในภาวะที่มีปัญหาอย่างร้ายแรง ถึงขั้นที่เสี่ยงภัยต่อความอยู่รอดของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ

มนุษย์จะดำรงอยู่ด้วยดี มีชีวิตที่สมบูรณ์เป็นปกติสุขทั้งส่วนตัวและส่วนรวมของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในระยะยาว จะต้องให้องค์ประกอบทั้ง ๓ อย่าง ของการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้น ประสานกลมกลืนสมดุลกัน ได้แก่ มนุษย์ สังคม และ ธรรมชาติแวดล้อม

๑. มนุษย์ นั้นก็ยังแยกออกไปเป็นส่วนประกอบ ๒ อย่าง คือ กาย กับ ใจ

๒. สังคม นอกจากหมู่มนุษย์แล้ว ก็รวมไปถึงวัฒนธรรม และระบบการต่างๆ สำหรับจัดสรรการดำรงอยู่ของมนุษย์ด้วย

๓. ธรรมชาติ นอกจากพืชสัตว์สิ่งมีชีวิตทั้งปวงแล้ว ก็ครอบคลุมถึงสิ่งไม่มีชีวิตทั่วไป ที่ชีวิตเหล่านั้นต้องพึ่งพาอาศัยด้วย

ในส่วนของตัวมนุษย์เอง ชีวิตก็ต้องหมายถึงทั้งกายและใจรวมกัน ไม่ใช่มองเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งอย่างเดียว และกายกับใจนั้นจะต้องสัมพันธ์ประสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งมีสมดุลด้วย แล้วกายกับใจนั้นก็ไปสัมพันธ์กับสังคมและธรรมชาติแวดล้อม ในลักษณะที่ประสานเกื้อกูลและมีสมดุล เช่น มนุษย์ต้องมีสุขภาพดี ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เมื่อสุขภาพดีก็ช่วยให้จิตใจสุขสบายได้ง่าย จึงควรต้องมีสุขภาพกายที่ดีไว้ก่อน แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอและยังไม่แน่นอน จิตใจก็จะต้องมีสุขภาพดี ดีงาม มีคุณธรรมด้วย ซึ่งจะทำให้เคลื่อนไหวได้คล่อง สบายในท่ามกลางสังคม โดยมีสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น อยู่กับธรรมชาติได้ สามารถซาบซึ้งและมีความสุขกับธรรมชาติ

แต่ปัจจุบันโลกกำลังประสบปัญหามากจากความสัมพันธ์ที่ไม่ประสานเกื้อกูลและขาดความสมดุล ระหว่างองค์ประกอบทั้ง ๓ อย่างนั้น ซึ่งทำให้องค์ประกอบแต่ละอย่าง เกิดความกระทบกระเทือนขัดข้องระส่ำระสายและเสื่อมโทรม แล้วส่งผลย้อนกลับมาให้ระบบการดำรงอยู่ทั้งหมดนั้นระส่ำระสาย และมนุษย์เองนั่นแหละที่ประสบอันตรายร้ายแรง ถ้าไม่ถึงกับสูญสิ้นพินาศไป ก็เสี่ยงต่อการที่จะมีชีวิตที่ดีต่อไปได้ยาก ขอยกตัวอย่าง

 

ปัญหาที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

ในด้านปัญหาทางจิตใจ มนุษย์ในปัจจุบันมีความเครียดมาก ความเครียดกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั้งทางด้านการแพทย์ ทางด้านจิตวิทยา และทางอาชญาวิทยา ตลอดจนวิชาอื่นๆ หลายอย่าง

ในแง่ของการแพทย์นั้น ก็เห็นกันว่าความเครียดเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากมาย เช่น โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ในแง่สังคม เมื่อมนุษย์ระบายความเครียดออกมา หรือติดต่อเกี่ยวข้องกันในขณะที่อยู่ในภาวะที่มีอารมณ์เครียด ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกัน และเรื่องอาจขยายใหญ่โต จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างหมู่ชนก็ได้

อีกด้านหนึ่ง คนที่มีความเครียดในใจจำนวนมาก หาทางออกด้วยการหันไปหาสิ่งเสพติด ตั้งแต่สุราไปจนถึงโคเคน อย่างที่กำลังเป็นปัญหาหนักอยู่ในอเมริกาขณะนี้ ซึ่งส่งผลกระทบกว้างไกล เป็นปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม ตั้งแต่การสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ไปจนถึงปัญหาอาชญากรรมระหว่างประเทศ

ในทางกลับกัน สังคมใหญ่ที่มีความสับสนวุ่นวายมาก มีการแข่งขันกันมาก ก็ส่งผลกระท้อนกลับต่อจิตใจของบุคคล ทำให้มนุษย์มีความเครียดมาก เมื่อมนุษย์เครียดก็ส่งผลย้อนมาสู่สังคมอีก สังคมก็ยิ่งสับสนวุ่นวายเดือดร้อน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางคุณธรรมในใจของคน เช่น ความโลภ ความเกลียดชัง เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการเบียดเบียน การแย่งชิง การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน กลายเป็นปัญหาแก่สังคมอีกเหมือนกัน เมื่อมนุษย์ขาดคุณธรรมและไม่มีความยับยั้งชั่งใจ เกิดความอยากได้ผลประโยชน์และละโมบมาก บางทีก็ไปทำลายสภาพแวดล้อม เพื่อหาผลประโยชน์ของตนเอง เมื่อธรรมชาติแวดล้อมถูกทำลาย ก็เกิดปัญหาตีกลับมายังมนุษย์อีก ทั้งปัญหาสุขภาพทางกาย สุขภาพจิต และปัญหาสังคม

ธรรมชาติแวดล้อมในปัจจุบัน กำลังเสื่อมโทรมเป็นอย่างยิ่ง เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาสภาพแวดล้อมอาจจะมาในรูปของสารเคมีต่างๆ ที่เป็นพิษ เช่น สารเคมีในยาฆ่าแมลง ซึ่งติดหรือซึมแทรกอยู่ในพืชในผัก มนุษย์กินพืชผักนั้นก็ตาม สัตว์บางอย่างกินพืชผักนั้นหรือกินแมลงที่ถูกสารเคมีนั้นแล้วมนุษย์เอาสัตว์นั้นมากินก็ตาม มนุษย์ที่ดื่มน้ำที่มีสารเคมีนั้นละลายปนอยู่ก็ตาม สารเคมีนั้นก็กลับมาทำลายร่างกายมนุษย์ ทำให้เป็นโรคอีก สารเคมีบางอย่างก็ทำให้เป็นมะเร็ง หรือทำให้เป็นโรคอะไรอื่นบางอย่าง อย่างน้อยก็ทำให้เป็นคนอ่อนแอ หรือชาวบ้านที่ไม่รู้จักระมัดระวังตัว ใช้สารเคมีโดยเฉพาะยาฆ่าแมลงไม่ถูกต้องตามวิธีการ ตายไปก็ไม่น้อย

มองไปในบรรยากาศก็มีอากาศเสีย คาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกจาก โรงงานบ้าง รถยนต์บ้าง ลอยขึ้นไปทำให้อากาศเสีย เป็นมลภาวะ ทำให้เกิดมีฝนน้ำกรด (acid rain) ขึ้นมา ฝนน้ำกรดนี้ก็ไปทำลายป่า ทำลายน้ำในทะเลและทำลายปลาและสัตว์น้ำในทะเลเหล่านั้น แล้วส่งผลกลับมาแก่มนุษย์ทำให้เสียสุขภาพและสูญเสียแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพ อย่างน้อยก็ทำให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่รื่นรมย์ ไม่น่าอยู่อาศัย

อีกด้านหนึ่ง ชั้นโอโซน (ozone layer) ในบรรยากาศก็มีช่องโหว่กว้างขึ้นๆ ระยะนี้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่อง ozone layer กันตั้งหลายครั้ง ประชุมกันอย่างหนักเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญ ถึงขั้นที่อาจจะทำให้มนุษยชาติสูญสิ้นไปก็ได้

พร้อมกันนั้น คาร์บอนไดออกไซด์ที่ขึ้นไปสะสมอยู่มากในชั้นบรรยากาศ ก็ทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า greenhouses effect ทำให้อากาศบนผิวโลกอุ่นขึ้นมา ทำให้อุณหภูมิในโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นก็อาจจะไปละลายน้ำแข็งที่ขั้วโลก น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายลงมาน้ำทะเลก็สูงขึ้น เกิดปัญหาว่าน้ำอาจจะท่วมโลกก็ได้ นอกจากนั้น เมื่อความร้อนในบรรยากาศสูงขึ้น ก็ทำให้น้ำในทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย น้ำทะเลเป็นมวลสารขนาดใหญ่มหึมา พอมีความร้อนขึ้นมาก็ขยายตัว เมื่อน้ำในทะเลขยายตัวระดับน้ำสูงขึ้น ก็น่ากลัวว่าบ้านเมืองชายฝั่งทะเลจะถูกท่วม ต่อไปอาจจะจมอยู่ใต้ทะเลก็ได้

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันมี มากมายเหลือเกิน

รวมความว่า ปัจจุบันนี้เรากำลังประสบปัญหาเนื่องจากการขาดสมดุล ขององค์ประกอบ ๓ ประการของการดำรงอยู่ของมนุษย์ มนุษย์ที่มีปัญหาทางจิตใจ เนื่องจากขาดคุณธรรมก็ตาม เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียดก็ตาม ย่อมก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมและสภาพแวดล้อม ในเวลาเดียวกัน สังคมที่วุ่นวายมีปัญหาก็ส่งผลย้อนกลับมาหาบุคคล และส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ส่วนธรรมชาติเมื่อมีปัญหาก็ส่งผลร้ายแก่มนุษย์

พึงสังเกตว่า ปัญหาแต่ละเรื่องแต่ละด้านในขณะนี้นั้นล้วนแต่เป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ถึงขั้นที่จะทำให้มนุษยชาติสูญสิ้นได้ทั้งนั้น โรคกายที่เกิดจากปัญหาทางด้านจิตใจ เช่นจากความเครียดก็มี เกิดจากปัญหาสังคม เช่น ความประพฤติเบี่ยงเบนจากศีลธรรมก็มี รวมทั้งโรคเอดส์ซึ่งเป็นโรคร่างกายที่ร้ายแรงมาก เป็นที่หวั่นวิตกกันว่า แม้แต่โรคทางกายก็อาจจะทำให้มนุษยชาติสูญสิ้นได้

ในทางจิตใจ ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมีปัญหาทางโรคจิต โรคประสาทเพิ่มขึ้นมากมาย จนกระทั่งมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ฆ่าตัวตายเดี๋ยวนี้ เป็นคนหนุ่มคนสาวมากขึ้นด้วย ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่าเด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตายมาก เป็นที่น่าประหลาดใจ ทำให้เห็นว่าปัญหาจิตใจนี้อาจจะนำไปสู่ความพินาศสูญสิ้นของมนุษย์ก็ได้

นอกจากนั้น ในแง่ปัญหาสังคม มนุษย์ก็ขัดแย้งกันมาก และมนุษย์ก็ได้พัฒนาอาวุธสำหรับประหัตประหารกัน จนกระทั่งสามารถทำอาวุธที่มีความร้ายแรงมาก คือ อาวุธนิวเคลียร์ และคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็กลัวกันมากว่าสงครามนิวเคลียร์อาจจะเกิดขึ้น มนุษยชาติอาจจะสูญสิ้น ไม่ต้องพูดถึงปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสิ่งเสพติด ปัญหาความยากไร้ ปัญหาอบายมุขต่างๆ และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมโดยทั่วไป ซึ่งเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น แทนที่จะลดน้อยหรือเบาลง กลับเพิ่มมากและรุนแรงยิ่งขึ้น

เป็นอันว่า มนุษย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในสังคมที่เจริญอย่างสูงแล้วนี้ สามารถที่จะพินาศสูญสิ้นได้ ด้วยเหตุปัจจัยมากมายเกี่ยวกับองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมา

 

วิถีทางที่จะแก้ปัญหา

ในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ เราจะต้องพัฒนามนุษย์ คือ พัฒนาตัวคน ซึ่งก็คือ ต้องให้การศึกษาทางด้านวิชาศิลปศาสตร์ เพราะเหตุว่าการศึกษาวิชาพื้นฐานเหล่านี้เมื่อดำเนินไปอย่างถูกต้องก็คือ การทำให้มนุษย์พัฒนาสติปัญญา มีความรู้ความเข้าใจเหตุปัจจัยในธรรมชาติ รู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ธรรมชาติและสังคม เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนให้ถูกต้องในโลก

เราจะต้องอาศัยการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ ที่เรียนกันอย่างถูกต้อง มาเป็นเครื่องมือฝึกสอนให้มนุษย์รู้ เข้าใจเท่าทันในเรื่องเหล่านี้ ต้องสอนให้มนุษย์รู้จักตนเอง รู้จักธรรมชาติ และรู้จักสังคม แล้วปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เพื่อรักษาสมดุลและความสัมพันธ์ที่ประสานเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบ ๓ ประการ

การสอนศิลปศาสตร์ที่ถูกต้อง จะต้องให้เกิดผลที่กล่าวมานี้เป็นประการสำคัญ

แง่ที่ ๓ ศิลปศาสตร์ มองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา ยุคสมัย
และความเปลี่ยนแปลง

 

ความเปลี่ยนแปลงเอื้อประโยชน์แก่มนุษย์อย่างไร?

กาลเวลาเกิดจากอะไร กาลเวลาเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีกาลเวลา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภาวะนี้ตรงกับหลักสำคัญในทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า หลักอนิจจัง ซึ่งแสดงความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ จึงมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เป็นไปโดยเลื่อนลอย ที่ว่าไม่เที่ยงไม่คงที่นั้น คือเกิดดับอยู่เสมอ สืบทอดต่อเนื่องกันไป ความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อยเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็ขึ้นต่อปัญญาของมนุษย์ที่จะเข้าใจได้ อันนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก

ทำอย่างไรกฎธรรมชาติคือความเปลี่ยนแปลง หรือหลักอนิจจังจะมาสัมพันธ์กับมนุษย์ ในลักษณะที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ และในลักษณะที่มนุษย์จะทำอะไรๆ กับมันได้? คำตอบก็คือ การที่ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นไปโดยเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ มันจึงเอื้อประโยชน์แก่มนุษย์และมนุษย์จึงทำอะไรๆ กับมันได้ เพราะเหตุปัจจัยนั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยปัญญาและมนุษย์ก็สามารถที่จะมีปัญญานั้น

ดังนั้น ถ้ามนุษย์พัฒนาปัญญาขึ้นมา จนรู้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่มีความเปลี่ยนแปลง รู้เข้าใจถึงธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง และศึกษาให้รู้ถึงเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว มนุษย์ก็จะใช้ความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาสร้างสรรค์ หันเห และปฏิบัติต่อเหตุปัจจัยต่างๆ ในทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต และสังคมของตนได้ นี้เป็นจุดสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติกับปัญญาของมนุษย์

ความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นไปต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่อจะกำหนดความเปลี่ยนแปลงนั้น ก็เกิดเป็นกาลเวลา เป็นยุคสมัยขึ้น โดยเอามาเทียบกับขณะที่มนุษย์ดำรงอยู่เป็นหลัก เรื่องของมนุษย์ในขณะที่เป็นอยู่นี้ ก็เรียกว่าเป็นปัจจุบัน ถอยหลังไปก็เป็นอดีต ถ้ามองไปข้างหน้าก็เป็นอนาคต

โดยนัยนี้ ความดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติและสังคมอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นกับเงื่อนไขของกาลเวลานี้ด้วย คือ เหตุปัจจัยจะแสดงผลต้องอาศัยกาลเวลา และความเป็นเหตุเป็นผลกันนั้นก็ปรากฏออกมาในรูปของความเปลี่ยนแปลง เรื่องของมนุษย์ก็จึงต้องมาสัมพันธ์กับเรื่องของกาลเวลา และปัญญาของมนุษย์ก็จะต้องมาหยั่งรู้เกี่ยวกับเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์กับกาลเวลา ตามที่ปรากฏในรูปของความเปลี่ยนแปลงนั้น

 

มนุษย์ควรปฏิบัติอย่างไรต่อกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง?

เมื่อมนุษย์เข้าใจสิ่งเหล่านี้ โดยเข้าใจชีวิตของตนเอง เข้าใจสังคมและเข้าใจธรรมชาติแวดล้อมในแง่ของความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ภายในกรอบของกาลเวลาแล้ว มนุษย์ก็จะมองเห็นภาพรวมของสิ่งต่างๆ คือ ของโลกและชีวิตนี้อย่างกว้างขวาง และชัดเจนขึ้น นี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่จะเข้าใจโลกและชีวิตและการที่จะสัมพันธ์กับโลกและชีวิตนั้นอย่างถูกต้อง

แม้จะได้บอกแล้วว่า องค์ประกอบของการดำรงอยู่ด้วยดี มี ๓ อย่าง คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม แต่นั่นเป็นเพียงองค์ประกอบล้วนๆ ลอยๆ เหมือนอยู่นิ่งๆ เราจะยังไม่เห็นอะไรชัดเจน ถ้าไม่มององค์ประกอบทั้ง ๓ นั้น ในภาวะของความเปลี่ยนแปลงโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา พอเรามองโดยสัมพันธ์กับกาลเวลา ว่าในช่วง ๓ กาลนี้ ความสืบทอดต่อๆ มาขององค์ประกอบทั้ง ๓ นั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้เราจะเห็นภาพต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

วิชาศิลปศาสตร์นี้ขอให้ไปดูเถิด จะเป็นวิชาที่ให้เรารู้เรื่องของชีวิต สังคม และธรรมชาติ ตามเงื่อนไขของกาลเวลาทั้ง ๓ นี้ ตัวอย่าง เช่น

วิชาประวัติศาสตร์ : ให้เรารู้อารยธรรมของมนุษย์ ประวัติความเป็นมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

วิชาปรัชญา : ให้เราใช้สติปัญญา ศึกษาค้นเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ สืบมาจากอดีต จนถึงปัจจุบันและเล็งอนาคต

วิชาศาสนา : ให้เราปฏิบัติตามวิถีทางที่เชื่อว่าจะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีในโลกปัจจุบันนี้และมีความหวังเกี่ยวกับชีวิตในโลกหน้าในอนาคต

ศิลปศาสตร์เป็นวิชาที่มุ่งให้เกิดความรู้ที่จะทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขของการเวลานี้อย่างถูกต้อง ทำให้มนุษย์มีความรู้เข้าใจเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง สามารถ “หยั่งรู้ถึงอดีตแล้วก็รู้เท่าทันปัจจุบัน และรู้ทันอนาคต” อันเป็นความประสงค์ของการศึกษาศิลปศาสตร์ประการหนึ่ง เมื่อมนุษย์เข้าใจสิ่งเหล่านี้และเข้าใจโลกนี้ดีแล้ว ก็จะปรับตัวได้ดี มนุษย์จะต้องมีการปรับตัว การปรับตัวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงและกาลเวลา การที่เราจะปรับตัวได้ถูกต้อง ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเฉพาะอย่างยิ่ง รู้เข้าใจเท่าทันความเปลี่ยนแปลง คนไม่มีความรู้ในสภาพที่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่สามารถปรับตัวได้

สังคมเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมภายนอกเข้ามา มีการกระทบทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น เป็นต้น ผู้ศึกษาศิลปศาสตร์หากเข้าถึงวิชาการ ก็จะหยั่งรู้ในสิ่งเหล่านี้ จะศึกษาโดยเข้าใจความหมายและจุดมุ่งหมาย ศึกษาโดยรู้ความเป็นมาและความสืบทอดต่อเนื่อง รู้เท่าทันสภาพความเปลี่ยนแปลง รู้เหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลง รู้ข้อดีข้อเสีย เช่น รู้จักวัฒนธรรมที่เข้ามาว่า มีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร ดีชั่ว มีคุณโทษอย่างไร รู้จักคิดพิจารณา ไม่ตื่นไปตาม ก็ปรับตัวได้ดี

ส่วนคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีการพัฒนาตน ไม่รู้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย ก็จะถูกความเปลี่ยนแปลงกระทำเอา โดยตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว กลายเป็นหุ่นถูกชักถูกเชิด เป็นทาสของการเปลี่ยนแปลง แต่หากได้ศึกษาอย่างถูกต้องแล้ว จะกลับเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง คือ รู้จักถือเอาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดคุณประโยชน์ ไม่เป็นผลร้ายแก่ชีวิตและสังคม และสามารถเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง

การศึกษามีการมุ่งหมายประการหนึ่ง คือ ไม่ให้คนเป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง แต่ให้เป็นผู้สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ คือ ให้เป็นอิสระอยู่เหนือการถูกกระทบกระแทกชักพาโดยความเปลี่ยนแปลง และกลับนำความรู้เท่าทันต่อเหตุปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงนั้น มาชี้นำจัดสรรความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่เป็นผลดีแก่ตนได้

ขณะนี้สังคมของเรากำลังประสบปัญหา คือ เป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง เราถูกสิ่งที่เข้ามากระทบจากภายนอก เช่น วัฒนธรรมจากตะวันตก เป็นต้น หลั่งไหลเข้ามา แล้วเราไม่รู้เท่าทันก็ตั้งตัวไม่ติด จึงเป็นไปต่างๆ ตามที่มันจะบันดาลให้เป็น ไม่สามารถจะเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงได้

การรู้จักความเปลี่ยนแปลง หมายรวมถึง การรู้จักกาลเวลาและยุคสมัย ศิลปศาสตร์นั้นแล่นร้อยโยงกาลสมัยตลอดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โยงกาลทั้ง ๓ เข้าด้วยกัน หยั่งถึงอดีต รู้ทันปัจจุบัน รู้ทันอนาคต และด้วยความหยั่งรู้เท่าทันอย่างนี้ ก็จะมีลักษณะอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ คือ เป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์

 

จะเป็นคน “ทันสมัย” จะต้องทำอย่างไร?

คนจำนวนมากเข้าใจคำว่า “ทันสมัย” หรือ “ทันเหตุการณ์” ในความหมายที่ว่า มีอะไรเกิดขึ้นฉันก็รู้ เขามีอะไรใช้ใหม่ๆ ฉันก็ได้ใช้อย่างนั้น เขาทำอะไรแปลกใหม่ ฉันก็ได้ทำอย่างนั้น เขานิยมกันอย่างไรฉันก็ได้ทำตามนิยมอย่างนั้น มีอะไรเข้ามาใหม่จากเมืองนอก ฉันรู้ฉันมีฉันรับได้เร็วไว คนจำนวนมากเข้าใจว่าอย่างนี้คือก็ทันสมัย ตัวอย่างที่เด่นชัดก็คือ “แฟชั่น” เขามีอะไร นิยมอะไรกัน ฉันก็ได้ก็มีอย่างนั้น ได้ทำตาม ได้เป็นไปตามอย่างนั้นด้วย การที่ทันสมัยอย่างนี้เป็นการทันสมัยที่แท้จริงหรือเปล่า ขอให้เราศึกษาความหมายของคำว่าทันสมัย

ถ้าเราเติมคำว่า “เท่า” เข้าไปข้างหน้าอีกหน่อย จะช่วยให้ความหมายชัดขึ้นไปอีกนิดว่า “เท่าทันสมัย” แต่ก็ยังไม่พอ ถ้าเติม “รู้” เข้าไปด้วยจึงจะเต็มสมบูรณ์ คือกลายเป็น “รู้เท่าทันสมัย” หรือ แม้จะตัด “เท่า” ออกเหลือแค่ รู้ทันสมัยก็ยังดี “รู้ทันสมัย” นี้หมายความว่า ไม่ใช่แค่เป็นไปตามสมัยอย่างที่ว่า เขาเกิดมีอะไรขึ้นมาก็เป็นไปตามนั้นเท่านั้น การที่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็เป็นไปตามนั้นนี้ เรามักจะเข้าใจว่าทันสมัยแล้ว แต่ที่จริงมันไม่ได้เป็นไปด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจ ไม่ได้มีความรู้ทันอะไรเลย ที่ว่ารู้ทันสมัยนั้นจะต้องรู้เข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น เรื่องนี้มีเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เกิดขึ้นแล้วมีคุณและโทษอย่างไร อย่างนี้จึงจะเรียกว่า รู้ทันสมัย คนที่รู้เท่าทันสมัยจะต้องรู้อย่างนี้

ทันสมัยที่แท้จริงนั้น จะทำให้เป็นนายเหนือกาลสมัย แต่คนที่ทันสมัยในความหมายแรกจะกลายเป็นทาสของสมัย ความเป็นทาสของสมัยจะเห็นได้ในความทันสมัยอย่างที่เข้าใจกันทั่วไป คือถูกปลุกถูกปั่นให้วิ่งไปตามให้โดดโลดเต้นไปตาม

คนที่เขารู้เท่าทันสมัยพอสมควร เขาสามารถหาผลประโยชน์จากคนทันสมัยประเภทที่ ๑ ได้ เช่น คนที่รู้ว่าความนิยมของโลกนี้จะเป็นอย่างไร ต่อไปข้างหน้า คนจะนิยมกันอย่างไร แนวโน้มของสังคมทั่วไปตอนนี้กำลังเป็นอย่างไร เขาอาจไปออกแบบกำหนดแฟชั่นทำอะไร เอามาโฆษณา ล่อให้คนพวกนี้วิ่งโลดเต้นไปตามได้ คนที่ทำเช่นนี้ก็มีความรู้เท่าทันสมัยในระดับหนึ่ง แต่นำเอาความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ในทางสนองความเห็นแก่ตัว ส่วนความรู้เท่าทันสมัยที่แท้จริงนั้น จะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม คือ การที่เรารู้เท่าทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มันคืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร มีคุณและโทษอย่างไร ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว เราจะเป็นนายของกาลสมัยได้ และเราก็จะสามารถหันเหเบี่ยงเบนความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษและเสริมสร้างสิ่งที่เป็นคุณ

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่สนองค่านิยมแล้วจะถูกต้องเป็นคุณประโยชน์เสมอไป คนที่รู้เท่าทันสมัยในความหมายที่ ๒ เท่านั้น จึงจะเลือกสรรจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างมีผลดีที่แท้จริง แก่ชีวิตและสังคม ถ้าไม่มีความรู้เท่าทันสมัยในความหมายที่ ๒ แล้ว การศึกษาก็ไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้น

ถ้าการศึกษา เป็นเพียงการทำให้เป็นคนทันสมัยในความหมายที่ ๑ ก็ เท่ากับว่า การศึกษานั้นทำคนให้เป็นทาสของกาลเวลา หรือเป็นทาสของยุคสมัยและคอยตามเขาอยู่เรื่อยไปเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นความทันสมัยที่ไม่ประกอบด้วยความรู้ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

ยิ่งกว่านั้น บางคนว่า มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ มีอะไรเข้ามาใหม่จากเมืองนอก เขารู้ก่อนใคร เขาทำก่อนคนอื่น เขาเป็นคนนำสมัย แต่ที่จริงนั้น เขาตามฝรั่ง เขาตามแบบที่อื่นอยู่แท้ๆ จะเรียกว่านำสมัยได้อย่างไร

ความทันสมัยและนำสมัยที่แท้ จะต้องประกอบด้วยปัญญา เพราะ ทัน นั้นก็คือการรู้ทัน และ นำ ก็คือ เป็นต้นคิด เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง

วิชาศิลปศาสตร์ที่ถูกต้องตามความหมาย จะทำให้เราเป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์ ตลอดจนนำสมัย นำเหตุการณ์ในความหมายที่ถูกต้อง ที่ประกอบด้วยปัญญา ที่จะทำให้เกิดคุณประโยชน์ แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

รวมความว่า ความทันสมัยและนำสมัยในความหมายที่ ๑ นั้น มีลักษณะหรืออาการที่สำคัญ ๒ อย่างคือ ประการที่หนึ่ง ไม่ประกอบด้วยความรู้ ไม่ได้ศึกษาสืบค้นให้เห็นเหตุปัจจัย เหตุผลและคุณโทษของเรื่องนั้นๆ ประการที่สอง เป็นผู้คอยตาม หรือถูกชักจูงปลุกปั่นให้เป็นไปอย่างนั้นๆ อย่างที่เรียกง่ายๆ ว่าตกเป็นทาสของยุคสมัย

ส่วนความทันสมัยและนำสมัยในความหมายที่สอง มีลักษณะ ๒ อย่าง ที่ตรงกันข้าม คือ

ประการที่ ๑ ประกอบด้วยความรู้ เป็นการรู้ทันหรือรู้เท่าทัน หยั่งเห็นลงไปถึงเหตุปัจจัยของเรื่องนั้นๆ คุณและโทษของสิ่งหรือการกระทำนั้นๆ และ

ประการที่ ๒ เป็นอิสระอยู่เหนือความนิยม หรือความเป็นไปนั้น ไม่ถูกชักจูงปลุกปั่นให้วิ่งตามไป แต่ตรงข้ามกลับใช้ความรู้ในเหตุปัจจัยเป็นต้นนั้น มาจัดสรรดำเนินการนำทางการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นไปด้วยปัญญาที่จะให้บรรลุจุดหมายที่ดีงาม เป็นผลดีแก่ชีวิตและสังคม เรียกได้ว่า เป็นนายของยุคสมัยหรือเป็นนายของเหตุการณ์

ยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล ข่าวสารข้อมูลเกิดขึ้นและไหลเวียนแพร่หลายอย่างรวดเร็วมาก ปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในแง่ที่เกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลนี้ คนที่ทันสมัยเพียงแต่รู้เหตุการณ์ตามข่าวทางสื่อมวลชนได้รวดเร็วทันควัน เกิดอะไรขึ้นก็รู้ไปตามนั้น คนทันสมัยแม้จะทันข่าว แต่ไม่รู้ทัน อาจถูกยุให้คล้อยตามข่าวนั้นได้ ถ้าผู้เสนอข่าวมีความประสงค์ที่เป็นเจตนาแอบแฝง อย่างน้อยแม้จะไม่ถูกชักจูงปลุกปั่นไป ก็มีความเชื่อโดยไม่ประกอบด้วยปัญญา คือ เชื่อเรื่อยเปื่อยและอาจจะเป็นคนขยายข่าวอย่างที่เรียกว่า เป็นกระต่ายตื่นตูม

ส่วนพวกรู้เท่าทันก็จะศึกษาสอบสวนข่าว พิจารณาไตร่ตรองสืบค้นให้ถึงต้นสาย หาเหตุปัจจัยวิเคราะห์สืบสาวให้รู้ความจริงที่แท้แล้ว ก็จะทำให้เกิดประโยชน์เกิดผลดีที่แท้จริงและป้องกันผลร้ายได้ จะนำสมัย แก้ไข เหตุการณ์ได้ นี้คือการเป็นนายของข่าวสารข้อมูล นี้เป็นความหมายในด้านความสัมพันธ์กับกาลเวลาและยุคสมัย ซึ่งก็เป็นความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง ของวิชาศิลปศาสตร์ ที่จะให้เกิดประโยชน์นี้

แง่ที่ ๔ ศิลปศาสตร์ มองในแง่เทศะ

 

รู้เขา รู้เรา คืออย่างไร?

การมองในแง่เทศะ คือ พิจารณาเรื่องราวนั้นๆ โดยสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ที่ตั้ง หรือแหล่งแห่งที่ เช่น มองว่าภายในหรือภายนอก มองในแง่สังคมไทยกับสังคมต่างประเทศ หรือมองในแง่ว่าเป็นวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมอื่น

การศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ จะต้องให้เกิดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมเหล่านี้ จะต้องให้รู้จักตนเอง รู้จักสังคมของตนเอง รู้จักวัฒนธรรมของตนเอง ว่าเป็นมาสืบต่ออย่างไร อยู่ในสภาพอย่างไร และรู้จักวัฒนธรรมอื่น รู้จักสังคมอื่นว่าเขาเป็นมาอย่างไร ขณะนี้มีสภาพเป็นอย่างไร

การศึกษาศิลปศาสตร์จะต้องให้ได้ประโยชน์ ในทางที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ตนอยู่ร่วม และมีส่วนรับผิดชอบ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมตะวันตกมาก จะต้องมีความรู้เท่าทันเกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไป ตลอดจนสภาพที่เป็นอยู่ รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง ข้อดีข้อเสีย ข้อเด่นข้อด้อยของวัฒนธรรมเหล่านั้น ยิ่งในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมไทยถูกทอดทิ้ง ละเลย เพิกเฉย เราก็ยิ่งจะต้องใช้สติปัญญาศึกษาให้มาก

ในขั้นของการมองในแง่เทศะนี้ การมองในแง่ก่อนๆ จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ คือ พิจารณาองค์ประกอบทั้งสามของการดำรงอยู่ด้วยดีด้วย และพิจารณาสืบสาวเหตุปัจจัยโดยสัมพันธ์กับกาลเวลาและยุคสมัย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย เพื่อให้รู้เข้าใจเทศะ คือ ถิ่นฐาน ชุมชน สังคม ตลอดจนวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างถูกต้องชัดเจน

เราต้องรู้จักตนเอง ซึ่งหมายถึงว่าต้องรู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้จริง อะไรเป็นสิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนแก้ไข ควรทิ้ง หรือควรเสริมเพิ่มขึ้นมา

ในแง่ของวัฒนธรรมอื่น ก็ต้องรู้จักว่าที่เขาเจริญนั้นเป็นอย่างไร แยกแยะวิเคราะห์ออกดูว่า ส่วนไหนแน่ที่เป็นความเจริญ กับส่วนอื่นที่ไม่เป็นความเจริญออกไป อะไรเป็นความเสื่อม ท่ามกลางสภาพของความเจริญนั้น และสืบค้นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญ อะไรเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมนั้นๆ ของเขา

ไม่ใช่เห็นวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา เมื่อยอมรับกันหรือนิยมกันแล้วว่า อันนี้เป็นวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญแล้ว ก็ต้องว่าดีและรับเอาไปเสียหมด ซึ่งจะกลายเป็นว่าไม่ได้ใช้สติปัญญากันเลย ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อนิยมกันว่าสังคมอเมริกันปัจจุบันเป็นสังคมที่เจริญสูงพัฒนามาก ก็ต้องมองดูว่าที่ว่าเจริญนั้นเขาเจริญในส่วนไหน และส่วนนั้นเจริญมาได้อย่างไร และถ้าจะค้นหาว่าอเมริกาเจริญมาได้อย่างไร ก็ต้องมองย้อนไปในอดีต ไม่ใช่มองเดี๋ยวนี้ ถ้าใครมองว่าอเมริกาเจริญแล้ว ไปคว้าเอาสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้มาทำตามโดยไม่ได้เลือกเฟ้นให้ดี อาจจะต้องผิดหวังและกลายเป็นการสร้างโทษ ก่อผลร้ายให้แก่สังคมของตนเอง

ถ้าจะเอาตัวอย่างจากเขามาถือตาม จะต้องพิจารณากลั่นกรอง เริ่มต้นดูว่าส่วนไหนเป็นคุณส่วนไหนเป็นโทษ ที่ว่าเจริญนั้น ส่วนไหนแน่ที่เป็นความเจริญ และส่วนนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรในอดีต และส่วนไหนในปัจจุบัน จะนำอเมริกาไปสู่ความเสื่อมความพินาศในอนาคต เราแยกได้หรือเปล่า

ถ้าไม่รู้จักแยก อะไรมาจากประเทศเจริญก็รับหมดด้วยความตื่นเต้น อย่างนี้เรียกว่าไม่ใช้สติปัญญา โดยเฉพาะไม่ใช่ผู้ที่ได้ชื่อว่าได้ศึกษาศิลปศาสตร์

 

จะรู้เขาจริง ต้องรู้ถึงเหตุปัจจัย

นักศึกษาศิลปศาสตร์นั้น ไม่มองเฉพาะสิ่งปัจจุบันที่จะนำไปสู่ผลในอนาคต แต่มองด้วยว่าสิ่งที่เป็นผลในปัจจุบันมีเหตุปัจจัยอะไรมาจากอดีต

ทำไมอเมริกามีผลปรากฏที่เราเรียกว่าความเจริญ ก็ต้องไปสืบค้นดูในอดีต ซึ่งจะทำให้ต้องหยั่งลงไปถึงการศึกษาประวัติความเป็นมาของสังคมอเมริกัน ว่าทำไมอเมริกาจึงเจริญขึ้นมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ถ้ามองดูเฉพาะปัจจุบันจะปะปนพร่าไป เพราะสังคมอเมริกันปัจจุบัน กลายเป็นสังคมบริโภคไปแล้ว

คนที่จะทำสังคมของตนให้เป็นสังคมอุตสาหกรรมได้นั้น จะต้องมีนิสัยผลิต ความเป็นนักผลิตนี้ เกิดขึ้นในอเมริกามานานมากแล้ว ถ้าจะดูอเมริกาในแง่นี้ จะต้องมองถอยหลังไป ๗๐-๘๐ ปี หรือร้อยกว่าปี และถ้าจะมองให้ชัดยิ่งขึ้น ก็ต้องย้อนไปถึงบรรพบุรุษของคนอเมริกันในยุโรป เช่น ในอังกฤษ มองย้อนอดีตตลอด ๒๐๐ ปี รวมความว่าจะต้องพิจารณา ๒ ขั้น

ขั้นที่ ๑ ความเจริญแบบสังคมอุตสาหกรรมอย่างอเมริกันนั้น เราควรจะรับเอาจริงหรือไม่ มันดีแน่หรือเปล่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ขั้นที่ ๒ ถ้ามันดีเราจะเอา หรือแม้จะเสียบ้างแต่จะต้องเอาก็ต้องเลือก ให้ได้ส่วนดี

แล้วก็ต้องศึกษาสังคมของอเมริกา ตลอดเวลา ๗๐-๘๐ ปี หรือร้อยกว่าปีมาแล้ว เอารากฐานเก่ามาวิเคราะห์ว่า อะไรทำให้เขาเจริญด้วยอุตสาหกรรม ไม่ใช่เอาสภาพแบบนักบริโภคปัจจุบันมาใช้ ซึ่งที่จริงเป็นตัวสลายอุตสาหกรรม

พร้อมกันนั้น อะไรที่เป็นส่วนเสีย อะไรที่เป็นบทเรียนจากเขา ก็ต้องศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเดินซ้ำรอยความผิดพลาดของเขานั้น

สำหรับประเทศที่เขามีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง สืบทอดกันมาจากอดีตนั้น ในปัจจุบันเขาอาจจะมีสิ่งที่เป็นภาพปรากฏในด้านอื่น ที่ต่างจากวัฒนธรรมซึ่งสืบมาแต่เดิมบ้างก็ได้ แต่สิ่งที่เขาสะสมปลูกฝังมาแต่เดิมยังไม่หมดไป ซึ่งจะต้องแยกให้ดี เช่น ความเป็นนักบริโภคในปัจจุบันกับการเป็นผู้ผลิตที่สืบมาจากอดีต

ปัจจุบันนี้ สังคมอเมริกันเขาเรียกว่าเป็นสังคมที่ฟุ่มเฟือย แต่ความเป็นผู้ฟุ่มเฟือยนั้น เป็นสภาพการเสวยผลของสิ่งที่สร้างสรรค์สะสมสืบมาแต่อดีต เมื่อมองลึกลงไปเบื้องหลัง ก็จะเห็นนิสัยแห่งความเป็นนักผลิต ซึ่งสะสมกันมานานแล้ว เป็นเหตุจากอดีต รวมทั้งการสั่งสมนิสัยรักงาน ความใฝ่รู้ ความประหยัด เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ต้องสร้างมาแต่อดีตในระยะเวลายาวนานและยังคงเหลือเร้นอยู่ มิได้หายหมดไป

 

ที่ว่ารู้เขา รู้เรานั้น รู้ไปเพื่ออะไร?

การวิเคราะห์อย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการรู้จักตน และรู้จักผู้อื่นอย่างแท้จริงนั้น เป็นทั้งความหมายของวิชาศิลปศาสตร์ และเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์ ขอให้สำรวจตรวจสอบวิชาศิลปศาสตร์ดู จะเห็นว่าประกอบด้วยวิชาการที่มีเนื้อหาสาระทำนองนี้ นี่คือการมองในแง่เทศะ หากทำได้ตามนี้แล้วเราก็จะ

๑. ไม่หลงตนเอง แต่ก็ไม่ลืมตนเอง (ลืมในแง่ว่าละเลยทอดทิ้ง) คนจำนวนมาก ไม่รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง ไม่เข้าใจความเป็นมาเป็นไปและความหมายที่แท้จริง พวกหนึ่งก็สละละทิ้งเลย ส่วนอีกพวกหนึ่งก็ยึดมั่นหลงใหลตัวเองว่า ถ้าเป็นไทยละก็จะต้องดีทั้งนั้น จะเอาแต่ศรัทธา คือ เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วยึดมั่นกันไป เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง จะต้องศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นด้วยปัญญาว่าส่วนใดดีส่วนใดไม่ดี และมีเหตุปัจจัยเป็น
อย่างไร

๒. ไม่หลงใหลหลงตามผู้อื่น แต่ก็ไม่ใช่ปฏิเสธไปหมด นี่ก็เช่นเดียวกันต้องรู้จักเขาตามที่เป็นจริง ไม่ยึดมั่นยืนทื่อ แต่ก็ไม่เลียนแบบตื่นตามอย่างไร้สติปัญญา

ปัญหาของเราปัจจุบันนี้ก็คือ พวกหนึ่งยึดมั่นยืนทื่ออยู่ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็เลียนแบบเขาดุ่ยไป ทั้งสองอย่างนี้กลายเป็นปัญหาของสังคมไทย เราควรศึกษากันจริงๆ และศึกษาความเป็นจริง เมื่อได้ศึกษาเรื่องของเราแล้ว เห็นส่วนใดดีที่ตนมี ก็มีความมั่นใจในตนเอง

ปัจจุบันนี้เรากำลังพูดกันมากถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น พูดกันว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังสูญสลาย แล้วเราก็บอกกันว่า เราจะต้องฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น อันนี้ก็เป็นนิมิตดีอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา โดยใช้สติปัญญาอย่างถูกต้อง ถ้าเราเห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกต้องแท้จริง เห็นประโยชน์เห็นคุณค่า แล้วเราก็มีความมั่นใจในตัวเอง และเกิดความชัดเจนกับตนเองว่าควรจะทำอะไร อย่างไร ในเวลาเดียวกัน เราก็สามารถที่จะศึกษาสังคมอื่น และวัฒนธรรมอื่น โดยแยกแยะเลือกรับเอาส่วนที่ดีจากภายนอกมาเสริมให้กับตนเอง และปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ การรู้จักเลือกรับจากภายนอก ก็จะมาประสานกับการรู้จักสืบทอดของดีภายใน ทำให้เกิดประโยชน์ที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงแก่สังคม

แง่ที่ ๕ ศิลปศาสตร์ มองในแง่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์

 

ศิลปศาสตร์เป็นเนื้อเป็นตัวของการศึกษา

การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นี้ เป็นความหมายตามปกติธรรมดาอยู่แล้วของการศึกษาศิลปศาสตร์ เพราะว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นวิชาประเภทให้การศึกษาที่แท้จริง เรียกได้ว่า เป็นตัวเนื้อแท้ของการศึกษา หรือว่าวิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นเนื้อเป็นตัวที่แท้ของการศึกษา ส่วนวิชาการอย่างอื่น จำพวกวิชาเฉพาะและวิชาชีพต่างๆ ไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นตัวของการศึกษา แต่เป็นเรื่องของการฝึกปรือเพิ่มเสริมความชำนาญ เฉพาะด้าน เฉพาะอย่างในการดำรงชีพ ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือในการที่จะไปทำการแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์อะไรบางเรื่องบางอย่างให้แก่สังคม เป็นการพิเศษออกไป

ความหมายอย่างหนึ่งของการศึกษาก็คือ เป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ จะเห็นว่า วิชาศิลปศาสตร์นั้น เป็นวิชาจำพวกที่จะพัฒนาศักยภาพพื้นฐานของมนุษย์ เช่น ความรู้จักคิด ความสามารถสื่อสาร ความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ คือ รับรู้ได้ รับรู้เป็น และรู้จักเรียนรู้ คนที่จะพัฒนามีการศึกษาได้นั้น จะต้องเรียนรู้จนกระทั่งเกิดความรอบรู้อย่างที่ว่า รับรู้เรียนรู้แล้วก็รอบรู้ยิ่งกว่านั้น จะต้องสามารถสื่อความหมายถ่ายทอดแก่ผู้อื่นอย่างได้ผลด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ต้องอาศัยการฝึกฝนพัฒนา และจำเป็นต้องพัฒนา เพราะเป็นส่วนสำคัญของความพร้อมที่จะดำเนินชีวิต และปฏิบัติต่อสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง

พูดรวบรัดว่า ความพร้อมที่จะดำเนินชีวิต และปฏิบัติต่อสิ่งอื่นคนอื่นได้โดยทั่วไป การรู้จักความดี รู้จักความงาม การที่จะมีชีวิตอันเป็นสุข อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเนื้อหาสาระของวิชาศิลปศาสตร์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์จึงมีศูนย์รวมอยู่ที่วิชาศิลปศาสตร์

 

ศิลปศาสตร์เป็นทั้งเครื่องพัฒนาและเครื่องมือรับใช้ศักยภาพของมนุษย์

นอกจากวิชาศิลปศาสตร์จะเป็นเครื่องพัฒนาศักยภาพของมนุษย์แล้ว มันยังมีความหมายพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพของมนุษย์ด้วย คือ มันเป็นเครื่องพัฒนาศักยภาพ เสร็จแล้วก็มาเป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพ เมื่อเราพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ขึ้นมาแล้ว เราก็เอาสิ่งที่ใช้พัฒนาศักยภาพนั่นแหละมารับใช้ศักยภาพของเรา ในการที่จะสร้างสรรค์ทำให้เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมต่อไป แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเรียนศิลปศาสตร์อย่างถูกต้อง โดยเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายแล้วนำไปใช้ประโยชน์ตามคุณค่าของมัน มิฉะนั้นก็จะมีการเรียนรู้ศิลปศาสตร์แต่พอโก้ๆ ไป กลายเป็นการเรียนรู้อย่างเลื่อนลอย ไม่เกิดประโยชน์สมคุณค่าของมัน

ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง เช่น วิชาภาษา เราเรียนภาษาต่างๆ เริ่มด้วยภาษาแรกของเราคือ ภาษาไทย ซึ่งทำให้เราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ สามารถถ่ายทอดสื่อความหมายกับคนอื่นได้ แล้วเราก็พัฒนาตัวเองในความสามารถที่จะสื่อความหมายถ่ายทอดกับคนอื่นนี้ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นในการพูดและในการเขียน เป็นต้น

ต่อมาเราไปเรียนวิชาภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น เมื่อเราเรียนภาษาอื่นเราก็ขยายศักยภาพของเรา ในการที่จะสื่อสารถ่ายทอดรับรู้เรียนรู้และแสดงออกได้มากขึ้นไปอีก สมมติว่า เราไปเรียนภาษาอังกฤษ พอเราได้ภาษาอังกฤษเพิ่มเข้ามา เราก็รับรู้ได้กว้างขวางขึ้น เรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น สื่อสารถ่ายทอดได้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก

ถ้าเราเรียนภาษาอังกฤษไม่เป็น เราไม่ถึงความหมายของวิชาศิลปศาสตร์ เราก็อาจจะเรียนเพียงด้วยความรู้สึกโก้ว่า ได้รู้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาของฝรั่ง เป็นภาษาของประเทศที่เจริญแล้ว พอเรียนด้วยความรู้สึกว่า เป็นการเรียนภาษาของประเทศที่เจริญแล้ว ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการเรียนนั้น และขาดความรู้ตระหนักต่อความมุ่งหมายของการเรียนภาษา ก็จะเรียนอย่างขาดจุดหมาย เลื่อนลอย และทำให้เกิดปม คือ ปมด้อย และปมเด่น

ปมด้อย คือความรู้สึกว่าเราได้เรียนภาษาของประเทศที่เจริญกว่า มองวัฒนธรรมของเราว่าด้อย แล้วเราก็เกิดความรู้สึกที่เป็นปมด้อยในตัวเองว่า เราเป็นคนที่ด้อย แล้วไปรู้ภาษาของคนที่เจริญ มีความรู้สึกแฝงลึกอยู่ในใจ โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ว่าสังคมของฝรั่งเจริญ สังคมของเราด้อยวัฒนธรรมของเขาเจริญ วัฒนธรรมของเรานี้ด้อย

ส่วนปมเด่นก็คือ พอมาเทียบกับพวกคนไทยด้วยกันเอง เรารู้สึกว่าเราเป็นคนเด่น เพราะว่าในขณะที่ภาษาและวัฒนธรรมของเราด้อยนั้น ตัวเรานี้เป็นผู้ที่รู้ภาษาที่เด่น รู้วัฒนธรรมที่เด่นของคนที่เจริญแล้ว

ผลของการเรียนภาษาอังกฤษก็ออกมา ในแง่ความรู้สึกว่า เรานี้เด่นในหมู่พวกที่ด้อย แล้วก็ไปด้อยในพวกที่เด่น ก็กลายเป็นปมขึ้นมา เพราะไม่ว่าจะด้อยในพวกที่เด่น หรือจะเด่นในพวกที่ด้อย ก็เป็นปมทั้งนั้น และก็ย่อมเป็นปัญหา อย่างน้อยการเรียนรู้ภาษาอังกฤษก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมเท่าที่ควรจะเป็น และการเรียนภาษาอังกฤษนั้นก็จะไม่ก้าวหน้าไปได้มาก

แต่ถ้าเราตระหนักในความหมาย และความมุ่งหมายของวิชาศิลปศาสตร์ เราก็จะเรียนภาษาอังกฤษในฐานะเป็นวิชาที่พัฒนาศักยภาพ และรับใช้ศักยภาพของเรา ตอนที่ว่าขยายศักยภาพนี่ชัดแล้ว เพราะเราสามารถรับรู้ข่าวสาร เรียนรู้แล้วก็ถ่ายทอดสื่อสารได้กว้างขวางขึ้น แต่นอกจากนั้นแล้ว มันจะเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ศักยภาพของเราที่ขยายออกไปนั้น ในความหมายที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ภาษาอังกฤษนั้นเป็นเครื่องมือรับใช้เราในการที่จะก้าวออกไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่สังคมตะวันตกได้สั่งสมถ่ายทอดต่อกันมาได้อย่างมากมาย ขุมปัญญา ขุมอารยธรรมตะวันตกนั้น บัดนี้เราสามารถเข้าถึงได้แล้ว เราก็อาศัยความรู้ในภาษาอังกฤษนั้น ไปเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากขุมปัญญา และขุมอารยธรรมตะวันตกนั้นมา เราก้าวออกไปศึกษาวิเคราะห์วิจัยเขาได้ไม่ใช่เพียงแต่ตื่นเต้นที่ได้รู้ภาษาอังกฤษ วิชาภาษาอังกฤษมีความหมายที่มาเปิดช่องทางให้เราเข้าใจถึงสังคมของเขา วัฒนธรรมของเขา วิทยาการของเขา เราก็ใช้เครื่องมือนี้ในการจะไปเรียนรู้ไปสืบค้น ไปดึง ไปเอาสิ่งที่เขาสะสมนั้นมา เพื่อนำเอามาใช้ประกอบในการที่จะสร้างสรรค์สังคมของเราได้

ประการที่ ๒ เรามีดีอะไร เรามีสิ่งที่ดีในวัฒนธรรมของเราซึ่งเป็นคุณค่า มีภูมิปัญญาที่เป็นของไทยสะสมไว้ซึ่งวัฒนธรรมอื่นไม่มี เรารู้แล้วเราก็มีความมั่นใจ พอเราได้ภาษาอังกฤษมา เราก็มีเครื่องมือรับใช้ที่จะถ่ายทอดสิ่งดีที่เรามีอยู่นี้แก่คนอื่น นำไปบอกแก่คนอื่น เผยแพร่สิ่งดีในภูมิธรรมภูมิปัญญาของเราให้เขาได้รับรู้กว้างขวางออกไปได้

อันนี้ เป็นการเอาภาษามาเป็นเครื่องมือรับใช้ศักยภาพของเรา ซึ่งขอพูดไว้เป็นตัวอย่าง การเรียนภาษาอังกฤษที่มีความหมายถูกต้องควรจะเป็นอย่างนี้

แง่ที่ ๖ ศิลปศาสตร์มองในแง่การพัฒนาปัญญาที่เป็นแกน
ของการพัฒนาศักยภาพและการเข้าถึงอิสรภาพ

 

ปัญญาในฐานะแกนกลางของการพัฒนาศักยภาพ

ในศักยภาพของมนุษย์นั้น สิ่งที่เป็นแกนกลางที่เราต้องการแท้จริงคืออะไร แกนกลางแห่งศักยภาพของมนุษย์ที่เราต้องการแท้จริงคือ ปัญญา ปัญญาเป็นองค์ธรรมที่ทำให้เรารู้ความจริงของธรรมชาติ ทำให้เราเข้าถึงสัจธรรม

เมื่อเราเข้าถึงสัจธรรม รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายแล้ว เราก็จะได้เอาความรู้ในความจริงนั้นมาใช้ประโยชน์ เช่น เมื่อเรารู้เหตุปัจจัย รู้องค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ถูกต้องแล้ว เรานำความรู้นั้นมาใช้ เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง รวมทั้งปฏิบัติต่อชีวิตถูกต้องด้วย เราก็แก้ปัญหาได้ถูกต้อง คือ แก้ปัญหาสำเร็จ และทำอะไรๆ ได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นแกนของการพัฒนาศักยภาพ

เราพัฒนาคุณสมบัติอื่นๆ ขึ้นมามากมาย ก็เป็นตัวประกอบเป็นบริวาร แวดล้อมปัญญานี้ ปัญญาเป็นตัวแท้ที่ต้องการ เป็นแก่นเป็นแกนแท้จริงอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ที่เราศึกษาศิลปศาสตร์นั้น ก็เพื่อให้รู้เรื่องเหตุปัจจัยภายในเงื่อนไขของกาลเวลา รู้ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นมาซึ่งสืบต่อจากอดีตถึงปัจจุบัน และส่งทอดไปยังอนาคต โดยรู้ในแง่เทศะ ทั้งตัวเองและผู้อื่น สังคมนี้และสังคมอื่น แล้วจึงจะทำให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง เป็นความสำเร็จผลของการศึกษาศิลปศาสตร์ จะเห็นว่าตัวแกนของเรื่องที่พูดมาทั้งหมดนั้น ก็คือ การรู้ และที่ว่ารู้นั้นก็คือ ปัญญา

 

คิดเป็นและคิดชัดเจน เป็นสาระของการพัฒนาปัญญา

ทีนี้ การที่จะเข้าถึงตัวปัญญาที่แท้จริงได้นั้น ก็จะต้องมีปัจจัยที่เราย้ำเน้นกันมากในปัจจุบัน คือ การคิดเป็น เพราะฉะนั้น ในตอนนี้เมื่อมาถึงตัวปัญญาที่แท้นี้ แล้วเราจะต้องมาเน้นในเรื่องคุณลักษณะสำคัญที่ต้องการของปัญญา คือ การคิดเป็น

นอกจากคิดเป็นแล้วจะต้องเน้นเพิ่มขึ้นอีกว่า การคิดได้ชัดเจนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะถึงแม้จะบอกว่าคิดเป็น แต่ถ้าคิดไม่ชัดเจน การคิดเป็นนั้นก็ไม่สมบูรณ์และไม่เกิดประโยชน์เต็มที่

การคิดชัดเจนเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมปัจจุบัน สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูล มีข่าวสารข้อมูลมาก มีทั้งข่าวสารข้อมูล ที่เกะกะรกรุงรัง เป็นขยะข้อมูล และข่าวสารข้อมูลซึ่งเป็นตัวเนื้อแท้ที่ต้องการ คนที่ไม่รู้จักเลือก ไม่รู้จักใช้ปัญญา ไม่รู้จักพิจารณา คือ ไม่รู้จักสืบสวนค้นคว้า ไม่รู้จักเลือกสรร ตัวเองตกอยู่ท่ามกลางกองข้อมูล ก็เก็บเอาขยะข้อมูลมาใช้แล้วก็เกิดความผิดพลาด ไม่สำเร็จผลที่ต้องการ เพราะฉะนั้น เริ่มต้นจะต้องมีความสามารถในการที่จะเลือกรับข้อมูล เมื่อเลือกเฟ้นข้อมูลก็ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและได้ความรู้จริง เมื่อมีความรู้จริงก็สามารถที่จะคิดให้ชัดเจน

การคิดชัดเจนนี้ก็มีเป็นขั้นเป็นตอน ตอนแรกคิดชัดเจนเป็นเรื่องๆ และคิดชัดเจนในแต่ละเรื่อง ปรากฏการณ์ทั้งหลายโดยทั่วไป ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว ปรากฏการณ์หนึ่งๆ เหตุการณ์หนึ่งๆ สถานการณ์หนึ่งๆ จะประกอบด้วยกรณีหรือเหตุการณ์ย่อยหลายอย่างหรือหลายเรื่องมาประมวลกันขึ้น เมื่อชัดเจนในเรื่องย่อยแต่ละเรื่องแล้ว จากนั้นก็จะต้องมีภาพรวมที่ชัดเจนอีกชั้นหนึ่ง

การที่จะได้ภาพรวมที่ชัดเจน ก็เกิดจากการคิด เห็น เข้าใจ ชัดเจนในเรื่องที่เป็นส่วนย่อยแต่ละส่วน ความชัดเจนในแต่ละส่วนก็ต้องอาศัยการรู้จักคิดอย่างมีระเบียบวิธี โดยเฉพาะการวิเคราะห์องค์ประกอบ และการสืบสาวเหตุปัจจัย เมื่อความรู้ในแต่ละส่วนแต่ละอันชัดเจนแล้ว ก็มาโยงเข้าหากัน เมื่อโยงเข้าจากส่วนแต่ละส่วนที่ชัดเจนก็ได้ภาพรวมที่ชัดเจนขึ้น

คนที่พลาดตั้งแต่ขั้นข้อมูล คือ เลือกข้อมูลไม่เป็นแล้ว ไม่รู้จักค้นคว้าสืบสวนข้อมูล ก็ไม่ได้ความรู้จริง แล้วก็คิดไม่ชัดเจนในเรื่องนั้นๆ เมื่อคิดไม่ชัดเจนในแต่ละเรื่องแล้วก็โยงเข้ามาในสภาพที่พร่าและสับสน ก็ได้ภาพที่ไม่ถูกต้องไม่ชัดเจน ก็แก้ปัญหาไม่ได้

เพราะฉะนั้น จะต้องมีการฝึกฝนในเรื่องความคิด ในการใช้ปัญญา และในการพัฒนาปัญญาให้มาก อันนี้คือจุดที่เป็นหัวใจ ซึ่งในที่สุดแล้วการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์จะมาเน้นที่จุดนี้ คือ ที่การพัฒนาปัญญาของมนุษย์ การที่จะให้เกิดความรู้จริง การที่จะคิดได้ชัดเจน แล้วผลที่สุดก็เห็นรอบด้าน

หมายความว่า เมื่อศึกษาเรื่องราว หรือปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นไม่ใช่เห็นในแง่มุมเดียว แต่เห็นรอบด้าน แต่ไม่ใช่เห็นรอบด้านชนิดพร่าและสับสน จะต้องเป็นการเห็นรอบด้าน ที่เกิดจากความชัดเจนในแต่ละเรื่องแต่ละด้าน แล้วมาโยงกันเป็นภาพรวมที่สมบูรณ์ ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

 

การพัฒนาปัญญามีจุดหมายเพื่ออิสรภาพ

ปัญหาพื้นฐานของชีวิตและของมนุษย์ทั้งหมด ได้แก่ ความติดขัดคับข้องบีบคั้น ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ที่คำเดิมใช้ว่า “ทุกข์”

ขยายความว่า มนุษย์จะต้องดำเนินชีวิตเคลื่อนไหวเป็นไปเพื่อสืบต่อชีวิตและสังคมของตน ก็จึงต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์และปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ชีวิตของตนเองไปทีเดียว เมื่อไม่รู้หรือยังไม่รู้จักว่า สิ่งนั้นๆ คืออะไร เป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ไม่ถูกต้อง เมื่อไม่รู้ที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็ไม่ลุล่วงผ่านพ้นปลอดโปร่งไป แต่กลายเป็นว่า เกิดความติดขัดคับข้องบีบคั้น เป็นปัญหาขึ้น หรือ เรียกว่าแก้ปัญหาไม่ได้ รวมพูดสั้นๆ ว่า เพราะไม่รู้ความจริงของโลกและชีวิต จึงทำให้เกิดความทุกข์

ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจสิ่งทั้งหลาย จนเข้าถึงความจริง เมื่อรู้จักและเข้าใจสิ่งทั้งหลาย คือรู้ความจริงของชีวิตและโลกนี้แล้ว ก็ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง ก็ไม่เกิดความติดขัดบีบคั้น แก้ปัญหาได้ หรือไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้น ก็เกิดความลุล่วงทะลุปรุโปร่งปลอดพ้นไป เป็นอิสระ ซึ่งจะเรียกว่าอิสรภาพ หรือภาวะไร้ทุกข์ก็ได้ เมื่อถึงภาวะนี้ มนุษย์จึงจะมีความสุขที่แท้จริง จึงเห็นได้ว่า อิสรภาพ การดับปัญหาได้ หรือ ภาวะลุล่วงปลอดพ้นปัญหา หรือภาวะไร้ทุกข์ เป็นจุดหมายของชีวิต และเป็นจุดหมายของมนุษย์ทั้งหมด และก็จึงเป็นจุดหมายของการพัฒนาปัญญาด้วย การศึกษาศิลปศาสตร์ในความหมายที่เป็นแก่นที่สุด จึงหมายถึงการพัฒนาปัญญา เพื่อให้เข้าถึงอิสรภาพนี้ และวิชาต่างๆ ในศิลปศาสตร์ ก็เป็นองค์ประกอบด้านต่างๆ ของกระบวนการพัฒนาปัญญานี้ แต่จะต้องปฏิบัติต่อวิชาศิลปศาสตร์อย่างถูกต้องด้วย การพัฒนาปัญญาจึงจะเกิดขึ้น และจึงจะได้ความรู้ตามเป็นจริง ที่จะนำไปสู่อิสรภาพได้

 

ศิลปศาสตร์เพื่อการพัฒนาปัญญาที่ได้ผล

เพราะฉะนั้น ความสามารถในการแสวงหาความรู้โดยเลือกรับข้อมูลให้ได้ความรู้จริงนี้ เป็นความสำคัญประการที่ ๑ ความสามารถในการคิดให้ชัดเจนในแต่ละเรื่องเป็นความสำคัญประการที่ ๒ และสุดท้ายความสามารถในการโยงความรู้และความคิดแต่ละด้านเข้ามาหากันให้เกิดภาพรวมที่ชัดเจนเป็นความสำคัญประการที่ ๓ ที่จะต้องเน้นไว้นี้เป็นเรื่องของการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพ ในส่วนที่เป็นแก่นเป็นแกนคือ การพัฒนาปัญญา

เรื่องที่ได้พูดมา ๖ แง่ ๖ ด้านด้วยกัน มาถึงแง่สุดท้าย ก็เป็นแง่ที่เป็นแก่นเป็นจุดหมายสูงสุดของการศึกษาศิลปศาสตร์

ปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาศักยภาพนั้น ตัวแก่นตัวแกนอยู่ที่ปัญญา ยิ่งมาอยู่ในยุคข่าวสารข้อมูลด้วยแล้ว ปัญญาก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะปัญญาเป็นตัวทำงานต่อข่าวสารข้อมูล ตั้งแต่รับเข้ามา จนกระทั่งเอาออกไปใช้ อย่างถูกต้องสำเร็จผล

ในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ข่าวสารข้อมูลได้เพิ่มขึ้นมามากมายอย่างท่วมท้น และแพร่หลายได้อย่างรวดเร็วยิ่งนัก ถ้าคนไม่รู้จักปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลอย่างถูกต้อง ก็จะถูกข้อมูลนั้นท่วมทับครอบงำเอา ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ได้ แล้วก็จะกลายสภาพเป็นอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ เป็นผู้ถูกกระทำโดยข่าวสารข้อมูล เช่นเดียวกับที่เป็นผู้ถูกกระทำโดยความเปลี่ยนแปลง

ในทางที่ถูก เราจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการศึกษา ให้ตัวเรากลายมาเป็นผู้กระทำต่อข่าวสารข้อมูล รวมทั้งเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง ให้ถึงขั้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้น ในขณะที่สังคม กำลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลและก็ปรากฏว่า มีความไม่พร้อมเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลดังกล่าว โดยมีปัญหาต่างๆ มากมาย เนื่องจากการปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อข่าวสารข้อมูลนั้น ถ้าการศึกษาศิลปศาสตร์จะเพียงแค่มาช่วยให้คนยุคปัจจุบันมีความสามารถที่จะปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลทั้งหลายอย่างถูกต้อง ทั้งในการผลิต นำเสนอ หรือเผยแพร่ และในการรับ บริโภค หรือใช้ประโยชน์ โดยให้รู้จักเลือกคัด ประมวล จัดสรร รู้จักวิเคราะห์สืบสาว สามารถคิดได้ชัดเจน และมองเห็นรอบด้าน ด้วยอาศัยแรงจูงใจใฝ่รู้แจ้งจริง ใฝ่สร้างสรรค์ และด้วยการใช้ปัญญา ที่มุ่งจะเข้าถึงความจริงแท้โดยซื่อตรง และที่จะใช้ความรู้ในความจริงนั้นสร้างประโยชน์สุข ด้วยความปรารถนาดีต่อชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง ถ้าทำได้แม้เพียงเท่านี้ ก็นับว่าการศึกษาศิลปศาสตร์ได้ทำหน้าที่ของมันแล้วอย่างสมคุณค่า และได้ทำประโยชน์แก่สังคมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้แล้วอย่างคุ้มค่า

วิชาศิลปศาสตร์ ดังเช่น ปรัชญา เมื่อเรียนและสอนอย่างถูกต้อง จะเป็นเครื่องพัฒนาปัญญา ด้วยการฝึกให้รู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์สืบสาวเหตุปัจจัย เป็นต้น ซึ่งเป็นการได้ผลตามความมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์นั้น แต่บางทีเราก็เผลอลืมการปฏิบัติเพื่อความมุ่งหมายนี้ไปเสีย เช่น เมื่อเรียนปรัชญา ก็มักจะมัวมุ่งแต่มองดูเขาถกเถียงกัน หรือก้าวพรวดเข้าร่วมการถกเถียง ด้วยท่าทีดังว่าตนได้เข้าร่วมกับฝ่ายโน้นหรือฝ่ายนี้ แทนที่จะหยิบยกเอาประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง และความคิดของผู้ถูกถกเถียงมาวิเคราะห์สืบสาวอย่างทั่วถึงตลอดสายและรอบด้าน ให้ได้ทั้งความเข้าใจชัดเจนในประเด็น การเข้าถึงความคิดของผู้ถกเถียงทุกฝ่าย พร้อมทั้งมีข้อเสนอทางความคิดที่แตกต่อออกไปใหม่ของตนเอง ซึ่งทำให้มีการพัฒนาปัญญาของตนเอง และทำให้เกิดพัฒนาการทางปัญญาของสังคม ไปพร้อมกับการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์

การศึกษาศิลปศาสตร์ จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาปัญญาในความหมายที่กล่าวมานี้ขึ้นให้ได้ จึงจะเป็นการเรียนการสอนที่ถูกต้อง และจึงจะบรรลุความมุ่งหมายของการศึกษาศิลปศาสตร์ แล้วเมื่อนั้น ความเป็นผู้กระทำต่อข่าวสารข้อมูล ไม่ใช่ถูกกระทำโดยข่าวสารข้อมูล ความเป็นผู้กระทำต่อความเปลี่ยนแปลง มิใช่ถูกกระทำโดยความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลง จึงจะสำเร็จผลเป็นความจริงขึ้นได้

1ปาฐกถาพิเศษ ในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “วิชาศึกษาทั่วไปของหลักสูตรการศึกษา ระดับปริญญาตรี” จัดโดยทบวงมหาวิทยาลัย ๑๔ กันยายน ๒๕๓๘
2Lynne V.Cheny, Telling the Truth (New York: Simon & Schuster, 1995) p.115.
3ตัวอย่างหนังสือที่ช่วยให้เห็นสภาพปัจจุบันของวงวิชาการอุดมศึกษาของอเมริกา
Bennett, William J. The De-valuing of America. New York : Summit Books, 1992.
Brockman, John. The Third Culture. New York : Simon & Schuster, 1995.
Gingrich, Newt. To Renew America. New York : Harper Collins Publishers, 1995.
Roche, George. The Fall of the Ivory Tower. Washington, D.C.: Regnery Publishing, Inc., 1994.
4ตีพิมพ์ใน The American Scholar, Volume 53, Number 3, Summer, 1984.
5คำบรรยายเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ ครบรอบ ๒๗ ปี วันอังคารที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๒ ณ ห้องประชุมชั้น ๔ ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ หรือวิชาพื้นฐานที่กล่าวไว้ในหนังสือส่วนนี้หมายถึงวิชาศึกษาทั่วไป
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.