ไขข้อข้องใจของ นพ.ดำรงค์ ธนะชานันท์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ไขข้อข้องใจของ นพ.ดำรงค์ ธนะชานันท์

26 กรกฎาคม 2543
วัดญาณเวศกวัน

ถาม : กระผมจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ ได้เคยอ่านหนังสือของพระเดชพระคุณมาหลายแห่ง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง การเป็นฆราวาสก็สามารถจะปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้องจริงหรือไม่? ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงสองหัวข้อใหญ่ๆ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และอีกมุมหนึ่งคือ ทาน ศีล ภาวนา

ผมอยากจะได้รับคำอธิบายให้เป็นคำง่ายๆ แจ่มแจ้ง สำหรับชาวบ้านหรือที่เรียกว่าฆราวาส หรือสำหรับหมอที่จะเกษียณแล้วนี้ จะทำอย่างไรต่อชีวิต ไม่จำเป็นว่าจะต้องสวดมนต์ทุกวัน จะต้องนั่งสมาธิทุกวัน อยากจะหาคำอธิบายที่ให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถถือเป็นหลักปฏิบัติได้ว่า เราเป็นคนธรรมดา ไปทำงานก็ยังปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นไปตามทฤษฎี ทำอย่างไรถึงจะอธิบายง่ายๆ สำหรับคนที่จะใช้ชีวิตที่ต้องไปงานสังคม ไปงานแต่งงาน ไปงานศพ จะต้องไปปาร์ตี้ แต่ดำเนินการเป็นชาวพุทธที่ดีได้อย่างไร ในฐานะคฤหัสถ์ที่สนใจอยากจะทำตัวเป็นคนที่ดี หรือทำให้สังคมดี

ตอบ : ขอพูดถึงถ้อยคำสักนิดหนึ่ง คุณหมอพูดถึงสมาธิ สมาธินี่เป็นตัวอย่างของการที่บางทีเราไปหลงติดในความหมายแง่ใดแง่หนึ่ง จะต้องแยกระหว่าง สมาธิโดยรูปแบบ กับสมาธิโดยสาระ

สมาธิโดยรูปแบบ กับ สมาธิโดยสาระ

สมาธิโดยรูปแบบ

สมาธิโดยรูปแบบนั้น เพราะคำว่าสมาธิ คนโดยมากมักได้ยินในคำว่า “นั่งสมาธิ” หรือพ่วงมากับการนั่งในท่าอย่างนั้นอย่างนี้ และไปอยู่ในที่เฉพาะเช่นในวัดหรือในป่า คนก็เลยเอาสมาธิไปผูกอยู่กับรูปแบบนั้น ความจริงสมาธิเป็นธรรมชาติ มันเป็นสภาวะ เป็นคุณสมบัติของจิตใจ เมื่อจิตใจแน่วแน่ มั่นอยู่กับสิ่งนั้น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก มันก็เป็นสมาธิ อันนี้แหละเป็นสาระ เป็นสมาธิตัวแท้

คนไปนั่งสมาธิ อาจจะใจไม่มีสมาธิเลยก็ได้ ถ้าใจงุ่นง่าน คิดโน่นคิดนี่อยู่คนเดียว อย่างนี้ไม่เป็นสมาธิหรอก ได้แค่ไปนั่งสมาธิ แต่ไม่มีสมาธิ

สมาธิโดยสาระ

สมาธิ ว่ากันจริงๆ เอาที่เนื้อหาสาระ สมาธิก็เป็นธรรมชาติ คือเป็นคุณสมบัติของจิตใจ ที่จิตใจมันสงบ มันอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามที่ต้องการ ขอพูดง่ายๆ อย่างนี้ว่า สมาธิคือจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ได้ตามต้องการ

ตอนแรกพอจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการนี่ก็เข้าสมาธิแล้ว ยิ่งได้ตามต้องการก็เป็นสมาธิที่แน่นแฟ้น ใครที่ใจอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการก็เก่งแล้ว อันนี้เป็นสมาธิที่ไปไกลเลย ถ้าเอารูปแบบ คนไปนั่งสมาธิมีกี่คนที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องได้ตามต้องการ

สิ่งที่สำคัญก็คือ พอจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการแล้ว ก็แล้วแต่เราจะใช้จิตนั้นทำอะไร ท่านเรียกว่า เป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน พอจิตสงบ ไม่พลุ่งพล่าน ไม่เครียด ไม่ขุ่นมัว ไม่กระวนกระวาย ไม่ส่าย ไม่วอกแวก ไม่พลุ่งพล่าน ไม่เหงา ไม่หงอย ไม่หดหู่ท้อแท้ ไม่อะไรเหล่านี้ มันก็เป็นจิตที่ตื่นตัวพร้อม และมีความหนักแน่นมั่นคง จะใช้ทำงานอะไรก็ได้ ถ้าได้อย่างนี้ก็คือ ธรรมะที่เป็นของจริง จะเรียกว่า ธรรมะในชีวิตประจำวัน หรืออะไรก็ได้ ซึ่งทุกคนมีโอกาสสามารถมีคุณสมบัตินี้

แต่ทำไมต้องมีรูปแบบอย่างนั้น ที่เรียกว่า “นั่งสมาธิ” และไปอยู่ในป่า ในเขา ในวัด หรือในที่จัดไว้

เพราะว่าคนเรานี้มีคุณสมบัติในจิตใจไม่เหมือนกัน การพัฒนาของจิตใจ ความสามารถทางปัญญา และอะไรต่างๆ ไม่เท่ากัน ดังนั้น เมื่อจิตใจยังไม่พร้อม สภาพแวดล้อมที่ต่างกันจึงมีอิทธิพล เช่น บางคนไปอยู่ในที่มีคนพลุกพล่าน หรือมีเหตุการณ์ตื่นเต้น ก็คิดอะไรไม่ออก แต่บางคนจะอยู่ที่ไหน แม้แต่ในสนามรบก็คิดได้อย่างดี ก็จึงต้องมีการฝึก คือ การที่จะมีสมาธิดี การที่จะมีปัญญาดี การที่จะเป็นคนมีคุณสมบัติอะไรที่ดีๆ ก็สำเร็จได้ด้วยการฝึก แต่การฝึกนั้น โดยทั่วไปต้องมีเทคนิคเข้ามาช่วย

ในชีวิตประจำวันนี่แหละ งานบางอย่าง ทำให้ได้ฝึกสมาธิไปในตัวอยู่ตลอดเวลา งานบางอย่างทำให้เสียสมาธิหรือทำลายสมาธิอยู่ตลอดเวลา คนเราอยู่กับงานและทำงานนั้นๆ เป็นสิบๆ ปี ลองคิดดูก็แล้วกันว่า จะได้ฝึกสมาธิ หรือได้ทำลายสมาธิ จนเป็นนิสัยไปเท่าไร

ถ้าพูดกว้างๆ ก็สภาพแวดล้อมอย่างหนึ่ง และวิธีการอย่างหนึ่ง จะเป็นเครื่องช่วย ก็เลยมีการพัฒนารูปแบบวิธีปฏิบัติขึ้นมา เป็นการนั่งสมาธิอะไรต่างๆ เหล่านี้ เพื่อจะมาฝึกเท่านั้นเอง เหมือนก่อนออกทะเล ก็ฝึกว่ายน้ำในสระน้ำนิ่งก่อน แต่พอคนฝึกได้ดี มีสมาธิจริงแล้ว ไม่ต้องมานั่งอย่างนั้นแล้ว สมาธิก็อยู่ในตัวไปกับตัวทุกที่นั่นแหละ คนมีสมาธิดีแล้ว จะมานั่งสมาธิก็เพื่อพักสบายๆ หรือทำงานทางนามธรรมอะไรสักอย่าง พูดง่ายๆ ว่า คนทั่วไปนั่งสมาธิ แต่พระพุทธเจ้าเป็นต้น ใช้สมาธิทำงาน แล้วก็มานั่งพักในสมาธิ

นี่ก็หมายความว่า บางคนอาจจะมีเหตุผลขึ้นมาว่า เอ้อ! ถ้าอยู่ในอิริยาบถอื่น และอยู่กลางคนมาก ก็มีเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง วุ่นวายมาก ก็เลยไปหาที่สงบให้ฝึกสมาธิง่ายขึ้น หรือบางทีอยากจะพัก ก็ไปหาที่สงบๆ นั่งสมาธิ ตกลงว่า เรื่องสมาธินั้น สาระที่แท้จริง อยู่ที่คุณสมบัติที่เป็นธรรมชาติ อยู่ในจิตใจของมนุษย์เอง

เมื่อเราเข้าใจ แยกตัวสาระกับรูปแบบได้แล้ว เราก็จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น และมองออกไปได้กว้างว่า เรื่องของมนุษย์ก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหน เราก็ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก

ชีวิต 3 ด้าน

ทีนี้ในการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนั้น ท่านก็บอกให้รู้ว่าชีวิตของเราที่เป็นอยู่ดำเนินอยู่นี้มี 3 ด้าน

1) ด้านภายนอก

ด้วยกายวาจา เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่ง กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุอย่างหนึ่ง ด้านนี้เป็นเรื่องข้างนอก ก็ต้องพัฒนาเรื่อยไป คือ ทำให้ดีขึ้น ให้การพูดได้ผลดี พูดได้ถูกต้อง พูดคำสุจริต เป็นคำสัจจะ เป็นคำสุภาพอ่อนโยน พูดได้น่าฟัง น่าเชื่อถือ ฯลฯ นอกจากฝึกในเรื่องวาจา ก็ฝึกความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ทั่วๆ ไป

ฝึกพัฒนาในเรื่องการใช้กายทำอะไรต่างๆ รวมทั้งการบริโภคอาหาร ใช้ปัจจัย 4 ใช้เทคโนโลยี การใช้ตา หู จมูก ลิ้น ไปสัมพันธ์กับประสบการณ์และเรื่องราวภายนอก ด้วยการดู การฟัง เป็นต้น ให้ดูเป็น ฟังเป็น ได้ประโยชน์ได้สติปัญญา ไม่ใช่แค่สนุกสนานตื่นเต้นไปวันๆ

ในการอยู่ร่วมสังคม ก็ต้องฝึกการอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ กติกา การอยู่ในวินัย ตั้งแต่กฎจราจรบนท้องถนน จนกระทั่งวินัยของทหาร วินัยของข้าราชการ วินัยของพระสงฆ์ แล้วก็ทำอาชีพการงานของตัวเองให้ถูกต้องสุจริต ขยันหมั่นเพียร ให้เกิดผลดี เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอาชีพนั้นๆ

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพฤติกรรมทางกายวาจาที่ไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทางสังคมและทางวัตถุ แดนนี้ทั้งหมด เรียกว่าศีล

เพราะฉะนั้นมนุษย์เราก็จะต้องอยู่กับศีลตลอดเวลา ถ้าใครไม่ฝึกพฤติกรรมของตัว เรียกว่าไม่เอากับศีล แล้ว จะมีชีวิตที่ดีเจริญงอกงาม ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพียงแค่พูดไม่ดี พูดไม่เป็น ก็ติดขัด เจออุปสรรคเยอะแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการจะเจริญงอกงามทางด้านความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมสังคม ก็ต้องฝึกศีล คือใช้กาย วาจาให้ดี ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายให้มีผลดีขึ้นแก่ชีวิต และให้เกิดผลดีแก่ผู้ร่วมสังคม นี่เรียกว่ามีศีล ซึ่งจะต้องฝึกกันเรื่อยไป เป็นด้านหนึ่ง

2) ด้านลึกเข้าไป

ก่อนจะออกมาเป็นพฤติกรรม ที่แสดงทางกาย วาจา ทุกครั้ง มนุษย์มีเจตจำนง มีเจตนา มีความตั้งใจ มีความจงใจ ว่าจะเอา จะได้ จะทำ หรือจะแสดงออกอย่างไร ดังนั้นพฤติกรรมที่แสดงออกมาข้างนอกจึงมีตัวเชิดอยู่เบื้องหลัง คือ ความตั้งใจ ความจงใจ เจตนา หรือเจตจำนง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปข้างใน คือในใจ แสดงว่าด้านจิตใจมีความสัมพันธ์อยู่กับพฤติกรรม พฤติกรรมนี้ตั้งอยู่บนฐานของจิตใจอีกที แล้วแต่จิตใจจะให้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมอย่างไร เพราะมีเจตนาอย่างไร ตอนนี้ขึ้นต่อคุณภาพของจิตใจแล้ว

จิตใจมีโลภะมาก ก็มีพฤติกรรมทางกายวาจาไปแบบหนึ่ง
โลภน้อยลง พฤติกรรมก็ไปอย่างหนึ่ง ถ้าไม่โลภ หรือมีใจกว้างเสียสละ พฤติกรรมที่พูดที่ทำก็ไปอีกแบบหนึ่ง

จิตใจมีโทสะมาก ก็ทำให้พฤติกรรม ทางกาย วาจาไปอย่างหนึ่ง ถ้าหายโกรธ
หรือรักใคร่มีเมตตา ก็พูดจาท่าทางทำอะไรๆ ไป อีกแบบหนึ่ง

จิตใจมีโมหะ ก็แสดงออกมาที่พฤติกรรม พูดจาท่าทางเงอะงะหลงงมงายอะไร
ไปแบบหนึ่ง แต่ถ้าเกิดปัญญารู้เข้าใจ พฤติกรรมกาย วาจา ก็ไปอีกแบบหนึ่ง

รวมแล้วก็อยู่ที่ว่าจะมีคุณสมบัติหรือคุณวิบัติมาประกอบกับจิตใจอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้พฤติกรรมที่ดี อยู่ได้มั่นคง ก็ต้องพัฒนาจิตใจด้วย แต่ข้อสำคัญในที่สุด สุข-ทุกข์ของเราก็ไปอยู่ที่ใจเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะคุณสมบัติที่ทำให้พฤติกรรมดีร้าย ประณีต ทราม หยาบ ละเอียด เท่านั้น แต่หมายถึงว่าความสุขความทุกข์ด้วย ในที่สุดก็อยู่ที่จิตใจ ถ้าไม่รู้จักจัดการกับจิตใจของตัวเอง ข้างนอกเจอเรื่องมากมาย ข้างในใจตั้งรับไม่เป็น ก็ต้องพลาดจากสุข เจอทุกข์อยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นด้านจิตใจก็ต้องมีการฝึก

เราควรฝึกจิตใจในเรื่องคุณธรรม ความดีงาม ให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลงน้อยลง ให้โลภะ โทสะ โมหะ ลดลง เพิ่มคุณสมบัติที่ดี ซึ่งตรงกันข้ามกับ โลภะ โทสะ ให้มีความคิดเผื่อแผ่ เสียสละ ให้มีเมตตากรุณา ให้จิตใจมีอุดมคติ ให้มีความใฝ่รู้และอยากทำสิ่งที่ดีงาม

นอกจากนั้น จิตใจ บางทีอ่อนแอ ว้าเหว่ เหงา เศร้า ขุ่นมัว ท้อแท้ ฯลฯ ก็ต้องฝึกทำจิตใจให้มีสมรรถภาพ มีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ใจสู้ ไม่ย่อท้อ มีกำลังใจแกล้วกล้า มีสติเหนี่ยวรั้งใจได้ มีสมาธิ ใจแน่วแน่ สามารถทำใจให้สงบได้ ไม่ว้าเหว่ ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ไม่เครียด ให้ใจสดชื่น ให้ร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส มีความสุข เรื่องจิตใจนี่เยอะ เป็นแดนใหญ่เลย ลึกลงไปกว่าพฤติกรรม ตกลงต้องฝึกด้านจิตใจด้วย

ด้านจิตใจทั้งหมดนั้นท่านสรุปโดยใช้คำแทนตัวเดียวว่า สมาธิ ที่จริงสมาธิรองรับคุณสมบัติที่ดีๆ ของจิตใจ คลุมอยู่ในชีวิตทั้งหมด การนั่งช่วยในการฝึกสมาธิ แต่สมาธิไม่ได้อยู่ที่การนั่ง

3) ด้านปัญญา

มนุษย์เรานี้ไม่ได้อยู่แค่จิตใจ กับพฤติกรรม

จิตใจที่จะให้กายวาจาแสดงพฤติกรรมอะไรออกไป และพฤติกรรมจะแสดงออกได้แค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับความรู้ คนเราจะแสดงพฤติกรรมออกมา ตั้งต้นแต่จะเดินไปไหน ก็ต้องรู้ และจะทำพฤติกรรมได้แค่ไหน ก็อยู่ในขอบเขตของความรู้ คนที่มีความรู้กว้างขวางลึกซึ้ง พฤติกรรมก็จะยิ่งซับซ้อน ยิ่งทำได้มากขึ้น แล้วก็สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างดีด้วย

ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ พฤติกรรมทำไปเปล่าๆ เหลว! ไม่ได้เรื่อง

จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจไม่มีปัญญาก็บีบคั้นอัดอั้น เจออะไรไม่รู้จะทำอย่างไร ก็อึดอัดทุกข์ก็มา แต่พอรู้ปั๊บก็โล่งเลย พฤติกรรมจะไปได้ จิตใจจะโล่งจะโปร่ง เป็นอิสระด้วยปัญญา ปัญญาเป็นตัวที่ชี้นำ บอกทาง ให้แสงสว่าง เปิดขยายมิติ แล้วก็เป็นตัวปลดปล่อยทำให้เป็นอิสระ พอปัญญามารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เข้าใจปัญหาปั๊บ รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็โล่งทันที

เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นตัวสำคัญ ในที่สุดจะพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจไปได้ ต้องอาศัยปัญญา

ก็เลยต้องมีอีกแดนหนึ่ง คือ แดนปัญญา ซึ่งหมายถึงความรู้ เริ่มตั้งแต่รู้ข้อมูลธรรมดาที่สดับตรับฟังจากผู้อื่น ความรู้ที่รับเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น ฯลฯ

เพียงแค่การรับรู้ของคนทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสกาย นี่แหละ ถ้าไม่พัฒนา ก็มีปัญหาแล้ว ถ้ารับรู้ไม่เป็น ก็อยู่แค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ พอเห็นสวยงาม ก็ชอบใจ เห็นไม่สวยไม่งาม ไม่ถูกตา ไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบใจ

ถ้าไม่ชอบใจแต่ต้องอยู่กับมัน ก็เกิดความทุกข์ หาทางหนีหรือคิดทำลาย จิตใจงุ่นง่าน พลุ่งพล่าน โทสะเกิด

พอไปเจอสิ่งถูกตาถูกใจ ก็ชอบ จะเอา ได้มาแล้วก็เกิดความสุข แต่ถ้าชอบแล้วไม่ได้ หรือได้แล้วมันไม่อยู่ด้วย มันจะจากจะหายหรือสลายไป เอ้า! ทุกข์อีกแล้ว

การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส เป็นช่องทางที่มาแหล่งใหญ่ของความสุขความทุกข์ของมนุษย์ ต้องคอยหามาบำรุงบำเรอให้มันเสพอยู่เรื่อยๆ ถ้าขาดเมื่อไร หรือเบื่อขึ้นมา ก็ทุกข์เข้าทันที

ว่ากันในขั้นพื้นฐาน เรื่องราวและปัญหาของชีวิตและสังคมมนุษย์ก็สุมรวมกันอยู่ที่นี่ ถ้ามนุษย์อยู่กันแค่นี้ ไม่พัฒนาขึ้นไปบ้าง ชีวิตและสังคมก็จะเป็นอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้

ถ้ามนุษย์พัฒนาขึ้นไปบ้าง ความสุขของเขาก็จะพัฒนาไปด้วย สุขทุกข์ของเขาจะไม่อยู่แค่ใช้ตา หู ฯลฯ รับความรู้สึก แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ วนเวียนอยู่แค่นั้น

ความรู้ – ความรู้สึก

ในเรื่องนี้ แรกที่สุดจะต้องรู้ว่า ตา หู ฯลฯ ของเราทำหน้าที่อะไรบ้าง มันทำงาน 2 ด้าน คือ

1. รับความรู้

2. รับความรู้สึก

ที่เราต้องคอยหาอะไรมาป้อนให้มันเสพ หรือคอยปรนเปรอมันนั้น ก็คือเราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย รับความรู้สึก ถ้าเมื่อไรเราพัฒนาก้าวไปเน้นการใช้ตา หู ฯลฯ เพื่อรับความรู้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แม้แต่ในเรื่องความสุขด้วย

แค่รับความรู้ กับรับความรู้สึก แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว เป็นจุดแยกที่สำคัญ

พวกที่ใช้ตา หู รับความรู้สึก พอรู้สึกสบาย ก็ชอบใจ รู้สึกไม่สบาย ก็ไม่ชอบใจ สุขทุกข์อยู่กับความชอบใจ ไม่ชอบใจ วนเวียนจบที่นั่น

แต่พอรับความรู้ คราวนี้ความรู้สึกไม่เกี่ยว ขอให้ได้ความรู้ก็แล้วกัน มันจะสบายไม่สบาย ถูกตาไม่ถูกตา ไม่เกี่ยวแล้ว ขอให้ได้ความรู้ ฉันก็เป็นสุข

เพราะฉะนั้น คนที่เริ่มขยับจากการใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพียงรับความรู้สึก มาเป็นรับความรู้ จะเปลี่ยนมิติใหม่ของความสุข คือ ไม่ทุกข์เพราะความชอบใจ ไม่ชอบใจ แต่มองในแง่การได้ความรู้ ทั้งสิ่งที่ถูกใจ และไม่ถูกใจ ก็สุขได้หมด เพราะมันได้ความรู้ เราต้องการได้ความรู้ เมื่อเราอยากได้ความรู้ การได้ความรู้ก็เป็นการสนองความต้องการ และเป็นตัวให้เกิดสุข เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชอบใจไม่ชอบใจจึงไม่เกี่ยว สิ่งที่ชอบใจก็ให้ความรู้ได้และทำให้สุขได้ สิ่งไม่ชอบใจก็ให้ความรู้ได้ ฉันก็สุขได้

เพราะฉะนั้น จึงสุขได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ นี่คือตัวอย่างการพัฒนาของมนุษย์

การใช้ตา หู ไม่เป็น เอาแค่รับความรู้สึก และหามาให้มันเสพ นอกจากไม่พัฒนาแล้ว ก็ก่อปัญหาอย่างหนัก ไม่ต้องพูดถึงปัญหาในสังคมที่คนแย่งชิง ข่มเหงกัน เพื่อจะเอามาเสพให้มากที่สุด ซี่งเป็นเรื่องข้างนอก เอาแค่ข้างในของแต่ละคน ถ้ามนุษย์รับรู้ในแง่เอาความรู้สึกเป็นเป้าหมาย ความรู้สึกก็จะมาเคลือบมาคลุมให้การรับรู้นี้ไม่บริสุทธิ์ เกิดความลำเอียง มองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็เกิดอคติ ยังไม่เกิดอคติก็ไม่เห็นตามความเป็นจริง เหมือนใส่แว่นสี

การรับรู้ที่ไม่พัฒนาอย่างนี้ ก็จึงมีอิทธิพลมาก คือ คนที่รับรู้แค่ความรู้สึก ท่านเรียกว่า อยู่แค่ยินดี ยินร้าย ไม่พัฒนา และสุขทุกข์ก็อยู่แค่ชอบใจไม่ชอบใจ

ที่เรียกว่าเป็นพาล กับบัณฑิต จุดแยกก็อยู่ตรงนี้ คือคนพาลอยู่แค่ความรู้สึก แต่บัณฑิตอยู่ด้วยปัญญา ที่รู้คิด และรู้เข้าใจ

พอพัฒนาเปลี่ยนจุดเน้นของการรับรู้ มาเป็นการรับความรู้ ก็พ้นจากสุขทุกข์เพราะชอบใจไม่ชอบใจ มาสุขจากการเรียนรู้ด้วยการสนองความต้องการรู้ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับรู้จะบริสุทธิ์ จะตรงความจริงขึ้น จะต้องย้ำกันว่ามนุษย์จะพัฒนาไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักปรับปรุงการรับรู้ของตัวเอง คือ การใช้ตา หู จมูก ลิ้น เพียงปรับปรุงแค่นี้ก็ดีขึ้นแล้ว แดนความสุขความทุกข์ก็เปลี่ยนไป พร้อมทั้งแดนปัญญาก็พัฒนา เพราะเราสามารถรับความรู้ที่บริสุทธิ์ตรงความจริงมากขึ้น

ต่อจากนั้นก็เอาข้อมูลความรู้มาเก็บไว้เป็นความจำ สำหรับสติระลึกขึ้นมาแล้วเอามาใช้งาน โดยจับส่งให้ปัญญาเอาข้อมูลความรู้ต่างๆ นั้นมาวิเคราะห์สืบค้นสาวหาเหตุปัจจัย แล้วก็เอามาปรับใช้กับสถานการณ์ต่างๆ หรือใช้แก้ปัญหา ตลอดจนคิดสร้างสรรค์ทำการต่างๆ

ตอนนี้ก็เป็นเรื่องของแดนปัญญา ซึ่งเป็นแดนใหญ่ ตั้งแต่รู้ข้อมูลทางตา หู ฯลฯ จนกระทั่งรู้เข้าใจชีวิตของตนเอง และรู้เข้าใจโลกตามความเป็นจริง พอรู้เข้าใจถึงขั้นนี้ ก็จะวางใจได้ถูกต้องต่อสิ่งต่างๆ เพราะมนุษย์เรานั้น ชีวิตเป็นของธรรมชาติ อยู่ใต้กฎธรรมชาติ ชีวิตของเราก็เป็นไปตามสิ่งทั้งหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์กัน จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้อง จึงจะอยู่ดีมีสุขได้จริง

มนุษย์ที่ยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา ไม่อยู่ด้วยปัญญา ก็อยู่ด้วยความอยาก ที่ท่านเรียกว่าตัณหา เมื่ออยู่ด้วยความอยาก ก็อยากให้สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้

เมื่อมันเป็นไปตามอยากก็มีความสุข ไม่เป็นไปตามอยากก็เป็นทุกข์

แต่มนุษย์จะให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามอยากของตนเองย่อมเป็นไปไม่ได้

มันเป็นไปตามอะไร? มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

เพราะฉะนั้น ตรงนี้แหละ เป็นจุดสำคัญที่มนุษย์จะเข้าไปขัดแย้งกับความจริงหรือไม่ ถ้าเอาตัณหามาเป็นหลักของจิตใจ มันก็ขัดแย้งกับความเป็นจริง เพราะตัวอยากให้เป็นอย่างนี้ตามที่ใจอยากใจชอบ แต่ความจริงของสิ่งทั้งหลาย มันไม่ได้เป็นไปตามความอยากของมนุษย์ สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

ในระบบสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายนั้น ถ้ามนุษย์อยู่ด้วยตัณหา ก็เกิดความขัดแย้งแน่ แล้วเมื่อเกิดขัดแย้งขึ้นใครชนะ ตอบได้เลยว่าความจริงชนะ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยชนะ มนุษย์ไม่ได้อย่างใจ ก็ต้องทุกข์ไปเรื่อย

เมื่อมนุษย์อยากให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น ความเป็นจริงของธรรมชาติเหมือนบอกอยู่ตลอดเวลาว่า คุณจะให้ฉันเป็นตามใจอยากของคุณไม่ได้นะ คุณอยากให้เป็นอย่างไร คุณก็ต้องทำตามเหตุปัจจัยของฉันนะ

พอมนุษย์พัฒนาปัญญา ปัญญาก็รู้ตามเป็นจริง คือรู้ตรงกับเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย หรือรู้ตรงกับความเป็นไปของธรรมชาติ คราวนี้จิตก็ปรับตามปัญญา มันก็ไปตามกัน

เมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ถ้าต้องการให้อะไรเป็นอย่างไร ก็ศึกษาให้รู้เหตุปัจจัยของมัน แล้วก็ทำเหตุปัจจัยนั้นขึ้น

ถ้าอะไรจะคงอยู่ไม่ได้เพราะมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆ ขัดขวาง ถ้าเราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น เราศึกษาเหตุปัจจัยของมันแล้วก็แก้ที่เหตุปัจจัย ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ถ้ามันไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ก็แสดงว่ามีเหตุปัจจัยที่เราทำไม่ทั่ว หรือมีเหตุปัจจัยที่อยู่นอกเหนือวิสัยของเรา เราก็รู้ตามเป็นจริง

เมื่อปัญญาของเรารู้ความจริงอย่างนี้ จิตใจก็อยู่กับความจริง ไม่ขัดไม่กระทบกระแทกบีบคั้นกัน ทุกข์มันก็เบา แล้วก็แก้ไขเหตุการณ์ได้ ทำอะไรก็สำเร็จ หนึ่ง ทุกข์ก็น้อย สอง ทำการก็สำเร็จ เพราะอยู่ด้วยปัญญา

แต่คนที่อยู่ด้วยตัณหา อยู่ด้วยความอยาก หนึ่ง ทำก็ไม่สำเร็จ สอง ใจก็มีทุกข์มาก

เราศึกษาวิชาทำมาหาเลี้ยงชีพกันมา เป็นการจัดเตรียมปัจจัย คือทุนข้างนอกที่จะให้ชีวิตอาศัย แต่ตัวชีวิตเอง มักจะละเลย ไม่เอาใจใส่ว่ามันควรจะเป็นอยู่อย่างไร ได้แต่พูดกันผ่านๆ ไป ท่านจึงให้ศึกษาชีวิต หรือพูดให้ถูกว่าให้ชีวิตศึกษา

ที่จริง ชีวิตต้องศึกษาตลอดเวลา เพราะการที่เรามีชีวิตเป็นอยู่นี้ ก็คือการเคลื่อนไหวไปพบประสบการณ์และสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งเราจะต้องรู้เข้าใจและหาทางปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ให้เป็นผลดี อย่างนี้แหละเรียกว่าศึกษา แล้วชีวิตของเราก็พัฒนาไป คือเป็นอยู่ได้ดีขึ้นๆ

นี่แหละชีวิตที่ดีจึงเป็นชีวิตที่ศึกษา ถ้าไม่ศึกษาจะให้เป็นชีวิตที่ดีได้อย่างไร คนไหนศึกษาถูกจุดถูกทิศถูกทางก็พัฒนาได้ดี ทั้งทางความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และสิ่งทั้งหลาย ทั้งทางจิตใจ และทางปัญญา

ศึกษา 3 ด้าน

ในการที่ชีวิตศึกษาไปนั้น ถ้าปฏิบัติถูกต้อง มันก็คือธรรมะ เพราะธรรมะ ก็คือความจริงของสิ่งทั้งหลาย เรารู้เข้าใจความจริงนั้น ก็เอามาใช้ประโยชน์โดยปฏิบัติให้ถูกต้องตามนั้น มันก็เกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา

ชีวิตคนเรา ที่จะเป็นอยู่ให้ดีขึ้น หรือพัฒนาขึ้นไปนั้น หลักใหญ่ก็มี 3 ด้านเท่านี้แหละ คือ เรื่องความสัมพันธ์ในสังคมและสัมพันธ์กับวัตถุสิ่งแวดล้อม เรื่องจิตใจ และเรื่องปัญญา ซึ่งท่านให้คำเรียกไว้สั้นที่สุดแล้วว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

ที่จำกันได้มากอีกชุดหนึ่งว่า ทาน ศีล ภาวนา นั้น ก็อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา นี้เอง แต่เป็นส่วนที่เน้นสำหรับให้ชาวบ้านปฏิบัติ

ทาน ก็คือ ให้ แบ่งปัน ช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน เพราะชีวิตของคฤหัสถ์เกี่ยวข้องกับวัตถุมาก คือ หาเงินทอง ครอบครองทรัพย์สมบัติ มีเรื่องจะได้จะเอาจะเสพบริโภคมาก ถ้าไม่มีหลัก ก็จะเอนเอียงไปข้างที่จะสัมพันธ์กันเชิงลบ คือแย่งชิงเบียดเบียนเอาเปรียบกัน ท่านจึงยกทานขึ้นมาเน้นก่อน คือ ไม่ให้มุ่งจะเอาหรือจะได้อย่างเดียว ให้แบ่งปันเผื่อแผ่กันด้วย ได้กับให้จะได้ดุลกันไว้ ช่วยให้สังคมอยู่กันได้

ทานนั้นจะมาช่วยให้ศีลค่อยราบรื่นขึ้น เมื่อคนมีวัตถุพออาศัย เศรษฐกิจพอกินพอใช้ ก็ลดแรงบีบคั้นกดดันที่จะทำให้คนลักขโมย แย่งชิงทรัพย์ ฆ่าฟันทำร้ายกัน นอกจากไม่เบียดเบียนชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินกันแล้ว สังคมคฤหัสถ์จะพออยู่กันได้ มีโอกาสพัฒนาสร้างสรรค์ต่างๆ ก็จะต้องไม่วุ่นวายด้วยการประพฤติผิดทางเพศ การหลอกลวงกัน การสร้างและเผยแพร่เรื่องราวข่าวเท็จ และการมั่วสุมลุ่มหลงมัวเมากับสิ่งเสพติด ทั้งหมดนี้ คือ ศีล ซึ่งสำหรับสังคมคฤหัสถ์ ถ้ารักษากันได้เพียง 5 ข้อนี้ ก็เป็นหลักประกันไม่ให้เสื่อมโทรม และเป็นฐานของการสร้างสรรค์ความเจริญต่อไปได้

ส่วนเรื่องสมาธิ คือด้านจิตใจ กับเรื่องปัญญา ที่เป็นนามธรรมมากหน่อย แม้จะสำคัญมาก แต่สำหรับคฤหัสถ์ท่านไม่ลงลึก เอาแค่ให้มีคุณธรรมทั่วๆ ไป เช่น เมตตากรุณา และความรู้เข้าใจเหตุผล รู้ทันความจริงของโลกและชีวิตบ้าง พอที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่ดีมีสุขและเกื้อกูลสังคม จึงเรียกรวมไว้ด้วยกันด้วยคำเดียวว่า “ภาวนา” คือ พัฒนาจิตใจและปัญญา แต่ถ้าใครพร้อมและมีฉันทะ ก็ก้าวต่อไปในศีล สมาธิ ปัญญา ให้จริงจังจนสูงสุดก็ได้ รวมแล้วก็อยู่ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ

ถาม : ตกลงเราก็ต้องฝึกปฏิบัติและพยายามพัฒนา

กระผมกำลังจะตั้งหัวข้อซึ่งจะเขียนอันหนึ่งว่า ผมบวชมา 2 ปีเศษแล้วนี่ ผมได้อะไร ผมเป็นคนดีขึ้นหรือเปล่า เพราะก่อนที่ผมจะบวชนี้ ผมเคยเขียนเรื่อง ผมเป็นคนไกลวัด ผมไม่ชอบพระ ผมมีข้อเขียนของผม ผมไม่เข้าหาศาสนา บางทีพระที่ ขออนุญาตใช้คำว่าเว่อร์ไป เช่น เชื่อเรื่องภูติผีปีศาจ ดูหมอ ทำอะไรอย่างนั้น ผมไม่นับถือ หลังจากที่ผมบวชแล้ว ผมก็บวชที่วัดนี้ ผมก็มีความรู้สึกที่ดีมาก ต่อมาก็เขียนอีกเรื่องหนึ่งว่า เมื่อคนไกลวัดบวช เป็นความรู้สึกที่ดีในระยะนั้น

คราวนี้สองปีแล้ว ผมอยากจะมานั่งหยุดคิดดูว่า ที่ผมบวชแล้ว ผมเป็นคนดีขึ้นหรือไม่ ผมรู้แต่เพียงว่า ถ้าผมฝึกปฏิบัติบ่อยๆ ผมดีขึ้นนิดหน่อย เช่นผมอ่านข้อเขียนของท่านมาก อ่านแล้วอ่านอีก ยกตัวอย่างเช่น ขับรถอยู่ มีคนขับมอเตอร์ไซค์มาแซง สมัยก่อนผมจะโมโหมาก ยิ่งเห็นบางคนขับแท๊กซี่ แล้วทำปากขมุบขมิบ ผมก็คิดว่าเขาด่าเราแล้ว ขณะนี้ถ้าจะให้ดี ก็ให้แผ่เมตตาไปเลย ใช่ไหมครับ แต่ขณะนี้เราก็คิดว่า ถ้าผมโมโหไปนี่ ความดันสูงขึ้นเปล่าๆ เรื่องอะไรจะโมโห ผมก็เฉยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่คิดว่ายังดีไม่ที่สุด เพราะอยากจะฝึกหัดตัวเองว่า จะทำอย่างไร แม้เขาจะปาดหน้า เราถูก เขาผิดนี่ เราจะทำอย่างไร อนุโมทนาไปว่า เขาอาจจะไปเยี่ยมพ่อแม่เจ็บป่วย หรืออะไรไปเลย

หรือจะมีวิธีคิดทำอย่างไรที่ให้ดี หรือทำอย่างไรให้จิตใจ แทนที่จะโกรธโมโหเขา ด่าเขากลับ หมุนกระจกลงมาด่าเขาเลย ถึงแม้เดี๋ยวนี้ไม่กระทำ แต่ว่าเฉยๆ ก็ยังไม่ดี ทำอย่างไรจะให้ดีเหนือขึ้นไปกว่านั้น ให้แผ่เมตตาไปเลยหรืออย่างไร?

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ทางเดินเข้าในตรอก รถเข้าไม่ได้เลย ขณะนี้มีคนจนๆ เข้ามาขายของ น่าจะเห็นใจเขาบ้าง ความจริงสมัยก่อน เรามักจะคิดว่า ถนนของเราในซอยบ้านของเรา เขามารุกล้ำ ขณะนี้ก็พยายามคิดว่า เออ..แผ่เมตตาไปหน่อย คิดว่าเขาจนกว่าเรา เราก็ขับรถไปสบายกว่าเขา เราจะทำอย่างไรถึงจะฝึกหัดให้รู้สึกว่ามันทำง่ายและดีขึ้นไปอีก

อันนี้เป็นผลพลอยได้จากการที่ผมบวชแล้ว ผมได้มีความคิดกว้างขึ้น มีทฤษฎีมาจับได้นิดหน่อย ผมคิดว่าอันนี้ถ้าผมได้ข้อแนะนำง่ายๆ นี่ คนอื่นอาจจะได้ประโยชน์มากขึ้น

ตอบ : ที่ว่าดีขึ้นนั้นมองได้ 2 อย่าง

1) อาจจะเป็นคนดีเท่าเดิมก็ได้ แต่เป็นคนดีแล้วทำความดีมากขึ้น หมายความว่า ปริมาณของสิ่งที่ดี ที่ทำนั้นมากขึ้น แต่ระดับการเป็นคนดีเท่าเดิม อย่างนี้ก็ถือว่าดีแล้ว ในแง่หนึ่ง คือ ระดับความเป็นคนดีเท่าเดิม แต่ในความดีที่ตัวเป็นอยู่นี้ ก็ได้ทำความดีมากขึ้นตามกาลเวลา คือทำสิ่งที่ดีมากขึ้น ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง

2) เลื่อนระดับความดีของตัวเอง ความเป็นคนดีขึ้นนี่ ดีขึ้นได้หลายด้าน ถ้าใช้คำใหญ่ก็เอาคำหลักเมื่อกี้มาตรวจสอบดู ว่าดีขึ้นทางศีล ดีขึ้นทางสมาธิคือด้านจิตใจ และดีขึ้นทางด้านปัญญา ต้องดูทั้ง 3 ด้าน

  1. ด้านศีล ก็ตรวจดูการดำเนินชีวิตทั่วไปด้านภายนอกว่า การประพฤติปฏิบัติตัวของเรา ความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ดีขึ้นไหม ถ้าเคยมีการเอาเปรียบเบียดเบียนเวลานี้ลดน้อยลงไหม การทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากขึ้นไหม การปฏิบัติต่อสิ่งของเครื่องใช้ การกินอยู่ทั้งหมดนี้ เราดีขึ้นหรือไม่
  2. ด้านจิตใจ เรามีจิตใจร่าเริงเบิกบานสดใส สดชื่นขึ้นไหม เครียดน้อยลงไหม ทุกข์น้อยลงไหม มีคุณธรรมมากขึ้นไหม มีเมตตากรุณา มีศรัทธา มีคุณธรรมความดีต่างๆ เพิ่มขึ้นไหม มีสติ มีวิริยะ มีสมาธิ มีความรับผิดชอบ ความเพียร ความเข้มแข็ง มีกำลังใจดีขึ้นไหม
  3. ด้านปัญญา ความรู้เข้าใจด้านวิชาการไม่ต้องพูดถึงในที่นี้ ดูปัญญาในแง่การรู้จักแก้ปัญหา การมองสิ่งทั้งหลาย การรู้เข้าใจชีวิต รู้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ รู้สิ่งทั้งหลาย เข้าใจโลกและชีวิตดีขึ้นไหม

รวมแล้วก็ดูได้ 3 ด้านนี้ วัดตัวเองได้เลย

ทีนี้ถ้านำมาใช้เฉพาะกรณีเป็นแง่ๆ เป็นเรื่องๆ อย่างในการขับรถนี้ ก็มีวิธีง่ายๆ ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ คือ รู้จักมอง รู้จักคิด ให้จิตมีทางเดินหลายๆ อย่าง ตัวนำ ก็คือการใช้ปัญญาในขั้นวิธีมอง ซึ่งยังไม่ต้องใช้ปัญญาอะไรมากมายหรอก เพียงวิธีมองเท่านั้นเอง เช่น เราคิดเผื่อให้เขา อย่างที่คุณหมอพูดเมื่อกี้

หมอเห็นคนไข้หน้าตาไม่ดี เราพูดไปแล้ว เขาพูดกลับมาไม่ดี หมอก็คิดเผื่อให้เขาว่า คนไข้คนนี้ที่จริงเขาไม่ได้โกรธอะไรเราหรอก แต่เขามีอารมณ์ค้าง หรือกำลังวิตกกังวลอะไรอยู่ เขามีความทุกข์ ทุกข์เรื่องโรคภัยไข้เจ็บของเขา ทุกข์เพราะห่วงลูก ว่าถ้าพ่อป่วยไปแล้วลูกจะอยู่ยังไง ทุกข์เรื่องครอบครัว ทุกข์ว่าเงินทองจะเอาที่ไหนมาจ่าย ตัวเองรักษาจะต้องใช้เงินมากไหม? ครอบครัวจะอยู่ได้ยังไง ห่วงโน่นห่วงนี่ ทำให้เขาใจว้าวุ่นขุ่นมัว อารมณ์เสีย เขาจึงพูดตอบมาไม่ดี ถ้าคิดได้อย่างนี้ อาจจะเปลี่ยนไปเห็นใจเขา คิดหาทางปลอบโยน หรือไต่ถามให้รู้สุขทุกข์ แทนที่จะมาหงุดหงิดอัดอั้นอยู่คนเดียวกับตัวเอง แล้วปรุงแต่งใจไม่สบาย

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของการมองและใช้วิธีคิดแบบที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ซึ่งเคยเล่าไว้ในหนังสือ รักษาใจยามรักษาคนไข้ และ รักษาใจยามป่วยไข้ คือ เรามีวิธีมองได้มากมาย

วิธีง่ายมากอย่างหนึ่งคือ แม้แต่มองเพียงว่า เป็นเรื่องของการได้เจอประสบการณ์ต่างๆ หลากหลาย และสนุกไปกับการได้เห็นประสบการณ์นั้นๆ โดยเราไม่รับกระทบ หมายความว่าผู้คนทั้งหลายมีต่างๆ ท่าทาง อาการ กิริยา นิสัยใจคอไม่เหมือนกัน คนนี้เป็นอย่างนี้ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นยิ้ม คนนี้หน้าบึ้ง คนนั้นหัวเราะตลอดเวลา เราเลยขำไปหมด เห็นคนนี้มาท่านี้ เห็นคนนั้นมาท่าโน้น ขำอย่างเดียว ไม่รับกระทบ ก็ผ่านไปหมด ใจอยู่กับงานหรือการทำหน้าที่ คือการรักษาคนไข้ให้ได้ผลอย่างเดียว ที่ว่ามานี้ อาจจะเรียกว่าเป็นวิธีที่ 1

อีกวิธีหนึ่ง อาจจะมองในแง่ได้เรียนรู้ ซึ่งก็คล้ายๆ กับวิธีแรก แต่วิธีแรกมองแล้วก็ขำผ่านๆ ไป แต่วิธีที่ 2 หาความรู้ไปด้วยว่า คนเรานี้มีต่างๆ หลากหลาย เราเจอคนนี้ก็ได้เรียนรู้ว่า เขาเป็นอย่างนี้ เจอคนนั้น ก็ได้เรียนรู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้น

ใครมาดีเราก็เรียนรู้ ใครมาไม่ดีเราก็เรียนรู้ ได้ศึกษา คือได้อย่างเดียว วิธีเมื่อกี้แค่ขำผ่านๆ ไม่เก็บ ไม่กระทบ แต่ไม่ได้อะไร ส่วนวิธีที่สองนี่ได้ทุกที คือมองเห็นชีวิตและสังคมมนุษย์ ได้ความรู้เรื่อยไป

ทีนี้วิธีที่ 3 มองแบบเข้าใจเพื่อนมนุษย์ คือคิดเผื่อให้เขาว่า เขาอาจจะเป็นอย่างนั้น อาจจะเป็นอย่างนี้ เราหาทางสัมพันธ์ เข้าไปไต่ถามเขาให้รู้ความจริง กลายเป็นช่วยแก้ปัญหาให้เพื่อนมนุษย์ เป็นการมองแบบพิจารณาเหตุปัจจัย เป็นการใช้ปัญญา และช่วยให้เกิดมีเมตตากรุณาขึ้นมาได้ด้วย

อีกวิธีหนึ่ง เป็นวิธีที่ 4 มองเป็นบททดสอบตัวเรา เป็นธรรมดาว่าเราอยู่ในโลก ย่อมเจอดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เจอดีเราก็ชอบใจ เจอไม่ดีก็ไม่ชอบใจ แล้วใจก็วุ่นวายไปตาม แต่ชีวิตที่ดีจะมัวหวั่นไหวไปตามอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ไม่ได้ จะต้องมีความเข้มแข็ง ตั้งมั่นอยู่กับหลัก สิ่งที่เจอทั้งดีและไม่ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นบททดสอบความเข้มแข็งของเรา คราวนี้ลองทดสอบตัวเอง ดูซิว่า เรามีความเข้มแข็งอดทนแค่ไหน ให้เขาด่าบ้าง เราจะได้ดูว่าเราทนได้ไหม พอเจอเขาแรงมา อ้าว! อย่างนี้ก็ได้บททดสอบ ไม่ว่าเจออะไร จะร้ายหรือดีเอามาเป็นบททดสอบหมด ก็ไม่มีปัญหาอีก พอกลับบ้านก็คิดว่า วันนี้ได้บททดสอบใหม่ คราวนี้แรงหน่อย ก็เลยสนุกกับบททดสอบ

ต่อจากบททดสอบ วิธีมองอย่างที่ 5 เป็นแบบฝึกหัดพัฒนาตัวเอง คนเราจะพัฒนาได้ ต้องมีแบบฝึกหัด คนไม่เจอแบบฝึกหัด ไม่ได้แก้ปัญหา ก็ไม่พัฒนา ชีวิตที่ราบรื่นนั้นดีอยู่หรอก เป็นสุข แต่ชีวิตที่ราบรื่นเกินไป อยู่กับความสุขนั้น เป็นชีวิตที่ไม่มีแบบฝึกหัด เหมือนเด็กที่เกิดมาท่ามกลางความสุขสบาย ถ้าพ่อแม่ไม่เป็นกัลยาณมิตรมาช่วยหาแบบฝึกหัดให้ทำ ก็ไม่ได้พัฒนาเลย ต่อไปในชีวิตนี้ จะเอาดี จะให้เข้มแข็ง หรือมีปัญญาที่จะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ยาก เพราะฉะนั้นคนที่เจอแบบฝึกหัดมากจึงโชคดี ได้ฝึกตัวมาก ปัญญาพัฒนามากมาย ถ้าเจอเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นปัญหา ก็มองเป็นแบบฝึกหัดหมด จะมีแต่พัฒนาอย่างเดียว ได้ฝึก ได้หัด ได้แก้ปัญหา ดีหมด นี่เป็นวิธีที่ห้าแล้ว

วิธีที่ 6 เป็นการพัฒนาปัญญาต่อไปอีก ถึงขั้นรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ก็จะมองเหตุการณ์ต่างๆ เหมือนคนที่อยู่บนยอดเขา มองลงมาเห็นสิ่งทั้งหลาย ทั้งผู้คนและเหตุการณ์ที่เป็นไปต่างๆ ก็รู้เข้าใจว่าโลกและชีวิตก็เป็นอย่างนี้ คนเรามีกิเลสบ้าง ไม่มีกิเลสบ้าง กิเลสมากบ้าง น้อยบ้าง เป็นไปต่างๆ กัน เขาก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขา เป็นการมองไปตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น ตามเหตุปัจจัย แล้วก็วางใจไปตามความจริงนั้น ไม่มีอะไรกระทบเลย เรียกว่ารู้เข้าใจโลกและชีวิต วางใจถูกต้อง ใจเป็นอิสระ

ใน 6 วิธีนี้เลือกใช้ได้ตามชอบ แต่อย่างน้อยขั้นแรก คนเราจะใช้ ตา หู เป็นด่านสำคัญ ในการสัมพันธ์กับโลกภายนอก ซึ่งเมื่อแยกออกไปก็มีวิธีมอง 2 แบบ

  1. มองด้วยความยินดียินร้าย อย่างที่พูดตอนต้น เห็นสิ่งที่สบายตา ถูกตา ก็ชอบใจ เห็นสิ่งไม่สบายตา ไม่ถูกตา ก็ไม่ชอบใจ สุขทุกข์ก็วนอยู่ที่นี่ นี่เป็นการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น แบบแรกหรือแบบสามัญ ของคนที่ยังไม่ได้พัฒนา
  2. มองด้วยปัญญา อย่างน้อยก็มองตามเหตุปัจจัย

ถ้าแยกง่ายๆ ก็เป็น มองตามชอบใจไม่ชอบใจ กับมองตามเหตุปัจจัย พอเจออะไรเข้า ถ้ามองตามชอบใจ-ไม่ชอบใจ ก็สะสมปัญหา แต่ถ้ามองตามเหตุปัจจัยก็เกิดปัญญา

ถ้าเราจะตั้งท่าทีไว้ก่อน ก็จำไว้เป็นคติว่า มองตามเหตุปัจจัย คติก็คือทางไปให้จิตเดินได้ พอเกิดเรื่องที่จะไม่ชอบใจ หรือไปเจออะไรที่จะกระทบกระทั่ง ก็ใช้สติระลึกเอาคติขึ้นมา คตินี้เราจำไว้ก่อนแล้ว เราก็เอาสติไปดึงคติมาใช้ สติบอกว่า นี่เกิดเรื่องแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ชอบใจแล้ว คติบอกว่าให้มองตามเหตุปัจจัย อย่ามองตามชอบใจ ก็จะยั้งการมองตามชอบใจ เปลี่ยนมามองตามเหตุปัจจัย พอมองตามเหตุปัจจัยปั๊บ ก็สะดุดหยุดปัญหาได้ แล้วก็มามองด้วยปัญญา วิเคราะห์ศึกษา สืบสาวไปตามเหตุปัจจัย

เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว ในบ้าน ก็มีเรื่องที่จะกระทบหู กระทบตาได้เรื่อย ซึ่งจะเดินต่อเข้าไปถึงจิตใจ ถ้ามองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็ต้องเกิดเรื่องเรื่อย และมีปัญหาทั้งกับตัวเอง และออกมากระทบกัน มีปัญหากับข้างนอก

ถ้าเปลี่ยนเป็นมองตามเหตุปัจจัย ก็ตั้งสติได้ และเริ่มใช้ปัญญา หาทางแก้ปัญหาโดยทางที่ถูกต้อง อย่างน้อยตัวเองก็ไม่เกิดความกระทบ ไม่ขุ่นข้องหมองใจ การใช้ปัญญานี่เป็นเรื่องของการอยู่กับความเป็นจริง ที่เป็นกลาง ปัญญาอยู่กับความเป็นจริงที่เป็นกลาง เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นปัญหา โดยธรรมชาติปัญญาเป็นตัวทำลายปัญหา เป็นตัวสลายทุกข์ เป็นตัวปลดปล่อย ทำให้เป็นอิสระ

เรื่องของมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เป็นการนำเอาธรรมะมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะไปอยู่วัด มองตามรูปแบบว่า ไปนั่งปฏิบัติกันมากมาย แต่พอเจอชีวิตจริงเข้า กลับปฏิบัติไม่ถูก ทำไม่ถูก ยังโกรธยังรุนแรงพลุ่งพล่าน แสดงว่ายังเอาธรรมะมาใช้ไม่ได้

ถาม : ผมเคยเจอบางคนเก่งทฤษฎี ว่าคำพระได้หมดเลย รู้ทฤษฎีหมด แต่ในชีวิตประจำวันยังเห็นความโลภ ยังเห็นการนินทากันเยอะแยะ เห็นตัวอย่างแบบนี้เยอะครับ

ตอบ : นี่แหละไม่ได้เอามาปฏิบัติจริง ธรรมะที่แท้ ที่เราเอามาปฏิบัติก็หมายถึงมันเป็นจริง เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเรา ทำให้ชีวิตจิตใจของเรามีการพัฒนา คือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าเอาธรรมะมาโดยจำมา บอกว่ารู้ก็ตาม บอกว่าปฏิบัติก็ตาม โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นมา แล้วจะมีผลอะไร

การพัฒนาก็คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ที่ไหน? ก็เกิดขึ้นที่ชีวิตจิตใจของเรา ดูที่ไหน? ก็ดูที่พฤติกรรม กาย วาจา และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมและทางวัตถุ ดูที่จิตใจ ดูที่คุณธรรม ความดีงามบ้าง ดูที่ความเข้มแข็ง สมรรถภาพของจิตใจบ้าง ดูที่ความสุข ความทุกข์บ้าง ดูว่าร่าเริงเบิกบานผ่องใส จิตใจดี มีทุกข์น้อย มีความเครียดน้อยลง สามารถแก้ปัญหาจิตใจได้ดีขึ้นไหม? แล้วก็ดูที่ปัญญา การเอาเหตุเอาผลมากขึ้น ไม่ไหลไปตามอารมณ์ มีความรู้เข้าใจโลกและชีวิต มองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงมากขึ้น ไม่มองตามความเคลือบแฝงของกิเลส ความลำเอียงอคติอะไรต่างๆ อันนี้ก็ดูของจริงเลย

จิตใจที่ว่าหลุดพ้นนั้น ก็คือผู้ที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงนี้แหละ เราก็อยู่ในโลกตามปกติเหมือนคนอื่น ในโลกนี้ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่าโลกธรรม คือสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ซึ่งผันผวนปรวนแปรหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งชีวิตร่างกายของเราที่เปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ เมื่อเรารู้เข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว ว่าสิ่งทั้งหลาย เปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ มันเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น ถึงมันจะเป็นอย่างไร เรารู้ทัน มันก็เป็นไปโดยไม่ส่งผลกระทบถึงจิต เพราะปัญญามันรู้ทันหมด

ท่านจึงให้หลักว่า ผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลาย ทั้งดีและร้าย ถูกใจก็ตาม ไม่ถูกใจก็ตาม เข้ามากระทบกระทั่งแล้ว จิตไม่หวั่นไหว ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง เป็นจิตผ่องใส ร่าเริง เป็นจิตเกษม ไม่มีความเศร้าโศก เบิกบานได้ตลอดเวลา อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นมงคลอันสูงสุด

ชีวิตหลังเกษียณ

ได้ยินว่าคุณหมอจะมาถามเรื่องชีวิตหลังเกษียณ

ถาม : ชมรมคณาจารย์ เขาจะทำมุทิตา ไม่ทราบว่าจะใช้คำถูกหรือเปล่า

ตอบ : ก็แล้วแต่จะมอง

ถาม : คำว่ามุทิตาจิตนี้แปลว่า แสดงความยินดี

ตอบ : ยินดีด้วย เมื่อผู้อื่นได้ดี

ถาม : เวลาที่ลูกศิษย์ลูกหาจะทำให้อาจารย์ที่จะเกษียณนี้ เขาจะติดประกาศว่า ขอแสดงมุทิตาจิตต่ออาจารย์ 2-3 คน อย่างนี้เป็นคำที่ถูกต้องหรือเปล่า

ตอบ : ก็ไม่ผิดหรอก อยู่ที่วิธีมอง อย่างน้อยก็เป็นการช่วยนำจิตใจให้มองไปในทางที่ดี คือถ้ามองว่า เกษียณ โอ้โฮ! หมดกันแล้วนะ เกษียณก็คือสิ้น หมดแล้วอายุราชการ หมดแล้วตำแหน่งฐานะ ถ้ามองอย่างนี้เราก็เสียไปเลย แล้วจะไปมุทิตาได้อย่างไร มุทิตาแสดงความยินดี แต่นี่สูญเสีย

แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง แหม ที่ผ่านมานี้แย่ ทำงานหนักมานาน ต้องรับผิดชอบมาก แล้วก็ไม่ค่อยมีอิสรภาพ อยู่ในกรอบ มีเขตจำกัด วันนี้เป็นอิสระเสียที พอมองอย่างนี้ปั๊บ ก็มุทิตาได้เลย เพราะตอนนี้ดีแล้ว

การเกษียณอายุนี้ ถ้ามองในแง่ดีก็มีอยู่มาก แล้วก็มีสิทธิจะมองในแง่ดีได้มากด้วย เพราะผู้เกษียณ (เราถือว่า . . . แล้วก็เป็นความจริงด้วย ไม่ต้องไปถือว่า) ราชการก็รับมานานแล้ว ได้ทำประโยชน์แก่ประชาชน และแก่บ้านเมืองมาเยอะแล้ว ในแง่การสร้างประโยชน์ในชีวิตก็ทำมาพอสมควร การเกษียณนี้ก็เป็นการบอกว่า ได้ทำงานมาพอสมควรแล้วนะ

แต่ในเวลาที่เราทำงานราชการอยู่นั้น ในแง่หนึ่ง เราถูกจำกัด เรามีภาระรับผิดชอบ บางอย่างเราทำไม่ได้ตามที่ใจปรารถนา ทีนี้พอเกษียณแล้ว ชีวิตก็เป็นของตัวเอง เวลาเป็นของตัวเอง จะทำอะไรก็ทำได้ตามที่ใจปรารถนา ตรงนี้แหละจึงเป็นอิสระ

ตอนนี้ก็อยู่ที่ว่า เมื่อเกษียณแล้วจะเลือกทำอะไร แต่ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ขอให้เข้าหลักอิทธิบาท ที่ท่านว่าจะทำให้อายุยืน คือผู้เกษียณนี้ ถ้าไปมองในแง่ลบว่าเป็นการสูญเสีย ก็ทำให้ใจคอเหงาหงอย เศร้าสร้อย ว้าเหว่ แต่ถ้ามองในแง่ดีว่า ฉันเป็นอิสระแล้ว คราวนี้จะมีเวลาเป็นของตัวเอง

สำคัญแต่ว่า เมื่อมีเวลาแล้ว ก็อย่าอยู่เฉยๆ อย่าเลื่อนลอย ต้องให้มีอะไรทำ

อิทธิบาทก็เริ่มต้นด้วยข้อแรกคือ ให้มีอะไรทำก่อนนะ ก็คิดดูว่า เรามีอะไรที่อยากจะทำ แต่ก่อนนี้มีอะไรบางอย่างที่เราอาจจะอยากทำ แต่ไม่มีเวลาจะทำ ก็เลยทำตามที่ต้องการไม่ได้ ที่ต้องการก็ไม่อาจจะทำ แต่ต้องไปทำที่ไม่ต้องการ

ทีนี้เวลานี้เราเป็นอิสระแล้ว อะไรที่เราเห็นว่ามีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าแก่ชีวิต หรือคุณค่าแก่สังคม หรืออะไรเป็นสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่าประเสริฐ เราอยากจะทำ ตอนนี้ก็ตั้งใจเลย จะทำสิ่งนี้ละ ตั้งใจปรารถนาจะทำให้สำเร็จ ยิ่งมีปัญญามองเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นว่าดีงามเป็นประโยชน์เท่าไร และใจใฝ่จะทำเท่าไร ก็ยิ่งดี มันจะเกิดข้อที่สองตามมา

ข้อที่ 1 เรียกว่า ฉันทะ คือใจรักอยากจะทำ

ข้อที่ 2 พอมีความใฝ่ปรารถนาอยากจะทำมาก ก็จะเกิดกำลังมาก เรียกว่าวิริยะ คือความเพียร ว่าต้องทำให้สำเร็จ อย่างที่บางคนพูดว่า เรื่องนี้ถ้ายังไม่สำเร็จฉันตายไม่ได้ ตั้งใจไว้อย่างนั้น จะเกิดกำลังใจทำเต็มที่ พอเกิดกำลังใจคึกคักขึ้นมา ความเหงาหงอยว้าเหว่หายไปหมดเลย

ข้อที่ 3 พอมีกำลังใจจะทำ ใจฝักใฝ่อยู่ จะทำเรื่องนี้ละ ทีนี้ใจก็มุ่ง เอาใจทุ่มเทให้ เรียกว่า จิตตะ ก็อุทิศตัว อุทิศเวลาให้แก่สิ่งที่จะทำ ใจจะไม่รับกระทบกับความวุ่นวาย เรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายของฉัน ใจจะไม่รับ เรื่องจุกๆ จิกๆ ไม่เข้ามารกสมอง ถึงแม้ว่าอาจจะมีการรับกระทบบ้างตามวิสัยของปุถุชน แต่เดี๋ยวก็ลืม เพราะเรามีเรื่องต้องทำ คนแก่ที่ไม่มีอะไรจะทำ ใจเคว้งคว้างอยู่นี่ เดี๋ยวก็เก็บเรื่องกระทบในชีวิตประจำวันเอามาคิด ลูกหลานทำอะไร ผิดหูผิดตานิด แกไม่มีอะไรจะทำก็นั่งคิดไป สมองเสียเลย ใจคอก็เศร้าหมอง มีความทุกข์เหงาหงอย และจิตใจหงุดหงิดไม่สบายใจ เดี๋ยวก็บ่น เดี๋ยวก็อะไรออกมา ไปกันใหญ่ จิตรับกระทบเรื่อย จิตปรุงแต่งมาก ส่วนคนที่มีอะไรจะทำ ตั้งใจไว้แล้ว ใจไปอยู่กับเรื่องที่ตั้งใจทำนั้น เรื่องกระทบไม่มีความหมายเลย มันไม่เข้าเป้า ตัดหมด มาอยู่กับเรื่องที่ทำ หรือกระทบเดี๋ยวเดียวก็ลืม เพราะมีเรื่องใหญ่ที่จะทำ

ข้อที่ 4 พอเราอุทิศตัวอุทิศใจให้กับเรื่องที่ทำ ก็ต้องใช้ปัญญา คิดพิจารณา จะแก้ไข จะปรับปรุง จะทำให้สำเร็จอะไรต่างๆ นี่ วิมังสาก็มา ทางแพทย์บอกว่า ถ้ายังใช้ความคิด ใช้ปัญญาอยู่ สมองก็จะไม่ฝ่อ เป็นข้อที่ 4 ถึงตอนนี้อิทธิบาทก็มาหมดครบแล้ว 4 ข้อ

แต่ในข้อ 4 นี้ท่านเตือนว่า ระวังนะ การคิดมี 2 แบบ

หนึ่ง คิดปรุงแต่ง คือคิดด้วย emotion คิดตามอารมณ์ความรู้สึก นึกถึงเรื่องเก่าๆ นึกถึงเรื่องคนโน้นกระทบกระทั่ง พอใจไม่พอใจ คิดปรุงแต่ง อย่างนี้ท่านห้ามเลย เป็นความคิดเชิงอารมณ์

แต่ สอง คิดเชิงปัญญา แบบนี้คิดเท่าไรคิดไป ไม่เป็นไร เช่น คิดสืบสาวหาปัจจัย มันเป็นกลางๆ ไม่มีดีมีชั่ว ไม่กระทบตัว คิดไปเถอะ ใช้ปัญญาไป

เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่า อิทธิบาท 4 ถ้าปฏิบัติได้ก็ทำให้อายุยืน และมีพลังชีวิตเข้มแข็ง

เพราะฉะนั้น คนที่เกษียณนี่ ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นประโยชน์มากอย่างที่ว่า

  1. มองเป็นการได้อิสรภาพ
  2. ได้โอกาสแล้ว มองหาและคิดจะทำสิ่งที่มีคุณค่า ที่ใจรักอยากจะทำ
  3. เอาประสบการณ์ที่มีมากมายมาถ่ายทอด หรือทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ประสบการณ์ของท่านผู้ที่ได้ทำงานทำการ ผ่านชีวิตมาเยอะแยะ อันนี้เป็นประโยชน์มาก

คนในแต่ละยุคสูญเสียประโยชน์นี้ไปมาก อาตมาก็ยังเสียดาย ถึงตอนนี้ก็ไม่มีโอกาสแล้ว ตอนนั้นก็ยังไม่ทันคิด ท่านรุ่นเก่าๆ อายุ 80-90 ปี ถ้าเราไปบันทึกไต่ถามเรื่องเก่าๆ ไว้ อย่างเช่น การคณะสงฆ์ อะไรเหล่านี้ เราจะได้อะไรอีกมากมาย เรื่องของพระนี่เป็นตัวอย่างว่า มันหายไปกับพระรุ่นเก่า เลยไม่ค่อยได้ประสบการณ์ของท่านไว้เป็นประโยชน์

ถาม : ของพวกกระผมที่เป็นหมอ ที่เป็นอาจารย์อยู่นี้ ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไร หมดตำแหน่งที่เป็นอาจารย์ และงานประชุมแล้ว ก็ยังเป็นหมอตามเดิม ผมก็ยังไปผ่าตัด ไปตรวจคนไข้ คือ Status ไม่แตกต่าง ไม่เหมือนกับพวกนายทหารที่เขาหมดอำนาจ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงหมดการประชุมอะไรๆ ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่

ตอบ : คือเกษียณแต่ในนาม แต่ไม่ใช่เกษียณแท้ พวกเกษียณที่เป็นผู้บริหาร หรือข้าราชการประจำสายปกครอง อย่างผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าวางตัว วางใจ ใช้ชีวิตไม่ถูก มักจะหงอยจริงๆ เหงา ว้าเหว่ ส่วนอาชีพแบบหมอนี้ได้เปรียบมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรให้ภาระรับผิดชอบที่ต้องกังวล น้อยลง คือให้มีงานที่ต้องทำ แม้หนักงานเท่าไรก็ไม่เป็นไร แต่อย่าให้หนักใจ อย่าให้ต้องกังวล ให้ได้แค่นี้ก็พอแล้ว ตอนนี้ก็หันมาใช้เวลาที่เป็นอิสระมากขึ้นนี้ สร้างคุณค่าสาระแก่ชีวิตได้เต็มที่

อนุโมทนา

คุณหมอดำรงค์ ธนะชานันท์ จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน ปี 2543 นี้ นับว่าเป็นวาระสำคัญครั้งหนึ่งในช่วงเวลาของชีวิต ที่โดยทั่วไปถือกันว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แม้ว่าในความเป็นจริง สำหรับแพทย์ การเกษียณอายุราชการจะไม่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ดังที่คุณหมอดำรงค์เองก็ได้พูดไว้ในหนังสือนี้ แต่อย่างน้อยก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี คือภาระรับผิดชอบที่อาจจะต้องแบกเบาลง ทั้งทางกายและทางใจ กับทั้งจะมีเวลาเป็นของตนเองที่จะทำสิ่งที่มองเห็นคุณค่าน่าทำมากยิ่งขึ้น

ระหว่างรับราชการอยู่ ก็ได้ทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและเพื่อนมนุษย์มามากแล้ว หลังเกษียณ ก็จะได้ทำประโยชน์ที่มีคุณค่าเป็นสาระมากยิ่งขึ้นไปอีกแบบหนึ่ง หรืออีกด้านหนึ่ง มีแต่ดี ไม่มีเสีย

คุณหมอดำรงค์ได้เขียนไว้ว่า เคยเป็นคนไกลวัด บัดนี้ คุณหมอได้มาเป็นคนใกล้วัด และยังมีใจปรารถนาดีอยากให้ผู้ร่วมสังคมได้ประโยชน์จากวัดด้วย จึงพิมพ์หนังสือนี้ขึ้น อันเกี่ยวกัับธรรมบางอย่าง ที่จะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของทุกคน อาตมภาพขออนุโมทนา

ในโอกาสที่ชมรมคณาจารย์จะจัดงานมุทิตาแก่คุณหมอดำรงค์ ในวาระแห่งการเกษียณอายุราชการนี้ จึงหวังว่าจะเป็นมงคลวารที่ควรแก่การแสดงความยินดีสมตามคำที่ใข้เรียกนั้น ด้วยเหตุผลแห่งคุณค่าและประโยชน์ที่หวังว่าจะทำสืบต่อไป ดังคำตอบถามสนทนาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนี้

อาตมาภาพขอร่วมตั้งกัลยาณจิต อาราธนาคุณพระรัตนตรัยอำนวยพรแก่ พลโท นายแพทย์ดำรงค์ ธนะชานันท์ ในวาระสำคัญนี้ ขอคุณหมอ และท่านที่ร่วมสมัยแห่งการเกษียณอายุราชการ พร้อมครอบครัว ญาติมิตร จงเจริญด้วยจตุริทธิบาท และจตุรพิธพร พร้อมทั้งสรรพมงคล ตลอดกาลนาน

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
2 กันยายน 2543

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง