คุณบิดามารดา สุดพรรณนามหาศาล

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คุณบิดามารดา สุดพรรณนามหาศาล1

พ่อแม่นั้นมีอุปการคุณแก่เรามากมาย ในทางพระศาสนาท่านบรรยายไว้นานัปการ แม้กวีทั้งหลายก็ได้เขียนบรรยายกันไว้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปรากฏเป็นคำกลอนและคำประพันธ์ต่างๆ ที่บรรยายถึงคุณของบิดามารดา เพื่อให้ลูกได้รู้ตระหนักมองเห็นความสำคัญและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน

เมื่อว่าโดยย่อ ตามหลักพระศาสนา พ่อแม่นั้นทำหน้าที่สำคัญ คือ

๑. ท่านห้ามปรามเราไม่ให้ทำความชั่วช้าเสียหาย ป้องกันเราไม่ให้ตกไปในทางที่ต่ำทรามมีอันตราย

๒. ท่านสั่งสอนแนะนำเราให้ตั้งอยู่ในความดี ชักนำเราให้มุ่งไปในทางที่จะพบความสุขความเจริญ

๓. ท่านให้เราได้เล่าเรียนศิลปวิทยามีความรู้ที่จะไปประกอบอาชีพการงานเพื่อตั้งตัวให้เป็นหลักฐานต่อไป

๔. ถึงเวลาถึงวัยที่จะมีครอบครัวท่านก็เป็นธุระเอาใจใส่จัดแจงช่วยเหลือ โดยรับที่จะทำด้วยความเต็มใจ

๕. ทรัพย์สมบัติของท่าน ก็เป็นของลูกนั่นเอง ซึ่งท่านจะมอบให้ในเวลาอันสมควรเป็นระยะๆ ไป จนครั้งสุดท้ายที่เรียกว่ามรดก

ทั้งหมดนี้ เป็นที่รู้กันตามหลักการของพระศาสนา แต่ที่จริงนั้นท่านเพียงวางไว้ให้เป็นหัวข้อหรือรายการปฏิบัติที่สำคัญๆ เท่านั้น การปฏิบัติปลีกย่อย ยังมีอีกมากมาย รวมความก็คือ พ่อแม่นั้นทำทุกอย่างเพื่อลูกด้วยความรัก ว่าโดยคุณธรรมก็คือ การกระทำที่ออกมาจากพรหมวิหาร ๔ ประการนั่นเอง คือ

๑. ใจของพ่อแม่นั้นประกอบด้วยความรักความปรารถนาดี เอาใจใส่เลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโตและงอกงามมีความสุข คือ มีเมตตา

๒. ประกอบด้วยกรุณา มีความสงสาร คอยช่วยเหลือให้พ้นจากความยุ่งยากเดือดร้อน ช่วยแก้ไขปัญหา และปลดเปลื้องความทุกข์

๓. มีมุทิตา คอยส่งเสริม ให้กำลังใจ และพลอยยินดีเมื่อลูกประสบความสำเร็จ ประสบความก้าวหน้า หรือทำความดีงามถูกต้อง

๔. มีอุเบกขา ในเวลาที่สมควร เช่น เมื่อลูกจะต้องรับผิดชอบตัวเอง หรือควรรู้จักฝึกหัดทำอะไรด้วยตนเอง ท่านก็จะให้โอกาสแก่ลูกที่จะพัฒนาตัวเอง คือไม่ใช่จะทำให้ไปหมดทุกอย่างจนกระทั่งลูกทำอะไรไม่เป็น อันนี้เรียกว่า วางอุเบกขา

นี่คือหลัก พรหมวิหาร ๔ เรารู้กันว่าพ่อแม่นั้น เป็นตัวอย่างของคนที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ แต่ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า เราเน้นกันมากในพรหมวิหารข้อที่ ๑ เมื่อพูดถึงผู้ใหญ่ ว่าผู้ใหญ่จะต้องมีเมตตา แล้วก็มักจะตามด้วยข้อ ๒ คือกรุณา ว่ามีเมตตากรุณา และบุคคลผู้มีเมตตากรุณา ที่แสดงออกอย่างชัดเจน ก็คือ พ่อแม่ของเรานี่แหละ

ข้อสังเกตสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ในเมืองไทยเรานี้ แสดงเมตตา กรุณา และมุทิตา ได้ง่าย หรือพร้อมที่จะแสดงพรหมวิหาร ๓ ข้อแรกนี้ได้ตลอดเวลา แต่มักวางอุเบกขาไม่เป็น หรือแม้แต่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดต่อข้ออุเบกขา ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่รู้จักโต ทำอะไรไม่เป็น และไม่รู้จักรับผิดชอบ พรหมวิหารข้อสุดท้ายนี้จะปฏิบัติได้ถูกต้องจะต้องใช้ปัญญา จึงต้องศึกษาให้ดี ตอนแรกจะพูดเป็นแนวไว้ก่อน

พ่อแม่มีเมตตา ในยามปกติ เมื่อลูกเจริญเติบโตอยู่ดีตามที่ควรจะเป็น (เขาปกติ)

พ่อแม่มีกรุณา ยามลูกมีทุกข์ เช่น เจ็บป่วย หรือมีเรื่องลำบากเดือดร้อน (เขาตกต่ำ)

พ่อแม่มีมุทิตา ยามเมื่อลูกทำอะไรได้ดีมีสุขหรือประสบความสำเร็จ เช่น สอบได้ที่ดีๆ สอบเข้างานได้ หรือได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง (เขาขึ้นสูง)

แต่ในบางกรณี พ่อแม่ไม่อาจใช้เมตตา กรุณา หรือมุทิตา เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย เช่น อาจจะเสียหายแก่ชีวิตของลูกเอง หรือเสียธรรม ในกรณีอย่างนั้น จะต้องรู้จักวางอุเบกขา โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบ คือ

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อจะฝึกหัดให้ลูกรู้จักรับผิดชอบตนเอง จะได้ทำอะไรๆเป็น และพึ่งตนเองได้ เท่ากับเปิดโอกาสให้ลูกพัฒนา เช่น ให้เดินเอง ทำการบ้านเอง โดยพ่อแม่วางทีเฉยดูให้เขาทำ แต่พร้อมที่จะช่วยเมื่อถึงเวลา หรือเป็นที่ปรึกษาให้

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อลูกสมควรต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา เช่น ลูกทำความผิด ลูกทะเลาะกัน พ่อแม่วางตัวเป็นกลาง เพื่อให้มีการพิจารณา วินิจฉัย ตัดสิน และให้เขาปฏิบัติหรือได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

พ่อแม่มีอุเบกขา เมื่อลูกรับผิดชอบตนเองได้ เช่น เรียนจบแล้ว มีการงานทำเป็นหลักฐาน ออกเรือนมีครอบครัวของตัวเขาเอง พ่อแม่รู้จักวางตัววางเฉย ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตส่วนตัวของครอบครัวของเขา

จากคุณธรรมในใจที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พ่อแม่ก็แสดงออกมาภายนอก ด้วยการลงมือทำ คือปฏิบัติต่อลูกโดยทำการเลี้ยงดู และฝึกหัดอบรมสั่งสอน พร้อมทั้งทำหน้าที่ต่างๆ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ๕ ข้อนั้น การปฏิบัติทั้งหมดนี้เรียกว่าการสงเคราะห์ ซึ่งสรุปได้ตามหลักสังคหวัตถุ เป็น ๔ อย่าง คือ

๑. พ่อแม่มีแต่การให้แก่ลูก ที่เรียกว่า ทาน

๒. พ่อแม่พูดจาด้วยน้ำใจปรารถนาดี และอบรมสั่งสอนให้คำแนะนำ ชี้แจงบอกเล่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ เรียกว่า ปิยวาจา

๓. พ่อแม่ลงมือลงแรง เอาแรงกายของท่านทำโน่นทำนี่ให้ โดยเฉพาะเมื่อลูกยังเล็กอยู่ทำอะไรเองไม่ได้พ่อแม่ก็ทำให้ ตั้งแต่อุ้มเรา จูงเรา ป้อนข้าว อาบน้ำ แต่งตัวให้ ฯลฯ การเลี้ยงดูต่างๆ ท่านต้องลงมือปฏิบัติโดยใช้เรี่ยวแรงของท่านช่วยเราทั้งนั้น การเอาแรงกายเข้าช่วยนี้ เรียกว่า อัตถจริยา

๔. พ่อแม่อยู่กับลูก ร่วมสุขร่วมทุกข์กับลูก ทำตัวเข้ากับลูกได้ ปฏิบัติต่อลูกทุกคนอย่างเสมอภาค เสมอต้นเสมอปลายกับลูก ไม่ถือเนื้อถือตัว อย่างลูกสมัยปัจจุบันนี้ บางทีเล่นศีรษะพ่อแม่ข้ามไปข้ามมา ท่านก็ไม่ถือสา แต่คนอื่นมาทำอย่างนั้นไม่ได้พ่อแม่จะโกรธเอา ข้อนี้เรียกว่า สมานัตตตา

อันนี้เป็นหลักปฏิบัติที่ท่านเรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ประการ ซึ่งพ่อแม่มีต่อลูกเป็นประจำ แต่ทั้งหมดนั้น โดยสรุปแล้วก็รวมเป็นการสงเคราะห์ ๒ ประเภท คือ

๑. อามิสสงเคราะห์ สงเคราะห์ด้วยอามิสคือวัตถุสิ่งของ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ข้อนี้ชัดเจนอยู่แล้ว

๒. ธรรมสงเคราะห์ สงเคราะห์ด้วยธรรมคือการแนะนำสั่งสอน ให้รู้จักชั่วดี บาปบุญ เหตุผล ให้เจริญด้วยคุณธรรมความดี มีสติปัญญา พัฒนายิ่งขึ้นไป รวมทั้งการแสดงเมตตากรุณาที่ท่านปฏิบัติต่อลูกอยู่ตลอดเวลา มีความรักความเอาใจใส่ มีความอดทนต่อลูก ลูกจะทำอะไรเป็นเหตุให้พ่อแม่ต้องวุ่นวายยุ่งยาก ท่านก็อดทน เป็นต้น

จากการสงเคราะห์ของพ่อแม่นี่แหละ ลูกก็จะเอาไปเป็นแบบอย่างในการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน สิ่งที่ควรย้ำไว้ก็คือการสงเคราะห์นั้น ประการสำคัญอยู่ที่ต้องให้ครบทั้งสองอย่างคือ อย่ามีเพียงอามิสสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของอย่างเดียว ต้องมีธรรมสงเคราะห์ด้วย จึงจะมีความเจริญพัฒนาที่สมบูรณ์

รักของพ่อแม่ เป็นรักแท้ที่ยั่งยืน2

ได้บอกแล้วว่า ที่พ่อแม่ทำทุกอย่างเพื่อลูกนั้น ก็ด้วยความรัก เราจึงควรรู้จักความรักของพ่อแม่ให้ดีสักหน่อย

ความรัก ถ้าแยกตามหลักพระพุทธศาสนา ก็แบ่งง่ายๆ ก่อนว่า มี ๒ แบบ

ความรักแบบที่ ๑ คือ ความชอบใจในบุคคลหรือสิ่งที่จะเอามาบำรุงบำเรอความสุขของเรา ชอบใจคนนั้นเพราะว่า จะมาสนองความต้องการช่วยบำรุงบำเรอ ทำให้เรามีความสุขได้ อะไรที่จะทำให้เรามีความสุข เราชอบใจ เราต้องการมัน นี่คือ ความรักแบบหนึ่ง ซึ่งมีมากทีเดียว

ความรักแบบที่ ๒ คือ ความต้องการให้คนอื่นมีความสุข หรือความปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข ความรักของพ่อแม่เป็นแบบที่ ๒ นี้ คือ อยากให้ลูกมีความสุข

ความรัก ๒ อย่างนี้ แทบจะตรงข้ามกันเลย แบบที่ ๑ อยากได้เขามาบำเรอความสุขของเรา (จะหาความสุขจากเขา หรือเอาเขามาทำให้เราเป็นสุข) แต่แบบที่ ๒ อยากให้เขาเป็นสุข (จะให้ความสุขแก่เขา หรือทำให้เขาเป็นสุข) ความรักมี ๒ แบบอย่างนี้ซึ่งเห็นได้ในชีวิตประจำวัน

ความรักที่เด็กหนุ่มสาวพูดกันมาก ก็คือ ความรักแบบที่ว่า ชอบใจอยากได้เขามาสนองความต้องการของตน ทำให้ตนมีความสุข แต่ในครอบครัวจะมีความรักอีกแบบหนึ่งให้เห็น คือ ความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก โดยเฉพาะความรักของพ่อแม่ต่อลูก คือความอยากให้ลูกเป็นสุข

ฉะนั้น ตอนแรกจะต้องแยกระหว่างความรัก ๒ แบบนี้เสียก่อน ความรักชอบใจอยากได้คนอื่นมาบำเรอความสุขของเรานี้ ทางพระเรียกว่า ราคะ ส่วนความรักที่อยากให้คนอื่นเป็นสุข ท่านเรียกว่า เมตตา อะไรจะตามมาจากความรักทั้ง ๒ แบบนี้ ความรัก ๒ แบบนี้ มีลักษณะต่างกัน และมีผลต่างกันด้วย

ถ้ามีความรักแบบที่ ๑ ก็ต้องการได้ ต้องการเอาเพื่อตนเอง เมื่อทุกคนต่างคนต่างอยากได้ ความรักประเภทนี้ ก็จะนำมาซึ่งปัญหา คือ การเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน พร้อมด้วยความเห็นแก่ตัว

ส่วนความรักแบบที่ ๒ อยากให้ผู้อื่นเป็นสุข เมื่ออยากให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็จะพยายามทำให้เขาเป็นสุข เหมือนพ่อแม่รักลูก ก็จะพยายามทำให้ลูกเป็นสุข และเมื่อทำให้ลูกเป็นสุขได้ ตัวเองจึงจะเป็นสุข

ความรักของพ่อแม่คืออยากทำให้ลูกเป็นสุข และมีความสุขเมื่อเห็นลูกเป็นสุข เมื่ออยากเห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็หาทางทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุข วิธีสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ลูกมีความสุข ก็คือการให้แก่ลูก เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็จะมีความสุขในการให้แก่ลูก เพราะการให้นั้นเป็นการทำให้ลูกมีความสุข

ตามปกติ การให้คือการสละหรือการยอมเสียไป ซึ่งอาจจะทำให้ฝืนใจและเป็นความทุกข์ แต่พอมีความรักแบบที่สอง คือเมตตานี้มา ก็ให้ด้วยความสุข เพราะฉะนั้น ความรักคือเมตตาจึงมาสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ทำให้การให้กลายเป็นความสุข

ความรักแบบที่หนึ่ง เป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้ตนเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็เบื่อหน่าย รังเกียจ แต่ความรักแบบที่สองต้องการให้เขามีความสุข พอเขามีความทุกข์เดือดร้อน เราก็สงสารอยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ให้เขาพ้นจากความลำบากเดือดร้อนนั้น

ความรักประเภทที่หนึ่งนั้น ต้องได้จึงจะเป็นสุข ซึ่งเป็นกระแสกิเลสของปุถุชนทั่วไป มนุษย์อยู่ในโลกนี้ เมื่อยังเป็นปุถุชนก็ต้องการได้ต้องการเอา เมื่อได้เมื่อเอาแล้ว ก็มีความสุข แต่ถ้าต้องให้ต้องเสีย ก็เป็นทุกข์ วิถีของปุถุชนนี้ จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาในเรื่องของคุณธรรม เพราะว่าถ้าการให้เป็นทุกข์เสียแล้ว คุณธรรมก็มาไม่ได้ มนุษย์จะต้องเบียดเบียนกัน แก้ปัญหาสังคมไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไรเราสามารถมีความสุขจากการให้ เมื่อไรการให้กลายเป็นความสุข เมื่อนั้นปัญหาสังคมจะถูกลดน้อยลงไป หรือแก้ไขได้ทันที เพราะมนุษย์จะเกื้อกูลกัน ความรักแบบที่สอง ทำให้คนมีความสุขจากการให้ จึงเป็นความรักที่สร้างสรรค์และแก้ปัญหา

เมื่อมนุษย์มีความสุขจากการให้ จะเป็นความสุขแบบสองฝ่ายสุขด้วยกัน คือ เราผู้ให้ก็สุขเมื่อเห็นเขามีความสุข ส่วนผู้ได้รับก็มีความสุขจากการได้รับอยู่แล้ว สองฝ่ายสุขด้วยกัน จึงเป็นความสุขแบบประสาน ความสุขแบบนี้ดีแก่ชีวิตของตนเองด้วย คือ ตนเองก็มีทางได้ความสุขเพิ่มขึ้น แล้วก็ดีต่อสังคม เพราะเป็นการเกื้อกูลกัน ช่วยให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดี

ความรักของพ่อแม่ต่อลูกเป็นความรักแบบที่อยากเห็นลูกมีความสุข แล้วก็พยายามทำอะไรต่างๆ ให้ลูกมีความสุข เมื่อเห็นลูกมีความสุขพ่อแม่ก็มีความสุขด้วย ดังนั้น พ่อแม่จึงมีความสุขในการที่ได้ให้แก่ลูก ในขณะที่คนทั่วไปต้องได้จึงจะมีความสุข แต่พ่อแม่ให้แก่ลูกก็มีความสุข แม้ตัวเองจะต้องทุกข์เดือดร้อนพ่อแม่ก็ยอม

บางทีตัวเองต้องลำบากเดือดร้อน แต่พอเห็นลูกมีความสุขก็มีความสุข ในทางตรงข้ามถ้าเห็นลูกไม่สบายหรือตกทุกข์ลำบาก พ่อแม่ก็มีความสงสาร ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความเบื่อหน่าย แล้วยังทนทุกข์ทนลำบากเพื่อลูกได้ด้วย

รักของพ่อแม่นี้เป็นรักแท้ที่ยั่งยืน ลูกจะขึ้นสูง ลงต่ำ ดีร้าย พ่อแม่ก็รัก ตัดลูกไม่ขาด ลูกจะไปไหนห่างไกล ยาวนานเท่าใด จะเกิดเหตุการณ์ผันแปรอย่างไร แม้แต่จะถูกคนทั่วโลกรังเกียจ ไม่มีใครเอาด้วยแล้ว พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดก็ยังเป็นอ้อมอกสุดท้ายที่จะโอบกอดลูกไว้

นี้แหละที่ว่า เป็นการแยกความหมายของความรักเป็น ๒ แบบ พ่อแม่มีความรักแบบที่ ๒ ซึ่งเป็นรักแท้ คนทั่วไปเริ่มต้นก็มีความรักแบบแรก คืออยากได้เขามาทำให้ตัวเรามีความสุข แต่คนควรจะพัฒนาจากความรักแบบที่หนึ่งไปสู่ความรักแบบที่สอง คือ ให้ความรักแบบที่สองเกิดมีขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างดุลยภาพในเรื่องความรัก เช่น ระหว่างหนุ่มสาว ถ้ามีความรักแบบที่หนึ่งอย่างเดียวจะไม่ยั่งยืน ไม่ช้าไม่นานก็จะต้องเกิดปัญหาแน่นอน เพราะว่าความรักแบบที่หนึ่งนั้น ต้องการที่จะเอาเขามาเป็นเครื่องบำรุงบำเรอตัวเองเท่านั้น ถ้าเมื่อไรตนไม่สมใจปรารถนา เมื่อนั้นก็จะเกิดโทสะ มีความชิงชัง หรือไม่ก็เบื่อหน่าย แล้วปัญหาก็จะเกิดขึ้น

ฉะนั้น คนเราอาจจะเริ่มต้นด้วยความรักแบบที่หนึ่งได้ ตามเรื่องของปุถุชน แต่จะต้องรีบพัฒนาความรักแบบที่สองให้เกิดขึ้น พออยู่เป็นคู่ครองกันแล้ว ถ้ามีความรักแบบที่สองเข้ามาหนุน ก็จะทำให้อยู่กันได้ยั่งยืน ความรักแบบที่สองจะเป็นเครื่องผูกพันสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตครองเรือนมีความมั่นคง ดังนั้นปุถุชนนี้อย่างน้อยก็ให้มีความรัก ๒ แบบ มามีดุลยภาพกันก็ยังดี ขอให้ได้แค่นี้ก็พอ

ในกรณีของสามีภรรยา ถ้ามีความรักแบบแรกที่จะเอาแต่ใจฝ่ายตัวเอง ก็คือ ตัวเองต้องการเขามาเพื่อบำเรอความสุขของตน ถ้าอย่างนี้ก็ต้องตามใจตัว ไม่ช้าก็จะต้องเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือเบื่อหน่าย แล้วก็อยู่กันไม่ได้ ไม่ยั่งยืน แต่ถ้ามีความรักแบบที่สอง คือ อยากให้เขาเป็นสุข เราก็จะมีน้ำใจ พยายามทำให้เขาเป็นสุข

ถ้ามีความรักแบบที่สองอยู่ ความรักก็จะยั่งยืนแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างก็คิดว่า ทำอย่างไรจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข สามีก็คิดว่าทำอย่างไรจะให้ภรรยามีความสุข ภรรยาก็คิดแต่ว่า จะทำอย่างไรให้สามีมีความสุข คิดกันอย่างนี้ก็คือมีน้ำใจและมีแต่จะเกื้อกูลกัน ทำให้ครอบครัวอยู่ยั่งยืน ชีวิตก็มีความสุขได้

ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า เราจะต้องพัฒนาคนในเรื่องความรัก ให้รู้จักความรักทั้ง ๒ อย่าง อย่างน้อยก็ให้มีดุลยภาพในเรื่องความรัก ๒ ข้อนี้ แล้วพัฒนายิ่งขึ้น จนกระทั่งให้คนเราอยู่กันด้วยความรักประเภทที่สอง

ลักษณะของความรัก มีอยู่อย่างหนึ่ง คือมันนำความสุขมาให้ด้วย ความรักแบบที่หนึ่งก็ทำให้เกิดความสุข เมื่อได้สนองความต้องการที่ตัวจะได้ ส่วนความรักประเภทที่สอง ก็ทำให้เกิดความสุข เมื่อได้สนองความต้องการที่จะให้เขามีความสุข

ฉะนั้น คนที่ทำจิตให้มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ได้หมด ก็จะมีความสุขได้มากเหลือเกิน คือเวลาเห็นเพื่อนมนุษย์มีความสุข หรือเราทำให้เขามีความสุขได้ ตัวเราเองก็มีความสุขด้วย คนประเภทนี้ก็เลยมีโอกาสที่จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น คนที่พัฒนามาถึงระดับนี้ก็เช่น พระโสดาบัน เป็นต้น พระโสดาบันนั้นไม่มีมัจฉริยะ ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีความหวงแหน มีความพร้อมที่จะให้ เพราะฉะนั้น คุณธรรมคือเมตตาก็เจริญมากขึ้นด้วย และท่านก็มีความสุขยิ่งขึ้นมากมาย จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ก็มีแต่สุข ไม่มีทุกข์เหลืออยู่เลย

ความรักของพ่อแม่ถึงแม้จะจำกัดอยู่กับลูกก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เป็นการหวงแหนอย่างความรักแบบที่หนึ่ง คือพ่อแม่รักลูก ความหวงนั้นจะมีแต่ในแง่ที่อยากให้ลูกมีความสุข ไม่ยอมให้ใครมาทำให้ลูกทุกข์ แต่ไม่ได้หวงแหนที่ว่าต้องการครอบครองเอาไว้เป็นของตัว เพื่อบำเรอความสุขของตัว ไม่มีความหึง คือไม่ได้หวงผัสสะไว้เพื่อตัว และไม่ได้หวงใจ แต่ตรงกันข้าม ถ้าลูกมีคู่ครองที่ดีมีความสุข พ่อแม่ก็พลอยมีความสุขไปด้วย

ทุกคนต้องเป็นพรหม เพื่ออภิบาลสังคมให้ยั่งยืน3

พระคุณของพ่อแม่มากมายหลายอย่างที่พูดมานี้ รวมแล้วก็มาจากพรหมวิหาร ๔ นั่นเอง เนื่องจากพรหมวิหาร ๔ นี้ มีความสำคัญมาก ไม่เฉพาะพ่อแม่จะมีต่อลูกเท่านั้น แต่จะต้องขยายออกไปให้ทุกคนมีต่อเพื่อนมนุษย์ หรือเพื่อนร่วมโลกทั่วทุกตัวคน เพราะฉะนั้นจึงขอถือโอกาสอธิบายให้ละเอียดกว่าที่พูดไว้ข้างต้นนั้นอีกหน่อย

เราทุกคนอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เริ่มตั้งแต่พ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาในครอบครัวเป็นต้นไป ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์นั้นมีหลักธรรมประจำใจอยู่หมวดหนึ่ง สำหรับเป็นหลักในการที่จะวางใจหรือมีท่าทีแห่งจิตใจต่อผู้คนรอบด้าน ธรรมชุดนี้ที่จริงก็เป็นหลักธรรมง่ายๆ แต่บางทีเราก็ใช้ไม่เป็น นี่ก็คือ พรหมวิหาร ๔ ที่พูดไว้แล้วข้างต้นนั่นเอง ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บางทีที่เราดำเนินชีวิตกันมาจนบัดนี้ เราก็ยังเข้าใจและใช้ธรรมชุดนี้ได้ไม่สมบูรณ์

พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมประจำใจของพรหม พรหมนั้น ศาสนาพราหมณ์เขาถือว่า เป็นผู้สร้างโลก เป็นเทพเจ้าผู้ดลบันดาลสิ่งทั้งหลาย เป็นผู้สร้างสรรค์และอภิบาลโลก แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเราไม่ต้องไปรอพระพรหมให้มาสร้างโลก อภิบาลโลก เราทุกคนควรจะเป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์อภิบาลโลกด้วยกันทุกคน เพราะฉะนั้นจึงมาทำตัวให้เป็นพรหมกันเถิด แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงพรหมวิหารไว้ให้เราทุกคนปฏิบัติ เพื่อให้เราทุกคนเป็นพระพรหม คือเป็นผู้สร้างสรรค์และอภิบาลสังคม ดังนั้นเราจะเป็นพระพรหมโดยสมบูรณ์ ก็ต้องมีธรรมทั้ง ๔ ข้อ คือมี

๑. เมตตา รัก ปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข

๒. กรุณา สงสาร อยากช่วยเหลือให้เขาพ้นจากทุกข์

๓. มุทิตา พลอยยินดีด้วย เมื่อเขาสุขสำเร็จทำได้ดี

๔. อุเบกขา วางทีเฉยเป็นกลาง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม

เมตตา กับ กรุณา นี่เมืองไทยใช้มาก พูดกันอยู่เสมอจนเป็นคำไทยสามัญ แต่แยกความหมายกันไม่ค่อยออก เพราะฉะนั้นตอนแรกจะต้องแยกความหมายระหว่าง เมตตา กับ กรุณา ให้ชัดว่าต่างกันอย่างไร

วิธีแยกให้ชัดง่ายๆ ก็คือ ธรรมหมวดนี้เป็นท่าทีของจิตใจสำหรับแสดงต่อผู้อื่น เมื่อเป็นธรรมสำหรับแสดงต่อผู้อื่น ความหมายของมันจะชัดด้วยการพิจารณาดูสถานการณ์ที่ผู้อื่นเขาประสบว่า เขาอยู่ในสถานการณ์ใดแล้วเราจะใช้ธรรมข้อไหน

สถานการณ์ที่ ๑ คนอื่นเขาอยู่ดีเป็นปกติ ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเป็นพิเศษ ในกรณีนี้เราจะต้องมี เมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดี ความเป็นมิตร

เมตตาก็มาจากต้นศัพท์เดียวกับคำว่ามิตร มิตตะ แปลง อิ เป็น เอ ก็เป็น เมตตะ เติมสระอาเข้าไปเป็นเมตตา รากศัพท์เดียวกัน เมตตาจึงแปลว่า น้ำใจมิตร คุณสมบัติของมิตร หรือความเป็นมิตร ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไมตรี เป็นอันว่า สำหรับคนที่อยู่เป็นปกติ เราก็มีความเป็นมิตร มีไมตรี มีเมตตา มีความรัก ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข

สถานการณ์ที่ ๒ คนอื่นเขาตกต่ำเดือดร้อน พอเขาทรุดต่ำตกลงไปจากสถานะเดิม คือประสบความเดือดร้อน เราก็ย้ายไปสู่คุณธรรมข้อที่ ๒ คือ กรุณา ซึ่งได้แก่ความมีใจพลอยหวั่นไหวเมื่อผู้อื่นประสบความทุกข์ แล้วก็อยากจะช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์หรือแก้ไขปัญหาของเขา ทำให้เขาขึ้นมาสู่ภาวะปกติ หายทุกข์ หายร้อน

พูดสั้นๆว่า เขาอยู่ดีเป็นปกติ เราเมตตา แต่ถ้าเขามีทุกข์เดือดร้อน เราก็กรุณา คนไทยพูดถึงเมตตา กรุณา กันบ่อย แสดงว่าคนไทยคงมีเมตตากรุณามาก แต่ข้อต่อไปคนไทยไม่ค่อยพูดถึง

สถานการณ์ที่ ๓ คนอื่นเขาขึ้นสู่ภาวะที่สูงขึ้นไป คือประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามน่าชื่นชม มีความก้าวหน้า หรือมีความสุข เรียกง่ายๆ ว่า เขาได้ดีมีสุข เราก็ย้ายต่อไปสู่คุณธรรมข้อที่ ๓ คือ มุทิตา ซึ่งแปลว่า พลอยยินดีด้วย เอาใจส่งเสริมสนับสนุน

คนเรานี้ที่ประสบสถานการณ์กันอยู่โดยทั่วไปก็ ๓ อย่างนี่แหละ คือ เป็นปกติ ตกต่ำ ขึ้นสูง เราก็มีเมตตา กรุณา มุทิตา ไว้ปฏิบัติต่อเขาครบทั้ง ๓ สถานการณ์ แต่แค่นี้ไม่จบ ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นสถานการณ์ที่ ๔ ข้อนี้น่าสงสัย เพราะ ๓ สถานการณ์ก็น่าจะครบแล้ว ยังมีอะไรอีก สถานการณ์ที่ ๔ คืออะไร

สถานการณ์ที่ ๔ ข้อนี้ยากหน่อย คงต้องอธิบายยาวสักนิด

จะต้องเข้าใจว่า สามข้อแรกนั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือคนกับคน แต่ในโลกมนุษย์เรานี้ เราไม่ได้อยู่กับมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น เราต้องอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตในธรรมชาติด้วย หมายความว่า โลกมนุษย์นั้นต้องตั้งอยู่บนฐานของกฎธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง เราจึงมีความสัมพันธ์ ๒ ด้าน หรือ ๒ ระดับ คือ

ด้านหนึ่ง เราอยู่กับคนด้วยกัน คือเพื่อนมนุษย์ที่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคม เรามีความสัมพันธ์ที่ดี เรามีเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือกันดี ก็อยู่กันด้วยดี มีความร่มเย็นเป็นสุข

อีกด้านหนึ่ง ลึกลงไป ชีวิตของเราอยู่กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ อยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต แม้แต่ร่างกายของเรานี้ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งไม่ฟังใครทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องรู้เข้าใจมัน และปฏิบัติตัวให้ถูกต้องสอดคล้องกับมัน ด้านนี้แหละที่สำคัญ ซึ่งเราจะมองข้ามหรือละเลยไม่ได้

เมตตา กรุณา มุทิตา นั้น มาช่วยในด้านที่หนึ่ง ที่ชีวิตของเราไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ แต่ด้านที่สอง ชีวิตของเราต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ในด้านนี้คนจะต้องมีปัญญา รู้จักรับผิดชอบตัวเอง ที่จะดำเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้องด้วยตนเอง จะรอให้คนอื่นมาช่วยไม่ได้

ในข้อ ๑-๒-๓ นั้น คนช่วยกันด้วยความรู้สึกที่ดีงาม แต่ข้อสี่ในความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ไม่เข้าใครออกใครนั้น เราจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง โดยใช้ปัญญา ทุกคนจึงต้องรู้จักรับผิดชอบตนเอง ไม่ใช่รอการช่วยเหลือพึ่งพา

ยกตัวอย่าง พ่อแม่เลี้ยงลูก ถ้าเอาแต่เมตตา กรุณามุทิตา ก็ทำให้ลูกหมดทุกอย่าง แต่ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรืออยู่กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเดียว อีกด้านหนึ่งชีวิตของลูกต้องอยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิต เขาจะต้องไปมีชีวิตของเขาเองในโลก ในสังคม ซึ่งเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ปัญหาก็คือเขารับผิดชอบชีวิตของเขาเองได้หรือไม่

ถ้าเราเอาแต่ช่วยเขาด้วยเมตตากรุณามุทิตา เขาอาจจะไม่รู้จักทำอะไรให้เป็นด้วยตัวเอง และรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ คือไม่สามารถพึ่งตนเอง ในระยะยาวพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไป เขาจะต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ที่มันไม่เข้าใครออกใคร เขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองให้ได้ ตอนนี้แหละที่ท่านให้ใช้ข้อสี่ คือ สามข้อแรกนี่พ่อแม่จะทำให้ลูก แต่ข้อสี่ พ่อแม่จะดูให้ลูกทำ ข้อสี่นี่แหละคืออุเบกขา

อุเบกขา แปลว่า คอยดู หรือดูอยู่ใกล้ๆ มาจาก อุป แปลว่า คอย หรือ ใกล้ๆ และอิกข แปลว่ามองดู อุเบกขาจึงแปลว่ามองดูอยู่ใกล้ๆ หรือคอยมองดู แต่ไม่ใช่ดูเปล่าๆ ดูให้เขาทำ คือพ่อแม่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ต่อไปลูกเราจะโต จะต้องหัดดำเนินชีวิตเองให้ได้ จะต้องรับผิดชอบตัวเองได้ จะต้องทำอะไรเป็นบ้าง เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นแล้ว ก็มาฝึกให้ลูกทำ ให้เขาฝึกตัวเอง แล้วเราดูอยู่ใกล้ๆ เป็นที่ปรึกษา ถ้าเขาทำไม่ถูก ทำไม่ได้ผล ทำผิด จะได้ช่วยแก้ไข แนะนำ จนเขาทำเป็นหรือทำได้ดีด้วยตนเอง

ถ้าเราไม่รีบใช้อุเบกขาเสียแต่บัดนี้ ต่อไปเราไม่ได้อยู่กับเขา พอเขาโตขึ้น เขารับผิดชอบตัวเองไม่เป็น ทำไม่เป็น เขาทำผิดเราก็ไม่มีโอกาสไปแก้ไข ไม่มีโอกาสจะช่วยแนะนำ เพราะฉะนั้น จึงต้องฝึกเขาตั้งแต่บัดนี้ ตรงนี้แหละอุเบกขาจึงมา เพื่อให้เขามีโอกาสพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่เอาแต่รักแล้วทำให้เขาหมดทุกอย่าง จนกลายเป็นว่าพ่อแม่ปิดกั้นการพัฒนาของลูก หรือถึงกับทำลายลูกด้วยความรักไม่เป็น อุเบกขานี่มากับปัญญา ต้องมีปัญญาจึงจะมีอุเบกขาได้ นี่แหละข้อสี่ และที่พูดมานี้เป็นแง่ที่หนึ่ง

“รัก” ต้องมี “รู้” มาเข้าคู่ให้สมดุล

ตามที่พูดมานี้จะเห็นว่า สถานการณ์ที่ ๔ ก็คือ สถานการณ์ที่มนุษย์สัมพันธ์กับมนุษย์ในกรณีที่ไปเกี่ยวข้องกับตัวธรรม การรักษาความสัมพันธ์กับธรรมนี้ยังมีอีกอย่างหนึ่งเป็นแง่ที่สอง

ธรรมคือความเป็นจริงของธรรมชาติ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่าหลักการ หรือกติกาของธรรมชาติ คือ กฎธรรมชาติ ได้แก่ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความถูกต้องตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผล ความสมเหตุสมผล หรือความสมควรตามเหตุและผล รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรม หรือความชอบธรรม

จากหลักการหรือกฎของธรรมชาตินี้ มนุษย์เราก็มาบัญญัติระบบในสังคมของตน เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ในความดีงาม ก็เกิดเป็นหลักการหรือกฎในสังคมมนุษย์ กลายเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา

เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปส่งผลกระทบเสียหายต่อธรรม คือ ทำให้เสียหลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้องดีงาม ความสมตามเหตุผล ความชอบธรรม ความเป็นธรรม เช่นผิดกฎหมาย หรือกติกาสังคม เราต้องหยุดช่วยเหลือ เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อธรรม นี่คือ อุเบกขา เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุมหมด ทำให้สามข้อแรกมีขอบเขต

เมตตา กรุณา มุทิตาจะเลยขอบเขตไม่ได้ เมื่อช่วยกันไปถ้าจะละเมิดหลักการ ละเมิดกติกา ละเมิดความเป็นธรรม ต้องหยุด เราเลยแปล “อุเบกขา” ว่า เฉย หมายความว่าเฉยต่อคนนั้น ไม่ช่วย(ในทางที่ผิด) ในภาษาบาลีท่านอธิบายว่าไม่ขวนขวาย(ที่จะช่วย) เหมือนกับบอกว่าฉันไม่เอากะคุณละนะ

เราช่วยเหลือกันตลอดเวลา โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ถ้าจะทำให้เสียหลักการ เสียความเป็นธรรม ฉันต้องหยุด ฉันไม่เอากับคุณแล้วนะ กฎต้องเป็นกฎ ตรงนี้เรียกว่าอุเบกขา

อุเบกขา คือเฉยต่อคนนั้น เพื่ออะไร เพื่อไม่ละเมิด เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรม ธรรมจะออกผลอย่างไรต้องว่าไปตามนั้น ในขณะที่ เมตตา กรุณามุทิตา รักษาคน แต่อุเบกขา รักษาธรรม

ที่จริง อุเบกขาก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั่นแหละ แต่ในกรณีนี้ความสัมพันธ์นั้นไม่อยู่แค่มนุษย์แล้ว แต่มันไปเกี่ยวข้องกับธรรมด้วย คือไปเกี่ยวข้องกับหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ทั้งในธรรมชาติ และที่มาบัญญัติกันในสังคมมนุษย์

ฉะนั้น อะไรที่เป็นเรื่องที่เขาสมควรจะช่วยตัวเอง ควรรับผิดชอบตามความเป็นจริงของความเป็นเหตุเป็นผล เราไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ใช่ช่วยเรื่อยเปื่อย ต้องช่วยในขอบเขตของความสมเหตุสมผล และช่วยเฉพาะในขอบเขตที่ไม่ละเมิดธรรม ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุม และรักษาดุล ให้การช่วยเหลือกันไม่เลยขอบเขตจนเสียธรรม

ถึงตอนนี้คงจะประมวลคำอธิบายพรหมวิหารข้อสุดท้าย มาสรุปลงเป็นความหมายของอุเบกขาได้ว่า

สถานการณ์ที่ ๔ เมื่อเขาสมควรจะต้องรับผิดชอบการกระทำของตน (รวมทั้งฝึกหัดความรับผิดชอบนั้น) คือในกรณีที่ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือด้วยเมตตาก็ตาม กรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม จะเป็นการละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรม ต่อความจริงความถูกต้องดีงาม ความสมควรตามเหตุผล หรือทำลายหลักการ กฎ กติกาที่ชอบธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อ ๑-๒-๓ จะต้องถูกหยุดยั้ง เราจะต้องตั้งตัวหรือวางตนอยู่ในอุเบกขา คือ หยุดการขวนขวายช่วยเหลือ เพื่อให้มีการปฏิบัติไปตามธรรม ตามหลักการ หรือตามกติกา โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง

ขอยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งไปประสบความสำเร็จลักขโมยเงินเขามาได้ ๕,๐๐๐ บาท ดีใจใหญ่ เราเห็นว่าเด็กนั้นประสบความสำเร็จ เราจะไปมุทิตาถูกต้องไหม ไม่ถูกต้องใช่ไหม เพราะว่า ถ้าเราไปดีใจ ไปส่งเสริม ก็ไปกระทบกับตัวธรรม กลายเป็นการทำลายหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม ฉะนั้น ในกรณีนี้ เราก็ต้องปฏิบัติไปตามธรรม

อีกตัวอย่างหนึ่ง ลองดูในกรณีของผู้พิพากษา เช่น จำเลยทำความผิดจริง ไปฆ่าคนมา ผู้พิพากษาคิดว่าถ้าเราจะตัดสินให้เขาเข้าคุก เขาก็จะมีความทุกข์ ก็เกิดกรุณา สงสาร เลยตัดสินให้พ้นผิด อย่างนี้ไม่ถูก เพราะการมีกรุณาในกรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อตัวธรรม ทำให้เสียหลักความจริงความถูกต้องดีงาม ทำลายหลักการกฎเกณฑ์กติกาที่รองรับสังคมอยู่

ในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ส่งผลกระทบเสียหายต่อหลักการแห่งความเป็นธรรม ชอบธรรม หรือตัวหลักการ ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายที่จะยึดเหนี่ยวให้สังคมมนุษย์อยู่ได้ เราจะต้องหยุดข้อที่ ๑, ๒, ๓ ไว้ แล้วย้ายไปข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อความเป็นจริง ต่อตัวธรรม ต่อหลักการและกฎเกณฑ์กติกานั้นๆ อันนี้แหละเรียกว่าอุเบกขา

ได้บอกแล้วว่า อุเบกขา แปลว่าคอยมองดู มาจาก อุป (ใกล้ๆ หรือคอย) + อิกฺข (มอง) หมายความว่า เพื่อไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการของธรรม เราจึงเฉยต่อคนนั้น คือ ปล่อยหรือเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติต่อเขาไปตามธรรม ตามหลักการ หรือตามกฎเกณฑ์กติกา ใครมีหน้าที่อย่างไรก็ทำไปตามนั้น หลักการหรือกฎเกณฑ์ว่าอย่างไร ก็ทำไปตามนั้น เราก็คอยมองดู ถ้ามีอะไรต้องทำเมื่อไร ก็ทำ คือคอยมองดูให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างถูกต้องตามที่มันควรจะเป็นหรือตามธรรม โดยใช้ปัญญาพิจารณาปฏิบัติให้เหมาะ

อุเบกขานี่ต้องใช้ปัญญา ต่างจากเมตตา กรุณา มุทิตา ที่ใช้ความรู้สึกมาก คือรู้สึกเป็นมิตร รู้สึกเห็นใจสงสาร และรู้สึกพลอยดีใจช่วยหนุน ส่วนอุเบกขาต้องมีปัญญา คือต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นความจริง แล้วจึงเอาความรู้นั้นมาปรับความรู้สึกให้ลงตัวพอดี การที่ปัญญาความรู้นั้นมาปรับความรู้สึกให้ลงตัวพอดีได้ วางตัวถูกต้องเป็นกลางอยู่ในธรรม อันนี้เรียกว่า อุเบกขา เป็นอันว่า เราจะต้องมีอุเบกขาด้วย จึงจะรักษาสังคมนี้ไว้ได้ มิฉะนั้น สังคมนี้ก็จะปั่นป่วน

ถ้าเราใช้เมตตา กรุณา มุทิตามาก เราจะมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี แต่ถ้าขาดอุเบกขา คนจะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลจนกระทั่งเสียหลักการ ไม่เหลียวแล ไม่ดูหลักการว่า จะเสียความเป็นธรรมในสังคมไหม หลักเกณฑ์ กฎหมาย กติกาไม่เอา จะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลอย่างเดียว

สังคมไทยนี้ น่าจะหนักไปทาง ๓ ข้อแรก ส่วนข้อ ๔ นี่ขาดมาก อุเบกขาแทบจะไม่มี และไม่รู้จักด้วยซ้ำ

ในสังคมไทย เมื่อคนไม่รู้จักอุเบกขาตัวจริง เวลาพูดถึง อุเบกขา ก็เข้าใจผิด นึกว่าเฉยแล้วเป็นอุเบกขา เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็เฉย แต่กลายเป็นเฉยไม่รู้เรื่องรู้ราว เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว และเฉยไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนี้ทางพระท่านมีศัพท์ให้ด้วย เรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่า เฉยโง่ ซึ่งเป็นอกุศล เป็นบาป คนไทยเรานี้ถ้าไม่ระวังให้ดีจะเฉยโง่กันมาก เฉยที่แท้ต้องเป็นเฉยด้วยปัญญา เพราะว่าอุเบกขานี้จะมีได้ต้องอาศัยปัญญา

สามข้อต้นนั้นหนักด้านความ“รู้สึก” ในการพัฒนามนุษย์ด้านความรู้สึก ที่เรียกเพี้ยนกันไปว่าด้านอารมณ์นี้ เรามุ่งให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งเป็นฝ่ายความรู้สึก หรือ emotion ที่ดี แต่ความรู้สึก หรือ emotion นี้จะต้องถูกคุมด้วยปัญญามิฉะนั้น emotion คือด้านอารมณ์ หรือด้านความรู้สึก อาจจะเลยขอบเขตไม่ถูกต้อง และถ้าเราไม่มีปัญญาคุม เมื่อเราช่วยเขาไม่ได้ จิตใจเราจะร้อนรน กระวนกระวาย เป็นทุกข์ แต่พอปัญญาคือด้านความ“รู้”มา ก็จะสร้างดุลยภาพ ทำให้จิตใจสงบ จึงต้องเอาความรู้มาคุมความรู้สึก ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงไปจบที่ปัญญา

ด้านรู้ต้องคุมด้านรู้สึก แล้วเมื่อปัญญาด้านรู้พัฒนาไป ก็จะพัฒนาด้านความรู้สึกให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะด้านความรู้สึกนั้นมีฝ่ายอกุศล เช่น โกรธ เกลียด ชัง ริษยา ระแวง เห็นแก่ตัว เป็นต้น พอปัญญามาก็พัฒนาความรู้สึก คือพวก emotion ให้มาเป็น emotion ที่ดี เป็นฝ่ายเมตตา กรุณา หรือความรัก เป็นต้น แต่แม้จะเป็นความรู้สึกที่ดีแล้วก็ต้องอยู่ในความควบคุมของปัญญา

เป็นอันว่า สามข้อต้นหนักในด้านความรู้สึก คือ ความรัก ส่วนข้อสี่หนักในด้านปัญญา คือ ความรู้ ต้องให้ปัญญานำเอาอุเบกขามาคุมความรู้สึกไว้
สามข้อแรกคือ เมตตา กรุณา มุทิตา แทบไม่ต้องใช้ปัญญา เพียงแต่มีความรู้สึกที่ดีก็พอ คือ เขาอยู่เป็นปกติเราก็รู้สึกรัก เขาทุกข์ร้อนเราก็รู้สึกสงสาร เขาได้ดีมีสุขเราก็รู้สึกยินดีด้วย แต่ในข้อสี่นี่ ถ้าไม่มีปัญญาก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะต้องรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความถูกต้อง อะไรเป็นหลักการ จึงจะปฏิบัติได้ ข้อสี่จึงต้องเน้นปัญญา และเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะสร้างดุลยภาพ หรือความพอดีให้เกิดขึ้น

เมื่อมีความรักโดยไม่ขาดความรู้ คือ ใช้เมตตากรุณาโดยมีปัญญามาโยงเข้ากับอุเบกขา ก็จะเกิดความสมดุลและความถูกต้องพอดี

เมตตากรุณาก็มี มุทิตาก็มา
พออุเบกขาบรรจบ ก็ครบสี่พักตร์พระพรหม

เป็นอันว่าข้อที่ ๔ คืออุเบกขา เป็นตัวคุมท้าย และคุมทั้งหมด สำหรับรักษาให้โลกนี้อยู่ในธรรม อยู่ในความถูกต้องดีงาม รักษาหลักการของสังคม ทำให้สังคมอยู่ในความเป็นธรรม แต่ถ้าเรามีอุเบกขามากอย่างเดียว ก็เอาแต่ตัวใครตัวมัน ทุกคนรับผิดชอบต่อหลักการ คุณทำถูกต้องตามหลักการ หรือตามกฎหมาย ฉันไม่ว่า แต่ถ้าคุณทำผิดหลักการและกฎเกณฑ์กติกาเมื่อไร ฉันจัดการทันที เวลาอื่นนอกจากนั้น ต่างคนต่างอยู่ ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่เอาใจใส่ ไม่มีน้ำใจต่อกัน สังคมนั้นก็ขาดความอบอุ่น แห้งแล้ง คนก็เครียด ใจไม่สบาย เป็นโรคจิตกันมาก ก็เสียดุลอีก

เพราะฉะนั้น สังคมจึงต้องมีพรหมวิหารให้ครบและให้เหมาะพอดี ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้สำหรับ ๔ สถานการณ์ ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว สังคมจะมีดุลยภาพ เริ่มตั้งแต่ในสังคมเล็กคือครอบครัว โดยปฏิบัติให้ถูกต้องต่อลูกของตนเอง

หนึ่ง เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ เราก็มีเมตตา เลี้ยงดูให้เขามีความสุข

สอง ถ้าเขาเกิดเรื่องเดือดร้อนเป็นทุกข์ มีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น เราก็กรุณาสงสาร ช่วยเหลือแก้ไขให้หมดปัญหา

สาม เมื่อเขาประสบความสำเร็จ ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เราก็มุทิตา พลอยยินดีด้วย ช่วยส่งเสริมสนับสนุนยิ่งขึ้นไป

สี่ แต่ในกรณีที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบ จะต้องพิจารณาใช้อุเบกขา

สถานการณ์ที่จะต้องวางอุเบกขาที่สำคัญมี ๓ กรณี คือ

๑. เมื่อลูกสมควรจะต้องหัดรับผิดชอบตัวเอง ฝึกทำอะไรต่ออะไรให้เป็น เพราะว่า ลูกของเรานั้นเขาไม่ได้อยู่ในโลกที่มีแต่พ่อแม่ หรือมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น ชีวิตอีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะต่อไปเมื่อเขาโตแล้ว เขาต้องไปอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง โลกนั้นมีกฎเกณฑ์กติกา ทั้งกฎเกณฑ์ในธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ในสังคม ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเหตุผลของเรื่องนั้นๆ ซึ่งเขาจะต้องไปอยู่กับความเป็นจริงเหล่านั้น

โลกนี้ไม่ได้ตามใจเราเหมือนอย่างพ่อแม่ตามใจลูก มันไม่ได้เป็นไปตามใจปรารถนา เพราะฉะนั้นลูกจะต้องหัดรับผิดชอบตัวเอง อะไรที่สมควรจะทำให้เป็น ต้องฝึกทำไว้ ถ้าพ่อแม่มัวแต่เห็นแก่ลูกว่าเรารักเขา ไม่อยากให้เขาลำบาก ไม่อยากให้เขาเหน็ดเหนื่อย แล้วไม่ว่าอะไรก็ไปทำแทนให้ทั้งหมด ลูกก็เลยไม่รู้จักโต แล้วก็รับผิดชอบตัวเองไม่เป็น

พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกไม่เป็น โอ๋ลูกเกินไป เพราะขาดอุเบกขา ส่วนพ่อแม่ที่รู้จักอุเบกขา เมื่อมาถึงสถานการณ์ที่ ๔ คือมีเรื่องอะไรที่ลูกจะต้องสมควรฝึกไว้ ทำไว้ หัดให้เป็น เราต้องให้เขาฝึกทำหัดทำ ต้องยอมให้เขาเหนื่อยบ้าง ลำบากบ้าง แม้แต่หัดเดินก็ยังต้องมีความเหน็ดเหนื่อยลำบากบ้าง ถ้ากลัวลูกลำบาก ไปอุ้มตลอดเวลาแล้วลูกจะเดินเป็นได้อย่างไร

เหมือนอย่างคนสมัยก่อน ตอนที่เริ่มมีการเรียนหนังสือใหม่ๆ เขาใช้กระดานชนวน และใช้ดินสอหิน พ่อแม่บางคนกลัวลูกจะเจ็บมือเพราะใช้ดินสอหิน ก็เลยไม่ให้เรียน นี่คือเพราะขาดอุเบกขา ลูกก็เลยไม่ได้รับการศึกษา

เป็นอันว่าจะต้องยอมให้ลูกเหน็ดเหนื่อยยากลำบากบ้าง เพื่อให้เขาหัดทำฝึกทำรับผิดชอบตัวเอง จะได้ทำอะไรๆ เป็น และปัญญาจะเป็นตัวบอกว่าควรจะให้เขาหัดทำสิ่งใด ฝึกในเรื่องใด หรือหัดรับผิดชอบอะไร เพราะฉะนั้น ข้ออุเบกขา จึงต้องมากับปัญญา เมื่อปัญญาพิจารณาแล้วก็ปฏิบัติไปตามปัญญาโดยวางอุเบกขา เราเป็นที่ปรึกษา ก็คอยดู ถ้าเขาเพลี่ยงพล้ำเมื่อไร จะต้องช่วย ก็เข้าไปช่วย นี่คือ อุเบกขาในสถานการณ์ ที่ ๑ ให้เขาหัดรับผิดชอบตัวเอง ทำอะไรต่ออะไรให้เป็น

๒. เมื่อลูกจะต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา ครอบครัวนั้นเป็นตัวแทนของสังคมใหญ่ ในสังคมมนุษย์ต้องมีกฎเกณฑ์ กติกา ซึ่งทุกคนในสังคมนั้นจะต้องรับผิดชอบปฏิบัติตาม

ครอบครัวก็เช่นเดียวกัน ต้องมีกฎเกณฑ์กติกาเพื่อให้สมาชิกของครอบครัวอยู่กันสงบเรียบร้อย มีวินัย และเป็นการฝึกเด็กให้พร้อมที่จะไปรับผิดชอบดำเนินชีวิตในสังคมต่อไป เพราะฉะนั้นกฎต้องเป็นกฎ ถ้าเขาทำอะไรผิดก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา ทำถูกก็ว่าไปตามถูก ทะเลาะกันก็ต้องมีความยุติธรรม นี่คือมีอุเบกขาเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรม

๓. เมื่อลูกรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว เขาสำเร็จการศึกษาแล้ว มีงานมีการทำ มีครอบครัวของเขาแล้ว ท่านว่าพ่อแม่ต้องรู้จักวางอุเบกขา ปล่อยให้เขารับผิดชอบชีวิตและครอบครัวของเขาเอง ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตและครอบครัวของเขา โดยวางใจเรียบสงบว่า เขารับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ไม่ใช่เอาแต่เมตตากรุณา รักเขามาก ก็เลยเจ้ากี้เจ้าการเข้าไปจัดการในบ้านของเขา ในครอบครัวของเขา เที่ยวจี้เที่ยวชี้อยู่เรื่อยว่า ลูกอยู่อย่างนี้นะ จัดของอย่างนี้นะ ฯลฯ

ถ้าพ่อแม่เข้าไปจัดแจงวุ่นวายมาก ลูกแทนที่จะเป็นสุข ก็ไม่เป็นสุข และจะรู้สึกไม่สบายใจ อาจจะอึดอัดพูดไม่ออก บางทีถ้าเขาไม่ขัดแย้งกับพ่อแม่ ก็ไปขัดแย้งกับคู่ครองของเขาเอง ท่านจึงว่าถึงเวลาที่จะต้องวางอุเบกขา ให้เขารับผิดชอบตัวเขา ครอบครัวของเขาเป็นของเขา เราได้แต่คอยมองดู ให้เขาบริหาร เราเป็นที่ปรึกษา ถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือเมื่อไร ก็เข้าไปช่วยเหลือ นี่เรียกว่า อุเบกขา

ถ้าพ่อแม่วางอุเบกขาถูก ก็เกิดความสมดุลในชีวิต และความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความสัมพันธ์กับธรรม

โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่อายุมากขึ้น ก็จะต้องวางใจกับลูกหลานให้ถูกต้องว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาเอง เราวางใจเป็นอุเบกขาเงียบสงบ พร้อมจะช่วยเหลือเขา แต่เราไม่เข้าไปจุกจิก วุ่นวาย เจ้ากี้เจ้าการ

ตอนนี้ถึงเวลาของพระพรหมที่จะวางอุเบกขา ถ้าทำใจได้อย่างนี้ ใจจะสบายขึ้นเยอะ ถ้าเสียหลักนี้ก็จะไม่เป็นพระพรหมที่สมบูรณ์

สังคมทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว
มักพัฒนาอย่างเสียดุล เพราะขาดบูรณาการ

ในสังคมที่ปฏิบัติธรรมไม่ครบ จะเกิดความเสียดุล สังคมที่มีเมตตากรุณามาก จะเป็นสังคมที่มีน้ำใจมาก คนจะมีน้ำใจช่วยเหลือกันอย่างดี ซึ่งก็เป็นข้อดี ทำให้จิตใจคนมีความอบอุ่น ชุ่มฉ่ำ ร่มเย็น มีความสุข สบาย แต่ผลเสียก็มีได้ คือ ถ้าไม่มีอุเบกขามาคุม ก็เสียดุล

๑. คนจะชอบหวังพึ่งผู้อื่น คือ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ที่มีกิเลสของปุถุชน เมื่อหวังพึ่งผู้อื่นได้ว่าจะมีคนมาช่วย ก็จะไม่ดิ้นรนขวนขวาย เขาชอบคิดว่า ถ้าเราลำบาก ขาดแคลน ขัดสน ก็ไปหาผู้ใหญ่คนโน้น ไปหาญาติผู้นี้ หาเพื่อนคนนั้น เขาก็ต้องช่วยเรา ความที่คอยหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่เรื่อย ก็เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็อ่อนแอ เพราะฉะนั้นสังคมที่มีน้ำใจ มักเสียดุลไปทางอ่อนแอ คนมักหวังพึ่งผู้อื่น ทำให้เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย และอาจจะตกอยู่ในความประมาท

๒. ไม่สามารถรักษาหลักการได้ เพราะคนจะช่วยกันจนกระทั่งละเมิดกฎหมายก็เอา ลองจะช่วยเสียอย่าง กฎหมายก็ไม่มอง ความเป็นธรรมก็ไม่เอาทั้งนั้น ช่วยกันอย่างเดียวจนเสียความเป็นธรรม และเสียหลักการ

ส่วนสังคมที่ขาดสาม หรือเพียงสองข้อต้น คือไม่มีเมตตากรุณา จะเป็นสังคมที่ไม่มีน้ำใจ คนไม่ค่อยช่วยเหลือกัน อุเบกขาจะขึ้นมาเด่น แต่อาจจะเป็นอุเบกขาแบบไม่มีปัญญาก็ได้ คือ เฉยไม่เอาเรื่อง ตัวใครตัวมัน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง พอมีปัญญาขึ้นมาหน่อยก็วางกติกาสังคมไว้ว่า แกจะทำอะไรก็เรื่องของแกนะ แกทำไปได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดกติกาหรือกฎหมาย ถ้าแกละเมิดกฎเมื่อไร ฉันจัดการทันที แต่ถ้าไม่ละเมิดก็ปล่อยแกทำไป แต่ฉันไม่ช่วยนะ

ทีนี้คนที่ไม่มีใครช่วยนี่ เมื่อหวังพึ่งใครไม่ได้ ตัวใครตัวมัน ก็ต้องดิ้นสุดฤทธิ์สุดกำลัง เพราะถ้าไม่ดิ้นก็ไม่รอด จึงทำให้เข้มแข็งและก้าวหน้า และเพราะเอากติกา เอากฎหมาย หรือหลักการเป็นใหญ่ ก็รักษาหลักการและกฎกติกาได้ แต่เมื่อไปสุดโต่ง ก็กลายเป็น สังคมที่เอาแต่กฎเข้าว่า ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีน้ำใจ

สังคมไทย นี่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อเมตตากรุณามาก ก็เสียดุล ทำให้อ่อนแอ แล้วก็ไม่สามารถรักษาหลักการและความเป็นธรรม ส่วนสังคมแบบอเมริกันก็ค่อนข้างขาดในด้านเมตตากรุณา คือขาดน้ำใจ และหนักในอุเบกขา ทำให้คนดิ้นรนแบบตัวใครตัวมัน จึงทำให้เข้มแข็ง และทำให้รักษาหลักการกติกาได้ แต่เป็นสังคมที่แห้งแล้ง เครียด จิตใจมีความทุกข์ ขาดความอบอุ่น ได้อย่างเสียอย่าง

เพราะฉะนั้น เพื่อให้พอดี จึงต้องมีครบทั้งสี่ข้อ แต่ในระดับสังคมนี่แสนยากเหลือเกินที่จะพัฒนามนุษย์ให้มีครบทั้งสี่ข้อ มันก็เลยได้เว้าๆ แหว่งๆ ได้หนึ่งบ้าง ได้สองบ้าง ได้สามบ้าง ที่จะครบ ๔ อย่างพอดีได้ดุลนั้นหาได้ยาก

พ่อแม่ก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา มาก แต่ไม่รู้จักใช้อุเบกขา ก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้เด็กรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักโต เพราะฉะนั้นจึงต้องไปโดนอุเบกขาจากที่อื่นมาช่วย ถึงจะเข้มแข็ง เช่นอยู่เมืองไทยนี้พ่อแม่ทำให้หมด ให้คนใช้ทำให้หมด ก็เลยทำอะไรไม่เป็น แต่พอส่งไปอยู่เมืองฝรั่ง โดนอุเบกขาของฝรั่งเข้า ตอนนี้เข้มแข็ง ทำเป็นทุกอย่าง ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องได้ดุล โดยเฉพาะพ่อแม่นี่สำคัญที่สุด

พ่อแม่คนไทยนี่จะต้องเน้นด้านอุเบกขาให้มากขึ้น ว่าทำอย่างไรจะใช้ปัญญาให้มากขึ้น ลดด้านความรู้สึกลง และเติมด้านความรู้เข้าไป แต่ปัญญานี้ยาก มันไม่เหมือนความรู้สึก มันต้องคิดและพิจารณาว่า เออ อะไรที่ลูกของเราควรจะทำให้เป็น ควรจะฝึกรับผิดชอบ คิดแล้วมองเห็นแล้วก็มาดูให้เขาทำ ซึ่งจะเป็นการรักลูกระยะยาว ถ้ารักลูกมากด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาเกินไป จะกลายเป็นว่ารักลูกระยะสั้น มองการณ์ใกล้ สายตาสั้น แล้วจะปิดกั้นการพัฒนาของเด็ก

เมตตากรุณาสามารถปิดกั้นการพัฒนาของเด็กได้ เพราะเมื่อไม่มีอุเบกขาก็ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนา ฉะนั้นบางทีเด็กที่ถูกปล่อยถูกทิ้งนี่แหละ ถูกอุเบกขาเข้าเต็มที่ ถ้าไม่เสียก็เก่งไปเลย เขาจะเข้มแข็ง จะช่วยตัวเองได้ดี แกร่งกล้า สามารถเจริญเติบโตงอกงามในสังคม

ควรจะยอมรับกันว่าดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ประการนี้เสียไปแล้วในสังคมไทย เพราะฉะนั้นตอนนี้จะต้องเน้นการปฏิบัติคุณธรรมชุดนี้ให้ครบชุดที่ว่า ต้องมีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยเฉพาะอุเบกขา เป็นตัวโยงปัญญามารักษาดุลยภาพไว้ให้เกิดความสมบูรณ์ในชีวิตและในสังคม ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป

พ่อแม่บริหารครอบครัว บางท่านก็บริหารหน่วยงาน องค์กร ตลอดจนประเทศชาติ แต่โลกคือสังคมมนุษย์นี้ ทุกคนร่วมกันบริหาร มนุษย์ทุกคนผู้บริหารโลกนี้ จึงต้องเป็นพรหมผู้มีพรหมวิหารให้ครบทั้ง ๔ ประการ

ถึงแม้ว่ามนุษย์จะสัมพันธ์กันดี คือมีเมตตากรุณาและมุทิตาต่อกัน แต่ถ้ามนุษย์ไม่รักษาอุเบกขา พากันละเลยละเมิดธรรม โลกมนุษย์นั้นก็จะวิปริตแปรปรวน ตั้งอยู่ดีไม่ได้

ถ้าทุกคนมีเมตตา กรุณา มุทิตา โดยมีอุเบกขากำกับอยู่ ก็จะมีน้ำใจช่วยเหลือส่งเสริมกันด้วยความสัมพันธ์อันดี พร้อมทั้งดำรงรักษาความเป็นธรรมในสังคม และความเข้มแข็งรับผิดชอบในตัวคนไว้ได้ และก็จะอภิบาลโลก ดำรงรักษาสังคมให้มีสันติสุข ตั้งแต่สังคมเล็กในบ้าน ไปจนถึงสังคมสากลของมวลมนุษย์

เลี้ยงลูกดี เท่ากับทำหน้าที่ต่อสังคมทั้งหมด

ขอย้อนกลับไปพูดถึงคำที่ย้ำไว้เมื่อกี้นี้ว่า พ่อแม่เลี้ยงดูลูกจะต้องทำทั้งอามิสสงเคราะห์ และธรรมสงเคราะห์ ให้ครบทั้งสองอย่าง

ถ้าพ่อแม่สงเคราะห์ลูกด้วยอามิสสิ่งของอย่างเดียว ไม่สงเคราะห์ด้วยธรรม ไม่ให้คำแนะนำสั่งสอน ไม่รู้จักอบรม เลี้ยงดูลูกแต่กาย ไม่เลี้ยงดูจิตใจ ต่อไปอาจจะเกิดโทษได้เพราะอามิสสิ่งของนั้นเป็นที่ตั้งของความโลภได้ พอมีความโลภแล้วก็จะมีความต้องการขยายออกไป อยากได้ไม่สิ้นสุด แล้วก็มีความหวงแหน ทำไปทำมาก็กลายเป็นการสงเคราะห์ที่นำมาซึ่งการแก่งแย่งกัน และเกิดการทะเลาะวิวาทได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ให้แต่อามิสสงเคราะห์อย่างเดียว ไม่ให้ธรรมสงเคราะห์ อย่างน้อยลูกก็ไม่มีความสามัคคีกัน จึงเกิดโทษได้

เพราะฉะนั้น พ่อแม่ต้องให้ธรรมสงเคราะห์ด้วย ต้องสงเคราะห์ด้วยธรรม โดยแนะนำอบรมสั่งสอนปลูกฝังจริยธรรม ศีลธรรม ให้คุณธรรมความดีงามเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจของลูก ให้ลูกมีความซาบซึ้งในความดีงาม และทราบซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่ดีงาม ให้เป็นการเลี้ยงดูชนิดที่ เลี้ยงทั้งกาย เลี้ยงทั้งใจ หรือ กายก็ให้ ใจก็เลี้ยง ไม่ใช่เลี้ยงแต่กาย ใจไม่เลี้ยงด้วย ถ้าเลี้ยงแต่กายไม่เลี้ยงจิตใจด้วย ก็จะเกิดผลเสียมากมายต่อชีวิตของเด็กเอง และต่อสังคม ฉะนั้นจึงต้องเลี้ยงใจด้วย ให้ใจเจริญงอกงาม เป็นใจที่ดีงาม เป็นคนที่เจริญสมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ จึงจะเรียกว่าเป็นการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสธรรมไว้เป็นคู่กัน ให้มีทั้งอามิสสงเคราะห์ และธรรมสงเคราะห์ ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกถูกต้อง โดยให้ทั้งอามิสสงเคราะห์ และธรรมสงเคราะห์อย่างนี้แล้ว ธรรมสงเคราะห์ก็จะมาจัดอามิสสงเคราะห์ให้เกิดขึ้นและพอดีอีกทีหนึ่ง เช่นอย่างลูกๆ นี้ ได้ธรรมสงเคราะห์จากพ่อแม่แล้ว ลูกๆ มีธรรมก็มีความรักใคร่กัน มีความสามัคคีปรองดองกัน พอได้อามิสจากพ่อแม่ ก็เอาอามิสวัตถุสิ่งของที่ได้นั้นมาเผื่อแผ่แบ่งปันกัน ทำให้พี่น้องรักกัน มีความสามัคคีกันยิ่งขึ้นไปอีก แล้วก็อยู่ร่วมกันด้วยความสุข ไม่ทะเลาะวิวาทกัน และลูกแต่ละคนนั้นก็มีทุนดีทางจิตใจและทางปัญญา ที่จะดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อไปในสังคม

ต่อแต่นั้น จากการที่มีอามิสสงเคราะห์ และธรรมสงเคราะห์ในครอบครัวระหว่างพี่น้อง ก็ขยายออกไปสู่ญาติมิตรเพื่อนบ้านและวงสังคมชุมชน ทำให้มีการสงเคราะห์กันกว้างขวางออกไป เพราะการสงเคราะห์ด้วยอามิสวัตถุสิ่งของ และการสงเคราะห์ด้วยธรรม ที่มีดุลยภาพ เป็นไปอย่างสมดุลต่อกัน จะไม่ขัดขวางทำลายกัน แต่จะเสริมกันขยายวงกว้างขวางออกไปสู่ความไพบูลย์ แล้วก็จะทำให้สังคมร่มเย็นสุขสันต์กันโดยทั่ว การสงเคราะห์ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ในบ้านของเรา จากการตั้งต้นของพ่อแม่ก็แผ่ขยายไปกว้างขวางทั่วทั้งสังคม

ด้วยการดำรงอยู่ในฐานะของผู้ให้กำเนิด พร้อมทั้งบำเพ็ญคุณธรรม และปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลของลูก ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งสำคัญ ๓ อย่างคือ

๑. เป็นพระพรหม ของลูก โดยเป็นผู้ให้กำเนิด ทำให้ลูกได้ชีวิตนี้มาดูและเป็นอยู่ในโลก พร้อมทั้งบำรุงเลี้ยงให้เจริญเติบโตทั้งกายและใจ ด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และสังคหวัตถุ ๔ อย่าง คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา

๒. เป็นบูรพาจารย์ ของลูก โดยเป็นอาจารย์คนแรก หรือครูต้น ผู้อบรมสั่งสอนให้รู้จักวิธีการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เริ่มแต่วิธีกินอยู่ หลับนอน ขับถ่าย หัดยืน หัดเดิน หัดพูดจาปราศรัย รู้วิธีสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้อื่น นำลูกเข้าสู่สังคมของมนุษย์ ตลอดจนสอนวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงาม ฝึกฝนความคิดและคุณธรรม ก่อนอาจารย์ใดอื่น

๓. เป็นอาหุไนยบุคคล ของลูก โดยเป็นดุจพระอรหันต์ ที่มีจิตใจบริสุทธิ์สะอาด ซื่อตรง ไม่มีภัยอันตราย เข้าใกล้และอยู่ด้วยได้อย่างไว้วางใจ และสนิทใจโดยสมบูรณ์ เป็นผู้พร้อมที่จะให้อภัย และปลอบขวัญยามมีภัย ควรแก่การกราบไหว้เคารพบูชาของลูกตลอดกาล

พ่อแม่เป็นหลักโดยเป็นผู้นำหรือผู้ปกครองสูงสุดและเป็นศูนย์กลางการบริหารในบ้าน ครอบครัวเป็นสังคมพื้นฐาน บ้านเป็นโลกเริ่มแรกของลูกๆ เมื่อพ่อแม่ทำหน้าที่สมบูรณ์ดี และลูกๆ ดำเนินเข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้อง ครอบครัวมีความสุขเจริญงอกงาม ความดีงามและความสุขสันติ์ก็แผ่ขยายออกไปในสังคมตามหลักอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ดังได้กล่าวมา ทำให้โลกอยู่ดีมีสันติสุข

แม้ในทางพระศาสนาก็เหมือนกัน การที่ญาติโยมถวายปัจจัย ๔ และไทยธรรมต่างๆ แก่พระสงฆ์ ในแง่หนึ่งก็เป็นอามิสสงเคราะห์เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของบุญกุศลที่มีความหมายเลยต่อไปถึงการบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ในเวลาเดียวกันนั้น พระสงฆ์ก็จะสงเคราะห์ญาติโยมด้วยธรรมสงเคราะห์ คือสงเคราะห์ด้วยธรรมเพื่อให้โลกนี้อยู่ในภาวะที่สมดุล หรือให้มีดุลยภาพเกิดขึ้น คือให้มีอามิสและธรรม ๒ อย่างคู่กันไป โดยเอาธรรมมาช่วยเสริม ตรึง และนำทางแก่อามิส แต่ต้องยอมรับว่าโดยทั่วไป ความสมดุลอย่างนี้ หาไม่ค่อยได้ เพราะคนมักทำไม่ครบถ้วน สังคมจึงมีปัญหาอยู่เรื่อย อย่างน้อยก็รักษาความเจริญไว้ไม่ได้ พอสังคมหนักไปทางอามิสด้านเดียวก็เกิดปัญหาทุกที มีปัญหาอย่างไร

เจริญแต่วัตถุ ธรรมเจริญไม่ทัน
ความเสื่อมจะตามมาเร็วพลัน

ขอพูดถึงภาวะที่เป็นคู่กันอีกชุดหนึ่ง คือ ไพบูลย์ ๒ ไพบูลย์ คือ ความเจริญพรั่งพร้อม หรือความดาษดื่นแพร่หลาย ไพบูลย์ก็มี ๒ อย่างเหมือนกัน คือ

๑. อามิสไพบูลย์ ความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ มีสิ่งบริโภคใช้สอยแพร่หลายดาษดื่น

๒. ธรรมไพบูลย์ ความเจริญพรั่งพร้อมทางธรรม มีความดีงาม ความชอบธรรม และความเป็นธรรมแพร่หลายทั่วถึงกัน

ในสังคมมักจะมีปัญหาความไม่สมดุลระหว่างไพบูลย์ ๒ อย่างนี้อยู่เสมอ ถ้าเราพัฒนาบ้านเมืองไปในทางวัตถุมาก เราก็จะมีอามิสไพบูลย์ คือมีวัตถุสิ่งของเครื่องใช้พรั่งพร้อมจนกระทั่งถึงขั้นฟุ้งเฟ้อ ผู้คนชอบเป็นอยู่หรูหราฟุ่มเฟือยและไม่รู้จักประมาณ จนกลายเป็นหมกมุ่นมัวเมา ถ้าไม่มีธรรมไพบูลย์มาช่วยตรึงไว้และนำไปในทางที่ถูกต้อง คนเหล่านี้ก็จะเสื่อมจากธรรม เช่นหมดความขยันหมั่นเพียรอดทน และขาดความสามัคคี เป็นต้น ทั้งๆ ที่ว่าธรรมเหล่านี้แหละได้ทำให้เขาสร้างไพบูลย์ขึ้นมาได้ เมื่อขาดธรรมเหล่านี้แล้ว เขาก็จะรักษาแม้แต่อามิสไพบูลย์ไว้ไม่ได้ นอกจากนั้น เขาก็จะแย่งชิงกัน เบียดเบียนและเอารัดเอาเปรียบข่มเหงกัน ทำให้เกิดความไม่ปกติสุข สังคมเดือดร้อนระส่ำระสาย ในที่สุดอามิสไพบูลย์ก็ต้องสูญสลายไป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงเน้นว่าให้มีธรรมไพบูลย์ด้วย แต่โลกนี้ยากนักหนา เพราะว่า ในเวลาที่มีอามิสไพบูลย์แล้ว ก็มักจะเกิดความประมาท ความพรั่งพร้อมสะดวกสบายมักชวนให้หลง ชวนให้มัวเมา พอหลงมัวเมาแล้วก็ละทิ้งธรรมไพบูลย์ เอาแต่อามิสไม่คิดถึงธรรม

ฉะนั้น จะต้องระลึกไว้ โดยเฉพาะในหมู่ชาวพุทธจะต้องเตือนตนเองและเตือนกันอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องให้เกิดไพบูลย์ทั้งสองอย่างคู่กันไปเสมอ หลักพระพุทธศาสนาสอนไว้แล้วว่า อามิสทานต้องมีธรรมทานควบคู่ อามิสสงเคราะห์ต้องมีธรรมสงเคราะห์ควบคู่ อามิสไพบูลย์ต้องมีธรรมไพบูลย์ควบคู่ พอมีครบคู่แล้วไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว อามิสไพบูลย์จะไม่เสียหาย เพราะอามิสไพบูลย์ที่มาพร้อมกับธรรมไพบูลย์ จะเป็นไปในทางเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกัน และทำให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ถูกทาง ทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น

แม้แต่ในวงการพระศาสนาเราก็ต้องคอยตรวจสอบเหมือนกัน เพราะถ้ามีอามิสไพบูลย์แล้วไม่ระวังให้ดีก็ทำให้เกิดโทษมากเหมือนกัน

ในวงการพระศาสนาปัจจุบันนี้ เป็นที่รู้กันอยู่ว่าประชาชนในเมืองไทยเราบำรุงพระสงฆ์กันมาก ประชาชนมีศรัทธาถวายทานแก่พระสงฆ์ ทั้งปาฏิบุคลิกทาน คือถวายเจาะจงเฉพาะองค์ และสังฆทาน คือถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม เรามีพิธีทำบุญถวายทานประเภทต่างๆ มากมาย ทั้งกฐินทาน ทั้งทอดผ้าป่า ทั้งงานพิธีตามบ้าน ตามสถานที่ทางธุรกิจและราชการ มีงานวัดและพิธีต่างๆ ไม่รู้ปีละกี่ครั้ง ทำบุญกันมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งพูดได้ว่า วงการพระศาสนาในเมืองไทยนี้มีอามิสไพบูลย์

แต่พอมีอามิสไพบูลย์ขึ้นแล้ว ถ้าไม่ระวังก็จะเกิดความประมาทขึ้นทันที แล้วก็จะเกิดความหลง เกิดความมัวเมา อย่าว่าแต่ญาติโยมเลย พระสงฆ์เองก็มัวเมาเกิดความประมาทได้ เมื่อประมาทแล้วก็ไม่เอาใจใส่ในธรรม มุ่งแต่จะหาวัตถุปรนเปรอตัวเองให้อยู่สุขสบาย เสร็จแล้วความเสื่อมก็คืบคลานเข้ามา

มองให้ถูก พระไม่ดี หรือคนร้ายมาทำลายศาสนา

สภาพความเสื่อมนี้ในปัจจุบันญาติโยมพูดกันมาก เพราะมีข่าวร้ายต่างๆ มากมาย เรื่องอย่างนี้พระสงฆ์ก็ควรจะเอามาพูดบ้าง ไม่งั้นญาติโยมพูดฝ่ายเดียวจะกลายเป็นนินทาพระ แต่ถ้าพระเอามาพูดบ้างในฐานะที่เป็นผู้รู้เรื่องทางธรรม พูดในทางแนะนำและหาทางแก้ปัญหา ก็จะได้มีทางช่วยกันให้รู้จักวางใจได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อเรื่องร้ายๆและปัญหาเกิดขึ้น พระจำเป็นต้องเอามาพูดให้โยมรู้ว่า ความเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร มีทางแก้ไขอย่างไร เราจะได้ช่วยกันป้องกัน และที่จริงนั้นตัวเราเองก็มีหน้าที่ด้วย เพราะว่า ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนเรามีหน้าที่ช่วยกันป้องกันพระศาสนา

อย่างวันสองวันนี้ก็ได้ข่าวอีกแล้วรายใหม่ อาตมาเองก็ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ แต่ท่านมหาและหลวงลุงท่านก็อ่านและท่านเล่าให้ฟังว่า มีพระองค์หนึ่งไปหลอกร้านค้าเพชร เอาเพชรไปแล้วไม่จ่ายเงินให้แก่เขา จำนวนเป็นล้านๆ บาท และขอประทานอภัยก็ไปทำศิวลึงค์นำไปแจกในต่างประเทศ พอฟังหรืออ่านข่าวพระประพฤติอย่างนี้แล้วโยมก็อาจจะพูดว่า พระไม่ดี พระเสียหาย พระหลอกลวง พระเหลวไหล ไม่น่านับถือ จากพระไม่ดี ก็เลยพาลพาโลต่อไปว่าพระพุทธศาสนาไม่ดี แล้วก็จะไม่นับถือพระ จะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา

ที่จริงนั้น พระพุทธศาสนาเป็นของเรา ไม่ใช่เป็นของพระองค์นั้น เพราะว่าคนที่จะมีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนานั้นจะต้องเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ของชาวพุทธอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นพระก็ต้องเป็นพระที่ประพฤติปฏิบัติและทำหน้าที่ของพระอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็เป็นคฤหัสถ์ที่ทำหน้าที่ของชาวบ้านอย่างถูกต้อง ถ้าเราทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนถูกต้อง เราเองนี่แหละเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา

ในทางตรงข้าม พระก็ตาม ญาติโยมก็ตาม แม้จะประกาศตนเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ทำตัวเหลวไหล ก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ควรจะระแวงว่าเป็นคนร้ายที่แฝงซ่อนเข้ามาหาประโยชน์จากพระศาสนา ที่เรียกกันว่าเข้ามาปล้นศาสนา

เพราะฉะนั้น พระที่ประพฤติเลวทรามเหล่านั้นเราไม่ถือว่าเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา โยมจะต้องไม่มองว่าเป็นพระประพฤติชั่ว โยมจะต้องมองว่าคนชั่วเข้ามาทำลายพระศาสนา ถ้าเราวางใจให้ถูกต้องอย่างนี้แล้วพระศาสนาก็จะดีขึ้น เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา อย่าถือธุระไม่ใช่ อย่ายกสมบัติของเราให้เขาไป

อาตมาเคยเปรียบเทียบบ่อยๆว่า ถ้ามีโจรเข้ามาปล้นบ้านแล้วเรายกสมบัติให้โจรไปเลย อย่างนี้ถือว่าวิปริตใช่ไหม ที่ถูกนั้นเราก็ต้องรักษาทรัพย์สมบัติของเรา แต่ที่เป็นกันเวลานี้เราก็ทำวิปริตกันอยู่โดยไม่รู้ตัว คือ ทั้งๆที่พระศาสนานี้เป็นของเรา แต่พอมีโจรคือคนที่แฝงตัวมาในเพศของพระประพฤติไม่ดี ทำเสียหาย เป็นโจรปล้นศาสนา พอมีโจรเข้ามาปล้นพระศาสนาของเราอย่างนี้ แทนที่เราจะช่วยกันรักษาพระศาสนาของเราๆ กลับยกศาสนาให้โจรไปเสียนี่ อย่างนี้เขาเรียกว่ายกสมบัติให้โจร เพราะฉะนั้นอย่าทำอย่างนี้ เรากำลังทำผิดพลาด ต้องทำใจให้ถูกต้อง เราต้องรักษาพระพุทธศาสนาของเรา

ดูให้ดี ปัญหาอยู่ที่คนร้าย หรืออยู่ที่ตัวเรา

พระพุทธเจ้าทรงระวังมากในเรื่องอามิสไพบูลย์ และธรรมไพบูลย์ ทรงเตือนให้เตรียมสร้างธรรมไพบูลย์ไว้ให้พร้อม และให้ไม่ประมาทในเวลามีอามิสไพบูลย์ เช่น ก่อนที่จะปรินิพพาน พระองค์ก็ได้ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า ต้องให้พุทธบริษัททุกฝ่ายมีคุณสมบัติ อย่างน้อย ๓ ประการ จะเป็นพระคือภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกาก็ตาม ทุกคนควรจะมีคุณสมบัติ ๓ ประการต่อไปนี้ จึงจะถือว่ามีธรรมไพบูลย์ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนยาวได้

พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไข ๓ ประการนี้ไว้ในตอนจะรับอาราธนาปรินิพพาน มีเรื่องว่ามารมาอาราธนาพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์ตรัสว่าจะยังไม่ปรินิพพาน และพระองค์ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้สามประการ ต่อมาครั้งสุดท้ายมารก็มาอาราธนาอีกโดยทวงว่าเงื่อนไขที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นั้นสมบูรณ์แล้ว ขอนิมนต์ปรินิพพานได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงสำรวจดู ปรากฏว่าเงื่อนไขที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ๓ ประการ ครบแล้วจริง พระองค์ก็เลยรับอาราธนาปรินิพพานแล้วทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน ในที่นี้สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าการปลงพระชนมายุสังขาร ก็คือเงื่อนไข ๓ ประการนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ว่า

พุทธบริษัททุกประเภท คือทั้ง ๔ พวก จะต้องมีความสามารถที่จะดำรงพระศาสนาได้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน มิฉะนั้นพระองค์ก็จะต้องทำหน้าที่ของพระศาสดาต่อไป หมายความว่าพระองค์ทรงฝากพระศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ที่มีความสามารถ ๓ ประการ ความสามารถ ๓ ประการนี้มีอะไรบ้าง

๑. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาจะต้องรู้หลักธรรม เข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง พูดสั้นๆ ว่า รู้คำสอนและปฏิบัติได้ถูกต้อง

๒. ให้สามารถยิ่งกว่านั้นอีก คือ นอกจากรู้เข้าใจปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ยังนำไปบอกกล่าวชี้แจงสั่งสอนคนอื่นได้ด้วย คนที่จะไปบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนชี้แจงคนอื่นได้นั้น

(๑) จะต้องมีความสามารถที่จะแนะนำสั่งสอน และ

(๒) ต้องมีน้ำใจประกอบด้วย เมตตากรุณา บางคนถึงจะมีความสามารถแต่ไม่มีน้ำใจกรุณา ก็ไม่ใส่ใจที่จะสอน ก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน จึงต้องมีทั้งน้ำใจ ต้องมีทั้งความสามารถ แล้วก็เอาธรรมไปแนะนำสั่งสอนแก่คนอื่นต่อไป

๓. ข้อสุดท้ายว่า ถ้ามีการจาบจ้วง คำว่าจาบจ้วงนี่เป็นภาษาโบราณ หมายความว่ามีการกล่าวร้ายต่อพระศาสนา หรือมีการสั่งสอนลัทธิที่ผิดจากธรรมผิดจากพระวินัยขึ้น ก็สามารถกล่าวแก้ชี้แจงกำราบได้ เรียกว่ากำราบปรัปวาทได้

เงื่อนไขคุณสมบัติของพุทธบริษัท ๓ ประการนี้เราจะต้องเอามาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสำรวจตรวจสอบพุทธศาสนิกชนว่า จะสามารถรักษาพระศาสนาได้หรือไม่ เพราะว่าเมื่อตรัสหลักการ ๓ ประการนี้ก็เท่ากับว่า พระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพาน ได้ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เราแล้ว ถ้าพุทธศาสนิกชนไม่มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้วก็จะรักษาศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็ต้องเสื่อมแน่นอน

เราไม่ต้องไปคำนึงมากนัก เรื่องพระที่ประพฤติเสียหายอะไรนั้นเป็นเรื่องรองลงไป คุณสมบัติ ๓ อย่างของตัวเราเองนี้แหละสำคัญกว่า เรื่องพระประพฤติเสียหายทำไม่ดีนั้น ถ้ามีขึ้นมาเราถือว่าเป็นโจร เป็นคนร้ายเข้ามาทำลายพระศาสนา เราก็ต้องช่วยกันรักษาพระศาสนา เพราะพระศาสนานี้เป็นสมบัติส่วนรวมของเรา แต่ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติ ๓ อย่างนั้น โจรจะเข้ามาหรือไม่ เราก็จะรักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้ ดีร้ายตัวเราอาจจะกลายเป็นโจรไปเสียเอง แต่ถ้าเรามีคุณสมบัติสามประการนี้แล้วเราก็รักษาพระศาสนาของเราไว้ได้ ขอทวนอีกครั้ง

๑. รู้เข้าใจธรรมวินัย และปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเอง

๒. มีความสามารถและเอาใจใส่ที่จะบอกกล่าว ชี้แจงสั่งสอนธรรมแก่ผู้อื่น

๓. เมื่อมีลัทธิคำสอนที่ผิดพลาดแปลกปลอมขึ้นมาก็สามารถกล่าวชี้แจงกำราบได้

สามประการนี้แหละเป็นธรรมไพบูลย์ ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เพียงแต่เราปฏิบัติถูกต้อง ธรรมก็ไพบูลย์อยู่ในตัวเราแล้ว เมื่อเราเอาไปแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติกันกว้างขวางยิ่งขึ้น ธรรมก็ไพบูลย์กว้างขวางออกไปทุกที แม้จะมีคำสอนอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นมาก็ชี้แจงแก้ไขได้ อุปสรรคก็หมดไป นี่แหละเป็นธรรมไพบูลย์ที่แท้จริง

ถ้าธรรมไพบูลย์นำหน้า อามิสไพบูลย์ก็พาสู่สันติสุข

ฉะนั้น ตามหลักที่ถูกต้อง เมื่อมีอามิสไพบูลย์ก็ต้องให้อามิสไพบูลย์นั้นเป็นพื้นฐานแก่ธรรมไพบูลย์ เวลานี้ในบ้านเมืองของเราที่เคยมีเศรษฐกิจดีพอสมควร สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป คนที่ยากจนก็มาก คนที่มั่งมีก็ตกยาก พบความทุกข์กันอย่างทั่วถึง ซึ่งจะต้องเข้มแข็งมีกำลังใจแก้ไขปัญหากันต่อไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้ส่วนหนึ่ง เพราะถ้าเทียบกับบางประเทศ ประเทศเราก็มีฐานะเศรษฐกิจดีไม่น้อย คนไทยเราเคยอยู่กันสุขสำราญ ถึงขนาดที่ว่าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเลยเถิดไป พอตกต่ำลงมา ทั้งที่ยังดีกว่าหลายประเทศ ก็รู้สึกเป็นทุกข์หนัก ปัญหาอยู่ที่ว่า ในยามที่พรั่งพร้อมสุขสบาย เราเอาสภาพอามิสไพบูลย์ ที่มีความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้นมาเป็นฐานให้แก่ธรรมหรือเปล่า หรือเกิดความหลงละเลิงมัวเมาไปในทางตรงข้าม อันนี้เป็นจุดแยกที่สำคัญ

ถ้ามีความพรั่งพร้อมทางวัตถุแล้ว ความพรั่งพร้อมของวัตถุกลายเป็นปัจจัยให้เราเกิดความประมาทมัวเมา อันนั้นก็เป็นทางเสื่อม แต่ถ้าเอาอามิสไพบูลย์ที่มีวัตถุพรั่งพร้อมนั้นมาเป็นอุปกรณ์เสริมธรรม สร้างสรรค์ความดีงามทำประโยชน์ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข มีความสามัคคีกัน ก็กลายเป็นความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปอีก การกระทำอย่างนี้ก็เหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชตอนที่พระองค์มีอำนาจและกลับพระทัยหันมาประพฤติธรรมแล้ว

พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ตอนแรกพระองค์ก็เป็นราชาที่เหี้ยมโหด เรียกว่า พระเจ้าจัณฑาโศก แปลว่าอโศกผู้ดุร้าย คือคิดแต่จะแสวงหาความยิ่งใหญ่และการบำรุงบำเรอความสุขของตน ยกกองทัพไปรุกรานรบราฆ่าฟันประเทศอื่น เพื่อตัวจะได้เป็นใหญ่ และแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่น พอปราบเขาได้ตนเองก็เป็นใหญ่สมปรารถนา แต่เมื่อพระองค์ได้มาสดับธรรมก็เปลี่ยนพระทัยกลับใจใหม่ แลเห็นว่าเราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติหาความยิ่งใหญ่ไปทำไม ไม่มีสาระแท้จริง แล้วยังก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่คนมากมาย

แต่ก่อนนี้หาทรัพย์สมบัติมาเพื่อบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเอง และไปปราบปรามเขาเพื่อตัวจะได้เป็นใหญ่ แต่ตอนนี้เห็นว่าทรัพย์และอำนาจไม่มีความหมาย มองเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้องชอบธรรมที่จะไปแย่งชิงเงินทองเขาและไปปราบปรามเบียดเบียนเขา

ทีนี้ พระเจ้าอโศกจะทำอย่างไร ลองทายกันดู พระเจ้าอโศกจะสละทรัพย์สมบัติและสละความยิ่งใหญ่นั้นทั้งหมด หรืออย่างไร พระเจ้าอโศกคิดออกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องสละโภคทรัพย์และความยิ่งใหญ่ แต่พระองค์เปลี่ยนใหม่ เอาทรัพย์สมบัติและอำนาจความยิ่งใหญ่มาเป็นอุปกรณ์ของธรรม แต่ก่อนนี้ ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือหาสิ่งบำเรอความสุขสำราญของตนและแสดงความยิ่งใหญ่ แต่คราวนี้เอาทรัพย์และอำนาจนั้นมาใช้ในแนวทางใหม่ ให้เป็นเครื่องมือแผ่ขยายธรรม สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม และประโยชน์สุข แก่ประชาชนและโลกทั้งหมด

การปฏิบัติของพระเจ้าอโศกนี้ เป็นคติสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในเรื่องทรัพย์สมบัติและยศศักดิ์อำนาจ คนบางคนมีความคิดดี มีสติปัญญาความสามารถ แต่ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง ไม่มีอำนาจ จะทำอะไรก็ทำได้นิดเดียวและสำเร็จยาก เพราะไม่มีเครื่องมือในการทำงาน ไม่มีคนเชื่อฟัง แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามีทรัพย์และอำนาจ พอมีความคิดดีๆ ก็เอาทรัพย์และอำนาจนั้นมาใช้ในทางทำความดีและทำการสร้างสรรค์ ก็ออกเป็นงานเป็นการได้ผลดีอย่างกว้างขวางและสำเร็จทันทีเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักใช้ คือเอามาเป็นเครื่องมือของธรรม หรือรับใช้ธรรม ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจก็กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์

พระเจ้าอโศกก็ได้เปลี่ยนทันทีว่า ต่อไปนี้จะเอาทรัพย์สมบัติและอำนาจมาใช้เป็นอุปกรณ์เผยแผ่ธรรม ขยายความดีงามและประโยชน์สุขออกไปในโลก ทรงประกาศไว้ในศิลาจารึกมีสาระสำคัญว่า ยศ (ความยิ่งใหญ่ อำนาจ ตลอดจนทรัพย์สมบัติ) ไม่มีความหมาย ถ้ามันไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้คนประพฤติธรรม เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยส่งเสริมการเผยแผ่ธรรม สนับสนุนการประกาศพระศาสนาเป็นการใหญ่ การที่เราได้พบเห็นพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติธรรมของพระเจ้าอโศก ที่ได้ทรงใช้ทรัพย์สมบัติและยศอำนาจในทางที่ถูกต้องตามหลักธรรม คือใช้เป็นอุปกรณ์เผยแพร่ธรรม

ทดแทนไม่สิ้น คือพระคุณพ่อแม่
จะตอบแทนให้แน่ ต้องเลี้ยงทั้งกายและใจของท่าน

ตามที่ได้พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า คนเราจะอยู่กันในโลกได้ดีก็ต้องอยู่ด้วยการสงเคราะห์ ๒ ประการ คือ อามิสสงเคราะห์โดยมีธรรมสงเคราะห์ด้วย สำหรับอามิสสงเคราะห์นั้นในแต่ละครอบครัวก็เริ่มมาจากบิดามารดา คือคุณพ่อคุณแม่ของเรา และถ้าท่านให้ธรรมสงเคราะห์ด้วย ในบ้านเรือนในครอบครัวก็อยู่เย็นเป็นสุข ลูกหลานก็มีความสามัคคีกัน ลูกหลานนั้นก็จะเอาอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ ออกไปเผยแผ่ขยายกว้างขวางออกไปด้วย เมื่อแต่ละครอบครัวปฏิบัติได้ตามหลักอย่างนี้ประชาชนทั่วทั้งสังคมก็จะอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข

คุณพ่อคุณแม่ ท่านได้ริเริ่มไว้แล้ว คือท่านได้ให้ทั้งอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์แก่ลูกหลาน ก็หวังว่าลูกหลานจะได้นำเอาอามิสสงเคราะห์ และธรรมสงเคราะห์นั้นไปเผยแพร่ให้ขยายกว้างขวางออกไป เพื่อความสุขความร่มเย็นทั้งในครอบครัวของเรา และในชุมชนตลอดจนสังคมทั้งหมดด้วย

โดยเฉพาะก็เริ่มอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์นั้น ที่ในบ้านหรือในครอบครัวของเรานี่แหละ คือทำการเลี้ยงดูตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ วิธีตอบแทนพระคุณพ่อแม่นั้น ทำได้หลายขั้นหลายทาง แต่อย่างน้อยที่สุดก็ให้ได้ข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักการไหว้ทิศเบื้องหน้า ๕ ประการ คือ

๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ

๒. ช่วยทำกิจธุระการงานของท่าน

๓. ดำรงวงศ์สกุล

๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท

๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

เมื่อว่าโดยสาระสำคัญ ก็คือเอาใจใส่ให้ท่านมีความสุข โดยเฉพาะด้วยการรู้จักรักษาน้ำใจของท่าน ให้ท่านได้ความสุขจากลูก เพราะพ่อแม่นั้น ท่านรักลูกเป็นที่สุด ท่านจึงฝากความสุขไว้ที่ลูกอย่างมาก ท่านอยากให้ลูกมีความสุขความเจริญงอกงาม เมื่อลูกมีความสุขความเจริญงอกงาม ท่านก็มีความสุข เพราะฉะนั้น ถ้าลูกตั้งใจประพฤติตัวดี ขยันหมั่นเพียรเล่าเรียนศึกษา ตั้งใจทำการงานให้ก้าวหน้า ท่านก็พลอยดีใจปลื้มใจมีความสุข แต่ถ้าลูกประพฤติตัวไม่ดี ทำความชั่วเสื่อมเสียหาย ไม่เอาใจใส่ทำหน้าที่ของตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าเรียนศึกษา หรือการทำการงาน หรือการเป็นอยู่ทั่วไป ก็จะทำให้ท่านหนักใจหดหู่ห่อเหี่ยวใจ กระทบกระเทือนใจ เสียใจ เป็นการทำร้ายท่านแม้โดยไม่ได้ตั้งใจ ฉะนั้นลูกๆ จึงจะต้องตั้งใจทำตัวให้ดี โดยคิดว่า เราจะทำให้พ่อแม่ของเรามีความสุขเอิบอิ่มปลาบปลื้มใจ

ลูกทำได้อย่างที่ว่ามานี้ ก็ดีอย่างยิ่งแล้ว แต่ยังมีทางทำให้ดียิ่งกว่านี้อีก คือ ตอบแทนคุณพ่อแม่ในขั้นสูงสุด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถึงแม้ว่าลูกจะรักพ่อแม่มาก ตั้งใจทะนุถนอมเลี้ยงท่านด้วยทรัพย์สินเงินทองวัตถุบำรุงบำเรอให้พรั่งพร้อมสะดวกสบายอย่างบริบูรณ์ที่สุด ไม่ให้ท่านต้องลำบากเหน็ดเหนื่อยกระทบกระเทือนเลยแม้แต่นิดเดียว ก็ยังไม่ชื่อว่าตอบแทนคุณพ่อแม่ได้จริง แต่เมื่อใดลูกหาทางทำพ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธา ให้มีศรัทธา ทำพ่อแม่ที่ไม่มีศีล ให้มีศีล ทำพ่อแม่ที่ไม่มีจาคะ ให้มีจาคะ ทำพ่อแม่ที่ไม่มีปัญญา ให้มีปัญญาได้ เมื่อนั้นแหละ ลูกจึงจะชื่อว่าตอบแทนคุณพ่อแม่ได้แท้จริง

เพราะฉะนั้น ลูกจึงควรหาทางช่วยให้พ่อแม่ได้เจริญพัฒนาชีวิตจิตใจของท่านมากๆ ขึ้น ช่วยจัดแจงขวนขวายเพื่อให้ท่านเจริญด้วยศรัทธา ด้วยศีล ด้วยสุตะคือความรู้ ด้วยจาคะคือความเสียสละทำประโยชน์ และด้วยปัญญา พูดง่ายๆ ว่าเจริญด้วยบุญกุศล ช่วยทำทางข้างหน้าของท่านให้เป็นทางแห่งสวรรค์ และอมฤตนิพพาน ให้ท่านมีจิตใจดีงามไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง มีแต่ความสดชื่น ร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส ถ้าลูกทำได้ถึงขั้นนี้ ก็เรียกว่าเป็นบุตรธิดาที่ประเสริฐเลิศล้ำ เพราะได้ช่วยให้พ่อแม่ได้สิ่งที่มีคุณค่าแท้จริงแก่ชีวิตของท่าน

วันนี้ทุกท่านตั้งใจเป็นบุญเป็นกุศล ประกอบด้วยศรัทธาและเมตตา สำหรับลูกหลานเองก็ประกอบด้วยศรัทธาในพระศาสนา จึงทำบุญทำกุศล และประกอบด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อคุณพ่อคุณแม่ ส่วนญาติมิตรก็มาด้วยเมตตาและไมตรีธรรม โดยมีความรักความปรารถนาดีต่อลูกหลาน และส่วนมากก็เป็นญาติมิตรกันทั้งนั้น

เมื่อท่านได้ทำสิ่งดีงามเหล่านี้เป็นบุญกุศลแล้ว ก็ขอให้มีใจบันเทิงยินดีว่าเราได้ทำสิ่งที่ดีงามถูกต้อง และทำจิตใจให้เบิกบานสงบผ่องใส

จึงขอเชิญชวนลูกหลานและญาติมิตรได้ปฏิบัติดังที่กล่าวมา ในการที่จะตั้งใจนำเอาหลักธรรม ทั้งส่วนอามิสสงเคราะห์ และธรรมสงเคราะห์ ไปปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของครอบครัววงศ์ตระกูลและสังคมสืบต่อไป

1ธรรมกถานี้แสดงเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๕
2เรื่องความรัก ๒ แบบต่อไปนี้ ตัดตอนจาก จาริกบุญ-จารึกธรรม หน้า ๙๕-๙๙ และ ความรัก: จากวาเลนไทน์ สู่ความเป็นไทย หน้า ๑๐-๑๓
3คำอธิบายพรหมวิหาร ๔ ต่อไปนี้ ตัดตอนจาก ธรรมะสำหรับผู้สูงอายุ หน้า ๓๘-๔๙ และ เพื่อชุมชนแห่งการศึกษา และบรรยากาศแห่งวิชาการ หน้า ๘๗-๙๗ (อาจดูเทียบเคียงใน จาริกบุญ-จารึกธรรม หน้า ๙๕-๑๑๑, เรื่องที่คนไทยควรเข้าใจให้ถูก หน้า ๔๔-๖๑, รักษาใจยามรักษาคนไข้ หน้า ๓๕-๔๙, ธรรรมะกับการทำงาน หน้า ๘๔-๙๙)
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.