การที่จะสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประเทศชาติให้เจริญมั่นคงและดีงาม มีสันติสุขได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทรัพยากรวัตถุที่เพียงพอ ความพร้อมเพรียงสามัคคีของคน และความฉลาดในวิธีจัดการดำเนินการ เป็นต้น แต่บรรดาปัจจัยทั้งหมดนั้น ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบหลักมี ๒ อย่าง คือ
๑. เจตนาที่ดี คือ ความปรารถนาดีต่อสังคมประเทศชาติโดยบริสุทธิ์ใจ มีเจตจำนงมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมาย คือประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่หลอกลวง ไม่มีเจตนาเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง
๒. ปัญญาที่ถึงและทัน คือ ความรู้เข้าใจปัญหา มองเห็นทั่วตลอด ทันต่อสถานการณ์ หยั่งเห็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก รวมทั้งสิ่งที่นิยมเรียกว่า วิสัยทัศน์
อย่างไรก็ตาม ในด้านปัญญา คนทั่วไป แม้แต่ที่ถือกันว่าฉลาดหลักแหลม ก็มักจะรู้และคิดกันภายในกรอบของสถานการณ์ และกระแสของยุคสมัย โดยมุ่งเพื่อจะแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องของกาลเทศะนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย คือในยุคปัจจุบัน มีการแข่งขันเป็นโลกาภิวัตน์ เจตจำนงและปรีชาสามารถทุกอย่างก็จะถูกระดมมาใช้ เพื่อหาทางให้ตนและสังคมประเทศชาติของตนมีชัยชนะในการแข่งขันกับสังคมอื่นประเทศอื่น โดยเฉพาะด้านที่เด่นของยุคปัจจุบัน ก็คือชัยชนะเชิงธุรกิจเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
แม้แต่คำว่า “วิสัยทัศน์” ที่นิยมกันนักหนาเวลานี้ โดยทั่วไปก็มองความหมายกันเพียงในแง่ของการมีสายตายาวไกล มองเห็นการณ์ข้างหน้า หยั่งหรือคาดหมายอนาคตได้แม่นยำ แต่ทั้งหมดนั้นก็มุ่งเพื่อสนองแนวคิดความมุ่งหมายที่อยู่ในกรอบแห่งสถานการณ์ และกระแสของยุคสมัย คือการที่จะประสบความสำเร็จหรือมีชัยในการแข่งขันอย่างที่พูดข้างต้น
การแข่งขันนั้น มองที่สถานการณ์เฉพาะหน้า ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ เพราะสภาพแวดล้อมบีบรัด จึงจะต้องเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกใครครอบงำ แต่ต้องมองกว้างออกไปอีกชั้นหนึ่ง ถึงความจริงที่ครอบคลุมอยู่เบื้องหลังด้วยว่า เมื่อมนุษย์แข่งขันเอาชนะกันอยู่นั้น ต่างก็มุ่งแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และอำนาจการเมือง เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์และครองความยิ่งใหญ่ แต่ผลรวมก็เหมือนกับว่ามนุษย์สมคบกันทำลายชีวิตสังคมและธรรมชาติให้เสื่อมโทรม จนอาจถึงพินาศ ดังที่ประจักษ์กันอยู่แล้วว่าขณะนี้ ปัญหาชีวิต ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลก เพิ่มขยายร้ายแรงขึ้นเพียงใด
มนุษย์จะต้องมองทะลุสถานการณ์เฉพาะหน้า และกรอบความคิดแห่งการแข่งขันของโลกาภิวัตน์นี้ออกไป จึงจะเห็นความจริงแท้ของโลกและชีวิต กับทั้งจุดหมายอันยั่งยืนถาวรที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยต้องการ คือ ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่น่าอยู่อาศัย ปัญญาที่มนุษย์จะต้องพัฒนาขึ้นมาใช้ในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมนั้น จะต้องก้าวมาถึงขั้นนี้ มิใช่แค่วิสัยทัศน์ที่เพียงสนองจุดหมายแห่งความสำเร็จ ในกรอบความคิดของการเอาชนะในระบบแข่งขัน
ในยุคยาวนานที่ผ่านมา มนุษย์ได้สร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมา ด้วยความเพียรพยายามที่มุ่งหมายจะเอาชนะธรรมชาติ แต่ในที่สุด เมื่อประมาณ ๓๐ ปีมานี้เอง มนุษย์ชาวตะวันตกก็ได้เกิดความสำนึกผิดว่า แนวคิดความมุ่งหมายนี้ เป็นเหตุให้มนุษย์ข่มเหงทำลายธรรมชาติ ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับมาให้มนุษย์ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นๆ จนคุกคามต่อความอยู่รอดของโลกมนุษย์เอง มนุษย์ตะวันตกนั้นจึงสอนและเตือนกันให้เลิกคิดแยกตัวจากธรรมชาติ และเลิกคิดเอาชนะมัน แต่ให้หันมามองตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และคิดที่จะเกื้อกูลและอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ
ทั้งที่เกิดความสำนึกผิดอย่างนี้ และร่ำร้องกันว่าจะต้องเลิกคิดเอาชนะธรรมชาติ แต่การแข่งขันจะเอาชนะระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ได้กลายเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางตนเองให้ไม่สามารถอยู่กับธรรมชาติได้โดยสันติ และต้องรุกรานข่มเหงธรรมชาติต่อไป เพื่อให้มีผลประโยชน์ที่จะรักษาอำนาจ และสถานะแห่งความยิ่งใหญ่ของตนไว้
มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาที่รู้ตระหนักถึงจุดหมายที่แท้จริงของอารยธรรม คือ ความเจริญงอกงามของชีวิต สังคม และธรรมชาติ ในการที่จะดำรงอยู่อย่างประสานเกื้อกูลกัน และดีงามยิ่งขึ้น เบียดเบียนตนและเบียดเบียนกันน้อยลง และจะต้องจัดสรรพลังความเพียรพยายามส่วนสำคัญให้แก่การกระทำเพื่อจุดหมายนี้
แต่ในสถานการณ์ต่อหน้า ที่ถูกแวดล้อมและบีบรัดด้วยระบบแข่งขันนี้ มนุษย์ผู้ตั้งใจจรรโลงชีวิต สังคม และธรรมชาติ จะทำการที่มุ่งหมายได้ ต้องมีอิสรภาพ และมีกำลังเข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกครอบงำหรือกำจัดเสียก่อน ดังนั้น มนุษย์ผู้มีเจตนาที่ชอบธรรม และมีปัญญาที่ถึงธรรม เมื่อจะนำอารยธรรมของมนุษย์ให้เดินไปในทางที่ถูกต้อง จึงมีภารกิจ ๒ ชั้น คือ
ชั้นแรก จะต้องยืนหยัดอยู่ได้อย่างดี ไม่พ่ายแพ้ ไม่ถูกครอบงำ และไม่จมลงใต้กระแสโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันนั้น แต่เป็นอิสระที่จะใช้กำลังจัดการกับกระแสนั้นได้ และ
ชั้นที่สอง พยายามผันเบนนำกระแสอารยธรรมไปในทิศทางสู่จุดหมายที่ถูกต้อง
ภารกิจชั้นแรก คือการที่จะมีชัย เพื่อยืนหยัดอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขัน ไม่ถูกครอบงำ และมีอิสรภาพที่จะทำการอะไรตามเจตจำนงของตนได้นั้น ปัญญาด้านหนึ่งที่สำคัญ ก็คือที่พูดกันด้วยภาษาชาวบ้านง่ายๆ ว่า “รู้เขา รู้เรา”
ในโลกแห่งการแข่งขัน ที่มีประเทศชาติมากมายอยู่บนเวทีนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่จะต้อง “รู้เขา” ให้ชัดเป็นพิเศษ ทั้งในแง่ที่เป็นผู้นำ มีกำลังใหญ่ที่สุดในการแข่งขัน ในแง่ที่เป็นต้นแหล่งแห่งกระแสการแข่งขัน และในแง่เป็นแบบอย่างที่สังคมไทยชื่นชมนิยมตาม การรู้เขาจึงควรเริ่มด้วยอเมริกาเป็นอันดับแรก
ความ “รู้เขา” ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งขาดไม่ได้ คือความรู้เข้าใจวัฒนธรรม พื้นเพ ภูมิหลัง แนวคิด สภาพจิตใจ ลักษณะนิสัยของคน เป็นต้น ที่เป็นเหตุปัจจัยอยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จของสังคมนั้นๆ รวมทั้งการที่จะนำมาเปรียบเทียบกับความ “รู้เรา”
ในวัฒนธรรมที่ครอบคลุมวิถีชีวิตอเมริกันนั้น มีคำพูด ๒ คำที่สำคัญเด่นพิเศษ คือ freedom (เสรีภาพ) และ opportunity (โอกาส)
ทวีปยุโรปในอดีตเป็นดินแดนที่มากไปด้วยการบีบคั้นกำจัดกัน หรือการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนา (religious persecution) ซึ่งคู่มากับประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนา ตั้งแต่ยุคโรมัน การบีบคั้นกำจัดทางศาสนานี้ หมายถึงการบีบคั้นกำจัดทางการเมือง (political persecution) ด้วย เพราะศาสนาในยุโรปยุคนั้นมีอำนาจครอบงำการเมือง และการเมืองก็อิงอยู่กับอำนาจของฝ่ายศาสนา ครั้นเมื่อเกิดนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นใน ค.ศ. 1517 (พ.ศ. ๒๐๕๐) แล้ว ศาสนิกของนิกายทั้งสอง คือ โรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ก็ใช้อำนาจการเมืองบีบคั้นกำจัดกัน ทั้งการขังคุก ทรมาน ฆ่าฟันสังหาร ภายในประเทศ และการสงครามระหว่างกลุ่มประเทศที่นับถือต่างนิกายกัน อย่างยืดเยื้อยาวนานตลอดศตวรรษต่อมา
ระหว่างนั้น คนจำนวนมากได้เดินทางมายังโลกใหม่ คือแผ่นดินอเมริกา เพื่อหนีภัยการบีบคั้นกำจัด (persecution) ด้วยหวังจะมีเสรีภาพ (freedom) ทางศาสนา พร้อมทั้งหาที่ทำกินใหม่ แม้จะต้องฝ่าฟันทนทุกข์ทรมานมากมายจากภยันตรายกลางมหาสมุทร โรคภัยไข้เจ็บ ความขาดแคลนอาหาร และปัจจัยสี่ทุกอย่าง การต่อสู้กับอินเดียนแดง ตลอดจนปัญหากับผู้ปกครอง และพวกล่าอาณานิคมจากยุโรป ดังเช่น พวกที่เรียกกันว่า Pilgrim Fathers ซึ่งหนีภัยการบีบคั้นกำจัดของอำนาจรัฐแห่งนิกายอังกฤษ มาขึ้นฝั่งที่ New England เมื่อ ค.ศ. 1620 (พ.ศ. ๒๑๖๓) ซึ่งบางทีเรียกว่า “ฉากแรกของประวัติศาสตร์อเมริกา” ต่อจากนั้นก็มีการอพยพขนานใหญ่ (Great Migration) ของพวกเพียวริตัน (Puritans) ระหว่าง ค.ศ. 1630-1640 (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๘๓) และกลุ่มคณะอื่นๆ ต่อๆ มา
แม้จะพ้นภัยการห้ำหั่นบีฑาด้วยเรื่องศาสนาในประเทศเดิมมาแล้ว ชาวอพยพก็ยังบีบคั้นกำจัดกันในดินแดนใหม่นี้อีก ดังเช่นพวก Pilgrim Fathers นั้นเอง เมื่อตั้งอาณานิคมของตนปกครองกันเองแล้ว ก็ยังกำจัดขับไล่และฆ่าคนที่นับถือนิกายต่างออกไป
จากประสบการณ์แห่งภยันตราย และความทุกข์ยากจากการบีบคั้นกำจัดกันนี้ จึงทำให้ชาวอเมริกันเบื่อหน่ายขยาดกลัวต่อ persecution และใฝ่ปรารถนาเสรีภาพ คือ freedom เป็นอย่างยิ่ง
ขั้นต่อไป เมื่อขึ้นฝั่งแผ่นดินใหญ่แล้ว ชาวอพยพเหล่านี้ ก็คือคนพลัดถิ่นผจญภัย มีที่อาศัยเพียงแค่ที่ตนเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ต้องเผชิญทุกข์ภัย ทั้งความหนาวเย็น ป่าเขาพงไพร และคนที่ตนถือว่าป่าเถื่อนหรือเป็นอนารยชน คืออินเดียนแดง การขึ้นฝั่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการที่จะต้องบุกฝ่าภัยอันตรายไปข้างหน้า เพื่อหาที่ทำกินและสร้างถิ่นฐานบ้านเมือง นับแต่นั้นคนอเมริกันก็เข้าสู่ยุคบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier expansion)
บรรพบุรุษอเมริกันดิ้นรนต่อสู้บุกฝ่าภยันตรายขยายพรมแดนมุ่งหน้าตะวันตกเรื่อยไป ด้วยความหวังว่าจะมีโอกาส (opportunity) ได้พบความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุข้างหน้า
การบุกฝ่าขยายพรมแดนมุ่งหน้าตะวันตก ที่เรียกสั้นๆ ว่า frontier นี้ ดำเนินมาตลอดเวลายาวนานถึงประมาณ ๓๐๐ ปี โดยแบ่งออกได้เป็น ๓ ช่วง คือ
ช่วงที่ ๑ อาณานิคมชายฝั่งแอตแลนติก (Atlantic colonies) ใน ค.ศต. 17 - 18 (ปลาย พ.ศต. ๒๒ – กลาง พ.ศต. ๒๔)
ช่วงที่ ๒ ดินแดนภาคตะวันออกตลอดแนวเทือกเขาแอปพาเลเชียน (trans-Appalachia) ใน ค.ศต. 19 ถึง ค.ศ. 1880 (กลาง พ.ศต. ๒๔ – ต้น พ.ศต. ๒๕)
ช่วงที่ ๓ แดนตะวันตกที่ห่างไกล (Far West) คือเลยแม่น้ำมิซซิสซิปปีออกไป ในทศวรรษตั้งแต่ ค.ศ. 1880 (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๒๕ – ๒๔๓๕)
ถือกันมาว่า ใน ค.ศ. 1890 ชนชาติอเมริกันทะลุล่วงพรมแดนที่ขวางกั้น ได้ผืนแผ่นดินใหญ่ของอเมริกาปัจจุบันนี้ทั้งหมด และจบการต่อสู้กับอินเดียนแดง เป็นผู้ครอบครองผืนแผ่นดินใหม่สิ้นเชิง เป็นระยะทางจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทิศตะวันออก จดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทิศตะวันตก ประมาณ ๓,๐๐๐ ไมล์ (๔,๘๐๐ กม.เศษ) เฉลี่ยบุกฝ่าคืบหน้าไปปีละ ๑๐ ไมล์
ด้วยเหตุนี้ คำว่า frontier ซึ่งหมายถึงการบุกฝ่าขยายพรมแดน จึงมีความสำคัญคู่กับประวัติศาสตร์ของชนชาติอเมริกัน ถือกันว่าเป็นเครื่องหล่อหลอมแนวคิดจิตใจ บุคลิกลักษณะ และวิถีชีวิต หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นรากฐานของวัฒนธรรมอเมริกัน
ลักษณะนิสัยอเมริกันที่หล่อหลอมขึ้นมาจากวิถีชีวิตแห่งการบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier traits) ตามที่นักประวัติศาสตร์และผู้รู้ของอเมริกาว่าไว้ ที่เป็นข้อสำคัญๆ คือ ความเป็นประชาธิปไตย (democracy) การเอาแต่ตัวหรือตัวใครตัวมัน (individualism) การพึ่งตนเอง (self-reliance) ความใฝ่รู้หรือชอบสอบถามสืบค้น (inquisitiveness) ความเพียรเร่งรุดไม่หยุดหย่อน (restless energy) ความช่างประดิษฐ์ชอบคิดการใหม่ๆ (inventiveness) ความเคลื่อนคล่อง (mobility) ความมุ่งผลเชิงปฏิบัติ (practicality) การมองแง่ดี (optimism) ความเป็นชาตินิยม (nationalism) ความเป็นวัตถุนิยม (materialism) ความหยาบ-ไม่สุภาพเรียบร้อย (coarseness) ความสุรุ่ยสุร่าย (wastefulness)
คติบุกฝ่าขยายพรมแดน ที่เรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า คติ frontier (อเมริกันเรียก ideal of the frontier บ้าง myth of the frontier บ้าง) นี้ ได้รับแรงหนุนให้เข้มแข็งมากขึ้น ด้วยความกระตือรือร้นทางความคิดที่ติดมาจากยุโรป คือ ก่อนหนีภัยการห้ำหั่นบีฑาทางศาสนาและการเมืองมานั้น ในยุโรป คนได้ตื่นตัวกันขึ้นมาตั้งแต่ยุควิชาการโบราณคืนชีพ (Renaissance, คริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16)
โดยเฉพาะช่วงหนีภัยมาอเมริกา เป็นระยะที่กำลังมีการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ซึ่งถือกันว่าเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1543 (พ.ศ. ๒๐๘๖) แนวคิดพิชิตธรรมชาติ (conquest of nature หรือ dominion/mastery over nature) กำลังเฟื่องฟู หนุนให้กระแสวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า และปลุกความคิดความใฝ่ฝันของคนตะวันตก จนเกิดเป็นยุคโพลงปัญญา (Enlightenment) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18
กระแสความคิดในยุคโพลงปัญญา (Enlightenment) นั้น เร้าใจคนให้เชื่อในคติแห่งความก้าวหน้า (ideal of progress) ว่าวิทยาศาสตร์จะนำมนุษย์ไปสู่ความพรั่งพร้อมรุ่งเรืองสุขสมบูรณ์
ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่เริ่มใน ค.ศ. 1750 (พ.ศ. ๒๒๙๓) ซึ่งเสริมแรงวัตถุนิยมแบบรุกรานธรรมชาติ ที่นำสังคมตะวันตกขึ้นสู่ยุคสมัยใหม่ แล้วยังมีการปฏิวัติทางการเมือง หรือปฏิวัติสู่ประชาธิปไตยของฝรั่งเศส (French Revolution) ที่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1789 (พ.ศ. ๒๓๓๒) ซึ่งมีแนวคิดประชาธิปไตย (democracy) ที่มาหนุนอุดมคติแห่งอิสรเสรีภาพของคนอเมริกันให้มีพลังยิ่งขึ้น
สาระสำคัญก็คือ คนอเมริกันเริ่มชีวิตและสังคมของเขาด้วยแนวคิดความเชื่อต่างๆ ทั้งที่ติดและตามมาจากยุโรปเหล่านี้ มาหนุนให้การบุกฝ่าไปข้างหน้าตามคติ frontier ของเขา มีพลังแห่งความกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดบรรยากาศพร้อมทั้งกระแสจินตนาการ ที่หล่อเลี้ยงและปลุกเร้าความบากบั่นพากเพียร
รวมความว่า ประวัติศาสตร์อเมริกา ก็คือ เรื่องราวความเป็นมาของชนชาติที่
1. หลบหนีภัยการห้ำหั่นบีฑา (persecution) โดยเฉพาะทางศาสนา มุ่งหน้าจากยุโรปมา เพื่อแสวงหาอิสรเสรีภาพ (freedom)
2. บุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier) เคลื่อนย้ายขยับขยายจากฝั่งที่ขึ้นมา มุ่งตะวันตกไปข้างหน้าบนผืนแผ่นดินใหม่ เพื่อแสวงหาโอกาส (opportunity) ที่จะสร้างความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสมบูรณ์
วาทะและคำบรรยายต่างๆ ของชาวอเมริกันคนสำคัญๆ และเอกสารตำราต่างๆ มีมากมายที่ให้ข้อสรุปได้อย่างนี้ แต่ที่ง่ายๆ ไม่นานนี้ คือข้อความในคำปราศรัยแถลงภาวะของประเทศต่อรัฐสภา ปี ๒๕๔๐ (The 1997 State of the Union address) ของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ๒ ประโยคที่ว่า
อเมริกา ได้เป็นชนชาติของผู้อพยพตลอดมา นับแต่ต้น กระแสประชาชนที่หลั่งไหลอย่างต่อเนื่อง ได้ละทิ้งแผ่นดินของตนมายึดเอาแผ่นดินผืนนี้เป็นบ้านของตน เพื่อแสวงหาอิสรเสรีภาพ (freedom) และโอกาส (opportunity)
หันมาดูสังคมไทยบ้าง ในฐานะที่เป็นสังคมของเราเอง ในที่นี้คงไม่จำเป็นต้องบรรยายความเป็นมาประกอบ ขอพูดเจาะลงไปเลยถึงข้อความที่แสดงพื้นฐานวัฒนธรรม ภาวะจิตใจ และวิถีชีวิตของสังคมไทย คือคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งแสดงถึงความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ไม่ขาดแคลน ไม่บีบคั้น ไม่ขัดข้อง ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องดิ้นรนไปหาที่ไหนอีก และคนไทยก็ภูมิใจ (หรือเคยภูมิใจมาก) ที่จะยกข้อความนี้ขึ้นมาเอ่ยอ้าง
นอกจากความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมทางวัตถุแล้ว คำกล่าวนี้ มักมาด้วยกันหรือตามด้วยข้อความอื่นๆ ที่แสดงความหมายว่าสังคมไทยมีความสงบสุข ไม่มีความขัดแย้ง มีภัยศึกสงครามเป็นต้นน้อย เป็น “ไพร่ฟ้าหน้าใส” หรืออย่างที่ปรากฏภาพลักษณ์ให้คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมมองเห็นเด่นในแง่ที่พูดกันว่าเป็น “สยามเมืองยิ้ม”
การหนี persecution มาหา freedom และการบุกฝ่าขยาย frontier ไปหา opportunity ของอเมริกัน โดยเฉพาะคติ frontier ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเขาในแผ่นดินปัจจุบันตลอดเวลายาวนาน ที่เขาถือว่ามีอิทธิพลหล่อหลอมลักษณะนิสัยของคนอเมริกันนั้น เมื่อเอามาเทียบกับคติ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของสังคมไทย ก็คือวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ หรือวัฒนธรรมที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ
คติ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของไทย บอกว่า ที่นี่ดี ที่นี่อุดมสมบูรณ์ อยู่สุขสบายแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนไปหาที่ไหนอีก
คติ frontier ของอเมริกัน บอกว่า ที่นี่อยู่ไม่ได้ ที่นี่คับแคบขัดข้อง ที่นี่ยากแค้นบีบคั้น จะต้องบุกฝ่าไปข้างหน้า ด้วยหวังว่าจะได้พบโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสุขสมบูรณ์ต่อไป
เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ขัดข้องขาดแคลน ก็จะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้อยู่รอด หรือบุกฝ่าไปหาถิ่นที่มั่นคงปลอดภัย มีปัจจัย ๔ หรือวัตถุบำรุงเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ดี แต่เมื่อใดเศรษฐกิจฟู มีวัตถุพรั่งพร้อม อยู่ดี มีความมั่นคงปลอดภัย สังคมเหมือนดังว่าบรรลุจุดหมาย พ้นทุกข์พ้นภัยแล้ว เกิดความพึงพอใจแล้ว คนก็มีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชา ผัดเพี้ยน ถ้าเลยต่อไปก็ลุ่มหลงมัวเมา ติดจมอยู่ในอามิสและกามสุข
ทางออกที่จะไม่ให้สังคมติดตัน หมกจมและทำลายตัวเองด้วยความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ก็คือการที่สังคมจะต้องมีเป้าหมายที่ใฝ่ปรารถนาจะทำหรือจะไปหาต่อไปอีก
สังคมอเมริกัน แม้จะได้ดินแดนขยายไปตะวันตกจดฝั่งแปซิฟิก จบ frontier ไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1890 (พ.ศ. ๒๔๓๓) แต่ก็เป็นการจบเฉพาะ frontier ด้านเทศะ แม้จะได้เนื้อที่มากมายมาเป็นของตนสมปรารถนา ก็เป็นเพียงผืนแผ่นดินและทรัพยากร ซึ่งจะต้องเพียรพยายามบุกฝ่าปลูกสร้างทำงานกันต่อไป เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันที่จะมีวัตถุมั่งคั่งพรั่งพร้อม สำหรับจุดหมายขั้นนี้ชาวอเมริกันได้ฝากความหวังไว้กับความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรม
ย้อนเล่าเรื่องก่อนจบการขยายดินแดนในแผ่นดินอเมริกาสักหน่อยว่า ระหว่างบุกฝ่าขยายพรมแดนออกไปทางตะวันตกนั้น นอกจากรบกับอินเดียนแดงแล้ว คนอเมริกันก็ต้องถูกบีบคั้นและขัดแย้งกับประเทศแม่ที่ตามมาปกครองด้วย โดยเฉพาะในปี 1763 (พ.ศ. ๒๓๐๖) อังกฤษได้ออกประกาศห้ามไม่ให้ชาวอาณานิคมไปตั้งถิ่นฐานเลยเทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachian Mountains) ซึ่งอยู่ในแถบตะวันออกของอเมริกา (แล่นจากคานาดาตลอดลงมาผ่านรัฐ New York, Pennsylvania, West Virginia จนถึงรัฐ Alabama) ซึ่งได้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันทำการปฏิวัติ (American Revolution) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1775 (พ.ศ. ๒๓๑๘)
เมื่อชนะสงครามได้อิสรภาพจากอังกฤษแล้ว บรรพบุรุษอเมริกันก็เริ่มแผนการผนวกรัฐใหม่ๆ ทันที โดยเฉพาะในปี 1784- 1785 (พ.ศ. ๒๓๒๗–๒๓๒๘) รัฐบาลอเมริกันที่เกิดขึ้นใหม่ได้เริ่มนโยบายยึดเอาแผ่นดินมาครอบครอง (policy of land acquisition)
ความกระตือรือร้นมุ่งมั่นในการบุกฝ่ายึดครองดินแดนตามคติ frontier ได้กลายเป็นคติที่นำมาสั่งสอนปลุกเร้ากัน จนกลายเป็นแนวคิดความเชื่อที่ต่อมาใน ค.ศ. 1845 (พ.ศ. ๒๓๘๘) เกิดมีคำใหม่ขึ้นมาใช้ว่า “Manifest Destiny” คือ คติความเชื่อว่า เป็นวิถีแห่งชะตาสังคมอเมริกันที่พระเป็นเจ้าได้กำหนดไว้แจ้งชัด ว่าจะต้องขยายดินแดนออกไปครอบครองแผ่นดินอเมริกาเหนือทั้งหมดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และชาวอเมริกันก็ได้ดำเนินการบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier) ต่อมา ทั้งทำสงครามแย่งชิงและซื้อแผ่นดินจากอินเดียนแดง ได้รัฐใหม่เพิ่มเข้ามาอีก ๓๕ รัฐ จนในที่สุดก็จดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ในปี 1890 (พ.ศ. ๒๔๓๓) ดังได้กล่าวแล้ว
ที่จริง อเมริกามีนโยบายปลีกตัวหรือแยกอยู่โดดเดี่ยว (isola- tionism) ซึ่งประธานาธิบดียอร์จ วอชิงตัน ให้ไว้ และได้ถือปฏิบัติกันมาจนสะดุดเมื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ พอจบสงครามนั้นแล้ว ก็ถือต่อมาอีกจนยกเลิกจริงตั้งแต่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๒
อย่างไรก็ดี นโยบายปลีกตัวนี้สหรัฐใช้เฉพาะกับยุโรป ที่ขณะนั้นมีอำนาจมาก เพื่อรักษาตัวเองให้พ้นอิทธิพลของยุโรป และไม่ให้ต้องเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งในแถบนั้น แต่ไม่ใช้กับการขยายดินแดนในทวีปอเมริกาเองและในเอเชีย พูดง่ายๆ ว่าไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของอเมริกา
ในช่วงเดียวกับที่อเมริกาทำการปฏิวัติ (ค.ศ. 1775 = พ.ศ. ๒๓๑๘) ที่ทำให้ได้อิสรภาพจากอังกฤษนั้น ในอังกฤษเองก็เริ่มเกิดความเจริญแบบอุตสาหกรรมที่เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม ขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 1750 (Industrial Revolution, พ.ศ. ๒๒๗๓) แต่ในระยะแรกความเจริญนั้นยังจำกัดอยู่แค่ในประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง ๗๐–๘๐ ปีต่อมา การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงขยายไปยังฝรั่งเศส เยอรมัน และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ
ส่วนในอเมริกา หลังสงครามกลางเมืองเพื่อเลิกทาส ใน ค.ศ. 1861 – 1865 (พ.ศ. ๒๔๐๔ – ๒๔๐๘) อุตสาหกรรมก็เจริญขึ้น ซึ่งเป็นช่วงระยะที่การบุกฝ่าขยายพรมแดน (frontier) ใกล้จะจบสิ้น คนอเมริกันมั่นใจได้แล้วว่า จะครอบครองผืนแผ่นดินอเมริกาได้ทั้งหมด ภาระในการบุกฝ่าขยายพรมแดนด้านเทศะกำลังจะหมดสิ้นไป แต่ยังมีงานรอหน้าอีกมากมายที่จะต้องฝ่าฟันก้าวต่อไป ในการที่จะสร้างความเจริญพรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์และความสะดวกสบายขึ้นบนผืนแผ่นดินนั้น
อุตสาหกรรมได้เจริญก้าวหน้าในอเมริกาอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เริ่มแต่เป็นผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล และอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คนก็ได้สืบทอดนิสัยบุกฝ่าและจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) ของโปรเตสแตนต์โดยเฉพาะแบบเพียวริตันกันมา อีกทั้งประดิษฐกรรมและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในอเมริการะยะนี้ ได้ทำให้มีการผลิตมหิมัต หรือผลิตแบบมหาปริมาณ (mass production) เช่น เกิดพลังงานไฟฟ้าใน ค.ศ. 1882 (= พ.ศ. ๒๔๒๕, ปีที่เอดิสันติดตั้งระบบไฟฟ้าให้แก่นครนิวยอร์ค) เกิดโทรเลขไฟฟ้าใน ค.ศ. 1844 (พ.ศ. ๒๓๘๗) เกิดโทรศัพท์ใน ค.ศ. 1876 (พ.ศ. ๒๔๑๙) และเฮนรี ฟอร์ด คิดทำสายพานประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ (assembly line) ขึ้นใช้ใน ค.ศ. 1913 (พ.ศ. ๒๔๕๖)
ไม่ช้าสหรัฐอเมริกาก็เจริญขึ้นเป็นผู้นำในทางอุตสาหกรรมคู่กับประเทศเยอรมนีในยุโรป เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดในอเมริกานี้ คนอเมริกันถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (the Second Industrial Revolution) โดยนับแต่หลัง ค.ศ. 1860 (พ.ศ. ๒๔๐๓) เป็นต้นมา
ปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้ คือ องค์ประกอบด้านมโนกรรม อันได้แก่แนวคิดความเชื่อที่เป็นพลังขับดันอยู่เบื้องหลังและให้ความหมายแก่กิจกรรมและกิจการทั้งหมดที่บุคคลและสังคมปฏิบัติจัดทำ
ในระยะที่อเมริกากำลังมุ่งหน้าไปในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น ในอังกฤษได้มีนักคิดสำคัญ ชื่อ เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ ผู้ตั้งแนวคิดที่เรียกว่า ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม (Social Darwinism) ขึ้นมา ลัทธินี้แม้จะเกิดในยุโรป แต่ไม่งอกงามในถิ่นเดิม กลับมามีอิทธิพลอย่างมากในอเมริกา
ลัทธินี้เป็นการนำหลักการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ในทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน มาใช้ทางสังคม ทั้งในด้านชีวิตบุคคลและกลุ่มชนหรือองค์กร คือถือว่า เป็นกฎธรรมชาติที่มนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์ เช่น บริษัท และกิจการต่าง ๆ จะต้องดิ้นรนต่อสู้แข่งขันกัน คนใดเข้มแข็งแกร่งกล้าชาญฉลาดก็จะอยู่รอดและรุ่งเรือง ใครโง่เขลาอ่อนแอก็จะล้มหายตายจากไป ตามคำที่สเปนเซอร์คิดขึ้นมาใช้ว่า the survival of the fittest (ใครดีใครอยู่, ใครแข็งใครรอด, หรือคนเก่งที่สุดจึงอยู่รอด) ด้วยความเป็นไปเช่นนี้ คนหรือกิจการที่อยู่รอดก็จะพัฒนา มีคุณสมบัติดียิ่งขึ้น จนมีมนุษย์ที่ดีเลิศเป็นอุดมคติ
เพราะฉะนั้น ลัทธินี้จึงส่งเสริมลัทธิตัวใครตัวมัน หรือปัจเจกนิยม (individualism) และเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา (laissez-faire economics) อย่างเต็มที่ และสอนให้มีการแข่งขันอย่างสุดกำลังไม่มีขีดขั้น (unrestricted competition) ไม่ต้องมีการช่วยเหลือกัน เพื่อให้แต่ละคนมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ ที่จะดิ้นรนต่อสู้เพื่อสนองความปรารถนาในการแสวงหาผลประโยชน์ของตน ความเจริญเติบโตของธุรกิจอันใดก็คือความเป็นไปตามกฎธรรมชาติ การมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเครื่องพิสูจน์ความเหมาะที่จะอยู่รอด และเป็นคุณธรรมในตัวมันเอง ส่วนความยากจนก็เป็นเครื่องแสดงถึงความอ่อนด้อยตามธรรมชาติ จึงไม่ควรช่วยเหลือคนจน เพราะเป็นผู้ไม่เหมาะที่จะอยู่รอดต่อไป
ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้ เป็นที่นิยมนับถือในวงวิชาการและธุรกิจของอเมริกา มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐก็รับเข้ามาจัดสอน ผลงานของสเปนเซอร์เด่นดังมากในช่วง ๒ ทศวรรษ 1870s – 1880s (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ประมาณ ๔๐ ปี) มหาเศรษฐีอเมริกัน เช่น จอห์น ดี. รอกกีเฟลเลอร์ (John D. Rockefeller) และ แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie) ชื่นชมลัทธินี้ยิ่งนัก
ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้ เท่ากับมาหนุนหลักการทางเศรษฐกิจของ อาดัม สมิธ (Adam Smith, ค.ศ. 1723 - 1790=พ.ศ. ๒๒๖๖–๒๓๓๓) เสริมแรงจริยธรรมในการทำงาน (work ethic) เพิ่มพลังแก่การแข่งขัน และตลาดเสรี กับทั้งเป็นข้ออ้างที่จะให้ความชอบธรรมแก่ความเห็นแก่ได้ (acquisitiveness) และการใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อความสำเร็จทางธุรกิจ
ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้ นอกจากหนุนการแสวงหาผลประโยชน์ในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีความหมายขยายกว้างออกไปในด้านการแผ่อำนาจการเมืองระหว่างประเทศด้วย เพราะชาวอเมริกันได้ใช้ลัทธินี้เป็นข้ออ้างในการตีความต่อไปว่า ตามกฎธรรมชาติที่ว่าผู้ที่เก่งกล้าเหมาะสมที่สุดจึงจะอยู่รอดนั้น การที่ชาติที่เข้มแข็งจะไปปกครองบังคับประเทศที่อ่อนแอ จึงเป็นความถูกต้องชอบธรรม เป็นไปตามกฎธรรมชาติ
นักคิดนักเขียนของอเมริกาบางคนชักนำจินตนาการของชาวอเมริกันไปถึงขั้นที่ว่า ชนผิวขาวชาวอเมริกันที่พูดภาษาอังกฤษนี้ เป็นชนชาติที่เข้มแข็ง และได้มีประสบการณ์มาแล้วในการกำราบพวกอินเดียนแดงพื้นเมือง ต่อไปนี้ ชนผิวขาวชาวอเมริกันจะต้องออกไปควบคุมปกครองดินแดนทุกหนแห่งที่ยังไม่มีอารยธรรม
ถึงตอนนี้ ลัทธิดาร์วินเชิงสังคม ก็มาประสานเข้ากับแนวคิดความเชื่อตามคติ “Manifest Destiny” ที่พูดไปแล้ว และขยายขอบเขตของคติความเชื่อนั้นกว้างออกไปว่า ชนชาติผิวขาวชาวอเมริกันได้รับมอบหมายจากพระเป็นเจ้า ให้นำสถาบันและอารย-ธรรมแบบอเมริกันนี้ไปสถาปนา หรือแม้แต่ไปบังคับจัดให้แก่มวลมนุษย์ทั่วทั้งโลก โดยถือเป็นวิถีแห่งชะตาของสังคมอเมริกันอย่างชัดแจ้ง ที่จะต้องไปชี้นำและให้การศึกษาแก่ชนชาติที่ด้อยทั้งหลายเป็นหน้าที่และเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ชาติตะวันตกจะต้องออกไปจัดการให้หมู่มนุษย์ในโลกที่ด้อยพัฒนา เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมปกครองของประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว
นี้คือ คติวิถีแห่งชะตาสังคมที่พระเจ้ากำหนดมาฉบับใหม่ (new “Manifest Destiny”) ที่ได้ผลักดันประเทศอเมริกาเข้าสู่ยุคแห่งการเป็นจักรวรรดินิยม พร้อมทั้งเป็นข้ออ้างที่จะให้เกิดความรู้สึกชอบธรรมและมั่นใจในการแผ่ขยายอำนาจ พร้อมไปกับการขยายตลาดการค้า และหาแหล่งวัตถุดิบและอาหารราคาถูก เพื่อสนองความต้องการของระบบอุตสาหกรรมในประเทศอเมริกาเอง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อจากจบการขยายพรมแดน ปิด frontier ในอเมริกา ใน ค.ศ. 1890 (พ.ศ. ๒๔๓๓)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากพวกนาซีเยอรมันก็ได้ใช้ลัทธิดาร์วินเชิงสังคมนี้หนุนลัทธิของตน ในการเชิดชูเผ่าอารยัน และล้างผลาญคนยิวด้วย จึงเป็นเหตุให้ต่อมาคนอเมริกันเห็นพิษภัยและเสื่อมความนิยมในลัทธินี้ลงไป แต่กระนั้นลัทธินี้ก็ได้เฟื่องอยู่นานกว่าครึ่งศตวรรษ จึงยังมีอิทธิพลแฝงอยู่ในชีวิตและสังคมอเมริกันสืบมา
โดยเฉพาะลึกลงไป ลักษณะนิสัย สภาพจิตใจ และวิถีชีวิตที่คติ frontier ได้หล่อหลอมมาตลอดเวลาหลายศตวรรษ ก็ยังคงเป็นแรงผลักดันให้คนชาติอเมริกันมีความใฝ่ปรารถนาความสำเร็จและมั่งคั่งทางวัตถุสืบต่อไป แม้ว่าพรมแดนด้านเทศะคือผืนแผ่นดิน (land frontiers) จะปิดไปแล้ว แต่ชาวอเมริกันก็ยังมี frontiers อื่นที่จะบุกฝ่าต่อไป คือ frontiers of knowledge ได้แก่ พรมแดนแห่งความรู้ หรือวิชาการ และต่อมาก็ถึง space frontier บุกฝ่าพรมแดนแห่งอวกาศ ซึ่งยังจะต้องเดินหน้าต่อไปไม่เห็นที่สิ้นสุด
อีกด้านหนึ่งที่สำคัญมาก คือ electronic frontier (พรมแดนด้านอิเล็กทรอนิกส์ คือความเจริญด้านคอมพิวเตอร์ อาจเรียกว่า cyberspace frontier) ก็เป็นแดนที่อเมริกาบุกฝ่าไปได้ไกลกว่าใครอื่น และยังเป็นผู้นำอยู่
อย่างไรก็ดี เมื่อ frontier ด้านเทศะที่เป็นรูปธรรมจบไปแล้ว ความหมายและพลังของถ้อยคำก็อาจจะจางลงไปบ้าง แรงเร้าปลุกใจอาจจะอ่อนลง ผู้นำอเมริกันบางคนจึงคิดหาทางเสริมพลังของคำนี้ขึ้นมาอีก ด้วยการใช้คำว่า New Frontier ให้คนอเมริกันคิดถึงพรมแดนใหม่ ที่จะต้องบุกฝ่าขยายต่อไป ดังที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอเมริกาถึง ๔ คนได้ใช้คำนี้ โดยเฉพาะที่เด่น คือ ประธานาธิบดีเคนเนดี (John F. Kennedy) ที่ชูนโยบาย New Frontier เป็นธงในการหาเสียง และเป็นหลักในการบริหารประเทศ
คำที่สื่อใจคนอเมริกันอีกคำหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นสมัยหลังต่อมา (เริ่มมีใช้ประมาณ ค.ศ. 1931 ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๗๔) อาจถือได้ว่าเป็นคำสืบเนื่องจากคติ frontier นั้น ซึ่งแสดงถึงอุดมคติวัตถุนิยมของสังคมอเมริกัน และคนอเมริกันรวมทั้งผู้นำทางการเมือง มักยกขึ้นมาอ้างเพื่อเป็นสื่อกระตุ้นแรงจูงใจของคนร่วมชาติ คือคำว่า American dream (ฝันอเมริกัน) ซึ่งหมายถึงความสำเร็จ และความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุ พร้อมทั้งการมีโอกาสอันเท่าเทียมกันที่จะเพียรพยายามเพื่อบรรลุจุดหมายเช่นนั้น
สังคมอเมริกัน ภายใต้แรงขับเคลื่อนของคติ frontier และอุดมคติต่างๆ ที่พ่วงมา ใช้เวลาบุกฝ่าขยายดินแดนสิ้นเวลา ๓๐๐ ปี จึงจบถึงฝั่งแปซิฟิกใน ค.ศ. 1890 (พ.ศ. ๒๔๓๓) และก้าวต่อไปจนถึงจุดหมายของระบบอุตสาหกรรม ในช่วงหลัง ค.ศ. 1975 (พ.ศ. ๒๕๑๘) กลายเป็นสังคมที่มีความมั่งคั่งสะดวกสบายพรั่งพร้อมทางวัตถุ แล้วสังคมอเมริกันก็ขึ้นสู่ยุคเป็น postindustrial society (สังคมที่ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม) และกลายเป็น consumer society (สังคมผู้บริโภค) ตลอดจนเป็น information society (สังคมข่าวสารข้อมูล) มีเศรษฐกิจใหม่ (new economy) มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้อเมริกาแผ่อิทธิพลไปเป็นโลกาภิวัตน์ (globalized) และสามารถจัดระเบียบโลกใหม่ (new world order)
เมื่อมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสะดวกสบายทางวัตถุแล้ว ก็นับว่าสังคมอเมริกันได้วิ่งมาถึงหลักชัย บรรลุจุดหมายที่ใฝ่ฝันและพากเพียรมานานแสนนาน แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า มนุษย์ปุถุชนนั้นเมื่อพ้นภัยหายความทุกข์ยาก มีกินมีเสพพร้อมบริบูรณ์แล้ว ความเพียรพยายามและกระตือรือร้นที่จะดิ้นรนต่อสู้ก็มักอ่อนลง ชักจะเฉื่อยชา พร้อมทั้งเกิดความฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงมัวเมา ติดจมในการเสพบริโภค ระเริงในกาม และการแสวงหาความสุข สังคมอเมริกันก็ไม่พ้นวงจรเก่านี้ ดังปัญหาชีวิต-สังคมที่เร้าระดมในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม พลังมุ่งไปข้างหน้าที่อ่อนและเฉื่อยชาลงนั้น คือด้านการสร้างความมั่งคั่งพรั่งพร้อมภายในสังคมของตน ที่ก้าวมาถึงขั้นเสวยผล อย่างที่ว่าเปลี่ยนจากสังคมของนักผลิตแห่งยุคอุตสาหกรรม มาเป็นนักบริโภคแห่งยุคหลังอุตสาหกรรม
แต่อีกด้านหนึ่ง ระหว่างที่สังคมอเมริกันก้าวเดินมาสู่จุดนี้ ก็ได้มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศในโลกด้วย และเมื่อถึงตอนนี้ พลังมุ่งไปข้างหน้าของอเมริกาก็หันออกนอกประเทศ ไปสู่บทบาทของการเป็นผู้นำในโลก ซึ่งหมายถึงการแผ่ขยายวัฒนธรรมคตินิยมอุดมการณ์ พร้อมไปกับความจำเป็นในการรักษาความยิ่งใหญ่และผลประโยชน์แห่งชาติของตน
ขอทบทวนว่า คติบุกฝ่าพรมแดน คือ frontier นั้น แม้ว่าความหมายเดิมแท้ๆ จะมุ่งเพื่อไปหาโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุ แต่ระหว่างที่บุกฝ่าคืบหน้าไป frontier ก็มีความหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งพ่วงเข้ามา คือการแผ่ขยายความเจริญหรืออารยธรรมไปให้แก่ถิ่นที่ยังป่าเถื่อนล้าหลัง หรือออกไปจัดการพัฒนาถิ่นที่ล้าหลังให้เจริญขึ้น ดังที่ได้เกิดคติ Manifest Destiny และไปๆ มาๆ ความหมายที่สองซึ่งพ่วงเข้ามานี้ ก็ได้กลายเป็นความหมายที่เด่นมากขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งก็คงจะเป็นข้ออ้างเพื่อจะสร้างความรู้สึกชอบธรรมในการแผ่ขยายอำนาจของชนชาติอเมริกัน
ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อ frontier ในประเทศจบลง คติ frontier ก็ได้เดินหน้าต่อไป โดยได้รับแรงหนุนจากลัทธิ Social Darwinism เกิดเป็นแนวคิด new “Manifest Destiny” ที่นำประเทศอเมริกาเข้าสู่ความเป็นจักรวรรดินิยม และก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจในโลก ในช่วง ค.ศ. 1896 - 1920 (พ.ศ. ๒๔๓๙–๒๔๗๓) ซึ่งทำให้อเมริกาเริ่มบุกฝ่าออกไปในดินแดนส่วนอื่นของโลก เพื่อไปจัดการบังคับควบคุมชนชาติที่อ่อนแอ และนำชนชาติเหล่านั้นขึ้นสู่อารยธรรม โดยนำวัฒนธรรมที่ถือว่าสูงกว่าไปสถาปนาให้แก่ประเทศที่ล้าหลัง
เริ่มด้วยลงไปสู่อเมริกาใต้ ทำสงครามขับไล่สเปนออกจาก คิวบา ใน ค.ศ. 1898 (พ.ศ. ๒๔๔๑) แล้วบังคับซื้อฟิลิปปินส์จาก สเปนในปีเดียวกันนั้น (ราคา ๒๐ ล้านดอลลาร์) แล้วก็ผนวกหมู่เกาะฮาไวเข้ามา จนถึงซื้อหมู่เกาะเวอร์จินจากเดนมาร์กใน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. ๒๔๗๐, ราคา ๒๕ ล้านดอลลาร์)
แม้ว่าต่อมาระบบอาณานิคมและจักรวรรดินิยมจะหมดสิ้นไป (นักวิชาการบางส่วนว่า เวลานี้เปลี่ยนไปเป็น informal imperialism คือจักรวรรดินิยมนอกแบบ) แต่อิทธิพลแนวคิดความเชื่อแบบ Manifest Destiny ก็ยังคงแฝงฝังอยู่ในจิตใจของคนอเมริกัน ดังจะเห็นได้ง่ายๆ ในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง inaugural address) และคำแถลงภาวะของประเทศ (State of the Union address) ของประธานาธิบดีอเมริกาหลายๆ คนจนถึงปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง เช่น ประธานาธิบดี แมกคินลีย์ กล่าวในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่งครั้งที่ 1 (William McKinley, ค.ศ. 1897 = พ.ศ. ๒๓๔๐) ว่า
“ความไม่รู้หนังสือจะต้องถูกบำราศจากแผ่นดินอเมริกา ถ้าพวกเราจะลุถึงชะตาเด่น (high destiny) เป็นยอดสุดของประชาชาติที่เจริญแล้วในโลก ซึ่งเราควรจะทำให้สำเร็จภายใต้เทวประสงค์”
ประธานาธิบดีฮูเวอร์ กล่าวในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง (Herbert Hoover, ค.ศ. 1929 = พ.ศ. ๒๔๗๒) ว่า
“อิทธิพลและจุดหมายอันสูงส่งแห่งชาติของเรา ได้รับความยอมรับนับถือในหมู่ประชาชาติทั้งหลายของโลก เราใฝ่ปรารถนาความเด่นนำในโลก…”
ประธานาธิบดีไฮเซนฮาวร์ กล่าวในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่งครั้งแรก (Dwight D. Eisenhower, ค.ศ. 1953 = พ.ศ. ๒๔๙๖) ว่า
“วิถีแห่งชะตา (destiny) ได้เอาความรับผิดชอบแห่งความเป็นผู้นำของโลกเสรีมาวางลงให้แก่ประเทศของเรา… เราชาวอเมริกันรู้และเรามองเห็นความแตกต่างระหว่างความเป็นผู้นำของโลก กับความเป็นจักรวรรดินิยม…”
ในหนังสือ Beyond Peace ที่อดีตประธานาธิบดีนิกสันเขียนเสร็จก่อนล้มป่วยและถึงแก่อสัญกรรม (Richard M. Nixon, ถึงแก่อสัญกรรม 22 เม.ย. 1994 = พ.ศ. ๒๕๓๗) ได้แสดงความห่วงใยประเทศอเมริกา และเร้าเตือนประธานาธิบดีคลินตันไม่ให้ทำลายความเป็นผู้นำของอเมริกาในโลกนี้ เช่น ข้อความที่ว่า
“เราชื่นชมกับการแผ่ขยายสันติภาพและอิสรภาพ – แต่(ต้องเป็น)การแผ่ขยายสันติภาพโดยไม่เสี่ยงกับการเสียผลประโยชน์หรือหลักการของเรา และแผ่ขยายอิสรภาพโดยไม่ยอมเสี่ยงกับการเสียสันติภาพ…
คำเฟื่องใหม่ในวงการทูตอเมริกัน คือ “การแผ่ขยาย” หลังจากที่เรากักกั้นจำกัดวงลัทธิคอมมิวนิสม์มา ๔๕ ปี บัดนี้ เราได้รับคำบอกว่า จุดหมายของเรา ควรจะมุ่งแผ่ขยายประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี (free-market democracy=ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม) … ด้วยเหตุที่เราเป็นอภิมหาอำนาจสุดท้ายที่เหลืออยู่ จึงไม่มีวิกฤติการณ์ใดที่จะไม่เกี่ยวมาถึงผลประโยชน์ของเรา…คนอเมริกันไม่รู้จักการจะเป็นที่สองหรือแม้แต่เป็นที่หนึ่งในบรรดาผู้เท่าเทียม คนอเมริกันรู้อย่างเดียวว่าจะเป็นผู้ที่เลิศสุด…”
ประธานาธิบดีคลินตัน กล่าวในคำปราศรัยแถลงภาวะของประเทศแก่รัฐสภา (William J. Clinton, ค.ศ. 1997 = พ.ศ. ๒๕๔๐) ว่า
“…ในสหัสวรรษใหม่ เพื่อให้เราสามารถคงความเป็นดวงประทีปนำทางแก่โลกนี้… เพื่อเตรียมอเมริกาให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 เราจะต้องเป็นนายมีอำนาจบังคับควบคุมพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในโลกนี้ และดำรงรักษาความเป็นผู้นำของอเมริกาไว้ให้แข็งแรงและแน่ใจ… ”
คำกล่าวเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความใฝ่ปรารถนาของชนชาติอเมริกันที่จะเป็นผู้นำของโลก และแผ่ขยายแนวคิดความเชื่อ ค่านิยม ลัทธินิยม และสถาบันตามแบบของตนออกไปปลูกฝังลงในดินแดนหรือชนชาติที่ยังล้าหลังหรือด้อยพัฒนาทั่วทั้งโลก พร้อมไปด้วยกันกับการรักษาผลประโยชน์ของประเทศอเมริกาเอง
แม้แต่การบุกฝ่าไปในพรมแดนอวกาศ (space frontier) ที่มุ่งจะไปหาดินแดน และแหล่งทรัพยากรใหม่เพื่อความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุยิ่งขึ้นไป เวลานี้ก็มีความหมายด้านนั้นไม่มากนัก แต่กลับมีความหมายเด่นในแง่ของการแสดงความยิ่งใหญ่ และความเป็นผู้นำในโลกนี้
สภาพโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่ครอบคลุมและครอบงำโลกอยู่ในบัดนี้ ในความหมายหนึ่งก็คือการที่ชาวอเมริกัน หรือชนชาติตะวันตก แผ่ขยายพรมแดนตามคติ frontier นี้ออกไปในโลก หรือในอีกความหมายหนึ่ง ก็คือการออกไปทำการพิชิต (conquest) ดินแดนและวัฒนธรรมทั้งหลายทั่วไปทั้งโลก
หันกลับไปดูภายในสังคมอเมริกาเอง การแสวงหาความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น เป็นความหมายและความมุ่งหมายเดิมของการบุกฝ่าตามคติ frontier ประวัติศาสตร์อเมริกันใช้เวลายาวนานหมดไปกับความเพียรพยายามด้านนี้ จนกลายเป็นการวางจุดหมายไว้ให้แก่สังคมเพียงชั้นเดียว คือมุ่งหาความสำเร็จและความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุ เมื่อถึงจุดหมายนั้นแล้ว ก็ไม่มีจุดหมายเหนือหรือสูงกว่าที่จะมุ่งหน้าเดินต่อไป นอกจากการที่จะมีสถานะแห่งความยิ่งใหญ่ในโลก และการรักษาผลประโยชน์ที่แอบอิงอยู่กับสถานะนั้น
เมื่อถึงจุดหมายมีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมสะดวกสบาย จนถึงขั้นเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมของผู้บากบั่นขยันในการผลิต มาเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรม กลายเป็นนักบริโภคแล้ว ถ้าไม่ระวังให้ดี ลักษณะที่ส่อเค้าความเสื่อมก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่มักเป็นกันส่วนมาก คือ
๑. ความเฉื่อยชา ผัดเพี้ยน อ่อนแอลง หย่อนกำลังในการที่จะดิ้นรนต่อสู้ คลายความกระตือรือร้นลง
๒. ความฟุ้งเฟ้อหลงระเริงมัวเมาในการเสพบริโภค และหมกมุ่นในกาม ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาสังคมต่างๆ เช่น ยาเสพติด ปัญหาครอบครัว พร้อมทั้งปัญหาเด็กและเยาวชน
ในข้อ ๑. เห็นได้ชัดว่า คนอเมริกันรุ่นผู้ใหญ่หรือกลางคนเวลานี้ ติเตียนบ่นรำพึงรำพันว่า หนุ่มสาวอเมริกันยุคใหม่ อ่อนแอ สำรวย ใจเสาะ เปราะบาง ไม่สู้งาน และพากันหวั่นใจว่าประเทศของเขากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จริยธรรมในการทำงานกำลังเสื่อมลงๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 1990 – 1995 (พ.ศ. ๒๕๓๓–๒๕๓๘) มีหนังสือที่บ่นว่าและวิเคราะห์สภาพนี้ออกมามาก ทั้งงานเขียนทั่วไปและงานวิจัย ถ้าใครสนใจอาจหาอ่านจากตัวอย่างเช่น Why America Doesn’t Work (Chuck Colson and Jack Eckerd, 1991) Crisis in American Institutions (Jerome H. Skolnick and Elliot Currie, 1991) America at Century’s End (Alan Wolfe, ed., 1991) Taking Back America (M.W. Haga, 1995) เป็นต้น
ความจริง ที่ว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่เกียจคร้านเฉื่อยชานั้น ก็ว่าโดยเปรียบเทียบในสายตาของคนรุ่นเก่ากว่า แต่ลักษณะนิสัยของชนชาตินี้ที่ปลูกฝังกันมายาวนานหลายร้อยปีในยุคบุกฝ่าหาที่ทำกิน และมุ่งหน้าไปในการผลิต ก็ยังส่งอิทธิพลอยู่มาก นอกจากนั้น วิถีชีวิตของเขาที่ตัวใครตัวมัน ต้องแข่งขันตลอดเวลา พึ่งกันไม่ค่อยได้ ก็บีบคั้น ทำให้ยังต้องดิ้นรนขวนขวายอาศัยเรี่ยวแรงของตัวเองอยู่ต่อไป เฉื่อยชาได้ยาก
องค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ ทั้งนิสัยบุกฝ่าจากทุนเก่า และวัฒนธรรมตัวใครตัวมันนี้ ก็ส่งผลผ่อนหรือชะลอความเสื่อมในข้อที่ ๒ ด้วย คือแม้จะเกิดความฟุ้งเฟ้อมัวเมา ก็ยากที่จะไปได้สุดเหวี่ยง
แม้กระนั้น มองในแง่ข้อ ๒. สังคมอเมริกันยุคบริโภคนิยมก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ความระเริงในกาม และปัญหาทางเพศเกลื่อนกลาด ส่งผลมาถึงปัญหาครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกสลาย นอกจากปัญหาการหย่าร้างและปัญหาการทำแท้งแล้ว ปัญหาลูกไม่มีพ่อ มีลูกตั้งแต่เด็ก คือ teenage pregnancy ตลอดจนครอบครัวมีแต่แม่กับลูก เพิ่มมากจนจะกลายเป็นภาวะปกติ ทำให้ครอบครัวที่มีครบพ่อแม่ลูกชักจะกลายเป็นผิดปกติ หรือเป็นอุดมคติไป
พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่งปัญหาทางจิตใจก็มากและรุนแรงขึ้น ความเหงา ความเบื่อหน่าย แปลกแยก โรคประสาท โรคจิต และการฆ่าตัวตาย ที่ติดมาตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม ก็ไม่เบาลง ในยุคอุต-สาหกรรม คนแก่ฆ่าตัวตายมาก เพราะถูกทอดทิ้ง เหงาอ้างว้าง แต่พอพ้นยุคอุตสาหกรรม เป็นสังคมบริโภค เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก เพียงในระยะ ๓๐ ปี สถิติคนอายุ ๑๕–๒๔ ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ๓๐๐% เพราะด้านหนึ่งมีบุคลิกภาพอ่อนแอลง ใจเสาะเปราะบาง และอีกด้านหนึ่ง เอาคุณค่าของชีวิตไปฝากหรือมอบไว้กับความพรั่งพร้อมทางวัตถุและความสำเร็จภายนอก พอผิดหวังหรือเบื่อหน่ายต่อสิ่งเหล่านั้น ชีวิตก็พลอยหมดความหมายไปด้วย
ปมปัญหาสำคัญที่เด่นมากของยุคนี้ คือ ความเครียด ซึ่งได้กลายเป็นสภาพจิตใจของคนสมัยปัจจุบัน ที่จริงนั้น ความเครียดนี้มีมานานแล้วในยุคอุตสาหกรรมของตะวันตก แต่ในยุคก่อนนี้ คนมีความหวังผลที่จะได้จากการบุกฝ่าเป็นตัวช่วยดุลไว้อีกด้านหนึ่ง คือ ความเครียดกลายเป็นแรงอัดกดดันให้คนยิ่งมีกำลังดิ้นรนต่อสู้มุ่งไปหาผลที่หมายว่าจะเป็นที่หลุดโล่งโปร่งสบายข้างหน้า ในยุคนั้นความเครียดแม้จะเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นกุญแจสำคัญที่บันดาลความสำเร็จ แต่มาถึงยุคนี้ คนเหมือนถึงจุดหมายแล้ว เมื่อถูกแรงอัดของความเครียดบีบกด ก็ไม่มีเป้าที่จะดันให้พุ่งต่อไปข้างหน้า ความเครียดจึงกลายเป็นภาวะว้าวุ่นอัดอั้นกดดันอยู่ภายใน แล้วระเบิดออกมาเป็นโรคทางกายบ้าง เป็นโรคทางจิตบ้าง หรือไม่ก็ระบายออกมาทางสังคมเป็นปัญหาในรูปแบบต่างๆ
ทางออกอย่างหนึ่งของคนเหล่านี้ คือการหันไปพึ่งยาเสพติด ซึ่งนอกจากกล่อมใจให้ลืมความทุกข์แล้ว ก็เป็นช่องทางที่จะเข้าถึงความสุข ที่เหนือกว่าสิ่งเสพบริโภคทั่วไปที่ชักจะจำเจ ชินชา และบางทีกลายเป็นน่าเบื่อหน่าย ทำให้ยาเสพติดกลายเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งของยุคปัจจุบัน
สื่อและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในยุคสังคมบริโภคก็มาสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีสภาพจิตอย่างนี้ ให้เพลิดเพลินหลงระเริง และระบายอารมณ์กับเรื่องรุนแรง และการโฆษณาปลุกเร้าความโลภและตัณหา
ปัญหาความรุนแรงได้แพร่ระบาดและขยายลงมาจนถึงเด็กนักเรียนชั้นประถม มีกรณีเกิดบ่อยขึ้นๆ ที่เด็กนักเรียนเอาปืนไปยิงเพื่อนนักเรียนและครูที่โรงเรียน การฆ่ากันตายมีสถิติสูงขึ้น และมีลักษณะพิเศษ คือฆ่าโดยไม่มีสาเหตุ ไม่ได้โกรธเคืองอาฆาตแค้นกัน ทำไปเพียงเพื่อระบายอารมณ์เครียดเป็นต้น ฆ่าโดยไม่มีจุดหมาย เช่นเห็นคนมากๆ ก็ยิงกราดไป ยิงเขาเจ็บหรือตายแล้ว ไม่มีความรู้สึกสะเทือนใจอะไร เฉยๆ หรือกลับสาสมใจ บางทีพากันมามุงดูคนดิ้นตาย และร้องเพลง rap song เพิ่มความสนุกขึ้นไปอีก
ความจริงนั้น ความย่อหย่อนอ่อนวุฒิภาวะทางจิตใจและทางปัญญา พร้อมทั้งความมุ่งหวังที่เอียงดิ่งไปทางวัตถุข้างเดียว ที่ทำให้มนุษย์วางตัวไม่ถูกต้องและผิดหวังกับความเจริญทางวัตถุนั้น ได้เริ่มปรากฏเป็นปัญหาทางจิตใจและปัญหาทางสังคมมาตั้งแต่ประมาณ ๓๐ ปี ก่อนจบสิ้นยุคอุตสาหกรรมแล้ว คือในช่วง ค.ศ. 1960 – 1970 (ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๓–๒๕๑๓) ซึ่งเป็นระยะที่พอจะมองเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ถ้ามีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมสมบูรณ์แล้ว คนจะมีความสุขสบายขนาดไหน
คนหนุ่มสาวยุคนั้นจำนวนมากมองเห็นว่า ความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุที่สังคมอเมริกันมุ่งมั่นทุ่มเทกำลังแสวงหามาตลอดเวลายาวนานนั้น ไม่ให้ความสมหวัง ไม่เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ให้ความหมายอะไรแก่ชีวิต เขาเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายแปลกแยก
เมื่อเบื่อหน่ายความเจริญนั้น ก็เบื่อหน่ายวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่รองรับคุณค่าทางวัตถุนั้นด้วย คนหนุ่มสาวยุคนั้นจึงปฏิเสธวิถีชีวิตและค่านิยมของสังคมอเมริกัน มองเห็นว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเขา เอาเวลาและพลังงานของชีวิตไปทุ่มเทให้กับการหาเงินสะสมวัตถุ วุ่นวายกันอยู่แค่นั้น ชีวิตหมดไปเปล่า หาแก่นสารอะไรไม่ได้ และจากการปฏิเสธคุณค่าที่สังคมของเขาเคยยึดถือกันมา ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางหักเหออกไปหลายอย่างตามมา ในลักษณะที่เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมย้อนยุค หรือวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture) ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
ความคิดของหนุ่มสาวอเมริกันรุ่นนี้ อยู่ในแนวทางเดียวกันกับนักปราชญ์อเมริกันรุ่นหลังๆ จำนวนมากที่มองคติ frontier ในแง่มุมที่เลวร้าย คติ frontier ที่มักถือกันมาว่าเป็นประวัติอันน่าภูมิใจยิ่ง แห่งการสร้างชาติและหล่อหลอมชีวิตจิตใจอเมริกัน พร้อมทั้งแผ่อารยธรรมไปปลูกฝังให้แก่ดินแดนที่ป่าเถื่อนหรือล้าหลังห่างไกลนั้น ปราชญ์อเมริกันรุ่นนี้กลับมองว่า คติ frontier นั้น ที่แท้ก็คือประวัติหรือเรื่องราวแห่งการรุกรานปราบปราม (a tale of conquest) ซึ่งเต็มไปด้วยการเข่นฆ่าข่มเหงคน แย่งชิงดินแดน ก่อให้เกิดภัยพิบัติและความทุกข์ยากแสนสาหัสแก่คนพื้นเมือง รวมทั้งนำโรคระบาดไปเผยแพร่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชากรพื้นเมืองล้มหายตายลดจำนวนลงไปถึง ๕๐–๖๐% หรือบางคนว่าลดลงถึง ๙๕% ตลอดจนสลายวัฒนธรรม และทำลายธรรมชาติ (เช่น Patricia Limerick, The Legacy of Conquest: The Unbroken Past of the American West, 1988)
อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากรังเกียจอำนาจบังคับควบคุมบังคับบัญชา พวกฮิปปี้จึงรังเกียจความเจริญแบบสมัยใหม่ ซึ่งโยงไปหาเทคโนโลยี ที่ว่าจะเป็นเครื่องมือของอำนาจ และเป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ รวมทั้งคอมพิวเตอร์ด้วย พอดีระยะนี้ความเจริญทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น ได้มาถึงขั้นที่เริ่มกำเนิดคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า mainframe (เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1964 = พ.ศ. ๒๕๐๗) พวกฮิปปี้รังเกียจว่าคอมพิวเตอร์อย่างนี้จะเป็นเครื่องมือรวมศูนย์อำนาจ ที่ควบคุมบังคับกิจการงานของมนุษย์จากศูนย์กลาง
การรังเกียจอำนาจบังคับควบคุมอย่างนี้ มีผลมาถึงความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ด้วย พวกฮิปปี้คิดว่าคนทั้งหลายควรมีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ได้ทั่วกันไม่จำกัดกีดกั้น และข้อมูลข่าวสารควรจะเป็นของฟรี ปรากฏว่าพวกฮิปปี้หลายคนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (personal computer) ขึ้น ซึ่งช่วยให้คนทั่วไปหลุดพ้นจากอำนาจรวมศูนย์ของคอมพิวเตอร์แบบ mainframe (หนังสือพิมพ์ Time ฉบับฤดูใบไม้ผลิ 1995 = พ.ศ. ๒๕๓๘ ถึงกับทำเป็นฉบับพิเศษ “Welcome to Cyberspace” ลงเรื่องเอกของฉบับ ชื่อ “We Owe It All to the Hippies” ว่าการปฏิวัติด้านคอมพิวเตอร์ (computer revolution) นี้ พวกเราเป็นหนี้พวกฮิปปี้ทั้งนั้น)
ชนชาติอเมริกันนั้นยึดโยงกันอยู่ด้วยแนวคิดคตินิยมอุดมการณ์ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับดินแดนหรือเผ่าพันธุ์ของคน ดังที่บุคคลสำคัญของเขาชอบพูดหรือคอยเตือนกันอยู่ เช่นที่นาย Newt Gingrich อดีตประธานรัฐสภาอเมริกัน เขียนไว้ใน To Renew America (p.30) ว่า
“อเมริกาเป็นมโนทัศน์ (idea) เป็นอารยธรรมที่มีมโนทัศน์เป็นฐานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ การที่จะเป็นคนอเมริกันก็คือการสวมรับเอาค่านิยมและชีวนิสัยที่ได้รุ่งเรืองบนพื้นทวีปนี้มาเกือบ ๔๐๐ ปี แล้ว…”
หรือล่าสุด อย่างที่ประธานาธิบดีบุชกล่าวในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง (inaugural addresss - 20 ม.ค. 2001 = พ.ศ. ๒๕๔๔) ว่า
“อเมริกาไม่เคยเป็นเอกภาพโดยสายเลือด โดยชาติกำเนิด หรือโดยผืนแผ่นดิน เราผูกพันกันด้วยอุดมคติทั้งหลาย…เด็กทุกคนจะต้องได้รับการสั่งสอนให้รู้หลักการเหล่านี้ พลเมืองทุกคนจะต้องเชิดชูหลักการเหล่านี้ และด้วยการสมาทานอุดมคติเหล่านี้ ผู้ที่อพยพเข้ามาทุกคน ก็ทำให้ประเทศของเรายิ่งเป็นอเมริกามากขึ้น หาได้น้อยลงไม่”
แนวคิด ค่านิยม อุดมคติ และวิถีชีวิตที่ทำให้เป็นอเมริกันนี้ จึงเป็นเหมือนเบ้าที่หลอมรวมคนต่างผิว ต่างเผ่า ต่างพรรณ ต่างวัฒนธรรม ซึ่งอพยพมาจากดินแดนต่างๆ ให้เป็นอันเดียวกัน คนอเมริกันจึงภูมิใจนักในคติที่ว่า อเมริกาเป็น “เบ้าหลอม” ที่เขาใช้คำว่า “melting pot” ซึ่งมีความหมายตรงกับคติที่ใช้เป็นทางการคือคำขวัญของชาติ (national motto) บนตราแผ่นดินของอเมริกาว่า “E pluribus unum” (จากหลายกลายเป็นหนึ่ง) หรือตามคำปฏิญาณธงแสดงความจงรักภักดีต่อประเทศอเมริกา (Pledge of Allegiance) ที่คนอเมริกันกล่าวเคารพธงชาติในพิธีสำคัญ และเด็กอเมริกันว่ากันในชั้นเรียนทั่วประเทศว่า อเมริกาเป็น “…one Nation under God…” (ชนชาติหนึ่งเดียวภายใต้องค์พระเป็นเจ้า) อย่างนี้เป็นต้น
พร้อมกันนั้น เนื่องจากภูมิหลังที่เต็มไปด้วยการข่มเหงรังแก ดิ้นรนต่อสู้ และสงครามเข่นฆ่าแย่งชิงกัน พร้อมทั้งวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน (individualism) และการมุ่งหน้าแข่งขันกัน (competition) โดยที่ทุกคนมุ่งหาและใช้โอกาส (opportunity) ให้ตนเหนือกว่า เพื่อสร้างความสำเร็จ (success) ของตน จึงเป็นเหตุบังคับและเรียกร้องให้ต้องสร้างกฎกติกาขึ้นมาเป็นเครื่องมือ และต้องยึดถือกฎหมายเป็นมาตรฐาน ต้องมีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่กันด้วยหลักนิติธรรม (the rule of law) เพื่อไม่ให้คนเอารัดเอาเปรียบข่มเหงรังแกกัน คติต่างๆ ที่คนนับถือจะได้มีหลักประกันให้เกิดผลเป็นจริง และดำรงรักษาความมั่นคงของสังคมไว้ได้
รวมความว่า ขณะที่คนอเมริกันมีความเป็นส่วนตัวสูง และพึ่งตนเอง (self-reliance) ต่างคนต่างต้องระวังคอยปกป้องพิทักษ์สิทธิของตนเอง ในการบุกฝ่าไปเพื่อใช้โอกาสสร้างความสำเร็จตามความใฝ่ฝันแบบอเมริกัน (American dream) ที่จะมีจะเป็นจะเด่นจะสูงนั้น เขาก็มีคติเบ้าหลอม หรือ melting pot และคติแห่งนิติธรรมหรือการอยู่กันด้วยกฎหมายกฎเกณฑ์กติกาคือ the rule of law นี้ เป็นเครื่องยึดโยงและเป็นหลักประกันทางสังคม
อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมอเมริกันก้าวมาถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ คือมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสะดวกสบายทางวัตถุ จบสิ้นยุคอุตสาห-กรรม กลายเป็นสังคมบริโภคแล้ว พลังพุ่งมุ่งไปหาจุดหมายอ่อนเบาลง นอกจากปัญหาทางจิตใจที่กล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่เป็นเงื่อนเป็นปมซ่อนและค้างคาอยู่ก็ผุดโผล่ออกมา กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนและสังคมอเมริกันว้าวุ่นสับสน
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คือ คติเบ้าหลอม หรือ melting pot ที่ชื่นชมกันนักนั้น ปรากฏว่าหลอมคนไม่ได้จริง คนอเมริกันเข้ากันไม่ได้จริง ไม่สนิท ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระยะไม่นานนี้ คนผิวดำเริ่มเรียกร้องลึกเข้ามาแม้แต่ในด้านการศึกษาว่า หลักสูตรการศึกษายกย่องแต่คนผิวขาวว่าได้สร้างชาติอเมริกันมา แต่ที่จริงคนผิวดำก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสังคมอเมริกันเช่นเดียวกัน จะต้องเพิ่มในหลักสูตรการศึกษาให้มีเรื่องของคนผิวดำมากขึ้น ดังนี้เป็นต้น
ในระยะนี้ คนอเมริกันยอมรับกันแล้วว่า เบ้าหลอมหรือหม้อต้ม (melting pot) แตกแล้ว สังคมอเมริกันเป็นได้แค่ American mosaic คือ เป็นเหมือนโมเสค ที่ประกอบด้วยกระเบื้องต่างสีหลากหลายมาประกอบกัน หรือไม่ก็เป็นเพียงชามสลัด (salad bowl) ที่ผักผลไม้นานาชนิดคลุกเคล้าปะปนกัน คติพหุวัฒนธรรม (multiculturalism) คือการที่คนมาอยู่ร่วมสังคมโดยแต่ละกลุ่มละพวกยังคงวิถีชีวิตของตนไว้ เป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม คตินี้กำลังเข้ามาแทนที่คติเบ้าหลอม
ลึกลงไป การที่สังคมอเมริกันหลอมรวมคนไม่สำเร็จ ก็เพราะความสุดโต่งไปข้างเดียว ที่เอาแต่ยึดมั่นในคติแห่งนิติธรรม (the rule of law) ซึ่งแม้จะเป็นจุดแข็งที่เป็นข้อดีของสังคมอเมริกา แต่เป็นเพียงด้านเดียวของอารยธรรม รวมคนได้เพียงชั้นนอกแค่ระดับสังคม ถึงแม้อเมริกาจะตรากฎหมายออกมาสร้างหลักประกันในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในแง่มุมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกผิวระหว่างคนขาวกับคนดำ แต่ไม่มีหลักและวิธีการในการสมานจิตใจ ผลรวมของคติ the rule of law ในเรื่องนี้ ก็เป็นอย่างที่ผู้รู้ของสังคมอเมริกันพูดว่า ช่องว่างแห่งความแตกแยกระหว่างผิวในสังคมอเมริกันยิ่งขยายกว้างห่างกันออกไป
คนชั้นนำและนักคิดนักเขียนในอเมริกามองเห็นว่า สังคมอเมริกันมาถึงภาวะวิกฤติ แม้ว่าวัฒนธรรมอเมริกันจะเข้มแข็งเด่นนำและกำลังเข้าครอบงำดูดกลืนวัฒนธรรมอื่นๆ จำนวนมาก จนทำให้วัฒนธรรมบางแห่งสูญสิ้นไป แต่ในอเมริกาเอง วัฒนธรรมของตนกลับเสื่อมโทรม ไม่เป็นที่พอใจของผู้ห่วงใยประเทศของเขา อย่างที่นายวิลเลี่ยม เจ. เบนเนตต์ อดีต รมว.กระทรวงศึกษาธิการ สหรัฐ เขียนไว้ (William J. Bennett, The De-Valuing of America, 1992, pp.11 - 13) ว่า
“อเมริกาเข้าสู่สงครามทางวัฒนธรรมที่กำลังเดินหน้าไปและเข้มข้นยิ่งขึ้น”
หรืออย่างที่นายนิวท์ กิงกริช อดีตประธานรัฐสภาสหรัฐเขียนไว้ (Newt Gingrich, To Renew America, 1995, pp.25 - 31) ว่า
“คนอเมริกันปัจจุบันนี้ เป็นคนรุ่นแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ต้องเผชิญกับการท้าทายของความเสื่อมโทรมศีลธรรมจากภายในตัวเอง มีสภาพวิกฤติที่แท้ขึ้นในการศึกษาและในชีวิตของประชาชน เป็นปัญหาขึ้นมาว่า อเมริกันเรานี้เป็นอารยธรรมจริงหรือเปล่า และมีอะไรบ้างหรือไม่ในอดีตของอเมริกาที่มีคุณค่าควรแก่การถ่ายทอดสืบต่อไป”
ไม่ต้องพูดถึงปัญหาความแบ่งแยกแตกกันระหว่างคนต่างผิว และปัญหายาเสพติดเป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างก็เป็นเรื่องใหญ่ร้ายแรงอยู่แล้ว เอาแค่ปัญหาครอบครัวแตกสลาย เด็กหญิงอายุเพียง ๑๒ – ๑๓ ขวบมีลูกกันมากมาย ครอบครัวที่มีแต่พ่อหรือมีแต่แม่ และเหย้าเรือนที่ไม่เป็นครอบครัว มีมากขึ้น เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายในช่วงเวลา ๓๐ ปี เพิ่มขึ้น ๓๐๐% เด็กตั้งแต่ชั้นประถม เอาปืนไปยิงกราดเพื่อนนักเรียนและครูที่โรงเรียน เป็นกรณีเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในขณะที่อเมริกาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำพัฒนามากที่สุด กลับมีปัญหาเลวร้ายอย่างนี้มากที่สุด แสดงถึงสภาพชีวิตและสังคมที่ไม่มีความสุข และฟ้องถึงวิถีการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า หรือความสำเร็จที่ไม่พึงปรารถนา หรืออย่างน้อยน่ากังขา ซึ่งชาวอเมริกันเองจะต้องทบทวนตรวจสอบสังคมของตน และชาวโลกควรมองด้วยความรู้เท่าทัน ไม่ประมาท
เบื้องหลังสภาพสังคมอเมริกันที่เป็นอยู่นี้ มีเหตุปัจจัยสำคัญที่พอสรุปได้ คือ
ก. ถึงจุดหมาย แต่ไม่ดีอย่างที่หวัง จุดหมายของสังคมอเมริกัน ที่ได้เพียรบุกฝ่าบากบั่นพัฒนาสร้างกันขึ้นมา ตลอดประวัติ ศาสตร์ของชาติประมาณ ๔๐๐ ปี ก็เพื่อให้บรรลุความมั่งคั่งพรั่งพร้อมสมบูรณ์พูนสุขทางวัตถุ แต่เมื่อสังคมบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว
๑) คนจำนวนมากก็ย่อหย่อนอ่อนแอ เฉื่อยชาลง และหันไปลุ่มหลงหมกมุ่นกับการเสพบริโภค ฟุ้งเฟ้อมัวเมา ระเริงในกาม
๒) แต่พร้อมกันนั้น สำหรับคนอีกไม่น้อย ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมนั้นก็ไม่ดีไม่เลิศอย่างที่ฝันไว้ ไม่ช่วยให้มีความสุขจริงอย่างที่หวัง ไม่เป็นความหมายที่แท้แก่ชีวิต หนำซ้ำยังมีผลร้ายที่พ่วงมา ซึ่งเกิดจากการสร้างความเจริญพรั่งพร้อมนั้นเอง เช่น ธรรมชาติแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง จึงมีอาการแสดงออกต่างๆ ที่เป็นปฏิกิริยาให้เห็นความผิดหวัง เช่นความเบื่อหน่าย การแสวงหาทางออกใหม่ เช่น ไปทางจิตใจ
ข. ยังต้องดิ้น ทั้งที่จบสิ้นไม่มีที่จะดิ้นต่อไป ในยุคแห่งการบุกฝ่าก้าวไปหาจุดหมายที่ยาวนานนั้น คนอเมริกันนอกจากต้องผจญกับความลำบากยากแค้นของสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ และภัยอันตรายจากการต่อสู้ ทั้งกับคนที่ตนถือว่าป่าเถื่อน และพวกที่เจริญ แต่มาเสี่ยงภัยแสวงหาโชคลาภเช่นเดียวกับตนแล้ว สังคมของเขาเองก็ได้สร้างระบบแบบแผนและวิถีชีวิตที่เร่งรัดบีบคั้นบุคคลให้ต้องดิ้นรนต่อสู้มุ่งไปข้างหน้า และตื่นตัวตลอดเวลาด้วย เช่นลัทธิตัวใครตัวมัน ระบบแข่งขัน คติใครดีใครอยู่ และการอยู่กันด้วยกฎกติกา เป็นต้น อย่างที่กล่าวแล้ว
สภาพของสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม และวิถีชีวิตแบบนี้ เป็นเหมือนแรงอัดหรือภาวะเครียดที่กดดันให้คนต้องวิ่งแล่นเร่งรุดไป ความเครียดกดดันนั้นทำให้ยิ่งมีพลังในการบุกฝ่ามากขึ้น เพราะการวิ่งแล่นเร่งรุดบุกไปนั้นเป็นการผ่อนคลายระบายความเครียดความกดดันออกไป
แต่เมื่อถึงจุดหมาย เหมือนกับไม่มีที่หรือทางที่จะเร่งรุดบุกฝ่าต่อไปแล้ว วิถีชีวิตที่สะสมสร้างกันมาก็ยังคงเป็นระบบที่บีบคั้นเร่งรัดกดดันให้เครียดอยู่อย่างเดิม เมื่อไม่มีช่องทางที่จะคลายระบายออกไป แรงบีบอัดและความเครียดนั้นก็ก่อผลร้าย เหมือนไอน้ำหรือแก๊สที่ระบายออกไม่ได้ ก็ปั่นป่วนกลัดกลุ้มอยู่ข้างใน หรือไม่ก็ระเบิดออกมา ความเครียดของยุคปัจจุบันจึงก่อปัญหาทางจิตใจ โรคจิต และการระบายออกเป็นปัญหาสังคมในรูปแบบต่างๆ
ค. ตั้งจุดหมายไว้ชั้นเดียว ขึ้นไปได้สุดทางแล้ว ก็วนเวียนติดตันหรือถอยลง อย่างที่กล่าวแล้วว่า สังคมอเมริกันได้ระดมทุ่มเทเรี่ยวแรงกำลังกายกำลังความคิดจิตใจพากเพียรบุกฝ่ามุ่งไปหาและสร้างสรรค์ด้านวัตถุให้มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม และได้สะสมพลังพุ่งมาในทางของจุดหมายนี้ เป็นเวลายาวนาน ซึ่งเป็นข้อดีของสังคมอเมริกันในการสร้างลักษณะนิสัยบางอย่าง แต่จุดหมายที่มุ่งนั้นอยู่ในขั้นของวัตถุหรือรูปธรรมเท่านั้น เป็นจุดหมายชั้นเดียว เมื่อบรรลุจุดหมายทางวัตถุแล้วก็ไม่มีจุดหมายขั้นจิตใจและระดับปัญญาที่จะมุ่งหน้าต่อไป
ขอให้ดูอุดมคติ 4 อย่างซึ่งบางทีถือว่าจะต้องรู้จึงจะเข้าใจชาติอเมริกัน อุดมคติข้อแรกคือ คติหรืออุดมคติบุกฝ่าพรมแดน (ideal of the frontier) ก็เป็นคติด้านวัตถุชัดเจนอยู่แล้ว ข้อต่อไป อุดมคติแห่งอิสรเสรีภาพ (ideal of freedom) ก็มุ่งที่เสรีภาพด้านรูปธรรม เกี่ยวกับโอกาสในการแสวงหาวัตถุและเสรีภาพทางสังคม ข้อที่สาม อุดมคติแห่งความก้าวหน้า (ideal of progress) ก็เน้นชัดในแง่ความเจริญก้าวหน้าในการสร้างความสำเร็จทางวัตถุ ทางวิชาการ และการที่จะเอาชนะและจัดการกับธรรมชาติ ข้อสุดท้าย อุดมคติแห่งประชาธิปไตย (ideal of democracy) ก็เป็นเรื่องทางสังคม และเกี่ยวกับโอกาสที่เป็นรูปธรรม
อาจจะพูดว่าสังคมอเมริกันก็มีจุดหมายทางปัญญา ซึ่งก็แน่ นอนละ มิฉะนั้นจะเจริญก้าวหน้ามาไม่ได้ แต่จุดหมายทางปัญญาของอเมริกัน ก็มาเน้นที่ด้านวัตถุอีก คือ การที่จะค้นหาล้วงเอาความลับของธรรมชาติ มาจัดการกับธรรมชาติให้ได้ผล ส่วนจุดหมายทางจิตใจเขาก็มี แต่ก็อยู่ในระดับที่เนื่องด้วยวัตถุหรือเรื่องรูปธรรมเป็นหลัก เช่นเรื่องศิลปะเป็นต้น แต่ด้านจิตใจแท้ๆ และปัญญาเกี่ยวกับนามธรรม แม้แต่ในแบบเดิมของสังคมตะวันตกคือเรื่องทางศาสนา ก็พูดได้รวมๆ กว้างๆ ว่าชาวตะวันตกได้ละทิ้งหันหลังให้มานานแล้ว
พูดได้ว่า สังคมอเมริกัน (และสังคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย) เป็นสังคมที่เอาความพรั่งพร้อมทางวัตถุหรือเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย เมื่อวางจุดหมายไว้ในขั้นวัตถุเพียงอย่างเดียว ครั้นถึงจุดหมายนั้นแล้ว ไม่มีเป้าหมายที่จะไปต่อ ก็เคว้งคว้างวนเวียนติดตัน ถ้าตั้งจุดหมายขั้นต่อไปให้ชัดไม่ได้ คนอเมริกันก็จะต้องจมอยู่กับปัญหาที่พูดแล้วในข้อที่ ๑ และ ๒ และสังคมก็จะต้องเสื่อมลงไป
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นว่า การที่คนอเมริกันได้สะสมอุปนิสัยแห่งความมุ่งมั่นบุกฝ่ามายาวนาน แม้จะถึงยุคที่อ่อนล้าเฉื่อยชาลง แต่พลังที่สะสมมาแต่เดิมก็อาจจะช่วยเขาไว้ ทำให้เกิดผลที่ว่า เมื่อพูดโดยเปรียบเทียบกับสังคมที่สุขสบายมาเป็นพื้น เขาก็จะไม่อ่อนแอเหลือเกินนัก และพลังแห่งความเข้มแข็งนั้นก็อาจจะยับยั้งไม่ให้เขาถลำจมลงไปในปลักแห่งความลุ่มหลงมัวเมามากนัก หรือนานเกินไปนัก
อีกด้านหนึ่งที่พูดแล้วคือ มีพรมแดนใหม่ที่เขายังหวังจะบุกฝ่าต่อไปอีก คือพรมแดนแห่งอวกาศ (space frontier) แม้ว่าการบุกฝ่าพรมแดนด้านนี้ จะกระตุ้นเร้าความตื่นเต้นคึกคักอยู่ได้ไม่นานก็เบาลง แล้วความสนใจก็อยู่ในวงจำกัด แต่มีพรมแดนใหม่อีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไปทั้งหมด คือพรมแดนแห่งการสื่อสารอวกาศ หรือความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเรียกให้คู่กับ space frontier เป็น cyberspace frontier ซึ่งมาเร้าใจคนอเมริกันยุคปัจจุบันให้ฟันฝ่าต่อไป และพรมแดนอวกาศ ๒ อย่างนี้ ก็มาโยงกันอย่างดีกับแนวคิดแผ่ขยายความยิ่งใหญ่ ก้าวไปในความเป็นผู้นำของโลก และการรักษาผลประโยชน์ของชาติอเมริกัน
อย่างไรก็ดี การบุกฝ่าก้าวหน้าไปในแดน cyberspace นี้ มีลักษณะต่างจากการบุกฝ่าหาที่ทำกินในอดีต ที่เป็นเรื่องของทุกคนลงไปถึงชาวบ้านพร้อมกัน แต่การบุกฝ่าใน cyberspace เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญพิเศษบางกลุ่มบางพวก ส่วนคนทั่วไปเป็นผู้ได้รับผล และบางทีเอาไปหนุนความฟุ้งเฟ้อหมกมุ่นมัวเมาและความเสื่อมโทรมของมนุษย์ที่บรรลุจุดหมายแห่งความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุแล้ว และติดจม ไม่มีที่จะมุ่งหน้าต่อไป จึงเป็นความเจริญก้าวหน้าที่มีความขัดแย้งในตัว
การบุกฝ่าและความตื่นเต้นเร้าใจของ cyberspace นี้ อาจจะซู่ซ่าไปได้อีกระยะหนึ่ง แล้วสังคมอเมริกันและสังคมที่เดินตามเขา ก็จะต้องถึงจุดตันหรือหักเหใหม่อีกว่า จะว้าวุ่นสับสนจมถอยลงไป หรือหาทางไปข้างหน้าเพื่อจุดหมายทางจิตใจและทางปัญญา
ได้พูดเรื่องอเมริกามายืดยาวเกินไปหน่อย ทั้งที่ตั้งใจสรุปให้สั้น แต่ก็ค่อนข้างจำเป็นว่าจะให้สั้นนักไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องห่างไกลตัว ไม่พูดให้เพียงพอก็จะไม่เข้าใจ
ทีนี้ก็หันกลับมาพูดถึงสังคมไทยของเรา ซึ่งที่จริงมีอดีตยาวนานกว่าอเมริกามาก แต่มีประวัติศาสตร์ที่นับว่าราบรื่น มีเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงไม่มาก แม้จะมีเหตุการเมืองวุ่นวายเป็นครั้งคราว ก็จำกัดอยู่แต่ในเมืองหลวงแทบทั้งสิ้น นานนักหนาจะมีทัพพม่าหรือต่างชาติอื่นผ่านมาสักครั้ง หลายถิ่นก็ไม่เคยพบเห็นเลย คนส่วนใหญ่อยู่สงบสุขสบายสืบกันมาในถิ่นของตนๆ ชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า มิใช่เป็นดินแดนแห่งการผจญทุกข์เผชิญภัยเคลื่อนขยายย้ายไปเรื่อยๆ อย่างอเมริกา อีกทั้งเป็นบรรยากาศที่อยู่รอบตัวเรา ถึงแม้จะไม่รู้ลำดับเรื่องราวมากนัก พูดจี้จุดขึ้นมาก็มองเห็นภาพได้ง่ายกว่า ดังนั้นในตอนว่าด้วยสังคมไทย จึงจะไม่พูดให้ยืดยาว
ได้กล่าวแล้วว่า คติที่แสดงภูมิลักษณ์ของไทย ซึ่งคนไทยพูดสืบกันมายาวนาน ด้วยความภูมิใจอย่างมากว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” นั้น แสดงถึงภาวะจิตและวิถีชีวิตที่เหมือนตรงข้ามกับคติบุกฝ่าพรมแดน หรือ frontier ของอเมริกันเลยทีเดียว
ขณะที่คติอเมริกันบอกว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ดี ยังไม่มี ต้องไปหามื้อใหม่ข้างหน้า แต่คติไทยบอกว่า ที่นี่ดี เดี๋ยวนี้มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปไหน หรือไม่อยากไปไหน หรืออาจจะถึงกับว่าไม่ยอมไปไหน
จากท่าทีของจิตใจในด้านเทศะว่าไม่ต้องไปไหน ก็พ่วงมาด้วยท่าทีในด้านกาละว่า เมื่อไรก็ได้ หรือพรุ่งนี้-เดือนหน้า-ปีหน้าก็ได้ เพราะในความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่นั้น ก็มีสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่เอื้ออำนวย ไม่บีบคั้น เมื่อไรๆ ก็เหมือนๆ กัน เช่นบ้านเรือนข้างฝาผุแตก อเมริกันพูดว่า ต้องซ่อมก่อนถึงฤดูหนาวปีนี้ แต่คนไทยอาจพูดว่า เอาไว้ซ่อมปีหน้าก็ได้
พร้อมกันนั้น ในทางสังคม คนที่อยู่ร่วมกัน เมื่อรอบตัวมีกินมีใช้อุดมสมบูรณ์ ก็ไม่เป็นเหตุบีบคั้นให้ต้องระวังระแวงแย่งชิงกันมาก แต่สามารถเอื้อเผื่อแผ่แก่กัน และไม่ค่อยถือสาเพ่งจ้องกันในเรื่องสิทธิ จึงมักพูดว่า “ไม่เป็นไร” ในขณะที่อเมริกันเป็นสังคมแห่งการปกป้องพิทักษ์สิทธิของตัว อย่าล้ำเส้นกัน “ซู (sue) มันซะเลย”
ในเมืองไทย คุณหมอรักษาผิดพลาดไป คนไข้ตาย ญาติทั้งหลายทั้งที่แสนจะเศร้าเสียใจ บอกคุณหมอว่าคุณหมอมีเมตตา ไม่ได้ตั้งใจหรอก ไม่เป็นไร แต่ในอเมริกา ถ้าหมอพลาด คนไข้ตาย ญาติอาจจะไม่เศร้ามากเท่าไร หมอจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจฉันไม่รู้ด้วย ญาติจะซู (sue=ฟ้องเรียกค่าเสียหาย) ก็แล้วกัน
แต่ก็อย่างที่ว่า มนุษย์ปุถุชนนั้น เมื่ออยู่สุขสบาย มีกินมีใช้พรั่งพร้อม ไม่มีอะไรบีบคั้นเร่งรัดให้ต้องรีบไปทำ ก็มีความโน้มเอียงที่จะ
1. เฉื่อยชา ผัดเพี้ยน เรื่อยเปื่อย ย่อหย่อน อ่อนแอ ปล่อยปละละเลย
2. สำรวย ฟุ้งเฟ้อ ลุ่มหลง หมกมุ่น มัวเมา ระเริงในกามและอามิส
สังคมที่มีวัตถุมั่งคั่งพรั่งพร้อม ไม่มีความบีบรัดทางเศรษฐกิจ จึงเสี่ยงต่อความเสื่อม ดังจะเห็นได้ว่า อารยธรรมมากมาย เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแล้ว ก็เสื่อมทรามและร่วงหล่นลงสู่ความวิบัติพินาศ เนื่องจากอาการของความสุขสำราญที่พ่วงมาสองอย่างนั้น
ดังนั้น สังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ จะต้องจัดวางระบบอันมั่นคงรัดกุม ที่จะป้องกันไม่ให้คนย่อหย่อนอ่อนแอประมาทมัวเมา และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ต้องมีจุดหมาย ที่ทำให้มองเห็นทางที่จะมุ่งหน้าไปเอาหรือไปถึงต่อไป
ศักยภาพของมนุษย์นั้น มิใช่อยู่แค่ทำให้มีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมที่จะบำรุงบำเรอร่างกาย แล้วก็หมกจมอยู่แค่นั้น การมีวัตถุอุปกรณ์พรั่งพร้อมและภาวะทางกายที่คล่องสบายนั้น เป็นเพียงฐานหรือการตระเตรียมตัวให้พร้อมที่จะก้าวต่อไปสู่จุดหมายที่แท้จริงแห่งศักยภาพของมนุษย์ จุดหมายสูงกว่าที่จะก้าวหน้าไปให้ถึงนั้น คือจุดหมายทางจิตใจและจุดหมายทางปัญญา แต่ถ้าไม่มีและมองไม่เห็นก็ต้องวนเวียนและติดจมอยู่กับกองวัตถุที่เตรียมมาไว้เป็นฐานนั้น และทำลายศักยภาพของมนุษย์ให้สูญไปเสียเปล่า
สังคมไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางวัตถุเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ได้มีท่าทีและแนวทางปฏิบัติต่อสภาพนี้อย่างไร คงจะพอมองเห็นได้จากถ้อยคำที่แสดงคติและค่านิยม ที่สังคมได้ยึดถือกันมาเป็นหลัก หรือเชิดชูเด่นอยู่ในชีวิตจิตใจ
ขอพูดอย่างรวบรัดว่า มีคำไทย ๒ คำที่แสดงคตินิยมและวิถีชีวิตของคนไทยได้นับว่าชัดเจน คือ คำว่า “สนุก” และคำว่า “บุญ”
“สนุก” เป็นอาการของความรื่นเริงพอใจและเสวยผลแห่งความพรั่งพร้อมสุขสบาย ทางวัตถุและทางสังคม คือความพึงพอใจร่าเริงร่วมกัน
สังคมที่อุดมสมบูรณ์อยู่สุขสบาย จะไม่ค่อยมีเรื่องราวให้ตระหนกตกใจ และภัยอันตรายให้ตื่นเต้นบ่อยนัก จึงเป็นสังคมที่ค่อนข้างเฉื่อยๆ เรื่อยๆ เรียบๆ มีความสนุกบันเทิงใจที่ไม่เป็นแบบปฏิกิริยาให้กรี๊ดกราด หรือลิงโลดสุดขีดแบบผจญภัย
ความสนุกเป็นจุดต่อระหว่างความร่าเริงบันเทิงพอใจต่อวัตถุ และสถานการณ์ที่ประสบ กับการที่จะเลยเถิดออกไปเป็นความละเลย ไม่รับผิดชอบและความมัวเมาหลงละเลิง
พร้อมกับความสนุกซึ่งเป็นอาการแสดงออกด้านรูปธรรม คนไทยมีคำว่า “บุญ” เป็นหลักเชิดชูทางนามธรรม เป็นทั้งความหวัง และใฝ่นิยมทางจิตใจ “บุญ” นี่แหละเป็นจุดหมายที่คนไทยมุ่งไปเอา หรือไปให้ถึง “บุญ” เชื่อมโยงลงไปถึง “กรรม” และ “ธรรม” ที่เป็นฐานลึกลงไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็หวังจะได้บุญ และบุญนี้มาประสานเข้าดุลกับความสนุก ควบคุมความสนุกให้ไม่เลยเถิดไปจนกลายเป็นความลุ่มหลงมัวเมา และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม
“บุญ” เป็นแดนนามธรรมที่กว้างใหญ่ไพศาล ทุกคนสามารถเจริญพัฒนาต่อๆ ยิ่งๆ และสูงๆ ขึ้นไปได้มากมายในแดนแห่งบุญนั้น จะเรียกว่าเป็นพรมแดน หรือ frontier ทางจิตปัญญาก็ได้ แต่เพราะเป็นเรื่องนามธรรม มองไม่เห็นชัดเจน การก้าวหน้าไปในบุญนั้นบางทีจึงเป็นเรื่องยาก มีโอกาสที่จะหลงผิดเข้าใจไขว้เขวได้มาก
เรารู้กันดีว่า คติแห่งบุญนี้มาจากพระพุทธศาสนา เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิตแห่งการศึกษา (ดังที่ต้องรู้กันอยู่แล้วว่า “สิกขา” คือการศึกษาหรือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เป็นเนื้อตัวของพุทธศาสนาภาคปฏิบัติการทั้งหมด) และพระพุทธศาสนาเปิดโอกาสแก่เสรีภาพทางปัญญา คนจะต้องก้าวหน้าไปในความมีชีวิตที่เจริญงอกงามประณีตยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ที่เรียกง่ายๆ ว่าในบุญนั้น บุญจึงไม่เป็นข้อกำหนดบังคับในการเชื่อและปฏิบัติที่ตายตัว ด้วยเหตุนี้ เรื่องบุญนั้นจึงจะต้องมีการทบทวนตรวจสอบหรือเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นไปตลอดเวลา ถ้าขาดสิกขาคือการศึกษาฝึกฝนเรียนรู้แล้ว ความคลาดเคลื่อนพลาดเพี้ยนก็เกิดขึ้นได้ง่าย เช่นเล่าต่อๆ กันมา ทำตามๆ กันมา หรือเหลือเพียงรูปแบบ
น่าเสียดายว่า นักสังคมวิทยาหลายท่าน เมื่อศึกษาคติความเชื่อและถ้อยคำต่างๆ ทางพุทธศาสนาในสังคมไทย ได้ไปสำรวจรวบรวมข้อมูลเพียงจากความเชื่อถือปฏิบัติ และความเข้าใจของชาวบ้าน แล้วเอามาสรุปว่าเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งนอกจากผิดพลาดแล้ว ก็ทำให้เสียประโยชน์ แทนที่จะศึกษาสองด้านมาบรรจบกันว่าหลักที่แท้ของพุทธศาสนาสอนว่าอย่างนี้ ส่วนที่ชาวบ้านยึดถือเชื่อและเข้าใจกันมาว่าอย่างนี้แค่นี้ ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาที่จะให้ได้ความรู้ความเข้าใจถูกต้องตรงตามความจริง และเป็นทางที่จะแก้ไขปรับปรุงพัฒนาคนพัฒนาสังคมให้ได้ผลด้วย
บุญนั้นโดยทั่วไปมีการปฏิบัติ ๒ ด้าน คือ การแก้ไข ละเลิก ดึงให้พ้นขึ้นมาจากบาป และป้องกันห้ามกั้นไว้ไม่ให้ตกจมลงไปในบาปนั้น ด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งคือ การส่งเสริมสนับสนุนกระตุ้นเร้าเตือนให้ไม่ประมาท ในการที่จะก้าวหน้าไปในบุญที่ขยายกว้างขวางและสูงยิ่งขึ้นไป
ในวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมของคนไทย จะเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่ในชีวิตประจำวันที่ความคิดและกิจกรรมทั้งหลายสื่อออกมาผ่านคำว่า “สนุก” กับ “บุญ” ทั้ง “ทำบุญ” “เป็นบุญ” “มีบุญ” “ได้บุญ” และแม้กระทั่ง “เอาบุญ” ไม่ต้องพูดถึงชื่อบุคคล ทั้งหญิงและชาย ที่นิยมให้มีคำว่า “บุญ” รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะมีคำว่า “บุญ” นำหน้า ซึ่งนับไม่ถ้วน
ไปวัดนำอาหารไปถวายพระ ก็ว่าไปทำบุญ ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งแล้วลุกไม่ไหว หนุ่มสาวมาช่วยพยุง ก็ว่าพ่อคุณแม่คุณนึกว่าทำบุญกับคนแก่เถิดนะ ไปช่วยกันขุดบ่อ ทำถนน สร้างสะพาน ซ่อมสาธารณสถาน ก็ว่าเป็นการทำบุญ ได้มาดูมาเห็นสิ่งที่ดีงามน่าชื่นชม ก็ว่าเป็นบุญ เห็นเด็กหน้าตาดีมีผิวพรรณผ่องใสหรือ ทำอะไรสำเร็จ ได้รับการส่งเสริม ก็ว่าเด็กนั้นมีบุญ เห็นสุนัขบาดเจ็บช่วยรักษา ก็ว่าได้บุญ ไปอุ้มแมวออกมาให้พ้นจากโดนสุนัขรุมกัด ก็ว่าได้บุญ เห็นมดเดินมาตกลงไปในตุ่มน้ำ เกิดความสงสาร ใช้ไม้แตะให้มันเกาะขึ้นมา ก็ว่าช่วยไว้เอาบุญ
มองกว้างออกไป กาลเวลาแห่งชีวิตและชุมชมของคนไทยดำเนินไปโดยผ่าน “งาน” ต่างๆ มากมาย และงานเหล่านั้นล้วนเป็นงานบุญ และงานสนุกสนาน ซึ่งตามปกติ ทั้ง บุญ และ สนุก จะมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานโกนผมไฟ งานตัดจุก งานบวชนาค งานแต่งงาน งานเผาศพ งานเทศกาลทุกครั้ง งานประเพณีทุกอย่าง คำว่า “สนุก” กับ “บุญ” จะมีบทบาทสำคัญที่สุด มาด้วยกัน เป็นคู่กัน โดยทำหน้าที่คนละด้านมาประสานกัน
นับเป็นความวิเศษอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ที่สามารถบูรณาการความสนุกกับบุญเข้าด้วยกัน
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น งานสงกรานต์ ทั้งคำว่า สนุก และบุญ จะเด่นทั้งคู่ โอกาสแห่งความสนุกเป็นความหวังที่กระหยิ่มใจของทุกคน โดยเฉพาะหนุ่มสาวและเด็กทั้งหลาย แต่เมื่อนึกถึงสนุกก็มองโอกาสนั้นในแง่บุญด้าย นึกถึงการที่จะได้บำเพ็ญทาน ที่จะทำขนมข้าวของมาเผื่อแผ่แบ่งปันให้แก่กัน แสดงน้ำใจปรารถนาดีต่อครอบครัว ต่อเพื่อนบ้าน ต่อบรรพบุรุษ และผู้ร่วมสังคม ที่จะรักษาศีล แม้จะสนุกอย่างไร ก็ยับยั้งใจไม่มัวเมาและมิให้มีการทำร้ายรังแกละเมิดต่อกัน พร้อมทั้งฟื้นฟูอบรมจิตใจ ได้ทำความดีต่างๆ ที่จะเป็นทุนให้ระลึกขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ปีติสุขต่อเนื่องไปในระยะยาว
ครั้นถึงสมัยปัจจุบัน ที่วิถีชีวิตตามวัฒนธรรมไทยเลือนลางจางลง และคตินิยมบางอย่างเสื่อมหายขาดตอนไป กิจกรรมที่อาศัยประเพณีสืบกันมาหลายอย่าง เหลือแต่รูปแบบ และมีความหมายคลาดเคลื่อนแปรเปลี่ยนเพี้ยนไป เช่น สงกรานต์นั่นแหละ เวลานี้เห็นชัดว่า บุญหายไป แต่ความสนุกเลวร้ายขึ้น
คำว่า บุญ แทบจะเหลือแต่ซาก คนไม่เข้าใจความหมาย ไม่ซาบซึ้ง และไม่ใส่ใจ แม้แต่จะตั้งชื่อก็แทบไม่มีใครนึกจะใช้คำว่าบุญ
ในขณะที่ความสนุกเข้ากันได้กับรสนิยมของสังคมบริโภค จึงมีปรากฏการณ์วันสงกรานต์ที่คนเอามาเป็นโอกาส ใช้ความสนุกเป็นเครื่องสนองความเห็นแก่ตัว ที่จะเสพบริโภค และแสดงความเมามันให้เต็มที่ โดยไม่คำนึงว่าจะก่อความเดือดร้อนเสียหายเบียดเบียนใคร ความคิดคำนึงในทางบุญ ที่จะแสดงน้ำใจเมตตาไมตรี เผื่อแผ่แบ่งปัน บำเพ็ญทาน รักษาศีล เว้นจากการเบียดเบียนทำร้าย และการฟื้นฟูจิตใจ แสวงปัญญา เป็นอันว่าไม่ต้องพูดถึง
“งานวัด” ซึ่งเคยเป็นแหล่งประสาน ที่บูรณาการความสนุกกับบุญได้อย่างดี เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงศักยภาพของสังคมไทย มาบัดนี้ดูเหมือนว่า แม้แต่ที่นั่น ความสนุกกับบุญก็ได้แปลกแยกแตกกระจายกันไปคนละทาง โดยต่างก็มีความหมายแคบเคลื่อนหรือเพี้ยนไป
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเกี่ยวกับความเข้าใจและการปฏิบัติต่อความสนุกและบุญ ซึ่งเป็นคำใหญ่และเป็นคติหลักนี้ เป็นตัวอย่างอันชัดเจน ที่แสดงถึงความเพี้ยน คลาดเคลื่อน เสื่อมสลาย และขาดตอน ของวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน
“บุญ” คือคุณสมบัติที่ทำให้ชีวิตเฟื่องฟูดีงามมีความสุข ซึ่งประกอบด้วยทาน ศีล ภาวนานั้น แยกได้เป็น ๓ ระดับ คือ ระดับพฤติกรรม ระดับจิตใจ และระดับปัญญา ในที่นี้เมื่อพูดถึงระดับนามธรรม ก็คือพูดในขั้นของจิตใจ และปัญญา
ได้บอกแล้วว่า พรมแดนแห่งบุญนั้นกว้างไกลไพศาลมาก คนไทยเราเมื่อพูดถึงบุญ ก็มักมองในระดับจิตใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนามีหลักว่า บุญระดับจิตใจเป็นการเตรียมพื้นฐานที่จะก้าวต่อไปในบุญระดับปัญญา ปัญญานี้เป็นบุญพิเศษที่ทำให้บุญทุกอย่างทุกระดับถูกต้องพอดีและนำชีวิตสู่จุดหมายสูงสุด คือสุขสันติอิสรภาพที่ศักยภาพของมนุษย์จะให้เข้าถึงได้ ถ้าก้าวขึ้นไปได้ถึงขั้นนามธรรม แต่หยุดอยู่แค่บุญระดับจิตใจ ก็วนเวียนและติดจมได้อีกระดับหนึ่ง ไม่โปร่งโล่งทะลุรอดตลอดไปได้
พรมแดนแห่งปัญญานั้น เป็นบุญที่ต้องใช้ความเพียรพยายามและความเข้มแข็งมาก จึงจะก้าวไปได้ คนที่มีพื้นเพแห่งการบุกฝ่าเป็นทุนอยู่ ถ้าหันเข้ามาทางนี้ ก็มีทางที่จะคืบหน้าไปได้อย่างดี ส่วนคนในสังคมที่ขาดพื้นฐานทุนด้านนี้ ก็ต้องหาทางปรับปรุงตัวขึ้นมา
เมื่อว่าโดยรวม สังคมไทยจะได้ก้าวไปในการบุกฝ่าพรมแดนแห่งบุญนี้ไปได้แค่ไหนเพียงไร คงพูดได้ยาก เพราะมีความแตกต่างขึ้นลงตามยุคสมัย แต่ที่ชัดเจนก็คือ “บุญ” เป็นคำชู ที่หัวหน้าหมู่ชน หรือผู้นำ สามารถยกขึ้นมาเอ่ยอ้าง ที่เมื่อพูดขึ้นแล้วก็ซาบซึ้งเข้าไปในส่วนลึกของจิตใจของประชาชน นำใจให้มารวมกัน และมีแรงกำลังที่จะทำกิจกรรมหรือดำเนินกิจการต่างๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
เวลานี้ คำว่า “บุญ” แม้จะยังใช้กันบ้าง แต่ความหมายที่เหลืออยู่ในใจของคนก็พร่ามัว สับสนปนเป หรือแม้กระทั่งเพี้ยนไป น่าเสียดายว่า คติแห่งบุญได้เรียวลงจนแทบจะขาดตอนไปเสียแล้ว
ปัจจุบันในสังคมไทย ผู้นำของหมู่ชนไม่มีคำชู ซึ่งแสดงคติของสังคม ที่จะใช้สื่อใจกับประชาชน ไม่ว่าจะเทียบกับ frontier และ freedom เป็นต้นของอเมริกัน หรือกับบุญของไทยแต่เดิม ข้อนี้คงเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนไทยกระจัดกระจาย ไม่มีกำลัง หรือแม้กระทั่งเคว้งคว้างเลื่อนลอย
แม้บางท่านที่เถียงว่าเรามีอุดมการณ์ “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” ก็ต้องยอบรับความจริงว่า คติหรืออุดมการณ์นี้คนส่วนมากอ้างกันไปอย่างผิวเผิน ไม่กินใจและไม่ค่อยได้ผลจริง เพราะเราไม่สามารถจับตัวแกนที่จะหยั่งลงไปเชื่อมกับคุณค่าทางจิตใจและวัฒนธรรมที่อยู่ลึกลงไป เช่น อย่างน้อยเราไม่สามารถนำสาระของคำว่า “บุญญาธิการ” แห่งองค์พระมหากษัตริย์ มาปรับโยงเข้ากับความหมายที่ประจักษ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน
จะยอมรับหรือไม่ว่า สังคมไทยได้มาถึงภาวะขาดตอนทางวัฒนธรรม และแม้แต่ภูมิหลังด้านสิ่งแวดล้อม คำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แม้จะยังพูดกันอยู่ ก็ไม่สื่อภาวะที่แท้จริงอย่างที่เคยภูมิใจ
ภาวะที่ขาดตอนอย่างนี้ ย่อมเกี่ยวโยงกับการหันไปตามรับกระแสโลกาภิวัตน์ เทิดทูนบริโภคนิยม หลงใหลไปกับการเสพบริโภค นิยมความเป็นเสรีทางกาม โดยเฉพาะก็ตื่นกระแสจากอเมริกานั่นเอง แต่เป็นการรู้และรับจากเขามาได้เพียงส่วนที่เป็นผลและผิวเผิน ไม่เข้าถึงเหตุ ไหลไปตามความรู้สึก เอาแค่ตื่นเต้น ไม่มีความตื่นตัวทางปัญญา
ยิ่งกว่านั้น เมื่อจะเข้าไปในกระแสของเขา พื้นฐานแห่งการเพียรบุกฝ่าเป็นนักผลิตผู้บากบั่นอย่างเขาก็ไม่มี ระบบที่จะบีบให้เข้มแข็งต้องพึ่งตัวเองก็ไม่มี ในสภาพอย่างนี้ ความลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมาระเริงในกามและอามิสก็จะไม่มีเครื่องยับยั้ง ก็จะเข้าสู่ภาวะเสื่อมทรามได้สุดเหวี่ยงสุดขั้วยิ่งกว่าชนชาติต้นกระแสนั้นด้วยซ้ำไป
เวลานี้ คติ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ก็แทบจะกลายเป็นคำแห่งความทรงจำในอดีต ซึ่งจะมัวใช้กล่อมใจกันอยู่ไม่ได้
คนไทยจะต้องรู้ทันเขา และรู้ตัวของเรา แล้วตื่นและลุกขึ้นมา ไม่ปล่อยตัวเหมือนปลาตายที่ไหลไปตามกระแส แต่ต้องตั้งหลักขึ้นมาให้ได้ในท่ามกลางกระแสนั้น มองให้เห็นความเป็นจริงของสถานการณ์ ไม่อยู่แค่ในอาการสนองความรู้สึก แต่ต้องรู้จักคิด และใช้ปัญญาที่ประกอบด้วยความเพียร มุ่งมั่นในการแก้ปัญหา โดยมีจุดหมายที่แน่วแน่ชัดเจน
สังคมไทยได้ตั้งความหวังว่า จะพัฒนาตัวให้เป็นสังคมอุตสาห-กรรม วิถีของสังคมนี้ได้ผลักดันให้ชาวชนบทมากมายต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เข้ามาหาเลี้ยงชีพในกรุงในเมือง และมีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคมเทียมอุตสาหกรรม กำลังคนมีคุณภาพที่จะสร้างสรรค์ชุมชนหายไปจากชนบท แต่กลับเข้ามาเป็นแรงงานด้อยคุณภาพในเมืองในกรุง ทำให้เกิดมีชุมชนใหม่แออัดที่เป็นปัญหาในเมืองในกรุงนั้น เป็นการพัฒนาที่ทำให้ทั้งเมืองและชนบทยิ่งเกิดปัญหา
ในประวัติศาสตร์ของชนชาติอเมริกัน ชีวิตที่เสี่ยงภัยท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์แปลกใหม่ที่คาดหมายยาก ซึ่งทุกคนต้องเผชิญด้วยกัน เป็นเครื่องกระตุ้นเร้าและเค้นให้เกิดคตินิยม จินตนาการ ความใฝ่ฝัน และการตั้งจุดหมายที่ยาวไกล
แต่สำหรับคนไทยชาวชนบทที่จากถิ่นเดิมมาหางานทำในเมือง สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ทั้งหลายไม่มีอะไรแปลกแตกต่าง ห่างไกล และเสี่ยงมากมายอะไร ที่จะปลุกเร้าให้เกิดคติและจุดหมายเช่นนั้น อีกทั้งยังมีคติแห่งความสนุกของตัวที่ติดมาขวางไว้อีกด้วย โดยทำให้สัมผัสสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์เหล่านั้นแบบผ่านๆ ไม่จริงจัง จึงพอจะเห็นได้ว่า คนไทยที่จากถิ่นมาไกลมากมายนั้นไม่มีคติอะไรที่ยึดถือชัดเจนออกมา และไม่มีจุดหมายยาวไกลที่ร่วมกัน แต่ละคนมีเพียงวัตถุประสงค์ในการหาเงินเฉพาะส่วนตัว ส่วนครอบครัว เฉพาะหน้า
นับจาก ๒๐–๓๐ ปี ที่ผ่านมาย้อนหลังไป เมืองไทยเต็มไปด้วยกรรมกร - คนงานชาวจีน เวลาผ่านมาถึงปัจจุบันไม่นานนัก กรรมกรจับกังชาวจีนบัดนี้หาได้ยาก ส่วนมากกรรมกรเหล่านั้นได้เปลี่ยนฐานะขึ้นเป็นเศรษฐีหรือบรรพบุรุษของคนชั้นกลาง ภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก ผู้ที่เข้าครองอาชีพคนงานกรรมกรเวลานี้คือชาวชนบท ที่ออกจากถิ่นมาหากินในเมือง วันที่กรุงเทพฯ เงียบเหงา เปลี่ยนจากตรุษจีนมาเป็นสงกรานต์
แต่ดูเหมือนว่าชาวชนบทที่เข้ามาทำงานในกรุงยุคนี้ จะไม่มีแม้แต่คำติดปาก อย่างที่ได้ยินกันทั่วไปในยุคสร้างเนื้อสร้างตัวของชาวจีนที่ว่า “เสื่อผืนหมอนใบ” ซึ่งแม้จะไม่ถึงขั้นเป็นคติ ก็ยังสื่อความหมายที่เตือนใจแฝงอยู่ด้วยว่า ให้มีความขยันอดทนบากบั่นพากเพียรทำงาน เพื่อความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ในวันหน้า
ไม่ต้องพูดถึงชาวบ้านราษฎรทั่วไป แม้แต่นักศึกษาที่ไปเรียนต่อบัณฑิตศึกษา คือ ปริญญาโท - เอก ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา ก็เห็นได้ว่าไม่มีคติอะไรที่แสดงถึงความมีจุดหมายร่วมและยาวไกลของสังคมไทย
ยิ่งกว่านั้น สังคมไทยได้ก้าวข้ามขั้นตอนของสังคมอุตสาห-กรรมขึ้นไป คือแทนที่จะมีวิถีชีวิตแบบนักผลิตของสังคมอุตสาห-กรรม ก็เลยเถิดไปใช้วิถีชีวิตแบบสังคมบริโภคนิยม ทั้งคนกรุงคนเมืองและคนที่เข้ามาสนองลัทธิบริโภคนิยมในเมืองในกรุงนั้น เหมือนกับสมคบกันซ้ำเติมสังคมของตนให้เสื่อมโทรมเละเทะและอ่อนแอหนักลงไป
ภาวะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ก็จะหมดไป พื้นฐานทางวัฒนธรรมของตนก็ถึงขั้นขาดตอน วัฒนธรรมข้างนอกที่ตนชื่นชม คอยรับคอยตาม ก็มองเห็นแค่เปลือกผิว เข้าไม่ถึงเนื้อตัวที่เป็นทุนรากเหง้าแห่งสังคมของเขา ในภาวะอย่างนี้ ถ้าจะให้สังคมไทยก้าวขึ้นสู่สถานะของผู้นำหรือแม้แต่ทรงตัวอยู่ได้ จะต้องมีคติของชาติด้านการสร้างสรรค์ตั้งแต่การผลิตวัตถุเพิ่มขึ้นมา พร้อมกับฟื้นฟูคติทางนามธรรมที่แสดงจุดหมายทางจิตใจและปัญญาร่วมกันระยะยาว
จะต้องค้นหาและนำเอาศักยภาพของตนขึ้นมาประสานใช้ให้เกิดผลในสภาพปัจจุบันอย่างเป็นตัวของตัวเองให้ได้
การที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม จะต้องมีการปลูกฝังสั่งสมคุณสมบัติต่างๆ ที่เป็นทุนมนุษย์ขั้นพื้นฐาน และมีแนวคิดคติความเชื่อที่จะบ่งชี้จุดหมายและเป็นแนวทางให้เกิดวิถีชีวิตแห่งการสร้างสรรค์ที่มั่นคงยืนยาว
การที่จะพูดง่ายๆ เพียงว่าให้คนมีความโลภจะได้ทำงานหาเงิน หรือเข้าใจเอาง่ายๆ ว่าฝรั่งเจริญก้าวหน้าสร้างเศรษฐกิจมาด้วยความโลภนั้น เป็นความคิดผิวเผิน ซึ่งจะได้ผลจริงก็แต่ในด้านการเพิ่มปัญหาจากการหาทางที่จะได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน เช่น การทุจริต การกู้หนี้ยืมสิน การลักขโมย การขอหวย การพนัน การปั่นตัวเลขในรูปแบบต่างๆ อันล้วนนำสังคมไปสู่ความหลงผิดก้าวพลาด ที่ควรได้บทเรียนกันแล้ว ควรจะศึกษาความเป็นไปของสังคมต่างๆ และเหตุปัจจัยทั้งหลายให้จริงจังและชัดเจน
สังคมอเมริกันนั้นเหมือนกับได้เปรียบในแง่ที่ว่า คนของเขาได้ผ่านอดีตแห่งการตกอยู่ใต้สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์บีบคั้นร่วมกัน ซึ่งชัดเจนและยาวนานเพียงพอที่จะหล่อหลอมให้เกิดอุดมคติแห่งชาติ ที่ช่วยชี้จุดหมายและให้ทิศทางแก่สังคม ครั้นถึงบัดนี้ เมื่อสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์เปลี่ยนไปเหมือนถึงจุดหมายนั้นแล้ว ปัญหาที่เขาต้องประสบจึงเกิดขึ้นว่า จะให้คนอเมริกันรุ่นใหม่ดำรงรักษาคตินิยมและอุดมการณ์ของชาติไว้ได้อย่างไร
ส่วนสังคมไทยนี้ก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบันโดยตกลงไปในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งหมายถึงอิทธิพลวัฒนธรรมวัตถุนิยมแบบตะวันตก โดยเฉพาะของอเมริกัน ที่แผ่ไปครอบคลุมและค่อนข้างครอบงำโลก ในขณะที่อุดมคติซึ่งเป็นสาระแห่งวัฒนธรรมไทยของตนเองอยู่ในภาวะที่ถือได้ว่าขาดตอนไป และสภาพภูมิลักษณ์เดิมของถิ่นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแทบจะหายสิ้นแล้ว ถ้าสังคมไทยจะฟื้นตัวได้ จะต้องฟื้นฟูและสร้างอุดมคติของชาติขึ้นมานำสังคมกันใหม่
แต่สภาพโลกาภิวัตน์ ที่มิใช่เป็นสภาพแวดล้อมและสถานการณ์แท้จริงของตนเอง กำลังแผ่ครอบคลุมสังคมไทย และได้ปกคลุมปิดบังภาวะและสถานการณ์ที่แท้จริงของสังคมของตนเอง ขณะที่คนไทยซึ่งไม่รู้ตัวตระหนักและมองลงไปไม่ถึงภาวะและสถานการณ์ที่แท้จริงของสังคมของตนเอง ได้แต่หลงระเริงอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งทั้งมิใช่เป็นภาวะและสถานการณ์ที่เป็นจริงของตนเอง และมิใช่เป็นสาระแท้ของวัฒนธรรมต้นทางของอเมริกันเป็นต้นนั้น
ในภาวะเช่นนี้ การที่จะรื้อฟื้นหรือสร้างอุดมคติของชาติขึ้นมาย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะทั้งย้อนกระแสและไม่มีปัจจัยเอื้อ
อย่างในเรื่องระบบแข่งขันที่เป็นโลกาภิวัตน์หลักอยู่ขณะนี้ ประสบการณ์ของสังคมอเมริกันมีภูมิหลังที่เต็มไปด้วยการข่มเหงรังแกกัน การบีบคั้นกดดัน การเข่นฆ่าทำสงคราม การขัดแย้งที่รุนแรง และยืดเยื้อยาวนาน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ถิ่นเดิมในยุโรป จนกระทั่งเมื่อหนีมาถึงโลกใหม่แล้ว ก็เข้าสู่ยุคแห่งการบุกฝ่าที่มีการดิ้นรนต่อสู้บุกรุกแย่งชิงกันเข้มข้นยิ่งขึ้น จากการเป็นผู้ถูกกระทำในยุโรป ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้กระทำต่อคนพื้นเมืองเจ้าถิ่นเดิม และแข่งขันแย่งชิงกันเอง บนผืนแผ่นดินใหม่ที่กว้างใหญ่ไพศาลที่ต่างคนมองหาโอกาส (opportunity) ให้แก่ตน
การข่มเหงรังแกและดิ้นรนต่อสู้กัน ก็ดี วิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมันหรือปัจเจกนิยม (individualism) และการมุ่งหน้าแข่งขันกัน (competition) โดยที่ทุกคนมุ่งหาและใช้โอกาส (opportunity) ให้ตนเหนือกว่า เพื่อสร้างความสำเร็จ (success) ของตน ก็ดี บังคับและเรียกร้องให้ต้องสร้างกฎกติกาขึ้นมาเป็นเครื่องมือที่จะปกป้องตัว และเป็นขีดขั้นที่จะป้องกันการละเมิดหรือเอารัดเอาเปรียบกัน
ประสบการณ์สังคมข้อนี้ ทำให้คนอเมริกัน และชนชาติตะวันตกจำนวนมาก มีความถนัดจัดเจนในการจัดตั้งและรักษากฎกติกา โดยที่ต้องยึดถือกฎหมายเป็นมาตรฐาน ต้องมีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ปกครองกันด้วยกฎหมาย หรืออยู่กันด้วยหลักนิติธรรม (the rule of law) เพื่อให้คนเอารัดเอาเปรียบข่มเหงรังแกกันไม่ได้ หรือได้ยาก คติต่างๆ ที่คนนับถือจะได้มีหลักประกันให้เกิดผลเป็นจริง และดำรงรักษาความมั่นคงของสังคมไว้ได้
ครั้นตกมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ระเบียบทางสังคมที่เกิดจากความจำเป็นในการอยู่รอดบังคับนี้ ก็กลายเป็นจุดแข็งของอารยธรรม ดังที่คนอเมริกันเวลานี้ภูมิใจในคติ rule of law เป็นอย่างยิ่ง
ในสังคมแบบอเมริกันนี้ แม้ว่ามองด้านหนึ่งชีวิตจะเครียด แต่การปฏิบัติเกี่ยวกับกฎหมายและกฎกติกาทั้งหลาย จะดำเนินไปอย่างชัดเจนและเข้มงวดจริงจัง ต่างกับสังคมที่คนอยู่อย่างกลมกลืนเกื้อกูลอะลุ่มอล่วยกัน หรืออยู่กันมาแบบเรื่อยๆ สบายๆ อย่างสังคมไทยนี้ คนจะไม่ค่อยนึกถึงเรื่องกฎกติกา และการนำกฎเกณฑ์หรือกฎหมายมาใช้หรือปฏิบัติ ก็เอียงไปข้างจะหละหลวม ไม่เคร่งครัด กลายเป็นสังคมที่อ่อน และภาวะนี้ก็กลายเป็นจุดด้อย
มองอีกระดับหนึ่ง ในระบบที่ถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ คติ rule of law ก็มิใช่จะประกันความเป็นธรรมได้แน่นอน ดังที่มีการเอาเปรียบเท่าที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบโดยเลี่ยงกฎหมาย ตลอดจนตั้งกฎกติกาหรือสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้ตนได้เปรียบหรือเพื่อเอื้อโอกาสที่จะเอาเปรียบ นิติธรรมนั้นจะเป็นหลักประกันได้จริง ก็ต่อเมื่อมันประสานกับจิตใจที่ได้พัฒนาให้รักความเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกปัจจุบันมาตกอยู่ใต้อิทธิพลโลกาภิวัตน์ของระบบแข่งขันแบบตะวันตก การที่จะก้าวไปด้วยดีหรือทันเขาในระบบนี้ สังคมจะต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบแห่งนิติธรรมที่เคร่งครัดด้วย แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎกติกาในสังคมที่มีภูมิหลังอย่างไทยนี้ จะหวังหรือรอให้ความจำเป็นเรียกร้องบังคับให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการมีปัญญารู้ตระหนักต่อสถานการณ์ และมีคติที่จะปลุกเร้าพลังรวมใจให้มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จลุจุดหมาย แล้วฝึกคนขึ้นมาด้วยการศึกษาพัฒนาอย่างจริงจัง
โดยเฉพาะเมื่อสังคมมีภูมิหลังที่ต่างกันมากเหมือนอย่างตรงกันข้าม การที่เราเข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์อย่างเขา ก็จะมีภาวะแบบก้ำกึ่งครึ่งกลางเกิดขึ้น เช่นมีความสัมพันธ์ทางสังคมแบบระบบแข่งขันตัวใครตัวมัน แต่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวแบบโอนอ่อนอะลุ่ม อล่วยกัน จนเกิดภาวะที่ว่า ลักษณะที่ดีในระบบหนึ่งกลายมาเป็นข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนที่แทรกขวางในอีกระบบหนึ่ง คนในสังคมอย่างนี้ โดยเฉพาะผู้นำ จะต้องฉลาดอย่างทันการณ์ ที่จะไม่มัวแข็งขืนฝืนสภาพ หรือเอาแต่จะทำตามมัวคิดจะเลียนแบบเขา แต่จากการรู้เขาถึงรากเหง้า และเข้าใจตัวเราถึงรากฐาน ควรจะเอาลักษณะที่ดีในภูมิหลังของตัวขึ้นมาปรับใช้ ผันจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง สร้างแนวทางและระบบที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้นมา
จากเรื่องเดียวกันนี้จะสังเกตเห็นด้วยว่า เสรีภาพที่อเมริกันต่อสู้ได้มาด้วยความยากลำบากและภูมิใจนักหนานั้น เป็นเพียงเสรีภาพเชิงลบ ซึ่งเกิดขึ้นจากภูมิหลังที่จะดิ้นรนให้พ้นจากการกดขี่บีบคั้น ข่มเหงและการเอาเปรียบกัน ต้องอาศัยกฎเกณฑ์กติกามาบังคับควบคุมเป็นขีดขั้น โดยบัญญัติห้าม และตั้งข้อกำหนดต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นเรื่องของการที่จะไม่รุกล้ำ ไม่ละเมิดกัน แต่แล้วก็ยังระแวงกัน หวาดกัน ต้องคอยระวังจ้องที่จะปกป้องสิทธิของตน จะซูกัน ไม่ใช่เกิดจากใจที่กว้างหรือรักกัน
ในทางตรงข้าม คนไทยมิใช่ไม่มีเสรีภาพ แต่เราขาดเหตุกดดันบีบคั้นที่จะทำให้ต้องครุ่นคิดคำนึงถึงและเรียกร้องเสรีภาพ เรามีเสรีภาพเชิงบวก ในรูปของการเอื้อ โอนอ่อน อภัย อะลุ่มอล่วย ปล่อยตามสบาย จนจะกลายเป็นปล่อยปละละเลย คือหละหลวมและประมาท ซึ่งเป็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าเรามีปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่างกับเขา เป็นคนละแบบกัน
แม้แต่ในสิ่งที่เราเรียกตามฝรั่งว่า “จริยธรรม” โดยบัญญัติขึ้นจากคำว่า ethics นั้น สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในสภาพโลกาภิวัตน์เดียวกัน ก็ต่างกันไกล เช่น เราอาจพูดสั้นๆ ว่า
อเมริกามีแต่จริยธรรมสำหรับสังคมยุคบุกฝ่า พอสังคมถึงที่หมาย อยู่สบาย ก็ไม่มีจริยธรรมที่จะรับช่วงต่อไป ประเทศของเขาแม้จะก้าวหน้าด้านวัตถุเทคโนโลยีและอำนาจ แต่ชีวิตและภายในสังคมของตนเองฟอนเฟะดังที่เขาเองก็วิตกกังวลกันอยู่นักหนา
ส่วนสังคมของเรานั้นตรงกันข้าม กล่าวคือ สังคมไทยเคยมี จริยธรรมเหมาะกับยามสุขสบาย แต่พอถึงยุคต้องบุกฝ่า จริยธรรมถึงจะมี ก็ค้นขึ้นมาใช้ไม่ทัน
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้เข้าใจชนิดที่จำแนกแยกแยะได้ชัดเจน แล้วแก้ไขจัดทำให้ถูกจุดตรงเรื่องกัน
ในภาวะเช่นนี้ คนไทยที่รู้ตัวตื่นขึ้นมา โดยเฉพาะผู้นำของสังคม จะต้องใช้ความสามารถสองชั้น ที่จะรู้เข้าใจทั้งเขาทั้งเราและทั้งโลกให้ชัด แล้วสร้างกระแสความคิดกระแสปัญญาขึ้นมานำคนไทย ให้มีคติของสังคมและอุดมการณ์ของชาติ ที่จะพากันมุ่งหน้าไปในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมของตน อย่างมีพลังที่ถึงขั้นสามารถสวนทางไปได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ไหลแรงด้วยกำลังความหลง อันเป็นสภาพแวดล้อมและสถานการณ์เทียมที่ครอบงำสังคมของตนอยู่เวลานี้
หลักที่เรียกว่าเป็นคติของสังคมและอุดมการณ์ของชาตินี้ มีบทบาทที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. ให้จุดหมายและทิศทาง คือ ทำให้สังคมมีจุดหมายและทิศทางที่จะมุ่งหน้าไป และเกิดพลังที่จะพุ่งแล่นไปอย่างแรงเข้มและแน่วแน่
๒. ให้เกิดเอกภาพและสามัคคี คือ เป็นแกนและเป็นจุดอ้างอิงที่จะรวมแรงรวมใจคนในสังคม ให้พร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแม้โดยไม่รู้ตัว ที่จะมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันสู่จุดหมาย
๓. ให้จุดอุทิศตัวที่จะข้ามพ้นอัตตา คือ สร้างเป้าหรือจุดยึดใหม่ที่ใหญ่กว่าและอยู่นอกตัวตนของแต่ละคน ซึ่งจะทำให้บุคคลสยบยอมสละหรือข้ามพ้นความยึดมั่นในตัวตนและผลประโยชน์หรืออำนาจของตนไป แล้วทำการเพื่ออุดมคติเป็นต้นที่ยิ่งใหญ่นั้นได้
บทบาทที่ ๓ นี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าขาดคตินิยมอุดมการณ์นี้แล้ว ตัวตนหรืออัตตาที่ยึดถือสูงสุดของแต่ละคน ก็จะเด่นขึ้นมาขัดแย้งและปะทะกัน หรือต่างก็จะดึงทุกอย่างเข้าหาตัว ทำให้สังคมนั้นนัวเนียอยู่กับที่ ไม่อาจก้าวไปไหนได้ สังคมที่จะเจริญวัฒนาจึงต้องสร้างคตินิยมอุดมการณ์ที่บุคคลแต่ละคนยอมรับให้เป็นใหญ่เหนือกว่าอัตตาของตัวนี้ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งเมื่อยกขึ้นมาเอ่ยอ้างแล้ว จะสยบตัวตนของทุกคน และทุกคนจะยอมตัวเพื่อเห็นแก่สิ่งนั้นได้
นอกจากผลต่อสังคมแล้ว บุคคลแต่ละคนที่ยึดถือคตินิยมอุดมการณ์นั้น ก็จะมีกำลังใจ ที่จะชุบชูใจให้สดชื่น และปลุกปลอบใจให้มีความหวัง ไม่ระย่อท้อถอย คือมีศรัทธาเป็นเพื่อนใจ พร้อมนั้นอีกด้านหนึ่ง เมื่อมีความมุ่งสู่เป้าหมายและทิศทางที่จะไปครองใจอยู่ คนก็จะไม่ใส่ใจกับอะไรๆ ที่นอกเรื่อง และมีพลังในตัวที่ช่วยให้พ้นจากอำนาจชักจูงของสิ่งล่อเร้าเย้ายวนที่จะทำให้เขวออกไปจากทาง ตลอดจนไม่หมกมุ่นจมอยู่กับเรื่องของความใฝ่ต่ำต่างๆ
สังคมไทยในอดีต ที่มีความราบรื่นเรื่อยๆ ด้านรูปธรรม ได้ยึดถือคติหรืออุดมการณ์แห่งบุญสืบต่อกันมาแสนนาน แต่คติแห่งบุญนี้เป็นนามธรรม และมีพรมแดนกว้างใหญ่ไพศาล สังคมไทยจะถอยๆ ก้าวๆ ไปในพรมแดนแห่งบุญนี้ได้แค่ไหนเพียงไร ก่อนที่จะละทิ้งไปเพื่อหยิบฉวยเอาผลแห่งความเจริญของตะวันตกที่ลอยมาในกระแสโลกาภิวัตน์ คนไทยก็ไม่รู้ตัวและไม่เข้าใจ
แต่พูดได้ตามหลักว่า คนจะก้าวไปในคติแห่งบุญนี้โดยไม่หลงทาง ไม่เพี้ยนพลาดหรือติดวังวน ก็ต่อเมื่อมีบุญระดับปัญญามานำต่อไป สังคมจะหยุดอยู่กับบุญเพียงในระดับจิตใจหาพอไม่ แต่จะต้องก้าวไปให้ถึงระดับปัญญา และสิ่งซึ่งเป็นแกนที่จะเชื่อมประสานจิตใจและทุกอย่างเข้ากับปัญญา ก็คือธรรม
คนไทยจะเลือกคติหรืออุดมการณ์ใดก็ตาม แต่หลักหนึ่งที่ยกขึ้นมาได้ทันที ซึ่งครอบคลุมทุกอย่าง และทั้งประสานกับพื้นฐานแห่งวัฒนธรรมของตนเอง ก็คืออุดมการณ์แห่งธรรม
อุดมการณ์แห่งธรรมนั้น คือความมุ่งมั่นแน่วไปในปัญญาที่อยู่กับความเป็นจริง มองเห็นระบบความสัมพันธ์ที่จะโยงกฎมนุษย์ถึงกฎธรรมชาติได้ และรู้ตระหนักว่าอะไรเป็นประโยชน์แท้ ที่ชีวิต สังคม และโลกนี้ต้องการ แล้วถือธรรม คือความจริง ความถูกต้องดีงาม และประโยชน์สุขที่ชอบธรรมเป็นธรรม เพื่อชีวิต สังคม และทั้งโลก เป็นใหญ่ เป็นมาตรฐาน นี้คืออุดมการณ์ตัวเลือกหลักของสังคมไทย ที่จะมุ่งหน้าต่อไปได้บนฐานแห่งวัฒนธรรมที่สืบมา
โลกเจริญมาถึงยุคปัจจุบัน ที่เรียกว่าเป็น Information Age ซึ่งแปลกันว่า ยุคสารสนเทศ หรือยุคข่าวสารข้อมูล และ “ไอที” คือ Information Technology ก็เป็นโลกาภิวัตน์พื้นฐาน ที่กำหนดความรุ่งเรืองหรือความล้มเหลว และชะตากรรมของชีวิตและสังคม
บนฐานแห่งข่าวสารข้อมูล/information นี้ คนชั้นนำยุคปัจจุบันพูดกันถึงสังคมที่พึงปรารถนาว่า เป็นสังคมแห่งความรู้/knowledge society บ้าง สังคมแห่งการเรียนรู้/learning society บ้าง
สังคมใดหาหลักของตนไม่ได้ ข่าวสารข้อมูลถูกใช้สนองความต้องการเพียงเป็นสะพานนำไปสู่ผลประโยชน์ และเป็นกับดักให้คนลุ่มหลงหมกมุ่นในการเสพบริโภค สังคมนั้นย่อมตกเป็นเหยื่อและจมลงใต้กระแสโลกาภิวัตน์ “ไอที” จะกลายเป็นเครื่องมือขยายพรมแดนอย่างใหม่ของสังคมต้นกระแส ผ่าน cyberspace frontier เข้ามาครอบงำ ทำให้สังคมนั้นเป็นอาณานิคมเบ็ดเสร็จ ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม และทางปัญญา
แต่ในสังคมใด คนมีหลัก รู้จักใช้ข่าวสารข้อมูลให้เป็นสื่อสู่การพัฒนาคุณค่าของชีวิต เป็นฐานแห่งการสร้างสรรค์ และเป็นปัจจัยแห่งความเจริญปัญญา โดยรู้จักบริหารข่าวสารข้อมูล/information สามารถสร้างความรู้/knowledge และสรรค์ปัญญา/wisdom ขึ้นได้ สังคมนั้นจึงจะนำชีวิตและโลกไปสู่สันติสุขและอารยธรรมได้จริง
ทุกคนคงยอมรับว่า สังคมไทยไม่อาจจะจมอยู่กับสภาพปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะไหลต่ำลงไปทุกที จึงถึงเวลาที่จะยืนหยัดตั้งตัวขึ้นมา ก้าวขึ้นไปเหนือการครอบงำของโลกาภิวัตน์ เดินหน้าและเดินนำไปในวิถีแห่งปัญญาให้ได้ ซึ่งถ้าปัญญานั้นรู้จักและรักธรรม ก็แน่นอนว่าสังคมไทยจะตั้งจุดหมายที่ถูกต้องได้ และสามารถก้าวไปให้ถึงจุดหมายนั้นได้แน่นอน
การที่จะก้าวไปในวิถีแห่งปัญญาให้ถึงธรรมและทำตามธรรมนั้นได้ คนไทยจะฟื้นคติแห่งบุญบนฐานแห่งวัฒนธรรมที่สืบมา และเดินหน้าขยายพรมแดนแห่งบุญนั้นต่อไป หรือจะสร้างคติอะไรในทางชาตินิยมขึ้นมาใหม่ก็ตาม ก็จะต้องทำให้ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างน้อย เมื่อเป็นมนุษย์ปุถุชน สำหรับคนหมู่ใหญ่ ถ้าจะให้มีเรี่ยวแรงทำความดีที่จะสร้างสรรค์สังคม จะต้องมีจุดยึดหรือคติหนึ่งใดที่จะให้ภูมิใจในชาติของตน และมีแก่นสารในวัฒนธรรมที่ใจรับและระลึกนึกถึงด้วยศรัทธา
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้นำและผู้มีความรับผิดชอบต่ออนาคตของชาติ จะต้องรู้ตระหนักว่า ถึงเวลานานแล้วที่จะเลิกเป็นอยู่อย่างผู้ดูถูกตัวเอง รู้จักเรียนรู้ให้เท่าทันถึงต้นตอแหล่งที่มาแห่งกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ไหลมาพัดพาสังคมของตน พร้อมทั้งสืบค้นนำเอาศักยภาพที่ตัวมีขึ้นมาพัฒนา เพื่อฟื้นฟูสังคมของตน ผันตัวเองขึ้นไปให้ตั้งหลักได้ในกระแส มีจิตใจเข้มแข็งแน่วแน่มั่นคง และสร้างปัญญาขึ้นมาแก้ปัญหา เพิ่มพูนพลังความสามารถที่จะก้าวหน้าต่อไป สู่จุดหมายแห่งการสร้างสรรค์ชีวิต สังคม และโลก ให้ดีงามมีสันติสุข อย่างแท้จริงและยั่งยืนนาน
รู้จักอเมริกา
หันมาดูศักยภาพของไทย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๓ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติปรารภสถานการณ์ทั้งของประเทศไทยและของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ที่เต็มไปด้วยปัญหาวิกฤติต่างๆ มีความขัดแย้ง เกิดความรุนแรงและความวุ่นวายไม่เป็นปกติสุขนานัปการ ได้ขอให้อาตมภาพเขียนบทความเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางสังคมและทางออก เพื่อนำเสนอแก่ที่ประชุมและพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชน เป็นการจุดประกายในการแก้ปัญหาให้สัมฤทธิผลที่จะนำพาประเทศก้าวสู่ศานติสุขต่อไป
สืบเนื่องจากกุศลเจตนาของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติข้างต้น จึงได้เกิดบทความชื่อ “รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย” ขึ้นเมื่อกลางปี ๒๕๔๔ ซึ่งตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในบัดนี้
อนึ่ง ระหว่างที่อาตมภาพเขียนบทความนั้นเสร็จแล้ว จนถึงเวลาก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือครั้งนี้ ซึ่งมีเวลาเป็นช่วงว่างประมาณปีครึ่ง ได้มีองค์กรที่ขออนุญาตตีพิมพ์บทความนี้เป็นหนังสือธรรมทานเผยแพร่ไปแล้ว ๓ ครั้ง คือ
๑. พระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๒. วัดไทยแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พิมพ์แจกในโอกาสเปิดวัด
๓. สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา พิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อขึ้นปี ๒๕๔๖
บางท่านเมื่อได้ยินชื่อหนังสือ รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย เล่มนี้ ก็นึกโยงไปถึงหนังสือของผู้เรียบเรียงเล่มหนึ่งซึ่งเคยตีพิมพ์หลายครั้งในอดีต ที่ชื่อว่า มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย โดยมองว่าอาจจะเป็นเรื่องสืบเนื่องหรือต่อกัน แต่ที่จริงเป็นเรื่องต่างหากกัน
มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย เป็นหนังสือที่เกิดจากคำบรรยายในวันคล้ายวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ ๒๕ ปี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๕ และลงพิมพ์ในวารสารครุศาสตร์ ฉบับเดือนตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๒๕ คือเกือบเต็ม ๒๐ ปี ก่อนหนังสือ รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย เล่มนี้เกิดขึ้น
หนังสือสองเล่มนี้ นอกจากชื่อที่มีส่วนคล้ายกันและพูดหรือเขียนโดยผู้เรียบเรียงเดียวกันแล้ว ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันอีก ถ้าจะถือว่าสืบเนื่องกัน ก็โดยแนวคิดที่เป็นต้นกำเนิด ในแง่ส่วนตัวที่ว่าเมื่อเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด ก็ควรรู้เข้าใจสิ่งนั้นให้ชัดเจน และในวงกว้างระดับสังคมที่ว่า สังคมใดมีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อชีวิต ต่อสังคมไทยของเรา และต่อชะตากรรมของโลก เราควรศึกษาให้รู้ชัด โดยเฉพาะอเมริกาเป็นชนชาติ เป็นประเทศ และเป็นสังคมที่มีกำลังอำนาจทั้งทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน และคนไทยก็มีค่านิยมเลียนแบบวิถีชีวิตอย่างอเมริกันนั้นด้วย จึงควรจะรู้จักอเมริกาให้แจ่มแจ้งลงไปถึงเนื้อในและภูมิหลัง พร้อมกับที่รู้จักสังคมไทยของเราเอง
หนังสือ มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย พูดถึงสังคมอเมริกัน โดยเน้นที่สภาพปัจจุบันเพียงเพื่อให้มองเห็นชัดลงไปถึงวิถีชีวิตและแนวทางของสังคม ไม่ติดอยู่แต่ภาพความเจริญที่ปรากฏแก่สายตาซึ่งมองอย่างฉาบฉวยผิวเผิน พร้อมทั้งคติที่ผู้ศึกษาควรได้ประโยชน์ แต่หนังสือ รู้จักอเมริกา หันมาดูศักยภาพของไทย เน้นการมองให้เห็นภูมิหลังและความเป็นมาที่ทำให้อเมริกามีสภาพอย่างที่เป็นในปัจจุบัน โดยย้ำจุดต่างจากสังคมไทย ที่คนไทยควรรู้ตระหนักในใจ ทั้งนี้มีสาระและความมุ่งหมายที่ได้กล่าวไว้ในต้นเล่มหนังสือแล้ว ตั้งแต่บทนำเป็นต้นไป
ในการพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้แจ้งด้วยว่าจะเป็นการจำหน่ายแก่สาธารณชน ซึ่งในกรณีที่มีผลประโยชน์เกิดขึ้น ทางกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จะนำรายได้เข้าสมทบกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวัฒนธรรมของชาติต่อไป อาตมภาพขออนุโมทนาด้วย เพราะเป็นการได้ประโยชน์พิเศษอีกขั้นหนึ่ง เพิ่มจากประโยชน์หลักที่เป็นความมุ่งหมาย คือเพื่อเป็นเครื่องเจริญธรรม เจริญปัญญา ให้คนไทยช่วยกันพัฒนาคุณภาพของสังคมสู่ความพร้อมที่จะเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมแท้ ที่จะนำโลกให้เข้าถึงสันติสุขอย่างยั่งยืนสืบไป
พระธรรมปิฎก
๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๕