หนังสือ "เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์" นี้ เดิมมีเฉพาะส่วนที่เป็นคำให้สัมภาษณ์และคำตอบชี้แจง ซึ่งได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปีเศษมาแล้ว ต่อมาในช่วงใกล้ปีใหม่ ๒๕๓๓ นี้ ได้มีพุทธศาสนิกชนบางท่าน เห็นว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังอยู่ในวงแคบ จึงได้ขอพิมพ์แจกให้กว้างขวางออกไป และเนื่องจากในช่วงเวลานั้น ทางสันติอโศกได้พิมพ์หนังสือประเภทที่สร้างความเข้าใจผิด ต่อพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงได้นำเอาบทความพิเศษเรื่องโพธิรักษ์ทำผิดอะไร รวมเข้าในการพิมพ์ครั้งใหม่นั้นด้วย
ในระยะเวลาเดียวกันนั้น มูลนิธิพุทธธรรม ได้แจ้งความประสงค์จะขอพิมพ์หนังสือ "เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์" ขึ้นเผยแพร่ด้วย ครั้งนั้นผู้เขียนได้ผัดไว้ว่าจะขอปรับข้อความเล็กน้อยแห่งหนึ่ง ประมาณ ๔-๕ บรรทัด ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก่อน แต่เนื่องจากงานด้านอื่นที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ ยังคั่งค้างต้องเร่งรัดจัดทำเป็นอันมาก ผู้เขียนจึงไม่อาจให้ความเอาใจใส่แก่งานด้านแก้ปัญหาอย่างนี้ได้ จนบัดนี้ เวลาได้ผ่านล่วงไปถึงประมาณ ๗ เดือนแล้ว ทางมูลนิธิพุทธธรรมก็ได้ทวงและเร่งเร้ามากขึ้น ผู้เขียนจึงได้ปลีกเวลามาปรับปรุงต้นฉบับหนังสือนี้ ให้แก่มูลนิธิพุทธธรรม
อย่างไรก็ตาม กว่ามูลนิธิพุทธธรรมจะได้ต้นฉบับหนังสือนี้ไปพิมพ์ ทางสันติอโศกก็ได้พิมพ์หนังสือที่สร้างความเข้าใจสับสนไขว้เขว ต่อหลักการของพระพุทธศาสนา อย่างที่เรียกว่าทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ขึ้นเผยแพร่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย รวมทั้งหนังสือชื่อ "วิเคราะห์พระเทพเวที กรณีโพธิรักษ์" โดย ว. ชัยภัค ซึ่งยกเอาการโจมตีบุคคลขึ้นเป็นจุดเด่น แต่ที่จริงเรื่องบุคคลที่ยกขึ้นมาพูดมากมายนั้นเป็นเพียงฉาก ซึ่งยกขึ้นมาตั้งเป็นเครื่องกำบังการกระทำ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้ของพวกตน คือ การมุ่งหน้าเดินงานบิดเบือนหลักการของพระพุทธศาสนาต่อไป และพยายามกระทำอย่างนั้นให้ได้ผลในทางที่ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่น่ารังเกียจไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือการยืนหยัดในการสร้างหลักฐานเท็จเพิ่มขึ้น ด้วยการนำข้อความในพระไตรปิฎกไปอ้างให้ผิดเพี้ยน คลาดเคลื่อนหรือด้วยวิธีอำพราง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งต่อหลักการของพระพุทธศาสนา และต่อคัมภีร์พระพุทธศาสนา
ท่านที่หวังดีบางท่านอ่านหนังสือนั้นแล้ว ได้มาแสดงความเป็นห่วงต่อผู้เขียน และกระตือรือร้นที่จะทำการตอบโต้อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้เขียนจึงได้ชี้แจงให้มองเห็นเป้าหมายที่แท้จริงของหนังสือนั้น เพื่อไม่ให้หลงประเด็น และให้เห็นว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตัวพระเทพเวที แต่คือเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ หลักการที่เรียกว่าพระธรรมวินัย สิ่งที่จะต้องช่วยกัน ไม่ใช่การปกป้องพระเทพเวที แต่จะต้องศึกษาให้รู้เท่าทันว่า ท่านโพธิรักษ์และคณะของท่านดำเนินวิธีการปลอมแปลง และปลอมปนคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่เรียกว่า ก่อปรัปวาทอย่างไร และเมื่อรู้เท่าทันแล้ว ชาวพุทธจะช่วยกันปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาในด้านเนื้อหา หรือหลักการไว้ได้อย่างไร สำหรับกรณีโพธิรักษ์นี้ การสร้างความรู้ความเข้าใจยังคงเป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อผู้เขียนชี้แจงสร้างความเข้าใจไป ก็กลายเป็นว่าได้มีข้อเขียนขึ้นอีกชิ้นหนึ่งชื่อว่า "วิเคราะห์พระเทพเวที" บทพิสูจน์ขบวนการโพธิรักษ์
เมื่อการพิมพ์หนังสือ "เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์" ของมูลนิธิพุทธธรรม ได้ล่าช้ามาจนถึงช่วงเวลานี้แล้ว ก็เห็นว่าควรจะทำให้หนังสือนี้มีเนื้อหาที่ทันต่อเหตุการณ์ และช่วยให้ผู้อ่านรู้เท่าทันการกระทำของท่านโพธิรักษ์พร้อมทั้งคณะของท่าน ที่ดำเนินต่อมาในก้าวใหม่ๆ ด้วย จึงได้นำเนื้อหาสั้นๆ มาเพิ่มไว้ด้วย ๒ แห่ง คือ
- หน้า ๕๖-๕๙ หมายเหตุ: ข่าวคืบหน้า - หลักฐานเท็จ "พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์" (ต่อท้าย บทความพิเศษ: โพธิรักษ์ทำผิดอะไร)
- หน้า ๙๕-๑๐๖ เรื่องล่าสุด: เนื้อแท้ของปัญหาโพธิรักษ์ หรือบทพิสูจน์ขบวนการสันติอโศก (ตัดตอนจากหนังสือเล่มใหม่ "วิเคราะห์พระเทพเวที" บทพิสูจน์ขบวนการโพธิรักษ์)
อนึ่ง ในระยะนี้ มีข่าวร้ายในวงการพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นบ่อยมาก เป็นเหมือนดังคลื่นใหญ่ที่โถมเข้ามาซัดกระแทกฝั่งตลิ่งแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะข่าวที่ปรากฏที่โน่นที่นี่เป็นระยะๆ ไม่ขาดสาย เกี่ยวกับคนซึ่งครองเพศพระภิกษุ ทำการชั่วร้ายเลวทรามลวงโลก อย่างที่เรียกรวมๆ ว่า ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย
พฤติการณ์ของภิกษุชั่วทราม ที่ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยเหล่านี้ก็ตาม พฤติการณ์ของผู้ทำพระธรรมวินัยให้วิปริตอย่างกลุ่มของท่านโพธิรักษ์นี้ก็ตาม ล้วนเป็นภัยร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น โดยเฉพาะ มาประดังเกิดขึ้นทั้งสองอย่างในช่วงเวลาร่วมสมัยกันนี้ เหมือนดังว่าคนทั้งสองพวกนั้นสมคบกันมุ่งเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ ก็เป็นเครื่องฟ้องหรือส่อแสดงถึงความเสื่อมโทรมที่ได้เป็นมา และความย่อหย่อนอ่อนแอที่เป็นไปอยู่ ในวงการและในการดำเนินกิจการพระพุทธศาสนา
พวกที่ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งทำร้ายต่อหลักการของพระพุทธศาสนาโดยตรง มักลอบทำการอย่างล้ำลึก หลอกให้คนตายใจได้ง่าย ถ้าไม่สังเกตหรือไม่รู้เท่าทัน ก็มองไม่เห็น จึงจำเป็นต้องเน้นในด้านการชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจกันมาก ว่าเขาทำอะไรอยู่ และสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความชั่วร้ายเสียหายอย่างไร ส่วนพวกประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย พฤติกรรมชั่วร้ายปรากฏออกมาภายนอก คนทั่วไปมองเห็นได้อยู่แล้วว่าเสียหายชั่วร้ายอย่างไร จึงไม่ต้องมาเสียเวลาชี้แจงอธิบายสร้างความรู้ความเข้าใจกันอีก แต่ก็ต้องเอาใจใส่ในแง่ที่ว่า จะช่วยกันกระตุ้นเร่งเร้าให้มีการจัดการแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา ก็คือจิตสำนึกและท่าทีแห่งความรู้สึกของชาวพุทธต่อพระพุทธศาสนา ชาวพุทธทุกคนจะต้องมีความรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติร่วมกัน ของพุทธบริษัททุกคน จะต้องไม่มองเห็นตนเองเป็นคนนอก แล้วเข้าใจผิดว่า พระภิกษุเป็นตัวพระพุทธศาสนาหรือเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ยิ่งภิกษุที่ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย หรือทำพระธรรมวินัยให้วิปริตด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาได้เลย เพราะถ้าเขามองเห็นพระพุทธศาสนา เป็นสมบัติที่มีค่าของเขาแล้ว เขาจะต้องไม่ทำกับพระพุทธศาสนาอย่างนั้น เขาเป็นคนร้าย ที่ลักลอบทำลายทรัพย์สมบัติของชาวพุทธต่างหาก ชาวพุทธจะต้องมองว่าคนทั้งสองพวกนั้น เป็นคนร้ายที่แอบแฝงเข้ามาทำลายสมบัติส่วนรวมของชาวพุทธทุกคน ชาวพุทธจะต้องไม่ยกสมบัติคือ พระพุทธศาสนาให้แก่คนร้ายเหล่านั้นไปเสีย แต่จะต้องช่วยกันป้องกันแก้ไขขับไล่คนร้ายเหล่านั้นออกไป
ขออนุโมทนากุศลเจตนา ของมูลนิธิพุทธธรรม ในการบำเพ็ญประโยชน์ ทางด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน และรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาครั้งนี้ ขอกุศลกิจที่ได้บำเพ็ญแล้วนั้น จงสัมฤทธิ์ผลในการเสริมสร้างสัมมาทัศนะ ให้แผ่ขยายออกไปในหมู่ประชาชน และเป็นส่วนช่วยเกื้อหนุนให้ธรรมวินัยที่บริสุทธิ์ ดำรงมั่น ตลอดกาลนาน
พระเทพเวที
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๓
ข้อเขียนนี้ มุ่งเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน และขอร้องให้ท่านโพธิรักษ์เห็นแก่พระพุทธศาสนา รักษาหลักการแห่งพระธรรมวินัย และแสดงความซื่อตรงต่อความจริง อันจะนำไปสู่ประโยชน์แห่งพระศาสนาและสันติสุขของสังคม จึงไม่หวงห้ามที่ผู้ใดจะนำไปพิมพ์เผยแพร่ เพียงแต่ขอให้จัดทำในรูปลักษณะที่สุภาพ และรักษาคำความให้ตรงตามฉบับเดิมโดยเคร่งครัด
ผู้เขียน
บทความพิเศษ
เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์
ปัญหาโพธิรักษ์ แม้จะเกิดขึ้นนานแล้ว และพูดถึงกันบ่อยๆ แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยเข้าใจเรื่องราวผิดพลาดสับสนไม่ชัดเจน เช่น ในระยะหลังนี้ มีบางเสียงพูดทำนองว่า ให้จับโพธิรักษ์เพราะแปลบาลีผิดบ้าง ให้โพธิรักษ์สึกเพราะตีความธรรมวินัยแตกต่างออกไปบ้าง คำพูดเหล่านี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทั้งสิ้น การที่มีคนเข้าใจผิดอย่างนั้น ก็เนื่องจากเรื่องโพธิรักษ์เป็นปัญหาที่ซับซ้อน มีการทำความผิดหลายด้าน และได้มีการพยายามกลบเกลื่อนเรื่อง โดยเฉพาะเอกสารที่สันติอโศกพิมพ์ออกเผยแพร่ จะพยายามพูดไปในเชิงที่จะให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างนั้น ทำให้คนจำนวนมากที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องให้ชัดเจน และไม่รู้หลักพระศาสนา พากันเข้าใจคลาดเคลื่อนสับสนหลงประเด็น จึงควรจะชี้แจงให้เข้าใจความจริง
ความผิดที่โพธิรักษ์ได้กระทำไว้ แยกได้เป็น ๓ ด้าน
๑) การทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง
๒) การประพฤติผิดวินัยของสงฆ์
๓) การทำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ผิดเพี้ยน หรือ ลบล้างดัดแปลงพระธรรมวินัย
การที่โพธิรักษ์ถูกจับดำเนินคดีต่างๆ นั้น เป็นเพราะการทำความผิดในข้อ ๑) และข้อ ๒) คือ ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง และประพฤติผิดวินัยของสงฆ์ ส่วนการทำความผิดในข้อ ๓) ขณะนี้ยังไม่มีใครยกขึ้นใช้เป็นเหตุสำหรับดำเนินการอะไรกับท่าน มีแต่เพียงยกขึ้นมาประกอบการพิจารณาในบางครั้งเพื่อดูเจตนาในการทำความผิดข้อ ๑) และ ๒)
สำหรับการทำความผิดในข้อที่ ๓) นั้น มีแต่การชี้แจงให้ประชาชนรู้และเข้าใจความจริง เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนเสียหายต่อหลักการ ที่เป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธทุกคนนับถือร่วมกัน และขอร้องให้โพธิรักษ์เห็นแก่พระพุทธศาสนา และแสดงความซื่อตรงต่อความจริงว่า เมื่อตนไม่ถือตามหลักการของพระพุทธศาสนา และสั่งสอนสิ่งที่ขัดแย้งนอกหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ควรจะสละรูปแบบของพระพุทธศาสนา ออกไปสั่งสอนแสดงลัทธิของตนที่ภายนอก
ในความผิด ๓ อย่างของท่านโพธิรักษ์นั้น การทำความผิด ๒ อย่างแรก มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว คือ
๑. การทำผิดกฎหมายบ้านเมือง คือการละเมิดกฎหมายของรัฐ เช่น การตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์บวชพระเอาเอง โดยไม่ได้รับการแต่งตั้ง การอยู่เป็นพระภิกษุโดยไม่สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง การตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นมาเองโดยไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย การตั้งตัวเป็นเจ้าสำนักเองโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบ ตลอดจนประกาศไม่ยอมขึ้นต่อกฎหมายบ้านเมือง ที่รัฐตราขึ้นสำหรับปกครองพระสงฆ์ไทยทั่วประเทศ การทำความผิดสถานนี้เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานตามกฎหมายจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ที่กฎหมายนั้นได้กำหนดไว้
๒. การประพฤติผิดวินัยของสงฆ์ คือการละเมิดพระวินัยบัญญัติ หรือละเมิดพุทธบัญญัติในพระวินัย สำหรับการทำความผิดในข้อนี้ ขั้นแรกเป็นเรื่องของพระภิกษุผู้กระทำผิดเองที่จะแสดงความผิดของตน และรับการลงโทษตามที่กำหนดไว้ในพระวินัย แต่ถ้าภิกษุผู้กระทำผิดนั้นปกปิดหรือไม่ยอมรับผิด พระภิกษุรูปอื่นตลอดขึ้นไปถึงสงฆ์ส่วนรวมจะหยิบยกเรื่องขึ้นพิจารณาดำเนินการให้มีการลงโทษ หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามวิธีการของพระวินัย นอกจากนี้ ในหลายกรณี กฎหมายบ้านเมืองที่ได้ตราขึ้นไว้เพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนา และรักษาสันติสุขของสังคม ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ ให้เจ้าหน้าที่ปกครองสงฆ์และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองสามารถดำเนินการลงโทษภิกษุ ที่กระทำความผิดหรือประพฤติเสื่อมเสีย เพื่อช่วยให้การรักษาพระวินัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ผลรัดกุมยิ่งขึ้น เช่น ภิกษุดื่มสุราเป็นอาจิณ ภิกษุที่เที่ยวออกเรี่ยไร และภิกษุที่มีพฤติกรรมในทางหลอกลวงประชาชน แม้จะเอาผิดทางพระวินัยได้ไม่มาก ก็อาจถูกจับสึกเสียได้ ดังจะเห็นว่า ในสมัยใดเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองเข้มแข็ง เอาใจใส่ต่อหน้าที่ พระภิกษุที่ประพฤติเช่นนี้จะเบาบางหรือเงียบหายไป
การดำเนินคดีกับโพธิรักษ์ ตลอดจนให้สึกและจับกุม เป็นการปฏิบัติต่อการกระทำผิด ๒ ข้อแรกนี้ โดยเฉพาะข้อ ๒) องค์กรที่ปกครองสงฆ์คือมหาเถรสมาคม อ้างการทำความผิดในข้ออวดอุตริมนุสธรรมเป็นอาจิณ ซึ่งการที่ได้กระทำอาจเป็นความผิดถึงขั้นปาราชิกแล้ว หรือไม่ก็เป็นการหมิ่นเหม่ต่ออาบัติปาราชิก จึงวินิจฉัยให้สึก โดยพิจารณาประกอบกับพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และการปฏิบัติคลาดเคลื่อนทางพระธรรมวินัยอื่นๆ ซึ่งมิใช่วิสัยของผู้ที่เป็นอริยะหรือบรรลุอุตริมนุสธรรมจริง
การดำเนินการกับโพธิรักษ์ใน ๒ ข้อนี้เป็นเรื่องของผู้ปกครองทั้งฝ่ายสงฆ์และบ้านเมือง ตั้งแต่มหาเถรสมาคมจนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใครจะสนใจเกี่ยวข้องก็มีสิทธิตามขอบเขตของกฎหมายและความพอใจของตน พร้อมทั้งความรู้สึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม ซึ่งในฐานะชาวพุทธ ควรสนใจตามควร ต่อเรื่องใดก็ตามที่กระทบต่อพระพุทธศาสนา เพียงแต่อาจไม่แสดงออก เพราะมีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว
การดำเนินการกับโพธิรักษ์ และเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นไปในขอบเขตของความผิด ๒ ข้อนี้ เรียกได้ว่าเป็นกรณีระหว่างโพธิรักษ์ กับมหาเถรสมาคมและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่ถ้าจะให้ถูกต้องแท้ๆ ต้องเรียกว่า ปัญหาโพธิรักษ์ที่เป็นกรณีสำหรับมหาเถรสมาคมและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
ส่วนการทำความผิดด้านที่ ๓) เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของชาวพุทธทุกคน เพราะเป็นการกระทำผิดต่อหลักการหรือเนื้อตัวของพระศาสนา ดังจะเห็นได้จากลักษณะการกระทำความผิด คือ
๓. การทำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ผิดเพี้ยน โดยลบล้างดัดแปลงและบิดเบือนพุทธพจน์หรือพุทธบัญญัติ หรือ นำคำสอนของลัทธิศาสนาภายนอก มาสอนปนปลอมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนตั้งบัญญัติของตนขึ้นใหม่ซ้อนทับแทนบัญญัติในพระไตรปิฎก อย่างที่เรียกว่าทำพระธรรมวินัยให้วิปริต หรือพูดด้วยภาษาง่ายๆ ว่า ทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งก็เท่ากับเป็นการทำลายพระพุทธศาสนานั่นเอง
การทำความผิดในข้อนี้ แม้จะมีพระวินัยบัญญัติไว้บ้าง ก็เป็นเรื่องเฉพาะบางแง่บางลักษณะ (เช่น มีพระวินัยบัญญัติข้อหนึ่งว่า ภิกษุคัดค้านคำสอนของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวไม่ฟัง สงฆ์สวดประกาศห้าม ๓ ครั้ง ไม่สละความเห็นนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์) เพราะการทำความผิดประเภทนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมีแง่มุมมาก อาจออกมาในหลายรูปแบบ บางครั้งก็ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในหลักการของพระพุทธศาสนามากพอสมควร จึงจะแยกแยะวินิจฉัยได้ แต่ก็ถือกันเป็นหลักทั่วไปว่า ชาวพุทธทุกคน โดยเฉพาะพระสงฆ์ จะต้องเอาใจใส่ป้องกันแก้ไขภัยอันตรายต่อพระธรรมวินัย และรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุด ดังที่ปรากฏว่าเมื่อมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนต่อพระธรรมวินัย มีผู้นำลัทธินอกพระศาสนาเข้ามาสอนปลอมปน ก็ได้มีการประชุมสงฆ์ทำสังคายนา ทำนองเดียวกับเมื่อมีการประพฤติย่อหย่อน คลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย ซึ่งจะต้องชำระสะสาง
ว่าที่จริง การช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยอย่างนี้ ถึงแม้สมมติว่าจะไม่มีพุทธดำรัสสั่งหรือแนะนำไว้ ก็ย่อมเป็นหน้าที่ของชาวพุทธทุกคนที่จะต้องเอาใจใส่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่เอาใจใส่รับผิดชอบกันอย่างนี้ พระศาสนาก็ยืนยงคงอยู่ไม่ได้ ผู้ที่รักพระศาสนาก็จึงต้องรักษาพระศาสนาไว้ ผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคม ก็ต้องรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม แต่นี่มีพุทธพจน์ตรัสกำชับไว้ด้วยซ้ำ และถึงกับทรงวางเป็นเงื่อนไขทีเดียวว่า ชาวพุทธทุกฝ่ายในบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม จะต้องรู้เข้าใจพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี พร้อมที่จะชี้แจงแก้ไขกำราบลัทธิภายนอกที่แปลกปลอมเข้ามา (ปรัปวาท) ให้สำเร็จโดยชอบธรรมได้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน (ดู ที.ม.๑๐/๙๕/๑๒๒)
การดัดแปลงบิดเบือนพุทธพจน์ หรือนำไปอ้างให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และการใช้ความเท็จ ชักจูงประชาชนให้เข้าใจผิดนั้น ไม่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้นที่จะต้องเอาใจใส่ แต่เป็นเรื่องซึ่งผู้ที่รักความจริง หรือผู้รักสัจจะทุกคนจะต้องสนใจช่วยกันแก้ไข ประชาชนควรรู้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ควรเข้าถึงสาระของข่าวสาร และข้อนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของเอกสารนี้
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ การทำความผิดของโพธิรักษ์ต่อพระธรรมวินัย และความผิดต่อความจริงในข้อ ๓) นี้ จึงเป็นกรณีระหว่างโพธิรักษ์กับชาวพุทธ และผู้รักความจริงทุกคน หรือพูดให้เข้าหลักขึ้นอีกว่า เป็นกรณีสำหรับชาวพุทธและผู้รักความจริงทุกคน
บางคนพูดทำนองว่า โพธิรักษ์ถูกกล่าวหาว่าตีความธรรมวินัยผิด โพธิรักษ์ควรมีสิทธิตีความธรรมวินัยอย่างอิสระ ดังนั้น ผู้ที่กล่าวหาว่าโพธิรักษ์ตีความธรรมวินัยผิด จึงกระทำไม่ถูกต้อง
จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ประการแรก การทำความผิดต่อพระธรรมวินัยและการแสดงความเท็จต่างๆ ในกรณีของโพธิรักษ์นี้ ว่าโดยหลักใหญ่แล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องการตีความพระธรรมวินัย แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจผิดหรือกล่าวความเท็จเกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำ เป็นความผิดในเรื่องภาษา ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการตีความอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็เป็นการบิดเบือนพุทธพจน์ บัญญัติลบล้างหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นขั้นที่เลยการตีความไปแล้ว
ประการที่สอง ในบางกรณีที่เป็นการตีความพระธรรมวินัย การตีความของโพธิรักษ์จะเป็นปัญหาในเมื่อไม่ใช่เป็นการตีความโดยอิสระ คือท่านทำเกินเลยของเขตของการตีความโดยอิสระไป กลายเป็นตีความตามใจชอบ และที่ร้ายอย่างยิ่งคือ บอกว่าตีความ แต่ที่จริงไม่ใช่เป็นการตีความเลย กลายเป็นการบัญญัติหลักการใหม่ๆ ของท่านเอง หรือบัญญัติหลักการนอกพระพุทธศาสนา เข้ามาล้มล้างหลักการเดิมของพระพุทธศาสนา เข้าทำนองที่ว่า เอาคำว่าตีความบังหน้า แต่ที่จริงคือกำลังดัดแปลงทำร้ายพระพุทธศาสนา
การพูดอย่างนี้ มิใช่เป็นการกล่าวหา หรือเป็นการพูดจารุนแรงอะไรเลย ผู้ที่มีใจเป็นธรรม วางใจเป็นกลาง ไม่ด่วนมองแง่ร้าย แล้วศึกษาเรื่องให้ชัดเจน จะมองเห็นความจริงอย่างนั้น และจะมองเห็นตระหนักด้วยว่า ไม่ว่าท่านโพธิรักษ์จะทำความผิดอย่างนั้น ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ด้วยความหลงผิด หรือด้วยมีเจตนาแอบแฝงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ผลเสียหายย่อมเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง และเป็นความไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน เรื่องที่จะต้องค้นหาความจริงกันต่อไปก็คือ ท่านทำอย่างนั้น ด้วยความไม่รู้และหลงผิด หรือทำด้วยมีเจตนาร้ายซ่อนเร้น เพื่อวัตถุประสงค์พิเศษอะไร
ในแง่ที่ ๑ ที่ว่าการกระทำของโพธิรักษ์ เป็นเรื่องของความไม่รู้ไม่เข้าใจความหมายของถ้อยคำ แล้วก็คิดอธิบายแสดงความหมายเอาเอง กลายเป็นความผิดความเท็จเกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำ ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการตีความนั้น ในแง่นี้ ท่านโพธิรักษ์ดูจะชอบอธิบายคำศัพท์ธรรมที่มาจากภาษาบาลี ทั้งๆ ที่ท่านไม่มีความรู้ในเรื่องภาษาบาลี โดยเฉพาะในระยะออกสั่งสอนใหม่ๆ พอพูดถึงคำศัพท์อะไรที่ดูน่าจะสำคัญ ก็จะเอาศัพท์นั้นมาแยกแยะวิเคราะห์ แสดงรากศัพท์ แล้วอธิบายเป็นเรื่องเป็นราว แต่ทั้งการแยกแยะวิเคราะห์รากศัพท์ในทางไวยากรณ์ก็ผิด ความหมายที่อธิบายก็ผิด
คำศัพท์บางคำ เป็นคำเดียวกันแต่มีรูปแตกต่างกันไปเพียงเพราะการแปลงรูปตามหลักภาษา เมื่อเปลี่ยนหน้าที่ในประโยค (เช่น รูปที่เป็นนาม กับรูปที่เป็นคุณศัพท์ หรือรูปกริยาที่เป็นอดีต กับรูปกริยาที่เป็นปัจจุบัน ฯลฯ) ไม่ใช่เรื่องของการที่จะต้องค้นหารากศัพท์ ท่านก็เข้าใจว่าเป็นคนละคำซึ่งทำหน้าที่ในประโยคอย่างเดียวกัน แล้วแสดงรากศัพท์ไปคนละอย่าง ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่น่ากระทำเลย เพราะผู้ทำย่อมรู้ตัวว่าตนไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น คือทำไปทั้งๆ ที่รู้ว่าตนไม่รู้ เรียกได้ว่าเป็นการกระทำอย่างขาดความรับผิดชอบ เพราะจะทำให้ชาวบ้านที่ไม่รู้ในเรื่องภาษา เมื่อเชื่อถือแล้วก็หลงจำผิดเข้าใจผิดถือตามไป ต่อไปคนเหล่านั้นก็อาจจะนำความรู้ที่ผิดนั้นไปสอน ไปบอกคนรุ่นหลังบ้าง เอาไปเถียงกับคนอื่นบ้าง ทำให้เกิดความยุ่งยากสับสน แก้ไขยาก
ถ้าท่านโพธิรักษ์ เป็นพระหลวงตาบ้านนอกองค์หนึ่ง การกระทำอย่างนี้ก็เป็นเพียงเรื่องน่าขำ ที่พบเห็นแล้วก็ผ่านเลยไป แต่ในเมื่อท่านเป็นหัวหน้าหมู่คณะ มีคนเชื่อถือตามกลุ่มใหญ่ และมีการเผยแพร่คำสอนของตนอย่างมากมาย ความสับสนไขว้เขว ย่อมก่อให้เกิดผลเสียแก่พระศาสนาส่วนรวมได้มาก ความหมายของข้อธรรมต่างๆ จะวิปริตผิดเพี้ยน จึงต้องถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกัน และชี้แจงให้ประชาชนรู้ความจริง
ต่อมา มีผู้รู้ภาษาบาลีบางท่านทักท้วงขึ้น ดูเหมือนว่าบางครั้งท่านก็รับฟังดี และแสดงท่าทีว่ายอมรับผิด แต่แล้ว ซ้อนๆ กันนั้น ท่านก็อ้างว่า ความหมายของคำบาลีเหล่านั้น ท่านรู้ด้วยญาณ โดยที่ท่านเป็นอริยะ เมื่อเป็นการรู้ด้วยญาณ ก็เป็นอันผิดไม่ได้ ความหมายที่ท่านอธิบายก็กลายเป็นว่า จะต้องถูกต้องยิ่งกว่าความรู้ของผู้รู้ภาษาบาลีขึ้นไปอีก ท่าทีในเรื่องนี้ของท่านดูย้อนไปย้อนมา ขัดกันอยู่ในตัว แต่ทีนี้ คำศัพท์ที่ท่านนำมาแยกแยะแสดงรากศัพท์อธิบาย โดยบอกว่ารู้ด้วยญาณนั้น หลายคำก็เป็นคำธรรมดาสามัญในภาษาเดิมของเขา ซึ่งคนธรรมดาสามัญที่ใช้ภาษานั้นเขารู้อยู่ตามปกติธรรมดาโดยไม่ต้องใช้ญาณ แล้วก็ปรากฏว่า ความหมายที่ท่านว่าท่านรู้ด้วยญาณนั้น เป็นความหมายที่ผิด ซึ่งคนธรรมดาก็รู้ว่าผิดโดยไม่ต้องใช้ญาณ ท่านก็จะต้องเกณฑ์ให้ความรู้สามัญของเขานั้นผิด เพื่อรักษาญาณของท่านให้ถูกให้ได้ (บางครั้งก็รับว่าผิด แต่แล้วก็ไม่ยอมรับ)
กรณีของท่านโพธิรักษ์ในเรื่องนี้ ไม่ควรให้เป็นอย่างเรื่องเปรียบเทียบที่ว่า มีฝรั่งคนหนึ่ง เที่ยวพูดว่ารู้ภาษาไทยดี พบเห็นคำไทยคำไหนก็อธิบายแสดงความหมายเรื่อยไป มาเจอคำว่า ปาท่องโก๋ ก็อธิบายเสียมากมาย แต่ความหมายที่เขาอธิบายนั้น กลายเป็นเรื่องของปลาท้องโต พอมีคนไทยทักท้วงขึ้น ชี้ให้ดูปาท่องโก๋อย่างที่คนไทยเรียกกัน ฝรั่งนั้นก็บอกว่า นี่แหละๆ มันถูกน้ำมันร้อนเข้าก็พองเหมือนปลาท้องโต
ท่านโพธิรักษ์แยกแยะวิเคราะห์รากศัพท์ และแสดงความหมายของคำศัพท์ทางธรรมไว้มากมาย โดยเฉพาะใน "ทางเอก" ซึ่งเป็นตำราขนาดใหญ่ ๓ เล่มจบ จะยกตัวอย่างมาพอให้เห็นลักษณะการกระทำของท่าน
- ท่านโพธิรักษ์ว่า "พหุสุต นั้นมันรู้มาก แบบฟังมามากเท่านั้น จำได้มาก ท่องได้มาก" ส่วน "พหุสัจจะหรือพาหุสัจจะ นี้ จึงมีความหมายว่า ผู้รู้ในสัจจะมากขึ้น แทงทะลุในสัจธรรม ทั้งหลายมากยิ่งขึ้นไป ให้ได้เรื่อยๆ" (ทางเอก ภาค ๒ หน้า ๓)
การวิเคราะห์และให้ความหมายอย่างนี้ บ่งอยู่ในตัวว่าท่านโพธิรักษ์ได้รู้เห็นอยู่อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่า พหุ หรือ พหู แปลว่า มาก เช่น ในคำว่า พหุพจน์ หรือ พหูพจน์ เมื่อท่านมาเห็น พหุสุต กับ พหุสัจจะ หรือ พาหุสัจจะ (ความจริงพหุสัจจะไม่มี เป็นคำคลาดเคลื่อนเขียนไม่ถูกต้อง รูปที่ถูกเป็นพาหุสัจจะ ท่านโพธิรักษ์พูดไว้ปนกันทั้งสองคำ ทำนองว่าใช้คำไหนก็ได้) ท่านเข้าใจว่าเป็นคำคนละคำต่างกัน คือเข้าใจว่า พหุสุต เป็น พหุ(มาก) กับ สุต(ได้ยิน, ได้ฟัง) จึงให้ความหมายว่า ได้ยินได้ฟังมาก และ พหุสัจจะ เป็น พหุ(มาก) กับ สัจจะ (สัจจะ, ความจริง, สัจธรรม) จึงให้ความหมายว่า รู้ในสัจจะมากขึ้น
ความเข้าใจผิดของท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ มีประเด็นสำคัญ ๒ ประการ คือ
๑) ท่านเข้าใจว่า คำว่า "สัจจะ" ในที่นี้ ก็คือคำว่า สัจจะ ที่แปลว่า ความจริง หรือ สัจธรรม เหมือนอย่างที่ท่านเคยเห็นบ่อยๆ
๒) เมื่อเข้าใจผิดอย่างนั้นแล้ว ท่านก็เลยเข้าใจผิด ต่อไปอีกว่า พหุสุต กับ พหุสัจจะ หรือ พาหุสัจจะ เป็นคำแสดงคุณสมบัติต่างกัน เหมือนกับว่าพูดถึงคุณสมบัติของคนสองคน เอามาเปรียบเทียบกัน (ว่าคนที่เป็นพหุสุต แค่ฟังมามาก แต่คนที่เป็นพหุสัจจะนั้น รู้ในสัจจะมากขึ้น)
แต่ตามที่ถูกที่จริงนั้น "สัจจะ" ในที่นี้ เป็นคนละคำต่างกับ สัจจะ ที่แปลว่า ความจริง เป็นแต่เพียงมีรูปร่างพ้องกัน เท่านั้น "สัจจะ" ในที่นี้ เกิดจากการแปลงรูปของ "สุต" เมื่อเปลี่ยนหน้าที่ในประโยค คือ พาหุสัจจะ เป็นการแปลงรูปของพหุสุตนั่นเอง เมื่อเปลี่ยนจากคำคุณศัพท์มาเป็นคำนาม หมายความว่า พหุสุต (ไทยเขียนพหูสูต) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ผู้ได้ยินได้ฟังมาก พาหุสัจจะ (พหุสัจจะ) เป็นคำนาม แปลว่า ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก พูดง่ายๆ ว่า พาหุสัจจะ ก็คือ ความเป็นพหุสุตนั่นเอง
พหุสุต กับ พหุสัจจะ (พาหุสัจจะ) ไม่ใช่คำแสดงคุณสมบัติที่แตกต่างกันของคนสองคน ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกัน แต่เป็นคำสองคำที่กล่าวถึงคุณสมบัติของบุคคลเดียวกัน เมื่อพูดว่าเขาเก่ง เขาได้เล่าเรียนได้ยินได้ฟังมาก ก็ใช้คำว่า พหุสุต เมื่อพูดถึงความเก่งของเขา พูดถึงภาวะที่เขาเป็นคนที่ได้เล่าเรียนได้ยินได้ฟังมาก ก็ใช้คำว่า พาหุสัจจะ คนเป็นพหุสุตได้ แต่คนเป็นพาหุสัจจะไม่ได้ มีแต่คนที่เป็นพหุสุต (พหูสูต) แต่คนที่เป็นพาหุสัจจะไม่มี เพราะพาหุสัจจะก็คือความเป็นพหุสุตนั่นเอง
พหุสุต กับ พาหุสัจจะ เป็นคำศัพท์เดียวกันแต่ต่างรูป เพราะแปลงรูปไปตามการเปลี่ยนหน้าที่ในประโยค ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปแยกแยะวิเคราะห์ค้นหารากศัพท์ ว่าต่างกันอย่างไร เพราะรากศัพท์เป็นคำเดียวกันอยู่แล้ว
เหมือนกับคนไทยที่พอจะรู้จักคำภาษาอังกฤษ "city" ว่าแปลว่า เมือง พอไปเห็น city อยู่ที่ไหนก็จะแปลว่า เมืองไปทั้งหมด เห็น city ไปต่ออยู่ท้ายคำอะไร ก็แยกศัพท์ออกมาอธิบายให้เป็นเมืองอย่างนั้น เมืองอย่างนี้ เช่น ไปเห็น veracious กับ veracity แทนที่จะรู้ว่าทั้งสองคำมาจากรากศัพท์เดียวกัน คำหนึ่งเป็นคุณศัพท์ อีกคำหนึ่งเป็นคำนาม และ city ในที่นี้ไม่มี แต่เป็น ity ไปต่อคำที่ลงท้าย c ทำให้เห็นเป็น city เมื่อไม่รู้อย่างนี้ ก็เลยไปแยกวิเคราะห์ว่าสองคำนั้นมาจากรากศัพท์ต่างกัน เป็น vera+cious กับ vera+city แล้วหาทางแปลให้มีคำว่าเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง จนเกิดความสับสน พาคนที่ไม่รู้พลอยเข้าใจผิดไปตาม ถ้าเป็นความผิดพลาดสับสนเกี่ยวกับถ้อยคำสามัญก็จะไม่มีความสำคัญมากนัก แต่ในกรณีนี้เป็นถ้อยคำทางธรรมที่โยงไปถึงหลักการของพระศาสนา ความเข้าใจผิดพลาดสับสน จึงก่อโทษเกิดความเสียหายได้มาก
เมื่อเห็นคำศัพท์ธรรมที่มาจากภาษาบาลีคำหนึ่ง จู่ๆ ก็จะตัดแยกออกเป็นตัวๆ ตามที่คิดเอาเอง แล้วไปเปิดดูความหมายในพจนานุกรมบาลีทีละตัวๆ เอามารวมกันเข้าเป็นความหมายของคำนั้น การทำอย่างนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดความผิดพลาดสับสนได้มาก เรื่องของภาษามิใช่มีเพียงเท่านั้น จะต้องรู้เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง เช่น การแปลงรูปคำตามหน้าที่ในประโยคดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น ผู้ที่เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่พระศาสนา และเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน จึงควรกระทำด้วยความรับผิดชอบและระมัดระวัง
- "ดังนั้น คำว่า นิรุทฺธา อันมาจากคำว่า นิร+อุทธ ซึ่ง นิร ก็แปลว่า ไม่ อุทธ ก็แปลว่า อยู่เหนือ หรือเบื้องบน . . . นิรุทธ จึงได้ความชัดเจนว่า ไม่มีอะไรจะอยู่เหนือ คือไม่ถูกครอบงำ . . ." (ทางเอก ภาค ๒ หน้า ๕๖๔)
ความจริง นิรุทฺธา ไม่ใช่คำที่จะไปแยกหารากศัพท์อย่างนั้น นิรุทฺธา เป็นคำศัพท์คำเดียวกับ นิโรธ และ นิรุชฺฌติ เป็นต้น เป็นแต่เพียงแปลงรูปต่างกันออกไปตามหน้าที่ในประโยค คือ นิโรธ เป็นคำนาม นิรุชฺฌติ เป็น รูปกริยาในปัจจุบันกาล และนิรุทฺธา เป็นรูปกริยาในอดีตกาล หรือกริยาช่องสาม นิโรธ แปลว่า ความดับ นิรุชฺฌติ แปลว่า ย่อมดับ นิรุทฺธา แปลว่า ดับแล้ว คือเป็นเรื่องของการแปลงรูป เมื่อเปลี่ยนการทำหน้าที่ในประโยคเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาวิเคราะห์หารากศัพท์แต่อย่างใด (กรณีของ นิโรธ นิรุชฺฌติ และ นิรุทฺธา นี้ เทียบกับในภาษาอังกฤษ ก็เหมือนกับความแตกต่างระหว่าง choice, choose และ chosen; flight, fly, และ flown; หรือ loss, lose และ lost)
ในกรณีที่จะค้นหารากศัพท์สำหรับคำอย่างนี้ ก็ต้องมีหลักอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงว่า พอเห็น นิรุทธา ก็แยกเอาเลยตามที่คิดเอาง่ายๆ ว่า นิร+อุทธ ซึ่งจะไปขัดกับหลักภาษาในแง่อื่นๆ อีกมากมายจนเป็นไปไม่ได้ เช่นว่า นิร+อุทธ ก็เป็น นิรุทธ แล้ว สระอา มาจากไหน จึงเป็น นิรุทธา; และ นิโรธ กับ นิรุชฺฌติ ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ นิรุทธา จะมาจาก นิร+อุทธ ได้อย่างไร; นิร เป็นศัพท์ประเภทอุปสรรค ส่วนอุทธที่แปลว่าเบื้องบนนั้นจะมาเป็น อุทธา ไม่ได้ เป็นได้แต่ อุทฺธํ และเป็นศัพท์ประเภทนิบาต อุปสรรคกับนิบาตในกรณีนี้จะมารวมกันอย่างนี้ก็ไม่ได้อีก; ฯลฯ)
- "และมุทิตา นั้น รากศัพท์มาจาก มุท อันแปลว่า ความยินดี หรือมาจากคำว่า มท อีกที อันแปลว่า ความมัวเมา หรือความหลง ที่เหลืออยู่ หรือความติด . . ." (ทางเอก ภาค ๒ หน้า ๑๔๔)
มุทิตา มาจาก มุท ก็พอแล้ว การที่ว่ามาจาก มท อีกทีนั้น เป็นการคิดเอาเอง ซึ่งขัดทั้งหลักภาษา และขัดหลักธรรม ในแง่หลักภาษา มุท กับ มท ต่างก็เป็นรากศัพท์ที่เรียกว่าธาตุด้วยกัน มีฐานะเท่ากัน มุท+ต เป็น มุทิต อิตถีลิงค์เป็นมุทิตา ส่วน มท+ต เป็น มตฺต อิตถีลิงค์เป็น มตฺตา ไปกันไม่ได้ ส่วนแง่หลักธรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงมีมุทิตาธรรม แต่ไม่ได้ทรงมัวเมา หรือหลงอย่างแน่นอน
- "มันเป็นเรื่องรู้ อย่างเก่งจริงๆ แท้ๆ ของคนผู้ที่ยังไม่ตายเน่าเข้าโลงไป จึงเรียกว่า เป็นผู้มีวิชชา บ้าง . . . วิมุติ บ้าง (มุติ=รู้, วิ=ยิ่ง) . . ." (ทางเอก ภาค ๑ หน้า ๖)
วิมุติ นี้ท่านโพธิรักษ์ แปลว่ารู้ยิ่ง โดยแยกศัพท์ออกไปตามที่ท่านมองเห็นว่าเป็น วิ กับ มุติ และคงแน่ใจได้ว่า ท่านไปเปิดดูความหมายของ วิ กับ มุติ ในพจนานุกรมบาลี ทีละตัว (ไม่ควรจะอ้างเลยว่ารู้ด้วยญาณ) ซึ่งก็ให้ความหมายตรงกับที่ท่านยกมาเขียนแสดงไว้ แต่แล้วก็ไม่ถูกต้อง จุดผิดพลาด ก็คือ วิมุติ นี้เป็นคำที่นำมาใช้เขียนในภาษาไทยแล้ว ในภาษาบาลีเป็น วิมุตฺติ มี ต สองตัว ในเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย บางท่านก็ใช้วิธีลด ต เสียตัวหนึ่ง เป็นวิมุติ เช่นเดียวกับ วิชชา ที่เรามาใช้ในภาษาไทยเป็น วิชา, ปฏิปตฺติ เราใช้เป็น ปฏิบัติ, หรือแม้แต่ จิตฺต ที่ไทยปัจจุบันเขียนเป็นจิต เมื่อท่านเห็น มุติ โดยไม่ทราบว่าตัวแท้ในบาลีเป็น มุตติ ท่านก็เลยจับผิด และได้ความหมายที่ผิดมา (ที่ถูกนั้น วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น หรือพ้นวิเศษ)
(เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีไวยากรณ์ ซึ่งคล้ายกับภาษาอังกฤษในหลายๆ อย่าง และคนไทยปัจจุบันจำนวนมาก ก็รู้ภาษาอังกฤษพอเข้าใจความได้ จึงได้ยกเรื่องนี้ไปเขียนขยายเป็นบทความต่างหากอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า "โพธิรักษ์กับการตีความพระธรรมวินัย")
นอกจากวิเคราะห์แยกแยะ แสดงรากศัพท์ภาษาบาลีอย่างมากมาย ทั้งอรหัตต์ อรหันต์ อุเบกขา สันโดษ สันติ อริยะ ฯลฯ ตามวิธีอย่างที่ยกมาให้ดูแล้ว แม้คำในภาษาอังกฤษบางคำท่านก็สืบรากศัพท์เช่นเดียวกัน บางทีก็โยงจากภาษาอังกฤษมาถึงภาษาบาลีด้วย แม้ว่าท่านจะไม่ได้บ่งชัดไปทุกแห่งว่าท่านรู้อย่างนั้นด้วยญาณ แต่อาการวิธีที่ท่านทำก็อย่างเดียวกับที่ยกตัวอย่างมาให้ดูนั้นแล้ว เช่น
". . . ลัทธิ trance จึงเห็นดีเห็นชอบที่จะเป็น sense ยิ่งกว่าจะได้ชื่อว่า trance อยู่เท่านั้น ดังนั้น แม้จะสะกดจิต หลับตาทำมาอย่างไร ถ้าไม่มิจฉาทิฏฐิ หลงติดกับจิตเสีย ก็จะมามุ่งสู่ความเป็น sense กันทั้งสิ้นหมด หนักเข้าก็เลยเอาแต่ความฉลาด เอาแต่ 'ความรู้สึกนึกคิดจัด' ลัทธินี้จึงจะมาจบอยู่ที่ sense แล้วก็เพี้ยนเขียนกันเป็น Zen ในทุกวันนี้ . . ." (ทางเอก ภาค ๓ หน้า ๖๘)
"อาการอย่างนี้ หรือสิ่งที่ทำให้แสดงอาการอย่างนี้ บาลีว่า นิโคตะ ที่ไปเป็นภาษาฝรั่งที่ว่า นิโคติน หรือ นิโคติก นั่นแหละ แปลว่า ไม่ไปกับโลกแล้ว หรือไม่เอากับโลกแล้ว . . ." (ทางเอก ภาค ๒ หน้า ๓๓๕) (คำบาลี ว่า นิโคตะ ก็ไม่มี และก็ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับคำอังกฤษว่า นิโคติน หรือ nicotine; คำฝรั่งว่า นิโคติน ก็ไม่ได้แปล อย่างที่ท่านว่าไว้ เข้าใจว่าที่แท้จริงท่านคงต้องการพูดถึงคำว่า นาร์โคติน หรือ narcotine และ นาร์โคติก หรือ narcotic มากกว่า แต่ท่านจำคำผิดไป ซึ่งความผิดพลาดอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร สิ่งสำคัญอยู่ที่เจตนาโดยรวม เฉพาะอย่างยิ่งความซื่อตรงและความรับผิดชอบต่อความจริง ซึ่งเมื่อเห็นลักษณะการกระทำทั่วๆ ไปแล้วก็คงสังเกตได้)
เมื่อมีการทักท้วงและชี้แจงอย่างนี้ขึ้น ก็ปรากฏว่า ทางสันติอโศกพยายามพูดสร้างภาพให้เป็นว่า ผู้ชี้แจงความจริงนั้นกล่าวหาว่าโพธิรักษ์แปลบาลีผิด ตลอดไปจนถึงว่า ผู้ชี้แจงความจริงนั้นเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จับโพธิรักษ์ เพราะแปลบาลีผิด การพูดจาสร้างภาพเช่นนั้นไม่เป็นการแสดงถึงการมีความซื่อตรงต่อความจริงเลย การแปลบาลีผิดไม่ใช่ประเด็นของเรื่อง ประเด็นอยู่ที่ว่า การกระทำของท่านโพธิรักษ์นั้น ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่รู้ ความเข้าใจผิด หรือเกิดจากเจตนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เมื่อคนเชื่อตามก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อความหมายของหลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าการทำให้เกิดความเข้าใจผิดนั้น จะเกิดจากการแปลบาลีผิดหรือการสร้างความหมายเอาเองก็ตาม ก็เป็นเรื่องเสียหายทั้งสิ้น ซึ่งชาวสันติอโศกไม่ควรจะเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นย่อยอื่นอีก โดยเฉพาะคนเราไม่จำเป็นต้องรู้อะไรไปเสียทั้งหมด เมื่อเราไม่รู้อะไร ก็ไม่จำเป็นต้องอวดรู้ไปเสียทุกอย่าง การพูดเรื่อยเปื่อยไปในสิ่งที่เราไม่รู้จริง หรือพูดไปทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่รู้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำอย่างขาดความรับผิดชอบ และเป็นการไม่ซื่อตรงต่อความจริง ซึ่งไม่ใช่เป็นความดีอย่างแน่นอน และคนทั่วไปย่อมมีสิทธิสงสัย ถ้าไม่ถึงกับวินิจฉัยว่า ท่านที่พูดแสดงว่าตนรู้ ในสิ่งที่รู้ตัวอยู่ว่าตนไม่รู้นั้น จะเป็นพระอริยะจริงหรือไม่
อนึ่ง การกระทำของท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เป็นเพียงความพลาดพลั้งเผอเรอ แต่เป็นการกระทำเป็นอาจิณ ถ้าเป็นเพียงการพลาดพลั้งเผอเรอ ย่อมเป็นเรื่องที่ควรจะต้องให้อภัย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ท่านจะทำผิดด้วยเจตนาจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่อภัยกันได้อยู่ดี ข้อสำคัญ คือจะต้องยอมรับความจริง และการให้อภัยนั้นก็เป็นการให้อภัยแก่บุคคล แต่พร้อมกันนั้น ก็จะต้องรักษาประโยชน์ของประชาชนด้วยการให้เขารู้เข้าใจความจริง
บางครั้ง ชาวสันติอโศกบางคนจะพูดทำนองว่า ผู้เขียนชี้แจงความจริงอย่างนี้ เป็นคนคับแคบยึดติดในเรื่องภาษา การพูดอย่างนี้ก็มองได้ว่าเป็นวิธีเบี่ยงเบนประเด็นอีกวิธีหนึ่ง ผู้ที่ชี้แจงความจริงในเรื่องภาษานั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ยึดติดในภาษา แต่ประเด็นของเขาคือการรักษาความจริง ความจริงไม่ว่าในเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่โต ก็เป็นสิ่งสำคัญทั้งนั้น เมื่อเจตนาใช้ภาษาพูดเท็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ก็เป็นมุสาวาท สิ่งทั้งหลายมีความสำคัญในตัวของมัน เราควรให้ความสำคัญแก่สิ่งนั้นเรื่องนั้นตามความสำคัญของมัน เฉพาะอย่างยิ่งก่อนจะก้าวขึ้นไปสู่ความเข้าใจระดับที่เหนือการสื่อของภาษาได้นั้น ความเข้าใจในความหมายของหลักธรรม ที่แสดงออกมาทางภาษาด้วยถ้อยคำ เป็นจุดเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การศึกษาและปฏิบัติ และสู่ความหยั่งรู้ที่สูงขึ้นไป เราจึงเรียกมันว่าเป็นสื่อ และความเข้าใจความหมายเบื้องต้นนี้แหละ ก็เป็นเครื่องตัดสินว่า สิ่งที่เขาพูดหรือสอนนั้น เป็นความจริง ตรงตามสัจธรรมหรือไม่ หรือจำกัดแคบเข้ามาว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาหรือไม่ จะเห็นได้ว่า การกระทำของท่านโพธิรักษ์ที่ได้ยกขึ้นมาพูดกันนี้ เป็นเรื่องสำหรับการพิจารณาในระดับเบื้องต้นนี้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องในระดับเหนือการสื่อของภาษาแต่อย่างใดไม่
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีอย่างหนึ่งว่า เวลานี้ศิษย์ชาวอโศกบางท่านได้พูดทำนองว่า ท่านโพธิรักษ์หยุด เลิก ไม่แยกแยะวิเคราะห์แสดงรากศัพท์คำบาลีต่อไปแล้ว หนังสือทางเอกก็ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่อีก การหยุดเลิกนี้คงจะหมายรวมไปถึงการไม่แสดงความหมายของคำศัพท์ธรรมไปตามที่คิดเองจากรูปศัพท์ที่เข้าใจผิดต่อไปด้วย และที่สำคัญคือ ควรจะให้ผู้ศึกษาทั้งหลายเข้าใจและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อผลงาน เช่นทางเอกนั้น ที่เผยแพร่ไปแล้วด้วย ว่ามีการผิดพลาดไปอย่างไร เพราะตำราชุดใหญ่นั้น ท่านโพธิรักษ์ได้เขียนขึ้น ภายหลังจากที่ท่านได้อ้างตนว่าท่านเป็นอริยะแล้ว ท่านรู้มาด้วยญาณ คนทั่วไปย่อมถือเอาว่า เมื่อเป็นพระอริยะแล้ว สิ่งที่สอนก็ต้องถูกต้อง หรือต้องไม่พูดว่ารู้เองในสิ่งที่รู้อยู่ว่าตนไม่รู้ จึงควรจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้
ขอย้อนกลับเข้าสู่วัตถุประสงค์เดิม ในการเขียนชี้แจงหัวข้อนี้ว่า ที่จริงนั้น มุ่งเพียงเพื่อให้เข้าใจกันให้ถูกต้องว่า การกระทำของท่านโพธิรักษ์ ที่ว่าเป็นความผิดต่อพระธรรมวินัยนั้น ว่าโดยทั่วไปหรือส่วนสำคัญ ไม่ใช่เป็นเรื่องในขั้นตีความพระธรรมวินัยอย่างที่บางท่านพยายามกล่าวอ้าง ด้วยความไม่รู้ หรือเพื่อบิดเบนประเด็น และในหัวข้อนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า เป็นเพียงการไม่รู้ความหมายของถ้อยคำ หรือ การเข้าใจผิดและสร้างความเข้าใจผิด ต่อความหมายของถ้อยคำที่แสดงหลักธรรมเท่านั้น การกระทำผิดที่ร้ายแรงกว่านี้ คือการทำลายหลักการของพระพุทธศาสนาที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไป
สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์ทำไว้ ที่นับว่าเป็นความผิดต่อพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง ก็คือ การที่ท่าน (รวมทั้งศิษย์ของท่าน ซึ่งทำในนามของท่าน หรือโดยการยอมรับของท่าน เช่น ในเอกสารต่างๆ ที่สันติอโศกพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกรวมๆ ไปในคำว่า ท่านโพธิรักษ์) บัญญัติหลักการใหม่ของท่านเองขึ้น ใช้แทนหลักการเดิมของพระพุทธศาสนาบ้าง ตั้งทฤษฎีใหม่ๆ ที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของพระพุทธศาสนาบ้าง ยกพุทธพจน์มาอ้าง แต่ทำให้ผิดเพี้ยนไปโดยตัดข้อความบางอย่างออกไปบ้าง การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นการตีความพระธรรมวินัย แต่เลยขั้นการตีความไปแล้ว กลายเป็นการดัดแปลง บิดเบือน ลบล้างพุทธพจน์และพุทธบัญญัติ ตลอดจนปลอมปนคำสอนในพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างต่อไปนี้
อุตริมนุสธรรม แปลว่า ธรรมที่ยิ่งกว่ามนุษย์สามัญ หรือแปลกันง่ายๆ ว่าคุณวิเศษ ได้แก่ ธรรมที่เป็นจุดหมาย เป็นอุดมคติในพระพุทธศาสนา เช่น มรรค ผล นิพพาน ฌาน อภิญญา ความเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน จนถึง เป็นพระอรหันต์ ซึ่งผู้ได้บรรลุแล้วจะรู้เฉพาะตน หรือผู้ที่บรรลุแล้วด้วยกันจึงจะเข้าใจกันได้ เรียกได้ว่าเป็นของสูงและสูงสุด แต่ก็เสี่ยงต่อการหลอกลวงกัน เพราะมีคุณค่าสูงเลิศ แต่ชาวบ้านไม่อาจพิสูจน์ได้ ท่านจึงให้ปฏิบัติต่อเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
มีพุทธบัญญัติ ในพระวินัย อยู่ ๒ ข้อ ซึ่งห้ามภิกษุอวด/บอกอุตริมนุสธรรม คือ
ข้อแรก ห้ามอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงในตน ข้อนี้ถ้าละเมิดเป็นความผิด (อาบัติ) ร้ายแรงที่สุด ถึงขาดจากความเป็นพระภิกษุ เรียกว่าเป็นปาราชิก ดังพุทธบัญญัติซึ่งแปลเอาความได้ว่า
ภิกษุใด ไม่รู้ไม่เห็นจริง อวดอุตริมนุสธรรมว่ามีในตน...ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หมดสิทธิอยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลาย (วินย.๑/๒๓๒/๑๗๒)
ข้อหลัง ห้ามบอกอุตริมนุสธรรมที่ตนมีจริง แก่อนุปสัมบัน ข้อนี้ถ้าละเมิดเป็นความผิด (อาบัติ) ที่เบาลงมา เรียกว่า ปาจิตตีย์ ดังพุทธพจน์ ซึ่งแปลได้ความว่า
ภิกษุใดบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน ถ้ามีจริง เป็นปาจิตตีย์ (วินย.๒/๓๐๖/๒๑๑)
คำว่า อนุปสัมบันตรงข้ามกับ อุปสัมบัน ซึ่งแปลว่า ผู้อุปสมบทแล้ว ได้แก่ ภิกษุและภิกษุณี ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อุปสัมบันคือภิกษุและภิกษุณีได้ แต่บอกแก่อนุปสัมบัน เช่น ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ ย่อมเป็นความผิด
เป็นที่รู้กันว่า ท่านโพธิรักษ์อวดอุตริมนุสธรรมอย่างโจ่งแจ้ง และได้อวดแก่คฤหัสถ์ คือชาวบ้าน ซึ่งมิใช่ภิกษุ หรือที่เรียกตามพระวินัยนี้ว่า ได้อวดแก่อนุปสัมบันด้วย ดังนั้น ถ้าท่านไม่มีอุตริมนุสธรรมจริง ถ้าเจตนากล่าวเท็จ โดยมิใช่สำคัญตนผิด ท่านก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ หรือถ้าท่านมีจริงเป็นจริง ท่านได้บอกแก่อนุปสัมบัน ท่านก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ท่านโพธิรักษ์จะเป็นปาราชิกหรือไม่ ตัวท่านเองคงจะทราบดี แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีประกาศของคณะสงฆ์วินิจฉัยออกมา แต่ในแง่ที่ท่านอวดอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบันนั้น ทางองค์กรปกครองสงฆ์คือมหาเถรสมาคม เห็นว่าท่านกระทำเป็นอาจิณ และได้พิจารณาประกอบกับพฤติกรรมอย่างอื่น จึงดำเนินการประกาศวินิจฉัยลงโทษไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องในขั้นนี้ทั้งหมดเป็นกรณีของการทำผิดวินัยสงฆ์ ที่โยงไปถึงกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งเป็นกรณีสำหรับองค์กรที่ปกครองสงฆ์และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะดำเนินการ ดังกล่าวแล้วในข้อ ๒) ข้างต้น ยังไม่เข้ามาในข่ายของการทำความผิดในข้อ ๓) คือการทำพระธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยน
เรื่องมาเข้าเขตเป็นการทำความผิดในข้อ ๓ นี้ ซึ่งเป็นกรณีสำหรับผู้ต้องการดำรงรักษาพระธรรมวินัย และผู้ที่รักความจริงทั่วไปจะต้องใส่ใจรับผิดชอบ ก็ต่อเมื่อท่านโพธิรักษ์กล่าวอ้างและตั้งข้อบัญญัติต่างๆ ที่ขัดแย้งหรือลบล้างหรือผิดพลาดจากพุทธพจน์และพุทธบัญญัติ
จากการที่ได้ถูกปรับโทษ เพราะอวดอุตริมนุสธรรมนั้น ปรากฏว่าท่านโพธิรักษ์ได้พยายามเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล อ้างหลักฐานและอธิบายต่างๆ เป็นอันมาก เพื่อให้เห็นว่าการกระทำของท่านเป็นการชอบธรรม และให้ท่านหลีกเลี่ยงความผิดได้ แต่ทำไปทำมาการกระทำของท่านได้มีลักษณะที่กลายเป็นการหักล้างพุทธบัญญัติ และตั้งวางบัญญัติใหม่ของท่านเองขึ้นแทน ดังตัวอย่างการปฏิบัติของท่านดังนี้
๑) ทั้งที่มีบทบัญญัติในพระวินัยกำหนดความหมายของ "อนุปสัมบัน" ไว้ โดยกำกับอยู่ด้วยกันกับพระบัญญัติที่ห้ามอวดอุตริมนุสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบันนั้นแล้วว่า "อนุปสัมบัน ได้แก่บุคคลอื่นนอกจากภิกษุ และภิกษุณี" (ตรง ข้ามกับอุปสัมบัน ซึ่งได้แก่ภิกษุและภิกษุณี) (วินย.๒/๓๐๖/๒๑๑) แต่ท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกดูจะพยายามหลีกเลี่ยง จึงยังไม่พบว่าท่านได้ยกบทบัญญัตินี้ขึ้นมาอ้างอย่างตรงๆ หรือชัดเจนเลย แต่กลับอ้างความหมายตามที่ท่านโพธิรักษ์แสดงไว้ คือ อนุปสัมบัน ได้แก่ คนที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น (จะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ตาม) และอุปสัมบัน คือ คนที่มีภูมิธรรมถึงขั้น (จะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ตาม) ดังเช่น ที่อ้างว่า "แม้จะเป็นฆราวาส ถ้าเขาได้ศึกษาปฏิบัติธรรมกันมา อย่างมีมรรคผลเป็นส่วนใหญ่ ย่อมจะน่าได้ชื่อว่า อุปสัมบันนั้นมากกว่า" (แฉสันติอโศกผิดธรรมวินัยจริงหรือ? หน้า ๙) การอ้างเช่นนี้มุ่งให้เห็นว่า ถึงแม้ท่านโพธิรักษ์จะอวดอุตริมนุสธรรมแก่ฆราวาส คือคฤหัสถ์หรือชาวบ้าน ก็ได้ ไม่ผิด ถ้าคฤหัสถ์นั้นได้มรรคได้ผลมีภูมิธรรมถึงขั้น แต่ใครจะบอกได้เล่าว่าคฤหัสถ์คนนั้นมีภูมิธรรมถึงขั้นหรือไม่ คำตอบก็คงว่าต้องเป็นท่านโพธิรักษ์นั่นแหละ บอกหรือตัดสิน อย่างไรก็ตาม ความหมายอย่างที่ท่านโพธิรักษ์แสดง ซึ่งชาวสันติอโศกนำมาอ้างนี้ ไม่มีในพุทธพจน์หรือบทบัญญัติใดๆ เลย การกระทำของท่านจึงมีลักษณะที่เป็นการกลบเกลื่อน บัญญัติทับซ้อน ตลอดจนอาจกลายเป็นการหักล้างพุทธบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรงที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ถ้าภิกษุหรือชาวพุทธกลุ่มอื่นๆ ต่างก็บัญญัติความหมายกันขึ้นมาเองบ้างต่างๆ กันไป วงการพระพุทธศาสนาก็คงสับสนวุ่นวายไปหมด และผลก็คือเป็นการช่วยกันล้มล้างคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสียนั่นเอง
อนึ่ง การบัญญัติความหมายของอุปสัมบัน และอนุปสัมบัน อย่างที่ท่านโพธิรักษ์ทำนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้เลยในทางพระวินัย เพราะบทบัญญัติในทางพระวินัยนั้น (ก็ทำนองเดียวกับกฎหมาย หรือกฎหมายได้แบบอย่างมาด้วยซ้ำ) จะมีลักษณะสำคัญที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ ๒ ประการ คือ
๑. ต้องมีลักษณะเป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้ชัดเจน หรือตรงตามตัวอักษร (ขอให้ลองเทียบบัญญัติความหมายอนุปสัมบันของพระพุทธเจ้าว่า บุคคลอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี กับของท่านโพธิรักษ์ว่า คนที่มีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น จะเห็นว่า ถ้าเกิดคดีความขึ้นมา แล้วถือตามความหมายแบบของท่านโพธิรักษ์ คงจะต้องเถียงกัน บางทีสิบปีก็ตัดสินความไม่ได้ เพราะไม่รู้จะให้ยอมรับกันได้อย่างไร แต่ถ้าถือตามบัญญัติความหมายของพระพุทธเจ้าก็ดำเนินการได้ทันที)
๒. โดยทั่วไป จะมีบัญญัติความหมาย หรือจำกัดความถ้อยคำต่างๆ สำคัญๆ ที่ใช้ในตัวบทนั้นๆ ไว้เสร็จ ไม่ให้ดิ้นได้ (เช่น ในกรณีนี้ ก็มีคำจำกัดความอนุปสัมบันกำกับไว้เรียบร้อยแล้ว ท่านโพธิรักษ์จะอ้างความหมายอะไรอื่นมาอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ นอกจากจะสามารถล้มล้างพระวินัยลงเสียก่อน)
ถ้าพระวินัยไม่มีหลัก ๒ ข้ออย่างที่ว่ามานี้ และถ้าทำอย่างที่ท่านโพธิรักษ์อ้างได้ ภิกษุรูปหนึ่งไปฆ่าคน ก็อ้างบ้างว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่จะเป็นมนุษย์ต้องมีมนุษยธรรม นายคนนั้นไม่มีมนุษยธรรม มันไม่ใช่มนุษย์ เพราะฉะนั้น ฉันไม่ได้ฆ่ามนุษย์ ฉันไม่เป็นปาราชิกตามพุทธบัญญัติที่ว่า "ภิกษุฆ่ามนุษย์ เป็นปาราชิก" ภิกษุอีกรูปหนึ่ง ไปลักทรัพย์มา ก็อ้างบ้างว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงถือว่าทรัพย์สินเงินทองของนอกกายสำคัญ พระองค์ให้ความสำคัญแก่อริยทรัพย์เท่านั้น ฉันไม่ได้ลักอริยทรัพย์หรอกนะ จะมาปรับโทษฉันเป็นปาราชิกไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงวุ่นวายระส่ำระสายไปหมด (ความจริงพระบัญญัติใช้คำว่า ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ และก็มีคำจำกัดความศัพท์ต่างๆ ไว้ด้วย)
๒) ในกรณีของธรรมกับวินัย ถ้าเป็นเรื่องวินัย ก็ต้องอ้างวินัย โดยเฉพาะตัวบทบัญญัติ เมื่อยกวินัยเป็นหลักในการพิจารณาแล้ว หลักคำสอนและข้อธรรมอื่นที่ยกเอามาประกอบการพิจารณา ก็จะมีขอบเขตความหมายชัดขึ้นมาเอง มิฉะนั้น จะเกิดความสับสนและถกเถียงกันไม่รู้จักสิ้นสุด
ท่านโพธิรักษ์มักจะยกเอาพุทธพจน์แห่งอื่นๆ มาอ้างให้คนเข้าใจเป็นว่า พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้อวดอุตริมนุสธรรม แต่ท่านกลับหลีกเลี่ยง ข้ามเสีย ไม่ยกเอาพุทธบัญญัติในพระวินัยข้อที่ห้ามอวดมาแสดง ความจริงพุทธพจน์อื่นๆ ที่ยกมาอ้างนั้น แม้แต่ที่ถูกใจท่านโพธิรักษ์ที่สุดที่จะหาได้ ก็จะตรัสไว้เพียงเป็นกลางๆ ไม่ได้ระบุว่าบอกแก่ใคร อาจจะเป็นการบอกแก่พระภิกษุและพระภิกษุณีด้วยกันก็ได้ อาจจะกราบทูลแก่พระพุทธเจ้าก็ได้ แต่แน่นอนว่าไม่ได้ระบุไว้ว่าให้บอกหรืออวดแก่คฤหัสถ์ได้ ดังนั้นก็ต้องถือเอาพระวินัยบัญญัติที่ห้ามอวดนั้นเป็นหลัก และเมื่อเทียบเคียงแล้ว ก็จะวินิจฉัยได้ว่า พุทธพจน์ที่อ้างนั้น มีขอบเขตการกระทำแค่ไหนเพียงใด ตัวอย่างเช่น พุทธพจน์ที่ท่านโพธิรักษ์ยกมาอ้าง (หนังสือ "โพธิรักษ์วิปริต" ของสันติอโศกเอง หน้า ๒๗) ซึ่งในที่นี้จะแปลให้เคร่งครัดตามพระบาลีที่เป็นความเดิมมากขึ้น ดังนี้
"ดูกรอุบาลี การสำแดงอรหัตตผล (อัญญาพยากรณ์) มี ๕ อย่าง
๑. ภิกษุสำแดงอรหัตตผล เพราะความเขลา เพราะงมงาย
๒. ภิกษุมีความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาลามกครอบงำ จึงสำแดงอรหัตตผล
๓. ภิกษุสำแดงอรหัตตผล เพราะวิกลจริต เพราะจิตฟุ้งซ่าน
๔. ภิกษุสำแดงอรหัตตผล เพราะสำคัญตนว่าได้บรรลุ
๕. ภิกษุสำแดงอรหัตตผลที่เป็นจริง"
(วินย.๘/๑๑๗๙/๔๖๔)
จะเห็นได้ชัดว่า พุทธพจน์นี้ไม่ได้บ่งบอกว่า สำแดงหรือบอกแจ้งหรืออวดแก่ใคร ท่านโพธิรักษ์ก็ยกมาอ้างให้คลุมๆ เครือๆ เหมือนจะบอกว่า บอกแก่ใครก็ได้ หรือบอกแก่คฤหัสถ์ก็ได้ด้วยนะ แต่วินัยที่เป็นตัวบทตีกรอบไว้แล้ว จะอ้างความให้เกินวินัยไม่ได้ คือเราสามารถพูดต่อจากพุทธพจน์นี้ โยงไปเชื่อมกับตัวบทบัญญัติที่เป็นพุทธบัญญัติว่า ภิกษุสำแดงบอกแจ้งอรหัตตผลอย่างนี้ แก่ใครก็ได้ แต่ถ้าบอกแจ้งแก่อนุปสัมบัน ถึงเป็นจริง ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เอกสารเก่าของสันติอโศก แต่ครั้ง "แถลงการณ์จากคณะสงฆ์ชาวอโศก ถึงฝ่ายปกครองสงฆ์" เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ ถึงกับลงข้อความต่อท้ายไว้เท่าที่พบว่า
"ลัทธิใดส่งเสริม และเปิดโอกาสให้ประกาศคุณวิเศษ ที่เป็นเดรัจฉานวิชาเป็นไสยศาสตร์กันโครมๆ แต่ช่วยกันห้ามประกาศอุตริมนุสธรรมที่มีในตน ลัทธินั้นไม่ใช่พุทธศาสนาแท้
"ลัทธิใดส่งเสริม และเปิดโอกาสให้ประกาศคุณวิเศษที่เป็นอุตริมนุสธรรมที่มีในตน แต่ช่วยกันห้ามประกาศเดรัจฉานวิชา ห้ามไสยศาสตร์ ลัทธินั้นคือพุทธศาสนาแท้ (ประมวลเอกสารกรณีสันติอโศก, หน้า ๕๘)
ข้อความนี้ดูเผินๆ ก็เหมือนจะน่าเชื่อถือ เพราะเอาเรื่องอุตริมนุสธรรมไปเข้าคู่เทียบกับเดรัจฉานวิชา และไสยศาสตร์ คนอ่านเห็นว่าประณามเดรัจฉานวิชาและไสยศาสตร์ ก็พอใจ แต่ความจริง ควรจะพูดใหม่ว่า ทั้งลัทธิที่ส่งเสริมเดรัจฉานวิชาและไสยศาสตร์ และลัทธิที่ส่งเสริมให้อวดอุตริมนุสธรรมแก่คนทั่วไปหมดไม่มีขอบเขตนั้น ต่างก็ไม่ใช่พุทธศาสนาแท้ทั้งสิ้น การพยายามพูดให้การอวดอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ กลายเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้องไปนั้น (ในหนังสือ "โพธิรักษ์วิปริต" ก็ดูจะพยายามทำให้เข้าใจอย่างนี้) เท่ากับเป็นการคัดค้านพุทธบัญญัติ ในพระวินัยอย่างโจ่งแจ้ง และในขณะที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้าม กลับบอกว่าดีงาม อย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนกับจะบอกว่าตนรู้ดีกว่าพระพุทธเจ้า
๓) บางครั้ง ท่านโพธิรักษ์ยกพุทธพจน์มาอ้าง แต่ให้ความหมายคำบางคำเสียใหม่ตามที่ท่านต้องการ โดยไม่ตรวจดูให้แน่นอนชัดเจนว่า คำเดิมหมายความแค่ไหน หรือเจตนาจะบิดความให้ตรงกับที่ท่านประสงค์ ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังเข้าใจว่า ภิกษุจะบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ได้ด้วย โดยเฉพาะที่ท่านอ้างบ่อยคือพุทธพจน์ใน ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ ๑๐ ประการ ข้อที่ ๑๐ ว่า "บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีอุตริมนุสธรรมแล้วหรือไม่ ที่จะทำให้เป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูก สพรหมจารี ถามในภายหลัง" (องฺ.ทสก.๒๔/๔๘/๙๒)
คำว่า "สพรหมจารี" ในที่นี้ ท่านโพธิรักษ์แปลออกเป็นว่า "ผู้ร่วมปฏิบัติธรรม" และอธิบายความหมายว่า "สพรหมจรรย์ (ที่ถูกเป็นสพรหมจารี - ผู้เขียน) คือ ศาสนิกผู้สนใจธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้วก็มาปฏิบัติ ประกอบการอยู่ร่วมกัน จึงหมายถึง พุทธบริษัทและผู้สนใจอื่น" (โพธิรักษ์วิปริต, หน้า ๒๙) การแสดงความหมายอย่างนี้ เป็นการทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ภิกษุจะบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์ที่มาปฏิบัติธรรมด้วยกันก็ได้ แต่การที่ท่านโพธิรักษ์แสดงความหมายของคำว่า สพรหมจารี อย่างนี้เป็นการไม่ถูกต้อง สพรหมจารี หรือผู้ร่วมพรหมจรรย์ ตามหลักธรรมวินัยนี้ ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ร่วมปะปนระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ ควรศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของพระภิกษุ ตามแบบของพระพุทธเจ้า ดังที่จะหาตัวอย่างได้มากมายในพระไตรปิฎก ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สพรหมจารีของภิกษุตามปกติ ก็คือ พระภิกษุด้วยกัน (ขอให้ดูหลักฐานเช่น ม.มู.๑๒/๗๐/๕๒; องฺ.สตฺตก-อฏฺก-นวก.๒๓/๑๐๓/๑๙๓; ๒๐๘/๓๗๕; ๒๑๕/๓๘๗, สํ.ม.๑๙/๑๑๕๕/๓๔๖; สํ.ข.๑๗/๒๐๗/๑๔๐; ฯลฯ) มีแต่กรณีพิเศษเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น ที่มีการเรียกบุคคลอื่น เป็นสพรหมจารีของภิกษุ โดยเหตุผลพิเศษ (เช่น เมื่อพาหิยะทารุจีริยะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระโอวาทสั้นๆ ก็บรรลุอรหัตตผล แต่เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จหลีกไปไม่นาน พาหิยะได้ถูกโคขวิดถึงแก่ความตาย อรรถกถาเล่าว่าพาหิยะถูกโคขวิด ขณะกำลังไปหาบาตรและจีวรเพื่อเตรียมจะบวช พระพุทธเจ้าเสด็จมาได้ตรัสสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย จัดการเผาศพของพาหิยะทารุจีริยะและก่อสถูปไว้ด้วย โดยตรัสว่า พาหิยะเป็นสพรหมจารีของภิกษุทั้งหลาย - ขุ.อุ.๒๕/๕๐/๘๔) ในวินัยปิฎกเล่ม ๑ ก็แยกสพรหมจารีไว้ต่างหากจากคำว่าคฤหัสถ์ (วินย.๑/๓๑/๕๐) เฉพาะอย่างยิ่งในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๙ และ ๓๑ ให้คำจำกัดความคำว่า สพรหมจารีไว้ชัดเจนว่า หมายถึง ผู้ทำสังฆกรรมร่วมกัน สวดปาติโมกข์ร่วมกัน มีสิกขาเสมอกัน (ขุ.ม.๒๙/๙๗๖/๖๒๑; ขุ.ปฏิ.๓๑/๔๕๐/๓๓๑) ซึ่งก็ได้แก่เพื่อนพระภิกษุโดยเฉพาะ จะเห็นได้ว่าคำอธิบายและการให้ความหมายต่างๆ ของท่านสอดคล้องกันหมด ความในพระสูตรก็ไม่ขัดกับในพระวินัย แต่ถ้าถือตามความหมายของท่านโพธิรักษ์ ข้อความที่อ้างคราวนี้ก็ขัดกับพระวินัยทันที แสดงว่าต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว
รวมความว่า เมื่อพูดตามหลักการก็ตาม ตามหลักเหตุผลก็ตาม พุทธพจน์ต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่ได้ขัดกับวินัยอยู่แล้ว ผู้หวังดีต่อพระศาสนาแท้จริง และมุ่งปฏิบัติให้ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนา จึงไม่ควรยกขึ้นมาอ้างในเชิงที่จะลบล้างพระวินัยเป็นอันขาด
แม้แต่สมมติว่า มีพุทธพจน์บางแห่งในพระสูตรเกิดขัดแย้งกับบทบัญญัติในวินัยนี้ (ซึ่งที่จริงก็ไม่ปรากฏว่ามีเลย) ก็ต้องถือวินัยเป็นเกณฑ์ เพราะสามารถสันนิษฐานได้ว่า พระสูตรนั้นตรัสไว้ก่อนมีการบัญญัติวินัยข้อนี้ เพราะวินัยนั้น เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ที่ใช้อยู่ตลอดเวลา ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ท่านก็จะบันทึกไว้ เช่น ถ้าจะมีการแก้กฎข้อบังคับ ก็มีการวางเป็นอนุบัญญัติเป็นต้น การพิจารณาตัดสินคดีในทางพระวินัยก็ต้องถือกฎเกณฑ์ในพระวินัยเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่เที่ยวยกเอาคำที่โน่นที่นี่ซึ่งไม่บ่งชัดมาอ้าง ทำให้คนทั่วไปที่ไม่รู้หลักทางพระศาสนาเกิดความสับสน
ในเรื่องนี้จะขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวก่อน เพราะหัวข้อก่อนกินเนื้อที่ยาวมากแล้ว โดยจะกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของท่านโพธิรักษ์ คือ การถือมังสวิรัติ
ท่านโพธิรักษ์ พยายามอธิบายและอ้างหลักฐานต่างๆ มาแสดงเพื่อให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติหรือตรัสสอนให้ภิกษุถือมังสวิรัติ ในการอธิบายอย่างนี้ เหตุผลอย่างหนึ่งที่ท่านโพธิรักษ์อ้าง ก็คือคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า อุททิสสมังสะ โดยท่านโพธิรักษ์อธิบายคำว่า อุทฺทิสฺส ในเชิงที่มีความหมายเท่ากับคำว่า สญฺจิจฺจ (ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดขั้นหนึ่งแล้ว) ต่อจากนั้น ก็แปลคำ อุทฺทิสฺส และ สญฺจิจฺจ นั้น ว่าเป็นการจงใจหรือเจาะจงกระทำร้ายต่อชีวิต (สัตว์), กระทำต่อชีวิตสัตว์ จงใจทำร้าย, หรือ ทำร้ายสัตว์ (หรือฆ่าสัตว์) อย่างจงใจ (เป็นการเข้าใจสับสน ขั้นที่สอง) ซึ่งเป็นการอธิบายและแปลเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า อุททิสสมังสะ หมายถึงเนื้อสัตว์ที่จงใจฆ่า ไม่จำเป็นต้องฆ่าเพื่อใคร เมื่อเป็นเนื้อที่เจาะจงฆ่าเพื่อทำเป็นอาหารแล้ว ก็เป็นอุททิสสมังสะทั้งหมด ภิกษุฉันไม่ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องฆ่าเพื่อเจาะจงถวายตนแล้วจึงจะฉันไม่ได้ ต่อจากนั้น เพื่อให้คำอธิบายของท่านหนักแน่น ท่านโพธิรักษ์ก็ยกพุทธพจน์ในชีวกสูตรมาอ้างว่า พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ทำนองเดียวกับที่ท่านอธิบาย คือ เนื้อสัตว์ที่เอามาถวายพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์นั้น เพียงเป็นเนื้อสัตว์ที่ตั้งใจฆ่า ก็เอามาถวายไม่ได้แล้ว เป็นบาป ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่ฆ่าเจาะจงเพื่อถวายโดยตรง ข้อความที่อ้างตอนนี้ว่า
"ดูกรชีวก ผู้ใดกระทำต่อสัตว์โดยมุ่งหมายร้าย (อุททิสสะ ปาณัง อารภติ ไม่ว่าเชิงหนักหรือเบาปานใด ก็ตาม) แล้วนำมาถวายตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมได้รับบาปอย่างหนัก มิใช่บุญเลย ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ..." (ไขข้อข้องใจมังสวิรัติกับเทวทัต, หน้า ๑๙)
หนำซ้ำยังอ้างว่า "เพราะพระบาลีที่มีมาในพระไตรปิฎกแท้ๆ นั้น เนื้อความก็มีอยู่เพียงสั้นๆ แค่ว่า อุททิสสะ ปาณัง อารภติ และหรือบางแห่งท่านก็ว่าสัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตุง เท่านี้เอง ซึ่งไม่มีคำความอะไรที่ขยายหรือไม่มีคำความอะไรให้จำกัด จำเขี่ยความหมายไว้ว่า สัตว์นั้นจะต้อง เป็นการฆ่าโดยผู้ฆ่าต้องระบุให้แก่คนนั้นคนนี้เฉพาะ แล้วคนนั้นหรือผู้ที่ถูกระบุนั้น จึงจะกินเนื้อสัตว์ที่ฆ่านั้นไม่ได้" (อ้างแล้ว, หน้า ๑๑)
สำหรับคำว่า อุททิสสะ นั้นที่จริงมีคำขยายที่เป็นการจำกัดคือระบุตัว (มีตัวกรรม) อย่างชัดเจน หาใช่เป็นอย่างที่ ท่านโพธิรักษ์อธิบายไม่ (ส่วน สัญจิจจะ ไม่ต้องมีตัวกรรมต่างหาก เพราะเป็นคำแสดงเจตนาต่อตัวสัตว์เอง) ดังหลักฐานในบาลี แห่งชีวกสูตรที่ท่านโพธิรักษ์ยกมาอ้างข้างบนนั้นเอง ซึ่งมีข้อความว่า
"โย โข ชีวก ตถาคตํ วา ตถาคตสาวกํ วา อุทฺทิสฺส ปาณํ อารภติ โส ปญฺจหิ าเนหิ พหุํ อปุญฺํ ปสวติ" (ม.ม.๑๓/๖๐/๕๒)
คำขยายที่เป็นกรรมรับคำกิริยา อุทฺทิสฺส ก็คือ ตถาคตํ วา ตถาคตสาวกํ วา (เป็นธรรมดาของคำว่า อุทฺทิสฺส จะต้องมีคำขยายเป็นกรรมรับ ยกเว้นแต่ในกรณีที่กล่าวมาจนรู้กันแล้ว ละไว้ในฐานเข้าใจได้)
คำแปลที่ถูกต้อง ไม่เสริมแต่งดัดแปลงตัดเติมตามใจตัว จะเป็นดังนี้ (ขอให้เทียบกับคำแปลของท่านโพธิรักษ์ข้างต้น)
"ดูกรชีวก ผู้ใดดำเนินการฆ่าสัตว์ เจาะจงต่อตถาคต หรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาปเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ" (คำว่า ตถาคตหรือสาวกของตถาคต เป็นกรรมของคำว่าอุททิสสะ คือ ฆ่าโดยอุทิศ เจาะจง มุ่งให้ หรือระบุตัวต่อตถาคตหรือสาวกของตถาคต ไม่ใช่เป็นกรรมของคำว่านำมาถวาย และคำว่า นำมาถวาย ก็ไม่มีในข้อความที่อ้างนี้ด้วยซ้ำ)
เรื่องมังสวิรัตินี้ เมื่อมีเวลาก็จะได้เขียนชี้แจงไว้ต่างหากอีกส่วนหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ถูกทำให้เข้าใจสับสนมากเรื่องหนึ่ง ในที่นี้ยกมาแสดงพอให้เห็นถึงวิธีของท่านโพธิรักษ์ ในการยกพุทธพจน์มาอ้าง ซึ่งจะโดยไม่รู้ไม่เข้าใจ หรือโดยเจตนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ได้ทำให้ข้อความสำคัญถูกตัด หรือตกหล่นหายไป ทำให้ความหมาย และเนื้อหาสาระของพุทธพจน์นั้นผิดเพี้ยน หรือกลายความหมายไปเป็นอย่างอื่น อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควร และเป็นผลเสียหายทั้งต่อพระศาสนา ต่อความรู้ความเข้าใจของประชาชน และต่อความเป็นจริง
การถือมังสวิรัตินั้น จะว่าดีอย่างไร ก็แสดงเหตุผลไป และชักชวนกันไป โดยที่เหตุผลด้านอื่นๆ ที่จะยกมากล่าวก็มีมากทีเดียว ให้คนเห็นดีเห็นงามตามเหตุผลที่เป็นจริง นั่นจะเป็นการประเสริฐ ไม่มีใครขัดขวาง แต่ไม่น่าจะต้องมาใช้วิธีดัดแปลงแก้ไขพุทธพจน์ หรือหลักฐานในพระไตรปิฎกให้สนองความประสงค์ของตนหรือแปลความหมายของถ้อยคำให้คลาดเคลื่อน โดยไม่ศึกษาให้ชัดเจน ควรจะปล่อยพุทธพจน์ไว้ตามปกติที่เป็นอยู่ และช่วยกันรักษาไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่มาถึงเรา ซึ่งเราก็มีสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่ก็ได้ พระพุทธเจ้าย่อมทรงมีเหตุผลของพระองค์ เมื่อเราไม่เห็นด้วย ก็ปล่อยของท่านไว้ คนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสศึกษาของเดิมอย่างเดียวกับที่เรามาพบ นอกจากนั้น แม้จะไม่ดัดแปลงแก้ไข แต่ในการแปลก็ควรพยายามระมัดระวังทำโดยรอบคอบ และให้แน่ใจที่สุด อย่าด่วนแปลเอาตามที่คิดโดยไม่ได้ศึกษาให้ชัดเจน ทั้งคำ ความ และหลักภาษาต้นเดิม
ท่านโพธิรักษ์พูดว่า "คนที่เป็นอรหันต์แล้ว อาตมาขอบอกไว้ คนที่เป็นอรหันต์แล้วนี่น่ะ อยากเกิดได้อีกนะคุณ ฟังใหม่นะ อาตมาเป็นทั้งพระโพธิสัตว์และเป็นทั้งพระอย่างที่เรียกว่า ทางเถรวาทถือว่า อรหันต์ อาตมาเอาทั้งสองทิศ อรหันต์ก็เอา โพธิสัตว์ก็เอา เพราะฉะนั้น อาตมานี้รู้แจ้งทั้งสองทิศ” (จากแถบบันทึกเสียงของพระโพธิรักษ์ บรรยายเรื่อง "คนๆ นั้นที่นรกไม่ต้องการ" ที่สันติอโศก ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ ในรายงานเรื่องพระสงฆ์นอกพระธรรมวินัย ตามมติของที่ประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๕ หน้า ๒๗-๒๘)
ตามข้อความที่ยกมานี้ จะเห็นว่า ท่านโพธิรักษ์ได้ตั้งหลักการหรือทฤษฎีใหม่ ที่ขัดกับหลักการเดิมของพระพุทธศาสนาตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศไว้ ทฤษฎีหรือหลักการใหม่นี้มีสาระสำคัญ คือ
ก. พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ก็ได้
ข. พระอรหันต์เกิดใหม่อีกก็ได้
เพราะฉะนั้น บุคคลจึงเป็นทั้งพระโพธิสัตว์และพระอรหันต์ได้ในเวลาเดียวกัน
หลักการในเรื่องเหล่านี้ เป็นธรรมขั้นสูงสุดหรือเป็นอุดมคติของพระพุทธศาสนาทีเดียว ดังนั้น การที่โพธิรักษ์กระทำเช่นนี้จึงเป็นการล้มล้างดัดแปลง ตลอดจนทำลายหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด
พระโพธิสัตว์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า เป็นผู้ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ คือ ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ซึ่งรวมไปถึงยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นใดๆ ด้วย ดังพุทธพจน์ที่ตรัสถึงพระองค์เองบ่อยๆ ว่า "อนภิสมฺพุทฺโธ โพธิสตฺโตว สมาโน" (เช่น ม.อุ.๑๔/๔๕๒/๓๐๒) แปลว่า "(เรา) ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เป็นโพธิสัตว์อยู่" เป็นที่รู้กันดีว่า พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่แสวงหาโพธิ กำลังบำเพ็ญบารมีเพื่อจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนพระอรหันต์นั้น เป็นผู้ได้บรรลุธรรมสูงสุดแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่อีก จึงมีพุทธพจน์ตรัสย้ำบ่อยๆ ว่า "ชาติ(การเกิด)สิ้นแล้ว . . ." (เช่น วินย.๑/๓/๙) "ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกลาย นี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ไม่มีภพใหม่อีก" (เช่น สํ.ม.๑๙/๙๐๘/๒๗๓)
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจจะมีใครเป็นทั้งพระโพธิสัตว์และเป็นพระอรหันต์ได้ในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังพุทธกาล ได้มีภิกษุกลุ่มหนึ่งเรียกว่าพวกอันธกะเกิดความเห็นผิดขึ้นว่า พระโพธิสัตว์เป็นอริยบุคคลได้ก็มี ต่อมาในการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้มีการชำระสะสางการพระศาสนา สอบสวนพบบุคคลจากลัทธิภายนอกพุทธศาสนา ที่เข้ามาบวชปะปนอยู่ในสงฆ์แล้วได้ให้สึกไปเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้น พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนา ได้เรียบเรียงคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น โดยประมวลลัทธิความเห็นผิดต่างๆ ที่นอกหลักการของพระพุทธศาสนา นำมาชี้แจงชำระสะสาง เพื่อให้ความเห็นผิดนั้นหมดไปจากพระพุทธศาสนา คราวนั้น ความเห็นของพวกอันธกะ ก็ได้ถูกยกขึ้นมาชี้แจงชำระสะสางในคัมภีร์กถาวัตถุด้วย พวกอันธกะมีความเห็นผิดดังนี้
"พระโพธิสัตว์ ได้หยั่งลงสู่ทางอันแน่นอน (อริยมรรค) มีพรหมจรรย์อันประพฤติแล้ว" (อภิ.ก.๓๗/๙๖๙/๓๑๒)
ตามคำวินิจฉัยในคัมภีร์กถาวัตถุนี้บ่งชัดว่า พระโพธิสัตว์ต้องเป็นผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดทั้งสิ้น
ชาวสันติอโศกได้พยายามเขียนอธิบาย เพื่อสนับสนุน หรือเสริมฐานให้แก่ทฤษฎีของโพธิรักษ์ ดังเช่น คุณ ว. ชัยภัค ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีข้อเขียนที่เป็นวิชาการมากที่สุด ในเอกสารที่สันติอโศกพิมพ์เผยแพร่ในช่วงนี้ และล่าสุดได้มีข้อเขียน ลงในนิตยสาร "สมาธิ" (ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓ หน้า ๑๔-๑๙) ตอนหนึ่ง คุณ ว. ชัยภัค ได้กล่าวอ้างข้อความในคัมภีร์กถาวัตถุมายืนยันว่า พระโพธิสัตว์เป็นพระอริยบุคคลได้ โดยยกหลักฐานว่า
"ในพระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุปกรณ์ ระบุไว้ว่า "พระโพธิสัตว์ได้หยั่งลงสู่ทางอันแน่นอน (อริยมรรค) มีพรหมจรรย์อันประพฤติแล้ว"
ข้อความในคัมภีร์กถาวัตถุที่ยกมาอ้างนี้ ความจริงเป็นความเห็นผิดนอกพุทธศาสนา ที่ท่านยกขึ้นมากล่าวไว้เป็น บทตั้ง เพื่อชี้แจงชำระสะสางให้หมดไป แต่คุณ ว. ชัยภัค กลับยกมาอ้าง ในลักษณะที่ให้เข้าใจว่า คำกล่าวนั้นเป็นความเห็นในพระพุทธศาสนาตามคัมภีร์กถาวัตถุ เป็นการอ้างหลักฐานที่ผิดพลาด ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง อย่างที่เรียกว่า เป็นการกล่าวตู่คำสอนในพระพุทธศาสนา และเป็นการอ้างความเห็นผิดนอกหลักพระพุทธศาสนา มายืนยันความเห็นผิดของตน แม้แต่คำศัพท์ต่างๆ ในทางภาษา เช่น แปลโดยพยัญชนะ แปลโดยอรรถ และคำศัพท์ในทางธรรม เช่น สมมติ และปรมัตถ์ ก็ถูกนำมาใช้ในความหมายที่คลาดเคลื่อน การกระทำเช่นนี้อาจจะมิใช่เป็นด้วยเจตนาที่จะบิดเบือน หรือแกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อน แต่อาจจะเกิดจากการขาดความรู้พื้นฐาน การที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ จับความไม่ถูกก็ได้ แต่รวมแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงต่อพระศาสนา และความรู้ความเข้าใจของประชาชน ถ้ายังไม่ศึกษาให้ดี ให้มีความเข้าใจในหลักพระศาสนาเป็นพื้นฐานพอสมควร การเผยแพร่ความรู้ความคิดเห็น อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และความสับสนไขว้เขวมากยิ่งขึ้น
คุณ ว. ชัยภัค แยกพระโพธิสัตว์เป็น ๒ ประเภท คือ พระโพธิสัตว์ที่เป็นพระอรหันต์ (ซึ่งยังไม่เคยมี นอกจากท่านโพธิรักษ์ที่จะเป็นองค์แรก) และพระโพธิสัตว์ที่เป็นปุถุชน (อย่างที่พระพุทธเจ้าของเราเคยเป็นก่อนตรัสรู้) แล้วเขียนอธิบายไว้ว่า "อย่างแรก พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ที่บำเพ็ญบารมีสร้างโพธิญาณสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนสูงสุด จึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า" แต่ตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า แม้แต่พระอรหันต์ระดับสามัญที่สุด ที่เรียกว่าพระปัญญาวิมุต ก็หลุดพ้นบริบูรณ์แล้ว เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความแตกต่างหรือความพิเศษกว่ากันมีเพียงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบและเป็นผู้บอกมรรคา ส่วนพระปัญญาวิมุตเป็นผู้เข้ามาสมทบทีหลัง (สํ.ข.๑๗/๑๒๕-๖/๘๑) จึงไม่มีเรื่องที่ว่า พระอรหันต์จะต้องไปบำเพ็ญบารมีสร้างโพธิญาณอะไรกันอีก เพราะพระอรหันต์ก็บรรลุโพธิอยู่แล้ว และว่าที่จริงพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง แต่เป็นพระอรหันต์ที่เป็นสัมมาสัมพุทธะ (เป็นผู้ตรัสรู้เอง และเป็นผู้ประกาศธรรม) ส่วนพระอรหันต์อื่นๆ ที่เป็นพระสาวกก็เป็นพุทธะ แต่เป็นสาวกพุทธะ หรืออนุพุทธะ (เป็นผู้ตรัสรู้ตาม) แล้วพระอรหันต์ซึ่งก็เป็นพุทธะอยู่แล้ว จะต้องไปเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อสร้างบารมีให้เป็นพุทธะอีกทำไม
ตามหลักการของท่านโพธิรักษ์ว่า พระโพธิสัตว์ประเภทหนึ่งเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว และท่านโพธิรักษ์เอง ก็จะเป็น (หรือว่าเป็นแล้ว - พึงตรวจสอบหลักฐาน) ทั้งพระโพธิสัตว์และพระอรหันต์ในเวลาเดียวกัน ในเมื่อพระอรหันต์ ก็เป็นพุทธะอยู่แล้ว พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีนั้น ผลสำเร็จสุดท้ายที่จะให้บรรลุจุดหมายเป็นพระพุทธเจ้า ก็รออยู่อย่างเดียว คือความเป็นพระอรหันต์ เมื่อเป็นทั้งพระโพธิสัตว์และเป็นทั้งพระอรหันต์พร้อมอยู่ด้วยกันได้แล้ว โดยเฉพาะในเมื่อพระโพธิสัตว์ท่านนี้ก็เป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว ต่อไปคุณ ว. ชัยภัค ก็อาจจะพูดว่า เป็นทั้งพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าได้ในเวลาเดียวกัน และถ้าก้าวเลยนั้นจะพูดต่อไปอีกหรือไม่ว่า ท่านโพธิรักษ์ก็เป็นพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว
คุณ ว. ชัยภัค เขียนไว้อีกว่า พระอรหันต์ที่เป็นพระโพธิสัตว์สามารถตั้งจิตเกิดได้ เพราะการไม่เกิดอีกนั้นยากแสนยาก แต่การเกิดนั้นง่าย แต่ตามหลักการเดิมของพระพุทธศาสนา การที่พระอรหันต์ไม่เกิดอีกนั้น เป็นเพราะไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดอีก จึงไม่เกิด ไม่ใช่เรื่องที่จะยากจะง่าย หรือจะตั้งจิตไม่ตั้งจิต แต่เป็นธรรมดาของความเป็นไป ตามเหตุปัจจัยหรือความหมดเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง
คุณ ว. ชัยภัคว่า พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้ แต่เป็นพระอริยบุคคลอื่นไม่ได้ คือ เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีไม่ได้ เพราะจะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ อีกชาติเดียว และไม่เกิดอีกเลย ตามลำดับ ขอเสนอ คุณ ว. ชัยภัคว่า ถ้าจะพูดไม่ให้ขัดกันเอง น่าจะบอกว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นพระโสดาบันก็ได้ พระสกทาคามีก็ได้ พระอนาคามีก็ได้ เพราะการไม่เกิดอีกนั้นยากแสนยาก แต่การเกิดนั้นง่าย พระอรหันต์สามารถที่จะไม่เกิดแล้ว ก็จึงตั้งจิตจะเกิดใหม่ก็ได้ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีสามารถคุมลดการเกิดเหลือเพียง ๗ ชาติ ๑ ชาติ และไม่ต้องเกิดอีกได้ ถ้าจะตั้งจิตมาเกิดอีกเท่าใดก็ได้ เพราะไม่เกิดยากกว่าเกิด
อนึ่ง คุณ ว. ชัยภัค ยืนยันว่าท่านโพธิรักษ์ไม่เคยประกาศว่าท่านเป็นพระอรหันต์ (เท็จจริงอย่างไร พึงพิสูจน์หลักฐานเอง) แต่คุณ ว. ชัยภัค ยอมรับว่าท่านโพธิรักษ์เป็นพระอริยะ แต่จะเป็นโสดาบัน เป็นสกทาคามี หรือเป็นอนาคามีก็แล้วแต่ และในที่นี้คุณ ว. ชัยภัค แสดงหลักการว่า พระโพธิสัตว์เป็นโสดาบัน เป็นสกทาคามี หรือเป็นอนาคามี ไม่ได้ เป็นได้แต่พระอรหันต์กับปุถุชน ถ้าว่าตามหลักการของ คุณ ว. ชัยภัค (คือของท่านโพธิรักษ์เอง?) ท่านโพธิรักษ์ก็เป็นพระโพธิสัตว์ไม่ได้ เพราะเป็นอริยะแต่ไม่เป็นพระอรหันต์ คุณ ว. ชัยภัค นับถือท่านโพธิรักษ์เป็นพระโพธิสัตว์ แต่กำลังวินิจฉัยว่าท่านโพธิรักษ์ไม่เป็นพระโพธิสัตว์ ไปๆ มาๆ ในที่สุด ตามทฤษฎีของคุณ ว. ชัยภัค พุทธศาสนาคงจะเป็นอะไรก็ได้ และอะไรก็ได้เป็นพุทธศาสนา ดูคล้ายกับว่า คุณ ว. ชัยภัค กำลังเล่นสนุกอะไรสักอย่างกับหลักการของพระพุทธศาสนา
ตามบัญญัติใหม่ของท่านโพธิรักษ์ ที่คุณ ว. ชัยภัค นำมาแสดงนี้ เมื่อท่านโพธิรักษ์ประกาศตัวเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว บัญญัติของท่านนั้นเอง ก็บังคับให้ท่านต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์ด้วย ท่านก็ควรประกาศตัวให้ชัดเจนว่า ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว หรือถ้าท่านไม่เป็นพระอรหันต์ แต่เป็นพระอริยะชั้นต่ำลงมา ท่านก็เป็นพระโพธิสัตว์ไม่ได้ ท่านก็ควรประกาศออกมาให้ชัดเจนว่า ท่านเผลอบอกผิดไป
ในตอนท้าย คุณ ว. ชัยภัคก็ตัดสินเอาว่า การขอร้องให้ผู้แสดงหลักการนอกพระพุทธศาสนา แสดงความซื่อตรง ด้วยการสละรูปแบบของพุทธศาสนาออกไปนั้น เป็นการกระทำต่อคนที่มีความเห็นไม่ตรงกับตน เข้าใจว่า คุณ ว. ชัยภัค ยังสับสน ไม่สามารถแยกระหว่างความเห็นส่วนตัวกับหลักการ ว่าเกณฑ์ตัดสินคือหลักการ ไม่ใช่เพียงความเห็นของบุคคล และความเห็นของบุคคลนั้น ก็ควรต้องแยกระหว่าง ความเห็นที่อิงหลักความจริง อิงหลักฐาน อิงหลักการ อิงธรรม อิงวินัย กับความเห็นที่เกิดจากการคิดปรุงแต่งสร้างภาพเอาเอง ในที่นี้ ได้ตั้งข้อพิจารณาว่า คนที่ดัดแปลงบิดเบือนพุทธพจน์ และนำไปอ้างให้คลาดเคลื่อนนั้น เป็นผู้ลบล้างหลักการของพระพุทธศาสนา แล้วได้เสนอข้อพิจารณาว่า คนที่ลบล้างหลักการของพระพุทธศาสนาเช่นนั้น เมื่อไม่ถือตามหลักการที่พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว ก็ควรจะแสดงความชื่อตรง ด้วยการสละรูปแบบของพระพุทธศาสนาออกไปเสีย และได้วิงวอนขอร้องต่อท่านโพธิรักษ์ ให้แสดงความซื่อตรงต่อความจริง การที่ชาวสันติอโศกอ่านข้อพิจารณาและคำขอร้องอย่างนี้ ในความหมายว่า เป็นการขับคนที่มีความเห็นไม่ตรงกับตนออกจากศาสนานั้น จะทำให้หลงประเด็นและละเลย มองข้ามเรื่องราวที่แท้จริงไปเสีย จึงต้องขอร้องต่อชาวสันติอโศก เช่นเดียวกับที่เคยขอร้องต่อท่านโพธิรักษ์มาแล้วว่า ขอให้เห็นแก่หลักการของพระศาสนา และความซื่อตรงต่อความจริง
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเหล่านี้จะได้เขียนแยกออกไว้เป็นแต่ละเรื่องๆ ต่างหากตามแต่จะมีเวลา แต่ในที่นี้ ต้องการเพียงให้เห็นว่า การทำความผิดในข้อ ๓) ของท่านโพธิรักษ์ เป็นการกระทำที่เลยขั้นตีความไปแล้ว และเป็นการทำลายหลักการของพระพุทธศาสนาอย่างไร
บางครั้งการตีความของโพธิรักษ์อาจเป็นปัญหาขึ้นมาบ้าง ในเมื่อเป็นการกระทำที่เลยขอบเขตของการตีความอย่างอิสระ ซึ่งมีข้อพิจารณาดังนี้
แม้พระพุทธศาสนา จะให้อิสรภาพในการตีความมาก ก็ต้องเข้าใจว่า การตีความอย่างอิสระนั้น ไม่ใช่เป็นการตีความตามใจชอบ การตีความแม้ที่เป็นอิสระก็มีหลัก คืออยู่ในขอบเขตของหลักสำคัญ ๒ ประการ
๑) ผู้ตีความเข้าใจถ้อยคำถูกต้อง รู้ว่าตนกำลังพูดถึงคำพูดคำไหน พูดถึงเรื่องอะไร ตรงกับความหมายของถ้อยคำที่ผู้พูดเดิมกล่าวไว้ คนตีความต่างกัน ๒ คนขึ้นไปมีความเข้าใจในความหมายเบื้องต้นของถ้อยคำนั้นตรงกันก่อน หรือรู้ว่ากำลังพูดกันถึงคำพูดคำไหน
ชายคนหนึ่ง ยืนอยู่ริมถนนในชนบทซึ่งไม่มีรถประจำทาง เห็นรถบรรทุกคันหนึ่งผ่านมาก็โบกมือเรียกให้หยุดรับ เสียงคนบนรถตะโกนลงมาว่า "คันหลัง" ชายคนนี้ได้ตอบสวนขึ้นไปว่า "คันหลัง ก็เกาสิ" กรณีอย่างนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจผิดในความหมายของถ้อยคำ ไม่ใช่เป็นการตีความ เพราะผู้พูดกับผู้ฟังเข้าใจต่างกันไปคนละเรื่องละราว แต่ถ้าชายที่ยืนรอนั้นฟังคำว่า "คันหลัง" แล้ว คิดถึงรถที่จะตามมา โดยเข้าใจว่าคนบนรถต้องการบอกให้รู้ว่า มีรถอีกคันหนึ่ง กำลังตามมาซึ่งสะดวกที่จะหยุดรับมากกว่า หรือว่ามีรถตามมาซึ่งไม่ใช่รถบรรทุกมีที่นั่งสบายกว่า หรือว่าคนบนรถนั้นบอกปัดให้รอรถที่อาจจะมีมาต่อไป โดยไม่มีความหวังที่แน่นอน หรืออาจจะคิดเลยไปถึงว่า คนรถนั้นรังเกียจตนไม่อยากให้ขึ้นรถของเขา หรืออาจจะกลัวว่าคนที่เรียกนั้นเป็นโจรผู้ร้ายจึงไม่กล้าหยุดรับ หรือเขากำลังรีบไปหยุดรับไม่ได้ ฯลฯ อย่างนี้จึงจะเป็นเรื่องของการตีความ
อีกตัวอย่างหนึ่ง ชายสูงอายุจากต่างจังหวัด นั่งมาในรถโดยสาร ใกล้จะถึงที่หมายจึงร้องบอกคนรถว่า "เบาหน่อย" มีเสียงสวนกลับมาว่า "เบาเข้าไปได้ยังไงล่ะลุง บนรถ" อย่างนี้ก็เป็นเรื่องของการเข้าใจผิด ในความหมายของถ้อยคำ ซึ่งใช้ในการตีความไม่ได้ เพราะผู้พูดกับผู้ฟังไม่ได้พูดถึงถ้อยคำเดียวกัน ไม่มีจุดร่วมที่จะเริ่ม แต่ถ้าคนรถฟังคำว่า "เบาหน่อย" นั้นแล้ว คิดต่อไปว่า ลุงนั้นต้องการให้เบาเครื่องรถเพื่อเตรียมหยุดให้ลง หรือคิดว่ารถวิ่งเร็วแรงกระเทือนมากลุงนั้นนั่งไม่สบายจึงขอร้องให้วิ่งเบาๆ หรืออาจจะคิดว่าลุงนั้นบอกให้รถวิ่งชะลอเพราะทางตอนนั้นขรุขระหรืออาจจะมีอะไรกีดขวาง หรือให้วิ่งชะลอเพราะใกล้อะไรบางอย่างที่ลุงนั้นอยากมองให้ชัดสักหน่อย หรือผ่านร้านตลาดที่ควรเบารถเพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งมาก ตลอดจนอาจจะคิดว่าลุงนั้นต่อว่าตนว่าขับรถไม่ดี อย่างนี้ ล้วนเป็นการตีความ ซึ่งในความหมายบางอย่างอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ต่างกัน
ตัวอย่างที่ได้ยกมาให้ดูในกรณีท่านโพธิรักษ์ เช่น ที่ท่านอธิบาย พหุสัจจะ (ที่จริงคือพาหุสัจจะ) โดยเข้าใจว่า เป็นพหุ+สัจจะ แล้วแปลว่า รู้ในสัจจะมาก ดังนี้เป็นต้น เป็นเรื่องของการเข้าใจผิดในความหมายของถ้อยคำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตีความ เพราะในขั้นนี้ปัญหายังติดอยู่แค่ว่าเป็นคำไหน คำอะไร ยังไม่สามารถก้าวไปถึงว่าจะตีความว่าอย่างไร ดังนั้น ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับรูปศัพท์ และความหมายของศัพท์ ก็ต้องสืบค้นหลักฐานทางภาษา อย่างนั้นไม่เรียกว่าเป็นปัญหาในการตีความ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับหลักภาษาและที่มาของคำเป็นต้น เป็นคนละเรื่องกัน
๒) การตีความจะต้องไม่ขัดกับหลักการพื้นฐานของพระธรรมวินัย เช่น ถ้าตีความหลักปฏิจจสมุปบาทจนกลายเป็นว่า พระเจ้าตั้งกฎปฏิจจสมุปบาทขึ้นมา แล้วมอบหมายให้พระพุทธเจ้ามาสอน (อย่างที่เคยมีนักสอนศาสนาบางกลุ่มทำมาแล้ว) หรือว่า พระเจ้าส่งพระพุทธเจ้ามาสอนคำสอนเบื้องต้น เป็นการกรุยทางไว้รอพระบุตรของพระเจ้ามาสอนคำสอนที่แท้ อย่างนี้เป็นการตีความที่นอกหลักการของพระพุทธศาสนา ขัดกับหลักธรรมวินัย เป็นการเกินขอบเขตนี้แล้ว คือออกไปนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เป็นการตีความเลย แต่เป็นการใช้คำว่าตีความมาบังหน้าแล้วบัญญัติคำสอนอย่างอื่นแทนเข้ามา หรือเป็นการดัดแปลงธรรมวินัยนั่นเอง ในกรณีเช่นนี้ ผู้นั้นควรปฏิบัติตรงไปตรงมา โดยซื่อตรงที่จะไม่ใช้รูปแบบของพระพุทธศาสนา หรือใช้สิทธิเสรีภาพให้ถูกต้องโดยออกไปสอนคำสอนของตนข้างนอก หรือแม้แต่จะประกาศไม่เห็นด้วยกับพระพุทธศาสนาก็ได้ เป็นสิทธิของเขา แต่ต้องตรงไปตรงมา การที่โพธิรักษ์สอนว่าพระโพธิสัตว์เป็นอรหันต์ด้วยในเวลาเดียวกัน หรือว่าพระอรหันต์เกิดใหม่ได้ เป็นต้น ก็เข้าลักษณะนี้
ประเพณี หรือความเป็นมาในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องศาสนานี้ ต่างกันมากระหว่างตะวันตกกับตะวันออก และความแตกต่างในเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องการตีความคำสอนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทั้งหมดทีเดียว ตะวันตกเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ แห่งการบีบคั้นกดขี่บังคับในเรื่องความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนการรบราฆ่าฟันกันเป็นสงครามน้อยใหญ่ ทำให้ฝรั่งดิ้นรนเพื่ออิสรภาพในการตีความคำสอน และในการนับถือหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นเวลายาวนาน และด้วยความยากลำบาก จนออกผลสำเร็จในรูปของการวางกฎเกณฑ์ เช่น สิทธิเสรีภาพในกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ และกฎบัตรสิทธิมนุษยชนเป็นต้น เพื่อเป็นหลักประกัน ไม่ให้มีการบังคับบีบคั้นกันอย่างในอดีต แต่ก็ยังเป็นความสำเร็จในแง่ลบ คือไม่ให้เบียดเบียนกัน ยังไม่เป็นหลักประกันในทางบวกว่า คนต่างลัทธิศาสนาจะปรองดองสามัคคีสัมพันธ์กันด้วยเมตตา แต่ในตะวันออก เรามีประเพณีที่คนมีอิสรภาพในการนับถือศาสนา มีความเชื่อต่างกัน ตีความต่างกันก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ไม่เพียงแต่ไม่เบียดเบียนบีบคั้นบังคับกันเท่านั้น แต่อยู่ร่วมกันได้โดยสามัคคี รับฟังกันและกัน ถกเถียงเอาชนะกันทางปัญญา เป็นประเพณีสืบมา จนไม่ต้องตราเป็นกฎเกณฑ์กฎหมายข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม บางศาสนาในตะวันออกก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้บ้างในบางยุคสมัย เช่นที่ผู้ปกครองฮินดูเคยกระทำต่อชาวพุทธเมื่อล้มราชวงศ์โมริยะแล้ว เป็นต้น มีแต่พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่มีประวัติบริสุทธิ์อย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ประเพณีแห่งการตีความและเชื่อถือทางศาสนาอย่างเป็นอิสระนี้ มีหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งเคียงคู่ เป็นหลักประกันกำกับอยู่ด้วย คือความซื่อตรงต่อความจริง เมื่อนับถือลัทธิศาสนาใด ก็ว่านับถือ และถือตามศาสนานั้น เมื่อไม่นับถือ ก็ว่าไม่นับถือ และไม่ถือตามศาสนานั้น เมื่อก่อนเคยนับถือพระพุทธศาสนา ถึงกับเข้ามาบวช ต่อมาไม่นับถือ ก็ว่าไม่นับถือ และแสดงความซื่อตรงด้วยการสึกออกไป เมื่อชอบศาสนาใด ก็นับถือศาสนานั้นได้ ถ้าอยากเป็นนักบวช เข้าไปบวชแล้ว ก็ยอมรับถือตามหลักการของศาสนานั้น เมื่อเลิกนับถือ จะไม่ถือตามหลักการอย่างนั้น ก็สละรูปแบบของศาสนานั้นออกมา เป็นทั้งการมีเสรีภาพและการปฏิบัติโดยซื่อตรงต่อความจริง แต่เมื่อใดมีความไม่ซื่อตรงเกิดขึ้น เมื่อนั้นก็กลายเป็นปัญหา เช่น เมื่อแสดงตัวว่านับถือศาสนาหนึ่ง และเข้าไปบวชในศาสนานั้น แต่ไม่ถือตามหลักการของศาสนานั้น แล้วก็ไม่ปฏิบัติการตรงไปตรงมาด้วยการสลัดออกมาเสีย หรือยิ่งกว่านั้น กลับเอาความเชื่อถือของตนหรือลัทธิอื่นเข้าไปสอนว่าเป็นศาสนานั้น หรือปะปนกับศาสนานั้น อย่างนี้เรียกว่า เป็นความไม่ซื่อตรงต่อความจริง และการอยู่ในศาสนานั้นของผู้นั้น ก็กลายเป็นการแอบแฝง
ในกรณีอย่างนี้ กลุ่มชนผู้นับถือศาสนาที่เขาเข้าไปแอบแฝง ก็มีสิทธิโดยชอบธรรม ที่จะปฏิบัติการตรงไปตรงมา ให้เกิดความซื่อตรง คือ ให้บุคคลผู้แอบแฝงนั้นออกไปเสียจากรูปแบบหรือระบบหรือกลุ่มชนแห่งศาสนาของตน ดังที่ในพระวินัยของพระพุทธศาสนาบัญญัติ ให้ดำเนินการกับภิกษุผู้เข้ารีตเดียรถีย์ โดยตัดสิทธิบุคคลที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์ทั้งเป็นภิกษุ ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาได้อีก แม้จะบวชเข้ามาแล้วก็ไม่เป็นภิกษุ สงฆ์รู้เข้าเมื่อไร ให้ดำเนินการให้หมดสภาพจากความเป็นภิกษุ คือให้สึกเสียเมื่อนั้น (ให้นาสนะเสีย) การปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางศาสนา แต่เป็นการปฏิบัติให้เกิดความถูกต้องซื่อตรง ตามความจริงที่เขาเป็น และเป็นการปฏิบัติเพื่อให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพทางศาสนาอย่างถูกต้อง และตรงไปตรงมา
ตัวอย่างเหตุการณ์ทำนองนี้ครั้งใหญ่คือ ในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ มีคนนอกพุทธศาสนานับถือลัทธิความเชื่ออย่างอื่นเข้ามาบวชจำนวนมาก และนำหลักความเชื่อนอกพุทธศาสนาเข้ามาสอนปะปนกับหลักการของพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกมหาราชถึงกับต้องร่วมมือกับคณะสงฆ์ ดำเนินการสอบสวนลัทธิความเชื่อถือของภิกษุทั้งหลาย พบผู้ที่นับถือลัทธิภายนอกแอบแฝงเข้ามาอยู่ในสงฆ์มากมาย แล้วให้สึกออกไปเสีย การปฏิบัติเช่นนี้ไม่เป็นการบีบคั้นบังคับ และไม่เป็นการลิดรอนเสรีภาพ เพราะไม่ได้ฆ่าฟันคุกคามทำร้ายอะไรเขา หรือทำให้เขาสูญเสียอิสรภาพใดๆ เลย แต่เป็นเพียงการทำให้เขาไปอยู่ในสภาพ ที่ตรงกับที่เขาเป็นจริงเท่านั้นเอง
เราหวังให้เขาอยู่และทำการต่างๆ อย่างซื่อตรง และไม่แอบแฝงเข้ามาทำลาย หรือดัดแปลงพระพุทธศาสนาให้กลายเป็นลัทธิศาสนาอย่างอื่น ในขณะที่สถาบันพุทธศาสนาเสื่อมโทรมมาก ชาวพุทธจะต้องช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้คืนคงความเป็นพระพุทธศาสนาที่แท้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้คนที่มีความเชื่อถือนอกพุทธศาสนาฉวยโอกาสแอบแฝงเข้ามาปลอมปนคำสอน หรือดัดแปลงพระพุทธศาสนาไปเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะโดยหลงผิด หรือโดยมุ่งเอาพระพุทธศาสนาไปสนองรับใช้อุดมการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม
เท่าที่เขียนมานี้ ก็ด้วยเห็นว่าข่าวสารข้อมูลทั่วไปยังสับสนพร่ามัวอยู่มาก และยังมีความเข้าใจเคลื่อนคลาดอยู่ทั่วไป จึงมุ่งหมายจะชี้แจงให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และขอร้องท่านโพธิรักษ์ให้เห็นแก่พระศาสนา แล้วแสดงความซื่อตรงต่อความจริง เมื่อจะช่วยพระศาสนา ก็ควรมุ่งมาแก้ไขปรับปรุงกิจการ กับความประพฤติและความรู้ความเข้าใจของคน แต่หลักการหรือเนื้อตัวของพระศาสนาคือพระธรรมวินัย ควรช่วยกันรักษาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ หากคำพูดใดคล้ายจะล่วงเกินหรือกระทบกระเทือนต่อท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกบ้าง ก็ขออภัยด้วย เพราะเรื่องต้องเกี่ยวข้องถึงเอง ตามวิถีของงานที่ทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม มิได้ถือเป็นเรื่องระหว่างบุคคล หรือเป็นคู่กรณี แต่มีเจตนาที่มุ่งจะสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปกป้องพระธรรมวินัย และรักษาไว้ซึ่งความจริง
ผู้เขียนยังเชื่อว่า หลายคนในสันติอโศกมีความตั้งใจที่จะทำความดี แต่ยังมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอ ตามที่ชาวสันติอโศกได้เขียนลงในเอกสาร ที่เผยแพร่ตอบโต้ออกมานั้น ในส่วนที่เป็นการแสดงอารมณ์บ้างก็เข้าใจและน่าเห็นใจ เพราะท่านเหล่านั้นย่อมมีความรู้สึกกระทบกระเทือนใจ และโทมนัสบ้าง แต่ในด้านความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะที่เป็นพื้นฐานทางพระศาสนา ถ้าตั้งใจศึกษาโดยไม่ประมาท และวางใจเป็นกลาง พินิจพิจารณาโดยมุ่งอรรถมุ่งธรรม พุ่งตรงต่อความจริง ไม่หมายปกป้องท่านโพธิรักษ์ ให้มากไปกว่าที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา รักษาพระธรรมวินัยและความสัจจริง ก็จะช่วยกันสร้างสรรค์ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งแก่พระศาสนา แก่สังคมทั้งหมด และแก่ชีวิตของทุกคน
หลังจากบทความข้างต้นนี้ได้เผยแพร่ออกไปแล้ว ต่อมามีข่าวคืบหน้าว่า บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด ซึ่งได้ทราบว่าเป็นกิจการของสันติอโศก ได้พิมพ์หนังสือของชาวสันติอโศกออกเผยแพร่ใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ "วิเคราะห์พระเทพเวที กรณีโพธิรักษ์" เขียนโดย ว. ชัยภัค
หนังสือเล่มนี้ ว่าโดยทั่วไปไม่มีเนื้อหาที่ควรจะยกมาพิจารณา เพราะมีลักษณะที่เป็นการพยายามเบนเรื่องราวให้เป็นกรณีส่วนตัว หรือทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องของคู่กรณี แทนที่จะเป็นเรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นแก่พระศาสนา และมีผลกระทบต่อสังคม
แต่สิ่งสำคัญที่จะต้องยกมากล่าวในที่นี้ ก็คือ หนังสือนี้ได้สร้างปัญหา ที่เป็นการทำลายหลักการของพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีก ด้วยการนำหลักฐานจากพระไตรปิฎกมาอ้างอย่างบิดเบือนความ ซึ่งอาจทำให้คนที่ไม่มีโอกาสตรวจสอบเกิดความหลงเข้าใจผิดว่าหลักฐานนั้นเป็นความจริง และเกิดความสับสนไขว้เขวต่อหลักการของพระพุทธศาสนา
ประเด็นที่หนังสือนั้นสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก คือการอ้างว่า พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้
พึงสังเกตว่า ก่อนจะจัดพิมพ์หนังสือเล่มใหม่นี้ คุณ ว. ชัยภัค ได้เคยอ้างหลักฐานจากพระไตรปิฎก เล่ม ๓๗ (พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุปกรณ์ อ้างใน บทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร "สมาธิ" ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓ หน้า ๑๗ และอ้างอีกใน "วิเคราะห์พระเทพเวที" หน้า ๖๗) มายืนยันว่าพระโพธิสัตว์บรรลุมรรคผลเป็นอริยบุคคลแล้ว แต่หลักฐานที่นำมาอ้างนั้นไม่เป็นความจริง และกลับมีผลในทางตรงกันข้าม คือ เป็นการบ่งชี้พิสูจน์ หรือยืนยันว่าท่านโพธิรักษ์ หรือชาวสันติอโศกมีความเห็นผิด อย่างเดียวกันกับความเห็นผิดของคนบางกลุ่มในสมัยโบราณ ที่พระอภิธรรมปิฎกได้ยกขึ้นมาระบุไว้ และได้พยายามชี้แจงแก้ไขมาแล้ว
ในการกล่าวอ้างว่า พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้นั้น หลักฐานจากพระไตรปิฎกที่คุณ ว. ชัยภัค ยกมายืนยันเพิ่มเติมให้หนักแน่นในหนังสือเล่มใหม่นี้ คือเรื่อง สุเมธดาบส ใจความว่า พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี้ ในชาติแรกที่ได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้า ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น เป็นพระโพธิสัตว์ชื่อว่า สุเมธดาบส และสุเมธดาบสนั้นก็เป็นพระอรหันต์แล้ว ดังนั้น พระโพธิสัตว์จึงเป็นพระอรหันต์ได้
ข้อความจากพระไตรปิฎกที่คุณ ว. ชัยภัค อ้างว่า สุเมธดาบสเป็นพระอรหันต์นั้น คือคำที่สุเมธดาบสกล่าวถึงตนเองว่าเป็นผู้ "ถึงที่สุดแห่งอภิญญา" (แปลจากคำบาลีว่า อภิญฺาปารมิงฺคโต ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า เป็นผู้ถึงความยอดยิ่งในอภิญญา) ข้อความนี้ไม่ได้ระบุว่าอภิญญากี่อย่าง หรืออภิญญาข้อไหน เป็นอภิญญาแบบไหน โลกียะหรือโลกุตตระ เป็นอภิญญาในพระพุทธศาสนา หรืออภิญญาของฤาษีดาบส นอกพุทธศาสนา แต่คุณ ว. ชัยภัค ลงมติตัดสินว่าเป็นอภิญญาขั้นสุดท้ายในพระพุทธศาสนา (คืออภิญญาข้อที่ ๖) จึงหมายถึงเป็นพระอรหันต์
คุณ ว. ชัยภัค ได้ยกข้อความหรือถ้อยคำที่ไม่บ่งชัดมาอ้าง และกล่าวเองว่าข้อความนั้นหมายถึงเป็นพระอรหันต์ (จบอภิญญาถึงข้อที่ ๖) ทั้งที่ในเรื่องนั้นเองยังมีข้อความต่อไปอีก และคำพูดตอนต่อไปของสุเมธดาบสเองที่กล่าวสรุปไว้ก็ได้บ่งชัดว่า สุเมธดาบสจบอภิญญา ๕ เท่านั้น (ข้อความบาลีว่า ปญฺจาภิญฺาสุ ปารคู แปลเป็นไทยว่า เราเป็นผู้ถึงฝั่ง (คือจบ) ในอภิญญา ๕ - ขุ.พุทธ. พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๒ หน้า ๔๓๖) ซึ่งแสดงชัดว่าสุเมธดาบสไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เพียงแต่เป็นผู้ยอดเยี่ยมเจนจบในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ที่เป็นอภิญญาอย่างของพวกฤาษีดาบสนอกพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ทั้งที่มีหลักฐานระบุชัดเจนอย่างนี้ แต่คุณ ว. ชัยภัค ไม่อ้าง กลับไปยกเอาข้อความที่ไม่บ่งชัดมาอ้าง แล้วถือโอกาสตัดสินความหมายตามที่ตนต้องการ เพื่อเอามายืนยันความเห็นของท่านโพธิรักษ์ ที่ว่าพระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้ เป็นการพยายามนำเอาความเห็นผิดที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธ มายกใส่ให้เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา ด้วยวิธีอ้างหลักฐานที่อำพรางความจริง เป็นการชักจูงให้คนอ่านหลงเข้าใจผิด
- เวลานี้ กรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์ กับมหาเถรสมาคม กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก
เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงกรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์ กับมหาเถรสมาคม ศึกษาเรื่องให้ตลอดก่อนแล้วจะเห็นว่า เรื่องนี้เป็นกรณีระหว่างท่านโพธิรักษ์ กับผู้รักษาพระพุทธศาสนา กับผู้รักพระธรรมวินัย และกับคนที่รักความจริงโดยทั่วไป
การที่อาตมาพูดและเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะว่าท่านโพธิรักษ์มีปัญหากับมหาเถรสมาคม แต่เพราะเห็นว่า ท่านโพธิรักษ์ได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นแก่พระพุทธศาสนา ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนวิปริตขึ้นแก่หลักพระธรรมวินัย และมีพฤติการณ์ที่แสดงถึงการขาดความซื่อตรงต่อความจริง
อนึ่ง เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ บางทีก็เรียกกันว่า กรณีสันติอโศก แต่ที่จริง คำว่า กรณีสันติอโศก นั้น เป็นการเรียกอย่างคลุมๆ หมายถึงจุดหรือหย่อมที่เกิดเหตุการณ์ ถ้าว่าให้ชัด เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ตัวท่านโพธิรักษ์ผู้เดียว ส่วนที่จะเป็นปัญหาแก่ผู้อื่นในสันติอโศก ก็เป็นเพียงเรื่องที่โยงออกไปจากท่านโพธิรักษ์เท่านั้น ถ้าจะพูดให้ตรงจุดตรงเป้าจริงๆ จึงต้องเรียกว่า ปัญหาโพธิรักษ์ หรือกรณีโพธิรักษ์
- ท่านโพธิรักษ์พยายามชี้ให้ประชาชนเห็นว่า พระฝ่ายสันติอโศก ต่างจากพระของมหาเถรสมาคมอย่างไร
ที่เรียกกันว่าพระฝ่ายสันติอโศก และพระของมหาเถรสมาคมนั้น เป็นการใช้คำพูดที่ไม่ถูกต้อง
ยกตัวอย่าง ตัวอาตมาผู้ให้สัมภาษณ์นี้เอง บวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์ไทย อยู่ในประเทศไทย ทางการบ้านเมืองได้ออกกฎหมายปกครองคณะสงฆ์มา แล้วก็ตั้งมหาเถรสมาคมขึ้นมาเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ อาตมาก็เลยกลายเป็นว่าต้องอยู่ภายใต้การปกครองนั้นไปด้วย แต่ก็ไม่ได้มีความหมายว่าอาตมาเป็นพระของมหาเถรสมาคม ทั้งท่านโพธิรักษ์ และอาตมาต่างก็ไม่ได้เป็นพระของมหาเถรสมาคม แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม ตามกฎหมายด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่ควรพูดว่า นั่นพระฝ่ายสันติอโศก นั่นพระของมหาเถรสมาคม เพราะเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด แต่ถ้ายังจะขืนให้เป็นฝ่ายให้ได้ ก็ต้องพูดว่ามี ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายสันติอโศก ฝ่ายมหาเถรสมาคม และฝ่ายอิสระอย่างเช่นอาตมานี้เป็นต้น ไม่ใช่มีแค่ ๒ ฝ่าย
เรื่องนี้ถ้าจับประเด็นให้ถูก ก็จะเข้าใจว่า กรณีโพธิรักษ์นี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่ผุดโผล่ขึ้นมาในวงการพระศาสนา ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ก็จะต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา แม้พระสงฆ์อื่นๆ และชาวพุทธทั่วไปก็มีความรับผิดชอบ ที่จะต้องป้องกันแก้ไขพฤติการณ์ที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยนั้นด้วย ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเรียกว่าเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ ไม่มีฝ่ายสันติอโศก หรือฝ่ายมหาเถรสมาคม มีแต่ปัญหา กับการที่ว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไร อาตมาเป็นพระสงฆ์องค์หนึ่ง เป็นพระทั่วไปนี้แหละ เมื่อเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ที่กระทบกระเทือนต่อพระธรรมวินัย ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ จึงได้พูดจาขีดเขียนต่างๆ ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นอิสระ เพื่อทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง
- เรื่องท่านโพธิรักษ์เป็นปัญหาอย่างไร?
ก่อนจะเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างไร จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่าปัญหาในพระพุทธศาสนาคืออะไร ปัญหาในพระพุทธศาสนานั้น แยกได้เป็น ๒ ระดับคือ
๑. ปัญหาเกี่ยวกับตัวศาสนาเอง คือ ปัญหาเกี่ยวกับหลักการและรูปแบบของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า พระธรรมวินัย แยกเป็น ธรรม คือหลักการของพระพุทธศาสนา หรือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และวินัย คือระบบและรูปแบบที่จัดตั้งขึ้นตามหลักการนั้น ซึ่งเป็นเครื่องรักษาหลักการนั้นไว้ โดยเฉพาะรูปแบบของพระภิกษุสงฆ์
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระธรรมวินัยนี้ถูกประมวลรักษาไว้ในคัมภีร์ที่เรียกว่าพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นมาตรฐานตัดสินว่า คำสอน ความเชื่อ และความประพฤติปฏิบัติใดเป็นธรรมวินัยคือเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่
ปัญหาเกี่ยวกับตัวศาสนาจะเกิดขึ้นใน ๒ ลักษณะ คือ
ก. ปัญหาการทำพระธรรมวินัยให้วิปริต เช่น มีผู้สอนสิ่งที่ไม่มีในพระไตรปิฎก ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ลบล้างหรือดัดแปลงแต่งเติมแก้ไขพุทธพจน์ และพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎกให้ผิดเพี้ยนไปต่างๆ เรียกง่ายๆ ว่า ปลอมแปลงพระธรรมวินัย (คำสอนที่ผิดเพี้ยน หรือปลอมแปลงขึ้นมานี้ เรียกว่า สัทธรรมปฏิรูป) การกระทำในข้อนี้เป็นความชั่วร้ายแรงที่สุด เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาโดยตรงถึงรากถึงแก่น
ข. ปัญหาเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัย ปัญหานี้ในพระพุทธศาสนาไม่ค่อยสำคัญมากนัก เพราะพระพุทธ ศาสนาให้เสรีภาพทางปัญญามาก แต่ก็ต้องระวังว่าให้เป็นการตีความด้วยสุจริตใจ ไม่มีเจตนาบิดเบือน
๒. ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลในศาสนา คือ ความประพฤติของพระภิกษุสามเณรเป็นต้น ที่ย่อหย่อนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย เช่น การล่วงละเมิดพุทธบัญญัติต่างๆ ในพระวินัย ที่เรียกกันว่า ทำผิดศีล เรียกง่ายๆ ว่าประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย
ปัญหาเกี่ยวกับตัวพระศาสนาในข้อ ก. คือการดัดแปลงแก้ไขปลอมปน หรือคัดค้านล้มล้างพระธรรมวินัย เช่น ไม่ยอมรับพุทธพจน์และพุทธบัญญัติต่างๆ หรือบัญญัติคำสอนของตนเองขึ้นใหม่ไม่ตรงตามพระธรรมวินัย เป็นความผิดที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเป็นการทำลายเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เท่ากับไม่ยอมรับพระศาสดา เป็นความผิดต่อพระรัตนตรัยโดยตรง ทำให้หลักแห่งพระธรรมวินัยลบเลือนคลาดเคลื่อนและสับสน ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนสำหรับวินิจฉัยความเชื่อถือ และการประพฤติปฏิบัติสืบต่อไป
ในด้านปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลในศาสนา ถ้ามีพระภิกษุประพฤติผิดวินัย ล่วงละเมิดพุทธบัญญัติกันมาก ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่พระพุทธศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาอำนวยประโยชน์สุขแก่สังคมไม่ได้เท่าที่ควร แต่ตราบใดที่พระภิกษุเหล่านั้น แม้จะชั่วช้าเลวทรามอย่างไร แต่ยังยอมรับพระวินัย ไม่คัดค้าน ไม่ลบล้างดัดแปลงแก้ไขพระพุทธบัญญัติ ก็เท่ากับยังยอมรับพระศาสดาอยู่ ยังมีโอกาสแก้ไขได้ ยังไม่เป็นการทำลายเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา เมื่อใดการปกครองสงฆ์เข้มแข็งขึ้นมา ก็จะแก้ไขปัญหาปรับให้เข้ารูปเข้ารอยได้อีก
อนึ่ง พระภิกษุนอกจากเป็นสมาชิกในคณะสงฆ์แล้ว ก็เป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งด้วย เมื่อเป็นพลเมืองของประเทศใด หรืออยู่ในประเทศใด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศนั้น ถ้าละเมิดกฎหมาย ก็ถูกพิจารณาสอบสวนลงโทษตามความผิด
กรณีของท่านโพธิรักษ์นี้ เป็นการทำความผิดทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด คือ ทั้งละเมิดกฎหมาย ทั้งละเมิดพุทธบัญญัติประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย และทั้งคัดค้านแก้ไขดัดแปลงพระพุทธบัญญัติ ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต โดยเฉพาะเมื่อประพฤติผิดพระวินัย ล่วงละเมิดพุทธบัญญัติแล้ว ก็ไม่ยอมให้ปรับโทษอย่างภิกษุอื่นที่ทำความผิด กลับอ้างว่าสิ่งที่ตนกระทำถูกต้องแล้ว คัดค้านไม่ยอมรับพุทธบัญญัติ แก้ไขดัดแปลงพุทธบัญญัติและบัญญัติหลักเกณฑ์เอาใหม่ เพื่อให้ตนพ้นความผิด นอกจากนั้น ในการละเมิดกฎหมาย ก็มิใช่ละเมิดเฉพาะข้อนั้นข้อนี้เหมือนใครอื่น แต่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งฉบับ ไม่ยอมรับอำนาจปกครองของกฎหมายนั้นเลย เป็นเหมือนการประกาศตัวตั้งเป็นรัฐอิสระซ้อนขึ้นมาในแผ่นดิน
- ที่ว่าท่านโพธิรักษ์ละเมิดกฎหมาย ละเมิดพระวินัย และล้มล้างดัดแปลงพระพุทธบัญญัตินั้น ท่านทำอย่างไร และที่ว่า ตัวท่านผู้ให้สัมภาษณ์ทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นอิสระ ท่านเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหานี้อย่างไร?
ก. ในแง่การละเมิดกฎหมาย ท่านโพธิรักษ์ประกาศไม่ยอมรับกฎหมายบ้านเมือง ที่รัฐตราขึ้นสำหรับปกครองพระสงฆ์ไทยทั้งหมดทั่วประเทศ (กฎหมายฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เรียกว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕) ไม่ยอมรับอำนาจปกครองของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองคณะสงฆ์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงละเมิดกฎหมายนั้นทั่วไปหมดแล้วแต่ท่านจะพอใจ เช่น ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระเอาเองโดยไม่ได้รับตราตั้ง อยู่เป็นพระโดยไม่สังกัดวัดใดวัดหนึ่ง ตั้งสำนักขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับการอนุญาตสร้างวัดตามกฎหมาย ตั้งตัวเป็นเจ้าสำนักเองโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส
ข. ในแง่การละเมิดพุทธบัญญัติ ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ท่านโพธิรักษ์บวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และไม่ยอมรับการฝึกอบรมตามกำหนดแห่งพระวินัย ก่อปัญหาแก่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ถึงขั้นตัดขาดจากกัน เป็นอยู่โดยไม่ถือนิสสัยตามพระวินัย ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ทั้งที่ยังมีพรรษาไม่ครบตามพุทธบัญญัติ โดยเฉพาะกรณีที่เด่นมาก เพราะทำอยู่เสมอเป็นอาจิณ และโยงไปถึง การทำความผิดในข้อสุดท้ายด้วย ก็คือ การอวดอุตริมนุสธรรม หรืออวดคุณวิเศษต่างๆ เช่น อวดอ้างว่าตนเป็นพระอริยะ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอรหันต์ เป็นต้น ในพระวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ถ้าภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริงโดยเจตนาพูดเท็จ ก็มีความผิดขั้นเป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที เป็นความผิดขั้นร้ายแรงที่สุด ๑ ใน ๔ ข้อ เท่ากับภิกษุร่วมประเวณี ลักทรัพย์ หรือฆ่าคน และทรงบัญญัติไว้อีกข้อหนึ่งว่า ถึงแม้ภิกษุจะมีอุตริมนุสธรรม คือคุณวิเศษนั้นในตนจริง แต่ถ้าบอกแก่อนุปสัมบัน คือคนที่มิใช่ภิกษุหรือภิกษุณี ก็เป็นความผิดขั้นอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นความผิดที่เบาลงมา
ท่านโพธิรักษ์ต่างจากภิกษุอื่นๆ ทั่วๆ ไปที่เมื่อทำผิดแล้ว คนอื่นค้นพบ มาดำเนินการ ก็ยอมรับผิด แต่โพธิรักษ์ไม่ยอมรับความผิดเลย และยังหาญกล้าถึงกับปฏิเสธไม่ยอมรับพุทธบัญญัติ ทำให้กลายเป็นการทำผิดในข้อต่อไปอีก
สำหรับการทำความผิดของท่านโพธิรักษ์ ในแง่การละเมิดกฎหมาย และในการทำผิดพระวินัยละเมิดพุทธบัญญัตินี้ อาตมาไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาดำเนินการกันไป แต่จะพูดแสดงความเห็นบ้าง ในเมื่อเห็นว่า ท่านโพธิรักษ์และคนของท่านพูดไม่เป็นเหตุเป็นผล ดูเค้าว่าจะไม่ซื่อตรงต่อความจริง จึงขอติงบ้าง แต่ที่ต้องสละเวลาเข้ามาพูดมาเขียนนี้ ก็เพราะท่านโพธิรักษ์ก้าวไปถึงขั้นทำความผิด ต่อเนื้อตัวของพระศาสนา ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งเป็นหน้าที่ของพระภิกษุและชาวพุทธทุกรูปทุกคนที่จะต้องช่วยกันปกป้องรักษา
ค. ในแง่การคัดค้านลบล้างดัดแปลงพุทธพจน์และพุทธบัญญัติ ตลอดจนบัญญัติสิ่งที่มิใช่พุทธบัญญัติขึ้นมา ทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ข้อนี้เป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดดังกล่าวแล้วข้างต้น และท่านโพธิรักษ์ก็ได้ทำเป็นอันมาก ดังที่ท่านโพธิรักษ์ได้กล่าวไว้เองว่า ท่านบวชเข้ามาด้วยความมุ่งหมายเพียงเพื่อใช้เพศพระภิกษุ เป็นเครื่องสร้างความเชื่อถือที่จะทำให้ประชาชนเลื่อมใสในลัทธิคำสอนของตนได้ง่าย เมื่อบวชเข้ามาแล้วจึงไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย แต่ได้ดำเนินการเผยแพร่ลัทธิคำสอนของตนเองที่เชื่อถือมาตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์ และที่อ้างว่ารู้เองด้วยญาณ พุทธพจน์ใดเข้ากับตนได้ก็อ้างมาสนับสนุน หลักธรรมใดไม่เข้ากับตนก็ลบล้างดัดแปลง อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการทำความผิดในข้อนี้เป็นเรื่องของหลักธรรมวินัย ที่มีถ้อยคำเป็นศัพท์เฉพาะมาก ยากที่จะพูดให้คนทั่วไปเข้าใจได้ในเวลาสั้นๆ จึงจะยกกรณีเด่นๆ ที่โยงกับการทำความผิดในข้อก่อนมาเป็นตัวอย่าง
จะต้องทำความเข้าใจและย้ำเน้นกันไว้ก่อนว่า ปัญหาของท่านโพธิรักษ์ในข้อนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาในระดับการตีความ แต่เป็นปัญหาการทำความผิดต่อตัวพุทธบัญญัติโดยตรง คือคัดค้านดัดแปลงพุทธบัญญัติ ตลอดจนตั้งบัญญัติขึ้นเองใหม่เช่น
ในพุทธบัญญัติที่ว่า ภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมที่มีจริงในตนแก่อนุปสัมบัน เป็นความผิดขั้นอาบัติปาจิตตีย์นั้น พระวินัยปิฎกบัญญัติความหมายของ "อนุปสัมบัน" ไว้ว่า "อนุปสัมบัน" ได้แก่ คนอื่นนอกจากภิกษุและภิกษุณี (วินย.๒/๓๐๖/๒๑๑) ภิกษุจึงบอกอุตริมนุสธรรมแก่คฤหัสถ์คือชาวบ้านไม่ได้ แต่พระโพธิรักษ์บัญญัติความหมายของอนุปสัมบันขึ้นมาใหม่ว่า อนุปสัมบัน คือ คนที่ยังมีภูมิธรรมไม่ถึงขั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงอวดอุตริมนุสธรรมแก่ชาวบ้านก็ได้ เมื่อท่านทำอย่างนี้ ก็กลายเป็นว่าท่านได้ตั้งบัญญัติขึ้นใหม่ โดยคัดค้านไม่ยอมรับวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้า ต่อจากนี้ เมื่อท่านหลบความผิดทางพระวินัยไม่พ้นแล้ว ท่านก็อ้างต่อไปว่า พระอรหันต์ก็ทำความผิดต้องอาบัติได้เหมือนกัน ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องยืดยาวไม่จำเป็นต้องนำมาเล่าทั้งหมด ใจความก็คือ ท่านหาทางหลบหลีกความผิดเรื่อยไป โดยไม่คำนึงว่าในการทำเช่นนั้น ท่านจะลบล้างและลบหลู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทำพระธรรมวินัยของพระองค์ให้วิปริตไปเพียงใด
ในแง่หลักธรรม ท่านโพธิรักษ์ก็ดัดแปลงให้วิปลาสคลาดเคลื่อน หรือบัญญัติเอาใหม่ตามต้องการเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ท่านโพธิรักษ์ประกาศว่าท่านเป็นทั้งพระอรหันต์ และเป็นพระโพธิสัตว์ในเวลาเดียวกัน ซึ่งตามหลักการของพระพุทธศาสนาย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะพระอรหันต์เป็นผู้บรรลุโพธิแล้ว ส่วนพระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุโพธิ แต่กำลังแสวงหาโพธิอยู่ และเป็นคำที่ใช้เฉพาะสำหรับเรียกผู้แสวงโพธิ ที่กำลังบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น จึงไม่มีใครเป็นทั้งพระอรหันต์ และเป็นทั้งพระโพธิสัตว์ได้ในเวลาเดียวกัน แสดงว่าท่านปฏิเสธหลักการของพระพุทธศาสนาเสีย แล้วบัญญัติคำสอนขึ้นมาใหม่เอง นอกจากนั้น การประกาศตนเป็นพระอรหันต์ยังเป็นการผิดพระวินัยฐานอวดอุตริมนุสธรรม ดังได้กล่าวแล้วในข้อก่อนด้วย
อนึ่ง หลักการของพระพุทธศาสนาวางไว้แน่นอนชัดเจนว่า ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลแล้ว คือเป็นพระโสดาบัน จนถึงเป็นพระอรหันต์ จะไม่ถอยกลับลงมาเป็นคนมีกิเลสธรรมดาที่เรียกว่าปุถุชนอีก ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงแล้วก็ไม่ถอยกลับลงมาเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่ำลงมา เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่ถอยกลับลงมาเป็นพระอนาคามีจนถึงพระโสดาบันเป็นต้น แต่ปรากฏว่า นักบวชในสำนักสันติอโศกบางคนที่ท่านโพธิรักษ์ประกาศว่าเป็นอริยบุคคลแล้ว (ถึงขั้นอนาคามีก็มี) ต่อมาทำความผิดวินัยขั้นร้ายแรงที่สุดคือเป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ แสดงว่าอริยบุคคลของท่านโพธิรักษ์ถอยกลับลงมาเป็นคนธรรมดาที่ทำความชั่วอย่างร้ายแรงได้ จึงเห็นได้ชัดว่า ท่านโพธิรักษ์สอนธรรมไม่เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะมองว่าท่านเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาดัดแปลงเอาตามชอบใจ หรือบัญญัติหลักคำสอนขึ้นมาใหม่แทนคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้
ความเป็นพระอรหันต์ก็ดี ความเป็นพระโพธิสัตว์ก็ดี เป็นหลักสำคัญยิ่งในพระธรรมวินัย เป็นหลักธรรมระดับจุดหมายของพระศาสนา ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็ว่าเป็นของสูงยิ่ง แต่ท่านโพธิรักษ์นำมาพูดตามที่ตนพอใจ โดยไม่คำนึงว่า หลักการของพระพุทธศาสนา จะถูกกระทบกระเทือนอย่างไร ทำประดุจเป็นของเล่น เมื่อท่านกล้าที่จะทำกับหลักการสำคัญของพระธรรมวินัยได้แล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ว่าท่านจะทำตามพอใจกับหลักธรรมวินัยอื่นๆ ได้ อย่างไม่ต้องยับยั้งชั่งใจเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ความวิปริตผิดเพี้ยนก็จะเกิดขึ้นแก่พระศาสนาอย่างมากมาย
พระธรรมวินัยนั้น เป็นทั้งเนื้อตัวและเป็นแก่นเป็นแกนของพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานได้ตรัสกำชับไว้ว่า "เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงและบัญญัติไว้แล้ว จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย" พระสงฆ์และชาวพุทธทุกคนจึงมีหน้าที่ช่วยกันรักษา และปกป้อง พระธรรมวินัยไว้ให้บริสุทธิ์ ถ้าพระธรรมวินัยไม่ดำรงอยู่ ก็คือ พระพุทธศาสนาหมดสิ้นไป ผู้ใดทำลายพระธรรมวินัย ก็คือทำร้ายต่อองค์พระศาสดาและทำลายพระพุทธศาสนา เป็นความผิดต่อพระรัตนตรัย ถ้าใครจะทำความดีในแบบของตน ที่ไม่ตรงกับพระพุทธศาสนา ก็ควรออกไปทำและตั้งรูปแบบของตนเองนอกพระพุทธศาสนา จะต้องอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนา ให้กลายเป็นการแอบแฝงไปทำไม สถานการณ์ในขณะนี้ มาถึงขั้นซึ่งเหมือนกับที่โยมท่านหนึ่งกล่าวว่า ระหว่างท่านโพธิรักษ์กับพระพุทธเจ้า จะเลือกเอาใคร
- พระไตรปิฎกสำคัญอย่างไรถึงต้องใช้เป็นมาตรฐานตัดสินพระพุทธศาสนา? พระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้นหรือ?
เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือ นับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่เรารู้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้จากที่ไหน อะไรเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เท่าที่ตกทอดมาถึงเรานั้น มีอยู่ในพระไตรปิฎก เรารู้คำสั่งสอนหรือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเป็นที่บรรจุรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนคำกล่าว คำอธิบาย และคำเล่าของบุคคลอื่นๆ โดยเฉพาะของพระสาวกผู้ใหญ่จนถึงหลังพุทธกาลสองสามร้อยปี
ท่านผู้รู้ไม่มีใครพูดว่าข้อความทั้งหมดในพระไตรปิฎกเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ท่านกล่าวว่า คำสั่งสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าเรารู้ได้จากพระไตรปิฎก หรือว่าพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานแสดงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่มีมาถึงเรา หรือเท่าที่เราจะรู้ได้ เมื่อต้องการรู้ว่าอะไรเป็นพระพุทธศาสนา คือเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ จึงต้องเอาพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพุทธพจน์มาตัดสิน
- พระไตรปิฎกนั้นท่านจำกันมาด้วยปากเปล่าตั้งเกือบ ๕๐๐ ปี จึงได้จารึกลงในใบลาน และรักษากันมาถึงปัจจุบันก็เก่าแก่กว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว ในระหว่างนี้ คำสอนบางส่วนของพระพุทธเจ้าก็คงตกหล่นสูญหายไป และคงมีคำสอนนอกพระพุทธศาสนาปะปนเข้ามาบ้าง เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะเชื่อพระไตรปิฎกได้อย่างไร?
พระไตรปิฎกมีความสำคัญยิ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้ว ท่านจึงรักษากันมาด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด เช่น ในยุคท่องปากเปล่า ท่านแบ่งกันเป็นคณะใหญ่ๆ ซึ่งรับผิดชอบทรงจำคณะละหมวดตอน โดยใช้วิธีสาธยายหรือสวดพร้อมกันเป็นประจำ วิธีนี้แม่นยำมาก น่าจะแน่นอนยิ่งกว่าการเขียนคัดลอกด้วยซ้ำ เพราะพระที่ชุมนุมสวดทั้งหมู่จะต้องว่าลงกันทุกตัวอักษรจึงจะราบรื่นกลมกลืนสวดไปได้ ถ้าใครว่าผิดเพี้ยนไปแม้แต่ตัวเดียว ก็ขัดกับพวกและรู้กันทันที (ขอให้ดูการประชุมทำวัตรสวดมนต์ของพระสงฆ์ในวัดใหญ่ๆ ปัจจุบันนี้เป็นตัวอย่าง; ในพม่าเวลานี้ ยังมีพระภิกษุที่จำพระไตรปิฎกได้หมดทั้งสองหมื่นกว่าหน้า ซึ่งทางการมีประเพณียกย่องเรียกว่าพระติปิฎกธร) และใครจะเอาอะไรมาเติมเข้าไปก็ไม่ได้ นอกจากทั้งคณะสมคบกัน
ต่อมาในยุคของการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร โอกาสที่จะคัดลอกตกหล่นคลาดเคลื่อนมีได้มากขึ้น ก็มีการถือกำกับกันมาว่า อักษรจารึกพระธรรมหนึ่งตัวมีค่าเท่ากับพระพุทธรูปหนึ่งองค์ และมีพระไตรปิฎกไว้ตรวจสอบกันหลายๆ ฉบับ ชาวพุทธจึงมั่นใจในพระไตรปิฎกได้มาก
อย่างไรก็ตาม แม้จะระมัดระวังกันมากเพียงใดก็ตาม ในระยะเวลาที่ยาวนานเป็นพันๆ ปี ก็คงต้องมีการตกหล่นผิดเพี้ยนบ้างเป็นธรรมดา จึงต้องมีการประชุมเอาฉบับต่างๆ จากถิ่นต่างๆ มาตรวจชำระกันเป็นคราวๆ (มีพุทธพจน์บางแห่งดูว่าน่าจะคลาดเคลื่อน พอเทียบกับฉบับอื่นหรือดูที่อรรถกถายกไปอ้าง ก็รู้ว่าที่ถูกเป็นอย่างไร พุทธพจน์บางข้อความปรากฏอยู่กับคำอธิบายในอรรถกถา แต่ไม่พบในพระไตรปิฎก จึงสันนิษฐานว่าคงหลุดหายไป แต่กรณีเช่นนี้มีน้อยอย่างยิ่ง)
สมมติว่า มีข้อความคลาดเคลื่อนหรือแปลกปนเข้ามาบ้าง ก็เท่ากับว่าเรามีโอกาสรู้จักคำสอนที่แท้ของพระพุทธเจ้าได้น้อยลง หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าเหลือมาถึงเราน้อยลง ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่เราจะทำได้อย่างดีที่สุดก็คือ รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้บริบูรณ์ตรงตามที่มีมาถึงเรา เท่าไรก็เท่านั้น เพื่อให้คนรุ่นหลังจากเรา ได้พบพระไตรปิฎกในสภาพเดียวเท่ากับเรา ไม่ลดน้อยหรือคลาดเคลื่อนไปมากกว่าที่มาถึงเรา และเขาจะได้มีโอกาสเท่ากับเราในการพิจารณาพระไตรปิฎก โดยไม่ถูกเราผูกขาดปิดกั้นในทางปัญญา
ถ้าสงสัยข้อความบางแห่งว่า อาจจะแปลกปลอมเข้ามา ก็ตรวจสอบด้วยหลักสำหรับสอบสวนเทียบเคียง เรียกว่ามหาปเทส ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ โดยดูว่า ตัวบทและพยัญชนะสอดคล้องลงกันกับสูตรและวินัยทั่วไปหรือไม่ ด้วยวิธีการเช่นนี้ ถ้าพระไตรปิฎกส่วนใหญ่ยังคงอยู่ ก็ยังรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้
ปัจจุบันนี้ มั่นใจได้ว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ของพระไตรปิฎกยังคงอยู่ ชาวพุทธจึงมั่นใจได้ว่ายังสามารถรู้พระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามที่พระองค์ได้ทรงสอนไว้
- บางคนบอกว่าพระไตรปิฎกก็เก่าแก่มากแล้ว ควรจะแก้ไขให้ทันสมัย เขาว่าอย่างนี้ถูกไหม?
ขอย้ำว่า พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานแสดงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่เรามีอยู่ เรารักษาพระไตรปิฎกไว้ก็เพื่อจะได้รู้ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีว่าอย่างไร เราต้องการรู้ว่าพระองค์ตรัสอะไรไว้ ถ้าพระองค์ตรัสไว้ไม่ทันสมัย ก็ให้รู้ตามตรงว่าไม่ทันสมัย เนื้อเดิมของพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เหลืออยู่เท่าใด เราก็รู้จักพระพุทธศาสนาเท่านั้น ถ้าเนื้อเดิมของพระไตรปิฎกหมดไป ก็เรียกได้ว่าพระพุทธศาสนาหมดสิ้นแล้ว เรื่องก็จบเท่านั้น ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปเติม
ถ้าคุณแก้ไขพระไตรปิฎก อันที่แก้นั้นก็เป็นคำพูดของคุณเอง ไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้าแล้ว คนเขาต้องการรู้คำพูดของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ต้องการรู้คำพูดของคุณ ถ้าคุณอยากแก้พระไตรปิฎก ก็ไปเขียนเสนอไว้ข้างนอก ไม่ใช่มาเขียนใส่พระไตรปิฎก ทางที่ดีที่สุดก็คือเขียนคำสอนของคุณเองขึ้นมาใหม่ ไม่ต้องเอามาปะปนกับคำสอนของพระพุทธเจ้า หน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดก็คือ รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้บริบูรณ์ตรงตามเดิมเท่าที่มีมาถึงเรา
นี่ขนาดว่าท่านพยายามรักษากันมาอย่างดีที่สุดแล้ว ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนและของเสีย เล็ดลอดเข้าไปปะปนในพระไตรปิฎกได้บ้าง เหมือนกับสมบัติที่เฝ้ารักษากันมาอย่างดี ก็ยังมีคนร้ายลอบเข้ามาทำลายได้บ้าง แต่เมื่อเกิดเหตุอย่างนั้นขึ้นแล้ว วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ จะต้องเพิ่มความระมัดระวังรักษาด้วยความไม่ประมาทมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่า พอเสียไปหน่อยแล้ว ก็เลยปล่อยทิ้งหมด หรือทำตัวเป็นโจรทำลายเสียเองเลย
- แม้ว่าท่านโพธิรักษ์จะอวดอุตริมนุสธรรม แต่ท่านก็ยังดีที่ไม่ได้ทำดิรัจฉานวิชา
การอวดอุตริมนุสธรรมก็ดี ทำดิรัจฉานวิชาก็ดี เป็นความผิดทั้งนั้น ถ้าไม่ทำเสียเลยทั้งสองอย่าง จะดีกว่า พระที่ดีไม่ทำทั้งสองอย่าง
พระเหลวไหลที่เล่นดิรัจฉานวิชา ถูกท่านโพธิรักษ์ยกขึ้นมาโจมตีให้เด่น แต่แล้วท่านโพธิรักษ์เองก็อวดอุตริมนุสธรรม เหมือนกับจะแข่งกันทำความผิด ฝ่ายหนึ่งอวดอุตริมนุสธรรม อีกฝ่ายหนึ่งทำดิรัจฉานวิชา ฝ่ายหนึ่งเจาะไชรากของพระศาสนา อีกฝ่ายหนึ่งทับถมลำต้นด้วยกาฝาก เรามาช่วยกันส่งเสริมพระที่ไม่ทำทั้งสองอย่างนั้นเลยจะดีกว่า
พระมากมาย ที่ถูกเรียกว่าพระของมหาเถรสมาคมนั้น ท่านไม่ทำทั้งการอวดอุตริมนุสธรรม และดิรัจฉานวิชา
- แม้ว่าท่านโพธิรักษ์จะทำไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา แต่ท่านก็สอนคนให้ทำความดี และท่านก็อยากสอนต่อไป ท่านจะถือเพศเป็นภิกษุเพื่อทำงานสอนต่อไปไม่ได้หรือ?
ถ้าท่านโพธิรักษ์จะสอนคนให้ทำความดี ตัวท่านเองก็จะต้องทำความดีด้วย คือต้องซื่อตรงในการทำความดี ถ้าจะถือเพศเป็นภิกษุ ก็ต้องสอนให้ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา การเข้ามาอาศัยรูปแบบของพระภิกษุ ที่พระพุทธเจ้าจัดตั้งไว้สำหรับรักษาหลักการของพระองค์ ไปสอนหลักการอื่นที่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า หรือทำการดัดแปลงคำสอนของพระองค์ นอกจากเป็นการประทุษร้ายต่อพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นการหลอกลวงประชาชน ไม่ใช่เป็นความดี แต่เป็นความชั่วอย่างร้ายแรง ยิ่งถ้าท่านต้องอาบัติปาราชิก เพราะอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง ท่านก็ขาดจากภาวะของพระภิกษุไปแล้ว ท่านก็ไม่มีสิทธิครองเพศต่อไปเลยด้วยซ้ำ
การลาสิกขาสละรูปแบบของพระภิกษุ ออกไปทำงานสั่งสอนหลักการของตนในรูปแบบอื่น ไม่ใช่เป็นการขัดขวางการทำดี แต่เป็นการแสดงความซื่อตรง เหมือนนักบวชในศาสนาอื่น ที่เขาใช้รูปแบบอื่นของเขา สอนคนให้ทำความดีตามแบบของเขา ก็ไม่มีใครว่าอะไร
- ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ ทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ท่านโพธิรักษ์จะสอนจะปฏิบัติพระพุทธศาสนาอย่างไร ก็ย่อมได้
การพูดอย่างนี้ ก็คือการแยกความหมายไม่ถูกต้องเอง ที่ว่าให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็คือว่า มีศาสนาต่างๆ ให้เราเลือกนับถือได้มากมายหรือหลายศาสนา เราจะเลือกนับถือศาสนาไหนก็ได้ ไม่มีใครจะบังคับเราได้ เมื่อเราเลือกนับถือศาสนาใด ก็คือเราชอบใจหลักธรรมคำสอนของศาสนานั้น ยอมรับและยินดีถือปฏิบัติตามนั้น และเมื่อใดเราเกิดเปลี่ยนใจ ไม่ชอบหลักธรรมคำสอนของศาสนานั้น เราก็เลิกนับถือศาสนานั้นได้ การนับถือก็บ่งบอกความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าเราชอบใจ และยินดียอมรับเชื่อถือปฏิบัติตาม เสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่ใช่เสรีภาพในการไปดัดแปลงแก้ไขศาสนา เมื่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ถูกกับความคิดเห็นของเราแล้ว เราก็มีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ที่จะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา และออกจากพระพุทธศาสนาไป ไม่ใช่ว่าเข้าไปในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไปดัดแปลงแก้ไขหลักธรรมคำสอนเอาตามที่เราชอบใจ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนาแล้ว แต่กลายเป็นศาสนาใหม่ของเราเอง
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาไม่ได้
เสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่ใช่เสรีภาพที่จะทำกับศาสนาอย่างไรก็ได้ ถ้าจะทำกับศาสนาตามที่ตนชอบใจ ก็ไม่ใช่นับถือศาสนานั้นแล้ว
- มีบางคนว่า ท่านโพธิรักษ์จะเป็นเหมือนมาร์ติน ลูเธอร์ของพุทธศาสนา จริงหรือไม่?
ท่านโพธิรักษ์ต่างกับมาร์ติน ลูเธอร์ ท่านไปไกลกว่า มาร์ติน ลูเธอร์ มาร์ติน ลูเธอร์ พาศาสนิกหวนกลับไปหา คัมภีร์ไบเบิล และยึดถือไบเบิลเป็นแบบแผนโดยเคร่งครัด ส่วนท่านโพธิรักษ์มีทีท่าว่า จะหวนกลับไปหาพระไตรปิฎก แต่แล้วกลับแก้ไขดัดแปลงพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎก และตั้งบัญญัติใหม่ที่ต่างจากพระไตรปิฎก มาร์ติน ลูเธอร์ เพียงแต่ตั้งนิกายใหม่ขึ้นในคริสต์ศาสนา แต่การกระทำของพระโพธิรักษ์จะกลายเป็นการตั้งศาสนาใหม่ขึ้น โดยอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนาเข้าไปทำลายเนื้อหาของพระพุทธศาสนา
เหตุที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่า มาร์ติน ลูเธอร์ ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์ไบเบิลจนรู้เข้าใจเป็นอย่างดี ก่อนเทศนาสั่งสอน แต่ท่านโพธิรักษ์ไม่เล่าเรียนพระธรรมวินัย ไม่ศึกษาพระไตรปิฎกให้รู้หลักการของพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ตั้งตัวเป็นผู้สั่งสอนโดยอ้างว่ารู้เองด้วยญาณ
- ท่านโพธิรักษ์ก็สอนให้คนทำดี ชาวสันติอโศกก็พยายามทำดีประพฤติดี อย่างนี้เป็นความผิดด้วยหรือ พระที่อื่นทำความผิดกันมากมาย ทำไมไม่ไปลงโทษ ทำไมจึงมาลงโทษสันติอโศก?
คนทำความผิดอย่างหนึ่ง ก็มักอ้างการทำความดีอีกอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่างมากลบเกลื่อน เป็นอย่างนี้กันทั่วไปหมด
ส่วนที่สันติอโศกทำดี ก็ดีแล้ว ไม่มีใครลงโทษสันติอโศกเพราะการทำความดีนั้น คนอื่นๆ ก็ทำความดีกันคนละมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อเขาทำผิด ก็ต้องถูกลงโทษตามความผิดนั้น
หลักการทั่วไปในเรื่องนี้มีอยู่ว่า บุคคลจะอ้างความดีบางอย่างของตน หรือความผิดของคนอื่น มาเป็นเหตุพ้นความผิดตามพระวินัยหรือตามกฎหมายไม่ได้
ที่จริง ในเรื่องนี้ เขาไม่ได้คิดทำอะไรกับชาวสันติอโศกเลย เขาเห็นใจด้วยซ้ำ ปัญหาอยู่ที่ตัวท่านโพธิรักษ์ และเขาก็ดำเนินการกับท่านโพธิรักษ์เท่านั้น แต่การทำผิดบางอย่างของท่านโพธิรักษ์ มีผลโยงมาถึงชาวสันติอโศกบางคนเข้าเอง แม้ว่ากิจการของสันติอโศก จะต้องพลอยกระทบกระเทือนไปด้วยบ้างเป็นธรรมดา แต่ชาวสันติอโศกก็สามารถทำความดีต่อไปได้ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ชาวสันติอโศกเอง จะต้องพิสูจน์ตนว่ายังคงมั่นคงในความดี และควรแสดงตัวให้เห็นว่า ถือธรรมเป็นใหญ่ มิใช่ถือตัวบุคคลเป็นใหญ่
ท่านโพธิรักษ์อาจจะได้ทำความดีบางอย่าง แต่ความไม่ซื่อตรงและการทำผิดต่อพระธรรมวินัย เป็นความชั่วที่ยิ่งใหญ่ร้ายแรงกว่ามากมาย เทียบกันไม่ได้
- ความดีที่ท่านโพธิรักษ์ทำแทบทั้งหมดเป็นเพียงความเคร่งครัดวัตรปฏิบัติภายนอก ใช้ธรรมขั้นต้นก็พอ ทำไมท่านจะต้องไปดัดแปลงหลักธรรมชั้นสูงของพระพุทธเจ้าด้วย?
นี้คือข้อสงสัยอย่างหนึ่ง ซึ่งคงต้องหาคำตอบกันต่อไป
- มหาเถรสมาคมทำไมมาหาความผิดกับท่านโพธิรักษ์ พระของตัวเองประพฤติเสียหาย ทำดิรัจฉานวิชามากมาย ทำไมไม่ไปจัดการแก้ไข?
ถ้าพระภิกษุอื่นเป็นพระของมหาเถรสมาคม พระโพธิรักษ์ก็เป็นพระของมหาเถรสมาคมเหมือนกัน ไม่ว่าพระรูปใดทำความผิด มหาเถรสมาคมก็ควรไปจัดการทั้งนั้น
ดังนั้น ถ้าจะพูดให้ถูก คำถามข้างต้นนั้น ควรจะเปลี่ยนใหม่เป็นคำพูดกระตุ้นเร่งเร้าว่า "มหาเถรสมาคมดำเนินการแก้ไขปัญหาท่านโพธิรักษ์แล้ว ก็ขอให้เร่งจัดการแก้ไขปัญหาพระทำดิรัจฉานวิชาเสียด้วย"
- ท่านโพธิรักษ์ว่า ท่านเป็นนานาสังวาสกับมหาเถรสมาคม ดังนั้น มหาเถรสมาคมจึงทำอะไรท่านไม่ได้
ท่านโพธิรักษ์พูดอย่างนี้จะด้วยไม่เข้าใจหรือแกล้งพูดเฉไฉก็แล้วแต่ คนที่รู้เรื่องดีย่อมมองเห็นว่าท่านเอาเรื่องคนละอย่างมาพูดให้สับสนปนเปกัน มหาเถรสมาคมเป็นเพียงองค์กรปกครองคณะสงฆ์ ไม่สามารถจะไปเป็นนานาสังวาสกับใครได้
อนึ่ง การที่ท่านโพธิรักษ์เรียกตัวเป็นคณะสงฆ์หนึ่งต่างหากนั้น ก็เป็นเพียงการตั้งตัวเองเท่านั้น ถ้าจะเป็นอิสระกันได้ ด้วยการตั้งตัวเองอย่างนี้ พระอื่นๆ เมื่อทำความผิด จะไม่ยอมให้ลงโทษ ก็คงตั้งตัวกันขึ้นอย่างนั้นมากมาย ที่จริง มองในมุมกลับ การที่ท่านโพธิรักษ์ตั้งตัวขึ้นอย่างนี้นี่แหละ จึงทำให้ผู้ที่รักพระศาสนาไม่เชื่อว่า ท่านจะมีความหวังดีต่อพระศาสนาอย่างแท้จริง แต่สงสัยว่าท่านมีเจตนาอะไรอยู่เบื้องหลังกันแน่
ท่านโพธิรักษ์กับคณะของตน เป็นเพียงพระที่อยู่ในปกครองคณะสงฆ์ไทย เสมอกันกับพระอื่นๆ ทั่วไป หาได้มี อภิสิทธิ์อะไรไม่ การเรียกเป็นฝ่ายหรือเป็นอีกพวกหนึ่งนั้น เป็นวิธีการที่เกิดจากความไม่ซื่อตรงทั้งสิ้น
สิ่งที่แน่นอน มีหลักฐานชัดเจน ก็คือ ท่านโพธิรักษ์คัดค้านพุทธบัญญัติ ลบล้างหลักการตามพระพุทธพจน์ และบัญญัติหลักการใหม่เอาเอง ซึ่งต่างจากหลักคำสอนในพระไตรปิฎก ฉบับที่รองรับความเป็นพระภิกษุที่ท่านโพธิรักษ์ใช้อ้างตนอยู่
ฉะนั้น จึงเป็นทั้งความซื่อตรงและชอบธรรมตามหลักจริยธรรมสามัญ และเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามสิทธิมนุษยชนและตามเสรีภาพโดยรัฐธรรมนูญ ที่ท่านโพธิรักษ์จะสละความเป็นพระภิกษุ ออกไปแสวงหารูปแบบอย่างอื่นที่สอดคล้องกับหลักการที่เป็นเนื้อหาของตน
สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พึงเป็นไปเพื่อส่งเสริมการกระทำที่ซื่อตรงและชอบธรรม ไม่พึงถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการที่จะทำอะไรได้ตามชอบใจ หรือการอาศัยรูปแบบของพระพุทธศาสนา แอบแฝงเข้ามาทำลายเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา
- ท่านโพธิรักษ์เปรียบเทียบว่า มหาเถรสมาคมเป็นเหมือนบริษัทใหญ่ที่ผลิตปาท่องโก๋ผิดสูตร เป็นผลเสียหายก่ออันตรายแก่ประชาชน ท่านจึงแยกตัวไปตั้งร้านใหม่ผลิตปาท่องโก๋ด้วยสูตรที่ถูกต้องของท่านเองต่างหาก เป็นคนละสูตรกัน ควรจะปล่อยให้ท่านทำของท่านไป จะมาเอาเรื่องหรือลงโทษท่านได้อย่างไร?
คำเปรียบเทียบของท่านโพธิรักษ์นี้ ให้ภาพที่ผิดพลาด ถ้าพูดให้ถูกต้อง คำเปรียบเทียบจะเป็นดังนี้
คณะสงฆ์ไทยคือบริษัทใหญ่ที่ผลิตปาท่องโก๋ มีโรงงานในเครือมากมาย คือวัดทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งจะต้องผลิตปาท่องโก๋โดยใช้สูตรเดียวกัน คือสูตรธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า บริษัทใหญ่ผลิตปาท่องโก๋นี้มีมหาเถรสมาคมเป็นคณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไป
ถ้าคณะกรรมการบริหารทำงานเข้มแข็ง โรงงานส่วนใหญ่ก็จะตั้งใจผลิตปาท่องโก๋ให้เป็นไปตามสูตร ได้คุณภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานด้วยดี แต่ถ้าเมื่อใดคณะกรรมการบริหารย่อหย่อนอ่อนแอ ก็เป็นโอกาสให้โรงงานหลายแห่งที่เลวร้าย ผลิตปาท่องโก๋ด้อยคุณภาพ ซึ่งบางทีผิดสูตรห่างไกลถึงกับเป็นอันตรายต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารไม่ใช่เป็นผู้ผลิตปาท่องโก๋ แต่โรงงานต่างๆ เป็นผู้ผลิต ดังนั้น ไม่ว่าคณะกรรมการบริหารจะย่อหย่อนอ่อนแอหรือละเลยเพียงใด ก็จะมีโรงงานจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจจริงตลอดทุกเวลา ทำการผลิตปาท่องโก๋ตรงตามสูตร มีคุณภาพสูง อย่างซื่อสัตย์และเป็นผลดีแก่ประชาชน
สภาพของคณะสงฆ์ไทย ที่เปรียบได้กับบริษัทใหญ่ผลิตปาท่องโก๋ ย่อมเป็นดังที่กล่าวมานี้
ท่านโพธิรักษ์อาศัยยี่ห้อของบริษัทใหญ่นั้น เข้ามาดำเนินการตั้งโรงงานผลิตปาท่องโก๋ขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถูกหลายคนเรียกว่าเป็นโรงงานเถื่อน นอกจากไม่ยอมขึ้นต่อคณะกรรมการบริหารแล้ว ยังทำผิดกฎหมายด้วยประการต่างๆ และไม่ยอมรับผิดด้วยประการใดทั้งสิ้น แต่ที่ร้ายที่สุดก็ดังที่ท่านอวดอ้าง ซึ่งกลายเป็นการสารภาพขึ้นมาเองในบัดนี้ว่า ท่านใช้สูตรของท่านที่ท่านคิดขึ้นเอง ไม่ใช่สูตรเดียวกับของบริษัทใหญ่ (คือไม่ใช่สูตรธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า) แต่ทั้งที่ทำของตนขึ้นมาใหม่เองอย่างนี้แล้ว ท่านก็ยังเอาตราธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไปติดป้ายเป็นชื่อสูตรของท่าน
เป็นการไม่ซื่อตรงและไม่ชอบธรรมใดๆ เลย ที่ท่านโพธิรักษ์ จะสมัครเข้ามาในบริษัทใหญ่เพียงเพื่อได้สิทธิของพนักงาน และทั้งที่ยังเป็นคนงานใช้สิทธิของบริษัท ก็อ้างว่าตนอยู่คนละบริษัทอยู่นอกความควบคุม โดยไม่สละสิทธิให้เสร็จสิ้นไป ยิ่งกว่านั้น เมื่อผลิตปาท่องโก๋ด้วยสูตรที่คิดขึ้นเองแล้ว ทั้งที่ไม่ใช้สูตรของพระพุทธเจ้า ก็ยังเอาชื่อหรือตราธรรมวินัยซึ่งเป็นสูตรของพระพุทธเจ้า มาใช้เรียกสูตรของตน ไม่เปลี่ยนไปใช้ชื่อ ใช้ตรา ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า เป็นต้น เป็นอย่างอื่นต่างหากให้ชัดเจนออกไป
ที่พูดอย่างนี้ มิใช่จะแกล้งกล่าวว่าหรือประณาม แต่เป็นการชี้ให้เห็นความจริงตามคำเปรียบเทียบของท่านโพธิรักษ์เอง โดยมุ่งเพื่อมิให้นำเอาคำเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้อง มาใช้ชักจูงประชาชนให้เข้าใจไขว้เขวผิดพลาดไป และเพื่อแสดงให้เห็นว่าคำเปรียบเทียบที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร
สิ่งที่ควรประณาม ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าคำเปรียบเทียบที่ผิด ก็คือ เจตนาที่มิได้มุ่งที่จะสร้างความเข้าใจในความจริง แต่จงใจใช้คำพูดและการเปรียบเทียบต่างๆ ให้ผิด เพื่อสร้างภาพลวง ชักจูงประชาชนให้เกิดความสับสนไขว้เขว
- ท่านโพธิรักษ์ และชาวสันติอโศกก็ทำความดีหลายอย่าง เมื่อจะแก้ไข ทำไมจึงลงโทษรุนแรง ไม่หาทางประนีประนอม ไม่เมตตาอภัยกันบ้าง
ความผิดทางพระวินัยนั้น มีโทษตามพุทธบัญญัติในพระวินัยปิฎก ความผิดทางพระวินัยนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ความผิดอย่างแรงถึงความผิดอย่างเบา มีความผิดอยู่ ๔ อย่าง ซึ่งมีโทษร้ายแรงที่สุด เรียกว่า ปาราชิก เมื่อทำแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันทีตั้งแต่เวลาที่กระทำ คือ ร่วมประเวณี ลักทรัพย์ ฆ่าคน และอวดอุตริมนุสธรรมหรือคุณวิเศษที่ไม่มีจริงในตน (เช่น อวดอ้างตนเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดาบัน เป็นอริยบุคคล) ไม่มีใครจะช่วยแก้ไขให้กลับเป็นพระภิกษุได้อีก ถึงไม่สึกก็ไม่เป็นพระแล้ว ถ้าสึกไปแล้ว มาบวชใหม่ก็ไม่สามารถเป็นพระได้อีก โทษตามพุทธบัญญัตินี้ พระพุทธเจ้ากำหนดไว้อย่างไร คือตราไว้ในพระวินัยปิฎกอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น พุทธบัญญัติเป็นของพระพุทธเจ้า มหาเถรสมาคมไม่ได้เป็นเจ้าของพุทธบัญญัติ แต่มีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพุทธบัญญัตินั้น ไม่มีพระภิกษุองค์ใด ไม่ว่าจะเป็นมหาเถรสมาคมหรือแม้แต่สมเด็จพระสังฆราช จะสามารถไปเปลี่ยนแปลงลดหย่อนโทษตามพระวินัยได้ ถ้าขืนทำ ผู้ทำนั้นเองก็กลายเป็นผู้ลบล้างพุทธบัญญัติไป กลายเป็นโทษแก่ตนเอง และถ้าพระภิกษุที่ทำความผิดเป็นปาราชิก เขาก็ไม่เป็นพระอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะประนีประนอมกันได้ เพราะไม่ใช่เรื่องระหว่างพระกับพระ แต่เป็นเรื่องระหว่างพระกับพระวินัยหรือพระพุทธบัญญัติ
รวมความว่า การปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เมื่อผิดอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น นี่แหละเป็นความซื่อตรง ชอบธรรมและยุติธรรม และเป็นตัวกำหนดขอบเขตของความเมตตากรุณา การสละรูปแบบนี้ออกไป แล้วไปทำงานของตนในรูปแบบอื่น ไม่เป็นการปิดกั้นขัดขวางการทำความดี แต่จะเป็นการทำความดีด้วยความซื่อตรง
- ในเหตุการณ์นี้ ดูเหมือนว่าประชาชนจะสับสนมาก ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ควรจะวางตัวอย่างไร?
สาเหตุสำคัญที่ทำให้สับสน ก็เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากโดยที่ผู้ที่วิจารณ์นั้นไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องราวอย่างเพียงพอ ได้แต่พูดไปตามความรู้สึกจากข่าวที่ว่าตามๆ กันไป
ท่าทีที่ถูกต้องคือ คนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะในยุคแห่งข่าวสารข้อมูลนี้ เมื่อจะพูดจาแสดงอะไรออกไป ควรศึกษาเรื่องราวให้เข้าใจดีเสียก่อน ในเมื่อเรื่องนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ถ้าเราจะแสดงความเห็น ก็ควรถามตนเองก่อนว่า เรารู้เข้าใจดีแล้วหรือว่าพระธรรมวินัยคืออะไร ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยเป็นอย่างไร ไม่ใช่พูดออกมาง่ายๆ ว่า เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อ หรือเป็นเรื่องของการตีความ หรือว่าเป็นเรื่องพระขัดแย้งกัน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการชักพาให้ประชาชนเข้าใจไขว้เขว
การวางตัวให้ถูกก็คือ จะต้องไม่มองแคบๆ เพียงในแง่ว่าเป็นข้างไหนฝ่ายไหน แต่ต้องมองว่า การแก้ปัญหาของพระศาสนาหรือปัญหาของส่วนรวมจะเสร็จสิ้นไปได้อย่างไร
- เหตุการณ์นี้ น่าจะให้บทเรียนบางอย่างแก่ชาวพุทธไทยได้บ้าง
แน่นอน ควรจะได้บทเรียนมากทีเดียว อาตมาได้บอกแล้วแต่ต้นว่า ในวงการพระศาสนาของไทยเวลานี้ ความเข้มแข็งสมบูรณ์เหลือกระจายอยู่เป็นจุดเป็นหย่อมเท่านั้น แม้ว่ารวมกันแล้วพระดีจะยังมีจำนวนมาก แต่สภาพที่ปรากฏทั่วไป คือความอ่อนแอเสื่อมโทรม ถ้าความอ่อนแอเสื่อมโทรมนั้นไม่มี ปัญหาอย่างนี้ก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้น จึงอย่ามัวประมาทอยู่ ควรจะรีบตื่นตัวกันขึ้นมา เร่งรัดแก้ไขปรับปรุงกิจการพระศาสนาทุกด้าน โดยเฉพาะการศึกษาพระธรรมวินัยให้ได้ผล
การพูดในแง่หนึ่งว่า การพระศาสนาเวลานี้ รูปแบบยังพอเหลือชัดเจนอยู่ แต่เนื้อหาข้างในพร่องลงไปอย่างน่ากังวล จนเป็นโอกาสให้คนที่คิดร้าย เอารูปแบบนั้นไปใช้ใส่เนื้อหาอย่างอื่น ดังที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ จึงจะต้องช่วยกันเร่งรัดสร้างเนื้อหาที่แท้ขึ้นมาเติมใส่ให้เต็มโดยเร็ว
- โทษที่ท่านโพธิรักษ์ได้รับครั้งนี้ แม้ว่าจะต้องเป็นไปตามพระพุทธบัญญัติและตัวบทกฎหมาย แต่ก็อดสงสารท่านไม่ได้
ใช่ ก็ควรจะสงสาร แต่ต้องไม่ลืมว่า ที่น่าสงสารยิ่งกว่านั้นก็คือพระศาสนา ถ้าทุกฝ่าย โดยเฉพาะท่านโพธิรักษ์สงสารพระศาสนา เห็นแก่พระธรรมวินัยเป็นใหญ่ ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเกิดขึ้น ก็จะแก้ไขกันได้ไม่ยาก
ส่วนที่สงสารก็สงสารกันไปในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่จะเอาความสงสารมาเหนือหลักการไม่ได้ ถ้าเอาแต่สงสารคน ไม่ว่าจะทำหรือแสดงอะไรออกมา ก็จะเป็นไปด้วยอคติ แต่ถ้าสงสารพระศาสนาหรือคำนึงถึงพระศาสนาเป็นใหญ่ ก็จะแก้ปัญหาได้โดยชอบธรรม
- เมื่อแก้ปัญหาระหว่างสองฝ่ายยุติลงได้ เรื่องก็คงจบกันเสียที
อย่ามองปัญหาสั้นๆ แคบๆ อย่างนั้น ขอให้คิดให้ดีว่า จุดหมายของการแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน บอกแล้วตั้งแต่ต้นว่า มันไม่ใช่เรื่องของการเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เราไม่ได้แก้ปัญหา เพื่อท่านโพธิรักษ์หรือเพื่อมหาเถรสมาคมหรือเพื่อใครๆ ทั้งนั้น จุดหมายของการแก้ปัญหาอยู่ที่พระศาสนา และประโยชน์สุข อันยั่งยืนของสังคม การแก้ปัญหาสำเร็จไม่ใช่อยู่ที่ว่าปัญหาระหว่างสองฝ่ายยุติลง หรือการทำให้เรื่องราวยุติลงได้ แต่ต้องดูว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการแก้ปัญหาได้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่
ประเด็นอยู่ที่ว่า ปัญหาได้เกิดขึ้นแก่พระศาสนาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่ง แห่งประโยชน์สุขของประชาชน การที่ว่าจะแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องดูว่า ปัญหาที่ได้เกิดขึ้นแก่พระศาสนานั้นได้หมดไปแล้วหรือไม่ พระศาสนาได้คืนเข้าสู่สภาพเรียบร้อยสมบูรณ์เป็นปกติ พร้อมที่จะเอื้ออำนวยความสงบสุขแก่สังคมต่อไปหรือไม่ การแก้ไขได้ช่วยให้มีอะไรที่จะเป็นหลักประกัน สำหรับรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระศาสนานั้น และประโยชน์สุขของประชาชนในระยะยาว
เรื่องล่าสุด: เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์
ท่านโพธิรักษ์และสันติอโศก ได้พิมพ์หนังสือและเอกสารต่างๆ ออกมาเผยแพร่อย่างมากมาย
ท่ามกลางเรื่องราวต่างๆ ที่นอกประเด็นและปัญหาปลีกย่อยเป็นอันมาก ที่ตีพิมพ์ในหนังสือและเอกสารเหล่านั้น พร้อมทั้งวิธีพูดวิธีแสดง ซึ่งกลบเกลื่อนการกระทำ และเป้าหมายที่แท้จริง ทำให้ผู้อ่านสับสนไขว้เขวจับประเด็นปัญหาและเจตนาที่แท้จริงของพวกตนไม่ได้ และเบื้องหลังการแสดงออกต่างๆ หลายๆ ด้านนั้น สิ่งที่ท่านโพธิรักษ์และคณะของท่านได้ยืนหยัดกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดมา เป็นงานหลักงานแกน ก็คือการดัดแปลงและทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้ แม้ในหนังสือเล่มล่าสุดของสันติอโศก คือ "วิเคราะห์พระเทพเวที กรณีโพธิรักษ์" ซึ่งเมื่อแหวกเรื่องปรุงแต่งเสริมรสออกไปแล้ว ก็จะมองเห็นสาระสำคัญของหนังสือ คือ การทำลายหลักการของพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการที่ไม่ซื่อตรง เช่นเดียวกับที่ได้ปฏิบัติมาก่อนหน้านั้น
เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และความรู้เท่าทันต่อปัญหาโพธิรักษ์ จะขอนำข้อความสำคัญตอนหนึ่งจากหนังสือของพระเทพเวที เรื่อง "วิเคราะห์พระเทพเวที" บทพิสูจน์ขบวนการโพธิรักษ์ มาแสดงไว้ให้มองเห็นตัวปัญหาโดยชัดเจน
ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างการกระทำของท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก ที่เป็นการทำลายและแสดงถึงความไม่ซื่อตรงต่อหลักการของพระพุทธศาสนา
ในการกระทำตามตัวอย่างเหล่านี้ สิ่งที่น่ารังเกียจและส่อถึงเจตนาที่ไม่ซื่อตรงยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ การที่ท่านโพธิรักษ์และศิษย์ชาวสันติอโศกพยายามใช้กลวิธีต่างๆ อธิบายหลบเลี่ยงชักจูง เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า การกระทำของตนเป็นเรื่องของการตีความคำสอนในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ตามที่เป็นจริง การกระทำที่เป็นปัญหาของท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศก ว่าโดยประเด็นหลัก ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตีความ แต่เป็นการอ้างหรือสร้างหลักฐานเท็จบ้าง การปิดบังหรืออำพรางหลักฐานที่แท้จริง และบัญญัติหลักการของตนเองขึ้นมาแทนบ้าง ซึ่งถ้ามองในแง่ทั่วๆ ไป ก็เป็นเพียงการพูดเท็จหรือมุสาวาทธรรมดา ถ้ามองในแง่วิชาการก็เป็นความทุจริตทางวิชาการ แต่ถ้ามองในแง่ของพระธรรมวินัย ก็เป็นการทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา ก่อปรัปวาทให้เกิดขึ้นอันจะทำลายคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า
นอกจากนั้น การกระทำความผิดเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของความผิดพลาดพลั้งเผลอ แต่มีลักษณะเป็นการจงใจทำเพื่อนำเอาหลักฐานเท็จ หรือข้อบัญญัติของตนเองนั้น มาเป็นเครื่องรับรองหรือยืนยันหลักการของตนที่ผิดหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้คนเข้าใจผิดหลงเชื่อว่าหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องบอกเล่าชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความจริงและรู้เท่าทัน
อนึ่ง การกระทำผิดต่อหลักการของพระพุทธศาสนาดังตัวอย่างต่อไปนี้ อย่าว่าแต่จะทำหลายข้อเลย แม้จะทำเพียงข้อเดียว ถ้าจงใจทำ ก็เป็นเรื่องที่ร้ายแรง เพราะเป็นการนำเอาความเท็จมาใส่ให้แก่พระพุทธศาสนา และเมื่อกระทำในลักษณะที่เป็นการถือมั่น เชิดชูเป็นหลักการของตน หรือเพื่อเป็นเครื่องรองรับยืนยันหลักการของตน ก็กลายเป็นการนำเอาหลักการเท็จ ที่ปลอมแปลงเป็นพระพุทธศาสนานั้นมาคัดค้าน หรือลบล้างหลักการที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา เมื่อคนถือตามหลักการหรือบัญญัติที่ตนวางขึ้น หรือเผยแพร่ใหม่นั้น หลักการเดิมของพระพุทธศาสนาก็จะถูกแทนที่ และเลือนรางหายไป ตามปกติ ถ้าความผิดพลาดนั้นเป็นไปโดยพลั้งเผลอหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อมีผู้ทักท้วงชี้แจง ก็จะต้องรีบศึกษาให้เข้าใจชัดและรีบทำการแก้ไข แต่ในกรณีของท่านโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกนี้ เท่าที่เป็นมา แม้จะมีผู้ทักท้วง และชี้หลักฐานที่ถูกต้อง ก็จะไม่ยอมรับ แต่จะหาทางหลบประเด็นหลีกไปพูดในเรื่องอื่น ตลอดจนหาหลักฐานที่ไม่เป็นความจริงมายืนยันตนเองซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก
ตัวปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับพระธรรมวินัยในกรณีโพธิรักษ์นี้ คือ การที่ท่านโพธิรักษ์พร้อมทั้งคณะของท่าน ได้ใช้รูปแบบของพระพุทธศาสนา และอ้างชื่อของพระพุทธศาสนา ทำการต่างๆ ตามตัวอย่างต่อไปนี้ ซึ่งเป็นการคัดค้านและลบล้างหลักการของพระพุทธศาสนา ด้วยวิธีบิดเบือนดัดแปลงและอ้างเท็จ ซึ่งหลักฐานจากพระไตรปิฎก ตลอดจนตั้งบัญญัติใหม่ขึ้นให้เกิดความสับสนไขว้เขวจากพระบัญญัติเดิมของพระพุทธศาสนา ปัญหาที่จะต้องตอบหรือข้อที่จะต้องพิจารณาในกรณีนี้ ไม่ใช่คำถามว่าใครกำลังทำดิรัจฉานวิชาอยู่บ้าง พระเทพเวทีเป็นอย่างไร หรือเรื่องราวอะไรอื่นใดเลย แต่จะต้องตอบว่า ท่านโพธิรักษ์และคณะ ได้ทำการเหล่านี้ในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว และยังพยายามกระทำอยู่ หรือทำยิ่งๆ ขึ้นไป ใช่หรือไม่ ดังเช่น
๑. ในการยืนยันหลักการเรื่องมังสวิรัติ ท่านโพธิรักษ์และคณะอ้างพระบาลีในชีวกสูตรมาอธิบาย อุททิสสมังสะ ที่พระภิกษุฉันไม่ได้ ว่า "เพราะพระบาลีที่มีมาในพระไตรปิฎกแท้ๆ นั้น เนื้อความก็มีอยู่เพียงสั้นๆ แค่ว่า อุททิสสะ ปาณัง อารภติ . . . ซึ่งไม่มีคำความอะไรที่ขยายหรือไม่มีคำความอะไรให้จำกัดจำเขี่ยความหมายไว้ว่า สัตว์นั้นจะต้องเป็นการฆ่าโดยผู้ฆ่าต้องระบุให้แก่คนนั้นคนนี้เฉพาะ แล้วคนนั้นหรือผู้ที่ถูกระบุนั้น จึงจะกินเนื้อสัตว์ที่ฆ่านั้นไม่ได้ (ไขข้อข้องใจ มังสวิรัติกับเทวทัต, หน้า ๑๑)
แต่แท้ที่จริง ในพระบาลีแห่งชีวกสูตรนั้น มีคำความที่ขยายหรือจำกัดความหมายไว้ โดยเป็นกรรมรับคำกิริยา "อุททิสสะ" อย่างชัดเจนว่าเป็นการฆ่าโดยผู้ฆ่าระบุเจาะจงพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ดังบาลีในที่นั้นว่า "โย โข ชีวก ตถาคตํ วา ตถาคตสาวกํ วา อุทฺทิสฺส ปาณํ อารภติ" (ม.ม. ๑๓/๖๐/๕๒) ดังนั้น คำอ้างของท่านโพธิ รักษ์และคณะจึงตรงข้ามกับความจริง
๒. ในการยืนยันหลักการที่ส่งเสริมให้พระภิกษุ อวดอุตริมนุสธรรม อย่างเปิดกว้างแม้แก่คฤหัสถ์ ซึ่งเป็นการละเมิดพระพุทธบัญญัติในพระวินัยที่ห้ามพระภิกษุบอกอุตริมนุสธรรมแก่อนุปสัมบัน (ผู้มิได้อุปสมบท ได้แก่คฤหัสถ์ และสามเณร เป็นต้น) และเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวท่านเองที่ได้อวดอุตริมนุสธรรม แม้ในที่พร้อมหน้าคฤหัสถ์หลายครั้ง ท่านโพธิรักษ์ได้บัญญัติความหมายของคำว่า อุปสัมบัน และ อนุปสัมบัน ขึ้นใหม่ว่า "อุปสัมปันน์" (คือ ผู้มีจิตสูง หรือมีฐานะอันเหมาะสมกับคำสอนนั้นแล้ว)" และว่า "อนุปสัมปันน์" (คือผู้มีภูมิจิตยังมากไปด้วยกิเลสอยู่ หรือมีฐานะยังไม่เหมาะสมกับคำกล่าวคำสอนนั้น)" (ทางเอก ภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๓๔) และบางครั้งถึงกับอ้างในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่า บัญญัติของตนนั้นเป็นพุทธพจน์ หรือเป็นข้อความจากพระไตรปิฎก ดังคำของท่านโพธิรักษ์เองว่า "บาลีเรียกผู้ยังเริ่ม ยังไม่บรรลุขั้นง่ายๆ ขั้นแรกๆ นี้ว่า "อนุปสัมปันน์" เรียกผู้สมควรจะได้รับธรรมที่เพิ่มขั้นเพิ่มตอนสูงขึ้นว่า "อุปสัมปันน์" (ทางเอก ภาค ๓, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๔๗๙; คำว่า "บาลี" เมื่อใช้ในการอ้างหลักฐาน หมายถึงพุทธพจน์ หรือข้อความจากพระไตรปิฎก) และต่อมาทางสันติอโศกก็ได้พยายามใช้บัญญัติใหม่ของตนในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำผิดพระวินัยของท่านโพธิรักษ์มากยิ่งขึ้น ดังข้อความว่า "การอวดอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงนั้น ย่อมไม่เป็นความผิดอะไร ถ้าได้แสดงต่อ "อุปสัมบัน" (โดยพยัญชนะหมายเอาภิกษุ, ภิกษุณี) แต่อุปสัมบันโดยอรรถนั้นหมายเอา "ผู้เข้าถึง" ซึ่งพระโพธิรักษ์เห็นว่า โดยสาระของผู้เข้าถึงนั้น ไม่น่าจะอยู่ที่การโกนหัวห่มจีวร . . . แม้จะเป็นฆราวาส ถ้าเขาได้ศึกษาปฏิบัติกันมาอย่างมีมรรคมีผล เป็นส่วนใหญ่ ย่อมจะน่าได้ชื่อว่า "อุปสัมบัน" นั้นมากกว่า" (แฉสันติอโศกผิดธรรมวินัยจริงหรือ?. พ.ศ. ๒๕๓๑, หน้า ๘-๙)
ตามที่เป็นจริงนั้น "อุปสัมบัน" มาจาก "อุปสมบท" อุปสัมบัน ก็คือผู้ที่อุปสมบทแล้ว และอนุปสัมบัน ก็คือผู้มิได้อุปสมบท หรือผู้มิใช่อุปสัมบัน
บัญญัติความหมายของ "อุปสัมบัน" และ "อนุปสัมบัน" ที่ท่านโพธิรักษ์และคณะสันติโศกได้ตั้งขึ้นนั้น นอกจากไม่มีในพระบาลีอย่างที่อ้างขึ้นเองลอยๆ คือไม่มีหลักฐานในพระพุทธพจน์หรือข้อความในพระไตรปิฎก ณ ที่ใดๆ แล้ว ยังขัดแย้งค้านต่อพระบาลี หรือกลายเป็นการล้มล้างพุทธบัญญัติในพระวินัยอีกด้วย เพราะพระบาลีในเรื่องนี้มีขึ้น เพื่อกำหนดการปฏิบัติตามพระวินัย และได้บัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎกอย่างเดียวชัดเจนแน่นอนว่า "อนุปสัมบัน (ผู้มิได้อุปสมบท) ได้แก่บุคคลอื่น นอกจากภิกษุและภิกษุณี" (วินย. ๒/๓๐๖/๒๑๑) ส่วน อุปสัมบัน (ผู้อุปสมบทแล้ว) ก็ได้แก่ ภิกษุหรือภิกษุณี บัญญัติของท่านโพธิรักษ์นี้ เป็นทั้งการบัญญัติใหม่ทับแทนหักล้มพระบัญญัติเดิมในพระวินัย และเป็นการอ้างหลักฐานเท็จ ต่อสิ่งที่ไม่มีในพระบาลีว่าเป็นพระบาลี เมื่อมีผู้ถือตาม ก็จะทำให้เกิดความสับสนไขว้เขวในการปฏิบัติทางพระวินัย ส่งเสริมให้เกิดการทำความผิด ละเมิดพุทธบัญญัติมากขึ้น และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดต่อหลักการของพระพุทธศาสนา
๓. ในการยืนยันหลักการของโพธิรักษ์ ที่ว่าตนเป็นหรือจะ เป็นทั้งพระโพธิสัตว์ และพระอรหันต์ ในเวลาเดียวกัน สันติอโศกกล่าวว่า พระพุทธศาสนาระบุว่าพระโพธิสัตว์บรรลุอริยมรรคแล้ว โดยยกข้อความจากพระไตรปิฎกมาอ้างว่า ในพระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุปกรณ์ ระบุไว้ว่า "พระโพธิสัตว์ ได้หยั่งลงสู่ทางอันแน่นอน (อริยมรรค) มีพรหมจรรย์อันประพฤติแล้ว" (อภิ.ก.๓๗/๙๖๙/๓๑๒; อ้างใน บทความของคุณ ว. ชัยภัค ตีพิมพ์ใน นิตยสารสมาธิ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๓ หน้า ๑๗ และ วิเคราะห์พระเทพเวทีฯ หน้า ๖๗)
แต่ตามที่เป็นจริงนั้น คัมภีร์กถาวัตถุยกข้อความที่อ้างนั้นขึ้นมากล่าวโดยระบุว่าเป็นความเห็นผิด และท่านยกขึ้นมากล่าวถึงเพื่อชี้แจงแก้ไข โดยมีคำตอบโต้ชี้แจงแก้ไขของท่านต่อจากข้อความที่อ้างนั้นไปอีก แต่ทางสันติอโศกกลับเอาทัศนะที่พระไตรปิฎกย้ำเตือนไว้ว่าเป็นความเห็นผิด มาอ้างว่าเป็นคำสอนของพระไตรปิฎก และไม่ได้ยกคำตอบโต้ชี้แจงของท่านมาพิมพ์ไว้ด้วย การกระทำของคุณ ว. ชัยภัคในนามของท่านโพธิรักษ์และสันติอโศกนี้ จึงเป็นการยกเอาความเห็นผิดนอกพระพุทธศาสนา มาใส่ให้เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง ด้วยการอ้างหลักฐานในลักษณะที่ทำให้คนหลงเข้าใจผิด
๔. ในการยืนยันหลักการของตนที่ว่าพระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้ นั้น สันติอโศกได้ยกหลักฐานจากพระไตรปิฎกมาอ้างอีกแห่งหนึ่ง คือเรื่องสุเมธดาบส ในทีปังกรพุทธวงศ์ โดยกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นสุเมธดาบสได้เป็นผู้ "ถึงที่สุดแห่งอภิญญา" แล้ว และตีความว่า ข้อความนั้นแสดงว่า สุเมธดาบสได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะ "พระโพธิสัตว์ผู้เข้าถึงที่สุดแห่งอภิญญานั้น . . . ย่อมเป็นผู้บรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหันต์นั่นเอง" (วิเคราะห์พระเทพเวทีฯ หน้า ๗๙)
ข้อความว่า "ถึงที่สุดแห่งอภิญญา" ที่สันติอโศกยกมาอ้างนั้น เป็นข้อความที่ไม่ระบุชัดเจนว่าอภิญญาที่ว่าถึงที่สุดนั้นเป็นอภิญญาประเภทไหนข้อไหน ทำให้เป็นโอกาสที่จะตีความได้ และสันติอโศกก็ได้ตีความว่าถึงอาสวักขยญาณ จึงเป็นพระอรหันต์ แต่ตามที่เป็นจริงนั้น เรื่องสุเมธดาบสที่สันติอโศกยกมาอ้างนั้นเอง ยังมีข้อความกล่าวต่อไปอีก และข้อความที่เลยจากนั้นไปได้ระบุชัดเจน อย่างไม่เปิดโอกาสให้มีการตีความได้ ข้อความนั้นชี้ชัดว่า สุเมธดาบสได้กล่าวถึงตัวท่านเองว่า เป็นผู้ "ถึงฝั่ง(จบ)ในอภิญญา ๕" (ปญฺจาภิญฺาสุ ปารคู - ขุ.พุทธ.๓๓/๒/๔๓๖) ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนว่า สุเมธดาบสผู้เป็นพระโพธิสัตว์นั้นได้แค่เพียงอภิญญา ๕ ที่เป็นเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ไม่ได้อาสวักขยญาณ ซึ่งเป็นอภิญญาที่ ๖ จึงไม่ได้เป็นพระอรหันต์ การอ้างหลักฐานของสันติอโศกในกรณีนี้ ถ้าทำด้วยเจตนาทั้งที่รู้ ก็ย่อมเป็นการกระทำในลักษณะที่ชักจูงให้คนเกิดความเข้าใจผิด เป็นการพยายามทำลายหลักการของพระพุทธศาสนา ด้วยวิธีอำพรางหลักฐาน และบิดเบือนความจริง
นอกจากนี้ ท่านโพธิรักษ์ยังได้เผยแพร่คำสอนอื่นๆ อีก ในลักษณะที่เป็นการลบล้างหลักการของพระพุทธศาสนา โดยอ้างเอาสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักการของพระพุทธศาสนา ว่าเป็นหลักการของพระพุทธศาสนา เช่น กล่าวว่าพระอรหันต์เกิดอีกได้ เพราะไม่เกิดยากกว่าเกิด และว่าพระอรหันต์ถอยกลับลงมาเป็นคนสามัญได้ (เมื่อถือหลักการว่า พระโพธิสัตว์เป็นพระอรหันต์ได้ ก็เกิดความจำเป็นตามมาเองโดยอัตโนมัติ ที่จะต้องถือหลักการสองอย่างนี้ เข้าทำนองว่า เมื่อถือผิดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ต้องถือผิดอย่างอื่นต่อโยงตามกันไป; ดู วิเคราะห์พระเทพเวทีฯ หน้า ๖๘ และ ๗๙ เป็นต้น) แต่ไม่ได้อ้างหลักฐานจากพระไตรปิฎก มาลงพิมพ์ยืนยันไว้อย่างโจ่งแจ้งโดยตรง ดังนั้น แม้จะเป็นการคัดค้านล้มล้างหลักการของพระพุทธศาสนา ก็จะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะในที่นี้ต้องการให้เห็นเฉพาะแต่วิธีการของสันติอโศก ในการอ้างหลักฐานที่ไม่เป็นความจริง
เมื่อใครคนหนึ่งพูดอะไรไว้ หรือหนังสือหรือตำรับตำราเขียนข้อความไว้อย่างไร ถ้าเราจะอ้างคำพูดของเขา หรืออ้างข้อความจากหนังสือหรือตำรับตำรานั้น ก็ต้องอ้างให้ถูกต้องตรงตามที่เขาได้พูดหรือเขียนไว้ ถ้าพลั้งเผลอผิดพลาดไป ก็ควรขอโทษ และแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามของเดิม การแกล้งอ้างให้ผิดพลาด ย่อมถูกถือว่าเป็นความเสียหายหรือเป็นการมีเจตนาร้ายที่ควรถูกติเตียนอย่างมาก การอ้างหลักฐานเท็จในกรณีสามัญก็ยังถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างนี้ หันมามองในทางพระศาสนา พระพุทธกิจหรืองานของพระพุทธเจ้า โดยเนื้อหาสาระก็คือ การเผยแพร่สั่งสอนธรรมที่ได้ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตาม เรานับถือพระพุทธเจ้าก็คือนับถือธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ และได้ทรงสั่งสอนไว้ จึงเป็นธรรมดาว่า ทุกคนต้องการรู้ให้ตรงตามที่ได้ทรงสั่งสอนไว้ เพราะฉะนั้นหลักฐานเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่ตกมาถึงเรา มีอยู่หรือเหลืออยู่เท่าไร พุทธศาสนิกชนย่อมถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น และนำไปอ้างให้ถูกต้องตรงตามนั้น การอ้างให้ผิดพลาดไปจากที่เป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหลงผิดต่อพระพุทธเจ้า และต่อคำสอนของพระองค์ ท่านเรียกว่าเป็นการกล่าวตู่พระพุทธเจ้า ย่อมเป็นทั้งการประทุษร้ายต่อองค์พระพุทธเจ้า และเป็นการประทุษร้ายต่อพุทธศาสนิกชนทั้งหมด ตลอดจนต่อทุกคนที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคำสอนของพระองค์ เห็นได้ชัดว่าเป็นบาปที่ร้ายแรง เพราะเป็นการทำลายเนื้อตัวแท้ๆ ของพระพุทธศาสนา
ใครก็ตาม ที่ไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วยกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะไม่เชื่อและไม่เห็นด้วย แต่จะต้องมีความซื่อตรง ที่จะพูดหรือแสดงออกมาว่าตนไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วยอย่างนั้นๆ ไม่ควรมาใช้วิธีลอบดัดแปลงคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เป็นไปตามความเชื่อหรือความคิดเห็นของตน ด้วยการบิดเบือนความโดยอ้างหรือสร้างหลักฐานเท็จ ซึ่งเป็นกรรมที่น่าละอายอย่างยิ่ง
ในการกระทำดังที่กล่าวมานี้ ถ้าท่านโพธิรักษ์และคณะสันติอโศกมีความจงใจทำลงไป ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริง หรือรู้ตัวแล้วว่าได้ทำผิดพลาดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ยังขืนยืนหยัดอยู่ในการอ้างหลักฐานที่ไม่เป็นความจริง หรือในการยึดถือหลักการที่ผิดจากพระธรรมวินัย จะให้เชื่อได้อย่างไรว่าท่านโพธิรักษ์และคณะสันติอโศก มีความประสงค์ดีต่อพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา โดยที่แท้แล้วย่อมจะต้องเรียกว่า เป็นผู้ประสงค์ร้ายมุ่งทำลายพระพุทธศาสนา การยกเอาเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเป็นข้ออ้าง สำหรับสร้างความชอบธรรมให้แก่การอ้างหรือสร้างหลักฐานเท็จก็ดี การใช้กลอุบายต่างๆ ในการทำลายหรือทำให้ประชาชนสับสนไขว้เขวเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนาก็ดี เป็นการกระทำที่วิญญูชนไม่อาจยอมรับว่าเป็นความชอบธรรม แต่จะต้องถือว่าเป็นความทุจริตในการใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนา
สำหรับความผิดพลาดที่ชัดเจนอย่างนี้ หากท่านโพธิรักษ์มีความจริงใจ ซื่อตรง และสุจริต ย่อมจะต้องยอมรับและแก้ไข ทั้งยอมรับการที่ได้อ้างหลักฐานที่ไม่เป็นความจริง และปรับทิฏฐิหรือหลักการของตนให้ตรงตามหลักการของพระพุทธศาสนาในทุกเรื่องที่ได้ทำผิดพลาดไปแล้วนั้น หรือถ้าหากจะยืนหยัดในหลักการของตนอยู่อย่างเดิม ก็ควรจะแสดงความซื่อตรงและความสุจริต เช่นเดียวกัน ด้วยการประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่า หลักการของตนกับหลักการของพระพุทธศาสนาไม่ตรงกัน และว่าตนไม่ยอมรับหลักการของพระพุทธศาสนา ไม่พึงทำให้ประชาชนเข้าใจผิดสับสนไขว้เขวระหว่างหลักการสองฝ่ายนี้ ด้วยวิธีอ้างหลักฐานที่ไม่เป็นความจริงอีกต่อไป และถ้ายืนยันว่าหลักการของตนแตกต่างเป็นคนละอย่างกับหลักการของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็น่าจะมีความสุจริตและแสดงความซื่อตรง ที่จะไม่ใช้ชื่อและรูปแบบของพระพุทธศาสนาด้วย นี้เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมที่พึงทราบได้ด้วยตนเอง มิใช่จะต้องมีผู้ใดพิพากษาตัดสิน