ถาม: ขออนุญาตกราบเรียนพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ว่า กระแสค่านิยมอันเป็นเป้าประสงค์ของสังคมไทยปัจจุบันนั้น มีทัศนะเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิ ซึ่งมีบทบาทและเป็นตัวกำหนดที่สำคัญยิ่งแก่คนในสังคมขณะนี้ หรือเป็นทิศทางสื่อนำแก่ชนรุ่นต่อไป
ตอบ: ในการตอบคำถามข้อนี้ ต้องเริ่มด้วยข้อพิจารณาว่า เวลานี้สังคมมีสภาพเป็นอย่างไร
ก็เห็นกันอยู่ว่า สังคมปัจจุบันนั้น อยู่ในภาวะของการแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องของการแย่งชิงผลประโยชน์กัน หรือเรียกว่าระบบผลประโยชน์ คือถือผลประโยชน์เป็นใหญ่ และผลประโยชน์ก็เป็นเรื่องทางวัตถุ
ทีนี้ก็ต้องดูว่าระบบนี้มาจากไหน? ก็ค่อนข้างชัดว่า สังคมไทยเราไม่ได้เป็นตัวของตัวเองในเรื่องนี้ เพราะว่าระบบนี้มาจากข้างนอก
ในฐานะที่สังคมไทยอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเวลานี้มีอารยธรรมตะวันตกครอบงำอยู่ จึงกระทบกับกระแสของระบบสังคมแบบแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ที่มาจากตะวันตก
เวลานี้ อิทธิพลของสังคมตะวันตกนั้นแผ่ไปครอบคลุมทั่วโลก เป็นสภาพที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ ฉะนั้น ระบบแข่งขันจึงเป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งที่แผ่ไปทั่วโลก สังคมไทยก็พลอยถูกอิทธิพลอันนี้นำและครอบงำ จึงพลอยเป็นไปตามกระแสนั้นด้วย
ในการที่สังคมไทยไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นไปตามกระแสอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก เมื่ออารยธรรมตะวันตกแผ่อิทธิพลระบบแข่งขันเข้ามา ก็เกิดมีการแข่งขันขึ้นในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลที่แต่ละคนแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน จนถึงระดับสังคมประเทศชาติ ซึ่งแต่ละประเทศชาติก็แข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และต้องเอาชนะกัน
ทีนี้ ในเมื่อสังคมไทยไม่เป็นตัวของตัวเองในเรื่องนี้ เพราะระบบนี้มาจากที่อื่น เขาใหญ่กว่า แล้วมาครอบงำ เราถูกระบบนี้ครอบงำ เป็นผู้ถูกกระทำ เมื่อต้องการเอาชนะกันระหว่างประเทศ เราก็เป็นเบี้ยล่าง แล้วเราจะอยู่ในฐานะอะไร?
เมื่อสังคมแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์กัน ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งจะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งก็จะต้องเป็นผู้ได้เปรียบ และอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ ถ้าสังคมไทยเป็นผู้ถูกกระทำ สังคมไทยจะอยู่ในภาวะอย่างไหน ก็ตอบได้เองว่าอยู่ในภาวะเสียเปรียบ
ในระบบแข่งขันนั้น จะมีแนวทัศนะ ๒ อย่าง หรือมีการมอง ๒ ขั้น คือในความคิดของคนที่มองกันด้วยสายตาของการแข่งขันแย่งชิง
ขั้นที่ ๑ จะมีความรู้สึกเป็นคู่แข่ง และมองกันเป็นปฏิปักษ์ แล้วก็มีความรู้สึกระแวงกัน
ขั้นที่ ๒ ถ้าใครมีความสามารถมากกว่า ก็จะมองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหยื่อ
นี่คือแนวทัศนะของการแข่งขัน
ทีนี้ ถ้าไทยเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ อยู่ใต้ครอบงำ ฐานะที่ ๑ ก็เป็นคู่แข่ง ฐานะที่ ๒ ก็เป็นเหยื่อ
นี่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา และไทยเราก็อยู่ในภาวะอันนี้ แต่เรารู้ตัวไหม?
ถ้าเราไม่รู้ตัว ก็กลายเป็นว่า เราอาจจะหลงระเริงเพลิดเพลินไปในระบบนี้ ชนิดที่เป็นเหยื่อเขาด้วยความไม่รู้ตัว และยังหลงระเริงเพลิดเพลินในความเป็นเหยื่อเสียด้วย นี่ประการหนึ่ง
ทีนี้ มองไปที่รากฐาน แหล่งที่มาของระบบนี้ที่ว่ามาจากตะวันตกนั้น ตะวันตกเองเป็นอย่างไรในระบบการแข่งขัน ก็ปรากฏว่าสังคมตะวันตกเอง ก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมเต็มทีแล้ว
สังคมอเมริกันก็โทรมลงไปอีก ทั้งด้านชีวิตจิตใจ ทั้งด้านสังคมที่เสื่อมศีลธรรม จากปัญหาแตกแยกแบ่งผิว เรื่องยาเสพติด ปัญหาทางเพศ ก้าวหน้ามาอีก การศึกษายิ่งสูง แต่คนยิ่งก่อปัญหาอย่างปัญญาอ่อน เกิดความรุนแรงแบบเลื่อนลอยคาดไม่ได้ไม่ถึง คนพัฒนาโรคที่เกิดจากการกินเสพบริโภคอย่างไม่รู้จักพอดี ฯลฯ
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ คนที่แข่งขันกัน ก็เพื่อหาผลประโยชน์ และผลประโยชน์นั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องไปเอาจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมนุษย์จะมีสิ่งสำหรับเอามาเสพบริโภคที่เรียกว่าผลประโยชน์นั้น ก็ต้องไปเอาจากธรรมชาติ
เมื่อแข่งขันมาก ก็ไปด้วยกันกับการบริโภคมาก เมื่อบริโภคมากก็ต้องเอาจากธรรมชาติมาก ธรรมชาติก็ยิ่งเสื่อมโทรม เพราะ
๑. ทรัพยากรร่อยหรอ
๒. มีการระบายของเสียมาก ทั้งในแง่ที่ว่า เมื่อผลิตมาก ก็ต้องระบายมลภาวะมาก และเมื่อบริโภคมาก ก็เกิดขยะมาก
ฉะนั้น ธรรมชาติแวดล้อมก็เสื่อมโทรมและเสียไป
สังคมตะวันตกก็รู้ตัวอยู่ว่า เวลานี้ปัญหาเหล่านี้หนักมาก แต่จะแก้ไขอย่างไร เพราะเกิดภาวะขัดแย้งขึ้นมาในตัวว่า ถ้าตัวอยู่ในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ต่อไป ก็คือการทำลายธรรมชาติ แต่ถ้าตัวหยุดไม่ทำลายธรรมชาติแวดล้อม ก็คือการที่ตัวเองจะต้องไม่ประสบความสำเร็จในระบบแข่งขัน จึงเป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ว่าจะเอาอย่างไร
แต่จะอย่างไรก็ตาม เวลานี้รอไม่ได้ เรื่องเฉพาะหน้าก็คือการที่จะรักษาหรือยึดไว้ให้ได้ ซึ่งผลประโยชน์ของตัวและสิ่งที่ได้มากับผลประโยชน์ คืออำนาจความยิ่งใหญ่ สองอย่างนี้ต้องมาด้วยกัน ทรัพย์ กับ อำนาจ
เมื่อต้องการทรัพย์ ต้องการผลประโยชน์ ก็ต้องมีอำนาจ เพื่อที่จะไปเอาให้ได้มาก เมื่อครอบงำคนอื่นได้ ก็เปิดช่องทางที่จะไปเอามาให้แก่ตัว และความยิ่งใหญ่นี้อยู่ได้ ก็ด้วยผลประโยชน์อีก ก็ต้องมีทรัพย์ จึงจะรักษาอำนาจไว้ได้ อำนาจกับทรัพย์ ก็เสริมซึ่งกันและกัน
แต่ปัญหาก็ตามมาอีกว่า จะทำอย่างไรล่ะ ถ้าตัวไปเอาผลประโยชน์มาก ธรรมชาติแวดล้อมก็เสีย ถ้าตัวไม่ยอมหาผลประโยชน์ อำนาจของตัวก็จะลดลง ความยิ่งใหญ่ก็จะเสียไป
เมื่ออยู่ในเวทีโลกแห่งระบบแข่งขัน ก็ต้องเอาชนะคนอื่น เมื่อเอาชนะคนอื่น ก็ต้องหาผลประโยชน์ให้มาก ธรรมชาติแวดล้อมก็เสีย จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะเอาอย่างไร
แต่เฉพาะหน้า สิ่งที่ค้ำคออยู่ ก็คือผลประโยชน์และอำนาจต้องเอาไว้ก่อน ธรรมชาติจะเสีย ก็ต้องยอม ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น มองข้ามไปเสีย
นี่ก็คือสภาพที่ว่า ในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์นั้น ตัวต้นแหล่งเองก็กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าจะทำลายโลก แต่ทั้งๆ ที่ว่าการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์นั้นเป็นการทำลายโลก ตัวเองก็ต้องเอาเพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง จึงเป็นปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก
เมื่อแข่งขันกันอยู่ในระบบของโลกนี้ การจะเป็นผู้ชนะได้ในระบบแข่งขัน ก็ต้องได้ผลประโยชน์มาก การจะได้ผลประโยชน์มาก ก็ต้องมีผู้บริโภค ที่จะเป็นผู้ซื้อ
ในทางเศรษฐกิจ จึงต้องปลุกกระตุ้นให้ผู้เสพผู้บริโภคนั้นบริโภคให้มาก
อย่างในเมืองไทยนี้ เมื่อเราเสพบริโภค ลุ่มหลงในวัตถุกันมาก ก็จะเกิดผลประโยชน์แก่เขามาก คือ ผู้ผลิตผู้ขายก็ได้ผลประโยชน์ไป เขาก็ได้ทรัพย์มาก แล้วอำนาจของเขาก็ยิ่งมีมาก
เราก็เป็นเหยื่อป้อนผลประโยชน์ให้เขา และค้ำจุนอำนาจของเขา โดยที่นึกภูมิใจว่าตัวเองสะดวกสบายได้บริโภคได้เสพมาก แต่ที่จริงก็คือ สร้างผลกำไรให้เขา และอยู่ใต้อำนาจของเขา ถูกเขากำกับและกำหนด พร้อมกันนั้น ตัวเองก็บริโภคทรัพยากรมาก ซึ่งเป็นการทำลายธรรมชาติแวดล้อม ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
ฉะนั้น เวลานี้จึงไปด้วยกันระหว่าง
๑. ระบบแข่งขันหาผลประโยชน์
๒. ค่านิยมบริโภค
สองอย่างนี้เกื้อกูลกัน ถ้ามองในแง่นี้ก็แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายผลิตก็เอาระบบแข่งขันมาหาผลประโยชน์ แล้วก็ได้ผลประโยชน์ไป ส่วนฝ่ายลูกค้า หรือฝ่ายผู้บริโภค ก็เพลินอยู่ในค่านิยมบริโภค เมื่อบริโภคมาก ก็ไปสนับสนุนให้ระบบแข่งขันนั้นเกิดมีผลประโยชน์มาก และดำเนินไปได้
ถ้าคนไม่มีค่านิยมบริโภค คือ ไม่ชอบเสพมาก ผลประโยชน์ของฝ่ายผู้ผลิตก็เสียไป ฉะนั้น ฝ่ายผู้ผลิตซึ่งอยู่ในระบบแข่งขัน เมื่อจะเอาชนะ เพื่อจะได้ผลประโยชน์มาก ก็ต้องกระตุ้นเร้าคนบริโภคให้มาก คือต้องส่งเสริมค่านิยมบริโภค
เมื่อเขาส่งเสริมค่านิยมบริโภค และเราบริโภคมาก ก็คือเราตกหลุมพรางเป็นเหยื่อเขา ใช่ไหม เขาก็ได้ผลประโยชน์สมประสงค์ แต่เรานึกว่าเราเก่ง เราได้บริโภคเยอะ เรามีความสุขมาก เราก็ยิ่งหลงมัวเมายินดีในตัวเอง
ถ้ามองในแง่สัมพันธ์ ก็เป็นเหยื่อเขา เมื่อมองในแง่ตัวเอง ก็ได้เสพกันใหญ่ แต่เมื่อมองในแง่ธรรมชาติ ก็คือธรรมชาติพินาศ ถ้ามองในแง่สังคม ก็คือ คนยิ่งเบียดเบียนกัน เพราะว่ามันยิ่งเอาจากกันและกัน และยิ่งไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน
แค่นี้ก็ชัดแล้วว่า ระบบของสังคมปัจจุบันเป็นวิถีทางของการทำลายโลก แต่ก็เหมือนกับว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ ทั้งๆ ที่พอจะรู้ปัญหา แต่ก็ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร
เมื่อมองดูประเทศที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องพยายาม
๑. ในแง่การผลิต ก็ต้องเอาประเทศเล็กๆ เป็นแหล่งป้อนทรัพยากร เพราะว่าตัวเองจะผลิต แต่ทรัพยากรของตัวเองไม่พอ ก็ต้องไปเอาทรัพยากรจากประเทศเล็กประเทศน้อยทั่วโลกมาใช้ในการผลิต
๒. ในแง่บริโภค ก็ต้องไปกระตุ้นเร้าพวกประเทศเล็กๆ เหล่านี้แหละให้บริโภคมาก เพื่อตัวเองจะได้ผลกำไรมากๆ
ในสภาพของระบบแข่งขันอย่างนี้ เมื่อมองสังคมไทย เราจะเสียเปรียบหลายชั้น
๑. สังคมทั้งสังคมของเรา เป็นสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากเขา เป็นไปตามเขา เสียเปรียบ และอยู่ในภาวะเป็นเหยื่อ ก็เสียเปรียบเต็มตัว (อยู่เบี้ยล่าง เป็นเหยื่อเขา)
๒. ขณะที่อยู่ในระบบแข่งขันนี้ เราไม่รู้ทัน เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร กระแสเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นมาอย่างไร แถมยังหลงระเริงยินดีด้วย (หลงเพลิน ไม่รู้เท่าทัน)
๓. คนของเรานี้ เมื่อต้องเข้าสู่ระบบแข่งขันระหว่างประเทศ หรือระหว่างสังคม มีคุณภาพไม่พอ เช่น อ่อนแอ ไม่มีจิตสำนึกทางสังคม เมื่อจิตสำนึกทางสังคมไม่มี ก็ไม่รวมตัวรวมใจที่จะทำให้ประเทศของตนชนะการแข่งขัน (คนอ่อนแอ ขาดคุณภาพ)
ญี่ปุ่นก็ต้องการความยิ่งใหญ่ คิดเอาชนะ อเมริกาก็ต้องการกู้ฐานะความยิ่งใหญ่คืนมา และรักษาสถานะไว้ หลายประเทศก็ต้องการใหญ่ขึ้นบ้าง
แต่ ในประเทศไทย จิตสำนึกรวมไม่ค่อยมี อะไรๆ ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน เมื่อเป็นเรื่องของแต่ละคน ก็จะมีปัญหา คือกลายเป็นว่า
๑. คนของเราแข่งขันกันเองในระหว่างคนไทยด้วยกัน เมื่อแย่งชิงผลประโยชน์กัน ก็เหนื่อย แต่ละคนก็โดดเดี่ยว อ่อนล้า ไม่มีกำลัง
๒. คนของเราส่วนหนึ่ง เมื่อไม่มีจิตสำนึกทางสังคมส่วนรวม ก็จะไปเป็นเครื่องมือของต่างประเทศ มาเอาคนพวกเดียวกันเป็นเหยื่อ คนของเราส่วนหนึ่งจึงเป็นเครื่องมือของคนข้างนอก ให้มาหาผลประโยชน์จากพวกเราด้วยกันเอง
๓. เพราะไม่มีจิตสำนึกร่วมกันนั้น ก็จะมีความทุกข์มาก
ถ้าชาติไหนมีจิตสำนึกทางสังคม ก็จะเฉลี่ยความทุกข์ในใจกันได้ เพราะมีจิตสำนึกร่วม
เวลาทำการแข่งขันอะไรต่างๆ จะมีจุดหมายสองด้าน คือเพื่อตัวเองอย่างหนึ่ง และเพื่อชาติร่วมกันอย่างหนึ่ง ส่วนหนึ่ง เป็นความทุกข์เดือดร้อน แต่อีกส่วนหนึ่ง ก็มีความรู้สึกร่วมที่ทำให้เฉลี่ยทุกข์ เห็นอกเห็นใจกัน ทำให้สบายขึ้น และมีพลังร่วมกัน
คนที่มีความรู้สึกร่วมทุกข์กันนั้น จะมีความรู้สึกที่ดีมาทดแทนอย่างหนึ่ง คือ เกิดความอบอุ่นใจ เกิดพลังแข็งขัน และมีความสุขความอิ่มใจจากความรู้สึกนี้
ส่วนในสังคมแบบที่แต่ละคนต่างคนต่างทำ ไม่มีจุดรวมนั้น จะทุกข์มาก ต่างก็ระแวงกันเอง กลายเป็นความทุกข์ที่มาทับถมอยู่ที่แต่ละคน โดยไม่มีส่วนรวมที่จะมาระบายแบ่ง และโอกาสที่จะชนะการแข่งขันก็น้อยด้วย
ตอนนี้จะไม่พูดในระดับบุคคล เมื่อพูดในระดับชาติ ภาระของมนุษย์ยุคนี้มี ๒ ชั้นคือ
๑. ในระบบแข่งขันนี้ แต่ละชาติ แต่ละสังคม พยายามจะเอาชนะกัน ระดับนี้ก็เป็นภาระอยู่แล้ว
๒. แต่เมื่อมองต่อไป การแข่งขันระดับนี้ ถ้าชนะก็คือความพินาศของโลกที่ว่าไปแล้ว เพราะฉะนั้น มนุษย์แต่ละคนจะมีภาระอีกชั้นหนึ่งคือ ทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาของโลกทั้งหมดที่กำลังจะหายนะนี้ และทำให้เกิดสันติสุข คือทำให้โลกนี้อยู่ดี ไม่ใช่เพียงจะเอาชนะในการแข่งขัน
ในระดับที่หนึ่ง ทุกคนคล้ายกับว่า ถูกสังคมบีบคั้นให้จำเป็นต้องเอาชนะ เราจะชนะได้ไหม?
ภาระนี้ก็ขั้นหนึ่งแล้วที่เราจะต้องพยายาม แต่ถ้าชนะ ก็คือการร่วมกันทำลายธรรมชาติ ทำลายโลก
ฉะนั้นก็ต้องคิดอีกขั้นหนึ่ง เป็นภาระขั้นที่สองว่า ทำอย่างไรจะอยู่เหนือชัยชนะ คือนำมนุษย์หรือนำโลกนี้ไปสู่สันติสุข โดยแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ รวมทั้งแก้ระบบแข่งขันด้วย
เมื่อต้องทำถึง ๒ ชั้นอย่างนี้ การที่จะข้ามขั้นแข่งขันเอาชนะ ไปสู่ขั้นแก้ปัญหานำมนุษย์สู่สันติสุข ก็เลยยากเหมือนฝัน รู้สึกว่าจะทำไม่ได้ เพราะตัวเองก็กำลังเป็นเหยื่อเขาอยู่ ฉะนั้นก็ต้องรักษาตัวยืนหยัดให้ได้ก่อน
เป็นอันว่า ขั้นที่หนึ่งก็คือ ทำอย่างไรสังคมไทยหรือคนไทยจะยืนหยัดอยู่ได้ ไม่ให้สังคมอื่นเข้ามาครอบงำเอาไปเป็นเหยื่อ ไม่แพ้ในการแข่งขัน สามารถตั้งตัวได้
หรืออย่างดีขึ้นไปกว่านั้นก็คือ ชนะเขาได้ แต่ชนะชนิดที่ว่ามีสำนึกขั้นที่สอง คือ รู้อยู่ว่า ถ้าขืนอยู่ในระบบแข่งขันนี้ ก็คือการทำลายโลกด้วยกัน ฉะนั้น จะต้องระวังตัวไม่ให้ทำลายโลก ให้การชนะของเรานี้มีผลเสียต่อโลกน้อยที่สุด และพร้อมกันนั้น เมื่อตัวชนะได้ ก็พยายามหาทางแก้ปัญหาของโลกอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ ในขั้นสอง ไม่มีประเทศไหนทำได้
ฉะนั้น มนุษย์ในยุคนี้จึงต้องรู้และเข้าใจสถานการณ์ รู้ตั้งแต่ว่าตัวเองอยู่ในสภาพอย่างไร อยู่ในความสัมพันธ์อย่างไรกับประเทศอื่น และโลกนี้เป็นอย่างไร
แต่น่าสงสัยว่าสังคมไทยนี้ ไม่รู้เลย ไม่รู้ทั้งสภาพของตัวเองในความสัมพันธ์ระหว่างชาติ และปัญหาของโลกที่เราจะต้องร่วมแก้ไข ซึ่งมีตั้งหลายชั้น ก็ได้แต่หลงระเริงไปแค่ว่าจะให้ได้ผลประโยชน์มาก เสพมาก บริโภคมาก สะดวกสบายให้มาก แล้วก็สมใจตัวอยู่แค่นี้เอง
เป็นอันว่า
๑. ตัวเองได้บริโภคมาก โดยไม่รู้ว่าเป็นเหยื่อเขา
๒. แม้ตัวเองจะขยับขึ้นไป สมมุติว่าเอาชนะระหว่างชาติได้ ก็คือร่วมทำลายโลกอีก
ทีนี้ ทำอย่างไรจะให้คนเกิดมีปัญญารู้เท่าทัน และวางตัวให้ถูก อย่างน้อยเพื่อนำชีวิตไปให้ดีในสภาพอย่างนี้
คนยุคปัจจุบันนี้ เป็นผู้ถูกสังคมหล่อหลอมมากกว่าจะเป็นผู้ที่มาช่วยสร้างสรรค์แก้ปัญหาให้สังคม เพราะเป็นผู้ถูกกระทำมากกว่าเป็นผู้กระทำ
สังคมเป็นอย่างไร ระบบเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ไหลไป ไม่ใช่อยู่ในฐานะที่จะมาจัดสรรจัดการสังคมว่า สังคมนี้มีปัญหา มันเสียหายอย่างไร เราจะมาแก้มาจัดให้ดี
แต่ได้แค่เป็นผลิตผลของสังคม ถูกสังคมหล่อหลอม ถูกอิทธิพลของสังคมชักพาไป ระบบสังคมเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตาม ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไหลไปตามกระแส
การที่จะเป็นตัวของตัวเอง ก็ต้องมีปัญญา เริ่มด้วยรู้เข้าใจสถานการณ์ ว่าเวลานี้เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น จึงต้องย้ำให้คนของเรามีปัญญา ที่รู้เท่าทันเขา
เวลานี้ก็ยังติดในศัพท์ เช่นคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ทรัพยากรมนุษย์ ก็คือทุน เราเอามนุษย์มาเป็นทุน เป็นปัจจัยในการผลิต เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสังคมหลายอย่าง
๑. มนุษย์เป็นองค์ประกอบที่มาร่วมกันสร้างสังคมให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มนุษย์เป็นอย่างไร ก็สร้างสังคมอย่างนั้น เป็นปัจจัยตัวกระทำ
๒. ในทางกลับกัน มนุษย์ก็ถูกสังคมหล่อหลอม สังคมมาหล่อหลอมคน คนก็กลายเป็นผลผลิตของสังคม
แล้วอีกอย่างหนึ่ง ในแง่ปลีกย่อย ก็คือ
๓. มนุษย์นั้นคล้ายๆ ว่าเป็นทุน หรือเป็นปัจจัยที่ตอบสนองความต้องการของสังคม สังคมมีความต้องการอย่างนี้ แล้วก็ใช้มนุษย์เป็นทุน เอาไปเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของสังคม นี่ก็เป็นปัจจัย แต่เป็นปัจจัยที่ถูกกระทำ
การมองมนุษย์เป็นทรัพยากรนั้น เป็นแนวคิดที่เสี่ยง เพราะถ้าเพลินไป ก็เท่ากับเอามนุษย์เป็นทุนไปสนองความต้องการของสังคม
สังคมกำลังต้องการกำลังคนด้านนี้ ก็ให้มหาวิทยาลัยผลิตผู้สำเร็จวิชาชีพด้านนี้มาให้ได้เท่านี้ เพื่อสนองความต้องการของสังคม
แต่จุดหมายที่สังคมต้องการจะสนองนั้น เป็นจุดหมายที่ถูกต้องหรือเปล่า ตรงนี้อาจจะไม่ได้คิด ถ้าจุดหมายที่สนองนั้นผิด มนุษย์ก็เลยเป็นส่วนประกอบที่เข้าไปเพิ่มกำลังความผิดพลาดให้รุนแรง โดยไม่เป็นตัวของตัวเอง
เวลานี้ เราย้ำศัพท์ว่า “ทรัพยากรมนุษย์” บ่อย โดยไม่ได้คิดว่า การมองมนุษย์นั้น มองได้หลายอย่าง
เราต้องมองมนุษย์ ในแง่เป็นปัจจัยตัวกระทำ ในการสร้างสรรค์สังคม
มนุษย์ไม่ใช่แค่เพียงเป็นทุนสนองความต้องการของสังคม หรือลอยไปตามกระแสสังคมเท่านั้น แต่มนุษย์ต้องมีปัญญาที่จะทำการเปลี่ยนแปลงแก่สังคม หรือแก้ไขปัญหาของสังคมด้วย จึงจะเป็นมนุษย์ที่ดี เพราะสังคมที่เราสร้างขึ้นนั้น ย่อมเดินทางผิดบ้างถูกบ้าง มีปัญหาได้ตลอดเวลา และมนุษย์นี่แหละที่จะมาแก้ปัญหา
การที่สังคมจะเดินทางผิดหรือถูก ก็เป็นไปตามกระแสความเป็นไปและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แม้แต่เพียงค่านิยมตื้นๆ ซึ่งไม่แน่ เดี๋ยวก็ผิด เดี๋ยวก็ถูก ทีนี้ถ้าผิดแล้ว ใครแก้ ก็มนุษย์นี่แหละ
เราจึงต้องการให้มนุษย์นั้น เป็นผู้ที่คอยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งหมายความว่า เวลาดี ก็ส่งเสริม เวลาผิดพลาด ก็แก้ปัญหา และทำการเปลี่ยนแปลงให้ถูก มนุษย์ที่มีคุณภาพ ต้องเป็นผู้กระทำต่อสังคมอยู่เรื่อย
แต่เวลานี้ มนุษย์คือตัวบุคคล อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำเสียมากกว่า สังคมเป็นฝ่ายหล่อหลอม คนไม่เป็นตัวของตัวเอง และไม่ได้พัฒนาตัวให้สามารถที่จะมารู้สังคมและนำสังคม แต่เป็นเพียงไปตามสนองความต้องการของสังคม เป็นฝ่ายถูกกระทำ เมื่อถูกกระทำ ก็แย่ไปด้วยกัน ทั้งคนและสังคม
การถูกกระทำยังมี ๒ แบบ คือ
๑. ถูกกระทำอย่างหล่อหลอม คือ สังคมเป็นอย่างไร ก็หล่อหลอมให้คนเป็นอย่างนั้น เช่น สังคมมีค่านิยมบริโภค แต่ละคนเกิดมาอยู่ในสังคมนั้น ก็มีค่านิยมบริโภค อยากเสพไปตาม และ
๒. คนนั้นกลายเป็นทุนที่จะใช้สนองความต้องการ หรือสนองจุดหมายของสังคมอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ในระบบแข่งขัน ถ้าเอาคนมาใช้เป็นทุนเพื่อไปเสริมหรือรับใช้ระบบแข่งขัน คนก็ถูกกระทำทั้งสองแบบ โดย หนึ่ง ถูกหล่อหลอม สอง เอาไปเป็นกำลัง เป็นทุนในการสนองความต้องการของสังคมนั้น แล้วสังคมก็มาหล่อหลอมมาบีบคนอีก
แทนที่ว่าคนจะมีคุณสมบัติบางส่วนที่อยู่เหนือสังคม และเป็นผู้มาทำการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม เราก็ไม่อยู่ในฐานะนั้น
ตามที่ถูกนั้น มนุษย์จะต้องมีคุณสมบัติบางอย่างเหนือสังคม
หมายความว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างสังคม และเป็นผู้ที่จะนำสังคม ถ้าสังคมมีความผิดพลาด มนุษย์จะต้องแก้ไข
แต่ขณะนี้กลายเป็นว่า มนุษย์ไม่ทันสังคม ไม่เป็นผู้นำสังคม แต่กลายเป็นผู้ถูกกระทำอย่างที่ว่า แทนที่จะเป็นผู้กระทำต่อสังคม ฉะนั้น เราจึงหลงใหลไปตามกระแสสังคม แล้วแต่สังคมจะเป็นอย่างไร บางทีเราก็เพลิดเพลินและหลงยินดีในระบบที่เป็นอยู่ เช่นระบบแข่งขันหาผลประโยชน์
ยิ่งกว่านั้น เรายังถูกล่อด้วย
หนึ่ง ถ้าเราประสบความสำเร็จ คือเราชนะเขา เราก็ยินดี เราก็ไปติด เราก็ไปชอบ เราก็ไปหลงกับคำว่าสำเร็จ พอชนะเขาได้ เกิดผลสำเร็จ ก็ลำพองยินดี
สอง ติดหลงในค่านิยมบริโภค มองความสำเร็จในความหมายว่ามีวัตถุมาก มีผลประโยชน์มาก ได้เสพมาก นั่นคือชัยชนะ นั่นคือความสำเร็จ ยินดีอยู่แค่นั้น
นี้คือสิ่งที่กำลังเป็นปัญหา
เวลานี้ คำว่า “ความสำเร็จ” ของมนุษย์ จึงคับแคบ มีความหมายอยู่แค่ว่า ความสำเร็จ คือการได้ผลประโยชน์ ด้วยการชนะการแข่งขัน
แต่ความสำเร็จที่แท้คือ ทำอย่างไรจะให้ชีวิตของเราดีงาม ทำอย่างไรจะให้เป็นชีวิตที่มีความสุข ทำอย่างไรจะให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข ทำอย่างไรโลกจะอยู่ได้ด้วยดี ความสำเร็จขั้นนี้คนไม่คิดแล้ว
ความสำเร็จที่แท้คืออะไร? ความสำเร็จของมนุษย์ เวลานี้คิดกันแค่ว่า ฉันชนะในการแข่งขัน ฉันได้ผลประโยชน์สมประสงค์ นี่คือความสำเร็จของมนุษย์จริงหรือ?
ความสำเร็จแบบนี้ก็คือความสำเร็จในการเบียดเบียนกันในหมู่มนุษย์ ด้วยการแย่งชิงกันและทำลายกัน ความสำเร็จอยู่แค่นั้น
มนุษย์มองไม่ถึงว่า ความสำเร็จ คือการที่ชีวิตนี้บรรลุความดีงาม เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ สังคมนี้ร่มเย็น มีสันติสุข โลกนี้อยู่ในสภาพที่ดี สภาพแวดล้อมทุกอย่างเรียบร้อยน่ารื่นรมย์ นี่คือความสำเร็จที่แท้จริง
ถ้าเราใช้ภาวะนี้เป็นมาตรฐานวัด เราก็จะมองเห็นว่า โอ้โฮ! เราไม่ได้ทำอะไรสำเร็จเลยสักอย่าง สังคมร่มเย็นเป็นสุขไหม ก็ยังไม่สำเร็จ ชีวิตเราดีงามไหม มีความสุขดีไหม ก็ไม่สำเร็จ โลกนี้ธรรมชาติแวดล้อมดีไหม ก็ไม่สำเร็จ
แต่ในหมู่มนุษย์เวลานี้ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครมองที่จุดหมายนี้ ไม่ได้ใช้เกณฑ์นี้วัดเลย เขามองความสำเร็จกันแค่การแข่งขันชนะแล้วได้ผลประโยชน์มา เอาทรัพย์และอำนาจเป็นตัวกำหนด
เพราะฉะนั้น ความสำเร็จ จึงหมายถึงความหายนะของมนุษย์นั่นเอง
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ใช้วัด ไปไม่ถึง เพราะมีวิสัยทัศน์ที่มองสั้นๆ แคบๆ นี่ก็คือ ปัญญาที่มองไม่ถึง และติดในทิฏฐิความเห็น ความเชื่อถือ ถูกค่านิยมของสังคมกำหนด
คนที่ถูกหล่อหลอมด้วยระบบของสังคม ก็มองได้แค่นี้ ไม่มีปัญญาที่จะมองเหนือเลยขึ้นไป ให้เห็นว่า สังคมขณะนี้มีภาวะที่เป็นปัญหา จะต้องแก้ไข เราจะแก้ได้อย่างไร แต่กลับไปยินดีเพลิดเพลินหลงมัวเมา ฉะนั้น จึงต้องคิดกันว่า ทำอย่างไรจะพัฒนามนุษย์ให้ขึ้นเลยขั้นนี้ไปได้ นี่คือปัญหาในการพัฒนามนุษย์
เมื่อพูดว่าจะพัฒนามนุษย์ หลายคนมองแค่จะพัฒนามนุษย์อย่างเป็นทรัพยากร คือทำอย่างไรจะให้ไปเป็นกำลังหรือเป็นทุนที่มีคุณภาพ เพื่อเอาไปสนองความต้องการของสังคมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เช่นที่ว่าเป็นแรงงาน จึงเป็นเพียงสนองความต้องการของสังคมให้ได้ผลตามระบบที่เป็นอยู่ คือระบบแข่งขัน หรือหาผลประโยชน์ ซึ่งต้องการชนะในการแข่งขัน
เราก็จึงมองคนที่มีคุณภาพ ในความหมายว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ ที่จะสนองความต้องการของระบบ แล้วเราก็บอกว่านี่คือการพัฒนาคน
ที่ถูกต้องนั้น เราควรพัฒนาคนในฐานะไหน
เราควรพัฒนาคนในฐานะเป็นทรัพยากร เป็นทุน เป็นแรงงาน เป็นอุปกรณ์สนองความต้องการของสังคม ในระบบที่เป็นอยู่
หรือว่า ควรจะพัฒนาคนให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นชีวิตที่ดี มีความสามารถแก้ปัญหาที่เป็นอยู่
เวลานี้คำว่า “พัฒนาคน” จึงคลุมเครือ แม้จะหันมาเน้นว่าต้องพัฒนาคน แต่ในวงการของนักวิชาการ ก็ยังหลงยังติดอยู่กับคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์”
พอบอกว่าพัฒนาคน ก็นึกว่าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือยังมองมนุษย์เป็นทุน เป็นแรงงาน เป็นเครื่องมือสนองความต้องการของสังคมตามเดิม ก็วนอยู่นั่นเอง ไม่หลุด
ฉะนั้น จึงถึงเวลาจะต้องทำความเข้าใจให้ชัดในเรื่องการพัฒนาคนว่า จะต้องพัฒนาคนจนถึงขั้นเป็นผู้ขึ้นไปอยู่เหนือกระแสสังคมได้
การพัฒนานี้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ว่าตัวเองเข้าใจคำนี้แค่ไหน มองแค่ไหน มีวิสัยทัศน์แค่ไหน มิฉะนั้นจะเป็นการพัฒนาคนเพียงเพื่อมาสนับสนุนระบบที่เป็นอยู่ มาเสริมแรงของระบบนี้ให้หนักเข้าไปอีก
เมื่อพูดถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ที่หันมาเน้นการพัฒนาคนนั้น เราเข้าใจกันว่า พัฒนาคนนั้นอย่างไร ปรากฏว่ายังพูดกันมากถึงทรัพยากรมนุษย์
ถ้าเราเข้าใจแค่นี้ ก็ได้แค่สนองความต้องการของสังคมนี้เต็มที่ ก็เข้าสู่ระบบเก่า คือพัฒนาคนมาให้มีคุณภาพในกรอบความหมายทางเศรษฐกิจเป็นต้น เพื่อให้เป็นปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ จะได้ไปทำการแข่งขันให้ระบบนี้แข็งแรงยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง กลายเป็นร่วมกันทำลายหนักเข้าไปอีก
เป็นอันว่า คนมาติดกันอยู่ที่นี่ แม้แต่ถ้อยคำก็มองไม่ทะลุ ตรงนี้แหละเราจึงต้องการความหมายอย่างที่ว่า พัฒนาคนให้มีสติปัญญารู้เท่าทันสภาพปัญหาของโลกนี้ ว่าเหตุปัจจัยของมันเป็นอย่างไร แล้วจะได้แก้ไข นำโลกให้หลุดไปจากระบบที่เป็นอยู่
นี้คือมนุษย์ที่เราต้องการ จะได้ประโยชน์อะไร ถ้าได้แค่สนองความต้องการของระบบที่เป็นอยู่
สังคมตะวันตก ที่เรายอมรับเป็นผู้นำ ก็ติดตันตรงนี้เหมือนกัน เวลานี้เขารู้แล้วใช่ไหมว่าอารยธรรมของเขาพลาด
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ถูกให้ความสำคัญว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมตะวันตก อยู่ในความตระหนักรู้และหวั่นกลัวของเขา แต่ที่จริงปัญหาชีวิตก็หนัก ปัญหาสังคมก็หนักทั้งนั้น ตอนนี้มันประดังกันเต็มที่ แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตัดสิน
ปัญหาชีวิตจิตใจของคน ถึงจะร้ายแรงอย่างไรก็เอาเถอะ โลกยังไม่พินาศ ก็อยู่กันไป สังคมจะเหลวแหลกอย่างไร ก็อยู่กันไป แต่ถ้าโลกนี้พินาศ คนจะอยู่ไม่ได้ ก็เลยเอาปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตัดสินว่าการพัฒนาที่ทำกันมานี้ผิดแน่ๆ
เมื่อการพัฒนาที่ผ่านมานั้นผิด อารยธรรมที่ผ่านมานี้ก็ผิด แต่เมื่อผิด ก็ไม่รู้จะออกไปทางไหนอย่างไร และถ้าออก ก็กระทบกระเทือนสถานะของตนเอง ทั้งในทางทรัพย์และอำนาจ ทั้งผลประโยชน์ และความยิ่งใหญ่
มหาอำนาจจะยอมสละความยิ่งใหญ่ได้อย่างไร และความยิ่งใหญ่จะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีผลประโยชน์
แล้วผลประโยชน์จะไปเอาจากไหน ในประเทศตัวเองย่อมไม่พอ ก็ต้องไปเอาประเทศอื่นๆ เป็นแหล่งป้อนทรัพยากร และเมื่อเอาทรัพยากรมาผลิตแล้ว ก็ต้องให้ได้ผลประโยชน์มาก
จะได้ผลประโยชน์นั้นจากไหน ก็ต้องให้มีผู้บริโภคมาก ก็ต้องไปเร่งคนในประเทศที่ด้อยกว่าเหล่านี้ ให้มีค่านิยมบริโภคมาก แกบริโภคมาก ฉันก็ได้ผลประโยชน์มาก มันก็พันกันอยู่อย่างนี้
แต่แท้จริงนั้น ถึงจะหลายประเทศต่างกัน แต่ก็โลกใบเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นการมาร่วมกันทำลายโลก
ถ้ามองในแง่ของแต่ละประเทศ ก็คือ ฉันชนะ หรือฉันจะแพ้ ฉันแพ้ไม่ได้ ฉันต้องชนะ
ในสภาพเช่นนี้ ประเทศที่ไม่รู้ตัว ก็กลายเป็นเหยื่อโดยสมบูรณ์ ไม่รู้ว่าที่ตัวกำลังทำอยู่ นึกว่าตัวเก่ง ตัวมีบริโภคมาก ได้ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอะไรนั้น ที่จริงก็เป็นเหยื่อเขาเท่านั้นเอง อันนี้ไม่รู้เลย แย่ที่สุด
สังคมไทยเราอยู่ในภาวะนี้หรือเปล่า แค่เกิดความตระหนักรู้ในระดับสังคมนี่ คนไทยก็ยังไม่ได้แล้ว
ประเทศอื่นเขาต้องการความยิ่งใหญ่ ให้ได้ชัยชนะในการแข่งขันระหว่างประเทศ เขากำลังจะเล่นงานเรา เราก็ต้องรวมใจกันขึ้นมา สร้างเครื่องคุ้มกันตัว ไม่ให้เขาเข้ามาครอบงำ แค่นี้ก็จะดีขึ้น แต่ก็ทำไม่ได้
เลยกลายเป็นว่า คนไทยแต่ละคนแต่ละกลุ่มก็แข่งกันเอง เป็นไปตามกระแสที่เขาสร้างหรือจัดสรรขึ้น จึงเป็นเหยื่อตกอยู่ใต้กระแสนี้เต็มที่ แล้วก็มาเล่นงานกันเอง โดยที่ตัวเองก็เป็นเครื่องมือของเขาที่จะมาเล่นงานกัน
เรื่องนี้ไม่น่าภูมิใจเลยสำหรับคนไทยในปัจจุบัน
สังคมไทยมีภูมิหลัง ที่มีทั้งข้อดี และข้อเสีย คือภูมิหลังที่ทำให้จิตใจชอบความสะดวกสบาย และกลายเป็นคนอ่อนแอ
ข้อแรกคือ ในทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยมีธรรมชาติแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่ค่อยพบความลำบากยากแค้น
เมื่อมีชีวิตสะดวกสบาย คนก็ติดในความสะดวกสบาย มีอะไรที่ลำบากเหนื่อยยาก ก็ไม่อยากสู้ เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ทีนี้พอมีอะไรมาเสริมความสะดวกสบาย เช่นเทคโนโลยีบริโภค ก็ชอบนักหนา
พร้อมกับความชอบสะดวกสบาย ก็คือความอ่อนแอ มันมาด้วยกัน เมื่อคนชอบความสะดวกสบาย ก็ไม่อยากเจอสิ่งที่ยากลำบาก ไม่สู้ ถ้ายากถ้าเหนื่อย ก็ไม่เอา หนี เลี่ยง ถอย
แล้วก็ทุกข์ง่าย เพราะเป็นคนที่เจอมาแต่ความสุข คนที่เจอแต่ความสุขนั้น เจอปัญหาแล้วทุกข์ง่าย นิดๆ หน่อยๆ ก็ทุกข์แล้ว ต่างจากคนที่เคยลำบากมาจนชิน ซึ่งจะไม่ค่อยทุกข์อะไรง่ายๆ
พูดสั้นๆ ว่า คนไทยนี่ หนึ่ง ชอบความสะดวกสบาย สอง กลายเป็นคนอ่อนแอ
ขอพูดรวบรัดว่ามี ๔ ปัจจัยที่ทำให้คนไทยอ่อนแอ คือ
๑. สภาพแวดล้อมพื้นฐาน ที่ธรรมชาติเอื้อ ทำให้อยู่สบาย “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
๒. เราอยู่สบายเรื่อยมา อยู่มาๆ วันดีคืนดี ก็เจอฝรั่งสมัยใหม่เมื่อร้อยกว่าปีนี่ พอฝรั่งเข้ามา ด้านหนึ่งของฝรั่งก็คือมีเทคโนโลยีติดมาด้วย
เทคโนโลยีที่มาเจอกับคนไทย เป็นเทคโนโลยีสำเร็จรูป เขาทำมาเสร็จ และเป็นประเภทบริโภค มาอำนวยความสะดวกสบาย คนไทยสบายอยู่แล้ว ก็เจอเข้ากับเทคโนโลยีในความหมายที่เสริมความสะดวกสบาย บำเรอความสุขหนักเข้าไปอีก
ขอให้สังเกตว่า ความหมายของเทคโนโลยีสำหรับคนไทย เป็นความหมายแบบนักบริโภค คือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุข คนไทยจะมีความรู้สึกนี้ และคนไทยจะมองอุตสาหกรรมในความหมายนี้ด้วย คือ มองว่าอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการผลิตที่นำมาซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย บำรุงบำเรอความสุข
ความหมายนี้ต่างจากความหมายเดิมที่เกิดในสังคมฝรั่ง สำหรับสังคมฝรั่งนั้น เทคโนโลยีอันเดียวกับที่คนไทยมองนี้ มีความหมายสำหรับเขาคนละแบบ เพราะว่าเทคโนโลยีนั้นฝรั่งสร้างขึ้นมาด้วยมือเขาเอง ไม่ได้สำเร็จมาเป็นเทคโนโลยีปัจจุบันนี้ทันที แต่มันผ่านการพัฒนาด้วยความเพียรพยายามสร้างสรรค์มาตั้งสองร้อยกว่าปี ตั้งแต่เริ่มยุคอุตสาหกรรมเมื่อ ๒๕๐ ปีก่อนโน้น
เทคโนโลยีสมัยใหม่จะเกิดขึ้นมา และพัฒนาได้ ต้องอาศัยอะไรบ้าง
(๑) อาศัยวิทยาศาสตร์ ฝรั่งต้องคิดค้นหาความรู้วิทยาศาสตร์ กว่าจะได้ความรู้มา ก็เกิดสภาพจิตใจที่ฝังแน่นเป็นนิสัย ทำให้อยากรู้ ชอบทดลอง คิดเป็นเหตุเป็นผล
เมื่อเขาพัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมา กว่าจะได้เทคโนโลยีอย่างปัจจุบันนี้ จิตใจก็พัฒนามาเป็นจิตใจแบบหนึ่ง ที่เกิดเป็น วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ คือเป็นวิถีชีวิตของคนที่มีความใฝ่รู้ คิดในทางเหตุผล และชอบทดลอง มันไม่ได้เกิดมาปุบปับเฉยๆ
เทคโนโลยีเกิดมาจากประวัติที่เป็นภูมิหลังอันนี้ ซึ่งอาศัยวิทยาศาสตร์ ที่พลอยสร้างสภาพจิตที่ใฝ่รู้ ชอบคิดเหตุผล
(๒) วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ จะเอาความรู้วิทยาศาสตร์มาสร้างเทคโนโลยี ต้องผ่านโรงงานอุตสาหกรรม แล้วเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมก็เป็นปัจจัยแก่กัน
พอคิดเทคโนโลยีนี้ขึ้นได้ เทคโนโลยีก็มาเป็นเครื่องมือของอุตสาหกรรม ทำให้อุตสาหกรรมสำเร็จ อุตสาหกรรมก็มาผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีขึ้น และพัฒนาต่อไปอีก เทคโนโลยีเจริญ ก็ช่วยอุตสาหกรรมให้ยิ่งเจริญ
ประวัติการสร้างสรรค์พัฒนาอุตสาหกรรม ก็คือประวัติแห่งความขยันหมั่นเพียร จึงเรียกว่า “industry” แปลว่า “อุตสาหะ” คือความขยันหมั่น เพียร อุตสาหะ แปลว่า ความอึด ฮึดสู้ ขยัน
คนไทยทั่วๆ ไปไม่เคยคิดว่า อุตสาหกรรม แปลว่าอะไร แต่จะมองในแง่ว่า อุตสาหกรรม ก็คือกลไกในการผลิตสิ่งเสพที่จะอำนวยความสะดวกสบาย แต่ที่แท้ สำหรับฝรั่ง อุตสาหกรรมมีความหมายว่าต้องอึดสู้ ต้องขยัน เขาจึงเรียกมันว่า industry
เป็นอันว่า เทคโนโลยีของฝรั่งที่เจริญมาได้ถึงขนาดนี้ ได้ผ่านภูมิหลังแห่งการเพียรพยายามมาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี ได้ทั้ง วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เกิดความใฝ่รู้ และได้วัฒนธรรมอุตสาหกรรม ที่หล่อหลอมนิสัยสู้สิ่งยาก ขยันหมั่นเพียร
ฝรั่งจึงไม่ได้เทคโนโลยีมาเปล่าๆ
นี่แหละ แค่ความหมายของเทคโนโลยีก็ผิดกันแล้ว ไทยไม่ได้เพียรพยายามเลย อยู่ๆ พรวดเดียวมาเจอสิ่งบำรุงบำเรอความสุขสำเร็จรูป ดังนั้น เทคโนโลยีในความหมายสำหรับคนไทยกับตะวันตกจึงผิดกันมาก
ฝรั่งขนาดมีภูมิหลังแข็งอย่างนี้ มาถึงตอนนี้ สังคมของเขาผ่านพ้นอุตสาหกรรมกลายเป็นสังคมบริโภค เขายังร้องโอดครวญกันเองว่า คนของเขาเสื่อม เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยขยัน ไม่สู้สิ่งยาก สำรวย หยิบโหย่ง ไม่มีจริยธรรมในการทำงาน ทำให้สังคมของเขากำลังจะเสื่อมลงในด้านคุณภาพ
ขนาดนักผลิตเองยังร้องทุกข์ต่อว่ากันเลย แล้วของเราเป็นนักบริโภคเรื่อยมา จะไม่ยิ่งหนักกว่าหรือ ของเราไม่เคยผ่านเลย ประวัติของการสร้างสรรค์ด้วยความเพียรพยายาม นี่สองแล้วนะ ปัจจัยที่จะทำให้คนไทยอ่อนแอ และเอาแต่สะดวกสบาย
๓. คนไทยมีวัฒนธรรมน้ำใจ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีอะไรก็พึ่งพากันได้
อันนี้ในแง่ดี ก็ดี ทำให้สังคมอยู่กันด้วยความอบอุ่นใจ มีความสุขด้วยความสัมพันธ์ที่ดีงาม
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นจุดอ่อน คือทำให้คนจำนวนไม่น้อยคอยรอหวังความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่คิดหวังพึ่งตนเอง คือมีความหวังว่า ไม่เป็นไรนี่ ถ้าเราขาดแคลน ถ้าเราลำบาก เราก็ไปพึ่งพาญาติผู้ใหญ่ได้ ไปหาผู้ใหญ่ผู้โต ไปหาญาติมิตรเพื่อนฝูงได้ ไปขอความช่วยเหลือได้ ทำให้ขาดแรงบีบคั้นที่จะทำให้ต้องดิ้นรนขวนขวาย
เมื่อหวังพึ่งคนอื่นได้ ถ้าไร้สติก็อ่อนแอ ได้แต่นอนงอมืองอเท้า วัฒนธรรมที่ดีนั้น ดี แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ก็เสีย กลายเป็นเสริมความอ่อนแอ
ตรงข้ามกับสังคมตะวันตก เขามีวัฒนธรรมตัวใครตัวมัน อย่างคนอเมริกัน ที่ชอบ ที่ชื่นชม ที่ติด ใน individualism
ในสังคมแบบตัวใครตัวมัน หวังพึ่งกันไม่ได้ เมื่อคนรู้ว่าตนหวังพึ่งใครไม่ได้ เขาก็ต้องดิ้นรนขวนขวาย เพราะถ้าไม่ดิ้น เขาก็ตาย แรงบีบนี้เป็นทุกข์ ทำให้จิตใจเครียด ไม่สบาย แต่มันทำให้คนเข้มแข็ง ต้องสู้ ต้องดิ้นรนขวนขวาย ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะตาย จะมัวรอใครไม่ได้ อย่าไปหวังพึ่งใคร มีแต่ต้องดิ้นรนเอาเอง และแข่งกับคนอื่น ฉะนั้นจึงเป็นสังคมที่ดิ้นรนกระฉับกระเฉงตลอดเวลา
แล้ววิถีชีวิตแบบนี้ ก็เข้ามาเสริมระบบแข่งขันอีกด้วย ระบบตัวใครตัวมันจึงทำให้คนเก่ง เข้มแข็ง มีลักษณะไม่ประมาท
ทุกอย่างมีทั้งแง่ดีและแง่เสียอยู่ในตัว สิ่งดีของเรานั้น ถ้าเราประมาท ก็เกิดผลเสียทันที
สามแล้วนะ แต่ข้อที่สามนี้ ที่เสียเป็นเพราะว่าคนไทยเราใช้วัฒนธรรมน้ำใจไม่พอดี เนื่องจากปฏิบัติตามหลักพรหมวิหารธรรมไม่ครบชุด
เรื่องนี้ต้องพูดบ่อยๆ เพราะคนไทยไม่เข้าใจหลักพรหมวิหาร ๔ และก็ปฏิบัติไม่ถูก ตอนนี้ขอเลยไปก่อน
๔. ในสภาพที่คนไทยชอบความสะดวกสบาย และเลี่ยงปัญหา ไม่สู้สิ่งยาก ชักจะอ่อนแออยู่แล้ว ก็เกิดมีทางเลือกมาเสนอแก่เราอีก กล่าวคือ กระแสความเชื่อทางศาสนาในสังคมไทยมี ๒ กระแสใหญ่ด้วยกัน
กระแสที่ ๑ คือ พระพุทธศาสนา ที่สอนหลักการกระทำด้วยความเพียรพยายาม โดยพึ่งตนเอง พูดสั้นๆ ว่าต้องทำต้องพึ่งตนเอง และหวังผลจากการกระทำ กับ
กระแสที่ ๒ คือ ลัทธิไสยศาสตร์ ความเชื่ออำนาจเร้นลับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ มีเทวดาให้อ้อนวอน หมายความว่า มีอะไรอยากได้อะไร อยากพ้นเคราะห์พ้นภัย ก็ไปขอให้ท่านช่วย ให้ท่านบันดาลให้ หวังพึ่งอำนาจภายนอกมาช่วยตัวเอง เรียกสั้นๆ ว่า ลัทธิรอผลดลบันดาล
คนไทยนั้นชักจะอ่อนแออยู่แล้ว เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น ต้องคิดมากและทำยาก เมื่อคนไม่อยากสู้ปัญหา ก็หวังพึ่งความช่วยเหลือ ตอนนี้กระแสไสยศาสตร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เฟื่องขึ้นมาเลย
เพราะอะไร เพราะว่าพอเจอปัญหาอะไร อยากได้อะไร ไม่อยากทำด้วยแรงของตัว ไม่อยากสู้ปัญหา ไม่อยากคิด ก็ไปขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อ้อนวอนเจ้าพ่อเจ้าแม่ ให้ท่านทำให้
การขอผลดลบันดาลอะไรต่างๆ ก็คือการถ่ายโอนภาระ ใช่ไหม ตัวเองมีภาระจะต้องทำ ก็ถ่ายโอนภาระไปให้เทวดา ขอให้ท่านช่วยทำให้ ตัวเองไม่สู้ ไปอ้อนวอนท่านแล้ว ก็นอนรอผลที่ท่านจะทำให้ เป็นอันว่า ปัจจัยที่ ๔ มาซ้ำเข้าให้อีก
ปัจจุบันนี้ ครบชุดเลย ๔ อย่าง สังคมไทยก็ยิ่งเอนเอียงไปทางอ่อนแอ คอยรอเสพความสะดวกสบาย
ถ้าคนไทยเป็นอย่างนี้ คือ
๑. ขาดความใฝ่รู้ (ไม่มี วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์)
๒. ไม่สู้สิ่งยาก (ไม่มี วัฒนธรรมอุตสาหกรรม)
ก็จะไม่เข้มแข็ง เพียงแค่จะเอาชนะในการแข่งขันระหว่างสังคม ก็ยาก แต่จะต้องเป็นเหยื่อเขาแน่ เพราะตัวชอบสะดวกสบาย ก็เป็นนักบริโภคท่าเดียว เป็นนักผลิตไม่ได้ เพราะการที่จะผลิต ต้องเข้มแข็ง
เมื่อไม่สู้ปัญหา ก็คอยรอแต่บริโภค คอยหาเสพ จะดิ้นบ้างก็เพราะถูกแรงบีบคั้นในการแข่งหาสิ่งเสพ แต่เป็นเพียงดิ้นชั้นสอง คือดิ้นเพราะพลังที่ต้องการเสพ ไม่ใช่ดิ้นเพราะความเข้มแข็งในเนื้อแท้ของคุณภาพจิตใจ ที่จะเพียรผลิต เพียรสร้างสรรค์
คนที่ดิ้นเพราะจำเป็นต้องหามาเสพนี้ จะทุกข์มาก ส่วนคนที่ดิ้นรนขวนขวายเพราะความหมั่นเพียรเข้มแข็งในตัวเป็นพื้นนิสัย ก็เป็นเรื่องธรรมดาเขา
คนที่ต้องดิ้นเพราะแรงบีบของการที่มีความต้องการเสพสูง แต่ไม่มีสิ่งจะเสพ ก็เลยดิ้น อันนี้กลายเป็นการบีบบังคับ จึงทุกข์หนักขึ้น เพราะหมายถึงสภาพจิตที่ไม่เต็มใจ
ส่วนคนที่เข้มแข็งในตัว การดิ้นรนขวนขวายก็เป็นเรื่องธรรมดาของเขา เพราะเป็นนิสัยใจคอที่จะสู้ และเต็มใจทำ จึงไม่ทุกข์อะไรนัก
จำไว้เลยว่า คนอ่อนแอชอบสบายนี้ ไม่ต้องการจะสู้ ต้องการแต่จะเสพ แต่เพราะไม่มีจะเสพ เมื่อใจไม่สู้ ก็ต้องดิ้นด้วยความจำใจ ในเมื่อจำใจ ก็ทุกข์
ฉะนั้น คนอ่อนแอชอบสบาย จึงเสียทั้งในด้านสภาพจิตใจของคน ทั้งในแง่สังคม ก็สู้เขาไม่ได้ กลายเป็นเหยื่อของเขา ปัญญาก็ไม่พัฒนา
แล้วตัวเองก็ไปร่วมสมคบกับเขาโดยไม่รู้ตัว ในกระบวนการทำลายโลกแห่งธรรมชาติแวดล้อม ด้วยการกินการเสพบริโภค ที่หลงไปตามคำโฆษณาภายใต้ค่านิยมที่เขาชักจูง
ถ้าเป็นอย่างนี้ สังคมไทยจะเป็นสังคมที่อยู่ในภาวะที่พร้อมจะเป็นเหยื่อ และขาดความเข้มแข็ง อ่อนแอ จะสู้เขาไม่ได้ จะพ่ายแพ้ในการแข่งขัน และก็อย่างที่ว่า ผลขั้นสุดท้ายก็คือ ร่วมทำลายธรรมชาติแวดล้อมและโลกนี้
เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งต้องแก้อย่างตรงตามกระบวนการ ไม่ใช่เฉพาะว่าเป็นเรื่องของคนแต่ละคน และในการแก้นั้น ถ้าแก้ถูกจุด ก็ง่าย คือพัฒนาคนให้ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่
๑. ให้รู้ทันว่า พวกประเทศผู้ผลิตนี้มาไม้ไหน ถ้าจะครอบงำเราๆ ไม่ยอมให้ครอบงำ จะทำอย่างไร
๒. รวมพลังสร้างจิตสำนึกทางสังคมให้เกิดขึ้น โดยมีจุดหมายใหญ่ของสังคมร่วมกัน และ
๓. คิดแก้ปัญหาให้แก่โลก คือคำนึงถึงอารยธรรมทั้งหมด
แล้วก็มาจัดสภาพชีวิตความเป็นอยู่ด้วยความรู้เข้าใจที่มีแนวคิดแห่งปัญญาเป็นฐานว่า ความหมายที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร ชีวิตอยู่เพื่ออะไร สิ่งเสพเหล่านี้ให้ความสุขที่แท้จริงหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็ย้อนกลับไปตั้งแต่เรื่องคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาลึกสุดสำหรับพวกประเทศที่พัฒนาแล้ว
ตอนนี้ ถ้าเรามองสังคมเช่นอเมริกัน ก็อย่างที่ว่าแล้ว คือเขาอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะรู้ตัวว่าอารยธรรมของตนเอง โดยเฉพาะระบบสังคมที่ตัวเองได้สร้างสรรค์มา ซึ่งตัวเองได้เที่ยวแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกนั้น คือ ระบบทำลายโลก
เขารู้อยู่ แต่ก็ปรับตัวแก้ไขไม่ได้ เพราะว่าความยิ่งใหญ่และผลประโยชน์ค้ำคออยู่ ฉะนั้น ก็ต้องเดินต่อไปในวิถีนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันก็จะทำลายโลกนี้
หันมาดูตัวเอง เราจะอยู่อย่างเพียงเป็นเหยื่อที่สนองระบบที่เขาแผ่เข้ามาหรืออย่างไร คนไทยจะเอาแค่นั้นหรือ
ถ้าพูดแรงๆ ก็ว่า ไทยเราจะอยู่อย่างคนโง่เขลาหรือไม่ เป็นเหยื่อแล้ว ยังไม่รู้ตัวอีก ให้ระบบที่เขาแผ่เข้ามานี้ครอบงำตัวเอง แล้วก็เป็นเหมือนกับหุ่นให้เขาเชิด แล้วใครได้ผลประโยชน์ เขาก็เอาผลประโยชน์ไป
ฉะนั้น ถ้ามีสติระลึกรู้อยู่ว่า สิ่งที่เราทำกันนี้ ความหมายอย่างหนึ่งก็คือไปสนองความต้องการของเขา อย่างน้อยให้รู้ทัน ก็ยังดี แต่ที่เป็นอยู่นี้ ไม่รู้ทันเลย แถมยังภูมิใจเสียอีกด้วย จะเห็นได้ในค่านิยมอย่างนี้ อย่างน้อยในสมัยหนึ่งว่า ถ้าใครเป็นลูกจ้างฝรั่งก็รู้สึกภูมิใจ ที่มีเจ้านายเป็นฝรั่ง ยังเป็นอย่างนี้อยู่ใช่หรือไม่
ในแง่มุมของพุทธธรรม จะหาทางออกจากปัญหานี้อย่างไร ตอบว่า ก็ต้องพัฒนาคนให้ถูกต้อง
อย่าพัฒนาแค่มาเป็นทรัพยากรเฉยๆ แต่ต้องพัฒนาคนให้เป็นผู้กระทำ ซึ่งมีปัญญาที่จะมาแก้ไขปัญหาต่างๆ นำการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สามารถแม้กระทั่งจัดสรรปรับระบบสังคม และอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ที่จะเป็นปัจจัยตัวกระทำ(ให้ดี) ไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยที่ถูกกระทำ
สิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มนุษย์ต้องเป็นผู้จัด เป็นผู้ปรับ เป็นผู้แก้ไข สังคมนี้ มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น เทคโนโลยี มนุษย์ก็เป็นผู้สร้างขึ้น
มนุษย์เราสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา แต่แล้วเรากลับไปตกอยู่ใต้อำนาจของเทคโนโลยี แทนที่เราจะเป็นเจ้านายของเทคโนโลยี เทคโนโลยีก็เลยกลายเป็นตัวเสริมให้เกิดสภาพจิตแบบที่ว่ามาแล้ว คือมันมาบำรุงบำเรอความสุขของเรา ต่อมาเราก็ลืมตัวแล้วก็เลยไม่พัฒนาตัว แล้วก็กลายเป็นทาสของมัน หรือขึ้นต่อมัน
เราเริ่มมีชีวิตที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น แล้วก็เอาชีวิตและเอาความสุขของเราไปฝากไว้กับเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เรามีลักษณะพึ่งพาหรือขึ้นต่อเทคโนโลยี ๒ อย่าง คือ
๑. การดำเนินชีวิตและกิจการงานต้องพึ่งเทคโนโลยี ถ้าขาดเทคโนโลยีแล้ว ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น
คนยุคนี้ ถ้าลืมตัว ไม่พัฒนาตนเอง ก็ไม่ได้ใช้ไม่ได้ฝึกอินทรีย์ของตน เพราะมีเทคโนโลยีมาทำแทนให้หมด เมื่อเทคโนโลยีทำแทนแล้ว ตัวเองก็เลยทำไม่เป็น ต่อมา ถ้าขาดเทคโนโลยี ก็อยู่ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ดำเนินชีวิตไม่ได้
อย่างเช่นสมัยก่อน คนหุงข้าวเอง ก็ต้องหัดต้องฝึกให้หุงข้าวได้ พอมาถึงสมัยนี้ มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ถ้าเกิดไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เด็กสมัยนี้หุงข้าวไม่ได้ หมดอิสรภาพ ต้องขึ้นกับเทคโนโลยี
คนแต่ก่อนนั้นต้องฝึกคิดในใจ เพราะไม่มีเครื่องคิดเลข เวลานี้มีเครื่องคิดเลข เลยลืมฝึกอินทรีย์สมอง ไม่เคยคิดเอง พอขาดเครื่องคิดเลข เลยคิดไม่เป็น ฝรั่งเจอก่อน ฝรั่งบอกว่าไม่มีเครื่องคิดเลข ตายละ คิดไม่ออก
ต่อไป ทำอะไรไม่เป็นเลยถ้าไม่มีเทคโนโลยี กลายเป็นพึ่งพาเทคโนโลยี ชีวิตขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี หมดอิสรภาพ ทั้งๆ ที่ว่าเทคโนโลยีนี้เราผลิตขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์ แต่ตอนนี้มันจะเป็นเจ้านาย
ฉะนั้น มนุษย์ต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ด้วยความรู้ตระหนักว่า เราพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต ในการทำงาน เราต้องเป็นใหญ่กว่ามัน อินทรีย์ของตัวเองนั้นอย่าลืมฝึกไว้ให้เป็นอิสระอยู่เสมอ
นี่แหละความทันในเรื่องพัฒนามนุษย์อย่างหนึ่ง พัฒนาไม่ให้ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี
๒. ความสุขฝากไว้และหวังจากเทคโนโลยี พอมีเทคโนโลยีมาบำรุงบำเรอความสุขมากขึ้นๆ ต่อมาความสุขของตัวเองก็ไปขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ถ้าไม่มีเทคโนโลยีแล้ว ทุรนทุราย อยู่ไม่ได้
ทั้งที่ว่า ชีวิตของตัวเองนั้น ควรจะมีความสุขได้ด้วยตัวเอง และเอาสิ่งเหล่านี้มาเสริมความสุข แต่กลายเป็นว่าเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็มีแต่ความทุกข์
จึงพูดบ่อยๆ ว่าคนสมัยนี้ เป็นคนที่ยิ่งโตขึ้น ยิ่งสุขยาก ทุกข์ง่าย คือ ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก เพราะเคยชินกับสิ่งบำรุงบำเรอ
คนที่ได้รับการบำรุงบำเรอมาก จะอ่อนแอและทุกข์ได้ง่าย เพราะอะไร เพราะมีพรั่งพร้อมทุกอย่าง เมื่อพรั่งพร้อมทุกอย่าง ขาดอะไรไปนิด ไม่ได้อะไรอย่างใจหน่อย ก็ทุกข์ทันที
เดี๋ยวนี้ทุกข์ง่าย หมายความว่า การมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ นั้น ถ้าคนเกิดมาในสภาพอย่างนั้น มันก็จะเป็นของธรรมดาสำหรับเขา คือ ความสะดวกสบายกลายเป็นสภาพปกติ ทีนี้ถ้าขาดอะไรนิดเดียว ก็ทุกข์ทันที ไม่ได้อย่างใจนิด ก็เป็นทุกข์ทันที ต้องทำอะไรเองนิด ก็ทุกข์ทันที
ต่างจากสมัยก่อน คนต้องทำอะไรต่ออะไรเอง เขาก็เฉยๆ ไม่เห็นทุกข์อะไร สภาพที่เราว่าเขาลำบาก แต่เขาเฉยๆ ฉะนั้นระดับชีวิตและดีกรีที่จะสุขจะทุกข์ มันก็ต่างกันไป
ส่วนที่ว่าเป็นคนสุขยาก คือเป็นคนสุขได้ยาก เพราะมีบริบูรณ์เต็มไปหมดแล้ว เป็นปกติ ของและความสะดวกสบายที่มีอยู่แล้ว ก็ชินชาเฉยๆ ไม่รู้สึกว่าสุข ครั้นจะหาอะไรมาเพิ่มเพื่อทำให้สุข ก็ยาก
ข้อนี้ต่างจากคนที่อยู่ด้วยความลำบาก ซึ่งต้องดำเนินชีวิตแบบดิ้นรนขวนขวายมาก กลับเป็นคนสุขได้ง่าย
สุขได้ง่ายอย่างไร เพราะว่ามันชินชาเป็นปกติกับความลำบาก เขาต้องทำอย่างนั้นเป็นธรรมดา พอได้อะไรมานิดหนึ่งก็มีความสุขเหลือเกิน หรือทำอะไรสำเร็จนิดหน่อย ก็สุข
แต่สมัยนี้ หันไปเจออะไรที่ต้องทำนิด ก็ทุกข์ หันไปทำอะไรก็ทุกข์หมด ต่างจากคนสมัยก่อนที่เขาต้องทำอะไรๆ เอง จนเป็นธรรมดาแล้ว พอทำอะไรสะดวกขึ้นหน่อย ก็สุขทันที จึงสุขง่าย
คนสมัยก่อนทุกข์ได้ยาก ก็อย่างที่ว่า คือมีสิ่งที่ต้องทำด้วยความยากลำบากอยู่เป็นเรื่องธรรมดา ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ เมื่อเจอที่เบากว่านั้น ก็จะไปทุกข์อะไร
ฉะนั้น ผลของอารยธรรมจึงตีกลับมาที่ตัวมนุษย์เอง เป็นเครื่องเตือนว่า มนุษย์ถ้าไม่มีสติ ไม่พัฒนาตัวเอง เทคโนโลยีและความเจริญต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะไม่เป็นประโยชน์เท่าไร แต่กลับทำให้เกิดปัญหากับตัวเองมาก
ลองนึกดูถึงเด็กซึ่งเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งร่ำรวยอุดมสมบูรณ์ ถ้าไม่ฝึกให้ดี จะกลับเสียเปรียบ ไม่ใช่ได้เปรียบ จะเป็นคนอ่อนแอ เป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก ใจเสาะ เปราะบาง
เรามองสังคมปัจจุบันนี้ว่ามีความพรั่งพร้อมขึ้น แต่ต้องระวัง
แม้แต่สังคมฝรั่ง ทั้งที่มีฐานสู้ความยาก เป็นนักผลิตมา อย่างที่ว่าสร้างตัวด้วยวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมตั้ง ๒๕๐ ปี พอมาพรั่งพร้อมตอนนี้ คนรุ่นใหม่ก็อ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว ใจเสาะ เปราะบาง ฆ่าตัวตายง่าย จึงพูดบ่อยๆ ว่า ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก
เพราะฉะนั้น คนในยุคที่ว่าพรั่งพร้อมนี่ จึงฆ่าตัวตายกันมาก สังคมยิ่งเจริญ ยิ่งพัฒนา ยิ่งพรั่งพร้อมมั่งคั่ง สถิติคนฆ่าตัวตายก็สูงขึ้นๆ ส่วนในสังคมที่ด้อยพัฒนา คนมีความทุกข์ยาก และทุกข์ได้ยาก ไม่ค่อยฆ่าตัวตายหรอก ลองไปสำรวจดูสิ
เป็นอันว่า เมื่อสภาพจิตอ่อนแอ ก็ทุกข์ง่าย และสุขภาพจิตก็เสื่อมโทรมง่ายด้วย ปัญหาสังคมก็ยิ่งเกิดมาก แล้วตัวเองก็ยิ่งต้องการสิ่งปรนเปรอมาช่วย ก็เลยเป็นวงจรร้ายที่ทำลายมนุษย์
ยกตัวอย่าง สังคมอเมริกันที่พรั่งพร้อมนั้น อยู่ติดกับประเทศเม็กซิโก ชายแดนติดกัน เม็กซิโกนั้นยากจนข้นแค้น ด้อยพัฒนา เสร็จแล้วเป็นอย่างไร สังคมอเมริกันมีสถิติฆ่าตัวตายสูงกว่าเม็กซิโก ประมาณ ๗.๔ เท่า มันกลับกัน ก็อย่างที่ว่า เพราะคนอเมริกันทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก
เทียบอเมริกากับเม็กซิโก บางทีอาจเถียงได้ถึงความไม่แม่นยำเกี่ยวกับวิธีเก็บตัวเลขสถิติ เพราะฉะนั้น เปรียบเทียบในประเทศอเมริกาด้วยกันเองดีกว่า
ในช่วงใกล้ๆ นี้ เมื่ออเมริกาเจริญมั่งคั่งมาก ผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรม (คือยุคขยันขันแข็ง สร้างเนื้อสร้างตัว สู้เหนื่อยยาก) เริ่มมาเป็นสังคมนักบริโภค ปรากฏว่า สถิติคนฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสถิติฆ่าตัวตายมาเด่นที่คนหนุ่มสาววัยรุ่น
ตัวเลขของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติว่า ในช่วง ๓๐ ปีที่แล้วนี้ ซึ่งเป็นระยะที่อเมริกากำลังเปลี่ยนจากยุคสร้างตัวมาเป็นยุคเสพสุข เด็กวัยรุ่นช่วงอายุ ๑๕-๑๙ ปีของสหรัฐฯ ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ๓๐๐ เปอร์เซนต์ จนการฆ่าตัวตายกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๒ ของวัยรุ่นอเมริกัน (สาเหตุอันดับ ๑ คือ อุบัติเหตุ; แต่บางสถิติว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๓ คือต่อจากฆ่ากันตาย)
ระวังให้ดี คนไทยก็จะเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะสังคมไทยเรานี้ ต้องมองว่า เป็นไปในทางที่จะทำให้แย่ทั้งนั้น เพราะมีเหตุปัจจัยดีๆ ที่จัดการไม่ดี อย่างที่ว่ามาแล้ว
ทั้งสภาพธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทั้งเทคโนโลยีที่ไม่ต้องผลิต ก็ได้มาใช้ กับทั้งวัฒนธรรมน้ำใจ
การที่ถูกปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมนี้หล่อหลอม ก็จะทำให้เป็นคนที่อ่อนแอ เห็นแก่ความสะดวกสบาย ชอบพึ่งพา รอให้คนอื่นทำให้ ชอบความง่ายๆ เอาแต่สะดวกเข้าว่า ทำท่าจะมักง่าย ไม่สู้สิ่งยาก หนีปัญหา เวลามีปัญหา ก็ไปหาเทวดาให้ช่วยแก้ไขให้แทน คือโอนภาระไปให้เทวดาเสียหมด
คนจะพัฒนาได้ ต้องสู้กับปัญหา ถ้าคนไม่สู้ปัญหา ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เคยอยู่เท่าใด ก็อยู่เท่านั้น
พอเจอปัญหา ถ้าคิดแก้ ก็เริ่มพัฒนาทันที คนเราพัฒนาปัญญาจากการแก้ปัญหา ปัญหากับปัญญาคู่กัน ปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา
ปัญหา คือแบบฝึกหัด ที่ช่วยให้คนพัฒนา
ทีนี้ก็เลยพูดเรื่องวัฒนธรรมน้ำใจนิดหนึ่งว่า สังคมไทยนี้ปฏิบัติผิดไปสุดข้างหนึ่ง
สังคมไทยกับฝรั่งนั้น คล้ายกับเป็นตัวอย่างที่ให้เห็นสุดทางสองข้าง สังคมไทยมีวัฒนธรรมน้ำใจสูง ช่วยเหลือกันดี ส่วนสังคมฝรั่งคนไม่ค่อยช่วยกัน เหมือนไม่มีน้ำใจ ตัวใครตัวมัน แกต้องดิ้นเอง ถ้าไม่ดิ้นก็มีหวังตาย ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ของไทย ข้อดี ก็คือ คนไทยมีน้ำใจ ก็อยู่ด้วยกันอบอุ่น แต่ข้อเสีย ก็อย่างที่ว่าแล้ว คือทำให้บางคน หรือเยอะทีเดียว หวังพึ่งผู้อื่น ไม่ดิ้นรน แล้วก็อ่อนแอลง
แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมักจะเลยเถิด จนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกา หลักการ ความถูกต้องชอบธรรมไม่เอา จะช่วยกันส่วนตัวท่าเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเด่นเกินไป จะช่วยกันเรื่อย มีอะไรก็ต้องช่วย เออ เป็นพวกเรา เป็นน้องเรา ความถูกต้อง กฎเกณฑ์กติกาไม่เอาแล้ว มองข้าม
นี่คือเสียความเป็นธรรม หลักการ ความถูกต้องชอบธรรม และกติกาสังคมไม่อยู่ เสียหมด ทำท่าจะกลายเป็นว่า ไม่มีมาตรฐานในสังคมไทย เพราะเลือกปฏิบัติไปตามความสัมพันธ์ส่วนตัว
ส่วนในสังคมฝรั่งนั้นตรงข้าม ที่ว่าตัวใครตัวมัน ก็คือเอากฎเกณฑ์กติกาหลักการเป็นใหญ่ เอากฎหมายเป็นมาตรฐาน คุณจะทำอะไรก็ทำไป ถือว่าเป็นเรื่องของคุณ แต่อย่าผิดกฎนะ ถ้าผิดกฎ จะถูกจัดการทันทีเลยนะ ตัวใครตัวมัน แต่เอากติกาเป็นใหญ่
สภาพอย่างนี้ นอกจากจะทำให้คนเข้มแข็งแล้ว หลักการ ความถูกต้อง ความเป็นธรรม ก็คงอยู่ได้ เอากฎหมายเข้าว่า นี้คือกฎเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่ ดังที่เขาภูมิใจว่าเป็น rule of law ก็เป็นสังคมที่ถือหลักการ และรักษาความชอบธรรมไว้ได้ แต่ชีวิตแห้งแล้ง เครียด แต่ละคนต้องดิ้นเหลือเกิน จิตใจเหงา ว้าเหว่ กดดันมาก ก็เสียอีก ตกลงว่าเสียดุลทั้งคู่
พระพุทธเจ้าตรัสหลักพรหมวิหาร เพื่อรักษาดุลยภาพของสังคมนี้ไว้ แต่คนไทยไม่ได้ปฏิบัติ คนไทยรู้มาว่าพรหมวิหารมี ๔ ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่คนไทยเราจับเอามา ๒ ข้อ คือ เมตตา กรุณา เราได้ยินบ่อย จนพูดควบกันว่าเมตตากรุณา
ส่วนข้อ ๓ มุทิตา นานๆ จะพูดสักที แทบไม่มีพูดถึง และไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร
ยิ่งข้อ ๔ คือ อุเบกขา ไม่รู้เรื่องเลย ใช่ไหม ทั้งๆ ที่ธรรมต้องครบชุด ถ้าไม่ครบชุดแล้วเกิดผลร้ายได้ แม้แต่สิ่งที่ดี ถ้าปฏิบัติผิดก็จะต้องเกิดผลร้าย อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนอย่างเมื่อกี้ที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว นั้นดี แต่กลายเป็นทำให้เกิดความอ่อนแอไป
เราเอาเมตตากรุณามาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่ช่วยเหลือกัน
สังคมไทยนี้เด่นไปด้วยเมตตากรุณา เมตตา ทำให้มีน้ำใจช่วยกันในแง่ของการอยู่ร่วมกันด้วยดี เป็นมิตร กรุณา ก็สงสารช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ แต่ข้อสาม มุทิตา ไม่ค่อยคิดถึง จึงไม่ค่อยส่งเสริมคนดี คนทำอะไรถูกต้องดีงาม ไม่ค่อยเอาใจใส่ แสดงว่ามุทิตาไม่ค่อยขึ้นมาสู่ความคิด แต่ข้อสี่ อุเบกขา ไม่รู้เรื่องเลย และเข้าใจผิดด้วย ลองมาดูความหมาย
๑. เขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา แสดงไมตรี หวังดี อยากให้เขาเป็นสุข
๒. เขาตกทุกข์เดือดร้อน เราก็มีกรุณา คิดช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา
๓. เขาประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง เราก็มีมุทิตา พลอยยินดี ส่งเสริมสนับสนุน
ท่านให้ไว้ ๓ ข้อสำหรับ ๓ สถานการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ครบ คือ ปกติ ตกต่ำ ขึ้นสูง
นี้คือหลักของพรหมวิหารสามข้อแรก ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ดูเหมือนจะครบแล้ว
แต่มนุษย์ไม่ได้อยู่เฉพาะกับมนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งที่รองรับโลกมนุษย์ หรือค้ำชูสังคมมนุษย์ไว้ ก็คือ “ธรรม” ได้แก่หลักการของกฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามหลักเหตุปัจจัยที่แน่นอน
อันนี้สำคัญมาก มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดีระหว่างมนุษย์ได้อย่างไร ถ้าไม่นำพาความจริงของกฎธรรมชาติ ปฏิบัติผิดต่อหลักการแห่งธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ สังคมมนุษย์ก็จะพินาศ อยู่ไม่ได้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงข้อ ๔ นี้ไว้ว่า เธอจะสัมพันธ์กันดีระหว่างบุคคลด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาอย่างไร ก็อย่าให้เสียธรรม ถ้าเธอละเมิดธรรม ทำธรรมให้เสียหาย สังคมนี้จะอยู่ไม่ได้เลย เพราะว่าธรรมนี้รองรับสังคมทั้งหมด จึงใหญ่กว่าความสัมพันธ์กับคนด้วยกัน เพราะฉะนั้นก็ให้ข้อ ๔ มาคุมไว้
สถานการณ์สำหรับข้อ ๔ ก็คือ ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างมนุษย์ในสามข้อแรก ไปกระทบธรรม คือไปกระทบหลักการแห่งความถูกต้องชอบธรรม กฎเกณฑ์กติกา ก็ต้องถึงอุเบกขา
ไม่ว่าจะเป็นหลักการที่เป็นธรรมชาติก็ตาม หลักการที่มนุษย์เอามาบัญญัติในสังคม เช่น เป็นกฎหมาย หรือกติกาสังคมก็ตาม เรียกรวมๆ ว่า ธรรม
หลักการที่เรียกว่า “ธรรม” เหล่านี้ ทั้งสองระดับ ทั้งระดับธรรมชาติ และระดับสังคม ถ้าหากว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปกระทบเสียต่อธรรม คุณจะต้องหยุด เมตตาออกไปไม่ได้ กรุณาออกไปไม่ได้ มุทิตาออกไปไม่ได้ ไปขวนขวายไม่ได้ ต้องหยุดขวนขวาย การหยุดขวนขวายนี้ เรียกว่า “เฉย” คือ เอาธรรมไว้ ไม่เอาคน หรือวางคนไว้ ว่าไปตามธรรม นี่คือ อุเบกขา
“อุเบกขา” ก็คือหยุดการขวนขวายที่จะไปช่วยคนนั้น เพื่ออะไร เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกฎแห่งธรรม ทั้งกฎธรรมชาติ และกฎหมาย เราต้องหยุดต้องงด แล้วให้กฎออกมาแสดงตัว
เราไม่แทรกแซงเพื่ออะไร เพื่อให้กฎธรรมชาติและกฎหมายนั้นแสดงผลออกมา ถ้ามนุษย์เข้าไปขัดขวางกฎแห่งธรรม สังคมก็เรรวนหมด จึงต้องให้ธรรมเข้ามาจัดการ
หมายความว่า กติกา กฎเกณฑ์ หลักการ ความถูกต้องชอบธรรมเป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามนั้น นี่คือข้อ ๔ ที่เรียกว่า อุเบกขา
อุเบกขา ก็คือว่า ต่อไปนี้ฉันไม่เอากับคุณแล้วนะ ฉันไม่ขวนขวายช่วยเหลือคุณแล้ว ฉันหยุด ฉันเฉย เพื่ออะไร เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎแห่งธรรม คือเพื่อรักษาธรรมนั่นเอง
เฉยต่อคน แต่ให้ธรรมเข้ามาจัดการ ใครมีหน้าที่อะไร ก็ว่าไปตามนั้น คุณเป็นผู้พิพากษา คุณเป็นตำรวจ คุณเป็นอะไร ทำไปตามนั้น คือ ว่าไปตามความถูกต้องชอบธรรม ฉันไม่แทรกแซงกระบวนการของธรรม อุเบกขาคืออันนี้
น่าเสียดาย คนไทยไม่รู้จักเลย อุเบกขา ซึ่งเป็นตัวรักษาธรรมที่รองรับสังคมมนุษย์ ด้วยการหยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้ เพราะถึงตอนนั้น ถ้าเราไม่หยุดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้ เราก็ต้องเสียธรรม ฉะนั้น อุเบกขาจึงสำคัญที่สุด สำคัญยิ่งกว่า เมตตา กรุณา มุทิตาเสียอีก เพราะรักษาตัวธรรมไว้
สามข้อแรกรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างมนุษย์ แต่ข้อที่สี่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม ซึ่งก็คือรักษาฐานของสังคมไว้
ฉะนั้น ถ้ามนุษย์อยู่ในหลักการ ๔ ข้อนี้ ก็จะมีดุลยภาพให้สังคมอยู่ในความพอดี
ยามอยู่ดี ไม่มีอะไรผิด ก็ช่วยกันอย่างดี มีน้ำใจ แต่คุณต้องรับผิดชอบต่อความจริง คือ ต่อธรรม ต่อกฎเกณฑ์กติกา ไม่ให้หลักการเสีย ถ้าเสียเมื่อไร ก็หยุด ไม่เอาด้วย ว่าไปตามกฎแห่งธรรม
สามข้อแรกใช้ความรู้สึกมาก เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ดี ไม่ต้องการปัญญามากนัก ปัญญาใช้บ้างนิดหน่อย
แต่ข้อที่สี่ เห็นได้ว่าปัญญาเป็นใหญ่ เพราะเราจะปฏิบัติข้อสี่ได้ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นความจริงถูกต้องดีงาม ธรรมเป็นอย่างไร กฎ กติกาว่าอย่างไร
ข้อ ๑-๒-๓ นั้น ทำตามสถานการณ์ ด้วยความรู้สึกที่ดีงาม ถ้าเขาอยู่ดี ก็มีไมตรี เขาทุกข์ ก็ช่วย เขาสำเร็จ ก็ส่งเสริม แค่ใช้ความรู้สึก ก็ไปได้ แต่ข้อสี่ต้องใช้ปัญญา
อุเบกขานี้เหนือความรู้สึก ไปสู่ระดับความรู้ สามข้อแรกอยู่ในระดับความรู้สึก แต่ข้อสี่เป็นระดับความรู้ คือปัญญา และปัญญานี้จะมาปรับความรู้สึกให้พอดีด้วย
ถ้าไม่มีปัญญาความรู้ เราก็กระวนกระวายร้อนใจว่า เขาทุกข์ ทำไมเราไม่ช่วย แต่พอปัญญามา มันก็ปรับความรู้สึกว่า เรามีเหตุผล จึงต้องหยุด ปัญญาปรับความรู้สึกให้พอดี
ฉะนั้น จิตที่เป็นอุเบกขา ซึ่งประกอบด้วยปัญญา จึงเรียบสงบ เพราะอยู่กับธรรม อยู่กับความจริง เป็นจิตที่เข้าถึงความจริง ด้วยเหตุนี้ จิตอุเบกขาท่านจึงว่าเป็นจิตที่ประเสริฐ เพราะมันอยู่ตัวลงตัว สงบ เรียบ อยู่กับความรู้
อุเบกขาที่เราเอามาใช้กันในหมู่คนไทยนั้น ต้องระวัง ถ้าเฉยเรื่อยเปื่อย ทางพระเรียกว่า “เฉยโง่” เป็นอกุศล คำพระว่า อัญญาณุเบกขา หมายถึงเฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง แต่เฉยของธรรม คือ เฉยด้วยปัญญา เพราะรู้แล้ว ก็วางตัวพอดี
โดยทั่วไป เมื่อมีสถานการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้น จะมีคน ๓ พวก
๑. คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงเฉย
๒. คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อาจจะตื่นเต้นโวยวาย ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น แต่แก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้ บางทีตื่นเต้นโวยวายไปยิ่งทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โต
๓. คนที่รู้เข้าใจหมด มองเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มันจะเป็นไปอย่างไร จะแก้ไขที่จุดไหน ถึงจุดไหนจะต้องทำอะไร พวกนี้เฉยเหมือนกัน แต่เฉยพร้อมรอจังหวะ เมื่อถึงจุดนั้น ต้องทำอันนั้น ที่จุดนั้น ต้องทำอันนั้น เขาเฉย แต่พร้อมที่จะทำไปตามลำดับ ให้ถูกจุดถูกที่ พวกนี้แก้ปัญหาได้
ความนิ่งเฉยด้วยรู้นี่แหละ เรียกว่า “อุเบกขา”
อุเบกขานี้เป็นธรรมสูงสุดในทางจริยธรรม สภาพจิตปกติของพระอรหันต์ คือ อุเบกขา เพราะอยู่ด้วยจิตที่ลงตัวพอดีด้วยปัญญา
มีอุปมาอย่างหนึ่ง คือ เรื่องสารถีขับรถ
สมัยก่อนนี้ คนขับรถม้า เอาม้าผูกเข้ากับรถแล้ว ม้าก็พารถไป สารถีที่เชี่ยวชาญขับรถม้า ก่อนที่รถจะวิ่งเข้าที่ แกก็ต้องชักบังเหียนบ้าง ใช้แส้บ้าง เพื่อให้ม้าพารถเข้าสู่ทาง แล้วก็ปรับความเร็วให้พอดี
พอม้าวิ่งเข้าทางดี และได้ความเร็วพอดีตามที่ต้องการแล้ว สารถีผู้เชี่ยวชาญนั้น จะอยู่พร้อมด้วยความตระหนักรู้ แกนั่งสบายเลย สงบนิ่ง แต่จิตนั้นอยู่ด้วยความรู้ ไวต่อการที่จะรับรู้และความคิดที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะมีอะไรผิดพลาด เมื่อทุกอย่างลงตัวเข้าที่พอดีแล้ว เขานั่งสงบ และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา
ต่างจากคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งตื่นเต้น หวาด ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร จิตไม่สบาย ไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่ลงตัว
มนุษย์ที่ยังไม่รู้เท่าทันจัดเจนโลก ไม่รู้ความจริงของชีวิต ก็เหมือนกับสารถีที่ยังไม่เจนจบ ส่วนพระอรหันต์นั้น เหมือนกับสารถีที่เจนจบ ท่านรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนวางจิตพอดีลงตัวหมด
ต่างจากมนุษย์ปุถชน ที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร โลกนี้เป็นอย่างไร อยากนั่น ยึดนี่ กังวลโน่น อยู่ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจ ตื่นเต้นไป จิตลงตัวอุเบกขาไม่ได้
อุเบกขานั้น ไม่ต้องวางหรอก มันถึงเอง เพราะมันเป็นสภาพจิตอัตโนมัติที่เกิดจากปัญญา โดยปัญญามาปรับสภาพจิต ฉะนั้น ปัญญา กับ อุเบกขาจึงคู่กัน
พอปัญญาถึงขั้นเป็นโพธิญาณ หยั่งรู้ความจริงของชีวิตและโลก เจนจบ รู้เท่าทันสังขาร จิตก็ลงตัว เรียกว่าวางพอดีกับชีวิตและโลก เป็นอุเบกขาด้วยปัญญานั้น นี่คือจิตพระอรหันต์ ฉะนั้น จึงเหมือนสารถีที่ว่าเจนจบ สภาพนี้ดีแค่ไหน ก็ลองคิดดู
คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขาดีอย่างไร นึกว่าเฉยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนั้นเป็นเฉยโง่ (อัญญาณุเบกขา)
ลองคิดดู ไม่ต้องเอาอุเบกขาต่อโลกและชีวิตขนาดจิตปัญญาของพระอรหันต์ เอาแค่การรู้จักปฏิบัติต่อกันในสังคม
อุเบกขาในระดับพรหมวิหาร ไม่ต้องถึงพระอรหันต์หรอก อุเบกขาระดับนี้ก็คือระดับที่จะปฏิบัติต่อกันในสังคม ที่ว่าอุเบกขาคือสภาพจิตที่จะรักษาธรรมไว้ คือ ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปกระทบเสียหายต่อธรรม ต้องเอาธรรมไว้
ถ้าสังคมไทยปฏิบัติพรหมวิหารครบทั้งสี่ สังคมไทยเราก็ไม่เสียดุล คือ เราก็อยู่กันด้วยน้ำใจ ช่วยเหลือกัน แต่ไม่ไปละเมิดกฎเกณฑ์กติกาหลักการแห่งความเป็นธรรม และให้คนรู้จักรับผิดชอบตัวเอง มันก็ไม่เสีย
ทางฝ่ายสังคมฝรั่งก็เสียดุล เพราะไปเอาแต่อุเบกขาท่าเดียว หนักอยู่แค่อุเบกขา คือเอากฎเกณฑ์กติกาหรือกฎหมายเข้าว่า ฉันไม่รับรู้ด้วยกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล น้ำใจไม่มี ถ้าเธอปฏิบัติตามกฎ ก็ใช้ได้ แต่ถ้าเธอผิดกฎ ฉันเล่นงาน
สังคมฝรั่งเขาหนักไปทางอุเบกขา ส่วนสังคมไทยเราก็หนักมาทางเมตตากรุณา ก็เสียดุลด้วยกันทั้งคู่ ฉะนั้น สังคมฝรั่งจึงเครียดแห้งแล้ง มีความทุกข์ทางใจมาก ส่วนสังคมไทยคนก็ไม่ค่อยคิดพึ่งตัวเอง อ่อนแอ แล้วก็เสียความเป็นธรรม รักษาหลักการไม่อยู่
เมื่อคนอ่อนแอ หวังพึ่งคนอื่น ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็ตกอยู่ในธรรมที่เป็นอกุศลข้อสำคัญ คือ ความประมาท เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท กลายเป็นสังคมที่มีความประมาทสูง ก็เสียหลักการใหญ่อีก
พระพุทธศาสนาถือว่า หลักความไม่ประมาทนี้สำคัญยิ่ง คนจะต้องมีความไม่ประมาท จะมัวนอนใจ ปล่อยอะไรๆ เรื่อยเฉื่อยไปไม่ได้
การกล่อมใจด้วยความหวัง ไม่ว่าจะหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังพึ่งเทวดา หวังพึ่งผู้ใหญ่ หรือหวังพึ่งใครก็ตาม เมื่อหวังพึ่งแล้วกล่อมใจตัวเองอยู่ ก็สบาย ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็คือประมาท อยู่ด้วยความกล่อมใจ
ฉะนั้น สังคมไทยจึงพลาดมาก เพราะมีพรหมวิหารไม่ครบสี่ เมื่อไม่ครบ ก็จึงเอียง เสียดุล ตกเป็นประมาทไป ต้องแก้กันมากทั้งปัญหาชีวิต และปัญหาสังคม เพราะเราจับจุดไม่ถูก
นักสังคมวิทยาหลายคนบอกว่า สังคมไทยหนักในระบบอุปถัมภ์ “ระบบอุปถัมภ์” นั้นมาอย่างไร แล้วมันทำให้สังคมของเราเสียอย่างไร ก็ว่ากันไป
แต่เราไม่ได้มองให้ครบทั่วตลอดระบบต่อระบบว่า ระบบอุปถัมภ์นี้ ต้องมีดุลด้วย ดุลนี้คืออะไร ก็คืออุเบกขา อุเบกขามารักษาธรรมไว้ เขาไม่รู้อันนี้ ไม่เข้าใจ ดีไม่ดีก็ไปชื่นชมสังคมตะวันตกเสียอีก ไปสุดทาง เสียดุล บางคนก็ชอบไปเลยว่า ดีแล้วสังคมไทยมีน้ำใจ
แต่ละฝ่ายในทั้งสองพวกนี้ ได้แค่อย่างเดียว ก็เสียตะแคงกันไป ไม่รู้ว่าอย่างไหนแค่ไหนทำให้สังคมของเราเสีย และจะแก้อย่างไร
ฉะนั้น ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสมาเป็นชุดๆ นี้สำคัญมาก ต้องตีให้แตก ต้องเห็นชัดว่า ทำไมถึงต้องเท่านี้ข้อ
เวลาสอนจริยธรรม เอาแต่เมตตามาสอน เอาแต่กรุณามาสอน ก็ทำให้ระบบเสียหมด
เพราะอะไร? ก็เพราะธรรมของท่านเป็นระบบ เป็นองค์รวม พรหมวิหาร ๔ ข้อต้องมาทั้งชุด ถ้าขาดองค์ประกอบ ก็ไม่เป็นพรหมวิหาร ไม่เป็นเศียรพระพรหม ไม่ครบ ๔ พักตร์
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกว่าพรหมวิหาร เพราะเป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม
ภูมิหลังมีว่า สังคมอินเดียนั้นเชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก แล้วต่อไปโลกพินาศ พระพรหมก็สร้างใหม่ มนุษย์ไม่ต้องคิดอะไร ก็อยู่กันไป
นี่เท่ากับพระพุทธเจ้าทรงเตือนว่า อย่าไปรอพระพรหมที่เป็นเทพเจ้ามาสร้างโลกเลย จะทำให้เราไม่รับผิดชอบ แล้วพาลทำอะไรต่อมิอะไรให้โลกพินาศไป แล้วก็รอให้พระพรหมมาสร้างใหม่ มันไม่เข้าเรื่อง เราทุกคนต้องมาช่วยกันรับผิดชอบสร้างโลกนี้ ทุกคนต้องเป็นพรหม
พระพุทธศาสนาจึงย้ายพระพรหมจากเทพเจ้า มาให้ทุกคนเป็นพระพรหม ด้วยการมีพรหมวิหาร ถ้าคุณปฏิบัติตามนี้ คุณก็เป็นพรหม
พรหมวิหารเป็นธรรมประจำใจของพรหม เป็นเครื่องอยู่ของพรหม เราเป็นพรหมด้วยการอยู่ในหลักสี่ประการนี้ เมื่อเราอยู่อย่างนั้น เราก็เป็นผู้สร้างโลกและเป็นผู้ผดุงโลก
หน้าที่ของพรหม คือสร้างและผดุงโลก เมื่อมนุษย์ปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร ๔ มนุษย์ทุกคนก็จะเป็นผู้สร้างและผดุงโลก เป็นพรหมด้วยกันทั้งหมด
เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าไม่ให้รอพระพรหมเทพเจ้า แต่ให้มนุษย์ทุกคนเป็นพระพรหมเอง
จะเป็นพรหมอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติให้ครบระบบทั้งสี่ข้อนี้ คือ เมื่อคนอื่นเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตาไมตรี เขาทุกข์ยากเดือดร้อนตกต่ำ เราก็มีกรุณาช่วยเหลือเขา เมื่อเขาประสบความสำเร็จทำถูกต้องดีงาม เราก็มีมุทิตา ส่งเสริมเขา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็เป็นไปต่อกันด้วยดี
แต่อย่างที่ว่าแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไม่เพียงพอ ต้องมีสิ่งที่รองรับสังคมอีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่รองรับสังคม ก็คือธรรม เราจึงต้องรักษาธรรมด้วย ฉะนั้น เมื่อมนุษย์สัมพันธ์กันไปในสามข้อแรก หากไปกระทบธรรมก็ต้องหยุด คือมีอุเบกขา ไม่เอาคน หันไปเอาธรรม จึงจะเรียกว่าปฏิบัติได้ครบทั้งระบบ
ถ้ามนุษย์ปฏิบัติอย่างนี้ สังคมอยู่ได้แน่ ธรรมชุดนี้สำคัญมาก ต้องมองความหมายให้เข้าใจ มิเช่นนั้นพระพุทธเจ้าไม่ตรัสเป็นชุดหรอก ก็จะตรัสเป็นข้อๆ
ธรรมในพระพุทธศาสนา ให้สังเกตว่าตรัสไว้เป็นชุดๆ มีหนึ่ง สอง สาม สี่ ต้องมาเป็นชุดๆ หรือเป็นระดับขั้น นี่แหละที่เรียกว่าระบบองค์รวม บูรณาการ หรืออะไรแบบนี้ มีมานานแล้ว
ถ้าปฏิบัติไม่ครบสี่ ไม่บูรณาการ ก็จะเสียดุล ที่เราพูดกันว่าต้องมีดุลยภาพ ต้องบูรณาการ ต้องเป็นองค์รวม นั้น อยู่ในนี้หมด เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ประดิษฐ์ธรรมขึ้นมาเอง แต่พระองค์เอาจากความเป็นจริงในธรรมชาติ
ดังที่ตรัสว่า ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิด ความจริงมันก็มีอยู่ของมันตามธรรมดา ตถาคตค้นพบความจริงแล้ว ก็นำมาเปิดเผย ชี้แจง แนะนำ อธิบาย ทำให้เข้าใจกันง่าย ธรรมของพระพุทธศาสนาจึงตั้งอยู่บนความจริงของธรรมชาติ
การสอนและปฏิบัติธรรมโดยเลือกเอามาเฉพาะเป็นข้อๆ นั่นเองที่ทำให้ยุ่ง คนไทยก็เลยไปติดแนวคิดแยกส่วนแบบฝรั่ง
ดังปรากฏการสอนจริยธรรม ในหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ บางทีก็มาคิดกันว่า เราจะเอาธรรมะข้อไหนมาสอนดี
เวลาจัดหลักสูตร ก็ดึงเอาธรรมข้อนั้นข้อนี้มา ท่านจัดไว้เป็นหมวดๆ อยู่แล้ว แต่เราไปดึงเอาเมตตามา กรุณาก็ชอบ เลยเอามาด้วย เอาเมตตากรุณามา แต่สองข้อที่เหลือไม่เอา สตินั้นสำคัญนัก ก็เอาสติมา แต่สัมปชัญญะว่ายากไป ก็ไม่เอามา
ไปเที่ยวดึงโน่นมา นั่นชิ้นหนึ่ง นี่ชิ้นหนึ่ง มาเป็นจริยธรรมที่เราเล่าเรียนกัน แล้วคิดดูซิ มันจะไม่ยุ่งหรือ มันก็ไม่เป็น ไม่ครบกระบวนของธรรม
ถ้าเรียนธรรมให้ดี เพียงแค่เรียนชุดเดียว ก็โยงไปหาเรื่องอื่นได้หมด เพราะมันเป็นสิ่งที่อยู่ในระบบ มันสัมพันธ์กัน มันต้องโยงกัน ถ้าเราเข้าใจจริง พอเริ่มจากจุดเดียวนี้ ก็จะโยงไปหาเรื่องอื่นๆ ได้ แจ่มแจ้งไปด้วยกัน เพราะเป็นระบบความสัมพันธ์
แต่นี่ไปเที่ยวดึงมาทีละอัน ทีละข้อ เลยสับสนหมด เราสร้างหลักสูตรจริยธรรมในเมืองไทยโดยเรียนธรรมเป็นข้อๆ จึงต้องเรียกว่าจริยธรรมแบบรายการสินค้า เหมือนทำบัญชีรายการสินค้า ว่าหนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ
หัวใจของเรื่องคือ ต้อง มองธรรมเป็นระบบ คือเป็นระบบความจริงของชีวิตและของโลกนี้ เป็นระบบองค์รวมที่องค์ร่วมทั้งหลายสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยส่งผลต่อกันดำเนินไป ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาสอน
ถ้ามองความหมายของธรรม ต้องตีให้ถึงความสัมพันธ์ อย่างน้อยให้รู้ว่าจุดหมายของแต่ละข้อๆ นั้น คืออะไร
ดังเช่น “สันโดษ” เรามักไปติดกับความหมายว่าคืออะไร แต่ที่จริงนั้น ก่อนจะเข้าใจความหมายของคำว่าสันโดษ ต้องรู้ว่า สันโดษเพื่ออะไร มิฉะนั้นความหมายของสันโดษก็จะไม่ชัด
พอเราบอกได้ว่าอันนี้เพื่ออันนั้นปั๊บ ก็มองเห็นความสัมพันธ์ในระบบทันที และความหมายก็ชัดขึ้นมา
ถ้าเราเห็นความสัมพันธ์ ความหมายของมันก็จะชัดขึ้นมาด้วย ตัว “เพื่ออะไร” นี้ คือตัวความสัมพันธ์ ซึ่งทำให้เกิดระบบทันที
พอมองเห็นระบบแล้ว ความหมายของแต่ละส่วนจะชัดขึ้น จะมองเห็นว่า แต่ละส่วนทำหน้าที่อะไร เพื่ออะไร ในระบบความสัมพันธ์นั้น ทุกอย่างจะชัด เพราะเห็นมันไปสัมพันธ์กับอันโน้นอันนี้
สันโดษ นั้น หน้าที่ของมัน พูดอย่างกว้างที่สุด ก็คือมาหนุนกระบวนการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา
สันโดษจะมาหนุนกระบวนการปฏิบัติไปสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนาอย่างไร ก็ต้องดูว่ามันสัมพันธ์กับธรรมข้ออื่นๆ ในระบบทั้งหมดของพระพุทธศาสนาอย่างไร ต้องตีให้แตก
พอเห็นระบบความสัมพันธ์ ก็จะเห็นว่าสิ่งนั้นทำหน้าที่อย่างไร ความหมายจะมาเอง เพราะความหมาย มาจากความมุ่งหมาย
สันโดษนี้เป็นเรื่องใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้สันโดษแล้ว ทำไมตรัสสอนให้ไม่สันโดษ แถมความไม่สันโดษยังเป็นหลักธรรมสูงที่กว่าสันโดษอีก แล้วยังสอนวิริยะไว้คู่กับสันโดษด้วย
ขอต่อท้ายอีกหน่อย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ที่เราตรัสรู้นี้ เพราะไม่สันโดษ ทั้งในพระสูตรและพระอภิธรรมแสดงหลักความไม่สันโดษนี้ไว้ มีสาระตามพุทธพจน์ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ที่เราตรัสรู้ บรรลุโพธิญาณนี้ ก็ได้ประจักษ์คุณค่าของธรรม ๒ ประการ คือ
๑. ความไม่สันโดษ ในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. ความไม่ระย่อ ในการบำเพ็ญเพียร
พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะไม่สันโดษ เราก็ต้องมาตีให้แตกว่า สันโดษก็ทรงสอนแล้ว ทำไมมาตรัสสอนเรื่องไม่สันโดษ จะตีกันวุ่นไหม
ที่จริง สองอย่างนี้อยู่ในระบบ จะไม่ยุ่งกัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น ไม่หยุดแค่สันโดษเฉยๆ ต้องมีสันโดษในอะไร ก็สันโดษในสิ่งเสพ และไม่สันโดษในอะไร ก็ไม่สันโดษในกุศลธรรม พอสันโดษในวัตถุสิ่งเสพปั๊บ ก็มาหนุนความไม่สันโดษในกุศลธรรมทันที
เมื่อสันโดษในสิ่งเสพ เราก็มีความสุขได้ง่าย แต่แค่นั้นไม่ถูกทั้งหมด แค่นั้นยังไม่พอ อันนั้นดีแล้ว ได้ส่วนหนึ่ง แต่สันโดษที่ทำให้สุขได้ง่ายด้วยวัตถุน้อยนี้ มันทำให้เราไม่เสียเวลา แรงงาน และความคิด ไปกับการหาสิ่งเสพ
คนที่ไม่สันโดษนี่ ความสุขอยู่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี และชีวิตอยู่ที่การพยายามหาวัตถุสิ่งเสพเข้ามา เวลา แรงงาน ความคิด ไปรวมอยู่ที่นั่นหมดเลย เวลาของชีวิตแต่ละวันๆ หมดไปๆ
พอสันโดษปั๊บ ตัวเองสุขสบายได้ง่าย ก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิดที่จะต้องไปพยายามดิ้นรนหาสิ่งเสพนั้นไว้ แล้วก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนี้ ไปทุ่มเทให้กับการสร้างเสริมกุศลธรรม เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีงามด้วยความเพียร มีวิริยะ
ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว ท่านไม่ให้สันโดษเลย ต้องไม่อิ่ม ต้องไม่พอ ต้องทำยิ่งขึ้นไป เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขและความดีงาม โดยเอาเวลา แรงงาน และความคิด ที่ได้จากการสันโดษในวัตถุเสพนี้ ไปทุ่มให้แก่ความไม่สันโดษในการสร้างกุศลธรรม นี่คือ สันโดษและไม่สันโดษ สองข้อนั้นเข้าคู่กันแล้ว ก็รับกันหนุนกันดีไปเลย
เพียงแค่ว่า ถ้าคนไทยรู้จักสันโดษในการเสพบริโภค และไม่สันโดษในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม สังคมไทยก็พร้อมจะเดินหน้า ธรรมข้ออื่นก็เรียงหน้าเข้ามารับใช้ จะไม่ต้องเป็นเหยื่อใคร และไม่นานเกินรอ ก็จะขึ้นเหนือไปนำเขา
พร้อมกันนั้น ด้วยการพัฒนาคน ที่ถึงขั้นให้สามารถนำการเปลี่ยนแปลงแก่สังคม ก็จะแก้ปัญหาของโลกได้ และนำมาซึ่งความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์ คือ ชีวิตที่ดีงาม โลกที่รื่นรมย์ และสังคมที่มีสันติสุข
เรื่องธรรมที่โยงกันเป็นระบบ และหนุนกันเป็นกระบวนการนี้ พูดไว้เป็นตัวอย่างเท่านี้ก่อน