เทคโนโลยีกับศาสนา

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

วิถีทางเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา1

ขอกราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุที่เคารพ พร้อมด้วยหลวงพ่อปัญญานันทะ ประธานจัดงานครั้งนี้ ท่านพระเถระที่เคารพนับถือ และขออำนวยพรแก่ท่านสาธุชนทั้งหลาย

ในการประชุมฟังอภิปรายวันนี้ จะขอใช้คำแทนชื่อผู้พูดว่า อาตมภาพ เสมือนกับว่ากำลังพูดกับฝ่ายญาติโยมคฤหัสถ์ ทั้งนี้เพราะว่า พระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไปนั้นก็เป็นผู้มีหน้าที่ที่จะแสดงธรรมแก่ญาติโยมอยู่แล้ว แม้ท่านจะมาอยู่ในสถานที่นี้ร่วมฟังการอภิปรายด้วย ท่านก็คงมีน้ำใจเอื้อเอ็นดู ในการที่จะแสดงธรรมแก่ญาติโยม และก็ร่วมฟังกับญาติโยมด้วย

ในการอภิปรายวันนี้ เรามีผู้ร่วมอภิปรายทั้งที่เป็นบรรพชิต และคฤหัสถ์คือ มีทั้งพระภิกษุและญาติโยมอีกด้วย และท่านที่เป็นวิทยากรก็เป็นผู้มีพื้นเพภูมิหลังอาชีพการงานต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายก็มีโอกาสที่จะรับฟังแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนานี้ ในหลายรสหลายแบบด้วยกัน อาจจะมีหนักบ้างเบาบ้าง และก็เป็นด้านคัมภีร์บ้าง ด้านเกี่ยวกับชีวิตคนทั่วไปบ้าง สำหรับอาตมภาพนี้ก็อยากจะเสนอในรสหนึ่งหรือแนวหนึ่ง คือเน้นหนักไปในทางคัมภีร์ก่อน

เมื่อกี้นี้ท่านผู้ดำเนินการอภิปราย คือท่านคุณหญิงเต็มศิริ บุณยสิงห์ได้เอ่ยถึงหนังสือธรรมนูญชีวิต ซึ่งหนังสือธรรมนูญชีวิตนั้น ก็เป็นหนังสือที่เนื่องด้วยคัมภีร์ หรือว่านำเอามาจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะก็คือพระไตรปิฎก หนังสือธรรมนูญชีวิตนั้นกล่าวถึงหลักธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติและคุณสมบัติของคนทั่วไป แบ่งแยกตามสถานะของการดำรงชีวิตทั้งชาวบ้านชาววัด เริ่มแต่ชาวบ้านที่เป็นคนทั่วๆ ไปผู้ครองเรือน เป็นหัวหน้าครอบครัว ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่เป็นลูกหรือว่าเป็นครูอาจารย์เป็นศิษย์ จนกระทั่งถึงในที่สุดว่าเป็นพระและเป็นผู้พ้นจากทุกข์หรือเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งหมดนั้น ถ้าเราจะมาแยกแยะดูและประมวลเนื้อหาทั้งหมดแล้ว เราก็จะมองเห็นหัวใจพระพุทธศาสนาได้เหมือนกัน ในที่นี้จะขอกล่าวตามแนวพระคัมภีร์ต่อไป

แม้ว่าในการอภิปรายครั้งนี้ ท่านผู้อภิปรายหลายท่านอาจจะพูดถึงหัวใจ โดยใช้คำพูดต่างกัน แต่ท่านทั้งหลายก็ไม่ต้องแปลกใจหรอก หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกัน แม้ท่านจะพูดว่าอันนี้อันโน้นเป็นหัวใจ ทำให้ดูคล้ายๆ ว่าต่างกัน แต่ในที่สุดแล้วก็คือหัวใจเดียวกัน ที่ต่างก็คือด้านโน้นด้านนี้ของหัวใจเท่านั้นเอง

เอาละทีนี้เราลองมาดูว่าตามแนวของคัมภีร์พระพุทธศาสนา จะว่าอย่างไร ก็คงจะต้องพูดถึงคำว่า “หัวใจ” ก่อน หัวใจเป็นคำในภาษาไทย คือ ผู้ตั้งชื่อหัวข้อการอภิปรายนั้นใช้คำภาษาไทย คำว่า “หัวใจ” นั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่า คือ อวัยวะที่สำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต ทีนี้หัวใจนั้นเราถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างยิ่ง หรือสำคัญที่สุดของชีวิต คนทั่วๆ ไปมักจะพูดกันว่า ถ้าหัวใจหยุดเต้นแล้วก็เป็นอันว่าตาย ก็เลยถือว่า หัวใจนั้นเป็นแกนสำคัญของชีวิตทั้งหมด เมื่อเรามาดูในทางพระพุทธศาสนา เรามักจะต้องมาดูว่า ในภาษาบาลีซึ่งเป็นต้นหลัก เป็นภาษาคัมภีร์ที่มาของพระพุทธศาสนานั้น มีคำสำหรับหัวใจว่าอย่างไร เราก็จะรู้ได้ทันทีว่า ได้แก่ “หทัย” คำที่ใช้กันอาจจะมีคำอื่นอีกบ้าง แต่คำที่ใช้มากก็คือ คำว่า “หทัย” เรามาดูว่า อะไรเป็น “หทัย” ที่แปลว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา ในทางพระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่าอย่างไร ลองเลียบๆ เคียงๆ ดูในพระคัมภีร์ ก็ไปเห็นว่าในคัมภีร์อภิธรรมคัมภีร์หนึ่ง ชื่อว่า คัมภีร์วิภังค์นั้น อธิบายหลักธรรมต่างๆ โดยวิเคราะห์แยกแยะออกไปมากมาย บรรดาหลักธรรมที่ท่านนำมาวิเคราะห์นั้น ท่านก็ใช้ตั้งชื่อบท ถ้าหากวิเคราะห์เรื่องขันธ์ ๕ ในบาลีก็เรียกว่า ขันธวิภังค์ ถ้าวิเคราะห์เรื่องอายตนะ ๑๒ ท่านก็เรียกว่า อายตนวิภังค์ อย่างนี้ไปจนกระทั่งถึงหมวดที่ ๑๘ ท่านตั้งชื่อว่า ธรรมหทัยวิภังค์ เป็นการวิเคราะห์เรื่องหัวใจของพระธรรม เราก็มาดูว่าในคัมภีร์พระอภิธรรมนี้ ที่ว่าพูดถึงหัวใจพระธรรมนั้นว่าด้วยอะไรบ้าง ปรากฏว่าอภิธรรมบทนี้ว่าด้วยเรื่องหลักธรรม สำคัญๆ ดังต่อไปนี้ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สัจจะ อินทรีย์ เหตุ อาหาร ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต ถ้าพูดอย่างนี้ หัวใจของพระพุทธศาสนาก็มีมากมาย แต่โดยสาระสำคัญก็คือ ได้แก่สิ่งที่ทางอภิธรรมเรียกกันว่า ปรมัตถธรรม หรือเป็นจำพวกสภาวธรรม สิ่งที่มีอยู่ตามสภาวะตามธรรมชาตินั่นเอง แต่ในที่นี้อยากจะขอพูดว่าอันนั้นเป็นการเทียบเคียงเท่านั้น เพราะว่ามันตรงโดยศัพท์ แต่บางทีศัพท์ที่ใช้ในภาษานั้น ไม่ใช่มุ่งความหมายตามตัวอักษร แต่เราต้องดูโดยใจความ ทีนี้กลับมาพิจารณาหัวข้อที่ตั้งไว้อีกที ที่ว่า วิถีทางเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนานั้น เราแยกตั้งเป็นหัวข้อขึ้นมา ๔ ข้อ

อะไรคือ หัวใจของพระพุทธศาสนา

ข้อ ๑ อะไรคือ หัวใจของพระพุทธศาสนา ให้นึกว่า คำว่า หัวใจในที่นี้ ไม่ได้มุ่งให้แปลตามพยัญชนะหรือตามตัวอักษร

พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า หัวใจนี้ในภาษาไทยนั้นก็อย่างที่กล่าวในตอนต้น หมายถึงส่วนที่สำคัญที่สุดหรือส่วนที่เป็นแก่นแท้ ก็ทำให้นึกว่าในที่นี้เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้คำแปลที่ตรงตัว หรือเอาหลักในพระพุทธศาสนาที่มีความหมายเท่ากันโดยพยัญชนะตามตัวอักษร แต่จะเอาโดยสาระสำคัญเอาที่ใจความ ถ้าอย่างนี้แล้ว เราก็ตอบไปอีกแบบหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ถึงสิ่งที่เป็นแกนสำคัญ เป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง หรือจะเรียกว่าสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา จะขอยกเป็นพุทธพจน์ว่า พระพุทธเจ้าเองก็เคยตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า “เธอทั้งหลายถ้าถูกสอบถาม พึงตอบแก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายว่าดังนี้” พระพุทธเจ้าตรัสแจกแจงออกไปว่า ถ้าเขาถามว่าอย่างนี้ให้ตอบว่าอย่างนี้ ถามอย่างนั้นให้ตอบว่าอย่างนั้นหลายข้อ แล้วมาถึงข้อท้ายๆ ข้อหนึ่ง “ถ้าเขาถามว่าอะไรเป็นสาระของธรรมทั้งหลาย หรือธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีอะไรเป็นสาระ เธอทั้งหลายพึงตอบว่า “ธรรมทั้งปวงมีวิมุตติเป็นสาระ หรือว่าธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นมีวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นนี้เป็นแก่นสารเป็นเนื้อแท้” อันนี้เป็นพุทธพจน์ ก็เหมือนอย่างที่พระเดชพระคุณพระธรรมมหาวีรานุวัตรได้กล่าวมาแต่ต้น ท่านได้กล่าวไว้ทั่วๆ ไป หรือจะอ้างพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่งก็ได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ คือดำเนินชีวิตประเสริฐ อันมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่นสาร และมีสติเป็นอธิปไตย” ในที่นี้ก็คือมีวิมุตติเป็นสาระเป็นแก่นสาร แม้แต่ในคำอุปมาอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมวินัยนี้หรือพระพุทธศาสนานี้ โดยเทียบกับ มหาสมุทรว่า “มหาสมุทรมีรสรสเดียว คือ รสเค็มฉันใด “อยํ ธมฺมวินโย เอกรโส วิมุตฺติรโส” ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียว คือ วิมุตติรส รสคือความหลุดพ้น ฉันนั้น” อาจจะถือได้ว่า นี้เป็นคำตอบว่า อะไรคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่วิมุตติ คำว่าสาระ แก่นสาร และรส ในที่นี้มีความหมายอย่างเดียวกัน

วิมุตตินั้นเป็นศัพท์ที่รู้กันดีในวงการธรรมะ แต่ว่าไม่รู้แพร่หลายมาก ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้อ่านหนังสือในทางธรรมมากนัก อาจจะไม่คุ้น แต่ว่าศัพท์ประเภทนี้มีใช้ในรูปที่เป็นไวพจน์อย่างอื่นอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น เราได้ยินคำว่าวิโมกข์หรือโมกขธรรม แม้แต่เรามาในที่นี้ เราก็มานั่งในสวนโมกข์ สวนโมกข์ก็เป็นสวนแห่งโมกข คือความหลุดพ้นหรือวิมุตตินั่นเอง และชื่อเต็มดูเหมือนจะเป็นทางการก็เรียกว่า สวนโมกขพลาราม อารามที่เป็นกำลังแห่งโมกษะ คือ ความหลุดพ้น นี้ก็เท่ากับว่า ที่ท่านตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่าสวนโมกข์นั้น ท่านก็มุ่งเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาคือ โมกษะ หรือวิมุตตินี้นั่นเอง โมกษะหรือวิมุตตินี้ ถ้าเราจะเอาความหมายตามพยัญชนะก็เพียงว่า เป็นความหลุดพ้น แต่ก็ต้องดูว่าท่านต้องการเนื้อหาสาระว่าอย่างไร ความหลุดพ้นนั้นหมายถึงความปลอดพ้นจากภาวะบีบคั้น บังคับ ครอบงำ จำกัด ขัดขวาง บกพร่อง ขาดแคลนทั้งหลาย แล้วก็ไม่ต้องขึ้นต่ออะไรๆ ต่อใครๆ มีความพร้อมที่จะทำอะไรๆ ก็ได้ตามต้องการหรือตามที่รู้ว่าควรจะทำ อันนี้คือภาวะที่เราเรียกว่า วิมุตติ

เรามาดูในภาษาไทยอีกทีจะเห็นว่า สภาวะตามความหมายที่อาตมภาพได้กล่าวมานั้น เรามักจะใช้ภาษาไทยว่า อิสรภาพ อิสรภาพนี้เป็นคำไทยที่ใช้ในความหมายเดียวกับวิมุตติที่ได้กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้น ถ้าพูดในภาษาไทยแล้ว อาจจะบอกว่า อิสรภาพนั่นเองเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่ทีนี้มันมีปัญหาอยู่ว่า คำว่าอิสรภาพนั้น มันก็มาจากภาษาบาลี อิสร+ภาวะ เป็นอิสรภาพ แปลว่าความเป็นอิสระ มีข้อที่จะต้องแทรกเข้ามาหน่อยว่า คำศัพท์บาลีที่มาใช้ในภาษาไทยแล้ว ความหมายมักเคลื่อนคลาดบ่อยๆ คำว่าอิสรภาพนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำที่ได้มีความหมายคลาดเคลื่อนไป คำว่าอิสรภาพนั้น เดิมในภาษาบาลี ไม่ได้แปลว่า หลุดพ้นปลอดพ้นจากสภาวะบังคับบีบคั้น แต่แปลว่า ความเป็นใหญ่ อิสระแปลว่า เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวรก็แปลว่าผู้เป็นใหญ่ เป็นเจ้า อิสรภาพ แปลว่า ภาวะที่เป็นใหญ่ แต่ถ้าเราจะตีความหมายให้คล้ายๆ ก็คือ ความเป็นใหญ่ในตัว ไม่ต้องขึ้นกับผู้อื่น แต่อิสระนั้นบางทีหมายความว่า เป็นใหญ่เหนือผู้อื่นหรือครอบงำผู้อื่นไปด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม คำว่าอิสรภาพนั้น ภาษาไทยเราใช้กันติดแล้ว กลายเป็นว่าเราจะต้องแปลวิมุตติว่า “อิสรภาพ” ในที่นี้จะต้องใช้คำว่า “อิสรภาพ” ต่อไป ก็ขอให้รู้ว่า ในทางพระศาสนานั้นต้องการให้หมายถึง วิมุตติ ในที่นี้จะพูดว่า แกนกลางหรือหัวใจของพระพุทธศาสนาคือ อิสรภาพก็ได้ จะเป็นวิมุตติก็ได้ ให้เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน

เรื่องอิสรภาพหรือวิมุตติ ความปลอดพ้นจากสิ่งบีบคั้นบังคับ เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่ออะไรนั้น เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงว่าเป็นแก่นสารสำคัญในทุกขั้นตอนของธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมชั่วคราวหรือถาวร เป็นการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาในระดับต้น กลางหรือปลายก็ตาม อันนี้เป็นเรื่องที่จะกล่าวต่อไป ในตอนแรกนี้จะพูดถึงว่าพระพุทธศาสนานั้น มีวิมุตติหรือความเป็นอิสระหรืออิสรภาพเป็นหัวใจ และเราก็จะต้องมาแยกแยะออกไปว่า อิสรภาพที่ว่านี้ มันเป็นอย่างไรบ้าง มีกี่รูปแบบ กี่ด้าน และการศึกษานี้ ถ้าหากว่าเป็นไปตามแนวทางพระพุทธศาสนา จะต้องเข้าถึงหรือทำให้มนุษย์เข้าถึงซึ่งอิสรภาพ อิสรภาพนั้นเป็นอย่างไรจะได้พูดกันต่อไป ในตอนต้นนี้จะขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน (จบอภิปรายรอบแรก)

(อภิปรายรอบที่สองต่อ)

ตอนนี้ก็เกิดปัญหาเรื่องอิสรภาพขึ้นมา คือท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปรายได้จำกัดเวลาที่จะพูดเสียแล้ว จึงทำให้รู้สึกว่าหมดอิสรภาพที่จะพูดให้ได้เนื้อความตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ต้องพยายามสร้างอิสรภาพขึ้นมาในความไม่มีอิสรภาพ ไม่ได้มากก็ได้น้อย คือ การพูดถึงหลักธรรมสำคัญ เช่น เรื่องการเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนานี้ ถ้าว่ากันให้ชัดเจนจะต้องมีการพูดอย่างเป็นระบบ มีการวิเคราะห์กันอย่างละเอียดชัดเจนมาก เช่น ทำอย่างไรจึงจะให้หัวใจส่วนที่ฝ่ายพระพูดว่าวิมุตติหรืออิสรภาพนั้นมาเชื่อมโยงกันได้ กับหัวใจที่ท่านรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย) ได้พูดไปแล้วว่า ได้แก่การเว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ถ้าเราพูดชี้แจงไปๆ ในที่สุดหัวใจทั้งสองอย่างมันก็คืออันเดียวกัน แต่ทีนี้ในเมื่ออาตมภาพชี้หัวใจของพระพุทธศาสนาลงไปว่า ได้แก่วิมุตติหรืออิสรภาพแล้ว ก็จะต้องตอบเรื่องนี้ โดยตอบคำถามของท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปราย ที่ว่าอะไรเป็นอุปสรรค ไม่ให้คนเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นคำถามที่ ๒

ถ้าเราจะเอาหลักธรรมมาพูด ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก เราก็จะพบได้ทั่วไป และท่านจะอ้างเป็นบาลีว่า “อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสุ” อย่างนี้มีทั่วไปในพระบาลี ซึ่งแปลความว่า “จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน” อันนี้ก็คือคำตอบที่บอกว่า ที่มันไม่หลุดพ้น ไม่มีอิสรภาพนั้น ตัวขัดขวางก็คืออุปาทานหรือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งอันนี้ มีไวพจน์หรือศัพท์ที่ใช้แทนกันได้หลายคำ คำที่เราได้ยินบ่อยก็คือคำว่า “อภินิเวส” หรือคำว่า “ปรามาส” อภินิเวสนั้นก็แปลว่าความยึดมั่น ดังจะเห็นได้ในคำที่หลวงพ่อสวนโมกข์ชอบอ้างพุทธพจน์บ่อยๆ ว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสายธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่อาจจะถือมั่นได้ ไม่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่น หรือปรามาส ดังเช่นในคำว่า “สีลัพพตปรามาส” ยึดถือในศีลวัตรว่า ประพฤติศีลวัตรอย่างเดียวก็สามารถทำให้บริสุทธิ์ หลุดพ้นเข้าสู่ความเป็นอิสรภาพได้

ทีนี้ปัญหาเกี่ยวกับความหมายของอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นก็เกิดขึ้นมาอีก เช่น บางท่านก็ว่า ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น เช่น ไม่ยึดถือในศีลธรรมคุณธรรมแล้ว เราก็ไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องอะไร อันนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจในความหมาย พูดกันง่ายๆ ในเวลาสั้นๆ ก็ชี้แจงได้เพียงว่า อุปาทานนั้นเป็นเรื่องของการยึดมั่นถือมั่น ถือค้างถือคาอยู่ จนกระทั่งไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมือไม่ว่าง เหมือนอย่างคนที่ไปยึดฉวยอะไรไว้มั่น กำไว้ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง มันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมือไม่ว่าง ทีนี้มันมีปัญหาในทางภาษาอย่างหนึ่ง เช่น ในทางพระ เวลาท่านใช้ว่ายึดมั่นในศีลธรรมนั้น ศัพท์เดิมท่านไม่ใช้ว่ายึดมั่น แต่ใช้ว่าตั้งมั่น ภิกษุตั้งมั่นแล้วในศีล ทำไมท่านใช้คำว่าตั้งมั่นหรือดำรงมั่น ก็เพราะว่าท่านถือว่าศีลเปรียบเหมือนผืนแผ่นดิน ความประพฤติที่ดีงามเหมือนอย่างแผ่นดิน คนเราจะทำการทำงานอะไรจะต้องยืนบนพื้นที่แน่น ถ้าพื้นมันแน่นดีแล้วเราก็สามารถทำอะไรได้ถนัด ถ้าท่านยืนอยู่บนพื้นที่ไม่แน่นหนา ยวบยาบโอนเอนโคลงเคลงไปมา ท่านจะทำอะไรได้ไม่ถนัด ทำอะไรก็ไม่สะดวกทุกอย่าง ท่านจะต้องยืนอยู่บนพื้น คือศีลที่แน่นหนานั้น อย่างนี้ท่านก็ใช้คำว่า “ตั้งมั่นในศีล”

ทีนี้ถ้าเราตั้งมั่นในศีล มีความประพฤติดีงามแล้ว เราก็ยืนได้มั่นคง เราก็ทำงานของเราได้เต็มที่ แต่นั่นมือของเราจะต้องว่างด้วย มือของเราจึงจะจับงานขึ้นมาทำได้เต็มที่ คำว่ามั่นนี่มีข้อที่จะต้องทำความเข้าใจหลายอย่าง คือมั่นในแง่ว่า ตั้งมั่น อยู่บนศีลที่เป็นเหมือนพื้นแผ่นดินหรือฐานที่มั่นคง จึงทำอะไรได้สะดวก และก็ทรงตัวมั่นอยู่ในสมาธิ หมายความว่าตั้งจิตมั่น ตัวเราจะได้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง นอกจากยืนอยู่บนฐานที่มั่นคงโดยศีล และทรงตัวอย่างมั่นคง ทำงานได้อย่างดีแล้ว ต่อมาก็จับไว้มั่นในความหมายว่าจับไว้ด้วยดี เรียกว่าสมาทาน ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างอุปาทานกับสมาทาน สมาทานคือว่า จับไว้ด้วยดี จับได้มั่นคง คือจับไว้มั่นอย่างดี เพื่อทำการงานได้สะดวกเต็มที่ ไม่ใช่จับยึดถือค้างถือคาอยู่จนทำอะไรไม่ได้เลย นี่จะเห็นว่าแม้แต่ปัญหาในเรื่องถ้อยคำก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันอยู่แล้ว ทีนี้ตัวธรรมเองก็ต้องทำความเข้าใจลึกเข้าไปอีก ในเวลาสั้นๆ ก็ต้องพูดว่าอุปาทานนี้คือ ความยึดมั่นยึดติดถือค้างอยู่ ทำให้ไม่เป็นอันทำอะไร ทำอะไรก็ไม่ถนัด เพราะมันเกาะมันติดมันผูกรัดถือค้างถือคาไว้ ทีนี้ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็ต้องสืบต่อไปตามหลักธรรม

ท่านบอกว่าอุปาทานมาจากตัณหา เพราะมันอยากจะให้เป็นตามที่เราต้องการ จะให้มันเป็นอย่างที่ตัวอยากให้เป็น โดยไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามความอยากของเรา ก็ตกลงว่าในที่สุดมันไปจนมุมที่อวิชชา คือ ความไม่รู้ สามตัวนี้มันเกาะกันอยู่ คือ ยึดมั่นถือมั่นเกาะติดค้างอยู่เพราะอยากจะให้สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปอย่างที่ตัวต้องการให้เป็น โดยไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เมื่อมารู้ว่าตัวการที่เป็นอุปสรรคของความหลุดพ้น ไม่มีอิสรภาพ ก็คืออุปาทาน ซึ่งสืบไปถึงตัณหาและอวิชชาแล้ว เราก็มาถึงปัญหาว่าแล้วอะไรจะทำให้คนหลุดพ้นเป็นอิสระได้ พอเราสืบไปถึงอวิชชา ตัวแก้ก็คือ วิชชาหรือปัญญาความรู้นั่นเอง เป็นตัวที่จะทำให้แก้ปัญหาได้

ก่อนที่เราจะว่าถึงวิธีการ ระบบปฏิบัติในการแก้ เราจะต้องรู้เสียก่อนว่าตัวการในการแก้นั้นคืออะไร แล้วจึงจะวางระบบวิธีการในการแก้ไข พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องตัวการที่จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ ทำลายอุปสรรคได้ แล้วก็ถึงวิมุตติความหลุดพ้นเป็นอิสระได้ นั่นคือ ปัญญา ความรู้ความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เราจะเห็นว่าพุทธพจน์มีมากมาย แม้แต่ที่บอกมาเมื่อกี้ว่า จิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ทำไมมันจึงหลุดพ้น ก็เพราะมันรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ถ้าเอาตามความหมายที่เราพูดกันง่ายๆ ในที่นี้ก็คือว่า เรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น เมื่อเรารู้ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราก็รู้ว่าจะต้องทำตามเหตุปัจจัย จะต้องศึกษาเหตุปัจจัยและก็ทำการตามนั้น นี่มันก็จะแก้ปัญหาได้

ทีนี้ปัญญาที่เป็นตัวการในการแก้นี้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นให้ได้ เพื่อบรรลุอิสรภาพ แต่ว่าปัญญาเพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ทันที เราจะต้องมีระบบวิธีในการที่จะทำให้เกิดปัญญานี้ คือให้ตัวการในการแก้ปัญหาหรือสร้างอิสรภาพนี้เกิดขึ้นมาให้ได้ ท่านก็วางระบบขึ้นมาเป็นวิธีการ วิธีการนี้ก็คือ มีสิ่งที่จะมาช่วยสนับสนุนเป็นขบวนการที่จะให้เกิดปัญญาขึ้น หรือทำให้ปัญญาพัฒนาจนถึงที่สุด ตอนนี้เราก็มาถึงวิธีการที่มีตัวสนับสนุนเข้ามาร่วมในขบวนการ พระพุทธเจ้าท่านวางเป็นระบบที่เรียกว่า สิกขาหรือการศึกษา จัดเป็นไตรสิกขา คือปัญญานี้ก็จะต้องมาจากสมาธิด้วย มาจากศีลด้วย ก็ครบขบวนการ มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นไตรสิกขา แต่เราจะเห็นว่า ศีล สมาธิ ปัญญา และก็วิมุตติ วิมุตติตัวความหลุดพ้นนั้นจะต้องมาในลำดับต่อจากปัญญาเสมอไป ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสเรียกความหลุดพ้นนี้หรือความเป็นอิสรภาพนี้ว่าชื่ออะไรก็ตาม ก็จะมีความหมายเกี่ยวกับปัญญาเสมอ เช่น อย่างบอกว่า “ปฺาย ปริสุชฺฌติคนจะบริสุทธิ์ก็ด้วยปัญญา นี้คือหลุดพ้นเป็นอิสระในความหมายว่า สะอาด พ้นจากสิ่งสกปรกโดยประการทั้งปวง

ทีนี้ แม้ว่าปัญญาจะเป็นตัวสำคัญ แต่ก็ต้องอาศัยกระบวนการโดยมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาช่วยสนับสนุน มีศีล มีสมาธิ นี้คือการศึกษาที่ช่วยให้แก้ปัญหาได้ แต่พระพุทธเจ้านั้น เมื่อจัดวางระบบการศึกษาไว้ พระองค์ไม่ได้วางตายตัวเสมอไป บางทีจัดให้เหมาะกับคนในสภาพชีวิตอย่างหนึ่ง จะให้ใช้ปฏิบัติได้คล่องในสภาพชีวิตอย่างนั้น พระองค์ก็อาจจะจัดและตรัสเน้นเสียใหม่ เช่น คฤหัสถ์ แทนที่จะจัดเป็นไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พระองค์ก็จัดเป็น บุญสิกขา เป็น ทาน ศีล ภาวนา หรือในบางคราวพระองค์ก็ตรัสในรูปอื่นอีก และรูปหนึ่งที่อาตมภาพชอบมากก็คือที่ตรัสเป็นภาวนา ๔ คือ แยกสิกขา ๓ ในรูปภาวนา ๔

ภาวนานั้นก็เป็นคำที่แปลความหมายอย่างเดียวกันกับสิกขา คือแปลว่าฝึกฝนหรือฝึกอบรม คนที่บรรลุจุดหมายในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านเรียกว่า ภาวิตะหรือ ภาวิตัตตะ คนที่ได้ภาวนาแล้ว หรือเรียกว่าเป็น ทันตะ ผู้ที่ได้ฝึกฝนแล้ว คือมีการศึกษาที่แท้จริง ขบวนการในรูปของภาวนานี้ ท่านแบ่งเป็น ๔ คือ ไตรสิกขานั้นแยกไปโดยจัดกระบวนการไปในอีกรูปหนึ่งเป็น

กายภาวนา คือ ฝึกอบรมกาย

ศีลภาวนา คือ ฝึกอบรมศีล ได้แก่ความไม่เบียดเบียนกัน ความสัมพันธ์ในทางสังคมที่ดีงาม

จิตตภาวนา คือฝึกอบรมจิต

ปัญญาภาวนา คือฝึกอบรมปัญญา

ภาวนา ๔ นี้ก็นำไปสู่อิสรภาพ อิสรภาพนี้เราก็จะต้องแยกออกไปเป็น ๔ ด้าน ให้สอดคล้องกับภาวนา ๔ นี้ อิสรภาพ ๔ ด้านนี้ก็เป็นอิสรภาพทางกาย อิสรภาพทางศีล ได้แก่ อิสรภาพทางสังคม อิสรภาพทางจิต อิสรภาพทางปัญญา ๔ ด้านนี้ก็คือจุดหมายที่เราจะได้จัดให้สอดคล้องกับระบบหรือขบวนการไตรสิกขานั้น แล้วก็จะแก้ปัญหาได้

จุดมุ่งหมายคืออิสรภาพของเราในทางกายเป็นอย่างไร เราต้องมีปัจจัย ๔ อย่างเพียงพอที่จะเป็นอยู่ และก็จะต้องมีสุขภาพร่างกายที่ดี จะต้องปฏิบัติต่อวัตถุหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกายของเรา จะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติก็ตาม สภาพแวดล้อมทางวัสดุที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ ที่ปัจจุบันเรียกว่าเทคโนโลยีก็ตาม จะต้องให้เป็นการปฏิบัติในลักษณะที่จะเกิดคุณประโยชน์ ไม่เกิดโทษ เช่นไม่มัวเมาหมกมุ่นในเทคโนโลยี ปัจจุบันนี้ เรายังมีปัญหา เราไม่สามารถเข้าถึงแม้แต่อิสรภาพทางกายนี้ คนเรายังมีปัจจัย ๔ ไม่เพียงพอทั่วถึงกันบ้าง มีความยากไร้ขาดแคลนก็ยังแก้ไม่ตก คนที่มีก็มีความหมกมุ่นมัวเมาในเรื่องวัตถุเหล่านี้ มีการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ถูกต้อง เป็นทาสของเทคโนโลยีอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ ถ้าเราเอาหลักพระพุทธศาสนาเข้ามา ก็เอากายภาวนานี้มาแก้ ก็เดินตามหลัก เช่นว่า การมีอินทรียสังวร คือ การรู้จักควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควบคุมการรับรู้ของเรา ในทางที่ว่าจะทำให้ไม่เกิดโทษ ทำให้เราใช้สิ่งที่อยู่รอบตัวในทางที่เป็นประโยชน์ หรือโภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในโภชนะ กินอยู่ด้วยการพิจารณาถึงคุณค่าอันแท้จริงในสิ่งเหล่านั้น คือ การรู้จักบริโภคอย่างถูกต้อง ไม่ใช่บริโภคอย่างเป็นทาส

ต่อจากนั้นก็มาถึงความเป็นอิสระทางสังคม ได้แก่ การที่สังคมไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น ซึ่งอันนี้ก็จะต้องสำเร็จด้วย ศีลภาวนา คือการสร้างความสุจริตขึ้นมา และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จัดสรรแบ่งปัน ปัจจัย ๔ สิ่งบริโภคโดยทั่วถึง เป็นต้น

ในด้านอิสรภาพทางจิต ปัจจุบันนี้เรามองดูสังคมว่า มีอิสรภาพทางจิตไหม จิตใจของเราดีงาม ได้เครื่องบำรุงที่ทำให้ชุ่มฉ่ำเยือกเย็นอะไรบ้าง สังคมปัจจุบันนี้ จะเห็นว่ามีวิธีการที่จะทำให้คนมีอิสรภาพทางจิตใจ หรือมีความพัฒนาทางจิตใจในลักษณะต่างๆ เช่นว่า มีศิลปะ มีวรรณคดี มีเครื่องให้ความสนุกสนาน บันเทิง การพักผ่อนหย่อนใจต่างๆ มากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ถ้าเราไม่เอาธรรมะเข้ามาใช้ หรือปฏิบัติในทางจิตตภาวนาไม่ถูกต้อง ก็เอาศิลปะ เอาวรรณคดี เอาการพักผ่อนหย่อนใจ การบันเทิงต่างๆ ไปใช้ในทางที่ผิด แทนที่จะบำรุงจิตใจ ก็ทำให้เกิดความหมกมุ่นมัวเมายิ่งขึ้น จนกระทั่งก่อให้เกิดอาชญากรรม ซึ่งอันนี้เราก็จะต้องแก้ปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรจะให้คนเรามีจิตใจพัฒนาหลุดพ้น มีอิสรภาพทางจิตอย่างแท้จริง ซึ่งอันนี้อาตมภาพเห็นว่าในการสร้างจิตตภาวนาในทางพระพุทธศาสนานั้น เราอาจจะแยกเป็น

  1. สร้างให้มีสมรรถภาพจิต
  2. ให้มีคุณภาพจิต
  3. ให้มีสุขภาพจิต

ถ้าเราทำตามนี้ได้ ก็จะบรรลุอิสรภาพทางจิตใจ ซึ่งหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ก็จะต้องใช้เพื่อจุดมุ่งหมายนี้ด้วย

ในขั้นสุดท้ายก็ปัญญาภาวนาที่นำไปสู่อิสรภาพทางปัญญา อิสรภาพทางปัญญาเป็นอย่างไร สมัยนี้เรามีการเล่าเรียนวิชาการกันเจริญก้าวหน้ามาก เช่นว่า วิทยาศาสตร์ก็เจริญก้าวหน้ามาก แต่มันทำให้คนมีความหลุดพ้นและเป็นอิสระทางปัญญาจริงหรือเปล่า เช่นว่ามีการใช้ปัญญาอย่างปราศจากอคติไหม ปัญญานั้นกลายไปเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง เอามาใช้เพื่อสนองความเห็นแก่ตัวของตนเองอะไรต่างๆ หรือเปล่า เหล่านี้ก็เรียกว่าปัญญานั้นไม่บริสุทธิ์ ไม่เป็นอิสระ คนไม่มีอิสรภาพทางปัญญา แต่ปัญญาตกอยู่ในอำนาจของอคติ ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส แล้วก็เลยใช้ปัญญาอย่างเป็นทาส ไม่ทำให้เกิดความหลุดพ้น เหมือนอย่างที่ว่า เรียนกันมาแค่ไหนๆ ก็ตาม ในที่สุดก็ตกไปเป็นทาสมัวเมาในวัตถุ ในเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ทำให้เกิดปัญหาแก่สังคม จนกระทั่งในที่สุดก็คือ ไม่สามารถจะสร้างปัญญาชนิดที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เพราะไม่รู้เท่าทันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้เท่าทันความเป็นไปตามเหตุปัจจัย จะเอาให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามที่ตัวอยากจะให้เป็น ไม่แก้ปัญหาโดยศึกษาเหตุปัจจัยนั้นให้ถูกต้อง ด้วยจิตใจมีความสุข ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความทุกข์ นี่ก็ถือว่าเป็นปัญญาในขั้นสุดท้ายที่จะทำให้คนพ้นจากความทุกข์ได้ เป็นอิสรภาพที่แท้จริง

ระบบการศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น ก็มุ่งไปสู่อิสรภาพ ๔ ประการดังกล่าวนี้ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบวิธีในการที่จะสร้างอิสรภาพ ซึ่งเรียกว่า ภาวนา ๔ ประการ คือ กายภาวนา การพัฒนา หรือว่าฝึกอบรมกาย ศีลภาวนา การพัฒนาศีล หรือว่า การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีงามทางสังคม จิตตภาวนา การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจให้มีสุขภาพจิต สมรรถภาพจิต คุณภาพจิต และ ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมปัญญาให้ถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ครอบงำจิตใจ ไม่ให้เป็นทาส จนกระทั่งพ้นจากความทุกข์โดยสมบูรณ์ และแก้ปัญหาโดยวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และทำให้เกิดความพ้นทุกข์อย่างแท้จริงด้วย

อาตมภาพว่า เราจะต้องเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้ามาให้หมด แล้วจะเห็นว่า หลักธรรมคือ วิมุตติ ความหลุดพ้นในพระพุทธศาสนานั้น มันมีโยงใยมาถึงชีวิตของชาวบ้านทั้งหมด ไม่ใช่ว่าวิมุตติแล้วก็เป็นเรื่องของคนที่จะปลีกจากโลกนี้ไป ไม่เกี่ยวข้องกับสังคม ถ้าหากอย่างนี้แล้ว ชาวบ้านจะแก้ปัญหาความยากจนขาดแคลน ผู้ปกครองไม่สุจริตไม่ได้ จะไม่เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา เราแก้ปัญหาไม่ได้ในทำนองนี้ คือว่าที่จริงนั้น การปฏิบัติธรรมให้ถึงวิมุตติ ไม่ใช่เรื่องของผู้ปลีกตัวออกจากสังคมเท่านั้น มันมีความสัมพันธ์ถึงกันหมด แต่เราจะต้องพูดให้เป็นระบบกันอย่างยืดยาวกว่านี้

เทคโนโลยีมา ศาสนาไม่หมด?2

เทคโนโลยีมา

โลกปัจจุบันอยู่ในยุคแห่งความเจริญก้าวหน้า มีถ้อยคำหลายอย่างสำหรับเรียกชื่อยุคปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าความเจริญเช่นนั้น มีมากมายเพียงใด เช่นว่า เป็นยุคอวกาศบ้าง ยุคเทคโนโลยีบ้าง เฉพาะ ๒ คำที่ยกมานี้ คำแรกแสดงถึงระดับหรือขีดขั้นที่ความเจริญก้าวหน้าได้ย่างเข้าไปถึง ส่วนคำหลังแสดงถึงวิทยาการและอุปกรณ์ที่เป็นตัวเหตุปัจจัย ให้ความเจริญก้าวหน้านั้นเกิดมีขึ้นได้ และแสดงถึงสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ ที่วิทยาการและอุปกรณ์ซึ่งเรียกว่าเทคโนโลยีนั้นเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต จะว่าชีวิตของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันผูกพันอยู่กับเทคโนโลยี ถึงขั้นที่ว่ามีเทคโนโลยีเป็นที่พึ่งที่อาศัยก็แทบจะว่าได้ ระหว่างคำว่ายุคอวกาศ กับยุคเทคโนโลยี คำหลังมีความหมายเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับชีวิตของมนุษย์มากกว่า

ในเมื่อสมัยปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยี คำว่าเทคโนโลยีก็ย่อมเป็นคำที่ขึ้นหน้าขึ้นตา แต่ในภาษาไทยยังหาคำแปลหรือศัพท์บัญญัติที่ยอมรับและนิยมใช้กันทั่วไปสำหรับคำนี้ไม่ได้ บางท่านบัญญัติว่าประยุกตวิทยา บ้างว่าเทคนิควิทยา บ้างก็เรียกทับศัพท์ตามภาษาเดิมว่าเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ไม่ว่าในทางภาษาจะบัญญัติเรียกชื่อว่าอย่างไร หรือแม้เรียกชื่อไม่ถูกก็ตามที แต่ในทางปฏิบัติ คนในโลกส่วนที่นับว่าเจริญแล้วทั้งหลาย ล้วนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางเทคโนโลยี ได้ใช้สอยอุปกรณ์และผลิตผลของเทคโนโลยี หาความสุขความสะดวกสบายให้แก่ตนอยู่ตลอดเวลา

พูดอย่างง่ายๆ เทคโนโลยีก็คือการนำเอาความรู้ในวิทยาศาสตร์มาใช้สร้างสรรค์เครื่องมือเครื่องใช้ สำหรับผ่อนแรง ทุ่นแรง ทำงานแทนคน ตลอดจนอำนวยความสุขความสะดวกสบายต่างๆ คนในยุคเทคโนโลยีมีความเป็นอยู่แสนจะสะดวกสบาย จะเดินทางไกลก็ไปได้ไวด้วยรถจักรและรถยนต์ จะไปให้ไกลและไวยิ่งกว่านั้น ก็มีเครื่องบินหลายประเภทคอยรับใช้ อยู่ลำพังหรือห่างไกลเหตุการณ์ก็ฟังและดูข่าวสารได้ด้วยวิทยุและโทรทัศน์ ไม่ต้องไปมาหากันก็ติดต่อกันได้ด้วยโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อข่าวสารต่างๆ เมื่อต้องการความสนุกสนานบันเทิง วิทยุและโทรทัศน์ก็นำเอาสิ่งเหล่านั้นมาส่งให้ถึงที่ ต้องการแสงสว่าง ต้องการไฟหุงต้มทำครัว ปรุงอาหาร ซักฟอกเสื้อผ้า ล้างภาชนะจานชาม ทำสิ่งของให้เย็นร้อนอ่อนแข็ง เพียงกดปุ่มหรือเปิดสวิทช์ก็สำเร็จได้ดังปรารถนา ความสะดวกสบายและผลอันน่าอัศจรรย์ต่างๆ ยังมีอีกมากมายไม่อาจพรรณนา เหมือนดังว่าจะถึงสมัยที่มนุษย์อยู่ในแดนเนรมิต

เพราะเทคโนโลยีทำให้เกิดความสะดวกสบาย และส่องให้เห็นความหวังแห่งความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกมากมายในอนาคต จึงเคยมีผู้ถนัดในวิชาทางฝ่ายวิวัฒนาการทำนายว่า ไกลออกไปข้างหน้าในอนาคต มนุษย์ผู้เจริญแล้วจะใช้มือและเท้าน้อยลง แต่ใช้สมองมากขึ้น ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงตามหลักวิวัฒนาการ มนุษย์ในภายหน้าจะมีแขนขามือเท้าสั้น แต่ศีรษะใหญ่โต แต่มาบัดนี้ได้มีความเจริญเกิดขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่ง คือ มนุษย์ประดิษฐ์สมองกลที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ได้ นำมาใช้ขบคิดปัญหาและจดจำสิ่งต่างๆ ผ่อนเบาภาระทางสมอง และคิดการต่างๆ แทนคนได้อย่างมากมาย เมื่อปรับปรุงสมองกลให้มีคุณภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มนุษย์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สมองน้อยลงแล้ว คำทำนายเชิงวิวัฒนาการก็คงจะต้องดัดแปลงเสียใหม่ ให้เข้ากับกระแสความเจริญก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ คงจะต้องพูดใหม่ว่า มนุษย์ที่เจริญด้วยเทคโนโลยีในอนาคต ร่างกายจะวิวัฒนาการกลายรูปผิดแปลกไป แม้ว่าแขนขามือเท้าจะเล็กและสั้นเข้า แต่ศีรษะจะไม่ใหญ่โตขึ้น ตรงข้ามอาจจะลีบเรียว เพราะมีความจำเป็นต้องใช้น้อยลง ท้องจะพองโต เพราะมีเวลาและใช้พลังงานในการบริโภคเสพความสุขสำราญมากยิ่งขึ้น

ไม่ทันที่จะได้มีเวลาใส่ใจคิดคำนึงถึงคำทำนายข้อหลัง มนุษย์ก็ประสบกับข้อกังวลใจอย่างใหม่เสียก่อน ความกังวลใจที่เกิดจากภยันตรายอันจะเกิดขึ้นเพราะความเจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ตนสร้างขึ้นนั้นเอง ภยันตรายที่ไม่เคยนึกถึง ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน เมื่อแรกเริ่มเจริญด้วยเทคโนโลยีนั้น มนุษย์มีแต่นึกฝัน วาดภาพถึงความสุขความรุ่งเรืองพรั่งพร้อมที่จะได้ประสบ แต่เมื่อภยันตรายจากเทคโนโลยีปรากฏขึ้นจนรู้ตัวแล้ว มนุษย์ผู้ก้าวหน้าทั้งหลาย ก็กลับต้องหันมาใส่ใจกับการป้องกันและแก้ไขภยันตรายเหล่านั้น จนไม่มีแก่ใจจะนึกถึงคำทำนายอีกต่อไป เพราะภยันตรายนั้นร้ายแรงมาก ถึงขนาดที่อาจทำลายล้างมนุษยชาติให้สูญสิ้น มนุษย์อาจจะมีอยู่ในโลกนี้ไม่ถึงเวลาที่ความเจริญรุ่งเรืองในฝันนั้นมาถึง บางทีแม้แต่โลกนี้เองก็อาจถึงอวสานเสียก่อน

อันตรายที่เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีนั้น มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เฉพาะที่เป็นเหตุโดยตรงก็มีหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือการผลาญทรัพยากรธรรมชาติ และทำให้สิ่งแวดล้อมเน่าเสียเป็นพิษ

เทคโนโลยีเจริญขึ้นเท่าใด ทรัพยากรก็ถูกนำมาใช้มากมายในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น เทคโนโลยีเจริญมากในประเทศใด ประเทศนั้นก็ยิ่งใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมาก ผู้ชำนาญการบอกว่า เมื่อร้อยปีก่อน คนทั่วโลกใช้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ๑ ล้านตันต่อปี แต่เมื่อสิบปีก่อน คนใช้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๗๓ ล้านตันต่อปี ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าที่สุด มีพลเมือง ๒๐๗ ล้านคน เท่ากับ ร้อยละ ๕.๖ ของจำนวนประชากรทั่วโลก แต่ใช้น้ำมันร้อยละ ๓๓ และแก๊สธรรมชาติร้อยละ ๖๓ ของอัตราการใช้เชื้อเพลิงทั่วทั้งโลก นักวิชาการของสหรัฐฯ บอกว่าเฉลี่ยแล้วคนอเมริกัน ๑ คน ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองเท่ากับพลเมืองชาติอื่นในโลก ๗ คนรวมกัน หรือถ้าเทียบกับชาวอินเดีย คนอเมริกันคนหนึ่งบริโภคทรัพยากรเท่ากับคนอินเดีย ๕๐ คน การทำไร่ทำนาสมัยปัจจุบันซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เห็นกันว่าสะดวกสบายทุ่นแรงทุ่นเวลา ได้ผลกว่าวิธีของชาวบ้านโบราณอย่างมากมายนั้น ถ้าว่ากันถึงความสิ้นเปลืองทางพลังงานแล้ว นักวิชาการบอกว่า อุตสาหกรรมผลิตอาหารสมัยใหม่ใช้พลังงานป้อนเข้า ๕-๑๐ หน่วย จึงจะได้ผลผลิตเป็นอาหารมีพลังงาน ๑ หน่วย ส่วนการทำนาแบบโบราณใช้พลังงานป้อนเข้า ๑ หน่วย ได้ผลผลิตเป็นพลังงานอาหาร ๕-๕๐ หน่วย

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทรัพยากรสำคัญๆ ที่ใช้ในทางเทคโนโลยีมักเป็นทรัพยากรประเภทที่สร้างทดแทนขึ้นใหม่ไม่ได้ ไม่มีเพิ่มขึ้น มีแต่จะหมดไปๆ ถ่ายเดียว ทรัพยากรที่ใช้เป็นพลังงานในสมัยปัจจุบันนั้น ธรรมชาติต้องค่อยๆ สร้างสมมานานเป็นเวลาหลายล้านปี แต่มนุษย์ยุคเทคโนโลยีผลาญหมดสิ้นภายในเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ผู้ชำนาญการเชื่อกันว่า แร่ธาตุสำคัญๆ เช่น เงิน ทอง ดีบุก ตะกั่ว ทองแดง โดยเฉพาะแหล่งพลังงานที่สำคัญ คือน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจะถูกใช้หมดโลกภายในเวลา ๕๐ ปีนับแต่นี้ต่อไป อย่างไรก็ตามคนพวกหนึ่งเชื่อว่า ถึงแร่ธาตุและพลังงานเหล่านั้นจะหมดไป มนุษย์ก็จะค้นหาหรือสร้างพลังงานแหล่งอื่นขึ้นมาใช้แทนได้ แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงการปลอบใจและให้ความหวัง ไม่สามารถประกาศแสดงความมั่นใจได้จริงจัง พลังงานเหล่านั้นอาจสร้างได้ แต่ข้อบกพร่องติดขัดก็มีหลายอย่าง โดยเฉพาะแหล่งพลังงานบางอย่างอาจให้ผลดีไม่คุ้มผลเสีย เช่น จะใช้พลังงานนิวเคลียร์แทนน้ำมันและแก๊สธรรมชาติก็เป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างมาก ถ้าเกิดอุบัติเหตุภัยธรรมชาติ หรือการก่อวินาศกรรม พลังงานที่ให้ประโยชน์ก็จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานให้โทษ กลายเป็นเครื่องทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ และมนุษย์ในยุคสมัยเช่นนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างหวั่นกลัวหวาดผวาตลอดเวลา

อันตรายสำคัญอีกอย่างหนึ่งของยุคเทคโนโลยี ซึ่งถ้ามองในแง่ปัจจุบันนับว่าร้ายแรงกว่าอย่างแรก เพราะเป็นอันตรายที่เกิดอยู่แล้วตลอดเวลา ได้แก่สภาพสิ่งแวดล้อมเน่าเสียเป็นพิษ คือ อากาศเสียบ้าง น้ำเสียบ้าง ดินเสียบ้าง เสียงผิดธรรมดาบ้าง ความร้อนผิดธรรมดาบ้าง ซึ่งเป็นภัยอันตรายที่มนุษย์ผู้แสวงหาความสุขความสะดวกสบายจากความเจริญทางเทคโนโลยี ก่อให้แก่ธรรมชาติคือโลกที่ตนอยู่อาศัยก่อน แล้วอันตรายนั้นกลับย้อนเข้ามาหาตน เรียกได้ว่าเป็นอันตรายที่ทำให้แก่ตัวเอง ประเทศไหนเจริญด้วยเทคโนโลยีมากก็ประสบปัญหานี้ก่อน นักวิชาการเจ้าของเรื่องบอกว่า ในสหรัฐฯ ปีหนึ่งๆ เทคโนโลยีประเภทต่างๆ ปล่อยของเสียขึ้นไปไว้ในอากาศมากมาย คือ รถราพาหนะต่างๆ ปล่อยไอเสียขึ้นไปปีละ ๑๒๓ ล้านตัน โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยขึ้นไป ๔๘ ล้านตัน การเผากำจัดขยะปล่อยขึ้นไป ๓๑ ล้านตัน โรงงานไฟฟ้าปล่อยขึ้นไป ๒๘ ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีอื่นๆ อีกเช่น เครื่องบิน เครื่องให้ความอบอุ่นภายในอาคาร เป็นต้น ส่วนทางน้ำ นอกจากน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตรแล้ว น้ำมันที่ปล่อยทิ้งและรั่วไหลลงในมหาสมุทรมีปริมาณปีละ ๕ ถึง ๑๐ ล้านตัน ทางภาคพื้นดิน สหรัฐฯ สร้างขยะเฉพาะปี ๑๙๗๐ เป็นจำนวน ๔ พันล้านตัน หรือถ้าคิดเป็นรายตัว คนอเมริกันคนหนึ่งๆ สร้างขยะหนักวันละ ๕ ปอนด์ ส่วนทางด้านพลังงานปรมาณู โรงงานพลังงานปรมาณูทางสันติในที่ต่างๆ สมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ยังใช้พลังงานปรมาณูไม่มาก ก็มีสิ่งที่เรียกว่ากากปรมาณูเพิ่มขึ้นทุกวัน กากเหล่านี้ยังมีรังสีซึ่งเป็นอันตรายมาก ต้องเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย ครึ่งล้านปีถึงจะหมดพิษ นักวิชาการบอกว่ากากเหล่านี้ ถ้ารวมถึง ๓๐ ปีจะมีอานุภาพเท่ากับลูกระเบิดปรมาณูแรง ๑๑,๕๐๐ เมกะตัน ปัจจุบันนี้ยังไม่มีสถานที่เก็บกักกากปรมาณูอย่างถาวร จึงเก็บไว้ในถังเก็บชั่วคราว ขณะนี้มีปริมาณกว่า ๘๐ ล้านแกลลอน

ของเสียและสิ่งเป็นพิษเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอันตรายแก่มนุษย์ทั้งสิ้น ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม อากาศที่เสียทำให้คนจำนวนไม่น้อย เป็นโรคปวดมึน วิงเวียนศีรษะบ้าง เป็นโรคมะเร็งบ้าง เป็นโรคเกี่ยวกับทางหายใจบ้าง น้ำที่เสียกลายเป็นน้ำเสื่อมคุณภาพบ้าง เป็นพิษไปบ้าง ทะเลสาบและแม่น้ำมากมายกลายเป็นที่ต้องห้าม แล่นเรือไม่ได้ หาปลาไม่ได้ เล่นน้ำไม่ได้ ปลาบางชนิดอยู่ไม่ได้ สูญไปบ้าง ถึงยังอยู่ได้ก็กลายเป็นปลาต้องห้าม กินไม่ได้บ้าง อย่าว่าแต่คนหรือสิ่งมีชีวิตเลย แม้แต่วัตถุธาตุที่แข็งแรงก็ยังทนไม่ไหว นักวิชาการพวกข้างต้นนั้นเองบอกว่า ในเมืองที่อากาศเสีย โลหะ คอนกรีต ยาง ดังตัวอย่างผิวเหล็กกล้า จะผุกร่อนเร็วกว่าในชนบทถึง ๓๐ เท่า อันตรายต่างๆ ยังมีอีกนานาประการ แต่คนส่วนมากรู้กันอยู่แล้ว รัฐบาลและกิจการอุตสาหกรรมทั้งหลายก็พยายามป้องกันแก้ไขกันอยู่ วิธีแก้ไขสำคัญอย่างหนึ่ง คือใช้เทคโนโลยีนั่นแหละแก้ผลเสียของเทคโนโลยี เช่นสร้างอุปกรณ์กำจัดของเน่าเสีย โดยวิธีนี้นักวิชาการบอกว่า ในเวลา ๑๐ ปีข้างหน้า จะใช้จ่ายเงินทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนถึง ๒๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญอเมริกัน และอุปกรณ์ที่กำจัดของเสียนั้นเองก็จะปล่อยของเสียออกมาด้วยเหมือนกัน เขาบอกว่าวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด ก็คือคนนี่เองยอมลดความสะดวกสบาย งดใช้ของบางอย่าง เปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินชีวิตประจำวันบางส่วน ยอมสละความฟุ่มเฟือยลงเสียบ้าง

ภัยบางอย่างกระทบต่อโลกทั้งหมดในระยะยาว และสะสมซับซ้อนจนคนคิดไม่ถึง กว่าจะรู้ตัวก็ทำท่าจะสายเกินแก้ เช่น เมื่อคนปล่อยควันไอเสียต่างๆ ขึ้นไปเรื่อย และเมื่อป่าไม้ที่คอยช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ก็ถูกทำลายเหลือน้อยลงไปๆ คาร์บอนไดออกไซด์ก็สะสมมากขึ้นๆ กลายเป็นฉากขวางกั้นความร้อนในบรรยากาศไม่ให้ระบายออกไป อุณหภูมิในบรรยากาศของโลกก็สูงขึ้น เมื่ออากาศร้อนขึ้น ภูเขาน้ำแข็งแถบขั้วโลกก็ละลายมากขึ้น น้ำทะเลก็สูงขึ้น พร้อมกันนั้นประชาชนบางประเทศใช้เครื่องมือดูดรองน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินไป แผ่นดินก็ทรุดลงไปๆ น้ำก็ท่วมมากขึ้นทุกที จนน่ากลัวว่าต่อไปเมืองที่เคยสวยงามจะกลายเป็นเมืองที่จมน้ำทะเล

ถึงแม้เทคโนโลยีจะก่อให้เกิดอันตรายได้มากมายก็ตาม แต่อันตรายนั้นก็จะไม่ร้ายแรงนักหนา ถ้ามนุษย์ไม่ทำให้มันเป็นอันตรายเสียเอง เพราะเทคโนโลยีนั้น มนุษย์สร้างขึ้นเอง มนุษย์เป็นผู้ใช้ และมนุษย์รู้อยู่แล้วว่า ตนสร้างและใช้เทคโนโลยีนั้นเพื่อประโยชน์แก่ตน แต่ในทางปฏิบัติ ไม่เป็นเช่นนั้น มนุษย์ผู้แสวงหาผลประโยชน์พยายามแย่งชิง เอารัดเอาเปรียบกัน จึงใช้เทคโนโลยีเพื่อยึดฉวยผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดแก่คนอื่น หรือแก่ส่วนรวม หรือยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือใช้เทคโนโลยีสร้างเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับเบียดเบียนทำลายกัน มนุษย์เจริญขึ้นเท่าใด เครื่องมือฆ่าฟันทำลายกันก็เจริญขึ้นเท่านั้น สมัยโบราณรู้จักแต่หินแต่ไม้ ก็แค่ใช้ไม้ตีกัน เอาหินทุ่มกัน หรือฝนหินให้คมมาแทงกัน ต่อมารู้จักเหล็ก ก็เอาเหล็กมาทำดาบแทงฟันกัน ครั้นรู้จักดินประสิว ก็ทำปืนและลูกระเบิดยิงหรือขว้างสังหารกัน ถึงปัจจุบันรู้จักพลังงานปรมาณู ก็ผลิตลูกระเบิดปรมาณูขึ้นมา สำหรับทำลายกันให้ได้มากมายร้ายแรงยิ่งขึ้น เลยทำให้อยู่กันด้วยความหวาดระแวง เพิ่มความทุกข์ของมนุษย์ให้มากขึ้นอีกอย่างหนึ่ง นับว่าเป็นโทษที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด

ศาสนาไม่หมด?

ยังมีทุกข์ภัยอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีจะเข้าไม่ถึงเสียเลย คือความทุกข์ทางจิตใจ เช่นความวิตกกังวล ความกระวนกระวาย ความอัดอั้นคับแค้น ความขุ่นมัวหม่นหมอง ความว้าเหว่หงอยเหงา ความเบื่อหน่ายท้อแท้ เป็นต้น ความทุกข์เช่นนี้ เมื่อพันปีก่อนมีอย่างไร สมัยปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ เมื่อร้อยปีก่อนอย่างไร สมัยนี้ก็อย่างนั้น ดูเหมือนจะร้ายแรงขึ้นด้วยซ้ำ เพราะในสังคมที่เจริญด้วยเทคโนโลยี สถิติคนเป็นโรคประสาทเพิ่มขึ้น คนป่วยโรคจิต คนเสียสติเพิ่มขึ้น คนฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น คนในสังคมที่เจริญเช่นนั้น ชีวิตถูกเร่งรัดด้วยความต้องการมากขึ้น ต้องดิ้นรนวิ่งหาสิ่งที่หวังว่าจะให้ความสุขมากขึ้น ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยระบบการดำเนินชีวิตที่แข่งขันกดดันกันมากขึ้น วิ่งหาความสุขกันเสียจนบางทีไม่มีโอกาสรู้จักได้รับความสุขที่แท้จริงเลย ไขว่คว้าเอาความสนุกสนานเพลิดเพลินชนิดที่พอแก้ความกระวนกระวาย แก้ความว้าเหว่เบื่อหน่ายผ่านไปทีหนึ่งๆ จนไม่มีเวลาตั้งตัวคิดว่า ชีวิตต้องการอะไรที่แท้จริง หรือชีวิตที่ดีมีความหมาย มีความสุขจริงคือชีวิตอย่างไร พอสิ่งสนุกสนานเพลิดเพลินผ่านไปคราวหนึ่ง ก็กลับขุ่นมัว ว้าเหว่ เบื่อหน่าย รู้สึกชีวิตว่างเปล่าซ้ำอีก หรือยิ่งขึ้นอีก แล้วก็พล่านหาความสนุกสนานเพลิดเพลินมากลบทับใหม่ สะสมเชื้อแห่งความทุกข์ความพิการของชีวิตจิตใจให้พอกพูนยิ่งขึ้น พอพลาดพลั้งหาเชื้อเพลิงมาเติมไฟไม่ได้ทันอย่างเคย วงจรไม่หมุนต่อไปอย่างเดิม หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินสนองความต้องการอย่างเก่ากลายเป็นของชาชินไปเสียแล้ว ไม่เร้าใจอย่างเคย เบื่อ เซ็ง ชีวิตจิตใจขาดฐานที่ตั้ง ก็ตกฮวบฮาบ เห็นชีวิตเป็นที่ระทมทุกข์และไร้ค่า เปิดทางรับโรคประสาท โรคจิต ตลอดจนความคิดที่จะตัดรอนชีวิตของตน หรือไม่ก็คิดหาสิ่งเร้าความรู้สึกที่แรงยิ่งขึ้นๆ ถ้าไม่เช่นนั้นก็หันออกไปคิดเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น แย่งชิงสิ่งที่คิดว่าจะให้ความสุขแก่ตนจากผู้อื่น หรือทำให้เขาได้รับความทุกข์อย่างตนบ้าง กลายเป็นภัยแก่สังคม จึงปรากฏว่าสังคมที่เจริญด้วยเทคโนโลยี คนมีทุกข์ก็มากขึ้น อาชญากรรมก็เพิ่มขึ้น

ความจริง มนุษย์สร้างหรือพัฒนาเทคโนโลยีขึ้น ก็เพื่อนำมารับใช้ตนในการแก้ปัญหา กำจัดสิ่งกีดขวางขัดข้องของชีวิต ให้สามารถแสวงหาความสุขความสะดวกสบาย มีชีวิตที่ดีปราศจากทุกข์ และความจำกัดบีบคั้นต่างๆ ตามความเข้าใจของมนุษย์ สิ่งที่จำกัดบีบคั้นมนุษย์ก็คือธรรมชาติที่แวดล้อมตัวมนุษย์อยู่นั่นเอง มนุษย์แต่เดิมต้องดำรงชีวิตอยู่ภายในขอบเขตจำกัดของธรรมชาติ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มีชีวิตอยู่ภายในขอบเขตที่ธรรมชาติกำหนดให้ และยังถูกบีบคั้นด้วยภัยธรรมชาติ ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มนุษย์เชื่อว่าถ้าคนเอาชนะธรรมชาติ สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้แล้ว มนุษย์ก็จะเป็นอิสระ แก้ปัญหาในการดำรงชีวิตได้ ทำอะไรได้ตามปรารถนา มีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ มนุษย์ได้พยายามเอาชนะ กลับตัวขึ้นเป็นนายเหนือธรรมชาติ และบังคับควบคุมธรรมชาติให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เครื่องมือที่มนุษย์จะเอาชนะควบคุมบังคับธรรมชาติก็คือเทคโนโลยี

ปัจจุบันนี้มนุษย์เชื่อว่า ตนได้สร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าขึ้นมามากมาย สามารถเอาชนะ กลับตัวขึ้นเป็นนายบังคับควบคุมธรรมชาติแวดล้อมให้เป็นไปตามปรารถนาได้แทบทุกอย่างใกล้จะสมบูรณ์แล้ว มนุษย์มีความสะดวกสบาย ทำสิ่งที่นับว่าเป็นอัศจรรย์ได้มากมาย แต่แล้วเทคโนโลยีที่มนุษย์เอามาช่วยตนต่อสู้เอาชนะธรรมชาตินั่นเอง ก็ได้เริ่มกลับกลายมาเป็นสภาพแวดล้อมใหม่ที่บีบคั้นสร้างปัญหาแก่มนุษย์ ซึ่งมนุษย์จะต้องควบคุมเอาชนะให้ได้ต่อไป จนบัดนี้ ปัญหาที่เป็นตัวความทุกข์ของมนุษย์ก็ยังมีอยู่มากนักหนา ปัญหาบางอย่างแก้ได้แล้ว แต่กลับเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา มีทั้งปัญหาจากภายในตัวบุคคล ปัญหาระหว่างคนด้วยกัน ปัญหาจากธรรมชาติส่วนที่ยังแก้ไม่เสร็จ และปัญหาจากเทคโนโลยีที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นนายใหม่ของมนุษย์ หันไปพิจารณาหาสาเหตุที่ทำให้เป็นไปเช่นนั้น พอจะมองเห็นได้ว่ามีปัจจัยสำคัญ ๒ อย่าง คือ ความไม่รู้จริง หรือรู้ไม่เพียงพอทั่วถึง (อวิชชา) อย่างหนึ่ง ความอยากความปรารถนาอย่างเห็นแก่ตน ที่ทำให้ไม่ทำพอดีตามที่รู้ (ตัณหา) อย่างหนึ่ง

มนุษย์สร้างเครื่องมือขึ้นบังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็ด้วยความรู้ในกฎเกณฑ์องค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เป็นไปในธรรมชาติ คือความรู้ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ แต่ความรู้ของมนุษย์ที่เห็นกันว่ากว้างขวางลึกซึ้งอย่างยิ่งนั้น ในหลายกรณีหรือแทบทุกกรณี เป็นความรู้แต่เพียงจำเพาะด้านหนึ่งๆ ไม่ครบถ้วนทั่วถึงองค์ประกอบอันละเอียดซับซ้อนต่างๆ ที่สัมพันธ์ถึงกันแทบทุกส่วนของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์จัดการบังคับควบคุมธรรมชาติด้านหนึ่ง หรือส่วนหนึ่งได้ จึงกลายเป็นผลักดันให้ธรรมชาติอีกด้านหนึ่ง หรืออีกส่วนหนึ่งผันผวนวิปริตออกไป กลายเป็นเกิดปัญหาขึ้นใหม่ และปัญหานี้บางทีก็เป็นภัยร้ายแรงแก่มนุษย์โดยที่มนุษย์ไม่ทันรู้ตัว หรือกว่าจะรู้ตัวก็ทำอันตรายแก่ตนเสียแล้วเป็นเวลานาน สภาพเช่นนี้เป็นเหมือนบีบของอย่างหนึ่งกุมไว้ได้ แต่ของนั้นไปโป่งออกหรือทะเล็ดไปอีกด้านหนึ่ง ไม่เป็นการบังคับควบคุมที่สำเร็จผลอย่างแท้จริง จัดว่าเป็นเพราะสาเหตุอย่างที่หนึ่ง คือเกิดจากอวิชชา ความไม่รู้จริง

บางครั้งทั้งที่รู้ว่าในการที่จะควบคุมรักษาสมดุลในธรรมชาติไว้ จะต้องปฏิบัติการกับเทคโนโลยีส่วนนี้ภายในขอบเขตเพียงเท่านี้ แต่เพราะอยากได้ผลประโยชน์ให้มาก ก็ทำการเกินไปกว่านั้น หรือในทางตรงข้ามทั้งที่รู้ว่าการที่จะควบคุมรักษาสมดุลในธรรมชาติไว้ จะต้องทำการเพิ่มขึ้นอีกอย่างนั้นๆ แต่เพราะขัดหรือจะทำให้เสียผลประโยชน์ของตนก็ไม่ทำ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีอย่างมักง่ายเห็นแก่ได้ (ตัวอย่างแรกเช่นคนปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ และการปล่อยไอเสียในอากาศ ตัวอย่างหลังเช่นการที่จะต้องติดตั้งเครื่องกำจัดน้ำเสียเพิ่มเข้าในโรงงาน หรือตัวอย่างง่ายๆ คนขี้เกียจนำเศษของไปทิ้งในถังขยะ และคนที่ไม่ตั้งถังขยะ การใช้ยาฆ่าแมลงและผงชูรสอย่างประมาทและเห็นแก่ตัว) เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาก็ย่อมเกิดมากขึ้นเรื่อยไป จัดว่าเป็นเพราะสาเหตุอย่างที่สองคือเกิดจากตัณหา ความอยากได้ หรือความปรารถนาอย่างเห็นแก่ตน ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีส่วนมากเกิดจากสาเหตุข้อหลังนี้ เรียกได้ว่า มนุษย์รู้จักบังคับควบคุมธรรมชาติได้โดยใช้เทคโนโลยี แต่ไม่รู้จักบังคับควบคุมเทคโนโลยีที่ตนใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบังคับควบคุมธรรมชาติ ถึงจะบังคับควบคุมธรรมชาติได้ แต่เมื่อบังคับควบคุมเครื่องมือสำหรับบังคับควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ก็ย่อมทำให้เกิดผลร้ายซึ่งบางที่รุนแรงยิ่งกว่าควบคุมบังคับธรรมชาติไม่ได้เสียเลย ถามต่อไปว่า เหตุใดจึงบังคับควบคุมเทคโนโลยีไม่ได้ คำตอบก็ชัดอยู่แล้วว่าเพราะบังคับควบคุมความ อยากหรือตัณหาของตนไม่ได้ พูดสั้นๆ ว่า บังคับควบคุมตนเองไม่ได้

รวมความว่าเพราะควบคุมตัณหา คือความอยากความเห็นแก่ตนไม่ได้ ก็บังคับควบคุมตนเองไม่ได้ เพราะควบคุมบังคับตนเองไม่ได้ ก็ควบคุมการใช้เทคโนโลยีไม่ได้ เพราะควบคุมการใช้เทคโนโลยีไม่ได้ ก็บังคับการควบคุมธรรมชาติให้ได้ผลดีไม่ได้ และจึงทำการต่อธรรมชาติในทางที่ให้เกิดภยันตราย การกระทำอย่างนี้ไม่ควรเรียกว่าเป็นการควบคุมธรรมชาติ เพราะการควบคุมหมายถึงทำให้อยู่ในสภาพที่พอดี ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ ไม่เป็นโทษ การนำเทคโนโลยีไปใช้ทำการกับธรรมชาติ ในทางที่แสวงหาผลประโยชน์ตนอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลเสียแก่สังคมหรือแก่ธรรมชาติส่วนรวมเช่นนี้ ควรเรียกว่าเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์จากธรรมชาติ หรือเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติมากกว่า

ในสังคมที่เจริญนำหน้าทางเทคโนโลยี ปัญหาต่างๆ มักเกิดจากสาเหตุอย่างที่สองคือตัณหาเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าสาเหตุอย่างที่หนึ่งคืออวิชชา ถึงแม้จะมีอยู่แต่ก็มีการคอยระแวดระวังและคอยศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ เพื่อให้รู้รอบคอบทั่วถึง และแก้ไขปรับปรุงให้ทำการได้ผลเรียบร้อยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ในสังคมที่เจริญรอยตามอย่างหรือสังคมเลียนแบบ ปัญหามักจะร้ายแรงยิ่งกว่าเพราะมักมีสาเหตุอย่างที่หนึ่งยืนพื้นอยู่ก่อน เช่นไม่รู้แม้แต่วัตถุประสงค์ดั้งเดิมในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี ไม่รู้ว่าเขาสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อควบคุมธรรมชาติ จะได้แก้ปัญหาความทุกข์ ความบีบคั้นขัดข้องของมนุษย์ให้ดำรงชีวิตได้อย่างผาสุกปลอดภัย เป็นเครื่องสนับสนุนชีวิตที่ดีงาม และการมีโอกาสแสวงหาคุณค่าทางจิตปัญญาที่สูงขึ้นไป แต่เข้าใจไปว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องบำรุงบำเรอ ใช้แสวงหาความสนุกสนานมัวเมาและผลประโยชน์ส่วนตัว เมื่อมีอวิชชาเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นเครื่องหนุนตัณหาให้แรงยิ่งขึ้น เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงหนักเข้าไปอีก

ลงท้าย ต้นตอของปัญหาก็มาอยู่ที่ตัวมนุษย์ ในฐานะที่เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ส่วนเทคโนโลยีถึงจะเจริญยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็มีฐานะเท่าเดิม คือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหลาย แม้แต่ของเล็กน้อยอย่างไม้จิ้มฟัน ไม้คาน หรือรองเท้า ก็เป็นของสำหรับบังคับควบคุมธรรมชาติในสถานใดสถานหนึ่ง เครื่องมือเครื่องใช้น้อยใหญ่ที่เรียกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นของสำหรับมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์อยู่กับตนอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว หรือมนุษย์ที่มีความสุขอยู่แล้ว จะนำไปใช้เป็นเครื่องประกอบสำหรับอำนวยความสะดวกสบายรองรับความสุขนั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้น มนุษย์ที่เป็นมนุษย์เต็มตัวอยู่แล้ว หรือมนุษย์ผู้รู้จักที่จะมีความสุขอยู่แล้วนั้น เมื่ออยู่ในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่เจริญก้าวหน้า เขาก็มีความสุขอย่างผู้มีเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกสบายเพียงเล็กน้อย เมื่ออยู่ในสมัยที่เทคโนโลยีเจริญ เขาก็มีความสุขอย่างผู้มีเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกสบายมาก ซึ่งเขาอาจจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ โดยที่ความเป็นมนุษย์และความสุขของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเหล่านั้น เทคโนโลยีเป็นของสำหรับคนผู้มีฐานที่ตั้งตัว พร้อมที่จะมีความสุขอยู่แล้ว ใช้เทคโนโลยีเพียงเป็นเครื่องประกอบส่วนนอกของชีวิต ไม่ใช่สำหรับผู้ที่ฝากความหวังในความสุขไว้กับเทคโนโลยี สำหรับคนที่หวังเช่นนี้ เทคโนโลยีจะยั่วยวนให้ลุ่มหลงมัวเมา หลอกให้เพลิดเพลินตื่นเต้นไปกับสิ่งเร้าสิ่งเอิบอาบกระหยิ่มใจ ให้ลืมอาการเบื่อหน่ายหงอยเหงาไปคราวหนึ่งๆ โดยสุมซ้อนหรือคลุมซ่อนปมทุกข์ปมปัญหาที่ฝังลึกอยู่ข้างในเอาไว้โดยไม่ได้แก้ไข จนกว่าจะเกิดอาการเอียนอืดเฟ้อ หรือระเบิดออกมาเป็นโรคจิตโรคประสาทในที่สุด

แม้ว่าโลกสมัยปัจจุบัน จะเจริญด้วยเทคโนโลยี มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายพรั่งพร้อมแทบทุกประการ แต่เทคโนโลยีนั้นก็เป็นเพียงเครื่องประกอบของชีวิต มีขอบเขตจำกัดเพียงเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย มีคุณและโทษขึ้นกับผู้ใช้ ส่วนปัญหาเกี่ยวกับคนที่จะมีชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ใช้ จะดีหรือร้าย และได้ผลดีมากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นปัญหาที่ต่างหากออกไป ไม่อยู่ในวิสัยของเทคโนโลยีเอง ปัญหานั้นคือปัญหาการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่ต้องขึ้นกับความเจริญทางเทคโนโลยี สร้างคนที่มีฐานแห่งความสุขอยู่กับตัวเองอยู่แล้ว ผู้พร้อมที่จะมาสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยี ในทางที่เป็นคุณประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ไม่ใช่สร้างหรือใช้เพื่อก่อปัญหา ทำให้เกิดโทษมากยิ่งขึ้น คือสร้างคนผู้สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีควบคุมธรรมชาติได้ในความหมายที่แท้จริง ในความหมายที่ว่าให้อยู่ในสภาพที่ดีอันจะให้เกิดแต่คุณประโยชน์ มิใช่เพียงความหมายที่ว่าจะแย่งชิงผลประโยชน์เอารัดเอาเปรียบธรรมชาติ การควบคุมเช่นว่านี้จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยการควบคุมมาตามลำดับเป็นชั้นๆ เริ่มแต่ควบคุมตัณหาในตน หรือควบคุมตนเองได้แล้ว จึงควบคุมการใช้เทคโนโลยี นำไปสู่การควบคุมธรรมชาติอย่างถูกต้องในที่สุด

การสร้างคนที่มีจิตใจเป็นอิสระ ผู้มีความสามารถในการควบคุมอย่างแท้จริง คือควบคุมได้ทั้งธรรมชาติภายในและธรรมชาติภายนอกเช่นนี้ คือหน้าที่ของศาสนา เป็นหน้าที่ดั้งเดิมตลอดมาแต่โบราณไม่เปลี่ยนแปลง จะแปลกกันก็แต่ว่า คนที่ถูกสร้างนั้นเป็นคนที่ใช้ไต้ ใช้ตะเกียง หรือใช้ไฟฟ้า คนที่เดินทางด้วยเกวียน หรือด้วยรถยนต์และเครื่องบิน คนที่ต่อสู้กันด้วยไม้พลอง ด้วยหอกดาบ ด้วยปืน หรือด้วยจรวด แต่ทั้งหมดนั้นก็คือคน คนที่ดีหรือร้าย คนที่รู้จักมีทุกข์รู้จักมีสุข และคนที่เป็นสัตว์ประเสริฐอันฝึกให้มีอารยธรรมได้ ภารกิจที่แท้จริงของศาสนา ซึ่งความเจริญทางเทคโนโลยีไม่อาจก้าวก่ายได้ นอกจากช่วยสนับสนุนย่อมอยู่ ณ ที่นี้ หากศาสนาใส่ใจและทำหน้าที่นี้สำเร็จ ข้อนั้นย่อมหมายถึงความดำรงอยู่ของศาสนาเองด้วย และหมายถึงความสวัสดีของชาวโลกด้วย

1หมายเหตุ : อภิปรายพิเศษเนื่องในงานธรรมสมโภช ๕๐ ปี ของ พระเทพวิสุทธิเมธี (พุทธทาสภิกขุ) วันที่ ๒๕ พ.ค. ๒๕๒๙ ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พิมพ์ครั้งแรกในพุทธจักร ปีที่ ๔๐ ฉบับ ๔๐-๔๑ ประจำเดือน สิงหาคม กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙
2 หมายเหตุ : พิมพ์ครั้งแรกใน ธรรมปทีป ฉบับสงกรานต์ เล่มที่ ๑๖ ปีที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๐ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ในหนังสือ อนุสรณ์ ๓๐ ปี วชิระสัมพันธ์ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.