วัดญาณเวศกวัน
ยุคแรก: เกิดเป็นสำนักสงฆ์
บนที่ดินแปลงหนึ่งอยู่เลยพุทธมณฑลไปทางด้านหลังห่างเพียงสัก ๑๐๐ เมตร เนื้อที่ ๑๑ ไร่เศษ คณะญาติโยมได้ดำเนินการขออนุญาตสร้างวัด และได้รับหนังสืออนุญาตสร้างวัดที่ทางราชการออกให้เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๒ เมื่อก่อสร้างเสนาสนะพอเป็นที่อยู่อาศัยได้แล้ว โยมก็นิมนต์พระไปจำพรรษา พระภิกษุ ๓ รูป เข้าพำนัก ณ ที่ก่อตั้ง สำนักสงฆ์ญาณเวศกวัน หลังพุทธมณฑล อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่วันเข้าพรรษาที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๒ เป็นต้นมา
ในการวางฐานความมั่นคงทางปัจจัยสี่ เริ่มด้วยเรื่องเสนาสนะ มีโยมเป็นผู้ถวายกุฏิ ๒ หลังแรกของวัด โดยอุปถัมภ์ทุน และบริจาคไม้ที่รื้อบ้านเก่ามาสร้าง จากนั้นก็จัดตั้งทุนด้านต่างๆ ให้แก่วัด ต่อจากนั้น ญาติโยมที่ร่วมสร้างวัดกันมา ก็สร้างอาคารหลักให้พอที่การปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์และการบำเพ็ญกุศลของสาธุชนจะเป็นไปได้ มีศาลาอเนกประสงค์ขนาดย่อม ๑ หลัง โรงครัวขนาดย่อม ซึ่งเป็นทั้งที่ประกอบอาหารและที่เลี้ยงภัตตาหาร ๑ หลัง (พอแก่พระภิกษุซึ่งในระยะแรกมีจำนวนเพียงไม่กี่รูป) และหอระฆัง ซึ่งเป็นที่ตั้งถังน้ำบาดาล พร้อมทั้งมีห้องเล็กที่ลูกศิษย์อยู่ได้อีกคนหนึ่ง ๑ หลัง
จากนั้น ก็มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า วัดญาณเวศกวัน ณ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๗ เป็นวัดสมบูรณ์ตามกฎหมาย ในระดับสำนักสงฆ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๒ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต) เป็นเจ้าอาวาสสืบมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน
อารามร่มรื่น: บรรยากาศอันให้สมเป็นวัด
การปลูกต้นไม้ก็มีความเป็นมายืดยาวคู่กับประวัติญาณเวศกวันอีกเรื่องหนึ่ง เพราะดังที่ทราบกันอยู่ว่า วัดควรมีลักษณะแห่งบรรยากาศที่รื่นรมย์ ร่มรื่น สงบสงัด หรือวิเวก พุทธบริษัทก็เห็นชอบและร่วมแรงร่วมใจกันที่จะทำให้วัดที่นี่มีลักษณะสมเป็น “วัน” (ป่า) หรือ “อาราม” (สวน) ซึ่งเป็นคำเรียกวัดส่วนมากในพุทธกาล
ที่หลังพุทธมณฑล เมื่อเริ่มจะสร้างวัด เป็นที่ถูกทอดทิ้ง รกร้าง มีต้นไม้ ๓ อย่างขึ้นเองอยู่มากมาย คือ มะขามเทศ แค และกระถิน มีคลองสาธารณะที่ชื่อว่า “คลองใหม่เจริญสุข” ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อพระเริ่มมาจำพรรษา ๒๕๓๒ แล้วไม่นาน ญาติโยมก็เริ่มงานปลูกต้นไม้ แต่ที่ดินนั้นปลูกต้นไม้ยาก ความเพียรมีผลน้อย ส่วนที่เห็นผลยืนยาวเป็นหลักฐานชัดเจน คือ ต้นประดู่ ซึ่งติดต่อจ้างแหล่งรับงานปลูกต้นไม้ ให้นำต้นที่โตแล้ว สูงประมาณ ๑๐ เมตร เอามาปลูกเรียงแถวตลอดริมคลอง ขอบสระน้ำ และวนรอบขอบที่ดินวัด เฉพาะจากสุดคลองด้านเหนือไปถึงสุดคลองด้านใต้ จดขอบสระน้ำด้านตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่ยังเจริญงอกงามเห็นชัดอยู่ในบัดนี้
สรุปได้ว่า สิบปีผ่านล่วงแล้วหลังจากเริ่มสร้างวัด จึงพอจะเห็นชัดขึ้นมาว่าวัดญาณเวศกวันนี้มีความร่มรื่นด้วยหมู่ไม้
ศาสนกิจ: สาระของความเป็นวัด
ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ มีผู้ทยอยมาอุปสมบทอยู่ด้วยบ้าง บรรพชาเป็นสามเณรก็มี แต่ในปีแรกๆ บวชอยู่ระยะสั้นประมาณ ๑ เดือน ยังไม่มีผู้อยู่จำพรรษา เมื่อมีผู้บวชใหม่เป็นพระนวกะ ซึ่งเรียกกันว่าบวชเรียน ก็จะต้องมีการเล่าเรียนสั่งสอนธรรม แต่เมื่อผู้บวชยังมีน้อยรูป และบวชช่วงสั้นๆ การแนะนำสั่งสอนก็ดำเนินไปเป็นส่วนแทรกอยู่ในความเป็นอยู่และกิจวัตรประจำวัน
ครั้นถึงปี ๒๕๓๖ เป็นต้นมา เมื่อเริ่มมีพระนวกะอยู่จำพรรษาแล้ว การเรียนการสอนก็เป็นงานที่เด่นชัดขึ้นมา นอกจากฟังธรรมคำบรรยายจากประธานสงฆ์ หลังทำวัตรทั้งภาคเช้าและภาคค่ำแล้ว ก็มีการจัดชั้นเรียนสอนพระปริยัติธรรมแก่พระใหม่ ทุกวัน เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันอุโบสถ
การสอนพระปริยัติธรรมแก่พระนวกะ ที่เริ่มตั้งแต่พรรษาปี ๒๕๓๖ มานี้ ถือว่าเป็นศาสนกิจหลักของวัดสืบมาจนปัจจุบัน ในระยะต่อมาเมื่อมีผู้ขออุปสมบทมากขึ้น ก็ขยายงานออกไป ให้มีการจัดชั้นสอนในช่วงนอกพรรษาด้วย แต่ใช้วิธีวางกำหนดให้มีการบวชพร้อมกัน เพื่อสอนเป็นรุ่นๆ ละ ๑ เดือน ดังที่ในปัจจุบันค่อนข้างลงตัวว่า ในปีหนึ่งๆ มีรุ่นพรรษา ๓ เดือน ๑ รุ่น และรุ่นหนึ่งเดือนนอกพรรษา ประมาณ ๓-๔ รุ่น