พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม

ความนำ

ปัจจุบันนี้ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศผู้นำที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ได้รู้ตระหนักว่า การพัฒนาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งสร้างความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุ โดยเน้นความเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมายร้ายแรง ทั้งแก่ชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าด้านสุขภาพร่างกายหรือด้านจิตใจ ทั้งแก่สังคม ทั้งแก่ธรรมชาติแวดล้อม นับว่าเป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ดังที่สรุปกันว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน จึงจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากันใหม่

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา กระแสเรียกร้องและเร่งเร้าให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาใหม่ ได้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น ดังที่องค์การสหประชาชาติได้แนะนำให้ดำเนินการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ให้เป็นการพัฒนาที่ทั้งเศรษฐกิจก็เจริญได้ และสิ่งแวดล้อมก็อยู่ดี หรือทั้งเศรษฐกิจก็เจริญดี และสิ่งแวดล้อมก็อยู่ได้ ซึ่งอาจขยายให้มีความหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้นว่า ให้เป็นการพัฒนาที่โลกมนุษย์ดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางโลกธรรมชาติที่ยังคงอยู่ด้วยดี

ในการพัฒนาตามแนวทางที่ปรับเปลี่ยนใหม่นั้น ได้มีการย้ำกันว่า จะต้องหันมาเน้นการพัฒนาคน โดยให้การพัฒนาคนเป็นแกนกลางของการพัฒนาทุกอย่าง ดังจะเห็นว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (๒๕๔๐-๒๕๔๔) ของประเทศไทยเราในปัจจุบัน ก็ยึดถือหลักการสำคัญข้อนี้

พึงเข้าใจว่า การพัฒนาคนนั้นมีความหมายสำคัญ ๒ อย่าง คือ

  1. การพัฒนาคนในฐานะผู้มีความเป็นมนุษย์
  2. การพัฒนาคนในฐานะทรัพยากรมนุษย์

การพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ จะช่วยให้สังคมมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดผลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือเรียกง่ายๆว่าพัฒนาให้เป็นนักผลิต ซึ่งพร้อมที่จะสนองความต้องการของสังคม ส่วนการพัฒนาคนในฐานะผู้มีความเป็นมนุษย์ จะช่วยให้บุคคลมีคุณสมบัติพร้อมที่จะดำเนินชีวิตแห่งปัญญาเพื่อความดีงาม หรือเรียกสั้นๆ ว่า พัฒนาให้เป็นบัณฑิต ผู้สามารถนำชีวิตและสังคมไปสู่สันติสุข

การพัฒนาด้านต่างๆ ในทางเศรษฐกิจและสังคม จะต้องยึดเอาการพัฒนาคนเป็นแกนกลางฉันใด การพัฒนาคนในความหมายทุกอย่าง ก็จะต้องยึดเอาการพัฒนาคนในฐานะผู้มีความเป็นมนุษย์ เป็นแกนกลางฉันนั้น

การพัฒนาสังคมตามหลักพระพุทธศาสนา ถือการพัฒนาคนเป็นแกนกลาง และการพัฒนาคนนั้น ก็เริ่มต้นที่ฐาน คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสาระส่วนแก่นแท้ ส่วนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งขึ้นต่อสภาพแวดล้อมแห่งกาลเทศะของยุคสมัย ก็จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความเป็นมนุษย์นั้น และนำหลักการทั่วไปที่ท่านแสดงไว้ไปประยุกต์ใช้ให้สนองความต้องการของยุคสมัยอย่างได้ผล

ด้วยการพัฒนาความเป็นมนุษย์ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างถูกต้อง คนที่พัฒนาดีแล้ว ก็จะเป็นส่วนร่วมที่รวมกำลังกันสร้างสรรค์สังคมให้เจริญงอกงาม เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้่อโอกาสให้ทุกคนเจริญยิ่งขึ้นไปในการมีชีวิตที่ดีงามและมีความเกษมสุข

พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคมอย่างสัมพันธ์ควบคู่กันไปและเป็นปัจจัยต่อกัน โดยคำนึงถึงธรรมชาติแวดล้อมพร้อมไปด้วย ตามหลักการที่จัดวางไว้เป็นระบบอย่างครบถ้วนชัดเจน

๑. จุดหมายของการพัฒนาคนและสังคม

ชีวิตจะดีงามมีความสุข ประเทศชาติจะรุ่งเรืองมั่นคง และสังคมจะร่มเย็นเกษมศานต์ ด้วยปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาคน ซึ่งจะทำให้คนเป็นคนดีมีความสุข และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การพัฒนาคนก็คือการศึกษา

คนที่มีการศึกษา ตลอดจนจบการศึกษาแล้ว เรียกว่า “บัณฑิต” ในประเพณีไทยโบราณเรียกคนที่บวชเรียนแล้วว่าเป็น “ฑิต” (ตามปกตินิยมเขียนเป็นคำชาวบ้านว่า “ทิด”) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคำกร่อนของ “บัณฑิต” ปัจจุบันเรียกคนที่ศึกษาจบปริญญาตรีแล้วว่า เป็น “บัณฑิต” เมื่อว่าโดยเนื้อหาสาระ บัณฑิต ก็คือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท พัฒนาชีวิตของตนจนลุถึงประโยชน์ที่เป็นจุดหมายของชีวิต

ขอให้พิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้

“บุคคลผู้ไม่ประมาท เข้าถึงจุดหมายทั้งสอง คือจุดหมายในเรื่องที่ตาเห็น และจุดหมายที่เลยตาเห็น ชื่อว่าเป็นบัณฑิต, บุคคลนั้นเรียกว่าเป็นบัณฑิต เพราะบรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย”

(สํ.ส.๑๕/๓๘๐/๑๒๖)

“ดูกรภิกษุ ในสัตวโลกนี้ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดการเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย, ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ทั้งสองฝ่าย ย่อมคิดการที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว; ดูกรภิกษุ ด้วยเหตุผลอย่างนี้แล บุคคลจึงชื่อว่าเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก”

(องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๘๖/๒๔๓)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ ทั้งเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น กล่าวคือ ภิกษุ

  1. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี (ศีล) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำพฤติกรรมดี (ศีล) ให้ถึงพร้อม,
  2. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจิตที่ฝึกดี (สมาธิ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำภาวะจิตที่ฝึกดี (สมาธิ) ให้ถึงพร้อม,
  3. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นใน การทำปัญญาให้ถึงพร้อม,
  4. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความมีจิตใจเป็นอิสระ (วิมุตติ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำความมีจิตใจเป็นอิสระ (วิมุตติ) ให้ถึงพร้อม,
  5. ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความหยั่งรู้หยั่งเห็นในวิมุตติด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการทำวิมุตติให้ถึงพร้อม;

ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น”

(องฺ.ปญฺจก.๒๒/๒๐/๑๕)

“ดูกรมหานาม เมื่อใดแล อุบาสกทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเชื่อถือหลักการที่ถูกต้อง (สัทธา) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความเชื่อถือหลักการที่ถูกต้อง, ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี (ศีล) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยพฤติกรรมดี, ทั้งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเผื่อแผ่เสียสละ (จาคะ) ด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความเผื่อแผ่เสียสละ, ทั้งเป็นผู้ใฝ่ใจไปเยือนหาพระภิกษุด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ไปเยือนหาพระภิกษุ, ทั้งเป็นผู้ใฝ่ใจสดับ สัทธรรมด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้สดับสัทธรรม, ทั้งเป็นนักทรงจำหลักธรรมที่สดับแล้วด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ทรงจำหลักธรรมไว้, ทั้งเป็นนักพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งหลักธรรมที่ได้สดับแล้วด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นในการพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งหลักธรรมที่ได้สดับแล้ว, ทั้งเป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักด้วยตนเอง และชักนำผู้อื่นให้ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักด้วย; ดูกรมหานาม ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น”

(องฺ.สตฺตก.๒๓/๑๑๖/๒๒๕)

ประโยชน์หรือคุณค่าที่เป็นจุดหมายของชีวิต เรียกว่า อัตถะ หรือ อรรถ มี ๒ ระดับ ถ้าแยกละเอียด แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ

๑. จุดหมายขั้นตาเห็น หรือประโยชน์ปัจจุบันทันตา (ทิฏฐธัมมิกัตถะ) ที่สำคัญคือ

ก) ความมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง สง่างาม ไร้โรค ตลอดจนมีอายุยืนยาว

ข) ความมีทรัพย์สินเงินทอง อย่างน้อยมีอาชีพการงาน พึ่งตนได้ในทางเศรษฐกิจ

ค) การมีครอบครัวที่มั่นคงผาสุก ตลอดจนวงศ์ตระกูลเป็นที่นับถือ

ง) ความเป็นที่ยอมรับในสังคม มีสถานภาพดี มีชื่อเสียงเกียรติคุณ พรั่งพร้อมด้วยยศ ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ บริวารยศ หรืออิสริยยศ

๒. จุดหมายขั้นเลยตามองเห็น หรือประโยชน์เบื้องหน้า (สัมปรายิกัตถะ) เช่น

ก) การมีความสุขทางจิตใจ ด้วยศรัทธาในพระรัตนตรัย ซาบซึ้งในบุญกุศล และมั่นใจในการทำกรรมดี

ข) ความอิ่มใจมั่นใจในชีวิตของตนที่มีความประพฤติสุจริตดีงาม ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง

ค) ความอิ่มใจภูมิใจในความมีชีวิตที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ ที่ได้เสียสละทำการสร้างสรรค์เกื้อกูลไว้แก่เพื่อนมนุษย์และสังคม

ง) ความแกล้วกล้ามั่นใจ และปลอดโปร่งเบิกบานใจ เนื่องจากมีความรู้ มีปัญญาที่จะแก้ปัญหาและจัดทำดำเนินกิจการต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

จ) ความสบายใจมั่นใจในกรรมที่ได้ประกอบไว้อันเป็นบุญกุศลดีงามสุจริต เป็นหลักประกันชีวิตในภพหน้า สามารถจากโลกนี้ไปโดยไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวภัยแห่งทุคติ

๓. จุดหมายสูงสุด หรือประโยชน์อย่างยิ่ง (ปรมัตถะ) หมายถึง ความมีจิตใจที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ทั้งปวง บรรลุภาวะที่เรียกสั้นๆว่า นิพพาน ซึ่งเป็นอิสรภาพ สันติ และความสุขอย่างสูงสุด ที่เกิดจากความรู้แจ้งหยั่งเห็นความจริงแท้ของโลกและชีวิต มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรม คือความผันผวนปรวนแปรเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลาย ปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานเป็นสุขและสะอาดบริสุทธิ์ได้ตลอดทุกเวลา มีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง

คนที่จะชื่อว่าเป็นบัณฑิต หรือผู้มีการศึกษา จะต้องมีชีวิตที่บรรลุจุดหมายอย่างน้อยถึงระดับที่ ๒ คือ สัมปรายิกัตถะ

อนึ่ง ประโยชน์หรือจุดหมาย (อัตถะ) ทั้ง ๒ หรือ ๓ ระดับนี้ แยกออกไปอีกเป็น ๓ ด้าน ซึ่งบัณฑิตที่แท้จริงจะต้องบำเพ็ญให้สำเร็จ คือ

๑. ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) คือ ประโยชน์ ๓ ระดับที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่พึงทำให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง หรือพัฒนาชีวิตของตนเองให้ลุถึง

๒. ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) คือ ประโยชน์ ๓ ระดับที่กล่าวข้างต้นนั้น ที่พึงช่วยเหลือให้ผู้อื่นหรือเพื่อนมนุษย์ได้บรรลุถึง ด้วยการชักนำให้เขาพัฒนาชีวิตของเขาเองขึ้นไปจนเข้าถึงตามลำดับ

๓. ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) คือ ประโยชน์ร่วมกัน หรือประโยชน์แก่สังคมทั้งหมด โดยเฉพาะสภาพและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่พึงช่วยกันสร้างสรรค์บำรุงรักษา อันจะเกื้อหนุนให้ทั้งตนและผู้อื่นเข้าถึงจุดหมายทั้ง ๓ ระดับนั้น

ในหลายกรณี ท่านพูดให้สั้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร โดยแบ่งเป็นเพียง ๒ อย่างคือ ประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) และประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ในกรณีเช่นนี้พึงเข้าใจว่า คำว่า ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็คือ ประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น ที่ประสานเข้าด้วยกันนั่นเอง

โดยทั่วไป มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะฝึกตนให้บรรลุอัตถะทั้ง ๓ ระดับ และมีหน้าที่ที่จะต้องบำเพ็ญประโยชน์หรืออัตถะทั้ง ๓ ด้าน ทุกคนจึงสามารถเป็นบัณฑิตด้วยการฝึกตนและด้วยการปฏิบัติตามหลักการที่กล่าวมานี้

การฝึกตนของมนุษย์นั้น เรียกว่า การศึกษา (สิกขา) หรือการพัฒนาชีวิต (ภาวนา) เราจึงพูดด้วยภาษาทางวิชาการว่า บุคคลเป็นบัณฑิตด้วยการศึกษา (สิกขา) หรือด้วยการพัฒนาชีวิต (ภาวนา)

การฝึกตนที่เรียกว่า การศึกษา (สิกขา) หรือการพัฒนาชีวิต (ภาวนา) นั้น มนุษย์อาจแสวงหาหรือทำให้สำเร็จได้ ทั้งจากการปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนของระบบที่จัดตั้งกันขึ้นไว้ในสังคมมนุษย์ คือในสถาบันการศึกษาต่างๆ และจากการเรียนรู้ด้วยวิธีการอย่างอื่น ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการศึกษานอกระบบ

ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นอยู่อย่างไม่ประมาท และได้พัฒนาชีวิตของตน จนบรรลุประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย (อัตถะ) ที่กล่าวมาแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นบัณฑิต โดยมิต้องคำนึงว่า เขาจะศึกษาในระบบ หรือนอกระบบ หรือจากการเรียนรู้และฝึกฝนในการดำเนินชีวิตของเขาเองก็ตาม

ถ้าเขามีคุณสมบัติของความเป็นบัณฑิตที่แท้จริงนี้ โดยผ่านการศึกษาในระบบ เขาก็เป็นบัณฑิต ทั้งโดยสาระและโดยรูปแบบ

ถ้าเขามีคุณสมบัติของความเป็นบัณฑิตที่แท้จริงนี้ โดยมิได้ผ่านการศึกษาชนิดที่จัดตั้งขึ้นเป็นระบบในทางสังคม เขาก็คงเป็นบัณฑิตโดยสาระ

๒. หลักการของการศึกษา

การศึกษา(สิกขา) แยกซอยออกไปเป็น ๓ ด้าน โดยสอดคล้องกับองค์ประกอบแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มี ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

๑. ศีล คือ การฝึกฝนพัฒนาด้านพฤติกรรม หมายถึง การพัฒนาพฤติกรรม ทางกาย และวาจา ให้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องมีผลดี

สิ่งแวดล้อมที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ มี ๒ ประเภท คือ

ก. สิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ เพื่อนมนุษย์ (ในความหมายเดิมทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งสัตว์อื่นทั้งหลายทั้งปวงด้วย)

ข. สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ได้แก่ ปัจจัย ๔ เครื่องใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยี และสิ่งทั้งหลายที่มีในธรรมชาติ

ศีลแบ่งเป็นหมวดใหญ่ๆ ๔ หมวด คือ

๑) การรักษาวินัยแม่บทของชุมชน (ปาฏิโมกขสังวร) เมื่อคนอยู่ร่วมกัน หรือทำงานทำกิจการร่วมกัน เป็นชุมชน เป็นหน่วยงาน เป็นองค์กร ตลอดจนเป็นประเทศชาติ จะต้องมีกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนกฎหมาย เพื่อจัดระเบียบระบบให้เกิดความเรียบร้อย ความประสานสอดคล้อง ความเกื้อหนุนต่อกัน ความร่วมรับผิดชอบ และสามัคคี ที่จะเอื้อโอกาสหรือเป็นหลักประกัน ให้ชีวิตความเป็นอยู่ และกิจการต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี สมตามวัตถุประสงค์แห่งชีวิตหรือกิจการของชุมชนนั้น ดังเช่นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีวินัยแม่บทที่เรียกชื่อเฉพาะว่า ปาฏิโมกข์ ซึ่งเรามักเรียกกันง่ายๆ ว่าศีล ๒๒๗ ชุมชนอื่น เช่น โรงเรียน ก็ต้องมีกฎกติกาที่เป็นวินัยแม่บทของตนเช่นเดียวกัน

วินัยแม่บทสำหรับสังคมคฤหัสถ์หรือสังคมแห่งมนุษยชาติทั้งหมด ก็คือ ศีล ๕ ซึ่งถือว่าเป็นมนุษยธรรม เพราะเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่สูงกว่าสัตว์ดิรัจฉาน อยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนกัน และรักษาสังคมให้มีสันติสุข

สังคมมนุษย์ส่วนย่อยลงไป เช่น ประเทศ สถาบัน องค์กร และหน่วยงานต่างๆ นอกจากจะต้องรักษาศีล ๕ แล้ว ก็ยังต้องปฏิบัติตามวินัยแม่บทที่เป็นส่วนเฉพาะของตนเองย่อยลงไปอีก เช่น

- กฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมา

- จรรยาบรรณของวิชาชีพต่างๆ เช่น จรรยาแพทย์ จรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน เป็นต้น

ฯลฯ

การจัดตั้งวางระเบียบชีวิตและระบบสังคม ด้วยการบัญญัติกฎกติกาอันชอบธรรม ที่เรียกว่าวินัยแม่บทนั้น พึงมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ

ก. เพื่อความสงบเรียบร้อยอยู่ร่วมกันผาสุก

ข. เพื่อความสอดคล้องประสานกลมกลืน

ค. เพื่อความเกื้อหนุนกัน โดยไม่เบียดเบียน ไม่เอาเปรียบกัน

ง. เพื่อความมีส่วนร่วมและร่วมรับผิดชอบ

จ. เพื่อความพร้อมเพรียงสามัคคี

ฉ. เพื่อป้องกันความชั่วและความเสื่อมเสียหาย

ช. เพื่อกั้นคนชั่วร้าย และให้โอกาสคนดี

ญ. เพื่อเอื้อโอกาสให้ชีวิตและกิจการพัฒนาและดำเนินสู่จุดหมาย

ฎ. เพื่อความดีงามงดงามมีวัฒนธรรมของสังคม

ฏ. เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงแห่งหลักการ

๒) การรู้จักใช้อินทรีย์ (อินทรียสังวร) เรารับรู้สิ่งแวดล้อมโดยผ่านทางอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ารับรู้ใช้หูตาไม่เป็น เช่น ดูไม่เป็น ฟังไม่เป็น แทนที่จะได้ประโยชน์ก็จะเกิดโทษ เช่น เกิดความลุ่มหลงมัวเมา ถูกหลอกลวง และเสื่อมเสียสุขภาพเป็นต้น ตลอดจนนำไปสู่การใช้มือและสมองเพื่อการแย่งชิงหรือทำลาย จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมในการใช้อินทรีย์ให้ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ เมื่อดูเป็น ฟังเป็น เช่น ดูทีวีเป็น ฟังวิทยุเป็น รู้จักใช้ตาหูแสวงหาความรู้ เป็นต้น ก็จะได้ปัญญา ได้คุณภาพชีวิต และนำไปสู่การใช้มือและสมองเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและทำการสร้างสรรค์

หลักปฏิบัติที่สำคัญในการใช้อินทรีย์ คือ

ก. รู้จักพิจารณาเลือกเฟ้นสิ่งที่จะดู จะฟัง เป็นต้น แยกแยะได้อย่างรู้เท่าทันว่า สิ่งใด รายการใด ดีงามหรือไม่ เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเป็นภัย แล้วหลีกละเว้นสิ่งที่ชั่วร้ายเป็นโทษภัย และรับดูรับฟังสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์

ข. ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ ควบคุมตนเองได้ รู้จักประมาณ รู้พอดี ไม่ปล่อยตัวให้ลุ่มหลงมัวเมา ตกเป็นทาสของสิ่งที่ดูที่ฟังเป็นต้นนั้น อันจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง สูญเสียเวลา เสียสุขภาพ เสียการงาน เสียการเล่าเรียน เป็นต้น

ค. ไม่เห็นแก่ความสนุกสนานบันเทิง ไม่ติดอยู่แค่ความชอบใจไม่ชอบใจ แต่รู้จักดู รู้จักฟัง ให้ได้คุณค่าที่ดีงามเป็นประโยชน์สูงขึ้นไปกว่านั้น โดยเฉพาะที่สำคัญคือต้องให้ได้ปัญญา และคติที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตและสังคม

๓) การหาเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์ (อาชีวปาริสุทธิ) การทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นพฤติกรรมหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ถ้ามีผู้หาเลี้ยงชีพโดยวิธีทุจริต เป็นมิจฉาชีพ นอกจากชีวิตของคนนั้นเองจะชั่วร้ายเสื่อมเสียแล้ว ก็จะก่อความเดือดร้อนแก่สังคมอย่างมาก จึงต้องย้ำเน้นกันอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาสัมมาชีพ และส่งเสริมให้ประชาชนฝึกฝนตนให้สามารถประกอบสัมมาชีพ คือหาเลี้ยงชีวิตโดยทางสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย สัมมาชีพพึงมีลักษณะที่สำคัญๆ ดังนี้

- เป็นอาชีพการงานที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อเวรภัยหรือสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่สังคม

- เป็นอาชีพการงานที่ช่วยแก้ไขปัญหา หรือสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมในทางใดทางหนึ่ง

- เป็นอาชีพการงานที่ช่วยให้ผู้ทำได้พัฒนาชีวิตของตนให้งอกงามยิ่งขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา

- เป็นอาชีพการงานที่ไม่ทำลายคุณค่าของชีวิต และไม่เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต แต่ทำให้ชีวิตของตนมีคุณค่าน่าภาคภูมิใจ

- เป็นอาชีพการงานที่ทำให้ได้ปัจจัยเลี้ยงชีวิตมาด้วยเรี่ยวแรงกำลังกาย กำลังสติปัญญา ความเพียรพยายาม ความสามารถและฝีมือของตน และทำให้ได้ฝึกฝนพัฒนาความเชี่ยวชาญจัดเจนหรือฝึกปรือฝีมือในทางสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป

๔) การเสพบริโภคปัจจัยโดยใช้ปัญญา (ปัจจัยปฏิเสวนา) พฤติกรรมของมนุษย์ในที่สุดก็มาลงที่การกิน ใช้ เสพ บริโภค ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาพฤติกรรมในการเสพบริโภค ก็จะก่อปัญหาอย่างมากทั้งแก่ชีวิต แก่สังคม และแก่โลก เพราะเขาจะกิน ใช้ บริโภคปัจจัย ๔ และสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลาย รวมทั้งเทคโนโลยี ด้วยโมหะ ก่อให้เกิดความลุ่มหลงมัวเมา ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ความเสื่อมเสียคุณภาพชีวิต การใช้จ่ายสิ้นเปลือง การขัดแย้งแย่งชิงเบียดเบียนกันในสังคม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการก่อมลภาวะเป็นต้น จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมในการกิน ใช้ เสพ บริโภค ให้เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากปัญญาที่รู้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของปัจจัย ๔ ตลอดจนเทคโนโลยีนั้นๆ เริ่มแต่รับประทานอาหารเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่ใช่กินเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย อวดโก้ อวดฐานะ หรือตื่นตามค่านิยมฟู่ฟ่า ให้เป็นการกินด้วยปัญญาที่ทำให้รู้จักประมาณในการบริโภคหรือกินพอดี ที่เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา ตลอดจนการใช้สอยสิ่งต่างๆ อย่างประหยัด ซึ่งทำให้ได้ประโยชน์มากที่สุดโดยสิ้นเปลืองน้อยที่สุด

ปัจจัยปฏิเสวนา หมายถึง การใช้ปัญญาทำความเข้าใจ แล้วบริโภคปัจจัยทั้งหลายให้ได้ผลตรงพอดีตามคุณค่าแท้ที่เป็นจุดหมายของการบริโภคสิ่งนั้นๆ ศีลหมวดนี้มีหลักในการปฏิบัติดังนี้

ก. บริโภคด้วยความรู้ตระหนักว่าการมี-ใช้-บริโภคสิ่งเหล่านั้นมิใช่เป็นจุดหมายของชีวิต แต่มันเป็นปัจจัยเครื่องช่วยเกื้อหนุนให้เราสามารถพัฒนาชีวิต และทำการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป

ข. บริโภคด้วยความรู้เท่าทันต่อวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบริโภคใช้สอยสิ่งนั้นๆ เช่น การสวมรองเท้ามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยปกป้องเท้า มิให้เป็นอันตรายจากสิ่งกระทบกระทั่งและเชื้อโรคเป็นต้น และเพื่อช่วยให้เดินวิ่งได้สะดวกรวดเร็วทนนาน เป็นต้น มิใช่สวมใส่เพื่ออวดโก้แสดงฐานะกันตามค่านิยมที่เลื่อนลอย

ค. บริโภคโดยพิจารณาจัดสรรควบคุมให้ได้ปริมาณ ประเภท และคุณสมบัติของสิ่งที่บริโภคตรงพอดีกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบริโภคสิ่งนั้น เช่น บริโภคอาหารในปริมาณและประเภท ซึ่งพอดีกับความต้องการของร่างกายที่จะช่วยให้มีสุขภาพดี

ง. สามารถละเว้นหรือเลิกเสพบริโภคสิ่งที่ไม่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนชีวิต เช่น สิ่งที่ทำลายสุขภาพเป็นต้น โดยไม่เห็นแก่การเสพรส หรือความโก้หรูหรา เป็นต้น

๒. สมาธิ หมายถึง การฝึกฝนพัฒนาในด้านจิตใจ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจิตใจเป็นฐานของพฤติกรรม เนื่องจากพฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือเจตนา และเป็นไปตามเจตจำนงและแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลัง ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนาให้ดีงามแล้ว ก็จะควบคุมดูแลและนำพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามด้วย แม้ความสุขความทุกข์ในที่สุดก็อยู่ที่ใจ

ยิ่งกว่านั้น ปัญญาจะเจริญงอกงามได้ ต้องอาศัยจิตใจที่เข้มแข็งสู้ปัญหา เอาใจใส่ มีความเพียรพยายามที่จะคิดค้นไม่ท้อถอย ยิ่งเรื่องที่คิดหรือพิจารณานั้นยาก หรือละเอียดลึกซึ้ง ก็ยิ่งต้องมีจิตใจที่สงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่พลุ่งพล่านกระวนกระวาย คือต้องมีสมาธิ จึงจะคิดได้ชัดเจน เจาะลึกทะลุได้ และมองเห็นทั่วตลอด จิตที่ฝึกดีแล้ว จึงเป็นฐานที่จะให้ปัญญาทำงานและพัฒนาอย่างได้ผล

การพัฒนาจิตใจนี้ มีสมาธิเป็นแกน หรือเป็นศูนย์กลาง จึงเรียกง่ายๆ ว่า “สมาธิ” และอาจแยกออกได้เป็นการพัฒนาคุณสมบัติของจิตใจในด้านต่างๆ คือ

ก) พัฒนาคุณธรรมซึ่งเป็นคุณภาพของจิตใจ กล่าวคือ คุณสมบัติที่เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม ให้เป็นจิตใจที่สูง ประณีต และประเสริฐ เช่น

- เมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดี เป็นมิตร อยากให้ผู้อื่นมีความสุข

- กรุณา คือ ความสงสาร อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์

- มุทิตา คือ ความพลอยยินดี พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่ประสบความสำเร็จ มีความสุข หรือก้าวหน้าในการทำสิ่งที่ดีงาม

- อุเบกขา คือ ความวางตัววางใจเป็นกลาง เพื่อรักษาธรรม เมื่อผู้อื่นควรจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาตามเหตุและผล

- จาคะ คือ ความมีน้ำใจเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว

- กตัญญูกตเวทิตา คือ ความรู้จักคุณค่าแห่งการกระทำของผู้อื่น และแสดงออกให้เห็นถึงการรู้คุณค่านั้น

- หิริ คือ ความอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว

- โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่ว คร้ามขยาดต่อทุจริต

- คารวะ คือ ความเคารพ ความใส่ใจรู้จักให้ความสำคัญแก่สิ่งนั้นผู้นั้น อย่างถูกต้องเหมาะสม

- มัทวะ คือ ความอ่อนโยน สุภาพ นุ่มนวล ไม่กระด้าง

ข) พัฒนาสมรรถภาพและประสิทธิภาพของจิตใจ โดยเสริมสร้างคุณสมบัติที่ทำให้จิตใจมีความเข้มแข็ง หนักแน่นมั่นคง แกล้วกล้าสามารถ ทำกิจหน้าที่ได้ผลดี เช่น

- ฉันทะ คือ ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ อยากรู้ความจริงและใฝ่ที่จะทำสิ่งดีงามให้สำเร็จ อยากเข้าถึงภาวะดีงามอันเลิศสูงสุด

- วิริยะ คือ ความเพียร บุกฝ่าไปข้างหน้า เอาธุระรับผิดชอบ ไม่ยอมทอดทิ้งกิจหน้าที่

- อุตสาหะ คือ ความขยัน ความอึดสู้ ความสู้ยากบากบั่น ไม่ยั่น ไม่ถอย

- ขันติ คือ ความอดทน ความเข้มแข็ง ความทนทาน หนักแน่น มั่นคง

- จิตตะ คือ ความมีใจจดจ่อ ใส่ใจ อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่กิจหน้าที่หรือสิ่งที่ทำ

- สัจจะ คือ ความตั้งใจจริง จริงใจและจริงจัง เอาจริงเอาจัง มั่นแน่วต่อสิ่งที่ทำ ไม่เหยาะแหยะ ไม่เรรวน ไม่กลับกลาย

- อธิษฐาน คือ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ความมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมาย

- ตบะ คือ พลังเผากิเลส กำลังความเข้มแข็งพากเพียรในการทำกิจหน้าที่ให้สำเร็จ โดยแผดเผาระงับยับยั้งกิเลสตัณหาได้ ไม่ยอมแก่ทุจริต และไม่เห็นแก่ความสุขสำราญปรนเปรอ

- สติ คือ ความระลึกนึกได้ ไม่เผอเรอ ไม่เลื่อนลอย ทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องทุกอย่าง กำหนดจิตไว้กับกิจหน้าที่ หรือสิ่งที่ทำ กั้นยั้งใจจากสิ่งที่เสื่อมเสียหายเป็นโทษ และไม่ปล่อยโอกาสแห่งประโยชน์หรือความดีงามความเจริญให้เสียไป

- สมาธิ คือ ภาวะจิตที่ตั้งมั่น แน่วแน่ ได้ที่ อยู่ตัว สงบ อยู่กับสิ่งที่ต้องการทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่แกว่งไกว ไม่มีอะไรรบกวนได้

ค) พัฒนาความสุขและภาวะที่เกื้อหนุนสุขภาพของจิตใจ คุณสมบัติที่ควรเสริมสร้างขึ้นให้มีอยู่ประจำในจิตใจ เพื่อความมีสุขภาพจิตที่ดี พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลายอย่าง โดยเฉพาะ

- ปราโมทย์ คือ ความร่าเริง สดชื่น เบิกบานใจ ไม่หดหู่หรือห่อเหี่ยว

- ปีติ คือ ความอิ่มใจ ปลาบปลื้ม เปรมใจ ฟูใจ ไม่โหยหิวแห้งใจ

- ปัสสัทธิ คือ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่คับ ไม่เครียด

- สุข คือ ความคล่องใจ สะดวกสบายใจ สมใจ ไม่มีอะไรบีบคั้นติดขัดคับข้อง

- สันติ คือ ความสงบ ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย ซึ้ง

- เกษม คือ ความปลอดโปร่ง ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย โล่งโปร่งใจไร้กังวล

- สีติภาพ คือ ความเย็นสบาย ไม่มีอะไรแผดเผาใจ ไม่ตรอมตรม

- เสรีภาพ คือ ความมีใจเสรี เป็นอิสระ ไม่ถูกผูกมัดติดข้อง จะไปไหนก็ไปได้ตามประสงค์

- ปริโยทาตตา คือ ความผ่องใส ผุดผ่อง แจ่มจ้า กระจ่าง สว่างใจ ไม่มีความขุ่นมัวเศร้าหมอง

- วิมริยาทิกัตตา คือ ความมีใจไร้พรมแดน ไม่กีดกั้นจำกัดตัวหรือหมกมุ่นติดค้าง มีจิตใจใหญ่กว้างไร้ขอบคันเขตแดน

คุณสมบัติทั้งหลายที่กล่าวมานี้ แม้จะดีงามเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่บางอย่างอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ก่อให้เกิดโทษได้ (เช่น เพียรในการลักของเขา) หรือนำไปพ่วงกับการกระทำทีี่ไม่ดี (เช่น ปีติปลื้มใจที่รังแกเขาได้) หรือใช้ผิดเรื่องผิดที่ผิดกรณีผิดสถานการณ์ (เช่น มุทิตาพลอยยินดีส่งเสริมคนที่ได้ลาภหรือประสบความสำเร็จโดยทางทุจริต) เป็นต้น จึงต้องศึกษาให้เข้าใจความหมายความมุ่งหมาย และการใช้งานเป็นต้นให้ชัดเจน และรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้องพอดี

การพัฒนาในด้านจิตใจนี้ เมื่อปฏิบัติสูงขึ้นไป ความสำคัญของสมาธิที่เป็นแกนหรือเป็นศูนย์กลาง จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น และเมื่อสมาธิเจริญขึ้นไปจนจิตแน่วดิ่งอยู่ตัวอย่างแท้จริงแล้ว ผู้บำเพ็ญสมาธินั้นก็จะบรรลุภาวะจิตที่เรียกว่า “ฌาน” ซึ่งเป็นสมาธิจิตขั้นสูง

การพัฒนาจิตใจ หรือเรื่องของสมาธิทั้งหมดนี้ แม้จะมีประโยชน์มากมาย นำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ได้หลายอย่าง เช่น ในเรื่องพลังจิต และในด้านการหาความสุขทางจิตใจ แต่คุณค่าแท้จริงที่ท่านมุ่งหมาย ก็คือ เพื่อเป็นฐานหรือเป็นเครื่องเกื้อหนุนการพัฒนาปัญญา

การทำงานทางปัญญาที่ยิ่งละเอียดซับซ้อนและลึกซึ้งมากขึ้น ก็ยิ่งต้องการสมาธิจิตสูงขึ้น การพัฒนาจิตใจหรือสมาธินี้จึงมีความสำคัญมาก

๓. ปัญญา หมายถึง การพัฒนาปัญญา ซึ่งมีความสำคัญสูงสุด เพราะปัญญาเป็นตัวนำทางและควบคุมพฤติกรรมทั้งหมด คนเราจะมีพฤติกรรมอะไร อย่างไร และแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าจะมีปัญญาชี้นำหรือบอกทางให้เท่าใด และปัญญาเป็นตัวปลดปล่อยจิตใจ ให้ทางออกแก่จิตใจ เช่น เมื่อจิตใจอึดอัดมีปัญหาติดตันอยู่ พอเกิดปัญญารู้ว่าจะทำอย่างไร จิตใจก็โล่งเป็นอิสระได้ การพัฒนาปัญญาเป็นเรื่องกว้างขวาง แยกออกไปได้หลายด้าน และมีหลายขั้นหลายระดับ เช่น

ก) ปัญญาที่ช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพประสบความสำเร็จ

- ความรู้ความเข้าใจข้อมูลความรู้ รวมทั้งศิลปวิทยาการต่างๆ เข้าถึงเนื้อหาความหมายได้ถูกต้องชัดเจน

- การรับรู้เรียนรู้อย่างถูกต้องตามเป็นจริง ตรงตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ หรือตามที่มันเป็น

- ความรู้จักจับสาระของความรู้หรือเรื่องราวต่างๆ รู้จุด รู้ประเด็น สามารถยกขึ้นพูด ยกขึ้นชี้แสดง หรือยกขึ้นวางเป็นหลักได้

- ความรู้จักสื่อสารถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจและความต้องการของตน ให้ผู้อื่นรู้ตาม เห็นตาม เป็นต้น

- การคิดการวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจนและเที่ยงตรง

- ความรู้จักแยกแยะวิเคราะห์วิจัยสืบสาวเหตุปัจจัยของเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ได้

- ความรู้จักจัดทำดำเนินการหรือบริหารจัดการกิจการต่างๆ ให้สำเร็จผลตามที่มุ่งหมาย

- ความรู้จักเชื่อมสัมพันธ์ประสบการณ์ ข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ โยงเข้ามาประสานเป็นภาพองค์รวมที่ชัดเจน หรือโยงออกไปสู่ความหยั่งรู้หยั่งเห็นใหม่ๆได้

ข) ปัญญาที่ช่วยให้ดำเนินเข้าสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม

- ความรู้เข้าใจในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายที่อิงอาศัยสืบเนื่องส่งผลต่อกันตามเหตุปัจจัย มองเห็นภาวะและกระบวนการที่ชีวิต สังคม และโลกคือหมู่สัตว์ มีความเป็นมาและจะเป็นไป ตามกระแสแห่งเจตจำนงและเหตุปัจจัยที่ตนประกอบสร้างสมจัดสรรและมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นทั้งหลาย เรียกง่ายๆ ว่า เป็นไปตามกรรม

ค) ปัญญาที่ช่วยให้บรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิตที่ดีงาม

- ความรู้เข้าใจเข้าถึงเท่าทันความจริงของสังขารคือโลกและชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกฎธรรมดาของธรรมชาติ จนสามารถวางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ทำจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระได้โดยสมบูรณ์ และมีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง

 

การศึกษา ๓ ด้านที่เรียกว่าไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญานี้ เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา เป็นระบบและเป็นกระบวนการทั้งหมดของการพัฒนาคน จากหลักไตรสิกขานี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมและข้อธรรมแยกย่อยออกไปมากมาย อย่างที่เรามักเห็นหรือได้ยินเป็นหมวดๆ หรือเป็นชุดๆ มี ๓ ข้อบ้าง ๔ ข้อบ้าง ๕ ข้อบ้าง ฯลฯ หลักธรรมแต่ละหมวดแต่ละชุดเหล่านั้น ก็คือข้อปฏิบัติเพื่อการพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมในขั้นตอนหรือในส่วนปลีกย่อยต่างๆ แต่ละหมวดแต่ละชุดมักจะมีสาระบางส่วนของไตรสิกขาครบทั้ง ๓ อย่าง ประสานหรือบูรณาการกันอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ตามความเหมาะสมกับกรณีนั้นๆ

๓. กิจกรรมที่เกื้อหนุนกระบวนการของการศึกษา

สำหรับชาวพุทธที่เป็นชาวบ้านทั่วไป มีหลักธรรมชุดหนึ่งที่รู้จักกันดี เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ขยายไตรสิกขาลงมาสู่ชีวิตและสังคมในวงกว้าง ซึ่งชีวิตของคนส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องอาศัยวัตถุและมีความสัมพันธ์กับผู้คนอื่นที่แตกต่างหลากหลายมาก หลักธรรมชุดนี้ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา ที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ (หลักการทำบุญ) ๓ อย่าง ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นในการฝึกฝนพัฒนาคนให้เจริญงอกงามในความดี

หลักธรรมชุดนี้ ซึ่งเรียกสั้นๆว่า บุญกิริยา เมื่อนำมาปฏิบัติกันอย่างถูกต้องและให้แพร่หลาย จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและความสงบสุขแก่สังคม และเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้ก้าวต่อไปในไตรสิกขาได้อย่างดี ดังจะยกตัวอย่างวิธีปฏิบัติดังนี้

๑. ทาน คือการให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน ที่ควรเน้น คือ

ก) การถวายทานแก่พระภิกษุสามเณร ในฐานะที่ท่านปฏิบัติธรรมเป็นแบบอย่าง และเป็นผู้ดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม ในเมื่อท่านอุทิศชีวิตให้แก่ธรรม ด้วยการเล่าเรียน ปฏิบัติ และเผยแผ่สั่งสอน โดยมิได้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตด้วยผลตอบแทน และฝากชีวิตด้านวัตถุไว้กับประชาชน ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์จึงถือเป็นหน้าที่ที่จะดูแลบำรุง ให้ท่านมีกำลังบำเพ็ญศาสนกิจ ด้วยการถวายปัจจัย ๔

ข) การสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีความจำเป็น เช่น ให้เสื้อผ้า อาหาร และปัจจัยยังชีพทั้งหลายแก่ผู้ด้อยโอกาส คนยากไร้ขาดแคลนทั่วไป คนเจ็บไข้ คนพิการ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ประสบภัย เช่น อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย เป็นต้น

ค) การส่งเสริมสนับสนุนบุคคลและกิจการที่ดีงามสร้างสรรค์ ด้วยการร่วมกันจัดตั้งกิจการการกุศล หรือบริจาคทุนให้กำลังสนับสนุน แก่บุคคลและกิจการมีมูลนิธิเป็นต้น ที่บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

ง) การบำเพ็ญอภัยทาน คือ บำเพ็ญเมตตาการุณยธรรม ให้ความไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งสัตว์บก สัตว์บิน และสัตว์น้ำ ด้วยการไม่รังแก ไม่เบียดเบียน ช่วยสงวนพันธ์ุ ช่วยอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน ด้วยการรักษาป่า เป็นต้น

๒. ศีล คือ การประพฤติดีงาม มีพฤติกรรมที่ไม่เบียดเบียนและฝึกหัดขัดเกลา เฉพาะอย่างยิ่ง

ก) รักษาศีล ๕ สำหรับคฤหัสถ์คือชาวบ้านผู้ยังแสวงหาวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภคต่างๆ เมื่อต่างคนต่างหา ทุกคนก็อยากได้อยากเอาให้มากที่สุด คนที่มีกำลัง มีโอกาส มีความสามารถมากกว่า ก็จะข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอกว่า ที่ด้อยกำลัง ด้อยโอกาส สังคมก็จะเดือดร้อน เต็มไปด้วยการเบียดเบียนแย่งชิง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงวางหลักศีล ๕ ไว้เป็นกรอบหรือเป็นขอบเขต ว่าใครจะแสวงหาอย่างไรก็หาไป แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตที่จะไม่ละเมิด ศีล ๕ ข้อนี้ แล้วสังคมก็จะสงบสุขพอสมควร ไม่ถึงกับลุกเป็นไฟ และทุกคนก็จะพออยู่กันได้ และพอมีความสุขได้มากบ้างน้อยบ้าง โดยให้ทุกคน

๑) เว้นจากปาณาติบาต ไม่ละเมิดต่อชีวิตร่างกายกัน รวมทั้งไม่รังแกสัตว์

๒) เว้นจากอทินนาทาน ไม่ละเมิดต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของกันและกัน

๓) เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ไม่ละเมิดต่อคู่ครองของรักของหวงกัน

๔) เว้นจากมุสาวาท ไม่ละเมิดต่อกันทางวาจา ไม่ทำร้ายหรือทำลายผลประโยชน์กันด้วยวาจาเท็จ โกหกหลอกลวง

๕) เว้นจากสุรายาเมาสิ่งเสพติด ไม่คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่นด้วยการมีพฤติกรรมที่ขาดสติสัมปชัญญะเพราะเสพสิ่งเสพติด

ข) รักษาอุโบสถ หรือศีล ๘ ศีล ๕ นั้นช่วยให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย อย่างน้อยไม่เดือดร้อนจนถึงกับลุกเป็นไฟ แต่ก็ไม่เป็นหลักประกันว่าคนจะมีความสุข ผู้ที่ปรารถนาชีวิตที่ดีงามมีความสุข ควรฝึกหัดพัฒนาตนต่อไปด้วยการรักษาอุโบสถหรือศีล ๘ ซึ่งมีข้อปฏิบัติเพิ่มจากศีล ๕ อีก ๓ ข้อ และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากเดิม ๑ ข้อ (ข้อ ๓) ตามประเพณีทั่วไป นิยมรักษาเพียง ๗-๘ วัน ครั้งหนึ่ง คือ ในวันขึ้น-แรม ๘ ค่ำ และขึ้น-แรม ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด

การรักษาอุโบสถนี้ เป็นการฝึกตนในการรักษาอิสรภาพของชีวิตไว้ ไม่ให้ชีวิตและความสุขของตนต้องไปขึ้นต่อการเสพหรือบริโภควัตถุมากเกินไป ไม่ให้กลายเป็นคนลุ่มหลงมัวเมาในวัตถุ กล่าวคือใน ๖-๗ วันที่ผ่านมา เคยแต่ตามใจตนเอง หาความสุข ด้วยการกินตามใจชอบ ยุ่งอยู่กับการสนุกสนานดูฟังการบันเทิง และบำเรอสัมผัสกายด้วยการนอนฟูกฟูหรูหรา พอมาถึงวันที่ ๗ หรือ ๘ ก็หัดเป็นอยู่ง่ายๆ โดยพึ่งวัตถุแต่เพียงเท่าที่จำเป็นหรือพอแก่ความต้องการที่แท้จริงของชีวิต ฝึกเป็นอยู่ให้ดีงามและมีความสุข โดยไม่ต้องพึ่งการบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส เช่น กินอาหารเพียงในเวลาจำกัดแค่เที่ยงวันเท่าที่เพียงพอแก่สุขภาพ

การปฏิบัติตามหลักการรักษาอุโบสถนี้ นอกจากเป็นการฝึกตนให้มีความสุขได้ง่ายขึ้นและพร้อมที่จะก้าวต่อไปในการพัฒนาชีวิตขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ก็จะทำให้มีวัตถุเสพบริโภคเหลือพอที่จะนำไปเผื่อแผ่ให้ความสุขแก่ผู้อื่น และมีเวลาเหลือจากการมัวเมาเสพวัตถุที่จะนำไปใช้ในทางที่ดีงามสร้างสรรค์อย่างอื่น โดยเฉพาะในขั้นภาวนาที่เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจ และพัฒนาปัญญาของตน ตลอดจนไปบำเพ็ญทาน ทำการสงเคราะห์ หรือบำเพ็ญประโยชน์ด้านอื่นๆ

ศีล ๘ เฉพาะข้อที่ต่างและเพิ่มจากศีล ๕ คือ

๓) เว้นจากอพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์ งดเว้นเมถุน

๖) เว้นวิกาลโภชน์ ไม่รับประทานอาหารในเวลาวิกาล คือหลังเที่ยงวัน

๗) เว้นนัจจคีตวาทิต-มาลาคันธวิเลปนะฯ งดการฟ้อนรำขับร้องเล่นดนตรีดูการละเล่น และการประดับตกแต่งร่างกายใช้ของหอมเครื่องลูบไล้

๘) เว้นอุจจาสยนมหาสยนะ งดนอนบนฟูกฟูที่นั่งที่นอนสูงใหญ่หรูหราบำเรอ

๓. ภาวนา คือการพัฒนาชีวิต โดยเฉพาะในที่นี้หมายถึงการพัฒนาชีวิตด้านใน คือจิตใจและปัญญา และที่เน้นเป็นพิเศษสำหรับภาวนาในระดับบุญกิริยาวัตถุนี้ พระพุทธเจ้าทรงหมายถึง การเจริญเมตตาจิต ซึ่งเป็นฐานของทานและศีล เพราะเมตตาหรือความมีน้ำใจไมตรีต่อกันนี้ เป็นคุณสมบัติที่แท้จริงในตัวมนุษย์ที่จะรักษาสันติภาพไว้ในสังคมและทำให้โลกมีความร่มเย็นเป็นสุข

นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติและกิจกรรมดีงามอีกหลายอย่างในการพัฒนาจิตใจ (จิตตภาวนา) และพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) ดังที่ท่านยกตัวอย่างไว้ เช่น

ก) ธรรมสวนะ คือ การฟังธรรม รวมทั้งการอ่านค้นคว้าหาความรู้ธรรม หรือเรื่องเกี่ยวกับความจริงความดีงาม

ข) ธรรมเทศนา คือ การแสดงธรรม บอกกล่าว แนะนำ ให้ความรู้ธรรม หรือเรื่องเกี่ยวกับความจริงความดีงาม

ค) ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรง ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ทำด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือปรับความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องตามหลักการของธรรมนั้นๆ เช่น ให้ทาน เพื่อช่วยเขา ด้วยเมตตาการุณย์และสละโลภะหรือมัจฉริยะในใจของตน ไม่ใช่ให้เพื่อหาผลตอบแทน เป็นต้น

การประสานกิจกรรมแห่งทาน ศีล และภาวนา

ในวัฒนธรรมของชาวพุทธแต่โบราณนิยมว่า ในวันที่พักผ่อนจากการงานอาชีพหรือในวันสำคัญทางพระศาสนา โดยเฉพาะในวันอุโบสถ ที่เรียกกันว่า วันพระ ชาวพุทธจะบำเพ็ญบุญกิริยาทั้ง ๓ อย่าง คือ ทั้งทาน ศีล และภาวนา ประสานพร้อมไปด้วยกัน ดังคำที่พูดติดปากกันมาว่า “วันพระ ให้ทาน รักษาศีล และฟังเทศน์ฟังธรรม” ในวันเช่นนั้น ซึ่งเป็นวันที่รักษาศีลเป็นพิเศษ ผู้คนว่างเว้นทั้งจากการประกอบอาชีพ และจากกิจกรรมในทางสนุกสนานบันเทิงมัวเมา (ไม่ต้องพูดถึงอบายมุขทั้งหลาย) จึงมีเวลาและโอกาสมากมายที่จะทำกิจกรรมที่ดีงามเป็นประโยชน์เป็นบุญเป็นกุศลที่ท่านเรียกว่า “อนวัชชกรรม”

ชาวพุทธในสมัยปัจจุบันอาจจะอนุวัตรตามคตินี้ โดยใช้วันหยุดงานเป็นวันสำหรับจัดทำกิจกรรมต่างๆ ที่ดีงามสร้างสรรค์ ตามหลักทาน ศีล ภาวนานั้น เช่น

- บำเพ็ญทาน ทั้งถวายทานแก่พระภิกษุสามเณร ช่วยเหลือเด็กกำพร้า คนชรา คนพิการ คนยากไร้ขาดแคลน และบำเพ็ญอภัยทานแก่สัตว์ทั้งหลาย

- รักษาศีล ๘ ตามกำลัง อย่างน้อยก็รักษาศีล ๕ ให้มั่นคง

- จัดกิจกรรมเสริมธรรมเสริมปัญญา เช่น บรรยาย ปาฐกถา อภิปราย และสนทนาธรรม เป็นต้น หรือจะอ่านหนังสือ จะค้นคว้าตำรับตำราเป็นส่วนตัวก็ได้

- สวดมนต์ร่วมกัน เพื่อทบทวนพุทธวจนะ และเพื่อโน้มน้อมจิตใจสู่ความสงบหรือเตรียมจิตสู่สมาธิ

- ทำกิจกรรมบริหารสุขภาพเพื่อเป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตขั้นสูงขึ้นไปในทางจิตใจและปัญญา

- ทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เสียหาย รวมทั้งกีฬา ที่มีความมุ่งหมายชัดเจนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน หรือเพื่อฝึกวินัยและเสริมสร้างความสามัคคีมีน้ำใจต่อกันในสังคม

- เจริญจิตเจริญปัญญา ด้วยการฝึกสมาธิตามสมถวิธี และพัฒนาปัญญาตามวิปัสสนาวิธี

- ปลีกตัวแสวงวิเวกเพื่อสงบใจ พิจารณาธรรม และรื่นรมย์กับความสงบงามของธรรมชาติ

- ชวนกันบำเพ็ญประโยชน์ เช่น พัฒนาวัด พัฒนาโรงเรียน พัฒนาชุมชน สร้างสาธารณูปโภค ปลูกสวน ปลูกป่า เป็นต้น

ฯลฯ

ถ้าชาวพุทธพากันปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพียงให้ได้ตามหลักการใหญ่ๆ ที่เป็นพื้นฐานเพียงเท่านี้ ก็มั่นใจได้ว่า ทุกคนจะมีชีวิตที่เจริญงอกงามมีความสุข สังคมจะร่มเย็นมั่นคงปลอดภัย โลกจะรื่นรมย์คงอยู่ในความเกษมสวัสดี และพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ยั่งยืนสถาพรวัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชานิกรคู่ฟ้าคู่แผ่นดิน

คำปรารภ

การศึกษา เป็นสาระของการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ดังที่ท่านเรียกการปฏิบัตินั้นว่า สิกขา อันได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา หลักการนี้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ผู้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และจะต้องฝึก มนุษย์นั้นเมื่อศึกษาคือฝึกฝนพัฒนาแล้ว ก็จะเป็นสัตว์ที่ประเสริฐเลิศได้จนสูงสุด แม้แต่จะเป็นพุทธะ และมนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาศึกษาดีแล้วก็จะช่วยกันพัฒนาสังคมประเทศชาติ ตลอดจนโลกมนุษย์ทั้งหมด ให้เจริญมั่นคง มีสันติสุข การศึกษาของมนุษย์ คือการพัฒนาคน จึงเป็นรากฐานของการพัฒนาทั้งปวง และการส่งเสริมการศึกษาตามหลักไตรสิกขา ก็เป็นกิจประการแรกที่จะต้องทำนำหน้ากิจการทุกอย่างในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลประชาชน

การที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เป็นผู้นำพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั้งประเทศ จัดงานเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นี้ นับว่าเป็นการแสดงออกให้ประจักษ์ถึงกุศลเจตนาที่จะบูชาพระคุณแห่งองค์พระประมุขของสังฆมณฑล ผู้ทรงเป็นประธานแห่งสถาบันพระพุทธศาสนาและปวงพุทธศาสนิกชน ด้วยกุศลวิธีอันยิ่งใหญ่ คือด้วยการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ขออนุโมทนากระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการและได้รับมอบหมายให้เป็นแกนกลางประสานงานการจัดกิจกรรม ที่ได้ให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา โดยถือเป็นกิจกรรมหลักที่จะปฏิบัติอย่างเป็นงานระยะยาว ดังที่ได้มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการศึกษาและบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งได้จัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเป็นแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา เท่ากับได้ถือเอาการศึกษาเป็นหัวใจของงานทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นการบูชาองค์พระประมุขแห่งพุทธศาสนิกชน ด้วยปฏิบัติบูชาอันสูงสุด

หากการเฉลิมฉลองที่ได้จัดทำด้วยการศึกษาเป็นกิจนำหน้านี้ จะได้ช่วยให้ธรรมเจริญงอกงามขึ้นในชีวิตจิตใจของประชาชน และช่วยให้พุทธศาสนิกชนเจริญงอกงามขึ้นในไตรสิกขา ก็จะเป็นผลสัมฤทธิ์แห่งงานสมโภช อันมีค่าคุ้มควรแก่การน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะแด่องค์พระสังฆปริณายก ในมงคลวโรกาสแห่งการเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษานี้ อย่างแท้จริง

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการศึกษาและบำรุงพระพุทธศาสนา
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง