พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทย
ในยุคโลกาภิวัตน์1

ขอเจริญพร ท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร ท่านอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทุกท่าน

วันนี้อาตมาได้มาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง พอมาเห็นสถานที่ก็จำได้ว่า เคยมาพูดที่นี่ ไม่แน่ใจว่ากี่ปีแล้ว อาจจะเป็นสัก ๒-๓ ปี รู้สึกว่ารวดเร็วเหลือเกิน มาเห็นที่นี่เหมือนกับเพิ่งมาพูดไม่นานนี้เอง และวันนี้มาพูดที่นี่ก็ต้องพูดเรื่องการศึกษาอีก

เมื่อได้รับนิมนต์จากท่านคณบดี เวลาจะมาพูดก็มีความรู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือกลัวซ้ำ นี่ก็จะพูดเรื่องปรัชญาการศึกษาอีก เรื่องทำนองนี้ดูเหมือนว่าพูดแล้วพูดอีก ถ้ามาพูดซ้ำก็ทำให้รู้สึกว่าจืด แต่ก็เห็นเป็นความจำเป็นที่ว่าเรื่องเนื้อหาสาระในทางวิชาการ โดยเฉพาะทางการศึกษานั้นจำเป็นต้องมีการพูดซ้ำบ้าง ความซ้ำนั้นอยู่ที่ตัวหลักการ แต่สถานการณ์ต่างๆ ก็เปลี่ยนไป หลักการนั้น เมื่อนำมาเชื่อมกับสถานการณ์หรือเรียกว่านำมาประยุกต์ใช้ ก็อาจจะมีแง่มุมที่แปลกแตกต่างออกไปบ้าง

วันนี้ท่านได้นิมนต์ให้มาพูดในเรื่อง พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ เรามีศัพท์ที่กำลังนิยมกันมากคือคำว่า โลกาภิวัตน์ ตามที่อาตมาได้รับนิมนต์ไปพูด หัวข้อปาฐกถาหลายครั้งจะมีคำนี้อยู่ด้วย ไม่เฉพาะในทางการศึกษา ไปพูดที่อื่นก็มีเรื่องทำนองนี้

คำว่าโลกาภิวัตน์นี้ค่อนข้างใหม่ ก่อนหน้านี้มีคำว่าโลกานุวัตร ก็ได้รับนิมนต์พูดตั้งแต่สมัยที่ใช้คำว่า โลกานุวัตร ก็เลยมีเรื่องของกระแสโลกานุวัตร บางทีก็พูดคู่กับธรรมานุวัตร แล้วก็มีโลกาภิวัตน์ในด้านต่างๆ

การศึกษาที่ยืนตัว แก้ปัญหาโลกาภิวัตน์ที่ชั่วคราว

โลกาภิวัตน์นั้นก็คงจะเข้าใจกันดีแล้วว่ามีความหมายอย่างไร สมัยต้นๆ ยังมีความสับสนพอสมควร เวลานี้ก็เป็นเพียงว่าทบทวนกัน ความหมายง่ายๆ ของคำว่า “โลกาภิวัตน์” ก็คือ การทำให้เกิด ให้มี ให้เป็นไปทั่วทั้งโลก อันนี้เป็นความหมายแบบง่ายๆ เรื่องนี้ก็เป็นสภาพของยุคสมัย คือ เวลานี้ เหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกได้มาถึงยุคสมัยที่ว่า เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งแล้วก็มีการแพร่ขยายกระจายไปรวดเร็วจนกระทั่งครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก เราจึงมีศัพท์นี้ขึ้นมา

ในแง่ของการศึกษาเราก็จะต้องดูว่า การศึกษาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นโลกาภิวัตน์อย่างไร เมื่อเรามองโลกาภิวัตน์ว่าเป็นเรื่องของยุคสมัย เราก็ต้องมองว่าปรัชญาการศึกษามีหลักของตัวเอง การที่ว่ามีหลักของตัวเองนั้นหมายความว่า ไม่ได้ขึ้นต่อโลกาภิวัตน์ แต่มาสัมพันธ์กับโลกาภิวัตน์ได้ด้วย ที่พูดอย่างนี้หมายความว่า ปรัชญาการศึกษาที่แท้นั้นมีความยืนตัวของมันเอง ไม่ได้ขึ้นต่อโลกาภิวัตน์

ขอพูดย้ำทวนว่า ปรัชญาการศึกษาที่แท้ย่อมมีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง และการที่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองนี้ก็คือ สามารถใช้พัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์ได้ ขยายความว่า เราสามารถใช้ปรัชญาการศึกษามาพัฒนามนุษย์ให้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ และมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์นี้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยไหนก็ตาม ก็สามารถดำรงอยู่อย่างดีที่สุดในสภาพที่เป็นจริงในเวลานั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกาลเทศะ หมายความว่า การศึกษามีความสมบูรณ์ในตัวที่สามารถสร้างคนที่มีความสมบูรณ์ และหลักการของการศึกษานั้นก็ตาม ตัวบุคคลที่มีความสมบูรณ์นั้นก็ตาม จะไปอยู่ในยุคสมัยไหนก็ตาม ก็สามารถปรับตัวหรือสามารถเป็นผู้แก้ปัญหา สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีในสภาพของยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งเราถือว่าเป็นกาลเทศะ

เวลานี้เรามาพูดในแง่โลกาภิวัตน์ก็หมายความว่า เราจะเอาปรัชญาการศึกษาที่น่าจะมีความสมบูรณ์อย่างนั้น และสร้างคนที่สมบูรณ์ได้อย่างนั้น มาใช้ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ การศึกษาที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ที่จะมีความสมบูรณ์ และสร้างคนที่มีความสมบูรณ์ได้ ก็คือปรัชญาการศึกษาที่เข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาตินั่นเอง อันนี้เป็นหลักการสำคัญ ถ้าตัวปรัชญาการศึกษาไม่สามารถเข้าถึงความจริงแห่งธรรมดาของธรรมชาติ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นตัวหลักเป็นตัวยืนที่มั่นคงอยู่ ไม่มีความสมบูรณ์ ถ้าเมื่อไรเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ เมื่อนั้นความสมบูรณ์ก็เกิดขึ้น

คนเรานั้น ไม่ว่าจะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีความเข้าใจต่อโลกและชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง และความเข้าใจนั้นจะมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังความคิดและการกระทำทุกอย่างของเขา ถ้าเขามาเกี่ยวข้องกับการศึกษา ความเข้าใจต่อโลกและชีวิตของเขา ก็เท่ากับเป็นปรัชญาการศึกษาของเขาไปโดยไม่รู้ตัว และถ้าความเข้าใจนั้นไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ก็จะพาให้การดำเนินการทางการศึกษาผิดพลาดไม่ได้ผลดี เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้ปรัชญาการศึกษามีความชัดเจน และให้เป็นปรัชญาการศึกษาที่เข้าถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ

ในเมื่อความจริงแท้ของธรรมชาติเป็นตัวตัดสิน ปรัชญาการศึกษาที่สมบูรณ์จึงมีได้ตลอดเวลา และมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็คือมนุษย์ที่เข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาตินั้น เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เหนือกฎธรรมชาติ ไม่เหนือธรรมดาธรรมชาติ มันจะเปลี่ยนแปลงไปปรากฏรูปอย่างไรก็เป็นเรื่องของยุคสมัย ถ้าเราเข้าถึงความจริงแท้ของมันแล้ว นั่นก็คือเราเข้าถึงฐานรากของมัน และเราก็จะสามารถมาจัดการกับรูปปรากฏต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะเป็นยุคสมัยไหน ถิ่นฐานไหนก็ได้ ตอนนี้เราจึงมาพูดในแง่ว่า เราต้องการปรัชญาการศึกษาที่แท้จริง ที่สมบูรณ์ ที่เข้าถึงความจริงแท้แห่งธรรมดาของธรรมชาตินั้น ซึ่งไม่ขึ้นต่อโลกาภิวัตน์ แต่สามารถนำมาแก้ปัญหาเฉพาะของยุคโลกาภิวัตน์ได้

ถ้ามันเข้าถึงความจริงแท้มันต้องแก้ปัญหาได้ แต่นั่นก็อยู่ที่ว่า จะต้องมีความสามารถอีกชั้นหนึ่งคือความสามารถที่จะนำมาใช้ ซึ่งเป็นความสามารถในการจัดตั้งวางระบบและความฉลาดเชิงเทคนิควิธี อย่างน้อยก็ต้องมีความรู้เท่าทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงและปัญหาในขณะนั้น ถึงแม้เราจะมีความรู้จริงเข้าถึงกฎธรรมชาติจริง แต่ถ้าเราไม่รู้เข้าใจปัญหาและสภาวการณ์ที่เป็นไปอยู่ในเวลานั้น เราก็ไม่สามารถเอาหลักการนั้นมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกัน

ถ้าเรามีปรัชญาการศึกษาที่แท้ ซึ่งพัฒนาคนได้สมบูรณ์ เราก็จะได้คนที่มาอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่สามารถแก้ปัญหาของยุคโลกาภิวัตน์นี้ได้ด้วย และทำการสร้างสรรค์อย่างได้ผลดี การศึกษาแบบนี้จะมีลักษณะอย่างหนึ่งในบรรดาหลายๆ ลักษณะ คือเป็นการศึกษาที่สามารถนำสังคมมนุษย์ เพราะอะไร เพราะว่าสังคมมนุษย์นี้เป็นรูปปรากฏตามยุคสมัย สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ มนุษย์นั้นอยู่ในสังคมก็ขึ้นต่อกาลเทศะ สังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ และสังคมนี้แหละที่ประสบปัญหา สังคมนี้มีเรื่องของความเป็นไปเฉพาะชั่วคราวตามกาลเทศะ มนุษย์ที่เข้าถึงความจริงนั้นจะเป็นผู้ที่ไม่ติดอยู่ภายใต้ครอบงำของสังคมแห่งกาลเทศะนี้ ที่ว่าไม่ติดอยู่ภายใต้ครอบงำของสังคมก็หมายความว่า ไม่ถูกกำหนดหล่อหลอมโดยสังคมอย่างเดียว

เป็นธรรมดาว่าสังคมนี้มีอิทธิพลครอบงำมนุษย์ แต่ถ้ามนุษย์เป็นอย่างนั้นหมด สังคมนี้ก็ไปดีไม่ได้ คือไม่มีทางออก ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง แก้ไขตัวไม่ได้ ถ้าเดินทางผิดไปก็จบ มันก็ตัน การศึกษาที่ดีที่ถูกต้องทำให้มนุษย์มีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนนำทางสังคมใหม่ ชี้ทางที่ถูกต้องให้ดำเนินไปได้ ดังนั้นการศึกษาที่แท้จริง จึงมีลักษณะหนึ่งคือการเป็นผู้นำสังคม ชี้นำสังคมได้

การศึกษานี้เราจะเห็นว่าบางครั้งมีบทบาทที่เน้นไปในแง่การสนองความต้องการของสังคม อย่างเวลานี้เราก็จะพูดกันมากถึงการที่ว่า ตอนนี้ประเทศชาติกำลังจะพัฒนา และการพัฒนานี้จะต้องอาศัยกำลังคนในด้านต่างๆ กำลังคนในด้านนี้น้อยไป ขาดแคลนไป จะต้องสร้างกำลังคนในด้านนี้ให้มาก การศึกษาก็มาแก้ปัญหานี้ เราถือว่าการศึกษานี้เก่ง สามารถสร้างกำลังคนมาสนองความต้องการ แต่ถ้ามองอยู่แค่นี้แล้วไม่รู้ตระหนักถึงความหมายของการศึกษาที่แท้จริง เราก็จะแคบ เราก็จะทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ และกลายเป็นการศึกษาที่ตามสนองความต้องการของสังคมเท่านั้น ก็กลายเป็นการศึกษาถูกกำหนดโดยสังคม

ตามความจริงแท้การศึกษาจะต้องเป็นตัวนำสังคม เป็นผู้หาทางออกให้แก่สังคมได้ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงวิถีของสังคม ชี้นำทิศทางของสังคม จนกระทั่งสามารถแก้การติดตันของอารยธรรมมนุษย์ได้ อันนี้คือความสามารถที่แท้จริงของการศึกษา เวลานี้สามารถพูดได้ว่า เรามาถึงจุดที่อารยธรรมของมนุษย์มีความติดตัน ไม่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น อารยธรรมของโลกหรือของมนุษยชาติทั้งหมดมาถึงจุดติดตัน การศึกษาจะต้องทำหน้าที่ให้ได้ถึงขั้นนี้ ถ้าทำไม่ได้ถึงขั้นนี้แล้วมันก็จะกลายเป็นว่า มนุษยชาติถึงความอับจน เมื่ออารยธรรมมนุษย์ติดตันแล้ว เราจะหาทางออกอย่างไร นี่คือภารกิจของการศึกษา

รู้สถานะของสังคม เตรียมรับมือโลกาภิวัตน์

ที่นี้เรามาพูดถึงเรื่องของยุคสมัยก่อนว่า เวลานี้เป็นยุคสมัยที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะคราว แต่เป็นสภาพปัจจุบัน โลกาภิวัตน์นี้มีสภาพปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือว่าปัญหาเรื่องราวอะไรที่เป็นโลกาภิวัตน์อยู่ในปัจจุบัน เมื่อเราอยู่ในสภาพการณ์นั้นเราจะมีสถานะสองแบบ ซึ่งจะเป็นข้อสังเกตหรือเป็นข้อพิจารณาเบื้องต้นว่า เราเป็นผู้มีการศึกษาที่พร้อมจะจัดการแก้ไขปัญหานำทางสังคมได้หรือไม่ ดูว่าสถานะของเราหรือสังคมของเรา ซึ่งอาจจะเป็นสังคมไทยนี่แหละ ว่าอยู่ในสถานะอะไร เป็นสถานะที่เป็นฝ่ายรับหรือเป็นฝ่ายให้ เป็นผู้ตามหรือเป็นผู้นำ เป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำ

ลองพิจารณาดูที่สังคมของเรานี้ กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามา และเป็นไปต่างๆ เราคอยรับคอยตาม เราถูกกระทำหรือเป็นผู้กระทำ เราเป็นผู้สร้างและเป็นผู้นำหรือไม่ อันนี้เป็นสถานะที่สำคัญ ถ้าสถานะของเรายังอยู่ในฝ่ายเป็นผู้ตาม ผู้รับ และถูกกระทำ ก็แสดงว่าน่ากลัว เช่น น่ากลัวว่าเราจะไปช่วยแก้ปัญหาให้แก่อารยธรรมมนุษย์ไม่ได้ อย่างน้อยการศึกษาของเราคงจะช่วยสังคมไม่ได้ดีเท่าที่ควร

ตอนนี้ เพื่อจะให้รู้สถานะเป็นอย่างน้อย ตลอดจนกระทั่งถ้าสามารถก็เข้าไปแก้ปัญหาของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ได้ด้วย

๑. ต้องมีความสำนึกรู้ อย่างน้อยสำนึกรู้ถึงสถานะของตนว่า สังคมของเราขณะนี้อยู่ในฐานะเป็นอะไร เป็นผู้รับ ผู้ตาม ผู้ถูกกระทำ หรือว่าเป็นผู้นำ ผู้ให้ และผู้กระทำ

๒. เมื่อสำนึกรู้สถานะขึ้นมาแล้ว ก็รู้เท่าทัน รู้ให้เข้าถึงความจริงของสภาพโลกาภิวัตน์ว่า สภาพโลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่นี้มันศรีวิไล หรือเป็นปัญหา เป็นสิ่งที่ดีหรือร้าย มีผลดีหรือเสีย แล้วต่อจากนั้น พอรู้เข้าใจถึงความจริงแล้ว

๓. ต้องมีความสามารถในการปรับตัว การปรับตัวเรามักจะมองแค่ว่าให้เข้ากับสภาพนั้นได้ หรืออยู่กับมันได้อย่างดี คือ แม้ว่ามันจะร้าย เราก็ปรับตัวให้อยู่ได้ดีที่สุดในสภาพอย่างนั้น แต่แค่นี้ยังไม่พอ เราจะต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือขั้นที่สามารถเป็นผู้กระทำต่อมัน เป็นผู้กระทำต่อสภาพโลกาภิวัตน์นั้น เป็นผู้เปลี่ยนแปลงก็ได้ เป็นผู้ทำมันขึ้นมาใหม่ก็ได้ นี่แหละคือผู้สร้างสรรค์ที่แท้จริง

การศึกษาที่ทำได้ถึงขนาดนี้คือการศึกษาที่เข้าถึงความจริงแท้และประสบความสำเร็จ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นเรื่องที่จะต้องสำรวจพิจารณาตนเอง

-๑-
สภาพโลกาภิวัตน์

ก่อนจะไปถึงตัวปรัชญาการศึกษาที่ต้องการจะพูด ก็มาพูดกันถึงสภาพโลกาภิวัตน์บางอย่างเสียก่อน เพื่อจะให้เห็นภาพของเรื่องที่เราเกี่ยวข้องอยู่ และที่เราจะต้องจัดการ ไม่ว่าในทางที่เป็นบวกหรือเป็นลบก็ตาม คือบางอย่างอาจจะต้องแก้ บางอย่างอาจจะต้องส่งเสริมสนับสนุน

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เจ้าของบทบาทในการสร้างยุคสมัย

สภาพโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้มีมากมายเหลือเกิน แต่อย่างหนึ่งที่เด่นชัดปฏิเสธไม่ได้ก็คือความเจริญและอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันนี้เป็นสภาพโลกาภิวัตน์ใหญ่ที่ได้ครองโลกมาเป็นเวลานานทีเดียว เรียกว่าเป็นศตวรรษๆ แล้ว

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น เราถือได้ว่าเป็นปัจจัยตัวเอกในการสร้างยุคสมัย สภาพความเจริญที่ขยายตัวขึ้นมาและเจริญแพร่หลายไปจนกระทั่งเรียกเป็นชื่อยุคสมัยของโลก เริ่มแต่ยุคอุตสาหกรรม ก็เกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ค้นคว้าความรู้ในธรรมชาติมาแล้วก็ได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นมาสร้างสรรค์ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้เทคโนโลยีขึ้นมา เทคโนโลยีนั้นทำให้มนุษย์สร้างสรรค์พัฒนาอุตสาหกรรมได้ ถ้าไม่มีเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมก็ไม่สำเร็จ ยุคอุตสาหกรรมสำเร็จได้ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบันนี้ เราบอกว่าเราเปลี่ยนเป็นยุคที่พ้นจากอุตสาหกรรมแล้ว หรือเป็นยุคข่าวสารข้อมูล ก็อีกนั่นแหละ คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี่เองที่เป็นตัวสร้างยุคสมัยนี้ขึ้น และยิ่งเด่นชัดมากขึ้นอีก

ยุคข่าวสารข้อมูลนี้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีแท้ๆ ต้องมีเทคโนโลยีพิเศษทีเดียว เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการข่าวสารข้อมูลโดยเฉพาะ ดังที่เรียกกันว่า IT (information technology) เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทเป็นแกนในการสร้างยุคสมัย

ในการสร้างยุคสมัยนั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสองอย่างคือ สร้างยุคสมัยขึ้น และทำให้เกิดผลดีหรือผลร้ายของยุคสมัย เราคงไม่ปฏิเสธผลดีเพราะในส่วนที่ดีก็ช่วยได้มาก แต่ข้อที่จะต้องสังเกตก็คือความไม่ครบถ้วน ยุคนี้ก็กำลังมาถึงเวลาที่คนตระหนักรู้ข้อบกพร่อง หรือจุดอ่อน หรือขีดจำกัด หรือความไม่เพียงพอของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในยุคสมัยหนึ่งเมื่อเริ่มต้นนั้น มนุษย์เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยที่นำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ มนุษย์ถึงกับฝันเลยทีเดียว ศตวรรษที่ ๑๙ ของคริสต์ศักราชเขาถือว่าเป็นยุค scientism แปลอ่อนๆ ก็ว่ายุคนิยมวิทยาศาสตร์ ถ้าแปลแรงๆ ก็ว่ายุคคลั่งวิทยาศาสตร์ หมายความว่าคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ คือศตวรรษที่แล้ว เป็นยุคที่มนุษย์มีความฝันเลยทีเดียวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำมนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ พร้อมกันนั้นวิทยาศาสตร์ก็ได้เป็นมาตรฐานตัดสินความจริง พูดสั้นๆ ว่า วิทยาศาสตร์เป็นตัวตัดสินหรือเป็นตราชูทั้งในแง่ของความจริงและความเจริญ

ในแง่ความจริง ศาสตร์หรือวิชาการต่างๆ ที่เคยศึกษากันมาในอดีต ต้องหันมาใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวตัดสิน วิชาการที่มีมาแต่สมัยสองพันสามพันปีนั้นไม่มีคุณค่าแท้จริงจนกว่าจะนำวิธีวิทยาศาสตร์เข้าไปใช้ เช่น วิชาการทางด้านการปกครอง การเมือง และนิติศาสตร์ มีมาสองพันกว่าปีแล้ว แต่นักวิชาการได้มาตั้งมาตรฐานวิชาการขึ้นใหม่ เรียกว่าวิชาสังคมศาสตร์ พวกวิชาการเมือง วิชาการปกครองสมัยก่อนที่มีมาตั้งสองพันปีนั้น เพราะเหตุที่ไม่ได้เคยใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ ก็ไม่สามารถเข้าเป็นสังคมศาสตร์ได้

มนุษย์ได้เอาวิธีวิทยาศาสตร์ที่ใช้กับความจริงทางวัตถุมาเป็นมาตรฐานวัดวิชาการทางสังคมด้วย ถึงยุคนี้วิชาการต่างๆ อันไหนจะภูมิใจว่าตนเป็นวิชาการที่ดีที่จริงจะต้องสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์โดยใช้วิธีวิทยาศาสตร์ เช่น เศรษฐศาสตร์ก็บอกว่าใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ จึงได้เป็นสังคมศาสตร์ จิตวิทยาก็บอกว่าฉันก็ต้องใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ วิชาการอะไรจะดี จะจริง ต้องเอาวิทยาศาสตร์ โดยวิธีการวิทยาศาสตร์มาเป็นเกณฑ์วัด ในยุคศตวรรษที่ ๑๙ วิทยาศาสตร์ได้รับความนิยมสูงสุด จนกระทั่งใช้เป็นมาตรฐานวัดความจริง และเป็นความหวังความใฝ่ฝันของมนุษย์ว่าจะทำให้มนุษย์ประสบความสุขความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง

อย่างไรก็ตาม พอมาถึงปัจจุบันนี้ ความฝันอย่างที่ว่านั้นได้มาถึงจุดที่เรียกว่าสลาย โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ความฝันกลายเป็นความผิดหวัง จนกระทั่งมีมนุษย์บางกลุ่มในประเทศที่พัฒนาแล้วตั้งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านเทคโนโลยีเป็นต้น อย่างน้อยก็ถือว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สมบูรณ์ แล้วก็มองในแง่ร้ายว่ามันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปัญหายิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ เช่น ปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย ธรรมชาติเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติปัจจุบัน ที่อาจจะนำมวลมนุษย์ไปสู่ความพินาศย่อยยับ

นี่ก็เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หมายความว่า แม้แต่ในเรื่องของความเป็นโลกาภิวัตน์ก็มีความเปลี่ยนแปลงในคุณค่าเป็นต้น ที่เราจะต้องรู้เท่าทัน หรืออย่างน้อยในการพัฒนาเราจะเห็นว่าขณะนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว การพัฒนาโลกในยุคที่ผ่านมานั้น ได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยเอก โดยมุ่งความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เรียกว่าพัฒนามุ่งความสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี้คือสภาพการพัฒนาในยุคที่ผ่านมา แต่เวลานี้องค์การโลกคือสหประชาชาติก็ประกาศว่า การพัฒนาแบบนี้ผิด ดังที่ได้ประกาศทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาแบบใหม่ ซึ่งหลายท่านก็คงได้ทราบแล้วว่า ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๓๓ จนถึง ๒๕๔๓ ซึ่งรวมทั้งขณะนี้เป็นทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติโดย UNESCO ได้ประกาศแถลงว่า การพัฒนาที่ผ่านมานั้นมีความบกพร่องเสียหายมากมายจะดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะมุ่งเศรษฐกิจโดยบทบาทของวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกติเตียนรุนแรง แล้วก็ให้มีการพัฒนาแบบใหม่ที่อาศัยบทบาทของวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ โดยถือว่าต้องให้มีการพัฒนาที่มีองค์ประกอบครบถ้วนพร้อมสมบูรณ์ ไม่ใช่เอาด้านเดียว อย่างน้อยก็เป็นพัฒนาที่มนุษย์เกิดความตระหนักรู้ว่ามีจุดอ่อนข้อบกพร่อง ก็เลยต้องพัฒนาแบบองค์รวม เวลานี้คำว่า องค์รวม ก็มีความสำคัญได้รับความนิยมพูดกันทั่วไป

ในระยะใกล้เคียงกันนั้น (พ.ศ. ๒๕๒๙) คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่สหประชาชาติได้ตั้งขึ้น ก็ได้แถลงในทำนองเดียวกันว่า การพัฒนาในยุคที่ผ่านมาซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ผิดพลาด ทำให้ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม จะนำไปสู่ความหายนะของมนุษยชาติ เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และได้เสนอแนวคิดใหม่ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ที่ให้เศรษฐกิจเจริญได้ โดยสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี

บัดนี้ การพัฒนาแนวใหม่ที่เลิกเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่หันมาให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคน โดยถือคนเป็นแกนกลางการพัฒนา ได้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป รวมทั้งประเทศไทยที่เน้นการพัฒนาแนวนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่กำลังวางกันใหม่ คือ ฉบับที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๕

ในยุคที่ผ่านมา เราเรียกวิทยาศาสตร์ธรรมชาติว่าเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ คือโดยหลักการถือว่าวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่บริสุทธิ์ คือเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่มุ่งหาความจริงแท้ๆ มุ่งหาแต่ตัวความรู้ไม่เกี่ยวกับความคิดความรู้สึกของมนุษย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้เกิดความสำนึกรู้ขึ้นมาเยอะว่า ที่แท้จริงวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่จะบริสุทธิ์เท่าไร เพราะการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์มีจุดหมายอยู่ในจิตใจของมนุษย์ที่อยู่ใต้อิทธิพลของภาวะที่เป็นอัตวิสัย หรือเป็น subjective คือมนุษย์มีจุดมุ่งหมายในการสนองความต้องการที่อยากรู้ไม่ใช่เพียงเพื่อความรู้ แต่มีความมุ่งประสงค์ของตนว่าเพื่อเอามาใช้ทำอะไร ดังที่ปรากฏว่าวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานั้นเป็นไปในเชิงรับใช้อุตสาหกรรม คือสนองความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรม มีทิศทางที่ถูกกำหนด ไม่ใช่การแสวงหาความรู้แบบใฝ่รู้บริสุทธิ์อย่างไอน์สไตน์ว่าอย่างเดียว แต่กลายเป็นว่า อุตสาหกรรมต้องการอะไร วิทยาศาสตร์ก็ไปค้นคว้าในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นก็จึงไม่มีความบริสุทธิ์โดยสมบูรณ์ อย่างนี้เป็นต้น เวลานี้ก็กลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ถูกตีมาก แต่อย่างน้อยวิทยาศาสตร์ก็มีข้อดีที่ทำให้มนุษย์มีความคิดเป็นเหตุผลมากขึ้น รู้จักใช้สติปัญญา ไม่หลงเชื่ออะไรงมงาย อันนี้เป็นลักษณะที่ดี

แต่ในสังคมที่กำลังพัฒนานั้น เพราะเหตุที่ตนเองไม่ได้สร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ขึ้นมาเอง เวลาได้รับอิทธิพลความเจริญของวิทยาศาสตร์ก็จะได้รับมาพร้อมกับเทคโนโลยี หลายสังคมรู้จักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยรู้จักเทคโนโลยีก่อน และจุดสนใจไปอยู่ที่เทคโนโลยี แทนที่จะไปอยู่ที่วิทยาศาสตร์

ในประเทศที่เจริญโดยพัฒนาเองนั้น จุดเริ่มเขาอยู่ที่วิทยาศาสตร์ซึ่งมาเป็นปัจจัยในการสร้างเทคโนโลยี แต่ของเรากลับตรงกันข้าม ไปเอาเทคโนโลยีมาเป็นจุดเด่นจนกระทั่งคนในสังคมที่กำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดเอาเทคโนโลยีเป็นวิทยาศาสตร์ นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในสังคมที่กำลังพัฒนา ฉะนั้นอย่าพูดถึงจะไปเข้าใจความบกพร่อง จุดอ่อน และขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์เลย แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าจะแก้ไขปัญหาในยุคโลกาภิวัตน์โดยรู้จักที่จะจัดการกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ ก็ต้องรู้จักแยกได้ด้วย ถ้าแยกไม่ได้แล้วจะไปทำอะไร

ทีนี้ เมื่อแยกไม่ได้ก็จะมีปัญหาขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้าไปมีอิทธิพลในวิถีชีวิตของคนในสังคม ก็เกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา เมื่อเป็นวัฒนธรรมแล้วก็เกิดแยกเป็นสองส่วน คือมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ กับวัฒนธรรมเทคโนโลยี ปรากฏว่าคนในสังคมหลายสังคม ไม่รู้จักว่าอันไหนเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ อันไหนเป็นวัฒนธรรมเทคโนโลยี และเมื่อแยกไม่ถูก แล้วเกิดไปเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเทคโนโลยีเข้าแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เพราะว่าสิ่งที่ต้องการที่จะสร้างสรรค์สังคมได้อันเป็นส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นของวิทยาศาสตร์นั้นก็คือวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์

วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์นั้นคืออะไร คือการที่มนุษย์มีวิถีชีวิตที่ประกอบด้วยความรู้คิด ความรู้จักใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ ไม่เชื่ออะไรง่าย ไม่หลงงมงาย ไม่ได้ฟังข่าวและตื่นข่าวไปง่ายๆ แต่เป็นคนที่มีจิตใจใฝ่รู้ มีความรู้จักคิดเหตุผลและนิยมเหตุผล เพราะฉะนั้น คนในสังคมแบบนี้ ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบนี้ ก็จะเป็นคนที่รู้จักใช้วิจารณญาณ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

สิ่งที่คู่กันกับวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ก็คือวัฒนธรรมเทคโนโลยี วัฒนธรรมเทคโนโลยีนั้นมักมีความโน้มเอียงไปในเชิงของการบริโภค เพราะเป็นเรื่องของสิ่งที่มาประยุกต์ใช้ เราอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตและทำกิจการงาน พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ จนวิถีชีวิตส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และอาจกลายเป็นมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยเทคโนโลยี

ระหว่างสองอย่างนี้จะต้องแยกให้ออกว่า ในยุควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ เราอยู่ในวัฒนธรรมไหนแน่ ถ้าเราข้ามขั้น ไปมีแต่วัฒนธรรมเทคโนโลยีโดยไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาศาสตร์ ก็คือเราแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลย นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัว ก่อนที่จะก้าวไปสู่การที่จะมีปรัชญาการศึกษาที่แก้ปัญหาโลกาภิวัตน์ได้ ขอให้วิเคราะห์สังคมไทยของเราก่อนว่าเราเป็นอย่างไร เรามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์หรือวัฒนธรรมเทคโนโลยี เพราะดังได้บอกแล้วว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้เป็นตัวสร้างยุคสมัย ถ้าเราไม่ได้มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เราก็เสียฐานที่สำคัญไป หมายความว่าแม้แต่วิทยาศาสตร์ที่เจริญขึ้นมานี้เรายังเข้าไม่ถึงเลย นี่เป็นเรื่องที่ยกขึ้นมาเป็นข้อเสนอพิจารณาก่อน ยังไม่ถึงเรื่องปรัชญาการศึกษา

ปรัชญาการศึกษา จะต้องเกี่ยวข้องลงไปถึงความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตและแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้หยั่งได้ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก่ออิทธิพลและผลในทางร้ายและดีต่อชีวิตและสังคม ต่อโลกมนุษย์และโลกธรรมชาติ พร้อมทั้งให้ปัญญาที่จะทำให้เห็นทางออกหรือแก้ปัญหาและทำให้เกิดผลดีได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะพูดต่อไปข้างหน้า

ข่าวสารข้อมูลมากมาย: ทั่วถึง หรือท่วมทับ

ต่อไป โลกาภิวัตน์ที่สองซึ่งเป็นที่ทราบกันดีมากก็คือ เรื่องข่าวสารข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญจนกระทั่งถือว่ายุคปัจจุบันนี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล และสังคมที่พัฒนาแล้วทั้งหลายก็เรียกกันว่าเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล หรือจะเรียกว่าสังคมสารสนเทศก็แล้วแต่ โดยภาษาอังกฤษที่เป็นตัวของเดิมเขาใช้ว่า information age และสังคมนั้นก็เป็นสังคม information society อันเป็นสังคมที่ถือว่าอยู่ในยุคบริการ เป็นยุคที่ข้ามพ้นอุตสาหกรรมแล้ว

เราจะต้องรู้ตัวว่าสังคมของเราอยู่ในโลกยุคนี้จริง โลกมาถึงยุคนี้จริง แต่สังคมของเราหาได้ถึงอย่างนั้นไม่ เพราะสังคมของเรายังเป็นสังคมคละผสม เป็นสังคมเกษตรก็ยังไม่พ้น กำลังพยายามเข้าสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็ยังไม่เต็มตัว สังคมข่าวสารข้อมูลก็พลอยกับเขาบ้าง โดยที่ภาวะของสังคมข่าวสารข้อมูลก็มีอิทธิพลต่อเรามาก เราได้โผล่เข้าไป แต่เราก็ยังไม่พ้นจากอุตสาหกรรม ที่แท้ยังถึงไม่เต็มตัวด้วยซ้ำ ก็กลายเป็นว่า สังคมของเรามีลักษณะพิเศษจะไปเอาตัวอย่างจากสังคมที่เขาพัฒนาแล้วมาใช้ไม่ได้ มันไม่เหมือนกัน

ในการที่จะพัฒนาสังคมหรือแก้ปัญหาสังคม จะต้องรู้ตระหนักว่าสังคมของเรามีลักษณะพิเศษไม่เหมือนเขา จะไปถือว่าเราอยู่ในยุค information แล้วจะเอาอย่างเขา เป็นอย่างเขา หรือใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเขา ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมของเรานั้นปนกันไปหมด เป็นทั้งสังคมเกษตร สังคมอุตสาหกรรม สังคมข่าวสารข้อมูล อย่างในสังคมอเมริกันเวลานี้ คนที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมมีเพียง ๒% แต่ในประเทศอย่างจีนแดงมีคนทำงานในภาคเกษตรกรรม ๖๙% สังคมไทย เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็แถวๆ ๗๐ กว่าเปอร์เซนต์ แต่เวลานี้อาจจะลดลงเยอะ เพราะเราก้าวเข้าสู่สภาพอุตสาหกรรมไว ชนบทของเราเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราจะก้าวเข้าไปมีวิถีชีวิตอุตสาหกรรม ซึ่งก็ยังไม่ใช่สังคมข่าวสารข้อมูลอย่างของเขาที่เรียกว่า post-industrial คือผ่านพ้นอุตสาหกรรมไปแล้ว เราจะต้องรู้จักสังคมของเราให้ดี อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง

เรื่องข่าวสารข้อมูลนั้นยังมีแง่มองที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ความเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลนั้นเป็นปัญหาใหญ่แม้แต่ในสังคมที่พัฒนาแล้ว เรามักจะมองแต่ในแง่ดี แง่บวก แง่ภูมิใจว่าเดี๋ยวนี้มีข่าวสารข้อมูลมากมายพรั่งพร้อม มีข่าวเกิดที่ไหนเรารู้ทุกแห่งไปทั่วถึงกันหมด และรู้ทันทีด้วย เกิดเหตุการณ์นี้ปั๊บในประเทศอเมริกา ในประเทศรัสเซีย ในทวีปแอฟริกา ไม่ว่าที่ไหนเกิดเดี๋ยวเดียว เราก็รู้หมด เมื่อมองในแง่บวก ก็จะภูมิใจว่าเรานี่เป็นคนมีสติปัญญา มนุษย์ยุคนี้มีความรู้มากมายดีกว่ามนุษย์ยุคก่อน แต่ความจริงนั้น ข่าวสารข้อมูลถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็จะมีผลเสียมากกว่าดี ดังนั้นในยุคนี้ เมื่อพัฒนาคนไม่ถูกและไม่ทันก็จะมีปัญหามากขึ้น ดังที่ปรากฏแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คือปัญหาเกี่ยวกับการรับข้อมูลและการใช้ข้อมูล เช่น รับข้อมูลไม่เป็น รับแล้วไม่สามารถเข้าถึงความจริงของมัน เกิดความพร่ามัว หรือถึงกับหลง และถูกหลอก เลยกลายเป็นเหยื่อของข่าวสารข้อมูล เวลานี้คนในยุคปัจจุบันสามารถใช้ข่าวสารข้อมูลเป็นเครื่องมือในการหลอกกันได้มาก และเอาคนเป็นเหยื่อ เช่น ระบบการโฆษณาเป็นต้น เพราะฉะนั้นมนุษย์ในยุคนี้อาจจะกลายเป็นทาสของข่าวสารข้อมูลมากกว่าเป็นนายก็ได้ ถ้าไม่รู้จักพัฒนา อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของการศึกษา ภาวะไม่พัฒนาด้านนี้มีมากมาย เช่นรับไม่เป็น ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระความเป็นจริงของมัน จับประเด็นไม่ได้ ไม่สามารถเลือกคัดเจาะลึก ไม่ต้องพูดถึงจะมาใช้ แม้แต่จะสื่อสารก็ไม่เป็นแล้ว ก็เลยไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เช่นไม่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ความคิดใหม่ๆ จากข่าวสารข้อมูลนั้น อันนี้เป็นข้อบกพร่องในการเกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูล

สภาพอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะนี้ข่าวสารข้อมูลมีมากจนกระทั่งท่วมทับมนุษย์ มนุษย์อยู่ภายใต้ทะเลแห่งข่าวสารข้อมูล คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เกิดปัญหาในเรื่องนี้มาก คือจะปฏิบัติอย่างไร ไม่รู้จะรับอย่างไรไหว ขยะข้อมูลก็มากมาย ถ้าไม่รู้จักเลือกไม่รู้จักรับก็จะเกิดสภาพอย่างหนึ่งที่เรียกว่าสภาพสมองเมื่อย คือข่าวสารมากจนกระทั่งรับไม่ไหว สมองล้าหมด เมื่อล้า ผลที่สุดคนก็จะปล่อยเลยตามเลย ไม่รู้จะเอาอะไรดี ฟังไม่ไหว ยิ่งไม่มีความสามารถในการรับด้วย เลือกคัดก็ไม่เป็น เลยไม่ทันมัน เมื่อไม่ทันมัน สมองก็เมื่อยก็ล้า ก็เลยปล่อยเลยตามเลย เพราะฉะนั้น จึงไม่แน่ว่าจะดี ต้องระวังให้มาก การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้ทัน ให้มีความสามารถที่จะรับมือกับข่าวสารข้อมูล และใช้มันอย่างเป็นนาย ไม่ใช่เป็นทาส

สภาพจิตอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่พัฒนาแบบนี้คือ ความกระวนกระวายต่อข้อมูล เพราะเหตุว่าชีวิตต้องพึ่งข่าวสารข้อมูลมากขึ้น กลายเป็นว่าชีวิตของเรานี้ไม่เป็นอิสระ ต้องขึ้นต่อข่าวสารข้อมูล ในวิถีชีวิตและการงาน ถ้าไม่ทันต่อข่าวสารข้อมูลแล้วตัวเองจะด้อย ยิ่งอยู่ในระบบแข่งขันในสังคมอย่างปัจจุบันนี้ ที่เป็นระบบผลประโยชน์ แบบทุนนิยม การที่จะแข่งขันได้ชัยชนะจะต้องทันต่อข่าวสารข้อมูลและมีข้อมูลเหนือกว่าเขา ทำให้เกิด anxiety คือภาวะกังวลและกระวนกระวาย ดังที่มีหนังสือบางเล่มใช้คำว่า information anxiety มาล้อเลียนคำว่า information society กลายเป็นความกระวนกระวายกลุ้มกังวลว่า เรื่องข่าวสารข้อมูลนี้ ตัวจะทันเขาหรือเปล่า มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ตัวรู้ทั่วถึงหรือเปล่า ตัวจะดำเนินธุรกิจได้ชัยชนะไหม นี่คืออันตรายที่ว่าถ้าการศึกษาไม่ทันกับยุคสมัยแล้วมนุษย์จะลำบากมาก

เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ครอบงำสังคมและหล่อหลอมใจคน

สภาพโลกาภิวัตน์ข้อที่สามคือระบบเศรษฐกิจ เวลานี้เศรษฐกิจก็มาถึงสภาพโลกาภิวัตน์ ที่ว่าเป็น global economy เวลานี้เศรษฐกิจแบบไหนเป็น global economy ระยะที่แล้วมานี้มีการแข่งขัน ระหว่างสังคมสองฝ่ายหรือโลกสองค่าย คือค่ายตะวันตกกับตะวันออก หรือค่ายโซเวียตกับค่ายอเมริกา อเมริกาเป็นผู้นำค่ายเสรีนิยม ทีนี้พอค่ายเสรีนิยมชนะ ลัทธิเศรษฐกิจหรือระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมก็เลยพลอยมีหน้ามีตา ได้รับความนิยมมากขึ้น เวลานี้ก็แพร่ไปทั่วโลกจนกระทั่งคนอเมริกันยกเป็นข้อภูมิใจอย่างหนึ่งของตน

ขอให้สังเกตว่า เมื่อประธานาธิบดีคลินตันปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ได้กล่าวข้อความตอนหนึ่งแสดงความภูมิใจแก่คนอเมริกันเพื่อนร่วมชาติของตนเองว่า เวลานี้ American idea คือภูมิปัญญาอเมริกันได้รับการยอมรับไปทั่วโลก สิ่งที่ภูมิใจในคำประกาศของประธานาธิบดีคลินตันคืออะไร ก็คือ democracy and free-market economy (ประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีคือทุนนิยม) นี่เขาเอาเป็น American idea เป็นภูมิปัญญาอเมริกันเลยนะ ที่จริง democracy คือประชาธิปไตยนั้นเกิดที่อื่นมาก่อนด้วยซ้ำ มันมาจากแถวฝรั่งเศสและอังกฤษโน่น แต่เขาถือว่าระบบประชาธิปไตยแบบอเมริกันได้รับความนิยมพร้อมไปด้วยกันกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี (free market) ซึ่งก็คือ capitalism หรือทุนนิยมนั่นเอง ประธานาธิบดีอเมริกันแสดงความชื่นชมพูดให้คนอเมริกันภูมิใจด้วยว่า ชาติของเรานี้มีฐานะที่ยิ่งใหญ่ คนยอมรับ idea คือภูมิปัญญาความคิดกันทั่วโลกแล้ว

ระบบเศรษฐกิจแบบนี้กำลังเป็นสภาพโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งที่แพร่กระจายไปทั่วโลก เราจะต้องรู้เข้าใจว่าระบบนี้เป็นระบบผลประโยชน์ และหัวใจสำคัญของมันคือการแข่งขัน (competition) เวลานี้อเมริกันกำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่ในโลกไป ก็เพราะชักจะพ่ายแพ้ในการแข่งขัน และที่ชักจะพ่ายแพ้มากขึ้นๆ เขาเองก็เชื่อว่าเป็นเพราะคนอเมริกันกำลังสูญเสียสิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า competitiveness คือความใฝ่แข่งขันและพร้อมที่จะแข่งขัน หรือความสามารถในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นจึงจะต้องสร้าง ต้องฟื้นพลังแรงที่จะแข่งขัน (competitiveness) นี้ กลับคืนมาให้ได้

เวลานี้ ลัทธิทุนนิยม ในระบบแข่งขัน แบบตัวใครตัวมัน กำลังจะเป็นโลกาภิวัตน์ และสังคมของเราก็มีแนวโน้มแห่งความนิยมที่จะหมุนตามระบบนี้และผลักดันให้คนของเราเข้าสู่ยุคของการแข่งขันด้วย แต่เราจะต้องมองทั้งข้อดี และข้อด้อย ทั้งส่วนดีและส่วนเสียของมัน เพราะที่จริงนั้น ระบบเศรษฐกิจนี้ก็เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่ว่ามาแล้ว กล่าวคือ ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เจริญมาในทิศทางที่นำโลกมาสู่ปัญหาสำคัญคือธรรมชาติแวดล้อมเสียฉันใด ระบบเศรษฐกิจตามลัทธิทุนนิยมแบบแข่งขันที่มุ่งหาผลประโยชน์นี้ก็ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่นำมนุษย์มาประสบปัญหาต่างๆ ของโลก ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียและปัญหาความขัดแย้งในสังคม ตลอดจนสงคราม คือปัญหาทั้งสังคมและสภาพแวดล้อม ตลอดจนสภาพจิตใจของมนุษย์ที่มีความเครียด มีปัญหาโรคจิต โรคประสาทมาก ฉันนั้น ว่าที่จริง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือในการก่อปัญหา แต่ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ต่างหากที่เป็นตัวการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการก่อปัญหาเหล่านั้น

เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบนี้ใช้การแข่งขันเป็นหัวใจ จึงผลักดันให้มนุษย์มีความสัมพันธ์เชิงไมตรีต่อกันน้อยลง มนุษย์มีน้ำใจต่อกันน้อยลง และสภาพตัวใครตัวมันเด่นชัดมากขึ้น และยิ่งกว่านั้นสังคมจะผลักดันให้มนุษย์เกิดสภาพจิตขึ้นอย่างหนึ่ง คือสภาพจิตของการมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่งและเป็นเหยื่อ มนุษย์นั้นถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมด้วย เรื่องนี้เราจะต้องรู้เท่าทัน สภาพเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมเป็นแบบนี้แล้วก็ผลักดันสภาพจิตใจให้เป็นไปตามและสอดคล้องกับมันด้วย

พูดง่ายๆ ว่าคนเรานี้มีความสัมพันธ์สองอย่างเกี่ยวกับเรื่องวัตถุ หรือสิ่งเสพบริโภคอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ คือ ได้ กับ เสีย แต่ “เสีย” นั้นถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ดีเราเปลี่ยนคำใช้เป็น “ให้” จึงเป็น ได้ กับ ให้ ให้ก็คือเสียนั่นแหละ แต่เราใช้ว่าให้ โดยเปลี่ยนไปตามคุณธรรมและเจตนา ได้กับให้นี่จะเห็นว่าเป็นคู่กัน เมื่อมนุษย์สัมพันธ์กันเกี่ยวกับวัตถุก็จะมีความสัมพันธ์แบบได้กับให้

ในระบบสังคมภายใต้เศรษฐกิจแบบมุ่งหาผลประโยชน์ การแข่งขันเพื่อแสวงหาและแย่งชิงผลประโยชน์จะผลักดันให้มนุษย์เน้นหนักหรือมีความโน้มเอียงของจิตใจไปในทางที่มุ่งจะได้จะเอา คือคิดถึงการได้อยู่เสมอ และการคิดจะได้ก็คือคิดจะเอา

เมื่อระบบสังคมแวดล้อมและผลักดันอยู่อย่างนี้ มนุษย์ก็เหมือนกับฝึกจิตของตัวเอง คือจะเกิดเป็นความเคยชิน เพราะแต่ละวันตื่นขึ้นมาก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้ ทำอย่างไรจะได้ เราจะได้อะไร เราจะเอาที่ไหนมา จะเอาจากใคร คิดทำนองนี้ตลอดเวลา เมื่อคิดอย่างนี้สภาพจิตที่เกิดขึ้นก็เป็นสภาพจิตที่มองไปที่วัตถุ แต่มนุษย์นั้นอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เขามีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นในการที่เขามีความสัมพันธ์กับวัตถุนี้ ก็โยงไปถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วย เวลาเขามองวัตถุด้วยความคิดว่าเขาจะได้จะเอา เขาจะมีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์เกิดขึ้นพร้อมกันนั้นโดยไม่รู้สึกตัว คือความรู้สึกว่าเพื่อนมนุษย์คนอื่นเป็นคู่แข่ง เพราะโดยสัญชาตญาณ เมื่อมองว่าเราอยากจะได้ ก็รู้สึกว่าคนอื่นก็อยากจะได้ เราจะเอา คนอื่นก็จะเอา เราก็เกิดความระแวงขึ้นมา เพราะฉะนั้น เมื่อมนุษย์คิดจะได้ ความรู้สึกที่มองเพื่อนมนุษย์ก็จะเป็นไปในแบบเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง การเป็นคู่แข่งก็คือความเป็นปฏิปักษ์อย่างหนึ่ง พร้อมกันนั้น ความรู้สึกหวาดและระแวง ความหวงแหนกีดกัน ความไม่ไว้วางใจ ความไม่จริงใจต่อกัน ก็จะแฝงนอนอยู่ในจิตใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ต่อมา เมื่อมีความสามารถมากขึ้น มนุษย์ที่ชำนาญในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ก็จะมองเพื่อนมนุษย์ก้าวข้ามขั้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือมองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อ ขอให้สังเกตดู ในระบบผลประโยชน์ เมื่อเราสะสมระบบนี้ไปและมีวิถีชีวิตเป็นอย่างนี้ มนุษย์จะมองกันแบบนี้เป็นส่วนใหญ่ คือมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความคิดว่า ทำอย่างไรเราจะได้อะไรจากเขา ทำอย่างไรจะใช้เขาเป็นทาง เป็นหนทาง เป็นเครื่องมือในการที่เราจะได้เงินได้ผลประโยชน์ หรือจะเอาผลประโยชน์จากเขาได้อย่างไร อันนี้จะเป็นสภาพจิตที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมแบบแข่งขันหาผลประโยชน์

ในทางตรงข้าม ถ้ามนุษย์คิดจะให้แล้วสภาพจิตอะไรจะเกิดขึ้น พอเราคิดตั้งใจว่าจะให้ จุดสนใจของเราไม่อยู่ที่วัตถุ แต่ไปอยู่ที่คน พอจุดสนใจของเราไปอยู่ที่คน เราจะมองหน้ามองตาเขา เราจะเห็นสุขเห็นทุกข์ของเขา แล้วเราก็จะเกิดความเข้าอกเข้าใจตลอดจนเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เขามีทุกข์เราก็สงสาร รู้ความต้องการแล้วเราก็อยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ความรู้สึกที่เป็นคุณธรรมคือเมตตากรุณาก็เกิดขึ้นมา ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ความเห็นใจและความสงสารที่เกิดขึ้นมานี้เป็นสภาพจิตที่ทำให้เรามีความต้องการใหม่เกิดขึ้น คือต้องการจะให้ ที่ต้องการจะให้ก็เพราะต้องการจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ แล้วเราก็เอาของไปให้ พอให้แก่เขา เราเห็นเขาหายทุกข์หายเศร้า เป็นสุขขึ้นมา เราได้สนองความต้องการนั้น เราก็พลอยดีใจเป็นสุขด้วย เพราะฉะนั้น เราก็จะได้ความสุขจากการให้

ถ้ามนุษย์มีสภาพจิตแบบนี้ด้วย ชีวิตก็จะมีดุลยภาพ แต่สังคมภายใต้ระบบผลประโยชน์จะบีบบังคับหล่อหลอมสภาพจิตของมนุษย์ และถ้าเราไม่รู้ตัวเราก็จะเอียงไปข้างเดียวในทางจะได้จะเอาดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในระบบสังคมทุนนิยมนั้น นานไปๆ ก็เป็นสภาพจิตอย่างที่ว่า คือมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่งและเป็นเหยื่อ เรื่องนี้ขอให้สังเกตไว้ให้ดี การศึกษาจะต้องมาช่วยแก้ อย่างน้อยต้องช่วยสร้างดุลยภาพให้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับวัตถุทั้งในเชิงได้ และในเชิงให้ เช่นเดียวกับที่ธรรมชาติมันเป็นของมัน กล่าวคือในโลกของธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้าอะไรต่างๆ ทุกอย่างต้องมีทั้งการได้และการให้ทั้งนั้น ชีวิตจะมีดุลยภาพ สังคมจะมีดุลยภาพ ธรรมชาติแวดล้อมจะมีดุลยภาพ ด้วยการที่มีความสัมพันธ์สองด้าน คือได้กับให้เป็นคู่กัน แต่มนุษย์ในระบบทุนนิยมนี้กำลังจะเอาอย่างเดียว คิดจะได้อย่างเดียว จึงย่อมจะเกิดปัญหาทั้งในชีวิตจิตใจ ทั้งในสังคม และในสิ่งแวดล้อม นี้เป็นจุดที่ต้องการเอามาให้มอง

เป็นอันว่า บัดนี้ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้การแข่งขันมุ่งหาผลประโยชน์ ได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโลกนี้ให้เข้าสู่ระบบของมัน จนกระทั่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้กลายเป็นทาสรับใช้ระบบเศรษฐกิจไป โดยแสดงออกทางระบบอุตสาหกรรมเป็นต้น แล้วก็ได้ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเครื่องทำลายสิ่งแวดล้อมไป ที่จริงไม่ใช่ตัววิทยาศาสตร์ทำลายแต่เป็นเทคโนโลยีทำลาย แต่เพราะเทคโนโลยีต้องอาศัยวิทยาศาสตร์จึงพัฒนาขึ้นมาได้ ก็เลยกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์ถูกโทษว่าได้ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาสังคมและปัญหาชีวิตจิตใจมากมาย อันสืบเนื่องมาจากการแข่งขันแย่งชิง อันนี้เป็นสภาพโลกาภิวัตน์ที่สาม

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความเป็นไปและบทบาทของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมทั่วไปหมด โดยมีอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือ พร้อมด้วยแรงหนุนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น เหตุปัจจัยที่ลึกลงไปก็คือความคิด ความเชื่อและความใฝ่ปรารถนาต่างๆ ที่มาจากเจตจำนงของมนุษย์ การแก้ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะต้องลงลึกไปถึงขั้นนี้ ปรัชญาการศึกษาจะต้องสามารถให้ปัญญาที่จะวิเคราะห์วินิจฉัยสิ่งเหล่านี้และบอกแนวทางพัฒนามนุษย์ที่จะแก้ปัญหาถึงขั้นนี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะพูดกันในตอนต่อไป

ประชาธิปไตยใต้อิทธิพลเศรษฐกิจ

ต่อไปสภาพโลกาภิวัตน์ที่สี่ ก็คือระบบการเมือง เวลานี้ระบบการเมืองการปกครองที่ได้รับความนิยมมากก็แน่นอนละ เมื่อในค่ายคอมมิวนิสต์โซเวียตล่มสลายแล้ว ค่ายเสรีประชาธิปไตยก็มีชัยชนะ เพราะฉะนั้นระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยก็ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีอเมริกัน บิลล์ คลินตัน จึงได้ประกาศแสดงความภูมิใจ บอกว่า American idea ได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก คือประชาธิปไตยหรือ democracy พร้อมทั้ง free-market economy (ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี) เมื่อกี้พูดถึงเศรษฐกิจ คราวนี้ก็ต้องพูดถึงการเมือง

เมื่อการเมืองแบบประชาธิปไตยได้รับความนิยม มีชัยชนะแล้ว ก็ต้องระวังความเอียงสุดด้วย เพราะว่าอเมริกันพยายามที่จะผนวกความเป็นประชาธิปไตยเข้ากับระบบทุนนิยมให้เป็นอันเดียวกัน เหมือนกับว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วต้องเป็นทุนนิยมด้วยนะ เวลานี้อเมริกันกำลังพยายามอย่างนี้ หรือโดยไม่รู้ตัวเขาอาจจะคิดด้วยความภูมิใจอย่างนั้น ดังที่ต่อมาได้มีการรวมสองอย่างนี้เข้าเป็นคำเดียวกัน คือ ตอนแรกเขาพูดคู่กันว่าเป็น democracy กับ free-market economy แต่ขณะนี้ได้มีศัพท์ที่ผนวกสองคำนี้เข้าด้วยกัน เรียกว่า free-market democracy คือประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีอันได้แก่ทุนนิยม นี่คือการผนวกเอาระบบการปกครองกับระบบเศรษฐกิจ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนจะบอกว่า คุณจะเป็นประชาธิปไตยคุณต้องเป็นทุนนิยมด้วย หรือกลายเป็นว่าคุณจะมีประชาธิปไตยที่ดี คุณต้องใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่เราจะยอมรับหรือว่ามันควรจะหรือจะต้องผนวกกันอย่างนั้น ประชาธิปไตยจำเป็นต้องเป็นทุนนิยมตามระบบผลประโยชน์ด้วยหรือ

ระบบผลประโยชน์นั้นได้ทำให้เกิดปัญหามากมายอย่างที่บอกเมื่อกี้ ทั้งแก่ชีวิต สังคม และสภาพแวดล้อม เราจะเอาหรือ ประชาธิปไตยอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นภารกิจที่การศึกษาจะต้องช่วยให้ความแจ่มกระจ่างว่าประชาธิปไตยนั้นอย่างไรแน่ เมื่อโยงทุนนิยมกับประชาธิปไตยแล้ว เวลานี้สภาพการพัฒนาประชาธิปไตยจะมีลักษณะที่โน้มไปทางระบบการแข่งขันด้วย คือกลายเป็นประชาธิปไตยในระบบแย่งชิงผลประโยชน์ และหลักการต่างๆ ของประชาธิปไตยจะมีความหมายผันแปรไปตามอิทธิพลความคิดของระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขันหาผลประโยชน์นั้น

ขอให้สังเกตดูให้ดี แนวความคิดต่างๆ จะเป็นไปในทางแบ่งแยกความหมายของศัพท์ต่างๆ จะมีลักษณะโน้มเอียงไปในทางนี้ คำว่า เสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของประชาธิปไตยนั้น เวลานี้มีความหมายในเชิงแบ่งแยกและแก่งแย่ง เป็นเสรีภาพในลักษณะของการแก่งแย่งช่วงชิง และความเสมอภาคเพื่อแบ่งแยกกัน เรื่องนี้เดี๋ยวจะพูด ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัด แต่ขอผ่านไป เพียงตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ก่อน

นอกจากนั้น อีกอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยคือภราดรภาพ กำลังจะเลือนหายไป หรือถูกลืมไป ทั้งที่ประชาธิปไตยมีหลักการใหญ่ ๓ อย่างคือ เสรีภาพ (liberty) ความเสมอภาค (equality) และภราดรภาพ (fraternity) เวลานี้คำที่พูดมากที่สุดคือ เสรีภาพ อเมริกันก็ภาคภูมิใจว่าตนเป็นสังคมแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคก็เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ความหมายของหลักการทั้งสองอย่างนี้ ได้เป็นไปในทางแบ่งแยก และเป็นเรื่องของการเอามาใช้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ให้แก่ตัว ส่วนภราดรภาพนี้ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง ในเรื่องของการเป็นประชาธิปไตย เวลานี้ประชาธิปไตยแบบอเมริกันกำลังจะนำโลกไปในแนวทางอย่างนี้ การศึกษาจึงมีหน้าที่หาทางออกว่าทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหา และทำให้เกิดความชัดเจนแจ่มแจ้งและนำมนุษย์ให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยความรู้ชัดว่าประชาธิปไตยนี้จะพัฒนากันอย่างไร

โลกถึงกันเป็นอันเดียว
แต่คนยิ่งเดียดฉันท์แบ่งแยก

ต่อไป สภาพโลกาภิวัตน์ที่ห้า คือ ความไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติในประชาคมโลก นี่เป็นปัญหาที่สำคัญยวดยิ่งในปัจจุบัน เมื่อมนุษย์ประสบความสำเร็จในยุคของการสื่อสาร การขนส่ง และการคมนาคม ที่เชื่อมโยงถึงกันไปหมดทั่วโลก ทำให้โลกนี้แคบเข้าจนกระทั่งเป็นโลกใบเล็กๆ ดังที่เดี๋ยวนี้ฝรั่งเรียกว่า global village เป็นหมู่บ้านโลก คือโลกนี้เป็นเหมือนชุมชนอันเดียว มีสภาพแวดล้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ปรากฏว่า เมื่อสภาพแวดล้อมในทางวัตถุเป็นอันเดียวกันแล้ว แต่ตัวมนุษย์ไม่ยอมเป็นอันเดียวกัน กลับปรากฏผลในทางตรงข้าม คือมนุษย์ยิ่งแบ่งแยกกัน ขัดแย้งกัน และรบราฆ่าฟันกันอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสภาพของการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา และสีผิว เป็นต้น

เวลานี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ของโลกว่า เมื่อโลกได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยทางกายภาพแล้ว ทำอย่างไรจะให้จิตใจและความเป็นอยู่ของมนุษย์รวมกันได้ เรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาการพัฒนามนุษย์ที่แสดงว่าการพัฒนามนุษย์นั้นไม่ทันกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพหรือการพัฒนาทางด้านวัตถุ เราพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เจริญมาถึงขั้นที่ทำให้โลกถึงกับเป็นอันเดียวแล้ว แต่ทำไมตัวมนุษย์เองกลับไม่สามารถรวมเป็นโลกเดียวกันหรืออยู่ร่วมกันด้วยดีในโลกที่เป็นอันเดียวกันนั้นได้ กลับแบ่งแยกกันหนักหนา ขัดแย้งกัน รบราฆ่าฟันกัน หยุดไม่ได้ นี้คือปัญหาติดตันที่แทบจะถึงความอับจนของมนุษย์ และเป็นปัญหาที่โยงไปถึงประชาธิปไตยในข้อภราดรภาพ คือหลักการที่สามของประชาธิปไตยว่ามันไม่สัมฤทธิ์ผลแม้แต่ในประเทศเดียว ไม่ต้องพูดถึงทั้งโลก

ขณะนี้สังคมอเมริกันก็มีปัญหามากในเรื่องนี้ เขาพัฒนาประชาธิปไตยมาในระยะหนึ่งก็มีความภูมิใจใน liberty (เสรีภาพ) freedom (อิสรภาพ) equality (ความเสมอภาค) ว่า สังคมของเรานี่ยอดเยี่ยม ประเทศอื่นเคยยกย่องอเมริกาที่เป็น melting pot แปลว่าเป็นเบ้าหลอม หมายความว่าคนชาติอเมริกันนี้เป็นคนอพยพมาจากเชื้อชาติต่างๆ ดินแดนต่างๆ ศาสนาต่างๆ แล้วมาอยู่ร่วมกันได้ ชาติอื่นเลยยกย่องอเมริกันถึงเอกภาพอันนี้ แต่เวลานี้อเมริกันเองหมดความภูมิใจนี้แล้ว ขณะนี้คำว่า melting pot นี้เขาถือว่าเลิกใช้ได้แล้ว อเมริกาขณะนี้ไม่เป็น melting pot คำที่ภูมิใจอย่างยิ่งหมดความหมาย เพราะเบ้าหลอมนั้นแตกแล้ว

เมื่อเป็น melting pot ไม่ได้ บางคนก็ว่าเอาแค่เป็น American mosaic หมายความว่าเป็นเหมือนกระเบื้องชิ้นเล็กๆ มีสีสันต่างๆ มาประกอบประดับกัน ชาติอเมริกันประกอบด้วยชนหลายพวกหลากพันธุ์ มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แม้จะไม่สามารถรวมเข้าเป็นอันเดียวกันก็ยังประกอบกันได้ แต่เวลานี้แม้แต่ mosaic ก็เป็นปัญหา หนังสือบางเล่มบอกว่า เวลานี้สังคมอเมริกันเป็นจานสลัดที่ชนต่างพวกต่างพันธุ์คลุกกันเลอะเทอะไม่เป็นระเบียบ เข้ากันไม่ได้

สภาพที่แตกแยกนี้กำลังรุนแรงขึ้น แม้แต่แค่ผิวขาวกับผิวดำก็แก้ไม่ตก ปัญหามีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น คนเชื้อชาติผิวดำก็ทวงสิทธิ์มากขึ้นและขยายขอบเขตที่เรียกร้องออกไป เช่น ในทางการศึกษามีลัทธิหรือขบวนการใหม่เรียกว่า post-modernism ให้มี post-modern education มีการเสนอแนวความคิดทางการศึกษาที่เป็นการทวงสิทธิ์ของคนผิวดำและเป็นการแสดงถึงภาวะที่สังคมไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า การศึกษาอเมริกันที่ผ่านมานี้ เป็นการศึกษาที่กดขี่ มีความเอารัดเอาเปรียบ ประวัติศาสตร์ให้เรียนว่าคนผิวขาวเท่านั้นที่สร้างสรรค์สังคมอเมริกันมา ไม่มีชื่อคนผิวดำ ทั้งๆ ที่คนผิวดำจำนวนมากเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมนี้ขึ้น จะต้องยกย่องวัฒนธรรมของคนผิวดำด้วย ทางด้านพวกเชื้อสายสเปน ก็ถึงกับเคยเรียกร้องว่าให้เอาภาษาสเปน เป็นภาษาราชการด้วยภาษาหนึ่ง สังคมอเมริกันกำลังมีปัญหาอย่างยิ่ง ขณะนี้แยกได้เป็น ๕ สาย มีสายผิวขาว สายผิวดำ สาย Native Americans (คนอินเดียนแดง) สายเอเชียน สายสเปนหรือลาตินอเมริกัน (Hispanics)

ในระดับโลกก็เห็นชัดว่า เวลานี้สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์เชื้อชาติศาสนารบราฆ่าฟันกันรุนแรงโหดร้ายทารุณอย่างยิ่ง เป็นอันว่า มนุษย์มาถึงยุคนี้ที่เป็นโลกาภิวัตน์ทำให้โลกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางกายภาพ แต่ตัวมนุษย์เองกลับไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ มีปัญหาแบ่งแยกมากมาย ขัดแย้งกัน นี่คือความอับจนของมนุษยชาติข้อหนึ่ง และการศึกษาก็ถูกท้าทายว่าจะสามารถพัฒนามนุษย์ให้ข้ามพ้นปัญหานี้ได้หรือไม่

เศรษฐกิจเจริญดี สิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้

ต่อไป ข้อที่หก ก็คือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นสภาพโลกาภิวัตน์ ปัญหานี้ก็ชัดมาก เป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เกิดเป็นความตระหนักรู้ในโลกนี้ โดยถือนิมิตดีใน ค.ศ. ๑๙๗๒ ซึ่งเป็นปีที่มีการตระหนักรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก โดยแสดงความพรักพร้อมออกมาระหว่างนานาชาติ ด้วยการประชุมระดับโลกเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็มาสัมพันธ์กับปัญหาระบบเศรษฐกิจเกี่ยวกับการบริโภค และการผลิต และปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้นมามากมาย ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น หักร้างถางพงทำลายป่าเพื่อหาที่ทำกิน ปัญหานี้สลับซับซ้อนอย่างยิ่ง มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเจริญของอารยธรรมด้วย ไม่ใช่เฉพาะว่ามีประชากรมากมายเท่านั้น เพราะประชากรในประเทศที่เจริญแล้วมีไม่มากนักแต่จัดการกับสิ่งแวดล้อมหรือปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมไม่ถูกต้อง จึงกลับกลายเป็นผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและก่อมลภาวะมาก

เวลานี้ปัญหาของมนุษย์ ก็คือเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมนั้น เขาเอาของดีออกไปและเอาของเสียใส่ให้ เอาของดีออกไปหมายความว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ก็เอาออกไปใช้จนกระทั่งทรัพยากรธรรมชาตินั้นร่อยหรอหมดไปๆ เอาของเสียใส่ให้ก็คือเอามลภาวะ (pollution) และขยะใส่ เอาของดีออกไปแล้วไม่พอ ยังแถมเอาของเสียใส่ให้ ธรรมชาติก็ทนไม่ไหว จึงเสื่อมโทรมลงไปๆ รวมความว่าเรื่องปัญหาธรรมชาติแวดล้อมมีสองอย่าง คือ เอาของดีออกไป และเอาของเสียใส่เข้ามา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ แล้วก็เกิดมลภาวะและปัญหาขยะ

เวลานี้มนุษย์ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่าเป็นปัญหาที่กระทบกระเทือนไปทั่วโลก ซึ่งจะต้องช่วยกันแก้ไข แต่แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วก็หาทางออกไม่ได้ เวลานี้ทำได้แค่ว่า

หนึ่ง ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้าน หมายความว่าถึงจะเป็นอย่างไรก็ขอให้พ้นหน้าบ้านตัวไปก่อน ทั้งๆ ที่ว่าในระยะยาวมันก็ต้องเป็นปัญหาถึงตัวอยู่ดี เซ่นปัญหามลภาวะ (pollution) วิธีปัดขยะให้พ้นหน้าบ้านก็คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วรู้ว่าพวกอุตสาหกรรมหนักก่อให้เกิดมลภาวะสูง ก็ระบายออกไปจากประเทศเสีย ให้ประเทศที่กำลังพัฒนามารับเอาไป โดยมีนโยบายให้ขยายย้ายพวกโรงงานอุตสาหกรรมหนักไปอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องการความเจริญทางเศรษฐกิจ อยากจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็เลยน้อมรับเอาพวกโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาไว้ในประเทศของตัว แล้วก็รับเอาของเสียเข้าไปด้วย

วิธีที่สอง ก็ปัดขยะจริงๆ อันนี้ไม่ใช่แค่ปัดขยะ แต่เอาขยะของตัวเองไปให้เลย คือว่าประเทศที่เจริญแล้วเวลานี้ขยะล้นไม่มีที่ทิ้งขยะ เช่นประเทศอเมริกาก็ต้องไปเที่ยวตกลงกับประเทศกำลังพัฒนาที่ล้าหลังทั้งหลายที่ยากจน ซึ่งรัฐบาลก็อาจจะกำลังต้องการเงินมาก อเมริกาก็ไปตกลงกับผู้นำให้เงินเท่านี้แล้วขอเอาขยะไปทิ้ง ดังเป็นที่ทราบกันในหนังสือที่อเมริกันเองบอก เช่น Al Gore รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นนัก environmentalist (นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) ได้เขียนเล่าไว้ถึงประเทศอเมริกาที่ว่าได้เอาขยะไปทิ้งในประเทศอื่น โดยที่ไปรู้กันกับผู้นำของประเทศนั้นๆ เช่นตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือประเทศในแอฟริกา แล้วก็เอาขยะไปทิ้ง บางทีเป็นขยะที่เป็นพิษใส่เรือไป เรือเดินสมุทรไปหาที่ทิ้งสองปีบางทีก็ยังไม่มีที่ทิ้งเลย เวลานี้อเมริกาจึงประสบปัญหาอย่างหนัก ยกตัวอย่างเช่น คราวหนึ่งก็ไปตกลงกับประเทศจีนแดง ให้ผู้นำจีนแดงรับเงินแล้วอเมริกาก็เอาขยะไปทิ้ง ตกลงกันให้ไปทิ้งในประเทศธิเบต เพราะว่าถึงจะยอมให้ทิ้งเพราะได้เงินมาก็ให้มันไกลตัวที่สุด เอาไปทิ้งที่ธิเบตไกลออกไปยังดีหน่อย แต่องค์การ Green Peace รู้เข้าก็เอามาโพนทะนา อเมริกันก็เสียหน้าอับอาย อายแล้วก็เลยต้องยอมหยุด อย่างนี้เป็นต้น

นี่คือสภาพปัญหาปัจจุบัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นปัญหาของโลกจะต้องช่วยกันแก้ แต่เวลาจะแก้ก็มีปัญหาให้ติดขัด สาเหตุติดขัดอีกอย่างหนึ่งก็คือเพราะเรื่องของอำนาจความยิ่งใหญ่และอิทธิพลในโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถลดฐานะของตัวเอง เมื่อจะรักษาอำนาจความยิ่งใหญ่และอิทธิพล ก็จำเป็นจะต้องผลักดันระบบเศรษฐกิจ ต้องหาผลประโยชน์ ต้องเพิ่มผลกำไร เรื่องของการค้าก็ยิ่งไปหนุนให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อม ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นโทษก็แก้ไม่ได้ เพราะถ้ายอมแก้ปัญหาเรื่องนั้นก็เสียอิทธิพลและความยิ่งใหญ่ของตัว เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จึงเป็นปัญหาที่วนเวียนซับซ้อน และในที่สุดก็มาอับจนอีกจุดหนึ่ง กล่าวคือมนุษย์ได้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมาจนถึงจุดที่ว่าจะต้องมีจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม แต่แล้วจริยธรรมนั้นก็มาจบลงด้วยการเป็นจริยธรรมแบบจำใจ

จริยธรรมแบบจำใจหมายความว่า มนุษย์จำเป็นจำยอมต้องระงับยับยั้งพฤติกรรมที่เป็นโทษของตนเอง ไม่ทำตามชอบใจ หรือยอมเสียผลประโยชน์บางอย่าง เพราะเกรงกลัวภัยอันตรายต่อตนเอง กล่าวคือ มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้มีความเชื่อแฝงลึกอยู่ว่า มนุษย์จะมีความสุขในเมื่อได้เสพวัตถุให้มากขึ้น ฉะนั้นถ้าตนได้เสพบริโภควัตถุมากที่สุดก็จะมีความสุขมากที่สุด แต่การบริโภคมากนั้นเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ และเมื่อธรรมชาติเสีย ตัวเองก็จะเกิดความเดือดร้อน ถ้าธรรมชาติพินาศ มนุษย์ก็จะวิบัติด้วย เพราะฉะนั้น จึงจะต้องรักษาธรรมชาติไว้ โดยตนเองต้องยอมยับยั้งสูญเสียความสุขบ้าง ไม่หาเสพความสุขให้เต็มที่ตามต้องการ เพื่อให้ธรรมชาติอยู่ได้ แต่กลายเป็นว่าต้องจำใจ เพราะว่ากลัวภัยอันตรายมาถึงตัวจึงจำใจต้องยอมปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งแวดล้อม

เวลานี้ก็เกิดจริยธรรมขึ้นใหม่ เรียกว่าจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) ซึ่งได้รับการยอมรับและได้รับการเน้นกันมาก แต่ก็เป็นปัญหาว่าเมื่อเป็นจริยธรรมแบบจำใจมันก็ไม่มีฐานที่มั่นคงยั่งยืน เพราะจะอยู่ยั่งยืนได้อย่างไรในเมื่อมนุษย์จำใจปฏิบัติ เกิดเป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่า ถ้ามนุษย์จะสุขมากที่สุด ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้และตัวมนุษย์เองก็จะกลับเดือดร้อน ถ้าจะให้ธรรมชาติอยู่ได้ ตัวเองก็ต้องยอมละเว้นความสุขบางอย่าง และมนุษย์ก็จะไม่สุขสมปรารถนา นี่คือจริยธรรมของมนุษย์ปัจจุบัน เป็นจริยธรรมแบบจำใจหรือจริยธรรมแบบประนีประนอม หมายความว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องยอมสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างเพื่อตนยังคงได้ผลประโยชน์อยู่บ้าง

อนึ่ง เรื่องของสิ่งแวดล้อมนี่แหละที่เป็นปัญหาสำคัญจนทำให้เกิดคำศัพท์ใหญ่ยิ่งของยุคปัจจุบันคือคำว่า sustainable development ที่แปลว่าการพัฒนาแบบยั่งยืน ก่อนคำว่าโลกาภิวัตน์จะได้รับความนิยมมากนั้น คำว่า sustainable development (การพัฒนาแบบยั่งยืน) เป็นคำที่เกร่อที่สุด แต่เวลานี้คำว่า โลกาภิวัตน์มาข่มคำว่า sustainable development จนกระทั่งคนเดี๋ยวนี้พูดถึงคำนี้น้อยจนเกินไป หรือจะกลายเป็นคำที่ถูกลืม

sustainable development (การพัฒนาแบบยั่งยืน) เป็นศัพท์ที่สำคัญและเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หมายความว่าการพัฒนาโลกที่ผ่านมานี้มันไม่ยั่งยืน (unsustainable development) ซึ่งมีความหมายตามที่เขาจำกัดความว่า เป็นการพัฒนาที่เศรษฐกิจเจริญดีแต่สิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่า การพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) จึงได้แก่การพัฒนาที่ว่า เศรษฐกิจก็เจริญได้และสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี ดังที่เขาใช้ภาษาอังกฤษคู่กันว่า economy คู่กับ ecology นี่คือสภาพการพัฒนาแบบยั่งยืนที่เป็น sustainable ซึ่งจะต้องคำนึงถึง economy และ ecology ทั้งสองอย่าง

ปัญหานี้เป็นเรื่องของการพิจารณาวิเคราะห์ว่า การพัฒนาที่ผ่านมาไม่สมดุล และไม่ครบองค์ประกอบ คือแต่ก่อนนี้เป็นการพัฒนาที่เอียงไปข้างเดียว มุ่งแต่เศรษฐกิจไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องแก้ไขโดยต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ให้ครบเป็นองค์ประกอบสองอย่าง ทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ แต่ปัญหาสำหรับเราก็คือว่า การคำนึงถึงองค์ประกอบในการพัฒนาแบบยั่งยืนที่เอาแค่ ecology กับ economy นี้ครบถ้วนเพียงพอหรือเปล่า นี่ก็เป็นปัญหาสำหรับการศึกษาเหมือนกัน

วัตถุบังใจ ทำให้คนห่างธรรมชาติ

สภาพโลกาภิวัตน์ข้อต่อไปคือ ความแปลกแยกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือภาวะที่มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติ หรือว่าสภาพที่โลกมนุษย์แปลกแยกจากโลกธรรมชาติ

มนุษย์มีความสามารถพิเศษในการสร้างสรรค์ปรุงแต่ง มนุษย์จึงได้สร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาต่างหากจากโลกของธรรมชาติ โลกของมนุษย์ เป็นโลกของวัฒนธรรม อารยธรรม เป็นโลกของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโลกของการปรุงแต่งสร้างสรรค์ที่มนุษย์จัดทำขึ้นมา ปัจจุบันมนุษย์ดำเนินชีวิตโดยเฉพาะคนเมืองจะอยู่กับโลกมนุษย์ จนแทบมองไม่เห็นโลกธรรมชาติ

ที่จริงนั้นโลกธรรมชาติครอบคลุมโลกมนุษย์อยู่ตลอดเวลา และมนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม สังคมจะมีสันติสุขแท้จริงไม่ได้ ถ้ามนุษย์มองข้ามโลกธรรมชาติ โลกมนุษย์จะอยู่ดีได้ต้องตั้งอยู่บนฐานของโลกธรรมชาติโดยเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ถ้ามนุษย์แปลกแยกกับโลกของธรรมชาติ ปัญหาจะเกิดขึ้นกับโลกมนุษย์เอง เวลานี้ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วเนื่องจากมนุษย์ได้แปลกแยกจากโลกของธรรมชาติ กลายเป็นว่า มนุษย์อยู่กับโลกมนุษย์จนลืมตัว ซึ่งเป็นภาวะผิดเพี้ยนอย่างหนึ่ง ทางพระเรียกว่าหลงสมมติ จนกระทั่งหลงแม้แต่กฎของมนุษย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นว่าเป็นความจริงในธรรมชาติ ซึ่งที่แท้ไม่ใช่ อันนี้มีเรื่องต้องพูดยาว ถึงแม้เรื่องนี้จะต้องแก้ปัญหาด้วยการศึกษา แต่เดี๋ยวจะกลายเป็นการเอาเวลามาใช้ในเรื่องที่ไม่ใช่การศึกษาโดยตรง จึงขอผ่านไปก่อน

สภาพแปลกแยกอีกอย่างหนึ่งซึ่งแยกกันมานานแล้วก็คือ ความแปลกแยกระหว่างจิตกับวัตถุ โลกได้เข้าสู่ยุคของวัตถุนิยม และอยู่ในยุควัตถุนิยมเรื่อยมาตลอดเวลายาวนาน และวัตถุนิยมก็เป็นสภาพโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เวลานี้มนุษย์ได้เริ่มรู้ปัญหากันพอสมควรถึงความติดตันของวัตถุนิยม ทั้งในแง่ของการที่จะบรรลุจุดหมายแห่งความสุขสมบูรณ์ของมนุษย์ และในแง่ของการเข้าถึงความจริง มนุษย์ชั้นนำจึงได้หันมาเน้นการพัฒนาด้านจิตใจ และดำเนินการค้นคว้าในเรื่องจิต

แม้แต่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ได้มาถึงจุดที่หันมาสนใจและพยายามศึกษาว่า mind คืออะไร consciousness คืออะไร ถ้าสังเกตจะเห็นว่ายุคนี้วิทยาศาสตร์ได้หันมาสนใจเรื่องนี้เหมือนกับเดินสวนทางกับวิชาการที่อยากเป็นวิทยาศาสตร์ เช่นอย่างจิตวิทยา จิตวิทยาศึกษาเรื่องจิตมาถึงสมัยหนึ่ง เพราะตัวเองต้องการเป็นวิทยาศาสตร์ก็มาถึงจุดที่พูดว่าเรื่องจิตนั้นไม่รู้จะดูได้อย่างไร จะเอามาศึกษาด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ ในที่สุดก็เลยเอาแค่พฤติกรรม จนกระทั่งไปๆ มาๆ จิตวิทยามีความหมายเป็นศาสตร์แห่งพฤติกรรม ทั้งๆ ที่ตัวศัพท์ยังเป็นจิตอยู่แต่ตัวศาสตร์เองบอกว่าตัวเองเป็นศาสตร์แห่งพฤติกรรม จนกระทั่งเวลานี้เมื่อวิทยาศาสตร์กลับไปศึกษาเรื่อง mind, consciousness อีก จิตวิทยาจึงเริ่มกลับหันไปสนใจเรื่องจิตบ้าง อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงในหมู่มนุษย์ที่น่าสังเกต แต่รวมความก็คือ วัตถุนิยมได้เป็นสภาพโลกาภิวัตน์ข้อที่แปดในที่นี้ และมนุษย์ได้ก้าวไปในวิถีแห่งวัตถุ จนกระทั่งได้พยายามแก้ปัญหาทางจิตด้วยวิธีการทางวัตถุ

การแก้ปัญหาทางจิตด้วยวิธีการทางวัตถุก็คือว่า เราจะรู้เรื่องจิตโดยศึกษาจากพฤติกรรมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เราจะดูว่าจิตเป็นอย่างไรโดยดูจากวัตถุ เช่นจากการวัดคลื่นสมองหรือจากสารเคมีที่หลั่งออกมาในสมองเป็นต้น ด้วยการศึกษาแบบนี้ วิทยาศาสตร์ก็เก่งจนกระทั่งดูรู้ว่าถ้าสารเคมีอย่างนี้ออกมาจะมีสภาพจิตอันนี้ ถ้าใส่สารเคมีอันนี้แล้วจะได้สภาพจิตอันนี้ ถ้าคนซึมเศร้าจะมีสารเคมีอันนี้เกิดขึ้น ถ้าคนรื่นเริงแจ่มใสจะมีสารเคมีอันนี้หลั่งออกมา เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็ทำสารเคมีอย่างนี้ๆ โดยสังเคราะห์ขึ้นมา เมื่อต้องการให้คนมีสภาพจิตอย่างนี้เราก็เอาสารเคมีนี้ฉีดเข้าไป และตอนนี้ก็จะมาถึงยุคที่มนุษย์จะใช้วิธีการทางวัตถุมาแก้ปัญหาทางจิต

อย่างไรก็ตาม ถ้าหลงในทางนี้เกินไปมนุษย์ก็จะสูญเสียอิสรภาพ เพราะมนุษย์จะไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรด้วยตนเองและต้องพึ่งวัตถุไปหมด ถ้าต้องการจะมีความสุขรื่นเริง ก็ไปหยิบสารเคมีนี้มาฉีด เวลาเศร้าก็ไปหยิบอีกขวดหนึ่งมาฉีด ต่อไปยาและสารเคมีก็เต็มไปหมดที่บ้าน คนมีความสามารถบันดาลชีวิต ตลอดจนบันดาลจิตใจได้ แต่ต้องอาศัยวัตถุเช่นสารเคมี โดยไม่สามารถบังคับควบคุมหรือจัดการกับจิตใจของตัวได้เองเลย กลายเป็นว่ามนุษย์หมดสมรรถภาพ มนุษย์สูญเสียอิสรภาพ ต้องไปขึ้นต่อเทคโนโลยีและวัตถุโดยสิ้นเชิง และยิ่งกว่านั้นวิธีนี้จะมีปัญหาในระยะยาว เหมือนกับว่าเราสังเคราะห์ปุ๋ยเคมีขึ้นมาแล้วเอามาใช้กับพื้นดิน เราก็ภูมิใจว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารต่อไปนี้จะอุดมสมบูรณ์ แต่พอมนุษย์ผลิตปุ๋ยเคมีได้เสร็จแล้วเป็นอย่างไร ในระยะยาวปรากฏว่าปุ๋ยเคมีทำพิษ แทนที่จะอุดมสมบูรณ์แท้จริง ดินเสียหมด นี่แหละปุ๋ยเคมีที่จะทำให้มนุษย์มีความสุข ถ้าขืนใช้กับมนุษย์คงจะยุ่ง นี่สภาพโลกาภิวัตน์ข้อที่แปด คือ เรื่องวัตถุนิยม ตลอดจนการพยายามแก้ปัญหาทางจิตด้วยวิธีการทางวัตถุ

แยกเดี่ยวเพลิน จนลืมตัวว่าอยู่ที่ไหน

อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันมามากคือ การมองโลกด้วยทัศนะแบบแยกส่วนหรือแบ่งซอย ที่เรียกว่า reductionistic view ซึ่งออกมาในเชิงวิชาการเป็น specialization คือความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ตลอดจนความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งจะต้องระวังให้ดี ถ้าไม่มีความสำนึกตระหนักว่ามันมีมุมที่ไม่สมบูรณ์อยู่ด้วย เราก็จะหลงเพลินไป เพราะความเป็นเลิศทางวิชาการจะทำให้เรามองปัญหา และความจริงของสิ่งทั้งหลายแบบแบ่งซอย ทำให้เจาะไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้สูญเสียความสมบูรณ์ของวิชาการ ทั้งในแง่การเข้าถึงความจริง และในแง่การแก้ปัญหาของโลก เวลานี้ก็ได้มีความตระหนักรู้กันมากแล้วในปัญหาเรื่องนี้ว่า การมองโลกแบบแยกซอยแบ่งส่วนนี้มีความผิดพลาด แล้วก็เลยมีคำนิยมขึ้นมาว่า holism, wholism หรือ holistic view คือการมองโลกด้วยทัศนะแบบองค์รวมและแบบบูรณาการ ดังปรากฏว่า คำว่าองค์รวมนั้น และคำว่า บูรณาการ (integrated, integration) ได้เป็นที่นิยมพูดกันเกร่อขึ้น

โลกาภิวัตน์ใหม่ที่กำลังตามติดมา

สภาพโลกาภิวัตน์สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มักมองข้ามกันไป ซึ่งควรพูดถึงไว้ด้วย แม้จะยังไม่บรรยาย ก็คือสภาพจิตป่วย ซึ่งอาจจะยังอยู่ในขั้นแพร่ขยาย ยังไม่เป็นโลกาภิวัตน์เต็มตัว เพราะเป็นสภาพที่ตามโลกาภิวัตน์อื่นมา

เมื่อสังคมตะวันตกเจริญด้วยอุตสาหกรรม ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันมุ่งหาผลประโยชน์ ก็ปรากฏว่าผู้คนมีอาการป่วยหรือไม่สบายทางจิตเพิ่มขึ้นๆ โดยเฉพาะความเครียด (stress) ที่กำลังเป็นปัญหาเด่นนำอย่างหนึ่ง

เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบแข่งขันนั้นแพร่ไปเป็นโลกาภิวัตน์ สภาพจิตเครียดก็พลอยตามไปด้วย เวลานี้ในสังคมที่ก้าวสู่การพัฒนา ผู้คนก็พากันมีสภาพจิตเครียดเพิ่มขึ้นทั่วไป อีกไม่ช้าคงจะถือว่า ความเครียดเป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งได้ชัดเจน

ความเครียดเป็นอาการไม่สบายหรือป่วยทางจิต เป็นภาวะแห่งความทุกข์อย่างหนึ่งแต่เป็นภาวะที่โยงไปสู่ปัญหาด้านอื่นต่อไปอีกทั้งชีวิตด้านกายและสังคม ทางด้านกายวงการแพทย์รู้กันดีว่าความเครียด (stress) นั้น ทั้งทำให้เป็นโรคและซ้ำเติมโรคที่เป็นอยู่แล้วให้รุนแรงยิ่งขึ้น คนที่เครียดมากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ทุกชนิด ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไปจนถึงมะเร็ง ส่วนในทางสังคม คนเครียดก็ทำให้เกิดบรรยากาศไม่ปลอดโปร่งในการอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน และทำให้เกิดความขัดแย้ง ตลอดจนทะเลาะเบาะแว้งได้ง่าย

นอกจากความเครียดแล้ว อาการไม่ปกติทางจิตจำพวกเดียวกันก็เพิ่มมากขึ้นควบคู่มากับความเจริญสมัยใหม่ ที่น่าสังเกตยิ่งคือภาวะซึมเศร้า (depression) ซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายในยุคปัจจุบันจำนวนมาก

เมื่อสังคมอเมริกันเจริญด้วยอุตสาหกรรม แต่ละคนมุ่งหน้าทำงานทำการไม่มีเวลาเอาใจใส่กัน คนแก่ถูกทอดทิ้งเหงาว้าเหว่ได้ฆ่าตัวตายมีสถิติค่อนข้างมากเป็นเรื่องเก่ามีมานานแล้ว แต่บัดนี้สังคมอเมริกันมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อมขึ้น ได้ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมบริโภค (consumer society) กลับมีปัญหาใหม่ คือเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก

สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติของอเมริกา (National Institute of Mental Health) แสดงสถิติออกมาว่า ในช่วงเวลา ๓๐ ปี จาก ค.ศ. ๑๙๕๐ ถึง ๑๙๘๐ สถิติวัยรุ่นอเมริกัน อายุระหว่าง ๑๕-๑๙ ปี ฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น ๓ เท่าตัว (๓๐๐%) การฆ่าตัวตายกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๒ ของเด็กวัยนั้น ปัญหาว่า เด็กวัยรุ่นกำลังแข็งแรงสดใสอยู่ในวัยสนุกสนานแสวงหาความสุข และสังคมก็มั่งคั่งพรั่งพร้อม มีสิ่งบำรุงบำเรอที่จะสนองความต้องการทุกอย่าง ทำไมเด็กเหล่านั้นจึงฆ่าตัวตายหนีสิ่งบำเรอความสุขไปเสีย

เมื่อประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเศรษฐกิจเจริญมั่งคั่งอย่างรวดเร็ว ในระบบทุนนิยมแข่งขันนั้น พอเจริญมากขึ้นก็ปรากฏว่าเด็กหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นก็ฆ่าตัวตายมากขึ้น เหมือนเอาอย่างสังคมอเมริกัน

เหตุปัจจัยของปัญหานี้ย่อมโยงอยู่กับสภาพโลกาภิวัตน์อื่นๆ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่ส่งผลต่อด้านจิตใจ อย่างน้อยก็เหมือนจะฟ้องว่า คนในสังคมที่เจริญมั่งคั่งผู้คนหาได้มีความสุขไม่ และเรื่องนี้ย่อมเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาด้วย ในฐานะที่มีหน้าที่พัฒนามนุษย์และสร้างสรรค์อารยธรรม

ในเรื่องนี้มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งด้วยว่า ชาวตะวันตกมีชื่อว่ามีภูมิหลังทางสภาพจิตหรือนิสัยใจคอบางอย่างที่ดี เช่น ความใฝ่รู้ และสู้สิ่งยาก แต่ทั้งที่อารยธรรมตะวันตกแพร่หลายไปทั่วโลก สภาพจิตแบบใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก หาได้แพร่หลายไปไม่ แต่สภาพจิตที่แพร่หลายเป็นโลกาภิวัตน์ กลับเป็นอาการเครียด และซึมเศร้า เป็นต้น ที่เป็นเครื่องแสดงถึงความเสื่อมและความทุกข์มากกว่าความเจริญและความสุข

สภาพจิตป่วยนี้ อาจจะเป็นผลปลายสุดของอารยธรรมปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงเป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรมนั้นเอง เป็นปัญหาโดยตรงที่เรียกร้องปรัชญาการศึกษาที่แท้ที่จะมาให้ความแจ่มกระจ่าง และบอกทางแก้ไข

นี่เป็นตัวอย่างของสภาพโลกาภิวัตน์ต่างๆ ที่เราจะต้องเกี่ยวข้องรู้เท่าทัน และปฏิบัติให้ถูกต้อง ปรากฏว่าสภาพโลกาภิวัตน์ทุกอย่างที่กล่าวมานี้เป็นสภาพที่มีปัญหาแฝงอยู่ บางอย่างก็เป็นตัวปัญหาหรือก่อปัญหา เท่ากับมันฟ้องว่าการพัฒนามนุษย์ที่ผ่านมานั้นมีอะไรบกพร่องอยู่ คือการพัฒนาโลกก็บกพร่องแล้ว ยังส่อมาถึงในตัวมนุษย์ว่า ในชีวิตจิตใจมีความบกพร่องอะไร แล้วมันก็เลยฟ้องไปถึงการศึกษาว่า การศึกษามีความบกพร่องอะไร จึงทำให้เกิดการพัฒนาที่มีผลเป็นอย่างนี้ นี้คือสภาพโลกาภิวัตน์ที่เอามาพูดเป็นตัวอย่าง ต่อจากนี้เราก็จะมาพูดถึงเรื่องการศึกษากันต่อไป

- ๒ -
กรุยทางสู่ปรัชญาการศึกษาที่แท้

การศึกษาที่แท้จริงบอกแล้วว่าจะต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ สภาพที่เป็นโลกาภิวัตน์เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับธรรมชาติทั้งสิ้น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามันไปสัมพันธ์ในทางที่สอดคล้องกลมกลืนหรือว่าขัดแย้ง และถ้าขัดแย้งมนุษย์มีความสามารถที่จะทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นความประสานกลมกลืนหรือไม่ การศึกษาที่ถูกต้องจะทำให้เราสามารถทำให้สิ่งที่เป็นความแตกต่างนั้น กลายเป็นความประสานกลมกลืนได้ เพราะสิ่งที่เป็นองค์รวมทั้งหลายก็เกิดจากส่วนประกอบที่แตกต่างกัน และความแตกต่างก็มีความหมาย ๒ อย่าง คือ ความแตกต่างที่เป็นความขัดแย้ง กับความแตกต่างที่เป็นส่วนเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน

มนุษย์ที่มีการศึกษา มีความสามารถที่จะทำให้ความแตกต่างกลายเป็นความประสานกลมกลืนด้วยการเป็นสิ่งเติมเต็มซึ่งกันและกัน แม้แต่ตัวมนุษย์เองกับสังคมก็ต้องใช้ความสามารถนี้มาประสาน แต่การพัฒนามนุษย์ด้วยการศึกษาที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้ใช้ศักยภาพไปในทางที่ทำให้เกิดความแตกต่างที่เป็นความขัดแย้งเสียมากกว่า อันนี้ก็เป็นหัวข้อที่เราจะต้องพูดกันต่อไป

สาเหตุของปัญหา ที่ซ่อนอยู่ในสภาพโลกาภิวัตน์

ก่อนจะพูดถึงตัวปรัชญาการศึกษาที่เป็นหลักการใหญ่ ขอพูดถึงจุดเน้นสำหรับยุคสมัย ซึ่งโยงไปถึงตัวสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกาภิวัตน์ต่างๆ สภาพโลกาภิวัตน์ที่เป็นมา ดังที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ได้ก่อให้เกิดปัญหา และมีปัญหาแฝงอยู่ ซึ่งก็ต้องมีเหตุปัจจัยของมัน หรือมีจุดของปัญหาอยู่ในนั้น จึงจะยกตัวอย่างมาให้ดูเพื่อให้เห็นแง่มุมที่เราจะไปแก้ปัญหา โดยที่ว่าสิ่งนี้จะเป็นเครื่องตรวจสอบให้เห็นถึงปรัชญาการศึกษาด้วย แม้ว่าจะยังไม่ถึงตัวหลักการใหญ่ เหตุปัจจัยที่ยอมรับกันมากในปัจจุบันนี้ ก็ดูได้ที่ตัวโลกาภิวัตน์สำคัญๆ อย่างเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเสีย สืบสาวลงไปถึงระบบอุตสาหกรรมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย ตลอดจนความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้มีเบื้องหลังทั้งสิ้น คือเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งมนุษย์ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประสบปัญหามาก่อน เมื่อเขาสืบลึกลงไปก็ได้พบเหตุปัจจัย ๒ ชั้น คือ เหตุปัจจัยระดับปฏิบัติการ กับเหตุปัจจัยระดับแนวความคิดหรือตัวที่ทางพระเรียกว่าทิฏฐิ

เหตุปัจจัยในระดับปฏิบัติการนั้นมองไม่ยาก พฤติกรรมของมนุษย์ในการเป็นอยู่ในสังคม เราทำอะไรอย่างไร เช่นเรามีการบริโภคมีการผลิต การบริโภคที่เกินสมควรก็ทำลายสภาพแวดล้อม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอไป การผลิตก็ทำให้เกิดการทำลายธรรมชาติแวดล้อม เวลานี้ต้องเข้าใจว่า คำว่า ผลิต นี้คือการทำลายชนิดหนึ่ง การผลิตทุกครั้งคือการทำลาย แต่ก่อนนี้ถือว่าการผลิตดี เป็นการสร้างสรรค์ แต่เดี๋ยวนี้ต้องยอมรับแล้วว่าการผลิตทุกครั้งคือการทำลาย เมื่อมนุษย์ทำการผลิตสิ่งหนึ่งขึ้นมาทางเศรษฐกิจ เขาก็จะต้องทำลายสิ่งที่มีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งทำลายโดยตรง และทำลายโดยอ้อม ทำลายโดยอ้อมคืออย่างไร คือเมื่อเอาวัตถุดิบเข้าโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเราทำลายสิ่งนั้นจากธรรมชาติไปขั้นหนึ่งแล้ว ต่อจากนั้นในกระบวนการผลิตก็จะเกิดของเสียขึ้นมา เช่น น้ำเสีย อากาศเสีย ซึ่งเป็นผลเสียโดยอ้อม หรือเป็นการทำลายโดยอ้อมอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพฤติกรรมมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงเป็นพฤติกรรมที่ทำลายธรรมชาติมาก ทีนี้ก็จะเห็นว่าระบบอุตสาหกรรม ตลอดจนความเจริญทางวิทยาศาสตร์อะไรต่างๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ พฤติกรรมเหล่านี้มองเห็นไม่ยาก พฤติกรรมในการบริโภคและการผลิตนี้เรียกว่าเป็นเหตุปัจจัยในระดับปฏิบัติการ

เหตุปัจจัยแท้อยู่ที่ฐานทางทิฏฐิ

แต่เบื้องหลังเหตุปัจจัยระดับปฏิบัติการนี้คือเหตุปัจจัยที่ลึกกว่า ได้แก่เหตุปัจจัยในด้านความคิดพื้นฐาน เรื่องนี้ชาวตะวันตกเองได้เริ่มสืบสาวและเวลานี้ก็ยอมรับกันมาก ดังปรากฏในหนังสือต่างๆ เมื่อพูดถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมักจะเน้นว่า ต่อไปนี้เราจะต้องมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และวิเคราะห์ว่าอารยธรรมตะวันตกได้มองมนุษย์แยกออกจากธรรมชาติตลอดมาเป็นเวลากว่า ๒ พันปีมาแล้ว และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เมื่อมองมนุษย์แยกจากธรรมชาติแล้ว ยังมีแนวความคิดขึ้นมาด้วยว่าจะต้องพิชิตธรรมชาติ

แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาตินี้ เป็นแนวความคิดที่ทางตะวันตกได้ภูมิใจมาตลอดเวลายาวนานมาก เพราะถือว่าการชนะธรรมชาติ คือชัยชนะและความสำเร็จของมนุษย์ มนุษย์จะมั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นเจ้าเป็นนายของโลกด้วยการพิชิตธรรมชาติ และถือว่าความคิดนี้ได้ทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่มาถึงเวลานี้ตะวันตกได้เกิดความรู้ตระหนักใหม่เป็นความสำนึกว่า แนวความคิดนี้ผิดพลาด เพราะแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาตินี้แหละจึงทำให้เขาจัดการกับธรรมชาติตามใจชอบจนกลายเป็นการทำลาย ทำให้สภาพแวดล้อมเสียและก่อภัยพิบัติแก่มนุษย์เอง จึงกลายเป็นว่า แนวความคิดพื้นฐานที่สร้างสรรค์อารยธรรมตะวันตกมานั้นเอง กลายเป็นตัวเหตุปัจจัยสำคัญในการทำลายล้างโลกมนุษย์ เวลานี้ในตะวันตกกำลังเกิดความสำนึกนี้

อย่างหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “A Green History of the World” คือประวัติศาสตร์โลกเชิงสิ่งแวดล้อม มีบทหนึ่งซึ่งสืบประวัติความคิดของตะวันตกมาตั้งแต่โสกราตีส เพลโต อริสโตเติล ผ่านนักปรัชญาศาสนา ตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์ และแม้แต่นักจิตวิทยาอย่างฟรอยด์ และนักปรัชญาเชิงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเดคาร์ต ท่านเหล่านี้มีวาทะตามที่เขายกมาแสดง ล้วนแต่พูดถึงความคิดหมายหรือมุ่งมั่นที่จะเอาชนะธรรมชาติ ด้วยความเข้าใจว่าความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่เอาชนะธรรมชาติ และจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ คนหนึ่งถึงกับพูดว่า วิทยาศาสตร์จะสามารถช่วยให้มนุษย์จัดการกับธรรมชาติได้ตามปรารถนา เหมือนอย่างเป็นขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวในกำมือที่มนุษย์จะปั้นให้เป็นรูปอะไรก็ได้ นี่คือความหวังและความภูมิใจของมนุษย์ในโลกที่พัฒนา แห่งอารยธรรมตะวันตกที่ผ่านมา ซึ่งถือว่านี่ คือ ความสำเร็จ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นจุดติดตันที่ทำให้รู้ตัวว่า นี่คือภัยพิบัติของมนุษย์ ซึ่งได้ค้นพบว่าในที่สุดปัญหาเหล่านี้เกิดจากทิฏฐิ คือ แนวความคิดทั้งสิ้น

แนวความคิดอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็คือมนุษย์ได้เกิดมีความเชื่อว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การได้บริโภควัตถุ หรือการมีวัตถุมาเสพบริโภคอย่างพรั่งพร้อม เพราะฉะนั้น ถ้ามนุษย์มีวัตถุพรั่งพร้อม มีวัตถุเสพบริโภคบริบูรณ์แล้ว มนุษย์ก็จะมีความสุขสมบูรณ์ ความหวัง และความเชื่อเช่นนี้ก็ไปสัมพันธ์สอดคล้องกันกับความเชื่อในการพิชิตธรรมชาติว่า เมื่อเราพิชิตธรรมชาติได้แล้วเราก็จะจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เราก็จะเอาธรรมชาติมาจัดสรรสนองความต้องการของมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็จะมีความสุข เพราะมีวัตถุเสพบริโภคเต็มที่

แนวความคิด ๒ อย่างนี้แหละที่มาประสานแนวความคิดในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ากับแนวความคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรม คือ จากความเชื่อว่า วัตถุจะเป็นแหล่งความสุขของมนุษย์ มนุษย์จะมีความสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุดหรือมีวัตถุพรั่งพร้อม มนุษย์ก็พัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นมาจัดการกับธรรมชาติที่ตนพิชิตได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แนวความคิด ๒ อย่างนี้จึงประสานกันและถือว่านี่คือความเจริญของมนุษย์ อันหมายถึงความเจริญทางด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความวิจิตรพิสดารหลากหลายในโลก สืบเนื่องมาจากฐานความคิดนี้เอง เพราะฉะนั้นในที่สุดมนุษย์จะต้องไปแก้ปัญหาที่ตัวแนวความคิดหรือทิฏฐิพื้นฐานดังกล่าว นี่คือภารกิจที่การศึกษาจะต้องทำให้สำเร็จ

ยังมีอีกมาก ดังได้กล่าวแล้วว่าคนอเมริกันนั้นมีความยึดมั่นในแนวความคิดแห่งการแข่งขัน (competition) ซึ่งก็หมายถึงระบบตัวใครตัวมัน ว่าเป็นหัวใจแห่งความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ แต่เบื้องหลังกว่านั้นอีก เขาถือว่าสังคมอเมริกันเจริญขึ้นมาได้มากอย่างนี้ด้วยสิ่งที่เขาเรียกว่า frontier mentality ซึ่งขอแปลว่าสภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน เขาถือว่าสภาพจิตนี้เขาได้รับสืบมาจากยุโรป

สภาพจิตบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) เชื่อว่าโลกนี้กว้างใหญ่นัก ทรัพยากรในธรรมชาติมีเหลือล้นไม่รู้จักหมดสิ้น เราจะต้องบุกฝ่าไปเอามันมาใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นจงไปข้างหน้า แล้วก็จงไปทำดินแดนที่ล้าหลังให้เจริญขึ้นมา พวกนั้นเป็นมนุษย์ป่าเถื่อน ไปทำให้มันเจริญขึ้นมา เพราะฉะนั้นแนวความคิดนี้ก็มีส่วนทำให้เกิดลัทธิอาณานิคมด้วย

พอไปอเมริกา ก็นำความคิดนี้มาด้วย พอขึ้นที่อเมริกา แนวความคิดนี้ยิ่งพัฒนารุนแรงมาก เพราะพอขึ้นฝั่งที่บอสตัน และนิวยอร์ก ทางภาคตะวันออกแล้ว ก็มองเห็นผืนแผ่นดินอเมริกากว้างใหญ่ข้างหน้าที่ยังไม่รู้ว่าจะกว้างไกลไปถึงไหน ความคิดแบบบุกฝ่าพรมแดนก็ฟูขึ้นมาเต็มที่ ดินแดนกว้างใหญ่ข้างหน้านี้เราสามารถไปแสวงหาทรัพยากร ไปบุกเบิก ไปสร้างความเจริญได้มากมาย เขาก็มุ่งหน้าตะวันตกดังที่ต่อมาก็เกิดมีคติที่คนอเมริกันภูมิใจว่าเป็นอดีตของเขาในการสร้างสรรค์ประเทศคือ “Go west young man” แปลว่า เจ้าหนุ่มจงมุ่งหน้าไปตะวันตก (เพราะตะวันตกคือดินแดนที่ยังไม่ได้บุกเบิก) “and grow up with the country” และจงสร้างสรรค์บ้านนอกขอกนาให้เจริญขึ้นมากับตัวเจ้า

แนวคิดบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) ทำนองนี้ คือเบื้องหลังการสร้างสรรค์สังคมอเมริกันจนกระทั่งเมื่ออเมริกาเจริญเต็มที่แล้ว ก็บุกเบิกต่อไปในอวกาศ ซึ่งเขาก็บอกว่าเป็น frontier เหมือนกัน แต่ขณะนี้ไปดูหนังสือเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมจะกลายเป็นติเตียน frontier mentality แล้ว เวลานี้เขาบอกว่ามันเป็นสภาพจิตที่นำมาซึ่งการล้างผลาญธรรมชาติ สิ่งที่คนอเมริกันเคยภูมิใจว่าเป็นปัจจัยสร้างสรรค์นำความเจริญมาให้ แต่ขณะนี้เขากำลังมีความรู้สึกผิดหวังและกลับเห็นไปว่ามันเป็นตัวการก่อความพินาศ นี่ก็คือจุดอับจนอย่างหนึ่ง แต่เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ พูดแค่นี้ก่อน

สาระสำคัญของเรื่องนี้ก็คือแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังหรือที่เป็นฐานของอารยธรรม จากแนวคิดหรือทิฏฐิจึงเกิดวิถีชีวิตและสังคมที่เป็นไปตามอิทธิพลของมัน เพราะฉะนั้นการศึกษาจะต้องสืบสาวเจาะจับให้ถึงจุดนี้ว่าแนวความคิดอะไรอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์ และเป็นจุดเสื่อมหรือเจริญ อะไรกันหนอคือเหตุปัจจัยเหล่านั้น ต้องสืบลึกลงไปถึงจิตใจของมนุษย์แล้วก็แก้ทิฏฐินั้นให้ตรงให้ถูกต้องและนี่คือภารกิจที่แท้จริงของการศึกษา

ลักษณะความคิดพื้นฐานของตะวันตก
ที่นำทางอารยธรรมปัจจุบัน

อนึ่งได้พูดเมื่อกี้นี้ว่ามนุษย์ปัจจุบันมีจริยธรรมแห่งความจำใจ ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งความประนีประนอม ซึ่งไม่เป็นจริยธรรมที่แท้จริง เพราะจริยธรรมที่แท้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามนุษย์ไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าว่าตามปรัชญาการศึกษาที่แท้จริง เราต้องสร้างจริยธรรมแห่งความสุขขึ้นมาให้ได้ ในโลกตะวันตกนั้น ไม่ใช่เฉพาะจริยธรรมแห่งสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แม้จริยธรรมด้านอื่นที่เป็นมาแทบทั้งหมด ตลอดประวัติศาสตร์ของเขาก็เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจ เพราะว่าจริยธรรมตะวันตกนั้นเกิดขึ้นจากเทวบัญชา ขึ้นต้นก็คือคำสั่งบังคับว่า ถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ ถ้าละเมิดจะถูกลงโทษ ถ้าทำตามจะให้รางวัล มนุษย์ต้องปฏิบัติตามนั้น และเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาก็ได้ทำลายฐานแห่งจริยธรรมเหล่านั้นเสียโดยถือว่าไม่มีเหตุผล ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล เป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเอง อะไรดี อะไรชั่ว เป็นเรื่องที่แล้วแต่มนุษย์จะมาตกลงกัน เป็นข้อกำหนดของสังคม จริยธรรมก็เลยถูกมองข้ามไประยะหนึ่งจนมาถึงยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น และกลายมาเป็นปัญหาจริยธรรม ตะวันตกจึงหันกลับไปสนใจให้ความสำคัญแก่จริยธรรมอีก ดังที่ได้เกิดมีจริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) และจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) เป็นต้น แต่พื้นฐานทางปัญญาของเขาก็คือ จริยธรรมเป็นข้อบัญญัติที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติเพื่อยับยั้งพฤติกรรมของตนไม่ให้เกิดผลเสียแก่ตัวเอง กล่าวคือ จริยธรรมเป็นเรื่องของการที่มนุษย์จะต้องยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลเสียแก่ตน จริยธรรมก็เลยเป็นจริยธรรมแห่งความจำใจ

ถ้าวิเคราะห์ตามธรรม คือตามความจริงของธรรมชาติ พุทธศาสนาบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้แหละเป็นจุดที่สำคัญ มนุษย์นั้นพัฒนาได้ คำว่าพัฒนาได้นี้มีความหมายรวมไปถึงทุกสิ่งที่มนุษย์เกี่ยวข้อง รวมทั้งความสุขด้วย เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น ความเข้าใจเกี่ยวกับความสุขก็เปลี่ยนไป ตัวความสุขเองก็พัฒนาด้วย และมนุษย์จะมีช่องทางได้ความสุขเพิ่มขึ้น จริยธรรมที่ถูกต้องเป็นจริยธรรมแห่งการพัฒนามนุษย์ คือเกิดจากการศึกษา เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้นมาในทางแห่งจริยธรรมเขาก็จะมีความสุขแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นจริยธรรมที่แท้จริงจึงสามารถเป็นจริยธรรมแห่งความสุข และการศึกษาจึงช่วยให้มนุษย์มีจริยธรรมแห่งความสุขได้ อันนี้ก็เป็นจุดสังเกตอย่างหนึ่ง

จุดที่ผิดพลาดของการพัฒนาและอารยธรรมที่ผ่านมาที่ทำให้เกิดจริยธรรมแห่งความจำใจนั้นสัมพันธ์กับการมองมนุษย์แบบนิ่งอยู่กับที่หรือตายตัว (static) ด้วย ฝรั่งนึกว่าตัวเองมองสิ่งทั้งหลายแบบคืบเคลื่อน (dynamic-พลวัต) แต่ที่จริงเขามองแบบ static คือถือเหมือนมนุษย์นี่คงเดิม ถ้าเป็นจิตวิทยาก็มองว่าสภาพจิตปุถุชนนี่เป็นสภาพจิตปกติ ถ้าคนเป็นบ้า หรือเป็นโรคประสาท จึงไม่ปกติ เราดึงกลับมาให้เป็นมนุษย์ปุถุชนก็พอแล้ว หรือในทางเศรษฐศาสตร์ ก็มองว่ามนุษย์มีความต้องการโดยเฉพาะความอยากเสพที่ไม่มีสิ้นสุด แก้ไขไม่ได้

แต่ถ้ามองแบบพุทธศาสนา มนุษย์ปุถุชนคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนามนุษย์ จิตวิทยาตะวันตกถือว่ามนุษย์ปุถุชนคือเป็นปกติ หรือดีพอแล้ว ในทางพุทธศาสนา เราพัฒนาจากมนุษย์ปุถุชนให้เป็นอริยชน ในเมื่อฝรั่งมองมนุษย์แบบคงที่ (static) เขาก็เข้าใจว่า ความสุขของมนุษย์มีอย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น ส่วนพระพุทธศาสนามองมนุษย์แบบคืบเคลื่อน (dynamic) เมื่อมนุษย์พัฒนาตนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัว เช่น ความสุขก็เปลี่ยนแปลงไปโดยมีการพัฒนาในทางความสุขด้วย เรื่องนี้ถ้ามีเวลาเราก็จะพูดกันอีก ตอนนี้ขอผ่านไปก่อน

อีกอย่างหนึ่งที่ตะวันตกหลงผิดบ่อยๆ คือ เขาเข้าใจว่าตนมีความคิดเชิงบวก (positive) แต่ที่จริงความคิดพื้นฐานของเขาเป็นแนวคิดเชิงลบ (negative) ตะวันตกไม่รู้ตัวว่าตนเองมีแนวคิดเชิงลบในสิ่งต่างๆ เพราะภูมิหลังของอารยธรรมตะวันตกเป็นภูมิหลังของมนุษย์ที่มีการต่อสู้ดิ้นรนมาก ในแง่นี้ตะวันตกก็ยอมรับ เขาบอกว่า อารยธรรมและวัฒนธรรมของเขาเป็นอารยธรรมแห่งการดิ้นรนต่อสู้ แต่การต่อสู้ดิ้นรนนี่แหละทำให้มนุษย์เข้มแข็ง และทำให้พัฒนามาได้ด้วยดี มนุษย์ตะวันตกนั้นนอกจากต้องต่อสู้กับธรรมชาติแวดล้อมที่บีบคั้นมากแล้ว อีกด้านหนึ่งก็มีการต่อสู้ดิ้นรนในการบีบคั้นระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งทำให้ทุกคนขวนขวายที่จะปกป้องตัวเอง โดยเฉพาะในระบบแข่งขันที่ฝ่ายหนึ่งก็จะเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้มากที่สุด ในเมื่อต่อสู้แข่งขันจะเอาเปรียบชิงกันชนะ ในที่สุดมนุษย์จะต้องสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองจากการรุกล้ำเอาเปรียบของกันและกัน ระบบความคิดและชีวิตแบบนี้ได้พัฒนามนุษย์ในลักษณะที่ทำให้สังคมตะวันตกมีข้อดี คือมีการพัฒนากฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาอย่างชัดเจนจำนวนมาก เช่น กฎสิทธิมนุษยชน (human rights) เป็นต้น

สิทธิมนุษยชน (human rights) นี้กำลังเกร่อมาก และอเมริกันก็ภูมิใจนัก นักการเมืองของเขาภูมิใจว่าจะเอา human rights ไปสถาปนาในโลก เขาว่าสังคมตะวันออกไม่มี human rights แต่หารู้ไม่ว่าที่จริงแนวคิดแบบ human rights นี้เกิดจากแนวคิดเชิงลบ และเป็นจริยธรรมเชิงลบทั้งนั้น คือเกิดจากการต่อสู้และประสบการณ์ที่ยาวนานในการที่ต้องคอยป้องกันการรุกล้ำละเมิดเอาเปรียบกัน จึงทำให้เขาสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง สืบเนื่องจากลัทธิแย่งชิงและแข่งขัน เป็นแนวความคิดแบบแบ่งแยก

แม้แต่ในการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาของตะวันตก ก็มีถ้อยคำใช้ในขีดจำกัดแห่งความคิดแค่ tolerance

tolerance แปลว่า ขันติธรรม คือ การอดได้ทนได้ ยอมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยทนฟังทนดูเขาได้ จริยธรรมแบบนี้เป็นจริยธรรมแบบปกป้องตัวเองเพื่อให้ต่างฝ่ายไม่มาละเมิดกัน แต่ไม่พอที่จะให้มนุษย์ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน จริยธรรมที่จะให้มนุษย์ประสานกลมกลืนได้ ต้องข้ามพ้นจากขั้นของการปกป้องตัวเองด้วยการที่ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง จริยธรรมที่แท้ต้องช่วยให้มนุษย์ข้ามพ้นขั้นนี้ไปให้เข้าถึงภาวะที่มนุษย์มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ประสานกลมกลืนเข้ากันได้ ถ้ามนุษย์มีความรู้สึกแค่ปกป้องตัวเอง มนุษย์ก็จะมีจริยธรรมเพียงในขั้น compromise คือการประนีประนอม ประนีประนอมก็คือยอมจำใจ ซึ่งเป็นไปในระบบสังคมตะวันตกอย่างที่กล่าวมาแล้ว

จริยธรรมที่ถูกต้องจะต้องพัฒนามนุษย์ไปถึง harmony คือ ความประสานกลมกลืน อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เวลานี้ฝรั่งก็ตื่นเรื่อง harmony กันพอสมควร เพราะเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดแบบองค์รวมและบูรณาการ ในที่นี้คงต้องยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนเหมือนกัน บางทีเราไม่เห็นว่ามันซ่อนอยู่ในถ้อยคำสื่อความคิด (concept) ต่างๆ ที่เราพูดถึง เช่น พระเจ้าอโศกในสังคมตะวันออก เมื่อตรัสถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาทรงใช้คำว่า “สมวายะ” หมายถึงความปรองดองสามัคคีความประสานสอดคล้อง ในขณะที่ทางตะวันตกได้แค่ tolerance คือทนกันได้

นำกลับสู่หลักการแท้ของประชาธิปไตย

ในเรื่องประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน เมื่อกี้ได้พูดมาแล้วว่า ในสังคมที่โยงเอาประชาธิปไตยไปเป็นอันเดียวกับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมระบบผลประโยชน์ที่มุ่งแข่งขัน (competition) นั้น ความหมายของคำแสดงหลักความคิด (concept) สำคัญๆ จะค่อยๆ เอียงดิ่งไปข้างเดียวภายใต้อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจนั้นโดยไม่รู้ตัว ขณะนี้ในสังคมอเมริกันและสังคมประชาธิปไตยทั่วๆ ไปจะเป็นอย่างนี้กันมากแล้ว กล่าวคือ ความหมายของเสรีภาพ และความเสมอภาค จะเป็นความหมายแบบแบ่งแยกและแก่งแย่งช่วงชิงมากขึ้น

เสรีภาพ นี้คนเข้าใจอย่างไร เริ่มต้นคนมักมองเสรีภาพในความหมายว่าเป็นการทำได้ตามชอบใจ ในสังคมที่พัฒนาแล้วก็ต้องมีคำจำกัดขอบเขตเข้ามา กล่าวคือ เสรีภาพคือการทำได้ตามชอบใจต้องมีขอบเขต ถ้าไม่มีขอบเขตสังคมก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นจึงบอกว่าเสรีภาพคือการทำได้ตามชอบใจเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น นี่ก็คือลัทธิที่มาในแนวทางเดียวกับสิทธิมนุษยชน (human rights) คือแนวความคิดแบบแบ่งแยก หรือปกป้องตัวเอง หรือไม่ก็ต้องใช้คำจำกัดความใหม่ว่า เสรีภาพคือการทำได้ตามใจชอบภายในขอบเขตของกฎหมาย เสรีภาพแบบนี้ให้ความรู้สึกเชิงบีบคั้นบังคับ เมื่อมีความเข้าใจตื้นๆ อย่างนี้ ในสังคมที่พัฒนาประชาธิปไตยไม่เพียงพอ ประชาชนเข้าใจเสรีภาพคลุมเครือก็ตื่นในการทำได้ตามชอบใจ

การเข้าใจความหมายอย่างนี้จะขัดแย้งกับการพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ ของประชาธิปไตย เช่น วินัย เพราะวินัยนั้นคือการที่บุคคลจะต้องยอมอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์กติกาของสังคม หลักการหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยคือการเคารพกฎหมาย กฎหมายในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่จำกัดเสรีภาพ เป็นตัวกรอบขอบเขต วินัยทำให้คนพอใจที่จะอยู่ในข้อจำกัดหรือขอบเขตนั้น แต่ถ้าเราไม่ได้สร้างวินัย และหากประชาชนตื่นในเสรีภาพและเข้าใจความหมายของเสรีภาพแบบนี้ ก็สร้างวินัยยาก กลายเป็นว่าองค์ประกอบของประชาธิปไตยเป็นตัวการขัดขวางกันเอง กลายเป็นว่า เพราะต้องการเสรีภาพก็เลยทำให้คนไม่มีวินัย เวลานี้ในสังคมไทยกำลังประสบปัญหานี้มาก เพราะไปเน้นเรื่องเสรีภาพ หรือคนไปตื่นเสรีภาพจนกระทั่งมองข้ามองค์ประกอบด้านวินัย เพราะเราไม่ได้สร้างวินัยเป็นพื้นฐานมาก่อน กลายเป็นว่าเสรีภาพนี่แหละเมื่อใช้ไม่ถูกต้องก็กลายเป็นตัวขัดขวางวินัย ซึ่งก็คือขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยนั่นเอง เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างความเข้าใจให้ถูก

เสรีภาพก็มีดุลยภาพเช่นเดียวกัน ถ้าพูดแบบภาษารูปธรรมให้เข้าใจง่าย คือมีเสรีภาพในการได้และเสรีภาพในการให้เป็นคู่กัน คนไม่ค่อยคิดถึงเสรีภาพในการให้และคิดถึงแต่เสรีภาพในการได้ว่า ฉันจะต้องได้นั่น ฉันจะต้องได้นี่ ฉันจะเอานั่นฉันต้องได้ซิ ใช่ไหม ที่จริงนั้นเสรีภาพแบบจะได้จะเอานี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นและเป็นเพียงด้านประกอบ ไม่ใช่ส่วนสำคัญ เป็นเพียงส่วนที่จะช่วยให้บุคคลนั้นดำรงตนอยู่ได้โดยเป็นที่ยอมรับ แต่เสรีภาพที่เป็นความมุ่งประสงค์ที่แท้ของความเป็นประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการให้

เสรีภาพในการให้เป็นอย่างไร ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่เราถือว่าดีที่สุด เพราะเป็นระบบที่ให้ความมั่นใจได้มากที่สุดว่าจะช่วยให้สังคมนี้อยู่กันด้วยดี มีความเจริญมั่นคงและสันติสุข สังคมอย่างนี้จะต้องให้บุคคลที่เป็นสมาชิกช่วยกันสร้างสรรค์ แต่เราจะมีสังคมประชาธิปไตยที่ดีไม่ได้ ประชาธิปไตยจะไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่มุ่งหมาย ถ้าประชาชนไม่สามารถนำเอาศักยภาพที่มีอยู่ของตนๆ ออกมาใช้ช่วยสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ได้ ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น คนผู้เดียวกำกับ หรือหมู่คณะกำกับกีดกั้นเสรีภาพ ทำให้คนที่มีความคิด มีสติปัญญา มีความสามารถ ไม่สามารถแสดงความคิด ความรู้ ความสามารถของตนออกมา ทำให้ไม่สามารถเอาศักยภาพ ความสามารถ ความรู้ และสติปัญญาของตนนั้นออกมาให้แก่สังคมได้ พูดง่ายๆ ก็คือไม่สามารถให้ความสามารถของตนเองแก่สังคม สังคมก็ไม่สามารถได้ประโยชน์จากศักยภาพของเขา ประชาธิปไตยก็ไม่สำเร็จผล เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงต้องการเสรีภาพอันนี้

เสรีภาพคือช่องทางที่จะให้ศักยภาพของบุคคลแต่ละคนออกมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม ถ้าสังคมใดจำกัดเสรีภาพ ความสามารถ สติปัญญา และศักยภาพที่ดีของบุคคลก็กลายเป็นหมันไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงต้องการเสรีภาพ นี่คือตัวแท้ตัวจริงของประชาธิปไตย ซึ่งมุ่งหวังสร้างสรรค์สังคม ที่ว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน ก็หมายถึงการที่ประชาชนทุกคนควรจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น เสรีภาพในการให้ คือเสรีภาพในการที่จะเอาความสามารถของตนออกมาสร้างสรรค์สังคม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งและเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยมากกว่าเสรีภาพในการได้ แต่เวลานี้เสรีภาพในการให้ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากกำลังถูกลืม คนหันไปเน้นความอยากได้อยากเอา อยากจะแข่งขันแย่งผลประโยชน์แบบทุนนิยม ดีไม่ดีสังคมประชาธิปไตยก็จะไปไม่รอด กลายเป็นเสรีภาพของนักเสพ ไม่ใช่เสรีภาพของนักสร้างสรรค์

ความเสมอภาคก็เช่นเดียวกัน ความเสมอภาคในระบบที่ผิด ก็จะโน้มเอียงไปในทางแบ่งแยกแก่งแย่ง แข่งขัน ช่วงชิงกัน คุณได้ ๑๐ ฉันต้องได้ ๑๐ ด้วย คุณได้ ๕๐๐ ฉันต้องได้ ๕๐๐ เหมือนกัน นี่คือความเสมอภาค แต่ความเสมอภาคแบบนี้เป็นความเสมอภาคที่มองด้านเดียวคือ ด้านช่วงชิงผลประโยชน์ จะได้จะเอา ถ้าเรามีความเข้าใจความหมายของความเสมอภาคด้านเดียว สังคมจะเสียดุลยภาพอีก และไปไม่รอด

ความเสมอภาคที่แท้มีความหมายที่สำคัญคือเป็นความเสมอภาคในการมีส่วนร่วมและเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความเสมอภาคที่มีการให้ หมายความว่ามีด้านให้เป็นหลักและมีด้านเอาเป็นส่วนประกอบ

ในการมีส่วนร่วม พระพุทธศาสนามีคำหนึ่งที่ใช้แสดงความเสมอภาค ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญในการที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกัน เรียกว่า สมานัตตตา แปลว่าความมีตนเสมอ จะสังเกตเห็นว่าคำว่าเสมอนี้ในภาษาบาลีใช้ว่า สมานะ เข้ามาในภาษาไทยเป็น สมาน คำว่า สมาน ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่าอย่างไร ใช้ในแง่ว่าประสานกลมกลืนกัน แสดงว่าความหมายของเสมอนั้น นัยที่แฝงอยู่เดิมต้องการในเชิงสมาน เป็นการเสมอที่สมาน คือมากลมกลืนเข้าด้วยกัน โดยเข้ามามีส่วนร่วมรวมกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้ความหมายของความเสมอภาคในสมานัตตตา (ความมีตนเสมอ) นั้นว่า “เสมอในสุขและทุกข์” หมายความว่า มีสุขก็สุขร่วมกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ร่วมกัน เสมอกันเท่ากัน อย่างนี้ไม่ใช่แย่งชิงแล้วเพราะใจมุ่งไปในทางประสาน ถ้าเขาทุกข์เราก็ทุกข์ด้วย เสมอกันเท่ากันโดย ร่วมสุขสันติ์ร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่กลัวเสียเปรียบเขาคอยจะเอาให้เท่ากัน จะเห็นว่าความคิดความรู้สึกต่างกันไปเลย

เพราะฉะนั้นความเสมอภาคนี้ต้องคิดพิจารณาให้ดี มันมีนัยที่แฝงอยู่ว่าเสมอในสุขและทุกข์ ซึ่งแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ เป็นอันว่าคำว่าเสมอมีความหมายที่ต้องการคือ เสมอในเชิงประสาน รวมเข้าด้วยกัน หรือมีส่วนร่วม ให้นึกถึงคำว่า สมาน

ได้พูดไปแล้วว่า เวลานี้หลักที่ ๓ คือภราดรภาพ ในสังคมประชาธิปไตยนี้ กำลังทรุดลงไปทุกที เพราะมนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะเข้าใจความหมายของเสรีภาพและความเสมอภาคในทางแบ่งแยกช่วงชิง จึงทำให้ภราดรภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างที่บอกแล้วว่าสังคมอเมริกันเป็นตัวอย่างที่ว่า ความแบ่งแยกได้กำลังทำลายสังคมมากขึ้นทุกที จนเขาต้องโอดครวญว่าเบ้าหลอม (melting pot) แตกไปแล้ว

ใช้หลักการย้อนทางมาเสริมกัน

ต่อไปจะพูดทีละข้อ ในแง่เหตุปัจจัย พร้อมทั้งเสนอแนะทางแก้ไปด้วย แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวหลักการใหญ่ ตอนนี้ขอพูดถึงหลักอีกหลักหนึ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาสังคมในยุคโลกาภิวัตน์

ในทางพุทธศาสนาท่านสอนหลักการสำคัญในการศึกษาของมนุษย์ว่า ก่อนที่มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงาม หรือจะเริ่มต้นพัฒนาตัวเองได้ดีนั้น มีองค์ประกอบ ๒ อย่างมานำมาช่วย คือ องค์ประกอบภายนอก กับองค์ประกอบภายใน

องค์ประกอบภายนอกเรียกว่า ปรโตโฆสะ แปลว่า เสียงจากผู้อื่น คืออิทธิพลจากภายนอก ในสังคมมนุษย์เรามีปรโตโฆสะจัดตั้ง คือมนุษย์มีเจตจำนงจัดสรรขึ้นหรือมีเจตนาทำให้เป็น โดยที่มุ่งที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คือไม่เป็นเพียงปรโตโฆสะที่ลอยอยู่แล้วเราต้องเข้าไปหา แต่หมายความว่าเขาตั้งเจตนามาหาเราและมาช่วยเกื้อกูล ปรโตโฆสะอย่างนี้ก็กลายเป็นกัลยาณมิตร เพราะฉะนั้นจึงพูดง่ายๆ ว่ากัลยาณมิตรเป็นปรโตโฆสะจัดตั้ง กัลยาณมิตรเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเกื้อหนุนให้คนมีชีวิตที่ดีงามโดยเข้ามาช่วยหนุนการศึกษา ท่านเรียกว่าเป็น ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ คือช่วยชักนำให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ทำให้รู้เข้าใจความจริงและรู้คุณค่าของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เข้าไปสัมพันธ์ และทำให้ปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น จึงทำให้มีชีวิตที่ดีงามได้ กัลยาณมิตรมีหน้าที่นี้ จึงเป็นผู้ชักนำในกระบวนการศึกษาทั้งหมด

อีกด้านหนึ่งคือปัจจัยภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ หมายถึงการรู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง การรู้จักใช้ปัญญาคิดเองเป็น ซึ่งทำให้พึ่งตนเองได้ แม้กระทั่งไม่ต้องอาศัยปรโตโฆสะ ไม่ต้องอาศัยกัลยาณมิตร แต่สำหรับคนทั่วไป จะต้องมาเข้าคู่กัน กล่าวคือ องค์ประกอบภายนอกเป็นปัจจัยทางสังคม ได้แก่ กัลยาณมิตร และองค์ประกอบภายในเป็นปัจจัยส่วนตัว ได้แก่ โยนิโสมนสิการ

หลักกัลยาณมิตรที่จะนำคนเข้าสู่การศึกษานั้น เริ่มต้นด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ของบุคคล หรือให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาของบุคคล คือเป็นผู้จัดสรรสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาบุคคล ตลอดจนทำตัวเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีเองด้วย สภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งที่กัลยาณมิตรจัดให้คือข่าวสารข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่นจัดหาข้อมูลความรู้มาให้ เพื่อให้เด็กได้สภาพแวดล้อมอันเกื้อกูลที่จะพัฒนาตนเอง

แต่พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง เราจะต้องให้เด็กมีคุณสมบัติภายในของตนเองด้วย ตราบใดที่เขายังต้องอาศัยกัลยาณมิตรก็ยังต้องถือว่าเขายังพึ่งตนเองไม่ได้ ชีวิตยังไม่เป็นอิสระ ยังต้องขึ้นต่อศรัทธา คือฝากความไว้วางใจไว้ที่ปัญญาของคนอื่น เราจึงต้องให้เด็กพัฒนาตนเองให้มีโยนิโสมนสิการ เมื่อใดเด็กรู้จักคิดเองเป็น เมื่อนั้นเขาก็พึ่งตนเองได้ เพราะฉะนั้นหัวใจที่จะทำให้การศึกษาสำเร็จคือโยนิโสมนสิการ แต่กัลยาณมิตรในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นแรกสุดก็สามารถชักนำให้เกิดโยนิโสมนสิการขึ้นในตัวคนได้ด้วย

โดยวิธีนี้ ก็จะเกิดสภาพตรงข้ามขึ้นมาเสริมกันสองอย่างที่สำคัญมากในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นภารกิจ ๒ อย่างของกัลยาณมิตร กล่าวคือ ครูซึ่งเป็นผู้นำในกระบวนการศึกษา ทำหน้าที่กัลยาณมิตรโดย หนึ่ง ด้านหนึ่งจัดสภาพแวดล้อมข้างนอก สอง อีกด้านหนึ่งฝึกโยนิโสมนสิการขึ้นในตัวคน สองอย่างนี้เหมือนตรงข้ามกัน คือ

๑. ในฐานะเป็นผู้จัดสรรสภาพแวดล้อม เราต้องจัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก คือให้เกื้อกูลที่สุด ให้เป็นประโยชน์แก่การเรียนรู้ของเด็กด้วยการจัดแหล่งความรู้และให้แบบอย่างที่ดีเป็นต้น

๒. ในทางตรงข้ามคือ ข้างในบุคคล เราต้องฝึกจนกระทั่งเด็กสามารถถือเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมที่เลวที่สุด

งานสองด้านที่ตรงข้ามย้อนกันเข้ามาประสานเสริมกันนี้คือความสำเร็จของการศึกษาอย่างหนึ่ง ด้านภายนอกเรามีหน้าที่จัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด แต่ในตัวเด็ก เมื่อใดเขามีโยนิโสมนสิการแท้จริง เขาจะสามารถเอาประโยชน์ได้จากทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ที่เลวที่สุด เพราะโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าจะมีวิธีคิดกี่แบบก็ตามก็มีสาระสำคัญสองอย่าง คือ หนึ่ง สามารถมองและคิดพิจารณาให้เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ สอง สามารถเฟ้นประโยชน์จากสิ่งนั้นๆ ได้ ไม่ว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหน ก็เรียนรู้เอามาใช้ได้ จะต้องทำสองอย่างที่ว่ามานี้พร้อมกัน

ถ้าใช้หลักนี้ การพัฒนาเด็กจะได้ผลหลายอย่าง ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับระบบของสังคมด้วย แต่เรื่องนี้ไม่มีเวลาพูด เคยพูดเน้นให้เห็นว่าเวลานี้สังคมอเมริกันกำลังเอียงไปข้างเดียว จนกระทั่งพวกจิตวิทยาการศึกษาก็มองแต่ในแง่ที่พยายามจะจัดสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจ ทำบทเรียนให้จูงใจ ทำกิจกรรมให้เด็กชอบใจ เน้นกันเรื่องนี้มากจนไปๆ มาๆ กลายเป็นเอาใจเด็ก เมื่อเอาใจตามใจเด็กมากเด็กก็จะอ่อนแอลงตามลำดับ และเสรีภาพก็ผิดจากความหมายไปด้วย ในขณะเดียวกันในโลกอีกซีกหนึ่ง สังคมกำลังพัฒนาในทางตรงข้าม คือ ฝึกเด็กให้สู้ทุกอย่าง บทเรียนที่ยาก กิจกรรมที่ไม่น่าสนใจ ถือว่าฉันต้องเอาชนะ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ ปรากฏว่า ในเวทีโลกปัจจุบันที่ถือระบบแข่งขันเป็นสำคัญนี้ พวกหลังกำลังชนะ เมื่อวัดสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาเวลามาสอบแข่งกันในระดับโลก ประเทศเหล่านั้นชนะ แต่ต้องระวังเพราะที่จริงเป็นการเสียดุลยภาพทั้งสองฝ่าย

ทางที่ถูกคือ มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นทางแห่งความพอดี เราต้องรู้ความมุ่งหมายว่าเราทำกิจกรรม และทำบทเรียนให้น่าสนใจ เพื่ออะไร ก็เพื่อเป็นการชักจูงเด็กเข้าสู่การเริ่มเรียน พอเริ่มต้นได้แล้วคือพอดึงให้เข้าสู่จุดเริ่มเดินทางแล้วเราต้องพัฒนาเขาให้สู้ ให้เขาเอาเอง ถ้าเขายังไม่เอาเอง แล้วเราต้องคอยเอาใจเรื่อยไป อย่างนี้ไม่ไหว ต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวของการศึกษา และอเมริกันก็มีจุดอ่อนตรงนี้ ที่พูดได้ว่า เป็นความเพลี่ยงพล้ำในเวทีการศึกษา

ระยะนี้มีการวัดผลมากในการสู้หรือแข่งขันกันสำหรับเด็กนักเรียนระหว่างชาติ ซึ่งก็เกิดจากอเมริกันนี่แหละ กล่าวคืออเมริกันเกิดความวิตกเนื่องจากรู้ตัวว่าแย่แล้ว ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของตนตกต่ำมาก เด็กจบมัธยมแล้วเข้ามหาวิทยาลัยมีพื้นฐานอ่อนมาก แกก็เลยหาวิธีที่จะเร่งรัดคุณภาพขึ้นมา วิธีหนึ่งคือต้องจัดสอบแข่งขันระหว่างประเทศ แกก็เลือกดูวิชาที่จะให้มาสอบแข่งขันในเวทีโลกในยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจ แกก็จับเอาวิชาจำพวกคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในประเทศของตัวเองเอามาจัดสอบ อาตมาเคยเขียนไว้แล้ว ขอเอามาเล่าให้ฟังซ้ำอีก ในการสอบครั้งหนึ่งมี ๑๔ ประเทศส่งนักเรียนมาสอบแข่ง วัดผลแล้วปรากฏว่าอเมริกันได้ที่ ๑๓ แล้วประเทศที่ ๑๔ ก็คือประเทศไทย นี่เป็นตัวอย่าง แต่รวมความก็คืออเมริกันมีการศึกษาซึ่งอยู่ในภาวะเป็นที่น่าวิตกมาก เราจะต้องหันมาใช้หลักการอันนี้ ซึ่งจะช่วยเราได้ โดยใช้หลักกัลยาณมิตรกับโยนิโสมนสิการเข้ามาจับคู่ให้เสริมซึ่งกันและกันในทางย้อนตรงกันข้าม

พัฒนาความสุขโดยพัฒนาความต้องการ

ทีนี้ต่อไป จะขอพูดเรื่องที่พูดมาครั้งหนึ่งแล้วคือ เมื่อกี้ได้พูดโยงถึงจริยธรรมแห่งความสุข และได้บอกว่าการพัฒนาคนนั้นเป็นกระบวนการคืบเคลื่อน (dynamic) เมื่อเราพัฒนาคน คนจะเปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ความสุขก็มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นความหมาย ความเข้าใจเกี่ยวกับความสุข และแหล่งหรือช่องทางแห่งความสุขก็เปลี่ยนแปลงไปหมด

ความสุขนั้นมีสองแบบ คือ
๑. ความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ
๒. ความสุขที่ไม่มีความต้องการจะต้องสนอง

ความสุขที่เกิดจากการสนองความต้องการ เป็นความสุขที่เราเห็นกันทั่วไป คนมักจะพูดว่าความสุขอยู่ที่ความพอใจ หรือความสุขคือความพอใจ เมื่อพอใจก็สุข ถ้ายังไม่พอใจก็ไม่สุข แต่ตัวที่ทำให้พอใจอยู่ที่ไหน ก็คือการสนองความต้องการ ถ้าเราได้สนองความต้องการเมื่อใด เราก็เกิดความพอใจเมื่อนั้น แต่ปัญหาเกิดขึ้นมาว่ามนุษย์ได้เพิ่มขยายดีกรีและปริมาณของความต้องการนี้ให้สูงขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ และเข้าใจความสุขแบบตายตัว (static) ว่า ความสุขเกิดจากการเสพวัตถุ จึงต้องเพิ่มขยายการเสพวัตถุให้เพิ่มขึ้น ในการพัฒนามนุษย์นั้น ในเมื่อความสุขประเภทที่หนึ่งเกิดจากการสนองความต้องการ การพัฒนาความสุขจึงหมายถึงการพัฒนาความต้องการด้วย

คำว่าพัฒนาความต้องการไม่ใช่หมายความว่าเพิ่มพูนความต้องการ คำว่าพัฒนาในโลกสมัยใหม่ในทางวิชาการ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ หมายความว่าต้องเปลี่ยนแปลงความต้องการนั้นในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงโดยเพิ่มปริมาณ คือไม่ใช่ความต้องการอันเดิมนั้นเพิ่มมากขึ้น ความต้องการที่ว่าพัฒนาได้ คือเปลี่ยนแปลงได้ เวลานี้โลกพัฒนา แต่ถ้ามนุษย์ไม่สามารถพัฒนาความต้องการ คือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความต้องการนี้ มนุษย์จะขัดแย้งกับความเจริญของโลก และปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้น พูดง่ายๆ ว่า โลกพัฒนา แต่คนไม่พัฒนา ความหมายของการพัฒนามนุษย์นั้นต้องรวมถึงการพัฒนาความต้องการด้วย ถ้าความต้องการไม่เปลี่ยน มนุษย์ต้องแย่แน่ เช่น ถ้ามนุษย์จะมีความสุขได้ด้วยการสนองความต้องการเสพวัตถุให้มากที่สุด ก็ต้องเกิดความขัดแย้ง ทั้งปัญหาชีวิต ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราของการพัฒนาทางวัตถุ เรามีวิธีการในการพัฒนาความต้องการ กล่าวคือ ด้วยการพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง ความต้องการก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วย ดังตัวอย่างที่ยกมาเมื่อกี้แล้ว

การพัฒนาความต้องการของมนุษย์ ด้วยการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในความต้องการนั้น ขอยกมาให้ฟัง ๓ ตัวอย่าง

พอการศึกษาเริ่มต้น คนก็เพิ่มวิสัยแห่งความสุข

ตัวอย่างที่หนึ่ง คือ ทันทีที่มีการศึกษาที่แท้ ที่ถูกต้อง ความสุขก็จะพัฒนา และช่องทางที่จะมีความสุขก็จะเพิ่มขึ้นในทันที พร้อมกันนั้นชีวิตของบุคคลนั้นก็จะพึ่งพาขึ้นต่อความสุขจากการเสพวัตถุน้อยลงทุกที เพราะมีความสุขเป็นทุนในตัวอยู่แล้ว และมีทางออกมากมายในการที่จะมีความสุข

การศึกษาเริ่มต้นจากที่เดียวกันกับความสุข ถ้าการศึกษาผิด ก็จะแยกความสุขออกจากการศึกษา แต่ถ้าการศึกษาถูกต้อง ก็จะทำให้มีความสุขและมาเสริมเพิ่มความสุข

ตามปกติ คนเรานี้มีความสุขจากสิ่งเสพเป็นพื้นฐาน โดยเสพสิ่งที่ให้ความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เราอยู่ในโลกนี้เราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ชีวิตของเราแต่ละวันนี้อยู่กับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้น ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายเสพสัมผัส และใจคิดคำนึงต่างๆ

ลองมองให้ชัดว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ ทำหน้าที่อะไรบ้าง เราบอกว่าทำหน้าที่รับรู้ พระบอกว่าไม่ใช่รับรู้อย่างเดียว แต่รู้สึกด้วย จึงรวมเป็นการทำหน้าที่ ๒ อย่าง

ด้านหนึ่ง คือ รับรู้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะรู้ข้อมูล เช่น ตาดูว่า เขียว ขาว ดำ แดง ยาว กลม เหลี่ยม เป็นต้น หูฟังว่า เสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงนก เสียงกา ฯลฯ

ทีนี้ อีกด้านหนึ่ง มันรู้สึกด้วย พร้อมกับรับรู้ก็มีความรู้สึก ตาดูก็รู้สึกสบายตา หูฟังก็รู้สึกสบายหู หรือไม่สบายตา ไม่สบายหู มีทุกครั้ง มันคู่กันไป

เป็นอันว่า คนเรามีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมสองด้าน คือ ด้านความรู้กับด้านความรู้สึก

ในชีวิตของคนทั่วไป (ที่ยังไม่มีการศึกษา) ความรู้สึกจะเป็นตัวเด่น เด่นกว่าด้านความรู้ เวลาเรามองดู และฟังเสียงต่างๆ ตัวไหนจะมาครอบงำจิตใจเราก่อน ด้านความรู้สึกมักมาก่อน คือใจแล่นไปที่สบายหรือไม่สบาย ถ้าสบายตาก็ชอบ ไม่สบายตาก็ชัง ไม่ชอบใจ ทางพระท่านเรียกว่ายินดียินร้าย ฉะนั้นเราจึงรับรู้ประสบการณ์ด้วยท่าทีของ

๑. ด้านความรู้สึกว่า สบาย หรือไม่สบาย โดยมีปฏิกิริยาแบบชอบชัง เรียกว่ามองสิ่งทั้งหลายในแง่ชอบชัง

๒. ด้านความรู้ว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร เกิดขึ้นเพราะอะไร ใช้ทำอะไร มีแง่ดีแง่เสียอย่างไร เป็นต้น จะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องเรียน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเรียนรู้

เป็นอันว่า คนเราจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สองแบบ คือ สัมพันธ์แบบชอบชัง และ สัมพันธ์แบบเรียนรู้

คนจำนวนมากสัมพันธ์แบบชอบชัง พออะไรมา สบายตาก็ชอบ ไม่สบายก็ชัง แล้วก็คิดครุ่นไปตามนั้น ความรู้สึกชอบชังก็เข้ามาครอบงำจิตใจ สุขทุกข์ปรุงแต่งก็ตามมา

เมื่อการศึกษาเข้ามา ก็จะมีความสัมพันธ์แบบเรียนรู้ โดยสนองความต้องการที่อยากจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไร มันคืออะไร มันเป็นมาอย่างไร มันมีโทษ มีคุณอย่างไร เป็นเพราะอะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นอย่างนี้

ทีนี้ การมองนั้นมีผลต่อสุขทุกข์ของเรา เมื่อคนมองสิ่งทั้งหลายแบบชอบชัง ความสุขความทุกข์ของเขาก็ไปขึ้นต่อความชอบชัง ถ้าได้สิ่งที่ชอบ ก็สุข ถ้าเจอสิ่งที่ชัง ก็ทุกข์ เมื่อมองแบบชอบชัง เขาก็มีสุขกับทุกข์คู่กันไปตามที่ชอบและชังนั้น

ส่วนคนที่มองแบบเรียนรู้ ถ้าได้รู้ก็เป็นสุข ทีนี้ การเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อการที่สิ่งนั้นจะถูกตา หรือไม่ถูกตา เพราะว่าทุกสิ่ง ไม่ว่าดี หรือไม่ดี เป็นสิ่งสำหรับเรียนรู้ทั้งหมด มีแต่การได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีทุกข์มาเลย มีแต่สุขอย่างเดียว คือสุขจากการที่ได้เรียนรู้ คนที่มองอะไรเป็นการเรียนรู้จึงได้สุขทุกสถานการณ์

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่า ให้ตั้งท่าที หรือตั้งทัศนคติต่อประสบการณ์ทุกอย่างด้วยท่าทีของการเรียนรู้ เพียงเท่านี้แหละ การศึกษาก็เริ่ม สิ่งร้ายเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งดีเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งร้ายบางทีได้ประโยชน์ในการเรียนรู้ยิ่งกว่าสิ่งดีหรือสิ่งที่เราชอบ คนที่อยากเรียนรู้ และได้พัฒนาท่าทีของการเรียนรู้ไว้มาก ความใฝ่รู้และใฝ่เรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น ทางพระท่านเรียกว่าฉันทะ เมื่อเรียนรู้ ก็ไม่มีทุกข์จากอะไรเลย มีสุขอย่างเดียว คือมีความสุขจากการเรียนรู้ และการเรียนรู้ก็เป็นความสุข

ความสุขจากการเรียนรู้นั้น เป็นความสุขในการศึกษา หรือความสุขทางปัญญา มีแต่ดี มันเข้ามาช่วยหลายอย่างหลายชั้น คนที่ศึกษาพัฒนาตนอยู่นั้น ในด้านความสุขจากการเจอของที่ชอบ เขาก็มีอยู่แต่เดิมแล้ว แต่การเรียนรู้จะช่วยเสริมสุขนั้นอีก โดยทำให้เขารักษาตัวได้ดี ให้ได้ความสุขจากของชอบ โดยไม่ถลำพลาดพลั้งติดเอาทุกข์มาด้วย เช่น ถ้าจะมีอะไรเสียหายเป็นโทษนำทุกข์มาเขาก็รู้ทันและหลีกเลี่ยงหรือยั้งได้และไม่ลุ่มหลงมัวเมาเป็นต้น เมื่อเจอของไม่ชอบ เขาก็พลิกเปลี่ยนจากทุกข์เพราะไม่ชอบ มาเป็นความสุขจากการได้เรียนรู้มัน

มนุษย์ที่ยังไม่พัฒนาจะมีความสุขและทุกข์จากสิ่งที่ชอบและชังเป็นคู่กัน คือ ได้สุขจากสิ่งชอบ และทุกข์จากสิ่งชัง แต่พอเราพัฒนาคนขึ้นมา เขาได้ความสุขจากการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง ทุกข์จากการชังก็เริ่มมีผลลดน้อยลง นอกจากนั้น จากสิ่งที่ชังนั้น เขาก็ได้ประโยชน์ด้วย คือได้เรียนรู้ ซึ่งทำให้เขามีความสุข ถึงตอนนี้จึงสบายไปเลย

คนที่มองสิ่งทั้งหลายแบบชอบชัง ท่านเรียกว่ามองแบบตัณหา ถ้ามองแบบตัณหา ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในวังวนแห่งความสุขและความทุกข์ และเป็นความสุขแบบเมืองขึ้นเรื่อยไป แต่ถ้าเมื่อไรเราเริ่มพัฒนาฉันทะ คือความใฝ่รู้ คืออยากรู้ขึ้นมา เมื่อนั้น เราก็เริ่มได้ความสุขจากฉันทะ ตอนนี้เราจะได้ความสุขจากประสบการณ์ทุกอย่าง และเป็นความสุขแบบอิสระทางปัญญา

คนที่หาความสุขจากสิ่งที่ชอบ ก็คือ สุขด้วยการสนองความต้องการเสพ หรือสนองความต้องการแบบตัณหา ซึ่งเป็นความสุขพื้นฐานของคนทั่วไป โดยไม่ต้องมีการศึกษา และเป็นความสุขที่ต้องเจอกับทุกข์จากสิ่งที่ชังคู่กันเรื่อยไป แต่พอคนนั้นมีการศึกษา เริ่มพัฒนาขึ้นมา เขาก็พัฒนาความใฝ่รู้ เกิดความต้องการที่จะเรียนรู้มากขึ้นๆ เขาก็ได้ความสุขจากการเรียนรู้นั้น ซึ่งเป็นความสุขด้วยการสนองความต้องการเรียนรู้ หรือความต้องการทางปัญญา คือสนองความต้องการแบบฉันทะ และเป็นสุขอิสระที่เกิดในทุกกรณี ไม่อยู่ในวงจรของความชอบชัง

ในการพัฒนาเด็ก อย่ามัวไปพัฒนาให้เขามีความสุขจากตัณหา (= จากการสนองความต้องการเสพ) เพราะตัณหามีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปพัฒนามัน เมื่อเราเกิดมา มีตา หู จมูก ลิ้นมา ก็มีตัณหามาด้วย ตัณหานั้นพึ่งอวิชชา เมื่อมีอวิชชา ตัณหาก็มาตลอด เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องพัฒนาหรอก มันคอยจะเกิดอยู่เรื่อย

ทีนี้ ความสุขจากการเรียนรู้ (= จากการสนองความต้องการที่จะเรียนรู้) นี่สิที่เราต้องพัฒนา เราก็ฝึกเด็กให้รู้จักหาความสุขจากการเรียนรู้ จนกระทั่งเด็กเกิดความใฝ่รู้ เมื่อไรเด็กเกิดความใฝ่รู้และชอบเรียนรู้ เมื่อนั้นก็เริ่มสบายใจได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเกิดฉันทะแล้ว คราวนี้แหละประสบการณ์เข้ามา ไม่ว่าดีว่าร้าย แกได้ความสุขหมด เพราะแกดีใจที่แกได้เรียนรู้ใช่ไหม เกิดไปเจอสิ่งร้าย แกก็ยิ่งได้เรียนรู้มาก แกก็ยิ่งดีใจใหญ่ กลายเป็นว่าเจอสิ่งร้ายกลับดีใจ อาจจะมีความสุขมากกว่าเจอสิ่งดี กลายเป็นอย่างนั้นไป เพราะได้เรียนรู้มากกว่า

พัฒนาคนอย่างแท้ ได้ทั้งคุณธรรมและความสุข

ตัวอย่างที่สอง คือ ตอนแรกมนุษย์ทั่วไปมีความต้องการในการเสพวัตถุ ถือว่าถ้าได้เสพวัตถุก็จะเกิดความพึงพอใจมีความสุขขึ้น ดังจะเห็นว่าหัวใจหรือหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจอยู่ที่การสนองความต้องการ (ในการบริโภค) อันนี้เป็นจุดที่เศรษฐศาสตร์ตัน เพราะไปถือว่าความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ได้มองว่าความต้องการของมนุษย์พัฒนาได้

เราพัฒนาความต้องการของมนุษย์อย่างไร เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า เมื่อเราสัมพันธ์กับวัตถุ วิถีชีวิตและระบบสังคมจะชักนำตลอด จนหล่อหลอมสภาพจิตใจของเราให้มีท่าทีความรู้สึกต่อวัตถุตามอิทธิพลของมัน ดังนั้นในสังคมระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ที่มุ่งเสพวัตถุ สภาพจิตมนุษย์ ตลอดจนระบบการดำเนินชีวิตของคนก็จะเน้นการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัตถุในแง่ที่จะได้จะเอา เมื่อกี้นี้พูดไปแล้วว่าพอคนคิดถึงวัตถุในแง่จะได้ สภาพจิตที่เกิดขึ้นคือการมองเพื่อนมนุษย์แบบเป็นคู่แข่งและเป็นเหยื่อ

ต่อมาพอเราช่วยให้มนุษย์ฝึกตนโดยเรียนรู้ว่าชีวิตจะมีดุลยภาพ สังคมจะมีดุลยภาพ มนุษย์จะเอาแต่การได้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการให้ด้วย ดังจะเห็นว่าในพุทธศาสนาหลักการฝึกมนุษย์ข้อแรก คือการให้ พูดอีกอย่างหนึ่งว่าหลักธรรมเบื้องต้นคือ ทาน เพราะอะไร เพราะการที่จะให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่มีดุลยภาพนั้น เรารู้อยู่แล้วว่าชีวิตมนุษย์นี่ก่อนอะไรอื่นก็ยุ่งกับวัตถุในลักษณะที่จะได้จะเอา จึงต้องให้มีการให้คู่กันไปด้วย

การให้นั้น ถ้าคิดให้โดยไม่มีแรงจูงใจอื่นมาแฝง เช่นคิดหวังผลตอบแทน เอาแค่คิดจะให้ ได้บอกแล้วว่าพอเราคิดจะให้ จิตของเราจะไปอยู่ที่คน พอจิตของเราไปอยู่ที่คนเราก็สนใจคน เราก็มองหน้ามองตาเขา สนใจสุขทุกข์ของเขา และสนใจความต้องการของเขา ซึ่งทำให้เราเข้าใจชีวิตของเขา มองเห็นสุขทุกข์ของเขา และเกิดความเห็นอกเห็นใจ มีความสงสารเกิดขึ้น เป็นด้านหนึ่งของความรักเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่เรียกว่า “กรุณา” หรือ “การุณย์” นี่ก็คือความต้องการใหม่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว คือ ความต้องการให้เขาพ้นจากสภาพที่เป็นทุกข์ และต้องการให้เขาเกิดมีความสุข

พอเราเกิดความต้องการนี้ขึ้นมา เราก็ต้องสนอง และความต้องการมีเมื่อไร การได้สนองก็ทำให้เกิดความสุขเมื่อนั้น พอเราต้องการให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข เราก็ต้องการทำให้เขามีความสุข การให้เป็นการทำให้เขามีความสุข เราจึงต้องการจะให้ เพราะการให้แก่เขา เป็นการทำให้เขามีความสุข ดังนั้น เมื่อเราให้แก่เขา เราก็ได้สนองความต้องการของเราและเราก็เกิดความสุข

แต่ก่อนนี้มีความสุขจากการได้อย่างเดียว แต่ตอนนี้คนมีความสุขจากการให้ด้วย ด้วยการพัฒนามนุษย์ปั๊บเดียว มนุษย์นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปโดยมีความสุขเพิ่มขึ้นและมีคุณธรรมเพิ่มขึ้นด้วย เพียงแต่ให้รู้จักตั้งจิตและรู้จักคิดจะให้เสียบ้าง พอคิดจะให้ปั้บ พฤติกรรมก็มาหนุน และคุณธรรมก็พัฒนาขึ้นมา เมตตากรุณาอันเป็นความรักต่อเพื่อนมนุษย์ก็เกิดขึ้น เป็นอันว่าความสุขอย่างใหม่ก็เกิดขึ้น คือมนุษย์มีความสุขในการให้ แต่ก่อนนี้มนุษย์มีความสุขอย่างเดียวจากการได้ แต่ตอนนี้มีความสุขจากการให้ด้วย

จะเห็นได้ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพในทางดีนี้อยู่แล้ว เช่นพ่อแม่ก็สามารถมีความสุขจากการให้ เพราะมีความต้องการให้ลูกมีความสุข และเมื่อพ่อแม่สนองความต้องการนั้นก็ทำให้ตนเองมีความสุขด้วย และเราจะมีความสุขจากการสนองความต้องการอย่างใด เราก็ต้องพัฒนาความต้องการนั้นขึ้นมา

ถ้าต้องการผลตรงตามกฎธรรมชาติ
ก็ไม่ขาดความสุขขั้นพื้นฐาน

ตัวอย่างที่สามของการพัฒนาความต้องการ ดังที่อาตมาได้บอกแล้วว่า มนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้มีสภาพโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่ง คือความแปลกแยกจากธรรมชาติ จนถึงขั้นที่โลกมนุษย์นี้ได้กลายเป็นโลกที่ต่างหากจากโลกธรรมชาติ และคนจำนวนมากก็หลงอยู่ในโลกมนุษย์นี้ มองออกไปไม่พ้นจากโลกมนุษย์ จึงมองไม่ถึงโลกของธรรมชาติ เมื่อไม่ถึงโลกของธรรมชาติแล้ว แม้แต่กฎเกณฑ์ต่างๆ ก็เกิดมีเป็นกฎของมนุษย์ขึ้นมา และที่ร้ายก็คือ บางทีมันบังมนุษย์ให้ไม่ถึงกฎของธรรมชาติ ดังที่ปรากฏว่าเวลานี้เมื่อคิดถึงหรือพูดถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนความเป็นเหตุเป็นผล คนจำนวนมากจะมองและเข้าใจอยู่แค่กฎของมนุษย์เท่านั้น

กฎของมนุษย์เช่นอะไร ยกตัวอย่าง คุณมากวาดถนนเดือนหนึ่งฉันจะให้เงินเดือนสามพันบาท คุณมาขุดดินเดือนหนึ่งฉันจะให้เงินเดือนห้าพันบาท อย่างนี้ เราก็มีกฎเกณฑ์ขึ้นมา กฎนี้เรียกว่า กฎของมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ เพราะทำงานเป็นเหตุ และการได้เงินเดือนเป็นผล หรือเงินเดือนเป็นผลและทำงานเป็นเหตุ สังคมมนุษย์นั้นอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้ และเชื่อจริงๆ ว่า นี่คือกฎ ซึ่งมีความเป็นเหตุเป็นผลชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ระวัง นี่คือการถูกหลอก กฎนี้เป็นจริงโดยเงื่อนไขคือตั้งอยู่บนสมมติ กฎเกณฑ์ของมนุษย์ตั้งอยู่บนสมมติ สมมติคืออะไร สมมติ แปลว่ามติร่วมกัน หรือการยอมรับร่วมกัน มาจาก สํ+มติ มติ แปลว่าข้อตกลง การยอมรับ ความรู้ และ สํ คือ ร่วมกัน รวมกันเป็น สมฺมติ เป็นคำบาลี มาเป็นไทยว่าสมมติ สมมติจึงแปลว่าการยอมรับ หรือตกลงร่วมกัน กฎนี้เป็นความจริงอยู่ได้ด้วยการตกลงยอมรับร่วมกันใช่ไหม การที่คุณขุดดินได้เงินเดือนห้าพันบาท กวาดถนนได้เงินเดือนสามพันบาท เป็นจริงอยู่ได้ด้วยสมมติคือการยอมรับร่วมกัน ถ้าตัวสมมติคือการยอมรับร่วมกันหายไปเมื่อไร กฎนี้ก็หมดความหมายไปทันที กฎในสังคมศาสตร์จำนวนมากเป็นอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม มีจุดสำคัญที่ต้องระลึกไว้อย่างหนึ่งว่า กฎของมนุษย์หรือกฎโดยสมมตินี้ไม่ใช่ตั้งขึ้นลอยๆ กฎของมนุษย์ทุกเรื่องที่จะมีความหมายนั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของกฎของธรรมชาติจริงๆ คือต้องมีความจริงของธรรมชาติเป็นตัวให้ความหมาย มิฉะนั้นกฎของมนุษย์จะไม่มีความหมาย เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์ มนุษย์จะต้องเลือกว่าจะอยู่แค่กฎมนุษย์หรือจะเข้าถึงกฎธรรมชาติด้วย ถ้าเราอยู่แค่กฎของมนุษย์ เราก็อยู่ในโลกของมนุษย์ โดยหลงสมมติ แล้วเราก็จะสนองความต้องการแบบต้องเสพวัตถุให้มาก ต้องได้ให้มากจึงจะมีความสุขมาก แต่ถ้าเข้าถึงกฎธรรมชาติเราจะพัฒนาความต้องการพื้นฐานขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง

จะพัฒนาอย่างไร จากตัวอย่างที่พูดมาเมื่อกี้ว่า ขุดดินหนึ่งเดือนให้เงินเดือนห้าพันบาท กวาดถนนหนึ่งเดือนให้เงินเดือนสามพันบาท นี่เป็นกฎมนุษย์ แต่เบื้องหลังกฎมนุษย์นี้มีกฎธรรมชาติซึ่งเป็นความจริงแท้ที่มีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ในธรรมชาติคืออย่างไร ทำไมเราจึงจ้างคนให้มาขุดดิน ให้มากวาดถนน เรามีความต้องการผลอย่างหนึ่งที่สำคัญซึ่งเป็นตัวแท้ ที่เป็นผลของเหตุตามธรรมชาติ เราต้องการอะไรแน่ในการที่จ้างคนมากวาดถนน โดยให้เงินเดือนสามพันบาท การกวาดถนนเป็นเหตุ ผลที่แท้ของมันคืออะไร ผลที่แท้จริงไม่ใช่เงินเดือนสามพันบาท แต่คือความสะอาดนั้นเอง อันนี้คือตัวความจริงในกฎธรรมชาติที่ถูกต้อง ดังนั้นเบื้องหลังกฎของมนุษย์ที่บอกว่ากวาดถนนเป็นเหตุ ได้เงินเดือนสามพันบาทเป็นผล ก็จะมีกฎธรรมชาติซ้อนอยู่คือการกวาดถนนเป็นเหตุ ความสะอาดของถนนเป็นผล อันนี้เป็นความจริงแห่งเหตุและผลตามธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธได้อย่างแน่นอน ผลอย่างนี้เป็นผลที่ต้องปฏิบัติตามเหตุ ถ้าไม่ปฏิบัติตามเหตุก็ไม่ได้ผลแน่นอน อันนี้แหละคือที่บอกว่ามันซ้อนกันอยู่

ทำไมจึงมาพูดในที่นี้ เพราะถ้ามนุษย์หลงสมมติแล้ว มนุษย์ก็จะดำเนินกิจกรรม และมีวิถีชีวิตอยู่ในขั้นสมมติ โดยแปลกแยกจากความจริงของกฎธรรมชาติ เช่น เมื่อเราทำงานเราก็จะนึกถึงเหตุผลตามกฎมนุษย์ว่า เราทำงานเพื่อได้เงินเดือน ถ้าทำก็ได้เงินเดือนสามพันบาท แล้วความมุ่งหมายของการกระทำก็ไปอยู่ที่ผลตามสมมติของมนุษย์ คือการได้เงินเดือนหนึ่งหมื่นบาทหรือสามหมื่นบาท หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ในเมื่อผลนี้ไม่ใช่ผลที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติก็ไม่ใช่ผลที่แท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีความผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น คือเมื่อเราไม่ได้ต้องการผล เราก็ไม่ต้องการทำเหตุของมัน อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อคนกวาดถนนต้องการแต่เงินเดือน ไม่ต้องการความสะอาดที่เป็นผลโดยตรงของการกวาด ตอบได้ว่าเขาจะกวาดถนนด้วยความฝืนใจจำใจ ซึ่งทำให้ตัวเขาเองก็กวาดถนนด้วยความทุกข์ อยากจะหลีกหลบงาน และงานที่ไม่ตั้งใจทำก็ไม่ได้ผลดี

ในทางตรงข้าม ถ้าเราต้องการผลตามธรรมชาติก็จะทำให้ใจเราเกิดความต้องการที่จะทำเหตุเอง เช่น ถ้าเราต้องการความสะอาดของถนน เราก็จะต้องทำเหตุคือการกวาดถนน และต่อจากนั้นเมื่อเราต้องการความสะอาดของถนน เวลาเรากวาดถนนก็เกิดผลตามที่ต้องการคือเกิดความสะอาด นี่ก็คือเราได้สนองความต้องการ และความสุขก็เกิดขึ้น นี้คือการปฏิบัติที่เข้าถึงกฎธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้คนกวาดถนนไม่ใช่เพียงต้องการได้เงินห้าพันบาทหรือสามพันบาท แต่ทำให้เขาต้องการความสะอาดของถนน และทำการกวาดถนนด้วยความสุข นี้คือผลที่ต้องการซึ่งตรงตามเหตุของกฎธรรมชาติ

ถ้ามาถึงจุดนี้เมื่อไร ความได้ผลจะเกิดขึ้นทั้งสองทาง หนึ่ง คือ คนจะทำงานนั้นอย่างเต็มใจ คนกวาดถนนจะเต็มใจและตั้งใจกวาด เพราะเขาต้องการความสะอาด ไม่ต้องไปเรียกร้องคอยจี้หรือบังคับควบคุมว่าให้หยิบไม้กวาดมากวาด ตัวเขาเองนั้นแหละถ้าเห็นสกปรกจะหยิบไม้กวาดมากวาดทันทีเลย และเขาก็ทำงานด้วยความสุข เพราะว่าเมื่อทำเหตุ ผลก็เกิดขึ้นตามเหตุนั้นทันที และพอผลคือความสะอาดเกิดขึ้นเขาก็มีความสุขทันที และเมื่อเต็มใจและตั้งใจทำ ก็ทำให้งานได้ผล

ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่สามารถทำให้คนเข้าถึงความต้องการผลตามธรรมชาติที่ซื่อตรงเป็นไปตามความแท้จริงของธรรมชาติ เขาก็วนเวียนอยู่แค่ในระบบของมนุษย์และหลงสมมติโดยต้องการแต่เงินเดือนห้าพันบาท หรือสามพันบาท เมื่อเขาต้องการแค่เงิน เขาไม่ต้องการความสะอาดของถนน เขาก็ไม่เต็มใจทำ เขาก็ทำงานด้วยฝืนใจ และจำใจ ไม่มีความสุข และไม่ตั้งใจทำงาน แล้วงานก็ไม่ได้ผล ทำให้ต้องตั้งระบบควบคุมกันขึ้นมา เมื่อควบคุมกันไปกันมาโดยจับจุดไม่ถูก ก็ยิ่งยุ่งใหญ่ จนในที่สุดระบบควบคุมก็ทลาย เมื่อสภาพอย่างนี้แผ่ขยายไปทั่ว สังคมก็ล่มสลาย

เพราะฉะนั้น จะต้องมีการศึกษาถูกต้องที่จะมาพัฒนาความต้องการนี้ จะเห็นได้อย่างที่เราอยู่ในระบบมนุษย์ยุคปัจจุบันที่มุ่งแข่งขันหาผลประโยชน์นี้ เด็กเข้ามาศึกษาจำนวนมาก หรือส่วนใหญ่ก็ศึกษาโดยไม่ต้องการผลที่แท้จริงของวิชาการนั้น ว่าโดยพื้นฐานวิชาการต่างๆ นั้นมีความมุ่งหมายเพื่อใช้แก้ปัญหาของมนุษย์ และใช้สร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คนที่เรียนไม่ได้ต้องการผลตามวัตถุประสงค์ที่แท้ของวิชาการนั้น เขาต้องการผลในระบบของกฎมนุษย์ที่เป็นกฎสมมติ ที่เป็นเงื่อนไขว่าจะได้เงินเดือน เพราะฉะนั้น นักการศึกษาจะต้องจับจุดนี้มาคิดว่า ในระหว่างช่วงเวลาที่เขาเข้ามารับการศึกษา จะทำอย่างไรให้เขาพัฒนาความต้องการจากความต้องการผลตอบแทนตามกฎสมมติของมนุษย์ ไปสู่ความต้องการผลที่แท้จริงตามกฎธรรมชาติ ถ้าทำได้ก็เป็นความสำเร็จทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้คนโยงเหตุผลตามกฎสมมติของมนุษย์ เข้ากับเหตุผลที่จริงแท้ตามกฎธรรมชาติได้ เรียกว่ามองทะลุกฎสมมติของมนุษย์ลงไปถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ และคนก็จะอยู่กับความเป็นจริง โดยไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ แต่ถ้าโยงไม่ได้ก็เรียกว่าหลงสมมติหรือรู้ไม่เท่าทันสมมติ

ที่ว่าโยงได้หรือรู้ทันสมมติ คือรู้ว่าสมมตินั้นเราทำขึ้นมาเพราะว่ามนุษย์เรามีความสามารถพิเศษในเชิงเหตุผล เราจึงจัดตั้งวางระบบการดำเนินชีวิตและสังคมขึ้นมา เราต้องการให้คนทำกิจการอะไรให้แก่สังคมเป็นเรื่องๆ เราจึงกำหนดเป็นหน้าที่เฉพาะๆ ขึ้น ให้เขาตั้งใจทำหน้าที่นั้นๆ จริงจังอย่างเดียว แต่เราอยู่ในโลกทุกคนต้องมีกินมีใช้ มีปัจจัยสี่ เราจึงตั้งเป็นกฎมนุษย์ซ้อนขึ้นมาเพื่อสนับสนุน ว่าเมื่อเขาทำหน้าที่การงานนั้น เขาจะได้รับปัจจัยสี่อุดหนุนอย่างนั้นๆ จะได้ไม่ต้องห่วงกังวลในความเป็นอยู่แล้วจะได้ตั้งใจทำหน้าที่หรือกิจการงานนั้นได้เต็มที่ แต่เบื้องหลังนั้นสิ่งที่ต้องการแท้จริง คือคุณประโยชน์สำหรับสังคมในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม อันเป็นผลโดยตรงของตัวงานแท้ๆ เราจะต้องพัฒนาให้คนต้องการผลของตัวงานแท้ๆ ให้ได้ ไม่ใช่เอาแค่วัตถุประสงค์ของตัวคนที่ต้องการผลตามกฎสมมติของมนุษย์

เวลานี้มีปัญหาว่า มนุษย์เกิดความแปลกแยกระหว่างวัตถุประสงค์ของตัวคนกับวัตถุประสงค์ของตัวงาน คนต้องการเงิน แต่งานต้องการผลของมัน อันได้แก่การแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อวัตถุประสงค์ไม่ตรงกัน ก็เกิดความขัดแย้ง ปัญหาก็เกิดขึ้นในใจคน ในสังคม และทั่วไปหมด แต่พอเราพัฒนาคนให้เกิดความต้องการที่ตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติได้ ก็ทำให้คนมีความสุขในการทำงานขึ้นมาทันที เรื่องนี้อาจจะเข้าใจยากนิดหน่อย จึงต้องใช้วิธียกตัวอย่าง

ยิ่งกว่านั้นมนุษย์ยังมีความสุขที่สามารถพัฒนาขึ้นไปได้อีก คือ ความสุขชนิดที่ไม่มีความต้องการที่จะต้องสนอง เช่นใช้ความสามารถในการปรุงแต่งความสุขขึ้นมาในตัวเอง การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานี้ส่วนหนึ่งเป็นวิธีพัฒนาความสามารถในการปรุงแต่งความสุข

เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถเป็นพิเศษเหนือกว่าสัตว์อื่น คือมีความสามารถในการปรุงแต่งสร้างสรรค์ ดังที่ได้ประดิษฐ์ประดอยเทคโนโลยีเป็นต้นขึ้นมา จนเกิดมีโลกมนุษย์ที่เป็นต่างหากจากโลกธรรมชาติ แต่เราใช้ความสามารถนี้มาทำในทางวัตถุภายนอกอย่างเดียว ซึ่งที่จริงก็เกิดจากความคิด เป็นการใช้ความสามารถเหล่านี้ไม่เต็มที่ ไม่เพียงพอ และเมื่อเราไม่พัฒนาความสามารถนี้ให้ถูกต้อง ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาข้างในตัวเอง คือความสามารถที่ถูกปล่อยหรือละเลยนั้น จะปรุงแต่งสภาพจิตที่ก่อผลเสียหายแก่ตนเอง พูดสั้นๆ ว่าแทนที่จะปรุงแต่งความสุข เราก็จะใช้ความสามารถนี้ไปในการปรุงแต่งความทุกข์โดยไม่รู้ตัว ดังจะเห็นว่ามนุษย์ส่วนมากปรุงแต่งแต่ความทุกข์ เมื่อได้ประสบการณ์อะไรต่างๆ ก็เก็บเอาแต่ส่วนที่กระทบกระทั่งไม่สบายใจมาปรุงแต่งความทุกข์ให้แก่ตัวเอง กลายเป็นปรุงแต่งความเครียด ปรุงแต่งความกังวล ปรุงแต่งความกลุ้มใจ ปรุงแต่งความซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งเป็นทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งทั้งนั้น

การศึกษาจะต้องพัฒนาคนให้มีความสามารถที่จะปรุงแต่งความสุขขึ้นมาแทนที่จะมัวปรุงแต่งความทุกข์ การที่จะมีความสุขระดับนี้เราไม่ต้องไปพึ่งพาวัตถุเสพเลย เราสามารถปรุงแต่งความสุขขึ้นในใจของตนเอง จนกระทั่งในที่สุดก็ก้าวต่อไปอีกพ้นเลยการปรุงแต่งไปถึงขั้นเข้าถึงความสุขชนิดที่ไม่ต้องมีการปรุงแต่ง ซึ่งเกิดจากการหยั่งรู้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติโดยสมบูรณ์ อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่พูดไว้เป็นตัวอย่าง

หลักการสำคัญบางอย่าง
ที่เป็นแนวทางของการจัดการศึกษา

ทีนี้ก็มาถึงตัวหลัก อย่างไรก็ตาม หลักแต่ละเรื่องนั้นยาวมาก แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะในด้านตัวหลักเคยพูดไว้บ่อย เพราะฉะนั้นแม้จะไม่พูดถึงตัวหลักการก็ได้ ในที่นี้จะพูดถึงหลักการที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ บางอย่าง ซึ่งจะให้เห็นภาพทั่วไปและแนวทางเกี่ยวกับระบบและกระบวนการศึกษาทั้งหมด เช่น บทบาทของการศึกษา

ก) การทำหน้าที่ของครู ที่สนองบทบาทของการศึกษา

การศึกษาแบ่งบทบาทใหญ่ๆ เป็น ๒ ส่วน ครูก็พลอยทำหน้าที่ ๒ ส่วนนั้นด้วย พูดแบบง่ายๆ หน้าที่ ๒ ส่วนคืออะไร

๑. หน้าที่ของสิปปทายก หรือ ศิลปทายก คือ ผู้ถ่ายทอดศิลปวิทยา หรือถ่ายทอดวิชาการ ฝึกสอนความรู้ความชำนิชำนาญซึ่งมีผลต่อชีวิตของบุคคล ทำให้เขามีเครื่องมือไปเลี้ยงชีพ ทำมาหากินได้ และมีผลต่อสังคมโดยเป็นสื่อสำหรับถ่ายทอดวัฒนธรรมและรักษาส่งเสริมความเจริญงอกงามของสังคม เช่นสะสมวิชาการตลอดจนอารยธรรมทั้งหมดให้แก่สังคม ครูทำหน้าที่นี้ก็เป็นการสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งแก่บุคคลและแก่สังคม

๒. หน้าที่ในการเป็นปัจจัยอุดหนุนเกื้อกูลให้บุคคลพัฒนาชีวิตของเขา หรือช่วยพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเขา หน้าที่ตามบทบาทที่สองนี้คือหน้าที่ของกัลยาณมิตร คือหน้าที่ที่ช่วยให้คนพัฒนาคุณค่าที่แท้แห่งความเป็นมนุษย์ของเขา พูดง่ายๆ ว่าทำให้คนกลายเป็นบัณฑิตตามศัพท์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

การทำให้คนเป็นบัณฑิตหมายความว่า ช่วยให้เขาพัฒนาตัวขึ้นไปเป็นคนที่มีพฤติกรรม จิตใจและปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว เป็นคนที่บรรลุถึงความดีงามของชีวิต เป็นคนที่มีสติปัญญาความสามารถมีคุณธรรมต่างๆ จนสามารถดำเนินชีวิตด้วยปัญญา พูดสั้นๆ ว่า หน้าที่กัลยาณมิตร คือสร้างบัณฑิต หรือทำให้คนพัฒนาขึ้นไปเป็นบัณฑิต จนกระทั่งเป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นคำแปลหรือความหมายตามรูปศัพท์ของคำว่าบัณฑิต

ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาคือ บุคคลนั้นพัฒนาจนกระทั่งสามารถเป็นอยู่โดยไม่ต้องอาศัยกิเลสตัณหา ตามธรรมดามนุษย์ปุถุชนต้องอาศัยกิเลสตัณหา เช่น อาศัยความโกรธไว้ต่อสู้ อาศัยความกลัวไว้หนีภัย เป็นต้น มิฉะนั้นจะอยู่ไม่รอดเพราะปัญญายังไม่เพียงพอ แต่พอเราพัฒนาปัญญาสมบูรณ์แล้วมนุษย์ก็ไม่ต้องอาศัยกิเลสตัณหาอีก มนุษย์จึงเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นอิสระด้วยปัญญา และเพราะมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาจึงเป็นบัณฑิต

เมื่อการศึกษามาพัฒนาคนให้เป็นบัณฑิต การศึกษาก็ทำหน้าที่ตามบทบาท ๒ ด้าน คือ
๑. ทำให้คนเป็นบัณฑิต
๒. ให้เครื่องมือแก่บัณฑิต

ถ้าเราไม่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต แต่ให้เครื่องมือแก่เขา คนที่ไม่เป็นบัณฑิตอาจนำเครื่องมือไปใช้ในทางร้ายก็ได้ ยิ่งเครื่องมือมีประสิทธิภาพก็ยิ่งทำลายชีวิตและทำลายสังคมได้รุนแรง ดังนั้นการศึกษาที่เน้นไปในทางถ่ายทอดศิลปะ สอนแต่ตัวความรู้ และวิชาชีพ จึงเป็นการศึกษาที่ผิวเผิน ไม่ถึงตัวแก่นของมัน เป็นเพียงการศึกษาที่ให้เครื่องมือเท่านั้น ส่วนการศึกษาที่แท้จริงต้องสอนคนให้เป็นบัณฑิต การทำคนให้เป็นบัณฑิตจะต้องมีการพัฒนาคนตามระบบสัมพันธ์ ๓ ด้าน คือ ต้องพัฒนาคนด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา

ในขั้นต้นๆ แม้แต่การที่จะฝึกวินัยให้สำเร็จก็ต้องอาศัยกระบวนการฝึกที่มีทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา จะสังเกตได้ว่า เด็กจะมีพฤติกรรมอยู่ในวินัยถ้าเขามีความสุข โดยมีความพอใจในการที่จะอยู่หรือประพฤติอยู่ในวินัยนั้น การฝึกวินัยด้วยการพัฒนาพฤติกรรมเคยชินจะเป็นไปพร้อมด้วยความพอใจอ่อนๆ ที่ค่อยๆ สะสมจนกลายเป็นความติดและยึดถือ การพัฒนาวินัยด้วยการสร้างพฤติกรรมเคยชิน จึงเป็นวิธีการสร้างวินัยแบบพื้นฐานที่สำคัญและได้ผลมาก ถ้าเราทำให้จิตใจมีความสุขในการปฏิบัติตามพฤติกรรมนั้น พฤติกรรมนั้นก็ยิ่งมั่นคง ยิ่งเมื่อมีปัญญา มีความรู้ เข้าใจมองเห็นคุณค่า เห็นเหตุผลและเห็นประโยชน์ของการอยู่ในวินัย ก็ยิ่งพอใจและมีความสุขในการปฏิบัติตามวินัยนั้นยิ่งขึ้น พฤติกรรมก็ยิ่งมีความมั่นคง นี้เป็นตัวอย่างในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งต้องมีการพัฒนาทั้ง ๓ ด้านประสานกัน ไม่ใช่ทำแบบแยกส่วนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง การพัฒนาแบบบูรณาการอย่างนี้เรียกว่า ระบบ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อมนุษย์พัฒนาด้วยดีอย่างนี้แล้วก็จะเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ บุคคลที่สมบูรณ์ก็จะไปอยู่ในสังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นองค์ร่วมที่ช่วยสืบต่อสังคมให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

ขอย้ำอีกว่า มนุษย์แต่ละบุคคลในแต่ละชีวิตนั้นสามารถพัฒนาให้สมบูรณ์ได้ เพราะมนุษย์แต่ละคนนั้นมีจุดหมายที่มีปลายปิด หมายความว่า ในการพัฒนาคนขึ้นไปนี้ ในชีวิตของบุคคลแต่ละคนที่เกิดมาชาติหนึ่ง เราจะต้องทำให้เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ที่สุด แต่สังคมมนุษย์ไม่เหมือนอย่างนั้น สังคมมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่มีปลายเปิด หมายความว่าต้องทำเรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด สองอย่างนี้ต้องสังเกตถึงความแตกต่าง คือชีวิตคนนี้สามารถทำให้สมบูรณ์ในตัวในชีวิตหนึ่ง แต่สังคมและอารยธรรมไม่มีจุดสมบูรณ์เพราะขึ้นกับกาลเทศะ จะต้องสืบต่อไปเรื่อย

ต่อไปคือความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับบุคคล สังคมที่ดีคือสังคมที่มีสภาพเกื้อกูลต่อการพัฒนาบุคคล หรือเป็นปัจจัยแวดล้อมเกื้อกูลต่อการพัฒนาบุคคล และบุคคลผู้มีชีวิตที่ดีงามก็เป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม แต่บุคคลมีปลายปิดหรือทุกชีวิตควรบรรลุความสมบูรณ์ในตัว ส่วนสังคมนั้นจะต้องเจริญก้าวหน้าเรื่อยไปให้เหมาะดีที่สุดสำหรับกาลเทศะนั้นๆ อันนี้เป็นข้อสำคัญในการศึกษาอย่างหนึ่ง

ข) การประสานประโยชน์ระหว่างชีวิต สังคม และธรรมชาติ

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ จุดหมายของการศึกษา ในขั้นของการดำรงอยู่อย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลกันระหว่างองค์ร่วมในองค์รวมใหญ่ ซึ่งการศึกษาจะต้องพยายามพัฒนาคนให้เข้าถึงให้ได้ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ คือจะต้องให้ หนึ่ง บุคคลหรือตัวมนุษย์หมดทั้งชีวิตของเขา (ทั้งกายและใจ) สอง สังคม สาม สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เข้ามาประสานประโยชน์กันให้ได้ คือให้อยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างเกื้อกูลกัน

เวลานี้ปัญหาของมนุษย์มาติดตันที่นี่ว่า ทำอย่างไรจะให้ชีวิต บุคคล สังคม และธรรมชาติแวดล้อม สามอย่างนี้มีผลประโยชน์ไม่ขัดแย้งกัน เพราะเวลานี้ทั้งสามอย่างมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน จนกระทั่งต้องมีจริยธรรมแบบจำใจ เพราะว่าจะอนุรักษ์ธรรมชาติให้อยู่ดีก็ขัดต่อผลประโยชน์ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเสพสุขได้เต็มที่ เมื่อไม่สามารถมีความสุขเต็มที่ก็ต้องจำใจยอมยับยั้งตัวเอง ถ้าจะให้ธรรมชาติอยู่ดีมนุษย์ก็เสียผลประโยชน์ ถ้าจะให้มนุษย์สุขสมบูรณ์ได้ผลประโยชน์เต็มที่ก็ต้องทำลายธรรมชาติ จะให้มนุษย์แต่ละคนได้เสพสมและสุขสมก็ต้องแก่งแย่งกันก็ทำให้สังคมเดือดร้อน ถ้าจะให้สังคมมีสันติสุขบุคคลก็ต้องยอมเสียสละผลประโยชน์ แต่ถ้าเราให้มีการศึกษาที่พัฒนามนุษย์ ซึ่งหมายถึงพัฒนาอย่างถูกต้อง การพัฒนามนุษย์นั้นจะย้อนไปในทางที่ทำให้ประสานกลมกลืนกันยิ่งขึ้น เช่นพัฒนาความต้องการให้เขามีความสุขจากการให้ ก็ทำให้ความสุขมาประสานกลมกลืนกัน มีผลดีทั้งต่อชีวิตบุคคลและเกิดผลดีต่อสังคมด้วย

เพราะฉะนั้น เมื่อเราพัฒนาถูกทางแล้วก็ประสานประโยชน์กันทุกอย่าง สิ่งที่ดีต่อชีวิตก็ดีต่อสังคมและดีต่อธรรมชาติ สิ่งที่ดีต่อสังคมก็ดีต่อชีวิตและดีต่อธรรมชาติด้วย สิ่งที่ดีต่อธรรมชาติแวดล้อมก็ดีต่อชีวิตและสังคมด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เมื่อไร ก็เป็นการประสานประโยชน์ทั้งสามอย่างแล้วมนุษย์ก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน สังคมที่ดีงามก็เกิดขึ้น อันนี้เป็นภารกิจที่ท้าทายของการศึกษา

ค) การเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ
และจัดตั้งระบบสังคมอย่างสอดคล้อง

ต่อไป เรื่องของหลักการ เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาติกับการนำมาใช้ประโยชน์ในสังคมของมนุษย์ หมายความว่า การจัดระบบของสังคมมนุษย์ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงตามกฎธรรมชาติ อันนี้เป็นหลักใหญ่

หลักการทางพุทธศาสนาประกอบด้วยองค์สอง คือธรรมกับวินัย

๑. ธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติ พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิดมันก็เป็นของมันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม ความจริงก็มีอยู่ตามธรรมดาของมันอย่างนั้น นี้คือความจริงตามธรรมชาติ

๒. วินัย คือเมื่อมนุษย์เข้าถึงความจริงนั้นแล้ว จะต้องสามารถเอาความรู้ในความจริงนั้นมาจัดตั้งเป็นรูปแบบและระบบการต่างๆ ที่เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ได้ผลดีสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น

ระบบต่างๆ ในความเป็นอยู่และอยู่ร่วมกันของมนุษย์นั้น เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง ระบบการต่างๆ ของสังคม ระบบเหล่านี้ต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงของธรรมชาติ จึงจะได้ผลอย่างแท้จริง และเนื่องด้วยความจริงของธรรมชาติมีภาวะเป็นอันหนึ่งอันเดียว ระบบต่างๆ ทั้งหมดที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นจึงต้องประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันบนฐานของความจริงนั้น

โดยนัยนี้ ถ้ามนุษย์จะประสบความสำเร็จ มีชีวิตและสังคมที่ดีงาม ก็ต้อง

๑. รู้ความจริง เข้าถึงธรรม

๒. สามารถเอาความรู้ในตัวธรรมนั้นมาจัดสรรวินัย โดยตั้งเป็นระบบแบบแผนในสังคมมนุษย์ ได้อย่างสอดคล้องด้วย

ขอย้ำว่า ความสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่ว่า ระบบแบบแผนต่างๆ ทั้งหลายนั้น จะต้องได้ผลสอดคล้องกับธรรมคือความจริงของธรรมชาติ อันนี้เป็นความประสานสอดคล้องในจุดสุดยอด ถ้าทำไม่สำเร็จก็หมายความว่าสังคมมนุษย์จะอยู่ดีไม่ได้ และความประสานประโยชน์ระหว่างองค์ประกอบ ๓ อย่างคือ ชีวิต สังคม และธรรมชาตินั้น ก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ นี้เป็นเรื่องของการศึกษาส่วนที่เป็นหลักใหญ่ๆ แต่ต้องพูดอย่างย่นย่อที่สุด

ง) ลักษณะการดำเนินชีวิตของคนที่บรรลุผลของการศึกษา

นอกจากนั้น ยังมีอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อเราพัฒนามนุษย์ไปแล้ว ก็มีบททดสอบการพัฒนาของมนุษย์อย่างหนึ่ง หลักการนี้ก็สำคัญเหมือนกัน แต่เวลาไม่พอที่จะอธิบาย เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักธรรมง่ายๆ ที่พูดไว้ในพระพุทธศาสนา แต่ที่จริงเป็นเรื่องใหญ่มาก คือเรื่องความไม่ประมาท การจะมองให้เห็นนัยของมันว่ามีความสำคัญอย่างไร ขอพูดอย่างง่ายๆ เพราะเวลาก็หมดไปแล้ว

มนุษย์ปุถุชนที่ยังไม่พัฒนานั้น จะดิ้นรนขวนขวาย ที่เรียกว่า ไม่ประมาท ก็ต่อเมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม เช่น เวลาอดอยาก ยากจน แร้นแค้น ถูกภัยอันตรายบีบคั้น หรือมีคนภายนอกจะมาทำอันตราย คนจะดิ้นรนขวนขวายลุกขึ้นมาแข็งขันทำการต่างๆ

ทีนี้ พอมนุษย์ปุถุชนประสบความสำเร็จ อยู่ดีมีความสุข พรั่งพร้อมดี ก็มีความโน้มเอียงที่จะนิ่งเฉย เฉื่อยชา อยู่สบาย นอนเสพสุข มนุษย์จะมีความโน้มเอียงอย่างนั้น อันนี้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรของความเสื่อมความเจริญในโลกมนุษย์ ความเสื่อมความเจริญของบุคคล ของครอบครัว ของวงศ์ตระกูล ตลอดจนความเสื่อมความเจริญของสังคม และอารยธรรมของมนุษย์ อยู่ภายใต้วงจรอันนี้ คือ เมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็ไม่ประมาท กระตือรือร้นดิ้นรนขวนขวาย ลุกขึ้นมาต่อสู้ทำให้เจริญได้ แต่พอมีความสุขสำเร็จแล้ว ก็นอนเสวยความสุข เพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมา แล้วก็เสื่อมลงไป

พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเราจัดการกับเหตุปัจจัยได้ถูกต้อง เราจะสามารถป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์รักษาความเจริญได้ แต่ข้อสำคัญคือ มนุษย์จะต้องไม่ประมาท หมายความว่า เมื่อสร้างความเจริญขึ้นมาแล้ว ทำอย่างไรจะไม่หลงระเริงมัวเมานอนปล่อยละเลยสิ่งที่ควรทำ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เสื่อมลงไปอีก อันนี้คือการพัฒนามนุษย์ที่จะให้มีความไม่ประมาทที่แท้

ความไม่ประมาทที่แท้ก็คือ การอยู่ด้วยสติปัญญาที่จะทำการเพื่อป้องกันความเสื่อมและสร้างสรรค์ความเจริญตามเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องรอให้ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ถ้ามนุษย์สามารถอยู่ด้วยความไม่ประมาทที่แท้ คืออยู่ด้วยสติปัญญาแล้ว มนุษย์จะสามารถรักษาความดีงามความเจริญของชีวิตและสังคมไว้ได้ตลอดไป ไม่จำเป็นต้องเสื่อม

ฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นหลักการสำคัญที่พระพุทธเจ้า ยกมาตรัสไว้เป็นปัจฉิมวาจาว่า สิ่งทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

ความไม่ประมาท คืออยู่ด้วยสติปัญญา คืออย่างไร ก็คือ

ขั้นที่ ๑ ใช้สติคอยตรวจตรา สติหมายถึงระลึก หมายความว่ามีอะไรเกิดขึ้นเป็นไป ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิต ต่อครอบครัว ต่อความอยู่ดี ต่อความเจริญและความเสื่อม สติจะเรียกเอามาหมด สติจะนึกจะระลึกถึงทุกอย่างที่จะมีผลเกี่ยวข้อง สำรวจไปทั่วและเอามาตรวจตรา

ขั้นที่ ๒ ส่งต่อให้ปัญญาพิจารณาแยกแยะวิเคราะห์สืบสาวเหตุปัจจัย อะไรที่จะก่อผลร้ายก็แก้ไขจัดการ ป้องกัน อะไรที่จะนำมาซึ่งผลดีก็สร้างสรรค์โดยทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้น

นี้คือการที่มนุษย์จะสามารถรักษาความเจริญไว้ได้ด้วยความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทเป็นมาตรฐานสำคัญในการที่จะวัดความพัฒนาของมนุษย์ว่าจะมีชีวิตและสังคมที่ดีงาม มีสันติสุข และอิสรภาพได้สำเร็จไหม เป็นการวัดทั้งตัวบุคคลและวัดทั้งสังคมนี้ด้วย ว่าสังคมของเราและมนุษย์นี้จะไปรอดไหม นี้เป็นบทพิสูจน์ขั้นสุดท้ายอันหนึ่ง ถ้ามนุษย์ทำอย่างนี้ได้ มนุษย์ก็จะรักษาความดีงามของชีวิตและสังคมไว้ได้

วันนี้ก็ได้พูดมามากมาย เกินเวลาแล้ว แม้ว่าจะเพิ่งถึงหลักการใหญ่ที่สำคัญเพียงเล็กน้อย ก็เป็นข้อคิดสำหรับยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับนำมาใช้พิจารณาในการที่จะแก้ปัญหาการศึกษา และจัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ อาจจะพอเป็นเครื่องประกอบการพิจารณาให้เห็นรูปร่างของปรัชญาการศึกษาไทยตามแนวพุทธธรรม โดยยังไม่พูดถึงตัวปรัชญาการศึกษานั้นโดยตรง อาจจะเรียกว่าเป็นการกรุยทางสู่ปรัชญาการศึกษาที่แท้ ก็อนุโมทนาทุกท่าน เพียงเท่านี้ก่อน

คำนำการจัดพิมพ์หนังสือ

สืบเนื่องจากการที่ ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้จัดสัมมนาเรื่อง “ปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2538 ควบคู่ไปกับการจัดนิทรรศการเรื่อง “พระธรรมปิฎก : ปราชญ์ทางการศึกษาของไทย” ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 2538 เพื่อร่วมแสดงมุทิตาสักการะแด่ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เนื่องในโอกาสที่ท่านได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 และเพื่อร่วมกันแสวงหาทางเลือกให้กับปรัชญาการศึกษาของไทย ในภาคเช้าของงานสัมมนา ภาควิชาพื้นฐานของการศึกษาได้กราบนมัสการพระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาในเรื่อง “พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างเนืองแน่นล้นห้องประชุม หลายๆ ท่านแสดงความสนใจไต่ถามถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดพิมพ์ปาฐกถาของท่านออกเผยแพร่ เนื่องจากปาฐกถาเรื่อง “พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” ให้แก่นสารแนวคิดที่ลึกซึ้ง “สมสมัย” น่าจะก่อให้เกิดการตรึกตรอง น้อมรับและนำไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติกันต่อไป

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้กราบนมัสการพระธรรมปิฎก ขออนุญาตเป็นผู้จัดพิมพ์ปาฐกถาดังกล่าว เพื่อนิสิต นักศึกษาและผู้สนใจจะได้มีตำราทางปรัชญาการศึกษาไทยที่มีคุณค่าไว้ศึกษาค้นคว้าทั้งยังเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี อดีตอธิการของวิทยาลัยวิชาการศึกษา (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ผู้บุกเบิกแสวงหาแนวทางในการประยุกต์พุทธปรัชญามาเป็นพื้นฐานของการศึกษาไทย

พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎกได้อนุญาตให้จัดพิมพ์ปาฐกถาดังกล่าว ทั้งยังมีเมตตาปรับปรุงขยายความงานเขียนให้สมบูรณ์ จัดหัวข้อให้อ่านง่ายชัดเจน ตรวจพิสูจน์อักษร และให้คำปรึกษาการจัดพิมพ์หนังสือด้วยความเมตตายิ่ง ในนามของผู้จัดพิมพ์หนังสือ ขอน้อมกราบนมัสการด้วยกตเวทิตาจิต และขอขอบพระคุณ พระมหาอินศร จินฺตาปญฺโ ที่เมตตาพิมพ์งานทั้งหมดด้วยขันติธรรม

(รศ.ดร.ศักดิ์ชัย นิรัญทวี)
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อนุโมทนา

รศ. ดร. ศักดิ์ชัย นิรัญทวี คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แจ้งว่าคณะศึกษาศาสตร์ มศว จะดำเนินการพิมพ์ ปาฐกถาเรื่อง “พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์” ที่อาตมภาพได้แสดงที่คณะศึกษาศาสตร์ มศว เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๘ เป็นเล่มหนังสือ เพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป และได้ส่งบทถอดเทปคำปาฐกถาไปให้อาตมภาพตรวจชำระ ก่อนที่จะดำเนินการจัดพิมพ์

บัดนี้ อาตมภาพได้ตรวจชำระบทปาฐกถาดังกล่าวเสร็จแล้ว โดยได้ปรับปรุงถ้อยคำสำนวน จัดวรรคตอน ตั้งหัวข้อ ตลอดจนแทรกเสริมเพิ่มความบางส่วน โดยเฉพาะหน้า ๔๑-๔๓ ได้นำเนื้อความจากปาฐกถา ที่โรงพยาบาลชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๙ มาเพิ่มเข้าด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยมีเวลาจำกัดยิ่ง ต้องจัดทำอย่างเร่งด่วน จึงอาจยังมีความบกพร่องบางประการ เช่น เนื้อหาในหัวข้อต่างๆ ยาวสั้นไม่ได้ส่วนกันบ้าง ลำดับเรื่องลักลั่นกันบ้าง และยังไม่ได้ลงที่มาหรือหลักฐานอ้างอิง สำหรับข้อมูลต่างๆ ไว้ให้ชัดเจน เป็นต้น แต่ก็หวังว่าคงจะเป็นเครื่องประกอบความรู้ความเข้าใจได้บ้างตามควร

ขออนุโมทนากุศลเจตนาของคณะศึกษาศาสตร์ มศว ในการบำเพ็ญกุศลกิจทางวิชาการครั้งนี้ อันจะเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมให้ขยายกว้างขวางยิ่งขึ้นไป

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
๒๕ เมษายน ๒๕๓๙

1ปาฐกถา ณ ห้องประชุมคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๓๘
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.