ดูหนังสือของพระมโน สะท้อนสภาพโซของการศึกษาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

 

                                                                                      วัดญาณเวศกวัน
                                                               ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕

เจริญพร นอ.ทองย้อย แสงสินชัย รน.

ได้ทราบจากพระครูปลัดฯ ว่า อ.ทองย้อย แวะไปที่วัดหลายวันแล้ว (คงจะเกือบเดือนหนึ่งแล้ว) และพระครูปลัดฯ บอกว่า อ.ทองย้อยจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่พระมโน เมตฺตานนฺโท ได้พิมพ์หนังสือ “เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. ๑” ออกมา และอยากจะฟังความเห็นของอาตมาด้วย อาตมาขออภัยที่ไม่ได้พบกัน เพราะพระท่านเกรงว่าอาตมาพูดคุยแล้วมักเกิดปัญหาแก่ปอด ซึ่งมีสภาพไม่ดีจากโรคที่เคยเป็นในอดีต การขอฟังความเห็นนั้น ก็เลยเป็นเรื่องค้างอยู่ เมื่อไม่พบกัน อาตมาก็ควรเขียนจดหมายมาชี้แจง อย่างน้อยก็เป็นการแสดงความรับรู้ต่อความสำคัญของเรื่องที่ อ.ทองย้อย จะเขียนนั้น และเพื่อ อ.ทองย้อยจะได้ไม่ต้องรอว่าจะได้พบกันหรือไม่ แต่ก็เขียนมาล่าช้า ปล่อยเวลาล่วงไปนาน ซึ่งก็ต้องขออภัยอีก เพราะจดหมายนี้ ปีหนึ่งอาตมาจะเขียนสัก ๒-๓ ฉบับก็แสนยาก วันนี้ก็เลยต้องบังคับตัวเองให้เขียนมา

เรื่องหนังสือ “เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. ๑” ของพระมโน เมตฺตานนฺโท นั้น ก็ต้องขออภัยอีกว่ายังไม่ขอให้ความเห็น ทั้งนี้เพราะยังไม่ได้อ่าน (ทั้งที่มีผู้ส่ง ปณ.ไปถวายถึงวัด) อ.ทองย้อย และหลายท่านอาจนึกไปได้ว่า เรื่องที่คนวิพากย์วิจารณ์กันอยู่ ซึ่งกระทบต่อพระพุทธศาสนา ทำไมอาตมาจึงไม่สนใจ ขอชี้แจงว่าก็สนใจอยู่ แต่อาตมาก็มีเหตุผลที่ยังไม่อาจใช้เวลามาอ่านหนังสือเล่มที่ว่านั้น เพราะว่าในขณะที่มีงานซึ่งต้องทำคั่งค้างมากมาย เวลาไม่พออยู่แล้ว ถ้าจะอ่านเรื่องอะไรก็คงต้องมองพื้นฐานด้วยว่าควรจะอ่านหรือไม่

พระมโน เมตฺตานนฺโท นั้น ท่านมีเรื่องที่เขียนออกมาก่อนหน้านี้ อาจจะปีหนึ่งแล้ว ซึ่งคนก็วิพากย์วิจารณ์กันไปพักหนึ่ง คือ เรื่อง “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร” โดยท่านบอกว่าได้วิเคราะห์ออกมาจากเรื่องที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก และหนังสือเล่มใหม่ที่ท่านเขียน คือ “เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. ๑” นี้ ก็ถือได้ว่าต่อเนื่องกับเรื่องที่กล่าวนั้น (พ.ศ. ๑ ก็คือเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว)

เรื่อง “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร” ของพระเมตตาฯ นั้นอาตมาได้อ่านแล้ว จึงให้ความเห็นได้ (ไม่ใช่เพียงความเห็น แต่บอกเล่าข้อมูลให้ผู้ฟังผู้อ่านพิจารณาได้) และความเห็นนั้น เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งในตัวที่บอกเองว่า ทำไมจึงไม่สละเวลามาอ่านหนังสือเล่มใหม่ของพระเมตตาฯ

เรื่อง “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร” ของพระเมตตาฯ นั้นมีจุดเด่น ๓ ประการ ที่สำคัญต่อสถานะของข้อเขียนของพระเมตตาฯ เอง

๑. แสดงว่าท่านยังมีความรู้เรื่องพระไตรปิฎกบกพร่องอย่างมาก ทั้งที่ในกรณีนี้ ท่านเป็นพระภิกษุและพระไตรปิฎกก็เป็นเรื่องที่ท่านกำลังเขียนวิเคราะห์นั้นเอง จะเห็นว่า พอเริ่มเรื่องในหน้าแรกท่านก็เขียนว่า

“รายละเอียดที่โลกได้รับทราบเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นมาจากเอกสารในพระไตรปิฎกเพียงตอนเดียวเท่านั้น คือมหาปรินิพพานสูตร….”

ข้อความที่พระเมตตาฯ เขียนตรงนี้ ผิดอย่างตรงข้ามกับความเป็นจริง เพราะรายละเอียดเรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่มีในมหาปรินิพพานสูตรนั้น แทบทั้งหมดมีอยู่ในพระไตรปิฎกตอนอื่นๆ กระจายไปเกิน ๑๐ แห่ง และเรื่องราวข้อความเดียวกันหลายตอนมีในพระไตรปิฎกซ้ำกันหลายที่หลายแห่ง

พูดได้ว่า ถึงจะไม่มีมหาปรินิพพานสูตร หรือถ้ามหาปรินิพพานสูตรหายไป เราก็สามารถทราบเรื่องเกือบทั้งหมดในมหาปรินิพพานสูตรนั้น จากพระไตรปิฎกตอนอื่น เพียงแต่จะต้องเสียเวลาบ้างในการตามค้นและรวมเอามา (เหตุผลที่เรื่องราวกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มากแห่ง อาตมาได้เขียนไว้แล้วในที่อื่น)

๒. แสดงว่าท่านมักพูดอะไรออกมาง่ายๆ อย่างผิดพลาด แม้แต่ในเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงสามัญ ทั้งที่เป็นกรณีซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวินิจฉัย ท่านก็นึกเอา พูดเอา ไม่ระวัง ไม่ตรวจสอบ เช่น ท่านจะวินิจฉัยว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเมื่อนั้นเมื่อนี้ ก็เหมือนพูดเอาเองตามที่นึกขึ้นมาว่า

“..…แต่อาจยืนยันได้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ นั้น ชาวพุทธยังจดจำได้ดีว่าเป็นฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ซึ่งต้นสาละในป่าสลัดใบร่วงหล่นไปหมดแล้ว”

ที่จริง ไม่มีใครยืนยันอย่างนั้นได้ และไม่มีชาวพุทธที่ไหนจดจำมาอย่างนั้นเลย ท่านเพียงนึกเอาเองแล้วก็เขียนออกมา โดยเข้าใจเอาว่ากุสินาราอยู่ค่อนไปทางเหนือของอินเดีย ตัวท่านเองเคยไปเรียนในอเมริกา แล้วก็คงเอาภาพรัฐในภาคเหนือของอเมริกามาใส่ให้กุสินาราว่า ถึงฤดูใบไม้ร่วง ใบสาละก็ร่วงหมด แต่ที่จริง กุสินาราแม้จะอยู่ในระดับเหนือเมืองไทย แต่ก็อยู่ในอาเซียใต้ ถ้าเทียบกับอเมริกา เมืองกุสินาราอยู่ในระดับเส้นรุ้งไล่เรี่ยกับเมืองไมอามี่ ในรัฐฟลอริดา ที่เป็นแถบร้อนล่างสุดของเขา แม้จะอยู่บนแผ่นดินสูงใกล้เขาหิมาลัยเข้าไป พระซึ่งอยู่ที่กุสินาราก็ดี เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของอินเดียที่นั่นก็ดี ยืนยันว่า ไม่มีฤดูใดที่ใบสาละจะร่วงหล่นหมดเลย (คือไม่มีฤดูใบไม้ร่วงที่นั่น) พระเมตตาฯ พูดเขียนไปโดยนึกเอาและไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วเอาข้อเท็จนี้มาใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยเรื่องทางวิชาการ

๓. แสดงว่าท่านขาดความรู้ภาษาบาลี และเมื่อพบคำแปลที่ผิด ก็พลอยผิดตามเขาไป ท่านอ้างข้อความในมหาปรินิพพานสูตร ในพระไตรปิฎกว่า

๓. หลังจากปรินิพพานแล้ว มัลละกษัตริย์ทั้งหลายมีมติที่จะเคลื่อนพระศพออกจากเมืองไปประตูทิศใต้ แต่ไม่อาจเคลื่อนพระศพได้ มิได้ระบุว่าต้องนำพระศพเข้าเมืองก่อน แสดงว่าสถานที่ปรินิพพานนั้นอยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง

ที่จริง ในพระไตรปิฎก ไม่ว่าในมหาปรินิพพานสูตร หรือในที่ไหนๆ ไม่มีข้อความใดที่บอกว่า มัลละกษัตริย์ทั้งหลายมีมติที่จะเคลื่อนพระศพออกจากเมืองไปประตูทางทิศใต้

เมื่อหลักฐานที่ท่านอ้างไม่เป็นจริง ก็สงสัยว่าท่านพูดเอาเอง หรือเข้าใจผิดได้อย่างไร เมื่อตรวจสอบดู ข้อความที่ท่านเขียนผิดนั้น ฟ้องว่าท่านไม่ได้นำมาจากตัวพระสูตรเดิมที่เป็นภาษาบาลี แต่ท่านไปอ่านคำแปลของฝรั่งที่พอดีมาแปลบาลีตรงนี้ผิดไป

คำแปลผิดนี้ จะเห็นได้ในคำแปลพระไตรปิฎก ตอนทีฆนิกาย ที่ Wisdom Publications ที่เมือง Boston ในอเมริกาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ล่าสุดปี 1995 (พ.ศ. 2538) ตั้งชื่อว่า The Long Discourses of the Buddha, Translated from the Pali by Maurice Walshe ข้อความที่แปลเป็นภาษาอังกฤษตรงนี้ว่า (p.23)

And on the seventh day…. now we shall burn his body after carrying him out by the south gate.
ขอให้ดูข้อความบาลีของเดิม (10/152/184) ว่า
อถ โข สตฺตมมฺปิ ทิวสํ…ทกฺขิเณน ทกฺขิณํ นครสฺส หริตฺวา พาหิเรน พาหิรํ ทกฺขิณโต นครสฺส ภควโต สรีรํ ฌาเปสฺสามาติ.

ข้อความตรงนี้มีสำนวนความซับซ้อน ถ้าไม่ดูให้ชัดก็อาจเข้าใจผิด (แม้แต่พระไตรปิฎกแปลภาษาไทยบางฉบับก็แปลอย่างชวนให้ผู้อ่านเข้าใจผิด) แต่ข้อสำคัญไม่มีคำที่บอกว่า เคลื่อนพระศพออกจากเมือง และไม่มีคำว่า “ประตูเมือง” (เพราะพระพุทธสรีระอยู่นอกเมืองอยู่แล้ว) แต่ผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษและพระเมตตาฯ เติมคำว่า “ประตูเมือง” เข้าไปเอง

ความในบาลีตอนนี้ ท่านเล่าว่า

ครั้งนั้นแล ในวันที่ ๗…พวกเราจะอัญเชิญพระพุทธสรีระไปทางทิศใต้สู่ด้านใต้ของพระนคร โดยทางข้างนอกสู่ที่นอกพระนคร จักถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าทางทิศทักษิณแห่งพระนคร

ข้อความที่ท่านกล่าวว่า โดยทางทิศใต้สู่ด้านใต้ โดยทางข้างนอกสู่ที่นอกพระนครนั้น เป็นการย้ำว่าจะเคลื่อนพระศพอยู่ข้างนอกพระนครนั่นแหละ ไม่นำเข้ามาในเมือง

เมื่อการปฏิบัติตามมตินี้ไม่สำเร็จ กษัตริย์มัลละจึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่ โดยอัญเชิญพระศพไปทางทิศเหนือ แล้วคราวนี้จึงบอกชัดว่านำเข้าเมืองโดยประตูเมืองด้านเหนือ มาออกทางประตูด้านตะวันออก วิธีปฏิบัติใหม่นี้ฝรั่งแปลถูก (แต่ตรงนี้พระเมตตาฯ ไม่ได้นำไปใช้แล้ว)

Maurice Walshe ผู้แปลทีฆนิกายนี้ เคยพบกันครั้งท่านมาเยี่ยมเมืองไทยเมื่อ ๓๐–๓๕ ปีก่อนโน้น ท่านเป็นพุทธศาสนิกชน มีความรู้ความคิดดี ทางเราเคยให้นิสิตปี ๔ ที่มหาจุฬาฯ เรียนรู้การอธิบายธรรมเป็นภาษาอังกฤษและดูความคิดของชาวตะวันตก โดยใช้หนังสือของท่านชื่อ “Buddhism for Today” ในวิชาธรรมะภาคภาษาอังกฤษ แต่ไม่ทราบว่าท่านแปลทีฆนิกาย จนกระทั่งมาพบเป็นหนังสือเมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้ว

ทีฆนิกายฉบับแปลภาษาอังกฤษของ Mr. Walshe นี้ เหมือนกับเป็นการปรับปรุงหรือแทนคำแปลเก่าของ T.W. Rhys Davids และ J.E. Carpenter ที่ Pali Test Society พิมพ์ใช้กันมา ซึ่งยังมีส่วนที่แปลบกพร่องมาก แม้ว่าคำแปลของ Mr. Walshe จะยังมีผิดบ้าง ก็น่าเห็นใจ และยังน่าอนุโมทนาที่ญาติโยมชาวพุทธต่างประเทศมีศรัทธา-ฉันทะ-วิริยะ ทำงานกุศลอย่างนี้ แต่พระไทยเราที่จะทำงานวิชาการระดับนี้ ควรจะมีฐานความรู้ของตัวเองดีกว่าเขา เพราะอยู่ในถิ่นที่เรียกได้ว่าเป็นเจ้าของเรื่อง เมื่อไปแล้วควรจะสามารถไปช่วยแนะนำแก้ไขปรับปรุงให้เขา ไม่ใช่เพิ่งจะเรียนโดยไปเอาจากเขาและพลอยผิดตามเขา

ที่อาตมาเขียนมานี้ ไม่ใช่เป็นการจับผิด แต่เป็นความผิดพลาดที่โจ่งแจ้งในเรื่องง่ายๆ ซึ่งผู้ทำงานที่จะเรียกได้ว่าเป็นวิชาการไม่มีทางที่จะผิดพลาดถึงขนาดนี้ และเรื่องที่ผิดนั้นเป็นฐานและเป็นแกนของสิ่งที่จะวิเคราะห์วินิจฉัย เมื่อไม่มีฐานไม่มีแกน หรือแกนหัก ฐานพังเสียแล้ว เรื่องที่เขียนก็เลื่อนลอย สับสน พลอยผิดพลาดร่วงหล่นตามไปหมด อย่างน้อย เมื่อได้ข้อมูลที่ผิดมาเป็นฐาน การวิเคราะห์วินิจฉัยก็ย่อมผิดไปด้วย

ความจริงไม่อยากเขียนถึงเรื่องนี้ ไม่อยากให้มีอะไรกระทบกระทั่งใคร แต่เมื่อเป็นเรื่องที่มีผลสำคัญต่อความเป็นจริง ต่อส่วนรวม ต่อประโยชน์ของประชาชนอย่างกว้างขวาง ก็จำเป็นต้องให้รู้เข้าใจให้ถูกทาง จะปล่อยปละละเลยไม่ได้

การที่ อ.ทองย้อยจะเขียนให้คนรู้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร หรืออะไรถูกอะไรผิดเกี่ยวกับหนังสือ เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. ๑ นั้น ก็ขออนุโมทนาด้วย เพราะ อ.ทองย้อยเป็นผู้เหมาะทีเดียวที่จะเขียนสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้

ควรจะช่วยกันแก้ปัญหาของสังคมไทยที่สำคัญอย่างหนึ่งพร้อมไปด้วย คือความติดตื่นเต้นไปกับรูปแบบ จนไม่มองสาระที่แท้ เช่น ค่านิยมปริญญาเมืองนอก อย่างเรื่อง “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร” นี้ พอพระเมตตาฯ ที่ว่าจบดีกรีสูงจากฮาร์วาร์ดและออกซ์ฟอร์ด เขียนว่า “รายละเอียดที่โลกได้รับทราบเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น มาจากเอกสารในพระไตรปิฎกเพียงตอนเดียวเท่านั้น คือ มหาปรินิพพานสูตร…” พออ่านแค่นี้ คนไทยที่ตื่นปริญญานอกก็ทึ่งเลยทีเดียว แต่สำหรับคนที่รู้เรื่องกลับตรงข้าม พอเจอคำเกริ่นโก้ของพระเมตตาฯ นี้เข้า ข้อเขียนทั้งเรื่องของท่านก็หมดความหมายไปสิ้นทีเดียวเลย

เรื่อง “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร” ของพระเมตตาฯนั้น โดยรูปแบบอาจจะเห็นว่าเป็นงานทางวิชาการ แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่มีฐานที่จะเป็นวิชาการ

ได้บอกแล้วว่า ที่จริงนั้นไม่อยากพูดให้ไม่สบายใจแก่ใครๆ แต่เรื่องสำคัญแก่ส่วนรวมอย่างนี้ ก็ต้องขออภัยที่จำเป็นต้องพูดไว้ และควรจะให้สติแก่สังคมไทยกันบ้าง

ท่านที่เรียนจบปริญญาเอกแล้ว เท่ากับได้ฐานที่ดี ซึ่งน่าอนุโมทนา แต่ควรจะมีเวลาศึกษาค้นคว้าให้มากต่อไปอีก ปริญญาสูงนั้นเราก็ควรเห็นสำคัญ แต่ยังไม่เป็นเครื่องตัดสินอะไร ถ้าจะทำงานวิเคราะห์วิจารณ์ออกมาควรศึกษาให้ชัดเจนถ่องแท้ มิฉะนั้น เมื่อแสดงออกไป นอกจากจะบั่นทอนเกียรติคุณของสถาบันการศึกษาที่ตนจบมาลงไปแล้ว ถ้าคนที่ตื่นรูปแบบโน้มเอียงที่จะเชื่อ ข้อเขียนที่ผิดพลาดก็จะสร้างความเข้าใจผิด ก่อความสับสนมากขึ้น

อย่างเช่น สืบเนื่องจากการเขียนของพระเมตตาฯ มีผู้ที่เรียกกันว่าเป็นนักวิชาการเขียนเรื่องที่เรียกว่าทางวิชาการกันต่อมาอีกหลายเรื่องเหมือนกัน แม้ว่าอาตมาจะไม่มีเวลาติดตามหรือหาอ่าน แต่ก็พอได้พบเห็นว่าบางทีที่เขียนออกมาก็แค่บอกว่าคนโน้นเห็นว่าอย่างนั้น คนนั้นเห็นว่าอย่างนี้ แล้วก็จับมาวิจารณ์ด้วยหลักที่ตนเองยังไม่ได้ศึกษาให้ชัดและด้วยถ้อยคำที่ตนเข้าใจไขว้เขว สับสน หรือแสดงความเห็นเหมือนเป็นความรู้ในเรื่องที่ตนเพียงรู้สึก บ้างก็ตัดต่อถ้อยคำเอาไปถ่ายทอดให้เข้าใจผิด บ้างก็สรุปความคิดของคนอื่นเอาไปพูดให้ผิดประเด็น

กรณีคนทุจริต ใช้ชื่อปลอมว่า ดร.เบญจ์ บาระกุล แล้วปั้นแต่งเรื่องเท็จใส่ร้ายคนโน้นคนนี้ พิมพ์เป็นหนังสือให้ดูเหมือนเป็นงานวิชาการเผยแพร่ ทั้งที่ความเท็จทุจริตของเขาชัดเจนจับได้ง่าย เขาก็ยังหลอกคนที่ขาดพื้นฐานรู้ไม่ทันได้จำนวนหนึ่ง

ในกรณีที่เป็นเอกสารซึ่งมีลักษณะเป็นทางการ หรืออิงสถาบันทางวิชาการ ถ้างานเขียนที่เผยแพร่ออกมา เป็นเรื่องที่ชักจูงให้คนเข้าใจผิดหรือหลงเข้าใจไขว้เขวสับสน ไม่ว่าจะโดยเจตนา หรือโดยรู้ไม่เท่าถึงการณ์ ก็จะสร้างปัญหา บั่นทอนชีวิตและสังคมยิ่งกว่างานเท็จชัดๆ อย่างของ ดร.เบญจ์ นั้นอย่างมาก เพราะคนมักหลงเชื่อถือโดยมิได้ตรวจสอบ ดังนั้น นิตยสาร วารสาร และเอกสารต่างๆ ทางวิชาการ ควรจะทำกันอย่างมีความรับผิดชอบ และดูแลความถูกต้องแม่นยำกันให้มากสักหน่อย งานสร้างสรรค์พัฒนาสังคมที่หนักอยู่แล้ว จะได้ดำเนินไป ไม่ต้องมัวมาคอยตามแก้ความหลงผิดเข้าใจพลาดและความคลุมเครือสับสนกันอยู่

เมื่อไม่กี่วันนี้เอง มีผู้ส่งนิตยสารฉบับหนึ่ง และต่อมาก็วารสารฉบับหนึ่งมาทาง ป.ณ. ได้พลิกๆ ดู ก็เลยทราบว่านิตยสารฉบับนั้น เอาข้อความที่อาตมาพูดเรื่องสูกรมัททวะไปถ่ายทอด แต่การถ่ายทอดนั้นเป็นไปในทำนองที่พาให้คนอ่านเข้าใจความคิดของผู้เขียนไขว้เขว นอกจากนั้นใครชี้แจงหลักการอะไรไม่ตรงกับที่พระเมตตาฯ พูด เขาก็เรียกเป็นฝ่ายตรงข้าม

ส่วนในวารสารวิชาการอีกฉบับหนึ่ง นักวิชาการท่านหนึ่ง เมื่อเราพูดถึงเรื่องหน้าที่ของผู้ร่วมสังคายนาว่าจะต้องพยายามรักษาคำสอนเดิมเท่าที่รักษากันไว้ได้และมีมาถึงเราให้อยู่ดีครบถ้วนที่สุด (เพราะข้อมูลที่เราจะเอาไปอธิบายหรือตีความก็ควรจะเป็นข้อมูลแท้ที่สุดเท่าที่จะหาได้) เขาเอาไปเขียนถ่ายทอดให้กลายเป็นเราพูดว่าเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัทที่จะต้องเชื่อถือยึดมั่นว่าสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์นั้นถูกต้องเป็นจริงทั้งหมด (เอาความซื่อตรงไปพูดเป็นความเชื่อ-ยึดมั่น เอาการทำหน้าที่ของบุคคลที่ทำงานเฉพาะไปสับสนกับคุณสมบัติของคนทั้งกลุ่มหรือทั้งชุมชน)

เรื่องทำนองนี้ได้พบมาเรื่อยๆ อย่างที่เห็นง่ายๆ นักวิชาการที่ผลีผลามจับประเด็นไม่ถูกหรือแยกไม่ออกว่าเขากำลังพูดกันเรื่องว่า “นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา” หรือกำลังพูดเรื่องว่า “หลักการของเถรวาทถือว่านิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา” บางคนก็สับสนระหว่างข้อมูลที่จะเอามาตีความกับการตีความ ทั้งหมดนี้ไม่ก่อผลดีทางปัญญาแก่สังคม

ไปๆ มาๆ เวลานี้ สังคมไทยเกลื่อนไปด้วยการแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีฐานของความรู้ จะต้องช่วยกันกำชับให้การให้ความเห็นมาคู่กับการหาความรู้ และเป็นความรู้ที่ค้นคว้าตรวจสอบให้ถูกต้องแม่นยำที่สุด ถ้ามัวเพลินอยู่กับความเห็นโดยไม่ก้าวไปในความรู้ สังคมจะมีความเข้มแข็งทางปัญญาไม่ได้

ถ้าจะทำงานวิชาการกันอย่างมีความรับผิดชอบ นอกจากจะต้องซื่อตรงโดยทั่วไปแล้ว จะถ่ายทอดความคิดของใครจะต้องพยายามสื่อให้แม่นให้ชัด จะวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องใดก็ต้องศึกษาหาความรู้ความเข้าใจให้ถ่องแท้ชัดเจน จะแสดงความเห็นอะไรก็แสดงไป แต่ต้องพยายามให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ถ้าจะตั้งใจทำงานเพื่อสังคมประเทศชาติกันจริงๆ จะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะไม่ปล่อยให้ประชาชนชาวบ้านได้รับข้อมูลความรู้ที่ปล่อยออกมาหละหลวมผิดๆ

พวกโปรเฟสเซอร์ที่สอนวิชาเกี่ยวกับเรื่องทางเมืองไทย และย่านใกล้เคียงที่ ม.ฮาร์วาร์ด ม.เคมบริดจ์ ม.ชิคาโก เป็นต้น ที่นักศึกษาอาจารย์ไทยหลายท่านไปเรียนปริญญาเอกมา เจอนานแล้วกำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง บางท่านหลายปี บางคนแม้แต่อีก ๑๐ ปีต่อมา หนังสือนั้นก็ยังไม่เสร็จ ทำไมจึงช้านัก เพราะต้องทบทวนตรวจสอบให้แน่ บางทีเดินทางไปมาเมืองไทยหลายเที่ยวกว่าจะเสร็จ หนังสือออกมาแล้วก็ยังมีที่ผิดพลาด แต่เขาก็ได้เพียรพยายามพอสมควร ขอเพียงไม่ให้ผิวเผินหรือสุกเอาเผากิน ก็ยังเป็นทางเจริญปัญญาแก่สังคม ที่ว่านี้มิใช่ว่าจะต้องเอาอย่างเขา แต่ควรเอาเยี่ยงความขยันในการหาความรู้และความอดทนในการตรวจสอบข้อมูล

ประเทศไทยส่งคนไปเรียนเมืองนอกกันมานานนักหนา น่าจะชัดเจนกันเสียทีว่า อะไรเราขาดเราพร่อง ควรเป็นจุดเน้นที่จะเอาไปจากเขา อะไรที่เรามีเป็นฐานดีอยู่เหนือเขา ควรเตรียมของตัวให้ดี แล้วจัดเสริมให้ตรงจุด ก็จะก้าวไปได้หนักแน่น แต่นี่พวกเราไปเรียนจากเขาแม้แต่ในเรื่องของเราเอง แทนที่จะมีจุดแข็งที่เหนือเขา แล้วไปเสริมส่วนอื่นมา กลับกลายเป็นว่า แม้แต่ส่วนที่เป็นเรื่องของตัวเอง ก็ไปรับจากเขามาได้อย่างขาดๆ วิ่นๆ เป็นอย่างนี้มานาน ป่านนี้ก็ยังไม่รู้จักได้บทเรียน

ขอยกตัวอย่าง เมื่อราว ๒๐ ปีมาแล้ว พวกโปรเฟสเซอร์ที่อเมริกา ที่สอนด้านมานุษยวิทยา โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมย่านอาเซียอาคเนย์ พูดเรื่องคติ Cakravartin กัน ตลอดจนเขียนไว้ในตำรา ไม่ช้าอาจารย์ในเมืองไทยก็ถกเถียงเรื่อง Cakravartin นี้กัน ยกขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ใช้คำไทยว่า “จักรวาทิน” ท่านอาจารย์เหล่านั้นเดี๋ยวนี้ก็เป็นโปรเฟสเซอร์เมืองไทยกันไปแทบทุกท่านแล้ว แต่ก็ยังจำ “จักรวาทิน” ไว้ตามเดิม

ที่แท้ที่จริง “จักรวาทิน”นี้ เป็นอะไร ที่จริงก็ง่ายๆ คือ Cakravartin นั้น ฝรั่งเขียนตามระบบเทียบตัวอักษรเป็น Romanized Sanskrit คือ เป็นคำสันสกฤตเขียนด้วยอักษรโรมัน ถอดเป็นอักษรไทย ก็คือ จกฺรวรฺติน เขียนอย่างไทยเป็น จักรวรรติน = บาลีว่า จกฺกวตฺติ ไทยเรียกว่าจักรพรรดิ เพราะฉะนั้น คติ Cakravartin ก็คือแนวคิดการปกครองตามหลักธรรมที่เรียกว่าจักรวรรดิวัตรนั่นเอง เวลาพูด อาจารย์ฝรั่งรู้เข้าใจ แต่นักศึกษาไทยเราเรียนมาอย่างคลุมๆ เครือๆ เราก็มีความเข้าใจไม่ชัดเจนไม่สมบูรณ์ นี่ถ้าเรารู้หลักว่า อ๋อ นี่คือจักรพรรดินั่นเอง แนวคิดจักรวรรดิวัตรเป็นอย่างไร เราจับจุดค้นได้ เราก็เข้าใจได้ลึกซึ้ง แถมยังจะมีอะไรไปถกเสริมแก่พวกฝรั่งด้วย

ในด้านอื่นๆ ก็เหมือนกัน อย่างในวงการการศึกษาหรือศึกษาศาสตร์ ก็ว่าตามฝรั่งกันมาว่า ให้เด็กมีพัฒนาการทางกาย-ทางจิตใจ-ทางอารมณ์-ทางสังคม (แปลมาจาก physical, mental, emotional, social development ตามลำดับ) พูดกันมาเกิน ๔๐ จะ ๕๐ ปีแล้ว ก็ยังคลุมๆ เครือๆ กันอยู่นั่นเอง ไม่ชัดทั้งคำฝ่ายฝรั่งและคำฝ่ายไทย คำของฝรั่งเขาว่า mental กับ emotional ก็ไม่เข้าใจของเขาชัดว่า ในที่นี้ mental = intellectual และ emotional ตรงกับไทยตามฐานเดิมก็คือจิตใจ ส่วนคำไทยไม่ชัดระหว่างคำว่าจิตใจกับอารมณ์ เราก็อยู่กันมาอย่างนี้ เมื่อไม่มีความจะแจ้งชัดเจน ความเจริญทางปัญญาจะก้าวหน้าไปได้อย่างไร

การที่นำเรื่องอย่างนี้มาพูด ก็เพราะเห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรจะตำหนิติเตียนท่านอาจารย์หรือบุคคลในวงการที่ว่ามาข้างต้น แต่เป็นบทเรียนที่ควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผลผลิตของสังคมของเราที่เดินกันไปอย่างไม่มีจุดหมายและไม่รู้ทาง จึงต้องติเตือนสังคมไทย รวมทั้งรัฐบาล (ไม่เฉพาะรัฐบาลนี้ แต่ทุกๆ รัฐบาล) เช่น การที่มัวตื่นค่านิยมปริญญาของเขา หรือตื่นเต้นอยู่แค่ตรา ไม่เข้าถึงเนื้อหาข้างใน ไม่จัดเตรียมคนของตัวให้มีฐานอันดีที่จะไปเจอกับเขาอย่างมั่นคงมั่นใจ ทำให้คนของเราง่อนแง่นกลับมา จะทำอะไรก็ได้แค่เรื่องโฉบฉาย รวมแล้วคนของเราก็ยังขาดความเพียรที่จะลงลึกซึ้งให้ถึงแก่นความรู้และความจริง ไม่ใฝ่รู้ ไม่ชอบสืบค้น ก็เลยสนใจกันอยู่แค่ของฉาบฉวยผิวเผิน คนที่รู้จริงค้นจริงก็ไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีใครสนับสนุน

ลึกลงไปก็คือ ต้องตำหนิ (กิจการทางด้าน) การศึกษาของเรา ที่ตกอยู่ใต้อำนาจค่านิยมตื่นเด่นตื่นโก้ของคนไทย พลอยตามค่านิยมไปด้วย แทนที่จะนำคนไทยให้หยั่งลึกลงไป ก็มัวสนองความตื่นตามภาพที่ผิวเผิน เมื่อจะศึกษาเรื่องของฝรั่งก็ไม่หยั่งให้ถึงฐานถึงเหตุปัจจัยของเขา ได้แค่คอยรับผลการสร้างสรรค์ของเขา ส่วนเรื่องของตัวเองก็ละเลยและไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่สามารถใช้ฐานเดิมของตนให้เป็นประโยชน์ จึงจัดการศึกษาชนิดที่กดตัวเองลงไปเป็นเบี้ยล่างของเขา กลายเป็นผู้ยากจนไปเสียทุกอย่าง ไม่มีแม้แต่อำนาจต่อรองทางปัญญา

(แค่จุดบกพร่องตรงนี้ ก็บ่งบอกว่า การศึกษาของไทยนั้นควรปฏิรูปกันมานานแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาปฏิรูป ถ้าไม่รู้จุดบิดเบี้ยวที่ควรปฏิรูป สิ่งที่ควรปฏิรูปก็ไม่ได้ปฏิรูป แต่ไปปฏิรูปสิ่งที่ไม่ควรปฏิรูป แทนที่จะเป็นปฏิรูปการศึกษา ก็อาจจะกลายเป็นการศึกษาปฏิรูป)

ถ้าการศึกษายังอยู่ใต้อำนาจค่านิยมที่ดูถูกรากเหง้าของตน หักหลังตัวเอง และไม่รู้จักใช้สิ่งดีที่ตนมีให้เป็นประโยชน์ กับทั้งคอยแต่รับผล โดยไม่หยั่งถึงแก่นแท้และเหตุปัจจัยของเรา ก็อย่าหวังเลยว่าจะขึ้นไปเหนือและนำเขาได้ มีแต่จะเต้นต้อยตามเขาห่างออกไปๆ

ขออนุโมทนาที่ อ.ทองย้อย จะเริ่มงานสร้างสรรค์พัฒนาปัญญาให้แก่คนไทย โดยเฉพาะชาวพุทธไทยอีก ที่ว่า อ.ทองย้อยเหมาะที่จะทำงานนี้ เพราะเป็นผู้แม่นยำเข้าถึงเนื้อหาในสายวิชาของตน มีฉันทะที่จะศึกษาค้นคว้ายิ่งขึ้นไป อีกทั้งมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และมีความสามารถในการถ่ายทอด ถ้ารัฐบาลหรือราชการจะสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริง ควรจะเข้ามาสนับสนุนบุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างนี้ให้ทำงานที่เขามีฉันทะ ประเทศชาติก็จะเจริญพัฒนาอย่างมีสาระยืนยาว ไม่ใช่เพียงฉาบฉวยอยู่แค่เปลือกผิว หรือถ้ารัฐขาดนโยบายมองไม่เห็น ก็สังคมไทยหรือหมู่ชาวพุทธนี่แหละควรเข้าช่วยกันส่งเสริมสนับสนุน

อาตมาได้เขียนมายืดยาว ขอจบความเห็นไว้แค่นี้ก่อน และคงจะได้ฟังข่าวหนังสือที่เขียนและพิมพ์เสร็จต่อไป

                                                                                           ขอเจริญพร
                                                                                         (พระธรรมปิฎก)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง