ภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมไทย
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก1

 

ขออำนวยพรท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงเกียรติ
และท่านสาธุชนผู้สนใจ ใฝ่รู้ ใฝ่ธรรม ทุกท่าน

การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนร่วมอนุโมทนา และถวายพระพรแด่สมเด็จบพิตร พระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในวโรกาสมงคลที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบนักษัตร

 

เมื่อวัฒนธรรมไทยตกเป็นฝ่ายรับ

หัวข้อปาฐกถากำหนดไว้ว่า ภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ความเปลี่ยนแปลงนี้นับว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นกฎธรรมชาติ คือ เป็นอนิจจัง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงรวมทั้งโลกเองด้วยย่อมเปลี่ยนแปลงไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ แต่การที่เราเอาคำว่าเปลี่ยนแปลงมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อการบรรยายนี้ ก็เพราะว่า ในยุคสมัยนี้การเปลี่ยนแปลงได้ปรากฏเด่นชัดมาก สมควรจะเน้นเป็นพิเศษ คือ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปด้วยพลังแรงในอัตราที่เร็ว และมีขอบเขตที่กว้างขวาง เรียกได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้เกิดสภาพใหม่ และลักษณะใหม่ของชีวิต จิตใจมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามีชื่อเรียกยุคสมัยที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ว่า เป็นยุคข่าวสารข้อมูล ยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรม หรือมีคำแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่นคำว่า โลกาภิวัตน์ เป็นต้น คำเรียกชื่อเหล่านี้ ล้วนสัมพันธ์กับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวนั้น ไม่ในแง่ใดก็แง่หนึ่ง

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งปรากฏขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ต้องอาศัย และในสภาพชีวิตที่มนุษย์จะต้องเผชิญนั้นมีมากมายหลายประการ เฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องข่าวสารข้อมูล เรื่องเทคโนโลยี เรื่องอุตสาหกรรม เรื่องระบบสังคมบริโภค เรื่องระบบแข่งขันในการแสวงหาผลประโยชน์ เรื่องของการปกครองหรือการเมือง โดยเฉพาะระบบประชาธิปไตย ตลอดจนเรื่องธรรมชาติแวดล้อม ดังที่กล่าวแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในสภาพเหล่านี้ บางอย่างก็เด่นจนเรียกกันเป็นชื่อยุคสมัย หรือแม้แต่เรียกเป็นชื่อสังคมก็มี เช่น พร้อมกับคำว่ายุคข่าวสารข้อมูลนี้ บางทีเราก็เรียกสังคมในยุคนี้ว่าเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล หรือยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรม ก็มีชื่อเรียกสังคมว่าเป็นสังคมผ่านพ้นอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน ตลอดจนคำว่าสังคมบริโภค แม้กระทั่งพูดกันว่าจะมีการปฏิวัติใหญ่ครั้งใหม่ในอารยธรรมมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติครั้งที่ ๓ เป็นการปฏิวัติในด้านธรรมชาติแวดล้อม เรียกว่า environmental revolution

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ปรากฏในสภาพเหล่านี้ ทำให้เกิดผลต่อชีวิตมนุษย์มากมายหลายประการ เราจะได้ยินเสียงร่ำร้องต่างๆ เช่นเสียงพูดว่า

เวลานี้เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า คนมีความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีสิ่งบริโภคพรั่งพร้อม แต่มองไปอีกด้านหนึ่ง ชีวิตของคนกลับมีความบีบรัดเร่งรีบ ขาดความมั่นคง มีความเปราะบางยิ่งขึ้น

ขณะนี้ การสื่อสารคมนาคมทั่วถึงฉับไวจนโลกแคบ เป็นประชาคมอันเดียว แต่ในหมู่มนุษย์ ผู้คนทั้งหลายยิ่งแตกแยกแบ่งพวก มีความขัดแย้ง รบราฆ่าฟันกันยิ่งขึ้น

ในขณะนี้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากมายจนแทบจะล้นโลก แต่บุคคลแต่ละคนกลับยิ่งโดดเดี่ยว มีความห่างเหินกัน เหงา ว้าเหว่มากขึ้น

ข่าวสารข้อมูลแพร่หลายกว้างขวาง กระจายไปทั่วหมด แต่จิตใจคนยิ่งคับแคบ มองแค่ที่จะได้ประโยชน์แก่ตนเท่านั้น

วัตถุต่างๆ เจริญ เต็มไปด้วยสิ่งสวยงามใหญ่โต ตื่นเต้น ตื่นตา แต่จิตใจคนไม่พัฒนา กลับยิ่งเสื่อมถอยจากศีลธรรม ไร้คุณธรรมเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้น

สภาพเหล่านี้ได้เข้ามาสู่ความเป็นอยู่ของหมู่ชน จนกลายเป็นวิถีชีวิตของสังคม เมื่อเข้ามาเป็นวิถีชีวิตของคนไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม หากวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของสังคมหรือเป็นเรื่องที่แสดงถึงความเจริญของสังคม ตลอดจนเป็นการปรับตัวให้หมู่มนุษย์เป็นอยู่ด้วยดี มีความดีงามและเป็นสุข สภาพที่เกิดขึ้นมีหลายอย่างที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา หากวัฒนธรรมเป็นอย่างนี้ ก็ทำให้คิดว่า ควรต้องมีการแก้ไขให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะเรียกว่าต้องมีการพัฒนาวัฒนธรรม ถ้าจะให้การพัฒนาวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องของสังคมนั้นสัมพันธ์กับการศึกษาที่เป็นเรื่องของการพัฒนาตัวคน เราก็อาจจะแบ่งวัฒนธรรมได้เป็น ๔ ด้านคือ

๑. วัฒนธรรมทางวัตถุ

๒. วัฒนธรรมทางสังคม

๓. วัฒนธรรมทางจิตใจ

๔. วัฒนธรรมทางปัญญา

ความจริง วัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้านนั้น มีความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยส่งผลต่อกันทั้งหมด แต่เราแบ่งแยกออกมาเพื่อประโยชน์ในการศึกษา เพื่อมองเห็นให้ชัดเจนและเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัติการ ในวัฒนธรรม ๔ ด้านนี้ เราจะต้องเน้นความสำคัญของวัฒนธรรมทางปัญญา เพราะปัญญาเป็นตัวจัดตัวปรับให้ทุกอย่างลงตัว เกิดความพอดีขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการที่จะแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินการพัฒนาที่เรียกว่า พัฒนาวัฒนธรรม เมื่อพัฒนาปัญญาขึ้นไป ซึ่งก็เป็นการพัฒนาวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง เราก็จะอาศัยปัญญาที่พัฒนานั้นไปพัฒนาวัฒนธรรมด้านอื่นๆ อย่างได้ผลและถูกต้องด้วย

ตามหัวข้อบรรยายที่กำหนดให้พูดนี้ ไม่ใช่มีเฉพาะคำว่าวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่มีคำว่า ภาษา วรรณกรรม เพิ่มเข้าไปข้างหน้าด้วย ความจริงภาษาและวรรณกรรมก็รวมอยู่ในวัฒนธรรมนั้นแหละ แต่แยกออกมากล่าวในที่นี้เป็นพิเศษ เพื่อเน้นว่าเป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรมส่วนที่ต้องการพูดเป็นพิเศษ

ถ้าเราวิเคราะห์ดูอีกทีหนึ่งก็จะเห็นว่าเรื่องภาษา วรรณกรรมนั้น จัดอยู่ในวัฒนธรรมด้านปัญญา จริงอยู่ ภาษานั้นเป็นเครื่องสื่อสาร เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ในทางสังคม และแสดงความรู้สึกในทางจิตใจด้วย เพราะฉะนั้นก็เกี่ยวโยงไปหมดทั้งด้านวัฒนธรรมทางจิตใจ และวัฒนธรรมทางสังคม แต่ว่าโดยบทบาทสำคัญ ภาษาและวรรณกรรมเป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องปัญญาเป็นอย่างยิ่ง ในเวลาที่จำกัดนี้ จะขอพูดเรื่องภาษาและวรรณกรรมบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะรวมไว้ในเรื่องวัฒนธรรมนั้นเอง คือพูดรวมกันไปในคำว่าวัฒนธรรมไทย โดยเน้นวัฒนธรรมด้านปัญญา

อนึ่ง ในการพูดที่เน้นด้านปัญญานี้ก็จะมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ อยากจะพูดในด้านที่เป็นการเตือนสติให้ไม่ประมาท เพราะฉะนั้นการพูดจึงอาจจะหนักไปในการมองแบบแง่ร้ายบ้าง

ทีนี้ เรามาดูวัฒนธรรมไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในโลก ก็มีคำถามว่าวัฒนธรรมไทยมีความเป็นไปอย่างไร ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น วัฒนธรรมไทยถูกกระทบกระเทือนจากความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และนอกจากนั้นก็คือ วัฒนธรรมไทยมีบทบาทต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หรือในสำนวนอีกอย่างหนึ่ง ก็อาจจะพูดว่า วัฒนธรรมไทยได้คุณหรือได้โทษจากการเปลี่ยนแปลงในโลก และต่อจากนั้นก็อาจจะพูดเลยไปถึงว่า วัฒนธรรมไทยได้มีส่วนร่วมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นไปในทางที่เป็นการเสริมสร้างก็ดี หรือในทางที่ทำให้เสื่อมก็ตาม

ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ วัฒนธรรมทั้งหลายย่อมต้องมาสัมพันธ์กันโดยมีการติดต่อสื่อสารต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมทั้งหลายมีการสังสรรค์กันทั่วโลก และอาจพูดได้ว่าวัฒนธรรมทั้งหลายที่มาสังสรรค์สัมพันธ์กันนั้นมีความเข้มแข็งหรือพลังไม่เท่ากัน ซึ่งจะเกิดผลทำให้เกิดความรู้สึกหรือมองเห็นเป็นว่าวัฒนธรรมฝ่ายหนึ่งนำ คืออยู่เหนือ หรืออาจจะเป็นบางวัฒนธรรมได้รับการยอมรับจากวัฒนธรรมอื่นโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งวัฒนธรรมนั้นกลายเป็นกระแสใหญ่ที่มีพลังมาก ไหลบ่าท่วมวัฒนธรรมอื่นๆ ไปได้

สำหรับวัฒนธรรมไทยในท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็คงต้องยอมรับว่า เราเป็นวัฒนธรรมที่ถูกกระทบกระเทือน เป็นฝ่ายรับอยู่ไม่น้อย และวัฒนธรรมที่ไหลบ่าเข้ามานั้น ที่เรามองเห็นกันชัดๆ ก็คือ วัฒนธรรมตะวันตก เรื่องนี้ยังไม่ได้ตรวจตราวิเคราะห์พิสูจน์ให้ลึกซึ้ง แต่เป็นการพูดตามที่มีเสียงร้องทุกข์กันทั่วไป ดังที่มีเสียงพูดเสียงร่ำร้องที่ว่า ทำไมคนไทยโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว จึงมีค่านิยมเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกกันนัก ชอบตามอย่างวัฒนธรรมตะวันตก หรือเสียงเรียกร้องที่บอกว่า ให้คนไทยอนุรักษ์วัฒนธรรมของตน เป็นเสียงเรียกร้องต่อว่ากันต่อเนื่องมาไม่หยุดหย่อน

การที่วัฒนธรรมเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมภายนอกอย่างเป็นเบี้ยล่างนั้น วัฒนธรรมของเราหรือสังคมของเราอาจจะถึงขั้นตั้งตัวไม่ติด และถูกครอบงำ กระทั่งรักษาตัวไว้ไม่อยู่ แม้แต่จะเอาประโยชน์จากสิ่งที่เข้ามาก็ยังเอาไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะออกไปแสดงบทบาทเป็นผู้นำ และอาจจะถูกท่วมทับจนกระทั่งแม้แต่ตัวเองก็ค้นหาไม่พบ คือ ค้นหาไม่พบว่าตัวเองคืออะไร เป็นอย่างไร เช่น ลองสำรวจดูว่าในวัฒนธรรมทั้ง ๔ ด้าน เริ่มแต่ด้านวัตถุ เช่น ปัจจัย ๔ ตึกรามบ้านช่อง เทคโนโลยี ถนนหนทาง ศิลปกรรมต่างๆ จะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม อะไรก็ตามนี้ ลองพิจารณาดูสิว่ากระแสวัฒนธรรมเป็นอย่างไร หรือในด้านสังคม ก็ดูได้จากระบบการเมือง ระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบชีวิตแบบการแข่งขัน ตลอดจนความสัมพันธ์ในสังคม ตั้งแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นต้นไป ว่าเป็นอย่างไร จากนั้นก็ดูในด้านจิตใจ ว่าสภาพจิตใจของคนไทยในยุคนี้เป็นอย่างไร มีความชอบใจไม่ชอบใจในเรื่องอะไร มีภูมิธรรมอย่างไร

เพียงแค่รับก็ยังไม่ทัน
จะผันตัวขึ้นเป็นผู้นำได้อย่างไร

สุดท้ายและสูงสุดก็คือด้านปัญญา ขอให้ดูว่าวิทยาการต่างๆ เป็นอย่างไร มาจากไหน และวิทยาการเหล่านั้นก็สื่อผ่านมาทางภาษาซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในปัจจุบันนี้ เราเน้นความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมตะวันตกในแง่ที่เราตกเป็นผู้รับ เมื่อเป็นผู้รับ เราก็มีข้อเสียเปรียบหลายชั้น เริ่มแต่ความเสียเปรียบโดยสภาพที่เป็นธรรมชาติ เช่น การที่ต้องรับผ่านสื่อภาษาที่ทำให้ช้า ล้าหลัง จำกัด และสูญเสียความชัดเจน

การที่เราตามเขาในเรื่องต่างๆ ทางวัฒนธรรมนั้น ความหมายอย่างหนึ่งก็คือ การตามในทางความคิดนั้นเอง และเมื่อตามในทางความคิดก็คือตามทางปัญญา หมายความว่าเรายอมรับให้เขามีปัญญาเหนือกว่า เมื่อเราตามความคิดของเขา ความคิดของเราก็ตามเขา แล้วภาษาของเราก็ตามด้วย เพราะภาษาเป็นสื่อความคิด เราจึงต้องไปตามภาษาถ้อยคำต่างๆ ที่สื่อความคิดนั้นว่าเขาพูดอะไรออกมา เขามีคำอะไรต่างๆ ที่ใช้กัน เราก็ต้องตามเก็บเอามา แล้วก็เอามาพูดกันในสังคมของเรา และต้องตามความเข้าใจในถ้อยคำที่เขาพูดด้วย

ขอยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเขามีความคิดใหม่เพิ่มขยายจากของเดิม เขาก็อาจจะยังใช้คำง่ายๆ ที่เป็นคำสามัญอันเก่านั้นแหละ เพียงแต่ขยายแง่มุม หรือเพิ่มนัยใหม่เข้าไป แต่เวลาเราจะสื่อความหมายนั้นในสังคมไทยเรากลับต้องบัญญัติคำใหม่ ซึ่งทำให้คนของเรามีสิ่งขวางกั้นทำให้ลำบากในการเข้าถึงปัญญาอันนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นความลำบากของเราหลายชั้นหลายเชิง ในแง่นี้อาจมีข้อเสนอแนะว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะพยายามทำให้คนของเราเข้าถึงภูมิปัญญาที่เราจะรับได้ไวขึ้น เช่น เราอาจจะหาคำง่ายๆ มาใช้ หรือเอาคำง่ายๆ ธรรมดามาเสริมเพิ่มนัย ทำนองเดียวกับภาษาของเขา

เวลานี้คำศัพท์ต่างๆ ของตะวันตก เมื่อนำมาใช้ในสังคมของเรา หลายศัพท์ก็เกิดความไม่ชัดเจน มีการถกเถียงกันจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ยุติ ยกตัวอย่างคำที่เรานำมาใช้นานแล้ว เป็นคำบัญญัติจากภาษาอังกฤษ คือคำว่า จริยธรรม ซึ่งได้บัญญัติขึ้นให้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า ethic โดยไปนำเอาคำบาลีและคำสันสกฤตที่มีอยู่ในพื้นฐานวัฒนธรรมของเรามาบัญญัติ แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ปรากฏว่าเรายังไม่ยุติในความหมายของคำว่าจริยธรรม เวลาจัดประชุมแต่ละครั้งเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมคุณธรรม ต้องมาถกเถียงกัน หรือไม่ก็มีความคลุมเครือไม่แน่ใจเกี่ยวกับความหมายของจริยธรรม ไม่ลงตัวกันสักที เป็นเวลาตั้งร่วม ๒๐ ปีแล้ว จนกระทั่งในระยะหลังๆ นี้ นิยมเอาคำว่าคุณธรรมมาใช้ด้วย กลายเป็น “คุณธรรมและจริยธรรม” เราไม่มีคำศัพท์คำเดียวที่ได้ความหมายเพียงพอหรืออย่างไร เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหาอย่างยิ่งว่า ในเมื่อภาษาไม่ชัด ความคิดก็ไม่ชัด แล้วทุกอย่างก็ไม่ชัดหมด ปัญญาเราไม่ชัด อันนี้เป็นอุปสรรคสำคัญ

คำว่า จริยธรรม นี้ ไม่ใช่สิ่งใหม่ ศัพท์นั้นใหม่ แต่ตัวสภาวะไม่ใช่ใหม่ ศัพท์ใหม่นั้นต้องการสื่อสาร สื่อสารอะไร ตอบว่าสื่อถึงสภาวะอย่างหนึ่ง ซึ่งที่จริงก็มีอยู่แล้วในสังคมไทย เมื่อเราใช้ศัพท์ในอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาสื่อสภาวะที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเรา เมื่อใช้ศัพท์ใหม่นั้นมาใช้เรียกสภาวะนั้น ก็จะมีคำอื่นๆ ที่ใช้เรียกอยู่แล้ว และคำศัพท์นั้นก็มีความหมายที่อาจจะเกยกันกับคำใหม่ คาบเกี่ยวกันไม่ลงตัว อันนี้ก็จะทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้น เป็นความขัดแย้งสับสนเมื่อ ๒ วัฒนธรรมเข้ามาสัมพันธ์กันทางศัพท์ที่ต่างกัน สภาวะนั้นถูกเข้าใจในขอบเขตของศัพท์ไม่ตรงกัน วิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาก็คือ เราจะต้องทำให้คนของเราเกิดความชัดเจนตั้งแต่ต้น ว่าศัพท์นี้เรื่องนี้ ในความหมายของวัฒนธรรมของเขาคืออย่างไร และในวัฒนธรรมของเราคืออย่างไร เมื่อเราชัดในความหมายของทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็จะพูดกันรู้เรื่อง ไม่ใช่ปล่อยให้สับสนคลุมเครือโดยก้าวก่ายเกยกันอยู่อย่างนี้ อันนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา หรือพัฒนาวัฒนธรรมในทางปัญญาของเราเอง

ตัวอย่างอีกคำหนึ่งที่เรามาบัญญัติกันในระยะหลัง คือคำว่าทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งใช้กันมาในยุคที่เรายึดการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ จนมองเห็นมนุษย์เป็นทุนอย่างหนึ่งที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคม เราก็เลยมองว่ามนุษย์เป็นทรัพยากร แต่มาถึงบัดนี้เราเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงจุดเน้น เราบอกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ถ้าทำไปในทิศทางดิ่งอย่างที่ทำมาแล้ว ก็จะเกิดผลเสีย เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็จะหันมาพัฒนาคน หรือพัฒนามนุษย์ แต่ก็เกิดมีความสับสนขึ้น ซึ่งเป็นการเตือนว่าการใช้ศัพท์ต่างๆ เป็นเรื่องที่จะต้องมีความเข้าใจให้ชัดเจน ในขณะที่เราพูดถึงการพัฒนาคน หรือพัฒนามนุษย์ หลายคนก็อาจจะใช้คำว่าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่นิยมพูดกันมาไม่นานนี้ โดยผู้พูดนั้นเข้าใจคำว่าทรัพยากรมนุษย์ในความหมายว่าเป็นการพัฒนามนุษย์นั้นเอง ซึ่งที่จริงต้องมีความชัดเจนว่า เมื่อพูดว่าทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายอย่างไร เมื่อพูดว่าพัฒนามนุษย์ มีความหมายอย่างไร เป็นต้น มิฉะนั้นแล้ว เรื่องภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาก็ไม่ชัดไปหมด เมื่อปัญญาไม่ชัด การแก้ปัญหาก็ไม่สำเร็จ

ถ้าไม่ทำให้ดี ในที่สุดสังคมของเรานี้ ภาษาอาจทำให้เกิดชนชั้นทางปัญญาขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คนทั้งหลายเข้าใจไม่ทันกัน ไม่ทั่วถึงกัน ไม่เข้าใจร่วมกัน ภาษาก็เลยทำให้คนแบ่งแยกกัน เข้าใจว่าปัจจุบันนี้เริ่มมีแล้ว ความแบ่งแยกกันระหว่างคนในวัฒนธรรมเนื่องจากเรื่องของภาษา แล้วคนส่วนใหญ่ก็ไม่เข้ามาสู่ภูมิปัญญาที่เราต้องการ การที่จะรู้เท่าทันสังคมตะวันตกก็จะอยู่ในวงจำกัด คนส่วนใหญ่ไม่เข้ามา เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่เข้ามา มันก็ไม่เข้าสู่ความเป็นวัฒนธรรมที่แท้จริง ความรู้ความเข้าใจก็จะจำกัดอยู่ในหมู่ชนแคบๆ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าถึง หรือเข้าถึงช้าเกินไป กว่าจะรู้เข้าใจกันทั้งสังคมก็ไม่ทันการณ์แล้ว วัฒนธรรมทางปัญญาก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จประโยชน์อย่างที่ต้องการได้

ในหลายกรณี เรื่องภาษานี้มีปัญหา เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมโยงความคิดที่รับเอามาเข้ากับถ้อยคำและระบบความคิดในวัฒนธรรมของตน เลยเกิดเป็นข้อจำกัดในตัวเอง นี้เป็นการพูดย้ำในส่วนที่พูดไปแล้ว คือทำอย่างไรเราจะโยงสิ่งที่รับเข้ามา เข้ากับถ้อยคำที่สื่อระบบความคิดในสังคมวัฒนธรรมของเราได้และโยงให้ดี เพราะถ้าโยงไม่ได้ เราจะไม่เกิดความชัดเจนเป็นอันขาด ถ้าเราโยงเข้ามาได้แล้ว เราสามารถดูดย่อยได้ ถ้อยคำที่สื่อความคิดใหม่นั้นก็จะมาเป็นส่วนที่เสริมให้เกิดการพัฒนาในวัฒนธรรมโดยเฉพาะในทางปัญญาของเรา แต่ถ้าเราไม่สามารถรับเข้ามาผสานโยงกันได้ ไปๆ มาๆ สิ่งที่เข้ามาเป็นข้อมูลความคิดในรูปของภาษาที่ไม่ชัดเจน ก็จะเป็นเหมือนเศษชิ้นส่วนอะไรต่างๆ ที่ลอยเกะกะอยู่ในกระแสวัฒนธรรม โดยไม่สามารถกลืนเข้าไปในพื้นฐานของวัฒนธรรมของตนเอง แล้วแทนที่จะเป็นประโยชน์ก็จะกลับเป็นโทษไป

อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าเรื่องภาษานี้เราจะต้องพยายามกันให้มาก เพราะว่ามันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเชิงภูมิปัญญา ว่าเราจะเอาอย่างไร ในเมื่อเราจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมตะวันตก เราจะถ่ายทอดความคิดกันอย่างไร ถ้าสามารถใช้คำสามัญได้ ก็คงจะดีที่สุด บางทีเราใช้คำง่ายๆ แล้วก็เพิ่มนัยความหมายเข้าไป ไม่จำเป็นจะต้องเอาคำใหม่ก็ได้ แต่ถ้าทำคำใหม่ก็ให้เป็นคำที่ง่าย ชัดเจนและสื่อกันได้ฉับไวที่สุด

ภาษาที่สื่อความคิดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวย่อมปรากฏในวรรณกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นภาษาจึงโยงไปหาวรรณกรรม ปัจจุบันนี้อาจจะพูดง่ายๆ ว่า วรรณกรรมนั้นมีวิธีแยกได้หลายอย่าง แต่วันนี้พูดในเชิงเน้นทางปัญญา จึงขอแยกว่าเป็นวรรณกรรมที่สื่ออารมณ์หรือสื่อความรู้สึกอย่างหนึ่ง และวรรณกรรมที่สื่อปัญญาอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนี้อาจพูดได้ว่า วรรณกรรมที่สื่อความรู้สึกของเรานั้น มีมากพอ แต่วรรณกรรมที่สื่อทางปัญญาอาจจะต้องการเพิ่มขึ้น หรืออาจมีน้อยเกินไป

ความจริง การใช้คำว่าอารมณ์ ในกรณีนี้ว่าตามภาษาพระถือว่าไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความสับสน คือคำว่าอารมณ์นั้น ในภาษาพระแปลว่า สิ่งที่จิตรับรู้หรือเอามาคิดนึกพิจารณา หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในความรับรู้หรือคิดนึก มันต่างไปเป็นคนละเรื่องกันเลย แต่ทีนี้ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะในภาษาไทยนี้ เราใช้คำว่าอารมณ์ในความหมายที่เป็นเรื่องของความรู้สึกมานานแล้ว

ทีนี้ แม้แต่วรรณกรรมที่สื่ออารมณ์หรือความรู้สึกก็มีแง่พิจารณาต่อไปอีกว่า มันสื่อความรู้สึกแบบไหน สื่อความรู้สึกแบบหนึ่ง คือสื่อความรู้สึกที่ส่งเสริมคุณธรรม และสื่อความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง คือสื่อความรู้สึกที่ทำให้เกิดการทำลายหรือสูญเสียศีลธรรม เพราะฉะนั้นสื่อทางอารมณ์ หรือสื่อทางความรู้สึก จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิจารณา เวลานี้เรามีวรรณกรรมที่สื่อความรู้สึกประเภทไหนมาก สื่อความรู้สึกในเชิงกิเลส ปลุกเร้าให้คนเกิดโลภะ โทสะ โมหะ มากขึ้น หรือว่าสื่อความรู้สึกในเชิงคุณธรรมที่ทำให้เกิดความซาบซึ้งในความดีงาม ในมนุษยธรรม ในความมีน้ำใจระหว่างกัน เป็นต้น ถ้าเราจะพัฒนาวัฒนธรรม สื่อทางความรู้สึกก็ต้องแยกออกไปให้ชัด และการพัฒนาวัฒนธรรมทางจิตใจกับทางปัญญาก็เสริมซึ่งกันและกัน

ในแง่ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมจากภายนอก เราบอกว่าเพื่อที่จะได้ทันกับภูมิปัญญาของเขา เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องเข้าถึงวรรณกรรมสำคัญๆ โดยเฉพาะในทางภูมิปัญญาของตะวันตกด้วย เริ่มตั้งแต่วรรณกรรมทางวิชาการ โดยเฉพาะที่จะให้การเข้าถึงนั้นเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่จะทำอย่างไร เพราะวัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องของสังคม จะต้องให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงด้วย ทำอย่างไรจะให้คนของเราเข้าถึงวรรณกรรมทางปัญญาของฝรั่งได้อย่างรวดเร็ว วิธีหนึ่งคือให้คนไทยหรือประชาชนชาวไทยรู้ภาษาของฝรั่งอย่างดีทั่วกัน แต่วิธีนี้คงไม่มีใครยอมรับและคงยังเป็นไปไม่ได้ อีกวิธีหนึ่งคือให้มีคนจำนวนหนึ่งทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งหมด คอยจับรวมวรรณกรรมทางปัญญาและวัฒนธรรมอื่นมาถ่ายทอดให้แก่สังคมไทยอย่างรวดเร็วทันควัน โดยอาจจะจัดกลุ่มชนขึ้นมาสำหรับทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีงานอะไรใหม่ๆ ในทางภูมิปัญญาของตะวันตก จะต้องให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็ว ต้องให้แปลออกมาอย่างฉับพลันทันที และรัฐจะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะอุดหนุนให้เกิดให้มีและให้แพร่หลายทั่วถึง เช่นโดยทำให้ราคาถูกที่สุด เราจึงจะทันเขา มิฉะนั้น ก็จะอยู่ในสภาพที่ล้าหลังกันอยู่อย่างนี้ เป็นเรื่องของบ้านเมือง ซึ่งฝ่ายบริหารจะต้องเอาให้จริงจัง เพราะถ้าตามไม่ทันในทางภูมิปัญญาแล้ว มันก็ต้องตามเขาเรื่อยไป เวลานี้มองในแง่ดีก็เห็นว่าวรรณกรรมเชิงวิชาการในทางภูมิปัญญา ก็มีนักแปลที่เก่งๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยเกินไป ถ้าพูดถึงส่วนรวมทั่วประเทศของเราอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า วรรณกรรมที่แปลมาจากต่างประเทศนั้น เมื่อมองในแง่สื่อปัญญากับสื่อความรู้สึก อาจจะมีการแปลเรื่องที่สื่อความรู้สึกมากกว่าหรือเปล่า

นอกจากนั้น ในเรื่องการแปลนี้ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น เรื่องของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่างๆ ก็ต้องเอาใจใส่เหมือนกัน วรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงนี้ ไม่ควรจะมองข้าม เราควรจะรู้ความเคลื่อนไหวความเป็นไปและความรู้สึกนึกคิดของประเทศที่ใกล้เคียงติดกันด้วย และในสายวัฒนธรรมเดิมที่มีความสัมพันธ์กันมา ก็ยังมีเรื่องของการสืบต่อซึ่งยังมีอยู่บ้างขาดตอนบ้าง ลบเลือนไปบ้าง อย่างเช่น ในด้านวรรณกรรมจีนก็ยังพอมีบ้าง แต่ในทางอินเดีย บาลี สันสกฤตนี้แทบขาดตอนเลย เวลานี้หาแทบไม่ได้ ในด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ได้มีการจัดทำโปรแกรมค้น พร้อมทั้งบรรจุข้อมูลพระไตรปิฎกลงในคอมพิวเตอร์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เมื่อทำสำเร็จแล้ว เราก็ถือว่าเป็นวรรณกรรมเหมือนกัน

พอวรรณกรรมพระไตรปิฎกบาลีในคอมพิวเตอร์ออกไป ปรากฏว่าเมืองไทยนี้ซื้อน้อยมาก ไม่ใช่เฉพาะญาติโยมเท่านั้น แม้แต่วัดก็ซื้อน้อย แสดงว่าการศึกษาในเชิงบาลีของพระนี้อ่อน ซึ่งต้องยอมรับความจริง การศึกษาพระพุทธศาสนานั้นเสื่อมโทรมไม่เฉพาะในสังคมไทยทั่วไปในฝ่ายคฤหัสถ์เท่านั้น ในฝ่ายสังคมพระก็เสื่อมโทรมเป็นอย่างยิ่ง พระรู้บาลีมีน้อย ถึงรู้บาลีก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า ปรากฏว่าพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ภาษาบาลีที่ออกมานี้ ประเทศที่ซื้อมากที่สุดคือญี่ปุ่น รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกต เป็นเรื่องหนึ่งที่เราควรจะพิจารณากันให้จริงจัง

การที่จะพัฒนาวัฒนธรรมให้ก้าวหน้าจะต้องมองรอบด้าน ดูว่าองค์ประกอบและปัจจัยทางสังคมในประเทศของตัวเองมีอะไรบ้าง ประเทศที่เขาต้องการความเป็นผู้นำนั้นเขามองทั่วหมด เขามองเข้ามาในเมืองไทยว่าเขาจะนำวัฒนธรรมของเขาเข้ามาได้อย่างไร หรือจะมานำวัฒนธรรมไทยอย่างไร แต่เรามองในแง่ที่จะนำเอาวรรณกรรมของเขาที่สื่อปัญญาเข้าสู่เมืองไทย ถ้ามองกลับกันก็ต้องคิดบ้างว่า วรรณกรรมที่จะสื่อภูมิปัญญาของไทยออกสู่สังคมอื่นเป็นอย่างไร และจะเห็นว่าในยุคสมัยนี้ วรรณกรรมที่สื่อภูมิปัญญาไทยออกสู่ภาษาต่างประเทศ นับว่าหายากอย่างยิ่ง เวลานี้มีเครือข่ายอะไรต่างๆ ในการศึกษาหาความรู้ เช่น internet เป็นต้น เมืองไทยเราจึงมีโอกาสแล้ว เพราะสื่อสารเปิดทางให้ แต่เราจะสามารถสร้างความเป็นผู้นำทางปัญญาขึ้นมาได้เพียงใด นี้ก็เป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่ง

มองตัวเองให้เห็นลึกถึงฐาน
จะเห็นทางผันตัวขึ้นมาทำการสร้างสรรค์

ถอยกลับไปนิดหนึ่ง หันกลับไปดูถ้อยคำต่างๆ ที่เราใช้ในสังคมของเราเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมของไทย และใช้กันอยู่ในวงวิชาการต่างๆ ปรากฏว่าเราเองยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร น่าสงสัยว่าวิธีการศึกษาของเราอาจจะยังไม่ลงลึกเพียงพอ จึงปรากฏว่าถ้อยคำที่เราใช้ในทางวิชาการ ยังไม่ค่อยมีการศึกษาที่ชัดเจน ให้ถึงรากเหง้าต้นตอ แต่ถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพที่ตามๆ กันไปอย่างคลุมเครือ ขอยกตัวอย่างในเรื่องวัฒนธรรมทางการปกครองหรือการเมือง มีการพูดถึงคำศัพท์และถ้อยคำที่แสดงถึงแนวความคิดในเชิงวัฒนธรรมการปกครอง ว่าสังคมของเรามีความคิดในทางการปกครองอย่างไร นักวิชาการพูดถึงเรื่องขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระประมุขของชาติ เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด โดยบอกว่าสมัยก่อนนี้ในประเทศไทยเรา พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นสมมติเทพบ้าง เป็นเทวราชบ้าง เป็นธรรมราชาบ้าง ปรากฏว่าในผลงานทางวิชาการต่างๆ เช่น ในทางสังคมวิทยา ถ้อยคำเหล่านี้ถูกใช้กันอย่างคลุมเครือมาก ผลงานที่เขียนที่พิมพ์ออกมา แม้แต่เป็นตำราเรียน ไม่แสดงให้เห็นเลยว่า ผู้เขียนมีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับความหมายและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำเหล่านั้น แต่กลายเป็นการแสดงถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดด้วยซ้ำ การที่จะแสดงให้ชัดเจนได้นั้น ผู้ศึกษาจะต้องค้นลงไปถึงแหล่งถึงต้นตอ ให้เห็นที่มาของศัพท์เหล่านี้ เช่นคำว่าสมมติเทพนี้มาจากไหนแน่ ต้นตอมาจากพระไตรปิฎกเลยใช่ไหม ในพระไตรปิฎกใช้อย่างไร มีความหมายอย่างไร เทวราชและธรรมราชามาจากไหน ถ้าพูดถึงคำว่าสมมติเทพ ก็ต้องรู้ว่ามีอยู่ในภาษาบาลีซึ่งมีมาในพระไตรปิฎกที่ท่านบอกว่าเทพมี ๓ อย่าง คือ

๑. อุบัติเทพ เทพโดยกำเนิด ได้แก่สัตว์ที่เราเรียกกันว่า เทวดา ที่อยู่ในสวรรค์

๒. สมมติเทพ เทพโดยสมมติ คือบุคคลที่เป็นเทวดาโดยการยอมรับหรือตกลงร่วมกันของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ยอมรับก็ยกขึ้นเป็นเทพ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย

๓. วิสุทธิเทพ เทพโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น

นี้คือที่มาแหล่งเดิมของเทพในสายความคิดที่มาถึงเรา แต่เวลานี้นักวิชาการบางท่าน บางทีพูดถึงสมมติเทพในความหมายซึ่งแยกไม่ออกกับเทวราช และคำว่าเทวราชนั้นเองมาจากไหน เทวราชหรือเทวราชาในภาษาบาลีก็คือราชาของเทวดา โดยเฉพาะพระอินทร์ แต่นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ พูดถึงคำว่าเทวราชในความหมายว่าราชาผู้เป็นเทพ ทำนองว่าเทพมาเกิดเป็นราชาตามแนวคิดของฮินดู ส่วนธรรมราชานั้น เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าเป็นพระธรรมราชา และยังมีธรรมราชาอีกฝ่ายหนึ่งของทางบ้านเมือง ได้แก่ พระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงจักรวรรดิวัตร ๕ ประการ หรือ ๑๒ ประการ อย่างนี้เป็นต้น เรื่องราวและถ้อยคำอย่างนี้ ถ้าเราจะสื่อกันในวัฒนธรรมไทย ก็ต้องเป็นเรื่องให้ชัดเจน เรียกว่าลงไปให้ถึงรากเหง้าต้นตอ มิฉะนั้นในสังคม อะไรๆ จะพร่ามัว ขัดขวางพัฒนาการทางปัญญา เพราะแม้แต่ภาษาที่สื่อกันก็ยังไม่มีความชัดเจน ถ้าอย่างนี้เราจะก้าวไปสู่ความชัดเจนในการสื่อกับประเทศอื่นๆ หรือวัฒนธรรมอื่นๆ ได้อย่างไร เรามีความสับสนคลุมเครือในเรื่องเหล่านี้มามากพอสมควรแล้ว

นอกจากเรื่องถ้อยคำที่ต้องค้นหาความหมายให้ถึงต้นแหล่งความคิดเดิม เช่น ถ้าเป็นคำบาลีก็ต้องดูให้ถึงพระไตรปิฎก แล้วอีกแง่หนึ่งก็คือการรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการแห่งความหมายของถ้อยคำ ซึ่งที่จริงอาจจะไม่ใช่วิวัฒนาการ แต่เป็นเรื่องของความวิปริตผิดเพี้ยนที่เกิดจากความขาดการศึกษา ทำให้ถ้อยคำต่างๆ ที่เข้ามาสู่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงความหมาย มีการใช้ในสังคมไทยที่แปลกเปลี่ยนไปจากความหมายเดิมในภาษาบาลี หรือในพระไตรปิฎก หรือในคัมภีร์ต่างๆ เรื่องนี้เรายังไม่มีความชัดเจน แต่ปล่อยให้พร่ามัวกันอยู่ แล้วเราก็ยอมรับหรือรู้เข้าใจกันในความหมายที่ผิดเพี้ยนหรือเคลื่อนคลาดไปแล้ว ในเรื่องนี้ ถ้าเราศึกษาสืบค้นให้ถึงต้นตอ ก็จะได้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งจะมีความหมายในเชิงพัฒนาวัฒนธรรมอย่างมาก ขอยกตัวอย่างคำสามัญง่ายๆ เช่น คำว่า เมตตา วาสนา บารมี มานะ เป็นต้น คำเหล่านี้เวลาใช้ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ต้องบอกว่าความหมายมันเพี้ยนไปบ้าง คลาดเคลื่อนไปบ้าง หรือแม้แต่ผิดไปตรงกันข้ามเลยก็มี

ไม่เฉพาะหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจะมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเท่านั้น สังคมไทยก็มีอิทธิพลต่อความหมายของถ้อยคำหรือหลักธรรมที่มาจากพระพุทธศาสนาด้วย เป็นการกระทำซึ่งกันและกัน อาจจะเป็นไปได้ว่า บางทีสังคมไทยของเราก็เลือกหยิบเอาถ้อยคำที่แสดงหลักธรรมคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนามาใช้ในแง่ความหมายที่สนองความต้องการของสังคมของเรา เพราะฉะนั้น ความหมายนั้นก็เลยเป็นความหมายผสมระหว่างความหมายเดิมบางส่วนกับความหมายของไทยเองบางส่วน โดยขึ้นกับยุคสมัย และความหมายนั้นถ้าคนในยุคต่อมาไม่ศึกษาให้ถึงต้นเดิมแล้ว ก็จะสูญเสียประโยชน์และเกิดความผิดพลาดซ้อนทีเดียวสองอย่าง คือเข้าใจความหมายของถ้อยคำบาลีเดิมและหลักธรรมในพระพุทธศาสนาผิดพลาด พร้อมกันนั้นก็ไม่เห็นเงื่อนงำของสภาพวัฒนธรรมในยุคนั้นๆ เช่น ไม่เห็นความต้องการหรือสภาพสังคมว่าทำไมจึงใช้ศัพท์นั้นๆ ในความหมายอย่างนี้ๆ ทั้งๆ ที่ต้นตอแหล่งเดิมมีความหมายเป็นอย่างอื่น

ขอยกตัวอย่างเป็นเชิงสันนิษฐาน แต่มีทางเป็นไปได้มาก เช่น ระบบความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย หรือสิ่งที่บางท่านเรียกว่า ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ได้ทำให้คำว่าเมตตามีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม ความหมายเดิมคืออะไร เมตตานั้นเป็นคุณธรรมที่มนุษย์ทุกคนจะพึงมีต่อกัน เป็นท่าทีของจิตใจต่อกันระหว่างมนุษย์ทุกคน ซึ่งไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย เช่น ในทางธรรม สอนให้คฤหัสถ์มีเมตตาต่อพระสงฆ์ ถ้าพูดในภาษาไทยก็คือ โยมต้องมีเมตตาต่อพระสงฆ์นะ อย่างนี้เป็นต้น อย่างเช่น ในทิศ ๖ คฤหัสถ์พึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ในสังคมไทย ถ้าพูดว่าชาวบ้านควรเมตตาพระ หรือเด็กควรเมตตาต่อผู้ใหญ่ คงจะฟังแปลกๆ ขัดหู ทั้งนี้ที่จริงเป็นการพูดถูกต้องแล้ว เพราะในพระพุทธศาสนาท่านไม่ให้รอพระพรหมผู้เป็นเจ้าที่จะสร้างและบำรุงรักษาโลก แต่ท่านสอนให้มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลกและบำรุงรักษาโลกนี้ให้อยู่ดีมีสันติสุข เพราะฉะนั้นคนทุกคนในโลกนี้ควรจะต้องทำตัวให้เป็นพรหม เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะช่วยกันสร้างสรรค์ หล่อเลี้ยงบำรุงรักษาโลกนี้ไว้ให้ดีงามเหมือนกันทุกคน เราจึงต้องมีคุณธรรม ที่เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงต้องมีเมตตาต่อกัน ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าผู้ใดต่อผู้ใด คือทุกคน แต่ในภาษาไทย เมตตานี้กลายเป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่ต่อผู้น้อย ความหมายก็เปลี่ยนไปอย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ มานะซึ่งเป็นกิเลส ที่จะต้องละ แปลว่า ความถือตัว ความต้องการยิ่งใหญ่ แต่ในสังคมไทย มันกลายความหมายมาเป็นความพากเพียร ทำไมมานะจึงกลายมาเป็นความพากเพียร มันก็เป็นเรื่องที่สืบได้ อาจจะสันนิษฐานไว้เป็นข้อเสนอว่า ในสังคมไทยได้ใช้มานะเป็นตัวยุกระตุ้นคนให้เกิดความเพียรพยายาม หมายความว่า กระตุ้นเร้าให้คนต้องการความยิ่งใหญ่ เช่นว่าจะให้เป็นเจ้าคนนายคน ดังจะเห็นได้ในการศึกษาเล่าเรียน เคยมีการกระตุ้นเด็กว่า หนูตั้งใจมานะพากเพียรเล่าเรียนไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน การที่บอกว่าให้เธออยากจะเป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าคนนายคนนี้ เรียกว่า มานะ พอมีมานะขึ้นคือต้องการเป็นใหญ่ ก็เลยเพียรพยายาม เรียกว่าได้เอามานะมาใช้เป็นตัวกระตุ้นให้คนเพียรพยายาม ใช้กิเลสปลุกเร้า มานะจึงกลายความหมายในสังคมไทย มานะนั้นเป็นกิเลสแท้ๆ เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขกำจัด แต่เราเอามานะมาใช้กระตุ้นให้คนอยากใหญ่โตแล้วพากเพียร จนกระทั่งมานะกลายความหมายมาเป็นความพากเพียรไปเลย

ปัจจุบันนี้ เราอาจจะเปลี่ยนจากการใช้มานะเป็นตัวยั่วยุความเพียร มาใช้ตัณหา ตัณหาก็คือต้องการผลประโยชน์ เรากระตุ้นกันให้ต้องการจะมีเงินเดือนมากๆ มีรายได้มากๆ แล้วตั้งใจเล่าเรียน ขยัน อย่างนี้เรียกว่าใช้ตัณหายุ ต่อไปตัณหาก็อาจจะกลายความหมายเป็นความเพียรไปอีก มันก็เป็นไปได้

แต่ในทางพระ เราเคยคิดไหมว่าตัวอะไรที่เราต้องการแท้ๆ ที่ควรเป็นตัวนำหรือเป็นแรงจูงใจให้คนเกิดความเพียรพยายาม ถ้าจับตัวนี้ได้ เราก็มีทางพัฒนาวัฒนธรรม พระพุทธศาสนามีคำตอบว่าไม่ใช้ตัณหา ไม่ใช้มานะ แต่ตัวที่ควรจะนำมาใช้ในการกระตุ้นเตือนเร้าให้คนมีความเพียร คือฉันทะต่างหาก ฉันทะคือความใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ เป็นตัวที่เราต้องการให้เป็นตัวนำความเพียรพยายาม อย่างนี้เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง คำว่าวาสนาก็ชัดมาก วาสนานั้นถ้าเราไปมองดูในทางพระ มันจะต่างแทบจะตรงข้ามกับของญาติโยม ในสังคมไทยนี้บอกว่าใครมีบุญมีวาสนา ต่อไปก็ได้เป็นใหญ่เป็นโต บางทีมีการพูดว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้ แต่ในทางพระบอกว่าพระอรหันต์ และพระพุทธเจ้าละกิเลสพร้อมทั้งวาสนา เอ้า ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ วาสนาเป็นสิ่งที่ดีเหลือเกินนี่ เราจะไดัมีโชค มีความเจริญก้าวหน้า แต่ทางพระท่านบอกว่าพระพุทธเจ้าละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาทั้งหมดเลย เราก็ตีความหมายว่า พระพุทธเจ้าท่านคงไม่ต้องการความเจริญก้าวหน้าในโลกก็เลยละวาสนา ถ้าคิดอย่างนี้ก็ผิดไกลเลย วาสนาในเมืองไทยนี้ได้เข้าใจผิดไปไกล จนกระทั่งว่ามันเป็นอำนาจอะไรพิเศษที่อยู่ในสวรรค์ชั้นฟ้า หรืออยู่เหนือเรา อยู่เร้นลับ เหนือธรรมชาติที่มาบันดาลนำชีวิตของเราให้เจริญรุ่งเรือง

ที่จริงวาสนานี้ไม่ใช่อะไรเลย วาสนาก็คือพฤติกรรมที่สั่งสมมาเคยชิน จนกระทั่งกลายเป็นลักษณะของบุคคลผู้นั้นที่ต่างจากบุคคลอื่นๆ คนหนึ่งๆ จะมีลักษณะการพูดจาอย่างหนึ่ง บางคนพูดอะไรต่ออะไรขวานผ่าซาก บางคนพูดอ้อยอิ่ง พูดช้าๆ บางคนพูดสุภาพ บางคนพูดมีสำนวน สละสลวยกลมกลืน บางคนพูดกระโชกโฮกฮาก กริยาท่าทางการเดินเหินไม่เหมือนกัน คนนี้เดินเร็ว คนนี้เดินช้า คนนี้เดินน่าดู คนนั้นเดินแล้วคนไม่ชอบใจ อะไรต่างๆ หรืออย่างเรื่องเดียวกัน กิจกรรมอันเดียวกัน คนหนึ่งทำคนทั้งหลายชอบใจ แต่พออีกคนหนึ่งทำ คนทั้งหลายชังไม่ชอบใจ อันนี้เกิดจากอะไร เกิดจากลักษณะพฤติกรรมที่เป็นของเฉพาะบุคคล เช่น บุคลิกภาพ เป็นต้น พฤติกรรม เป็นต้น อากัปกิริยาต่างๆ ที่บุคคลสั่งสมมาจนเป็นลักษณะประจำตัวของเขา อันนี้ทางพระเรียกว่าวาสนา เมื่อมันเกิดเป็นวาสนาขึ้นมาแก่ใครแล้ว มันก็มีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้นั้น แม้กระทั่งเป็นตัวกำหนดความเป็นไปในชีวิต เพราะว่าในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์หรือในความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์นั้น การพูดจาและอากัปกริยาต่างๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว ย่อมทำให้เกิดผลกระทบแก่ผู้อื่น แล้วเขาก็มีความรู้สึกตอบสนองกลับมา ซึ่งอาจจะทำให้เราเกิดความเจริญก้าวหน้าหรือเกิดความขัดข้องในชีวิตการงาน เป็นต้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่เราเป็นอยู่กันนี้ เราอยู่กันด้วยวาสนา ภาพของเราหรือตัวเราที่ปรากฏแก่คนอื่น ก็คือวาสนาของเรา วาสนาจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดชี้ความเป็นไปในชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นวาสนาในทางพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่เราจะต้องเอาใจใส่แก้ไขปรับปรุง ไม่ใช่วาสนาที่รอคอยให้ลอยมาจากสวรรค์

เพราะเหตุที่วาสนาเป็นสิ่งที่สะสม เป็นพฤติกรรมเคยชิน มันจึงไม่อยู่ในควบคุมของสติ แต่ทางพระท่านถือว่า พฤติกรรมของเรานั้น เราควรจะควบคุมให้อยู่ในอำนาจของสติได้ พระพุทธเจ้าได้พัฒนาพระองค์จนกระทั่งมีสติปัญญาสมบูรณ์ พฤติกรรมทุกอย่างของพระองค์จึงอยู่ในการดูแลของสติทั้งหมด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้ละวาสนาได้ คือไม่ทำอะไรเพียงสักแต่ว่าตามความเคยชิน ต่างจากคนทั่วไปที่มีพฤติกรรมและการตอบสนองอะไรต่างๆ ในการเป็นอยู่ประจำวัน แทบ ๙๐% เป็นไปตามความเคยชิน เมื่อเจอสถานการณ์อย่างนี้เราจะแสดงออกอย่างไร จะพูดอย่างไร จะทำอย่างไร ความโน้มเอียงของจิตใจจะเป็นอย่างไร ก็มักจะเป็นไปตามวาสนาที่สั่งสมมาของแต่ละคนเท่านั้น

ในเรื่องวาสนานี้ถ้าเราจะพัฒนา เราจะต้องมองว่าวาสนาของเราส่วนไหนไม่ดี ไม่เกื้อกูลต่อชีวิต เราก็ต้องแก้ไขปรับปรุง ฝึกตัวจนกระทั่งพฤติกรรมของตนอยู่ในความดูแลของสติโดยส่วนใหญ่ พระอรหันต์นั้นละวาสนาได้ แต่พระอรหันต์นั้นไม่เหมือนพระพุทธเจ้า คือละวาสนาได้ไม่หมด ท่านบอกว่าวาสนาที่เป็นความเคยชินติดตัว หรือพฤติกรรมติดตัวเล็กๆ น้อยๆ อย่างพูดเร็ว พูดช้า เป็นต้น หรือบางองค์เคยพูดไม่เพราะ พอเป็นพระอรหันต์ก็ยังพูดไม่เพราะอยู่นั่นแหละ อย่างนี้ท่านบอกว่าพระอรหันต์เองก็ละได้ไม่หมด แต่วาสนาที่ละไม่ได้นั้น เป็นวาสนาที่ไม่เสียหายใหญ่โตไม่รุนแรง ส่วนวาสนาที่เสียหายรุนแรง พระอรหันต์ละได้หมด อันนี้คือเรื่องวาสนา

เรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนา เป็นเรื่องของสิกขา คือการฝึกฝนปรับปรุง เพราะฉะนั้นอะไร ต่ออะไรที่พูดขึ้นมาในพระพุทธศาสนา จะต้องโยงไปหาการศึกษาหรือการพัฒนาคนทั้งนั้น ฉะนั้นคำที่พูดกันมาว่า แข่งอะไรแข่งได้ แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้นั้น ย่อมไม่ถูกต้อง คนเราจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขตัวเอง วาสนานี้เข้ามาในสังคมไทย ทำไมความหมายมันเพี้ยนไป อันนี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษา อาตมภาพเพียงแต่ขอยกตัวอย่างเท่านั้นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องถ้อยคำโดยตรง คือในวัฒนธรรมการเมืองการปกครองของไทย เราเคยถือคติตามคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง ว่าเกณฑ์กำหนดความชอบธรรมของผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองคืออะไร ในตำราสังคมวิทยาจะพูดกันมากทีเดียว โดยเฉพาะฝรั่งเขียนมาเยอะนานแล้ว นักวิชาการในมหาวิทยาลัย เช่น คอร์แนล ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมการปกครองของไทย แล้วก็มาลงกันว่าเกณฑ์กำหนดความชอบธรรมแห่งอำนาจของผู้ปกครอง คือ บุญที่ทำมาแต่ชาติก่อน หมายความว่าบุญที่ทำมาแต่ปางก่อน ทำให้ท่านผู้นั้นมีความชอบธรรมในการที่จะดำรงสถานะ เช่น เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

ในการที่จะเข้าใจเรื่องนี้ เรามีวิธีมองสังคมอีกวิธีหนึ่ง คือเราอาจจะมองสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่พยายามที่จะก้าวขึ้นมาๆ เพื่อให้เข้าถึงหลักการของพระพุทธศาสนา แต่เราคืบเคลื่อนมาได้เพียงบางขั้นตอน การที่เราได้มาถึงวัฒนธรรมระดับไตรภูมินี้ เป็นการก้าวมาขั้นหนึ่งในการเดินเข้าสู่พระพุทธศาสนา ซึ่งเราอาจจะบอกว่ายังไม่ถึง เพราะถ้าเราเดินต่อจากไตรภูมิไปถึงพระไตรปิฎก เราจะเห็นว่าเกณฑ์กำหนดความชอบธรรมแห่งอำนาจของผู้ปกครองรัฐนั้น จะก้าวจากหลักการเมื่อกี้นี้ ไปเป็นหลักการใหม่ที่เป็นหลักการต้นเดิม ซึ่งถือว่าการประพฤติธรรมในเวลาปัจจุบันขณะนี้เป็นเกณฑ์กำหนดความชอบธรรมของผู้ปกครอง อันนี้ต่างกันไกลเลย

การประพฤติธรรมก็คือ การปฏิบัติถูกต้อง การตั้งตนอยู่ในธรรมะ ในความจริงความถูกต้องดีงาม เป็นเกณฑ์กำหนดความชอบธรรม ขอยกตัวอย่างพุทธพจน์มาแสดงเลยว่า ในอัคคัญญสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธมฺโม หิ วาเสฏฺฐา เสฏฺโฐ ชเนตสฺมึ แปลว่า ดูก่อน วาเสฏฐะ และภารัทวาชะ ธรรมแลเป็นประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ หมายความว่าต้องตัดสินกันที่ธรรมะ อันนี้เป็นเกณฑ์ตัดสินความชอบธรรมแห่งอำนาจตามหลักพระพุทธศาสนาแท้ๆ หลักการต้นเดิมอยู่ที่ตัวธรรมะ แต่เรามาติดอยู่แค่ไตรภูมิพระร่วง ก็เอาบุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อนเป็นเกณฑ์ตัดสิน ถ้าเราไม่ศึกษาแบบลึกลงไปให้ถึงต้นตอ เราก็ติดกันอยู่อย่างนี้ และก็สรุปกันว่าเกณฑ์นี้มาจากทัศนะของพระพุทธศาสนาอะไรทำนองนี้ แต่ถ้าหากมีการศึกษาต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง แล้วพยายามเข้าให้ถึงแหล่งเดิมต้นตอ ลงลึกลงไป วัฒนธรรมแม้แต่ในทางการเมืองการปกครองก็อาจจะมีการก้าวต่อ หรือวิวัฒนาการในแนวทางของพระพุทธศาสนาไปสู่ธรรมะที่เป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนาได้

ตามตัวอย่างที่ยกขึ้นมาพูด ถ้าพิจารณาในแง่นี้เราจะเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนั้น ก็อย่างที่เห็นกันอยู่ว่ามีทั้งแง่ดีและแง่ร้าย แต่การเปลี่ยนแปลง แม้แต่ที่ว่าร้าย มองให้เป็นประโยชน์ รู้จักถือเอาประโยชน์ ก็กลายเป็นดีได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ เราอาจจะถือเอาประโยชน์ได้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากแรงกระทบจากภายนอกเข้ามาถูกต้องสัมผัสกับวัฒนธรรมไทย โดยทำให้มันเป็นตัวเอื้อประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่เป็นการก้าวหน้าต่อไปได้ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

ในสังคมวัฒนธรรมใดก็ตาม ย่อมเป็นแนวโน้มของปุถุชนทั่วไป ว่าเมื่อทำอะไรได้สำเร็จมีความก้าวหน้าไปขั้นหนึ่ง พอก้าวสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดความชอบใจภูมิใจ และเกิดความยึดติดในความสำเร็จขั้นนั้น พอเราเกิดความยึดติดในความสำเร็จขั้นนั้นแล้ว ความสำเร็จในขั้นนั้นก็กลายมาเป็นตัวอุปสรรคขวางกั้นทำให้เราไม่ก้าวหน้าต่อไป ดังนั้นความสำเร็จขั้นหนึ่งหรือการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง จึงกลับเป็นตัวอุปสรรคทำให้เราติดตันไป ซึ่งตามธรรมดาธรรมชาติของปุถุชนเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนหลักการแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาเพื่อแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ โดยเน้นหลักการแห่งความไม่ประมาทว่ามนุษย์จะต้องไม่ประมาท ถ้าประมาทก็เสื่อม คนที่เจริญ คนที่ดี คนที่มีความสุข มักจะตกหลุมความประมาท สังคมทุกสังคมเมื่อเจริญพัฒนา มีความดีงาม ความสุข จะตกหลุมความประมาท แล้วก็เสื่อมไป เพราะอย่างนี้ ไม่ว่าในวิถีชีวิตของบุคคล หรือสังคมตั้งแต่ครอบครัวไปกระทั่งถึงอารยธรรม จึงมีความหมุนเวียนเป็นวงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญอยู่เรื่อยไป

ในยามที่มีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม มนุษย์จะดิ้นรนขวนขวาย แล้วก็ก่อร่างสร้างตัวเพียรพยายามทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ แต่เมื่อมนุษย์ประสบความสำเร็จดีงาม มีความสุขแล้ว มนุษย์ก็จะเพลิดเพลิน นอนใจหลงมัวเมา แล้วต่อจากนั้นวงจรของความเสื่อมก็จะตามมา จึงกลับเสื่อมอีก เพื่อแก้วงจรนี้ พระพุทธศาสนาจึงสอนย้ำเน้นถึงการที่จะยืนหยัดดำรงรักษาความเจริญไว้ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปอีก โดยไม่มีการเสื่อม ท่านสอนให้เรากระตือรือร้นขวนขวายเร่งแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคาม คือต้องมีความไม่ประมาทด้วยสติปัญญา แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดเรื่องธรรมะ เดี๋ยวจะกลายออกไปสู่หัวข้อธรรมะไปเสีย

เอาเป็นว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นโอกาส เพราะฉะนั้น การที่มีความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสังคมของเราถูกกระทบจากวัฒนธรรมจากภายนอกนี้ อาจจะเป็นโอกาสให้เราก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง แล้วทำไมเราจะยอมเสียโอกาสนี้ไปอีกล่ะ เราควรถือเป็นโอกาสในการที่จะนำสังคมไทยให้ก้าวไปสู่อุดมคติที่สูงยิ่งขึ้นไป โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่เป็นแรงกระทบนี้ มาทำให้เราพ้นไปได้จากก้าวที่เราเข้ามาติดอยู่ แต่การที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเอื้อประโยชน์ได้สำเร็จนั้น คนในสังคมนี้จะต้องมีปัญญา รู้เข้าใจทันการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างหนึ่ง และรู้จักองค์ประกอบในวัฒนธรรมของตนเองที่เกี่ยวข้องที่ตนจะต้องไปเปลี่ยนแปลงพัฒนานั้นอย่างหนึ่ง อันนี้ขอผ่านไปก่อน

จากวัฒนธรรมที่มัวปกป้องตัว
สู่ความเป็นวัฒนธรรมที่นำในการสร้างสรรค์

ในเรื่องของสังคมวัฒนธรรมนั้น มีแง่พิจารณาหลายอย่าง แต่ที่กำลังพูดอยู่ก็คือ องค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ในวัฒนธรรม ในการที่วัฒนธรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์พัฒนานั้น เวลาเรามองปัจจัยต่างๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้น ลักษณะอย่างหนึ่งที่จะต้องมองก็คือ การมองปัจจัยนั้นอย่างไม่โดดเดี่ยวจากปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะเรียกได้ว่า ปัจจัยร่วม

ตามปกติ เมื่อมองอะไร เรามักจะมองปัจจัยตัวเดียว แล้วก็มองปัจจัยตัวนั้นว่าเป็นอย่างไร ทำให้เกิดผลอย่างไร จึงเป็นความคิดที่ดิ่งที่แล่นไปในทางเดียว การมองปัจจัยแต่ละอย่างนั้น ต้องมองปัจจัยร่วมประกอบด้วย คือปัจจัยตัวเดียวกัน ถ้าปัจจัยร่วมต่างกัน อาจจะเกิดผลคนละอย่างเลย ปัจจัยตัวเดียวกันไปมีปัจจัยร่วมอีกตัวหนึ่ง เกิดผลในทางเจริญ แต่ปัจจัยตัวเดียวกันนั้นไปได้ปัจจัยร่วมอีกตัวหนึ่ง กลับส่งผลในทางเสื่อมลง ถ้าเราไปติดอยู่แค่ปัจจัยเดียว เราจะมองความจริงผิดไปเลย แล้วเราจะวินิจฉัยคาดการณ์อะไรต่างๆ ก็ผิดไปด้วย อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่คนมักจะพลาด ฉะนั้น จะต้องมองปัจจัยแต่ละอย่างโดยไม่แยกออกจากปัจจัยร่วม และจะต้องแสวงหาปัจจัยร่วมมาพิจารณาวิเคราะห์ว่า มันคืออะไร เมื่อเราศึกษาปัจจัยร่วมได้เพียงพอแล้ว เราจะเกิดความเข้าใจ แล้วก็มองเห็นทางที่จะพัฒนาวัฒนธรรมได้

ขอยกตัวอย่างปัจจุบันนี้ เอาเรื่องง่ายๆ ที่ต้องการเน้น ซึ่งพูดมาหลายครั้งแล้ว ก็คือเรื่องเทคโนโลยี เทคโนโลยีเข้ามาในสังคมไทยแล้วก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในทางวัฒนธรรม ตัวมันเองก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรม คือเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ แต่มันเป็นปัจจัยที่มีผลในทางสังคม ตลอดจนทางจิตใจและทางปัญญาด้วย ตามปกติ เทคโนโลยีนี้คนจะมองคู่ควบกับวิทยาศาสตร์หนึ่ง และกับอุตสาหกรรมหนึ่ง ประการแรก เวลาเรามองเทคโนโลยี เรามักจะมองควบไปด้วยกันกับวิทยาศาสตร์ ดังที่ชอบพูดกันว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะวิทยาศาสตร์ปรากฏตัวออกมาเป็นประโยชน์โดยทางเทคโนโลยี และเทคโนโลยีก็อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์พัฒนา ประการที่สอง เทคโนโลยีนั้นเราอาจจะมองคู่กับอุตสาหกรรม เพราะว่าอุตสาหกรรมเจริญควบคู่กันมากับการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วย เพราะเทคโนโลยีเป็นตัวเอื้อทำให้อุตสาหกรรมเจริญได้ และอุตสาหกรรมก็ผลิตสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญยิ่งขึ้นไปด้วย อย่างนี้เรียกว่ามองปัจจัยตัวร่วมแล้ว เวลานี้เรามองเทคโนโลยีโดยสัมพันธ์กับปัจจัยร่วม คือ วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม แต่การมองอย่างนี้ต้องถือว่าเป็นการมองแบบเดิมในสังคมตะวันตก

วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยร่วมกับเทคโนโลยี เพราะว่าวิทยาศาสตร์ในตะวันตกเจริญควบคู่กันมากับเทคโนโลยี ทั้ง ๒ อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมื่อวิทยาศาสตร์พัฒนาไป เราก็สร้างเทคโนโลยีให้พัฒนาขึ้น แต่วิทยาศาสตร์ก็อาศัยเทคโนโลยี ถ้าเราไม่มีกล้องดูดาว และต้องใช้ตาเปล่า ความรู้ทางดาราศาสตร์ของเราก็คงคับแคบ แต่พอเราได้เทคโนโลยีสร้างกล้องดูดาวขึ้นมา เทคโนโลยีก็เป็นตัวหนุนทำให้การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขยายขึ้นอีกอย่างมากมาย เราอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์พัฒนาจนเกิดคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังอย่างมากในการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าขึ้นไป

วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีเกื้อต่อกันอย่างที่ว่ามานี้ แต่ข้อที่ต้องการจะพูดในที่นี้ก็คือ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาแต่เดิมในสังคมตะวันตกที่พัฒนามาคู่กับวิทยาศาสตร์นั้น ก็มีความหมายด้วยว่า สังคมตะวันตกได้พัฒนาวิทยาศาสตร์มาโดยที่ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์นั้นก็ทำให้เขาเกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ขึ้น วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์คืออะไร คือการที่บุคคลมีลักษณะจิตใจแบบใฝ่รู้ ชอบเหตุผล ชอบพิสูจน์ ทดลอง ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ พยายามพิสูจน์ความจริงของสิ่งต่างๆ ให้ประจักษ์ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อความรู้สึกนึกคิดจิตใจนิสัยอย่างนี้เข้ามาสู่วิถีชีวิต เราเรียกว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ในสังคมตะวันตก เทคโนโลยีเจริญขึ้นมาหรือได้รับการสร้างสรรค์จากผู้ที่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ชาวตะวันตกจึงได้สิ่งหนึ่งควบคู่กันมากับเทคโนโลยีคือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ หมายความว่าคนที่ใช้เทคโนโลยีในสังคมตะวันตกนั้น มีพื้นฐานของวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งอาจเรียกสั้นๆ ว่ามีความใฝ่รู้

ต่อมาในแง่ของเทคโนโลยีที่ควบคู่กันมากับอุตสาหกรรม ฝรั่งพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร คำตอบก็คือ เกิดจากการที่มนุษย์ในโลกตะวันตกนั้นเพียรพยายามในการที่จะแก้ไขปัญหาความขาดแคลน ซึ่งเขายอมรับว่าการที่เขาพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาก็เพราะเหตุผลข้อนี้ ตะวันตกมีความบีบคั้นในด้านปัจจัย ๔ มีความขาดแคลนและธรรมชาติแวดล้อมก็บีบคั้นอย่างยิ่ง ชีวิตความเป็นอยู่ไม่สะดวกสบาย เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องดิ้นรนแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ชีวิตของเขามีความพรั่งพร้อมในวัตถุบริโภคต่างๆ ขึ้นมา แล้วเขาก็พยายามต่อสู้ด้วยความเหนื่อยยาก และสร้างสรรค์ความเจริญ ทำให้เกิดสิ่งผลิตขึ้นมาที่เรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม การเพียรพยายามต่อสู้สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดผลผลิตอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดระบบอุตสาหกรรมขึ้นมา ดังที่เขาใช้ภาษาอังกฤษเรียกระบบนี้ว่า Industry แปลว่าความขยัน นี้คือตัวความหมายที่แท้จริง และเวลาแปลเป็นไทย เราก็แปลว่า อุตสาหกรรม ซึ่งแปลว่า การกระทำด้วยความฮึดสู้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่เวลาคนไทยมองเรื่องนี้ เราไม่ค่อยสังเกตความหมายของคำว่าอุตสาหกรรมเลย อุตสาหกรรมกลายเป็นเรื่องของความฟุ่มเฟือย สะดวกสบายไป เพราะอะไร นี่แหละคือที่บอกว่าปัจจัยตัวร่วมมันไม่มาด้วยในสังคมไทย

เมื่อเทคโนโลยีมากับปัจจัยร่วม คือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตก เราจึงเห็นได้ว่าพื้นฐานของคนในสังคมตะวันตกนี้มีข้อดีหรือข้อได้เปรียบ คือ เขามีเทคโนโลยีที่พัฒนามากับสภาพจิตใจที่เกิดจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ที่มีความใฝ่รู้ พร้อมทั้งวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่มีความขยันหมั่นเพียรและใจสู้ ซึ่งขอใช้คำว่าสู้สิ่งยาก เพราะฉะนั้นจึงมีความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยากในวัฒนธรรมตะวันตก

แต่พอมาในสังคมไทยนี้ เทคโนโลยีไม่ได้มาพ่วงกับปัจจัยร่วม ๒ อย่างนั้น คือไม่ได้มาร่วมกับวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่คนไทยมาในวัฒนธรรมเดิมของตัวเอง ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมแบบสบายๆ ของเกษตรกร วัฒนธรรมสบายๆ ของเกษตรกรคืออย่างไร ก็คือการอยู่กันอย่างที่พูดว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ชีวิตไม่แร้นแค้น ไม่บีบรัด ไม่ต้องกระเสือกกระสนมากมาย เราอยู่กันสบายๆ อย่างนี้ จนกระทั่งมาวันหนึ่งเราก็เจอกับเทคโนโลยีที่เข้ามาสำเร็จรูปจากตะวันตก ซึ่งโดยมากเป็นเทคโนโลยีเชิงบริโภค เทคโนโลยีสำเร็จรูปเข้ามาก็อำนวยความสะดวกสบาย สบายกับสบายก็เลยมาเจอกัน คือวัฒนธรรมเดิมก็สบายแบบชีวิตของเกษตรกร โผล่มาก็เจอเทคโนโลยีของสังคมตะวันตกมาช่วยให้สบายยิ่งขึ้น

ความสบาย ๒ อย่างนี้มาเจอกันแล้วเกิดผลเป็นอย่างไร พื้นฐานความใฝ่รู้สู้สิ่งยากก็ไม่มี และมาได้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายแบบนี้เข้าอีก ขอพูดสั้นๆ ว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวัง คนของเราไม่มีการศึกษาที่พัฒนาให้ถูกจังหวะให้ถูกจุด มันจะทำให้คนของเรามีนิสัยแบบเป็นคนลวกๆ ไม่ชอบเผชิญปัญหา และเป็นคนอ่อนแอเปราะบาง ตลอดจนเป็นคนมักง่าย ชอบหวังลาภลอยจากสิ่งเลื่อนลอย พร้อมกันนั้นในยุคนี้ สภาพของชีวิตมนุษย์มีความสับสนซับซ้อนมาก พอเจอเข้าอย่างนี้ก็จะทำให้คนของเรากลายเป็นคนที่นอกจากไม่สู้ความยากและไม่ชอบแก้ปัญหาแล้ว ก็จะกลายเป็นคนที่ปล่อยตัวและล้มเหลวได้ง่าย ซึ่งจะต้องยอมรับว่าเป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐานของเราเอง ที่รับปัจจัยภายนอกเข้ามาในลักษณะที่เป็นการซ้ำเติมตัวเอง ถึงตอนนี้จึงมีปัญหาว่า ถ้าจะแก้ให้ถูกจุด เราจะเอาอะไรมาช่วย เพื่อทำให้คนของเรามีวัฒนธรรมในส่วนดีที่จะเอามาเสริมเติมในส่วนที่ขาดไป ซึ่งเวลานี้จะต้องเน้นให้มากคือ ความใฝ่รู้และสู้สิ่งยาก

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมในปัจจุบันนี้ ซึ่งขอพูดเสียเลย คือ สภาพความเชื่อถืออย่างหนึ่งที่แฝงปนมาในวัฒนธรรมไทย ได้แก่ ความนับถือไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพเจ้า ภูตผีปีศาจ ที่มีอำนาจดลบันดาลต่างๆ เรื่องเหล่านี้มีแง่มุมต่างๆ ที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง หมายความว่า แม้แต่ปัจจัยตัวเดียวกัน การนำมาใช้อาจจะต่างแง่ต่างมุมกันได้ ไสยศาสตร์และการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าต่างๆ นั้นมีความหมายอย่างไร ในที่นี้ขอยกมาพูดเพียง ๒ อย่างคือ

๑. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ปลอบประโลมบำรุงขวัญทำให้สบายใจ ในที่นี้ขอหายทุกข์คลายโศก

๒. ในสมัยโบราณ สิ่งสำคัญในสังคมที่รักษาวัฒนธรรมไว้ ทำให้หมู่ชนอยู่กันได้ด้วยดี มีความสงบเรียบร้อยพอสมควร ก็คือการที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นอำนาจเรียกร้องจริยธรรม ว่าถ้าเธอจะอยู่ดีมีความสุขความเจริญ เธอจะต้องทำอันนี้ จะต้องงดเว้นอันนั้น ถ้าไม่ทำตามกำหนดหรือคำสั่งบัญชาของเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เธอจะถูกลงโทษ ถ้าเธอทำตาม เทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะโปรดประทานรางวัล เพราะฉะนั้นความเชื่อต่อเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จึงเป็นอำนาจเรียกร้องจริยธรรม และเป็นอำนาจกำหนดข้อห้ามในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในสังคม และพร้อมกันนั้นมันก็เป็นอำนาจที่อำนวยโชคลาภด้วย

อำนาจอำนวยโชคลาภ กับอำนาจเรียกร้องกำหนดจริยธรรมนี้สัมพันธ์กัน กล่าวคือ ในสังคมโบราณ การที่จะให้อำนาจเร้นลับอำนวยโชคลาภนี้ก็อาจจะต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน คือต้องประพฤติจริยธรรม แต่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ แม้ว่าคนจำนวนมากยังนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้ากันอยู่ แต่ปรากฏว่าผลในแง่อำนาจเรียกร้องจริยธรรมเลือนหายไป เหลือแต่อำนาจอำนวยโชคลาภ เมื่อไม่มีอำนาจเรียกร้องจริยธรรมแล้ว คุณค่าของเทพเจ้าไสยศาสตร์สิ่งลึกลับทั้งหลายก็แทบจะหมดไปเลย

ยิ่งกว่านั้นที่ร้ายมากก็คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจเทพเจ้า และผีสางต่างๆ เหล่านั้น ถูกใช้เป็นที่รับถ่ายโอนภาระความรับผิดชอบ หมายความว่าเราต้องการอะไร เผชิญปัญหาอะไร ก็ไม่ต้องเพียรพยายามทำ แต่ไปอ้อนวอนขอให้ท่านช่วย อย่างนี้เรียกว่าเอาท่านเป็นที่รับถ่ายโอนภาระรับผิดชอบ นี่คือจุดเสื่อมที่สุดที่สังคมไทยปัจจุบันใช้ไสยศาสตร์ สิ่งเร้นลับ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้าในทางลบ ขอสรุปว่า

๑. อำนาจเรียกร้องจริยธรรมแทบไม่ใช้เลย อันนี้เสียหมด ใช้แต่เฉพาะในด้านเป็นอำนาจอำนวยโชคลาภ ซึ่งเป็นการสนับสนุนลัทธิทุนนิยมระบบผลประโยชน์ที่สอดคล้องไปกันได้ดี และเทคโนโลยีก็ไปกันได้กับไสยศาสตร์แบบนี้

๒. ใช้เป็นที่รับถ่ายโอนภาระความรับผิดชอบที่ว่าเมื่อกี้

๓. เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ปลอบประโลมใจ บำรุงขวัญ

ในแง่พุทธศาสนา สำหรับข้อที่ ๓ ที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นที่ยึดเหนี่ยว ปลอบใจ บำรุงขวัญ ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นความหมายของศาสนานั้น ถ้ามองในแง่ของพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นอันตรายมาก เพราะว่าการยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่งทางจิตใจนี้ มันไม่มีความหมายจบบริบูรณ์ในตัวของมันเอง เพราะที่พูดว่ายึดเหนี่ยวนั้น ยังไม่แน่ว่าเหนี่ยวลงหรือเหนี่ยวขึ้น ดึงลงหรือดึงขึ้น การนับถือเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไสยศาสตร์หลายอย่าง เมื่อนับถือเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวเข้าแล้ว ก็จะดึงคนที่นับถือให้จมลงในความลุ่มหลงงมงายไม่รู้จักพัฒนาตนต่อไป แต่สิ่งที่พึงยึดเหนี่ยวที่ถูกต้องก็คือ สิ่งที่นับถือแล้วจะดึงคนให้พัฒนาตนเองขึ้นไปในทางปัญญาและคุณธรรม ไม่หมกจมอยู่แค่นั้น เราจะต้องให้คนมีที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวชนิดที่ดึงคนขึ้นมา

ถ้าหากว่าคนไทยเรารับเทคโนโลยีโดยไม่มีปัจจัยพ่วง คือขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และขาดวัฒนธรรมอุตสาหกรรม และมีวัฒนธรรมแบบสบายๆ ของเกษตรกรเข้ามาซ้ำ พร้อมทั้งมีการนับถือเทพเจ้าไสยศาสตร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรูปแบบแง่มุมที่ผิดอย่างนี้แล้ว เราจะได้วัฒนธรรมที่อ่อนแอและเลื่อนลอย เพราะฉะนั้นจะต้องคิดกันให้ชัดว่า ส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไปนี้ เราจะสร้างขึ้นมาอย่างไร ก็ต้องสร้างด้วยการศึกษาพัฒนาคนให้ใฝ่รู้สู้สิ่งยาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่า เรายอมรับว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้นดีสมบูรณ์นะ อาตมภาพไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เป็นแต่เพียงยกแง่มุมที่ดีมาใช้ เพราะว่าแม้แต่สิ่งที่ไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ถ้ารู้จักดู ส่วนดีก็มีอยู่ และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำ

เป็นอันว่าในที่นี้ต้องการพูดให้เห็นว่าเรื่องของวัฒนธรรมนั้นมีปัจจัยต่างๆ เป็นองค์ประกอบมากมาย และการมองปัจจัยต่างๆ อย่ามองโดดเดี่ยว ต้องมองปัจจัยร่วมด้วย ซึ่งอาจจะเป็นตัวผันแปรให้ปัจจัยตัวนั้น เกิดผลในทางดีหรือทางร้าย ตรงกันข้ามทีเดียวก็ได้ โดยสรุปก็ขอพูดว่า เราคงต้องยอมรับก่อนว่า เวลานี้วัฒนธรรมของเราตกอยู่ในภาวะเป็นวัฒนธรรมที่ปกป้องตัวเองไปเสียแล้ว เราจะปล่อยให้วัฒนธรรมของเราอยู่ในภาวะนี้ไม่ได้ แต่การแก้ปัญหาให้ได้ผลนั้น บางทีไม่ใช่เป็นการไปมัวสาละวนกับการแก้ปัญหา

การมัวสาละวนกับการแก้ปัญหาไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล บางทีการแก้ปัญหานั้น แก้ได้ด้วยการทำสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งอาจจะทำให้เราข้ามพ้นปัญหานั้นไปได้เลย เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปมัวแก้ปัญหากันอยู่ บางทีต้องทำการสร้างสรรค์ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่เป็นวัฒนธรรมที่มัวปกป้องตัวเป็นฝ่ายถูกกระทบ และมัวแต่เน้นการอนุรักษ์กันอยู่ ซึ่งเป็นการมัวสาละวนกับการแก้ปัญหา และไม่คิดทำการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่า แต่เราจะต้องมองว่าเราจะทำการสร้างสรรค์อะไรที่ยิ่งใหญ่ได้ไหม ถ้าเราทำได้ วัฒนธรรมของเราก็จะก้าวพ้นปัญหา มันพ้นไปเอง มันหมดไปเอง

ข้อสำคัญก็คือ ในการที่เราจะก้าวไปถึงขั้นนั้น ซึ่งเป็นการก้าวไปสู่การมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของโลก และสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ ตลอดจนเป็นผู้นำ โดยเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่มัวแต่ถูกกระทำนี้ เราจะต้องเน้นวัฒนธรรมทางปัญญา โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศต่างๆ ในโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังมีความติดตัน และอับจนต่อปัญหาของโลกและชีวิต กำลังต้องการแนวความคิดใหม่ๆ คือต้องการภูมิปัญญาใหม่ๆ ที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาที่ติดตันอยู่นี้ สังคมไทยเราถ้านึกให้ดี หันมาสำรวจตัวเองให้ชัดเจนและให้ทั่วตลอด ก็จะเห็นว่า เราก็มีดีที่จะให้แก่โลก ถ้าเราตรวจดูและปฏิบัติต่อวัฒนธรรมของเราให้ถูกต้อง เราอาจจะเห็นทางที่จะก้าวต่อไปได้อย่างดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำในวัฒนธรรมเพื่อเห็นทางก้าวหน้าต่อไป จึงมี ๒ ด้านมาบรรจบกัน คือ

ประการที่ ๑ ลงลึกให้ถึงฐาน หยั่งให้ถึงรากเหง้าของตนเอง อย่างที่ยกตัวอย่างให้เห็นเมื่อกี้นี้ว่า ภูมิธรรมภูมิปัญญาของเราอาจจะมีอยู่ แต่เราไม่รู้จักตัวเอง จึงค้นหาตัวเองไม่พบ จะต้องจับตัวจริงมาให้ได้ ศึกษาให้ลึก มีอะไรในวัฒนธรรมไทยที่ไม่ชัดเจน ก็สืบลงไปให้ถึงตัวจริงดั้งเดิม เราอาจจะพบคุณค่าแท้ที่มันลึกลงไปกว่าที่วัฒนธรรมไทยเราเคยเอามาใช้ก็ได้ และมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เหมือนอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า ในรูปแบบหรือโมเดลอันหนึ่ง เรามองว่าวัฒนธรรมไทยนี้เป็นการพยายามก้าวเข้าสู่อุดมคติของพระพุทธศาสนา และเราได้ก้าวมาแล้วบางขั้น แต่ยังไม่ถึง ก็ต้องก้าวกันต่อไป

ประการที่ ๒ คือต้องมองกว้างออกไปให้ทั่วทั้งโลก หรือจะเรียกว่าทั่วทั้งจักรวาลก็ได้ โดยมีสายตากว้างไกล มองออกไปในระบบความสัมพันธ์แห่งปัจจัยของสิ่งทั้งหลายทั้งหมด อย่างที่เรียกว่าเป็นระบบปัจยาการ ให้เราเห็นปัญหาและทางออก แม้แต่ปัญหาที่โลกผจญอยู่ และสิ่งที่โลกต้องการในการแก้ไขปัญหานั้น

เมื่อมองทั้ง ๒ ด้านนี้มาบรรจบกัน เราอาจจะเกิดปัญญา มีความคิด มีความหยั่งเห็น มี Vision ใหม่ๆ ที่เขาใช้คำว่าวิสัยทัศน์ ที่จะทำอะไรให้ก้าวพ้นจากการเป็นวัฒนธรรมแบบปกป้องตัวเอง ขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ ทำให้วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ที่คนในก็สามารถภูมิใจ และคนนอกทั่วไปก็จะพากันชื่นชมได้ด้วย

การบรรยายในวันนี้คงจะต้องยุติด้วยเวลาเพียงเท่านี้ หากว่าในการบรรยายครั้งนี้จะมีส่วนใดที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ อาตมภาพก็ขอถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จบพิตรทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบนักษัตร เพื่อทรงพระเจริญด้วยพระจตุรพิธพรชัยยิ่งยืนนาน

ขอจบการบรรยายครั้งนี้เพียงเท่านี้ ขอเจริญพร

1คำบรรยายธรรม ในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “อนาคตของภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมไทย” จัดโดย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๓๘
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.