พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ1

- ๑ -
พิธีกรรมสื่อวินัย

ในพระพุทธศาสนานี้ สิ่งที่เหนือกว่าพิธีกรรมยังมีอีกหลายอย่าง แต่เดี๋ยวนี้เรามองเห็นกันว่าชาวพุทธใส่ใจในเรื่องที่สำคัญๆ เหล่านั้นน้อยไปหน่อย แล้วก็มัวไปเน้นในด้านพิธีกรรมกันมากไป อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าใจว่าเรื่องพิธีกรรมนั้นไม่ใช่ไม่สำคัญ ในบางโอกาสเราน่าจะพูดกันถึงเรื่องพิธีกรรมให้ชัดลงไปว่า เราควรจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร อย่างน้อยก็จะได้เอาสิ่งที่เป็นอยู่ปรากฏอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นสื่อนำเข้าสู่สิ่งที่สำคัญยิ่งขึ้นไป

ถ้าเราไปมองว่าอย่ามาวุ่นวายในเรื่องพิธีกรรมนี้เลยไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริงของพระพุทธศาสนา แล้วเลยไม่เอาใจใส่ ก็อาจจะทำให้พลาด ในเมื่อมันเป็นของมีอยู่ปรากฏอยู่ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจความหมายถูกและปฏิบัติให้ถูก ทำด้วยความรู้ความเข้าใจ มันก็จะเป็นสื่อนำเข้าสู่สิ่งที่ถูกต้องดีงามยิ่งขึ้น จนถึงสิ่งที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น พิธีกรรมนี้ถ้าเข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง ก็จะกลับนำเข้าสู่พระพุทธศาสนาได้ดี

เหลือปราการสุดท้าย
จะทิ้งค่าย หรือจะใช้ยันเดินหน้ากลับ

เวลานี้เรารู้สึกกันว่าพระพุทธศาสนาเสื่อม หลายคนบอกว่า “มันเสื่อมจนเหลือแต่พิธีกรรม แย่แล้วพระพุทธศาสนา” ทีนี้เรามองพลิกกลับเสียใหม่ว่า พระพุทธศาสนายังเหลือพิธีกรรมอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่หมดไปทีเดียว ยังคงเหลือพิธีกรรมเป็นรูปแบบอยู่ ตามธรรมดานั้นรูปแบบต้องมีเนื้อหาสาระจึงจะถูกต้อง เมื่อเหลือแต่รูปแบบไม่มีเนื้อหาสาระก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนกับคน ถ้ามีแต่ร่างกายก็คือศพ เมื่อไม่มีจิตใจก็คือของตายแล้วเท่านั้นเอง คือเหลือแต่ซาก

มองในแง่หนึ่ง พระพุทธศาสนาถ้าเหลือแต่พิธีกรรมจริงๆ ก็คือเหลือแต่ซาก แต่มองอีกแง่หนึ่งก็อาจจะเป็นได้ว่า มันไม่ใช่คนที่ตายก็ได้ มันอาจจะเป็นร่างที่หลับอยู่ ยังไม่ถึงตาย ร่างกายคนหลับทำอะไรไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่ตาย ชีวิตของเรายังต้องอาศัยมัน เมื่อยังมีร่างกายอยู่ก็ยังทำให้มันมีชีวิตกลับคืนมาได้ คือทำให้มันตื่นกลับขึ้นมา แล้วมันก็อาจจะเดินหน้าใหม่ได้

เพราะฉะนั้น พิธีกรรมนี้ในแง่หนึ่งก็เหมือนที่มั่นหรือปราการสุดท้ายของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามาถึงขณะนี้ก็จวนจะหมดแล้ว แต่ก็ยังมีป้อมค่ายสุดท้ายเหลืออยู่ ทำไมเราไม่อาศัยปราการสุดท้ายนี้ เป็นที่ตั้งหลักให้ดีแล้วเดินหน้ากลับไปอีก

การที่ยังมีพิธีกรรมอยู่ ในแง่หนึ่งก็แสดงว่าพระพุทธศาสนายังไม่หมดไปสิ้นทีเดียว ทำอย่างไรเราจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ เราไม่ควรจะมามัวทอดถอนใจ ตรอมใจว่า โอย จะหมดแล้ว พระพุทธศาสนามาถึงที่สุดแล้ว แต่ควรคิดว่า โอ้ พุทธศาสนายังเหลืออยู่นี่ ดีแล้ว เราจะอาศัยส่วนที่เหลืออยู่นิดหน่อยนี้เป็นหลักในการเดินกลับไปสู่ความก้าวหน้าที่ถูกต้องใหม่ ถ้าคิดได้อย่างนี้ก็กลับเป็นดีไป เรียกว่ารู้จักมองให้เป็นประโยชน์ สิ่งทั้งหลายถึงแม้ว่าจะแย่แล้วแต่ถ้าเรามองเป็นก็กลับใช้ประโยชน์ได้

พิธีกรรมนี้มีประโยชน์หลายอย่าง พิธีกรรม แปลว่าการกระทำที่เป็นพิธี คือเป็นวิธีที่จะให้สำเร็จผลที่ต้องการ หรือ การกระทำที่เป็นวิธีการเพื่อให้สำเร็จผลที่ต้องการ หรือนำไปสู่ผลที่ต้องการ

คำว่า พิธี ก็แผลงมาจากคำว่า วิธี นั่นเอง แต่มาในภายหลัง คำว่า พิธี มีความหมายเลือนลางหรือคลาดเคลื่อนไป ก็เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ที่เป็นอนิจจังเช่นเดียวกัน เดี๋ยวนี้เรามาประดิษฐ์ศัพท์กันขึ้นใหม่ เช่น คำว่ากรรมวิธี ซึ่งสมัยโบราณไม่มี แล้วกลับเป็นศัพท์โก้ซึ่งที่จริงก็อันเดียวกันนั่นแหละ กรรมวิธีไม่ใช่อะไร อาจจะใช้ในความหมายแตกต่างกันไปบ้าง แต่ตัวถ้อยคำก็มีความหมายแบบเดียวกัน ทำนองเดียวหรือประเภทเดียวกัน เพียงกลับหน้ากลับหลังกัน พิธีกรรม คือ วิธีกรรม กลายเป็น กรรมวิธี พอมาถึงปัจจุบันมันเลือนไปจนกระทั่งว่า พิธีกรรม หรือ วิธีกรรม คือสิ่งที่ทำกันไปอย่างนั้นเอง หรือสักแต่ว่าทำ เช่น พูดกันว่า ทำพอเป็นพิธี กลายเป็นว่า ไม่จริงไม่จัง ทำพอให้เห็นว่าได้ทำแล้ว แต่ที่จริงเดิมนั้นมันคือการกระทำที่เป็นวิธีการ เพื่อจะให้สำเร็จผล เพื่อจะให้เกิดความเป็นจริงเป็นจัง เพื่อจะให้ได้ผลขึ้นมาเราจึงทำพิธีกรรม

พิธีกรรม เป็นจุดนัดหมาย
ให้ตั้งใจเริ่มทำการอย่างจริงจัง

เวลาจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่มีเป็นพิธีขึ้นมา เราก็ไม่มีจุดนัดพบนัดหมาย ไม่มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนว่าจะลงมือเมื่อไร จะเอาอย่างไร จะทำอะไร คนมาชุมนุมกันเป็นกลุ่ม ถ้าทำอะไรต่างคนต่างทำก็ไม่เป็นจริงเป็นจัง แต่พอเป็นพิธีกรรมก็คือมีจุดเริ่มต้น แล้วก็เป็นจุดนัดหมายให้ทุกคนรู้ว่าต่อไปนี้กิจกรรมจะเริ่มแล้วนะ ถ้าไม่มีพิธีกรรม ทุกคนที่มายังกระจัดกระจายกันอยู่ ก็ไม่รู้จะเอายังไง จะทำอะไร จะเริ่มต้นอย่างไร เมื่อไร

เพราะฉะนั้น พิธีกรรมนี้ จึง

๑. เป็นจุดนัดพบให้ทุกคนที่ตอนแรกยังกระจัดกระจายอยู่ มารวมกันเป็นจุดเดียว

๒. เป็นจุดนัดหมายว่าจะเริ่มเรื่องนั้นแล้ว

พิธีกรรมเป็นเครื่องทำให้คนเตรียมตัว ทั้งเตรียมกายวาจา และเตรียมใจให้พร้อมที่จะทำเรื่องนั้นๆ ก่อนจะถึงพิธี ยังพูดจา ยังหันไปทางโน้นทางนี้ ยังเคลื่อนไหววุ่นวายกันอยู่ ยังคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่พอบอกว่าเริ่มพิธี ทุกคนก็หยุดหมด ต้องหันมาสนใจ เตรียมทำสิ่งเดียวกัน ฉะนั้น พิธีกรรมจึงเป็นจุดนัดพบและเป็นจุดนัดหมาย โดยเฉพาะสำหรับชุมชนหรือหมู่ชนในสังคมนี้ ให้มองเห็นความสำคัญที่จะเริ่มการอะไรๆ กันอย่างจริงจัง

ว่าที่จริง การทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของชุมชน หรือเรื่องของส่วนรวม ก็ต้องมีพิธีกรรมทั้งนั้น อย่างเช่นจะมีการประชุมสักครั้งหนึ่ง ก็ต้องมีพิธีกรรม มันอาจจะไม่ใช่พิธีกรรมตามแบบอย่างที่เราเข้าใจ ที่เป็นของโบราณ เป็นศาสนพิธี แต่พิธีกรรมก็คืออันนั้นแหละ เช่น ลำดับการกระทำต่างๆ ในการประชุม การเปิดประชุม การปฏิบัติต่อกันในที่ประชุม เช่น เวลามีปาฐกถา มีการขึ้นไปบอกกล่าวนัดหมายที่ประชุมและเชิญผู้แสดงปาฐกถาขึ้นไป นี่เป็นพิธีทั้งนั้น

พิธีกรรมก็อันนี้แหละ คือจุดเริ่มต้นของการที่จะกระทำให้จริงจัง เป็นจุดนัดหมายที่จะทำให้กิจการนั้นมีการเอาจริงเอาจังกันขึ้นมา ให้ทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อมที่จะทำในเรื่องนั้น อันนี้ก็เป็นความหมายอย่างหนึ่งที่ง่ายๆ ในเรื่องพิธีกรรม

พิธีกรรม เป็นวินัยพื้นฐาน
และนำคนให้ประสานเข้าในชีวิตชุมชน

อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมยังมีความหมายมากกว่านั้นอีก คือ เป็นเครื่องฝึกวินัย หรือ เป็นพื้นฐานในการที่จะฝึกฝนพัฒนาคนในด้านศีล

ศีลก็คือ การควบคุมกายวาจาได้ ให้อยู่ในความดีงามเรียบร้อยสุจริต แต่เราจะคุมกายวาจาให้ดีงามสุจริตในเรื่องใหญ่ๆ เป็นศีลได้ ก็ต้องควบคุมกายวาจา ตั้งแต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นไป พิธีกรรมเป็นเครื่องฝึกกายวาจาให้อยู่ในระเบียบ เพราะฉะนั้น พิธีกรรมจึงเป็นวินัยขั้นต้น การให้คนเข้ามาสู่พิธีกรรมนั้นทำเพื่ออะไร ความหมายอย่างหนึ่งก็คือเพื่อฝึกคนให้จัดหรือควบคุมพฤติกรรมของตนๆ ให้ลงตัวเข้าที่ เช่น ให้มานั่งเป็นระเบียบ ให้สงบกายวาจา และให้ทำตามลำดับตามแบบตามแผนที่ตกลงกัน ให้หมู่คนเรียบร้อยงดงาม และทำกิจกรรมอย่างได้ผลพร้อมเพรียงกัน เป็นส่วนหนึ่งของวินัย เป็นการฝึกเบื้องต้นของศีล

คนที่อยู่ในชุมชนร่วมกันทั้งหมดนี้จะมีศีล คือมีพฤติกรรมดีงาม ไม่เบียดเบียนกัน ก็ต้องรู้จักควบคุมกายวาจาของตนเองได้ ไม่ทำตามใจชอบของตัว ถ้าเอาแต่ใจชอบอย่างเดียวก็เบียดเบียนกัน การทำพิธีกรรมหรือเข้ามาร่วมในพิธีกรรมนี้ เป็นการฝึกคนให้เริ่มรู้จักระเบียบแบบแผน ให้เริ่มที่จะไม่ทำตามใจชอบของตน นี่แหละคือการเริ่มรู้จักควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ อย่างเด็กๆ ก่อนจะไปควบคุมตัวเองในเรื่องใหญ่ๆ ได้ ก็อาศัยการฝึกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละ แต่เราจะต้องรู้จักโยงให้มันไปเชื่อมโยงต่อกัน เรื่องของพิธีกรรมจึงเป็นการฝึกวินัย หรือเป็นวินัยเบื้องต้นที่จะนำเข้าสู่การที่จะเป็นคนมีศีล พิธีกรรมจึงจัดอยู่ในฝ่ายของศีลด้วย พิธีกรรมถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องเข้าใจความมุ่งหมายอันนี้

เมื่อเรานำพิธีกรรมมาใช้ในการฝึกคน มันก็มีความหมายต่อไปอีกในแง่ที่ว่าเป็นเครื่องนำคนเข้าสู่ชุมชน ให้เขามีชีวิตของชุมชนนั้นหรือของสังคมนั้น

เป็นธรรมดาของหมู่มนุษย์ที่คิดว่า เด็กรุ่นใหม่เกิดมาแล้วจะให้เขาอยู่ร่วมในชุมชนหรือในสังคมได้อย่างไร พอเรามีพิธีกรรมอะไรต่างๆ ขึ้นมา เด็กก็จะเริ่มเข้าสู่ชุมชนนั้น และเข้าสู่วิถีชีวิตของสังคมนั้น เขาเริ่มเรียนรู้ว่าระเบียบแบบแผน วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนหรือสังคมนั้นเป็นอย่างไร และด้วยการร่วมพิธีกรรมนั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม เขาก็กลมกลืนเข้าไปในชีวิตของชุมชน และในวัฒนธรรม พิธีกรรมก็จึงกลายเป็นลักษณะหรือเป็นรูปแบบเฉพาะแห่งวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ อย่างที่เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ อันนี้ก็เป็นคุณค่าอีกด้านหนึ่งของพิธีกรรม ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีล อันสืบเนื่องจากวินัย ที่แสดงผลออกมาทางด้านวัฒนธรรม เป็นเรื่องของชีวิตชุมชน หรือของหมู่คณะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสังคม

พิธีกรรม เป็นเครื่องน้อมนำศรัทธา
ที่จะพาให้เข้าถึงธรรมที่สูงขึ้นไป

อีกด้านหนึ่ง พิธีกรรมเป็นสิ่งน้อมนำจิตให้เกิดความเลื่อมใสและเพิ่มพูนศรัทธา เพราะว่าพิธีกรรมที่ทำถูกต้องจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความพรักพร้อม ความพร้อมเพรียง และความประสานกลมกลืน เช่น คนตั้งร้อยตั้งพันก็สวดมนต์พร้อมกันหมด พระตั้ง ๑๐๐ รูปก็สวดมนต์ประสานเป็นเสียงเดียวกัน กิริยาวาจาก็เรียบร้อยสงบ ทำให้เกิดศรัทธาปสาทะ คนผ่านไปมาได้ยินเสียงพระสวดพร้อมกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่ใช่สวดกระแทกกระทั้นเอาตามใจ แต่สวดโดยตั้งใจจริง จากจิตที่สงบผ่องใส คนที่ได้ยินได้ฟังก็เกิดความอิ่มใจ ปลื้มใจ ฟังแล้วเกิดศรัทธาปสาทะ โน้มนำจิตใจให้สงบ แล้วก็เจริญยิ่งขึ้นไปในกุศลธรรม

ในคัมภีร์ท่านเล่าถึงเรื่องพระ ๕๐๐ รูป นั่งฟังพระพุทธเจ้าเงียบไม่มีเสียงเลย เช่นในสามัญญผลสูตร มีเรื่องว่า พระเจ้าอชาตศัตรู ทำปิตุฆาต คือฆ่าพ่อ ต่อมาคงเกิดสำนึกหันมาสนใจจะฟังคำสอนทางศาสนา ก็ปรึกษาข้าราชบริพารว่า วันนี้เราจะไปหาอาจารย์สักท่านหนึ่ง จะไปที่ไหนดี ข้าราชบริพารก็เสนอกันต่างๆ ขณะนั้นได้มีหมอชีวกอยู่ด้วย ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า หมอชีวกเมื่อถูกถามก็เสนอมาทางพระพุทธเจ้า พระเจ้าอชาตศัตรูตกลงก็เสด็จไป

พอถึงเวฬุวันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ หมอชีวกกราบทูลว่าพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์อยู่ แสดงธรรมแก่พระจำนวนตั้ง ๕๐๐ รูป สงบมาก เมื่อเข้าไปใกล้ก็ทำให้แปลกใจว่า ทำไมจึงเงียบอย่างนี้ คนตั้ง ๕๐๐ ไม่มีแม้แต่เสียงกระแอมไอ พระเจ้าอชาตศัตรูก็หวาดขึ้นมาทันที คงเป็นเพราะเกรงกลัวความผิดที่ตนได้กระทำมาแล้วก็ระแวงไป พระพุทธเจ้าก็คุ้นเคยกับพ่อด้วยจะเอาอย่างไรกับเราแน่ ก็เกิดหวาดกลัวขึ้นมาโดยระแวงว่าหมอชีวกวางแผนเพื่อจะจับตัวเรามาฆ่าเสียละกระมัง ก็เลยตรัสกับหมอชีวกทำนองนี้ หมอชีวกก็ปลอบโยนให้เบาพระทัยว่า ลักษณะชีวิตและวินัยของพระเป็นอย่างไร ท่านอยู่กันอย่างไร ก็เลยเบาพระทัยแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วพระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงเกิดความซาบซึ้งพระทัยอย่างหนึ่งว่า พระตั้ง ๕๐๐ องค์นั่งฟังพระพุทธเจ้า สงบ เงียบเหลือเกิน ไม่มีเสียงอะไร พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงเกิดทั้งความเกรงขามและความประทับใจ

นี่เป็นตัวอย่าง ที่แสดงว่าความงามสง่าน่าเกรงขาม ความน่าประทับใจ และความน่าเลื่อมใสศรัทธาสามารถเกิดได้จากพิธีกรรมที่เป็นไปตามความหมายแท้ๆ คือมีความเรียบร้อย มีความเป็นระเบียบ ทำให้เกิดความงดงามในตัว

สำหรับคนส่วนมากที่อยู่ในโลกข้างนอกซึ่งยังไม่คุ้นเคย ยังไม่เข้าถึงความลึกซึ้งของธรรม จู่ๆ จะให้ถึงนามธรรมเลย ก็มักไม่ไหว หรือไม่สนใจเลย จึงต้องพบกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมก่อน เพราะฉะนั้น พิธีกรรมจึงเป็นรูปแบบที่จะสื่อเข้าหาคนที่ยังไม่เข้าถึงพระศาสนาได้ลึกซึ้ง เรียกได้ว่าเป็นจุดนัดพบอีกแบบหนึ่ง โดยเป็นสื่อที่ชักนำหรือเป็นจุดเชื่อมต่อเขาให้เริ่มต้น อาจจะทำให้สนใจเกิดความประทับใจ แล้วน้อมนำจิตให้อยากรู้อยากจะเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งเข้ามาในพระศาสนาได้ เพราะฉะนั้น เราจึงอาจจะใช้พิธีกรรมในแง่ที่เป็นเครื่องชักจูงในเบื้องต้น

สำหรับคนที่เดินหน้าไปบ้างแล้วก็ดีไป ถือว่าเขาพอจะช่วยตัวเขาเองได้ การศึกษาธรรมในเบื้องสูงก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของตัวเขาเอง ที่เขาสนใจจริงๆ แต่ในแง่ของคนทั่วไปส่วนมากต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้มาเป็นสื่อนำเบื้องต้นก่อน พิธีกรรมเมื่อใช้ถูกต้องก็เป็นประโยชน์มากในแง่นี้ อย่างที่ว่าเป็นจุดนัดพบกับคนทั่วไปที่ยังอยู่ในระดับเพิ่งจะแว่วเสียงธรรม ยังไม่เข้าสู่ธรรมในเบื้องสูง

พิธีกรรม เป็นโอกาสสำหรับพระ
ที่จะปรากฏตัวและให้ธรรม

ทีนี้ สำหรับพระเองก็อาศัยพิธีกรรมนี้เป็นที่ปรากฏตัว ถ้าไม่มีพิธีกรรมพระก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสปรากฏตัว เพราะฉะนั้น ก็อยู่ที่พระเองจะใช้พิธีกรรมอย่างไรให้เป็นประโยชน์เพื่อเป็นสื่อนำคนเข้าสู่พระศาสนา เข้าสู่ธรรม ถ้าพระไม่รู้จักใช้ประโยชน์ พิธีกรรมก็อาจจะเสื่อมเสีย กลายเป็นเหตุให้เกิดผลร้ายไป แต่โดยหลักการพิธีกรรมคือโอกาสที่พระจะปรากฏตัวแก่ประชาชนแล้วก็จะได้ทำหน้าที่ของท่าน

พระมีหน้าที่อะไร ว่าตามหลัก หน้าที่ของพระก็คือ การให้ธรรมแก่ประชาชน เรียกว่า ธรรมทาน แต่การให้ธรรมนั้นให้อย่างไร ถ้าพูดให้เขาฟัง เช่น เทศน์ แสดงธรรม บรรยายธรรม อันนี้เแน่นอน ชัด แต่การให้ธรรมนี้ให้โดยไม่ต้องพูดก็มี และพระจำนวนมากก็ยังพูดไม่เป็น ยังสอนธรรมด้วยการเทศน์ไม่เป็น บางทีก็เพราะเรียนรู้ยังไม่มากพอ หรือบางองค์แม้จะเรียนรู้มากแล้ว แต่ก็พูดไม่เป็น เทศน์ไม่เป็น

ที่จริง พระสามารถให้ธรรมได้โดยไม่ต้องพูด พระอัสสชิท่านเดินไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ แต่อาการปรากฏตัวของท่านเป็นการให้ธรรมแก่อุปติสสมาณพ คือพระสารีบุตรโดยไม่ต้องพูดเลย อุปติสสมาณพนั้นเมื่อเห็นพระอัสสชิผู้มีอาการสงบงามสง่าและมีลักษณะของผู้ได้ฝึกฝนพัฒนาตนอย่างดีแล้ว ก็เกิดความประทับใจเลื่อมใสว่าท่านผู้นี้ต้องมีดี ก็เลยตามไปแล้วก็ได้พบได้พูด โดยเดินตามไปตั้งแต่ท่านบิณฑบาตจนกระทั่งท่านหยุดเตรียมฉัน จึงเข้าไปนมัสการแล้วก็พูดจาสนทนาซึ่งนำไปสู่การได้เข้าถึงธรรมต่อไป

เป็นอันว่าพิธีกรรมนี้เป็นจุดปรากฏตัวของพระสงฆ์ พระสงฆ์มีทั้งผู้สอนเป็นและสอนไม่เป็น แต่การให้ธรรมนี้ไม่จำเป็นต้องพูด การให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ก็เริ่มตั้งแต่การปรากฏตัวของพระไปทีเดียว ซึ่งสามารถให้ธรรมแก่ประชาชนโดยทันที ท่านจึงเน้นเรื่องวินัยว่าให้พระมีวินัย และวินัยนั้นก็ออกมาปรากฏในความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตประจำวันและการทำกิจหน้าที่ต่างๆ พิธีกรรมต่างๆ ก็เป็นส่วนเบื้องต้นของวินัย ซึ่งให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อพระไปปรากฏตัวที่ไหน ก็สอนธรรมได้ที่นั่นแม้โดยไม่ต้องพูด

คำว่าสอนธรรมอาจจะแคบไป การให้ธรรมนี้อาจจะให้โดยตรงเข้าไปถึงจิตถึงใจเลย จะให้อย่างไร ขอทำความเข้าใจกันหน่อย ธรรมเบื้องแรกที่พระจะให้แก่ประชาชนก็คือให้ปสาทะ ความผ่องใสของจิตใจ

ประชาชนชาวบ้านนั้นวุ่นวายเดือดร้อนกับกิจการงานมากมาย ตลอดจนเรื่องในครอบครัวและอารมณ์กระทบกระทั่งในชีวิตประจำวันสารพัด จิตใจไม่ค่อยสงบ แต่พอเห็นพระจิตใจก็สบายผ่องใสสดชื่น แต่ทั้งนี้หมายถึงว่าพระนี้จะต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วย แต่โดยทั่วไปที่เป็นมาพระท่านได้ปฏิบัติดีงามกันมาจนทำให้เกิดเป็น บุญภาพ ขึ้นในสังคมแล้ว พอชาวบ้านเห็นพระก็จะเกิดความรู้สึกสบายใจ จิตใจผ่องใส เรียกว่าปสาทะขึ้นมาทันที ปสาทะนี่เป็นกุศลธรรม จิตใจดีงามเป็นกุศลขึ้นมาแล้วก็คือธรรมเกิดขึ้นในใจของเขาแล้ว แค่นี้ก็ให้ธรรมแล้ว โดยไม่ต้องพูดอะไรเลย

เพราะฉะนั้น การปรากฏตัวของพระนี่ ถ้าปรากฏให้ถูกต้องก็เป็นการให้ธรรมแก่ประชาชน คือทำให้เขาได้ธรรมทันทีเลย เมื่อเกิดกุศลธรรมขึ้นในใจแล้วจิตใจเบิกบานผ่องใส ก็อาจจะส่งผลดีไปในวันนั้นทั้งวันก็ได้ ทำให้ทำอะไรๆ ด้วยจิตใจชื่นบานผ่องแผ้ว อันนี้เป็นคุณค่าที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น เราจะต้องไม่ลืมหลักข้อนี้ คือการให้ธรรมโดยไม่ต้องพูด ซึ่งพระส่วนใหญ่ให้ได้ทั้งนั้น เพราะชาวบ้านนับถือพระอยู่แล้ว เพียงแต่ตั้งใจสักหน่อย ไม่ต้องรอให้เทศน์เป็น เพราะถ้าจะให้พูดเก่งนี้บางทีก็ยาก

ธรรมข้อต้น ที่พระจะให้แก่ประชาชน
คือปสาทะและความปลอดเวรภัย

การให้ธรรมอย่างที่ว่านี้เป็นกิจเบื้องแรกของพระสงฆ์เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น พระดีที่ท่านพรรณนาไว้ในพระไตรปิฎก จึงมีลักษณะอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “มโนภาวนีย์” แปลว่าผู้เป็นที่เจริญใจ ชาวบ้านญาติโยมอุบาสกอุบาสิกานี้ไปวัดบางทีเพียงแค่เพื่อให้ได้พบพระแล้วก็สบายใจ จิตใจก็เจริญงอกงามพัฒนาขึ้นมาเลย ดังที่ท่านกล่าวถึงอุบาสกบางท่านปรารภตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วเขาก็จะเสียโอกาสที่จะได้พบพระสงฆ์ผู้เป็นที่เจริญใจ ที่เรียกว่า มโนภาวนียา ไม่เหมือนตอนที่มีพระพุทธเจ้าอยู่ซึ่งมีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่น่าเลื่อมใสเคารพมาอยู่กันพร้อม เขาไปได้เห็นพระเหล่านั้นก็ทำให้ชื่นใจสบายใจ มีจิตใจผ่องใสเบิกบานเป็นกุศลไปตลอดทั้งวัน เป็นทัศนานุตริยะ เป็นยอดทัศนา เข้ากับหลักที่ว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า การเห็นสมณะเป็นอุดมมงคล

พระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลาง พระดีๆ ทั้งนั้นอยู่กับพระพุทธเจ้า ชาวบ้านไปพบพระเหล่านั้นแล้วจิตใจก็สบายเบิกบานผ่องใส เขาก็เลยบอกว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เขาก็จะไม่มีโอกาสได้มาพบพระสงฆ์มโนภาวนีย์ผู้เป็นที่เจริญใจ เพราะท่านก็จะแยกย้ายกระจายกันไปในทิศต่างๆ

ที่ว่ามานี้ก็เป็นหลักการอย่างหนึ่งที่สำคัญ และเป็นลักษณะที่สำคัญของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา คือความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่ได้อยู่ที่การทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างสวรรค์กับมนุษย์ ไม่ใช่อยู่ที่การอยู่ป่าอยู่เขาเป็นฤษีชีไพร แต่ความเป็นพระอยู่ที่ความเป็นผู้สงบ ไม่มีเวรภัย ในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้บอกไว้แล้วว่า ผู้ที่ทำร้ายคนอื่นไม่เป็นบรรพชิต ผู้ที่เบียดเบียนคนอื่นไม่เป็นสมณะ ลักษณะของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาคือความเป็นผู้สงบ ปราศจากภัยอันตราย ไม่มีเวรภัยแก่ผู้ใด

พระสงฆ์คือผู้ไม่มีภัย นี่เป็นลักษณะที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น ใครไปที่ไหนพอเห็นพระเข้าก็รู้สึกว่าที่นี้ปลอดภัยสบายใจ มันเป็นมาอย่างนี้ตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ว่าความเป็นพระสงฆ์มีอาการปรากฏคือความไม่มีภัย คนเข้าป่าไปเจอพระก็นั่งลงยกมือท่วมศีรษะเลย โล่งอก โล่งใจ ชื่นบานสบายไปเลย แสดงว่าที่นั่นไม่มีอันตราย เข้าไปได้เลย เพราะฉะนั้น จึงถือกันมาแต่โบราณว่า เจอพระที่ไหนปลอดภัยที่นั่น

การที่จะได้พบพระสงฆ์หรือพระสงฆ์จะมาปรากฏตัวแก่ชาวบ้าน แก่ชุมชนหรือแก่สังคมนั้น โดยมากก็มาปรากฏในพิธีกรรม พระจึงต้องประพฤติตัวอยู่ในความสงบ ตั้งใจทำพิธีกรรมให้ถูกต้องตามหลัก และมุ่งให้เกิดผลตามความมุ่งหมาย ในด้านของตนเองก็มุ่งไปที่การฝึกวินัยให้เป็นพื้นฐานของศีล และในด้านการตั้งความรู้สึกต่อชาวบ้าน ก็มุ่งสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในใจของผู้มาร่วมในพิธี โดยยึดหลักว่าเมื่อประชาชนพบพระฟังพระแล้วจะได้เป็นโอกาสให้เขาเจริญจิตเจริญใจ ได้เจริญกุศลธรรมขึ้นในจิตใจ ให้มีความผ่องใสเบิกบาน

ถ้าเฉไถลออกไป ก็รีบหันกลับมาตั้งต้นใหม่

น่าเสียดายว่า ปัจจุบันนี้ ความหมายเหล่านี้ของพิธีกรรมได้เลอะเลือนไป เวลาทำพิธีกรรมก็ลืมไป ไม่ได้มองที่ความหมายเหล่านี้ แต่พากันไปมุ่งที่ความใหญ่โตหรูหรา ความโอ่อ่าอวดกัน ประกวดประขันในการใช้จ่ายมาก ว่าใครจะใช้เงินมากกว่ากัน พิธีกรรมของเรานี้ การบวชนาคของฉันครั้งนี้ใช้เงินตั้งเท่านั้นแสน พิธีกรรมแทนที่จะได้ผลก็กลายเป็นเสียผล ที่เสียก็เพราะว่า ความหมายที่แท้จริงมันหายสูญไป

เพราะฉะนั้น จึงต้องพิจารณาว่า ในเมื่อพิธีกรรมเป็นจุดนัดพบนัดหมายและเป็นโอกาสให้พระสงฆ์ปรากฏตัวแก่ประชาชนแล้ว พระสงฆ์จะใช้โอกาสนี้อย่างไร นี้เป็นตอนสำคัญ เป็นจุดนำที่จะชักจูงเขาให้เข้าสู่ธรรมต่อไป โดยมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้แสดงธรรม

ปัจจุบันนี้คนจำนวนมากอยู่ในสังคมมีกิจการงานวุ่นวายหาเงินหาทองกันไป จะไปวัดทีหนึ่งก็คือไปงานศพ นานๆ จะได้พบกันสักที พระก็ใช้โอกาสนี้เลย โดยพูดธรรมแสดงธรรมในตอนนั้น หรือไปในงานที่เขานิมนต์ เช่น ไปงานแต่งงาน บางทีคนที่มาในพิธีนั้นไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพระเลย แต่เพราะเป็นประเพณีต้องมีพิธีกรรมนี้ก็เลยต้องนิมนต์พระไป ตอนนี้พระก็มีโอกาสแล้ว พอไปในงานพิธีก็ใช้พิธีกรรมนั้นเป็นโอกาสที่จะสอนธรรมไปเลย พอพิธีจวนเสร็จก็ให้โอวาทบ่าวสาว ถ้าพูดสอนไม่ได้ ก็พยายามให้ธรรมโดยไม่พูดให้ดีที่สุด

เป็นอันว่า พิธีกรรมนี้ ถ้ามองในแง่เป็นที่มั่นสุดท้าย ก็เป็นปราการสุดท้ายที่เราควรจะใช้ประโยชน์ เพื่อตรึงไว้ไม่ให้เสื่อมลงไปกว่านี้ เมื่อพระพุทธศาสนายังมีรูปแบบอยู่ก็แสดงว่ายังไม่หมดเสียทีเดียว เราก็เดินหน้ากลับโดยใช้ป้อมค่ายแห่งพิธีกรรมนี้เป็นจุดตรึงและเสริมกำลัง เพื่อเขยิบตัวเดินหน้าต่อไป

พิธีกรรม เป็นรูปแบบที่จะสื่อธรรมสำหรับคนหมู่ใหญ่

เรื่องพิธีกรรมนี้ก็รู้กันอยู่ว่า เป็นเรื่องรูปแบบ ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจะให้มีสาระอยู่ในรูปแบบนั้นด้วย รูปแบบก็สำคัญ แต่รูปแบบจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาสาระ ถ้ารูปแบบไม่มีเนื้อหาสาระก็ไม่มีประโยชน์ แต่ในทางกลับกันถ้าเนื้อหาไม่มีรูปแบบช่วย เนื้อหานั้นก็จะเป็นประโยชน์ได้ยาก แม้เป็นสิ่งที่ต้องการแต่คนก็ไม่สามารถจะเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้

เหมือนอย่างน้ำเป็นตัวสาระที่เราต้องการ แต่น้ำอยู่ในสระ จะกินทีไรต้องเดินไปที่สระแล้วก็เอามือวัก จะดื่มก็ยาก แล้วก็ต้องลำบากเดินทุกที แต่ถ้าเรามีแก้วน้ำหรือมีภาชนะ เราก็สามารถตักเอาน้ำนั้นมาใช้เท่าที่เราต้องการ และสามารถนำมาเก็บไว้ในที่ที่สะดวกที่จะใช้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าคนลืมไปว่าประโยชน์ของแก้วคือการบรรจุน้ำและใช้น้ำให้เป็นประโยชน์ เลยไปสาละวนอยู่กับการแต่งแก้วให้สวยให้งามประดิดประดอย เสร็จแล้วก็ไม่ได้ใช้แก้วนั้นใส่น้ำ แต่เอาไปตั้งไว้โชว์เฉยๆ แก้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าเรารู้จักใช้ แก้วน้ำก็เป็นประโยชน์มาก เพราะมันทำให้น้ำเกิดผลเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงเต็มที่

ในทำนองเดียวกัน พิธีกรรมก็เป็นเพียงรูปแบบ ซึ่งจะมีค่ามีความหมายก็ต่อเมื่อมีเนื้อหาสาระอยู่ด้วย เราจึงต้องเอาเนื้อหาสาระมาใส่ แต่สำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่มีรูปแบบช่วยเขาจะเข้าถึงเนื้อหาสาระได้ยาก รูปแบบจึงเป็นจุดที่จะเริ่มต้นชักนำให้เขาได้เข้าถึงเนื้อหาสาระต่อไป รูปแบบทั้งหลายมีความสำคัญฉันใด พิธีกรรมก็ฉันนั้น มีความสำคัญโดยจะต้องมีเนื้อหาสาระอยู่ด้วย

ถ้าเหลือแต่รูปแบบ เนื้อหาไม่มีแล้ว ไม่ช้าก็จะเขวออกไป แล้วก็จะใช้ไม่ตรงตามความมุ่งหมาย เช่น กลายเป็นเรื่องของความโก้ หรูหรา ประกวดประขันกันว่าใครจะใหญ่จะโตกว่ากัน กลายเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเสียเปล่า เช่น บวชพระไม่เอาเนื้อหาสาระ ไม่รู้ว่าบวชเพื่ออะไร เอาแต่รูปแบบ ได้แต่จัดงานใหญ่โต มีการเชิญแขกมากมายตั้งโต๊ะเลี้ยงกันสิ้นเปลืองเงินทองเป็นหมื่นเป็นแสน แต่บวชได้ ๗ วันก็สึกแล้ว และระหว่างที่บวชก็ไม่ได้ฝึกฝนอบรมศึกษาเล่าเรียนอะไร

ตอนนี้เรามองประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เรามองคนทั้งสังคม ไม่ใช่มองที่ตัวบุคคลนั้นบุคคลนี้ คนส่วนใหญ่นี่เราต้องยอมรับความจริงว่าเขาจะเข้าถึงเนื้อหาสาระทันทีไม่ได้ จะต้องมีรูปธรรมที่จะสื่อกับเขาก่อน พิธีกรรมเป็นรูปธรรมที่มาสื่อ ถ้าเราใช้เป็นก็จะนำให้เขาเข้าสู่ตัวเนื้อหาต่อไป

เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ก็ควรมีการสำรวจตรวจตราว่า พิธีกรรมยังบรรจุเนื้อหาสาระที่ต้องการอยู่หรือไม่ และรูปแบบของมันยังสื่อสาระนั้นกับมหาชนในยุคสมัยที่เป็นปัจจุบันได้ดีหรือไม่

นอกจากคอยรักษาคอยใส่ความหมายและเนื้อหาสาระเข้าไปในรูปแบบ พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบของพิธีกรรมให้สื่อสาระที่ต้องการแก่ประชาชนในยุคสมัยนั้นๆ แล้ว รูปแบบที่รุงรังซึ่งถ่วงขัดกีดขวางการสื่อสาระ ก็ควรได้รับการขัดเกลาหรือชำระสะสาง

อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมยังเป็นรูปแบบย่อย ซึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ในรูปแบบใหญ่ คือวัฒนธรรมประเพณี ที่เรียกกันว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้น การชำระสะสางพิธีกรรมจึงต้องปฏิบัติด้วยความมีสติ โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ให้เสียหลักที่ว่า พิธีกรรมไม่พึงเป็นรูปแบบที่นิ่งตาย ไร้เนื้อหา สื่อสาระไม่ได้ แล้วกลายเป็นเปลือก ซึ่งไม่ทำหน้าที่ในการช่วยปกป้องรักษาเนื้อหา แต่กลับไพล่ไปเป็นเครื่องปิดกั้นประโยชน์ และบดบังคุณค่าของตนเอง

 

- ๒ -
วินัยสื่อธรรม

จะรู้จักพระพุทธศาสนาจริง ต้องดูทั้งธรรมและวินัย

การมองพระพุทธศาสนานี้ต้องมองให้ครบถ้วน เรามักจะสนใจมองในด้านเนื้อหาหลักธรรม แต่อีกด้านหนึ่งมักจะมองข้ามไปคือวินัย พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมวินัย นะ ไม่ใช่ธรรมอย่างเดียว ถ้ามองไม่ครบทั้งสองอย่างก็อาจจะทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาผิดพลาด เห็นเอนเอียงไปข้างเดียวหรือถึงกับเขวก็ได้

ถ้าเรามองพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของบุคคล ใครทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว อันนี้ก็เป็นเรื่องของหลักความจริง ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ พระพุทธศาสนาสอนความจริงตามธรรมชาติ ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามผล ตามกฎแห่งเหตุปัจจัย มนุษย์ทำกรรมอันใด การกระทำนั้นก็เป็นเหตุที่ทำให้ผลเกิดตามเหตุนั้น ทำดีก็เกิดผลดี ทำชั่วก็เกิดผลชั่ว อันนี้ก็คือกรรม เพราะฉะนั้นคนจึงรับผลแห่งกรรมของตัวเอง ถ้ามองในแง่นี้คนก็รับผิดชอบตัวเองต่อกฎธรรมชาติ ต่อหลักความจริงซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล นี้คือ ธรรม

ทีนี้หันมาดูพระพุทธศาสนาอีกด้านหนึ่ง พระทำความผิดไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของตัวเอง แต่เป็นเรื่องของหมู่คณะ ท่านต้องถูกสงฆ์พิจารณาความผิด ท่านจะต้องถูกลงโทษหรือทำการชดใช้ตามหลักพระวินัยที่เป็นพุทธบัญญัติ นี่เป็นเรื่องของชุมชนหรือเรื่องของสังคม นี้คือวินัย

ถ้าพูดในแง่ของธรรม เราบอกว่า ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็ดีเอง แต่พูดในแง่ของวินัยจะบอกว่า แล้วทำอย่างไรจะให้ทุกคนเป็นคนดีได้ล่ะ เราไม่รอละ เราจะจัดทางด้านสังคม เพื่อช่วยให้ทุกคนเป็นคนดีเท่าที่จะเป็นได้ แล้วเราก็ใช้ความรู้ธรรม มาจัดวางเป็นวินัย โดยจัดสภาพแวดล้อม วางระเบียบชีวิตระบบสังคม และระบบการฝึกฝนพัฒนาคน ให้เอื้อต่อการที่จะให้ทุกคนเป็นคนดีเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยวิธีนี้ ธรรมกับวินัยก็มาประสานกัน

ขอย้ำเชิงสรุปว่า ธรรมเป็นกฎของธรรมชาติ วินัยเป็นกฎของมนุษย์ ธรรมเป็นความจริงแท้ วินัยเป็นความจริงตามสมมติ วินัยต้องอิงอาศัยธรรม ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม เป็นไปตามธรรม และเพื่อธรรม จึงจะมีความหมายและเป็นแก่นสาร เพราะโดยที่แท้แล้ว วินัยที่เป็นการจัดตั้ง วางระเบียบ แต่งสรรระบบต่างๆ ก็คือการจัดสภาพชีวิตและสังคมให้เอื้อโอกาสต่อการที่จะปฏิบัติตามธรรม และการที่จะให้ธรรมสำเร็จประโยชน์แก่มนุษย์นั่นเอง ส่วนพิธีกรรมก็เป็นส่วนเปลือกผิวนอกของวินัย เป็นรูปปรากฏที่ช่วยห่อหุ้มคุมรูปของวินัย และเป็นสื่อนำเข้าสู่วินัยอีกชั้นหนึ่ง

ระวัง!
อย่าให้กลายเป็นเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

ตามหลักธรรมเราเรียนรู้ความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา มันไม่ใช่เป็นของเราจริง จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ การยึดมั่นถือมั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา มันเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราบังคับบัญชามันไม่ได้ เมื่อรู้ความจริงแล้วก็จะไม่มัวไปยึดมั่นถือมั่น

บางคนฟังแล้วบอกว่าใช่ซิ ถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้วต้องเกิดความทุกข์เดือดร้อนแน่นอน เพราะฉะนั้น เราจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ต่อไปนี้ไม่เอาแล้ว อะไรต่างๆ แม้แต่สิ่งที่เคยรับผิดชอบก็ไม่ใส่ใจรับผิดชอบแล้ว ทำตัวเป็นคนเฉยๆ ปล่อยวาง ไม่เอาเรื่องเอาราว อะไรจะเป็นไปก็ให้มันเป็นไป บางคนคิดจะปฏิบัติธรรม พอมองเห็นอย่างนี้แล้วก็คิดว่าทำอย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรม

ทีนี้ลองมาดูชีวิตของผู้บรรลุธรรมแล้วบ้าง จะดูชีวิตของพระอรหันต์ก็ดูได้จากวินัย ซึ่งเป็นชีวิตจริงที่เป็นอยู่ในสังคมหรือในโลกของมนุษย์ ชีวิตของพระนี้เป็นแบบอย่างของชีวิตที่ปฏิบัติตามธรรม ตั้งอยู่บนฐานของธรรม ชีวิตที่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมก็มาปรากฏอยู่ที่วินัย

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยให้พระภิกษุทุกรูปมีความรับผิดชอบต่อสงฆ์ ต่อสังคม ต่อหมู่คณะ และรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเกี่ยวข้อง แม้แต่วัตถุสิ่งของเล็กน้อยเมื่อตกลงแล้วว่าเป็นบริขารของท่าน เป็นสมบัติส่วนตัว ท่านต้องรับผิดชอบเอาใจใส่ มีจีวรแค่สามผืนก็ต้องดูแลให้ดี จะปล่อยวางไม่เอาเรื่องไม่ได้ อยู่ขาดครองแม้แต่คืนเดียวก็ไม่ได้ เมื่อตกลงสมมติว่าเป็นของท่านแล้วท่านต้องรับผิดชอบ พระอรหันต์กลายเป็นตัวอย่างของการมีความรับผิดชอบ เมื่อรู้เท่าทันสมมติแล้วไม่มีความยึดติดถือมั่น ก็จึงปฏิบัติไปตามเหตุตามผลด้วยความรู้เท่าทันนั้น ถ้ามันมีอันเป็นไปอย่างไรก็รู้ไปตามเหตุปัจจัย แต่เมื่อมันอยู่กับเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด

ความปล่อยวางไม่ยึดมั่น ไม่ใช่การปล่อยทิ้งความรับผิดชอบ การปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้ เมื่อดูตามวินัยจะปรากฏชัด พระอรหันต์จึงเป็นตัวอย่างของความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องทุกอย่าง รวมทั้งรับผิดชอบต่อสังคมและต่อหมู่คณะ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่กระทบกระเทือนต่อสงฆ์ต่อพระศาสนาส่วนรวม พระอรหันต์ออกนำหน้าในการที่จะเรียกประชุมและพิจารณาหาทางดำเนินการจัดการแก้ไข

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสุภัทท์กล่าวคำไม่ดี พระมหากัสสปะเป็นพระอรหันต์ที่ชอบอยู่ป่า กลับมาออกหน้าเป็นผู้นำในการชวนสงฆ์พระอรหันต์ทั้งหลาย มาประชุมกันแก้ไขปัญหาของส่วนรวม จึงทำให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๑ แม้แต่พระอรหันต์จะเข้านิโรธสมาบัติก็มีหลักปฏิบัติว่า ถ้าสงฆ์เรียกเมื่อใดต้องออกทันที นี่คือเรื่องของชีวิตที่แท้จริงของผู้เข้าถึงธรรมแล้ว

เพราะฉะนั้น ด้านจิตใจให้ดูที่ ธรรมะ ซึ่งเป็นความจริงแท้ของธรรมชาติตามเหตุปัจจัย แต่ด้านชีวิตจริงที่ปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมบนผืนโลกให้ดูที่ วินัย และอันนี้เป็นเครื่องแสดงที่ชัดว่าชีวิตชาวพุทธที่แท้คืออะไร เดี๋ยวจะกลายเป็นคนที่ทำตนเป็นคนไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรแล้ว ปล่อยวาง อะไรจะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป อย่างนี้อันตรายมาก นั่นคือความไม่ยึดมั่นที่ผิด ไม่ใช่ของแท้ ที่จริงเป็นเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

คนจำนวนมากมีเพียงความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น หรือไม่ยึดมั่นด้วยความยึดมั่น เพราะเขานึกว่าที่ท่านสอนว่าไม่ยึดมั่นนั้นดี ก็เลยเอาความไม่ยึดมั่นมายึดไว้ว่าเราจะทำอย่างนี้ๆ เราจะไม่ยึดมั่นอะไรทั้งนั้น เป็นความไม่ยึดมั่นที่ตัวเองไปยึดมั่นเอาไว้ ไม่เป็นธรรมะ เพราะไม่เป็นไปเองตามธรรมดาของมัน

ความไม่ยึดมั่นเทียมแบบนี้ มีผลเสียหายที่ร้ายแรง ๒ อย่าง ซึ่งเป็นสุดโต่ง ๒ ด้าน คือ ถ้าไม่กลายเป็นคนเฉยเมย ไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยปละละเลย ไม่ทำอะไร ไม่รับผิดชอบอะไร ก็กลายเป็นว่าจะทำอะไรตามชอบใจของตัวได้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เพราะอ้างว่าไม่มีกิเลส ทำด้วยความไม่ยึดมั่น ซึ่งที่จริงเป็นความยึดมั่น อย่างหนาแน่นรุนแรง

ความไม่ยึดมั่นที่แท้ เกิดขึ้นเองด้วยปัญญา
เรียกว่าเป็นอัตโนมัติ ตามเหตุปัจจัย

ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้นเกิดจากปัญญาซึ่งจะเป็นไปเอง เมื่อเรารู้เข้าใจสัจธรรม มองเห็นความจริงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ของเราจริง เราจะไปยึดถือครอบครองเอาเป็นของเราถือมั่นเอาตามใจปรารถนาไม่ได้ จิตใจก็ปล่อยวางเป็นอิสระ เป็นความไม่ยึดติดถือมั่นที่เป็นไปด้วยปัญญาที่รู้แจ้งความจริง เป็นอัตโนมัติตามเหตุปัจจัย เมื่อญาณปัญญาเกิดขึ้นรู้ความจริงแล้วมันก็หลุดออกมาเอง เหมือนกับเราเคยหลงเข้าใจผิดยึดมั่นอะไรอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ แล้วเราก็มั่นหมายเอาจริงเอาจัง แต่ต่อมาพอเรารู้ความจริงว่าไม่มีอะไร มันเป็นเพียงขยะเท่านั้น ต่อจากนั้นก็ไม่ต้องไปตั้งใจ ไม่ต้องไปพยายามว่าไม่เอาละ ฉันไม่เอามันนะ ไม่ต้องไปพูดไปคิดไปตั้งใจ มันหลุดเอง มันไม่เอาเองเป็นอัตโนมัติตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ตัวแท้ตัวจริงของความไม่ยึดมั่นนั้นเกิดขึ้นจากปัญญาที่รู้ความจริง รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเป็นไปเองด้วยความรู้นั้น

แต่ก่อนนั้นต้องอาศัยสติเป็นตัวช่วยในการนึกอยู่ ใช้สติคอยเตือนคอยตรึงไว้ แต่พอถึงตอนนี้มันหลุดไปแล้วและไม่ห่วงไม่หวนหาอีกแล้ว จึงไม่ต้องอาศัยสติมาช่วยอะไรทั้งนั้น สติที่มีอยู่ตามธรรมดาไม่ต้องนำมาใช้กับเรื่องนี้ ถ้านำสติมาใช้ก็แสดงว่ายังต้องระลึกยังต้องนึกคอยเตือนคอยตรึงอยู่ แต่กรณีนี้ไม่ต้องไปทำอะไรกับมันแล้วเพราะจิตมันเป็นอิสระลอยตัวไปเองเลย

วินัย คือ เครื่องจัดสรรโอกาส
ให้คนพัฒนาตนตามธรรม

วินัยนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ตลอดจนจัดระบบชีวิตที่เอื้อต่อการทำกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ วินัยเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่ เพราะฉะนั้นปัจเจกบุคคลก็ต้องเสียสละบ้าง เพราะปัจเจกบุคคลก็ต้องอาศัยชุมชน ถ้าสภาพแวดล้อมของชุมชนไม่ดีก็จะเป็นอุปสรรคแก่การดำรงอยู่และกิจกรรมของปัจเจกบุคคลด้วย

จริงอยู่ ในแง่หนึ่งวินัยอาจจะทำให้เราไม่คล่องสะดวกบ้าง จะทำอะไรบางอย่างก็ต้องมาติดขัดกับเรื่องวินัยนี้ด้วย แต่เราเสียส่วนย่อยเพื่อได้ส่วนใหญ่ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นสังคมของเราก็จะยุ่งเหยิงสับสน ซึ่งจะยิ่งเป็นอุปสรรคหนักเข้าไปอีกจนทำให้เราปฏิบัติไม่ได้ วินัยช่วยสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชนและของสังคม ให้เอื้อต่อการเข้าถึงจุดหมายร่วมกัน เมื่อพระภิกษุทั้งหลายอยู่ในวินัยแล้ว สภาพแวดล้อมของชุมชนที่อยู่ร่วมกันทั้งหมดนั้นจึงจะเอื้อต่อการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของแต่ละคน

วินัยก็เพื่อธรรม และต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม วินัยนั้นต้องบัญญัติขึ้น โดยอาศัยธรรมเป็นหลัก ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ววินัยก็จะไม่ชอบธรรม วินัยนั้นอาศัยธรรมและเพื่อธรรม วินัยไม่ใช่เครื่องบังคับ แต่เป็นเครื่องจัดสรรโอกาสในการที่จะพัฒนาตนเองหรือพัฒนาสังคมก็ตาม วินัยเป็นฐานเบื้องต้นของการพัฒนา ถ้าไม่มีวินัยเป็นเครื่องจัดสรรโอกาสแล้ว การพัฒนาชีวิตและสังคมจะเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น การฝึกฝนพัฒนามนุษย์จึงเริ่มต้นที่วินัยก่อน

วินัยเป็นเครื่องจัดสรรโอกาสอย่างไร ขอยกตัวอย่าง เช่น เราอยู่ในบ้านกันอย่างไม่มีระเบียบ ข้าวของวางทิ้ง เกะกะไปหมดแม้แต่จะเดินก็ไม่คล่อง และเครื่องใช้วางไม่เป็นที่ เวลาจะใช้งานอะไรก็กลายเป็นชักช้าไม่สะดวก แต่พอมีวินัยขึ้นมาทุกอย่างคล่องหมดเลย และวินัยเป็นฐานของศีล ถ้าไม่มีวินัยคนก็ไม่มีศีล คนก็จะเบียดเบียนกันมาก ทำให้เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น เช่น เมื่อมีการทำร้าย จี้ปล้น โจรกรรม ฆาตกรรมมาก ความเป็นอยู่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย คนมีความหวาดหวั่นระแวงภัย จะไปไหนก็ต้องเลือกที่เลือกเวลา ธุรกิจการงานที่จะไปทำในที่นั้นเวลานั้นก็ติดขัดชะงักงัน สูญเสียโอกาสในการสร้างสรรค์พัฒนา

วินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ ก็เพื่อให้สภาพชีวิตของสงฆ์เอื้อต่อการปฏิบัติของพระแต่ละองค์ที่จะเข้าสู่จุดหมาย สภาพชีวิตที่เป็นไปตามพระวินัยนี้แหละ จึงจะเป็นสภาพชีวิตที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา และการทำหน้าที่การงานของพระสงฆ์

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะจัดวางระเบียบจัดวางระบบขึ้นมา ก็ต้องรู้ความมุ่งหมายของวินัย แล้วทำให้เข้าสู่ความมุ่งหมายนั้น ถ้าคิดแต่เพียงว่าจะตั้งเป็นกฎเป็นเกณฑ์ขึ้นโดยไม่เข้าใจความมุ่งหมายนี้ วินัยก็จะกลายเป็นเครื่องบีบคั้นคนไป และไม่ชอบธรรม

เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป
ความหมายของวินัยก็พัฒนาตามด้วย

อีกอย่างหนึ่ง คนที่ไม่พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น จะเอาแต่ความปรารถนาของตัวเอง จะทำตามใจอยากใจชอบ วินัยก็กลายเป็นเครื่องบังคับบีบคั้น อันนี้เกิดจากตัวเขาเองที่มีความปรารถนาไม่ชอบธรรม แต่ในทางตรงข้ามคนวางกฎวินัยไม่ชอบธรรมก็มี คือไม่เข้าใจความมุ่งหมายของวินัยและไม่จัดวางบัญญัติวินัยให้เป็นไปตามความมุ่งหมาย หรือเขามีความปรารถนาส่วนตัวซ่อนเร้นหวังประโยชน์บางอย่าง แล้วจัดวางกฎเกณฑ์ระเบียบขึ้นในลักษณะที่จะหาผลประโยชน์ให้แก่ตนหรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ถ้าเช่นนี้วินัยเช่นกฎหมายก็จะไม่ได้สาระที่ต้องการ และกลายเป็นเครื่องบีบคั้นกดขี่กันไป อย่างนี้ผิด

วินัยที่แท้นั้น ท่านกำหนดวางบัญญัติขึ้นเพื่อจัดสรรโอกาสให้กระบวนการพัฒนาคน พัฒนามนุษย์ พัฒนาสังคม เดินหน้าไปได้ และช่วยให้ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตหรือกิจการของหมู่คณะของสังคมราบรื่นเป็นไปด้วยดี เมื่อคนอยู่ในวินัยที่ปฏิบัติตามจุดมุ่งหมาย แม้เขาจะยังมีความปรารถนาส่วนตน ยังไม่บรรลุธรรม แต่ถ้าเขาปฏิบัติด้วยความเข้าใจความมุ่งหมาย เขาก็จะมองวินัยเป็นเครื่องฝึกตัว ก็กลายเป็นว่าเขาไม่ได้ฝืนใจ แต่ถ้าไม่เข้าใจความมุ่งหมายและไม่มีความใฝ่ในความดี ไม่คิดจะพัฒนาตน คิดแต่จะทำตามใจชอบ เขาก็จะรู้สึกฝืนใจ วินัยก็กลายเป็นเครื่องบังคับสำหรับคนที่ไม่พร้อม แต่พอรู้เข้าใจความมุ่งหมายและใจคิดที่จะทำ วินัยก็กลายเป็นเครื่องฝึก แล้วก็รู้สึกพร้อมใจที่จะปฏิบัติเพราะเป็นเครื่องฝึกตัว

ขั้นสุดท้าย พอปฏิบัติสำเร็จได้บรรลุธรรมแล้ว วินัยก็กลับเปลี่ยนความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง กลายเป็นกติกาสำหรับรู้ร่วมกันว่า ในการอยู่ร่วมกันนี้เราจะทำอะไรกันอย่างไรเมื่อไร ซึ่งเป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกันในคนหมู่มาก จะต้องมีวินัยในรูปของข้อตกลงร่วมกันเช่นว่า เวลาเท่านั้นนะเราจะตีระฆังเพื่อมาประชุมร่วมกัน ในขั้นนี้วินัยก็กลายเป็นเครื่องนัดหมายว่าเราเอาอย่างนี้นะ

แม้พระอรหันต์ก็ต้องมีกติกาเพื่อนัดหมายร่วมกัน วินัยสำหรับพระอรหันต์หรือผู้บรรลุธรรมแล้วไม่ใช่เป็นการฝึกแล้ว ฝืนก็ไม่ฝืน ฝึกก็ไม่ฝึก แต่มันเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ร่วมกันว่าเราจะเอาอย่างไร เพื่อให้ชีวิตหมู่เป็นไปด้วยดีโดยเรียบร้อย ตอนแรกยังไม่รู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร พอมีวินัยก็จะได้รู้กัน กลับกลายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก และความคล่องตัว แม้แต่ท่านที่ได้เข้าถึงความสมบูรณ์ของการพัฒนาแล้ว ก็ต้องมีสิ่งหมายรู้ร่วมกันนี้ไว้เพื่อให้ทำกิจได้สะดวก วินัยก็มีความหมายกลายเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกัน สำหรับการทำกิจกรรมของหมู่คณะเป็นต้น เมื่อคนพัฒนาขึ้นไป ความหมายของวินัยก็พัฒนาขึ้นด้วยเป็นลำดับๆ อย่างที่พูดมานี้

รู้ความจริงแท้ของธรรมชาติ
ทำให้ปฏิบัติจริงจังตามสมมติโดยรู้เท่าทัน

วินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ทรงแสดงความมุ่งหมายไว้ ๑๐ ข้อ ตั้งแต่ความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่ตัวบุคคลไปจนถึงประโยชน์แก่ชุมชนสงฆ์และประชาชนทั่วทั้งหมด แต่รวมความว่าวินัยเป็นเรื่องของชีวิตหมู่หรือชีวิตชุมชน สำหรับทำให้สภาพชีวิตของบุคคลและสภาพแวดล้อมของชุมชนมาเอื้อต่อทุกคนในการเป็นอยู่และปฏิบัติกิจเพื่อบรรลุจุดหมายของธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมกับวินัยจึงประสานกัน

ธรรมเป็นเนื้อหา วินัยเป็นรูปแบบ วินัยเป็นเรื่องของสังคม ธรรมเป็นเรื่องของบุคคลหรือปัจเจกชน ธรรมเป็นความจริงตามธรรมชาติ วินัยเป็นเรื่องบัญญัติสมมติโดยมนุษย์ แต่วินัยนี่แหละคือชีวิตจริงที่มองเห็นของมนุษย์ เมื่อรู้ธรรม คือรู้ความจริงของกฎธรรมชาติก็รู้เท่าทันสมมติด้วย แล้วเราก็จะปฏิบัติต่อสมมติได้ถูกต้องด้วย ทำให้เรารู้จักวางใจวางท่าที ตลอดจนปฏิบัติการที่พอดีต่อสิ่งสมมติ ว่าแค่ไหนอย่างไร จึงจะได้ผลดีไม่เกิดผลเสีย

เราอยู่ในโลกท่ามกลางสังคมมนุษย์ ก็คืออยู่ในโลกของสมมติ สมมติคืออะไร สมมติคือมติร่วมกัน สม มาจาก สํ แปลว่าร่วมกัน มติ คือมติ ได้แก่ความรู้หรือความตกลง สมมติจึงแปลว่า ข้อตกลงร่วมกัน หรือความรู้ร่วมกัน เรื่องของมนุษย์นั้น เป็นเรื่องของการตกลงร่วมกัน จึงเป็นการสมมติขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นของเหลวไหลนะ เพราะเป็นของเกิดจากความรู้ คือเราเห็นว่าการทำอย่างนี้ดีเป็นประโยชน์ เราจึงได้สมมติคือตกลงร่วมกันว่าเอาอย่างนี้นะ แล้วมันก็ได้ผลเป็นประโยชน์ตามที่ตกลงกันนั้น แต่ทีนี้มนุษย์ไม่รู้เท่าทันความจริงตามสมมติ กลับไปยึดถือในสมมตินั้นว่าเป็นสิ่งจริงแท้ ก็เกิดความหมายมั่น แล้วปฏิบัติผิดไปไม่พอดีกับความจริง ก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ปัญหาก็เกิดจากการปฏิบัติไม่พอดี เนื่องจากไม่รู้เท่าทันความจริงตามสมมติ

สมมติก็เป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุจากผลเหมือนกัน แต่เป็นเหตุผลในสิ่งที่มนุษย์ตกลงกันให้ความหมายขึ้น มันไม่ใช่ของจริงโดยธรรมชาติแต่เป็นของจริงในความหมายของมนุษย์ ถ้าไปหลงยึดมั่นกับมันก็เป็นการไม่รู้เท่าทันสมมติ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไม่เอาใจใส่ไม่สนใจก็กลายเป็นว่าไม่รู้ตามความเป็นจริงของสมมติอีกเช่นกัน จึงต้องปฏิบัติให้จริงจังด้วยความรู้เท่าทันตามสมมติ จึงจะเป็นการปฏิบัติที่พอดีแล้วก็ถูกต้อง นี่คือเหตุผลของสมมติที่เรียกว่าข้อตกลงร่วมกัน หรือความรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นมติร่วม

เมื่อรู้ทันสมมติ แล้วทำตามสมมติ สมมติก็ให้ประโยชน์โดยไร้โทษ
เรียกว่าปฏิบัติพอดี เป็นมัชฌิมา

ขอยกตัวอย่าง เช่น สมมติว่าจ้างขุดดินจะให้เงิน ๑๐๐ บาท เป็นการตกลงกันว่าการขุดดินจะทำให้ได้เงิน ๑๐๐ บาท เราก็มองว่าการขุดดินเป็นเหตุให้ได้เงิน ๑๐๐ บาท และการได้เงิน ๑๐๐ บาท เป็นผลจากการขุดดิน ต่อมาคนก็เลยหลงสมมติคิดว่าการขุดดินกับการได้เงิน ๑๐๐ บาท เป็นเหตุเป็นผลกันจริง แต่มันไม่เป็นความจริงตามธรรมชาติ การขุดดินทำให้เกิดเงิน ๑๐๐ บาท มันไม่มีในโลก แต่มันเป็นสมมติ เงิน ๑๐๐ บาทเกิดจากการขุดดินก็ไม่มีเหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ตกลงยอมรับ ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับมันก็ไม่มี

ความจริงแท้ที่เป็นของธรรมชาติ ก็คือ การขุดดินเป็นเหตุให้เกิดหลุม และหลุมเป็นผลเกิดจากการขุดดิน ถ้าไม่ขุด ดินก็จะไม่เป็นหลุม และขุดดินทีไรก็เกิดหลุมทุกที นี่เป็นกฎธรรมชาติและนี่คือความจริงแท้ ทีนี้มนุษย์แยกไม่ถูก เพราะมนุษย์อยู่ร่วมกันมาในสังคมก็บัญญัติเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลเชิงสมมติขึ้นมามาก เสร็จแล้วมนุษย์ก็จะไปหลงในสมมติอันนี้แหละว่าเป็นความจริงแท้แน่นอน

ถ้าใครรู้ทันสมมติแล้วปฏิบัติต่อสมมติถูก ก็ได้ประโยชน์จากสมมติตามที่สมมติ เพราะเราบัญญัติสมมติขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ เรียกว่าปฏิบัติพอดี เพราะมีปัญญารู้เท่าทันความจริง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แต่ถ้าไม่มีปัญญารู้เท่าทัน ปฏิบัติไม่ถูก ก็ไปสุดทาง ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือยึดมั่นถือมั่นไปเลย ทำให้เกิดทุกข์ภัยไปแบบหนึ่ง หรือไม่ก็กลายเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น แล้วก็เกิดอัญญาณุเบกขา คือเฉยโง่ ปล่อยวางโดยไม่รู้เรื่องรู้ราว มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่เอาเรื่อง อันนี้เป็นโมหะนะ สภาพนี้ดูเหมือนจะเกิดอยู่ในสังคมไทยมาก เพราะไปหลงเข้าใจผิด เอาอุเบกขาเป็น อัญญาณุเบกขา คือเฉยโง่ เฉยไม่รู้ไปเสีย

เมื่อชีวิตในโลก ประสานสืบจากชีวิตในธรรมโดยสมบูรณ์
จิตก็ไม่ยึดมั่น ปล่อยวาง โดยทำทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบจริงจัง

พระอรหันต์มีลักษณะที่ท่านพรรณนาไว้ว่าเป็น อนุปัตตสทัตโถ แปลว่าบรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ กตัง กรณียัง กิจที่ต้องทำไม่มีอีกแล้ว หมายความว่ากิจที่ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองไม่มีอีก พัฒนาตนเองสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป

คนที่ยังไม่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีเรื่องที่จะต้องทำเพื่อตัวเอง เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเอง ทีนี้จะทำอะไร ก็อยู่ไปเพื่อสิ่งที่ดีงามตามเหตุตามผลที่รู้ด้วยปัญญา อะไรเป็นสิ่งที่ดีงามควรทำตามเหตุผลก็ทำเลย ไม่มีเรื่องของตัวมาเหนี่ยวรั้ง อะไรที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษย์ทั้งหลาย ทำให้เขาได้เจริญก้าวหน้าได้พัฒนาเป็นอิสระก็ทำเลย คนเขายังติดข้องกันอยู่ เราก็ช่วยให้เขาได้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป จนหลุดพ้นเป็นอิสระไปกับเราด้วย

เมื่อไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเอง ชีวิตที่มีอยู่ก็เหมือนกับให้เป็นของกลางไป จึงเป็นผู้ที่ทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ท่านอิ่มเต็มบริบูรณ์ในตัวแล้ว ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเอง ชีวิตที่มีอยู่ก็ยกให้สรรพสัตว์ทั้งหมด

พระอรหันต์ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องที่จะทำที่จะเอาเพื่อตัวเอง ฉะนั้น อะไรที่จะเป็นประโยชน์ได้แก่เพื่อนมนุษย์หรือสรรพสัตว์ก็ทำไป พระพุทธเจ้าจึงไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากลำบาก เสด็จเดินทางไปโปรดไปสั่งสอนประชาชนเรื่อยไป ไม่ว่าจะแสดงธรรมที่ไหน จะเป็นอยู่อย่างไร พระองค์ก็เต็มอยู่แล้วสุขอยู่แล้วตลอดเวลา เมื่อไม่ต้องทำเพื่อตัวเองก็ทำไปเพื่อผู้อื่น ประโยชน์ก็เกิดแก่สรรพสัตว์ อุปมาเหมือนในหมู่คนทั้งหลายที่ถูกมัดติดอยู่ คนหนึ่งแก้มัดให้กับตัวเองได้ หลุดไปแล้ว ตัวเองก็ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเองอีก ก็ได้แต่ไปแก้มัดให้กับคนอื่นต่อไป

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าพระอรหันต์เป็นแบบอย่างของการเอาใจใส่รับผิดชอบต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม หรือเรื่องของสงฆ์ ท่านจะเป็นผู้นำในเรื่องเหล่านี้ เมื่อมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนต่อพระศาสนาและส่วนรวม ท่านจะรีบช่วยแก้ไขปัญหา ในประวัติของพระพุทธศาสนาจะเห็นพระอรหันต์เป็นอย่างนี้ แต่ในความเข้าใจของคนไทยจำนวนมากชอบยึดถือกันว่าใครเฉยๆ ไม่เอาเรื่องเอาราว มีอะไรเกิดขึ้นทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กลายเป็นว่าจะเป็นคนหมดกิเลสไป ความเข้าใจอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นอันตรายอย่างที่สุด เพราะในพระพุทธศาสนาไม่มีอย่างนั้น เริ่มตั้งแต่พุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นตัวอย่าง พอมีเหตุการณ์อะไรไม่ดีเกิดขึ้น มีปัญหาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงรีบจัดการ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ทำตามอย่างพระองค์ เพราะฉะนั้น การสังคายนาก็มาจากการที่พระอรหันต์เอาใจใส่ประโยชน์ส่วนรวม และเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาอย่างนี้

ขอยกตัวอย่าง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ประมาณ ๕๐๐ ปี มีกษัตริย์สำคัญพระองค์หนึ่งในชมพูทวีป มีเชื้อชาติกรีก พระนามว่าพระยามิลินท์ พระยามิลินท์นี้เป็นนักปราชญ์ ชอบโต้วาทะ เก่งกล้ากระฉ่อนในวงการของศาสนาและปรัชญา นักบวชในศาสนาต่างๆ แพ้ไปหมด ทำให้วงการศาสนาสั่นสะเทือนไปทั่ว แม้แต่ในพุทธบริษัทตอนนั้นก็หาผู้ที่จะมาสู้วาทะกับพระยามิลินท์ไม่ได้ พระอรหันต์จึงมาประชุมกันแล้วพิจารณาว่าจะคิดแก้ไขอย่างไร มีพระอรหันต์องค์หนึ่งไม่ได้มาประชุม เพราะไปสงบอยู่ในป่า เมื่อพิจารณาเรื่องราวกันไปแล้ว ที่ประชุมพระอรหันต์ก็ได้มีมติลงโทษแก่พระอรหันต์องค์นั้น ด้วยการลงทัณฑกรรม คือมอบงานให้ทำ โดยให้ทำหน้าที่ให้การศึกษาฝึกอบรมพระนาคเสน เพื่อที่จะไปโต้วาทะกับพระยามิลินท์ จนในที่สุดพระนาคเสนก็โต้วาทะชนะพระยามิลินท์ ในประวัติพุทธศาสนามีการลงโทษพระอรหันต์หลายครั้ง โดยใช้วิธีมอบงานให้ทำ

- สรุป -
พิธีกรรมสื่อวินัยสู่ธรรม

เมื่อพิธีกรรมนำสู่วินัย แล้ววินัยนำสู่ธรรม และธรรมแสดงตัวในวินัยจนออกมาในพิธีกรรม
นั่นคือความสมบูรณ์แห่งความหมายและความสำเร็จแห่งความมุ่งหมายของพิธีกรรม

รวมความว่า พระพุทธศาสนาประกอบด้วยธรรมกับวินัย ธรรม คือด้านเนื้อหาที่สัมพันธ์กับตัวสัจธรรมของธรรมชาติ วินัย คือด้านปฏิบัติการที่ออกมาสู่โลกของมนุษย์ โลกของสมมติซึ่งเป็นชีวิตที่เป็นอยู่จริงในสภาพแวดล้อมของสังคมเป็นอย่างไรให้ดูที่วินัย ชีวิตของท่านผู้บรรลุธรรมแล้วก็ออกมาปรากฏที่วินัย ส่วนพิธีกรรมก็เป็นรูปแบบภายนอกที่มาช่วยสื่อวินัย และเสริมโอกาสแห่งการปรากฏตัวกระทำกิจหน้าที่ของผู้ที่มาสื่อธรรมแก่มหาชน

เปรียบเหมือนในการจราจรที่ดี ธรรมคือความจริงที่ว่ารถทั้งหลายจะวิ่งไปได้คล่องสะดวก จะต้องมีช่องทางและแล่นกันไปเป็นแถวเป็นแนวตามลำดับ ไม่ลักลั่น เกะกะกีดกั้นขัดขวางกัน วินัยคือกฎระเบียบกติกาและการปฏิบัติจัดการให้เป็นไปตามความจริงของธรรมนั้น ส่วนพิธีกรรมก็เหมือนกับสัญญาณและเครื่องหมายจราจร ตลอดจนการโบกมือเป่านกหวีดเป็นต้น ของตำรวจจราจร

จะดูธรรมก็ดูได้จากตัวบุคคลที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นชีวิตส่วนตัวที่มีจิตใจเข้าถึงธรรมชาติด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสัจธรรม ไม่ยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย มีใจเป็นอิสระ ส่วนด้านวินัยก็ดูที่การปฏิบัติตัวของท่าน ผู้เข้าถึงธรรม โดยเฉพาะพระอรหันต์ ที่ออกมาสู่ชีวิตจริงในโลก เมื่อมาอยู่ในสังคมก็รู้ความเป็นจริงตามสมมติ เขาบัญญัติกันอย่างไรก็ทำให้ถูกต้องตามนั้น และถ้าเป็นเรื่องที่ตกลงกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมระยะยาว ก็ปฏิบัติเอาจริงเอาจังให้เป็นแบบอย่าง จนกระทั่งเป็นผู้นำในเรื่องของส่วนรวม เพราะตนเองไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวอีกแล้ว ธรรมกับวินัยก็ประสานรับกันหมด

พระอรหันต์ทำตามเหตุผลด้วยปัญญา ถ้าท่านทำอะไรแบบปล่อยตัวอย่างไม่รับผิดชอบ ก็จะเป็นเหตุให้คนเข้าใจผิดในเรื่องความดีความชั่ว และคนที่มีเจตนาไม่ดี อยากจะทำอะไรตามใจชอบ ก็จะเอาไปยกเป็นข้ออ้างได้ เมื่อคนทำตามก็จะเกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม และต่อพระศาสนา พระธรรมวินัยก็จะอยู่ไม่ได้ เมื่อไม่ได้ทำเพื่อตัวเองก็ต้องทำตามเหตุผลและความสมควรซิ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงเป็นแบบอย่างในการรักษาพระวินัย และการทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

ขอยกตัวอย่าง เช่น พระมหากัสสปะท่านปฏิบัติเคร่งครัดถือธุดงค์หลายข้อตลอดชีวิต เมื่อท่านชรามาก การปฏิบัติเคร่งครัดเหล่านั้นก็เป็นความยากลำบากและไม่สะดวกไม่สบายอย่างมาก ก็อาจจะมีผู้สงสัยว่า ในเมื่อท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจะถือธุดงค์ไปทำไม คำว่าธุดงค์นั้นแปลว่า องค์ธรรมของผู้ขัดเกลากิเลส เป็นข้อปฏิบัติเคร่งครัดในการฝึกตน ก็ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสที่จะต้องขัดเกลาแล้ว จะต้องไปถือธุดงค์ทำไม

แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เคยทรงชวนท่านว่า ท่านแก่เฒ่าแล้ว ผ้าบังสุกุลที่ท่านห่มเนื้อไม่ดีและหนัก ให้เปลี่ยนมาใช้ผ้าเนื้อดีเบาๆ ที่ญาติโยมศรัทธาถวาย ฉันอาหารตามนิมนต์ และอยู่ใกล้ๆ พระองค์ แต่ท่านพระมหากัสสปะก็ยังยืนยันขอถือธุดงค์ที่ท่านถือมาเป็นประจำต่อไป

พระมหากัสสปะทูลตอบโดยยกเหตุผลว่า นอกจากเป็นความสบายของท่านแล้วก็ ปัจฉิมาชนตานุกัมปา เพื่อเห็นแก่ชุมชนผู้เกิดมาภายหลัง ทิฏฐานุคติ จะได้ถือเป็นแบบอย่างไว้ เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป กิจกรรมทุกอย่างของพระอรหันต์ถือหลัก พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ คือเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

เพราะฉะนั้น จะต้องมองและศึกษาพระพุทธศาสนาให้ครบทุกด้านจึงจะสมบูรณ์ มิฉะนั้นจะเขวหรือดิ่งไปในแง่มุมด้านหนึ่งด้านเดียว แล้วก็จับผิดจับถูกกันวุ่นวายไปหมด

ถ้าพระพุทธศาสนาเหลือแต่พิธีกรรมจริง แต่พิธีกรรมนั้นยังมีความหมายและเนื้อหาสาระถูกต้อง ปัญหาก็ยังไม่ร้ายแรงนัก แต่สภาพในทางเสื่อมที่หนักในปัจจุบัน ก็คือ นอกจากพิธีกรรมจะมีความหมายเลือนลางหรือคลาดเคลื่อนออกไป จนกลายเป็นรูปแบบที่ไม่มีเนื้อหาสาระ หรือเป็นเปลือกที่มีเนื้ออย่างอื่นเข้ามาแทนเนื้อแท้แล้ว แม้แต่สังฆกรรมหลายอย่างที่เป็นส่วนแก่นสารสำคัญของพระวินัย ก็ยังได้เลือนลางลงไปกลายเป็นพิธีกรรมในความหมายที่คลาดเคลื่อนไปแล้วด้วย

เพราะฉะนั้น งานแก้ไขปรับปรุงที่จะต้องทำเกี่ยวกับพิธีกรรม เพื่อฟื้นความหมายและใส่เนื้อหาสาระกลับเข้าไปในรูปแบบของมัน จึงไม่ใช่เป็นเพียงงานในการเชื่อมโยงพิธีกรรมเข้าสู่พระวินัยเท่านั้น แต่เป็นงานในขั้นของพระวินัยโดยตรงทีเดียว ด้วยเหตุนี้ เรื่องของพิธีกรรมในบัดนี้จึงมีความสำคัญถึงขั้นเป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธศาสนาด้วย

พิธีกรรมเป็นส่วนเบื้องต้นของวินัย โดยเป็นส่วนที่สื่อกับหมู่ชนส่วนใหญ่ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นเครื่องนำเขาเข้าสู่วินัยที่จะนำต่อให้เข้าถึงเนื้อหาสาระที่เป็นธรรมะสูงขึ้นต่อไป และอีกด้านหนึ่งในทางกลับกัน วินัยก็เป็นที่ปรากฏตัวของธรรมในโลกแห่งสมมติของมนุษย์ด้วย ดังนั้นถ้าจะให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ด้วยดี จะต้องทำให้พิธีกรรมเป็นเครื่องนำคนเข้าสู่วินัยที่สูงขึ้นไป เพื่อเข้าถึงธรรมในที่สุด และถ้าเมื่อใดพิธีกรรมเป็นที่ปรากฏแสดงตัวของบุคคลผู้เข้าถึงธรรมแล้ว ที่จะมาสื่อสารกับมหาชนได้สะดวก เมื่อนั้นก็เป็นความสมบูรณ์แห่งความหมาย และเป็นความสำเร็จแห่งความมุ่งหมายของพิธีกรรม

1เรื่องนี้ เป็นคำบรรยายแก่คุณปรีชา ก้อนทอง แห่งวารสารร่มโพธิ์แก้ว ในโอกาสที่ไปสัมภาษณ์ ณ สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม เขาดงยาง ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๗
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.