สุขนี้มิไกล: ใครปัญญาไวหาได้ทุกสถาน

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

สุขนี้มิไกล
ใครปัญญาไวหาได้ทุกสถาน

เจริญพร ท่านสาธุชนทั้งหลาย ที่ได้มาเยี่ยมเคารพคุณโยมผู้ล่วงลับ และแสดงน้ำใจต่อเจ้าภาพพร้อมทั้งญาติมิตร

วันนี้ เป็นวันที่ ๓ แห่งการบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว

การบำเพ็ญกุศลอย่างนี้ ตามคติทางพระศาสนา ท่านเรียกว่า เป็นการบำเพ็ญทักษิณานุประทาน ซึ่งแปลว่า การเพิ่มให้ทักษิณา หมายความว่า การที่เราทำทักษิณานุประทานนี้ก็มีการบำเพ็ญกุศลต่อเนื่องกันไป บำเพ็ญกุศลครั้งหนึ่งก็ให้ทักษิณาครั้งหนึ่ง เป็นการให้เพิ่มไปเรื่อยๆ จึงเรียกว่า ทักษิณานุประทาน

ทักษิณา คืออะไร ทักษิณานั้น แปลตามหลักวิชาว่า ทานที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ด้วยความเชื่อหรือศรัทธาในกรรมและผลของกรรม อันนี้เป็นความหมายที่ยืดยาว แต่ตามความหมายที่ง่ายๆ ก็คือ เป็นทานที่ถวายแก่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปนั่นเอง

วันนี้เรามาบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ตามประเพณี เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับนี้ จะมีประโยชน์อะไรบ้าง เมื่อตั้งเป็นคำถามขึ้นมาแล้วเราก็ต้องคิดหาเหตุผลมาตอบกัน ซึ่งบางทีก็ไม่ง่ายเท่าไร

 

ทำบุญงานศพทำไม?

เพราะฉะนั้น วันนี้จึงจะพูดถึงเรื่องวัตถุประสงค์หรือเหตุผล ในการที่เรามีพิธีบำเพ็ญทักษิณานุประทาน เมื่อว่าตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองก็พอสรุปได้ว่า การบำเพ็ญทักษิณานุประทานนั้นมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการด้วยกัน

ประการที่ ๑ ข้อนี้ชัดอยู่แล้วและเราก็พูดอยู่เสมอ เป็นความมุ่งหมายเบื้องต้น หรือขั้นพื้นฐานคือ การอุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่านผู้วายชนม์ คือผู้ล่วงลับไปแล้ว

ประการที่ ๒ เป็นการแสดงออกซึ่งญาติธรรม ญาติธรรมคืออะไร ญาติธรรมคือธรรมของญาติหรือหน้าที่ของญาติ ญาติมีหน้าที่ต่อกันคือเคารพนับถือและปฏิบัติต่อกันตามฐานะ เช่น ถ้าเป็นญาติในฐานะบุตรธิดาก็จะต้องแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที อย่างในกรณีนี้บุตรธิดาทั้ง ๙ ท่าน ก็เป็นหลักในการบำเพ็ญกุศลโดยเป็นแกนของคณะเจ้าภาพ ในการแสดงน้ำใจบำเพ็ญหน้าที่ของตนต่อบิดา ต่อบุพการี ด้วยคุณธรรมคือความกตัญญูกตเวที ญาติธรรมในที่นี้มีความหมายคลุมไปถึงหน้าที่ที่มีต่อกันแม้แต่ในฐานะเป็นคนรู้จักคุ้นเคย รวมความว่า ที่เรามาบำเพ็ญกุศลกันนี้ วัตถุประสงค์ประการหนึ่ง ได้แก่การแสดงออกซึ่งญาติธรรม คือธรรมของญาติ หรือหน้าที่ของญาติต่อญาติของตน ข้อนี้ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว

ประการที่ ๓ เป็นการบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว คือยกย่องเทิดทูนความดีของท่าน ประกาศคุณงามความดีของท่านให้ปรากฏ ตามธรรมดาคนที่จะมีผู้มาแสดงออกขวนขวายจัดแจงอะไรต่างๆ บำเพ็ญกุศลให้นั้นจะต้องเคยมีคุณความดี เคยมีอุปการคุณหรือทำประโยชน์อะไรไว้ คนที่อยู่เบื้องหลังเมื่อเห็นว่าท่านผู้นั้นล่วงลับไปแล้วก็จึงต้องมาจัดแจงอะไรต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นการแสดงน้ำใจ การกระทำอย่างนี้เรียกว่า เป็นการบูชาคุณของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการประกาศให้เห็นว่าท่านผู้ล่วงลับเป็นผู้มีคุณความดี อย่างน้อยก็เคยมีอุปการคุณที่ได้กระทำไว้แล้ว และแสดงความยกย่องเชิดชูคุณความดีนั้น อันนี้ก็เป็นความหมายอีกอย่างหนึ่ง

ประการที่ ๔ การบำเพ็ญทักษิณานุประทานนั้น ก็บอกอยู่แล้วว่ามีการถวายทานแด่พระสงฆ์ ข้อนี้ก็คือการถวายกำลังแก่พระภิกษุผู้ทำหน้าที่สืบต่ออายุพระศาสนา หมายความว่า ถวายกำลังให้ท่านสามารถปฏิบัติศาสนกิจ ทำงานพระศาสนา จะเป็นการศึกษาคือเล่าเรียนและประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยก็ตาม การเผยแผ่ธรรมก็ตาม เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้ยั่งยืนยาวนาน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนสืบต่อไป พูดสั้นๆ ว่า เป็นการถวายกำลังแก่พระภิกษุสงฆ์ในการที่จะสืบอายุพระพุทธศาสนา

ประการที่ ๕ เมื่อบำเพ็ญกุศลไปๆ ในที่สุดก็มาถึงศูนย์กลางคือตัวเราแต่ละคนนี่เอง ที่เป็นผู้ทำบุญ ไม่ว่าจะกระทำถวายแก่พระสงฆ์ หรือกระทำให้แก่ผู้ล่วงลับอะไรก็ตาม ที่แท้นั้นก็ต้องไปจากตัวเรา คือตัวเราเป็นผู้กระทำความดีนั้น หรือเป็นผู้บำเพ็ญทักษิณานั้น เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์สุดท้ายก็มาอยู่ที่ตัวเราเอง คือตัวเจ้าภาพและผู้ร่วมในพิธีทั้งหมด เป็นผู้ได้ทำบุญด้วยตนเอง

ทั้งหมดนี้คือวัตถุประสงค์ ๕ ประการ ซึ่งมีความหมายโดยย่อ อย่างที่อาตมาได้กล่าวไว้แล้ว และก็มีความชัดเจนพอสมควร เมื่อพูดขึ้นมาก็แลเห็น เพราะฉะนั้น ถ้าจะตอบอย่างย่อๆ เราก็สามารถตอบได้แล้วว่า เราบำเพ็ญทักษิณานุประทาน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่ออะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัตถุประสงค์ทั้ง ๕ นี้จะชัดเจนอยู่แล้ว แต่มีอยู่ ๒ ข้อ ที่ควรขยายความเป็นพิเศษ เพราะมีแง่ความหมายที่ลึกซึ้ง ซึ่งอาจจะถูกมองข้ามไป ได้แก่ วัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ ที่ว่าบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับ และประการสุดท้ายข้อที่ ๕ ที่ว่าเป็นการกระทำบุญของตัวเจ้าภาพเอง

 

คุณค่าทางสังคมของการทำบุญงานศพ

ข้อที่ ๓ คือ การบูชาคุณของผู้ล่วงลับ เมื่อกี้ก็ได้อธิบายไปบ้างแล้วว่า การที่เรามาประกอบพิธีต่างๆ นี้ เป็นการแสดงน้ำใจต่อท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการประกาศยกย่องคุณงามความดีของท่านให้ปรากฏ

การยกย่องคุณงามความดีของคนในสังคมนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนในครอบครัวก็ต้องยกย่องคุณความดีของกันและกัน ลูกก็ต้องบูชาคุณความดีของพ่อแม่ ทีนี้ขยายออกไป ในสังคมถ้ามีใครก็ตามที่ทำความดี บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม คนในสังคม ที่เป็นสมาชิกของสังคมนั้นทุกคน ก็ควรจะแสดงออก ช่วยกันเชิดชูยกย่องคุณความดีนั้น และยกย่องให้เกียรติแก่คนที่ทำความดี การกระทำอย่างนี้เป็นผลดีแก่สังคมนั้นเอง ในการที่จะดำรงรักษาสังคมนั้นให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น ทำให้สังคมมีกำลังที่จะรักษาสิ่งที่ดีงาม มีความสงบสุข มีความสามัคคี เป็นสังคมซึ่งมีหลักการที่จะยึดเหนี่ยวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทำให้วัฒนธรรมอันดีเกิดขึ้นด้วย

ขอยกตัวอย่าง การที่เรามีพิธีกรรมมาบำเพ็ญกุศลให้คุณพ่อที่ล่วงลับไปแล้วนี้ ลูกๆ ก็มาประชุมกันพร้อมเพรียง เพื่อแสดงน้ำใจบูชาคุณพ่อ ทำให้ลูกๆ ได้มาพบปะกัน มาอยู่พร้อมกัน ช่วยเหลือกัน สามัคคีกัน แสดงน้ำใจต่อกัน ครอบครัวและวงศ์ตระกูลก็ดำรงอยู่ได้ พร้อมกันนั้นลูกหลาน เด็กๆ เล็กๆ รุ่นหลังๆ ที่เป็นอนุชน ได้เห็นผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่ของตัวมาทำพิธีเหล่านี้และได้ร่วมพิธีด้วย ก็จะรู้จักพิธีนั้นและจำไว้เป็นแบบแผน ทำให้เข้ามาอยู่ร่วมในวัฒนธรรมและได้เข้าสู่สังคมอันเดียวกัน นี่คือเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี

การบูชาคุณความดีของผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นกิจกรรมของสังคมทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ส่วนย่อยคือครอบครัว ขยายออกไปจนถึงสังคมประเทศชาติทั้งหมด เราทำกิจกรรมนี้ก็เพื่อให้สังคมมีการถ่ายทอดความดีงาม และดำรงอยู่ด้วยความสามัคคี มีการสืบต่อและเสริมเติมสิ่งที่เรียกว่าเป็นมรดกของสังคมนั้น ตลอดจนทำให้สังคมมีเอกลักษณ์

ในการบูชาคุณความดีของผู้ล่วงลับนี้ เราต้องจัดทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นเรื่องเป็นราว จึงทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีเจริญงอกงามขึ้นมา เป็นแบบแผนของชุมชน หรือสังคมนั้นๆ อันนี้ก็กลายเป็นวัฒนธรรม และวัฒนธรรมนี้ก็จะรักษาหมู่ชนนั้นไว้ให้มีความเรียบร้อยงดงาม และดำรงอยู่ได้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ชาติใด สังคมใด สามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีของตนไว้ได้ด้วยดี ชาตินั้น สังคมนั้นก็มีความมั่นคงยืนนาน ดำรงอยู่ได้สถาพร โดยมีความงดงามและคุณสมบัติประจำตัวที่จะอยู่กับคนอื่นหรือชนหมู่อื่นได้ด้วยความมั่นใจและภาคภูมิใจ

นอกจากนั้น การที่เรายกย่องคุณความดีและนิยมเชิดชูคนดีนี้ ก็เป็นตัวอย่างในทางสังคมที่จะช่วยให้คนทั้งหลายมีค่านิยมในทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราจะต้องช่วยกันเชิดชูคนที่ทำความดีงามไว้ เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ถือเป็นแบบอย่าง

พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญของการยกย่องเชิดชูความดี และบูชาคนมีความดี ไว้เป็นอย่างมาก มีพุทธพจน์ในธรรมบทแห่งหนึ่ง ตรัสไว้เป็นข้อความว่า

มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย
สาเยว ปูชนา เสยฺโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํฯ (๒๕/๑๘)

แปลว่า ถึงแม้จะไปประกอบพิธีเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนด้วยทรัพย์จำนวนครั้งละพัน ติดต่อกันเป็นเวลาถึงหนึ่งร้อยปี ก็สู้มาช่วยกันยกย่องคนที่พัฒนาตัวเองแล้ว ซึ่งมีคุณความดีอย่างแท้จริง สักครั้งเดียวไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญไว้อย่างนี้ นี่คือหลักการที่จะให้สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยดี เมื่อเราช่วยกันยกย่องคนที่มีคุณงามความดี ที่ได้ทำประโยชน์ไว้แก่สังคม ก็จะเป็นหลักของสังคม ที่จะทำให้สังคมนั้นมีความสงบสุขรุ่งเรืองต่อไป

เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ในแง่ของการบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ จึงเป็นวัตถุประสงค์ในทางสังคมที่สำคัญ บางทีเราไม่ได้สังเกตว่า ในการมาบำเพ็ญกุศลกันนี้ เราได้มาช่วยกันสืบทอดวัฒนธรรมไว้ ทำให้อนุชนรุ่นลูก รุ่นหลาน ซึมซาบรับเอาวัฒนธรรมจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และรุ่นพ่อแม่ของตนเองเอาไว้ แล้วเขาก็จะรักษาสืบต่อไป ทำให้สังคมยืนยงต่อไปอีก โดยมีเอกลักษณ์ของตนเอง มีแกนที่จะยึดเหนี่ยวให้สังคมนั้นอยู่ได้ยั่งยืนสืบต่อไป

อันนี้เป็นความหมาย ในแง่ของการบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของการบำเพ็ญกุศลที่เรียกว่า ทักษิณานุประทานนี้ ทีนี้อาตมาจะขอผ่านไป ที่กล่าวมานั้นเป็นวัตถุประสงค์ที่เน้นในแง่สังคม

 

คุณค่าแก่ตัวบุคคล

ทีนี้มาดูข้อสุดท้าย เป็นข้อตรงข้าม ในข้อสุดท้ายนี้ผู้บำเพ็ญกุศลได้ทำบุญให้แก่ตนเอง คือทำความดี แต่ละคนที่มาร่วมพิธี ตั้งแต่เจ้าภาพเป็นต้นไป ต่างคนต่างก็ได้ทำบุญด้วยกันทั้งสิ้น ในแง่นี้ ถ้ามองอย่างง่ายๆ ก็เห็นชัด โดยเฉพาะเจ้าภาพนั้นเห็นกันอยู่จะแจ้ง ว่าได้ทำบุญกันทุกคน ตั้งแต่เริ่มพิธีในวันแรกมาเลย ก็ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม จบแล้วก็มีการถวายสิ่งของ ที่เราเรียกว่าไทยธรรม อันนี้เรียกกันมาตามประเพณีว่าเป็นการทำบุญ ถ้าว่าตามหลักศาสนาเรียกว่าถวายทาน เป็นการทำบุญอย่างที่ ๑

นอกจากได้ถวายทานแล้วเราได้ทำบุญอะไรอีก นอกจากถวายทานแล้วก็ได้รักษาศีล พอเริ่มประกอบพิธี ก็มีการสมาทานศีล คือ เราขอศีล เรียกว่าอาราธนาศีล พระสงฆ์ท่านให้ศีลมาเราก็รับศีลเรียกว่า สมาทานศีล อันนี้เป็นกิจกรรมที่แสดงออกอย่างเป็นทางการว่า จะรักษาศีล แต่ที่จริงนั้น นอกจากสมาทานศีลตามแบบแผนของพิธีกรรมแล้ว ในเวลาที่อยู่ในพิธีกรรมนี่ เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีมาอยู่ในบรรยากาศที่ต้องทำกิจกรรมและรักษาความประพฤติ กาย วาจา ให้ดีงามสุจริต ในระหว่างนี้ทุกคนจึงงดเว้นจากสิ่งไม่ดีไม่งาม และตั้งตนอยู่ในระเบียบวินัย

เราทุกคนมาอยู่ในพิธีนี้ เรามีวัฒนธรรมประเพณี วัฒนธรรมประเพณีนั้นเป็นระเบียบอยู่ในตัว เช่น เวลาเราอยู่ในที่ประชุม เราจะต้องวางตัวให้เหมาะสม ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามวัฒนธรรมนั้น การปฏิบัติเหล่านั้นเป็นเรื่องของวินัย เป็นเรื่องของศีล ทำให้เราทุกคนได้ควบคุมกาย วาจา ของตน ตั้งตนอยู่ในกาย วาจา ที่เรียบร้อยสวยงาม นี่คือการได้รักษาศีล เป็นการทำบุญอย่างที่ ๒ และต่อไป

การทำบุญอย่างที่ ๓ ทางพระเรียกว่า ภาวนา ภาวนา แปลว่า การพัฒนา หมายถึงพัฒนาจิตใจ และปัญญา แยกเป็น ๒ ส่วน

ส่วนแรก คือ การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ เมื่อเราเข้ามาในพิธีนี้ โดยเฉพาะเจ้าภาพที่ใกล้ชิดที่สุดที่เป็นลูกหลาน ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็จะทำจิตใจของตนให้สงบ โดยระลึกถึงคุณความดีของบุพการี ระลึกถึงคุณความดีของคุณพ่อ นึกถึงท่านแล้วทำใจของเราให้สงบ ให้เป็นใจที่นึกอยู่ในเรื่องของความดีงาม การนึกถึงที่ทำจิตใจให้สงบ การที่ทำจิตใจให้ระลึกอยู่ในคุณธรรมความดีงามอย่างนี้ ท่านเรียกว่าจิตตภาวนา คือการเจริญจิตใจหรือทำจิตใจให้เจริญงอกงาม ทุกคนที่มาร่วมพิธีก็เหมือนกัน เมื่อมาแล้วก็ควรสำรวมใจ ทำใจให้สงบ ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ใจผ่องใสด้วยความคิดนึกที่ดีงาม เช่น ความปรารถนาดีต่อผู้ล่วงลับและต่อเจ้าภาพ เมื่อทำอย่างนั้นก็จะทำให้จิตใจเจริญงอกงาม เป็นภาวนา ในส่วนที่ท่านเรียกว่า จิตตภาวนา

อีกส่วนหนึ่ง ก็คือการฝึกอบรมเจริญปัญญา เมื่อมาในพิธีนี้และได้ฟังพระสงฆ์กล่าวธรรมแล้ว เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ท่านอธิบาย และรู้หลักการ รู้วัตถุประสงค์ของการทำพิธีในแง่ต่างๆ เหล่านี้ว่าเราทำพิธีกันไปทำไมเป็นต้น ความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นคือปัญญาเจริญขึ้น อันนี้เรียกว่าเจริญปัญญา แม้ไม่ได้ฟังพระสงฆ์ ถ้าเป็นลูกเป็นหลานรู้จักใช้โอกาสสอบถามท่านผู้รู้ หรือท่านผู้ใหญ่ อาจจะเป็นรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นป้า รุ่นน้าอา ท่านบอกเล่าให้ฟัง ก็ได้เรียนรู้ อย่างน้อยปัญญาในด้านนี้ก็เกิดขึ้น

ที่ว่ามานี้คือการทำบุญให้แก่ตัวเองด้วยการพัฒนาตนในด้าน ทาน ศีล ภาวนา ทานศีลภาวนาก็เจริญงอกงามขึ้น แต่การทำบุญยังไม่หมดเท่านั้นหรอก นี่เป็นทาน ศีล ภาวนา ในเบื้องต้น หรือขั้นพื้นฐานสามัญเท่านั้น

 

นึกถึงความตาย เอามาใช้ประโยชน์ให้ได้

ทีนี้ อาตมาอยากจะเน้นเรื่องภาวนา ในบางแง่ที่เราน่าจะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นไปอีก ภาวนาเป็นเรื่องของการเจริญจิตใจ เจริญปัญญา จะพูดว่าฝึกอบรมหรือพัฒนาจิตใจและปัญญาก็ได้

ภาวนา หรือการพัฒนาทางจิตใจและปัญญา ด้านหนึ่งที่สำคัญเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพิธีนี้ ก็คือ เราเห็นกันอยู่ต่อหน้าชัดๆว่า งานนี้เป็นพิธีอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว พูดง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความตายนั่นเอง เมื่อเรามาในพิธีศพเราก็รู้ตัวว่า บัดนี้ มรณะเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเราแล้ว ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูก การนึกถึงความตายก็จะมีผลเสียต่อจิตใจของเรา ทำให้จิตใจเสื่อม แต่ถ้าเรานึกถึงความตายอย่างถูกต้องมันก็จะมีผลในทางดีงาม ทำให้เกิดการพัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญาได้

ในพระพุทธศาสนานั้น ท่านให้เรารู้จักปฏิบัติต่อสถานการณ์ทุกรูปแบบ ในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิต หมายความว่าให้รู้จักถือเอาประโยชน์จากสถานการณ์ทุกอย่าง หรือจากประสบการณ์ทุกอย่าง ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง

ตอนนี้เรามาเผชิญหน้ากับเรื่องของความตาย ถ้าเราวางใจไม่ถูกปฏิบัติไม่ถูกเราก็เสื่อม เสื่อมอย่างไร คนบางคนนึกถึงความตายเมื่อไรก็ใจเศร้าหดหู่ ถ้าไม่เศร้าไม่หดหู่ก็กลัว สองอย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง เศร้าใจหดหู่ใจ ไม่งั้นก็กลัวหวาดผวาเลย พอได้ยินว่าตายก็สะดุ้ง ยิ่งกว่านั้นอีก บางคนได้ยินความตายของคนที่เกลียดชังเป็นศัตรูกัน พอได้ยินว่าศัตรูตายแล้ว ก็ดีใจ เป็นเสียอย่างนี้ เรียกว่า ผิดหมดทั้งสามอย่าง ถ้าเป็นสามอย่างนี้ก็เข้าลักษณะที่ว่าเผชิญหน้ากับความตายหรือนึกถึงความตายแล้วใจเสื่อม ไม่มีการพัฒนาตนเอง ไม่พัฒนาจิตใจ ไม่พัฒนาปัญญา

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านสอนให้รู้จักถือเอาประโยชน์จากสถานการณ์ และจากประสบการณ์ทุกอย่าง เรื่องราว ความเป็นไป และสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าดี ไม่ว่าร้าย ถ้ามองให้ดี มองให้เป็นแล้ว ก็ได้ประโยชน์ทุกอย่าง ความตายนี้ตามปกติเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา ไม่มีใครอยากได้ แต่เราหนีไม่พ้น แม้ว่าขณะนี้เราจะไม่เกี่ยวข้องกับตัวมันเองโดยตรง คือมันยังมาไม่ถึงตัวเราก็จริง แต่เราก็จะต้องได้ยินได้รับทราบเรื่องความตายของคนโน้นคนนี้เฉพาะหน้า และในที่สุดเราก็จะต้องเจอกับมันเหมือนกันอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น วิธีดีที่สุดคือรีบรู้จักวิธีปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง ถ้าเรารู้จักปฏิบัติต่อความตายให้ถูกต้อง เราจะได้ประโยชน์เริ่มตั้งแต่ในใจไปทีเดียว อย่างที่ว่าระลึกถึงความตายสบายใจได้ แทนที่จะหดหู่หวาดกลัวใจเสื่อมใจเสีย ก็กลับทำให้จิตใจเจริญงอกงาม และเจริญปัญญา

 

ความตายโยงไปหาอนิจจัง แล้วโยงต่อไปยังความไม่ประมาท

พระพุทธศาสนาสอนให้ถือเอาประโยชน์จากความตายไว้หลายอย่าง หลักการทั่วไปในเรื่องนี้เรียกว่า มรณสติ แปลว่าสติระลึกถึงความตาย เมื่อระลึกเป็นแล้ว ไม่กลัวเลย สามารถเผชิญหน้ากับความตาย ระลึกถึงความตายได้ทุกเวลา นึกถึงแล้วเกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์อย่างไร ประโยชน์สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่จะสำนึกถึงกาลเวลาแล้วขวนขวายไม่ประมาท เร่งทำความดีงาม ด้วยการทำหน้าที่การงานของตนเป็นต้น อันนี้เป็นประโยชน์ขั้นพื้นฐานในระดับพฤติกรรมที่ต้องทำให้ได้ก่อน และเหนือขึ้นไป ในทางจิตปัญญาจนสูงสุดคือทำให้เข้าใจชีวิต รู้ตระหนักในความจริงถึงขั้นมีปัญญารู้แจ้ง อย่างที่เรียกว่ารู้เท่าทันสังขาร แล้วก็ทำให้จิตใจเป็นอิสระ หลุดพ้นจากความบีบคั้นครอบงำของความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายในภายนอก เมื่อจิตใจเป็นอิสระ ก็มีความสุข จิตใจเบิกบานผ่องใสได้ทุกเวลา นี้เป็นประโยชน์อย่างน้อยสองระดับของการทำใจให้ถูกต้อง ในการนึกถึงความตาย

ประโยชน์ขั้นพื้นฐานข้อที่ ๑ เป็นสิ่งที่มองเห็น จะต้องย้ำสำหรับคนทั่วไปให้มาก เราจะต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าทรงสอนมรณสติ เพื่อโยงมาหาความไม่ประมาท หลักขั้นต้นของการนึกถึงความตายก็คือ ถ้าเรานึกถึงความตายแล้ว กระตุ้นเตือนใจให้เกิดความไม่ประมาท แสดงว่าเรารู้จักถือเอาประโยชน์จากความตาย และนึกถึงความตายในทางที่ถูก ทำให้มีการพัฒนาตนเอง ทั้งพัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญาได้

ความตาย เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ทุกคนรู้อยู่ว่ามีเกิด ก็ต้องมีตาย ถ้ามีการเริ่มต้นก็มีที่สิ้นสุด อันนี้เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ไหนๆ เราก็จะต้องพบกับธรรมดานี้ ต้องเผชิญหน้ากับความจริง หนีความจริงไปไม่พ้น เราก็พิจารณาความจริงนั้นให้ทั่วตลอดเสียเลย นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะให้ผลดีแก่เรา

ความจริงในเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือเรื่องของอนิจจัง ที่แปลว่าความไม่เที่ยง เรื่องของความไม่เที่ยง ก็คือการที่สิ่งทั้งหลายมีความเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตลอดเวลาหมายความว่า พร้อมไปด้วยกันกับเวลา คู่เคียงกับเวลา เมื่อเรานึกถึงความเปลี่ยนแปลง เราก็นึกถึงกาลเวลาด้วย กาลเวลากับความเปลี่ยนแปลงเป็นของคู่กัน เรารู้จักวันเดือนปีจากอะไร เรารู้จากความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง คือการโคจรเคลื่อนที่ไปของดวงดาว ของดวงจันทร์ ของดวงอาทิตย์ และของโลกเราเอง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แหละทำให้เรารู้กาลเวลา

กาลเวลานั้น กำหนดจากความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นกาลเวลากับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นของคู่กัน ถ้าเราเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องเห็นความสำคัญของกาลเวลา เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไม่รอเรา แม้แต่ชีวิตของเราก็เปลี่ยนแปลง มันเคลื่อนย้ายจากจุดเริ่มต้นไปหาจุดดับหรือจุดสิ้นสุด ก็คือจากเกิดไปหาตาย เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราทุกคนนี้จึงเดินหน้าไปหาความตาย โดยแข่งกับกาลเวลา และกาลเวลานี้มีความยุติธรรมเสมอกันต่อทุกคน ความแตกต่างอยู่ที่ว่าเราจะใช้เวลาอย่างไร

ในเมื่อกาลเวลาคืบหน้าไปเรื่อย ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราและทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราตลอดเวลา ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรเมื่อไร เพราะฉะนั้น เราจะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ เราจะต้องเร่งขวนขวายทำความดีงาม ทำหน้าที่ทำการงาน ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ การที่เราไม่นิ่งเฉย ไม่ดูดาย ไม่ปล่อยปละละเลย เร่งทำความดี เร่งทำหน้าที่ นี่แหละคือความไม่ประมาท

ความไม่ประมาทนั้น มี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเป็นด้านลบ อีกด้านหนึ่งเป็นด้านบวก ด้านลบก็คือไม่ ด้านไม่ก็คือว่า อะไรที่จะเป็นทางเสื่อม ทางเสียหาย ทางผิดพลาด เราไม่ยอมถลำไป ไม่ยอมพลาดหลงลงไปในทางนั้น นี่คือด้านลบ ส่วนในด้านบวกก็ต้องมีความไม่ประมาท คือด้านที่ว่าอะไรเป็นโอกาสให้เกิดความดีงาม มีช่องทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์แล้ว เราไม่ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไปเสียเปล่า รีบฉวยทำประโยชน์ให้แก่ชีวิตและแก่สังคม การใช้โอกาสนั้นทำให้เกิดประโยชน์นี่คือความไม่ประมาท หลักอันนี้สำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ทำให้มีการพัฒนา

เมื่อเรานึกถึงความตาย ก็กระตุ้นเตือนใจตัวเองให้นึกถึงความเปลี่ยนแปลงและความคืบเคลื่อนของกาลเวลา แล้วก็กระตุ้นเตือนต่อไปให้เราระมัดระวังตัว ไม่ถลำผิดพลาดไถลออกไปในทางของความเสื่อม เร่งแก้ไขปัญหา และรีบเร่งขวนขวายปรับปรุงสร้างสรรค์ ชีวิตก็จะเจริญงอกงาม ชีวิตของคนที่ไม่ประมาท จะเป็นชีวิตที่มีคุณค่า

 

ถ้ารู้จักใช้ ชีวิตก็มีคุณค่ามหาศาล

คนเรานั้นเกิดมาก็มีชีวิตร่างกายเท่ากัน มีกายกับใจเหมือนกัน ทางพระท่านเรียกว่ามีรูปนาม หรือมีขันธ์ ๕ มาเท่าๆ กัน แต่ชีวิตของคนที่เกิดมาเท่ากันนั้น กลับทำอะไรได้ไม่เท่ากัน ก็เพราะว่าคนหนึ่งรู้จักใช้ชีวิตหรือดำเนินชีวิตเป็น ส่วนอีกคนหนึ่งไม่รู้จักใช้ชีวิตหรือดำเนินชีวิตไม่เป็น เป็นคนที่ตกอยู่ในความประมาท ตรงข้ามกับคนที่ใช้ชีวิตเป็นซึ่งเป็นคนที่ไม่ประมาท รู้จักใช้กาลเวลาให้เป็นประโยชน์

พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาไว้เป็นพุทธภาษิตบทหนึ่ง อาตมาอยากจะยกมาให้ฟังเป็นตัวอย่างสำหรับเตือนใจ เปรียบเหมือนว่ามีดอกไม้สุมกันอยู่กองหนึ่ง ไม่รู้ว่าดอกอะไรบ้าง มีมากมาย จากกองดอกไม้นั้น นายมาลาการ คือ ช่างจัดดอกไม้ผู้ฉลาด เลือกเก็บดอกไม้จากกองที่สุมอยู่นั้นมาร้อยเป็นพวงมาลามาลัย หรือจัดเป็นแจกันอันสวยงามให้เป็นระเบียบเรียบร้อยน่าดู นอกจากสวยงามแล้วยังมีคุณค่า นำไปบูชาพระพุทธเจ้า หรือบูชาพระรัตนตรัยก็ได้ ดอกไม้ที่กองสุมรวมกันอยู่ เมื่อเรารู้จักใช้ประโยชน์ก็กลายเป็นพวงมาลามาลัยหรือดอกไม้ในแจกันในพานที่สวยงาม ฉันใด คนเราเกิดมาแล้วชาติหนึ่งก็ควรใช้ชีวิตนี้ทำประโยชน์ ทำความดีให้มาก ฉันนั้น

ตามความหมายของพุทธภาษิตนี้ ขอให้นึกถึงชีวิตของเราก็จะเห็นว่าเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆ ที่มาประชุมกัน พูดตามภาษาโบราณว่าเป็นการประชุมกันของธาตุทั้งหลาย มีดิน น้ำ ลม ไฟ ร่างกายของเราก็มีแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันเข้า พอตายแล้วธาตุเหล่านั้นก็กลับคืนไปเป็นน้ำ เป็นดิน เป็นลม เป็นไฟไปตามเดิม แต่ระหว่างมีชีวิตอยู่คนเราอาจจะใช้ชีวิตที่เป็นธาตุต่างๆ สุมกันอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์มีคุณค่าได้ ดังที่ปรากฏว่าบางคนมีชื่อดีงามอยู่ในประวัติศาสตร์

บางทีคนเดียวชีวิตเดียวเท่านั้นทำโลกทั้งโลกให้เปลี่ยนแปลงไป เช่นมีการค้นพบ ที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางสติปัญญา ทำให้วัฒนธรรมอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองขึ้น คนผู้เดียวทำประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างมหาศาลยั่งยืนยาวนาน เพราะฉะนั้น ชีวิตเดียวที่นิดหน่อยนี้ ถ้ารู้จักใช้เป็น ชีวิตนั้นก็ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายเหลือเกินสุดที่จะประมาณได้

มหาบุรุษทั้งหลายก็มีชีวิตอย่างเรานี่แหละ คือเป็นเพียงดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เพราะรู้จักใช้ประโยชน์ก็ทำให้ประวัติศาสตร์ต้องจารึกความดีไว้ เป็นผู้พลิกผันกระแสอารยธรรมของมนุษย์ได้ ยกตัวอย่าง เช่น พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างของมหาบุรุษ ทรงเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ดังที่ได้เกิดพระศาสนาที่ยิ่งใหญ่ เกิดสถาบันคณะสงฆ์ที่ยิ่งใหญ่ มีผู้คนนับถือหลายร้อยล้านคน แผ่กระจายไปทั่วโลก และยั่งยืนอยู่มาเป็นพันๆ ปี การที่เป็นอย่างนี้ก็อยู่ที่การใช้ชีวิตเป็น หรือรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาคตินี้มาใช้ อย่างที่บอกว่าเหมือนนายมาลาการคือช่างร้อยดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้จากกองมาร้อยเป็นมาลามาลัยที่สวยงามได้มากมาย เราก็ควรจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์มากๆ และทำความดีให้ได้มากๆ แล้วชีวิตนี้ก็จะมีคุณค่า

ความตายเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ไม่ประมาทอย่างนี้ ถ้าเรานึกถึงความตายแล้วสามารถสร้างความคิดอย่างนี้ได้แล้ว ความตายก็กลับเป็นเรื่องที่มีคุณค่า ระลึกขึ้นมาเมื่อไรก็เตือนใจให้เราไม่หยุดนิ่ง รีบทำความดีงาม

 

เป็นอยู่ให้ดี ชีวิตมีแต่ได้ทุกวัน

ทีนี้ในการที่จะเตือนใจอยู่เสมอด้วยมรณสตินั้น ก็มีอุบายวิธีหลายอย่าง เช่นเราอาจจะนึกถึงพระพุทธพจน์ ที่ตรัสในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเตือนใจเราเกี่ยวกับเวลา

วันนี้อาตมาได้พูดมาใช้เวลามากแล้ว ก็อยากจะเอาคติเกี่ยวกับกาลเวลามาฝากไว้สักข้อหนึ่ง เป็นพุทธภาษิตบทเดียว ถ้าท่านปฏิบัติได้แล้วชีวิตจะเจริญงอกงามแน่นอน พุทธภาษิตบทนี้สอนให้มองเห็นคุณค่าของกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง แล้วดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์ ท่านบอกไว้ว่า

เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า
จะมากหรือน้อย ก็ต้องให้ได้อะไรบ้าง

ว่าเป็นภาษาบาลีก็ได้ บางท่านก็ชอบจำเป็นภาษาบาลี ท่านว่า

อโมฆํ ทิวสํ กยิรา อปฺเปน พหุเกน วา

แปลซ้ำอีกทีหนึ่งก็ได้

เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง

ถ้าใครพิจารณาตนเองอย่างนี้ทุกวันและทำได้ตามพุทธภาษิตนี้ รับรองว่าต้องมีความเจริญงอกงาม ชีวิตส่วนตัวก็เจริญก้าวหน้า ชีวิตด้านการงานก็เจริญก้าวหน้า สังคมก็จะพัฒนาแน่นอน

เพราะฉะนั้น ในการมาร่วมพิธีเกี่ยวกับงานศพและความตายนี้ เรามาเอาคติไปใช้เป็นประโยชน์ให้ได้สักอย่างหนึ่ง ตามวิธีที่ว่ามาแล้วคือ โยงความตายไปหาความเปลี่ยนแปลง แล้วความเปลี่ยนแปลงก็ทำให้นึกถึงกาลเวลา กาลเวลาก็เตือนใจเราให้รู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์และทำชีวิตนี้ให้มีค่า แล้วเราก็สำรวจตัวเองทุกวัน ด้วยพุทธภาษิตที่บอกเมื่อกี้ว่า เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะมากหรือน้อยต้องให้ได้อะไรบ้าง

ก่อนจะนอนสำรวจดูซิว่า วันนี้เราได้อะไรบ้างไหม ไม่มากก็น้อย หลายคนก็จะนึกในแง่เงินทองว่า เอ... วันนี้ผ่านไปเราได้กี่บาท เราได้ ๑๐๐ บาท เราได้ ๑,๐๐๐ บาท เราได้ ๑๐,๐๐๐ บาท วันนี้ดีใจได้แล้ว นี้ก็ด้านหนึ่ง

บางคนก็นึกเน้นไปในแง่การงานว่า วันนี้เราทำงานก้าวหน้าไปบ้างไหม งานสำเร็จบ้างไหม งานชิ้นนี้ชิ้นนั้นเดินหน้าไปในแง่นี้แง่นั้นหรือเปล่า อันนี้ก็มีสาระมากยิ่งขึ้น บางทีงานกับเงินก็โยงเข้าด้วยกัน ได้ทั้งงานได้ทั้งเงิน

ทีนี้ บางคนก็อาจจะนึกกว้างต่อไปอีกว่า วันนี้เราได้ทำประโยชน์ให้แก่ใครบ้างหรือไม่ ตั้งแต่คนในครอบครัวเป็นต้นไป ถ้าเป็นลูกก็นึกว่าได้ทำประโยชน์ให้คุณพ่อคุณแม่หรือเปล่า ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ก็แน่นอนเลย ที่จะทำประโยชน์ให้แก่คุณลูก เพราะเป็นหน้าที่อยู่แล้ว อันนี้เป็นธรรมดาทุกวันคงไม่ผ่านไปเปล่า

แต่ที่ว่าทำประโยชน์ให้แก่ลูกนั้น นึกดูให้ดี อาจจะต้องย้อนไปพิจารณาอีกว่า เป็นประโยชน์ที่เป็นแก่นสารหรือเปล่า มีสาระแท้จริงไหม อย่าประมาทนะ อย่าไปนึกว่าเราให้แก่ลูกทุกวันนี้ดีแล้ว ลูกไปโรงเรียนก็ให้เงินแล้ว ยี่สิบบาท สามสิบบาท บางคนรวยก็ให้มาก แต่การให้นั้นกลายเป็นเสียหรือเปล่า นึกให้ดี เพราะบางทีเป็นการให้ที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่กลายเป็นโทษ คือที่ว่าให้แก่ลูกนั้นกลายเป็นทำให้ลูกเสีย

เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบให้เป็นการได้ประโยชน์ที่แท้จริงว่า ที่ว่าทำประโยชน์ให้แก่ลูกนั้นลูกของเราได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า เขามีการพัฒนาขึ้นบ้างไหม ทางด้านกาย ด้านสังคม ด้านจิตใจ ด้านปัญญา สำรวจให้หมด หาทางสำรวจให้รอบด้าน ให้รอบคอบ เรารักลูกของเรา แต่เราให้เขาจริงหรือเปล่า เราให้ความเจริญแก่เขา หรือให้ความเสื่อมแก่เขา พ่อแม่บางคนรักลูกมาก ให้แก่ลูกมากมาย แต่ปรากฏว่าเป็นการให้ความเสื่อม ขอให้พิจารณาให้ดีว่าจริงหรือไม่ อันนี้จะไม่อธิบาย พูดไว้เพียงแค่ขอให้เราพิจารณาตรวจตราให้รอบคอบว่า เราให้ประโยชน์ที่เป็นแก่นสารแก่ชีวิตของเขา ที่จะเป็นฐานเป็นปัจจัยของการพัฒนาความเจริญงอกงามในชีวิตระยะยาวของเขาหรือไม่

 

ได้อะไรแค่ไหน ก็ไม่เท่าใจได้สุขสันติ์

สิ่งที่จะสำรวจยังไม่หมด ขอผ่านอย่างรวบรัดที่สุด ลึกเข้ามาถึงแกนกลางของชีวิต ก็คือการได้ของจิตใจ การได้ทางจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก บางคนนึกถึงแต่ข้างนอกว่า วันนี้เราได้แล้ว ได้โน่นได้นี่ ได้งานได้การ ได้วัตถุสิ่งของ ได้จากคนโน้นคนนี้ แต่ขาดส่วนสำคัญไปทั้งแถบทั้งด้าน ขาดอะไร

ชีวิตของเรานี้ประกอบด้วยกายกับใจ ใจของเราเป็นแกนของชีวิต ใจของเรานั้นได้อะไรบ้างไหม สิ่งสำคัญที่เราต้องการ อาจจะเป็นยอดปรารถนาของการดำเนินชีวิต ก็คือความสุข ความสุขที่แท้จริงจะต้องถึงจิตถึงใจ มิฉะนั้นจะเป็นความสุขที่ผิวเผินจอมปลอม ไม่ยั่งยืนไม่ถาวร และไม่สุขแท้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสำรวจดูว่าเราได้ความสุขในจิตใจด้วยหรือเปล่า

ที่ว่าเวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า ไม่มากก็น้อยต้องให้ได้อะไรบ้างนั้น ใจของเรานี้ได้ความสุขบ้างไหม ความสุขแสดงออกมาในลักษณะอาการของจิตใจ ทำให้มีความร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส ยิ้มได้ เป็นต้น ในวันหนึ่งๆ นี้มีบ้างไหมที่จิตใจของเรามีความชุ่มชื่นฉ่ำเย็น เป็นใจที่สบาย ร่าเริง ผ่องใส ปลอดโปร่ง หรือมีแต่ความเร่าร้อน กลุ้มกังวลใจ ถ้าหากว่าเวลาแต่ละวันผ่านไปมีแต่ความกลัดกลุ้ม เดือดร้อน กังวลใจ ก็แสดงว่าเราเสียแล้ว ไม่ใช่ได้ เพราะใจเราเสื่อม เราจะต้องแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ ที่ว่าแต่ละวันต้องให้ได้อะไรบ้างไม่มากก็น้อยนั้น จะต้องได้ความสุขใจ ความร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส ให้แก่ชีวิตนี้บ้าง

ทางพระพุทธศาสนาถือว่า ความร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส เป็นลักษณะของจิตใจที่เจริญงอกงาม การทำจิตใจได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงทำใจให้เบิกบานผ่องใสได้ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ทางพระท่านใช้คำว่า

๑. มีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานใจ

๒. มีปีติ อิ่มใจปลื้มใจ

๓. มีปัสสัทธิ ผ่อนคลายกายใจ

บางคนมีแต่ความเครียดทั้งวัน ความเครียดเป็นความเสียสุขภาพจิต เป็นทางเสื่อมของจิตใจ สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ปัสสัทธิ ความผ่อนคลายกายใจ

๔. มีความสุข สะดวกใจ คล่องใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้นจิตใจ แล้วก็

๕. มีสมาธิ มีใจตั้งมั่น สงบ แน่วแน่ อยู่กับสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย

เอาละ ขอให้ได้อย่างน้อยสักอย่างหนึ่งนี้ คือใจมีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ มีความร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส ในจิตใจ มีความปลื้มใจ มีความอิ่มใจ มีความผ่อนคลายกายใจ ปลอดโปร่งโล่งใจ ขอให้มีอย่างนี้ ซึ่งแสดงออกมาในอาการที่ยิ้มแย้มแจ่มใสได้ และให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป เริ่มแต่ให้มีเมตตาจิต ระลึกถึงผู้อื่นด้วยความปรารถนาดีคิดที่จะทำประโยชน์ช่วยให้คนทั้งหลายมีความสุข

เรามาสำรวจดูว่า ใจของเรานี้มีคุณภาพดีขึ้นไหม สมรรถภาพจิตใจของเราดีขึ้นไหม และสุขภาพจิตเช่นความสุขเบิกบานผ่องใสอย่างที่ว่ามาแล้วเรามีบ้างหรือเปล่า อย่างน้อยให้ได้ยิ้มบ้าง

ถ้ายิ้มไม่ได้เลยตลอดวัน ก่อนนอนต้องหาทางยิ้มให้ได้สักครั้งหนึ่ง ออกไปยิ้มกับแม่บ้านหรือออกไปยิ้มกับพ่อบ้าน ออกไปยิ้มกับลูกหรือกับใครสักคนหนึ่ง คิดว่าวันนี้ก่อนวันจะหมดไปเราจะนอนหลับแล้ว ขอให้เราได้ทางใจบ้าง ให้ยิ้มออกสักครั้งก็ยังดี ถ้าทำได้อย่างนี้ แม้ไม่ได้อะไรอื่น ท่านก็ถึอว่าได้แล้ว นี่แหละเป็นความหมายของคำสอนที่ว่า ไม่มากก็น้อย ต้องให้ได้อะไรบ้าง

 

ทำบุญให้ท่านแล้ว สำรวจตัวเราให้ได้ครบครัน

อาตมาได้พูดมายาวนานแล้ว ความประสงค์ก็คือต้องการที่จะให้เข้าใจความมุ่งหมายของการบำเพ็ญกุศลที่เรียกว่าทักษิณานุประทานว่า การจัดงานศพนี้ เราต้องทำด้วยปัญญาที่รู้และเข้าใจ ว่าเราทำเพื่ออะไร แล้วเราจะได้สำรวจให้ถูกต้องว่าเราทำครบตามวัตถุประสงค์ ๕ ประการหรือไม่ คือ

ประการที่ ๑ บำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่ท่านผู้ล่วงลับ

ประการที่ ๒ ทำหน้าที่ของญาติเช่นในฐานะลูกก็แสดงความกตัญญูกตเวที

ประการที่ ๓ บูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับ ประกาศความดียกย่องคุณของท่านให้ปรากฏ

ประการที่ ๔ ถวายกำลังแก่พระสงฆ์ เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

ประการที่ ๕ ทำความดี คือทำบุญให้แก่ตนเอง

โดยเฉพาะในด้านทำบุญให้กับตนเองนี่ ควรสำรวจทุกระดับ ตั้งแต่ด้านทาน ศีล และภาวนา ภาวนาก็แยกว่าภาวนาทางจิตใจได้บ้างไหม ในทางปัญญาพัฒนาความรู้ความเข้าใจได้แค่ไหน โดยโยงถึงหลัก อย่างน้อยก็ให้ได้การพัฒนาจิตใจในแง่ที่ว่าเผชิญหน้ากับความตายด้วยความรู้สึกอย่างไร เราพบเห็นนึกถึงความตายด้วยอารมณ์หดหู่ จิตใจเสื่อมลง มีความเศร้า ความเสียใจ และความหวาดกลัว หรือว่าเผชิญด้วยความรู้เท่าทันความจริง และกระตุ้นเตือนตนเองให้ไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำหน้าที่หรือทำความดีงามยิ่งขึ้นไป

ท่านสาธุชนทั้งหลายที่ได้มาร่วมพิธีในงานนี้ เมื่อจะมาก็คงจะได้ตั้งจิตใจเอาไว้ดีแล้ว ทุกท่านมีจิตใจเป็นกุศลก่อนจะมาที่นี่ คือมีความระลึกถึงผู้ตาย อยากจะมาเยี่ยมแสดงความเคารพท่านผู้จากไป และนึกถึงเจ้าภาพด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ เป็นเมตตาธรรม จิตใจของท่านจึงเป็นจิตใจที่ดี เป็นบุญกุศลมาแล้ว ก็ขอให้บุญกุศลนั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป เป็นการพัฒนาชีวิตของเราให้มีความงอกงาม และความงอกงามในจิตใจของแต่ละคน ก็จะมีผลส่งออกไปในการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ ทำให้สังคมของเรามีความสงบสุขและพัฒนาสถาพรยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย

หมายเหตุ: ธรรมกถาในวันที่ ๓ แห่งการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอุทิศ คุณพ่อคุนเกา แซ่ตั้ง ๗ มกราคม ๒๕๓๕

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.