ภาษา | ไทย |
---|---|
อยู่ในชุด | ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม |
ข้อมูลเบื้องต้น | [10:49-11:38] ... “ตอนนี้มันเป็นทางสองแพร่ง ฝ่ายหนึ่งก็ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อเสพ แล้วก็เมื่อเสพความสุขก็อยู่ที่สิ่งที่ชอบใจ และเจอสิ่งไม่ชอบใจก็ทุกข์ ฉะนั้นเขาก็จะมีสุข ทุกข์ วนเวียนอยู่กับความชอบใจ ไม่ชอบใจ แล้วเขาก็ไม่มีทางหนีได้ เพราะสิ่งที่เขาเจอ มันก็มีสองอย่างนั่นแหละ ชอบใจ กับ ไม่ชอบใจ ส่วนคนที่มีฉันทะ นี่อยากรู้ ใฝ่รู้ บอกแล้วว่าการเรียนรู้นั้นไม่ขึ้นต่อสิ่งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ สิ่งที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ เรียนรู้ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความสุขของเขาก็พ้นจากวงจรของความชอบใจ ไม่ชอบใจ มาสู่การที่สามารถมีความสุขได้จากประสบการณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะชอบใจ หรือไม่ชอบใจ”... [12:14-12:46] ... “ฝ่ายที่เป็นฉันทะ นี่มันอยากทำให้มันดี ฝ่ายสร้างสรรค์ พอมันไปทำให้มันดีขึ้น มันสุขจากการกระทำ ฉะนั้นมันก็เป็นการก้าวหน้าในเรื่องความสุข คนที่มีฉันทะเกิดขึ้นมา ก็ได้สุขจากเสพก็มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แล้วจะมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ ได้เรียนรู้ แล้วก็มีความสุขจากการกระทำ การสร้างสรรค์ เลยสุขมากมาย แล้วเข้มแข็งพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ”... [18:48-20.07] ... “ถ้าเด็กพัฒนา อัตตสัมปทา ขึ้นมาได้แล้ว ครูอาจารย์ก็ตาม พ่อแม่ก็ตาม สบายใจเลยไม่ต้องกลัว เด็กพัฒนาแน่นอน ฉะนั้นถ้าได้ยิ่งสองตัวนี้สบายแน่ ได้ฉันทสัมปทา เด็กก็อยากใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่สร้างสรรค์ อยากทำ แกไม่ไปมัวหลงระเริงกับเรื่องสิ่งเสพบริโภค แล้วแกก็ไม่ไปติดสิ่งเสพติดได้ง่าย ไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องเหล่านั้น แกจะมาหาความสุขจากการเรียนรู้ จากการฝึกฝนตน จากการสร้างสรรค์ แล้วจากการที่ได้พัฒนาตัวด้วย อัตตสัมปทา นั้นสบายเลย นี่ก็ อัตตสัมปทา ก็มาช่วยทำให้ได้ความสุขยิ่งขึ้น เมื่อกี้ฉันทะก็ได้สุขจากการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ จากการทำการทำงานอยู่แล้ว พอได้ อัตตสัมปทามา ยิ่งสุขจากสิ่งที่ยากด้วย มันขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ก้าวอีกขั้นหนึ่ง ฉันทะแค่สุขจากการเรียนรู้ และ สุขจากการทำงานสร้างสรรค์ แต่ว่าไอ้เจ้าอัตตสัมปทานี้ ทำให้สุขจากสิ่งที่ยาก สิ่งที่เป็นปัญหาด้วย พอเพิ่มสุขเข้าไปแล้ว ก็เพิ่มความสำเร็จด้วย”... [47:19-48:19] ... “แต่ถ้ามนุษย์ใช้หลักความไม่ประมาท ก็ไม่ต้องอาศัยทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ใช้สติปัญญา คอยตรวจตรา คอยจับเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา มีความตื่นตัวทันสถานการณ์แล้ว เพราะความตื่นตัวทันสถานการณ์นั้น ก็เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาสำรวจพิจารณา แล้วก็ใช้ปัญญาแก้ไขเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม แล้วก็สร้างสรรเหตุปัจจัยแห่งความเจริญ รักษาความเจริญไว้ได้ เจริญยิ่งขึ้นต่อไป ฉะนั้นความไม่ประมาทที่แท้ด้วยสติปัญญานี้จะทำให้มนุษย์สามารถรักษาความเจริญที่ทำมาแล้ว รักษาความดีงาม แล้วความสุขความสำเร็จให้อยู่ได้และสามารถทำให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนเต็มเปี่ยมไพบูลย์ นี่ก็คืออานิสงส์ของความไม่ประมาทนั้นจะแก้ไขได้ทั้งปัญหาชีวิตมนุษย์และอารยธรรม หรือสังคมมนุษย์ทั้งหมด”... [53:38-54:00] ... “วินัยนี่เป็นตัวกระตุ้นให้ไม่ประมาท วางระบบสังคมจัดระเบียบสังคมให้มันไม่ประมาทให้ได้ ฉะนั้นคนที่เป็นผู้บริหารรับผิดชอบสังคม เป็นผู้ปกครองนี่จะต้องพยายามตระหนักอันนี้คือ หาทางเอาวินัยมาใช้ จัดระบบสังคมอย่างไร วางระเบียบกฏเกณฑ์กติกาอย่างไร เพื่อกระตุ้นคนให้ไม่ประมาทอยู่เสมอ”... |
ที่มา | จาก สนทนาธรรมกับพระ แก่ พระนวกะ รุ่นพรรษา ๒๕๓๙ ณ วัดญาณเวศกวัน |
เรื่องที่ควรฟังก่อน | แสงอรุณยืนยันการขึ้นมาของดวงอาทิตย์ แล้วอะไรเป็นบุพนิมิตของการเข้าสู่วิถีชีวิตที่ดีงาม ตอนที่ ๑ |
เรื่องที่ต่อเนื่อง | ทางชีวิตของอารยชน เริ่มต้นด้วยปัจจัย ๒ มีหน่วยหนุนประคองอีก ๕ รวมเป็นแสงอรุณ ๗ รัศมี |