สถาปนาธรรมให้เกิดมีและยืนยงในสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สถาปนาธรรมศาสตร์
(สถาปนาธรรมให้เกิดมีและยืนยงในสังคม)

ขออำนวยพรแด่ท่านอาจารย์นายกสภามหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ และนิสิตนักศึกษาทั้งหลาย

อาตมภาพมีความยินดีที่ได้มาร่วมอนุโมทนาและแสดงธรรมกถาในงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ ความจริงนั้น อาตมภาพก็พร้อมแล้วที่จะแสดงธรรมกถานี้ภายหลังท่านอาจารย์อธิการบดี แต่ในเมื่อท่านให้โอกาสแก่อาตมภาพก่อน อาตมภาพก็ขออนุโมทนาในน้ำใจของท่านไว้ด้วย และรู้สึกว่าการมาในที่นี้เป็นสิริมงคล เพราะได้มาร่วมในพิธีมงคลของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของชาติ

การที่ท่านทั้งหลายได้จัดพิธีรำลึกถึงวันสถาปนาหรือวันเกิดของมหาวิทยาลัยครั้งนี้ นับว่าเป็นสิริมงคล เพราะเป็นโอกาสให้เราได้ระลึกถึงความเป็นมาของมหาวิทยาลัย และทบทวนถึงกิจการต่างๆ พร้อมทั้งตั้งความรู้สึกที่จะคาดหมายถึงกิจการต่อไปข้างหน้า หรือพิจารณากำหนดแนวทางของการกระทำในการต่อไป การพิจารณาอดีตผสมกับปัจจุบันพร้อมทั้งอนาคตนั้น เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยให้การกระทำของคนเราเกิดความรอบคอบยิ่งขึ้น ผู้ที่รำลึกถึงอดีตย่อมจะได้รับประโยชน์หลายประการ อย่างน้อยก็จะได้บทเรียนต่างๆ ทั้งบทเรียนที่ผิดพลาดและส่วนที่เกื้อกูล เป็นประโยชน์สำหรับทำกิจการต่อไป

มงคลมาจากกรรมดี

ความเป็นสิริมงคลนั้นย่อมเกิดมีขึ้นได้จากการกระทำของท่านทั้งหลาย ที่เราเรียกว่าเป็นกรรมดี หรือการกระทำที่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ดีทางจิตใจคือ คิดดีก็ตาม การกระทำดีทางวาจา เช่น ชักชวนกันในการกระทำดี ทำประโยชน์ก็ตาม และการกระทำดีทางกายคือ การช่วยกันขวนขวายทำกิจกรรมต่างๆ ที่ดีงามก็ตาม สิ่งเหล่านี้แหละคือตัวสิริมงคล วันนี้เรามีพิธีอันเป็นมงคลนี้ ก็เป็นโอกาสที่จะได้มากระทำกรรม คือ การกระทำที่ดีทางกาย ทางวาจา และจิตใจ ซึ่งจะเป็นนิมิตรของความสุขความเจริญต่อไปในกาลข้างหน้า

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ตั้งแต่ได้มีการสถาปนามาจนบัดนี้ ก็เป็นเวลาถึง ๔๑ ปีแล้ว ถ้านับเวลาในความรู้สึกของคนทั่วไปก็ยาวนานมากพอสมควร จนกระทั่งอาจจะทำให้รู้สึกว่า เป็นของที่เก่าแก่ไปแล้วก็ได้ และงานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การทำให้กิจการอุดมศึกษาหรือสถาบันแห่งนี้เกิดมีขึ้นในโลกหรือในประเทศไทยนั้น ก็นับว่าเป็นงานที่เสร็จสิ้นไปแล้ว ถ้าไม่มีการสถาปนาธรรมศาสตร์ขึ้นไว้ในตัวนักศึกษาทั้งหลายต่อๆ มา ความมีชีวิตชีวาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็คงจะสูญสิ้นไปแล้ว แต่เพราะยังมีการสถาปนาธรรมศาสตร์ให้เกิดขึ้นในตัวนักศึกษาทั้งหลาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงยังคงดำรงชีพอยู่ได้จนบัดนี้ โดยมีกิจการที่เป็นประโยชน์ ทั้งแก่มหาวิทยาลัยเองและแก่สังคมโดยทั่วไป

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า แม้ว่างานสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่งานสถาปนาธรรมศาสตร์ในนักศึกษาทั้งหลายยังหาได้เสร็จสิ้นไปไม่ ยังคงดำเนินอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และจะต้องทำกันต่อไป

ความหมายของธรรมศาสตร์

ในที่นี้มีแง่ที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์นั้นอาตมภาพเข้าใจว่า ตามความหมายเดิมซึ่งมีมูลรากมาจากภาษาสันสกฤต ก็คงหมายถึงวิชากฎหมายเป็นสำคัญ เพราะคำว่าธรรมศาสตร์นั้น เป็นคำที่มีใช้ในวิชาทางสังคมศาสตร์สมัยโบราณ หมายถึงวิชากฎหมาย ความข้อนี้แสดงความหมายว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ตั้งขึ้นโดยยึดเอาวิชากฎหมายเป็นหลัก และแต่เดิมนั้นยังมีคำว่า “และการเมือง” ต่อเข้าไปด้วย แสดงว่าต้องมีการเน้นในเรื่องวิชาการเมืองหรือวิชารัฐศาสตร์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวิชานี้จะเป็นวิชาธรรมศาสตร์ คือ กฎหมาย และวิชารัฐศาสตร์หรือวิชาการเมืองก็ตาม ทั้งสองอย่างนั้นก็อยู่ในขอบเขตของวิชาสังคมศาสตร์ด้วยกัน

บัดนี้ ขอบข่ายของวิชาการที่ศึกษากันอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้ขยายกว้างขวางออกไปมีมากมายหลายอย่าง มีทั้งด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราจะมาคิดถึงความหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในบัดนี้ อาตมภาพเห็นว่า เราอาจจะก้าวล้ำออกไปจากความหมายของคำว่าธรรมศาสตร์ที่หมายถึงกฎหมายก็ได้ โดยเราอาจจะตีความหมายของวิชาธรรมศาสตร์ให้กว้างขวางออกไปอีก และอาจถือได้ว่าเป็นความหมายเดิมแท้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งกว่าที่แปลว่ากฎหมายด้วยซ้ำ

เพราะว่าตามรูปศัพท์แท้ๆ ธรรมศาสตร์นั้นก็ได้แก่วิชาการที่ว่าด้วยธรรม และวิชาการที่ว่าด้วยการแสวงหาวิธีการในการที่จะดำรงรักษาธรรมนั่นเอง การตีความอย่างนี้เป็นการให้ความหมายที่กว้างขวางมาก ครอบคลุมหมดซึ่งวิชาการทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้หรือมหาวิทยาลัยแห่งไหน เพราะคำว่า "ธรรม" ย่อมมีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมคืออะไร ธรรมก็คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม วิชาการต่างๆ ที่ศึกษากันอยู่ในโลกนี้ มีวิชาไหนบ้างที่จะแสวงหานอกเหนือไปจากนี้ คือ แสวงหาสิ่งที่นอกเหนือไปจากความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม หรือนอกเหนือไปจากการแสวงวิธีการที่จะยังความจริง ความถูกต้อง ความดีงามให้เกิดมีขึ้น และดำรงรักษาไว้ซึ่งความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าวิชาการทุกอย่างเท่าที่ศึกษากันอยู่นั้น รวมอยู่ในธรรมศาสตร์ได้ทั้งสิ้น

เมื่อแปลความหมายโดยนัยนี้ คำว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จึงมีความหมายได้ถึงแหล่งวิชาการทุกอย่างทุกสาขาที่มีศึกษากัน จะบรรจุไว้แล้วในบัดนี้หรือจะมีบรรจุต่อไปในกาลข้างหน้า ก็รวมได้ในความหมายนี้ทั้งหมด คือ วิชาการว่าด้วยธรรม และวิธีการในอันที่จะยังธรรมให้เกิดมีและดำรงรักษาไว้ซึ่งธรรมนั้น

ยกตัวอย่าง แม้วิชากฎหมายหรือวิชาธรรมศาสตร์เดิมนั่นเอง ก็เป็นวิชาที่เกิดมีขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะแสวงหาวิธีการในการที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งธรรมเป็นสำคัญ คือต้องการที่จะดำรงธรรมหรือความเป็นธรรม ความถูกต้อง และความดีงามไว้ในสังคม จะดำรงไว้ได้อย่างไร ก็โดยออกมาในรูปของกฎหมาย ระเบียบของสังคม เท่าที่คิดได้ว่าเป็นวิธีการที่จะดำรงรักษาธรรมไว้ เพราะฉะนั้น แม้ผู้ที่ได้ตั้งชื่อของวิชากฎหมายเดิม ก็คงได้คำนึงถึงความหมายของธรรมศาสตร์ในแง่นี้ด้วย จึงเรียกวิชากฎหมายว่าวิชา “ธรรมศาสตร์”

เป็นอันว่าคำว่า "ธรรมศาสตร์” นี้มีความหมายกว้าง กินความได้ถึงวิชาการทุกสาขา จึงเป็นการเหมาะสมที่จะเรียกมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ข้อสำคัญก็คือในบัดนี้เราได้ตกลงกันว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่สถาปนาธรรมศาสตร์ คือ สถาปนาวิชาการที่จะให้รู้ให้เข้าใจเรื่องความจริง ความถูกต้องดีงาม และวิธีการที่จะสร้างสรรค์ดำรงรักษาธรรมนั้นไว้ ปัญหาจึงตามมาว่าจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร นี่แหละ คือภารกิจซึ่งยังคงมีอยู่ตลอดเวลา คือการที่มหาวิทยาลัยจะพยายามสถาปนาธรรมศาสตร์นี้ให้เกิดมีขึ้นแก่นักศึกษาทั้งหลาย

หน้าที่ของครูอาจารย์และนักศึกษา
ต่อธรรมศาสตร์

ปัญหาเริ่มต้นว่าธรรมคืออะไร และวิธีการที่จะสร้างเสริมดำรงรักษาธรรมนั้นคือทำอย่างไร สิ่งที่ต้องการหรือจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะรู้จักธรรม และรู้วิธีการที่จะรักษาสร้างเสริมธรรมนั้น ที่สำคัญก็คือ “ปัญญา” ปัญญา คือตัวความรู้ ตัวความเข้าใจในเหตุผล เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในการที่จะสร้างธรรมศาสตร์ให้เกิดมีขึ้น และในการที่จะดำรงรักษาธรรมศาสตร์นั้นไว้ เพราะฉะนั้น ในการที่จะสร้างและดำรงรักษาธรรมศาสตร์นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นด้วย

กล่าวคือ การให้การศึกษาเล่าเรียนทั้งปวงนั้นก็เพื่อสร้างปัญญา ให้รู้จักว่าธรรมคืออะไร และรู้ว่าเราจะมีวิธีการอะไรที่จะเข้าถึงธรรม และดำรงรักษาธรรมนั้นไว้ ความจำเป็นของปัญญานั้นยิ่งมีมากขึ้นอีกเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเมื่อมาเกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ที่เรียกชื่อว่า “ธรรมศาสตร์” ด้วย และเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วย ซึ่งแปลได้ว่าเป็นการศึกษาระดับสูงสุดเท่าที่มี แม้ผู้ที่เข้ามาศึกษาอยู่ในสถาบันแห่งนี้ ก็มีชื่อเรียกเป็นพิเศษออกไป ต่างจากระดับการศึกษาชั้นต้นๆ ที่เคยเรียกกันว่านักเรียน เมื่อถึงขั้นนี้ก็เรียกใหม่ว่าเป็นนักศึกษา

คำว่า "นักศึกษา” นั้น แสดงความหมายอยู่ในตัวว่า เป็นผู้ใฝ่ศึกษาค้นคว้าแสวงปัญญา และฝึกหัดการใช้ปัญญาอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะฉะนั้น ชีวิตของนักศึกษานั้น จึงเป็นชีวิตของการฝึกตนหรือพัฒนาตนด้วยการสร้างสรรค์แสวงปัญญา เป็นการเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมที่จะไปรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น พูดรวมๆ ว่า รับผิดชอบต่อสังคม

ฉะนั้น ภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของนักศึกษาในปัจจุบันก็คือ การที่จะแสวงปัญญา และฝึกหัดการใช้ปัญญา การใช้ปัญญานั้นหมายรวมไปถึงการที่ว่าจะพยายามเอาใจใส่อย่างแท้จริงต่อการแสวงหาความรู้ที่แท้จริง พยายามศึกษาค้นคว้าให้เข้าถึงความจริงของสิ่งต่างๆ อย่างถ่องแท้ และมีการแสดงออกอย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญาด้วยเช่นเดียวกัน และเหตุผลนี้ก็เป็นเรื่องของการรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น ภารกิจที่สำคัญของนักศึกษา นอกจากภารกิจที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนแล้ว ก็คือการที่จะพยายามแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อเตรียมตัวให้เป็นผู้พร้อมในการที่จะรักษาธรรมและรับผิดชอบในสังคมต่อไป

มีปัญหาต่อไปว่า ปัญญาตัวนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็ว่า เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การที่ครูอาจารย์นำวิชาการมาบรรยายถ่ายทอดแก่ศิษย์ เราเรียกว่าทำให้เกิดปัญญาขึ้น แต่ความหมายอย่างนี้เป็นความหมายเล็กน้อยเท่านั้น มิใช่เป็นการแสดงถึงหน้าที่ของครูอาจารย์ หรือการทำให้เกิดปัญญาอย่างสมบูรณ์

ครูอาจารย์ทำหน้าที่หลายอย่าง ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลี หน้าที่อย่างหนึ่ง เราเรียกว่าเป็นสิปปทายก หรือ ศิลปทายก สิปปทายก แปลว่า ผู้ถ่ายทอดหรือให้ศิลปวิทยา หมายความว่า ครูอาจารย์ทั้งหลายนี้ ได้ช่วยทำหน้าที่สืบต่อวิชาการ สั่งสมความรู้ไว้ ศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งกว้างขวางออกไป แล้วนำมาถ่ายทอดแก่คนที่เรียกว่า ศิษย์ หรือนักศึกษา นักเรียนทั้งหลาย เพื่อให้มีความรู้ตามไปด้วย และนักศึกษาหรือนักเรียนเหล่านั้นก็จะได้ช่วยกันค้นคว้าวิชาการนั้นให้กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เป็นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางวิชาการ

พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่ง การที่ครูอาจารย์นำวิชาการนั้นมาถ่ายทอดแก่ศิษย์ ก็เพื่อช่วยให้ศิษย์ได้มีวิชาความรู้ในการที่จะไปประกอบสัมมาชีพ การประกอบสัมมาชีพนั้นก็เป็นวิธีการหนึ่งในการที่จะช่วยเหลือทั้งตนเองและผู้อื่น คือเมื่อพึ่งตนเองได้แล้ว ทำหน้าที่ของตนเองได้พร้อมดี เมื่อตนเองไม่มีปัญหาแล้ว ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่น นำวิชาการไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ด้วย หน้าที่ของครูอาจารย์ในการถ่ายทอดศิลปวิทยาอย่างนี้เรียกว่า เป็นหน้าที่ในฐานะศิลปทายก

แต่ครูอาจารย์มิได้มีหน้าที่เพียงอย่างเดียวเท่านี้ ครูอาจารย์ยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือความเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สัมพันธ์โดยตรง หรือเป็นคู่กันกับหน้าที่ของศิษย์หรือนักศึกษาในฐานะที่เป็นผู้แสวงปัญญา คำว่า “กัลยาณมิตร” นี้อาจจะเป็นศัพท์ที่แปลก ถ้าแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็แปลว่า เพื่อนที่ดี หรือเพื่อนแท้ เพื่อนแท้นี้คืออย่างไร ทำหน้าที่อะไร หน้าที่ของครูที่เป็นกัลยาณมิตร คือการแนะนำชี้ช่องทางในการแสวงปัญญาให้ศิษย์รู้จักใช้ปัญญา และฝึกอบรมในการใช้ปัญญานั่นเอง ครูอาจารย์ที่สอนให้ศิษย์รู้จักใช้ความคิด เป็นคนมีเหตุผลและรู้จักแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบคือผู้ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร

ในการศึกษาเล่าเรียนนั้น ย่อมมีภารกิจที่เป็นส่วนของการให้การศึกษาที่กล่าวมานี้ทั้ง ๒ ประการ ส่วนท่านทั้งหลายที่เป็นนักศึกษา ก็ย่อมมีภารกิจที่ตอบสนองต่อฝ่ายคณาจารย์ ๒ ประการเช่นเดียวกัน คือในแง่ของการรับถ่ายทอดศิลปวิทยาการที่จะนำไปประกอบอาชีพ และการที่จะทำให้วิชาการนั้นบังเกิดประโยชน์เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป อย่างหนึ่ง และในแง่ของการเตรียมตัวสร้างสมอบรมตนในทางคุณธรรม ในทางความรับผิดชอบต่างๆ ในการเสริมสร้างปัญญา ความรู้จักคิดเหตุผล เพื่อให้เป็นผู้พร้อมที่จะดำรงชีวิตที่ดี อันเกื้อกูลต่อสังคมที่ตนรับผิดชอบอย่างหนึ่ง อันนี้นับว่าเป็นภารกิจ และเป็นความรับผิดชอบของนักศึกษา

ปัญญากับความเป็นนักศึกษาวิชาธรรมศาสตร์
และการสถาปนาธรรมศาสตร์

ทีนี้ ปัญญาที่เราต้องการจะสร้างขึ้นเป็นแกนกลาง หรือเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษานั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขอย้อนกลับไปหาปัญหาเก่า ปัญญาของมนุษย์เรานั้นนับว่าเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัญญาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ประสบปัญหา หรือเรื่องราวที่พิจารณา ในเมื่อตัวเราคือนักศึกษา ได้อาศัยปัจจัยภายนอก คือครูอาจารย์มาชักนำให้ปัญญาของเราไปกระทบเข้ากับปัญหาแล้ว เมื่อเราคิดพิจารณา กระแสของความคิดก็ดำเนินไป อันนั้นคือทางของการแสวงปัญญา และการฝึกอบรมการใช้ปัญญาก็เกิดขึ้น เมื่อปล่อยให้กระแสปัญญาบริสุทธิ์ที่กระทบกับปัญหาและเรื่องที่พิจารณานี้ดำเนินไปตามกระบวนการของมันเอง ก็จะเป็นกระแสของปัญญาที่ถูกต้องตามความหมายอย่างแท้จริงที่จะทำให้เกิดการศึกษาที่แท้

อย่างไรก็ตาม เป็นการไม่แน่นอนเสมอไปที่ปัญญาจะดำเนินไปตามกระแสบริสุทธิ์ บางทีปัญญาก็มีอุปสรรค มีสิ่งที่เข้ามาขัดข้องในกระบวนการของมันเหมือนกัน อะไรเป็นสิ่งกีดขวางการสร้างเสริมปัญญา ก็คือความยึดถือติดในเรื่องตัวตนนั่นเอง การยึดถือในเรื่องตัวตนนั้น จะแสดงออกมาในรูปของกิเลส ๓ อย่าง เป็นหลักใหญ่ คือ

  1. แสดงออกในรูปของ ตัณหา
  2. แสดงออกในรูปของ มานะ
  3. แสดงออกในรูปของ ทิฏฐิ

ข้อที่ ๑ กิเลสในรูปของตัณหา ก็คือการเห็นแก่ตน การเห็นแก่ผลได้ผลประโยชน์ส่วนตน ความโลภ เมื่อมีความโลภ ความปรารถนาส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว สิ่งใดที่ผ่านเข้ามาให้ปัญญาพิจารณา ก็จะถูกบิดเบือน เพื่อจะโน้มน้อมเข้าหาผลประโยชน์ของตน สิ่งใดขัดกับผลประโยชน์ของตน สิ่งนั้นก็จะถูกตัดทิ้งหรือปัดออกไป สิ่งใดที่จะให้ตัวได้ สิ่งนั้นก็จะถูกชักเข้ามาแม้จะไม่ถูกต้องก็ตาม โดยนัยนี้ กระแสแห่งการใช้ปัญญาจะถูกบิดเบือน และเกิดความผิดพลาดด้วยอุปสรรคข้อที่ ๑ คือ ตัณหา

ประการที่ ๒ มานะ คือการถือตัวเป็นใหญ่ ถือว่าฉันเก่ากว่า ฉันใหม่กว่า ว่าฉันใหญ่กว่า ฉันแน่กว่า ฉันรู้ดีกว่า ฉันเก่งกว่า เป็นต้น ความรู้สึกยึดมั่นตนอย่างนี้จะทำให้ไม่สามารถรับฟังผู้อื่นได้ และทำให้เกิดปฏิกิริยาง่ายต่อการที่จะเกิดความโกรธกริ้วคุกคามคนอื่น และเข้ากดขี่ผู้อื่นด้วยวาทะและอำนาจ เป็นต้น อันนี้คือตัวอุปสรรคในการสร้างเสริมปัญญาประการที่ ๒

ประการที่ ๓ ทิฏฐิ ทิฏฐิก็คือ ความยึดมั่นความเห็น ยึดมั่นในหลักการ ในทฤษฎี ในความคิดเห็น ในความเชื่อถือ หรือแม้แต่อุดมการณ์ของตนอย่างเหนียวแน่น ชนิดที่เหมือนกับว่าข้างในนั้นอัดอะไรไว้เต็ม ไม่สามารถจะฟังอะไรใหม่ หรือรับอะไรเข้าไปได้อีก อย่างนี้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างเสริมปัญญาเช่นเดียวกัน เพราะถ้าเราเกิดไปรับฟังทิฏฐิ ทฤษฎี หลักการอะไรเข้ามาอันแรก แล้วยึดเกาะอันนั้นเข้าไปอัดเต็มไว้ข้างใน ก็เลยกลายเป็นตัวกีดกั้นไม่ให้รับสิ่งอื่นเข้ามาได้อีก ทิฏฐินี้เป็นเรื่องของโมหะหรือความลุ่มหลง ตั้งแต่ไม่รู้อะไรเลยไปจนถึงว่าไม่ยอมรับรู้ใครๆ หรืออะไรๆ ทั้งสิ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นความงมงายนั้นเอง

ความงมงายนั้นเป็นกิเลสสำคัญ เป็นตัวอุปสรรคกีดขวางต่อการใช้ปัญญาและการแสวงปัญญาอย่างสำคัญยิ่ง ปัจจุบันนี้เรามักจะได้ยินการพูดถึงเรื่องเก่าเรื่องใหม่กันมาก ทั้งสองฝ่ายที่ยึดมั่นกันอย่างนี้มักจะโจมตีซึ่งกันและกัน เช่น มีการโจมตีจากผู้ที่ถือตนว่าใหม่ ว่าผู้นั้นผู้นี้เป็นผู้เก่า และอาจจะใช้คำพูดรุนแรงหยาบคาย หรือคำที่ให้รู้สึกตลกขบขันไป ฝ่ายเก่าก็เช่นเดียวกัน เมื่อถูกคุกคามก็จะแสดงออกซึ่งอาการที่มีความยึดมั่นในความคิดเห็นของตนยิ่งขึ้นไปอีก และติเตียนตำหนิผู้ใหม่นั้น อย่างที่จะทำให้เป็นปฏิปักษ์ห่างกันออกไปชัดเจนและรุนแรงขึ้นทุกที ตกลงว่าทั้งใหม่ทั้งเก่านี้ต่างก็ยึดมั่นในทิฏฐิในทฤษฎีของตน การยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎีของตนนั้น ไม่ว่าเก่าว่าใหม่ ก็เป็นเรื่องของความงมงายได้ทั้งสิ้น

การวินิจฉัยความงมงายนั้น ไม่ได้ขึ้นกับความเก่าหรือความใหม่ ของเก่าผิดก็มีถูกก็มี ของใหม่ผิดก็มีถูกก็มี ข้อสำคัญจะต้องวินิจฉัยว่าอะไรจริงอะไรถูกอะไรผิด ไม่สำคัญที่ว่าเก่าหรือใหม่ ถ้าเก่าผิด เก่าก็ใช้ไม่ได้ ถ้าเก่าถูกก็ใช้ได้ ถ้าใหม่ถูกก็ใช้ได้ เช่นเดียวกัน

การที่มาพูดต่อว่าสาดกันไปมาว่าเก่าใหม่นั้น เป็นเหมือนกับว่ามนุษย์เราขัดสนจนปัญญา ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ความจริงกันด้วยเหตุด้วยผล จึงต้องยกคำมาด่าว่ากล่าวใส่กัน ว่าเก่าว่าใหม่เป็นต้น ถ้าหากจะเข้ากันให้ถึงความจริง สามารถวิเคราะห์ความจริงกันด้วยเหตุด้วยผลแล้ว คำว่าเก่าว่าใหม่ก็ไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น

ฉะนั้น เรื่องทิฏฐิหรือความงมงายนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องแก้ไขให้หมดสิ้นไป มิฉะนั้น จะตกเข้าในคติที่ว่า สิ่งที่ฉันยึดมั่นไว้อย่างเดียวเท่านั้นถูกต้อง สิ่งที่คนอื่นถือเป็นผิดหมด อย่างที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อิทเมวะ สัจจัง โมฆมัญญัง อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหลทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น จึงขอให้อยู่ในคลองปัญญา คือ ปล่อยให้กระแสของปัญญาดำเนินไปโดยบริสุทธิ์ โดยไม่เอาตัวตนเข้าไปกีดขวางกระแสนั้น ไม่ว่าจะแสดงออกในรูปของตัณหา ความเห็นแก่ผลได้ส่วนตนก็ตาม มานะความถือตัวตนว่ายิ่งใหญ่ เก่งกว่า รอบรู้กว่า เป็นต้น หรือทิฏฐิความยึดมั่นงมงายติดคาอยู่ในหลักทฤษฎีต่างๆ ก็ตาม เมื่อทำอย่างนี้แล้ว กระแสปัญญาดำเนินไปได้โดยบริสุทธิ์ จึงจะเป็นนักศึกษาที่แท้จริง เมื่อเป็นนักศึกษาที่แท้จริงแล้ว ก็จะรู้เข้าใจได้ว่าธรรมนั้นคืออะไร และวิธีการที่จะสร้างเสริมดำรงรักษาธรรมนั้นคืออะไร เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจึงจะสถาปนาธรรมได้ และวิชาการที่เล่าเรียนนั้นก็จะเป็นวิชาธรรมศาสตร์ที่แท้จริง

วิธีการสถาปนาธรรม

นอกจากการมาเล่าเรียน พยายามแสวงปัญญาเพื่อให้รู้เข้าใจธรรม และวิธีการที่จะดำรงรักษาธรรมแล้ว นักศึกษายังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อไปอีก อันเนื่องมาจากการที่ได้ศึกษาแล้วนั่นเองว่า เมื่อศึกษารู้ธรรมแล้ว จะต้องพยายามนำธรรมที่ได้ศึกษาเล่าเรียนรู้แล้วนั้นไปสถาปนาให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะที่เน้นกันขณะนี้ก็คือ ให้เกิดมีขึ้นในสังคม เริ่มด้วยการสถาปนาธรรมนั้นขึ้นในตน และเป็นผู้นำในการเข้าถึง และดำรงธรรม

ในการที่จะสถาปนาธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น มีสิ่งที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งคือ จุดหมายนั้นอยู่ที่การสถาปนาธรรม แต่ในการที่จะดำเนินไปสู่จุดหมายนั้นก็ต้องมีวิธีการ วิธีการอะไรเล่าจะช่วยให้ดำเนินไปถึงจุดหมายที่เราต้องการจนสถาปนาธรรมขึ้นได้ วิธีการนั้นโดยส่วนใหญ่ก็แบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ วิธีการที่เป็นธรรม กับวิธีการที่เป็นอธรรม แม้จุดหมายจะเป็นธรรมแล้ว แต่วิธีการก็ยังไม่แน่ อาจจะเป็นวิธีการที่เป็นธรรม หรือวิธีการที่เป็นอธรรมก็ได้

ในวิธีการ ๒ อย่างนี้ เราจะเลือกทางไหน ถ้าตอบตามหลักก็บอกได้ทันทีว่า ต้องเลือกวิธีการที่เป็นธรรม แต่โดยปกติแล้วมนุษย์จะถูกยั่วยวนถูกคุกคาม ทำให้บางทีก็รู้สึกว่าเราจะต้องใช้แม้แต่วิธีการที่เป็นอธรรม หรือมีความรู้สึกเกี่ยงงอนกันว่า ก็ถ้าฝ่ายโน้นใช้วิธีการที่เป็นอธรรม เราจะใช้วิธีธรรมได้อย่างไร เพราะมนุษย์เกี่ยงกันอยู่อย่างนี้นั่นเอง รอวิธีที่เป็นธรรมจากผู้อื่นอยู่อย่างนี้นั่นเอง สังคมมนุษย์ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ยุคคนป่าเถื่อนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงได้หมุนเวียนเปลี่ยนวนอยู่ในสภาพเช่นนี้ คือ ลุ่มๆ ดอนๆ ดีชั่วเลวร้าย กลับไปกลับมาอยู่อย่างเดิม เพราะเราไม่สามารถ ขาดความเพียร ขาดความอดทน ในการที่จะใช้วิธีการที่เป็นธรรมให้บรรลุผลในการที่จะสถาปนาธรรมขึ้นให้ได้

การที่จะสถาปนาธรรมด้วยวิธีการที่เป็นธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำด้วยความอดทน ด้วยความเสียสละ ความเข้มแข็งและสติปัญญาอย่างสูง แต่เป็นสิ่งที่จะให้ผลยั่งยืน เพราะถ้ามนุษย์ ไม่เพียรพยายามในข้อนี้แล้ว มนุษย์ก็จะต้องเกี่ยงงอนกันอยู่ร่ำไป เมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่าใช้วิธีการที่เป็นอธรรมได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมอ้างสิทธิ์ที่จะใช้บ้าง แล้วมนุษย์ทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ ก็จะใช้วิธีที่เป็นอธรรมเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จึงได้วนเวียนอยู่ในสภาพเช่นนี้ตลอดมา และเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอของมนุษย์ด้วย ที่ไม่มีความสามารถในการใช้วิธีการที่เป็นธรรม ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเข้าถึงจุดหมายด้วยวิธีการที่เป็นธรรม จึงต้องหันกลับไปหาสัญชาตญาณเดิม คือ ความโกรธแค้น ความรุนแรง ใช้กำลังกายกำลังอาวุธเข้าคุกคามซึ่งกันและกัน เป็นอย่างนี้มาแต่โบราณ ตั้งแต่ยุคคนป่าจนกระทั่งปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ถ้าจะสถาปนาธรรมที่แท้จริงและให้ได้ผลแท้จริงก็จะต้องมีความอดทนเข้มแข็ง ใช้ปัญญา และมีความเสียสละเพียงพอในการที่จะใช้วิธีการที่เป็นธรรมด้วย ซึ่งหมายถึงการที่ต้องเป็นผู้มีความสามารถอย่างสูงกว่าปกติ ยิ่งถ้าทำสำเร็จได้ ในเมื่อต้องเผชิญกับวิธีการอันอธรรมด้วยแล้ว ก็ย่อมแสดงถึงความสามารถอย่างเยี่ยมยอดเหนือระดับสามัญ ควรแก่การกล่าวอ้างได้ว่า เป็นการสถาปนาธรรมอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์

ความสามารถใช้วิธีการที่เป็นธรรมนี้แหละจะเป็นวิธีการสร้างธรรมขึ้นได้อย่างถาวร เป็นการสถาปนาธรรมที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็กล่าวได้ว่า เป็นความก้าวหน้าของมนุษย์ในวิถีทางแห่งการสถาปนาธรรม มิใช่เป็นเพียงการหมุนเวียนอยู่ในวงจร ดังนั้น จึงควรถือเป็นหลักด้วยว่า การพัฒนาความสามารถที่จะใช้วิธีการที่เป็นธรรมในการสถาปนาธรรมนี้ เป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัย ที่เป็นสถาบันขั้นอุดมศึกษาและสั่งสอนวิชาธรรมศาสตร์

จะเห็นได้ว่า ในยุคที่มีการพยายามสถาปนาธรรมนั้น เรามีความเร่าร้อนในการที่อยากจะให้ธรรมเกิดขึ้น และในสภาพเช่นนั้น ถ้าไม่ใช้สติและไม่มีความอดทนพอ ก็มักจะเกิดการใช้วิธีรุนแรงขึ้น การใช้วิธีรุนแรงนั้น ได้ผลักดันให้คนไม่น้อย ที่อยู่ ณ จุดเริ่มต้นอันใกล้เคียงบนฐานเดียวกัน เลื่อนตัวออกไปอยู่ ณ สุดทางตรงข้าม ด้วยวิธีการเช่นนี้ มนุษย์เราได้สร้างศัตรูขึ้นมามากมายโดยไม่จำเป็นและไม่สมควร จะเห็นว่าคนที่เราเรียกกันว่าคนตื่นแล้ว หรือผู้มีความสำนึกทางสังคมในบัดนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะได้เปรียบในสังคมปัจจุบัน เพียงแต่ว่าเขาเกิดสำนึกดีชั่วขึ้นมา เกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมของตนเองขึ้นในภายหลัง

ในเวลาเดียวกัน เพื่อนร่วมสังคม หรือแม้แต่ร่วมชนชั้นของเขา และอยู่ในฐานะเดียวกับเขา และฐานะแห่งความคิดเดิมก็ใกล้เคียงกับเขา อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางกันเพียงคนละเล็กคนละน้อย แต่ว่าผู้หนึ่งมีความสำนึกขึ้นแล้ว แทนที่เขาจะเพียรพยายามและพัฒนาความสามารถในการที่จะช่วยให้เพื่อนร่วมฐานะหรือใกล้ฐานะของเขาเกิดความเข้าใจ มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเหมือนอย่างเขาด้วยวิธีการที่ดีที่สุด และยอมรับความไม่สามารถของตนเองบ้าง ในกรณีที่ยังทำความพยายามนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร เขากลับเกิดความรู้สึกขัดใจต่อคนอื่น และก้าวร้าวต่อผู้อื่น ก็เลยกลายเป็นเครื่องผลักดันให้คนอื่นๆ นั้น เลื่อนฐานตนเองจากจุดที่ใกล้เคียงไปอยู่ ณ ปลายสุดทางตรงข้าม

คนปฏิปักษ์หรือคู่ปรปักษ์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการเช่นนี้มีมากมาย แล้วถ้าหากว่าคนเหล่านั้นจะเป็นผู้ที่ทำลายสังคมแล้วไซร้ ก็ต้องถือว่าผู้ที่เกิดสำนึกทางสังคมในเบื้องต้นนั้นเองเป็นผู้สร้าง หรือมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างคนเหล่านั้นขึ้น เราอาจกล่าวได้ว่า เขานั่นแหละเป็นผู้สร้าง “ผู้ทำลาย” ขึ้นมาแล้วอย่างนี้ เราจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้หรือ คนในปัจจุบันนี้จำนวนมากมาย น่าจะได้ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการเช่นนี้ ให้กลายเป็นผู้ทำลายและเป็นผู้ที่ควรถูกทำลาย

ดังนั้น ผู้ที่กระหายในวิธีรุนแรงจะต้องยอมรับความไม่สามารถหรือความบกพร่องของตน ว่าตนไม่รู้จักและไม่สามารถที่จะกระทำด้วยวิธีการที่ดีกว่านั้น การยอมรับความจริงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะให้มีความก้าวหน้าในวิถีทางแห่งการสถาปนาธรรม ส่วนการไม่ยอมรับ ก็น่าจะต้องถือว่าเป็นความไม่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ในยุคแห่งการตื่นตัวนี้ พึงคำนึงว่าการตื่นตัวนั้นเป็นสิ่งที่ดี เรามีความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม ยิ่งถ้าหากว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะที่เรียกว่าได้เปรียบคนอื่นอยู่แล้ว ก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะเราสามารถที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และช่วยนำทางผู้อื่นได้มาก แต่ที่เรามักจะเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อตื่นตัวขึ้นเพื่อทำการแล้ว เรามักจะไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอสำหรับทำการ หรือความตื่นตัวกับความรู้อย่างถ่องแท้ในความจริงสำหรับที่จะทำการนั้น ไม่ทันซึ่งกันและกัน พูดง่ายๆ ว่า ความรู้ตามไม่ทันความตื่นตัว อันนี้อาจจะเป็นข้อบกพร่องอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าได้มีการทบทวนไว้เสมอก็คงจะเป็นประโยชน์มาก

สถาปนาธรรมในตนและในสังคม

หันกลับไปสู่จุดแรก เป็นอันว่าขอตกลงกัน ซึ่งท่านทั้งหลายจะตกลงหรือไม่ก็ตาม ว่าเราจะต้องรู้และเข้าใจธรรม ว่าธรรมนั้นคืออะไรเสียก่อน มิฉะนั้น จะเกิดความสับสน สับสนตั้งแต่ตัวธรรม ตัวจุดหมาย ตลอดจนวิธีการต่างๆ และเราก็อาจจะทำสิ่งที่ดีงามให้ไขว้เขวไปก็ได้

ขอยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งคือเรื่องเสรีภาพ เสรีภาพเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะเป็นภาวะตรงข้ามกับความเป็นทาส แต่ถ้าเราไม่เข้าใจตัวธรรมเสียแล้ว อาจจะเกิดภาวะมุมกลับขึ้นก็ได้ คือ มันอาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่า เสรีภาพในการที่จะเป็นทาสขึ้นมา อันนี้เป็นสิ่งที่มีขึ้นได้จริงๆ ควรจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกัน เช่นในกรณีที่ไม่ได้ทบทวน ไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้ว่าความหมายของเสรีภาพนั้นคืออะไร ก็จะเกิดความไขว้เขวขึ้นมาว่า เสรีภาพเป็นสิ่งจบสิ้นในตัว เป็นจุดหมาย หรือเป็นเพียงมรรคาเพื่อดำเนินไปให้ถึงจุดหมาย ดังนี้เป็นต้น ครั้นแล้วความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องเสรีภาพ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะแห่งความผิดพลาด คือการที่เราอาจจะมีเสรีภาพเพื่อความเป็นทาส หรือในการที่จะเป็นทาสขึ้นก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้เสรีภาพนั้นในการแสดงออก แต่ตัวเราเองอยู่ใต้อำนาจของตัณหา มานะ ทิฏฐิ ดังที่กล่าวข้างต้น นั่นก็คือเสรีภาพในการที่จะเป็นทาส หรือการเป็นทาสและแสดงออก ซึ่งความเป็นทาสอย่างเสรีนั้นเอง

เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราได้มีการตื่นตัว และออกโรงกันมานานๆ แล้ว ก็ควรจะหันกลับมาสำรวจตัวเองกันบ้างเป็นครั้งคราวว่า ที่ได้ทำการต่างๆ ไปนั้น ทำด้วยความรู้จริงถ่องแท้หรือไม่ และที่พูดที่ทำโดยบอกว่าเป็นเสรีภาพนั้น ตนเองเข้าใจความหมายของคำว่าเสรีภาพถ่องแท้หรือไม่ ตัวเราเองมีเสรีภาพที่แท้จริงหรือไม่ นี้เป็นสิ่งที่เราควรจะเตือนตนเองให้คำนึงอยู่เสมอ ผู้ที่ทำการต่างๆ นั้น ต้องไม่ประมาทเสมอ ผู้ที่ประมาทนั้นอาจจะหลง โดยเฉพาะอาจจะหลงในตนเอง เพราะฉะนั้น การมีสติพิจารณาทบทวนสำรวจตนเองอยู่เสมอ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเป็นความไม่ประมาท เป็นทางป้องกันความผิดพลาดได้

เป็นอันว่า เราจะสถาปนาธรรมในสังคม เมื่อจะสถาปนาธรรมในสังคม ก็ต้องสถาปนาธรรมนั้นขึ้นในตนก่อนด้วย อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่า ธรรมนั้นคืออะไร คือสร้างปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมนั้นให้เกิดมีขึ้นในตน เมื่อสร้างเสริมปัญญาที่เข้าใจธรรมขึ้นในตนแล้ว การกระทำต่างๆ ที่แสดงถึงความรับผิดชอบในการที่จะไปสถาปนาธรรมนั้น จึงจะเป็นไปโดยถูกต้องและบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น เมื่อจะสถาปนาธรรมขึ้นในสังคม ก็อย่าลืมสถาปนาธรรมขึ้นในตนเองด้วย เมื่อทำได้อย่างนี้ นี่ก็คือการสถาปนาธรรมในระยะยาว และเป็นการสถาปนาที่จะต้องทำเรื่อยไป ตั้งแต่ขณะนี้คือ สถาปนาธรรมศาสตร์ขึ้นแก่นักศึกษาทั้งหลายด้วยการศึกษา ให้รู้ให้เข้าใจวิชาการ ให้รู้ว่าธรรม ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม คืออะไร วิธีการที่จะยังธรรมให้เกิดมี และที่จะดำรงรักษาธรรมไว้ได้คืออะไร เมื่อทำได้อย่างนี้ ก็จะทำให้การสถาปนาครั้งแรก คือ การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ๔๑ ปีที่ล่วงแล้ว เป็นการสถาปนาที่มีความหมายที่แท้จริง และทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้จะต้องมีชีวิตยืนยาวอยู่เพื่อทำหน้าที่นี้ต่อไป อันจะเป็นการมีชีวิตที่มีความหมายและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และการมีชีวิตเช่นนี้ ก็คือชีวิตของการสถาปนาธรรม ทั้งในนามของคนที่ได้รับการศึกษาไปจากสถาบันแห่งนี้ และในนามของสถาบันการศึกษาเองทั้งหมดเป็นส่วนรวม ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ (หรือจะว่ามวลชนก็ได้) อย่างแท้จริงตลอดกาลนาน

บัดนี้ท่านทั้งหลายมารำลึกถึงงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เท่ากับมีโอกาสได้ทบทวนถึงความหลัง ความเป็นมาเป็นไป ในการที่ได้พยายามช่วยกันสถาปนาธรรมศาสตร์ให้เกิดมีขึ้นแก่นักศึกษาทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม เราทั้งหลายยังมีภารกิจอีกมากมายที่จะต้องทำต่อเนื่องไปตลอดกาลนาน คือ การสถาปนาธรรมศาสตร์ให้เกิดมีขึ้นแก่นักศึกษารุ่นต่อๆ ไป พร้อมทั้งการพยายามสถาปนาธรรมและดำรงรักษาธรรมให้ยั่งยืนอยู่ตลอดไปในสังคม ภารกิจนี้จะสำเร็จลุล่วงได้ ก็ด้วยอาศัยปัญญาที่ดำเนินไปโดยถูกวิธี ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในเมื่อท่านทั้งหลายมีความปรารถนาดีได้มาร่วมพิธีอันเป็นมงคลเช่นนี้ อาตมภาพก็ขอร่วมจิตอนุโมทนา และขออำนวยพรแด่ท่านทั้งหลาย ด้วยอำนาจการกระทำความดี คือกรรมดีของท่านทั้งหลาย ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตามนั้นเอง จะเป็นมงคลที่นำความสุขความเจริญมาให้แก่ท่านทั้งหลาย อาศัยกรรมดีงามและความเชื่อถือที่ดีงามของท่านทั้งหลายนี้ ขอตั้งจิตอธิษฐานอำนวยพรแด่ท่านทั้งหลาย

ขอให้ทุกท่านประสบแต่จตุรพิธพร คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณ คุณสารสมบัติทุกประการ จงเป็นผู้ประกอบด้วยสุขภาพพลานามัย มีความแข็งแรงทั้งทางกายและทางสติปัญญา มีความคิดปลอดโปร่งผ่องใส เพื่อดำเนินการศึกษาให้เกิดปัญญาที่ถูกต้อง จะได้สถาปนาธรรมศาสตร์ให้มีขึ้นในตน และช่วยกันสถาปนาธรรมให้เกิดมีและยืนยงอยู่ในสังคม เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ชั่วกาลนาน ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในภารกิจอันสำคัญนี้โดยทั่วกัน เทอญ.

หมายเหตุ : ปาฐกถาธรรมเนื่องในวันธรรมศาสตร์ แสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๑๘ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ "ลักษณะสังคมพุทธ" สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๗

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง