สลายความขัดแย้ง: สังคมศาสตร์ที่หยั่งถึงธรรมชาติ
…กฎหมายหรือกฎสมมติของมนุษย์เป็นคุณเมื่อมันเป็นเครื่องสนองความต้องการธรรม แต่เมื่อความต้องการ ธรรมเลือนลางจางหายกฎหมายก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสนองความปรารถนาส่วนตัวของบุคคล... เช่นเป็น เครื่องมือของการแสวงหาผลประโยชน์ของตน หรือการกลั่นแกล้งทำร้ายผู้อื่น กฎหมายหรือกฎสมมติของมนุษย์กำเนิดขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนธรรม หรือกฎแท้ของธรรมชาติให้ปรากฎผลเป็นจริงหนักแน่นในส้งคม มนุษย์...
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ…เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของมนุษย์นั้น ใช้ไปในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถ้าจะให้เศรษฐศาสตร์มีคุณค่าอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ก็จะต้องให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตก็ดี การทำงานก็ดี การบริโภคก็ดี การแจกจ่ายก็ดี เป็นกิจกรรมในทางสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต และพัฒนาศักยภาพเพื่อชีวิตที่ดีงามเราสามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างเป็นกิจกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตลอดเวลาและนี่เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐศาสตร์มีคุณค่าอย่างแท้จริง...
รัฐศาสตร์แนวพุทธ…จุดหมายของงานการเมือง ก็คือ การที่จะบริการกิจการหรือปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นต้น แต่อย่างนี้ยังไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริง อะไรคือจุดหมายที่แท้จริง เราจะต้องมองลึกลงไปว่า ธรรมดาชีวิตของคนเราก็ดี สังคมก็ดีนั้น มีจุดหมายของมันเองอยู่แล้ว คือชีวิตต้องการความเจริญงอกงาม ความเป็นสุข หรือการที่ชีวิตนั้นจะต้องพัฒนาให้ดีงามยิ่งๆขึ้นไป สังคมก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีจุดหมายที่จะทำการสร้างสรรค์ หมายความว่า จุดหมายของการเมือง หรืองานการเมืองนั้น คือเพื่อสร้างสภาพเอื้อ ที่จะช่วยให้ชีวิตและสังคมพัฒนาไปสู่จุดหมายของมัน...
สลายความขัดแย้ง…การประนีประนอม (Compromise) ไม่เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง ไม่อาจทำให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน มนุษย์ที่พัฒนาจึงจะต้องไปให้ถึงความประสานกลมกลืน หรือความสอดคล้องสามัคคี (Harmony) แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันนั้น ต่างก็มุ่งจุดหมายที่จะเอาผลประโยชน์ของตน เมื่อต่างฝ่ายมีจุดหมายของตนคนละทาง ก็ย่อมไปได้แค่การประนีประนอม วิธีแก้ปัญหาให้เกิดความประสานสอดคล้องก็คือ ต้องให้ทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายมองเห็นจุดหมายใหญ่เหนือขึ้นไปซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน...
เปลี่ยนชื่อจาก |
- สลายความขัดแย้ง: นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ |
---|