กฐินสู่ธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

๑. เรื่องของชาวพุทธ

เทศกาลท้ายฝน1

ชีวิตของชาวไทยในชนบท ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนมากเป็นชาวไร่ชาวนา ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน ฤดูฝนจึงเป็นฤดูกาลสำคัญ เป็นฤดูกาลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน บรรยากาศที่ชุ่มฉ่ำและพืชพันธุ์ธัญญาหารที่งอกงามเขียวขจีในฤดูนี้ เป็นเครื่องชุบกายและฟื้นใจให้สดชื่นมีชีวิตชีวา แต่ในเวลาเดียวกัน ถนนหนทางและพื้นแผ่นดินที่เฉอะแฉะมีโคลนเลนเป็นหลุมเป็นบ่อ ก็เป็นอุปสรรคแก่การเดินทาง และการดำเนินชีวิตในที่แจ้ง ทำให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง ไม่คล่องแคล่วสะดวกดาย

พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ซึ่งในยามปกติย่อมเที่ยวจาริกไปในถิ่นต่างๆ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจเผยแพร่พุทธธรรม ครั้นฤดูฝนย่างเข้ามา ก็หยุดสัญจร เข้าพำนักอยู่ประจำที่ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลา ๓ เดือน เพื่อหลีกเว้นเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืชพันธุ์ที่พึ่งจะเริ่มงอกงาม และเปิดโอกาสให้ชาวชนบทประกอบการกสิกรรม โดยไม่ต้องห่วงกังวลถึงพระสงฆ์ที่จะเดินทางออกไปต่างถิ่น หรือเข้ามาจากถิ่นอื่นๆ อีกทั้งตัวพระสงฆ์นั้นเอง ก็ไม่ต้องประสบปัญหาอันเกิดจากการเดินทางที่ยากลำบากด้วย

นอกเหนือจากเหตุผลอันเกี่ยวด้วยดินฟ้าอากาศแล้ว การที่พระสงฆ์หยุดอยู่ประจำที่ในฤดูฝน ได้อำนวยโอกาสให้กิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาและปฏิบัติธรรมในแต่ละท้องถิ่นดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็งจริงจังยิ่งขึ้น พระสงฆ์ที่เป็นผู้ใหญ่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในธรรมวินัย เป็นนักเผยแผ่ ก็ได้มีโอกาสหยุดพักผ่อน ทบทวนงาน คิดการที่จะทำต่อไป และอำนวยความรู้ความชำนาญแก่พระสงฆ์อื่นที่พำนักร่วมอยู่ พระสงฆ์ที่มีความรู้ความชำนาญน้อยลงมา ก็มีโอกาสที่จะได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และปรึกษาสอบถามท่านผู้มีความรู้ความชำนาญมากกว่า แม้พุทธศาสนิกชนชาวบ้านทั้งหลาย ก็มีโอกาสได้สดับธรรมและสนทนาสอบถามเรื่องราวทางพระศาสนากับพระสงฆ์ผู้อยู่ประจำที่ได้สม่ำเสมอยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังได้เกิดประเพณีที่ให้ชายหนุ่มอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วอุปสมบท เพื่อรับการศึกษาอบรมทางพระศาสนาอย่างจริงจังในช่วงที่มีบรรยากาศเหมาะสมนี้อีกด้วย เพราะเหตุที่เทศกาลฝนหรือเทศกาลพรรษามีความหมายและคุณค่าอย่างนี้ ในสมัยต่อมา แม้ปัญหาเกี่ยวด้วยดินฟ้าอากาศจะลดความสำคัญลง แต่ความหมายของเทศกาลพรรษาก็ยังทรงคุณค่าอยู่ได้อย่างมั่นคง

ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน พระสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ ประมาณ ๘-๙ เดือน อยู่ประจำที่ในเทศกาลพรรษา ๓ เดือน เสมือนว่า ทำงานนอกสถานที่ ๓ ส่วน ในสถานที่ ๑ ส่วน ทำงานกระจายเพื่อประชาชนทั่วไป ๓ ส่วน ทำงานเจาะจงเพื่อชุมชนหนึ่งโดยเฉพาะ ๑ ส่วน ออกไปเผื่อแผ่แจกให้เขา ๓ ส่วน กลับมาตระเตรียมฟื้นตัวใหม่ ๑ ส่วน ในลักษณะหนึ่งเป็นเหมือนเครื่องประจุไฟฟ้า (แบตเตอรี่) ที่จ่ายกระแสไฟฟ้าไประยะหนึ่งแล้ว กลับมาอัดกระแสเตรียมพร้อมที่จะใช้งานต่อไปใหม่

เทศกาลพรรษาเริ่มต้นด้วยงานพิธีเป็นเครื่องหมายให้รู้กัน ฉันใด ก็สิ้นสุดลงด้วยมีงานพิธีเป็นเครื่องหมายฉันนั้น เริ่มต้นพรรษาเรียกว่า เข้าพรรษา สิ้นสุดพรรษา เรียกว่า ออกพรรษา

อย่างไรก็ดี ลักษณะงานพิธีสำหรับเริ่มต้นพรรษา และสิ้นสุดพรรษานั้น หาได้เหมือนกันอย่างแท้จริงไม่

เมื่อเริ่มต้นพรรษา มีวันวันหนึ่งกำหนดไว้โดยเฉพาะสำหรับเริ่มต้นเรียกว่า เข้าพรรษา (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) และพิธีกรรมก็เป็นพิธีสำหรับเข้าพรรษา โดยพระสงฆ์กล่าวคำแสดงความตั้งใจ หรือตัดสินใจว่า “ข้าพเจ้าจะจำพรรษาตลอดเวลา ๓ เดือนในวัดนี้”

เมื่อสิ้นสุดพรรษา วันที่พรรษาสิ้นสุดลงมีจริง เรียกว่า วันออกพรรษา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) แต่พิธีกรรมที่จะให้พรรษาสิ้นสุดลงหามีไม่ เพราะเมื่อวันเวลาที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนเต็มตามที่กล่าวคำตั้งใจแล้ว การจำพรรษาย่อมสิ้นสุดลงโดยตัวของมันเอง เป็นของอัตโนมัติ แทนที่จะมีพิธีสำหรับให้พรรษาสิ้นสุดลง กลับมีพิธีกรรมและงานพิธีอื่น ซึ่งมีลักษณะเป็นการเริ่มต้นมากกว่า คือ เริ่มต้นเวลาหลังจากพรรษาสิ้นสุดแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีพิธีเริ่มต้นเวลาในพรรษาที่เรียกว่า เข้าพรรษา กับพิธีเริ่มต้นเวลานอกพรรษา ที่จะพูดถึงต่อไป

พิธีเริ่มต้นเวลานอกพรรษานั้น มีความหมายเชื่อมโยงเวลาในพรรษากับเวลานอกพรรษาให้สัมพันธ์กัน คือ อ้างอิง หรืออาศัยเวลาที่ผ่านมาในพรรษานั้นเป็นฐาน เพื่อเริ่มต้นกิจการงานในเวลานอกพรรษาที่จะมีมาต่อไปให้ได้ผลดี

วัสสานกาล หรือ พรรษากาล หรือฤดูฝนนั้น ความจริงมี ๔ เดือน พระสงฆ์จำพรรษาเพียง ๓ เดือน เดือนสุดท้ายของฤดูฝนจึงยังเหลืออยู่ ๑ เดือน ขอเรียกง่าย ๆ ว่า เดือนท้ายฝน (เริ่มแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) เป็นเดือนที่เหลือไว้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับงานหรือศาสนกิจนอกพรรษาต่อไป งานพิธีในเวลาช่วงนี้ขอเรียกว่า เทศกาลท้ายฝน

พิธีกรรมและงานพิธีในท้ายฝนนี้มีถึง ๓ อย่าง บางอย่างเป็นพิธีที่ต้องทำในวันสิ้นสุดพรรษา บางอย่างทำได้ตลอดเดือนท้ายฝน บางอย่างเป็นพิธีตามบทบัญญัติในวินัยของพระสงฆ์ บางอย่างเป็นพิธีอันมีมาตามประเพณี บางอย่างเป็นทั้งบทบัญญัติในวินัยสงฆ์ และเป็นพิธีอันมีมาตามประเพณี

พิธีกรรมและงานพิธี ๓ อย่างนี้ มีชื่อว่า พิธีมหาปวารณา (เรียกง่ายๆ ว่า พิธีปวารณา) งานตักบาตรเทโวโรหณะ (ชาวบ้านเรียกว่า ตักบาตรเทโว) และงานทอดกฐิน งานใดเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร จะได้พูดต่อไป

๑. ปวารณา

ปวารณา แปลว่า การเปิดโอกาสเชิงเชิญชวนให้ขอหรือให้ว่ากล่าวตักเตือน ในที่นี้ หมายถึงการที่พระสงฆ์พูดเปิดโอกาสแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวชี้ข้อบกพร่องและตักเตือนแนะนำกัน

ปวารณา เป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง คือ เป็นกิจที่พระสงฆ์จะต้องทำ เพราะเป็นบทบัญญัติในวินัย ในปัจจุบัน ปวารณายังเป็นพิธีกรรมที่กระทำในหมู่พระสงฆ์โดยเฉพาะ ชาวบ้านไม่เกี่ยวข้องและไม่ใคร่ทราบ

ปวารณา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวชี้ข้อบกพร่องแนะนำกันได้นั้น เป็นเรื่องธรรมดาของพระสงฆ์อยู่แล้ว ครั้นถึงวันสิ้นสุดพรรษานี้ ทำกันเป็นครั้งสำคัญพร้อมกันทุกรูป เป็นครั้งใหญ่ จึงเรียกว่า มหาปวารณา

มหาปวารณา ทำเฉพาะในวันสิ้นสุดพรรษา ที่เรียกว่า วันออกพรรษา (คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) วันเดียวเท่านั้น เพราะเหตุที่มหาปวารณาเป็นกิจกรรมสำคัญในวันสุดท้ายของพรรษา ในทางวินัย จึงเรียกชื่อวันสิ้นสุดพรรษานี้ว่า “วันมหาปวารณา” หาเรียกว่าวันออกพรรษาไม่

สาระสำคัญของมหาปวารณาคือ พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ๓ เดือน ย่อมได้รู้เห็น เข้าใจนิสัยใจคอ ความประพฤติปฏิบัติของกันและกันพอสมควร บางทีอาจได้เห็น ได้ยิน หรือมีเหตุให้ระแวงสงสัยเกี่ยวกับความบกพร่อง ความประพฤติเสียหายของกันและกันบ้าง ก่อนที่จะเดินทางออกจาริกปฏิบัติศาสนกิจ แยกย้ายกันไปในที่ต่างๆ จึงมีบทบัญญัติในวินัยกำหนดให้พระสงฆ์มาประชุมพบปะพร้อมกันทั้งหมดในวันสุดท้ายของพรรษานั้น ทุกรูป ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย กล่าวคำเปิดโอกาสเชิญชวนกันให้ว่ากล่าวชี้ข้อบกพร่องแนะนำตักเตือนกัน เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ เป็นการได้ช่วยกันสำรวจตนเอง จะได้แก้ไขปรับปรุงตน เตรียมตัวพร้อม และมีความมั่นใจในการที่จะเดินทางออกปฏิบัติศาสนกิจต่อไป

คำปวารณาว่า “สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกาย วา, วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย, ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ”

แปลเป็นภาษาไทยว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอปวารณากะสงฆ์ ไม่ว่าจะเกี่ยวด้วยสิ่งที่ได้เห็นก็ตาม สิ่งที่ได้ยินมาก็ตาม หรือระแวงสงสัยก็ตาม ขอท่านทั้งหลายจงมีใจอนุเคราะห์ ว่ากล่าวบอกข้าพเจ้าเถิด เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จะแก้ไข”

ปวารณานี้ ถ้าปฏิบัติกันจริงจัง และถ้าชาวบ้านจะเอาอย่าง นำไปปฏิบัติในกิจการและการดำเนินชีวิตทางสังคม ให้เป็นเรื่องสามัญของวงการชาวพุทธ ก็จะเป็นความเจริญก้าวหน้าของพระพุทธศาสนาที่นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่พหูชนสมตามวัตถุประสงค์ของการเผยแผ่ธรรมวินัยอย่างหนึ่ง

๒. ตักบาตรเทโว

มีตำนานเล่าว่า ในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา พร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย ครั้นสิ้นสุดพรรษาแล้ว ในวันมหาปวารณา (คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่เรียกกันว่าวันออกพรรษา) พระองค์ก็เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงสู่มนุษยโลกที่เมืองสังกัสสะ ซึ่งเป็นนครสำคัญแห่งหนึ่งของแคว้นโกศล ครั้งนั้น เทวดามากมายได้ตามส่งเสด็จ ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายก็พากันตื่นเต้นดีใจ มาชุมนุมกันรอรับเสด็จอย่างคับคั่ง เป็นธรรมดาของพุทธศาสนิกชน เมื่อมาชุมนุมกันในโอกาสเช่นนี้ ก็ย่อมตักบาตร ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการทำบุญครั้งใหญ่ และถวายการต้อนรับแด่พระพุทธเจ้า

จากตำนานนี้ ก็ได้เกิดประเพณีตักบาตรเทโวสืบต่อมา ตักบาตรเทโวเป็นคำย่อ เรียกเต็มว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ เทโวโรหณะ แปลว่า การลงจากเทวโลก คือการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ตามตำนานที่เล่ามาแล้วนั้นเอง ตักบาตรเทโว จึงหมายถึง การตักบาตรเนื่องในการที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก จะเห็นว่า ในพิธีตักบาตรเทโวนี้ มีการชักรถที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ นำแถวพระสงฆ์ที่รับบิณฑบาตด้วย เป็นเครื่องหมายว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงตามตำนานนั้น

เนื่องจากในการออกพรรษาไม่มีพิธีการอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ การตักบาตรเทโวนี้จึงเป็นพิธีที่เป็นเครื่องหมายของการออกพรรษา สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป

การตักบาตรเทโว บ่งบอกถึงความหมายที่ลึกซึ้งลงไปอีก หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับคืนมาสู่โลกมนุษย์ คือการที่มนุษย์ทั้งหลายได้ต้อนรับพระองค์กลับมาอีก ในระหว่างพรรษานั้น พระพุทธเจ้าจะเสด็จปลีกพระองค์ไปปฏิบัติพุทธกิจอย่างใด ณ ที่ใด หรือแก่ชุมชนใดโดยเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จออกมาบำเพ็ญพุทธกิจในหมู่ประชาชนทั่วไปอีก ประชาชนทั้งหลายจะได้พบได้เฝ้าพระองค์ นี้คือความหมายของการออกพรรษา หรือที่แท้จริงคือการเริ่มต้นของเวลานอกพรรษา เป็นเครื่องบ่งบอกว่าระยะเวลาที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่เพื่อดำเนินการศึกษาอบรมภายในหมู่พระสงฆ์เองโดยเฉพาะ เพื่อซักซ้อมตระเตรียมฝึกฟื้นตนเองให้พร้อมยิ่งขึ้น และเพื่อสงเคราะห์ชุมชนหมู่หนึ่งโดยเฉพาะนั้น บัดนี้ ระยะเวลาแห่งศาสนกิจที่เน้นหนักในด้านนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อแต่นี้ไปเป็นการเริ่มต้นแห่งรอบเวลาใหม่ คือการที่พระสงฆ์จะออกปฏิบัติศาสนกิจจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขของหมู่ชน

ตักบาตรเทโว เป็นเรื่องของประเพณี ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ในวินัย บางวัดจัดในวันมหาปวารณา คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ที่เรียกว่าวันออกพรรษา เพราะถือตามตำนานอันมาในอรรถกถาว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกในวันนั้น แต่บางวัดจัดหลังจากวันนั้น ๑ วัน คือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ คงจะถือว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันมหาปวารณาก็จริง แต่ประชาชนได้มีโอกาสตักบาตรทำบุญในวันรุ่งขึ้น ประเพณีนี้ในบางวัดบางถิ่นก็เลือนหายไปแล้ว บางวัดหรือบางถิ่นยังปฏิบัติอยู่ แต่ส่วนมากดูจะค่อยๆ จืดจางและอ่อนกำลังลงโดยลำดับ

๓. กฐิน

เรื่องกฐิน มีคำสำคัญที่ควรทำความเข้าใจกันก่อน ๒ คำ คือ “กรานกฐิน” กับ “ทอดกฐิน”

กรานกฐิน เป็นพิธีกรรมในฝ่ายของพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ ทอดกฐิน เป็นพิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนกระทำ เพื่อช่วยให้พระสงฆ์กรานกฐินได้สะดวกขึ้น แรกเริ่มทีเดียว มีกรานกฐินก่อน ต่อมาทอดกฐินจึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการกรานกฐินนั้น

กรานกฐิน เป็นบทบัญญัติในวินัยของสงฆ์ ทอดกฐินเป็นพิธีอันมีมาตามประเพณี

“กรานกฐิน” มีความเป็นมาแต่เริ่มต้นว่า ครั้งหนึ่งในพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน ในนครสาวัตถี มีพระภิกษุ ๓๐ รูป เดินทางออกจากเมืองปาฐาจะมาเฝ้า แต่เดินทางไม่ทัน เมื่อระยะทางยังเหลืออยู่ ๖ โยชน์ ก็ถึงเวลาเข้าพรรษาเสียก่อน จำเป็นต้องเข้าพรรษาที่นั่น และรอเวลาอยู่ พอออกพรรษา ทั้งที่ฝนยังตกชุกอยู่ ก็รีบออกเดินทางทันที ทำให้การเดินทางขลุกขลักลำบาก มาถึงวัดพระเชตวันอย่างเปียกปอนมอมแมม ครั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลให้ทรงทราบความแล้ว พระองค์ได้ทรงวางพุทธบัญญัติ อนุญาตให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนแล้ว กรานกฐิน กรานกฐินจึงเกิดมีขึ้นอย่างนี้

การกรานกฐิน (เขียน กราลกฐิน ก็มี) มีความหมายว่า พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบถ้วนในวัดเดียวกันจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ประชุมกันมีมติมอบผ้าที่หามาได้ หรือได้รับมาโดยวิธีการที่ถูกต้องให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งในคณะของตนนั้น พระภิกษุผู้ได้รับแล้วนำผ้าไปตัด เย็บ ย้อม ทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน ให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียวนั้น แล้วมาแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ เมื่อที่ประชุมอนุโมทนา คือให้ความเห็นชอบแล้ว ก็เป็นเสร็จพิธี

สิ่งที่ควรทราบในที่นี้

- ผ้าซึ่งที่ประชุมพิจารณาให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในพิธีนี้ เรียกว่า ผ้ากฐิน

- ที่ว่าทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน อธิบายว่า ผ้า ๓ ผืนนี้ ศัพท์พระ เรียกว่า ไตรจีวร ได้แก่ อันตรวาสก (ภาษาสามัญเรียกว่า สบง) อุตราสงค์ (ภาษาสามัญ เรียกว่า จีวร) สังฆาฏิ เอาผ้ากฐินมาทำเป็นผ้าผืนใดใน ๓ ผืนนี้ก็ได้ แต่เอาเพียงผืนเดียว

- ในการตัดเย็บย้อม เป็นต้น เพื่อทำเป็นจีวรนั้น ท่านให้พระภิกษุทั้งหมดทุกรูปที่ประชุมกันนั้นช่วยกันทำจนเสร็จสิ้น

- ระยะเวลาที่จะกรานกฐินได้คือ ภายในเวลา ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดพรรษาแล้ว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ความจริง เวลา ๑ เดือน ที่จะกรานกฐินได้นี้ ก็คือเดือนสุดท้ายของฤดู ตามปกติ วินัยสงฆ์อนุญาตให้ใช้เดือนที่กล่าวนี้ เป็นระยะเวลาสำหรับแสวงหาและทำจีวร ซึ่งนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งการตระเตรียมตัวสำหรับการออกเดินทางจาริกในช่วงยาวของเวลาค่อนปีที่เหลือ

ถ้าไม่มีพุทธบัญญัติเกี่ยวกับกฐินนี้ ย่อมอาจเป็นได้ว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว พระภิกษุแต่ละรูปต่างองค์ต่างก็แสวงหาและทำจีวรของตน องค์ไหนพร้อมก็ออกเดินทางไป องค์ไหนทำจีวรไม่เสร็จภายในเวลา ๑ เดือน ก็หมดโอกาสทำจีวร จนกว่าจะถึงฤดูกาลนี้ใหม่ แต่เมื่อมีพุทธบัญญัติให้กรานกฐินแล้ว พระสงฆ์ทุกรูปจะต้องเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือกัน เป็นการปฏิบัติธรรม คือความสามัคคี ซึ่งเป็นหลักสำคัญแห่งชีวิตของหมู่คณะ สามัคคีอย่างไร? ประการแรก เป็นการพิสูจน์ความพร้อมเพรียงของพระสงฆ์ที่อยู่ร่วมกันมาตลอด ๓ เดือน ที่จะขวนขวายหาผ้ามาเป็นของกลางผืนหนึ่ง เสร็จแล้วต้องมีความพร้อมใจกัน ตกลงกันได้ที่จะมอบให้แก่รูปใดรูปหนึ่ง แล้วต้องพร้อมใจกันขมีขมันตัดเย็บย้อมเป็นต้น ทำจีวรนั้นด้วยกันจนเสร็จ การปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ต้องเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของกันและกันไปด้วย เพราะข้อกำหนดสำคัญที่จะเป็นคุณสมบัติของผู้ควรได้รับผ้ากฐินนั้น นอกจากความประพฤติที่ดีงามและความรู้ธรรมวินัย ก็คือความเป็นผู้มีจีวรเก่าที่สุด ผ้าของกลางนั้นจึงได้เป็นสมบัติของผู้ขาดแคลนที่สุด หรือมีความจำเป็นที่สุด

การกรานกฐินย่อมจะเป็นเหตุให้พระภิกษุในวัดนั้นๆ มีภาระผูกพันที่ทำให้ออกเดินทางช้าลงไปสักหน่อย ช้าเท่าไรก็ขึ้นกับความขวนขวายพร้อมเพรียงกันนั้น อีกประการหนึ่ง ทำให้ได้สละเวลาเพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะคือช่วยเหลือผู้ขาดแคลนผู้จำเป็นที่สุด เมื่อออกเดินทางก็ไปด้วยความสบายใจว่าได้แสดงน้ำใจสามัคคีกันแล้ว และสบายใจว่าท่านที่พำนักมาด้วยกันนั้น แยกย้ายกันไปอย่างผู้ไม่มีความเดือดร้อน

นอกจากนั้น พระภิกษุทุกรูปที่เข้าร่วมกรานกฐิน ยังได้รับ อานิสงส์ คือสิทธิพิเศษทางวินัยอีกด้วย คือขยายเขตแสวงหาและทำจีวรออกไปได้อีก แทนที่จะหมดเขตเพียงกลางเดือน ๑๒ ก็ต่อออกไปจนกลางเดือน ๔ บางทีมัวมาขวนขวายช่วยหาผ้ากฐินเพื่อให้แก่พระองค์ที่จีวรขาดหรือเก่านั้น เลยไม่มีเวลาทำจีวรสำหรับตนเอง เมื่อช่วยกันแล้ว ก็ได้สิทธิพิเศษนี้ คือถ้ายังทำจีวรของตนเองไม่สำเร็จ ก็ยืดเวลาต่อได้อีกเรื่อยไปจนกว่าจะเสร็จ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกลางเดือน ๔ นอกเหนือจากนี้ยังได้อานิสงส์อื่นๆ อีก ๕ อย่าง ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องของการผ่อนผันข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวินัยของพระสงฆ์ เพื่อไม่ต้องสับสน จึงจะไม่กล่าวในที่นี้

การกรานกฐิน มีสาระที่ควรทราบโดยย่อเท่านี้ ต่อจากนี้ควรทราบเรื่องการทอดกฐินต่อไป

“ทอดกฐิน” เกิดจากความคิดของชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ ที่จะช่วยเหลือสนับสนุนการกรานกฐินของพระสงฆ์ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้พระสงฆ์ได้ผ้ากฐินผืนที่จะนำมาประชุมตกลงมอบกันนั้น โดยไม่ให้พระสงฆ์ต้องยุ่งยากลำบากมากนัก เมื่อคิดดังนี้ จึงมีชาวบ้านบางท่านจัดหาผ้ามา แล้วนำไปมอบให้แก่สงฆ์ผู้จะกรานกฐิน การกระทำอย่างนี้เรียกว่า ทอดกฐิน เมื่อนิยมทำตามกันสืบมา ก็กลายเป็นประเพณีทอดกฐิน

การที่นิยมทำกันมาก เพราะนอกจากเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนพระสงฆ์ในการกรานกฐินแล้ว ยังเป็นการบำเพ็ญบุญกุศลอย่างมากด้วย เพราะการถวายผ้ากฐิน เป็นสังฆทาน คือการถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือส่วนกลาง ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง แล้วแต่สงฆ์จะมอบให้แก่พระภิกษุรูปใดต่อไป และเป็นกาลทาน คือทานที่ถวายได้เฉพาะกาลในเวลาจำกัดเพียง ๑ เดือนที่กำหนดไว้ ในช่วงท้ายฝนเท่านั้น

กิริยาที่ให้ผ้ากฐิน ใช้คำว่า “ทอด” ซึ่งแปลกจากการถวายของอื่นๆ เพราะไม่ได้ประเคน ไม่ได้ถวายแก่พระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ถวายเป็นของกลางต่อหน้าสงฆ์ทั้งหมดหรือท่ามกลางสงฆ์ทั้งหมด โดยวางปล่อยไว้ จึงเรียกว่า ทอดกฐิน

สาระสำคัญของการทอดกฐิน คือเป็นการขยายขอบเขตของความสามัคคีออกไปถึงชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ด้วย การทอดกฐินเท่ากับเป็นหลักฐานแสดงความร่วมมือของชาวบ้านแก่พระสงฆ์ ว่าเขายังสนับสนุนพระสงฆ์หมู่นั้นอยู่ด้วยดี อีกอย่างหนึ่ง เป็นสัญญาณบ่งบอกศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระสงฆ์ในวัดนั้นๆ ศรัทธานี้มีความหมายลึกซึ้ง อาจหมายถึงปฏิปทาจริยาวัตรของพระสงฆ์ในวัดนั้นๆ ว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนหรือไม่ ถ้าพระสงฆ์ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ถ้าพระสงฆ์กับประชาชนพร้อมเพรียงสามัคคีกันดี ผ้ากฐินก็จะเกิดมีขึ้นแก่พระสงฆ์ ให้พร้อมที่จะทำการกรานกฐินได้ทันที พระสงฆ์ไม่ต้องยุ่งยากลำบากหาอีก

ชาวบ้านรับภาระครึ่งแรก คือจัดหาผ้ากฐินมาทอด พระสงฆ์รับภาระครึ่งหลัง คือนำผ้ากฐินไปกราน เป็นสัญญลักษณ์แห่งการช่วยกันสืบต่อพระพุทธศาสนาของพุทธบริษัททั้งสองฝ่าย

ตอนแรกก็ถวายแต่ผ้ากฐิน ซึ่งเป็นหลักของพิธี ต่อมาคงรู้สึกว่าไม่เต็มอิ่มแห่งศรัทธา พุทธศาสนิกชนจึงถวายสิ่งอื่นๆ ด้วย นานเข้าของที่ถวายในการทอดกฐินก็มากเข้าทุกที จนกระทั่งบางแห่งกลายเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมทุนไว้ทำการใหญ่อื่นๆ เช่น สร้างโรงเรียนพระประยัติธรรม เป็นต้น แต่จะถวายสิ่งของต่างๆ มากมายเท่าใดก็ตาม ตัวกฐินก็ยังคงเป็นผ้าผืนเดียวเท่านั้น ของนอกนั้นไม่ว่าใหญ่น้อยเท่าใด เรียกว่าเป็นบริวารกฐิน ทั้งสิ้น

ระยะแรกก็เป็นงานเฉพาะพิธีโดยหมู่คนมีศรัทธา ต่อมาก็ขยายเป็นงานของหมู่ชน ของชุมชน งานร่วมระหว่างต่างชุมชน จากงานเฉพาะพิธี ขยายเป็นมีงานสมโภชฉลอง มีการเดินทางสนุกสนาน บางแห่งขยายจนกลายเป็นโอกาสแห่งการท่องเที่ยว จากพิธีที่เรียกว่าสังฆกรรมของพระสงฆ์ กลายเป็นงานบุญของพุทธศาสนิกชน จากงานพิธีทางพระศาสนา ขยายออกไปเป็นกิจกรรมที่มีความหมายกว้างขวางทางสังคม

สิ้นฤดูกฐินเมื่อผ่านกลางเดือน ๑๒ มีพิธีลอยกระทงแล้ว ก็เป็นอันจบสิ้นเทศกาลท้ายฝน ได้พูดถึงมหาปวารณา พูดถึงตักบาตรเทโว พูดถึงกฐิน มาแล้วพอสมควร สามอย่างนี้ มีพื้นฐานทางพระพุทธศาสนามาก ส่วนลอยกระทงหนักไปทางพิธีของชาวบ้าน ขอเอ่ยถึงไว้แต่เพียงชื่อ

ไปร่วมพิธีกรรมหรืองานพิธี มีจิตใจสงบเบิกบานผ่องใส ด้วยบรรยากาศแห่งงานนั้น นับว่าเป็นบุญกุศลชั้นต้น

เข้าใจความหมาย เนื้อหาสาระของพิธีกรรมและงานพิธีนั้นด้วย เป็นบุญกุศลชั้นกลาง

นำเอาความหมาย และเนื้อหาสาระนั้น ไปปฏิบัติ หรือประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย เป็นบุญกุศลชั้นสูงสุด

 

คำถวายผ้ากฐิน

อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ,โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฏิคคัณฺหาตุ, ปะฏิคคะเหตฺวา จะ, อิมินา ทุสเสนะ, กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.

คำแปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้วจงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ.

 

คำอปโลกน์กฐิน

แบบ ๒ รูป

รูปที่ ๑

ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ เป็นของ . . . พร้อมด้วย . . . ผู้ประกอบด้วยศรัทธา อุตสาหะพร้อมเพรียงกันนำมาถวาย แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้

ก็แลผ้ากฐินทานนี้เป็นของบริสุทธิ์ดุจเลื่อนลอยมาโดยนภากาศ แล้วแลตกลงในที่ประชุมสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาะจงลงว่าเป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อจะทำซึ่งกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาต และมีคำพระอรรถกถาจารย์ ผู้รู้พระบรมพุทธาธิบายสังวรรณนาไว้ว่า ภิกษุรูปใดประกอบด้วยศีลสุตาธิคุณ มีสติปัญญาสามารถ รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพกิจ เป็นต้น ภิกษุรูปนั้น จึงสมควร เพื่อจะกระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตได้

บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวง จะเห็นสมควรแก่ภิกษุรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปนั้น เทอญ.

(ไม่ต้อง สาธุ)

รูปที่ ๒

ผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควรแก่ . . . ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถ เพื่อกระทำกฐินัตถารกิจให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าพระภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควร จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ (หยุดนิดหนึ่ง) ถ้าเห็นสมควรแล้วไซร้จงให้สัททสัญญาสาธุการขึ้นให้พร้อมกัน เทอญ.

(สาธุ)

 

แบบกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ,

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต สัมมา, -สัมพุทธัสสะ.

สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ. อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต (อิตถันนามัสสะ) ทะเทยยะ, กะฐินัง อัตถะริตุง. เอสา ญัตติ.

สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ. อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต (อิตถันนามัสสะ), เทติ, กะฐินัง อัตถะริตุง. ยัสสายัสฺมะโต ขะมะติ,อิมัสสะ กะฐินะทุสสัสสะ, อายัสฺมะโต (อิตถันนามัสสะ), ทานัง, กะฐินัง อัตถะริตุง, โส ตุณฺหัสสะ, ยัสสะ นักขะมะติ, โส ภาเสยยะ.

ทินนัง อิทัง สังเฆนะ, กะฐินะทุสสัง อายัสฺมะโต (อิตถันนามัสสะ), กะฐินัง อัตถะริตุง. ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสฺมา ตุณฺหี, เอวะเมตัง, ธาระยามิ.

หมายเหตุ ในวงเล็บ อิตถันนามัสสะ นั้น ให้ใส่ชื่อผู้ครองกฐินแทน

กฐิน: บทฝึกวิถีชีวิตประชาธิปไตย
บนฐานแห่งการให้และการร่วมมือ2

ขอเจริญพร ท่านรองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

อาตมภาพขออนุโมทนา ในกุศลเจตนาของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ได้ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี และพุทธสมาคมจังหวัดสุพรรณบุรี ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงความมีจิตใจห่วงกังวล และมีความสนใจในการรักษาและสืบทอดประเพณีการทอดกฐิน ให้ประเพณีนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามความมุ่งหมายเดิมที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงการปรับปรุงแก้ไขประเพณีในส่วนที่อาจจะเคลื่อนคลาดไปแล้วด้วย

ในเรื่องของประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น การที่จะรักษาสืบทอด หรือปรับปรุงแก้ไข ข้อสำคัญจะต้องเข้าใจความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของตัวประเพณีนั้นเป็นข้อแรกก่อน นอกจากตัวความหมายที่เป็นสาระสำคัญแล้ว ก็จะต้องรู้จักรูปแบบของประเพณีนั้นด้วย

รูปแบบนี้แยกได้เป็น ๒ ส่วน คือ รูปแบบที่เป็นส่วนของเดิมอันเป็นพื้นฐาน และรูปแบบที่เป็นส่วนขยายเพิ่ม ตลอดจนพอกเข้ามาภายหลัง

ความเป็นมาและเจตนารมณ์ของกฐิน

เรื่องกฐินนี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เราต้องเข้าใจให้ครบ คือ จะต้องรู้ทั้งตัวความหมาย สาระสำคัญ เจตนารมณ์ และรู้รูปแบบเดิมและรูปแบบที่ขยายเพิ่ม

รูปแบบเดิม หมายถึงรูปแบบที่เป็นพุทธบัญญัติ เป็นพระวินัย เป็นส่วนที่ต้องรักษาไว้ รูปแบบนี้จะควบคู่ไปกับความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ หมายความว่า รูปแบบเดิมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่จะรักษาความมุ่งหมายที่เป็นสาระไว้ เป็นธรรมดาว่า เนื้อหาสาระจะต้องอยู่ด้วยรูปแบบเป็นเครื่องรักษา แต่ถ้ารูปแบบไม่มีสาระ รูปแบบนั้นก็หาประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะว่าเนื้อหากับรูปแบบเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน ตัวแท้ที่เราต้องการ คือเนื้อหาสาระ ความหมาย เจตนารมณ์

นอกจากรูปแบบเดิมแล้ว ยังมีรูปแบบบางส่วนที่ขยายเพิ่มพูนขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของกาลเทศะ โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณี อันนี้เราจะต้องเข้าใจและแยกออกให้ได้ว่าอันไหนเป็นส่วนขยายส่วนพอกส่วนเพิ่ม หรือแม้แต่เป็นเนื้องอก

สำหรับเรื่องกฐิน เราก็เอาหลักการนี้เข้ามาจับ แต่อาตมภาพเข้าใจว่าที่ประชุมนี้ได้ร่วมการสัมมนามาทั้งวัน คงมีความเข้าใจพอสมควรแล้ว ในที่นี้เพียงแต่มาทบทวนกันเล็กน้อย

กฐินนั้น ความจริงเป็นกิจหน้าที่ของสงฆ์ คือเป็นงานที่พระสงฆ์จะต้องทำ เดิมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ญาติโยมเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ญาติโยมเข้ามาร่วมนั้น เป็นเรื่องภายหลัง

หน้าที่ของพระสงฆ์ที่เรียกว่ากฐินนี้ เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการจำพรรษา พูดถึงเรื่องการจำพรรษาก็โยงไปถึงเรื่องฤดูกาลที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ หมายความว่าพระสงฆ์นั้นจำพรรษาอยู่ประจำที่ในฤดูฝน

ฤดูฝนนั้นมี ๔ เดือน พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์จำพรรษาในฤดูฝนนั้น โดยอยู่แค่ ๓ เดือน อันนี้คือข้อสังเกตประการแรก ฤดูฝน ๔ เดือน บัญญัติให้อยู่ประจำที่ ๓ เดือน แสดงว่ายังเหลืออีกเดือนหนึ่งจึงจะครบตลอดฤดูฝน อีกเดือนหนึ่งนี้จะเหลือไว้ทำไม ปรากฏว่าท่านเหลือไว้เป็นเวลาสำหรับพระสงฆ์จะได้หาจีวร ทำจีวร

ชีวิตของพระสงฆ์ โดยเฉพาะในสมัยโบราณนั้น คือชีวิตของการจาริก ท่านบัญญัติให้จำพรรษาในฤดูฝน เพราะว่าในฤดูฝนไม่สะดวก ไม่เหมาะกับการเดินทาง พอหมดระยะเวลาที่อยู่กับที่ในฤดูฝนแล้ว ก็ออกจาริกกันต่อไป ในการจาริกนี้ท่านควรจะเตรียมตัวกันให้พร้อม มีบริขารอะไรที่ควรเตรียมก็เตรียมไว้เสีย สิ่งที่จะต้องเตรียมอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ จีวร เหลือเวลา ๑ เดือนไว้สำหรับหาจีวร พระแต่ละองค์มีหน้าที่ที่เป็นเรื่องของตัวเองในการที่จะต้องหาจีวร ทำจีวร

เพราะปรารภเรื่องนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเรื่องกฐินขึ้นมาในช่วงเวลานี้ คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการหาจีวรทำจีวรของพระสงฆ์ โดยยกเอาเรื่องการหาจีวรทำจีวรนี้ขึ้นมาเป็นกิจกรรมของสงฆ์ส่วนรวม กำหนดให้พระสงฆ์ที่หาจีวรทำจีวรสำหรับตนเอง แต่ละองค์นี้ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมส่วนรวมขึ้นมาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของการหาจีวรทำจีวรเหมือนกัน ซึ่งเรียกชื่อพิเศษว่า กฐิน แต่แทนที่จะเป็นการหาจีวรทำจีวรสำหรับตนเอง ก็เป็นการช่วยกันหาผ้าของส่วนรวมที่จะเอามาตกลงกันมอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ให้เป็นผลของความสามัคคี

ถ้ามองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า พระพุทธเจ้าจะทรงพิสูจน์ความสามัคคีของพระสงฆ์ที่อยู่ด้วยกันมาตลอดเวลา ๓ เดือน ว่ามีความพร้อมเพรียงปรองดองกันหรือไม่ เพราะจะต้องมาทำกิจกรรมร่วมกันในการที่จะหาผ้ากฐินนี้ขึ้นมา และเสร็จแล้วก็ต้องมามอบให้แก่พระองค์หนึ่ง โดยต้องมีความยินยอมพร้อมเพรียงตกลงกันได้ และนอกจากพิสูจน์ความสามัคคีที่มีอยู่แล้วก็จะได้เป็นเครื่องผูกใจกันไว้อีกด้วย เพราะว่าในโอกาสที่จะแยกย้ายกันไปก็ได้มาพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันหาจีวรขึ้นมาแล้วถวายให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งบอกว่าเป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตร มีความประพฤติดีงาม มีความสามารถ เมื่อต่างก็มีคุณสมบัติดีอย่างนี้ องค์ไหนจีวรเก่าก็ถวายองค์นั้นไป

เรื่องของกฐินก็มีสาระสำคัญอยู่ตรงนี้ คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาจีวร ทำจีวร แต่แทนที่จะเป็นเรื่องว่าแต่ละองค์ทำให้ตัวเอง ท่านก็ให้มีกิจกรรมของส่วนรวมขึ้นมา ในการที่จะให้พระที่จำพรรษาทั้งวัดมาพร้อมเพรียงกันหาและทำจีวรให้แก่สมาชิกในชุมชนของตน

ตอนที่จะเป็นกฐิน ก็คือตอนที่ว่าพระทั้งหมดที่จำพรรษาด้วยกันในวัดนั้น ตลอดเวลา ๓ เดือนนั้น หาผ้าได้แล้วก็มาประชุมกัน เอาผ้านั้นมาเข้าที่ประชุม ตามระบบการอยู่ร่วมและดำเนินกิจการร่วมกันของสงฆ์ ที่ท่านเรียกว่าสังฆกรรม คือ งานของส่วนรวมกล่าวคือสงฆ์ เมื่อเข้าที่ประชุมแล้วก็มาตกลงกันว่าภิกษุรูปใดในหมู่ของตนนั้นเหมาะสมควรจะได้จีวร อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่าพิจารณาถึงความสามารถ และความประพฤติ เมื่อดูแล้วเห็นว่าองค์นี้คุณสมบัติอื่นท่านก็มีอยู่แล้ว ยังมีจีวรเก่าที่สุดด้วย ก็เสนอขึ้นมา และเมื่อเห็นชอบ ที่ประชุมก็มีมติตกลงกันว่ามอบจีวรนั้นให้องค์นี้ไป

เมื่อมอบผ้าให้องค์นั้นไปแล้ว องค์ที่ได้รับผ้าจะต้องทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวและเอากลับมาแจ้งแก่ที่ประชุมให้ทราบ ตกลงว่าพระองค์เดียวได้รับมอบผ้าจากที่ประชุม ก็ไปทำจีวร แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่องค์เดียวทำโดดเดี่ยวหรอก ให้องค์เดียวทำให้เสร็จก็จริง แต่ในเวลาทำนั้นทุกองค์ต้องมาช่วยกันทำ ท่านบอกว่าพระทุกรูปที่จำพรรษาร่วมกันนั้น ไม่ว่าเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย พรรษามาก พรรษาน้อย ต้องมาช่วยกันทำจีวรให้พระองค์นี้ คือ ตอนนี้เรารู้แล้วว่า จีวรเป็นของพระองค์นี้ แต่เราก็มาช่วยกันทำ

พอทำเสร็จแล้วก็นำเข้าที่ประชุมอีก พระที่ได้รับมอบผ้านั้นก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตนได้ทำถูกต้อง ครบกระบวนการของการทำผ้ากฐินแล้ว ที่ประชุมก็อนุโมทนา คือแสดงความเห็นชอบ เมื่อที่ประชุมแสดงความเห็นชอบด้วยแล้ว ก็เป็นอันว่าจบกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เรียกว่า “กรานกฐิน”

ในที่นี้จะไม่แยกแยะอธิบายว่าทำไมถึงเรียกว่า กฐิน ทำไมถึงเรียกว่ากรานกฐิน เป็นรายละเอียด คงได้ฟังกันมาแล้ว

รวมความก็คือว่า พระองค์ที่ได้รับมอบหมายผ้าจากที่ประชุมไปทำผ้าจีวร และก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระในวัดนั้นทุกองค์ จนกระทั่งทำกิจขั้นสุดท้ายเสร็จแล้ว ก็ไปแจ้งต่อที่ประชุมให้ที่ประชุมรับทราบเพื่อขอความเห็นชอบร่วมกัน

เมื่อได้หาผ้าและทำจีวรร่วมกันให้แก่พระองค์หนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าพระองค์เดียวเท่านั้นที่ได้รับผ้ากฐินไป องค์นี้สบาย เรื่องที่ว่ามีเวลาจะหาจีวรทำจีวร ๑ เดือน องค์นี้เสร็จแล้ว แต่องค์อื่นยังไม่เสร็จ องค์ที่ยังไม่เสร็จ อาจจะมัวยุ่งมาช่วยองค์นี้อยู่ เวลาเหลือน้อย แต่ก็เบาใจได้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงวางพุทธบัญญัติเรียกว่า อานิสงส์กฐิน ว่าพระที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม มาทำการกรานกฐินได้อนุโมทนาเสร็จแล้ว ก็ให้ได้รับอานิสงส์ คือสิทธิพิเศษต่างๆ หลายประการ ซึ่งเอื้อต่อการที่จะหาและรวบรวมผ้าทำจีวร รวมทั้งขยายเวลาที่จะหาจะทำจีวรออกไปอีก ๔ เดือน แต่ละองค์ได้สิทธิพิเศษขยายเวลาออกไป แต่ก่อนมีสิทธิแค่ท้ายฤดูฝน คือ ถึงกลางเดือน ๑๒ ก็หมดสิทธิ แต่เพราะมัวไปช่วยเขา ทำเพื่อแสดงความสามัคคี ตอนนี้พอทำเสร็จแล้ว ตัวเองก็ได้สิทธิพิเศษขยายเวลาออกไป นี้คือการให้ความยอมรับและสนับสนุนต่อการที่มาแสดงน้ำใจกันในเรื่องของส่วนรวม

รวมความว่า กฐินเป็นเรื่องของกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เป็นส่วนรวม เรียกว่า เป็นการพิสูจน์ความสามัคคีและเป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน เป็นการผูกใจกันไว้ ต่อจากนี้ก็จะแยกย้ายกันไป แต่ก่อนจะไปก็ได้แสดงน้ำใจต่อกันไว้อย่างดี มีความพร้อมเพรียง สามัคคีกัน

กฐินขยายผล กลายเป็นกิจกรรมของประชาชน

ในการที่จะเสร็จเป็นกฐินนั้น มีกิจกรรมสำคัญแยกได้เป็นสองตอน ได้แก่

  1. ตอนเข้าที่ประชุม ซึ่งมี ๒ ช่วง คือ ประชุมมอบผ้ากฐินให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งไป และเมื่อพระทั้งวัดไปช่วยกันทำจีวรเสร็จแล้วก็มาประชุมกันอีก พระที่ได้จีวรก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกิจกรรมที่สำเร็จแล้ว และที่ประชุมก็อนุโมทนา กับ
  2. ตอนนอกที่ประชุม ซึ่งก็มี ๒ ช่วงเหมือนกัน คือ การหาผ้ามาก่อนมอบ กับตอนมอบกันแล้วก็ไปทำจีวร

กิจกรรม ๒ อย่างนี้ เดิมเป็นหน้าที่ของพระ ตามพุทธบัญญัติ พระต้องทำหมด แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเปิดโอกาสไว้ในพุทธบัญญัติว่า ผ้าที่เอามามอบให้ จะเป็นผ้าที่ทำมาเสร็จแล้วก็ได้ หมายความว่า มีญาติโยมนำมาถวายก็ได้ แต่ต้องถวายได้มาในวันนั้น และเอามามอบกันในที่ประชุม

ตรงนี้แหละ คือจุดที่แยกเป็น ๒ ตอน ตอนที่เป็นเรื่องของที่ประชุม คือตอนมอบผ้าและตอนอนุโมทนาเป็นเรื่องของพระสงฆ์โดยแท้ ส่วนอีกตอนหนึ่งที่เป็นเรื่องของการหาผ้าและทำผ้า ท่านขยายกว้างออกไป คือนอกจากพระสงฆ์จะสามัคคีกันเองแล้ว ถ้าคฤหัสถ์จะศรัทธาและร่วมใจ ก็ให้คฤหัสถ์เข้ามาสามัคคีด้วยได้ คือ เข้ามาร่วมในเรื่องกฐินนี้ ในส่วนของการเอาจีวรมาถวายพระสงฆ์

แต่ตรงนี้ขอย้ำว่า ญาติโยมพุทธศาสนิกชนนั้นต้องมีศรัทธาของเขาเอง ต้องเกิดจากน้ำใจของเขาเอง พระสงฆ์จะไปบอกเขาไม่ได้เป็นอันขาด จะไปพูดเลียบเคียงทำเลศนัยไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าไปบอกว่าวัดฉันยังไม่มีใครมาทอดกฐิน แล้วเขามาทอดกฐิน กฐินนั้นก็เป็นโมฆะ จะไปแสดงอะไรก็ตามที่เป็นเลศนัยทำให้เขามาทอดกฐิน ผิดทั้งนั้น ทำให้การกรานกฐินเป็นโมฆะ

การที่ญาติโยมจะมีน้ำใจศรัทธาและมีความสามัคคี ก็หมายความว่า พระในวัดนั้น ต้องมีความประพฤติดี มีความสามัคคี ปฏิบัติถูกต้องตามศีลาจารวัตรที่ทำให้ญาติโยมมีศรัทธาเลื่อมใส เขาจึงอยากจะร่วมมือช่วยเหลือโดยเอาผ้ามาถวาย

ในส่วนที่ญาติโยมทำได้ แสดงสามัคคีได้ โดยเอาผ้ามาถวายนี่แหละ ก็จึงทำให้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ทำต่อกันมาจนขยายตัวเป็นประเพณีทอดกฐิน ซึ่งเราเรียกว่าไปทอดกฐิน การทอดกฐินก็เลยเป็นเรื่องของคฤหัสถ์เข้ามามีส่วนด้วย ตกลงก็จึงมี ๒ ส่วน คือส่วน กรานกฐิน เป็นเรื่องของพระ และส่วน ทอดกฐิน เป็นเรื่องของคฤหัสถ์ คือการเอาผ้ากฐินไปถวายสงฆ์ ถวายเป็นของส่วนรวม ถวายเป็นของกลาง

เวลาไปถวายตัวผ้ากฐิน ซึ่งเป็นแกนของเรื่อง ที่เรียกว่า องค์กฐิน นั้น จะต้องไม่ถวายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เอาไปวางไว้ต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ท่านก็ไปตกลงกันเองในที่ประชุมว่าจะมอบให้แก่พระรูปใด

สาระสำคัญของกฐินนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องของความสามัคคีในพระสงฆ์แล้วขยายออกไปสู่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ โดยเปิดโอกาสให้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ได้มาร่วมแสดงความสามัคคีด้วย และการที่ฝ่ายคฤหัสถ์จะมาแสดงความสามัคคีด้วยนั้น ก็มีผลย้อนกลับในแง่ที่เป็นทั้งการย้ำเตือน และการพิสูจน์ ถึงการที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติดีสามัคคีกันอยู่ก่อน

เป็นอันว่า ตอนนี้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์มาสามัคคีกับพระสงฆ์แล้ว ต่อมาพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ก็สามัคคีกันเองอีก แทนที่ว่าคนเดียวมาถวายก็ไปร่วมกันทำอย่างที่เรานิยมมีกฐินสามัคคี ตลอดจนมีประเพณีที่เรียกว่าจุลกฐิน เพื่อแสดงความสามัคคีให้มากขึ้น โดยต้องทำทุกอย่างให้เสร็จในวันเดียว ตั้งแต่นำผ้ามาปั่นเป็นด้าย เอาด้ายนั้นมาทอเป็นผ้า เอาผ้านั้นมาซักมาเย็บมาย้อมเป็นจีวร ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว และถวายให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง เรียก จุลกฐิน ล้วนเป็นเรื่องของการสามัคคีทั้งนั้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสามัคคีข้ามถิ่น คือ พุทธศาสนิกชนในถิ่นนี้ถือตัวว่าเป็นเจ้าของวัดนี้ เป็นศรัทธาของวัดนี้ ก็ไปทอดกฐินที่วัดอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดของตำบลนั้น เป็นการแสดงน้ำใจต่อวัดนั้น และต่อชาวตำบลอีกตำบลหนึ่งนั้น บางทีก็ข้ามจังหวัดอย่างที่ท่านทั้งหลายมาทอดนี้ เป็นการแสดงน้ำใจสามัคคีที่ขยายวงกว้างออกไป สาระสำคัญของกฐินจึงอยู่ที่การแสดงออกซึ่งความสามัคคี

รักษาสาระและเจตนารมณ์ไว้
แล้วพัฒนาประเพณีให้มีประโยชน์ยิ่งขึ้นไป

ในการทอดกฐินนั้น สิ่งสำคัญก็คือตัวผ้าผืนเดียวที่ถวายให้พระท่านเอาไปตกลงมอบกัน ต่อมาเราก็คิดจะช่วยอนุเคราะห์ให้พระสงฆ์ได้มีความสะดวกในความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ ด้วย ก็เลยเอาวัตถุ ปัจจัย หรือบริขารอื่นๆ ไปถวายด้วย เพิ่มเข้าไปเป็นส่วนประกอบ โดยเอามาถวายเพิ่มจากผ้าที่เป็นองค์กฐิน เรียกว่า บริวารกฐิน ดังจะเห็นในคำถวายผ้ากฐินว่า “ถวายผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวาร”

ของที่เป็นบริวารนี่แหละเป็นส่วนที่เป็นเนื้องอกขยายออกไปๆ ไปๆ มาๆ คนถวายกฐินไม่รู้ว่าตัวกฐินอยู่ที่ไหน หลายคนยังไม่รู้เลยว่าตัวกฐิน คืออะไร ไปมองที่บริวารกฐินเป็นตัวกฐิน ตลอดจนทอดกฐินเพื่อสร้างโน่นสร้างนี่ เพื่อเอาเงินเอาทอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ขยายพอกโตออกไป ตลอดจนกระทั่งว่าจะได้มีโอกาสไปเที่ยวกัน กลายเป็นกฐินเที่ยว กฐินทัศนาจร

อย่างไรก็ตาม ถ้าสาระยังอยู่ ส่วนประกอบอย่างนี้เมื่อรู้จักจัดทำให้ดี ก็ไม่เสียหายอะไร หมายความว่าต้องทำให้อยู่ในขอบเขต คืออย่าให้เป็นเรื่องรื่นเริงสนุกสนานจนเลยเถิด จนกระทั่งออกนอกธรรมไป กลายเป็นสุรา กลายเป็นการพนันไปก็เสียหาย ข้อสำคัญคือจะต้องรักษาความหมายที่แท้ และเจตนารมณ์ของกฐินเอาไว้ และจัดกิจกรรมเสริมที่เป็นประโยชน์ชนิดที่สอดคล้องกัน

ถ้าหากว่าสิ่งที่มีขึ้นมาเป็นเครื่องประกอบองค์กฐิน ที่เรียกว่าบริวารกฐินเหล่านี้ จะเป็นส่วนเสริมให้กฐินมีความหมายมีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยที่เราเข้าใจสาระสำคัญคือความสามัคคีและแสดงออกโดยการให้แก่กัน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี

ขอเสนอว่า นอกจากสิ่งของที่เป็นบริวารกฐิน เราอาจจะมีกิจกรรมที่เป็นบริวารกฐินขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นเราไปถิ่นโน้น เขามีความต้องการอะไร มีความขาดแคลนอะไร เราควรจะช่วยเหลือสงเคราะห์อะไร เราก็นำไปพร้อมกับกฐิน จัดกิจกรรมที่เป็นบริวารกฐินขึ้นมา ไม่ใช่ไปเกื้อกูลเฉพาะพระสงฆ์อย่างเดียว แต่ไปให้ความหมายและทำประโยชน์แก่ท้องถิ่นด้วย

ความหมายนี้มีมาแต่โบราณ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพุทธศาสนิกชนถือว่าวัดในถิ่นของตัวเองนั้นเป็นวัดของตน เป็นวัดของหมู่บ้านของตน ของตำบลของตน ของอำเภอของตน ทีนี้เวลาไป เราไม่ได้ไปเฉพาะที่วัด แต่มีความหมายถึงว่าเราไปสามัคคีกับชาวบ้านในถิ่นในตำบลนั้น ถ้าเราช่วยให้ท้องถิ่นนั้นมีอะไรงอกงามขึ้นมา ก็น่าจะเป็นกิจกรรมประเภทบริวารกฐินได้

ยกตัวอย่างเช่นว่า ที่ตำบลนั้นมีความขาดแคลนในเรื่องนี้ หรือมีความต้องการในเรื่องนี้ หรือควรจะได้มีการพัฒนาในเรื่องนี้เป็นประโยชน์อยู่ เราก็จัดตัวกฐินพร้อมทั้งกิจกรรมบริวารกฐินในรูปที่ว่าไปช่วยเหลือสงเคราะห์หรือไปทำอะไรเป็นการให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น อันนี้ อาตมภาพก็ขอเสนอไว้ คือให้กฐินขยายกว้างออกไปในแง่ของ บริวารกฐิน ว่า นอกจากมุ่งกันในด้าน ของบริวาร แล้ว ก็ให้หันมาสนใจในแง่ของการจัดกิจกรรมบริวาร ให้มีคุณค่าอย่างแท้จริงด้วย

ที่พูดมานี้เป็นการเน้นความหมายอย่างง่ายๆ คือความสามัคคีและโยงต่อมาถึงเรื่องที่เราจัดทำเห็นๆ กันอยู่ คือ เรื่องบริวารกฐิน ทั้งด้านของบริวารและกิจกรรมบริวาร โดยขอให้สนใจพิจารณาทบทวนปรับปรุงกันในเรื่องกิจกรรมบริวาร นี้เป็นความหมายระดับพื้นๆ ที่แยกเป็นส่วนๆ

แต่ถ้าจะพูดให้ได้ความหมายที่ลึกลงไปจนถึงหลักการพื้นฐานที่ครอบคลุม กฐินที่เป็นกิจกรรมแห่งความสามัคคีของสงฆ์นี้ ก็มีสาระสำคัญหรือเจตนารมณ์อยู่ที่การย้ำเตือนในหลักการและฝึกปฏิบัติในวิถีชีวิตของสังคมประชาธิปไตยนั่นเอง

จะเห็นได้ชัดว่า กฐินเป็นกิจกรรมของสังคมประชาธิปไตย การกรานกฐิน ซึ่งเป็นแกนของกฐินนั้น บ่งชัดถึงความหมายนี้ และในกิจกรรมประชาธิปไตยนี้ ท่านเน้นความหมายที่สำคัญๆ คือ

- ความมีส่วนร่วม ที่มีลักษณะเป็นความร่วมมือ

- ความร่วมมือนั้น เป็นไปด้วยความสามัคคี พร้อมเพรียง ร่วมแรงร่วมใจกัน

- ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจนั้น แสดงออกในการให้และการกระทำเพื่อผู้อื่น

การแสดงออกในการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตนนั้น คนทั่วไปพร้อมที่จะทำอยู่แล้ว ไม่ต้องเน้นความหมายแง่นี้ในการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ควรฝึกฝนพัฒนาประชาธิปไตยด้วยกิจกรรมที่สมาชิกของชุมชนมาร่วมกันคิดร่วมกันแสดงออกในการให้และทำเพื่อผู้อื่น วิถีชีวิตที่ให้ความสำคัญแก่คุณลักษณะอย่างนี้ จึงจะนำสังคมประชาธิปไตยไปได้โดยเกษมสวัสดี

วันนี้เป็นวันที่มีการสัมมนา ซึ่งถือว่าเป็นวันสุกดิบ พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันทอดกฐินแล้ว การทอดกฐินนี้เราก็ทำกันไปตามประเพณี แต่อย่างน้อยก็ให้เราเข้าใจความหมาย สาระสำคัญ ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของกฐินไว้ก่อน แล้วก็พยายามทำให้เกิดผลตามความมุ่งหมายนั้นให้ได้ และต่อจากนี้ไปถ้ามีโอกาสก็ช่วยกันหาทางที่จะปรับปรุงพัฒนาเรื่องของกฐินนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับญาติโยมว่าทำอย่างไรจะให้มีความหมายเป็นประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ตามสาระที่ว่ามานั้น

วันนี้มีเวลาน้อย บัดนี้ก็ล่วงเลยเกินเวลาไปมากทีเดียว กลายเป็นบ่าย ๔ โมง ๔๐ นาทีแล้ว อาตมภาพคิดว่าจะแสดงแง่คิดไว้เพียงบางประการ ซึ่งถ้าหากว่าจะเป็นจุดที่จะทำให้มีแง่สำหรับไปต่อไปขยายให้เกิดเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าเป็นแก่นสารขึ้นมาได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำให้กฐินนี้มีความหมายต่อพระศาสนาและสังคมประเทศชาติมากยิ่งขึ้น เพราะเท่าที่เป็นมา ความหมายเดิมแท้ก็มีสาระสำคัญอยู่ที่จุดนี้

ความหมายเดิมแท้นั้นก็คือว่า กฐินนี้เป็นกิจกรรมแห่งความสามัคคีในวิถีชีวิตประชาธิปไตยของสงฆ์ ซึ่งจะเป็นเครื่องดำรงพระศาสนาให้มั่นคงอยู่ได้ และการที่พระศาสนาดำรงอยู่นั้นก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พรหมจรรย์คือพระศาสนานี้ จะดำรงอยู่ยั่งยืนก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก

บัดนี้ก็เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ได้เวลาที่จะต้องปิดประชุม ผู้ดำเนินการประชุมก็ได้มาแจ้งว่าถึงเวลาจะต้องปิด ฉะนั้น อาตมภาพคงจะได้แต่เพียงอนุโมทนาผู้ที่มาร่วมประชุมสัมมนานี้อีกครั้งหนึ่ง และขอให้เราทั้งหลาย ช่วยกันรักษาสืบทอด ความหมาย ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของกฐินสืบต่อไป ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมความสามัคคี การพัฒนาวิถีชีวิตในสังคมประชาธิปไตยที่ชอบธรรม พยายามที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เป็นบริวารของกฐินนี้ ทั้งในส่วนที่เป็นของบริวารและกิจกรรมบริวาร ให้มีความหมายและเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา แก่สังคมประเทศชาติ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมสืบไป

ในโอกาสนี้ ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งกุศลเจตนาที่ท่านทั้งหลายได้ตั้งขึ้นแล้ว ซึ่งนำมาสู่การที่ได้มาร่วมในกิจกรรมการทอดกฐิน ณ โอกาสนี้ จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษา ให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข เจริญงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน

ความรู้เรื่องวัด3

วัดคืออะไร?

วัดคืออะไร ถ้าตอบให้ง่ายที่สุด ก็ต้องว่า วัดคือที่อยู่ของพระสงฆ์ แต่คำตอบอย่างนี้ จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายตื้นและแคบเกินไป

“วัด” มีคำเรียกหลายอย่าง นอกจากคำว่าวัดเองแล้ว มีคำที่ใช้อยู่เดิมในภาษาบาลีอีก ๓ คำ คือ “อาราม” “วิหาร” และ “อาวาส”

อาราม แปลว่าสวนหรือที่รื่นรมย์ วิหารและอาวาสแปลอย่างเดียวกัน คือที่อยู่อาศัย แต่ศัพท์เหล่านี้เล็งถึงความหมายทางด้านวัตถุ หรือรูปธรรม เพื่อพูดจากันเข้าใจง่ายๆ จะถือเอาความหมายตามตัวอักษรนี้ เป็นความหมายที่แท้จริง หาเพียงพอไม่

ถ้าถือเอาคำแปลตามตัวอักษร อาราม หมายถึงสวนไหนก็ได้ อาวาสหมายถึงที่อยู่ของใครก็ได้ วิหารใช้ในความหมายที่จำกัดดีกว่าคำอื่น และส่อถึงความหมายทางนามธรรมด้วย ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องอธิบาย มิใช่เข้าใจเพียงตามตัวอักษร

การบวชเรียนของพระ มุ่งเพื่อการทำหน้าที่ของพระ มากกว่าจะมุ่งเพื่อจะได้ไปอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง การมีที่อยู่โดยเฉพาะ ก็เพื่อมุ่งให้ทำหน้าที่ได้ผลดี มากกว่ามุ่งเพียงเพื่อการอยู่

ว่าที่จริง พระสงฆ์ไม่มีที่อยู่เป็นสมบัติของท่านเองด้วยซ้ำ วัดเป็นสมบัติของใคร ควรจะได้พูดกันต่อไป หน้าที่ของพระต่างหากที่เป็นสมบัติของพระแท้จริง

ดังนั้น จะพูดถึงความหมายของวัดก็ต้องพูดถึงหน้าที่ของพระด้วย วัดจึงหมายถึงสถานที่ที่พระไปอยู่ เพื่อจะทำหน้าที่ของพระได้อย่างสมบูรณ์

หน้าที่ของพระ เรียกเป็นคำศัพท์สมัยใหม่ว่า “ศาสนกิจ” จึงอาจให้ความหมายของวัดได้ว่า สถานที่อันเหมาะสมที่พระจะอยู่อาศัย เพื่อปฏิบัติศาสนกิจให้ได้ผลดี หรืออย่างน้อย จะต้องให้ความหมายว่า วัด คือ ที่พระสงฆ์อยู่อาศัยและปฏิบัติศาสนกิจ หรือจะพูดอย่างภาษาสมัยใหม่ก็ว่า วัด คือ ที่พระสงฆ์อยู่อาศัยและใช้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติศาสนกิจ

ควรเน้นเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า คำว่าที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ ไม่ได้มีความหมายเหมือนบ้านเรือนซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวบ้าน เพราะประการแรก พระสงฆ์ไม่ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นสมบัติของตนเอง ประการที่สอง การอยู่ไม่ใช่ความหมายหลัก การปฏิบัติศาสนกิจต่างหาก เป็นความหมายหลัก แต่เพราะเป็นธรรมดาที่บุคคลจะต้องมีที่อยู่อาศัย แม้จะปฏิบัติศาสนกิจ ก็ต้องมีที่อยู่อาศัย เมื่อไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเอง ก็อยู่ในที่ทำงานหรือที่ปฏิบัติศาสนกิจนั้นแหละ คือจัดที่พักอาศัยไว้ในเขตที่ทำงาน เอาการพักอาศัยมาพิงอยู่กับการปฏิบัติศาสนกิจ จุดสำคัญให้ยืนหลักว่าศาสนกิจเป็นที่หมาย การอยู่อาศัยเป็นปัจจัยประกอบ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่อยู่เพื่อความสุขสบาย แต่อยู่เพื่อทำหน้าที่ได้

วัดมีหน้าที่อย่างไร?

หน้าที่ของพระที่เรียกว่า “ศาสนกิจ” นั้น โดยย่อมี ๓ อย่าง คือ การศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย การปฏิบัติธรรมวินัย และการเผยแผ่ธรรมวินัย

การเผยแผ่ธรรมวินัย ก็คือ การสอนผู้อื่นให้เล่าเรียนธรรมวินัย และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมวินัย ถ้ากระจายออกให้หมด จึงเป็น ๔ คือ ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย ปฏิบัติธรรมวินัย สอนผู้อื่นให้เล่าเรียนธรรมวินัย และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมวินัย แต่ถ้าย่อลงในแง่บุคคลที่เกี่ยวข้องก็มีเพียง ๒ อย่าง คือ

  • ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมวินัย (ด้วยตนเอง)
  • เผยแผ่ธรรมวินัยด้วยการสั่งสอนแนะนำ (ให้ผู้อื่นศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมวินัย)

บุคคลที่พระสงฆ์สั่งสอนแนะนำ ให้ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมวินัยนั้นมี ๒ พวก คือ พระสงฆ์ด้วยกันเองพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์หรือชาวบ้านอีกพวกหนึ่ง เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ ก็เป็นอันเริ่มก้าวข้ามเขตแดนของวัดออกมา คือ เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์หรือวัด กับชาวบ้านหรือประชาชน

โดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้าน หรือระหว่างวัดกับประชาชนนั้น เกิดจากที่มาสำคัญ ๒ อย่าง คือ

  1. การปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับประชาชน คือการเผยแผ่อบรมชาวบ้าน ให้เรียนรู้ และปฏิบัติธรรมวินัย ดังที่กล่าวมาแล้ว
  2. มีพุทธบัญญัติวางไว้เป็นวินัยของพระสงฆ์ ให้ชีวิตของพระสงฆ์ต้องผูกพันอยู่กับประชาชน ไม่อาจตัดขาดจากสังคมภายนอกได้ คือ ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ที่ชาวบ้านอำนวยให้

ทั้งสองข้อนี้สัมพันธ์กัน คือ วางไว้เพื่อให้การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์กับชาวบ้าน หรือพุทธบริษัททั้งสองฝ่าย (บรรพชิตกับคฤหัสถ์) พึ่งพาอาศัยกัน ผูกพันกันอยู่ และอำนวยประโยชน์แก่กันตามหลักพุทธพจน์ที่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

“แม้เธอทั้งหลาย ก็จงเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรม . . . จงประกาศวิธีดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ (พรหมจรรย์ - มรรค ๘) . . . แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด

“ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิต (ชาวบ้านกับพระสงฆ์) ต่างอาศัยกันและกัน โดยทางอามิสทาน (การให้สิ่งของปัจจัย ๔) กับธรรมทาน (การให้ธรรม) ดำเนินชีวิตอันประเสริฐ (พรหมจรรย์ - มรรค ๘) นี้ เพื่อสลัดโอฆกิเลส กำจัดทุกข์ให้หมดสิ้น ด้วยวิธีการดังกล่าวมานี้”4

และพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่งว่า

“สมณพราหมณ์ (พระสงฆ์และนักบวช) ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตร (ชาวบ้านที่ดี) พึงบำรุงด้วยฐานะ ๕ คือ

๑) ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา

๒) ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา

๓) ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา

๔) ด้วยความเต็มใจต้อนรับ

๕) ด้วยจัดหาอามิสทาน

“สมณพราหมณ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน เมื่อได้รับการบำรุงจากกุลบุตร โดยฐานะ ๕ อย่างแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตร โดยฐานะ ๖ อย่าง คือ

๑) สอนให้ละเว้นจากความชั่ว

๒) แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี

๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม

๔) สอนสิ่งที่เขายังไม่เคยได้เล่าเรียนสดับฟัง

๕) ชี้แจงสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังแล้ว ให้เข้าใจชัดเจน

๖) บอกทางดำเนินชีวิตให้ประสบสุขสวรรค์”5

เมื่อสรุปความตามนี้ โดยยึดบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก จะเห็นว่า พระสงฆ์กับชาวบ้าน มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ต่างฝ่ายต่างให้ ต่างฝ่ายต่างรับ ซึ่งเรียกว่าเป็นหน้าที่ต่อกัน

พระสงฆ์สัมพันธ์กับชาวบ้าน โดย

  1. ให้ธรรม คือเครื่องบำรุงเลี้ยงชีวิตทางจิตใจ
  2. รับสิ่งของ คือเครื่องบำรุงเลี้ยงชีวิตทางกาย

ชาวบ้านสัมพันธ์กับพระสงฆ์ โดย

  1. ให้สิ่งของ คือเครื่องบำรุงเลี้ยงชีวิตทางกาย
  2. รับธรรม คือเครื่องบำรุงเลี้ยงชีวิตทางจิตใจ

หน้าที่ของพระสงฆ์ต่อชาวบ้าน ก็คือ หน้าที่ของวัดต่อประชาชน เมื่อมองจากด้านของชาวบ้านเข้ามา ก็จะเห็นว่า ชาวบ้านมีความเกี่ยวข้องกับวัด หรือไปวัด ด้วยกิจ ๒ อย่าง คือ

  • ไปอุปถัมภ์บำรุงวัดและพระสงฆ์
  • ไปแสวงธรรม ด้วยการเล่าเรียนศึกษา และประกอบกิจกรรมที่เป็นกุศล

เมื่อพูดมาถึงตอนนี้ ก็สรุปได้ว่า ศาสนกิจ อันได้แก่หน้าที่การงานหรือกิจกรรมของพระสงฆ์นั้น จัดเป็น ๒ ประเภท พูดสั้นๆ ว่า งานหลักของวัดมี ๒ อย่าง คือ

  1. กิจการในหมู่พระสงฆ์เอง
  2. กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชน

เป็นอันว่า วัด มิใช่แต่จะเป็นที่พระสงฆ์อยู่อาศัยและปฏิบัติศาสนกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สำหรับชาวบ้านหรือประชาชนใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลอีกด้วย

วัดเกิดขึ้นเมื่อไร?

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้และเริ่มบำเพ็ญพุทธกิจแล้ว ย่างเข้าปีที่ ๒ พระองค์ได้เสด็จถึงเมืองราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ ทรงหยุดประทับที่ป่านอกเมือง พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธทรงทราบข่าวและได้เสด็จมาเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารสดับธรรมแล้วได้ทรงเลื่อมใส ประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ครั้นแล้วได้ทรงพระราชดำริหาสถานที่อันเหมาะสมสำหรับพระพุทธเจ้าจะได้เสด็จประทับ ในที่สุดได้ทรงรำลึกถึงพระราชอุทยานเวฬุวันว่าเป็นสถานที่อันเหมาะสมต้องตามพระราชดำริ จึงได้ทรงประกอบพิธีถวายพระราชอุทยานเวฬุวันแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระราชอุทยานเวฬุวันก็ได้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นต้นเรื่องให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการมีวัดเป็นที่อยู่อาศัยแก่พระสงฆ์สืบมา

ดำรัสของพระเจ้าพิมพิสารในการถวายครั้งนั้นว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถวายเวฬุวันอุทยานนี้ แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข”

พุทธดำรัสอนุญาตการมีวัดว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม”6

วัดที่มีลักษณะเหมาะสมเป็นอย่างไร?

พระราชดำริของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งทรงหาสถานที่เหมาะสมให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้านั้น แสดงลักษณะของวัดที่ดี ดังนี้

“พระผู้มีพระภาค จะพึงประทับอยู่ ณ ที่ไหนดีหนอ ซึ่งจะเป็นที่ไม่ไกลเกินไป และไม่ใกล้เกินไป จากชุมชนชาวบ้าน สะดวกแก่การคมนาคม เป็นที่ซึ่งประชาชนผู้ต้องประสงค์จะเข้าไปเฝ้าได้ กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด ปราศจากเสียงอึกทึก ไม่เซ็งแซ่จอแจ ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด เหมาะสมแก่การแสวงวิเวก”7

สถานที่ซึ่งมีลักษณะเหมาะสมครบถ้วนตามพระราชดำรินี้ ก็คือ เวฬุวนอุทยาน จึงได้ตกลงพระทัยถวาย ดังได้กล่าวมา

ลักษณะสถานที่อันเหมาะสมที่จะเป็นวัด ตามพระราชดำริของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งมีวัดเวฬุวันเป็นตัวอย่างนี้ ได้เป็นที่นิยมถือเป็นหลักเกณฑ์สำหรับกำหนดคุณสมบัติของวัดที่ดีสืบมา

มีข้อที่น่าสังเกตว่า วัดสำคัญๆ ทั้งหลายในสมัยพุทธกาล ล้วนเป็นอาราม คือ เป็นสวนประเภท วนะ หรือ วนอุทยานทั้งนั้น

อย่างไรก็ดี เวฬุวันที่เป็นวัดแรกนี้ เป็นแต่เพียงอาราม ไม่ปรากฏว่ามีวิหาร คืออาคารที่อยู่อาศัย ซึ่งสร้างถวายโดยเฉพาะดังนั้น พุทธานุญาตในเรื่องการสร้างวัดจึงยังไม่จบเพียงแค่นี้

ผู้ที่เป็นต้นคิดทำให้มีพุทธานุญาตในการสร้างอาคารวัดเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ ก็คือ เศรษฐีใหญ่ประจำเมืองราชคฤห์ นครหลวงของพระเจ้าพิมพิสารนั่นเอง

วัดเป็นสมบัติของใคร?

มีเรื่องราวเป็นมาว่า ในระยะแรกๆ มีคณะสงฆ์ใหม่ๆ พระภิกษุทั้งหลายเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าดงบ้าง ตามโคนไม้บ้าง บนภูเขาบ้าง ซอกเขาบ้าง ถ้ำบ้าง ป่าช้าบ้าง กลางแจ้งบ้าง ตลอดกระทั่งลอมฟางก็มี ท่านเหล่านั้นล้วนแต่เป็นผู้มีความประพฤติงดงาม น่าเลื่อมใส วันหนึ่งท่านเศรษฐีไปอุทยานแต่เช้า ได้เห็นพระภิกษุเหล่านั้นเดินออกมาจากสถานที่ต่างๆ มีกิริยาอาการสงบงาม จึงเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก และได้เข้าไปหาพระภิกษุเหล่านั้น กล่าวปวารณาว่าจะสร้างวิหาร(อาคารที่อยู่อาศัย) ถวาย โดยตั้งเป็นคำถามว่า

“พระคุณเจ้าที่เคารพ ถ้าข้าพเจ้าสร้างวิหารถวาย พระคุณเจ้าจะอยู่ในวิหารของข้าพเจ้าหรือไม่?”

พระภิกษุเหล่านั้นตอบว่า พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงอนุญาตวิหาร แล้วรับเรื่องไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุใช้วิหารเป็นที่อยู่อาศัยได้

เศรษฐีได้ทราบพุทธานุญาตแล้ว ก็ดีใจ ได้สร้างวิหารขึ้น ๖๐ ห้อง เสร็จแล้วทูลถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีปฏิบัติ ดังข้อความในคัมภีร์ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติต่อวิหารเหล่านั้นอย่างไร?”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

“ท่านจงถวายวิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์ทั่ว ๔ ทิศ ทั้งที่มาแล้ว และยังมิได้มา”8

หลักการถวายวัดเช่นนี้ ได้เป็นมาตรฐานที่ถือปฏิบัติตลอดมา

เมื่อมีพุทธานุญาตในเรื่องวิหารแล้ว ก็มีพุทธานุญาตเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้และสิ่งก่อสร้างส่วนประกอบต่างๆ ติดตามมา เช่น พุทธานุญาตให้มีเตียง ตั่ง ม้านั่ง หมอน ฟูก หอฉัน ท่อระบายน้ำ โรงไฟ เป็นต้น

วัดที่สร้างอย่างสมบูรณ์แบบ และมีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่วัดเชตวัน ที่อนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย

อนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นชาวเมืองสาวัตถี แต่เป็นเพื่อนสนิท กับเศรษฐีใหญ่แห่งเมืองราชคฤห์ ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และได้เลื่อมใสกลายเป็นอุบาสกในคราวที่เดินทางมาธุรกิจและเยี่ยม เยียนเศรษฐีผู้เป็นเพื่อนที่เมืองราชคฤห์นั่นเอง เมื่อกลายเป็นพุทธสาวกแล้ว อนาถปิณฑิกเศรษฐีได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย งานชิ้นสำคัญของท่านผู้นี้ก็คือ การสร้างวัดเชตวัน หรือเชตวนาราม ถวายแก่สงฆ์

ในการสร้าง อนาถปิณฑิกเศรษฐีได้ใช้หลักการในการหาสถานที่ที่เหมาะสมอย่างเดียวกับพระเจ้าพิมพิสาร คือที่ไม่ไกลและไม่ใกล้นักจากชุมชนชาวบ้าน เป็นต้น อย่างที่กล่าวมาแล้ว สถานที่ก็เป็นอาราม คือสวนเจ้าเชต ที่กว้างขวางใหญ่โต และมีวิหาร พร้อมด้วยสิ่งก่อสร้างส่วนประกอบอื่นๆ อย่างครบบริบูรณ์ เช่น ซุ้มประตู หอฉัน โรงไฟ กัปปิยกุฎี วัจกุฎี ที่จงกรม โรงจงกรม ศาลาบ่อน้ำ

ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี และมณฑป เป็นต้น๑ วัดเชตวันเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาบ่อยที่สุด คือ ๑๙ พรรษา ในจำนวนพรรษาที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจทั้งหมด ๔๕ พรรษา พระสูตรหรือพระธรรมเทศนาส่วนมากในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสที่วัดพระเชตวันนี้

วัดมีบทบาทในสังคมไทยอย่างไร?

ย้อนกลับไปพูดถึงหน้าที่ของวัด ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า วัดเป็นทั้งสถานที่ดำเนินกิจการในหมู่ของพระสงฆ์เอง และเป็นที่ประกอบกิจกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชน กิจการและกิจกรรมเหล่านี้ อิงอยู่กับหน้าที่ หรือศาสนกิจหลักของพระสงฆ์ คือ การศึกษา การปฏิบัติธรรม และการเผยแผ่สั่งสอนประชาชน

จากการปฏิบัติกิจหน้าที่และดำเนินกิจการเหล่านี้ บทบาทของวัดได้พัฒนาขึ้นโดยลำดับตามกาลเวลา จนในที่สุด วัดได้กลายเป็นศูนย์กลางของสังคม เป็นที่รวมจิตใจของประชาชน ทำหน้าที่ทั้งทางศาสนา ทางการศึกษา ทางวัฒนธรรม และทางสังคมโดยตรง มีบทบาทที่เป็นรายละเอียดมากมาย

ในที่นี้จะตัดตอนพูดถึงเฉพาะบทบาทของวัดที่มีในสังคมไทย เท่าที่ดำเนินมาก่อนความเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก เมื่อกล่าวโดยสรุป บทบาทเหล่านั้นมีดังนี้

๑. เป็นสถานศึกษาและฝึกอบรมศีลธรรม สั่งสอนวิชาการต่างๆ เท่าที่มีในสมัยนั้นๆ ทั้งโดยตรง คือ แก่ผู้มาบวชตามประเพณี และแก่เด็กที่มาอยู่วัด และโดยอ้อม แก่ผู้มาทำกิจกรรมต่างๆ ในวัด หรือมาร่วมกิจกรรมในวัด ทั้งวิชาหนังสือและวิชาช่างต่างๆ

๒. เป็นสถานก่อกำเนิดและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เป็นที่สืบทอดวัฒนธรรม ที่รวบรวมศิลปกรรม ตลอดจนเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์

๓. เป็นสถานสงเคราะห์ ช่วยให้บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีพพร้อมไปกับได้ศึกษาเล่าเรียน เป็นที่รับเลี้ยงฝึกอบรมเด็กที่มีปัญหา เด็กอนาถา ตลอดจนผู้ใหญ่ซึ่งไร้ที่พักพิง

๔. เป็นสถานที่ปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับปัญหาชีวิต เป็นที่ระบายความทุกข์ความเดือดร้อน ความรุ้สึกคับแค้นข้องใจต่างๆ และ ปรึกษาหารือรับคำแนะนำสั่งสอนเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหา

๕. เป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท โดยอาศัยความเคารพนับถือเชื่อฟัง ทำให้พระสงฆ์สามารถทำหน้าที่ประดุจศาลตัดสินความ แต่มุ่งในทางสมัครสมานสามัคคีเป็นสำคัญ

๖. เป็นสถานบันเทิง ที่จัดงานเทศกาล งานสนุกสนานร่าเริง และมหรสพต่างๆ ของชุมชน รวมทั้งเป็นที่เล่นที่สนุกสนานของเด็กๆ

๗. เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทำหน้าที่อย่างสวน ที่ให้ความร่มรื่นสดชื่นของธรรมชาติ พร้อมไปกับให้บรรยากาศที่สงบเยือกเย็นทางจิตใจของพระศาสนา

๘. เป็นสถานที่พบปะ ประดุจสโมสร ที่ชาวบ้านบางคนนัดพบ หรือบางคนมาพบปะกันเป็นประจำ บางคนได้มีโอกาสเจอะเจอกันเป็นครั้งคราว ทำให้ไม่ลืมกันไป โดยเฉพาะเป็นที่ชุมนุมสังสรรค์สนทนาปรึกษาหารือกันในกิจการที่เหมาะสม และผ่อนคลาย

๙. เป็นสถานที่แจ้งข่าว แพร่ข่าว และสื่อสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจการของชุมชน ข่าวภายในชุมชนก็ดี ข่าวจากภายนอกชุมชน เช่นข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ของประเทศชาติบ้านเมืองก็ดี อาศัยวัดเป็นศูนย์เผยแพร่ที่สำคัญที่สุด และวัดหรือศาลาวัดเป็นที่สำหรับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนนายอำเภอ เรียกชาวบ้านหรือลูกบ้านมาประชุม หรือถือโอกาสที่มีชุมนุมในงานวัด แจ้งข่าวคราวกิจการต่างๆ

๑๐. เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชน ตลอดจนดำเนินกิจการบางอย่างของบ้านเมือง เช่น เป็นที่กล่าวปราศรัยหาเสียงของนักการเมือง ที่จัดลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือยามสงครามสมัย โบราณ เป็นที่ชุมนุมทหาร ก็มีบ่อยครั้ง

๑๑. เป็นสถานพยาบาล ที่รวบรวมสืบทอดตำรายาแผนโบราณ ยากลางบ้าน ที่รักษาผู้ป่วยเจ็บตามภูมิรู้ซึ่งถ่ายทอดสืบๆ มา

๑๒. เป็นสถานที่พักคนเดินทาง ทำหน้าที่ดุจโรงแรมฟรี สำหรับผู้เดินทางไกล โดยเฉพาะจากต่างถิ่น และไม่มีญาติเพื่อนพ้อง

๑๓. เป็นคลังพัสดุ สำหรับเก็บอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานที่วัด หรือยืมไปใช้เมื่อตนมีงาน

๑๔. เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม หรือให้บริการด้านพิธีกรรม ซึ่งผูกพันกับชีวิตของทุกคนในระยะเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ ของชีวิต ตามวัฒนธรรมประเพณี

ชุมชนไทยแต่ละชุมชน เช่น แต่ละหมู่บ้าน มีวัดประจำชุมชนของตน และต่างก็ยึดถือว่าวัดนั้นเป็นวัดของตน เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งหมดในชุมชน วัดแต่ละวัดจึงเป็นเครื่องผนึกชุมชนให้รวมเป็นหน่วยหนึ่งๆ ของสังคม วัดที่สำคัญมีปูชนียสถานที่ประชาชนเคารพอย่างกว้างขวาง ก็เป็นเครื่องรวมใจประชาชนทั้งเมือง ทั้งจังหวัด ทั้งภาค หรือทั้งประเทศ พระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ก็ได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบการรวมพลังและควบคุมทางสังคม

วัดมีฐานะและภาวะแตกต่างกันอย่างไร?

ตามกฎหมายคณะสงฆ์ในประเทศไทย (ปัจจุบัน คือ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๑) แบ่งวัดเป็น ๒ ประเภท คือ

  1. วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
  2. สำนักสงฆ์

วิสุงคาม คือ ที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองประเทศแบ่งออกจากเขตบ้านเมืองตามปกติ พระราชทานให้หรือมอบให้เป็นสิทธิแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง

วิสุงคามสีมา คือ เขตแดนของสงฆ์ ซึ่งแยกต่างหากจากบ้านเมือง หรือดินแดนของพุทธจักร แยกต่างหากจากอาณาจักร โดยมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานไว้ หรือรัฐบาลประกาศอนุญาตไว้

เดิมที วิสุงคามสีมา เป็นที่ยกเว้นจากการเก็บค่าภาษีอากร มีอภิสิทธิ์หลายประการ ดังเช่น สถานทูตเป็นตัวอย่าง แต่มาในบัดนี้ คงเทียบได้เพียงการพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่ป่าไม้หรือเหมืองแร่เป็นเขตสัมปทาน หรือการอนุญาตให้มีกรรมสิทธิ์ถือครองในที่ดินนั้นๆ โดยถูกต้องตามฐานะที่เป็นองค์การศาสนา

การพระราชทานที่ให้เป็นวิสุงคามสีมานี้ ตกมาเป็นธรรมเนียมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวัด วิสุงคามสีมา มีความสำคัญทั้งในด้านวินัยและกฎหมาย ปราชญ์ฝ่ายศาสนาในวงราชการไทยเคยชี้แจงว่า การรับพระราชทานวิสุงคามสีมา หมายถึงการเลื่อนฐานะของวัดเพื่อประโยชน์ในทางพระวินัย เพื่อจะได้มีการผูกพัทธสีมา ใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรม เปรียบเหมือนการเลื่อนฐานะของบุคคลธรรมดาจากฐานะผู้เยาว์ขึ้นเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ

หากยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ก็ยังเป็นเพียงสำนักสงฆ์ คือเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์เท่านั้น

เมื่อได้รับพระราชทานที่เป็นวิสุงคามสีมาแล้ว พระสงฆ์ก็จะผูกสีมาลงภายในให้เป็นพัทธสีมาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพัทธสีมา (เขตแดนที่สงฆ์ได้มาประชุมกันลงมติกำหนดขอบเขตไว้แล้ว) หรือเป็นอพัทธสีมา (เขตแดนที่ต้องถือตามบ้านเมือง หรือตามธรรมชาติ เพราะสงฆ์ยังไม่ได้มาประชุมตกลงไว้) ก็ตาม ก็ใช้ประกอบพิธีบวชนาค กรานกฐิน และทำสังฆกรรมอื่นๆ ได้เหมือนกัน

แต่อพัทธสีมา มีข้อเสียเปรียบตรงที่ว่า พระสงฆ์ไม่เป็นตัวของตัวเองโดยสมบูรณ์ และยากที่จะดูแลควบคุมการประชุม เพราะจะต้องให้พระภิกษุทั้งหลายที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือเมืองนั้นมีเท่าไร ต้องให้เข้าประชุมทั้งหมด ถ้าขัดข้องมาไม่ได้ เช่นเจ็บไข้ ก็ต้องมอบฉันทะมา

ถ้าหากปรากฏว่า เมื่อสงฆ์ประชุมกันอยู่ มีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในเขตนั้นไม่ได้เข้าที่ประชุม จะเป็นเพราะหลงเหลืออยู่ ไม่รู้ หรือเป็นพระอาคันตุกะเดินทางผ่านเข้ามาก็ตาม การบวช การทอดกฐิน หรือสังฆกรรมใดๆ ที่ทำอยู่นั้น ก็จะกลายเป็นโมฆะ เรียกว่าเป็นกรรมวิบัติ ถึงแม้บวชแล้ว ก็ไม่เป็นอันบวช กรานกฐินแล้ว ก็ไม่เป็นอันกราน ดังนี้เป็นต้น

เพื่อให้เป็นหลักฐานมั่นคง และควบคุมการประชุมได้โดยสมบูรณ์ จึงนิยมสีมาประเภทพัทธสีมา เมื่อสร้างวัดเป็นหลักเป็นฐานแล้ว จึงถือว่าควรมีการฝังลูกนิมิต ผูกสีมาให้เป็นที่เรียบร้อย

นอกจากวิธีแบ่งวัดอย่างที่กล่าวมาแล้ว วัดในประเทศไทยยังอาจแยกประเภทได้อีกแบบหนึ่ง คือ แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

  1. วัดหลวง หรือพระอารามหลวง
  2. วัดราษฎร์

วัดหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง (เช่น วัดสุทัศน์ฯ วัดเทพธิดาราม ฯลฯ) หรือทรงปฏิสังขรณ์ (เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดเบญจมบพิตร ฯลฯ) หรือวัดที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า เศรษฐี คฤหบดี สร้างขึ้นใหม่ หรือช่วยกันปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จากวัดเก่า มั่นคง สวยงาม เมื่อสร้างสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ได้นำความกราบบังคมทูลเกล้าถวายแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อทรงรับไว้ในพระราชอุปการะ (เช่น วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดชนะสงคราม ฯลฯ)

วัดหลวงจัดชั้นแยกออกไปอีกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นเอก (มี ๓ ชั้นย่อย คือ เอกชนิดราชวรมหาวิหาร เอกชนิดราชวรวิหาร และเอกชนิดวรมหาวิหาร) ชั้นโท (มี ๔ ชั้นย่อย คือ ชนิดวรมหาวิหาร ชนิดราชวรวิหาร ชนิด วรมหาวิหาร และชนิดวรวิหาร) และชั้นตรี (มี ๓ ชั้นย่อย คือ ชนิดราชวรวิหาร ชนิดวรวิหาร และชั้นตรีสามัญ)

วัดราษฎร์ คือ วัดที่ราษฎร จะเป็นบุคคล หรือกลุ่มชนก็ตาม ผู้มีจิตศรัทธา สร้างขึ้นไว้ในพระบวรพุทธศาสนา

ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ ก่อนที่จะเขียนบทความนี้ วัดในประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๒๔,๒๘๔ วัด แบ่งเป็นพระอารามหลวง ๑๖๖ วัด วัดราษฎร์ ๒๔,๑๑๘ วัด

ตามสถิติล่าสุดใน พ.ศ. ๒๕๓๕ วัดในประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๒๙,๓๒๒ วัด แบ่งเป็นพระอารามหลวง ๒๓๑ วัด วัดราษฎร์ ๒๙,๐๙๑ วัด

ความรู้เรื่องวัด ขอจบลงด้วยคาถาอนุโมทนา แสดงอานิสงส์ วิหารทาน คือ การสร้างวัด ดังนี้

สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ ตโต วาฬมิคานิ จ
สิรึสเป จ มกเส สิสิเร จาปิ วุฏฺฐิโย
ตโต วาตาตโป โฆโร สญฺชาโต ปฏิหญฺญติ
เลนตฺถญฺจ สุขตฺถญฺจ ฌายิตุํ จ วิปสฺสิตุํ
วิหารทานํ สงฺฆสฺส อคฺคํ พุทฺเธหิ วณฺณิตํ
ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส สมฺปสฺสํ อตฺถมตฺตโน
วิหาเร การเย รมฺเม วาสเยตฺถ พหุสฺสุเต
เตสํ อนฺนญฺจ ปานญฺจ วตฺถเสนาสนานิ จ
ทเทยฺย อุชุภูเตสุ วิปฺปสนฺเนน เจตสา
เต ตสฺส ธมฺมํ เทเสนฺติ สพฺพทุกฺขาปนูทนํ
ยํ โส ธมฺมมิธญฺญาย ปรินิพฺพาตฺยนาสโวติ.

แปลได้เนื้อความว่า

“อันวิหาร คือที่อยู่อาศัย ย่อมป้องกัน หนาว ร้อน และสัตว์ร้าย นอกจากนั้นยังป้องกัน งู เหลือบยุง และฝนในคราวเยือกเย็น อนึ่ง ลมแรงและแดดกล้า เกิดมีมา ก็กันได้

การสร้างที่อยู่อาศัยถวายแก่สงฆ์ เพื่อเป็นที่พำนัก เพื่อความสุข เพื่อบำเพ็ญฌาน และเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนา พระพุทธะทั้งหลายทรงสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุฉะนั้น บัณฑิตชน เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ที่แท้แก่ตน จึงควรสร้างวัดอันรื่นรมย์ และให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหูสูต เข้าอยู่อาศัย

อนึ่ง พึงจัดถวาย ซึ่ง ข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะ ด้วยจิตอันเลื่อมใสในพระภิกษุทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย

พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบรรเทาสรรพทุกข์ ซึ่งเมื่อเขาเข้าใจชัดแล้ว จะกำจัดกิเลสที่หมักหมมในใจได้ ดับทุกข์ดับร้อน สงบเย็นจิตใจ ตั้งแต่ในโลกนี้”9

๒. หลักของชาวพุทธ

ส่วนนี้ประกอบด้วยเนื้อหาที่มีการพิมพ์เป็นเรื่องเดี่ยวแล้ว คลิกอ่านต่อได้จากลิงก์ด้านล่างนี้

แสงเงินแสงทองของชีวิต

ธรรมะฉบับเรียนลัด

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์

1พิมพ์ครั้งแรก ในวารสารธรรมปทีป ของวัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ปีที่ ๓ เล่มที่ ๑๙ ฉบับมหาปวารณา พ.ศ.๒๕๒๐
2สัมโมทนียกถา และคำกล่าวปิดการสัมมนา เรื่อง “กฐิน : ประเพณีที่เบี่ยงเบนไป” พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แสดงในโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อัญเชิญกฐินพระราชทานไปทอด ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
3พิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือ “ทุนสร้างวัด วัดวชริรธรรมปทีป นครนิวยอร์ค ๒๑ ก.ค.๒๕๑๘”
4ขุ.อิติ. ๒๕/๒๘๗/๓๑๕
5ที.ปา.๑๑/๒๐๔๒๐๕
6วินย.๔/๖๓/๗๑
7วินย.๔/๖๓/๗๑
8วินย.๗/๒๐๒/๘๗
9วินย.๗/๒๗๑/๑๒๑
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.