งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข1

ขอเจริญพร โยมญาติมิตรชาวบริษัท ทุกท่าน

วันนี้ อาตมาทั้งสามรูปได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนที่บริษัท ทั้งในส่วนของไร่ที่ปลูกสับปะรด และทั้งในส่วนของโรงงาน ทั้งนี้ก็เนื่องจากคุณโยมผู้เป็นประธานกรรมการของบริษัทได้นิมนต์มา โดยที่ท่านมีน้ำใจศรัทธาและมีเมตตาไมตรีธรรม

ความจริงนั้นก็จะได้มาตั้งนานก่อนหน้านี้แล้ว โยมโสภณได้นัดไว้คงจะสักหนึ่งเดือนมาแล้วกระมัง แต่พอดีเกิดเหตุขัดข้องเกี่ยวกับเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กน้อย ก็เลยเลื่อนมา จนลงตัวในตอนนี้ ทำให้ได้มีโอกาสมาดูกิจการของบริษัท แล้วก็ได้เห็นทั้งในส่วนของวัตถุดิบที่จะนำมาป้อนโรงงานและทั้งกระบวนการผลิต แม้ว่าจะมีเวลาดูสั้นๆ แต่ก็ได้เห็นกิจการโดยทั่วๆ ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่มานี้ก็ไม่ใช่เป็นการมาดูกิจการเป็นเรื่องเป็นราว แต่เรียกได้ว่าเป็นการมาพักผ่อน คือเป็นการได้เปลี่ยนบรรยากาศไปด้วย การมาที่นี่นั้นส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ คือที่ไร่สับปะรด ได้ไปดูรอบทีเดียว โยมโสภณพร้อมทั้งทางไร่นั้นคือคุณชาญวิทย์ และคุณกีรนันท์ ก็ได้พาไปดูจนกระทั่งเรียกว่ารอบบริเวณ แต่เวลาจำกัดไปหน่อย เกรงว่าเดี๋ยวจะมาไม่ทันดูที่นี่ ก็เลยดูผ่านๆ บางจุดก็ไม่สามารถเข้าไปถึงได้ เกรงว่าเวลาจะเนิ่นนาน ก็เลยต้องเดินทางต่อมาที่นี่ซึ่งเป็นส่วนของโรงงาน เพื่อมาฉันเพลตามนิมนต์

เมื่อมาถึงที่นี่แล้ว ก็ได้รับการต้อนรับโอภาปราศรัยจากท่านกรรมการอำนวยการพร้อมทั้งพนักงานท่านอื่นๆ เป็นที่น่าอนุโมทนา เป็นบรรยากาศของไมตรีจิตมิตรภาพในหมู่ของผู้ที่อยู่ในที่นี้เอง พร้อมทั้งท่านที่มาเยี่ยมเยียนซึ่งพอดีประจวบกัน คือนอกจากคณะอาตมาแล้วคณะท่านนายอำเภอ พร้อมทั้งท่านปลัดก็ได้มาเยี่ยมเยียนบริษัทด้วย เมื่อถึงเวลาโยมก็ได้นิมนต์ฉัน ฉันเสร็จแล้วก็บอกว่านิมนต์แสดงธรรมด้วย

การแสดงธรรมนี้ถือเป็นรายการที่เรียกว่าแถมหรือเป็นส่วนพิเศษขึ้นไป เป็นการคุยกันแบบสบายๆ มากกว่า คืออย่าให้ถือเป็นเรื่องหนักอะไรเลย พอบอกว่าให้มาฟังพระแสดงธรรม เดี๋ยวจะนึกว่าเป็นเรื่องที่ยาก เป็นเรื่องของศัพท์วัด แล้วก็เลยอยากจะง่วง เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ถืออย่างที่ว่า เป็นการได้มาเยี่ยมเยียนกัน เมื่อมีการเยี่ยมเยียนกันแล้วก็มาพูดคุยสนทนาปราศรัยกัน ก็เป็นทำนองนี้ และเมื่อจะเยี่ยมเยียนชนิดที่ได้มีโอกาสพบกันมากท่าน ก็ต้องมาอยู่ในที่ประชุมเช่นนี้ เพราะมาเยี่ยมประเดี๋ยวเดียวถ้าไม่จัดประชุมก็ได้พบกันไม่กี่คน การที่คุณโยมจัดให้แสดงธรรมอย่างนี้ก็เท่ากับว่าทำให้มีโอกาสได้พบกับหลายๆ ท่านนั่นเอง อันนี้ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง

ทีนี้ เมื่อมาพบกันแล้ว ก็ได้คุยสนทนาปราศรัย ในฐานะที่เป็นพระจะคุยเรื่องอะไรดี ก็คุยเรื่องธรรมให้ฟัง

สำหรับสถานที่นี้เป็นที่ทำงาน เป็นโรงงาน เมื่อเป็นโรงงานแล้วจะคุยเรื่องอะไรดี ก็น่าจะคุยกันเรื่องงาน แต่มองในแง่หนึ่ง คนที่ทำงานอยู่แล้วนี่ บางทีก็ไม่ค่อยอยากให้พูดถึงเรื่องงาน คือตัวเองทำงานอยู่ก็หนักพอแล้ว พอมีคนมาเยี่ยมก็มาพูดเรื่องงานอีก แทนที่จะเอาเรื่องสนุกๆ มาคุยกันให้สบายใจ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ กลับมาคุยกันเรื่องงานเลยยิ่งแย่ใหญ่ แต่อาตมาก็นึกว่า ในแง่หนึ่งถ้าหากว่าเราพูดเรื่องงานนี่แหละ แต่พูดให้ถูกแง่มันก็ดี แล้วก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตระยะยาวด้วย

บางทีการพูดเรื่องอื่นสลับเข้ามาก็อาจจะสนุกสนาน เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศเฉพาะชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็ผ่านไป แต่แล้วเราก็ต้องกลับมาทำงานของเราอีก ก็ต้องหนักต่อไปตามเดิม

ชีวิตจะสุขสันต์ ถ้าทำงานมีความสุข

ทีนี้ ถ้าเรามาเผชิญหน้ากับเรื่องงานเลย เอาละเรื่องงานเป็นเรื่องหนัก เรื่องต้องใช้กำลัง เรื่องต้องใช้เรี่ยวแรงและต้องใช้ความคิด บางทีก็ถึงกับเครียด แต่เราก็จะพูดกันเรื่องงานนี่แหละ เป็นการเผชิญหน้ากับความจริงกันเลย มันอาจจะดีมากก็ได้ เพราะว่างานนั้นถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลดีระยะยาวแก่ชีวิตทั้งหมด ถ้าทำงานแล้วมีความสุข ชีวิตนี้ก็มีความสุขยาวนานมากมาย แต่ถ้าการทำงานเป็นการทนทุกข์ ชีวิตส่วนใหญ่ของเราก็จะเป็นชีวิตแห่งความทุกข์ที่ต้องทน เพราะอะไร เพราะว่างานเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา มันกินเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเรา อย่างท่านที่อยู่บริษัทนี้ ก็ต้องสละเวลาให้แก่กิจการของบริษัทวันหนึ่งมากทีเดียว

อาตมาได้เดินไปชมกิจการของบริษัท และท่านที่นำชมก็เล่าและอธิบายให้ฟัง ก็ได้ทราบว่าชาวบริษัททำงานกันนาน อย่างพนักงานที่ยืนทำงาน เท่าที่มองเห็นนั้น ท่านบอกว่าต้องยืนนาน บางทีถึง ๑๒ ชั่วโมง นานมาก นับว่าเป็นเรื่องที่หนักทีเดียว แสดงว่างานนั้นกินเวลาของชีวิตเข้าไปตั้งครึ่งวันแล้ว วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง หมดไป ๑๒ ชั่วโมงกับการยืนอย่างนั้น นอกจากนั้นยังต้องไปทำกิจธุระส่วนตัวอีก แล้วก็พักผ่อนหลับนอนเสียบ้าง เวลาในวันหนึ่งนี่เหลือจากการทำงานไม่เท่าไร และต่อจากวันทำงานแล้วก็เหลือวันพักผ่อนอีกคนละคงจะ ๒ วัน ถึงแม้ว่าอาตมาจะไม่ทราบรายละเอียด แต่ก็สรุปได้ว่าเราใช้เวลาไปกับการงานมาก การงานครอบครองชีวิตส่วนใหญ่ของเรา เพราะฉะนั้น เราควรปฏิบัติต่อการงานให้ถูก เพื่อให้ชีวิตนี้มีความสุขคุ้มกับเวลาที่เป็นอยู่

คนเรานี้ต้องการให้ชีวิตมีความสุข และในการที่จะให้ชีวิตมีความสุขนั้น งานเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้ แต่ในเวลาที่เรามองว่างานทำให้ชีวิตมีความสุขได้นี่ เรามองกันอย่างไร เรามักจะมองไปที่ผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากทำงานแล้ว คือมองด้วยความหวังว่าหลังจากทำงานแล้วเราจะได้เงิน แล้วจะได้นำไปซื้อของต่างๆ ที่เราชอบใจ หรือไปเที่ยวที่โน่นที่นั่น กินใช้เที่ยวเล่นแล้วเราก็จะมีความสุข เป็นการคิดหมายไปข้างหน้าในอนาคตว่า หลังจากทำงานไปแล้ว จะได้ผลของงานเป็นเงินทอง ที่จะนำไปใช้จ่ายแล้วก็จะมีความสุขจากการกระทำในอนาคตนั้น ไม่ได้มองที่ความสุขจากตัวงาน คือไม่ได้มองว่าตัวงานนั้นทำให้มีความสุข บางทีถึงกับมองว่าตัวงานนั้นเป็นความทุกข์ไปก็มี

บางคนไปมองว่าเวลาทำงานเราต้องทน ก็ทนทำมันไป ทำให้มันเสร็จ แล้วเราก็จะได้รับผลตอบแทน ผลตอบแทนนั่นแหละจึงจะทำให้เรามีความสุข เราจะไปมีความสุขในอนาคตตอนโน้น ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่า เวลาที่เราจะมีความสุขนี้มันเหลือน้อย เพราะเวลาที่เป็นส่วนใหญ่ของชีวิตเป็นเวลาที่มีความทุกข์ ต้องทน ต้องรอความสุขที่ยังไม่มาถึง

คนจำนวนมากจะมองเรื่องงานอย่างนี้ ซึ่งแสดงว่าแม้จะมองว่าความสุขเป็นผลที่ได้จากงานก็จริง แต่มองกันคนละจุด คือ คนทั่วไปมองจุดที่ว่า ตัวงานไม่ใช่ความสุข ต้องได้ผลตอบแทนจากงานนั้น แล้วจึงไปหาความสุขอีกทีหนึ่ง อย่างนี้ก็หมายความว่าตัวงานนั้นไม่ทำให้เราเกิดความสุขโดยตรง เท่ากับเป็นการบอกว่า ชีวิตของเรานั้นมีความสุขน้อยกว่าส่วนที่ต้องทุกข์ต้องทน หากว่าเรามองงานเป็นเรื่องที่ต้องทุกข์ต้องทน ก็แสดงว่าชีวิตส่วนใหญ่ต้องทุกข์ต้องทน

ถ้าเรามองเสียใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเรานี้มีความสุขให้มากที่สุด ในเมื่องานเป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา เราก็ต้องหาทางทำให้งานเป็นตัวที่ทำให้เกิดความสุข แล้วเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตก็จะมีความสุข และยิ่งกว่านั้นก็คือว่า นอกจากตอนที่ทำงานจะมีความสุขไปด้วยแล้ว ยังได้รับผลตอบแทนจากการทำงาน แล้วก็ไปมีความสุขอีก เป็นความสุขซ้อนอีกชั้นหนึ่ง ก็เลยสุขไปหมด สุขสองชั้น สุขตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น จุดสำคัญที่จะให้ชีวิตมีความสุข ก็อยู่ที่ว่า เราจะต้องจัดการกับงานหรือปฏิบัติต่องานของเราให้ถูกต้อง ให้มีความสุขในตอนที่ทำงานนั่นแหละ มิฉะนั้นแล้วชีวิตของเราส่วนใหญ่จะไม่มีความสุข จะมีส่วนที่เป็นสุขน้อยกว่าส่วนที่เป็นทุกข์หรือที่ต้องทุกข์ต้องทน ตกลงว่าเราจะทำงานกันให้มีความสุข แต่ไม่ใช่มาสนุกโลดเต้นกันนะ เดี๋ยวจะว่าเป็นงานแบบงานวัด งานลอยกระทง อย่างนั้นก็เป็นงานเหมือนกัน เราเรียกว่างาน งานลอยกระทงก็สนุก งานวัดไปดูหนังดูลิเกก็สนุก นั่นก็งานเหมือนกัน แต่งานแบบนั้นเป็นงานที่เราไปดูเขา เราไม่ต้องทำเอง

แต่ที่ท่านพูดอย่างนั้น มันมีแง่ความหมาย คือแสดงว่าคนไทยแต่เดิมนั้นมองงานในแง่สนุกสนานด้วย เช่นว่างานวัด งานลอยกระทง งานสงกรานต์ ทำไมเป็นงาน ก็ต้องอธิบายว่า คนไทยสมัยโบราณมองว่างานนี่เป็นเรื่องสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความสุข ไม่ใช่เรื่องทุกข์ แม้แต่ไปเกี่ยวข้าวกัน ก็ยังไปร้องเพลง นั่นก็เป็นงานเหมือนกัน คือว่า เราไม่ได้มองเฉพาะตัวกิจกรรมที่ทำเท่านั้น แต่เรามองถึงจิตใจ ว่าให้มีความเพลิดเพลินเจริญใจ บันเทิงไปด้วย

คนสมัยหลังนี่มาได้ยินคำว่างานวัด งานสงกรานต์ งานลอยกระทง เป็นต้น แล้วก็ไม่ได้มองในแง่ว่าที่จริงมันเป็นงาน คือเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้วย ไปมองแต่ในแง่สนุกสนาน คือเดิมมันก็เป็นงานจริงๆ เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อประโยชน์แก่สังคมนั้น หมายความว่า เป็นงานที่ไปช่วยกันทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น ไปที่วัดแล้วก็ไปช่วยกันก่อพระเจดีย์ทราย ขนทรายเข้าวัด หรือทำงานช่วยวัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นงานเป็นการทั้งนั้น เกี่ยวข้าวก็เป็นงานเป็นการ แต่ให้ทำพร้อมไปกับความรื่นเริงบันเทิงใจด้วย ตกลงว่าที่จริงแล้ว งานในความหมายของประเพณีไทยนั้น มันมีตัวกิจกรรมที่เป็นสาระเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง และด้านจิตใจที่มีความรื่นเริงอีกส่วนหนึ่ง ให้มีทั้งสองอย่าง

เป็นอันว่า งานที่เราต้องการอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีความหมายครบสองส่วน คือ

หนึ่ง ตัวงานที่จะต้องทำให้เกิดผลสำเร็จ ที่เป็นจุดมุ่งหมายของงาน คือให้ได้ผลงานอย่างดี เช่นเมื่อทำโรงงานสับปะรด ก็หมายความว่า จะต้องทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี และได้ปริมาณถึงเป้า คือมีเป้าหมายว่าจะทำได้เท่าไรก็ทำให้ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และในด้านคุณภาพจะให้ได้ขั้นไหนก็ทำได้ตามนั้น พร้อมทั้งสามารถทำให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง คือตัวงานนั้นต้องได้ผลด้วย

อีกด้านหนึ่ง คือ จิตใจที่ทำงานนั้นเป็นจิตใจที่มีความสุข หมายความว่า เวลาทำงานนั้นคนที่ทำก็มีความสุขด้วย

ถ้าได้สองอย่างอย่างนี้ละก็เรียกว่าได้ผลสมบูรณ์ งานที่จะมีผลสมบูรณ์นั้น ให้มองดูทั้งสองด้านนี้ แล้วสองด้านนี้จะกลับมาช่วยกัน ถ้าเราทำงานโดยมีความสุขด้วยแล้ว ก็จะทำให้เราพอใจที่จะทำงานให้ได้ผลยิ่งขึ้นไป พอเราทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น เราก็อิ่มใจ เรียกว่ามี ปีติ เกิดความอิ่มใจในผลงานนั้น ก็มีความสุขมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ดีขึ้น แล้วก็สุขมากขึ้น เลยเป็นลูกโซ่ เรียกว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ มีผลย้อนกลับให้ได้ผลดีขึ้นทั้งในแง่ผลงานและความสุข

เพราะรู้คุณจึงรักงาน และทำด้วยใจเบิกบานเป็นสุข

อย่างไรก็ดี จะเป็นอย่างที่ว่ามานี้ได้ เราจะต้องปฏิบัติต่องานให้ถูกต้อง เริ่มต้นตั้งแต่วางใจต่องานให้ถูก ถ้าวางใจต่องานผิดแต่ต้นละก็ไปเลย พลาดหมด โดยเฉพาะถ้าวางทัศนคติต่องานว่าเป็นเรื่องต้องทุกข์ต้องทนแล้วคิดว่า เรามาทนทำงานให้เสร็จ แล้วเราจะได้ผลตอบแทนแล้วค่อยไปสนุกเสวยความสุขทีหลัง อย่างนี้ไม่ถูก เรียกว่าวางท่าทีผิดแล้ว ต่อจากนั้นอะไรต่ออะไรมันก็จะคลาดเคลื่อนผิดทางไปหมด กำลังทำงานแต่ใจลอยไปคอยผลตอบแทนข้างหน้า ไม่อยู่กับงาน ผลงานก็จะไม่ค่อยดี จิตใจก็ไม่ค่อยสบาย ความสุขก็น้อย แล้วเวลาได้ผลตอบแทนไปหาความสนุกสนาน คนที่เป็นอย่างนี้ก็จะเลยเถิดไปง่ายๆ หลงง่ายๆ ระเริง ลืมตัว เพราะมุ่งจะไปหาความสนุกสนาน บอกว่าทนทุกข์มานานแล้ว ตอนนี้เอาให้เต็มที่อะไรทำนองนี้ ก็เลยเสียไปเลย

ในทางตรงข้าม ถ้าเขามีความสุขอยู่ตั้งแต่ทำงานแล้ว เวลาเลิกงานเขาไปหาความสุขเพิ่มเติม ก็เป็นส่วนแถมเข้ามา ก็ไม่มีปัญหา นี่เป็นวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วางใจให้ถูกต้องต่องาน เรียกว่ามีท่าที หรือมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการทำงาน

ถามว่า ท่าทีหรือทำใจอย่างไรจึงจะทำให้ทำงานได้ผลด้วยแล้วก็มีความสุขด้วย เหตุผลง่ายๆ ที่จะทำให้เราทำงานได้ผลดีและมีความสุขไปด้วย ก็คือเราต้องมีความพอใจในงาน รักงานนั้น ถ้าใจเรารัก เราพอใจในงานแล้ว เราก็อยากจะทำงานนั้น ใครมาห้ามก็ไม่อยากจะหยุด ไม่ยอม ใจเราจะทำ

รวมความว่า ถ้าใจเราพอใจจะทำ ทำด้วยใจรัก มันก็ตั้งใจทำ เมื่อทำแล้วนอกจากได้ผลดีก็มีความสุขในขณะกระทำนั้น

ที่ท่านบอกว่าต้องวางท่าทีต่องานให้ถูกต้อง ก็คืออย่าไปมองงานว่าเป็นเรื่องต้องทุกข์ ต้องทน

คำถามต่อไปว่า ทำอย่างไรเราจะมีใจรักงาน เราจะพอใจทำงาน คำตอบคือจะต้องเห็นคุณค่าของงาน ในเรื่องนี้ แต่ละอย่างเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกัน จุดหมายตอนนี้คือเราต้องการให้คนพอใจงาน อยากทำงาน ทีนี้ทำอย่างไรจะให้คนอยากทำงาน ก็ต้องเห็นคุณค่าของงาน

คุณค่าของงานนั้นมีหลายอย่าง พรรณนาได้มากมายหลายแง่ ถ้าเรายิ่งมองเห็นคุณค่าของงานหลายแง่ หลายด้านมากเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเกิดความรักงานมากขึ้นเท่านั้น

คุณค่าของงานประการแรก ง่ายที่สุด ก็เริ่มด้วยมองในแง่ของผลตอบแทนก่อน ผลตอบแทนก็คือ ปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพ หรือเงินทองที่จะซื้อหาของกินของใช้ เรารู้กันดีว่างานนี่แหละทำให้เรามีเครื่องเลี้ยงชีพ ทำให้เราเป็นอยู่ได้ดี งานเป็นสิ่งที่ผูกพันติดอยู่กับชีวิตของเรา มันมีคุณต่อชีวิตของเรา ทำให้ชีวิตของเราดำรงอยู่ได้ด้วยดี ในเมื่องานเป็นสิ่งที่มีคุณต่อเรา เราก็ควรจะรักจะชอบมัน นอกจากมีคุณต่อชีวิตของเราแล้วก็โยงต่อไปถึงครอบครัวของเรา ญาติพี่น้องของเราด้วย

เรามาอยู่ห่างบ้าน บางทีเราทำงานเก็บเงินได้แล้ว เรายังส่งเงินไปช่วยบ้าน ไปช่วยพ่อช่วยแม่ในท้องถิ่นอีก เห็นได้ชัดว่างานนี้มีคุณค่ามาก เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ในเมื่องานเป็นประโยชน์ต่อชีวิต เราก็ควรรักงาน เหมือนอย่างคนเราด้วยกัน ใครเป็นคนที่มีคุณค่าต่อชีวิตของเรา เราก็รักใคร่ มีความรู้สึกที่ดีต่อเขา งานของเรานี้ มีคุณต่อชีวิตของเรานักหนา ทำให้เราเป็นอยู่ได้ มีความสุขสบาย เราจึงควรตั้งใจทำ เอาใจใส่มัน อันนี้ก็เป็นเหตุผลง่ายๆ เป็นคุณค่าพื้นฐานอันดับที่หนึ่ง

แต่งานไม่ได้มีคุณค่าแค่นี้ ที่จริงคุณค่าของตัวงานเอง ที่แท้ที่จริงนั้น ไม่ใช่เป็นผลตอบแทนด้วยซ้ำ คุณค่าของงานก็คือผลที่เป็นวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของงานนั่นเอง คืองานแต่ละอย่างๆ ย่อมมีความมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การทำครัวก็เพื่อทำอาหารให้คนรับประทาน การขับรถก็เพื่อพาคนให้ไปถึงที่หมายโดยสะดวกรวดเร็ว การกวาดถนนก็เพื่อให้ถนนสะอาด ผลงานที่เป็นคุณค่าอย่างแท้จริงของงาน ก็คือ มีอาหารดีๆ ที่จะให้คนกิน การเดินทางถึงจุดหมายโดยสะดวกรวดเร็ว และความสะอาดของถนน นี้เป็นผลของงานซึ่งเป็นผลโดยตรงของงาน เป็นคนละอย่างกับผลตอบแทน จะต้องแยกให้ถูกว่าเป็นผลของงานกับผลตอบแทน หรือผลงานกับผลเงิน

เมื่อจะทำงานให้ถูกต้อง ก็ต้องมุ่งทำให้ได้ผลของงาน หรือผลที่เป็นจุดหมายของงานก่อน ว่าเราจะทำให้ผลนั้นเกิดขึ้นอย่างดีที่สุด แล้วเราจึงได้ผลตอบแทนเป็นผลพลอยได้ตามมาตามเงื่อนไข ถ้าตั้งใจทำงานและงานสำเร็จผลอย่างดี คือเกิดผลดีสมตามความมุ่งหมายของงาน เราจึงจะมีความภูมิใจและอิ่มใจจริงในการได้รับผลตอบแทน

เนื่องจากงานมีคุณค่าในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ งานจึงมีคุณค่าสืบเนื่องต่อไปอีก คุณค่าของงานข้อต่อไปก็คือว่า งานนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้กิจการของโลก ของสังคม ของประเทศชาติ เป็นไปได้ บางทีก็เป็นประโยชน์โดยตรงต่อชีวิตของผู้อื่น อย่างงานของโรงงานอาหารนี้ ไม่ว่าจะทำสับปะรด หรือทำผลไม้อื่นก็ตาม ก็เป็นอาหารของมนุษย์ เป็นปัจจัยสี่อย่างหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่เราทำนี้เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตของคนทั้งหลาย เมื่อทำไปแล้วก็เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์อื่น เมื่อเราทำงานผลิตสิ่งเหล่านี้ เรารู้คุณค่าของสิ่งที่เราทำแล้ว ก็อิ่มใจว่าเราทำในสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ นอกจากเป็นงานที่สุจริตแล้ว ยังเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของเพื่อนมนุษย์ให้เขาได้มีอาหารรับประทาน ให้เขาได้อาหารที่เขาพอใจ ช่วยให้เขามีความสุข อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราควรระลึกด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อระลึกขึ้นมาแล้วก็ทำให้เรามีความพอใจ ว่าเราได้ทำในสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ นี่ก็เป็นคุณค่าอีกส่วนหนึ่ง

แต่อย่างโรงงานของบริษัทนี้ นอกจากทำอาหารที่ไปบำรุงเลี้ยงเพื่อนมนุษย์แล้ว ก็ยังมีส่วนส่งเสริมเกื้อกูลสังคม ประเทศชาติส่วนรวมด้วย อาตมาได้ทราบว่า ผลผลิตของที่นี่ส่วนใหญ่ส่งออกนอกประเทศ คือส่งออกนอกประเทศตั้ง ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีผลดี คือ ทำให้เงินตราเข้าประเทศ ประเทศไทยเรานี้ต้องการเงินตราเข้าประเทศมาก เรามีปัญหาเกี่ยวกับดุลการค้า เราเสียดุลการค้ามาก เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าบริษัทนี้ส่งอาหารออกไปต่างประเทศมาก ก็นับว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาของประเทศในการเสียดุลการค้า แก้ความเสียเปรียบของประเทศ นำรายได้เข้าประเทศ อันนี้เป็นการมองในวงกว้าง ที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

ฉะนั้น เมื่อเรามาที่นี่ มาเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของโรงงาน เป็นพนักงานหรือคนทำงานของบริษัท ก็เท่ากับว่าเราได้ช่วยกันทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติด้วย เมื่อนึกขึ้นมาอย่างนี้ก็ทำให้มีความสบายใจ เวลาทำงานก็นึกว่าเราทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือนอกจากทำอาหารอร่อยๆ ให้คนรับประทานแล้ว ก็ยังช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย นึกแล้วก็สบายใจ มีความภูมิใจ ปลื้มใจ เรียกว่าเกิดปีติ อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง

งานยิ่งเพิ่มคุณค่า เมื่อใช้เป็นเครื่องพัฒนาตัวคน

ทีนี้มองต่อไปอีก งานยังมีคุณค่า หรือมีประโยชน์อะไรอีก คนเรานี้ ในชีวิตก็ต้องการความเจริญก้าวหน้า ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องพัฒนาตัวเองให้มีสติปัญญา มีความเก่งกล้าสามารถ หรือมีความชำนิชำนาญในเรื่องต่างๆ ที่จะให้ทำอะไรๆ ได้ดีขึ้น มีความสำเร็จมากขึ้น ความเก่งกล้าสามารถ และความชำนิชำนาญของคนนั้น มีจุดแสดงออกที่สำคัญก็คือที่งานของเขานั่นเอง ถ้าเราต้องการเป็นคนที่เก่งกล้าสามารถ หรือเป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น เราจะต้องมีการพัฒนาตัวเอง ส่วนสำคัญของชีวิตที่ทำให้คนพัฒนาตนเองได้ก็คืองาน

การทำงานเป็นการพัฒนาตนเอง เป็นการฝึกฝนตนเองในทุกด้าน ถ้าเราอยากจะเป็นคนเจริญก้าวหน้า เป็นคนมีคุณภาพ เราต้องพัฒนาตนเอง จะพัฒนาที่ไหน ก็มาพัฒนาตนเองที่การทำงานนี่แหละ ใช้งานนี้เป็นเครื่องพัฒนาตนเอง การทำงานให้เป็นการพัฒนาตนเองนี่สำคัญมาก

ความสามารถส่วนใหญ่ในชีวิตของเรานี้เกิดจากการทำงาน แต่ต้องตั้งใจทำ ทำให้ถูกต้อง และพยายามทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป คอยสังเกต คอยดู คอยศึกษา คอยสอบถาม คอยหาความรู้อยู่เสมอ ก็จะเป็นการพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถขึ้นมา

การพัฒนาตนเองให้มีความเก่งกล้าสามารถในการงานนี้ นอกจากจะเกิดผลภายนอก เช่นอาจจะได้ผลตอบแทนหรือได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับงานแล้ว ก็มีผลที่แน่นอนภายในตัวเอง ไม่ว่าภายนอกเราจะได้รับผลตอบแทนหรือไม่ก็ตาม แต่ในตัวเรา เรารู้ ก็คือการที่เรามีความชำนิชำนาญมากขึ้น ทำอะไรได้ดีขึ้น เขาจะมีผลตอบแทนให้หรือจะไม่มีก็แล้วแต่ แต่เรารู้สึกในตัวเองของเรา เราทำไปแล้วเราก็สบายใจอิ่มใจของเรา ถ้ารู้สึกว่าเวลาทำอะไรแล้วเราทำได้ดีขึ้น นี่คือการพัฒนาตนเอง ขอให้เรามีความภูมิใจสบายใจในตัวได้ทันทีเลย ไม่ต้องรอให้คนอื่นเขามาให้ผลตอบแทน

ฉะนั้นจึงเป็นการได้สองชั้น คือ ได้จากตัวเอง กับได้จากคนอื่น หรือว่าตอนที่หนึ่ง เราให้แก่ตัวเราเอง ตอนที่สองคนอื่นให้เรา

ตอนที่หนึ่ง ตัวเรานี้ได้แน่นอนก่อน บางคนไปมองแง่ว่า เขายังไม่ได้ให้ผลตอบแทนเรา เรายังไม่ได้รับรางวัล ถ้าไปรอหวังผลแบบนั้นละก็อาจจะทำให้ผิดหวัง อันนั้นเป็นส่วนของคนอื่น เขาจะให้หรือไม่ให้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนที่เราได้แน่นอนก็คือการพัฒนาตัวเอง และอันนี้แหละเป็นการได้ที่แท้จริง เป็นการได้ที่เข้าถึงเนื้อถึงตัวของเราจริงๆ เป็นการได้ของตัวชีวิตแท้ๆ และเป็นของเราจริงๆ ใครแย่งชิงหรือฉกฉวยเอาไปไม่ได้ ไม่เหมือนผลตอบแทนที่เป็นของนอกตัว เราพัฒนาความสามารถขึ้นมา เราเห็นประจักษ์ชัดได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้น เราได้ตลอดเวลาจากการทำงาน เมื่อถือว่าการทำงานเป็นการพัฒนาตน

นอกจากพัฒนาความชำนิชำนาญ หรือความเก่งกล้าสามารถแล้ว นิสัยที่ดี คุณธรรม ความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการเป็นอยู่ในสังคม ก็จะพัฒนาไปด้วย ถ้าเรารู้จักทำ นิสัยของเราก็จะดีขึ้น คุณสมบัติต่างๆ ก็จะพัฒนาขึ้น เช่น ความเป็นคนมีระเบียบวินัย ความขยัน ความอดทน ความรู้จักสังเกต ความมีปัญญา ความรู้เข้าใจและรู้จักพิจารณาเหตุผลในการแก้ปัญหา จะได้รับการฝึกฝนพร้อมเสร็จไปในตัวเลย เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนเองอยู่เรื่อย ตลอดเวลา

นี่คือลักษณะของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งต้องมีการพัฒนา ต้องมีการก้าวหน้า และก็งานนี่แหละถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้อง จะเป็นเครื่องพัฒนาชีวิตของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงควรมองว่างานเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณภาพ มีการพัฒนาให้ดีขึ้น แล้วเราก็จะมีความสุขกับการทำงาน เพราะมองเห็นว่า เมื่อเราทำงาน ตัวเราก็พัฒนา

นอกจากนี้ก็คือบรรยากาศ ถ้าทำงานให้เป็นการพัฒนาตน ก็จะได้บรรยากาศที่ดีในการทำงาน คือพัฒนาความมีไมตรีจิตมิตรภาพ ความยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกันในหมู่ผู้ร่วมงาน

ที่ว่ามานี้ ก็จะต้องไม่มองข้ามสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือพวกสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ กล่าวคือสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสม ซึ่งเอื้ออำนวยให้มีความสะดวกสบายตามสมควร สภาพอย่างนี้ทางพระท่านเรียกว่าเป็นสัปปายะ สัปปายะก็คือบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สถานที่อยู่ปัจจัยต่างๆ ซึ่งเกื้อกูลต่อการที่จะดำรงชีวิตและทำการงาน ให้เราสบายกายสบายใจ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล อันนี้ก็เป็นเรื่องขององค์ประกอบแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลช่วยสนับสนุนให้ทำงานด้วยความสบายใจ และมีความรักความพอใจในงานเกิดขึ้นได้ง่าย

แต่ข้อสำคัญก็อย่างที่บอกในตอนต้นแล้ว คือต้องตั้งท่าทีให้ถูกต้องต่องาน อย่าไปมองงานเป็นเรื่องที่ต้องทุกข์ต้องทน ต้องมองงานเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ แล้วก็เกิดความรักความพอใจงาน พอมีความรักความพอใจอย่างนี้แล้วเราก็ทำงานด้วยความสุข ตั้งใจทำ

พอมีความรักงานแล้วผลดีก็ตามมาเป็นกระบวนคือ พอรักงานแล้ว ก็อยากทำงาน พออยากทำงานแล้ว งานเดินหน้าไปหน่อย เราก็รู้สึกว่ามันได้ผลแล้ว พอได้ผล เราก็เกิดความอิ่มใจ ผลงานที่เกิดขึ้นแต่ละตอนๆ ทำให้เกิดความอิ่มใจ และทำให้เกิดความสุข

การเกิดมีความอิ่มใจที่ทางพระท่านเรียกว่า ปีติ นั้น เป็นกระบวนการของจิตใจที่จะทำให้คนเรามีสุขภาพจิตที่ดี คนที่ทำงานอย่างนี้จะไม่ค่อยมีความเครียด

ถ้าคนไม่มีปีติ ไม่มีความอิ่มใจจากงาน แม้ว่างานจะเดินหน้าไป แต่เมื่อยังไม่ได้ผลตอบแทนก็ไม่ได้ความรู้สึกนี้ เพราะใจมัวไปหวังข้างหน้า มองว่าโน่นเลิกงานแล้วจะได้ไปเที่ยวสนุกสนาน ใจไปอยู่ที่โน่น หรือไปมองที่ผลตอบแทน ใจมันไม่อยู่กับงาน เมื่อใจไม่อยู่กับงาน ก็หาความสุขจากงานไม่ได้ กลายเป็นต้องทนต้องทุกข์ในการทำงาน ใจก็ไม่สบาย อันนี้แหละเรียกว่าตั้งท่าทีไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จะต้องทำใจให้มีความสุขสนุกกับงานไปเลย อย่างที่ว่า พอใจรักงานแล้ว งานก้าวไปนิด เราก็อิ่มใจเมื่อได้เห็นงานก้าวไปทีละหน่อยๆ ก็มีความสบายใจอิ่มใจเรื่อยไปตลอดทุกขั้นตอน เป็นอันว่านอกจากจะมีความรักงาน ทำงานด้วยใจสบาย มีความสุขเป็นพื้นอยู่แล้ว พอเห็นผลงานก็ยิ่งมีความสุข มีปีติมากยิ่งขึ้น

ปรุงแต่งสิ่งอื่นได้หลากหลาย
ทำไมไม่ปรุงแต่งใจตัวเองให้เป็นสุข

ความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งก็คือ การทำใจของตนเองให้ผ่องใสเบิกบานตลอดเวลา โดยมีสติเตือนใจตัวเองว่า ทำใจให้ร่าเริงผ่องใส

เรื่องใจของเรานี่ เราปรุงแต่งได้ ปรุงแต่งให้ดีก็ได้ ให้ร้ายก็ได้ ปรุงแต่งไม่ดีก็หมายความว่า ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ขุ่นมัว เศร้าหมอง เดือดร้อนกระวนกระวาย โดยนึกถึงอะไรที่ไม่ได้หรือไม่ดีขึ้นมา เช่น นึกถึงความอยากที่จะไปโน่นไปนี่ ตอนนี้ยังไปไม่ได้ ทำไมยังไม่ถึงเวลาเสียที ฉันอยากจะเลิกงานไปเที่ยวที่โน่น ไปสนุกที่นั่น นี่ยังเหลืออีกตั้ง ๒ ชั่วโมง พอคิดอย่างนี้แล้วก็ปรุงแต่งไป ใจก็ฟุ้งซ่านกระวนกระวาย ตอนนี้ทำงานก็ไม่มีความสุข แล้วยังเกิดความเครียดด้วย

ทีนี้ในทางตรงข้ามเราปรุงแต่งจิตใจในทางที่ดี ให้ร่าเริงสนุกสนาน มองงานที่ทำอยู่ต่อหน้า ส่วนข้างหน้าไม่ต้องไปคิดห่วง เดี๋ยวถึงเวลาก็เลิกงานเองแหละ ครบ ๑๒ ชั่วโมง ก็ ๑๒ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงก็ ๘ ชั่วโมง ครบเมื่อไรก็เมื่อนั้น เวลามันยุติธรรมกับทุกคน มันไม่เคยเอาเปรียบใคร เราไปคิดเอาเองว่าเวลามันช้าเหลือเกิน ก็เพราะเราไปรอมัน ถ้าเราไม่รอมัน มันก็ไม่ช้า เราก็ทำงานของเราไป

ก็อย่างที่บอกแล้วว่า เวลามันให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอกัน แต่ถ้าตั้งใจผิด มันก็ทำให้เวลาช้าหรือเร็วตามแต่ว่าเราจะตั้งใจอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็ทำใจให้ถูก เรารู้อยู่แล้วว่าเวลามันเป็นอย่างนั้นของมันตามธรรมชาติ ก็ไม่ต้องไปเร่งรัดหรือขัดขวางมัน ให้เหมือนใจหรือให้ขัดใจตัวเราเอง แทนที่จะทำอย่างนั้น เราก็เอาใจมาอยู่กับงานของเรา ทำใจให้ร่าเริงกับงาน สนุกสนานกับงาน ปรุงแต่งใจให้ร่าเริงเบิกบาน

ความร่าเริงเบิกบานนั้นท่านเรียกว่า ปราโมทย์ ทำใจให้ปราโมทย์ คือ เวลาทำงานก็ทำใจให้ร่าเริงเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส นึกถึงงานก็นึกขึ้นมาด้วยความร่าเริงเบิกบาน คอยเตือนสติตัวเองอยู่เรื่อย พอรู้สึกว่าใจชักขุ่นมัว นึกขึ้นมาได้ก็หยุดและบอกตัวเองว่า เอ๊ะ เรานี่ชักจะไม่ได้การแล้วกระมัง ใจเราชักจะเดือดร้อนกระวนกระวาย ชักจะขุ่นมัวเศร้าหมองแล้ว ไม่ได้ๆ ผิดแล้ว จะต้องร่าเริงเบิกบาน พอได้สติอย่างนี้ก็เตือนตัวเอง บอกกับใจตัวเอง พอรู้ทันแล้วก็ทำใจให้ร่าเริง

การปรุงแต่งใจอย่างนี้ เราทำได้ อยู่ที่การฝึก เราปรุงแต่งใจของเรา ถ้าปรุงให้เป็นดี มันก็ดี ถ้าปรุงให้ไม่ดี มันก็ไม่ดี เหมือนกับอาหารเราก็ปรุงแต่งได้ จะปรุงให้น่ากินหรือปรุงให้ไม่น่ากินก็ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ใจของเรา เราก็ปรุงได้ ปรุงของข้างนอกเรายังปรุงได้ ปรุงในใจตัวเองทำไมจะปรุงไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็มาปรุงใจตัวเอง ปรุงด้วยของดีๆ ด้วยความคิดที่ดี นึกแต่สิ่งที่ดี นึกถึงงานในแง่ดี นึกให้มันสบายใจ เวลาทำงานก็ร่าเริงเบิกบานไปกับงาน

การทำงานด้วยใจร่าเริงเบิกบาน ท่านเรียกว่า มีปราโมทย์ พอมีปราโมทย์แล้วทำงานไป งานเดินหน้าไปก็อิ่มใจว่างานก้าวหน้า โดยมีผลเกิดขึ้นทีละน้อยๆ ก็เกิด ปีติ อิ่มใจ พอมีปีติอิ่มใจแล้วก็สบายใจ ใจสงบเย็น เกิดมี ปัสสัทธิ คือความผ่อนคลายกายใจ ไม่มีความเครียด

พอใจสบาย ไม่เครียด มีความผ่อนคลาย สงบ เย็น มีปัสสัทธิแล้วก็มี ความสุข เกิดความโปร่ง โล่งใจ ความสุขนี้แปลว่า โปร่ง โล่งใจ เพราะไม่มีอะไรมาบีบคั้น ติดขัดคับข้อง คำว่าทุกข์นั้นแปลว่าบีบคั้น คนที่มีความทุกข์ก็คือคนที่มีอะไรมาบีบคั้นตนเอง ถ้าบีบคั้นกาย ก็เรียกว่าทุกข์กาย ถ้าบีบคั้นใจ ก็เรียกว่าทุกข์ใจ

คนจำนวนมากชอบเอาอะไรมาบีบคั้นใจตัวเอง หรือทำให้เกิดความติดขัดคับข้อง ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เกิดความทุกข์ใจ ทีนี้พอคล่องใจ สะดวกใจ โปร่งโล่งใจ มีความสุขใจก็มั่นคง สงบ แน่วแน่ จะทำอะไรใจก็อยู่กับเรื่องนั้น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย อันนี้ท่านเรียกว่ามี สมาธิ

พอมีสมาธิ จิตใจสงบตั้งมั่นแน่วแน่แล้ว ไม่ว่าจะคิดอะไร ความคิดก็เดิน ปัญญาก็เดิน จะใช้พลังจิตทำงานอะไร แม้แต่จะไปทำกรรมฐาน บำเพ็ญสมาธิก็ได้ผลดีด้วย สอดคล้องกัน ดีไปหมดเลย

รวมความว่าเป็นเรื่องของการทำให้ชีวิตของเรานี้มีความสุขอย่างแท้จริงจากการทำงาน เพราะว่างานเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา

เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามทำให้การทำงานนี้เป็นตัวนำมาซึ่งความสุข แล้วก็สุขด้วยการทำงานนั้นด้วย สุขตั้งแต่เวลาทำงานแล้ว คือขณะทำงานก็มีความสุข ครั้นเสร็จจากงานแล้วก็มีความสุขเพิ่มอีก นี่ก็เป็นเรื่องของการทำให้ชีวิตมีความสุข โดยเอางานเป็นหลัก เพราะงานนั้นเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต

ถ้าทำงานได้อย่างนี้ ก็เข้ากับความหมายของงานที่ได้พูดกันมาตามวัฒนธรรมประเพณีไทย ที่บอกว่าไปงานวัด งานสงกรานต์ ซึ่งมองกันในแง่สนุกสนานบันเทิง เราก็มาทำงานของเราแม้แต่ในโรงงานนี้ ให้เป็นไปด้วยจิตใจที่เบิกบาน สดชื่น ผ่องใสอย่างนั้นด้วย โดยที่รู้เข้าใจคุณค่าของงาน และมีสติเตือนตัวเองให้คอยทำใจให้ร่าเริงเบิกบานอย่างนี้ แล้วงานก้าวไป ชีวิตของเราก็พัฒนาไปด้วย

ชีวิตของคนที่ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องนี่แหละ เป็นชีวิตที่เจริญก้าวหน้า แม้แต่สิ่งที่เราทำอยู่ตลอดเวลา คืองานที่เป็นของประจำนี่ ถ้าเรายังปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว เราก็คงปฏิบัติต่อสิ่งอื่นไม่ค่อยถูกต้องเหมือนกัน การงานนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่าเป็นกรรม

คำว่า กรรม นั้น แปลว่าการกระทำ การกระทำในชีวิตส่วนใหญ่ของคนก็คืองาน ขอให้พิจารณาความหมายตามลำดับ เริ่มแรกคำว่ากรรมในความหมายที่ละเอียดที่สุด ก็คือเจตนาที่ทำการ เจตนาในใจ เป็นตัวการที่ทำให้เราทำโน่นทำนี่ ต่อจากนั้นเมื่อแสดงออกมาเป็นการกระทำภายนอก เราเรียกว่าเป็นกิจกรรม ทีนี้ถ้าเป็นกิจกรรมที่เป็นหลักของชีวิตก็เรียกว่าเป็นงาน เพราะฉะนั้น กรรมจึงมีความหมายหลายชั้น กรรมในความหมายกว้างที่สุดก็คือ งานที่แต่ละคนทำ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กมฺมุนา วตฺตตี โลโก โลกนี้เป็นไปตามกรรม ก็คือเป็นไปตามกรรม ขั้นพื้นฐานคืองานของคน

มนุษย์ที่ทำงานกันอยู่ในสังคมนี้แหละ เป็นตัวบันดาลวิถีความเป็นไปของโลก หรือของสังคม โลกและสังคมจะเป็นไปอย่างไรก็ด้วยกิจกรรมสำคัญ คืองานของคน อาชีพการงานหรือเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในชีวิตของคนส่วนใหญ่นี้ เป็นเครื่องนำให้โลกให้สังคมเป็นไป เอาตั้งแต่สังคมประเทศไทยนี่ จะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่งานที่คนไทยทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะให้สังคมประเทศชาติของเราไปทางไหน คนแต่ละคนที่อยู่ในประเทศเป็นพลเมือง ก็ต้องทำงานให้ถูกเรื่อง ให้เป็นงานที่จะนำประเทศชาติสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

งานในความหมายต่อมา เมื่อเจาะลึกลงไปถึงที่สุดแล้ว กิจกรรมของมนุษย์ทุกอย่างนั้นก็มาจากเจตจำนงในใจ เจตจำนง เจตนา หรือความตั้งใจนั้น เป็นตัวการที่ปรุงแต่งสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง โลกมนุษย์นี้เป็นโลกของเจตจำนง หรือโลกแห่งความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ สังคมมีความเจริญก้าวหน้า มีวัฒนธรรม มีวิทยาการต่างๆ มีเทคโนโลยี มีอะไรๆ ทุกอย่างทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของเจตจำนง คือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ทั้งนั้น ต่างจากโลกของสัตว์ทั้งหลาย โลกของธรรมชาติทั้งหมดนั้น มีความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกับโลกของมนุษย์ที่เป็นโลกแห่งเจตจำนง หรือโลกของเจตนาปรุงแต่งสร้างสรรค์

เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า โลกนี้หรือสังคมนี้เป็นไปเพราะกรรม หรือเป็นไปตามกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีความหมายหลายชั้น เริ่มตั้งแต่เจตจำนง หรือเจตนาปรุงแต่งสร้างสรรค์ของคนที่คิดเก่ง ซึ่งเป็นผู้คิดริเริ่มที่จะนำสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พอคนส่วนใหญ่เปลี่ยนไปตามวิถีนั้น สังคมก็เป็นไปตามนั้น แต่โดยปกติเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว กิจกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์คือการงานนี่แหละที่ทำให้สังคมเป็นไป

เพราะฉะนั้น เราทุกคนนี้มีส่วนที่จะปรุงแต่งชีวิต ปรุงแต่งสังคม ปรุงแต่งโลกให้เป็นไปต่างๆ เราจึงควรจะมาช่วยกันปรุงแต่งในทางที่เป็นการสร้างสรรค์ ให้เป็นประโยชน์ การงานที่เป็นอาชีพสุจริตก็เป็นส่วนที่จะช่วยปรุงแต่งนำโลกไปในทางที่ดีงาม ให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ยิ่งถ้างานนั้นไม่เพียงแต่สุจริต แต่ยังเป็นงานที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ด้วย ก็เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้โลกนี้มีความสุข เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เราจึงควรจะมีความพอใจในการงานที่เราทำอย่างถูกต้อง เมื่อเราทำงานอย่างถูกต้องก็มองเห็นคุณค่าของงาน เราก็มีความพอใจในงาน ระลึกขึ้นมาเมื่อไรก็มีความอิ่มใจว่า เราได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว

วันนี้ อาตมาได้มาพบปะกับโยมญาติมิตรชาวโรงงาน ชาวบริษัทนี้ ซึ่งเป็นผู้ทำงานที่สุจริต ทำงานที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ก็ขอให้ทุกท่านมองเห็นคุณค่าแห่งงานของตนเอง อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว และนอกจากทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นแล้ว ก็ต้องทำจิตใจของเราให้สบายมีความสุขด้วย และจิตใจของเราที่สบายและมีความสุขนี้ ก็จะเป็นปัจจัยให้เราทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย เป็นสิ่งที่อิงอาศัยและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ผูกพันกันไป ทำให้ทั้งตัวเราและส่วนรวมมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

ตกลงรวมความว่า การทำงานนั้นทำให้เราได้ประโยชน์และมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนที่ได้นี้ ก็มีทั้งสองด้าน คือด้านตัวงาน ซึ่งอาจจะออกมาเป็นผลทางวัตถุด้านหนึ่ง และด้านของจิตใจที่มีความสุข มีความสบายอิ่มใจ พร้อมกันไปกับการที่มีการพัฒนาของชีวิตอยู่เรื่อยไป ดังนั้นเราจึงควรนำเอาหลักนี้มาตรวจสอบ ดูว่าการทำงานของเรา ตลอดจนการดำเนินชีวิตทั้งหมดของเราได้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปตลอดเวลาหรือไม่

ตรวจสอบความเจริญก้าวหน้า
ให้แต่ละวันเวลาได้ทั้งงานและความสุข

การที่จะเจริญก้าวหน้าขึ้นไปนี่ถ้าจะให้เห็นชัดก็ต้องดูจากหน่วยย่อย เพราะความเจริญก้าวหน้าในปีหนึ่งๆ นั้นก็มาจากแต่ละเดือน มาจากแต่ละวัน รวมกันเข้า เพราะฉะนั้น คนที่จะเจริญจริงๆ จึงต้องทำการสำรวจประจำวันว่า ในแต่ละวันนี้เราได้พัฒนา ได้ผลเพิ่มพูนขึ้นหรือเปล่า ถ้ามัวสำรวจช้าๆ รอเดือนหนึ่งหรือปีหนึ่งนั้นไม่ทันหรอก คนที่จะมีฐานะดีขึ้นตั้งตัวได้และเจริญรุ่งเรืองนี่ เขาต้องสำรวจในแต่ละวัน พระท่านจึงสอนเตือนไว้ เป็นพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง จำไว้ได้ก็ดี เอาไว้สำรวจตัวเอง ท่านบอกว่า

เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง

ถ้าจำอันนี้ได้และนำมาใช้ละก็เจริญงอกงามแน่เลย เพราะแต่ละวันเราจะสำรวจตนเองว่า วันนี้เราได้อะไรไหม ก่อนจะนอนก็สำรวจก่อน ทีนี้ถ้าสำรวจแล้วปรากฏว่าได้ก็มีความพอใจ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ได้ ก็เท่ากับเป็นเครื่องเตือนสติว่าพรุ่งนี้เราจะต้องพยายามทำให้ได้ผล ต้องแก้ตัว และต่อไปจะต้องให้รู้สึกว่าได้ทุกวัน พอได้ทุกวันแล้ว ครบปีหนึ่งไม่รู้ว่าได้เท่าไร เดือนหนึ่งก็เยอะแล้ว ปีหนึ่งยิ่งมากมาย เพราะฉะนั้น ให้สำรวจดูในแต่ละวัน ทางพระท่านบอกเป็นคาถาภาษาบาลีว่า

อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา

จำเป็นคาถาไว้ก็ได้ คาถาอย่างนี้มีประโยชน์ คาถาบางอย่างคนท่องไปไม่รู้เรื่อง ท่องไปโดยไม่รู้ความหมายเลย แต่คาถาที่อาตมาให้คราวนี้ใช้ได้ ศักดิ์สิทธิ์ด้วย เป็นคาถาที่ได้ผลชะงัดเลยทีเดียว และเราก็รู้ความหมาย มองเห็นประโยชน์แท้จริง ทวนอีกทีว่า อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา เท่านี้ แปลว่า เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อย ต้องให้ได้อะไรบ้าง เอาแค่นี้ละ แต่ละวันแต่ละคืนนี่ให้สำรวจตัวเอง

ทีนี้ ที่ว่าได้นี่ หลายคนก็มองไปในแง่ว่าได้เงิน อย่าไปคิดแค่นั้น ชีวิตของเราไม่ใช่ได้แค่นั้น แม้แต่เอาอย่างง่ายๆ ที่พูดกันว่าชีวิตของเราอยากได้ความสุข ถ้าเราได้เงินมากก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะหล่อเลี้ยงให้เรามีความสุข แต่ไม่ใช่ว่าได้เงินแล้วจะมีความสุขแน่นอน เงินไม่ใช่หลักประกันของความสุข มันเป็นเพียงตัวเอื้อให้มีความสุข แต่หลายคนได้เงินมามากก็ไม่มีความสุข ก็เห็นๆ รู้ๆ กันอยู่ ไม่ต้องยกตัวอย่าง

เพราะฉะนั้น ได้เงินอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องได้อย่างอื่นด้วย ถ้าได้เงินอย่างเดียวก็ได้แค่วัตถุ ได้สิ่งที่เป็นรูปธรรม ได้เพียงด้านร่างกาย แต่ที่จะให้มีความสุขจริงนั้น ได้ทางร่างกายอย่างเดียวไม่พอ ต้องได้ทางด้านจิตใจด้วย ทางใจจะได้อย่างไร การได้ทางใจที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือการที่รู้สึกว่าเราได้ทำชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ งานนี่ละเป็นสิ่งที่จะทำให้ชีวิตของเราเป็นประโยชน์

งานเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เรารู้แล้วนี่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อมนุษย์ ทั้งในการพัฒนาตน และในการที่จะช่วยพัฒนาประเทศชาติ สังคม วันนี้เราได้งานแล้ว ได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว พอรู้สึกอย่างนี้ก็ได้ผลทางจิตใจ

การที่เราทำอะไรต่างๆ นี่เพื่ออะไร หาเงินหาทองเพื่ออะไร ก็เพื่อจะให้มีความสุข เสร็จแล้วเราได้ความสุขจริงหรือเปล่า ลองสำรวจดูในแต่ละวัน บางคนไม่เคยสำรวจเลยว่า เป้าหมายที่แท้คือความสุขเราได้หรือเปล่า แต่ไปมองแค่ว่าได้เงินหรือเปล่า ไม่ได้ดูต่อไปให้ถึงเป้าว่า ได้เงินมาแล้วเรามีความสุขหรือเปล่า เสร็จแล้วหาเงินตลอดชาติ แต่ไม่พบความสุขแท้สักที ก็ไม่ได้เรื่อง

ตกลงว่ามาสำรวจกันเลย สำรวจตั้งแต่วันนี้นี่แหละ ทั้งด้านเงิน ด้านงาน ด้านการทำประโยชน์ และอะไรต่ออะไรแล้วแต่จะคิดได้ แต่ให้มาลงท้ายที่จิตใจ ว่าได้มีความสุข มีความสงบ มีความเจริญขึ้นไหม ถ้าจิตใจมีการพัฒนาก็จะมีความสุขอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ คือมีความร่าเริงเบิกบานใจ มีความอิ่มใจ มีความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ มีความปลอดโปร่งคล่องใจ และมีความสงบมั่นคงแน่วแน่ของจิตใจ

ถ้าดูจนถึงจุดนี้แล้วก็สบายใจได้ เรียกว่าดูครบวงจร ไม่ใช่ดูแค่เงินอย่างเดียว ติดอยู่ต้นวงจร ได้วัตถุอย่างเดียวไม่พอ การสำรวจรายได้แต่ละวันต้องสำรวจให้ครบวงจร ตั้งแต่ได้วัตถุที่หยาบไปจนถึงได้สาระในจิตใจที่เป็นนามธรรมละเอียด บริสุทธิ์ ว่าเราได้ความสุข ความสงบของจิตใจ ความร่าเริงเบิกบานใจบ้างไหม ต้องพยายามให้ได้ แต่ละวันก่อนจะนอนหลับ อย่างน้อยมันเครียดมาทั้งวันแล้ว มันเศร้าหมองขุ่นมัวมามาก เอาละก่อนจะนอน ให้มันยิ้มกับตัวเองได้ก็ยังดี ยิ้มในใจและทำใจให้ร่าเริง แม้แต่จะนอนก็ยังปรุงแต่งจิตใจของเราได้

เวลาจะนอน พอล้มตัวลงไป ก็วางตัวให้สบาย แล้วปล่อยมือปล่อยเท้า บอกกับตัวเองว่า สบาย และทำใจให้รู้สึกสบายอย่างที่ว่านั้น ทำใจอย่างนี้ให้เป็นการนำตัวเอง จิตใจของคนเรานี้มันทำตัวเองได้ พอเรานอนแล้วเราก็บอกตัวเองว่าสบาย แล้วก็ทำใจให้สงบสบายจริงๆ บางคนไม่เคยนึกไม่เคยรู้สึกอย่างนี้ ใจไม่มีเวลาพักเลย ร่างกายก็เหมือนกันไม่ได้มีเวลาพัก แต่ถึงกายจะพักใจก็ไม่พักอีก คิดวุ่นวายงุ่นง่าน อย่างที่คนโบราณว่า กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว หมายความว่า ร้อนรุ่มตลอดเวลา

ฉะนั้น จึงต้องมีวิธีการ อย่างน้อยพอพักผ่อนกายแล้วก็ให้ใจได้พักด้วย บอกตัวเองว่าสบาย แล้วก็ทำใจให้ผ่อนคลายโปร่งเบา ให้ร่าเริงเบิกบาน ให้มีความสุข

ถ้าเกิดนอนไม่หลับ ก็อย่าไปทุกข์มัน บางคนนอนไม่หลับแล้วยังไปซ้ำเติมตัวเองอีก นอนไม่หลับอย่างเดียวก็แย่อยู่แล้ว ยังไปทุกข์กระวนกระวายเพราะความไม่หลับอีก โอย ทำไมเราจึงไม่หลับสักที กลุ้มใจ กังวลใจ ก็นอนทรมานเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น พอถึงตอนเช้าก็หวิวๆ โหวงเหวง จะเป็นลมเอา

ทีนี้ เอาใหม่ ถ้านอนไม่หลับ ก็ไม่เป็นไร ช่างมัน มีเทคนิคที่จะแก้ไขตั้งหลายอย่าง ลองอย่างพระท่านบอกว่าให้กำหนดลมหายใจ นับลมหายใจ หายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ สัก ๕๐ ครั้ง บางคนนับไม่ทันครบหรอก หลับไปเมื่อไรไม่รู้ ก็ขอให้ลองนับลมหายใจดู

ทีนี้บางคนนับแล้วก็ไม่หลับ มีเหมือนกัน ๕๐ ครั้งก็ไม่หลับ ๑๐๐ ครั้งก็ไม่หลับ ไม่ต้องเป็นห่วง จะบอกให้อีก คาถาหนึ่งว่าหลับก็ช่าง ไม่หลับก็ช่าง ภาวนาเลย หายใจเข้า หลับก็ช่าง หายใจออก ไม่หลับก็ช่าง ทำใจให้สบาย มันไม่หลับทั้งคืนก็ช่างมัน ฉันไม่แคร์ พอทำอย่างนี้แล้วถึงเช้าก็ไม่เห็นค่อยเพลียเลย

อาตมาเคยป่วยแล้วนอนไม่หลับ ความเจ็บป่วยมันก่อกวน ก็ทำอย่างที่ว่านี้แหละ บอกในใจว่า หลับก็ช่าง ไม่หลับก็ช่าง เหมือนจังหวะรถไฟ ก็ได้ผล ถึงจะไม่หลับก็ไม่ค่อยเพลีย แต่คนที่ไม่หลับแล้วใจว้าวุ่นเป็นห่วงตัวเอง กังวลกับความไม่หลับนี่ พอถึงเช้าก็เพลียแทบแย่เลย

ฉะนั้น ไม่ต้องกลัว ถึงมันจะไม่หลับก็ช่างมัน เราได้พักใจของเราไปพอสมควรแล้ว พักใจเถอะ ถึงกายไม่พักก็ให้ใจมันพัก หลับก็ช่างไม่หลับก็ช่าง นี่ใจพักสบายเลย พอใจพักแล้วกายก็พลอยได้พักไปด้วย แม้ว่าจะไม่เต็มที่อย่างหลับ ก็สบายไปไม่น้อยเลย นี่แหละเป็นวิธีการต่างๆ

ตกลงว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้ว ได้ทุกวัน ชีวิตนี้ไม่สูญเสียเปล่า ได้กำไรเรื่อยไป เพราะฉะนั้น เอาคาถาของพระพุทธเจ้าไปใช้ คาถานี้ชะงัดศักดิ์สิทธิ์แน่นอน ท่านว่า

อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา

เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง

ทีนี้ สำหรับคนที่มีความเพียร ขยันมากยิ่งกว่านี้ พระพุทธเจ้าทรงบอกคาถาไว้ให้สั้นกว่านี้อีก เมื่อกี้ยังยาวไป คราวนี้คาถาก็สั้นเข้าไป เวลาก็สั้นลงอีก ท่านว่า

ขโณ โว มา อุปจฺจคา

แปลว่า เวลาแต่ละขณะอย่าให้ล่วงไปเปล่า

นี่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ท่านให้เพียรพยายามขนาดนี้ แม้กระทั่งแต่ละขณะก็อย่าให้ผ่านไปเสีย ถ้าแปลตามตัวอักษรก็ว่า เวลาแต่ละขณะอย่าล่วงท่านไปเสีย อย่าล่วงนี่หมายความว่า อย่าให้ข้ามตัวเราไป โดยเราไม่ได้ทำอะไร

นี่ก็เป็นคติต่างๆ ซึ่งอาตมาคิดว่าจะเป็นผลดี เป็นประโยชน์ในการทำงาน และในการดำเนินชีวิตของทุกๆ ท่านทุกๆ คน ก็ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นข้อคิดในทางธรรม

วันนี้อาตมาได้ใช้เวลาของที่ประชุมไปมากแล้ว คิดว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขออนุโมทนาแก่คุณโยมผู้เป็นประธานกรรมการ และท่านกรรมการอำนวยการ พร้อมทั้งคุณโยมโสภณ และคุณชาญวิทย์ เป็นต้น รวมทั้งพนักงานของบริษัททุกๆ ท่านที่ได้ต้อนรับ

เราได้มาพบกันในบรรยากาศของความยิ้มแย้มแจ่มใส ซึ่งเป็นส่วนช่วยทำให้มีความสุข ก็ขอให้ความสุขเกิดขึ้นในใจของทุกท่าน แล้วคงอยู่ยั่งยืนและพัฒนาเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป

แม้ท่านนายอำเภอ และท่านปลัดที่ได้มาเยี่ยมเยียน ก็ถือว่าเข้ามาอยู่ในวงแห่งความมีไมตรีจิตมิตรภาพนี้ด้วย ก็ขอให้ท่านได้รับพรจากความตั้งใจดีต่อกันทั้งทางฝ่ายบริษัทที่ตั้งใจดีต่อท่านนายอำเภอ และทั้งฝ่ายท่านนายอำเภอและท่านปลัดที่มีความปรารถนาดี มีมิตรไมตรีมาเยี่ยมเยียนชาวบริษัท ทั้งหมดนี้เป็นกุศลธรรมเกิดขึ้นในจิตใจของทุกๆ ท่าน

ในโอกาสนี้ อาตมา คณะพระสงฆ์ ก็ขอตั้งใจดีต่อทุกท่านด้วย ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย อวยชัยให้พร รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศล มีศรัทธาและเมตตาไมตรีธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจของทุกท่านนี้ จงเป็นปัจจัยอันมีกำลังอภิบาลรักษาให้ทุกท่าน เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ประสบสรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล เจริญงอกงาม ร่มเย็นเป็นสุข ในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน เทอญ

1ธรรมกถา แสดง ณ สโมสรศูนย์กีฬา โรงงานชลบุรี บริษัท อาหารสยาม จำกัด เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ตามคำอาราธนาของคุณนาม พูนวัตถุ ประธานกรรมการของบริษัท
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.