ขอเจริญพร ท่านสาธุชนผู้ใฝ่รู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน
วันนี้อาตมภาพรู้สึกว่าเราจะมีเวลาน้อย เพราะฉะนั้นจะขอเข้าเรื่องกันเลย สำหรับเรื่องที่ตั้งให้พูดนี้ ขอทำความเข้าใจก่อนสักนิดหน่อย
ประการแรก หัวข้อเรื่องที่ตั้งว่า “ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์” เดิมใช้ “ศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์” ซึ่งถ้าตั้งเช่นนั้น เป้าจะอยู่ที่ตัวศาสนา หมายความว่าในขอบเขตเวลาที่เราเรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์นั้น ศาสนาถูกเหตุการณ์หรือความเป็นไปต่างๆ ในโลกนี้กระทบกระทั่งอย่างไร หรือว่าถูกผลกระทบอะไรบ้าง ศาสนาเป็นอย่างไร ศาสนาจะปรับตัวอย่างไร จุดเน้นไปอยู่ที่ศาสนา แต่ในที่นี้ เห็นว่าเราไม่ควรเน้นเฉพาะที่ตัวศาสนา จึงเปลี่ยนหัวข้อเป็น “ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์” ให้ศาสนาเป็นฝ่ายหนึ่ง และยุคโลกาภิวัตน์เป็นอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และกระทำต่อกัน คือ มองได้ทั้งในแง่ที่ว่าศาสนาได้รับผลกระทบอย่างไรจากยุคโลกาภิวัตน์ และศาสนาจะส่งผลต่อยุคโลกาภิวัตน์อย่างไรตลอดจนศาสนาจะช่วยมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร
อนึ่ง ขอทำความเข้าใจต่อไปด้วยว่า ศาสนาในที่นี้เป็นนามธรรม หมายถึงตัวหลักธรรม ตัวหลักการ คือความจริงความถูกต้องดีงาม คือมุ่งไปที่ตัวธรรม หมายความว่า ทำอย่างไรจะช่วยให้โลกาภิวัตน์มีผลในทางที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องของศาสนาทั้งสิ้น ฉะนั้นขอบเขตของเรื่องที่จะพูดนี้กว้างมาก และจะพูดเน้นในแง่ที่ว่าสภาพในยุคโลกาภิวัตน์เป็นอย่างไร และศาสนาจะช่วยอย่างไร มากกว่าที่จะพูดในแง่ที่ว่าศาสนาจะเป็นอย่างไร และจะรับผลกระทบอย่างไร
ประการที่สอง คำว่า โลกาภิวัตน์ เป็นคำที่เข้าใจกันมากพอสมควรแล้วในปัจจุบัน อาจจะย้ำอีกทีว่า โลกาภิวัตน์ คือสภาพที่เกิดมีเป็นไปหรือแผ่ขยายกระจายไปทั่วโลก อย่างที่เรียกว่าไร้พรมแดน มีอะไรเกิดขึ้นในที่หนึ่งก็รู้ หรือส่งผลกระทบไปทั่วโลก อาจจะมีนัยแฝงอยู่ ด้วยตามที่แฝงในภาษาไทยคือ มีอิทธิพลครอบงำโลกด้วย ซึ่งเราจะเห็นว่าเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย โลกาภิวัตน์หลายอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีอิทธิพลครอบงำ ทำให้คนตกอยู่ใต้อำนาจของมัน
ว่าถึงสภาพโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันนี้ก็มีมากมาย อย่างแรก ที่เราใช้เป็นชื่อของยุคสมัยเลย ก็คือข่าวสารข้อมูล หรือสารสนเทศ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ เวลานี้เราเรียกโลกยุคปัจจุบันว่ายุคข่าวสารข้อมูล หรือที่ฝรั่งผู้ริเริ่มเรียกว่า Information Age และสังคม ก็เป็นสังคมข่าวสารข้อมูลที่เรียกว่า Information Society เรื่องข่าวสารข้อมูลเป็นสภาพโลกาภิวัตน์ที่มีอิทธิพลกว้างขวางอย่างยิ่ง เป็นอันดับแรก จนกระทั่งเป็นชื่อของยุคสมัย
อย่างที่สอง วิทยาศาสตร์และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีอิทธิพลอย่างยิ่ง การที่ข่าวสารข้อมูลจะเป็นโลกาภิวัตน์ได้ ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูล คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ซึ่งมีความสำคัญมาก อย่างที่จัดขึ้นเป็นงานครั้งนี้ พูดได้ว่า ตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้ข่าวสารข้อมูลได้กลายเป็นโลกาภิวัตน์ก็คือเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศนี่เอง
สภาพโลกาภิวัตน์อย่างอื่นก็เช่น ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าขาย เวลานี้ในทางเศรษฐกิจระบบแข่งขันกำลังขยายตัวแพร่หลาย เป็นที่ยอมรับทั้งโดยตรงคือนิยมแล้วรับเข้ามาเองและจำใจยอมรับ เพราะถูกครอบงำอย่างที่ว่าแล้ว เวลานี้ระบบการแข่งขันในทางเศรษฐกิจแบบธุรกิจได้ครอบงำเศรษฐกิจของโลกแล้วเป็นอย่างมาก
ในด้านระบบการเมืองการปกครองเวลานี้ที่เป็นสภาพโลกาภิวัตน์ก็คือ ประชาธิปไตย โดยเฉพาะในเมื่อโซเวียตรัสเซียล่มสลายไป ระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยก็ยิ่งแพร่หลายไปในโลกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ในด้านความเป็นไปในสังคม เช่น การที่มนุษย์จะอยู่กันอย่างมีสันติภาพได้อย่างไร เวลานี้สิ่งที่เป็นปัญหาน่าหวาดวิตกมากก็คือปัญหาความขัดแย้งและเบียดเบียนกัน ทั้งๆ ที่ว่าโลกนี้แคบเข้า ชุมชนโลกกลายเป็นชุมชนอันหนึ่งอันเดียวกันจนใช้คำว่า “Global Village” คือเป็นหมู่บ้านโลก แต่มนุษย์ที่อยู่ในโลกกลับมีปัญหาขัดแย้งกัน แบ่งแยกกันเป็นกลุ่มเป็นพวก รบราฆ่าฟันกัน เป็นการสวนทางกับสภาพของโลกที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวทางเทคโนโลยี หรือทางวัตถุ และสภาพแวดล้อม กลายเป็นว่าในยุคที่โลกแห่งสภาพแวดล้อมรวมกัน โลกมนุษย์กลับยิ่งแบ่งแยกกัน จนฝรั่งใช้คำว่า เป็นยุคที่มี tribalism คือเป็นยุคแห่งลัทธิแบ่งพวกแบ่งเผ่า โดยที่ tribalism นี้กลับเป็น globalization มันกลับกัน เป็นความจริงที่ดูย้อนแย้งในตัวของมันเอง เป็นที่น่าหวาดวิตกมาก จึงเป็นสภาพโลกาภิวัตน์ที่ก่อปัญหาอย่างยิ่ง แล้วก็อาจจะเป็นจุดติดตันของมนุษยชาติเพราะยังหาทางแก้ไม่ได้
ในขณะที่มนุษย์ในสังคมมีความแบ่งแยกขัดแย้งกันและเกิดภัยสงครามเป็นต้นนั้น อีกด้านหนึ่งที่คู่กันซึ่งร้ายแรงไม่น้อยกว่าก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่งแต่เป็นด้านร้าย ซึ่งเวลานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งที่คุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ และยังไม่เห็นทางปลอดโปร่งว่าจะแก้ไขได้
ปัญหาสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ติดตันที่สุด ซึ่งยังไม่มองเห็นและไม่มีความมั่นใจว่าจะมีทางแก้ไขได้ เป็นโลกาภิวัตน์ใหญ่สองอย่างคู่กันที่ครอบคลุมทั่วทั้งหมด คือ สังคมมนุษย์ที่แบ่งแยกรบรากัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม หรือพูดให้ชัดขึ้นอีกเป็นภาพของตัวมนุษย์ผู้อยู่ในท่ามกลางสภาพที่ไม่มั่นคงปลอดภัย ขณะที่ในสังคมคนอยู่ด้วยกันแบ่งแยกทะเลาะวิวาท ไม่ไว้วางใจกัน สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยกลับรวมตัวพากันเสื่อมโทรมเป็นอันเดียวกันไปทั่ว
นอกจากนั้นยังมีความแปลกแยกระหว่างโลกมนุษย์กับโลกธรรมชาติ เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น โลกมนุษย์ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ก็ปรากฏว่ามนุษย์ได้สร้างโลกของตัวเองให้เจริญมาก และโลกมนุษย์ที่เจริญนี้ก็เริ่มมีความแปลกแยกกับโลกธรรมชาติ ทำให้มนุษย์จำนวนไม่น้อยอยู่ในโลกของมนุษย์โดยแทบจะไม่รู้จักธรรมชาติ และไม่รู้ตัวว่าตนเองอยู่ในโลกของธรรมชาติ หรือโลกธรรมชาติมันซ้อนมันรองรับโลกมนุษย์นี้อยู่ ถ้าโลกมนุษย์จะแยกกับโลกของธรรมชาตินั้น เป็นไปได้ไหมว่ามนุษย์จะอยู่ตามลำพังได้โดยไม่ต้องอาศัยโลกธรรมชาติ ถ้าสองโลกนี้แปลกแยกและขัดแย้งกัน โลกมนุษย์จะอยู่โดยสวัสดีได้หรือไม่ เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องพิจารณา
ที่ว่ามานี้เป็นการยกมาให้เห็นว่า เรื่องของโลกาภิวัตน์ต่างๆ มีมากมายหลายด้าน
อย่างไรก็ตาม งานนี้เป็นงานไอที เป็นเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือข่าวสารข้อมูล ดังนั้น การพูดในวันนี้ก็คงเน้นโลกาภิวัตน์ด้านไอที แต่กระนั้นก็ตามจะพูดให้กว้างถึงเทคโนโลยีทั่วไปด้วย เพราะเทคโนโลยีแต่ละแบบมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกาภิวัตน์ข้ออื่นทั้งหมดเป็นไปได้
เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดแล้ว ก็มาเริ่มกันที่เรื่องเทคโนโลยีก่อน เพราะเป็นโลกาภิวัตน์ที่สำคัญอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังได้พูดไปแล้วว่าเทคโนโลยีทำให้โลกเจริญ จนเป็นอย่างทุกวันนี้ จนกระทั่งเข้าสู่ยุค Information Age และสังคมของโลกก็เป็น Information Society ซึ่งก็ยังไม่ได้เป็นทั่ว แต่เอาเฉพาะประเทศผู้นำที่พัฒนาแล้วเป็นแบบอย่าง
ความจริงสังคมไทยก็ยังไม่ได้เป็นสังคมข่าวสารข้อมูล สังคมไทยกำลังพยายามที่จะก้าวจากการเป็นสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมด้วยซ้ำไป พอดีสังคมไทยนี้มาอยู่ท่ามกลางความเจริญของโลกแบบนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากสภาพความเป็นไปของโลกในความเจริญทั้ง ๓ ขั้น ของวิวัฒนาการ คือ ทั้งเป็นสังคมเกษตรกรรมด้วย สังคมอุตสาหกรรมก็พยายามจะเป็น และสภาพสังคมแบบข่าวสารข้อมูลก็พลอยได้รับผลมากมาย สังคมไทยจึงมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนสังคมที่พัฒนาแล้ว ทำให้มีลักษณะจำเพาะของตัวเองที่จะเอาแบบอย่างคนอื่นไม่ได้ เราจะเอาอย่างสังคมอเมริกันก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็นสังคมที่ก้าวมาเป็นลำดับจนเขาพูดได้เต็มปากว่าเขาพ้นจากสังคมเกษตรกรรมมานานแล้ว และก็ก้าวข้ามพ้นยุคสมัยของการเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้วด้วย จนมาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล แต่ของเราพูดอย่างนั้นไม่ได้เลย เราได้รับอิทธิพลและผลที่ปะปนกันจากความเป็นไปในสังคมทั้ง ๓ ขั้นตอนนั้น อย่างไรก็ตามในที่นี้เราพูดในแง่ของประเทศผู้นำ เมื่อพูดถึงโลกทั้งหมด เราก็เอาประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นแบบอย่าง จึงเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคสารสนเทศ หรือยุคข่าวสารข้อมูล
เมื่อโลกมนุษย์เจริญมาอย่างนี้ก็มีแง่พิจารณาซึ่งขอย้ำไว้ว่า มันได้ทำให้มนุษย์ปัจจุบันนี้มองเห็นภาพของการมีอำนาจและอิทธิพลเหนือโลกธรรมชาติ เพราะว่าจิตสำนึกที่เป็นรากฐานของการสร้างความเจริญของปัจจุบันนั้น มาจากแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และเวลานี้เราก็รู้สึกกันไม่น้อยว่าโลกมนุษย์มีอำนาจเหนือโลกธรรมชาติ จนกระทั่งบางทีบดบังโลกธรรมชาติไว้ ทำให้มนุษย์เข้าไม่ถึงโลกธรรมชาติ และในการที่มีอำนาจเหนือและบดบังโลกแห่งธรรมชาตินั้น เป้าหมายของมนุษย์ก็คือการมุ่งจะพิชิตข่มบีบบังคับและจัดการโลกแห่งธรรมชาติ จนไปๆ มาๆ กลายเป็นทำลายและเบียดเบียนโลกแห่งธรรมชาติ ซึ่งมีผลสะท้อนกลับมากระทบต่อความเจริญของโลกมนุษย์เอง
ทีนี้ความสำคัญของเทคโนโลยีนั้น ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็มักว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นเครื่องทุ่นแรง ทุ่นเวลา แต่ความจริงมิใช่แค่นั้น มีความหมายมากกว่านั้นอีก พูดอย่างภาษาชาวบ้านก็ว่า เทคโนโลยีเป็นฤทธิ์เดช หรือเป็นปาฏิหาริย์ทางวัตถุ อำนาจสำคัญของเทคโนโลยีอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ขยายอย่างไร คือเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถทำสิ่งที่อินทรีย์ธรรมดาของมนุษย์ทำไม่ได้
อินทรีย์คืออะไร ก็คืออวัยวะที่เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานต่างๆ เช่น ตาเป็นเจ้าหน้าที่ดู หูเป็นเจ้าหน้าที่ฟัง มือเป็นเจ้าหน้าที่จับยึดฉวยไว้ เท้าเป็นเจ้าหน้าที่ในการเหยียบการเดิน จนกระทั่งสมองก็เป็นเจ้าหน้าที่ใช้ความคิด
อินทรีย์เหล่านี้ของเรามีขอบเขตจำกัด แต่เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว มันก็ช่วยขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของเราออกไป เช่น เมื่อเราขุดดินด้วยมือ ก็ขุดได้น้อยและเจ็บมือด้วย ลำบากยากเย็น เราก็ไปเอาไม้ท่อนหนึ่งมาบากเหลาเข้า ไม้ท่อนนี้ใช้ขุดดิน ก็เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราขุดดินได้สะดวกยิ่งขึ้น ต่อมาเราก็พัฒนาเป็นจอบเสียมขึ้นมา ก็ขุดได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ต่อมาก็พัฒนาเป็นรถขุด ซึ่งขุดได้ชนิดที่ว่าคนเป็นร้อยเป็นพันก็ขุดสู้ไม่ได้
อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเราใช้ตาเปล่าดูไปในท้องฟ้า ก็ดูได้ไม่ไกล เห็นดาวระยิบระยับ ก็ดูไม่ออกว่าเป็นดาวอะไร ต่อมามีคนประดิษฐ์กล้องดูดาวหรือกล้องโทรทัศน์ ก็เห็นได้ไกลออกไปอีกมากมาย เพราะเทคโนโลยีนั้นขยายวิสัยแห่งตาของเราออกไปอีก หรือในทางตรงกันข้ามอย่างที่ดูของเล็กๆ ก็เหมือนกัน เช่น จะดูเซลล์ หรือไวรัส ตาเราก็ไม่เห็น จะทำอย่างไร เราก็ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้นมา ตาก็ได้รับการขยายวิสัยออกไปทำให้มองเห็นได้ แต่ก่อนโน้น เราเห็นเหตุการณ์ในที่ใกล้ๆ พอเราทำทีวีขึ้นมา เราก็เห็นเหตุการณ์ในที่ไกลๆ ได้ เวลานี้เทคโนโลยีที่สำคัญก็คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งอย่างน้อยก็ใช้แทนเครื่องคิดเลขได้ ถ้าใช้สมองคิดทศนิยมสี่ห้าหลัก เราก็แย่แล้ว แต่พอใช้เครื่องคิดเลขตลอดจนคอมพิวเตอร์ ทศนิยมหลายๆ สิบหลักเราก็ทำได้ ไม่มีปัญหา ง่ายและรวดเร็ว ประมวลผลได้ครบถ้วนแม่นยำ
อย่างเวลานี้พระไตรปิฎกก็เอาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ลง CD-ROM ทำให้เราสามารถค้นคำได้ครบถ้วนและแม่นยำด้วย อย่างเช่น เราจะค้นพระไตรปิฎกที่มีจำนวนหน้าถึง ๒๒,๐๐๐ หน้า โดยประมาณ ถ้าเราค้นคำว่า “สภา” กว่าจะค้นครบอาจใช้เวลาเป็นเดือน แล้วก็ไม่แน่ว่าจะครบทุกตัว เพราะใช้ตาดูบางทีก็อาจจะผ่านไปได้โดยไม่เห็นเสียอีก ต้องดูทวนไปมาหลายรอบ แต่ถ้าเราใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใช้เวลาไม่กี่วินาทีก็ดูคำว่า “สภา” ได้ครบถ้วน เช่นดูได้ว่าอยู่หน้าไหนข้อไหน หรืออย่างในเวลาที่จะศึกษาพุทธศาสนา เวลานี้ก็มีบางท่านเอา Lord Buddha's Philosophy ลงใน Internet ทำให้สามารถศึกษาไปได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยีที่จัดได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง โดยเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าเราขยายวิสัยต่างๆ ออกไปได้นั้น ยังไม่สามารถบ่งชัดว่าเป็นคุณหรือโทษ แม้ว่าที่พูดมาเมื่อกี้ทั้งหมดจะเป็นคุณทั้งนั้น แต่ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า มันอาจจะมิได้เป็นคุณเสมอไป เพราะว่าที่จริงนั้นเทคโนโลยีทำให้สะดวกและทำอะไรๆ ได้ผลมาก ทั้งในการทำความดีและความชั่ว คือ ได้ทั้ง ๒ ทาง เป็นการขยายวิสัยแห่งการทำความดีและความชั่ว คุณ-โทษ ประโยชน์และผลร้าย เราอาจใช้ได้ทั้ง ๒ แง่ ดังมีตัวอย่างมากมาย เช่น ในการตัดต้นไม้ เครื่องมือคือเลื่อยไฟฟ้าที่เป็นผลประดิษฐ์จากเทคโนโลยีนี้ เรามุ่งหวังว่าจะใช้ประโยชน์ในการตัดต้นไม้ใหญ่ได้ในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งเมื่อก่อนอาจใช้เวลาเลื่อยเป็นวัน แต่เวลานี้เรามีเลื่อยไฟฟ้าอย่างดีก็ตัดได้อย่างรวดเร็วไม่กี่นาที ซึ่งมีผลทั้งทางบวกและทั้งทางลบ ผลบวกคือเมื่อจำเป็นจะใช้ประโยชน์ ก็ตัดต้นไม้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ผลลบคือสามารถทำลายธรรมชาติแวดล้อมได้อย่างรวดเร็วมาก ป่าถูกทำลายหมดไป ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยและของโลกทั้งหมด เป็นต้น ปัจจุบันนี้ต้นไม้ที่ใช้เวลาปลูกเป็นร้อยเป็นพันปี ถูกตัดโค่นลงได้ในเวลาไม่กี่นาที
อย่างการประมงก็เหมือนกัน เราอาจมีเครื่องมือลากอวนสมัยใหม่ที่สามารถจับปลาจากท้องทะเลได้จำนวนมากมายมหาศาล ทำให้เราสามารถจับปลาได้หมดท้องทะเล ทำให้ปลาสูญพันธุ์ไปก็ได้ หรืออย่างการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศก็ทำนองนั้น ผู้ก่อการร้ายอยู่ในท้องถิ่นของประเทศต่างๆ หลายประเทศอาจนัดหมายวางแผนร่วมกันนัดกันทำการก่อการร้ายพร้อมกันหลายจุดเลยก็ได้ แม้กระทั่งอาวุธสงคราม ก็มีอานุภาพร้ายแรงอย่างที่เราก็ทราบกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีเมื่อใช้ในทางดีก็ดีมาก เมื่อใช้ในทางร้ายก็ร้ายมากเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความดีความชั่วเราจะยกไว้ก่อน จะพูดกว้างๆ ออกไปว่าในโลกแห่งวัตถุทั้งหลายนี้เทคโนโลยีมีบทบาทอย่างไร ที่เห็นชัด คือ เทคโนโลยีเป็นปัจจัยตัวเอกของความเจริญทางอุตสาหกรรมในยุคที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม จนบางคนอาจจะภาคภูมิใจว่า เราจะได้เป็น NIC เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่ก็ได้มีการถกเถียงกันมาก ว่าจะมีผลดีคุ้มกับผลเสียหรือไม่
การพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้เกิดผลผลิตพรั่งพร้อม มนุษย์มีความสุขในความหมายว่ามีวัตถุอุดมสมบูรณ์ เมื่อความเจริญก้าวไปจนถึงขั้นหนึ่งแล้ว เขาก็บอกว่าพ้นยุคอุตสาหกรรมไปเลย อย่างปัจจุบันนี้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ได้เจริญจนเป็นสังคมพ้นยุคอุตสาหกรรม (post-industrial society) มาเป็นสังคมยุคบริโภค (consumer society) หรือว่าตามสภาพโลกาภิวัตน์ก็เป็นสังคมยุค information age อย่างที่กล่าวมานี้ เทคโนโลยีนี้หนุนอุตสาหกรรม และในทำนองเดียวกันอุตสาหกรรมก็หนุนเทคโนโลยีโดยเป็นปัจจัยเอื้อซึ่งกันและกัน คืออุตสาหกรรมเจริญได้เพราะอาศัยเทคโนโลยี เสร็จแล้วอุตสาหกรรมก็ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นอีก เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีทั้งเทคโนโลยีฝ่ายเพื่อการผลิต ซึ่งเป็นตัวปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรม แล้วก็มีเทคโนโลยีเพื่อการบริโภคอีกด้านหนึ่ง
เทคโนโลยีสำคัญ ที่เป็นระบบใหญ่คือ การสื่อสารและขนส่งคมนาคมที่ทำให้ข่าวสารกระจายไปทั่วโลก และทำให้สิ่งบริโภคผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแพร่หลายไปในที่ต่างๆ ให้คนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และทั่วโลก นี่ก็คือสภาพโลกาภิวัตน์ ในด้านสิ่งบริโภคต่างๆ สืบเนื่องจากการที่ว่า เทคโนโลยีหนุนอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมหนุนเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจึงนำความเจริญไปทั่วอย่างรวดเร็ว ด้วยความถี่สูงขึ้นทุกที สมัยแรกเริ่มที่เกิดเทคโนโลยีขึ้นมา กว่าความเจริญจะแพร่จากตะวันตก เข้ามาถึงเมืองไทยต้องใช้เวลานาน ยกตัวอย่าง เช่น ทีวีเกิดขึ้นในโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ หรือ ค.ศ. ๑๙๒๖ แล้วได้ออกรายการเป็นประจำ ในเยอรมันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ หรือ ค.ศ. ๑๙๓๕ ต่อมาอีก ๓ ปี จึงได้ออกรายการประจำในอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ หรือ ค.ศ. ๑๙๓๘ ทีวีเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ หรือ ค.ศ. ๑๙๕๕ ห่างจากอเมริกา ๑๗ ปี ทีวีเราพึ่งมีได้ ๔๐ ปี เดี๋ยวนี้เจริญไปมากมายแล้ว สภาพความรวดเร็วจะสูงขึ้นทุกที เวลานี้เทคโนโลยีอะไรที่เกิดขึ้นในเมืองฝรั่งจะมาถึงเมืองไทยได้รวดเร็วขึ้น
สภาพโลกาภิวัตน์มีความเจริญไม่เฉพาะกว้างขวางทั่วโลกอย่างเดียว แต่มันรวดเร็วขึ้นด้วย จนกระทั่งฝรั่งบอกว่าจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นทันกาลทันเวลา จนเรียกว่าถึงยุค real time หมายความว่าทันทีทันใดในขณะนั้นเลย ฉะนั้นเรื่องโลกาภิวัตน์จึงไม่ใช่เป็นโลกาภิวัตน์อย่างเดียว แต่เป็น “กาลาภิวัตน์” ด้วย อันนี้น่าสังเกต บางที่เราไม่ได้นึกถึงในแง่ของกาลเวลาซึ่งสำคัญมาก โลกาภิวัตน์อย่างเดียวยังไม่สำคัญเท่าไร ที่เพิ่มความสำคัญก็คือความเร็ว ถ้าไม่เร็วเรายังคิดทัน แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นทั่วโลก สมมติว่าเกิดในอเมริกา กว่าจะถึงเมืองไทย ๑๗ ปี เราก็ยังมีเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรกับมัน แต่เวลานี้มันเร็วจนเราไม่มีเวลาคิดแล้ว มันถึงตัวทันที ดังนั้นน่าจะคิดศัพท์ใหม่มาคู่กับโลกาภิวัตน์ อาจจะเรียกว่า “กาลาภิคัต” หรืออะไรทำนองนี้ อันนี้อย่าเพิ่งถือลงตัว เป็นศัพท์ที่พูดกึ่งเล่นๆ ไปหน่อย แต่เป็นอันว่าปัจจุบันนี้ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศตะวันตกมีอะไร เดี๋ยวเดียวเมืองไทยก็รู้แล้วก็มีด้วย และความเร็วก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะนี้ความเร็วยังไม่เต็มที่ ต่อไปจะเร็วกว่านี้ เอาละที่ว่ามานี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรตั้งเป็นข้อสังเกต
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีก็ต้องพูดถึงวิทยาศาสตร์เป็นธรรมดา เป็นของคู่กัน เพราะว่าสองอย่างนี้เจริญควบคู่มาด้วยกัน บางทีเราพูดว่าเทคโนโลยีเจริญมาเพราะวิทยาศาสตร์ เพราะเทคโนโลยีอาศัยวิทยาศาสตร์ และบางทีเราถึงกับให้ความหมายว่า เทคโนโลยี คือการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์หรือนำมาใช้ประโยชน์ แต่เทคโนโลยีนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์แบบที่เข้าใจกันในความหมายแบบแคบๆ ที่จริงเทคโนโลยีเกิดก่อนยุควิทยาศาสตร์ แต่เป็นเทคโนโลยีแบบง่ายๆ พอถึงยุควิทยาศาสตร์เจริญ เทคโนโลยีก็มีความซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราให้ความหมายวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความรู้ในธรรมชาติแบบกว้างๆ แล้ว เทคโนโลยีก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์อยู่ดี อย่างไรก็ตาม เรามักจะให้ความหมายวิทยาศาสตร์ในขอบเขตที่จำกัดเป็นวิชาการอย่างที่เข้าใจกันทุกวันนี้ ถ้าอย่างนี้วิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นฐานของเทคโนโลยีมาตลอดทุกยุคทุกสมัย แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีได้พัฒนามา โดยเฉพาะในเเบบปัจจุบัน
ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างก็เป็นปัจจัยแก่ความก้าวหน้าของกันและกัน หมายความว่า วิทยาศาสตร์เจริญก็ทำให้เทคโนโลยีก้าวหน้า เทคโนโลยีก้าวหน้าก็ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญยิ่งขึ้น ที่ว่าเทคโนโลยีอาศัยวิทยาศาสตร์ เราเห็นได้ง่าย ชัดมาก เพราะเราต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสร้างสรรค์เทคโนโลยี แต่ที่ว่าเทคโนโลยีทำให้วิทยาศาสตร์เจริญหรือมีโอกาสเจริญนั้นบางทีเรามองไม่เห็น อย่างเช่นความรู้ทางดาราศาสตร์จะเจริญได้แค่ไหนถ้าใช้ตาเปล่า ความรู้ก็แคบ ต่อมาเราประดิษฐ์กล้องดูดาวได้ กล้องดูดาวนั้นเป็นเทคโนโลยี พอได้เทคโนโลยีนี้ความรู้ทางดาราศาสตร์ก็ขยายกว้างขวางออกไป ดังนั้นความรู้ทางเทคโนโลยีก็เป็นตัวเอื้อให้วิทยาศาสตร์เจริญเช่นเดียวกัน หรืออย่างในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ก็เป็นความหวังของนักวิทยาศาสตร์ว่าจะช่วยให้ศึกษาค้นพบความจริงของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อย่างปัจจุบันนี้บางคนกำลังศึกษาว่าจิตคืออะไร คอมพิวเตอร์จะเป็นตัวเทียบของจิตใจได้หรือไม่ เทคโนโลยีจะพัฒนาไปถึงจุดที่มี mind หรือมี consciousness คือมีจิตได้หรือเปล่า บางทีเถียงกันถึงกับเขียนตำราเป็นเล่มๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ รวมความว่าเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยเพิ่มความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ด้วย เป็นปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน
จุดที่อยากเน้นคือในเวลาที่เราเจริญๆ ไปโดยมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากมายนั้น สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องสังเกตก็คือ สิ่งที่เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเกิดขึ้นในอารยธรรมตะวันตก ก็คือ แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ฝรั่งภูมิใจมากที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศตะวันตกล้ำหน้ากว่าชาติตะวันออก ก็เพราะแนวความคิดในการที่จะพิชิตหรือเอาชนะธรรมชาตินี้
แต่ก่อนนี้ ในประวัติของวิชาวิทยาศาสตร์นักวิชาการบอกว่า ตะวันออกเจริญกว่าตะวันตกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ในประเทศจีนและอินเดียเมื่อสมัยย้อนไปเป็นพันๆ ปี แต่ต่อมาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมตะวันตกก็เจริญเลยหน้าตะวันออกไป ซึ่งเขามีความภูมิใจว่าเป็นเพราะเขามีความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาตินี้เห็นได้ชัดในอารยธรรมตะวันตก นักวิชาการตะวันตกได้ค้นคว้ารวบรวมไว้เป็นบทๆ เลย อย่างเช่นในหนังสือ ‘A Green History of the World’ นาย Ponting ได้ประมวลแนวความคิดของปราชญ์ตะวันตกมาทั้งหมด ตั้งแต่โสคราติส เพลโต อริสโตเติล และไม่เฉพาะนักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ แม้แต่นักจิตวิทยา กวี และนักประวัติศาสตร์ก็มีความคิดอย่างเดียวกันหมด ซึ่งมีหลักฐานยืนยันให้เห็น ดังเช่น Descartes ซึ่งเป็นนักปรัชญาสำคัญ และถือกันว่าเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ด้วย แล้วก็ยังมีซิกมันด์ฟรอยด์ และฟรานซิส เบคอน เป็นต้น ซึ่งได้กล่าวคำพูดหรือวาทะไว้ว่ามนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาติ บางคนพูดถึงขนาดที่ว่าต่อไปเมื่อมนุษย์เจริญขึ้นด้วยอาศัยวิทยาศาสตร์ เราจะจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เหมือนดังขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวในกำมือที่จะปั้นเป็นอะไรก็ได้ นี่คือความหวังของตะวันตกซึ่งเป็นแนวความคิดที่มีมาตั้งสองพันกว่าปีมาแล้ว แม้แต่ศาสนาในตะวันตกก็ถูกวิจารณ์ว่า มีแนวคิดแบบเดียวกันอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม มาถึงปัจจุบันนี้เรื่องกลับกลายเป็นว่า การพิชิตธรรมชาตินั้นมีผลร้าย คือเป็นการทำร้ายธรรมชาติ การเอาชนะธรรมชาตินั้นมีความหมายเป็นการข่มเหงเบียดเบียนธรรมชาติ จนกระทั่งเวลานี้ธรรมชาติแวดล้อมได้เสื่อมโทรมลงไปและกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับมนุษย์ ทำให้แนวความคิดพิชิตธรรมชาตินี้ถูกตั้งข้อสงสัย อย่างน้อยตอนนี้เขาถือว่าแนวความคิดที่ทางตะวันตกมองมนุษย์แยกต่างหากกับธรรมชาติต้องเปลี่ยนใหม่ เวลานี้ตำราด้านสิ่งแวดล้อมจะเน้นเลยว่าให้มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ก็กลายเป็นว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ส่งผลร้ายให้แก่มนุษยชาติไม่น้อย ดังที่มีคนบ่นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงผลเสียต่อสภาพแวดล้อมที่ชัดมาก แม้แต่ผลเสียต่อชีวิตจิตใจของมนุษย์เองก็หนักทีเดียว เช่น ปัญหาต่อสุขภาพร่างกาย ปัญหาของจิตใจเริ่มแต่ความเครียด ซึ่งบ่นกันมากโดยเฉพาะในสังคมตะวันตก จนทำให้คนบางกลุ่มเกิดอาการที่เรียกว่า technophobia คือเป็นโรคกลัวเทคโนโลยี แต่พวกที่เป็นอย่างนั้น เขาก็ถือว่าเขาอยู่กับความจริง แต่อีกฝ่ายหนึ่งหาว่าเขาเป็น technophobia จะได้ยินว่าในตะวันตกมีมนุษย์ที่รวมกันต่อต้านเทคโนโลยีและขออยู่ตามธรรมชาติ แม้ว่าความคิดนี้จะเป็นการเอียงสุดไปด้านหนึ่ง แต่ก็เป็นสิทธิ์ของเขาเพราะว่าเป็นความจริงอย่างนั้น อยู่ส่วนหนึ่งที่ว่า เทคโนโลยีได้ทำลายสิ่งแวดล้อม และทำลายสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ
จะขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ต้องหันมาพิจารณาไตร่ตรองถึงผลดีและผลเสียของเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงจิตใจของมนุษย์และการพัฒนามนุษย์ด้วย อย่างเวลานี้มีเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถรู้เพศของเด็กในครรภ์ได้ เด็กยังไม่ทันคลอดก็รู้ว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ในอเมริกาตอนนี้ก็มีรายงานของแพทย์เพิ่มขึ้นว่า มีการทำลายเด็กในครรภ์ เพราะเด็กคนนั้นมีเพศไม่ตรงกับความประสงค์ของบิดามารดามากขึ้น เพราะเรารู้ล่วงหน้าแล้ว พอพ่อแม่รู้ว่าไม่เป็นเพศที่ตรงกับความต้องการก็อาจจะให้ทำลาย อันนี้ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น
นี่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี แต่มันสัมพันธ์กับตัวคน เราต้องมองในลักษณะที่ว่า มีปัจจัยสองด้าน แต่ในด้านของเทคโนโลยีเองก็เป็นตัวเอื้อต่อการเกิดปัญหา ปัญหานี้จะมีผลกว้างไกลอย่างไร ในเมื่อความเป็นไปในระบบของธรรมชาติบางอย่างมนุษย์ยังรู้ไม่พอ ในการเกิดของลูกบางครอบครัวมีแต่ลูกชาย บางครอบครัวมีแต่ลูกหญิง แต่พอมองสังคมทั้งโลก ธรรมชาติมันจัดอย่างไร (ที่จริงคือสัมพันธ์กันอย่างไร) ไม่รู้ จนทำให้จำนวนคนทั้งชายและหญิงค่อนข้างสมดุลกัน ไม่ค่อยผิดกันเท่าไร อันนี้มีกลไกอะไร วิทยาศาสตร์เข้าถึงหรือยัง แต่ถ้ามนุษย์จัดการเรื่องนี้ตามความต้องการของตน ผลอะไรจะเกิดขึ้น ระบบของธรรมชาติที่สร้างดุลยภาพในเรื่องของเพศชายเพศหญิง ที่ถูกมนุษย์จัดการตามใจชอบของตนนี้ อาจจะเกิดความเสียดุลเป็นอย่างยิ่งก็เป็นได้ สมมติว่าสังคมหนึ่งต้องการลูกผู้ชายอย่างเดียว ลูกผู้หญิงทำลายหมด อย่างในประเทศจีนสมัยก่อนก็เคยได้ยินใช่ไหมว่าเขาไม่ต้องการลูกผู้หญิง แต่ตอนนั้นเมื่อเกิดเป็นคนแล้วก็ทำลายยาก แต่ต่อไปนี้ทำลายได้ง่ายตั้งแต่อยู่ในท้องยังไม่ทันได้เห็น คนสามารถใช้เทคโนโลยีโดยไม่ทันได้รู้สึกอะไรเพราะยังไม่เคยเห็นกัน คนนี้ถ้าไม่เคยเห็นกันก็ทำลายได้ง่าย
ทีวีก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งในสังคม มันเป็นเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่ง และมีอิทธิพลอาจเรียกว่าสูงสุดก็ได้ ที่จริงมันเป็นเทคโนโลยีประเภทปลุกเร้าบันเทิงอย่างสำคัญ ในสังคมอเมริกันกำลังมีการถกเถียงกันในเรื่องอิทธิพลของทีวีในด้าน violence คือความรุนแรง ซึ่งในสังคมอเมริกันขณะนี้มีปัญหามากเหลือเกิน จนกระทั่งเป็นปัญหาของชาติ ต้องไปถกเถียงกันในรัฐสภาว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร จะมีกฎหมายห้ามมีอาวุธปืนส่วนตัวไหม เพราะมีเด็กประถมเอาปืนไปยิงกันที่โรงเรียน ขนาดเด็กก็ยังใช้สิทธิเสรีภาพในทางที่ผิด ปัญหา violence คือความรุนแรงนี้ ถือว่าเกิดจากอิทธิพลของทีวีมาก จนกระทั่งใหม่ๆ สดๆ นี้ก็เกิดการเคลื่อนไหวใหม่ในวงการการศึกษา มีกลุ่มที่อาจเรียกว่าขบวนการ TV-Free America แปลได้ว่าขบวนการอเมริกาที่ปลอดทีวี เอาละซิ ในเมืองไทยใครเคยคิดบ้างว่าจะมีความเคลื่อนไหวขนาดนี้ พวกครูอาจารย์ในเมืองอเมริกาบอกว่าไม่ไหวแล้ว ทีวีนี่มีผลร้ายต่อชีวิตจิตใจของเด็กและต่อสังคมมาก ผลดีผลร้ายบวกลบกันแล้ว ไม่เอาทีวีดีกว่า ตอนนี้เอาเป็นว่าอย่างน้อยเขาพยายามให้มีสัปดาห์ที่ปลอดทีวีสักสัปดาห์หนึ่ง ก็เลยมีการเคลื่อนไหวและชวนกัน ในโรงเรียนบางแห่งก็เริ่มแล้ว เรียกว่าอยากจะให้มี National TV-Turn-Off Week สัปดาห์ปิดทีวีแห่งชาติ อย่างน้อยปีละครั้ง บางโรงเรียนประกาศว่าปีหน้าจะให้มี ๒ สัปดาห์
ลองคิดดู นี่ก็เป็นเรื่องของไอทีโดยตรง เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น อเมริกาเป็นอย่างไรประเทศไทยน่าจะได้บทเรียนของเขามาใช้ประโยชน์ นี่คือบทเรียนของประเทศอเมริกา ถ้าเราเดินอย่างปัจจุบันก้าวหน้าไปในทิศทางนี้ สภาพที่รออยู่ข้างหน้าของสังคมไทยจะเป็นคล้ายๆ สังคมอเมริกาที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบัน จะต้องถามว่าสังคมอเมริกันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันน่าเป็นหรือน่าเอาอย่างไหม ที่ว่าน่าเป็นนั้นเราได้ศึกษาดีหรือยัง คนไทยเราน่าจะใช้ไอทีแบบหนามบ่งหนาม คือใช้มันให้เป็นประโยชน์แบบย้อนกลับในการศึกษาให้รู้เท่าทันอย่างจริงจัง ให้รู้เข้าใจสังคมที่พัฒนาแล้วว่าเขาเป็นอย่างไรทั้งด้านดีและด้านร้าย และกลั่นกรองเลือกเอาแต่ประโยชน์ ไม่ใช่มัวแต่ติดตามเฉพาะผลผลิตทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่จะเอามาเสพบริโภคเท่านั้น เราต้องรู้เข้าใจสภาพสังคมของเขาด้วยว่ามีดีมีด้อยอย่างไร มีส่วนที่เป็นความเจริญและความเสื่อมอย่างไร อย่างน้อยเราควรแยกได้ว่าด้านไหนควรเป็นอย่างเขา ด้านไหนไม่ควรเป็น ขอพูดอย่างเบาะๆ ว่า ถ้าเราเดินตามทางนี้ต่อไปเราจะเป็นอย่างอเมริกา ที่จริงเราอาจจะไม่เป็นอย่างอเมริกา แต่อาจร้ายยิ่งกว่าที่อเมริกาเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะอะไร เพราะว่าสังคมไทยมีจุดอ่อนที่แย่กว่าอเมริกาอยู่บางอย่าง ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สัมพันธ์กับเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ที่ว่าอเมริกาแย่ปัญหาเยอะ ถ้าไทยไม่ระวังจะแย่ยิ่งกว่าเขา จะขอยกตัวอย่างในส่วนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ประการแรก สังคมไทยเป็นสังคมที่แทบจะถือได้ว่าไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เลย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เสียฐานเลยทีเดียว วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ก็คือวิถีชีวิตจิตใจของมนุษย์หรือผู้คนที่มีความใฝ่รู้ คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล ไม่เชื่อง่าย ไม่หลงงมงาย ชอบค้นคว้า ชอบพิสูจน์ทดลอง พบอะไรแล้วพยายามวิเคราะห์องค์ประกอบสืบสาวหาเหตุปัจจัยให้เข้าถึงความจริงให้ได้ ลักษณะอย่างนี้ถ้าเกิดมีขึ้นเป็นนิสัยจิตใจของผู้คนเราเรียกว่ามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ สภาพนี้สังคมไทยมีไหม พูดได้ว่าแทบตรงข้ามเลย เราไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ผู้คนชอบเชื่ออะไรง่ายๆ หลงงมงาย ตื่นข่าว ใช้เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลก็ไม่เป็น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันต่อไป แต่อย่างน้อยเราบอกว่าขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ถ้าอย่างนี้แล้วฐานเราเสีย เราจะแย่กว่าเขา อเมริกายังมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์อยู่พอสมควร
ขอทำความเข้าใจก่อนว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ไม่ใช่วัฒนธรรมเทคโนโลยี ต้องแยกให้ได้ หลายคนเข้าใจผิด พอถามว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร ความหมายที่เขาให้คือเทคโนโลยี อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย แม้แต่ผู้บริหารชั้นสูงไม่น้อยก็ยังแยกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ออก นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง วัฒนธรรมเทคโนโลยีไม่ใช่วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวจะต้องพูดกันต่อไป แต่ในที่นี้จะพูดไว้ก่อนว่า ในแง่นี้เทคโนโลยีนั้นตรงกันข้ามกับวิทยาศาสตร์เลย ยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยีไปกันได้กับไสยศาสตร์และความเชื่องมงาย แต่วิทยาศาสตร์ไปกันไม่ได้กับไสยศาสตร์และความเชื่อแบบนั้น เราอาจใช้เทคโนโลยีผลิตวัตถุมงคลได้ทีละเป็นหมื่นเป็นแสน แทนที่จะทำได้ช้าๆ โดยปั้น เสียเวลามากกว่าจะได้ชิ้นหนึ่งๆ หรือถ้าเราพรมน้ำมนต์ด้วยมือไม่พอหรือไม่ทัน ก็ใช้เทคโนโลยีฉีดเลยทีเดียวได้ทั่วห้องประชุม หรือจะใช้เทคโนโลยีด้านสื่อสารข้อมูลโฆษณาฤทธิ์เดชของวัตถุมงคลก็ได้ ทำให้แพร่หลายไปไกลและมีผลกว้างขวางต่อสังคม เป็นโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง พูดสั้นๆ ว่าเทคโนโลยีเอื้อต่อไสยศาสตร์ได้มาก
ผลข้างเคียงของเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งคือการหนุนวัฒนธรรมบริโภค เทคโนโลยีไปกันได้ดีกับการบริโภค โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีที่ผลิตและใช้กันเน้นในด้านการเสพบริโภค ทำให้คนหันไปมุ่งหาสิ่งบำรุงบำเรอความสะดวกสบาย สร้างนิสัยที่เป็นนักบริโภคมากยิ่งขึ้น ไม่เป็นนักผลิต อันจะเป็นเรื่องที่มีผลร้ายแรงมาก ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นจะต้องพูดต่อไปถึงวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยขาด ที่พูดไปเมื่อกี้คือการขาดวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ พูดสั้นๆ ก็คือ ขาดความใฝ่รู้
ประการต่อไป ขอแยกเทคโนโลยีเป็น ๒ แบบก่อน (เนื่องจากเทคโนโลยีมีหลายลักษณะ หลายประเภท) คือ เทคโนโลยีเพื่อการผลิต และเทคโนโลยีเพื่อการบริโภค เทคโนโลยีเพื่อการผลิตนี้สำคัญมาก ในฐานะเป็นฐานของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเจริญขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีเพื่อการผลิต เทคโนโลยีเพื่อการบริโภคเป็นผลผลิตของอุตสาหกรรม เรานำมาใช้เพื่อการบริโภค เช่น การเล่นเกมส์ เป็นต้น เกมส์ต่างๆ นี้เป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีเพื่อการบริโภค ถ้าแยกเรื่องนี้ได้แล้วเราจะเกิดความเข้าใจที่จะทำอะไรๆ ต่อไปเกี่ยวกับอนาคตของสังคม
เทคโนโลยีเพื่อการบริโภคเป็นปัจจัยสร้างนิสัยของนักบริโภคจึงเป็นอันเดียวกับวัฒนธรรมบริโภค ส่วนเทคโนโลยีด้านการผลิตจะหนุนกันมากับวัฒนธรรมที่เรียกง่ายๆ ว่าวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ฝรั่งสร้างอุตสาหกรรมมาด้วยเทคโนโลยีเพื่อการผลิต แล้วเขาก็สร้างนิสัยแบบนักอุตสาหกรรมคือนักผลิตขึ้นมาด้วย วัฒนธรรมอุตสาหกรรมเป็นวัฒนธรรมของนักผลิต แต่ไม่ใช่เป็นนักผลิตอย่างเดียว ขอใช้คำว่าวัฒนธรรมที่ทำให้มีนิสัยสู้สิ่งยาก คือมีความเพียรพยายามสูง มีความอดทน มีใจสู้ บากบั่นเพียรพยายามที่จะแก้ไขขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อผลิตและสร้างสรรค์ให้สำเร็จ วัฒนธรรมแบบอุตสาหกรรมสร้างนิสัยในการผลิตและให้เป็นนักสู้
ฝรั่งได้เปรียบคือมีภูมิหลังที่ยากลำบาก ฝรั่งสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาเพื่ออะไร ฝรั่งบอกเองว่าเพื่อแก้ไขความแร้นแค้นขาดแคลน อันนี้เป็นสภาพสังคมฝรั่งก่อนเกิดอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหาอันนี้ ฝรั่งทนทุกข์ลำบากในสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย อากาศหนาวเย็นบีบคั้นและขาดแคลนสิ่งบริโภค เขาจึงสร้างอุตสาหกรรมขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยมีความเพียรพยายามอย่างสูงที่จะสู้ปัญหา และสร้างผลสำเร็จขึ้นมาด้วยความเพียรพยายามของตน ท่ามกลางความพยายามอย่างนี้เขาจึงต้องใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาโดยไม่หวังพึ่งสิ่งภายนอก พยายามใช้สติปัญญาคิดค้นและทำสืบกันมาอย่างต่อเนื่อง ในยุคนี้พ่อพยายามคิดแก้ปัญหาอย่างหนึ่งแต่คิดไม่สำเร็จตลอดชีวิตจนตัวตายไป ลูกโตขึ้นมาก็คิดต่อ พยายามหาทางดิ้นรนขวนขวายไม่สำเร็จจนลูกตาย หลานก็มาต่ออีก คิดไปจนสำเร็จจนได้ ก็ทำให้เกิดความสำเร็จสองด้าน คือ ได้ผลผลิตเกิดความเจริญด้วย และได้นิสัยสู้สิ่งยากเป็นนักผลิตด้วย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ตกลงว่าฝรั่งมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมซึ่งมีลักษณะสำคัญคือเป็นนักผลิตและสู้สิ่งยากซึ่งใกล้ๆ กับความเป็นนักสร้างสรรค์
หันมาดูคนไทยเราเรามีภูมิหลังของชีวิตที่สุขสบาย ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ธรรมชาติอำนวยอุดมสมบูรณ์ ไม่เดือดร้อนเท่าไร มีอะไรจะต้องทำก็พอผัดผ่อนได้ เช่นบอกกันว่า เดือนหน้าจะซ่อมบ้าน พอถึงเวลาก็ผัดว่าเดือนหน้าอีกเดือนหนึ่ง ผัดไปเรื่อยๆ ไม่เป็นไม่ตายอะไร จนเป็นปีก็ไม่ได้ซ่อม แต่ในเมืองฝรั่งผัดได้ไหม เมื่อใกล้ฤดูหนาวจะมา ถ้าผัดไปปล่อยให้บ้านมีช่องให้ลมเข้าได้ก็หนาวตาย มีเรื่องจะทำต้องทำทันที คนไทยมีชีวิตสุขสบายผัดวันประกันพรุ่งได้ ทำให้มีนิสัยที่โน้มไปในทางที่เห็นแก่ความง่าย ถ้าแรงก็กลายเป็นความมักง่าย เรียกง่ายๆ ว่า เกิดความประมาท อันนี้สำคัญมาก อย่าว่าอาตมภาพติเตียนสังคมไทยแรงเกินไป แต่ขอให้เรามาสำรวจตัวเองเพราะว่าเราต้องการแก้ไขปรับปรุง
เราอยู่กันมาในสภาพอย่างนี้ พอเทคโนโลยีมา เราก็เจอเทคโนโลยีประเภทเพื่อการบริโภคก่อนเลย และเป็นเทคโนโลยีสำเร็จรูปมาแล้ว คนอื่นเขาสร้างมาเสร็จ เราได้ใช้โดยไม่ต้องผลิตเอง ปัญหาก็มาโดยไม่รู้ตัว เราไม่ได้คิดเพียรพยายามทำ เราไม่ได้สร้างสรรค์มาเอง ตรงกันข้ามกับฝรั่งที่เขาจะได้มันมาเขาต้องผลิตมันขึ้น ของเราไม่ต้องเลย พอเจอก็เจอเทคโนโลยีเพื่อการบริโภค ได้ใช้ทันทีโดยไม่ต้องสร้างสรรค์ เราก็มุ่งรับเทคโนโลยีเพื่อการบริโภค คนไทยรับเทคโนโลยีประเภทไหนมาก ขอถามหน่อย รับเทคโนโลยีเพื่อการผลิตหรือรับเทคโนโลยีเพื่อการบริโภคมาก เราเน้นเทคโนโลยีเพื่อการบริโภคมากกว่าใช่ไหม แม้แต่เทคโนโลยีอันเดียวกัน ในการนำมาใช้เราก็ใช้เพื่อการบริโภคมากกว่าใช่ไหม อย่างเช่นทีวีเป็นเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูล เวลาดูก็ดูเพื่อเสพเพื่อบริโภครายการบันเทิงสนุกสนาน ไม่ค่อยดูรายการที่จะหาความรู้พัฒนาสติปัญญาและคุณภาพชีวิต
เมื่อคนไทยของเราได้บริโภคผลผลิตที่ตนไม่ได้สร้างขึ้น มันก็มาพ่วงมาหนุนกันกับนิสัยทางจิตใจที่ไม่ค่อยมีความเพียรบากบั่น เห็นแก่ความง่าย ความสะดวก ทำให้เกิดความหลงระเริงเพลิดเพลินติดอยู่กับความสนุกสนาน พอมีนิสัยพื้นฐานแบบนี้แล้ววัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งก็ได้ช่องเข้ามาขยายช่องทางให้คือวัฒนธรรมทางไสยศาสตร์และการหวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพเจ้าหรือปัจจัยภายนอกที่จะอ้อนวอนดลบันดาลให้ ต้องการอะไรแทนที่จะเพียรพยายามใช้สติปัญญาคิดค้นจนถึงที่สุดก็ไม่เอา กลับไปอ้อนวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาล ขอให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ทำให้ ก็เป็นทางลัดที่ทำให้ตัวเองไม่ต้องกระทำ ไม่ต้องใช้ความเพียร และเป็นระบบถ่ายโอนภาระ พบปัญหาก็ไม่สู้ไม่พยายามแก้ไขด้วยตนเอง แต่ยกปัญหาไปให้เทวดาแก้ให้ วัฒนธรรมอย่างนี้ก็ส่งเสริมความเห็นแก่ง่ายหนักเข้าไปอีก ต้องขออภัยถ้าจะต้องใช้ศัพท์แรงบ้างว่าความมักง่าย วัฒนธรรมแบบนี้ก็ส่งเสริมจิตใจให้เสียนิสัย คือเกิดความมักง่ายยิ่งขึ้น มีเรื่องราวปัญหาอะไรก็ไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยทำให้ไม่ต้องทำเอง ก็ได้ทั้งความเห็นแก่ง่าย ไม่สู้สิ่งยาก มักง่าย ขาดความเพียรพยายาม เห็นแก่ความสนุกสนานสะดวกสบาย ติดในความสะดวกสบาย อันนี้เป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญในการที่เราจะอยู่ในโลกแห่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีต่อไป จุดนี้ต้องแก้ให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้อย่าหวังเลยว่าสังคมไทยจะอยู่ได้ด้วยดี ฉะนั้นขอย้ำว่าต้องแก้ให้ได้
เอาเป็นว่า ในความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าฝรั่งมีข้อดีที่เขามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ที่ทำให้มีความใฝ่รู้ แล้วก็มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตเทคโนโลยี และใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรมอีก ทำให้เป็นคนสู้สิ่งยาก แต่เวลานี้ก็น่าเสียดายว่า ฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกันเป็นสังคมที่พัฒนามาก จนตัวเขาก็ภูมิใจมากว่าเขาได้เปลี่ยนมาเป็น post-industrial society คือเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรมมาเป็น consumer society คือเป็นสังคมบริโภคแล้ว คนฝรั่งในปัจจุบันไม่เคยได้รับรสความยากลำบากความขาดแคลนอย่างบรรพบุรุษของตนเอง เกิดมาก็มีความพรั่งพร้อม อย่างที่คนไทยบอกว่าเกิดมาคาบช้อนเงิน ช้อนทอง ฝรั่งก็เริ่มมักง่ายขึ้นมาบ้าง จะเห็นว่าเวลานี้ฝรั่งรุ่นเก่ากำลังติเตียนฝรั่งรุ่นใหม่ว่ามักง่ายหยิบโหย่งสำรวย มีวัฒนธรรมแบบตามใจตัว สังคมเริ่มเสื่อมมีปัญหา
ความตกต่ำของสังคมอเมริกันมีมากในปัจจุบันนี้ แม้แต่การศึกษาก็มีความโน้มเอียงไปในทางตามใจเด็ก ทำอย่างไรจะทำบทเรียนและกิจกรรมให้เด็กสนใจ ถ้าเด็กไม่สนใจก็ไม่ต้องเรียน ครูก็พยายามเอาใจ ที่จริงการสร้างบทเรียนและกิจกรรมให้น่าสนใจเป็นสิ่งที่ถูก แต่ถ้าไปถึงขั้นหนึ่งเมื่อสุดโต่งไปก็จะกลายเป็นการเอาใจและการตามเอาใจ แล้วก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้นมา เด็กจะไม่สู้สิ่งยาก อะไรยากไม่เอาทั้งนั้น ปัญหาจะเกิดขึ้น เวลานี้สังคมอเมริกันกำลังได้รับผลอันนั้นดังที่ปรากฏว่าสัมฤทธิผลทางสมองในการศึกษาตกต่ำมาก และเห็นได้ชัดในการแข่งขันระหว่างชาติ ในตอนนี้ก็เกิดความริเริ่มของอเมริกันในการที่จะแก้ไขตัวเองเพราะรู้สำนึกว่าการศึกษาของตนตั้งแต่ประถมและมัธยมตกต่ำมาก ก็เลยคิดจัดการแข่งขันเพื่อหาทางปรับปรุงประเทศของตนเอง ดังเช่นคราวหนึ่งมีการแข่งขันทางคณิตศาสตร์ระดับโลก ๑๔ ประเทศ อเมริกาได้ที่ ๑๓ ประเทศที่ ๑๔ คือใคร คือประเทศไทย อันนี้เป็นตัวเลขที่แท้จริง อาตมาไม่ได้พูดเล่น เวลานี้แข่งกันบ่อย เขาจัดให้สู้กันในเวทีโลก ขณะนี้ระบบการแข่งขันกำลังเข้ามาในวงการการศึกษาด้วยอย่างรุนแรงมาก ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังตกต่ำและคร่ำครวญถึงความเสื่อมสลายของสังคม ซึ่งเราจะต้องรู้เข้าใจเท่าทัน
สังคมอุตสาหกรรมหรือวัฒนธรรมอุตสาหกรรม โดยศัพท์ก็บอกในตัวอยู่แล้วว่าต้องขยันหมั่นเพียร เพราะอุตสาหกรรมมาจากคำภาษาอังกฤษว่า industry ซึ่งแปลว่า ความขยันหมั่นเพียร ผู้บัญญัติศัพท์ภาษาไทยก็เอาตามภาษาอังกฤษ จึงบัญญัติเป็นศัพท์ภาษาไทยว่า อุตสาหกรรม แปลว่า การกระทำด้วยความอุตสาหะ คือทนสู้ ฮึดสู้ เพียรบากบั่น ไม่ยอมระย่อท้อถอย แต่คนไทยเรามองอุตสาหกรรมเป็นอะไร เรามองในแง่ความสะดวกสบาย คล้ายกับจะพูดว่า อุตสาหกรรมคือกระบวนการผลิตสิ่งเสพสิ่งบริโภคที่จะอำนวยความสะดวกสบายสุขสำราญ เราไม่เคยคิดถึงความหมายของอุตสาหกรรมว่าฝรั่งคิดขึ้นมาอย่างไร วัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่แท้เป็นวัฒนธรรมของคนที่สู้สิ่งยาก มีความขยันอดทน
ถ้าคนของเราไม่มีความใฝรู้จากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และไม่มีความสู้สิ่งยากจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐานและเป็นภูมิต้านทานแล้ว เราก็หันไปมุ่งบริโภคเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมก็ถูกมองในแง่ผลที่ได้รับคือสิ่งบริโภค ผลิตภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ มันก็จะซ้ำผลร้ายให้เกิดแก่สังคมของตัวเองเพราะการเห็นแก่ความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี ฤทธิ์เดชของเทคโนโลยีก็จะผาดแผลงขึ้นมาในทางตรงข้ามกับที่ต้องการ แทนที่มันจะทำให้สังคมของเราพัฒนา ก็กลับจะทำให้สังคมของเราตกต่ำลงไป เพราะเรามองเทคโนโลยีในด้านของความสะดวกสบายที่จะบริโภคเท่านั้น
ผลอะไรที่จะตามมาจากฤทธิ์เดชของเทคโนโลยีในด้านการเสพบริโภค หรือใช้บำรุงบำเรอความสุขก็ขอลองสรุปดู
๑. คนมักง่ายยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีแบบนี้ทำให้คนสะดวก จะทำอะไรก็เพียงแค่กดปุ่มเอา ไม่ต้องเพียรพยายาม จะใช้อะไรจะทำอะไรก็ง่ายไปหมดเพราะเทคโนโลยีช่วย ในเมื่อไม่มีนิสัยเก่าในการสู้สิ่งยาก ที่อยากจะทำการสร้างสรรค์ต่อไปด้วยความเพียรพยายาม ฐานเดิมไม่ดีอยู่แล้ว ความสะดวกสบายไม่มีอะไรบีบคั้นและความรู้สึกอยากได้รับการบำรุงบำเรอจะได้สบายไม่ต้องทำอะไร ตัวนี้ก็จะมาซ้ำ ทำให้ยิ่งเห็นแก่ง่ายหนักขึ้น เทคโนโลยีกลายเป็นมาซ้ำนิสัยเสียคือเห็นแก่ง่ายหรือมักง่ายยิ่งขึ้น
๒. คนกลายเป็นคนทุกข์ง่าย เพราะการที่ทำอะไรโดยไม่ต้องเพียรพยายาม หาความสุขสะดวกสบายได้ง่าย ถ้าไม่มีความใฝ่สร้างสรรค์ มีแต่ความใฝ่เสพ คนไม่มีภูมิต้านทาน ก็จะอ่อนแอเปราะบาง พอขาดสิ่งบำรุงบำเรอนิดหน่อยก็ทุกข์ทันที หันไปเจออะไรที่จะต้องทำ ก็ทุกข์ทันที คนในยุคนี้จะทุกข์ง่าย
หันไปดูในยุคก่อนๆ ที่คนในยุคนี้เห็นว่าเขามีความลำบากยากแค้น เมื่อเปรียบเทียบกันจะเห็นว่าคนยุคนั้นเป็นคนที่ทุกข์ได้ยาก แต่คนปัจจุบันนี้ ทุกข์ง่ายเพราะว่าเคยสบาย อะไรๆ ก็ง่ายไปหมด มีสิ่งบำรุงบำเรอเหลือล้น คนจะเปราะบางอ่อนแอ ขาดอะไรนิดก็ทุกข์ ไม่ได้อะไรอย่างใจนิดก็ทุกข์ เจออะไรจะต้องทำหน่อยก็ทุกข์ ไปๆ มาๆ เลยฆ่าตัวตายง่าย สภาพนี้กำลังเป็นมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นสังคมยิ่งสบายคนยิ่งฆ่าตัวตาย สถิติชัดมากในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในญี่ปุ่นก็มาก แถมคนที่ไม่น่าฆ่าตัวตายคือเด็กวัยรุ่นกลับมาฆ่าตัวตายมาก อเมริกากำลังหวั่นวิตกว่าทำไมวัยรุ่นจึงฆ่าตัวตายกันมาก คนวัยสนุกมีความสุขสบายเหลือล้นทำไมจึงคิดฆ่าตัวตาย แต่คนในสังคมที่ยากแค้นไม่คิดฆ่าตัวตาย ให้ท่านดูเถอะ ยิ่งยากแค้นยิ่งรักชีวิต อันนี้เป็นข้อสังเกต เป็นอันว่าคนที่อยู่ในสังคมแบบนี้เมื่อใช้เทคโนโลยีไม่เป็น ผลร้ายจะเกิดคือเป็นคนทุกข์ง่ายแล้วก็จะฆ่าตัวตายง่าย สังคมไทยก็ชักจะมีแนวโน้มในลักษณะนี้แล้ว
๓. อินทรีย์เสื่อมความเฉียบคม เพราะมนุษย์เราอยู่ในโลกนี้ใช้อินทรีย์ คือ ตาดู หูฟัง สมองคิด มือใช้งานต่างๆ เราจึงต้องฝึกฝนอินทรีย์ทำให้มีความถนัดชำนาญจัดเจนยิ่งขึ้น แต่พอนำเทคโนโลยีมาขยายวิสัยของอินทรีย์และมาทำหน้าที่แทน เราก็ไม่ต้องใช้อินทรีย์ เราก็เลยลืมฝึกอินทรีย์ของเรา ต่อมาจะทำอะไรก็ใช้เทคโนโลยีทำให้หมด เมื่อก่อนต้องคิดเลขในใจ มีวิชาเลขคิดในใจ หลายคนเก่งขนาดเลขทศนิยมหลายตำแหน่งก็คิดได้ ฝึกสมองมาดี แต่พอมีเครื่องคิดเลข มีคอมพิวเตอร์ คนไม่คิดเอง ต่อมากลายเป็นคนสมองนิ่ม คิดเลขไม่ออก พอไม่มีเครื่องคิดเลขแล้วคิดไม่ได้เลย อันนี้เป็นเพราะไม่ฝึกฝนอินทรีย์ อินทรีย์นี่ยิ่งฝึกยิ่งได้ผล อย่างช่างบางคนฟังเสียงเครื่องยนต์ปั๊บก็บอกได้เลยว่าเสียที่จุดไหน แก้ได้ตรงจุด ตาก็เหมือนกันเมื่อฝึกก็เฉียบคมขึ้น หมอบางคนเห็นคนไข้ก็พอจะบอกได้เลยว่าเป็นโรคที่ส่วนนั้น พอถามอีก ๒ - ๓ คำก็รู้เลยว่าเป็นโรคนี้ เวลานี้คนไข้มาหมอก็ส่งเข้าเครื่อง เอาไปเข้าโน่นเข้านั่น ใช้เครื่องแทนหมด ถ้าไม่ฝึกอินทรีย์ไว้ ต่อไปความเสื่อมของอินทรีย์ก็เกิดขึ้น ดังนั้นถึงแม้เทคโนโลยีเจริญแต่ตัวมนุษย์เองจะเสื่อม แล้วก็จะมีผลอีกอย่างหนึ่งตามมา เดี๋ยวค่อยพูด
พอเกิดความเสื่อมของอินทรีย์สิ่งที่ตามมาก็คือ การพึ่งพาเทคโนโลยีโดยไม่เป็นตัวของตัวเอง มนุษย์หมดอิสรภาพ เวลานี้อเมริกันกำลังวิตกเหมือนกันว่ามนุษย์ยุคต่อไปอาจจะมีสภาพที่เรียกว่า technological dependence คือ การพึ่งพาเทคโนโลยี ถ้าไม่มีเทคโนโลยีแล้วทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าก็หุงข้าวไม่เป็น ถ้าไม่มีเครื่องซักผ้าต่อไปก็ซักผ้าไม่เป็น ไม่มีเครื่องคิดเลขก็คิดเลขไม่ได้ ไม่มีเครื่องยนต์กลไก ก็ทำอะไรไม่เป็นหมดเลย ชีวิตต้องพึ่งพาเทคโนโลยี อยู่ด้วยตนเองไม่ได้ คราวนี้จะเกิดปัญหาใหญ่
การพึ่งพาเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้ ๒ ด้าน คือ
๑. การพึ่งพาในแง่การดำเนินชีวิตและการทำงาน ดังตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว
๒. การพึ่งพาในด้านความสุข เมื่อคนลืมตัว มุ่งหาความสุขสบายจากเทคโนโลยี ความสุขก็จะไปขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีหมด ถ้าขาดเทคโนโลยีประเภทบริโภคจำพวกสิ่งฟุ่มเฟือยบำรุงบำเรอต่างๆ คนจะไม่สามารถมีความสุข จะมีความทุกข์มาก ชีวิตหมดอิสรภาพ ความสุขต้องขึ้นกับเทคโนโลยี ก็คือต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกหรือขึ้นต่อวัตถุ คนไม่มีความสุขเป็นของตนเอง
ที่ว่ามานี้คือปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข ถ้าปล่อยอย่างนี้เทคโนโลยีจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ จะมีสภาพที่เป็นทั้ง indolence คือการขาดความเพียร เฉื่อยแฉะเกียจคร้าน indulgence เป็นคนหมกมุ่นหลงอยู่ในความสุขสำราญ แล้วก็ dependence คือพึ่งพามาก เป็นอันว่าเราจะต้องหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกิดผลร้าย
นอกจากจะเกิดความเสียหายต่อคุณภาพของแต่ละคนแล้ว เทคโนโลยีที่ปฏิบัติหรือใช้ไม่ถูก จะเกิดผลร้ายที่เป็นการพึ่งพาในระดับสังคมด้วย เมื่อกี้นี้เสียคุณภาพบุคคล ที่นี้ในระดับสังคม นอกจากคนเป็นทาสของเทคโนโลยีแล้ว สังคมหรือประเทศชาติก็จะเป็นทาสของสังคมอื่นทางเทคโนโลยีด้วย คนเป็นทาสของเทคโนโลยีคือต้องอาศัยเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับมัน ทีนี้สังคมเป็นทาสในทางเทคโนโลยีคืออย่างไร คือจะถูกครอบงำโดยประเทศเจริญกว่าที่เป็นผู้ผลิต เนื่องจากตัวเองผลิตเทคโนโลยีไม่เป็น ได้แต่บริโภคก็ต้องพึ่งพาประเทศอื่น ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยี เป็นการพึ่งพาในระดับสังคมหรือประเทศชาติ นอกจากนั้นเทคโนโลยีก็จะนำค่านิยมแบบ “วัตถุนิยม” เข้ามา ทำให้เกิดความหลงใหลมัวเมายิ่งขึ้น แล้ววัฒนธรรมต่างชาติอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ ก็จะหลั่งไหลเข้ามา และเราก็จะต้องถูกครอบงำในทางวัฒนธรรมอีกด้วย อันนี้เป็นเรื่องในระดับสังคมที่มีผลกว้างไกล
ทีนี้ในแง่สังคมเดียวกัน ต่อไปสังคมอาจมีการแยกชนชั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ชนชั้นพวกหนึ่งคือชนชั้นของคนที่มีความถนัดจัดเจนหรือเป็นผู้ใช้ผู้ผลิตเทคโนโลยี ผู้ที่มีความสามารถเชิงเทคโนโลยีจะมีอำนาจครอบงำสังคม ส่วนคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ฝึกฝนอินทรีย์เพราะพึ่งพาเทคโนโลยีจนเกินไป ในที่สุดก็จะกลายเป็นทาส เป็นคนที่อยู่ใต้อำนาจ ถ้าคนที่เป็นผู้สามารถทางเทคโนโลยีไม่ทำอะไรให้ คนพวกนี้จะอยู่ไม่ได้ คนส่วนใหญ่ก็จะเกิดปัญหา นี่คือเรื่องซึ่งเป็นข้อที่ควรจะสังเกตไว้ ซึ่งเราจะต้องเตรียมตัวแก้ไขปัญหา และทำการสร้างสรรค์ประเทศชาติให้ถูกต้อง ที่นี้ในเวลาที่เหลือน้อยนี้จะขอพูดในแง่การแก้ไขบ้างว่าเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร
การแก้ไขระยะยาวที่สำคัญที่จะเว้นไม่ได้คือเรื่องของการศึกษา การศึกษาที่เตรียมคนให้มีทุนขั้นพื้นฐาน คือคุณภาพของคน เริ่มจากจิตใจหรือนิสัยอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้ว ซึ่งขอนำมาทวนว่าจะต้อง
๑. สร้างความใฝ่รู้ ทำให้คนมีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เข้ามาเมืองไทยนานมากแล้ว นับแต่ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ที่เราบอกว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ก็ร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่เมืองไทยเรายังไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ไม่มีวิถีชีวิตวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นจะต้องสร้างคุณสมบัตินี้ โดยเฉพาะความใฝ่รู้ให้ได้ และวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ จะต้องเป็นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ที่ปรับตัวใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ถูกต้อง
๒. สร้างความสู้สิ่งยาก คือความเพียรพยายามในการกระทำการให้สำเร็จ หรือการที่จะต้องทำการให้สำเร็จให้ได้ด้วยความเพียรพยายามของตน ซึ่งสร้างได้ด้วยวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แต่เป็นวัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่ปรับปรุงใหม่ ต้องเน้นตรงนี้ไว้ด้วย เพราะวัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งเราก็ไม่ควรยอมรับ จริงอยู่ฝรั่งใช้วัฒนธรรมอุตสาหกรรมของเขาสร้างสังคมของเขามาให้เจริญรุ่งเรืองพรั่งพร้อมได้ แต่วัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งก็มีจุดด้อยคือความคับแคบ นำมาสู่ปัญหาปัจจุบันคือ ความขัดแย้งในโลก ในสังคม และการทำลายธรรมชาติแวดล้อม
จากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งนั้น ผลร้ายก็ตามมาด้วย สิ่งที่ดีเราก็ยอมรับ ส่วนชั่วเราก็ต้องรู้ เราต้องแก้ไขปรับวัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งเสียใหม่ วัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนของตัวเอง มุ่งไปในทางความต้องการส่วนตัว เน้นความเห็นแก่ตัว สนองสิ่งที่เรียกว่าตัณหาหรือโลภะและมุ่งอำนาจ ต้องอาศัยระบบแข่งขัน ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจและการเอาชนะ ยิ่งในเวทีโลกก็ยิ่งต้องการอำนาจมากขึ้นอีก และตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ผิดคือความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ที่พูดว่ามีมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว และได้เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมอุตสาหกรรมของฝรั่งจึงตั้งอยู่บนฐานของความคิดอันนี้ คือการคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันฝรั่งก็ยอมรับแล้วว่าผิด พร้อมทั้งแนวความคิดอีกอย่างหนึ่งที่เป็นไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นฐานของระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของฝรั่งคือ ความเชื่อว่ามนุษย์จะมีความสุขมากที่สุดเมื่อเสพมากที่สุด ทั้งสองอย่างนี้ เป็นฐานทางความคิดของอุตสาหกรรมที่พัฒนามา ซึ่งตอนนี้จะต้องปรับใหม่
วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมจะต้องปรับใหม่ด้วยการก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือจะต้องรื้อฟื้นวัฒนธรรมพุทธศาสนาขึ้นมาประสานหรือมาปรับปรุงวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมนั้น วัฒนธรรมพุทธนี้จะต้องระวังว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมไสยศาสตร์ ต้องแยกกันให้ได้
วัฒนธรรมไสยศาสตร์ไม่ส่งเสริมความใฝ่รู้และไม่หนุนไม่เกื้อการแสวงปัญญา ไสยศาสตร์ เป็นเรื่องลึกลับก็คือไม่ต้องรู้ นอกจากไม่ต้องรู้แล้วยังไม่ต้องทำด้วย มีแต่ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลผลสำเร็จให้ สิ่งที่เราต้องทำคืออะไร คืออ้อนวอนและนอนรอ อ้อนวอนไปนอนรอไป การกระทำของไสยศาสตร์ก็คือ ไม่ต้องทำ หรือการไม่ต้องทำคือการกระทำของไสยศาสตร์โดยขอให้อำนาจลึกลับทำให้
ว่าโดยสาระ วัฒนธรรมไสยศาสตร์คือวัฒนธรรมที่ขัดขวางความใฝ่รู้และการสู้สิ่งยาก เพราะว่าใช้ระบบพึ่งพา ฝากความหวังไว้ในศรัทธาที่เชื่ออำนาจดลบันดาลจากสิ่งลึกลับภายนอก ซึ่งมนุษย์เข้าไปสัมพันธ์ด้วยการอ้อนวอนและนอนรอคอยผล ส่วนวัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมแห่งการที่ต้องรู้ ต้องรู้องค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย เพราะพุทธศาสนาสอนว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์จะเป็นอยู่ด้วยดีและทำการต่างๆ อย่างได้ผลจะต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น จึงต้องส่งเสริมปัญญา เป็นวัฒนธรรมแห่งปัญญาความใฝ่รู้ และเป็นวัฒนธรรมแห่งการที่ต้องทำ เพราะพระพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์จะต้องพึ่งตนและทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ การที่มนุษย์จะพึ่งตนได้ต้องทำได้ด้วยตนเอง ต้องมีความเพียร เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงมีชื่อว่ากรรมวาท และวิริยวาท พระพุทธเจ้าเรียกพระองค์เองว่าเป็น “กรรมวาที” ผู้ประกาศหลักการแห่งการกระทำ และ “วิริยวาที” ผู้ประกาศหลักการแห่งความเพียรพยายาม นี่คือพุทธศาสนา ฉะนั้นจะต้องเพียรพยายามทำการให้สำเร็จโดยใช้สติปัญญา ต้องพึ่งตนให้ได้ พุทธศาสนาเน้นอิสรภาพเริ่มด้วยการที่ต้องพึ่งตนให้ได้ เราจะต้องทำความสำเร็จที่ชอบธรรมให้ได้ด้วยตนเอง
วัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้และสู้สิ่งยากอย่างมั่นคง แต่เวลานี้คนไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธมีวัฒนธรรมแบบไหน อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องตั้งข้อสังเกต ที่จริงเรื่องนี้เป็นหลักที่ไม่ยาก มองเห็นง่ายๆ
เราจำเป็นต้องเน้นวัฒนธรรมพุทธ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นอีกก้าวหนึ่งจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ยังไม่พอ เพราะอะไร เพราะแม้ว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์จะสร้างความใฝ่รู้ มีนิสัยแห่งความคิดมีเหตุมีผล และวัฒนธรรมอุตสาหกรรมจะช่วยให้สู้สิ่งยากก็จริง แต่เรื่องหนึ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่เคยพูดถึงคือการพัฒนาคน วัฒนธรรมพุทธนั้นถือการพัฒนาคนเป็นหัวใจหรือเป็นแกนกลางของทุกอย่าง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ การพัฒนาคนเพื่ออะไร ก็เพื่อให้มนุษย์มีอิสรภาพ
จุดหมายของพุทธศาสนาพัฒนาคนเพื่อให้มีอิสรภาพ วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ส่งเสริมให้รู้เข้าใจธรรมชาติของวัตถุ เรียนรู้ความจริงของโลกแห่งวัตถุ เป็นการเรียนรู้ธรรมชาตินอกตัว แม้จะเรียนชีววิทยาก็ไม่ได้มุ่งเรียนตัวชีวิตที่เป็นชีวิตจริงๆ แต่เรียนชีวิตทางด้านวัตถุหรือรูปธรรมด้านเดียวในฐานะสิ่งที่เราจะมองดู ซึ่งเป็นธรรมชาติข้างนอก นอกจากนั้น วิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมา ยังมีความคับแคบ เพราะมุ่งสนองความคิดมุ่งหมายใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ (ภายนอก) และมาประสานรับใช้สนองความมุ่งหมายของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งความเชื่อที่ว่าความสุขอยู่ที่การมีวัตถุเสพบริโภคอย่างพรั่งพร้อม ยิ่งเสพมากก็ยิ่งสุขมาก ซึ่งทำให้หันเหความสนใจออกไปจากการแก้ปัญหาทางด้านธรรมชาติในตัวของมนุษย์เอง มุ่งสนองความต้องการของตน ส่งเสริมโลภะหรือตัณหา เพิ่มแรงของความเห็นแก่ตัว ทำให้ชีวิตสูญเสียอิสรภาพ ขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคมากยิ่งขึ้น ดังที่ได้กลายเป็นสังคมของมนุษย์ที่มีวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม ฉะนั้น วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์จึงไม่สัมพันธ์กับเรื่องของการพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพ
ด้วยเหตุนี้จึงจะต้องให้มีวัฒนธรรมพุทธเติมเข้ามาเพื่อที่จะได้สร้างความใฝ่รู้สู้สิ่งยาก พร้อมทั้งให้มีการพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพด้วย และการพัฒนาคนนั้นก็จะทำให้เทคโนโลยีไม่เป็นพิษเป็นภัยด้วย เช่นว่าในขณะที่เราพัฒนาเทคโนโลยีภายนอก เราก็พัฒนาอินทรีย์ของเราไปด้วยตลอดเวลา พุทธศาสนาเน้นความไม่ประมาท ไม่ใช่ว่าพออาศัยสิ่งภายนอกได้ เราก็สบาย ปล่อยตัว การปล่อยตัวนั้นเรียกว่าความประมาท พุทธศาสนาสอนหลักธรรมใหญ่ที่สุดคือความไม่ประมาท พุทธโอวาทก่อนปรินิพพานมีว่า “เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”
ความไม่ประมาทเป็นหลักธรรมที่ครอบคลุม เหมือนรอยเท้าช้าง ถ้าเรามีความไม่ประมาทอย่างเดียวเท่านั้นก็ไม่ต้องกลัวความเสื่อม และจะมีแต่เจริญเท่านั้น ในทางตรงข้าม ถ้าประมาทเสียอย่างเดียว ถึงจะเรียนรู้ธรรมมากมายสักกี่ข้อก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ ธรรมที่เรียนมาก็ไปอยู่ในตู้คัมภีร์นอนหลับหมด แต่ถ้าไม่ประมาท ธรรมเรียนมากี่ข้อก็ได้ปฏิบัติหมด พุทธศาสนาสอนเน้นความไม่ประมาท ให้มีการพัฒนาตนอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นขณะที่เราอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยทำงานทุ่นหรือแทนอินทรีย์ของเรา เราจะต้องไม่ลืมพัฒนาอินทรีย์ของเราควบคู่กันไปด้วย เพื่อเราจะได้ไม่ต้องมีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี เมื่อเทคโนโลยีมีอยู่ เราก็ใช้มันเป็นประโยชน์ แต่เราอยู่เหนือเทคโนโลยีนั้นตลอดเวลา และถ้ามีเหตุขัดข้องขึ้นมาเราก็ใช้อินทรีย์ของเราได้ ฉะนั้น เราก็จะรักษาอิสรภาพไว้ได้ ทั้งในแง่อิสรภาพทางอินทรีย์คือการดำเนินชีวิตทำกิจการงาน และอิสรภาพทางความสุข
เนื่องจากเรื่องที่กำลังพูดอยู่นี้เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมาก และในที่นี้ยังไม่มีเวลาที่จะอธิบายขยายความให้ชัดเจนเพียงพอ เมื่อได้พูดไว้โดยย่อแล้ว ก็ขอสรุปไว้อีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นการพูดซ้ำๆ ดังนี้
วัฒนธรรมไสยศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรู้และไม่ต้องทำ (ยอมสยบแก่ความเร้นลับ และหวังอำนาจดลบันดาลภายนอกทำให้)
วัฒนธรรมเทคโนโลยีเชิงบริโภค ที่ขาดลอยจากฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรู้ และไม่ต้องทำ (มุ่งหาเทคโนโลยีสำเร็จรูปมาบำรุงบำเรอ หรือทำแทนให้ เพื่อจะได้เสพเสวยความสุขโดยไม่ต้องทำอะไร)
วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นวัฒนธรรมแห่งการต้องรู้และต้องทำ (แต่คับแคบและเสียดุล เพราะมองด้านเดียวเพียงธรรมชาติภายนอกตัวและเฉพาะด้านวัตถุ ด้วยทัศนะแบบเป็นปฏิปักษ์ โดยถูกอิทธิพลแนวความคิดทางปรัชญาครอบงำและผลักดันให้มุ่งดิ่งไปในทางที่จะเอาชนะธรรมชาติ และถูกชักจูงด้วยแรงจูงใจแบบอุตสาหกรรมให้สนองความเชื่อที่จะบรรลุความสุขสมบูรณ์ด้วยการมีวัตถุพรั่งพร้อม นำไปสู่การพัฒนาด้านเดียวทางวัตถุและเศรษฐกิจ โดยไม่ช่วยให้มีการพัฒนาคนขึ้นไปนำทางและอยู่เหนือการพัฒนาทางวัตถุและเศรษฐกิจนั้น)
วัฒนธรรมพุทธศาสตร์ เป็นวัฒนธรรมแห่งการต้องรู้และต้องทำ (ถือว่าสิ่งทั้งหลาย เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่จะต้องรู้ และต้องทำให้ตรงตามเหตุปัจจัยนั้น) พร้อมทั้งพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพ (วัฒนธรรมแห่งความพอดี หรือมีดุลยภาพ)
เมื่อความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจพื้นฐานเอียงไปข้างเดียวแล้ว ทัศนคติและปฏิบัติการทุกอย่างที่ตามมาก็เคลื่อนคลาดพลาดผิด นำไปสู่ปัญหาต่างๆ และการแก้ปัญหาอย่างผิดพลาดที่ยิ่งเพิ่มปัญหาใหม่ เช่น ทัศนคติที่มองวัตถุเสพบริโภคหรือความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย แทนที่จะมองมันในฐานะเป็นปัจจัยหรือสิ่งเกื้อหนุนในการที่จะสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้เข้าถึงความดีงามยิ่งขึ้นไป และมองเห็นความสุขจบอยู่ที่การเสพบริโภควัตถุ แทนที่จะมองเห็นศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาสู่ความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป และดำเนินการพัฒนาไปสู่วิถีชีวิตที่พึ่งพาวัตถุเสพบริโภคมากขึ้น แทนที่จะพัฒนาสู่ความเป็นอิสระยิ่งขึ้นไป ซึ่งในที่สุดก็เกิดผลคือการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน ชนิดที่ยิ่งแก้ไขก็ยิ่งวกวนอยู่ในวงจรของปัญหา
มนุษย์ที่พัฒนาตนตามหลักการของพุทธศาสนา จะทำให้ตนเองมีความสุขด้วยตนเองได้มากขึ้น และพึ่งพาขึ้นต่อวัตถุน้อยลง ตรงข้ามกับกระแสการพัฒนาแบบอุตสาหกรรมที่ว่ายิ่งมีวัตถุบริโภคมาก ก็ยิ่งมีความสุขมาก แล้วก็เอาความสุขของตนไปขึ้นอยู่กับวัตถุมากขึ้นตามลำดับ ความสามารถมีความสุขในตนเองน้อยลง จนกระทั่งกลายเป็นลักษณะของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ขอใช้คำว่า เป็นมนุษย์ที่ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งสุขยากขึ้น เมื่อกี้บอกว่าทุกข์ง่าย พร้อมกับทุกข์ง่ายก็สุขยาก ให้สังเกตว่าคนในยุคนี้เป็นคนสุขยาก เกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่นานไป แทนที่จะเป็นคนสุขง่ายขึ้น เพราะเมื่อพัฒนาก็ต้องสุขง่ายขึ้น แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น มนุษย์ปัจจุบันยิ่งโตขึ้นยิ่งสุขยากขึ้นทุกที่ ตอนเป็นเด็กยังสุขง่ายกว่า แต่พอโตขึ้นยิ่งสุขได้ยาก มีเท่านี้แต่ก่อนก็เป็นสุข ต่อมามีเท่านี้กลับเป็นทุกข์ ต้องมีเท่าโน้นจึงจะเป็นสุข พัฒนาศักยภาพที่จะเป็นทุกข์ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
มนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นคนสุขยาก เมื่อสุขยากก็สูญเสียอิสรภาพ เพราะต้องเอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุมาก ส่วนในกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง จะต้องสอนให้มนุษย์มีการพัฒนาเกี่ยวกับความสุขครบทั้งสองด้าน คือ
๑. พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ข้อนี้มนุษย์ปัจจุบันพัฒนาเต็มที่ การศึกษาปัจจุบันเน้นด้านนี้ อันนี้เก่งนัก แต่อีกด้านหนึ่งคือ
๒. พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ด้านนี้ถูกละเลยมองข้ามไป ไม่ทำ จนกลายเป็นตรงข้ามคือสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
เมื่อมนุษย์พัฒนาด้านเดียว เขาก็หาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้เก่ง หาได้มาก แต่เขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นวัตถุที่ต้องการก็ยิ่งต้องเพิ่มต้องหามาเสพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสุขเท่าเดิม กลายเป็นคนที่สุขยาก กระทั่งในที่สุดก็หมดความสามารถที่จะมีความสุข มีวัตถุมากเท่าไรก็ไม่มีความสุข เพราะหมดความสามารถที่จะมีความสุข ถึงจะมีวัตถุเสพมากเท่าไรก็ไม่มีความสุข
ทีนี้ในการพัฒนามนุษย์ที่มีดุลยภาพ จะต้องพัฒนาความสามารถที่จะแสวงหาสิ่งมาบำเรอความสุข พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เราก็เป็นคนที่สุขง่ายขึ้น และเรากลับต้องการวัตถุน้อยลง พอต้องการวัตถุน้อยลง วัตถุที่จำเป็นต่อการมีความสุขของเราน้อยลง เราก็สุขง่าย จนกระทั่งในที่สุดเรามีความสุขเต็มอิ่มในตัวเราตลอดเวลา วัตถุภายนอกเป็นส่วนเสริม เราก็มีความสุขสองชั้นเป็นทวีคูณ พร้อมกับที่ชีวิตก็มีอิสรภาพมากขึ้น นอกจากนั้นเมื่อวัตถุนั้นไม่จำเป็นต่อการให้เกิดความสุขแก่ตัวเราแล้ว เราก็เอาวัตถุที่เกินจำเป็นไปเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น สามารถเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น การพัฒนามนุษย์นี้ทำให้มนุษย์แทนที่จะมีความสุขจากการได้หรือการเอาอย่างเดียว กลับสามารถมีความสุขจากการให้อีกด้วย เมื่อความสามารถในการมีความสุขก็มาก ความสามารถในการหาวัตถุก็มาก มนุษย์ก็ยิ่งเกื้อกูลกันยิ่งขึ้น การพัฒนาแบบนี้จะแก้ไขปัญหาทั้งทางวัตถุ และทางจิตใจ ทั้งปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมไปพร้อมกัน กับทั้งแก้ไขปัญหาธรรมชาติแวดล้อมด้วยเพราะไม่ต้องบริโภคเกินความจำเป็น ด้วยเหตุผลอย่างนี้แหละจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องให้มีอิสรภาพทั้งทางอินทรีย์และอิสรภาพทางความสุข
อีกประการหนึ่ง อย่างที่พูดเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อมนุษย์ยิ่งมีความมักง่าย ยิ่งอ่อนแอ มนุษย์ก็จะยิ่งเจอทุกข์หนักขึ้นเพราะภูมิต้านทานความทุกข์น้อยลง เจออะไรยากหรือต้องทำนิดหน่อยก็เป็นทุกข์ไปหมด ที่นี้เรื่องไม่จบเท่านั้น ในขณะที่เทคโนโลยีทำให้คนอ่อนแอลงนั้น สังคมปัจจุบันนี้โลกมนุษย์ยิ่งมีความซับซ้อน วิถีชีวิตมีปัญหาที่ต้องเผชิญเพิ่มขึ้น ฉะนั้นคนที่อ่อนแอก็จะเป็นคนที่มีความทุกข์มากมายเหลือเกิน ตรงข้ามกับการพัฒนาที่ถูกต้อง เมื่อพัฒนาให้คนมีความเข้มแข็ง สู้งาน สู้สิ่งยาก เขาจะได้ความสุขจากความยากด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่เราอาจไม่คาดคิด สิ่งง่ายนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะสบายอยู่แล้ว แต่สิ่งยากทำให้คนเกิดความสุขได้อย่างไร
เมื่อคนมีจิตสำนึกในการศึกษาและพัฒนาตน เจอสิ่งยากก็จะเข้าหาก่อนเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งใดยากสิ่งนั้นก็ทำให้เขาได้ฝึกตนมาก ยิ่งยากยิ่งได้ฝึกตนมาก พูดสั้นๆ ว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก งานอะไรยากปัญหาอะไรที่ยากก็ยิ่งเป็นเครื่องพัฒนาความสามารถของเราได้มากยิ่งขึ้น คนเราที่จะพัฒนาจนเก่งกล้าสามารถได้นั้น เพราะพบอุปสรรคหรือเจอปัญหา และได้พยายามใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นเมื่อได้เจอสิ่งยาก คนที่พัฒนาตนจะชอบที่สุด สิ่งที่ง่ายๆ เขาไม่เอา เขาจะเข้าหาอันที่ยากเลยเพราะว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก แล้วก็ดีใจที่ได้ ฝึกตนจากสิ่งที่ยากนั้น ส่วนคนที่ไม่ได้สร้างจิตสำนึกในการพัฒนาตน พอเจอสิ่งยาก หนึ่ง ทุกข์ สุขภาพจิตเสีย สอง ฝืนใจ ไม่เต็มใจทำ ผลงานก็เลยไม่ได้ไม่ดี แต่คนที่มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน พอเจอสิ่งที่ยาก ก็ชอบใจดีใจ สุขภาพจิตก็ดีมีความสุขแล้วก็เต็มใจทำก็จึงทำได้ผลดีด้วย
คนที่ขาดจิตสำนึกในการศึกษา อยู่ไปๆ ก็จะมีความสุขจากการเสพอย่างเดียว ความสุขอยู่ที่การได้รับการบำรุงบำเรอและไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำอะไรก็เป็นความทุกข์ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกในการศึกษา จะพึ่งพาสุขจากการเสพน้อยลง และมีความสุขจากการกระทำ หรือสุขจากการสร้างสรรค์ สำหรับคนพวกแรก การกระทำคือความทุกข์ แต่สำหรับพวกหลังการกระทำคือการสร้างสรรค์และความสุข ฉะนั้นต้องพัฒนาจิตสำนึกในการฝึกตน พอมีจิตสำนึกนี้แล้วเขามาอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยีที่ช่วยให้ง่ายด้วย ก็สบายเลยคราวนี้ คนจะมีความสุขสองชั้น นี่เป็นการพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี ถ้าเราพัฒนาคนให้มีคุณภาพแบบนี้ เรามั่นใจได้เลยว่าสังคมไทยจะต้องเจริญแน่นอน ไม่มีปัญหาเลย
เวลาจะหมด ยังเหลืออีก ๒ หัวข้อใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในตัวมันโดยตรง เรื่องแรกคือ เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที นี่คือเพิ่งมาเข้าเรื่องโดยตรงก็พอดีเวลาหมด เอากันง่ายๆ ว่า เทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลหรือสารสนเทศนี้ ในเมื่อมันเป็นเทคโนโลยีก็มีทั้งคุณและโทษ ข้อสำคัญอยู่ที่ปฏิบัติต่อมันถูกหรือผิด ขอถามว่าขณะนี้เราปฏิบัติต่อมันถูกหรือผิด เราได้คุณหรือได้โทษจากมันมากกว่ากัน
ขอพูดรวบรัดว่า มนุษย์เราในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมไทย มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีด้านข่าวสารข้อมูลหรือตัวข่าวสารข้อมูลนั้นแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท
๑. พวกตื่นเต้น คิดว่าเรานี้ทันสมัย ได้เสพข่าวสารที่ใหม่ๆ แปลกๆ มีของใหม่ๆ เข้ามาเราก็ได้บริโภค แต่สัมผัสกับข่าวสารและเรื่องราวต่างๆ อย่างผิวเผิน เพียงแค่เอามาลือเอามาเล่าหรือวิพากษ์วิจารณ์ให้สนุกปาก ตื่นเต้นกัน คร้านที่จะสืบค้นหาความจริงด้วยใจเป็นกลาง จึงไม่รู้ความเป็นไปที่แท้จริง และไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย นอกจากถูกชักจูงไป เรียกว่าตกอยู่ในกระแส ถูกกระแสพัดพาไหลไปเรื่อยๆ ไม่เป็นตัวของตัวเอง
๒. พวกตามทัน พวกนี้ดีกว่าพวกตื่นเต้น คือมีข่าวสารข้อมูลอะไรเกิดขึ้นก็ตามทันหมด เอาใจใส่ติดตาม พวกนี้ก็ภูมิใจว่าเรานี่เก่ง ข่าวเกิดที่ไหนๆ รู้หมด การเมืองที่นั่นเป็นอย่างไร เหตุการณ์แผ่นดินถล่มแผ่นดินไหว เกิดอีโบล่าอะไรที่ไหนรู้ทันหมด ตามทันแต่ไม่รู้ทัน พวกนี้เป็นเยอะ รู้ตามข่าว แต่ไม่เข้าถึงความจริงของมัน เช่น รู้ไม่ทันว่ามันมีคุณมีโทษอย่างไร มีเหตุปัจจัยอย่างไร เบื้องหลังมันเป็นอย่างไร
๓. พวกรู้ทัน นอกจากตามทันแล้ว ยังรู้เข้าใจเท่าทันมันด้วยว่า มันเป็นมาอย่างไร มีคุณมีโทษมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะมีท่าทีอย่างไร ให้ได้ประโยชน์โดยไม่ถูกครอบงำ
๔. พวกอยู่เหนือมัน พวกนี้ยิ่งกว่ารู้ทันอีก คือขึ้นไปอยู่เหนือกระแส เป็นผู้ที่สามารถจัดการกับกระแสได้ คนไหนอยู่ในกระแสก็จะจัดการกับกระแสได้ยาก คนที่อยู่เหนือกระแสจึงจะสามารถจัดการกับกระแสได้ เป็นผู้สามารถใช้การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีความสัมพันธ์กับข่าวสารข้อมูลแบบเป็นนาย เป็นผู้จัดการ เป็นผู้ใช้มันอย่างแท้จริง
เวลานี้คนในสังคมไทยเราอยู่ในประเภทไหนมาก ขอให้วิเคราะห์สังคมไทยดูว่า เป็นพวกตื่นเต้นแค่ไหน เป็นพวกที่ตามทันแค่ไหน รู้ทันแค่ไหน อยู่เหนือมันแค่ไหน
ที่นี้โทษของข้อมูลข่าวสารนั้นขอพูดสั้นๆ กราดไปเลยว่า ยังมีภาวะตื่นตูมเหมือนกับอยู่ในยุคข่าวลือ ทั้งที่อยู่ในยุคข่าวสารข้อมูล คนก็ยังหลงงมงายมาก กลายเป็นว่าข้อมูลยิ่งมากยิ่งเพิ่มโมหะ คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ โดยถูกเขาใช้ข้อมูลมาหลอกล่อ เช่นตกเป็นทาสของการโฆษณา มี promotion มีการใช้หน้าม้ากันดาษดื่นในเรื่องต่างๆ และคนก็ตามไม่ทัน อย่างอ่อนๆ ก็เป็นพวกที่ได้ยินได้ฟังข่าวสารข้อมูลมาก แต่ถูกข้อมูลท่วมทับเอา หรือได้รับแต่ขยะข้อมูล กลั่นกรองไม่เป็น เลือกสิ่งที่เป็นสาระไม่ได้ จมอยู่ใต้กองขยะข้อมูล ยิ่งมากยิ่งพร่ายิ่งมืดมัวสับสน อีกพวกหนึ่งก็เกิด information anxiety มีฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือเล่มหนึ่งมีชื่อว่า Information Anxiety แปลว่า ภาวะจิตกระวนกระวายต่อข่าวสารข้อมูล เช่นกังวลกลัวไม่ทันข่าวสารข้อมูล เป็นการล้อศัพท์ที่เรียกสังคมยุคนี้ว่า information society ยกตัวอย่างเช่นนักธุรกิจจะทำอะไรในยุคปัจจุบันต้องแข่งขัน ต้องทำการให้ทันเขา จึงต้องรู้ข่าวสารข้อมูลให้ทันหรือให้มากกว่าเหนือกว่าเขา ก็เลยเกิดความวิตกกังวลว่าเรารู้ทันเขาหรือเปล่า ข่าวสารเรื่องนี้ตอนนี้เคลื่อนไหวไปอย่างไร ก็เกิด information anxiety ซึ่งตอนนี้เป็นทุกข์อย่างใหม่ในปัจจุบัน
อีกเรื่องหนึ่งคือสังคมยิ่งเจริญไวชีวิตและสังคมยิ่งมีปัญหาใหม่ แม้ว่าสังคมที่พัฒนาแล้วจะแก้ปัญหา material scarcity คือ แก้ปัญหาความขาดแคลนทางด้านวัตถุได้ แต่กลับมาเกิดปัญหา time scarcity คือความขาดแคลนเวลา ปัจจุบันนี้สังคมมีปัญหาหนักเกี่ยวกับความยากจนในเรื่องเวลา คนปัจจุบันนี้จนเวลามาก ทีนี้อีกด้านหนึ่ง ข่าวสารข้อมูลเข้ามามากก็เกิดภาวะสมองเมื่อย ซึ่งตอนนี้เป็นกันเยอะขึ้นแล้ว ภาวะสมองเมื่อยสมองล้าเพราะข่าวสารข้อมูลมากมายเหลือเกิน รับไม่ทัน ที่นี้สองปัญหาก็มาบวกกัน คือเวลาก็ขาดแคลน สมองก็ล้า เลยรับข้อมูลข่าวสารโดยไม่พินิจเรื่อยเปื่อยไป ก็ยิ่งถูกชักจูงง่าย ไหลตามกระแสง่าย ไปกันใหญ่ เอาเฉพาะทีวี เวลานี้เป็นปัญหามาก ในเมื่อใช้ไม่เป็น เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ละทิ้งงานการ เด็กๆ ไม่อ่านหนังสือ มาดูแต่ทีวี และเมื่อดูทีวีก็ดูไม่เป็น ไม่รู้จักดู ได้แต่หลงเพลิดเพลินสิ่งบันเทิงต่างๆ แล้วก็ได้ค่านิยมที่ไม่ดีจากทีวี ได้แบบอย่างที่ไม่ดีจากทีวี
ยิ่งกว่านั้น คนในครอบครัวเดียวกันต่างคนต่างก็หลงดูทีวีเรื่องที่ตัวชอบ ต่างคนต่างดู ต่างคนอยู่กับทีวี ไม่เอาใจใส่กันเอง เวลาที่มีจะอยู่บ้างในยุคนี้ก็น้อยอยู่แล้ว เพราะว่าเวลาหมดไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพและการเล่าเรียนหาความรู้ ซึ่งเอาเวลาในชีวิตเราไปเกือบหมด แล้วเวลาที่เหลืออยู่นิดหน่อยนั้นทีวีก็มาเอาไปอีก พ่อบ้านก็ดูรายการหนึ่ง แม่บ้านก็ดูรายการหนึ่ง ลูกบ้านก็ดูรายการหนึ่ง ต่างคนก็ต่างจ้องดูแต่ทีวี บางบ้านมีตั้ง ๒ - ๓ เครื่อง เสร็จแล้วเวลาที่จะมาสังสรรค์กันในบ้านที่จะให้ได้รับความอบอุ่นในครอบครัวก็ไม่มี ทีวีก็เลยทำให้คนไม่เอาใจใส่กันแม้แต่ในครอบครัว การเสียความสัมพันธ์อบอุ่นในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก นี่เป็นปัญหาขั้นพื้นฐาน แล้วต่อไปก็ไม่มีเวลาเอาใจใส่เพื่อนมนุษย์ คิดจะดูแต่รายการนั้นรายการนี้ซึ่งเขาคิดขึ้นมาล่อให้ดูอยู่เรื่อย คนก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุขของตนเองมากยิ่งขึ้น
ทีนี้การที่เทคโนโลยีเพื่อการบริโภคพัฒนามากขึ้น ก็มีสิ่งบริโภคเพิ่มขึ้น คนแต่ก่อนนี้มีสิ่งที่จะบำรุงบำเรอหาความสุขน้อย มีเงินมากก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร เอาไปฝังเป็นขุมทรัพย์ ตอนนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาเรื่อย ก็ต้องหาเงินมาซื้อ หาเงินมาซื้อให้มาก ตามไม่ทัน ที่นี้ก็ต้องแข่งขันหาเงินแย่งชิงหาผลประโยชน์ให้มาก ในการแข่งขันแย่งชิงกันหาเงินเพื่อซื้อเทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่ๆ นั้น มนุษย์ก็ยิ่งต้องหมกมุ่นวุ่นวายกับเรื่องของตัวเองและเห็นแก่ตัวมากขึ้น เบียดเบียน แย่งชิงกันยิ่งขึ้น นอกจากนั้นดูทีวีไปก็บั่นทอนสุขภาพของตนไปด้วย เพราะว่ามัวหลงเพลินอยู่ ตาจ้องมากสายตาก็เสีย ไม่ได้ออกกำลังนั่งงอก่อขาดการบริหาร ในที่สุดสุขภาพทั่วไปก็เสียอีก เลยยุ่งกันใหญ่
เป็นอันว่า ถ้าใช้ไม่เป็น เทคโนโลยีก็เป็นพิษ ที่เน้นมากในสังคมฝรั่งเวลานี้ก็คือเรื่อง violence คือปัญหาความรุนแรง ซึ่งเป็นพิษภัยมาก พร้อมทั้งเรื่อง advertising คือการโฆษณาล่อเหยื่อ สังคมไทยก็กำลังได้รับปัญหาเหล่านี้ในแทบทุกเรื่องที่ว่ามาแล้ว ทั้ง indulgence ความหมกหมุ่น ทั้ง dependence ความพึ่งพา และ violence ความรุนแรง ตลอดจน indolence ความเกียจคร้าน เฉื่อยชา ไม่อยากทำงาน รวมแล้วถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นปัญหา เกิดความสูญเสียทั้งกายคือ สุขภาพกาย ทั้งทางสังคมคือความสัมพันธ์ในโลกมนุษย์ เช่นการแย่งชิงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และการขาดความอบอุ่นในครอบครัวเป็นต้น ส่วนทางจิตใจเมื่อแข่งขันกันก็มีความเครียดความวุ่นวายใจ มีความทุกข์ง่ายสุขยากต่างๆ ที่ว่ามาแล้ว พร้อมกันนั้นในทางปัญญา ข่าวสารข้อมูลเกิดมาก็ไม่เป็นประโยชน์ กลับเป็นสิ่งเพิ่มโมหะทำให้หลงงมงายมากยิ่งขึ้น ตกเป็นทาสของข่าวสารข้อมูล ทุกอย่างเป็นปัญหา ซึ่งจะต้องแก้ไขกันให้ได้
การแก้ไขโดยเฉพาะสำหรับทีวีหรือสื่อมวลชนต่างๆ เหล่านี้ คือ
ในแง่ผู้จัด ทำอย่างไรจะใช้ปัญญาเต็มที่ในการที่จะสร้างสรรค์ โดยมีเจตนาที่ดีต่อผู้ชม ผู้ฟัง จัดรายการด้วยความรับผิดชอบ
ส่วนผู้รับบริการคือผู้ใช้ผู้ชมหรือผู้ดูผู้ฟัง ก็ต้องรับอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คือพัฒนาตนทั้งภาครับและภาคใช้ คือ
๑. ในภาครับ เริ่มด้วยมีความชัดเจนในการรับ โดยเข้าถึงความจริงของสิ่งเหล่านั้น รู้จักเลือกรู้จักรับ ว่าข่าวสารข้อมูลรายการใดจะเป็นประโยชน์ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็เลือกเอาอันนั้น ไม่ใช่ปล่อยตัวหลงไปตามความเพลิดเพลินอย่างเดียว
๒. นอกจากมีความเข้าใจชัดเจนแล้ว ในการรับข่าวสารข้อมูลนั้น ต้องจับประเด็นได้ ด้วย การจับประเด็นได้นี้เป็นเรื่องใหญ่ในยุคปัจจุบัน เช่น จะต้องรู้ว่าจุดปัญหาของเรื่องอยู่ตรงไหน ไม่ใช่พร่าไปหมด ทั้งๆ ที่รู้และตามทันก็จับประเด็นไม่ได้
๓. ในภาคการใช้ก็ต้องสื่อสารเป็น จากข่าวสารก็มาสู่การสื่อสาร บางคนได้แต่รับข่าวสารแต่สื่อสารไม่เป็น พูดไม่เป็น แสดงความต้องการให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ เขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ ปัจจุบันการศึกษามีปัญหาเพราะทดสอบวัดผลกันเพียงด้วยแบบสอบถามที่ตอบด้วยการขีดถูกขีดผิด แบบปรนัย ทำให้คนไม่ได้ฝึกไม่ได้พัฒนาความสามารถในการสื่อสาร
๔. สามารถเอาความรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นมาเชื่อมโยงสร้างความคิด ความหยั่งเห็นใหม่ เพื่อใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์ให้พัฒนาต่อไปได้อย่างถูกทาง
ถ้าเราพัฒนาคนได้อย่างนี้ ข่าวสารข้อมูลก็จะพลิกจากโทษมาเป็นประโยชน์ได้ทันที เราก็จะเอาข่าวสารข้อมูลมาใช้พัฒนาชีวิตและสังคมได้
ขอเน้นอีกนิดเดียวว่า ในการปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูลขั้นพื้นฐานคือการศึกษา ผู้จัดสรรข่าวสารข้อมูลให้แก่เด็กในฐานะที่เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร จะต้องทำหน้าที่โดยพยายามจัดสิ่งที่ดีที่สุด เช่นเป็นพ่อแม่ ก็พยายามหาสิ่งแวดล้อมข่าวสารข้อมูลที่ดีที่สุด หาสื่อที่ดีที่สุดให้แก่เด็ก แต่ในเวลาเดียวกัน บุคคลนั้นหรือเด็กก็ควรได้รับการศึกษาชนิดที่ว่าจะทำให้เป็นคนที่สามารถเอาประโยชน์ได้จากสิ่งที่เลวที่สุด สองอย่างนี้ คู่กัน ย้อนแย้งกัน แต่สำคัญมาก คือ
๑. ในฐานะผู้จัดให้ ต้องจัดสิ่งที่ดีที่สุด
๒. แต่ในฐานะผู้รับคือผู้ศึกษา จะต้องสร้างความสามารถในการที่จะเอาประโยชน์ได้จากสิ่งแวดล้อมและข่าวสารข้อมูลที่เลวที่สุด
ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะอยู่ได้อย่างดี มีความรอดปลอดภัย เป็นสุขอย่างอิสระ และเป็นผู้พัฒนาสังคมนี้ได้
ตกลงว่าจะต้องพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเจริญไปเท่าไรก็ต้องพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยีนั้น อย่าให้ต่ำกว่า อย่าให้คนเป็นทาสของเทคโนโลยี ถ้าเทคโนโลยีเหนือกว่าคนเมื่อไรอันตรายก็จะเกิดขึ้น ถ้าคนยังเหนือเทคโนโลยีก็มีทางรอด เพราะคนยังรักษาอิสรภาพอยู่ได้ ฉะนั้น ข้อที่หนึ่งในแง่ของคนก็เป็นอันว่า พัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยีเพื่อรักษาอิสรภาพไว้ให้ได้ตลอด
ต่อไปในแง่ของธรรมชาติแวดล้อม งานของเราคือ ทำอย่างไรเราจะใช้เทคโนโลยีเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้โดยไม่เบียดเบียนและทำลายธรรมชาติ ให้การได้ประโยชน์จากธรรมชาติเป็นการเกื้อกูลธรรมชาติด้วย
สองจุดนี้ถ้าทำได้ก็เป็นความสำเร็จของอารยธรรมมนุษย์ที่สำคัญ และการที่จะทำให้สำเร็จได้ก็จะต้องมีการแก้กันอีกมาก ในหัวข้อต่อไปคิดว่าจะพูดเรื่องนี้ แต่หมดเวลาแล้วแน่นอน ไม่สามารถยืดต่อไปได้ ฉะนั้นหัวข้อต่อไปซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาคนเพื่อให้อยู่ในยุควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงต้องทิ้งค้างไว้ก่อน แต่เท่าที่พูดไปก็คงจะได้แนวทางพอสมควร อาตมภาพหวังว่าที่ได้พูดมาก็อาจเป็นประโยชน์บ้างในการที่เราจะช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาของสังคมแห่งมนุษยชาติ โดยเฉพาะสังคมไทยของเราที่กำลังมีปัญหาจากการที่ได้รับอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ แต่แล้วเรากลับมีปัญหาจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทยโดยเฉพาะ พร้อมกับที่เป็นปัญหาร่วมกันของชาวโลกทั้งหมดด้วย เราจะต้องแก้ปัญหาให้กับสังคมของเรา พร้อมกันนั้นถ้าเป็นไปได้ เราในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชาคมโลก เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ ก็ควรจะพยายามแก้ไขปัญหาให้แก่โลกมนุษย์นี้ด้วย
เราต้องมุ่งสร้างการศึกษาให้เด็กของเราเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ อย่ามองแคบแค่สังคมไทยเท่านั้น เวลานี้เป็นโลกาภิวัตน์แล้ว อารยธรรมก็ต้องสร้างให้ทันกัน อารยธรรมที่ทันก็คือการที่มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ปัญหาของโลกและสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ
ขอจบปาฐกถาเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน
เอกสารเรื่อง ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) นี้ เป็นบทปาฐกถาพิเศษซึ่งแสดงโดยพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เนื่องในโอกาสงาน “ไอทีเฉลิมพระเกียรติ : เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประชาชน” ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๘ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ - ๔ มิถุนายน ๒๕๓๘ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
เอกสารนี้นับเป็นฉบับที่สอง ที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยนำบทบรรยายเฉพาะเรื่องในงานดังกล่าวมาจัดพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป โดยเอกสารฉบับแรกที่ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ได้แก่บทปาฐกถาพิเศษ เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๘ และทรงมีพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์เผยแพร่ ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ในการจัดพิมพ์เอกสารฉบับที่สองนี้ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ขอกราบขอบพระคุณ พระคุณเจ้า ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ได้มีเมตตาจิตอนุญาตให้นำบทบรรยายที่ทรงคุณค่า ซึ่งกอปรด้วยเนื้อหา แนวทาง และการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ ให้ผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน โดยมุ่งหวังเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่ได้อ่านเอกสารนี้จะได้นำสาระที่ได้รับไปช่วยในการพัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
สำนักงานเลขานุการ
คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ