ธรรมะกับการทำงาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ธรรมะกับการทำงาน1

ขออำนวยพร ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวเฉียว พร้อมทั้งคุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน โดยเฉพาะผู้สำเร็จการพยาบาล รุ่นที่ ๑๑ ซึ่งสำเร็จใหม่ และผู้ช่วยพยาบาล พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ใหม่ทุกท่าน

วันนี้ ทางโรงพยาบาลหัวเฉียว โดยท่านผู้อำนวยการ ได้นิมนต์อาตมภาพมาบรรยายธรรม ณ สถานที่ซึ่งมีงานมีการมากมายวุ่นกันอยู่ แล้วก็ให้มาพูดเรื่อง “ธรรมะกับการทำงาน”

งานเรียกหาธรรม

ความจริงนั้น คนที่ทำงานต้องมีธรรมะอยู่แล้ว ถ้าไม่มีธรรมะก็ทำงานไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ที่ให้พูดเรื่องนี้ก็เพื่อเป็นการย้ำ คืออยากให้ธรรมะมาช่วยให้การทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น

 

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

เมื่อจะพูดสั้นๆ ง่ายๆ ก็บอกว่า ถ้าคนที่ทำงานตั้งใจทำงานอย่างขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต แค่นี้ก็เรียกว่า มีธรรมในการทำงานแล้ว แต่เมื่อพูดกันอย่างจริงจัง ธรรมคงไม่ใช่เท่านี้ เพราะว่าธรรมนั้นมีความหมายกว้างมาก

ธรรมเป็นเรื่องของความจริง ความถูกต้อง ความดี ความงาม และการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนั้นๆ

ในการทำงาน ธรรมก็หมายความว่า เราทำงานถูกต้องตามความหมายของงาน และทำให้งานได้ผลตามเหตุตามผลของมัน ทั้งหมดนี้ รวมอยู่ในความหมายของคำว่า “ธรรม” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างอย่างยิ่ง

เริ่มต้นเราคงต้องมาพูดกันก่อนว่า “เราทำงานเพื่ออะไร?” พอถามอย่างนี้ ก็ตอบกันได้หลายอย่าง

เวลาพูดออกมาข้างนอก เราก็อาจจะตอบว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสังคม หรืออะไรทำนองนี้

แต่เวลาพูดกันเป็นส่วนตัว มันมักจะมาลงที่นี่ คือ “ทำงานก็ต้องได้เงินสิ”

คำตอบนี้แหละที่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมปัจจุบัน คือเรื่องทำงานแล้ว ก็ต้องได้เงิน เราทำงานเราก็ต้องการเงินสิ ไม่มีเงินเดือนให้ใครจะไปทำงานล่ะ และอีกอย่างหนึ่ง ที่เราต้องการก็คือ “ความสุข”

ฉะนั้น ถ้าพูดกันแบบกันเอง ในการทำงานมักจะมีคำที่สำคัญคือ หนึ่ง ทำงาน สอง ก็ต้องได้เงิน และสามคือ เราก็จะมีความสุข

งาน เงิน ความสุข สามอย่างนี้มาต่อกันเป็นชุด จนกระทั่งสมัยหนึ่ง ได้เกิดเป็นคำขวัญขึ้นมาเลยทีเดียว ท่านผู้ใดที่อายุยาวสักหน่อย ผ่าน พ.ศ. ๒๕๐๓ มา จะได้ยินคำขวัญออกวิทยุทุกวัน เช้า-ค่ำ ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ข้อความนี้ โยมที่อายุมากหน่อยจะจำได้ แต่คนรุ่นหลังๆ ไม่ทัน

คำขวัญนี้ มี ๓ คำ ที่พูดไปแล้วก็ครบ งานคือเงิน และเงินคืองาน แล้วสุดท้ายก็บันดาลสุข

งานคือเงิน หมายถึง คนที่ไปทำงาน หรือฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งจะบอกว่า ฉันทำงานก็ต้องได้เงินนะ

ส่วนฝ่ายนายจ้างก็บอกว่า เงินคืองาน ฉันให้เงินก็ต้องได้งานให้สมกับเงิน

และลงท้ายทุกคนก็บอกว่า เมื่อได้เงินมาแล้วทีนี้ เงินนั้นก็จะบันดาลสุขละ

ทีนี้ ในคำชุดนี้มีข้อสังเกต คือ ในเรื่องงาน เงิน และความสุขนั้น เรามักจะพูดถึงงาน แล้วโยงไปถึงความสุขโดยผ่านเงิน หมายความว่า ทำงานแล้วก็ได้เงิน แล้วจึงมีความสุข เราไม่สามารถพูดว่า งานก็เป็นความสุขด้วย งานทำให้ได้เงิน แล้วเงินจึงบันดาลสุขให้ งานบันดาลความสุขโดยตรงไม่ได้ กลายเป็นต้องบันดาลความสุขโดยผ่านเงิน

เราพูดได้ไหมว่า “งานบันดาลสุข” จะเห็นว่างานบางทีไม่เป็นสุข แต่งานกลายเป็นทุกข์ไปเสีย ต้องมีเงินก่อนจึงจะมีสุขได้ นี้เป็นข้อสังเกตที่ ๑

ข้อสังเกตที่ ๒ คือ ในคำพูดนี้เรามักนึกถึงเรื่องของตัวเอง เวลาเราพูดถึงงาน งานก็คืองานที่ฉันทำอยู่นี่แหละ ไม่ได้นึกกว้างไปกว่านี้ หรือแม้แต่ถามว่างานนั้นมีความหมายแค่ไหน เพียงใด

ความจริง คำว่างานมีความหมายมากมาย แต่เรานึกถึงแค่หน้าที่ที่ฉันรับผิดชอบที่ฉันทำอยู่นี้ ซึ่งโยงต่อไปยังข้อความต่อจากนั้นที่บอกว่า “คือเงิน” และเมื่อได้เงินมาแล้ว “ก็ทำให้มีความสุข” ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของตัวฉัน งานที่ฉันทำ ฉันต้องได้เงิน เงินเป็นของฉัน และฉันได้เงินมาแล้วฉันใช้จ่ายก็เป็นความสุขของฉัน งาน จึงหมายถึงงานที่ฉันทำอยู่ที่จะทำให้ฉันได้เงินมาหาความสุขนี่แหละ

แต่ที่จริงผลของงานที่แท้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา อย่างน้อยมันก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวเราเท่านั้น ผลของงานที่จริงหมายถึงประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือแก่สังคม

จะเห็นได้ว่า แม้แต่ตัวเราเองนี่แหละ เวลาพูดในเชิงเหตุผลเราจะเน้นในแง่ส่วนรวมหรือสังคม เราจะพูดว่างานนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่ในแง่ความรู้สึกเราจะเน้นที่ตัวเอง เวลาพูดว่างานคือได้เงิน และเงินบันดาลสุขนี้ เรามักนึกถึงแต่เรื่องของตัวเองไปหมด

คำว่าความสุขที่อยู่ท้ายนี้ ที่จริงไม่ใช่แค่ความสุขของตัวเรา มันหมายถึงความสุขหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ส่วนรวม หรือแก่สังคมด้วย แต่เพราะเหตุที่คำว่า “สุข” ในที่นี้ เรามักจะนึกจำกัดอยู่แค่ตัวเอง จึงอาจจะต้องเพิ่มถ้อยคำเข้ามาอีกหนึ่งคำ ให้ระบุชัดถึงความสุขในแง่ที่เกี่ยวกับสังคมส่วนรวม คือประโยชน์ที่เกิดกับสังคม เช่นการทำงานทางการแพทย์ คือการรักษาพยาบาล ย่อมต้องการผลอย่างแน่นอนว่า เพื่อจะช่วยคนเจ็บไข้ได้ป่วย คือเป็นงานทางด้านสังคมเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้น ความหมายของงานอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม

ตามที่ว่ามานี้ จึงเท่ากับว่าเราต้องแยกข้อความเป็น ๔ คำ เพราะว่าสุขที่เราพูดเมื่อกี้เป็นสุขส่วนตัวไปแล้ว เราจึงต้องเพิ่มประโยชน์สุข (ของส่วนรวมหรือสังคม) เข้ามาอีกอย่างหนึ่ง เป็น งาน - เงิน - ความสุขของตัวข้า - ความสุขของประชาชน

ประโยชน์จากงานนั้น เป็นผลโดยตรงจากการทำงานของเรา ที่บอกว่าเป็นผลโดยตรงเพราะงานแต่ละอย่างนั้น มี ผลโดยตรง กับ ผลโดยอ้อม

ผลโดยตรง คือ ผลที่เกิดตามเหตุโดยธรรมชาติของงานนั้น ดังที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น ในการทำสวน ผลโดยตรงของการทำสวน คือการที่ “ต้นไม้เจริญงอกงาม” ซึ่งเป็นผลที่แท้ตรงตามธรรมชาติ แต่ผลสำหรับตัวเราก็คือ “เงิน” ซึ่งเป็นผลโดยอ้อมที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกำหนดกัน

จะเห็นว่างานรักษาพยาบาลก็เช่นเดียวกัน การแพทย์มีไว้เพื่ออะไร การแพทย์มีผลโดยตรงคือ การทำให้คนไข้หายป่วยไข้ มีสุขภาพดี แต่มีผลโดยอ้อมตามเงื่อนไขในทางอาชีพคือ การได้เงินเดือนดี หรือมีผลตอบแทนมาก

ในบรรดาผล ๒ อย่างนี้ ผลโดยตรงตามธรรมชาติที่ตรงตามเหตุ เป็นผลที่เราต้องการแท้จริง ซึ่งเป็นผลที่เกี่ยวกับประโยชน์แก่สังคม เป็นเรื่องของส่วนรวม ดังนั้น เมื่อพูดให้ครบ โดยรวมประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมที่เป็นผลโดยตรงของงานนี้เข้าด้วย จึงแยกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในการทำงานเป็น ๔ อย่าง คือ งาน เงิน ประโยชน์ (ส่วนรวม) และความสุข (ส่วนตัว)

แต่เวลานี้ปัญหาได้เกิดขึ้นว่าองค์ประกอบ ๔ อย่างนี้ไม่กลมกลืนกัน

เรามักจะมองแยกกันอย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า ทำงานก็ได้เงิน แล้วจึงบันดาลความสุขให้ พอพูดว่า งาน เงิน เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ และเป็นความสุขแก่ตัวเอง บางทีก็ไม่เป็นเสียแล้ว ถ้าอย่างนี้จะเกิดปัญหา

พูดได้เลยว่า ผู้ใดประสาน ๔ ข้อ ให้กลมกลืนเป็นอันเดียวกันได้เมื่อไร ผู้นั้นจะทั้งมีความสุขในตัวเอง ในการทำงาน และจะทำให้งานได้ผล เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างเต็มที่ด้วย

ทำอย่างไรจะให้มันกลมกลืนกันไปหมดว่า งานคือเงิน ก็ใช่ งานเป็นความสุขด้วยก็ใช่ ไม่ใช่งานต้องไปเป็นเงิน แล้วจึงจะเป็นความสุข คือต้องไปผ่านเงินก่อน ถ้าอย่างนี้งานก็กลายเป็นความทุกข์

ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ต้องให้งานก็เป็นความสุขด้วย เงินก็เป็นความสุขด้วย กลมกลืนกันหมด ถ้าเป็นอย่างนี้เมื่อไร ก็สำเร็จเมื่อนั้น แถมยังเติมคำว่าประโยชน์เข้ามาด้วย หมายความให้ได้ทั้ง ๔ ข้อ ประสานกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน

พูดได้เลยว่า ถ้าใครทำให้องค์ ๔ ข้อผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ทั้งหมด นั่นแหละจึงจะประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่เวลานี้องค์ ๔ ข้อนั้นอาจจะยังแยกกันอยู่กระจัดกระจาย

ยิ่งกว่านั้น ถ้าทำให้กลมกลืนกันได้จริงๆ ในที่สุด เงินจะกลายเป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น คือเป็นผลพลอยได้ ซึ่งอาจจะมาทำให้เรามีความสุขมากขึ้นโดยที่ว่า โดยตัวงานเราก็มีความสุขอยู่แล้ว แต่เงินมาเสริมความสุขเท่านั้น เพราะที่จริงนั้น เงินเป็นของแถมมาทีหลัง เป็นของที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ที่เจริญมีอารยธรรมแล้ว

เดิมทีเดียว คนที่เราเรียกว่าไม่มีอารยธรรมเขาก็ต้องทำงาน ขุดดิน ถางหญ้า และเมื่อทำไป ผลของงานก็เกิดขึ้นมา เวลานั้นคนยังไม่รู้จักใช้เงิน เมื่อเขายังไม่มีเงินใช้ แล้วเขายังไม่มีความสุขหรือ ถ้าต้องรอเงินจึงจะมีความสุข คนในสมัยก่อนนี้ไม่มีเงิน ก็มีความสุขไม่ได้นะสิ

ที่จริงเงินเป็นของแถม เพิ่งเกิดทีหลัง มนุษย์ยุคก่อนมีอารยธรรมนั้น ไม่มีใครมาให้เงิน เขาขุดดิน ปลูกต้นไม้ รดน้ำไป ผลงานของเขาก็เกิดขึ้นมา คือ ต้นไม้เจริญเติบโตงอกงาม เขาก็มีความสุข

ถ้าจะเป็นมนุษย์ที่เข้าถึงความจริงแท้ จะต้องมีความสุขที่เกิดขึ้นในเนื้อแท้ของชีวิตจิตใจ ซึ่งจะเป็นไปโดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติเลย คือ ในที่สุดแล้ว งานเป็นความสุขอยู่ในตัว แล้วเงินก็มาแถมมาเติม มาเสริมสุขให้มากยิ่งขึ้น

ถ้าใครทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเป็นคนที่เข้าถึงความจริงของชีวิต และจะเป็นคนที่ไม่หลงไม่พลาด พร้อมทั้งจะมีความสุขที่จริงแท้

แต่เราก็มาเจอปัญหาว่า จะประสาน ๔ ข้อที่พูดไปแล้วนั้น เข้าด้วยกันได้อย่างไร นี่ก็คือธรรมะเข้ามาในการทำงาน

แต่ตอนนี้จะยังไม่พูดเพราะจะพูดเรื่องทั่วไปก่อน

ทำงานคือทำสัมมาชีพ
ทำสัมมาชีพคือทำชีวิตและสังคมให้พัฒนา

หันมาพูดถึงความหมายพื้นฐานของงาน ก่อนที่เราจะก้าวไปถึงขั้นที่จะประสานกลมกลืนให้องค์ประกอบ ๓ ก็ตาม ๔ ก็ตาม ที่พูดมาแล้วนั้นกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เราต้องเข้าใจความหมายก่อนว่า “งานคืออะไร?”

ในที่นี้ไม่ต้องพูดถึงความหมายโดยตรง งาน ที่เราทำในสังคมนั้น มักจะเน้นกันว่า จะต้องเป็นสัมมาชีพ ถ้าเข้าใจคำนี้แล้วความหมายของงานจะมาเองในตัว

สัมมาชีพ หรือ สัมมาอาชีวะนั้น เป็นอย่างไร พูดกันสั้นๆ คนทั่วไปมองว่า สัมมาชีพ ก็คืออาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมาย อย่างนี้เป็นความหมายพื้นๆ

แต่ความจริง งานมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น ลองแยกศัพท์ออกไป สัมมาชีพ ประกอบด้วย สัมมา+อาชีพ แล้วเรียกสั้นๆ ก็เป็นสัมมาชีพ หรือจะแยกเป็น สัมมา+อาชีวะก็ได้ ภาษาเดิมเรียกว่า อาชีวะ ก็อันเดียวกัน

เมื่อแยกเป็น ๒ คำแล้ว ก็มาดูทีละคำ

๑. อาชีวะ หรือ อาชีพ ก็คือ การหาเลี้ยงชีพ แค่นี้เราก็ได้ความหมายที่ ๑ ของ “งาน” แล้ว คือเป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพ ที่เราพูดกันในแง่ได้เงินได้ทอง หรือจะได้มีปัจจัย ๔ มีสิ่งของเครื่องใช้ อันนี้เป็นความหมายอย่างง่าย

แต่เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพยังไม่พอ ต้องเป็นสัมมาด้วย สัมมาเป็นตัวจำกัดให้แคบลงไป การหาเลี้ยงชีพอย่างไรเป็นสัมมา?

๒. สัมมา แปลว่า ถูกต้อง คือถูกต้องตามความหมายของมัน ถ้าจะเอาลึกซึ้งก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่น เป็นคนทำสวน การที่ทำสวนนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้เงินเดือนมา แต่ทำสวนเพื่อให้ได้ผลที่ตรงตามเหตุ คือเมื่อทำสวน ก็ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม เมื่อทำงานทางแพทย์ เช่นรักษาคนไข้ ก็คือต้องการช่วยให้คนไข้หายป่วย หรือช่วยให้เพื่อนมนุษย์ในสังคมนี้มีสุขภาพดีขึ้น บรรเทาจากโรคภัยไข้เจ็บ อย่างนี้ถือว่าตรงไปตรงมา คือ เหตุตรงกับผล

ส่วนการได้เงินได้ทองมาก็เป็นเรื่องของความหมายโดยอ้อมตามเงื่อนไข คือ เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพ

เมื่อถูกต้องตามความหมายที่แท้จริง คือตรงเหตุตรงผลแล้ว ก็มีผลดีทุกอย่าง ดีอย่างไร?

ในเรื่องที่เป็นอาชีพของมนุษย์นี้ เรามองในแง่สังคมก่อน คือจะต้องดีแก่สังคม ดังที่มีการเน้นว่า สัมมาชีพ คือ อาชีพที่ถูกต้องนั้น จะต้องไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อน ไม่บั่นทอนทำลายสังคม เพราะฉะนั้นจึงมีคำอธิบายว่าไม่ผิดกฎหมาย เพื่อเข้ามาเน้นในแง่ที่ว่า ไม่ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียน ไม่ทำลายใคร ในขั้นนี้เป็นความหมายเชิงปฏิเสธ ซึ่งต้องมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ปฏิเสธ จะต้องมีความหมายเชิงสร้างสรรค์ด้วย คือนอกจากไม่เบียดเบียนไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครแล้ว อาชีพที่เราทำนี้ จะเรียกว่า สัมมาชีพ ต้องเป็นอาชีพที่ช่วยแก้ปัญหา หรือช่วยสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยช่วยให้ชีวิตดีงามขึ้น สังคมเจริญงอกงามขึ้น อย่างน้อยก็บำบัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อน

ยกตัวอย่าง อาชีพของแพทย์และพยาบาลนี้ มีทั้งสองด้าน คือในด้านแก้ปัญหา ก็บำบัดความเจ็บไข้ได้ป่วย และในด้านสร้างสรรค์สังคม ก็ทำให้คนมีสุขภาพดี จะได้เป็นทรัพยากรที่ดีของประเทศชาติและสังคม ช่วยสร้างสรรค์ทำให้สังคมเจริญงอกงามต่อไป ความหมายในแง่สังคมนี้ด้านหนึ่งแล้ว

ทีนี้ในแง่ตนเอง สัมมาชีพต้องดีต่อตัวเองด้วย ดีแก่ตัวเองอย่างไร? อาชีพทุกอย่างนั้น ถ้าเป็นอาชีพที่ดี จะเป็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตของตน

ชีวิตของคนเรานี้ต้องพัฒนาตลอดเวลา ต้องเจริญงอกงามขึ้น

๑. ในด้านพฤติกรรม คือการดำเนินชีวิตทั่วไป การเป็นอยู่ การเกี่ยวข้องกับผู้คน ทั้งทางกาย และทางวาจา

๒. ในด้านจิตใจ คือ ในเรื่องคุณธรรม ความสามารถ หรือสมรรถภาพของจิตใจ และความสุข โดยเฉพาะการมีสุขภาพจิต และ

๓. ในด้านปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ความสามารถในการคิดพิจารณาวินิจฉัยและจัดดำเนินการ

คนเราจะเจริญงอกงามได้ ก็ต้องเก่งขึ้นในด้านต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเราประกอบอาชีพที่ดี ก็จะเป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาตนเอง ในด้านพฤติกรรม เราก็จะรู้จักดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เราจะรู้จักอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เรียนรู้มารยาทต่างๆ รู้จักติดต่อเข้าพบเข้าหา รู้จักพูดจาปราศรัย รู้จักที่จะปฏิบัติงานต่างๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น พฤติกรรมของเราก็พัฒนา

ส่วนในด้านจิตใจ เวลาทำงานทำการ ขณะที่ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้รู้จักการอยู่ร่วมสังคม เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ดีนั้น เราก็ฝึกความมีน้ำใจเมตตากรุณาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และในตัวงานเองเราก็ได้ฝึกความรับผิดชอบ ความขยัน ความอดทน ความมีใจหนักแน่นมั่นคง ความมีสติ การมีสมาธิหรือความมีใจแน่วแน่ในการทำงาน เป็นต้น

ต่อไปในด้านปัญญา เมื่อเราทำงาน เราจะได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น การทำงานทำให้เรารู้วิชาการของเราชัดเจนและช่ำชองยิ่งขึ้น ทำให้เราได้คิดได้ค้นคว้า เรียนหาทางแก้ปัญหา รู้วิธีจัดการดำเนินการ และเรียนรู้ไม่เฉพาะในเรื่องวิชาการและการงานเท่านั้น แต่ได้เรียนรู้โลกและชีวิตด้วย เริ่มแต่ได้เรียนรู้เพื่อนมนุษย์ ทำให้รู้จักและเข้าใจผู้คนในสังคม ตลอดจนรู้จักเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และแม้แต่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นไปและเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย พูดสั้นๆ ว่า ได้เรียนรู้โลกและชีวิตมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

ชีวิตของเรานี้ ที่เราได้พัฒนาตนเองขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่พัฒนาจากการทำงาน เพราะว่าชีวิตของเราอยู่กับการทำงานหลายเปอร์เซ็นต์ วันหนึ่งๆ เราอยู่กับการงานอาชีพครึ่งค่อนวัน เช่นอาจจะต้องทำงาน ๘ ชั่วโมง หรืออาจจะเกินกว่านั้น เพราะบางทีต้องมาก่อนเวลา บางทีต้องเลิกหลังเวลา ชีวิตของคนเราจึงอยู่กับการงานเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพัฒนาชีวิตของเรา ก็ต้องใช้อาชีพการงานของเรานี่แหละเป็นเวที หรือเป็นแดนเป็นสนามที่พัฒนาตนเอง มิฉะนั้นเราจะหาโอกาสพัฒนาตนเองได้ยาก ถ้าเรามุ่งอย่างเดียวว่าจะทำงานทำการเพื่อได้เงิน เราก็จะพลาดโอกาสที่ดีนี้ไปเสียหมด เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าสัมมาชีพจึงมีความหมายกว้างมาก

ขอสรุปอีกครั้งว่า อาชีพก็คือเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ และที่เป็นสัมมาก็เพราะมีความหมายถูกต้อง คือเป็นไปตามเหตุผลที่ว่า ทำให้เกิดผลที่ต้องการของการงานอาชีพนั้น ซึ่งแต่ละอาชีพมีวัตถุประสงค์ของมันเอง ดังเช่น การแพทย์และพยาบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยให้คนไข้หายโรคภัยไข้เจ็บ และมีสุขภาพดี

อาชีพที่เป็นสัมมาจึงเป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนทำลายใคร และยังแถมแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมด้วย นอกจากนั้นก็ยังดีกับตัวเองโดยเป็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตทุกด้าน

ถ้าเรามองความหมายถูกต้องอย่างนี้ เวลาทำงานเราก็จะพยายามทำให้ได้ตามนี้ แล้วเราจะมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะเราทำงานอย่างมีจุดหมาย ไม่ใช่ทำงานโดยมุ่งผลตอบแทนคือเงินอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เราขาดประโยชน์ที่พึงได้ไปอย่างมาก พร้อมกันนั้นความทุกข์ก็จะมากกว่าสุข เพราะการทำงานกลายเป็นการรอความสุข เวลาทำงานจึงกลายเป็นเวลาแห่งความทุกข์ โดยที่ความสุขนั้นขึ้นต่อเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่รอ ที่ยังไม่มาถึงสักที

นี่เป็นจุดเริ่มต้น เมื่อให้ความหมายพื้นฐานอย่างนี้แล้ว เราก็มาดูแนวทางที่จะประสานองค์ประกอบต่างๆ ที่พูดไปเมื่อกี้ คือ เรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ และเรื่องความสุขของตนเอง ว่าจะทำอย่างไร

ต้องการผลตอบแทน สุขไม่มาจนกว่าได้เงิน
ต้องการผลของตัวงาน สุขงอกงามไปกับการทำงาน

ได้พูดในตอนต้นแล้วว่า คนไม่น้อยมอง เงิน งาน และความสุข ในแง่ที่ว่า ความสุขนั้นต้องอาศัยเงินเป็นตัวบันดาล งานจะให้ความสุขโดยผ่านเงิน แต่ถ้าเรามีความสุขโดยผ่านเงินอย่างเดียว ช่องทางแห่งความสุขของเราก็จะแคบมาก นอกจากแคบแล้วก็มีได้น้อยและสั้นด้วย เพราะจะต้องรอนาน เดือนหนึ่งจึงจะได้เงินครั้งหนึ่ง หรือแม้จะจ่ายบ่อยกว่านั้นก็แล้วแต่ มันก็นานหรือเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ตลอดเวลา ในเวลาระหว่างนั้นก็เป็นวัน เป็นอาทิตย์ เป็นสัปดาห์ ที่จะต้องรอด้วยความทุกข์ทรมานกว่าจะได้เงิน

นอกจากนั้น เงินทองนี้เป็นของข้างนอก มันไม่ได้เข้าไปถึงในเนื้อตัวของชีวิต อะไรที่เราจะได้แท้จริง จะต้องเข้าไปถึงในเนื้อตัวของชีวิต ถึงเราจะได้เงินมา เงินนั้นก็อยู่ข้างนอก สิ่งที่ได้แก่เราแท้จริง จะต้องเป็นการได้ที่เข้าไปในเนื้อตัวของชีวิตของเราเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไร จุดสำคัญจึงอยู่ที่สาระซึ่งได้พูดไปแล้วว่า งานคือเวลาส่วนใหญ่แห่งชีวิตของเรา บุคคลใดไม่สามารถมีความสุขจากการทำงาน ก็แสดงว่าเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเขานั้นไม่มีความสุข ซึ่งแสดงว่าเป็นการขาดแคลนหรือความสูญเสียอย่างสำคัญยิ่ง

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ต้องการให้ชีวิตมีความสุข คือต้องการให้ชีวิตส่วนใหญ่ ที่เป็นอยู่ดำเนินไปตลอดเวลานี้มีความสุข เขาจะต้องทำให้งานเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข คือต้องทำงานอย่างมีความสุขให้ได้ ถ้ามิฉะนั้น ชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นชีวิตแห่งความทุกข์

เป็นอันว่า จุดสำคัญเรายอมรับความจริงที่ว่า งานเป็นเวลาส่วนใหญ่แห่งชีวิตของเรา เราต้องให้งานเป็นความสุขให้ได้ แต่จะให้งานเป็นความสุขได้อย่างไร? เรื่องนี้ขอรอไปก่อนอีกนิดหนึ่ง

ตอนนี้ขอแทรกก่อนว่า งานที่จะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นก็คือ การที่เราได้ประโยชน์จากการทำงาน โดยเฉพาะประโยชน์ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์ของการทำงานนั้น เช่น การที่คนไข้หายป่วย มีสุขภาพดี เป็นจุดมุ่งหมาย และเป็นประโยชน์โดยตรงของการทำงานแพทย์และพยาบาล ถ้าเราได้ความสุขจากการเห็นคนไข้หายป่วย หรือมีสุขภาพดีขึ้น ก็แสดงว่าเราได้รับผลที่ตรงตามเหตุ ถ้าเราต้องการผลที่ตรงตามเหตุ ความสุขก็จะเกิดขึ้นมาได้ทันที

ความสุขเกิดจากการได้สนองความต้องการ ถ้าเราต้องการวัตถุบริโภค หรือสิ่งเสพ เมื่อเราได้สิ่งนั้นมาเราก็มีความสุข แต่ถ้าเรามีความต้องการอย่างอื่น เช่นอย่างเป็นพ่อเป็นแม่ต้องการให้ลูกมีความสุข ถ้าเราต้องการให้ลูกมีความสุข เราก็จะมีความสุขเมื่อเห็นลูกมีความสุข เพราะการมีความสุขของลูกนั้น ก็คือการที่เราได้สนองความต้องการของเรา เมื่อเราต้องการให้ใครคนไหนก็ตามมีความสุข แล้วเราทำให้เขามีความสุขได้ เราก็ได้สนองความต้องการของเรา และเราก็จะมีความสุขด้วย

ทีนี้ ความต้องการเหล่านี้ต้องสร้างขึ้น ถ้าเราไม่สร้างขึ้นมันก็ไม่มี การสร้างอย่างง่ายๆ ก็คือ ความต้องการผลของตัวงานตามเหตุตามผลของมัน คือ เมื่อทำงานอะไร ก็ต้องการผลของงานนั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เช่น ในงานทำสวน ถ้าคนทำสวนต้องการผลโดยตรงของเหตุ คือ การทำสวน การทำสวนเป็นเหตุ ผลโดยตรงของการทำสวน ตามกฎธรรมชาติ ที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครปฏิเสธได้ ก็คือความเจริญงอกงามของต้นไม้ ถ้าเขาต้องการความงอกงามของต้นไม้แล้วเขามาทำสวน เขาจะมีความสุขในการทำสวน เมื่อเขาเห็นต้นไม้เจริญงอกงาม ความต้องการของเขาก็ได้รับการสนอง และเขาก็จะมีความสุข

แม้แต่ระหว่างนั้น ขณะที่กำลังทำงานอยู่ เมื่องานที่ตัวทำก้าวหน้าไป ก็ยิ่งมองเห็นความสำเร็จของงานหรือผลที่ต้องการใกล้เข้ามา ก็ยิ่งมีความหวัง และมีความอิ่มใจ เขาจึงมีความสุขได้ตลอดเวลา พอต้นไม้งามขึ้น ก็ดีใจ ปลื้มใจ ต้นไม้ต้นไหนยังไม่งาม ก็กุลีกุจอไปรดน้ำพรวนดิน พยายามหาทางและตั้งใจทำเต็มที่เพื่อให้ต้นไม้นั้นงาม พอทำให้มันงามขึ้นมา แก้ปัญหาได้ หรือทำก้าวหน้าไปๆ ก็มีความสุขไปเรื่อยๆ ทุกขั้นตอน

ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่มีความต้องการอันนี้ คือไม่ต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เรียกว่าไม่ต้องการผลธรรมชาติที่เกิดตามเหตุ เราก็ต้องการผลสมมติที่ตกลงกันตามเงื่อนไขคือ ทำสวนแล้วได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เราต้องการแต่เงิน ๕,๐๐๐ บาท เราจะไม่มีความสุขในการทำสวนเลย แล้วการทำสวนจะกลายเป็นความจำใจ พอจำใจ ก็ฝืนใจ พอฝืนใจ ก็ทุกข์ทรมาน เราก็จะทำงานด้วยความทุกข์ทรมานตลอดเวลา แล้วก็ไม่ตั้งใจทำ เมื่อไม่ตั้งใจทำ งานก็ไม่ได้ผลดี นี่คือการที่เราได้แปลกแยกจากความเป็นจริงของธรรมชาติ

ทำถูกกฎธรรมชาติ: งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข
ทำแค่กฎมนุษย์: งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์

มนุษย์มักจะหลงในเรื่องนี้ คือเรื่องกฎ ๒ ชั้น หรือความจริง ๒ ชั้น ในเรื่องคนทำสวน มีความจริงซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น

ชั้นที่ ๑ คือ กฎธรรมชาติ ได้แก่ความเป็นจริงตามเหตุผลของธรรมชาติว่า “การทำสวนเป็นเหตุ การงอกงามของต้นไม้เป็นผล

ชั้นที่ ๒ คือ กฎมนุษย์ ที่คนเรามาตกลงวางกันขึ้นเป็นเงื่อนไขว่า “การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือนเป็นผล” กฎมนุษย์นี้ เรียกว่าเป็นกฎสมมติ

สมมติ แปลว่า มติร่วมกัน มาจากคำว่า สํ+มติ สํ แปลว่า ร่วมกัน มติ แปลว่า การยอมรับ หรือตกลง สมมติจึงแปลว่า มติหรือการยอมรับหรือข้อตกลงร่วมกัน

นี่หมายความว่า กฎมนุษย์ตั้งอยู่บนสมมติ หรือตั้งอยู่บนการตกลงยอมรับร่วมกัน ถ้าไม่มีสมมติ กฎมนุษย์ก็หายไปเลย การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล ต้องมีสมมติรองรับ ถ้าไม่มีมติร่วมกัน หรือไม่มีการยอมรับร่วมกัน กฎนี้ก็ไม่มี กฎจะหายไปทันที ถ้าคนไม่ยอมรับ คุณไปทำสวน ๑ เดือน เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทก็ไม่มี เพราะโดยธรรมชาติ ทำสวนแล้วเงินจะเกิดขึ้นมา มีที่ไหนในโลก โดยธรรมชาติมันไม่มี มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ตกลงกันกำหนดขึ้น

มนุษย์มีอารยธรรม มีความสามารถในการสมมติ การสมมติได้นี้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ แต่ในการสมมตินั้น เขามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้ผลตามกฎธรรมชาติ

การที่เขาสมมติว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนั้น ที่จริงเขาต้องการอะไร ตอบได้ชัดเจนว่าเขาต้องการผลตามกฎธรรมชาติ คือต้องการให้มีคนมาทำสวนแล้วต้นไม้จะได้เจริญงอกงาม ตราบใดที่เรายังสามารถโยงกฎ ๒ อย่าง คือกฎสมมติของมนุษย์กับกฎแท้จริงของธรรมชาติให้ถึงกันได้ ตราบนั้นก็ไม่มีปัญหา และจะได้ผลดีแก่โลกมนุษย์ด้วย

เราตั้งกฎมนุษย์โดยสมมติ คือตกลงกันว่า ทำสวน ๑ เดือน ได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท ก็เพื่อว่า จะได้มีการทำสวนอย่างจริงจังเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ได้ผลตามเหตุผลของกฎธรรมชาติว่าต้นไม้จะได้เจริญงอกงาม

ถ้าคนทำสวนมาทำสวนโดยต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เขาไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ เขาก็ทำสวนโดยรักต้นไม้ อยากทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม เมื่ออยากให้ต้นไม้เจริญงอกงามแล้ว เขาก็ตั้งใจทำงานอย่างดี เมื่อทำงานที่สนองความต้องการ เขาก็จะมีความสุขในการทำงาน พร้อมกันนั้น กฎมนุษย์ที่ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็มาช่วยสนับสนุนให้เขาตั้งหน้าตั้งตาทำสวนไปได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัจจัยยังชีพ เขาก็ทำงานได้เต็มที่ โดยมีความสุขเต็มที่ เรียกว่า “งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข”

แต่ทีนี้มันมีปัญหาก็คือว่า มนุษย์เกิดความแปลกแยกกับกฎธรรมชาติ พอเกิดความแปลกแยกแล้วก็มาติดอยู่แค่สมมติ เขาก็เอาแค่ว่าทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท

เมื่อเขาไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เขาก็คิดถึงการที่จะได้เงิน ๕,๐๐๐ บาท อย่างเดียว เมื่อไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ก็รอแต่เงินว่า เมื่อไรจะมา ใจไม่อยู่กับงานที่ทำ การทำสวนกลายเป็นการที่ต้องทำและจึงเป็นความทุกข์ทรมาน เวลาแต่ละขณะที่ผ่านไป เป็นเวลาแห่งการรอคอย และเพราะมันทำให้เขาต้องรอนานกว่าจะได้เงิน ระหว่างนั้น เวลาแต่ละขณะที่ผ่านไป กลายเป็นเวลาแห่งการรอคอย ที่ตนเองจะต้องจำใจทนอยู่กับการทำงาน ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเลย การทำสวนจึงทำให้เขาทรมาน ทำให้เกิดความทุกข์ตลอดเวลา

เมื่อทุกข์ใจเขาก็ไม่ตั้งใจทำ เมื่อไม่เต็มใจทำ งานก็ไม่ได้ผลดี ก็เลยแย่ไปด้วยกัน ชีวิตของเขาเองก็ทุกข์ทรมาน และสังคมก็เสียประโยชน์ เพราะงานก็ไม่ดี เรียกว่า “งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์”

นี่คือ ความบกพร่องในสังคมมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์นั้น เมื่อเจริญด้วยอารยธรรมขึ้นมาแล้ว กลับไปหลงติดในสมมติที่ตนเองสร้างขึ้นมา แล้วก็แปลกแยกจากธรรมชาติ จึงทำให้ตัวเองสูญเสียและสังคมก็เดือดร้อนไปด้วย

มนุษย์สร้างอารยธรรมเจริญขึ้นไป
แต่รักษาฐานเดิมในธรรมชาติไว้ไม่ได้

ว่าที่จริงนั้น คนเราในยุคที่เจริญขึ้นมานี้ บางทีก็มีข้อบกพร่องโดยไม่รู้ตัว อย่างเรื่องความแปลกแยกนี้ เราแพ้คนสมัยก่อน

เมื่อเราเจริญด้วยอารยธรรมแล้ว การที่เราจะได้ประโยชน์จากอารยธรรมนั้น ฐานเดิมเราต้องไม่เสียด้วย คือ ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติที่เป็นของแท้ของจริง พร้อมกันนั้น ประโยชน์ทางด้านอารยธรรมที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา เราก็ได้ด้วย ถ้าอย่างนี้เราก็ได้ ๒ ชั้น

แต่มันไม่อย่างนั้น พอได้ประโยชน์จากอารยธรรมปรุงแต่งที่มนุษย์สร้างขึ้น มนุษย์ก็ลืมฐานเดิมที่เป็นธรรมชาติ แล้วแปลกแยกจากธรรมชาติเสีย

ถ้ามนุษย์สร้างอารยธรรมของตนขึ้นมาได้ แต่สูญเสียฐานเดิมหลุดหายไป อารยธรรมที่สร้างขึ้นมาก็จะกลับกลายเป็นพิษภัย และการได้มา ก็อาจกลายเป็นการสูญเสียทั้งหมด

ฐานเดิมนั้นเป็นเนื้อตัวของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นของแท้ การที่คนแปลกแยกจากธรรมชาติ ก็เพราะไปหลงติดในเรื่องสมมติของอารยธรรม โดยไม่รู้เท่าทันความจริงของมัน ซึ่งทำให้เขาก่อปัญหาขึ้นมาแก่ตนเอง เนื่องจากประสานความจริงของธรรมชาติ กับสมมติของอารยธรรมไม่ได้ เลยเสียทั้ง ๒ ด้าน คือ ทางด้านสมมติของอารยธรรม ก็ใช้มันไม่เป็น และทางด้านธรรมชาติ ก็แปลกแยกไปเสีย

จึงขอพูดแทรกไว้ว่า มนุษย์ในยุคปัจจุบันที่มีความเจริญมากแล้ว ในยุคของระบบผลประโยชน์ ที่เน้นการแข่งขันกันนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดความแปลกแยกจากธรรมชาติ ๓ ด้านด้วยกัน

ความสุขของมนุษย์นั้นมีฐานที่เป็นทุนเดิมอยู่ ๓ อย่าง ถ้ามนุษย์สูญเสียความสุขที่เป็นทุนพื้นฐาน ๓ ประการนี้แล้วจะลำบาก มนุษย์ในยุคนี้กำลังสูญเสียความสุขที่เป็นทุนพื้นฐาน ๓ ประการไป โดยระบบชีวิตที่แปลกแยกจากธรรมชาติ

ขอให้สังเกตว่า มนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดความแปลกแยกจากธรรมชาติ ๓ ด้าน

ด้านที่ ๑ คือ ความแปลกแยกจากธรรมชาติแวดล้อม ชีวิตเป็นธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เนื้อตัวร่างกายของมนุษย์เราทั้งหมดเป็นของธรรมชาติ เกิดมาตามธรรมชาติ ชีวิตของเราเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ต้องเกิดแก่ เจ็บ ตาย ไปตามกฎธรรมชาตินั้น เราต้องหายใจ ต้องดื่มน้ำ ต้องกินอาหาร รู้สึกหนาวร้อน ฯลฯ ความสุขความทุกข์ของเราจึงผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ขาดธรรมชาติไม่ได้

เรามีความสุขเมื่อออกไปในที่โปร่งโล่ง สูดอากาศบริสุทธิ์เต็มปอด สุขสดชื่นเมื่อต้องสายลมเย็น เมื่อร้อนแดดแผดกล้ามานาน ก็อยากได้ฝนตกชุ่มฉ่ำ เมื่อฟ้ามืดมัว ฝนตกเฉอะแฉะยืดเยื้อมา พอฟ้าแจ้งแดดจ้าก็ร่าเริงแจ่มใส เมื่ออยู่ในที่พักที่ทำงานที่จำกัดนานๆ พอได้ไปในที่โล่ง เห็นท้องฟ้ากว้างขอบฟ้าไกล มีทิวเขาหรือท้องทะเลทอดแผ่ไป ก็แสนจะสุขสบายชื่นใจ เห็นป่าเขา ต้นไม้ร่มรื่น ใบไม้เขียวขจี ดอกไม้หลากสี ก็มีความสุข

ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ตลอดเวลา อยู่ในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ และต้องการความสุขในการสัมผัสกับธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นแหล่งทุนพื้นฐานแห่งความสุขของมนุษย์แหล่งแรกที่มนุษย์ขาดไม่ได้ ตั้งแต่แรกกำเนิดของมนุษยชาติตลอดมา

เมื่อมนุษย์เจริญขึ้น เราก็สร้างสรรค์อารยธรรมจนเกิดเป็นโลกของมนุษย์ขึ้นมา โลกของมนุษย์เป็นโลกแห่งการปรุงแต่ง เรามีอาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง มีสิ่งของเครื่องใช้ เทคโนโลยีสารพัด จนกระทั่งโลกที่มนุษย์ปรุงแต่งด้วยเทคโนโลยีมาซ้อนอยู่ในโลกของธรรมชาติ บางทีมันก็บังเราให้เหินห่างออกไป จนกระทั่งมองไม่เห็นโลกธรรมชาติ และเข้าไม่ถึงโลกของธรรมชาติเลย

ดังจะเห็นว่า คนในยุคปัจจุบันนี้ บางคนอยู่ในโลกไปวันๆ โดยไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติเลย ชีวิตของเขาอยู่กับสิ่งปรุงแต่ง เช่น เทคโนโลยี

นอกจากแปลกแยกจากธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติเองก็เหลือน้อยร่อยหรอลงไปด้วย ธรรมชาติจึงมีให้เราสัมผัสได้น้อยลง

ยิ่งกว่านั้น ธรรมชาติที่มีให้สัมผัสซึ่งเหลือน้อยแล้ว ยังเป็นธรรมชาติที่เสื่อมโทรม เต็มไปด้วยมลภาวะเสียอีก ธรรมชาตินั้นแทนที่จะอยู่ในสภาพดี ที่เราจะได้ชื่นใจ สบาย สะอาดบริสุทธิ์ งดงามสดใส หายใจโปร่งโล่ง ก็กลายเป็นธรรมชาติที่อึดอัดก่อโรคภัย

แค่นั้นไม่พอ ขณะที่ชีวิตของมนุษย์นั้นในที่สุดก็ต้องการดอกไม้ สายลม แสงแดด เราต้องมีความสุขประเภทนี้บ้าง จะขาดโดยสิ้นเชิงไม่ได้ แต่มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ บางทีทั้งๆ ที่ไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่จิตใจเร่าร้อน นึกถึงแต่เรื่องที่ห่วงกังวลหวั่นใจ ทำให้เครียด เช่น คิดถึงงานการในภาวะแข่งขันกันว่า ทำอย่างไรเราจะตามทันเขา เขาจะได้เกินหน้าเราหรือเปล่า ฯลฯ

ทั้งๆ ที่ตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่ชีวิตจิตใจสัมผัสไม่ถึงธรรมชาติ ไม่ซึมซาบความละเมียดละไมอ่อนโยนของธรรมชาติ เพราะถึงแม้ตัวอยู่ แต่ใจไม่อยู่ หรือใจมัวแต่เร่าร้อนฟุ้งซ่านไป เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ได้ความสุขจากธรรมชาติ ทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ

นี้เป็นความแปลกแยกสถานแรก ที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความสุขพื้นฐานด้านหนึ่งไป และเมื่อขาดความสุขด้านนี้แล้ว ก็ทำให้เขาสั่นคลอนมาก พร้อมทั้งความเครียดความทุกข์ ความเสียสุขภาพจิตต่างๆ ก็พรั่งพรูตามมา

ด้านที่ ๒ คือ ความแปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ นอกจากชีวิตของเราเป็นธรรมชาติที่อยู่กลางธรรมชาติแล้ว แต่ละขณะเราก็อยู่กับเพื่อนมนุษย์ด้วย ดังที่พูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม

ทีนี้ความสุขของมนุษย์ที่เป็นพื้นฐานแต่ละเวลาแต่ละขณะอีกด้านหนึ่ง ก็เกิดจากการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี่แหละ เริ่มแต่ในครอบครัว เมื่ออยู่กับพ่อกับแม่กับลูกกับหลานกับญาติกับมิตร และกว้างออกไปในสังคมเมื่อได้สัมผัสพูดจากับคนโน้นคนนี้ ความสุขจากความสัมพันธ์พูดจาเมตตาไมตรีนี้เป็นความสุขพื้นฐานด้านที่ ๒ ของมนุษย์เรา

แต่สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ ได้พาเอาจิตใจของเราให้ห่างเหินกันไกลออกไป นอกจากเวลาแข่งขันกันโดยตรงแล้ว แม้แต่เวลาที่อยู่ในบ้านหรือในครอบครัว ใจก็ไม่อยู่ มีคนจำนวนมากที่ตัวอยู่กับบ้าน อยู่ในครอบครัว แต่ใจไม่อยู่ เพราะใจไปอยู่กับเรื่องการเรื่องงานเชิงแข่งขันที่กำลังเครียด กำลังกังวลอยู่ ทำให้เสียความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

ทั้งที่อยู่ในครอบครัว ตัวอยู่ใกล้ แต่ใจเหินห่าง จิตใจของตัวมีความเครียดกังวลเร่าร้อน แทนที่จะให้ความอบอุ่นความรักแก่ลูกหลาน ก็ไม่ได้ กลับหงุดหงิดใจ เอาลูกหลานเป็นที่ระบายความเครียด กลายเป็นเกิดความทุกข์กันมากขึ้น คนในครอบครัวแทนที่จะได้ความสุขจากกันและกัน ก็กลับได้ความทุกข์ ลูกก็มีปัญหามีความทุกข์ พ่อแม่ก็มีความเครียดของตัวเอง เวลาสัมพันธ์กัน ก็เลยไม่ได้ความรักความอบอุ่น

เมื่อมนุษย์ไม่ได้ความสุขจากกันและกัน ก็บีบเขาให้ยิ่งไปหาความสุขจากสิ่งเสพสิ่งบริโภคยิ่งขึ้น อย่างเด็กๆ ที่ไม่ได้ความสุขจากความรักความอบอุ่นในครอบครัว แกก็ไปหาทางชดเชยให้ได้ความสุขนี้จากที่อื่น ดีไม่ดี ก็หาทางออกด้วยการไปมั่วสุมสิ่งเสพติด เป็นทางออกในการหาความสุขและระบายความทุกข์ของเขา

คนในระบบแข่งขัน เมื่อแต่ละคนมองไปที่ผลประโยชน์ที่ตนจะเอาจะได้ ก็ทำให้มีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์แบบเป็นคู่แข่ง หรือเป็นปฏิปักษ์ มีความหวาดระแวง พบปะพูดจากัน ก็ไม่ค่อยมีความจริงใจ บางทีก็มองผู้อื่นเป็นเหมือนเหยื่อว่าเราจะเอาผลประโยชน์จากเขาได้อย่างไร แม้แต่การยิ้มแย้ม ก็ทำไปด้วยความคิดซ่อนแฝงที่จะได้จะเอา หรือทำไปอย่างนั้นเอง ดังนั้น ความสุขจากเมตตาไมตรีจึงเป็นไปได้ยาก

ด้านที่ ๓ คือ ความแปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง มนุษย์เราไม่ได้อยู่เฉยๆ เราต้องทำโน่นทำนี่เรื่อยไป ชีวิตที่เป็นอยู่แต่ละขณะๆ ของเรา นอกจากอยู่กับธรรมชาติ และอยู่กับเพื่อนมนุษย์แล้ว ก็อยู่กับการกระทำการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวที่เรียกว่ากิจกรรมแห่งชีวิตของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น แหล่งความสุขพื้นฐานอีกด้านหนึ่งของเรา ก็คือกิจกรรมของชีวิตเหล่านี้

ถามว่า มนุษย์ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆ ไปทำไม ขอให้ดูเถอะ มนุษย์โดยพื้นฐาน เวลาเขาทำอะไร เขาจะทำด้วยความต้องการผลโดยตรงของกิจกรรมนั้นๆ เขาต้องการผลอะไรอย่างหนึ่ง เขาจึงทำกิจกรรมนั้น เช่น ถ้าเขาต้องการปลูกต้นไม้ เขาจึงไปขุดดิน แล้วเขาก็ไปเอาต้นไม้มาลง แล้วดูแล ทำการรดน้ำ เป็นต้น

นี่หมายความว่า มนุษย์โดยพื้นฐาน เขาทำกิจกรรมใดก็เพราะต้องการผลของกิจกรรมนั้น เมื่อต้องการผลและทำเหตุที่ตรงกัน ซึ่งจะนำไปสู่ผลนั้น เขาก็มีความสุขอย่างที่บอกเมื่อกี้ เพราะในการทำงาน เขาไม่แปลกแยกจากกิจกรรมของเขา

แต่คนปัจจุบันนี้ไม่ค่อยเป็นอย่างนั้น กิจกรรมการงานที่เขาทำนั้น บางทีเขาทำไปโดยไม่ได้ต้องการผลของมัน หรือทำไปโดยไม่รู้ตัวถึงผลของการงานนั้นเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เขาต้องการเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ผลที่แท้ของการกระทำนั้นเลย คือ ผลของตัวงานนั้น เขาไม่ได้ต้องการ ส่วนผลที่ต้องการ ก็ไม่ใช่ผลของตัวกิจการนั้น ดังที่ได้ยกตัวอย่างแล้วในเรื่องคนทำสวน

สมัยก่อนใครเขาจะทำสวน ถ้าเขาไม่มีความต้องการให้ต้นไม้งาม ถ้าเขาไม่ต้องการได้เห็นต้นไม้โต เขาก็ไม่มาขุดดิน แต่ในโลกมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ที่อารยธรรมเจริญ มนุษย์อาจจะมาขุดดินปลูกต้นไม้โดยที่ตัวเองไม่ได้ต้องการให้ต้นไม้งาม เพราะได้มีโลกของการสมมติเกิดขึ้นมา คือการตั้งกฎของมนุษย์ว่า คุณมาทำสวน ๑ เดือน แล้วจะได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนะ ซึ่งทำให้มีคนที่มาทำกิจกรรมโดยไม่ต้องการผลของกิจกรรมนั้น คือมาขุดดินโดยไม่ได้ต้องการเห็นต้นไม้โต

เมื่อไม่ต้องการผลของกิจกรรมนั้น ขืนทำไป เขาก็แปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของเขาเอง ทุกขณะที่เขาทำงาน เคลื่อนไหว อะไรต่างๆ นั้น เขาแปลกแยกจากสิ่งที่เขาทำทั้งหมด พอเขาแปลกแยกจากกิจกรรมของชีวิตแล้ว จิตใจก็ไปอยู่ที่ผลตอบแทนอย่างเดียว และเขาก็ไม่ได้ความสุขจากการทำกิจกรรมนั้น แต่การทำกิจกรรมนั้นกลับกลายเป็นความทุกข์ไป

สูตรหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ :
สังคมยิ่งพัฒนา คนยิ่งฆ่าตัวตาย

เป็นอันว่ามนุษย์ยุคนี้มีความแปลกแยก ๓ อย่างนี้ คือ

๑. แปลกแยกจากธรรมชาติ

๒. แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ และ

๓. แปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง

เมื่อเราแปลกแยกจากแหล่งทุนพื้นฐานแห่งความสุข ๓ อย่างนี้แล้ว เราก็เหลือความหวังในความสุขจากแหล่งอื่นอย่างเดียว คือจากสิ่งเสพบริโภคหรือวัตถุบำรุงบำเรอ เราก็เลยเอาความสุขของเราไปฝากไว้กับวัตถุเสพบริโภคที่เหลืออยู่ทางเดียวนั้นหมดเลย

แต่วัตถุเสพบริโภคที่มีเงินทองเป็นตัวแทน ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา และมันเป็นของนอกตัวด้วย มนุษย์จึงถูกบีบช่องทางที่จะได้ความสุขให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อถูกบีบอย่างนี้ ต่อไปก็จะเกิดปัญหา

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ต่อไปความสุขจากการได้เสพบริโภควัตถุจะเป็นความหมายอันเดียวของชีวิตของเขา ความสุขของเขาอยู่ที่การได้เสพบริโภค เพราะฉะนั้น เขาก็จะต้องหาเงิน หาของใช้อะไรต่างๆ หาโภคภัณฑ์เทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด

ทีนี้ คนเราเสพบริโภคบำรุงบำเรอไป มันมีวันเบื่อ บางทีก็มีความผิดหวังจากการหาเสพไม่ได้ หรือไม่ได้เสพ พอเบื่อวัตถุเสพหรือผิดหวังกับความสุขจากการเสพวัตถุเมื่อไร ก็หมายถึงเบื่อหน่ายชีวิต และผิดหวังต่อชีวิตด้วย เมื่อไรวัตถุเสพหมดความหมาย ชีวิตก็หมดความหมายด้วย นี่คือภาพของคนในยุคปัจจุบัน

นั่นก็เป็นเพราะว่า ช่องทางที่เขาจะมีความสุขและความหมายของชีวิตนั้น มันไปเหลืออยู่ที่ช่องเดียวแล้ว คือ อยู่ที่วัตถุเสพบริโภคเท่านั้น เพราะฉะนั้น คนสมัยนี้จึงกลายเป็นคนซึ่งแทนที่จะมีช่องทางที่จะมีความสุขมากขึ้น กลับมีความสุขและช่องทางที่จะมีความสุขน้อยลง

แต่ถ้าเขาไม่ลืมฐานเดิมและรู้จักรักษาแหล่งทุนเดิมแห่งความสุขทั้ง ๓ อย่างไว้ได้ จะไม่เป็นปัญหาเลย เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้น

ได้บอกแล้วว่า เวลานี้มนุษย์ได้แปลกแยกไปแล้ว จากธรรมชาติ จากเพื่อนมนุษย์ และจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้นเขาจึงอยู่ในภาวะบีบคั้น ที่ทำให้ยิ่งต้องเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งบริโภคเพียงอย่างเดียว เมื่อใดสิ่งเหล่านั้นหมดความหมาย เมื่อนั้นชีวิตก็หมดความหมายด้วย และเมื่อเบื่อหน่ายวัตถุเสพ หรือผิดหวังกับมันแล้ว เขาก็ไม่รู้จะหันไปไหน เพราะทุนเดิม ๓ ด้านแห่งความสุขนั้น เขาก็แปลกแยกไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น มันจึงไม่เป็นของแปลกเลยที่ว่าในสังคมที่เจริญแล้ว สถิติคนฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น

คนสมัยก่อน มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย มีวัตถุเสพบริโภคน้อย ความสุขของเขาก็อยู่กับทุนพื้นฐาน ๓ อย่าง ที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นส่วนใหญ่ สุขจากวัตถุเสพบริโภคที่มีเป็นครั้งคราว จะมาเสริมเติมสุขเป็นกรณีพิเศษ และเขาก็จะรู้สึกพิเศษจริงๆ คือนานๆ ครั้ง และสุขมากๆ เวลานอกนั้นเขาก็อยู่กับแหล่งความสุขพื้นฐาน ๓ อย่างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของตัวชีวิตของเขาเองแท้ๆ

แม้บางครั้ง บางคนจะเกิดความแปลกแยกจากสิ่งเหล่านี้บางอย่าง เช่น บางคนเข้ากับใครไม่ได้ แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ไปหมด เขาก็มีทางชดเชยด้วยการหันไปอยู่กับธรรมชาติ และหรือกับกิจกรรมแห่งชีวิตของตัวเองมากขึ้น ต่างกับคนยุคปัจจุบันจำนวนมากที่หวังความสุขจากสิ่งเสพบริโภคอย่างเดียว พอช่องทางนี้ตัน ก็หมดทางออก ไม่มีทางไป และก็อาจจะตายดีกว่า

สังคมใดเจริญด้วยอารยธรรมปัจจุบันมากขึ้น สังคมนั้นจะมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น

สภาวะนี้แทบจะเป็นสูตรเลย สังคมอเมริกันปัจจุบันมีความพรั่งพร้อมมาก คนก็ฆ่าตัวตายมากขึ้น และไม่ใช่เท่านั้น แต่มันกลายเป็นว่าคนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมากขึ้น วัยรุ่นฆ่าตัวตายมากขึ้น เพราะเวลานี้มนุษย์ที่เรียกตัวว่าเจริญแล้ว เอาความหมายของชีวิตไปฝากไว้กับวัตถุเสพบริโภคเพียงอย่างเดียว

คนสมัยนี้เรียนเพื่ออะไร? ทำงานเพื่ออะไร? ทุกอย่างเพื่อสิ่งเดียวเท่านั้น คือ เพื่อการมีเงินทองที่จะหาวัตถุบริโภคและสิ่งเสพบำรุงบำเรอความสุขให้พรั่งพร้อม พอสิ่งเหล่านี้หมดความหมาย หรือตนเองผิดหวัง ก็จบ ชีวิตก็หมดความหมายไปด้วย

คนสมัยก่อนมีวัตถุเสพน้อย ความสุขของเขาอยู่ที่ธรรมชาติแวดล้อม อยู่ที่เพื่อนมนุษย์ อยู่ที่กิจกรรมของชีวิต ชีวิตของเขาแต่ละขณะ นานๆ จะได้เสพวัตถุบริโภคหรือสิ่งปรนเปรอแปลกๆ พิเศษสักที ความสุขของเขาจึงขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคน้อยเหลือเกิน และถ้าเขาไม่ได้เสพบริโภค จะผิดหวังบ้าง ก็ไม่เป็นไร มันก็ไม่แปลก ไม่หนักนาสาหัส ไม่ร้ายแรงอะไร คนสมัยก่อนจะไม่ฆ่าตัวตาย เพราะสาเหตุเหมือนคนสมัยปัจจุบัน

แต่คนปัจจุบันนี้ หมดช่องทางที่จะมีความสุขจากแหล่งทุนพื้นฐานทั้งสามนั้น ก็เหลือช่องทางเดียว ช่องทางนี้หมดความหมายเมื่อไร ชีวิตก็หมดความหมายอย่างที่ว่าแล้ว ฉะนั้นจึงมองเห็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนหนุ่มสาวจึงฆ่าตัวตายมาก เช่น อย่างสังคมอเมริกันที่พัฒนาแล้วชั้นนำ ต้องแปลกใจตัวเองว่า ทำไมสังคมเจริญมั่งคั่งพรั่งพร้อม สะดวกสบายทุกอย่าง แล้วคนหนุ่มสาวซึ่งกำลังมีชีวิตแข็งแรงสดใส จึงมาฆ่าตัวตาย

เวลานี้การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากในระยะ ๓๐ ปี ช่วง ค.ศ. ๑๙๕๐ - ๘๐ วัยรุ่นอเมริกันฆ่าตัวตายสถิติเพิ่มขึ้น ๓ เท่า คือ ๓๐๐% จนกระทั่งการฆ่าตัวตายกลายมาเป็นสาเหตุแห่งการตายอันดับ ๓ ของหนุ่มสาวอเมริกันปัจจุบัน แต่สมาคมสุขภาพจิตของอเมริกาเองบอกว่าเป็นอันดับ ๒ ไม่ใช่ ๓ สถิติหนึ่งบอกว่าเป็นอันดับ ๓ สาเหตุที่ ๑ คือ อุบัติเหตุ สาเหตุที่ ๒ คือ ฆ่ากันตาย สาเหตุที่ ๓ คือ ฆ่าตัวตาย แต่สมาคมสุขภาพจิตแห่งชาติของอเมริกาบอกว่าเป็นอันดับ ๒ ไม่ใช่ ๓

สถิติหนึ่งบอกว่าเป็นอันดับ ๓ สาเหตุที่​ ๑ คือ อุบัติเหตุ สาเหตุที่ ๒ คือ ฆ่ากันตาย สาเหตุที่ ๓ คือ ฆ่าตัวตาย แต่สมาคมสุขภาพจิตแห่งชาติอเมริกาบอกว่า อันดับที่ ๑ คือ อุบัติเหตุ อันดับที่ ๒ ฆ่าตัวตาย แล้วอันดับ ๓ จึงฆ่ากันตาย

น่าสังเกตว่า คนอเมริกันฆ่าตัวตายมากกว่าฆ่ากันตาย ตรงข้ามกับสังคมไทยที่ฆ่ากันตายมากกว่าฆ่าตัวตาย แต่เวลานี้ คนไทยก็เริ่มฆ่าตัวตายมากขึ้น นับว่าเป็นแนวโน้มที่น่ากลัว ถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องด้วยการพัฒนาอย่างถูกทาง ต่อไปสังคมไทยจะยิ่งแย่

แต่พูดได้ว่า นี่คือการที่คนสูญเสียความสุขที่เป็นทุนพื้นฐาน ๓ ประการ จากการเกิดความแปลกแยก ทวนอีกครั้งหนึ่งว่า แปลกแยกจาก

๑. ธรรมชาติ

๒. เพื่อนมนุษย์

๓. กิจกรรมของชีวิต

งานจะเสียฐาน ถ้าคนเสียต้นทุนแห่งความสุข ๓ ประการ
ธรรมเป็นแกนประสานให้ทุกอย่างลงตัวบังเกิดผลดีทุกประการ

ข้อที่ร้ายมากขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับงาน ก็คือ มนุษย์กำลังแปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง

เมื่อเราทำงานโดยไม่ได้ต้องการผลของงานนั้น ก็คือเราแปลกแยกจากการกระทำของตนเอง เมื่อแปลกแยกแล้วการทำงานก็เป็นทุกข์ตลอดเวลา จะสุขก็ต่อเมื่อได้วัตถุเสพหรือได้เงินมา ก็รอไปสิ ความสุขมีอยู่ตอนได้เงินเท่านั้น เวลานอกนั้นเป็นความทุกข์ตลอดทั้งหมด นี่คือปัญหาของมนุษย์ยุคปัจจุบัน

ต้องเอาทุนพื้นฐานของความสุขไว้ รักษาไว้ให้ได้ แล้วเอาความสุขจากสิ่งเสพบริโภค รวมทั้งเทคโนโลยีมาเสริมมาเติม ให้ส่วนเสริมเป็นส่วนเสริม อย่าให้มันกลายมาเป็นส่วนฐานเป็นอันขาด ต้องรักษาฐานที่แท้ไว้ เอาไว้เป็นแกน

เมื่อเราทำได้เราก็ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ มนุษย์ยุคนี้ก็จะกลายเป็นผู้ประเสริฐจริง คือ เป็นผู้ที่นอกจากมีทุนพื้นฐานเดิมของความสุขตามธรรมชาติแล้ว ยังมีความสามารถในการประดิษฐ์ คิดค้น ปรุงแต่ง สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาเสริมเติมความสุขให้กับตัวเองได้มากขึ้นด้วย เป็นผู้ที่ได้ทั้งสุขในการทำงาน และสุขจากผลที่ได้ตามสมมติของมนุษย์คือได้เงินและได้สิ่งเสพด้วย ได้ทั้งสองอย่าง

ถ้าผู้ใดยังไม่ได้สุขจากการทำงาน ต้องรีบแก้ไข เพราะ

๑. เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตจะไม่มีความสุข เพราะไม่ได้ความสุขจากงานที่ครองเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา

๒. แสดงว่าเราแปลกแยกแล้ว จากกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง ซึ่งเป็นการเสียฐานของชีวิตแล้ว กำลังจะขาดลอยไป

เมื่อเรารักษาพื้นฐานอันนี้ไว้ได้ ด้วยการที่เราไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ คือเราต้องการผลโดยตรงของกิจกรรมของเราในการทำงาน เช่น เป็นแพทย์ก็ต้องการผลโดยตรงของการทำงานแพทย์ คือการทำให้คนไข้หายป่วย ทำให้คนไข้มีสุขภาพดี เราก็จะทำงานด้วยความตั้งใจ และมีความรักงาน

พอรักงานก็จะมีความสุขจากการทำงาน ตัวเราเองก็ได้ ใจของเราก็เป็นสุข และประโยชน์แก่สังคมก็เกิด เพราะงานนั้นเราทำด้วยความตั้งใจจริง ประโยชน์เกิดสอดคล้องกัน ทั้งประโยชน์แก่ชีวิตของตนเองและประโยชน์แก่ส่วนรวม

พอเริ่มต้นบนฐานที่ถูกต้องแล้ว ก็ยิ่งเสริมสุขเข้ามาอีก แล้วสุขที่ดีนั้นก็จะเสริมผลสำเร็จของการทำงานด้วย ต่างจากความสุขที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งพอเพิ่มสุขเข้ามา งานก็เลยเสีย

ถ้าเป็นสุขที่ถูกต้อง ยิ่งเพิ่มความสุข งานก็ยิ่งได้ด้วย ความสุขมาก็ช่วยให้งานยิ่งเดินดี นี่แหละคือธรรมะ ธรรมะจะช่วยให้ทั้งความสุขก็เพิ่ม และงานก็ยิ่งได้ผล ประโยชน์ทั้งต่อชีวิตของตนเองก็ได้ ของสังคมส่วนรวมก็เกิด สอดคล้องกันไปหมด ธรรมะทำให้ความประสานกลมกลืนกันนี้เกิดขึ้น

แต่ถ้าธรรมะไม่มา เวลาทำงานก็เป็นทุกข์ จะให้งานส่วนรวมได้ ตัวเองก็กดขี่หัวใจ ถ้าจะให้ตัวเองสุขสบาย ก็ต้องเบี่ยงบ่ายหลบงาน ได้สุขแก่ตัวฉัน แต่งานส่วนรวมเสีย และในระยะยาวชีวิตของตนเองก็เสียด้วย

สภาพชีวิตและระบบการทำงานของยุคปัจจุบัน เอื้อมากต่อการที่คนจะแปลกแยกจากการงานที่เป็นกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเอง โดยมีชีวิตที่เลื่อนลอยอยู่กับสมมติ เมื่อคนไม่ได้ความสุขจากตัวงาน บางทีก็เลยมีการจัดกิจกรรมรื่นเริงสนุกสนานขึ้นมาช่วยให้คนสดชื่นร่าเริงเป็นครั้งคราว เพื่อให้มีเรี่ยวแรงกำลังที่จะทำงาน แต่ถ้าตราบใดยังไม่ได้แก้ปัญหาให้ถึงตัวเหตุแท้ที่เป็นฐาน ก็ไม่ได้ผลจริง

ความสุขสนุกสนานจากกิจกรรมที่จัดขึ้นก็เป็นเพียงของเคลือบทาฉาบฉวยผิวเผินอยู่แค่เปลือกนอก ไม่ได้ผลจริงจังยั่งยืน เพราะยังไม่ใช่ความสุขในตัวงาน และคนก็ยังไม่มีความสุขจากการทำงานอยู่นั่นเอง ต่อเมื่อใด การทำงานเป็นความสุข คนมีความสุขจากการทำงาน นั่นจึงจะเป็นของแท้แน่นอน และปลอดภัย เพราะประโยชน์ของคนกับประโยชน์ของงานประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว

พึงสังเกตด้วยว่า กิจกรรมสนุกสนานที่เน้นการสังสรรค์ในหมู่คนด้วยกันนี้ ไม่ว่าจะจัดขึ้นเพื่อชดเชยการขาดความสุขในการทำงานที่รู้สึกแห้งแล้งก็ตาม หรือที่มีกันมากมีกันบ่อยเกินสมควรในบางสังคม ที่คนไม่พัฒนาในด้านความสุขจากกิจกรรมแห่งชีวิตในการทำงาน (ซึ่งก็เป็นการชดเชยอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน) ก็ตาม มักจะมีลักษณะที่มากหรือหนักหรือหยาบจนกลายเป็นการมัวเมาเอาแต่ครื้นเครง หรือหมกมุ่นมั่วสุม ซึ่งไม่ควรนับว่าเป็นการมีความสุขในการอยู่กับเพื่อนมนุษย์อย่างถูกต้อง (บางทีไม่มีความสุขในบ้านในครอบครัว แต่ไปมั่วสุมกับเพื่อนข้างนอก)

ถ้าจะให้ดี ความสุขในการอยู่กับธรรมชาติแวดล้อม ในการอยู่กับเพื่อนมนุษย์ และในการอยู่กับกิจกรรมแห่งชีวิตของตนเองนั้น ทุกคนควรจะมีครบทั้งสาม และควรจะเป็นไปอย่างสมดุลพอดี ไม่ต้องให้กลายเป็นการชดเชย

เป็นอันว่า เมื่อรักษาทุนพื้นฐานไว้ได้ งานก็ไม่เสีย แต่กลับดีด้วย และสุขด้วยใจรักงาน ที่ต้องการผลโดยตรงตามเหตุของธรรมชาติ ตามกฎธรรมชาติ ไม่แปลกแยกจากงานก็ได้อีก พอฐานดีแล้ว สุขจากช่องทางพิเศษก็เป็นส่วนเสริมเติมเข้าไป

นี่แหละคือการปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมชาติของมนุษย์ที่เรียกว่าธรรม ธรรมะก็คือเรื่องของธรรมชาตินี้เอง

ธรรมชาติของมนุษย์มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เท่ากับเป็นฐานเดิมของมนุษย์ ถ้าคนทำอะไรอยู่บนฐานถูกต้องแล้ว เขาวางตัววางใจถูกต้องกับธรรมชาติ เขาดำเนินชีวิตถูกต้องแล้ว เขาก็ได้ทันที ได้ทั้งความสุขและการดำเนินชีวิตอย่างได้ผลสัมฤทธิ์อย่างดี

เมื่อเข้าถึงธรรมอย่างที่ว่านั้นแล้ว การทำงานก็กลายเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิตอย่างได้ผล และการดำเนินชีวิตอย่างได้ผล ก็หมายถึงการได้ความสุขด้วย ทั้งสองอย่างนั้นก็ไปด้วยกัน

เมื่อคนเข้าถึงความจริงแท้และทำถูกต้องก็กลายเป็นธรรมะไปเอง เมื่อคนถึงธรรม ก็ทำให้กฎธรรมชาติกับกฎสมมติของมนุษย์ประสานกลมกลืน กลายเป็นเกื้อหนุนกัน งานก็ประสานเป็นอันเดียวกับความสุข และความสุขของบุคคลก็ประสานกับประโยชน์ของสังคม ทุกอย่างลงตัวพอดีไปหมด

สูตรหนึ่งของธรรมชาติ: คนยิ่งพัฒนาตน สังคมยิ่งพ้นปัญหา

ทีนี้ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร ทางพระพุทธศาสนาบอกว่ามนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ คือไม่เหมือนสัตว์อื่น

สัตว์อื่นเกิดมาแล้ว อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันแทบไม่ต้องเรียนรู้เลย มันเรียนรู้นิดเดียวแล้วมันก็อยู่ได้ อย่างวัวนี่ พอมันเกิดออกมาจากท้องแม่ได้ประเดี๋ยวเดียว มันก็ลุกขึ้นเดินแล้ว สัตว์ชนิดอื่นก็คล้ายกัน อย่างลูกห่านนี่ออกจากไข่เช้า บ่ายก็วิ่งตามแม่ออกมาจากเล้า ว่ายน้ำก็ได้ หากินก็ได้ สัตว์ชนิดอื่นนอกจากมนุษย์แทบทุกชนิดอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แทบไม่ต้องเรียนรู้ แทบไม่ต้องฝึกหัดอะไร

ส่วน มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าดี แต่แปลว่า แปลกจากพวก (วิ แปลว่า แปลก เศษ แปลว่า ที่เหลือ)

มนุษย์แปลกจากสัตว์ที่เหลือ คือสัตว์ทั้งหลายอื่นนอกจากมนุษย์เหล่านั้น มันไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้ มันก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่มนุษย์อยู่อย่างนั้นไม่ได้ คนเกิดมาแล้ว ลองทิ้งซิ ก็ตายแน่ ต้องมีคนเลี้ยง ปีหนึ่งยังไม่รอดเลย ต้อง ๑๐ กว่าปีจึงอยู่รอด กฎหมายเรากำหนดให้บรรลุนิติภาวะเมื่อไร นั่นแหละ แสดงว่าพอจะรู้จักรักษาตัวได้

มนุษย์ต้องได้รับการประคบประหงมกัน ๑๐ กว่าปี จึงพอจะอยู่ไปได้ นี่เรามองในแง่ที่คนอื่นเลี้ยงดู ยังไม่ได้มองดูที่ตัวเขา ระหว่างที่คนอื่นเลี้ยงดูเขา ๑๐ กว่าปีน่ะ ตัวเขาทำอะไร ตัวเขาก็เรียนรู้ฝึกฝน

ทุกอย่างที่มนุษย์ได้มาในการดำเนินชีวิตนั้น มนุษย์ไม่ได้มาเปล่าๆ มนุษย์ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดทั้งนั้น จะกิน จะนอน ก็ต้องฝึก จะยืน จะนั่ง ก็ต้องหัด จะขับถ่าย ก็ต้องหัด ต้องหัดเดินหัดพูด ผ่านเวลาไปเป็นปี หัดทั้งนั้น ทั้งฝึก ทั้งหัด ทั้งเรียนรู้ แค่จะดำเนินชีวิตให้เป็นอยู่ได้ มนุษย์ก็ไม่ได้มาง่ายๆ เปล่าๆ ยิ่งเมื่อจะดำเนินชีวิตให้เป็นอยู่ดี มนุษย์ก็จะต้องลงทุนเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนากันอย่างจริงจังอีกมากมาย นี้เป็นความพิเศษคือความแปลกพวกของมนุษย์

ตามที่ว่ามานี้ หลักพระพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คือต้องเรียนรู้ ต้องศึกษา อันนี้เป็นข้อที่แย่อันพิเศษของมนุษย์ เพราะสัตว์อื่นไม่ต้องฝึก มันก็อยู่ได้ พิเศษในแง่นี้ คือ “แย่” แต่พลิกจากที่ว่าต้องฝึก เป็นฝึกได้ ก็กลายเป็นพิเศษในแง่ดีที่ทำให้ “ยิ่ง” คือเหนือกว่าสัตว์พวกอื่นๆ ทั้งหมดนั้น

มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ฟังดูแย่ แต่พูดอีกทีว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ตอนนฟังเป็นดีไป ตอนที่ต้องฝึก หมายความว่าถ้าไม่ฝึกมันอยู่ไม่ได้ มันแย่กว่าสัตว์อื่น สัตว์อื่นไม่ต้องฝึก มันก็อยู่ได้ ทีนี้พอพลิกกลับ ก็กลายเป็นดีว่า มนุษย์นี้ฝึกได้ แต่สัตว์อื่นฝึก(แทบ)ไม่ได้ คือฝึกได้นิดหน่อย เรียนรู้ได้แค่นิดหน่อย เช่น เอาลิงมาฝึกขึ้นต้นมะพร้าว เก็บมะพร้าวให้เจ้าของ เอาช้างมาลากซุง เล่นละครสัตว์ นี่ฝึกได้นิดหน่อย แต่มันฝึกตัวเองไม่ได้ มนุษย์ต้องฝึกให้มัน

มนุษย์นี่พิเศษตรงที่ฝึกได้ สามารถฝึกตัวเอง หัดให้พิเศษ ทำอะไรต่ออะไรก็ได้ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ทำให้เกิดมีโลกมนุษย์ขึ้น มีเทคโนโลยีเจริญมากมาย จนกระทั่งมีคอมพิวเตอร์ มีดาวเทียม อันนี้เป็นความพิเศษของมนุษย์ คือความสามารถของมนุษย์ที่ฝึกได้ คือเรียนรู้ได้ ฝึกฝนได้ พัฒนาได้

ทีนี้พอมนุษย์ฝึกตัวเองแล้วคราวนี้ มนุษย์ก็เดินล้ำหน้าทิ้งสัตว์อื่นชนิดไม่เห็นฝุ่นเลย มนุษย์จึงประเสริฐตรงที่ฝึกได้นี่แหละ และฝึกตัวเองได้ เรียนรู้เองได้ และพอมนุษย์ฝึกตัว เรียนรู้แล้ว ทีนี้ไม่รู้จักจบเลย เพราะฝึกอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงมองมนุษย์ตามหลักธรรมชาตินี้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่ต้องฝึก และฝึกได้ “เมื่อฝึกแล้ว จะเลิศประเสริฐที่สุด”

มนุษย์ที่ได้เรียนรู้ฝึกศึกษาดีแล้ว จะเป็นสัตว์ที่ประเสริฐจนกระทั่งไม่มีสัตว์ใดยิ่งกว่า การที่เรามีวัฒนธรรม มีอารยธรรม มีความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ก็เพราะเรามีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา ฉะนั้นเราจึงตั้งพระพุทธเจ้าไว้เป็นแบบว่า มนุษย์ฝึกฝนตนเองได้จนกระทั่งประเสริฐอย่างที่ว่า แม้แต่เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้

นี่หมายความว่า มนุษย์นี้ฝึกได้จนกระทั่งมีปัญญารู้สัจจธรรม มีคุณธรรมสูงสุด มีเมตตากรุณาเต็มที่ มีความบริสุทธิ์ มีชีวิตที่ประเสริฐดีงามอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงควรกระตุ้นกันไว้ คอยเตือนกันว่า นี่.. เราฝึกตัวได้นะ เราจะต้องพัฒนาตัวเองขึ้นให้มีความสมบูรณ์เป็นชีวิตที่ดีงามสูงสุด โดยนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นหลักเตือนใจ ถ้าเราระลึกถึงความจริงของธรรมชาติข้อนี้ไว้ เราจะเกิดจิตสำนึกในการศึกษา หรือจิตสำนึกในการฝึกตน

ที่ว่าเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนานั้น ตัวศัพท์ ก็คือ สิกขาหรือศึกษา นั่นเอง เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องตระหนักในความจริงที่ว่า ชีวิตของเรานี้ ที่จะดีได้นั้น มันมิใช่เป็นไปเองได้เปล่าๆ เราต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก ต้องหัด ต้องพัฒนา ถ้าใครเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตัวเองไม่หยุด เขาจะมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐสูงสุด เราต้องสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมา เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถานการณ์ต่างๆ ด้วยจิตสำนึกนี้ คือด้วยท่าทีของการศึกษาเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เราจะมีการดำเนินชีวิตที่ดีงามก้าวหน้า และมีความสุขด้วย

จิตสำนึกในการศึกษาก็คือ จิตสำนึกในการฝึกฝนพัฒนาตน โดยตระหนักว่า ชีวิตของเราจะดีได้ เราต้องฝึก เมื่อเจอสถานการณ์ หรือประสบการณ์ต่างๆ เราจะมองเป็นโอกาสในการฝึก ส่วนคนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน หรือไม่มีจิตสำนึกในการศึกษา พอเจออะไรก็นึกถึงแต่ความง่ายสะดวกสบายอย่างเดียว ต้องการเสพ คิดแต่จะบริโภค คิดแต่ว่าจะต้องได้มันมาบำรุงบำเรอฉัน พอไม่ได้ก็ทุกข์ พอเจออะไรต้องทำ ก็ฝืนใจ พอเจออะไรยากหน่อย ก็ถอย เกิดความทุกข์ทันที

มนุษย์อยู่ได้หรือโดยไม่ทำอะไร เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องทำ แต่พอจะต้องทำอะไร คนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตน พอเจอปั๊บ ก็ถอย เอาอีกแล้ว จะต้องทำอีกแล้ว พอจะต้องทำ ก็ใจไม่ดี เกิดความทุกข์ พอเกิดความทุกข์ ก็ไม่เต็มใจทำ เมื่อไม่ตั้งใจทำ ก็ไม่ได้ผลดี อย่างที่บอกแล้วว่า “งานก็ไม่ได้ผล คนก็เป็นทุกข์”

ทีนี้พอมีจิตสำนึกในการศึกษา คือจิตสำนึกในการฝึกตน ก็ถือว่าการเจอสถานการณ์อะไรที่เราจะต้องทำ ก็คือโอกาสที่เราจะได้ฝึกตนเอง เมื่อได้ฝึกตนเอง เราก็จะเก่ง จะกล้า จะสามารถยิ่งขึ้น พอเจอปัญหา ก็คือโอกาสที่เราจะพัฒนา เมื่อเราสู้ปัญหา พยายามคิดแก้ปัญหา เราก็ได้ปัญญา เราก็พัฒนา แต่ถ้าเราไม่เจอปัญหา ไม่เจออะไรที่จะต้องทำ เราจะพัฒนาได้อย่างไร เราก็อยู่เท่าเดิม ดังนั้น คนที่จะเจริญพัฒนา จึงต้องมีสิ่งที่ต้องเผชิญ ต้องทำ ต้องแก้ไข เช่นเจอปัญหาเป็นต้น คนไหนเจอปัญหาแล้วสู้ ก็จะพัฒนาตนเอง แล้วก็จะทำสำเร็จ

ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่เจอนั้น ถ้ามันง่าย เราก็ได้ฝึกตัวน้อย แต่ถ้ามันยาก เราก็ได้ฝึกตัวเองมาก งานง่าย เราได้ฝึกตัวเองนิดเดียว แต่ถ้างานยาก เราก็ได้ฝึกตัวเองมาก กว่างานยากจะสำเร็จ เราก็เก่งขึ้นมาก เราจะก้าวไปได้อีกไกล เพราะฉะนั้น คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน จึงชอบงานยาก

จิตสำนึกนี้เป็นตัววางท่าทีของจิตใจ มันเปลี่ยนความรู้สึกของคนได้ พอเจองานปุ๊บ ก็ดีใจ คิดว่าดีจังนี่ ฉันจะได้ฝึกตัว ถ้าไม่เจองานนี้ ฉันจะพัฒนาได้อย่างไร พอเจองานยาก ยิ่งชอบใหญ่ว่า ฉันจะได้ฝึกตัวเองมาก ต่อไปงานง่ายไม่เอา คนประเภทนี้ ชอบแต่งานยาก

พอมีงานให้เลือก งานง่ายกับงานยาก คนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตน ฝึกมาเรื่อย จะปรี่เข้าหางานยากเลย บอกว่า แหม.. ชอบใจจัง ฉันจะฝึกตัวได้มากๆ ทีนี้ก็มีแต่ได้

๑. สุขภาพจิตดี เต็มใจทำ ดีใจ มีความสุข

๒. ตั้งใจทำ ก็เลยทำได้ผลดียิ่งขึ้นไปๆ

นี่คือ งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัว นี่แหละ ที่ท่านบอกไว้ ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ คือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสร้างจิตสำนึกในการฝึกตนขึ้นมา

ต่อไปนี้ เจองานยากเมื่อไหร่ เราไม่กลัว พอเจอปัญหา ก็ชอบใจ เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกปัญญา

ปัญหานั้นตรงข้ามกับปัญญา แค่เปลี่ยนตัวอักษรตัวเดียวเท่านั้น ปัญหาก็เปลี่ยนเป็นปัญญาทันที เพราะฉะนั้น ถ้าเจอปัญหา เราต้องเปลี่ยนมันให้เป็นปัญญา พอเจอปัญหา เราบอกว่านี่คือเวทีพัฒนาปัญญา พอเราสู้ปัญหา เราก็เริ่มคิดหาทางแก้ไข ปัญญาของเราก็เจริญพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ พอปัญญามา ปัญหาก็หมด ก็เลยเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา

เพราะฉะนั้นสูตรของผู้มีจิตสำนึกในการฝึกตน จึงมีว่า

๑. ยิ่งยากยิ่งได้มาก เพราะฉะนั้น จึงชอบใจนักเรื่องงานยาก

๒. เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา

ถ้าใช้สูตรนี้ ก็มีความสุขได้เรื่อยๆ พร้อมกับที่ตัวคนก็พัฒนา และงานการก็ก้าวหน้าได้ผลดี ยิ่งขึ้นไปๆ

มองวัตถุเสพเป็นจุดหมาย การทำงานก็กลายเป็นความทุกข์
มองวัตถุเสพเป็นปัจจัย งานยิ่งได้ผล คนยิ่งเป็นสุข

มนุษย์ที่ไม่ได้ฝึกจิตสำนึกในการฝึกตนไว้ เมื่อมาอยู่ในโลกแห่งอารยธรรมที่มีเทคโนโลยีพรั่งพร้อม ก็มองเทคโนโลยีในความหมายว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองสะดวกสบาย จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มนุษย์ที่มองอย่างนี้คิดผิด เขามองเป็นว่า ฉันมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ฉันจะได้ไม่ต้องทำอะไร นี้คือการมองวัตถุ หรือมองเทคโนโลยี ชนิดที่เรียกว่า มองเชิงเสพ หมายความว่า มองมันเป็นเครื่องปรนเปรอความสุขของเรา

ถ้ามนุษย์มองอย่างนี้ อุปกรณ์เทคโนโลยีหรือวัตถุเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นจุดหมาย หมายความว่า การเดินทางของมนุษย์จบที่นั่น พอมนุษย์ไปเจอมันแล้ว ได้เสพมัน ได้บริโภคมัน มีความสุข ก็จบ ก็ตันเลย มนุษย์พวกนี้จะอ่อนแอลงทุกที เพราะว่าต่อไป สิ่งที่เคยต้องทำ ก็ไม่ต้องทำ เขาจะมีความสุขจากการไม่ต้องทำ ถ้าเกิดจะต้องทำอะไร ก็ทุกข์ทันที แล้วมนุษย์พวกนี้ก็จะมีลักษณะที่เรียกว่า “ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก”

เด็กสมัยนี้ เกิดมาท่ามกลางความพรั่งพร้อม ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะมีลักษณะที่ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก ซึ่งเป็นที่มาของการฆ่าตัวตายง่ายอย่างหนึ่งด้วย เรื่องนี้ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ตามธรรมดานี่แหละ

อธิบายอย่างง่ายๆ ว่า มนุษย์เรานี้ เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบไหน มีการดำเนินชีวิตอย่างไร สภาพเช่นนั้นก็จะเป็นปกติของเขา

ขอให้ดูเถิด เด็กสมัยก่อนเกิดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีเทคโนโลยีน้อย ไม่มีเครื่องปรนเปรอความสะดวกสบาย การดำเนินชีวิตของเขา เมื่อเทียบกับปัจจุบัน คนสมัยนี้มองว่ายากลำบาก แต่ชีวิตอย่างนั้นก็เป็นปกติของเขา เช่น เด็กสมัยก่อนนั้นต้องตื่นแต่เช้า ตักน้ำ หิ้วน้ำ ซาวข้าว เช็ดข้าว ช่วยพ่อแม่ทำงาน อันนั้นก็เป็นปกติธรรมดาในชีวิตของเขา แต่เด็กสมัยนี้ไม่ต้องทำงานอย่างนั้น เพราะมีไฟฟ้า มีน้ำขวด น้ำประปา มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้แทน อันนี้ก็เป็นปกติธรรมดาในชีวิตของเด็กสมัยปัจจุบัน

ทีนี้ เด็กสมัยนี้ ที่มีชีวิตแบบใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ก็เป็นปกติธรรมดาของเขาอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าวันไหนไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เขาจะต้องไปเก็บผัก หักฟืน หุงข้าว อย่างเด็กสมัยก่อน จะเป็นอย่างไร เด็กสมัยนี้ก็จะรู้สึกว่าเป็นทุกข์แทบตายเลยใช่ไหม ทั้งๆ ที่การทำอย่างนั้น สำหรับเด็กสมัยก่อน เป็นเรื่องธรรมดามาก

นี่แหละ ถ้าไม่ระวังให้ดี ถ้าไม่ฝึกเด็กพัฒนาเด็กให้ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่จะลำบาก เด็กจะเกิดสภาพที่ ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก คือ ความพรั่งพร้อมอย่างนี้เป็นภาวะปกติของเขา เมื่อเป็นปกติ เขาก็รู้สึกธรรมดา ไม่ได้เป็นสุขอะไรชัดขึ้นมา แต่พอขาดอะไรนิดหน่อย เขาก็ทุกข์ทันที แม้แต่ต้องทำอะไรนิดหน่อย ก็ทุกข์ เพราะเคยพรั่งพร้อมจนไม่ต้องทำอะไร เมื่อต้องทำอะไรนิดหน่อย จึงกลายเป็นทุกข์ไป ไม่ได้อะไรอย่างใจนิดหน่อย ก็ทุกข์ หันไปเจออะไรต้องทำ ก็ทุกข์ จึงทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก และเต็มไปด้วยทุกข์ เพราะพรั่งพร้อมเสียแล้ว มันเต็มไปหมดแล้ว จะเติมความสุขให้ ก็ไม่มีที่จะเติม

หัสไปดูเด็กสมัยก่อนโน้น ซึ่งอยู่ในสภาพที่เด็กสมัยนี้ มองเทียบกับตัวด้วยสายตาว่า โอ้โฮ! เด็กสมัยโบราณนั้นช่างทุกข์ยากลำบากเหลือเกิน แต่เด็กสมัยนั้นเขาก็เป็นปกติของเขาอย่างนั้น ทีนี้ในสภาพชีวิตอย่างนั้น ถ้าเขาได้อะไรมาเติมความสุขให้นิดหน่อย ช่วยให้ง่าย ทำให้เขาสะดวก เขาจะสุขมาก และเมื่อเขาเจออะไรต้องทำ สิ่งที่ต้องทำใหม่นั้น อาจจะยากหรือต้องเหนื่อยน้อยกว่าสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว เขาก็สบาย ไม่รู้สึกยากลำบากอะไร เขาก็ไม่ค่อยทุกข์ ต่างจากเด็กสมัยนี้ที่ว่า ถ้าไปเจออะไรต้องทำ จะทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก เด็กสมัยก่อนนั้นก็จึงสุขได้ง่าย ทุกข์ได้ยากกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราฝึกเด็กเป็น ก็ไม่เป็นไร เด็กจะมองวัตถุอุปกรณ์เทคโนโลยีในความหมายใหม่ ไม่ใช่มองเชิงเสพ และไม่มองเป็นจุดหมาย แต่จะมองอย่างที่ทางพระเรียกว่า มองเป็นปัจจัย ตรงตามชื่อของมัน

ทางพระท่านให้ศัพท์ไว้แล้วว่า วัตถุทั้งหลาย ตั้งแต่ข้าวปลาอาหาร เป็นต้นไปนั้น เรียกว่า เป็นปัจจัย ทั้งนั้น วัตถุเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุน เป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่มีความหมายเป็นเครื่องเกื้อหนุน หมายความว่า มันช่วยให้เราเข้าถึงจุดหมายที่ดีงามสูงขึ้นไปอีก ไม่ใช่จบแค่นั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเทคโนโลยีมา คนที่มองเชิงปัจจัย ก็บอกว่า อ้อ! มันมาเป็นเครื่องช่วยให้เราเข้าถึงจุดหมายที่สูงขึ้นไป

เรายังต้องการทำอะไรต่อไปอีก เราไม่ใช่แค่ต้องการเสพบริโภค วัตถุเหล่านี้มิใช่เป็นจุดหมาย ไม่ใช่จบแค่นี้ เรายังต้องการทำสิ่งที่ดีกว่านั้น แต่เราทำได้ยาก พอมีเทคโนโลยีมา มันก็ช่วยให้เราทำได้ง่ายขึ้น พอเรามองเชิงปัจจัย วัตถุและเทคโนโลยีพวกนี้ก็มาช่วยให้เราทำได้ดีได้มากยิ่งขึ้น เพราะเราต้องการทำอยู่แล้ว

การที่มองอย่างนี้ เป็นการได้ความหมายที่ถูกต้องทั้งสองชั้น คือ ขั้นต้น เทคโนโลยีเองก็มีความหมายในเชิงช่วยให้เราทำได้มากยิ่งขึ้น ทำได้ดียิ่งขึ้น และทำได้ยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่เป็นเครื่องมาทำแทนเรา แล้วเราจะได้ไม่ต้องทำ เรายังมีจุดหมายสูงไกลที่จะก้าวให้ถึงต่อไปอีก ไม่ใช่จบแค่นี้

พร้อมกันนั้น ขั้นต่อไป ในแง่ความสุข ความสุขของเราเกิดจากการทำ ไม่ใช่แค่ความสุขที่ได้จากการเสพ เมื่อวัตถุอุปกรณ์เทคโนโลยีมาช่วยเป็นปัจจัยในการที่เราจะทำงานเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการนั้นดียิ่งขึ้น เราก็ยิ่งชอบใหญ่ เราก็เลยได้ความสุขสองชั้น เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่พัฒนาตนถูกต้อง จะมีความสุขที่ไม่ติดจมอยู่แค่การเสพบริโภค แต่จะก้าวหน้าไปพร้อมด้วยความสุขจากการกระทำ

ในทางตรงข้าม ถ้ามนุษย์มาหลงเพลินอยู่กับความสุขจากการเสพบริโภค นั่นก็คือ ความติดตันของชีวิต พร้อมทั้งความอับจนแห่งอารยธรรมของมนุษย์ด้วย หมายความว่า อารยธรรมกำลังจะจบแค่นี้

มนุษย์ยุคนี้กำลังเข้าใจผิด คิดว่าความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุเสพบริโภค คือจุดหมาย มนุษย์คิดว่าถ้าพวกตนบรรลุความพรั่งพร้อมแห่งวัตถุเสพบริโภค ก็คือการได้ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตและสังคมที่สมบูรณ์ นึกว่าอย่างนั้น แต่ที่จริงไม่ใช่ เขาจะต้องมองว่าวัตถุเหล่านี้เป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุน คือเป็นปัจจัยช่วยให้เราก้าวสู่จุดหมายที่ดีที่สูงยิ่งขึ้นไป ถ้ามองอย่างนี้ เขาจะไม่เกิดทุกข์จากสิ่งเหล่านั้น แต่จะทำให้ได้ความสุขจากพวกมัน และความสุขแท้จริงที่เราจะได้ ก็ยังจะมีต่อไป เมื่อไม่มองเชิงเสพ แต่มองเชิงเป็นปัจจัยแล้ว ความสุขก็จะเกิด ไม่ใช่จากการเสพเท่านั้น แต่จะเกิดจากการเรียนรู้และการกระทำด้วย

มนุษย์ที่พัฒนาถูกต้อง จะมีความสุขจากการเรียนรู้ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ว่า พอมองอะไร เจออะไร รู้สึกว่าได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตนเอง ก็มีความสุขในการได้ฝึกตน แล้วก็สุขจากการได้สนองความต้องการที่จะทำ คือได้ทำโน่น ทำนี่ ก็มีความสุข เพราะฉะนั้นมนุษย์พวกนี้จึงไม่ติดตัน ไม่มีปัญหา เขาไม่ได้แปลกแยกจากธรรมชาติ

เพราะฉะนั้นเราจึงมีทางที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น พร้อมกับมีความสุขยิ่งขึ้นด้วย และความสุขนั้นก็จะยิ่งเกื้อหนุนการทำงาน คนที่มีความสุขอย่างนี้ เป็นความสุขในการทำงาน และความสุขในการเรียนรู้ ก็ทำให้ยิ่งเรียนรู้ และยิ่งทำงานทำหน้าที่กันใหญ่ เพราะฉะนั้นก็จึงยิ่งได้ผล มันจึงดีทั้งแก่ชีวิต และดีแก่สังคม เป็นอันว่ากลมกลืนกันไป นี่ว่าไว้เป็นตัวอย่าง

ถ้าพัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาเสพ
จะต้องสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข

ยังมีวิธีฝึกยิ่งกว่านั้นอีก เพื่อให้ความสุขกลมกลืนกับชีวิตที่ดีงามและการงานด้วย ขอพูดอีกตัวอย่างหนึ่ง

เมื่อกี้บอกแล้วว่า ถ้าเราไม่ฝึกคนให้ดี มนุษย์จะมีชีวิตที่ฝากความสุขไว้กับสิ่งเสพภายนอกมากขึ้นทุกที เมื่อเราฝากความสุขไว้กับสิ่งเสพ เราก็มุ่งหมายว่า ถ้าได้สิ่งเสพมากขึ้น เราก็จะสุขมากขึ้น ทีนี้เราก็ตามหาความสุข เราก็เอาความสุขของเราไปฝากไว้กับวัตถุนอกตัว ความสุขของเราจะเริ่มออกไปอยู่ข้างนอก แล้วในตัวเราก็จะเริ่มหมดความสุข วิธีการนี้จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่เสียดุล

มนุษย์ซึ่งเป็นอย่างที่ว่านั้น จะหลงตัวเอง จะมีการพัฒนาความสามารถขึ้นมาด้านหนึ่ง คือพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข เพราะเขาเชื่อว่าความสุขอยู่ที่สิ่งเสพภายนอก เขาจึงคิดว่าทำอย่างไรเขาจะมีสิ่งเสพเหล่านั้นให้มากที่สุด

เมื่อคิดเมื่อเชื่ออย่างนี้ เขาก็ต้องหาให้มาก และเพื่อจะหาให้ได้มาก เขาก็ต้องพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพ คราวนี้แหละ คนก็พัฒนาความสามารถในการหาสิ่งเสพบำเรอความสุขกันใหญ่ แม้แต่การศึกษาก็จะมีความหมายว่า คือ การพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข เพราะเขาเชื่อว่า ยิ่งได้มาก ก็ยิ่งสุขมาก และยิ่งเสพมาก ก็ยิ่งสุขมาก กลายเป็นคติว่า “เสพมากที่สุด สุขมากที่สุด”

ถึงตอนนี้ก็จะเกิดปัญหาขึ้นอย่างหนึ่งโดยไม่รู้ตัว คือมนุษย์นั้นมีศักยภาพที่เกี่ยวกับความสุขอยู่ ๒ ด้าน ด้านหนึ่ง คือ การได้เสพวัตถุภายนอกแล้วก็สุข อีกด้านหนึ่ง คือ มนุษย์มีความสามารถอยู่ในตัวที่จะมีความสุข เมื่อมนุษย์ฝากความสุขไว้กับสิ่งเสพภายนอกมากขึ้น ความสุขของเขาก็ยิ่งขึ้นกับสิ่งเสพภายนอกมากขึ้น เมื่อความสุขขึ้นต่อสิ่งเสพภายนอกมากขึ้น โดยไม่รู้ตัวภายใน เขาก็ค่อยๆ สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขลงไป แล้วเขาก็จะซ้ำเติมตัวเองด้วยลักษณะที่กลายเป็นคนที่สุขได้ยากยิ่งขึ้น ยิ่งอยู่ในโลกนานไป ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้นๆ

ถ้าใครเก่งจริง เป็นคนพัฒนาจริง จะต้องเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น ยิ่งอยู่ในโลกนานไป เขาก็ต้องเป็นคนที่ยิ่งสุขได้ง่ายขึ้น อย่างนี้จึงจะเก่ง ถ้าเป็นคนที่สุขได้ยากจะเรียกว่าเก่งได้อย่างไร?

แต่ปรากฏว่า มนุษย์ยุคนี้ ยิ่งเติบโตขึ้น ก็ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น นี่เป็นเพราะอะไร? เพราะเขาพัฒนาความสามารถด้านเดียวจนเสียดุล คือ พัฒนาแต่ความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่พร้อมกันนั้น ในตัวก็สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข เสื่อมถอยด้อยลงไป

การศึกษาที่ถูกต้อง จะต้องพัฒนาทั้งสองด้านคู่เคียงกันไป คือพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขด้วย เมื่อพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ข้างในก็สุขง่ายขึ้น เก่งในการที่จะมีความสุขได้ง่าย พร้อมกันนั้น ด้านนอกพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ก็หาสิ่งเสพได้มากขึ้นด้วย คราวนี้คนก็จะมีความสุขสองชั้นทวีคูณเลย คือข้างในก็สุขง่าย ข้างนอกก็ได้เสพมากขึ้น จึงสุขเต็มที่

คนที่พัฒนาอย่างนี้ จะได้ความสุขเต็มที่จากสิ่งที่หาได้มา จนกระทั่งว่าสิ่งที่หามาได้นั้น เกินจำเป็นสำหรับจะทำให้ตนเองมีความสุข เมื่อมันเกินจำเป็นที่จะทำให้ตนเองมีความสุข ก็เอาสิ่งที่เกินจำเป็นนั้นไปเฉลี่ยเจือจานให้กับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งกลับดีเพิ่มขึ้นอีก ตัวเองก็สุขเต็มที่ แล้วยังแถมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อีกด้วย ยิ่งข้างในสุขง่ายมากขึ้น ปริมาณวัตถุเสพภายนอกที่จะทำให้สุขสำหรับตนเอง ก็ยิ่งต้องการน้อยลง ก็จึงยิ่งช่วยคนอื่นได้มากขึ้น

ในทางตรงข้าม มนุษย์ที่พัฒนาด้านเดียว แม้จะพัฒนาความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้มากจริง แต่ข้างในเขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขลงไป เพราะฉะนั้นถึงแม้จะได้มามากขึ้น เขาก็จะสุขเท่าเดิม

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนผู้หนึ่งเคยหวังไว้ว่า ถ้าเมื่อไรฉันมีเงินเดือนหมื่นบาท เมื่อนั้นฉันจะมีความสุขเหลือล้นเต็มที่เลย เรียกว่าฉันจะบรรลุจุดหมายของชีวิตทีเดียวละ แล้วแกก็หวังไป แกก็พัฒนาความสามารถด้านที่จะหาเงินทองสิ่งเสพนี้ ต่อมาแกก็ได้เงินเดือนหมื่นจริงๆ ตอนได้ครั้งแรก แกสุขจริงๆ สุขเหลือล้น มันสมหวังสมใจเต็มที่ แต่ต่อมาแกก็ชิน พอชินแล้วก็กลายเป็นธรรมดาๆ

ต่อมา แกก็หวังใหม่อีกว่า คราวนี้ถ้าได้เงินเดือน ๕ หมื่นบาท แล้วแกจะมีความสุขจริงๆ คืนวันผ่านไป แกก็พัฒนาความสามารถที่จะหา จนทำให้ได้เงินเดือน ๕ หมื่นบาทจริงๆ พอได้ ๕ หมื่นบาท ตอนได้ แกสุขมาก ต่อมาแกก็ชินอีก แต่ที่แย่มากก็คือ เกิดเดือนไหนแกได้หมื่นบาท แกเป็นทุกข์ทันทีเลย ทั้งที่แต่ก่อนนั้น แกได้หมื่นบาท แกเคยสุขเต็มที่ สุขเหลือล้นเลย แต่ตอนนี้ถ้าได้หมื่นบาท แกทุกข์หนัก ทุกข์อย่างสาหัสเลย และเชื่อไหม? ตอนได้ ๕ หมื่นบาทคราวนี้ แกก็ไม่สุขมากเท่าตอนได้หมื่นบาทคราวแรก

ได้ ๕ หมื่นบาทแล้ว ก็หวังแสน พอได้แสน ก็สุข แต่ก็ไม่มากเท่าตอนได้หมื่นครั้งแรก ทีนี้พอได้แสนแล้ว เดือนไหนได้ ๕ หมื่น ก็ทุกข์อีก เพราะฉะนั้น สุขแบบนี้จึงต้องเติมปริมาณและเพิ่มดีกรีขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะที่พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพภายนอกได้มากขึ้น ภายในความสามารถที่จะมีความสุขก็ลดน้อยลงไป แล้วแกก็จะบวก ๑ ลบ ๑ เรื่อยไป จนกระทั่งเมื่อแกไม่พัฒนาความสามารถภายในที่จะมีความสุขขึ้นมาเลย ในที่สุดแกก็จะหมดความสามารถที่จะมีความสุข แล้วทีนี้วัตถุเท่าไรๆ ก็ไม่สามารถทำให้แกมีความสุขได้อีกเลย เพราะฉะนั้น คนอย่างนี้จึงลำบากมาก

คนที่พัฒนาถูกต้องนั้น เขาจะพัฒนา ๒ ด้านพร้อมกัน ด้านนอก ก็พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข และ ด้านใน ก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ก็เป็นคนสุขได้ง่าย ความสุขไม่ไปฝากไว้กับสิ่งเสพภายนอก ไม่เป็นเมืองขึ้นของใครๆ หรืออะไรๆ ความสุขก็ค่อยๆ มีในตัวมากขึ้น

ส่วนคนที่พัฒนาไม่เป็น ก็เอาความสุขและชีวิตของตนไปฝากไว้กับสิ่งภายนอกหมด จนกระทั่งตัวเองสูญสิ้นอิสรภาพ คิดว่าตัวเองหาความสุขได้เก่งนัก แต่ไม่รู้ตัวว่าหมดอิสรภาพ เพราะว่าชีวิตและความสุขของตัวเอง ต้องไปขึ้นต่อสิ่งภายนอกหมด มีสุขในตัวเองไม่ได้

ธรรมมานำงาน

ต้องรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้
จึงจะพัฒนาความสุขต่อไปได้

ถ้าเป็นคนเก่งจริง เขาจะต้องรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ได้ วิธีการที่จะรักษาอิสรภาพ และทำให้คนสุขได้ง่ายขึ้นนั้นก็มีอยู่ เราก็หัดเอาสิ เช่น วิธีง่ายๆ ที่ประเพณีทำกันมา แต่เราทำกันโดยไม่เข้าใจความหมาย อย่างที่พระท่านให้รักษาศีล ๘ ก็เป็นวิธีรักษาอิสรภาพของชีวิต ที่จะทำให้มีภูมิคุ้มกันความทุกข์และพัฒนาศักยภาพที่จะมีความสุข โดยไม่ให้ความสุขต้องไปขึ้นกับวัตถุจนหมด

ศีล ๘ คืออะไร ศีล ๘ ก็เพิ่มจากศีล ๕ ศีล ๕ เป็นเรื่องของการไม่เบียดเบียนกันในสังคม ท่านบัญญัติไว้ เพราะท่านยอมรับความจริงว่า มนุษย์นั้นต้องหาวัตถุมาเสพมาบริโภค

สาระของศีล ๕ ก็คือว่า คุณจะหาวัตถุมาเท่าไร ก็หาไป แต่ขออย่างเดียว อย่าฆ่าฟันทำร้ายเขา หาเท่าไรหาไป แต่อย่าไปละเมิดกรรมสิทธิ์เอาของของคนอื่น หาเท่าไรหาไป อย่าไปละเมิดคู่ครองคนอื่น หาเท่าไรหาไป อย่าไปทำลายคนอื่นด้วยคำเท็จหลอกลวง หาเท่าไรหาไป แต่อย่าไปทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์ด้วยการเสพยาสิ่งเสพติดให้เขาไว้ใจเราไม่ได้

คนเสพยาเสพติด ขับรถมา เช่น คนขับรถเมา หรือคนขับกินยาม้า คนอื่นที่ขับรถสวนมา หรือเจ้ามาใกล้ ก็ใจไม่ดีแล้วใช่ไหม อย่างนี้เรียกว่า ทำลายความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของสังคม คนกินเหล้ามา เราเจอปั๊บ ก็ใจไม่ดีแล้ว จะเอาท่าไหน

เมื่อเจอคนเสพติดไม่มีสติครองตัว สังคมก็เสียความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย คนดื่มสุราเสพยาเสพติดจึงเป็นผู้เบียดเบียนคนอื่น ด้วยการคุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์ในสังคม

ท่านบอกว่า คุณจะหาเท่าไรก็หาไป เสพสุขอย่างไรก็เสพไป ขออย่าให้ละเมิด ๕ ข้อนี้ก็แล้วกัน เพราะถ้าละเมิด ๕ ข้อนี้แล้ว มันอยู่กันดีไม่ได้ ไม่มีทางสงบสุข แต่ถ้ารักษาศีล ๕ ข้อไว้ได้ มันก็พออยู่กันได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า คุณจะมีความสุข เพราะฉะนั้น คุณต้องฝึกต่อไป ท่านจึงให้ศีล ๘ เพิ่มมาอีก ๓ ข้อ

ศีล ๕ นั้น เกี่ยวกับคนอื่นทั้งนั้น แต่พอศีล ๘ เพิ่มเข้ามา ให้ดูเถิด ข้อที่เพิ่มเข้ามานั้นไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย เป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้น

ข้อที่ ๖ ว่า เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ เที่ยงไปแล้วไม่กิน ไม่ต้องมัวบำเรอลิ้น แล้วก็ ข้อ ๗ บอกว่าเว้นจากเรื่องการฟ้อนรำ ขับร้อง การละเล่น ดนตรี ดูฟังอะไรต่างๆ ที่เป็นการหาความสุขด้วยการบำเรอตา บำเรอหู แล้วก็ข้อ ๘ เว้นจากการเสพสุขบำเรอสัมผัสกาย ด้วยการนอนฟูกฟู หรูหรา หนานุ่ม

คนเราก็หาความสุขจากสิ่งเหล่านี้แหละ แต่ท่านบอกว่าอันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณก็จริง แต่ถ้าคุณไม่ระวัง ความสุขของคุณจะไปขึ้นต่อมัน เพราะฉะนั้น ฝึกไว้ รักษาอิสรภาพไว้ ท่านบอกว่า ๘ วัน ขอวันเดียว ศีล ๘ นี้แค่ ๗ หรือ ๘ วัน ครั้งหนึ่ง คือแล้วแต่ค่ำ-แรม ถ้าขึ้น ๘ ค่ำ ก็ ๘ วันทีหนึ่ง ถ้าขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็ ๗ วันทีหนึ่ง ๘ วันหรือ ๗ วันนี่ คุณฝึกตัวเองสักวันหนึ่ง ฝึกอย่างไร?

คุณเคยตามใจตัวเอง หรือค่อนข้างตามใจตัวเอง บำเรอลิ้นด้วยอาหาร หาความสุขจากการเสพรสอร่อยมา ๘ วัน พอวันที่ ๘ ก็ลองฝึกตัวดูบ้าง เปลี่ยนจากตามใจกิเลสมาเป็นอยู่ด้วยเหตุผลของปัญญาบ้าง ลองดูว่าชีวิตจะอยู่ดีมีความสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นกับอาหารที่ตามใจลิ้นได้ไหม หมายความว่าเคยกินเอารสอร่อยเป็นหลักมาเรื่อย คราวนี้เปลี่ยนเป็นกินเอาสุขภาพ หรือเอาคุณภาพชีวิตเป็นหลักบ้าง กินเพื่อสุขภาพ เอาแค่อาหารพอหล่อเลี้ยงร่างกาย ก็หยุด! ต่อจากนี้ลองไม่ตามใจลิ้นนะ

ในทางตาทางหู ก็เช่นเดียวกัน เคยต้องคอยดูคอยฟังอะไรที่บำเรอตา บำเรอหู มา ๗ วัน ก็มาฝึกที่ไม่ต้องตามใจมัน งดเสียบ้าง เอาเวลาที่จะตามใจคอยบำเรอ ตา หู นั้น ไปใช้ทางอื่น เช่นไปพัฒนาจิตใจ หรือไปบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ไปทำความดีสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม ทำการทำงานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ หรือเคยนอนตามใจตนเอง ต้องใช้ที่นอนฟูกฟู หรูหรา พอวันที่ ๘ ก็นอนพื้น นอนเสื่อ นอนกระดานสักวัน ลองดูซิว่าเราจะอยู่สุขสบาย มีชีวิตที่ดีได้ไหม โดยไม่ต้องเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้

ด้วยวิธีนี้ก็จะรักษาอิสรภาพไว้ได้ และเป็นจุดเชื่อมต่อที่จะก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาจิตใจและพัฒนาปัญญาที่สูงขึ้น

เราอาจพิสูจน์ว่าเรายังมีอิสรภาพหรือไม่ วิธีที่พิสูจน์ได้โดยเร็วก็เช่น เราพูดได้ไหมว่า เอ้อ! สิ่งบำรุงบำเรอความสุขเหล่านี้นะ สำหรับตัวฉันนี้ “มีก็ดี ไม่มีก็ได้” ถ้าพูดหรือคิดอย่างนี้ได้ ก็แสดงว่ายังมีอิสรภาพ

ถ้าคนไหนหมดอิสรภาพแล้ว เขาจะพูดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะสิ่งเสพสิ่งบำเรอนั้นเป็นทางมาทางเดียวของความสุขของเขา เพราะฉะนั้นเขาจะต้องมีมัน ถ้าไม่มี เขาจะทุรนทุราย เขาจะบอกว่า “ฉันต้องมีมัน ถ้าไม่มีมันฉันอยู่ไม่ได้” หรือว่า “ฉันต้องมีมัน ถ้าไม่มีมันฉันต้องตายแน่ๆ” ถ้าใครต้องพูดอย่างนั้น ก็แสดงว่าเขาหมดอิสรภาพแล้ว ชีวิตอยู่ดีลำพังตนเองมีความสุขไม่ได้ ต้องขึ้นต่อสิ่งเสพไปหมด ต้องขึ้นต่ออาหารอร่อย ต้องขึ้นต่อการดู การฟัง สิ่งบำเรอตา บำเรอหู ดูการละเล่น ดูทีวี ฟังดนตรี และอะไรต่ออะไรที่สนุกสนาน ถ้าไม่มีฟูกฟูหรูหราหนานุ่มให้นอนละก็ แย่เลย ฉันหลับไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ไหว คนนี้สูญเสียอิสรภาพหมดแล้ว

แต่คนที่ไม่สูญเสียอิสรภาพจะพูดได้ว่า “มีก็ดี แต่ไม่มี ก็ได้” มีก็ดี ฉันก็สบาย แต่ไม่มี ฉันก็อยู่ได้นะ นอนเสื่อนอนกระดาน ฉันก็นอนได้ เป็นอิสระคล่องตัวดี แล้วแถมไม่เป็นโรคปวดหลังอีกด้วย บางคนนอนฟูกไปนานๆ เป็นโรคปวดหลัง ไม่รู้จักฝึกตัวเอง จนต้องถูกหมอบังคับ หมอบอกว่า “ต่อไปนี้ คุณต้องนอนพื้น นอนเสื่อ นอนกระดาน จะได้ไม่ปวดหลัง” อย่างนี้เป็นต้น

เอาละ เป็นอันว่าเรารักษาอิสรภาพไว้ได้ เราสามารถพูดได้ว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้”

ทีนี้ ต่อมาเราเก่งขึ้นไปอีก ก็จะมองเห็นและรู้สึกว่าสิ่งบำรุงบำเรอฟุ่มเฟือยหรูหราเหล่านั้นเกะกะ เกินจำเป็น แล้วเราก็จะพูดว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ได้” หรือยิ่งกว่านั้นว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ดี” มีฉันก็ไม่ว่า แต่ถ้าไม่มี ก็ดีนะ ฉันจะได้เป็นอิสระ คล่องตัวดี

เราฝึกตัวได้อย่างนี้ แม้แต่ในขั้นต้น เราก็จะมีชีวิตที่คล่องตัวขึ้นมาก ซึ่งทำให้เราทั้งสามารถใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากขึ้น และสามารถมีความสุขได้ง่ายขึ้นด้วย สิ่งเหล่านั้นจะมีคุณค่าที่พอดีของมันคือเพียงพอบริบูรณ์ในตัว มิใช่ว่าจะต้องเพิ่มปริมาณขึ้นทุกทีๆ โดยมีความสุขเท่าเดิม เราจะเป็นคนชนิดที่ว่า ฉันอยู่ลำพังตัวเอง ฉันก็สุขได้ แต่มีสิ่งเหล่านี้มา ก็ทำให้ฉันมีความสุขมากขึ้น

ให้สิ่งเสพเป็นเพียงสิ่งเสริมสุข แต่อย่าให้มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสุขของเรา ถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสุขของเรา ก็แสดงว่าเราหมดอิสรภาพแล้ว เราต้องเป็นคนมีสุขได้ในตัวเอง แล้วสิ่งเหล่านั้นมาเสริมความสุขของเรา

สันโดษ พัฒนาคนให้พ้นจากสุขด้วยเสพ
ขึ้นสู่สุขจากการทำงานสร้างสรรค์

ทีนี้เราพัฒนาต่อไป ใครทำได้ ก็ลองดูนะ รักษาศีล ๘ เพียง ๘ วันครั้งเดียว ไม่ยากหรอก แต่คุณค่าเหลือคุ้ม เพราะทำให้รักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ได้ และทำให้เป็นคนสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย แถมยังดีต่อสุขภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทำให้ใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย ถึงตอนนี้ก็ไปเชื่อมกับหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติอีกข้อหนึ่ง ที่เรียกว่า “สันโดษ”

สันโดษนี้ ในสังคมไทยยังเข้าใจผิดมาก สันโดษ คืออะไร? ลองถามหลายท่าน ให้ความหมายไม่ถูก บางคนบอกว่า คนสันโดษ คือ คนที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร อยากปลีกตัวอยู่เงียบๆ คนเดียว ไม่ใช่นะ อันนี้ไม่ใช่สันโดษ การปลีกตัวอยู่สงบนั้น เรียกว่า วิเวก

สันโดษไม่ใช่อย่างนั้น “สันโดษ” แปลให้ถูกว่า ความยินดีในของของตน คือมีเท่าไร พอใจเท่านั้น ได้เท่าไร พอใจเท่านั้น แล้วก็มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่ได้มาเป็นของตน เท่าที่มีที่ได้ อย่างนี้เรียกว่าสันโดษในความหมายพื้นๆ

สันโดษทำให้เป็นคนสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย ส่วนคนที่ไม่สันโดษก็คือ คนที่จะสุขต่อเมื่อได้มากที่สุด แต่ที่สำคัญก็คือ คนที่ไม่สันโดษนั้น ความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้

คนที่ไม่สันโดษ ในแง่หนึ่งเป็นคนที่ไม่รู้จักพอ สิ่งที่เขามีอยู่แล้วเท่าไร ก็ทำให้เขามีความสุขไม่ได้ เขามีลักษณะที่ว่า ต้องมีสิ่งเสพมากที่สุด ต้องได้มามากที่สุด ต้องได้อีกๆ จึงจะสุข ฉะนั้น คนพวกนี้ก็จะวุ่นอยู่กับการวิ่งหาความสุข แต่วิ่งตามความสุขไม่ถึงสักที เพราะความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ยังไม่มี

ขอแทรกหน่อยว่า สันโดษนี้ไม่ใช่เพื่อความสุข ถ้าสันโดษเพื่อความสุข ก็จะพลาด คนที่สันโดษ จะสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย เพราะว่าได้เท่าไร ก็พอใจ แล้วก็มีความสุข แต่ถ้าเขาพอใจแล้วมีความสุข นึกว่าแค่นั้น แล้วจบ ก็นอนเท่านั้นเอง ได้มาเท่าไร พอใจแค่นั้น ก็สบายแล้ว มีความสุขได้แล้ว ก็นอนสิ ถ้าอย่างนี้ก็คือ สันโดษเพื่อความสุข เป็นสันโดษขี้เกียจ ผิด ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้เพื่ออย่างนี้

ความสุขเป็นผลพลอยได้ที่พ่วงมาในตัวมันเองของสันโดษ แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข สันโดษมีความมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ก้าวไปในกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์

ธรรมะนี้ มีวิธีมองความหมายง่ายๆ คือ ธรรมทุกข้อ แต่ละข้อๆ เป็นองค์ประกอบอยู่ในระบบการฝึกฝนพัฒนามนุษย์ที่ท่านเรียกว่า “ไตรสิกขา”

สิกขา คือ การศึกษา ชีวิตมนุษย์นั้นเป็นชีวิตแห่งการศึกษาการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ธรรมะทุกข้ออยู่ในกระบวนการฝึกฝนพัฒนามนุษย์นี้ มันอยู่ในระบบที่สัมพันธ์ส่งผลต่อกัน เราจะต้องมองต้องคอยถามว่า เอ.. ธรรมะข้อนี้จะส่งผลต่อการปฏิบัติ ให้ก้าวหน้าไปในกระบวนการพัฒนาชีวิตอย่างไร ถ้ามันทำให้หยุด ก็แสดงว่า ผิดแล้ว เพราะฉะนั้น สันโดษจะต้องส่งผลช่วยให้เราก้าวต่อไปในกระบวนการพัฒนาชีวิต

จึงต้องถามว่า มันส่งผลอย่างไร เอาละ ทีนี้ก็มาดูกัน

ดูคนไม่สันโดษก่อน คนที่ไม่สันโดษ ไม่พอใจในสิ่งที่ได้แล้ว ความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ หวังความสุขจากสิ่งเสพบำรุงบำเรอมากขึ้นยิ่งขึ้นไป ใจของเขาก็ไปอยู่ที่สิ่งเสพบำรุงบำเรอ คิดว่าพรุ่งนี้จะไปกินที่ไหน จะไปกินเหลาไหนอร่อย จะกินอาหารชนิดไหน ใจมันนึกคิดอยู่แค่นี้

๑. ใจ: ครุ่นคิดอยู่กับเรื่องสิ่งเสพและการหาเสพ

๒. เวลา: ใช้ไปในการหาความสุขจากวัตถุเสพ

๓. แรงงาน: ใช้หมดไปกับการหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอ

เป็นอันว่า เวลา แรงงาน และความคิดของคนไม่สันโดษ หมดไปกับการเที่ยวโลดแล่นหาสิ่งบำเรอความสุข นี่หนึ่งแล้ว แต่หนึ่งยังไม่พอ สอง.. เวลาไม่พอหาสิ่งเสพ ก็เบียดบังเวลาที่จะทำงานไปอีก สาม.. เงินไม่พอ เพราะว่าสิ่งเสพต้องใช้เงินซื้อมากขึ้นๆ ยิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือยโก้เก๋ตามค่านิยม ก็ยิ่งมีราคาแพง เมื่อเงินไม่พอแล้วจะทำอย่างไร ก็กู้ยืมเอาซิ หรือทุจริตซิ เอาอีก ...ยุ่งแล้วนะ แล้วนอกจากนั้น สี่... เพราะว่าความสุขไปอยู่ที่การเสพวัตถุ เขาก็ทำงานด้วยใจไม่เป็นสุข ใจตของเขาไปอยู่ที่สิ่งเสะ เมื่อต้องมาทำงาน ก็ทรมานใจเต็มที ดังนั้นก็ทำงานด้วยใจทุกข์ทรมาน นี่เสียกี่อย่างแล้ว ลองดู

๑. สุขจากวัตถุ ก็ยังไม่ได้ เพราะมัวแต่ทะยานไล่หาความสุขซึ่งอยู่กับสิ่งเสพที่ยังไม่ได้

๒. เวลา แรงงาน ความคิด และเงินทอง
ก) หมดไปกับสิ่งเสพและการหาสิ่งเสพนั้น
ข) เมื่อเวลาไม่พอ ก็ต้องเบียดบังเวลาทำงาน ทำให้งานเสีย
ค) เมื่อเงินไม่พอหาซื้อสิ่งเสพ ก็อาจจะต้องทุจริต

๓. ใจเร่าร้อนรอเวลาหาสิ่งเสพ ใจไม่อยู่กับงาน ไม่ตั้งใจทำงาน เขาทำงานนั้นด้วยความทุกข์ทรมานใจ ไม่มีความสุข และไม่มีสมาธิในการทำงาน งานก็ไม่ได้ผลดี

ทีนี้ในทางตรงข้ามคนที่สันโดษเป็นอย่างไร พอสันโดษในสิ่งที่ได้ ที่มี มีเท่าไรแกก็สุขได้ทั้งนั้น หนึ่ง... สุขจากวัตถุ ก็มีแล้ว สอง... สงวนเวลา แรงงาน ความคิด ไว้ได้หมด เวลา ก็ไม่ต้องเอาไปใช้ในการเที่ยวว่อนหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอตัวเอง แรงงาน ก็ไม่ต้องเสียไปกับเรื่องพวกนี้ และ ความคิด ก็ไม่ต้องมัวครุ่นอยู่กับเรื่องพวกนั้น ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้น มาทุ่มให้กับงานที่ทำ งานการ หน้าที่ การสร้างสรรค์อันใด ที่ทำอยู่ ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้น มาทุ่มให้กับงานที่ทำงานการ หน้าที่ การสร้างสรรค์อันใด ที่ทำอยู่ ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดมาทุ่มให้หมด ทำได้เต็มที่

ทีนี้ เงินที่ได้รับ เช่น เงินเดือน ก็เพียงพอที่จะเก็บออมไว้ และนำไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตตนเอง ดูแลครอบครัว และช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์หรือเกื้อหนุนสังคม นอกจากนั้นที่สำคัญมากก็คือ มีความสุขจากการทำงานอีกด้วย

ทีนี้ก็ได้หมดเลย กี่อย่างนะ

๑. สุขจากวัตถุ ก็มีเต็มที่

๒. ได้เวลา แรงงาน และความคิดมาทุ่มให้กับการทำงาน

๓. ประหยัดเก็บออมทรัพย์ไว้ได้ มีเงินมีเวลาที่จะดูแลครอบครัว และเกื้อหนุนสังคม

๔. ในเวลาทำงาน ก็มีความสุข เพราะสุขจากการทำงานด้วยใจรักและมีสมาธิ งานก็ได้ผลดียิ่งขึ้น

พูดไปแล้วว่า สุขจากการทำงาน เพราะทำงานด้วยความรู้เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของการทำงาน บวกด้วยสุขจากการเรียนรู้ในการทำงาน แถมด้วยสุขจากการที่ได้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ซึ่งทำให้ชีวิตเจริญพัฒนาดีขึ้น มีความรู้ความสามารถเป็นต้นมากขึ้น แล้วยังสุขจากปีติความอิ่มใจที่ได้มองเห็นคุณค่าประโยชน์ของงานนั้นในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม ดังนั้นความสุขในการทำงานก็ยิ่งเพิ่มพูน สุขสมบูรณ์ ทั้งสุขจากวัตถุก็พอแล้ว และงานการก็ได้ผล ทุกอย่างดีไปหมด สันโดษที่แท้เป็นอย่างนี้ นี่คือสันโดษ

หลักการของสันโดษคือ เพื่อจะออมหรือสงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ แล้วเอามาใช้ในการ “ทำ” คือในการสร้างสรรค์ ทำสิ่งที่ดีงาม ทำหน้าที่การงาน เท่านั้นเอง เป้าหมายอยู่ที่นี่ แต่ผลพลอยได้คือ พลอยมีความสุขไปด้วย

ไม่สันโดษ มาขานรับกับสันโดษ เมื่อใด
เมื่อนั้นเมืองไทยจะก้าวไกลในการพัฒนา

เมื่อสอนให้สันโดษในสิ่งเสพบริโภคแล้ว ก็มีหลักคำสอนประกบไว้ ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้จมอยู่ในสันโดษ คือพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนให้เราอยู่แค่สันโดษ แต่ หนึ่ง สันโดษต้องมีตัวตามตัวรับว่า สันโดษในอะไร และ สอง ไม่ใช่สันโดษแล้วจบ สันโดษอย่างนั้นเป็นสันโดษเลื่อนลอย และผิด สันโดษ คือเตรียมตัวพร้อมแล้ว ต้องต่อด้วยถามว่า จะทำอะไร

สันโดษ ต้องตามด้วยคำว่า “ในสิ่งเสพ” หรือ “ในวัตถุบริโภค” แล้วก็เข้าคู่ประกบของมันว่า ไม่สันโดษ “ในกุศลธรรม” คือในการทำกิจหน้าที่ทำงานสร้างสรรค์ความดี

ถ้ากลับกันก็ผิดทันที คือ ถ้าคนไหนสันโดษในสิ่งเสพบริโภค ก็ผิด และถ้าคนไหนสันโดษในกุศลธรรม หรือสันโดษในสิ่งดีงามหรือในการทำหน้าที่การงาน เป็นต้น ก็ผิด การทำกิจหน้าที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามต้องไปให้ถึงจุดหมาย จะพอใจจบแค่ที่ทำอยู่เท่านั้นไม่ได้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะไม่สันโดษ ไม่ต้องมาเถียงนะ ไปดูพระไตรปิฎกเลย (องฺ.ทุก.๒๐/๒๕๑/๖๔) พระองค์ตรัสว่า

“(ที่เราตรัสรู้นี้) ได้ประจักษ์คุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ

๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

๒. ความเพียรไม่ระย่อ

พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยเด็ดเดี่ยว เข้มแข็งอย่างยิ่ง ถ้าทรงมองเห็นเป้าหมายอะไรว่า เป็นจริง ดีงามแท้ ถูกต้องตามเหตุ ตามผล พระองค์ไม่มีสันโดษ ไม่มีหยุดยั้ง ไม่มีระย่อ ทรงอุทิศชีวิตให้เลย ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษ เราก็ไม่ได้ฟังพระพุทธเจ้าแล้ว

เพราะพระพุทธเจ้าไม่สันโดษ จึงเสด็จออกไปบำเพ็ญเพียรแสวงหาสัจธรรม ไปเข้าสำนักไหน เรียนจนอาจารย์เจ้าสำนักนั้นหมดความรู้ อาจารย์สำนักนั้นชอบ ชวนให้อยู่ด้วย มาสอนลูกศิษย์ด้วยกัน ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษ ก็ทรงพอพระทัยว่า เอ้อ.. เราเรียนจบแล้วนะ ดีใจ ภูมิใจ พอ.. ก็จบกัน ก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า

แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นี่ยังไม่ถึงจุดหมาย ไม่เอา.. ไปต่อ ทรงลาพระอาจารย์ ไปสำนักโน้น จบความรู้อาจารย์แล้ว ก็ไม่พอ ไปต่ออีก จนกระทั่งบรรลุจุดหมาย ฉะนั้น ในแง่กุศลธรรม สิ่งสร้างสรรค์ดีงามหรือการทำงานทำหน้าที่แล้ว พระพุทธเจ้าไม่มีสันโดษ แต่พระพุทธเจ้าทรงสันโดษในสิ่งเสพ

สันโดษในสิ่งเสพ กับไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้ มันมารับกันเลย พอสันโดษในสิ่งเสพ ก็ออมเวลา แรงงาน และความคิด เอามาทุ่มให้กับการไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ งานการก็เดินดี ก็ก้าวหน้ากันใหญ่ ไปกันจนถึงจุดหมาย

ฉะนั้นจะเห็นว่า มหาบุรุษทั้งหลายเป็นคนสันโดษในสิ่งเสพ และ ไม่สันโดษในกุศลธรรม ทั้งนั้น ไม่ว่านักค้นคว้า นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น

อย่างไอน์สไตน์นี่ ชัดเลยว่าสันโดษในวัตถุบริโภคและสิ่งเสพ ท่านผู้นี้ไม่เอาเรื่องเลย ไม่สนใจว่าจะหาสิ่งเสพบำรุงบำเรอ จะไปหาอะไรอร่อยกินที่ไหน ไอน์สไตน์ไม่วุ่นวายด้วย แต่ไอน์สไตน์คิดค้นไม่หยุด จะสืบสาวหาความจริงว่ามันคืออะไร มันเป็นอย่างไร อย่างนี้ แกไม่ยอมหยุด แกไม่สันโดษเลยในกุศลธรรม คือการหาความรู้สร้างปัญญา

ทีนี้ คนที่ไม่ได้เรื่องนั้นตรงกันข้าม ในสิ่งเสพ ไม่สันโดษ แต่ในกุศลธรรม สิ่งสร้างสรรค์ กลับไปสันโดษ ก็ตัน กลายเป็นคนประมาท ขนาดเป็นอริยสาวกแล้ว เกิดมีความสันโดษ เช่นพอใจอยู่กับการมีศรัทธา ไม่เพียรพยายามบำเพ็ญธรรมให้ยิ่งขึ้นไป พระพุทธเจ้าก็ทรงตำหนิว่าเป็น “ปมาทวิหารี” คือเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท (ดู สํ.ม.๑๙/๑๖๐๑/๕๐๐) เพราะฉะนั้น เรื่องการฝึกตน การทำความดีงามทำกิจกรณีย์นี้ หยุดไม่ได้ ต้องทำยิ่งๆ ขึ้นไป

มีพุทธพจน์แห่งหนึ่ง (องฺ.ทสก.๒๔/๕๓/๑๐๑) ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความคงอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียวแต่ความเจริญขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย

รวมความว่า ความสันโดษรู้จักพอในวัตถุเสพ กับความไม่สันโดษในการทำกิจทำการที่ดีนี้ สอดคล้องรับช่วงต่อกัน เมื่อสันโดษให้ตัวเบาพร้อมดีแล้ว ก็ไม่สันโดษรุดหน้ามุ่งไปกับการทำงานได้เต็มที่ ขอยกหลักอริยวงศ์ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลายว่า เป็นสายประเพณีของอริยชน คนอารยะ ที่จะรักษาหลักปฏิบัติ ๔ อย่างต่อไปนี้ (องฺ.จตุกฺก๒๑/๒๘/๓๕) คือ

๑-๒-๓. สันโดษด้วยจีวร (เครื่องนุ่งห่ม) บิณฑบาต (ของบริโภค) และเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย)

๔. เป็นภาวนาราม (ยินดีในการพัฒนากุศล) เป็นปหานาราม (ยินดีในการกำจัดละอกุศล)

เพราะฉะนั้น ต้องต่อกัน ไม่สันโดษต้องมารับช่วงต่อจากสันโดษ บอกว่า  ด้านนี้ฉันพอละพร้อมแล้ว ทีนี้ก็มุ่งแน่วไปกับด้านกิจด้านงานนั้นได้เต็มที่

เป็นอันว่า ถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้ว ทุกอย่างก็รับกันหมด เราจะต้องพัฒนาตนให้เป็นคนสุขง่ายด้วยวัตถุแค่พอดี ถ้าคนไหนปฏิบัติตามหลักสันโดษแล้ว เขาจะเป็นคนสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย และเมื่อเขาไม่สันโดษในกุศลธรรม การทำงานทำหน้าที่ก็ยิ่งมาเพิ่มความสุขให้เขาอีก ทำให้ตัวเขาเองเป็นคนที่มีความสุข พร้อมทั้งผลดีก็เกิดขึ้นแก่ส่วนรวมด้วย

ถึงตรงนี้ น่าจะสรุปเรื่องสันโดษไว้สักหน่อย สันโดษที่ใช้ทั่วไปหมายถึง สันโดษในสิ่งเสพหรือวัตถุบริโภค เป็นข้อปฏิบัติขั้นเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคน ให้เขาพัฒนาผ่านพ้นชีวิตในขั้นหาสุขจากการ “ได้” และการ “เสพ” เพื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตในขั้นที่มีความสุขจากการ “ทำ” หรือสุขจากการศึกษาและ “สร้างสรรค์”

ในด้านวัตถุบริโภคหรือสิ่งเสพ ความสันโดษ และไม่สันโดษ (รวมทั้งสันโดษที่ผิดและสันโดษที่ถูก) มีผลต่างกันในแง่ความสุข ดังนี้

๑. ไม่สันโดษ → ความสุขที่ไม่มาถึง + ชีวิตและสังคมที่กร่อนโทรม

๒. สันโดษเลื่อนลอย → ความสุข + ความเกียจคร้านด้อยพัฒนา

๓. สันโดษออมพลัง → ความสุข + การสร้างสรรค์

เป็นอันว่า ถึงตอนนี้เราประสานได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบ ๓ หรือ ๔ ก็ตาม คือ

องค์ ๓: ประสานงาน เงิน และความสุข ให้กลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นอันเดียว

องค์ ๔: ประสานงาน เงิน ความสุขของบุคคล และประโยชน์ของสังคม ให้เกื้อกูลหนุนกันเป็นอันเดียว

นี่คือ ประสานให้งานกลายเป็นความสุข ไม่ใช่งานเป็นความทุกข์ ไม่ใช่งานต้องบันดาลสุขโดยผ่านเงิน ไม่ต้องรอให้ผ่านพ้นงานมาได้เงินก่อน แล้วจึงจะเป็นสุข

คราวนี้ งานเป็นความสุขไปด้วยในตัวเลย พองานเป็นความสุขแล้ว เงินก็เป็นส่วนแถมมาเสริมสุขอีก งานก็เป็นสุข เงินก็เสริมสุข คราวนี้สบาย ๒ ชั้นเลย งานก็สุขอยู่แล้ว ยังแถมเงินมาเติมสุขอีก และสุขในงานนั้น ก็ทำให้ทำงานได้ผลดีเป็นประโยชน์แก่สังคมยิ่งขึ้นด้วย สอดคล้องกันโดยสมบูรณ์

แต่ถ้าคนไหนคอยรอหวังสุขจากเงิน คนนั้นแย่ มีแต่ลบตลอดเวลา มีแต่ถอย ไม่มีบวกในด้านไหนเลย

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาคน พัฒนาตนให้ถูกทาง โดยเฉพาะ ความสันโดษในวัตถุเสพบริโภค ที่ประสานกับความไม่สันโดษในการทำงานสร้างสรรค์นี้ ต้องถือว่าเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาการพัฒนาของประเทศไทย

ถ้าคนไทยเข้าใจและปฏิบัติได้ตามหลักการนี้ จะต้องการความสำเร็จในการพัฒนาประเทศระดับไหนก็ได้ แม้จะเป็นผู้นำในประชาคมโลก ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม หรือพูดให้ถูกว่า ไม่ยากสักนิดเลย

วัดความสำเร็จที่ไหน?
ได้กำไรสูงสุด หรือช่วยให้มนุษย์มีชีวิตและสังคมที่ดี

ทีนี้ลองมาดู “เกณฑ์วัดความสำเร็จ” กันหน่อย เมื่อทำงาน เราก็ต้องวัดความสำเร็จ อะไรเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จของงาน เกณฑ์วัดใหญ่ๆ มี ๒ เกณฑ์

จากเรื่องที่พูดไปแล้ว จะเห็นเกณฑ์ทั้ง ๒ นี้ คือเกณฑ์ของมนุษย์ที่พัฒนาอารยธรรมขึ้นมา โดยเฉพาะในยุคของระบบผลประโยชน์ที่เน้นการแข่งขันนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้คนวัดความสำเร็จในแบบหนึ่งโดยเฉพาะ คือวัดด้วยการได้ผลประโยชน์มากที่สุด ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ ทำธุรกิจ ก็วัดด้วยกำไร เพราะฉะนั้น เวลานี้ไม่ว่าจะทำกิจการอะไร เมื่อจะวัดความสำเร็จ ก็มีความโน้มเอียงที่จะวัดด้วยกำไรสูงสุด แม้แต่ตั้งโรงพยาบาลเอกชน ก็บอกว่า วัดความสำเร็จด้วยกำไรสูงสุด

การได้กำไรสูงสุดนี้ เป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จที่แท้จริงหรือไม่ จะวัดได้อย่างไรว่าถูกหรือไม่ถูก ก็ต้องวัดตามกฎธรรมชาติสิ ความจริงที่แท้ตามกฎธรรมชาตินั้นเป็นตัวบอก ว่าอันไหนถูกหรือผิด เหตุผลที่แท้ของกฎธรรมชาติเป็นตัวกำหนด คือเป็นตัววัดเกณฑ์อีกทีหนึ่ง เราต้องวัดเกณฑ์ว่าเกณฑ์นั้นถูกหรือผิด

เมื่อดูเหตุผลตามกฎของธรรมชาติ การแพทย์เป็นเหตุ แล้วผลของมันคืออะไร ผลตามกฎธรรมชาติ บอกแล้วตั้งแต่ต้น ว่าคือคนไข้หายโรค และมีสุขภาพดี นี่คือเหตุผลตามกฎธรรมชาติ

แต่ทีนี้ เหตุและผลตามกฎของมนุษย์ ก็คือ การแพทย์เป็นเหตุ รายได้ดี มีกำไรสูง เป็นผล

แม้แต่เด็กนักเรียนจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ชอบเลือกเรียนแพทย์ อันนี้เราไม่ว่ากันนะ มันเป็นเรื่องของค่านิยมในสังคม ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นกันไปทั่ว

เวลาเด็กจะเลือกเข้าเรียนอะไร ก็ต้องนึกว่าเรียนอะไรจะได้รายได้ดีที่สุด อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่า มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ ติดในกฎสมมติกันมาก แทบไม่มีใครพูดว่าเรียนแพทย์เพื่อจะรักษาคนไข้ให้หายเจ็บป่วย หรือเพื่อจะช่วยให้คนมีสุขภาพดีมากๆ

ที่พูดมานี้แสดงว่า เราหลงสมมติหรือติดในกฎสมมติมากเกินไป บัดนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องมาทบทวนกันเสียที ว่าที่แท้นั้นเหตุผลหรือกฎมี ๒ ชั้น ซึ่งเราได้พูดกันมามากแล้ว คือ

๑. ตามกฎธรรมชาติ การแพทย์เป็นเหตุ คนไข้หายโรคหรือคนมีสุขภาพดีเป็นผล

๒. ตามกฎมนุษย์ การแพทย์เป็นเหตุ รายได้ดี หรือได้ค่าตอบแทนมากเป็นผล

ทีนี้โรงพยาบาลเอกชน ก็หลักการเดียวกัน คือตั้งโรงพยาบาลทำงานแพทย์เป็นเหตุ กำไรสูงสุดเป็นผล อันนี้กฎไหน กฎมนุษย์

แล้วกฎธรรมชาติ คืออะไร? เหตุผลที่แท้ตามกฎธรรมชาติ คือ ตั้งโรงพยาบาลเป็นเหตุ คนไข้หายโรคและผู้คนในสังคมนี้บรรเทาเบาบางจากโรคภัยไข้เจ็บมีสุขภาพดีขึ้นเป็นผล ใช่ไหม?

ทีนี้เราอยู่ในโลกของสมมติ ปัจจุบันนี้โลกได้เข้าสู่ระบบการแข่งขันเชิงธุรกิจ แล้วเราจะทำอย่างไรดี เราจะปรับตัวแบบไหน เวลานี้ ถ้าเรายอมรับความจริงว่า ที่แท้นั้นผลสำเร็จต้องอยู่ที่การช่วยให้ผู้คนหายโรคภัยไข้เจ็บมีสุขภาพดี แต่ในสังคมปัจจุบัน ถ้าเราขืนถืออย่างนี้ เราก็คงแย่

แล้วเราจะทำอย่างไรดี เราก็ต้องประสาน ๒ ระดับ โดยตั้งเป็นจุดหมายสูงสุด กับ จุดหมายรอง

หลักใหญ่คือ มนุษย์จะต้องไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ คือจากความเป็นจริงที่แท้ ซึ่งเป็นตัวรักษาอารยธรรมของมนุษย์ ถ้าเราไม่รักษาหลักการนี้ สังคมจะวิปลาสไปหมด จนในที่สุดมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ อารยธรรมจะถึงจุดจบ เพราะมนุษย์มาติดอยู่ในสมมติอันนี้ ถ้าขืนเอากำไรสูงสุดเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จทั่วไปหมดในสังคมนี้ สังคมจะอยู่ไม่ได้ ต้องพังแน่ๆ

เพราะฉะนั้น หลักการตามกฎธรรมชาติ คือความจริงที่แท้นี้ จะต้องรักษาไว้ เราก็ตั้งเป็นจุดหมายสูงสุด แล้วจึงตามด้วยจุดหมายรองของมนุษย์

จุดหมายสูงสุดของการตั้งโรงพยาบาลคือ การช่วยให้ประชาชนบรรเทาเบาบางจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพดีขึ้น จุดหมายสูงสุดนี้ เป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จที่แท้ของเรา แต่จุดหมายรองคือ กำไรสูงสุด เราก็ต้องมีด้วย แล้วหาทางประสาน คือให้กำไรของเรา ไปเกื้อหนุนต่อจุดหมายแท้อีกทีหนึ่ง คือ ให้กำไรสูงสุดของเรา ไปเกื้อหนุนการช่วยให้มนุษย์หายโรคภัยไข้เจ็บมีสุขภาพดีขึ้น ถ้าประสานได้ ก็แสดงว่าไปกันได้

แต่ถ้าเอาแค่จุดหมายรอง คือ เอาแค่กำไรสูงสุดอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงจุดหมายที่แท้เลย ละก็แย่ สังคมพังแน่

ถ้าตกลงอย่างนี้แล้ว ก็อาจจะตั้งเป็นหลักการว่า

๑. ถ้าได้ผลตามจุดหมายรอง คือกำไรสูงสุด แต่ไม่ได้ผลตามจุดหมายสูงสุด คือไม่ช่วยให้คนไข้หายโรค และประชาชนสุขภาพไม่ดีขึ้น = ยอมรับไม่ได้

๒. ถ้าได้ผลตามจุดหมายสูงสุด คือคนไข้หายโรค ประชาชนมีสุขภาพดีด้วย และได้ผลตามจุดหมายรอง คือกำไรสูงสุดด้วย = พอยอมรับได้

๓. กำไรสูงสุดที่ได้ตามจุดหมายรอง เอาไปเกื้อหนุนในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุจุดหมายสูงสุด คือช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดียิ่งขึ้นไป = ยอมรับได้

ในระดับบุคคล ก็เช่นเดียวกัน เราทำงานทำการในสังคมปัจจุบันนี้ ค่านิยมของสังคมมันบีบบังคับเราอยู่ เราหนีไม่พ้น เพราะฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องมีรายได้ดีพอสมควร แต่เราจะต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า ทำอย่างไรจะให้จุดหมายแห่งความสำเร็จในขั้นรองของเรา ไม่ไปทำลายจุดหมายสูงสุด คือ การช่วยให้ชีวิตดีงามขึ้น สังคมร่มเย็นเป็นสุข โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

การที่มนุษย์สร้างสรรค์ความเจริญต่างๆ ขึ้นมา มีอารยธรรม มีวัฒนธรรมนั้นที่แท้เพื่ออะไร จุดหมายที่แท้จริง ก็คือการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่ยิ่งขึ้น พูดให้สั้นว่า “ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์” อันนี้คือจุดหมายที่แท้จริงของเรา ซึ่งเราจะต้องไม่ลืม

แต่มนุษย์ก็มักลืมตัว มาติดกันอยู่ในเรื่องกำไรสูงสุด หรือผลประโยชน์ต่างๆ ถ้าอย่างนี้ เราก็แปลกแยกจากความเป็นจริงของธรรมชาติ ถ้าแปลกแยกกันถึงขั้นนี้ พื้นฐานของชีวิตและสังคมก็เสียหมด ความสุขที่เป็นทุนพื้นฐานทั้งสามอย่างไม่รู้ว่าหายไปแต่เมื่อไร เราก็เลยมาตันมาติดอยู่กับภาวะแห่งความแปลกแยก เหล่านี้

เพราะฉะนั้น จะต้องประสานให้ได้ ให้กฎของมนุษย์ กับกฎของธรรมชาติ หรือความจริงของมนุษย์ กับความจริงของธรรมชาติ โยงกันอยู่เป็นอันเดียวกัน ประสานกลมกลืนกันให้ได้

ตราบใดที่เรายังประสานโยงถึงกันได้ ชีวิตก็อยู่ดี และสังคมก็ยังดีด้วย จะไม่มีภัยอันตรายมากมาย ฉะนั้นจะต้องรีบประสานกิจการในการดำเนินชีวิตทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการหาเลี้ยงชีพส่วนบุคคลก็ตาม กิจการหรือธุรกิจของสังคมก็ตาม จะต้องพยายามประสานความต้องการของมนุษย์ กับผลตามกฎธรรมชาติที่แท้นี้ ให้ถึงกันให้ได้

ตกลงว่า แม้จะมีกำไรสูงสุด ก็ต้องให้เอื้อต่อจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้จริงตามเหตุตามผลของธรรมชาติ คือการช่วยกันเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม สังคมที่มีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย ถ้าทำได้อย่างนี้ อารยธรรมของเราก็จะเจริญพัฒนาต่อไป

อารยธรรมปัจจุบันนี้ ได้พัฒนาระบบจัดตั้งต่างๆ ของสังคมมนุษย์ขึ้นมา อันเป็นสมมติที่แปลกแยกจากธรรมชาติที่เป็นเนื้อตัวที่แท้ของมัน ตั้งแต่ฐานความคิดที่มุ่งจะพิชิตในเชิงทำลายธรรมชาติ แล้วมันก็ทำให้ตัวบุคคลของมนุษย์ แปลกแยกจากชีวิตของเขาเอง จนกระทั่งการดำเนินชีวิต กิจกรรม ภาวะจิต แม้กระทั่งการมีความสุขก็ยากจะถึงกันกับธรรมชาติ จะต้องแก้ไขตั้งแต่ฐานความคิด

เวลานี้อารยธรรมกำลังจะสลายเพราะความผิดพลาดนี้ เพราะมนุษย์ไม่สามารถสร้างอารยธรรมที่ช่วยทำให้มนุษย์มีชีวิตดีงาม สังคมดี และธรรมชาติเป็นรมณีย์ แต่ยิ่งพัฒนาไป อารยธรรมกลับเป็นตัวทำลายจุดหมายนี้เสียเอง ชีวิตก็แย่ลง คนก็เครียดมีความทุกข์มากขึ้น และสังคมก็เดือดร้อน แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น ธรรมชาติแวดล้อมของโลกก็ไม่น่ารื่นรมย์ ไม่น่าอยู่ มีแต่มลภาวะ ยิ่งเสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติก็ยิ่งร่อยหรอลงไป นี่อารยธรรมอะไรกัน? ทำไมจึงทำให้มนุษย์เป็นอย่างนี้ อารยธรรมอย่างนี้แสดงว่าผิดทาง ถ้าสร้างถูกมันจะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ หรือว่ามันไม่ใช่อารยธรรม แต่กลายเป็นหายนธรรมไป

เปลี่ยน “อยากได้” เป็น “อยากทำ”
คือจุดเริ่มที่จะนำสู่ความสำเร็จ

ถ้าเราพัฒนาคนถูกต้องอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ มนุษย์ไม่แปลกแยกจากความจริงของธรรมชาติตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ทุกอย่างก็สอดคล้องไปกันได้หมด ไม่มีอะไรเสียหาย เมื่อเราวางฐานได้ดีแล้ว เราก็ใช้หลักการต่างๆ ในการทำงาน บนพื้นฐานที่ถูกต้องนั้น เมื่อพื้นฐานถูกต้องแล้ว เราจะเอาธรรมะอะไรมาใช้ ตอนนี้ก็เดินหน้าไปด้วยดี เช่นเอาหลักอิทธิบาทมาใช้

แทบทุกท่านรู้จัก “อิทธิบาท คือ หลักแห่งความสำเร็จ” หลายท่านท่องขึ้นใจเลย อิทธิบาทมี ๔ ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

อิทธิบาท แปลว่า ทางแห่งความสำเร็จ

๑. ฉันทะ แปลว่า ความรักความพอใจ จะทำอะไรก็ทำด้วยความรักความพอใจ จะรักจะพอใจได้อย่างไร? โดยทั่วไปก็ต้องชอบหรือเห็นประโยชน์เห็นคุณค่าของงานนั้น จึงจะรักจะพอใจงานนั้น

แต่ถ้าจะตอบให้ตรงที่สุดและง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ ถ้าคนไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ถ้าเขาต้องการผลตามกฎธรรมชาติแท้จริง เขาจะรักงานทันที นี่คือฉันทะซึ่งตั้งอยู่บนฐานที่ว่ามาเมื่อกี้ เช่น คนทำสวนรักงานทำสวน เพราะเขาต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้าหมออยากให้คนไข้หายป่วยหรืออยากให้เขามีสุขภาพดี หมอก็รักงานรักษาคนไข้ทันที

ถ้าพูดกันให้ถึงแก่น ฉันทะไม่ใช่แค่รักงานเท่านั้น เพราะ ฉันทะ แปลว่าอยากทำให้มันดี เพราะฉะนั้นจึงมีความหมายว่า เมื่อจะทำอะไร ก็จะต้องทำให้มันดีที่สุด ให้มันเรียบร้อยสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อต้องการผลตามกฎธรรมชาติจริงๆ ก็จะสร้างฉันทะนี้ได้

๒. วิริยะ แปลว่า ความเพียร และความเพียรก็แปลว่า ความแกล้วกล้า วิริยะ ตัวนี้ มาจาก “วีระ” นั่นเอง แปลว่า ความเป็นผู้แกล้วกล้า หมายความว่า ใจสู้ เจองานแล้วไม่ถอย แล้วทำอย่างไรจะเจองานไม่ถอย ก็ต้องมีจิตสำนึกในการฝึกตน พอเจองานบอกว่า ยิ่งยากยิ่งได้มาก เจอปัญหาก็เป็นเวทีพัฒนาปัญญา อย่างที่ว่ามาแล้ว จะไปถอยอะไรล่ะ มีแต่เดินหน้า ดังนั้น วิริยะก็มาสิ

จะมาพูดกันให้มีฉันทะ วิริยะ พูดแทบตายก็ไม่ค่อยมีกัน แต่ถ้าไปสร้างที่ฐานละก็ได้เลย คือจุดจิตสำนึกในการฝึกตน แล้ววิริยะก็มา เรียกว่าใจสู้ มองเห็นงานเป็นสิ่งท้าทาย

คนเรามีลักษณะนิสัยต่างกัน บางคนมี ฉันทะ พอใจรักงาน บางทีก็มาง่ายๆ เพียงพูดให้เห็นประโยชน์ของงานว่าดีอย่างไร ก็เกิดความพอใจ รัก แต่บางคน พูดอย่างไรก็ไม่เอา ต้องพูดให้เห็นงานเป็นเรื่องท้าทาย ถ้าให้งานนั้นเป็นสิ่งท้าทายความสามารถ คนแบบนี้จะสู้ เอาไม่ถอย จนทำได้สำเร็จ คนอย่างนี้เรียกว่าเป็นคนแบบวิริยะ ต้องใช้วิธีทำให้รู้สึกว่า งานนั้นเป็นสิ่งท้าทาย เป็นอันว่า วิริยะ แปลว่า ใจสู้ เมื่อทำจะไม่ถอย

๓. จิตตะ แปลว่า ใจจดจ่อ ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ อุทิศตัวต่องาน เนื่องจากเห็นความสำคัญของมัน เมื่อคนเห็นความสำคัญของอะไร เช่น ความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต เขาจะเอาจริงเอาจังขึ้นมาทันที

สาระของอิทธิบาทนั้นอยู่ที่ไหน จึงทำให้เกิดความสำเร็จ ก็คือจิตแน่วแน่เกิดสมาธิขึ้นมานั่นเอง

ในข้อที่ ๑ เมื่อเราพอใจหรือชอบงานอะไร ในเวลาทำงานนั้นใจเราจะแน่วแน่เป็นสมาธิ

ในข้อที่ ๒ เวลาใจสู้จะเอากับงานอะไร เห็นงานอะไรท้าทาย จะสู้เอาชนะให้ได้ ใจเราก็จะแน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้น คือ มีสมาธิ

ทีนี้ในข้อที่ ๓ เราทำให้เห็นความสำคัญของเรื่องนั้น หรืองานนั้น เช่น ทำให้เห็นว่า ถ้าไม่ทำ มันจะมีผลคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของเรา ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่กู้ระเบิด จะมีใจแน่วแน่ จดจ่อเลยทีเดียว เพราะอะไร เพราะว่ามันคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต มีความสำคัญต่อชีวิตของเขา เขาจึงต้องเอาใจใส่มากจนถึงขั้นใจจดจ่อเลยทีเดียว

ฉะนั้น วิธีสร้างจิตตะ ก็คือ ทำให้เห็นความสำคัญของงานนั้นต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ต่อโลก อย่างกับจะกู้ระเบิดเลย พอจะกู้ระเบิดเท่านั้นแหละ ไม่มีหรอกที่ใจจะฟุ้งซ่านไปไหน ใจจะแน่วแน่อยู่กับงานกู้ระเบิดแน่นอน

๔. วิมังสา แปลว่า ทดลอง หรือทดสอบ คนบางคนอยากรู้อยากเห็น ชอบทดลอง ชอบคิดสืบสวนว่า ทำอย่างนี้จะเป็นอย่างไร ทำอย่างนั้นจะเกิดผลอย่างไร อย่างนี้ต้องใช้วิมังสา คือ ทำการพิสูจน์ทดลอง คอยตรวจตราหาทางแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ ซึ่งต้องใช้ปัญญา เมื่อเอามาใช้ในการทำงานทั่วไป ก็พูดง่ายๆ ต่อกันกับข้อ ๑-๒-๓ ว่างานที่จะทำให้สำเร็จนั้น ต้อง

๑. รักงาน

๒. สู้งาน

๓. ใส่ใจงาน

๔. ทำงานด้วยปัญญา

ที่ว่าทำงานด้วยปัญญา หมายความว่า จะเอาแค่ รักงาน สู้งาน ใส่ใจงาน แต่ไม่ทำงานด้วยปัญญา ก็ไม่แน่ อาจจะไม่สำเร็จ หรืออาจจะเสียไปเลย เหมือนสุครีพเสียทีกุมภกรรณ เพราะฉะนั้นจะต้องทำงานด้วยปัญญาด้วย

นี้คือหลักอิทธิบาท ๔ ข้อ แต่ผู้บริหารจะต้องรู้ตระหนักว่า คนแต่ละคนมีลักษณะนิสัยไม่เหมือนกัน บางคนต้องปลอบด้วยฉันทะ บางคนต้องปลุกหรือยุด้วยวิริยะ บางคนต้องขู่หรือรุกด้วยจิตตะ บางคนต้องแหย่ด้วยวิมังสา แต่ถ้าได้พร้อมทั้ง ๔ ข้อ ก็จะเดินรุดหน้าเต็มที่

อิทธิบาท ๔ นี้เข้ามารับช่วงต่อ หรือเดินหน้าขึ้นไปจากฐานที่ต้องสร้างมาก่อนอย่างที่ว่าเมื่อกี้

ขอพูดทบทวน อิทธิบาท ๔ หรือสูตรแห่งความสำเร็จนี้ใหม่ ให้ได้ความหมายลึกลงไปถึงหลักมากยิ่งขึ้นว่า

๑. อยากทำให้มันดี (ที่สุด) = ฉันทะ

๒. มีอะไรทำต้องให้สำเร็จ = วิริยะ

๓. ทำงานอย่างอุทิศตัวอุทิศใจ = จิตตะ

๔. ใช้ปัญญาจัดการนำงานสู่จุดหมาย = วิมังสา

สัมพันธ์กับคน ให้ได้ผลแก่งาน

ต่อไปนี้อยากจะพูดอีกสักเรื่อง ๒ เรื่อง

ในการทำงานนั้น เราต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน เช่นเพื่อนร่วมงาน และผู้รับบริการ หรือโดยเฉพาะผู้บริหาร ก็ต้องทำงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลแถมเข้ามาด้วย

ในการเกี่ยวข้องกับผู้คนนั้น เราจะต้องมีหลักในการปฏิบัติ หลักการปฏิบัติต่อคนก็มีหลายอย่างหลายประการ แต่หลักธรรมที่ครอบคลุมที่สุดมีอยู่หมวดหนึ่ง ลองทายซิว่า หลักอะไร ที่ใช้ได้ครอบคลุมหมด หลักอะไรเอ่ย?

ได้ยินแว่วๆ พูดดังๆ หน่อย “พรหมวิหาร ๔” แน่นอนเลย พรหมวิหาร ๔ เป็นหลักที่ครอบคลุมสำหรับการที่มนุษย์อยู่ในโลก และเป็นส่วนร่วมของโลก

คำว่า “พรหมวิหาร” ก็บอกอยู่ในตัวแล้ว เพราะพรหมวิหาร แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม ก็คือ ธรรมประจำใจของผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทุกคนทำตัวเป็นพรหม โดยไม่ต้องรอเทพเจ้า คือพระพรหม

ขอขยายความว่าในศาสนาพราหมณ์ เขามีเทพเจ้าสูงสุด คือ พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และบำรุงเลี้ยงอภิบาลโลกไว้ พอครบกัปหนึ่งโลกทะลาย พระพรหมก็สร้างโลกขึ้นมาใหม่อีก พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ให้เราทุกคนทำตัวเป็นพรหมผู้ทำหน้าที่สร้างโลก โดยไม่ต้องรอพระพรหมเทพเจ้ามาสร้าง หมายความว่าให้เราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อภิบาลโลกเสียเอง

เราจะทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อภิบาลโลก ก็ต้องมีธรรมประจำใจของพรหม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ทำอย่างไรถึงจะมีพรหมวิหาร ๔ ประการนี้ได้ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ พูดโดยสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่จะต้องใช้ปฏิบัติ หลายคนแยกความหมายของ ๔ ข้อนี้ไม่ออก เช่น เมตตา กับกรุณา หลายท่านแยกไม่ได้เลยว่าต่างกันอย่างไร? แต่ถ้าใช้วิธีพูดแบบสถานการณ์ จะเข้าใจได้ทันที

เมตตา กับกรุณา คนไทยใช้มากจนเป็นภาษาไทย ส่วนมุทิตาใช้น้อยลงไป บางทีใช้เป็นพิธี เช่นไปแสดงมุทิตาจิต ส่วนอุเบกขา คนไทยไม่รู้เรื่อง แล้วยังใช้ผิดด้วย

ทีนี้ก็ดูว่า ๔ ข้อนี้มีความหมายอย่างไร โดยดูสถานการณ์ที่เราจะปฏิบัติ คือสถานการณ์ที่เกิดแก่คนอื่น เพราะธรรมชุดนี้เป็นธรรมที่จะใช้กับผู้อื่น เพราะฉะนั้นจะเข้าใจความหมายชัด เมื่อดูการใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น

สถานการณ์ที่ ๑ คนอื่นเขาอยู่เป็นปกติ เราก็ใช้ธรรมข้อที่ ๑ คือ เมตตา ได้แก่ ความเป็นมิตร

“เมตตา” มาจากรากศัพท์เดียวกับ มิตตะ ซึ่งแปลว่า มิตร เอา อิ ข้างหน้าเป็น เอ เอา อะ ข้างหลังเป็น อา ก็เป็น เมตตา มิตตะ เป็นคน เมตตา เป็นคุณธรรม

เมตตา ก็คือ คุณธรรมของมิตร ความเป็นมิตร น้ำใจของมิตร หรือคุณสมบัติของมิตรนั้นเอง ความเป็นมิตรก็คือ ความมีน้ำใจหวังดี ความปรารถนาดีต่อกัน อยากให้เขามีความสุข

พูดง่ายๆ เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็เป็นมิตร

สถานการณ์ที่ ๒ เขาเปลี่ยนจากปกติ เป็นตกต่ำลง เดือดร้อน มีความทุกข์ มีปัญหา เราก็ย้ายไปสู่ข้อที่ ๒ เป็นกรุณา

“กรุณา” แปลว่า พลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา พอเห็นคนอื่นมีทุกข์ ก็พลอยมีจิตใจไหวไปตามความทุกข์ของเขา ทนอยู่ไม่ได้ ต้องขวนขวายหาทางช่วยเหลือ ปลดเปลื้องความทุกข์ของเขา ให้เขาพ้นจากความทุกข์ หรือช่วยแก้ปัญหาให้เขา

จะเห็นว่า เมตตา กับ กรุณา ต่างกันชัดเลย

สถานการณ์ที่ ๓ เขาขึ้นสูง ประสบความสำเร็จ ก้าวไปในการทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มีความสุข เราก็ย้ายมาใช้ข้อที่ ๓ คือ มุทิตา ได้แก่ พลอยยินดีด้วย เอาใจช่วย ส่งเสริมสนับสนุน

เขาทำความดี ทำถูกต้องแล้ว ก็ส่งเสริมเขา สนับสนุนเขาให้ทำดีมีความสุขสำเร็จยิ่งขึ้นไป ร่วมอนุโมทนาด้วย มุทิตาก็พลอย กรุณาก็พลอย กรุณานั้นพลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา มุทิตานั้นพลอยยินดีในความสุขของเขา

สถานการณ์ที่ ๔ ที่จะใช้อุเบกขา อันนี้ยากที่สุด

เมื่อกี้ ๓ ข้อ ทวนอีกทีหนึ่งว่า

สถานการณ์เขาเป็นปกติ เรามี เมตตา

สถานการณ์เขาตกต่ำเดือดร้อน เรามี กรุณา

สถานการณ์เขาขึ้นสูงได้ดีมีสุข เรามี มุทิตา

ต่อไปสถานการณ์ที่ ๔ เขาเป็นอย่างไร เราจึงจะมี อุเบกขา

ถ้าใครได้ข้อ ๔ ก็จะครบ แล้วธรรมะก็จะมีดุลยภาพ แต่ถ้าไม่ครบก็เสียดุลไปเลย ทั้งชีวิตก็เสียดุล สังคมก็เสียดุล

อย่านึกว่าธรรมะนั้นปฏิบัติไปแล้วจะดีหมด บางทีมันดีในแง่หนึ่งด้านหนึ่ง แต่อาจจะเสียดุล แล้วก็เกิดผลเสียอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้จะมีเมตตา กรุณา และแม้แต่มีมุทิตาด้วย ถ้าไม่มีอุเบกขา สังคมก็เสียดุล ที่เห็นง่ายๆ สังคมไทยนี่แหละเสียดุล เพราะขาดอุเบกขา

ทำไม? ก็เพราะไม่รู้จักสถานการณ์ที่ ๔ ที่จะต้องมีอุเบกขา

ความสัมพันธ์จะได้ผลสมบูรณ์
ต้องรักษาดุลทั้งในใจและในสังคม

ก่อนที่จะพูดถึงสถานการณ์ที่ ๔ นี้ ขอทำความเข้าใจทั่วไปก่อนว่า ที่ท่านสอนให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา นี้เป็นการมุ่งที่จะให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี มีการช่วยเหลือกัน มีความสัมพันธ์และความรู้สึกที่ดีต่อกัน นี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ถ้ามนุษย์มี ๓ ข้อนี้เราก็อยู่ร่วมกันด้วยดี เขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตาเป็นมิตร เขาตกต่ำเดือดร้อน เราก็กรุณาช่วยเหลือเขา เมื่อเขาประสบความสำเร็จทำดีทำได้เราก็มีมุทิตาพลอยยินดีด้วยช่วยส่งเสริมสนับสนุน อย่างนี้ก็เรียกว่ามีความสัมพันธ์ที่ดี อยู่ร่วมกันด้วยดี

อย่างไรก็ดี โลกหรือสังคมมนุษย์นี้ ลำพังเพียงแต่ว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กันดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันดีเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะอยู่ได้ด้วยดี เพราะว่าเบื้องหลังโลกหรือสังคมมนุษย์นี้ ยังมีสิ่งที่เป็นฐานรองรับอยู่อีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่รองรับโลก หรือสังคมมนุษย์ไว้ ก็คือ “ธรรม” อันได้แก่หลักการแห่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และความเป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย นี่คือโลกของมนุษย์นี้ยังต้องขึ้นอยู่กับกฎของธรรมชาติ โลกมนุษย์มิใช่จะอยู่ได้ลอยตัวเป็นอิสระ

แม้มนุษย์จะมีความสัมพันธ์กันดี ช่วยเหลือกันดี แต่ถ้ามนุษย์ไม่รักษาธรรม ไม่รักษาหลักความจริง ความดีงาม ความถูกต้องตามเหตุและผลของกฎธรรมชาติ โลกมนุษย์นี้เองก็จะวิบัติ เพราะฉะนั้น จะต้องไม่หลงลืมว่า นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหมู่มนุษย์แล้ว มนุษย์จะต้องไม่ทำลายหลักการแห่งความจริง ความดีงาม และความถูกต้องตามเหตุผล ที่เรียกว่าธรรมนั้น มนุษย์จะต้องรักษาหลักการคือธรรมนี้ไว้ อันนี้คือ สถานการณ์ที่ ๔

เป็นอันว่า สถานการณ์ที่ ๔ คือ เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าข้อ ๑ ก็ตาม ข้อ ๒ ก็ตาม ข้อ ๓ ก็ตาม จะส่งผลกระทบ เสียหาย ละเมิด หรือทำลายธรรม คือหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ความจริง ความถูกต้องดีงาม ความเป็นธรรม ชอบธรรม ความตรงตามเหตุผล เมื่อนั้นความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นจะต้องหยุด นี่คือ อุเบกขา

“อุเบกขา” จึงหมายถึง การวางตัวเป็นกลางตามธรรม โดยเฉยต่อคนนั้น บอกว่าฉันไม่เอาด้วยกับคุณละนะ ฉันจะต้องทำตามธรรม ถ้าฉันช่วยคุณ ฉันก็กลายเป็นคนที่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรม อุเบกขาเพื่อไม่ก้าวก่ายธรรม เพื่อให้ธรรมอยู่ได้ เพราะธรรมนี้รักษาสังคม ถ้าฉันไม่รักษาธรรม สังคมนี้ก็จะเซจะล่มไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นฉันต้องหยุด แล้วทีนี้ก็จัดการว่ากันไปตามธรรม คือตามความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หลักการ กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย ว่าอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น

เหมือนอย่างพระสงฆ์มีกฎ มีบัญญัติ มีวินัย เมื่อมีใครทำผิด เข้าสู่ที่ประชุม ที่ประชุมบอกว่าต้องทำไปตามหลักการ กฎ กติกา ท่านผู้นี้ทำความผิด ต้องถูกลงโทษ แต่ที่ลงโทษนี้ไม่มีใครลงโทษท่านนะ ภาษาพระใช้ว่า หลักการคือตัว “ธรรม” ลงโทษท่าน ไม่มีใครลงโทษหรอก ทุกองค์ยังมีเมตตาตามปกติ ทุกท่านในที่ประชุมมีความรักความปรารถนาดีต่อท่าน แต่เราปฏิบัติไปตามหลักการ พวกเราเป็นเพียงกระบอกเสียงของธรรม เป็นเพียงปากหรือเป็นช่องทางแสดงตัวให้กับธรรมเท่านั้น ผู้ที่ทำหน้าที่คือธรรม

ธรรมจะมาทำหน้าที่เองไม่ได้ ก็เลยต้องอาศัยที่ประชุม ผู้ตัดสิน หรือบุคคล เช่น ผู้พิพากษาเป็นทางผ่าน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าธรรมลงโทษเขา คือตัวหลักการลงโทษเขา ไม่ใช่ใครคนไหนลงโทษทั้งสิ้น นี้คือข้อ ๔ อุเบกขา

เป็นอันว่าขอย้ำอีกทีว่า สถานการณ์ที่ ๔ คือ สถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่ว่าในทางใด จะไปละเมิดทำความเสียหายต่อธรรม คือหลักการ จึงต้องมีอุเบกขา คือหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้น เพื่อไม่แทรกแซงก้าวก่ายตัวธรรม และจะได้รักษาหลักการ กฎเกณฑ์กติกาไว้ให้มีผลตามเหตุของมัน

หลักการนี้จัดเป็น ๒ ชั้น คือ

๑. หลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้องชอบธรรมตามธรรมชาติ

๒. หลักการของมนุษย์ ที่เราบัญญัติจัดตั้งขึ้นเป็นกฎ เป็นกติกาสังคม เป็นกฎหมาย เป็นวินัยของชุมชน เป็นระเบียบของโรงพยาบาล เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ อุเบกขามารักษาคุมหมด เพราะฉะนั้น ๔ ข้อจึงย่อเหลือ ๒ ฝ่ายคือ

- ๓ ข้อแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคน และ

- ข้อ ๔ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในกรณีที่เกี่ยวกับธรรม หรือพูดสั้นๆ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมหรือหลักการ

ข้อ ๔ คืออุเบกขา ข้อสุดท้ายนี้คุมทุกอย่างให้อยู่ในดุลยภาพ เป็นตัวรักษาขั้นสุดท้ายให้สังคมนี้อยู่ได้

สังคมที่เสียหลัก คือสังคมที่เอาแต่เพียงข้างใดข้างหนึ่ง ดังจะเห็นว่า บางสังคมก็เอียงไปในข้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล บางสังคมก็เอียงไปในแง่รักษาหลักการอย่างเดียว ไม่เอากับคนเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นสังคมก็เสียดุล แล้วก็จะเกิดผลร้าย

ในสังคมที่เสียหลัก ซึ่งหนักไปในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนก็จะช่วยเหลือกันจนกระทั่งหลงลืมมองข้ามหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ลงจะช่วยกันแล้ว ก็เอาความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นใหญ่ กฎเกณฑ์ กติกา ไม่เอาทั้งนั้น ทำลายได้หมด นี่เป็นผลเสียอย่างแรก

ผลเสียอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้คนหวังพึ่งผู้อื่น เพราะว่าเมื่อคนมีเมตตา กรุณา พร้อมที่จะช่วยเหลือกัน คนที่ตกต่ำเดือดร้อน ประสบเหตุการณ์ร้าย แร้นแค้นขาดแคลน ก็หวังว่าจะพึ่งเพื่อนคนนั้นได้ ผู้ใหญ่คนนี้ได้ ญาติคนโน้นได้ แล้วความหวังพึ่งนั้น ก็จะทำให้ไม่ดิ้นรนขวนขวาย กลายเป็นคนอ่อนแอ และตกอยู่ในความประมาท ไม่รู้จักฝึกตนขึ้นไปให้เป็นคนผู้มีตนที่พึ่งได้ แล้วก็พึ่งตนเองไม่ได้ ทำให้สังคมอ่อนแอ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเอาข้อ ๔ มาดุล มาคุมไว้อีกทีหนึ่ง คนจะได้รู้จักเหตุผล มีความรับผิดชอบ

อุเบกขารักษาดุลช่วยให้เกิดความพอดี คือคุมไว้ วางขอบเขตไว้ว่า การช่วยเหลือกันหรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะต้องไม่ให้เสียธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเป็นธรรม หรือความชอบธรรม ไม่ให้เป็นการละเมิดทำลายหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย เป็นต้น ที่เป็นมาตรฐานรองรับสังคมมนุษย์ไว้ และการช่วยเหลือกันนั้นจะต้องเป็นการชอบด้วยเหตุผลหรือสมเหตุผล หรือช่วยอย่างมีเหตุผล มิใช่ช่วยเรื่อยเปื่อยจนทำให้เขากลายเป็นคนอ่อนแอ เกียจคร้าน เฉื่อยชา เสียนิสัย ไม่รู้จักพึ่งตัวเอง

พูดอีกทีว่า อุเบกขาคุมการช่วยเหลือกันของคนไว้ในขอบเขตของะรรม ทำให้คนรู้จักฝึกตัวเองให้เป็นคนผู้มีตนที่พึ่งได้ แล้วก็พึ่งตนเองได้ ไม่ให้ช่วยกันจนคนกลายเป็นนักรอรับความช่วยเหลือ ช่วยให้เขาเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่ช่วยให้เขาอ่อนแอลง และอีกด้านหนึ่งก็ ทำให้คนได้รับการปฏิบัติจัดการให้เข้าอยู่ในธรรมโดยคนด้วยกัน ไม่ต้องไปทำร้ายแก้แค้นกัน เป็นต้น

ในการเลี้ยงลูกก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่เอาแต่ ๓ ข้อแรก ลูกจะไม่โต ถ้ามีอะไรที่ลูกจะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของตน รับผิดชอบต่อสังคม และรับผิดชอบต่อความเป็นจริงของโลกและชีวิต ซึ่งเขาจะต้องเผชิญในอนาคต พ่อแม่จะต้องฝึกเขาไว้ เช่นว่า มีอะไรที่เด็กจะต้องหัดทำให้เป็นเพื่อให้สามารถรับผิดชอบชีวิตของตนได้ต่อไป ก็ต้องใช้อุเบกขา เป็นแค่ที่ปรึกษา คือดู-บอกให้เขาหัดทำ ให้ทำเองเป็น ไม่ใช่เอาแต่เมตตากรุณาแล้วไปทำแทนให้หมด จนลูกไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนในสังคมที่หนักไปทางอุเบกขา เอาแต่กฎกติกาหลักการอย่างเดียว ไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างคนเลย ก็จะเกิดผลเสียคือคนไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้สังคมแห้งแล้ง ขาดความอบอุ่น เครียด แต่ก็มีผลพลอยได้ที่ดี คือ เมื่อตัวใครตัวมัน หวังพึ่งกันไม่ได้ ก็บีบให้คนต้องดิ้นรนขวนขวาย ถ้าไม่ดิ้นก็ตาย ทำให้เป็นคนเข้มแข็ง

สังคมฝรั่งเป็นตัวอย่างของสังคมที่เอียงข้างอุเบกขา เขาเฉย เขาไม่เอาด้วย คุณจะทำอะไร ทำไป อย่าละเมิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์กติกาก็แล้วกัน ทำไปเถิด แต่ถ้าละเมิดผิดกฎเมื่อไร ให้กฎหมายจัดการเลย อย่างนี้เรียกว่าสังคมอุเบกขา ก็รักษาหลักการกฎเกณฑ์กติกาไว้ได้ เอากฎหมายเป็นบรรทัดฐาน

สังคมไทยเป็นสังคมที่เอียงดิ่งไปข้างความสัมพันธ์ระหว่างคน เพราะผู้คนมีข้อ ๑-๒ หรือ ๑-๒-๓ แต่โดยมากจะอยู่แค่ ๑ คือเมตตา และ ๒ คือกรุณา ส่วนข้อ ๓ มุทิตา มักจะอ่อนหรือหย่อนไป

ในสังคมไทยนี้ คนจะช่วยเหลือกันดี ช่วยเหลือกันจนกระทั่งว่า ไม่เอากฎเอาเกณฑ์ เสียหลักการหรือเสียความเป็นธรรมไปเลย นี่ก็เสียอีก

จึงเห็นได้ว่า โลกมนุษย์นี้ ที่จะให้เป็นพรหมซึ่งต้องครบ ๔ นั้น ยากจังเลย เราเป็นพรหมกันได้ยากนัก เป็นแค่ ๑-๒ บ้าง ๑-๒-๓ บ้าง มีแต่ ๔ บ้าง พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ดำรงรักษาโลกมนุษย์ไว้ด้วยธรรมทั้ง ๔ ข้อ ซึ่งต้องปฏิบัติให้ครบ จึงจะเป็นธรรมของพรหม คือผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และอภิบาลโลก เพราะฉะนั้น จะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญว่า พรหมวิหาร ๔ จะต้องใช้ให้ครบ

ขอแถมหน่อยว่า ความหมายของอุเบกขาอีกแง่หนึ่งที่ควรทราบไว้ด้วยก็คือ ในกรณีที่ผู้อื่นทำการละเมิดเสียหาย หรือกระทบกระทั่งต่อตัวเราเอง อุเบกขา หมายถึงการรักษาจิตใจของตนเองไว้ได้ ด้วยการดำรงอยู่ในธรรม อยู่ในหลักการ อยู่ในความดีงาม ไม่หวั่นไหว ไม่โวยวาย ไม่เอนเอียง ไม่เสียดุล คือยังคงรักษาดุลยภาพในจิตใจของตนไว้ได้ ซึ่งก็คือรักษาธรรมนั่นเอง

ในสังคมไทยนี่ เป็นปัญหามากเหลือเกินที่เราไม่เข้าใจว่าอุเบกขาคืออะไร ไปถามที่ไหนๆ อธิบายกันไปคนละทิศสองทิศ จับหลักไม่ได้ ไม่รู้ว่าหลักการเป็นอย่างนี้ ถ้าจับหลักได้ ก็จะชัดไปเลยว่า มันเป็นการรักษาดุลยภาพในสังคมมนุษย์ ตลอดลงมาจนถึงดุลยภาพในใจของบุคคลทุกคน

จะประสานงาน ต้องประสานคน
ให้อยู่ในเอกภาพ และสามัคคี

วันนี้ อาตมาพูดมาตั้งแต่บ่ายโมงครึ่งถึงสามโมงครึ่ง ก็สองชั่วโมงพอดี คงจะได้เวลายุติ แต่อยากจะฝากปิดท้ายไว้สักนิดหนึ่งว่า พรหมวิหาร ๔ นี้ เป็นคุณธรรมประจำในใจ เมื่อออกสู่การปฏิบัติ จะมีหลักธรรมอีกชุดหนึ่งมารับช่วง ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติการ ใครทราบบ้างว่า ธรรมภาคปฏิบัติการที่รับช่วงต่อจากพรหมวิหารนี่คืออะไร ขอให้ลองทายดู มี ๔ ข้อเหมือนกัน เท่ากัน รับกันพอดีเลย

ได้ยินแว่วๆ ว่า “สังคหวัตถุ ๔” ถูกต้อง เก่งมาก

“สังคหวัตถุ” แปลว่า “หลักแห่งการสงเคราะห์” สงเคราะห์ เราแปลกันว่า ช่วยเหลือ แต่ที่จริง การสงเคราะห์นั้น ตัวศัพท์เองแปลว่า ยึดเหนี่ยว ประสาน ประมวล หรือรวมเข้าด้วยกัน หมายความว่า สังคมของเรานี้จะรวมกันเป็นปึกแผ่น มีเอกภาพด้วยการปฏิบัติตามหลัก ๔ ข้อนี้

“สังคหะ” รวมเข้าด้วยกัน โดยยึดเหนี่ยวใจคน และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี (วัตถุ คือ หลัก)

สังคหวัตถุ ๔ มีอะไรบ้าง? และรับกันกับพรหมวิหาร ๔ อย่างไร?

๑. ทาน ให้ปัน

๒. ปิยวาจา พูดอย่างรักัน

๓. อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์แก่กัน

๔. สมานัตตตา ทำตัวให้สมานกัน

ถ้าใช้คำว่าช่วยเหลือ ก็จะได้ความหมายดังนี้

๑. ทาน ช่วยด้วยเงินทองวัตถุสิ่งของ

๒. ปิยวาจา ช่วยด้วยถ้อยคำ

๓. อัตถจริยา ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลัง

๔. สมานัตตตา เอาตัวสมานเข้าถึงกัน

สามข้อแรกเป็นความสัมพันธ์ต่อกัน ส่วนข้อที่ ๔ เข้าถึงตัวกินอยู่ทำงานสุขทุกข์ด้วยกันเลย ทีนี้ ๔ ข้อนี่ รับช่วงปฏิบัติการต่อจากพรหมวิหารในใจ อย่างไร?

๑. ทาน ให้ปัน

ก) ให้ด้วยเมตตา เขาอยู่เป็นปกติ ไม่ได้ทุกข์เดือดร้อนอะไร เราก็เผื่อแผ่ แบ่งปัน แสดงน้ำใจต่อกัน อย่างสมัยโบราณอยู่บ้านข้างเคียง บ้านนี้ ทำกับข้าว ทำแกง ก็แบ่งเอาไปให้บ้านโน้น

ข) ให้ด้วยกรุณา เขาเป็นทุกข์ เช่น ไฟไหม้ เดือดร้อน เราก็ให้เงินทอง ให้เสื้อผ้าอาหารเครื่องใช้

ค) ให้ด้วยมุทิตา เขาทำสิ่งดีงาม แต่ขาดทุนรอน เราก็ส่งเสริม ให้ทุนรอนสนับสนุน

๒. ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน

ก) พูดดีด้วยเมตตา ในยามปกติ ก็พูดจาสุภาพ พูดอย่างเป็นมิตร แสดงน้ำใจ ทักทายปราศรัยกัน

ข) พูดดีด้วยกรุณา เวลาเขาเดือดร้อน มีทุกข์ มีปัญหา ก็ปลอบโยน ให้กำลังใจ แนะนำ บอกวิธีแก้ปัญหาให้ ดังเช่น คุณหมอและพยาบาลแนะนำคนไข้และญาติคนไข้ให้เข้าใจเรื่องโรคภัยไข้เจ็บและการปฏิบัติตัว ตลอดจนปลอบใจให้กำลังใจ

ค) พูดดีด้วยมุทิตา คือ เมื่อเขาทำดีงาม มีความสำเร็จ หายโรค พ้นภัย ก็แสดงความยินดีด้วย ให้กำลังใจ พูดส่งเสริมสนับสนุน

๓. อัตถจริยา ทำประโยชน์ให้เขา

ก) ช่วยทำประโยชน์ด้วยเมตตา คือในยามปกติเราอยู่ด้วยกันกับเขา มีอะไรพอจะช่วยกันได้ ก็ช่วยกัน เช่นยกเก้าอี้ให้นั่งบ้าง เอาน้ำให้ดื่มบ้าง แสดงถึงเมตตาไมตรี มีน้ำใจ

ข) ช่วยทำประโยชน์ด้วยกรุณา เวลาเขาตกต่ำเดือดร้อน มีปัญหา เช่น เขาตกน้ำ ถ้าเราว่ายน้ำแข็งมีกำลังดี เราก็โดดน้ำลงไปช่วย หรือเขาติดอยู่ในไฟ ก็เข้าไปเอาเขาออกมา หรืออย่างที่คุณหมอและพยาบาลช่วยเหลือรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ ก็อยู่ในข้อนี้

ค) ช่วยทำประโยชน์ด้วยมุทิตา เขาทำความดีกัน เราก็ไปสละแรงกายช่วยเขา มีการสร้างสรรค์ความดีอะไรสักอย่าง เราก็เอาเรี่ยวแรงไปช่วย ไปส่งเสริมเขา อย่างสมัยก่อนนี้ ชาวบ้านขนทรายเข้าวัด เราก็ไปสละกำลังกายช่วยเขาเป็นการทำบุญ คือเอากำลังความสามารถไปช่วยส่งเสริมคนทำความดี

เป็นอันว่าพรหมวิหาร ๓ ข้อต้น มาคูณด้วยสังคหวัตถุ ๓ เป็น ๙

๔. สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน แปลตามตัวอักษรว่า ความมีตนเสมอ ข้อนี้หนักไปทางอุเบกขา ซึ่งเป็นตัวดุล ที่จะรักษาหลักการและความเที่ยงธรรมไว้ โดยเป็นกลาง เสมอภาคกัน

ก) “สมานอัตตา” มีตนสมเสมอกัน เสมอภาค เช่น
- ไม่ถือตัว ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน
- ไม่เลือกที่รัก ไม่ผลักที่ชัง ไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฏิบัติ
- ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน

ข) “สมานกิจ” มีกิจสมเสมอกัน ร่วมด้วยช่วยกันทำงาน

ค) “สมานสุขทุกข์” มีสุขมีทุกข์เสมอกัน คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมกันเผชิญและแก้ไขปัญหา

อย่างนี้เรียกว่า สมานัตตตา คือมีตนเสมอสมานเข้าด้วยกัน ทำให้มีเอกภาพ มีความสามัคคี อยู่กันได้ดี สังคมก็มั่นคง มีสันติสุข

งานจะบรรลุจุดหมายสูงสุด ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แท้
เมื่อคนสุขในการสร้างสรรค์คิดทำให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข

ข้อเน้นอีกอย่างหนึ่ง ที่เนื่องมาจากสังคหวัตถุ ๔ ซึ่งเริ่มด้วยทาน คือการให้หรือเผื่อแผ่แบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ทานนี้เป็นการสร้างดุลยภาพอยู่ในตัว และเป็นรากฐานของสังคมมนุษย์

สำหรับมนุษย์ที่อยู่ในโลกนั้น ย่อมเป็นธรรมดาของปุถุชน ที่ย่อมคิดจะได้ จะเอา เพราะว่าชีวิตเราพอเริ่มต้น เราก็ต้องกินใช้ปัจจัย ๔ ซึ่งเราต้องหา ต้องเอา ต้องได้ เมื่อคิดพูดทำเพื่อหาเพื่อได้เพื่อเอาอยู่เรื่อย ก็เคย ต่อมา ถ้าไม่ระวังตัว จิตของเราจะคุ้น แล้วความโน้มเอียงก็จะฝังรากลึกลงไปในการที่คิดจะได้ คิดจะเอา ซึ่งจะนำไปสู่การเบียดเบียนแย่งชิง และสังคมก็จะเดือดร้อน ไม่มั่นคง ไร้สันติสุข เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราสร้างดุลยภาพในใจ คืออย่าคิดแต่จะเอาจะได้อย่างเดียว  ต้องคิดให้ด้วย คนไหนคิดให้ด้วยจะยิ่งได้มากที่สุด ไม่ใช่เสีย

คนที่คิดจะได้จะเอา เมื่อจะให้ การให้กเป็นการสูญเสีย แตสำหรับคนที่คิดจะให้ การให้จะกลายเป็นการได้ และได้หลายอย่างหลายทาง ต่อไปจิตใจจะดี คุณธรรมต่างๆ จะตามมา แล้วก็จะมีความสุขด้วย

แม้แต่จะออกจากบ้านไปทำงาน ก็ตั้งใจไว้เลยว่าเราจะให้ พอคิดจะให้ ความตั้งใจที่จะให้ก็มาเต็มอยู่ในจิตใจของเรา ทำให้เราลืม หรือมองผ่านความกระทบกระทั่งต่างๆ ระหว่างทางไปได้ ใจที่อยู่กับความคิดให้ จะสบายมีความสุข

ต่างจากคนที่คิดจะได้จะเอา คิดถึงวัตถุสิ่งของที่ยังไม่ได้ อยากให้คนอื่นเอาอกเอาใจตัว เจออะไรกระทบหู กระทบตา ก็เด่นชัดขึ้นมา ทำให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ ไม่สบายไปหมด

ฉะนั้น คนที่คิดจะได้จะเอานั้น มีทุกข์มาก เจอสิ่งกระทบกระทั่งเดือดร้อน เก็บเอาไปหมด เจออะไร มีแต่กระทบหู กระทบตา ทุกข์มาก

แต่พอคิดจะให้ ใจที่มุ่งแต่จะให้ กันเอาสิ่งกระทบหูกระทบตาออกไป มันไม่เอา มันไม่เก็บ เพราะฉะนั้น ก็สบายใจ มีความสุขในการไปช่วยเหลือ ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ฝึกกันมา อย่างในสมัยโบราณ มีการฝึก โดยตั้งเป็นข้อปฏิบัติประจำวัน คือเป็นวัตร เช่นตัวอย่างหนึ่ง ตั้งข้อกำหนดกับตนเองว่า ทุกวันเมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ถ้ายังไม่ได้ให้อะไรแก่ใคร ฉันจะยังไม่ยอมกินอะไร แล้วทำได้จริงๆ เมื่อทำอย่างนั้นตลอดเวลา ก็ปลูกฝังจิตที่คิดจะให้เปิดกว้างไว้

จิตของคนที่คิดจะให้นี้ เป็นจิตที่พัฒนา เหมือนจิตของพ่อแม่ที่คิดจะให้แก่ลูก พอจิตคิดจะให้เกิดขึ้น ก็จะมีความสุขจากการให้เกิดขึ้นด้วย คนเราถ้าไม่มีจิตคิดจะให้ คิดจะเอาอย่างเดียว ต้องได้ ต้องเอา จึงจะมีสุข พอให้อะไรแก่ใคร ก็เป็นการเสียไป แล้วก็ขุ่นมัวคือทุกข์ แต่พอมีจิตคิดจะให้ขึ้นมา ก็มีสุขจากการให้ด้วย คราวนี้สบาย มีสุข ๒ ชั้น คือ ได้ก็สุข ให้ก็สุข

ยิ่งกว่านั้น สุขจากการให้นั้นมันโปร่ง มันโล่ง มันยั่งยืน สุขจากได้มีอยู่เดี๋ยวเดียว และคับแคบ แฝงด้วยความระแวงหวงแหน และสุขข้างเดียว เป็นสุขแบบแบ่งแยกช่วงชิง แต่สุขจากการให้เป็นสุขแบบประสานกลมกลืน เราสุข เขาก็สุขด้วย และความสุขของเราขึ้นต่อความสุขของเขา เมื่อเห็นเขาสุขเราก็สุข เป็นการสุขด้วยกัน

คนที่สุขจากการให้ ก็จะขยับฐานะจากปุถุชนที่มืดบอด ไปเป็นคนระดับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เป็นพ่อแม่ แต่จะเริ่มมีจิตเป็นพ่อแม่ เป็นคนที่พัฒนาขึ้นแล้ว

ฉะนั้น อย่างน้อยทุกคนจะต้องฝึกหัดตัวเองให้มีจิตประเภทนี้ คือให้มีจิตที่จะให้ ไว้ดึลกับกับจิตที่จะได้จะเอา

คนที่มีจิตคิดจะได้จะเอา จะจ้องไปที่วัตถุ คนเราพอจ้องไปที่วัตถุเพื่อจะเอา ก็จะมีสัญชาตญาณมาสร้างความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ในแง่ที่คิดระแวงทันที คือระแวงว่าเขาจะเอาหรือเปล่า พอระแวง ก็รู้สึกว่าเขาเป็นคู่แข่ง หรือเป็นปฏิปักษ์ พอรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ใจก็ไม่สบาย เพราะฉะนั้น จิตที่คิดจะได้จะเอาจึงสร้างความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์แบบหวาดระแวง เป็นคู่แข่ง เป็นปฏิปักษ์

แต่พอจิตคิดจะให้เกิดขึ้น พอตั้งใจจะให้ ตาจะไม่มองไปที่ของ แต่จะมองไปที่หน้าคน จะมองว่าเราจะให้แก่ใคร พอมองไปที่หน้าคน ก็เริ่มเห็นสุขเห็นทุกข์ของเขา เกิดความเข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์ พอเข้าใจเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เมตตากรุณาก็เกิดขึ้น คืออยากจะช่วยให้เขาเป็นสุข หรือพ้นทุกข์

พอให้เพื่อทำให้เขาเป็นสุข เราก็สุขด้วย เขาก็สุขด้วย จิตใจก็ดี คุณธรรมก็เกิด เพราะฉะนั้น ความเป็นเหตุปัจจัยระหว่างความดีกับความสุขจะเป็นไปเอง

เมื่อตั้งจิตคิดจะให้แล้ว ก็สนใจเพื่อนมนุษย์ แล้วก็เข้าใจเพื่อนมนุษย์ และเห็นใจเพื่อนมนุษย์ คุณธรรมก็เกิดขึ้น ได้สนองความต้องการเชิงคุณธรรม แล้วก็สุข อย่างชนิดที่เป็นความสุขในการอยู่ร่วมกัน สุขซึ้งใจในไมตรี มนุษย์จะไม่แปลกแยกจากกัน

ฉะนั้น ขอให้ระลึกไว้เถิดว่า ในที่สุด เราจะต้องรักษาฐานไว้ให้ดี คืออย่าได้แปลกแยกจากความเป็นจริงของชีวิตทุกขณะของเราที่เป็นอยู่ ซึ่งมี

หนึ่ง... เราอยู่กับธรรมชาติ ชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราต้องมีความสุขในการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่คงอยู่ในสภาพรมณีย์ อย่าได้แปลกแยกไปจากธรรมชาติ

สอง... เราเป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่กับเพื่อนมนุษย์ เราต้องมีความสุขในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่ในครอบครัว ตั้งแต่กับลูกกับหลาน พ่อแม่เป็นต้นไป และ

สาม... ชีวิตมนุษย์ต้องอยู่กับกิจกรรมที่ทำอยู่ตลอดเวลา เราต้องไม่แปลกแยกจากกิจกรรมแห่งชีวิตของเรา กิจกรรมของเราต้องสอดคล้องกับความมุ่งหมายของชีวิตของเรา หรือปรับความต้องการของเราให้ตรงกับผลที่แท้จริงตามธรรมชาติของการงานที่ทำ เมื่อใจมีฉันทะเป็นสุขอยู่ในกิจกรรมหรือการงานที่กำลังทำอยู่นั้นแล้ว ความสุขพื้นฐานจะมีอยู่ในตัวเราตลอดเวลา

ต่อจากนี้ ความสุขที่ได้มาจากภายนอก ก็จะเสริมจะเติมยิ่งขึ้น ไม่หายไม่สูญไปไหน

แต่ถ้าใครสูญเสียความสุขพื้นฐาน ๓ ประการนี้ไปแล้ว นับแต่นั้นไป ชีวิตก็จะมีแต่ลบ แล้วก็จะขาดทุน และจะเติมไม่ไหว จะไล่ตามไปเติมอย่างไร ก็ไม่ได้ไม่ทัน

เป็นอันว่า ถ้าทำถูกแล้ว ชีวิตของตัวเองก็มีความสุข สังคมก็จะได้ประโยชน์สุข และความสุขของตัวเองนั้นก็จะเสริมการทำงาน ทำให้งานของส่วนรวมได้ผลดียิ่งขึ้นไป สุขทั้งในการทำงาน สุขทั้งในการได้เงินมาด้วย

ความสุขจากเงิน ก็จะเป็นส่วนเสริมประกอบของชีวิต ถูกต้องตามสมมติของมัน ที่มนุษย์บัญญัติทีหลัง ซึ่งไม่ใช่เป็นของพื้นฐานดั้งเดิมของชีวิต

เพราะฉะนั้น รักษาทุนดั้งเดิมของชีวิตไว้ให้ได้ก่อน วางฐานไว้ให้สนิทใจแล้ว จะมีแต่ดีอย่างเดียว

ได้พูดมายืดยาวและขยายกว้างออกไป จนเกินเลยเรื่องการทำงาน เข้ามาสู่เรื่องของความเป็นอยู่ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน

แต่ที่จริง แม้จะพูดเรื่องธรรมะในชีวิตประจำวัน ก็ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานอยู่นั่นเอง เพราะคนที่ทำงาน ก็ต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันเป็นฐาน ถ้าชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันตั้งแต่ในครอบครัวมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบเสียหายต่อการทำงาน ถ้าความเป็นอยู่ประจำวันเรียบร้อยดำเนินไปดี ก็จะส่งผลดีแก่การทำงานด้วย

ยิ่งกว่านั้น ในขั้นสูงสุด การงานและกิจกรรมทั้งหลายที่จัดดำเนินกันอยู่นั้น ก็เพื่อผลดีแก่ชีวิตและสังคมนั่นเอง อย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ อาชีพแพทย์และพยาบาลนี้ ที่มีขึ้นก็เพื่อช่วยเหลือชีวิตและสุขภาพของประชาชน และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคม เรื่องงานการกับชีวิตความเป็นอยู่ของคน จึงไม่อาจแยกจากกัน

เรื่องการทำงานวันนี้ ได้พูดเน้นในแง่ความสุข เพราะการทำงานจะได้ผลดีจริงไม่ได้ ถ้าคนไม่มีความสุข

จะต้องให้การทำงานเป็นความสุข ให้การทำงานนำมาซึ่งความสุข และให้ความสุขมาเสริมพลังการทำงาน

ถ้าการทำงานกับความสุขประสานกลมกลืนกันครบวงจรอย่างนี้ ผลดีก็จะเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เป็นการทำงานที่ถูกต้องตามธรรมะอย่างสมบูรณ์

แต่จะให้เป็นอย่างนี้ได้ คนที่ทำงานก็จะต้องมีการพัฒนา เริ่มตั้งแต่พัฒนาจากการเป็นคนที่มีความสุขจากการได้ การเอา และการเสพ ขึ้นมาสู่การมีความสุขจากการ “ทำ” หรือการ “สร้างสรรค์” อย่างที่ได้พูดมาแล้ว เมื่อใดคนมีความสุขจากการทำ เมื่อนั้นการทำงานก็เป็นความสุข ความประสานกลมกลืนก็เกิดขึ้น และความสำเร็จก็ตามมา

แต่จะให้คนทุกคนเป็นอย่างที่เราปรารถนาทั้งหมดในเวลาหนึ่งเวลาเดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ สังคมในแต่ละขณะย่อมมีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่างๆ กัน เพียงแต่ขอให้คนที่พัฒนาถึงขั้นที่ต้องการนั้น เป็นคนข้างมากในสังคม ก็ถือได้ว่าประเทศชาติเจริญมั่นคงปลอดภัย

ลองตั้งประมาณการดูว่า ระดับคุณภาพประชากรที่ต้องการในสังคมไทย ในแง่การทำงาน กับความสุข อาจจะเป็นดังนี้

ประชากรผู้มีความสุขด้วยการสร้างสรรค์และการทำให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข ๑๐%

ประชากรผู้มีความสุขด้วยการทำงานสร้างสรรค์ ๕๐%

ประชากรผู้มีความสุขด้วยการได้และการเสพ ๔๐%

ขอให้อัตราส่วนของนักเสพนักบริโภคหรือนักหาความสุขลดลงไปบ้าง ขอให้นักสร้างสรรค์และนักสร้างความสุขมีจำนวนเพิ่มขึ้นสักหน่อย เพียงแค่ที่ประมาณการไว้นี้ ชาติไทยจะพ้นจากภาวะกำลังพัฒนา และก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในประชาคมโลกได้อย่างแน่นอน

อาตมภาพได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ขออนุโมทนาท่านผู้อำนวยการ ท่านผู้บริหาร คุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ญาติโยม ท่านผู้ศึกษาและผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

ในโอกาสนี้ ดังที่ท่านผู้อำนวยการปรารภแล้วว่าเป็นช่วงปีใหม่ของไทยตามประเพณี คือ ระยะเดือนเมษายน ซึ่งจะถึงวันสงกรานต์ที่แท้ในวันที่ ๑๓ อีกไม่ช้าแล้ว

ขอถือโอกาสนี้ตั้งจิตปรารถนาดีต่อทุกท่านด้วยเมตตาธรรม ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย อภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข ประสบความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ในการประกอบกิจการต่างๆ ให้บรรลุผลสมหมาย เป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตของตน และกิจการของส่วนรวม ทั้งสังคม และมนุษยชาติทั้งหมด

ขอจงได้ประสบความสวัสดีมีชัย และสิริมงคลทุกประการ ทั่วทุกท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ

1ปาฐกถาธรรมพิเศษ เนื่องในโอกาสปฐมนิเทศเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำการ รุ่นที่ ๑๑ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๙ ณ ห้องประชุมใหญ่โรงพยาบาลหัวเฉียว
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.