ปรัชญาการศึกษาไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

คำนำ

(พิมพ์ครั้งที่ ๒)

มูลนิธิโกมลคีมทอง มีกุศลเจตนา จะจัดพิมพ์หนังสือ “ปรัชญาการศึกษาไทย” เพื่อเผยแพร่ใหม่เป็นครั้งที่ ๒ เพื่อให้เป็นประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น

“ปรัชญาการศึกษาไทย” นี้ จัดพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์เคล็ดไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

ดังได้กล่าวไว้ในคำนำในการพิมพ์ครั้งแรกนั้นว่า หนังสือนี้ เป็นประมวลคำบรรยายต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งแสดงในต่างโอกาส ต่างสถานที่ ไม่ใช่เป็นผลงานทางวิชาการที่เขียนขึ้น เพื่อแสดงปรัชญาการศึกษาไทยอย่างจำเพาะโดยตรง แม้แต่ชื่อหนังสือของ “ปรัชญาการศึกษาไทย” ก็เป็นคำที่คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้คิดริเริ่มจัดพิมพ์ในครั้งที่ ๑ นั้นเป็นผู้ตั้งให้

ในการพิมพ์ครั้งแรก คำบรรยายและบทความที่รวมพิมพ์ มีทั้งที่ว่าด้วยศาสนธรรมและที่ว่าด้วยสถาบันพุทธศาสนา มีทั้งในด้านการศึกษาและในด้านสังคม แต่ในการพิมพ์ครั้งที่สองนี้ ผู้พิมพ์ได้จัดเนื้อหาใหม่ โดยตัดคำบรรยายและบทความที่เกี่ยวกับสถาบันและเรื่องทางด้านสังคมออกทั้งหมด เพื่อแยกออกไปพิมพ์เป็นเล่มต่างหาก แล้วนำคำบรรยายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา เฉพาะที่เป็นด้านศาสนธรรมอย่างเดียวเพิ่มเข้ามา ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เพิ่มใหม่ และเข้ากับชื่อหนังสือว่า “ปรัชญาการศึกษาไทย” มากยิ่งขึ้น

เพราะเป็นที่รวมคำบรรยายต่างวาระต่างสถานที่ หนังสือนี้อาจมีเนื้อความซ้ำซ้อนกันบ้าง แต่ก็หวังว่าส่วนมากจะเป็นการซ้ำเพียงในด้านหลัก ส่วนคำอธิบายอาจมีรายละเอียดต่างกัน และช่วยเสริมกันให้ชัดยิ่งขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่าหากมีโอกาสเขียนเรื่องปรัชญาการศึกษาไทยเป็นงานทางวิชาการเต็มรูปก็จะเป็นการดี แต่เท่าที่เป็นมา ยังไม่มีเวลาเพียงพอและปัจจัยต่างๆ ดูจะยังไม่สุกงอมเท่าที่จะทำเช่นนั้น เฉพาะหนังสือเล่มนี้ อาจจะถือว่าเป็นปรัชญาการศึกษาไทยฉบับกรุยทาง หรือฉบับเกริ่นนำ เพื่อให้เชื่อมกับความหวังที่ว่าอาจจะมีงานเขียนเรื่องนี้โดยตรงในกาลต่อไป

หนังสือฉบับที่พิมพ์ครั้งใหม่นี้ สำเร็จขึ้นได้เพราะคุณดุษฎี อังสุเมธางกูร ขวนขวายช่วยรวบรวมเรื่องมาประมวลจัดประเภทและเข้าใจว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการจัดพิมพ์ครั้งนี้ขึ้น จึงขออนุโมทนาต่อคุณดุษฎี อังสุเมธางกูรไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างมาก

ทางด้านมูลนิธิโกมลคีมทอง คุณมนัส แต้ ซึ่งเป็นผู้จัดดำเนินในด้านการจัดพิมพ์ ได้เอาใจใส่ทำงานด้วยความตั้งใจจริงที่จะให้หนังสือสำเร็จออกมาอย่างเรียบร้อย จึงขออนุโมทนาต่อคุณมนัส แต้ ไว้เป็นอย่างมากด้วย

ธรรมทานในการพิมพ์ครั้งนี้ ขอยกมอบให้เป็นสิทธิของมูลนิธิโกมลคีมทองด้วยความยินดี เพราะเป็นกิจการกุศลที่มีวัตถุประสงค์ในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ จักได้เป็นกุศลกรรมร่วมกันเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมกว้างขวางยิ่งขึ้นสืบไป

(พระราชวรมุนี)
๑๔ ก.ย. ๒๕๒๕

ปรัชญาการศึกษา
ตามหลักพระพุทธศาสนา
(มองจากภาคปฏิบัติ)

(หมายเหตุ: ทางเว็บไซต์ ได้จัดปรับวรรคตอนและแบ่งซอยย่อหน้าให้มากขึ้นกว่าในหนังสือต้นฉบับ เพื่อความสะดวกในการอ่าน)

ท่านอาจารย์และท่านนักศึกษาทั้งหลาย

อาตมภาพรู้สึกเป็นสิริมงคลที่ได้มีโอกาสมาพบกับท่านทั้งหลาย ณ ที่นี้ และมาพูดเรื่องธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสิริมงคลและเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่เรื่องที่จะพูดในวันนี้รู้สึกว่าเป็นหัวข้อใหญ่เหลือเกิน คือเรื่องพุทธศาสนากับปรัชญาการศึกษา ปรัญชาการศึกษานั้นถือว่าเป็นวิชาใหญ่โต มีเนื้อหาที่ต้องทำความเข้าใจกันมาก และพระพุทธศาสนาก็เป็นศาสนาใหญ่เหมือนกัน มีหลักคำสอนมากมาย

ทีนี้เราจะมาเปรียบเทียบกันในแง่ที่ว่า พระพุทธศาสนามีหลักที่จัดว่าเป็นปรัชญาการศึกษาหรือไม่ หรือเข้ากันได้กับปรัชญาการศึกษาอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือมองปรัชญาการศึกษาในแง่ของพระพุทธศาสนาว่า พระพุทธศาสนามีหลักปรัชญาการศึกษาอย่างไรนั่นเอง

ได้กล่าวแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะมาพูดในเวลาเพียงเท่านี้ก็ย่อมเป็นการไม่เพียงพอ เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดให้กว้างขวางครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด ทำอย่างไรจึงจะพูดได้พอสมควร ปัญหาก็มีว่าหลักธรรมต่างๆ ที่จะนำมาใช้เป็นหลักปรัชญาการศึกษานั้น มีมากมายหลายหัวข้อ นั้นก็ประการหนึ่งแล้ว ประการที่สอง คำศัพท์ต่างๆ ที่แสดงถึงหลักธรรมเหล่านั้น ก็เป็นคำที่จะต้องมาศึกษาความหมายกันอีก มิใช่ว่าพอพูดถึงหลักธรรมต่างๆ แล้ว เราจะเข้าใจกันทันที เพราะฉะนั้นความยากก็เกิดมีขึ้นพร้อมกันทั้ง ๒ ประการ อาตมภาพจึงเห็นว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดกันในที่นี้ถึงหลักธรรมใหญ่ๆ ที่เราถือว่าเป็นปรัชญาการศึกษาของพระพุทธศาสนา เช่น เรื่องปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ อะไรเหล่านี้

ทีนี้จะทำโดยวิธีใด ก็เห็นอยู่วิธีหนึ่งที่พอเป็นไปได้ คือมาเริ่มจากภาคปฏิบัติ ได้แก่หน้าที่หรือภาระรับผิดชอบของครูนี้เอง แล้วชักสัมพันธ์ไปหาเนื้อหาในทางปรัชญา โดยวิธีการเช่นนี้ อาตมภาพบรรยายไป จะมีเนื้อปรัชญาเป็นอย่างไร ก็จะให้เป็นข้อสำหรับพิจารณาของนักศึกษาเองเป็นสำคัญ ส่วนสาระส่วนใหญ่ที่เป็นเนื้อหาปรัชญาแท้ๆ ในขั้นพื้นฐานนั้นเราคงไม่มีเวลาเพียงพอที่จะพูดถึง

การศึกษาพุทธศาสนา
บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก

ในการพูดนี้ อาตมาคิดว่าจะมีข้อเสียเปรียบเล็กน้อย คือในสมัยปัจจุบันนี้ เรารู้สึกตื่นเต้น เรารู้สึกสนใจในคำศัพท์แสงที่เป็นภาษาตะวันตก และเนื้อหาวิชาแบบตะวันตก ทีนี้วิชาที่อาตมาพูด เป็นเรื่องฝ่ายพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพื้นบ้านของเราเอง คำศัพท์ต่างๆ ก็รู้สึกเก่าๆ พูดขึ้นมาแล้วก็อาจจะไม่กระตุ้นความสนใจเท่าที่ควร อันเป็นข้อเสียเปรียบประการหนึ่ง แต่ก็ทำใจไว้ก่อนว่าวันนี้เราจะมาศึกษา หันมามองดูในสิ่งที่เราเรียกว่าเก่าๆ สิ่งเก่าๆ จะมีเนื้อหาสาระที่ควรแก่ความสนใจอย่างไรบ้าง หรือนอกจากความเก่าแล้วจะมีแง่คิดที่ยังใหม่อย่างไรหรือไม่ หมายความว่าเรากำลังจะมองกลับมาค้นหาสิ่งที่ดีภายในของเราเอง ที่มีอยู่แล้ว

และเป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคนี้ ได้มีความสนใจที่จะหันกลับมาสู่การแสวงหาภายในสิ่งที่เรามีอยู่กันบ้างแล้ว พระพุทธศาสนานี้ก็เป็นจุดสนใจอันหนึ่งที่นักปรัชญาการศึกษาบ้าง นักวิชาการด้านอื่นเช่น สังคมวิทยาบ้าง หันมาสนใจ แต่น่าสังเกตว่าความสนใจเหล่านี้มักจะเริ่มด้วยการจับเนื้อหาไปเปรียบเทียบกับวิชาการฝ่ายตะวันตก หรือพิจารณาโดยยึดเอาความรู้ของฝ่ายตะวันตกเป็นหลัก

ทีนี้พูดเฉพาะในแง่การศึกษา ผู้ที่มองพระพุทธศาสนาและนำหลักการในทางพระพุทธศาสนามาใช้ ก็มักจะเริ่มต้นด้วยการยกเอาปรัชญาของตะวันตกขึ้นมาเป็นหลักเปรียบเทียบ หรือมองพระพุทธศาสนาจากพื้นความรู้ของฝ่ายตะวันตก และก็เริ่มจากหลักการของฝ่ายตะวันตกนั้น นำเอาพระพุทธศาสนามาเปรียบเทียบว่า พระพุทธศาสนามีหลักการในทางปรัชญาอย่างนั้นบ้างหรือไม่ หรือมีส่วนคล้ายคลึงกันหรือไม่ เมื่อเปรียบแล้วเห็นว่าเข้ากันได้ หรือคล้ายคลึงกัน ก็ดีใจ อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้เป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า นักวิชาการของเรารู้วิชาการของตะวันตกมากกว่าความรู้พื้นบ้าน หรือความรู้เรื่องของตนเอง และถึงอย่างไรเราก็ยังติดยังนิยมความรู้ของฝ่ายตะวันตกอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่เกิดมีความสนใจของเก่า หรือของที่เรามีเองแล้ว และเริ่มศึกษากันขึ้นมาบ้างเช่นนี้ ก็ต้องนับว่าเป็นนิมิตดีอย่างหนึ่ง ทำให้มองเห็นทางที่จะรู้จักตัวเอง มีทางที่จะแก้ปัญหาของตนเองได้ดีขึ้น และสิ่งที่มีค่าในถิ่นของตนเองจะได้รับการขุดค้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ ท่านที่ริเริ่มทำเช่นนี้ ถึงจะยังบกพร่องบ้างหรือยังเข้ามุมไม่ถูกก็ควรแก่การอนุโมทนาอยู่ดี

หน้าที่ ๒ อย่างของครู

เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ก็หันมาหาสิ่งที่อาตมาคิดว่าจะพูดต่อไป อาตมาได้กล่าวไว้แล้วว่า จะลองพิจารณาปรัชญาการศึกษาของพระพุทธศาสนาจากทางภาคปฏิบัติ แล้วเรามาดูจากภาคปฏิบัตินี้เองว่า ในนั้นมีเนื้อหาสาระทางปรัชญาเป็นอย่างไร ทางปฏิบัติที่สำคัญเกี่ยวข้องกับตัวครูทุกๆ ท่านก็คือ หน้าที่ของครู หรือหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนนั่นเอง

ทีนี้เราจะมามองความหมายของครูหรือการทำหน้าที่ของครูในแง่ของพระพุทธศาสนา ว่าพระพุทธศาสนามองความหมายของครู หน้าที่ของครูไว้อย่างไรบ้าง ถ้าพิจารณาในแง่นี้แล้ว พระพุทธศาสนามองเห็นครูในฐานะบุคคลที่ทำหน้าที่ ๒ ประการด้วยกัน

หน้าที่ประการที่ ๑ ท่านเรียกว่า เป็นสิปปทายก หรือศิลปทายก สิปปทายกคือผู้ให้หรือผู้ถ่ายทอดศิลปวิทยา อันนี้เป็นหน้าที่ที่เข้าใจกันโดยมาก คือนึกว่าเป็นครูก็ต้องสั่งสอนวิชาการต่างๆ และวิชาการเหล่านั้นโดยปกติก็หมายถึง หลักความรู้สำหรับศิษย์จะนำไปใช้ประกอบอาชีพ ดำเนินชีวิตเพื่อพึ่งตนเองได้ และทำประโยชน์แก่สังคมต่อไป อันนี้ก็หมายความว่า วิชาส่วนใหญ่เป็นวิชาสำหรับเลี้ยงชีพ เมื่อศิษย์ได้รับวิชาการเหล่านี้ไป ก็จะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเลี้ยงชีพตนเอง และสามารถที่จะทำประโยชน์แก่สังคม ด้วยอาชีพของเขานั้น

และอีกด้านหนึ่ง นอกจากการถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ ก็คือในแง่ของครูเองที่ว่าเป็นผู้รักษาสืบต่อศิลปวิทยา ครูอาจารย์นั้นก็จะมีความถนัดและมีหน้าที่จำเพาะในการค้นคว้าแสวงหาเพิ่มพูนความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการในสาขาที่ตนมีความชำนาญพิเศษ เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายเฉพาะจากสังคมให้ช่วยกันค้นคว้าแสวงวิชาการในสาขาของตน ให้ลึกซึ้งกว้างขวางออกไปและเป็นผู้ดำรงรักษาถ่ายทอดสืบต่อกันมา นับว่าเป็นหน้าที่อันสำคัญ เป็นหลักในการที่จะสืบทอดมรดกของสังคม หรือมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป

สรุปว่า หน้าที่ประการที่ ๑ นี้ สัมพันธ์กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมทางศิลปวิทยาการ อันนี้เราเรียกว่าหน้าที่ของครู ในฐานะที่เป็นสิปปทายก

นอกจากการเป็นสิปปทายกแล้ว ครูยังมีหน้าที่อีกประการหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง สำคัญยิ่งกว่าหน้าที่ประการแรก และเป็นเนื้อตัวของการศึกษาทีเดียว หน้าที่นี้ท่านเรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรนั้นก็เป็นศัพท์ธรรมดานี้เอง ถ้าเราจะแปลก็แปลว่า เพื่อนที่ดี หรือเพื่อนแท้ แต่ความหมายในทางศาสนานั้นยกย่องศัพท์นี้ให้เป็นคำแสดงหน้าที่ของครู ตั้งแต่ท่านผู้เป็นบรมครูคือพระพุทธเจ้ามาทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย โดยตรัสว่าพระองค์เป็นกัลยาณมิตรช่วยให้สัตว์ทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์โศกชรามรณภัย นี้คือ หน้าที่ของพระบรมครู และครูทั้งหลายก็ทำหน้าที่เดียวกับพระบรมครูนี้ คือทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร

ทีนี้ นอกจากความหมายตามศัพท์ที่ว่าเป็นมิตรแท้ หรือเป็นเพื่อนแท้อย่างนี้แล้ว มันมีความหมายลึกซึ้งอย่างไร ทำไมจึงบอกว่าหน้าที่นี้ เป็นหน้าที่สำคัญหรือเป็นตัวแท้ของการศึกษา

ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์

หน้าที่ประการที่หนึ่ง คือการเป็นสิปปทายกนั้น ไม่ใช่เรื่องของการศึกษาหรือในความเข้าใจทั่วๆ ไป จะเห็นว่า เมื่อพูดถึงการศึกษา เราจะเน้นในข้อแรก คือการถ่ายทอดศิลปวิทยา ตลอดจนวิชาชีพต่างๆ แต่ในทางพุทธศาสนานั้น ไม่ได้ถือว่า วิชาชีพเป็นต้น เหล่านั้น เป็นตัวการศึกษาที่แท้จริง เราอาจแบ่งความรู้เป็น ๒ ชั้น คือ ความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา กับความรู้ที่เป็นอุปกรณ์ สำหรับผู้มีการศึกษาจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์

ทีนี้ในขั้นแรกที่ครูทำหน้าที่เป็นสิปปทายกนั้น ศิลปวิทยาวิชาชีพต่างๆ ที่ครูถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ กล่าวได้ว่าเป็นความรู้ประเภทอุปกรณ์ คือเป็นเครื่องมือสำหรับผู้มีการศึกษาแล้ว จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตที่ดี เพื่อแก้ปัญหาของมนุษยชาติ เพื่อชีวิตที่ดีงามร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์สุขของสังคมต่อไป ความรู้ประเภทนี้ ถ้าจะเรียกเป็นศัพท์ก็ว่า สุตะ และ ศิลปะ หรือสุตศิลป์

สุตะ คือ ความรู้หรือวิชาการที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้เล่าเรียนถ่ายทอดมาจากคนอื่น หรือสั่งสมเก็บรวบรวมมาจากแห่งต่างๆ ถ้ามีมากก็เรียกว่าเป็นพหูสูต ศิลปะ คือความรู้ประเภทหัตถศึกษาหรือวิชาชีพทั่วๆ ไป ความรู้ที่อาศัยการฝึกปรือลงมือทำให้เกิดความชำนิชำนาญ ความมีฝีมือ เรียกรวมกันให้ง่ายว่า สุตศิลป์

การมีวิชาการหรือความรู้ประเภทที่ ๑ ซึ่งเรียกว่าความรู้ประเภทอุปกรณ์นั้น มิใช่เป็นเครื่องยืนยันที่แน่แท้เสมอไปว่า จะบังเกิดเป็นผลดีแก่มนุษยชาติ จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ เพราะมันเป็นแต่เพียงอุปกรณ์เท่านั้น หมายความว่าความรู้ต่างๆ เหล่านั้น เราอาจจะนำมาใช้ในทางที่แก้ปัญหาของมนุษย์ก็ได้ หรืออาจจะนำมาใช้ในทางที่จะสั่งสมปัญหาแก่มนุษย์เพิ่มพูนยิ่งขึ้นก็ได้ ความรู้อุปกรณ์หรือความรู้ประเภทที่ ๑ นั้น จะมีผลประโยชน์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อถูกใช้โดยผู้มีการศึกษา

ทีนี้ การศึกษาที่แท้จริงหรือการศึกษาที่จะทำให้คนเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริงนั้นอยู่ไหน อันนี้แหละคือภารกิจหรือหน้าที่ประการที่ ๒ ของครู ได้แก่ความเป็นกัลยาณมิตรนั่นเอง ภารกิจประการที่ ๒ ของครู ในฐานะกัลยาณมิตร ก็คือการที่จะช่วยชี้ช่องทางให้ศิษย์หรือผู้ที่รับการอบรมสั่งสอนนั้นเป็นคนรู้จักคิด รู้จักมองความหมายของสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง รู้จักแสดงออกอย่างมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบและรู้จักการดำเนินชีวิตที่ดี พูดสั้นๆ ว่า มีปัญญาและคุณธรรม อันนี้คือภารกิจของครูที่แท้จริงที่เป็นเนื้อแท้ของการศึกษา ในความหมายของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นที่อาตมภาพจะพูดต่อไปนี้ จะไม่เน้นในหน้าที่ประการที่หนึ่ง คือการเป็นสิปปทายก เพราะเรามีศิลปวิทยาหรือวิชาการต่างๆ ที่จะศึกษามากมาย เอาพอเข้าใจกันว่าวิชาการเหล่านั้นเป็นเรื่องของอุปกรณ์ หรือความรู้ที่เป็นเครื่องมือในการที่ผู้มีการศึกษาจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป ภารกิจที่สำคัญของเราก็คือ ทำอย่างไรจะทำคนให้เป็นคนมีการศึกษาที่แท้จริง เพื่อว่าเมื่อเขามีการศึกษาอย่างนั้นแล้ว เขาจะได้ดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาความรู้ที่เป็นอุปกรณ์ทั้งหลายในการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม และแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างแท้จริง

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด

ทีนี้ก็ถึงแง่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ครูทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้ หรือแนะนำชี้ช่องทางให้ศิษย์สามารถไปดำเนินชีวิตที่ดี มีความรู้สึกนึกคิดที่ดี เราก็จะต้องมาเริ่มต้นกันตั้งแต่จุดพื้นฐานของการใช้ความคิดทีเดียว หมายความว่าเราจะมาเริ่มต้นการศึกษาที่จุดเริ่มต้นของความคิดภายในจิตใจของคนเรา และพระพุทธศาสนาก็ถือว่า การศึกษาที่แท้นั้น เริ่มจากจุดแรกของความคิด ถ้าเริ่มผิดแล้วการเดินสายความคิดก็ผิด แล้วก็จะทำให้พฤติกรรมต่างๆ ของคนที่แสดงออกในลำดับต่อมาผิดพลาดไปหมด แต่ถ้าเริ่มต้นความคิดหรือจุดเริ่มต้นของความคิดถูกต้องแล้ว ก็เป็นไปได้เต็มที่ที่ว่าเขาจะมีพฤติกรรมต่อไปในทางที่ถูกต้อง เป็นการศึกษาที่แท้จริง จุดเริ่มต้นของความคิดที่มุ่งประสงค์ในที่นี้คืออะไร ขอใช้คำเรียกไปพลางก่อนว่า การรู้จักมองความหมาย และตีค่าของสิ่งต่างๆ

มนุษย์นี้ย่อมจะเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ เราพูดว่า เราดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตคืออะไร ก็หมายถึงการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่แวดล้อมตัวเรา สิ่งแวดล้อมตัวเรานั้นอาจแบ่งออกคร่าวๆ เป็น ๒ พวกด้วยกัน

พวกที่ ๑ คือสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม สิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรมนั้นอาจเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติบ้าง เป็นสิ่งแวดล้อมในด้านวัตถุอุปกรณ์ เช่น พวกเทคโนโลยีต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการที่จะดำเนินชีวิตอย่างสะดวกสบายเป็นต้นบ้าง และ

พวก ๒ คือสิ่งแวดล้อมในทางสังคม หรือถ้าจะให้ถูกต้องตามความหมายของพระพุทธศาสนามากขึ้น อาจใช้ว่า สิ่งแวดล้อมทางด้านชีวิตสัมพันธ์ ซึ่งกินความกว้างขวางและลึกซึ้งกว่า แต่ในที่นี้จะใช้ว่าสิ่งแวดล้อมทางสังคมไปก่อน เพราะใช้กันมาเคยชิน และถึงอย่างไรสิ่งแวดล้อมด้านนี้ ก็มุ่งที่มนุษย์ก่อนอื่นและมากที่สุด

เมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตก็จะเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ๒ ประเภทนี้ การที่มนุษย์เข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ ก็เข้าไปเกี่ยวข้องโดยเริ่มต้นตั้งแต่ความคิด คือการที่จะมองความหมายของสิ่งต่างๆ ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องและเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นอย่างไร จากจุดแรกของการมองความหมายและการตีค่าเหล่านี้ ก็จะปรากฏออกมาเป็นรูปของความคิด ความคิดที่เดินเป็นสายไปตามแนวของความหมายและคุณค่าที่เห็นนั้น จากความคิดก็มาเป็นการกระทำ เป็นพฤติกรรมต่างๆ

ในทางพุทธศาสนาถือว่า จุดเริ่มต้นความคิดคือการมองความหมายและตีค่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะระมัดระวัง เพราะเป็นจุดสำคัญของการศึกษา ความคิดในชั้นนี้เราใช้ศัพท์ว่า มนสิการ แปลว่า การทำในใจ หมายถึงการที่จะมองความหมายของสิ่งต่างๆ และตีค่าของสิ่งเหล่านั้นอย่างไร หน้าที่ของครูในแง่นี้ ก็คือการช่วยชี้ช่อง ชี้แนะ หรือชี้นำให้แก่มนสิการของศิษย์ โดยที่ว่าจะกระตุ้นให้ศิษย์เกิดความคิดอย่างไร มองความหมายและตีค่าในแนวทางใด

การคิดอย่างเสรี

ขอให้สังเกตว่า การกระตุ้นความคิดแก่ศิษย์นี้มาลงกันกับหลักปรัญชาการศึกษาสมัยปัจจุบันด้วย คือในการศึกษาปัจจุบันเขามีความเห็นกันว่า ครูมีหน้าที่กระตุ้นให้ศิษย์เกิดความคิดและคิดอย่างเสรี ทีนี้การกระตุ้นให้ศิษย์เกิดความคิดนั้น หมายถึงความคิดอย่างมีเหตุผล เราต้องการกระตุ้นให้ศิษย์รู้จักคิดเอง คิดอย่างมีเหตุผล แต่การคิดอย่างมีเหตุผลก็มีปัญหาอีก เหตุผลที่เราต้องการคือเหตุผลอย่างไร การมีเหตุผลบางทีก็เป็นเหตุผลอย่างเลื่อนลอย เราหวัง เราต้องการให้ศิษย์คิดอย่างเสรีไปในแนวทางของเหตุผลเหล่านั้น ไม่ต้องการให้ครูไปบังคับควบคุมวิถีทางแห่งความคิดของศิษย์

ในทางพระพุทธศาสนาก็เห็นด้วยในแง่นี้ คือเห็นว่าควรกระตุ้นให้ศิษย์คิดและคิดอย่างมีอิสระเสรี แต่ดูเหมือนว่า ความหมายของคำว่าอิสระเสรีนั้นจะไม่เหมือนกันกับที่ปรัชญาการศึกษาตะวันตกเข้าใจ เพราะที่ว่าอิสระเสรีนั้นมิใช่ว่าจะไม่มีแนวทางและไม่ใช่คิดเรื่อยเปื่อย หรือสร้างเหตุผลเลื่อนลอยพะนอตน

ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าการคิดอย่างเสรีนั้นมีแนวทาง แต่แนวทางที่ว่านี้ไม่ใช่แนวทางที่ถูกกำหนดควบคุม ตามความต้องการของครูหรือของอาจารย์ แต่เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา หรือความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ หมายความว่า เราจะต้องกระตุ้นความคิดของเด็กให้เดินเข้าไปสู่ความจริง ความจริงนั้นคืออะไร ความจริงก็คือสิ่งที่มีอยู่โดยกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ เราจะกระตุ้นศิษย์ให้เกิดความคิดที่จะเดินเข้าไปสู่ความจริงที่เป็นไปอยู่เองตามธรรมดาของธรรมชาติ

อันนี้ พูดให้ลัดใกล้จุดเข้าไปอีกหน่อยว่า การคิดอย่างเสรี เป็นการคิดของจิตที่มีอิสรภาพ และอิสรภาพของจิตนี้มิใช่สิ่งที่จะนึกจะวาดเอาเอง แต่เป็นภาวะที่เป็นความจริงหรือสัจจภาวะ มีหลักเกณฑ์ตามวิถีทางของธรรมชาติ เมื่อจิตมีอิสรภาพแล้ว การคิดอย่างเสรีย่อมมีได้เองและดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้องเองโดยอัตโนมัติ นี้คือการคิดอย่างเสรี ตามความหมายที่ต้องการของพระพุทธศาสนา ทีนี้มันจะมาสัมพันธ์กับเรื่องที่กำลังพูดอย่างไร

ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด
ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม

เราแบ่งแยกการเริ่มต้นความคิด หรือการเริ่มก่อรูปความคิดได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน ก่อนที่จะชี้แจงว่าสองประเภทนี้มีอะไรบ้าง จะขอยกตัวอย่างเสียก่อน เมื่อพูดถึงตัวอย่างแล้ว จึงค่อยมาช่วยกันแยกจากตัวอย่างนั้นว่า การเดินสายจุดชนวนเริ่มต้นของความคิด ๒ ประเภทใหญ่ๆ นั้นเป็นอย่างไร

ขอให้คิดดู ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย ก็เพราะเราต้องการประโยชน์จากมัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะสิ่งนั้นมีคุณค่าต่อเรา คือเราเห็นว่ามันมีคุณค่าที่จะสนองความต้องการของเราได้ เราจึงต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน เพื่อเอาคุณค่านั้นจากมัน เรียกว่าใช้ประโยชน์จากมัน ทีนี้สิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เรามองความหมายและเห็นคุณค่าที่จะสนองความต้องการของเราอย่างไรบ้าง เช่น ในการรับประทานอาหาร ขอยกเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่าย เรารับประทานอาหารทุกๆ วัน เมื่อมองเห็นอาหารที่จัดไว้ เราจะมีท่าทีแห่งความคิดที่เรียกว่า การมองความหมายและตีค่าเกิดขึ้น

ตามปกติการมองนี้จะแยกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ แบบที่ ๑ เราอาจจะมองความหมายในแง่ที่ว่าอาหารนี้เอร็ดอร่อยหรือไม่ จัดอย่างไร หรูหรือไม่ สมเกียรติกับเราหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น แล้วการเห็นคุณค่าก็จะตามมาว่า มันมีคุณค่าที่สนองความต้องการของเราหรือไม่ ตามความหมายที่มองนั้นนี้เป็นแบบที่หนึ่ง ทีนี้แบบที่ ๒ อีกคนหนึ่งอาจจะมองความหมายของอาหารที่จัดนั้นในแง่ที่ว่า อาหารนี้มีส่วนประกอบที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายหรือไม่ พอแก่ความต้องการของร่างกายที่ใช้งานหรือไม่ ย่อยง่ายหรือย่อยยาก เกื้อกูลหรือเป็นอันตรายแก่สุขภาพหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น อันนี้เป็นการมองความหมายของอาหาร ๒ แบบ

โดยปกติแล้ว คนทั่วๆ ไป มักจะมองปนกันไปทั้งสองแบบ แต่เท่าที่เห็นมักจะเน้นในแง่ของการมองหาความเอร็ดอร่อยและความโก้หรูเสียมากกว่า

จากจุดเริ่มต้นของการมองความหมายและตีค่าของสิ่งเหล่านี้ที่มีต่อเรานั้น ก็จะมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเราต่อไปในระยะยาว ถ้าหากเราเป็นคนที่มุ่งความหมายและคุณค่าในแง่ที่สนองความต้องการในด้านความสุขสำราญ ความปรนปรือ เราก็จะมีนิสัยหนักไปในแง่ฟุ่มเฟือยโก้หรูฟุ้งเฟ้อ เราอาจจะไม่สามารถรับประทานอาหารที่บ้าน เพราะไม่โก้ ไม่เด่น แล้วก็เอร็ดอร่อยน้อย เราอาจจะต้องไปนั่งในภัตตาคารหรือในสถานที่มีความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อมากขึ้น แทนที่เราจะเสียค่าอาหารเพียงอิ่มเดียว ในเวลาเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม คนที่มองความหมายและมองคุณค่าจากอาหารนั้น ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งที่ให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิต ช่วยให้เรามีชีวิตดำรงอยู่เป็นไปได้ ทำให้เรามีสุขภาพดี สามารถทำกิจ ทำหน้าที่ของเราได้ ในแง่นี้ของเขาจะต้องการที่มีคุณค่าแต่ราคาไม่มากนัก อาจจะเป็นมื้อละเพียงสิบบาทก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาพลังงานและความคิดไปกับความวุ่นวายด้วยเรื่องความฟุ้งเฟ้อ โก้หรู เอาดีเอาเด่น มีหน้าที่ต่างๆ การมองสองอย่างนี้มันจะมีผลที่ผิดกันไปเป็นอย่างมาก ทั้งต่อบุคคลและต่อสังคมโดยเฉพาะในระยะยาว

เท่าที่กล่าวมาตามตัวอย่างนี้จะเห็นว่า การมองความหมายและการตีค่าออกมาเป็นสองแบบคือ อย่างหนึ่ง ตีค่าในแง่ที่ว่า สิ่งนั้นสนองความต้องการในด้านปรนเปรอแค่ไหนเพียงไร และอีกอย่างหนึ่ง การมองโดยคำนึงถึงคุณค่าที่มีต่อชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งจะมองเห็นได้ง่ายในตัวอย่างเรื่องอาหารนั้น

ขอยกตัวอย่างอื่นๆ อีก เช่นว่า เด็กดูโทรทัศน์หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ได้ เมื่อดูรายการต่างๆ ตัวอย่างง่ายๆ แม้แต่ข่าว ข่าวนั้นแม้มีเพื่อความรู้ แต่บางคนก็จะมองในแง่ของความเพลิดเพลินอย่างเดียว ต้องการหาความสนุกสนานความเพลิดเพลินแล้วก็ผ่านไป แต่บางคนอาจจะมองในแง่ที่จะได้ความรู้ความเข้าใจจากข่าวนั้น หรือถ้าเป็นเรื่องราวที่สนุกสนานตื่นเต้น คนหนึ่งอาจจะได้แต่ความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่อีกคนหนึ่งจะมองหาความหมายในแง่ที่ว่ามันมีประโยชน์ มีสาระ มีคติธรรมอย่างไรด้วย

ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด
ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม

ตัวอย่างในการดำเนินชีวิตของเรา ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จะขอยกตัวอย่างที่ยกบ่อยๆ คือเรื่อง หมอกับคนไข้ คนไข้มาหาหมอ แกหน้าตาบูดบึ้ง ไม่แสดงมารยาทที่ควรแสดงกิริยาวาจาไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อเห็นคนไข้ที่เป็นอย่างนี้ หมอจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ปฏิกิริยาของหมอจะมีได้ ๒ แบบ แบบที่ ๑ หมอจะมีความรู้สึกว่า หมอเป็นบุคคลชั้นสังคมให้เกียรติ เป็นบุคคลที่ควรต้องแสดงความเคารพนับถือ คนไข้นี้ควรจะให้เกียรติแก่หมอพอสมควร เมื่อคนไข้แสดงอาการไม่เป็นที่พอใจ ถ้าหมอคิดอยู่เพียงแต่ตัวหมอที่ควรได้รับเกียรติ คิดถึงความเคารพและการให้เกียรติที่หมอต้องการ และการที่คนไข้ไม่สนองความต้องการนั้น หมอก็มีอัตตาให้ถูกกระทบกระแทกและอัตตาของหมอก็ถูกกระทบ หมอก็จะรู้สึกว่าอันนี้มันขัดใจหมอ เมื่อขัดใจของตน ไม่เป็นไปตามที่ปรารถนา ไม่สนองความมีเกียรติ ความเป็นที่น่าเคารพนับถือ หมอก็อาจจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น และอาจจะแสดงปฏิกิริยานั้นออกมาในรูปของความขัดเคือง โมโหฉุนเฉียวหรือความไม่เต็มใจที่จะรักษา และผลที่จะเกิดต่อไปก็เป็นที่ไม่ดี ทั้งในทางมนุษยสัมพันธ์ และในด้านการแก้ปัญหาของมนุษย์

ทีนี้ ในแบบที่ ๒ หมอไม่คิดถึงเรื่องตัวตนของหมอ ไม่คิดถึงความต้องการของเกียรติความต้องการความเคารพนับถือที่ตัวหมอจะได้รับ ไม่นึกถึงอาการแสดงออกของคนไข้ในแง่ที่กระทบตัวตนของหมอ แต่มองตัวคนไข้ในรูปของปัญหา และมองเหตุผลในวงกว้าง ก็จะคิดไปอีกแง่หนึ่งว่า นายคนนี้มีทุกข์มีความเดือดร้อนจึงมาหาเรา รายนี้อาจจะไม่มีเฉพาะแต่ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะมีปัญหาที่เป็นพื้นฐานลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เขาอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับความยากจน เขาอาจจะกำลังมีความกังวลใจว่าจะไม่มีเงินมาชำระค่ายานี้ก็ได้ คือนอกจากจะทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังทุกข์เพราะไม่มีเงินอีกด้วย เรียกว่ามีความทุกข์อย่างยิ่ง ทำให้เขายิ้มไม่ออกและแสดงกิริยาอาการต่างๆ เป็นไปในทางที่ไม่น่าพอใจ เป็นปมความทุกข์ในใจของเขา ถ้าหากหมอนึกอย่างนี้แล้ว ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นคือความรู้สึกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ อยากจะช่วยเหลือ อยากจะแก้ปัญหาของเขา นอกจากแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บแล้วก็อาจจะกลายเป็นแก้ปัญหาทางจิตใจอีกด้วย อาจจะสอบถามคนไข้นั้นว่ามีปัญหาในทางจิตใจอย่างไรบ้าง มีเรื่องทุกข์ร้อนอย่างไร บางทีหมออาจจะได้ช่วย ช่วยอย่างอื่นในทางวัตถุไม่ได้ก็ช่วยปลอบโยนในทางจิตใจให้เขาสบายขึ้น เป็นการแสดงออกในด้านเมตตากรุณา เป็นเรื่องของหนทางที่ดีในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และเป็นทางที่ดีของการแก้ปัญหาของมนุษย์

แม้มองในแง่คนไข้ก็เช่นเดียวกัน คนไข้มองเห็นหมอหน้าตาไม่เบิกบาน ไม่ยิ้มแย้ม คนไข้จะรู้สึกอย่างไร ก็จะเข้าแบบปฏิกิริยาเบื้องต้น คือถ้านึกในแง่ตัวตนที่ต้องการ ตัวตนที่ถูกกระทบ การได้รับสนองตอบความต้องการหรือไม่ได้รับ วนอยู่แค่เรื่องตัวตน ก็จะนึกในแง่ที่ว่าทำไมหมอต้องแสดงต่อเราอย่างนี้ ไม่น่าพอใจ แล้วก็อาจจะโกรธเคือง แต่ถ้าคนไข้คิดอีกอย่างหนึ่งให้ลึกซึ้ง เป็นเหตุเป็นผลกว้างออกไปว่า หมออาจจะทำงานมาตลอดวัน คนไข้อาจจะมากมาย หมออาจจะเหนื่อยมาก อาจจะยังไม่ได้รับประทานอาหารเลย อาจจะไม่สบาย ก็เลยหน้าตาไม่ดี ยิ้มแย้มไม่ออก ทำให้เกิดความเข้าใจดีต่อหมอ เห็นอกเห็นใจ ความสัมพันธ์ที่ดีก็เกิดขึ้น

ทีนี้ ในแง่ของ ครูกับศิษย์ ก็เหมือนกัน ครูมองเห็นศิษย์บางคนมีพฤติกรรมไม่เป็นที่น่าพอใจ แสดงกิริยาอาการไม่ให้ความเคารพนับถือเท่าที่ควร ถ้าครูมองแต่ในแง่ของตัวเราตัวเขา ตัวตนที่ต้องการเกียรติ ตัวตนที่ไม่ได้รับเกียรติ ความคิดก็วนอยู่แค่เรื่องอัตตาที่ถูกกระทบกระแทก ถูกบีบคั้น กามตัณหาและภวตัณหาถูกขัด เกิดเป็นวิภวตัณหา เกิดความขัดใจ ว่าเราเป็นครู นั่นเขาเป็นศิษย์ ทำไมเขาแสดงอาการต่อเราอย่างนี้ อาจจะรู้สึกว่า ศิษย์นี้มาทำลาย หรือมาลบหลู่เกียรติของตนที่เป็นครู ในกรณีนี้ เราก็จะเกิดปฏิกิริยาคือความขัดเคือง โกรธกริ้ว ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาของศิษย์ หรือกลับเพิ่มปัญหา

ทีนี้ถ้าเรามองไปทางตรงข้ามในอีกแง่หนึ่ง ในอีกความหมายหนึ่ง ไม่ดึงเข้ามาหาเรื่องตัวตน แต่มองเด็กในแง่ที่เป็นตัวปัญหาที่จะต้องแก้ และมองเหตุผลของปัญหานั้นในวงกว้าง ก็จะคิดไปในแง่สืบสาวราวเรื่องว่าศิษย์คงมีปัญหาในจิตใจ มีความทุกข์ร้อน คับอกคับใจ หรืออาจมีปัญหาทางครอบครัว เป็นต้น เป็นปมซ้อนอยู่ ทำให้มีพฤติกรรมเช่นนี้ จากการคิดในแง่นี้ ก็นำไปสู่การสนใจเด็กเพิ่มขึ้น การพยายามแก้ปัญหามากขึ้น การมองหาความเข้าใจเพิ่มเติมและนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ เช่น เข้าไปสอบถามเด็ก เป็นต้น

หรืออย่างชาวชนบท เด็กชนบทเห็นภาพเมืองหลวงจากโทรทัศน์บ้าง จากภาพต่างๆ บ้าง เห็นตึกราม รถยนต์ ถนนสวยงาม ทำให้นึกว่ากรุงเทพนี้เป็นสวรรค์อย่างนั้น ทีนี้เด็กชนบทมองเห็นเพียงแค่นั้น ก็สร้างภาพคิดฝันไป จากนั้นก็อยากเข้ามาอยู่ในกรุง โดยไม่คิดว่าปัญหาที่มีอยู่ในกรุงนั้นมีมากมายเพียงไร และเมื่อตนเข้าไปอยู่แล้ว จะมีทางดำเนินชีวิตให้เป็นไปได้อย่างไรหรือไม่ เขาจะมองภาพสิ่งเหล่านี้และคิดฝันถึงความสุขความสนุกความสะดวกสบายแต่อย่างเดียว และพยายามที่จะเข้ามาสู่กรุง เมื่อเข้ามาแล้วก็เกิดปัญหา เช่น การหางานทำไม่ได้ หรือหางานทำได้แล้วเกิดปัญหาซ้อนอย่างอื่น นำไปสู่การสร้างสลัมอะไรต่ออะไร เป็นต้น นำมาซึ่งทุกข์แก่ตนเองและสังคม ที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เริ่มต้นจากจุดของการมองความหมาย หรือการก่อรูปความคิดในทางที่จะเป็นไปเพื่อสร้างสม หรือเพื่อการแก้ปัญหา

สรุปจุดเริ่มของความคิด
หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ

เท่าที่กล่าวมานี้ ก็เป็นตัวอย่างต่างๆ ทีนี้เราลองมาวิเคราะห์กันว่า ในการเริ่มเดินสายความคิด หรือการมองความหมายและตีค่าเหล่านี้ เราแบ่งประเภทใหญ่ๆ ได้อย่างไรในแง่ของพระพุทธศาสนา ตอบได้ว่ามี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

ประเภทที่ ๑ ได้แก่การมองความหมาย และตีค่าของสิ่งต่างๆ โดยวิถีของอวิชชาและตัณหา

ประเภทที่ ๒ ได้แก่การมองความหมาย และตีค่าของสิ่งต่างๆ โดยวิถีของปัญญา

สองอย่างนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นทางแยกของการศึกษากับไม่ใช่การศึกษา หรือจะเรียกว่าการศึกษาที่ถูกต้องกับการศึกษาที่ผิดก็ได้

อนึ่ง คำว่าตีค่าในที่นี้ ใช้ในความหมายที่ครอบคลุมทั้งการมองเห็น การคิดหา และการคิดให้ถึงคุณค่า การตีค่าก็ดี ตัวคุณค่าก็ดี ย่อมสัมพันธ์กับความต้องการ คุณค่าบางอย่างเป็นคุณค่าที่ชีวิตต้องการอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาของชีวิต แต่บางคราวและบางคนมองไม่เห็นหรือไม่มองเลย คุณค่าของบางสิ่งมีหลายด้าน บางคนมองหาหรือคิดหาเฉพาะในด้านหรือในแง่ที่สนองความต้องการในรูปหนึ่งของตน คุณค่าบางอย่างของบางสิ่งไม่ปรากฏอยู่เลย แต่บางคนคิดให้แก่สิ่งนั้นๆ ได้ ในเมื่อมีความต้องการบางอย่างเกิดขึ้น

ดังนั้น จึงมีคุณค่าบางอย่างที่มีอยู่โดยไม่ขึ้นต่อความต้องการบางอย่าง คุณค่าบางอย่างมีหรือไม่มี และเป็นไปในรูปใดเท่าใด โดยขึ้นต่อความต้องการบางอย่าง ความต้องการเองก็มีทั้งที่เป็นความต้องการของชีวิตแท้ๆ และความต้องการอันดับรองที่พอกเสริมขึ้นมา เรื่องทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับ อวิชชา ตัณหา และ ปัญญา ทั้งสิ้น

ความรู้ประเภทที่ ๒ :
ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา

ทีนี้ ก็มีปัญหาต่อไปอีกว่า การมองความหมายและการตีค่าในแบบอวิชชาและตัณหาเป็นอย่างไร ลักษณะของอวิชชาคือความไม่รู้ ที่ว่าไม่รู้นั้น ไม่รู้อย่างไร ที่ว่าไม่รู้ก็ตรงข้ามกับปัญญาที่ว่ารู้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีหรือไม่ใช้ปัญญาแล้ว ก็เป็นอวิชชา คือไม่รู้ก็มาถึงความหมายของปัญญาอีก ว่าปัญญามีความหมายอย่างไร เมื่อไม่มีปัญญาอย่างนั้นแล้วก็ต้องเป็นอวิชชา เป็นอันว่าสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือคำว่าปัญญา

หันมาพิจารณาความหมายของปัญญาว่า ปัญญาคืออะไร เราแปลกันง่ายๆ ว่า ปัญญาคือ ความรู้ ความรู้ชัด ความรอบรู้ ความเข้าใจ อะไรต่างๆ คำแปลเพียงแค่นี้ยังไม่ทำให้เกิดความชัดเจนอะไรแต่อย่างใด ทำอย่างไรจึงจะเกิดความชัดเจนขึ้นไปอีก เราแปลอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญาคือความรู้ตามความเป็นจริง การรู้ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไรก็เกิดปัญญาอีกนั่นแหละ ที่รู้กันตามธรรมดานี้ไม่ใช่รู้ตามความเป็นจริง

หรือลองมาวิเคราะห์กันดู ที่ว่าเรารู้กันตามธรรมดานั้น รู้กันแค่ไหน ที่เรารู้กันตามธรรมดาก็คือ รู้รูปลักษณ์ รู้เป็นก้อนๆ คำว่ารูปลักษณ์ ก็คือ รูปลักษณะ หมายความว่าคนเราธรรมดาจะถือว่าเรารู้ เมื่อรู้รูปลักษณ์ภายนอกแล้ว รู้จักสิ่งนั้นเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นตัวตนต่างหากจากอันอื่นแล้ว เช่นเรารู้จักแก้ว ก็เอาเพียงแค่รู้ว่า อ้อ รูปร่างมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นของใสอย่างนี้ รูปร่างสูงต่ำขนาดนี้ ใช้บรรจุสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือว่าถ้ารู้จักโต๊ะ ก็เอาแค่รู้ว่าเป็นไม้สี่เหลี่ยมมาปูอยู่ มีขา มีฐานรองรับ ใช้เป็นที่เขียนหนังสืออะไรต่ออะไร นี้เรียกว่าความรู้ในแบบรูปลักษณ์ เป็นความรู้ขั้นต้น ยังไม่ถือว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง

ปัญญาไม่ใช่รู้เพียงรูปลักษณ์ ไม่ใช่เพียงรู้ข้อเท็จจริงเป็นก้อนๆ ต้องรู้อะไรต่อไป ต้องรู้แยกแยะ รู้เข้าไปถึงองค์ประกอบ รู้ถึงเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งที่อยู่รอบตัวมัน รู้จนกระทั่งไม่มีเป็นชิ้นเป็นอันเป็นก้อน เป็นตัวตนที่แยกต่างหากออกไปจากชิ้นอื่น อันอื่น ก้อนอื่น หรือตัวตนอื่นอย่างเด็ดขาดจริงจัง ถ้ารู้ถึงขั้นนี้เราเรียกว่าเป็นปัญญาได้

ทีนี้ ลองพิจารณาถึงตัวอย่างเท่าที่พูดมา ว่ามันเป็นการขาดปัญญาหรือเป็นการมองที่ไม่สามารถรู้เห็นสิ่งต่างๆ โดยเข้าถึงองค์ประกอบ เหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ทำไมเราจึงเรียกว่าเป็นอวิชชา คือการมองขั้นรูปลักษณ์

ชาวชนบทบางคน หรือเด็กชาวชนบทที่มองเห็นภาพตึกสวยงามในกรุงเทพฯ แล้ว เขาจะมองเพียงรูปลักษณ์อันเป็นที่น่าพอใจ น่าสนองความต้องการ น่าจะเห็น น่าจะอยู่ น่าจะเอา คือเขาจะเห็นว่าตึกอาคารสิ่งประดับประดาต่างๆ ในกรุงเทพฯ นั้นสวยงาม แล้วความคิดของเขาก็จะติดข้องวนอยู่ในรูปลักษณ์เท่านั้น เขาจะไม่คิดต่อไปถึงความจริงที่เกี่ยวเนื่องกับตัวอาคารที่สวยงามนั้นว่า ตัวอาคารที่สวยงามนั้น มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ มีอะไรนอกจากนี้อีกบ้าง นอกจากนั้นแล้ว ความเป็นอยู่ของคนในอาคารนั้นเป็นอย่างไร แล้วถ้าชีวิตของตัวเขาเองจะสัมพันธ์กับตัวตึกเหล่านี้ เขาจะไปอยู่ได้หรือไม่ ถ้าเขาจะไปอยู่จะอยู่ได้อย่างไร เป็นต้น ความคิดของเขาจะหยุดแค่เห็นภาพที่สวยงาม และรูปอาคารสิ่งประดับประดาเหล่านั้น เมื่อหยุดแล้ว ต่อจากนั้นความคิดของเขาจะหันกลับเข้ามาสู่ภายในตนเอง พร้อมด้วยภาพเมืองกรุงที่สวยงามภาพหนึ่ง อันหนึ่ง ต่อจากความคิดที่วาบขึ้นภายในจิตใจของตนเองแล้ว ความคิดที่ต่อจากนั้น เป็นความคิดในทำนองภาพฝัน ซึ่งปรุงสร้างขึ้นในจิตใจของเขาเอง ความคิดเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ตัวจริงที่อยู่ข้างนอกนั้นหยุดแล้ว หยุดอยู่แค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น ต่อจากนั้นเขาก็จะหันมาสร้างภาพวาดขึ้นในจิตใจของเขาเอง เป็นบทบาทการแสดงระหว่างตัวเขาตัวหนึ่งกับกรุงเทพฯ อีกตัวหนึ่ง มีตัวเขาที่จะได้จะเอาตัวหนึ่ง กับตัวเมืองกรุงที่น่าได้น่าเอาและจะถูกได้ถูกเอาอีกตัวหนึ่ง ลักษณะการมองแบบนี้ถือว่า ไม่พัฒนาปัญญา คือเขาจะไม่สามารถพิจารณาเข้าถึงความจริงของสิ่งเหล่านั้นต่อไป

อวิชชา - ตัณหา - อัตตา

ทีนี้ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ พอครูเห็นศิษย์หน้าตาบึ้งบูดมีพฤติการณ์ไม่น่าพอใจ นั่นคือมองเห็นรูปลักษณ์หนึ่งแล้ว รูปลักษณ์นั้นเป็นรูปลักษณ์ที่ไม่ดี ไม่งาม ไม่น่าพอใจ มันขัดใจเราก็หยุดแค่รูปลักษณ์นั้น แล้วต่อจากนั้น เราก็หันเข้ามาสร้างภาพภายในจิตใจของเราเอง มีรูปลักษณ์นั้นตัวหนึ่งกับตัวเราอีกตัวหนึ่ง ตัวเราไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา ถูกขัดใจ ตัวเราถูกกระทบกระแทก บีบคั้น อันนี้มันไม่เป็นที่พอใจของเรา มันเป็นการลบหลู่เกียรติอะไรต่ออะไรของเรา เราก็เกิดความโกรธขึ้น ความคิดที่จะมองต่อที่ศิษย์นั้นหยุดไปเสียแล้ว มีตัวเราเข้าไปแทรกระหว่างความคิดกับปัญหาของศิษย์ ทำให้รูปลักษณ์ของศิษย์เกาะกุมกันเข้า แยกออกไปตั้งเป็นอีกตัวหนึ่งคู่กับตัวเรา แล้วเราก็หันเข้ามาสร้างภาพความคิดภายในจิตใจของเรา เราจะไม่วิเคราะห์ต่อไปถึงรูปลักษณ์ของศิษย์ว่า เบื้องหลังรูปลักษณ์อาการภายนอกของเขานั้น มีปัญหาอะไรแฝงเร้นอยู่บ้าง เราจะไม่วิเคราะห์ปัญหาต่อไป เพื่อเข้าหาความจริงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อันนี้คือจุดสำคัญ เป็นการเริ่มต้นความคิดในวิถีทางของอวิชชา โดยมีตัณหาเป็นพลังขับเคลื่อนและปรุงแต่ง

ทำไมเราจึงเรียกว่าตัณหา คำว่าตัณหานี้เป็นศัพท์วิชาการทางพระพุทธศาสนา มีความหมายลึกซึ้ง ไม่ใช่ความหมายแคบๆ อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย ตัณหาหมายถึง ความต้องการที่จะสนองความต้องการของตนเอง การสนองความต้องการตามปกติหรือในขั้นต้น เป็นไปในรูปของความพอใจ อยากจะได้มาปรนเปรอความสุข จากภาวะของจิตใจในแง่นี้ จะมีภาวะตรงข้ามคือความขัดใจหรือไม่พอใจ ซึ่งเป็นตัณหาเช่นเดียวกัน

ตัณหาชนิดที่หนึ่งเรียกว่า กามตัณหา คือความอยากได้เพื่อสนองความต้องการของตนในทางที่พอใจ ทีนี้ ในทางตรงข้าม ถ้าจะมีสิ่งใดมาทำลายเรา ขัดเรา กระทบกระแทกเรา เราก็อยากพ้นไปจากสิ่งนั้นหรือเราอยากจะให้สิ่งนั้นพ้นหูพ้นตาไปจากตัวเรา หรือเราอยากจะให้สิ่งนั้นสูญสิ้นอันตรธานดับสูญไปเสีย ความต้องการชนิดนี้เราเรียกว่า วิภวตัณหา สองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์กัน เมื่อไม่ได้สิ่งที่พอใจก็ได้ในสิ่งที่ขัดใจ มันก็จะปรากฏออกมาในรูปใดรูปหนึ่ง นอกจากตัณหา ๒ อย่างนี้แล้ว ยังมีการที่เราต้องการความยิ่งใหญ่และมีเกียรติ เป็นต้น ต้องการให้ตัวเรามีภาวะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ภวตัณหา

เมื่อมีตัณหา ก็ต้องมีตัวตนที่จะให้ตัณหาสนอง ถ้าเป็นกามตัณหา ก็มีตัวตนที่อยากได้ มีตัวตนที่จะต้องสนองความต้องการในทางที่จะได้จะเอา ถ้าเป็นภวตัณหา ก็มีตัวตนที่อยากเป็น มีตัวตนที่จะต้องสนองความต้องการในทางที่จะคงอยู่จะได้เป็น จะเทียบฐานะ จะเข้ากระทบและถูกกระทบกระแทก ถ้าเป็นวิภวตัณหา ก็จะมีตัวตนที่อยากจะแยกอยากจะพรากขาดจากกันไปเสีย หรือมีตัวตนที่จะต้องสนองความต้องการในทางที่จะอย่ามาให้เห็น หรือให้หลบหายไปเสีย ตัวตนนี้เรียกว่าอัตตา ตัณหาจึงมาคู่กับอัตตา พอตัณหาเกิด อัตตาก็โผล่ หรือพออัตตาโผล่ ตัณหาก็แสดงบท พออัตตาโผล่ กระแสความคิดก็ชะงัก ถูกดึงเข้ามาพันตัว จำกัดแคบ พอตัณหาแสดงบท ปัญญาที่คิดสืบสาวแล่นไปในปัญหาและเหตุปัจจัยต่างๆ ก็หยุด เกิดการวาดภาพฝันขึ้นมา เพื่อรับใช้สนองความต้องการของอัตตาต่อไป เมื่อปัญญาไม่ทำหน้าที่ ก็เป็นภาวะของอวิชชา

ในกรณีของครูกับศิษย์ที่ว่ามานี้ จะเห็นว่าการเริ่มต้นความคิดเดินมาในวิถีทางของอวิชชาและวิภวตัณหา คือมองรูปลักษณ์ เห็นแค่นั้นแล้วปัญญาหยุด ต่อจากนั้นอัตตาโผล่ ความคิดเดินไปตามบงการของตัณหา คือพอใจ ไม่พอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แล้วก็วาดภาพสนองตัณหาต่อไป เพราะเป็นไปตามที่ได้วิเคราะห์ออกมาอย่างนี้ เราจึงเรียกการมองความหมายในแง่นี้ว่าเป็นวิถีทางของอวิชชาและตัณหา

การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม
โดยวิถีทางของปัญญา

การมองอีกแบบหนึ่ง คือการมองในวิถีทางของปัญญาเป็นอย่างไร คือการที่เราจะไม่หยุดความคิดแค่รูปลักษณ์เท่านั้น และเราจะไม่เอาความพอใจและไม่พอใจของเราเป็นเครื่องวินิจฉัย ไม่เดินความคิดตามวิถีทางของตัณหา แต่เราวิเคราะห์ความจริงในสิ่งนั้นต่อไปอีก ทำให้เราเข้าใจถึงองค์ประกอบ เหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้น เมื่อเรามองเห็นรูปลักษณ์คือ หน้าตาที่บึ้ง ไม่เบิกบานแล้ว ก็คิดสืบสาวว่านี้เป็นเพราะอะไร เขามีปัญหาอะไรหรือไม่ เป็นการวิเคราะห์ต่อไป ซึ่งจะทำให้เราเข้าถึงตัวปัญหาและนำไปสู่ความจริงได้

การที่เราจะใช้ปัญญานี้ก็คือเมื่อเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวแล้วว่า สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเรามี ๒ ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม พวกวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยี และของที่มีในธรรมชาติอะไรต่างๆ พวกนี้ประเภทหนึ่ง กับสิ่งแวดล้อมในทางสังคม จำพวกมนุษย์อีกประเภทหนึ่ง

ทีนี้ ปัญญาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้ง ๒ อย่างนี้อย่างไร ในแง่สิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรมนั้น เรามองความสัมพันธ์ในแง่ที่จะเอาประโยชน์จากสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง คือมนุษย์เราเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวัตถุธรรมต่างๆ นี้ เพื่อจะหาประโยชน์จากมัน การที่จะเอาประโยชน์จากมันก็คือ เราจะต้องมองเห็นคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งของมัน คุณค่าของมันเราก็มองเห็นในรูป ๒ อย่างที่ว่ามาแล้ว คือคุณค่าที่สนองความต้องการของตัวชีวิตอย่างแท้จริง และคุณค่าในแง่สนองต่อความต้องการปรนเปรอ ซึ่งเรียกว่าความต้องการทางตัณหา

คุณค่าอย่างที่หนึ่งซึ่งมีต่อชีวิตของเราแท้ๆ ก็เช่น เรื่องอาหารที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง คือ รับประทานด้วยต้องการที่จะนำมาบำรุงร่างกายของเราให้มีสุขภาพพลานามัยดี มีความแข็งแรงสามารถทำงานและประกอบภารกิจในหน้าที่ได้ด้วยดี คุณค่าอย่างที่ ๒ ที่เราต้องการจากมัน คือ ความเอร็ดอร่อย ตลอดจนเครื่องประกอบ เช่น ความโก้หรูเป็นต้นด้วยแง่ที่ต้องการเพียงความเอร็ดอร่อย ตลอดจนถึงความโก้หรู เป็นแง่ของตัณหาและอวิชชา แง่ที่ต้องการคุณค่าที่มันมีอยู่อย่างแท้จริงต่อชีวิต เป็นแง่ของปัญญา อันนี้จะเป็นเครื่องวินิจฉัยต่อไป ในการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในทางวัตถุธรรมว่าเกี่ยวข้องอย่างไร

การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
โดยวิถีทางของปัญญา

ทีนี้ หันไปมองสิ่งแวดล้อมประเภทที่ ๒ คือ สิ่งแวดล้อมในทางสังคมว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยวิถีทางของปัญญาได้อย่างไร ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม เราย่อมต้องการความสัมพันธ์ที่ดี ที่เกื้อกูลแก่เรา ความสัมพันธ์ที่ดีนั้น จะแสดงออกในรูปอย่างใด

จากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วในแง่ของตัณหาและอวิชชาจะเห็นว่ามันมีการมองแต่รูปลักษณ์ และเกิดปฏิกิริยาจากที่พัฒนาความคิดไปตามวิถีทางของตัณหา คือความพอใจและไม่พอใจความติดพันผูกรัด หรือความกระทบกระแทก วนเวียนและจำกัดแคบอยู่แค่ตัวเรากับตัวเขา

ทีนี้ ในแง่ของปัญญา ก็จะมีแต่กระแสความคิดเดินเรื่อยไปในตัวปัญหาหรือในสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่มีตัวเราชนิดที่โผล่เข้ามากั้น และเรียกร้องเบนความสนใจออกไป เราจะเข้าใจชีวิตของผู้อื่น เราจะรับรู้เข้าไปในสุขทุกข์ของเขา เราจะรับรู้ปัญหาของเขา เมื่อเรารับรู้ปัญหา รับรู้สุขทุกข์ของผู้อื่นแล้ว เราจะมีจิตใจเปิดกว้าง เกิดความคิดเผื่อแผ่ คิดในทางที่จะช่วยเหลือเขาและคิดแก้ปัญหานั้น

จะเห็นได้จากตัวอย่างเมื่อกี้ สมมติว่าคุณครูมองเห็นศิษย์ที่มีปัญหา มีกิริยาท่าทางไม่น่าพอใจ ถ้าครูมองในแง่วิเคราะห์แก้ปัญหาก็จะคิดสืบสาวไปว่าศิษย์นั้นมีปัญหาชีวิตอย่างไร จิตใจที่จะคับแคบ ที่จะพอใจและไม่พอใจ ที่จะถูกลบหลู่อย่างในตอนต้นนั้นก็ไม่มี จิตใจที่ไม่ถูกบีบคั้น มันจะมีอิสรภาพ เมื่อจิตมีอิสรภาพแล้วจะมีความรู้สึกที่เป็นภาวะของคุณธรรมอย่างหนึ่ง คือ ความมีใจเปิดกว้าง ปลอดโปร่ง โล่งเบา พร้อมที่จะรับรู้เรื่องราวของชีวิตอื่นๆ พร้อมที่จะทำการเพื่อชีวิตอื่น ความคิดแผ่ออกไป เข้าถึงชีวิตจิตใจของผู้อื่น เคลื่อนไหวตามรู้ตามเห็นชีวิตจิตใจและปัญหาของเขา หาทางแก้ไขข้อติดขัดบีบคั้นให้เขา เป็นความคิดในทางเผื่อแผ่เกื้อกูล ช่วยเหลือผู้อื่น ภาวะนี้เรียกว่า กรุณา

ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ

ความจริง ภาวะที่กล่าวมานั้น มองได้หลายแง่ คือมีลักษณะหลายอย่างรวมกันอยู่ แง่หนึ่งเป็นภาวะที่จิตมีอิสรภาพ ปลอดโปร่ง แง่หนึ่งเป็นอาการที่คิดและเข้าใจคือปัญญา และอีกแง่หนึ่งเป็นความกว้างขวางเผื่อแผ่เกื้อกูลคือความกรุณา ปัญญาเป็นตัวทำการ กรุณาเป็นพลังหนุน อิสรภาพเป็นภาวะพื้นฐานของจิต ความกรุณานั้นเป็นภาวะแห่งคุณธรรมที่พ่วงมากับปัญญา ในกรณีที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าความกรุณาที่แท้จริง จะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นพุทธคุณจึงมีข้อสำคัญ ๒ อย่างคือ ปัญญากับกรุณา และกรุณานั้นก็จะพัฒนาตามปัญญาขึ้นมาจนถึงที่สุด

การมีความกรุณา ความคิดที่จะเผื่อแผ่ช่วยเหลือนี้ มีความหมายในแง่อิสรภาพด้วย ในเวลาที่มนุษย์มีตัณหานั้น เขาจะอยู่ในภาวะของความบีบคั้น อัดอั้น หรือถูกผูกมัด คือเกิดมีตัวตนที่ถูกบีบคั้นด้วยความต้องการที่ยังไม่ได้บ้าง ความไม่ได้ตามต้องการบ้าง การเผชิญกับสิ่งที่ขัดความต้องการหรือไม่ต้องการบ้าง คิดวุ่นวนเวียนอยู่แค่นั้น ภาวะนี้เรียกว่า มนุษย์มีความทุกข์เกิดขึ้น ทีนี้ภาวะอิสรภาพเป็นอย่างไร หันมาดูตัวอย่างที่เรื่องของครูอีก ถ้าครูเกิดความรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา ความคิดที่ผูกขึ้นต่อจากนั้นเป็นความคิดของครูที่มีปัญหาขึ้นเองแล้ว คือ ครูเองไม่มีอิสรภาพ ครูเองได้ถูกบีบคั้นด้วยความไม่พอใจของตนเอง ตัวตนของครูถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึกที่ว่า เด็กมันลบหลู่เกียรติ ไม่เคารพเกียรติเท่าที่ควร ความรู้สึกบีบคั้นเป็นทุกข์ให้ใจคับแค้นต่างๆ ครูไม่มีอิสรภาพเสียแล้ว จิตของครูถูกผูกมัดเสียแล้ว ความคิดของครูถูกจำกัดเสียแล้ว ทีนี้ถ้าคิดในวิถีทางของปัญญา ความรู้สึกเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้น จิตใจของเราก็ปลอดโปร่ง นี้คืออิสรภาพ

ฉะนั้น ในความหมายทางพระพุทธศาสนา จึงถือว่าอิสรภาพที่แท้จริงมันมากับปัญญาด้วย การที่เราจะช่วยผู้อื่นให้พ้นจากปัญหา พ้นจากการเป็นทุกข์ จะมีได้แท้จริงก็ต่อเมื่อเราไม่มีปัญหา คือ เรามีอิสรภาพอยู่แล้ว เราจึงสามารถที่จะคิดขยายอิสรภาพให้แก่ผู้อื่นได้ หรือเราจึงจะอยู่ในฐานะที่พร้อมจะเผื่อแผ่อิสรภาพให้แก่ผู้อื่นได้ และจึงจะเป็นการเผื่อแผ่ชนิดที่แก้ปัญหาได้ถูกต้องอย่างแท้จริง

เป็นอันว่าปัญญานั้นมาควบคุมกับคุณธรรม คือความกรุณา และปัญญาที่เกิดอย่างถูกต้องแล้วจะทำจิตให้อยู่ในอิสรภาพ เมื่อเราใช้วิถีทางของปัญญาแล้ว จิตใจของเราปลอดโปร่ง ไม่ถูกครอบงำและบีบคั้นด้วยความคิดปรุงแต่งที่เราสร้างมันขึ้นมาโดยวิถีทางของอวิชชาและตัณหา มันก็ปลอดโปร่งและเราพร้อมที่จะเผื่อแผ่อิสรภาพไปให้แก่ผู้อื่น ซึ่งเราเรียกว่าเป็นความกรุณา คือ การที่คิดแก้ปัญหาหรือการคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดพ้นทุกข์นั่นเอง

โดยสรุป ตัวการสำคัญที่ออกแสดงในกระบวนความคิดที่กล่าวมานี้ก็คือ ปัญญากับตัณหา ถ้าตัณหาเกิดขึ้นก็ก่อให้เกิดความรู้สึกยึดมั่นในตัวตน แล้วนำไปสู่การผูกมัดจำกัดตัวหรือบีบคั้นขัดแย้งกลายเป็นก่อปัญหาและไม่มีการแก้ปัญหา แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้น จิตใจมีอิสรภาพ มีความปลอดโปร่ง มีกรุณาเกิดขึ้น ก็ดำเนินไปสู่การแก้ปัญหาของชีวิตอื่น หรือแก้ปัญหาของชีวิตที่เป็นกลางๆ คือช่วยเหลือผู้อื่น หรือบำเพ็ญประโยชน์ได้ และสิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้เสมอก็คือ กรุณาในความหมายที่ถูกต้อง ต้องมากับปัญญาพร้อมด้วยอิสรภาพของจิตใจ มิใช่กรุณาในความหมายที่คลาดเคลื่อน หรือเฉียดความจริงเพียงเล็กน้อย อย่างที่ใช้กันบ่อยในภาษาไทย กลายเป็นความรักใคร่เสน่หาผูกพันส่วนบุคคลไปบ้าง เป็นอาการที่บุคคลผู้มีอำนาจเหนือกว่า เป็นใหญ่กว่า ยอมละเว้นการบีบคั้นหรือเปิดโอกาสให้บ้าง เป็นการสงสารพลอยโศกเศร้าน้ำตาร่วงตามไปบ้าง ซึ่งจัดว่าเป็นกรุณาเทียมหรือ กรุณาในรูปที่วิบัติ กรุณาเป็นคุณธรรมเชื่อมจิตใจมนุษย์ให้ถึงกัน ซึ่งไหลไปตามระดับของภาวะจิต ไม่ใช่ไหลไปตามระดับฐานะ ที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาห่อหุ้มตัวตนในภายนอก

ในกรณีที่บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น ไม่เป็นที่ตั้งแห่งปัญหา คือไม่มีความทุกข์หรือมีปัญหาที่จะต้องแก้ หรือมีปัญหาแต่มีปัจจัยอื่นประกอบอยู่ด้วยเป็นเรื่องซับซ้อน เมื่อจิตอยู่ในภาวะที่มีอิสรภาพเป็นพื้นฐาน และมีปัญญาเป็นตัวทำการเช่นนี้ คุณสมบัติที่จะเกิดพ่วงเข้ามา จะเปลี่ยนจากกรุณาเป็นเมตตา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา แล้วแต่กรณีของสถานการณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยนั้น

แต่ในกรณีที่เราเองเป็นฝ่ายยังมีปัญหา หรือยังต้องการความเกื้อกูลบางอย่าง และเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีอิสรภาพสูงกว่า มีกรุณา หรือมีลักษณะอาการเกื้อกูลแก่อิสรภาพ หรือ การแก้ปัญหาของเราได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ภาวะจิตที่เกิดขึ้นแก่เราในกรณีนี้ ถ้าเดินถูกทางก็จะเป็นไปในรูปของ ศรัทธา ซึ่งเป็นภาวะของคุณธรรมที่อยู่ในระหว่างทางสู่ปัญญา และอิสรภาพ และเป็นที่มาของแรงจูงใจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง แต่พึงสังเกตว่า เมตตาเทียม (ความรักความปรารถนาดีของจิตที่ยังไม่มีอิสรภาพแท้จริง) ก็ดี ศรัทธาของผู้กำลังแสวงอิสรภาพก็ดี อาจแสดงตัวออกมาหรือแปรรูปไปเป็นความรักใคร่ เยื่อใยติดในบุคคล ที่เรียกว่า สิเนหะ หรือ เปมะ ได้ง่าย อย่างไรก็ดี ในที่นี้จะยังไม่วิเคราะห์ภาวะจิตที่ซับซ้อนอยู่ในช่วงระหว่างเหล่านี้ จะพูดเฉพาะปลายทาง ๒ ด้าน คือ อวิชชา ตัณหา และทุกข์ฝ่ายหนึ่ง กับปัญญา กรุณา และอิสรภาพอีกฝ่ายหนึ่ง เท่านั้นก่อน

กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา

เท่าที่กล่าวมาเป็นอันสรุปได้ว่า การมองความหมายหรือตีค่าของมนุษย์นี้มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ มองในแง่ของอวิชชาและตัณหา กับมองในแง่ของปัญญา การมองนี้ก็ไปสัมพันธ์กับวัตถุธรรมในแง่ของการมองหาคุณค่าที่แท้อย่างหนึ่ง สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในทางสังคม คือมนุษย์ด้วยกัน ในแง่ของความกรุณาอย่างหนึ่ง ถ้าได้อย่างนี้แล้ว ในทางพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นจุดเน้นของการศึกษาที่ถูกต้อง และการศึกษาเริ่มต้นจากจุดนี้ ถ้าไม่เริ่มต้นจากจุดนี้จะมีการศึกษาไม่ได้ เพราะว่าวิชาการต่างๆ แม้ว่าเราจะเรียนไปมากมาย มันก็จะไม่แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ถ้าหากไม่มีจุดเริ่มต้นในทางความคิดที่ถูกต้องอันนี้

เพราะฉะนั้นถ้าจะทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูในการศึกษาที่ถูกต้อง ก็จะต้องกระตุ้นความคิดของศิษย์ให้ดำเนินไปตามสายที่ถูก ให้เขาเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในทางวัตถุธรรม จะเป็นอุปกรณ์ในการดำเนินชีวิตก็ดี หรือเป็นสิ่งแวดล้อมในทางธรรมชาติก็ดี และสิ่งแวดล้อมในทางสังคม ให้เข้าไปถึงความหมายที่แท้จริง โดยอาศัยปัญญาให้เกิดความต้องการในคุณค่าที่แท้ และมีความสัมพันธ์ในแบบกรุณา หรืออย่างน้อยก็ให้จิตใจยังมีอิสรภาพอยู่

ทีนี้ จะกระตุ้นความคิดได้อย่างไร ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น รับประทานอาหาร ครูจะสอนศิษย์ หรือพ่อแม่จะสอนลูกก็ได้ เป็นการให้การศึกษาแต่เบื้องต้นทีเดียว จะชักจูงให้ลูกศิษย์หันเหไปทางไหน จะให้ไปในวิถีของอวิชชาตัณหา หรือในวิถีของปัญญาและกรุณาก็ได้ เมื่อเด็กรับประทานอาหาร เราอาจจะมีวิธีกระตุ้นให้เด็กคิดในแง่ของการไม่เพ่งเล็งหลงติดในความเอร็ดอร่อย ให้รู้จักพิจารณาในแง่คุณค่าที่ว่า เกื้อกูลแก่สุขภาพ สะอาดปลอดภัย เป็นต้น อันนี้ใช้มากในทางพระพุทธศาสนา

อย่างพระมาบวช เริ่มต้นท่านให้พิจารณา ปฏิสังขาโย นับว่าเป็นหลักในการศึกษาทางพระพุทธศาสนา พระใหม่ต้องว่าได้ โดยเฉพาะคนโบราณจะสอนนาคตั้งแต่ก่อนบวช บอกให้ท่องปฏิสังขาโย แต่ตอนหลังๆ ท่านท่องกันไปอย่างนั้นเอง บางทีไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไร กลายเป็นท่องคาถาเสก คล้ายกับเสกอาหารนั้นให้มันสำเร็จรูป พระจะได้ฉันอาหารนั้นได้ แต่ความจริงในการพิจารณาปฏิสังขาโยนั้น มีความหมายว่า เราพิจารณาแล้วโดยแยบคาย (นี่เป็นภาษาโบราณ) จึงฉันอาหาร พิจารณาอย่างไร พิจารณาว่าอาหารที่เราฉันนี้ ฉันเพื่อจะยังชีวิตให้เป็นไป เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี เพื่อเราจะสามารถทำหน้าที่บำเพ็ญสมณธรรมได้ เรามิได้ฉันเพื่อจะประมาท มัวเมา เพื่อแสวงหาความเอร็ดอร่อย เพื่อจะโก้หรูฟุ้งเฟ้อ นี่ท่านให้พิจารณาอย่างนี้

ในการสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ท่านให้พิจารณาอย่างเดียวกันนี้ทั้งหมด ท่านให้ปฏิสังขาโยต่ออาหาร ต่อจีวร ต่อเสนาสนะกุฏิวิหารที่ใช้ ต่อคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะประยุกต์หลักนี้มาใช้กับเด็ก มันก็มีผลเหมือนกัน แต่ทีนี้เราลืมไป เราไม่เคยสอนเด็กอย่างนี้เลย สอนให้แกนึกถึงแต่คุณในทางเสริมตัณหาอย่างเดียว มุ่งไปทางเอร็ดอร่อย ในทางโก้หรู เด็กบางคนไม่เคยได้รับการศึกษาและอบรม ในแง่ที่จะชี้ถึงคุณค่าที่แท้จริงว่าอาหารนั้นมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร

เพราะฉะนั้น แม้ว่าเรายังเป็นมนุษย์ปุถุชน เรายังแสวงหาคุณค่าในทางตัณหาอยู่ แต่เราจะลืมไม่ได้ เราจะต้องเตือนสติตนเองว่าเราจะขัดเกลาชีวิตให้มีความประณีตยิ่งๆ ขึ้น เราจะให้การศึกษาที่ถูกต้องแก่เด็กด้วย จะต้องสอนเด็กให้รู้จักพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารที่มีต่อชีวิตอย่างแท้จริงนี้ด้วย หากว่าเด็กจะทำอะไรก็ให้รู้จักมองคุณค่าที่แท้จริงนี้ด้วย ไม่ใช่คิดแต่จะสนองความอยากความต้องการทางตัณหาแต่ฝ่ายเดียว ถ้าหากเด็กดูโทรทัศน์ก็จะต้องแนะนำให้รู้จักใช้ความคิดว่า เราจะได้ประโยชน์อะไร ควรดูโทรทัศน์เพื่ออะไร เพื่อสนุกเพลิดเพลินอย่างเดียวหรือ หรือควรจะหาความรู้และจะได้ความรู้อะไรขึ้นมา แม้แต่เรื่องสนุกสนาน แม้แต่เรื่องเลวร้าย ถ้าหากในขณะนี้เราติเตียนโทรทัศน์ว่ารายการไม่ค่อยจะสู้ดี ถึงอย่างนั้นถ้าหากว่าเป็นภาวะจำยอม ยังมีอยู่และเด็กของเรายังดู ถึงเรื่องจะเลวร้าย แต่ถ้าเรามีวิธีการพูดการคิด เราก็จะให้เด็กหันเหความคิดไปในทางที่ดีงาม และบรรเทาความคิดในทางที่เลวร้ายไปได้

หรืออย่างที่ว่าเมื่อกี้ เรื่องเด็กชาวชนบทดูภาพกรุงเทพฯ บางทีเราคิดว่า จะกระตุ้นความคิดของแก กระตุ้นให้คิดอย่างเสรี บางทีเลยคิดผิดถ้าไม่มีความมุ่งหมาย ให้แกดูรูปตึกสวยงามในกรุงเทพฯ ตึกใหญ่ๆ น่าดูเหลือเกิน กระตุ้นความคิดของแกแล้ว กลายเป็นไปกระตุ้นตัณหาของแก คือแกอยากจะอยู่อย่างนั้นบ้าง อยากอยู่อย่างสบายในกรุงเทพฯ เป็นเมืองสวรรค์อย่างที่ว่า ถ้ากระตุ้นอย่างนั้น อาจจะผิดพลาดไปแล้วกลายเป็นสร้างปัญหา แกคิดอย่างเสรีแต่กลับหมดอิสรภาพ แทนที่จะได้ปัญญากลับได้ปัญหา แต่ถ้ากระตุ้นให้แกได้คิด กระตุ้นปัญญา ไม่ใช่กระตุ้นตัณหา ให้แกคิด ศึกษาวิเคราะห์ความจริง ว่าตึกที่อยู่ในกรุงเทพฯ นี่มันอยู่ในท่ามกลางอะไร นอกจากตึกอย่างนี้ ในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง ความเป็นอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร ถ้าคนบ้านนอกจะเข้าไปอยู่ในกรุง แล้วจะมีชีวิตเป็นอย่างไร เราควรจะเข้าไปอยู่หรือไม่ จะเข้าไปอยู่เพราะเหตุผลอะไร หรือบ้านนอกเราจะดีกว่าในแง่ไหนอย่างไร จะต้องให้เขาพิจารณาความจริงอย่างนี้ด้วย

อันนี้เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง และสัมพันธ์กับปัญหาปัจจุบัน ที่พยายามจะดึงชาวบ้านนอกให้เข้าไปในกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เป็นปัญหาที่คุณครูโดยเฉพาะท่านที่ทำงานในชนบทสามารถช่วยได้มากทีเดียว ถ้าหากจะสอนกระตุ้นความคิดเด็กให้เห็นสิ่งสวยงามในสถานที่เจริญแล้ว ก็อย่าลืมกระตุ้นความคิดให้วิเคราะห์เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นและสิ่งอื่นที่สัมพันธ์กันอยู่ด้วย ให้เขารู้ตามความเป็นจริงว่า ที่มันดีและไม่ดีนั้น ดีและไม่ดีอย่างไร นอกจากดีและไม่ดีในแง่ที่เป็นที่น่าพอใจไม่น่าพอใจแล้ว เป็นอย่างไรอีก อันนี้คือการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร ที่เข้ามาสัมพันธ์กับหลักการที่ได้กล่าวมาแล้วคือ เรื่องการมองความหมายและตีค่าของสิ่งต่างๆ โดยวิถีทางของอวิชชาและตัณหาฝ่ายหนึ่ง กับวิถีทางของปัญญาและกรุณาอีกฝ่ายหนึ่ง

การจัดการกับตัณหา

เรื่องที่กล่าวมาในตอนนี้ มีความสำคัญควรสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นตอนที่ใช้ตอบปัญหาเรื่องแรงจูงใจหรือแรงขับในการทำการต่างๆ จะเห็นว่า ผู้ที่ศึกษาหรือคุ้นแต่กับจิตวิทยาการศึกษาของฝ่ายตะวันตก มักจะแย้งว่า เมื่อพุทธศาสนาสอนให้กับตัณหา ดับความอยากเสียแล้ว จะมีอะไรเป็นแรงขับ หรือตัวกระตุ้นให้คนแสวงหา ทำงาน ดำเนินกิจการต่างๆ ตลอดไปถึงเรื่องที่ว่าจะทำการพัฒนาต่างๆ ได้อย่างไร เมื่อมองจากทัศนะของพุทธศาสนาจะเห็นว่า แนวความคิดของจิตวิทยาตะวันตกนั้นมองอยู่ในวงจำกัด ไม่ทะลุตลอดสาย และขาดหลักการที่สัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันทุกด้านคือ จิตวิทยาแบบตะวันตกศึกษาเฉพาะเรื่องเป็นส่วนๆ อย่างๆ ไปเท่านั้น

คำตอบเรื่องนี้มีอยู่ในตัวตามความที่ได้กล่าวมาแล้ว และที่จะกล่าวต่อไปและควรเน้นว่าตัณหาเป็นแรงขับหรือเป็นตัวกระตุ้นให้กระทำการต่างๆ ได้จริง แต่เป็นแรงขับในฝ่ายสร้างสมหรือก่อปัญหา และอย่าลืมว่าคนเรามีตัณหาอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มี ขณะนี้เรากำลังจะให้การศึกษาคือขัดเกลาฝึกฝนคนให้ประณีต หรือเดินไปถูกทาง ปัญญาและกรุณาที่สร้างขึ้นมาในกระบวนการนี้ สำหรับปุถุชนจึงเป็นเรื่องของพลังต่อสู้ หรือชักเบนไปสู่ทิศทางใหม่ ซึ่งอาจหมายถึงว่าพลังของตัณหาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ถูกคุมหรือขุดทางให้เดินใหม่

นอกจากนั้น คำว่าดับตัณหาในความหมายที่แท้จริง ก็ไม่ใช่หมายความว่ากด หรือข่ม หรือกักกด แต่หมายถึงการดับอวิชชาที่เป็นรากเง่า หรือต้นตอของตัณหานั้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าทำให้ปัญญาเกิดขึ้น ไม่ให้ตัณหาได้ช่อง หากจะมีความหมายเป็นการกดหรือข่มไว้บ้าง ก็หมายถึงการควบคุมประมวลรวบเข้าไว้ เพื่อให้พร้อมที่จะตัดได้ง่ายต่อไป การกดหรือข่มตัณหาไว้เฉยๆ อย่างที่มักเข้าใจกัน มีทางก่อให้เกิดอันตรายได้มาก

หากจะประมวลวิธีการกับตัณหา ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาแล้ว คงจะได้ดังนี้

๑. สนองตัณหานั้นในรูปแบบ และในอัตราที่จะไม่ก่อโทษนำความเดือดร้อนมาให้แก่ตนและผู้อื่น และตามที่จะยอมรับได้ โดยหมู่มนุษย์ตกลงวางกำหนดกันไว้ อีกทั้งไม่ทำให้ถลำลึกลงไป หรือด้านหนายิ่งขึ้น พร้อมนั้นก็ดำเนินการในขั้นอื่นไปด้วย เช่น เสวยกาม เสวยโภคะอย่างไม่สยบ ไม่หมกมุ่นมัวเมา มีปัญญารู้เท่าทัน เห็นข้อดีข้อเสีย และรู้จักทำจิตให้เป็นอิสระได้

๒. ถ้ายังไม่พร้อมที่จะทำ หรือ (ที่จริง) ยังไม่ทำในขั้นอื่นต่อไป ก็ขุดทางระบายให้ไหลไปในทางที่เป็นประโยชน์ คติการทำบุญที่เข้าใจกันอย่างสามัญ ก็จัดอยู่ในประเภทนี้

๓. ควบคุมให้อยู่ในขอบเขต โดยปิดโอกาสไม่ให้แสดงออกในทางที่จะเป็นโทษก่อความเดือดร้อนเป็นอันตราย และให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะ หรือเอื้ออำนวยแก่การทำความดี หรือสภาพที่ช่วยให้เป็นผู้พร้อมที่จะปฏิบัติต่อไป ในขั้นสร้างเสริมปัญญาดับอวิชชาได้ดีขึ้น ขั้นนี้จะเห็นได้ในรูปของระเบียบวินัยต่างๆ และระบบการดำเนินชีวิตที่ทำให้เคยชินอยู่กับความดีงามและการทำสิ่งที่ดีงาม ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า ศีล

๔. สร้างพลังความเข้มแข็งมั่นคงของจิตใจ อันจัดอยู่ในขั้นสมาธิ คือ

ก. ความเข้มแข็งมั่นคงที่เป็นพลังปะทะต่อต้านยับยั้งหรือเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้ไหลหรือถลำลงไปในทางที่ชั่วหรือเสียหาย เช่น ขันติ ตปะ สติ เป็นต้น

ข. พลังที่ทำให้ตั้งมั่นอยู่แนบสนิทไว้ ก้าวหน้าต่อไป หรือแรงขับให้พุ่งไปในทางที่ดี ทางถูกหรือทางแห่งความเจริญ เช่น ศรัทธาในบุคคลตัวอย่าง ศรัทธาในหลักแห่งความดี ที่เรียกว่า อุดมคติ หรืออุดมการณ์ เป็นต้น ความกล้าหาญในการทำความดี ความฝักใฝ่ในหน้าที่ และกิจการที่จะให้สำเร็จความมุ่งหมาย ตามหลักอิทธิบาท เป็นต้น

๕. การเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริง เรียกอย่างสมัยใหม่ (ความจริงเก่ามาก) ว่า พัฒนาโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้อง รู้จักเกี่ยวข้องกับตนเองและสิ่งแวดล้อมด้วยท่าทีแห่งปัญญา เป็นการดับอวิชชา และปิดช่องแห่งตัณหา อยู่ในขั้นปัญญาที่แท้จริง

การศึกษากับแรงจูงใจ

ต่อจากการมองความหมายและตีค่าแล้ว ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามาสัมพันธ์และมีความสำคัญมากในทางการศึกษานี้ คือสิ่งที่เราเรียกว่าแรงจูงใจ แรงจูงใจนั้นเป็นสิ่งที่มีบทบาท เป็นตัวกำกับการแสดงของคนของชีวิตมนุษย์ เมื่อเราจะทำอะไรนั้น ตามปกติเรามีแรงจูงใจอยู่เบื้องหลัง ทีนี้แรงจูงใจนั้นมีความสัมพันธ์กับการมองความหมายและการตีค่าที่กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ การมองที่ตีค่าของสิ่งต่างๆ โดยวิถีทางของอวิชชาและตัณหา จะนำไปสู่แรงจูงใจแบบหนึ่ง ซึ่งทางธรรมเรียกว่า กามฉันทะ ส่วนการมองความหมายและตีค่าโดยวิถีทางของปัญญาจะนำไปสู่แรงจูงใจอีกแบบหนึ่งเรียกว่า ธรรมฉันทะ ทั้งสองอย่างนี้เป็นอย่างไร

หันกลับมาสู่ชีวิตจริง ลองยกตัวอย่างมาดู เช่น ท่านจะมาเรียนหนังสือนี่ ท่านต้องมีแรงจูงใจ ท่านจึงมา ทีนี้ท่านจะมีแรงจูงอย่างไร มาพูดที่นี่ ท่านทั้งหลายเป็นครู อาตมาจะไม่ยกเป็นตัวอย่าง จะหันไปยกตัวอย่างข้างนอก เอาท่านที่ไม่เป็นครู ตัวอย่างที่ยกบ่อยๆ คือเรื่องแพทย์ มองเห็นง่ายดี

แรงจูงใจอะไรทำให้คนเรียนแพทย์ก็ตอบได้ว่า เพราะอยากเรียนแพทย์ อยากเรียนแพทย์เพราะอะไร เพราะอยากเป็นแพทย์ ตอบง่ายดี แต่ที่ว่าอยากเป็นแพทย์อันนี้แหละ มันมีความหมายและคุณค่าต่อบุคคล ไม่เหมือนกัน คำว่าอยากเป็นแพทย์ ส่องไปถึงความเป็นแพทย์อยู่ในใจ ซึ่งไม่เหมือนกัน

ความเป็นแพทย์มีความหมายและคุณค่าต่อเขาไม่เหมือนกัน มันต่างกันอย่างไร บุคคลหนึ่งอยากเป็นแพทย์ ความเป็นแพทย์ของเขาหมายถึงการที่ว่าจะได้รู้จักโรคภัยไข้เจ็บ จะได้รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย จะได้ทำให้คนมีสุขภาพพลานามัยดี นี่คือความหมายในแง่หนึ่ง การเป็นแพทย์คือ การได้ทำหน้าที่แพทย์

ทีนี้ความหมายที่การเป็นแพทย์คือการได้อาชีพที่ทำเงินได้ดี รวยไว นี่คือความหมายที่พ่วงอยู่ข้างหลัง เป็นแรงจูงใจของคนในสังคมปัจจุบัน ที่มันมีปัญหามาก ก็เพราะแรงจูงใจประเภทที่ ๒ ที่ว่านี้ ซึ่งเกิดจากการมองความหมาย และตีค่าแบบที่เราเรียกว่า อวิชชาตัณหานั้นเอง

แต่ถ้าว่าตามหลักความจริงตรงตามความหมายที่แท้แล้ว การเป็นแพทย์คืออะไรแน่ การเป็นแพทย์ที่ตรงไปตรงมาตามธรรมชาติตรงตามความหมายของมันแท้ๆ ก็คือการทำหน้าที่แพทย์ กล่าวคืออย่างน้อยขั้นที่หนึ่งในทางด้านวิชาการ คือการรู้จักโรคภัยไข้เจ็บเป็นอย่างดี ขั้นที่สองคือการรู้จักรักษาคนไข้ให้หายเจ็บป่วย และทำคนให้มีสุขภาพพลานามัยดี

ที่ว่ามานี้แหละคือฉันทะหรือที่เรียกว่าแรงจูงใจสองประเภท ซึ่งเป็นตัวชักนำพฤติกรรมของคน มีผลต่อชีวิต การดำเนินชีวิต พฤติกรรมของเขาทั้งหมด

ถ้าเราเรียนแพทย์ด้วยการมองความหมายของการเป็นแพทย์ในแง่ว่า คือการที่จะได้เล่าเรียนรู้วิชาการแพทย์ การที่จะรู้จักโรคภัยไข้เจ็บ การที่จะได้ทำหน้าที่รักษาคนไข้ให้หายเจ็บป่วย การที่จะเป็นผู้สามารถช่วยทำสังคมไทยให้มีแต่ประชาชนที่มีสุขภาพดี อันนี้จะมีผลต่อพฤติกรรมตั้งแต่การศึกษาเล่าเรียนเป็นต้นไป คือเขาจะตั้งใจศึกษาเพื่อรู้ซึ้งในวิชานั้นให้มากที่สุด และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาจะพยายามทำหน้าที่คือการรักษาคนไข้ และจะพยายามมุ่งทำงาน เพื่อช่วยเหลือคนให้พ้นจากการมีหน้าตาเศร้าสร้อย ซูบผอมเหี่ยวแห้งไปสู่การมีหน้าตายิ้มแย้มเบิกบานแจ่มใส เขาจะใส่ใจคิดอยู่เสมอว่าคนไข้คนนี้มีทุกข์มาแล้ว เราจะทำอย่างไรให้เขามีหน้าตาผ่องใสได้เบิกบาน และจะทำอย่างไรให้เขามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้นมา

นี่คือแรงจูงใจอันเกิดจากการมองความหมายและตีค่าแบบที่เราต้องการ แรงจูงใจประเภทนี้ คือฉันทะ ประเภทที่มีชื่อเรียกว่า ธรรมฉันทะ แปลว่าฉันทะในธรรม หรือแรงจูงใจที่ตรงตามธรรม แรงจูงใจตรงตามธรรมคือ ตรงตามความหมายที่แท้จริงของมัน ตรงตามเรื่อง ตรงตามหน้าที่ มันตรงตามที่ว่า การเป็นแพทย์คืออะไร คือการทำหน้าที่รักษาโรค การรู้จักรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หาย หรือการทำคนไข้ให้หายจากโรค นี้เป็นความหมายที่ตรง ซื่อสัตย์ เป็นไปตามหลักธรรมชาติ ไม่มีผิดเลย และเป็นวิถีทางที่แก้ปัญหาได้ด้วย

ทีนี้ แรงจูงใจประเภทที่ ๒ คือการตีค่าในแบบของการมองหาทางที่จะสนองความต้องการ ปรนเปรอตนเอง ซึ่งจะออกมาในรูปที่ว่า การเป็นแพทย์คือการประกอบอาชีพที่ทำเงินได้ดี และจะรวยไว จากการมองความหมายในแง่นี้ ก็จะมีผลต่อการเล่าเรียนศึกษา เขาจะศึกษาพอให้เสร็จๆ ไป ไม่ต้องการเนื้อหาที่แท้จริง หรือเลือกจับเอาแต่ส่วนที่จะให้ผลดีในด้านการสอบการเลื่อนชั้น เขาจะนึกถึง คอยวันคอยคืนว่า วันไหนเราจะได้ปริญญา เราจะได้ใบสำคัญนั้น เราจะได้ใบประกอบโรคศิลป์ เราจะได้นำไปประกอบอาชีพและจะทำเงินให้เร็วไว เมื่อถึงเวลาไปทำการรักษาโรค เขาจะมองดูคนไข้ว่า คนนั้นรวยไหม แต่งตัวดี หรือแต่งตัวไม่ดี จะไม่มองดูหน้าตาว่า คนนี้มีโรคภัยอะไร มองแต่ว่าแต่งตัวดีไม่ดี มีฐานะเป็นอย่างไร นั่งอะไรมา คนนี้รักษาแล้วจะได้เงินสักเท่าไร เป็นต้น จากนี้ก็จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ว่า เขาอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงการรักษาคนไข้ประเภทหนึ่ง แล้วพยายามไปหาคนไข้อีกประเภทหนึ่ง เป็นต้น จากนั้นก็จะมีผลต่อสังคมเป็นทอดๆ ต่อไป

นี้คือปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการศึกษาเอง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบของการศึกษากล่าวได้ว่า การศึกษาที่ให้ในรูปนี้เป็นการศึกษาที่ผิด และระบบการศึกษาที่ผิดนี้ มันเริ่มจากจุดผิดพลาด คือตัวการศึกษาที่แท้จริงในตัวบุคคลแต่ละบุคคลนั่นเอง เริ่มจากจุดเริ่มต้นของความคิดนี้เอง นี้คือแรงจูงใจในการกระทำของมนุษย์ ที่กล่าวว่าเป็นเรื่องสัมพันธ์กับการศึกษา และมีความหมายเข้าไปเกี่ยวข้องกับรากฐานที่ได้กล่าวมาแล้ว คือการมองความหมายและการตีค่าของสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งทางด้านวัตถุธรรมและทางด้านสังคม

ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ

ตัวอย่างอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย อย่างเด็กนักเรียนเดี๋ยวนี้ มองหน้ากันปั๊บ ก็เอ๊ะมองทำไม เอาเรื่องหรือไง จะเอาอย่างไร เอาแล้ว ก็จะลงมือใช้กำลังกันเท่านั้นเอง นี้ก็เป็นการมองในวิถีของอวิชชาและตัณหาทั้งนั้น ทำไมจึงเป็นอวิชชา พวกนี้มองแต่รูปลักษณ์ แล้วก็คิดวาดภาพเอาเองต่อไปตามความหมายที่สัมพันธ์กับภวตัณหา คือ เราต้องการสนองภวตัณหาด้วยความมีเกียรติ ความยิ่งใหญ่ เธอจะต้องนับถือฉัน ยอมให้กับฉัน แต่ฉันมีปมอยู่ในใจ ระแวงว่า ภวตัณหาของฉันคงไม่สม เธอมองฉัน คงจะลบหลู่ฉัน เธอขัดภวตัณหาฉัน บีบคั้นฉัน ฉันมีวิภวตัณหาแล้วนะ ฉันอยากจะให้สิ่งที่มาขัดใจฉันอันตรธาน ถูกทำลายหาย พ้นหูพ้นตาไปเสีย หรือมิฉะนั้น เธอจะต้องสนองภวตัณหาของฉันให้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นเขามองหน้า อาจจะไม่ดูหน้าตาว่าเป็นอย่างไรด้วยซ้ำไป แต่ตัวมีปมด้อยอยู่แล้ว ก็นึกว่าเอ๊ะ นี่มองหาเรื่อง จะมองดูถูกเราเสียแล้วกระมัง มันขัดกับตัณหาของเราเสียแล้ว ก็เลยสร้างมโนภาพในทางที่จะชกต่อยกันขึ้นมา เป็นเรื่องของตัณหา

ทีนี้ ถ้าจะมองภาพในแง่ที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร คนเรามองหน้ากันอาจจะเป็นเพราะเขาต้องการรู้ว่าเราเป็นใคร เป็นคนที่เขารู้จักหรือไม่ เขายังไม่รู้ เขาต้องการให้รู้ว่าเขารู้จักเราหรือไม่รู้จัก นอกจากนั้น เขาอาจมองเพื่อขอความช่วยเหลือจากเราก็ได้ เช่น อาจจะขอทางเป็นต้น แล้วก็หาทางช่วยเขาไป ถ้าคิดได้อย่างนี้แล้ว ปัญหาอย่างนั้นก็ไม่เกิดขึ้น เราก็จะเกิดความเอื้อเฟื้อต่อกัน กลายเป็นกรุณา

คนที่มองอะไรแค่รูปลักษณ์ และวินิจฉัยสิ่งต่างๆ เพียงด้วยพอใจและไม่พอใจในสิ่งนั้น เราเรียกว่าดำเนินในวิถีของอวิชชาและตัณหา ซึ่งไม่ใช่ขบวนการของการศึกษา และเราไม่เรียกคนเช่นนั้นว่า เป็นคนมีการศึกษา คนเช่นนั้นเติบโตขึ้นมาในระบบการศึกษาใด เราจะเรียกระบบการศึกษานั้นว่า เป็นระบบการศึกษาที่ถูกต้องได้อย่างไร เพราะว่าการศึกษาไม่ได้เริ่มต้นขึ้นแม้แต่ในความคิดเบื้องแรกของเขาเสียแล้ว

เพราะฉะนั้น เราจะต้องแก้ไขสิ่งนี้ และจะต้องแก้ให้ได้ คือ จะทำอย่างไรให้คนที่เติบโตขึ้นมารู้จักพิจารณามองสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา สัมพันธ์กับวัตถุธรรมในแง่ของคุณค่าแท้ สัมพันธ์กับมนุษย์ในแง่ของปัญญาที่ประกอบไปด้วยอิสรภาพของตนเอง และความเผื่อแผ่อิสรภาพ คือ ความกรุณาให้แก่ผู้อื่น จะทำได้อย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นกัลยาณมิตร

เรื่องที่ว่านี้เป็นการแสดงออกที่มีในทุกๆ อย่าง ตัวอย่างก็มีมากมาย แม้แต่จะสอนเด็กให้ทำอะไรสักอย่าง มันก็มีแรงจูงใจใน ๒ ประเภท เช่นว่า เด็กจะมากวาดที่โรงเรียนให้เรา เด็กก็จะมีแรงจูงใจอย่างหนึ่งในสองประเภท อาจจะกวาดโดยอยากจะให้คุณครูชม หรืออยากจะให้ครูให้รางวัล นี้ก็ประเภทหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งอาจจะเป็นด้วยเด็กรักความสะอาด ต้องการเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสิ่งทั้งหลาย

แล้วอย่างไหนเป็นสิ่งที่เราต้องการ อย่างไหนเป็นอย่างแท้จริง การกวาดที่แท้จริงคือ การทำให้สะอาด และเกิดจากการรักความเป็นระเบียบเรียบร้อย แรงจูงใจที่ทำให้เกิดภาวะนี้เรียกว่า ธรรมฉันทะ ถ้าเขากวาดเพราะเขาอยากได้รางวัลและคำชม เราเรียกว่ามีแรงจูงใจที่ไม่ซื่อตรง เป็นกามฉันทะ ไม่ใช่ต้องการผลงาน แต่ต้องการผลเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่พอวินิจฉัยได้

ทีนี้เราจะต้องการเด็กประเภทไหน ถ้าเราจะพัฒนาในทางการศึกษาให้ถูกต้อง ในระยะยาวเราจะต้องพยายามพัฒนาจิตใจของเด็กให้ทำงานเพื่อมุ่งผล คือความสำเร็จของงานนั้นเอง ถ้าต้องการให้เด็กขยันกวาดบ้านก็ต้องให้เขาเป็นคนรักความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างนี้จะได้ผลระยะยาว แต่ถ้าหากว่าเราจะให้เขาขยันในการทำงานกวาดบ้าน เพียงเพราะอยากได้รางวัล หรือได้คำชมเชยแล้ว อันนี้จะได้ผลเพียงระยะสั้น ไม่ยืนยาว และจะเป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมปัญหาให้แก่ตัวเขา และสังคมต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าเราจะปฏิเสธโดยสิ้นเชิงในเรื่องการรู้จักใช้วิถีทางของตัณหาเป็นเครื่องกระตุ้นบ้างในบางกรณี อย่างกรณีของเด็กที่ว่านี้ ถ้าพูดในลักษณะกลยุทธ หรือกลวิธีในทางการศึกษา เราอาจจะนำเอาวิถีของตัณหานั้นมาใช้กระตุ้นก่อน เพื่อช่วยให้เดินหน้าไปสู่การศึกษาอย่างแท้จริงต่อไป หมายความว่าเราอาจจะใช้คำชมและรางวัลบ้างเพื่อเป็นกลวิธี แต่ครูจะต้องตระหนักไว้ในใจเสมอว่า นี่เป็นเพียงกลวิธีเท่านั้น เราจะต้องเตือนใจของเราไว้เสมอ เพื่อเราจะได้ไม่เผลอและหยุดเพียงเท่านั้น เพราะจุดหมายที่แท้จริงของเราก็คือ การที่จะสร้างการศึกษาที่แท้จริง ให้เกิดมีธรรมฉันทะนั้นได้อย่างไร ตราบใดที่เรายังไม่สามารถทำให้เด็กเข้าถึงตัวธรรมฉันทะได้ ก็ยังมีอันตราย ยังไม่ปลอดภัย นอกจากนั้นถ้ายังใช้กลวิธีอยู่ ก็จะต้องมีสติเตือนตนเองเสมอว่าในขณะนี้ เราอยู่แค่ในขั้นกลวิธีเท่านั้น ยังไม่ถึงจุดหมายที่ต้องการ

ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ
กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม

ตัวอย่างยังมีอยู่มาก เช่น การแสดงความเคารพกัน การแสดงความเคารพก็แสดงออกถึงลักษณะ ๒ อย่างคือ การกระทำโดยวิถีทางของอวิชชาและตัณหา กับการกระทำโดยวิถีทางของปัญญาและกรุณา การแสดงความเคารพด้วยการมองความหมายและคุณค่าอย่างที่ ๑ คือ วิถีของอวิชชาและตัณหานั้น จะเห็นได้เมื่อเราแสดงความเคารพเพื่อให้ผู้ที่รับความเคารพนั้น รู้สึกชมว่าเราเรียบร้อยหรือน่ารัก เขาจะได้ชอบใจเรา เมื่อชอบใจเราแล้วต่อไปเขาอาจจะช่วยให้ผลประโยชน์อะไรต่ออะไรแก่เราอีก เหล่านี้ นี่คือแรงจูงใจประเภทหนึ่ง

ทีนี้ แรงจูงใจอีกประเภทหนึ่ง ก็จะมีขึ้นในรูปที่เกิดความคิดความเข้าใจว่า การเคารพกันนี้ เป็นระเบียบแบบแผนอย่างหนึ่งของสังคม สังคมจะอยู่ได้โดยการมีระเบียบแบบแผนและการแสดงความเคารพกันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ดีงามในทางสังคม จะช่วยให้สังคมดำเนินไปด้วยดี การที่เราแสดงความเคารพนี้ เป็นการมีส่วนช่วยสังคมให้อยู่รอด และรักษาคุณธรรม อันเป็นหลักการที่จะดำรงสังคมนั้นให้อยู่ได้ยั่งยืน การแสดงความเคารพในความหมายแง่นี้ เป็นไปในแง่ที่ถูกต้อง

ความจริงเราอาจแบ่งซอยการปฏิบัติคุณธรรม คือความเคารพได้ถึง ๔ ขั้นด้วยกัน ในแง่ของธรรมที่มาสัมพันธ์กับระบบการมองความหมายและตีค่า ในระบบจริยธรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้น หลักธรรมทุกอย่างจะมาสัมพันธ์กันได้หมด การแสดงความเคารพก็มาสัมพันธ์กับเรื่องการศึกษาตั้งแต่ขั้นมองความหมายนี้ด้วย การแสดงความเคารพที่ว่านั้น อาจแบ่งได้ถึง ๔ ขั้น คือ แบ่งเป็นขั้นอนารยะ หรือมิใช่อริยะ ๒ ขั้น และ เป็นขั้นอริยะ หรืออารยะ ๒ ขั้น

ทีนี้ ขั้นที่เป็นอนารยะหรือการแสดงความเคารพแบบที่ยังไม่เป็นอริยะนั้น เป็นอย่างไร ว่าตามความหมายทางพระพุทธศาสนา มิใช่ความหมายของชาวโลกทั่วไป

ขั้นที่ ๑ คือการแสดงเพื่อมุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นไปในทางของตัณหาอย่างแท้จริง คือ เราต้องการผลประโยชน์ เพื่อให้เขาชอบใจ และเขาจะได้เอื้ออำนวยผลประโยชน์นั้นให้แก่เรา

ขั้นที่ ๒ คือการแสดงโดยถือว่า เป็นการวัดระดับศักดิ์ศรี ตอนนี้ไม่ต้องการผลประโยชน์แล้ว แต่เรารู้สึกในภวตัณหา คือ ความยิ่งใหญ่ และความมีเกียรติ เราจะมองในแง่ว่า คนนั้นก็ไม่ดีอะไรไปกว่าเรานี้ เราก็ขนาดนั้นขั้นนั้นเหมือนกัน อะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกทำนองรักษาศักดิ์ศรี และไม่ยอมแสดงความเคารพ

การแสดงความเคารพที่เป็นไปเพราะเหตุผลเพียงเท่านี้ ใน ๒ ขั้นนี้ เป็นความรู้สึกที่พ่วงด้วยเรื่องตัวตน อยู่ในขอบเขตจำกัด เป็นความคับแคบในจิตใจ คือ เอาตัวตนเข้าไปขวางกั้นไว้ ไม่มีความคิดเผื่อแผ่ให้กว้างขวาง เรียกว่ายังไม่เป็นอริยะ จึงยังเป็นขั้นอนารยะในความหมายทางพระพุทธศาสนา

ทีนี้ ถ้าหากจะขยายให้เป็นขั้นอริยะ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องขยายขอบเขตออกไปให้พ้นจากวงจำกัดของตัวตน คือ

ขั้นที่ ๓ ออกไปสู่ประโยชน์ร่วมกันของสังคม อย่างที่ว่ามาเมื่อกี้ หมายความว่าเรารู้สึกในเรื่องหลักการแห่งความเป็นอยู่ดีของสังคม ที่ต้องอาศัยระเบียบแบบแผน การที่เราแสดงความเคารพนั้นเป็นการเอื้ออำนวยต่อการอยู่ดีของสังคม เพื่อช่วยสร้างและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมไว้ นี้ขั้นหนึ่ง

ขั้นที่ ๔ ที่สูงยิ่งกว่านั้น ก็คือการกระทำด้วยความคิดความเข้าใจว่า อะไรที่เป็นความดีงามอะไรที่เป็นสิ่งแสดงถึงความเจริญงอกงามของสังคม เป็นคุณธรรม เราร่วมสร้างสรรค์สิ่งนั้น เราเสียสละตนเอง เพื่อมีส่วนร่วมในการเทิดทูนสร้างสรรค์ความดีงามนั้น สิ่งใดเป็นสัญลักษณ์ของความดีงาม เราตกลงกันยอมยกไว้แล้ว เราแสดงความเคารพต่อสิ่งนั้นได้ เพราะเราเทิดทูนความดีงามนั้น เราแสดงออก เราสละตนเองเข้าไปเป็นส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความดีงาม และเทิดทูนความดีงามนั้น เราเป็นส่วนหนึ่งแห่งความดีงาม เป็นส่วนหนึ่งแห่งคุณธรรม

นี้เป็นการกระทำโดยไม่ผูกพันในเรื่องของตัวตน เป็นการเสียสละตนเอง เป็นการเอาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตส่วนรวมด้วยกัน หรือสลายตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคุณธรรมนั่นเอง จึงไม่มีความหมายในทางความคับแคบ จิตใจเราก็เป็นอิสระในการกระทำนั้น ไม่มีการผูกมัดติดพันในเรื่องแสวงหาผลประโยชน์ทางกามตัณหา ไม่มีการบีบคั้นแบ่งตัวด้วยเรื่องรักษาศักดิ์ศรีทางภวตัณหา จึงเป็นเรื่องของอิสรภาพนำไปสู่การแก้ปัญหาและเป็นคุณธรรมอย่างแท้จริง ในขั้นนี้ท่านเรียกว่าเป็นอริยะได้ นี้คือตัวอย่างคุณธรรมที่จะนำมาวิเคราะห์ได้ แม้คุณธรรมอื่นๆ ตลอดจนการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปก็จะวิเคราะห์ได้ในรูปอย่างเดียวกันนี้ นี่ก็เป็นเรื่องของแรงจูงใจที่เข้าไปสัมพันธ์กับการมองความหมาย และการตีค่าที่ได้กล่าวมาแล้ว

เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน

เท่าที่พูดมาแล้วก็ถือว่าเป็นจุดใหญ่ๆ หรือจุดสำคัญของการพูดในวันนี้แล้ว และในเรื่องเหล่านั้นก็ได้พูดถึงอิสรภาพและเสรีภาพที่แท้จริงด้วย อยากจะเน้นนิดหน่อยว่า อิสรภาพในความหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา ก็เริ่มต้นจากการศึกษาเช่นเดียวกัน คือจากภาวะความคิดในทางจิตใจ ซึ่งสัมพันธ์กับปัญญาที่เป็นคุณธรรมแกน เมื่อมีอิสรภาพที่แท้จริงแล้ว การแสดงออกมาก็เป็นเสรีภาพ เสรีภาพที่จะเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างแท้จริง เพราะมีปัญญาเป็นพื้นฐาน และจิตใจเรามีอิสรภาพก่อน เราไม่ถูกบีบคั้นเราไม่เป็นทาสของกิเลส เป็นต้น เราไม่เป็นทาสของความทุกข์ที่เป็นปมซ้อนอยู่ในตัวของเราเองแล้ว เราก็สามารถแสดงเสรีภาพออกมา และเสรีภาพของเรานั้นก็เป็นไปในทางที่จะเสริมสร้างคุณค่าแห่งชีวิตของมนุษย์ได้ เป็นไปในทางที่จะนำเอาความกรุณา ซึ่งเป็นคุณธรรม ออกเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นในการแก้ปัญหา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไป ฉะนั้นเสรีภาพในภาวะเช่นนี้ ที่มีอิสรภาพในใจเป็นพื้นฐาน จึงจะถือว่าเป็นเสรีภาพที่ถูกต้อง

แต่ถ้าหากจิตใจของเราเองไม่มีอิสรภาพ ไม่ได้ดำเนินมาในวิถีของปัญญา ก็จะกลายเป็นว่าเราตกเป็นทาสเองเสียก่อนแล้ว เราจะเป็นทาสของอะไร ๑. เราก็เป็นทาสของอวิชชา ๒. เราเป็นทาสของตัณหา และต่อไป ๓. เราก็เป็นทาสของปัญหาที่เป็นปมซ้อนในใจของเราเอง คือความทุกข์ ความทุกข์ของเราเองนั้นแหละจะเป็นปมซ้อน ทำให้เราแสดงออกในทางแก้ปมซ้อนปม หรือว่ากลบปมของตนเองในจิตใจ เสรีภาพแบบนี้มิใช่เป็นเสรีภาพที่แท้จริง มันเป็นเสรีภาพจากการที่มีปัญหาภายใน และแสดงออกมาเพื่อกลบเกลื่อนหรือระบายทุกข์ของตนเองเท่านั้น จะเป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างแท้จริงได้อย่างไร มันจะกลายเป็นเพียงการแสดงว่ามีเสรีภาพ ไม่ใช่มีเสรีภาพที่จะแสดง คือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นทาส หรือการที่ว่าเราตกเป็นทาสของทุกข์ ตกเป็นทาสของอวิชชา ตกเป็นทาสของตัณหาแล้ว เราอยู่ในบงการของสิ่งเหล่านั้น ถูกบงการให้ทำการต่างๆ อย่างที่เรียกกันเองตามอาการข้างนอกว่าเสรีภาพ ซึ่งที่จริง ก็คือการแสดงออกของทาสที่สามารถทำตามบงการของนายได้อย่างเต็มที่ เราเรียกบุคคลเช่นนี้ว่า เสรีทาส และเรียกภาวะเช่นนี้ว่า การเป็นทาสอย่างเสรี หรือเสรีภาพในการเป็นทาสนั้นเอง นี้ก็เป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่ง ในเรื่องความหมายของอิสรภาพและเสรีภาพ จะขอรีบผ่านเรื่องนี้ไปก่อน

พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา

เมื่อเรามองการศึกษากันจนถึงรากฐานสุดอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าตามความหมายทางพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว พุทธิศึกษาจะไม่แยกจากจริยศึกษา

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพุทธะ พระองค์ก็มีจริยะมาพร้อมเสร็จ ทรงสมบูรณ์ด้วยพุทธคุณทั้งสอง คือพระปัญญาและพระกรุณา คือปัญญาที่แท้มันจะมากับคุณธรรม ตั้งต้นแต่ความกรุณาเป็นต้นไป หมายความว่า ความรู้ชัดคือปัญญานี้ทำให้เกิดอิสรภาพ อันเอื้อแก่การเกิดของคุณธรรม มีกรุณาเป็นต้น และเป็นพื้นฐานของการแสดงออกอย่างอื่นที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นจริยธรรมในตัวของมันเอง โดยไม่ต้องมาอบรมสั่งสอนกันมากมายนัก

ส่วนหลักจริยธรรมต่างๆ ที่เราเรียนกันมากมาย ที่เป็นอย่างๆ เป็นข้อๆ นั้น เป็นเพียงช่องทางสำหรับผู้ที่มีการศึกษาแล้วหรือมีจริยศึกษาที่ถูกต้องแล้ว จะไปใช้ดำเนินชีวิตที่ดีงามต่อไป คือมันมิใช่ตัวจริงของจริยศึกษา จริยศึกษาที่แท้จริงนั้น อยู่ในตัวเองของการศึกษา หรือการศึกษาที่ถูกต้องนั้นแหละเป็นจริยศึกษาในตัวเอง และเป็นพุทธิศึกษาด้วย ส่วนจริยศึกษาที่เรียนกันเป็นข้อๆ ที่เราเรียกว่าจริยธรรมนั้น ก็แบบเดียวกับความรู้ประเภทศิลปวิทยา คือเป็นความรู้ขั้นรองหรือความรู้ประกอบ

ความรู้ประเภทอุปกรณ์ที่ศิลปทายกสอนให้เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้มีการศึกษาจะได้นำไปใช้สร้างประโยชน์ฉันใด ธรรมที่เราเรียกว่าจริยธรรม ก็เป็นช่องทางสำหรับผู้มีการศึกษาหรือมีจริยศึกษาในตัวแล้ว จะเอาไปใช้ชีวิตหรือประพฤติตนในทางที่จะสร้างประโยชน์ฉันนั้น คือเรามีการศึกษาเท่ากับเป็นผู้พร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีอยู่แล้ว เมื่อเรียนรู้หัวข้อจริยธรรมต่างๆ ก็เท่ากับเรารู้ทางที่จะดำเนินชีวิตที่ดีหรือชีวิตที่มีประโยชน์มากขึ้น

แต่ถ้าเราสอนเพียงจริยธรรมเป็นข้อๆ โดยไม่เข้าถึงตัวการศึกษาในภายในนี่แล้ว มันก็เป็นได้แต่เพียงความรู้ข้อมูลอย่างเดียว เหมือนกับเราสอนศิลปวิชาอาชีพต่างๆ ให้เขาได้มีอุปกรณ์นำไปใช้นั่นเอง เพราะฉะนั้น ในแง่ของพระพุทธศาสนา จึงถือว่าพุทธิศึกษาและจริยศึกษา คืออันเดียวกัน เป็นตัวการศึกษาที่แท้จริง

การเล่าเรียนอีกด้านหนึ่งคือ การศึกษาวิชาการต่างๆ เพื่อความรู้ความเข้าใจ ซึ่งอยู่ในเรื่องที่ของศิลปทายก การเล่าเรียนวิชาการประเภทนั้น ถ้าใช้ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา อาตมาจะขอเรียกว่าสุตศึกษา หรือสุตศิลปศึกษา เพราะได้บอกแล้วว่า ความรู้ประเภทที่เรามาเล่าเรียนสั่งสอนกันนี่มันเป็นประเภทที่เรียกว่า สุตะ

สุตะไม่ใช่ตัวปัญญา ไม่ใช่ว่าคนมีสุตะแล้วจะเป็นคนมีปัญญาเสมอไป สุตะนั้นเป็นความรู้ ประเภทรู้ข้อมูล รู้ข้อเท็จจริง รู้รายละเอียดอะไรต่างๆ มากมาย ความรู้ประเภททักษะ ทักษะคือการฝึกหัดการฝึกฝนให้มีความชำนาญ ภาษาเดิมเรียก สิปปะ หรือ ศิลปะตรงกับที่ปัจจุบันเรียกว่า หัตถศึกษา ก็เป็นความรู้จำพวกที่อยู่ในหน้าที่ของศิลปทายก ฉะนั้น ครูในหน้าที่ศิลปทายก ก็ให้การศึกษาประเภทที่เรียกว่าสุตศึกษา กับหัตถศึกษาหรือศิลปศึกษา ถ้าจะใช้ศัพท์ใหม่รวมกันให้สั้นก็ว่า สุตศิลปศึกษา อาตมามิได้มาเสนอให้เปลี่ยนศัพท์หรอก แต่ว่ามาทำความเข้าใจกัน เพราะเมื่อพิจารณาในแง่ของพระพุทธศาสนาโดยแท้แล้ว จะถือว่าการเรียนวิชาการต่างๆ นี้เป็นพุทธิศึกษาอย่างแท้จริงมิได้ นอกจากว่าเราจะพยายามโน้มนำให้เกิดการศึกษาที่แท้จริง จากจุดเริ่มต้นความคิดตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งอันนั้นจะพ่วงมากับจริยศึกษาในตัวเองแล้วเราก็จะมีพุทธิศึกษากับจริยศึกษา ซึ่งจะตั้งชื่อรวมเข้าเป็นอันเดียวว่ายังไงก็ได้ เป็นการศึกษาเพื่อตัวปัญญาที่แท้จริงอย่างหนึ่ง มีสุตศึกษาคือวิชาการต่างๆ เป็นความรู้ประเภทอุปกรณ์ สำหรับผู้มีการศึกษาแล้ว หรือมีปัญญาที่แท้แล้ว จะใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ แล้วก็จะมีหัตถศึกษาหรือศิลปศึกษา เพื่อฝึกฝนในด้านทักษะความเชี่ยวชาญ ความชำนิชำนาญในงานฝีมือต่างๆ

พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย

ต่อจากนี้ก็มีอีกอย่างหนึ่งคือพลศึกษา พลศึกษาในความหมายทางพระพุทธศาสนาว่าอย่างไร พละ แปลว่า กำลัง ความเข้มแข็ง หรือแข็งแรง ความเข้มแข็งเรามีเพื่ออะไร เรามีพละกำลังร่างกาย มีสุขภาพอนามัยดี เราต้องการให้คนแข็งแรงเพื่ออะไร ตอบในแง่การศึกษาก็ต้องว่า เพื่อประโยชน์สำหรับผู้มีการศึกษาแล้ว จะได้ใช้เป็นเครื่องช่วยในการที่จะดำเนินชีวิตให้ดี ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ผลดีขึ้น

พละนั้นจะต้องไม่มุ่งแต่เพียงความแข็งแรงทางร่างกาย และความชำนิชำนาญในการใช้พลังกาย เพราะว่าแม้แต่โจรก็ยังหัดกันให้แข็งแรง เพื่อว่าเขาจะได้ใช้ความแข็งแรงทางร่างกายนั้นในการทำงานของเขาให้สำเร็จผล และงานนั้นก็เป็นงานร้าย สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนก่อปัญหา

ถ้าพลศึกษามุ่งเพียงกำลังความแข็งแรงของร่างกายอย่างเดียว หรือความสามารถใช้กำลังกายให้ได้ผล ถ้ามุ่งเท่านี้พวกโจรก็มีพลศึกษามาก แต่ในแง่ของการศึกษาที่แท้ เราจะกำหนดได้ชัดว่า เราต้องการพละกำลังในทางร่างกาย ก็เพื่อให้มาอำนวยประโยชน์ในการดำเนินชีวิตที่ดีของมนุษย์ หรือในการแก้ปัญหาของมนุษย์

ดังนั้นถ้าจะให้ได้ความหมายสมบูรณ์ในทางการศึกษา พละจะต้องกินความถึงกำลังความเข้มแข็งในทางจิตใจด้วย เพราะความเข้มแข็งในทางร่างกาย อาจจะพ่วงมากับความอ่อนแอในทางจิตใจก็ได้ และเมื่อมีความอ่อนแอในทางจิตใจแล้ว กำลังกายจะมีประโยชน์อะไร จะเป็นเครื่องช่วยในการดำเนินชีวิตที่ดี หรือเป็นเครื่องสนับสนุนการแก้ปัญหาของมนุษย์ได้อย่างไร

คนที่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ตกเป็นทาสของอวิชชาตัณหาดังที่กล่าวมาแล้ว จะทำอะไรก็แสดงออกไปตามความวู่วาม ไปตามอำนาจบงการของกิเลสเหล่านั้น มันเป็นความอ่อนแอหรือความแข็งแรง แม้มีกำลังร่างกายแข็งแรงก็หาถือว่าแข็งแรงจริงไม่ ความจริงมันก็คือความอ่อนแอ คือการที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ไม่สามารถควบคุมบังคับตน เสร็จแล้วก็แสดงออกมาตามบงการของกิเลส คือไม่มีความเข้มแข็งในการควบคุมตน หรือควบคุมตนไม่ได้นั่นเอง เมื่ออยู่ในบงการของกิเลส กำลังกายก็กลับจะกลายเป็นเครื่องช่วยในการดำเนินชีวิตที่ร้าย หรือสนับสนุนการสร้างปัญหาของมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น

ในทางตรงข้าม คือ ตามความหมายของการศึกษา เราต้องการความแข็งแรงมาใช้ประโยชน์ ก็หมายความว่า เราต้องการให้คนสามารถควบคุม นำเอาพละกำลังทางร่างกายนี้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อการดำเนินชีวิตที่ดีและการแก้ปัญหาของมนุษย์ จึงต้องหมายถึงมีความเข้มแข็งในทางจิตใจด้วย ความเข้มแข็งในทางจิตใจนั้น แสดงออกมาในทางที่ว่า เมื่อรู้ความหมาย คุณค่ามีแรงจูงใจอะไรต่างๆ อย่างถูกต้องแล้ว ก็นำพละร่างกายนั้นไปใช้ในวิถีทางนั้นเท่านั้น ฉะนั้น พลศึกษาจะมีความหมายแค่การฝึกความแข็งแรงทางร่างกายเท่านั้นไม่ได้ จะต้องหมายถึงการฝึกความเข้มแข็งทางจิตใจด้วย เมื่อหัดกีฬา เราจะสอนกันว่าให้รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ให้รู้จักมีใจกว้าง ให้รู้จักความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ดังนี้เป็นต้น

การฝึกความมีน้ำใจเป็นนักกีฬานั้น คือการฝึกให้เขามีจิตใจที่เข้มแข็งใช่หรือไม่ เริ่มต้นตั้งแต่การควบคุมตนเองได้ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสเพียงอยากได้ชัยชนะตามอำนาจภวตัณหา พอแพ้ก็ขัดใจมีวิภวตัณหา รู้สึกว่าตัวถูกทำลายเกียรติ แล้วก็แสดงออกโดยความเป็นทาสของอารมณ์ กลายเป็นการแพ้ ๒ ชั้น แพ้ข้างนอกชั้นหนึ่งแล้ว ยังแพ้กิเลสข้างในอีกชั้นหนึ่งด้วย เป็นความอ่อนแอทั้ง ๒ ประการ เพราะฉะนั้น ให้คิดดูว่าความเข้มแข็งที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน และความเข้มแข็งในการศึกษาที่แท้จริงที่เราต้องการนั้น ก็อยู่ที่จุดดังอาตมาได้กล่าวมาแล้ว

เท่าที่กล่าวมานี้ก็มีความสัมพันธ์กันทั้งหมด คืออยู่ในเรื่องการศึกษา ได้พูดมาเป็นเวลาพอสมควรและคิดว่า ถึงแม้ท่านทั้งหลายจะให้เวลาต่อ ก็ไม่ควรพูดให้เกินเวลาจนเกินไป เพราะคงมีธุระอื่นที่จะต้องทำต่อไปอีก จึงเห็นว่า ควรจะยุติเท่านี้ก่อน

พระพุทธศาสนา
กับการพัฒนาการศึกษา

เจริญพร ท่านอาจารย์และนิสิตทั้งหลาย

อาตมภาพรู้สึกเป็นสิริมงคลที่ได้มีโอกาสมาพูดในสถานศึกษาขั้นอุดมศึกษา คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในครั้งนี้ และได้มาพูดในเรื่องที่แสดงถึงความสัมพันธ์กัน ระหว่างพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าพระสงฆ์นี่เป็นตัวแทน กับเรื่องการศึกษาซึ่งสถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งอำนวยให้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกันระหว่างทั้งสองฝ่าย

หัวข้อที่กำหนดให้พูด “พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษา” บอกถึงการที่เราจะนำเอาพระพุทธศาสนามาช่วยในการพัฒนาการศึกษา ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร การที่ใช้คำว่าการพัฒนาการศึกษา ทำให้รู้สึกคล้ายกับว่า การศึกษาที่เป็นอยู่นี้ยังไม่พัฒนาหรืออย่างไร เราจึงต้องมาพัฒนาการศึกษาขึ้นไป นี้เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาและสมัยนี้ก็มีความรู้สึกกันอย่างนั้นเสียด้วยว่า การศึกษาสมัยนี้ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร บางท่านถึงกับกล่าวว่าการศึกษาในประเทศเราเท่าที่ทำมาไม่ได้ผล หรือเกิดความล้มเหลว มีข้อเสียหายผิดพลาดประการต่าง ๆ มากมาย

แต่ทั้งนี้เราจะลงโทษเสียเลยว่า ไม่ได้ผลหรือล้มเหลว ก็เป็นการกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป ความจริงนั้น เท่าที่ดำเนินมาก็ต้องได้ผลอยู่เหมือนกัน แต่รู้สึกผิดหวังบ้าง ไม่ได้ผลเท่าที่เราต้องการ หรือเท่าที่ควรจะเป็นไป จากความรู้สึกผิดหวังนั้น จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาแสดงออกในการที่กล่าวอย่างรุนแรงว่า เป็นการศึกษาที่ไม่ได้ผล หรือล้มเหลว และความรู้สึกนี้ก็มีกันอยู่มากด้วย

ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา

อาตมภาพจะลองพูดถึงว่า เท่าที่ผ่านมานั้น การศึกษาในประเทศไทยของเราทำให้เกิดความรู้สึกกันว่า ล้มเหลวหรือไม่ได้ผลอย่างไร ข้อสรุปต่อไปนี้ อาตมภาพถือว่าไม่ใช่เป็นผู้กล่าวเอง แต่เป็นการได้ยินได้ฟังมา แล้วมาเล่าให้ฟังว่าการศึกษาในประเทศเราที่ว่าไม่ได้ผลหรือล้มเหลวนั้น มันมีข้อผิดพลาดประการใด ทำไมเราจึงจะต้องมาพัฒนาการศึกษากันด้วย ได้มีกล่าวกันไว้มากต่างๆ กัน อาตมาจะนำมากล่าวเป็นบางแง่บางเรื่องเท่านั้น เช่น มีกล่าวว่า

ระบบการศึกษาของเมืองไทยเท่าที่ผ่านมานั้นได้เกิดผลผิดพลาด คือ ทำให้ผู้ได้รับการศึกษาแล้วมุ่งกันแต่จะแข่งขันกันในการแสวงหาฐานะ หมายความว่ามุ่งที่จะใช้การศึกษาเป็นทางไต่ไปสู่ฐานะอันสูงส่ง และจากการที่พยายามจะแข่งขันกันเพื่อไต่ไปสู่ฐานะ ก็ทำให้เกิดค่านิยมในทางที่เห็นแก่ตัว ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือไปแสวงหาฐานะในทางสังคม และการแสวงหาฐานะในทางสังคมนั้น ก็หมายถึงการหาโอกาสที่จะแสวงความสุข บำเรอตนหรือเอารัดเอาเปรียบกันให้มากขึ้น สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดความผิดพลาดและปัญหาสังคมขึ้นต่างๆ นานา หมายความว่าปัญหาสังคมนั่นก็เป็นผลสะท้อนจากการศึกษานี้ด้วย โดยเฉพาะการที่ทำให้คนพยายามแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน อันนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ ๑ จะว่าเป็นข้อกล่าวหาหรือไม่เป็นข้อกล่าวหา เป็นความจริง ก็แล้วแต่

ประการต่อไป ในแง่จริยธรรมก็มีผู้พูดว่า การศึกษาในปัจจุบันนี้ไม่ประสบความสำเร็จในแง่จริยธรรม จริยธรรมเป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างหนึ่งในการให้การศึกษา เราเรียกว่าจริยศึกษา แล้วท่องจำมาสอบเป็นต้น ไม่ได้ผลในทางความประพฤติปฏิบัติ แล้วผลอันนี้ก็ปรากฏในรูปของความวิปริตผันแปรเป็นไปต่างๆ แห่งความประพฤติของเด็กและเยาวชนทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เห็นกันอยู่ทั่วไปในระดับนักเรียน ตลอดถึงนิสิตนักศึกษาด้วย ซึ่งแสดงถึงผลสะท้อนของการไม่มีหลักเกณฑ์ในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่น อันเป็นเรื่องของจริยธรรมนั่นเอง อันนี้ก็เป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง

ทีนี้ผลร้ายข้อต่อไปก็เกี่ยวกันกับข้อที่ได้กล่าวแล้วนั่นเอง คือว่า การให้การศึกษาเท่าที่ผ่านมานั้นมุ่งแต่ด้านวิชาชีพเกินไป จนกระทั่งไม่สอนกันหรือไม่ได้กระตุ้นเตือนกันในการที่จะใช้ความคิด หรือมุ่งแต่ด้านอาชีพ แล้วก็ทำให้คนนั้นมีความรู้สึกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้น แล้วมีความรู้ความคิดไม่กว้างขวางไม่เอาใจใส่ต่อสภาพความเป็นไปในสังคม ปรากฏผลออกมาในรูปของการไม่รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมและการดำเนินชีวิตแบบเอาตัวรอด นี้ก็เป็นภาพสะท้อนของความผิดพลาดอีกอย่างหนึ่ง

ประการต่อไปบอกว่า การศึกษาเท่าที่ทำมาไม่ได้ช่วยให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไป แม้แต่ในทางธรรมชาติด้วย ไม่ใช่แต่ในด้านสังคมเมื่อกี้นี้ที่เกี่ยวกับจริยธรรมเป็นเรื่องของความรับผิดชอบในทางสังคม แต่อีกด้านหนึ่งก็คือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เท่าที่ผ่านมา การศึกษาก็ไม่ได้ช่วยให้คนเห็นคุณค่าและรู้จักสงวนสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น แล้วก็สะท้อนกลับมาเป็นภัยแก่มนุษย์เอง จนกระทั่งบัดนี้เรามีความตระหนกตกใจและมีความเกรงกลัวกันมากว่า การที่เราช่วยกันทำลายธรรมชาตินี้ จะมีผลกลับกลายมา เป็นการทำลายล้างมนุษย์เองในกาลมิช้านี้ นี่ก็เป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง

ประการต่อไป ก็คือการศึกษานั้นต้องการพลศึกษา สุขภาพอนามัยด้วย แต่เท่าที่เป็นมาปรากฏว่าเกิดภาวะที่ไม่สมดุลย์ขึ้น ไม่ได้ผลเท่าที่ควรทั้งในด้านสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตใจ ในด้านสุขภาพทางกายก็ปรากฏว่า ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะที่อยู่ในถิ่นที่ห่างไกลนั้น ไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่ และการศึกษาเท่าที่ให้ไปขั้นมูลฐาน ก็ไม่ช่วยให้เขาออกไปแล้วสามารถธำรงรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่สุขภาพทางกาย เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องสุขภาพทางกายจึงแพร่หลายอยู่ในประเทศของเราในปัจจุบันนี้ อีกด้านหนึ่ง ในสังคมที่เจริญขึ้นไป แม้ว่าจะมีสุขภาพทางกายดีขึ้น แต่มีส่วนบกพร่องในสุขภาพอีกด้านหนึ่ง นั่นคือสุขภาพทางกายหรือทางวัตถุแล้ว สุขภาพทางจิตกลับเสื่อมโทรมลง แทนที่จะมีความสุขกันมากขึ้นกลับมีความทุกข์มากขึ้น แล้วคนที่เป็นโรคทางจิตก็มีสถิติสูงขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นแล้ว

ผลร้ายอีกอย่างหนึ่งก็คือ การศึกษาในปัจจุบันนี้ไม่สนองความต้องการของท้องถิ่นหรือชุมชนหรือสังคมในแต่ละหน่วยย่อย เท่าที่การศึกษานั้นควรจะให้ เช่น คนที่ได้รับการศึกษาไปแล้ว ไม่สามารถใช้การศึกษานั้นช่วยท้องถิ่นหรือชุมชนของตน ไม่สามารถเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาความเป็นอยู่ในชุมชนนั้นได้ เพราะวิชาการที่เรียนไปนั้นเป็นวิชาการที่ห่างไกลตัว และเรียนชนิดที่ไม่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนของตัวเองไม่ได้รับการเอาใจใส่ และมีแต่วิชาการที่หยิบให้เป็นก้อนไป เอาไปใช้ไม่ได้ พอสำเร็จการศึกษาขั้นต้นไปแล้วสมมติว่าไปอยู่บ้านก็ไปช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ไม่ได้ ทำให้วิชาการที่เรียนไปเป็นหมัน เป็นเพียงวิชาหนังสืออยู่เฉยๆ เมื่อเรียนเสร็จแล้วเด็กไม่ได้ใช้อีกไม่กี่ปีก็ลืมหนังสือหมด อย่างนี้เป็นต้น เป็นอันว่าความรู้หรือการศึกษาที่เรียนไปนั้นไม่เป็นประโยชน์ ในการที่จะสนองความต้องการของท้องถิ่น ของชุมชน หรือสังคมของตน

ประการต่อไปก็เป็นเรื่องสำคัญมากเหมือนกัน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบัน เป็นข้อปรารภในหมู่ผู้บริหารการศึกษาทั้งหลาย คือเรื่องของปัญหาความเสมอภาคทางการศึกษา ปรากฏว่าการดำเนินการศึกษาของเราเท่าที่ทำมาได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า การศึกษาโดยเฉพาะในระบบประชาธิปไตยนี้ เราจะต้องพยายามให้ความเสมอภาคแห่งโอกาสในการที่จะได้รับการศึกษาแก่ประชาชน เราเริ่มต้นมีการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ หรือต่อมาเป็นการศึกษาสำหรับมวลชนอะไรทำนองนี้ มีความมุ่งหมายที่จะขยายการศึกษาให้ทั่วถึงให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับต่างๆ โดยไม่ขีดขั้น โดยฐานะทางเศรษฐกิจหรือโดยทางภูมิศาสตร์ พยายามให้พลเมืองได้เข้าถึงการศึกษาในระดับต่างๆ อย่างเสมอภาคกัน

แต่เท่าที่ดำเนินมาปรากฏว่าเราไม่บรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายนี้ ยิ่งเราดำเนินการศึกษาไป ก็ปรากฏว่าเรายิ่งห่างไกลจากเป้าหมายทางการศึกษานี้ออกไปทุกที ปัจจุบันนี้ยอมรับกันว่าการศึกษาของรัฐโดยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาของชนที่มีโอกาสเหนือกว่าในสังคม ทั้งนี้เป็นเรื่องของการได้เปรียบทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และทางภูมิศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง หมายความว่าบุคคลที่อยู่ในถิ่นเจริญมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงกว่า ยิ่งมีเศรษฐกิจดีด้วยก็ยิ่งมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้นจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่อยู่ต่างจังหวัดก็ยิ่งเสียเปรียบทางภูมิศาสตร์ และยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีก็อาจไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเลยก็ได้ อย่างดีก็ได้รับการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาตอนต้น ยิ่งอยู่ในชนบทห่างไกล ยิ่งต้องการการศึกษาสูงขึ้นไปเท่าไร ก็ยิ่งต้องมีฐานะเศรษฐกิจสูงมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในสถิติการศึกษาชั้นสูงระดับมหาวิทยาลัยจะปรากฏให้เห็นสภาพเช่นนี้ชัดเจน เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปรากฏว่าสถิติการศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นการศึกษาสำหรับชนที่อยู่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ นักศึกษาประมาณ ๗๐% อยู่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคนั้นมีน้อยเหลือเกิน

ทีนี้ว่ากันในทางเศรษฐกิจในด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็ปรากฏว่าผู้ที่เป็นบุตรของข้าราชการหรือพ่อค้าได้รับการศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัยถึง ๗๕% ส่วนลูกของกสิกรมีโอกาสเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพียง ๖% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ว่าเมืองไทยของเรานี้ส่วนใหญ่เป็นชาวนาหรือกสิกรถึง ๗๕-๘๐% อันนี้ก็เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ต่างๆ ทางด้านการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นข้อผิดพลาดหรือความล้มเหลวในการให้การศึกษาในสังคมไทย

ปัญหาต่างๆ เท่าที่กล่าวมานี้ ถือเป็นเพียงตัวอย่าง เป็นข้อสำคัญๆ อาจจะยังมีอีก แต่ไม่จำเป็นจะต้องสาธยายไปให้หมดทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้ก็รวมได้เป็น ๒ แง่ด้วยกันคือ

๑. ปัญหาทางด้านเนื้อหาหรือสาระของการศึกษา เช่นที่ให้การศึกษาไปนั้น ไม่ได้ผลทางจริยธรรมอะไรอย่างนี้ เป็นต้น

๒. ปัญหาเรื่องการดำเนินการ คือ รูปแบบ ระบบ วิธีการศึกษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เช่น การดำเนินการศึกษานั้น ไม่ให้ความเสมอภาคทางด้านโอกาสในการศึกษา

นี้เป็นการสรุปปัญหาเกี่ยวกับการให้การศึกษา เป็น ๒ ข้อใหญ่ คือ เรื่องเนื้อหาสาระ และวิธีดำเนินการ หรือรูปแบบ และระบบวิธี

ทีนี้ในวันนี้ อาตมภาพก็คงไม่สามารถกล่าวได้ทั่วถึงทั้ง ๒ ด้าน จะต้องจำกัดตัวเอง พูดเฉพาะแต่เรื่องเนื้อหาสาระเป็นสำคัญ และพูดเฉพาะบางแง่บางส่วนเท่านั้น

ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา

ในเมื่อเราจะมาพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาในการพัฒนาการศึกษาว่าจะทำกันอย่างไร และโดยเฉพาะในกรณีนี้เราต้องพิจารณาว่าจะนำเอาพุทธศาสนามาใช้ในการพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร ก่อนที่เราจะพูดถึงจุดนี้ เราควรกลับไปพิจารณากันเสียก่อนว่า การศึกษาคืออะไร อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเพราะเรื่องเนื้อหาสาระของการศึกษานี้ที่มันไม่ได้ผล ก็เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น ในข้อที่ว่า ตัวการศึกษานั้นความหมายของมันคืออะไรแน่ อาจจะเริ่มเข้าใจผิดมาตั้งแต่ความหมายของการศึกษาเลยทีเดียว เมื่อเข้าใจความหมายของการศึกษาผิด ก็ทำให้หลักปรัชญาที่จะนำมาใช้กับการศึกษาผิดไปด้วย กำหนดวิธีการก็จะผิดพลาดไปหมด ผลออกมาก็จะกลายเป็นความล้มเหลวหรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทีนี้เราควรตรวจสอบดูว่า การศึกษานั้นคืออะไร และมีความมุ่งหมายอย่างไร

ว่าถึงความหมายของการศึกษานั้น ก็มีผู้ให้ไว้มากมายหลายแบบ แต่ละแบบแต่ละหลักการก็ดีๆ กันทั้งนั้น น่าฟัง ในที่นี้ก็ไม่ใช่โอกาสที่จะกล่าวถึงว่าแต่ละคนให้ความหมายของการศึกษาไว้อย่างไรบ้าง คงจะต้องเลือกเอาสักอย่างหนึ่ง ความจริงนั้นเอาสักอย่างหนึ่งก็ได้ ความหมายที่พอใช้ได้นั้น เอาอย่างเดียวก็พอ เนื้อหาหรือความเข้าใจในถ้อยคำที่ใช้ในคำจำกัดความต่างหากที่ถือว่าสำคัญ อาตมาจะขอยกตัวอย่างมาสักแบบหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

“การศึกษาคือขบวนการสร้างปัญญาและคุณธรรม ความสามารถอันเป็นส่วนประกอบอย่างอื่นๆ ที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาล่วงพ้นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง นำชีวิตให้เจริญงอกงามไปสู่ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด และเสวยผลแห่งความมีชีวิตได้โดยสมบูรณ์”

อันนี้ความหมายของการศึกษาอย่างหนึ่ง คำจำกัดความบางทีก็ไม่สำคัญเท่าไร เอามาสักอย่างหนึ่งที่เราเห็นว่าเข้าใจได้ และถูกต้องพอสมควร ที่สำคัญก็คือถ้อยคำที่ใช้ในนั้นเอง แต่ละคำมีความหมายทั้งสิ้น ทีนี้เราเข้าใจคำจำกัดความนั้นว่าอย่างไร ความสำคัญอยู่ที่คำแต่ละคำซึ่งใช้ในคำจำกัดความรวมนั้น ปัญหาเรื่องถ้อยคำที่ใช้มีมากมาย เขาบอกว่า ขบวนการสร้างปัญญา ปัญหาก็มีว่าอะไรคือตัวปัญญาที่แท้จริง และที่เราสร้างกันมานั้น คือปัญญาหรือไม่ ปัญญานั้นหมายถึงการรู้อะไรกว้างขวาง มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สามารถรู้ รู้เรื่องราว รู้วิชาการ รู้ข้อเท็จจริง ข้อมูลต่างๆ มากมาย ฉลาดในวิธีการหาเลี้ยงชีพของตน นั่นคือปัญญาใช่หรือไม่ อย่างที่รู้มานี้ถูกหรือไม่ เป็นปัญญาแท้จริงหรือไม่ นี่ก็เป็นปัญหาเรื่องความหมายของถ้อยคำอีกแล้ว นี่อย่างที่หนึ่ง ทีนี้ต่อไปชีวิตเองก็มีปัญหา ชีวิตคืออะไรและแค่ไหน เขาบอกว่าการศึกษาจะช่วยให้ชีวิตเจริญงอกงาม หมายความว่าชีวิตเราเฉพาะตัว ชีวิตแต่ละบุคคลหรืออย่างไร อันนี้ก็ เป็นปัญหา ซึ่งจะได้วิเคราะห์กันต่อไป

ข้อต่อไป นำชีวิตให้เจริญงอกงามไปสู่ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด และเสวยผลแห่งความมีชีวิตโดยสมบูรณ์ ผลแห่งความมีชีวิตหรือผลดีที่ชีวิตต้องการนั้นคืออะไร อันนี้ก็เป็นปัญหาอีก เราต้องการอะไร อะไรจะให้ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด อะไรจะให้ความสุขแก่มนุษย์ ทรัพย์สินเงินทอง ความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุสำหรับปรนเปรอความสุขอย่างนั้นหรือเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการ หรือเป็นความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด อันนี้ก็เป็นคำถามที่ต้องพิจารณา

ต่อไปก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับถ้อยคำเช่นเดียวกัน อะไรคือความขัดข้องหรือสิ่งกีดขวางแห่งชีวิต ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ชีวิตมีสิ่งขัดข้องอยู่เสมอ เราอยากจะสร้างตึกต้นไม้ก็ขัดข้องสำหรับเรา พอตัดต้นไม้ลงไปก็สร้างตึกได้ พอสร้างตึกลงไปเป็นที่อยู่ ก็มานึกอีกทีว่าอยากทำให้ที่อยู่มีอากาศเย็นๆ อีกแล้ว ต้องติดเครื่องปรับอากาศ ถ้าไม่มีเงินพอ จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศได้ก็เป็นความขัดข้องอีกแล้ว อันนี้ก็เป็นปัญหา หมายความว่าการศึกษาจะช่วยเราแก้ปัญหาอย่างนี้ตลอดไปหรือ หรือว่าเรามีเงินน้อย เราพออยู่พอกิน เฉพาะซื้อหาอาหารมาทำเองรับประทาน ทีนี้เราอยากกินอาหารในภัตตาคารบ้าง โก้ดี แต่ไม่มีเงินพอ ก็เป็นความขัดข้องอีกแล้ว ไม่สามารถเข้าภัตตาคารได้ การศึกษาจะต้องมาช่วยแก้ปัญหาแบบนี้หรือ หรือเราไม่มีรถยนต์นั่ง ก็อยากจะมีบ้าง จะได้นั่งไปไหนๆ สะดวกสบายและโก้เสียด้วย อันนี้ทำอย่างไรก็ต้องหาทางซื้อรถยนต์ ซื้อรถยนต์ได้แล้วมันไม่สวยเท่าที่ควรถ้าจะต้องเปลี่ยนใหม่ เงินไม่พออีกแล้ว ก็เกิดความขัดข้อง เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเป็นความขัดข้องต่างๆ ซึ่งในชีวิตเราจะประสบอยู่เสมอ ความเป็นอยู่วันหนึ่งๆ ก็มีปัญหาที่บีบคั้นขัดข้องอีกมากมาย คนอื่นก็เป็นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง ธรรมชาติก็เป็นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง ปัจจัย ๔ ที่ไม่พอก็เป็นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง ทีนี้การศึกษาเป็นสิ่งที่จะแก้ไขสิ่งบีบคั้นขัดข้อง เราก็ต้องรู้เสียก่อนว่า สิ่งบีบคั้นขัดข้องที่แท้จริงนั้นคืออะไร และอะไรเป็นปัญหาที่แท้จริงนี้ด้วย

เท่าที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำ ซึ่งเป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานในหัวข้อสำคัญๆ เกี่ยวกับการศึกษา เช่นเรื่องปัญญา จุดที่ผิดพลาดก็เริ่มต้นที่นี่เอง ถ้าเรามีความเข้าใจผิดพลาดในความหมายของการศึกษา ซึ่งกระจายออกไปเป็นความเข้าใจในถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษาแล้ว แม้จะดำเนินการศึกษาไปอย่างไร ผลที่สุดก็ต้องผิดพลาดอยู่นั่นเอง เพราะว่าความเข้าใจเบื้องต้นที่เป็นรากฐานนั้นผิดเสียแล้วก็มีปัญหาเรื่อยไป แล้วก็มีปัญหาวนเวียนตั้งต้นกันใหม่อีก แล้วก็ล้มเหลวกันเรื่อย เช่น ตัวอย่างที่พูดมา ถ้าเรามีความเห็นว่า สิ่งที่จะให้ความสุขหรือสิ่งที่ดีที่ชีวิตต้องการก็คือวัตถุปรนเปรอความสุขอย่างมากที่สุด ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ความหมายของปัญญาก็จะคล้อยตามความหมายนี้เข้าไป นั่นคือปัญญาก็คือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับแสวงหาวัตถุมาปรนเปรอความสุข เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว สิ่งบีบคั้นขัดข้องคืออะไร ก็คือสิ่งอื่น มนุษย์อื่น ธรรมชาติแวดล้อมที่เราเห็นว่าไม่สนองความต้องการ หรือไม่พอแก่ความต้องการ ที่จะให้เรามาซึ่งวัตถุปรนเปรอเหล่านั้น ความเข้าใจความหมายของการศึกษาก็จะเป็นไปในรูปเช่นนี้

ทีนี้ก็ต้องถามกันว่า ตามที่เป็นมาเราเข้าใจความหมายของการศึกษาอย่างนี้หรือไม่ ถ้าหากว่าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดและก็ถือได้ว่าเป็นตัวเหตุของการศึกษาที่ผิดพลาด เท่าที่ผ่านมา เพราะว่าความหมายของการศึกษาแบบนี้เป็นไปในแง่ที่บิดเบือน เคลือบแฝง แปลงความหมายให้เข้าข้างตนเรื่อยไปตั้งแต่เริ่มต้น ความหมายแบบนี้เป็นความหมายที่เสริมสร้างความเห็นแก่ตัว ถ้าใช้ศัพท์ทางศาสนาก็หมายความว่าเป็นการขยายอัตตาหรือตัวตนให้กว้างขวางออกไปเรื่อย แม้แต่ความหมายก็เป็นไปในลักษณะที่เห็นแก่ตัวแล้วถ้าหากเราถือว่า ความเห็นชนิดนี้เป็นความเห็นที่ผิด เราก็ต้องแก้ไขตั้งแต่ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำทางการศึกษาเป็นต้นไป ทำความเข้าใจกันใหม่ทุกๆ คำ

ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา

ที่ว่ามานั้นไม่ใช่เป็นการตัดสินว่าผิด แต่เสนอให้คิดว่า อาจจะผิดก็ได้ ที่นี้ถ้ายอมรับว่าผิด ก็ลองมาคิดกันใหม่

๑. เริ่มต้นเราลองมาทบทวนความหมายของคำว่าชีวิตก่อน ชีวิตที่ดีนั้นเรามักจะนึกถึงชีวิตของเราแต่ละคน แต่ความหมายของคำว่าชีวิตนั้นจะต้องกว้างขวางยิ่งกว่านั้น มันหมายถึง ชีวิตที่เป็นกลางๆ คำว่าชีวิตเป็นของกลางๆ ไม่ได้เป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นของคนทุกคน และชีวิตนั้นเนื่องต่อกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน อย่าว่าแต่ชีวิตของมนุษย์เลย แม้แต่ชีวิตของสัตว์และพืช ก็เป็นชีวิตที่เนื่องกับเราทั้งสิ้น ถ้าดึงความหมายเข้าตัว เป็นชีวิตของเรา ก็ต้องนึกแผ่ออกไปถึงชีวิตเขาอื่นด้วย ชีวิตที่ดีที่เราต้องการก็คือ ความเป็นอยู่ที่ดีทั่วๆ ไป และความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกัน ถ้าหากเราให้ความหมายชีวิตที่ดีในแง่ที่เป็นกลางๆ อย่างนี้แล้ว เวลาจะทำอะไรเราจะนึกถึงประโยชน์แก่ชีวิตคือ ความเป็นอยู่ ไม่ใช่ของชีวิตคือตัวเรา แก่ชีวิตมนุษย์ที่เป็นกลางๆ ไม่จำกัดว่าชีวิตเรา ชีวิตเขา นึกถึงสิ่งที่ทำนั้นเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตที่เป็นกลางๆ หรือไม่ มีผลกระทบกระเทือนแก่ชีวิตกลางๆ หรือไม่

ถ้าจะแย้งว่าจะเป็นไปได้หรือ ในเมื่อชีวิตของคนนั้นต้องพยายามแสวงหา เพื่อสนองความต้องการส่วนตัวของชีวิตแต่ละชีวิต และในการสนองความต้องการของชีวิตแต่ละชีวิตนี้เราก็ต้องมีความเห็นแก่ตัว แม้แต่ในแง่นี้ก็เช่นเดียวกัน เรามีโอกาสที่จะขยายความเห็นแก่ตัวให้เป็นความเห็นแก่ชีวิตกลางๆ คือเห็นแก่ส่วนรวมได้ ในกรณีที่ต้องการผลประโยชน์อะไร เพื่อสนองความต้องการส่วนตัวของเรา เราก็พิจารณาได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตส่วนรวม การแก้ปัญหาชีวิตของเราชีวิตหนึ่งก็เป็นการแก้ปัญหาชีวิตส่วนรวมไปด้วยส่วนหนึ่ง การที่เราได้รับผลสนองความต้องการของชีวิตของเรา หรือการที่เราช่วยชีวิตของเรานั้น เป็นการช่วยชีวิตส่วนรวมไปด้วยคือ ทำให้เราพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นปัญหา ไม่พลอยเป็นภาระแก่ชีวิตที่ร่วมกัน หรือเป็นเครื่องถ่วงเครื่องดึงหรือก่อความบกพร่องแก่ชีวิตส่วนรวม และอันนี้เป็นเครื่องวินิจฉัยประโยชน์ส่วนตนที่แสวงหาหรือได้รับด้วย ว่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตหรือไม่ คือ ถ้าสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ส่วนตัวนั้นช่วยเสริม หรือช่วยแก้ส่วนบกพร่อง หรือช่วยผ่อนภาระของชีวิตที่เป็นกลาง ก็ถือว่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่ถ้าสิ่งนั้นกระทบกระเทือนบั่นทอนหรือก่อความเสียหายแก่ชีวิตส่วนรวม ก็ถือว่าไม่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต

ถ้าความหมายของชีวิตเป็นไปในลักษณะเป็นกลางๆ อย่างนี้แล้ว มันจะช่วยเราอยู่เสมอในการที่จะรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะว่าการกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ที่ร่วมกัน มันก็เกิดจากความรู้สึกนึกคิดในทางที่ไม่รู้สึกรับผิดชอบต่อกัน หรือความไม่รับผิดชอบต่อชีวิตนั้นเอง แล้วการแสวงหาของแต่ละคนก็นำมาซึ่งความกระทบกระเทือนต่อผู้อื่น หรือชีวิตที่เป็นกลางๆ แล้วก็เกิดความขัดแย้ง แล้วก็เกิดภาวะที่เรียกว่าการเอารัดเอาเปรียบ การแย่งชิงเป็นต้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตที่เป็นกลางๆ ขึ้นมาแล้ว เวลาทำการอะไรก็จะเป็นไปในแง่ที่มีการเตือนสติตนเองว่า ผลได้ที่เราได้มานี้เป็นผลได้ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตส่วนรวม หรือเกื้อกูลแก่ชีวิตที่เป็นกลางๆ หรือไม่ อย่างน้อยถ้าเราจะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง สิ่งนั้นก็จะเป็นไปเพื่อรักษาชีวิตเรา ไม่ให้เป็นปัญหาสร้างภาระแก่ชีวิตส่วนรวมนั้น นี่เป็นข้อที่พึงพิจารณาในเรื่องความหมายเกี่ยวกับชีวิต

ข้อต่อไป อะไรเป็นผลดีแก่ชีวิตหรืออะไรที่ชีวิตต้องการ ผลดีที่ต้องการนั้นไม่ควรจะเป็นผลดีที่มาสนองแต่ความต้องการของตน ในการที่จะมาห่อหุ้มตัวอัตตาของเราให้หนาขึ้น ให้มันใหญ่ขึ้น ถ้าเราขยายตัวอัตตาของเราให้ใหญ่โต มันก็มีโอกาสกระทบกระเทือนกันมากขึ้น คนที่อัตตาใหญ่ ยึดมั่นในอัตตา ได้อะไรมา ได้สมบัติมา ก็ขยายตัวอัตตาให้ใหญ่ไปตามสิ่งที่ได้มานั้น มันก็มีโอกาสถูกกระทบกระเทือนมากขึ้น เรามีโต๊ะตัวหนึ่ง เรายึดมั่นในโต๊ะนั้นว่า โต๊ะนี้เป็นของเรา พอใครมากระทบกระทั่งโต๊ะ ตัวของเราก็ขยายไปรับการกระทบ ความขัดแย้งก็เกิดมีขึ้น คนเรามักขยายตัวตนออกไปเสมอ เพราะความยึดมั่นของตนเอง

อีกอย่างหนึ่งคือ ในการแสวงหาอำนาจ พอมีอำนาจก็มีความยึดมั่นในอำนาจ ตัวเราก็ขยายใหญ่ตามอำนาจนั้นขึ้นไป พอมีความกระทบกระเทือนบีบคั้น หรือมีอะไรท้าทายอำนาจนั้น ก็หมายถึงตัวตนถูกกระทบกระเทือนบีบคั้น ถูกท้าทาย เมื่อตัวตนถูกกระทบกระเทือนก็ยิ่งทำให้มีความยึดมั่นหวงแหนเป็นทุกข์ที่จะต้องพยายามรักษาอำนาจไว้ พยายามกระทำการต่างๆ เพื่อปกป้องอำนาจนั้น โดยไม่คำนึงถึงความกระทบกระเทือนต่อชีวิต ก็ทำให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้อื่น แก่สังคม หรือแก่ชีวิตมนุษย์นั่นเอง การขยายอัตตาแบบนี้เป็นการเพิ่มทุกข์ให้แก่ชีวิต เรียกว่าเป็นปมซ้อนขึ้นภายใน ก่อความทุกข์ให้แก่ตนและก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นเพิ่มพูนขยายออกไปทุกที เรามีอำนาจ เราหวงอำนาจ ก็ถูกกระทบกระเทือนเพราะอำนาจ ทำให้อัตตาขยายใหญ่ขึ้นไป ทีนี้พอมีการกระทบกระเทือนก็มีความหวาดระแวง เราก็มีความทุกข์ใจ ทำให้เกิดความคับแค้นใจบ้าง ทำให้เกิดความเศร้าโศกใจเสียบ้าง จากความเศร้าโศกเสียใจที่เป็นอวิชชา ก็นำมาเป็นความคิดหวงแหน เป็นไปในทางที่จะทำลายผู้อื่น ทำให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่นขยายออกไป

ความทุกข์ของมนุษย์นั้นก็เป็นไปในรูปนี้เป็นอันมาก อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่ง สิ่งที่พึงย้ำในที่นี้ก็คือ จะต้องเข้าใจว่าผลดีต่อตัวตนและผลดีต่อชีวิต หรือสิ่งที่ตัวตนต้องการ กับสิ่งที่ชีวิตต้องการนั้นคนมักเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ที่จริงมีความหมายไม่เหมือนกัน

๒. ทีนี้ต่อไปคือ สิ่งบีบคั้น ความขัดข้อง อะไรเป็นสิ่งบีบคั้นอย่างแท้จริงของชีวิต อะไรเป็นสิ่งบีบคั้นที่ไม่แท้จริง คือเป็นเทียมๆ หมายความว่าสิ่งบีบคั้นมีทั้งของจริงและของไม่จริง อย่างที่ว่าข้างต้นนั้นบางอย่างเราทำให้เกิดเป็นความขัดข้องแก่ชีวิตเพราะกิเลสคือความโง่ของเราเอง เราอยากได้เพิ่มขึ้น ถ้าไม่ได้ก็เป็นความขัดข้องของเรา ถ้าหากจะต้องสนองความต้องการส่วนตัวอย่างนี้ตลอดไปแล้ว เราไม่มีทางที่จะถึงจุดจบ การศึกษาก็ไม่สามารถช่วยให้มนุษย์แก้ปัญหาความขัดข้องอย่างนี้ได้หมด เพราะไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะมาใช้สนองทันความอยากของมนุษย์ คนหนึ่งต้องการมากอีกคนหนึ่งก็ต้องเสียโอกาสไป การแย่งชิงเบียดเบียนกันก็ไม่มีจุดจบ แล้วมนุษย์ก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงความสุขอย่างแท้จริง แล้วปัญหาความขัดข้องอย่างนี้มันเป็นของเทียม เราได้สิ่งของสิ่งนั้นมา ตอนแรกเรายังไม่ได้สิ่งนั้น เราต้องการ เรารู้สึกเป็นการบีบคั้นขัดข้องในการที่ยังไม่มีหรือยังไม่ได้ เมื่อได้มาแล้วเราเกิดความเบื่อมัน ความเบื่อนั้นกลายเป็นความบีบคั้นขัดข้อง เพราะฉะนั้นการขัดข้องบีบคั้นนี้ เราอาจจะสร้างมันขึ้นมาเอง จะต้องแยกกันให้ออก ระหว่างสิ่งบีบคั้นขัดข้องต่อชีวิตอย่างแท้กับอย่างเทียม ปัญหาที่เราสร้างขึ้นจากอัตตาที่ยึดมั่นเอง เป็นความบีบคั้นอย่างเทียม พูดอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่บีบคั้นชีวิตเป็นสิ่งบีบคั้นแท้ แต่สิ่งที่บีบคั้นตัวตนเป็นสิ่งบีบคั้นเทียม

๓. ต่อไปคือตัวปัญญา ปัญญาที่แท้จริงคืออะไร ความหมายของปัญญาจะสอดคล้องกับความหมายของถ้อยคำที่กล่าวมาข้างต้น การแสวงหาแบบที่มุ่งสนองความต้องการหรือความอยากของตัวตนนั้น ทางพระท่านเรียกว่า ตัณหา คือความทะยานอยากในกาม เป็นความต้องการที่เห็นแก่ตน ทีนี้ปัญญาที่เราจะมีในกรณีนี้ก็คือ ความรู้ความฉลาดต่างๆ ที่จะเป็นอุปกรณ์ เพื่อแสวงหาสิ่งที่จะมาปรนเปรอตัวตัณหานั้น ปัญญาที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นปัญญาเพื่อรับใช้ตัณหา เป็นปัญญาที่ช่วยขยายตัวอัตตาและสะสมทุกข์ให้มากขึ้น อย่างนี้ไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ถ้ามีเวลาจะได้พูดข้างหน้าในตอนที่ว่าด้วยพระพุทธศาสนาโดยตรง

คำที่กล่าวมานั้น เป็นคำที่มีความหมายควรที่เราจะศึกษา และทำความเข้าใจให้ถูกต้องและชัดเจนทั้งสิ้น อาตมภาพเสนอเพียงเป็นข้อคิดที่ควรพิจารณา ไม่ได้หมายความว่าท่านทั้งหลายจะต้องเห็นด้วย แต่ถ้าสมมติว่าเห็นด้วย เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ถ้าหากเห็นด้วยว่าวิธีการให้ความหมายถ้อยคำต่างๆ ในรูปที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นทางของการสร้างเสริมขยายอัตตาหรือตัวตน หรือความเห็นแก่ตนให้มากมายใหญ่โตขึ้นถ้าเห็นว่าความหมายอย่างนี้เป็นความหมายผิดพลาดแล้ว ก็จะต้องกำหนดความหมายที่ถูกต้องขึ้นมา และสร้างสิ่งที่เรียกว่าคุณค่า หรือค่านิยม หรือรูปแบบความเจริญงอกงามต่างๆ ในขบวนการศึกษา ให้เป็นชนิดซึ่งจะไม่มาห่อหุ้มขยายพอกพูนตัวอัตตานี้ให้มันใหญ่กว้างออกไป ไม่ใช่เป็นการศึกษาเพื่อเพิ่มทุกข์ แต่จะต้องเป็นไปในรูปที่ว่าจะให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำหรับชำระล้างให้ตัวอัตตานี้หดหายไป ให้หมดตัวตนที่สร้างขึ้นมาเป็นปมซ้อนอยู่ในชีวิต ให้เหลือแต่ชีวิตแท้ๆ ชีวิตที่บริสุทธิ์ มิให้เป็นการศึกษาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์มาปรนเปรอสนองความต้องการของตัวตน แต่ให้เป็นการศึกษาเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต พูดสั้นๆ ว่า มิใช่เป็นการศึกษาเพื่อตัวตน แต่เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต

วิธีนี้จะเป็นไปได้อย่างไร เป็นข้อที่เราควรจะพิจารณาต่อไป ซึ่งก็หมายความว่าการศึกษาที่พึงประสงค์ในที่นี้ ควรจะมาตกลงกันก่อน ว่าให้เป็นการศึกษาเพื่อค้นหาตัวปัญญาที่บริสุทธิ์ หาความเจริญงอกงามภายในจิตใจ เช่นความเจริญงอกงามของปัญญาและคุณธรรมต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีเป็นความเจริญงอกงามของชีวิต แล้วจากการที่เรามีภายในที่ดีและการดำเนินชีวิตที่ดีแล้วนี้ จะทำให้เราสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นส่วนสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอย่างได้ผลดี เป็นการเกี่ยวข้องที่บริสุทธิ์ และเป็นผลดีร่วมกัน นี้เป็นผลดีของชีวิตที่เป็นกลางๆ หรือชีวิตที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน จะเรียกว่า การศึกษาเพื่อชีวิต เพื่อสังคม และเพื่อธรรมชาติก็ได้

พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ

ต่อไปนี้จะได้มาพิจารณาในแง่ของพระพุทธศาสนา เท่าที่กล่าวมานั้น เป็นข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อตัดปัญหา จะได้เข้าสู่การพิจารณาตามหลักพระพุทธศาสนาต่อไป เมื่อมาสู่ทิศทางนี้แล้วเราก็จะได้วิเคราะห์ว่า จะนำพระพุทธศาสนามาใช้ได้อย่างไร เพื่อให้เป็นไปตามความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษาเท่าที่กล่าวมาแล้ว

ถ้าหากจะพิเคราะห์ในแง่ของพระพุทธศาสนา ความคิดจะดำเนินไปในรูปต่อไปนี้คือ ถ้าต้องการอย่างที่ว่ามานั้นแล้ว เราจะต้องปลูกฝังค่านิยม คุณสมบัติหรือภูมิธรรมต่อไปนี้ ให้เป็นรากฐานในการสร้างสรรค์ความเจริญและการดำเนินชีวิต และหลักการต่อไปนี้ ให้เป็นรากฐานในการสร้างสรรค์ความเจริญ และการดำเนินชีวิตและหลักการต่อไปนี้เป็นหลักการตามแนวพระพุทธศาสนา

ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ

๑. เรื่องที่กล่าวข้างต้นที่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย ก็คือ การที่มนุษย์พยายามแสวงหาในทางที่เป็นความเห็นแก่ตัว มุ่งประโยชน์แก่ตัวตน และสร้างความหมายไปในทางที่จะส่งเสริมพอกพูนอัตตาให้ขยายใหญ่โตขึ้นเมื่อมนุษย์มีความเห็นแก่ตน ตีความหมายในทางที่จะส่งเสริมตัวอัตตาอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าแม้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ก็จะตีความหลักธรรมให้เป็นไปเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ตนได้

ยกตัวอย่างเช่น หลักธรรมหลักหนึ่งคือหลักธรรม หลักใหญ่ใจความที่เป็นเนื้อหาสาระของหลักธรรมคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนี้ทุกคนทราบดี จากหลักเกณฑ์ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี้ ก็มาตีความหมายว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นอย่างไร เมื่อมนุษย์ตีความหมายคำต่างๆ ในทางที่เห็นแก่ตัวแล้ว เขาจะตีความคำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างไร เขาจะไม่ตีความตรงไปตรงมาอย่างนั้น ทำดีคือทำอย่างไร เช่นว่า ทำดีคือเสียสละให้แก่ผู้อื่น ได้ดีคือได้อะไร ถูกลอตเตอรี่เป็นเศรษฐีร่ำรวย เป็นต้น หรือว่า ถ้าหากข้าพเจ้ามีเมตตา ทำดีได้ผลดีคืออะไร ก็จะเป็นทำนองเดียวกัน คือจะได้ทรัพย์สมบัติหรือประสบลาภยศสรรเสริญต่างๆ นี้คือความหมายของคนโดยทั่วไป

ความเข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามหลักธรรมหรือไม่ หรือเป็นความเข้าใจตามความหมายของผู้ที่ตีความในทางที่เสริมสร้างพอกพูนอัตตา

เราทำความดี เช่น ทำทาน คือความเสียสละเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น นั่นเป็นความดีแน่นอนไม่ต้องสงสัย แล้วความดีอะไรที่เราจะได้ ก็คือความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใช่หรือไม่ จิตใจที่กว้างขวางนั้น เป็นความดีใช่หรือไม่ เมื่อทำทานแล้วจิตใจท่านเป็นจิตใจที่กว้างขวางขึ้นไป จิตใจที่กว้างขวางนี้เป็นความดี ถูกไหม ทำดีได้ดี อันนี้คือความดีก็ได้ ความดี แต่ท่านตีความหมาย ทำดีได้ดี ทำความดีไม่ใช่ได้ความดี แต่ทำความดีได้ของดี อันนี้เป็นความหมายที่ไม่ซื่อตรงแล้ว ทำความดีได้ของดี ทำทานได้ทรัพย์สมบัติ อันนี้ไม่ตรงแล้ว เป็นไปในทางสร้างเสริมอัตตา หรือเป็นไปในทำนองส่งเสริมความเห็นแก่ตนให้มากขึ้น

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หรือกฎแห่งกรรมนั้น เป็นกฎธรรมชาติกฎหนึ่ง ตรงไปตรงมา ไม่มีความคลาดเคลื่อน แต่มนุษย์นั่นแหละจะตีความให้คลาดเคลื่อนออกไป เราตีความว่า “ทำความดีได้ของดี” จากหลักที่ว่า “ทำดีได้ดี” ทำดีได้ดีเป็นเรื่องที่มาก่อน แต่ทำดีแล้วจะได้ของดีนั้น เป็นเรื่องที่พ่วงมาทีหลัง เช่นอย่างว่าท่านมีทาน คือความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ความมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นทางมาแห่งความสัมพันธ์ที่ดีในทางสังคม เป็นต้น ซึ่งจะเอื้ออำนวยผลดีในการดำเนินชีวิต ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตต่อไป อันนั้นเรียกว่าเป็นผลที่ตามมาเป็นเหตุปัจจัยที่เนื่องกัน ความคิดที่ไม่เชื่อมโยงปัจจัยให้เนื่องกัน เอะอะทำความดีปุ๊บก็ได้รับของดีปั๊บ อย่างนั้นแสดงว่าเราไม่ได้คิดตามแนวทางแห่งเหตุผลที่ถูกต้อง

เมื่อตีความหมาย ในแง่ที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวแล้วก็เกิดค่านิยมทางวัตถุขึ้น จากค่านิยมทางวัตถุนี้ ตนเองก็ต้องการแต่ทางวัตถุ และมีความนิยมยกย่องในผู้ที่มีแต่วัตถุเป็นเกณฑ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ในระยะยาวก็จะวัดกันด้วยวัตถุ คือ ใครมีลาภยศมาก ใครมีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็กลายเป็นผู้มีเกียรติในสังคมไป แทนที่จะมายกย่องในคุณค่าแห่งความดี เมื่อมีความนิยมแต่ในทางวัตถุเสียแล้ว ก็จะบิดเบือนความจริงไปในแง่ที่ตนปรารถนา เมื่อไม่คำนึงถึงว่าในด้านความดีเขาทำอะไร เอาแต่วัตถุเป็นเครื่องวัดแล้ว ในระยะยาวคนก็จะแสวงหาแต่ในทางวัตถุ ในสังคมที่แสวงหาแต่ในทางวัตถุ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมนั้น ผลร้ายจะปรากฏออกมาเป็นเช่นไร ก็เป็นสิ่งที่คาดหมายกันได้เอง

ถ้าเราจะวัดความดี เช่น ความร่ำรวยทรัพย์สมบัติ ความพรั่งพร้อมทางวัตถุว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เราควรจะมองดูสิ่งนั้น โดยสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยที่เขาทำ ถ้าของดีนั้นเขาได้มาด้วยความดี เราก็ยกย่องให้ทรัพย์สมบัติลาภยศอำนาจที่ได้มาว่าเป็นสิ่งที่ดีงามด้วย ถ้าหากว่าเขาได้มาด้วยเหตุที่ไม่ดี สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ร้ายไปด้วย คือหมายความว่า เราอาจจะมีความร่ำรวยที่ดีและความร่ำรวยที่ไม่ดี ตามเหตุปัจจัยคือความดีความชั่วที่ทำ คือเราเอาความดีความชั่วเป็นเกณฑ์สำหรับตัดสิน นี่เป็นค่านิยมแห่งธรรม มิใช่ค่านิยมทางวัตถุ เป็นค่านิยมแห่งความดี และสิ่งนี้จะต้องสร้างขึ้นมาจากรากฐาน คือค่านิยมทางจิตใจ เป็นความเข้าใจที่ซื่อตรงต่อธรรมชาติ ถ้าเราไม่ซื่อตรงต่อธรรมชาติ ก็จะตีความหลักเกณฑ์ของธรรมชาติว่าทำดีได้ดี จากการทำความดีได้ดี เป็นทำความดีได้ของดีไปเสีย

เพราะฉะนั้นถ้ามนุษย์เรามีความเข้าใจผิดพลาด โดยบิดเบือนหลักธรรมชาติเข้าหาตนเองเช่นนี้แล้ว ผลร้ายก็เกิดขึ้นแก่มนุษย์เอง แล้วผลร้ายใครเป็นผู้ทำ ก็มนุษย์เองนั่นแหละเป็นผู้ทำ มนุษย์กำลังได้รับผลกรรมจากการที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นเอง คือผลร้ายแห่งมโนกรรมอันเป็นอกุศลในการคิดไม่ซื่อตรงต่อหลักแห่งกรรม หรือกฎแห่งธรรมชาติ เพราะฉะนั้น เบื้องต้นจะต้องสร้างความซื่อตรงต่อหลักแห่งธรรมชาตินี้ให้ได้เสียก่อน แล้วความหมายที่สืบเนื่องต่อมาจึงจะเป็นไปในทางที่ดีงาม ถูกต้อง และสอดคล้องต้องกัน แล้วเราก็จะมีความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง เราจะวัดคนด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถูกต้องและดีงามต่อไป เป็นข้อที่หนึ่ง

คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม

๒. ทีนี้เรื่องที่ว่านั้น จะมีผลดีขึ้นมาได้อย่างไร ทำอย่างไรจะให้คนมีความซื่อตรงต่อธรรมชาติ ทำอย่างไรจะให้คนเห็นความดีเป็นผลดีต่อชีวิตแทนที่จะเห็นแต่เพียงวัตถุ หรือความพรั่งพร้อมในทางทรัพย์สมบัติ เป็นต้น อันนี้ก็จะต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งลงไป ความเข้าใจในเรื่องอะไร คือความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย

ปัญหาคือ มนุษย์เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายเพื่ออะไร โดยปกติเราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเห็นว่า จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเราและเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา เราได้ประโยชน์จากสิ่งใด เราก็เข้าไปหาสิ่งนั้น และพยายามใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ หมายความว่าสิ่งนั้นมีคุณค่าแก่ตัวเอง สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะเป็นวัตถุก็ตาม จะเป็นบุคคลก็ตาม เป็นธรรมชาติก็ตาม เราเห็นว่ามีคุณค่าสนองต่อความต้องการของเรา เราก็เข้าไปเกี่ยวข้อง พยายามนำเอาคุณค่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา

แต่ว่าคุณค่าที่เราต้องการนั้นคืออะไรแน่ และคุณค่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราอย่างแท้จริง อันนี้เป็นตัวปัญหา มิใช่ว่าต้องการประโยชน์ ต้องการคุณค่าแล้ว เมื่อได้มาสมปรารถนาจะเป็นสิ่งที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์แก่ตนอย่างแท้จริง บางทีประโยชน์หรือคุณค่านั้น มิได้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเราอย่างแท้จริงเลย

ขอให้ลองมาช่วยกันคิดดูว่า ประโยชน์หรือคุณค่าที่เราต้องการนั้น อันไหนเป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อชีวิตของเราอย่างแท้จริงบ้าง

เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาหาร เราต้องการกินเพื่ออะไร เพื่อประทังชีวิต หรือเพื่ออร่อย เพื่อคุณค่าสองแบบนี้แหละ มนุษย์จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาหาร ตามหลักแท้ๆ เรากินอาหารเพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้ มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง มีการกินเพื่อความสนุกสนาน โก้หรู ครึกครื้น ในกรณีทั้งสองนี้ผลที่เกิดขึ้นก็จะแตกต่างกันออกไป คุณค่าในกรณีที่หนึ่งนั้นเรียกว่า คุณค่าพื้นฐานสำหรับชีวิต เป็นคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ต่อชีวิต อีกกรณีหนึ่งเป็นคุณค่าที่เราเสริมสร้างขึ้นมาเพื่อขยายตัวอัตตาของเราให้ใหญ่ขึ้นเป็นคุณค่าเทียม เพื่อสนองความต้องการของตัวตน คุณค่าสองประการนี้ จะทำให้คนเรามีพฤติกรรมต่างกันออกไป

เพื่อสนองคุณค่าประการที่หนึ่ง ท่านอาจจะต้องการหรือมองอาหารในแง่ว่า อาหารนี้มีคุณค่าทางอาหาร มีประโยชน์แก่ร่างกายอย่างไรแล้วท่านอาจจะต้องเสียเงิน (ในทางเศรษฐกิจ) เพื่อรับประทานอาหารมื้อนั้นสัก ๑๐ บาท แล้วท่านจะอิ่ม ได้คุณค่าที่ต้องการ

ในคุณค่าประการที่สอง ท่านต้องการความเอร็ดอร่อย ความโก้หรู ความสนุกสนาน ท่านอาจจะต้องเข้าไปนั่งในภัตตาคาร ท่านอาจจะต้องเสียเงินเพื่ออาหารนั้นตั้ง ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาท แล้วคุณค่าที่มีต่อชีวิตนั้นก็เท่ากันกับอาหาร ๑๐ บาท

มนุษย์จะแสวงหาคุณค่าจากสิ่งต่างๆ ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องในสองแบบนี้โดยทั่วไป แม้ท่านจะใช้เสื้อผ้าก็ใช้เพื่อคุณค่าสองประการนี้คือ เพื่อความอบอุ่น เพื่อปกปิดอวัยวะจากหนาวร้อน ลมแดด สัตว์ที่รบกวนหรือเพื่อป้องกันความละอายเป็นต้น ในฐานะเป็นคุณค่าที่แท้จริง หรือเพื่อคุณค่าอีกประการหนึ่ง คือ ความสวยงาม ความโก้หรู เป็นต้น ท่านมีรถยนต์ ท่านมีเพื่ออะไร มีเพื่อไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้รวดเร็วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพื่อความโก้หรู เป็นเครื่องวัดฐานะของกันและกัน จากการปรารถนาในคุณค่าที่ต้องการนี้ ก็นำมาซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกต่างๆ ปัญหาของมนุษย์ตามมาจากเรื่องอะไร ตามมาจากการพยายามสนองคุณค่าประการที่สองมากที่สุด เราเรียกว่าคุณค่าเทียม คุณค่าที่เกิดจากตัณหา หรือคุณค่าที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของอัตตา และเพื่อสนองความต้องการของอัตตาที่ขยายตัวออกไปนั้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คือเรื่องคุณค่าที่แท้กับคุณค่าที่เทียม

คุณค่าเทียมนี่แหละเป็นตัวก่อปัญหาใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เมื่อคนอาศัยตัณหาเป็นพื้นฐานก็ต้องการขยายตัวตนที่สร้างขึ้นมาพอกพูนให้มันใหญ่ขึ้น ยิ่งตัวมันใหญ่โตมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องหาคุณค่าเทียมมาสนองความต้องการของตัวตนมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น แต่ถ้าเราพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ และความสัมพันธ์ที่มันมีกับชีวิตของเราอย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะเข้าถึงคุณค่าที่แท้ การกระทำของเรา พฤติกรรมต่างๆ จะเป็นไปเพื่อสนองปัญญา เราจะรู้จักพิจารณาว่า การกระทำนี้หรือสิ่งที่ต้องการนี้ก่อให้เกิดความหมายที่แท้จริงแก่ชีวิตของเราอย่างไร อันนี้อย่างน้อยสำหรับปุถุชนก็เป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้มัวเมาหลงใหลจนเกินไป

จริงอยู่เรายอมรับว่าปุถุชนย่อมมีความต้องการในสิ่งที่เราเรียกว่าคุณค่าเทียม เช่น ความสวยงาม เป็นต้น อยู่บ้าง แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีสติยับยั้งเสียเลย ก็จะทำให้เกิดความมัวเมา จากความมัวเมานั้นก็จะยิ่งเร้าตัณหาเพิ่มพูนความทุกข์ทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ในทางพระนี่ถ้าบวชเข้ามาแล้ว ท่านจะสอนตั้งแต่ต้นทีเดียว ให้ปฏิสังขาโย ให้ปฏิสังขาโยอะไร คือให้พิจารณาในการที่จะใช้สอยบริโภคปัจจัย ๔ เช่นบอกว่า เวลาจะฉันอาหารต้องให้พิจารณาว่าเราฉันเพื่ออะไรแน่ เพื่อสุขภาพให้มีกำลังทำหน้าที่ของเราได้อยู่สบาย ไม่ใช่เพื่อสนุกสนานเฮฮา ใช้เสนาสนะ ใช้เครื่องนุ่งห่ม ก็เช่นเดียวกัน ต้องพิจารณาปฏิสังขาโย

คติเกี่ยวกับคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมที่กล่าวมานั้น จะมีความหมายเกี่ยวข้องถึงพฤติกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั่วไป แม้แต่การรับเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เราก็จะรับเพื่อสนองหรือเอาคุณค่าจากมันในสองแง่นี้ เช่นอย่างท่านจะมีไมโครโฟนไว้ใช้ ท่านจะมีเพื่ออะไร ถ้าท่านเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เราก็จะรับเพื่อสนองหรือเอาคุณค่าจากมันในสองแง่นี้ เช่น อย่างท่านจะมีไมโครโฟนไว้ใช้ท่านจะมีเพื่ออะไร ถ้าท่านเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการสนองปัญญา ท่านก็คิดว่าจะใช้เพื่อกิจกรรมอะไรที่เป็นการเกื้อกูลแก่ชีวิตมนุษย์ที่ร่วมกัน เช่น การศึกษา การเผยแพร่ทางวิชาการ แล้วจึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางนั้นให้เป็นประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราจะใช้สนองความต้องการในด้านตัณหาเพื่อคุณค่าที่เทียมก็ได้ คือเพียงเพื่อความโก้หรู สนุก ปรนเปรอตัว จากนี้แหละจะเป็นจุดแยกแห่งปัญหาของมนุษย์ มนุษย์เรานี้แหละเป็นผู้สร้างปัญหาให้แก่มนุษย์ด้วยกัน จากพื้นฐานความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ แม้เราจัดกิจกรรมอะไรต่างๆ ขึ้นก็จะเป็นไปในรูปนี้คือ กิจกรรมที่สนองความต้องการทางปัญญา เป็นไปเพื่อคุณค่าที่แท้จริงแห่งชีวิตประการหนึ่ง เป็นไปเพื่ออัตตาของเรา เป็นไปเพื่อสนุกสนานหรือคุณค่าเทียมอีกประการหนึ่ง วิธีการที่สนองตัณหานั้นจะเป็นไปเพื่อเพิ่มทุกข์ ไม่ใช่ความทุกข์แก่เราฝ่ายเดียว อาจเพิ่มทุกข์ให้แก่ผู้อื่นได้เป็นอันมาก และไม่มีประโยชน์อะไรที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นสำหรับชีวิตปุถุชนแล้ว ควรจะเตือนตนอยู่เสมอในเรื่องอย่างนี้ว่าเรารับอะไรมาใช้จะมีคุณค่าอะไรที่แท้ที่เทียม เราจะสนองคุณค่าเทียมแค่ไหนและคุณค่าที่แท้จริงแค่ไหน ถ้าหากว่าเราจะจัดกิจกรรมขึ้นมา กิจกรรมนั้นจะเป็นไปเพื่อชีวิตที่ดีร่วมกัน และสนองปัญญาแค่ไหน กิจกรรมนี้จะเป็นไปเพื่อสนองตัณหา เพื่อตัวตนของเราและอาจจะกระทบกระเทือนชีวิตที่ดีร่วมกันหรือไม่ เราจะแสวงหาทรัพย์สมบัติมาปรนเปรอตนเอง แล้วก่อให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่นหรือไม่ กิจกรรมทุกอย่างเราจะพิจารณาได้เสมอ แม้กิจกรรมในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ก็จะเป็นไปในรูปนี้ ถึงจะไม่เต็มที่ล้วนๆ ทั้งสองแง่ ก็จะเป็นไปในรูปที่ว่า หนักในแง่ไหนมาก เป็นเครื่องสำหรับเตือนสติตนเองอันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง สรุปสั้นๆ ว่ามีคุณค่า ๒ อย่างคือ คุณค่าแท้ กับคุณค่าเทียม เป็นคุณค่าเพื่อชีวิตกับคุณค่าเพื่อตัวตน หรือคุณค่าเพื่อสนองปัญญา กับคุณค่าที่สนองตัณหา ฝ่ายแรกเป็นไปเพื่อแก้ปัญหากำจัดทุกข์ คือสิ่งบีบคั้นที่แท้จริงของชีวิต ฝ่ายหลังเป็นไปเพื่อสร้างเสริมปัญหา เพิ่มพูนทุกข์ แล้วมันเกี่ยวกับการศึกษาอย่างไร ก็จะได้พูดกันต่อไป

ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ

๓. เรื่องต่อไป คุณค่าแท้คุณค่าเทียมจะมีผลทางปฏิบัติอย่างไร จะขอพูดอีกครั้งในเรื่องการสนองความต้องการทางปัญญา และการสนองความต้องการในด้านตัณหา กล่าวคือในการกระทำของคนเรานั้นเราจะต้องมีแรงขับไสหรือแรงจูงใจในการกระทำ ในการดำเนินชีวิต ในกิจกรรมทุกๆ อย่าง แต่แรงจูงใจนั้นเราวิเคราะห์หรือไม่ว่ามันเป็นอย่างไร มีกี่แบบ กี่ประเภท แรงจูงใจใดเป็นไปเพื่อการศึกษาที่ถูกต้อง แรงจูงใจใดเป็นไปเพื่อการศึกษาที่ผิดพลาด แม้การเข้ามาในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ท่านก็จะต้องมีแรงจูงใจให้มาเรียน แรงจูงใจของเราจะเป็นไป ได้สองรูป รูปที่หนึ่งคือ สิ่งที่เราติเตียนกันในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดหรือความล้มเหลวอย่างหนึ่งในการศึกษา คือว่า แรงจูงใจในการเลือกเข้าเรียนวิชาต่างๆ ในสถาบันต่างๆ นั้น เป็นไปในรูปที่ว่าต้องการขั้น ต้องการฐานะทางสังคม ต้องการปริญญาบัตร หมายความว่าความมุ่งหมายที่เลือกเข้ามาเรียนวิชาการเหล่านี้คือก็ เพื่อเป็นบันไดไต่เต้าไปหาผลประโยชน์ของตนเอง เช่น ทรัพย์สินเงินทอง เวลาจะเลือกเรียนก็คิดว่าวิชานี้จบไปแล้วจะหางานทำได้ง่ายได้เงินมากไหม วิชาไหนได้เงินดีกว่ากัน อันนี้ก็เป็นวิธีเลือกหรือแรงจูงใจในปัจจุบันที่ถือเป็นความผิดพลาด

ทีนี้แรงจูงใจอะไรเป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง แรงจูงใจที่ถูกต้องคือแรงจูงใจที่ตรงกับเรื่องตรงกับความหมายที่แท้ของสิ่งนั้น ตรงกับเนื้อหาสาระของสิ่งนั้น เป็นไปเพื่อการทำกิจที่จะให้เกิดผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของสิ่งนั้น ให้เกิดคุณค่าแท้ เป็นประโยชน์แก่ชีวิต เช่นว่า เราอยากจะเรียนแพทย์เพราะเราอยากเป็นแพทย์ อยากเป็นแพทย์เพราะอยากรักษาโรค เราอยากเห็นเพื่อนมนุษย์ของเราปราศจากความเจ็บไข้ได้ป่วย อย่างน้อยก็อยากทำความรู้จักอยากรู้ว่าโรคต่างๆ มันเป็นมาอย่างไร จะรักษาอย่างไร ข้าพเจ้าต้องการเห็นมนุษย์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ข้าพเจ้าอยากเห็นโลกนี้ ประเทศไทยเรานี้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเลย อย่างนี้เรียกว่า แรงจูงใจในการเรียนแพทย์ บางคนไม่เป็นอย่างนั้นเลย กลายเป็นว่าข้าพเจ้าอยากเรียนแพทย์ เพราะอยากเป็นแพทย์ คำว่าอยากเป็นนายแพทย์ ในที่นี้หมายความว่า นายแพทย์นั้นทำเงินได้ดี

นี่คือแรงจูงใจที่แตกต่างกัน แม้ความอยากเป็นอย่างอื่นก็เช่นเดียวกัน อันนี้เป็นเพียงยกตัวอย่าง มิใช่มาติเตียนฝ่ายแพทย์ แต่ทุกอาชีพเหมือนกันหมด ในปัจจุบันนี้มันเป็นค่านิยมโดยทั่วไป ซึ่งเราไม่สามารถโทษคนใดคนหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่งได้ แต่เป็นของกลางที่เราต้องรับผิดชอบและช่วยกันแก้ไข การเลือกเรียนวิชาหรือการทำอาชีพอะไรก็ตาม มันจะเป็นในรูปนี้

การเคลื่อนคลาดในเบื้องต้นนี้จะนำไปสู่ปัญหาสังคมโดยประการทั้งปวง การศึกษาปัจจุบันนี้แหละเป็นตัวเหตุสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาสังคมเป็นอันมาก เป็นปัญหาที่พันและต่อเนื่องกันไป ตั้งแต่เลือกเรียนวิชาจนถึงเลือกงานอาชีพ และพฤติกรรมในการทำงาน พอเริ่มต้น ความหมายของการศึกษาก็ถูกบิดเบือน ความหมายอย่างง่ายๆ ของการศึกษาชนิดที่ชาวบ้านเข้าใจก็คือ การเล่าเรียน

แต่ความจริงไม่ใช่เพียงแต่เล่าเรียนเท่านั้น พูดให้ชัดขึ้นไปอีกว่า การหาความรู้มาฝึกฝนตน หรือการฝึกฝนตนด้วยความรู้ ฝึกตนไปทำไม ฝึกตนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามต่อไปแต่ความหมายของการศึกษาเปลี่ยนไป ไม่ใช่หาความรู้มาฝึกฝนตนเสียแล้วกลายเป็นหาความรู้มาเป็นเครื่องต่อเงิน ครั้นถึงเวลาจะประกอบอาชีพ ไปสมัครงาน ก็ไม่ใช่สมัครงานเพื่อทำงาน ไม่ใช่สมัครงานเพื่อจะเอางานอาชีพนั้นเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต ทำงานที่ตรงกับความรู้ความถนัดความสามารถ ช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ให้สำเร็จ แต่กลายเป็นสมัครงานเพื่อหาเงินใช้ สมัครงานเพื่อเป็นบันไดไปสู่ตำแหน่งฐานะและเป็นเครื่องต่อมือต่อตัวสำหรับหยิบผลประโยชน์อื่นๆ ต่อๆ ไป

จากการที่เราไม่เลือกเรียนวิชา เพราะอยากทำการทำหน้าที่ที่เป็นสาระของวิชานั้น ก็ทำให้เรามุ่งไปแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ แล้วก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น อยากเรียนแพทย์เพราะอยากได้เงินได้ทอง เมื่อเรียนสำเร็จมาแล้วก็ไม่มีความพยายาม ไม่มีฉันทะในการที่จะรักษาโรคอย่างจริงจัง คิดแต่ว่า รายนี้รักษาแล้วจะได้เงินมากหรือเงินน้อยเป็นต้น การที่จะเอาใจใส่ต่อคนไข้เป็นต้น มันก็จะต้องน้อยลงไป ถ้าท่านเป็นครู ท่านก็จะนึกในแบบเดียวกันอีก เราต้องการเลือกเรียนวิชาการศึกษา เพราะเราต้องการได้ปริญญาทางการศึกษา ได้ปริญญาเพื่ออะไร เพื่อมีอาชีพ มีเงินมีทองใช้ มีฐานะสูง เสร็จแล้วไม่พยายามแก้ปัญหาทางการศึกษา ไม่คิดที่จะช่วยให้เด็กดี ไม่คิดจะช่วยให้เกิดพลเมืองดีขึ้นในประเทศไทย ใจเราจะไปมุ่งหมายอยู่ที่เงินทอง พฤติกรรมที่ออกมามันก็ไม่ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาแท้จริงในสังคมไทย

เพราะฉะนั้น การศึกษาในประเทศไทยเรา ปัจจุบันนี้จึงถือว่าเป็นตัวการอันสำคัญเหลือเกินที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะแรงจูงใจที่เกิดขึ้นในการศึกษามันไม่ใช่แรงจูงใจเพื่อการทำหน้าที่ แต่เป็นแรงจูงใจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งอันนี้เราเรียกว่าเป็นคุณค่าที่สนองความต้องการในด้านตัณหา เป็นการสนองตัณหา มิใช่สนองปัญญา นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องมาช่วยกันแก้ไข แล้วเราเรียกแรงจูงใจที่สนองความต้องการทางตัณหาว่าเป็นฉันทะแบบหนึ่ง

แรงจูงใจหรือความใฝ่ที่จะกระทำการนั้น เราเรียกว่าฉันทะ ฉันทะนั้นมี ๒ แบบคือ

- แรงจูงใจที่เป็นไปเพื่อสนองตัณหา หรือแสวงหาคุณค่าที่เทียมนี้เรียกว่า กามฉันทะ

- แรงจูงใจที่เป็นไปเพื่อการทำหน้าที่ เพื่อเนื้อหาที่ถูกต้องของสิ่งนั้นเรียกว่า ธรรมฉันทะ

จะเห็นว่าแรงจูงใจในด้านธรรมฉันทะนั้น กำลังบกพร่องเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทย ทำอย่างไรเราจะสร้างมันขึ้นมาได้ เราต้องหันเหความใฝ่แสวงคุณค่า หันเหแรงจูงใจมายังกิจหน้าที่ความดีงามของสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องให้มากที่สุด

ถ้าท่านจะกวาดถนนเพราะมีอาชีพในการกวาดถนน ฉันทะหรือแรงจูงใจที่ถูกต้องคืออะไร แรงจูงใจในการกวาดถนนคืออยากจะกวาดให้ดีที่สุด ต้องการให้ถนนในเมืองไทยนี้หรือชุมชนนี้ราบเรียบ สวย สะอาด เรียกว่า ธรรมฉันทะ เป็นแรงจูงใจที่ตรงไปตรงมา นี่คือความตรงไปตรงมา ความซื่อสัตย์ที่มีต่อกฎธรรมชาติเมื่อเราจะทำอะไรควรมีความซื่อตรงต่อสิ่งนั้น

แต่ที่ทำกันเรามักทำอ้อมๆ เรากำลังทำสิ่งหนึ่งเพื่อประโยชน์ของอีกสิ่งหนึ่ง แทนที่จะถือว่าผลประโยชน์เป็นเพียงผลพลอยได้ หรือปัจจัยเกื้อหนุนในการที่จะทำหน้าที่ของเรา นี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดในเรื่องฉันทะหรือแรงจูงใจ

แล้วอันนี้มันเกิดมาจากอะไร อันนี้ก็สัมพันธ์สืบเนื่องมาจากคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมที่กล่าวมาแล้วเมื่อกี้นี้ พูดสั้นๆ ว่าเป็นแรงจูงใจเพื่อตัวตน หรือแรงจูงใจเพื่อสนองความอยากของตัวตนอย่างหนึ่ง กับแรงจูงใจเพื่อชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องปัญญากับตัณหา ในฝ่ายที่สนองความต้องการที่เห็นแก่ตัวเป็นฝ่ายของตัณหา อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายของปัญญา สิ่งสำคัญที่เราต้องการในการนี้คือปัญญา แล้วเราก็มาถึงปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง คือเรื่องปัญญา ซึ่งเป็นตัวแกนสำคัญในขบวนการให้การศึกษา

ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา

๔. ปัญหาก็มีว่า ปัญญาที่แท้จริง ชนิดที่เราต้องการนั้นคืออะไร ปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ได้รู้เห็นอะไรมาก รู้กว้างขวาง ฉลาดในการทำมาหาเลี้ยงชีพ อันนี้เป็นปัญญาหรือไม่ ถ้าหากเราเห็นว่าผลดีที่เราต้องการคือความพรั่งพร้อมทางวัตถุ แล้วเราใช้ปัญญาเพื่อหาทางสนองความต้องการนี้ มันก็ไม่ใช่ปัญญาที่แท้จริง เป็นเพียงการอาศัยปัญญาเพื่อที่จะมารับใช้ตัณหาเท่านั้น เป็นปัญญาที่ควบคู่กับตัณหา ปัญญาที่แท้จริงไม่เกิดขึ้น ปัญญาที่แท้จริงมาควบคู่กับอะไร เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ขอเสนอไว้ให้เป็นข้อพิจารณาก่อนว่า ปัญญาที่แท้จริงนั้นมากับกรุณา นอกจากนั้นปัญญาที่แท้จริงจะทำให้เกิดอิสรภาพและเป็นทางมาแห่งเสรีภาพที่แท้จริงด้วย

ปัญหาจะเกิดขึ้นต่อไปอีกว่า อิสรภาพที่แท้จริงคืออะไร ได้กล่าวในเบื้องต้นครั้งหนึ่งแล้วว่า การล่วงพ้นสิ่งบีบคั้นขัดข้อง อันนั้นแหละคืออิสรภาพ ปัญญาที่แท้จริงคืออะไร ทำให้เกิดอิสรภาพอย่างไร มากับกรุณาอย่างไร ขอให้มาช่วยกันพิจารณาดู

การยกตัวอย่างอาจจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น เมื่อเห็นคนคนหนึ่งแบกของหนักมา ของที่ถือมาเป็นประโยชน์ต่อเรา เราน่าจะแย่งชิงเอามาใช้ ความคิดในทางแย่งชิงหรือลักขโมยก็จะเกิดขึ้น หรือเพลาลงมา ไม่ต้องถึงขั้นอยากชิงลักขโมย เพียงแต่ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดจำกัดแคบติดอยู่แค่ตัวตน เห็นแก่ความสะดวกสบาย ความสุขสำราญส่วนตัวอย่างเดียว ก็จะมองด้วยความรู้สึกเกะกะกีดขวางรำคาญ ขัดสายตา หรืออาจแรงขึ้นไปเป็นขัดใจ เกิดโมโหเกรี้ยวกราดไปเลยก็ได้

ส่วนอีกคนหนึ่งมองด้วยปัญญาพิจารณาเหตุผล โดยไม่เกี่ยวกับตัวตนที่จะได้จะเอา ก็จะมองด้วยสายตากว้างขวาง เกิดความเข้าใจเห็นใจตามมาเป็นความกรุณา โดยจะเกิดความรู้สึกขึ้นว่าคนคนนี้ เขาแบกของหนักมาเขาคงจะเกิดความเมื่อยล้า เขากำลังทำงานอาชีพอะไร เขามีความทุกข์ร้อนอย่างไร ก็จะเกิดความคิดในทางที่จะช่วยเหลือ หรืออย่างน้อยก็เห็นใจ หรืออาจมองหาทางแก้ปัญหาในวงกว้างอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามควรแก่เรื่องราวสถานการณ์หรือภาวะของตน เป็นความกรุณา

ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งในทางโลภะ ชายหนุ่มคนหนึ่งออกจากเมืองเดินทางผ่านไปในทุ่งนา เห็นหญิงสาวชาวนาผู้หนึ่ง รูปร่างสวยงาม ความคิดก็จะเกิดขึ้นได้สองแบบ ถ้าเขามองด้วยสายตาของตัณหา เขาก็จะปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส หรือสัมผัสที่มีในหญิงนั้น แล้วความนึกคิดของเขาก็จะวนอยู่แค่เรื่องตัวตนของเขาที่จะได้จะเอา กับหญิงนั้นในความหมายและในแง่ที่เป็นวัตถุสนองความต้องการของตัวตนของเขาเท่านั้น จากนั้นก็อาจจะมีตัวตนของเขาที่ติดตันอัดอั้นอับจนไม่อาจได้ หรือเอาไม่ได้ ถูกกระทบกระเทือนหรือบีบคั้นด้วยความไม่สมปรารถนา เกิดอาการอย่างอ่อนๆ เป็นความพะวักพะวนใจ มีปมขึ้นมาขัดขวางการทำงานของจิต ทำลายความเป็นอิสระในใจ หรืออย่างรุนแรง อาจเกิดความกลัดกลุ้มทรมานใจ ล้วนเป็นการสร้างปัญหาหรือความทุกข์ขึ้นมาเองในรูปใดรูปหนึ่ง โดยที่ว่านั้นไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเลย หรือมิฉะนั้นถ้าพลุ่งออกมาข้างนอก ก็อาจจะเกิดปัญหาอื่นขึ้นต่อไปได้อีกหลายๆ อย่าง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องบรรยาย

แต่ถ้าเขามองด้วยสายตาของปัญญา ก็จะมองเห็นกลางๆ และเห็นกว้างขวาง ไม่เกิดความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนที่จะได้จะเอา และไม่เกิดปมที่จะมากำจัดอิสรภาพของจิต หรือขัดขวางการทำงานของความคิด คือเขาจะมองในความหมายและเกิดความคิดในแง่ที่ว่า หญิงคนนั้น เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพทำนา เขาอาจจะนึกต่อไปถึงอาชีพของชาวนาหรือนึกถึงการงานของหญิงชาวนาคนนั้น อาจจะนึกว่าบุคคลผู้นี้หรือชาวนาคนนี้มีความรู้สึกอย่างไร เขาอาจจะกำลังสุขสบายใจ เพลิดเพลินกับธรรมชาติที่สวยงาม ก็แล้วไป หรือเขาอาจจะทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย ขณะนี้เขาอาจจะกำลังเหนื่อยไม่สบายใจ หรือเขาอาจจะคิดถึงอาชีพของเขาว่าการทำนาเป็นอย่างไร ได้ผลดีหรือไม่ ความเป็นอยู่ของเขาตลอดถึงครอบครัวของเขาเป็นอย่างไร แล้วความรู้สึกเห็นใจเพื่อนมนุษย์หรือความคิดในทางที่จะช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น เป็นเรื่องของคุณธรรมคือความกรุณาและความรู้สึกในด้านที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเป็นลักษณะและอาการของจิตใจที่ยังมีอิสรภาพ

พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาเป็นกิจกรรมของจิตที่มีอิสรภาพ เกิดจากการมองสิ่งทั้งหลาย (คือมองโลกและชีวิต) ด้วยปัญญาซึ่งมีกรุณาเป็นพลังควบเคลื่อน หลักนี้ถือได้ว่าเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับวัดหรือวินิจฉัยว่าคนใดมีการศึกษา (ที่แท้จริง) หรือไม่ มีปัญญา (ที่แท้) หรือไม่ แม้แต่คนในระดับที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า ผู้มีการศึกษา จะเป็นครูก็ตาม แพทย์ก็ตาม นักกฎหมายก็ตาม ตลอดจนนักบริหารและนักปกครอง ก็จัดได้ว่า ผู้นั้นมีการศึกษา ส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ หรือมีเพียงการศึกษาที่เป็นรูปแบบเป็นชั้น เป็นขั้น มีการศึกษาที่เข้าถึงเนื้อตัวของชีวิต หรือมีเพียงความรู้สำหรับเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ เป็นผู้ที่จะออกไปช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ หรือจะไปเป็นตัวการช่วยพอกพูนสะสมปัญหา

นี้เป็นเรื่องของการที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เริ่มด้วยการมองความหมายในสองแบบนี้ การมองความหมายสองแบบนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด และเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของมนุษย์ หรือเพิ่มพูนปัญหาของมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นไปเพื่อแก้ทุกข์ของมนุษย์ หรือเพื่อพอกพูนทุกข์แก่มนุษย์ นี้คือจุดวิกฤตของการศึกษา เป็นต้นทางที่จะนำไปสู่ความสัมฤทธิ์หรือความล้มเหลวของกระบวนการการศึกษาทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ถูกต้องคือปัญญาในแง่นี้ คือตัวปัญญาที่บริสุทธิ์ ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ไม่เพียงรู้จักรูปลักษณ์ของสิ่งนั้นเท่านั้น ไม่เพียงแต่เห็นปรากฏการณ์ของสิ่งนั้นหรือ มองเห็นข้อเท็จจริงเป็นชิ้นๆ ก้อนๆ เท่านั้น แต่มองอย่างวิเคราะห์และสืบค้น เข้าใจถึงองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นด้วย ว่าทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นอย่างนี้ เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ ว่าสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ อย่างไร องค์ประกอบของมันมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร มิใช่คิดวนอยู่แค่ตัวตนของเรา กับภาพที่มองเห็นเฉพาะในแง่ที่เราน่าจะได้น่าจะเอา หรือที่ขัดใจเราไม่น่าจะเอา น่าจะให้วินาศดับสูญไปเสีย จากความคิดแนวนี้จะนำไปสู่ความคิดที่ถูกต้องต่อๆ ไป เรียกว่าเป็นความคิดที่อยู่ในกระบวนการการศึกษา เกิดจากความเข้าใจข้อเท็จจริงอย่างแท้จริง ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว จึงจะก้าวไปสู่ความรู้ขั้นญาณได้

ความรู้ที่เกิดจากปัญญาแบบนี้เราเรียกว่า ญาณ คือการหยั่งรู้ เป็นการรู้ขั้นผลนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง อันนี้แหละคือสิ่งที่เราต้องการในการศึกษา และเป็นการแยกระหว่างการศึกษาที่ถูกกับการศึกษาที่ผิด การศึกษาที่ผิดเราเรียกว่ามิจฉาศึกษา มิจฉาศึกษาก็คือว่า เราอาจจะรู้จริง แต่ไม่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหามนุษย์เลย เป็นเพียงความรู้เพื่อสนองความต้องการของตัวตน หรือสนองตัณหาเท่านั้น

การศึกษาที่แท้จริงนั้น ตัวแกนของมันไม่ได้อยู่กับระบบอะไรที่ไกลตัวเลย มันอยู่ใกล้ๆ อยู่กับตัวเรานี่เอง อยู่ที่จุดเริ่มแห่งความคิด ถ้าหากว่าเราเริ่มผิดแล้วก็ผิดตลอดไป นั้นคือตัวปัญญา ปัญญานี่แหละเป็นสิ่งที่เราต้องการ เป็นปัญญาที่ทำให้เราเกิดอิสรภาพ เมื่อเกิดปัญญาอย่างนี้แล้ว มันไม่จำกัดขอบเขตด้วยเรื่องตัวตน เป็นปัญญาที่ปลอดโปร่ง เมื่อเรามีอิสรภาพหรือความปลอดโปร่งโล่งใจแล้วเราก็คิดเผื่อแผ่อิสรภาพนั้นไปยังผู้อื่น ความนึกคิดเผื่อแผ่อิสรภาพไปให้แก่ผู้อื่นนี้เรียกว่าความกรุณา ถ้าขาดปัญญาเสียแล้วความกรุณาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นรากฐานแห่งกรุณา

แล้วบัดนี้เราสามารถสร้างปัญญาชนิดนี้ขึ้นได้หรือยัง ถ้าหากไม่สามารถสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์ปลอดโปร่งเช่นนี้ขึ้นได้แล้ว เราก็ไม่อาจสร้างการศึกษาที่แท้จริง แล้วอิสรภาพเสรีภาพที่ต้องการ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะอิสรภาพที่แท้จริงนั้นคือภาวะที่เกิดขึ้นจากปัญญาชนิดนี้ เป็นตัวแกนกลางและเป็นรากฐานแห่งเสรีภาพ เสรีภาพที่แท้จริงต้องมาจากอิสรภาพนี้และปัญญาชนิดนี้ ไม่ใช่เสรีภาพเทียมที่ล้นทะลักออกมาเพื่อกลบปมบีบคั้น หรือชดเชยความขาดอิสรภาพในภายใน ปัญญาชนิดนี้มีชื่อเรียกจำเพาะทางพระพุทธศาสนาว่า สัมมาทิฏฐิ แปลว่า การสอบเห็นถูกต้อง หรือเข้าใจถูกต้อง เกิดจากการเริ่มต้นความคิดที่ถูกต้อง หรือความคิดที่เริ่มต้นอย่างถูกต้อง ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การศึกษาที่แท้เริ่มต้นจากตัวความคิดที่ถูกต้อง หรือจะกล่าวว่า สัมมาทิฏฐิคือตัวแท้ของการศึกษาก็ได้ในความหมายทางพระพุทธศาสนา

หลักยืนของการศึกษาที่แท้

ในเรื่องการศึกษานี้ อาตมาจึงกล่าวว่า เราจะต้องเข้าถึงตัวแก่นแท้นี้ให้ได้ก่อน มิฉะนั้นแล้วระบบการต่างๆ จะหาหลักยืนไม่ได้ ขณะนี้เราให้ความหมายของการศึกษาอย่างกว้างขวาง แต่แล้วเราก็เอาใจใส่และเน้นกันอยู่เพียงแค่ระบบ รูปแบบ แบบแผน วิธีการ หรือองค์ประกอบภายนอก ซึ่งเราสร้างเสริมขึ้นมาเพื่อยังการศึกษาให้เป็นไป ไม่ค่อยเข้าถึงตัวการศึกษาที่แท้จริง

ถ้าขาดปัญญาที่แท้จริงแล้ว เราจะไม่มีทางเข้าถึงตัวการศึกษาที่แท้จริงได้เลย แต่ถ้าเข้าถึงความหมายที่แท้จริงแล้ว ตัววิธีการ ระบบ แบบแผน รูปแบบ ก็จะเริ่มต้นที่จุดอันถูกต้อง ปัญญาหรือการศึกษานั้น คงมิใช่แต่เพียงการรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวางและความฉลาดในการทำมาหากินเท่านั้น เพราะถ้ามีความหมายแค่นั้นแล้วแม้แต่โจรวิทยา หรือวิชาโจรกรรม วิชาของขโมย ก็เป็นการศึกษาได้ เพราะในโจรวิทยาหรือวิชาโจรกรรมนั้น เขาก็ต้องสอนกันเหมือนกันว่า อะไรเป็นสิ่งมีค่า มีราคา อะไรเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าไม่มีราคา กำหนดรู้ว่าคนเช่นไร เป็นคนที่มีเงิน คนเช่นไร เป็นคนไม่มีเงิน มีวิธีการอย่างไร จึงจะลักของของเขาให้แนบเนียนและรู้ถึงตลาดว่า ลักของสิ่งนี้มาแล้วจะต้องไปขาย ณ ที่ไหน จะแลกเปลี่ยนได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น อันนี้จะถือว่าเป็นการศึกษาได้หรือ

เพราะฉะนั้นความรู้ประเภทนี้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ปัญญาที่แท้จริงจะต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ มองเห็นความหมายและมีความคิดถูกต้องมาแต่ต้น แล้วดำเนินความคิดต่อไปในแนวทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การวินิจฉัยว่า การศึกษาที่ทำมาถูกต้องเข้าถึงตัวการศึกษาที่แท้จริงหรือไม่ ก็อยู่ตรงนี้เอง เมื่อมีการศึกษาที่ถูกต้องอย่างนี้ มีปัญญาที่ถูกต้อง มีความกรุณาเกิดขึ้นเป็นรากฐานที่แท้จริงแล้ว

แม้แต่ความเข้าใจในเรื่องคุณค่าต่างๆ ว่า คุณค่าใดเป็นไปเพื่อสนองตัณหา คุณค่าใดเป็นไปเพื่อปัญญา เราก็จะวินิจฉัยได้ และความเป็นอยู่อย่างนี้เท่านั้น จะไม่เป็นปมซ้อนที่จะทำให้มนุษย์เรามาสร้างปัญหาแก่กัน หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้เราเที่ยวหลงเพลิดเพลินก่อทุกข์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น นี้เป็นรากฐานเบื้องต้นของการศึกษา ซึ่งจะทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามและสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนและส่วนรวมทำให้เรารู้หลักในการดำเนินชีวิตที่ดี และเข้าไปมีชีวิตเกี่ยวข้องในสังคมอย่างดี อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี

การศึกษากับประชาธิปไตย

ในการอยู่ร่วมที่ดีนั้น เราต้องการสิ่งหนึ่งคือการปกครอง เราจึงบอกว่า การศึกษาที่ดีย่อมอำนวยประโยชน์แก่การปกครองด้วย ทีนี้ในแง่ของพระพุทธศาสนา การศึกษาจะอำนวยประโยชน์เป็นไปเพื่อการปกครองที่ดีได้อย่างไร การปกครองที่ดีคืออะไร การปกครองที่ดีนั้นอาจจะมีได้หลายรูปหลายแบบ ถ้าเราแยกลักษณะรูปแบบของการปกครองแล้ว ก็มีหลายระบอบ แต่โดยย่อคงจะมีเพียง ๒, ๓ แบบเท่านั้น คือการปกครองโดยบุคคลคนเดียว การปกครองโดยบุคคลกลุ่มหนึ่งหลายคน หรือการปกครองโดยทุกๆ คนช่วยกันปกครอง ระบอบการปกครองต่างๆ กำหนดโดยผู้ปกครองก็มีอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เรากำลังมีระบบการปกครองอย่างที่เรียกว่าให้ทุกๆ คนมีส่วนในการปกครอง การปกครองแบบนี้เราเรียกว่า ประชาธิปไตย

แต่ว่าการปกครองที่ดีนั้น ระบอบเป็นอย่างหนึ่ง หลักการปกครองเป็นอีกอย่างหนึ่ง ระบอบไม่ใช่ทั้งหมดของการปกครอง ระบอบอย่างเดียวไม่พอ เราจะต้องมีหลักการปกครองที่ดีด้วย อะไรคือหลักในการปกครองที่ดี ในการปกครองที่ดีนั้น เราต้องการให้ใครก็ตามที่ทำหน้าที่ปกครอง สร้างความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรมชาติให้เกิดขึ้นในสังคม ถ้าให้เกิดผลอันนี้ได้เราถือว่าเป็นการปกครองที่ดี เราต้องการสิ่งนี้และเราต้องการให้ผู้ปกครองยึดหลักการนี้

ฉะนั้น ถ้าหากว่าบุคคลผู้เดียวปกครอง บุคคลนั้นมีความยึดมั่นในธรรม เอาความดีงาม ความเป็นธรรม ความชอบธรรม เป็นเกณฑ์เป็นหลักในการปกครองแล้วเราก็ถือว่าผู้ปกครองนั้นเป็นผู้ปกครองที่ดี ถ้าหากว่าเป็นคณะปกครองคณะนั้นยึดมั่นในธรรมคือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามแล้ว เราก็ถือว่าได้การปกครองที่ดีเหมือนกัน และถ้าหากว่าทุกคนปกครองแล้ว เราได้รับผลอย่างเดียวกันนี้ เราก็ถือว่าเป็นการปกครองที่ดี ฉะนั้น หลักการปกครองที่ดีกับระบอบการปกครองไม่เหมือนกัน

ในทางพระพุทธศาสนานั้น สนใจหลักการปกครองเป็นเบื้องต้น ส่วนระบอบวิธีนั้นมนุษย์จะต้องมายักเยื้องเอาเอง หลักการปกครองที่ดีคืออย่างไร ในระบอบการปกครองอะไรก็ตาม จะมีการปกครองที่ดีได้ ในเมื่อผู้ปกครองนั้น ยึดธรรมเป็นหลัก คือเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเป็นเกณฑ์และสร้างธรรมนี้ให้เกิดขึ้นแก่สังคม

ในขณะนี้เรามาเห็นกันว่า การปกครองของคนเดียวนั้นถึงจะดีอย่างไรก็ตาม ผู้เดียวนั้นอาจจะผิดพลาดบกพร่องได้ คือผู้เดียวนั้นอาจจะมีสติปัญญาเข้าใจไม่ทั่วถึง รู้ปัญหาของสังคมไม่ทั่วถึง หรือความเข้าใจในความถูกต้องดีงามไม่เพียงพอ ก็ทำให้สร้างธรรมคือความงาม ความถูกต้องนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และมีโอกาสหันเหไปจากธรรมะคือความถูกต้อง และหันไปหาสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้มากกว่า เราจึงเห็นว่า ควรจะให้ทุกๆ คนช่วยกันปกครอง

การที่ทุกคนช่วยกันปกครองนั้น มันก็มีปัญหาเหมือนกันว่า เราจะต้องสร้างหลักการปกครองที่ดีให้เกิดขึ้น หาไม่แล้วการปกครองที่ดีก็ไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าเราต้องการให้บุคคลผู้เดียวที่เคยปกครองเขามีปัญญา เข้าใจความดีงาม ยึดในความดีงาม และสร้างความดีงามให้เกิดขึ้นแล้ว ในการปกครองโดยทุกๆ คน เราก็จะต้องให้ทุกคนนี้แต่ละคนๆ เป็นคนเข้าใจในตัวธรรมะ มีปัญญา รู้จักความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ยึดความถูกต้องดีงามเป็นหลัก และสร้างความดีงามหรือความชอบธรรมให้เกิดขึ้น เหมือนอย่างคนเดียวที่ดีนั้นทั่วทั้งหมดจึงจะได้การปกครองที่ดีชนิดที่ทุกคนช่วยกันปกครอง และถ้าทำได้อย่างนี้จริง ก็เป็นการปกครองที่ดีที่สุดจริงๆ

นี้คือหลักในการปกครอง หลักการปกครองที่ดีคือตัวความจริง ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความเป็นธรรมนี้ การถือหลักนี้เราเรียกว่า ถือธรรมเป็นใหญ่ การถือธรรมเป็นใหญ่ เรียกตามหลักพระพุทธศาสนาว่า ธรรมาธิปไตย

ธรรมาธิปไตยนั้นไม่ใช่ระบอบการปกครอง แต่เป็นหลักของการปกครอง หรือเป็นรากฐานการปกครอง อยู่ในระบอบใดก็ใช้ธรรมาธิปไตยได้ ถ้าหากว่าผู้ปกครองคนเดียวถือธรรมเป็นประมาณ พยายามสร้างธรรมให้เกิดขึ้น เราเรียกผู้ปกครองนั้นว่ายึดหลักธรรมาธิปไตย ถ้าหากหมู่คณะยึดความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรมนี้เป็นเกณฑ์แล้ว พยายามสร้างธรรมให้เกิดขึ้น เราเรียกหมู่คณะนั้นว่า ยึดหลักธรรมาธิปไตย ถ้าหากคนทุกคนช่วยกันปกครอง ยึดเอาธรรมเป็นประมาณ พยายามสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นว่า ธรรมะ ความเป็นธรรม ความชอบธรรม ความถูกต้อง ความดีงามคืออะไร แล้วยึดมั่นในสิ่งนี้ได้ เราเรียกว่า การปกครองโดยทุกคนนั้นถือหลักธรรมาธิปไตย

ขณะนี้เราหันมานิยมระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่หลักในการปกครองนั้น เป็นไปได้ไหม ที่เราจะยึดหลักอื่นนอกจากธรรมาธิปไตยก็จะต้องตอบว่าเป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างไรเราก็ต้องการให้เกิดธรรมะความชอบธรรม ความถูกต้อง ความดีงามขึ้นในสังคม แต่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อทุกคนช่วยกันปกครอง ทุกคนก็จะต้องยึดหลักนี้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เราจึงประสบปัญหาสำหรับประชาธิปไตยคือ การที่จะต้องสร้างธรรมาธิปไตยให้เกิดขึ้นแก่ทุกคน ถ้าทุกคนมีธรรมาธิปไตย ยึดธรรมาธิปไตยเป็นหลักแล้ว เราก็จะได้ประชาธิปไตยที่ดี

เพราะฉะนั้น ธรรมาธิปไตยในฐานะที่เป็นหลักการปกครอง เป็นรากฐานของการปกครองที่ดีทุกแบบทุกระบบ ก็เป็นรากฐานของประชาธิปไตยที่ดีด้วย หากว่าไม่มีธรรมาธิปไตยแล้ว เราก็จะไม่สามารถสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ดีขึ้นมาได้

ฉะนั้น ในกรณีนี้จะต้องทำความเข้าใจว่า ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีการฝึกอบรมอย่างน้อย ๒ ด้าน คือ

๑. การสร้างสาระหรือเนื้อหาของการปกครองที่ดี อันได้แก่ธรรมาธิปไตย

๒. การฝึกฝนในด้านรูปแบบหรือวิธีการปกครองแบบประชาธิปไตย

ในด้านที่หนึ่ง จะต้องพยายามให้ประชาชนทุกคนมีปัญญาเข้าใจว่าอะไรคือความถูกต้อง ความจริง ความดีงาม ความชอบธรรม แล้วให้ทุกคนยึดในหลักธรรมหรือธรรมาธิปไตยนี้ คนที่จะยืนหยัดในหลักธรรมาธิปไตยนี้ได้ จะต้องมีปัญญาที่จะรู้เข้าใจว่า อะไรคือคุณค่าแท้ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันของมนุษย์ อะไรเป็นคุณค่าเทียมสนองตัณหา เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตน แล้วเลือกเอาในทางที่เป็นไปเพื่อสนองปัญญา การจัดกิจกรรมทำการต่างๆ ก็จะต้องเป็นไปเพื่อสนองปัญญา

เป็นอันว่าทุกอย่างที่กล่าวมาเป็นเรื่องสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตย และระบบการศึกษาที่เกื้อกูลแก่ประชาธิปไตย เราจะต้องให้การศึกษาที่ถูกต้อง คือ การศึกษาที่ทำให้เกิดปัญญาที่แท้ ที่ทำให้จิตใจคนเป็นอิสระและสามารถเผื่อแผ่อิสรภาพนี้แก่ผู้อื่น รู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อคุณค่าที่แท้จริง เป็นไปในทางเสริมปัญญา ไม่เป็นไปในทางที่ขยายพอกพูนอัตตาให้หนาขึ้น ไม่เป็นไปในทางที่สนองความเห็นแก่ตัว แต่เป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชีวิตที่ดีงามร่วมกัน แล้วอันนี้ก็จะเป็นทางมาของประโยชน์สุขที่มนุษย์ต้องการ เรียกว่าประสบผลที่มุ่งหมายในการสร้างสรรค์ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และการศึกษาที่เอื้ออำนวยแก่ระบอบการปกครองชนิดนี้

ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ การฝึกหัดวิธีการหรือฝึกฝนในด้านรูปแบบของประชาธิปไตย ระบบวิธีหรือรูปแบบนั้นก็เป็นภารกิจที่เราทั้งหลายจะต้องช่วยกันกระทำเช่นเดียวกัน เช่นการที่เราจะฝึกคนให้รู้จักจัดการปกครองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาต่างๆ อันนี้เป็นเรื่องของรูปแบบหรือระบบวิธี ซึ่งเกื้อกูลแก่การสร้างสาระของประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น และดำรงรักษาสาระนั้นไว้ แต่ระบบวิธีนั้นไม่ใช่สิ่งสิ้นสุดหรือสมบูรณ์แบบในตัวของมันเอง ถ้าไม่สามารถสร้างเนื้อหาสาระของประชาธิปไตยโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ก็จะไม่สามารถยังประชาธิปไตยตามความหมายที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นหากว่าจะต้องการประกอบ ประชาธิปไตยที่ดีที่ถูกต้องแล้ว จะสร้างแต่เพียงรูปแบบ ระบบ วิธีการเท่านั้นไม่พอ จะต้องสร้างสาระของประชาธิปไตยที่กล่าวแล้ว เริ่มต้นตั้งแต่การให้การศึกษาที่ถูกต้องด้วย เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว ก็จะได้ระบอบประชาธิปไตยที่มีธรรมาธิปไตยเป็นรากฐาน คือได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติ หรือระบอบประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริง

นี้คือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างธรรมาธิปไตย กับระบอบประชาธิปไตย และมีความหมายสัมพันธ์กับการศึกษาโดยนัยที่ได้กล่าวมา

ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา

ต่อไปก็คือหน้าที่ของศิษย์ ศิษย์มีหน้าที่ในทางการศึกษาอย่างไร นอกจากหน้าที่ที่สัมพันธ์กับหน้าที่ของครูอาจารย์ ในแง่ที่เป็นสิปปทายก คือการรับศิลปวิทยาจากสิปปทายกแล้วก็มาถึงหน้าที่ในทางการศึกษาโดยตรงคือ การสร้างการศึกษาให้เกิดขึ้นแก่ตน หรือการทำตนให้เป็นผู้มีการศึกษา

หน้าที่นี้สัมพันธ์กับหน้าที่ของครูอาจารย์ในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตร แต่ไม่จำเป็นต้องอาศัยกัลยาณมิตรเสมอไปหรือโดยสิ้นเชิง การสร้างการศึกษาให้เกิดแก่ตน อาจเกิดจากความช่วยเหลือเบื้องต้น และบางขั้นตอนของกัลยาณมิตรที่ช่วยจุดชนวนให้ หรือการรู้จักใช้ประโยชน์จากกัลยาณมิตร (ทั้งที่เป็นครูในระบบโดยตรงและที่เป็นบุคคลภายนอก ตลอดจนหนังสือตำรับตำราสื่อมวลชน) และการรู้จักคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการของตนเอง ในอัตราส่วนต่างๆ กัน เท่าที่จะยังผลให้เกิดปัญญาที่แท้ ซึ่งพ่วงมาด้วยอิสรภาพและความกรุณา ก็ถือได้ว่าทำหน้าที่สร้างการศึกษาแก่ตน หรือเรียกสามัญว่า รับการศึกษา ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี การศึกษาที่สัมฤทธิ์ผล ย่อมจะแสดงตัวออกมาให้ปรากฏในรูปที่เป็นคุณสมบัติ บุคลิกภาพ และการดำเนินชีวิตของผู้รับการศึกษานั้นเอง ดังนั้น เพื่อผลในทางปฏิบัติ ท่านจึงจับเอาคุณสมบัติการแสดงออก และการดำเนินชีวิตของผู้มีการศึกษามาจัดวางกำหนดไว้ถือเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาด้วย และเป็นเครื่องทดสอบสัมฤทธิ์ผลของการศึกษาไปด้วยพร้อมกัน โดยวางหลักว่าการศึกษาที่ได้ผลจะต้องทำให้ผู้ได้รับการศึกษาเจริญงอกงามขึ้นในแนวทางของอัตถะ ๒ อย่าง และบรรลุอัตถะหรืออรรถะ ๒ อย่างต่อไปนี้คือ

อัตตัตถะ แปลว่า ประโยชน์ตน

ปรัตถะ แปลว่า ประโยชน์เพื่อผู้อื่น

ข้อที่ ๑ อัตตัตถะ ประโยชน์ตน คนโดยมากพอบอกว่าประโยชน์ตน ก็มักจะนึกถึงทรัพย์สิน ลาภ ยศ อำนาจ สุข สรรเสริญ ที่เกิดแก่ตน ความจริงอันนั้นไม่ใช่อันที่เราต้องการคือ อรรถประโยชน์

อรรถประโยชน์คืออะไร อรรถประโยชน์ (หรืออัตถประโยชน์) ก็คือ ความเจริญงอกงามที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขา หรือความเจริญงอกงามที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขา หรือความเจริญงอกงามแห่งชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเขา ความเจริญงอกงามนี้คืออะไร คือความงอกงามแห่งสติปัญญาและคุณธรรมปัญญาเขามีมากขึ้นไหม เขามีคุณธรรมอะไรดีขึ้นไหม มีศีล มีสุตะ มีจาคะ มีสติ มีวิริยะ มีขันติขึ้นหรือไม่ มีความสามารถที่จะพึ่งตนเอง มีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตที่ดีหรือยัง เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นประโยชน์ตน

ถ้าหากว่ามีประโยชน์ตนเพิ่มพูนขึ้น อย่างนี้แล้วก็จะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ดี แล้วผลประโยชน์ที่ต้องการในชีวิตเช่น ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ เป็นต้น ก็จะดำเนินติดตามมาเป็นผลพลอยได้ในอัตราส่วนที่พอเหมาะพอดี เป็นไปเพื่อเกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเกิดโทษ ก่อความเดือดร้อนเป็นพิษเป็นภัย อันนี้เราเรียกว่าเป็นอัตตัตถะ

ข้อที่ ๒ ปรัตถะ ประโยชน์เพื่อผู้อื่น การศึกษาได้ทำให้ตัวผู้ศึกษาหรือผู้รับการศึกษานั้นเป็นบุคคลที่เป็นประโยชน์ หรือสามารถทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นหรือไม่ เช่น เขารู้จักหน้าที่ รู้จักความรับผิดชอบต่อส่วนรวม รู้จักรักษาระเบียบสังคมหรือไม่ คือชีวิตของเขานั้นได้เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตที่ร่วมกันของคนทั้งหลาย เป็นไปเพื่อความดีงามที่ร่วมกันหรือไม่ หรืออย่างน้อยไม่เป็นไปเพื่อกระทบกระเทือน ทำชีวิตที่ร่วมกันหรือประโยชน์ที่ร่วมกันของสังคมนั้นให้เสื่อมสูญไป

หลักนี้ ใช้ตรวจสอบได้ไม่เฉพาะแต่ตัวผู้รับการศึกษาเท่านั้น แต่ใช้ตรวจสอบผลสำเร็จของกระบวนการการศึกษา การดำเนินการการศึกษา ตลอดจนระบบการศึกษาได้ทั้งระบบ เพราะผู้รับการศึกษาเป็นผลผลิต และคุณภาพของผลผลิตย่อมเป็นเครื่องวัดผลสำเร็จของระบบและการดำเนินงานทั้งหมด

จุดรวบยอดและผลพิสูจน์ของการพัฒนาการศึกษาก็อยู่ที่บุคคล ๒ พวก ที่เป็นองค์ประกอบของการดำเนินการศึกษาคือ ครูกับศิษย์ หรือผู้ให้การศึกษากับผู้รับการศึกษานี้เอง การพัฒนาการศึกษาและการวัดผลการพัฒนาการศึกษา จึงน่าจะต้องเน้นที่การทำหน้าที่ของบุคคล ๒ พวก ดูว่าครูทำหน้าที่ครบถ้วน ทั้งในฐานะสิปปทายก และในฐานะกัลยาณมิตรหรือไม่ ผู้รับการศึกษาบริบูรณ์ด้วยอัตตัตถะและปรัตถะหรือไม่ เมื่อทำได้อย่างแล้วก็ถือว่า การพัฒนาการศึกษาได้เข้าถึงสาระของการศึกษาแล้ว

การเข้าถึงสาระของการศึกษานั้น มันมีจุดจบหรือว่ามันมีหลักยืนที่แท้จริงของมัน ถ้าทำได้เช่นนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องมาพัฒนาในส่วนสาระเนื้อหาต่อไป ส่วนที่เราจะต้องพัฒนาก็คือรูปแบบหรือระบบวิธีต่างหาก ว่าเราจะพัฒนาระบบวิธีหรือวิธีการให้การศึกษา ในระบบก็ตาม นอกระบบก็ตาม กันอย่างไร จึงจะบรรลุถึงเนื้อหาสาระของการศึกษาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากเข้าใจถึงสาระของการศึกษาแล้ว สิ่งที่จะต้องพัฒนาเรื่อยไปก็คือรูปแบบหรือระบบวิธีต่างหาก ต่อจากนี้ภารกิจของเราก็อยู่ที่ระบบ วิธีและการดำเนินงานซึ่งเป็นเรื่องราวอีกด้านหนึ่ง

ในวันนี้ อาตมภาพได้กล่าวมาในเรื่องหลักพระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาพอสมควร แต่เป็นการกล่าวในด้านเนื้อหาสาระส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจกล่าวต่อไปได้ในเรื่องของรูปแบบระบบวิธี หรือการดำเนินการเพราะได้กินเวลามาพอสมควรและทั้งเป็นการพูดฝ่ายเดียวด้วยซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการน่าเบื่อ เพราะเป็นการฟังเพียงอย่างเดียว ควรจะมีการไต่ถามกันด้วย จึงเห็นว่าเป็นเวลาพอสมควรที่จะยุติได้

ท้ายสุดนี้ อาตมภาพขออนุโมทนาแด่ทุกท่านที่ได้มาฟังเรื่องที่บรรยายในโอกาสนี้ โดยเฉพาะขออนุโมทนาแด่ชุมนุมพุทธศิลปศึกษาและประเพณี ที่ได้จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ในการที่จะทำให้เราเข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้น เห็นทางที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในสังคมปัจจุบัน หรือแก่ชีวิตมนุษย์ในปัจจุบันมากขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดประโยชน์แก่วงการศึกษาและสังคมทั่วไป แล้วแต่ว่าเราจะรับได้ หรือนำไปใช้ได้แค่ไหนเพียงไร

ขออนุโมทนาในกุศลกรรม คือ การกระทำความดีของทุกท่าน ขออนุโมทนาแก่ครู อาจารย์ และนิสิตทั้งหลาย พร้อมทั้งสาธุชนทั้งปวง ที่ได้เข้ามาฟังธรรมบรรยายในโอกาสนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายผู้มีความนึกคิดแต่ในทางที่ดีงามเช่นนี้และฝักใฝ่ในประโยชน์ส่วนรวม จงได้รับพรกล่าวคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ พร้อมทั้งปฏิภาณ คุณสารสมบัติทุกประการ จงงอกงามเจริญไพบูลย์ในกิจหน้าที่การงานของท่าน จะเป็นการศึกษาก็ตาม การให้การศึกษาก็ตาม หรือว่าการประกอบอาชีพอื่นใดก็ตาม ขอทุกท่านจงประสบความสำเร็จในการบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตนเอง และเพื่อผู้อื่นโดยทั่วกันตลอดกาลนานเทอญ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.