ร่าเริงสดใส สู่ความเกษมศานต์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ร่าเริงสดใส
สู่ความเกษมศานต์

ทำใจให้ร่าเริงสดใสทุกเวลา

ไม่นานนี้ มีพระใหม่ขอให้บอกวิธีไปสู่นิพพานในชาตินี้ ที่เข้าใจง่าย ก็ได้อธิบายหลักอย่างง่ายๆ ให้ท่านฟังบ้าง แต่หลักอย่างง่ายนั้นก็ยังเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก ก็เลยบอกวิ­ธีที่มองดูหรือได้ยินแล้ว พอจะรู้สึกว่าทั้งง่ายและเข้าใจง่าย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ เลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า พึงบรรลุสันตบทที่สงบสังขาร เป็นสุข1

คำสำคัญในที่นี้คือ “ผู้มากด้วยปราโมทย์” ซึ่งแปลจากคำบาลีว่า “ปาโมชฺชพหุโล” ปราโมทย์ก็คือ ความร่าเริงบันเทิงใจ ความสดชื่นเบิกบาน

ส่วนสันตบท หรือศานตบท คือสันติที่เป็นจุดหมาย ก็ได้แก่นิพพาน

รวมความว่า: พระที่มีปราโมทย์มากๆ มีจิตใจสดใสเบิกบานอยู่เสมอ จะถึงนิพพาน

ไม่เฉพาะคาถานี้เท่านั้น ใกล้กับคาถานี้เอง คือในคาถาธรรมบท หน้าเดียวกันนั่นแหละ ก็มีพุทธพจน์อีกคาถาหนึ่งว่า

แต่นั้น ผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป

พุทธพจน์นี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกับคาถาก่อนนั่นเอง แต่ก่อนจะถึงข้อความท่อนนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงชีวิตความเป็นอยู่ การประพฤติปฏิบัติตัวของพระภิกษุที่จะมากด้วยปราโมทย์ไว้ด้วย ขอยกมาให้ดูเต็มๆ ว่า

ในหลักพระศาสนานั้น มีข้อปฏิบัติพื้นฐานสำหรับภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้ ดังนี้

กล่าวคือ ความรู้จักครองอินทรีย์ ความสันโดษ และความสำรวมในปาติโมกข์

พร้อมนั้น เธอจงคบหากัลยาณมิตร ที่มีอาชีวะบริสุทธิ์ ผู้ไม่เกียจคร้าน พึงเอาใจใส่ในปฏิสันถาร ฉลาดในการประพฤติศีลและข้อวัตรทั้งหลาย

แต่นั้น เธอผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป2

“ปราโมทย์” คือความร่าเริงแจ่มใสสดชื่นเบิกบานนี้ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ต้องถือว่า ควรมีไว้เป็นพื้นจิตประจำใจตลอดเวลาเลยทีเดียว

ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง ต้องได้ปราโมทย์

พระพุทธเจ้าตรัสถึงปราโมทย์นี้บ่อยมาก เราตั้งเป็นจุดกำหนดได้เลยว่า เมื่อใดพระพุทธเจ้าตรัสแสดงความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมาตามลำดับ พอการปฏิบัตินั้นเข้าทางถูกต้องดี ก็จะมาถึงจุดเริ่มรวมลงตรงที่เดียวกันว่า “เกิดปราโมทย์

ตัวอย่าง เช่นคนที่ออกไปบวชเป็นภิกษุแล้ว เมื่อตั้งใจประพฤติปฏิบัติดี พอรักษาศีลได้ถูกต้อง ไม่มีความเดือดร้อนใจ ก็เกิดมีปราโมทย์ขึ้นมา3

หรือบางท่านยกเอาหลักธรรมคำสอนที่ได้ฟังหรือได้เล่าเรียนไว้ ขึ้นมาตรึกตรองพิจารณาเกิดความเข้าใจ ก็มีปราโมทย์4

หรืออย่างชาวบ้านที่เป็นคนมีความคิด พิจารณาเห็นผลดี-ผลร้าย ของกรรมดี-กรรมชั่ว มองดูตัวเองว่าดำเนินชีวิตดีงาม ไม่ได้เบียดเบียนใคร สำรวมระวังการใช้กายวาจาใจไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย มีความมั่นใจว่าแม้ถึงคราวจะตายก็ต้องไปเกิดดีแน่ พอมองเห็นอย่างนี้ ก็เกิดมีปราโมทย์5

หรืออย่างคนที่เจอทุกข์ ก็หาทางออก ทำให้ได้สนใจและได้พบหลักคำสอนที่ดีที่จะแก้ปัญหาคลายทุกข์ได้ ก็เกิดศรัทธามีความมั่นใจ แล้วก็มีปราโมทย์6

หรือว่าผู้ใดก็ตาม รู้จักดู รู้จักคิด รู้จักพิจารณา ที่เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ พอมองสิ่งทั้งหลาย ก็แยกแยะหยั่งลงไปเห็นความจริงของมันที่มีลักษณะความเป็นไปอย่างที่เรียกว่าไตรลักษณ์ พอเกิดความเข้าใจมองเห็นความจริง ก็ เกิดปราโมทย์ ขึ้นมา7

หรือญาติโยมบางคนระลึกถึงพระพุทธคุณ มีความเลื่อมใสลึกซึ้งแล้ว ไม่หยุดไม่พอแค่นั้น เพียรพยายามปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อเป็นอยู่โดยไม่ประมาทอย่างนี้ ก็เกิดมีปราโมทย์ขึ้นมา8 ฯลฯ

พอปราโมทย์เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นจุดหัวต่อที่จะพัฒนาไปเป็นสมาธิ แล้วสมาธินั้นก็เป็นฐานทำให้จิตใจเหมาะแก่การใช้ทำงานที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นมาและพัฒนาต่อไป

ทำห้าข้อนี้ได้ จิตใจจะดีจริงๆ

เมื่อกี้นี้ได้บอกว่า พอเราปฏิบัติธรรมถูกต้องได้ผล ปราโมทย์ก็จะเกิดขึ้นมาเป็นคุณภาพจิตใจข้อต้นของผู้เข้าทางแล้ว และทั้งเป็นจุดหัวต่อที่จะพัฒนาไปเป็นสมาธิ

ทีนี้ก็ขยายความอีกหน่อยว่า ปราโมทย์ที่จะพัฒนาไปจนเกิดเป็นสมาธินั้น ถ้าใครสังเกตจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสแสดงข้อธรรมที่จะเกิดรับช่วงต่อกันไปไว้ตามลำดับ และเป็นชุดเลยทีเดียว ไม่ว่าตรัสที่ไหนเมื่อไร ก็ตรัสเหมือนกันหมด

ชุดที่ว่านั้นก็คือ พอเกิดปราโมทย์แล้ว ก็จะเกิดปีติ ต่อด้วยปัสสัทธิ แล้วสุขก็ตามมา แล้วก็เป็นสมาธิ

รวมทั้งหมดมี ๕ ข้อ หรือเป็นองค์ธรรม ๕ คือ

๑. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ

๒. ปีติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ

๓. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น เรียบรื่น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด (ขอให้สังเกตว่า ปัสสัทธิ นี้ เป็นข้อที่ประสานระหว่างกายกับใจ คือพอเกิดปัสสัทธิ ใจผ่อนคลาย กายก็ผ่อนคลาย และถ้ากายผ่อนคลาย ใจก็ผ่อนคลาย เช่นเดียวกับความเครียดที่ตรงกันข้าม ถ้ากายเครียด ใจก็เครียด ถ้าใจเครียด กายก็เครียด)

๔. สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ จิตคล่อง ไม่มีอะไรกดดันบีบคั้น

๕. สมาธิ ภาวะที่จิตมั่นแน่ว อยู่ตัว ไม่มีอะไรกวน และจิตนั้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ

ถ้าปฏิบัติธรรมถูกทาง และเข้าทางที่ถูกแล้ว ก็จะเกิดธรรมที่เป็นคุณภาพจิตใจ ๕ ข้อนี้หนุนต่อกันไปตามลำดับอย่างนี้

ชุดนี้บางทีก็เรียกชื่อรวมกันว่า “ธรรมสมาธิ9 คือการที่องค์ธรรมหรือคุณภาพจิตใจ ๕ อย่างนั้นตั้งแน่วหนุนเข้ากันมั่นได้ที่

เมื่อองค์ธรรมประสานเข้ากันได้ที่ มีธรรมสมาธิแล้ว จิตก็จะตั้งมั่นได้ที่ตามมา เป็น “จิตตสมาธิ” ซึ่งกินความหมายรวมต่อไปได้ถึงวิปัสสนาและมรรคเลยทีเดียว

แล้วก็อย่างที่บอกแล้วข้างต้นว่า เมื่อองค์ธรรมด้านคุณภาพจิตใจเป็นปัจจัยหนุนกันมาจนเกิดเป็นสมาธิอย่างนี้แล้ว สมาธินั้นก็ทำให้จิตใจเหมาะและพร้อมที่จะใช้เป็นฐานที่ทำงานให้ปัญญาเกิดขึ้นมาและพัฒนาต่อไป

ดังนั้น ในพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงลำดับความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม พอได้สมาธิแล้ว สมาธินั้นก็เกื้อหนุนให้เกิดปัญญา ที่เรียกว่ายถาภูตญาณทัศนะ คือการรู้เห็นตามที่มันเป็น

ที่รู้ได้อย่างนั้น ก็เพราะจิตที่เป็นสมาธินั้นไม่มีอะไรกวน ไม่มีกิเลสครอบงำ จึงไม่อยู่ใต้อิทธิพลของอคติเป็นต้น เมื่อมองดูหรือพิจารณาอะไร ก็มองและเห็นตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงของมัน

เมื่อจิตใจดีมีสมาธิเป็นที่ทำงานของปัญญาได้อย่างดีแล้ว ก็เป็นเรื่องของการที่จะพัฒนาปัญญาให้เจริญเป็นวิชชาจนถึงโพธิญาณ และลุถึงจุดหมายที่เป็นความสุขอย่างสูงสุดต่อไป

ต้องระวังไว้บ้าง ไม่ให้เขวผิดทางไปเสีย

ขอแทรกความรู้ประกอบในตอนนี้หน่อยหนึ่งว่า ปีติและความสุข หรือแม้แต่ปราโมทย์ ที่พูดถึงกระจายอยู่ในที่ต่างๆ นั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นของดีที่จะมาเข้าลำดับในชุดอย่างนี้ได้เสมอไป

บางทีเป็นปีติและความสุข เป็นปราโมทย์ ที่ระคนปนเปอยู่กับเรื่องบาปอกุศลก็มี ได้แก่ปีติและความสุขที่เกี่ยวกับอามิส และเกิดจากกิเลส

ตัวอย่าง เช่น โลภอยากได้อะไรอย่างหนึ่ง พอได้มาสมใจ ก็ปลื้มใจ มีความสุข อย่างนี้ก็เป็นปีติและสุขที่อิงอามิส

บางทีมีโทสะแค้นเคืองจะประทุษร้ายเขา หรือโกรธเขา พอได้ทุบได้ตีได้ทำร้ายเขาสมใจตัว ก็ปลื้มใจ มีความสุข

แม้แต่คนที่มีศัตรูเป็นคู่เวรกัน พอได้ข่าวว่าศัตรูตาย ก็โล่งใจ เกิดปราโมทย์ ยินดีปรีดา มีความร่าเริงบันเทิงใจมาก

อย่างที่ว่ามานี้ ไม่ใช่เป็นปีติ ไม่ใช่สุข และไม่ใช่ปราโมทย์ ชนิดที่เป็นความเจริญก้าวหน้าในธรรม

ปราโมทย์ ปีติ และสุขที่พึงประสงค์นั้น ไม่ต้องพึ่งพาหรือขึ้นต่ออามิส และไม่ต้องอาศัยกิเลส แต่เป็นอิสระ ทำให้จิตดีงามที่เป็นกุศลมีกำลังเข้มแข็ง

แทรกความรู้วิชาการ

ขอเสริมอีกนิด เป็นความรู้เชิงวิชาการสักหน่อยว่า ปราโมทย์ กับ ปีติ สองอย่างนี้บางทีรู้สึกว่าคล้ายๆ หรือใกล้เคียงกัน ดูที่อรรถกถาอธิบายไว้ ส่วนมากบอกว่า ปราโมทย์ ก็คือ ปีติอย่างอ่อนๆ10

ถ้าถือว่าปราโมทย์คือปีติอ่อนๆ ทั้งปราโมทย์และปีติก็เป็นคุณสมบัติของจิต11 ที่เป็นได้ทั้งฝ่ายเวทนา และฝ่ายสังขาร

ในแง่ที่เป็นเวทนานั้น ทั้งสองอย่างจัดเป็นสุขเวทนา

แต่ในแง่ที่เป็นสังขาร คือดีชั่วที่ปรุงแต่งจิต ปีติ เป็นคุณสมบัติกลางๆ ที่เกิดได้กับจิตทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล12 แต่ ปราโมทย์ ที่เป็นอาการของจิตอันแสดงออกต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ก็คือมุทิตา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี เป็นสังขารฝ่ายกุศล13 เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งในพรหมวิหาร ๔

ดูต่อไปอีก ตามหลักในเรื่องการเจริญอานาปานสติแบบที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปด้วย ที่เรียกว่าอานาปานสติ ๑๖ ฐาน จะเห็นว่า เรื่องปีติ และ สุข ท่านจัดไว้ในเวทนานุปัสสนา14 แต่การทำจิตให้ปราโมทย์ จัดเข้าในจิตตานุปัสสนา15

ที่ยกเรื่องนี้มาพูดเสียยืดยาวนั้น ก็ด้วยอยากจะให้ไม่เน้นปราโมทย์ในแง่ปะปนกับปีติ ที่เป็นสภาวะฝ่ายเวทนา

แต่อยากจะให้มองปราโมทย์ในแง่ที่เป็นอาการแสดงออกของจิตที่ดีงามเป็นกุศล

ธรรมชาติของจิตเองนั้นเปล่งปลั่ง

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นย้ำบ่อยมาก ให้เรามีจิตใจและทำจิตใจให้ปราโมทย์ คือให้ร่าเริงเบิกบานสดชื่นแจ่มใส

มองดูง่ายๆ จิตใจที่มีปราโมทย์อย่างที่ว่านี้ ก็คือตรงข้ามกับจิตใจที่ขุ่นมัวเศร้าหมองหงุดหงิด หรือหดหู่ซึมเซาเหงาหงอย ซึ่งเป็นจิตไม่ดี ที่เปิดช่องให้อกุศลทั้งหลายเข้ามา

จิตที่ขุ่นข้องอย่างนั้นจะกีดกั้นกุศลความดีงามต่างๆ ไม่ให้เจริญงอกงาม ไม่เหมาะไม่พร้อมที่จะใช้งาน ปิดกั้นความเจริญของปัญญา

แต่จิตใจที่มีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานสดใส แสดงว่าไม่มีอกุศลหรือตัวก่อกวนร้ายๆ เข้ามาครอบงำแทรกแซง จิตเป็นตัวของมันเอง และเป็นจิตที่เปิดโล่งโปร่งเบาสะอาดหมดจด อย่างน้อยในระดับหนึ่ง ซึ่งเอื้อต่อการเจริญพัฒนาของกุศลหรือคุณสมบัติที่ดีงามทั้งหลาย

จิตมีปราโมทย์เป็นจิตที่แข็งแรงมีกำลัง เหมาะและพร้อมที่จะใช้งาน เอื้อต่อการที่ปัญญาจะทำงานคิดพิจารณาและพัฒนาเจริญงอกงาม ดังนั้น จิตที่ปราโมทย์จึงดีอย่างยิ่ง

มีพุทธพจน์ที่หลายคนคุ้นๆ ตรัสถึงสภาวะของจิตไว้ว่า16 “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร (ผ่องใส ผุดผ่อง หรือเปล่งปลั่ง)”

ที่ว่าประภัสสร หรือผ่องใส ก็คือสะอาด บริสุทธิ์ นี่คือสภาพของจิตใจตามธรรมชาติของมันเอง

แล้วตรัสต่อไปอีกว่า “ตฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺํ” แปลว่า “แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้ว ด้วยอุปกิเลสที่จรมา”

หมายความว่า: จิตใจที่ใสผ่องนั้น ขุ่นหมองไปเสีย เพราะสิ่งสกปรกที่เป็นของแปลกปลอมเข้ามา (คนที่เป็นเจ้าของจิตใจนั้นแหละ เอาของเสีย คือกิเลสและความทุกข์ ใส่เข้าไป)

ยังไม่จบแค่นั้น พระองค์ตรัสต่อไปอีกว่า “ตํ อสฺสุตวา ปุถุชฺชโน ยถาภูตํ นปฺปชานาติ, ตสฺมา อสฺสุตวโต ปุถุชฺชนสฺส จิตฺตภาวนา นตฺถีติ วทามิ

แปลว่า: “ปุถุชนผู้ขาดสุตะ (ไม่ได้เล่าเรียน ขาดความรู้ ไม่มีการศึกษา) ไม่รู้จักจิตนั้นตามที่มันเป็น ฉะนั้น ปุถุชนผู้ขาดสุตะ จึงไม่มีจิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) - เราย่อมกล่าวฉะนี้”

ในทางตรงข้าม พระองค์ตรัสว่า “ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ, ตฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ วิปฺปมุตฺตํ, ตํ สุตวา อริยสาวโก ยถาภูตํ ปชานาติ ตสฺมา สุตวโต อริยสาวกสฺส จิตฺตภาวนา อตฺถีติ วทามิ

แปลว่า: “ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร, แลจิตที่ประภัสสรนั้นแล พ้นไปได้ จากอุปกิเลสที่จรมา, อริยสาวกผู้มีสุตะ (ผู้ได้เล่าเรียนมีความรู้, ผู้มีการศึกษา) รู้ชัดจิตนั้นตามที่มันเป็น ฉะนั้น อริยสาวกผู้มีสุตะ จึงมีจิตตภาวนา (การพัฒนาจิตใจ) - เราย่อมกล่าวฉะนี้”

ขออธิบายประกอบเล็กน้อยว่า พระพุทธเจ้าตรัสบอกให้เรามองดูความจริงที่ว่า จิตนั้นตามธรรมชาติของมันเอง เป็นสภาวะที่บริสุทธิ์ แต่ที่มันขุ่นมัวเศร้าหมองไปต่างๆ นั้น เป็นเพราะอุปกิเลสคือสิ่งสกปรกที่โผล่เข้ามา17

(เหมือนท้องฟ้าเองโล่ง ส่วนพวกเมฆ หมอก ฝุ่น ควัน เป็นของโผล่จรแปลกปลอมมา)

พูดง่ายๆ ว่า: กิเลสเป็นของแปลกปลอม ไม่ใช่เป็นเนื้อเป็นตัวของจิต

ในเมื่อจิตเองเป็นสภาวะบริสุทธิ์ และสภาพขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองเป็นของจรมา การพัฒนาชำระล้างทำจิตใจให้ใสสะอาดผุดผ่อง จึงเป็นไปได้

(ถ้ากิเลสและความทุกข์เป็นเนื้อตัวอยู่ในจิตเองแล้ว การพัฒนาทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้)

เมื่อจิตใจขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองเพราะของสกปรกที่จรมา จิตใจก็หลุดรอดปลอดพ้นจากของสกปรกเหล่านั้นได้ แล้วมันก็จะสะอาดแจ่มใสบริสุทธิ์ผุดผ่องตามธรรมชาติของมัน

พวกปุถุชนที่ขาดการศึกษา เมื่อไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตอย่างนี้ ก็ปล่อยตัวให้ถูกกิเลสบงการ ถูกทุกข์รังควาญ ก่อปัญหากันวุ่นวาย ไม่คิดที่จะพัฒนาจิตใจให้ดีงามมีความสามารถตามศักยภาพของมัน ให้จิตปลอดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ เพื่อให้มีความสุขที่แท้และเป็นอิสระ

แต่อริยสาวกผู้มีการศึกษา ได้เรียนรู้หลักความจริง เข้าใจธรรมชาติของจิตที่เป็นสภาวะจำรัสเจิดจ้า และรู้ทันประดากิเลสและทุกข์ภัยทั้งหลายแล้ว ก็ดำเนินไปในมรรคาแห่งการพัฒนาจิตใจ ให้เป็นอิสระหลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำบงการของกิเลสและความทุกข์ที่เป็นสภาพขุ่นมัวทุกข์โศกเศร้าหมองทั้งมวล จนลุถึงความสุขเกษมศานต์ที่แท้จริงและยั่งยืนนาน

ประภัสสร สะท้อนสู่ ปราโมทย์

พูดได้ว่า ปราโมทย์นี้แหละเป็นอาการแสดงออกของจิตใจในภาวะที่ใกล้กับธรรมชาติของมันเอง

บอกแล้วว่า สภาวะของจิตตามธรรมชาติของมันเองเป็น “ประภัสสร” คือ เปล่งปลั่ง เจิดจ้า บริสุทธิ์ ผุดผ่อง

จิตที่อยู่ใกล้สภาวะของมันอันเป็นประภัสสรนั้น แสดงได้พลันซึ่งอาการที่เป็น “ปราโมทย์” คือ ร่าเริง สดชื่น เบิกบาน

(ที่ว่า “ใกล้” คือยังไม่ต้องถึงกับหมดกิเลสสิ้นเชิง)

อย่างที่พูดไปแล้วว่า จิตที่มีปราโมทย์ สดใส ร่าเริง บันเทิง เบิกบานใจ เป็นจิตที่ปลอดโปร่งมีพลัง ไม่ถูกอกุศลครอบงำหรือรบกวน แต่ช่วยปิดกั้นกันพวกอกุศลออกไป พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้กุศลธรรมและความสุขเจริญงอกงาม ก้าวไปในการพัฒนาได้เป็นอย่างดี

ทีนี้ เมื่อพัฒนาจิตใจนั้นคืบหน้าไป ขณะที่คุณสมบัติและสมรรถนะต่างๆ จะทยอยกันเกิดและเจริญเพิ่มพูนขึ้นมานั้น อาการแสดงที่เป็นคุณภาพของจิตใจ ๕ อย่าง ก็ปรากฏขึ้นมา เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความก้าวหน้าในการพัฒนานั้น ดังที่เคยบอกไปแล้ว ซึ่งขอทวนอีกทีหนึ่ง คือ

๑. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ

๒. ปีติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ

๓.ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ

๔. สุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ

๕.สมาธิ ความมีใจมั่นแน่ว อยู่ตัว ได้ที่ ไม่มีอะไรกวน

ไม่ต้องพูดถึงคุณสมบัติอื่นๆ ที่จะตามมา แม้เพียงแค่ ๕ อย่างนี้ ชีวิตก็แสนจะดีคุ้มค่าแล้ว

ผู้ที่เบิกบานสดใส จะถึงความเกษมศานต์

ถึงตอนนี้ แม้จะพอแล้ว แต่ขอแถมพระพุทธดำรัสที่ตรัสสอนพระสงฆ์ไว้ สำหรับศึกษาเป็นคติในการพัฒนาชีวิตต่อไป

พระองค์ตรัสเป็นคาถา แปลมาพอให้ฟังกันได้ความ ดังนี้18

เธอทั้งหลาย ผู้ที่ตื่นอยู่ จงสดับ ผู้ที่หลับอยู่ ก็จงตื่น ตื่นดีกว่าหลับ เพราะว่าภัยไม่มีแก่ผู้ตื่น (=ผู้ไม่ประมาท)

ผู้ใดตื่นอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ มีใจมั่นเป็นสมาธิ เบิกบาน ผ่องใส หมั่นไตร่ตรองพิจารณาธรรมให้ถ่องแท้ถูกชัด ตามกาลโอกาส ผู้นั้นมีใจแน่วเป็นหนึ่งเดียวแล้ว พึงกำจัดเสียได้ซึ่งความมืดมนแห่งอวิชชา

เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุพึงอยู่กับธรรมที่จะนำใจให้ตื่น เธอมีความเพียร มีปัญญาครองตน เป็นผู้ที่ได้ฌาน ตัดกิเลสที่ผูกรัดตัวไว้กับความเกิดแก่ได้แล้ว จะได้สัมผัสสัมโพธิอันยอดเยี่ยม ในอัตภาพนี้เลยทีเดียว

แล้วก็ขอจบลงด้วยคาถาแห่งความปราโมทย์ ที่ตรัสว่า

ปาโมชฺชพหุลา โหถ เขม ปตฺเถถ ภิกฺขโว19

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ จงเป็นผู้มากด้วยความเบิกบานสดใส พึงปรารถนาความเกษมเถิด ดังนี้แล

1ขุ.ธ.๒๕/๓๕/๖๖
2ขุ.ธ.๒๕/๓๕/๖๖
3องฺ.เอกาทสก.๒๔/๒๐๙/๓๓๗
4องฺ.ปญฺจก.๒๒/๒๖/๒๔
5สํ.สฬ.๑๘/๖๗๓/๔๓๘
6สํ.นิ.๑๖/๖๙/๓๗
7ขุ.ปฏิ.๓๑/๑๘๓/๑๒๖
8สํ.ม.๑๙/๑๐๖๒/๕๐๑
9สํ.สฬ.๑๘/๖๖๕/๔๒๙
10 เช่น สํ.อ.๒/๒๓/๖๓; ปฏิสํ.อ.๑/๑๑๐/๒๓๒, ๑๔๕/๓๒๙; บางแห่ง (ปฏิสํ.อ.๒/ ๒๙๔/๓๐๖) บอกว่า “มากด้วยปราโมทย์” (ปาโมชฺชพหุโล) ก็คือ มีปีติอย่างแรง
11คุณสมบัติของจิต หมายถึง “เจตสิก”
12คือเป็น อัญญสมานาเจตสิก
13เป็นโสภณเจตสิกอย่างหนึ่ง
14 ปีติปฏิสํเวที (รู้เจาะชัดปีติ) และ สุขปฏิสํเวที (รู้เจาะชัดสุข)
15 อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ (ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง)
16 องฺ.เอก.๒๐/๕๐–๕๒/๑๑
17อรรถกถาอธิบายว่า จิตที่บริสุทธิ์ตามสภาวะของมันเอง คือภวังคจิต และมันขุ่นหมองเมื่อขึ้นสู่วิถีมาเกลือกกลั้วกิเลสในขณะแห่งชวนะ คือแล่นไปรับรู้เสพอารมณ์
18ชาคริยสูตร, ขุ.อิติ.๒๕/๒๒๕/๒๖๑
19จูฬโคปาลสูตร, ม.มู.๑๒/๓๙๑/๔๒๑ (ฉบับสยามรัฐ เป็น ปามุชฺชพหุลา, ฉบับฉัฏฐสังคีติ เป็น ปาโมชฺชพหุลา)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.