คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สมชีวีกถา

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ
อากังเขยยุง เจ คะหะปะตะโย อุโภ ชานิปะตะโย ทิฏเฐ
เจวะ ธัมเม อัญญะมัญญัง ปัสสิตุง อะภิสัมปะรายัญจะ
อัญญะมัญญัง ปัสสิตุง อุโภวะ อัสสุ สะมะสัทธา สะมะสีลา
สะมะจาคา สะมะปัญญาติฯ

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาใน สมชีวีกถา พรรณนาหลักธรรมสำหรับส่งเสริมชีวิตของคู่ครอง ให้ราบรื่นปรองดองสม่ำเสมอและสมกัน เพื่อฉลองศรัทธาประดับปัญญาบารมีของคณะเจ้าภาพและท่านสาธุชน เนื่องในงานมงคลสมรส เป็นส่วนกุศลวิธีที่จะนำพระพุทธศาสโนวาทมาเป็นเครื่องประสาทพร เพิ่มพูนสิริมงคลแก่คู่สมรส ให้ประสบความสุขความสวัสดี และความเจริญรุ่งเรืองงอกงามไพบูลย์แห่งชีวิตครองเรือนตลอดกาลนาน

พิธีมงคลสมรสนั้น ตามประเพณีไทยถือว่าเป็นกิจฝ่ายคฤหัสถ์ ส่วนพิธีเกี่ยวกับสงฆ์ทั้งหมด รวมทั้งการมีพระธรรมเทศนานี้ นับว่าเป็นการทำบุญเนื่องในงานมงคลสมรส เพื่อให้เกิดธรรมมงคลแก่คู่แต่งงานหรือผู้ได้ตกลงกันแล้วที่จะแต่งงานกัน

เมื่อมีคู่ครอง ก็มีทรัพย์สินและญาติมิตรเพิ่มทวี

การมีคู่ครองนั้น ถือกันว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งครั้งหนึ่งในชีวิตของบุคคล เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้เกิดฐานะและหน้าที่อย่างใหม่ คือ ฐานะแห่งสามี และฐานะแห่งภรรยา พร้อมทั้งหน้าที่ซึ่งผูกพันอยู่กับฐานะทั้งสองนั้น อันเกิดจากความสัมพันธ์ และความรับผิดชอบต่อกัน ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบนี้ มิใช่จำกัดอยู่เพียงในระหว่างคู่สามีและภรรยาเท่านั้น แต่ยังขยายออกไปถึงบุคคลและทรัพย์สิน เป็นต้น อันมีมาแต่เดิมของแต่ละฝ่ายอีกด้วย เช่น บิดา มารดา เครือญาติและมิตรสหายของคู่ครองเป็นต้น ทำให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่ง คือ การสมรสนี้ เท่ากับเป็นวิธีเพิ่มพูนจำนวนญาติมิตรและทรัพย์สินต่างๆ ให้มากมายกว้างขวางขึ้นเป็นทวีคูณ

อย่างไรก็ตาม ผลดังกล่าวนี้ จะเป็นผลที่ดีงามอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อคู่สมรสรู้จักรับผิดชอบ และรู้จักปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนตามความรับผิดชอบนั้นให้ถูกต้องด้วยดี ด้วยเหตุนี้ คู่สมรสที่ปรารถนาความสุข และความเจริญก้าวหน้า ทั้งของตนเอง ของคู่ครอง และของชีวิตครองเรือนทั้งหมด จึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ ให้ตระหนักในฐานะภาระและหน้าที่ต่างๆ ที่ตนจะต้องกระทำในชีวิตครอบครัวไว้ให้พร้อม เพื่อทำชีวิตครองเรือนของตนให้เป็นความอยู่ร่วมกันด้วยความสุข บังเกิดประโยชน์ ส่งเสริมคุณค่าแห่งชีวิตของกันและกัน และทำให้การที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ทั้งหลาย กลายเป็นคุณประโยชน์ เป็นความดี ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตทุกชีวิตที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องนั้น ทั่วถึงกันทั้งหมด

แม่บ้านดี ผูกใจสามีได้
และทำให้ทั้งบ้านร่มเย็น

ในสมัยพุทธกาล พระบรมศาสดาเคยทรงได้รับอาราธนาจากคฤหบดีท่านหนึ่ง ให้ทรงประทานโอวาทแก่กุมารีที่จะแยกครอบครัวไปอยู่ในตระกูลสามี ครั้งนั้น พระองค์ได้ตรัสสอนกุมารีเหล่านั้น ให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับแม่บ้านหลายประการ หลักธรรมที่ทรงประทานครั้งนั้น พระองค์ตรัสให้เหมาะสมกับสภาพสังคมของชมพูทวีปยุคพุทธกาล ที่ฝ่ายพ่อบ้านเป็นผู้ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว จึงเป็นหลักธรรมที่ใช้ได้อย่างดี ในสังคมไทยแบบเดิม ซึ่งมีลักษณะการแบ่งงานในครอบครัวอย่างเดียวกัน

บัดนี้ แม้สังคมจะผันแปรไปตามกาลสมัย สตรีผู้ฉลาดก็สามารถยึดถือสาระจากหลักธรรมเหล่านั้น นำมาประพฤติปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ยิ่งกว่านั้น แม้ในสมัยปัจจุบัน ที่สภาพและระบบการต่างๆ ในสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วนี้เอง ก็ยังอาจกล่าวยืนยันได้ว่า ในครอบครัวที่ภริยายึดถือปฏิบัติเคร่งครัดตามหลักธรรมเหล่านี้ นับว่ามีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะยึดเหนี่ยวค้ำจุนชีวิตครอบครัวไว้ให้มีความสุข ความราบรื่น มั่นคงด้วยดี และความประพฤติเช่นนี้จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียหายแก่ชีวิตครอบครัวแต่ประการใด

ในพุทธโอวาทครั้งนั้น ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับภรรยา ๕ ข้อ ซึ่งมีใจความดังนี้

ข้อที่ ๑ พึงเป็นผู้ตื่นก่อน นอนทีหลัง เอาใจใส่คอยฟังว่าจะมีอะไรให้ช่วยทำ ประพฤติแต่สิ่งที่ถูกใจ พูดคำไพเราะน่ารัก คือ รู้จักปรนนิบัติถนอมน้ำใจ

ข้อที่ ๒ คนเหล่าใดเป็นที่เคารพนับถือของสามี เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ ของสามี เป็นต้น ก็แสดงความเคารพนับถือด้วย เอาใจใส่ปฏิสันถารท่านเหล่านั้นเป็นอันดี

ข้อที่ ๓ เป็นผู้ขยัน เอาใจใส่ในงานบ้านทุกอย่าง เช่น งานเกี่ยวกับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เฉลียวฉลาด รู้จักคิดจัดทำงานเหล่านั้นให้เรียบร้อยเหมาะสม

ข้อที่ ๔ เอาใจใส่สอดส่องดูแลคนในปกครองภายในบ้าน เช่น คนรับใช้ และคนงานต่างๆ รู้งานของเขาว่าได้ทำแล้วหรือไม่เพียงใด มีใครเจ็บป่วยไข้เป็นอย่างไร เอาใจใส่รักษาพยาบาล จัดแบ่งอาหารของบริโภคเผื่อแผ่ให้ตามสมควร

ข้อที่ ๕ รู้จักประหยัดเก็บรักษาทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้ ไม่เล่นการพนัน ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ทำลายผลาญทรัพย์สมบัติ

นอกจากหลักความประพฤติเหล่านี้แล้ว ในที่บางแห่งทรงแสดงคุณธรรมในใจกำกับไว้เป็นข้อสุดท้ายด้วย คือ การอยู่ครองเรือนด้วยจิตใจโอบอ้อมอารี ไม่คับแคบด้วยความตระหนี่เห็นแก่ตัว คุณธรรมประจำใจนี้เป็นพื้นฐานชีวิตที่สำคัญ ทำให้บ้านเรือนเป็นสถานที่ร่มรื่น แช่มชื่นเยือกเย็นเบิกบานใจ ทั้งแก่ผู้อาศัยที่อยู่ร่วมกัน และแก่ผู้ไปมาหาสู่เยี่ยมเยือน มีญาติ มิตร สหาย เป็นต้น เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตครอบครัว หลักธรรมข้อต้นๆ อันเป็นความประพฤติที่แสดงออกภายนอก อาจเปลี่ยนแปลงประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมตามยุคสมัย แต่คุณธรรมที่เป็นพื้นใจ จะยังคงรูปเป็นอย่างเดียวกันตลอดทุกกาล

สามีภรรยาที่ดีเอาใจใส่ทำหน้าที่ต่อกัน

ที่แสดงมานี้ เป็นหลักความประพฤติในฝ่ายภรรยา ส่วนในฝ่ายสามี แม้ไม่พบที่ทรงได้รับอาราธนาให้ตรัสสอนโดยตรง แต่ในคราวที่ทรงประทานโอวาทแก่กุลบุตรผู้หนึ่ง ว่าด้วยหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อบุคคลประเภทต่างๆ ตามฐานะแห่งความสัมพันธ์ในสังคม พระองค์ได้ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่สามีพึงทำนุบำรุงภรรยาของตนไว้ ๕ ประการ อธิบายสั้นๆ ได้ดังนี้

ประการที่ ๑ ให้ความนับถือ ยอมรับฐานะแห่งภรรยาและคู่ครอง

ประการที่ ๒ ยกย่องให้เกียรติ ไม่แสดงอาการเหยียดหยามดูหมิ่น

ประการที่ ๓ มีความซื่อสัตย์ ไม่นอกใจ

ประการที่ ๔ มอบความเป็นใหญ่ แสดงความไว้วางใจในงานบ้าน

ประการที่ ๕ หาเครื่องประดับเครื่องแต่งตัวมามอบให้เป็นของฝากของขวัญ แสดงน้ำใจรักไม่จืดจาง

ทรงแสดงต่อไปว่า ภรรยาที่สามีทำนุบำรุงเช่นนี้ จะ(ต้อง)อนุเคราะห์ตอบสามีตนโดยฐานะ ๕ ประการคือ

ประการที่ ๑ จะจัดดูแลงานบ้านให้เรียบร้อยเป็นอันดี

ประการที่ ๒ จะใส่ใจสงเคราะห์คนข้างเคียงคือหมู่ญาติและข้าทาสบริวารเป็นอันดี

ประการที่ ๓ จะซื่อสัตย์ ไม่ประพฤตินอกใจสามี

ประการที่ ๔ จะช่วยประหยัดดูแลเก็บรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้

ประการที่ ๕ จะเป็นผู้ขยัน เอาใจใส่ ไม่เกียจคร้านในการงานทั้งปวง

ชีวิตคู่ครองเจริญมั่นคง
เมื่อมีคุณธรรมรองรับเป็นฐาน

หลักธรรมเท่าที่แสดงมานี้ ส่วนใหญ่เป็นข้อปฏิบัติที่แสดงออกมาภายนอก การแสดงออกภายนอกในทางที่ดีงามเช่นนี้ย่อมต้องอาศัยมีคุณธรรมต่างๆ เป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจ ที่จะช่วยให้คงรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้ไว้ได้มั่นคง ยั่งยืน และด้วยความจริงใจ ด้วยเหตุนี้ผู้ครองเรือนจึงต้องมีคุณธรรมสำหรับรักษาความสัมพันธ์อันดีนี้ไว้เป็นหลักในใจที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม หรือ ธรรมสำหรับชีวิตครองเรือน ๔ ประการ คือ

๑. สัจจะ ความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน เป็นหลักสำคัญที่จะให้เกิดความไว้วางใจและไมตรีจิตสนิทต่อกัน ขาดสัจจะเมื่อใดย่อมเป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงแคลงใจกัน เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร้าวฉาน ซึ่งยากนักที่จะประสานให้คืนดีได้ดังเดิม

๒. ทมะ การรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจ ระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน รู้จักฝึกฝนปรับปรุงตน แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับนิสัยและอัธยาศัยให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน คนที่ขาดธรรมข้อนี้ ย่อมปล่อยให้ข้อแตกต่างปลีกย่อยทางอุปนิสัยและการอบรม กลายเป็นเหตุแตกแยกสามัคคีใหญ่โต และถ้าไม่สามารถปรับตนเข้าหากันได้ ก็เป็นอันต้องทำลายชีวิตคู่ครองแยกทางขาดจากกัน

๓. ขันติ ความอดทน อดกลั้น ต่อความหนักและความร้ายแรงทั้งหลาย ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกัน นอกจากมีข้อแตกต่างขัดแย้งทางอุปนิสัย การอบรม และความต้องการบางอย่าง ซึ่งจะต้องหาทางปรับปรุงเข้าหากันแล้ว บางรายอาจจะมีเหตุล่วงเกินรุนแรง แสดงออกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นถ้อยคำหรือกิริยาอาการ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรู้จักอดกลั้นระงับใจ ไม่ก่อเหตุให้เรื่องลุกลามกว้างขยายต่อไป ความร้ายจึงจะระงับลงไป นอกจากนี้ ยังจะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ และเรื่องหนักใจต่างๆ ในการประกอบการงานอาชีพเป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ ความตกต่ำคับขัน ไม่ตีโพยตีพาย แต่มีสติอดกลั้นคิดอุบายใช้ปัญญาหาทางแก้ไขเหตุการณ์ให้ลุล่วงไปด้วยดี ชีวิตของคู่ครองที่ขาดความอดทน ย่อมไม่อาจประคับประคองพากันให้รอดพ้นเหตุร้ายต่างๆ อันเป็นประดุจมรสุมแห่งชีวิตไปได้

๔. จาคะ ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปัน ตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ชีวิตบุคคลที่จะมีความสุข จะต้องรู้จักความเป็นผู้ให้ด้วย มิใช่คอยจ้องแต่จะเป็นผู้รับเอาฝ่ายเดียว การให้ในที่นี้ มิใช่หมายแต่เพียงการเผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งของอันเป็นเรื่องที่มองเห็นและเข้าใจได้ง่ายๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่กัน การแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตนได้ เช่น ในคราวที่คู่ครองประสบความทุกข์ ความเจ็บไข้ หรือมีธุรกิจใหญ่เป็นต้น ก็เสียสละความสุขความพอใจของตน ขวนขวายช่วยเหลือ เอาใจใส่ดูแล เป็นที่พึ่งอาศัย เป็นกำลังส่งเสริม หรือช่วยให้กำลังใจได้โดยประการใดประการหนึ่ง ตามความเหมาะสม รวมความว่า เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัว ชีวิตครอบครัวที่ขาดจาคะ ก็คล้ายการลงทุนที่ปราศจากผลกำไรมาเพิ่มเติม ส่วนที่มีมาแต่เดิมก็คงที่หรือค่อยร่อยหรอพร่องไป หรือเหมือนต้นไม้ที่มิได้รับการบำรุง ก็มีแต่อับเฉา ร่วงโรย ไม่มีความสดชื่นงอกงาม

ธรรม ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ ที่พรรณนามานี้ มิใช่ประสงค์ให้เป็นข้อปฏิบัติจำกัดเฉพาะในระหว่างคู่ครองเพียง ๒ คนเท่านั้น แต่มุ่งหมายให้ใช้ทั่วไปในชีวิตการครองเรือนทั้งหมด โดยยึดถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานของจิตใจ ในการที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีงามกับคนทั้งหลายที่จะอยู่ร่วม หรือติดต่อเกี่ยวข้องกัน ให้เหมาะสมตามฐานะนั้นๆ เพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ชีวิตของตนเอง และแก่ชีวิตของคนอื่นๆ ในสังคม

จะเป็นคู่สร้างคู่สม
เมื่อมีสมธรรม ๔ ประการ

ชีวิตคู่ครองนี้ มีคำเรียกตามนิยมว่า ชีวิตสมรส ในทางพระพุทธศาสนา มีคำสอนว่า ชีวิตสมรสที่จะมีความสุข ราบรื่น มั่นคงยืนยาวได้นั้น คู่สมรสควรมีคู่ธรรมที่สมหรือสม่ำเสมอกัน อันจะพึงเรียกได้ว่า สมธรรม ๔ ประการ คือ สมศรัทธา สมศีลา สมจาคา และสมปัญญา สมธรรม ๔ ประการนี้ เป็นฐานรองรับชีวิตคู่ครองในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าฆราวาสธรรม ๔ อย่าง ที่กล่าวมาแล้ว เพราะแสดงถึงความมีคุณสมบัติสมกันและความมีลักษณะนิสัยสม่ำเสมอกันของคู่ครอง ซึ่งจะทำให้คู่สมรสทั้งสองสมชีพหรือสมชีวี คือ มีชีวิตที่สมหรือเสมอกัน สมธรรม ๔ ประการนั้น คือ

๑. สมศรัทธา มีศรัทธาสมหรือเสมอกัน ศรัทธานั้น หมายถึงความเชื่อ ความเลื่อมใส หรือความใฝ่นิยม เช่น ความเชื่อถือในลัทธิศาสนา ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และความใฝ่นิยมในคุณค่า หรือสิ่งที่ยึดถือเข้าใจว่าเป็นความดีงามต่างๆ ความมีศรัทธาสมกันย่อมเป็นสิ่งสำคัญ เบื้องแรกที่จะทำให้ชีวิตครองเรือนกลมกลืนสนิทสนมแน่นแฟ้น เพราะศรัทธาเป็นเครื่องหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิด และเป็นพลังชักจูงใจในการดำเนินชีวิต และกระทำกิจการต่างๆ ความมีศรัทธาสมกัน ตั้งต้นแต่ความเชื่อถือในลัทธิศาสนาอย่างเดียวกัน ตลอดจนการมีรสนิยมแนวเดียวกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในชีวิตสมรส ถ้าศรัทธาเบื้องต้นไม่เป็นอย่างเดียวกัน ก็ต้องตกลงปรับให้เป็นไปด้วยความเข้าใจต่อกัน

๒. สมศีลา มีศีลคือความประพฤติสมหรือเสมอกัน คือ มีความประพฤติที่เข้ากันได้ อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจ ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือขัดแย้งรุนแรงต่อกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งปากร้าย ชอบกล่าวคำหยาบคาย อีกฝ่ายหนึ่งได้รับการอบรมกวดขันมาทางด้านการพูดจาสุภาพอ่อนหวาน ทนฟังคำหยาบไม่ได้ หรือฝ่ายหนึ่งชอบเป็นนักเลงหัวไม้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบชีวิตสงบไม่วุ่นวาย ก็อาจเป็นทางเบื่อหน่ายร้าวฉานเลิกร้างกัน หรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน

๓. สมจาคา มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละสมหรือเสมอกัน ในชีวิตของบุคคลที่ต้องติดต่อเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เริ่มแต่ญาติมิตรสหายเป็นต้นไปนั้น ธรรมข้อสำคัญที่จะต้องแสดงออกอยู่เสมอก็คือ ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีใจกว้างขวาง การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน หรือในทางตรงข้าม ก็เป็นความตระหนี่ ความมีใจคับแคบ กระด้าง คู่ครองที่มีจาคะไม่สมกัน ย่อมมีโอกาสเกิดความขัดแย้งกระทบกระเทือนจิตใจกันอยู่เรื่อยไป ทำให้ชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตที่เปราะ มีทางที่จะแตกร้าวได้ง่าย

๔. สมปัญญา มีปัญญาสมหรือเสมอกัน ปัญญาหมายถึงความรู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักดีชั่ว รู้จักประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ความรู้จักคิด ความสามารถในการใช้ความคิด และเข้าใจในเหตุผล ความมีปัญญาสมกันมิได้หมายความว่าคู่ครองทั้งสองฝ่ายจะต้องได้เล่าเรียนศิลปวิทยาการ ทรงความรู้เชี่ยวชาญเหมือนๆ กัน แต่หมายถึงการมีความคิด การรู้จักรับฟังและเข้าใจในเหตุผลของกันและกัน และการช่วยเป็นคู่คิดของกันและกันได้ อย่างที่กล่าวกันง่ายๆ ว่าพูดกันรู้เรื่อง คุณธรรมข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะสามีภรรยาเป็นผู้อยู่ร่วมใกล้ชิดกันทุกเวลา จำต้องมีความเข้าใจกัน ร่วมคิดร่วมปรึกษาหารือกัน บรรเทาข้อหนักใจและช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นกำลังแก่กันและกันได้ ความมีปัญญาสมกันนี้ นอกจากเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจทำให้มีความสนิทสนมกันด้วยดีแล้ว ยังทำให้ชีวิตของคู่ครองทั้งสองฝ่าย เป็นชีวิตที่ส่งเสริมคุณค่าเพิ่มกำลังแก่กันและกันอีกด้วย

พระบรมศาสดาตรัสแสดงว่า สมธรรม ๔ ประการนี้ จะเป็นเหตุให้คู่สามีภรรยาได้พบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้าตามความประสงค์ สมดังพุทธพจน์ที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า “อากังเขยยุง เจ คะหะปะตะโย อุโภ ชานิปะตะโย” ดังนี้เป็นต้น แปลความว่า ถ้าคู่สามีภรรยาหวังจะได้พบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้าแล้วไซร้ ทั้งสองพึงเป็นผู้มีศรัทธาสมกัน มีศีลสมกัน มีจาคะสมกัน มีปัญญาสมกัน ดังนี้
ความสมหรือเสมอกันของคู่ครองตามหลักธรรม ๔ ประการนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะบุคคลทั้งสองมามีชีวิตอยู่ร่วมกันใกล้ชิดยิ่งกว่าใครๆ จนในทางโลกกล่าวว่าเป็นบุคคลเดียวกัน การที่จะมารวมเข้าด้วยกัน จึงต้องอาศัยความประสานกลมกลืนเหมาะสมกันตามทางธรรมดังกล่าวมา

จะร่วมชีวิตกันทั้งที
ควรคิดให้ดีว่าจะเป็นคู่ประเภทใด

การอยู่ครองเรือนของคู่สมรสนั้น เป็นการร่วมกันนำชีวิตทั้งสองผ่านเหตุการณ์ทั้งปวงทั้งที่ดีและร้ายไปด้วยกัน เป็นชีวิตที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ทั้งปวง ในแง่นี้ ท่านจึงถือว่าทั้งสองฝ่ายเป็นเพื่อนหรือเป็นสหายกัน และเป็นเพื่อนที่ยิ่งกว่าเพื่อนใดๆ เพราะร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ ร่วมรับสุขทุกข์ครบถ้วนพร้อมกันกว่าเพื่อนอื่นๆ ดังพุทธภาษิตที่ว่า “ภริยา ปรมา สขา” แปลว่า ภรรยาเป็นเพื่อนอย่างยิ่ง หรือ ภรรยาเป็นยอดสหาย โดยความหมายว่าเป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ดังอธิบายมาแล้ว

อนึ่ง พึงสังเกตว่า ในทางพระศาสนา ท่านแสดงเพื่อนใกล้ตัวไว้อีกบุคคลหนึ่ง ดังพุทธภาษิตว่า “มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร” แปลว่า มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน พุทธภาษิตนี้ มิได้ขัดแย้งกับพุทธภาษิตข้อก่อนที่ว่า ภรรยาเป็นเพื่อนอย่างยิ่งนั้นแต่ประการใด เพราะเพ่งความคนละอย่าง ในพุทธภาษิตข้อก่อน ท่านมุ่งแสดงลักษณะความเป็นไปของชีวิตหรือความสัมพันธ์ที่มองเห็นได้ในภายนอกว่า ภรรยาเป็นผู้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามี ส่วนในพุทธภาษิตข้อหลัง ท่านมุ่งแสดงถึงคุณธรรมในใจ เพราะคำว่ามิตร มีความหมายเพ่งเล็งไปในทางด้านจิตใจและคุณธรรมมากกว่าคำว่าสหายและเพื่อน ตามพุทธภาษิตข้อที่สองนี้จึงมีความหมายว่า ในบ้านของแต่ละคน มีมารดาเป็นผู้มีเมตตา มีความปรารถนาดีต่อบุตร เป็นที่วางใจ พึ่งอาศัยได้อย่างแท้จริง เป็นมิตรแท้คู่บ้านแน่นอนอยู่ท่านหนึ่งแล้ว

ในกรณีนี้ หากภริยาผู้ใดสามารถปฏิบัติตนทำจิตใจให้เป็นมิตรแท้ มีเมตตาปรารถนาดีต่อสามีได้อย่างแท้จริง เหมือนอย่างมารดาแล้ว พระบรมศาสดาก็ตรัสยกย่องภริยานั้นว่าเป็น มาตาสมภริยา หรือ มาตาภริยา คือ ภรรยาเสมอด้วยมารดา หรือ ภรรยาเยี่ยงมารดา ส่วนภรรยาผู้มีคุณธรรมอย่างอื่น ก็ตรัสเปรียบไว้เหมือนพี่น้องหญิง เหมือนเพื่อนเป็นต้น ดังที่เคยตรัสสอนนางสุชาดา ผู้เป็นสะใภ้ของอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่า มีภริยาอยู่ ๗ ประเภท เป็นฝ่ายร้าย ๓ ประเภท และฝ่ายดี ๔ ประเภท คือ

๑. วธกาภริยา ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต ได้แก่ ภรรยาผู้มีจิตประทุษร้าย ปรารถนาความเสื่อมเสียหายแก่สามี ดูหมิ่นและคิดหาทางทำลายสามี

๒. โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจร ได้แก่ภรรยาผู้ล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่สามีหามาได้

๓. อัยยาภริยา ภรรยาเยี่ยงนาย ได้แก่ภรรยาผู้ไม่ใส่ใจการงาน เกียจคร้าน รับประทานมาก ปากร้าย หยาบคาย ใจเหี้ยม ข่มสามี

๔. มาตาภริยา ภรรยาเยี่ยงมารดา ได้แก่ภรรยาผู้หวังดีทุกเวลา คอยห่วงใยรักษาสามีเหมือนมารดาปกป้องบุตร และประหยัดรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้

๕. ภคินีภริยา ภรรยาเยี่ยงน้องสาว ได้แก่ภรรยาผู้เคารพสามีดังน้องกับพี่ มีใจอ่อนโยน คล้อยตามสามี

๖. สขีภริยา ภรรยาเยี่ยงสหาย ได้แก่ภรรยาที่พบสามีเมื่อใดก็ปลาบปลื้ม ดีใจเหมือนเพื่อนพบเพื่อนผู้จากไปนาน เป็นคนมีตระกูล (ได้รับการศึกษาอบรม) มีความประพฤติดี รู้จักปฏิบัติสามี

๗. ทาสีภริยา ภรรยาเยี่ยงทาส ได้แก่ภรรยาที่ยอมอยู่ในอำนาจสามี ถูกขู่ตะคอกเฆี่ยนตี ก็อดทนได้ไม่โกรธตอบ

คนดีมาครองคู่ คือเอาคุณค่าของชีวิตมา
เสริมกัน และทวีกำลังในการสร้างสรรค์

พรรณนาความตามที่แสดงมาทั้งหมดนี้ ควรถือเอาสาระสำคัญที่เป็นใจความอย่างหนึ่งว่า หลักธรรมสำหรับการครองเรือน ที่สอนให้คู่ครองมีความสมกันทั้งหลายก็ดี ให้รู้จักปฏิบัติหน้าที่ถนอมรักษาน้ำใจกันด้วยประการต่างๆ ก็ดี รวมทั้งหมดนี้ ล้วนมีความมุ่งหมายเพื่อให้การครองเรือนของคู่สามีภรรยา เป็นไปในทางที่ส่งเสริมคุณค่าแห่งชีวิตของกันและกัน และเป็นเครื่องอุปถัมภ์ส่งเสริมเพิ่มพูนกำลังแก่กัน เช่น เมื่อมีคุณธรรมความดีอยู่แล้ว ก็จักได้บำเพ็ญคุณธรรมความดีเหล่านั้นให้เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อกระทำประโยชน์ตนอยู่ก็จักได้กระทำประโยชน์นั้นให้เข้มแข็งหนักแน่นยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นอยู่ ก็จักได้มีกำลังช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์นั้นให้กว้างขวางได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป เป็นการสร้างเสริมความสุขความเจริญก้าวหน้าทั้งแก่ชีวิตตนเอง ชีวิตคู่ครอง และชีวิตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดถึงสังคมส่วนรวม ทำตนให้เป็นผู้ควรได้ชื่อว่าเป็น สัตบุรุษ หรือ สัปปุรุษ ซึ่งเป็นบุคคลที่ดีมีค่า ตามความหมายของพระพุทธศาสนา ดังพุทธพจน์แสดงปฏิปทาของสัตบุรุษว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก แก่บิดามารดา แก่บุตรภรรยา แก่คนรับใช้และกรรมกร แก่มิตรและผู้ร่วมงาน แก่บรรพชน แก่รัฐ แก่ทวยเทพ และแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาเมฆที่ตกลงมายังข้าวกล้าให้เจริญงอกงามทั่วกัน ก่อให้เกิดประโยชน์ ความเกื้อกูล และความสุข แก่ชนเป็นอันมาก ฉะนั้น”

ประโยชน์สุขอันกว้างขวางซึ่งเกิดมีเพราะสัตบุรุษเช่นนี้ ย่อมต้องเริ่มต้นจากวงแคบออกไปก่อนตามลำดับ คือเริ่มจากครอบครัว และเริ่มจากการประพฤติปฏิบัติต่อกันระหว่างคู่ครองทั้งสองแต่ละฝ่าย เมื่อคู่ครองต่างฝ่ายมีคุณธรรมและรู้จักปฏิบัติหน้าที่ของตน เป็นกำลังส่งเสริมแก่กัน ทำชีวิตครอบครัวให้มีความสุขความเจริญแล้ว ก็จะแผ่ขยายประโยชน์สุขนั้นออกไปให้กว้างขวางได้สำเร็จสมความปรารถนา

ดังนั้น ชีวิตครองเรือนที่มุ่งหมายในพระศาสนา จึงได้แก่ชีวิตที่คู่วิวาห์มาร่วมอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน เพิ่มพูนคุณค่าแห่งชีวิตทั้งสอง ทวีกำลังในการบำเพ็ญประโยชน์สุขให้ภิญโญแผ่ไพศาล คู่สมรสใดดำเนินชีวิตครอบครัวของตนให้มีคุณลักษณะสมดังที่ได้พรรณนามา ก็จักได้ชื่อว่าเป็นคู่ครองที่ควรยกย่องสรรเสริญ ควรนับว่าเป็นชีวิตครองเรือนที่ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยนัยดังได้วิสัชนามา

บัดนี้ บิดามารดา ญาติมิตร และท่านที่เคารพนับถือของคู่วิวาห์ ได้มาประชุมพร้อมเพื่ออำนวยพรแก่คู่สมรสทั้งสอง และคู่บ่าวสาวได้ร่วมกันบำเพ็ญทานมัยบุญกิริยาวัตถุแก่พระภิกษุสงฆ์แล้ว ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย อำนาจบุญกุศลที่ทั้งสองได้บำเพ็ญ และอำนาจแห่งกุศลจิตของญาติมิตรที่มาประชุมทั้งปวง จงเป็นพลวปัจจัยอำนวยพรแก่คู่บ่าวสาวทั้งสอง ให้ประสบจตุรพิธพร คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกประการ จงเจริญด้วยอิฏฐารมณ์สมตามคำบาลีอนุโมทนาของพระภิกษุสงฆ์ว่า เต อตฺถลทฺธา ท่านทั้งสองจงได้รับประโยชน์สมหมาย สุขิตา จงเป็นผู้มีความสุข วิรุฬฺหา พุทฺธสาสเน จงเป็นผู้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา อโรคา จงเป็นผู้ไม่มีโรคเบียดเบียน สุขิตา โหถ สห สพฺเพหิ ญาติภิ ขอจงประสบความสุขพรั่งพร้อมด้วยหมู่ญาติทั้งปวงโดยทั่วกัน

รับประทานวิสัชนาพระธรรมเทศนาใน สมชีวีกถา พรรณนาคุณธรรมสำหรับคู่สมรส พอสมควรแก่เวลา ยุติลงแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีฯ

โอวาทวันมงคลสมรส

(แสดงเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๖)

วันนี้เป็นวันมงคลของคุณโสภณ และคุณวิมลวรรณ คุณพ่อคุณแม่ ท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และท่านผู้ปรารถนาดีทั้งหลายได้พร้อมใจกันจัดพิธีนี้ขึ้น ทั้งนี้ก็โดยหวังให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวทั้งสอง

เริ่มต้นดี มงคลก็เกิดขึ้นทันที

ประการแรกก็ได้ให้ท่านทั้งสองมาอยู่ใกล้ชิดพระรัตนตรัย ซึ่งในพิธีนี้ ได้มีพระพุทธรูปเป็นตัวแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า กล่าวคือพระธรรม และองค์พระภิกษุซึ่งมาเจริญพระพุทธมนต์ในที่นี้ ก็เป็นตัวแทนของพระสงฆ์ นับว่ามีตัวแทนพระรัตนตรัยมาพร้อมมูลในที่นี้

พระรัตนตรัยนั้นเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชน แม้ในพิธีอันสำคัญนี้เราก็มาอยู่กันในที่พร้อมหน้าของพระรัตนตรัย เพื่อเป็นเครื่องบำรุงน้ำใจให้มีจิตใจผ่องใส เป็นการยกระดับจิตใจไว้ในที่สูง จึงให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเป็นนิมิตที่ดี คือให้เป็นการเริ่มต้นที่ดีงาม ในเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นการให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์ในชีวิตของบุคคลทั้งสอง แต่ที่เป็นพื้นฐานสำคัญก็คือ ความรัก ความปรารถนาดี ความมีเมตตาธรรมของท่านผู้ใหญ่ และญาติมิตรทั้งหลายนั้น ซึ่งช่วยบันดาลให้จัดพิธีนี้ขึ้น และมาร่วมในพิธีนี้เพื่ออวยชัยให้พร

ประการสำคัญในอันดับต่อไปที่จะให้เกิดความเป็นสิริมงคลพร้อมกันก็คือ ทางฝ่ายของคู่บ่าวสาวนั้นเองที่จะเปิดใจรับเอาความเป็นสิริมงคลและความปรารถนาดีของท่านผู้ใหญ่ที่นับถือ

ถ้าหากได้พร้อมกันทุกฝ่ายอย่างนี้ คือ มีพระรัตนตรัยเป็นประธาน มีความรักความปรารถนาดีและเมตตาธรรมของผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานนี้ และมีความพร้อมใจ ความเปิดใจรับ ความผ่องใสในกายและใจของคู่บ่าวสาวแล้ว ก็จะเป็นสิริมงคลโดยสมบูรณ์ เพราะความเป็นสิริมงคลนี้ต้องเริ่มต้นที่จิตใจก่อน จิตใจที่เบิกบานผ่องใสนั่นเองจะแสดงออกมาในชีวิตและกิจการงาน ในเมื่อโอกาสนี้เป็นโอกาสของความเป็นสิริมงคล อาตมาก็จะขอกล่าวเรื่องมงคลสักเล็กน้อย เพื่อเสริมความเป็นมงคลนี้ให้ยิ่งขึ้นไป

มงคลแท้ไม่จบแค่พิธี

ถ้ากล่าวตามหลักพระศาสนาแล้วพูดได้ว่า มงคลนั้นจัดเป็น ๒ อย่าง อย่างแรกเรียกว่า พิธีมงคล หรือ มงคลพิธี ได้แก่ การจัดเตรียมพิธีการต่างๆ ดังที่ปรากฏขึ้นที่นี้เรียกว่า พิธีมงคล ส่วนอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ธรรมมงคล มงคลคือธรรม หรือ ตัวธรรมนั่นเองทำให้เกิดสิริมงคล

อย่างแรกคือ พิธีมงคล มีความหมายว่า ในเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จัดเป็นพิธีขึ้น นอกจากจะให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์นั้นแล้ว ก็เป็นโอกาสให้คนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดทั้งหลายจะได้มาร่วมกัน พร้อมกัน มีความสามัคคีในพิธีนั้น และจะได้อวยชัยให้พรตลอดจนมีความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ อีกทั้งจะได้เป็นที่ระลึกในกาลสืบไปภายหน้า เมื่อวันเวลาได้ล่วงไปแล้ว วันหลังย้อนมาหวนรำลึกถึงจะได้เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีงาม ทั้งในด้านที่เป็นความคิดและด้านที่เป็นความสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจของบุคคล ดังนั้น มงคลพิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง

แต่ว่ามงคลพิธีอย่างเดียวยังไม่พอ ความเป็นสิริมงคลจะพร้อมสมบูรณ์ต่อเมื่อมีมงคลที่สองด้วย คือ ธรรมมงคล มงคลคือธรรมะ ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือความจริงความถูกต้องดีงาม ความดีงามที่มีในบัดนี้อย่างที่กล่าวแล้วก็คือ ความมีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล และนึกถึงสิ่งที่ดีงาม ทำจิตใจของเราให้ผ่องใส พร้อมทั้งความมีเมตตาธรรมของท่านที่มาร่วมพิธี ดังนั้น ในเวลาใดความดีงามมีอยู่พร้อมในจิตใจของแต่ละคนแล้ว ก็เกิดเป็นธรรมมงคลขึ้น เสริมให้มงคลพิธีเป็นพิธีที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง

เป็นมงคลตลอดชีวิต เมื่อครองเรือน
ด้วยหลักธรรม ๔

อย่างไรก็ตาม ควรจะได้กล่าวถึงธรรมที่เหมาะเฉพาะในโอกาสแห่งพิธีนั้นๆ ไว้ด้วย เพราะธรรมคือคุณธรรมความดีงามเหล่านี้ เป็นธรรมมงคลคู่ชีวิต ที่มีไว้สำหรับประพฤติปฏิบัติกันตลอดเรื่อยไป และทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลระยะยาวตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น อาตมาจึงจะได้กล่าวถึงธรรมะที่เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าบางประการ ซึ่งจะนำให้เกิดคุณงามความดีนั้นๆ ให้เหมาะสมกับโอกาสนี้ จะขอแสดงเป็นหมวดหมู่

ธรรมะหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เหมาะกับโอกาสพิธีนี้ คือ ฆราวาสธรรม ๔ ประการ ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับการครองเรือน มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือ หนึ่ง สัจจะ แปลว่า ความจริง สอง ทมะ แปลว่า การฝึกฝนปรับปรุงตน สาม ขันติ ความอดทน สี่ จาคะ ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจ จะขอกล่าวถึงธรรม ๔ ประการนี้โดยสังเขป

 

สัจจะ

ประการที่ ๑ สัจจะ ความจริง อาจแบ่งแยกได้ ๓ ด้าน ความจริงขั้นที่หนึ่ง คือ ความจริงใจ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด คนที่จะมาเกี่ยวข้องกันต้องมีรากฐานจากความจริงใจเป็นสำคัญที่สุด และเป็นรากฐานที่มั่นคงของความสัมพันธ์ที่ดีงาม ความจริงใจแสดงออกเป็นความซื่อสัตย์ต่อกัน จากนั้นก็ จริงวาจา คือพูดจริง ขั้นที่ ๓ จริงการกระทำ คือการทำจริงตามที่ใจคิดไว้ ตามที่วาจาพูดไว้ ตลอดจนกระทั่งว่าการดำเนินชีวิต ประกอบกิจกรรมต่างๆ ก็ตั้งใจทำจริงดังที่ตั้งความมุ่งมาดปรารถนาไว้ แต่ทั้งหมดนี้ก็มีความจริงใจนั่นเองเป็นรากฐาน ความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ความสัมพันธ์มั่นคงยั่งยืน

 

ทมะ

ประการที่ ๒ ทมะ แปลว่า ความฝึกฝนปรับปรุงตน ทมะนี้เป็นข้อสำคัญในการที่จะให้เกิดความเจริญก้าวหน้า

ประการแรกที่สุดที่จะเห็นได้ง่ายในความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันก็คือ บุคคลที่มาอยู่ร่วมสัมพันธ์กันนั้น ย่อมมีพื้นเพต่างๆ กัน มีอุปนิสัยใจคอและสั่งสมประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้วก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเข้าหากัน

ในเมื่อมีพื้นเพต่างกันสั่งสมมาคนละอย่าง ก็อาจมีการแสดงออกที่ขัดแย้งกัน หรือไม่สอดคล้องกันได้บ้าง การที่จะทำให้เกิดความราบรื่นเป็นไปด้วยดี ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเข้าหากัน รู้จักที่จะข่มใจไว้ แล้วรู้จักที่จะสังเกต ใช้สติปัญญาพิจารณาสิ่งที่ผิดแปลกไปจากความคิดนึกตามความหวังความปรารถนาของตน เมื่อไม่วู่วาม ข่มใจไว้ก่อนและใช้สติปัญญาพิจารณา ก็หาทางที่จะปรับตัวเข้าหากันด้วยดีด้วยวิธีที่เป็นความสงบ และเป็นทางที่จะรักษาน้ำใจกันไว้ได้ มีความปรองดองสามัคคี อันนี้ก็เป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง

นอกจากนั้น ในการอยู่ร่วมกับบุคคลภายนอกหรือในกิจการงานและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย เราก็ต้องรู้จักปรับตัวเข้ากับบุคคล การงาน และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น และรู้จักปรับปรุงฝึกฝนตัวให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการขวนขวายหาความรู้ให้เท่าทันสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ เป็นต้น ชีวิตจึงจะเจริญก้าวหน้าได้

ทมะนี้ต้องมีปัญญาเป็นแกนนำสำคัญ เพราะต้องรู้จักคิดพิจารณา และมีความรู้ความเข้าใจ จึงจะปรับตัวและฝึกฝนปรับปรุงตนได้

 

ขันติ

ประการที่ ๓ คือ ขันติ ความอดทน ความอดทนเป็นเรื่องของพลัง ความเข้มแข็ง ความทนทาน

คนเมื่ออยู่ร่วมกัน ท่านว่าเหมือนลิ้นกับฟัน ย่อมจะมีโอกาสที่กระทบกระทั่งกัน จึงต้องมีความหนักแน่น ความเข้มแข็งในใจที่จะอดทนไว้ก่อน เรียกว่า อดทนต่อสิ่งกระทบใจ นอกจากนั้น ก็อดทนต่อความเจ็บปวดเมื่อยล้าทางกาย และอดทนต่อความลำบากตรากตรำ ในการทำการงาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคลุล่วงไปได้

ถ้าหากว่าบุคคลสองคนหรือหลายคนมาอยู่ร่วมกันแล้ว เอาความเข้มแข็งที่มีอยู่ของแต่ละคนมารวมกันเข้า ก็จะเพิ่มกำลังความเข้มแข็งให้มากขึ้น จะสามารถร่วมฝ่าฟันอุปสรรคและเพียรสร้างสรรค์รุดหน้าไปสู่ความสำเร็จ อันนี้เป็นเรื่องของขันติ ความอดทน ที่จะช่วยเสริมให้มีความก้าวหน้า เจริญมั่นคง และพรั่งพร้อมด้วยความสำเร็จ

 

จาคะ

ประการที่ ๔ จาคะ แปลว่า ความเสียสละ เริ่มแต่ความมีน้ำใจ คือความพร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมกันก็จะต้องมีความเสียสละต่อกัน เช่น เวลาฝ่ายหนึ่งไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเสียสละความสุขของตนเองเพื่อช่วยรักษาพยาบาล อย่างน้อยก็มีน้ำใจที่จะระลึกถึง เมื่อจะทำอะไรก็ตามก็คำนึงถึงความสุขของอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อฝ่ายหนึ่งคำนึงถึงความสุขความเจริญงอกงามของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างนี้ก็เรียกว่ามีจาคะ

จาคะนี้พึงเผื่อแผ่ไปยังญาติมิตร บิดามารดา หรือผู้อยู่ใกล้ชิด ตลอดจนกระทั่งถึงเพื่อนมนุษย์โดยทั่วไป ถ้าหากว่ามีกำลังพอ ก็ใช้ก็สละทรัพย์สินสิ่งที่ตนมีอยู่นี้ในการอนุเคราะห์สงเคราะห์ผู้อื่น

จาคะนี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกัน และของคนทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่ไว้ได้

นี่คือหลักธรรม ๔ ประการ ซึ่งมีความสำคัญในการครองเรือน โดยสรุป ก็คือ สัจจะ ความจริง เป็นรากฐานให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน ประการที่ ๒ ทมะ การฝึกฝนปรับปรุงตน เป็นเครื่องนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและการงาน ประการที่ ๓ ขันติ ความอดทน เป็นเครื่องช่วยให้ความเจริญก้าวหน้านั้นเป็นไปได้สำเร็จ เพราะมีความเข้มแข็งมีพลังที่จะช่วยเสริม และประการที่ ๔ จาคะ ความเสียสละ มีน้ำใจ เป็นเครื่องบำรุงหล่อเลี้ยงมนุษย์ช่วยให้เกิดความชุ่มฉ่ำสดชื่น

บำรุงต้นไม้แห่งชีวิตสมรสให้แข็งแรงงอกงาม

ธรรมะ ๔ ประการนี้เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นในชีวิต เหมือนกับต้นไม้จะเจริญงอกงามต้องมีรากฐานที่มั่นคง คือสัจจะ มีความเจริญเติบโตคือทมะ มีความแข็งแรงของกิ่งก้านสาขา ตลอดจนลำต้น นั่นคือขันติ ซึ่งจะทนต่อดินฟ้าอากาศ ทนต่อสัตว์ทั้งหลายที่จะมาเบียดเบียน และมีเครื่องบำรุงหล่อเลี้ยงเช่นน้ำและอากาศ เป็นต้น ซึ่งช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นสดชื่น กล่าวคือ จาคะ ความมีน้ำใจ

เมื่อต้นไม้นั้นมีทุนในตัว เช่นมีน้ำมีอาหารหล่อเลี้ยงดี มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไป ต้นไม้นั้นเองก็กลับให้ความร่มเย็นแก่พื้นดิน และแก่พืชสัตว์ที่มาอาศัยร่มเงา ตลอดจนช่วยรักษาน้ำในพื้นดินนี้ไว้ด้วย เช่นเดียวกับคนเรานั้นเมื่อได้สร้างเนื้อสร้างตัวโดยกำลังและเครื่องหล่อเลี้ยงขึ้นแล้ว ก็ไม่ได้มีกำลังแต่เพียงตัวเองเท่านั้น แต่กลับเอากำลังและสิ่งบำรุงเลี้ยงนั้นออกมาช่วยเหลือส่งเสริมผู้อื่น และสิ่งนี้ก็กลับมาเป็นผลดีแก่ตัวเอง ด้วยอำนาจของจาคะนั้น

ธรรมะ ๔ ประการนี้แหละจะเป็นเครื่องทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ สำหรับคฤหัสถ์ คือผู้ครองเรือนทั่วไปให้ดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ๔ ประการนี้ จึงเรียกว่า ฆราวาสธรรม เมื่อดำเนินชีวิตได้ดังนี้ก็นับว่าได้ประสบสิริมงคลอย่างแท้จริง ธรรมะดังกล่าวมานี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นธรรมมงคล เพราะเป็นหลักความดีงามที่จะทำให้เกิดความสุขความเจริญก้าวหน้า

ในโอกาสนี้ ญาติมิตร ท่านผู้ใหญ่ มีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้น ตลอดจนท่านผู้หวังดีที่เคารพนับถือทั้งหลาย ได้มาประชุมพร้อมกันในที่นี้ ต่างก็ตั้งใจมาเป็นอันเดียวกันคือ มาให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์ในชีวิตของบุคคลทั้งสอง ตั้งใจมาอวยชัยให้พรเพื่อความสุขความเจริญแก่ทั้งสอง ฉะนั้น ก็ขอจงได้ทำจิตใจของตนให้เบิกบานแจ่มใส เปิดใจออกรับความรักความปรารถนาดีเหล่านี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งในบัดนี้ และตั้งใจที่จะนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดเป็นธรรมมงคลในระยะยาวอันยั่งยืนต่อไป

ในโอกาสนี้ พระสงฆ์จะได้เจริญชัยมงคลคาถา และบัดนี้ทุกคนก็อยู่ในที่พร้อมหน้าพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอวยชัยให้พร คุณโสภณ และคุณวิมลวรรณ จงประสบจตุรพิธพรชัย พรั่งพร้อมด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณ ธนสารสมบัติทุกประการ จงมีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตและในการประกอบกิจการงาน ได้สำเร็จสัมฤทธิผลในสิ่งอันพึงปรารถนาโดยชอบธรรม และดลให้เกิดความเป็นสิริมงคลในทางธรรม อันเป็นมงคลที่ตั้งอยู่ในตนเอง และอำนวยผลแก่ญาติมิตรตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไป ตลอดกาลนาน เทอญ

ภาคผนวก

(หลักธรรมจาก “ธรรมนูญชีวิต”)

คู่ครองที่ดี

คู่ครองที่ดี ที่จะเป็นคู่ร่วมชีวิตกันได้ นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติ และประพฤติตามข้อปฏิบัติ ดังนี้

ก. คู่สร้างคู่สม มีหลักธรรมของคู่ชีวิต ที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม ๔ ประการ คือ

๑. สมสัทธา มีศรัทธาสมกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชาและหลักการต่างๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกัน หรือปรับเข้าหากัน ลงกันได้

๒. สมสีลา มีศีลสมกัน มีความประพฤติ ศีลธรรม จรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรมพอเหมาะสอดคล้อง ไปกันได้

๓. สมจาคา มีจาคะสมกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารี มีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น พอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน

๔. สมปัญญา มีปัญญาสมกัน รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง

(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๕๕/๘๐)

ข. คู่ชื่นชมคู่ระกำ หรือ คู่บุญคู่กรรม เป็นคู่ครองที่มีคุณธรรมลักษณะนิสัยความประพฤติปฏิบัติ การแสดงออกต่อกันที่เกื้อกูลกัน ถูกกัน ทนกันได้ ในกรณีนี้ ท่านแสดงภรรยาประเภทต่างๆ ไว้ ๗ ประเภท คือ

๑. วธกาภริยา ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต คือ ภรรยาที่มิได้อยู่กินด้วยความพอใจ ดูหมิ่น และคิดทำลายสามี

๒. โจรีภริยา ภรรยาเยี่ยงโจร คือ ภรรยาชนิดที่ล้างผลาญทรัพย์ สมบัติ

๓. อัยยาภริยา ภรรยาเยี่ยงนาย คือ ภรรยาที่เกียจคร้านไม่ใส่ใจในการงาน ปากร้าย หยาบคาย ชอบข่มสามี

๔. มาตาภริยา ภรรยาเยี่ยงมารดา คือ ภรรยาที่หวังดีเสมอ คอยห่วงใย เอาใจใส่สามี หาทรัพย์มาได้ก็เอาใจใส่คอยประหยัดรักษา

๕. ภคินีภริยา ภรรยาเยี่ยงน้องสาว คือ ภรรยาผู้เคารพรักสามี ดังน้องรักพี่ มีใจอ่อนโยน รู้จักเกรงใจ มักคล้อยตามสามี

๖. สขีภริยา ภรรยาเยี่ยงสหาย คือ ภรรยาที่เป็นเหมือนเพื่อน มีจิตภักดี เวลาพบสามีก็ร่าเริงดีใจ เป็นผู้มีกิริยามารยาท ประพฤติตัวดี

๗. ทาสีภริยา ภรรยาเยี่ยงนางทาสี คือ ภรรยาที่ยอมอยู่ใต้อำนาจสามี ถูกสามีตะคอกตบตี ก็อดทน ไม่แสดงความโกรธตอบ

(องฺ.สตฺตก. ๒๓/๖๐/๙๒)

ท่านสอนให้ภรรยาสำรวจตนว่า ที่เป็นอยู่ ตนเป็นภรรยาประเภทไหน ถ้าจะให้ดีควรเป็นภรรยาประเภทใด สำหรับชายอาจใช้เป็นหลักสำรวจอุปนิสัยของตนว่าควรแก่หญิงประเภทใดเป็นคู่ครอง และสำรวจหญิงที่จะเป็นคู่ครองว่าเหมาะกับอุปนิสัยของตนหรือไม่

แม้สามีก็ย่อมมีหลายประเภท พึงเทียบเอาจากภรรยาประเภทต่างๆ เหล่านั้น

ค. คู่ศีลธรรมคู่ความดี เอาหลักธรรมสำหรับการครองเรือน คือ ฆราวาสธรรม ๔ ประการ มาใช้ต่อกันในบ้านด้วย ดังนี้

๑. สัจจะ ความจริง คือ ซื่อสัตย์ต่อกัน ทั้งจริงใจ จริงวาจา และจริงในการกระทำ

๒. ทมะ ฝึกตน คือ รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ข้อขัดแย้ง ปรับตัวปรับใจเข้าหากัน

๓. ขันติ อดทน คือ มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น ไม่วู่วาม ทนต่อความล่วงล้ำก้ำเกินกัน และร่วมกันอดทนต่อความเหนื่อยยากลำบากตรากตรำ ฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน

๔. จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ สามารถเสียสละความสุขสำราญความพอใจส่วนตนเพื่อคู่ครองได้ เช่น อดหลับอดนอนพยาบาลกันในยามเจ็บไข้ เป็นต้น ตลอดจนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติมิตรสหายของคู่ครอง ไม่ใจแคบ

(สํ.ส. ๑๕/๘๔๕/๓๑๖)

ง. คู่ถูกหน้าที่ต่อกัน สงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน ตามหลักปฏิบัติในทิศ ๖ ข้อที่ว่าด้วยทิศเบื้องหลัง คือ

สามีปฏิบัติต่อภรรยา โดย

๑. ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา

๒. ไม่ดูหมิ่น

๓. ไม่นอกใจ

๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน

๕. หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

ภรรยาอนุเคราะห์สามี โดย

๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย

๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี

๓. ไม่นอกใจ

๔. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้

๕. ขยัน ช่างจัดช่างทำ เอางานทุกอย่าง

(ที.ปา. ๑๑/๒๐๑/๒๐๔)

จ. พ่อบ้านเห็นใจภรรยา สตรีมีความทุกข์จำเพาะตัวอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากผู้ชาย ซึ่งสามีพึงเข้าใจ และพึงปฏิบัติด้วยความเอาใจใส่ เห็นอกเห็นใจ คือ

๑. ผู้หญิงต้องจากหมู่ญาติมาอยู่กับตระกูลของสามีทั้งที่ยังเป็นเด็กสาว สามีควรให้ความอบอุ่นใจ

๒. ผู้หญิงมีระดู ซึ่งบางคราวก่อปัญหาให้เกิดความแปรปรวนทั้งใจกาย ฝ่ายชายควรเข้าใจ

๓. ผู้หญิงมีครรภ์ ซึ่งยามนั้นต้องการความเอาใจใส่ บำรุงกายใจเป็นพิเศษ

๔. ผู้หญิงคลอดบุตร ซึ่งเป็นคราวเจ็บปวดทุกข์แสนสาหัส และเสี่ยงชีวิตมาก สามีควรใส่ใจเหมือนเป็นทุกข์ของตน

๕. ผู้หญิงต้องคอยปรนเปรอเอาใจฝ่ายชาย ฝ่ายชายไม่ควรเอาแต่ใจตัว พึงซาบซึ้งในความเอื้อเฟื้อและมีน้ำใจตอบแทน

(นัย สํ.สฬ. ๑๘/๔๖๒/๒๙๗)

คนครองเรือนที่เลิศล้ำ

(ชีวิตบ้านที่สมบูรณ์)

คนที่จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในการครองเรือน เป็นคฤหัสถ์หรือชาวบ้านที่ดี น่าเคารพนับถือเป็นแบบฉบับ ควรถือเป็นตัวอย่าง จะต้องวัดด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

ก. มีความสุขสี่ประการ คือ ความสุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี หรือความสุขที่ชาวบ้านควรพยายามให้เกิดขึ้นแก่ตนอยู่เสมอ เรียกสั้นๆ ว่า สุขของคฤหัสถ์ ๔ คือ

๑. อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มและอุ่นใจว่า ตนมีโภคทรัพย์ ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยทางชอบธรรม

๒. โภคสุข สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้นเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง และบำเพ็ญคุณประโยชน์

๓. อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร

๔. อนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุขมีค่ามากที่สุด

(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖๒/๙๑)

ข. เป็นชาวบ้านแบบฉบับ คนครองเรือน แยกได้เป็นหลายประเภท จัดเป็นขั้นๆ ได้ตั้งแต่ร้ายไปถึงดี และที่ดีก็มีหลายระดับ คฤหัสถ์ที่ดี น่าเคารพนับถือแท้จริง คือประเภทที่ ๑๐ ในชาวบ้าน ๑๐ ประเภทต่อไปนี้

กลุ่มที่ ๑ หาทรัพย์โดยทางไม่ชอบธรรม

๑. ได้ทรัพย์มาแล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้น ทำความดี (เสียทั้ง ๓ ส่วน)

๒. ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย ๒ ส่วน ดี ๑ ส่วน)

๓. ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุขด้วย เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดีด้วย (เสีย ๑ ดี ๒ ส่วน)

กลุ่มที่ ๒ หาชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง

๔. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๑ (เสีย ๓ ดี ๑)

๕. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๒ (เสีย ๒ ดี ๒)

๖. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๓ (เสีย ๑ ดี ๓)

กลุ่มที่ ๓ หาโดยชอบธรรม

๗. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๑ (เสีย ๒ ดี ๑)

๘. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๒ (เสีย ๑ ดี ๒)

๙. ได้ทรัพย์มาแล้ว ทำอย่างข้อ ๓ แต่ยังติด ยังมัวเมา หมกมุ่น กินใช้ทรัพย์สมบัติ โดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะทำตนให้เป็นอิสระเป็นนายเหนือโภคทรัพย์ได้ (เสีย ๑ ดี ๓)

พวกพิเศษ ผู้ที่แสวงหาชอบธรรม และใช้อย่างมีสติสัมปชัญญะ มีจิตใจเป็นอิสระ มีลักษณะดังนี้

๑๐. แสวงหาทรัพย์โดยทางชอบธรรม; ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้เป็นสุข; เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี; ไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์สมบัติ โดยรู้เท่าทัน เห็นคุณโทษ ทางดีทางเสียของมัน มีปัญญา ทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์

ประเภทที่ ๑๐ นี้ พระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นผู้เลิศประเสริฐสูงสุด ควรชมทั้ง ๔ สถาน คือ เป็นคฤหัสถ์แบบฉบับที่น่าเคารพนับถือ

(องฺ.ทสก. ๒๔/๙๑/๑๘๘)

ค. กำกับชีวิตด้วยธรรมสี่ คือ ปฏิบัติตามหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตของคฤหัสถ์ ที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม ๔ ประการ ดังนี้

๑. สัจจะ ความจริง คือ ดำรงมั่นในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง จะทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้

๒. ทมะ ฝึกตน คือ บังคับควบคุมตนเองได้ รู้จักปรับตัว และแก้ไขปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าดีงามยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

๓. ขันติ อดทน คือ มุ่งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมายไม่ท้อถอย

๔. จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์ สละโลภละทิฏฐิมานะได้ ร่วมงานกับคนอื่นได้ ไม่ใจแคบเห็นแก่ตัวหรือเอาแต่ใจตน

(ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๑/๓๖๑)

ง. รับผิดชอบชีวิตที่เกี่ยวข้อง คือ มีความสัมพันธ์อันดีงามอบอุ่นเป็นสุขภายในครอบครัว ตลอดถึงในหมู่ญาติมิตร ผู้ร่วมงานและคนที่พึ่งพาอาศัยอยู่ในปกครองทั้งหมด โดยทำหน้าที่ มิใช่เพียงนำประโยชน์ทางวัตถุมาให้เขาอย่างเดียว แต่นำประโยชน์สุขทางจิตใจมาให้ด้วย โดยประพฤติตนเป็นตัวอย่าง ช่วยชักจูงให้คนในครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้นด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า อารยวัฒิ ทั้ง ๕ ดังต่อไปนี้

๑. งอกงามด้วยศรัทธา คือให้มีความเชื่อความมั่นใจในพระรัตนตรัย และในการที่จะทำความดี มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ

๒. งอกงามด้วยศีล คือ ให้มีความประพฤติดีงาม สุจริต รู้จักเลี้ยงชีวิต มีวินัย และมีกิริยามารยาทอันงาม

๓. งอกงามด้วยสุตะ คือ ให้มีความรู้จากการเล่าเรียน สดับฟัง โดยแนะนำหรือขวนขวายให้ศึกษาหาความรู้ที่จะฟื้นฟูปรับปรุงชีวิตจิตใจ

๔. งอกงามด้วยจาคะ คือ ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อกัน และพอใจทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

๕. งอกงามด้วยปัญญา คือ ให้มีความรู้คิด เข้าใจเหตุผลและความจริงตามสภาวะ มีวิจารณญาณ

(องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๔๐/๔๗)

จ. ครองตนเป็นพลเมืองที่ดี นำชีวิตและครอบครัวของตนไปสู่ความเจริญ สงบสุข และเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์สังคม โดยประพฤติดังนี้

๑. น สาธารณทารัสสะ ไม่คบชู้สู่หามัวหมกมุ่นในทางเพศ

๒. น ภุญเช สาธุเมกะโก ไม่ใจแคบเสพสิ่งเลิศรสผู้เดียว

๓. น เสเว โลกายติกัง ไม่พร่าเวลาถกถ้อยที่เลื่อนลอยไร้สาระ

๔. สีลวา ประพฤติดี มีวินัย ตั้งอยู่ในศีล ๕

๕. วัตตสัมปันโน ปฏิบัติกิจหน้าที่สม่ำเสมอโดยสมบูรณ์

๖. อัปปมัตโต ไม่ประมาท กระตือรือร้นทุกเวลา

๗. วิจักขโณ มีวิจารณญาณ ทำการโดยใช้ปัญญา

๘. นิวาตวุตติ อัตถัทโธ สุภาพ ไม่ดื้อกระด้าง ยินดีรับฟังผู้อื่น

๙. สุรโต เสงี่ยมงาม รักความประณีตสะอาดเรียบร้อย

๑๐. สขิโล มุทุ พูดจาน่าฟัง ทั้งใจกายก็อ่อนโยน ไม่หยาบคาย

๑๑. สังคเหตา จ มิตตานัง มีน้ำใจเอื้อสงเคราะห์ต่อมิตรสหาย

๑๒. สังวิภาคี เผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือคนทั่วไป

๑๓. วิธานวา รู้จักจัดการงานให้เรียบร้อยและได้ผลดี

๑๔. ตัปเปยยะ บำรุงพระสงฆ์ทรงความรู้ ผู้ทรงศีลทรงธรรม

๑๕. ธัมมกาโม ใคร่ธรรม รักความสุจริต

๑๖. สุตาธโร อ่านมากฟังมาก รู้วิชาของตนเชี่ยวชาญ

๑๗. ปริปุจฉโก ชอบสอบถามค้นคว้า ใฝ่หาความรู้ยิ่งขึ้นไป

(ขุ.ชา. ๒๘/๙๔๙/๓๓๒)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง