การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม1

ทำบุญ ๑๐๐ วันอาจารย์ป๋วย

เบื้องแรกขออนุโมทนาชาวบัณฑิตอาสาสมัคร หรือศิษย์เก่าของสำนักบัณฑิตอาสาสมัครทุกท่านที่ได้มีน้ำใจมาร่วมกันจัดพิธีทำบุญ ๑๐๐ วัน อุทิศแด่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาเรียกท่านง่ายๆ ว่า “อาจารย์ป๋วย” ต่อไปนี้ขอเรียกตามลูกศิษย์ว่า “อาจารย์ป๋วย”

เคารพ

อาจารย์ป๋วย ผู้ล่วงลับไป เราถือกันว่าเป็นบุคคลสำคัญ และควรเคารพ โดยเฉพาะชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสัมพันธ์กับท่านเป็นพิเศษ โดยที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดคือเป็นอธิการบดี และก่อนนั้นก็เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท่านเป็น ผู้ก่อตั้งสำนักบัณฑิตอาสาสมัครด้วย

อาจารย์ป๋วย ทำงานสอนลูกศิษย์ ท่านเป็นครู จึงเป็นที่เคารพ นอกจากเคารพแล้ว ลูกศิษย์บอกว่าเป็นที่รักด้วย

บูชา

การทำบุญบำเพ็ญกุศลวันนี้ เป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมคือความกตัญญูกตเวที แสดงว่าเจ้าภาพทุกท่านมีความระลึกถึงอุปการคุณของท่านอาจารย์ป๋วย และพร้อมกันนั้น ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็เป็นการปฏิบัติตามหลัก ปูชา จ ปูชนียานํ คือการบูชาบุคคลที่ควรบูชา หรือทับศัพท์ว่า บูชาปูชนียบุคคล

ธรรมสองอย่างนั้นมีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่ แต่มีข้อที่ต่างกันอยู่ในตัว ระหว่างธรรมสองอย่างนี้

ความกตัญญูกตเวทีนั้น เน้นที่ตัวเราผู้ได้รับผลแห่งความดีของท่านว่า ท่านได้เคยทำประโยชน์อะไรให้แก่เราโดยส่วนตัวบ้าง โดยที่เรามีสังกัดหรือเป็นส่วนร่วมอยู่ในสถาบันบ้าง หรือแม้แต่ท่านทำความดีให้แก่สังคมนี้และเราได้รับผลจากความดีนั้น เราก็ระลึกถึงคุณ และแสดงออกหรือประกาศให้ปรากฏ เป็นการเห็นคุณค่าแห่งความดีของท่าน และแสดงน้ำใจตอบแทน อันนี้เรียกว่าเป็นความกตัญญูกตเวที

ส่วนการบูชาปูชนียบุคคลนั้น จุดเน้นอยู่ที่ตัวท่าน คือ เรามองที่ความดีที่ท่านมีอยู่ และที่ท่านได้กระทำ ซึ่งทำให้ตัวท่านเป็นผู้มีคุณสมบัติดีงาม น่าเคารพ น่าบูชา เราระลึกถึงคุณความดีของท่าน และประโยชน์ที่ท่านได้บำเพ็ญนี้ รวมทั้งคุณสมบัติอื่นอีกเป็นอันมากในตัวท่าน เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น อันจะเป็นแบบอย่างแก่สังคม และแก่อนุชนสืบต่อไป เราจึงได้มาแสดงออกเป็นการบูชา

สังคมจะอยู่ได้ ต้องใส่ใจยกย่องคนดี

ยกย่องคนดี เท่ากับยอมรับธรรมที่รักษาสังคม

การบูชานั้น ที่จริงในภาษาบาลีก็ตรงกันกับคำไทยง่ายๆ ว่า “ยกย่อง” นั่นเอง แต่ในภาษาไทยเรามักนึกถึง “บูชา” เหมือนอย่างเอาไปขึ้นหิ้ง หรือขึ้นแท่นบูชา แล้วก็ “กราบ”

ในภาษาบาลี คำว่า “บูชา” นั้นมีความหมายกว้าง การยกย่องคนที่มีคุณความดีสมควรแก่ฐานะนั้นๆ ก็เรียกว่า “บูชา” ใครทำความดี ไม่ว่าเขาจะมีฐานะมีตำแหน่งอะไรหรือไม่ เราให้เกียรติที่สมควรแก่เขา ก็เรียกว่า “บูชา”

ขอยกตัวอย่าง ในสมัยก่อนพุทธกาล มีเรื่องมาในชาดกเล่าว่า นายคนหนึ่งเคยเป็นคนยากจน เขาขยันหมั่นเพียร สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ด้วยความสุจริต เป็นหลักเป็นฐาน มีเงินมีทองมาก สำนวนภาษาบาลีว่า พระราชาได้ทรงบูชานายคนนั้นด้วยตำแหน่ง “เศรษฐี” นี่คือการบูชา หมายถึงการยกย่องให้เกียรติที่สมควร

คำบาลี เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย บางทีความหมายก็แคบลงไปๆ จึงควรทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน

โดยเฉพาะการบูชาคนที่ควรบูชา เป็นหลักการที่ควรนำมาย้ำกันมากเป็นพิเศษในยุคนี้ เพราะการที่เราบูชาคนควรบูชา ก็คือยกย่องคนที่มีธรรม

เราจะบอกว่าท่านเป็นคนมีคุณธรรม มีความดี เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะพูดให้สั้นที่สุด ก็คือท่านมี “ธรรม”

เมื่อเราบูชาคนที่มีธรรม ก็หมายความว่าเราบูชาตัว “ธรรม” นั่นเอง เพราะ “ธรรม” นั้นมาแสดงออกที่ตัวบุคคล กลายเป็นว่าคนนั้นเป็นที่ตั้ง เป็นที่รองรับ เป็นสื่อ และเป็นที่แสดงออก ตลอดจนเป็นเหมือนตัวแทนของธรรม

เราต้องการจะบูชา “ธรรม” เราก็บูชาคนที่มีธรรม หรือคนผู้เป็นสื่อและเป็นที่แสดงออกตลอดจนเป็นเหมือนตัวแทนของธรรม

ธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะดำรงรักษาสังคมมนุษย์ ถ้าสังคมมนุษย์ไม่ยกย่องเชิดชูธรรม คือไม่ยกย่องความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเสียแล้ว สังคมนั้นเองก็จะวิปลาส ในที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นสังคมที่ดีจะต้องเชิดชูธรรม แต่จะเชิดชูธรรมได้อย่างไร

ธรรมนั้นต้องมีที่แสดงออก คือมาแสดงออกที่ตัวคน คนไหนมีธรรม เราก็ไปชวนกันยกย่องให้เกียรติ เพื่อจะส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรมหรือการมีธรรมนั้นขยายกว้างขวางออกไป ในทางพระพุทธศาสนาจึงยกย่องสรรเสริญ และย้ำความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการบูชาคนที่ควรบูชา

เรื่องนี้ บางทีแม้แต่ทางฝ่ายพระทั่วไป ก็มองข้ามกันไปเสียคล้ายๆ ว่าไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มองกันแต่ที่ตัวหลักธรรม ไม่ใส่ใจคนที่มีธรรม คนที่ดำรงธรรม รักษาธรรม ทรงธรรมไว้ ซึ่งที่จริงสังคมยุคนี้ควรเห็นตระหนักในความสำคัญให้มาก จึงขอย้ำ

“อ้อนวอนเทพ” กับ “เชิดชูธรรม”
ทางเลือกที่ชี้ชะตากรรมของสังคม

คนสมัยก่อนพุทธกาล นิยมบูชาด้วยการบวงสรวงเซ่นไหว้ถึงกับบูชายัญ “บูชายัญ” นั้นคืออย่างไร ก็คือเอาใจเทพเจ้า เอาทรัพย์สินสิ่งของ แม้แต่ชีวิต เช่น วัว แพะ แกะ จำนวนมากมาย มาฆ่าสังเวยเทพเจ้า ยิ่งบูชายัญพิธีใหญ่ ก็ยิ่งต้องใช้ชีวิตจำนวนมาก กระทั่งบางที่ต้องเอาชีวิตคนมาสังเวยบูชาเทพเจ้า อย่างน้อยก็มีการบูชาไฟ ต้องรักษาไฟไว้ไม่ให้ดับเลยในบ้านเพื่อบูชาเทพเจ้า

คนบูชาเทพเจ้าด้วยหวังอะไร ด้วยหวังให้ท่านช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัย และหวังโชคลาภ ช่วยให้สิ่งปรารถนาแก่ตน โดยย่อก็คือ

  1. ช่วยให้พ้นภัยอันตราย
  2. ช่วยบันดาลสิ่งที่ปรารถนา

คนเราก็มี ๒ อย่าง ไปเที่ยวกราบไหว้ เช่นสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งมีฤทธิ์อานุภาพที่คิดว่าเหนือธรรมชาติ แต่การบูชานั้นวัตถุประสงค์ไปอยู่ที่สนองความต้องการของตัวเอง คือ ตัวอยากพ้นภัย และอีกอย่างคือ อยากได้สิ่งที่ปรารถนา จึงบูชาเทพเจ้า จุดเน้นอยู่ที่ความปรารถนาของตนเองว่าโดยเนื้อหาสาระ การเซ่นสรวงเทพเจ้าเมื่อหลายพันปีก่อนทำเพื่ออะไร เวลานี้ก็อย่างนั้น

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงทำซึ่งเห็นได้ชัดก็คือ ทรงชักชวนให้เลิก “บูชายัญ” ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนให้เทพเจ้ามาบันดาล พระองค์ได้ทรงย้ายหลักการจากเทพเป็นใหญ่ มาเป็น “ธรรม” เป็นใหญ่ ซึ่งเราควรจะทราบกันให้ชัด

หลักพุทธศาสนาข้อสำคัญที่สุด คือการย้ายจากเทพสูงสุด มาเป็นธรรมสูงสุด

พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้ลบล้างหรือลบหลู่เทพ แต่ให้เปลี่ยนฐานะ เปลี่ยนความสัมพันธ์กับมนุษย์ แต่ก่อนโน้นมนุษย์ถือว่าเทพสูงสุด เทพบันดาลทุกอย่าง เช่น พระพรหมเป็นเทพสูงสุด ซึ่งมนุษย์จะต้องเชื่อฟังและไหว้วอน พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงสอนใหม่ว่า อย่าไปมัวมองที่เทพเลย ในธรรมชาติมีความจริงของมันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นไปตามธรรมดา เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ท่านเรียกง่ายๆ ว่า “ธรรม” ซึ่งเราแปลว่า ความจริงของธรรมชาติบ้าง กฎธรรมชาติบ้าง เป็นต้น

ความเป็นจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา หรือธรรมนี่แหละ สำคัญที่สุด เมื่อเราต้องการอะไร ก็ดูเหตุปัจจัย และทำเหตุปัจจัย แต่จะทำเหตุปัจจัยได้ถูกก็ต้องรู้ จึงต้องศึกษาเหตุปัจจัยให้ชัด แล้วก็ทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้น ผลสำเร็จจึงจะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ธรรมคือความจริงของเหตุปัจจัย หรือกฎธรรมชาตินั่นแหละ ที่บันดาล (ใช้คำเป็นบุคลาธิษฐาน) ต้องดูที่นี่ ไม่ใช่ว่าเทพเจ้าจะมาบันดาลตามที่พระองค์โปรดปราน พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ายจากเทพเป็นใหญ่หรือเทพสูงสุด มาเป็นธรรมสูงสุด และ "เทพ" ก็ต้องอยู่ใต้ "ธรรม" คือใต้ความจริงของกฎธรรมชาตินี้ และให้ชาวพุทธมาสนใจเรื่องธรรมแทน

การยกเอาธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ที่มีอยู่ในธรรมดาของธรรมชาติเป็นใหญ่นี่แหละ คือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา

เมื่อให้ถือ "ธรรม" เป็นใหญ่แล้ว มนุษย์ก็จะต้องพยายามศึกษา โดยเฉพาะก็คือพัฒนาปัญญาของตนให้รู้เข้าใจ “ธรรม” คือความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงของกฎธรรมชาตินั้น เช่น ทำให้ตรงเหตุปัจจัย เป็นต้น

เมื่อต้องการผลก็ต้องทำที่เหตุปัจจัย จะทำเหตุปัจจัยได้ถูกต้องก็ต้องศึกษาให้เกิดปัญญารู้เหตุปัจจัยนั้น การที่จะทำเหตุปัจจัยเดินหน้าไปได้ก็ต้องมีความเพียรพยายาม เริ่มด้วยให้หวังผลสำเร็จจากการกระทำ

เป็นอันว่า จากหลัก “ธรรมเป็นใหญ่” ก็ตามมาด้วยหลักการว่า

  • ให้หวังผลจากการกระทำ แทนที่จะหวังผลจากการอ้อนวอน
  • ให้มีความเพียรพยายามในการกระทำ แทนที่จะมัวจัดพิธีบวงสรวงอ้อนวอน และ
  • ให้ศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญา ที่จะรู้จักทำเหตุปัจจัยให้สำเร็จผล

ด้วยเหตุนี้ หลักไตรสิกขา จึงมาเป็นหลักใหญ่แห่งการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักแห่งการพัฒนาคนให้ทำกรรมหรือทำการต่างๆ ให้ถูกต้องดียิ่งขึ้นๆ โดยสอดคล้องกับความจริงของกฎธรรมชาติ

เมื่อคนเราปฏิบัติถูกต้องตามกฎธรรมชาติ การปฏิบัติของคนที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินั้น ท่านก็เรียกว่า “ธรรม” ด้วย "ธรรม" จึงได้มีความหมายพื้นฐาน ๒ อย่าง คือ

๑. “ธรรม” คือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ หรือจะเรียกว่ากฎธรรมชาติก็ได้ หรือจะเรียกว่า “สัจธรรม” ก็แล้วแต่

๒. “ธรรม” คือการปฏิบัติอย่างฉลาด หรือดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ที่ได้ผลดีโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติที่เรามักเรียกว่า “จริยธรรม”

สังคมไทยจะฟื้นได้ คนไทยต้องเชิดชูคนมีธรรม

คนที่มีธรรม ก็คือคนที่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย และรู้จักปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของกฎธรรมชาตินั้น ข้อปฏิบัติของมนุษย์อย่างนี้ ใครมีอยู่ เริ่มตั้งแต่เป็นคนซื่อตรงต่อความจริงของกฎธรรมชาติ ความจริงเป็นอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น เราเรียกคนนั้นว่ามี “ธรรม”

เมื่อเราไม่ได้ถือเทพเจ้าเป็นใหญ่แล้ว เราก็หันมาถือธรรมเป็นใหญ่ เราจึงบูชา "ธรรม” และในการที่จะบูชาธรรมนั้น บุคคลใดมี “ธรรม” เป็นที่แสดงออก เป็นที่รองรับ เป็นสื่อของ "ธรรม" เราก็บูชาคนนั้น เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิต คือคำตรัสของพระพุทธเจ้า ซึ่งควรจะจำกันไว้ให้แม่น เช่นคาถาหนึ่งในธรรมบทว่า

มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ เป็นต้น

แปลว่า บุคคลใด ถึงจะเซ่นสรวงด้วยทรัพย์เดือนละพัน ตลอดเวลาร้อยปี ก็มีค่าไม่เท่าบูชาคนที่ฝึกตนแล้ว แม้เพียงครู่เดียว

หลักนี้สำคัญมาก และยังมีพุทธภาษิตทำนองนี้อีกมากมายที่ให้ความสำคัญแก่การมาช่วยกันบูชาคนที่มีธรรม เพราะเป็นประโยชน์แท้จริง เพราะเท่ากับเป็นการบูชาคือยกย่องเชิดชูความจริง บูชาความถูกต้อง และบูชาหลักการของสังคม ที่จะธำรงรักษาสังคมให้อยู่ได้ พร้อมทั้งเป็นการขยายจิตใจของคนออกไป ไม่ให้มองจ้องจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว แต่ให้ความสำคัญแก่หลักการ และมองประโยชน์ส่วนรวมของสังคม

การที่ไม่มัววุ่นอยู่กับเรื่องของใจที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของการจะขอผลดลบันดาลอะไรต่างๆ แล้วมาอยู่กับความจริงของกฎธรรมชาติ ทำให้ต้องใช้ปัญญาศึกษา ดังนั้น แม้แต่เพียงว่าเราเอาหลักการบูชาบุคคลที่ควรบูชามาใช้อย่างเดียว ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สังคมจะเดินหน้าไปได้ ถ้าเราไม่ย้ายมาสู่จุดนี้ สังคมจะจมและเปลี้ยโทรมลงไปทุกที

ถ้าเราไม่บูชาธรรม และไม่บูชาคนที่มีธรรม เราก็จะเขวไปบูชาเทพเจ้า ถ้าไม่บูชาเทพเจ้าบนฟ้า ก็อาจจะเอาอะไรที่ไม่เข้าเรื่องมาเป็นเทพเจ้า เช่นเดี๋ยวนี้พูดกันว่า “เอาเงินเป็นเทพเจ้า" ต่อไปก็บูชา “เงิน” บูชา “ผลประโยชน์” อะไรต่อมิอะไร ก็ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นหลักการนี้สำคัญมาก เป็นปัจจัยใหญ่ที่จะตรึงสังคมไว้

ในมงคล ๓๘ ประการ พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงการบูชาคนที่ควรบูชาไว้ เป็นมงคลข้อที่ ๓ หมายความว่า พระพุทธศาสนาเริ่มที่สังคมก่อน คือเริ่มจากรอบตัวเข้ามา ให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดี อย่างถูกต้อง

มงคลข้อที่ ๑ คือ อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบคนพาล หมายความว่า ไม่เอาเยี่ยงอย่าง ไม่ตามคนพาล ไม่เอามาเข้าวงสัมพันธ์ในการเป็นอยู่และกิจการงาน แต่ก็มีข้อยกเว้น เดี๋ยวโยมจะบอกว่า “เอ๊ะ อะไร ไม่เหลียวแลคนพาลเลยหรือ?”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่ควรคบคนทราม เว้นแต่จะช่วยเขา” (องฺ.ติก.๒๐/๔๖๕๑๕๗) มีหลักอย่างนี้ หมายความว่า ถ้าเราจะคบคนพาล ก็คบเพื่อจะช่วย แต่จะไปเอาตามอย่างเขาไม่ได้

พร้อมกันนั้น คนที่จะช่วยคนพาลก็ต้องเตรียมตัวให้ดีด้วย เช่น ต้องแข็งจริง ต้องมั่นคง ต้องเก่ง มั่นใจว่าดึงเขาขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่าตัวเองอ่อนแอ จะไปช่วยเขา ตัวเองกลับโดนเขาดึงลงไปเลย ถ้าอย่างนี้ก็แย่ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น หลักทั่วไปจึงบอกว่า ไม่คบคนพาล และก็มาถึงข้อยกเว้นว่า นอกจากจะช่วยเขา

มงคลข้อที่ ๒ คือ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา แปลว่า คบบัณฑิต คือคบคนดี คนมีปัญญาและคุณธรรม คนที่จะชักนำไปสู่ความเจริญงอกงามในความดี

มงคลข้อที่ ๓ คือ ปูชา จ ปูชนียานํ แปลว่า บูชาคนควรบูชา หรือบูชาปูชนียชน

นั่นคือมงคล ๓๘ สามข้อแรก เป็นชุดที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ในสังคม โดยเฉพาะการบูชาคนที่ควรบูชานี้ เป็นข้อที่ควรจะได้เน้นกันเป็นพิเศษในสังคมปัจจุบัน เพื่อจะได้ช่วยกัน ธำรงรักษาสังคมไว้ด้วยการธำรงรักษา "ธรรม” ให้แก่สังคม

อย่างไรก็ตาม การดำรงรักษา “ธรรม” นั้น เป็นนามธรรมที่เรามองไม่ค่อยเห็น ถ้าเราทุกคนธำรงธรรมได้ด้วยตนเองก็ดีซิ คือเราประพฤติธรรมนั่นแหละ การธำรง “ธรรม” ไว้ ก็คือตัวเราเอง ต้องประพฤติตาม “ธรรม” นั้น

ทีนี้ถ้ามีคนประพฤติ “ธรรม” อย่างจริงๆ จังๆ เป็นตัวอย่าง เราต้องช่วยกันแสดงออกให้เห็นว่า เราเป็นนักธำรง “ธรรม” เราเชิดชู “ธรรม” จริงๆ ด้วยการเชิดชูคนที่มี “ธรรม” ถ้าเราเชิดชูบุคคลที่มีธรรม บูชาคนที่ดี ก็เป็นการแสดงอย่างแน่นอนว่า เราบูชาธรรม ยกย่องความดีงามถูกต้อง ฉะนั้น หลักการบูชาปูชนียชนนี้ คิดว่าปัจจุบันเราจะต้องช่วยกันเน้นให้มากเป็นพิเศษ

คนดีมีพลังที่แท้ คือพลังแห่งธรรม

วันนี้ ทางสำนักบัณฑิตอาสาสมัครจัดพิธีทำบุญอุทิศกุศลแด่อาจารย์ป๋วย แน่นอนว่ากิจกรรมนี้เป็นการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของธรรมข้อนี้ด้วย คือการบูชาบูชนียชน ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่ถือว่าควรจะบูชาสำหรับสังคมไทย การบูชานี้อย่างน้อยเพื่อให้เป็นแบบอย่าง และแสดงน้ำใจของเราว่า เราบูชาคุณธรรม บูชาความดี บูชาธรรม

นี้ก็คือได้ ๒ อย่าง สำหรับข้อแรก คือความกตัญญูกตเวทีนั้นก็สำคัญ แต่วันนี้จะไม่เน้น เราควรจะเน้นอย่างหนึ่งเป็นพิเศษซึ่งเห็นว่าสำคัญมากสำหรับสังคมไทย

ในด้านความดีต่อตัวระหว่างบุคคล เราก็มีความกตัญญูแล้ว แต่สำหรับคนที่มีความดี ทำประโยชน์ให้ และเป็นแบบอย่างแก่สังคมวงกว้าง เราต้องมาเน้นข้อบูชาบูชนียชน ที่เป็นมงคลอันอุดม

ขอย้ำอีกครั้งว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แปลว่า การบูชาบูชนียชน เป็นมงคลอันสูงสุด

ตอนนี้ขอให้มาดูว่า คนที่ควรบูชา ที่เราบอกว่าท่านมีธรรม เราจึงบูชาท่าน ยกย่องท่าน ในฐานะที่เราเห็นท่านเป็นชื่อของธรรม และเป็นที่รองรับของธรรม ซึ่งโยงเราขึ้นไปสู่การบูชาธรรมนั้น ท่านมีคุณความดีเป็นสื่อของธรรมอย่างไร

เราได้เห็นว่า อาจารย์ป๋วยมีคุณความดีหลายอย่าง แต่ความดีอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเด่นมากก็คือ ความซื่อสัตย์สุจริต คุณสมบัติข้อนี้ได้ยินพูดกันอยู่เสมอ พอดีอาตมภาพก็ได้เขียนไว้ในข้อเขียนที่ลงในหนังสือที่ระลึก ไม่ทราบว่าเสร็จแล้วหรือยัง? ตั้งชื่อหัวข้อไว้ว่า “ดร.ป๋วย กับธรรมะ” ซึ่งได้เล่าไว้ว่า อาตมภาพทั้งแปลกใจและประทับใจ ซึ่งทำให้จำแม่นและได้เขียนไว้ในหนังสือนั้น คือว่าได้ไปพบข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย พูดถึงธรรมหมวดหนึ่ง ที่ชื่อว่า พละ ๔

พละ ๔ ไม่ค่อยมีคนได้ยิน แม้แต่ในวงการผู้ศึกษาธรรมทั่วไป ก็ไม่ค่อยได้ยิน ก็เลยนึกว่า อาจารย์ป๋วย คงจะสนใจธรรมมาก จึงไปเจอหมวดธรรมที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก แล้วคิดต่อไปว่าท่านคงเอาใจใส่หรือให้ความสำคัญแก่ธรรมชุดนี้มาก ก็เลยเอามาพูดในที่นี้

ใครพูดถึงอาจารย์ป๋วยทีไร อาตมานึกถึงธรรมหมวดนี้ทุกที โยงไปด้วยกันเลย ธรรมที่เรียกว่า พละ ๔ นี้ มี

อะไรบ้าง ข้อที่ ๑ ปัญญาพละ หรือปัญญาพลัง กำลังปัญญา ข้อนี้สำคัญมาก คนเราต้องมีกำลังปัญญา การที่เราศึกษาเล่าเรียนกันมาจนจบมหาวิทยาลัย ก็เพื่อจะได้มีปัญญา ปัญญาทำให้เรารู้จัก และเข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำให้สามารถแก้ไขปรับปรุง ทำให้พ้นจากปัญหา ขจัดข้อติดขัดต่างๆ ทำให้จิตใจเราเป็นอิสระ ทำให้หลุดพ้นได้ ปัญญาเป็นตัวส่องสว่าง ชี้นำ บอกทาง ขยายขอบเขต ปลดปล่อยให้เป็นอิสระ

อย่างน้อย เมื่อปฏิบัติหน้าที่การงานทำกิจการใด ก็ต้องรู้เข้าใจงานการที่ตนทำเป็นอย่างดี

ข้อที่ ๒ วิริยพละ หรือวิริยพลัง กำลังความเพียร คนเราทำการอะไรต่างๆ จะสำเร็จได้ต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรก็ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนาที่สอนให้หวังผลจากการกระทำ เมื่อจะทำให้เดินหน้าไปก็ต้องทำด้วยความเพียรพยายาม จะมัวรอใครบันดาลให้ไม่ได้

อย่างน้อย ไม่ว่าจะทำหน้าที่กิจการงานอะไร ก็ต้องขยันหมั่นทำให้สำเร็จเรียบร้อย ไม่ให้บกพร่อง

ข้อที่ ๓ อนวัชชพละ หรืออนวัชชพลัง กำลังความสุจริต กำลังแห่งการกระทำหรือกิจการงานที่ไม่มีโทษ ไม่มีข้อที่ใครจะยกมาติเตียนได้ พูดง่ายๆ ว่า “มือสะอาด”

การที่อาจารย์ป๋วยสนใจหลักพละ ๔ นี้ อาจจะเป็นเพราะธรรมชุดนี้มีอนวัชชพละ คือกำลังความสุจริตด้วย

ข้อที่ ๔ สังคหพละ หรือสังคหพลัง กำลังการสงเคราะห์ คือความสัมพันธ์ที่ดีงามเกื้อกูลกันในหมู่มนุษย์

  • ด้วยการให้เผื่อแผ่แบ่งปัน ที่เรียกว่า “ทาน”
  • ด้วยถ้อยคำดีงาม ที่พูดด้วยใจรักหรือมีน้ำใจ เช่น ใช้ วาจาช่วยเหลือกันในการแนะนำบอกทางแก้ปัญหา เป็นต้น ที่เรียกว่า “ปิยวาจา”
  • ด้วยเรี่ยวแรง กำลัง ในการบำเพ็ญประโยชน์ ที่เรียกว่า “อัตถจริยา”
  • ด้วยการมีความเสมอภาค ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ กัน ที่เรียกว่า “สมานัตตตา”

รวมแล้ว สังคหพละ ที่แยกย่อยเป็น ๔ ข้อ ก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม มนุษย์นอกจากจะอยู่ร่วมกันด้วยดีมีเมตตาแล้ว ก็ต้องมีการช่วยเหลือกัน ซึ่งจะยึดเหนี่ยวชุมชนและสังคมไว้ให้มีความสามัคคี

อย่างน้อย เมื่อทำหน้าที่การงาน ก็ไม่เอาแต่ตัวคนเดียว แต่รู้จักใส่ใจมีน้ำใจเอื้อเฟื้อคำนึงถึงคนที่อยู่ร่วมในวงงาน รักษาความสัมพันธ์ที่ดี ร่วมมือร่วมใจกัน และเกื้อกูลสังคมไปด้วย

พละ ๔ นี้ ขอย้ำหัวข้ออีกครั้งหนึ่ง

  1. ปัญญาพละ - กำลังปัญญา
  2. วิริยพละ - กำลังความเพียร
  3. อนวัชชพละ - กำลังความสุจริต
  4. สังคหพละ - กำลังการช่วยเหลือกันหรือประสานสังคม

หลักพละ ๔ นี้ อาจารย์ป๋วยก็เขียนไว้ในหนังสือของท่านด้วย อาตมาเลยจำแม่นว่า อาจารย์ป๋วยสนใจธรรมะ และจำชื่อท่านติดมากับธรรมชุดนี้

เมื่ออาจารย์ป๋วยสนใจแล้ว ผู้อื่นที่นับถือท่านก็น่าจะสนใจและชวนกันเอาไปประพฤติปฏิบัติด้วย

ถ้าธรรม ๔ ข้อนี้ ได้รับการใส่ใจนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติกันในสังคมนี้ สังคมก็เจริญพัฒนาแน่นอน และเจริญอย่างมั่นคง เพราะในข้อสุดท้ายมี “สังคห” ซึ่งในภาษาบาลีแปลว่า ประสาน รวม ผนึก ทำให้เกิดเอกภาพ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดมีพละหรือพลังภายในตัว ๔ ประการนี้ จะมีความมั่นใจในตนเอง จะดำเนินชีวิตหรือทำกิจการงานใดๆ ก็ทำด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นเกรงต่อภัยอันตรายใดๆ ไม่กลัวแม้แต่ความตาย

คนเรานี้หลักสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งต้องสร้างขึ้นให้ได้ ถ้าเรามีพละ ๔ ประการนี้ เราก็จะมีความมั่นใจ ยืนหยัดอยู่ในโลก และยืนยงอยู่ในสังคมได้อย่างดี

คนซื่อสัตย์ คืออยู่กับความจริง จึงมีธรรมทันที
คนซื่อสัตย์ มีสันโดษช่วยค้ำประกันความสุจริต

เรื่องที่อาจารย์ป๋วยเขียนไว้ แสดงออกถึง “ธรรม” ที่ท่านสนใจ ที่ท่านรู้ ที่ท่านปฏิบัติ โดยเฉพาะคุณสมบัติที่ควรเน้น ซึ่งเด่นในตัวท่าน ที่คนในสังคมรู้กันมาก คือ ความซื่อสัตย์สุจริต

แน่นอนว่า ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นธรรมข้อสำคัญ โดยเฉพาะเป็นสัจจะ คือความจริง ซึ่งตรงกับธรรมอยู่ในตัวเลยทีเดียว เพราะธรรมก็มีความหมายว่าความจริง คือความจริงเป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น จึงตรงไปตรงมา

เมื่อปฏิบัติไปตามความจริง ก็ตรงตามธรรม และเป็นความซื่อสัตย์สุจริตด้วยพร้อมกัน

คนที่ซื่อสัตย์ คือคนที่อยู่กับธรรมตั้งแต่ต้น หรืออยู่บนฐานที่ถูกต้อง คือเป็นธรรมอยู่ในตัวเลย เพราะไม่เขวออกไปจากธรรมที่เป็นหลักแหล่งของความจริงนั้น

ความซื่อสัตย์สุจริต โยงไปหาความประพฤติความเป็นอยู่และคุณธรรมข้ออื่นๆ ด้วย เพราะมนุษย์อยู่ในโลกต้องดำเนินชีวิต ต้องกิน ต้องอยู่ ต้องมีปัจจัย ๔ เป็นต้น การที่จะมีความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ได้จะต้องมีธรรมข้ออื่นโยงกันเข้ามาอีก

ลักษณะของอาจารย์ป๋วยอย่างหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าดูไม่ผิด คือท่านมีความสันโดษ

สันโดษ แปลว่า ความพอใจในสิ่งที่เป็นของตน ไม่อยากได้ของคนอื่น และอยากได้ยอมรับเฉพาะสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม

ขยายความให้เต็มว่า ยินดีพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตนด้วยความเพียรพยายามทำให้มีขึ้นมา โดยชอบธรรม เน้นว่า ต้องได้ด้วยความเพียร และโดยชอบธรรม ถ้าไม่ชอบธรรมไม่เอา

ได้ทราบว่า อาจารย์ป๋วย แม้แต่ของขวัญ ก็ไม่ยอมรับ ท่านมีความสันโดษ ไม่เอาของอะไรอื่น อยู่ด้วยวัตถุแค่ตามที่มีสิทธิได้รับ เช่น เงินเดือนของตนตามสิทธิโดยถูกต้อง สิทธิของตนมีเท่าใดก็รับแค่นั้น เกินนั้นไม่เอา อย่างนี้เป็นสันโดษน่ะชัดเต็มที่อยู่แล้ว แต่มองให้ดี จะก้าวไปถึง “มักน้อย” ด้วยซ้ำ คือถึงขั้นที่เรียกว่า เป็นผู้มักน้อยสันโดษ

สันโดษนั้น ไม่ต้องการบำรุงบำเรอตัวเอง ไม่หาวัตถุมาปรนเปรอ

สันโดษนี่ใช้กับพวกวัตถุ พูดง่ายๆ ว่า ใช้กับวัตถุเสพบริโภค สิ่งของ เครื่องกิน เครื่องใช้ เริ่มด้วยปัจจัย ๔ ที่จะเอามาบำรุงบำเรอความสุขทางกาย สิ่งเหล่านี้ท่านสอนให้สันโดษ

โดยเฉพาะ “พระ” พระพุทธเจ้าตรัสสอนอยู่เสมอว่า พระภิกษุจะต้องสันโดษในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัชบริขาร ตัวเองก็อยู่เรียบง่าย และเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย

คนที่สันโดษย่อมมีความสุขได้ง่าย แต่ถ้าไม่สันโดษจะสุขได้ยาก คนสันโดษมีแค่ไหนก็สุข แต่คนไม่สันโดษไม่มีความสุขด้วยของที่มี เพราะความสุขไปอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มี เพราะฉะนั้นก็สุขไม่ได้สักที คนที่ไม่สันโดษก็เลยเป็นคนไม่มีความสุข

มองดูลักษณะพื้นฐานง่ายๆ ว่า เมื่อสันโดษทำให้เป็นคนที่มีความสุขง่าย ก็เลยไม่ต้องมัววุ่นวายกับการแสวงหาวัตถุเสพบริโภค แต่ความหมายไม่จบแค่นั้น

ถ้าสันโดษจบแค่นี้ก็แย่ เพราะจะเลื่อนลอย และมาตันที่ความสุข แล้วก็ทำให้เฉื่อยชาและประมาท

ถ้าสันโดษมีความหมายแค่นี้ ก็มีทางที่จะกลายเป็นปัจจัยแห่งความเกียจคร้านไปก็ได้ เรียกง่ายๆ ว่า สันโดษของคนขี้เกียจ

สันโดษ เตรียมความพร้อม
ให้เป็นนักทำงานชนิดอุทิศตัว

เรื่องของสันโดษ จุดสำคัญที่สุดอยู่ตรงคำถามที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พระสันโดษ

เมื่อพระสันโดษ นอกจากตัวเองจะไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายใจแล้ว ก็ไม่ทุจริต และจะไม่รบกวนชาวบ้าน

ถ้าพระไม่สันโดษ ก็รบกวนชาวบ้านเรื่อย เดี๋ยวอยากจะได้จีวรดีๆ เดี๋ยวอยากจะได้ที่อยู่ดีๆ นี้เอาแล้ว ก็เรี่ยไรบ้าง แสวงหาลาภโดยวิธีต่างๆ บ้าง การที่ท่านให้มีสันโดษ ก็เพื่อจะได้เป็นพระที่เลี้ยงง่าย ตามหลักปฏิบัติของพระอย่างหนึ่งคือ สุภโร เป็นผู้เลี้ยงง่าย แต่ก็ไม่ใช่แค่นี้

ที่สำคัญก็คือ สันโดษจะพาคุณสมบัติอะไรมาอีก เมื่อกี้ย้ำคำว่า “สุจริต” สันโดษเป็นตัวค้ำประกันให้มีความสุจริต ถ้าไม่สันโดษก็สุจริตอยู่ได้ยาก เมื่อเราอยากจะหาสิ่งบำเรอความสุขของตนเองอย่างไม่รู้จักพอ ความซื่อสัตย์สุจริตก็อยู่ไม่ได้ คนจะซื่อสัตย์สุจริตได้ ต้องมีสันโดษมาช่วยค้ำประกัน แต่สันโดษก็ไม่ใช่แค่นั้นอีก

คราวนี้ก็มาถึงจุดสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นจุดหมายและเป็นเหตุผลของสันโดษ คือ พระภิกษุถ้าไม่สันโดษก็จะไม่สามารถและไม่มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่

พระภิกษุมีหน้าที่ คือ หนึ่ง เล่าเรียน สอง ปฏิบัติ สองอย่างนี้รวมกัน คือ เล่าเรียนและปฏิบัติ ภาษาพระเรียกว่า “สิกขา” คือศึกษา คำว่า “สิกขา” คือ “เล่าเรียนและปฏิบัติ” ถ้าเล่าเรียนแล้วยังไม่ปฏิบัติ ก็ยังไม่เรียกว่า “ศึกษา” ศึกษาแท้ต้องครบ คือปฏิบัติโดยมีการเรียนรู้เป็นฐาน ศึกษาคือฝึกทำให้เป็น เมื่อเล่าเรียนแล้วก็ฝึกทำให้ได้ให้เป็นอย่างที่เรียนรู้นั้น

นอกจากเล่าเรียนและปฏิบัติแล้ว ก็ต้อง สาม เผยแพร่สั่งสอนธรรม หน้าที่ของพระมีอย่างนี้ อย่างน้อยก็ใช้คำว่า ทำกุศลให้เกิดขึ้น

พระจะเพียรพยายามทำหน้าที่ของตนได้ดี ต้องมีสันโดษ เพราะว่าเมื่อพระสันโดษ ก็ไม่มัววุ่นวายอยู่กับการที่จะครุ่นคิดหาสิ่งเสพบริโภคมาบำรุงบำเรอตนเอง จึงสงวนเวลา ออมแรงงาน และถนอมพลังความคิดไว้ได้ แล้วก็นำเวลา แรงงาน และความคิดที่จะเอาไปใช้กับการแสวงหาวัตถุเสพนั้น เปลี่ยนเอามาใช้กับการทำงานของตน คือ เล่าเรียน ปฏิบัติ เผยแผ่ธรรมได้เต็มที่

โดยนัยนี้ สันโดษจึงเป็นการปฏิบัติขั้นเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อพร้อมแล้ว ไม่ห่วงกังวลอะไรแล้ว ก็มุ่งหน้าอุทิศตัว ทั้งอุทิศเวลา อุทิศเรี่ยวแรง และอุทิศความคิด ให้แก่การเพียรพยายามละอกุศล และทำกุศลให้เกิดขึ้น

คำว่า “ละอกุศล และเจริญกุศล” นี้คลุมหมด จะพูดง่ายๆ ก็ว่าละชั่ว และทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น คนสันโดษเอาความเพียรมาใช้ในเรื่องนี้

ใครมีหน้าที่ที่จะละความชั่ว กำจัดแก้ไขสิ่งเลวร้าย แก้ปัญหาอะไร และจะต้องสร้างสรรค์ความดีอะไร ก็ทำหน้าที่นั้นๆ ให้เต็มที่ เพราะคนที่สันโดษมีเวลาเต็มที่ ใช้แรงงานได้เต็มที่ และอุทิศความคิดได้เต็มที่

ในทางตรงข้าม ถ้าคนไม่สันโดษ สมองของเขาก็จะครุ่นคิดว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาสิ่งเสพบำเรอสุขที่ไหน จะไปบริโภคอะไร แล้วก็เอาแรงงานไปเที่ยววิ่งพล่านหาสิ่งเสพบริโภคให้แก่ตัวเอง พร้อมกันนั้นเวลาก็ถูกเผาผลาญหมดไป หน้าที่การงานก็เสื่อมเสีย

แต่พอสันโดษได้ วัตถุก็พออยู่แล้ว ก็เอาเวลา พร้อมทั้งแรงงานและความคิดไปอุทิศให้แก่งานและการทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นก็กลายเป็น สันโดษของนักทำงาน

แยกให้ชัดเสียที ในการที่จะพัฒนา
ว่าสันโดษใดหนุน สันโดษไหนขัด

สันโดษที่ถูกต้อง เป็นสันโดษของนักทำงาน และสันโดษเพื่อทำงาน เพราะฉะนั้น ถ้าสันโดษไม่มาต่อด้วยความเพียรในการทำกิจการงานหน้าที่ ก็จะทำให้เราหยุดเฉย ลงนอน กลายเป็นเกียจคร้านไปเลย

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ สันโดษจึงเป็นธรรมที่ต้องระวัง เพราะถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจความมุ่งหมายว่าพระพุทธเจ้าสอนสันโดษไว้เพื่ออะไร ก็จะกลายเป็นสันโดษเพื่อความสุข เพราะคนสันโดษสุขง่ายอยู่แล้ว พอสุขแล้วก็สบาย ไม่มีอะไรจะขวนขวาย ก็เลยเกียจคร้าน นั่นคืออันตราย

แต่สันโดษอย่างของอาจารย์ป๋วยนี่แน่ใจได้ เป็นสันโดษของนักทำงาน ซึ่งในที่นี้ต้องการเน้นใน ๒ ด้านก่อน คือจะไม่เน้นในแง่ความสุขส่วนตัวของท่าน ในแง่นั้นท่านก็สุขด้วยวัตถุหรือทรัพย์สินสิ่งของที่ท่านมีอยู่ ท่านมีเท่าไรเท่าที่พอสมควรแล้ว ท่านก็สุขได้ อันนี้เป็นด้านส่วนตัว แต่แง่สำคัญที่ไปสัมพันธ์กับธรรมข้ออื่น ก็คือ

๑. (สันโดษทำให้) รักษาความสุจริตได้ เพราะฉะนั้น เมื่ออาจารย์ป๋วยสันโดษ ก็เป็นหลักประกันให้ท่านดำรงความซื่อสัตย์สุจริตได้ด้วย เพราะท่านสันโดษ ท่านจึงไม่รับนอกเหนือหรือเกินจากส่วนของท่าน และไม่เอาส่วนที่ไม่ถูกต้องตามธรรม หรือส่วนที่ไม่ใช่สิทธิของท่าน แม้แต่ใครจะให้ก็บอกว่าฉันไม่เอาหรอก ถึงตอนนี้ ก็ถึงขั้นเป็นความ “มักน้อย” เลยทีเดียว

พูดสั้นๆ ว่า เพราะท่านสันโดษ ท่านจึงรักษาสุจริตไว้ได้ และในทางกลับกัน เพราะท่านซื่อสัตย์สุจริต ท่านจึงสันโดษ

๒. (สันโดษทำให้) อุทิศตัวให้แก่การทำงาน เรียกว่าสันโดษ เพื่อทำงาน หรือสันโดษของนักทำงาน แทนที่จะเอาเวลาไปล้างผลาญกับการหาความสุขส่วนตัว ก็เอาเวลานั้นมาใช้ในการทำงาน ก็เลยทำงานได้เต็มที่

คนสันโดษนั้น ทำงานได้เต็มที่ เพราะไม่ไปวุ่นวายนอกงานนอกหน้าที่ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า สงวนหรือออมเวลาพร้อมทั้งงานและความคิดไว้ได้หมด แล้วเอามาทุ่มเทอุทิศให้กับการทำงานหรือการสร้างสรรค์อย่างเดียว

ธรรมะที่พูดมาแค่นี้ก็เป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนา อย่างที่อาจารย์ป๋วยท่านทำในข้อสันโดษนี้ ซึ่งทำให้มีความสุจริตด้วย พร้อมกับเป็นนักทำงาน ถ้าคนไทยปฏิบัติได้อย่างนี้ ประเทศชาติก็จะพัฒนาอย่างไม่ต้องสงสัย สันโดษแบบนี้ไม่ขัดขวางการพัฒนาประเทศแน่นอน แต่หนุนการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง

บางทีเราเถียงกันไม่เข้าเรื่อง สมัยหนึ่งหลายคนเถียงกันว่า สันโดษขัดขวางการพัฒนาหรือไม่ ก็เถียงกันไป บางทีก็ถึงกับด่าอีกฝ่ายหนึ่ง

ฝ่ายหนึ่งบอกว่า สันโดษขัดขวางการพัฒนาประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่า นี่ มาติเตียนธรรมของพระพุทธเจ้า ตาคนนี้! เป็นคนนอกศาสนาหรือไร? ก็ว่ากันไป แต่ที่จริงอาจจะโกรธกันไปไม่เข้าเรื่อง

ทางพระท่านให้ตอบแบบวิภัชวาท คือต้องแยกแยะตอบ หรือตอบแบบจำแนก คือ บอกว่า ถ้าปฏิบัติไม่ถูก ใช่ สันโดษอาจจะกลายเป็นเครื่องขัดขวางการพัฒนาได้ เพราะเป็นสันโดษเลื่อนลอย ซึ่งไปตันที่ความสุข แล้วก็ทำให้เฉื่อยชาเกียจคร้าน แต่ถ้าสันโดษถูกต้อง จะสัมพันธ์กับการรักษาความสุจริตและช่วยให้เราอุทิศตัวแก่การทำหน้าที่การงานได้อย่างเต็มที่ ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นเครื่องหนุนการพัฒนา และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการที่จะพัฒนา

อย่างนี้เรียกว่าตอบแบบวิภัชวาท หรือตอบแบบแยกแยะ ไม่ใช่ตอบผางไปอย่างเดียว ผิดไปเลย หรือถูกครึ่งเดียว บางครั้งก็ทะเลาะกันมากมาย ก็ยุ่งกันใหญ่

ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา

ถ้าพัฒนาความต้องการของคนไม่ได้
ก็พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่สำเร็จ

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของธรรมที่จะโยงเข้ากับการพัฒนา ตรงนี้แหละ คือประเด็นที่เจ้าภาพนิมนต์ไว้ โดยกำหนดให้พูดในเรื่อง ธรรมกับการพัฒนา ดูเหมือนชื่อหัวข้อเรื่องจะเป็นว่า “ถ้าไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา” หรือว่าอาตมาจำผิดไปเอง ชื่อเรื่องที่ตกลงกันไว้อาจจะเป็นว่า “การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม” ก็คล้ายกัน จะเอาชื่อไหนก็ได้ ใช้ได้ทั้งคู่

“ไม่มีธรรม ก็ไม่มีการพัฒนา” และ "การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม" นั้นเป็นของแน่นอน เช่นที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า การพัฒนาที่จะดีย่อมหนีไม่พ้นธรรม เช่น ต้องมีความชื่อสัตย์สุจริต ต้องมีความเพียรพยายามในการทำงาน ต้องมีความสันโดษอย่างถูกต้อง ที่เอามาใช้เป็นหลักประกันความสุจริต และหนุนการทำความเพียร ตามหลักการหวังผลจากการกระทำ ถ้าคนไทยได้แค่นี้ประเทศชาติก็พัฒนามากแล้ว

นอกจากนี้ คนที่ไปทำงานพัฒนานั้น ต้องมีความเสียสละด้วย วัตถุประสงค์ของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มีข้อหนึ่งที่เน้นความเสียสละ แต่ความเสียสละนั้น ถ้าจิตใจเราไม่พร้อม ก็ทำได้ยาก จิตใจของเราต้องพร้อมด้วย อย่างน้อยใจต้องยอมรับ ถ้าใจเราไม่ยอมรับ ก็จะทำอย่างฝืน พูดง่ายๆ ก็คือฝืนความต้องการ

ถ้าเราจะทำอะไรให้ได้ผล เราต้องมีความต้องการเสียก่อน เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาจึงสอนให้ “เปลี่ยน” ความต้องการเสียก่อน จะเรียกว่าพัฒนาความต้องการก็ได้ คือปรับเปลี่ยนความต้องการให้ถูกต้องดีงามเป็นไปด้วยปัญญามากขึ้น

หลักสำคัญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนาถือว่า ความต้องการของคนนั้น “เปลี่ยน” ได้ “พัฒนา” ได้ เราเคยต้องการอย่างนี้ แต่ความต้องการนั้นเป็นโทษ หรือขัดขวางจุดหมายที่ดี เราก็ปรับเปลี่ยนมันเสีย ถ้าเราปรับเปลี่ยนความต้องการให้ตรงกับสิ่งที่เป็นจุดหมาย เราเกิดความต้องการใหม่ สิ่งที่มุ่งหมายก็จะสำเร็จ

เหมือนอย่างเด็กจะกินอาหาร ถ้าเด็กต้องการกินอาหารอร่อย เมื่อแกได้อาหารที่ไม่อร่อย แกกินโดยฝืนความต้องการ แกก็ทุกข์มาก ถ้าเราจะพัฒนาเด็ก เราก็ช่วยให้แกปรับเปลี่ยนความต้องการ โดยให้ปัญญาแก

วิธีเปลี่ยนความต้องการของคนที่จะให้เกิดการพัฒนานั้น ต้องเปลี่ยนด้วยการให้ปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ เปลี่ยนทิฐิ เปลี่ยนแนวคิดความเห็น

ตอนแรกเด็กมีความเห็นยึดไว้โดยไม่รู้ตัวว่า การกินอาหารนั้นเพื่ออร่อย ต่อมาเราเริ่มถามให้เด็กใช้โยนิโสมนสิการว่า เรากินอาหารเพื่ออะไร ให้เด็กหัดตอบ เด็กคิดไปคิดมา ก็เริ่มตอบได้ว่า ที่จริงกินอาหารไม่ใช่เพื่อแค่เอร็ดอร่อย แต่การกินอาหารมีวัตถุประสงค์ที่เป็นของจริงแท้ คือเพื่อสุขภาพ หรือที่เดี๋ยวนี้ใช้คำโก้ว่า เพื่อคุณภาพชีวิต

การกินเพื่อคุณภาพชีวิตนี้ อาหารอร่อยยังไม่พอ บางทีอาหารอร่อยกลับเป็นพิษ กลายเป็นทำลายคุณภาพชีวิตก็มี ไม่ได้แล้ว กินอาหารอร่อยนี่ บางทีเสียด้วย แล้วทำอย่างไร อาหารอะไรจะช่วยให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่จริงแท้นั้น

ตอนนี้แกมองเห็นแล้วว่าสิ่งที่ถูกต้อง คือคุณภาพชีวิต นี่คือเปลี่ยนทิฐิแล้ว พอปัญญาเกิด ก็เปลี่ยนทิฐิได้ว่า เป้าหมายที่ถูกต้อง ต้องเป็นว่า กินเพื่อคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่กินเพื่ออร่อย

พอเด็กเปลี่ยนทิฐิมาเป็นว่า เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการกินอยู่ที่คุณภาพชีวิต แกก็จะมองหาว่าอะไรจะสนองวัตถุประสงค์นี้ ถึงตอนนี้ก็เดินหน้าต่อไปในการศึกษา เช่นเรียนรู้ว่า อาหารอย่างนั้นอย่างนี้ มีคุณค่า มีประโยชน์ มีคุณสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตดี สนองเป้าหมายนี้ได้ ถึงตอนนี้ แกก็อยากกินอาหารที่มีคุณค่าอย่างที่ได้เรียนรู้นั้น นี่คือ เปลี่ยนความต้องการ

เมื่อเด็กเริ่มเปลี่ยนความต้องการ อาหารที่เคยชอบเพราะอร่อย และมีความสุขเมื่อได้กิน แต่เมื่อรู้ว่าเป็นพิษ คราวนี้แกชักจะไม่ต้องการแล้ว และถ้าได้กินก็ชักจะไม่สุข แต่อาจจะกระสับกระส่าย กลายเป็นว่าอาหารที่จะช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิตจึงจะสนองเป้าหมายนี้ได้ และแกจึงจะต้องการ และความต้องการนั้น ถ้าได้สนองเมื่อใด แกก็มีความสุขเมื่อนั้น

คนเรานี้ เมื่อได้สนองความต้องการก็มีความสุข ก่อนนี้เด็กต้องการกินอาหารที่อร่อย ที่แกถูกใจ ถ้ากินไม่อร่อย แกจะทุกข์ทันที แต่ทีนี้พอเกิดต้องการคุณภาพชีวิตขึ้นมา และแกได้กินอาหารนั้น บางทีทั้งๆ ที่ไม่ค่อยอร่อย แต่แกมีความสุขได้ แล้วแกยังภูมิใจด้วยว่า เรากินถูกต้อง เราทำด้วยความรู้ คนที่ทำอะไรด้วยความรู้ ด้วยปัญญา จะมีความมั่นใจที่มั่นคง

เมื่อเด็กมีความสุขในการกินอาหารที่สนองความต้องการให้เกิดคุณภาพชีวิต แกก็มีความสุขอย่างใหม่ เพราะมีความต้องการใหม่ และได้สนองความต้องการนั้น นี่คือเรื่องของการพัฒนามนุษย์

ที่ว่ามานี้เป็นการยกตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น การพัฒนาปรับเปลี่ยนความต้องการหรือความอยากของคนนี้ เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ควรจะพูดต่างหากโดยเฉพาะ

ในที่นี้ขอสรุปเพียงสั้นๆ ว่า การพัฒนาปรับเปลี่ยนความต้องการของคน เป็นส่วนสำคัญยิ่งของการพัฒนาคน ถ้าไม่พัฒนาความต้องการของคน การพัฒนาสังคมประเทศชาติก็ไม่อาจเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง และจะสำเร็จผลดีไม่ได้

ชีวิตก็ตาม สังคมก็ตาม ยิ่งทำแบบฝึกหัด ก็ยิ่งพัฒนา

คนที่จะไปทำงานบัณฑิตอาสาสมัครนั้น ถ้าต้องเสียสละด้วยใจไม่พร้อม คือ ไม่มีความต้องการ ก็ย่อมมีความฝืนใจ แล้วก็ต้องทุกข์แน่ๆ และการงานก็ยาก

วิธีที่จะแก้คนให้ปรับเปลี่ยนความต้องการ ก็เริ่มตั้งแต่ภายใน ซึ่งมีหลายอย่าง วิธีอย่างหนึ่งก็คือ ตั้งท่าทีรับใหม่

เพียงแค่คิดว่าคนที่จะไปทำงานต้องเสียสละ ก็ฝืนใจแล้วใครๆ ก็อยากได้เพื่อตัวเองทั้งนั้น พอบอกว่า “สละ” ใจก็ไม่เอา นอกจากนั้นยังต้องไปโดดเดี่ยว เดียวดาย ว้าเหว่ เหงา ก็ทุกข์ทั้งนั้น

เสียสละอย่างเดียวก็ฝืนใจ ทุกข์แล้ว แล้วยังไปโดดเดี่ยวอีก เคยอยู่กับญาติพี่น้อง ครอบครัว พ่อแม่ ต้องไปอยู่ห่างไกล ก็เหงา ทุกข์อีกแล้ว จะทำอย่างไร ก็ตั้งท่ารับใหม่ ให้ใจเริ่มพัฒนาความต้องการใหม่

เริ่มแรกเราตั้งท่าทีของการมีจิตสำนึกในการฝึกตน จิตจะเริ่มรับได้ทันที ฝึกนี้คู่กับฝืน หรือตรงข้ามกับฝืน ถ้าเราทำอะไรด้วยฝืน จะรู้สึกทุกข์ แต่ถ้าทำอะไรด้วยความรู้สึกว่าเราได้ฝึก เราจะสุข

งานอย่างหนึ่ง ยาก เราไม่ชอบ แต่ต้องทำ มันฝืนใจ เราก็ทำด้วยความทุกข์ แต่งานเดียวกันนั้นแหละ ที่ยากและเราไม่ชอบ แต่เรามองเห็นว่าถ้าทำ เราจะฝึกตัวได้เรียนรู้มาก เกิดความต้องการฝึกขึ้นมา ใจเราเอาด้วย ก็ทำด้วยความสุข

การที่จะเปลี่ยนแนวคิดความรู้สึกจากฝืนมาเป็นฝึกนั้น เราก็ให้ปัญญา เช่นบอกว่า คนเรานี่จะเจริญพัฒนาได้ต้องฝึกตนนะ มนุษย์นี้ตั้งแต่เกิดมีอะไรได้มาเองเปล่าๆ ไหม ไม่เฉพาะสิ่งของเงินทองเท่านั้น แม้แต่วิธีเป็นอยู่ดำเนินชีวิต ไม่มีเลยใช่ไหม

เงินทองวัตถุสิ่งของนอกกาย ถ้าพ่อแม่ของเราร่ำรวยมั่งมี เมื่อท่านอยากให้ เราก็อาจจะได้มาไม่ยาก แต่ชีวิตของเราที่จะมีความสามารถ เป็นอยู่ได้ดี มีสติปัญญา นานาคุณสมบัตินั้น ไม่มีใครหยิบยกให้ได้ ต้องฝึกเอา จึงจะได้จึงจะมี

คนเกิดมานี่ไม่เหมือนอย่างสัตว์ทั้งหลายพวกอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นมันได้วิธีเป็นอยู่มาด้วยสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ อยู่ๆ เดี๋ยวมันก็เดินได้ เดี๋ยวมันก็หากินและอะไรๆ ตามแบบของมันได้ ฝึกน้อยเหลือเกิน มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ

แต่มนุษย์นี่ แทบไม่มีอะไรเลยที่ได้มาเอง สัญชาตญาณช่วยน้อยเหลือเกิน แล้วทำอย่างไร ก็ต้องอาศัยการฝึก ฉะนั้น มนุษย์นี้ จะนอน จะนั่ง จะกิน จะขับถ่าย จะพูด จะเดิน ต้องฝึกทั้งนั้น เรียกง่ายๆ ว่า ต้องเรียนนั่นเอง

เรียนก็คือฝึกนั่นแหละ เดี๋ยวนี้ชอบใช้คำว่า “เรียนรู้” เป็นอันว่า ต้องฝึกขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราที่เป็นอยู่มาได้ทุกวันนี้ เรามิใช่ได้มาเปล่าๆ เหมือนสัตว์ชนิดอื่น เราได้มาด้วยการฝึก ลงทุนด้วยการฝึก ถ้าเราไม่หยุดฝึก ชีวิตของเราจะดียิ่งขึ้นๆ เห็นไหมที่ผ่านมา ฝึกแล้วมันดีแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งใจฝึก ชีวิตของเราจะดีอย่างยิ่ง ทุกคนที่ชีวิตเขาเจริญก้าวหน้า เขาฝึกหรือเอาจริงกับการเรียนรู้ทั้งนั้น

การที่เราเจอปัญหา ก็คือได้แบบฝึกหัด เด็กจะเจริญมีปัญญาดีมีความสามารถ ต้องมีแบบฝึกหัด คำว่า แบบฝึกหัดก็คือ “แบบฝึก” และ “หัด” ก็ต้องฝึกและหัด คนไหนเจอแบบฝึกหัดมาก คนนั้นก็จะเจริญพัฒนาได้มาก

อะไรเป็นแบบฝึกหัด ก็เช่นปัญหา ความทุกข์ ความยาก ความลำบาก

คนที่เจอแต่สุข มีแต่ง่าย สะดวก สบาย จะแทบไม่มีโอกาสฝึกเลย เพราะไม่มีแบบฝึกหัด

ไม่เฉพาะบุคคลเท่านั้น สังคมก็เหมือนกัน สังคมที่มีแต่ความสุขนี่ เสียเปรียบนะ มองในแง่ดีก็ได้เปรียบ แต่มองในแง่ไม่ดี เสียเปรียบมาก สังคมที่สุขสบาย ก็เหมือนไร้แบบฝึกหัด

ชีวิตที่ขาดแบบฝึกหัดก็ดี สังคมที่ไม่มีแบบฝึกหัดก็ดี พัฒนายาก สังคมที่เขาพัฒนานั้น ไปดูเถอะ โดยมากในภูมิหลังมีแบบฝึกหัดมากมาย เมื่อมีปัญหาความทุกข์ยากลำบากมาก ก็ต้องสู้ ต้องฝึกมาก เรียกว่า ยิ่งมีแบบฝึกหัดมาก ก็ยิ่งเจริญมาก

ถึงแม้งานจะยาก แต่ถ้าใจตั้งรับอยากจะฝึกตน
ก็จะก้าวสู่ชุมชนอย่างงามสง่า มีชีวิตชีวาพร้อมด้วยพลัง

ถ้าเราอยากเจริญเราก็ต้องฝึกตัวเอง ถ้าเราจะพัฒนาชนบท พัฒนาบ้านเมืองข้างนอกตัว ก็ต้องพัฒนาตัวเราหรือชีวิตของเราขึ้นมาเป็นฐาน เราต้องมองงานยากเป็นแบบฝึกหัดที่จะทำ

ตอนนี้เราจะต้องทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น เราเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร เราต้องเสียสละ เราต้องไปอยู่ในถิ่นที่ไม่สะดวกสบาย เราต้องไปอยู่ในถิ่นที่ห่างไกลญาติพี่น้อง ต้องไปพบคนแปลกใหม่ ถ้ามองให้ดีก็เป็นโอกาสดีครั้งใหญ่ที่จะได้ฝึก

(โอ้โฮ) ตอนนี้ดีเหลือเกิน เรากำลังอยากฝึก และกำลังต้องการโอกาสที่จะฝึก หายากเหลือเกินที่จะมีโอกาสได้ไปฝึกอย่างนี้ เราหานักหนา เรื่องโอกาสที่จะได้แบบฝึกหัด ตอนนี้เราได้แล้ว ก็ตั้งท่า ตั้งใจรับเลย

เมื่อเต็มใจอยากฝึก พอใจตั้งรับแล้ว ก็ก้าวออกไปอย่างงามสง่า เรี่ยวแรงกำลังจะเกิดขึ้น ความคิดจะแล่น ตามมาด้วยความอิ่มใจและความสุข

เป็นอันว่า เมื่อได้แบบฝึกหัด ใจก็ชอบ พอเปลี่ยนความต้องการอย่างนี้แล้ว ก็กลายเป็นดีไป พอใจตั้งรับแล้ว ก็เต็มใจทำ แล้วก็ทำด้วยความสุข พอทำด้วยความสุข ใจก็มุ่งไปทำเต็มที่ ทีนี้ งานก็ได้ผล พร้อมกับคนก็เป็นสุข

งานก็ได้ผล ก็คือ เมื่อเราทำด้วยความเต็มใจ ก็ตั้งใจทำ จึงทำได้ดี คนก็เป็นสุข เพราะเมื่อเต็มใจทำ ต้องการทำ เราได้สนองความต้องการนั้น เราก็เป็นสุข ใจก็เป็นสุข ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของการที่ต้องพัฒนาคนไปด้วย

การพัฒนาแบบนี้จะทำให้การพัฒนาประเทศชาติได้ผลดี เพราะว่าในการพัฒนาประเทศชาติด้วยการไปทำงานในชนบท และในการพัฒนาชนบทนั้น เราพัฒนาตัวไปด้วย และเป็นการไปสอนด้วยตัวอย่างของตัวเราเอง

การพัฒนามนุษย์ เป็นแกนสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะชนบท เราจะไปพัฒนาแต่สิ่งภายนอกคงไม่ไหวแน่ เพราะมีแต่จะพอกพูนปัญหาของการพัฒนาเรื่อยไป ต้องให้คนพัฒนาโดยสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และให้สิ่งที่พัฒนานั้นเกิดจากคนที่พัฒนา และเกิดจากการพัฒนาในตัวคน แล้วคนก็จะกลายเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นขึ้นมาอย่างถูกต้อง เพราะ ว่าการพัฒนาที่แท้ข้างนอกเป็นผลจากการพัฒนาในตัวคน

พูดให้เป็นหลักง่ายๆ ว่า การพัฒนาชุมชนสังคมประเทศชาติจะได้ผลเป็นอย่างไรนั้น ก็มีสภาพการพัฒนาในตัวคนนี่แหละ เป็นรูปเค้า และเป็นเครื่องบ่งชี้

การที่บัณฑิตอาสาสมัครไปทำงานแบบนี้ เป็นการพัฒนาตัวเองไปด้วยก่อนพัฒนาอะไรอื่นๆ งานที่ทำจะเป็นผลสืบจากการพัฒนาในตัวเขาเอง ซึ่งจะสอดคล้องกันหมด ตัวคนเองก็มีความสุข และชีวิตก็สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างจิตสำนึกในการศึกษา คือจิตสำนึกในการฝึกตนไว้

คนที่มีความต้องการแบบนี้ คือใฝ่ฝึกตนอย่างนี้ จะมีความสุขง่าย สันโดษก็ทำให้สุขง่ายอยู่แล้ว พอมีนิสัยในการฝึกตนก็สุขง่ายมากขึ้นไปอีก พอเจออะไรปั๊บ ก็มองด้วยการที่จะเรียนรู้ เห็นเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกเพิ่มอีก พอจะต้องทำ ก็มองเป็นแบบฝึกหัดทันที ต่อไปก็มองสิ่งต่างๆ ด้วยท่าทีของการเรียนรู้

พัฒนาคน ต้องให้ครบทุกด้าน
ให้ปัจจัยภายนอกกับภายใน มาประสานบรรจบกัน

คนเรานั้นมีท่าที่ในการมองประสบการณ์ต่างๆ ๒ แบบ

  1. มองอะไรๆ ด้วยท่าทีของความชอบใจและไม่ชอบใจ ท่าทีแบบนี้ก็คือการก่อปัญหานั่นเอง คนทั่วไปที่ยังไม่มีการศึกษานั้น พิสูจน์ง่าย คือพอเจออะไรก็มองด้วยท่าที่ของความชอบใจและไม่ชอบใจ
  2. มองอะไรๆ ด้วยท่าทีของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นท่าทีของคนที่มีการศึกษา เมื่อมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้ ไม่ว่าเจออะไรก็เป็นสุขไปทุกอย่าง

ถ้าเรามองอะไรด้วยท่าที่ชอบใจไม่ชอบใจ ก็จะมีปัญหาไปตลอด ถ้าชอบใจอยากได้ อยากเอา เมื่อยังไม่ได้ก็ทุกข์ พอเจอสิ่งไม่ชอบใจก็ทุกข์ สิ่งที่ชอบใจเปลี่ยนไปก็ทุกข์ ปัญหาเกิดขึ้นเรื่อย

ในทางตรงข้าม พอมองด้วยท่าทีของการเรียนรู้ สิ่งที่ชอบใจเราก็ได้เรียนรู้ สิ่งไม่ชอบใจเราก็ได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงได้หมดทุกกรณี และโดยมากสิ่งไม่ชอบใจเรามักได้เรียนรู้มากกว่าสิ่งชอบใจ เชื่อไหม?

เมื่อสิ่งไม่ชอบใจเราได้เรียนรู้มาก ก็กลายเป็นดีไป สิ่งไม่ชอบใจกลายเป็นดีเพราะทำให้เราได้ความรู้ และแถมมีความสุขจากสิ่งที่ไม่ชอบใจได้ด้วย นั่นก็เพราะว่าได้เรียนรู้นั่นแหละ พร้อมทั้งเป็นการฝึกไปด้วย ในเรื่องเดียวกันนั้นเอง

การเรียนรู้นั้นภาษาพระเรียก “สิกขา” ฝึกก็เรียก “สิกขา” เราฝึกไปก็เรียนรู้ไป ถ้ามองอย่างนี้ก็ได้หมด เจอเขาด่าก็ได้ฝึกและได้เรียนรู้ ได้จริงๆ นะ อันนี้ไม่ใช่พูดเล่น เพราะฉะนั้นพระอรหันต์บางองค์สำเร็จด้วยการพบประสบการณ์ที่เราอาจจะนึกไม่ถึง เช่น

พระอรหันต์องค์หนึ่งได้ยินคำพูดของคนบ้า ท่านมีโยนิโสมนสิการ (ลักษณะการมองอย่างที่ว่ามานั้นท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ) คนบ้านั้น จำอะไรมาพูดประหลาดๆ บางทีเราไม่ทันนึก เด็กอย่าง คนบ้าอย่าง อาจจะพูดสิ่งที่เราไม่ทันนึกหรือนึกไม่ถึง ทีนี้พอได้ยินปั๊บ ท่านเป็นนักเรียนรู้และรู้จักคิด ได้แง่มุมความคิดใหม่ที่คนพูดเองไม่ได้คิด ก็ตรัสรู้เลย เพราะฉะนั้นอย่าไปดูถูกคนที่มีโยนิโสมนสิการ เขาสามารถเอาประโยชน์ได้จากทุกอย่าง

โยนิโสมนสิการ มีหลักสำคัญ ๒ อย่าง คือ

  1. มองให้เห็นความจริง
  2. มองให้ได้ประโยชน์

เพราะฉะนั้น ในทุกสถานการณ์ ตั้งโยนิโสมนสิการไว้ ฉันจะต้องมองให้เห็นความจริง และฉันจะต้องเอาประโยชน์ให้ได้ ไม่ว่าเรื่องร้ายหรือเรื่องดี

คนที่มีความสามารถที่สุด คือคนที่สามารถเอาประโยชน์ได้แม้แต่จากสิ่งที่เลวที่สุด อย่างเราพัฒนาเด็กจะต้องพัฒนาย้อนทาง ๒ ด้านมาบรรจบกัน คือ

๑. จัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก

แต่ถ้าเราจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็กอย่างเดียว เช่น จัดสภาพแวดล้อม เตรียมข่าวสารข้อมูลอย่างดีให้เขา ซึ่งเราต้องพยายามเต็มที่ เพื่อให้เด็กได้รับสิ่งดีที่สุด แต่ถ้าเราทำอย่างนี้โดยไม่ระวังให้ดี เด็กจะมีลักษณะพึ่งพา แล้วก็ช่วยตัวเองไม่ได้ พึ่งตัวเองได้ยาก โลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราจัดให้แก่เด็กนี้หรอก เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พัฒนาย้อนจากภายในด้วย นี่ก็คือ

๒. พัฒนาเด็กให้เอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวร้ายที่สุด

การจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก เรียกว่าปัจจัยภายนอก แต่ภายในเด็กก็ต้องพัฒนาให้รับกันและให้เหนือกว่าด้วย เรียกว่าพัฒนาปัจจัยภายใน คือการพัฒนาในตัวเด็กให้มีความสามารถที่จะเอาประโยชน์ให้ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด ถ้าได้การพัฒนา ๒ ทางมาบรรจบกันอย่างนี้ ก็สำเร็จ

เพราะฉะนั้น อย่ามัวเพลินอยู่กับการจัดสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเด็กด้านเดียว

  1. เด็กจะมีนิสัยพึ่งพา
  2. เด็กจะอ่อนแอ

เช่นเรามีเมตตากรุณามากเกินไป อะไรต่ออะไรก็ทำให้หมดเด็กก็ไม่พัฒนา ต้องรู้จักใช้ปัญญาวางอุเบกขาให้เป็น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กใช้และพัฒนาปัจจัยภายใน โดยเฉพาะโยนิโสมนสิการขึ้นมา

ถ้าได้พัฒนาย้อนทางมาประสานบรรจบกันอย่างที่ว่านี้ ก็จะเกิดภาวะสมดุล และเด็กจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์

เทคโนโลยีก้าวหน้า คนที่ไม่พัฒนายิ่งทุกข์ง่าย สุขได้ยาก
แต่นักพัฒนาตน เจอทุกข์ก็สุขได้ ขอให้งานยากเพื่อได้หัดมาก

เดี๋ยวจะเลยออกนอกเรื่องไป ขอย้อนกลับมาเรื่องที่ว่า ฝึกจิตสำนึกในการฝึกตน และมองอะไรๆ ด้วยท่าทีของการเรียนรู้

เมื่อจิตสำนึกในการฝึกแรงเข้มขึ้น คนนั้นจะชอบปัญหามากขึ้น เจออะไรที่ยากก็ชอบ เพราะอะไร เพราะอะไรๆ ที่ง่ายมันไม่ได้ฝึก เมื่อมันง่ายทำป้บเดียวเสร็จ เราก็ไม่ได้อะไรเลย

  • ไม่ได้ใช้ = ไม่ได้ฝึกความคิด
  • ไม่ได้ใช้ = ไม่ได้ฝึกความเข้มแข็งแกล้วกล้าอดทน เป็นต้นของจิตใจ
  • ไม่ได้ใช้ = ไม่ได้ฝึกทักษะของสมอง มือ เท้า และปาก

แต่งานที่ยากจะพัฒนาได้มาก เพราะกว่าจะทำสำเร็จ ผ่านไปได้ ต้องใช้สมองคิดเยอะ ได้พัฒนาปัญญา พัฒนาทักษะในการกระทำต่างๆ พัฒนาจิตใจให้มีความขยัน อดทน มีความเพียร ใจสู้ มีความเข้มแข็งหนักแน่น พัฒนาหมดทุกอย่าง พูดง่ายๆ ว่า พัฒนาทั้งพฤติกรรม พัฒนาทั้งจิตใจ พัฒนาทั้งปัญญา ฉะนั้นเรื่องที่เป็นปัญหา เป็นแบบฝึกหัด หรือสิ่งยากนี้ คนที่ฝึกตนจึงชอบ

ต่อมาก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งว่า ยิ่งยาก-ยิ่งได้มาก อันนี้เป็นความจริงและเป็นคติของนักฝึกตน ยิ่งยากก็ยิ่งได้ฝึกตนเองและได้เรียนรู้มาก เพราะฉะนั้นพอเจออะไรยากก็ยิ่งชอบ เด็กพวกนี้จะมีสุขภาพจิตดี และพัฒนามาก สู้งาน

เพราะฉะนั้น เด็กสมัยนี้ต้องระวัง ถ้าตามใจแกมาก เอาเทคโนโลยีปรนเปรอ ทำอะไรๆ ให้ง่ายไปหมด แกก็ยิ่งอ่อนแอ พึ่งพา และทุกข์ง่าย - สุขได้ยาก

ทำไมจึงว่า ทุกข์ง่าย-สุขได้ยาก ก็เขาเคยแต่สบายจนชิน พอเจออะไรยากนิดหน่อยก็เลยทุกข์ กลายเป็นคนที่ทุกข์ง่ายเหลือเกิน เจอสิ่งที่ไม่ชอบใจหรือไม่ได้อะไรตามชอบใจหน่อยก็ทุกข์แล้ว

สุขยากเพราะอะไร ก็เพราะชีวิตมันง่าย และอะไรๆ ก็มีพร้อมหมดแล้ว ใจก็มองความสุขว่าคืออยู่สบายไม่ต้องทำอะไร หรือได้สิ่งที่อยากได้อยากเสพยิ่งขึ้นไป แต่การที่จะปรนเปรอยิ่งขึ้น มันก็ยาก เพราะสิ่งปรนเปรอเต็มไปหมดแล้ว จะหามาเพิ่มก็ยาก และจะอยู่โดยไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นไปไม่ได้

ส่วนเด็กที่เจอความทุกข์ เจอปัญหา เจอเรื่องยากมา ได้ฝึกมาเรื่อย ก็เลยสุขง่าย แต่ทุกข์ได้ยาก คือเจอทุกข์ มันก็ไม่ทุกข์ บางทีมันได้ความสุขจากความทุกข์อีกด้วย

เป็นอันว่า บัณฑิตอาสาสมัครควรจะฝึกภายในไว้ โดยตั้งจิตสำนึกในการฝึกตน และมองทุกอย่างด้วยท่าทีของการเรียนรู้ อย่ามองอะไรเพียงด้วยท่าทีของความชอบใจและไม่ชอบใจ

อย่างน้อยอาจจะเริ่มด้วยการเปลี่ยนจากท่าทีการมองแบบ ชอบใจไม่ชอบใจ มาเป็นท่าทีของการมองตามเหตุปัจจัย

พวกที่ ๑ ซึ่งจมอยู่กับปัญหา คือพวกมองตามชอบใจไม่ชอบใจ

พวกที่ ๒ เริ่มฝึกตน คือมองตามเหตุปัจจัย

พอเราเริ่มมองตามเหตุปัจจัย เราก็เริ่มฝึกปัญญาทันที เพราะเราต้องเริ่มคิดพิจารณา เราจะเริ่มมีภาวะที่ว่าไม่มีอะไรกระทบตน ซึ่งต่างจากคนมองแบบชอบใจไม่ชอบใจ ไม่ว่าอะไรเข้ามา ก็กระทบตนทันที แล้วก็เกิดปัญหา

ยกตัวอย่างแพทย์และพยาบาล เจอคนไข้ ถ้าทำใจมองไม่ถูกต้อง ก็จะมีปัญหากันเรื่อย พอเจอคนไข้หน้าบึงมา ก็กระทบใจแล้ว เพราะมองแบบชอบใจไม่ชอบใจ

แต่ถ้ามองตามเหตุปัจจัย ก็จะใช้ปัญญาพิจารณาว่า คนไข้คนนี้หน้าบึ้งมา เอ... เป็นเพราะอะไรนะ แกอาจไม่มีเงินมา แกอาจจะต้องลางานมา แกอาจจะห่วงลูกของแก แกอาจจะนึกว่า ถ้าเราเป็นอะไรไปลูกของเราจะเป็นอย่างไร พอนึกได้อย่างนี้ แทนที่จะไม่พอใจ กลับกลายเป็นสงสาร เห็นเขาหน้าบึ้งก็สงสารเขา ใจของเรากลายเป็นดีไป และยังคิดแก้ปัญหาให้เขาด้วย นี่แหละเรียกว่า มองตามเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น การมองตามเหตุปัจจัย มีคุณค่ามหาศาล ขอให้เริ่มต้นพัฒนาด้วยการเปลี่ยนอย่างนี้ก่อน คือเปลี่ยนจากมองตามชอบใจไม่ชอบใจ มามองตามเหตุปัจจัยนี่แหละ นี่คือเรื่องง่ายๆ ในการพัฒนา แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ

ถ้ารู้เข้าใจชีวิตสังคมและธรรมชาติไม่ถึงธรรม
การพัฒนาก็พลาดเพราะจุดหมายยังพร่า

ตั้งแต่เริ่มการพัฒนา ก็ต้องอาศัยธรรมมากมาย อย่างง่ายๆ เช่นความขยันหมั่นเพียร ถ้าไม่มีความขยันหมั่นเพียรจะทำอะไรสำเร็จ และที่พูดถึงเมื่อกี้คือความเสียสละ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาในตนเอง เพื่อให้การพัฒนาได้ผลดีจริง คือ ทำตัวให้พร้อม โดยตั้งท่าทีใหม่ต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยท่าทีแห่งการมองตามเหตุปัจจัย ท่าทีของการเรียนรู้ ท่าทีของการฝึกตน ถ้าทำได้อย่างนี้ตัวเราก็เริ่มพัฒนาแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ ยังมีธรรมะในความหมายที่ต้องมองกว้างออกไปอีกด้านหนึ่ง

“ธรรม” มีความหมายที่สำคัญ ก็คือเป็นความจริง สิ่งทั้งหลายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชีวิตเราก็ตาม ธรรมชาติแวดล้อมก็ตาม สังคมทั้งหมดก็ตาม ล้วนเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งนั้น ผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล เราจึงต้องรู้เข้าใจและทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

เรื่องสำคัญที่ขอพูดในตอนสุดท้ายนี้ คือ การพัฒนาจะต้องมีจุดหมาย ถ้าเราไม่ชัดในเรื่องนี้ก็แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจธรรม หัวใจอยู่ตรงนี้ คือเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหมดที่กว้าง แล้วมองเห็นจุดหมายทางไป จึงจะมองเห็นความจริงตลอดสาย

ถ้าเราไม่เข้าใจชัดเจนจนถึงจุดหมายจริง เราก็ไปได้แค่ตามความเชื่อ เราก็จะมองอะไรไปตามที่เขาสอนเรา เขาบอกเราว่าอย่างไรก็ว่าตามกันไปอย่างนั้น

ในการพัฒนาที่เป็นมา เราก็พูดว่า การพัฒนานั้น ต้องมีจุดหมาย แต่จุดหมายของการพัฒนาคืออะไร ถ้าพูดง่ายๆ คือ เราไม่ชัดเจน หรือยังไม่รู้ตัว และเราอาจจะหลงไปตามสิ่งที่เขาบอกเล่ากระตุ้นเร้าเรามา

ยกตัวอย่างเช่น ทิฐิของคนยุคนี้ ถือว่า ประเทศที่พัฒนาคือประเทศอุตสาหกรรม ตลอดยุคที่ผ่านมา ความหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว คือเป็นประเทศ industrialized ส่วนประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา ก็คือประเทศที่ยังไม่เป็นอุตสาหกรรม จึงถือว่า การมีอุตสาหกรรมเจริญขึ้นในประเทศ หรือพูดง่ายๆ ว่า “อุตสาหกรรม” เป็นเครื่องวัดการพัฒนา

เราก็อยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมด้วย เราจึงต้องตั้งเป้าไว้ว่าเราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยมีความเจริญทางเทคโนโลยี มีวัตถุเสพบริโภคมากๆ มีเศรษฐกิจขยายตัว เจริญเติบโต มี GDP ตัวใหญ่ๆ อะไรก็แล้วแต่ ก็ว่ากันไป แต่อันนี้มักเป็นเป้าหมายที่เราเพียงนิยมชมเชื่อไปตามที่คนอื่นเขาวางไว้ แล้วเราก็ว่าไปตามเขา โดยไม่ได้วิเคราะห์วิจัยกันอย่างเพียงพอ

เกณฑ์วัดที่ว่านั้น ไม่ใช่ว่าผิด แต่เป็นการมองหนักไปด้านเดียว ไม่พอดี และไม่เพียงพอ

แน่นอนว่า เรื่องเศรษฐกิจ การมีปัจจัย ๔ ไม่ขาดแคลน มีกินมีใช้ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตและสังคม แต่ต้องชัดด้วยว่าจะมีแค่ไหน และจะต้องมีอะไรอีก จึงจะเป็นจุดหมาย

เราไม่ได้มองว่า อันที่จริง จุดหมายของการพัฒนาที่แท้ ก็คือการทำให้ชีวิต สังคมมนุษย์ และโลกที่เราอยู่นี้ มันดีงามเป็นสุข

การทำให้ชีวิตดีงาม ให้ชีวิตเจริญงอกงาม มีความสุข สังคมร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน มีความสัมพันธ์กันดี โลกนี้น่าอยู่อาศัย มีธรรมชาติแวดล้อมสดชื่นสวยงาม นี่คือจุดหมายที่แท้ของการพัฒนา หมายความว่า การพัฒนานั้นควรจะทำให้เราอยู่กันดี หรือให้คนทั้งหลายอยู่กันดี โดยมีชีวิตที่ดี มีสังคมที่ดี ในโลกที่ดีอย่างนี้ๆ

ที่จริง ไม่ว่าเราจะทำอะไร ไม่เฉพาะการพัฒนา หรือการไม่พัฒนา มันก็เพื่อจุดหมายอย่างนี้ แต่ถ้าเราขึ้นพัฒนาไปตามที่เขาตั้งหัวข้อเป็นเกณฑ์วัดให้เรายึดกันอย่างนั้น เราอาจจะเพลินมอง อยู่เพียงด้านเดียวว่า เราพัฒนา เพื่อว่าเราจะได้มีอุตสาหกรรม และในที่สุดก็มาเจอ เมื่อไม่นานนี้ ปี ๒๕๓๐ สหประชาชาติประกาศการพัฒนาที่ผ่านมานี้ว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะเหตุที่ได้พัฒนาด้วยมุ่งอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์จะมีความขยายตัวเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เราเริ่มยุคพัฒนาในปี ๒๕๐๓ นั่นเป็นทศวรรษแรกของการพัฒนา สหประชาชาติประกาศขึ้นมา เราก็พลอยตามไปด้วย เขาประกาศ ปี ๑๙๖๐ - ๑๙๗๐ เป็น Development Decade คือ เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาช่วงที่ ๑ ไทยก็เริ่มเลย ยุคพัฒนาเริ่มต้นแล้วเดินหน้ามา

พอผ่านไปแค่ ถึงปี ๑๙๗๒ คือ พ.ศ. ๒๕๑๕ เท่านั้นเอง มี Earth Summit ครั้งแรก เป็นการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมเสียหาย พอถึงปี ๒๕๓๐ สหประประชาชาติประกาศว่าการพัฒนาที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะตัวการสำคัญคือเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม

นี่ก็คือ การที่เราไปหลงตามภาพความเจริญที่เขาตั้งให้และตัวเรานิยมชมชื่น ตื่นเต้น อยากเอาอยากเป็น โดยไม่ได้มองลงไปให้รู้เข้าใจชัดเจนถึงความต้องการที่แท้จริงของชีวิต สังคมและโลกที่อยู่อาศัย

คนต้องมีปัญญาอย่างถึงธรรม
การพัฒนาจึงจะเดินสู่จุดหมายที่แท้

ตอนนี้ก็น่าจะถึงเวลาที่เราจะเป็นตัวของตัวเองด้วยปัญญาที่จะพิจารณาร่วมกับเขา มามองให้ดีว่าจุดหมายของการพัฒนาอยู่ที่ไหน โดยมองไปที่ “ธรรม” คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ในระบบชีวิต สังคม ธรรมชาติ ที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข ให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันด้วยดี เอื้ออาทร เกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน และธรรมชาติก็น่าอยู่อาศัย โลกนี้ดูแล้วสดชื่น อากาศดี น้ำดี ดินดี เป็นต้น

ว่าที่จริง ขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายก็เริ่มตั้งเค้าที่จะเข้ามาสู่แนวความคิดนี้แล้ว จึงเป็นจุดเริ่มจุดขยายที่อาจประสานกันได้ แต่เราอย่าเสียหลัก ต้องทำตัวเองให้ชัดเจนในจุดหมายนั้น มิฉะนั้นเดี๋ยวก็ส่าย เดี๋ยวนี้มีบางท่านบอกว่า อย่าไปพัฒนามันเลย ก็เลยกลายเป็นว่าคำว่าการพัฒนานี้มีปัญหาถึงขั้นว่าจะน่าพัฒนาหรือไม่

เรื่องนี้อยู่ที่เราเข้าใจความหมายของคำว่า “พัฒนา” ว่าคืออย่างไร และมีขอบเขตแค่ไหน

ความหมาย จุดหมาย และเกณฑ์วัดการพัฒนาที่ใช้กันมาตลอดยุคพัฒนานั้น ก็ประเทศพัฒนาหรือประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกนั่นแหละที่จัดตั้งวางขึ้น

ครั้นเมื่อพากันพัฒนาแบบนั้นผ่านมาหลายสิบปี ก็ประเทศพัฒนาหรือประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกอีกนั่นแหละ ที่เป็นหัวหน้าประกาศและร่ำร้องไปทั่วว่า ความคิดความเข้าใจและปฏิบัติการเกี่ยวกับการพัฒนา อย่างที่ตนนำหน้าเดินมานั้น เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ยั่งยืน

เมื่อประกาศกันออกมาแล้ว แต่ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนา ยังไม่สามารถถอนตัวขึ้นมาจากแนวคิดและปฏิบัติการแห่งการพัฒนาแบบที่ว่าไม่ยั่งยืนนั้นได้ ภาพรวมออกมายังคงเดินหน้าไปในทางเก่า ไม่ตั้งใจแก้ไขปัญหากันจริง เหมือนเสแสร้ง หรือไม่นำพา เหล่าสังคมที่กำลังพัฒนาก็ไม่ใส่ใจ หรือเหมือนกับมองข้ามการแก้ปัญหาไปด้วย แถมซ้ำจะมุ่งหน้าไปในการพัฒนาที่ถูกประณามว่าไม่ยั่งยืนนั้น ยิ่งกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเองด้วยซ้ำ

การที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ได้เดินตามแนวคิดความเข้าใจและดำเนินการพัฒนาแบบที่ว่าไม่ยั่งยืนนั้น ตามเขามาก่อนหน้านี้ ด้วยความอยากจะเป็นอารยประเทศนั้น ไม่น่าแปลกใจนัก แต่เมื่อโลกรู้ตัวประกาศกันทั่วแล้วว่า การพัฒนาแบบนั้นผิดพลาด จะต้องแก้ไข แล้วยังเดินตามเขาอีกสิ น่าแปลกใจมาก เพราะภูมิหลัง เหตุปัจจัย และสภาพพื้นเพต่างๆ ของเรากับของประเทศอุตสาหกรรมนั้นต่างกันไกล โอกาสที่จะถอนตัวหรือแก้ไขปรับตัวไม่เหมือนกัน และมีทางที่เราจะนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ดีกว่า แต่กลับทำเหมือนคิดรอตามเขาอย่างเดียว

น่าเห็นใจสังคมพัฒนาทางตะวันตก ที่พื้นเพเขาถูกธรรมชาติบีบคั้นรุนแรง และได้พัฒนาอารยธรรมขึ้นมาตามแนวคิด ปฏิกิริยา ที่มุ่งจะพิชิตธรรมชาติ และพลิกผันเอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ ทั้งความเจริญก้าวหน้าและความผิดพลาดในการพัฒนา เป็นผลโยงมาจากแนวคิดและปฏิบัติการตามแนวทางนี้ รวมทั้งความยากลำบากในการที่จะถอนตัวหรือแก้ไขปัญหานั้นด้วย เหมือนโลดแล่นอยู่ในหล่มลึก

การที่ฝรั่งถูกความบีบคั้นของธรรมชาติกดดันให้เกิดความใฝ่ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งเป็นแรงขับที่ทำให้เขาสร้างความเจริญก้าวหน้าพัฒนาอารยธรรมตะวันตกขึ้นมา จนมนุษย์คิดว่าตนเอาชนะและครอบงำธรรมชาติได้มากมายแล้วนั้น เมื่อปรากฎว่าการพัฒนานั้นกลายเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ถ้ามองให้ดีจะเห็นในทางกลับกันว่า อารยธรรมตะวันตกทั้งหมด มีพลังของธรรมชาติเป็นเงื่อนไขหรือเป็นตัวกำหนด แต่เป็นไปในลักษณะที่เป็นปฏิกิริยา คือเกิดจากท่าที่ขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ โดยผลรวมก็คือเป็นการเจริญมาภายใต้การครอบงำแห่งเงื่อนไขของธรรมชาติ

นับว่าเป็นความจริงย้อนแย้ง หรือ paradox ที่ว่า ความเจริญก้าวหน้าในการที่จะเอาชนะธรรมชาติของอารยธรรมมนุษย์นั้น เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการครอบงำของธรรมชาติเป็นตัวกำหนด

พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า อารยธรรมโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน เป็นความเจริญก้าวหน้าเพื่อสนองจุดหมายที่จำกัดตัว ภายใต้เงื่อนไขแห่งปฏิกิริยาต่อความบีบคั้นของธรรมชาติ

การพัฒนาเชิงปฏิกิริยาแบบนี้ มีจุดหมายที่เป็นปัญหาในตัวของมันเอง จึงไม่อาจนำไปสู่ผลดีแท้จริงได้ และจึงจำต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาให้สนองจุดหมายที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบชีวิต สังคม และโลกแห่งธรรมชาติทั้งหมด ที่เรียกว่า “ธรรม” นั้นให้ได้

รวมความว่า เราต้องเห็นใจฝรั่ง และเห็นใจอารยธรรมโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ที่เดินมาในแนวทางของฝรั่งนั้น แต่การเห็นใจเท่านั้นไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจ และเข้าใจทั้งฝรั่งและเข้าใจตัวเราเอง ให้ชัดเจน โดยมองเห็นทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่าง ข้อดีข้อด้อย ของเขาของเรา พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่สืบต่อมา รวมทั้งเข้าใจระบบชีวิต สังคม และโลกแห่งธรรมชาติทั้งหมดที่จะเรียกได้ว่า เห็นความจริง คือเห็นธรรม

แม้แต่ที่พูดตามๆ กันไปว่า การพัฒนาที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั้น ดูกันจริงๆ ของเขากับของเราก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเรียกของเขาว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ของเราอาจจะต้องเรียกว่าการพัฒนาเทียม (อย่างที่เคยมีคำวิจารณ์ว่า “ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา”) ถ้าของเขาเป็นการพัฒนาเทียม ของเราอาจจะเป็นการพัฒนาถดถอย อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งสาระก็คือไม่เหมือนกัน

ถ้าตั้งใจศึกษากันให้จริงจังชัดเจน จนมองเห็นความจริงอย่างถึงธรรม คือมองเห็นความจริงในระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย ทั่วทะลุตลอดสายแล้ว ก็จะวางหลักการและจุดหมายของการพัฒนา ตลอดจนแผนปฏิบัติการได้ตรงแท้ถูกตามความจริงหรือธรรมนั้นได้ และจึงจะเป็นการพัฒนาที่เป็นธรรม ซึ่งจะได้ ผลดีจริง

ถ้าพัฒนาได้ถูกต้อง ด้วยปัญญาที่ถึงธรรมจริง สังคมไทยก็จะเจริญงอกงาม มั่นคง มีสันติสุขอย่างเป็นอิสระ เป็นการพัฒนาที่ดี และให้โลกได้รับประโยชน์จากเราด้วย

บูชาบูชนียชนอย่างดี
โดยเอาตัวเรานี้บูชาธรรม

ได้พูดมาในเรื่อง ธรรมะกับการพัฒนา ในหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า “การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม” ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา

การมาร่วมกิจกรรมจนถึงฟังธรรมวันนี้ เป็นการทำบุญ และการทำบุญนั้น ต้องครบ ๓ คือ

  1. ทาน ชัดแล้วว่าเลี้ยงพระ
  2. ศีล คือมาสำรวมพฤติกรรม ทำความดีกัน พฤติกรรมดีก็เป็นศีล เริ่มต้นด้วยไม่เบียดเบียน กายวาจาอยู่ในความสงบ เป็นระเบียบ เป็นไปในทางเกื้อกูล
  3. ภาวนา คือพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำจิตใจของเราให้สงบ เบิกบานผ่องใส ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ด้วยการฟังธรรม ซึ่งถือเป็นส่วนของการภาวนา

กิจกรรมการทำบุญวันนี้ เป็นการที่เจ้าภาพทุกท่านบูชาคุณความดีของอาจารย์ป๋วย เพราะฉะนั้นจึงถือว่า เราอุทิศกุศลที่ได้ทำทั้งหมดแก่ท่าน คือทำในนามของท่าน และทำเพื่อท่าน

การที่จะบูชาท่านอย่างดี ก็ด้วยการเอา “ตัวเรา” นี่แหละ บูชาธรรมต่อไป เพราะบอกแล้วว่า บูชาคนที่ควรบูชา ก็คือบูชาธรรมที่อยู่ในตัวท่าน บูชาท่านในฐานะเป็นที่รองรับธรรม และบูชาธรรมที่ท่านเป็นสื่อแสดงออกมา แล้วก็บูชาด้วยการธำรงรักษาธรรมนี้ด้วยการปฏิบัติของตนเอง

ถ้าทำถึงขั้นนี้ เราก็จะทำการบูชาที่เรียกว่าปฏิบัติบูชา คือบูชาด้วยการปฏิบัติ ซึ่งพระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นการบูชาที่สูงสุด ซึ่งจะทำให้ชีวิต สังคม และโลกนี้ ดำรงอยู่ด้วยดี เจริญงอกงามอย่างแท้จริง นั่นคือเป็นการพัฒนาที่ถูกต้อง

“การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม” ก็ยุติลงด้วยประการฉะนี้ ขอให้ทุกท่านที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ น้อมจิตอุทิศกุศล แด่ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขอให้ท่านอนุโมทนาน้ำใจกตัญญูกตเวทิตาธรรม และการบูชาคุณของท่าน จากลูกศิษย์ทั้งหลายทั่วทุกคน และขอให้ท่านมีความสุข พร้อมทั้งขอให้เจ้าภาพทุกท่านเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย ร่มเย็นเป็นสุข ก้าวหน้าในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงาน ให้บรรลุผลสมหมาย ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ ทั้งแก่ชีวิต แก่สังคม และแก่โลกทั้งหมดโดยทั่วกันทุกท่าน

1คำอนุโมทนาของพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) แก่ กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล ในโอกาสครบร้อยวัน แห่งมรณกรรมของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่อุโบสถวัดญาณเวศกวัน วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.