กระแสธรรม เพื่อชีวิตและสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

กฐิน: บทฝึกวิถีชีวิตประชาธิปไตย
บนฐานแห่งการให้และการร่วมมือ1

ขอเจริญพร ท่านรองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

อาตมภาพขออนุโมทนา ในกุศลเจตนาของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ได้ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี และพุทธสมาคมจังหวัดสุพรรณบุรี ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงความมีจิตใจห่วงกังวล และมีความสนใจในการรักษาและสืบทอดประเพณีการทอดกฐิน ให้ประเพณีนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามความมุ่งหมายเดิมที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงการปรับปรุงแก้ไขประเพณีในส่วนที่อาจจะเคลื่อนคลาดไปด้วย

ในเรื่องของประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น การที่จะรักษาสืบทอด หรือปรับปรุงแก้ไข ข้อสำคัญจะต้องเข้าใจความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของตัวประเพณีนั้นเป็นข้อแรกก่อน นอกจากตัวความหมายที่เป็นสาระสำคัญนั้นแล้ว ก็จะต้องรู้จักรูปแบบของประเพณีนั้นด้วย

รูปแบบนี้แยกได้เป็น ๒ ส่วน คือรูปแบบที่เป็นส่วนของเดิมอันเป็นพื้นฐาน และรูปแบบที่เป็นส่วนขยายเพิ่มตลอดจนกระทั่งพอกเข้ามาภายหลัง

ความเป็นมาและเจตนารมณ์ของกฐิน

เรื่องกฐินนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เราต้องเข้าใจให้ครบ คือจะต้องรู้ทั้งตัวความหมาย สาระสำคัญ เจตนารมณ์ และรู้รูปแบบเดิมและรูปแบบที่ขยายเพิ่ม

รูปแบบเดิม หมายถึงรูปแบบที่เป็นพุทธบัญญัติ เป็นพระวินัย เป็นส่วนที่ต้องรักษาไว้ รูปแบบนี้จะควบคู่ไปกับความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ หมายความว่า รูปแบบเดิมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่จะรักษาความมุ่งหมายที่เป็นสาระไว้ เป็นธรรมดาว่า เนื้อหาสาระจะต้องอยู่ได้ด้วยรูปแบบเป็นเครื่องรักษา แต่ถ้ารูปแบบไม่มีสาระ รูปแบบนั้นก็หาประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะว่าเนื้อหากับรูปแบบเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน ตัวแท้ที่เราต้องการ คือเนื้อหาสาระ ความหมายเจตนารมณ์ นอกจากรูปแบบเดิมแล้วยังมีรูปแบบบางส่วนที่ขยายเพิ่มพูนขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของกาลเทศะ โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณี อันนี้เราจะต้องเข้าใจและแยกออกให้ได้ว่า อันไหนเป็นส่วนขยายส่วนพอกส่วนเพิ่ม หรือแม้แต่เป็นเนื้องอก

สำหรับเรื่องกฐิน เราก็เอาหลักการนี้เข้ามาจับ แต่อาตมภาพเข้าใจว่า ที่ประชุมนี้ได้ร่วมการสัมมนามาทั้งวัน คงมีความเข้าใจพอสมควรแล้ว ในที่นี้เพียงแต่มาทบทวนกันเล็กน้อย

กฐินนั้นความจริงเป็นกิจหน้าที่ของสงฆ์ คือเป็นงานที่พระสงฆ์จะต้องทำ เดิมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ญาติโยมเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ญาติโยมเข้ามาร่วมนั้น เป็นเรื่องภายหลัง

หน้าที่ของพระสงฆ์ที่เรียกว่ากฐินนี้ เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการจำพรรษา พูดถึงเรื่องการจำพรรษาก็โยงไปถึงเรื่องฤดูกาลที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ หมายความว่า พระสงฆ์นั้นจำพรรษาอยู่ประจำที่ในฤดูฝน

ฤดูฝนนั้นมี ๔ เดือน พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์จำพรรษาในฤดูฝนนั้น โดยอยู่แค่ ๓ เดือน อันนี้คือข้อสังเกตประการแรก ฤดูฝน ๔ เดือน บัญญัติให้อยู่ประจำที่ ๓ เดือน แสดงว่ายังเหลืออีกเดือนหนึ่งจึงจะครบตลอดฤดูฝน อีกเดือนหนึ่งนี้จะเหลือไว้ทำไม ปรากฏว่าท่านเหลือไว้เป็นเวลาสำหรับพระสงฆ์จะได้หาจีวร ทำจีวร

ชีวิตของพระสงฆ์ โดยเฉพาะในสมัยโบราณนั้น คือชีวิตของการจาริก ท่านบัญญัติให้จำพรรษาในฤดูฝน เพราะว่าในฤดูฝนไม่สะดวก ไม่เหมาะกับการเดินทาง พอหมดระยะเวลาที่อยู่กับที่ในฤดูฝนแล้ว ก็ออกจาริกกันต่อไป ในการจาริกนี้ท่านควรจะเตรียมตัวกันให้พร้อม มีบริขารอะไรที่ควรเตรียมก็เตรียมไว้เสีย สิ่งที่จะต้องเตรียมอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ จีวร เหลือเวลา ๑ เดือนไว้สำหรับหาจีวร พระแต่ละองค์มีหน้าที่ที่เป็นเรื่องของตัวเองในการที่จะต้องหาจีวร ทำจีวร

เพราะปรารภเรื่องนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเรื่องกฐินขึ้นมาในช่วงเวลานี้ คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการหาจีวร ทำจีวรของพระสงฆ์ โดยยกเอาเรื่องการหาจีวรทำจีวรนี้ขึ้นมาเป็นกิจกรรมของสงฆ์ส่วนรวม กำหนดให้พระสงฆ์ที่หาจีวรทำจีวรสำหรับตนเอง แต่ละองค์นี้ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมส่วนรวมขึ้นมาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของการหาจีวรทำจีวรเหมือนกัน ซึ่งเรียกชื่อพิเศษว่า กฐิน แต่แทนที่จะเป็นการหาจีวรทำจีวรสำหรับตนเอง ก็เป็นการช่วยกันหาผ้าของส่วนรวมที่จะเอามาตกลงกันมอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ให้เป็นผลของความสามัคคี

ถ้ามองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า พระพุทธเจ้าจะทรงพิสูจน์ความสามัคคีของพระสงฆ์ที่อยู่ด้วยกันมาตลอดเวลา ๓ เดือน ว่ามีความพร้อมเพรียงปรองดองกันหรือไม่ เพราะจะต้องมาทำกิจกรรมร่วมกันในการที่จะหาผ้ากฐินนี้ขึ้นมา และเสร็จแล้วก็ต้องมามอบให้แก่พระองค์หนึ่ง โดยต้องมีความยินยอมพร้อมเพรียงตกลงกันได้ และนอกจากพิสูจน์ความสามัคคีที่มีอยู่แล้วก็จะได้เป็นเครื่องผูกใจกันไว้อีกด้วย เพราะว่าในโอกาสที่จะแยกย้ายกันไป ก็ได้มาพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันหาจีวรขึ้นมาแล้วถวายให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งบอกว่าเป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตร มีความประพฤติดีงาม มีความสามารถ เมื่อต่างก็มีคุณสมบัติดีอย่างนี้ องค์ไหนจีวรเก่าก็ถวายองค์นั้นไป

เรื่องของกฐินก็มีสาระสำคัญอยู่ตรงนี้ คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาจีวร ทำจีวร แต่แทนที่จะเป็นเรื่องที่ว่าแต่ละองค์ทำให้ตัวเอง ท่านก็ให้มีกิจกรรมของส่วนรวมขึ้นมา ในการที่จะให้พระที่จำพรรษาทั้งวัดมาพร้อมเพรียงกันหาและทำจีวรให้แก่สมาชิกในชุมชนของตน

ตอนที่จะเป็นกฐิน ก็คือตอนที่ว่า พระทั้งหมดที่จำพรรษาด้วยกันในวัดนั้น ตลอดเวลา ๓ เดือนนั้น หาผ้าได้แล้วก็มาประชุมกัน เอาผ้านั้นมาเข้าที่ประชุมตามระบบการอยู่ร่วมและดำเนินกิจการร่วมกันของสงฆ์ ที่ท่านเรียกว่าสังฆกรรม คือ งานของส่วนรวมกล่าวคือสงฆ์ เมื่อเข้าที่ประชุมแล้วก็มาตกลงกันว่าภิกษุรูปใดในหมู่ของตนนั้น เหมาะสมควรจะได้จีวร อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่าพิจารณาถึงความสามารถ และความประพฤติ เมื่อดูแล้วเห็นว่าองค์นี้ คุณสมบัติอื่นท่านก็มีอยู่แล้ว ยังมีจีวรเก่าที่สุดด้วย ก็เสนอขึ้นมา และเมื่อเห็นชอบ ที่ประชุมก็มีมติตกลงกันว่ามอบจีวรนั้นให้องค์นี้ไป

เมื่อมอบผ้าให้องค์นั้นไปแล้ว องค์ที่ได้รับผ้าจะต้องทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวและเอากลับมาแจ้งแก่ที่ประชุมให้ทราบ ตกลงว่าพระองค์เดียวได้รับมอบผ้าจากที่ประชุมก็ไปทำจีวร แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่องค์เดียวทำโดดเดี่ยวหรอก ให้องค์เดียวทำให้เสร็จก็จริง แต่ในเวลาทำนั้นทุกองค์ต้องมาช่วยกันทำ ท่านบอกว่าพระทุกรูปที่จำพรรษาร่วมกันนั้น ไม่ว่าเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย พรรษามาก พรรษาน้อย ต้องมาช่วยกันทำจีวรให้พระองค์นี้ คือ ตอนนี้เรารู้แล้วว่า จีวรเป็นของพระองค์นี้ แต่เราก็มาช่วยกันทำ พอทำเสร็จแล้วก็นำเข้าที่ประชุมอีก พระที่ได้รับมอบผ้านั้นก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าตนได้ทำถูกต้อง ครบกระบวนการของการทำผ้ากฐินแล้ว ที่ประชุมก็อนุโมทนา คือแสดงความเห็นชอบ เมื่อที่ประชุมแสดงความเห็นชอบด้วยแล้ว ก็เป็นอันว่าจบกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เรียกว่า “กรานกฐิน”

ในที่นี้จะไม่แยกแยะอธิบายว่า ทำไมถึงเรียกว่า กฐิน ทำไมถึงเรียกว่า กรานกฐิน เป็นรายละเอียด คงได้ฟังกันมาแล้ว

รวมความก็คือว่า พระองค์ที่ได้รับมอบหมายผ้าจากที่ประชุมไปทำผ้าจีวร และก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระในวัดนั้นทุกองค์จนกระทั่งทำกิจขั้นสุดท้ายเสร็จแล้ว ก็ไปแจ้งต่อที่ประชุมให้ที่ประชุมรับทราบเพื่อขอความเห็นชอบร่วมกัน

เมื่อได้หาผ้าและทำจีวรร่วมกันให้แก่พระองค์หนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ได้รับผ้ากฐินไป องค์นี้สบาย เรื่องที่ว่ามีเวลาที่จะหาจีวรทำจีวร ๑ เดือน องค์นี้เสร็จแล้ว แต่องค์อื่นยังไม่เสร็จ องค์ที่ยังไม่เสร็จ อาจจะมัวยุ่งมาช่วยองค์นี้อยู่ เวลาเหลือน้อย แต่ก็เบาใจได้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงวางพุทธบัญญัติเรียกว่า อานิสงส์กฐิน ว่าพระที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม มาทำการกรานกฐินได้อนุโมทนาเสร็จแล้ว ก็ให้ได้รับอานิสงส์ คือสิทธิพิเศษต่างๆ หลายประการ ซึ่งเอื้อต่อการที่จะหาและรวบรวมผ้าทำจีวร รวมทั้งขยายเวลาที่จะหาจะทำจีวรออกไปอีก ๔ เดือน แต่ละองค์ได้สิทธิพิเศษขยายเวลาออกไป แต่ก่อนมีสิทธิแค่ท้ายฤดูฝน คือ ถึงกลางเดือน ๑๒ ก็หมดสิทธิ แต่เพราะมัวไปช่วยเขา ทำเพื่อแสดงความสามัคคี ตอนนี้พอทำเสร็จแล้ว ตัวเองก็ได้สิทธิพิเศษ ขยายเวลาออกไป นี้คือการให้ความยอมรับและสนับสนุนต่อการที่มาแสดงน้ำใจกันในเรื่องของส่วนรวม

รวมความว่ากฐินเป็นเรื่องของกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เป็นส่วนรวม เรียกว่า เป็นการพิสูจน์ความสามัคคีและเป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน เป็นการผูกใจกันไว้ ต่อจากนี้ก็จะแยกย้ายกันไป แต่ก่อนจะไปก็ได้แสดงน้ำใจต่อกันไว้อย่างดี มีความพร้อมเพรียง สามัคคีกัน

กฐินขยายผล กลายเป็นกิจกรรมของประชาชน

ในการที่จะเสร็จเป็นกฐินนั้น มีกิจกรรมสำคัญแยกได้เป็นสองตอน ได้แก่

๑. ตอนเข้าที่ประชุม ซึ่งมี ๒ ช่วง คือ ประชุมมอบผ้ากฐินให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งไป และเมื่อพระทั้งวัดไปช่วยกันทำจีวรเสร็จแล้วก็มาประชุมกันอีก พระที่ได้จีวรก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกิจกรรมที่สำเร็จแล้ว และที่ประชุมก็อนุโมทนา กับ

๒. ตอนนอกที่ประชุม ซึ่งก็มี ๒ ช่วงเหมือนกัน คือ การหาผ้ามาก่อนมอบ กับตอนมอบกันแล้วก็ไปทำจีวร

กิจกรรม ๒ อย่างนี้ เดิมเป็นหน้าที่ของพระ ตามพุทธบัญญัติ พระต้องทำหมด แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเปิดโอกาสไว้ในพุทธบัญญัติว่า ผ้าที่เอามามอบให้จะเป็นผ้าที่ทำมาเสร็จแล้วก็ได้ หมายความว่า มีญาติโยมนำมาถวายก็ได้ แต่ต้องถวายได้มาในวันนั้น และเอามามอบกันในที่ประชุม

ตรงนี้แหละ คือจุดที่แยกเป็น ๒ ตอน ตอนที่เป็นเรื่องของที่ประชุม คือตอนมอบผ้าและตอนอนุโมทนาเป็นเรื่องของพระสงฆ์โดยแท้ ส่วนอีกตอนหนึ่งที่เป็นเรื่องของการหาผ้าและทำผ้า ท่านขยายกว้างออกไป คือนอกจากพระสงฆ์จะสามัคคีกันเองแล้ว ถ้าคฤหัสถ์จะศรัทธาและร่วมใจก็ให้คฤหัสถ์เข้ามาสามัคคีด้วยได้ คือ เข้ามาร่วมในเรื่องกฐินนี้ ในส่วนของการเอาจีวรมาถวายพระสงฆ์

แต่ตรงนี้ขอย้ำว่า ญาติโยมพุทธศาสนิกชนนั้นต้องมีศรัทธาของเขาเอง ต้องเกิดจากน้ำใจของเขาเอง พระสงฆ์จะไปบอกเขาไม่ได้เป็นอันขาด จะไปพูดเลียบเคียงทำเลศนัยไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าไปบอกว่าวัดฉันยังไม่มีใครมาทอดกฐิน แล้วเขามาทอดกฐิน กฐินนั้นก็เป็นโมฆะ จะไปแสดงอะไรก็ตามที่เป็นเลศนัยทำให้เขามาทอดกฐิน ผิดทั้งนั้น ทำให้การกรานกฐินเป็นโมฆะ

การที่ญาติโยมจะมีน้ำใจศรัทธาและมีความสามัคคี ก็หมายความว่า พระในวัดนั้น ต้องมีความประพฤติดี มีความสามัคคี ปฏิบัติถูกต้องตามศีลาจารวัตรที่ทำให้ญาติโยมมีศรัทธาเลื่อมใส เขาจึงอยากจะร่วมมือช่วยเหลือโดยเอาผ้ามาถวาย

ในส่วนที่ญาติโยมทำได้ แสดงสามัคคีได้ โดยเอาผ้ามาถวายนี่แหละ ก็จึงทำให้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ทำต่อกันมาจนขยายตัวเป็นประเพณีทอดกฐิน ซึ่งเราเรียกว่าไปทอดกฐิน การทอดกฐินก็เลยเป็นเรื่องของคฤหัสถ์เข้ามามีส่วนด้วย ตกลงก็จึงมี ๒ ส่วน คือส่วนกรานกฐินเป็นเรื่องของพระ และส่วนทอดกฐินเป็นเรื่องของคฤหัสถ์ คือการเอาผ้ากฐินไปถวายสงฆ์ ถวายเป็นของส่วนรวม ถวายเป็นของกลาง

เวลาไปถวายตัวผ้ากฐิน ซึ่งเป็นแกนของเรื่องที่เรียกว่าองค์กฐิน นั้น จะต้องไม่ถวายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เอาไปวางไว้ต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ท่านก็ไปตกลงกันเองในที่ประชุมว่าจะมอบให้แก่พระรูปใด

สาระสำคัญของกฐินนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องของความสามัคคีในพระสงฆ์แล้วขยายออกไปสู่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ โดยเปิดโอกาสให้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ได้มาร่วมแสดงความสามัคคีด้วย และการที่ฝ่ายคฤหัสถ์จะมาแสดงความสามัคคีด้วยนั้น ก็มีผลย้อนกลับในแง่ที่เป็นทั้งการย้ำเตือน และการพิสูจน์ถึงการที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติดีสามัคคีกันอยู่ก่อน

เป็นอันว่า ตอนนี้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์มาสามัคคีกับพระสงฆ์แล้ว ต่อมาพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ก็สามัคคีกันเองอีก แทนที่ว่าคนเดียวมาถวายก็ไปร่วมกันทำอย่างที่เรานิยมมีกฐินสามัคคี ตลอดจนมีประเพณีที่เรียกว่าจุลกฐิน เพื่อแสดงความสามัคคีให้มากขึ้น โดยต้องทำทุกอย่างให้เสร็จในวันเดียว ตั้งแต่นำผ้ามาปั่นเป็นด้าย เอาด้ายนั้นมาทอเป็นผ้า เอาผ้านั้นมาซักมาเย็บมาย้อมเป็นจีวร ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว และถวายให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง เรียกจุลกฐิน ล้วนเป็นเรื่องของการสามัคคีทั้งนั้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสามัคคีข้ามถิ่น คือ พุทธศาสนิกชนในถิ่นนี้ถือตัวว่าเป็นเจ้าของวัดนี้ เป็นศรัทธาของวัดนี้ ก็ไปทอดกฐินที่วัดอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดของตำบลนั้น เป็นการแสดงน้ำใจต่อวัดนั้น และต่อชาวตำบลอีกตำบลหนึ่งนั้น บางทีก็ข้ามจังหวัดอย่างที่ท่านทั้งหลายมาทอดนี้ เป็นการแสดงน้ำใจสามัคคีที่ขยายวงกว้างออกไป สาระสำคัญของกฐินจึงอยู่ที่การแสดงออกซึ่งความสามัคคี

รักษาสาระและเจตนารมณ์ไว้
แล้วพัฒนาประเพณีให้มีประโยชน์ยิ่งขึ้นไป

ในการทอดกฐินนั้น สิ่งสำคัญก็คือตัวผ้าผืนเดียวที่ถวายให้พระท่านเอาไปตกลงมอบกัน ต่อมาเราก็คิดจะช่วยอนุเคราะห์ให้พระสงฆ์ได้มีความสะดวกในความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ ด้วย ก็เลยเอาวัตถุ ปัจจัย บริขารอื่นๆ ไปถวายด้วย เพิ่มเข้าไปเป็นส่วนประกอบ โดยเอามาถวายเพิ่มจากผ้าที่เป็นองค์กฐิน เรียกว่า บริวารกฐิน ดังจะเห็นในคำถวายผ้ากฐินว่า “ถวายผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวาร”

ของที่เป็นบริวารนี่แหละเป็นส่วนที่เป็นเนื้องอกขยายออกไปๆ ไปๆ มาๆ คนถวายกฐินไม่รู้ว่าตัวกฐินอยู่ที่ไหน หลายคนยังไม่รู้เลยว่าตัวกฐิน คืออะไร ไปมองที่บริวารกฐินเป็นตัวกฐิน ตลอดจนทอดกฐินเพื่อสร้างโน่นสร้างนี่ เพื่อเอาเงินเอาทอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ขยายพอกโตออกไป ตลอดจนกระทั่งว่าจะได้มีโอกาสไปเที่ยวกัน กลายเป็นกฐินเที่ยว กฐินทัศนาจร อย่างไรก็ตาม ถ้าสาระยังอยู่ ส่วนประกอบอย่างนี้เมื่อรู้จักจัดทำให้ดี ก็ไม่เสียหายอะไร หมายความว่าต้องทำให้อยู่ในขอบเขต คืออย่าให้เป็นเรื่องรื่นเริงสนุกสนานจนเลยเถิด จนกระทั่งออกนอกธรรมไป กลายเป็นสุรา กลายเป็นการพนันไปก็เสียหาย ข้อสำคัญคือจะต้องรักษาความหมายที่แท้ และเจตนารมณ์ของกฐินเอาไว้ และจัดกิจกรรมเสริมที่เป็นประโยชน์ชนิดที่สอดคล้องกัน

ถ้าหากว่าสิ่งที่มีขึ้นมาเป็นเครื่องประกอบองค์กฐิน ที่เรียกว่าบริวารกฐินเหล่านี้ จะเป็นส่วนเสริมให้กฐินมีความหมายมีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยที่เราเข้าใจสาระสำคัญ คือความสามัคคีและแสดงออกโดยการให้แก่กันก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ขอเสนอว่า นอกจากสิ่งของที่เป็นบริวารกฐิน เราอาจจะมีกิจกรรมที่เป็นบริวารกฐินขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นเราไปถิ่นโน้น เขามีความต้องการอะไร มีความขาดแคลนอะไร เราควรจะช่วยเหลือสงเคราะห์อะไร เราก็นำไปพร้อมกับกฐิน จัดกิจกรรมที่เป็นบริวารกฐินขึ้นมา ไม่ใช่ไปเกื้อกูลเฉพาะพระสงฆ์อย่างเดียว แต่ไปให้ความหมายและทำประโยชน์แก่ท้องถิ่นด้วย

ความหมายนี้มีมาแต่โบราณ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพุทธศาสนิกชนถือว่าวัดในถิ่นของตัวเองนั้นเป็นวัดของตน เป็นวัดของหมู่บ้านของตน ของตำบลของตน ของอำเภอของตน ทีนี้เวลาไป เราไม่ได้ไปเฉพาะที่วัด แต่มีความหมายถึงว่าเราไปสามัคคีกับชาวบ้านในถิ่นในตำบลนั้น ถ้าเราช่วยให้ท้องถิ่นนั้นมีอะไรงอกงามขึ้นมา ก็น่าจะเป็นกิจกรรมประเภทบริวารกฐินได้

ยกตัวอย่างเช่นว่า ที่ตำบลนั้นมีความขาดแคลนในเรื่องนี้ หรือมีความต้องการในเรื่องนี้ หรือควรจะได้มีการพัฒนาในเรื่องนี้เป็นประโยชน์อยู่ เราก็จัดตัวกฐินพร้อมทั้งกิจกรรมบริวารกฐินในรูปที่ว่าไปช่วยเหลือสงเคราะห์หรือไปทำอะไรเป็นการให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น อันนี้ อาตมภาพก็ขอเสนอไว้คือให้กฐินขยายกว้างออกไปในแง่ของบริวารกฐิน ว่า นอกจากมุ่งกันในด้านของบริวาร แล้ว ก็ให้หันมาสนใจในแง่ของการจัด กิจกรรมบริวารให้มีคุณค่าอย่างแท้จริงด้วย

ที่พูดมานี้เป็นการเน้นความหมายอย่างง่ายๆ คือ ความสามัคคีและโยงต่อมาถึงเรื่องที่เราจัดทำเห็นๆ กันอยู่ คือ เรื่องบริวารกฐิน ทั้งด้านของบริวารและกิจกรรมบริวาร โดยขอให้สนใจพิจารณาทบทวนปรับปรุงกันในเรื่องกิจกรรมบริวาร นี้เป็นความหมายระดับพื้นๆ ที่แยกเป็นส่วนๆ

แต่ถ้าจะพูดให้ได้ความหมายที่ลึกลงไปจนถึงหลักการพื้นฐานที่ครอบคลุม กฐินที่เป็นกิจกรรมแห่งความสามัคคีของสงฆ์นี้ ก็มีสาระสำคัญหรือเจตนารมณ์อยู่ที่การย้ำเตือนในหลักการและฝึกปฏิบัติในวิถีชีวิตของสังคมประชาธิปไตยนั่นเอง

จะเห็นได้ชัดว่า กฐินเป็นกิจกรรมของสังคมประชาธิปไตย การกรานกฐิน ซึ่งเป็นแกนของกฐินนั้นบ่งชัดถึงความหมายนี้ และในกิจกรรมประชาธิปไตยนี้ ท่านเน้นความหมายที่สำคัญๆ คือ

- ความมีส่วนร่วม ที่มีลักษณะเป็นความร่วมมือ

- ความร่วมมือนั้น เป็นไปด้วยความสามัคคี พร้อมเพรียง ร่วมแรง ร่วมใจกัน

- ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจนั้น แสดงออกในการให้และการกระทำเพื่อผู้อื่น

การแสดงออกในการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตนนั้น คนทั่วไปพร้อมที่จะทำอยู่แล้ว ไม่ต้องเน้นความหมายแง่นี้ในการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ควรฝึกฝนพัฒนาประชาธิปไตยด้วยกิจกรรมที่สมาชิกของชุมชนมาร่วมกัน คิดร่วมกันแสดงออกในการให้และทำเพื่อผู้อื่น วิถีชีวิตที่ให้ความสำคัญแก่คุณลักษณะอย่างนี้ จึงจะนำสังคมประชาธิปไตยไปได้โดยเกษมสวัสดี

วันนี้เป็นวันที่มีการสัมมนา ซึ่งถือว่าเป็นวันสุกดิบ พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันทอดกฐินแล้ว การทอดกฐินนี้เราก็ทำกันไปตามประเพณี แต่อย่างน้อยก็ให้เราเข้าใจความหมาย สาระสำคัญ ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของกฐินไว้ก่อน แล้วก็พยายามทำให้เกิดผลตามความมุ่งหมายนั้นให้ได้ และต่อจากนี้ไปถ้ามีโอกาสก็ช่วยกันหาทางที่จะปรับปรุงพัฒนาเรื่องของกฐินนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับญาติโยมว่า ทำอย่างไรจะให้มีความหมายเป็นประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ตามสาระที่ว่ามานั้น

วันนี้มีเวลาน้อย บัดนี้ก็ล่วงเลยเกินเวลาไปมากทีเดียวกลายเป็นบ่าย ๔ โมง ๔๐ นาทีแล้ว อาตมภาพคิดว่าจะแสดงแง่คิดไว้เพียงบางประการ ซึ่งถ้าหากว่าจะเป็นจุดที่จะทำให้มีแง่สำหรับไปต่อไปขยายให้เกิดป็นกิจกรรมที่เป็นสารประโยชน์ขึ้นมาได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำให้กฐินนี้มีความหมายต่อพระศาสนาและสังคมประเทศชาติมากยิ่งขึ้น เพราะเท่าที่เป็นมาความหมายเดิมแท้ก็มีสาระสำคัญอยู่ที่จุดนี้

ความหมายเดิมแท้นั้นก็คือว่า กฐินนี้เป็นกิจกรรมแห่งความสามัคคีในวิถีชีวิตประชาธิปไตยของสงฆ์ ซึ่งจะเป็นเครื่องดำรงพระศาสนาให้มั่นคงอยู่ได้ และการที่พระศาสนาดำรงอยู่นั้นก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พรหมจรรย์คือพระศาสนานี้ จะดำรงอยู่ยั่งยืนก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก

บัดนี้ก็เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ได้เวลาที่จะต้องปิดประชุม ผู้ดำเนินการประชุมก็ได้มาแจ้งว่าถึงเวลาจะต้องปิด ฉะนั้น อาตมภาพคงจะได้แต่เพียงอนุโมทนาผู้ที่มาร่วมประชุมสัมมนานี้อีกครั้งหนึ่ง และขอให้เราทั้งหลายช่วยกันรักษาสืบทอด ความหมาย ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของกฐินสืบต่อไป ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมความสามัคคี การพัฒนาวิถีชีวิตในสังคมประชาธิปไตยที่ชอบธรรม พยายามที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เป็นบริวารของกฐินนี้ ทั้งในส่วนที่เป็นของบริวารและกิจกรรมบริวาร ให้มีความหมายและเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา แก่สังคมประเทศชาติ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมสืบไป

ในโอกาสนี้ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งกุศลเจตนาที่ท่านทั้งหลายได้ตั้งขึ้นแล้ว ซึ่งนำมาสู่การที่ได้มาร่วมในกิจกรรมการทอดกฐินณโอกาสนี้ จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข เจริญงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน

 

ทรัพย์สิน:
มุมสำคัญของการปฏิบัติธรรม2

ภุตฺตา โภคา ภฏา ภจฺจา   วิติณฺณา อาปทาสุ เมติ

ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาอนุโมทนาบุญกิริยา เนื่องในโอกาสแห่งงานพระราชทานเพลิงศพ คุณบัญชา ล่ำซำ

คณะท่านเจ้าภาพ มีหม่อมราชวงศ์ สำอางวรรณ ล่ำซำ เป็นประธาน พร้อมทั้งบุตรหลานและญาติมิตรทั้งหลาย ได้มีจิตใจเป็นสมานฉันท์ พร้อมกันบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน อุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับตามลำดับมาเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยอนุวรรตน์ตามประเพณีไทย กล่าวคือ เป็นการบำเพ็ญญาติธรรม ได้แก่ หน้าที่ต่อญาติและแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม

นอกจากในฝ่ายครอบครัว ก็ยังมีท่านที่เคารพนับถืออีกจำนวนมาก โดยเฉพาะก็คือ บุคคลากร ในวงการของธนาคารกสิกรไทยทั่วประเทศ ซึ่งได้มาร่วมในการบำเพ็ญกุศลสืบมาตามลำดับอย่างพร้อมเพรียงเช่นเดียวกัน เป็นการแสดงน้ำใจ บูชาคุณงามความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว สอดคล้องกับหลักการที่ถือว่า การบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ เป็นกิจสำคัญสำหรับผู้ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการแสดงออกที่บ่งชี้ถึงคุณธรรมที่มีในใจของท่านที่มาร่วมงาน พร้อมทั้งเป็นการประกาศคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปด้วยพร้อมกันในตัว

ที่กล่าวนี้หมายความว่า การบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับนั้น เป็นการประกาศคุณความดีของทั้งสองฝ่าย ในฝ่ายของท่านที่ล่วงลับไปแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านต้องมีคุณความดีที่ได้บำเพ็ญไว้ จึงทำให้คนที่อยู่ข้างหลัง นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องทำการแสดงออก กล่าวคือ มาประกอบพิธีทำบุญบำเพ็ญกุศลต่างๆ และพร้อมกันนั้น ก็เป็นการประกาศคุณความดี ของท่านที่อยู่ข้างหลังนี้เช่นเดียวกัน ว่าท่านที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ มีน้ำใจ มิได้ทอดทิ้งท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อมีกิจที่จะควรทำอุทิศแก่ท่านได้ ก็มิได้ปล่อยปละละเลยหรือนิ่งเฉยดูดาย นับว่าเป็นการแสดงถึงคุณความดี อันประกอบด้วยน้ำใจ ที่ทางพระศาสนาเรียกรวมโดยศัพท์ว่า ญาติธรรม และ มิตรธรรม รวมความว่า ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญกิจอันแสดงออกแล้ว ซึ่งญาติธรรมและมิตรธรรมตามโอกาสเป็นลำดับมา

บัดนี้ คุณบัญชา ล่ำซำ ก็ได้จากไปครบ ๓๕ วันแล้ว ย่างขึ้นวันที่ ๓๖ ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลผู้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพนับถือ เมื่อท่านจากไป ย่อมเป็นธรรมดาว่า บุคคลที่อยู่ใกล้ชิดในแวดวง ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป ย่อมจะมีความเศร้าโศกอาลัย แต่ ความเศร้าโศกอาลัยนี้ ก็อาจจะบรรเทาลงได้บ้าง ด้วยปัจจัยแวดล้อม และการรู้จักทำใจ

ปัจจัยแวดล้อม ที่จะช่วยให้ความเศร้าโศกบรรเทาลงได้นั้น มีประมาณ ๓ ประการด้วยกัน บางอย่างนั้น อาจจะทำให้เราผู้ยังอยู่นี้ สามารถเกิดความปลาบปลื้ม ปิติยินดีขึ้นมาท่ามกลางความเศร้าโศกก็ได้ หมายความว่า ทั้งๆ ที่ยังมีความเศร้าโศกอาลัยอย่างมากมายนี่แหละ แต่เมื่อทำใจอย่างถูกต้อง มีเหตุปัจจัยมาช่วยเกื้อหนุนจิตใจ ก็อาจจะมีความปลาบปลื้มปีติยินดีขึ้นมาได้ กลายเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความสุขขึ้นได้ในยามนี้

ประการที่หนึ่ง ปัจจัยที่จะช่วยให้เกิดความปีติยินดี ก็คือ การที่ได้ระลึกว่า ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญคุณความดีไว้ ได้ทำชีวิตของท่านให้มีค่า ด้วยการสร้างผลงาน และด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ เมื่อได้ระลึกขึ้นมาอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้ลูกหลาน เป็นต้น ที่กำลังมีความอาลัย เกิดความสบายใจ เกิดความอิ่มใจ ในคุณความดีของท่าน แม้จะเศร้าโศก แต่ในยามนั้นเองก็สามารถฟื้นฟูใจให้มีความปลาบปลื้มยินดีขึ้นมาได้ โดยระลึกถึงว่า คุณพ่อของเรา หรือว่า ท่านผู้เป็นที่รักที่เคารพนับถือของเรานี้ ท่านเป็นผู้มีชีวิตที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ ท่านได้ทำสิ่งที่ควรรำลึกจดจำบูชาไว้แล้วเป็นอย่างดี ในข้อนี้ สำหรับคุณบัญชา ล่ำซำนั้น ผลงานของท่านก็เป็นที่ปรากฏชัด ดังจะเห็นได้จากการที่ว่า ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ จะได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพด้วย เป็นประกาศอย่างชัดเจนถึงความสำคัญแห่งชีวิตและผลงานของท่าน พร้อมทั้งคุณประโยชน์ที่ท่านได้บำเพ็ญไปแล้ว

ประการที่สอง ปัจจัยข้อต่อไป ที่จะช่วยให้ญาติมิตรโดยเฉพาะครอบครัว ได้เกิดความรู้สึกสบายใจหายโศกเศร้า ผ่อนคลายความอาลัยลงได้ ก็คือ น้ำใจไมตรี คือความมีมิตรภาพของท่านที่เคารพนับถือ ท่านผู้อยู่ในวงการ และท่านที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ที่ได้มาแสดงออก ด้วยการร่วมพิธีบำเพ็ญกุศล ทำให้เกิดความอบอุ่นใจแก่ครอบครัว การแสดงออกซึ่งน้ำใจของท่านทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่เกิดจากคุณธรรมคือเมตตาและไมตรีธรรมในจิตใจ เมื่อได้แสดงออกแล้ว ก็มีผลทำให้เจ้าภาพ ได้มีความชุ่มชื่นจิตใจขึ้นมา บรรเทาความเศร้าโศกอาลัยได้ และเครื่องปลุกปลอบชะโลมใจนี้ก็แสดงออกในน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถด้วย

ประการที่สาม ปัจจัยที่จะเป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าโศกาลัย ก็คือ การรำลึกถึงคติธรรมดาแห่งชีวิตตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนได้สดับธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมรู้เข้าใจถึงหลักแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เรียกรวมว่า พระไตรลักษณ์ เราย่อมรู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง รวมทั้งชีวิตของเรานี้ ล้วนเป็นสังขาร เมื่อมีการเกิดขึ้น ก็ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา เมื่อเรารู้เข้าใจธรรมดาของชีวิต และธรรมดาของสังขารเหล่านี้แล้ว พิจารณาคล้อยไปตามกฎแห่งความจริง หรือกฎธรรมชาตินั้น ด้วยความรู้เท่าทัน ปัญญาที่รู้เท่าทันนั้น ก็จะทำให้ความเศร้าโศกอาลัยบรรเทาลงได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการปฏิบัติในข้อนี้เป็นความเข้าใจตามหลักความจริง จึงเป็นปัจจัยข้อสำคัญทีเดียว เรียกว่าเป็นการทำจิตใจให้ถูกต้อง โดยวิธีปฏิบัติทางธรรม ซึ่งถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้ดำเนินตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

นี้เป็นปัจจัยอย่างน้อยสามประการ ที่จะทำให้จิตใจได้เกิดความผ่อนคลาย บรรเทาจากความเศร้าโศก และอาจจะทำให้เกิดความปีติปลาบปลื้มใจ แทรกเข้ามาในระหว่างท่ามกลางความโศกเศร้านี้ได้

. . .

โดยเฉพาะการที่ท่านผู้ล่วงลับไปได้ทำประโยชน์ต่างๆ ไว้นั้น เมื่อพิจารณาตามคติทางพระศาสนา ก็เรียกว่า เป็นการทำชีวิตให้มีค่า ที่ท่านเรียกว่า 'อโมฆชีวิต' แปลว่า 'ชีวิตที่ไม่ว่างเปล่า' เมื่อได้รำลึกถึงในแง่นี้แล้ว ครอบครัวญาติมิตรก็จะได้มีความสบายใจ ว่าบุคคลผู้เป็นที่รักที่เคารพของเรานั้น เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า เป็นชีวิตที่มีค่าแล้ว เราก็ควรเบาใจ ความเศร้าโศกอาลัยที่เกิดขึ้น แม้จะยังมีอยู่อย่างลึกซึ้ง ก็จะได้บรรเทาเบาลงไป

แต่จะให้บรรเทาได้โดยสมบูรณ์ หรือโดยสิ้นเชิงนั้น ก็ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมในทางพระศาสนา ที่เป็นประการที่สาม ดังกล่าวมาแล้ว กล่าวคือ การที่ต้องพิจารณาให้เห็นคติธรรมดาแห่งชีวิตที่เป็นสังขาร ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริง ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตของมนุษย์เรานี้ก็เป็นสังขาร คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งนั้น ย่อมไม่เป็นตัวของมันเอง แต่เป็นไปตามปัจจัยทั้งหลายที่ขัดแย้ง เมื่อมีปัจจัยที่ขัดแย้งเข้ามา ก็ทำให้เกิดมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีการแตกสลายไปในที่สุด

ทั้งนี้ไม่เฉพาะชีวิตของคนเราเท่านั้น ทุกสิ่งที่มนุษย์เราประสบพบเห็น รวมทั้งทรัพย์สินสมบัติต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยเช่นเดียวกัน เราได้มาพบกับสิ่งเหล่านั้น ก็เป็นการชั่วคราว แล้วในที่สุด เรากับสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องพลัดพรากแยกจากกันไป โดยที่ว่า บางทีเราก็แยกจากสิ่งเหล่านั้นไปก่อน หรือบางทีสิ่งเหล่านั้นก็แยกพรากจากเราไป แต่รวมความก็คือการที่ว่าต้องพลัดพรากแยกจากกันไป

เพราะฉะนั้น ในทางพระศาสนา ท่านจึงสอนเตือนสติพุทธศาสนิกชนอยู่เสมอ ให้ทำใจให้ถูกต้องต่อสิ่งต่างๆ ที่ตนเข้ามาประสบเกี่ยวข้อง คือ ให้รู้เท่าทันความจริง ปฏิบัติจัดทำสิ่งนั้นๆ ให้ถูกต้องตามเหตุผล และให้มีความรู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดถือมั่นเกินไป เมื่อเรายังอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เราก็เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง แต่เมื่อต้องมีการพลัดพรากแยกจากกัน ก็มีสติรู้เท่าทัน มีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกความทุกข์ครอบงำเพราะอำนาจของความยึดติดถือมั่น

ปฏิบัติธรรมโดยปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้อง

การปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ที่เราเกี่ยวข้องนี่แหละ เป็นการปฏิบัติธรรม และเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐานทีเดียว

ก่อนที่จะปฏิบัติธรรมอะไรต่อไปก็ตาม ธรรมะที่จะต้องปฏิบัติขั้นต้นที่สุด ก็คือ การปฏิบัติต่อสิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ใกล้ชิดเราที่สุดเป็นต้นไป สิ่งที่ใกล้ชิดที่สุด ก็คือ ชีวิตของเรา ต่อจากชีวิตของเรา ก็คนที่แวดล้อมสัมพันธ์ แล้วก็สิ่งของเครื่องใช้และทรัพย์สมบัติที่เราครอบครอง ทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชีวิตของชาวบ้านหรือคฤหัสถ์นั้น จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินสมบัติเป็นธรรมดา จึงจะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้อง

ผู้ใดที่ปฏิบัติถูกต้องต่อเรื่องเงินทองทรัพย์สิน ก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมในพระศาสนาด้วย แม้ไม่ได้เข้าไปในป่า ไม่ได้ไปบำเพ็ญกรรมฐานอะไร ก็ชื่อว่าปฏิบัติธรรมอยู่ในตัว

บางท่านอาจจะสงสัยว่า เมื่อเงินทองทรัพย์สมบัติเป็นของไม่เที่ยง และทางพระศาสนาก็สอนไม่ให้ยึดติดถือมั่น จนกระทั่งบอกว่า 'เมื่อตายแม้แต่เงินสักบาทเดียวก็ติดตัวไปไม่ได้' ท่านสอนกันไว้ถึงอย่างนี้ แต่เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงสอนไว้ว่า ให้เราทั้งหลายนี้มีความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาทรัพย์สิน ดูคล้ายๆ ขัดกัน ก็ในเมื่อมันเป็นของไม่เที่ยง ไม่มีค่าอะไร แล้วจะแสวงหาไปทำไม

อันนี้แหละ ก็คือ หลักการที่ได้กล่าวเมื่อกี้นี้ว่า การปฏิบัติต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องนั้น คือการปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐาน เมื่อเราต้องเกี่ยวข้องกับเงินทองทรัพย์สินสมบัติ ต้องใช้มันในการดำเนินชีวิต ก็จะต้องปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทองให้ถูกต้องด้วย และการปฏิบัติถูกต้องนั้น ก็มีหลายแง่หลายขั้น ซึ่งรวมไปถึงการรู้เท่าทันความจริง ที่เป็นธรรมชาติของทรัพย์สินเงินทองนั้นด้วย

โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเรื่องทรัพย์สินเงินทองโดยถูกต้องชอบธรรมนั้น เป็นเรื่องสามัญที่จะใช้พิจารณาการดำเนินชีวิตของคฤหัสถ์หรือการปฏิบัติธรรมของคฤหัสถ์ คล้ายๆ เป็นเครื่องตรวจสอบว่า เราปฏิบัติธรรมได้ผลหรือไม่ ถ้าหากว่า แม้แต่ทรัพย์สินสมบัติที่เป็นของต้องเกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ยังปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว จะไปหวังให้ปฏิบัติถูกต้อง ต่อสิ่งทั้งหลายที่กว้างขวางออกไปอย่างไร

แม้จะกล่าวโดยสรุป การปฏิบัติถูกต้องต่อทรัพย์สินสมบัติ ก็มีหลายอย่างหลายประการด้วยกัน ในที่นี้จะยกมาเฉพาะหลักสำคัญๆ ซึ่งกล่าวได้ว่ามี ๓ ประการ

การปฏิบัติโดยถูกต้องต่อทรัพย์สินเงินทอง ประการที่หนึ่ง คือ การรู้จักทำให้ทรัพย์สมบัตินั้น เกิดมีและเจริญเพิ่มพูนขึ้นโดยชอบธรรม คนอยู่ในโลก ก็จำเป็นจะต้องมีทรัพย์ สินเงินทองบ้าง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทองเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เฉพาะการดำเนินชีวิตของบุคคล แม้แต่กิจการของส่วนรวม ความเจริญก้าวหน้าของสังคม ก็ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทอง แต่ทรัพย์สินเงินทองก็มิใช่เกิดขึ้นมาได้เฉยๆ โดยเลื่อนลอย วิธีการที่จะให้เกิดทรัพย์สินเงินทองนั้น จะต้องอาศัยความมีสติปัญญา ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ที่เป็นคุณธรรมในจิตใจของบุคคล บุคคลใดรู้จักทำให้ทรัพย์สินเกิดมีขึ้นมาได้ และเจริญเพิ่มพูนขึ้นได้โดยชอบธรรม อันนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นที่หนึ่งในแง่ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง

คนมีสติปัญญา มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักแสวงหา บางทีสิ่งที่ไม่มีค่า ก็ทำให้เกิดมีคุณค่าขึ้นมาได้ สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ก็ทำให้มีประโยชน์ขึ้นมาได้ ในทางพระศาสนา ท่านเล่าเรื่องไว้เป็นตัวอย่าง ดังเช่นบุคคลผู้หนึ่ง เป็นคนรับใช้ของเศรษฐี เดินตามเศรษฐีไป ในระหว่างทางนั้นบังเอิญไปพบเอาหนูตายตัวหนึ่ง เศรษฐีก็หันมา ชี้ให้คนรับใช้ดู บอกว่า หนูตัวนี้ถ้ารู้จักเอาไปจัดทำก็จะทำให้มีเงินมีทองเป็นเศรษฐีได้ คนรับใช้คนนั้นมีสติปัญญา ปรากฏว่า สามารถตั้งตัวได้ โดยเริ่มต้นจากเอาหนูตัวนั้น ไปทำให้เกิดเป็นเงินเป็นทองขึ้นมา แล้วก็ตั้งตัวได้ จนกระทั่งในที่สุดคนรับใช้คนนั้นก็กลายเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า คนที่มีสติปัญญา คนที่มีความสามารถ มีคุณธรรมในใจ มีความเพียรพยายาม ขยัน อดทน เป็นต้น สามารถทำสิ่งที่ไม่มีค่า ไม่มีคุณประโยชน์ ให้เกิดมีค่า มีคุณประโยชน์ เกิดทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นมาได้

มีเรื่องเล่าถึง ท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ในเมืองไทยนี้เอง แต่ก่อนก็เป็นคนยากจน แต่ใช้วิธีสร้างทรัพย์ขึ้นมา โดยที่ว่า วิธีหนึ่งก็คือ ในระยะที่มีการรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงกันมากๆ นั้น ท่านผู้นี้ก็เอาตะกร้า หรือเข่ง ไปวางไว้ตามร้านที่ขายข้าวเหนียวมะม่วง โดยเฉพาะร้านที่ขายดี ร้านข้าวเหนียวมะม่วงนั้น เมื่อฝานมะม่วงเสร็จแล้ว ก็จะต้องทิ้งเมล็ด แล้วก็เป็นภาระในการที่จะต้องหาถังขยะ หรือในการที่จะนำไปทิ้ง ท่านผู้นี้ก็นำเอาเข่ง หรือตะกร้า ไปวางให้เลย บอกว่า ‘เอาละ ฉันจะช่วย คุณไม่ต้องไปมีภาระลำบาก ในการที่จะเอาขยะ หรือเอาเศษเมล็ดมะม่วงเหล่านี้ไปทิ้ง ฉันจะทำให้เอง’ สำหรับมะม่วงที่เอามาขายในที่นั้น ร้านที่ว่าขายดี ก็ย่อมเอามะม่วงที่ดีมาขาย เมื่อเขาวางเข่งลงไปแล้ว คนที่ขาย เมื่อเอาเนื้อมะม่วงออกแล้ว ก็โยนเมล็ดมะม่วงลงในเข่งหรือตะกร้านั้น เมื่อเข่งหรือตะกร้าเต็ม หรือได้จำนวนพอสมควร ท่านผู้นั้นก็มาเก็บเอาไป แล้วก็เอาเม็ดมะม่วงไปเพาะ ไปปลูก ก็ได้สวนมะม่วงที่ดีขึ้นมา แล้วก็ขาย ทำให้ท่านมีเงินมีทองมากขึ้น จนกระทั่งในที่สุด ด้วยวิธีการต่างๆ ทำนองนี้ ก็กลายเป็นเศรษฐีผู้หนึ่ง

อันนี้ก็คือ ความสามารถในการทำให้เกิดมีทรัพย์ และทำให้ทรัพย์ขยายเพิ่มพูนขึ้น คนที่มีความสามารถนั้น ทรัพย์ที่ยังไม่มีก็ทำให้เกิดมีขึ้นได้ สิ่งที่ไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์ ก็ทำให้เกิดมีประโยชน์ขึ้นได้ อันนี้ถือว่าเป็นความสามารถที่สำคัญ ในสังคมนี้ ต้องการคนที่มีความสามารถประเภทนี้

การสร้างสรรค์ทรัพย์ที่ยังไม่มีให้มีขึ้นอย่างนี้ เป็นเหมือนกับว่า มีผืนแผ่นดินที่แห้งแล้งร้างว่างเปล่าไร้ประโยชน์ คนมีสติปัญญา มีความปรารถนาดี และขยันหมั่นเพียร เข้ามาฟื้นฟู ที่แห้งแล้งก็ทำให้มีน้ำขึ้นมา ที่ร้างว่างเปล่า ก็ปลูกพืชพันธุ์ไม้ ให้มีป่ามีสวนขึ้นมา จนกลายเป็นที่อุดมสมบูรณ์

อย่างไรก็ดี คนจำนวนมาก มักทำในทางตรงข้าม คือ สิ่งที่มีอยู่ ที่มีคุณค่า ก็ทำให้หมดคุณค่าไป ดังนั้น สิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แม้แต่ทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว ถ้าไปอยู่กับคนที่ไม่มีสติปัญญา ไม่มีคุณธรรม ก็มีแต่สูญหายสลายไป ไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเขาผู้นั้น และไม่เกิดประโยชน์แก่สังคม

เพราะฉะนั้น สังคมจึงต้องการบุคคลที่มีสติปัญญา มีความสามารถทำนองนี้ เพื่อที่จะปฏิบัติต่อทรัพย์อย่างถูกต้องและให้เกิดผลดี และการที่จะทำให้เกิดมีทรัพย์ และเพิ่มพูนขึ้นมาด้วยการปฏิบัติต่อทรัพย์อย่างถูกต้องนี้ ก็มีความหมายรวมไปถึงว่าจะต้องให้เป็นไปโดยทางชอบธรรมด้วย คือไม่เป็นไปโดยการเบียดเบียน หรือโดยการทุจริต เช่นว่า มิใช่รวบรวมทรัพย์สมบัติขึ้นมา ด้วยการลักปล้นแย่งชิง โกง ข่มเหงผู้อื่นเอามา เป็นต้น นี้เป็นประการที่หนึ่ง เรียกว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้อง ต่อทรัพย์สินเงินทอง ในแง่ของการทำให้เกิดมี และทำให้เพิ่มพูนขึ้นโดยชอบธรรม

ประการที่สอง คือ ท่าที หรือการวางเป้าหมายต่อทรัพย์สินเงินทองนั้น ท่าที หรือเป้าหมาย ต่อทรัพย์สินเงินทองนั้น โดยทั่วไป จะมีเป็นสองประการ ประการที่หนึ่ง ที่มองเห็นกันมาก ก็คือ เรามองว่า ทรัพย์สินเงินทองหรือโภคสมบัตินั้น เป็นทางมาของความสุขสบาย เป็นทางมาของการที่จะได้รับสิ่งสำหรับปรนเปรอ บำเรอ อำนวยความสุขความสบายแก่ตนเอง คนทั้งหลายก็แสวงหาทรัพย์สมบัติเพื่อจะมาบำรุงบำเรอตนเอง ซึ่งบางทีก็เป็นเหตุที่ทำให้สังคมมีการเบียดเบียนกัน เพราะแต่ละคนก็แย่งชิง เพื่อจะเอามาให้แก่ตน เพื่อจะบำรุงบำเรอตนเอง

แต่มีคติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรม ก็คือการที่มองเห็นโภคทรัพย์ หรือเงินทองนี้ เป็นอุปกรณ์ เป็นช่องทาง เป็นโอกาสในการที่จะทำความดีให้ได้กว้างขวาง หรือทำประโยชน์ได้มากมายแพร่หลาย บางคนนั้น บางที เป็นคนมีความคิดดีๆ มีสติปัญญาและมีคุณธรรม ทั้งที่อยากจะทำความดี อยากจะทำประโยชน์แก่สังคม แต่ในเมื่อไม่มีทุนรอน ไม่มีทรัพย์สมบัติ ก็ทำไม่ได้อย่างใจปรารถนา ทำได้ก็คับแคบ ประโยชน์นั้นก็ไม่แผ่ไพศาล ทั้งๆ ที่มีสติปัญญา ความคิดดีเหลือเกิน แต่ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้ในขอบเขตจำกัด แต่ถ้าเขามีเงินทองมากเพียงพอ ก็สามารถทำให้ประโยชน์ที่ตนคิดจะทำนั้น เกิดขึ้นได้สมจริงดั่งใจหวัง แล้วก็ทำได้อย่างมากมายเสียด้วย

ในเรื่องนี้ เรามีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นแบบอย่าง กล่าวคือ พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น แต่เดิมก็ทรงหวังที่จะครองบัลลังก์ เพื่ออำนาจและโภคทรัพย์ ที่จะนำมาบำรุงบำเรอตนเอง และจะได้มีความยิ่งใหญ่ พระองค์ก็คิดอย่างนั้นตามวิถีของปุถุชนทั่วไป แต่เมื่อมาได้สดับธรรมะแล้ว พระองค์ก็เปลี่ยนพระทัย ทรงเห็นความจริงว่า ทรัพย์สินสมบัติเหล่านั้น มิใช่เป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืน มิใช่เป็นความหมายที่แท้จริงของชีวิต แต่แทนที่พระเจ้าอโศกมหาราช จะทรงสละราชสมบัติออกไปผนวช ก็มิได้ปฏิบัติเช่นนั้น แต่พระองค์ทรงพิจารณาใหม่ว่า ถ้าหากเราเปลี่ยนเสียใหม่ แทนที่จะเอาทรัพย์สมบัติ หรืออำนาจนี้มาใช้เพื่อการปรนเปรอตนเอง ให้ความสุขแก่ตนเอง ก็เอาไปใช้เป็นเครื่องมือทำประโยชน์แก่ประชาชน ก็จะเป็นทางให้เกิดประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางยิ่งใหญ่ พระองค์ก็เลยเปลี่ยนความหมายของการมีทรัพย์สมบัติและเกียรติยศอำนาจเสียใหม่ว่า ให้ทรัพย์สมบัติและอำนาจนั้น เป็นไปเพื่อขยายขอบเขตและโอกาส ในการที่จะทำประโยชน์สุขแก่ประชาชน เพราะฉะนั้นพระเจ้าอโศกก็เลยสามารถทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการที่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายมาจนปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น การวางท่าทีและเป้าหมายอย่างถูกต้องต่อเรื่องทรัพย์สมบัตินี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ถือว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อเรื่องทรัพย์เป็นประการที่สอง และข้อที่สองนี้ เป็นตัวตัดสินที่สำคัญอย่างมาก ในการที่ว่า วิถีทางของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทองนี้ จะเป็นไปในรูปใด

ต่อไป ประการที่สาม ที่เป็นการปฏิบัติถูกต้อง ต่อเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ก็คือ ความสามารถในการจัดสรร และบริหารโภคทรัพย์ ให้เกิดเป็นประโยชน์ขึ้นมาสมตามความมุ่งหมาย ทรัพย์สินเงินทองนั้น แม้เกิดมีขึ้นแล้ว และแม้จะมีจำนวนมากมาย แต่ถ้าไม่รู้จักบริหาร ไม่รู้จักจัดสรร ก็ไม่เกิดประโยชน์กว้างขวาง

สมมุติว่า มีเงินจำนวน ๑๐ ล้านบาท แจกให้แก่คนทั่วๆ ไป ๑๐ ล้านคนๆ ละ ๑ บาท เงิน ๑๐ ล้านบาทที่กระจายไปอยู่ที่คน ๑๐ ล้านคนๆ ละ ๑ บาทนั้น บางทีก็ไม่เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเงินจำนวนนั้นมาอยู่กับบุคคลที่มีสติปัญญา มีคุณธรรม คนเดียว เงิน ๑๐ ล้านนั้น อาจจะเกิดประโยชน์อย่างมากมายกว้างขวางก็ได้ อันนี้ก็อยู่ที่ความสามารถในการบริหาร แล้วก็อยู่ที่คุณธรรมของบุคคลนั้นเอง

บางที บุคคลที่ไม่รู้จักจัดสรรบริหารทรัพย์นั้น แม้ทรัพย์ที่มีขึ้นมาแล้ว ก็ยังทำให้หมดสลายไป อย่างบุคคลบางคนที่ยากจน ไม่เคยมีทรัพย์สมบัติ ไม่รู้จักจัดสรรทรัพย์สมบัติ ถูกล็อตเตอรี่ ได้เงินจำนวนมากหลายล้านบาท ปรากฏว่า ได้มาแล้ว ก็ได้แต่หาความสุขสะดวกสบาย เที่ยวสนุกสนาน สำมะเลเทเมา เล่นการพนัน ไม่ช้าเงินนั้นก็หมด กลับจนลงอย่างเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม ก็เลยเป็นอันว่า เงินนั้นไม่เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนด้วย และไม่เกิดประโยชน์แก่สังคมด้วย แต่กลับกลายเป็นการทำลายล้างไปเสีย อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง เพราะฉะนั้น ความสามารถบริหาร และจัดสรรโภคะให้เกิดประโยชน์นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกประการหนึ่ง

ที่กล่าวมานี้คือ การปฏิบัติที่ถูกต้องชอบธรรม ต่อเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งคนที่มีความสามารถ และมีคุณธรรมที่ทำได้อย่างนี้ ย่อมเป็นบุคคลที่มีค่า เป็นสมบัติของสังคม เพราะคนเช่นนี้เกิดมีขึ้นแล้ว ก็เป็นผู้ที่ช่วยให้สังคมนั้น มีความสุขความเจริญ กระจายประโยชน์ให้แพร่หลาย เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘สัตบุรุษ’ แปลว่า ‘คนดี’ เกิดขึ้นในที่ใด ก็เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เปรียบเหมือนมหาเมฆหลั่งฝนใหญ่ลงมา ยังมหาปฐพีให้ชุ่มฉ่ำ และช่วยให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน สิ่งที่ไม่เคยเป็นประโยชน์ เขาก็มาทำให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่ไม่มีเขาก็ทำให้มีขึ้นมา และทำให้มีขึ้น ในลักษณะที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคมด้วย

อันนี้แหละคือความหมายของถ้อยคำที่เรียกว่า ‘เศรษฐี’ เศรษฐีโดยธรรมก็จะเป็นคนที่มีลักษณะอย่างนี้ เราอาจจะแปล ‘เศรษฐี’ นั้นว่า เป็นคนที่ประเสริฐในเรื่องทรัพย์ คือ มีความสามารถในการสร้างสรรค์และจัดสรรทรัพย์ แต่ต้องเป็นไปโดยธรรม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งสามประการ

ถ้าเป็นคนที่ตรงข้าม ก็คือ หนึ่ง ในแง่ของการทำให้เกิดมี และเพิ่มพูนโภคทรัพย์ เขาก็ทำไม่ได้ไม่เป็น หรือทำโดยไม่สุจริต โดยแย่งชิงเบียดเบียนผู้อื่น ประการที่สอง ในแง่ของเป้าหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง แทนที่จะนำมาเป็นเครื่องมือขยายขอบเขตหรือขยายโอกาสในการที่จะทำประโยชน์สุข ให้แพร่หลายกว้างขวาง ก็มุ่งแต่จะนำมาใช้เป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตนเองและประการที่สาม แม้มีขึ้นมาแล้ว ก็ไม่รู้จักบริหาร ไม่รู้จักจัดสรร ได้แต่ทำให้ละลายหายสูญไป หรือได้แต่หวงแหนเก็บไว้ เข้าคติที่ในทางธรรมท่านบอกว่า ‘เหมือนกับสระโบกขรณีที่มีน้ำใส มีชายฝั่งอันน่ารื่นรมย์ แต่เป็นถิ่นที่อมนุษย์ครอบครอง ไม่มีใครสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้’

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าทรัพย์สินนั้นเกิดแก่สัตบุรุษ แก่คนดี ผู้มีคุณธรรม และมีความสามารถในการบริหาร ก็จะเหมือนกับสระน้ำโบกขรณี ที่มีน้ำใสแจ๋ว และมีชายฝั่งอันน่ารื่นรมย์ ที่เปิดให้คนทั่วไปได้รับประโยชน์ สามารถที่จะมาดื่ม มากิน มาใช้ แล้วก็มาพักผ่อนที่ริมสระนั้น ทำให้มีความสุขความสดชื่นเบิกบานได้ อันนี้ ก็เป็นคติเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติต่อทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ไม่ควรจะมองข้ามในการปฏิบัติธรรม

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งสามประการนี้ เรียกว่า เป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อโภคทรัพย์ในระดับ ‘โลกิยะ’ นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติถูกต้องชอบธรรม อีกระดับหนึ่ง คือ ระดับที่เป็นโลกุตตระ หรือ ระดับเหนือโลก ได้แก่การที่มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร หรือ เข้าใจกฎธรรมชาติ แห่งความเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป รู้ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว แม้จะครอบครองทรัพย์สมบัติ ก็ครอบครองด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันนั้น ไม่มีความยึดติดถือมั่น มีลักษณะอย่างที่ท่านเรียกว่า ‘ไม่สยบมัวเมา ไม่ตกเป็นทาส ไม่อยู่ใต้อำนาจครอบงำของทรัพย์สินสมบัติของตนเอง จนกระทั่งทำให้เกิดความทุกข์’

การปฏิบัติเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เป็นเรื่องของจิตใจที่พัฒนาในระดับโลกุตตระ ซึ่งมีความหมายว่า ทำอย่างไร เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับทรัพย์แล้ว จิตใจของตนเองนี้จะเป็นจิตใจที่ยังคงเป็นอิสระเสรีอยู่ได้ อย่างที่เรียกว่า ‘เป็นนายของโภคทรัพย์’ ไม่ตกเป็นทาสของโภคทรัพย์ ถ้าทำได้อย่างนี้ จิตใจก็จะมีความสดใสเบิกบาน แม้จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์อยู่ ก็จะมีความเกี่ยวข้องในฐานที่ว่า ไม่ปล่อยให้อิทธิพลของทรัพย์เข้ามาครอบงำจิตใจของตนเอง เป็นจิตใจที่เบิกบาน สดใส ได้ตลอดเวลา

ถ้าผู้ใด ปฏิบัติถูกต้องต่อทรัพย์สมบัติได้ทั้งสองระดับนี้ ก็เป็นบุคคลที่ชื่อว่า ปฏิบัติถูกต้องสมบูรณ์ ตามหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการอาศัยสิ่งที่มีอยู่ในโลก นำมาสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เกิดแก่ชาวโลก และพร้อมกันนั้นตนเองก็เป็นอิสระ ไม่ถูกสิ่งนั้นครอบงำด้วย

ถ้าหากว่าเป็นไปในทางตรงกันข้าม บุคคลนั้นก็จะมีพฤติกรรมในลักษณะที่ว่า มุ่งมาแสวงหา รวบรวมเอา หรือแม้แต่อาจจะใช้คำรุนแรงว่า กอบโกยเอาสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ เพื่อมาบำรุงบำเรอตนฝ่ายเดียว พร้อมทั้งในเวลาเดียวกันนั้น จิตใจของตนเองก็ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นด้วย ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างนี้ ชีวิตนั้น ก็ไม่มีคุณค่าอย่างแท้จริง และเมื่อถึงคราวจากโลกนี้ไป ก็เป็นการจากไปอย่างที่เรียกว่า ไม่เป็นอิสระเสรี

แต่ถ้าปฏิบัติถูกต้องครบทั้งสองระดับนี้ ทางพระท่าน เรียกว่า เป็นผู้มีชัยในโลกทั้งสอง คือ ทั้ง ‘โลกนี้’ และ ‘โลกหน้า’ เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่แก่โลกด้วย และตนเองก็ประสบประโยชน์สุขสูงสุด คือเป็นอิสระเสรีอยู่เหนือโลกด้วย นับเป็นความสุขที่แท้จริง คือ ให้เกิดสุขทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น และเป็นความสุข ทั้งในระดับในโลกและระดับเหนือโลก นี้เป็นความหมายของการปฏิบัติถูกต้องชอบธรรม ต่อเรื่องทรัพย์สินเงินทอง ดังที่อาตมภาพได้กล่าวมา

สำหรับคนที่ได้ปฏิบัติถูกต้องต่อเรื่องทรัพย์ดังที่ได้กล่าวมา คือสามารถทำให้ทรัพย์สินเกิดมีขึ้น และเจริญเพิ่มพูนขึ้นโดยชอบธรรมด้วย ปฏิบัติต่อทรัพย์ โดยเป็นอุปกรณ์ในการที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นด้วย แล้วก็สามารถบริหารจัดสรรทรัพย์นั้น ให้เป็นไปในทางที่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริงด้วย เมื่อกาลเวลาผ่านไป ท่านผู้นี้ ผู้ได้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว มารำลึกถึงตนเอง ในแง่ที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ ก็จะมีความปลาบปลื้มปีติยินดี ดังคาถาที่อาตมภาพได้ยกขึ้นมากล่าวในเบื้องต้น ว่า ‘ภุตฺตา โภคา ภฏา ภจฺจา’ เป็นต้น ที่พระสงฆ์นำมาอนุโมทนา ในบางคราวบางโอกาส เช่นเมื่อได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในงานทำบุญอุทิศกุศล ซึ่งเป็นการบอกกล่าวสอนธรรมแนะนำคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่ญาติโยมด้วย คือบอกให้รู้ว่า ถ้าเราปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทองอย่างถูกต้องแล้ว เราจะเกิดความรู้สึกสบายใจ เกิดปีติอิ่มใจ อย่างที่ว่าสามารถกล่าวกับตนเองว่า ‘ภุตฺตา โภคา ภฏา ภจฺจา’ เป็นต้น คือ อิ่มใจร่าเริงใจว่า ‘โภคทรัพย์ที่ควรจะใช้จ่าย เราก็ได้กินใช้จ่ายมาบริโภคให้เป็นประโยชน์แล้ว คนที่เราควรรับผิดชอบเลี้ยงดู เราก็ได้เลี้ยงดูรับผิดชอบแล้ว ประโยชน์ที่ควรจะทำจากทรัพย์นี้ เราก็ได้ทำแล้ว’

ผู้ใดที่พิจารณาตนเอง เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินเงินทองแล้ว สามารถมีความสบายใจ พูดกับตนเองได้อย่างนี้ ท่านเรียกว่า เป็นผู้มีชัยในโลกนี้ และถ้ามีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยสิ่งเหล่านั้น ก็ถือว่า มีชัยในโลกหน้าด้วย

พุทธศาสนิกชน เมื่อได้สดับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็จะได้ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง โดยเริ่มตั้งแต่สิ่งที่ตนต้องเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันนี้เอง มีทรัพย์สินสมบัติเงินทอง เป็นต้น และเมื่อปฏิบัติธรรมในเบื้องสูงก็จะส่งผลย้อนกลับมา ถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันด้วย ท่านที่เจริญจิตตภาวนา บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญสมถภาวนาตลอดจนกระทั่ง เจริญวิปัสสนาภาวนา ก็เพื่อทำจิตใจให้เป็นอิสระเสรีหลุดพ้น เมื่อท่านปฏิบัติได้ผลจนเป็นผู้มีจิตใจเป็นอิสระเสรีแล้ว แม้ท่านจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติ ท่านก็จะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำ ไม่เป็นทาสของทรัพย์สมบัติเหล่านั้น แต่จะทำให้ท่านมีความสามารถมากยิ่งขึ้นในการที่จะปฏิบัติต่อทรัพย์สมบัติให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตและแก่สังคมยิ่งขึ้นไป

อาตมภาพได้บรรยายมาในธรรมกถา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อนำเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สมบัติเงินทองนี้ มาเป็นเครื่องเตือนสติเสริมปัญญาแก่พุทธศาสนิกชน ในโอกาสที่ท่านทั้งหลาย ได้มาบำเพ็ญกุศล ทำบุญร่วมกัน เพื่ออุทิศแก่ คุณบัญชา ล่ำซำ ผู้ได้ล่วงลับจากไป

คุณบัญชา ล่ำซำ เป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติงานมา ในฐานะผู้บริหาร มีหน้าที่จัดสรรและจัดการเกี่ยวกับเรื่องโภคทรัพย์ ผลงานที่เป็นรูปธรรมปรากฏ ก็คือ ธนาคารกสิกรไทย ดังที่ได้ปรากฏอยู่นี้ ธนาคารนั้น เป็นสถาบันสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ ความเจริญก้าวหน้าอย่างถูกต้องของธนาคาร ก็จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่เศรษฐกิจของประเทศชาติด้วย คุณบัญชา ล่ำซำ ท่านได้ดำเนินกิจการของธนาคารมาด้วยความขยันหมั่นเพียร และด้วยความสามารถในการบริหาร จนกระทั่งทำให้ธนาคารกสิกรไทยนั้น ได้เจริญรุ่งเรืองงอกงามมา ดังปรากฎทางสื่อมวลชนที่กล่าวขวัญถึงว่า ได้เจริญก้าวจากการเป็นธนาคารอันดับที่ ๙ ขึ้นมาเป็นธนาคารอันดับที่ ๒ มีสาขามากมายทั่วประเทศถึง ๓๘๐ แห่งโดยประมาณ นับเป็นความดีเด่น ที่เกิดจากความสามารถของท่าน เรียกว่า เป็นความสำเร็จที่น่าปลื้มใจ

เมื่อกิจการที่เจริญก้าวหน้านี้มาอำนวยประโยชน์แก่สังคมขยายกว้างออกไป ก็นับว่าเป็นคุณค่าแห่งชีวิตของท่าน ซึ่งเป็นความดีงาม และความดีงามนี้จะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยคุณธรรมในใจของท่านนั่นเอง กล่าวคือความมีจิตใจที่ประกอบด้วยสติปัญญาและเมตตากรุณา เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่ความคิดที่จะเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลต่อสังคม ซึ่งท่านได้แสดงออกแล้วในบทบาทด้านต่างๆเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคม ดังปรากฏในกิจการหลายอย่างนอกเหนือจากธนาคารด้วย ดังที่อาตมภาพได้ยกตัวอย่างมาแสดงแล้ว

จึงนับว่าเป็นสิ่งที่ญาติมิตร ครอบครัว ควรจะรำลึกถึงด้วยความยินดี ด้วยความมีปีติอิ่มใจ เมื่อมีปีติอิ่มใจแล้ว ก็จะเป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าโศกอาลัยลงได้ประการหนึ่ง นอกจากนั้น ก็จะทำให้จิตใจมีความเบิกบาน ผ่องใส ซึ่งเป็นกุศลธรรม เมื่อมีจิตใจแช่มชื่น เบิกบาน ด้วยการรำลึกถึงคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับแล้ว ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามหลักการของการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางพระศาสนาคือ การบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับ และนอกเหนือจากการบูชาคุณความดี ก็คือ การที่ได้อุทิศกุศลให้แก่ท่านสมเจตนา

เพราะฉะนั้น ในวาระนี้ อาตมภาพจึงขอเชิญชวนญาติมิตรทั้งหลาย ตั้งต้นแต่ครอบครัวเป็นต้นไป รวมทั้งชาวพนักงานธนาคารกสิกรไทยทุกท่าน ขอจงร่วมใจกัน ตั้งจิตเป็นกุศล น้อมรำลึกถึงคุณความดีของคุณบัญชา ล่ำซำ แล้วตั้งใจอุทิศกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วทั้งหมดตลอดมา ตั้งแต่วาระที่ท่านล่วงลับจากไป ขอให้ท่านได้อนุโมทนาบุญกุศลที่เจ้าภาพทุกท่านได้บำเพ็ญแล้ว และขอให้ท่านประสบประโยชน์สุข เจริญในสุขสมบัติในสัมปรายภพ ยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดกาลนาน

อาตมภาพวิสัชชนาพระธรรมเทศนาพอสมควรแก่เวลา ยุติลงแต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้

ชีวิตที่แบก – ชีวิตที่เบา 3

ขอเจริญพร วันนี้ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕ เป็นวันที่คุณโยมชม รักตะกนิษฐ ได้ถึงแก่กรรมมาครบ ๒ ปี โยมคุณหญิง พร้อมด้วยคุณหมู และหลานๆ ก็ได้ทำบุญอุทิศกุศลแก่ท่าน เรียกตามภาษาพระว่า บำเพ็ญทักษิณานุประทาน ทั้งนี้ด้วยความมีน้ำใจรำลึกถึงท่าน ไม่ทอดทิ้ง เป็นการอุทิศกุศลให้ตามประเพณีของชาวไทย ที่อิงอาศัยหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อถึงวันที่ครบรอบเวลาแต่ละช่วงระยะเราก็มีการประกอบพิธีกรรม จัดบำเพ็ญกุศลอย่างนี้

แม้จะไม่ถึงเวลาอย่างนี้ โยมคุณหญิง และลูกหลานก็ได้ทำบุญอุทิศแก่ท่านเรื่อยมา เช่น ด้วยการตักบาตรประจำเกือบทุกวัน เป็นต้น โดยเฉพาะ หลานที่ใกล้ชิดที่สุด คือ บิ๋ม ซึ่งวันนี้ไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย เพราะติดขัดกิจสำคัญ คือ การสอบซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น คงมาแต่น้องของบิ๋ม คือ บี กับ บิ๊บ

ถ้าไม่ติดสอบ บิ๋ม ก็คงได้มาร่วมพิธีแน่นอน เพราะเป็นหลานปู่ที่ใกล้ชิดที่สุด ตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ ก็อยู่กับท่าน เวลาท่านล่วงลับไปแล้วก็รู้สึกว่าจะมีใจผูกพันมาก คิดถึงคุณปู่ตลอดเวลา เมื่อไรมีโอกาสก็ทำอะไรต่ออะไรอุทิศให้แก่ท่านเรื่อยๆ เช่นว่า ทานเจทุกวันที่ ๑๒ คือวันที่ถึงแก่กรรมทุกเดือนๆ เป็นประจำ และถ้ามีเหตุการณ์พิเศษ เช่น ฝันถึงคุณปู่ก็ทำบุญถวายสังฆทานอุทิศ เป็นต้น แสดงถึงการมีน้ำใจผูกพัน และเป็นการกระทำที่เนื่องจากคุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวที เป็นเรื่องของน้ำใจ การกระทำทั้งหมดนี้ เรียกว่า การบำเพ็ญญาติธรรม ซึ่งเป็นส่วนของผู้ที่ใกล้ชิดที่สุด

บัดนี้ คุณโยมชม ก็ได้ล่วงลับไปแล้ว ท่านจากเราไปแล้ว ชีวิตสังขารของท่านก็แตกดับสลายไป ตามหลักพระไตรลักษณ์ โดยเฉพาะข้อที่เรารู้จักกันมากก็คือ อนิจจัง ได้แก่ ความไม่เที่ยง

ในเวลาที่มีท่านผู้ใดผู้หนึ่งจากไป แม้แต่เมื่อคุณโยมชมล่วงลับไป จะมีผู้ใหญ่บางท่านพูดทำนองว่า ‘เอ้อ! ท่านสบายแล้ว’ หรือว่า ‘เขาไปสบายแล้ว’ การพูดอย่างนี้แสดงถึงความรู้สึกภายใน คือเราคงมีความนึกคิดในใจลึกๆ อยู่บ้างว่า ชีวิตนี้เป็นของที่หนัก อาจจะใช้คำอย่างที่บางคนพูดว่า ‘ต้องดิ้นรน’ มีความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งก็คือมีความทุกข์นั่นเอง เพราะฉะนั้น ในเวลาที่มีผู้สิ้นชีวิตไป บางคนจึงรู้สึกเหมือนอย่างกับที่อุทานว่า ‘เอ้อ! สบายแล้ว’ สบายก็หมายความว่า ไม่ต้องทนทุกข์ ไม่ต้องแบกต้องหามอะไรอีก ความคิดอย่างนี้ก็มีส่วนถูกเหมือนกัน ดังจะได้อธิบายต่อไป

ชีวิตของเรานั้น ตามหลักธรรม ก็ได้แก่คำว่า เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ ๕ หมายความว่า ชีวิตของเราประกอบขึ้นจากหน่วยย่อยๆ ต่างๆ จัดเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ได้ ๕ หมวด เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ ๕ กอง หรือ ๕ ประเภท หน่วยย่อยที่รวมกันเป็น ๕ ประเภทนี้ ก็ได้แก่

๑. รูป คือ สิ่งที่เป็นร่างกาย สิ่งที่เป็นรูปธรรม

๒. เวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์

๓. สัญญา ความจำได้หมายรู้ การกำหนดรู้จักสิ่งรู้ต่างๆ

๔. สังขาร คือ ความนึกคิดต่างๆ ตลอดจนความดี ความชั่ว ที่ประกอบกับความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เป็นคุณสมบัติของจิตใจ ปรุงแต่งใจของเราให้เป็นไปต่างๆ ปรุงแต่งใจเสร็จแล้วก็ปรุงแต่งความคิด ปรุงแต่งเป็นการพูด และการกระทำต่างๆ ที่แสดงออกทางกาย

๕. วิญญาณ คือ ตัวความรู้ ที่ทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ลิ้มรส อะไรต่างๆ เหล่านี้

ทั้งหมดนี้เรียกว่าขันธ์ ๕ ทวนอีกครั้งหนึ่งว่า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประกอบกันเข้าเป็นชีวิตของเรา ว่าที่จริงที่เราเป็นอยู่ หรือที่เรามีชีวิตอยู่นี้ ก็เหมือนกับว่าเราแบกขันธ์ ๕ ของเราอยู่ตลอดเวลา แบกแล้วก็พามันไป แล้วก็บริหาร ประคับประคอง บางครั้งเป็นเพียงบริหาร แต่บางครั้งก็ถึงกับประคับประคอง

ที่ว่า แบกหาม บริหาร ประคับประคองนี้ ก็เห็นได้ง่ายๆ เริ่มแต่ส่วนที่ปรากฏชัดที่สุด คือ ร่างกายหรือรูปขันธ์

รูปขันธ์ นี้ชัดมาก ร่างกายของเรานี้เราต้องคอยบริหารและต้องบริการมันตลอดเวลา เราต้องถือเป็นภาระ วันหนึ่งๆ โยมต้องให้เวลาแก่ร่างกายนี้มาก ตื่นนอนขึ้นมาก็ต้องพาไปล้างหน้า ถึงเวลาเย็นก็พาไปอาบน้ำ แล้วก็ทำกิจต่างๆ ต้องจัดที่ให้อยู่ ต้องหาอาหารให้รับประทาน บำรุงเลี้ยงไว้ หาปัจจัย ๔ มาอุปถัมภ์ค้ำจุนอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายนี้ แม้แต่จะเดินไปสักหน่อย เราก็ต้องแบกมันไป บางทีเราไม่รู้ตัวหรอกว่า ต้องแบกมัน จนกระทั่งเหนื่อยขึ้นมาจึงรู้ตัวว่า โอ้โฮ มันก็หนักเหมือนกัน จะเห็นได้ชัด เช่น เวลาเดินขึ้นภูเขา จึงรู้ตัวว่า แหม! ร่างกายของเรานี้ หนักไม่ใช่น้อยๆ เลย เราแบกหนักเยอะทีเดียว ก็เป็นอย่างนี้แหละ

ที่จริงเราต้องเหน็ดต้องเหนื่อย ต้องแบกร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา ต้องบริหารประคับประคอง ต้องระวังไม่ให้ไปถูกอะไรบาดเจ็บ ไม่ให้เจ็บป่วยไข้ ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็ต้องรักษา รวมความว่ามันไม่ใช่ของที่ยั่งยืน เราจึงต้องคอยระวัง ทีนี้ถ้าเกิดเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา เกิดโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน เราก็ต้องบริหารประคับประคอง ต้องเอาหยูกเอายามารักษา ต้องปฏิบัติตัวต่างๆ ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า รักษาเยียวยา เพื่อที่จะให้หายโรค ตลอดชีวิตของเรานี้ วันเวลาผ่านไปกับการบริหารขันธ์ ๕ ในส่วนรูปธรรมเยอะทีเดียว แค่นี้ก็เห็นชัดว่า สำหรับส่วนที่ปรากฏที่สุดนี้ เราต้องหมดเวลาไป อย่างที่เรียกว่า อุทิศเวลาให้แก่ร่างกายที่เป็นขันธ์แรกนี้มากเท่าไร แต่ไม่ใช่เท่านี้หรอก

ขันธ์ต่อไป เราก็ต้องคอยเป็นภาระบำรุงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน แต่มันเป็นนามธรรม บางทีโยมก็มองไม่ค่อยเห็น ได้แก่ เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ แม้ว่ามันจะเป็นนามธรรม และมองไม่เห็น แต่ที่จริงเราต้องแบกภาระและรับใช้มันมาก การที่เราดำเนินชีวิตอยู่ส่วนมาก ก็คือการใช้เวลาในการที่จะแสวงหาความสุข หาอะไรมาปรนเปรอให้มันได้มีความสุข การที่เราทำอะไรต่ออะไรวุ่นวายกันนี่ มีจุดประสงค์สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ การหาความสุข เพราะฉะนั้น เราจึงต้องแบกภาระที่จะรับใช้เวทนาขันธ์

นอกจากหาความสุขแล้ว ภาระอันหนึ่ง ก็คือ เราต้องหลีกเลี่ยงความทุกข์ การบริหารชีวิตของเราก็เพื่อหลบเลี่ยงความทุกข์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าเราหมดเวลาไปกับการที่จะหาความสุข แล้วก็หลีกเลี่ยงความทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่แค่นี้ เมื่อมองดูขันธ์ต่อไป เราก็รับใช้และบริหารอีก

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ หรือการกำหนดหมาย ทำความรู้จักสิ่งต่างๆ เราจะอยู่ในโลกได้ เราจะต้องกำหนดหมายอะไรต่ออะไรเพื่อให้รู้จักสิ่งต่างๆ ต้องจำได้ว่า อันนี้เป็นอันนี้ ว่าอะไรเป็นอะไร เริ่มต้นตั้งแต่เด็กเล็กๆ เกิดมาไม่นาน พ่อแม่ก็ต้องสอนแล้วว่า เอ้อ! กำหนดรู้จักไว้นะ อันนี้คืออันนี้ เราต้องเรียนรู้มากมาย ต้องเข้าโรงเรียน

การเข้าโรงเรียนก็เพื่อไปรับใช้สัญญานี่แหละมาก คือต้องไปทำความรู้จัก อันโน้น อันนี้ มากมาย เสร็จแล้วต่อมา สัญญาก็ไม่มั่นคง พออยู่มานานขึ้น สัญญาก็เสื่อมลง กำหนดจำอะไรไม่ค่อยได้ ก็เป็นปัญหาอีกแล้ว คราวนี้เป็นภาระหนักทีเดียว มันบีบคั้นชีวิตของเราเพราะว่าเราจะต้องเดือดร้อนเพราะสัญญาของเราไม่ดี และเราก็ต้องประคับประคองบริหารมัน

สัญญานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เราอยากจะดูโทรทัศน์ อยากจะฟังวิทยุ ก็เพื่อสนองสัญญาด้วย เราจำได้หรือกำหนดหมายไว้ว่าอันนี้เราพอใจ ถูกใจ เราก็อยากจะดูอันนี้ต่อ แล้วสัญญาก็คอยมาทวงอยู่เรื่อย นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แล้วต่อไป

สังขาร ความคิดปรุงแต่ง ก็เป็นตัวการใหญ่อีกเหมือนกัน คนเราใจอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องคิด เมื่อคิดไปๆ เราก็ต้องหาข้อมูลมาให้มัน ต้องใช้พลังงานในการคิดนั้น ถ้าคิดไม่ดีบางทีก็วุ่นวายใจ ถ้าคิดดีก็สบายไป

ที่นี้ คิดแล้วไม่พอ คิดแล้วก็อยากจะพูดอยากจะทำอีก ก็พูดและทำไปตามที่คิดนั่นแหละ การที่เราทำไปตามที่คิดนี้ เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต คนเราจะทำอะไรก็เริ่มต้นมาจากคิดก่อน คิดปรุงแต่งไปอย่างไรก็พาชีวิตไปอย่างนั้น คนที่ขยัน คนที่ทุจริต คนที่ไปลักไปโกง คิดอย่างไรก็นำพาชีวิตของเขาไปอย่างนั้น เราก็ต้องแบกรับภาระกับความคิดของเราเรื่อยไป อันนี้ก็เป็นภาระใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง

ตกลงว่า สังขารนี้เป็นขันธ์ที่เราต้องแบกต้องหาม ต้องบริหารอย่างสำคัญ ถ้าเราจะให้ชีวิตของเราดำเนินไปดี เราก็ต้องบริหารสังขารของเราให้ไปในทางที่ถูกต้อง คือให้เป็นความคิดที่ดีงาม เป็นการสร้างสรรค์ เป็นคุณประโยชน์ ต้องหลีกเลี่ยงความคิดที่เป็นโทษ ที่นำไปสู่ความเสียหาย คนที่จะทำความดี ก็เป็นภาระในการที่จะต้องระวังความคิดของตนเอง ระวังการกระทำของตนเอง และนี่ก็เป็นภาระอันสำคัญ แล้วต่อไปสุดท้าย

วิญญาณ คือ ตัวรู้ที่ออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ที่เรียกว่า เห็น ได้ยิน เป็นต้น ชีวิตเราแต่ละวันนี้ หมดไปกับเรื่อง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ดู ฟังอะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งวันเลย จนกระทั่งเราแทบจะพูดได้ว่า ชีวิตของเราก็คือ การได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ได้สัมผัส แล้วก็ได้มีความรู้สึกทางจิตใจ อันนี้คือตัววิญญาณ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่มีบทบาทนำพาชีวิตของเราไป เราต้องบริหารมัน ต้องรับใช้มัน

นี่แหละคือขันธ์ ๕ นี่แหละคือทั้งหมดของชีวิตเรา เราทำอะไรต่างๆ ดำเนินชีวิตไปทั้งหมด เป็นการบริหารขันธ์ ๕ นี้ทั้งนั้น มันเป็นของหนัก เราจะต้องเพียรพยายามให้ มันอยู่ได้ด้วยดี แม้แต่เพียงให้มันอยู่รอด ก็นับว่าเป็นภาระที่หนักอยู่แล้ว

แต่ทีนี้ ซ้ำหนักยิ่งกว่านั้นอีก ก็คือ เรามีความยึดในชีวิตร่างกายเป็นตัวตนขึ้นมา ว่าร่างกายนี้ จิตใจนี้ เป็นตัวของเรา พอยึดตัวเรา ก็จะมีของเรา พอมีของเราขึ้นมา ตัวเราก็จะไปจับโน่นจับนี่เพิ่มขึ้นมาขยายตัวของเราออกไป แล้วก็จะแบกภาระมากขึ้นตามลำดับ ไม่เคยมีบ้าน เราก็มามีบ้าน ไม่เคยมีข้าวของทรัพย์สมบัติ เราก็มีสมบัติ พอมีอะไรเข้ามาเป็นของของเรา เราก็แบกสิ่งนั้นเพิ่มเข้าไป

เป็นอันว่า นอกจากตัวชีวิตของเราแล้ว เราก็แบกสิ่งอื่นเพิ่มเข้ามา ยิ่งใครมีมากเท่าไร ก็แบกมากเท่านั้น จนเต็มไปหมด อันนี้ก็เกิดจากอาการของใจที่เรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่น แต่เริ่มต้น ก็คือ ความยึดในตัวเราก่อน เมื่อมีการยึดในตัวเราก็จะมีของเรา แล้วภาระในการแบกก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ นี้แหละคือชีวิตของมนุษย์ที่มันเป็นภาระ เมื่อแบกไปๆ ในที่สุดก็เหนื่อย เข้าหลักที่พระท่านบอกว่า

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา

แปลตามตัวอักษรว่า ขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์ นี่เป็นภาระเหลือเกิน

แปลเป็นภาษาไทยก็อาจจะได้ความว่า ‘ชีวิตนี้ต้องแบกหนักจริงเน้อ!’ ทำนองนี้ เราต้องแบกชีวิตของเราไปอยู่อย่างนี้ จนกระทั่ง บางเวลาก็อาจจะคิดขึ้นมาว่า เอ๊ะ ถ้าวางมันลงได้เราคงสบาย มีความสุข

ทีนี้ การแบกภาระอะไรต่างๆ นี้ ถ้าว่าตามทางธรรมแล้ว มันอยู่ที่ใจไปแบก การวางใจไม่ถูกต้องเป็นตัวแบก ทำให้เกิดปัญหา เป็นทุกข์ เป็นภาระ ถ้าหากว่าใจไม่ไปยึด ไม่ไปติด ไม่ไปถือค้างไว้ ถึงแม้มันจะเป็นภาระ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราวางใจให้ถูกต้อง ก็ทำตามหลัก ตามหน้าที่ แล้วเราก็สบาย

อย่างร่างกายของเรา ก็รู้ว่ามันเป็นขันธ์ มันไม่เที่ยง ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ เรารู้เท่าทัน มีอะไรที่ต้องปฏิบัติก็ทำไป แต่ไม่เกิดความยึดติดถือมั่น ไม่ยกเอาความปรารถนาขึ้นมาต่อต้านกฎแห่งธรรมชาติ หรือกฎแห่งความเป็นจริง ถ้าเราไม่ถือเอาไม่พาให้ความปรารถนานั้นมาขัดแย้งกับความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็จะเบาลง เพราะการที่เรารู้เท่าทันนั่นเอง เราก็ปฏิบัติไปตามเหตุผล ก็เป็นเรื่องสบายๆ ท่านเรียกว่า วางใจให้ถูกต้อง

ตกลงว่า ตัวที่เป็นภาระ ตัวที่หนักอยู่ที่การวางจิตใจไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย คือ ความยึดติดถือค้างเอาไว้ในใจ แล้วก็แบกเอาไว้ในใจ ก็เลยเป็นภาระหนัก ทีนี้ ถ้าวางใจให้ถูกต้องแล้ว ก็เป็นการปลงภาระลงได้ แม้เราจะยังดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ เรายังทำกิจหน้าที่การงาน ยังต้องแสวงหาอาหารมารับประทาน แม้ว่ามันจะเป็นภาระอยู่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อวางใจให้ถูกต้องมันก็สบายขึ้น อันนี้แหละคือจุดสำคัญ ตัวที่ทำให้เราหนัก ก็คือ ความยึดถือ หรือ ถือค้างไว้ ท่านบอกว่า

ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก

การถือเอาภาระนี้แบกค้างไว้ เป็นทุกข์ในโลก นี้ก็เพราะเราแบกค้างใจไว้น่ะสิ

โยมมีภาระอยู่ในโลก แบกขันธ์ ๕ แบกอะไรต่างๆ อยู่แล้ว มันเป็นภาระ แต่มันเป็นภาระที่เป็นไปตามกฎธรรมดา ก็ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น อย่าไปถือค้างใจไว้อีกส่วนหนึ่ง ถ้าเราถือค้างใจไว้อีกส่วนหนึ่ง เราถือตัวตนซ้ำสำทับเข้าไป ยึดมั่นในตัวตนของเรา ในของของเรา ตัวตนนี่แหละ เป็นตัวการสำคัญที่จะเป็นภาระใหญ่

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ต้องวางใจให้ถูกต้องแล้วก็วางภาระลงเสีย ถ้าวางภาระลงได้ ก็จะมีความสบาย เบาลงไป ชีวิตนี้ก็จะมีความปลอดโปร่ง จะมีความเบาทุกข์ หรือหายจากทุกข์ หมดทุกข์ไปเลย และก็จะมีความสุข ความโล่ง ฉะนั้น จึงมีคาถาพุทธภาษิต ที่ตรัสไว้ว่า

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา อย่างที่กล่าวไว้เมื่อกี้ว่า ขันธ์ ๕ หรือชีวิตนี้เป็นภาระต้องแบกหนักจริงเน้อ

ทีนี้ต่อไป ท่อนที่ ๒ ก็บอกว่า ภารหาโร จ ปุคฺคโล ตัวคนแต่ละคนนี่แหละ เป็นผู้แบกภาระ คือตัวตนที่สมมติกันเป็นนาย ก. นาย ข. เป็นต้น นี่แหละ แบกภาระเอาไว้

บอกต่อไปอีกว่า ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือภาระแบกค้างไว้เป็นทุกข์ในโลก

ลงท้ายท่านบอกว่า ภารนิกฺเขปนํ สุขํ วางภาระลงเสียได้เป็นสุข

ตกลงว่า ลงท้ายเป็นสุข พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ลงท้ายต้องให้เราเป็นสุข ไม่ให้เราเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นหรอก สอนเราเพื่อให้เราหมดทุกข์ มีความสุข ท่านไม่ได้สอนเรา เพื่อให้เรามีความทุกข์ ท่านสอนเราเพื่อให้เราปฏิบัติได้ถูกต้อง เพื่อให้เราหมดทุกข์

ตกลงจุดหมายก็ไปอยู่ตรงท้าย บอกว่า วางภาระลงเสียได้ แต่มิใช่หมายความว่า ตัดความรับผิดชอบ เลิกทำหน้าที่อะไรต่างๆ มิใช่อย่างนั้น สิ่งที่จะพึงปฏิบัติไปตามธรรมดาของเหตุผลก็ทำไป ร่างกายของเรานี้ต้องบำรุงรักษาเยียวยาด้วยปัจจัย ๔ เราก็รักษามันไป ทำให้ถูกต้องด้วยความไม่ประมาท แต่ว่าใจของเรานี่แหละวางให้ถูกต้อง คือ ไม่ไปยึดติดถือมั่นค้างไว้ ไม่ไปแบกภาระไว้ เมื่อทำใจถูกต้องแล้ว มันก็โปร่งก็เบา ท่านเรียกว่า เป็นการวางภาระลงได้

พระอรหันต์ท่านมีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นโอโรหิตภาโร แปลว่า ผู้มีภาระอันวางลงแล้ว คือเป็นผู้วางภาระลงได้ เหมือนกับว่าเมื่อก่อนนี้ เอาภาระอะไรแบกไว้บนบ่า เดินไปก็แบกเรื่อยไปเลย หลายท่านนี่ตลอดเวลาใจไม่เคยว่าง เพราะเอาอะไรๆ มาค้างใจไว้ แบกอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็มีความทุกข์หนักอยู่ตลอดเวลา พอปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องวางใจถูกต้อง อย่างพระอรหันต์ ก็วางลงได้ ก็ปฏิบัติไปตามความสัมพันธ์ ตามความจำเป็นที่ต้องเกี่ยวข้อง เรามีหน้าที่ต้องเกี่ยวข้อง เราก็ทำไป แต่ไม่มาถือค้างใจอยู่ พอไม่ค้างใจ เราก็เบา สบาย เรียกว่า ปลงภาระลงได้

นี่เป็นข้อปฏิบัติสำหรับบุคคลที่ยังดำเนินชีวิตอยู่ในโลก คนเรานี้ บางทีไม่รู้สึกตัว เวลามีคนจากไป ท่านที่รู้จักล่วงลับไป ก็มีการปลงอย่างที่ว่า ‘เอ้อ! เขาสบายแล้ว’ โดยเฉพาะท่านผู้ใหญ่มักจะพูด เพราะท่านผู้ใหญ่มักจะผ่านชีวิตมาเยอะจนชักรู้สึกว่าชีวิตนี่เป็นภาระ เด็กๆ ยังไม่รู้สึก เพราะฉะนั้น เด็กๆ จึงไม่ค่อยพูดคำนี้ ต่างจากผู้ใหญ่ที่มีความรู้สึก ซึ่งอย่างน้อยก็ฝังลึกในใจว่า การมีชีวิตอยู่ หรือดำเนินชีวิตอยู่นี้ เป็นของหนัก เป็นภาระอย่างที่กล่าวแล้ว

ในเมื่อมีภาระเราก็แยกภาระนี้ให้ถูกต้อง คือ เป็นภาระที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้องตามเหตุผลแล้ว มันก็จะไม่มีปัญหาอะไรมากมาย เพียงแต่อย่าไปยึดไปติดถือค้างไว้ ทำใจให้ถูกต้อง เมื่อทำใจวางใจให้ถูกต้องแล้ว เราก็สบาย มีความสุขด้วย แล้วการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น ก็จะเป็นไปอย่างพอดี เพราะถ้าไปยึดมั่น ถือค้างเกินไปแล้ว เราจะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไม่พอดี พอปฏิบัติไม่พอดี ก็เกิดปัญหาซ้ำเติมตัวเราให้มีความทุกข์มากยิ่งขึ้น

ตกลงว่านี่เป็นคติอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ชีวิตแต่ละชีวิตนี้ก็ประกอบด้วย ขันธ์ ๕ เมื่อเรามีขันธ์ ๕ แล้ว เราก็

๑. รู้เท่าทันขันธ์ ๕ รู้ว่าชีวิตของเราประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยๆ ต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เป็นไปตามพระไตรลักษณ์ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอรู้เท่าทันก็สบายไปขั้นหนึ่ง

๒. วางใจให้ถูกต้อง อย่างที่ว่า ปฏิบัติต่อภาระอันนี้ มิให้เป็นภาระที่ค้างใจ แล้วก็จะมีความสุข สบายจริงๆ

อาตมภาพได้กล่าวมาทั้งนี้ก็ปรารภการที่คุณโยมชม รักตะกนิษฐ ได้ถึงแก่กรรมมาครบ ๒ ปีแล้ว โยมคุณหญิงก็ได้ทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน วันนี้เราก็ได้คติจากชีวิตของท่านด้วย โดยที่มาพิจารณา เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เราปฏิบัติต่อชีวิตได้ถูกต้อง เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น แล้วก็ด้วยจิตใจที่สงบนี้ เราก็มาปฏิบัติต่อกันด้วยคุณธรรมอย่างที่ว่า อยู่ด้วยกันอย่างสามัคคีพร้อมเพรียง มีความคิดนึกในทางที่ดีต่อกัน พยายามปรารถนาดีต่อกันให้มีความสุข แม้ท่านผู้ใดจากไปก็ตั้งใจอุทิศบุญกุศลให้แก่ท่าน ขอให้ท่านมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปในสัมปรายภพนั้น

วันนี้ อาตมภาพ ขออนุโมทนา โยมคุณหญิง พร้อมด้วยลูกหลาน และโยมญาติมิตร ที่ใกล้ชิด หลายท่านที่ได้มาซึ่งได้มีจิตใจที่ประกอบด้วยไมตรีจิตมิตรภาพต่อกัน นับว่าโยมทุกท่านมีใจเป็นกุศล

ขอให้ทุกท่านร่วมกันตั้งจิต น้อมใจ อุทิศกุศลทั้งหมดนี้ ไปให้แก่คุณโยมชม รักตะกนิษฐ ขอให้ท่านมีความสุขในสัมปรายภพยิ่งๆ ขึ้นไป โดยที่ว่าขอให้ท่านได้รับทราบและอนุโมทนาบุญกิริยาที่โยมคุณหญิงกระจ่างศรี และลูกหลาน ได้บำเพ็ญแล้ว ขอให้บุญนี้จงเป็นไปเพื่อความดีงามและคติที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปในสัมปรายภพนั้น และขอให้คุณโยมทุกท่าน เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงามในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน เทอญ

รสจืดของความจริง4

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ

โย จ วสฺสสตํ ชีเว      อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย   ปสฺสโต อุทยพฺพยนฺติ

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะวิสัชชนาพระธรรมเทศนา พรรณนาอานิสงส์ คือผลดีของการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานกิจ อุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับ พร้อมทั้งคติเตือนใจในทางธรรม เกี่ยวด้วยเรื่องมรณกรรม อันจักเป็นเครื่องประดับสติปัญญาบารมีของท่านสาธุชนทั้งหลายสืบต่อไปพอสมควรแก่เวลา

ณ วาระนี้ คณะเจ้าภาพ มีโยมคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ เป็นประธาน พร้อมด้วยบุตรหลานและญาติมิตรทั้งหลาย ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศล โดยปรารภมรณกรรมของคุณโยมชม รักตะกนิษฐ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเมื่อวานนี้เอง คือวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๓ ในเวลาประมาณ ๑๑.๔๐ น.

มรณกรรมของคุณโยมชม รักตะกนิษฐครั้งนี้ เป็นไปอย่างมิได้คาดคิด คือเป็นเหตุปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ท่านยังมีสุขภาพดีเหมือนดังปกติ อย่างน้อยก็ปรากฏแก่คนอื่น แม้แต่ผู้ใกล้ชิดว่าอยู่ดีแข็งแรงตามปกติ แต่โดยที่มิได้คาดฝันดังกล่าวมานั้น ท่านมีอาการป่วยด้วยโรคหัวใจ และก็ได้ป่วยอยู่เป็นเวลาไม่นานเลย เพียงวันเศษๆ เท่านั้น ก็ได้ถึงแก่กรรมลง

เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งความเศร้าสลดใจ และความโศกเป็นอันมากแก่ท่านผู้ใกล้ชิด ซึ่งมีความรักใคร่มีความอาลัย และจึงได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลนี้ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่ทำให้ระลึกว่า เราจะทำความดีเพื่อท่านผู้ล่วงลับ และด้วยการทำบุญกุศลอันเกิดจากความมีน้ำใจนี้ ก็จะเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งความเศร้าโศกอาลัยนั้นได้บ้าง

อีกประการหนึ่ง เมื่อได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลนี้แล้ว ก็จะได้ระลึกถึงหลักธรรมในทางพระศาสนาเป็นเครื่องเตือนใจ ทำให้ระลึกถึงความเป็นจริงของชีวิต แล้วจะทำให้เกิดความรู้เท่าทัน ความรู้เท่าทันนี้ ก็จะช่วยบรรเทาความโศกเศร้าลงได้อีกส่วนหนึ่ง

โดยนัยนี้ การปฏิบัติทางพระศาสนานั้น ก็จะเป็นเครื่องฟื้นฟูบำรุงจิตใจได้ ๒ ประการ ทั้งในแง่เกี่ยวกับกุศล คือความดีงามต่างๆ ที่ได้กระทำ ซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจต่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว และในส่วนของความรู้ความเข้าใจความจริง รวมทั้ง ๒ ประการนี้ อาจเป็นเหตุให้บรรเทาหรือถึงกับตัดความโศกเศร้าอาลัยลงได้

ปฏิบัติต่อบุรพการี โดยทำหน้าที่ให้ถูกธรรม

ในส่วนแรกคือการบำเพ็ญกุศล ที่มีการทำความดีต่างๆ นี้ กล่าวได้ว่า เป็นการบำเพ็ญหน้าที่ต่อกัน ท่านเรียกว่าเป็นการบำเพ็ญญาติธรรม คือธรรมต่อญาติ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นหน้าที่ต่อญาติ คือ คนเรานั้นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เป็นญาติพี่น้องกัน ก็ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกัน

ในยามมีชีวิตอยู่ หน้าที่ต่อกันก็เป็นไปต่างๆ สุดแต่ว่าจะดำรงอยู่ในฐานะแห่งความสัมพันธ์อย่างไหน เช่น เป็นบิดามารดาหรือเป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติเป็นมิตร เป็นครูอาจารย์เป็นต้น เราก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่ที่สมควรกับความสัมพันธ์อันนั้น นี่เป็นหน้าที่ส่วนที่มนุษย์เราจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งเรียกว่าญาติธรรม รวมไปถึงมิตรธรรม และสังคหธรรม คือการสงเคราะห์กันในหมู่ชาวโลกด้วย

แต่ในเวลาที่ท่านเหล่านั้นล่วงลับ หรือพลัดพรากจากไปแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ต่อกันอย่างที่เคยทำเมื่อยังเป็นอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ก็ต้องอาศัยวิธีปฏิบัติในทางพระศาสนา ที่เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว การบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ จึงเรียกว่าเป็นญาติธรรมต่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นข้อปฏิบัติเท่าที่มนุษย์เราจะพึงทำได้ และแสดงน้ำใจได้ต่อท่านที่ล่วงลับไปแล้ว

โดยเฉพาะสำหรับท่านผู้มีพระคุณ เป็นบุพการี เป็นบิดามารดานั้น การกระทำที่เป็นการปฏิบัติในญาติธรรมนี้ ยังเรียกอีกส่วนหนึ่งว่า เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีอีกประการหนึ่งด้วย ถือว่าเป็นการแสดงน้ำใจระลึกถึงพระคุณของท่านและไม่ได้ทอดทิ้งท่าน เมื่อท่านยังอยู่เราก็แสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อโดยทางวัตถุสิ่งของและการแสดงออกที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเรียกว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่ทรงแสดงไว้ว่า

สำหรับบิดามารดานั้น ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อท่านแก่เฒ่าลง ท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว เราก็เลี้ยงดูท่านตอบแทน

นอกจากเลี้ยงดูตอบแทนท่านแล้ว ยังสามารถตอบแทนพระคุณในฐานะอื่นได้อีกมาก เช่นว่า ท่านมีกิจธุระอะไร เราพอจะมีกำลังช่วยเหลือได้แล้ว ก็ทำกิจธุระนั้นๆ แทนท่าน หรือรับใช้ท่านในกิจธุระเหล่านั้น

ในแง่ของความประพฤติ ต้องประพฤติตนให้ดี ตั้งอยู่ในความเป็นพลเมืองดี หรือเป็นทายาทที่ดี เพื่อให้เกิดความเบาใจแก่บิดามารดา เพราะว่าความเป็นคนดีนั้น เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้บิดามารดามีความสบายอกสบายใจต่อลูก ลูกสามารถรักษาน้ำใจของพ่อแม่ได้ด้วยการดำรงอยู่ในโอวาท หรือประพฤติตนเป็นคนดี

ข้อสำคัญที่จะเกี่ยวเนื่องต่อไปก็คือ บุตรธิดานั้นจะต้องเป็นผู้ที่สืบมรดกหรือสืบวงศ์ตระกูล การที่จะเป็นผู้สืบวงศ์ตระกูลต่อไปได้นั้นก็จะต้องเป็นคนดี เช่นเป็นคนที่มีความขยันหมั่นเพียรเป็นต้น

ธรรมดาบิดามารดานั้นย่อมมีความหวังจากลูกว่าจะให้เป็นทายาทสืบตระกูล รักษาทรัพย์มรดก แล้วก็ทำให้วงศ์ตระกูลนั้นมีชื่อเสียงดำรงอยู่ในความดีงาม เมื่อเห็นลูกประพฤติดี พ่อแม่ก็มีความเบาอกเบาใจ หรือมีความสุข และมั่นใจว่าลูกจะรักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้

ในทางตรงข้ามถ้าเห็นลูกประพฤติไม่ดี พ่อแม่ก็ย่อมมีความทุกข์เป็นอันมาก จนกล่าวได้ว่า ความสุขความทุกข์ของพ่อแม่นั้น ฝากไว้กับลูกเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ดังนั้น ถ้าว่าลูกประพฤติตนเป็นคนดี เป็นคนที่มีความเจริญก้าวหน้า พ่อแม่ก็มีความสุขไปด้วย

การประพฤติตนเป็นคนดีของลูกนี้ เกี่ยวโยงไปถึงการสืบต่อวงศ์ตระกูลด้วย ท่านจึงได้กำหนดข้อปฏิบัติไว้อีกอย่างหนึ่งโดยเฉพาะว่า จะต้องประพฤติตนให้เป็นผู้สมควรแก่ทรัพย์มรดกด้วย

ที่กล่าวมานี้ก็เป็นหลักธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่ของบุตรธิดาต่อบิดามารดา ซึ่งท่านจะเน้นเป็นพิเศษ ในส่วนของข้อปฏิบัติระหว่างบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะข้อที่ว่า ท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว เราก็เลี้ยงดูท่านตอบแทน แต่เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว เราไม่สามารถแสดงน้ำใจในการที่จะเลี้ยงดูท่านตอบแทนได้ เพราะแม้แต่ร่างกายของท่าน เราก็ไม่สามารถที่จะรักษาไว้ได้ เพราะฉะนั้น จึงทำได้ตามวิธีที่เรียกว่าอุทิศกุศลให้ในเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว

การอุทิศกุศลนี้ก็เป็นกิจประการหนึ่ง แต่มิใช่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น คือจะต้องเป็นเครื่องเตือนใจลูกต่อไป ให้ระลึกถึงพระคุณความดีของท่าน พร้อมทั้งแนวทางความประสงค์ของท่าน ที่ตั้งใจจะให้ลูกหลานทำสิ่งที่ดีงาม แล้วพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เช่นตัวอย่าง คือ การรักษาวงศ์ตระกูล และรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณของวงศ์ตระกูลเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวมานั้น แม้แต่กิจธุระอะไรต่างๆ ของท่านที่เคยทำแทนท่าน เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว อันใดที่ยังทำได้ก็ต้องทำต่อไป แต่จุดสำคัญก็คือในขณะเมื่อท่านล่วงลับไปแล้วใหม่ๆ นี้ จะเน้นการกระทำที่ปรากฏชัด คือ การบำเพ็ญกุศลให้แก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงน้ำใจต่อท่าน

สำหรับคุณโยมชม รักตะกนิษฐนี้เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ลูกหลานย่อมซาบซึ้งแก่ใจดีว่า ท่านรักลูกหลานมาก และลูกหลานก็รักท่านมาก ตามที่ปรากฏแก่พระสงฆ์อย่างอาตมภาพนี่เอง ก็เห็นว่าท่านเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด หรือเป็นคนพูดน้อย แต่เราก็มองเห็นว่าท่านใจดี คือ พูดน้อยแต่ใจดี มีเมตตาธรรมอยู่ตลอดเวลา

โดยเฉพาะกับพระสงฆ์นี้ ท่านเอาใจใส่มาก ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม เวลาพระสงฆ์ฉันภัตตาหาร ท่านจะไปคอยอยู่ดูแลใกล้ชิด คอยช่วยประเคน คอยช่วยจัดสิ่งต่างๆ ถวาย คอยดูแลความขาดตกบกพร่องอยู่เสมอ รู้สึกว่าท่านมีความเอาใจใส่เป็นอันมาก

อันนี้ก็เป็นเรื่องของเมตตาธรรม เหมือนอย่างที่ทางพระศาสนากล่าวไว้สำหรับคฤหัสถ์ว่าให้ประพฤติต่อพระสงฆ์ด้วยเมตตา คือ กายกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา ได้แก่กระทำทางกายด้วยความปรารถนาดี วจีกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา ได้แก่ กระทำทางวาจา คือพูด ก็พูดด้วยความเมตตาปรารถนาดี มโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา ได้แก่ กระทำทางใจ คือนึกคิดระลึกถึง ก็ระลึกถึงด้วยจิตใจอันงดงาม ด้วยความรู้สึกที่ดีและปรารถนาดี มีเมตตาธรม

คุณโยมชม รักตะกนิษฐ เฉพาะที่ปรากฏแก่พระสงฆ์ก็จะเป็นอย่างนี้ ท่านปรากฏเมื่อไร ก็เห็นท่านมีจิตใจดีอยู่เสมอ แม้ท่านจะพูดน้อย แต่เราสัมผัสได้ในอาการแสดงออกของท่านว่า มีเมตตาธรรมอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เมื่อนึกถึงคุณโยมชม ก็จะระลึกถึงอากัปกิริยาและลักษณะอย่างนี้

โดยเฉพาะในแง่ของลูกหลาน ก็ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าในเมื่อมีความใกล้ชิดลักษณะเหล่านี้ก็ยิ่งแสดงออกชัดเจน ความรักความผูกพันจึงย่อมมีมากเป็นธรรมดา เมื่อท่านล่วงลับไป ความเศร้าโศกอาลัยก็ย่อมเกิดขึ้น โดยเฉพาะว่า ท่านถึงแก่กรรมในเวลาอันรวดเร็ว จนกระทั่งว่าโยมคุณหญิงและลูกหลานนี้ ถ้าพูดตามภาษาทั่วไป ก็เรียกว่า ตั้งตัวตั้งใจแทบไม่ทัน หรือทำใจแทบไม่ได้ การที่โยมทำใจได้ทันก็นับว่าเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมของโยมเอง

บททดสอบใจและเตือนให้นึกถึงความจริง

มองในแง่หนึ่ง เรื่องของชีวิตที่มีความเกิดขึ้นและมีความสิ้นสุดนี้ ว่าตามคติทางพระศาสนาก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นธรรมดาในส่วนที่มนุษย์เราไม่ชอบใจ คือเป็นส่วนอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ใครๆ ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่มันก็เป็นสิ่งสุดวิสัยที่จะไปห้ามปรามกีดกั้นได้ มันจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเป็นกฎธรรมชาติ เมื่อมันยังไม่เกิดเราก็ไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะต้องยอมรับความจริง

การยอมรับความจริงนี้ ถ้าเอามาใช้ในทางธรรมก็กลายเป็นบททดสอบจิตใจของเราได้ด้วย และถ้าทำอย่างนั้นก็กลายเป็นว่าเราสามารถถือเอาประโยชน์จากสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนที่ว่ามันเป็นไปแล้วอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปนั้น เราก็ต้องยอมรับความจริง แต่ส่วนหนึ่งก็คือการนำมาใช้ในการทดสอบจิตใจของตนเอง เพื่อเป็นเครื่องวัดผลการปฏิบัติธรรมว่า อันนี้ล่ะนะ คือของจริงที่ปรากฏขึ้นแล้ว เป็นความจริงตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา โดยเฉพาะชีวิตของมนุษย์นี้ มีการเกิด แล้วก็ต้องมีความตายเป็นของแน่นอน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราจะทำใจของเราอย่างไร ถ้าเป็นลักษณะจิตใจของผู้ที่ได้ฝึกฝนตนเองหรือพัฒนาแล้ว ก็จะเป็นจิตใจที่สามารถตั้งตัว หรือฟื้นฟูตัวเองได้ทัน

ท่านกล่าวว่า คนเรานั้นอยู่ในโลกก็จะต้องประสบโลกธรรม คือสิ่งที่เป็นธรรมดาของโลก เป็นธรรมดา ถ้าเราไม่ได้ฝึกฝนจิตใจของเรา เวลาประสบอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจ ท่านเรียกว่ามีการยุบหรือการแฟบ จิตใจก็ห่อเหี่ยว แต่ในทางตรงข้าม ถ้าได้รับอารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างที่เรียกว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข เราก็จะมีความปลาบปลื้มปีติยินดี แล้วก็อาจหลงใหลมัวเมา ถ้าคนไม่ได้ฝึกฝนตนเอง ก็จะทำให้จิตใจฟูไปตามแล้วก็จะหลงระเริง คือไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปีติยินดีตามสมควรแก่ธรรมเท่านั้น แต่จะหลงระเริงมัวเมา แล้วอาจจะเกิดเป็นโทษ อาจจะเกิดกิเลสต่างๆ ตามมาได้อีกมากมาย

แต่สำหรับผู้ที่ได้พัฒนาตนเองแล้ว รู้จักฝึกฝนตนเองและนำธรรมมากล่อมเกลาจิตใจ ได้รู้คติธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ก็จะปฏิบัติด้วยความรู้เท่าทัน ถ้าสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดีงาม น่าพอใจ ก็ยินดีพึงพอใจตามสมควรแก่ธรรม แต่ไม่หลงระเริงไป หรือถ้ามีสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้น เช่นมีการสูญเสีย หรือการพลัดพราก เป็นต้น ก็จะทำใจได้รวดเร็ว โดยรู้เท่าทันคติธรรมดา ไม่เศร้าโศกจนเกินไป แล้วก็โน้มจิตใจไปในทางที่เป็นการปฏิบัติเพื่อให้จิตใจงอกงามยิ่งขึ้น จิตใจก็จะไม่สลด ไม่ตกอยู่นาน อาจจะตกอยู่ชั่วขณะสั้นๆ ในฐานะที่เป็นธรรมดาของปุถุชน แต่เสร็จแล้วก็จะรู้เข้าใจเท่าทันความจริง พอรู้เท่าทันความจริงแล้ว ก็จะตั้งจิตใจให้ฟื้นขึ้นมาเป็นปกติได้ เมื่อตั้งจิตใจเป็นปกติขึ้นมาแล้ว และรู้เท่าทันด้วยปัญญา จิตใจนั้นก็สว่างผ่องใส ความเป็นกุศลธรรมก็เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้ข้อสำคัญก็คือการรู้เท่าทันความจริง สิ่งที่เป็นเครื่องทดสอบพุทธศาสนิกชนในเรื่องการปฏิบัติก็คือ ความรู้เท่าทันนี้แหละว่า เราได้ศึกษาธรรมแล้ว มีความรู้เท่าทัน สามารถดำรงจิตใจของตนเองได้เป็นปกติสุข หรือให้พัฒนาเจริญงอกงามขึ้นได้แค่ไหนเพียงไร

ความจริงที่ว่ารู้เท่าทันนี้ก็คือเรื่องเกี่ยวกับอนิจจังนั่นเอง

พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาหลักของความเป็นอนิจจังกันมาเป็นอันมาก แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้สนใจศึกษาธรรมเลย เพียงแต่อยู่ในสังคมไทยที่เป็นสังคมของชาวพุทธนี้ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ก็จะได้ยินได้ฟังคำว่าอนิจจัง หรือความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปนี้อยู่จนพอจะคุ้นหูคุ้นใจ

สำหรับคนทั้งหลายโดยทั่วไปนั้น ก็จะได้ยินคำว่าอนิจจังในความหมายของความเปลี่ยนแปลง ท่านสอนให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่แน่นอน เมื่อมีความไม่แน่นอนแล้ว วันหนึ่งมันอาจจะเป็นอย่างหนึ่ง อีกวันหนึ่งก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกอย่างหนึ่งได้เสมอ โดยเฉพาะชีวิตของคนเรานี้ ตั้งต้นแต่ชีวิตของตัวเราเอง ก็มีความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปในทางสุขบ้าง เปลี่ยนแปลงไปในทางทุกข์บ้าง วันหนึ่ง เราอยู่เป็นสุขดีๆ แต่วันรุ่งขึ้นโดยไม่คาดหมาย ก็อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เช้ายังหัวเราะกันอยู่สนุกสนาน พอเย็นเปลี่ยนแปลงเป็นเศร้าสลดไป สิ่งทั้งหลายก็เป็นอยู่อย่างนี้

โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการเกิดและความตายนั้น มีคติในทางพระศาสนาสอนไว้เป็นอันมาก ให้รู้เท่าทันความเป็นจริง เช่นบอกว่า คนเรานี้เกิดขึ้นมาแล้ว นับตั้งแต่นาทีที่เกิดมานั้น ชีวิตก็บ่ายหน้าไปหาความสิ้นสุดทั้งนั้น เรียกว่าเป็นชีวิตที่เดินหน้าไปหาจุดจบอย่างเดียว สิ่งที่จะทำได้ก็มีแต่ว่าทำอย่างไรจะประคับประคองบริหารชีวิตของเราให้ดีที่สุดในระหว่างที่เป็นอยู่นั้น

คนเราที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากนี้ ท่านบอกว่าบางทีเช้าก็เห็นกันอยู่ แต่พอตกเย็นบางคนก็ไม่เห็นเสียแล้ว หรือเย็นนี้เห็นกันอยู่ แต่พอถึงเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไม่เห็นเสียแล้วก็มี จึงเป็นเรื่องที่ต้องมองด้วยความตื่นตัวรู้เท่าทันและไม่ประมาทอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างชีวิตของคุณโยมชม รักตะกนิษฐ ก็เข้าคตินี้เหมือนกัน คือเป็นทำนองว่า เมื่อเช้านี้ก็ยังเห็นคุณโยมชม ยังดีๆ อยู่ แต่พอเย็นนี้หรือค่ำนี้ก็ได้ยินข่าวว่าเข้าห้อง I.C.U. ไปเสียแล้ว

คนบางคนนี้เห็นกันเมื่อสองวันก่อน แล้วระยะต่อมาไม่พบหน้า พอมาได้ยินข่าวอีกที ท่านก็ถึงแก่กรรมเสียแล้ว ก็ได้แต่อุทานออกมาว่า อ้าว! ก็ยังเห็นดีๆ แข็งแรงอยู่ อะไรเสียแล้วหรือ? เรื่องก็เป็นอย่างนี้ ดังที่เราก็ได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ ท่านผู้ใดหากว่าไม่ได้คิดพิจารณาเลย ไม่ได้เอาคติเหล่านี้มาระลึกไตร่ตรองด้วยความรู้เท่าทัน ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากความจริง แต่ถ้าหากนำมาพิจารณาแล้ว ก็จะได้ประโยชน์จากการที่รู้เข้าใจความจริงนั้น และเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของความจริงเกี่ยวกับหลักอนิจจัง หรือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนนั่นเอง

ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนนี้เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นกฎธรรมชาติส่วนที่เห็นได้ง่ายๆ ในรูปของความเปลี่ยนแปลง ถ้าต้องการจะบอกว่า สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา หรือมีความเปลี่ยนแปลง เราก็สามารถพูดให้เห็นได้ง่ายๆ เช่นอาจจะยกตัวอย่างขึ้นมาชี้ว่า ดอกไม้ที่จัดวางอยู่หน้าที่ตั้งศพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องตั้งนี้ ตอนนี้ก็สวยสดงดงาม ยังใหม่อยู่ แต่อีกไม่ช้า ข้ามคืนข้ามวันไปไม่นาน ก็จะเหี่ยวแห้งลงไปตามลำดับ

การที่มีการจัดเครื่องตั้งด้วยดอกไม้อย่างนี้ มองในแง่ของธรรมก็เป็นเครื่องเตือนใจเหมือนกัน คือเป็นเครื่องเตือนใจให้เราพิจารณาว่า ชีวิตของคนเราก็เหมือนอย่างนี้ ดอกไม้ต้นไม้ก็เป็นชีวิตเหมือนกัน แต่เราจะเห็นได้ง่ายถึงการที่มันเปลี่ยนแปลงไป จากความสวยสดมีสีสันงดงาม ก็จะร่วงโรยเหี่ยวแห้งไป ชีวิตของคนเราก็เป็นอย่างนั้น คือว่าดอกไม้นี้เป็นเครื่องเตือนใจให้เรามองเห็นคติธรรมดานั่นเอง

แม้แต่ธูปเทียนที่จุดขึ้นมาบูชานี้ ก็มีความหมายสองด้าน ในด้านหนึ่งนั้นเป็นเครื่องบูชาคุณ แสดงความเคารพกราบไหว้ และรำลึกถึงท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นคติเตือนใจให้นึกถึงหลักอนิจจังนี้ด้วย เหมือนดังเทียนที่จุดอยู่นี่ก็จะมองเห็นว่าค่อยๆ สั้นลงไป ค่อยๆ น้อยลงไป ค่อยๆ หมดไป ชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกับแสงเทียน เทียนที่จุดแล้วก็เหมือนชีวิตที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว ต่อจากนั้นก็จะค่อยๆ น้อยลงๆ ลดลงไป สั้นลงไปตามลำดับ จนกระทั่งหมดไป

มองให้ซึ้งกว่านั้นอีก เทียนนี้จะให้คติลึกลงไปในทางธรรม แม้กระทั่งให้เห็นความสืบต่อของชีวิตที่อาศัยปัจจัยต่างๆ การที่แสงเทียนลุกไหม้ส่องสว่างอยู่ได้ตลอดเวลานี้ ก็เพราะมีปัจจัยต่างๆ คอยหนุนไว้ เริ่มแต่อาศัยเนื้อเทียนที่เป็นเชื้อไฟ อาศัยไส้ ตลอดจนอาศัยอากาศ จึงหล่อเลี้ยงเปลวไฟอยู่ได้ ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ช่วยหล่อเลี้ยงไว้

รวมความว่า สิ่งที่ประกอบในพิธีศพนั้น ความจริงมีความหมายหลายอย่าง หลายขั้น สุดแต่ผู้ที่ได้มารู้เห็นมาร่วมพิธีนั้นจะคิดนึก หรือว่ามีความเข้าใจเพียงไร หากว่ามีปัญญารู้จักพิจารณา ก็ยิ่งเห็นคติความจริงของสิ่งทั้งหลายมากขึ้น แต่อย่างน้อยก็ควรจะได้ส่วนที่เด่นชัดดังที่กล่าวมาแล้ว คือความเป็นอนิจจัง หรือความไม่เที่ยง ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่งนั้น

รู้ความจริงของธรรมดา แต่ได้ประโยชน์มหาศาล

กฎธรรมชาติเป็นความจริง ที่เราทั้งหลายจะต้องรู้ไว้ เพราะมีแต่ประโยชน์ แม้จะเป็นกฎธรรมชาติในส่วนที่ไม่ถูกใจเรา ไม่น่าปรารถนา เราก็ต้องรู้ เพื่อจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ความรู้กฎธรรมชาติหรือความจริงของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดานี้ อาจแบ่งง่ายๆ ว่ามีประโยชน์ได้ ๓ ขั้น

ขั้นที่ ๑ เป็นประโยชน์สำหรับที่จะปฏิบัติตามได้ถูกต้อง เพื่อจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี มิให้เกิดทุกข์โทษภัย

ขั้นที่ ๒ เป็นประโยชน์ในการที่จะนำมาใช้ มาจัดมาทำหรือสร้างสรรค์อะไรของเราเอง ให้สำเร็จประโยชน์ขึ้นมาตามต้องการ

ขั้นที่ ๓ เป็นประโยชน์ในทางความรู้เท่าทันที่จะดำเนินชีวิตด้านใน ทำให้รู้จักวางท่าทีของจิตใจได้ถูกต้อง ทำให้มีความสุขและไร้ทุกข์อย่างแท้จริง

สามอย่างนี้เป็นหัวข้อที่อาจจะเข้าใจยากอยู่ แต่จะเห็นได้ตามลำดับตั้งแต่ข้อหนึ่งว่า ความรู้เกี่ยวกับความจริงของธรรมชาตินั้น มีประโยชน์ในประการที่หนึ่งซึ่งง่ายที่สุดคือการที่จะปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติตามมันได้ถูกต้องสอดคล้องกันดี ชีวิตของเราก็จะเป็นไปได้ดีด้วย

ตัวอย่างง่ายๆ ในชีวิตความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุ คนเรานี้อาศัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ กฎธรรมชาติเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอยู่ตลอดเวลา โบราณเรียกว่าดินน้ำลมไฟ

ไฟก็อย่างดวงอาทิตย์ ซึ่งมีแสงที่ร้อน แดดที่เป็นรัศมีของดวงอาทิตย์ส่องลงมานี้ มีความร้อน ความร้อนนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เช่นตากผ้าก็ทำให้แห้งได้ อาศัยแดดนี้ มาช่วยแผดเผา ช่วยให้หายชื้น ถ้าเราต้องการให้ผ้าของเราแห้ง เราก็ต้องปฏิบัติตามธรรมชาตินี้ คือรู้ว่าแดดนี้มีความร้อน แล้วก็ช่วยทำให้สิ่งทั้งหลายแห้งได้ เราต้องการให้ผ้าของเราแห้ง เราก็เอาผ้าไปพึ่งแดดนั้น

หรืออย่างคนที่ทำเกษตรกรรม เห็นธรรมชาติหมุนเวียนประจำแต่ละปี เดือนนี้ฝนมา แล้วพืชพันธุ์ธัญญาหารงอกงาม เราก็ปฏิบัติตามกฎธรรมชาตินั้น ถึงเวลานี้ ฤดูนี้ เดือนนี้ฝนจะมา เราก็ปลูกข้าวทำนา หรือปลูกพืชทำไร่ให้ตรงตามการหมุนเวียนของฤดูกาลที่ฝนจะมา ถึงฤดูแล้งอากาศแห้งเราควรจะทำอย่างไร ก็ทำให้เป็นไปตามนั้น การทำอย่างนี้ ก็เป็นการปฏิบัติตามธรรมชาติ ด้วยความรู้ที่เพียงปฏิบัติตามเท่านั้น ก็เกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา คือทำให้เราเป็นอยู่ได้ด้วยดี ชีวิตก็มีความกลมกลืนราบรื่นไปได้

ทีนี้ในขั้นที่สอง คนที่มีความเจริญยิ่งขึ้น นอกจากมีความรู้ในเรื่องกฎธรรมชาติพอที่จะปฏิบัติตามได้ให้ตนดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีแล้ว ก็เอาความรู้ในกฎธรรมชาตินั้น มาจัดสรรปรุงแต่งทำอะไรต่ออะไรที่เป็นของตนเองขึ้นได้ด้วย เช่นอย่างเรารู้กฎธรรมชาตินี่เอง ในเรื่องที่ว่า ถ้าต้มน้ำ คือเอาไฟมาใช้ต้มน้ำให้เป็นไอขึ้นมาแล้ว ไอที่พลุ่งขึ้นมานี้ ถ้าเอาอะไรไปกดไปปิดกั้นไว้มันจะมีกำลังอัด อาจจะทำให้สิ่งที่กดกันนั้นถึงแตกระเบิดไปได้ เราได้ความรู้นี้มาแล้ว ก็เอาความรู้นั้นไปประดิษฐ์ของใช้ ทำเป็นเครื่องจักรเครื่องกล เช่น เรือไอน้ำอย่างสมัยก่อน หรือแม้แต่รถไฟ ทำให้มีรถไฟ วิ่งแล่นไป ทำให้มีเรือกลไฟ บรรทุกของไปได้ สัญจรไปในที่ต่างๆ เป็นประโยชน์มากมาย

แม้กระทั่งในสมัยปัจจุบันนี้ เมื่อคนมีความรู้ในเรื่องการแตกตัวของปรมาณู และการรวมตัวของปรมาณู ก็เอาความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ทำเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูขึ้นมา นำเอาพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ได้

เรามีความรู้ในเรื่องไฟฟ้าที่เป็นไปตามธรรมชาตินี่แหละ แต่เราเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ นำมาสร้างเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย เช่น พัดลมหรือหลอดไฟฟ้าที่ให้แสงสว่าง ตลอดจนเครื่องทำความเย็นที่เราใช้ในที่ประชุม อะไรต่างๆ เหล่านี้ สารพัดที่จะใช้ได้ประโยชน์ อันนี้ก็เป็นระดับของการที่ว่าเรานำความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาใช้ทำอะไรต่ออะไรที่เป็นของตนเองขึ้นมา เป็นอีกชั้นหนึ่ง

จะเห็นว่ามนุษย์นั้นมีความเจริญขึ้นมาตามลำดับ ตอนที่ยังไม่รู้จักธรรมชาติ ปฏิบัติตามธรรมชาติไม่ได้ ชีวิตก็มีความขัดข้องมาก พอรู้จักธรรมชาติ แล้วปฏิบัติตามธรรมชาติได้ ชีวิตก็พอเป็นไปได้ดีขึ้น แต่ต่อมานี้มีความก้าวหน้ายิ่งกว่านั้น ก็เอาความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาใช้ทำอะไรต่ออะไรที่เป็นของตนเอง ด้วยการประดิษฐ์สร้างสรรค์อุปกรณ์อะไรต่างๆ ที่อำนวยความสุข สนุก สะดวกสบาย สร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมาได้ อันนี้ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากความรู้ในกฎธรรมชาติอีกประการหนึ่ง

ทีนี้ยังมีอีกชั้นหนึ่งเป็นชั้นที่สาม คือการรู้เท่าทันความจริงของกฎธรรมชาตินั้น จนถึงขั้นที่ว่า มันเกิดผลแก่ชีวิตจิตใจอย่างแท้จริง ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจสภาวะของสิ่งต่างๆ ในขั้นที่หนึ่งและขั้นที่สองนั้น จะเห็นว่าเราใช้ประโยชน์ได้แค่ชีวิตในภายนอก กล่าวคือเรามีความอยากมีความปรารถนาของเราอยู่อย่างไร เราก็เพียงแต่เอาความรู้ในกฎธรรมชาตินั้นมาสนองความต้องการของเราทำไปตามความอยากความปรารถนาของเราอย่างนั้น แต่ชีวิตจิตใจของเราเองก็ยังเป็นไปอย่างเดิมที่เคยเป็นมา เราก็ยังไม่รู้จักเท่าทันชีวิตของเรา ยังไม่รู้จักโลกนี้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าเรารู้เข้าใจกฎธรรมชาติลึกซึ้งลงไปอีก ก็จะรู้หยั่งลงไปถึงจนกระทั่งว่า ตัวชีวิตของเราเองนี้เป็นอย่างไร

คนจำนวนมากไม่เคยมองถึงชีวิตของตัวเอง ไม่เคยมองถึงโลกนี้ที่เป็นสังขาร มองแต่เพียงว่าจะเอาความรู้ในกฎธรรมชาติของสิ่งต่างๆ มาใช้ประโยชน์สนองความต้องการของตนเท่านั้น แล้วก็วิ่งไปแล่นไป ทำไปๆ จนมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เรานี้เป็นคนเก่งมีความสามารถมาก มนุษย์เราสามารถเอาชนะธรรมชาติได้

แต่พอหันกลับมาคิดได้อีกที่หนึ่งก็ปรากฏว่า ชีวิตของเราที่เป็นอย่างนั้น ได้กลายเป็นการตกเป็นทาสของสิ่งทั้งหลายมากมาย กลายเป็นว่าเอาชีวิตของเราไปฝากไว้กับสิ่งภายนอก ปล่อยให้สุขทุกข์ของเราขึ้นต่อสิ่งภายนอกเป็นตัวกำหนด ไม่เป็นอิสระ วิ่งแล่นไปต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะวิ่งแล่นไปทำไม แล้วชีวิตของเราคืออะไรกันแน่ ไม่เคยคิดไม่เคยพิจารณา นี่ก็หมายความว่ายังไม่เข้าใจถึงกฎธรรมชาติอย่างแท้จริง คือ ธรรมชาติแห่งชีวิตของตนเองยังไม่รู้จักเลย

ความจริงนั้น กฎธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายภายนอกกับชีวิตของเรานี้ก็เนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าเป็นผู้มีสติปัญญาอย่างแท้จริง ก็จะโน้มความเข้าใจนี้มาหาชีวิตของตนได้ จนกระทั่งรู้เท่าทันธรรมชาติ หรือธรรมดาแห่งชีวิตของตนเอง

อย่างเรื่องของอนิจจัง คือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายนี่ เบื้องต้นเราก็มองเห็นที่ภายนอกก่อน แม้แต่คนที่ว่านำความรู้ในกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ก็อาศัยการที่รู้เข้าใจในกฎแห่งความเปลี่ยนแปลงนี่เอง เพราะสิ่งทั้งหลายนั้นมันไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลง เราจึงสามารถจัดการกับมันได้ การสร้างสรรค์ความเจริญต่างๆ นั้น ก็เป็นการทำความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างหนึ่ง และเรารู้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น เราก็สร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการ อันนี้ก็เป็นหลักของการที่จะนำความรู้ในกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมนุษย์ก็ได้ปฏิบัติกันอยู่เช่นนี้

แต่ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านให้มองเห็นต่อไปด้วยถึงความจริงของธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งรวมทั้งชีวิตของเราด้วย เราจะต้องมองเห็นความเปลี่ยนแปลง ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของชีวิตของเราเองนี้ด้วย ถ้าเราได้เกิดความรู้ตระหนักถึงความจริงนี้ โดยโน้มเข้ามาหาชีวิตของเราแล้ว เราจะเกิดความรู้สึกใหม่ๆ ขึ้นมา ที่ทำให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต แล้วก็มีความรู้สึกที่จะทำใจ ตั้งใจให้ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลายแม้ต่อชีวิตของเราเอง

คนที่วิ่งแล่นไปโดยใช้ความรู้ภายนอกให้เป็นประโยชน์ในการทำสิ่งต่างๆ นั้น ไม่เคยคิดพิจารณาในเรื่องชีวิตของตนเอง ก็บันเทิงหลงระเริงมัวเมาในชีวิตของตนเอง ทั้งที่ชีวิตของตนเองก็ตกอยู่ในกฎธรรมชาตินั้นด้วย ครั้นถึงเวลาที่ชีวิตของตนเองเกิดมีอันเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้นกลับไม่รู้เท่าทัน แล้วก็ตกเป็นทาสของความเปลี่ยนแปลง เกิดความเศร้าโศกเสียใจ กลายเป็นอย่างนั้นไป นี่ก็หมายความว่าความรู้นั้นไม่ทั่วตลอด ความรู้ในกฎธรรมชาติที่แท้จริงจะต้องให้ทั่วตลอดลงมาถึงทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งชีวิตจิตใจของตนเองด้วย

แสวงรสต่างๆ มากมาย
แต่สุดท้ายก็จบที่รสจืดของความจริง

การรู้เข้าใจในเรื่องความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นไปต่างๆ นั้น สาระสำคัญอยู่ที่ไหน การที่สิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงนั้น ตัวสำคัญของมัน ที่เป็นจุดแกนเป็นเนื้อหาเป็นสาระแท้ๆ ของความเปลี่ยนแปลง ก็คือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป หรือพูดให้สั้นที่สุดเหลือแค่ว่า เกิดขึ้นดับไปๆ

การเกิดขึ้นดับไปนี่เป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ ชีวิตของเรานี่ก็เหมือนกัน สำหรับภาวะของชีวิตในช่วงยาว การเกิดขึ้นและดับไปก็คือ การเกิดและการตายของชีวิตนั้นทั้งหมด แต่ที่จริงกว่าชีวิตจะผ่านจากการเกิด เมื่อก่อน ๑ ขวบ ไปจนกระทั่งถึงตาย เมื่ออายุ ๗๐ – ๘๐ ปีนั้น ในระหว่างนั้นร่างกายและจิตใจของเรานี่มีการเกิดดับตลอดเวลาไม่รู้ว่าเท่าไรครั้ง มากมายเหลือเกิน ท่านนับเป็นขณะๆ ทีเดียว

การเกิดดับนี่เป็นไปอยู่ตลอดทุกเวลา ถ้าเมื่อไรเรามองเห็นความเกิดดับนี้ คือมองความจริงของความเปลี่ยนแปลงหรืออนิจจังนั้นไม่ใช่แค่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่มองลึกลงไปถึงความเกิดดับ พอนึกถึงความเกิดดับ ก็จะได้ความสำนึก อย่างชีวิตของเรานี้ แม้แต่ขั้นหยาบๆ เพียงนึกถึงเกิดเป็นเริ่มต้น และดับคือตาย พอนึกแค่นี้เราก็เริ่มมองเห็นความจริงแห่งชีวิตของเรา ซึ่งเป็นความจริงที่เป็นของแท้แน่นอน

คนโดยมากเบื้องแรกที่สุดพอสัมผัสกับความรู้ความเข้าใจนี้ ก็จะมีความตกใจและหวาดกลัวก่อน เพราะไม่เคยคิดไม่เคยพิจารณา แต่ถ้าเมื่อไร เขาทำใจให้คุ้นกับความจริงนี้ คือมองด้วยรู้เท่าทัน เห็นเป็นของธรรมดา จิตใจเขาจะเริ่มมีความเป็นธรรมดากับความจริงนั้นขึ้น แล้วจะรับหน้าเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างดีขึ้น หรือแม้แต่คิด แม้แต่นึกถึง ก็จะมีจิตใจที่สบายได้ เพราะสิ่งนี้เป็นความจริง เป็นความสว่างที่มองเห็นด้วยปัญญา เมื่อปัญญาเห็นสว่างขึ้น จิตใจก็โปร่งโล่งแจ่มใส

พระพุทธศาสนานั้นท่านสอนให้เผชิญหน้ากับความจริง ให้ยอมรับความจริง ในที่สุดแล้วคนเราต้องอยู่กับความจริง หนีความจริงไม่พ้น ถ้าเราทำจิตใจของเราให้อยู่กับความจริงได้ตลอดเวลาแล้ว ความจริงที่เกิดขึ้นนั้นก็จะไม่กระทบกระเทือนจิตใจของเรา แต่ถ้าเราไม่ยอมรับมัน ความจริงก็ต้องเกิดอยู่ดี และเพราะเราไม่ยอมรับมัน มันก็เลยกระทบกระเทือนตัวเรามาก ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมามาก เรียกว่าเป็นความทุกข์สองชั้นคือ ทุกข์เพราะความดับที่ต้องเกิดต้องมีเป็นความจริงตามธรรมดาเมื่อถึงเวลานั้น แล้วยังทุกข์ด้วยหวาดผวาไหวหวั่นตลอดเวลา ก่อนที่ความจริงนั้นจะมาถึงอีกด้วย

เพราะฉะนั้น ทางพระท่านจึงชี้นำให้รู้เข้าใจความจริง เมื่อรู้เข้าใจความจริงแล้ว ในที่สุดความรู้ความจริงนั้นแหละ จะทำให้เรามีจิตใจที่สบาย มีจิตใจที่เบิกบานผ่องใส แม้กระทั่งตลอดเวลาเลยทีเดียว เพราะความจริงก็คือสัจจะ ท่านบอกว่าในที่สุดแล้ว ไม่มีรสอะไร เลิศกว่ารสสัจจะ ดังบาลีว่า

สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ

สัจจะแล เลิศรสกว่าประดารส หรือว่า

ความจริงนี้แหละ เป็นรสเลิศกว่ารสทั้งหลาย

ขอเปรียบเทียบ เหมือนอย่างน้ำที่มีรสต่างๆ น้ำหวาน น้ำเปรี้ยว น้ำรสต่างๆ มากมาย ในที่สุดรสดีที่สุดคือรสอะไร คือรสน้ำบริสุทธิ์ รสน้ำที่จืดสนิท ไปๆ มาๆ ไม่ว่ารสอะไรก็สู้รสน้ำบริสุทธิ์ที่จืดสนิทนี้ไม่ได้ บางครั้งเราอาจจะต้องการรสหวาน บางครั้งก็ต้องการรสเปรี้ยว บางครั้งก็ต้องการรสเปรี้ยวปนหวาน บางทีก็อยากได้รสเค็มบ้าง ต้องการไปต่างๆ นานา แต่ในที่สุดแล้ว รสที่ดีที่สุดก็คือ รสที่จืดสนิทของน้ำที่บริสุทธิ์นั่นเอง

อันนี้ก็เหมือนกัน ชีวิตของเราที่มีการตกแต่งไปอย่างนั้นอย่างนี้ มีการจัดสรรปรุงแต่งอะไรต่างๆ ก็เพื่อให้ความเป็นอยู่ของเรามีรสชาด แล้วเราก็เพลิดเพลินไปกับการจัดสรรปรุงแต่งเหล่านี้ และมีความสุขสบายไปในระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อไรเราเข้าถึงความจริง ความจริงนั้นแหละจะเป็นรสที่เลิศที่สุด เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าถึงความจริงแล้ว จะมีจิตใจที่เบิกบานสดใสด้วยความสุขที่บริสุทธิ์ เหมือนอย่างน้ำที่มีรสจืดสนิทอย่างนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องการในที่สุดอย่างแน่นอน

ไม่ว่าเราจะต้องการโน้นต้องการนี่ ต้องการสิ่งปรุงแต่งรสอะไรต่างๆ มากมายอย่างไร แต่ในที่สุดเราก็จะหนีไม่พ้นจากความต้องการรู้รสของความจริง ถ้าเรารีบรู้รสของความจริง ทำใจให้คุ้นกับรสของความจริงได้แต่ต้นแล้ว เราจะมีความสุขได้ตลอดเวลา จิตใจจะเบิกบาน แม้จะมีรสที่ปรุงแต่งเป็นรสแปลกต่างๆ หวาน เปรี้ยว มัน เค็ม เข้ามา ก็กลายเป็นเครื่องเสริมรสไป

คนที่สามารถรับสัมผัสรสความบริสุทธิ์ของสัจจะ คือ ความจริงนี้ได้ จะทำให้จิตใจมีความสุขได้ตลอดเวลา ส่วนคนที่มัวแต่วิ่งแล่นไปหารสปรุงแต่ง แสวงรสเปรี้ยวหวานมันเค็มดังที่กล่าวนั้น จะไม่รู้จักรสพื้นฐานที่แท้จริง แล้วก็จะต้องมีวันหนึ่งที่เขาจะประสบกับปัญหา คือการที่ว่าในเวลาที่พบกับรสแท้จริงอันบริสุทธิ์ ที่ควรจะเป็นรสที่ดีที่สุด แต่เขากลับไม่สามารถลิ้มรสนั้นได้ เพราะจิตใจไม่ได้ตั้งไว้ มัวแต่กังวลหวั่นใจสลดหดหู่ หรือไม่ก็ตื่นตระหนก จนกระทั่งไม่สามารถเข้าถึงรสนั้นได้

เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนานี้ ท่านจึงให้ตั้งเป็นแก่นสารแห่งชีวิตไว้ คือการรู้เท่าทันความจริง ให้เข้าถึงรสแห่งสัจจะที่เป็นรสเลิศกว่ารสทั้งหลายทั้งปวง เสร็จแล้วไม่ว่าจะมีรสอะไรที่แปลกออกไป มันก็จะเป็นส่วนเสริมให้ชีวิตนี้มีความหมายเพิ่มขึ้นไปตามที่ยังประสงค์ ในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนเราจะต้องการรสนี้รสนั้นท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่ขอให้รู้จักรสของความจริงนี้ไว้ด้วย เป็นประการหนึ่ง

นี้คือความจริงอย่างที่กล่าวมาแล้ว กฎธรรมชาตินี้ สาระสำคัญของมันก็คือ การเกิดขึ้นและการดับไป การเกิดดับนี้เป็นสภาวะที่เป็นแก่นของความเป็นอนิจจัง การที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรๆ ไปต่างๆ ได้ ก็ต้องอาศัยการเกิดดับทั้งนั้น เมื่อเราได้รู้ตระหนักถึงความเกิดดับอย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่ามองเห็นความจริง ตอนแรกก็อาจตระหนกตกใจหน่อย แต่พอคุ้นกับมันวางใจวางท่าทีถูกต้องแล้ว เราจะสบายใจกับมัน ต่อมาเราจะอยู่ด้วยปัญญารู้เท่าทัน โปร่งโล่งสว่างไสว จิตใจของเราจะสามารถมีความสดชื่นเบิกบานผ่องใสได้ตลอดเวลา

ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่รู้จักความจริงนี้ ชีวิตของเราก็มีโอกาสที่จะเตลิดไปได้มาก จะโน้มไปในทางที่จะมีความหลงระเริง มีความมัวเมา แล้วก็มีความทุกข์ในประการต่างๆ เพราะไม่มีหลักยึดของจิตใจ เวลาประสบอนิฏฐารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ขัดแย้ง สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามปรารถนา ก็ไม่มีความรู้เท่าทันที่จะมาคิดพิจารณา ก็มีแต่ความทุกข์ มีแต่การถูกกระทบกระแทกบีบคั้นอย่างเดียว ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเป็นคาถา อย่างที่อาตมภาพได้ยกมากล่าวเบื้องต้นว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว      อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย  ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.

แปลว่า บุคคลใดถึงจะมีอายุอยู่ตลอดร้อยปี แต่ไม่เคยมองเห็นการเกิดขึ้นและการเสื่อมสลายไป ชีวิตของคนนั้นไม่ประเสริฐเลย สู้คนที่มีปัญญา มองเห็นความเกิดขึ้น และความดับไป แม้เป็นอยู่ชั่วขณะหนึ่งก็ไม่ได้ ชีวิตของคนที่เป็นอยู่แม้ขณะเดียว แต่มองเห็นการเกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น ประเสริฐกว่า

ท่านว่าอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งของการที่เราต้องเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย เมื่อเข้าถึงความจริงนี้แล้ว เราก็จะมีจิตใจที่ประกอบด้วยปัญญาอันรู้เท่าทันโลกและชีวิต และตรงนี้แหละที่มีความหมายมาก คือการที่ความรู้ในกฎธรรมชาติจะมีผลต่อตัวชีวิตของเราเองโดยตรง ไม่ใช่เป็นเพียงการเตลิดหรือเพลิดเพลินไปกับสิ่งภายนอกที่เราเที่ยวประดิษฐ์ตกแต่ง และทำเพียงเพื่อสนองความต้องการของเรา โดยที่ว่ามันไม่เข้าถึงเนื้อตัวของชีวิต

สำหรับคนที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติที่โน้มเข้ามาสู่ชีวิตของตนเองได้แล้วอย่างนี้ เขาจะไปปฏิบัติตามธรรมชาติด้วยความรู้ในธรรมชาตินั้นก็ตาม หรือจะเอาความรู้ในธรรมชาติมาประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ก็ตาม ก็ทำไป แต่เขาจะรู้ขอบเขตที่เหมาะสม เพราะเขารู้ว่าชีวิตของคนเราคืออะไร ความสุข ความทุกข์ และประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร อยู่ตรงไหนแค่ไหน ชีวิตของเราจะมีความพอดี รู้ว่าแค่ไหนชีวิตของคนเราจะอยู่เป็นสุขได้ ไม่ใช่ฝากชีวิตไว้กับสิ่งภายนอกโดยสิ้นเชิง

สุขแบบเคลือบทาข้างนอก กับสุขด้วยสดใสข้างใน

คนจำนวนมากยังมีปัญหา แม้ว่าจะมีความรู้ในกฎธรรมชาติ ความรู้นั้นก็จะมีประโยชน์เพียงว่ามาช่วยให้เขาทำอะไรได้มากขึ้น แต่การทำได้มากขึ้นนั้น อาจมีความหมายได้ ๒ นัย

นัยหนึ่งคือ มีการสนองกิเลสได้มากขึ้น เมื่อมีการสนองกิเลสมากขึ้น ก็จะมีการเบียดเบียนกันมากขึ้น มีความวุ่นวายมากขึ้น

อีกนัยหนึ่ง คือ ในแง่ของตัวเองก็จะเป็นไปในทางที่ว่า จะมีความสนุกสนานเพลิดเพลินมากขึ้น อาจจะมัวเมาและสยบเป็นทาสของวัตถุมากขึ้น และในเวลาทุกข์ก็ทุกข์มากขึ้นด้วย

ทีนี้หากเป็นคนที่รู้เข้าใจความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย จนกระทั่งหยั่งรู้ถึงชีวิตสังขารตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะรู้ความพอดีว่า ชีวิตของเรานี่ที่จะอยู่อย่างมีความสุขนั้นอยู่ด้วยอะไรกันแน่ พอมีปัญญารู้ความจริงและอยู่อย่างรู้เท่าทันแล้ว เพียงว่าชีวิตของตนเองดำรงอยู่ แม้ไม่มีสิ่งภายนอกมาช่วยเสริมปรุงแต่ง คนอย่างนี้ก็มีความสุขได้ ท่านเรียกว่ามีความสุขที่เป็นอิสระ ที่เป็นไทแก่ตนเอง

สำหรับคนที่อยู่ด้วยปัญญารู้เท่าทันอย่างนี้ เขาจับแก่นของชีวิตและแก่นของความสุขได้แล้ว เขามีความสุขได้ตามลำพังเป็นแกนเป็นฐานข้างในอยู่แล้ว ถ้าจะมีสุขภายนอกมาเพิ่มเติม ด้วยความรู้ที่จะปฏิบัติตามกฎธรรมชาติได้ถูกต้องก็ตาม ด้วยการมีสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ก็ตาม สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นเครื่องเสริมสุขให้มากขึ้น แต่ถึงแม้จะขาดจะพรากจากสิ่งเสริมสุขเหล่านั้น เขาก็คงสุขได้อยู่นั่นเอง

ในทางตรงข้าม สำหรับคนที่ขาดปัญญารู้เท่าทัน จับแก่นของความสุขไม่ได้ เมื่อไม่สามารถอยู่เป็นสุขได้โดยลำพังจิตใจและปัญญาของตนเอง ก็ต้องฝากความสุขของตนไว้กับสิ่งภายนอก ตอนแรกก็อาศัยสิ่งสนองความต้องการที่มีตามธรรมชาติก่อน แล้วการที่เขาจะมีความสุขได้ก็ขึ้นต่อการมีสิ่งสนองความต้องการเหล่านั้น เขาก็เลยกลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น แล้วต่อไปเมื่อเขามีสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์มาช่วยบำรุงบำเรอความสุขมากขึ้น การมีสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์เหล่านั้น ก็มีความหมายเป็นการขยายขอบเขตของการที่เขาจะเป็นทาสให้มากขึ้นด้วย

สำหรับคนที่ขาดปัญญารู้เท่าทันและขาดความสุขที่เป็นแกนภายในนี้ การได้สิ่งอำนวยสุขเพิ่มขึ้น ก็คือการขยายขอบเขตของความเป็นทาส และสิ่งที่เพิ่มขึ้นมานั้นจึงไม่ใช่เสริมสุขเท่านั้น แต่เสริมทุกข์ด้วย

ถึงตอนนี้ก็จะมีคำถามว่า เอาละ คนเราแต่ละคนนี่ เรามีความสุขได้อย่างไร คนเรานี้มีความสุข ๒ ประเภท

ความสุขประเภทที่หนึ่ง คือ ความสุขที่ต้องขึ้นต่อสิ่งบำรุงบำเรอภายนอก ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาช่วย อย่างง่ายๆ เช่น วัตถุสิ่งของที่ท่านเรียกว่าอามิส แม้ตลอดจนบุคคลแวดล้อม ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะเกิดความขาดแคลน แล้วก็จะเกิดความทุกข์ ความสุขความทุกข์ของคนเราแบบนี้ ฝากไว้กับสิ่งภายนอก เราไม่สามารถอยู่เป็นสุขได้โดยขาดสิ่งเหล่านี้ และเป็นความสุขที่ไม่มั่นคงยั่งยืน เหมือนกับเป็นของที่เอามาเคลือบหรือฉาบทาไว้ นี่เป็นประเภทที่หนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ทั่วไป

ทีนี้ท่านบอกว่ามีความสุขอีกประเภทหนึ่ง คือ ความสุขที่เกิดในใจของตนเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก แม้จะอยู่ลำพังจิตใจของตนเองก็เป็นสุขได้ เป็นความสดใสชื่นฉ่ำอยู่ข้างใน ที่ตนเองสามารถครอบครองอย่างเป็นไทโดยแท้จริง อันนี้เป็นความสุขอีกระดับหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปจะไม่ค่อยมี

คนเรานี้มักจะหวังความสุขจากสิ่งภายนอก แล้วบางทีก็ไม่เคยฉุกคิดว่า เราจะต้องมีเวลาอยู่เฉพาะกับตัวเอง สิ่งทั้งหลายนั้นจะไม่สามารถอยู่กับเราได้ตลอดเวลา อย่างน้อยแม้ยังอยู่กับเรา มันก็ไม่สามารถเป็นไปตามใจปรารถนาของเราได้ตลอดไป ถ้าเราจะให้สิ่งทั้งหลายต้องเป็นไปตามใจปรารถนาของเราแล้วเราจึงจะมีความสุขนี่ เราจะต้องมีแต่ความทุกข์ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้น ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติที่ว่า มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เมื่อเราต้องการให้มันเป็นไปตามใจปรารถนาของเรา พอเรามีใจปรารถนาต่อมันให้เป็นอย่างนี้ แต่ธรรมดาของมันตามกฎแห่งเหตุปัจจัย กลับผลักดันให้มันไปทางโน้น พอมันไปทางโน้นแต่ใจเราต้องการให้มาทางนี้ ก็เกิดความขัดแย้งขึ้น แล้วใครชนะ ใจเราปรารถนาให้มันเป็นอย่างนี้ แต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน กลับเป็นไปอย่างโน้น ใครชนะ ก็ต้องตอบว่า กฎธรรมชาติชนะ กฎธรรมชาติก็คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยชนะ พอกฎธรรมชาติชนะ เราแพ้ เราก็ต้องถูกบีบคั้น เรียกว่าเกิดทุกข์ อันนี้เป็นธรรมดา เพราะว่ามันขัดกันตั้งแต่ต้นแล้ว กระแสมันคนละกระแส

ฉะนั้นในทางพระท่านจึงสอนเรื่องนี้มาก ท่านย้ำให้รู้เข้าใจความจริงของธรรมดาและให้เราวางตัวให้ถูกต้องว่า เราจะต้องไม่เอาความปรารถนาหรือความอยากของเราเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเอาความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยเป็นตัวตั้ง พอเห็นสิ่งทั้งหลายก็มองในแง่ว่า อ๋อ สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนะ มันจะไม่เป็นไปตามใจอยากของเรา ถ้าเราต้องการให้มันเป็นไปอย่างไร เราจะต้องรู้เหตุปัจจัยของมัน ต้องศึกษาเหตุปัจจัยของมัน แล้วไปทำที่เหตุปัจจัย เพื่อให้เป็นอย่างนั้น อย่ามัวนั่งปรารถนาอยู่ ให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามต้องการ มันเป็นไปไม่ได้

ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว จิตใจจะเป็นอิสระ ความอยากจะไม่มาบีบคั้นจิตใจของตนเอง จะอยู่โดยรู้เท่าทันว่า อ้อ เราต้องทำที่เหตุปัจจัย พอเห็นสิ่งทั้งหลาย ชาวพุทธก็จะทำใจได้ทันที เพราะหลักการทางพุทธศาสนาบอกไว้แล้วว่า ให้มองสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัยนะ พอมีอะไรเกิดขึ้น เราบอกกับตัวเองว่า “มองตามเหตุปัจจัย” และ “เป็นไปตามเหตุปัจจัย” แค่นี้มันก็ตัดความรู้สึกที่ไม่ดีได้หมดเลย

ดังเช่นเมื่อเกิดการพลัดพรากขึ้นมานี่ ถ้าเรามองในแง่ความปรารถนาของเราว่า โอ ท่านผู้นี้เรารักใคร่ ทำไมท่านไม่อยู่กับเรา ท่านน่าจะอยู่ไปอีกสักสิบปี อะไรต่างๆ ทำนองนี้ คิดไปยิ่งคิดก็ยิ่งโศกเศร้า นี่เรียกว่าเอาตัวความอยากหรือความปรารถนาของเราเป็นหลัก แล้วจะให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามความอยากนั้น เราก็ต้องถูกบีบคั้นและเป็นทุกข์

ทีนี้ ในทางของปัญญา พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมา เราก็พิจารณาทันทีว่า อ๋อ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย นี่ร่างกาย มันเป็นชีวิตสังขาร มันเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง มันเป็นไปตามคติธรรมดาของเหตุปัจจัยแล้ว มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ตั้งอยู่ มันก็ตั้งอยู่ มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ดับสิ้นไปสลายไป มันก็ดับสลาย ที่เป็นอย่างนี้มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว พอมองแค่นี้ใจของเราก็แยกออกมาตั้งอยู่ได้เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง เรียกว่าเป็นการพึ่งพาตนเองได้ในทางจิตใจ เมื่อจิตใจมีความเป็นอิสระ ก็อยู่ได้ ปลอดโปร่งโล่งเบา ก็มีทุกข์น้อย

เป็นอันว่า คนที่พิจารณาตามหลักของการมองตามเหตุปัจจัยนี้ จะมีจิตใจที่เป็นสุข และเป็นอิสระมากขึ้น แต่โดยสาระก็คือ จะต้องรู้เท่าทันการเกิดขึ้นและการดับไป เมื่อเรามองเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของสิ่งทั้งหลาย แม้ตลอดจนชีวิตของตัวเราเองนี้ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว เราวางใจถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น แล้วก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา ที่พิจารณาตามเหตุปัจจัย และทำที่เหตุปัจจัย ก็จะมีชีวิตที่มีความสุข มีความเบิกบานผ่องใสได้ อย่างน้อยด้วยการรู้ความจริงนั้น ก็จะเป็นอยู่ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน ปัญญาที่รู้เท่าทันก็ทำให้เกิดความสว่าง แล้วก็จะทำให้จิตใจนี้ไม่ขุ่นมัวไม่เศร้าหมอง มีความร่าเริงเบิกบานผ่องใสอยู่ได้เสมอ

ถึงแม้อะไรจะเปลี่ยนแปลงผันผวนไป
ก็ต้องรักษาสมบัติแท้ของเราไว้ให้ได้

คนดีที่พึงปรารถนานั้นตามที่ท่านเน้นย้ำมาก เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องเริ่มแต่ประการที่ ๑ คือการรู้เท่าทัน เมื่อรู้เท่าทันความจริงแล้ว ต่อไปประการที่ ๒ ก็ให้การรู้เท่าทันนั้นมีผลต่อจิตใจ ที่จะทำให้จิตใจนั้น มีความสว่าง มีความเบิกบาน ไม่วุ่นวาย ไม่สับสน

ถ้าจิตใจวิ่งแล่นด้วยความที่คิดว่า เออ เราอยากให้เป็นอย่างนี้ มันไม่ยอมเป็น อะไรอย่างนี้ เราก็วุ่นวายสับสน ก็เกิดความดิ้นรนมาก ความบีบคั้นก็เกิดขึ้นมาก

แต่ถ้ามีความสว่างด้วยความรู้เท่าทันแล้ว ก็จะมีความโปร่งโล่ง มีความเบา ไม่วุ่นวาย ไม่ดิ้นรนกระทบกระทั่ง บีบคั้น จิตใจก็จะมีความสุข จิตใจที่มีลักษณะอย่างนี้ เป็นจิตใจที่ดีงามมีความสุขจริงแท้

พระพุทธศาสนาสอนให้เราสร้างความรู้เท่าทันขึ้นในจิตใจ

จากความรู้เท่าทันนั้น ก็ให้มีภาวะจิตที่เรียกว่า ปราโมทย์คือความร่าเริงเบิกบานใจ ซึ่งควรอนุรักษ์ไว้ให้มีอยู่เสมอ

แล้วก็ให้มีปีติ คือความเอิบอิ่มใจ พอรู้เท่าทันความจริงแล้ว เราก็มีความเอิบอิ่มใจได้ แม้แต่จะมีเรื่องที่ไม่ปรารถนาเกิดขึ้น แต่ถ้าเรารู้เท่าทันความจริง จิตใจก็เอิบอิ่มได้ ด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยปัญญานั้น

จากความปีติ เอิบอิ่มใจ จิตใจก็ผ่อนคลาย สบาย มีความสงบเย็น ที่ท่านเรียกว่ามีปัสสัทธิ

แล้วจิตใจที่ผ่อนคลายสงบเย็นนั้น ก็สดชื่นโปร่งเบา มีความสุข

เมื่อใจเป็นสุขแล้ว ก็อยู่ตัว ไม่ดิ้นรน ไม่ซัดส่าย เป็นจิตใจที่มั่นคง เกิดมีสมาธิขึ้นได้

สภาพจิตใจอย่างนี้ เป็นจิตใจที่ดีงาม ที่ท่านบอกว่า พุทธศาสนิกชนควรจะสร้างให้เกิดขึ้นเสมอๆ ให้เรามองสิ่งเหล่านี้ หรือสภาพจิตนี้ว่าเป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่า พยายามทำให้มีและรักษาไว้ในจิตใจของเรา อย่าให้ใครมาทำลายได้

พุทธศาสนิกชนต้องการมีชีวิตที่ดีงาม จะต้องพยายามสร้างสภาพจิตใจที่ดี คือ

๑. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ ให้มีอยู่เสมอ

๒. ปีติ ความอิ่มใจ ปลื้มใจ

๓. ปัสสัทธิ ความผ่อนคลายกายใจ สงบเย็น

๔. สุข ความโปร่งชื่นคล่องใจ ไม่มีอะไรบีบคั้นใจ

๕. สมาธิ ความมีใจแน่วแน่ อยู่กับสิ่งที่ต้องการ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่สับสน

เราต้องถือว่า สภาพจิตเหล่านี้เป็นสมบัติที่ดีมีค่ายิ่ง เราต้องทำให้มีอยู่ในใจเสมอ มันดียิ่งกว่าสมบัติภายนอกทั้งหลาย

ทรัพย์สินสมบัติต่างๆ ภายนอกนั้น เราสร้างขึ้นมา เพื่อที่จะบำรุงบำเรอชีวิตให้เรามีความสุข แต่ไม่แน่นะ ว่ามันจะให้ความสุขที่จริงที่แท้ได้หรือไม่ บางทีมันก็ให้ได้เพียงชั่วคราว ไม่ยั่งยืนตลอดไป

แท้จริงแล้วสภาพจิตเหล่านี้แหละคือจุดหมายของการมีทรัพย์สินสมบัติเหล่านั้น ถ้าทรัพย์สินสมบัติเหล่านั้น สามารถทำให้เรามีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ได้ อันนั้นก็น่าภูมิใจ แต่หลายคน หรือมากคนทีเดียว เมื่อสร้างทรัพย์สมบัติภายนอกขึ้นมาแล้ว กลับไม่ได้ไม่มีสภาพจิตเหล่านี้ ซ้ำร้ายบางทีกลับให้ทรัพย์สมบัติภายนอกกีดขวางทำลายสภาพจิตที่ดีงามของตนเหล่านี้ให้หมดไปเสียอีก เมื่อยังแสวงหา ยังไม่ได้ทรัพย์สิน ก็ได้แต่หวัง และยังไม่มีสภาพจิตเหล่านี้ ครั้นเมื่อได้ทรัพย์สินมามีขึ้นแล้ว ก็ยิ่งทำลายสภาพจิตที่ดีเหล่านั้นให้หมดไป ด้วยความยึดติดหวงแหน ห่วงกังวล ตลอดจนหวาดระแวง ริษยากัน หรือโลภยิ่งขึ้นไป

ในทางตรงข้าม ถ้าเรายิ่งสามารถสร้าง ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิไว้ในใจได้ตลอดเวลาของเราเอง โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ก็จะเป็นความสามารถพิเศษที่สุด ตอนนั้นเราจะเห็นว่า โอ แม้แต่ทรัพย์สมบัติต่างๆ นี่ ก็ยังไม่มีค่าเท่าสภาพจิตที่ดีงามเหล่านี้ เพราะในที่สุดแล้ว สิ่งที่เราต้องการแท้จริงก็อันนี้เอง เหล่านี้แหละคือทรัพย์สมบัติที่เราปรารถนาอย่างแท้จริง แล้วอันนี้แหละที่จะรักษาชีวิตของเราให้เป็นชีวิตที่ดีงามได้

ในขั้นสุดท้าย เมื่อถึงเวลาที่ทรัพย์สินสมบัติและญาติพี่น้องช่วยอะไรไม่ได้ เช่นบนเตียงที่เจ็บป่วย บางทีเจ็บป่วยถึงกับร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ใครช่วยก็ไม่ได้ รับประทานอาหารก็ไม่อร่อย ก็เหลือแต่ใจของเรานี่แหละ ตอนนั้นถ้าเรามีแต่สุขที่อิงอาศัยอามิส ขึ้นต่ออามิสแล้ว ก็จะมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างเดียว

ตรงข้ามกับคนที่ฝึกใจของตนไว้ด้วยปัญญารู้เท่าทันอย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งสามารถทำใจให้มีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิได้ เขาฝึกใจไว้พร้อมแล้ว แม้จะนอนป่วยอยู่คนเดียวบนเตียง ใครๆ อะไรๆ ช่วยไม่ได้ เขาก็สามารถมีความสุขได้

อันนี้เป็นความสุขที่เป็นอิสระ เป็นไทแก่ตนเองอย่างแท้จริง ส่วนในเวลาที่ไม่ป่วย เมื่อได้สิ่งภายนอกมาช่วยเสริมอีก เขาก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มเป็น ๒ ชั้น เวลาไม่มีความสุขจากภายนอก อยู่คนเดียวทำอะไรไม่ได้ ก็ยังสามารถมีความสุขได้ อย่างน้อยก็ไม่กระวนกระวายทุกข์ร้อนเกินไป

ฉะนั้น สำหรับพุทธศาสนิกชนจึงเห็นชัดว่า แก่นแท้ของชีวิตที่เราต้องการนั้นคืออะไร เราสร้างสรรค์ทรัพย์สมบัติต่างๆ มาเพื่อความสุข แต่ความสุขในขั้นสุดท้ายนั้นอยู่ที่จิตใจของเรา ที่จะต้องฝึกฝนไว้เสมอ ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างสภาพจิตนี้ขึ้นมาได้ คำตอบก็คือจะต้องทำให้เป็นปกติธรรมดา พยายามสร้างความร่าเริงเบิกบานใจขึ้นมา สร้างความเอิบอิ่มใจ ความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจนี่ ให้มีอยู่ตลอดเวลา และอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ให้ตั้งท่าทีเหมือนสิ่งนี้เป็นสมบัติที่มีค่าของเรา เราจะไม่ยอมให้ใครทำลาย

เวลาพบกับใครเราก็จะได้รับอารมณ์เข้ามา บางทีเราก็ถูกอารมณ์ที่เข้ามานั้นกระทบกระทั่ง หรือกระทบกระแทก เช่นได้ยินถ้อยคำของคนอื่นพูด บางทีอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเข้ามาโดยเราไม่รู้ตัว เราไม่ทันรักษาสมบัติของเรา ปล่อยให้อารมณ์เหล่านั้นมากระทบกับใจเรา แล้วก็ทำลายทรัพย์สมบัติที่มีค่าของเราไปเสีย ทำให้ความปราโมทย์ เบิกบานใจในใจของเราหมดไปหรือหายไป

ไปเห็นคนนั้นเขาแสดงอาการอย่างนี้ ไปได้ยินคนนี้ เขาพูดคำอย่างนั้น อ้าว เกิดกระทบกระทั่งใจขึ้นมา ขุ่นมัว เศร้าหมอง เหี่ยวแห้ง บีบคั้นใจ เลยถูกคนอื่นเขามาทำลายสมบัติในของตัวเสีย แสดงว่ารักษาสมบัติไม่ได้ ดังนั้น จะต้องตั้งสติไว้ก่อน ระลึกกำกับใจของตนว่า เราจะต้องพยายามรักษาสมบัติในของเราไว้ให้ได้ อย่างน้อยตั้งท่าทีไว้ว่า นี่แหละสมบัติที่มีค่าที่สุดของเรา เราจะพยายามรักษาไว้ ถ้าทำอย่างนี้แล้วพุทธศาสนิกชนก็จะมีแต่ความเจริญงอกงามในธรรม

ตกลงว่า สภาพจิตใจที่พึงปรารถนา แสดงถึงจิตใจของพุทธศาสนิกชนที่ดำเนินตามวิถีแห่งพุทธ ที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็คือ

ความร่าเริงเบิกบานใจ ที่เรียกว่า ปราโมทย์

ความเอิบอิ่มใจ ที่เรียกว่า ปีติ

ความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ ที่เรียกว่า ปัสสัทธิ

ความโปร่งชื่นคล่องใจ ที่เรียกว่า ความสุข

และความมีจิตใจแน่วแน่มั่นคง ที่เรียกว่า สมาธิ

ทั้งหมดนี้เป็นสมบัติสำคัญที่เราควรจะรักษาไว้ และสมบัติเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดด้วยการที่เรารู้เท่าทันความจริงนั่นเอง ทำใจให้คุ้นเคยเป็นกันเองกับสัจธรรม แล้วเราจะได้รสที่เลิศกว่ารสทั้งหลายทั้งปวง เหมือนคนที่ได้รสจืดสนิทของน้ำที่บริสุทธิ์เป็นหลักยืนตัวไว้แล้ว ดังที่กล่าวมานั้น แล้วเราก็จะมีความสุขที่แท้จริง เราจะชื่อว่าดำเนินตามวิถีของพระพุทธเจ้า

วันนี้อาตมภาพได้แสดงธรรมกถามาก็พอสมควรแก่เวลา โดยสาระสำคัญก็คือให้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วก็มีจิตใจที่เป็นอยู่ด้วยความรู้เท่าทันนี้ ความรู้เท่าทันนี้จะทำให้เกิดความสว่าง ความสะอาดผ่องใส เบิกบาน ดังที่กล่าวมาแล้ว สภาพจิตที่ดีงามก็จะเกิดขึ้นแก่เราอยู่เสมอ ไม่มีอะไรที่จะดีกว่านี้ในขั้นสุดท้าย

สิ่งทั้งหลายที่เราสร้างมาก็เพื่อความสุข แต่ในขั้นสุดท้ายแล้วเราจะรู้ตระหนักว่าตราบใดที่เรายังต้องขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้น ตราบใดที่เรายังต้องฝากความสุขความทุกข์ไว้กับสิ่งเหล่านั้น เราจะไม่เป็นอิสระแท้จริง จะต้องถึงเวลาหนึ่งที่เราจะต้องฝึกฝนตัวเราเอง ด้วยจิตใจและปัญญา ให้เป็นอยู่ด้วยตัวของตัวเองที่มีปัญญารู้เท่าทัน แล้วสร้างสภาพจิตใจที่ดีงามดังกล่าวนี้ขึ้นมาให้ได้

วันนี้โยมเจ้าภาพ มีโยมคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ เป็นประธาน พร้อมด้วยบุตรหลานญาติมิตร ได้บำเพ็ญกุศลอุทิศแก่คุณโยมชม รักตะกนิษฐ ผู้ล่วงลับไปแล้ว โยมก็ได้บำเพ็ญกุศลไปแล้ว ได้ทำหน้าที่ที่ควรทำแล้ว สมดังที่อาตมภาพได้กล่าวมาแต่เบื้องต้น

ประการแรก ด้วยการที่ได้ทำสิ่งที่ควรทำ ได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว ได้แสดงน้ำใจแล้ว ได้ทำบุญทำกุศลแล้วนี้ เมื่อจิตระลึกพิจารณาแล้วก็จะมีความเอิบอิ่มใจ ทำให้มีความสบายใจ และทำให้จิตใจเบิกบานผ่องใสได้ เป็นเครื่องบรรเทาความโศกเศร้าอาลัยลงได้ส่วนหนึ่ง

ประการที่สอง เมื่อได้พิจารณาตามหลักธรรมด้วยความรู้เท่าทันในความจริงดังกล่าวมา ก็จะได้สภาพจิตที่ดีงามเป็นขั้นที่สอง ที่ทำให้จิตใจเป็นอิสระอย่างแท้จริง ความสดใสร่าเริงเบิกบาน และความหายโศกเศร้าก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ทั้งสองประการนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่เรียกว่า เป็นบุญเป็นกุศล คือทั้งกุศลในส่วนของการทำความดีงาม และในส่วนที่เป็นเรื่องของปัญญารู้เท่าทัน เมื่อปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็เป็นอันได้คติจากคำสอนเกี่ยวกับเรื่องของมรณกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอยู่เสมอว่าให้พุทธศาสนิกชนพิจารณารำลึกในมรณสติ คือระลึกถึงความตายด้วยความรู้เท่าทัน แล้วไม่โศกเศร้า ไม่หวาดกลัว แต่ระลึกขึ้นมาแล้วทำให้ไม่ประมาท เร่งขวนขวาย ทำความดีงาม รู้เท่าทันความจริงของชีวิตและสังขาร

นอกจากนั้น เมื่อโยมมีจิตใจที่ดีงาม สะอาดผ่องใสอย่างนี้แล้ว แม้เมื่อจะอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับ การอุทิศกุศลนั้นก็จะได้ผลดีขึ้นด้วย

ท่านกล่าวว่า การที่จะอุทิศกุศลแก่กัน ก็ต้องทำด้วยจิตใจที่เป็นสมาธิ มีเจตนาที่ชัดเจนและมีกำลังแรง ถ้าจิตใจนั้นมีความเศร้าหมองขุ่นมัววุ่นวายด้วยความโศกเศร้าเป็นต้น จิตใจนั้นก็ไม่เป็นอันตั้งแน่วแน่ในการที่จะอุทิศกุศล เจตนาก็ไม่รวมเป็นอันหนึ่งเดียว ไม่เข้มแข็งแรงกล้า

เพราะฉะนั้นจึงต้องทำจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส เมื่อทำจิตใจให้ดีงามด้วยการระลึกถึงความดีที่บำเพ็ญแล้ว รู้เท่าทันความจริง รู้เท่าทันธรรมะ ดังที่กล่าวมา จิตใจเป็นกุศลแล้ว ดีงามแล้ว ก็น้อมจิตที่ดีงามเป็นกุศลนี้ อุทิศบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแก่ท่านผู้ล่วงลับสืบต่อไป

ณ วาระนี้ อาตมภาพขออนุโมทนากุศลบุญราศี ที่โยมคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ พร้อมด้วยบุตรหลานญาติมิตร ได้บำเพ็ญแล้ว และในโอกาสนี้ ญาติมิตรทั้งหลายก็ได้มาแสดงน้ำใจ มาเคารพศพ มาระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับ เป็นการแสดงน้ำใจทั้งต่อผู้ล่วงลับ และต่อท่านเจ้าภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกท่านล้วนมีเจตนาดีทั่วกัน จึงขอให้ทุกท่านมีความเอิบอิ่มใจว่าเราได้ทำสิ่งที่ควรทำได้แสดงน้ำใจอันดีแล้ว

เมื่อมีจิตใจดีงามอย่างนี้ ไม่มีความโศกเศร้า ไม่มีความขุ่นมัวแล้ว ก็โน้มจิตใจที่ดีงามนี้ อุทิศกุศลไปให้แด่คุณโยมชม รักตะกนิษฐ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอให้ท่านได้รับทราบและอนุโมทนาการบำเพ็ญกุศลนี้ และขอให้ท่านมีความสุขความเจริญในสัมปรายภพ ยิ่งขึ้นไป

อาตมภาพวิสัชนาพระธรรมเทศนาพรรณนาอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานกิจอุทิศแด่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งคติธรรมเตือนใจ ในการที่จะเกิดความรู้เท่าทันด้วยปัญญา เพื่อจะมีชีวิตที่ดีงาม ตามคติแห่งพระพุทธศาสนา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้

พระพุทธศาสนากับสังคมไทย5

ท่านพระเถรานุเถระที่นับถือ
ขอเจริญพรท่านสาธุชนผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

รายการอภิปรายวันนี้ ขอทำความเข้าใจเบื้องต้นนิดหน่อย ว่ามีความเข้าใจเคลื่อนคลาดเกี่ยวกับชื่อเรื่องกันบ้าง ตอนแรกบางท่านได้ยินว่าเป็นเรื่อง พระพุทธศาสนากับสังคมปัจจุบัน ต่อมามีการทำความเข้าใจกันให้ชัดโดยตกลงว่า เป็นเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทย และต่อมาอีกครั้งได้ยินเป็นว่า พระพุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบัน รู้สึกว่าชื่อมีการยักย้ายกันไป จึงทำให้ผู้พูดเองสับสนเล็กน้อย ว่าจะพูดในขอบเขตแค่ไหน คือชื่อเรื่องทั้งหมดทั้งสามอย่างนั้นก็ลงเป็นอันเดียวกันในแง่พระพุทธศาสนากับสังคม แต่มีความแตกต่างที่ว่าขอบเขตกว้างแคบกว่ากัน สำหรับอาตมภาพนั้น จำได้ในชื่อว่า “พระพุทธศาสนากับสังคมไทย” เพราะฉะนั้นก็จะพูดในหัวข้อนี้

มองกันง่ายๆ เรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทยนั้น อาตมภาพว่าเห็นได้ชัดเจนที่งานวัดธัมมารามนี้เอง พระพุทธศาสนาทำให้สังคมไทยเป็นอย่างไร มีบทบาทอย่างไรในสังคมไทย แล้วสังคมไทยทำอะไรกันบ้าง และทำอย่างไรโดยสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา อันนี้เรามองได้โดยตัวอย่างจากงานวัดธัมมารามนี้ ซึ่งเราจะมองเห็นได้ทันทีว่า พระพุทธศาสนานั้นได้มีบทบาทเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยอย่างไร ในกรณีนี้เราถือว่า ชุมชนไทยในนครชิคาโกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แม้ว่าจะมาอยู่ในต่างแดนก็ตาม วัดธัมมารามนี้ก็เป็นที่แสดงออกของพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของชุมชนไทย และจากพฤติกรรมของคนไทยที่ได้มาวัดนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการที่ว่า พระพุทธศาสนาได้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนไทยอย่างไรบ้าง และคนไทยได้แสดงออกอย่างไร มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างไร ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง นี่เรามองเห็นได้จากชุมชนไทยที่มาที่วัดธัมมารามนี้ เพราะฉะนั้น คำตอบเกี่ยวกับหัวข้อที่ว่าพระพุทธศาสนากับสังคมไทยนี้ เราสามารถบรรยายได้ จากกรณีของวัดธัมมารามนี้เป็นตัวอย่าง แต่ทีนี้ เราจะไม่จำกัดตัวอยู่แค่ตัวอย่างนี้เท่านั้น เราจะมองถึงสังคมไทยในวงกว้างทั้งหมด

เมื่อมองอย่างกว้าง เราจะเห็นว่าหัวข้อเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทยนี้มีความกว้างขวางมาก เราจะไม่สามารถมาพูดในเวลาอันสั้นนี้ได้ อาตมภาพก็เลยคิดว่า แทนที่ตัวเองจะมาบรรยายให้ฟังว่า พระพุทธศาสนากับสังคมไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรือว่าพระพุทธศาสนามีบทบาท มีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง แทนที่จะทำอย่างนั้น แทนที่จะอธิบายเสียเอง ก็จะฝากประเด็นความคิดไว้ให้ท่านสาธุชนทั้งหลายไปขยายความเอาเอง เพราะว่าเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทยนี้ เราสามารถมองได้หลายแง่หลายด้าน ก่อนที่จะเข้าใจว่า พระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับสังคมไทยอย่างไร ได้มีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างไรบ้างนั้น เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าพระพุทธศาสนาก่อน พระพุทธศาสนาที่จะเอามาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องสังคมไทยนั้น เราสามารถพิจารณาได้ในสามด้าน คือ ตีความหมายของพระพุทธศาสนาออกเป็นเรื่องธรรม ธรรมที่พึงพิจารณาในที่นี้มีสามอย่าง

๑. สภาวธรรม สภาวธรรมก็หมายถึงธรรมที่เป็นเรื่องของสภาวะ หรือเป็นสัจจธรรมตามธรรมชาติ พระพุทธศาสนานี้ถือหลักว่า สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เช่น ที่พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าสภาวธรรม หรือจะพูดว่า พระพุทธศาสนานั้นถือว่า สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรม หรือจะแยกเป็นโลกียธรรมและโลกุตรธรรม อย่างนี้เรียกว่าสภาวธรรม

ในแง่นี้ก็มาพิจารณาว่า คนไทยนั้นมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวธรรมตามหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง แล้วความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวธรรมนั้นได้มีผลต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้ฝังรากอยู่ในจิตใจของคนไทย แล้วก็มีอิทธิพลในทางความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนพฤติกรรมอย่างไร เช่น เรามีความฝังใจในเรื่องความเป็นอนิจจังว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อสิ่งทั้งหลายแตกดับมีการพลัดพรากไป คนไทยก็จะมีการอุทานว่า อนิจจัง อนิจจา ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นอิทธิพลของคำสอนเกี่ยวกับสภาวธรรม นี้ด้านหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างที่ยกให้เห็นในด้านสภาวธรรม

๒. จริยธรรม จริยธรรมก็คือหลักธรรมที่เกี่ยวกับแนวความประพฤติปฏิบัติหรือหลักการดำเนินชีวิต เช่นว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเรานี้มี เมตตา กรุณา ต่อกัน ตามหลักพรหมวิหาร นอกจาก เมตตา กรุณา ก็ให้มี มุทิตา อุเบกขา ด้วย หรือว่าเราสอนเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา โดยเฉพาะการที่เราเน้นเรื่องทาน เป็นต้น ตลอดจนเรื่องศีลห้าที่เป็นมาตรฐานเบื้องต้น หลักธรรมประเภทที่เป็นแนวทางของการดำเนินชีวิต หรือแนวทางความประพฤติปฏิบัตินี้ เราเรียกว่าจริยธรรม

ในด้านนี้ ก็มาพิจารณากันดูว่าสังคมไทยนี้ ได้นำเอาจริยธรรมนั้นมาใช้อย่างไร เช่น เราอาจจะบอกว่าสังคมไทยนี้เอาพระพุทธศาสนามาใช้ในหลักจริยธรรมที่เด่นชัด เช่น เรื่องทาน เป็นต้น ดังที่ได้พัฒนาเรื่องทางวัฒนธรรมประเพณีอะไรต่างๆ ขึ้นมา เช่น เรื่องการเทศน์มหาชาติ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับการให้ทาน และคนไทยก็ได้รับยกย่องว่ามีน้ำใจ เป็นคนที่พร้อมที่จะเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน อันนี้เป็นด้านจริยธรรม

๓. บัญญัติธรรม บัญญัติธรรมก็คือ สิ่งที่สังคมมนุษย์ได้ตกลงวางแต่งตั้งกันขึ้นมา สมมติกันขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากจริยธรรม ก็อย่างที่อาตมภาพยกตัวอย่างเมื่อกี้ เช่นว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทาน ก็คือให้เราเผื่อแผ่แบ่งปันกัน โอบอ้อมอารีต่อกัน เราก็นำเอาหลักเรื่องทานนั้นมาใช้บัญญัติวางเป็นรูปแบบ เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ตัวทานนั้นเป็นจริยธรรม แต่ประเพณีเทศน์มหาชาตินี้เป็นบัญญัติธรรม หรือว่าเราอาจจะบัญญัติกฎหมายขึ้นตามหลักศีลห้า ท่านสอนว่าไม่ให้ทำร้ายร่างกาย ไม่ให้ทำลายชีวิตซึ่งกันและกัน เราก็อาจจะมาบัญญัติกฎหมายว่า ถ้าฆ่ากัน ทำร้ายร่างกายกันแล้ว จะมีความผิดจะถูกลงโทษอย่างนั้นอย่างนี้ กฎหมายตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีอะไรต่างๆ ที่บัญญัติแต่งตั้งกันขึ้น เพื่อจะให้จริยธรรมหรือศีลธรรมนั้นเกิดขึ้นในสังคม อย่างนี้เราเรียกว่าบัญญัติธรรม

ในด้านนี้ เราก็มาดูว่า สังคมไทยนี้ได้นำเอาพระพุทธศาสนามาวางไว้ในบัญญัติธรรมของตนเองเป็นกฎหมาย หรือขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม อย่างไรบ้าง แม้แต่ที่เรามากันในวันนี้ ก็มาร่วมในเรื่องของบัญญัติธรรมเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่พิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ แต่สาระของมันก็อยู่ที่จริยธรรม คือ หลักความประพฤติปฏิบัติที่ดีงามถูกต้อง

เมื่อเราเข้าใจหลักสามประการเกี่ยวกับธรรมว่า มีสภาวธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรมอย่างนี้แล้ว เรามาแยกแยะดูเกี่ยวกับสังคมไทย ก็จะมองเห็น และมีความเข้าใจชัดเจนขึ้น อันนี้ก็เป็นหลักของการแบ่งโดยความหมายของคำว่า ธรรม หรือหลักการของพระพุทธศาสนา

อีกอย่างหนึ่งเราอาจจะแบ่งโดยกาลเวลา แบ่งโดยกาลเวลาก็เป็นการพิจารณาในเรื่องที่ว่าพระพุทธศาสนาได้มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยมาแล้วในอดีตอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของความที่เป็นมาแล้ว เรื่องความหลัง ในด้านนี้จะเห็นว่าในอดีตนั้นพระพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยอย่างมากมายเพียงใด จนกระทั่งได้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชนชาติไทย เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติไทย เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยอะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นส่วนอดีต

จากนั้นก็มาดูในสภาพปัจจุบันว่า เวลานี้เป็นอย่างไรบ้าง คนไทยยังรักษามรดกทางพระพุทธศาสนา มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสภาวธรรม มีการปฏิบัติตามหลักจริยธรรม มีการดำเนินตามบัญญัติธรรมที่พูดมาแล้วนั้นอย่างไรบ้าง หรือว่ามีความคลาดเคลื่อนห่างเหินออกไปอย่างไร นี้สภาพปัจจุบัน แล้วต่อไปก็มองดูว่า แนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร สำหรับอนาคตนั้น ก็ดูจากสภาพปัจจุบันนี้เอง แล้วเราก็จะเห็นว่าในอนาคตนั้น พระพุทธศาสนาจะมีบทบาทในสังคมไทยน้อยลงหรือว่าเพิ่มขึ้น และจะเป็นไปในรูปไหน ดีหรือว่าร้าย

ต่อไป ขั้นที่สี่ก็มองว่า ถ้าแนวโน้มเป็นไปในทางไม่ดี เราจะแก้ไขอย่างไร เราจะปฏิบัติการอย่างไรเพื่อจะให้แนวโน้มนั้นเป็นไปในทางที่ดี หรือว่าถ้าแนวโน้มนั้นเป็นไปในทางที่ดีแล้ว เราจะส่งเสริมอย่างไรให้มันได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการที่จะแก้ไขปัญหาสังคมของเราที่เป็นอยู่ ถ้าสังคมของเรานี้มีความห่างเหินจากพระพุทธศาสนา เราเห็นว่าเป็นอันตราย เราก็หาทางที่จะแก้ไขปัญหาสังคมไทยนั้น เช่น อาจจะมองว่า สังคมไทยเรานี้ มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกมาก ตามวัฒนธรรมตะวันตกเกินไป หรือมีความคลั่งไคล้ใหลหลงมัวเมาในวัฒนธรรมตะวันตก แล้วมีโทษ มีข้อเสียหาย เราก็หาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลง อันนี้ก็คือสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต นี้เรียกได้ว่ามีสี่แง่ที่จะต้องพิจารณา ซึ่งเอาสามอย่างต้นมาคูณ ก็ได้ ๑๒ หัวข้อ

ทีนี้เรื่องยังไม่จบเท่านั้น เรื่องของสังคมก็มีหลายแง่หลายด้านอีก เช่นอาจจะมองในแง่ของการศึกษา การศึกษานั้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะสร้างวิถีทางของสังคมขึ้นมา เพราะว่าเป็นตัวพื้นฐานในการพัฒนาสังคม เป็นตัวพัฒนาคุณภาพของคนที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนั้นๆ เราก็มามองดูในแง่ของการศึกษาว่า ในแง่สภาวธรรมนั้น พระพุทธศาสนามีบทบาทต่อการศึกษาของไทยอย่างไร ในแง่ของจริยธรรม มีบทบาทอย่างไร ในแง่ของบัญญัติธรรม มีบทบาทอย่างไร เป็นการนำพระพุทธศาสนามาใช้ในการศึกษา ดังที่เราได้ทำกันมาจนกระทั่งว่าวัดได้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของคนไทย คนไทยมีประเพณีบวชเรียน คนไทยชายหนุ่มทุกคนอายุถึง ๒๐ แล้ว แต่ก่อนนี้ก็ให้บวชเรียนอะไรต่างๆ เหล่านี้ แสดงถึงการที่วัดได้เป็นศูนย์กลางของสังคมในแง่ของการศึกษา ซึ่งก็มองเห็นได้ทั้งในแง่ของสภาวธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม แล้วเราก็ดูว่า อดีตเป็นอย่างนี้ และปัจจุบันเป็นอย่างไร มองดูสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วก็ดูแนวโน้มในอนาคต พร้อมทั้งดูว่า ในอนาคตนั้นควรจะเป็นอย่างไร แล้วก็จะแก้ไขอย่างไรในแง่ของการศึกษา

นอกจากนั้นก็ดูในแง่เศรษฐกิจว่าพระพุทธศาสนานี้ ในแง่ของเศรษฐกิจนั้นได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างไร เช่นคนไทยนี้มีความเชื่อเกี่ยวกับหลักสันโดษ เราถือว่าหลักสันโดษนี้มาจากพระพุทธศาสนา แล้วเราปฏิบัติตามหลักสันโดษนี้ ได้มีผลในทางเศรษฐกิจอย่างไร นี้เป็นอดีตที่เป็นมา ปัจจุบันเป็นอย่างนั้นหรือไม่ แล้วแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร นี้เศรษฐกิจก็อย่างหนึ่ง

ต่อไป ก็ในแง่สังคม สภาพสังคมทั่วไปที่มองกว้างๆ ว่าปัญหาสังคมต่างๆ ที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร เช่นว่า สังคมไทยมีปัญหาอาชญากรรม ปัญหาอบายมุข ปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว เรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความสามัคคีหรือความแตกแยก และเรื่องค่านิยม เป็นต้น อย่างไรบ้าง เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างไร สมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันมากไหม ดีขึ้นหรือเลวลง และควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เป็นต้น

มองกันต่อไปตลอดจนกระทั่งในแง่การเมือง ในแง่การเมืองนี้ พระพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลมาก หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาท่านก็นำมาใช้ในเรื่องการเมือง แล้วเราก็ดูการใช้ธรรมในทางการเมืองนั้นในแง่สภาวธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม แล้วก็ในแง่อดีต ปัจจุบัน อนาคต และก็หนทางหรือสภาพที่ควรจะเป็นในอนาคต อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่าง

ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ตอนแรกมี ๓ หัวข้อ คือ สภาวธรรม จริยธรรม และบัญญัติธรรม แล้วคูณด้วยสี่ข้อ คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต และสิ่งที่ควรเป็นในอนาคต แล้วก็คูณด้วยสี่ คือ ในแง่การศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมกัน คูณแล้วได้ ๑๙๒ หัวข้อ ก็ไปคิดเอา ก็ได้หัวข้อ แล้วก็เรื่องราวเนื้อหามากมาย อย่างนี้เป็นตัวอย่าง แล้วจะมาบรรยายกันอย่างไรหวาดไหว อันนี้อาตมภาพพูดให้เห็นว่า ถ้าเราจะศึกษากันจริงให้เข้าใจ เรื่องของพระพุทธศาสนากับสังคมนี้ มันมีเนื้อหาที่จะต้องพูดมากมาย เราจะพูดกันในเวลาเล็กน้อยนิดหน่อยนี้ไม่พอหรอก ทีนี้เราจะทำอย่างไร ในเมื่อเรื่องราวมันมากมายอย่างนี้ ก็พูดได้เป็นตัวอย่าง วันนี้อาตมภาพก็จะยกตัวอย่างสักนิดหนึ่ง

ลืมไปอีกนิดหนึ่งต้องขออภัย ยังไม่ครบ ๑๙๒ ยังมีตัวแปรที่เป็นปัจจัยประกอบที่ต้องพิจารณาอีก นอกจากสี่หัวข้อที่พูดมาแล้วนี้ ยังมีตัวแปรที่เป็นปัจจัยประกอบเข้ามา ซึ่งเราจะต้องนำมาพิจารณาด้วย ก็คือว่า พระพุทธศาสนาที่คนไทยนำมาใช้กับสังคมของตนเองนี้ บางทีมันก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการเดิมที่แท้จริง โดยมีตัวแปรอื่นปนหรือแทรกเข้ามา ซึ่งมีอิทธิพลกระทบได้ ตัวแปรเหล่านั้นก็อาจจะเป็น เช่นว่า

ประการแรก สภาพสังคม สังคมของเรานั้น สมัยก่อนเป็นสังคมเกษตรกรรม ตามลักษณะชีวิตในสังคมเกษตรกรรมนั้น ความเป็นอยู่ก็จะเป็นไปแบบหนึ่ง การนำธรรมมาใช้ก็จะไปในทำนองหนึ่ง หรือในสังคมที่เป็นแบบอุตสาหกรรม เวลานำธรรมมาใช้ ก็จะไปเลือกไปเน้นธรรมบางแง่บางข้อ ซึ่งจะไม่ตรงกับสังคมแบบเกษตร สังคมต่อไปเป็นสังคมแบบข่าวสารข้อมูล ก็จะมีการนำธรรมมาใช้ในอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน อันนี้ตัวแปรอย่างที่หนึ่ง ก็คือสภาพของสังคม

ต่อไปตัวแปรอย่างที่สอง ก็คือ ลัทธิความเชื่อถือ อุดมการณ์อย่างอื่นที่มีในสังคมไทย เพราะเราไม่ได้นับถือหรือไม่ได้รับเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น อาจจะมีความเชื่อถือลัทธิดั้งเดิม เช่น ความเชื่อภูตผีปีศาจ และมีลัทธิศาสนาอื่นเข้ามา เช่น ศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู ก็เข้ามา

นอกจากนั้น อย่างที่สาม ความเข้าใจของคนไทยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเอง ก็เป็นปัจจัยตัวแปรอย่างหนึ่ง ในแง่ที่ว่าความเข้าใจนั้นมีมากน้อยเพียงไร แล้วก็ในการนำมาใช้ปฏิบัติ ว่าเราเลือกเน้นในแง่ไหน ด้านใด เป็นต้น สังคมไทยกับสังคมลังกา เป็นสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน แต่เวลานำธรรมมาใช้ก็ไม่เหมือนกัน เช่นสังคมไทยนี้ อาจจะเน้นเรื่องทาน เราพัฒนาประเพณีในเรื่องทานขึ้นมา ทำบุญทำกุศลด้านนี้มาก มีประเพณีเกี่ยวกับเรื่องทำบุญให้ทานนี้มากมายเหลือเกิน แต่สังคมพุทธแห่งอื่นก็อาจจะไม่ได้เน้นด้านนี้มากเหมือนเรา เขาอาจจะไปเน้นด้านอื่น เป็นต้น

ต่อจากนั้นก็ตัวแปรเกี่ยวกับเรื่องเจตนาของผู้นำธรรมมาใช้อีก เช่น ผู้นำในยุคนั้นๆ นำธรรมมาใช้สนองความปรารถนาในแบบไหน เป็นต้น

ตกลงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรทั้งนั้น ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคม อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อบรรยายไปตามแนวนี้จะได้ ๑๙๒ หัวข้อ ทีนี้ก็จะยกตัวอย่าง

วันนี้ เรามาพูดกันในรายการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ฉะนั้น เรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมที่น่าจะพูดในวันนี้ ก็คือเรื่องพระพุทธศาสนากับการเมือง การเมืองในที่นี้ก็คือเรื่องเกี่ยวกับการปกครอง เราอาจจะยกเอาหัวข้อที่พูดไปแล้วมาพิจารณา เช่นหัวข้อที่หนึ่ง สามหัวข้อย่อย คือ เรื่องสภาวธรรม จริยธรรม แล้วก็บัญญัติธรรม เริ่มตั้งแต่ว่า พระพุทธศาสนานี้ พูดเกี่ยวกับเรื่องการปกครองในแง่สภาวธรรมอย่างไร

ในแง่สภาวธรรม พระพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่คงตัว ถือว่าในเรื่องของการปกครอง ในเรื่องของบ้านเมืองต่างๆ นี้ มันก็เป็นไปตามหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเปลี่ยนแปลง มีความเป็นไปที่เกิดแล้วดับ มีความเจริญแล้วก็เสื่อมได้ เสื่อมแล้วก็เจริญได้ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องโยงไปหาความเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือมันจะเสื่อมหรือจะเจริญอย่างไรนั้น ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย อย่างนี้เรียกว่าเป็นการพิจารณาในแง่สภาวธรรม

การพิจารณาในแง่ที่ ๒ ก็คือ จริยธรรม หลักธรรมเกี่ยวกับแนวทางความประพฤติปฏิบัติ เช่นคำสอนเกี่ยวกับแนวความประพฤติของพระมหากษัตริย์ ว่าให้ทรงมีทศพิธราชธรรม คือธรรมะ ๑๐ ประการ ได้แก่ ทานัง สีลัง ปริจจาคัง อาชชวัง มัททวัง ตะปัง เป็นต้น ดังที่เวลาเราพูดถึงองค์พระมหากษัตริย์เรามักจะพูดว่า พระองค์ทรงทศพิธราชธรรม หรือว่า กษัตริย์องค์นั้นองค์นี้มีทศพิธราชธรรมหรือไม่ เป็นต้น หรือว่ามี จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ ซึ่งในสังคมไทยเรามาใช้เป็น ๑๒ ประการ แล้วก็มีราชสังคหวัตถุ ๔ มีขัตติยพละ ๕ ซึ่งได้ถือกันมาเป็นประเพณีในสังคมไทยว่า นี้เป็นจริยธรรมของพระมหากษัตริย์

ทีนี้ในแง่บัญญัติธรรม เราก็เอาจริยธรรมนี้แหละมาบัญญัติ เช่น เรามีประเพณีเกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อในหลวงเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ก็จะมีการอ่านประกาศ มีการแต่งข้อความเกี่ยวกับจริยธรรมเหล่านี้ เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นคำโคลง คำกลอน แล้วมาประกาศ คล้ายๆ ว่า เป็นการเสนอแนะ หรืออ้างอิงคำสั่งสอนในทางธรรมแก่องค์พระมหากษัตริย์ ในพิธีราชาภิเษกนั้น ซึ่งผู้ที่สนใจในเรื่องเก่าๆ ก็จะไปหาอ่านได้ ซึ่งจะทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณของเรานี้ ได้นับถือจริยธรรมตามแนวทางของพระพุทธศาสนาในการปกครอง จนกระทั่งมาวางเป็นแบบแผนประเพณี เป็นบัญญัติธรรม

ทีนี้เราก็มาดูว่า ในอดีต พระมหากษัตริย์ได้ทรงถือปฏิบัติตามแนวธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างที่ว่ามานี้แล้วอย่างไรบ้าง จากนั้นในปัจจุบันนี้ เราได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไป เรารับเอาระบบประชาธิปไตยเข้ามา โอนพระราชอำนาจมาเป็นอำนาจของสถาบันการปกครองแบบประชาธิปไตย มีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ มีรัฐสภา มีคณะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี แล้วก็มีศาล เป็นผู้ใช้พระราชอำนาจเหล่านั้น ประเพณีการใช้ราชธรรมต่างๆ นี้ก็เลือนลางลงไป อันนี้เราจะถือว่าเป็นการห่างเหินจากหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาในแง่การปกครองก็ได้

เราอาจจะพูดว่า ในแง่ของการปกครองปัจจุบันนี้ เราโน้มไปในทางแนวความคิดแบบตะวันตก เราก็นำเอาหลักการของประชาธิปไตยแบบตะวันตกเข้ามาใช้ ซึ่งกินความไปถึงบัญญัติธรรม คือระบบการปกครอง หรือตัวรูปแบบต่างๆ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่า มีระบบการบริหารแบบคณะรัฐมนตรี มีระบบรัฐสภาเป็นที่ออกนิติบัญญัติ แล้วก็มีระบบศาลทำหน้าที่ตุลาการ ซึ่งเป็นที่ใช้พระราชอำนาจด้านต่างๆ แต่ระบบการเหล่านั้นวางตามแบบของตะวันตก ก็แสดงว่าระบบแบบพระพุทธศาสนาที่เป็นบัญญัติธรรมนี้หายไป พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ เหมือนกับว่าไม่มีอิทธิพลในด้านบัญญัติธรรมของการปกครอง หรือการเมือง ของประเทศไทยหรืออย่างไร

ต่อจากนั้นเราก็อาจจะมีข้อพิจารณาว่า ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ดูตามแนวโน้มในอนาคตถ้าเป็นอย่างนี้ พระพุทธศาสนาก็อาจจะหมดอิทธิพลในทางการเมืองลงไป แล้วเราก็พิจารณาว่า สภาพที่เป็นแนวโน้มอย่างนี้มันดีหรือไม่ เราอาจจะบอกว่าเวลานี้มีปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองของเรานี้ ที่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นจริงสักที ต่อจากนั้นเราก็มองในแง่ว่า แล้วมันควรจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่นอาจจะพิจารณาได้ในแง่ว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ถ้าให้ดีแล้วควรจะทำอย่างไร การที่ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่ดีเท่าที่ควรนี้ ก็เป็นทั้งในแง่ของการที่ว่าไม่รู้จักตัวเอง และในแง่ที่ปรับปรุงตัวเองไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เช่นว่า ฝ่ายปกครองในยุคสมัยใหม่นี้ รับพระราชอำนาจไป แต่ว่าไม่รับราชธรรมไป เป็นต้น คือเอาอำนาจของในหลวงไป แต่ธรรมของในหลวงที่จะใช้ในการปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม ไม่รับเอาไป ดังนี้เป็นต้น

นอกจากนี้ก็อาจจะมองไปในแง่ที่ว่า เมื่อปรับปรุงการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยแล้ว ธรรมในพระพุทธศาสนาที่เราเคยใช้ให้เหมาะสมสำหรับระบบราชาธิปไตยเป็นแบบหนึ่ง พอมาถึงตอนนี้ เราไม่ได้คิดพิจารณาที่จะค้นหาเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เหมาะสำหรับประชาธิปไตยขึ้นมาใช้ว่า หลักธรรมอะไรบ้างสำหรับจะใช้ในระบบการปกครองประชาธิปไตย ถ้ามีความรู้ความคิดอย่างนี้แล้ว เราก็จะคิดพิจารณาในแง่ว่าจะเลือกหาธรรมะที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยมาใช้ อันนี้ก็เป็นแง่มุมหนึ่งที่จะมองได้

ที่พูดมานี้อาตมภาพก็ยกตัวอย่างแต่เฉพาะเรื่องการเมืองมาอย่างเดียว เพื่อให้ที่ประชุมได้คิดเอาเอง ให้ไปขยายความเอาเองตามหัวข้อประมาณ ๑๙๒ หัวข้อนั้น แล้วก็เกินเวลาไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นขอเสนอไว้เพียงเท่านี้ก่อน ขออนุโมทนา

๒๐๐ ปี กรมพระปรมานุชิตฯ
กับสังคมไทย6

ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ และเพื่อนสพรหมจารี
ขอเจริญพร ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมทั้งท่านที่สนใจใฝ่ธรรมทุกท่าน

อาตมภาพมาในวันนี้ ต้องขอออกตัวตามความเป็นจริงว่า ที่ได้รับนิมนต์มานี้ เป็นการมาพูดในเรื่องที่ตนเองมีความรู้น้อยเป็นอย่างยิ่ง หรือเกือบจะเรียกได้ว่าไม่รู้เรื่อง เพราะมีความรู้น้อยทั้งในส่วนที่เป็นพระประวัติขององค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และน้อยทั้งในแง่ที่เกี่ยวกับผลงานของพระองค์

อย่างไรก็ตาม ก็พูดได้ดังที่ทราบกันคือ พระองค์ทรงเป็นปูชนียบุคคลของวงการคณะสงฆ์ไทย และของชาวไทยทั้งหมดด้วย การที่เราจัดงานครั้งนี้ก็เป็นการมายกย่อง เทิดทูน บูชาบุคคลที่ควรบูชา ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องกับคติในทางพระพุทธศาสนาที่ว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคลอันอุดม อย่างที่เราสวดมงคลสูตร ในบาทคาถาแรกว่า

ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

และการบูชาอย่างนี้ ย่อมมีความหมายอย่างน้อย ๒ ประการด้วยกัน

ประการที่ ๑ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที โดยรำลึกถึงพระคุณของท่านผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ไว้ให้แก่พระศาสนา และสังคมไทย

อีกประการหนึ่ง ก็เป็นการยกย่องบุคคลที่ควรยกย่องให้เป็นทิฏฐานุคติ สำหรับคนรุ่นหลังหรืออนุชนจะได้มีแบบอย่างที่ดีงามสืบต่อไป อันจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

สำหรับการมาพูดในโอกาสนี้ ถ้าจะพูดในเรื่องพระประวัติก็ตาม หรือผลงานของพระองค์ก็ตาม ในที่ประชุมนี้ ก็มีมากมายหลายท่าน ที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี ซึ่งถือได้ว่ารู้ดีกว่าตัวอาตมภาพผู้พูดนี้ และเราก็สามารถหาเอกสารอ่านได้มากมาย เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาพูดในเรื่องพระประวัติและผลงานของพระองค์ นอกจากจะพูดถึงแง่คิดบางอย่างบางประการ

โดยเฉพาะในเวลาอันสั้นนี้ก็คงพูดได้ในแง่ของข้อสังเกตต่างๆ โดยยึดเอาองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นหลัก แล้วเชื่อมโยงเข้ากับสภาพสังคมไทย ตลอดจนปัญหาการพัฒนาสังคมไทย ที่เป็นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลในสังคมไทยสมัยเก่า เป็นบุคคลในสมัยอยุธยา ต่างจากพวกเราปัจจุบันที่เป็นคนในยุครัตนโกสินทร์

จริงอยู่ ตามพระประวัตินั้น พระองค์ได้ประสูติในสมัยกรุงเทพฯ นี้ แต่กรุงเทพฯ นี้ตั้งชื่อเลียนแบบอยุธยา สมัยแรกก็เรียกกันว่าอยุธยา สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ทรงเรียกสมเด็จพระมหาสมณเจ้าว่าเป็นพระกรุงศรีอยุธยา ทีนี้เราเป็นคนสมัยนี้ เป็นคนรัตนโกสินทร์ ก็เท่ากับว่าเป็นคนคนละยุคสมัย ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือว่า พระองค์เป็นบุคคลหรือเป็นพระในสังคมไทยสมัยเก่า

ทีนี้ สภาพสังคมสมัยเก่าว่าโดยสัมพันธ์กับพระศาสนาก็คือ เรื่องวัด เรื่องพระ เรื่องการพระศาสนา และวัฒนธรรมไทยโดยทั่วไป ซึ่งต่างจากสภาพที่เป็นอยู่ในสมัยปัจจุบันมาก ถ้าเราวางใจไม่ถูก จะเห็นเป็นเหมือนกับว่า ท่านเป็นคนละพวกกับเราทีเดียว เพราะว่าบรรยากาศ สภาพแวดล้อมทางสังคม และสถาบันคณะสงฆ์ในสมัยนั้นต่างกันเป็นคนละแบบกับที่เป็นอยู่ในสมัยนี้

พูดสั้นๆ ว่าพระองค์อยู่ในยุคที่พระพุทธศาสนากับสังคมไทย หรือพระพุทธศาสนากับชีวิตของประชาชนหรือวิถีชีวิตของสังคมนี้ กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างกับสมัยนี้ที่เรารู้สึกมีความแบ่งแยก คล้ายๆ ว่าพระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องหนึ่ง สังคมไทยทั่วไปของชาวบ้านก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จนกระทั่งว่า เรื่องของชาวบ้านก็อย่างหนึ่ง เรื่องทางธรรมก็อย่างหนึ่ง หรือการดำเนินชีวิตของชาวบ้านก็เรื่องหนึ่ง จริยธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนละเรื่อง คนละพวก หรือคนละประเภทกัน

พวกเราในปัจจุบันมีความรู้สึกแยกต่างหากกันอย่างนี้ ซึ่งในสมัยโน้นไม่เป็นอย่างนี้ ในสมัยก่อนนั้นมีความกลมกลืนกันเป็นอย่างมาก โดยที่ว่าในทางรูปธรรมนั้นจะเห็นว่า วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เป็นศูนย์กลางของชีวิตทางสังคม เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม

ปัจจุบันนี้ถ้าเราจะพูดว่าวัดเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทย และสังคมไทย เราก็คงจะพูดไม่สะดวกปาก คือ จะต้องแบ่งใจ โดยอาจจะพูดถึงวัฒนธรรมไทย ในความหมายว่าเป็นวัฒนธรรมไทยเก่าๆ เพราะวัฒนธรรมไทยที่เป็นอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้เป็นวัฒนธรรมอย่างอื่นไปแล้ว มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุ เป็นวัฒนธรรมบริโภค เป็นวัฒนธรรมอะไรก็ตามซึ่งที่เป็นอยู่จริงนี้ มันเป็นของที่รู้สึกกันว่ามาจากภายนอก เหมือนกับว่าสังคมไทยขณะนี้ไม่ใช่มีวัฒนธรรมไทย ดังที่เรามักจะพยายามพูดถึงวัฒนธรรมไทย ในความหมายว่าเป็นวัฒนธรรมเก่า ซึ่งอาจจะไม่มีชีวิตชีวาอยู่จริงในสังคมไทยขณะนี้

ฉะนั้น เราจะต้องแยกว่าวัฒนธรรมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคืออะไร ในที่นี้ถ้าหมายถึงวัฒนธรรมที่เป็นอยู่จริงในชีวิตของสังคมไทยส่วนใหญ่ เราไม่อาจจะพูดได้เต็มปากว่า ปัจจุบันนี้วัดเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมไทย เราพูดได้แต่เพียงว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมเก่าที่อาจจะผ่านพ้นยุคสมัยไปแล้ว

ยิ่งถ้าพูดถึงการศึกษาโดยเฉพาะก็ยิ่งชัดเจน ในด้านการศึกษาที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมนั้น วัดปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการศึกษาของมวลชน หรือของทวยราษฎร์อย่างสมัยก่อนแล้ว

หันไปมองดูบุคคลที่อยู่ในวัดคือ พระสงฆ์ สมัยก่อนนั้น พระมีบทบาทเป็นผู้นำในทางจิตใจ และทางสติปัญญา มีความรู้เหนือกว่าประชาชน สามารถแนะนำประชาชนได้ แต่ปัจจุบันนี้เราไม่แน่ใจที่จะยอมรับบทบาทและฐานะอันนี้

ในสมัยก่อน พระเป็นอยู่โดยมีชีวิตกลมกลืนกับสังคม อยู่กับชาวบ้านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างบริบูรณ์ทีเดียว โดยที่ว่าแม้แต่ผู้ที่เข้ามาบวชคือตัวพระเอง ก็มาจากบุคคลทุกระดับชั้นในสังคม เช่นอย่างองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้าเองก็ทรงเป็นเจ้าเป็นนายเป็นพระราชโอรสมาผนวช ในสมัยนั้นเราจึงพบว่า พระที่มาจากทุกระดับชั้นของสังคมนั้น มีตั้งแต่เจ้าไปจนถึงชาวนา แต่ในปัจจุบันนี้ พระส่วนใหญ่ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว พระส่วนใหญ่สมัยนี้มาจากชาวชนบท เป็นลูกชาวไร่ชาวนา นี่เป็นสภาพต่างๆ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

แม้แต่วิธีการศึกษาในชีวิตแบบไทยสมัยโบราณก็ต่างจากสมัยนี้ คือในการเรียน การศึกษา ลูกศิษย์มาเรียนกับครูอาจารย์เป็นการส่วนตัว เหมือนอย่างที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าเองก็ทรงเรียนวิชากับสมเด็จพระวันรัตนที่เป็นพระอาจารย์เป็นส่วนพระองค์ และลูกศิษย์ของพระองค์เองก็มาเรียนกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า อย่างเป็นการส่วนตัวเหมือนกัน ต่างจากสมัยนี้ที่เราจัดเป็นสถาบัน เป็นชั้นเรียนอะไรต่างๆ ขึ้นมา วิถีชีวิตมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ฉะนั้นปัจจุบันนี้ เราจึงอยู่ในบรรยากาศของวัฒนธรรมหรือสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ต่างออกไป

เมื่อคนไทยแปลกแยกกับสังคมไทย

บัดนี้ ยูเนสโกมายกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม อันนี้ก็เป็นข้อดี เพราะทำให้คนมีความสนใจขึ้นมา โดยหันมาให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมไทยที่เรามองเป็นเรื่องเก่าๆ นี้ แต่เพราะสภาพแวดล้อมของสังคมมันเปลี่ยนไปอย่างนี้แล้ว เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติหรือตามสภาพของความเป็นจริง เราจึงเห็นว่า คนที่จะสนใจในเรื่องนี้มีไม่เท่าไร เพราะคนทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังข่าวนี้แล้วมีความรู้สึกว่า บุคคลที่ได้รับยกย่องในกรณีนี้ คือองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้านั้น เหมือนกับเป็นบุคคลในสังคมอื่นที่ไม่ใช่สังคมของเขา นี่คล้ายๆ อย่างนี้ นี้เป็นข้อที่จะต้องตระหนักไว้อย่างหนึ่ง

การจัดงานนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อให้คนไทยเราทั่วไปเห็นคุณค่าแห่งงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น แต่ความมุ่งหมายของเราจะสำเร็จอย่างนั้นได้ มีเงื่อนไขสำคัญว่าเราจะต้องแก้ปัญหานี้ได้ด้วย คือความเหินห่างแปลกแยกทางวัฒนธรรม ที่ว่าคนไทยส่วนใหญ่ได้เหินห่างแปลกแยกจากวัฒนธรรมที่เป็นมาแต่เดิมแล้ว บรรยากาศทางวัฒนธรรมได้เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งเราพูดกันว่าคนไทยทั่วไปไม่มีความภูมิใจในวัฒนธรรมไทย

ถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่สำเร็จ การกระทำของยูเนสโกจะช่วยได้เพียงในระดับหนึ่ง แต่จะแก้ปัญหาสำคัญที่เป็นจุดมุ่งหมายไม่สำเร็จ คือ เราจะไม่สามารถทำให้คนทั่วไปเห็นคุณค่างานของพระองค์อย่างแท้จริง อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตประการหนึ่ง

ต่อไปประการที่สอง ก็เป็นเรื่องเดียวกัน แต่มองแคบ หรือกระชับกระชั้นเข้ามาอีก คือที่บอกว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นบุคคลในยุคเก่านั้นน่ะ ยุคเก่าของพระองค์สมัยนั้นเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อด้วย หมายความว่า เป็นช่วงต่อของการมีความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย เป็นช่วงต่อที่ไทยเราจะก้าวมาสู่ยุคใหม่ ออกมาจากวัฒนธรรมแบบไทยเดิมที่พูดถึงเมื่อกี้

ในช่วงสมัยนั้น ไทยเรากำลังต้อนรับวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามา และก็ได้มีการปะทะกันทางวัฒนธรรม ซึ่งได้ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาในสังคมไทยอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสืบมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ คือ ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมไทยเดิมกับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก ไม่ประสานสอดคล้อง ไม่สามารถจะกลมกลืนกันได้ และการที่คนไทยเราจำนวนมากละทิ้งวัฒนธรรมไทย หันไปรับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเป็นอย่างมาก

ทีนี้ ต่อจากยุคของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส แล้วก็ปรากฏว่า สังคมไทยได้หันเบนออกไป หรือตีจาก จากวัฒนธรรมไทย คนไทยหันไปนิยมวัฒนธรรมวัตถุของตะวันตก นิยมวิชาการตะวันตก ศึกษาวิชาการตะวันตก ชื่นชมแนวความคิดเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์

การนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ยุคใหม่

ในช่วงนั้นปรากฏว่า ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่ามาจากตะวันตกได้เฟื่องฟูขึ้นมามาก พร้อมกันนั้น ความเชื่อถือในวัฒนธรรมเก่าๆ ก็ถูกผนวกเข้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความงมงาย ความคร่ำครึเหลวไหล อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพที่เกิดขึ้นในสายตาของคนในยุคสมัยใหม่

พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น ก็เป็นเรื่องที่พ่วงมากับวัฒนธรรมไทยด้วย จึงถูกคนไทยในยุคที่เปลี่ยนแปลงนั้น มองเป็นเรื่องเก่าที่คร่ำครึล้าสมัยด้วย และบางทีก็จัดเอาเป็นเรื่องจำพวกงมงายไปเลย

แต่ในเวลาเดียวกันก็ปรากฏว่า บุคคลที่เป็นผู้นำทางพุทธศาสนาในยุคนั้น ซึ่งมีความรักในพระพุทธศาสนา ก็ได้พยายามที่จะปรับตัวเข้ากับยุคสมัย โดยการพยายามอธิบายพระพุทธศาสนาให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาที่แท้นั้นเป็นวิทยาศาสตร์ หรือสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์

ถ้าเราหันกลับไปดูวรรณกรรมในยุคนั้น คือในยุคช่วงต่อนี่เราจะเห็นว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือการที่ว่าผู้นำของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาได้พยายามพูดให้เห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร

ในหลวงรัชกาลที่ ๔ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นพระองค์หนึ่งที่ได้ทรงนำในเรื่องนี้ พระองค์ได้พยายามที่จะขจัดสิ่งที่ถือว่าเป็นความงมงายออกไป จากความเชื่อถือและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา และได้ทรงพยายามที่จะฟื้นฟูนำพุทธศาสนากลับไปสู่ยุคพระไตรปิฎก โดยแยกเอาเรื่องของความเชื่อถือที่มาในยุคหลัง เช่นอรรถกถาที่มีสิ่งเหลวไหลปนเข้ามามากออกไป โดยถือว่า อันนี้เป็นเรื่องของการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และพร้อมกันนั้นก็ทรงพยายามอธิบายพระพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล

ถ้าเราดูการอธิบายพระพุทธศาสนาของวรรณกรรม หรือวรรณคดีในยุคก่อนนั้น คือ ถือเอาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นหลัก แล้วหวนย้อนถอยหลังไป เราจะเห็นว่า การอธิบายพระพุทธศาสนาในยุคก่อนนั้น จะเป็นเรื่องของการที่พูดไปตามความเชื่อถือ หรือศรัทธาที่สืบๆ กันมา แล้วก็อธิบายเพื่อส่งเสริมศรัทธาให้มากขึ้น โดยมุ่งที่ความไพเราะ แล้วก็ให้เห็นสิ่งอัศจรรย์ต่างๆ เช่น อธิบายพุทธประวัติก็เต็มไปด้วยฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์

แต่ถ้าดูในยุคต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นแล้ว จะเห็นว่าการอธิบายเริ่มเปลี่ยนไป ท่านจะอธิบายพุทธประวัติในแบบที่พยายามพูดให้เห็นเป็นเรื่องของความจริง และเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล

ถ้าเรามองอย่างนี้ ก็จะเห็นภาพอย่างที่บอกเมื่อกี้ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นหลักหรือเป็นองค์แทนแห่งยุคสมัยเก่าของวัฒนธรรมไทยเดิม แล้วก็มองสมเด็จพระมหาสมณเจ้าองค์ต่อมา ซึ่งเป็นผู้นำในยุคหลังจากนั้น คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่าเป็นองค์แทนของยุคสมัยใหม่ หรือพระพุทธศาสนาในยุคใหม่

ขอให้ดูหนังสือที่สองพระองค์ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับพระประวัติของพระพุทธเจ้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้นทรงพระนิพนธ์เรื่องที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ปฐมสมโพธิ คือ ปฐมสมโพธิกถา แล้วเรามาดูหนังสือประวัติพระพุทธเจ้า ที่นิพนธ์โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์หลัง กรมพระยาวชิรญาณวโรรส คือ หนังสือพุทธประวัติ ๒ เล่มแรกในชุดที่มี ๓ เล่ม จะเห็นชัดเจนว่าการอธิบายเรื่องราวทั้งหลายนั้นแตกต่างกันไปคนละแบบ อย่างที่กล่าวเมื่อกี้แล้ว

ปฐมสมโพธิกถา นั้น เล่าสิ่งที่เชื่อถือสืบต่อกันมา โดยมุ่งหวังที่จะเจริญศรัทธาของสาธุชน โดยใช้ถ้อยคำ ท่วงทำนอง และวิธีอธิบายอันไพเราะ แล้วก็ให้เห็นถึงความเป็นอัศจรรย์ต่างๆ มีฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์มากมาย

แต่พอมาดูหนังสือพุทธประวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แนวการบรรยายและอธิบายก็เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นว่า จะเอาแต่ข้อมูลความจริง และพยายามพูดให้เห็นเป็นเหตุเป็นผล แม้แต่สิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์ก็พยายามตีความให้เห็นว่า เป็นเรื่องเป็นเหตุเป็นผลเป็นไปได้อย่างไร

แนวการอธิบายสองแบบของสองพระองค์นี้ ในแง่ของยุคสมัย ก็จัดได้ว่าไม่ห่างกันมากนัก เราคงต้องถือว่า องค์หนึ่งเป็นผู้ทรงอยู่ที่ปลายยุคเก่า อีกองค์หนึ่งเป็นต้นยุคใหม่ นี่คือความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งในทางวัฒนธรรมไทยและในทางกระแสความคิด

ถ้าเรามองสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นองค์ปลายสุดของยุควัฒนธรรมไทยเดิม สมมติว่าเราตัดแยกอย่างนี้ พระองค์ก็เด่นขึ้นมาในวัฒนธรรมอันนั้น เราสามารถพูดได้ว่า พระองค์เป็นผู้ที่สามารถรักษาเกียรติภูมิหรือเป็นศักดิ์เป็นศรีของวัฒนธรรมไทยแห่งยุคสมัยเก่าได้ พระองค์อยู่ปลายสมัย แต่ก็ทรงรักษาเกียรติภูมิไว้ได้ ทำพระองค์ให้เด่นขึ้นมาโดยทำให้คนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทยเดิม

ในเวลาเดียวกันเราก็เริ่มยุคใหม่ โดยมีบุคคลสำคัญอย่างในหลวง รัชกาลที่ ๔ แล้วก็สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสที่พยายามนำพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยเข้าสู่ยุคใหม่ ให้สอดคล้องกลมกลืนกับความเชื่อถือและกระแสความคิดแบบใหม่ โดยที่พระองค์ก็เป็นผู้ที่มีพระปรีชาสามารถ เราจึงมีบุคคลผู้เริ่มต้นยุคใหม่ ที่มีความสามารถเช่นเดียวกัน เมื่อมองในแง่นี้ก็ถือได้ว่า บุคคลผู้นำในยุคทั้งสองนั้น ทั้งท่านผู้ที่เป็นปลายสุดของยุคเก่า และท่านผู้เริ่มต้นยุคใหม่ ต่างก็ได้ทำหน้าที่ของท่านเป็นอย่างดีแล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าคนในยุคต่อมาจะทำหน้าที่ของตนเองอย่างไร

คนไทยรับความเจริญใหม่
แบบนักสืบเหตุหรือนักเสพผล

พวกเราในยุคใหม่นี้มีหน้าที่อย่างไร ปัญหาสำคัญที่เป็นมาก็คือ เราจะเห็นว่าคนไทยในยุคต่อมาไม่ได้มีความคิดที่จะพยายามนำเอาวัฒนธรรมไทยเดิมเข้าประสานกับวัฒนธรรมตะวันตก หรือย่อยของเก่ากับของที่เข้ามาใหม่ให้กลมกลืนกัน นอกจากจะละเลยไม่รักษาสิ่งที่ดีในวัฒนธรรมไทยของตนไว้แล้ว ก็ไม่ได้พยายามในการที่จะรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างพินิจพิจารณาเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้ไหวทันที่จะศึกษาตรวจสอบวัฒนธรรมที่ตนจะรับเข้ามาให้เข้าถึงแก่นถึงราก แล้วกลั่นกรองเลือกรับเอาส่วนที่ดีที่เป็นสาระเข้ามา พร้อมทั้งรับเข้ามาในลักษณะที่จะย่อยให้เข้าเป็นเนื้อเป็นตัวของตน

ผลสืบเนื่องจากความผิดพลาดนี้ก็คือ ต่อมาเราได้มีภาพที่แสดงว่า คนไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตกแบบหยิบเอามาทั้งดุ้น แล้วยิ่งกว่านั้น ยังมีคำที่กล่าวหากันอยู่ซึ่งน่าจะเป็นความจริงว่า เราไม่สามารถรับเอาเนื้อหาสาระที่แท้ของวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาด้วย แม้แต่วิทยาการของตะวันตก เราก็รับเอามาโดยไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ก็จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง คือเป็นปัญหาของการเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ หรือวัฒนธรรมภายในกับวัฒนธรรมภายนอก

ที่พูดมานี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นี้ด้วย เพราะพระองค์ทรงมีบทบาทอยู่ในช่วงที่เราเริ่มต้นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนยุคสมัย โดยมีการเผชิญกับวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยนั้น ซึ่งคนไทยเราจะต้องพิจารณา ทบทวน ตรวจสอบตนเองในเรื่องนี้ คือการที่ว่าทำอย่างไรเราจะประสานวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมภายนอกให้กลมกลืนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้สอดคล้องเป็นประโยชน์แก่กันได้

ปัญหานี้ก็ยังคงเป็นปัญหาเด่นของสังคมไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน คือการที่เราไม่ได้ใช้วิจารณญาณ เรารับวัฒนธรรมตะวันตกในสภาพที่เป็นผลผลิตสำเร็จรูป เพื่อเอามาบริโภค มากกว่าจะรับเอาในส่วนที่เป็นเหตุปัจจัยเพื่อนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ พูดสั้นๆ ว่า เรามองความเจริญแบบนักเสพผล ไม่มองแบบนักทำหรือนักสร้างเหตุ

ขอย้ำว่าปัญหานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือลักษณะการรับวัฒนธรรมในสมัยหลังนี้ เป็นการรับผลผลิตเอามาง่ายๆ โดยไม่ได้สืบค้นลงไปหาเหตุปัจจัย ถ้าเรารับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างฉลาด เราจะต้องสืบค้นหาเหตุปัจจัยของความเจริญของตะวันตก แล้วก็รับให้ตรงเหตุปัจจัยที่จะเอามาใช้ เพราะฉะนั้นจะถือว่าเป็นความผิดพลาดหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยเราก็ไม่สามารถประสานแล้วก็ย่อยวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้เท่าที่ควร ขอผ่านเรื่องนี้ไป

ไม่แยกเก่าแยกใหม่ จึงจะเป็นไทยอันเดียว

ต่อไปประการที่สาม ก็เรื่องเดียวกันอีกนั่นแหละ แต่เป็นอีกแง่หนึ่ง ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทยปัจจุบันเช่นเดียวกันคือ ปัญหาการแยกระหว่างเก่ากับใหม่ ซึ่งโยงไปหาทัศนคติแบบที่ว่า ถ้าเอาก็ยึดถือและยกเต็มที่ ถ้าไม่เอาก็ตีให้แหลกลาญ

ในสังคมไทยนี้เท่าที่สังเกต จะมีอย่างนี้บ่อย ซึ่งทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่าสืบทอดต่อกันไม่ได้ คือเราไม่สามารถสืบต่องานและไม่สามารถสานต่อความคิด ยกตัวอย่างเช่น คนเก่าทำอะไรไว้ดี พอคนใหม่เข้ามาก็ทิ้งเลยทั้งหมด แล้วก็เริ่มกันใหม่ จะเป็นอย่างนี้อยู่เสมอ แม้ในกิจกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องล้มและก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่อยู่เรื่อยไป เป็นอย่างนี้อยู่เนืองนิตย์

อย่างนี้คือสภาพที่ว่า ถ้าเอาก็ยึดเต็มที่ ถ้าไม่เอาก็ตีแหลกลาญ ท่าทีนี้เมื่อนำมาปฏิบัติในการมองเก่ากับใหม่ มันก็จะกลายเป็นการแบ่งชัดลงไปและไม่ยอมรับกันระหว่างพวกเก่ากับพวกใหม่

พวกเก่ายึดถือเก่า ก็บอกว่า เก่าเท่านั้นดี ใหม่เลวหมด ไม่ดีทั้งนั้น ถ้าพวกไหนชอบใหม่ ก็บอกว่า ใหม่เท่านั้นถูก เก่าโง่ทั้งนั้น จะเป็นอย่างนี้ เลยไม่สามารถมองเห็นคุณค่าของกันและกัน เรียกว่าไม่สามารถมองเห็นสิ่งนั้นตามที่มันมีมันเป็น เมื่อไม่มองเห็นตามที่มันมีมันเป็น ตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงพูดอย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่าเราไม่สามารถพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องระหว่างใหม่กับเก่าได้

ในตอนที่ต่อจากยุคของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็คือเราเข้าสู่ยุคใหม่ เมืองไทยได้เริ่มรับวัฒนธรรม รวมทั้งวิชาการต่างๆ จากตะวันตกอย่างเต็มขนาดและต่อเนื่อง เราเข้าสู่ยุคใหม่นี้เมื่อศตวรรษที่แล้ว เป็นการก้าวจากยุคเก่ามาสู่ยุคใหม่ ครั้งหนึ่งแล้ว

เมื่อเวลาผ่านมาถึงบัดนี้ เรากำลังเกิดความรู้สึกว่า ยุคที่เคยใหม่เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้วนั้น ในบัดนี้มันกำลังกลายเป็นเก่า แล้วเราก็กำลังจะแบ่งแยกกันอีก เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่าทรงเป็นหัวต้นกระแสใหม่ คือเราถือว่าพระองค์เป็นองค์แทนของกระแสความคิดสายใหม่นี้ อย่างน้อยในวงการพระศาสนาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และพระองค์ก็ได้ทำสิ่งที่เป็นการริเริ่มใหม่ๆ ขึ้นไว้เป็นอย่างมาก

ครั้นต่อมาถึงบัดนี้ก็ปรากฏว่า เรากำลังมีการแบ่งแยกและยึดอย่างที่ว่ามาอีกคือ ยุคสมัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นกลายเป็นเก่า และยุคสมัยของเราเป็นใหม่ พร้อมกันนั้นสิ่งใดที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทำไว้ พวกที่ยึดก็ต้องถือว่าพระองค์ทำไว้อย่างไรต้องอย่างนั้น เลอเลิศที่สุดแล้ว จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีการยึดถึงขนาดที่ว่า ถ้าใครไปเปลี่ยนแปลงถือว่าอกตัญญู อันนี้ก็เป็นความยึดถือของฝ่ายหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นพวกเก่า

ทีนี้ในเวลาเดียวกันนั้น ก็จะมีพวกใหม่เกิดขึ้น พวกที่ใหม่นี้ก็จะเป็นแบบที่ว่า ถ้าไม่เอาก็ตีแหลกเช่นเดียวกัน พวกนี้ก็บอกว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้านี้ไม่ได้ความทั้งนั้น อะไรๆ ของพระองค์ไม่ดีทั้งหมด ต้องเลิก

เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่า มีการแบ่งแยกชัดระหว่างเก่ากับใหม่ ข้อพิจารณามีว่า การคิดและทำอย่างนี้ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ การปฏิบัติที่ถูกต้องพอดี สอดคล้องกับความเป็นจริง ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนา คืออย่างไร

การที่ท่านเหล่านั้นจะดีทั้งหมดโดยสมบูรณ์ ท่านก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าเรายกพระพุทธเจ้าเป็นอุดมคติของความสมบูรณ์ ท่านเหล่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ แต่ที่ว่าท่านจะแย่ไม่ดีไปทั้งหมดนั้นก็เป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะท่านเป็นนักปราชญ์ด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่เวลานักเรียนสอบ ตอบข้อสอบ นักเรียนที่หัวทึบที่สุด เราอ่านใบตอบของเขาแล้ว เราก็ต้องว่าไม่ได้ความ แต่กระนั้นคำตอบ ความคิดของเขาก็ยังมีประโยชน์มีคุณค่าอะไรบางอย่าง ซึ่งทำให้เห็นว่า แม้แต่คนที่ตอบไม่ได้เรื่อง สิ่งที่เขาตอบมาก็อาจจะมีอะไรแฝงที่เราได้ประโยชน์บ้าง อย่างน้อยแม้จะไม่มีประโยชน์อะไรโดยตรง มันก็กระตุ้นความคิดของเราให้เราได้ประโยชน์เอง ดังนั้นคนขนาดเป็นนักปราชญ์อย่างนี้ ต้องมีดีอะไรมากทีเดียว ที่จะไม่ดีเลยนั้นเป็นไปไม่ได้

ทีนี้ การที่เรามาแบ่งกันชัดเจนเป็นเก่ากับใหม่ อย่างที่ว่าถ้าเอาก็ยึดยกเต็มที่อย่างเดียว ถ้าไม่เอาก็ตีให้แหลกลาญนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วมันก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาเป็นปฏิปักษ์ต่อกันรุนแรง

ในด้านหนึ่ง พวกที่ไม่เอาก็จะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่จริง และไม่สามารถเอาสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์ได้

ส่วนการที่อีกพวกหนึ่งไปยึดเอาท่านที่บัดนี้กลายเป็นเก่าไปแล้ว ว่าถูกต้องจะต้องเอาไว้อย่างเดียว ก็น่าพิจารณาว่า การทำอย่างนั้นที่จริงแล้วเป็นการกตัญญูที่แท้หรือไม่ มันจะกลายเป็นว่า เราไปจับเอาตัวท่านมาขึ้นขวางกระแสไว้ มากั้นคนที่เขากำลังจะเดินไปข้างหน้า ทำให้ท่านกลายเป็นเป้าที่ถูกเขาฟาดฟันกระหน่ำตี เท่ากับว่าเรานี่เองไปทำร้ายท่าน จับท่านเป็นเป้าให้คนอื่นเขาตี แล้วท่านก็จะบาดเจ็บ

ในทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ถ้าเรารู้เข้าใจหลักของความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงย่อมต้องเกิดขึ้น มันจะต้องมีต้องเป็นไปตามความเป็นจริง แต่เราจะรู้จักผ่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เสียหลัก แล้วสิ่งที่ท่านทำก็จะปรากฏคุณค่าชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แม้ว่ากิจการพระศาสนาจะเปลี่ยนรูปแบบไป แต่ท่านก็จะปรากฏเกียรติคุณขึ้นมาว่า พระองค์ทรงเป็นต้นกระแสของความเปลี่ยนแปลง ทรงเป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดริเริ่ม เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น พระคุณในส่วนนี้จะปรากฏชัดขึ้นมา

คนจะเห็นตระหนักว่า กระแสความเปลี่ยนแปลงที่ได้ดำเนินสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันและจะดำเนินต่อไปนั้น ก็เพราะว่าพระองค์เป็นผู้ริเริ่มไว้ คุณความดีของพระองค์ก็จะปรากฏ แต่การที่ไปยึดถือไว้นั้นแหละไม่ใช่เป็นความกตัญญูหรอก ตรงข้ามกลับเป็นการทำร้ายท่าน การปฏิบัติให้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยจับสาระไว้ได้จึงจะเป็นการกตัญญู

เฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องเข้าใจซึ้งเจาะให้ถึงเจตนารมณ์ของท่าน แล้วนำมาใคร่ครวญพิจารณา เมื่อเห็นว่าเป็นทางนำประโยชน์ที่แท้และความสุขความเจริญมาให้ ก็ตั้งใจสืบทอดเจตนารมณ์นั้น ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็เสี่ยงจะเป็นการปฏิบัติที่ผิด เพราะถ้าไม่จับเอาเจตนารมณ์ที่เป็นสาระนี้ให้ได้ แม้แต่ผู้ที่ถือมั่นตามท่านและคิดว่าตนกตัญญู แต่แท้จริงอาจกลายเป็นผู้ทำลายเจตนารมณ์ของท่าน หรือถึงกับทำลายพระองค์ท่านเองไปเสีย

ที่ว่ามานี้ก็เพราะว่า ความกตัญญู คือ การรู้ถึงคุณความดีที่ท่านผู้นั้นได้ทำไว้ คือรู้ในสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ รู้ว่าท่านทำอะไรไว้เป็นประโยชน์ แล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นเราก็เห็นคุณค่า เมื่อเราเลือกเอามา จับเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ในท่ามกลางสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีการสืบต่อระหว่างเก่ากับใหม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้ว ถ้ามันสืบต่อกันอย่างแท้จริง มันก็ไม่มีเก่าไม่มีใหม่ เพราะมันเป็นเพียงกระแสธารที่ไหลต่อเนื่องกัน

เมื่อเป็นกระแสธารที่ต่อเนื่องกันอย่างแท้จริงแล้ว เราแยกไม่ออกระหว่างเก่ากับใหม่ และในกระแสธารที่ต่อเนื่องนั้น คุณค่าของเก่าก็จะสืบต่อมาถึงใหม่ แล้วเราก็มีสิ่งใหม่ที่เป็นคุณประโยชน์เสริมเข้าไปอีก แล้วมันก็ต่อทอดกันไปเรื่อยๆ แยกไม่ออกว่าอันไหนเก่าอันไหนใหม่อย่างแท้จริง คือไม่สามารถตัดตอนได้ เพราะฉะนั้นในทางที่เป็นจริง ที่ถูกที่ควร มันควรจะเป็นกระแสธารของความเจริญรุ่งเรืองที่สะสมสืบทอดกันต่อเรื่อยไป

 

สรุป

นี่เป็นคติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฉลอง ๒๐๐ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า การฉลองนั้นว่าโดยศัพท์ในทางพระพุทธศาสนา ก็เป็นการบูชาอย่างหนึ่ง การบูชาก็คือการยกย่องเพื่อทำให้เป็นแบบอย่างที่ดี จะได้เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป หมายความว่า การที่ยกย่องนั้นไม่ใช่มายกย่องเพียงเพื่อประโยชน์ต่อพระองค์ท่าน เพราะท่านก็สิ้นไปแล้ว

เรายกย่องบูชาท่านก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ท่านโดยตรง ท่านมารับประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่การยกย่องบูชานี้เพื่อประโยชน์แก่สังคม ประโยชน์แก่สังคมจะเกิดขึ้นได้ด้วยอะไร ด้วยการที่มีความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริง

ในที่นี้เป็นการฉลอง หรือการบูชาที่เกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม เพราะว่ายูเนสโก ยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญ มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ในแง่วัฒนธรรมนี้ เรามีภารกิจที่ต้องทำอย่างน้อย ๓ ประการดังที่กล่าวมานั้น ซึ่งขอทบทวนว่า

ประการที่หนึ่ง เรายังมีภารกิจมากที่จะทำให้คนไทยภูมิใจในวัฒนธรรมไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่เดิม

ประการที่สอง ซึ่งสืบเนื่องต่อจากประการที่หนึ่งนั้น คือการเชื่อมประสานระหว่างวัฒนธรรมไทยที่มีมาข้างใน กับวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาจากภายนอก โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก ว่าเราจะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมทั้งสองสายนั้นประสานสอดคล้อง โดยเฉพาะจะนำเก่ามาใช้ประโยชน์อย่างไร โดยมิใช่เป็นเพียงการยึดแบบแข็งทื่อ แล้วก็จับสาระของของใหม่ได้ ไม่ใช่เป็นการรับเอามาทั้งดุ้น โดยไม่ได้ย่อยเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งสองฝ่าย ทำอย่างไรจะให้ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้ ให้มันกลายเป็นความเจริญงอกงามของสังคมอย่างแท้จริง

ประการสุดท้ายคือ การที่จะสืบต่อเก่ากับใหม่ ทำให้เก่ากับใหม่มาสืบทอดต่อกันจนเป็นกระแสธารอันเดียวกัน

ในสังคมไทยเราคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไขกันอีกมากมาย แม้แต่ในวงการของพระสงฆ์เอง ดังเช่นในเรื่องเก่ากับใหม่นี่ พระสงฆ์โดยทั่วไป ก็เหมือนอย่างที่อาตมภาพบอกเมื่อกี้ว่า อาตมภาพได้รับนิมนต์มาพูดในวันนี้ เป็นการมาพูดในเรื่องที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เพราะว่า พระสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบันนี้ มีการศึกษาชนิดที่เรียนพระพุทธศาสนาย้อนไปแค่ไม่เกิน ๑๐๐ ปี หรือประมาณ ๑๐๐ ปี ก่อนนั้นเราไม่รู้เรื่อง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ท่านไม่ได้อยู่ในหลักสูตรของคณะสงฆ์ไทยด้วย แม้จะมีหนังสือ ปฐมสมโพธิกถา อยู่ในรายการเล่าเรียนสำหรับนักธรรมเอก แต่ก็เป็นเพียงสักแต่ว่ารายชื่อ มันไม่มีในทางปฏิบัติ ท่านไม่ได้นำมาออกข้อสอบ แล้วก็ไม่ได้นำมาเรียนด้วย ดังนั้นเราก็ไม่รู้จัก

พระสงฆ์ไทยก่อนหน้านี้ และพระพุทธศาสนาครั้งโบราณเป็นอย่างไร จะสืบต่อกันมาอย่างไร พระไทยไม่รู้ ในทำนองเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ภายนอกก็ไม่ค่อยมีการรับรู้วัฒนธรรมไทย แต่ไปรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา โดยไม่รู้พื้นฐานเดิมที่จะเอามาสานมาเชื่อมโยงกันได้อย่างไร แล้วมันก็เป็นปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อเราจัดงานฉลองขึ้นมา เราก็ควรฉลองให้เกิดคุณค่า คือฉลองด้วยปฏิบัติบูชา พระพุทธศาสนาสรรเสริญปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติที่จะทำให้เกิดเป็นผลขึ้นมา

ในเรื่องวัฒนธรรมก็มีภาระให้เราต้องมาทำกันที่จะเป็นการบูชาอย่างน้อย ๓ ประการดังกล่าวมาแล้ว คือ

๑. ทำอย่างไรจะให้คนไทยภูมิใจในวัฒนธรรมไทย มองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย

๒. ทำอย่างไรจะให้คนไทยสามารถรักษาสืบทอดคุณค่าของวัฒนธรรมไทย พร้อมกับสามารถรับส่วนดีของวัฒนธรรมตะวันตกหรือวัฒนธรรมจากภายนอก เข้ามาย่อยให้เป็นเนื้อตัวของตนเองได้

๓. ทำอย่างไรจะสืบต่อเก่ากับใหม่ให้ต่อเนื่องกลมกลืนเป็นกระแสธารเดียวกัน เพื่อความเจริญงอกงามของสังคมไทยสืบต่อไป

ทั้งหมดนี้จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่สำคัญ คือ การพัฒนาสติปัญญา ให้มีความรู้เท่าทันและเข้าใจชัดเจนถ่องแท้ เข้าถึงแก่นสารและรากเหง้าของเก่าและใหม่ และ ของในและนอก จึงจะมีความภูมิใจอย่างถูกต้องต่อวัฒนธรรมไทย และสามารถสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญอย่างเกื้อกูลต่อประโยชน์สุขของโลกมนุษย์นี้ได้

วันนี้ อาตมภาพก็มีข้อคิดข้อสังเกตมากล่าวกับที่ประชุมนี้เพียงเท่านี้ ขอให้ถือว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ได้ทำหน้าที่ของพระองค์แล้ว พระองค์เป็นองค์แทนของวัฒนธรรมไทยเดิมได้อย่างดี เป็นผู้สามารถรักษาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของยุคเก่าไว้ได้ แม้จะอยู่ในปลายยุคเก่า พระองค์ก็โดดเด่นขึ้นมา ทำให้วัฒนธรรมไทยปรากฏคุณค่าเป็นที่รับรอง ดังที่ยูเนสโกได้ยกย่องพระองค์ขึ้นแล้ว

บัดนี้ เราทั้งหลายมีภาระหน้าที่ที่จะต้องมาช่วยกันทำให้วัฒนธรรมไทยสืบต่อเดินหน้าต่อไป แล้วก็ไม่ใช่สืบต่อเฉยๆ แต่จะต้องให้เกิดคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมไทยด้วย

ขอให้การฉลอง โดยความริเริ่มของคนไทยครั้งนี้ โดยเฉพาะในกรณีนี้คือ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จงได้สัมฤทธิ์วัตถุประสงค์ดังที่กล่าวมา เพื่อความสุขความเจริญของสังคมไทยสืบต่อไป และขอทุกท่านในที่ประชุมจงประสบความสุข โดยทั่วกันทุกท่าน ขอเจริญพร

หลักประสาน ๔ ประการ
เพื่อถางทางสู่อนาคตที่พึงปรารถนา7

ขอเจริญพร ท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้และในนามของราชการ

ขอเจริญพร ท่านประธานกรรมการมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป ท่านผู้สืบสายตระกูลวงศ์ของท่านพระยาอนุมานราชธน และท่านพระสารประเสริฐ พร้อมทั้งท่านสาธุชนทุกท่าน

อาตมภาพขออนุโมทนาในการที่ทางคณะกรรมการได้จัดพิธีนี้ขึ้น เป็นการมอบอนุสรณ์สถานที่ได้สร้างขึ้นนี้แก่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ซึ่งทั้งผู้มอบและผู้รับ มีความสัมพันธ์ที่มองเห็นได้ว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ซึ่งมีชื่อว่าอนุสรณ์สถานพระยาอนุมานราชธน-พระสารประเสริฐ เป็นอนุสรณ์เครื่องรำลึกถึงบุคคลที่มูลนิธิได้ตั้งใจที่จะสืบต่องานการและเจตนารมณ์ของท่าน หมายความว่า ท่านพระยาอนุมานราชธนและพระสารประเสริฐ กับท่านเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ก็คือบุคคลเดียวกันที่เราใช้ในนามคนละอย่าง กล่าวคือพระราชทินนามที่เป็นทางการว่า พระยาอนุมานราชธน ก็คือนามของบุคคลที่เรารู้จักกันในวงการศึกษาโดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรมและวรรณคดีว่าท่านเสฐียรโกเศศ พร้อมกันนั้นพระราชทินนามหรือบรรดาศักดิ์ว่า พระสารประเสริฐ ก็คือบุคคลเดียวกับที่เรารู้จักในวงวิชาการว่าท่านนาคะประทีป

การที่ได้สร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้น ก็โดยวัตถุประสงค์ที่ว่าต้องการให้เป็นที่ระลึกถึงท่านผู้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของไทยทั้งสองท่านนั้น และในเวลาเดียวกันก็เพื่อให้มีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป การที่เราเรียกชื่ออาคารนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “สัณฐาคาร” ก็เป็นเครื่องแสดงถึงลักษณะของอาคารในแง่ของการใช้ประโยชน์ กล่าวคือ ในแง่ความมุ่งหมายนั้นเป็นอนุสรณ์ คือเป็นเครื่องรำลึกถึงจึงเรียกว่าอนุสรณ์สถาน แต่ในแง่ประโยชน์ตัวอาคารนี้มีลักษณะการใช้งานที่เรียกว่า สัณฐาคาร

สัณฐาคาร สื่อความหมายของวัฒนธรรม
และประโยชน์สุขของมหาชน

คำว่า สัณฐาคาร นี้เป็นศัพท์ที่มีมาแต่เก่าก่อน ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในคัมภีร์หลักที่เรียกว่าพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกนั้นมีข้อความที่กล่าวอ้างถึงสัณฐาคารนี้บ่อยครั้ง แต่ในพระไตรปิฎกบาลี อักษรไทยยังเขียนคำนี้ไม่ลงกันเป็นอันเดียว คือเขียนเป็นสัณฐาคารอย่างนี้บ้าง และอีกอย่างหนึ่งเขียนเป็นสันถาคารบ้าง ตัวที่แตกต่างกันคือ ณ กับ ฐ ฝ่ายหนึ่ง และ น กับ ถ ฝ่ายหนึ่ง มีใช้ทั้งสองอย่างและใช้มากเกือบเท่าๆ กัน อันนี้ก็คงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการตรวจชำระที่ว่าผู้ตรวจชำระพระไตรปิฎกนั้นก็มีหลายท่าน ท่านไหนมีความเห็นว่าควรจะลงตัวในอักขรวิธีแบบไหนก็ใช้แบบนั้น เราจึงได้พบถ้อยคำที่เขียนทั้งสองแบบนี้ แบบที่เขียนเป็นสัณฐาคารนี้เป็นแบบที่เรายอมรับกันในที่นี้ ดังที่ได้เขียนเป็นป้ายชื่ออาคารแล้ว

สัณฐาคารนี้เป็นอาคารชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากในสมัยโบราณ เท่าที่พบส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการประชุมของผู้ปกครองบ้านเมือง แต่เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองในระบบการปกครองแบบที่เรียกว่าสามัคคีธรรม คือไม่ใช่เป็นผู้ปกครองประเทศแบบราชาธิปไตย ดังมีเรื่องราวมาในพระไตรปิฎก ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินไปถึงสาลวโนทยานคือสวนป่าไม้สาละ ซึ่งเป็นอุทยานของกษัตริย์มัลละซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครกุสินารา พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานที่นั่น พระอานนท์ก็เดินทางไปแจ้งข่าวแก่เจ้ามัลละผู้ครองเมืองกุสินารา เวลานั้นเจ้ามัลละทั้งหลายกำลังประชุมกันอยู่ในอาคารที่เรียกว่าสัณฐาคารนี้ ซึ่งเป็นที่ประชุมสำหรับพิจารณากิจการของประเทศ ในระบบที่ใช้การประชุม คือคนหลายคน หรือหมู่คณะมาร่วมพบปะพร้อมกันพิจารณาเรื่องราวกิจการและวินิจฉัย คือมีมติตัดสินสั่งการต่างๆ พระอานนท์ได้นำข่าวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแจ้งแก่เจ้ามัลละในที่ประชุมที่เรียกว่า สัณฐาคาร นี่ก็เป็นตอนเริ่มแรกเกี่ยวกับเรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ต่อจากนั้นก็ยังมีเรื่องสืบเนื่องมาอีกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ก็ไปแจ้งข่าวแก่เจ้ามัลละอีกครั้งหนึ่ง และท่านก็ต้องไปแจ้งที่สัณฐาคารอีก ซึ่งปรากฏว่าเจ้ามัลละทั้งหลายกำลังประชุมกันพิจารณาเรื่องราวเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าว่ากษัตริย์มัลละ ชาวเมืองกุสินารา และชาวแคว้นมัลละจะปฏิบัติอย่างไรต่อเรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เช่น จะจัดการพระพุทธสรีระหรือพระศพของพระพุทธเจ้าอย่างไร เจ้ามัลละกำลังพิจารณาเรื่องนี้กันอยู่ เราจะเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับสัณฐาคารมาในพระไตรปิฎกอย่างนี้อีกหลายแห่ง

อีกแห่งหนึ่งเป็นเรื่องกำเนิดของพระสูตร พระสูตรบางพระสูตรในพระไตรปิฎกเกิดขึ้นที่สัณฐาคาร เช่น เมื่อกษัตริย์มัลละเจ้าผู้ครองนครปาวาได้สร้างสัณฐาคารขึ้นใหม่ ก็ได้ไปอาราธนาพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกให้เสด็จไปใช้อาคารหลังนั้นเป็นสิริมงคลก่อน ก่อนที่บุคคลอื่นใดแม้แต่เจ้าผู้ครองนครทั้งหลายจะมาใช้สถานที่นั้นเป็นที่ประชุม พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปที่นั่น และพระสงฆ์สาวกจำนวนมากก็เดินทางร่วมไปด้วย เป็นที่ประชุมใหญ่พร้อมทั้งทางฝ่ายเจ้าผู้ครองนครทั้งหลาย ในโอกาสนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมแก่เจ้าภาพ เมื่อเจ้าภาพกลับไปก็เป็นเวลาดึก พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าพระสงฆ์ยังมีความกระปรี้กระเปร่าดีอยู่ จึงมีพุทธบัญชารับสั่งกับพระสารีบุตร ขอให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ พระสารีบุตรก็ได้แสดงพระสูตรสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ ชื่อว่า สังคีติสูตร เป็นแบบอย่างของการสังคายนาสืบมา

บางทีจะพูดได้ว่าการฉลองสัณฐาคารแบบนี้เอง อาจจะเป็นต้นกำเนิดของการมีพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือพิธีเกี่ยวกับการทำบุญสถานที่ราชการใหม่ๆ ที่ได้สร้างขึ้น คือให้พระสงฆ์ไปในสถานที่นั้นเหมือนกับว่าได้ไปใช้สถานที่นั้นเป็นประเดิมก่อน อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่เป็นมาซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสัณฐาคาร

เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า ลักษณะสำคัญของอาคารแบบนี้ก็คือ เป็นที่ประชุมสำหรับพิจารณากิจการของบ้านเมือง หรือกิจการของส่วนรวมทั้งหมด ถ้าเทียบกับระบบการปกครองแบบปัจจุบันที่มีรัฐสภา ก็คล้ายๆ กับรัฐสภานั่นเอง อาคารสัณฐาคารนี้มองในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ รัฐสภา ต่อมาในคัมภีร์รุ่นอรรถกถาก็มีเรื่องราวที่กล่าวถึงการที่ประชาชนไปในสัณฐาคาร มีการไปเล่าเรื่องต่างๆ ที่สืบต่อกันมา เช่น เรื่องรามายณะ เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องสันนิษฐานกันต่อไป อาจจะเป็นได้ว่าในยุคต่อมา การปกครองระบบสามัคคีธรรมได้เสื่อมลง เพราะว่าในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีปนั้น หลังจากสมัยพุทธกาลแล้วหรือแม้แต่ในสมัยพุทธกาลนั่นเอง การปกครองระบบสามัคคีธรรมได้เสื่อม และสูญเสียอำนาจลงไปตามลำดับ เนื่องจากการแข่งขันแย่งชิงอำนาจกัน การยกทัพมารุกรานกัน โดยเฉพาะก็เป็นการรุกรานของรัฐที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีอำนาจมากขึ้น ซึ่งเป็นรัฐฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งทำให้รัฐที่ปกครองแบบสามัคคีธรรมที่ฝรั่งว่า รีปับลิค (republic) ค่อยๆ หมดไป

อาจจะเป็นได้ว่า เมื่อการปกครองระบบสามัคคีธรรมนี้ค่อยๆ หมดไปแล้ว อาคารที่เคยใช้เป็นหอประชุม สำหรับไว้พิจารณากิจการบ้านเมืองของส่วนรวมนั้น ก็ได้กลายมาเป็นหอประชุม หรือศาลาสำหรับประชาชน ทำนองศาลาประชาคมที่ประชาชนมาพบปะสังสรรกัน หรือมาเล่าเรื่อง มาแสดงความคิดเห็นอะไรต่างๆ เป็นที่ขยายเพิ่มพูนความรู้เรื่องวัฒนธรรม อะไรต่างๆ เรื่องอาจจะเป็นไปในทำนองนั้น

รวมความว่าหอประชุมที่เป็นสัณฐาคารนั้น เป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับกิจการของส่วนรวม เกี่ยวกับผลประโยชน์ของบ้านเมือง และกิจกรรมของประชาชนทั่วๆ ไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของสัณฐาคารที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งปรากฏเรื่องราวในพระไตรปิฎก และมีมาในอรรถกถาด้วย มาบัดนี้เราได้เห็นการฟื้นฟูหรือรื้อฟื้นคำว่าสัณฐาคารขึ้นมาใช้อีก นับว่าเป็นที่น่าอนุโมทนา อย่างน้อยก็เป็นเครื่องกระตุ้นคนให้คิดสนใจว่าสัณฐาคารนี้คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร

อาตมภาพเข้าใจว่า ความมุ่งหมายของอาคารนี้คงจะมีลักษณะที่สอดคล้องกับการใช้งานแบบเก่าในสมัยพุทธกาล อย่างน้อยในบางแง่บางลักษณะ โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นเรื่องของมหาชน เป็นเรื่องของกิจการที่อำนวยประโยชน์แก่ประชาชน เป็นแหล่งเผยแพร่ความคิด ความเห็น ความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ

ในกรณีอย่างนี้ ศัพท์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เราสามารถขยายความหมายได้ โดยที่ต้นแหล่งของมันก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กล่าวคือ ในด้านการใช้งานสำหรับยุคสมัยนี้ก็อาจจะปรับใช้ให้เหมาะสม แต่ให้คงสาระสำคัญที่มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นสัณฐาคารในความหมายที่เป็นหอประชุมสำหรับพิจารณากิจการของบ้านเมืองก็ตาม หรือสัณฐาคารที่ประชาชนมาใช้พบปะแสดงความคิดเห็น เล่าเรื่องราวต่างๆ แก่กันก็ตาม ก็ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนนั่นเอง ความหมายอย่างนี้คิดว่าคงจะสอดคล้องเข้ากันได้กับการเป็นอาคารที่เราได้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานแก่ท่านพระยาอนุมานราชธน และพระสารประเสริฐ เพราะว่ามีความหมายหลายแง่ที่ไปกันได้

ในแง่หนึ่งก็คือคำว่าสัณฐาคารนี้เป็นถ้อยคำที่ใช้มาในอดีต มีเรื่องราวสืบเนื่องมาในวัฒนธรรมประเพณีไทย สอดคล้องกับการที่ท่านพระยาอนุมานราชธน และพระสารประเสริฐเป็นบุคคลสำคัญอยู่ในวงการของเรื่องไทยๆ หรือเรื่องไทยคดี หรือเรื่องของวัฒนธรรมไทย จนถึงขั้นที่พูดได้ว่าท่านเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย และเป็นเครื่องหมายของความเป็นไทย

แง่ต่อไป สัณฐาคารเป็นที่เผยแพร่ความรู้และเรื่องราวที่เป็นไปในวัฒนธรรม ในกรณีนี้วัฒนธรรมไทยก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมไทยที่ควรจะเผยแพร่กันออกไป เราจึงได้นำคำว่าสัณฐาคารนี้มาใช้เรียกอาคาร ซึ่งเป็นที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับงานทางด้านวัฒนธรรม และเรื่องไทยคดีต่างๆ ให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป

ในแง่นี้ นอกจากเป็นที่เผยแพร่วัฒนธรรมแล้ว ก็เป็นที่ดำรงรักษาวัฒนธรรมด้วย คือในฐานะที่ท่านทั้งสองนั้นเป็นเครื่องหมายหรือเป็นตัวแทนเรื่องราวของไทยหรือวัฒนธรรมไทย พูดในแง่หนึ่งก็คือเป็นที่ทรงไว้ซึ่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของไทยซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยมีความสัมพันธ์กับความเป็นไทย

ให้วัฒนธรรมเป็นหลักประสาน
สู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในยุคนี้ เรามีการบ่นหรือร้องทุกข์กันบ่อยๆ ว่าคนไทยเรานี้มักจะมองข้าม หลงลืมวัฒนธรรมของตัวเองและทอดทิ้งภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย จนกระทั่งว่าภูมิปัญญาไทยของท้องถิ่นได้สูญหาย จางลง หรือลบเลือนไป ซึ่งควรแก่การที่จะรื้อฟื้น ควรจะไม่ประมาท เพราะถ้าหลงช้าอยู่ไม่นาน สิ่งเหล่านี้ก็จะตามรื้อฟื้นให้กลับคืนมาไม่ได้ และเราก็เห็นกันว่าในระยะที่คนไทยเราละเลยภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยนั้น ท่านพระยาอนุมานราชธนและท่านพระสารประเสริฐ เป็นผู้ที่ได้ช่วยรักษาสืบต่อสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังเป็นอันมากจากงานที่ท่านทำไว้ ซึ่งปรากฏในรูปของหนังสือและตำรับตำราต่างๆ

ก) ประสานความเป็นไทย กับความเป็นสากล

คุณค่าอย่างหนึ่งของการรักษาสืบต่อวัฒนธรรมไทย ก็คือการประสานความเป็นไทยกับความเป็นสากลและการมีส่วนร่วมเกื้อกูลแก่ความเป็นสากล ในยุคนี้ เราเริ่มกลับมาพยายามนำเอาภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยขึ้นมาฟื้นฟูให้เกิดประโยชน์แก่สังคม และพอดีว่าในยุคนี้เราก็มีความสัมพันธ์กับประชาคมโลกในวงกว้างออกไป เราจะต้องมีการประสานประโยชน์เพื่อทำให้ภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยนี้ได้เป็นหลักแก่สังคมไทย ในการก้าวไปสู่การสัมพันธ์กับประชาคมโลก ในลักษณะที่นอกจากจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ทำอย่างไรจะให้ความเป็นไทยกับความเป็นสากลนี้เกื้อกูลแก่กันและกันสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอันนี้ก็คงจะเป็นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ พร้อมทั้งกิจการของมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีปด้วย

วัตถุประสงค์นี้อาตมภาพเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ คือการที่เราจะสามารถทำภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยนี้ให้เกื้อกูลแก่สังคมไทยปัจจุบัน ในภาวะที่ก้าวไปสู่ความอยู่ร่วมในสังคมที่เป็นสากล โดยให้ความเป็นไทยและความเป็นสากลนั้นเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งในแง่ที่ภูมิธรรมภูมิปัญญาไทยเกื้อกูลแก่ความเป็นสากล และในแง่ที่เราสามารถเอาภูมิปัญญาสากลมาทำให้เกื้อกูลแก่สังคมไทยด้วยทั้งสองประการ

ข) ประสานอดีต กับปัจจุบัน และอนาคต

เมื่อพูดถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย ความหมายอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ก็คือเรื่องของอดีต เวลาเราพูดถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาไทย เรามักจะมองย้อนไปยังอดีต อดีตก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นรากฐานที่สืบต่อถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน ท่านพระยาอนุมานราชธนและพระสารประเสริฐนี้ ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองในแง่ที่ท่านได้ขวนขวายในเรื่องราวเกี่ยวกับอดีต แต่ข้อที่สำคัญก็คือท่านไม่ได้ยึดติดอยู่แต่อดีต เท่าที่มองดูก็เห็นว่าท่านพยายามจะประสานอดีตกับปัจจุบันให้เข้ากัน คือ การโยงอดีตเข้ามาให้เห็นถึงรากฐานที่มาของปัจจุบันและการที่นำสาระจากอดีตนั้นมาใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ปัจจุบัน อย่างน้อยในแง่ที่จะให้คนไทยและสังคมไทยนี้สามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ เพราะคนที่จะรักษาอิสรภาพของตนไว้ได้ จะต้องรู้จักอดีตของตน การรู้จักตนเองย่อมหมายถึงการรู้จักอดีตของตนด้วย เมื่อเรารู้จักอดีตโดยโยงมาสัมพันธ์กับปัจจุบันได้ดีก็คือการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาต่อไปในอนาคต

อนาคตเป็นส่วนที่เรามุ่งหมาย แต่ถ้าเราต้องการทำอนาคตให้ดี เราก็ต้องโยงมาหาปัจจุบันและย้อนกลับไปถึงอดีตได้ ทั้งสามส่วนนี้ คืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต จะต้องมาประสานสอดคล้องเกื้อกูลกันได้ จึงจะเป็นความสำเร็จในการพัฒนาประเทศชาติและสังคม

ค) ประสานบุคคล กับสังคม และธรรมชาติ

อีกด้านหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ คือ เรื่องของบุคคลและสังคมกับธรรมชาติ งานเกี่ยวกับวัฒนธรรม เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องของสังคม คือเป็นเรื่องของวิถีชีวิตของสังคม เป็นเรื่องของการถ่ายทอดมรดกของคนรุ่นเก่ามายังคนรุ่นใหม่ แต่สังคมจะเจริญมีวิถีชีวิตที่ดีได้ก็ต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคล คือคนที่มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยสร้างสรรค์เกื้อกูล บุคคลนั้นเจริญขึ้นมา ถ้าเขาเจริญในทางที่ถูกต้องก็จะเกื้อกูลแก่สังคม ช่วยให้สังคมมีความเจริญงอกงาม สังคมที่เจริญงอกงามไปด้วยดีก็เอื้อโอกาสแก่บุคคลที่จะเจริญพัฒนาไปได้ถูกต้องด้วย และในสมัยนี้เรามองเห็นความสำคัญของปัจจัยอีกอย่างหนึ่งเพิ่มเข้ามาอีกว่า ความเจริญของบุคคลและสังคมนั้นจะต้องเป็นไปท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เกื้อกูลหรือเอื้ออำนวยด้วย เพราะฉะนั้น ปัจจุบันเราจึงต้องมององค์ประกอบเป็นสามประการ

อาตมภาพมาที่นี่ก็ได้มองเห็นอย่างหนึ่งว่า ในการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ รู้สึกว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอยู่ เข้าใจว่าท่านที่ทำงานก่อสร้างในเรื่องนี้คงมีความคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านธรรมชาติด้วย ว่าทำอย่างไรจะให้มีสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่เกื้อกูลแก่การพัฒนาของบุคคลและวิถีชีวิตของสังคม พร้อมกันนั้นตัวเราเองก็จะพยายามทำตนให้เกื้อกูลแก่ธรรมชาติด้วย เพราะทั้งสามอย่างนี้เป็นองค์ประกอบด้านต่างๆ ของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งถ้าเราทำให้ประสานสอดคล้องกันได้ก็จะเป็นการเจริญพัฒนาที่ดีงาม ทั้งบุคคล สังคมและธรรมชาติไปด้วยกันได้อย่างประสานสอดคล้อง สัมพันธ์กลมกลืน และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน นี้ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง

ในปัจจุบันเราบ่นกันมากว่า การศึกษาและการพัฒนาได้ทำให้สิ่งเหล่านี้มีความขัดแย้งซึ่งกันและกันในลักษณะที่เป็นการแย่งชิงผลประโยชน์กัน บุคคลแต่ละคนก็ขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์กัน สังคมกับบุคคลก็ขัดแย้งกัน บุคคลและสังคมกับธรรมชาติก็ขัดแย้งกัน แย่งชิงผลประโยชน์กัน โดยที่มนุษย์พยายามจะเอาชนะธรรมชาติ แย่งชิงเอาผลประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติว่าจะเป็นอย่างไร แต่เสร็จแล้วก็เกิดปัญหาขึ้นมา ใน การศึกษา และ การพัฒนา ที่ถูกต้องนั้น สิ่งที่จะวัดก็คือ การที่เราสามารถทำให้องค์ประกอบเหล่านี้มาสัมพันธ์กันในทางที่เกื้อกูลแก่กันและกัน ไม่ใช่สัมพันธ์กันในลักษณะที่เป็นการขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์ ถ้าการเจริญเติบโตหรือการพัฒนา ตลอดจนการศึกษานั้นเป็นไปในรูปที่ทำให้เกิดผลในทางขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์กัน ก็คิดว่าการพัฒนาและการศึกษานั้นทำให้เกิดโทษมากกว่า ในปัจจุบันคิดว่าเราได้เห็นผลอันนี้ประจักษ์ขึ้นมาแล้วมากมาย การศึกษาและการพัฒนาที่ถูกต้อง น่าจะวัดด้วยการที่มนุษย์มีความสามารถมากขึ้นในการที่จะทำให้อดีต ปัจจุบันและอนาคต มาโยงประสานเกื้อกูลกัน และทำให้บุคคล สังคมและธรรมชาติเจริญไปด้วยกันได้ อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลต่อกันและกัน และ ณ ที่นี้เรายังได้เห็นสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกอย่างหนึ่งคือ ความเป็นไทยและความเป็นสากลที่มาประสานเกื้อกูลกันได้

ง) ประสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับศาสนธรรมและวัฒนธรรม

ประการสุดท้าย สิ่งที่เป็นตัวอุปกรณ์ ซึ่งจะต้องประสานกันด้วย ได้แก่ วิชาการต่างๆ ปัจจุบันนี้สิ่งที่ครอบงำสังคม ก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกันนั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหลงลืมไป เรารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้นมาแล้วสิ่งนี้ก็กลายเป็นสิ่งล้าหลัง หมดความหมาย สิ่งนั้นก็คือ ศาสนธรรมและวัฒนธรรม เรารู้สึกว่าสองพวกนี้ไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้น ศาสนธรรมก็หมดความหมาย วัฒนธรรมก็ถูกทอดทิ้งไป แต่มาถึงขณะนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าโทษร้ายและปัญหาต่างๆ มากมายได้เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแต่เพียงด้านเดียว เป็นความผิดพลาดที่ปรากฏแล้ว

การพัฒนาการศึกษาที่ถูกต้องก็คือ จะทำอย่างไรให้ศาสนธรรมและวัฒนธรรมฝ่ายหนึ่ง กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกฝ่ายหนึ่ง มาประสานสัมพันธ์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน อย่างน้อยก็ให้มาควบคุมกันได้ คือเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญไป เราก็มีศาสนธรรมและวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องควบคุมไม่ให้เผลอ ไม่ให้พลาด ไม่ให้ทำลายประโยชน์ของสังคม ไม่ให้วิถีชีวิตของมนุษย์ผิดพลาดไป ถ้าหากสองฝ่ายนี้มาประสานเกื้อกูลกันได้ ก็จะเป็นความสำเร็จในการศึกษาและการพัฒนา

อนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นที่ระลึกถึงบุคคลผู้มีความสำคัญในเรื่องราวของความเป็นไทยดังที่กล่าวมาแล้วว่า ท่านเป็นตัวแทนผู้สืบต่อรักษาไว้และเป็นครูอาจารย์ในเรื่องของวัฒนธรรมและความเป็นไทย ซึ่งโยงไปถึงศาสนธรรมด้วย จึงหวังว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้จะได้ช่วยให้ศาสนธรรมและวัฒนธรรมเป็นประโยชน์แก่สังคมมนุษย์ปัจจุบัน ในการที่จะไปอยู่ร่วมในสังคมที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าอิทธิพลใหญ่ ในการที่จะใช้และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นในทางที่จะเกิดประโยชน์งอกเงยและในลักษณะที่มีความประสานสัมพันธ์กลมกลืนและเกื้อกูลกันดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

อาตมภาพขออนุโมทนาด้วย ในกิจการที่ได้ดำเนินมา โดยเฉพาะที่ปรากฏขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ ณ บัดนี้ ได้แก่อาคารอนุสรณ์สถานที่เรียกว่า สัณฐาคารแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ระลึกถึงท่านเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป หวังว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้ แม้จะเป็นผลสำเร็จจากการกระทำที่ผ่านมา แต่จะเป็นจุดตั้งต้นของสิ่งที่ดีงามสืบต่อไป คือสัณฐาคารนี้ เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว ก็จะเป็นจุดตั้งต้นของการที่จะทำภารกิจให้เกิดผลในการสืบต่อเผยแพร่วัฒนธรรม เป็นต้น ให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะมองในแง่ของการที่จะประสานความเป็นไทยกับความเป็นสากลก็ตาม หรือในการที่จะทำให้ศาสนธรรมและวัฒนธรรม กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเกื้อกูลซึ่งกันและกันก็ตาม ตลอดกระทั่ง ในการโยงอดีตสู่ปัจจุบันและเชื่อมกับอนาคต พร้อมทั้งในการทำให้สังคม บุคคล และธรรมชาติดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

อาตมภาพขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง และขออานุภาพคุณพระรัตนตรัยเป็นเครื่องอภิบาลรักษา รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ที่เราทั้งหลายเคารพสักการะบูชา พร้อมทั้งกุศลเจตนาของทุกท่านที่ได้คิดการเริ่มต้น ในการที่จะสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ และที่จะดำเนินกิจการนี้ต่อไป ทั้งฝ่ายของราชการและฝ่ายของมูลนิธิฯ ตลอดจนญาติโยมประชาชนทุกท่าน ทั้งคนที่เราเรียกว่ารุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ขอให้มาประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะดำเนินงานของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ หรือสัณฐาคารแห่งนี้ ให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองสืบต่อไป เพื่อประโยชน์สุขของสังคม ทั้งสังคมไทย และสังคมส่วนรวมที่เป็นสากลสืบต่อไปชั่วกาลนาน และขอให้ทุกท่านจงมีความร่มเย็นเป็นสุข งอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน

อาจารย์กับศิษย์
เครื่องมือวัดความสัมฤทธิ์ของการพัฒนา8

กราบนมัสการ ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ

ท่านสหธรรมิกทุกท่าน

ขอเจริญพร ท่านสาธุชน ที่มาร่วมในการบำเพ็ญกุศลครั้งนี้

วันนี้เป็นวันที่ครบ ๕๐ วัน นับแต่มรณกรรมของท่านศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี จึงเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่ครอบครัว ญาติมิตร ลูกศิษย์ และท่านที่เคารพนับถือทั้งหลาย จะมาร่วมกันจัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ท่าน ดังที่ได้มีพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นครั้งใหญ่ไปแล้วในภาคกลางวัน ครั้นมาถึงภาคค่ำนี้ ก็มีพิธีสวดพระอภิธรรม

เฉพาะโอกาสนี้ เป็นวาระแห่งการแสดงน้ำใจของพุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๑๑ ผู้สำเร็จการศึกษามาหลายปีแล้ว ใน พ.ศ. ประมาณ ๒๕๐๗ ซึ่งเรียกกันว่า รุ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ คือนับเมื่อเข้าเรียนในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นที่นับว่ามากที่สุดในยุคเก่าโน้น วันนี้ท่านเหล่านี้ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีด้วย ได้มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพในพิธีสวดพระอภิธรรม

สำหรับท่านที่มาร่วมเป็นเจ้าภาพในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีนี้ ถ้ากล่าวอย่างกว้างๆ โดยลำดับมาแต่ต้น ก็มีทั้งศิษย์มหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งเป็นสำนักที่ท่านอาจารย์เสฐียร ได้บวชเป็นลูกศิษย์เป็นศิษย์เก่า และทางฝ่ายมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นสถาบันที่ท่านอาจารย์เสฐียร ได้สอนหรือเป็นอาจารย์ สองสถาบันนี้เรียกได้ว่าเป็นแกนหลัก นอกจากนั้นก็มีท่านที่เคารพนับถือจากที่ทั่วไปในสังคมไทยนี้

ว่าที่จริง ในแง่ของการศึกษา ก็มิใช่เฉพาะมหาธาตุวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเท่านั้น ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้เป็นครูอาจารย์สอนมามากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะแห่งหนึ่ง ซึ่งควรจะกล่าวไว้ด้วยก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ท่านได้สอนวิชาวารสารศาสตร์ เป็นต้น

แต่กล่าวโดยเฉพาะที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ ท่านเป็นอาจารย์ตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทีเดียว เป็นอาจารย์ตั้งแต่เริ่มต้นและได้สอนเรื่อยมา จนกระทั่งท่านมีอายุมาก ร่างกายอ่อนแอลง จนเรียกได้ว่าสอนไม่ไหวแล้ว ท่านจึงหยุดสอน เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นอาจารย์เก่าแก่ของมหาจุฬาฯ แล้วท่านก็มีอายุยืนมากเหมือนกัน จากการที่ท่านได้สอนมาแต่ต้นและมีอายุยืนยาว สอนมานานอย่างนี้ ก็ย่อมมีลูกศิษย์ลูกหามากมายดังปรากฏว่าที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ ลูกศิษย์ได้มีความรำลึกพระคุณ ถึงกับได้ตั้งมูลนิธิให้แก่ท่านเป็น มูลนิธิศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี ซึ่งมีลูกศิษย์คนสำคัญ เป็นรุ่นแรกของมหาจุฬาฯ เป็นประธานอยู่ในปัจจุบัน คือ ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้เป็นรัตตัญญูบุคคลของมหาจุฬาฯ เพราะท่านได้เรียนมหาจุฬาฯ ตั้งแต่รุ่นแรก และเรียกได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลของมหาจุฬาฯ ด้วยท่านหนึ่ง

สำหรับเรื่องเกี่ยวกับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีนี้ อาตมภาพมานึกว่า ตัวเองนั้น ไม่ค่อยจะมีความรู้มากเท่าไร ทั้งในแง่ของกาลเวลาและในแง่ของการงาน คือ ในแง่ของกาลเวลา ก็เป็นลูกศิษย์รุ่นที่ไม่ได้เริ่มมาแต่ต้น เพราะฉะนั้น จึงไม่รู้เรื่องตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ส่วนในแง่ของการงานก็ไม่มีโอกาสที่จะทำงานใกล้ชิดกับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ไม่เหมือนอย่าง ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ที่กล่าวแล้วว่าเป็นรัตตัญญูบุคคล รู้เรื่องมหาจุฬาฯ แต่เริ่มต้น ได้เล่าเรียนตั้งแต่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีเริ่มมาสอนที่นี่ และก็ได้ทำงานร่วมกับท่านมาจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย คือที่ราชบัณฑิตยสถาน โดยที่ว่าท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้มีตำแหน่งหน้าที่เมื่อตอนที่ท่านถึงแก่มรณกรรม เป็นเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ท่านอาจารย์จำนงค์ จึงเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดทั้งโดยกาลเวลาและโดยการงาน

เพราะฉะนั้น การที่มาพูดในวันนี้ จึงไม่สามารถจะกล่าวอะไรที่ลึกซึ้ง และยังหวังอยู่ว่า บุคคลที่รู้จักกับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีอย่างใกล้ชิด จะได้มีโอกาสเล่าเรื่องให้คนรุ่นหลังฟัง โดยเฉพาะในวงมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ พร้อมทั้งทางมหาธาตุวิทยาลัยด้วย แม้จะไม่ได้มาพูด ก็หวังว่าคงจะได้เห็นข้อเขียนของท่าน เพราะสิ่งที่นำขึ้นมาพูดหรือเขียนนั้น จะเป็นประโยชน์ในแง่ที่จะเป็นทิฏฐานุคติ คือเป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ตลอดจนเป็นเครื่องให้ความรู้และความคิดในการทำงานทางด้านพระศาสนาสืบต่อไป

ดังนั้น ในเรื่องของมหาจุฬา ฯ ก็เท่ากับบอกว่า ในที่นี้จะไม่พูดอะไรมาก ขอทิ้งไว้ให้ท่านผู้มีความรู้ดีกว่าได้มาเล่าต่อไป แต่อยากจะขยายเรื่องออกไปในวงกว้าง คือมองท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ในแง่ที่สัมพันธ์กับสังคมโดยทั่วไป

ความคิดก้าวหน้า หรือมองการณ์ไกล

ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี เป็นผู้ที่มีอายุยืนนานท่านหนึ่ง เป็นธรรมดาของผู้ที่มีอายุยืนยาวก็ย่อมมีประสบการณ์มาก เมื่อมีประสบการณ์มากก็มีเรื่องที่จะมาเล่าให้เป็นความรู้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังได้มาก แต่สำหรับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีนั้น มิใช่เฉพาะเป็นผู้มีประสบการณ์มากตามธรรมดาของกายที่อยู่ยืนยาวในโลกนี้อย่างเดียวเท่านั้น แต่มีข้อพิเศษนอกเหนือจากความยืนยาวนั้นด้วย ที่ทำให้ประสบการณ์ของท่านมีค่ายิ่งขึ้น

จากประวัติชีวิตของท่านนั้น เราก็ทราบกันทั่วไปว่า อาจารย์เสฐียร พันธรังษีเริ่มชีวิตวัยแรกของการศึกษาในวัดนี้เอง คือที่สำนักวัดมหาธาตุฯ นี้ ซึ่งท่านได้เป็นพระภิกษุบวชเรียนอยู่จนได้เป็นมหาเปรียญ เป็นธรรมดาของการศึกษาภาษาบาลีที่ทำให้เป็นมหาเปรียญ ซึ่งเราเรียกกันว่าเป็นการศึกษาปริยัติธรรมแผนเดิมนั้น ตามประเพณีก็เรียนไวยากรณ์บาลี และเรียนแปลบาลี คือแปลบาลีเป็นไทย แล้วก็แปลไทยเป็นบาลี ก็เรียนกันมาอย่างนี้ อันนี้เราถือว่าเป็นหลักสูตรแผนเก่า

ทีนี้ลักษณะพิเศษของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็คือ นอกจากว่าท่านจะเรียนตามแบบแผนประเพณีนี้แล้ว ท่านยังมีความคิดที่เราเรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้าหรือหัวก้าวหน้าด้วย

ย้อนหลังไปเมื่อหลายสิบปีแล้ว ยุคนั้น การที่พระจะเรียนภาษาอังกฤษนั้นเป็นไปได้ยากมาก แต่ก็ปรากฏว่าท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ซึ่งเป็นพระอยู่ในสมัยเก่าหลายสิบปีแล้วโน้น ท่านได้ไปเรียนภาษาอังกฤษด้วย นับว่าเป็นผู้หนึ่งในจำนวนพระน้อยองค์ที่ไปเรียนภาษาอังกฤษ ตัวอย่างท่านผู้อื่นที่เราทราบกัน ก็คือ หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งก็อยู่สำนักเดียวกันกับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี

ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีมีความคิดที่มองเห็นการณ์ไกล รู้เท่าทันถึงความเจริญก้าวหน้าของโลก จึงมองเห็นความสำคัญของวิชาการแผนใหม่ และมองเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ที่จำเป็นสำหรับสื่อสารในโลกสมัยปัจจุบัน ที่มีความเจริญก้าวหน้าและมีการติดต่อกับตะวันตก ท่านจึงได้ไปเรียนภาษาอังกฤษด้วย แม้ว่าทางสำนัก ท่านผู้ใหญ่จะไม่สนับสนุน เมื่อท่านเรียนไปก็ได้ประสบความสำเร็จ สามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ ดังที่ปรากฏว่า ต่อมาเมื่อลาเพศไปแล้ว ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีได้สอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศได้ ประเทศที่ท่านเดินทางไปก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ปัจจุบันกำลังเป็นผู้นำทั้งในทางเศรษฐกิจและด้านเทคโนโลยี

ในการที่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีไปเรียนต่อเมืองนอก คือประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็มีข้อสังเกตที่นับว่าเป็นเรื่องที่แปลก คือว่า ธรรมดาคนสมัยนี้ที่เรียกว่าสมัยใหม่ เมื่อจะไปเรียนเมืองนอก ก็อยากจะไปเรียนวิชาที่เป็นเรื่องของความเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก หรือแบบสมัยใหม่ เช่นอาจจะไปเรียนบริหารธุรกิจ อาจจะไปเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจจะไปเรียนเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เราเรียกกันว่าเป็นวิชาการสมัยใหม่ แต่อาจารย์เสฐียร พันธรังษีท่านเลือกไปเรียนวิชาศาสนา ได้ทราบว่าในสมัยนั้นเอง แม้แต่คนที่อยู่ในยุคเดียวกันกับท่าน ก็พูดจาทำนองที่แสดงความแปลกประหลาดใจว่า ทำไมอาจารย์เสฐียรไปเรียนวิชาอย่างนี้ ซึ่งในสายตาของคนทั่วไปมองว่าเป็นวิชาเก่าๆ เป็นของที่คร่ำครึ ยิ่งในสมัยนั้น ความรู้สึกต่อเรื่องศาสนาอาจจะแปลกแยกยิ่งกว่าสมัยนี้ ต่างจากสมัยนี้ที่คนในยุคปัจจุบันเริ่มหันกลับมาสนใจในทางพระศาสนามากขึ้น

ตอนนั้น ในสมัยที่ประเทศไทยกำลังสร้างความเจริญก้าวหน้า กำลังหันไปหาวัฒนธรรมตะวันตกใหม่ๆ ในขณะที่ความรู้สึกนิยมความเจริญสมัยใหม่แบบตะวันตกกำลังแรงมาก และผู้คนกำลังมองศาสนาว่าเป็นเรื่องเก่า เรื่องคร่ำครึ แต่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็ได้เลือกไปเรียนวิชาศาสนา

อันนี้เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งที่สำคัญ ถ้าจัดเป็นการมองการณ์ไกล ก็ต้องนับว่าเป็นการมองการณ์ไกลสองชั้น คือ คนที่เห็นความสำคัญของการติดต่อในทางวิชาการสมัยใหม่กับโลกตะวันตก หรือทราบถึงความเจริญก้าวหน้าแบบปัจจุบันอะไรนี่ ในยุคนั้นก็ถือว่าเป็นคนทันเหตุทันการณ์ ถ้ามองในแง่พระศาสนา ก็เป็นการล่วงรู้ว่าการพระศาสนาในเวลาข้างหน้าที่จะสืบต่อมานั้น จะต้องมีการติดต่อกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก หรือนานาประเทศ ดังนั้นการที่คิดจะเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่จึงถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่มองการณ์ไกลชั้นหนึ่งแล้ว ทีนี้ยิ่งกว่านั้น การที่จะมองมาถึงการเรียนวิชาศาสนา ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นเรื่องเก่าแล้วนี้ แม้ว่ามันจะมีความสำคัญในระยะยาวมาถึงบัดนี้ แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครเห็นก็ต้องถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลสองชั้นทีเดียว และท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็ได้เลือกเรียนวิชาศาสนา

ทำไมจึงบอกว่าวิชาศาสนานั้นเป็นวิชาที่สำคัญ ?

การเรียนวิชาศาสนาก็หมายถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอารยธรรมในสมัยโบราณ ที่สืบต่อกันมา เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยเฉพาะศาสนาในดินแดนแถบนี้ อันมีความเด่นอยู่ที่พระพุทธศาสนานั้น ก็เป็นรากฐานของความเจริญของโลกตะวันออก การเรียนวิชาศาสนาในตะวันออกเช่นพระพุทธศาสนา ก็คือการเรียนรากฐานของอารยธรรมตะวันออกนั้นเอง และเมื่อท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีไปเรียนที่ญี่ปุ่น ก็เรียนวิชาพุทธศาสนาที่เนื่องกันกับประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโอตานิ ซึ่งมีการเรียนพุทธศาสนาแบบมหายาน อันเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของอารยธรรมตะวันออกและเป็นรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

มองความเจริญแบบนักสร้างเหตุ
ไม่ใช่มองแบบนักเสพผล

ในการที่จะเข้าถึงความเจริญของประเทศต่างๆ นั้น ข้อสำคัญก็คือการที่ต้องรู้เหตุปัจจัยแห่งความเจริญของสังคม หรือประเทศนั้นๆ ในสมัยปัจจุบันนี้ เรามีความนิยมในอารยธรรมตะวันตก มีความชื่นชมในวัฒนธรรมตะวันตก แต่มีข้อสังเกตว่าเรามักจะมองและรับความเจริญนั้นในรูปของสิ่งที่เป็นผลิตผล คือสิ่งที่เป็นผลไม่ใช่เป็นเหตุ การที่จะสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองนั้น จะต้องเข้าถึงเหตุของความเจริญ ไม่ใช่ไปรับแต่ผลของเขา การรับแต่ผลนั้นก็จะได้แต่สิ่งที่เอามาบริโภคเท่านั้น แล้วเราก็จะไม่ได้อะไรนอกจากว่าเมื่อจะบริโภคก็ต้องคอยซื้อ เพราะว่าการที่จะได้สิ่งที่เป็นผลิตผลหรือของสำเร็จจากเขามา ก็จะต้องเป็นผู้ซื้อ ต้องเป็นผู้จ่าย เป็นผู้สูญเสียฝ่ายเดียว

การที่เราติดต่อกับต่างประเทศนั้นมองในแง่ของสังคมของเราก็คือ เราต้องการที่จะสร้างความเจริญแก่ประเทศชาติ อย่างที่เรียกว่าเอามาพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า แต่การที่จะพัฒนาให้สำเร็จได้นั้น ก็คือต้องทำเหตุปัจจัยของการพัฒนา การที่จะติดต่อกับสังคมอื่นๆ ที่จะให้ได้ผลดีนั้น ในแง่วิชาการเราจะต้องเรียนรู้ให้เข้าถึงเหตุปัจจัยแห่งความเจริญของสังคมเหล่านั้น ไม่ใช่เพียงไปเรียนเอาผลสำเร็จมา ถ้าไปมองแต่ผลสำเร็จมาก็คือการที่เราจะต้องคอยเป็นฝ่ายรับ เมื่อเป็นฝ่ายรับก็จะต้องเป็นผู้ตาม อันนี้เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกันไป เมื่อเอาผล ก็ต้องเป็นผู้รับ เมื่อเป็นผู้รับ ก็ต้องเป็นผู้ตาม ก็เลยจะต้องคอยตามรับจากเขาอยู่เรื่อยไป การปฏิบัติในลักษณะนี้จะไม่สามารถสร้างสรรค์ความเจริญที่แท้จริงให้สำเร็จได้ จะได้ก็แค่เป็นสังคมของผู้ที่คอยตาม และเป็นสังคมของผู้ที่คอยรับเท่านั้น

สังคมที่ฉลาดน่าจะเป็นสังคมที่สามารถสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่สังคมของตนเองได้ และหัวใจสำคัญที่จะทำให้สร้างความเจริญได้ก็คือ การเข้าถึงเหตุปัจจัยของความเจริญนั้น ถ้าเราต้องการความเจริญของตะวันตก เราก็จะต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยแห่งความเจริญของเขา คือเหตุปัจจัยที่มีมาในวัฒนธรรมของเขา หรือรากฐานแห่งอารยธรรมของเขานั้นเอง เมื่อเราหยั่งรู้เข้าถึงเหตุปัจจัยของเขาแล้ว เรากระทำเหตุปัจจัยนั้น เราก็จะเป็นผู้สร้างสรรค์ การที่เราสร้างสรรค์นั้น เมื่อมองในแง่ของเศรษฐกิจ ก็คือเป็นผู้ผลิต เมื่อเป็นผู้ผลิตก็จะเป็นผู้ที่สามารถให้แก่ผู้อื่น ผู้ที่สร้างสรรค์ย่อมมีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น เมื่อเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นได้ ก็เป็นผู้นำเขาได้

การที่ประเทศชาติจะเจริญมั่นคงต่อไป ก็ย่อมต้องเป็นไปตามหลักของปัจจยาการอันนี้ คือจะต้องเข้าถึงเหตุปัจจัย แล้วก็เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้ผลิตแล้วก็เป็นผู้ให้ แล้วก็เป็นผู้นำ

การที่จะเป็นผู้นำก็คือต้องเป็นผู้ที่มีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น ถ้าไม่มีอะไรจะให้แก่เขา ก็ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ฉะนั้น ถ้าหากว่าประเทศไทยของเรานี้ประสงค์จะมีความเจริญอย่างแท้จริง จนกระทั่งว่าจะเป็นผู้นำในโลกยุคปัจจุบันได้ เราจะต้องก้าวเดินไปในแนวทางของการสร้างความเจริญในแบบที่กล่าวมานี้ คือการที่จะเป็นผู้กระทำเหตุปัจจัย แล้วก็เป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นผู้ผลิต เป็นผู้ให้ และเป็นผู้นำสืบต่อไป

งานที่หยั่งถึงรากฐานของอารยธรรม

ทีนี้ หวนกลับมาพูดถึงเรื่องของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี เป็นอันว่าท่านก็ไปเรียนวิชาศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนามหายาน ซึ่งเป็นรากฐานแห่งวัฒนธรรรมของญี่ปุ่นและเป็นวัฒนธรรมของตะวันออก โดยเฉพาะอาเซียฝ่ายเหนือ ซึ่งแกนรวมก็คือเรียนเรื่องพระพุทธศาสนานั้นเอง เมื่อเรียนพระพุทธศาสนาก็คือเรียนรากฐานของอารยธรรมตะวันออกในแถบนี้ทั้งหมด เมื่อเรียนจบมาแล้วท่านก็กลับมาเมืองไทย กลับมาเมืองไทยแล้ว ท่านก็ได้มาทำงานทำการ ซึ่งก็ปรากฏว่า เมื่อทำงาน ท่านก็ทำงานที่เกี่ยวกับการพระศาสนาด้วย มองในแง่หนึ่งก็คือท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี นี้ ออกไปจากวัดแล้วท่านไม่ได้ทิ้งวัด ไม่ได้ทิ้งทั้งในแง่การศึกษาเล่าเรียน และในแง่การทำการงาน คือในแง่การศึกษาเล่าเรียนก็ยังเรียนวิชาศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของวัด แล้วเมื่อทำงานดำเนินชีวิตก็ทำงานที่เกี่ยวกับพระศาสนา ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระศาสนา ซึ่งท่านได้ทำสืบมาจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านจบสิ้นชีวิตลง

ผลงานที่ท่านทำนั้นมีหลายด้าน แต่ที่สำคัญซึ่งปรากฏออกมาเป็นเครื่องรำลึกหรือเป็นอนุสรณ์ระยะยาว ก็คือผลงานทางด้านการประพันธ์หรือหนังสือ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า เมื่อท่านไปเรียนแล้วท่านก็ได้นำเอาความรู้นั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย นอกจากมาสอนเป็นอาจารย์แล้วก็ได้ผลิตงานทางวิชาการขึ้นมา ข้อเขียนของท่านนั้นถ้าเราสนใจให้ความสำคัญก็จะเป็นประโยชน์มากในการที่จะช่วยให้เข้าถึงรากฐานของอารยธรรมตะวันออก

เรื่องที่ท่านเขียนก็มีตั้งแต่เรื่องพุทธศาสนามหายาน ซึ่งท่านได้เขียนขึ้นมาโดยเฉพาะ ดูเหมือนจะเคยพิมพ์เป็นหนังสือเล่มๆ หนึ่ง

พุทธศาสนามหายานก็ดังที่กล่าวแล้ว คือเป็นรากฐานของอารยธรรมของตะวันออก รวมทั้งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย แล้วท่านยังลงลึกเฉพาะลงไปอีก คือ ไม่ได้เขียนเฉพาะพุทธศาสนามหายานเท่านั้น แต่จำเพาะในแง่ของญี่ปุ่นเอง ท่านก็ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วย เช่นเรื่องลัทธิบูชิโด

บูชิโดนี้เป็นวัฒนธรรมสำคัญส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงเหตุปัจจัยในการสร้างสรรค์ความจริญของญี่ปุ่น ทำให้มองเห็นว่าคนญี่ปุ่นมีจิตใจอย่างไร และด้วยจิตใจที่มีรากฐานมั่นคงอย่างนั้น ทำอย่างไรเขาจึงสร้างความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้ การอ่านหนังสือลัทธิบูชิโดนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่หยั่งลึกลงไปถึงรากฐานทางชีวิตจิตใจ

แล้วท่านก็ขยายขอบเขตออกไปอีก ไม่ใช่ศึกษาเฉพาะรากฐานวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ได้เขียนเรื่องอื่นเกี่ยวกับตะวันออกทั่วไปด้วย

เรื่องของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ก็ย่อมโยงมาหาพุทธศาสนาที่เป็นต้นเดิม และเมื่อสาวลึกลงไป ก็ต้องสืบไปถึงอินเดีย พอสืบไปถึงอินเดียแล้วพุทธศาสนาก็โยงต่อไปถึงลัทธิศาสนาพราหมณ์ ในด้านนี้ท่านอาจารย์เสฐียรก็ได้ศึกษาตลอด จนกระทั่งว่าได้เขียนงานเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของอินเดียในยุคหลังพุทธกาลด้วย และท่านก็ได้มีหนังสือ เช่นเรื่องจาณักยะ ออกมา

จาณักยะเป็นที่ปรึกษาหรืออาจจะเรียกว่าเป็นปุโรหิตในราชสำนักของพระเจ้าจันทรคุปต์ ซึ่งเป็นพระอัยกาหรือปู่ของพระเจ้าอโศก เป็นผู้ตั้งราชวงศ์เมารยะ หรือโมริยะขึ้นมา จันทรคุปต์เป็นมหาราชที่สำคัญมาก เป็นผู้ทำให้อาณาจักรมคธยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งทำให้มีพระเจ้าอโศกมหาราชที่เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย เป็นมหาราชผู้มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เป็นอัครศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จาณักยะนี้เป็นผู้ที่วางรากฐานการปกครอง ซึ่งทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ราชวงศ์ของพระเจ้าจันทรคุปต์หรือโมริยะนี้

อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่เกี่ยวกับรากฐานอารยธรรมตะวันออกในด้านต่างๆ นี้เป็นเพียงยกตัวอย่าง เพราะมาพูดในที่นี้ก็ไม่มีเวลาที่จะไปสำรวจงานของท่านอาจารย์เสฐียร แต่ที่พอนึกๆ ได้เคยผ่านมาก็เห็นงานเหล่านี้ ซึ่งทำให้มองโยงไปได้ถึงความสำคัญของสิ่งที่ท่านอาจารย์เสฐียรได้มีความสนใจและได้นำมาเขียนนำมาแสดง

จำกัดวงลงไปกว่านั้น ในแง่ของพระพุทธศาสนา ก็มาถึงประเทศไทย ในแง่นี้ท่านอาจารย์เสฐียรก็มีความสนใจที่น่าแปลกเหมือนกัน บางทีเราจะไม่ค่อยได้สังเกต เคยเจอหนังสือเก่ามากที่ท่านแปลไว้คือ คัมภีร์ ชินกาลมาลี

ชินกาลมาลีนี้ (ตอนนั้นเขียนเป็นชินกาลมาลินี) เป็นคัมภีร์ภาษาบาลี ว่าด้วยประวัติพุทธศาสนาในประเทศไทยสมัยโบราณ ซึ่งแต่งในเมืองเหนือ ยุคล้านนา แสดงว่าความสนใจของท่านอาจารย์เสฐียรนี้กว้างขวางมาก แล้วท่านก็มีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาบาลีที่จะสามารถทำงานเหล่านี้ขึ้นมาได้ ชินกาลมาลีนี้ก็เป็นงานที่เรียกได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้มองเห็นถึงรากฐานทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองไทยของเรานี้

งานที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นส่วนที่ทำให้ถือได้ว่า ท่านอาจารย์เสฐียรได้มีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญก้าวหน้าในวงวิชาการ ซึ่งในที่นี้เราได้พูดเน้นไปในด้านพระศาสนา แต่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในงานทางพระศาสนาเท่านั้น สิ่งสำคัญที่จะตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือว่า ท่านสามารถโยงเรื่องศาสนาเข้ามาสู่วิชาการสมัยใหม่ได้ด้วย อันนี้ก็เป็นข้อที่สำคัญประการหนึ่ง

เชื่อมประสานเก่ากับใหม่ แก้ไขจุดอ่อนของสังคมไทย

ถ้าเรารู้แต่เรื่องพระศาสนา พูดได้แต่เรื่องพุทธศาสนามหายาน หรือแม้แต่เถรวาท ตลอดจนเรื่องไทยเก่าๆ อะไรต่างๆ นี้ มันก็เป็นเพียงด้านหนึ่งของวิชาการ และเป็นด้านที่คนสมัยใหม่อาจจะไม่เห็นคุณค่าเท่าไร แล้วก็ยังไม่สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ สิ่งสำคัญก็คือว่า ทำอย่างไรจะให้คนในสมัยปัจจุบันนี้ได้ซาบซึ้งเห็นคุณค่า และมีความรู้ความเข้าใจหรือสนใจในวิชาการเก่าๆ เหล่านั้นด้วย

ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี เป็นผู้มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือการที่ท่านรู้เรื่องราวสมัยใหม่ มีความรู้ในวิชาการปัจจุบันด้วย นอกจากรู้ภาษาอังกฤษที่จะเป็นสื่อโยงในการที่ท่านจะแสวงหาความรู้สมัยใหม่เข้ามาหรือที่จะแสดงออกไปแล้ว ท่านยังมีความรู้ในด้านอื่นๆ ด้วย เช่นมีความสนใจในเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง และนอกจากมีความรู้ทันเหตุทันการณ์แล้ว ก็มาทำงานในวงวิชาการที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องความเคลื่อนไหวของสังคมด้วย อันนี้ก็คือการที่ท่านเข้าไปสู่วงการสื่อสารมวลชน แล้วก็ได้ไปประกอบอาชีพการงานในวิชาชีพทำหนังสือพิมพ์

สมัยก่อนนี้เราเรียกท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีได้เต็มปากว่า ท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์ และท่านก็ได้ทำหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อว่า ชาวไทย อยู่เป็นเวลายาวนาน นอกจากเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ แล้ว ท่านก็ได้ใช้ความรู้ทางพระศาสนาและวัฒนธรรมให้เป็นประโยชน์ โดยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระศาสนาออกทางหนังสือพิมพ์นั้นด้วย อันนี้ก็ถือว่าเป็นความสามารถซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่สามารถโยงเอาเรื่องทางด้านวัฒนธรรม ให้มาสืบต่อเชื่อมประสานกับความรู้วิชาการสมัยใหม่และเหตุการณ์ปัจจุบันด้วย นับว่าเป็นคติเป็นแนวทางหรือเป็นแบบอย่างที่เราทั้งหลายในรุ่นหลังๆ นี้ควรจะทำ

แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ลำพังคนเดียวทำงานไว้อย่างนี้ จะให้มีความสำเร็จกว้างขวางออกไปมากมายนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก จำเป็นที่จะต้องมีผู้อื่นมาช่วยกัน โดยเฉพาะผู้ที่จะมาสืบสานต่อทอดงานหรือทำงานในทางเดียวกัน โดยถือเอาท่านเป็นตัวอย่าง ถ้าอย่างนี้ก็จะทำให้งานที่จะเชื่อมโยงความรู้ที่เราเรียกว่าเก่ากับความรู้สมัยใหม่เกิดผลจริงจัง ทำให้เก่ากับใหม่นั้นเข้าถึงกันได้

ยิ่งถ้าจะย้ำความอย่างที่กล่าวมาในตอนต้นก็ต้องพูดว่า ในยุคปัจจุบันนี้เราจะต้องเน้นเรื่องนี้ให้มาก คือการที่จะต้องเชื่อมประสานเรื่องเก่ากับเรื่องใหม่ให้ได้ เพราะสังคมไทยปัจจุบันนี้มีจุดอ่อนที่สำคัญมาก คือการที่คนไทยเรานี้จำนวนมากไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสังคมของตนเอง เรื่องนี้เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากทีเดียว จึงขอย้ำว่า จุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งของการพัฒนาประเทศ ก็คือ การที่คนไทยไม่เข้าใจสังคมของตนเอง คือไม่รู้เรา ไม่รู้จักตัวเอง เมื่อไม่รู้จักตัวเอง คือไม่มีความรู้ ก็ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง เมื่อไม่เห็นคุณค่าของตนเองก็ไม่มีความภูมิใจในตนเอง เมื่อไม่มีความภูมิใจในตนเอง การที่จะปฏิบัติการอะไรในสังคมของตนเองนี้ก็จะไม่เกิดความกลมกลืน แต่จะเกิดความขัดข้องต่างๆ เช่นว่าเมื่อไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ นำความรู้ของตะวันตกเข้ามา ก็ไม่สามารถเอามาประสานกลมกลืนเข้ากับสังคมของตนเองได้ ทำให้เกิดความติดขัด ซึ่งเป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศ

เท่าที่เป็นมาแล้วนี้ เราประสบความติดขัดอย่างสำคัญจากเรื่องนี้ คือการที่คนไทยไปเรียนวิชาการตะวันตกมา แต่ไม่สามารถนำมาย่อยให้เข้าเป็นเนื้อเป็นตัวของไทยได้ คือไม่สามารถนำเข้าสู่สังคมไทยได้อย่างแท้จริง เรื่องนี้เราอาจจะถือเป็นจุดหนึ่งที่จะยกขึ้นมาเน้นความสำคัญ ในการที่จะให้คนไทยหันมาศึกษาสนใจเรื่องเกี่ยวกับสังคมไทยให้มากขึ้น งานที่ท่านอาจารย์เสฐียรได้ทำมา ไม่ว่าท่านจะคิดอย่างไรก็ตาม ก็จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามด้านนี้ ซึ่งเป็นด้านที่มีความสำคัญมากทีเดียว จึงควรจะยกเกียรติอันนี้ให้แก่ท่านไว้ในที่นี้ด้วย

คิดริเริ่มเอง ไม่ต้องรอให้ฝรั่งมานำในเรื่องของไทย

เท่าที่ได้พูดเกี่ยวกับการที่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้ทำงานมาอย่างนี้ เป็นการพูดอย่างกว้างๆ และในการทำงานเหล่านี้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือการมีความคิดริเริ่ม ดังที่ท่านได้แสดงออกในการทำงานเขียนต่างๆ เช่นอย่างหนังสือ ชินกาลมาลี ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าๆ ในตอนนั้นไม่ค่อยมีใครรู้จักด้วยซ้ำ แม้แต่ในวงการพระสงฆ์ก็แทบไม่เคยได้ยินชื่อหนังสือนี้เลย แม้แต่ท่านที่รู้จักบ้างก็ไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ เพราะเห็นเป็นเรื่องเก่าแก่ เป็นเรื่องตำนาน เป็นเรื่องนิยาย ที่ถึงกับเห็นว่าเป็นเรื่องอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ ว่าคนโบราณหลอกเราไปก็มี

จนกระทั่งมาเมื่อสมัยสัก ๒๐ กว่าปีมานี้ ที่ประเทศตะวันตกคืออเมริกา มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยคอร์เนล ได้ให้ความสำคัญแก่คัมภีร์เหล่านี้ หันมาศึกษาคัมภีร์เก่าๆ อย่างชินกาลมาลีปกรณ์ และคัมภีร์ในสมัยเก่าๆ อื่นๆ หลายคัมภีร์ เช่น ไตรภูมิพระร่วง จามเทวีวงศ์ ซึ่งเดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาแปลไปแล้วบ้าง กำลังแปลกันอยู่บ้าง ตอนนั้นประเทศตะวันตกคืออเมริกา ซึ่งเรานับถือว่าเป็นผู้นำของประเทศพัฒนา เขากลับมาศึกษาเรื่องเหล่านี้ มีการตั้งศูนย์ศึกษาเรื่องอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการตั้งสถาบันอะไรต่างๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีศูนย์ สำนัก และสถาบันที่ศึกษาในด้านอาเซียตะวันออกเฉียงใต้นี้ถึงประมาณ ๙ แห่ง อย่างที่คอร์เนลนี้ เมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้วก็ได้หันมาให้ความสำคัญแก่คัมภีร์เก่าๆ เหล่านี้

ฝรั่งมาแปลคัมภีร์ต่างๆ เก่าๆ ของเรา ที่เป็นตำนานโบราณ จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังมีอาจารย์ฝรั่งกำลังแปลจามเทวีวงศ์อยู่ ยังแปลไม่จบ แปลมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว หรืออย่างไตรภูมิพระร่วงนี่ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยชิคาโกก็แปลเสร็จแล้ว และพิมพ์ไปแล้ว ท่านเหล่านี้เห็นว่าคัมภีร์เหล่านี้ ซึ่งเป็นตำนานเก่าๆ มองดูคล้ายๆ เป็นเรื่องนิยาย หรือเป็นเรื่องอัศจรรย์ ที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้ารู้จักอ่านให้เป็นแล้ว จะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสังคมแถบนี้ นอกจากประวัติของประเทศชาติบ้านเมืองแล้ว ยังจะเห็นประวัติในแง่รากฐานทางวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อถือและความคิดจิตใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสังคมด้วย พอฝรั่งให้ความสำคัญแก่คัมภีร์เหล่านี้ คนไทยเราก็กลับไปให้ความสำคัญบ้าง

ในตอนหลังนี้ คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ก็ได้รับการแปลใหม่เป็นทางการที่เมืองไทย โดยที่ทางเมืองนอกที่ประเทศอังกฤษ The Pali Text Society ที่ London ได้หานักปราชญ์ดำเนินการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และก็ได้มีการพิมพ์ออกมาแล้ว แต่ตอนที่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี แปลชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นภาษาไทยนี้ ดูจะไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ โดยมากจะไม่รู้หรือไม่ได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งควรจะยกขึ้นมาพูดไว้ ซึ่งแสดงถึงการที่ท่านมีความคิดริเริ่ม

รวมความก็คือว่า คนไทยเรานี้ ถ้าจะพัฒนาประเทศชาติกันอย่างแท้จริงแล้ว เราจะต้องรู้จักสังคมของเราให้มากกว่านี้ แต่บัดนี้มันกลายเป็นว่า ฝรั่งมารู้จักสังคมไทยมาก ฝรั่งมาให้ความสนใจศึกษารากฐานของวัฒนธรรมและอารยธรรมของไทย เพื่อจะเข้าถึงสังคมไทยอย่างแท้จริง แล้วจะได้ปฏิบัติต่อสังคมไทยให้ถูกต้อง และคนไทยเราก็กลับต้องไปศึกษาเรื่องไทยจากตะวันตก เช่นเราอาจจะต้องไปทำปริญญาประวัติศาสตร์ไทยที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ในประเทศอเมริกา อะไรทำนองนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ว่าเรากลับต้องให้ประเทศตะวันตกมาเป็นผู้นำเราในการศึกษาเรื่องของเรา

แม้ในบัดนี้เมื่อญี่ปุ่นได้มาเป็นผู้นำ และกำลังเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก ด้านหนึ่งของความสนใจของญี่ปุ่น ก็คือความสนใจในวัฒนธรรมไทย เพราะเขารู้ดีว่า การที่จะเข้าถึงเมืองไทยหรือสังคมไทยอย่างแท้จริงได้เขาจะต้องรู้จักวัฒนธรรมไทย ต้องรู้จักศาสนาของไทย คนฝรั่งที่จะเข้ามาในเมืองไทย จะทำงานเกี่ยวกับเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง จะต้องเรียนเรื่องพระพุทธศาสนา เราก็เช่นเดียวกัน ถ้าจะเข้าถึงสังคมอเมริกา เข้าถึงสังคมญี่ปุ่น เราจะต้องเรียนรู้เรื่องของเขาให้ลึกซึ้ง

คนไทยเราไปเรียนอเมริกา น้อยคนหรือแทบไม่มีที่ไปเรียนรากฐานอารยธรรมของเขา เวลาเราทำวิทยานิพนธ์ เราก็มักจะทำเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำให้เขาได้ส่วนหนึ่งด้วย จริงอยู่ในส่วนหนึ่งเป็นการเข้าใจสังคมไทยของเรา แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือการที่ช่วยให้อาจารย์ในประเทศตะวันตกนั้นเขาได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทย รวมทั้งได้ข้อมูลและความคิดเห็นที่คนไทยเราคิดต่อตนเอง คนไทยเรารู้สึกต่อตนเองอย่างไร ฝรั่งเขาก็อยากจะรู้เหมือนกัน คนไทยทำวิทยานิพนธ์เรื่องไทย ฝรั่งยิ่งชอบ เพราะเขาได้จากเรามากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมาหาเรา

เมื่อเรียนเรื่องของเขา ก็ต้องให้รู้จักเขาจริง

อย่างไรก็ดี ให้เขาได้จากเราเกี่ยวกับเรื่องของเรา ก็ไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญก็คือ เราไปที่เขากันมากมาย แต่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องของเขาให้ลึกซึ้งถึงแก่นถึงรากเลย ฉะนั้น คนไทยเราที่ไปศึกษาเมืองนอกทำวิทยานิพนธ์ น่าจะแบ่งกันเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็ทำเรื่องไทยของเราให้ลึกซึ้งที่สุด ส่วนอีกพวกหนึ่งต้องพยายามศึกษาให้เข้าถึงรากฐานอารยธรรมของตะวันตก ให้รู้เหตุปัจจัยแห่งความเจริญของตะวันตก ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังนำขึ้นมา เราก็จะต้องศึกษาให้เข้าถึงรากฐานความคิดจิตใจของญี่ปุ่นด้วย ไม่ใช่ไปมัวตื่นเต้นกับเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตความเจริญของญี่ปุ่น

อย่างปัจจุบันนี้ เราสัมพันธ์กับญี่ปุ่นมาก แต่ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปในลักษณะของการรับผลผลิตอย่างที่กล่าวข้างต้นแทบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นแนวทางของการสร้างความเจริญแบบเป็นผู้บริโภคและเป็นผู้รับเป็นผู้ตาม นอกจากเป็นผู้ตามแล้ว ก็จะต้องวนเวียนอยู่ในกระแสของความที่จะต้องเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเรื่อยไป

ฉะนั้น ถ้าหากว่าจะเปลี่ยนกระแสการพัฒนา ก็จะต้องเปลี่ยนแนวความคิดเสียใหม่ด้วย เราจะต้องไม่ไปมัวสนใจต่อความเจริญทางวิทยาการของญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยี เช่น อีเลกทรอนิกส์อะไรต่างๆ เท่านั้น พวกหนึ่งศึกษาให้ทันความคิดที่ก้าวหน้าที่สุดของเขาในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แต่พร้อมกันนั้นอีกพวกหนึ่งจะต้องไปศึกษาให้เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น หยั่งลงไปให้ถึงรากฐานของความเจริญของเขา ให้รู้เหตุปัจจัยของความเจริญนั้น

แม้แต่ในสภาพความเจริญที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ ด้านหนึ่งก็คือความเสื่อมของญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีใครค่อยศึกษา ไม่ค่อยมีใครที่สนใจว่า ในท่ามกลางสภาพของญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ ที่มีความเจริญนั้น พร้อมกับความเจริญนั้นมีความเสื่อมอย่างไรบ้าง แล้วอะไรจะเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญและความเสื่อมต่อไปในอนาคตของญี่ปุ่น เรามองญี่ปุ่นในอนาคตและมองหาเหตุปัจจัยของเขาที่มีอยู่ในปัจจุบันกันอย่างไร อันนี้ก็รู้สึกว่าแทบจะหาผู้สนใจมิได้

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่โยงเข้ามาหาท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี และโยงมาสู่เรื่องการพัฒนาสังคมไทย เพราะว่างานของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษีนั้น กล่าวได้ว่าเป็นงานส่วนหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่จะสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทยอย่างแท้จริง ชนิดที่จะเข้าถึงขั้นรากฐานกันทีเดียว เพราะอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น ที่เป็นระดับรากฐานทางอารยธรรมและวัฒนธรรมของเขามาไว้แล้ว ซึ่งเราควรให้ความสนใจ อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งไว้ดังได้กล่าวมาแล้ว

เท่าที่ได้กล่าวมาในเรื่องของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็เป็นการมองอย่างกว้างๆ ซึ่งไม่ใช่มองเฉพาะในแง่ที่ท่านเป็นอาจารย์ในมหาจุฬาฯ เท่านั้น แต่มองในแง่ของผลงานที่ท่านทำไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยในวงกว้างด้วย ทั้งนี้ ก็อยู่ที่ว่าเราจะนำมาใช้ประโยชน์หรือไม่ ถ้าหากว่าไม่ใช้ประโยชน์ ผลงานเหล่านั้นก็นอนอยู่นิ่งๆ เป็นของที่อาจจะไม่ค่อยมีประโยชน์หรือไร้ค่าไร้ประโยชน์ไป แต่ถ้าเอามาใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการทำต่อสืบสานงานของท่านให้ขยายคุณค่าสู่วงกว้างขวางออกไปได้

หน้าที่ของครู ทั้งให้ความรู้ และให้เครื่องคุ้มภัย

อย่างไรก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดในการที่ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้ทำงานเหล่านั้น งานสำคัญของท่านก็คือการเป็นครูอาจารย์นั่นเอง หมายความว่า ผลงานทั้งหมด กิจกรรมทั้งหมด และความรู้สึกนึกคิดจิตใจของท่านนั้น แสดงออกมาในฐานะของครูอาจารย์ คือการที่เป็นผู้ให้คำแนะนำสั่งสอน และจากฐานนี้เองก็ทำให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ลูกหา ที่มีอยู่จำนวนมากมาย และมีความกตัญญู ดังที่ได้มาแสดงออกร่วมกันบำเพ็ญกุศลในโอกาสนี้

เป็นธรรมดาในสังคมไทยของเรานี้ ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเคารพนับถือครูอาจารย์มาก ยิ่งครูอาจารย์ท่านเป็นผู้ทำหน้าที่อย่างดีเท่าใด ศิษย์ก็ยิ่งมีความเคารพนับถือ มีความกตัญญูมากเท่านั้น สำหรับท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี นั้นก็จะไม่ต้องกล่าวมาก เพราะว่าการที่ลูกศิษย์มาช่วยกันตั้งมูลนิธิให้ท่านเป็นต้นนี้ ก็เป็นหลักฐานอย่างดีที่แสดงถึงความเคารพรักต่อท่านแล้ว

ทีนี้ถ้าเรามาดูในแง่ของการทำหน้าที่ของครูอาจารย์ มองกว้างๆ ออกไป ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็ปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา หน้าที่ของครูอาจารย์นั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วในคัมภีร์ทีฆนิกาย พระสูตรสำคัญที่กล่าวเรื่องนี้ ก็คือ สิงคาลกสูตร หรืออีกชื่อหนึ่งว่า สิคาโลวาทสูตร ที่แสดงถึงการทำงานหรือทำหน้าที่ของครูอาจารย์ไว้ในหลักธรรมเรื่องทิศหก มี ๕ ประการด้วยกัน

เราเรียนกันมาในหนังสือเรียนนักธรรมชั้นตรี ซึ่งท่านแปลให้อ่านกันง่ายๆ จำง่ายๆ ว่า

(๑) แนะนำดี

(๒) ให้เรียนดี

(๓) บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง

(๔) ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง

(๕) ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย (คือ จะไปทางทิศไหนก็ไม่อดอยาก)

หลักปฏิบัติหมวดนี้มี ๕ ข้อ และ ๕ ข้อนี้ถือว่าเป็นหน้าที่ของครูอาจารย์

หน้าที่ของครูอาจารย์เป็นเรื่องสำคัญที่ว่า ถ้าทำถูกต้องแล้วจะช่วยให้ศิษย์มีชีวิตที่เจริญงอกงาม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ถ้าเรามาวิเคราะห์หน้าที่ ๕ ประการ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ก็อาจจะมองเห็นอะไรที่มันกว้างขวางออกไปอีก อาจจะมีนัยที่ลึกซึ้งลงไปซึ่งจะเรียนกันได้หลายชั้นก็ได้ จะขยายนัยกันไปอย่างไรก็ต้องยกเอาบาลีมาพิจารณา

เริ่มตั้งแต่ข้อหนึ่งบอกว่า สุวินีตํ วิเนนฺติ ที่ท่านแปลอย่างง่ายๆ ให้เราเรียนในชั้นนักธรรมตรีว่าแนะนำดี แนะนำดีนี้ ถ้าแปลตามศัพท์ สุวินีตํ วิเนนฺติ ก็จะแปลยักเยื้องไปได้อีกอย่างหนึ่ง ให้เป็นข้อความที่ยาวขึ้นว่า ฝึกอบรมให้เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดี หรือใช้คำสมัยใหม่ก็คือ ฝึกอบรมให้เป็นผู้มีการศึกษาดี อันนี้ประการที่หนึ่ง

ต่อไปข้อที่สองบอกว่า สุคหิตํ คาหาเปนฺติ ให้ถือเอาโดยเป็นการถือเอาอย่างดี หมายความว่าให้เรียนได้อย่างดี คือไม่ว่าจะสอนวิชาที่เป็นข้อมูลความรู้หรือทักษะอะไรต่างๆ อย่างใดให้ ก็รับถ่ายทอดได้อย่างแม่นยำครบถ้วน และมีความเข้าใจชัดเจน

ต่อไปข้อที่สามบอกว่า สพฺพสิปฺเปสุ ตํ สมกฺขายิโน ภวนฺติ ในหนังสือเรียนนักธรรมตรี ท่านแปลให้จำกันง่ายๆ ว่า บอกศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง

ทีนี้ถ้าเราดูตามศัพท์ก็มีแง่ให้พิจารณาเพิ่มขึ้น พอดีว่าข้อนี้แปลก ในอรรถกถาไม่อธิบาย หน้าที่ข้อที่สามของครูอาจารย์นี่ ไม่มีคำอธิบายในอรรถกถา แต่เราลองมาแปลดู

สพฺพสิปฺเปสุ ตํ สมกฺขายิโน ภวนฺติ อาจจะแปลว่า เป็นผู้บอกความรู้แก่ศิษย์นั้นอย่างสม่ำเสมอในศิลปะทั้งปวงก็ได้ คือเป็นผู้บอกกล่าวถ่ายทอดวิชาให้อย่างสม่ำเสมอ ทำหน้าที่เป็นประจำสม่ำเสมอก็ได้

อีกนัยหนึ่ง จะแปลว่า เป็นผู้บอกความรู้ให้ศิษย์นั้น เป็นผู้เสมอเท่ากันกับตัวท่านในศิลปะทั้งปวงก็ได้ ถ้าแปลอย่างนี้ ก็ตรงกับนัยที่ท่านแสดงไว้ คือสอนศิลปให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง ให้มีความรู้เท่ากับท่าน

หรือจะแปลว่า บอกความรู้ให้อย่างเหมาะสมพอดีในศิลปะทั้งปวง หมายความว่ารู้ความเหมาะสมของลูกศิษย์นี้ว่าจะเรียนอะไรได้แค่ไหนก็สอนให้พอเหมาะก็ได้

หรืออีกนัยหนึ่งก็แปลว่า เป็นผู้บอกความรู้ให้อย่างสมดุลในศิลปวิทยาทั้งปวง หมายความว่า วิทยาการทั้งหลายมีความประสานสอดคล้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จะต้องรู้จักความสมดุลด้วย คือสอนอย่างมีดุลยภาพในวิชาการทั้งหลาย เรื่องความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างวิชาการต่างๆ นี้ ในสมัยหลังให้ความสำคัญมาก โดยนัยนี้ ก็จะต้องมีการบอกศิลปวิทยาหรือสอนความรู้ให้อย่างที่เรียกว่ามีดุลยภาพด้วย อันนี้ก็เป็นข้อซึ่งอาจจะฝากไว้ช่วยกันพิจารณาต่อไป

ต่อไปข้อที่สี่ว่า มิตฺตามจฺเจสุ ปฏิเวเทนฺติ แปลว่า ประกาศให้ปรากฏในมิตรและอำมาตย์ทั้งหลาย มิตฺต ก็คือเพื่อนฝูง อมจฺจ แปลว่าผู้ร่วมงาน รวมแล้วก็หมายความว่าในวงผู้รู้จักคุ้นเคยหรือเกี่ยวข้องในสังคมนั่นเอง ถ้าว่าอย่างสมัยใหม่ ก็คือนำลูกศิษย์เข้าสู่สังคม ในสมัยปัจจุบันนี้ถือว่า หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาก็คือ socialization การนำคนเข้าสู่สังคม หมายความว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของครูอาจารย์ก็คือ การนำลูกศิษย์เข้าสู่สังคมให้ปรากฏตัวแสดงตัวเป็นที่ยอมรับในสังคม รู้จักเข้าสังคม มีคุณความดีความสามารถอะไร ก็ยกย่องทำให้ปรากฏ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะดำเนินชีวิตให้มีความสุขความเจริญในอนาคตต่อไป

ประการสุดท้าย ข้อที่ห้าว่า ทิสาสุ ปริตฺตาณํ กโรนฺติ แปลว่า ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย อรรถกถาท่านอธิบายไว้เยอะแยะ ข้อนี้เป็นข้อที่อรรถกถาอธิบายไว้มากที่สุด ในหนังสือเรียนนักธรรมตรีของเรา ท่านแปลไว้สั้นๆ ว่า ทำความป้องกันในทิศทั้งหลายคือ จะไปทางทิศไหนก็ไม่อดอยาก อันนี้ก็เป็นความหมายขั้นหนึ่ง หมายความว่า นอกจากสอนแล้วก็ดูแลเอาใจใส่ลูกศิษย์ด้วย

แต่เมื่อแปลดูจับใจความแล้ว หน้าที่ข้อนี้ก็คือการที่จะให้ลูกศิษย์สามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ เอาตัวอยู่รอดในสังคมได้ และดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดีในสังคมต่อไป ข้อนี้ ก็เป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของครู และในการที่จะทำให้ลูกศิษย์อยู่รอดปลอดภัยในสังคม ดำเนินชีวิตไปได้ด้วยดีนั้น สิ่งสำคัญประการที่หนึ่งก็คือ จะต้องสอนวิชาให้ศิษย์เอาไปปฏิบัติหรือใช้การได้จริง ไม่ใช่สอนสักว่าผ่านๆ ต้องสอนให้เขาทำได้จริง ปฏิบัติได้จริงด้วย ถ้าเป็นอาชีพก็เป็นการฝึกสอนที่ทำให้เขามีความชำนิชำนาญนำไปใช้เลี้ยงชีวิตได้จริง

อย่างการศึกษาในยุคปัจจุบัน เวลานี้มีการติเตียนกันอย่างหนึ่งว่า สอนไปแล้วบางทีลูกศิษย์เรียนได้ไปแต่ทฤษฎี ปฏิบัติไม่ได้ เวลาออกไปแล้วทำอาชีพไม่ได้ ต้องไปเรียนใหม่ ไม่สามารถสู้คนที่เขาฝึกมาด้วยประสบการณ์ โดยไม่มีพื้นความรู้ จบเพียง ป. ๔ เท่านั้น แต่เขาอยู่ในวงงานนั้นและทำได้ดีกว่า ข้อบกพร่องนี้เกิดขึ้นเพราะว่าไม่มีการฝึกงานที่แท้ ไม่มีการสอนในภาคปฏิบัติกันจริงจัง เพราะฉะนั้น ความหมายส่วนหนึ่งในข้อนี้ก็คือการที่จะต้องสอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง จนกระทั่งเอาไปประกอบเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ แล้วเขาจึงจะไม่อดอยาก ไม่แร้นแค้น อยู่ได้ด้วยดีในสังคม เป็นการสร้างเครื่องคุ้มครองในสารทิศให้แก่เขาได้จริง

อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เขาอยู่รอดปลอดภัยในสังคม ก็คือการรับรองความรู้ให้ อาจจะเอื้อมไปถึงการรับรองความประพฤติด้วย การรับรองในสมัยนี้ก็ออกมาในรูปแบบของการให้ใบประกาศนียบัตรและใบสำคัญต่างๆ ฉะนั้น การให้ใบประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร และให้ใบรับรองความประพฤติ ก็อยู่ในข้อที่ห้านี้เอง เป็นสาระของการกระทำความคุ้มครองหรือป้องกันในทิศทั้งหลาย คือให้ลูกศิษย์อยู่รอดปลอดภัยในสังคม ดำเนินชีวิตด้วยดีได้ต่อไป

การศึกษามีหน้าที่หลักใหญ่ คือสอนให้เป็นคนดีที่เก่ง

ที่ว่ามานี้เป็นหน้าที่ ๕ ประการของครู ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะครูเท่านั้น โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกแห่งก็จะต้องทำหน้าที่นี้ ในที่นี้อยากจะเน้นความสำคัญ ๒ ประการ ข้อหนึ่งกับข้อสองนี่น่าเน้นมาก แล้วดูการเรียงลำดับของท่านด้วย

ข้อที่ ๑. สุวินีตํ วิเนนฺติ แนะนำหรือฝึกฝนให้เป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างดี ให้เป็นคนมีการศึกษาดี เป็นข้อที่เน้นหนักในด้านจริยธรรม

ข้อที่ ๒. สุคหิตํ คาหาเปนฺติ ให้รับเอาความรู้ได้อย่างดี นี้เป็นข้อที่เน้นในแง่ของวิชาการ

ตกลงว่ามีจุดเน้นสองข้อ ข้อที่หนึ่งเอาจริยธรรมนำมาก่อน ฝึกฝนอบรมให้เป็นคนดี ให้เป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีแล้ว เป็นคนที่เรียกได้ว่า educated man คือเป็นคนที่มีการศึกษาดี สุวินีต ถ้าแปลอย่างศัพท์สมัยใหม่ ก็ educated นั่นเอง จะต้องพยายามหาทางว่า ทำอย่างไรจะสอนเขาให้เป็นคนมีการศึกษาที่แท้จริง ให้เป็นคนที่ได้มีการฝึกฝนอบรมพัฒนาแล้วทั้งทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และทางปัญญา อย่างนี้จึงจะเป็นคนที่มีการศึกษา ทั้งนี้จุดเน้น ก็คือ จริยธรรม มาเป็นอันดับแรก แล้วข้อที่สองก็เน้นในด้านความรู้ หมายความว่าการที่พระพุทธเจ้าตรัสข้อหนึ่งและข้อสองมานี้ แสดงถึงการที่ครูจะต้องรับผิดชอบทั้งความรู้และความประพฤติของนักเรียน คือทั้งวิชชาและจรณะ

ข้อสังเกตสำคัญคือ การที่ท่านเอาข้อว่าด้วยความประพฤติหรือจรณะขึ้นก่อน คือเอา สุวินีตํ วิเนนฺติ ขึ้นก่อน แล้วจึงมาถึง สุคหิตํ คาหาเปนฺติ แสดงว่าต้องเน้นเรื่องความประพฤติ ในอรรถกถาท่านอธิบายไว้ ที่ว่าแนะนำให้เป็นคนที่ได้รับการฝึกฝนอบรมดีนี้เป็นอย่างไร ท่านยกตัวอย่าง เช่นสอนหรือแนะนำแม้กระทั่งว่า ควรจะนั่งอย่างไร ควรจะยืนอย่างไร ควรจะบริโภคอาหารอย่างไร นี้ก็คือการฝึกอบรมแม้แต่ในเรื่องกริยามารยาทหรือเรื่องจริยธรรมทั้งหมดนั้นเอง รวมถึงการประพฤติตัว การอยู่ร่วมสังคมในแง่ต่างๆ อันนี้เป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของครูอาจารย์ จริยธรรม เป็นข้อนำหน้า แล้วข้อที่สองคือวิชชาจึงตามมา ก็ได้ทั้งวิชชาและจรณะ พูดอย่างง่ายๆ ว่า ให้เป็นคนดีเป็นพื้นฐานก่อน แล้วให้เป็นคนเก่งด้วย จะได้เป็นคนดีที่เก่ง

เพียงข้อหนึ่งและข้อสองนี้ก็มากมายแล้วสำหรับการทำหน้าที่ของครูอาจารย์และสถาบันการศึกษา ต่อจากนั้นยังมีตามมาอีกตั้งสามข้อเป็นส่วนพิเศษ สองข้อแรกนี้เป็นการให้ทั้งความรู้และความประพฤติ

ในแง่ของความรู้หรือวิชาการ และความประพฤติหรือจรณะหรือจริยานี้ สำหรับข้อสองคือในแง่ของความรู้ นั้นว่าที่จริงก็ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียวเท่านั้นที่ครูจะให้ แต่พร้อมกับความรู้ที่เป็นวิชาการนั้น จะต้องมีอะไรอีกอย่างหนึ่งติดมาด้วยเป็นคู่กัน คือความรู้กับความคิด เพราะฉะนั้น ข้อที่สองจึงแยกออกไปเป็นความรู้และความคิด

ความรู้และความคิดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ให้แต่ความรู้อย่างเดียว ถ้าไม่ให้ความคิดด้วยก็ไม่พอ ผู้ที่มีการศึกษาจะต้องคิดเป็นด้วย

ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าครูเป็นกัลยาณมิตร กัลยาณมิตร นั้นนอกจากให้ความรู้ข้อมูลแก่ศิษย์ คือให้สุตะแล้ว จะต้องฝึกให้รู้จักคิดด้วย ให้สุตะก็คือให้ข้อมูล ตัวความรู้ ตัววิชาการ ฝึกให้รู้จักคิด คือจะต้องชักนำให้เกิดโยนิโสมนสิการด้วย คือฝึกให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณา รู้จักไตร่ตรองโดยแยบคายอย่างที่เขาเรียกกันในสมัยนี้ว่าคิดเป็น ครูอาจารย์จะต้องให้ทั้งความรู้และความคิด

ครูอาจารย์เป็นฐานให้ ศิษย์ขึ้นไปเหยียบยืนก็สูงพลัน

การที่ครูอาจารย์ทำหน้าที่แม้เพียงแค่ให้ความรู้และความคิด หรือชักนำในการที่จะมีความรู้และความคิดนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมหาศาลแล้ว แม้ครูทำหน้าที่เพียงสองอย่างนี้ก็เป็นผู้มีพระคุณที่ศิษย์ควรกตัญญูเป็นอย่างยิ่ง ขอให้มองดูคุณค่าของความรู้และความคิดนี้ ถ้าเรามองดูให้ลึกซึ้งแล้ว มันเป็นสิ่งที่สำคัญเหลือเกิน ถ้าเราเปรียบในแง่ของความได้เปรียบระหว่างครูอาจารย์กับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็เป็นผู้ที่ได้เปรียบอย่างยิ่ง

วิชาความรู้บางอย่างนี่ ครูอาจารย์กว่าจะค้นกว่าจะคิดขึ้นมาได้ใช้เวลานานเหลือเกิน และแรงงานก็หนัก หมายความว่าทั้งหนักและนาน กว่าจะได้ความรู้นั้นมา ความคิดก็เช่นกัน ค้นคิดอยู่นั่นแหละ บางคนนี้เรื่องเดียว ทุ่มเทเวลาและแรงงานให้กับเรื่องนั้นตลอดชีวิตจึงสำเร็จผล แต่พอเอามาสอนลูกศิษย์เพียงชั่วโมงเดียวลูกศิษย์ก็ได้ไปหมดแล้ว นี่คือผลของหยาดเหงื่อแรงงานและเวลาของอาจารย์ทั้งชีวิต ลูกศิษย์รับเอาไปเดี๋ยวเดียวก็ได้หมด

เพราะฉะนั้นเราจะต้องนึกว่า ครูอาจารย์นี่เหนื่อยและหนักเพียงไร แล้วคุณค่าแห่งชีวิตของท่านทั้งหมดก็มารวมอยู่ที่วิชาการและความคิดที่ให้แก่เรา เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ลูกศิษย์ก็ควรจะมีความกตัญญู รู้คุณ ซาบซึ้งในคุณความดีของท่านเป็นอย่างมาก ในแง่ความคิดก็เช่นเดียวกัน

ในแง่ความรู้ เมื่ออาจารย์ใช้เวลาและแรงงานมากมายหมดไปแล้ว ได้ความรู้มาแค่นั้น แล้วเอามาให้ลูกศิษย์ ลูกศิษย์ใช้เวลานิดเดียวและแรงงานนิดเดียวได้มา ต่อจากนั้นลูกศิษย์ก็มีเวลาและมีโอกาสที่จะไปหาความรู้อื่นมาเสริม ขยายความรู้กว้างขวางออกไป นี่เป็นความได้เปรียบประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง ในแง่ของความคิด อาจารย์จะมองจะพิจารณาเรื่องอะไร ก็เอาความคิดของตัวเข้าพิจารณาจนเต็มที่แล้ว เมื่อได้ผลของความคิดมาก็เอามาบอกแก่ลูกศิษย์ ความคิดของตัวหรือผลผลิตของวิจารณญาณ เอาออกมาบอกลูกศิษย์เดี๋ยวเดียวก็หมด แต่ลูกศิษย์ซึ่งเป็นผู้มอง เมื่อได้รับผลอันนี้ไปแล้ว เสร็จแล้วตัวเองมีแง่คิดของตัวเองอย่างไรก็เป็นส่วนเพิ่มเข้ามาอีก ธรรมดาคนแต่ละคนก็ย่อมมีความคิดของตัวเอง โดยมีแง่มุมมองของตน ตนเองมีแง่มุมมองอย่างอื่นก็ได้ส่วนของตนเองเสริมเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าอาจารย์มีหนึ่ง ลูกศิษย์ก็ได้อย่างน้อยสอง

ในแง่ความรู้ อาจารย์หามานานได้เล็กน้อย แต่ลูกศิษย์มีเวลาไปหาเพิ่มต่อได้มากมาย ในแง่ความคิด อาจารย์มีหนึ่งแต่ลูกศิษย์ขยายเป็นสอง เพราะฉะนั้นลูกศิษย์ก็ย่อมได้เปรียบอาจารย์ จึงเป็นธรรมดาที่ลูกศิษย์ควรจะดีกว่าอาจารย์ ถ้ามองในแง่นี้แล้วย่อมเป็นธรรมดาที่ลูกศิษย์จะต้องดีกว่าอาจารย์

ถ้าลูกศิษย์ไม่ดีกว่าอาจารย์แล้ว โลกไม่เจริญ และแสดงว่าลูกศิษย์นั้นไม่มีความสามารถ เพราะอะไร เพราะว่าของที่เขาหยิบเป็นผลสำเร็จเอามายื่นให้ตัวเองรับไปเดี๋ยวเดียวยังรับไม่ได้ บางทีแม้แต่รับก็ไม่ได้ อย่าว่าถึงจะไปสานสืบขยายต่อไป มองอย่างนี้แล้วก็เป็นเรื่องที่ว่า ลูกศิษย์ควรจะมีความรู้และความคิดที่เจริญงอกงามยิ่งกว่าอาจารย์ ซึ่งเป็นธรรมดาของการสร้างสรรค์อารยธรรมที่ควรจะเป็นอย่างนั้น พูดเปรียบง่ายๆ ในแง่หนึ่ง เหมือนครูอาจารย์เป็นฐานให้ แล้วลูกศิษย์ขึ้นไปยืน ก็ย่อมสูงเลยขึ้นไป

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยกมากล่าว เพื่อให้เห็นว่า เพียงแต่ครูอาจารย์ทำหน้าที่ข้อที่หนึ่งและข้อที่สองที่ว่า สุวินีตํ วิเนนฺติ ฝึกอบรมให้เป็นคนที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดี และ สุคหิตํ คาหาเปนฺติ ให้ได้รับความรู้เป็นอย่างดี เพียงแค่นี้ก็มีพระคุณมากมาย แม้แต่เพียงข้อสองข้อเดียวก็เป็นเรื่องมหาศาลอยู่แล้ว เพราะทำให้ศิษย์มีฐานที่จะสร้างสรรค์ความเจริญพัฒนาทั้งแก่ชีวิตของตนเองและแก่สังคมได้สืบต่อไป

ความกตัญญู คือเอาดีจากครูให้ได้มากที่สุด

ทีนี้เรามามองดูว่าศิษย์ควรจะทำอย่างไรจึงจะสามารถรับความรู้ของอาจารย์ได้หมดและเป็นศิษย์ที่ดีกว่าครู ดีกว่าครูในแง่ที่ว่าสามารถพัฒนาสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไปโดยที่ยังเห็นคุณค่าของครู คือเป็นศิษย์ที่กตัญญูแล้วก็มีคุณค่าของตนเองด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อสนองน้ำใจที่ดีงามของครูผู้มีพระคุณอย่างที่กล่าวมา ศิษย์ควรจะทำตนให้เป็นคนดีมีน้ำใจต่อครูด้วยการทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้องสมบูรณ์ และหน้าที่ของศิษย์นั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้แล้วเป็นคู่กัน ทรงสอนไว้สำหรับอาจารย์ห้า และก็สอนไว้สำหรับลูกศิษย์ห้า เช่นเดียวกัน

เมื่อลูกศิษย์ทำหน้าที่ของตนเองตามหลักปฏิบัตินี้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าไปปรนนิบัติเอาใจครูอาจารย์ ซึ่งในส่วนหนึ่งเราจะเห็นว่า เป็นอย่างนั้น แต่ที่จริงการกระทำอย่างนั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ตัวลูกศิษย์เอง การที่ลูกศิษย์ไปปรนนิบัติแสดงความกตัญญูเคารพครูอาจารย์นั้น ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของลูกศิษย์เอง แล้วก็จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดวิชาการ คือทำประโยชน์ให้แก่วิชาการไปด้วย หน้าที่ของลูกศิษย์ หรือข้อปฏิบัติของศิษย์ต่ออาจารย์ ก็ดังเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว มีห้าข้อเช่นเดียวกัน ในหนังสือเรียนนักธรรมตรีขั้นต้น ท่านก็แปลให้เราจำกันง่ายๆ บอกว่ามีอะไรบ้าง โดยไม่ต้องอธิบายขยายความ กล่าวคือ ศิษย์แสดงน้ำใจต่ออาจารย์หรือปฏิบัติอาจารย์

๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ

๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้

๓. ด้วยเชื่อฟัง

๔. ด้วยอุปัฏฐาก

๕. ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

อันนี้เป็นการแปลเพื่อให้เราเรียนในขั้นต้น ทีนี้เราก็มาดูในภาษาบาลี

ข้อที่ ๑. อุฏฺฐาเนน ได้แก่การลุกขึ้นยืนรับ ข้อนี้ตรงกับที่เราเรียน คือการแสดงความเคารพนั่นเอง การแสดงความเคารพเป็นเบื้องต้นของการที่เราให้ความสำคัญแก่สิ่งที่เราเกี่ยวข้อง พอเราให้ความสำคัญแก่สิ่งนั้น เราก็จะเกิดความตั้งใจเอาจริงเอาจัง เพราะฉะนั้น เมื่อพบครูอาจารย์ เราก็ให้ความสำคัญแก่ท่าน พอให้ความสำคัญด้วยการแสดงความเคารพแล้ว ต่อจากนั้นเราก็พร้อมที่จะรับฟัง มีความตั้งใจฟังหรือเล่าเรียนอย่างจริงจัง ต่อจากลุกรับแสดงความเคารพ ให้ความสำคัญแล้ว

ข้อที่ ๒. อุปฎฺฐาเนน ท่านให้ไว้สั้นๆ ว่า เข้าไปยืนคอยรับใช้ แต่ อุปัฏฐานะ นี้คืออะไร แปลตามตัว ก็เข้าไปยืนใกล้ๆ อุปัฏฐานนี้เราแปลกันอย่างโบราณก็คือ เข้าไปเฝ้า การเฝ้านั้น มีความหมายอย่างไร ไม่ใช่เข้าไปบำรุงรับใช้อย่างเดียว อย่างเข้าไปเฝ้าพระราชา เฝ้านั้นในแง่หนึ่งก็รับใช้พระราชา แต่ความหมายที่แท้ก็คือทำราชการนั่นเอง ทำราชการก็คืองานหน้าที่เพื่อการแผ่นดินหรือเพื่อประเทศชาติ ฉะนั้น การที่เข้าไปเฝ้าไปยืนใกล้ชิดนี่มันมีความหมายถึง การไปคอยรับฟังสิ่งที่ท่านจะบอกให้เรา ไปปรึกษาหารือ เผื่อว่าเรามีอะไรเป็นข้อสงสัยก็ไปไถ่ถามท่าน มีอะไรที่จะทำได้ก็จะได้ทำ พูดง่ายๆ เข้าไปหา หรือเข้าไปอยู่ใกล้ชิด

การที่จะรับความรู้จากอาจารย์ ตลอดจนซึมซาบในเรื่องความประพฤติของท่าน และในบุคลิกลักษณะของท่านได้อย่างดี ก็ต้องเข้าไปมีความใกล้ชิด การเข้าไปยืนอยู่ใกล้ก็คือเข้าไปอยู่ใกล้ชิดนั่นเอง ในอรรถกถาท่านยังอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ศิษย์ควรเข้าไปยืนอยู่ใกล้ (คือเข้าไปหาอาจารย์) วันละสามเวลา ไม่นับที่เข้าไปเพื่อเรียนศิลปวิทยาต่างหาก ว่าอย่างนั้น นี่แสดงว่า การที่ท่านบอกไว้อย่างนี้ ก็เพื่อให้ลูกศิษย์นั้นเก็บจากอาจารย์ได้หมดสิ้น เรียบไม่มีเหลือหรอ หลักการนี้ก็คือการที่จะให้ลูกศิษย์ได้จากอาจารย์ให้ครบ เพราะการเรียนสมัยโบราณเป็นการเรียนตัวต่อตัว การที่กำหนดหน้าที่เข้าไปเลยว่า ให้เข้าไปอยู่ใกล้ๆ คอยอยู่ใกล้ชิด จึงเป็นวิธีการที่ดีที่จะได้รับเอาความรู้ ศิลปวิทยา ตลอดจนคำแนะนำสั่งสอนทุกด้านทั้งวิชชาและจรณะเอามาให้ครบถ้วนทั้งหมด อุปัฏฐานะนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ในพระไตรปิฎกมีข้อความกล่าวถึงอาคารสำคัญหลังหนึ่งในวัด คือ อุปัฏฐานศาลา ซึ่งเราแปลกันมาว่า ศาลาเป็นที่บำรุง ศาลาเป็นที่บำรุงอันนี้ใช้งานอย่างหนึ่งก็คือเป็นหอฉัน แต่เวลาบ่ายหลังจากพระฉันแล้วใช้เป็นอะไร พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปที่อุปัฏฐานศาลา พระภิกษุรูปหนึ่งกำลังแสดงธรรมให้พระภิกษุรูปอื่นๆ ในที่ประชุมฟัง พระองค์เห็นว่าพระภิกษุรูปนั้นแสดงธรรมค้างอยู่ พระองค์ก็ไม่เข้าไปขัด พระองค์ก็ประทับยืนอยู่ข้างนอก รอจนกระทั่งพระภิกษุรูปนั้นแสดงธรรมจบแล้ว พระองค์จึงทรงกระแอมไอและเสด็จเข้าไป แล้วก็ทรงอนุโมทนาการที่ภิกษุรูปนั้นได้แสดงธรรมให้เพื่อนภิกษุฟัง อย่างนี้เป็นต้น

อุปัฏฐานศาลาก็แปลว่า ศาลาเป็นที่ประชุมนั่นเอง คือเป็นที่มาเล่าเรียน มาฟังหาความรู้ และมาประชุมสังสรรค์พบปะสนทนา และสากัจฉาอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น อุปัฏฐานนี่น่าจะแปลกันให้กว้าง การเข้าไปยืนใกล้ชิดนี้ ย่อมหมายถึงการเข้าไปหา เพื่อจะได้เข้าไปรับความรู้ก็ตาม ปรึกษาหารือก็ตาม สำเหนียกทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ก็ตาม รวมความก็คือ การใกล้ชิดอาจารย์ที่จะเป็นประโยชน์ในทางการศึกษาทุกอย่างนั่นเอง นี่เป็นอุปัฏฐานะ

ข้อ ๓. สุสฺสูสาย ที่แปลกันว่า เชื่อฟังนั้น ถ้าถือตามตัวอักษรก็แปลว่า ฟังด้วยดี ฟังด้วยดี ก็มีความหมายหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ ตั้งใจฟัง อย่างหนึ่งก็คือสำเหนียก สำเหนียกก็คือการรู้จักกำหนดเลือกเอาส่วนที่เป็นประโยชน์จากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง เอามาใช้ประโยชน์ได้ อย่างที่บอกว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา เป็นต้น

ข้อ ๔. ปาริจริยาย ในหนังสือเรียนนักธรรมชั้นตรี ท่านแปลไว้ว่า ด้วยอุปัฏฐาก อุปัฏฐากนี้ที่จริงเป็นคำแปลของข้อที่สองคือ อุปัฏฐาเนน แต่ท่านยกไปเป็นคำแปลของ ปาริจริยาย ปาริจริยาย ก็คือการปรนนิบัตินั่นเอง หมายความว่า ข้อนี้เป็นการรับใช้ส่วนตัว เป็นการใกล้ชิดมากขึ้นไปอีก โดยการที่เอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของท่าน ท่านบอกว่าตั้งแต่ตื่นเช้าก็เอาไม้สีฟันไปให้ดังนี้เป็นต้น นี่คือหลักการอยู่ร่วมกันที่ทางการศึกษาสมัยโบราณถือว่าเป็นการเรียนตัวต่อตัว และให้อาจารย์กับลูกศิษย์เหมือนพ่อกับลูก เพราะฉะนั้น ความหมายของการอยู่ใกล้ชิดกันประการหนึ่งก็คือ การเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ส่วนตัวของกันและกัน

ข้อ ๕. สกฺกจฺจํ สิปฺปํ ปฏิคฺคหเณน ถือเอาหรือรับเอาศิลปวิทยาโดยเคารพ ที่ว่าโดยเคารพก็คือ โดยตั้งใจทำจริงทำจัง ไม่ใช่ทำเล่นๆ หมายความว่า ตั้งใจเล่าเรียนนั่นเอง เมื่อตั้งใจเล่าเรียน ก็เป็นการทำหน้าที่ของเราต่อวิชาการนั้นเอง ข้อปฏิบัตินี้มองในแง่หนึ่งก็เป็นการปฏิบัติต่อครูอาจารย์ แต่ที่จริงก็คือเป็นการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลทางวิชาการ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง และเป็นประโยชน์แก่วิชาการในการที่จะสืบทอดวิชาการนั้นให้คงอยู่สืบต่อไปด้วย

ลูกศิษย์นั้นมีหน้าที่ในการขยายวิชาการ ถ้าหากว่าลูกศิษย์มีความสามารถปฏิบัติถูกต้องตามหน้าที่ ๕ ประการนี้แล้ว ก็จะสามารถรับการถ่ายทอดวิชาการได้อย่างดี และจะเป็นลูกศิษย์ที่สามารถขยายวิชาการนั้นให้รุ่งเรือง เฟื่องฟูยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมจากรุ่นของอาจารย์อีก แล้ววิชาการนั้นจึงจะเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ

อันนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติต่างๆ ที่นำมากล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มาในพระบาลี แต่เรายกมาเพื่อจะมาวิจารณ์ หรือว่ามาขยายความกัน ก็ได้กล่าวมาเป็นเวลาพอสมควร

จากเรื่องของท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ก็ได้โยงมาหาเรื่อง อาจารย์กับลูกศิษย์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ท่านเป็นอาจารย์ และท่านที่มาในที่นี้ โดยเฉพาะท่านที่เป็นเจ้าภาพ มาประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ท่านครั้งนี้ก็เพราะฐานะที่เป็นศิษย์อย่างที่กล่าวแล้ว กล่าวคือเป็นศิษย์ พธ.บ. รุ่นที่ ๑๑ รุ่นที่เข้ามหาจุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความเคารพต่อท่านอาจารย์ แล้วก็มีความกตัญญูระลึกถึงพระคุณของท่าน

เราควรจะมาช่วยกันทำหน้าที่ทางการศึกษา โดยเริ่มจากความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์นี้อย่างถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์นี้จะเป็นตัวนำที่จะทำให้การศึกษาดำเนินไปด้วยดี

ฉะนั้น เราจะต้องไม่มองข้ามความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์นี้ แต่จะต้องมองให้เห็นความหมายที่ถูกต้องด้วย เมื่อทำหน้าที่ถูกต้องในด้านความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์แล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานของความเจริญงอกงามของการศึกษาสืบต่อไป แล้วการศึกษานั้นก็จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศชาติ

ในวันนี้ได้พูดมาให้เห็นว่า ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ได้เป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการให้ความรู้ที่จะพัฒนาชีวิตของศิษย์แต่ละคนเป็นส่วนตัว พร้อมทั้งพัฒนาวิชาการ และพัฒนาสังคมเป็นส่วนรวมด้วย

บัดนี้ ท่านทั้งหลายมีความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของอาจารย์ ได้มาเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศล นับว่าเป็นการแสดงออกที่น่าอนุโมทนา เราทั้งหลายทำใจได้อย่างนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากแล้ว ก็ขอให้ทุกท่านมีความเอิบอิ่มเบิกบานใจในบุญกุศลที่ตนได้ทำ เริ่มตั้งแต่กุศลเจตนาเป็นต้นไป การที่มีกุศลเจตนาและมีความกตัญญูนี้เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นคุณธรรมที่เกิดขึ้นในใจแล้ว ควรแก่การมีปีติ คืออิ่มเอิบใจ ยิ่งเมื่อได้แสดงออกมาภายนอกให้ปรากฏแก่สังคมอย่างนี้ ก็มีความภูมิใจขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งว่า สิ่งที่ควรทำเราได้ทำแล้ว การที่ได้มีความรู้สึกขึ้นมากับตนเองว่า สิ่งที่ควรทำเราได้ทำแล้วนี้ จะทำให้เรามีความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจได้มากยิ่งขึ้น

ต่อจากนั้น เมื่อมีความปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจ มีน้ำใจเป็นกุศลแล้วจิตใจก็ผ่องใสบริสุทธิ์ ก็ขอเชิญน้อมใจรำลึกถึงบุญกุศลทั้งหมดอุทิศไปให้แก่อาจารย์เสฐียร พันธรังษี แม้ท่านสถิตอยู่ในแดนใดก็ตามในสัมปรายภพ ก็ขอให้ท่านได้รับทราบและอนุโมทนาบุญกิริยาของปวงศิษย์ในโอกาสนี้ด้วย และขอให้ท่านได้ประสบสุขสมบัติในสัมปรายภพตามสมควรแก่คติวิสัย สืบต่อไป

วันนี้ ได้กล่าวธรรมกถามาพอสมควรแก่เวลา ขอร่วมอนุโมทนากับท่านเจ้าภาพทั้งปวง และในวาระนี้ ก็ขอโอกาสให้ทุกท่านได้แสดงน้ำใจต่อ ท่านอาจารย์เสฐียร พันธรังษี อีกครั้งหนึ่ง โดยเราทุกคนมาพร้อมใจกันทำจิตใจให้สงบ สำรวมจิตน้อมรำลึกถึงบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว และอุทิศกุศลนี้ให้แก่ท่าน

บัดนี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายได้นั่งสงบจิตสงบใจ อุทิศกุศลเป็นเวลา ประมาณ ๓ นาที ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอทุกท่านจงได้ร่วมใจกัน ณ บัดนี้ ขออนุโมทนาทุกท่าน และยุติธรรมกถาเพียงเท่านี้

ปลูกต้นไม้แห่งคุณธรรม9

ขอเจริญพร คณะกรรมการโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง พร้อมทั้งญาติมิตรทุกท่านที่ได้มาร่วมพิธีทำบุญในวันนี้ โดยเฉพาะเป็นที่น่ายินดีที่ท่านอาจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ผู้อำนวยการอายุรเวทวิทยาลัย ก็ได้มีเมตตามาร่วมในงานและเป็นประธานในพิธีให้ด้วย

การทำบุญในวันนี้ นอกจากจะเป็นพิธีทางพระศาสนาตามประเพณีของพุทธศาสนิกชนแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่งถึงความเจริญก้าวหน้าในขั้นตอนหนึ่งของโครงการสมุนไพรฯ นี้ด้วย โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองได้ตั้งมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ การที่ได้มาทำบุญในวันนี้ ก็เพราะได้มีสถานที่ตั้งเป็นสำนักงานที่ทำการแห่งใหม่ ซึ่งเป็นสถานที่อันร่มรื่น เหมาะสม และมีบริเวณเป็นสัดส่วนของตนเอง เท่าที่ดูก็เห็นว่าเป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่ง ถึงการที่งานได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นขั้นตอนสำคัญ การทำบุญก็เป็นการเชื่อมโยงเอาหลักปฏิบัติในทางพุทธศาสนาเข้ามาสัมพันธ์กับกิจการของตนเองด้วย อย่างน้อยก็เป็นการระลึกถึงประเพณีวัฒนธรรม ไม่ได้ละทิ้ง

ทำงานที่ดี และทำให้ดี คือได้ทำบุญตลอดเวลา

การทำบุญในวันนี้เป็นการกระทำอันหนึ่งที่เป็นบุญ คือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำและการดำเนินชีวิตอันเป็นบุญที่เราได้บำเพ็ญเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะว่างานโครงการสมุนไพรฯ นี้ ทำให้ผู้ที่มีส่วนร่วม และผู้ที่ทำงาน ได้ทำบุญอยู่เรื่อยๆ

อาชีพบางอย่าง การงานบางอย่างเป็นกลางๆ ทำไปแล้วเป็นบุญก็ได้ ไม่เป็นบุญก็ได้ งานการบางอย่าง บางอาชีพมีลักษณะเป็นบาปด้วยซ้ำไป แต่โครงการสมุนไพรฯ นี้เป็นเรื่องของการทำให้เกิดยาที่จะนำมาใช้รักษาโรค ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้น ตัวงานเองก็เป็นบุญโดยสภาพของมันอยู่แล้ว พูดในเชิงเปรียบเทียบว่า ถ้าจะเอาบุญกันแล้ว ผู้ที่อยู่ในโครงการฯ นี้ก็ได้เปรียบคนอื่นในแง่ที่มีโอกาสจะได้บุญอยู่เสมอ โดยที่ว่างานของตัวเองเป็นการทำบุญอยู่ตลอดเวลา คือการทำงานเกี่ยวกับสมุนไพรนี้ ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่าทำให้เกิดยารักษาโรค ยารักษาโรคนั้นเอามาช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ทำให้รอดพ้นจากความตายในเมื่อยังไม่สมควรแก่เวลา ทำให้รอดชีวิตอยู่เพื่อทำประโยชน์ต่อไปได้ หรือบางคราวก็เอามาช่วยในแง่รักษาอวัยวะบางอย่างให้ดำรงอยู่ ให้ทำงานได้ต่อไป

อย่างน้อยยานั้นก็ช่วยเหลือเกื้อกูลในเรื่องสุขภาพ ทำให้เกิดความไม่มีโรค ในทางพระพุทธศาสนา เราจำคติที่เป็นพุทธภาษิตบทหนึ่งได้กันแม่น รู้กันทั่วไปในสังคมคนไทย เรามักจะพูดติดปากกันว่า ‘อโรคยา ปรมา ลาภา’ ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าจะพูดตามภาษาบาลีแท้ๆ ก็เป็น ‘อาโรคฺยปรมา ลาภา’ ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ก็ได้ความหมายเดียวกันว่า ความไม่มีโรคหรือความมีสุขภาพดีเป็นลาภอย่างสูงสุด ในเมื่อเราช่วยให้คนมีสุขภาพดี ไม่มีโรค และความไม่มีโรคเป็นลาภสูงสุด ก็เท่ากับว่า เราได้ให้ลาภอย่างสูงสุดแก่เขา เป็นทานอันประเสริฐ จึงได้บอกว่างานโครงการสมุนไพรฯ เป็นการทำบุญกุศล คือในแง่ตัวงานเองก็เป็นการทำบุญอยู่แล้ว

ในเมื่อเรามีข้อที่ได้เปรียบหรือเป็นโอกาสอันดี สามารถทำบุญได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว เราก็ควรจะเสริมความมีบุญหรือได้บุญนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น โดยทำให้เกิดเป็นบุญจริงขึ้นมา ซึ่งบุญจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยมีจิตใจเป็นบุญแท้ๆ คือการช่วยเหลือผู้อื่นที่เป็นการกระทำภายนอกนั้น จะต้องเกิดจากจิตใจที่ต้องการช่วยเหลือ มีเจตนาต้องการช่วยเหลือเกื้อกูลมนุษย์เข้าไปสำทับอีกชั้นหนึ่ง จึงจะเกิดความเป็นบุญอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้บุญที่กระทำนั้นเป็นบุญที่สมบูรณ์ ทีนี้บุญในการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ถ้าเราจะทำด้วยความตั้งใจจริงให้เป็นบุญแท้ๆ ก็ควรปฏิบัติตามหลักธรรม เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักธรรมนั้น เป็นการแสดงถึงจิตใจที่มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล หลักธรรมอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดผลอย่างนั้นก็คือ สังคหวัตถุ ๔ ประการนั่นเอง

งานช่วยเหลือจะดำเนินไปดี ต้องให้ครบองค์สี่

สังคหวัตถุ คือหลักแห่งการช่วยเหลือสงเคราะห์ หรือหลักของการยึดเหนี่ยวจิตใจคนและยึดเหนี่ยวสังคมไว้ให้อยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นการผูกใจในระดับบุคคลหรือการยึดเหนี่ยวสังคมในระดับหมู่ชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ตาม ก็เริ่มต้นด้วยทานก่อน อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ งานของโครงการฯ นี้ก็เริ่มต้นด้วยการให้ เราทำให้มีสมุนไพรขึ้นมา ทำให้มียารักษาโรค แล้วก็นำมาให้แก่กัน จะให้เปล่าหรือไม่ให้เปล่าก็ตาม ก็เป็นทาน แม้จะไม่ให้เปล่า แต่ถ้าเรามีเจตนาที่จะช่วยเหลือ ก็เป็นทาน เพราะเริ่มต้นด้วยเจตนาที่จะให้ ในทางพระศาสนาท่านตัดสินกันด้วยเจตนา เจตนาที่จะให้ ในกรณีนี้ก็คือให้ลาภอันประเสริฐ ได้แก่ความมีสุขภาพดี ความไม่มีโรค

การให้นั้นบางทีก็ดำเนินไปได้ด้วยดี บางทีก็ดำเนินไปได้ยาก เพราะว่าคนเราต้องมีความเข้าใจด้วย บางทีทั้งๆ ที่มีเจตนาที่จะให้ความช่วยเหลือให้ลาภแก่เขา แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจดี เขาอาจจะไม่ยอมรับลาภที่เราจะมอบให้ด้วยซ้ำไป เราจึงต้องมีวิธีที่จะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น คือวิธีที่จะเข้าถึงซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนหลักข้อต่อไปว่า จะต้องมีปิยวาจาด้วย

ปิยวาจาก็คือถ้อยคำ หรือคำพูดที่เกิดจากน้ำใจปรารถนาดี อย่างน้อยตอนต้นก็เป็นเครื่องเชื่อมโยงเข้าหากันให้ยอมรับฟังกัน ปิยวาจาในขั้นต้นก็คือวาจาทักทายปราศรัยที่ช่วยให้คนเข้าถึงกันและสื่อสารสัมพันธ์กันได้ พอสื่อสารสัมพันธ์กัน เริ่มติดต่อกันได้แล้ว ปิยวาจาก็ก้าวคืบหน้าไปสู่การให้ความเข้าใจ แนะนำอธิบายให้เขาเข้าใจถึงการรักษาสุขภาพ เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องของการที่จะแก้ไขเยียวยาว่าจะทำได้อย่างไร จะใช้อะไรแก้ไข เมื่อเรามีสมุนไพรก็แนะนำสมุนไพรที่ถูกต้องซึ่งจะแก้ไขโรคนั้นได้ และอธิบายสรรพคุณอะไรต่างๆ ให้เขาเข้าใจและพร้อมใจด้วย เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการใช้ปิยวาจาใช้คำพูดให้เป็นประโยชน์ ปิยวาจานี้มีความสำคัญมาก สำคัญทั้งในการเข้าถึงกันในเบื้องต้นและในการที่จะให้งานดำเนินต่อไป ตลอดจนจะให้ประโยชน์ที่ต้องการนั้นสำเร็จแก่ตัวเขาผู้ที่เราจะไปช่วยเหลือด้วย

ต่อไปอย่างที่ ๓ ก็คือ นอกจากจะให้สิ่งของ ให้ยา และเอาวาจาเป็นเครื่องเชื่อมแล้ว ต้องเอาแรงงานไปช่วยด้วย การช่วยด้วยแรงงาน ด้วยแรงกำลังของเรานั้น ก็มีทางที่จะทำได้หลายประการสุดแต่โอกาส แม้แต่การที่เราไปหาเขาในสถานที่ที่ไปได้ยากหรือปกติไม่อยากจะไป ไม่น่าไป แต่ด้วยจิตใจที่ประสงค์จะช่วยเหลือก็เดินทางไปหา อย่างนี้ก็เรียกว่าบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นการช่วยเหลือที่เรียกทางพระว่า อัตถจริยา อัตถจริยาก็คือการช่วยเหลือด้วยแรงกำลัง หรือแรงงานของเรา

ต่อไปข้อสุดท้ายก็คือ เมื่อเข้าถึงกันแล้ว มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ก็ต้องมีการวางตัวให้เหมาะสม ทำตัวให้เข้ากันได้ สิ่งที่กล่าวมาเบื้องต้นทั้งหมดนั้น จะเป็นทานก็ดี ปิยวาจาก็ดี อัตถจริยาก็ดี ก็เป็นเครื่องที่จะทำให้เข้ากันได้ดีอยู่แล้ว แต่การปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันในการที่เข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันนั้นจะได้ผลสำเร็จด้วยดี ก็ต้องอาศัยการมีอัธยาศัยมีท่าทีอะไรต่างๆ เช่น การไม่ถือเนื้อถือตัว ความเป็นกันเองเป็นต้น เป็นเครื่องช่วยเสริมเข้าไปอีกด้วย เรียกว่า สมานัตตตา คือทำตัวให้เข้ากันได้ วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติตัวเหมาะสม ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอกัน ให้เกิดความรู้สึกว่าเราร่วมสุขร่วมทุกข์กับเขา แล้วก็ร่วมมือกัน ไม่เฉพาะจะร่วมมือกับคนที่เราไปช่วยเหลือเท่านั้น แม้แต่คนที่ร่วมงานก็ต้องมีการร่วมมือกัน การร่วมมืออะไรต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นการกระทำในประเภทที่ร่วมกัน อยู่ด้วยกัน ปฏิบัติตนเหมาะสมสม่ำเสมอโดยทั่วไป ก็เป็นเรื่องของหลักที่เรียกว่า สมานัตตตา

งานเพื่อสังคมจะได้ผลสมบูรณ์
ต้องมีฐานที่มั่นคงอยู่ในใจบุคคล

ถ้าได้นำเอาหลักธรรม ๔ ประการนี้มาใช้ปฏิบัติในการดำเนินงาน ก็คิดว่าการทำบุญในโครงการสมุนไพรฯ คงจะสำเร็จผลได้ดี แต่การที่สำเร็จผลได้ดีนั้น ความจริงมันยังมีอะไรลึกซึ้งลงไปอีก ที่ลึกซึ้งก็คือ เมื่อกี้นี้ได้พูดถึงว่า บุญนั้นมีบุญภายนอกกับบุญภายใน บุญที่เรากระทำหรือแสดงออกมานี้เป็นส่วนที่มองเห็นๆ กันอยู่ แต่เรายังไม่รู้จิตใจแท้จริง แม้ว่าการกระทำจะเป็นเครื่องแสดงเจตนา แต่เจตนาของจิตใจที่ประกอบด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะเป็นรากฐานของการกระทำที่มั่นคง เพราะฉะนั้นการแสดงออกภายนอกอันเป็นการให้ความช่วยเหลือที่เรียกว่าทานก็ดี การใช้คำพูดเพื่อสื่อสัมพันธ์กันให้เกิดผลดีที่เรียกว่าปิยวาจาก็ดี การช่วยเหลือด้วยแรงกำลังบำเพ็ญประโยชน์ที่เรียกว่าอัตถจริยาก็ดี และการปฏิบัติตนให้เข้ากันได้โดยเหมาะสม ร่วมมือกัน ร่วมงานกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอต่อกัน ที่เรียกว่าสมานัตตตาก็ดี จะต้องมีรากฐานเกิดมาจากคุณธรรมในใจ ซึ่งหนีไม่พ้นหลักการที่เรียกว่า พรหมวิหาร ๔ ประการ

พรหมวิหาร ๔ ประการนั้นเป็นคุณธรรมที่เมื่อถูกปลูกฝังขึ้นมาในใจแล้ว ก็เป็นรากฐานของการกระทำในทางปฏิบัติการที่เรียกว่าสังคหวัตถุ ซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมออกมาภายนอก หมายความว่าการกระทำของเราจะหนักแน่นจริงจังได้นั้น ในใจของเราจะต้องมีคุณธรรมที่เรียกว่า

๑. มีเมตตา ต้องมีความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง นี่เริ่มต้นก่อน ถ้าเรามีความรัก ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง เราก็ต้องการให้เขามีความสุข เห็นเพื่อนมนุษย์ก็อยากให้เขามีสุขภาพดี อยากให้เขามีร่างกายแข็งแรง ความรักความปรารถนาดีอันนี้ จะนำไปสู่การกระทำในภายนอกขึ้นมาเอง

เมื่อเราได้เล่าเรียนมีความรู้ เราก็ทำการได้อย่างสำเร็จผล แต่ถ้าไม่มีคุณธรรมคือความรักความปรารถนาดีแล้ว การกระทำภายนอกก็จะไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่เป็นไปอย่างจริงใจ ทำไปนานๆ เข้าก็เบื่อหน่ายหรือว่าทำโดยบางทีกลายเป็นสักแต่ว่าทำไปอย่างนั้นเอง ซ้ำร้ายอาจจะแปรไปในทางแสวงหาผลประโยชน์อะไรต่างๆ ไปก็ได้ แต่ถ้ามีคุณธรรมคือความรักความปรารถนาดีอยู่ในใจแล้ว พฤติกรรมและแรงจูงใจจะไม่แปรเปลี่ยนไป มันจะทำให้พฤติกรรมของเราที่เป็นบุญนั้นเป็นบุญอยู่ได้ตลอดไป ดังนั้น คุณธรรมในใจข้อแรกคือเมตตาความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์นี้จึงเป็นรากฐานสำคัญ เป็นคุณธรรมประการที่ ๑

ทีนี้ ความรักความปรารถนาดีนั้น เมื่อเราไปเห็นมนุษย์ประสบความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน มันก็จะ แสดงออกในคุณธรรมข้อที่ ๒ ที่อยากช่วยเหลือเขาให้พ้นจากทุกข์ เห็นเขาเป็นทุกข์แล้วจิตใจก็หวั่นไหวทนอยู่ไม่ได้ นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องพยายามขวนขวายดิ้นรนไปเพื่อช่วยเหลือ เรามียารักษาโรค เมื่อไปเห็นคนมีความทุกข์เราก็ต้องรีบมาเอายาไปให้หรือแนะนำให้ความรู้แก่เขาให้เขาใช้ยารักษาโรค อย่างนี้ก็เข้าสู่คุณธรรมที่เรียกว่า กรุณา คือความคิดจะช่วยเหลือ หรือความสงสารอยากให้เขาพ้นจากความทุกข์

ต่อไป ถ้าคนเขามีความสุขสบาย มีสุขภาพดีเป็นปกติหรือว่าเขาได้รับการเยียวยารักษาแล้วหายโรค เราก็พลอยยินดีด้วยแล้วก็ส่งเสริมให้คนที่มีสุขภาพดี มีสุขภาพยั่งยืน รักษาสุขภาพไว้ได้ หรือมีสุขภาพดีแข็งแรงยิ่งขึ้นไป นี่เป็นการช่วยในด้านการส่งเสริม เมื่อกี้ช่วยให้พ้นจากทางลบ คือมีกรุณาช่วยให้พ้นขึ้นมาจากความทุกข์ ให้พ้นจากโรค คราวนี้ก็คืบหน้ามาถึงหลัก มุทิตา ช่วยดำรงรักษาความสุข ความมีร่างกายแข็งแรงไร้โรคและส่งเสริมให้เขามีสุขภาพดียิ่งขึ้นไป

ประการสุดท้าย ในการปฏิบัติงานนี้จะต้องเป็นคนรู้จักวางใจเฉยคอยดูได้ด้วย เรียกว่า วางใจเป็นกลาง คือบางทีต้องเฝ้าดูอยู่ก่อนโดยรู้จักรอจังหวะ รู้จักรอเวลา รอได้ คอยได้ ไม่ทุรนทุรายกระวนกระวาย แม้จะมีเมตตาอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีความสุข แต่บางครั้งก็จะทำการช่วยเหลือทันทีไม่ได้ หรือจะให้อะไรแก่ใครในทันทีบางทีกลายเป็นเกิดโทษ ต้องรอให้เขาพร้อมเสียก่อน บางทีจะทำอะไรเขายังไม่พร้อมต้องรอไว้ แล้วใช้ปิยวาจาช่วยทำให้ใจเขาพร้อม แล้วจึงทำได้ จะทำอะไรๆ ก็มักต้องรอดูให้เหตุปัจจัยพร้อม บางทีเรียกว่าต้องรอให้สุกงอม จึงจะทำได้ผล จึงต้องรู้จักวางใจให้เรียบสงบเฉยไว้ รอจังหวะเวลา ทำในเวลาที่เหมาะสม ให้เกิดผลอย่างแท้จริงโดยใช้ปัญญาพิจารณา อันนี้เข้าหลักธรรมที่เรียกว่า อุเบกขา คือวางใจให้พอดี เป็นกลางไว้ เฝ้าดูเฉยรอจังหวะได้ อย่างนี้เป็นการเฉยดูรอเวลาที่จะทำ

แต่อุเบกขาไม่ใช่เพียงเท่านี้ ถึงแม้ทำไปแล้ว ก็ต้องวางใจเฉยรอดูได้ คือรอดูผลที่จะเกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงทำอะไรให้ปั่นป่วนวุ่นวาย ซึ่งบางทีก็เลยเสียผล และก็ไม่ใช่มัวกระสับกระส่ายครุ่นคิดกังวลถึงผลนั้น จนจิตใจไม่มีความสงบสุข ยิ่งกว่านั้น ถ้าทำไปแล้ว อะไรก็ไม่เป็นไปอย่างใจหวัง เช่น ช่วยเหลือเขาไปแล้ว ให้อะไรเขาไปแล้ว ใช้ปิยวาจาแนะนำสั่งสอนเขาไปแล้ว เขาไม่ทำตามบ้าง อะไรๆ ไม่เป็นไปตามที่ใจหวังคิดคาดหมายบ้าง ก็ต้องไม่วู่วาม ไม่กระสับกระส่าย ทุรนทุราย รู้จักวางใจเรียบเป็นกลาง สงบเฉยอยู่ พร้อมนั้นก็มองดูพิจารณาดูว่าจะแก้ไขอย่างไร ตามวิถีทางแห่งเหตุปัจจัย การทำอย่างนี้หรือการมีอุเบกขาอย่างนี้ก็จะช่วยให้ทำงานได้ผลดีด้วย จิตใจตัวเองก็มีความสุขด้วย แล้วก็สามารถรักษาสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยดีด้วย

หลักธรรม ๔ อย่างนี้ เป็นหลักปฏิบัติในพระศาสนา เป็นพื้นฐานอยู่ในใจ เป็นภาคคุณภาพที่จะให้แสดงออกมาภายนอก ที่จะปรากฏเป็นพฤติกรรมในการช่วยเหลือที่เรียกว่าสังคหวัตถุ ๔ ประการนั้น ถ้ามีคุณธรรมเหล่านี้อยู่ในใจแล้ว ฝ่ายคุณภาพภายในใจของเราก็จะออกมาเชื่อมประสานกับพฤติกรรมภายนอก ทำให้การงานของเราเป็นไปด้วยความจริงใจและจริงจัง ดำเนินไปสมตามวัตถุประสงค์ บรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

ปลูกต้นไม้แห่งคุณธรรม เพื่อให้ต้นสมุนไพรงอกงาม

วันนี้เรามาทำบุญกัน สถานที่ทำงานของเราก็ได้เจริญก้าวหน้ามีที่ตั้งใหม่ และมีความหวังว่าจะทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ก็หวังว่าโครงการฯ จะเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น เราอาจจะทำงาน เช่น ปลูกสมุนไพรได้มากขึ้น แล้วก็เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยารักษาโรคด้วยสมุนไพรนี้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นี้เรียกว่าเป็นการปลูกข้างนอกคือปลูกสมุนไพร ปลูกสิ่งที่เป็นยา ตลอดจนปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชน ปลูกให้เกิดความเชื่อ ปลูกให้มีศรัทธาในการใช้ยาสมุนไพรนี้ แล้วก็ปลูกความรู้ในการที่จะใช้ให้ถูกต้อง นำไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์อย่างแท้จริง

การที่จะปลูกข้างนอกทั้งหมดนี้ให้เจริญงอกงามไปด้วยดี ก็ต้องมาเชื่อมโยงเข้ากับหลักธรรมข้างในที่กล่าวมาเมื่อกี้ กล่าวคือเราจะต้องปลูกคุณธรรมขึ้นในใจของเราด้วย เช่น อย่างเมตตาเป็นต้น ธรรมะนั้นมีหลายอย่าง แต่เมตตารู้สึกว่าจะเป็นข้อสำคัญในกรณีนี้ อย่างน้อยเมตตานั้นก็เป็นน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงให้เกิดความงอกงาม พืชพันธุ์ในภายนอกต้องอาศัยน้ำเป็นเครื่องทำให้เกิดความเจริญงอกงาม เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงรักษาชีวิตของพืชฉันใด จิตใจของคนเราก็อาศัยเมตตาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงฉันนั้น จากการที่จิตใจได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยเมตตานั้น คุณธรรม ความต้องการ และเจตนาที่คิดช่วยเหลือผู้อื่นก็จะดำรงอยู่ งานในโครงการฯ นี้ก็จะยืดยาวและก็จะยืนยงได้สืบต่อไป

เพราะฉะนั้น เราจึงควรมาปลูกต้นไม้ในใจของเรา คือต้นไม้แห่งคุณธรรมที่มีเมตตาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงนี้ขึ้น เพื่อให้พืชพันธุ์ที่ดีงามคือคุณธรรมภายในกับพืชพันธุ์ที่ดีงามคือสมุนไพรในภายนอก ได้เติบโตไปด้วยกัน นำไปสู่ผลสำเร็จแห่งงาน และความสำเร็จแห่งงาน แล้วทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จแห่งประโยชน์สุขของประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่เรามุ่งหมายสืบต่อไป

ในโอกาสนี้ซึ่งถือว่าเป็นวาระอันเป็นมงคล เราทั้งหลายได้ทำบุญในทางพระศาสนา ได้ประกอบพิธีในภายนอกซึ่งเป็นพิธีมงคลแล้ว แต่ยังมีมงคลอีกอยางหนึ่งที่ลึกซึ้งเข้าไป คือมงคลในใจซึ่งเกิดจากความมีคุณธรรมความปรารถนาดีอย่างที่ว่าเมื่อกี้นั้นแล้ว เมื่อมีเจตนาดีแล้วก็ออกมาเป็นการกระทำที่ดี สิ่งที่อยู่ภายในใจที่ชักนำการกระทำภายนอกเหล่านี้เรียกว่าเป็นธรรมมงคล เป็นมงคลชั้นใน ซึ่งจะทำให้ความเป็นมงคลในภายนอกพลอยมีสาระเนื้อหาขึ้นมาอย่างแท้จริงด้วย

ในโอกาสนี้ อาตมาขออนุโมทนาทั้ง ๒ ด้าน คือทั้งพิธีภายนอก ที่เรียกว่าเป็นพิธีมงคล และความเป็นมงคลภายในซึ่งเกิดจากการสร้างคุณธรรมขึ้นในใจ และการปฏิบัติตามหลักธรรมซึ่งเรียกว่าธรรมมงคล ขอให้พิธีมงคลและธรรมมงคลนี้เป็นเครื่องนำมาซึ่งความสุข ความเจริญก้าวหน้าของท่านทั้งหลายที่ได้ร่วมงานกันในโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองนี้ และนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าแห่งงานของโครงการฯ พร้อมทั้งความงอกงามแห่งประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหลายสืบไปชั่วกาลนาน

ถาม เรากระทำกิจไปโดยความปรารถนาดี มีความตั้งใจดีที่จะช่วยให้ชนหมู่มากได้พ้นจากความทุกข์ยาก ความลำบาก แต่บางทีกิจต่างๆ ที่เราทำไปนั้น ทำไปๆ เราก็เห็นว่า ปัญหาของชาวบ้านมันมีมากมายเหลือเกิน บางทีงานที่เราทำมันเป็นเพียงจุดเล็กๆ จุดหนึ่งซึ่งมันคงจะไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จโดยบริบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าปัญหาในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับการแก้ไขด้วย ทีนี้เราก็พบอีกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยให้ปัญหามันคลี่คลายไปได้นั้น เราไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมไปได้ทั้งหมด เราก็เลยรู้สึกว่างานของเรานี่ ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาวบ้านได้จริงๆ แล้วบางครั้งมันก็ชวนให้เรารู้สึกท้อแท้ใจด้วย ในทำนองว่า งานของเรานี่ในที่สุดแล้วทำไป ไม่ได้แก้ปัญหาให้ใครๆ อันนี้ไม่ทราบว่าเจ้าคุณอาจารย์จะมีข้อเตือนสติอะไรบ้าง

ตอบ ก็เราเอาความหวังความตั้งใจมาตั้งไว้เป็นเกณฑ์ตัดสินนี่ แล้วทีนี้งานมันยังเดินไปไม่ถึงความหวังของเรานั้น มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังขึ้นมา บางทีเราอาจจะมองไม่ตรงตามสภาพที่เป็นจริง เพราะความหวังของเรานั้นกลายมาเป็นเครื่องตัดสินแล้ว การที่เราหวังไว้ก็ดีแล้ว คือความหวังนั้นจะช่วยให้เราเดินหน้าไป แต่เวลาวัด เราอย่าไปวัดด้วยความหวัง แต่ควรวัดด้วยความเป็นจริง เราทำงานไปได้แค่ไหน เราก็ต้องรู้ตามสภาพที่ได้ อย่างน้อยมันก็ได้แล้วแหละ เช่น ได้เป็นคนคนไป เป็นจุดๆ หย่อมๆ ทีนี้ขณะที่เรายังทำระดับจุดหรือหย่อม หรือบุคคล แล้วเราไปหวังในระดับสังคมทั้งหมด เราจะไปวัดโดยเกณฑ์ให้สังคมนี้เป็นอย่างนั้นตามหวังคงไม่ได้ ก็ต้องถือว่าได้ทำงานสำเร็จตามเป้าหมายในขั้นต้นของเราที่ตรงกับตัวงานแท้ๆ ทำไปแค่ไหนก็ได้แค่นั้น แต่ในระยะยาวเรามีความหวังไว้ว่าเราจะเดินไปสู่เป้า ไม่ว่าจะเดินไปถึงหรือไม่ถึงก็แล้วแต่ แต่ตอนที่ทำนั้น เราได้ผลอยู่แล้ว คือส่วนที่ผ่านไปเราได้ผลอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นมันก็ไม่ได้ผล หลายคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยเหลือ ไปรู้จัก เขาได้ยาไปเขาไปใช้รักษา เขาก็ได้ผลประโยชน์ไปแล้ว

เป็นอันว่าจะต้องตัดเป็น ๒ ส่วน แยกส่วนที่ทำไปตามขั้นตอนของมัน เฉพาะขั้นตอนที่ได้ทำไปๆ ก็ส่วนหนึ่งแล้ว เรื่องของความหวังที่ตั้งเป็นเป้าหมายจะให้ได้นั้น มันเป็นปัจจัยในส่วนสังคมที่ต้องขึ้นต่อปัจจัยอื่นๆ ด้วย อันนี้เราไม่ได้ละทิ้งนะ เรามีโอกาสเราก็หาทางไปช่วยแก้ไขปัจจัยด้านอื่นด้วย หรือให้ปัจจัยด้านอื่นมันมาร่วมกับปัจจัยด้านของเราที่ทำให้เกิดผลต่อสังคม เราคนเดียวจะทำให้หมดมันก็คงจะไม่ได้ อย่างน้อยก็จับให้มั่นไว้ในส่วนที่ตนถือเป็นหน้าที่โดยตรง ส่วนอื่นนั้นเท่าที่ทำได้ทำกันได้ก็เอา คอยดูคอยมอง ได้ช่องก็ทำ อย่าลืมหลักอุเบกขาที่ว่ามาเมื่อกี้

ถาม คนที่เรียกว่านักพัฒนานี่มักจะพูดถึงเรื่องการพึ่งตนเองของชาวบ้าน ไม่ทราบว่าท่านเจ้าคุณอาจารย์มีทัศนะอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องที่เขาเรียกว่าพึ่งตนเองนะคะ

ตอบ การพึ่งตนเองเป็นไปตามหลักธรรมอยู่แล้ว คือมันเป็นเรื่องของความรู้สึกรับผิดชอบที่เราจะต้องพยายามกระทำด้วยตนเอง แต่มันมีแง่ที่ต้องระวังอยู่อันหนึ่ง ในเรื่องการพึ่งตนเองนี้ คือถ้าเราไปมองคนอื่น เราจะบอกว่าเขาก็ต้องพึ่งตนเองไปสิ ถ้าอย่างนี้ละก็แย่ ถ้ามองในแง่ตัวเองว่า เราต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต้องพึ่งตนเองนี้ดี เพราะจะทำให้เกิดการกระทำมีความพยายามที่จะทำ แต่ถ้าไปมองคนอื่นว่าคนก็ต้องพึ่งตนเอง ก็ให้เขาพึ่งตนเองไปสิ เราก็เลยไม่ช่วย อย่างนี้ก็แย่ มันอยู่ที่ว่าจะมองในแง่มุมไหน ถ้าใช้ธรรมผิดทางก็เสีย

ธรรมนั้น ต้องมองจากแง่ความรับผิดชอบของตนเอง คือ ธรรมข้อใดๆ ก็เป็นเรื่องความรับผิดชอบของตัวเราที่จะปฏิบัติธรรมข้อนั้นๆ ไม่ใช่มองหาผู้อื่นที่จะมาปฏิบัติ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนอื่นก็เป็นธรรมของเราที่จะต้องใช้เมตตากรุณาออกไปช่วยเหลือ โดยมีทาน มีปิยวาจาอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ทีนี้ในแง่ของตัวเราเอง การที่เราช่วยเขาก็คือ ไปช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเอง ทีนี้ การที่เขาจะพึ่งตนเอง เขาก็ต้องทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้ อยู่ๆ เราจะไปให้เขาพึ่งตนเองๆ เฉยๆ ก็ไม่ได้เหมือนกันอีกแหละ ก็ต้องไปทำให้เขาพึ่งตนเองได้ ให้เขาพัฒนาความสามารถที่จะพึ่งตนเอง หรือว่าทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้มันก็ต้องสัมพันธ์กัน ถ้าอีกอักเราไปบอกให้เขาพึ่งตนเองๆ ทันที บางทีมันก็เคว้งคว้างเหมือนกัน ท่านจึงบอกว่าจะพึ่งตนเองก็ต้องทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้ ทีนี้ ทำตนเองให้เป็นที่พึ่งได้นี่จะทำอย่างไร ตอนนี้แหละจะถึงเนื้อหาละ จะเข้าสู่เนื้อหาของการปฏิบัติที่แท้จริง เป็นอันว่าจะต้องว่ากันเป็นขั้นเป็นตอน

ปัจจุบันนี้เราทำไม่ครบทุกขั้น เช่นบางพวกเขาแค่บอกว่าคนเราก็ต้องพึ่งตนเองสิ เพราะฉะนั้น พวกนั้นก็ต้องพึ่งตัวเองไป อย่างนี้แย่ที่สุด ใช่ไหม เป็นการตัดการช่วยเหลือกันเลย ปล่อยให้เขาถูกทอดทิ้งอยู่ตามลำพัง ในขณะที่เขายังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบตัวเอง คนก็แย่ ขั้นที่ ๒ ดีขึ้นหน่อย ให้เขาพึ่งตัวเอง ไปสอนให้เขาพึ่งตนเอง แต่เขาก็ไม่มีทางไป เพราะบอกแค่ว่าให้เขาพึ่งตัวเอง เขาก็เคว้งคว้างอยู่ นั่นว่าต้องพึ่งตัวเอง ต้องช่วยตัวเอง ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องขั้นต่อไป คือบอกว่าพึ่งตนเอง โดยการทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งได้ ทีนี้เราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะทำให้ตัวเองเป็นที่พึ่งได้ พอถึงขั้นนี้แหละถึงจะได้ผลดี ที่ว่าให้เขารู้จักทำตนเองให้เป็นที่พึ่ง อาตมาว่าโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองก็คงมุ่งในแง่ที่ว่าจะช่วยให้คนเขาสามารถทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ด้วยใช่ไหม

ถาม ฟังแล้วมันมีหลายความหมายเหลือเกิน คือยังงงๆ อยู่ว่าหลายหน่วยงานเขาบอกว่าให้ชาวบ้านพึ่งตนเอง

ตอบ ก็อย่างตัวอย่างที่ ๑ นั่นแสดงว่าแย่ที่สุด บอกว่าคนทุกคนต้องพึ่งตัวเอง คุณก็พึ่งตัวเองไปสิ อันนี้แย่ที่สุด ถ้ามองในแง่ความรับผิดชอบของตัวเราจะพูดว่าต้องพึ่งตัวเอง แต่ถ้ามองในแง่ผู้อื่นเราต้องมองในแง่เมตตากรุณาที่จะไปช่วยเหลือ ถ้าเราใช้ผิดอย่างที่ว่าก็กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ต่างฝ่ายต่างซัดกันว่า คุณก็พึ่งตัวเองไปสิ

ถาม หมายถึงว่าตัวเราจะต้องเป็นตัวอย่างด้วยหรือเปล่าคะ

ตอบ เรื่องการพึ่งตัวเองเป็นความรับผิดชอบในแง่มองตัวเอง เมื่อเรามองตัวเองเราจะต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ทำตัวเองพัฒนาความสามารถของตนเพื่อให้ตนเป็นที่พึ่งของตนให้ได้ และพยายามพึ่งตนเอง พึ่งตนเองได้แล้วเราจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย ถ้าเราพึ่งตัวเองไม่ได้เราจะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร เราเองก็จะจมน้ำอยู่แล้ว ถ้าทุกคนพยายาม ทำให้ตัวเองพึ่งตัวเองได้ ต่อไปสังคมก็สบาย เพราะว่าเหลือแต่คนพึ่งตัวเองได้และช่วยคนอื่นได้ด้วย ทีนี้ ปัจจุบันอาตมาว่าสังคมไทยกำลังมีแนวโน้มในทางตรงกันข้าม เพราะเรากำลังกลายเป็นสังคมรอคอยความช่วยเหลือ ทั้งระดับบุคคล ระดับชุมชนและระดับประเทศ อะไรๆ ก็รอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จากภายนอกสังคม ชาวบ้านก็รอความช่วยเหลือจากกรุงเทพฯ ว่าจะเอาอะไรมาให้ ตกลงก็ทำอะไรไม่เป็น

เดี๋ยวนี้เขามีคติอันหนึ่งว่า คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น อันนี้เป็นเรื่องของการพึ่งตนเองได้ทั้งนั้น คิดเป็น ก็พึ่งตัวเองได้ ทำเป็นก็พึ่งตัวเองได้ แก้ปัญหาเป็นก็พึ่งตัวเองได้ ในความหมายแง่หนึ่ง การพึ่งตัวเองได้ คือ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น นี่เราพูดให้เข้ากับนักการศึกษาสมัยนี้นะ และเราก็คงจะต้องช่วยชาวบ้านในแง่นี้ด้วย คือช่วยโดยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า เขาจะรอคอยเทวดามาโปรด

ทีนี้ถ้าการช่วยของเราไปออกผลในลักษณะรอเทวดามาโปรดอย่างนั้น อาตมาว่าก็เสียอีกนั่นแหละ พอช่วยเสร็จแล้วเขามีความรู้สึกว่าต่อไปเราไม่ต้องทำอะไรแล้ว จะมีคนภายนอก กลุ่มนี้เขาจะมาช่วย มาให้เราตลอดเวลา อันนี้ก็จะทำให้เขาเสียคนต่อไป เราจึงจะต้องช่วยในลักษณะที่ว่า ให้เขาพยายามพึ่งตนเองได้ พัฒนาความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง และพร้อมกันนั้น อย่าให้เขาจำกัดความรู้สึกว่า เป็นตัวใครตัวมัน แต่ให้เกิดความรู้สึกว่าให้คุณพึ่งตนเองโดยสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว คุณจะได้มีความสามารถพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้ต่อไปอีกด้วย

หลักที่ว่านี้หมายความว่า เราสอนชาวบ้านให้รู้จักที่จะพึ่งตัวเองได้ แล้วพร้อมกันนั้น เราให้ความรู้สึกว่าเขาควรจะช่วยเหลือคนอื่นด้วย อย่าลืมอันนี้ คือให้เขาเผื่อแผ่ที่จะช่วยคนอื่น เพราะว่าถ้าชุมชนของคุณดีแล้ว มีสุขภาพดี คุณรู้จักสมุนไพร มียาดีนะ ต่อไปคุณจะได้ไปช่วยชุมชน ชาวบ้านอื่นๆ ต่อไปด้วย เผื่อแผ่ยานี้ไป เราอย่าไปจำกัด เดี๋ยวเขาจะรู้สึกขึ้นมาอีก เอ๊ะ ชุมชนของเราก็ช่วยตัวเองได้แล้ว ชุมชนนั้นมันไม่เห็นช่วยตัวมันเองเลย งั้นเราก็ต้องปล่อยมัน อย่าไปยุ่งกับมันเลย เป็นอย่างนี้ก็เสียอีก

แต่ละคนต้องมองธรรมในแง่ความรับผิดชอบของตนเองที่จะเป็นผู้ปฏิบัติ ที่ว่าพึ่งตัวเองก็คือเราจะต้องพยายามพึ่งตัวเอง แล้วก็ไปช่วยคนอื่น ซึ่งก็คือช่วยให้เขาพึ่งตัวของเขาเองได้นั่นแหละ แต่ไม่ใช่ปัดไปเสีย ซัดให้เขาพึ่งตัวเองทันทีเลย เมื่อเขาล้มหรือตกอยู่ในหล่ม ต้องไปช่วยให้เขายืนขึ้นมาหรือหลุดออกมา ทรงตัวตั้งหลักได้ก่อน เขาจะได้ช่วยตัวของเขาเองได้ต่อไป

อนุโมทนา

กองทุนวุฒิธรรม เพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม มีกุศลฉันทะจะพิมพ์หนังสือเรื่อง "กระแสธรรมเพื่อชีวิตและสังคม" นี้ ขึ้นเผยแพร่เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในทางธรรม ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและชี้แนะแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาชีวิตและสังคม อาตมภาพขออนุโมทนาตามความประสงค์

"กระแสธรรม เพื่อชีวิตและสังคม" นี้ เป็นหนังสือที่ประมวลธรรมกถา พระธรรมเทศนา และคำบรรยายต่างๆ ของอาตมภาพบางส่วนที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่ม จากหลายแหล่ง นับได้ ๑๐ เรื่องโดยพระครูปลัดอินศร จินฺตาปญฺโญ ได้เป็นผู้รวบรวมขึ้น ตามคำขอของพระไพศาล วิสาโล ซึ่งได้จัดพิมพ์ครั้งแรก ในงานฌาปนกิจศพโยมมารดาของท่าน คือ นางกิมวา แซ่อุ้ย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๖ กองทุนวุฒิธรรมเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงประสงค์จะพิมพ์เผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป

บรรดาเรื่องต่างๆ ที่รวบรวมมานั้น บางเรื่องที่ยังไม่เคยผ่านการตรวจแก้ ก็ได้ตรวจชำระปรับปรุงให้เรียบร้อย บางเรื่องที่ควรทำให้อ่านง่ายขึ้น ก็ได้จัดตั้งหัวข้อย่อยใหม่ได้ดูโปร่งเบาหรือจับความได้สะดวก แล้วจัดลำดับเรื่องทั้งหมดตามความเหมาะสม และตั้งชื่อรวมกันให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระของเรื่องเหล่านั้น นับว่า “กระแสธรรม เพื่อชีวิตและสังคม" เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาหลากหลายเล่มหนึ่ง

ขออนุโมทนากองทุนวุฒิธรรม ที่ได้มีความดำริอันเป็นกุศลที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม ด้วยการเผยแพร่หนังสือธรรมครั้งนี้ หวังว่าบุญกิริยาร่วมกันในการเผยแพร่ธรรมนี้ จักอำนวยประโยชน์ในการเสริมสร้างสัมมาทัศนะ ที่จะเป็นแนวทางแก่สัมมาปฏิบัติ อันอำนวยประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติ พระศาสนา และมวลมนุษย์สืบไป ตลอดกาลนาน

 

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๖

คำนำ

ธรรมะเป็นสิ่งควรค่าแก่การสดับฟัง เพราะเป็นเรื่องอันเนื่องด้วยภาวะความเป็นจริงที่ทุกชีวิตต้องข้องเกี่ยว แต่ความเป็นจริงนั้นมีหลายระดับและมนุษย์ก็เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงหลายประเภท ธรรมะต่างกับความเป็นจริงที่มีอยู่มากมายดุจใบไม้ในป่าประดู่ลาย ตรงที่เป็นความจริงซึ่งเลือกเฟ้นเฉพาะส่วนที่มุ่งพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้นและช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นจริง ปลอดพ้นจากความทุกข์

หนทางสู่การดับทุกข์ คือ การปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ โดยรู้ชัดในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยตามที่เป็นจริง แต่การปฏิบัติตนของมนุษย์แต่ละคนนั้น มิได้เป็นไปโดยเอกเทศ หากยังสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับผู้อื่นอีกมากมาย ซึ่งประกอบกันเป็นสังคม โดยที่วิถีความเป็นไปของสังคมนั่นเองก็มีผลกระทบถึงแต่ละคนด้วย ด้วยเหตุนี้การที่จะนำธรรมะมาใช้ให้เกิดผล จึงต้องครอบคลุมทั้งระดับบุคคลและระดับสังคมด้วย เพื่อว่าวิถีความเป็นไปของชีวิตและของสังคมจักเป็นไปในทางที่เกื้อหนุนให้เกิดภาวะชีวิตที่ดีงามและผาสุกยิ่งๆ ขึ้นไป

ชีวิตและสังคมล้วนต้องการหลักธรรมเพื่อนำสู่ความดีงาม หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่ให้ปัญญาส่องสว่างแก่ชีวิตและสังคม บทความ ๑๐ บทที่ประกอบเป็นหนังสือเล่มนี้ ล้วนเป็นงานพูดของท่านเจ้าคุณในวาระโอกาสต่างๆ มีทั้งที่เป็นพระธรรมเทศนา ธรรมกถา และการบรรยาย เดิมทีพิมพ์กระจาย อยู่ตามที่ต่างๆ และส่วนใหญ่ไม่สู้แพร่หลายเท่าที่ควร กองทุนวุฒิธรรมฯ เห็นว่าเป็นงานที่มีคุณค่า และเชื่อว่าจะเป็นที่ต้องการของผู้อ่านอีกมาก ดังนั้นเมื่อมีการรวบรวมบทความเหล่านี้ไว้ในเล่มเดียวกัน จึงประสงค์ที่จะตีพิมพ์ให้แพร่หลายออกไป

ในการนี้ได้รับอนุญาตจากท่านเจ้าคุณพระเทพเวที จึงขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาของท่าน มา ณ โอกาสนี้ด้วย

 

ด้วยความปรารถนาดี

กองทุนวุฒิธรรม

เพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม

 

 

 

 

ตตฺถตฺตนิ วตปฺปนฺเถ วินาภาเว อสํสเย ภูตํ เสสํ ทยิตพฺพํ จวิตํ อนนุโสจิยํ

เมื่อวัยเสื่อมสิ้นไปอย่างนี้ ความพลัดพรากจากกันก็ต้องมีโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ควรเมตตาเอื้อเอ็นดูกัน ไม่ควรจะมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้ว

 

 

 

ปาปญฺจ เม นตฺถิ กุหิญฺจิ ตสฺมา น สงฺเก มรณาคมาย

ข้าพเจ้าไม่มีความชั่ว ซึ่งทำไว้ ณ ที่ไหนๆ เลย ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นเกรงความตายที่จะมาถึง

1สัมโมทนียกถา และคำกล่าวปิดการสัมมนา เรื่อง “กฐิน: ประเพณีที่เบี่ยงเบนไป” พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แสดงในโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อัญเชิญผ้ากฐินพระราชทานไปทอด ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
2พระธรรมเทศนา แสดงในวันพระราชทานเพลิงศพ นายบัญชา ล่ำซำ ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ (ในการพิมพ์ครั้งนี้ ขอโอกาสละรายละเอียดผลงานของท่านผู้ล่วงลับ)
3ธรรมกถา ในการบำเพ็ญกุศลครบ ๒ ปี คุณชม รักตะกนิษฐ แสดงเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๕
4พระธรรมเทศนา ในการบำเพ็ญกุศลอุทิศ คุณชม รักตะกนิษฐ แสดงเมื่อ วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๓
5พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ร่วมอภิปราย ณ วัดธัมมาราม นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕
6สัมโมทนียกถา ในโอกาสฉลอง ๒๐๐ ปี กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กับ
สังคมไทย ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๔
7คัดจาก ถนนหนังสือ ฉบับเสขิยธรรม ฉบับที่ ๔ มี.ค. - เม.ย. ๒๕๓๔
8ธรรมกถาของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในโอกาสบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวาร อุทิศ ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังสี ณ ตึกมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๔
9สัมโมทนียกถา เนื่องในวันทำบุญสำนักงาน โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ๒๘ เมษายน ๒๕๒๙
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.