จริยธรรมนักการเมือง

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จริยธรรมนักการเมือง1

เริ่มแรก ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “จริยธรรม” จริยธรรมในที่นี้ มิใช่หมายถึงจริยธรรมในความหมายแคบๆ ตามที่เราใช้กันปัจจุบันแบบตะวันตก ซึ่งเน้นที่พฤติกรรมทางสังคม แต่จริยธรรมในความหมายทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ การดำเนินชีวิต หรือกระบวนการแห่งชีวิตที่ดำเนินไปทั้งหมด คือความเป็นอยู่ การแสดงออก ความรู้สึกนึกคิด และคุณสมบัติต่างๆ ทั้งจิตใจ ทั้งปัญญา ทั้งพฤติกรรม

ในที่นี้ เราพูดกันถึงพฤติกรรมของนักการเมือง เมื่อพูดถึงจริยธรรมในระดับของคนชั้นนำอย่างนักการเมืองนี้ ก็ขอข้ามเรื่องจริยธรรมสามัญสำหรับคนทั่วไป ซึ่งถือว่าทุกคนควรจะมีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างเรื่องของการมีศีล ๕ การไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายร่างกาย ไม่ทำลายชีวิตผู้อื่น การไม่ละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น การไม่ประพฤติผิดทางเพศ การไม่พูดเท็จ ไม่โกหกหลอกลวง การไม่ดื่มสุรายาเมา สิ่งเสพติด และการงดเว้นอบายมุข เหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องของ จริยธรรมพื้นฐาน ซึ่งทุกคนควรจะมีอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ในระดับของนักการเมือง ซึ่งถือว่าต้องมีจริยธรรมพื้นฐานสำหรับคนทั่วไปอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงอีก แต่เมื่อพูดถึงจริยธรรมของนักการเมือง จะหมายถึงการดำเนินชีวิต ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ และสติปัญญา ของผู้ที่จะไปบริหารบ้านเมือง หรือเป็นผู้นำของประชาชน ที่จะพาประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญงอกงามและสันติสุข

 

ปัญญาที่รู้เข้าใจจุดหมายของงานการเมือง

เบื้องต้น เมื่อพูดถึงจริยธรรมของนักการเมือง ก็ต้องพูดถึงจุดหมายของงานการเมือง เช่น การบริหาร การปกครอง หรือการดำเนินกิจการงานสาธารณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรู้ คือเป็นเรื่องทางด้านปัญญา

พูดกันง่ายๆ ว่า จุดหมายของงานการเมือง ก็คือ การที่จะบริหารกิจการหรือปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นต้น แต่อย่างนี้ยังไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริง

อะไรคือจุดหมายที่แท้จริง เราจะต้องมองลึกลงไปว่า ธรรมดาชีวิตของคนเราก็ดี สังคมก็ดีนั้น มีจุดหมายของมันเองอยู่แล้ว คือชีวิตต้องการความเจริญงอกงาม ความเป็นสุข หรือการที่ชีวิตนั้นต้องพัฒนาให้ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป สังคมก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีจุดหมายที่จะทำการสร้างสรรค์ เช่นมีอารยธรรมที่เจริญก้าวหน้า เป็นต้น

การบริหารบ้านเมืองที่ว่าให้สงบสุข หรือให้ราษฎรอยู่ดีกินดีนั้น ความจริงก็เพื่อมาเป็นสภาพเอื้อให้แก่การก้าวไปสู่จุดหมายของชีวิตและจุดหมายของสังคมที่พูดไปแล้วนั้นอีกชั้นหนึ่ง

หมายความว่า จุดหมายของการเมือง หรืองานการเมืองนั้น คือ เพื่อสร้างสภาพเอื้อ ที่จะช่วยให้ชีวิตและสังคมพัฒนาไปสู่จุดหมายของมัน

ที่พูดอย่างนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มองอย่างที่ว่านี้ เราก็จะมองไปตัน เช่น เป็นนักปกครอง ก็คิดแค่เพื่อให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข อยู่กันเรียบร้อย แล้วก็จัดการบ้านเมืองให้สงบเท่านั้น ซึ่งบางทีก็ทำให้การปกครองไปเน้นเรื่องอำนาจ หรือมิฉะนั้นอย่างน้อยก็จะทำให้บ้านเมืองนั้น อยู่ในวังวนของความเจริญและความเสื่อม

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีความสามารถบริหารบ้านเมืองดี ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจแล้ว คนก็ลุ่มหลงเพลิดเพลิน หันไปหมกมุ่นในการเสพบริโภค การบำรุงบำเรอ แล้วก็ละเลิงมัวเมา สังคมก็เสื่อมลง

ที่จริงนั้น ผู้บริหารประเทศชาติ และนักการเมืองโดยทั่วไป จะต้องจัดการงานบ้านเมืองนั้นเพื่อให้เกิดสภาพเอื้ออย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ คำนึงอยู่เสมอว่า งานการที่เราทำหรือการที่จะบริหารกิจการบ้านเมืองนั้น ก็เพื่อให้ชีวิตและสังคมได้สภาพที่เกื้อหนุนต่อการที่จะก้าวไปสู่จุดหมาย เช่น ให้คนมีโอกาสพัฒนาชีวิตในทางจิตใจ และทางปัญญา สังคมสามารถพัฒนาศิลปวัฒนธรรม มีการสร้างสรรค์ต่างๆ เจริญในอารยธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป มิใช่เป็นจุดหมายปลายปิดที่เพียงว่า ให้ชีวิตและสังคมอยู่กันสบายแล้วก็จบ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะตัน

เมื่อเข้าใจถึงจุดหมายของการเมืองและการปกครอง ตลอดจนการบริหารกิจการต่างๆ แล้ว ก็จะต้องใช้ปัญญาศึกษาให้มากขึ้น คือ ไม่ใช่หยุดอยู่แค่ว่ารู้เข้าใจถึงจุดหมายของการเมืองการปกครอง เพื่อให้บ้านเมืองอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่จะต้องคำนึงต่อไปว่า อะไรคือจุดหมายของชีวิต อะไรคือจุดหมายของสังคม ที่เขาควรจะก้าวต่อไป แล้วก็ไปเกื้อหนุนหรือหนุนนำให้ชีวิตและสังคมเจริญงอกงาม ไปสู่จุดหมายอย่างนั้น

อันนี้เป็นด้านปัญญา

จิตใจที่มุ่งมั่นต่อจุดหมายและใฝ่ดีต่อสังคม

พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่งคือ ด้านจิตใจ ภาวะด้านจิตใจที่คู่กับความรู้ความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการเมืองการปกครองและการบริหารงานแผ่นดินนี้ ก็คือจิตใจที่ใฝ่ปรารถนาอยากจะบรรลุจุดหมายนั้น

ความอยากนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นแรงจูงใจ และเป็นพลังที่จะผลักดันให้นักการเมืองก้าวไปในจริยธรรม ที่เป็นวิถีแห่งชีวิตและหน้าที่การงานของตน ยิ่งความใฝ่ปรารถนาหรือความอยากตัวนี้แรงเข้มเท่าไร ก็ยิ่งได้ผลเท่านั้น

แต่ในทางตรงข้าม ถ้าขาดตัวความใฝ่ความอยากความปรารถนาต่อจุดหมายนี้แล้ว ก็พร้อมที่จะเขวได้ทันที

ในที่นี้จะขอพูดถึงเรื่องของแรงจูงใจ คือความอยากความใฝ่ปรารถนานี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องแยกเป็น ๒ อย่าง

ความอยากประเภทที่ ๑ คือความอยากที่เราพึงมีต่อสิ่งนั้นๆ เอง ได้แก่อยากให้สิ่งนั้นๆ มันดี หรือให้มันเจริญก้าวหน้างอกงาม พูดง่ายๆ ว่า “อยากให้มันดี” เช่นอยากให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข อยากให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้ามั่นคง มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ว่าจะทำงานใดหรือสิ่งใดก็ตาม ก็มีความใฝ่ปรารถนาให้งานนั้นสิ่งนั้นดีที่สุดสมบูรณ์ที่สุดของมัน เป็นความปรารถนาต่อสิ่งนั้นเอง

ส่วนความอยากประเภทที่ ๒ นั้น ตรงข้าม คือ ความปรารถนา ความอยาก ที่โยงเข้ามาหาตัวตน อยากเพื่อตนเอง คืออยากได้อยากเอา อยากให้ผลเกิดขึ้นแก่ตนเอง ไม่ว่าจะไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งใด ก็เพื่อให้สิ่งนั้นอำนวยผลประโยชน์ให้แก่ตน ความอยากประเภทนี้ เรียกว่า “ตัณหา”

ความอยากประเภทที่หนึ่ง เป็นความอยากที่เป็นกุศล มีชื่อเฉพาะว่า “ฉันทะ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอยาก ที่เรียกว่าฉันทะนี้ เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือเป็นแสงอรุณ และเป็นจุดเริ่มที่สำคัญของวิถีชีวิตที่ดี

นักการเมืองจะต้องมีฉันทะตัวนี้ คือต้องมีความอยากความใฝ่ปรารถนาที่ดีต่อสิ่งที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้ก็คืองานการเมือง เริ่มด้วยความใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายของการเมืองการปกครองที่ว่ามาแล้วนั้น มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว อยากให้จุดหมายนั้นสำเร็จผลอย่างแท้จริง

ความอยาก ๒ ประเภทนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นตัวตัดสินทีเดียวว่า นักการเมืองจะเดินไปในจริยธรรมได้หรือไม่

ความอยากประเภทหลัง ที่โยงเข้ามาหาตัวเองนี้ เรียกง่ายๆ ว่า ความเห็นแก่ตัว แยกย่อยเป็น ๓ อย่าง

๑. ความอยากเพื่อตัวเองจะได้จะเอา เช่น ความอยากได้ผลประโยชน์ ความอยากได้รับการบำรุงบำเรอ ความอยากเสพบริโภค เรียกว่า ตัณหา

๒. ความอยากให้ตัวเองยิ่งใหญ่ ความอยากได้อำนาจ เรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า มานะ

๓. ความอยากที่ต้องการสนองความยึดถือของตัวเอง ตัวเองยึดถืออย่างไรก็จะต้องให้เป็นอย่างนั้นให้ได้ เอาแต่ความคิดเห็นของตัว ไม่ฟังใคร รวมทั้งความคลั่งลัทธิ และการยึดถืออุดมการณ์อย่างรุนแรง ทั้งหมดนี้เรียกว่า ทิฏฐิ

ข้อที่ ๓ คือ ทิฏฐินี้ ต้องระวังแยกให้ดี ทิฏฐิเป็นการยึดถือติดอยู่กับความเชื่อและเอาความเชื่อของตนเองเป็นความจริง ซึ่งตรงข้ามกับการเอาความเชื่อเป็นเครื่องช่วยในการเข้าถึงความจริง อันจะต้องคอยพิจารณาตามดูโดยคำนึงถึงผลต่อความดีงามประโยชน์สุขของประชาชน หรือของชีวิตและสังคม

ถ้าคนตกอยู่ใต้ความอยากประเภทหลัง ที่เรียกว่าตัณหา มานะ และทิฏฐิแล้ว สันติสุขก็เกิดขึ้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีแรงจูงใจเบื้องต้น ที่เรียกว่าความอยากที่เป็นกุศล คือฉันทะนี้ ความอยากที่เรียกว่าฉันทะ ซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นที่จะนำเข้าสู่จริยธรรม ซึ่งจะต้องแยกให้เห็นชัดลงไป อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า ฉันทะ คือความอยากต่อสิ่งนั้นๆ เพื่อความดีงามหรือความสุขเป็นต้นของสิ่งนั้นๆ คนนั้นๆ เอง ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ ความอยากให้มันดี ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอะไร ทำอะไร ก็อยากให้สิ่งนั้นมันดี หรือดีที่สุดของมัน

เมื่ออยากให้มันดี ก็จะต้องก้าวต่อไป คือ อยากทำให้มันดี เพราะว่า เมื่ออยากให้มันดี แต่ถ้ามันยังไม่ดี ก็อยากทำให้มันดี แล้วก็จะก้าวต่อไปอีกว่า เมื่ออยากทำให้มันดี ก็ต้องรู้ว่าทำอย่างไรมันจึงจะดีได้ คืออยากรู้ ซึ่งนำไปสู่การศึกษา การหาความรู้ การพัฒนาสติปัญญา

ฉะนั้น ความอยากให้มันดี หรือใฝ่ดี กับความอยากรู้ หรือใฝ่รู้ จึงเป็นความหมายสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าฉันทะ

จะมองเห็นความแตกต่างกันได้ชัดเจนว่า ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย ด้วยความอยาก ๒ ประเภทนี้ จะมีผลต่างกันอย่างไร คือเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร โดยอยากให้มันดี กับเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร โดยอยากให้มันอำนวยผลประโยชน์ให้แก่ตน

ถ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ โดยอยากให้มันดี ก็แน่นอนว่า จะมีจริยธรรม เพราะนี่คือจุดเริ่มของจริยธรรม

ต่อจากนั้นเราก็จะคิด เราก็จะพยายาม เราก็จะทำการต่างๆ เพื่อให้สิ่งนั้นมันดี เพื่อให้ผลดีเกิดแก่สิ่งนั้นเอง

ฉันทะนี้ใช้ได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งกับคน หรือประชาชน แต่ถ้านำมาใช้กับคนหรือประชาชน คำว่าอยากให้มันดี จะมีความหมายเน้นไปที่ความอยากให้เขามีความสุข คืออยากให้เขามีชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนมีความสุข ความอยากให้มันดีที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อคนหรือต่อประชาชนนี้ มีศัพท์เรียกพิเศษว่า เมตตากรุณา

ฉะนั้น เมตตากรุณา ก็คือฉันทะ หรือความอยากความใฝ่ดีนั่นเอง ที่แสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์ นักการเมืองการปกครองจำเป็นจะต้องมีความใฝ่ดีปรารถนาดี อยากให้มันดีอันนี้ ต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ หรือต่อประชาชน

เนื่องจากความมุ่งหมายของการปกครอง ในที่สุดก็ไปรวมที่ประชาชน คือการจัดการบ้านเมืองให้ดี และดำเนินกิจการต่างๆ ให้ได้ผลดีนั้น ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ให้ประชาชนได้สภาพเอื้อและมีโอกาสมากที่สุดที่จะพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมของตน ดังนั้น ท่าทีแห่งจิตใจของนักการเมืองต่อประชาชน จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง เริ่มแต่ว่านักการเมืองมองประชาชนด้วยสายตาอย่างไร อย่างน้อยคือ มองเพื่อจะเอาจากประชาชน หรือมองเพื่อจะทำให้แก่ประชาชน

การมีเมตตากรุณา ก็ทำนองเดียวกันกับฉันทะ คือ เมื่อมีฉันทะ ก็อยากให้สิ่งที่ตนไปเกี่ยวข้องนั้นดีงามสมบูรณ์ เมื่ออยากให้มันดี ก็อยากทำให้มันดี และเมื่อทำให้มันดีได้แล้ว ก็สมใจตัว เกิดความพึงพอใจ คือมีความสุข

เมื่อมีเมตตากรุณาคือรักประชาชน ก็อยากให้ประชาชนเป็นอยู่ดีมีความสุข อยากเห็นประชาชนมีความสุข แล้วก็อยากทำให้ประชาชนมีความสุข และเมื่อทำให้ประชาชนมีความสุขได้แล้ว ก็เกิดความพึงพอใจ มีความสุข

ถ้านักการเมืองมีจิตใจใหญ่กว้างจริงๆ เป็นนักการเมืองที่แท้ก็คือจะทำงานเพื่อบ้านเมือง อย่างแท้จริง ใจอยู่ที่นั่น ไม่คิดถึงตัวเอง ก็จะอยากเห็นประชาชนมีความสุขด้วยใจจริง จนกระทั่งเหมือนกับ เอาความสุขของตนไปฝากไว้กับประชาชน เหมือนกับต้องพูดว่า “ข้าพเจ้าจะมีความสุขได้ ก็ต่อเมื่อได้เห็นประชาชนอยู่ดีมีความสุข”

ถ้านักการเมืองมีความรู้สึกอย่างนี้ด้วยความจริงใจ ก็เรียกว่ามีจิตใจอย่างมหาบุรุษ

 

ธรรมาธิปไตย เป็นแกนจริยธรรมของประชาธิปไตย

ที่พูดเรื่องนี้ยืดยาว ก็เพราะต้องการย้ำให้มาก เนื่องจากเป็นจุดตัดสินอย่างที่กล่าวแล้ว ถ้าขาดความใฝ่ดีหรืออยากให้มันดีอันนี้ ก็จะไปมีความอยากที่ตรงกันข้าม อย่างที่กล่าวแล้ว คืออยากได้ผลประโยชน์ อยากใหญ่ อยากโต อยากมีอำนาจ อยากให้อะไรๆ ต้องเป็นไปตามความยึดถือของตัว ซึ่งจะตรงกันข้ามกับจริยธรรม

ถ้าถูกตัณหา มานะ หรือทิฏฐิ ครอบงำ ก็แน่นอนว่าจริยธรรมเดินไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีการพัฒนาความอยากให้มันดี และอยากทำให้มันดีนี้ ให้เข้มข้น ให้แรงกล้า ให้เป็นไปอย่างมุ่งมั่นที่สุด ให้ฝังลึกลงไปประจำอยู่ในจิตใจให้ได้

เมื่อมีความใฝ่ดี อยากให้มันดี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่ประชาชน และแก่บ้านเมืองอย่างนี้แล้ว ความปรารถนานี้ก็จะแผ่ขยายลึกซึ้งและครอบคลุมทั่วไป ซึ่งพูดด้วยคำสั้นๆ ว่า ความอยากให้ธรรมเกิดมีขึ้น หรือความใฝ่ธรรม คือ อยากให้ธรรม ความดี ความงาม ความจริง ความถูกต้อง เกิดมีขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และตรงจุดหมาย

ทำไมจึงว่าตรงจุดมุ่งหมาย ก็เพราะว่า การที่มนุษย์มีการปกครอง มีการงานบ้านเมืองต่างๆ นี้ ก็เพื่อให้เกิดมีธรรมขึ้นในสังคมมนุษย์ หรือเพื่อดำรงธรรมให้คงอยู่ในสังคม

“ธรรม” นี้พูดง่ายๆ ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้จริง รวมทั้งหลักการที่จะให้เกิดความดีงาม ความถูกต้องเหล่านี้

การที่เราจัดตั้งวางหลักการต่างๆ เช่น หลักการทางรัฐศาสตร์ หลักการทางนิติศาสตร์ หลักการทางเศรษฐศาสตร์ หรือหลักการในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็เพื่อให้มีเกณฑ์มีมาตรฐานในการที่จะดำเนินงานเพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความดี ความงาม ความถูกต้อง และประโยชน์สุขที่แท้นั้น

เมื่อเราต้องการความดีงามประโยชน์สุขแก่บ้านเมือง เราก็ต้องยึดถือหลักการเหล่านี้ ซึ่งเรียกด้วยคำสั้นที่สุดคำเดียวว่า “ธรรม”

เพราะฉะนั้น นักการเมืองจะต้องมีจริยธรรมสำคัญขั้นต่อไป ต่อจากความอยากที่ถูกต้อง หรือความใฝ่ปรารถนาดี ที่เรียกว่าฉันทะนั้น ก็คือการที่จะต้องยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ ที่ทางพระเรียกว่า ธรรมาธิปไตย และใช้อำนาจตัดสินใจบนเกณฑ์แห่งธรรมาธิปไตย

ถ้าคนเราไม่ถือเอาธรรมเป็นใหญ่ คือไม่ถือหลักการ ไม่เอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้ เป็นเกณฑ์เป็นมาตรฐาน เป็นใหญ่ หรือเป็นที่ยึดถือ ก็จะเอนเอียงหรือเขวออกไป กลายเป็นยึดถือเอาตัวตนเป็นใหญ่ เอาผลประโยชน์เป็นใหญ่ หรือเอาคะแนนนิยมเป็นใหญ่ เป็นต้น

ถ้าถือเอาตัวตน ผลประโยชน์ของตน ความยิ่งใหญ่ อำนาจของตน เป็นต้น เป็นใหญ่ ก็เรียกว่า อัตตาธิปไตย

ถ้าถือเอาความนิยม การเอาอกเอาใจกัน ความชอบใจพึงพอใจของคนจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์กัน ก็เรียกว่าเป็น โลกาธิปไตย

ผู้เป็นนักปกครอง เป็นนักการเมือง เป็นนักบริหาร ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญว่า ตอนนี้จะออกสู่ภาคปฏิบัติ ต้องตั้งหลักก่อน การที่จะตั้งหลัก ก็คือ จะต้องยึดถือธรรมเป็นใหญ่ คือถือหลักการ กฎกติกา กฎหมาย ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผล ประโยชน์สุขที่แท้ เป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน

เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ ก็เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความจริง ความถูกต้องความดีงาม และยึดถือตามหลักการ กฎกติกา รวมทั้งกฎหมาย ตั้งธรรมาธิปไตยเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ก็จะไม่เอนเอียงไปข้างไหน ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่เห็นแก่พรรคพวก ไม่เห็นแก่คะแนนนิยม เป็นต้น และจะมีความชัดเจนในการทำงาน

 

หลักการ ต้องสนองความมุ่งหมาย

จะต้องย้ำไว้ว่า หลักการนั้น คู่กับความมุ่งหมาย อย่างที่ภาษาพระเรียกว่า ธรรมะ คู่กับ อัตถะ

งานการของชีวิตและสังคมต้องมีจุดหมาย หรือประโยชน์ที่ต้องการ แต่การที่จะบรรลุจุดหมายนั้นได้ ก็ต้องทำหรือปฏิบัติการให้ถูกต้อง คือทำเหตุให้ตรงพอดีที่จะให้ผลที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น คือการกระทำหรือปฏิบัติการที่ถูกต้องตามความจริงแห่งความเป็นเหตุเป็นผล เราจึงวางหลักต่างๆ แห่งการกระทำขึ้น ดังที่เรียกว่า หลักการ

หลักการเป็นฐานแห่งปฏิบัติการ ที่จะนำไปอย่างถูกต้องสู่จุดหมาย เราวางหลักการที่เป็นธรรมไว้เพื่อเป็นฐานที่จะปฏิบัติการให้บรรลุจุดหมายที่ชอบธรรม หลักการก็สนองจุดหมาย และจุดหมายก็อาศัยหรืออิงอยู่กับหลักการ

เราถือกันว่า มนุษย์เราจะต้องเป็นอยู่และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามหลักการ หรืออย่างมีหลักการ ชีวิตและสังคมของเรา จึงจะดำรงอยู่ด้วยดี และได้ประสบผลดี ตามความมุ่งหมาย

อย่างไรก็ดี จะต้องระวังอยู่เสมอ ให้ทั้งสองอย่าง คือหลักการกับความมุ่งหมายนี้ คู่ไปด้วยกัน มิฉะนั้นอาจเกิดความผิดพลาด

บางทีเพลินไป ยึดถือแต่หลักการ ลืมนึกถึงความมุ่งหมาย ในแง่หนึ่ง อาจเป็นคนหนักแน่น แต่ก็จะติดอยู่กับที่ วนเวียนอยู่กับหลัก ไม่เดินหน้าไปไหน

โดยเฉพาะผู้นำ จะต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน และเป็นคนที่มีจิตใจมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมาย คำนึงอยู่เสมอถึงสิ่งที่จะต้องทำให้สำเร็จ

เมื่อมุ่งมั่นต่อจุดหมาย โดยตั้งมั่นในหลักการ ก็จะก้าวไปอย่างมั่นคงสู่จุดหมายนั้น

การมีจุดหมายที่ชัดเจน ทำให้บริหารและดำเนินกิจการอย่างมีทิศทางเด่นชัด และทำให้มีพลังเข้มแข็งจริงจัง แล้วหลักการก็จะสนองจุดหมายนั้น จึงทำให้เดินหน้าก้าวไปอย่างมั่นคง

แต่ถ้ามีจุดหมายโดยไม่มีหลักการ ก็อาจจะกลายเป็นคนเลื่อนลอย ได้แต่หวัง โดยไม่มีหลักประกันที่จะทำให้สำเร็จ หรือไม่ก็ต้องเป็นคนเจ้าเล่ห์เจ้ากล

นอกจากหลักการ และจุดหมายแล้ว ในการปฏิบัติที่จะเชื่อมโยงจากหลักการให้ถึงจุดหมาย ก็ควรจะมีวิธีการที่ฉลาดด้วย วิธีการนั้นอาศัยหลักการเป็นฐาน ผู้ฉลาดวิเคราะห์หลักการออกมาแล้ว ก็จัดสรรวิธีการต่างๆ เพื่อปฏิบัติการให้ก้าวไปจนบรรลุจุดหมาย เราจึงต้องการวิธีการที่ดีด้วย

บางลัทธิถือว่า วิธีการใดก็ตาม ไม่ว่าจะดีหรือร้าย จะนุ่มนวลหรือรุนแรง ถ้าทำให้สำเร็จผลบรรลุจุดหมายได้ ก็ถือว่าดี แต่ในทางพุทธศาสนาสอนว่า เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่ดี วิธีการต้องชอบธรรมด้วย

คนที่จะใช้วิธีการที่ดี เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีได้นั้น ถูกจำกัดขอบเขตให้แคบเข้า ทำงานได้ยากลำบากกว่าคนที่ไม่คำนึงถึงวิธีการว่าจะชอบธรรมหรือไม่ จะต้องมีสติปัญญาความสามารถพิเศษจริงๆ จึงจะทำได้สำเร็จ

ในที่สุด หลักการที่ดีงามชอบธรรม จะเป็นตัวจำกัดให้เราต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ชอบธรรม เพื่อบรรลุจุดหมายที่เป็นธรรม

 

รักษาธรรม คู่กับอารักขาประชาชน

เมื่อมีธรรมาธิปไตยเป็นหลัก ตั้งตัวอยู่ในหลักได้แล้ว ต่อแต่นี้ก็ก้าวออกไปในการทำงาน อย่างที่กล่าวแล้วว่า จุดหมายของการงานทางด้านการเมืองนั้น เป็นเรื่องเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน คือ สร้างสภาพเอื้อและหนุนนำให้ชีวิตและสังคมสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของมันอีกชั้นหนึ่ง

การที่จะสร้างสภาพเอื้อนี้ขึ้นมานั้น เบื้องต้นก็อย่างที่กล่าวแล้ว คือ ประชาชนจะต้องอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีความเดือดร้อน สังคมมีความมั่นคงปลอดภัย และมีสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรม

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของนักการเมือง โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ทางด้านการปกครอง ก็คือ การที่จะจัดการบำรุงรักษา ให้ความคุ้มครองปกป้องโดยชอบธรรม ที่ท่านใช้คำว่าธรรมิการักขา คืออารักขาที่เป็นธรรม

สำหรับข้อที่ ๒ นี้ ตามหลักเดิมแยกรายละเอียดออกไปมาก ให้เห็นว่า มีคนกลุ่มใดประเภทไหนบ้างที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องเอาใจใส่ให้การคุ้มครองปกปักรักษา เช่น อาจจะแยกเป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน ชาวบ้านทั่วไป คนที่ประกอบการอาชีพ ผู้ทรงศิลปวิทยา พ่อค้าวาณิช สมณพราหมณ์ ชาวชนบท ตลอดจนคนที่อยู่ชายแดน และสัตว์บกสัตว์บินสัตว์น้ำ

นอกจากคุ้มครองรักษาให้อยู่ดีมั่นคงปลอดภัยแล้ว ก็ยังต้องช่วยเกื้อหนุนให้เขาสามารถทำสิ่งที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์ ก้าวหน้าไปได้ในกิจการต่างๆ

หากคุ้มครองรักษาประชาชนไม่ได้ ให้ความเป็นธรรม ให้โอกาสแก่ความเจริญงอกงามของชีวิตและสังคมไม่ได้ งานการเมืองการปกครองก็เรียกได้ว่าจะล้มเหลว เพราะว่าข้อนี้แหละ เป็นหลักพื้นฐานในการสร้างสภาพเอื้อ หรือสร้างโอกาสให้แก่ชีวิตและสังคมที่จะก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของมัน

ข้อต่อไปในด้านตรงข้าม นอกจากส่งเสริมคุ้มครองป้องกันแล้ว ก็จะต้องระวัง ปราบปราม แก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ให้มีสิ่งที่จะมาขัดขวางไม่ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข คือการกระทำทั้งหลายที่ไม่ชอบธรรม ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน ที่เป็นผลเสียแก่ชีวิตและสังคม

ข้อที่ ๓ นี้เรียกว่า มา อธรรมนิเสธนา แปลว่า แก้ไขป้องกันกำราบปราบปรามการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และไม่ชอบธรรม ตั้งแต่โจรผู้ร้าย อาชญากรรม ความอยุติธรรมทุกรูปแบบในสังคม ตลอดจนสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางจิตใจ และความเสื่อมถอยทางปัญญา

 

ปัจจัยดี คือเศรษฐกิจที่ทั่วถึง และเพียงพอ

ข้อที่ ๔ ก็มีความสำคัญมาก เป็นเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทางธรรมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานที่เรียกว่าปัจจัย

การคุ้มครองรักษาประชาชน และการที่จะป้องกันไม่ให้มีการกระทำชั่วร้ายหรือความไม่ชอบธรรมในสังคมนั้น จะเดินหน้าไปได้ยาก ถ้าขาดความเพียงพอทางด้านเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น ท่านจึงวางหลักการข้อที่ ๔ นี้ไว้ เพื่อให้พยายามจัดดำเนินการไม่ให้มีคนยากไร้

การดำเนินการในข้อนี้เรียกว่า ธนานุประทาน แปลว่า การจัดสรรปันทรัพย์ ให้แก่คนยากไร้ ผู้ไม่มีเงินทอง ให้คนที่ยากจนขัดสนได้รับการเอาใจใส่ ให้มีทางทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นอยู่ได้

การส่งเสริมให้คนร่ำรวย จะกลายเป็นภัยอันตราย ถ้าสังคมไม่เอาใจใส่คนที่ยากไร้ขาดแคลน แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเราเอาใจใส่คนยากไร้ขาดแคลน ให้ได้รับความเกื้อหนุนมีทางเป็นอยู่และฟื้นตัวได้ การที่จะส่งเสริมความร่ำรวยมั่งคั่งในทางที่จะเพิ่มความหมุนเวียนของทรัพย์ ก็จะกลายเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น แต่ก็จะต้องอยู่ในหลักการ คือเข้าใจความหมายของความเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุ ข้อนี้สำคัญมาก

ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ หรือการมีเงินทองเป็นต้นนี้เรียกว่า ปัจจัย หมายความว่า เป็น means คือ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้ก้าวต่อไปได้ ถ้าเราขาดวัตถุ ขาดปัจจัย ๔ เราจะไม่สามารถก้าวไปสู่การสร้างสรรค์ และทำความดีงามที่สูงขึ้นไป

จะต้องย้ำว่า ความเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุนี้ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนความก้าวหน้าที่ดีงามและการสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่เป็นจุดหมาย

ถ้าสังคมเข้าใจว่าความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ความมั่งมีสิ่งเสพบริโภคเป็นจุดหมายเมื่อไร นั่นคือความเสื่อมของสังคม

ปัญหาปัจจุบันนี้ที่สำคัญมากก็คือ คนมีความโน้มเอียงที่จะมองเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความพรั่งพร้อมทางวัตถุ เรื่องการเสพบริโภคการบำรุงบำเรอนี้เป็นจุดหมายไป ฉะนั้นสังคมนี้จะตัน แล้วก็จะตกอยู่ในความลุ่มหลงมัวเมา แล้วก็เสื่อม

เพราะฉะนั้น จะต้องมีทัศนคติ ท่าทีการมองความหมายของความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ หรือความพรั่งพร้อมทางวัตถุนี้ให้ถูกต้อง ว่าเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนต่อการสร้างสรรค์ทำสิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป คือการที่จะมีความเจริญก้าวหน้าพัฒนาทางด้านจิตใจ ทางด้านปัญญา ทางด้านวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการ เป็นต้น ไม่ใช่แค่มาบำรุงบำเรอเสพบริโภคแล้วก็จบ

แต่ทั้งนี้ ในทางกลับกัน การที่จะก้าวไปสู่ความดีงาม และการสร้างสรรค์เหล่านั้น ก็จะต้องให้คนในสังคมนี้ไม่ขาดแคลนวัตถุปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพ อย่างที่กล่าวแล้ว

นี่คือข้อ ๔ ธนานุประทาน การจัดสรรแบ่งปันทรัพย์ให้กับคนที่ยากไร้ขาดแคลน หรือพยายามจัดดำเนินการไม่ให้มีคนที่ยากไร้ขาดแคลน ให้ประชาชนมีปัจจัยอุดหนุนทางวัตถุเพียงพอที่จะเป็นฐานให้ก้าวขึ้นสู่จุดหมายที่สูงขึ้นไปของชีวิตและสังคม

 

แสวงปัญญาที่ทำให้ต้องการสิ่งที่ดีงามถูกต้อง และเป็นจริง

ต่อไปข้อที่ ๕ เป็นเรื่องทางปัญญา นักการเมือง ผู้บริหาร ผู้ปกครอง จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ การแสวงปัญญา ซึ่งต้องถือเป็นหน้าที่ทีเดียว ข้อนี้มักจะมองข้ามกันไป

อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า นักการเมือง หรือผู้บริหารแผ่นดิน ดำเนินกิจการบ้านเมืองก็เพื่อสร้างสภาพเอื้อ ให้ประชาชนและสังคมเดินหน้าก้าวไปสู่จุดหมายแห่งชีวิตและจุดหมายแห่งสังคม เช่น สร้างสรรค์อารยธรรมเป็นต้น

การที่จะทำหน้าที่นี้ได้ จะต้องมีปัญญารู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริง อะไรควรจะเป็นจุดหมายของชีวิต อะไรควรเป็นจุดหมายของสังคม เพราะเราไม่ได้ปกครองหรือบริหารกิจการบ้านเมืองเพียงให้บ้านเมืองสงบสุขอยู่เฉยๆ

การที่จะสร้างสภาพเอื้อนั้น ก็จะต้องมีปัญญาที่รู้เข้าใจว่าจะให้เอื้อต่อจุดหมายอะไร อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ อะไรควรจะเป็นจุดหมาย อะไรเป็นอารยธรรมที่แท้จริง เพราะฉะนั้นนักการเมืองนักบริหารนักการปกครอง จึงต้องแสวงปัญญาอยู่เสมอ โดยถือเป็นหน้าที่

โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยนั้น นักการเมือง นอกจากจะต้องศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาของตนเองแล้ว ยังจะต้องเกื้อหนุนให้ประชาชนมีการศึกษาด้วย ชีวิตและสังคมจะดีงามไม่ได้ จะมีความสุขที่แท้จริงไม่ได้ ถ้าคนไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะว่า มนุษย์ทั่วไปมีความอยากได้อยากเอา แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตนควรจะได้ควรจะเอา อะไรเป็นประโยชน์แก่ตนหรือไม่ อาจจะเลือกเอาสิ่งที่เป็นโทษแก่ตน จึงเป็นปัญหาสำคัญของประชาธิปไตย

ทำไมประชาธิปไตยจึงจะต้องให้ประชาชนมีการศึกษา เพราะว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น เราให้ประชาชนเป็นใหญ่ เรียกได้ว่าประชาชนเป็นผู้ปกครอง หรือเป็นการปกครองของประชาชน เมื่อประชาชนเป็นผู้ปกครอง ก็คือ ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด โดยถือเอาเสียงส่วนมากเป็นใหญ่

จะต้องเข้าใจกันให้ชัดว่า เสียงส่วนใหญ่นั้นตัดสินความจริง หรือแม้กระทั่งความดีงามไม่ได้ แต่เสียงส่วนใหญ่นั้นตัดสินความต้องการได้

ที่บอกว่าประชาชนเป็นใหญ่ เอาเสียงข้างมากตัดสินนั้น ก็คือตัดสินว่าประชาชนจะเอาอย่างไร แต่เสียงข้างมากนั้น ไม่เป็นเครื่องตัดสินว่า จริงหรือไม่จริง

คนแม้จะมาก แต่ถ้าหากว่าโง่ ก็บอกว่าอะไรจริงไม่ได้ ดังที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว คนร้อยล้าน พันล้านคน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่บอกว่าโลกแบน อาจจะมีคนคนเดียวที่รู้ว่าโลกกลม และปรากฏว่าคนเดียวนั้นถูก แต่คนแปดสิบล้าน ร้อยล้าน พันล้านนั้นผิด

เป็นอันว่า เสียงส่วนใหญ่ตัดสินความจริงไม่ได้ ไม่ว่าคนจะว่าอย่างไร ความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น เสียงส่วนใหญ่นั้นก็ตัดสินได้เฉพาะว่าจะเอาอย่างไร คือ บอกความต้องการของคน ที่ว่าสังคมประชาธิปไตยให้ใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ก็คือบอกความต้องการของประชาชนว่าจะเอาอย่างไร

แต่ความต้องการของประชาชนที่ว่าจะเอาอย่างไรนั้น จะเกิดประโยชน์ดีงามแท้จริง ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความรู้ว่า อะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ อะไรกันแน่ที่ประชาชนควรต้องการ ซึ่งไม่ใช่แค่ชอบใจ เพราะอะไรที่ชอบใจอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ควรต้องการ และอะไรที่ควรต้องการอาจจะไม่เป็นที่ชอบใจ แล้วเลือกตัดสินใจเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์แท้จริง ที่พึงต้องการ

คนที่จะรู้ว่าอะไรดีงาม จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ก็จะต้องเรียนรู้ให้มีปัญญา คือต้องมีการศึกษา

เพราะฉะนั้น ในสังคมประชาธิปไตยจึงต้องมีการพัฒนาคนด้วยการศึกษา ให้มีปัญญาเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ เพื่อให้ถึงจุดบรรจบที่ว่า ประชาชนที่ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่นั้น จะได้ตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์

เมื่อใดการตัดสินใจของประชาชนซึ่งเลือกเอาสิ่งที่ต้องการนั้น ไปตรงกับสิ่งที่จริงดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์แท้จริง เมื่อนั้นก็เป็นความสำเร็จของประชาธิปไตย

แต่ถ้าประชาธิปไตยได้แค่ให้เสียงส่วนใหญ่เลือกตัดสินใจเอาสิ่งที่ต้องการ โดยไม่พัฒนาปัญญาให้รู้ว่า อะไรเป็นสิ่งดีงามที่ควรต้องการ อันนั้นก็อาจจะเป็นหายนะของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่ง คือ คนเลือกเอาสิ่งที่ตัวเองอยากได้อยากเอาเฉยๆ ทั้งที่มันเป็นโทษ ไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ที่แท้จริง

ฉะนั้น ผู้นำของประเทศชาติบ้านเมือง ทั้งผู้ปกครอง ผู้บริหาร และนักการเมือง จะต้องมีการศึกษาอยู่เสมอ

นี่คือหลักการข้อที่ ๕ ที่เรียกว่า ปริปุจฉา แปลว่า หมั่นปรึกษาสอบถาม ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อให้ทราบว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามที่แท้จริงแก่ชีวิตและสังคม ถ้าขาดข้อนี้เสียแล้ว การปกครองแบบประชาธิปไตยก็ไม่สัมฤทธิ์ผล

 

ศักยภาพของนักการเมืองและประชาชน
ตัดสินคุณภาพของประชาธิปไตย

ขอสรุปว่า การปกครองประชาธิปไตยนั้น คือการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่นั้น หมายถึงการที่ประชาชนแต่ละคน ทุกๆ คนมีส่วนร่วมในการปกครองนั้น ก็คือมาร่วมกันปกครอง

แต่การที่ประชาชนจะมาร่วมกันปกครองให้ได้ผลดี ประชาชนแต่ละคนก็จะต้องมีคุณภาพ ที่ว่ามีคุณภาพนั้น ก็คือประชาชนนั้นจะต้อง

๑. เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ตั้งอยู่ในหลักการ เคารพกฎกติกา ยึดเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้ของชีวิตและสังคม เป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน

๒. ประชาชนจะเป็นธรรมาธิปไตยได้ ก็ต้องมีการศึกษา มีสติปัญญา มีความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นตัวธรรม คือ เป็นความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นประโยชน์สุขที่แท้ จึงจะมีศักยภาพที่จะปกครองตนเองได้โดยสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้อง

ครั้นแล้วประชาชนที่มีคุณภาพเหล่านั้น ก็เอาศักยภาพของแต่ละคนมาประสานกัน ช่วยกันสร้างสรรค์สังคมของตน ให้สงบสุข เจริญพัฒนา มีความดีงาม ยิ่งขึ้นไป

ถึงตอนนี้ งานของนักการเมืองก็เกิดขึ้น คือ

๑. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของประชาชน คือ นักการเมืองจะต้องจัดสรรสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ และสภาพสังคมให้เอื้อต่อการที่ประชาชนจะพัฒนาศักยภาพของตน ด้วยการศึกษา ให้เกิดสติปัญญา เจริญงอกงาม เป็นต้น

อย่างที่กล่าวแล้วว่า การที่มีการปกครองจัดสรรบ้านเมืองให้สงบสุข มีความมั่นคง ก็เพื่อให้เป็นสภาพเอื้อต่อความมุ่งหมายที่ว่า อย่างน้อยประชาชนจะได้พัฒนาศักยภาพของเขา ทำตัวเองให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ

๒. ดึงศักยภาพของประชาชนออกมาใช้งาน คือ นักการเมืองต้องหาทางที่จะดึงเอาศักยภาพของประชาชนให้ออกมามีส่วนร่วมอย่างดีที่สุดในการสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติ

ในขณะที่คนมีศักยภาพแตกต่าง ไม่เหมือนกัน มีฝีมือ มีสติปัญญา มีความรู้ศิลปวิทยาด้านต่างๆ นักการเมืองก็จัดสรรวิธีการที่จะดึงเอาศักยภาพของคนเหล่านั้นออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม

๓. ประสานศักยภาพของประชาชนเพื่อการสร้างสรรค์ คือ นักการเมืองต้องมีความสามารถที่จะเป็นศูนย์ประสานศักยภาพของประชาชน ให้ออกมาร่วมกันในการสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติของตนด้วยพลังสามัคคี เพื่อให้ชีวิตและสังคมดีงาม และก้าวขึ้นไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์

จุดหมายที่พึงประสงค์ในการทำงานการเมือง ซึ่งสามารถใช้เป็นเกณฑ์ทั่วไปที่จะวัดความสำเร็จของการทำงาน คือ

๑. สังคมสงบสุข มั่งคงปลอดภัย ประชาชนเป็นอยู่ดี มีความพอเพียงหรือพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

๒. แม้จะมีความสงบสุขพรั่งพร้อมเป็นอยู่ดี แต่ประชาชนก็ไม่ประมาท ไม่หลงละเลิงมัวเมาจมอยู่กับการเสพบริโภค ยังคงเอาใจใส่ ตั้งใจประกอบอาชีพการงาน และทำกิจหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี

๓. มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ที่เอื้ออำนวย ให้สังคมมีพลังที่จะก้าวต่อไปในการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม ศิลปวิทยาการ ความดีงามทางจิตใจ และความงอกงามแห่งปัญญา

 

จริยธรรมมาตรฐานของนักการเมือง
ต้องไม่ขาดจริยธรรมพื้นฐานของชาวบ้าน

ที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างของจริยธรรมในการปกครอง โดยเฉพาะ ๕ ข้อที่เรียกว่า จักรวรรดิวัตร หรือหน้าที่ของผู้ปกครองยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่าจักรพรรดิ ในความหมายของพระพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีความสามารถปกครองให้บ้านเมืองดีโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ

ขอทวน ๕ ข้ออีกครั้งหนึ่งว่า

๑. ธรรมาธิปไตย เป็นผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ ยึดถือหลักการ กฎกติกา ความจริง ความถูกต้อง ประโยชน์สุขที่แท้ของประชาชน เป็นหลักเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน

๒. ธรรมิการักขา จัดการบำรุง คุ้มครองรักษา ที่ชอบธรรม ให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ตลอดจนสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสัตว์บกสัตว์บินสัตว์น้ำ

๓. อธรรมการนิเสธนา ป้องกัน แก้ไข กำราบ ปราบปราม ไม่ให้มีการกระทำที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นธรรม

๔. ธนานุประทาน จัดสรรแบ่งปันเฉลี่ยทรัพย์สินเงินทอง ปัจจัยยังชีพ ให้ทั่วถึง แก่คนที่ขาดแคลนยากไร้ ให้เพียงพอที่จะเป็นอยู่ได้ทั่วกัน

๕. ปริปุจฉา แสวงปัญญา รู้จักปรึกษาสอบถาม เข้าหาผู้รู้ผู้ทรงคุณ ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ และยิ่งๆ ขึ้นไป

ในประเพณีการปกครองแบบพุทธของเมืองไทย นอกจากจักรวรรดิวัตร ๕ ข้อ ที่ขยายย่อยออกไปเป็น ๑๒ ข้อแล้ว ยังมีหลักอื่นๆ อีก เช่น หลักทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นความประพฤติส่วนพระองค์ของพระราชา หรือความประพฤติส่วนตัวของผู้ปกครอง ๑๐ ข้อ และราชสังคหวัตถุ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ปกครอง ซึ่งมี ๔ ข้อ ได้แก่

๑. ปรีชาสามารถในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร เรียกว่า สัสสเมธ

๒. ปรีชาสามารถในการทะนุบำรุงข้าราชการ เรียกว่า ปุริสเมธ

๓. ปรีชาสามารถในการยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน ในเรื่องอาชีพ โดยเฉพาะธุรกิจการค้าพาณิชย์ต่างๆ ให้คนมีทางประกอบอาชีพ และได้รับการส่งเสริมสนับสนุน เรียกว่า สัมมาปาสะ

๔. ความสามารถในการพูดจาปราศรัย สร้างความรู้ความเข้าใจ รู้จักสื่อสาร เพื่อให้สังคมหรือคนในบ้านเมืองนั้นเดินหน้าไปด้วยกันได้ดี เรียกว่า วาชเปยะ

อย่างที่พูดแล้วข้างต้นว่า จริยธรรมพื้นฐานที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของทุกคนนั้น นักการเมืองต้องมีอยู่แล้ว ก่อนที่จะก้าวไปสู่การมีจริยธรรมของนักการเมืองเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้ตามหน้าที่ เพราะฉะนั้น ในที่นี้จึงไม่ต้องพูดถึงจริยธรรมพื้นฐานเหล่านั้น เช่นการมีศีล ๕ การเว้นจากอบายมุข ความเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นต้น

ขอลงท้ายหน่อยว่า เวลานี้ เรามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราบอกกันว่า ประชาธิปไตยมีระบบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุด หรืออย่างต่ำก็เลวน้อยที่สุด

ถึงแม้ระบบจะดี แต่ถ้าคนไม่ดี คือไม่มีคุณภาพ ระบบก็ไม่อาจให้สัมฤทธิ์จุดหมาย ดังนั้น ประชาธิปไตยที่ดี จึงต้องมีประชาชนที่มีคุณภาพ ถ้าทั้งระบบก็ดี และประชาชนก็มีคุณภาพ คือ ดีทั้งคน ดีทั้งระบบ เราก็จะได้ประชาธิปไตยที่ดีแท้จริง

นักการเมืองเป็นทั้งประชาชนส่วนหนึ่งในตัวเอง เป็นทั้งตัวแทนที่บ่งชี้คุณภาพของประชาชน และเป็นผู้นำของประชาชนในการพัฒนาคุณภาพในตนเองของประชาชนแต่ละคน ถ้าจะให้ประชาธิปไตยดีมีคุณภาพ นักการเมืองจะต้องเป็นที่แสดงออกแห่งการพัฒนาคุณภาพของประชาชน

จริยธรรมเป็นหลักประกันคุณภาพของคน ถ้านักการเมืองไม่มีจริยธรรม ก็ไม่อาจเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพ และก็เป็นเครื่องฟ้องด้วยว่าคงยากที่จะมีประชาชนซึ่งมีคุณภาพที่จะให้มีประชาธิปไตยที่ดี จึงจะต้องมีระบบที่รัดกุมและมีคนที่มีคุณภาพ ที่จะเลือกสรรนักการเมืองที่มีจริยธรรม และจะต้องเอาใจใส่ให้มีการพัฒนาจริยธรรมของนักการเมืองกันอย่างจริงจัง

ปัญหาก็พันเป็นวงจรว่า แล้วทำอย่างไรจึงจะได้คนหรือประชาชนมีคุณภาพ ที่จะมาเลือกสรรนักการเมืองที่มีจริยธรรม ถึงตอนนี้ ก็คงต้องโยนปัญหานั้นต่อไปให้แก่การศึกษาของชาติ ซึ่งก็เป็นกิจการที่ขึ้นต่อนักการเมืองอีกนั่นเอง

เรื่องจริยธรรมของนักการเมือง ขอกล่าวไว้เพียงนี้ก่อน

1ข้อคิดสั้นๆ พูดไว้ใน พ.ศ. ๒๕๔๒
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.