ขอเจริญพร ท่านรองอธิบดีกรมการแพทย์ผู้เป็นประธาน ท่านผู้อํานวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ท่านสหธรรมมิก และญาติโยมสาธุชนทุกท่าน
เริ่มต้นคงจะต้องขอประทานอภัยออกตัวนิดหน่อย เกี่ยวกับชื่อเรื่องที่ได้รับนิมนต์มาพูดวันนี้ ตอนแรกก็แปลกใจหน่อย เพราะเป็นคําใหม่ ไม่เคยได้ยินมาก่อน แม้ว่าอาจจะเป็นคําที่ได้บัญญัติในวงการแพทย์ใช้กันมา แต่ตัวเองเพิ่งได้ยิน ตอนแรกก็งงหน่อย แม้พระที่อยู่ใกล้ได้ยินคํานี้ ท่านก็ไม่เข้าใจว่า “พินัยกรรมชีวิต” นี้ คืออะไร แต่พิจารณาดูก็พอจับความได้
ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องที่เคยมีผู้ถามมาแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีการบัญญัติชื่อกัน จนกระทั่งเมื่อวานนี้ มาเปิดดูหนังสือนิมนต์ ปรากฏว่าไม่ได้มีเฉพาะคําว่า “พินัยกรรมชีวิต” เท่านั้น แต่มีต่อท้าย ว่า “ผลต่อศาสนา” เลยยิ่งงงใหญ่ ว่า เอ๊ะ...เรื่องนี้จะมีผลต่อศาสนาอย่างไร ก็เป็นความผิดของตัวเองที่ไม่ได้ดูให้ชัดเสียก่อน พอเวลากระชั้นเข้าเลยไม่มีโอกาสถามให้แน่นอน จากความไม่ชัดเจนนี้ก็อาจจะทําให้การพูดวันนี้ไม่เข้าสู่แนวทางที่ต้องการก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แน่ใจก็คือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความตาย หรือว่าให้ชัดขึ้นอีกว่า เป็นเรื่องระหว่างชีวิตกับความตาย คือการที่ชีวิตจะสิ้นสุดลง และจะสิ้นสุดอย่างไร บุคคลที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่เจ้าของชีวิต ซึ่งในกรณีของการเจ็บไข้ได้ป่วยก็คือตัวผู้ป่วยเอง จะปฏิบัติต่อชีวิตของตนในขั้นสุดท้าย หรือต้อนรับความตายได้อย่างไร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งญาติ ทั้งแพทย์ ผู้รักษา พยาบาล จะมีท่าทีและปฏิบัติอย่างไร โดยเฉพาะในยุคนี้ที่การแพทย์ได้เจริญมาก เรามีเทคโนโลยีอํานวยอุปกรณ์ที่เรียกว่ายืดอายุได้ เรื่องก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น
ลองมาดูในแง่ของพระศาสนา การสิ้นสุดของชีวิตที่เรียกว่า ความตายนั้น ท่านก็เห็นความสําคัญอย่างมาก ในคัมภีร์พุทธศาสนาพูดถึงอยู่เสมอว่าอย่างไรเป็นการตายที่ดี ท่านมักใช้คําสั้นๆ ว่า “มีสติ ไม่หลงตาย” ข้อความนี้ท่านเน้นอยู่เสมอ หมายความว่า ในการดําเนินชีวิตที่ดีนั้น การสิ้นสุดของชีวิตก็ถือว่าเป็นตอนที่สําคัญ
ที่ว่าตายดีนั้น ไม่ใช่เฉพาะตายแล้วจะไปสู่สุคติเท่านั้น แต่ขณะที่ตายก็เป็นจุดสําคัญ ที่ว่าต้องมีจิตใจที่ดี คือมีสติ ไม่หลงตาย ท่านใช้คําว่า “อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ”
ที่ว่าไม่หลงตาย คือมีจิตใจไม่ฟั่นเฟือน ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว จิตใจดีงาม ผ่องใส เบิกบาน แล้วก็ขยายความไปถึงการที่ว่า จิตใจนึกถึงหรือเกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งที่ดี เราจึงได้มีประเพณีที่ว่าจะให้ผู้ตายได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีงาม เช่น บทสวดมนต์ หรือคํากล่าวเกี่ยวกับพุทธคุณ อย่างที่เราใช้คําว่า “บอกอะระหัง” ก็เป็นคติที่ให้รู้ว่าเป็นการบอกสิ่งสําหรับยึดเหนี่ยวในทางใจ ให้แก่ผู้ที่กําลังป่วยหนักในขั้นสุดท้าย ให้จิตใจเกาะเกี่ยวยึดเหนี่ยวอยู่กับคุณพระรัตนตรัย เรื่องบุญกุศล หรือเรื่องที่ได้ทําความดีมา เป็นต้น
ไม่ว่าอะไรที่เป็นเรื่องดีงาม ทําให้จิตใจสดชื่นผ่องใส เราก็พยายามยกเอามาบอก เอามาแนะให้เป็นที่เกาะเกี่ยว หรือเรียกว่า เป็นอารมณ์ เพื่อให้จิตของผู้ป่วยอยู่กับสิ่งที่ดีงามนั้น จิตใจจะได้ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว แล้วก็มีสติ ไม่เป็นจิตใจที่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย หรือขุ่นมัวเศร้าหมองอยู่กับความทุกข์ทรมาน
อย่างไรก็ตาม ยังมีการตายที่ดีกว่านั้นอีก คือให้เป็นการตายที่ใจมีความรู้ หมายถึงความรู้เท่าทันชีวิต จนกระทั่งยอมรับความจริงของความตาย หรือความเป็นอนิจจังได้
เพียงแค่ว่าคนที่จะตายมีจิตยึดเหนี่ยวอยู่กับบุญกุศลความดี ก็นับว่าดีแล้ว แต่ถ้าเป็นจิตใจที่มีความรู้เท่าทัน จิตใจนั้นก็จะมีความสว่าง ไม่เกาะเกี่ยว ไม่มีความยึดติด เป็นจิตใจที่โปร่งโล่งเป็นอิสระแท้จริง ขั้นนี้แหละถือว่าดีที่สุด
ในเมื่อเราถือว่าจะต้องให้ตายดีที่สุด สําหรับคนที่เกี่ยวข้อง เราก็จึงพยายามว่าทําอย่างไรจะช่วยให้เขาไปถึงภาวะแห่งการตายอย่างดีที่สุดนั้น
ขอแทรกนิดหนึ่งคือ มีคติที่เกี่ยวกับเรื่องจิตตอนที่จะตาย ที่ท่านสอนว่าให้จิตไม่เศร้าหมอง มีสติ ไม่หลงตายนั้น นอกจากความหมายในขณะที่ตายแล้ว ก็ยังมีความหมายโยงไปถึงภพที่จะเกิดใหม่ด้วย อย่างที่พุทธศาสนิกชนจํานวนมากคงจําได้ถึงพุทธภาษิตที่ว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” แปลว่า เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ก็เป็นอันหวังทุคติได้ ในทางตรงข้ามก็มีพุทธพจน์ว่า “จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเ สุคติ ปาฏิกงฺขา” เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติก็เป็นอันหวังได้
นี้เป็นพุทธพจน์ ที่ทําให้เราเห็นความสําคัญของการที่จะทําให้จิตใจผ่องใสดีงามในเวลาที่จะตาย เพราะว่า แม้แต่คนที่ทํากรรมมาไม่ดี ตามปกติก็จะมีจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว แต่ในตอนที่ตาย ถ้าโดยบังเอิญจิตเกิดไปยึดเหนี่ยวสิ่งที่ดี นึกถึงเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล จิตผ่องใสขึ้นมา เวลานั้นกรรมกลายเป็นอาสันนกรรม คือกรรมใกล้ตายฝ่ายดี แทนที่จะไปทุคติจากการที่ได้ทํากรรมชั่วมาตลอดเวลาหลายๆ สิบปีในชีวิต ก็กลับไปดีเสียนี่ เพราะฉะนั้นทางพระศาสนา จึงให้ความสําคัญกับเรื่องของจิตใจตอนที่จะตายนี้มาก
เมื่อสภาพจิตในเวลาตายมีความสําคัญอย่างนี้ เราก็จึงพยายามช่วยให้คนตายได้ตายอย่างดี นอกจากไม่ฆ่าเขาแล้วก็หาวิถีทางที่จะช่วยให้เขาตายอย่างดีที่สุดด้วย
ยิ่งกว่านั้น ทางพุทธศาสนาถือว่า ชีวิตคนมีโอกาสตลอดเวลา จนถึงวาระสุดท้าย แม้แต่จะบรรลุประโยชน์สูงสุดของชีวิต ในขณะจะดับจิต โดยเฉพาะการบรรลุธรรมซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ยอดสุดของชีวิต เรียกง่ายๆ ก็คือการบรรลุนิพพานนั้น แม้แต่ป่วยไข้กําลังจะตายก็มีโอกาส มนุษย์จึงมีโอกาสจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีอะไรจะได้แล้วก็ยังสามารถได้สิ่งสูงสุดของชีวิต ดังมีท่านที่บรรลุธรรมในขณะจิตสุดท้ายตอนจะดับ ที่เรียกเป็นศัพท์ว่า “ชีวิตสมสีสี” คือบรรลุธรรมสูงสุดพร้อมกับสิ้นชีวิต
การที่มีโอกาสมากถึงขนาดนี้ บางครั้งก็ขัดกันกับเรื่องทางร่างกาย คือแม้แต่ร่างกายเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่สุดแล้วจิตก็ยังมีโอกาสอยู่ ตามปกติเราย่อมต้องการให้ทั้งกายทั้งจิตดีทั้งคู่ จึงจะมีสุขเต็มพร้อม แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าคนเราไม่หมดโอกาส แม้ร่างกายเจ็บปวดสุดทรมานอย่างจะขาดใจ บางทีความทุกข์ทรมานเป็นต้นที่เกิดขึ้นนั้นกลับมาเป็นอารมณ์ของปัญญา ทําให้เข้าใจหยั่งเห็นความจริงของชีวิต และบรรลุโพธิญาณได้ เลยตรัสรู้ในตอนที่จะดับจิตนั้น กลายเป็นพระอรหันต์ไป เป็นอันว่า คนแม้จะตายจนถึงวาระสุดท้าย ก็ยังมีโอกาสที่จะบรรลุธรรมสูงสุด ที่เป็นประโยชน์สุดยอดของชีวิต จึงเป็นข้อที่ต้องคํานึงไว้อย่างหนึ่ง
มีเรื่องในพระไตรปิฎกกล่าวถึงพระสาวกที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็คงจะไม่แพ้คนที่เจ็บป่วยในปัจจุบัน อย่างคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งบางชนิดที่ทุกข์ ทรมานอย่างมาก ยิ่งสมัยก่อนนั้นเราต้องนึกว่ายังไม่มีเครื่องอุปกรณ์มาช่วย ยาระงับความเจ็บปวดก็คงได้ผลไม่เท่าสมัยนี้ คนสมัยก่อนจึงคงจะต้องเจ็บปวดทรมานอย่างที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ปรากฏว่า บางท่านในขณะสุดท้ายที่ทุกข์ทรมานอย่างยิ่งนั้น ก็ได้เกิดปัญญามองเห็นธรรมรู้เข้าใจความจริงของชีวิตอย่างแท้จริง แล้วก็วางจิตต่อชีวิตของตนและต่อโลกได้ถูกต้อง จิตใจก็โปร่งโล่ง หลุดพ้นเป็นอิสระ จึงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์อย่างที่กล่าวเมื่อกี้
ที่พูดมานี้เป็นสิ่งที่ต้องคํานึงอย่างหนึ่งในการที่จะปฏิบัติต่อคนที่เจ็บป่วย คนที่ช่วยเหลือจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ แล้วเราอาจจะกลับไปช่วยคนเจ็บไข้ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากช่วยในทางสภาพจิตที่ดีงาม ให้ยึดเหนี่ยวในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล ซึ่งก็ดีอยู่แล้ว เราอาจจะก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คือ การช่วยทางปัญญา
ด้านปัญญานี้คนมักจะไม่ค่อยนึกถึง มักจะมองแค่เรื่องที่จะให้จิตยึดสิ่งที่ดีไว้ เกาะเกี่ยวกับบุญกุศลไว้ ซึ่งยังเป็นความยึดถืออย่างหนึ่ง ถ้าพ้นจากขั้นนี้ไปได้ เหนือขึ้นไป ก็จะอยู่ด้วยความสว่างโปร่งโล่งของปัญญาที่บรรลุธรรม
คนเราที่เกิดมานี้ บางทีอยู่ด้วยความสุขสบายมาตลอดชีวิต ถ้าขาดความรู้เท่าทัน วางใจไม่ถูก ชีวิตที่อยู่มาดีนั้น กลับส่งผลย้อนกลับมาทําให้ยึดมั่นในชีวิตมากขึ้น หรือยึดมั่นเข้าไปเต็มที่ แล้วความยึดมั่นในชีวิตนั้นแหละ พอถึงเวลาจะต้องละจากไป ก็เป็นเหตุให้มีความทุกข์ขุ่นมัวเศร้าหมองมากขึ้น เพราะฉะนั้นในวาระสุดท้ายที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเกิดแสงสว่างแห่งปัญญาขึ้นมาก็หลุดไปได้อีกที
เรื่องนี้มองในสายตาของเรา อาจจะคิดไม่ถึงว่าอะไรดีที่สุด แต่ในทางพระศาสนาท่านสอนให้เรารู้ว่า การเกิดปัญญาเข้าถึงความจริงนั้นแหละ เป็นความสุขที่สมบูรณ์ที่สุด ถึงตอนนั้นเราจะปลงใจวางใจต่อทุกอย่างถูกต้องไปหมด จิตใจโปร่งโล่งสว่างไสว อย่างไม่มีอะไรมาขีดคั่นจํากัด
ชีวิตของทุกคนที่เกิดมาควรจะได้ถึงขั้นนี้ แต่ถ้าหากว่าตอนที่สุขสบายอยู่ยังไม่ได้ แล้วคนเจ็บป่วยทุกข์ทรมานกลับได้ขึ้นมา เราก็ต้องยอมรับว่าเขาได้สิ่งประเสริฐกว่าเรา อันนี้เป็นข้อที่นํามาเสนอไว้ให้เห็นทัศนคติหรือท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อเรื่องความตายนี้ในส่วนหนึ่ง
ปัจจุบันนี้เรามีปัญหาซับซ้อนสืบเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าก็จริง แต่พร้อมกันนั้นอาจจะเป็นเพราะความไม่สมดุลในความเจริญนั้นด้วย จึงทําให้เกิดปัญหาขึ้นมา
พูดในแง่หนึ่งคล้ายๆ กับว่าเทคโนโลยีนั้นเจริญมาก ได้สร้างอุปกรณ์มาช่วยยืดชีวิตคน แต่ในเวลาเดียวกันอีกด้านหนึ่ง วิทยาศาสตร์กลับเจริญไม่พอที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตของคน คือแม้ว่าวิทยาศาสตร์จะเจริญ แต่ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ค้นพบมา ยังไม่เพียงพอที่จะให้คําตอบที่ชัดเจนว่า ชีวิตคืออะไร ความตายเป็นอย่างไร ชีวิตจะดับสิ้นเมื่อไรแน่ ถึง เดี๋ยวนี้จะบอกอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นบอกว่าคนตายเมื่อก้านสมองตายเป็นต้น ก็ยังอยู่เพียงในขั้นคาดหมาย เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รู้เด็ดขาด
นอกจากนั้น คําตอบของวิทยาศาสตร์ก็เป็นคําตอบแห้งๆ พูดเรื่องชีวิตอย่างไม่มีชีวิตชีวา เพราะพูดได้แต่เรื่องด้านร่างกาย ซึ่งเป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิต แต่เวลาคนมีปัญหา เรื่องมันจะมารวมอยู่ที่จิตใจ พอถึงตอนนี้วิทยาศาสตร์ก็เลยไปไม่ถึง
ทางพุทธศาสนาบอกว่า ชีวิตสิ้นสุดเมื่อจิตสุดท้ายดับไปในภพนี้ คือเมื่อจุติจิตดับ แต่ก็เป็นเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ก็อย่างที่พูดไปแล้วว่า ความรู้ของมนุษย์ แม้วิทยาศาสตร์จะมาช่วย ก็ได้เพียงในระดับของรูปธรรม คือด้านร่างกาย แต่ความรู้เรื่องชีวิต อย่างสมบูรณ์ ที่บรรจบกันทั้งด้านกายและด้านจิต ก็ยังไม่เพียงพอ
จึงได้พูดไว้เมื่อกี้ว่า ความเจริญทางเทคโนโลยีไปไกล ได้ช่วยให้มีอุปกรณ์ยืดชีวิตคน แต่วิทยาศาสตร์เจริญไม่พอที่จะให้ความรู้ที่สมบูรณ์เกี่ยวกับชีวิต เมื่อความรู้เรื่องชีวิตกับอุปกรณ์ที่มาทําต่อชีวิตไม่สมดุลกัน ก็ต้องเกิดปัญหา เรียกว่าเป็นปัญหาจากความไม่สมดุลในด้านความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ กับการมีเครื่องมือที่ใช้จัดการกับธรรมชาติ
เป็นความใฝ่ฝันมานานแล้วที่มนุษย์ต้องการพิชิตธรรมชาติ โดยเฉพาะอารยธรรมปัจจุบันตามแนวคิดของตะวันตกที่มุ่งมั่นว่า จะต้องพิชิตธรรมชาติให้ได้ เพราะเชื่อว่าเมื่อไรมนุษย์พิชิตธรรมชาติได้ก็จะเป็นความสําเร็จที่สมบูรณ์ของมนุษย์ แต่ในการที่จะพิชิตธรรมชาตินั้นก็จะต้องรู้จักธรรมชาติอย่างแท้จริง แต่เวลานี้ เราก้าวในด้านหนึ่งล้ำไป คือเราสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ เทคโนโลยีที่จะใช้จัดการกับธรรมชาติได้มากมาย แต่พร้อมกันนั้น เรายังไม่มีความรู้ในธรรมชาติอย่างเพียงพอ เราจึงต้องมาประสบปัญหาอย่างนี้
การรู้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับความไม่สมดุลหรือความไม่พร้อมเหล่านี้จะทําให้เราปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้นโดยมีความไม่ประมาท คือจะปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง ความไม่ประมาทในความหมายหนึ่งก็คือ อย่าไปตัดสินปุ๊บปั๊บเด็ดขาด ต้องเผื่อใจไว้ให้พร้อมที่จะมีการแก้ไขปรับปรุง คนเรามักมีความโน้มเอียงที่ชอบตัดสินอะไรว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่ยังไม่รู้จะแจ้ง และเมื่อตัดสินไปแล้ว ก็ยึดอยู่อย่างนั้น และใช้ข้อที่ยึดไว้นั้นเป็นเกณฑ์ตัดสินต่อไปโดยไม่หาความจริงต่อ
ลักษณะอย่างหนึ่งของการที่จะอยู่อย่างไม่ประมาท คือ อาจจะพูดเป็นสองขั้นว่า ในขั้นนี้เราทําได้เท่านี้ แต่เราเผื่อใจไว้ พร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป ซึ่งจะทําให้ต้องมีการศึกษา ต้องมี การพัฒนาปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อว่าในภายหน้า ตัวเราก็ตาม ลูกหลานของเราก็ตาม จะได้ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ได้ดีขึ้น
นอกจากนั้น ตอนนี้ถ้าจะมีการบัญญัติกฎหมายอะไร เราก็คงจะต้องเผื่อใจไว้เช่นเดียวกัน เช่นยอมรับว่า เรากําลังบัญญัติกฎหมายที่จะมาใช้ปฏิบัติต่อชีวิตนี้โดยที่เรายังไม่รู้ความจริงแท้ แน่นอน แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะรอความรู้จริงไม่ได้ แต่เราจะทําอย่างไรให้ดีที่สุด
เมื่อมีเรื่องที่จะต้องพิจารณา อย่างในกรณีนี้ เราพูดได้ว่าไม่มีสูตรสําเร็จ เมื่อไม่มีสูตรสําเร็จ เราจะทําได้เพียงนําเอาหลักการบางอย่างมาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะต้องใช้ปัญญาในการนําหลักการทั่วไปมาใช้ให้เข้ากับเรื่องเฉพาะกรณี เมื่อไม่มีสูตรสําเร็จ ปัญญาก็ต้องเข้ามา เพื่อพิจารณาที่จะทําให้ดีที่สุดในกรณีนั้น
ถ้าว่าตามทางพุทธศาสนา เราต้องแยกเรื่องเป็น ๒ ระดับ
ระดับที่ ๑ คือหลักการที่เป็นความจริงของธรรมชาติ
ระดับที่ ๒ คือการสนองความต้องการของมนุษย์ว่า เมื่อรู้ความจริงนั้น หรือมีความจริงเท่าที่รู้ แล้วมนุษย์จะเอาอย่างไร
๑. การรู้ความจริงของธรรมชาติว่าเป็นอย่างไร อย่างในกรณีนี้ก็คือรู้เรื่องชีวิตมนุษย์ เช่นว่าชีวิตมนุษย์คืออะไร เป็นอย่างไร ชีวิตสิ้นสุดเมื่อไรแน่ ถ้าเรารู้ความจริงนี้แน่นอนเด็ดขาดแล้ว การปฏิบัติที่ว่ามนุษย์จะเอาอย่างไรก็จะชัด แต่ปัญหาสําคัญอยู่ที่ว่า ความจริงของธรรมชาตินั้นเรายังรู้ไม่เด็ดขาด
๒. การปฏิบัติของมนุษย์ว่าจะเอาอย่างไร ในเรื่องนี้ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าข้อหนึ่งยังไม่ถึง การตัดสินในข้อที่สองก็ทําได้ยาก ปัญหาจึงมาอยู่ที่ว่า ถ้าจะต้องทําทั้งที่ยังไม่รู้ มนุษย์จะเอาไหม และจะเอาอย่างไร
เป็นอันว่า การที่จะสนองความต้องการของมนุษย์อย่างไรเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการรู้ความจริงของธรรมชาติ กับการปฏิบัติต่อความต้องการของคน เรื่องนี้เป็นปัญหาของมนุษย์มาโดยตลอด ถ้าเป็นกรณีที่เราได้เข้าถึงความจริงแล้ว เราก็มั่นใจและสบายใจในการปฏิบัติที่ว่าจะเอาอย่างไร ทั้งนี้เราก็ต้องรู้ตัวอยู่แล้วว่า ความจริงของธรรมชาตินั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องแยกออกเป็นสองขั้นอย่างที่ว่าไปแล้วนั้น
ที่ว่าความจริงของธรรมชาติไม่เป็นไปตามความต้องการของมนุษย์นั้น ก็รวมทั้งการที่ว่ามันจะไม่เป็นไปตามบัญญัติของมนุษย์ด้วย มนุษย์อาจจะมาตกลงบัญญัติกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่รู้ความจริงของธรรมชาติ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลจริง และก็จะมีปัญหาต่อไป
ไม่ว่าเราจะบัญญัติอย่างไรก็ตาม ความจริงของธรรมชาติก็ไม่เป็นไปตามบัญญัติของมนุษย์นั้น จึงเป็นเรื่องที่บอกว่าต้องไม่ประมาท คนจะต้องพยายามศึกษาเพื่อให้รู้ความจริงของธรรมชาติ เมื่อรู้แล้วจะทําอย่างไร ก็เป็นขั้นปฏิบัติการที่สืบเนื่องออกไป แต่ก็ขอให้มีการประสานกันไว้ ถ้ายังทําไม่ได้อย่างถึงความจริงแท้ ก็จะได้ตามความจริงเท่าที่รู้ถึงเวลานั้น
ในกรณีของความตายนี้ก็มีเรื่องของความต้องการที่จะต้องพิจารณา เช่นอย่างความต้องการของผู้ป่วยเอง เช่นที่ว่าผู้ป่วยมีความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ก็อยากจะตาย แล้วก็อาจจะบอกคนอื่น ให้ช่วยฆ่าเขา ตามธรรมดาแม้คนที่เป็นเจ้าของชีวิตเขาต้องการจะตายแล้วให้คนอื่นฆ่าเขา โดยปกติก็ต้องยอมรับว่าคนฆ่าไม่พ้นผิด ฆ่าฉันทีซิ ถึงเราจะบอกว่าก็เขาอยากตายนี่ ฉันก็ฆ่าให้แล้วตามความต้องการเขา ฉันก็น่าจะได้บุญ แต่มันก็ยังเป็นการฆ่าอยู่นั่นแหละ นี่ก็เป็นปัญหาอีก
ในกรณีของความเจ็บป่วย บางทีคนที่จะตายไม่รู้ตัวแล้ว พอสั่งเสร็จแล้ว ตัวเองก็ไปอยู่ในภาวะไม่รู้ตัวจนกระทั่งโคม่า ทีนี้ ปัญหาก็อยู่ที่ว่า คนที่อยู่จะปฏิบัติตามคําสั่งอย่างไร ซึ่งเป็นตอนสําคัญที่จะต้องพินิจพิจารณา ซึ่งแน่นอนเราย่อมหวังประโยชน์แก่คนตายนั่นแหละ
ขั้นที่หนึ่ง เราอาจจะนึกว่าเราอยากให้เขาพ้นจากทุกข์ทรมาน แต่เป็นไปได้ไหมว่าเจ้าของชีวิตเองที่ต้องการจะตายนั้นก็อาจจะสั่งโดยหลงผิด เพราะเวลาที่ทุกข์ทรมานเต็มที่นั้น ก็จะมองและเห็นไปข้างเดียว คิดแต่ว่าทําอย่างไรจะพ้นจากทุกข์ทรมานนั้นไปเสีย แต่แท้จริงนั้นที่เขาทุกข์ทรมานมาก เขาอาจจะไม่ตายก็ได้ ถ้าเราไม่ด่วนไปตัดรอนชีวิตของเขาเสียก่อน เขาอาจจะรอดก็ได้ นี่บางทีเราก็ไม่รู้ แต่นี้ก็ยังเป็นเรื่องข้างนอก
ข้างในที่ลึกกว่านั้นก็คือจิตใจของเขาเอง ในตอนที่เขาสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้นั้น เราไม่รู้ว่าในใจเขายังมีความคิดได้หรือเปล่า ทั้งในระดับที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แม้แต่ง่ายๆ อย่างในเวลาเจ็บป่วยมากๆ ญาติอาจจะนิมนต์พระไปพูดให้ฟัง ไปสวดมนต์ หรือแม้แต่ลูกหลานเองอาจสวดมนต์ให้ฟัง ก็จะมีการสงสัยกันว่า เอ...นี่คนเจ็บเขาจะได้ยินหรือเปล่า เขาจะรู้ไหม เขาจะได้ประโยชน์หรือเปล่า
บางทีอินทรีย์ทั้งหลาย เช่น ตา หู เป็นต้น ไม่ได้ดับไปพร้อมกัน แม้คนเจ็บจะสื่อสารไม่ได้แล้ว เพราะประสาทที่จะสื่องานและสมองที่จะสั่งงานในส่วนที่สื่อสารแสดงออกนั้นทําไม่ได้ แต่ในฝ่ายรับรู้บางทีก็ยังรับรู้อยู่ แม้จะรับรู้ด้านนี้ไม่ได้ ก็อาจจะรับรู้ด้านโน้นได้ รับรู้โดยตรงไม่ได้ แต่อาจจะรับรู้ทางอ้อมได้ บางทีรับรู้ทางตาไม่ได้ แต่อาจจะรับรู้ทางหูบ้าง ทางสัมผัสกายบ้าง หรือแม้โดยบรรยากาศ คือยังมีบางส่วนหรือบางทางที่ยังรู้ได้อยู่
เพราะฉะนั้น แม้แต่เสียงสวดมนต์ ซึ่งเราอาจจะนึกว่า เขาคงไม่รู้เรื่อง แต่เขาอาจจะได้ยิน หรืออาจจะแว่ว หรืออาจจะรับรู้บรรยากาศ เพราะฉะนั้นจึงต้องเผื่อกันไว้ก่อน เสียงสวดมนต์ อย่างน้อยแม้แต่เจ้าตัวไม่ได้ยิน คือไม่ได้รับรู้โดยตรง แต่อาจจะสัมผัสแบบคนฝัน คนที่ฝันไม่ใช่ไม่มีการรับรู้เลยใช่ไหม คนฝันนี้ที่ว่าไม่รู้เรื่องนั้น ที่จริงในบางระดับก็รู้เหมือนกัน อย่างเช่นนอนหลับอยู่ในห้องนี้ แล้วมีคนมาเคาะประตู ป๊อก ๆ ๆ ปรากฏว่าเดี๋ยวก็ตื่น แต่ก่อนตื่น ฝันไปแล้วว่าไปรบที่เวียดนาม ได้ยินเสียงระเบิดตูมตามๆ นั่นคือเสียงเคาะประตู หมายความว่ามีการรับรู้อยู่บ้าง คือในตอนที่หลับอาจจะไม่สนิท นี่ก็คือการรับรู้โดยไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตื่นหรอก ในขณะที่หลับนั่นแหละ อาจจะได้ยินเสียงบางอย่าง หรือมีการรับรู้บางอย่าง ทางหู ทางตา ทางสัมผัส แล้วก็เอาไปปรุงแต่งเป็นความฝันได้มากมาย นั้น หมายความว่าเขามีการรู้และจิตยังทํางานอยู่ ในสภาพจิตที่ทํางานอย่างนี้ ถ้ามีอะไรช่วย จิตของเขาอาจจะเดินไปในทางที่ดี อย่างเสียงสวดมนต์ที่แว่วก็จะเป็นประโยชน์ เช่นจิตใจอาจจะเอาไปปรุงแต่งเป็นภาพนิมิตต่างๆ ที่ดีงาม ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของ เขา เราจึงไม่ควรไปตัดรอน
ในกรณีที่ว่าลึกเข้าไปก็คือ ถ้าคนไข้สั่งไว้ว่าเมื่อถึงตอนนั้น อย่างนั้นแล้วให้จัดการให้เขาจบชีวิตเสียเลย ทีนี้ตอนนี้เราก็ไม่รู้แน่ ว่าที่เราไปตัดชีวิตเขานี้จะเป็นการไปตัดรอนโอกาสในการที่เขาจะได้เข้าถึงสิ่งที่ดีงามของชีวิต แม้แต่ประโยชน์สูงสุดอย่างที่กล่าวแล้วหรือเปล่า เมื่อทราบอย่างนี้ก็จะทําให้เราคิดมากขึ้น ไม่ใช่เห็นเขาทุกข์ทรมานเราก็คิดไปข้างเดียวว่านี่เขาเจ็บปวดแสนสาหัสแล้ว เขาแย่แล้ว อยู่ไปทําไม ให้ตายเสียดีกว่า
พระสาวกบางองค์ในพุทธกาล แม้จะเจ็บป่วยทุกข์ทรมานแสนสาหัส แต่พอถึงที่สุดแล้วกลับเกิดผลในทางที่ว่า ในกระบวนการทํางานของจิตใจ อาจจะมีภูมิหลังความรู้อะไรต่างๆ กลับมาประมวลกัน แล้วกระทบกับประสบการณ์นั้น ทําให้เกิดการหยั่งรู้หยั่งเห็นได้ ปัญญาอย่างที่ว่าเป็นโพธิญาณตรัสรู้ไปเลย อันนี้ก็กลายเป็นว่า บุคคลนั้นจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เรากลับไปตัดรอนเขาเสีย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเผื่อไว้ให้เป็นข้อคํานึงเพื่อจะได้ไม่คิดข้างเดียว เพราะเรามักจะมองไปในแง่เดียวว่า เขาทุกข์ทรมานนัก ถ้าตายพ้นทุกข์ไปได้คงดี
ที่ว่ามานี้เป็นแง่ต่างๆ ที่จะต้องพิจารณา เพื่อจะได้ระมัดระวังว่า การที่จะถือเอาตามคําสั่งของคนไข้จะเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งความคิดของเราว่าเป็นการคิดที่เพียงพอหรือไม่ด้วย
อย่างน้อย เราก็จะไม่คิดเพียงแค่ว่าทําอย่างไรจะช่วยให้เขาได้ตาย แต่จะคิดว่าทําอย่างไรจะให้เขาตายดีด้วย
ในโลกที่เจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นนี้ จะมีปัญหาต่างๆ ที่ซับซ้อนแปลกๆ มากขึ้นด้วย ซึ่งไม่มีสูตรสําเร็จในการที่จะแก้ปัญหา จะมีให้ก็เฉพาะตัวหลักการ ซึ่งมนุษย์จะต้องรู้จักใช้ปัญญานําไปปรับเข้ากับเรื่องในแต่ละกรณี
ในขณะที่มนุษย์สมัยโบราณ อาจจะอยู่ง่ายๆ ด้วยสูตรสําเร็จ ที่ยึดถือปฏิบัติไปตามความเชื่อหรือศรัทธา แต่ในยุคปัจจุบัน ที่สูตรสําเร็จไม่เพียงพอ มนุษย์จะต้องอยู่ด้วยหลักการ ที่ปฏิบัติโดยใช้ปัญญา และข้อสําคัญประการแรกก็คือ ต้องมีหลักการที่เป็นหลักได้จริงๆ
ที่ว่า เราต้องอยู่ด้วยหลักการ แล้วเอาหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้ เพราะไม่มีสูตรสําเร็จนั้น ได้บอกแล้วว่ามีหลัก ๒ อย่าง ที่ต้องคํานึง คือ
๑. ความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างไร
๒. มนุษย์จะเอาอย่างไร
ความจริงของธรรมชาติ กับความต้องการของมนุษย์ จะต้องมาโยงกันว่า เมื่อความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ และเมื่อรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้แล้ว มนุษย์จะเอาอย่างไร หรือจะปฏิบัติอย่างไร
การรู้ความจริงนั้นเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของมนุษย์ที่สําคัญมาก เป็นคุณสมบัติที่ทําให้มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษคือ ปัญญา มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีภูมิปัญญา และปัญญานี้ก็พัฒนาได้ จนกระทั่งถึงที่สุดเป็นโพธิ คือความตรัสรู้ ซึ่งเป็นการเข้าถึงความจริงแท้
ข้อสองคือการตัดสินใจของมนุษย์ว่าจะเอาอย่างไร เรียกว่า เจตนา
สองอย่างนี้เป็นเกณฑ์สําคัญในการพิจารณาตัดสินและปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ แต่ในเมื่อคนทั่วไปหาได้รู้ความจริงของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ไม่ เราจึงต้องมีข้อเตือนใจในการปฏิบัติ ๒ ประการคือ
๑. ในขณะที่ตัวเองยังไม่เข้าถึงความจริง มนุษย์จะต้องใช้ปัญญาให้มากที่สุด หาความรู้ในความจริงให้ดีที่สุดก่อนที่จะตัดสินใจ ให้การตัดสินใจหรือเจตนาที่จะเอาอย่างไรนั้นเกิดจาก ความรู้อย่างถ่องแท้มากที่สุด พูดง่ายๆ ว่าปัญญาที่ดีที่สุดในขณะนั้น
๒. มีความไม่ประมาท ที่จะพัฒนาปัญญานั้นต่อไป
เมื่อถึงขั้นนี้ เราก็เอาเกณฑ์สองอย่างนี้มาใช้ตัดสินว่า ในการกระทําแต่ละอย่างนั้น เราได้ทําไปโดย
เราตัดสินใจด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ป่วย แต่ก็ต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย ให้สองอย่างนี้มาประกอบกัน ในแต่ละกรณีนั้นๆ เราก็อาจจะพูดยุติได้ว่า ถ้าทําด้วยปัญญาสูงสุด และ ด้วยเจตนาดีที่สุดแล้ว เท่าไรก็เท่านั้นก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นเรื่องของมนุษย์ก็จะไม่มีทางยุติ แต่ทั้งนี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติที่เราใช้ในกรณีอย่างที่ว่า เราไม่มีสูตรสําเร็จ
แต่ก็ไม่ใช่เท่านั้น ยังต้องมีต่อไปอีกว่า เราจะต้องไม่ประมาท ในขณะนี้ ครั้งนี้ กรณีนี้ เราตัดสินใจด้วยปัญญาสูงสุด และด้วยเจตนาดีที่สุดแล้ว เราก็เผื่อไว้อีกว่า เราจะพัฒนาตัวเองต่อไป เพื่อให้การตัดสินใจครั้งต่อไปได้ผลดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ยึดไว้ตายตัวและจบเท่านี้
ปัญญาที่ว่ามานี้มีความหมายหลายอย่าง นอกจากรู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับการรักษาของเราเอง เช่นเรื่องวิชาการการแพทย์ และความรู้ที่เกิดจากการเพียรแสวงหาเพิ่มเติม เช่นด้วยการปรึกษาหารือกัน ไม่ใช่จะตัดสินใจไปง่าย ๆ คนเดียว อย่างนี้เป็นต้น การที่ได้มารวมหัวกัน ระดมความคิดกัน ร่วมกันพิจารณาแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เราพูดได้ว่ามีปัญญาที่ดีที่สุด และทําด้วยความรู้ความเข้าใจมากที่สุด
จากนั้นก็คือ ทําด้วยเจตนาที่ดีที่สุด มีความมุ่งหมายดี ปรารถนาดีต่อมนุษย์ที่เป็นเจ้าของชีวิตนั้น พร้อมทั้งปรารถนาดีต่อ สังคม และปรารถนาดีต่อมนุษยชาติ
เวลานี้เรื่องความปรารถนาดีก็มีความซับซ้อนที่จะต้องพิจารณากันอีก เช่นว่า เราจะรักษาชีวิตคนเจ็บนี้คนเดียวแล้ว จะต้องยอมเสียเงินอย่างมากมาย ซึ่งเกิดจากงบประมาณของ ประเทศชาติ จะก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเท่าไร เดี๋ยวนี้ ปัญหาโยงกันไปหมด
เพราะฉะนั้น ที่ว่าเจตนาดีที่สุด บางทีไม่ใช่เจตนาดีเฉพาะต่อตัวผู้ป่วยไข้คนเดียวเท่านั้น ต้องปรารถนาดีทั้งต่อชีวิตของคนที่จะตายด้วย และต่อสังคม ต่อประเทศชาติทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ นี่แหละที่ว่าพูดได้ในแง่หลักการ แต่ไม่มีสูตรสําเร็จ
ในกรณีอย่างนี้ก็เป็นอันว่า เราได้หลักในการประสานความจริงของธรรมชาติ กับความต้องการของมนุษย์ให้พอไปกันได้
วันนี้จะพูดแต่เพียงแนวกว้างๆ อย่างนี้ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจความหมายของหัวข้อปาฐกถาชัดเจน โดยเฉพาะตอนที่สองที่ว่าผลต่อศาสนา แต่เรื่องพินัยกรรมชีวิตก็พูดไปจากพื้นความเข้าใจเก่า ในเรื่องที่ใช้ศัพท์ใหม่ ซึ่งสําหรับตัวเองไม่ทราบว่าได้บัญญัติกันเมื่อไร แต่ว่าโดยสาระคําถามทํานองนี้มีมานานพอสมควรแล้ว เป็นปัญหาของยุคสมัยในเวลาที่วิทยาศาสตร์เจริญ แต่อย่างที่ว่าแล้วคือเจริญไม่สมดุล เพราะรู้ความจริงของธรรมชาติไม่เพียงพอ แต่สามารถสร้างสรรค์อุปกรณ์เทคโนโลยีมาจัดการกับชีวิต และจัดการกับธรรมชาติได้ก้าวไกลล้ำหน้าไปมาก
แม้จะพูดไม่ยาวก็คิดว่าอาจจะเป็นข้อคิดบางประการ หรือแทนที่จะเป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ ก็อาจจะกลับทําให้ท่านทั้งหลายยิ่งสับสนหนักเข้าไปอีก คือยิ่งทําให้ตัดสินใจยากเข้าไป แต่ก็เป็นเรื่องจําเป็น เป็นธรรมดาว่าเมื่อเราจะหาข้อยุติที่ดีที่สุด เราก็ต้องนําเอาสิ่งเกี่ยวข้องที่ควรจะพิจารณาเข้ามา
สุดท้ายนี้ขอฝากย้ำอย่างที่ว่าแล้วคือ ปัญญากับเจตนาเป็นองค์ประกอบสําคัญ ปัญญาเป็นตัวเชื่อมมนุษย์ให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แล้วก็เป็นสัตว์พิเศษที่ตรงนี้ ตรงที่ว่าสามารถรู้ความจริงของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงผลผลิตของธรรมชาติ สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นมันเกิดขึ้นมา เหมือนกับเป็นผลผลิตของธรรมชาติเท่านั้น แต่มนุษย์มีความสามารถพิเศษที่กลับไปรู้ต้นตอของตัวเอง คือรู้ธรรมชาตินั้นได้ นี้คือตัวปัญญา
ปัญญาเชื่อมมนุษย์เข้ากับความจริงของธรรมชาติ และเมื่อมนุษย์มีปัญญา รู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็จะช่วยให้เจตนาในการเลือกตัดสินใจของมนุษย์นั้นทําได้ดีที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นจึงขอให้เรามีเจตนาที่เกิดจากพื้นฐานของปัญญาที่ดีที่สุด พร้อมทั้งมีความไม่ประมาทที่จะพัฒนาปัญญานั้นต่อไปจนกว่าจะเป็นปัญญาที่สมบูรณ์
ขออภัยที่วันนี้ไม่ได้ช่วยให้ความแจ่มแจ้งแก่ที่ประชุมมาก แต่ขอฝากไว้เป็นข้อคิดพิจารณาเพียงเท่านี้ก่อน ขออนุโมทนาต่อทุกท่านในที่ประชุมนี้ และขอให้ความตั้งใจดีนี้ ดําเนินไปสู่ประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่ชีวิตและสังคม เพราะว่าท่านที่ตั้งเรื่องนี้ขึ้นมา แน่นอนว่ามีกุศลเจตนาปรารถนาดีต่อชีวิตและเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะต่อท่านผู้สูงอายุ เมื่อเจตนาดีเริ่มแล้ว ก็เป็นมงคล นับว่า เป็นจุดเริ่มที่ดี ก็ขอให้เราก้าวหน้าไปทั้งในเจตนาดีที่เรามี และก้าวหน้าไปในปัญญาที่จะมาเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจด้วยเจตนานั้นด้วย ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน