ในการจัดงานฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน คณะกรรมการจัดงานและญาติโยมมีความตั้งใจจะทำให้เป็นงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านความรู้ที่ถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งทางด้านพระวินัยตามพระพุทธบัญญัติ และดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีของสังคมไทย โดยใช้งานบุญตามประเพณีให้เป็นประโยชน์เจริญธรรมเจริญปัญญาแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นความตั้งใจที่สอดคล้องกับความประสงค์ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ที่ได้ดำริไว้เป็นเบื้องต้นแล้ว
ส่วนหนึ่งของงานครั้งนี้จึงจะจัดออกมาในเชิงวิชาการ เพื่อให้ความรู้ในด้านกระบวนการ ขั้นตอน ตลอดจนวัตถุประสงค์ของการสร้างวัด ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา ซึ่งจะอยู่ในรูปของการจัดนิทรรศการขนาดย่อมในช่วงระหว่างปีที่มีการปิดทองลูกนิมิต (ตามประเพณีนิยม) และในรูปของหนังสือและบทความเผยแพร่
โดยเฉพาะในช่วงวันงานที่กำหนดไว้ระหว่างวันที่ ๖-๑๒ มกราคม ๒๕๔๔ นั้น จะมีการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ และการเทศนาบรรยายธรรม เป็นต้น เพื่อเป็นการฉลอง แทนมหรสพอื่นๆ ทั้งนี้จะได้เชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนมาร่วมงานดังกล่าวด้วย
การจัดพิมพ์หนังสือ “ฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน” เล่มนี้จึงเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งในกิจกรรมประกอบงานฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาของวัดญาณเวศกวัน เพื่อจะให้ความรู้ความเข้าใจในที่มาที่ไป ตลอดจนความหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา โดยได้รับความเมตตาอย่างยิ่งจากพระเดช พระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เป็นผู้ตอบข้อซักถาม ให้ความกระจ่างในเรื่องต่างๆ
ขอขอบพระคุณท่านพระครูปลัดปิฎกวัฒน์ และพระภิกษุในวัด ที่ได้ช่วยถอดเทปการบันทึกถาม-ตอบครั้งนั้น ตลอดจนจัดเตรียมต้นแบบหนังสือเล่มนี้ให้พร้อมที่จะตีพิมพ์ได้
อนึ่ง ในช่วงท้ายเล่มมี “คาถาพุทธภาษิต” ซึ่งทางวัดได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นคาถาเสริมบุญในการปิดทองลูกนิมิต เพื่อให้เป็นบุญเป็นกุศลมากขึ้นครบคุณค่าสาระทางธรรมทางปัญญา โดยก่อนไปปิดทองให้รับคาถาพุทธภาษิต ๑ บท (๑ แผ่น) ท่องคาถาพุทธภาษิตให้คล่อง และในขณะที่ปิดทองลูกนิมิตแต่ละลูกให้ว่าคาถาพุทธภาษิตไปด้วย
นอกจากนั้น เพื่อให้ท่านผู้ใฝ่ธรรมจะได้อ่านไตร่ตรองเจริญธรรมหรือจดจำไว้เป็นคติสืบไป จึงได้รวบรวมคาถาเหล่านั้นพิมพ์เรียงลำดับ (ตามลำดับอักษรบาลี) ไว้ท้ายเล่มหนังสือนี้ด้วย
คณะกรรมการจัดงานจึงใคร่ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่านมาร่วมกิจกรรมบุญกุศลในงานฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา ของวัดญาณเวศกวันโดยถ้วนหน้ากัน
ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต
ประธานจัดงานฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา วัดญาณเวศกวัน
การผูกสีมา มีงาน ๒ ด้าน
๑. ด้านพระวินัย ตามพระพุทธบัญญัติ
เพื่อให้พระสงฆ์มีเขตสำหรับทำสังฆกรรม
๒. ด้านวัฒนธรรม ตามประเพณีของสังคมไทย
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมและได้ทำบุญอุปถัมภ์บำรุงกิจการพระพุทธศาสนา
ด้านที่ ๑ คือการผูกสีมาตามพระวินัย เป็นส่วนที่จำเป็นต้องทำ ขาดไม่ได้
ด้านที่ ๒ คืองานบุญตามประเพณี เป็นส่วนที่งอกขึ้นมาภายหลัง จะไม่ทำก็ได้
อย่างไรก็ตาม ได้เห็นร่วมกันว่าจะไม่ตัดรอนละทิ้งประเพณี แต่ควรจับสาระของประเพณีนั้นให้ได้และปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยถือเอาประโยชน์ที่ประเพณีได้ให้โอกาสไว้ หรือใช้ประเพณีให้เป็นประโยชน์ ในด้านที่จะเจริญธรรมเจริญปัญญาแก่ประชาชน
ก. อานิสงส์การปฏิบัติตามพระวินัยพุทธบัญญัติ
๑. ทำให้พระสงฆ์มีเขตดำเนินกิจการส่วนรวมที่เรียกว่าสังฆกรรม
๒. ทำให้สามารถสร้างโบสถ์ หรือทำให้โบสถ์สำเร็จผลในการใช้ทำสังฆกรรม
๓. ทำให้การสร้างวัดสำเร็จแท้จริง และวัดนั้นมีฐานะสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
๔. ทำให้ศาสนกิจทั้งหลายดำเนินไปได้ด้วยดีโดยสะดวกปลอดโปร่ง
ข. อานิสงส์การปฏิบัติตามประเพณีงานบุญ
๑. ชาวพุทธได้มีส่วนร่วมในกิจการพระพุทธศาสนา และได้เรียนรู้เรื่องราวในพระศาสนาของตน
๒. ชาวพุทธได้มีส่วนร่วมสร้างโบสถ์ และทำให้วัดมีฐานะสมบูรณ์
๓. ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ได้มาสนับสนุนศาสนกิจของพระสงฆ์ เป็นการแสดงความสามัคคีของพุทธบริษัททั้ง ๔
๔. ชาวพุทธได้มีโอกาสทำบุญ บำเพ็ญกุศลกรรม ฝึกอบรมกาย วาจา ใจ ให้เจริญใน ทาน ศีล ภาวนา
๕. ชาวพุทธได้ร่วมสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา โดยช่วยให้กิจการงานพระศาสนาทั้งหลาย เช่น การอุปสมบท และสังฆกรรมทุกอย่าง ที่จะมีมาตลอดกาลยาวนานข้างหน้า ดำเนินไปได้ เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรือง มั่นคง นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่มหาชนอย่างยั่งยืนนาน
๖.ชาวพุทธได้อารมณ์บุญอันเด่น ที่จะแต่งจิตให้เอิบอิ่มด้วยปีติสุข และฝังไว้ในใจให้เป็นกรรมนิมิต เพื่อคติที่ดีสืบต่อไป
(มีรายละเอียดในเล่ม)
ถาม: เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๒ ทางคณะกรรมการได้พูดถึงเรื่องการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตที่วัดญาณเวศกวัน เนื่องจากที่คุยกัน ก็ยังไม่ค่อยทราบถึงกระบวนการ วิธีทำ ขั้นตอน ตลอดจนแม้กระทั่งวัตถุประสงค์ในทางพิธีการหรือพิธีกรรมอย่างชัดเจน จึงขอโอกาสกราบเรียนถามท่านเจ้าคุณอาจารย์ให้ทราบแนวทาง แนวคิด แนวปฏิบัติ รวมทั้งวัตถุประสงค์ต่างๆ ในการทำ
ทั้งนี้ เพราะว่าทางคณะกรรมการมองเห็นว่า การฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมาครั้งนี้ น่าจะเป็นต้นแบบหรือเป็นตัวอย่างให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ทราบเรื่องทราบราวว่าทำไปทำไม ทำอย่างไร ให้เป็นทางวิชาการ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ความรู้กับพุทธศาสนิกชนทั่วไป และเป็นการรวบรวมความรู้ ข้อมูล รายละเอียดต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไป
พระธรรมปิฎก: เรื่องฝังลูกนิมิตผูกสีมา อาตมาก็เคยเขียนไว้ เหตุที่เขียนก็สืบต่อจากที่ได้เขียนเรื่องวัดไว้ ซึ่งในตอนนั้นหมายถึงเรื่องวัดไทยในอเมริกา คือ วัดไทยที่นิวยอร์ค และวัดไทยที่ชิคาโก
ตอนแรกที่วัดวชิรธรรมประทีป นิวยอร์ค อาตมาได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับวัดไว้ ชื่อเรื่องว่า การสร้างวัด หรือความรู้เกี่ยวกับวัดอะไรนี่ ชื่ออะไรจำไม่แม่น ต่อมาวัดไทยที่ชิคาโกจัดงานผูกสีมา ก็เลยเขียนเรื่องสีมาขึ้นอีก เท่ากับว่ามี ๒ เรื่องแล้ว เข้าชุดกัน
เป็นอันว่ามีข้อเขียนอยู่แล้ว ความรู้เกี่ยวกับเรื่องทั้งสองนี้ ต้องไปค้นดึงเอามาจากวารสารของสองวัดนั้น แต่เคยดึงเรื่อง “ความรู้เรื่องวัด” มาพิมพ์ในหนังสือ กฐินแรกที่สายใจธรรม จึงน่าจะดึงเรื่องที่อยู่ในวารสารของวัดธรรมาราม ชิคาโก คือเรื่องสีมามาด้วย แต่ไม่เป็นไร คราวนี้ก็พูดใหม่อีกทีหนึ่ง อาจจะซ้ำบ้าง ไม่ซ้ำบ้าง
เรื่องการผูกสีมานี่มี ๒ ด้าน คือ
๑. ด้านวินัยของพระ ตามพุทธบัญญัติ
๒. ด้านวัฒนธรรมประเพณีที่เกิดเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะของสังคมไทย
ส่วนที่จำเป็นขาดไม่ได้ คือส่วนที่หนึ่ง คือส่วนที่เป็นเรื่องของวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
ที่เราเรียกกันว่า “งานฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา” นั้น เป็นการเรียกตามๆ กันไปเท่านั้น ที่จริง “พัทธสีมา” แปลว่า สีมาที่ผูกแล้ว (“พัทธ” แปลว่า ผูกแล้ว) เมื่อสีมายังไม่ได้ผูก เราจึงมาจัดการผูกสีมาให้เป็นพัทธสีมา เพราะฉะนั้นจึงควรพูดให้ถูกว่า “งานฝังลูกนิมิต-ผูกสีมา”
ทีนี้พูดตามวินัยก่อน เรื่องวินัยก็คือ เมื่อเราสร้างวัดขึ้นมา หรือพระอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าวัด ก็จะต้องมีเขตที่จะกำหนดว่าพระอยู่ในเขตแค่ไหนจะต้องมาประชุมกันเวลามีงานส่วนรวมที่เรียกว่า สังฆกรรม
หมายความว่า เรื่องสีมาเกิดขึ้นเพราะว่าชีวิตของพระตามพุทธบัญญัตินั้นอยู่กันเป็นสังฆะ หรือสงฆ์ คือเป็นหมู่หรือชุมชน และพระที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ที่เราเรียกว่าวัดนั้น เมื่อมีเรื่องส่วนรวมที่จะต้องทำ ก็มาประชุมตกลงกัน เรียกว่าทำสังฆกรรม
ปัญหาเกิดขึ้นว่า พระรูปใดบ้างอยู่ในหมู่นั้น หรือหมู่นั้นกำหนดแค่ไหน ที่จะต้องมาร่วมประชุม นี่แหละก็เลยต้องกำหนดเขตกันขึ้น เขตนั้นภาษาบาลีเรียกว่า “สีมา”
การตกลงกันกำหนดเขตนั้นไว้นั่นแหละเรียกว่า “ผูกสีมา”
ถาม: สีมาเป็นอย่างนี้ แล้วลูกนิมิตมาอย่างไร?
พระธรรมปิฎก: การกำหนดเขตคือสีมานั้นก็ต้องมีเครื่องหมาย คนอื่นเขาจะได้รู้ด้วย และผู้ที่อยู่ภายในเขตเองก็จะได้ไม่ลืม จะได้ใช้เป็นที่กำหนดว่าเราอยู่ในเขตหรือไม่ และก็รู้ว่าเขตของเราแค่ไหน
พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวัตถุ ๘ ชนิดให้ใช้เป็นเครื่องหมายกำหนดเขตที่เรียกว่า สีมา สีมาก็คือเขต
วัตถุ ๘ ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องหมายเขตได้ คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำ ถ้าใช้วัตถุที่ไม่มั่นคงทนทาน พัทธสีมาที่ผูกคือกำหนดกันไว้ ก็ไม่มั่นคงยั่งยืน มาถึงปัจจุบันจึงนิยมกันลงตัว เอาศิลาขนาดที่เป็นหลักเป็นฐาน
คำว่าเครื่องหมายในภาษาบาลีเรียกว่า นิมิต เพราะฉะนั้น วัตถุ ๘ อย่างที่ใช้กำหนดจึงเรียกว่า “นิมิต” หมายความว่าเป็นเครื่องหมาย เครื่องหมายของอะไร ก็คือเครื่องหมายของสีมา หรือเขตนั่นเอง เพราะฉะนั้น บางครั้งจึงเรียกเต็มๆ ว่า “สีมานิมิต” (เครื่องหมายของสีมา หรือเครื่องหมายเขต)
ได้บอกแล้วว่า ปัจจุบันนิมิตนั้นนิยมใช้ก้อนหิน หรือศิลา และตั้งใจแต่งให้เรียบร้อยงดงามเป็นลูกกลมๆ ก็เลยเรียกว่า “ลูกนิมิต”
ถาม: เห็นข้างโบสถ์มีใบเสมาด้วย เป็นอะไรกันกับลูกนิมิตหรือเปล่า?
พระธรรมปิฎก: อันนี้เป็นของแถม วินัยไม่ได้กำหนดไว้ คือ เมื่อมีลูกนิมิตแล้ว แต่ลูกนิมิตนั้นฝังอยู่ในดิน มองไม่เห็น ต่อมาก็เลยนิยมทำแผ่นหิน แผ่นอิฐ หรือแผ่นไม้ ไว้เหนือหลุม หรือเรียงไว้บนกำแพงตรงเหนือหลุมที่ฝังลูกนิมิตไว้นั้น แล้วเรียกกันว่า “ใบเสมา” หรือ “ใบสีมา” เป็นที่สังเกตว่าลูกนิมิตอยู่ตรงนั้น
แท้จริงนั้น ถ้าใบสีมาเป็นศิลาที่ใหญ่พอ และปักติดลงไปในดิน ก็ใช้ใบสีมานั้นเป็นนิมิตได้เลย ไม่ต้องมีลูกนิมิตต่างหาก แต่ปัจจุบันนี้นิยมกันให้มีทั้งลูกนิมิตและใบสีมา
เมื่อกะเขตไว้แล้ว และได้วัตถุที่เป็นนิมิตแล้ว สงฆ์ก็มาประชุมกัน การประชุมกันนี้ก็เป็นสังฆกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งตกลงกันว่า เอานะ นี่เขตสีมา ซึ่งมีนิมิต เช่นก้อนหินเป็นเครื่องกำหนด ก้อนนี้ๆๆ สำหรับทิศนี้ๆๆ นิยมให้มี ๘ ทิศ เขตก็จะเป็นไปตามลูกนิมิต เมื่อวางลูกนิมิตไว้แล้ว พอดึงเส้นลากโยงจากลูกหนึ่งไปลูกหนึ่งๆๆ แล้วรูปร่างเขตก็เกิดขึ้นมา ปัจจุบันนิยมว่ามี ๘ ลูก นี้เป็นความนิยมนะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นความจำเป็น
ขอแถมแทรกตรงนี้ขึ้นมานิดหนึ่งว่า ได้เกิดประเพณีปฏิบัติในเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา ให้เพิ่มนิมิตอีกลูกหนึ่งเป็นลูกที่ ๙ อยู่ตรงกลาง เลยเรียกเป็นลูกประธาน ลูกตรงกลางอันที่จริงไม่ได้เป็นเขตอะไร แต่ก็พลอยเรียกเป็นลูกนิมิตไปด้วย ก็ถือว่าเป็นลูกแถมตามประเพณีก็แล้วกัน ส่วนของจริงก็คือลูกที่อยู่ข้างๆ ที่ชักเส้นถึงกันเป็นกำหนดเขต ซึ่งนิยมมีทั้งหมด ๘ ลูก
จากนั้นสงฆ์ก็มาประชุมกันแล้วก็ตกลงกำหนดว่า นี่นะ ที่เราใช้ก้อนหินหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นนิมิตนี่ ในทิศนั้นใช้อันนี้เป็นนิมิต ทิศนั้นใช้อันนี้เป็นนิมิต ตกลงกันแล้วก็สวดประกาศว่า เอาแล้วนะ สงฆ์คือที่ประชุมได้สมมติ คือมีมติร่วมกันกำหนดสีมาคือเขตชุมนุมสงฆ์ไว้ การประชุมสงฆ์ทำการนี้ เป็นสังฆกรรมที่เรียกว่า สมมติสีมา (ภาษาบาลีเรียกว่า “สีมาสมฺมติ”)
ที่ว่าสมมติสีมา ก็คือทำให้เป็นเขตที่มีขึ้นด้วยการสมมติ หมายความว่ามีขึ้นโดยมติร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของธรรมชาติ คำว่าสมมติแปลว่ามติร่วมกัน การทำให้เป็นเขตที่เกิดจากมติร่วมกันนี้เรียกว่า การสมมติสีมา ซึ่งเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง
สังฆกรรมนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะว่าเมื่อทำสังฆกรรมนี้แล้ว ที่ในบริเวณนั้นก็เรียกว่าเป็น พัทธสีมา แปลว่า สีมาที่ผูกแล้ว คือเป็นเขตที่สงฆ์ได้กำหนดขึ้นแล้ว เมื่อยังไม่ผูกก็ยังไม่เป็นพัทธสีมา แต่สำนวนไทยเราพูดว่าผูกพัทธสีมา
ที่จริงเราผูกสีมานี้ให้เป็น “พัทธสีมา” คือ ให้เป็นเขตที่สงฆ์ได้ตกลงกันผูกคือกำหนดไว้แล้ว นี่คือสาระสำคัญ
มีความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ความจริงสีมานี้ไม่จำเป็นต้องผูกก็ได้ แต่วันนี้เราพูดถึงเฉพาะสีมาที่ผูกซึ่งเรียกว่าพัทธสีมา แต่ที่จริงสงฆ์ไม่จำเป็นต้องผูกสีมาก็ได้ คือถือตามกำหนดเขตที่มีอยู่แล้ว หมายความว่า บ้านเมืองเขามีกำหนดเขตเป็นตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นต้นอยู่แล้ว สงฆ์คือพระส่วนรวมก็ถือสีมาคือเขตตามนั้น ถ้าถือตามนั้นก็เป็นอันว่าไม่ต้องมาประชุมสมมติขึ้น คือไม่ต้องสมมติสีมา
อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตามกำหนดของบ้านเมืองเป็นต้นก็อาจจะลำบาก เช่นว่าเมื่อถือตามตำบล เมื่อเขตตำบลมีแค่ไหน พระที่อยู่ในตำบลนั้นถึงคราวมีเรื่องส่วนรวมต้องมาประชุมร่วมกันหมด ขาดองค์เดียวไม่ได้ และถ้าพระองค์ไหนที่อยู่นอกเขตผ่านเข้ามาในเขตตำบลนั้น ก็ต้องมาเข้าที่ประชุม แล้วใครจะไปตามไหว ถ้าปฏิบัติไม่ได้ตามนี้ก็กลายเป็นว่าสังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ เพราะฉะนั้นการผูกสีมาจึงสะดวกกว่า
สีมาชนิดที่ว่าพระสงฆ์ไม่ได้มาประชุมตกลงกันกำหนดขึ้น แต่ถือตามเขตบ้านเมือง หรือถ้าอยู่ในป่าในทะเลที่เป็นของธรรมชาติ ก็เอาระยะหรือเนื้อที่เป็นกำหนด (เช่นในป่า ให้วัดจากศูนย์กลางออกไปโดยรอบด้านละ ๗ อัพภันดร คือด้านละประมาณ ๙๘ เมตร) อย่างนี้ ก็เป็นสีมาอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า อพัทธสีมา
เป็นอันว่ามี สีมา คือเขตที่ผู้อยู่ภายในต้องมาร่วมทำสังฆกรรม ๒ ประเภท คือ
๑. พัทธสีมา เขตที่สงฆ์ได้ตกลงกันกำหนดขึ้น
๒. อพัทธสีมา เขตที่สงฆ์ไม่ได้กำหนด แต่ถือตามบ้านเมืองเป็นต้น
ขอแถมอีกหน่อยเรื่องวิวัฒนาการทางฝ่ายสงฆ์เอง เดิมนั้นหลักการหรือสาระสำคัญในเรื่องนี้ก็อย่างที่พูดแล้วว่า พระที่อยู่ในสีมาคือเขตเดียวกัน เมื่อมีเรื่องราวก็ต้องมาร่วมกันพิจารณา ต่อมาภายหลัง ท่านคงจะไม่สะดวกแล้วก็อาจจะเอาความสะดวกเข้าว่า คือที่จริงเครื่องกำหนดความสามัคคี หรือความพร้อมเพรียงพร้อมกันก็ควรจะทั้งวัด หมายความว่าจะต้องผูกเขตกำหนดกันทั้งวัด แต่ต่อมาท่านกำหนดเอาเฉพาะสถานที่ประชุมกันจริงๆ อย่างที่เราทำกัน
ปัจจุบันนี้กำหนดเอาเฉพาะตรงที่มาประชุมกัน ก็เลยกลายเป็นว่าพระในวัดที่อยู่นอกโบสถ์ก็อยู่นอกสีมาที่กำหนด คือข้างนอกลูกนิมิตที่กำหนด เวลามีประชุมก็ไม่ต้องเข้าร่วมประชุมก็ได้ กลายเป็นเอาสะดวกเข้าว่า เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้ พระในวัดที่ไม่ได้มาในโบสถ์ ถึงไม่มาก็ไม่เป็นไร
ตามหลักนั้น เมื่ออยู่ในสีมา ถ้ามาประชุมไม่ได้ เช่นป่วย ก็ต้องมอบฉันทะ2 เป็นที่มาของระเบียบการประชุมสภาเป็นต้นที่เอาคำศัพท์ของท่านมาใช้ ซึ่งมาจากเรื่องการประชุมของพระนี่แหละ หากไม่ได้ดำเนินการตามพุทธบัญญัติ สังฆกรรมก็เป็นโมฆะ
เป็นอันว่า ตามประเพณีที่เป็นวิวัฒนาการยุคหลัง นิยมผูกสีมาเฉพาะตัวสถานที่ที่จะใช้เป็นที่ประชุม คือที่ตัวอาคารอุโบสถ หรือตัวโบสถ์
ถาม: แต่พระที่อยู่ในสีมาที่จะต้องมาประชุม หมายถึงพระในวัดนั้นใช่ไหม
พระธรรมปิฎก: ตามกำหนด อย่างน้อยพระที่อยู่ในเขตต้องมาประชุม แต่พระที่อื่นจะมาร่วมประชุมในบางเรื่องก็ได้
ถาม: ในเขตนี้หมายถึงเขตไหน
พระธรรมปิฎก: ก็เขตที่เรากำหนด ซึ่งมีลูกนิมิตเป็นที่กำหนด
ถาม: ก็มีแต่พระในโบสถ์ซิ
พระธรรมปิฎก: ใช่ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าเอาสะดวก จึงได้เป็นอย่างนี้ คือกลายเป็นว่าเราจะเอาใครมาประชุมก็ไปนิมนต์ ที่จริงไม่ต้องนิมนต์เพราะเป็นเรื่องของกิจการงานในความรับผิดชอบ เป็นหน้าที่เลย โดยหลักการนั้นคือหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อมีเรื่องส่วนรวมต้องมาประชุม คือทั้งสองฝ่าย
๑. สมาชิกแต่ละบุคคลมีหน้าที่รับผิดชอบต้องมาประชุม ถ้าไม่มาก็มีความผิด
๒. ที่ประชุม ถ้าไม่รอให้ครบ การประชุมของตัวเองก็ไม่มีผล เป็นโมฆะ
ทั้งสองฝ่ายอาศัยซึ่งกันและกัน นี้คือหลักความรับผิดชอบ แล้วก็เป็นเรื่องของการปกครองหรือบริหารร่วมกัน อันนี้คือสาระสำคัญ
เป็นอันว่า ปัจจุบันนี้เอาสะดวกเข้าว่า จึงเหลือแต่เพียงว่ามีสีมาแค่สถานที่ประชุม ตามที่เรามีลูกนิมิต เช่นบวชพระ เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าผู้ที่จะบวชไปเลือกนิมนต์พระมา แทนที่จะเป็นเรื่องของที่ประชุมซึ่งพระทุกองค์ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นต้องมาประชุมเอง มันกลับกันเสีย อันนี้เป็นความรู้ประกอบ
นี่เป็นข้อคิดที่ชาวพุทธจะต้องรู้ไว้ เพื่อว่าต่อไปอาจจะมีทางฟื้นฟู อย่างน้อยต้องพยายามรักษาสาระไว้ มิฉะนั้นจะเหลือแต่รูปแบบและเพี้ยนกันไปเรื่อย
เอาเป็นว่า ปัจจุบันนี้ผูกสีมาเฉพาะเขตที่กำหนดเป็นที่ประชุม เมื่อใครเข้ามาในสีมาแล้วถ้าเป็นพระภิกษุต้องเข้าที่ประชุม ถ้าไม่เข้าก็ทำให้สังฆกรรมเสีย และระหว่างที่มีสังฆกรรมอยู่จะมีภิกษุอื่นเข้ามาในเขตไม่ได้ ถ้ามีก็ต้องเข้าที่ประชุมหมด ทีนี้ระหว่างที่ทำสังฆกรรมถ้าเกิดมีพระอื่นเข้ามาในเขต ก็จะทำให้สังฆกรรมเสียได้ ในบางวัดก็เลยต้องคอยระวังเพราะมีสีมาใหญ่ ต้องมีคนคอยดูว่ามีพระอื่นมาไหม
เดี๋ยวนี้ก็ยังมีบางวัดที่ผูกสีมาทั้งวัด ในเมืองไทยนี้ดูเหมือนจะมีอยู่ ๒ วัด คือ วัดราชบพิธ กับวัดราชประดิษฐ์ ถ้าผูกสีมาไว้ทั้งวัดจะมีชื่อต่อท้ายว่า “สถิตมหาสีมาราม” คือ ผูกสีมาทั้งวัดเลย เพราะฉะนั้นอย่างวัดที่ว่านี้ เวลามีสังฆกรรม พระทั้งวัดต้องเข้าที่ประชุมทั้งหมด และต้องมีโยมไปเฝ้าประตูวัด
ถาม: ของเรานี่คงเฉพาะที่โบสถ์
พระธรรมปิฎก: ก็ได้แค่นั้นแหละ เพราะเป็นเรื่องของวิสุงคามสีมาที่เป็นประเพณีของบ้านเมืองลงตัวไปแล้ว อยากจะแทรกนิดหนึ่งก่อน คือว่าพระพุทธเจ้ากำหนดเรื่องเขตทำสังฆกรรม เขตสามัคคีของสงฆ์ที่ผู้อยู่ในเขตต้องมาร่วมประชุม เขตนี้ไม่จำเป็นต้องมีอาคารก็ได้เพราะมันเป็นเขต แต่พระองค์ก็ทรงมีพุทธานุญาตให้มีตัวอาคารสำหรับเป็นที่ประชุมได้ เรียกว่า โรงอุโบสถ
อุโบสถก็เกิดขึ้นจากจุดนี้ คือจากพุทธบัญญัติที่ว่า เมื่อมีการประชุมขึ้นในสีมานี้ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สร้างตัวอาคารขึ้นมาสำหรับเป็นที่ประชุมได้เรียกว่า อุโปสถัคคะ หรือ อุโปสถาคาร
อุโบสถที่จริงไม่ใช่ชื่อสถานที่ แต่เราเรียกสั้นๆ แบบไทย ชื่อเต็มว่า อุโปสถัคคะ หรืออุโปสถาคาร ไทยเราขี้เกียจเรียกยาวอย่างนั้นก็เรียกแค่ อุโบสถ แถมอุโบสถก็ยังยาวไป เลยตัดให้เหลือ โบสถ์ อีก สั้นเข้าไปทุกที แต่เรียกง่ายขึ้น
เป็นธรรมดาว่า ถ้าจะมีโบสถ์ ก็ต้องสร้างโบสถ์ไว้ภายในสีมา หรือเท่ากับสีมา
ถาม: มีคำว่าพระอุโบสถ กับอุโบสถ ถ้าเป็นพระอุโบสถนี้เป็นอย่างไร
พระธรรมปิฎก: อ๋อ นี่เป็นเรื่องของเมืองไทย ที่มีวัดหลวง กับวัดราษฎร์ เท่านั้นเอง ของวัดหลวงก็เรียก “พระอุโบสถ”
ทำไมอาคารที่ประชุมจึงเรียกว่า โรงอุโบสถ เพราะว่า สังฆกรรม คืองานส่วนรวมที่ต้องทำประจำอยู่เสมอก็คืออุโบสถ อุโบสถ ก็คือการที่พระไปประชุมกันทุกวันกลางเดือน และวันสิ้นเดือน ที่เรียกว่า วันพระกลางเดือน และวันพระสิ้นเดือน เพื่อจะสวดปาติโมกข์ซักซ้อมวินัย อุโบสถนี้ต้องทำเป็นประจำ ส่วนสังฆกรรมอื่นก็แล้วแต่ฤดูกาลบ้าง แล้วแต่เรื่องจะเกิดขึ้นบ้าง อุโบสถที่ต้องทำเป็นประจำนี้ ก็เลยเป็นที่มาของชื่ออาคารนี้ คือเป็นอาคารสำหรับทำอุโบสถ อาคารอุโบสถก็เกิดขึ้นมาอย่างนี้
เป็นอันว่าเรื่องสีมากับเรื่องโบสถ์นั้นสัมพันธ์กัน ทีนี้ก็ตอบหมดข้อความเมื่อกี้แล้ว
ถาม: การผูกสีมา ต้องผูกด้วยอะไรหรือเปล่า
พระธรรมปิฎก: คำว่า “ผูก”นี่เป็นเพียงสำนวนภาษา “ผูก” ในที่นี้หมายความว่าที่ประชุมตกลงกำหนดเขตโดยหมายรู้ร่วมกันว่า ทิศนี้มีวัตถุนี้เป็นเครื่องหมาย ทิศนั้นมีวัตถุนั้นเป็นเครื่องหมาย การทำอย่างนี้ คือตกลงพูดกันบอกกันในที่ประชุมสงฆ์แล้วประกาศอย่างนี้ ท่านเรียกว่า “ผูกสีมา” เป็นเพียงสำนวน
ถาม: มีกฎมีเกณฑ์อะไรหรือเปล่า
พระธรรมปิฎก: อ๋อ ก็ต้องประชุมสงฆ์ก่อน
ถาม: แล้วมีเกณฑ์ที่กำหนดว่าจะต้องกว้างยาวเท่าไรหรือไม่
พระธรรมปิฎก: อ๋อ ก็ต้องมีกำหนดเขต ตามวินัยวางไว้ว่าสีมาจะต้องจุพระไม่น้อยกว่า ๒๑ รูป เพราะมีสังฆกรรมบางอย่างที่ต้องใช้พระ ๒๐ แล้วก็มีตัวบุคคลที่รับสังฆกรรมนั้นอีก ๑ รวมเป็น ๒๑ นี่อย่างต่ำ แล้วก็ใหญ่ไม่เกิน ๓ โยชน์ นี่คือกำหนดเขต
ทีนี้ก็ไปเรื่อง วิสุงคามสีมา เนื่องจากว่าตอนนี้สงฆ์จะผูกสีมาเป็นเขตของตัวเอง เขตนี้ต้องได้รับอนุญาตจากบ้านเมือง หมายความว่าบ้านเมืองอยู่ในปกครองของเขา ไม่ใช่เอาที่ไหนเป็นของตัวได้ตามชอบใจ ก็เลยมีประเพณีในเมืองไทย ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินอุปถัมภ์พระศาสนาพระราชทานให้ เรียกว่า พระราชทานวิสุงคามสีมา
วิสุงคามสีมา แปลว่า เขต (ของสงฆ์) ที่แยกจากบ้าน หมายความว่าแยกจากเขตของบ้านเมือง กล่าวคือ พระเจ้าแผ่นดินในฐานะเป็นองค์อุปถัมภ์พระศาสนา ทรงมีพระราชประสงค์จะให้สงฆ์สบายใจว่ามีเขตของท่านเอง จะได้ทำกิจกรรมของท่านเป็นอิสระ ก็พระราชทานที่ดินเขตนั้นๆ มา เรียกว่า วิสุงคามสีมา เป็นอันว่ามีประเพณีพระราชทานวิสุงคามสีมาในประเทศไทย
ถาม: ประเทศอื่นเป็นอย่างไร
พระธรรมปิฎก: ประเทศอื่นไม่ทราบว่าเขามีประเพณีนี้หรือไม่ ยังไม่ได้หารายละเอียด ถ้าถามว่าไปอยู่อเมริกาพระทำอย่างไร พระก็ถือเอาเขตที่ได้ซื้อที่ดินมาสร้างวัด และทางการออกโฉนดให้ ก็ถือว่านี่เป็นที่ที่เป็นเขตของเรา ที่เรามีสิทธิ์จะจัดการได้ ในเมืองไทยโบราณชาวบ้านมากมายอยู่กันมา มีที่โดยไม่มีโฉนด ความจำเป็นของพระเกิดก่อนชาวบ้าน เพราะต้องมีการกำหนด เขตแยกไว้ให้ชัด แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก็กำหนดแล้ว ส่วนของพระมีมาเดิมก็คือบ้านเมืองพระราชทานวิสุงคามสีมา แปลว่าได้เขตแยกจากบ้าน
พอได้เขตแยกจากบ้านก็เป็นเขตของสงฆ์ พระก็เอาที่นี้มากำหนดผูกสีมาได้เพื่อให้เป็นพัทธสีมา เพราะฉะนั้นพัทธสีมาก็จึงต้องอิงอาศัยวิสุงคามสีมา เราจึงต้องรอพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน
ตอนนี้วัดญาณเวศกวันได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเรียบร้อยแล้ว ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๒ เมื่อได้อันนี้มาแล้ว เราก็เอาที่นี้มาใช้ แต่จะผูกแค่ไหนภายในเขตนี้ ก็แล้วแต่เรา
ถาม: เวลาในหลวงท่านพระราชทานมานี่ พระราชทานตามเนื้อที่ของบริเวณวัด หรือเนื้อที่ของบริเวณโบสถ์
พระธรรมปิฎก: เดี๋ยวนี้ก็เอาแค่บริเวณที่ตั้งโบสถ์ มิฉะนั้นคงจะกินที่ของบ้านเมืองมากมาย เพราะเดี๋ยวนี้วัดเยอะเหลือเกิน จึงมีประมาณกันว่าไม่เกินเท่านั้นๆ แล้วทางบ้านเมืองก็ประกาศถวายให้เป็นวิสุงคามสีมา เมื่อได้รับแล้วก็มากำหนดพัทธสีมากันขึ้น แต่ความจริงนั้น ตอนนี้เหมือนกับว่าเรามีสีมาที่ไม่ต้องผูก ซึ่งเป็นเขตที่กำหนดได้ง่าย ไม่ต้องเอาทั้งตำบล ทั้งอำเภอ เพราะถึงแม้ถ้าเราไม่ผูก ตอนนี้เราก็มีวิสุงคามสีมา เท่ากับมีเขตที่กำหนดแยกจากบ้านเมืองแล้ว
มีเกร็ดแทรกเข้ามาว่า เรื่องนี้ในสมัยโบราณถือกันจริงจัง และให้ความสำคัญมาก ใครเข้าไปอยู่ในเขตนี้แล้วเป็นอันพ้นภัยราชการเลย แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจทั้งแผ่นดิน แต่เขตนี้ยกให้สงฆ์แล้ว พระองค์ก็ไม่เข้ามารุกล้ำ เพราะฉะนั้นสมเด็จโตเมื่อถูกในหลวงรัชกาลที่ ๔ ขับไล่ ท่านก็ไปอยู่ในโบสถ์ แล้วก็บอกว่าท่านพ้นเขตพระราชอำนาจของรัชกาลที่ ๔ แล้ว อย่างที่เอามาเล่ากันเป็นเรื่องสนุกๆ เป็นเกร็ด
เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรหนัก ใกล้จะสวรรคต พระเพทราชากับขุนหลวงสรศักดิ์ยกทหารมาล้อมวัง ถ้าพระนารายณ์มหาราชสวรรคตเมื่อไร พวกขุนนางทั้งหลาย ที่พระเพทราชากับพระเจ้าเสือไม่พอใจ ก็คงจะถูกจับฆ่า ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์อยู่เขายังทำอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้ประชวรหนักจะสิ้นแล้ว เมื่อเขาเอาทหารล้อมวังก็ไม่มีทางไป แม้ว่าพระนารายณ์จะยังมีอำนาจอยู่ แต่ก็ทำอะไรไม่ไหว
พระองค์ทรงสงสารพวกขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะต้องสิ้นชีวิต ก็เลยให้คนของพระองค์ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราชมา พร้อมทั้งพระสงฆ์ให้ครบทำสังฆกรรมได้ พอพระสงฆ์มาที่วัง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงประกาศยกวังถวายเป็นของสงฆ์
เมื่อเป็นสีมาของสงฆ์แล้ว พระสงฆ์ก็ทำสังฆกรรมได้ จึงใช้วังเป็นเหมือนโบสถ์ สมเด็จพระสังฆราชก็นำพระสงฆ์ประกอบสังฆกรรมบวชพวกเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ที่รู้อยู่ว่าอาจจะต้องถูกจับหรือถูกฆ่า พอบวชเสร็จแล้วก็พาไปวัด เพราะเมื่อเป็นพระแล้วพวกทหารฝ่ายที่จะกำจัดก็ทำอะไรไม่ได้ เป็นอันว่าพระสงฆ์พาพระบวชใหม่นั้นไปวัด ก็เลยช่วยพวกข้าราชการและเจ้านายเหล่านั้นไว้ได้
นี่เป็นตัวอย่างเรื่องที่แสดงความสำคัญของสีมา ซึ่งประเพณีไทยได้ถือเป็นจริงจังว่า ใครไปอยู่ในเขตสงฆ์ก็เป็นอันพ้นภัยแผ่นดิน แม้แต่องค์ราชาก็ยังไม่ทำอะไร ที่เล่ามานี้เป็นเพียงเรื่องแทรก ตอนนี้ก็คิดว่าจบเรื่องวิสุงคามสีมา
อ้อ ขอเพิ่มอีกนิดหนึ่ง ในแง่กฎหมายบ้านเมือง ในฐานะเป็นรัฐที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นหลักเป็นศาสนาประจำชาติ บ้านเมืองก็เข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากมีประเพณีพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญแก่สีมา ที่เป็นเขตของสงฆ์ โดยทางราชการบ้านเมืองให้เกียรติไม่เข้าไปยุ่ง อย่างเรื่องสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พูดไปแล้ว ยังมีข้อที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ กฎหมายปัจจุบัน ได้กำหนดสถานะวัดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๓๑) ว่า วัดมี ๒ อย่าง คือ
(๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
(๒) สำนักสงฆ์
จึงกลายเป็นว่า เรื่องพระราชทานวิสุงคามสีมานี้ได้มีความหมายโยงไปถึงประเภทวัดด้วย คือ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว จึงจะเป็นวัดที่มีฐานะเต็มบริบูรณ์แท้จริง
ถ้ายังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา อย่างวัดเราก่อนหน้านี้ ก็เป็นสำนักสงฆ์ แม้จะได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ยังเป็นสำนักสงฆ์
ส่วนสำนักสงฆ์ที่เรียกกันทั่วไปนั้น เป็นสำนักสงฆ์เถื่อน คือเรียกกันไปเอง แต่โดยทางการจะมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ได้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นวัดประเภทสอง ทีนี้ พอได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ก็กลายเป็นวัดประเภทหนึ่ง
เกี่ยวกับเรื่องโบราณราชประเพณี ยังมีเรื่องควรทราบต่อไปอีก เช่นการแบ่งวัด เป็นวัดราษฎร์ กับวัดหลวง ซึ่งทางการเรียกว่า พระอารามหลวง กับ วัดราษฎร์
พระอารามหลวงก็แบ่งไปอีก เป็นชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ชั้นสามัญ
แต่อันนี้เป็นส่วนของความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัด ถ้าจะให้สมบูรณ์จึงต้องพูด ๒ เรื่องคู่กัน คือความรู้เรื่องวัด กับเรื่องสีมา
ถาม: สุดท้าย อยากจะทราบขั้นตอน และรูปแบบตามประเพณี หรือวัฒนธรรมที่ทำกันมาในเรื่องการผูกสีมานี้ หรือว่าจะทำตามรูปแบบที่เป็นพุทธบัญญัติ ว่าจะต้องทำขั้นตอนอย่างไร ต้องใช้เวลาเท่าไร
พระธรรมปิฎก: อย่างที่กล่าวแล้วว่า การผูกสีมาเป็นเรื่องในส่วนของพุทธบัญญัติ กับในส่วนของวัฒนธรรมประเพณี ส่วนที่เป็นแกนแน่นอนที่จะต้องมี คือส่วนของพุทธบัญญัติ แต่ส่วนของวัฒนธรรมประเพณีนั้นก็แล้วแต่เราจะเอาแค่ไหน และเลือกปรับเปลี่ยนไปตามสมควร
ได้พูดไปแล้วในส่วนของแกนคือตัวพุทธบัญญัติ ทีนี้ก็พูดในแง่วัฒนธรรมประเพณีบ้าง เริ่มต้นก็คือว่า เรื่องของพระพุทธศาสนาเราถือว่าเป็นเรื่องของพุทธบริษัท ๔ ไม่ว่าอะไร แม้จะเป็นเรื่องของพระสงฆ์ เราก็จะให้ญาติโยมคฤหัสถ์ได้มีส่วนร่วม ซึ่งโดยมากก็จะเป็นการร่วมในแง่ที่มาสนับสนุนส่งเสริมอุปถัมภ์ เริ่มตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงอุปถัมภ์ด้วยการถวายวิสุงคามสีมาอย่างนี้ ญาติโยมก็มาร่วม แล้วแต่ว่ามีส่วนไหนที่จะเปิดโอกาสให้ญาติโยมได้ร่วมก็เปิดโอกาสให้เข้ามา โดยวิธีนี้ก็จึงเกิดประเพณีงอกขึ้นมาในงานผูกสีมา แทนที่จะเป็นเพียงสังฆกรรม ก็กลายเป็นงานพิธี มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมา
การร่วมของชาวบ้านในเมืองไทยก็คือเรื่องที่เราเรียกว่าการทำบุญ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นประเพณีการทำบุญที่เนื่องด้วยการผูกสีมาก็เข้ามา นอกจากเลี้ยงพระเป็นต้นแล้ว ตามปรกติ ชาวบ้านจะเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือทุกอย่างที่จะให้พระทำกิจของท่านได้สะดวก นี่เป็นแกนสำคัญ แต่ไม่ใช่แค่นั้น ชาวบ้านยังเห็นว่าการได้มามีส่วนร่วมทำอะไรในเรื่องนี้เป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น และสิ่งที่ทำในงานนี้ก็เป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปหมด
ฉะนั้น ลูกนิมิต ก็กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะงานผูกสีมา ต้องอาศัยนิมิต นิมิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีนิมิตก็ผูกสีมาไม่ได้ นิมิตที่เป็นองค์ประกอบสำคัญก็เลยกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทีนี้อะไรที่เกี่ยวกับลูกนิมิต เช่น หวายสาแหรก ก็ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีก ดึงกัน แย่งกันเลย มีดตัดสาแหรก มีดตัดหวายก็ศักดิ์สิทธิ์อีก อะไรๆ ไม่รู้ ศักดิ์สิทธิ์ไปหมด ใครๆ ก็อยากได้
ความจริงในแง่หนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนุสรณ์สำคัญ ถ้าไม่มองในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ ใครๆ ก็อยากได้ไปเป็นอนุสรณ์ แต่นี่ไม่ใช่แค่อนุสรณ์ธรรมดา อนุสรณ์มีความศักดิ์สิทธิ์ในความหมายทางจิตใจที่ลึกซึ้งเข้าไปอีก พอนิมิตศักดิ์สิทธิ์ ทีนี้ปิดทองก็ตามมาอีก ชาวบ้านเขาอยากร่วมอุปถัมภ์อยู่แล้ว การปิดทองก็ชอบอยู่แล้ว เมื่อทำกันนานๆ ไป เรื่องก็อาจจะชักบานปลาย
ทีนี้ถ้าพระถือโอกาสหาเงินก็ไปกันใหญ่ จนเมืองไทยปัจจุบันนี้ชักจะกลายเป็นว่า เวลาจัดงานฝังลูกนิมิตผูกสีมา ก็พากันเน้นที่การหาเงินไปหมด คิดว่าทำอย่างไรจึงจะหาเงินได้มากๆ ก็ต้องจัดงานให้ใหญ่ที่สุด แล้วก็มีหลายๆ วัน มีดนตรี มีมหรสพต่างๆ และโฆษณากันใหญ่ ทำป้ายติดไปตามสี่แยก หรือข้างถนนใหญ่ บางทีทั่วประเทศ บางทีติดกันเป็นปีๆ แล้วก็ชอบมาจัดงานเอาตอนตรุษจีน อันนี้เป็นเรื่องประเพณีขยายมา คือประเพณีทำบุญนั่นเอง
การที่ชาวบ้านอยากได้บุญ เลยกลายเป็นจุดที่มาบรรจบกับพระในเรื่องที่ว่า ถ้าไม่ระวังแล้วจะเป็นจุดเสื่อม ก็คือกลายเป็นเรื่องหาเงินทองไป ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นไปมาก จึงเป็นจุดที่เราคงจะต้องระวังว่า จะทำอย่างไรให้ได้สาระ ไม่ใช่มาติดแค่ว่าจะหาเงิน
ตอนนี้ก็ถึงจุดแยกแล้วว่า ทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ที่แท้จริง ในส่วนสังฆกรรมก็แน่นอนอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของพระสงฆ์ แต่ชาวบ้านควรจะได้ประโยชน์อะไรเพิ่มขึ้นอีก ไม่ให้เป็นเพียงเรื่องหาเงิน ก็ต้องมาช่วยกันคิด
การหาเงินก็มาจากเรื่องเดียวกัน คืออย่างที่บอกแล้วว่าชาวบ้านเห็นอะไรที่เกี่ยวกับสีมาเป็นศักดิ์สิทธิ์ไปหมด จุดนี้จะใช้หาเงินก็ได้ แต่ถ้าไม่หาเงินแล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดความหมายที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่บอกว่าได้บุญๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร ก็จึงเป็นจุดสำคัญว่าพวกเราต้องช่วยกันคิด
อย่างปิดทองลูกนิมิตนี่ จะเอาไหม ในเมื่อมันไม่ใช่ตัววินัย หรือพุทธบัญญัติ ซึ่งมีแค่ว่ามีลูกนิมิตที่ทางพระใช้กำหนดเอา ก็จบเรื่อง แต่จะปิดทองไหม นี่เป็นประเพณี ถ้าเราตกลงให้มีการปิดทองก็เป็นการอนุรักษ์ประเพณี แต่จะปิดทองเพื่อหาเงิน หรือจะเพียงให้ชาวบ้านได้บุญ แค่นั้นพอไหม สมมุติว่าเราไม่มุ่งหาเงิน แต่แค่ชาวบ้านบอกว่าได้บุญจากปิดทอง พอไหม? หรือว่าเราควรจะให้อะไรที่เป็นความหมายเป็นสาระยิ่งกว่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิด นี่อาตมาว่าเป็นจุดบรรจบ หรือจุดแยกที่สำคัญ
ถ้าพูดสั้นๆ ก็คือ ถ้าเรายอมให้มีการปิดทองลูกนิมิต ก็คือเราไม่หักหาญตัวประเพณี แต่เราร่วมอนุรักษ์ประเพณีด้วย แต่พร้อมกันนั้น เราก็ควรใช้ประเพณีเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ประชาชนได้ประโยชน์ที่เป็นแก่นสารจากพระพุทธศาสนาด้วย รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เราจะจัดอะไรให้ได้สาระในงานบุญ
ส่วนร่วมของคฤหัสถ์จะมีอีกตอนหนึ่ง คือตัวพิธี หรือตอนสังฆกรรมในการผูก
จะขอเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่วัดทั้งหลายนิยมทำกัน นอกจากโฆษณากันเต็มที่ และมีมหรสพใหญ่ๆ แล้ว ก็มุ่งหาเงินด้วยวิธีต่างๆ เช่นบางวัดก็ตั้งลูกนิมิตไว้รอบโบสถ์เป็นจุดๆ เสร็จแล้วก็จัดที่นั่งให้พระประจำอยู่ที่ลูกนิมิตแต่ละลูก พร้อมทั้งมีขันน้ำมนต์ไว้ประจำ พอมีใครมาปิดทอง ก็พรมน้ำมนต์ให้ ทำอยู่อย่างนี้ ชาวบ้านก็อยากจะได้บุญปิดทองด้วย พรมน้ำมนต์ด้วย การปฏิบัติในรูปนี้ ทำกันมาก ทีนี้เราจะเอาอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องรีบคิด
อาตมาเคยคิดไว้บ้าง เช่นว่า เมื่อเราไม่มุ่งหาเงินแล้ว ถ้าเราอนุวัตรยอมตามประเพณีว่าให้มีการปิดทอง ก็เป็นการให้โอกาสชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโอกาสที่เขาจะได้ทำอะไรบ้าง ไม่ใช่มาเฉยๆ และไม่ได้ทำประโยชน์อะไร อย่างน้อยก็ได้มีส่วนร่วมคือปิดทอง
ถ้ามองในความหมายนี้ก็คือการที่ชาวบ้านได้รู้สึกตัวว่าได้มีส่วนร่วมในพระพุทธศาสนาของเขา ในการที่ได้มาปิดทองลูกนิมิตที่ทำให้เป็นสีมาของวัดนี้ ทำให้วัดนี้มีพัทธสีมาได้ และมีส่วนร่วมทำให้เกิดโบสถ์หลังนี้ ที่พระสงฆ์จะได้ทำสังฆกรรมกัน
อะไรที่จะให้เกิดจิตสำนึก หรือเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็พุ่งเป้าหมายไปที่นั่น คือให้เกิดความรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นบุญอย่างแท้ที่สำคัญ แทนที่จะไปเน้นอยู่แค่ว่าฉันปิดทองแล้วได้บุญแบบเลื่อนลอย แล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ และไปติดความงมงายอยากจะให้พรมน้ำมนต์โดยไม่ได้ความรู้อะไร มาแล้วก็ได้แต่ความหลงกลับไป
นอกจากความรู้สึกมีส่วนร่วมแล้ว ก็อาจจะให้เขาได้คติธรรม ยกตัวอย่างวัดเจ้าคุณพยอม ท่านไม่สร้างโรงอุโบสถ เมื่อท่านผูกสีมา ฝังลูกนิมิต ท่านก็จัดรายการอภิปรายธรรมทุกวันๆ นี่เป็นการยกตัวอย่าง
อีกวิธีหนึ่ง ในเวลาแต่ละคนมาปิดทอง ปกติเขาก็จะมาเอาทองที่วัด บางทีเขาอาจจะเอามาเองแต่ก็น้อยคน เขามักคิดมาเอาที่วัด และทางวัดก็จัดเตรียมให้ วัดอาจจะจัดให้เปล่าเลย และโยมหลายคนคงยินดีจัดทองมาให้
แต่ก็มีปัญหาว่าชาวบ้านเขาก็ไม่อยากเอาทองไปเฉยๆ คล้ายๆ กับเขารู้สึกว่า ถ้าเขาจะทำบุญ เขาก็ต้องบริจาค เรื่องอะไรเขาจะรับทองไปปิดเฉยๆ นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ว่า เราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไร
ถ้าเราไม่ได้มุ่งเอาเงินเขา แต่เราจะไม่รับก็ไม่ได้ เพราะเขารู้สึกว่าเขาต้องบริจาค ไม่ใช่มีส่วนร่วมแค่ปิดทอง แต่ต้องมีส่วนร่วมบริจาคทรัพย์ด้วย เพราะเขารู้สึกว่าการบริจาคเป็นการที่เขาได้ทำบุญ (คือบุญขั้นทาน) มิฉะนั้นเขาจะเรียกว่าทำบุญได้อย่างไร เขาก็นึกไม่ออก ทีนี้เราจะทำอย่างไร นี้เป็นเรื่องของทองที่เขาจะรับ
เนื่องจากเราจะเปิดโอกาสให้ปิดทองตามประเพณีโดยไม่ได้ประสงค์จะหาเงิน แต่ก็เป็นธรรมดาว่าญาติโยมที่ปิดทองโดยทั่วไปก็ต้องการบริจาค เพราะถือว่าต้องบริจาคจึงจะชื่อว่าทำบุญ เขาก็จะไม่ยอมรับทองไปเปล่าๆ แต่จะให้เขานำทองมาเอง ก็คงยาก น้อยคนจะนำมาเอง ส่วนมากก็คงหวังจะมาเอาทองที่วัด เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในเรื่องนี้ก็อาจจะต้องยุติว่า
๑. ถ้าผู้ปิดทองนำทองมาเอง ก็แล้วไป
๒. ถ้าญาติโยมต้องการปิดทอง แต่ไม่ได้นำทองมาเอง ทางวัดก็จัดวางไว้ให้เขาหยิบเอาเอง แบบให้เปล่า แต่ถ้าเขาต้องการบริจาค ก็ไม่ว่า คือเราวางภาชนะใส่ทองไว้ให้ โดยเขียนกำกับไว้บอกให้รู้ว่า
ทองนี้ให้เปล่า
แต่ถ้าต้องการบริจาค ก็สุดแต่ประสงค์
การปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เคยคิดก็คือ เวลาเขาปิดทอง ปกติเขาอาจจะนึกว่าเวลาปิดทองเขาจะพูดว่าอย่างไร เขาอาจจะนึกถึงคำบาลีเป็นคาถา แต่เขาอาจจะเน้นที่ความศักดิ์สิทธิ์ และว่าเรื่อยเปื่อยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เป็นไปได้ไหมที่ว่า เราจะให้คติธรรม เช่น เราจัดพุทธภาษิตที่เลือกสรรแล้ว ๑๐๐, ๒๐๐, ๓๐๐ คาถา หรือกี่คาถาก็ได้ สั้นๆ เช่น อัตตา หิ อัตตโน นาโถ พร้อมทั้งคำแปล
เราบอกว่า ให้จำคาถาของตัว จะไปปิดทองต้องท่องให้ได้ก่อน อย่าเอาไปอ่าน ได้แล้วก็ท่องให้แม่น และแปลได้ด้วย แล้วก็ไปปิดทองโดยว่าคาถาพุทธภาษิตนั้นไปด้วย หรือจะเอายากกว่านั้นก็ได้ คือมีพระประจำนั่งอยู่เลย ทุกคนที่จะปิดทองต้องว่าให้พระฟังก่อน
นอกเหนือจากนี้ จะจัดให้มีเทศนา ปาฐกถา สนทนา บรรยายธรรม นิทรรศการต่างๆ และเจริญจิตตภาวนา เป็นต้นอย่างไร ก็เตรียมการกันไป
นี้เป็นเพียงวิธีการบางอย่าง เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นว่าเราจะทำอย่างไรให้มีสาระขึ้นมา นอกจากทานแล้ว ก็ให้เขาได้คุณธรรม ได้คติสำหรับชีวิตจิตใจ และได้ปัญญา
รวมความก็คือให้มาช่วยกันคิดว่า เมื่อประชาชนต้องการมีส่วนร่วม เราก็พยายามตัดเรื่องของความลุ่มหลง และเรื่องของการหาเงินหาทองออกไปเสีย ทำให้ได้สาระ ได้ประโยชน์ ได้คุณค่า ได้ปัญญา ได้ธรรม ได้ความดีงาม ได้คติ ให้ประชาชนได้บุญมากยิ่งขึ้นไป ทั้งทาน ศีล และภาวนา อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปิดทองลูกนิมิต
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำคัญในทางบุญกุศล ที่มีผลต่อจิตใจมาก คือในแง่ที่เรียกว่า “บุญญาภิสังขาร” แปลว่า บุญเครื่องปรุงแต่งจิตให้เกิดกรรมดี
คนเรานี้ เวลาอยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็จะคิดโน่นคิดนี่ จับเอาอารมณ์ที่ผ่านไปแล้วมาปรุงแต่งหรือคิดต่อ โดยเฉพาะอะไรที่เด่นๆ หรือเรื่องกระทบกระทั่งคั่งค้างอยู่ ใจก็จะแวบไปหา แล้วก็คิดวกวน ครุ่นกังวล หรือเครียดอยู่กับอารมณ์นั้น หรือไม่ก็ฟุ้งซ่านไป ทั้งหมดนี้ไม่ดีเลย
แต่ถ้าอารมณ์เด่นที่โผล่เข้ามาในจิตหรือจิตไปจับเอามานั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องบุญกุศล ก็จะปรุงแต่งไปในทางตรงข้าม กลายเป็นว่าจะทำให้เกิดความเอิบอิ่ม ผ่องใส ใจร่าเริงยินดี มีปีติปราโมทย์
ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน เพราะปุถุชนนั้นอยู่ในขั้นของการปรุงแต่ง ถ้าเป็นปุถุชนที่ดีและเก่ง ก็สามารถปรุงแต่งในทางดี ถ้าเป็นปุถุชนที่อ่อนแอยังไม่พัฒนา ก็ปรุงแต่งเรื่องร้ายๆ ที่เป็นบาปอกุศล ทำจิตใจให้เครียดขุ่นมัวเศร้าหมอง หาทุกข์ใส่ตัว เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ถ้ายังไปเหนือการปรุงแต่งไม่ได้ ก็ต้องฝึกตัวให้เก่งปรุงแต่งในทางดี
โดยเฉพาะที่สำคัญมาก คือ เวลาจะตายนี่นะ จิตจะเคว้งคว้างมากที่สุด มันหวาดกลัวบ้าง หรือถ้าไม่หวาดกลัวก็อาจจะฟุ้งซ่าน เพราะตอนนี้อยู่กับความไม่รู้ว่าเราจะไปอย่างไร โลกนี้ก็อยู่ไม่ได้ โลกหน้าจะไปอย่างไรก็ไม่รู้ ก็เคว้งคว้างฟุ้งซ่าน ในขณะนี้จิตก็จะไปยึดอารมณ์ต่างๆ ซึ่งไม่แน่ว่าจะดีหรือร้าย ตอนนี้ อันไหนเด่นขึ้นมามันก็ยึดอันนั้น ธรรมดาเรื่องของคนนั้นมากมายเหลือเกิน ทั้งที่อยู่ในความจำและคิดนึกไป ทีนี้ บางทีไปจับเอาอารมณ์ไม่ดีเข้า ก็จะเสียตอนนั้นแหละ เขาถึงได้เอาญาติพี่น้องมาให้สติ อย่างที่เรียกว่า “บอกอรหัง” เพื่อให้จิตมีที่ยึดที่ดี อยู่กับคุณพระรัตนตรัยและบุญกุศล
เวลาทำบุญอะไรใหญ่ๆ อย่างคนทั่วไปที่นิยมทางด้านวัตถุ ก็อาจทำให้มีจุดกำหนดที่เด่น เช่นไปสร้างโบสถ์ไว้ สร้างพระพุทธรูปไว้ ไปปิดทองลูกนิมิตแล้วมีความประทับใจไว้ ภาพพวกนี้จะปรากฏเด่นขึ้นมา เวลาอยู่ว่างๆ หรือจิตกำลังฟุ้งซ่าน เคว้งคว้าง จิตจะเกาะ เมื่อภาพการทำบุญพวกนี้เด่นขึ้นมา จิตก็จับอยู่กับบุญ สบายไป ถ้าเป็นเวลาใกล้ตายก็เลยได้ลูกนิมิตมาเป็นกรรมนิมิต
กรรมนิมิตนี่แหละ เป็นตัวสำคัญที่บอกถึงกรรมที่จะนำจิตไปสู่คติข้างหน้า
การปิดทองลูกนิมิตนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่งอกขึ้นมาในประเพณีก็ตาม แต่ก็งอกขึ้นมาจากเรื่องที่เป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา คือปรารภหรืออิงอยู่กับเรื่องเดิมที่เป็นสาระในพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น ถ้ารู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะได้ประโยชน์ เป็นการทำบุญที่จะเป็นอารมณ์เด่นของจิตใจต่อไป (ในทางตรงข้าม ถ้าปฏิบัติผิดก็อาจจะประสบผลในทางบาปได้เช่นกัน)
การปิดทองลูกนิมิต ที่ว่าเป็นอารมณ์บุญที่เด่นนั้น เด่นทั้งในทางวัตถุหรือรูปธรรมที่เห็นชัดใหญ่โต เพราะโยงไปถึงสีมา โยงไปถึงโบสถ์ทั้งหมดที่จะสำเร็จผลใช้งานได้ก็เพราะลูกนิมิตนั้น ตลอดจนวัดทั้งวัดที่จะมีฐานะสมบูรณ์ตามพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง เรามาปิดทองลูกนิมิตมีส่วนร่วมในงานผูกสีมานี้ ก็เท่ากับได้ร่วมสร้างโบสถ์และสร้างวัดนี้ด้วย
ต่อไปก็เด่นในแง่เป็นเหตุการณ์สำคัญ เป็นเรื่องพิเศษ ที่วัดนั้นๆ และชุมชนหมู่นั้นถิ่นนั้นตามปกติจะมีได้ครั้งเดียว เราได้มาร่วมในเหตุการณ์ใหญ่ที่เป็นการเริ่มต้น ซึ่งหาได้ยาก
อีกอย่างหนึ่ง ก็เด่นในแง่ของสาระประโยชน์ในงานพระศาสนา ที่จะมีสืบต่อไปข้างหน้ามากมายตลอดกาลยาวนาน ซึ่งเป็นไปตามพระธรรมวินัย หมายความว่า คนที่รู้จักทำบุญ จะมองเห็นว่า จากลูกนิมิตที่ทำให้สีมาเสร็จ ให้โบสถ์ใช้ทำสังฆกรรมได้ และทำให้วัดมีฐานะสมบูรณ์นี้ ต่อไปงานพระศาสนาต่างๆ เช่นการบวชพระ การทอดกฐิน สังฆกรรมต่างๆ และการบำเพ็ญศาสนกิจของพระสงฆ์มากมาย จะดำเนินสืบต่อไป ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคง และบังเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ลูกนิมิตที่เราปิดทอง ช่วยโยงจิตของเราให้มองไปถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนได้ทั้งหมด
ถ้าชาวบ้านรู้สึกว่าเราได้ร่วมบุญครั้งใหญ่นะ เป็นการทำเพื่อพระศาสนา การปิดทองลูกนิมิตในวัดนี้ก็มีครั้งเดียวนี่แหละ ฯลฯ อย่างที่ว่าไปแล้วนี้ ก็จับไว้ในจิต เป็นอารมณ์ที่เด่น พอปรากฏขึ้นในจิตเมื่อใด จิตก็ผ่องใส เอิบอิ่ม มีปีติทุกทีไป
จิตเราไปผูกกับบุญที่เนื่องด้วยการปิดทองลูกนิมิตนั้น แล้วจิตก็จะปรุงต่อไปอีก ปรุงแต่งจากบุญส่วนที่มาเป็นอารมณ์ ให้ แล้วก็พิจารณาไป
ถ้าเป็นคนที่รู้เข้าใจมีปัญญาด้วย คือมีศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะยิ่งสามารถปรุงแต่งบุญได้มาก คือ เวลาระลึกนึกถึงวันนั้นเมื่อนั้นที่เราได้ไปทำบุญปิดทองลูกนิมิตร่วมงานผูกสีมา พอนึกขึ้นมาแล้วก็พิจารณาต่อไปว่า พัทธสีมาที่เราได้ไปร่วมแสดงออกสนับสนุนให้ผูกขึ้นมา พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้อาศัยโบสถ์และวัดที่นั่นบำเพ็ญศาสนกิจและทำบุญกุศลต่างๆ การเล่าเรียนปริยัติ การศึกษาปฏิบัติ การเผยแผ่สั่งสอนพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเจริญงอกงามขยายกว้างขวางออกไป ช่วยให้บ้านเมืองอยู่ดีมีสุข อย่างน้อยก็ช่วยยับยั้งความเสื่อมเสียหายของสังคม และช่วยให้ธรรมดำรงคงปรากฏอยู่ในโลก
ยิ่งมีปัญญามาก ก็จะยิ่งขยายเขตแดนของจิตใจให้กว้างขวางออกไปได้มาก และทำจิตใจให้มีปีติเอิบอิ่มเบิกบานได้มาก เพิ่มกำลังของกุศลให้เข้มแข็งแรงกล้ามากขึ้น เข้าหลักที่ว่า ปัญญามาหนุนปุญญัง ส่งเสริมเพิ่มพูนอานิสงส์ของบุญ
ข้อสำคัญ คืออย่างน้อยให้ใจเอิบอิ่มผ่องใส เข้าหลักพุทธพจน์ที่ว่า “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเ สุคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว ก็เป็นอันหวังสุคติได้
เรื่องลูกนิมิต เมื่อเราให้โอกาสคนปิดทองเสร็จแล้ว ก็มาถึงการผูกสีมาแท้ๆ วัดนั้น เมื่อกำหนดงานปิดทองแล้ว สุดท้ายก็จะต้องทำพิธีฝังลูกนิมิตผูกสีมา ลูกนิมิตที่เปิดทิ้งไว้ให้ปิดทองก็จะต้องเอาลงหลุม ตอนนี้ก็ถือเป็นวันสำคัญ มาถึงเรื่องของสังฆกรรม ซึ่งจะมาบรรจบกับเรื่องของพุทธบัญญัติ ซึ่งพระจะกำหนดลูกนิมิตเป็นเขต แล้วก็ผูกสีมา ซึ่งจะต้องประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ต้องมาสวดสมมติ คือมีมติร่วมกัน
ตอนนี้ก็มีเรื่องแทรกเข้ามาว่า เมื่อพระจะผูกสีมากำหนดเขตใหม่ ท่านก็กลัวว่าดินแดนแถวนี้อาจจะเคยมีวัดมาก่อนก็ได้ แต่ร้างไป เราก็ไม่รู้ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ว่าห้ามผูกสีมาซ้อนสีมา แม้แต่คาบเกี่ยวกันก็ไม่ได้ สีมาที่ผูกใหม่จะเป็นโมฆะ ไม่เกิดผล ทีนี้พระก็กลัวว่าถ้าเราผูกและเกิดไปซ้อนสีมาเก่าเข้าก็จะเสีย การที่จะไม่ให้ซ้อนก็คือ ถ้าที่นั่นเคยมีสีมาก็ต้องถอนของเก่าก่อน ทีนี้เราไม่รู้ว่ามีหรือไม่มี จึงต้องป้องกันไว้ก่อน ไม่ว่าจะเคยมีสีมาเก่าหรือไม่ ก็ต้องถอนไว้ก่อน
เพราะฉะนั้นตามประเพณีของเราจึงถือว่า ก่อนจะผูกสีมาก็ประชุมสงฆ์สวดถอนก่อน แต่ถ้าสวดถอนแล้วผูกต่อเลยในคราวเดียวก็จะยุ่งกันใหญ่ เรื่องเยอะ และยิ่งมีประชาชนมาร่วมด้วยก็จะทำให้เหนื่อยไปตามๆ กัน และยาวนานเกินไป จึงนิยมว่าระหว่างที่มีงาน สมมุติว่า ๗ วัน พระท่านอาจจะทำโดยไม่ต้องให้โยมรู้ คือจัดทำสังฆกรรมส่วนที่เรียกว่าถอนสีมาให้เสร็จไปก่อนระหว่างนั้น พระอาจทำกันเอง โยมจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้ เพราะที่จริงเรื่องทั้งหมดก็เป็นกิจของสงฆ์อยู่แล้ว
ในขณะที่ญาติโยมทำบุญกันไป พระสงฆ์ก็อาจจะไปนิมนต์กันมาจากหลายๆ วัด บางงานอาจจะใช้เวลาตอนกลางคืนนิมนต์พระมาประชุมกันแล้วทำสังฆกรรมที่เรียกว่าถอนสีมา ถอนไว้ให้เรียบร้อยก่อนในบริเวณทั้งหมดที่เรากำหนดไว้แล้วว่าจะฝังลูกนิมิตผูกสีมานั้น
ถาม: ที่ประชุมสงฆ์ ต้องกำหนดจำนวนพระด้วยหรือเปล่า?
พระธรรมปิฎก: ก็มีกำหนด ท่านถอนทั้งบริเวณ บางแห่งท่านประชุมให้พระนั่งเต็มเขตที่ต้องการทีเดียวเลย เพราะฉะนั้น บางแห่งอาจจะนิมนต์พระถึงพันจนเกิดความโกลาหล แต่ทั้งนี้มีวิธีต่างๆ เช่น บริเวณเขตสีมาที่จะฝังลูกนิมิต เราแบ่งบริเวณออกเป็นส่วนๆ โดยกะว่าเอาสักกี่ครั้งดีให้ครบ อาจจะให้ได้ส่วนละ ๑๐๐ รูป เต็มบริเวณเท่านั้น เราก็นิมนต์พระมาให้พอกับเนื้อที่ส่วนเท่านั้น แล้วท่านก็สวดถอนไปทีละส่วน คือ พอถอนส่วนนั้นเสร็จแล้วก็ถอนต่อไปอีกทีละส่วนจนเต็มบริเวณทั้งหมด ถ้าพระน้อยองค์ก็ใช้เวลามาก ถ้าพระมากองค์ก็เสร็จเร็ว และยังมีวิธีอื่นอีก อันนั้นเป็นรายละเอียด อย่างที่พูดเมื่อสักครู่นี้ รวมแล้วก็คือทำสังฆกรรมถอนสีมาเก่าก็แล้วกัน
เป็นอันว่าถอนให้เสร็จไว้ก่อน แล้วแต่ว่าจะถอนวันไหนก็ได้ เวลาถึงงานใหญ่จริงๆ จะได้สะดวก เพราะว่าตัวงานผูกสีมา พระท่านมักทำพิธีใหญ่โต ชาวบ้านก็อยากให้เป็นพิธีใหญ่ จึงมักจะเชิญบุคคลสำคัญ เช่น บางทีก็อัญเชิญเสด็จในหลวง หรือเจ้านายไป งานใหญ่นี่สงวนไว้สำหรับตัวพิธีใหญ่ คือฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาจริงๆ และนิยมให้ผู้ที่มาเป็นประธานได้มีกิจกรรม โดยเฉพาะการตัดสาแหรกลูกนิมิต
นี่เป็นเรื่องของประเพณี ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องคิดว่าเราจะทำหรือไม่? จะมีการเชิญบุคคลสำคัญมาเป็นประธานในพิธีบุญนี้ไหม?
ถาม: ตกลงถอนนี้ ๑ วันใช่ไหม?
พระธรรมปิฎก: อย่างที่บอกแล้วว่าถอนวันไหนก็ได้ ให้เสร็จไปเสียก่อนในวันใดวันหนึ่ง เป็นเรื่องของพระ หรือโยมจะมาร่วมจัดเตรียมการก็ได้ ส่วนการผูกสีมาจะเป็นเรื่องสำคัญในวันสุดท้าย คือ ฝังลูกนิมิตแล้วก็ผูกสีมา ถ้าเชิญบุคคลสำคัญมาก็ต้องคิดว่าเราจะให้ท่านมีบทบาทอะไรบ้าง
วันนั้นก็อาจจะมีการทำบุญ เลี้ยงพระ และเพื่อจะให้การฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาต่อเนื่องไป ก็เลี้ยงพระตอนเพลก่อน แล้วฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาในตอนบ่าย ประธานก็จะตัดสาแหรกให้ลูกนิมิตลงไปในหลุม จะให้ประธานตัดเฉพาะหลุมกลาง หรือทุกหลุมก็แล้วแต่ อาจจะเตรียมผู้ใหญ่ไว้ ๙ คน โดยเอาประธานใหญ่ไว้หลุมกลาง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาตกลงกันทั้งสิ้น กลายเป็นเรื่องมีรายละเอียดเยอะแยะ ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี ไม่ใช่ส่วนสำคัญของสังฆกรรม
การฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาอาจจะมีพระจำนวนไม่มากนัก เพียง ๑๐ ถึง ๒๐ องค์ หรือเราอาจต้องการมาก ๔๐ - ๕๐ องค์ หรือ ๑๐๐ องค์ก็แล้วแต่ ก็นิมนต์มาประชุมกันในเขตนั้น แล้วก็มีพระเถระผู้รับมอบหมายจากสงฆ์ออกไปทักนิมิต
ตอนทักนิมิตนี้จะให้ญาติโยมมีส่วนร่วมด้วย โดยยืนอยู่ข้างนอกลูกนิมิต แล้วด้านในของลูกนิมิตพระที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมก็จะไปยืนทักลูกนิมิตว่า ทิศนี้ใช้อะไรเป็นนิมิต โยมก็จะเป็นผู้ตอบว่า ทิศนี้ใช้ศิลาเป็นนิมิต นี่เป็นเรื่องของการให้ญาติโยมมีส่วนร่วม
เมื่อทักนิมิตเสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็สวดเป็นการตกลงว่าได้กำหนดเอาเขตตามแนวนิมิตเหล่านี้เป็นสีมา คือเขตของสงฆ์ เมื่อที่ประชุมยอมรับตามนี้ก็สวดประกาศมติ แล้วก็จบ
ถาม: มีความจำเป็นอย่างไรที่วัดต่างๆ ต้องใช้เวลาในการปิดทองลูกนิมิต เป็นเวลานานๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของวัด โดยมาทำบุญ
พระธรรมปิฎก: ถ้ามองในแง่ดี การมีงานหลายวันก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แต่ถ้ามองในแง่ไม่ดีก็เป็นเรื่องของการหาเงินหาทอง ที่ต้องวางแผนว่าทำอย่างไรจะให้ได้เงินมากที่สุด เช่น คิดว่าฝังลูกนิมิต-ผูกสีมาทั้งที ต้อง ๑๐ ล้าน แล้วก็ต้องวางแผนอีกว่า จะจัดอะไรอีกที่จะให้เป็นงานใหญ่ จะมีมหรสพกี่ชนิด แต่ละอย่างจะหาเงินได้อย่างไร แล้วแต่จะคิดไป นี่เป็นเรื่องของจุดมุ่งหมายว่าจะตั้งอย่างไร
ถาม: การคิดในเรื่องนี้จะเป็นของญาติโยมใช่หรือไม่
พระธรรมปิฎก: ไม่ว่าในแง่ไหน ก็ร่วมกันคิดทั้งนั้น แม้แต่เรื่องหาเงินเดี๋ยวนี้พระก็คิดกันเยอะ ถ้าจะคิดให้เป็นบุญเป็นกุศลกันจริงๆ แท้ๆ ก็ต้องช่วยกันร่วมกันคิด ให้เป็นความสามัคคีของพุทธบริษัททั้ง ๔
ขอฝากช่วยกันคิด ว่าจะทำอย่างไรกันบ้าง เพื่อให้งานผูกสีมามีความหมายและสาระเพิ่มขึ้น อย่างถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
เพื่อให้การปิดทองลูกนิมิตเป็นบุญเป็นกุศลมากขึ้น โดยเจริญด้วยคุณค่าสาระทางธรรมทางปัญญา จึงขอมอบคาถาพุทธภาษิตให้ท่านที่จะปิดทองจดจำเป็นคติ และนำไปว่าขณะปิดทอง โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้
๑. นำแผ่นทองท่านละ ๙ แผ่นพร้อมทั้งคาถาพุทธภาษิต ๑ แผ่น จากตู้ที่จัดไว้
๒. ท่องคาถาพุทธภาษิตให้คล่อง
๓. ขณะปิดทองลูกนิมิตแต่ละลูก ทำจิตใจให้เบิกบานสดใส พร้อมกับว่าคาถาพุทธภาษิตไปด้วย
หมายเหตุ:
- เมื่อปิดทองเสร็จแล้ว โปรดทิ้งกระดาษประกบแผ่นทองลงในถัง เพื่อช่วยรักษาความสะอาดบริเวณวัด
- ถ้าแผ่นทองหมด หรือหาแผ่นทองไม่พบ
โปรดติดต่อ แจ้งเจ้าหน้าที่วัด หรือพระภิกษุให้ทราบ
ต่อไปนี้จะนำคาถาพุทธภาษิตมาลงพิมพ์เรียงลำดับไว้ เพื่อให้ผู้ที่ใฝ่ธรรมจะได้อ่านไตร่ตรองเจริญธรรม หรือจดจำไว้เป็นคติสืบไป
(เรียงตามอักษรบาลี)
อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ (๑๔/๕๒๗) รีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ |
อตฺตนา โจทยตฺตานํ (๒๕/๓๕) จงเตือนตนด้วยตนเอง |
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ (๒๕/๒๒) มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก |
อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ (๑๕/๖๖๕) ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นเครื่องรุ่งเรืองของคน |
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา (๒๕/๑๖) บัณฑิตย่อมฝึกตน |
อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ (๒๕/๓๑๘) การงานไม่คั่งค้างสับสน เป็นมงคลอันสูงสุด |
อนิพฺพินฺทิยการิสฺส สมฺมทตฺโต วิปจฺจติ (๒๗/๒๔๔๔) ทำเรื่อยไป ไม่ท้อถอย ผลที่ประสงค์จะสำเร็จสมหมาย |
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ (๒๕/๑๒) ผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย |
อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ (๑๐/๑๔๓) จงทำประโยชน์ให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท |
อปฺปมาโท อมตํ ปทํ (๒๕/๑๒) ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย |
อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา (๒๖/๓๕๙) เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า จะน้อยหรือมาก ก็ให้ได้อะไรบ้าง |
อโหรตฺตมตนฺทิตํ ตํ เว ภทฺเทกรตฺโตติ (๑๔/๕๒๒) ขยันทั้งคืนวัน ไม่ซึมเซา นั้นแลเรียกว่า มีแต่ละวันนำโชค |
อาปูรติ ธีโร ปุญฺสฺส โถกํ โถกํปิ อาจินํ (๒๕/๑๙) ธีรชนสร้างความดีทีละน้อย ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความดี |
อาโรคฺยปรมา ลาภา (๑๓/๒๘๗) ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ |
อาสึเสเถว ปุริโส (๒๘/๔๕๐) เป็นคนควรหวังเรื่อยไป |
กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุ (๒๕/๑๔) เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง พึงสร้างความดีไว้ให้มาก |
กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา (๒๔/๔๘) วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ |
กมฺมุนา วตฺตตี โลโก (๑๓/๗๐๗) สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม |
กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ (๑๓/๗๐๗) เป็นคนประเสริฐ เพราะการกระทำ |
โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ (๑๕/๑๙๙) ฆ่าความโกรธได้ ย่อมอยู่เป็นสุข |
ขโณ โว มา อุปจฺจคา (๒๕/๓๒๗) อย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไปเสีย |
จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ (๒๕/๑๓) การฝึกจิต ให้เกิดผลดี |
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ (๒๕/๑๓) จิตที่ฝึกแล้ว นำสุขมาให้ |
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี (๒๕/๑๓) ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต |
ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ (๑๕/๒๘๑) ทำกรรมใดแล้ว ไม่ร้อนใจภายหลัง กรรมที่ทำนั้นแลดี |
ททมาโน ปิโย โหติ (๒๒/๓๕) ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก |
ทนฺโต เสฏฺโ มนุสฺเสสุ (๒๕/๓๓) ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด |
ทฬฺหเมนํ ปรกฺกเม (๑๕/๒๓๙) พึงบากบั่นทำการให้มั่นคง |
ทินฺนํ สุขผลํ โหติ (๑๕/๑๓๖) ของที่ให้แล้ว ชื่อว่าอำนวยสุขเป็นผลแล้ว |
เทวา น อิสฺสนฺติ ปุริสปรกฺกมสฺส (๒๗/๕๐๕) ความเพียรของคนไม่ลดละ ถึงเทวดาก็กีดกันไม่ได้ |
ธมฺมจารี สุขํ เสติ (๒๕/๒๓) ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข |
ธมฺมปีติ สุขํ เสติ (๒๕/๑๖) ผู้อิ่มใจในธรรม ย่อมนอนเป็นสุข |
ธมฺเม ิโต ปรโลกํ น ภาเย (๑๕/๒๐๔) ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวปรโลก |
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ (๒๖/๓๓๒) ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำมาซึ่งความสุข |
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ (๒๖/๓๓๒) ธรรมนั่นแหละ รักษาผู้ประพฤติธรรม |
ธีโร จ สุขสํวาโส (๒๕/๒๕) ปราชญ์มีการอยู่ร่วมเป็นสุข |
นตฺถิ ปฺาสมา อาภา (๑๕/๒๙) แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี |
นิชฺฌตฺติพลา ปณฺฑิตา (๒๓/๑๑๗) ขุมกำลังของบัณฑิต คือการรู้จักพินิจ |
นิปฺผนฺนโสภิโน อตฺถา (๑๕/๘๙๔) ประโยชน์งามตรงที่สำเร็จ |
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ (ขุ.ธ. ๒๕/๔๒) นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง |
นิวตฺตยนฺติ โสกมฺหา (๒๗/๑๔๙๒) คนใจการุณย์ ช่วยแก้ไขให้คนหายโศกเศร้า |
โนปลิปฺปติ โลเกน โตเยน ปทุมํ ยถา (๒๖/๓๘๔) ไม่ติดโลก เหมือนบัวไม่ติดน้ำ |
ปจฺจุปฺปนฺเนน ยาเปนฺติ เตน วณฺโณ ปสีทติ (๑๕/๒๒) อยู่กับปัจจุบัน ผิวพรรณจะผ่องใส |
ปฺํ นปฺปมชฺเชยฺย (๑๔/๖๘๓) ไม่พึงละเลยการใช้ปัญญา |
ปฺฺา เจนํ ปสาสติ (๑๕/๑๗๕) ปัญญาเป็นเครื่องปกครองตัว |
ปฺา นรานํ รตนํ (๑๕/๑๕๙) ปัญญาเป็นดวงแก้วของคน |
ปฺา โลกสฺมิ ปชฺโชโต (๑๕/๒๑๗) ปัญญาเป็นดวงชวาลาในโลก |
ปฺา ว ธเนน เสยฺโย (๑๓/๔๕๑) ปัญญาแล ประเสริฐกว่าทรัพย์ |
ปฺา สุตวินิจฺฉินี (๒๗/๒๔๔๔) ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยสิ่งที่ได้เล่าเรียน |
ปฺาชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺ (๑๕/๘๔๑) ปราชญ์ว่า ชีวิตที่อยู่ด้วยปัญญา ประเสริฐสุด |
ปฺาย ติตฺตีนํ เสฏฺ (๒๗/๑๖๔๓) อิ่มด้วยปัญญา ประเสริฐกว่าความอิ่มทั้งหลาย |
ปฺาย อตฺถํ ชานาติ (๒๖/๒๖๘) ด้วยปัญญา จึงจะรู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ |
ปฺายตฺถํ วิปสฺสติ (๒๓/๓) ด้วยปัญญา จึงจะเห็นอรรถชัดแจ้ง |
ปฺาสหิโต นโร อิธ ทุกฺเข สุขานิ วินฺทติ (๒๗/๒๔๔๔) คนมีปัญญา ถึงแม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ |
ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺาตา วินฺทเต ธนํ (๑๕/๘๔๕) ขยัน เอาธุระ ทำเหมาะจังหวะ ย่อมหาทรัพย์ได้ |
ปณฺฑิตา โสกนุทา ภวนฺติ (๒๘/๓๓๓) บัณฑิตช่วยปัดเป่าทุกข์โศกความเศร้าของปวงชน |
ปฺุํ โจเรหิ ทูหรํ (๑๕/๑๕๙) ความดี โจรลักไม่ได้ |
ภเวยฺย ปริปุจฺฉโก (๒๘/๙๔๙) พึงเป็นนักสอบถามหาความรู้ |
โภคา สนฺนิจยํ ยนฺติ วมฺมิโกวูปจียติ (๑๑/๑๙๗) ทรัพย์สินย่อมพอกพูนขึ้นได้ เหมือนดังก่อจอมปลวก |
มา ชาตึ ปุจฺฉ จรณฺจ ปุจฺฉ (๑๕/๖๖๐) อย่าถามถึงชาติกำเนิด จงถามถึงความประพฤติ |
ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺพฺพํ (๒๗/๑๓๖) ได้สิ่งใด พึงพอใจด้วยสิ่งนั้น |
โยคา เว ชายเต ภูริ (๒๕/๓๐) ปัญญา ย่อมเกิดเพราะใช้การ |
รตฺโย อโมฆา คจฺฉนฺติ (๒๘/๔๓๙) คืนวันไม่ผ่านไปเปล่า |
ลพฺภา ปิยา โอจิตตฺเตน ปจฺฉา (๒๘/๓๗๕) เตรียมตัวไว้ให้ดีก่อนแล้ว ต่อไปก็จะได้สิ่งที่รัก |
วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา (๑๕/๘๙๑) เป็นคนควรพยายามเรื่อยไป จนกว่าผลที่หมายจะสำเร็จ |
วิเจยฺยทานํ สุคตปฺปสตฺถํ (๑๕/๙๙) ให้ด้วยพิจารณา พระศาสดาทรงสรรเสริญ |
วิชฺชา อุปฺปตตํ เสฏฺา (๑๕/๒๐๖) บรรดาสิ่งที่งอกงามขึ้นมา วิชชาประเสริฐสุด |
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโ เทวมานุเส (๑๑/๗๒) ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรรยา ชื่อว่าประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา |
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ (๒๕/๓๑๑) คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร |
สจิตฺตมนุรกฺขถ (๒๕/๓๓) จงตามรักษาจิตของตน |
สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ (๒๕/๓๑๑) สัจจะ เป็นรสดียิ่งกว่าประดารส |
สติ ปโตโท ธีรสฺส (๒๘/๘๙๑) สติเป็นปฏักของนักปราชญ์ |
สติ โลกสฺมิ ชาคโร (๑๕/๒๑๗) สติเป็นความตื่นตัวในโลก |
สติมโต สทา ภทฺทํ (๑๕/๘๑๒) คนมีสติ เท่ากับมีของดีที่นำโชคตลอดเวลา |
สติมโต สุเว เสยฺโย (๑๕/๘๑๒) คนมีสติย่อมดีขึ้นทุกวัน |
สทฺธา ทุติยา ปุริสสฺส โหติ (๑๕/๑๗๕) ศรัทธาเป็นมิตรคู่ใจตน |
สทฺธีธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺ (๑๕/๒๐๓) ศรัทธาเป็นทรัพย์ประเสริฐของคนในโลกนี้ |
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ (๒๕/๓๔) การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง |
สพฺพํ อิสฺสริยํ สุขํ (๒๕/๖๓) อิสรภาพเป็นสุขทั้งสิ้น |
สพฺเพสํ สหิโต โหติ (๒๓/๑๒๘) คนดี บำเพ็ญประโยชน์แก่ปวงชน |
สมคฺคานํ ตโป สุโข (๒๕/๒๕) เมื่อคนพร้อมเพรียงกัน ความเพียรพยายามก็นำสุขมาให้ |
สมุฏฺาเปติ อตฺตานํ อณุ อคฺคึว สนฺธมํ (๒๗/๔) ตั้งตัวให้ได้ เหมือนก่อไฟจากเชื้อนิดเดียว |
สยํ กตานิ ปฺุานิ ตํ มิตฺตํ สมฺปรายิกํ (๑๕/๑๕๙) บุญที่ทำไว้เอง เป็นมิตรตามตัวไปเบื้องหน้า |
สยํ กตานิ ปฺุานิ ตํ เว อาเวณิยํ ธนํ (๒๗/๑๙๙๘) ความดีที่ทำไว้เองนั่นแล เป็นทรัพย์ส่วนตัวแท้ๆ |
สํวิรุฬฺเหถ เมธาวี (๒๗/๒๑๔๑) เล่าเรียนมีปัญญา จะเจริญงอกงาม |
สิกฺเขยฺย สิกฺขิตพฺพานิ (๒๗/๑๐๘) อะไรควรศึกษา ก็พึงศึกษาเถิด |
สีลํ กวจมพฺภุตํ (๒๖/๓๗๘) ศีล เป็นเกราะอย่างอัศจรรย์ |
สีลํ ยาว ชรา สาธุ (๑๕/๑๕๙) ศีลยังประโยชน์ ให้สำเร็จตราบเท่าชรา |
สีลํ อาภรณํ เสฏฺ(๒๖/๓๗๘) ศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ |
สุกรํ สาธุนา สาธุ (๒๕/๑๒๔) ความดี คนดีทำง่าย |
สุขสฺส ทาตา เมธาวี สุขํ โส อธิคจฺฉติ (๒๒/๓๗) คนฉลาด ให้ความสุข ก็ได้ความสุข |
สุขสฺส ทาตา เมธาวี สุขํ โส อธิคจฺฉติ (๒๒/๓๗) คนฉลาด ให้ความสุข ก็ได้ความสุข |
สุขํ วต ตสฺส น โหติ กิฺจิ (๒๕/๕๕) ไม่มีอะไรค้างใจกังวล มีแต่ความสุขหนอ |
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี (๒๕/๑๙๔) สามัคคีของหมู่ ให้เกิดสุข |
สุขา สทฺธา ปติฏฺิตา (๒๕/๓๓) ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้ |
สุขิโน วตารหนฺโต (๑๗/๑๕๓) ท่านผู้ไกลกิเลส ช่างมีแต่ความสุข |
สุโข ปฺาย ปฏิลาโภ (๒๕/๓๓) การได้ปัญญา นำมาซึ่งความสุข |
สุโข ปฺุสฺส อุจฺจโย (๒๕/๑๙) การสร้างสมความดี นำสุขมาให้ |
สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท (๒๕/๒๔) ความเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ทั้งหลาย นำสุขมาให้ |
สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ สุปภาตํ สุหุฏฺิตํ (๒๐/๕๙๕) ประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี เช้าดี รุ่งอรุณดี |
สุภาสิตา จ ยา วาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ (๒๕/๖) พูดดี เป็นมงคลอันอุดม |
เสยฺโย อมิตฺโต เมธาวี ยฺเจ พาลานุกมฺปโก (๒๗/๔๕) มีศัตรูเป็นบัณฑิต ดีกว่ามีมิตรเป็นพาล |
ยาทิสฺจูปเสวติ โสปิ ตาทิสโก โหติ (๒๗/๒๑๕๒) คบคนเช่นใด ก็เป็นเช่นคนนั้น |
หิโต พหุนฺนํ ปฏิปชฺชโภเค (๑๕/๑๓๘) คนดีจัดการโภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่คนจำนวนมาก
|
ก. คำสวดถอน
คำสวดถอนติจีวราวิปปวาส
สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ. โย โส สงฺเฆน ติจีวเรน อวิปฺปวาโส สมฺมโต, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ ตํ ติจีวเรน อวิปฺปวาสํ สมูหเนยฺย. เอสา ตฺติ.
สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ. โย โส สงฺเฆน ติจีวเรน อวิปฺปวาโส สมฺมโต, สงฺโฆ ตํ ติจีวเรน อวิปฺปวาสํ สมูหนติ. ยสฺสายสฺมโต ขมติ เอตสฺส ติจีวเรน อวิปฺปวาสสฺส สมุคฺฆาโต, โส ตุณฺหสฺส. ยสฺส นกฺขมติ, โส ภาเสยฺย.
สมูหโต โส สงฺเฆน ติจีวเรน อวิปฺปวาโส. ขมติ สงฺฆสฺส; ตสฺมา ตุณฺหี, เอวเมตํ ธารยามิ.
คำแปล
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรอันสงฆ์ได้สมมติไว้แล้ว นี่เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ถอนอยู่ ซึ่งแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรอันสงฆ์สมมติไว้แล้ว การถอนแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั่น ชอบแก่ท่านผู้ใด ขอท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่งอยู่ ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ขอท่านผู้นั้นพึงพูด
แดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรนั่น อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าทรงความนี่ไว้ด้วยอย่างนี้
คำสวดถอนสมานสังวาสสีมา
สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ. ยา สา สงฺเฆน สีมา สมฺมตา สมานสํวาสา เอกุโปสถา, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ ตํ สีมํ สมูหเนยฺย. เอสา ตฺติ.
สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ. ยา สา สงฺเฆน สีมา สมฺมตา สมานสํวาสา เอกุโปสถา, สงฺโฆ ตํ สีมํ สมูหนติ. ยสฺสายสฺมโต ขมติ เอติสฺสา สีมาย สมานสํวาสาย เอกุโปสถาย สมุคฺฆาโต, โส ตุณฺหสฺส. ยสฺส นกฺขมติ, โส ภาเสยฺย.
สมูหตา สา สีมา สงฺเฆน สมานสํวาสา เอกุโปสถา. ขมติ สงฺฆสฺส; ตสฺมา ตุณฺหี, เอวเมตํ ธารยามิ.
คำแปล
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงถอนสีมาอันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน ให้มีอุโบสถเดียวกันไว้แล้ว นี่เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ถอนอยู่ ซึ่งสีมาอันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน ให้มีอุโบสถเดียวกันไว้แล้ว การถอนสีมามีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันนี่ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้น พึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
สีมามีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันนั้น อันสงฆ์ถอนแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าทรงความนี่ไว้ด้วยอย่างนี้
ข. คำสวดสมมติ
คำสวดสมมติสมานสังวาสสีมา
สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ. ยาวตา สมนฺตา นิมิตฺตา กิตฺติตา, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ เอเตหิ นิมิตฺเตหิ สีมํ สมฺมนฺเนยฺย สมานสํวาสํ เอกุโปสถํ. เอสา ตฺติ.
สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ. ยาวตา สมนฺตา นิมิตฺตา กิตฺติตา, สงฺโฆ เอเตหิ นิมิตฺเตหิ สีมํ สมฺมนฺนติ สมานสํวาสํ เอกุโปสถํ. ยสฺสายสฺมโต ขมติ เอเตหิ นิมิตฺเตหิ สีมาย สมฺมติ สมานสํวาสาย เอกุโปสถาย, โส ตุณฺหสฺส. ยสฺส นกฺขมติ, โส ภาเสยฺย.
สมฺมตา สีมา สงฺเฆน เอเตหิ นิมิตฺเตหิ สมานสํวาสา เอกุโปสถา. ขมติ สงฺฆสฺส; ตสฺมา ตุณฺหี, เอวเมตํ ธารยามิ.
คำแปล
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้โดยรอบแล้วเพียงไร ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมาให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั่น นี่เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า นิมิตระบุไว้แล้วโดยรอบเพียงไร สงฆ์สมมติอยู่ ซึ่งสีมาให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั่น การสมมติสีมาให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ด้วยนิมิตเหล่านั่น ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
สีมาอันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันแล้ว ด้วยนิมิตเหล่านั่น ย่อมชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าทรงความนี่ไว้ด้วยอย่างนี้
คำสวดสมมติติจีวราวิปปวาส
สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ. ยา สา สงฺเฆน สีมา สมฺมตา สมานสํวาสา เอกุโปสถา, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ, สงฺโฆ ตํ สีมํ ติจีวเรน อวิปฺปวาสํ สมฺมนฺเนยฺย, เปตฺวา คามฺจ คามุปจารฺจ. เอสา ตฺติ.
สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ. ยา สา สงฺเฆน สีมา สมฺมตา สมานสํวาสา เอกุโปสถา, สงฺโฆ ตํ สีมํ ติจีวเรน อวิปฺปวาสํ สมฺมนฺนติ, เปตฺวา คามฺจ คามุปจารฺจ. ยสฺสายสฺมโต ขมติ เอติสฺสา สีมาย ติจีวเรน อวิปฺปวาสสฺส สมฺมติ, เปตฺวา คามฺจ คามุปจารฺจ, โส ตุณฺหสฺส. ยสฺส นกฺขมติ, โส ภาเสยฺย.
สมฺมตา สา สีมา สงฺเฆน ติจีวเรน อวิปฺปวาโส, เปตฺวา คามฺจ คามุปจารฺจ. ขมติ สงฺฆสฺส; ตสฺมา ตุณฺหี, เอวเมตํ ธารยามิ.
คำแปล
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติสีมา อันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันไว้แล้ว ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้านไว้ นี่เป็นญัตติ
ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติอยู่ ซึ่งสีมาอันสงฆ์สมมติให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกันไว้แล้ว ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้านไว้ การสมมติสีมานี้ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจาก ไตรจีวร เว้นบ้านและอุปจารแห่งบ้านไว้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
สีมานั้น สงฆ์สมมติให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวรแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าทรงความนี่ไว้ด้วยอย่างนี้